พระบรมมหาราชวัง
The Grand Palace
| หน้าแรก| หน้าต่อไป| พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท | หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
| พระที่นั่งบริเวณสวนศิวาลัย | พระที่นั่งบรมพิมาน | ประตูรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง
| ป้อมรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง |

หอพระสุลาลัยพิมาน
ตั้งอยู่ต่อจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณด้านตะวันออก เป็นหอพระที่พระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงบูรณไว้ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสีซ้อนสามชั้นลดสองชั้น มุขหน้ามุขหลังมีปีกนกคลุมจากไขรา ซุ้มเรือนแก้วพระบัญชรและซุ้มพระทวารเป็นลายปั้นปูนดอกพุดตานปิดทองประดับกระจก ใช้เป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุ พระพุทธปฏิมากรสำคัญ เพื่อทรงสักการะและเป็นคตินิยมที่สร้างหอพระไว้ด้านทิศตะวันออก


หอพระธาตุมณเฑียร
อยู่ต่อจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณด้านทิศตะวันตกโดยมีชาลาต่อเนื่อง ชาลาตอนนี้ใช้เป็นสีหบัญชร เสด็จออกขุนนางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯหอนี้ใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี


หอศาสตราคม
ตั้งอยู่ริมกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก เดิมเป็นพระที่นั่งโถงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระที่นั่งเกล้าฯเรียกว่า หอพระปริต ซึ่งเป็นที่เก็บเครื่องศาสตราคม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงสร้างหอศาสตราคมขึ้นและได้สถาปนาหอพระปริต คือ หอเสถียรธรรมปริตขึ้นไว้ต่างหาก
หอศาตราคมมีผนังโดยรอบเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสานปิดทองทั้งองค์มีพระสงฆ์รามัญนิกาย จากวัดตองปรุ(วัดชนะสงคราม) สวดพระพุทธปริต ทำน้ำพุทธปริตทุกวันพระสำหรับใช้สรงพระพักตรสรง และใช้ประพรมพระราชฐาน ซึ่งเป็นประเพณีวังจนทุกวันนี้ประเพณีนี้ในสมัยอยุธยาเริ่มมีในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยพระเถระรามัญนิกายที่ตามเสด็จจากเมืองมอญเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แต่ครั้งสงครามกู้อิสรภาพ และประกาศอิสรภาพ เมื่อปีพ.ศ.๒๑๓๕ เข้ามาพักจำพรรษา ณ วัดตองปรุนอก เกาะเมืองอยุธยาด้านคลองคูเมืองตลาดหัวรอในปัจจุบัน

| หน้าแรก| หน้าต่อไป| พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท | หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
| พระที่นั่งบริเวณสวนศิวาลัย | พระที่นั่งบรมพิมาน | ประตูรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง
| ป้อมรอบกำแพงพระบรมมหาราชวัง |