| หน้าแรก | หน้าต่อไป |

ประชุมพระราชปุจฉา
loading picture

            พระราชปุจฉา เป็นเรื่องที่พระเจ้าแผ่นดินทรงมีถึงสมเด็จพระสังฆราช และพระราชคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย ให้ถวายวิสัชนาในข้ออรรถธรรมชึ่งทรงสงสัย มีมาแต่โบราณ  ดังที่ปรากฎในพระสูตรว่า มีพระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ ได้ไปทูลถามข้ออรรถธรรมแก่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า รวมทั้งเรื่องมิลินทปัญหา ที่พระเจ้ามิลินท์ทรงถามพระนาคเสน ด้วยข้ออรรถธรรมต่าง ๆ อย่างพิสดาร
            สำหรับประเทศไทย ประเพณีนี้มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  จากหลักฐานที่รวบรวมไว้ที่ หอพระสมุดพบว่า มีพระราชปุจฉาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ มากที่สุดถึง 39 เรื่อง
            เหตุที่มีพระราชปุจฉาในรัชสมัยของพระองค์ มากกว่าในรัชสมัยอื่น ๆ นั้น น่าจะเป็นเพราะ เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระไตรปิฎก และสังฆมณฑลเป็นอันตรายไปมาก จนต้องเสาะแสวงหาพระไตรปิฎก และพระภิกษุที่ทรงพระธรรมวินัย จากหัวเมืองต่าง ๆ มารวบรวมเป็นหลักในฝ่ายพระพุทธจักรขึ้นใหม่ หนังสือพระไตรปิฎก และความรอบรู้พระธรรมวินัยของพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นพระราชาคณะขึ้นชั้นใหม่ก็ยังบุกบกอยู่มาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ต้องทรงขวนขวายทำนุบำรุงพระพุทธจักรเป็นอันมาก ในส่วนคัมภีร์พระธรรมวินัย ได้ทรงจัดให้มีการสังคายนา และสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงขึ้น และพระราชทานให้คัดลอกไปไว้ ตามพระอารามต่าง ๆ อีกหลายฉบับ เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้เล่าเรียน คงมีพระราชประสงค์ให้พระราชาคณะ เอาใจใส่ตรวจตราค้นคว้าพระไตรปิฎก ให้มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย จึงได้ทรงมีพระราชปุจฉาในข้ออรรถธรรมต่าง ๆ ให้พระราชาคณะถวายวิสัชนา เพราะการถวายวิสัชนา จำต้องค้นคว้าหลักฐานในคัมภีร์ต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก จึงจะสามารถถวายวิสัชนาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินการตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ มาตามลำดับ
            หนังสือประชุมพระราชปุจฉา ให้ความรู้และประโยชน์แก่ผู้อ่านเป็นอันมาก ทำให้ได้ทราบตำนาน ตลอดจนธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อของคนสมัยนั้น นอกจากนั้น ยังให้ความรู้ทางอักษรศาสตร์ เนื่องจากว่า พระราชปุจฉาบางเรื่องและคำถวายวิสัชนา บรรดาพระเถรานุเถระและราชบัณฑิตทั้งหลาย ต้องเรียบเรียง ร้อยกรองถ้อยคำ จนเห็นว่าไพเราะ สละสลวย น่าอ่าน น่าฟัง  อีกประการหนึ่งคือถือกันว่า เป็นวิธีให้ความรู้ สืบอายุพระศาสนา ด้วยเหตุที่ว่า ผู้วิสัชนาต้องค้นคว้าหาหลักฐาน มาอ้างประกอบ จนเห็นว่าถูกต้องแจ่มแจ้ง จึงนับว่าพระราชปุจฉาให้ประโยชน์อย่างครบถ้วน
            ในประเพณีการมีพระราชปุจฉาทุกครั้ง ได้มีการจดข้อพระราชปุจฉา และคำพระราชาคณะถวายวิสัชนา รักษาไว้ในหอหลวง จึงได้มีหนังสือพระราชปุจฉาเป็นทำนองจดหมายเหตุ และเป็นตำราให้ศึกษา จึงมีสำเนากระจัดกระจายอยู่ในที่ต่าง ๆ หอสมุดวชิรญาณได้รวบรวมและจัดพิมพ์ขึ้นเท่าที่สามารถรวบรวมได้  แบ่งออกเป็น 5 ภาค ด้วยกัน คือ
            ภาคที่ 1 พระราชปุจฉาครั้งกรุงศรีอยุธยา มีพระราชปุจฉา 13 เรื่อง  จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2464
            ภาคที่ 2 พระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ตอนที่ 1 มีพระราชปุจฉา 16 เรื่อง จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2463 และพิมพ์ครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2466
            ภาคที่ 3 พระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ตอนที่ 2 มีพระราชปุจฉา 23 เรื่อง จัดพิมพ์ครั้งแรก  เมื่อปี พ.ศ. 2464
            ภาคที่ 4 พระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ มีพระราชปุจฉา ฯ เรื่อง จัดพิมพ์ครั้งแรก  เมื่อปี พ.ศ. 2465
            ภาคที่ 5 พระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ซึ่งมีอยู่ 7 เรื่อง และ 2 เรื่องตามลำดับ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2465 และพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2475
            ต่อมา ได้พบพระราชปุจฉาใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ  จึงได้จัดพิมพ์เป็นภาค ปกิรณกะ และได้ย่อความพระราชปุจฉาทุกภาค รวมไว้ด้วย ได้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2479 และครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2508
            ในการพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้รวมพระราชปุจฉาทั้ง 6 ภาคเข้าด้วยกัน และได้เพิ่มเติมพระราชปุจฉาที่ 3-4 และ 5 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ และในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งได้พบใหม่ไว้ด้วย

พระราชปุจฉาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

loading picture

พระราชปุจฉาที่ 1
ว่าด้วยการลาสิกขาบท

                เมื่อปี พ.ศ. 2224 มีพระราชโองการถามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ว่า
            ภิกษุปลงสิกขาบทว่า     "พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ  แปลว่าไฉน"
           ถวายพระพรว่า แปลว่า อาตมภาพจะปลงสรณคมน์ อันสมาทานเอาด้วยอุปสมบทว่า พุทฺธํ สรณํ เสียในกาลบัดนี้
           จึงมีพระราชโองการตรัส ครั้นว่าดังนั้น สรณาคมน์มิได้ติดตัวไปฤา
           ถวายพระพรว่า ปลงสรณาคมน์สำหรับภิกษุนั้น ให้ขาดเสียก่อนเมื่อเป็นคฤหัษฐ์แล้วนั้น จึงสมานเอาสรณาคมน์ สำหรับคฤหัสนั้นเล่า
           จึงมีพระราชโองการถามว่า เมื่อบวชเป็นภิกษุ สวดญัติ สวดกรรมวาจาเปนอันมาก จึงเป็นภิกษุ เมื่อสึกออกนั้น ว่าแต่สองคำสามคำคือ    "พุทฺธํ" คำหนึ่ง    "ปจฺจกฺขามิ" คำหนึ่ง แต่เท่านี้ก็ขาดจากเปนภิกษุนั้นเปนไฉน
           ถวายพระพรว่า เมื่อจะก่อสร้างนั้นก็ย่อมช้า เมื่อจะล้างเสียนั้นย่อมพลัน แลลักษณะปลงสิกขาบท กอบไปด้วยองค์ 6 ประการ จึงจะขาด จึงเปนอันปลงสิกขาบท มิพร้อมด้วยองค์ 6 ประการมิขาด มิเปนอันปลงสิกขาบท จึงถวายพระคาถาอันจะรู้จักองค์ 6 ประการดังนี้
                        "จิตฺตํ  เขตฺตญฺจ   กาลญฺจ                        ปโยโค   ปุคฺคโล   ตถา
                        ปรชานนาติ   สิกฺขาย                                ปจฺจกฺขานํ   ฉฬงฺคิกํ
            อธิบายในพระคาถาว่า  จะปลงสิกขาบท  ให้กอบด้วยองค์ 6 ประการสืบไปดังนี้
                          " จิตฺตํ " คือ จิตรแห่งผู้เสียนั้น  มิได้ยินดีในภาวะจะเป็นภิกษุกว่านั้นเลย  อันนี้เป็นองค์อันหนึ่ง
                          " เขตฺตญฺจ "  คือ แว่นแค้วนพระบาฬี  อันพระเจ้าอนุญาตินั้น มีอาทิ คือ  " พุทฺธ  ปจฺจกฺขามิ "  ก็ดี
             " คิหีติ มํ ธาเรหิ "  มีอาทิดังนี้ก็ดี  แลบุทคลผู้จะปลงสิกขาบทนั้น  แลจะปลงด้วยภาษาใด ๆ ก็ดี  ก็ให้ว่าตามแต่ในแว่นแคว้นพระบาฬี อันพระเจ้าอนุญาต อันนี้เปนองค์อันหนึ่ง
            "กาลญฺจ" คือบุคคลผู้จะปลงสิกขาบทนั้น เปนปัจจุบันกาล ว่าอาตมาปลงสรนาคมน์ คือพุทธนั้นเสียในกาลบัดนี้ก็ดี อีกประการหนึ่งว่า ท่านจงรู้อาตมาเปนคฤหัษฐ์ในกาลบัดนี้ อันนี้ก็เปนองค์อันหนึ่ง
            "ปุคฺคโล" คือปลงสิกขาบทในสำนักบุคคลผู้เปนมนุษย์ชาติด้วยกันจึงจะขาด แม้มาตุคามก็ได้ดุจกัน แลจะปลงสิกขาบทในสำนักเทพนั้นมิได้ขาด เหตุจิตรเทพดานั้นรู้พลัน แลรู้อรรถก่อนแล้วจึงมิขาด อนึ่งจะปลงสิกขาบทในสำนักดิรัจฉานั้นก็มิขาด เพราะเหตุว่าดิรัจฉานนั้นมิรู้อรรถแห่งถ้อยคำนั้น อันนี้เปนองค์ประการหนึ่ง
            "ปรชานนา" คือบุคคลนั้นรู้พร้อมด้วยถ้อยคำแห่งบุคคลนั้นปลงว่า บุคคลผู้นี้ปลงสิกขาบทแล้วจึงขาดถ้าบุคคลผู้ฟังนั้นแลรู้ต่อเมื่อภายหลัง สิกขาบทนั้นมิขาด เหตุดังนั้นบุคคลผู้ปลงสิกขาบทด้วยมคธภาษา ในสำนักบุคคลด้วยมิลักขภาษา สิกขาบทนั้นมิขาด เหตุภาษาต่างกัน แลมิรู้อรรถแห่งถ้อยคำนั้น แลบุคคลปลงสิกขาด้วยมคธภาษา ในสำนักบุคคลผู้เปนมคธภาษา สิกขาบทนั้นจึงขาด เหตุภาษาเหมือนกัน รู้อรรถถ้อยคำฉับพลัน พร้อมด้วยกัน กล่าวแล้วนั้น อันนี้เปนองค์ประการหนึ่ง เปนคำรบ 6 ประการดังนี้ จึงเป็นอันปลงสิกขาบท แล ฯ

พระราชปุจฉาที่ 2
ว่าด้วยเรื่องพระภิกษุนินทาพระเจ้าแผ่นดิน

            เมื่อปี พ.ศ. 2224 ว่าด้วย มีพระราชโองการให้อำมาตย์คนหนึ่งมาถามพระพรหมมุนี ณ วัดปากน้ำประสบว่าพระสงฆ์วัดวังไชย นินทาพระเจ้า ว่าพระเจ้ารักแขกเมืองยิ่งกว่าข้าแผ่นดิน แลพระเจ้าให้ขับเสียนั้น ชอบฤามิชอบ
           พระพรหมว่า ซึ่งพระสงฆ์นินทาพระเจ้านั้นมิชอบนักหนา แล้วพระพรหมถามอำมาตย์เล่า ว่าพระเจ้าได้ยินเองฤา ๆ ผู้ใดได้ยิน อำมาตย์บอกว่าข้าหลวงได้ยินจึงเอามากราบทูล พระพรหมจึงว่า ถ้าข้าหลวงได้ยินนั้นดูว่าด้วยมิได้ เกลือกมันจะใคร่ได้ยศฐานันดรศักดิ์เจียดเงินพานทอง  แลมันเอาเท็จมาทูล มันจะทำให้พระเจ้าได้บาป ทั้งดูผู้หลงนี้ก็จะได้บาป พระเจ้าก็มิได้ยิน กูก็มิได้ยิน แลกูจะว่าด้วยมิได้ แลกฎหมายเอาคำกู ไปกราบทูลแก่พระเจ้า ว่ากูว่ากระนี้เถิด
            อำมาตย์กฎหมายเอาถ้อยคำพระพรหมมากราบทูล พระเจ้าก็ทรงพระสรวล แลตรัสว่ามหาพรหมองค์นี้เธอตรงจริง ๆ

พระราชปุจฉาที่ 3
ว่าด้วยชาวอุดรกุรูมิได้เป็นทุกข์

เมื่อปี พ.ศ. 2225 มีพระราชโองการตรัสถามว่า ในสารสงเคราะห์ว่าชาวอุดรกุรู
มิได้เป็นทุกข์ถึงกัน แลว่านี้ผิดปรมัตถ์ เพราะว่าโลกีย์จะว่ามิเปนทุกข์กระไรได้

แก้พระราชปุจฉาที่ 3 (ความย่อ)

            สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ถวายวิสัชนาว่า
            เพียงแต่บุคคลจำเริญมรณานุสสติไว้ แต่เมื่อยังดีอยู่ เมื่อมรณะมาถึง ก็บมิได้สะดุ้ง ตกใจกลัว ก็ชาวอุดรกุรูนั้นตามธรรมดามิได้หวงแหนพัสดุทั้งปวง แลศีล 5 ประการก็ตั้งอยู่ในสันดานมั่นคง  จึงมิได้เป็นทุกข์

พระราชปุจฉาที่ 4
ว่าด้วยเรื่องคนเชื่อกรรม

            มีพระราชโองการสั่งให้พระศรีศักดิ์ ถามพระสงฆ์ทั้งปวงว่า มีคนผู้หนึ่งเข้าไปป่า แลพบช้างก็ดี เสือก็ดี แลผู้นั้นก็ถือว่าแล้วแต่กรรม ถ้ากรรมมีช้างแลเสือก็จะทำร้าย ถ้าหากรรมมิได้ ช้างแลเสือก็จะมิได้ทำร้าย แลผู้นั้นก็เข้าไปหาช้างแลเสือ ช้างแลเสือก็เบียดเบียฬผู้นั้นถึงสิ้นชีวิต เมื่อกระนั้นจะว่ากรรมมี ฤาหากรรมมิได้
           สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ขอถวายพระพร ฯ ว่าบุคคลใด แลถือว่าแล้วแต่กรรมกระทำแต่ก่อนสิ่งเดียวนั้น แลหาวิจารณปัญญา อันพิจารณาเห็นคุณแลโทษในชาตินี้มิได้ แลผู้นั้นชื่อว่าบุพเพกตทิฏฐิอันวิปลาศ ดุจพระธรรมเทศนาอันสงฆ์ได้ถวายแล้วนั้น ประการหนึ่ง อาตมภาพได้ถวายพระพรตามพระคาถาว่า
            "นาติสูโร นาติทุมฺ เมโธ อปฺมตฺโต กุทาจนํ " ว่าบุคคลอันเกิดในโลกนี้จะแกล้วหาญอย่าแกล้วหาญนัก จะขลาดอย่าขลาดนัก แลอย่าได้ประมาท แลมีสติอันระวังฐานะอันควรแกล้วหาญจึงแกล้วหาญ ฐานะอันจะควรขลาดจึงขลาด แกล้วหาญในฐานะที่มิควรจะแกล้วหาญนั้น นักปราชญ์มิควรสรรเสริญ อาตมภาพถวายพระพรนี้ อาศรัยคำพระมหาชนกเจรจาด้วยนางมณีเมขลาในท้องมหาสมุทร ว่าบุคคลผู้ใดเห็นพาลมฤคราช มีอาทิคือช้าง แลเสืออันร้ายแรงแลมิได้หนี แลอยู่ให้พาลมฤคนั้นเบียดเบียนนั้น แลผู้นั้นชื่อว่าหาความเพียรอันจะให้อาตมานั้นพ้นจากไภยนั้นมิได้ ชื่อว่าได้รักษาชีวิตแห่งอาตมา แลบุคคลผู้นั้นจะประกอบด้วยความเดือดร้อนในกาลภายหลัง อาตมภาพขอถวายพระพรฯ
           พระบรมไตรโลก ถวายพระพรว่า บุคคลอันถือเอาซึ่งกรรมนั้นแล มิได้พิจารณาซึ่งเหตุอันผิดแลชอบนั้น ได้ชื่อว่าบุพพเหตุกทิฏฐิ เปนคนถือผิดคำพระพุทธเจ้า เปนประโยชน์วิบัติ ประกอบกรรมอันผิด หาปัญญามิได้ เหตุโมหะมีกรรมหลัง ซึ่งกรรมแต่ก่อนหามิได้นั้นก็จะให้มีไปใหม่ ซึ่งกรรมอันใหม่ยังไปมิได้นั้น ก็จะให้มีไปเล่า แลบุคคลผู้นี้ประพฤติผิด พระพุทธเจ้าตรัสธรรมเทศนาไว้แก่ภิกษุทั้งหลาย มิให้ขึ้นต้นไม้เล่น อยู่มามีอันตรายเป็นอาทิ คือว่าเสือช้างไล่  พระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตให้ภิกษุขึ้นต้นไม้หนีไภยนั้น ให้เอาชีวิตรอดประการหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสห้ามด้วยฐานะใด แลมีสัตว์อันร้ายก็ดี ปีศาจอันร้ายก็ดี มิให้ภิกษุอยู่ในฐานะเช่นนั้น อาตมภาพถวายพระพร ฯ

พระราชปุจฉาที่ 5
ว่าด้วยเรื่องแขกเมือง

            เมื่อปี พ.ศ. 2228 พระเจ้าตรัสใช้ให้นายสิทธิมาถามพระพรหมอีกเล่า ว่าบัดนี้แขกเมืองเข้ามาเป็นอันมาก พระพรหมจะเห็นเปนประการใด
            พระพรหมว่าบุญสมภารพระเจ้ามากนัก  แขกเมืองจึงเข้ามาดังนี้  แต่อายุกูนี้ได้สามพระยาแล้ว กูบ่ห่อนได้ยินว่า  แขกเมืองเข้ามาเปนอันมากดังนี้ แลซึ่งแขกเมืองเข้ามาดังนี้ ด้วยเดชะโพธิสมภารพระเจ้าแล
            นายสิทธิ์จึงบอกเล่าว่า บัดนี้แขกเมืองให้กราบทูลว่า แขกเมืองจะเข้ามาอิกมากกว่านี้เล่า แลพระเจ้าให้มาถามว่า  ซึ่งแขกเมืองจะเข้ามาอิกมากกว่านี้นั้น ยังจะเปนประการใด พระพรหมว่า แขกเมืองจะเข้ามาอิกนั้น ย่อมทราบอยู่ในพระไทยพระเจ้าทุกประการ แลกูมิว่าเลย แลกฎหมายเอาคำกูนี้ไปทูลให้พระเจ้าทราบเถิด
            นายสิทธิ์กฎหมายเอาคำพระพรหมมากราบทูล พระเจ้าทรงพระสรวล แล้วตรัสว่า  มหาพรหมนี้เจรจาหลักแหลมแลรู้หลักด้วย เสียดายเธอแก่นักแล้ว แม้นยังหนุ่มเราได้ไต่ถามกิจการทั้งปวง ไปภายน่า ฯ

| หน้าแรก | หน้าต่อไป | บน |