| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

พระราชปุจฉาที่ 6
ว่าด้วยความรู้ของพระโพธิสัตว์ในชาติก่อน

            ว่าพระโคดมบรมโพธิสัตว์ เมื่อเป็นพระเวสสันดรก็ดี พระเมตไตรยโพธิสัตว เมื่ออยู่ในดุสิตก็ดี หรือเมื่อจุติมาเกิดในมนุษย์ก็ดี จะรู้พระองค์ว่าจะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าฤาไม่
            ศักราช 1037 เถาะศก  พระศรีศักดิ์ ฯ รับพระราชโองการสั่งให้เผดียงสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ว่า พระสมณโคดมก็ดี พระเมตไตรยโพธิสัตวก็ดี ทั้ง 2 พระองค์นี้ เมื่อชาติเป็นพระมหาเวสสันดรนั้นก็ดี ยังรู้ว่าพระองค์จะได้ตรัสเปนพระฤามิรู้
            อนึ่งพระเมตไตรยโพธิสัตว์เมื่ออยู่ในดุสิตนั้น ยังรู้ว่าพระองค์จะได้ตรัสเป็นพระฤามิรู้
            อนึ่งพระเมตไตรยโพธิสัตว์ได้ตรัสเปนพระนั้นยังช้านานไป  เมื่อจุติมาเกิดในมนุษย์นี้เล่า ยังจะรู้ว่าพระองค์จะได้ตรัสเป็นพระฤามิรู้

แก้พระราชปุจฉาที่ 6

            สมเด็จพระโฆษาจารย์ถวายพระพรว่า
            ในโสทตฺตกีมหานิทานว่า พระสมณะโคดมเจ้า เมื่อเป็นพระบรมโพธิสัตว์นี้ มีจิตรยินดีในที่จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในประนิธานทั้ง 3 ประการ เมื่อมโนประนิธานทั้ง 7  อสงขัยนั้น ก็รู้ว่าอาตมาจะตรัสเป็นพระพุทธเจ้าให้ได้ จึงเปล่งวาจาในประนิธานทั้ง 2 นี้ รู้แต่ว่าจะเปนพระพุทธเจ้าให้ได้สิ่งเดียวนั้น แลรู้ว่ายังช้านานสิ้นกาลเท่าใด จึงจะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้านั้นมิได้รู้
            อีกประการหนึ่ง จะรู้ว่าได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าในกัลปนั้น ๆ ก็ดี ก็มิได้รู้ ต่อเมื่อกายวจีประนิธาน แลได้ทำนายในสำนักพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 24 พระองค์นั้น จึงรู้ว่าอาตมภาพได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้า เมื่อสิ้นกัลปเท่านั้น ๆ ในภัทธกัลปนี้ ด้วยได้ฟังพุทธฎีกาตรัสทำนายนั้น จำเดิมแต่ได้ทำนายแล้วนั้น มิได้ลืมที่จะตรัสเปนพระพุทธเจ้า แม้นในชาดกทั้งปวงนั้นก็ดี ก็ยอมบำเพ็ญพระบารมีต่าง ๆ เพื่อจะตรัสเปนพระพุทธเจ้า แม้นบังเกิดในกำเนิดเปนเดียรฉาน ปานดุจเปนช้างฉัททันต์ แลให้งาเปนทานแก่โสณุดรนั้น ก็ปราถนาแก่สรรเพ็ชญดาญาณ แลพระโพธิสัตวเกิดในกำเนิดใด ๆ ก็ดี ย่อมรู้ว่าอาตมภาพจะเปนพระพุทธเจ้าทุก ๆ กำเนิด  แม้นเกิดในตระกูลมิจฉาทิฐินั้นก็ดี  แม้นได้คบหาด้วยปาปมิตรนั้นก็ดี แลได้เปนมิจฉาทิฐิแล้วก็ดี ก็ได้กระทำกรรมอันผิดตามตระกูลแห่งปาปมิตรนั้นแล้วก็ดี ครั้นเห็นโทษนั้นว่ามิชอบ ก็ย่อมกลับมาบำเพ็ญบารมีที่จะตรัสเปนพระพุทธเจ้านั้นดุจเดียว อันนี้เปนธรรมดาพระโพธิสัตวแล  เมื่อเกิดเปนพระเวสันดรนั้น สมภารบริบูรณ์ถ้วนกำหนดแล้ว พระปัญญาแก่แล้วก็ยินดีในโพธิปาริจริยธรรม เหตุดังนั้น จึงรู้ว่าพระองค์จะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าเที่ยงแท้ ครั้นประสูติจากครรภ์ ก็ตรัสขอทรัพย์บำเพ็ญทาน เมื่อถึง 8 พระชัณษาทรงดำริจะให้อัชฌัติกทาน แลบริจาคพระราชทานวันละ 6 แสนทุกวัน แลช้างปัจจยนาคสัตตกมหาทาน แลบุตรบริจาคภริยาบิจาค นั้นก็ดี  เปนอันสละมิได้คิดกินแหนง เหตุรู้ว่าจะได้ตรัสแก่สรรเพ็ชญดาญาณเปนอันเที่ยงแท้ จึงตรัสพระราชโองการว่าสรรเพ็ชญดาญาณนี้ เปนที่รักแก่อาตมายิ่งบุตรทานนั้นได้ร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า
            ประการหนึ่ง เมื่อทรงพระดำริห์ว่า จะฆ่าพราหมณ์ให้ตายนั้น จึงทรงพระดำริห์ว่า อาตมานี้เปนภายใน พระโพธิสัตวเจ้าทั้งหลาย แล้วจะฆ่าพราหมณ์ให้ตายนั้นมิควร
            ประการหนึ่ง เมื่อขอพรคำรบ 8 ว่าอาตมานี้ ครั้นจุติจงไปบังเกิดในดุสิตสวรรค์ ครั้นลงมาจากดุสิดาสวรรค์ จงได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าเถิด มีพระราชโองการตรัสทั้งนี้ เหตุว่าพระองค์จะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้าจึงตรัสทั้งนี้
            ประการหนึ่ง พระเมตไตรยโพธิสัตว์ เมื่อจะลงมาสร้างสมภารในมนุษย์โลกนี้ ก็รู้ว่าพระองค์จะได้ตรัสเปนพระพุทธเจ้า ดุจพระสมณะโคดมนี้ดุจเดียว เหตุสมภารบริบูรณ์ 16 อสงไขยยิ่งแสนกัลป แล้วแลจะได้ตรัสในภัทธกกัลปนี้ แลชื่อว่าจิตรแห่งพระโพธิสัตวทั้งปวง ก็ย่อมผูกอยู่ในที่จะเอาสรรเพ็ชญดาญาณให้ได้ มิได้คิดถอยหลัง แม้นจะไหม้อยู่ในนรกสิ้น 4 อสงไขยยิ่งแสนกัลปก็ดี ก็จะเสวยทุกข์นั้นและจะเอาสรรเพ็ชญดาญาณให้ได้
            ประการหนึ่ง แม้มีผู้บอกว่า ผู้ใดจะเปนพระพุทธเจ้า ผู้นั้นเหยียบเท่ารึงก็ดีเหยียบถ่านเพลิงก็ดี เหยียบภูเขาอันสุกเปนเปลวก็ดี ลุยน้ำทองแดงดุจโลหกุมภีนรกนั้นก็ดี เหยียบกรวดอันลุกเปนเปลวก็ดี หนามก็ดี คมกรดก็ดี เต็มทั้งแสนโกฏิจักรวาฬนั้นไปได้ไซ้ ผู้นั้นจึงจะได้เปนพระพุทธเจ้า แลพระโพธิสัตว ก็มิได้กลัวทุกข์นั้น ก็จะเหยียบทั้งปวงนั้นไปให้ได้ จิตรพระโพธิสัตวทั้งปวง ก็ย่อมเปนอันมั่นคงดุจนี้ เหตุดังนี้ จึงมิได้ลืมในที่จะเปนพระพุทธเจ้านั้น แล ฯ

พระราชปุจฉาที่ 7
ว่าด้วยทศพลญาณ

แก้พระราชปุจฉาที่ 7 (ความที่ 1)

            สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  ขอถวายพระพร ฯ ด้วยเนื้อความทศพลญาณสูตร อันพระพุทธเจ้าตรัสเทศนา แก่พระสาริบุตรเถรนั้น เปนพิศดารกว้างขวาง แลอาตภาพถวายแต่โดยสังเขป ตามวารพระบาฬีว่า
            "ฐานญฺจ  ฐานโต อฐานญฺจ  อฐานโต  ยถาภูตํ  ปชานาติ" ฯ  "ตถาคโต"  อันว่าพระตถาคต  "ปชานาติ" ตรัสรู้  "ยถาภูตํ"  โดยอันมีแท้ "ฐานญฺจ"  ซึ่งธรรมอันเปนเหตุเปนปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลาย ฯ "ฐานโต"  โดยอันเปนเหตุเปนปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลาย  "ตถาคโต" อันว่าตถาคต  "ปชานาติ"  ตรัสรู้ "อฐานญฺจ"  ซึ่งธรรมอันมิได้เปนเหตุเปนปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลาย  "อฐานโต" โดยอันมิเปนเหตุเปนปัจจัยแก่ธรรมทั้งหลาย  อันนี้ชื่อทศพลญาณเปนประถม ฯ
            "กมฺมสมาฑานานํ  ฐานโส  เหตุโส  วิปากํ  ยถาภูตํ  ปชานาติ" ฯ  "ตถาคโต" อันว่าพระตถาคต   "ปชานาติ"  ตรัสรู้  "ยถาภูตํ" โดยอันมีแท้ "วิปากํ" ซึ่งวิบาก  "กมฺมสมาทานานํ  แห่งกรรมอันบุทคลทั้งหลาย ถือเอาแล้วแลกระทำ  "ฐานโส เหตุโส" โดยฐานะแลโดยเหตุ  อันนี้ชื่อทศพลญาณเปนคำรบ 2 ฯ
            "สพฺพตฺถคามินีปฏิปทํ  ยถาภูตํ  ปชานาติ" ฯ  ตถาคโต  อันว่าพระตถาคต "ปชานาติ" ตรัสรู้  "ยถาภูตํ"  โดยอันมีแท้  "สพฺพตฺถคามินีปฏิปทํ" ซึ่งอันประฏิบัติอันมีปรกติ จะไปในในคติทั้งปวง มีทุคติแลสุคติเปนอาทิ  อันนี้ชื่อทศพลญาณเปนคำรบ 3 ฯ
            "อเนกธาตุ  นานาธาตุโลกํ  ยถาภูตํ  ปชานาติ" ฯ  "ตถาคโต"  อันว่าพระตถาคต  "ปชานาติ" ตรัสรู้ "ยถาภูต" โดยอันมีแท้  "อเนกธาตุ    นานาธาตุโลกํ"  ซึ่งขันธโลกอันมีธาตุต่างๆ  มีอาทิคือจักษุธาตุ  อันนี้ชื่อทศพลญาณเป็นคำรบ 4 ฯ
             "สตฺตานํ  นานาธิมุตฺติกํ  ยถาภูตํ  ปชานาติ"  "ตถาคโต" อันว่าพระตถาคต  "ปชานาติ" ตรัสรู้  "ยถาภูตํ"  โดยอันมีแท้  "นานาธิมุตติกํ" ซึ่งอธิบายอธิมุตต่าง ๆ คือหีนาธิมุตแลปณีตาธิมุติ  "สตฺตานํ" แห่งสัตว์ทั้งหลาย  อันนี้ชื่อทศพลญาณเปนคำรบ 5 ฯ
              "ปรสตฺตานํ  ปรปุคฺคลานํ  อินทริยปโรปริยตฺตํ  ยถาภูตํ  ปชานาติ"ฯ  "ตถาคโต" อันว่าพระตถาคต  "ปชานาติ" ตรัสรู้   "ยถาภูตํ"  โดยอันมีแท้   "อินทริยปโรปริยตฺตํ" ซึ่งสภาวะอันเจริญ   แลถอยแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย  มีอาทิคือศรัทธา  "ปรสตฺตานํ"  แห่งสัตว์ทั้งหลายหมู่อื่น   "ปรปุคฺคลานิ" แห่งบุคคลทั้งหลายหมู่อื่นจากกัน  อันชื่อทศพลญาณเป็นคำรบ 6 ฯ
                "ฌานวิโมกฺขสมาธิสมาปตฺตีนํ  สงฺกิเลสโวทานวุฏฺฐานํ  ยถาภูตํ  ปชานาติ" ฯ   "ตถาคโต" อันว่าพระตถาคต  "ปชานาติ" ตรัสรู้  "ยถาภูตํ" โดยอันมีแท้  สงฺกิเลสโวทานวุฏฺฐานํ" ซึ่งสภาวะอันจะเสร้าหมอง แลอันบริสุทธิ์แลอันจะออก  "ญานวิโมกฺขสมาธิสมาปตฺตีนํ"  แห่งญาณทั้งหลาย 4 แลวิโมกข์ 8  แลสมาธิ 3  แลสมาบัติทั้งหลาย 9  วันนี้ชื่อทศพลญาณคำรบ 7  ฯ
            "อเนกวิหิตํ  ปุพฺเพนิวาสํ  อนุสฺสรติ" ฯ  "ตถาคโต" อันว่าพระตถาคต  "อนุสฺสรติ" รฤก  "ปุพฺเพนิวาส" ซึ่งขันธสันดานอันเปนที่อยู่แล้วแต่ในกาลก่อน  "อเนกวิหิตํ" อันมีประการเปนอันมาก อันนี้ชื่อทศพลญาณเปนคำรบ 8 ฯ
            "ทิพฺเพน  จกฺขุนา  วิสุทฺเธน  อติกกนฺตมานุสฺสเกน  สตฺเต  ยถากมฺมูปเค  ปชานาติ"  "ตถาคโต" อันว่าพระตถาคต  "ปชานาติ" ตรัสรู้  "สตฺเต" ซึ่งสัตว์ทั้งหลาย  "ยถากมฺมูปเค" อันควรแก่กรรม  "ทิพฺเพน  จกฺขุนา"  ด้วยทิพยจักษุ  "วิสุทฺเธน"  อันบริสุทธิ์  "อติกนฺตมานุสฺสเกน อันล่วงวิสัยแห่งมนุษย์ อันนี้ชื่อทศพลญาณเปนคำรบ 9 ฯ
            "อาสวานํ  ขยา อนาสวํ  เจโตวิมุตฺตึ  ปญฺญาวิมุตฺตึ  ทิฏเฐว  ธมฺเม  สยํ  อภิญฺญา  สจฺฉิกตฺวา  อุปฺปสมฺ ปชฺช  วิหรติ" ฯ
            "ตถาคโต" อันว่าพระคถาคต  "สยํอภิญฺญา ตรัสรู้ด้วยสยัมภูญาณอันอุดม  "สจฺฉิกตฺวา" กระทำให้แจ้ง  "ทิฏเฐว"ธมฺเม" ในอาตมภาพอันเห็นปรตยักษ์  เมาะว่าในปัจจุบันกาล
            "เจโตวิมุตฺตึ" ซึ่งอรหัตผล  "อนาสวํ  อันหาอาสวะมิได้  "ขยา" เหตุสิ้น  "อาสวานํ" แห่งอาสวะทั้งหลาย  อันนี้ชื่อทศพลญาณเปนคำรบ 10 ฯ
           ทศพลญาณ 10 ประการจบเท่านี้ ฯ

แก้พระราชปุจฉาที่ 7 (ความย่อ)

            สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชนาความที่ 1 ตั้งบาลีแปลเป็นข้อ ๆ ไปจนจบ 10 ประการ
            พระธรรมไตรโลก  ถวายวิสัชนาความที่ 2 ตั้งบาลีแต่น้อย  และว่าเนื้อความมาก  แล้วตอนท้ายถวาย วิสัชนาว่าทศพลญาณนี้  รู้แต่กิจแห่งตัวเองแต่ละสิ่ง ๆ ส่วนสัพพัญฺญุตญานนั้น  รู้อารมณ์ทั้งปวงทั่วไป

พระราชปุจฉาที่ 8
ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม

แก้พระราชปุจฉาที่ 8 (ความที่ 1)

            สัตตตีสโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ  "จตฺตาโร  สติปฏฺฐานา" คือสติปัฏฐานธรรม 4 ประการ
"จตฺตาโร สมฺมปฺปธานา" คือสัมมัปปธานวิริยธรรม 4 ประการ"   "จตฺตาโร อิทฺธิปาทา" คืออิทธิบาทธรรม 4 ประการ     "ปญฺจินฺทฺริยานิ" คืออินทริยธรรม 4 ประการ        "ปญฺจพลานิ" คือผลธรรม 5 ประการ
"สตฺตโพชฌงฺคานิ" คือโพชฌงค์ธรรม 7 ประการ        "อฏฺฐงฺคิกฺมคฺคานิ" คืออัฏฐังคิกอริยมรรค 8 ประการ ธรรมทั้งนี้นับเข้าด้วยกันเป็น 37 ชื่อสัตตตีสโพธิปักขิยธรรม จบเท่านี้ ฯ

แก้พระราชปุจฉาที่ 8 (ความย่อ)

            สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชนาความที่ 1 กล่าวแก้ ยกบาลี บอกแต่จำนวนย่อ ๆ
            พระธรรมไตรโลก ถวายวิสัชนาความที่ 2  กล่าวแก้ ยกบลีแปลแจงจำนวนพิสดาร

พระราชปุจฉาที่ 9
ว่าด้วยเหตุที่พระพุทธศาสนา มาประดิษฐานในปัจจันตประเทศ

แก้พระราชปุจฉาที่ 9 (ความที่ 1)

            อนึ่ง ซึ่งเนื้อความว่าโสฬสมหานครนั้น เมื่อพระศาสนาจะสูญนั้น พระไตรปิฎกทั้งปวงจะสูญไปแห่งใดสิ้น จึงหาผู้ใดจะร่ำเรียนมิได้ เนื้อความนี้ขอพระราชทานงดก่อน พิจารณาดูบาฬีในคัมภีร์ให้แม่นมั่น จึงจะหมายเข้ามาถวายขอถวาย แต่ตามอาตมภาพพิจารณาด้วยปัญญานี้พลาง
            เมื่อก่อนโสฬสมหานครนั้น  มีพระสงฆ์อันกอปด้วยอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ  ย่อมทรงพระไตรปิฎกขึ้นใจทุก ๆ  พระองค์  แลยังได้ไปเขียนพระไตรปิฎกใส่ไว้ในใบลาน  เหตุนั้น  กุลบุตรอันสืบมาภายหลังนี้บุญน้อย แลหาอุปนิสัยปัจจัยมิได้ แม้นถึงได้สดับฟัง เล่าเรียนในสำนักพระอาจารย์เจ้าก็ดี  มิอาจเพื่อจะทรงพระไตรปิฎกไว้ดุจพระอาจารย์เจ้านั้น  ครั้นพระอาจารย์เจ้านฤพานแล้ว  พระไตรปิฎกในโสฬสมหานครอันตรธานไปด้วย  คนทั้งหลายอันมีสมภาร จะถึงมรรคแลผลในโสฬสมหานครนั้น  พระพุทธเจ้าโปรดสิ้นแล้ว  เหตุนั้น  พระสาสนาจึงมิได้ตั้งอยู่ในโสฬสมหานคร บุคคลทั้งหลายผู้มีอุปนิสัยปัจจัยจะถึงมรรคผลนั้น ยังมีอยู่ในปัจจันตประเทศ  พระสาสนาจึงมาตั้งอยู่ในปัจจันตประเทศ  เพื่อจะสงเคราะห์ซึ่งคนผู้มีนิสัยปัจจัยอันเหลืออยู่  บุคคลผู้มีอุปนิสัยปัจจัย แลยินดีต่อพระสาสนาในที่อันใด  พระสาสนาจึงมิได้ตั้งอยู่ในที่อันนั้น  แลคนในโสฬสมหานครมิได้ยินดีในพระสาสนา  พระสาสนาจึงมิได้ตั้งอยู่ในโสฬสมหานคร  แลบุคคลทั้งหลายในปัจจันตประเทศนั้นยินดีต่อพระสาสนา  พระสาสนาจึงตั้งอยู่ในปัจจันตประเทศ  แลพระสาสนาในโสฬสนครจึงสูญสิ้นไป
                ขอถวายให้ทราบพระญาณบารมี  สมเด็จบรมบพิตร ฯ

แก้พระราชปุจฉาที่ 9 (ความที่ 2)

                พระธรรมไตรโลก ขอถวายพระพรว่า สาสนาในมัชฌิมประเทศอันตรธานไป ด้วยพระมหากษัตริย์ อันเสวยราชสมบัติในมัชฌิมประเทศนั้น มิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม 10 ประการ จึงประชาราษฎรทั้งปวง แตกฉานซ่านเซ็นออกไปประชุมในปัจจันตประเทศทั้ง 8 ทิศ  แลสงฆ์ทั้งปวงผู้ทรงไตรปิฎกเปนวาจุคต ย่อมอาศรัยซึ่งจตุปัจจัยแห่งทายกผู้ศรัทธา จึงจะค้ำชูสาสนาได้  เมื่อมัชฌิมประเทศร่วงโรย สงฆ์จึงไปประชุมในปัจจันตประเทศ เหตุจะอาศรัยทายกอันมีศรัทธา ในกาลขณะนั้น พระไตรปิฎกยังไม่มิยกขึ้นสู่ใบลาน แลขันธสันดานแห่งโยคาวจรผู้ทรงไตรปิฎกนั้น ประดุจดังหีบอันใส่พระไตรปิฎก แลโยควจรหมู่นั้น ครั้นไปตั้งในปัจจันตประเทศ ได้ชื่อว่าพาเอาพระไตรปิฎกทั้งปวง ไปประดิษฐานไว้ในปัจจันตประเทศ แลกุลบุตรทั้งปวง  ในปัจจันตประเทศนั้น ได้สิกขนาการพระไตรปิฎก แต่สำนักแห่งพระเถระทั้งปวงนั้น เปนปรัมปราภัตสืบ ๆ กันมา จึงพระสาสนารุ่งเรืองเปนอันมากในปัจจันตประเทศ แลมัชฌิมประเทศทั้งปวงจึงสูญไปด้วยประการดังนี้ ฯ

พระราชปุจฉาที่ 10
ว่าด้วยเหตุที่ห้ามมิให้บวชกะเทย

ความว่า เหตุไรจึงห้ามมิให้บวชกระเทย ? และพระอรหันต์นั้น เหมือนคนกระเทยหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ 10 (ความย่อ)

            (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ?) ถวายวิสัชนาความที่ 1 ว่า พระพุทธเจ้าห้ามมิให้บวชคนกระเทยนั้น เพราะเหตุคนกระเทยเป็นอภัพพบุคคล มิควรจะได้มรรคได้ผล เหตุมีกิเลสกล้า พระอรหันต์ต่างกันกับคนกระเทย เพราะคนกระเทยไม่มีของลับ และยังมีราคะ โทสะ โมหะ อวิชชา  ตัณหาและบาปธรรมทั้งปวง ส่วนพระอรหันต์นั้น ของลับยังคงมีอยู่ แต่ราคะ โทสะ โมหะ อวิชชา  ตัณหาและบาปธรรมทั้งปวงหามีไม่
            พระธรรมไตรโลก ถวายวิสัชนาความที่ 2 ว่า มนุษย์ทั้งปวงเปนไตรเหตุกปฎิสนธิก็มี เปนทุเหตุกปฎิสนธิก็มี ทั้งสองพวกนี้พระพุทธเจ้าอนุญาตให้บวชได้ ส่วนคนกระเทยนั้นเปนอเหตุกปฎิสนธิ พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้บวช และคนกระเทยนั้นยังมีราคะตัณหา มีความกำหนัดตามคดีโลก เหมือนมนุษย์ทั้งปวง ส่วนพระอรหันต์นั้นกิเลสราคะขาดหายไป จึงไม่เหมือนกัน

| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |