| หน้าต่อไป |

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
loading picture
            พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพิธีที่ผสมด้วยลัทธิพราหมณ์ และพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท และยังมีลัทธิ เทวราชของเขมรมาผสมอยู่อีกส่วนหนึ่ง มีร่องรอยให้เห็นคือ น้ำพุที่เขาลิงคบรรพต ข้างบนวัดภู ทางใต้นครจำปาศักดิ์ ได้นำมาใช้เป็นน้ำอภิเษก ตามความในศิลาจารึก (พ.ศ. 1132)
            ตามหลักเดิมของไทยนั้น เมื่อกษัตริย์พระองค์ใหม่ จะทรงเป็นแต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปก่อน จนกว่า จะได้ทรงรับราชาภิเษก ในระหว่างนั้นเครื่องยศบางอย่างก็ต้องลด เช่น พระเศวตฉัตร มีเพียง 7 ชั้น ไม่ใช่ 9 ชั้น คำสั่งของพระองค์ไม่เป็นโองการ ฯลฯ
            ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ไม่ได้มีหลักฐานบรรยายการทำพิธีบรมราชาภิเษกเอาไว้ เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ รับราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 2275 ได้ทำพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพิธีลัด
            ในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช สันนิษฐานว่าได้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะได้พบหลักฐานที่อ้างพระบรมราชโองการของพระองค์ การใช้พระบรมราชโองการ แสดงว่าได้รับราชาภิเษก แล้ว
            เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ขึ้นเสวยราชสมบัตินั้นได้ทำพิธีบรมราชาภิเษกอย่างลัด ครั้งหนึ่งก่อน เนื่องจากติดงานพระราชสงครามกับพม่า จนเมื่อสร้างพระนครทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเสร็จ จึงได้ทรงทำบรมราชาภิเษกโดยพิสดารอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ปีพ.ศ. 2328 และได้เป็นแบบแผนในรัชกาลต่อ ๆ มา โดยเปลี่ยนรายการบางอย่างไปบ้าง เช่น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ พราหมณ์และราชบัณฑิตย์กราบบังคมทูลเป็นภาษาบาลี แล้วแปลเป็นภาษาไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตอบทั้ง 2 ภาษา ในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็คงใช้แบบอย่างนี้ โดยมีการแก้ไขเล็กน้อยเช่นกัน
            พิธีบรมราชาภิเษกสมัยนี้ แต่เดิมสำคัญอยู่ที่ทรงรับน้ำอภิเษก เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในแคว้นทั้ง 8 แต่ในสมัยนี้อนุโลมเอาการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นการสำคัญที่สุด เพราะตอนนี้พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมสังข์ บัณเฑาะว์ ฆ้องชัย ฯลฯ พระอารามทั้งหลายย่ำระฆัง    แบบอย่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ว่าได้ทำกันมาเป็น 2 ตำรา คือ หลักแห่งการราชาภิเษกมีรดน้ำแล้วเถลิงราชอาสน์เป็นเสร็จพิธี การสรงมุรธาภิเษกกับขึ้นอัฐทิศรับน้ำเป็นการรดน้ำเหมือนกัน ขึ้นภัทรบิฐกับขึ้นพระแท่นเศวตฉัตร เป็นเถลิงราชาอาสน์เหมือนกัน การขึ้นพระที่นั่งอัฐทิศและภัทรบิฐนั้น เป็นอย่างน้อย ทำพอเป็นสังเขป การสรงมุรธาภิเษก และขึ้นพระแท่นเศวตฉัตรนั้นเป็นอย่างใหญ่ ทั้งสองอย่างสำหรับให้เลือกทำตามโอกาสจะอำนวย  ถ้าสงสัยไม่แน่ใจว่าจะเอาอย่างไหน ก็เลยทำเสียทั้ง 2 อย่าง
            งานพระบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ มีแบบอย่างที่มีทั้งของเก่าและของใหม่ โดยก่อนเริ่มพระราชพิธีที่กรุงเทพ ฯ ได้มีการเสกน้ำสรงปูชนียสถานสำคัญ หรือที่ตั้งมณฑลทั้ง 17 มณฑล เพิ่มวัดพระมหาธาตุสวรรคโลกซึ่งอยู่ในมณฑลพิษณุโลกอีกแห่งหนึ่ง รวมเป็น 18 มณฑล  ส่วนที่กรุงเทพฯ ก็มีพิธีจารึกพระสุพรรณบัตร ดวงพระชาตา และพระราชลัญจกรแผ่นดิน
loading picture
            เมื่อถึงกำหนดงาน ก็มีพิธีตั้งน้ำวงด้ายวันหนึ่ง กับสวดมนต์เลี้ยงพระอีก 3 วัน ครั้งถึงวันที่ 4 เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สรงพระมุรธาภิเษกสนาน แล้วทรงเครื่องต้นออกสู่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระราชอาสน์แปดเหลี่ยม ซึ่งเรียกว่า พระที่นั่งอัฐทิศ ภายใต้พระเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ราชบัณฑิต และพราหมณ์นั่งประจำทิศทั้งแปด ผลัดเปลี่ยนกันคราวละทิศ กล่าวคำอัญเชิญให้ทรงปกปักรักษาทิศนั้น ๆ แล้วถวายน้ำอภิเษก และถวายพระพรชัย เมื่อเวียนไปครบ 8 ทิศ แล้ว กลับมาประทับทิศตะวันออก หัวหน้าราชบัณฑิตย์ซึ่งนั่งประจำทิศตะวันออก กราบบังคมทูลรวบยอดอีกทีหนึ่ง แล้วจึงเสด็จไปสู่พระราชอาสน์อีกด้านหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า พระที่นั่งภัทรบิฐ
loading picture
            พระมหาราชครู ร่ายเวทสรรเสริญไกรลาสจนเสร็จพิธีพราหมณ์ แล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาบาลีก่อน แปลเป็นไทยว่า
            " ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ขอได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาส   แก่ข้าพระพุทธเจ้า  ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับพระมุรธาภิเษก เป็นบรมราชาธิราช เป็นเจ้าเป็นใหญ่ของประชาชนชาวสยาม  เหตุดังนั้นข้าพระพุทธเจ้าทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท มีท่านเสนาบดีเป็นประธาน และสมณพราหมณ์จารย์ทั้งปวง พร้อมเพรียงมีน้ำใจเป็นอันเดียวกัน ขอขนานพระปรมาภิไธย ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดั่งได้จารึกไว้ในพระสุพรรณบัตรนั้น  และขอมอบถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันสมพระราชอิสริยยศ ขอได้ทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยโดยกำหนดนั้น และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์นี้ ครั้นแล้ว ขอได้ทรงราชภาระดำรงราชสมบัติโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และสุขแห่งมหาชนสืบไป "
ทรงรับว่า  " ชอบละ พราหมณ์ "


| หน้าต่อไป | บน |