| หน้าแรก | หน้าต่อไป | |
พระบรมราโชบายการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดินใน ร.๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ประเทศไทย (สยาม) ต้องเผชิญกับภัยจากประเทศตะวันตกอยู่รอบทิศ ในขณะที่ระบบการบริหารราชการแผ่นดินยังไม่ก้าวหน้า และคล่องตัวเท่าที่ควร การทหารยังไม่ทันสมัย จำนวนประชากรยังมีน้อย กำลังทางเศรษฐกิจก็ยังมีน้อย การศึกษาของประชากรเพิ่งเริ่มต้นและยังไม่แพร่หลาย การคมนาคมแผนใหม่เพิ่งเริ่มต้น ด้านภายนอกประเทศ การล่าอาณานิคมของประเทศทางตะวันตก ได้แผ่ขยายเข้ารุกรานประเทศต่าง ๆ ในเอเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียอาคเนย์ ทุกประเทศโดยรอบประเทศไทย ตั้งแต่ลาว เวียดนาม กัมพูชา มลายา พม่า และในวงกว้างออกไปคือ จีนฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และอินเดีย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ทรงวางแผนพัฒนาประเทศในหลายสาขางาน และทรงดำเนินการป้องกันการรุกรานประเทศในทุกวิถีทางมาโดยตลอด ในการนี้ พระองค์ได้ทรงศึกษาวิชาการใหม่ ๆ ด้วยพระองค์เองเพื่อนำแนวคิดอันเป็นประโยชน์มาใช้ นอกจากนั้น ยังทรงรับฟังความคิดเห็นของเจ้านาย ข้าราชการและผู้ทรงคุณวุฒิ เปิดโอกาสให้เสนอแนะข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์มาใช้ในการปรับปรุงงาน เป็นเหตุให้มีเจ้านายและข้าราชการหลายท่านได้กราบบังคมทูลเสนอแนะการแก้ไขปรับปรุงงาน ต่อพระองค์เป็นจำนวนมาก เช่น คำกราบบังคมทูลของกรมหลวงวรศักดาพิศาล คำกราบบังคมทูลของเจ้านาย และข้าราชการ เพื่ออัญเชิญเสด็จประพาสยุโรป เพื่อทอดพระเนตรกิจการ ร.ศ.๑๐๓ (พ.ศ.๒๔๒๗) เจ้าหมื่นไวยวรนารถทูลเกล้า ฯ ถวายความเห็นเรื่องจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน ร.ศ.๑๐๔ (พ.ศ.๒๔๒๘) เป็นต้น ในปี พ.ศ.๒๔๒๗ กองทัพอังกฤษได้ยกเข้าตีกรุงมัณฑเลย์ของพม่าได้ และจับพระเจ้าธีบอ กษัตริย์พม่าไว้ได้ ทำให้พม่าต้องสูญเสียเอกราช และถูกผนวกเข้าไว้เป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย ซึ่งตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อนแล้ว ประเทศในย่านเอเซียต่างตระหนกในเหตุการณ์นี้ และตระหนักถึงภัยของชาติมหาอำนาจตะวันตกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชอาณาจักรสยามที่มีพระราชอาณาเขตติดต่อกับราชอาณาจักรพม่า เหตุการณ์ร้ายของพม่า ที่มาของหนังสือกราบบังคมทูล เมื่อข่าวเรื่องราชอาณาจักรพม่าเสียเอกราชแก่อังกฤษ ทำให้อังกฤษมีอาณานิคมในย่านนี้เพิ่มมากขึ้น ได้แพร่สะพัดในยุโรป หนังสือพิมพ์ของประเทศมหาอำนาจ ก็ได้ลงบทความยกย่องความสามารถทางทหารของอังกฤษ รวมทั้งวิเทโศบายทางการเมืองที่เหนือกว่าประเทศด้อยพัฒนาในแถบทวีปเอเซีย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ในฐานะอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศส ได้ทรงทำรายงานสถานการณ์ถวายเลขานุการ และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ทั้งได้ทรงแปลบทความหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวพูดถึงประเทศพม่าแนบมาด้วย เพื่อขอให้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เมื่อได้ทรงทราบแล้ว มีพระราชดำริว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นภัยร้ายแรงต่อพระราชอาณาจักรไทย จึงได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์พระราชทานมายังพระองค์เจ้าปฤษฎางค์โดยตรง ให้แสดงความคิดเห็นว่าควรปรับปรุงแก้ไขบ้านเมือง เพื่อป้องกันเหตุรัายสำหรับประเทศสยามอย่างไร พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงได้ทรงทำหนังสือกราบบังคมทูลขึ้น เรียกในครั้งนั้นว่า หนังสือกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ทรงนำเอาพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ ไปเปิดเผยหารือกับเจ้านาย และข้าราชการสถานทูต แล้วรับคำเสนอแนะมาทำเป็นหนังสือกราบบังคมทูล ผู้ที่ร่วมลงนามในหนังสือดังกล่าวรวม ๑๑ ท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการไทย ประจำสถานทูตอังกฤษ และฝรั่งเศส นับแต่อัครราชทูตลงมาถึงข้าราชการระดับรอง ๆ ลงมาคือ กรมหมื่นนเรศวรวรฤทธิ์ ต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรวรฤทธิ์พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย พระยาดำรงราชพลขันธ์ (นกแก้ว คชเสนี) ต่อมาคือพระยา มหาโยธา หลวงเดชนายเวร (สุ่น ศาสตราภัย) ต่อมาคือ พระดรุณรักษา แล้วได้เลื่อนเป็นพระยาอภัยพิพิธ หลวงวิเลศสาลี (นาค ณ ป้อมเพชร) ต่อมาคือ พระยาอภัยพลภักดิ์ นายเสน่ห์ หุ้มแพร (บุศ เพ็ญกุล) ต่อมาคือ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ขุนปฏิภาณพิจิตร (หวุ่น) นายเปลี่ยนหรือนายร้อยเอกเปลี่ยน อยู่ในสกุลหัสดิเสวี ต่อมาได้เป็นหลวงวิสูตรบริหาร และนายร้อยตรีสอาด อยู่ในสกุลสิงหเสนี ต่อมาได้เป็นนายพลตรีพระยาสิงหเสนี ฯ ข้อเท็จจริงตามหนังสือกราบบังคมทูล บางเรื่องแม้จะเป็นความจริงอยู่หลายประการ แต่ก็มีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เพราะบางสิ่งบางอย่างที่กล่าวว่าล้าหลังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ทรงปรับปรุงให้ก้าวหน้าไปแล้ว เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นในด้านการปกครอง ได้มีการแต่งตั้งสภาปริวิเคาซิล อันเป็นที่ปรึกษาในพระองค์ เป็นที่ทำหน้าที่ในการออกกฏหมาย ในด้านการบริหารก็กำลังทดลองจะจัดตั้งหน่วยงานระดับกระทรวง อย่างไรก็ตามควรนับได้ว่า คำกราบบังคมทูลมีคุณประโยชน์ ทำให้มีการเร่งรัดปฏิรูปการปกครองแผนใหม่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ได้ริเริ่มให้ราษฎรลงคะแนน ในการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ เริ่มจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ และเริ่มจัดงานสุขาภิบาลในระยะต่อมา ซึ่งล้วนเป็นการวางรากฐานงานปกครองในพระราชอาณาจักรให้มีความมั่นคง นับเป็นงานเบื้องต้นของระบอบประชาธิปไตย พระราชหัตถเลขาตอบ พระบาทสมเด็จพระจุลบจอมเกล้า ฯ ทรงมีพระราชดำรัสตอบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ หลังจากที่ทรงทราบความแล้วเป็นเวลาประมาณ ๔ เดือน เรียกสารนี้ว่า พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน แต่ตามต้นฉบับเรียกเรียกพระราชหัตถเลขานี้ว่า พระราชดำรัสตอบความเห็นของผู้ที่จะให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จ.ศ.๑๒๔๗ มีความว่า ด้วยเราได้รับหนังสือของท่านทั้งปวงลงชื่อพร้อมกันส่งมาเป็นความเห็นว่าด้วยอันตราย จะมีแก่บ้านเมืองอย่างไร การที่ควรจะหลีกหนีให้พ้นอันตราย ด้วยจัดการได้ถึงที่เพียงเท่าใด ความเห็นของท่านทั้งปวงที่กล่าวมาแล้วนั้น เราได้พิจารณาโดยถ้วนถี่ทุกข้อทุกประการแล้ว ในเบื้องต้นนี้ เราขอตอบแก่ท่านทั้งปวงว่า เราชอบใจอยู่ในการซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการของเราได้ไปเห็นการในประเทศอื่น แล้วระลึกถึงประเทศของตน ปรารถนาที่จะป้องกันอันตราย แลจะให้มีความยั่งยืนมั่นคงอยู่ในอำนาจอันเป็นอิสรภาพ ในข้อความบรรดาที่ได้กล่าวมาแล้วที่เป็นตัวใจความสำคัญทุกอย่างนั้น เรายอมรับว่าเป็นการจริงดังนั้น ยกไว้แต่ข้อเล็กน้อยบางข้อ ซึ่งบางทีจะเป็นเข้าใจผิดไป แต่หาเห็นควรที่จะยกขึ้นพูดในที่นี้ไม่ แต่เราขอแจ้งความแก่ท่านทั้งปวง ให้ทราบพร้อมกันด้วยว่าความที่น่ากลัวอันตรายอย่างใดซึ่งได้กล่าวมานั้น ไม่เป็นการที่จะแลเห็นได้ขึ้นใหม่ของเราเลย แต่เป็นการได้คิดเห็นอยู่แล้วทั้งสิ้น แลการที่ควรจะทำนุบำรุงให้เจริญอย่างไรเล่า เราก็มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะได้จัดการนั้นให้สำเร็จตลอดไปได้ ไม่ต้องมีความห่วงระแวงอย่างหนึ่งอย่างใด ว่าเราบจะเป็นผู้ขัดขวางในการซึ่งจะเสียอำนาจ ซึ่งเรียกว่าแอบโซลูดเป็นต้นนั้นเลย เพราะเราได้เคยทดลองรู้มาแล้ว ตั้งแต่เวลาเป็นตุ๊กตา ซึ่งไม่มีอำนาจอันใดเลยทีเดียว นอกจากชื่อ จนถึงเวลาที่มีอำนาจขึ้นมาโดยลำดับจนเต็มบริบูรณ์ในบัดนี้ "ในเวลาที่มีอำนาจน้อยปานนั้นได้ความลำบากอย่างไร และในเวลาที่มีอำนาจมากเพียงนี้ ได้ความลำบากอย่างไรเรารู้ดี จำได้ดี" เพราะที่จำได้อยู่อย่างนี้เหตุไรเล่าเราจึงบจะมีความปรารถนาอำนาจปานกลาง ซึ่งจะเป็นความสุขแก่ตัวเรา แลจะเป็นการมั่นคงถาวรของพระราชอาณาจักรด้วยนั้น เพราะเหตุฉะนี้เราขอให้ท่านทั้งปวงเข้าใจว่าเราไม่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งจะต้องบีบคั้นให้หันลงหาทางกลาง เหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินยุโรป ซึ่งมีมาในพงศาวดาร แลเพราะความเห็น ความรู้ซึ่งเราได้เป็นเจ้าแผ่นดินมาถึงสิบแปดปี ได้พบได้เห็นแลได้เคยทุกข์ร้อน ในการหนักการแรงการเผ็ดการร้อนของเมือง ซึ่งมีอำนาจจะมากดขี่ประการใด ทั้งได้ยินข่าวคราวจากเมืองอื่น ๆ ซึ่งมีเนือง ๆ มิได้ขาด แลการซึ่งเราได้ขวนขวายตะเกียกตะกาย อยู่ในการที่จะเปลี่ยนแปลงมาแต่ก่อน จนมีเหตุบ่อย ๆ เป็นพยานของเราที่ยกขึ้นชี้ได้ว่า เราไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเหมือนอย่างกับคางคกอยู่ในกะลาครอบ ที่จะพึงทรมานให้สิ้นทิฐิถือว่าตัวโตนั้นด้วยอย่างหนึ่งอย่างใดเลย เมื่อเราได้ชี้แจงถึงตัวเราเอง ว่าไม่เป็นผู้กีดแก่การจำเริญแลการมั่นคงของบ้านเมืองดังนั้นแล้ว เรายังต้องเป็นผู้รับผิดที่คนทั้งปวงจะลงร้าย ว่าเพราะเราเป็นคนอ่อน ไม่สามารถที่จะหักหาญแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เพราะความเห็นซึ่งจะถือว่า ถ้าเราประสงค์อย่างไรการนั้นคงจะตลอดไปได้ การซึ่งไม่ตลอดไปได้เพราะเราไม่คิดจะให้ตลอดดังนี้ ดูเหมือนเราเป็นผู้ทำให้เสียอำนาจเจ้าแผ่นดินไป เพราะความอ่อนของตัว ในความข้อนี้ เราไม่อยากจะซัดโทษให้แก่ท่านแต่ก่อนเลย แต่เป็นการจำเป็นที่จะต้องพูดว่า อำนาจเสนาบดีเจริญขึ้น เพราะมีอำนาจได้ตั้งเจ้าแผ่นดินมาแต่ก่อนมากนักแล้ว จนตลอดถึงเวลาเราได้เป็นเจ้าแผ่นดินขึ้น ก็เป็นเวลาเคราะห์ร้าย ที่ตัวเราเป็นเด็ก เป็นโอกาสยิ่งใหญ่ที่จะถอนอำนาจเจ้าแผ่นดินได้หมด เหมือนว่าวที่ปล่อยจนหมดสายป่านไม่มีเหลือเลย ยังเหลือแต่ธุระที่เราจะทำอยู่เพียงจะชั่งกำลังตัวว่า เมื่อเราเป็นเด็กอยู่มีกำลังเพียงเท่านั้น จะรั้งว่าวนั้นไม่ให้หกล้ม ฤาจะปล่อยให้ว่าวหลุดลอยเสีย แต่เป็นเดชะบุญที่เราเป็นแต่เด็กกำลังเดียวเท่านั้น ได้อาศัยเอาป่านพันหลักค่อย ๆ สาวเข้ามา จนไม่มีอันตรายหลุดลอยไปได้ แต่ก็ยังเป็นพนักงานอย่างเดียวที่จะสาวสายป่านให้สั้นเข้ามาทุกที สั้นเข้ามาทุกที เมื่อเหลือกำลังก็หย่อนไป เมื่อพอที่จะสาวก็สาวเข้ามาพันหลักไว้ เมื่อผู้ใดได้รู้การเก่า ผู้นั้นจะเห็นได้ว่าความยากลำบากของเรา เป็นประการใด ถ้าผู้ที่ได้เห็นแต่การภายหลังก็จะเข้าใจว่า เราได้นั่งขี้เกียจฤาโง่เซอะ มาเป็น ๑๗ - ๑๘ ปี ที่พูดมานี้ถ้าจะฟังในเวลานี้ ก็เห็นเป็นการเพ้อเจ้อ แต่ถ้าคิดถึงแต่ก่อนแล้วยิ่งเป็นการสำคัญมาก ยากที่จะทำ ซึ่งเราถือว่าเราไม่ได้ขี้เกียจอยู่เปล่าเลย ยกเอามาว่านี้เพราะจะให้เห็นว่าการแต่ก่อนนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุใดคำซึ่งถือว่าความปรารถนาของเราเป็นสำคัญ จะใช้ทั่วไปทุกเวลาไม่ได้ เราไม่ยอมรับผิดชอบในนั้นเลย เพราะเราได้ทำการเต็มกำลังแล้ว แต่เวลาปีหนึ่งสองปีนี้ดูเป็นโอกาสดีขึ้นมาก ที่ควรจะจัดการต่อไปอีกได้ เราก็ได้คิดจัดการต่อไปเมื่อได้รับอนุญาตของเรานั้น เป็นที่ชอบใจของเราอยู่ เราเห็นสมควรที่จะชี้แจงการที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้อย่างไร ความต้องการของเมืองเรานั้นต้องการอันใด ที่ผู้ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้ชิดต่อราชการ จะรู้แน่ได้โดยยาก คือราชการในเมืองเรานี้ ถ้าจะเทียบกับประเทศอื่น ๆ การแต่เดิม ๆ มานั้น การเอกเสกคิวตีฟ กับลิยิสเลตีฟ รวมอยู่ในเจ้าแผ่นดินกับเสนาบดีโดยมาก แต่ครั้งเมื่อริเยนซี ในตอนต้น อำนาจนั้นก็อยู่แก่ริเยนต์แลเสนาบดีทั้งสองอย่าง ครั้นภายหลังมาเมื่อเราค่อยมีอำนาจขึ้น ตำแหน่งเอกเสกคิวตีฟนั้นเป็นที่หวงแหนของริเยนต์แลจนถึงเคานซิล ที่ปรึกษาทำกฎหมายเนือง ๆ เป็นต้น จนตกลงเป็นเสนาบดีเป็นคอเวอนเมนต์ เราก็กลายเป็นหัวหน้าของพวกลิยิสเลติฟเคานซิล เป็นออปโปลิชั่นของคอเวอนเมนต์ตรง เมื่อภายหลังมามีเหตุการณ์ในการคอเวอนเมนต์มากขึ้น เป็นโอกาสที่เราจะได้แทรกมือลงไปได้บ่อย ๆ เราจึงได้ถือเอาอำนาจเอกเสกคิวตีฟได้ทีละน้อยละน้อย จนภายหลังตามลำดับ ลำดับมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ เรากลายเป็นตัวคอเวอนเมนต์ เราเชื่อเป็นแน่ว่าในการลิยิสเลตีฟเคานซิลครั้งนั้น คงจะได้แรงเพราะเรา จึงได้ทำการตลอดไปได้ไม่มากก็น้อย ครั้นเรากลับมาเป็นเอกเสกคิวตีฟคอเวอนเมนต์เสียแล้ว การลิยิสเลตีฟไม่มีผู้อุดหนุน เพราะเป็นการเหลือกำลัง ที่เราจะทำทั้งสองอย่างได้ตลอดเช่น พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน ด้วยราชการเกิดขึ้นมากกว่าหลายสิบเท่านัก แลเพราะเมมเบอร์ที่เป็นตัวสำคัญขาดไปเสียบ้าง จึงทำให้ลิยิสเลตีฟเคานซิลมีเสียงอ่อนไป ทำกฎหมายอันใดก็ไม่ใคร่จะทำสำเร็จได้ โทษที่การลิยิสเลตีฟเคานซิลเสียไป จะลงเอาว่าเพราะแต่ก่อนเราตั้งใจ อุดหนุนอยู่การจึงตลอดไป ในภายหลังเพราะเราทิ้งเสียจึงเสียไป ก็ต้องรับว่าเป็นการจริงอยู่ แต่ต้องขอชี้แจงให้เข้าใจอีกว่า การที่เราทำอยู่ในตำแหน่ง เอกเสกคิวตีฟคอเวอนเมนต์นี้ ถ้าจะเปรียบกับการคอเวอนเมนต์อังกฤษก็เหมือนหนึ่งเป็นปรีเมียเองในตัว แต่ได้เปรียบกว่ากันคนละอย่างคือ ปรีเมียอังกฤษต้องรู้การคิดการที่สำคัญทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นไว้แต่การเล็กน้อย คนอื่นทำไปได้ตำแหน่งมินิสตรีของตัว แต่ส่วนเราต้องรู้การตั้งแต่ใหญ่ลงไปจนเล็กทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องทำเองสั่งเองทุกสิ่ง ตลอดจนถ้อยความเล็กน้อย ไม่ใคร่จะได้อาศัย ฤาไม่ได้อาศัยเสนาบดีตามตำแหน่งนั้น ๆ เลย เราต้องรับการตำแหน่งนี้หนักยิ่งกว่าปรีเมียอังกฤษ แต่ปรีเมียอังกฤษต้องนั่งในเฮาสออฟปาลียเมนต์ คอยแก้ความ ส่วนเราไม่ต้องนั่งเป็นได้เปรียบปรีเมียอังกฤษ เมื่อการของเราหนักปานนี้ ไม่มีเวลาที่จะหยุดได้ จึงไม่ได้อุดหนุนในการลิยิสเลตีฟเคานซิล ให้แข็งแรงได้เหมือนแต่ก่อน จะหาเวลาที่จะเรียงหนังสือให้ยาว ๆ หน่อยหนึ่งก็ยากเป็นที่สุด อย่าว่าแต่จะทำกฎหมายเลย แต่ในการเอกเสกคิวตีฟคอเวอนเมนต์ เราสามารถที่จะพูดได้ว่า ยังชั่วขึ้นกว่าแต่เป็นแน่ แต่จะเรียกว่าดีนั้นไม่ได้เลย เพราะมีช่องที่จะเสียได้มาก แลไม่เป็นการถาวรด้วย เพราะฉะนั้น การต้องการในเมืองเราเวลานี้ ที่เป็นต้องการสำคัญนั้นคือ คอเวอนเมนต์รีฟอม จำเป็นที่จะให้พนักงานของข้าราชการแผ่นดินทุก ๆ กรม ทำการให้ได้เนื้อเต็มหน้าที่ แลให้ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ทำการเดินให้ถึงกันโดยง่าย โดยเร็วทำการรับผิดชอบในหน้าที่ของตัว หลีกลี้ไม่ได้ นี่เป็นความต้องการอย่างหนึ่ง ความต้องการอีกอย่างหนึ่งนั้นคือ ผู้ทำกฎหมายให้เป็นผู้สำหรับที่จะตริตรองตรวจการทุกสิ่งทุกอย่าง ในพวกที่ว่ามาแล้วนั้น จะทำฤาตัดสินการขัดข้องด้วยทุกวันนี้ จะหาผู้ที่ทำกฎหมายได้ เกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีทีเดียว ได้คิดที่จะทำกฎหมายอันใดอันหนึ่งหลายเรื่องนักหนาแล้ว ไม่สำเร็จไปได้สักเรื่องหนึ่ง เพราะผู้ที่จะทำได้นั้น มักเป็นผู้ที่มีการในตำแหน่งที่ต้องทำเสมอจนเหลือที่จะทำได้ ถ้าจะให้ประชุมเคานซิลทำอย่างเช่นแต่ก่อน ก็ไม่สำเร็จได้เลยสักเรื่องเดียว ความต้องการทั้งสองสิ่งนี้ เป็นต้องการใหญ่ของเมืองเรา ในการที่จะจัดตำแหน่งเสนาบดีให้รับการได้จริงทุกสิ่งทุกอย่างในสำรับเก่าที่เป็นอยู่บัดนี้ ให้กลับทำการอย่างใหม่ได้จริงนั้นไม่ยาก แต่เพียงที่เคยเป็นออปโปสิชั่นกันมาเสียแต่ก่อน ที่จำเป็นจะต้องเห็นไม่ต้องกัน ฤาแกล้งบิดพลิ้วจะให้เสียนั้นอย่างเดียวเลย เป็นการที่เหลือกำลังจะทำไปได้ก็มี เหมือนอย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ กงสุลฝรั่งเศสมีหนังสือมา เรื่องประกาศห้ามไม่ให้บรรทุกกำลังศึกเข้าไปในเมืองจีน เราจึงได้มีคำสั่งเจ้าพระยาภาณุวงศ์ให้ทำคำประกาศ แลให้แปลหนังสือที่ประเทศทั้งปวง ได้ตกลงกันอย่างไร ลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ให้ลูกค้าทั้งปวงทราบ ได้สั่งการโดยละเอียดถ้วนถี่แล้ว ครั้นเมื่อร่างประกาศมาให้เราดู มีข้อความเพิ่มเติมลงไปอีก ว่าเมืองไทยเรามีแต่ข้าวเป็นสินค้า ข้าวไม่เป็นอาวุธ ไม่ต้องห้ามดังนี้ ที่เติมลงนี้ก็ประสงค์จะให้ดีเท่านั้น ใช่จะแกล้งอย่างหนึ่งอย่างใดเลย แต่หาได้ดูในหนังสือฉบับที่ให้แปลนั้นเองไม่ ว่าเขาจะกำหนดห้ามอันใด จะประกาศให้ทราบแลไม่มีกำหนดว่าจะห้ามอันใดบ้าง แลมีหนังสือพิมพ์ข่าวโทรเลข ในเวลานั้นลงออกอึงไปว่า ฝรั่งเศสจะห้ามแต่ข้าวอย่างเดียว ก็ไม่รู้เสียการวางมือไปไม่ได้อย่างนี้ ท่านเสนาบดีกรมนี้ก็นับว่าเป็นผู้มีปัญญายังชั่วกว่ากรมอื่น ๆ ยังเป็นดังนี้จะป่วยกล่าวไปไยถึงกรมอื่น ๆ เล่า เพราะเหตุอันนี้เราจึงต้องรับภาระอันหนัก โดยมิได้อยากจะขวนขวายไปรับเอามาเลย ดังเช่นกล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ถึงตัวท่านเสนาบดีเองเล่า เราก็เชื่อแน่ว่าได้รู้ตัวเหมือนกันว่า กำลังตัวเองไม่พอที่จะรับแก่การปัตยุบันนี้ได้ บางครั้งบางคราวเป็นแน่ จึงได้พากันหลบเลี่ยง ไม่ใคร่อยากเข้าที่ประชุมเลยเป็นนิจ ถ้าเข้าที่ประชุมก็ไม่พูดเสียบ้าง พาลโกรธน้อยอกน้อยใจเป็นการดูถูกดูแคลนไปบ้าง ฤาพูดออกมาแล้วการนั้นมักไม่ใคร่จะได้เป็นตามพูด เพราะความเห็นอย่างอื่นมีมากกว่า ก็เห็นเป็นคำพูดของตัวไม่มีราคาทำให้เกิดความท้อถอยเห็นเสียว่า สู้รักษาให้เป็นคมในฝักไม่ได้ เมื่อการเป็นอยู่ดังนี้ ก็เป็นเหตุที่ชวนให้คิดอยากเปลี่ยนแปลงใม่ แต่ต้องคิดอีกว่า การที่จะเปลี่ยนแปลงนั้น ในท่านสำรับเก่านี้จะทำการได้ฤาไม่ เมื่อทำการไม่ได้แล้วก็มีช่องเดียวแต่จะต้องรีไซน์ การที่มินิสเตอร์จะรีไซน์พร้อมกันมาก ๆ ซึ่งไม่เคยมีในเมืองไทยเลย จะมีเหตุผลประการใดท่านทั้งปวงก็ได้คิดชั่งคิดตวงมาแล้วทุกอย่าง แต่การที่ชั่งตวงนั้นจะถือว่า เป็นความถูกต้องมาแต่ดั้งเดิม เว้นแต่ไม่คิดนั้นไม่ได้ ถ้าเป็นแต่ก่อน จะชั่งน้ำหนักอย่างนี้ไม่ได้เลย แต่ในเวลานี้เราเห็นว่าจะเป็นไปได้อยู่แล้ว แต่ถึงอย่างไร ๆ ก็ดี ยังเป็นที่ตะขิดตะขวงใจมากแลเป็นที่ตกใจของคนตลอดหัวเมือง ทั่วพระราชอาณาเขตไม่น้อยเลย แต่บางทีก็จะมีเหตุผลได้บ้าง แต่ที่จะเป็นใหญ่โตอันใดไปเป็นไปไม่ได้ ผู้ซึ่งนั่งอยู่นอกจากวง ก็แลเห็นว่าไม่เป็นการยากอันใด แต่ผู้ซึ่งจะเป็นผู้ทำนั้นเป็นความลำบากอยู่บ้าง แต่การเรื่องนี้ก็ได้รั้งรอมานาน แลได้คิดแก้ไขอย่างอื่นมากแล้ว ก็เห็นเป็นการไม่ตลอดได้ ราชการทั้งปวงก็บีบคั้นเร่งรัดเข้า แลโอกาสที่จะจัดก็คอยโปร่ง ๆ ขึ้นทุกที เห็นเป็นเวลาที่ควรจะจัดได้ เราจึงขอบอกท่านทั้งปวงว่าการเรื่องนี้เรากำลังได้คิดจะจัดอยูทีเดียว เมื่อท่านทั้งปวงจะช่วยคิดแล้ว จงคิดการเรื่องนี้เถิด จะได้เทียบเคียงกับความคิดที่ในกรุงเทพ เลือกเอาตามภาระที่สมควรแก่บ้านเมือง ในส่วนลิยิาเลตีฟเคานซิลนั้น เป็นการจำเป็นจะต้องมีดังเช่นเราได้กล่าวมาแล้ว แต่ไม่เป็นการง่ายเลย ที่จะหาตัวผู้ซึ่งจะเป็นการได้จริง ผู้ซึ่งจะมีปัญญาชี้เหตุการติแลชมได้นั้นมีมากคนไป แต่ไม่พ้นจากที่จะเหมือนกับชี้บอกว่า สิ่งนี้แดง สิ่งนี้ดำ สิ่งนี้ขาว ซึ่งแลเห็นอยู่แก่ตาทั่วกันแล้วอย่างนั้นเอง แต่ผู้ซึ่งจะทำให้เป็นรูปร่างอย่างใดเข้านั้น ไม่ใคร่มีตัวเลย อยู่ในไม่พ้นแล้วแต่จะโปรด ฯ ฤาถ้าทรงแล้วก็ได้ แต่ถ้าจะทรงด้วยกำลังเองไม่ไหว ให้ไปทำมาก็เปล่าทั้งนั้น นิ่งเงียบ ๆ เสียพอลืมแล้วก็กลายเป็นเพราะไม่ทรง จึ่งได้ค้าง ส่วนตัวเราเองที่ไหนไหวเพราะการออกเป็นก่ายเป็นกองดังเช่นกล่าวมาแล้ว ถ้าลิยิสเลตีฟเคานซิลที่ตั้งขึ้นใหม่ ยังเป็นอย่างนี้อยู่แลัว ไม่มีดีกว่ามีเพราะเราจะถูกตั้งชื่อว่าเป็นผู้สำหรับที่เขาจะว่าเท่านั้น ไม่มีประโยชน์อันใดขึ้นอีก การเรื่องที่จะทำกฎหมาย และจะคิดการทั้งปวงในกระบวนได้เสียของกฎหมายที่จะออกไปเหล่านี้ เราเห็นว่าแต่กำลังคนไทยที่จะตั้งขึ้นเป็นลิยิสเลตีฟเคานซิล คงจะทำไม่ตลอดเป็นแน่ ด้วยการเกี่ยวข้องเจือปนกับต่างประเทศมากนัก เหลือความรู้ที่จะรู้ไปได้จริง ๆ จำเป็นจะต้องมีหมอความคนหนึ่งฤาสองคน มาเป็นที่หารือจึ่งจะทำการไปได้ การสองสิ่งนี้ รวมความก็อย่างเดียวกันคือ คอเวอนเมนต์รีฟอม นี่แหละเป็นต้นเหตุที่จะจัดการทั้งปวงได้สำเร็จตลอด ถ้าการเรื่องนี้ยังไม่เป็นการเรียบร้อยได้แล้ว การอื่น ๆ ยากนักที่จะตลอดไปได้ เพราะฉะนั้นเราจึ่งขอให้ท่านทั้งปวงคิดการเรื่องนี้ ตามที่รับมาว่าจะคิดนั้นคิด การอื่น ๆ ที่จะต้องรีฟอมบ้าง จัดขึ้นใหม่บ้างนั้น เราของดไว้พูดต่อภายหลัง ซึ่งเราพูดอธิบายถึงตัวเราเองดังกล่าวข้างต้นนั้น ใช่จะมุ่งหมายปักหน้าว่า ท่านทั้งปวงลงเนื้อเห็นเอาว่าเราเป็นดังเช่นที่ได้กล่าวมานั้นทั่วไป เราเชื่อว่าคงมีผู้รู้แน่ว่าใจเราเป็นอย่างไร แต่ที่ว่าให้ตลอดดังนี้ เพื่อว่าคนในปัตยุบันนี้ฤาสืบไปภายหน้าที่ไม่สามารถรู้น้ำใจเรา เมื่อได้ยินได้ฟังการทั้งนี้ จะเข้าใจน้ำใจของเราผิดไป จึ่งจำเป็นจะต้องว่าไว้ให้ตลอด ตามความที่เป็นจริงอย่างไรในใจของเรา (พระราชหัตถเลขา) สยามินทร์ |
|||||||||||||||||||||||||||||||
| หน้าแรก | บน | หน้าต่อไป | |