|
|
|
|
หนังสือกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงราชการแผ่นดิน
ร.ศ.๑๐๓ (พ.ศ.๒๔๒๗)
เหตุทั้งปวงที่มีประสงค์และสามารถกราบบังคมทูล
ด้วยเห็นว่า เป็นเวลาที่อันตรายจะมาถึงกรุงสยามได้ด้วยเหตุภัยต่าง ๆ ซึ่งถ้าไม่ได้กราบบังคมทูล
ฯ ตามที่รู้เห็นแล้วก็เป็นการขาดกตัญญู และน้ำพระพัฒน์ทั้งความรักใคร่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
ฯ กับทั้งพระราชอาณาเขต
เรื่องที่จะกราบบังคมทูล ฯ มีอยู่สามข้อเป็นประธาน คือ
อันตรายซึ่งจะมีมาถึงกรุงสยาม
ด้วยความปกครองของกรุงสยามอย่างเช่นมีอยู่ในปัตยุบันจะเป็นไปได้ด้วยเหตุต่าง
ๆ ดังเช่นมีตัวอย่างของชาติที่มีอำนาจใหญ่ ได้ประพฤติต่อชาติซึ่งหาอำนาจป้องกันปกครองมิได้
ทางที่จะป้องกันอันตรายได้
คือ การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยการปกครองบ้านเมืองอย่างที่มีอยู่ในปัตยุบันนี้
โดยทางยุติธรรมฤาอยุติธรรมของศัตรูก็ดี ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในทางทะนุบำรุงรักษาบ้านเมือง
ตามทางที่ญี่ปุ่นได้เดินทางยุโรปมาแล้วแลซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีศิวิไลซ์ นับกันว่าเป็นทางอันเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองได้
ทางป้องกันนั้นจะสำเร็จมิสำเร็จอาศัยสิ่งอันใด
ที่จะจัดการตามข้อสองให้สำเร็จได้จริงนั้นอาจเป็นไปได้อย่างเดียว แต่จะตั้งพระราชหฤทัยว่าสรรพสิ่งทั้งปวง
ต้องจัดให้เป็นไปโดยจริงอย่างอุกฤษฎ์ ทุกสิ่งทุกประการไม่เว้นว่าง
อันตราย
ว่าด้วยอันตรายทั้งปวงซึ่งจะมาถึงกรุงสยามด้วยชาติยุโรปจะเบียดเบียน
และยกขึ้นอ้างว่าเป็นยุติธรรมด้วยเหตุใด
ภัยอันตรายที่จะมีมานั้น ต้องมาแต่ข้างนอกพระราชอาณาเขต และจะมาจากประเทศที่มีอำนาจมากกว่ากรุงสยาม
มีประเทศหนึ่งประเทศใดในยุโรปเป็นต้น ชาติยุโรปชาติหนึ่งชาติใด จะต้องประสงค์เมืองหนึ่งเมืองใดเป็นเมืองขึ้นแล้ว
ต้องมีทางที่เขาเรียกว่ายุติธรรมที่จะเอาเมืองนั้น ๆ ได้ ทางธรรมดาที่ชาติยุโรปใช้อยู่นั้น
๑. อ้างความกรุณามนุษย์
อ้างว่าเป็นธรรมดา ผู้มีความกรุณาต่อมนุษย์ด้วยกันทั่วไป ต้องประสงค์ที่จะให้มนุษย์มีความสุขความเจริญ
และได้รับความยุติธรรมเสมอทั่วกัน
๒. อ้างความเจริญของประเทศยุโรปแลความไม่เจริญของเอเซีย
แล้วจึงเห็นต่อไปว่า ใช่แต่จะเป็นการกีดขวางความเจริญของเอเซียเท่านั้น ไม่แต่เป็นทางกีดขวางของความเจริญแห่งประเทศที่เดินทางศิวิไลซ์ด้วย
จึงเป็นช่องให้ประเทศหนึ่งประเทศใดในยุโรปคิดเข้าเป็นผู้ปกครองจัดการบ้านเมืองให้เจริญ
เพื่อจะได้ประโยชน์ทั่วกัน
๓. อ้างว่าโจรผู้ร้ายและการบำรุงรักษาไม่เรียบร้อย
ทำให้เกิดอันตรายถึงชาวยุโรปด้วย ยกว่ารัฐบาลนั้น
ๆ จัดการบ้านเมืองไม่เรียบร้อย จึงมีโจรผู้ร้ายทำอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สมบัติทั้งปวง
อันตรายนั้นมาถึงชาวยุโรป ซึ่งทำผลประโยชน์อยู่ในประเทศนั้นด้วย จึงเป็นช่องทางอันหนึ่งของชาวยุโรป
ที่จะเข้าจัดการบ้านเมืองนั้นได้ เพื่อประโยชน์ที่จะให้ได้ความสุขทั่วไปทั้งชาวยุโรปและคนในชาตินั้น
ๆ และทั้งจะกำจัดคนพาลด้วย
๔. อ้างการที่ไม่เปิดบ้านเมืองให้เกิดผลต่อมนุษย์ทั่วกันเป็นการเหนี่ยวความเจริญของยุโรป
ชาติใด ๆ ในยุโรปซึ่งมีความเจริญใหญ่โตมาแล้ว และจะตั้งอยู่ได้ต่อไปก็ดี ต้องอาศัยการค้าขายเป็นกำลัง
เหตุฉะนั้นบ้านเมืองใด ซึ่งมีสินค้าและทรัพย์แผ่นดิน แต่หาได้เปิดและคิดให้เป็นทางค้าขาย
เพื่อเป็นกำลัง และประโยชน์ต่อตน และท่านไม่ก็เป็นช่องทางที่ชาวยุโรปจะมาเปิดบ้านเมืองให้เป็นทางค้าขาย
และทำบ่อแร่บ่อทองให้เป็นประโยชน์ขึ้น
รวมทางซึ่งประกอบสี่ข้อข้างบนนี้ลงความอย่างใด
แต่ทางทั้งสี่ข้อนี้ต้องมารวมกันอยู่ในข้อเดียวว่า ทางให้ความสุขแก่มนุษย์เสมอกัน
อ้างความเจริญของประเทศยุโรป ทางระงับโจรผู้ร้ายหรือเปิดทางค้าขาย ต้องประกอบไปด้วยการปกครองรักษาแผ่นดินของเมืองนั้น
ๆ ทั้งสิ้น เมื่อเมืองใดมีแผ่นดิน มีทรัพย์ในแผ่นดิน และราษฎรอยู่ในแผ่นดินนั้นตามสมควร
แต่เมืองนั้นไม่มีอำนาจ และความคิดที่จะจัดแจงปกครองบ้านเมืองของตน ให้เป็นประโยชน์แก่ตน
และท่านได้แล้ว ก็ไม่ควรที่จะยึดเหนี่ยวเอาแผ่นดิน และทรัพย์ที่เป็นของสำหรับให้มนุษย์ทั้งโลกได้สวมประโยชน์
และความสุขในนั้นด้วยให้เสียไปเปล่า ซึ่งยุโรปคิดดังนี้เป็นการถูกโดยทางยุติธรรมของโลกอย่างยิ่ง
ยุติธรรมของยุโรปเสมอยุติธรรมในกฎหมายไทย
เหมือนหนึ่งกฎหมายไทยมีอยู่ข้อ ๑ ว่า ถ้าผู้จับจองไร่นาไว้ มิอาจสามารถที่จะทำให้เป็นผลประโยชน์ได้
เมื่อพ้นพระราชกำหนดแล้วผู้หนึ่งผู้ใดจะมาจับจองไปทำให้เป็นประโยชน์ ผู้ที่เป็นเจ้าของเดิมก็ไม่มีอำนาจที่จะขัดขืนได้ฉันใด
การที่ประเทศยุโรปได้เที่ยวครอบครองบ้านเมืองน้อยใหญ่ในประเทศเอเซีย มีโกโลนี
(อาณานิคม) ของอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นต้น และการที่เข้าครอบครองนั้นได้ด้วยสาเหตุศาลหรืออย่างใด
ๆ ก็ดี ไม่มีชาติใดว่ากล่าวติเตียนว่าเป็นอยุยติธรรมไม่ เพราะสาเหตุนั้นจะมีพอหรือไม่ที่จะพาลรบ
หรือเข้าครอบครองด้วยอุบายอย่างใดก็ดี แต่ความป่า
ความประสงค์อันประเสริฐของยุโรปสามารถปิดทางป้องกันมิให้ยุโรปเบียดเบียนเอเซียได้
แต่ความประสงค์ของยุโรปนั้นมีอยู่อย่างเดียว แต่ที่จะบำรุงความเจริญของโลกให้มนุษย์มีความสุขเสมอทั่วกัน
ป้องกันไม่ให้ยุโรปเบียดเบียนเอเซียได้
แต่ประเทศที่ต้องกดขี่อยู่ในใต้ปกครองของชาวยุโรปนั้น ก็ยังคิดเห็นๆ ไปต่าง
ๆ ว่า ยุโรปทำการข่มเหงเพราะว่ามีอำนาจน้อย แต่เมื่อได้พิเคราะห์ดูโดยละเอียดแล้วก็จะเห็นได้ว่า
การที่ทำนั้นเป็นทางเมตตากรุณา แต่เพื่อประโยชน์และความสุขของตน และราษฎรในเมืองซึ่งอยู่ในการปกครองด้วย
ข้อความในหนังสือพิมพ์ที่ประเทศยุโรปกดขี่เข้าครอบครองประเทศเอเซีย
ในทางยุโรปเดิม และความคิดเห็นของชาวยุโรป ในการที่เขาเห็นควรจะเข้าปกครองบ้านเมืองใด
ๆ ซึ่งเห็นว่าบำรุงรักษาตัวเองไม่ได้
เหตุใดชาติยุโรปจึงเข้ากันในทางเบียดเบียนชาติเอเซีย
ชาติยุโรปอิ่น ๆ ก็พลอยเห็นดี หาได้คิดที่จะช่วยชาติเล็กน้อยไม่ เพราะว่าการที่ชาติใดจะไปช่วยนั้น
เขาต้องมีประโยชน์อย่างหนึ่งหรือเมื่อชาติใดไปข่มเหงเมืองเล็กน้อย ประโยชน์ของเขาที่ได้อยู่อาศัยพลอยเสียไปด้วยหนึ่ง
แต่ทั้งสองข้อนี้ชาติที่จะช่วยยังต้องคิดเหมือนกันว่า เมืองที่กำลังน้อยนั้นตั้งอยู่ตามนิสัยประเทศเอเซียแล้ว
เขาจะมีผลประโยชน์มากน้อยเท่าใด และถ้าเขาอยู่ในใต้ปกครองของชาติยุโรปชาติหนึ่งชาติใด
ผลประโยชน์ของเขาจะประมูลขึ้นหรือไม่ เมื่อคิดไปดังนี้แล้ว ความเห็นของชาวยุโรปต่าง
ๆ ก็พร้อมเพรียงกันว่า ชาติเล็กน้อยนั้น ถึงชาติใด ๆ ในยุโรป จะมีผลประโยชน์ในการค้าขาย
หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากอยู่แล้วก็ดี แต่ให้อยู่ในความปกครองของชาติหนึ่งชาติใดในยุโรป
แล้วชาติทั้งปวง คงจะต้องได้ผลประโยชน์มากขึ้นเป็นแน่ การที่เขาคิดดังนั้นก็เพราะการปกครองรักษาของชาติเล็กนั้นไม่ดีพอ
หรือมิอาจสู้ความปกครองของชาติยุโรป ที่จะทำให้แก่ชาติในใต้บังคับของเขาได้
การปกครองกรุงสยามทุกวันนี้เป็นช่องที่จะให้ยุโรปเบียดเบียน
เห็นอย่างเดียวว่ากรุงสยามที่มีการปกครองอย่างทุกวันนี้ เป็นช่องทางอันใหญ่
ที่ชาติหนึ่งชาติใดจะมารบเอาหรือปกครองด้วยอุบายทางหนึ่งทางใด จะมารบเขาหรือปกครองด้วยอุบายทางหนึ่งทางใด
ดังมีตัวอย่างแล้วนั้น
อันตรายซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยฝรั่งมีดินแดนใกล้กรุงสยามด้วยเหตุใด
ในเวลาทุกวันนี้ฝรั่งเศสได้ไปใกล้กรุงสยามมาก และคิดจะขึ้นมาเวลาใด ก็อาจสามารถที่จะทำได้ในเวลานั้นเอง
เพราะการที่ฝรั่งเศสได้ทำต่อประเทศต่าง ๆ นั้นมีช่องทางที่กรุงสยามพอที่เขาจะจับสาเหตุเอาได้เหมือนกัน
อันตรายนั้นเป็นการใกล้กรุงสยามอย่างที่สุดจนมีหนังสือพิมพ์ออกความเห็นกะเวลาทำนายว่าไม่ช้าใน
๕ ปี คงจะต้องเกิดเหตุการณ์ กรุงสยามถ้าจะคิดรักษาแล้ว
ต้องเป็นการจำเป็นที่จะนิ่งอยู่ไม่ได้เลย
การแก้ไข
ว่าด้วยการแก้ไขป้องกันอันตราย
จากอันตรายดังกล่าวแล้วนั้น คงจะมีการแก้ไขรักษากรุงสยามให้พ้นอันตราย
ทางป้องกันซึ่งได้คิดแล้วไม่เป็นทางป้องกันได้จริงเพราะเหตุใด
ทางแก้ไขต่าง ๆ และได้เดินทางนั้นซึ่งเห็นว่าเป็นที่พ้นภัยอันตรายได้ แต่ทางเหล่านั้นก็ดี
หรือคิดกันอยู่แต่ว่าจะเดินต่อไป เห็นว่าไม่เป็นทางที่ป้องกันอันตรายได้จริงเลย
ว่าด้วยทางป้องกันซึ่งได้คิดแล้วใช้ไม่ได้อย่างใด
เปรียบเทียบในทางดังกล่าวนั้น
๑. ทางอ่อนหวานอะลุ้มอล่วยใช้ไม่ได้อย่างใด
ทางมีความอ่อนหวานที่ยอมอะลุ้มอล่วยเมื่อเวลาศัตรูมาจับสาเหตุจับข้อที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เพื่อประสงค์ให้ศัตรูมีความสงสาร ผ่อนผันให้บ้างพอสำเร็จตลอดไปได้เป็นเมื่อเป็นคราว
และโดยถ้าจะเสียพระราชอาณาเขตบ้าง หรือค่าปรับไหมก็ยอม แต่ความคิดอ่อนน้อมยินยอมอันนี้เป็นความคิดผิด
และใช้ไม่ได้ ด้วยตัวอย่างซึ่งชาติมีอำนาจได้ประพฤติแก่ชาติมหาอำนาจมิได้
- ญี่ปุ่นได้เดินทางอ่อนหวานผิดไปอย่างใด
ความคิดอันอ่อนหวานอันนี้ ญี่ปุ่นได้ใช้มาช้านานแล้ว แต่เป็นการที่เขาเห็นว่าใช้ไม่ได้อีกต่อไป
เพราะได้เห็นชัดในการอ่อนน้อมอะลุ้มอล่วยตามไปนั้นมีแต่จะเสียทุนเข้าไปทุกครั้งทุกคราว
และเพื่อประสงค์ที่จะให้เขาสงสารนั้นก็เป็นประกันได้แต่เพียงผ่อนสั้นให้เป็นยาว
และต่อไปสาเหตุเก่าที่แล้วไปนั้น ก็คงกลับมาให้เป็นข้อเป็นเหตุเดิมร่ำไป จนญี่ปุ่นเห็นจริงใจว่าการที่จะให้ยุโรปสงสารนั้นได้อย่างเดียว
แต่ที่จะจัดการบ้านเมืองของตน ให้สมควรที่เขาจะสงสาร และเกรงใจได้ญี่ปุ่นจึงมิได้คิดหวังใจในการอุดหนุน
หรือความสงสารของประเทศยุโรปเลย ตั้งใจแต่จะจัดการให้เป็นยุติธรรม และเอาข้อยุติธรรมนั้น
เป็นเครื่องกดขี่ให้ประเทศยุโรปนับถือ ยอมให้มีทางได้เสียเสมอกัน จนในเร็ว
ๆ นี้จะได้ใช้กฎหมายของญี่ปุ่น ให้ชาวยุโรปที่อยู่ในเมืองนั้นปฏิบัติตาม เหมือนดังราษฎรญี่ปุ่นเอง
เห็นว่าเมืองใด ๆ ที่มีอำนาจน้อยย่อมต้องใช้ความอ่อนหวานนี้ แต่เมืองนั้น
ๆ เมื่อเวลาที่ชาติมีอำนาจใหญ่จะต้องประสงค์แล้ว ทางอ่อนหวานยินยอมเท่านั้น
ก็ไม่ปรากฏว่าทำให้บ้านเมืองรอดจากเป็นข้าได้
๒. ทางที่จะป้องกันด้วยกำลังทหาร
ทางที่จะต่อสู้ด้วยกำลังทหารเมื่อเวลาที่ภัยอันตรายภายนอกมาถึงนั้นเป็นทางที่ใช้ไม่ได้เหมือนกัน
- เป็นทางผิด ป้องกันไม่ได้ด้วยเหตุใด
ได้สังเกตตามพงศาวดารยุโรปที่มีมา ยังไม่พบว่าชาวยุโรปรบชาติต่ำกว่า ซึ่งเป็นชาติในเอเซียแล้วปราชัยแก่เอเชียนั้น
ๆ ชาติยุโรปมีแต่ได้ชัยชนะและอาจสามารถที่จะทำสัญญาเอาตามความประสงค์ของเขาในตอนปลายได้
และเมื่อชาติยุโรปได้รบเมืองใดชนะแล้ว ก็ย่อมคิดเอาเงินค่าที่ใช้ในการรบที่เขาต้องเสียไปนั้นแก่ชาติที่แพ้จนเหลือเกินที่จะนึกว่าชาติยุโรปที่ไหน
จะมีรบเราเพราะเขากลัวเสียเงินนั้น คิดดังนี้ไม่ถูก เพราะเขารบครั้งใด เงินที่เสียไปก็ได้คืน
ยังซ้ำกลับคิดเอากำไรทุกครั้ง เขาจะต้องกลัวเสียเงินทำไม
- ชาวยุโรปเห็นชัยชนะของชาติเอเชียต่อชาติยุโรปเหมือนกำลังทำให้ชาติเอเชียนั้นเดินถอยหลังในทางประเสร็จไป
ความคิดที่ได้พูดจากันในยุโรปมีอยู่เสมอว่า
ถ้าชาติยุโรปชาติใดได้ไปรบแล้ว พ่ายแพ้แก่ชาติน้อย เป็นความเสียอันใหญ่ ดังไปทำให้ชาตินั่นกลับเดินถอยหลัง
ในความเจริญรุ่งเรืองในบ้านเมืองนั้น ทั้งเป็นการเสียประโยชน์ และความป้องกันอันตรายของชาติยุโรปและอื่น
ๆ ด้วย ถ้ายุโรปได้รบแล้วควรต้องเอาชัยชนะให้ได้ และเมื่อได้เมืองนั้น ๆ มาแล้ว
ก็อาจสามารถที่จะทะนุบำรุงให้เจริญขึ้นได้
จะว่าโดยละเอียดขึ้นอีก ที่สุดไทยจะมีทหารที่จะต่อสู้ได้อย่างมากเพียง ๕๐,๐๐๐
และการที่จะจัดทหารให้ได้ ๕๐,๐๐๐ ก็ต้องออกพระราชทรัพย์ซื้ออาวุธต่าง ๆ และเครื่องสำหรับทหารพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง
เงินนี้ได้คิดถัวให้ได้จริงเหมือนทหารในยุโรปแล้ว ก็เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ ชั่ง
อย่างน้อยที่จะต้องเสียในชั้นต้น การที่จะจัดทหารให้สำเร็จขึ้นได้มากถึง ๕๐,๐๐๐
นั่นจะต้องเสียเวลาหลายปี
- จัดทหารไม่เสร็จทันการด้วยเหตุใด
อันตรายนั้นใกล้กรุงสยามที่สุด เวลาที่จะรอจัดทหารให้ถึง ๕๐,๐๐๐ หาพอกันกับเวลาที่อันตรายจะมาถึงไม่
โดยถ้ามีเวลาพอหรือจะรอไปให้จวนตัวอีกแล้ว จึงจะคิดจัดนั้น การหาซื้อเครื่องศัตราวุธมิใช่เป็นการเร็ว
ต้องเสียเวลามากเหมือนกัน และถ้าเมืองหนึ่งเมืองใดในยุโรป หรืออเมริกาทราบข่าวว่า
เมืองไมตรีของเขาจะทำสงครามกับไทย และทั้งเขาจะคิดอิจฉาริษยากันเองก็ดี รัฐบาลไทยคงจะได้ความลำบากมาก
ที่จะซื้ออาวุธและเครื่องต่าง ๆ สำหรับทหาร ฯลฯ
- เหตุใดถ้ากรุงสยามมีชัยชนะแล้วยังรักษาต่อไปไม่ตลอดได้
ฯลฯ เห็นว่าถึงเราจะมีชัยชนะแก่เขาก็ดี ก็เป็นจะชนะได้เป็นคราว ฯลฯ
- ถึงไทยจะรักษาด้วยกำลังทหารสำเร็จ ก็ไม่เป็นการเจริญต่อบ้านเมืองได้ด้วยเหตุใด
เห็นด้วยกับความเห็นของชาวยุโรปว่า จะเป็นการเดินถอยหลังของความเจริญแห่งบ้านเมือง
เพราะว่าไทยเมื่อมีชัยชนะแก่ชาติยุโรปแล้ว ความประสงค์อันดีอันยุตธรรมของยุโรปเป็นต้น
การเปิดสินค้า การระงับโจรร้าย และทั้งการให้ความสุขแก่มนุษย์ให้เสมอทั่วกัน
ฯลฯ เหล่านี้ไม่อาจจะเป็นได้ โดยจริงที่จะเป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง
เห็นว่าขนบธรรมเนียมของไทยทุกวันนี้ อย่างดีก็มากที่ผิดทั้งทางโลกทางธรรมแท้ก็มี
และถ้าธรรมเนียมชั่วเหล่านี้มิได้เปลี่ยนแปลง และชาติยุโรปจะไปบังคับให้เปลี่ยนแปลง
ถ้าไทยขัดขืนได้ด้วยกำลังทหาร แล้วธรรมเนียมนั้นก็คงยังตั้งอยู่เสมอ และเมื่อตั้งอยู่ตราบใด
จำเป็นต้องกีดขวางความเจริญของกรุงสยามและราษฎรทั่วไป ฯลฯ
๓. ความเห็นในทางอาศัยภูมิประเทศของกรุงสยามเป็นที่ป้องกันอยู่แล้ว
ไม่ป้องกันได้จริงด้วยเหตุใด ตามภูมิประเทศของกรุงสยาม
ที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศที่อยู่ในบำรุงชาติของยุโรปทั้งสองคือ อังกฤษ และฝรั่งเศส
จึงยังเป็นที่พูดให้เห็นจริงได้อีกทางหนึ่งว่า กรุงสยามจะตั้งอยู่เป็นเอกราชได้
เหมืองเมืองอิยิปต์ หรือเมืองเบลเยี่ยม และเมืองสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น เพราะจะได้เป็นกำแพงในระหว่างเขตแดนอังกฤษและฝรั่งเศส
ฯลฯ ถ้าไทยรักษาบ้านเมืองให้เรียบร้อย และรักษาทางพระราชไมตรีทั้งสองชาติให้เจริญ
ก็มิต้องกลัวภัยอันตรายต่อไปอีกเลย
ที่ถือเอาดังนี้ เห็นว่าเป็นการถูกต้อง แต่จะต้องเข้าใจว่ากรุงสยามที่จะตั้งอยู่ดังนั้นอยู่ได้
เหมือนกำแพงกั้นเขตแดนของชาติทั้งสองเท่านั้น และเขาจะยอมให้มีอยู่แต่แผ่นดินอย่างแคบที่สุด
แต่ยาวพอตลอดเขตแดนของเขาก็ได้ ฯลฯ
- อังกฤษและฝรั่งเศสไม่ได้ริษยากันและกันจะแบ่งดินแดนไทยให้เหลืออยู่เป็นกำแพงกั้นเท่านั้น
การที่อังกฤษกับฝรั่งเศส คิดจะแบ่งดินแดนกรุงสยาม ให้เหลือพอเป็นกำแพงนี้
เมืองทั้งสองได้คิดและลงมือทำอยู่แล้ว อังกฤษยอมให้ฝรั่งเศสเอาเมืองเขมร และอังกฤษเองก็คิดล่วงลามเข้ามาเขตแดนมลายู
เป็นที่ให้เห็นได้ว่าเขามิได้มีความริษยาซึ่งกันและกัน การที่แบ่งบ้านเมืองไทยให้เหลือเป็นแต่กำแพงดังนี้
เขาอาจที่จะทำได้ด้วยทางต่าง ๆ ฯลฯ และที่จะคิดว่าทางแก้ไขการอันนี้ เพียงแต่จะรักษาทางพระราชไมตรี
และจัดการรักษาบ้านเมืองอย่างเดิมดังนี้ไม่ได้ ฯลฯ
๔. เถียงว่าไทยได้จัดแจงบำรุงบ้านเมืองอยู่แล้วอย่างทุกวันนี้
อีกทางหนึ่งซึ่งเห็นว่า เป็นการถือผิด ๆ คือ มีความหวังใจว่าชาติหนึ่งชาติใด
จะมาข่มเหง กดขี่ด้วยกำลังอำนาจแล้ว เข้าครอบครองกรุงสยามด้วยความยุติธรรมคือ
อ้างว่าไทยไม่จัดการให้มีผลประโยชน์ จะเข้ามาจัดการให้เกิดความเจริญขึ้นแก่ไทย
- ไม่ล้างความที่ยุโรปถือว่าเป็นยุติธรรมในการที่เขาไปเบียดเบียนด้วยเหตุใด
ไทยยังจะมีข้อเถึยงตามยุติธรรมให้โลกเห็นจริง และสงสารได้ว่า ไทยได้จัดการบ้านเมืองบริบูรณ์ขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า
จนมีราชทูตสำหรับประเทศยุโรป มีการก่อสร้างประกอบผลประโยชน์ เหมือนมี สายโทรเลขและกรมไปรษณีย์
เป็นต้น และได้เลิกทาษ เลิกธรรมเนียมหมอบคลาน
เป็นต้น แล้วเอาธรรมเนียมยุโรปเข้ามาเป็นแบบแผนหลายอย่าง
มีการแต่งตัวและมีโซโซเอติ รับรองอย่างยุโรป เป็นต้น ทั้งได้มีสัญญาทางพระราชไมตรี
และทางค้าขายต่อชาติในยุโรปเป็นอันมาก การที่ชาติมหาอำนาจมากดขี่ข่มเหงโดยทางพาล
ดังนี้ไม่ได้ ฯลฯ ที่ไทยทำเพียงนี้ก็มีการคุ้มเกรงรักษาพออยู่แล้ว และท่านแต่ก่อนนั้นได้จัดแจงอย่างไรเล่า
จึงรักษาบ้านเมืองมาได้จนป่านนี้ ต่อไปก็คงจะพลิกแพลงแก้ไขให้จงได้เหมือนกัน
ที่คิดดังนี้ เห็นว่เป็นการผิดอีกอย่างหนึ่ง ด้วยการปกครองที่อ้างขึ้นนั้นหาใช่การจัดแจงให้ดีขึ้น
แต่พื้นรากของการไม่ เป็นแต่เพิ่มเติมขึ้นให้เข้าพวกยุโรปได้ในเวลาจำเป็น
ฯลฯ จึงเห็นได้ว่า จะเถียงเอาทางยุติธรรมว่า การนี้เป็นการจัดแจงบ้านเมืองให้ดี
และเป็นการป้องกันบ้านเมืองนั้นไม่ได้เลย ฯลฯ
๕. ถือสัญญาทางไมตรีเป็นที่ป้องกันอันตรายนั้นผิดด้วยเหตุใด
ที่ว่ากรุงสยามมีสัญญาทางพระราชไมตรีต่อประเทศนั้น ๆ จะเป็นที่ป้องกันกีดขวางต่างประเทศ
เบียดเบียนได้ก็หาไม่ ประเทศจีนได้สัญญากับต่างประเทศทั้งหมดเหมือนกัน และในสัญญาอเมริกันซึ่งมีข้อว่า
อเมริกาจะช่วยตัดสินไกล่เกลี่ย เมื่อเวลาที่ชาติใดมาข่มเหง ครั้นบัดนี้มีเข้าจริง
อเมริกาก็มิได้ช่วย หรือสัญญากับประเทศทั้งปวง ก็มิอาจคุ้มการกดขี่ได้
สัญญาที่มีต่อต่างประเทศนั้น เป็นเครื่องป้องกันกดขี่ได้แต่ในครั้งแรกทำเท่านั้น
เพราะถ้ากรุงสยามมิได้ยอมรับทำสัญญา ให้ผลประโยชน์แก่ต่างประเทศเสียแต่เดิมแล้ว
ก็คงจะเข้ารบพุ่งกดขี่ให้ทำจนได้ ถ้ามิทำก็คงจะต้องเสียบ้านเมือง
๖. ผลประโยชน์ต่างประเทศ
การค้าขายและผลประโยชน์ของชาวยุโรป ซึ่งว่ามีในกรุงสยามจะเป็นที่กีดขวาง ต่อประเทศยุโรปก็เหมือนกัน
จะเป็นที่กีดขวางได้ก็จริง
- ในกรุงสยามไม่กีดกันการเบียดเบียนของต่างประเทศได้ด้วยเหตุใด
เมื่อต่างประเทศได้ผลประโยชน์เต็มตามที่บ้านเมืองเจริญได้
ด้วยความบำรุงรักษานั้นเรียบร้อยดีอย่างประเทศยุโรป จนถึงจะมีชาติยุโรปมาบำรุงรักษานั้น
เรียบร้อยดีอย่างประเทศยุโรป จนถึงจะมีชาติยุโรปมาบำรุง ก็ไม่เกินความดีเรียบร้อยของเรานั้นไปได้
การค้าขายในเมืองจีน ซึ่งยุโรปได้ผลประโยชน์ทั่วกันนั้น มีมากกว่าในกรุงสยามโดยมาก
ยังมิอาจคุ้มหรือกีดกันประเทศฝรั่งเศสเบียดเบียนได้ ฯลฯ
๗. ถือว่าแต่ก่อนรักษามาได้ดังนี้ คงรักษาต่อไปได้ดังทุกวันนี้ไม่ได้ด้วยเหตุใด
อีกข้อหนึ่งที่ว่า ท่านแต่ก่อนทำไมจึงรักษาบ้านเมืองมาได้เล่านั้น ถ้าได้พิจารณาไปก็เห็นว่าแต่ก่อนนั้น
การไปมาหากัน และข่าวคราวกรุงสยามจะรู้ได้ถึงประเทศยุโรปนั้นยากเพียงใด ความคิดต่อกรุงสยามกับประเทศยุโรปแต่ก่อนมีน้อย
ฯลฯ และในเวลานั้นประเทศเอเชีย ซึ่งเปรียบเหมือนอาหารของประเทศยุโรป
ก็ยังมีเมืองมีชาติที่ไม่เคยผ่อนผันตามกาลเวลาอยู่หลายเมือง เพราะฉะนั้นยุโรปยังหากินได้ในเมือง
ที่ไม่ความเจริญกว่า หรือผ่อนตามกาลเวลาอย่างไทย เป็นต้นว่า พม่าเมืองขึ้นของจีน
และแขกทั้งปวง จึงเห็นได้ว่า แต่ก่อนนั้นการรักษาบ้านเมืองของไทยก็ง่ายอยู่เอง
ฯลฯ ทั้งยุโรปก็ยังไม่รู้กำลังอิทธิฤทธิ์ ขนบธรรมเนียมชาวสยามเหมืองเขารู้ไส้รู้พุงละเอียดอย่างทุกวันนี้ไม่
จึงเป็นการรักษาง่ายดาย แต่บัดนี้ประเทศทั้งปวง ซึ่งเป็นอาหารก็หมดไปแล้ว
ถ้าไม่คิดแก้ไขแล้ว น่าที่กรุงสยามจะต้องเป็นไปตามประเทศนั้น ๆ เหมือนกัน
๘. ถือความป้องกันด้วยยุติธรรมตามกฎหมายอินเตอร์แนชแนลนั้นผิดไปด้วยเหตุใด
อีกประการหนึ่งซึ่งบางท่านหลงเชื่ออยู่ว่า เป็นทางป้องกันของกรุงสยามได้คือ
ถือเอาตามอินเตอร์เแนชแนลลอ ซึ่งประเทศเอกราชทั้งปวงย่อมได้รับความเคารพและนับถือ
และสมควรที่จะได้รับไรท์ของกฎหมายทุกอย่าง
การที่ละเมอไปดังนี้ ด้วยลืมคิดไปว่ากฎหมายอินเตอร์แนชแนลนั้น แต่งขึ้นไว้สำหรับประเทศซึ่งมีศิวิไลซ์
มีความคิดความเห็นผิดชอบชั่วดีทางเดียวกัน และมียุติธรรมถือกฎหมายตัดสินถ้อยความ
และขนบธรรมเนียมก็คล้ายคลึงกัน จึงจะได้รับและนับถือตามกฎหมายนั้นได้ ฯลฯ
แต่ญี่ปุ่นได้บำรุงความเจริญของบ้านเมืองตามทางศิวิไลซ์มาก็มาก ยังหาได้รับอนุญาตของยุโรปให้เข้าในพวกถือกฎหมายไม่
และญี่ปุ่นนั้นแต่เดิม ก็ได้คิดผิดไปในทางนี้เหมือนกัน ฯลฯ จนภายหลังรู้สึกตนจึงได้คิดจัดแจงการบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียม
และกฎหมายที่ชั่ว ให้คล้ายคลึงกับของยุโรป ฯลฯ และยุโรปเดี๋ยวนี้ก็ตั้งใจจะยอมให้
แต่ยังรอให้ญี่ปุ่นทำกฎหมายให้สำเร็จ และฝึกสอนคนที่จะรักษากฎหมายนั้นได้แล้ว
ญี่ปุ่นคงจะได้รับอินเตอร์แนชแนลไรต์ในเร็ว ๆ นี้ และไทยที่จะได้รับไรต์อันนี้ฉันใด
ก็ต้องจัดแจงบำรุงการแผ่นดินรักษาผลประโยชน์ และราษฎรในราชอาณาเขต ให้เจริญขึ้นตามสมัยกาล
และให้เป็นที่เชื่อถือแก่ชาวยุโรป ดังญี่ปุ่นได้จัดการมาแล้ว ชาติยุโรปทั้ปวง
ก็คงจะต้องยอมให้ไทยได้ผลประโยชน์ เสมอชาติญี่ปุ่นนั้นบ้าง ความเจริญอันนี้จะเป็นการป้องกันกรุงสยามได้ด้วย
การครอบครองกรุงสยามทุกวันนี้ ใช่แต่จะเป็นช่องให้เกิดอันตรายแต่ภายนอกอย่างเดียวหามิได้ด้วยเหตุใด
เมื่อภัยอันตรายและทางแก้ไขซึ่งใช้ไม่ได้ทั้ง ๘ ทาง ดังกล่าวแล้ว ก็ขอเพิ่มเติมให้พิจารณาคือ
การครอบครองของกรุงสยามอย่างเช่นมีอยู่ในปัตยุบันนี้ ใช่จะทำให้บ้านเมืองทำลายไปได้ฝ่ายเดียว
เพราะศัตรูภายนอกจะเข้ารบเอาโดยอำนาจ หรืออุบายนั้นหามิได้ ฯลฯ การปกครองอันนี้ก็ยังไม่เป็นประเพณีของบ้านเมืองอันประเสริฐ
ฯลฯ การปกครองทุกวันนี้เห็นว่า ถ้าประดุจหนึ่งไม่มีพระองค์ ฯ
ทรงเป็นพระราชธุระแล้ว การบ้านเมืองทุกอย่างก็จะเป็นที่ฟกช้ำระส่ำระสาย และบางทีถึงจะให้เกิดจลาจลแก่บ้านเมืองได้
ฯลฯ
ว่าด้วยทางแก้ไขที่จะป้องกันอันตรายได้จริง
ทางแก้ไขที่จะให้พ้นภัยอันตรายภายนอก และพ้นจากภัยที่จะเกิดขึ้นได้ในบ้านเมือง
ฯลฯ
เหตุใดทางนี้จึงเป็นทางเดียวและทางที่จะป้องกันอันตรายได้จริง
เห็นว่ามีทางเดียวที่จะจัดการบำรุงรักษาตามทางยุโรปทั้งปวง ฯลฯ เพราะที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นจากความกดขี่ซึ่งเป็นต้นเหตุของอันตรายนั้นต้องทำให้เป็นที่นับถือวางใจซึ่งกันและกัน
ที่เห็นชั่วเห็นดีเห็นผิดเห็นชอบทางเดียวกัน จึงนับว่าเป็นผู้เห็นทางชอบธรรมเสมอกันได้
แต่การบำรุงรักษาอย่างเช่น มีในกรุงสยามทุกวันนี้เป็นทางผิดตรงกันข้ามต่อทางยุโรป
ปราศจากแบบแผนและกฎหมายที่เรียกว่าคอนสติติวชัน
ซึ่งประกอบด้วย
สติปัญญาและกำลังของราษฎร เป็นการพร้อมเพรียงกันเป็นประมาณ ซึ่งเขานับว่ามียุติธรรมทั่วถึงกัน
ฯลฯ แต่บัดนี้ชาวยุโรปพากันลงเนื้อเชื่อกันเป็นอันมาก ฯลฯ ว่าการรักษากรุงสยามในทุกวันนี้ไม่มีเสนาบดี
และเจ้าพนักงานกรมใดเอาใจใส่ในพนักงานหน้าที่
ของตน
มีผู้บำรุงรักษา และคิดการแผ่นดินอยู่ก็แต่พระองค์เดียว กับผู้ที่ได้ช่วยในราชการเป็นกำลังจริงก็แต่พระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ฯลฯ จะมีชาติใดในยุโรปเชื่อถือว่า กรุงสยามจะมีความยุติธรรม
และบำรุงรักษาให้เจริญ และเรียบร้อยไปได้ ฯลฯ การบำรุงรักษา โดยทางที่จะให้ได้ยุติธรรม
จะมีได้ก็ต้องอาศัยความพร้อมเพรียง ผู้ที่เป็นเสนาบดีก็เป็นผู้แทนของราษฎร
ซึ่งเลือกต่อ ๆ ขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกัน ฯลฯ
ว่าด้วยการจัดแจงเปลี่ยนแปลงให้เดินทางป้องกันอันจริงได้
เหตุฉะนี้จึงจะต้องจัดการบ้านเมือง เปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีของเก่า
ให้เป็นประเพณีคอนสติติวชันใหม่ตามทางชาวยุโรป ฯลฯ
เหมือนดังเมืองญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเดียวในตะวันออก ที่ได้เดินในทางยุโรปมาแล้ว
ฯลฯ ทางที่กราบบังคมทูล ฯ ว่าเป็นคอนสติติวชันยุโรปนั้น หาได้ประสงค์จะให้มีปาลีเมนต์ในเวลานี้ไม่
แต่ทางนั้นคือ
- ๑. เปลี่ยนพระราชประเพณีปกครอง ให้เป็นคอนสติตูชาแนลโมนากี
ต้องเปลี่ยนแปลงประเพณีปัตยุบัน ฯลฯ ซึ่งมีประเพณีที่อังกฤษเรียกว่า
แอพโซลุดโมนากี
ให้เป็นประเพณีที่เรียกว่า คอนสติตูชาแนลโมนากี
ฯลฯ
- ๒. ให้เสนาบดีรับผิดชอบและมีอำนาจจัดการได้เอง
ไม่ต้องเป็นพระราชกังวลไปทุกอย่าง การป้องกันรักษาและทำนุบำรุงบ้านเมืองทุกอย่างนั้น
ต้องอยู่ในความคิดความตัดสินของข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งได้โปรดเกล้า ฯ ตั้งขึ้นไว้ในที่เป็นพวกแคบิเนต
ฯลฯ
ข้าราชการเหล่านี้เป็นหัวหน้าของกรมหรือดิปาดเมนต์
ทุก ๆ กรมและมีอำนาจตัดสินบังคับการรับผิดชอบในกรมนั้น ๆ ด้วยตนเอง ฯลฯ
- ๓. ปิดทางสินบนให้ตกหมดทุกอย่าง
ฯลฯ ต้องให้ผู้ทำราชการได้ผลประโยชน์ตรง ๆ เงินเดือนให้พอใช้ตาม
ฐานานุรูปจริง
- ๔. ให้มนุษย์มีความสุขได้เสียเสมอกัน
ฯลฯ
- ๕. เลิกธรรมเนียมและกฎหมายซึ่งเป็นอยุติธรรมติเตียนต่อต่างประเทศ
ฯลฯ
- ๖. เปิดความคิดเห็นของราษฎรและข้าราชการ ให้เป็นโสดในการคิดเห็น
ฯลฯ
- ๗. เลือกและถอดข้าราชการตามกฎหมายที่แน่นอน
ฯลฯ
รวมความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้ประสงค์อันใด
ทั้ง ๗ ข้อนั้น ฯลฯ เป็นใจความของการจัดการตามแบบยูโรป มีรวมความว่า
เปลี่ยนแปลงยกถอนธรรมเนียมเก่า และกฎหมายเก่า
เพิ่มเติมธรรมเนียม และกฎหมายซึ่งเป็นทางบำรุงความเจริญขึ้นใหม่ และจัดการเหล่านี้ให้มีผลประโยชน์ทั้วไปในพระราชอาณาเขต
ให้ราษฎรมีความคิดรู้สึกตัวว่าการกดขี่ และอยุติธรรมต่าง ๆ ไม่มีอีกต่อไปแล้ว
จึงจะมีความรักบ้านเมือง จนเห็นชัดว่ากรุงสยามนั้น เป็นเมืองของราษฎร และจะต้องช่วยกันบำรุงรักษา
ฯลฯ และเมื่อถึงเวลาศัตรู หรือภัยอันตรายจะมาถึงตนเข้าแล้ว ก็จะคิดช่วยป้องกัน
ช่วยเจ็บร้อน ฯลฯ
จัดการปกครองให้เดินเองได้ดังเครื่องจักร
ชาวยุโรปได้แปลคำจัดแจงบ้านเมืองของเขาคือคอนสติติวชันว่าเป็นเหมือนดังเครื่องจักร
ฯลฯ
เหตุใดจึงเห็นทางนี้เป็นทางป้องกันได้ทางเดียว
เห็นว่าทางที่จะจัดแจงรักษากรุงสยามได้จริงนั้นมีทางเดียว
ยุโรปตั้งเจริญอยู่ได้ด้วยเหตุใด
ประเทศทั้งปวงในยุโรปซึ่งมีความเจริญ และแน่นอนว่าจะตั้งเป็นเอกราชต่อไปได้นั้น
ได้ด้วยเหตุ ๔ ประการ
- ๑ ความนับถือซึ่งกันและกัน
ฯลฯ
- ๒ ความประสงค์เดียวกันในทางครอบครองมิให้มีทัพศึก
ฯลฯ คิดหาทางช่วยเหลือกันในเวลาเมื่อชาติหนึ่งได้มีอำนาจมากมาเบียดเบียนชาติเล็กน้อย
ฯลฯ เรียกว่า อำนาจชั่งกันหรือแบแลนด์ออฟเปาเวอร์
- ๓ ถือกฎหมายอินเเตอร์แนชแนลอันเดียวกัน
ด้วยกฎหมายอินเตอร์แนชแนล ซึ่งเป็นประธานที่จะตัดสินความเข้าใจผิดชอบ และการยุติธรรมในระหว่างประเทศทั้งปวงในยุโรป
ซึ่งถือตามกฎหมายนั้น
- ๔ ด้วยเหตุนี้มีสินค้าไปขายแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
ฯลฯ อาศัยซึ่งกันและกัน เหตุฉะนั้นจึงเห็นว่า กรุงสยามจะรักษาป้องกัน
ให้อยู่เป็นเอกราชต่อไป ในทางอื่นไม่ได้ นอกจากที่จะเดินตามทางให้มีเครื่องป้องกันทั้ง
๓ ข้อ อย่างที่ประเทศน้อยใหญ่ในยุโรปทั้งปวงได้ถือว่าเป็นทางป้องกันซึ่ง เพราะว่าอันตรายหรือการใด
ๆ ก็ดีอาจสามารถที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยชาติที่มีอำนาจทั้งสิ้น
เหตุฉะนั้นไทยต้องประพฤติตามยุโรปซึ่งเป็นที่จะป้องกันอันตรายได้
ไทยจึงต้องมีความอุตสาหะบากบั่น ที่จะให้ได้เครื่องป้องกันของชาติที่มีอำนาจใหญ่นั้นด้วย
การประพฤติให้ดีตามทางของเขาเหมือนอย่างญี่ปุ่นได้ประพฤติตามอย่างเขาก็จะได้รับอำนาจ
ฯลฯ ถ้าไทยเดินตามทางญี่ปุ่นแล้วยุโรปก็จะมีความนับถือไทยดังในข้อหนึ่ง
ฯลฯ
การบำรุงเพื่อประกอบการป้องกันชั้นที่สอง
อนึ่งการป้องกันอันตราย ซึ่งบจะคุ้มการกดขี่ของประเทศยุโรปต่าง ๆ นั้น ยังมีข้อสำคัญอีกข้อ
๑ คือ
- การบำรุงการค้าขายจะป้องกันภัยไม่ได้ด้วยเหตุใด
คือ การบำรุงผลประโยชน์ของยุโรปในการสินค้า ให้มีทุนรอนของเขาออกไปในการก่อสร้าง
หรือประโยชน์สิ่งหนึ่งสิ่งใดในแผ่นดินสยาม ฯลฯ เคาเวอร์เมนต์ สยามต้องอุดหนุนโดยเต็มกำลัง
เพื่อจะได้ประโยฃน์ทั้งสองฝ่าย และเมื่อชาวยุโรปลงทุนรอนไว้มาก ถ้าจะมีชาติใดชาติหนึ่งมาพาลข่มเหง
ชาติทั้งปวงซึ่งมีประโยชน์ก็จะช่วยห้ามปราม
- ถ้าการปกครองไม่เรียบร้อยการบำรุงผลประโยชน์ยุโรปกลับให้มีช่องเกิดภัย
แต่การที่บำรุงผลประโยชน์ของชาวยุโรป ฯลฯ จึงกลายเป็นช่องที่จะกลับให้เกิดอันตรายขึ้นได้เหมือนกัน
มีตัวอย่างคือ อินเดีย จีน พม่า เป็นต้น ฯลฯ
การปกครองเรียบร้อยการบำรุงผลประโยชน์ยุโรปอุดหนุนการป้องกันอันตราย
ถ้าบ้านเมืองใด ๆ เมื่อมีเคาเวอนเมนต์ และกำหนดกฎหมายความยุติธรรมอันแน่นอน
ผลประโยชน์ของชาวยุโรปซึ่งได้บำรุงนั้น ก็เป็นการช่วยป้องกันขึ้นอีก แลไม่ต้องวิตกในการพาลของชาติยุโรป
ที่มีผลประโยชน์อยู่ในบ้านเมือง ฯลฯ เหตุฉะนี้ ถ้าเมืองใด ๆ มีเคาเวอนเมนต์ความปกครองรักษายุติธรรมอยู่แล้ว
ผลประโยชน์ของชาวยุโรปที่จะประมูลขึ้น ก็เป็นทางรักษาเอกราชของเมืองนั้น ๆ
มีญี่ปุ่น และประเทศทั้งปวงในยุโรป เป็นต้น และถ้าไทยได้จัดบ้านเมืองบำรุงการรักษาตามาแบบยุโรปมั่นคง
ทางที่จำเป็นจะประมูลผลประโยชน์ของประเทศยุโรป ให้มีทรัพย์สินทุนรอนของเขาอยู่ในบ้านเมือง
การบำรุงผลประโยชน์ยุโรปและสยามสิ่งใดเป็นการประเสริฐ
เพื่อรักษาเอกราชของกรุงสยามให้แน่นอนขึ้น สิ่งที่ประเสริฐนั้นมีทางให้ต่างประเทศทำรถไฟ
มีกำปนีเดินเรือ ขุดคลอง ทำถนน เป็นต้น เพราะทางเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ได้แก่บ้านเมืองมาก
ฯลฯ
ว่าด้วยการขัดข้องที่จะจัดแจงแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้อย่างใด
และที่ไม่เห็นทางขัดข้องเหล่านี้ขัดอยู่จริงเพราะเหตุใด
เห็นว่ามีทางอันเดียว ที่จะป้องกันรักษากรุงสยาม ให้เจริญเป็นเอกราชต่อไป
และได้ปรูฟของทางนี้แล้ว ฯลฯ ทางที่ได้ตริตรองนั้น มีดังนี้
- ๑. ขัดด้วยจะไม่พรักพร้อมด้วยเสนาบดีจะไม่เห็นตาม
ฯลฯ การครั้งนี้เป็นการใหญ่อันสำคัญ คงจะต้องปรึกษากับเสนาบดีให้เห็นพร้อมกันก่อน
จึงจะเปลี่ยนแปลงไปได้ แต่การที่จะเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการที่จะตัดผลประโยชน์
ของเสนาบดีที่เคยได้ในทางตรงบ้างก็มี ทางลับบ้างก็มี ฯลฯ
- ไม่เห็นขัดข้องด้วยเหตุใด
ฯลฯ แต่ราชการกรุงสยามในทุกวันนี้ได้อยู่ด้วยเสนาบดี ไม่ตั้งใจฉลองพระเดชพระคุณโดยเต็มกำลังนั้น
ไม่เป็นด้วยเหตุอื่นไกล เป็นด้วยทรงพระมหากรุณา แลท่านเสนาบดีมากเกินไป จนให้ท่านเสนาบดีเห็นไปว่า
ทรงเกรงใจจึงได้คิดบิดเบือนไปต่าง ๆ ฯลฯ ถ้าตั้งพระราชหฤทัยในราชกิจโดยทางอันกวดขัน
แข็งแรงไม่ละเว้นเห็นแก่หน้าผู้ใหญ่ผู้น้อยแล้ว การขัดขวางอันนี้จะมีมาแต่ไหน
ฯลฯ
- ๒. ขัดด้วยข้าราชการจะคิดทรยศเพราะการจัดแจงใหม่ ตัดผลประโยชน์และอำนาจ
ฯลฯ ท่านเสนาบดีที่รับราชการอยู่ทุกวันนี้ ได้เป็นเพราะความชอบความดีที่ตัวรับราชการ
ฯลฯ ก็มี ได้เป็นเพราะตามเหล่าตามตระกูลก็มี ที่มีอำนาจ และผลประโยชน์ในราชการมากน้อย
ก็มีไม่เสมอกัน ฯลฯ ฝ่ายพวกที่ได้เป็นเพราะมีตระกูลสืบอุดหนุน ฯลฯ จะหาสู้จงรักภักดีเหมือนผู้ซึ่งได้รับราชการมีความดี ด้วยผลแห่งราชการไม่
ถ้าเห็นกระแสพระราชดำริ หรือทางจัดพระนครไปตามการที่ถูกที่ควร แต่ว่าการนั้นเป็นความตัดประโยชน์
ตัดอำนาจที่เคยได้เคยมีอยู่แล้ว ฯลฯ ก็จะละความสัตย์ซื่อกตัญญูเสีย
จะไปทำเหตุเป็นทางประทุษร้าย คิดส่งเสริมอุดหนุนยกผู้หนึ่งผู้ใดขึ้น เอาเป็นโล่ห์เป็นดั้ง
ทำเหตุจลาจลขึ้นก็ดี ฯลฯ ยกขึ้นขัดขวางแห่งการที่ทรงพระราชดำริเปลี่ยนไปก็ดี
ฯลฯ ก็จะเกิดเป็นช่องให้ชาวต่างประเทศพลอดสอดมือเข้ามารวบรัดเอากรุงสยาม
ฯลฯ มีทางที่จะเรียกเรือรบเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของตัว แล้วก็กลับเลยเป็นเหตุใหญ่โตไปได้
ถึงจะไม่ถึงกับเสียบ้านเสียเมืองได้ ก็คงจะมีอำนาจมากขึ้นในกรุงสยาม ฯลฯ
- ว่าด้วยการแก้ข้อขัดขวางอันนี้ด้วยกำลังทหาร
ข้อขัดขวางอันนี้ เห็นว่าเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าทางที่จะแก้ไขให้หมดสิ้น
เป็นที่เชื่อมั่นใจได้ก็มีแต่กำลังอย่างเดียว ฯลฯ
- เหตุใดการบำรุงกำลังทหารป้องกันจึงเป็นการจับปลายมาหาต้นต้องเป็นการที่สุดจึงควรเดินทางนี้
ซึ่งจะหากำลังให้ต่อสู้ และดับภัยอันตรายในกรุง
ที่จะเกิดขึ้นทางนี้ เห็นว่าจะต้องคิดจัดทหารรบรัดการฝึกหัด โดยกวดขันให้เชื่อว่าใช้ได้
ฯลฯ ในการป้องกันภัยภายในได้จริงก่อน แล้วจึงเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีต่อไปภายหลัง
แต่การที่จะจัดทหารในชั้นต้นดังนี้ เห็นว่าเป็นการลำบาก และมีช่องทางที่จะไม่สำเร็จได้หลายอย่างหลายประการ
ฯลฯ
- ควรจัดทหารในชั้นต้นอย่างใดและจะสำเร็จได้ด้วยอย่างใด
การที่จะจัดนี้ต้องอาศัยวิธี ที่จะรวบรวมทหารเข้าให้มีกำลังขึ้นมาก แต่อย่าให้เป็นที่เดือดร้อน
และหวาดหวั่นของเจ้าหมู่นายกรม และต้องอาศัยผู้หัวหน้าที่จะบังคับการเป็นสำคัญอย่างหนึ่ง
ฯลฯ การที่จะเปลี่ยนแปลงพระราชประเพณีนั้น เป็นการใหญ่การสำคัญอย่างยิ่ง
เป็นความจำเป็นต้องควรหวาดหวั่นในภัยอันตรายให้มาก ฯลฯ การนี้จึงจะเป็นไปโดยเร็วพลัน
ยังไม่ได้ก็ควรงดไว้จนกว่าการที่จะจัดทหารขึ้นให้ได้จริงนี้ ฯลฯ
- ทางที่จะจัดแจงบำรุงทหารควรเดินและจัดทางใด
ฯลฯ
เห็นว่าควรต้องปิดความที่จะเปลี่ยนพระราชประเพณีนั้น ให้เงียบไว้ก่อน อย่าให้ผู้ใดทราบความ
เพราะจะเป็นช่องแห่งความขัดขวางคนที่ไม่เห็นชอบ จะทำให้การลำบากมากไป ฯลฯ
เห็นว่ากรมต่าง ๆ ที่เป็นทหารมาแต่โบราณ เป็นต้นว่า กรมอาสาทั้งปวงนั้น อันที่จริงแต่เดิมก็เป็นทหารทั้งสิ้น
ถ้าจะทรงจัดโดยจริงรวบรวมเอาไพร่ หลวงกรมอาสาต่าง ๆ หมดทุกกรม ตามหมู่ทหารเอามาฝึกหัดยกขึ้นเป็นทหารให้ได้จริง
ฯลฯ ก็จะเป็นการจัดพระราชประเพณีเดิมให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น ฯลฯ
- ๓. ขัดขวางด้วยพวกที่เสียผลประโยชน์เพราะการเปลี่ยนแปลงจะหาอำนาจต่างประเทศมาเกี่ยวข้อง
ฯลฯ
พวกที่มีความเสียอกเสียใจ ในการที่จะขาดประโยชน์ไป ฯลฯ จะไปทำเหตุอีกอย่างหนึ่ง
จะเข้าหาอำนาจชาวต่างประเทศให้ช่วยปกครองป้องกัน หรือบางทีเอาบ้านเมืองไปมอบหมายกำนัลอย่างหนึ่งอย่างใด
ให้เป็นเหตุขึ้น ฯลฯ
- ความเห็นในการแก้ไขข้อขัดข้องนี้
ฯลฯ การที่จะเปลี่ยนแปลงพระราชกำหนดกฎหมาย และพระราชประเพณีจัดการพระนครใหม่นั้น
ฯลฯ ฝ่ายเราจำเป็นและควรจะต้องแจ้งความให้เคาเวอนเมนต์ต่างประเทศทราย
เพื่อเขาจะได้เห็นแก่ความยุติธรรม ซึ่งเราจะบำรุงมนุษย์ทั่วกันให้ได้ความสุข
อย่างเช่นเขาบำรุงตามทางที่แลเห็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯลฯ ป้องกันมิให้เขายกเหตุว่าเราไม่ได้ทะนุบำรุงบ้านเมือง
และป้องกันเหตุภัยอันตรายในข้างหน้า ฯลฯ เวลานี้ชาวต่างประเทศต่าง ๆ
มีฝรั่งเศส หรืออังกฤษ เป็นต้น กำลังคอยมุ่งหมายจะพาลหาเหตุ หาช่องซึ่งจะเข้าเบียดเบียนเรา
ฯลฯ
- ๔. ขัดขวางด้วยราษฎรและข้าราชการ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นลางเป็นเหตุที่จะเสียบ้านเมือง
การเลิกถอนพระราชประเพณีเดิม จะตั้งพระราชประเพณีใหม่ เป็นความเปลี่ยนแปลงนี้
จะเป็นเหตุให้ข้าราชการและราษฎร ที่ถือเคล็ดถือเงื่อน ฯลฯ จะพากันเห็นไปว่า
ฯลฯ จะเป็นเหตุอันตราย หรือลางร้ายต่าง ๆ แก่บ้านเมือง ฯลฯ
- เหตุใดจึงเห็นความข้อนี้ไม่ควรกลัว
ฯลฯ
ถ้าทรงทำได้ตลอด ความติเตียนนั้นจะก็สงบหายไป ไม่เป็นการแปลกประหลาดลงในที่สุด
ก็จะต้องกลับเป็นการสรรเสริญ ฯลฯ
- ๕. ขัดด้วยจะไม่มีผู้ทำราชการได้ดังประเพณีที่จะเปลี่ยนใหม่
ฯลฯ ด้วยทุกวันนี้เพียงแต่จะให้การเป็นไปตามพระราชประสงค์ หรือพระราชประเพณีบ้านเมือง
ก็ยังไม่สำเร็จเป็นไปได้จริง ฯลฯ
- เหตุใดจึงเห็นว่าความข้อนี้ไม่ควรทรงพระปริวิตก
ฯลฯ ข้าราชการที่จะฉลองพระเดชพระคุณก็มีมาก และที่ได้ทำไปในคราวแรก
โดยพระราชประสงค์สำเร็จได้ทุกประการ ฯลฯ เหมือนการเคานซิลที่ทรงพระราชดำริจัดตั้งขึ้นใช้การมาคราวหนึ่ง
ฯลฯ พระราชกำหนด กฎหมายและประเพณี ที่เปลี่ยนแปลงมาทุกวันนี้สำเร็จได้ในคราวครั้งเคานซิลนั้นแทบทุกสิ่งทุกอย่างโดยมาก
ฯลฯ
- เหตุใดข้าราชการจึงทำการแข็งแรงได้จริงในชั้นต้น
ไปปลายมือจึงเสียร่วงโรยไป ภายหลังเมื่อทรงพระมหากรุณาแก่ข้าราชการละเลยไป
หาได้ทรงกวดขันให้เป็นตัวอย่างขึ้นแล้ว ราชการในหน้าที่ต่าง ๆ ก็คลายลงทุกที
ฯลฯ
- เหตุใดจึงเห็นว่าข้อขัดขวางนี้จะให้มีก็ได้
ไม่ให้มีก็ได้ ฯลฯ เห็นว่าถ้าได้ตั้งพระราชหฤทัยที่จะทรงพระราชวินิจฉัยราชการทั้งปวงเป็นอย่างอุกฤษฎ์
ให้เป็นที่เห็นได้ทั่วไปในข้าราชการ ว่าจะไม่ทรงพระกรุณาแก่ผู้มีวงศ์ตระกูล
หรือหาตระกูลมิได้ผิดชอบประการใดต้องได้รับเสมอกัน และสรรพสิ่งทั้งปวง ต้องให้เป็นการสำเร็จจริงแท้ทั้งสิ้น
ผู้ที่จะรับราชการก็จะต้องคิดรักษาหน้าที่หาความดีในทางที่กวดขันให้ได้จริง
ฯลฯ
- ความมุ่งหมายอันประเสริฐซึ่งมีในพระบรมราชสันดาน
ฯลฯ ควรทรงพระราชดำริถึงรัชกาลปัตยุบันนี้ซึ่งตั้งอยู่ในสมัยการอันประเสริฐคือ
"ศิวิไลเซชัน" นี้ ไม่ควรจะให้มีความดีความเจริญเพียงเสมอรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่โบราณมา
ฯลฯ
ความประสงค์ของผู้ซึ่งมีในท้ายหนังสือนี้
ด้วยความประสงค์อันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงจึ่งสามารถพระกรุณาบังอาจชี้แจงยืดยาวโดยพิสดาร
แลใช้ถ้อยคำอันเรี่ยวแรงดังนี้ เพราะเป็นความประสงค์ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงที่จะกราบบังคมทูลแสดงความกตัญญู
รักใคร่ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แลบ้านเมืองซึ่งได้เป็นของไทยมาหลายร้อยปี
โดยเต็มตามที่ใจคิดทุกอย่าง ฯลฯ มีความประสงค์ที่จะได้ฉลองพระเดชพระคุณซึ่งได้ทรงพระกรุณาชุบเกล้า
ฯ มา แลทำความดีให้แก่บ้านเมือง ซึ่งเป็นที่รักของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เพื่อให้เป็นเอกราชต่อไป ฯลฯ ถ้าคำซึ่งข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลพระกรุณานี้ต้องด้วยพระราชดำริ
แล้ว
ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวง จะขอรับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายบังคมทูลพระกรุณาในความแก้ไขจัดการบ้านเมืองอย่างยุโรปให้ละเอียดขึ้นอีกในคราวหน้า
เพื่อได้ทรงพระราชดำริในการนั้นแลสร้างจัดขึ้นตามพระราชประสงค์ต่อไป |
|