| หน้าแรก |
หน้าต่อไป |
พระราชดำรัส
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ประเทศไทย
ในรัสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลง พระองค์ได้ทรงนำประเทศไทย
ให้ผ่านพ้นวิกฤตกาล จากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ด้วยพระปรีชาสามารถอันสูงยิ่ง
หาผู้เสมอเหมือนมิได้ และยังทรงนำประเทศไทยไปสู่ความเจริญก้าวหน้าทันสมัย
ทัดเทียมนานาอารยประเทศนานัปการ เป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศในทุกด้านตราบถึงปัจจุบัน
- พระราชดำรัสของพระองค์ในโอกาสต่างๆ
ไม่ว่าเรื่องใด ๆ ย่อมมีสุภาษิตอันเป็นแก่นสาร มีเรื่องราวที่น่ารู้อยู่เป็นอันมาก
นอกจากนี้ยังเป็นหนังสืออันสมควรแก่ผู้ศึกษาการแต่งหนังสือไทย เมื่อทรงบรรยายเรื่องราวใดๆ
ว่าด้วยกระบวนปฎิภาณโวหาร จะหาผู้เสมอเหมือนได้โดยยาก พระราชนิพนธ์ของพระองค์ย่อมจูงใจผู้อ่าน
อ่านไม่รู้จักเบื่อ เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วกัน
- ในที่นี้จะนำเสนอพระราชดำรัสของพระองค์ โดยการตัดตอนมาในแต่ละเรื่อง เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ในด้านต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความทันสมัย ตามแบบอย่างนานาอารยประเทศมากยิ่งกว่าสมัยใด
ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
พระราชดำรัสพระราชทานพระบรมราโชวาท
ในการที่องคมนตรีรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาพ.ศ.
2417
- เพื่อจะให้เข้าใจชัดทั่วกันว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ในการสุจริตอย่างเดียว จะให้การทั้งปวงซึ่งเป็นการเจริญแก่บ้านเมืองสำเร็จไป
เพราะฉะนั้น จึงได้ลดหย่อนพระอิศริยยศลง มิได้ถือพระองค์ ยอมให้ท่านทั้งหลายทูลทัดทานขัดขวางในการซึ่งทรงพระราชดำริซึ่งยังไม่ต้องด้วยยุติธรรม
แลให้กราบทูลการที่ตัวได้คิดเห็นว่าเป็นคุณตามความคิดเห็นของตน เพื่อจะให้เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ราษฎรไปภายหน้า
- .....เพราะฉะนั้น ควรที่ปรีวีเคาน์ซิลเลอร์ จะต้องถวายสัตยานุสัตย์ด้วยอาศัยเหตุ
3 ประการ
- ประการหนึ่ง ตัวผู้ซึ่งได้รับเป็นปรีวีเคาน์ซิลเลอร์ ต้องถือกฎหมายสำหรับเคาน์ซิล ถ้าจะคิดจะพูดการฤาจะกราบทูลพระกรุณา
ด้วยได้ทราบการสิ่งใดมาโดยสุจริต ข้าราชการแลราษฎร ก็จะมีความหวาดหวั่นว่า
ผู้นั้นจะกราบทูลพระเจ้าแผ่นดิน หาถ้อยความใส่ผู้อื่น .....
- อีกประการหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเคาน์ซิลเลอร์จะพูดการคิดการสิ่งไรมา ก็จะต้องทรงพระราชดำริเทียบเคียงข้างหน้าข้างหลังมากว่า
การที่พูดมานั้นเป็นการจริง ......
- อีกประการหนึ่ง ตัวเคาน์ซิลเลอร์จะประพฤติตัวดี ให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติ เมื่อคิดเห็นการอย่างไร ฤาได้ทราบการอย่างไรก็จะพูดจะคิดไปตามไปตามที่เห็นว่าดีมีคุณ
..... เพราะเหตุฉะนี้ถ้าเคาน์ซิลเลอร์ได้สาบานมีคุณสามประการคือ ข้าราชการราษฎรเป็นที่วางใจประการหนึ่ง
พระเจ้าแผ่นดินเป็นที่วางพระราชหฤทัยประการหนึ่ง ตัวเองเป็นที่ไว้ใจแก่ตัวเองประการหนึ่ง
ถ้าไม่สาบานมีโทษสามประการ ดังเช่นที่ว่ามาแล้วนั้น
- .....เพราะเหตุซึ่งปรีวีเคาน์ซิลนี้เป็นสำคัญ
ถ้ารับแล้วต้องเป็นตลอดไปจนสิ้นแผ่นดินไม่มีเวลาออกเหมือนเคาน์ซิลออฟสเตด
ถ้าจะต้องมีเหตุเป็นโทษเพราะผิดข้อคำสาบาน ก็จะต้องถือว่าผู้นั้นไม่เป็นมนุษย์เลยทีเดียว.....
พระราชดำรัสตอบ
พระบรมวงศานุวงศ์ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ
แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทในการเฉลิมพระชนมพรรษา
พ.ศ. 2417
- .....ข้าพเจ้าได้เห็นท่านทั้งหลายในเวลานี้ ก็เป็นที่ชื่นชมมาก เพราะไว้ใจว่า ท่านทั้งหลายจะช่วยคิดราชการ ทำนุบำรุงในตัวข้าพเจ้า
แลทำนุบำรุงแผ่นดิน ให้มีความเจริญด้วยเต็มสติปัญญาความคิดเต็มอำนาจ ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขได้
แลจะได้รักษาการซึ่งได้เปลี่ยนแปลงแลได้ตั้งขึ้นไว้ คือการที่เลิกธรรมเนียมการหมอบคลาน เปลี่ยนเป็นธรรมเนียมยืนเดิน
แลตั้งเคาน์ซิลออฟสเตด แลปรีวีเคาน์ซิลสำหรับช่วยคิดราชการทำนุบำรุงแผ่นดินนี้ คงจะไม่เลิกถอนเสื่อมทรามไป
- .....การที่จะจัดศาลชำระความให้แล้วได้โดยเร็ว และให้ถูกต้องตามยุติธรรม และจะแก้กฎหมายเก่าบ้างเพิ่มเติมใหม่บ้าง ทีละเรื่องๆ ไปกว่าจะแล้วสิ้น
การนี้ก็เป็นการใหญ่
- อนึ่ง การซึ่งจะลดเกษียณอายุลูกทาษ
แลการซึ่งจะห้ามไม่ให้ขายตัวคนต่อไปข้างหน้า ซึ่งได้ปรึกษากันอยู่นั้น
ก็จวนจะสำเร็จไปได้ แลการอื่นอีกคือ การซึ่งจะเลิกบ่อนเบี้ย แลการตัวเลกซึ่งจะผ่อนผันให้เสมอกันนั้น
การเหล่านี้ก็เป็นการสำคัญ ซึ่งจะจัดให้สำเร็จโดยเร็วนั้นไม่ได้ แต่ข้าพเจ้าก็ยังไว้ใจอยู่ว่า
การที่ได้ปรึกษากันเหล่านี้ คงจะไม่สูญเสียเปล่า จะได้สำเร็จตามเวลาซึ่งควรจะสำเร็จไปได้เป็นลำดับไป .....
- .....แลไว้ใจว่าคอเวอนแมนต์ต่างประเทศ คงจะมีความยินดีด้วยเมืองสยามนี้ ซึ่งเป็นเมืองจะตั้งตัวใหม่ ให้ได้จัดการทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เต็มตามกำลังแลอำนาจ
.....
พระราชดำรัสตอบ
พระบรมวงศานุวงศ์ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ
แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทในการเฉลิมพระชนมพรรษา
พ.ศ. 2419
- ..........
- แลยังจะต้องขอบใจท่านทั้งหลายซึ่งได้ช่วยเป็นผู้จัดแลเป็นผู้ทำในราชการแผ่นดิน
ซึ่งมีมาแล้วแต่ก่อนหน้า คือ เมื่อปีกลายนี้ มีฮ่อข้าศึกยกมากระทำย่ำยีราชอาณาเขต
ตั้งอยู่ในแดน เมืองหนองคาย และ เมืองพวน ซึ่งใกล้เคียงกับเมืองหลวงพระบาง.....
จึงปรึกษาพร้อมด้วยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
แลพระบรมวงศ์กับท่านเสนาบดี จัดกองทัพยกขึ้นไปสองทาง ..... ก็แลกองทัพฮ่อซึ่งเล่าลือว่าเป้นการใหญ่โตนั้น
ก็ได้ความว่าคนพวกนี้เป็นขบถในเมืองจีน ..... การทัพศึกในเมืองเราก็ว่างเว้นมานาน
มามีเหตุเกิดขึ้นก็เป็นที่ลำบากอยู่ ..... แต่การครั้งนี้แม่ทัพนายกองฝ่ายเหนือ ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า
คนในเมืองพวนซึ่งเข้าเป็นกำลังของพวกฮ่อทำย่ำยีบ้านเมืองนั้น
ถ้าจะทิ้งไว้ ฮ่อพวกนี้ก็เป็นคนดุร้าย กองทัพฝ่ายเราตีแตกไปก็ยังไม่ยับเยิน.....
จึงได้กวาดต้อนลงมาเฉพาะคนที่เป็นพวกอุดหนุนเป็นกำลังฮ่อข้าศึก เพราะเพื่อจะมิให้เป็นกำลังแก่พวกฮ่อต่อไป.....
การเมืองพวนนั้น ก็ได้มีตราบังคับขึ้นไปถึงพระยามหาอำมาตย์ แลพระสุริยภักดี ให้จัดการพาท้าวขันตีผู้บุตรใหญ่ของท้าวอึ่ง
ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงขวางคนเก่า
ขึ้นไปรวบรวมไพร่พลตั้งเป็นบ้านเมืองต่อไป .....
- อนึ่ง การในเมืองเชียงใหม่นั้น กรุงสยามได้ทำหนังสือสัญญากับประเทศอินเดีย อังกฤษ ในจุลศักราช 1235 ปีระกา
เบญจศก เพื่อจะจัดการในเมืองเชียงใหม่ แลการค้าขายของคนต่างประเทศ ให้เป็นปกติเรียบร้อย.....
เจ้านายแสนท้าวพระยาลาวในเมืองเชียงใหม่ ก็มีความยินดีรักใคร่ต่อกรุงสยาม แลตัวพระยาเทพประชุนยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน
ควรจะเป็นแบบอย่างแก่ข้าราชการ ซึ่งทำการอาสาแผ่นดินสืบไป .....
- .........
พระราชดำรัสตอบ
พระบรมวงศานุวงศ์ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ
แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทในการเฉลิมพระชนมพรรษา
พ.ศ. 2420
- .........
- ในเมื่อก่อนหน้าเฉลิมพระชนม์พรรษาครั้งก่อน กรุงสยามได้มีความร้อนใจที่จะสำแดงทางพระราชไมตรี แก่คอเวอนแมนต์ผรั่งเศส
เพราะกลัวจะเป็นเหตุให้มัวหมองขึ้น ด้วยเจ้าเขมรซึ่งมาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ นี้ช้านานมาแล้วหลบหนีไป
ก็คิดกลัวจะออกไปทำจลาจลในแผ่นดินกัมพูชา ..... จัดให้พระยาเจริญราชไมตรี ซึ่งเป็นเคาน์ซิลเลอร์ออฟสเตด
แลปรีวีเคาน์ซิล ออกไปตั้งอยู่เมืองนครเสียมราฐ
ได้บังคับบัญชาป้องกันมิให้หัวเมืองเหล่านั้นเข้าด้วยเจ้าเขมรในการจลาจล.....
- อนึ่ง เมื่อปลายปีชวด อัฐศก นั้น คอเวอนแมนต์ อินเดีย ได้ส่งข่าวมาเชิญข้าพเจ้าให้ไปประชุมในงานมงคล
ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ากวินวิคตอเรีย จะรับพระปรมาภิไธย เป็นเอมเปรสออฟอินเดีย ข้าพเจ้ามีราชการมากไม่สามารถจะไปได้
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ท่านก็ได้รับเป็นอัครราชทูตพิเศษ ไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศอินเดีย.....
- อนึ่ง เหตุการณ์ซึ่งมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ ที่เมืองภูเก็ต และเมืองระนอง
เจ้าหมื่นเสมอใจราชข้าหลวง ซึ่งออกไปตั้งอยู่ ณ เมืองภูเก็ต
ได้รักษาการโดยแข็งแรง ไม่เสื่อมเสียเกียรติยศ แล้วได้ส่งข่าวไปถึงเจ้าพระยาไทรบุรี แล หัวเมืองตะวันตกทั้งปวง เจ้าพระยาไทรบุรีทราบ
ก็รีบร้อนเป็นใจด้วยราชการ จัดพวกไพร่พลพร้อมเครื่องศัตราวุธ ไปช่วยรักษาเมืองภูเก็ต
พร้อมด้วยหัวเมืองต่าง ๆ การที่เมืองระนองนั้น พระยาระนองก็ได้คิดจัดการระงับ แลมีหัวเมืองที่ใกล้เคียงไปช่วย
การจึงสงบลงไม่วิวาทลุกลามต่อไป .....
- อนึ่ง การเรื่องเมืองพวนนั้น ท่านเสนาบดีได้ปรึกษาพร้อมกันส่งท้าวขันที ซึ่งเป็นบุตรท้าวอึ่ง
เจ้าเมือนพวนคนเก่า ขึ้นไปครอบครองบ้านเมืองตามวงศ์ตระกูล .....
- อนึ่ง ข้าพเจ้ามีความเสียใจด้วยในปีนี้ฝนน้อย ข้าวขึ้นราคาสูง กลัวราษฎรทั้งปวงซึ่งเป็นคนจนจะต้องซื้อข้าวแพง
จะเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมขึ้นท่านเสนาบดีจึงได้ปรึกษาขอให้ปิดข้าว อย่าเพิ่งให้ลูกค้าบรรทุกไปจำหน่ายต่างประเทศก่อน.....
แลเมื่อปีกลายนี้ ได้ให้ขุดคลองตั้งแต่ศาลากลางคลองแสนแสบ ถึงปลายคลองท่าไข่
แขวงเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นทุ่งว่างไม่มีไร่นา.....
ได้ยอมให้ราษฎรจับจองที่นาในที่ใหม่ซึ่งคลองขุดเข้าไปแล้วนั้น .....เป็นมาจองแล้ว
18,800 ไร่เศษ ..... กำลังแจกใบจองอยู่เป็นเนื้อนาได้ถึง 30,000 ไร่ .....
- .........
พระราชดำรัสตอบ
พระบรมวงศานุวงศ์ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ
แลข้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานเฉลิมพระชนมพรรษา
พ.ศ. 2421
- .........
- ก็ในราชการทั้งปวง ตั้งแต่เฉลิมพระชนม์พรรษาครั้งก่อน ซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวขึ้นในที่ประชุมมาจนถึงบัดนี้
การทั้งปวงก็ยังเป็นไปโดยเรียบร้อย .....
- คือการในเมืองภูเก็ต ซึ่งเกิดขึ้นคราวก่อน เรียบร้อยเป็นปกติดีแล้ว ภายหลังก็มีเหตุบ้างเล็กน้อย เพราะข้าวขึ้นราคาดีบุกลงราคา
เราก็ได้ยอมลดหย่อนพิกัดดีบุกให้พอสมควร แต่เห็นว่าในเมืองตะวันตก พวกจีนเข้าไปตั้งทำเหมืองแร่ดีบุก
เป็นพวกเป็นเหล่ากัน มักจะมีเหตุอันตรายเกิดขึ้น ด้วยวิวาทกันแลกันบ่อย ๆ .....เห็นว่าจะต้องมีข้าหลวงใหญ่สำหรับบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายตะวันตกทั้งมวล เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นจะได้ระงับได้ทันท่วงที
จึงเห็นว่ามีเมืองตรัง ..... ควรจะตั้งเป็นเมืองสำหรับข้าหลวงอยู่รักษา .....
- อนึ่ง การจลาจลในเมืองเขมร ซึ่งคอเวอนแมนต์ของเราได้มีความร้อนใจ เพื่อจะรักษาทางพระราชไมตรีกรุงฝรั่งเศษนั้น เป็นการสำคัญ
แต่บัดนี้ก็เห็นว่า นักองค์วัดถา อ่อนกำลังลงแล้ว
ท่านแอดมิราล เมืองไซ่ง่อน แลผู้ครองเมืองเขมรคงจะจัดการปราบปรามให้เรียบร้อยไปได้.....
แต่การในเมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐนั้น
เห็นว่าพระยาคทาธรธรนินทร์ และพระยานุภาพไตรภพ ผู้ว่าราชการเมือง ก็เข้าใจราชการพอรักษาเมืองไม่ให้มีเหตุ
เป็นที่วางใจได้
- อนึ่ง เมื่อปีกลายนี้ ในพระราชอาณาเขตของเราต้องปิดข้าว เพราะฝนไม่บริบูรณ์ตามฤดู
ราคาข้าวขึ้นไปกว่าปกติ แต่ในปีนี้ฝนที่กรุงเทพฯ แลต่อกรุงเก่า ก็ดูบริบูรณ์ดี.....
- อนึ่ง เรื่องชำระความศาลต่าง ๆ ซึ่งได้จัดชำระเพื่อจะให้ความเบาบาง ตามซึ่งได้คิดจัดไว้แต่ปีกลายนี้นั้น ได้รับรายงานเสมอทุกเดือน.....
- อนึ่ง ตำแหน่งที่สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งใหญ่สำคัญว่างลงในปีนี้ เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ สมควรจะทรงรับตำแหน่งนี้ได้ จึงได้มอบราชการในกรมมหาดไทย
แลหัวเมืองขึ้นทั้งปวงถวายท่านทรงบังคับ.....
- อนึ่ง เห็นว่าเมืองฉะเชิงเทรา เป็นเมืองตั้งอยู่ใกล้ปากน้ำบางประกง ต่อขึ้นไปตามลำน้ำนั้นเป็นเมืองปราจีนบุรี
เมืองนครนายก ในพื้นที่เมืองเหล่านั้นเป็นท้องทุ่งที่ทำไร่นาได้มาก .....จึงได้ขุดคลอง
ตั้งแต่คลองแสนแสบไปถึงคลองท่าไข่..... บัดนี้คลองนั้นก็ขุดเสร็จแล้วให้ชื่อว่า คลองนครเนื่องเขต ได้เปิดให้ราษฎรเดินไปมาแลจับจองที่นา.....
ระยะทางตั้งแต่ลำธารวังน้ำเย็นมาตกถึงคลองบางไผ่ แขวงเมืองฉะเชิงเทราเป็นทาง400
เส้น เป็นที่ราษฎรประสงค์อยากจะให้ขุดคลองในที่นั้น ..... อนึ่งตั้งแต่ปลายคลองพระโขนง แขวงนครเขื่อนขัณฑ์ไปตกแม่น้ำบางปะกง
แขวงเมืองฉะเชิงเทรา ทาง 1150 เส้น ที่แผ่นดินเป็นที่อุดมดี ท้องทุ่งก็ว่างไม่มีลำคลอง ราษฎรไม่ได้ทำนา
..... จัดให้พระยาดำรงราชพลขันธ์เป็นผู้ขุด
- อนึ่ง คลองมหาสวัสดิ์ แลคลองภาษีเจริญ
แขวงเมืองนครชัยศรี ซึ่งเป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขุดขึ้นไว้นั้น
ดูตื้นเสียไปทั้งสองคลอง ..... ถ้าขุดคลองในระหว่าง ให้ตลอดถึงกัน คงจะชักกับแก้ให้หายตื้นไปได้.....
บัดนี้คลองนั้นก็สำเร็จแล้ว เป็นระยะคลองยาว 340 เส้น ให้ชื่อว่า "คลองทวีวัฒนา".....
แลบัดนี้ก็ยังได้ขุดต่อไป ..... ไปออกบ้านสี่พระยา แม่น้ำเมืองนครชัยศรี ระยะทาง
540 เส้น ด้วยเห็นว่าเป็นทุ่งว่างไม่มีไร่นา แลเป็นทางตรง สายน้ำจะเป่าลงมาในคลองทวีวัฒนาแรง
ได้ลงมือขุดในเดือน 8 นี้แล้ว แลแขวงเมืองสุพรรณกับกรุงเก่าต่อกัน ที่นั้นทำนาเกือบจะต่อถึงกันแล้ว.....
ถ้าการนี้สำเร็จทุ่งนาเมืองสุพรรณ กับแขวงกรุงเก่าก็เป็นอันติดต่อกัน......
- .........
| หน้าแรก
| หน้าต่อไป | บน |