| หน้าแรก | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |
| ย้อนกลับ |
ร่างรัฐธรรมนูญ
: แนวพระราชดำริที่จะพัฒนา การเมืองในขั้นต่อไป
การที่จะให้มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศได้มีการริเริ่มเป็นครั้งแรก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาในรูปของคำกราบบังคมทูลความเห็นของเจ้านายและข้าราชการ
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า
มีสิ่งที่จะต้องกระทำก่อนอื่น อยู่ ๒ ประการคือ การปฏิรูปการบริหาร เพื่อให้ข้าราชการทุกหน่วยมีงานทำอย่างเต็มที่
มีความรับผิดชอบในหน้าที่ และมีการประสานงานระหว่างกัน อีกประการหนึ่งคือจะต้องมีผู้ร่างกฎหมาย
ซึ่งจะเป็นผู้ที่ตริตรองตรวจการทุกสิ่งทุกอย่าง และเป็นผู้แก้ไขข้อขัดข้องด้วย
เพราะถ้าเรื่องดังกล่าวยังไม่สามารถทำได้เรียบร้อยแล้ว เรื่องอื่น ๆ ก็ยากที่จะทำให้ลุล่วงไปได้
ในปลายรัชสมัยของพระองค์ก็ได้มีผู้ใช้นามแฝงว่า เทียนวรรณ
ได้รื้อฟื้นการมีรัฐธรรมนูญ
และมีรัฐสภาที่มาจากประชาชน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากทุกคนทั่วไปเท่าใดนัก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๕ คณะผู้ก่อการ
ร.ศ.๑๓๐ ได้คิดปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ในเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็ได้มีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ตั้งต้นรัชสมัยของพระองค์ แต่ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า
คนไทยโดยทั่วไปยังไม่มีความพร้อม เพราะแม้แต่ในการเลือกกรรมการสุขาภิบาล ซึ่งเป็นขั้นต้นของการเลือกผู้ปกครองตนเองก็ยังทำไม่ได้จริงจัง
และแม้แต่การเลือก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทำได้ง่ายกว่าก็ยังทำกันเหมือนเล่นลครตลก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นสองฉบับ
เพื่อนำมาศึกษาพิจารณา ว่าจะมีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่เพียงใด
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างขึ้นนั้น สืบเนื่องมาจากที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระยากัลยาณไมตรี เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙
ทรงใช้หัวเรื่องว่า Promblems of Siam ประกอบด้วยพระราชปุจฉา
๙ ข้อ เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ประเทศไทย
กำลังเผชิญอยู่ในตอนต้นรัชสมัยของพระองค์
พระราชปุจฉาสองข้อแรกเกี่ยวกับปัญหาการสืบราชสมบัติ และมาตรการที่จะให้ พระมหากษัตริย์ซึ่งจะขึ้นครองราชย์ต่อ
ๆไปจะเป็นผู้ที่มีความสามารถ ในอีกสองข้อต่อมา ทรงปรึกษาว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง
เป็นแบบรัฐสภาที่มาจากผู้แทนของปวงชน ข้อต่อมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของอภิรัฐมนตรีสภา
สองข้อต่อมาทรงปรึกษาว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ประเทศไทย จะมีนายกรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติ
สำหรับสองข้อสุดท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาการเงิน และการคลังของประเทศ
และปัญหาว่าจะมีวิธีการกลืน (Assimilation) ชาวจีนซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยได้อย่างไร
พระยากัลยาณไมตรีได้ทำความเห็นใช้ชื่อว่า Sayre's Memorandum ตอบพระราชปุจฉาทุกข้อ
เว้นข้อสุดท้ายโดยได้ออกตัวว่า เขาต้องทำการศึกษามากกว่านี้จึงจะให้ความเห็นได้
และได้ทูลเกล้า ฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญฉบับสั้น ๆ เพื่อให้เห็นโครงสร้างของรัฐบาลตามความคิดเห็นของตน ที่มีต่อพระราชปุจฉา
ใช้ชื่อว่า Outline of Preliminary Draft มีอยู่เพียง
๑๒ มาตรา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงส่งบันทึกความเห็นของพระองค์ และของพระยากัลยาณไมตรี
ไปยังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้เป็นสมาชิกอภิรัฐมนตรี
เพื่อขอความเห็น สมเด็จกรมพระยาดำรง ฯ ได้ทรงแสดงความเห็นต่อความเห็นของพระยากัลยาณไมตรีเท่านั้น
โดยเป็นไปในทางที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องการให้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประการสำคัญ
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สองนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้นาย เรมอนด์ บี สตีเวนส์ ชาวอเมริกัน
ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศของ พระยาศรีวิสารวาจา
ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ เป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ซึ่งได้ร่างเสร็จเมื่อวันที่
๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ โดยได้ร่างเป็นภาษาอังกฤษ ให้ชื่อว่า An
outline of Changes in the From of Government มีความยาวห้าหน้ากระดาษพิมพ์
ได้กำหนดรูปแบบการปกครอง กำหนดความสัมพันธ์อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ
ตลอดจนกำหนดวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไว้ด้วย
ทั้งนาย เรมอนด์ บี สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
โดยให้เหตุผลว่ายังไม่ถึงเวลา เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เหมาะสมที่จะมีส่วนในการปกครอง
ทั้งสองคนมีความเห็นว่า จะต้องให้ประชาชนได้มีประสบการณ์ในการปกครองตนเองก่อน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
ส่งสำเนาบันทึกความเห็นของเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ของนาย เรมอนด์ บี
สตีเวนส์ กับของพระยาศรีวิสารวาจา เกี่ยวกับเรื่องร่างรัฐธรรมนูญไปถึงสมาชิกอภิรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ เพื่อที่จะได้พิจารณาในที่ประชุมอภิรัฐมนตรี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ
แก่พสกนิกรชาวไทย ในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นวันครบรอบการสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์
๑๕๐ ปี แต่ก็มีสาเหตุที่ทำให้ไม่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ในครั้งนั้นเนื่องจากอภิรัฐมนตรีสภาไม่เห็นด้วย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงยืนยันที่จะให้มีการปกครองในระบอบ
พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Manarchy) จากพระราชกระแสต่อความเห็นของนาย
เบนิโต มุสโสลินี เรื่องการศึกษาของประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.
๒๔๗๕ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประมาณ ๑ เดือน
การวางรากฐานการปกครองระบอบรัฐสภา
สภาองคมนตรี ซึ่งต่อมาเรียกว่าสภากรรมการองคมนตรีนั้น เป็นสถาบันที่สืบเนื่องมาจากสภาที่ปรึกษาในพระองค์
(Privy Council) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดตั้งขึ้น
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗ พร้อม ๆ กับที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะปรับปรุงสภาองคมนตรีใหม่
โดยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นสถาบันเรียนรู้ และทดลองการปกครองในระบบรัฐสภา
พระองค์จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้แต่งตั้งกรรมการเพื่อจัดระเบียบองคมนตรี ในการนี้มีข้อความอยู่หลายตอนที่แสดงให้เห็น
ถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระองค์ในอันที่จะวางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ที่สำคัญได้แก่พระโอวาทของ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตองค์ประธาน
ที่ได้ทรงอ้างถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันเปิดประชุมกรรมการ
เพื่อจัดทำพระราชบัญญัติองคมนตรีใหม่ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐ และพระราชบันทึกเรื่อง
Democracy in Siam
พระโอวาท ฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้กรรมการทั้งหลาย ได้ทราบและตระหนักในพระราชประสงค์ของ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงตระหนักพระราชหฤทัยตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ว่า
จะต้องคิดเตรียมการรับการให้สิทธิทางการเมืองแก่ประชาชน ที่จะเกิดขึ้นโดยลำดับ
ทั้งนี้เนื่องจากว่า เมื่อวันเวลาผ่านไปก็จะยิ่งมีคนที่ได้รับการศึกษามีความรู้มากขึ้น
ย่อมมีความต้องการที่จะมีสิทธิในการปกครอง เมื่อประชาชนมีความรู้พอที่จะใช้การปกครองระบบรัฐสภาอย่างได้ผล
ก็จะต้องถึงเวลาอันสมควรเปลี่ยนระบอบการปกครองเช่นนั้นในวันหนึ่งอย่างแน่นอน
จึงทรงมีพระราชดำริว่า ในขณะที่รอเวลาที่จะมาถึงนั้น จะต้องคิดดูว่าจะรอให้ราษฎรเรียกร้องเอาเอง
หรือจะชิงให้เสียก่อน เพราะถ้าหากขัดไว้ช้าเกินไปแล้ว ต้องยอมให้ก็ไม่เหมาะสมและอาจเป็นผลให้เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง
เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีพระราชดำริว่า จะต้องคิดเตรียมการไว้ทางหนึ่งที่ทรงเห็นว่าจะทำได้ก็คือ
ปล่อยให้มีการประชุมขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เช่นที่อังกฤษได้ทำแก่ประเทศเมืองขึ้นของตน
โดยการให้มีสภาเทศบาล และการปกครองท้องถิ่น หรือการจัดให้มีสภาซึ่งทำหน้าที่นิติบัญญัติ
พระราชบันทึก Democracy in Siam นับเป็นหลักฐานเอกสารสำคัญที่สุดที่แสดงให้เห็น
ถึงพระราชดำริทางการเมืองของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้พระราชทานบันทึกฉบับนี้ลงมา
เพื่อตอบสนองพระดำริของ หม่อมเจ้าสิทธิพรกฤษดากร ในเรื่องที่ว่า กรรมการองคมนตรีควรเป็น
Advisory หรือ Consultative body พระราชบันทึกนี้ ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมการรับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
รวมทั้งแนวทางของการเตรียมการตามพระราชดำริ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสภาองคมนตรีนั้น
ได้ทรงแสดงให้เห็นถึงพระราชประสงค์สองประการคือ
๑. เป็นการทดลองและเรียนรู้ถึงวิธีการประชุมปรึกษาของรัฐสภา
๒. เป็นพลังที่จะใช้ต้านทานการใช้อำนาจในทางที่ผิด
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสมัครพระทัยที่จะจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์เอง
มิใช่เป็นเรื่องของภาวะจำยอมเช่นที่เกิดขึ้นกับ พระมหากษัตริย์อังกฤษหลายพระองค์
แม้สภากรรมการองคมนตรีจะมิใช่เป็นรัฐสภา แต่จากบทบัญญัติ และจากการทดลองประชุมปรึกษาพิจารณาร่างกฎหมายต่าง
ๆ ของสภานี้ในเวลาต่อมา ก็สามารถจะกล่าวได้ว่า สภากรรมการองคมนตรี เป็นก้าวแรกของการเตรียมการปกครองระบอบรัฐสภา
ที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคต ดังที่กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ สภานายกกรรมการองคมนตรี
ได้ตรัสไว้ในที่ประชุมกรรมการองคมนตรีครั้งแรก เมื่อ วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.
๒๔๗๐ มีความตอนหนึ่งว่า
".....สภากรรมการองคมนตรีเรานี้ ถึงมิใช่ปาเลียเม้นต์ก็จริง และถึงในเวลานี้เมืองเรา
ยังไม่ควรมีปาเลียเม้นต์ก็จริง แต่ระเบียบการประชุมและขนบธรรมเนียมที่จะตั้งขึ้นนั้น
จะหนีแบบปาเลียเม้นต์ไปคงไม่ได้ แท้จริงข้อบังคับรัฐมนตรีในรัชกาลที่ ๕ นั้น
ก็เป็นแบบปาเลียเม้นต์นั่นเอง ก็การใช้วิธีดำเนินการประชุมเป็นทำนองปาเลียเม้นต์นั้น
ย่อมจะได้ประโยชน์ปัจจุบันคือดำเนินงามตามบรรทัดที่เมืองอื่น ๆ ทดลองใช้กันมานานแล้ว
จนปรากฎว่าใช้ได้นั้นก็อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่ง แม้ว่าเวลานี้ยังไม่มีปาเลียเม้นต์ในเมืองเราก็ตาม
แต่จะกล่าวไม่ได้ว่า ต่อไปในคราวหน้า ความสามารถของประชาชนและความจำเริญของบ้านเมือง
จะไม่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นสมควรจะพระราชทานให้มีปาเลียเม้นต์ขึ้นบ้าง
ถ้าพระเจ้าแผ่นดินโปรดเกล้า ฯ เช่นนั้นจะในชั่วอายุคนรุ่นนี้หรือรุ่นหน้า
รุ่นโน้นก็ตาม ปาเลียเม้นต์ที่เกิดใหม่ก็จะต้องย้อนหลังมาหาระเบียบการที่ใช้ในสภานี้
เพื่อจะเอาแบบไปใช้ตามที่ใช้ได้ สภานี้ก็จะตกอยู่ในตำแหน่งสภาครุปาเลียเม้นต์ไทยต่อไปในอนาคต"
รายงานการชุมนุมกรรมการองคมนตรี
เมื่อ ๑๑ เมษายน ๒๔๗๐
พระโอวาทผู้ทรงเป็นประธาน
(สมเด็จ
ฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต) .....
.....องคมนตรีนี้ได้มีมาแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นเวลานานแล้ว....ทรงพระราชดำริว่ากิจการเป็นโบราณอยู่มาก.....
การโบราณนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตาม
ประเทศตะวันตกที่รุ่งเรือง
แต่ผู้ที่ทรงใช้สรอยอยู่ในเวลานั้น จะหาผู้ทรงแก่เรียนแทบไม่มี ผลที่สุดเมื่อทรงตั้งแบบขึ้นก็เป็นการถ่ายมาจากแบบฝรั่งยิ่งกว่าดัดแปลง
(adoupt)ให้เหมาะดีกับกาลเทศะ พระราชประสงค์ที่ตั้งรัฐมนตรี Councillor of
State และองคมนตรี Privy Couneillor ก็ตั้งไปดังนั้น แต่คนเหล่านั้นทำการตามหน้าที่ไม่ได้จริงจัง..... แต่ที่ได้ตั้งองคมนตรีทั้งหลายต่อมา ก็เพื่อแสดงความไว้วางพระราชหฤทัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ liberal มาก ถึงแม้ทรงเห็นว่าบ้านเมืองชอบปกครองด้วยอาญาสิทธิแต่ก็เป็นอาญาสิทธิที่
liberal
ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงทราบแน่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชหฤทัย
liberal ได้เคยทรงสนทนากันมาแต่ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วในเรื่อง
Form of Government ย่อมทรงตระหนักพระราชหฤทัยอยู่ว่า รูปการปกครองอย่างที่ดีนั้น
ก็คือที่เหมาะที่สุดสำหรับบ้านเมืองโดยกาละ ถึงแม้ว่าในเวลานี้ยังจำเป็นต้องคงใช้รูปการปกครองโดยอาญาสิทธิ
อาญาสิทธินั้นต้องให้เป็นอย่าง liberal อย่างยิ่งจึงจะทรงตัวอยู่ได้ แต่วันล่วงไปก็ยิ่งจะมีคนที่ได้ศึกษามีความรู้มากขึ้น
จะต้องคิดการไว้เตรียมรับ cmancipation ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยลำดับ
เมื่อไรเล่าจะถึงเวลาต้องเปลี่ยนรูปการปกครอง ทรงพระราชดำริห์ว่า เมื่อประชาชนมีความรู้พอแก่การแล้วจึงจะให้
paliamentary system เป็นผลได้ และก็คงจะต้องถึงเวลาอันควรที่จะเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองเช่นนั้นในวันหนึ่งแน่นอน
ในขณะรอเวลาที่จะมานั้น เราจะต้องคิดดูว่าจะรอให้ราษฎรเรียกร้องเอาเองฤาจะชิงให้เสียก่อน
ถ้าขัดไว้ช้าเกินไปแล้วต้องยอมให้ ก็ไม่เหมาะและอาจจะมีผลร้าย ถ้าแม้ว่ายอมให้เร็วไป
ราษฎรยังไม่มีความรู้ ก็อาจไม่เป็นการเป็นงาน และอาจเป็นผลถึงจลาจล เหมือนดังเช่นได้เคยเห็นตัวอย่างในเมืองอื่น ๆ
การที่จะเก็งเวลาให้เหมาะว่าเมื่อใด จะพึงเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็น Representative
Government นั้น เป็นการยากหนักหนา ใครสามารถเก็งถูกก็ชื่อว่าเป็น Stateman
อันวิเศษทีเดียว โดยเหตุนี้ เราควรจะหาทางเตรียมทางเข้าหาอย่างใดได้บ้าง ทรงเห็นว่ามีอย่าง
๑ ปล่อยให้มีการประชุมขึ้นทีละเล็กทีละน้อย อย่างที่ประเทศอังกฤษเขาทำแก่
colonies ของเขาเป็นชั้น ๆ โดยลำดับไป เช่นด้วย Municipal Council, Local Gocernment
ฤา Legistative Council..... และเนื่องน้ำพระราชหฤทัยเป็นดังกล่าวมาแล้ว กรรมการจะออกความเห็นอย่างใด
ก็ไม่ต้องพึงกลัวเกรงว่า จะทรงถือเป็นการคิดล้างพระราชอำนาจฤาล่วงเกินอย่างหนึ่งอย่างใดเลย
ขอให้กรรมการทั้งหลายแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์แก่การบ้านเมือง..... ความเห็นส่วนมากอย่างไร
ก็จักได้นำความกราบบังคมทูลพร้อมกันกับความเห็นส่วนน้อย
ฯลฯ
พระองค์เจ้าธานี
ฯ (กรรมการ)
.....เข้าใจว่าพระดำริห์อันนี้เดินโดยหลักสมมติเอาว่า ประชาธิปไตยเป็นของจำเป็น
และพึงถือเป็น World Axiom อันหนึ่ง..... เพราะเห็นว่าประชาธิปไตยที่แพร่หลายไปมากนั้น
เกิดจาก prestige ของพวก Anglo - Saxon สหปาลีรัฐอเมริกาได้ริตั้ง demoeratic
- system ขึ้น มีอเมริกาใต้และฝรั่งเศสได้รับรองเอาไปใช้ แต่ก็ไม่เห็นเป็นผลจริงจัง
ทรงเห็นว่าถ้าไม่ใช่พวก Anglo - Saxon แล้ว ชาติอื่น ๆ ยังทำไม่ได้สำเร็จดี
ถ้าสังเกตุประเทศที่ใกล้เคียงบ้านเรา เท่าที่จีนทำไปอย่างพวก Anglo - Saxon
นั้นก็มีผลให้มีการจลาจล ประเทศญี่ปุ่นนั้นถึงจะมี Paliament แท้จริงหัวใจของการปกครองก็ยังเป็นรูป
autocracy หัวใจราษฎรยังตรงข้ามกับ democratic principle จึงทรงเห็นว่าชาวตะวันออกน่าจะเหมาะแก่การปกครองเป็น
patriarchal ไม่น่าเชื่อว่าการปกครองจะมาจากส่วนล่างขึ้นไปส่วนสูง
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
(กรรมการ)
เห็นพ้องกับพระดำริห์ผู้ทรงเป็นประธานเป็นส่วนมาก..... คนไทยมีลักษณะดัดง่าย
เปลี่ยนง่ายอาจดัดได้ด้วยการศึกษาแน่นอน แต่มีความจริงที่ปรากฎแล้วอย่างหนึ่งคือ ว่าการจะหัดให้ราษฎรรู้จักปกครองด้วยวิธี
Representative Government นั้นเป็นการยากต้องกินเวลานาน ญี่ปุ่นได้ทำมาแล้ว
เป็นเวลานานปีก็ได้ผลเพียงนี้ ประเทศอื่น ๆ ก็มีครูมาฝึกหัดให้ เช่น ฟิลิปปินส์
ก็ทำอยู่เป็นเวลาตั้ง ๒๐ ปีแล้ว..... ในการเลือกผู้แทน ถ้าขาดการศึกษาก็เป็นการเลือกส่วนตัวยิ่งกว่าเอาการงานเป็นใหญ่
Democracy ที่บกพร่องก็เพราะคนยังเห็นแก่ตัวเป็นส่วนมาก.....
หม่อมเจ้าสิทธิพร
(กรรมการ)
.....ทรงเห็นว่าถ้าคิดถึงการภายหน้าแล้ว การที่มี absolute monarchy นั้นก็มีอันตราย
danger ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงไว้ซึ่งสุติปัญญาดีก็เกิดการเสียหายได้ เพราะเหตุฉะนั้น
ประเทศอื่น ๆ จึงมี limit พวกที่จงรักภักดีต่อแผ่นดิน จึงพยายามหน่วงพระราชอำนาจ
ทรงเห็นว่าเมื่อบ้านเมืองมีการศึกษา educa tion ดีก็ต้องมีเสียงราษฎรมากขึ้น
สภากรรมการองคมนตรีนี้ควรเป็น advisory body
พระยาสุรินทราชา
(กรรมการ)
เห็นพ้องกับหม่อมเจ้าสิทธิพรว่าสภานี้ควรเป็น Consultative body เมื่อฟังตามพระกระแสผู้ทรงเป็นประธาน
เห็นว่าที่ประชุมองคมนตรี เปิดโอกาสให้ราษฎรได้รับความพอใจ ว่าเป็นพระมหากรุณาที่ทรงหวังพระราชหฤทัยแก่ความทุกข์สุขของเขา
เวลานี้หนังสือพิมพ์ตะโกนเอาอำนาจ ถ้าปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นอันตรายมากที่สุด
ที่ประชุมจะเป็นหัวเงื่อนของรัฐบาลกับประชาบาล การกำเริบของราษฎรจะบันเทาลง
เพราะว่าถ้ามี consultative body ขึ้นแล้ว เมื่อพระราชทานเรื่องลงมาให้ปรึกษาหารือกัน
ถ้าราษฎรรู้สึกว่ามีหม่อมเจ้าสิทธิพร ที่เป็นชาวไร่ชาวนาอยู่ในที่ชุมนุมเป็นผู้แทนของเขาแล้ว
เขาก็คงพอใจ และคงจะไม่ไปตะโกนในหนังสือพิมพ์ว่าได้รับความเดือดร้อน และไม่มีใครป้องกันผลประโยชน์ของเขา
พระยาจินดาภิรมย์
(กรรมการ)
.....กรุงสยามได้มีความจำเริญขึ้นโดยลำดับ จนนานาประเทศได้ยอมรับแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญาใหม่
ยอมให้ไทยมีฐานะเสมอภาค (autonomy) ดังนั้นเป็นที่ยินดีมาก แต่ผลอันเกิดจากความเสมอภาคนี้
ย่อมนำมาซึ่งหน้าที่ ที่จะต้องจัดรูปการปกครองให้เหมาะกับการ เพื่อมิให้ล้าหลังอยู่ได้
แต่การที่จะจัดนี้ จะหักโหมทำไปให้เท่ากับเขาทีเดียวนั้นย่อมไม่ได้อยู่เอง
จำต้องค่อยเป็นค่อยไป จึงเห็นว่าเป็นการสมควรแล้วที่จะได้เตรียมการไปแต่บัดนี้
ฯลฯ
.....ที่ประชุมกรรมการนี้จะให้เป็น advisory body ก็ยังได้ผลทางอ้อมอย่างหนึ่ง.....
ด้วยเหตุเหล่านี้จึงขอสนับสนุน (support) เรื่องตามที่ผู้ทรงเป็นประธานรับสั่งนั้น
พระยาเทพวิทูร
ฯ (กรรมการ)
เห็นว่าตามกระแสรับสั่งผู้ทรงเป็นประธานว่าให้เตรียมตัวหาหนทางสำหรับการภายหน้า
อันเป็นหัวเงื่อนหัวต่อนั้นดีนัก พร้อมที่จะฉลองพระเดชพระคุณ เห็นชอบด้วยพระราชดำริห์
พระยาโกมารกุลมนตรี
(กรรมการ)
ว่าพระราชประสงค์จะให้มี Body ขึ้นในหมู่องคมนตรี เลือกแต่บุคคลที่ทำงานได้จริงจังนั้น
เป็นพระราชดำริห์ที่ดีนัก ส่วนหน้าที่ของคณะนี้ เห็นควรว่าเป็นเพียง consultative
Body
ฯลฯ
รายงานการประชุมกรรมการองคมนตรี
เมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๐
สมเด็จ ฯ
เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ประธาน)
รับสั่งว่าได้ทรงส่งสำเนาพระราชบันทึกให้ทุกคนแล้ว และข้อความที่ทรงแนะนำมาให้แก้นั้นเป็น
amendment ต่อความเห็นของหม่อมเจ้าสิทธิพร และเข้าแบบเป็น advisory body ตรงกันนั้นเอง
จะสมควรเอาความในพระราชบันทึกเป็นหลักพิจารณากันทีเดียวได้ฤาไม่
หม่อมเจ้าสิทธิพร
ว่าพระราชบันทึกนั้นเป็น amenment on principle แต่หลักที่ยกขึ้นคือกรรมการองคมนตรีมีอำนาจประชุมกันเองได้
ยังไม่ได้ปรึกษา discuss กัน
ฯลฯ
พระยาโกมารกุล
ฯ
ฯลฯ
ตามบันทึกส่วนน้อยของหม่อมเจ้าสิทธิพรเห็นว่าตามมาตรา ๑๓ ให้สภาวางตัวเฉย
ๆ ต่อเมื่อใดพระราชทานข้อราชการลงมาจึงประชุมปรึกษากันได้นั้นไม่พอ ไม่เป็นการก้าวหน้าไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริห์ว่าเป็นข้อสำคัญ จึงทรงแนะนำให้กรรมการ
๑๕ นาย ยื่นหนังสือแก่สภานายก นำความขึ้นกราบบังคมทูล จะทรงพระราชดำริห์ว่าจะให้ประชุมปรึกษากันฤาไม่
ทั้งนี้เห็นชัดว่าเรื่อง democratic form of government นั้นเป็นปัญหาที่ทรงฝักใฝ่พระราชหฤทัยอยู่มาก
มีพระราชประสงค์ที่จะให้สภาองคมนตรีเป็นทั้ง Privy Council และเป็นบรรไดคั่นแรกที่จะนำไปสู่
Parliament และให้ทำหน้าที่ ๒ อย่างนี้.....
พระองค์เจ้าธานี
ฯ
ว่าไม่ทรงเห็นชอบด้วยการที่จะสนับสนุนคนชั้นต่ำให้เป็นปรปักษ์ต่ออำนาจสูงในแผ่นดิน
อเมนดเมนตของหม่อมเจ้าสิทธิพร เป็นไปในทางประชาธิปไตย เพราะฉนั้นจึงไม่ชอบและไม่เห็นด้วยเลย
อะเมนดเมนตที่พระราชทานลงมาก็โดยหลักเดียวกัน หากแต่ก้าวถึงไม่ไกลเท่าของหม่อมเจ้าสิทธิพร
ฉนั้นก็ไม่เห็นด้วยอีก ขอพระราชทานโหวตค้าน เห็นควรคงไว้ตามร่างเดิม
ฯลฯ
พระยาเทพวิทูร
ฯ
.....เห็นว่าถ้าสภาเป็น Privy Council แล้ว ก็จะเป็นต้องเป็น counsultative
body แต่เมื่อไม่มีพระราชประสงค์ที่จะให้สภาเป็น Privy Counsil โดยลำดับแล้ว
ก็เห็นควรให้มีลักษณะเป็น advisory body ไว้บ้างก็ดี เห็นด้วยกับ amentment
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระยาจินดาภิรมย์ ว่า เห็นชอบด้วยพระราชบันทึก.....
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
ว่า priciple ที่พระราชทานลงมานั้นถูกต้องเหมาะสมดีแล้ว เป็นทางที่จะให้ราษฎรเรียนรู้ความมุ่งหมายของ
democracy เห็นชอบด้วยพระราชดำริห์
ฯลฯ
ผู้ทรงเป็นประธาน
รับสั่งว่าตามที่ได้พระราชทานพระราชดำริห์ลงมานั้นเป็นอย่าง frank และกอร์ปด้วย
lofty ideals อย่างยอดยิ่ง สำแดงให้เห็นว่าทรงมีความฝักใฝ่ในทุกข์สุขของบ้านเมือง
ทรงพระเมตตาแก่ประชาชนเป็นอันมาก..... ทรงเห็นชอบด้วย amendment นี้
ผู้ทรงเป็นประธาน หม่อมเจ้าสิทธิพร เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ พระยาจินดาภิรมย์
พระยาเทพวิทูร และพระยาโกมารกุล รวม ๖ เห็นชอบด้วยพระบรมราชาธิบาย ที่จะเพิ่มข้อความนี้ลงในร่างพระราชบัญญัติ
พระองค์เจ้าธานี ฯ หม่อมเจ้าดำรัสดำรง และพระยาสุรินทราชา เห็นควรคงความไว้ตามร่างเดิม
ฯลฯ
พระราชบัญญัติองคมนตรี
พุทธศักราช ๒๔๗๐
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า
ฯ สั่งว่า
โดยที่มีพระราชหฤทัย จำนงหมายอยู่เนืองนิตย์ ในอันจะจรรโลงสยามรัฐให้พลันบรรลุถึง
ซึ่งความเจริญยิ่งๆขึ้นสืบไป ให้ทวยราษฎร์ข้าขอบขัณฑสีมาได้บันเทิงในความเที่ยงธรรมร่มเย็น
เป็นสันติสุขโภคสมบูรณ์ตามควรแก่ภาวะฐานานุรูปเป็นนิรันดร์
โดยทรงมั่นพระราชหฤทัยว่า ในการปกครองย่อมมีปัญหาข้อราชการบางประเภท ซึ่งหากได้ปรึกษาฟังความเห็นของบุคคลผู้มีสติปัญญา
มีความหยั่งรู้ถึงสุขทุกข์ของประชาชนเป็นจำนวนมากคนด้วยกัน ก็ย่อมจะเป็นการดีมีคุณประโยชน์
โดยที่ทรงพระอนุสรคำนึงถึงระเบียบการองคมนตรี อันสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงตั้งขึ้นไว้แล้วแต่หนหลังด้วยอำนาจพระปรีชาญาณอันสุขุมนั้น หากจัดดำเนินการให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
อาจสำเร็จเป็นประโยชน์เช่นกล่าวนั้นได้และ
โดยที่ทรงพระราชดำริว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยองคมนตรีจุลศักราช ๑๒๓๖ ซึ่งเรียกว่าพระราชบัญญัติ
ปรีวีเคาน์ซิล คือที่ปรึกษาในพระองค์นั้น เป็นบทบัญญัติและระเบียบการอันล่วงสมัย
ไม่เหมาะที่จะใช้ต่อไป โดยพฤติการณ์ปัจจุบัน
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยองคมนตรีขึ้นใหม่
โดยบทดังจะกล่าวต่อไปนี้
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติองคมนตรี พ.ศ. ๒๔๗๐
ฯลฯ
มาตรา ๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน จะทรงเลือกสรรบุคคลใด ๆ ซึ่งมีสัญชาติเป็นไทย
และซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสามารถ และทรงคุณธรรมสมควรเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยตั้งขึ้นไว้เป็นองคมนตรี
ส่วนองคมนตรีซึ่งได้โปรดเกล้า ฯ ตั้งขึ้นไว้ก่อนแล้วนั้น ก็ให้คงเป็นองคมนตรีต่อไป
ตามความในพระราชบัญญัตินี้
ฯลฯ
มาตรา ๖ องคมนตรีคนใดมีความรู้ความเห็นอย่างหนึ่งอย่างใด สมควรจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา
ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กราบบังคมทูลพระกรุณาได้โดยตรง
ฯลฯ
มาตรา ๑๑ ให้มีสภากรรมการองคมนตรี เพื่อประชุมปรึกษาหารือข้อราชการตามแต่จะโปรดเกล้า
ฯ พระราชทานลงมาให้ปรึกษา
ฯลฯ
มาตรา ๑๓ .....
อนึ่งถ้ากรรมการองคมนตรีมีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคน พร้อมกันเข้าชื่อทำหนังสือยื่นต่อนายกแห่งสภากรรมการองคมนตรี
ว่ามีข้อความสำคัญเกี่ยวกับสวัสดิภาพแห่งบ้านเมือง และประชาชน อันควรจะได้ประชุมปรึกษาถวายความเห็นไซร้
ให้สภานายกนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อให้ปรึกษากันได้
สภากรรมการองคมนตรี มีอำนาจเชิญเจ้ากระทรวงทบวงการทั้งหลาย ให้ชี้แจงข้อความอันจะเป็นคุณประโยชน์แก่การประชุมศึกษานั้น
หรือจะเชิญผู้หนึ่งผู้ใดให้มาชี้แจงหรือแสดงความเห็นต่อที่ประชุม เพื่อประกอบข้อปรึกษาหารือนั้นก็ได้
ฯลฯ
มาตรา ๒๘ เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว ให้สภานายกนำคำปรึกษาซึ่งได้วินิจฉัยตกลงนั้นขึ้นทูลเกล้า
ฯ ถวาย สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ
ฯลฯ
ประกาศมา ณ วันที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๐ เป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระราชดำรัสเปิดที่ประชุมสภากรรมการองคมนตรี
ท่านกรรมการองคมนตรี
ท่านย่อมทราบแล้วว่า ตามตำนานกรุงสยามตั้งแต่โบราณกาลมา การปกครองประเทศย่อมอยู่ในพระราชอำนาจอันสิทธิขาดของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว
แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น มีราชการมากขึ้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ทรงแต่งตั้งผู้ที่ทรงไว้วาง
พระราชหฤทัยเป็นเสนาบดี ให้บังคับบัญชากระทรวงทบวงการต่าง ๆ เพื่อปลดเปลื้องพระราชภาระ
เช่นเสนาบดีสภา ประชุมปรึกษาข้อราชการกัน อย่างทุกวันนี้นั้นได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่
๕ ถึงเช่นนั้นก็ดี พระบาทสมพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงสถาปนารัฐมนตรี
และองคมนตรีขึ้นอีกในรัชกาลของพระองค์ เพราะทรงเห็นตระหนักแล้วว่า การฟังความคิดเห็นฝ่ายมากนั้น
ย่อมมีประโยชน์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีการประชุมรัฐมนตรี และองคมนตรีกันบ้างตลอดมาจนรัชกาลที่
๖ ต่อมาที่ประชุมองคมนตรีนั้นมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ผู้มาประชุมไม่สันทัดในเชิงการชุมนุมใหญ่นัก
การประชุมจึงมีผลน้อย และห่างเวลาไป
ตั้งแต่เราได้ครองราช สมบัติสืบต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ก็ได้เห็นว่าสภาเสนาบดีและตัวเราจะปกครองบ้านเมือง
ซึ่งเป็นความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่งนั้น ย่อมต้องอาศัยความรู้ความชำนาญ ความสามารถของผู้อื่นด้วยจึงจะได้ผลอันดียิ่งขึ้น
เราจึงได้สถาปนาอภิรัฐมนตรีอีกคราวหนึ่ง
และโดยเหตุที่ในเวลานี้ ผู้ที่ได้รับการศึกษาทั้งในกรุงและในประเทศที่รุ่งเรือง
ก็มีเป็นจำนวนมากกว่าเดิม และยิ่งจะมีคนมีความรู้มากขึ้น เราจึงเห็นว่า ถ้าจะดัดแปลงสภาองคมนตรีให้ดีขึ้น
และให้ประชุมปรึกษาข้อราชการ ถวายความเห็นด้วยอีกคณะหนึ่ง ก็ย่อมจะยังประโยชน์เพื่อความเจริญและสันติสุข
ของประชาชนให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น แต่ถ้าจะให้องคมนตรีทั้งหมดประชุมกันเห็นว่าจะมากมายเกินไปนัก
จึงได้กำหนดจำนวนเพียง ๔๐ คน ซึ่งคิดว่าเป็นจำนวนพอดี ตั้งเป็นกรรมการองคมนตรีคณะหนึ่ง
เราขอให้ท่านเข้าใจว่า สภากรรมการองคมนตรีที่เราได้ตั้งขึ้นตามความในพระราชบัญญัติองคมนตรี
ลงวันที่ ๒ กันยายน นั้น จะเหมือนปรีวีเดาน์ซิลของประเทศอังกฤษก็แต่ในนามเท่านั้น
ลักษณะการหาคล้ายกันไม่ ต้องเปนไปตามสภาพที่เหมาะสมแก่ประเทศของเรา กล่าวคือ
เรามีความประสงค์ที่จะทดลอง
และปลูกฝังการศึกษาในวิธีการปรึกษา โต้เถียงให้สำเร็จเป็นมติตามแบบอย่างที่ประชุมใหญ่
เพราะฉนั้น จึงได้ดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ใช้การได้เหมาะสมตามสภาพบ้านเมืองที่มีอยู่ในเวลานี้
ถ้าหากถึงเวลาอันควรที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองประเทศต่อไป
ก็จะทำได้โดยสะดวก ส่วนการเลือกกรรมการนั้นก็ได้เพ่งเล็งถึงคุณวุฒิความสามารถเป็นใหญ่
ผู้ใดมีความสามารถปรากฎแล้ว เรายินดีที่จะตั้งเป็นองคมนตรี
และเลือกเป็นกรรมการหมุนเวียนกันไป..... การที่เราได้เลือกท่านเป็นกรรมการองคมนตรีนั้น
ควรเห็นว่าเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่ง และท่านทั้งหลายพึงเข้าใจว่า เรามิได้เลือกท่านมาเป็นผู้แทนชนคณะใด
หรือเหล่าใดโดยเฉพาะ ท่านทั้งหลายจงออกความเห็นโดยระลึกถึงประโยชน์ส่วนรวม
ส่วนใหญ่ของแผ่นดิน และประชาชนชาวสยามโดยทั่วไปเป็นสำคัญ เราเชื่อว่าท่านคงจะดำเนินการประชุมให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมือง
แม้มีสิ่งไรที่ท่านเห็นว่าจะยังความผาสุกให้บังเกิดขึ้นแก่ประชาชน ก็ให้ท่านถวายความเห็นได้ทุกเมื่อ
เรายินดีจะฟังเสมอ
ฯลฯ
๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๐
พระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่อความเห็นของนายมุสโสลินี เรื่องการศึกษาของอิตาลี
ที่มาของเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากพระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้ทรงนำส่งบันทึกโครงการศึกษาที่จะนำมาใช้กับประเทศไทย
ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย เมื่อ ๒ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ต่อมาได้ทรงพบความเห็นของนายมุสโสลินี
ซึ่งแสดงนโยบาย และอุปสรรคแห่งการศึกษาของประเทศอิตาลีในหนังสือ The year
Book of Education ๑๙๓๒ จึงให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๗๕
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ได้ทรงทอดพระเนตรแล้ว มีพระกระแสตอบใน ๒๗ พฤษภาคม
๒๔๗๕ (ว่าการจะสอนคนไทยให้นิยมการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช เหมือนกับที่อิตาลีสอนคนของเขาให้นิยมการปกครองแบบ
Fascist นั้น เป็นการช้าเกินไปเสียแล้ว นอกจากนั้นยังได้ทรงกล่าวถึงทางเลือกในอนาคตว่า
ถ้าจะมีระบบการปกครองแบบ Fascist และมี Fascist Party บางทีจะดี และจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
แต่ก็ไม่ทรงแน่พระทัยว่าจะทำได้ จึงทรงมีพระราชดำริว่า ถ้าทำไม่ได้แล้วควรจะเตรียมการที่จะเปลี่ยนเป็น
Constitution Monarehy โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และต้องให้การศึกษาไปในทางนั้น
ทรงมีพระราชดำริเห็นด้วยว่า แม้ประเทศไทย จะมีการปกครองแบบ Dictatorship แต่ก็ไม่ได้ใช้วิธีของ
Dictator กลับใช้ลักษณะของ Democracy หลายอย่าง)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยามหิธร ส่งสำเนาพระราชกระแสตอบไปยังสมาชิกอภิรัฐมนตรีสภาอีกด้วย
พระราชกระแสตอบต่อความเห็นของนาย
มุสโสลินี
Interesting มาก เขาสอนให้เด็กของเขานิยมการปกครองอย่างวิธีของ Fascist ได้
แต่เราจะสอนคนไทยให้นิยมการปกครอง อย่าง absolute ได้หรือ ฉันสงสัยมาก เพราะถ้าทำเดี๋ยวนี้
มันช้าเกินไปเสียแล้ว
ความนิยมและนับถือใน พระองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอย่างที่เคยเป็นมาแต่ก่อน
ฉันเห็นว่าจะกลับฟื้นขึ้นอย่างแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว เพราะคนที่เป็นบิดาของเด็ก ๆ
ที่กำลังเรียนอยู่เดี๋ยวนี้เคยชิน และชอบการนินทาพระเจ้าแผ่นดินเสียจนติดตัวแล้ว
เมืองเราใช้วิธีปกครองอย่าง Dictator แต่ไม่ใช้วิธีการอย่างอื่นๆของ dictator
กลับใช้ลักษณะการของ democracy หลายอย่าง จึงเป็นการครึ่งๆกลางๆ และยังไม่ตกลงในกันจริง
ๆ ว่าจะเอาอย่างไรด้วย ถ้าจะไม่ใช้แบบ democracy เราก็กลัวฝรั่งจะติเตียนว่า
Unciviliged Italy เขาไม่ต้องกลัวใครจะด่าก็ช่าง เมืองเราจะต้องตก between
two stools เพราะจะเป็น way out ที่ดีที่สุด แต่จะทำได้หรือ? ถ้าทำไม่ได้ก็ควรเตรียมการที่จะเปลี่ยนเป็น
Constitutional Manachy โดยเร็วที่สุดทึ่จะทำได้และต้องให้การศึกษาไปในทางนั้นละกระมัง
?
ประชาธิปก
พระราชกระแสตอบ
หนังสือถวายความเห็นของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
ให้ทรงจัดระเบียบราชการ รัฐมนตรี ตั้งอภิรัฐมนตรี
และองคมนตรี
เข้ารวมเป็นสภาเดียวกันเรียกว่าสภารัฐมนตรี เมื่อ ๒๐
กรกฎาคม ๒๔๖๙
ขอบใจเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่ได้ส่งความเห็นนี้มาด้วยความกตัญญูและ จงรักภักดี
เรื่องสภารัฐมนตรีนี้เป็นเรื่องที่กำลังดำริห์กันอยู่เหมือนกัน เท่าที่ได้ฟังความเห็นต่าง
ๆ มาแล้ว ยังมีความเห็นแตกต่างกันมาก จะยุติเวลาเป็นแน่ว่าอย่างไร จะเป็นผลดีหาได้ไม่
จึงยังได้รั้งรอไว้ก่อน เพื่อดำริห์ให้รอบคอบ เพราะเมื่อตั้งขึ้นแล้วก็จะต้องให้เป็นของมั่นคงเป็นประโยชน์
แลไม่ให้กลายเป็นแต่ชื่ออยู่ เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาแล้ว ฉันรู้สึกดีว่าเวลานี้
ถึงเวลาแล้วที่จะต้องคิดแก้ไขระเบียบราชการหลายอย่าง แต่จะทำไปโดยรีบด่วนหาได้ไม่
เพราะเป็นการับผิดชอบต่อบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวงนัก
เรื่องอภิรัฐมนตรีนั้น ก็ได้ทราบอยู่เหมือนกันว่า มีความเห็นแตกต่างกันมาก
ที่ชมก็มีที่ติก็มี แต่ฉันรู้สึกว่าได้ตั้งอภรัฐมนตรีสภาขึ้นเป็นประโยชน์ราชการน้อยมาก
ส่วนที่ว่าถ้าอะไรไม่ดีมักจะติและโทษเอา พระองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวนั้น
เป็นของธรรมดาไม่แปลกอะไร การสิ่งนี้ย่อมเป็นอยู่เสมอ พระเจ้าแผ่นดินจะต้องทรงรับ
ถูกซัดทุกอย่าง แม้ดินฟ้าอากาศวิปริต ไม่ต้องตามฤดูกาลก็ยังถูกซัด เป็นของธรรดาที่จะต้องรับความซัดทอดเหล่านั้นด้วยขันติ
ถ้าหากการที่ฉันได้ดำริห์จัดขึ้นได้ผลดี แม้จะไม่มีใครชมหรือหลงชมว่าเป็นความดีของคนอื่นก็หาโทมนัศไม่
ด้วยเมื่อทราบอยู่แก่ตนแล้วว่า สิ่งที่ได้จัดไปนั้นเป็นผลดีก็เป็นรางวัลอันเพียงพอแล้ว
ประชาธิปก
พระราชบันทึก
ระบอบประชาธิปไตยในประเทศสยาม
(Democracy
in Siam)
ปัญหาที่ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเหมาะสม หรือจะมีวันเหมาะสมแก่ประเทศสยามหรือไม่นั้น
เป็นปัญหาที่ได้ถกเถียงกันระหว่างปัญญาชนของประเทศสยาม มาเป็นเวลานานแล้วและแม้ในขณะนี้ก็กำลังเป็นปัญหา
ที่ถกเถียงระหว่างคนที่มีการศึกษาครึ่งๆกลางๆ ซึ่งคนเหล่านี้บางคนได้แสดงความคิดเห็นลงในหน้าหนังสือพิมพ์ภาษาไทยแล้ว
ประมวลความเห็นทั่วไปนั้นมีอยู่ว่า ประเทศสยามในปัจจุบันยังไม่พร้อม ที่จะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย
แต่อาจนำมาใช้ได้ในวันข้างหน้าซึ่งยังห่างไกลอยู่ คนบางคนยืนยันว่าการปกครองระบอบรัฐสภานั้น
จะไม่วันเหมาะสมสำหรับประชาชนชาวสยามโดยให้เหตุผลว่า มีแต่ชนชาวแองโกลแซ็กซอนเท่านั้น
ซึ่งได้สามารถทำให้ระบอบการปกครองระบอบนั้นเป็นผลสำเร็จได้
ไม่มีที่สงสัยเลยว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น จะเป็นผลสำเร็จจริงจังได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีการพัฒนาการขั้นสูง
อาจเป็นไปได้ว่าจะต้องมีคุณสมบัติประจำเผ่าพันธุ์ บางประการ (ซึ่งชาวแองโกล
- แซ็กซอนมีคุณสมบัตินี้อยู่ในระดับสูง) ถ้าสถาบันประชาธิปไตยต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปอย่างจริงจัง
และจะเป็นประชาธิปไตยอย่างจริงจัง และแท้จริงมิใช่แต่ในรูปแบบ แต่ในความจริงอีกด้วย
มีระบอบประชาธิปไตยมากเกินไปอยู่แล้ว ที่เป็นประชาธิปไตยแต่ในรูปแบบเท่านั้น
ข้าพเจ้าเองค่อนข้างจะคิดว่าประชาธิปไตยอันแท้จริงนั้น จะเป็นผลสำเร็จได้ยากในประเทศสยาม
ระบอบประชาธิปไตย อาจถึงกับเป็นอันตรายต่อประโยชน์อันแท้จริงของประชาชน ลองคิดดูก็ได้ทันทีว่า
การปกครองระบอบรัฐสภานั้นจะเป็นอย่างไรในประเทศสยาม แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดกันถึงขั้นรายละเอียด
ข้าพเจ้าจะขอเอ่ยถึงความจริงข้อหนึ่งคือ พรรคการเมืองของคนจีนจะมีอำนาจเหนือรัฐสภา
เราอาจไม่ให้สิทธิ์ทางการเมืองแต่อย่างไรแก่คนจีนก็ได้ แต่เขาก็จะมีอำนาจเหนือสถานการณ์อยู่นั่นเอง
เพราะเขามีเงินสดอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก
พรรคการเมืองใดซึ่งตั้งอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินทุนจากคนจีน จะไม่มีวันทำการสำเร็จได้
เพราะฉะนั้นการเมืองในประเทศสยามจะอยู่ใต้อำนาจพ่อค้าคนจีนซึ่งจะเป็นผู้สั่งการ
ที่พูดมานี้มีทางที่จะเป็นไปได้อย่างยิ่ง เราอาจหาเหตุผลต่างๆเป็นจำนวนมากได้โดยง่าย
ในอันที่จะสนับสนุนความคิดที่ว่าประเทศสยามไม่ควรมีรัฐบาลระบอบรัฐสภา
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเราก็ควรจะถามว่า "ถ้าอย่างนั้นจะมาคิดถึงเรื่องระบอบประชาธิปไตยกันทำไมเล่า"
คำตอบปัญหานี้ก็คือ เราจะต้องจดจำไว้เสมอว่า ประชาชนส่วนใหญ่นั้นมิได้คิดด้วยเหตุผล
แต่คิดด้วยอารมณ์เท่านั้น เรื่องนี้เป็นความจริงโดยพิเศษสำหรับฝูงชนทั่วไป
จะมีวันหนึ่งซึ่งประชาชนชาวสยามจะเรียกร้องเอารัฐสภา (ในขณะนี้ก็มีร่องรอยเช่นนั้นแล้วในกรุงเทพ
ฯมิใช่หรือ?) ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะอธิบาย แม้แต่ด้วยเหตุผลอย่างดีที่สุด
ว่าการปกครองระบอบรัฐสภานั้น ไม่เหมาะสมต่อคุณสมบัติในทางเผ่าพันธุ์ของชาวสยาม
เขากลับจะพากันตะโกนดังขึ้นไปอีกว่าเขาถูกกดขี่ด้วยชนชั้นปกครอง ที่เป็นทรราชย์
และอาจมีความวุ่นวายบางประการเกิดขึ้นได้ (ในระยะเวลาปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีชาวสยาม
ผู้ใดที่พร้อมจะเสียสละชีวิตของเขา เพื่อความเชื่อถือในทางการเมือง)
ประเทศบางประเทศอาจนำเอาระบอบประชาธิปไตยมาใช้เพียงเพื่อความจำเป็นก็ได้ ทั้งที่รู้อยู่ดีว่าระบอบนั้นไม่เหมาะสมกับนิสัยใจคอของประชาชน
ด้วยเหตุนี้จึงมีประเทศบางประเทศที่มีรัฐสภาเป็นการเล่น ๆ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นการแน่นอนแล้วที่เราจะต้องเล่นกันอย่างนั้นบ้างในประเทศสยามในเวลาข้างหน้า
ด้วยความคิดคำนึงเหล่านี้อยู่ในใจ ข้าพเจ้าจึงกำลังพิจารณาการปฏิรูปบางอย่างขึ้น
ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าถ้าเรายอมรับกันว่าวันหนึ่งเราจะต้องถูกบังคับให้มี
ประชาธิปไตยบางแบบขึ้นในประเทศสยามแล้ว เราก็ต้องเตรียมตัวของเราเอง ให้พร้อมอย่างค่อยเป็น
ค่อยไป เราจะต้องเรียนรู้และให้การศึกษาแก่ตนเอง เราจะต้องเรียนทดลอง เพื่อที่จะได้มีความคิดว่าการปกครองระบอบรัฐสภานั้น
จะดำเนินการได้อย่างไรในประเทศสยาม เราจะต้องพยายามให้การศึกษา แก่ประชาชนให้เขามีการรับรู้ในทางการเมือง
ให้เขารู้จักผลประโยชน์อันแท้จริงของเขา เพื่อที่เขาจะไม่ถูกชักนำไปในทางที่ผิดโดยนักปลุกระดม
หรือผู้ที่เอาแต่ฝันถึงยุคพระศรีอารย์ ถ้าเราจะต้องมีรัฐสภากันแล้ว
เราก็จะต้องสอนให้ประชาชนรู้จักเลือกตั้ง ว่าทำกันอย่างไร และรู้จักเลือกผู้แทนผู้ซึ่งเห็นแก่ประโยชนของประชาชนอยู่ในใจอย่างแท้จริง
การปรับปรุงจัดตั้งสภาองคมนตรีขึ้นใหม่นั้น เป็นความพยายามที่จะดำเนินการตามขั้นตอน
ขั้นแรกแห่งความคิดเหล่านี้ จะมีคนพูดว่า กรรมการองคมนตรี ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นใหม่นี้
จะไม่เป็นตัวแทนความคิดเห็นสาธารณะ โดยทั่วไปและในฐานะที่เป็นองค์การ ก็จะไม่ใช่ตัวแทนอันแท้จริงแห่งผลประโยชน์ของประชาชน
ถ้าจะว่าไปแล้วที่จะพูดกันอย่างนี้ก็เป็นความจริง ข้าพเจ้าได้ตั้งในไว้ว่าจะให้สภาองคมนตรีนี้
เป็นแต่เพียงการทดลองในขั้นแรก และเป็นการศึกษาในวิธีการ แห่งการอภิปรายในรัฐสภาเท่านั้น
ข้าพเจ้าเชื่อว่าประสบการณ์ที่จะได้รับนั้นจะเป็นประโยชน์สภาองคมนตรี อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงความคิดเห็นสาธารณะทั่วไปก็ได้
และข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงเสียทีเดียว แต่ก็จะต้องคิดไว้ล่วงหน้าว่าการตั้งสถาบันนี้ขึ้น
จะไม่ทำให้ทุกคนได้รับความพอใจ และจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ (ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ที่จะทำสิ่งใดหรือจัดตั้งอะไรขึ้นโดยไม่ถูก วิจารณ์ในทางทำลายจากคนบางกลุ่มในประเทศสยามนี้)
ขั้นต่อไปในการศึกษาของเราเพื่อไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในที่ต่าง
ๆ การนี้จะเป็นปัจจัยที่จะสอนให้ประชาชนรู้จักใช้สิทธิเลือกตั้ง และการทดลองนี้ก็จะเป็นประโยชน์และเป็นการให้ความรู้ไปในตัวจะเป็นการดีกว่าในการที่จะให้ประชาชน
ได้รู้จักเข้าควบคุมกิจการท้องถิ่นด้วยตนเองก่อน ที่เขาจะพยายามที่จะควบคุมราชการแผ่นดินโดยผ่านรัฐสภา
ข้าพเจ้าเชื่ออย่างจริงใจว่าถ้าหากการปฏิรูปนี้ ค่อย ๆ นำเอามาใช้ตามวิธีนี้
การปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็อาจนำมาใช้ได้ต่อไป โดยไม่มีอันตรายมากนักแต่การกระทำนั้นจะต้องค่อยเป็นค่อย
ไปเหมือนกับการให้ยาที่กำหนดปริมาณของยาแล้วอย่างรอบคอบแต่ละครั้ง ถ้าหากว่าการทดลองเหล่านี้ล้มเหลวทุกขั้นตอน
ก็อาจทำให้ประชาชนแลเห็นความจริงได้ในที่สุดว่าระบอบประชาธิปไตยนั้น มิใช่ระบอบการปกครองสำหรับประเทศสยาม
อันตรายนั้นอยู่ที่ความใจร้อนรีบทำ
ยังมีอีกปัญหาหนึ่งซึ่งอยู่ในใจของนักคิดในประเทศสยาม คือปัญหาเรื่องอำนาจอันล้นพ้นของพระเจ้าแผ่นดิน
ซึ่งไม่มีผู้ใดทัดทานได้ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็เหมือนกับ ระบอบประชาธิปไตยในข้อที่ว่า
อาจเป็นภัยอันตรายขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะหลักการของทั้งสองระบอบนี้ ขึ้นอยู่กับความประเสริฐสุดแห่งธรรมชาติของมนุษย์
อันเป็นสิ่งอ่อนแอเหลือเกินที่จะพึงพาอาศัยได้ ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงนั้น
ก็ขึ้นอยู่กับจิตใจอันมั่นคงของประชาชน และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีแต่ความกรุณานั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติเฉพาะพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน
เป็นความจริงที่น่าเสียดายว่าราชวงศ์กษัตริย์ทุกราชวงศ์ ไม่ว่าจะประเสริฐอย่างไร
จะต้องเปลี่ยนแปรไปทางที่ไม่ดีในวันใดก็วันหนึ่ง และอันตรายที่จะมีพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่ดีในวันใดวันหนึ่งนั้น
เป็นของที่เกือบจะแน่นอน ข้าพเจ้าเชื่อว่าวิธีต่าง ๆ ที่จะทำให้มีพระเจ้าแผ่นดินที่ดี
อยู่บนราชบัลลังก์เสมอไปนั้น ได้ถูกนำมาใช้จนหมดแล้ว และวิธีการทุกวิธีการก็ได้มีความบกพร่องปรากฎขึ้นแล้ว
วิธีให้ประชาชนเลือกพระเจ้าแผ่นดินนั้น ดูเหมือนจะดีอยู่ในหลักการ แต่ถึงกระนั้นก็ได้ทำให้เกิดทรราชอันร้ายแรงขึ้นหลายองค์แล้ว
เช่น จักรพรรดิแห่งกรุงโรมบางองค์ เป็นต้น
วิธีการอีกวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ก็คือ การเลี่ยงที่จะมีพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่ดี
แต่ขณะเดียวกันก็สร้างสถาบันขึ้นอันหนึ่ง เพื่อควบคุมพระเจ้าแผ่นดิน
วิธีนี้ก็ล้มเหลวไปบางครั้งบางคราวเหมือนกัน เช่นในกรณีพระเจ้าชาร์ลที่ ๑
ของอังกฤษ แต่ถ้าจะพิจารณาโดยทั่วไปแล้ววิธีนี้ได้ผลดีตามสมควร
ข้าพเจ้ามีความต้องการอันแน่วแน่ที่จะจัดตั้งสถาบันอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น
ซึ่งจะมีอำนาจยับยั้งการกระทำของพระเจ้าแผ่นดินสยามที่กระทำไปโดย พลการ หรือด้วยความไม่ฉลาด
(ข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่า คงจะไม่มีผู้ใดต้องการที่จะยับยั้งการกระทำที่ดีของพระเจ้าแผ่นดิน
ข้าพเจ้ารู้สึกว่าถ้าหากว่าข้าพเจ้าทำการได้สำเร็จ ในอันที่จะนำเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ที่มีประโยชน์อันแท้จริงมาใช้ได้แล้ว ข้าพเจ้าก็คงจะได้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่
ให้แก่ประเทศชาติของข้าพเจ้าและแก่พระราชวงศ์
ปัญหาจึงมีอยู่ว่า เราจะจัดตั้งสถาบันใดขึ้นในขณะนี้ โดยยอมรับว่าระบอบรัฐสภานั้นยังเป็นไปไม่ได้สำหรับเวลาปัจจุบันนี้
บางทีกรรมการองคมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ จะใช้การตามวัตถุประสงค์นี้ได้บ้างกระมัง
ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ความเห็นของหม่อมเจ้าสิทธิพรนั้นน่าสนใจอยู่
แต่ข้าพเจ้าใครขอเสนอการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยเพิ่มอีกมาตราหนึ่งเข้าไปในมาตราสิบสาม
หรือหลังมาตราสิบสามมีข้อความว่า "ถ้ากรรมการองคมนตรีมีจำนวนสิบห้านาย ร่วมกันทำหนังสือถึงประธานกรรมการองคมนตรี
ให้นำความกราบบังคมทูลว่า มีข้อราชการบางอย่างซึ่งสำคัญต่อประโยชน์ของแผ่นดินและประชาชน
และควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คณะกรรมการนำเรื่องเหล่านั้นมาพิจารณาได้
ให้ประธานองคมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ที่จะเรียกประชุมคณะกรรมการ
เพื่อพิจารณาเรื่องเหล่นนั้น" ทั้งนี้ก็เป็นทีเข้าใจว่า พระเจ้าแผ่นดินอาจพระราชทานพระบรมราชานุญาต ห้เปิดประชุมก็ได้
หรือไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตก็ได้สุดแล้วแต่พระราชดำริ (นี่คือสิทธิของพระเจ้าแผ่นดินที่จะวีโต
อันเป็นสิทธิที่ยอมรับกันในระบอบประชาธิปไตยทั้งปวง พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชอำนาจ
ที่จะยุบรัฐสภาได้อีกด้วย) ข้าพเจ้าคิดว่าตามรูปนี้ก็คงจะพอยอมกันได้ และยังดีกว่าที่จะให้สิทธิทั่วไปแก่สถาบัน
ที่มิได้มาจากการเลือกตั้งที่ประชุมกันเมื่อไรก็ได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าสิทธิของกรรมการองคมนตรีนี้จะสามารถ
ทำงานตามวัตถุประสงค์ได้ คือเป็นเครื่องมือกีดขวางผู้ที่มีอำนาจมิให้กระทำการใด
ๆ ตามใจตน หรือกระทำการใด ๆ อันขัดต่อผลประโยชน์ของรัฐ ใครก็ตามที่มีอำนาจคงจะไม่ปฏิเสธคำขอร้องนั้นง่าย
ๆ นอกจากจะมีเหตุผลที่ดีจริง ๆ จริงอยู่คนที่ไม่มีศีลธรรมเลยอาจปฏิเสธคำขอร้องเช่นนั้น
แต่สำหรับคนเช่นนั้นแล้ว สถาบันใด ๆ ก็ไม่สามารถที่จะป้องกัน มิให้เขาทำชั่วได้
แม้แต่รัฐสภาก็ป้องกันไม่ได้ (ดูตัวอย่างพระเจ้าชาร์ล) และสิ่งที่จะต้องทำเมื่อถึงขั้นนั้นก็คือตัดหัวคน ๆ นั้นเสีย
ฉะนั้น การตั้งกรรมการนี้ขึ้น จึงอาจทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้สองทาง (ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์นัก)
๑. เป็นเครื่องมือที่จะทดลอง และศึกษาวิธีการแห่งการอภิปรายในรัฐสภา
๒. เป็นอิทธิพลที่จะคอยยับยั้งการใช้อำนาจในทางที่ผิด
หมายเหตุ ขอให้สังเกตว่าการแปลคำว่าองคมนตรีเป็นภาษาอังกฤษว่า Privy Councillors
นั้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะสภาองคมนตรีของเรา โดยเฉพาะที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่นั้น
จะเหมือนกับสภาองคมนตรีของอังกฤษเพียงแต่ในนามเท่านั้น ไม่มีความประสงค์ที่จะลอกแบบสภาองคมนตรีของอังกฤษเอามาใช้เลย
เราจะต้องพยายามสร้างสถาบันทางการเมืองของเราขึ้นเอง และไม่ลอกแบบจากคนอื่น
ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเชื่อในการทดลอง
| ย้อนกลับ | บน |
| หน้าแรก | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |