| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ

            ในปีมะเมีย พ.ศ. 2317  พระเจ้ามังระเสด็จมายกฉัตรยอดพระเกศธาตุ  ที่เมืองร่างกุ้ง เมื่อกลางเดือน 4 ขณะนั้น อะแซหวุ่นกี้ปราบปรามพวกมอญเสร็จสิ้นแล้ว  เป็นแต่ยังรอกองทัพพม่าที่เข้ามาตามครัวมอญ อยู่เมืองเมาะตะมะ  จึงได้ขึ้นไปเฝ้าพระเจ้าอังวะที่เมืองร่างกุ้ง  พระเจ้ามังระเห็นว่า มีกองทัพใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเมาะตะมะแล้ว  จึงมอบการที่จะตีเมืองไทย ให้อะแซหวุ่นกี้คิดอ่านดำเนินการต่อไป  พอกองทัพตะแคงมรหน่องหนีไทยกลับไปถึง  อะแซหวุ่นกี้เห็นว่าไทยทำศึกเข้มแข็งกว่าเก่า  เห็นว่าแนวทางที่ใช้ครั้งก่อนไม่ได้ผล จึงคิดจะใช้แบบอย่างครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง  คือยกกองทัพใหญ่เข้ามาตีหัวเมืองเหนือ  ตัดกำลังไทยเสียชั้นหนึ่งก่อน  แล้วเอาเมืองเหนือเป็นที่มั่น ยกกำลังทั้งทางบก และทางเรือ ลงมาตีกรุงธนบุรีทางลำแม่น้ำเจ้าพระยา  จึงพักบำรุงรี้พลอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ  แล้วมีคำสั่งไปยังโปสุพลา โปมะยุง่วน ซึ่งถอยหนีไทยไปอยู่ที่เมืองเชียงแสน  ให้ยกกลับมาตีเมืองเชียงใหม่ให้ได้ ตั้งแต่ในฤดูฝน  แล้วให้เตรียมเรือรบ  เรือลำเลียง  และรวบรวมเสบียงอาหาร ลงมาส่งกองทัพอะแซหวุ่นกี้ ซึ่งจะยกเข้ามาในต้นฤดูแล้ง  โปสุพลา โปมะยุง่วน จึงรวบรวมกำลัง ยกลงมาตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อเดือน 10 ปีมะแม พ.ศ. 2318

            พระเจ้ากรุงธนบุรี จึงดำรัสให้มีตราสั่งเจ้าพระยาสุรสีห์  ให้ยกกองทัพเมืองเหนือ ขึ้นไปช่วยเมืองเชียงใหม่  ให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพกรุงธนบุรีหนุนขึ้นไป  มอบภารกิจให้ตีพม่าถอยจากเชียงใหม่แล้ว  ให้เลยตามขึ้นไปตีเอาเมืองเชียงแสน ไม่ให้พม่ามาอาศัยอีกต่อไป
            โปสุพลา โปมะยุง่วน  ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่กองทัพไทยจะยกขึ้นไปถึง ครั้งได้ข่าวว่ากองทัพไทยยกขึ้นไป  ก็ถอยหนีกลับไปตั้งอยู่ที่เชียงแสน  แต่พงศาวดารพม่าว่าโปสุพลา ถอยกลับไปเมืองพม่าทางเมืองนาย  หวังจะเข้ามาสมทบกับอะแซหวุ่นกี้  แต่มาไม่ทันทัพอะแซหวุ่นกี้
            ครั้นถึงเดือน 11 ปีมะแม  อะแซหวุ่นกี้ก็ให้กะละโบ่ กับมังแยยางู  ผู้เป็นน้องชาย คุมกำลัง 20,000 คน  เป็นกองทัพหน้า ยกออกจากเมืองเมาะตะมะ  อะแซหวุ่นกี้คุมกำลัง 15,000 คน เป็นกองทัพหลวง  ตามมากับตะแคงมรหน่อง และเจ้าเมืองตองอู  เข้ามาทางด่านแม่ละเมา เข้ามาเมืองตาก  มาถึงบ้านด่านลานหอย ตรงมาเมืองสุโขทัย  ให้กองทัพหน้าตั้งอยู่ที่บ้านกงธานี  ริมน้ำยมใหม่  ส่วนอะแซหวุ่นกี้ตั้งพักอยู่ที่เมืองสุโขทัย
            ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ตั้งทัพอยู่ที่เมืองเชียงใหม่  เมื่อได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพใหญ่ เข้ามาทางด่านแม่ละเมา  ก็รีบยกทัพกลับมาทางเมืองสวรรคโลก  เมืองพิชัย  ครั้นมาถึง เมืองพิษณุโลกจึงปรึกษากันถึงการสู้ศึก เจ้าพระยาจักรีเห็นว่าพม่ายกมาเป็นกองทัพใหญ่  กำลังฝ่ายไทยทางเมืองเหนือ มีน้อยกว่าทางพม่าอยู่มาก  จึงควรตั้งรับศึกในเมืองพิษณุโลก  คอยกองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไปช่วย ด้วยเมืองพิษณุโลกอยู่ทางลำแม่น้ำแควใหญ่ (แม่น้ำน่าน) ใช้เรือขึ้นล่องกับหัวเมืองข้างใต้ได้สะดวก  แต่เจ้าพระยาสุรสีห์อยากจะยกไปตีพม่าก่อน  จึงรวบรวมกองทัพหัวเมือง ให้พระยาสุโขทัย  พระยาอักขรวงศ์เมืองสวรรคโลก และพระยาพิชัย เป็นกองหน้า  ยกไปรบพม่าที่บ้านกงธานี  เจ้าพระยาสุรสีห์ยกตามไปตั้งอยู่ที่บ้านไกรป่าแฝก  พม่ายกมาตีกองทัพพระยาสุโขทัยแตกถอยมา  แล้วยกติดตามมาถึงค่ายเจ้าพระยาสุรสีห์  สู้รบกันอยู่สามวัน  เห็นว่าพม่ามีกำลังมากกว่ามากนัก  เกรงว่าจะโอบล้อมกองทัพไว้ จึงถอยกลับมาเมืองพิษณุโลก

            อะแซหวุ่นกี้  แบ่งกำลังให้อยู่รักษาเมืองสุโขทัย 5,000 คน  แล้วคุมกำลังพล 30,000 คน ยกตามมาถึงเมืองพิษณุโลก ในเดือนอ้าย ข้างขึ้น  ให้ตั้งค่ายรายล้อมเมืองทั้งสองฟากแม่น้ำ  เจ้าพระยาทั้งสองก็จัดการป้องกันเมืองเป็นสามารถ  เมืองพิษณุโลกนั้นแนวปราการตั้งทั้งสองฟาก เอาลำน้ำไว้กลาง  จึงให้ทำสะพานเรือกข้ามแม่น้ำสองแห่ง  สำหรับส่งกำลังไปมาให้ช่วยเหลือกันได้  กำลังที่อยู่รักษาเมืองพิษณุโลก ประมาณว่าไม่เกิน 10,000 คน  อะแซหวุ่นกี้ออกเลียบค่าย เที่ยวตรวจหาชัยภูมิทุกวัน  เจ้าพระยาสุรสีห์คุมพลออกโจมตี แต่ต้องถอยกลับมา  เจ้าพระยาจักรีคุมพลออกโจมตีบ้าง พม่าต้องถอยหนีกลับเข้าค่ายหลายครั้ง

            อะแซหวุ่นกี้ยกย่องฝีมือ เจ้าพระยาจักรี  วันหนึ่งจึงนัดเจรจากัน เมื่อพบกันแล้วได้สอบถามอายุกัน ปรากฎว่า เจ้าพระยาจักรีอายุ 30 ปีเศษ  อะแซหวุ่นกี้อายุ 72  ปี  อะแซหวุ่นกี้สรรเสริญเจ้าพระยาจักรีว่า รูปก็งาม  ฝีมือก็เข้มแข็ง สามารถสู้รบกับตนได้ ขอให้รักษาตัวไว้  ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์  ต่อไปภายหน้าพม่าจะตีเมืองไทยไม่ได้อีกแล้ว
            ฝ่ายกรุงธนบุรี ได้ข่าวว่า อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพใหญ่เข้ามาทางหัวเมืองเหนือ  และขณะเดียวกัน ก็จะยกมาจากเมืองตะนาวศรี เข้ามาทางใต้อีกด้วย  จึงมีดำรัสสั่งให้เกณฑ์กองทัพ ให้เจ้ารามลักษณ์หลานเธอ ซึ่งเป็นกรมขุนอนุรักษ์สงคราม คุมกำลังออกไปรักษาเมืองเพชรบุรี  คอยป้องกันพม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านสิงขร  แล้วพระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จยกทัพหลวง มีกำลังพล 12,000 เศษ  ออกจากกรุงธนบุรี เมื่อวันอังคาร แรม 11 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม  ขึ้นไปรับศึกที่ยกมาทางหัวเมืองเหนือ

กระบวนศึกตอนที่ 1
            เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นไปถึงเมืองนครสวรรค์  ในชั้นต้น ทรงจัดวางระบบการคมนาคม ที่จะให้กองทัพหลวง กับกองทัพที่เมืองพิษณุโลก ไปมาถึงกันได้สะดวก  มีรับสั่งให้พระยาราชาเศรษฐี  คุมกำลังชาวจีน จำนวน 3,000 คน  ไปตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์  คอยระวังรักษาเส้นทางลำเลียง และระวังข้าศึกที่จะยกมาทางลำน้ำโขง  แล้วพระองค์เสด็จยกกองทัพหลวง ขึ้นไปทางลำน้ำแควใหญ่ ไปถึงปากพิง แขวงเมืองพิษณุโลก เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 3 ให้ตั้งค่ายหลวงอยู่ที่ปากพิง  ด้วยเป็นปากคลองลัดทางเรือไปมา ระหว่างลำน้ำแควใหญ่ที่ตั้งเมืองพิษณุโลก  กับลำน้ำยมที่ตั้งเมืองสุโขทัย  อยู่ได้เมืองพิษณุโลกลงมาเป็นระยะทางเดินหนึ่งวัน  แล้วให้แม่ทัพนายกอง คุมกำลังไปตั้งค่ายสองฟากลำแม่น้ำ เป็นระยะขึ้นไป แต่กองทัพหลวงถึงเมืองพิษณุโลก ดังนี้
            ระยะที่ 1  ตั้งที่บางทราย  มีพระยาราชสุภาวดี  เป็นนายทัพ
            ระยะที่ 2  ตั้งที่ท่าโรง  มีเจ้าพระยา อินทรอภัย  เป็นนายทัพ
            ระยะที่ 3  ตั้งที่บ้านกระดาษ  มีพระยาราชภักดี  เป็นนายทัพ
            ระยะที่ 4  ตั้งที่วัดจุฬามณี  มีจมื่นเสนอในราช  เป็นนายทัพ
            ระยะที่ 5  ตั้งที่วัดจันทร์ ท้ายเมืองพิษณุโลก  มีพระยานครสวรรค์  เป็นนายทัพ
            ให้จัดกองตระเวณรักษาเส้นทางคมนาคมทุกระยะ  และให้มีกองปืนใหญ่ ทหารเกณฑ์หัด  เตรียมไว้เป็นกองหน้า  สำหรับสนับสนุนทั่วไป ในเวลาที่ต้องการได้ทันท่วงที  ให้พระศรีไกรลาศคุมพล 500 คน  ทำทางริมลำน้ำ สำหรับเดินกองทัพแต่ปากพิง  ผ่านไปตามค่ายที่ตั้งอยู่ ตลอดถึงเมืองพิษณุโลก
            ครั้นถึงวันอังคาร ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3  อะแซหวุ่นกี้ก็ให้กองทัพพม่ากองหนึ่ง  มาตั้งค่ายตรงวัดจุฬามณีข้างฝั่งตะวันตกสามค่าย  แล้วให้อีกกองหนึ่ง ยกลงมาลาดตระเวณทางฝั่งตะวันตก  ได้รบกับไทยตั้งแต่ค่ายระยะที่สาม ที่บ้านกระดาษลงมา จนถึงค่ายระยะที่หนึ่งที่บางทราย  ให้กองเกณฑ์หัดคุมปืนใหญ่รางเกวียน 30 กระบอก ขึ้นไปช่วยรักษาค่ายที่บางทราย  พม่ารบพุ่งอยู่จนค่ำจึงถอยกลับไป
            ครั้นถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 พระเจ้ากรุงธนบุรี มีพระราชดำรัสให้พระยาธรรมไตรโลก  พระยารัตนพิมล  พระยาชลบุรี  คุมพลอยู่รักษาค่ายหลวงที่ปากน้ำพิง แล้วพระองค์เสด็จยกกองทัพหลวง ขึ้นไปตั้งที่บางทราย ฝั่งตะวันออก  ในค่ำวันนั้น พม่ายกมาทางฝั่งตะวันตก เข้าปล้นค่ายระยะที่สองที่ท่าโรง  พระเจ้ากรุงธนบุรีให้กองเกณฑ์หัด 200 คน  คุมปืนใหญ่ขึ้นไปช่วย พม่าต้องถอยกำลังกลับไป  อะแซหวุ่นกี้จึงสั่งให้กองหนุนที่ตั้งอยู่ที่เมืองสุโขทัย ให้ยกกำลังลงมา  ตีตัดเส้นทางลำเลียงของกองทัพกรุงธนบุรี 3,000 คน  อีก 2,000 คน  ให้ยกไปเสริมกำลังทางด้านเมืองพิษณุโลก

กระบวนศึกตอนที่ 2
            พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเตรียมเข้าตีกองทัพพม่าที่ล้อมเมืองพิษณุโลก  ครั้นถึงวันพุธ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 มีรับสั่งให้พระยารามัญวงศ์  คุมพลกองมอญผ่านทางในเมืองพิษณุโลก  ขึ้นไปตั้งค่ายประชิดพม่าข้างด้านเหนือ  ให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์  เพิ่มกำลังออกไป ตั้งค่ายประชิดพม่าทางด้านตะวันออก  ทางด้านใต้ ให้พระยานครสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดจันทร์ท้ายเมืองพิษณุโลก ตั้งค่ายชักปีกกาประชิดค่ายพม่า ออกไปเป็นหลายค่าย  พม่าขุดคูเข้ามาเป็นหลายสาย  เอาคูบังตัวเข้ามาตีค่ายไทย  ฝ่ายไทยก็ขุดคูออกไป ให้ทะลุถึงคูพม่า  รบพุ่งกันในคูทุกค่ายหลายวัน ไม่แพ้ชนะกัน
            ครั้นถึงวันอังคาร แรม 2 ค่ำ เดือน 3  พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปถึงค่ายวัดจันทร์  เมื่อเวลา ค่ำ 22 นาฬิกา  ให้กองทัพพระยายมราช พระยานครราชสีมา พระยาพิชัยสงครามยกหนุนไปช่วย พระยานครสวรรค์ด้านใต้  ครั้นถึงเวลาดึก 5 นาฬิกา  ก็บอกสัญญาณให้กองทัพไทย เข้าระดมตีค่ายพม่า  ที่ล้อมเมืองอยู่ทางด้านตะวันออก พร้อมกันทุกค่าย  รบกันอยู่จนเช้าก็ยังเข้าค่ายพม่าไม่ได้ ต้องถอยกลับมา  ครั้นวันรุ่งขึ้น จึงมีรับสั่งให้ประชุมแม่ทัพนายกอง เห็นว่าการเข้าตีประจัญหน้าไม่สำเร็จ  ด้วยพม่ามีกำลังมากกว่า  จึงตกลงในเปลี่ยนวิธีการรบ  ให้เจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาสุรสีห์ รวมกำลังในเมืองยกออกตีค่ายพม่า โดยให้ตีเฉพาะแต่ค่ายทางด้านตะวันตกเฉียงใต้  และให้กำลังส่วนหนึ่งจากกองทัพหลวง ตีกระหนาบข้าศึกทางด้านหลัง  ให้ข้าศึกแตกโดยกระบวนตีโอบ เป็นลำดับไป  วันรุ่งขึ้นได้มีรับสั่งให้กองทัพพระยานครสวรรค์ ที่ตั้งอยู่ที่วัดจันทร์  ถอยลงมายังกองทัพหลวง  และให้กองทัพพระยาโหราธิบดี และกองมอญ พระยากลางเมืองขึ้นมาจากค่ายบางทราย  รวมกำลังจัดเป็นกองทัพเดียว มีกำลังพล 5,000 คน  ในพระยานครสวรรค์เป็นกองหน้า พระยามหามณเฑียรเป็นแม่ทัพ หลวงดำเกิงรณภพหลวงรักษโยธา เป็นกองหนุน  ยกกำลังไปซุ่มอยู่ด้านหลังค่ายพม่าทางฝั่งตะวันตก  ถ้าเห็นข้าศึกรบพุ่งติดพัน กับกองทัพเจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาสุรสีห์เมื่อใดก็ให้ตีกระหนาบเข้าไป  แล้วให้พระราชสงคราม ลงมาเอาปืนใหญ่ที่กรุงธนบุรี เพิ่มเติมขึ้นไปอีกด้วย
            ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกำลังออกไปตีค่ายพม่า ที่ล้อมเมืองอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้  เมื่อวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 3  เจ้าพระยาสุรสีห์ให้เอาไม้ทำคบ ปลายผูกผ้าชุบน้ำมันยาง  เอาต้นคบยัดใส่ในกระบอกปืนใหญ่  เอาไฟจุดปลายคบ แล้วยิงเข้าไปในค่ายพม่า  เผาค่ายพม่าไหม้ไปค่ายหนึ่ง  และถูกหอรบไหม้ทำลายลงหลายหอ  แต่ยังตีค่ายพม่าไม่ได้ เนื่องจากกองทัพที่จะยกไปช่วยตีกระหนาบ ยกไปไม่ถึงตามกำหนด  เพราะไปพบข้าศึกต้องต่อสู้ติดพันกันอยู่

กระบวนศึกตอนที่ 3
            ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ เห็นกองทัพไทยตั้งค่ายตามริมแม่น้ำใต้เมืองพิษณุโลก  ย้ายถอนออกไปหลายกอง  ทำให้กำลังที่รักษาเส้นทางคมนาคม ระหว่างกองทัพหลวงกับกองทัพเมืองพิษณุโลกอ่อนลง  จึงให้กะละโบ่  คุมกำลังมาตั้งสกัด ตัดทางลำเลียงเสบียงอาหาร ที่ส่งเข้าไปเมืองพิษณุโลก
            ครั้นถึงวันศุกร์ แรม 12 ค่ำ เดือน 3  ได้มีใบบอกขึ้นไปจากกรุงธนบุรีว่า  พม่ายกกำลังเข้ามาทางด่านสิงขร ขึ้นมาตีเมืองกุยเมืองปราณแตก  กรมขุนอนุรักษ์สงครามซึ่งรักษาเมืองเพชรบุรี  ส่งกำลังออกไปขัดตาทัพอยู่ที่ด่านช่องแคบแขวงเมืองเพชรบุรี  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบเรื่องก็ไม่ไว้พระทัย  เกรงพม่าจะยกกำลังเข้ามาตีกรุงธนบุรีอีกทางหนึ่ง  จึงมีรับสั่งให้เจ้าประทุมไพจิตร คุมกำลังกลับลงมารักษาพระนครส่วนหนึ่ง  กองทัพหลวงก็ถอยกำลังลงไปอีก

            ฝ่ายกองมอญที่พระยาเจ่งคุมไปดักพม่าที่เมืองกำแพงเพชร  ได้ซุ่มสกัดทางพม่าที่ยกไปจากเมืองสุโขทัย  พม่าไม่รู้ตัวก็แตกหนี ยึดได้เครื่องศัตราวุธของข้าศึกมาได้  แต่พม่ามีกำลังมากกว่า  พอกองหลังตามมาทัน  พระยาเจ่งก็ต้องล่าถอย กองทัพพม่าที่ยกมาเมืองกำแพงเพชรนั้น  อะแซหวุ่นกี้สั่งให้ลงมาตีเมืองนครสวรรค์ อันเป็นที่รวบรวมเสบียงอาหารของกองทัพไทย  และได้ตัดกำลังฝ่ายไทย ที่จะยกไปช่วย เมืองพิษณุโลกด้วย พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงให้กองทัพพระยาราชภักดี และพระยาพิพัฒน์โกษาถอยลงมาสมทบกองทัพพระยาราชาเศรษฐี รักษาเมืองนครสวรรค์  เมื่อกองทัพพม่าทราบว่า กองทัพไทยตั้งรักษาเมืองนครสวรรค์แข็งแรง  จึงยับยั้งตั้งค่ายอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร  แล้วแต่งกองโจรเดินลัดป่าด้านตะวันตก อ้อมหลังเมืองนครสวรรค์ ลงไปเมืองอุทัยธานี (เก่า)
            พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบความเคลื่อนไหวของข้าศึกว่า พม่าที่เมืองกำแพงเพชร ตั้งค่ายอยู่ที่บ้านโนนศาลาค่ายหนึ่ง บ้านถลกบาตรค่ายหนึ่ง บ้านหลวงค่ายหนึ่ง  แล้วแยกกำลังลงไปทางเมืองอุทัยธานีกองหนึ่ง  ทรงเกรงว่าข้าศึกจะไปซุ่มดักทาง คอยตีกองลำเลียงข้างใต้เมืองนครสวรรค์ลงมา  จึงโปรดให้แบ่งกำลังพลในกองทัพหลวง จำนวน 1,000 คน  ให้เจ้าอนิรุทธเทวาบัญชาการทั่วไป  แล้วแยกออกเป็นกองน้อยสามกอง  กองที่หนึ่งให้ขุนอินทรเดช  กองที่สองให้หลวงปลัด กับหลวงสรวิชิต นายด่านเมืองอุทัยธานีบังคับ  กองที่สามให้เจ้าเชษฐกุมารบังคับ ยกกำลังลงมาคอยป้องกันการลำเลียงเสบียงอาหาร  และเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ซึ่งส่งขึ้นไปจากทางใต้  แล้วแบ่งคนกองอาจารย์ ลงมาช่วยที่เมืองนครสวรรค์  กับให้ลงไปตั้งอยู่ที่บ้านคุ้งสำเภา แขวงเมืองชัยนาทอีกกองหนึ่ง  ทางใต้เมืองพิษณุโลก ก็ให้ถอนกองทัพพระยาโหราธิบดี  หลวงรักษ์มณเฑียรจากบ้านท่าโรง  ลงมาตั้งค่ายที่โคกสลุตในแขวงเมืองพิจิตร  ให้พระยานครชัยศรีลงมาตั้งที่โพธิประทับช้าง  คอยป้องกันการลำเลียงที่จะขึ้นไปตามลำน้ำแขวงเมืองพิจิตร
            ครั้นถึงวันอาทิตย์ แรม 13 ค่ำ เดือน 3  มีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์  ลงมาเฝ้าที่ท่าโรง ทรงพระราชดำริจะเปลี่ยนวิธีการรบ  คิดรักษาแต่ชัยภูมิที่สำคัญไว้ให้มั่น  แล้วดำเนินการตัดเสบียงข้าศึกให้อดอยาก แล้วจึงเข้าตีซ้ำเติม  ให้เจ้าพระยาทั้งสองรักษาเมืองพิษณุโลกไว้  ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้เห็นได้ท่วงที ด้วยไทยถอนกำลังลงมาข้างใต้เสียมาก  จึงคิดเปลี่ยนวิธีการรบ โดยคิดรวบรวมกำลังลงมาโจมตีกองทัพกรุงธนบุรีให้แตก  หรือให้ต้องทิ้งเมืองพิษณุโลก  พม่าได้ยกมาตั้งค่ายประชิดค่ายพระยาธรรมา และพระยานครสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านแขก  แล้วกรุยทางจะตั้งค่ายโอบต่อลงมา  พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จตรวจแนวรบ ตั้งแต่ค่ายบ้านท่าโรงไปจนถึงบ้านแขก  มีรับสั่งให้กองทัพพระยาสีหราชเดโชชัย กับกองจมื่นทิพเสนา  ยกไปช่วยสมทบพระยานครสวรรค์รักษาค่าย  มีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรีอยู่รักษาค่ายหลวง  ส่วนพระองค์เสด็จยกกำลังทางเรือลงมาจากท่าโรง  ลงมาช่วยรักษาค่ายปากพิง ที่ถูกพม่ายกกำลังเข้าปล้นค่าย  ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี เมื่อเห็นว่าพม่าไม่ได้ยกกำลังมาตีค่ายหลวง  จึงให้พระยาเทพอรชุน กับพระพิชิตณรงค์อยู่รักษาการ  แล้วกลับขึ้นไปเมืองพิษณุโลก
            ในห้วงเวลาตั้งแต่วันพุธ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 4   ถึงวันพฤหัสบดี แรม 10 ค่ำ เดือน 4   เป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือน  ได้มีการต่อสู้ติดพันกันกับข้าศึกตลอดแนวรบ  จากบ้านแขก ท่าโรง ปากพิง  โดยเฉพาะที่ปากพิงที่ค่ายคลองกระพวง  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดกำลังลงไปช่วย  ให้พระยาสุโขทัยยกหนุนไปตั้งค่ายชักปีกกาถึงกัน  และขุดสนามเพลาะให้ติดต่อกับค่ายที่พม่าตี  ให้พวกอาจารย์เก่าใหม่และให้หลวงดำเกิงรณภพ คุมกองเกณฑ์หัดไปสมทบพระยาสุโขทัย  ให้กองหลวงรักษโยธา  หลวงภักดีสงคราม ยกกำลังไปตั้งค่ายประชิดพม่าข้างปากคลองกระพวง  ให้หลวงเสนาภักดีคุมพลกองแก้วจินดา ยกไปกระหนาบหลังข้าศึกอีกด้านหนึ่ง  กองทัพพระยาสุโขทัย กองหลวงรักษโยธา กองหลวงเสนาภักดี  ยกเข้าตีค่ายพม่าที่คลองกระพวงพร้อมกัน  ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถไม่แพ้ชนะกัน  พระเจ้ากรุงธนบุรีได้มีรับสั่งให้กองทัพเจ้าพระยาอินทรอภัย ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าโรง  และกองมอญพระยากลางเมือง ยกลงมาช่วยรบพม่าที่ปากพิงอีกสองกอง  ให้ตั้งค่ายชักปีกกาออกไปจากค่ายใหญ่อีก เป็นระยะทาง 22  เส้น  พม่ายกกำลังเข้าตีค่ายไทยแต่ไม่สำเร็จ ทั้งสองฝ่ายจึงตั้งประจัญหน้ากันอยู่  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้ พระยายมราชลงมาจากค่ายวัดจันทร์  โปรดให้ถืออาญาสิทธิ์ บังคับกองทัพไทยที่ตั้งรบกับข้าศึกที่คลองกระพวงทั้งหมด
            อะแซหวุ่นกี้ ให้กะละโบ่คุมกำลังมาตีค่ายไทยที่ตั้งอยู่เหนือปากพิง  ให้มังแยยางูน้องชาย คุมกำลังข้ามฟาก มาโอบหลังกองทัพหลวงที่ปากพิง ทางด้านตะวันออก  ตั้งค่ายรายประชิดกองทัพหลวงหลายค่าย  สู้รบกันอยู่หลายวัน  พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริเห็นว่า ข้าศึกมีกำลังมากนัก  จะตั้งสู้รบอยู่ที่ปากพิงต่อไปจะเสียที  ครั้นถึงวันพฤหัสบดี แรม 10 ค่ำ เดือน 4  จึงให้ถอยทัพหลวงจากปากพิง มาตั้งมั่นอยู่ที่บางข้าวตอก  แขวงเมืองพิจิตร  กองทัพที่ตั้งรักษาตามระยะต่าง ๆ ก็ถอยตามทัพหลวงลงมาโดยสำดับหมดทุกกอง

กระบวนศึกตอนที่ 4
            ฝ่ายเจ้าพระยาจักรี กับ เจ้าพระยาสุรสีห์  เห็นว่าจะรักษาเมืองพิษณุโลกต่อไปไม่ได้  เพราะขัดสนเสบียงอาหาร  ถ้าอยู่ช้าไปจะเสียทีแก่พม่า จึงตกลงให้เตรียมการทิ้งเมืองพิษณุโลก  ให้ทหารที่ออกไปตั้งค่ายประชิดพม่า ถอยกลับเข้าเมือง  ครั้นทราบว่ากองทัพหลวงล่าถอยไปแล้ว จึงให้เจ้าหน้าที่ระดมยิงปืนใหญ่น้อย  หนาแน่นกว่าทุกวัน  ตั้งแต่เช้าถึงค่ำของวันศุกร์ แรม 11 ค่ำ เดือน 4  แล้วให้เอาปี่พาทย์ขึ้นไปประโคมตามป้อม  ลวงข้าศึกว่าจะเตรียมต่อสู้ในเมืองให้นานวัน  แล้วให้จัดกระบวนทัพเป็นสามกอง  กองหน้าเลือกพลรบที่มีกำลังแข็งแรง  สำหรับตีฝ่าข้าศึก  กองกลางคุมครอบครัวราษฎรที่ฉกรรจ์ แม้ผู้หญิงก็ให้มีเครื่องศัตราวุธ สำหรับต่อสู้ทุกคน  กองหลังไว้ป้องกันท้ายกระบวน

            ครั้นเวลาค่ำ 21 นาฬิกา  ให้เปิดประตูเมือง ยกกำลังออกตีค่ายพม่าทางด้านตะวันออก  ตีหักออกไปได้แล้วรีบเดินกองทัพไปทางบ้านมุงดอนชมพู  ยกกำลังข้ามเขาบรรทัดไปตั้งรวบรวมรี้พลอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์  พม่าล้อมเมืองพิษณุโลกอยู่ 4 เดือน จึงได้เมือง
            อะแซหวุ่นกี้ก็ยกกำลังเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองพิษณุโลก  และได้ออกประกาศแก่บรรดานายทัพนายกองทั้งปวงว่า  ไทยเดี๋ยวนี้ฝีมือเข้มแข็งนัก  ไม่เหมือนไทยแต่ก่อน  การที่เมืองพิษณุโลกเสียครั้งนี้  จะเสียเพราะฝีมือแกล้วทหารแพ้เรานั้นหามิได้  เขาเหตุอดข้าวขาดเสบียงจึงเสียเมือง และการที่จะมารบเมืองไทยสืบไปภายหน้านั้น แม่ทัพที่มีสติปัญญาแลฝีมือ เพียงเสมอเราและต่ำกว่า  อย่ามาทำสงครามตีเมืองไทยเลย  จะเอาชนะเขามิได้ แม้นดีกว่าเรา จึงจะมาทำศึกกับไทยได้ชัยชนะ
            เมื่ออะแซหวุ่นกี้ได้เมืองพิษณุโลกแล้ว  เห็นว่าเสบียงอาหารอัตคัดมาก จึงจัดกำลังสองกอง  ให้มังแยยางูคุมมาทางเมืองเพชรบูรณ์ทัพหนึ่ง  ให้ไปรวบรวมเอาเสบียงอาหารที่เมืองเพชรบูรณ์ และเมืองหล่มศักดิ์ส่งไป  ให้กะละโบ่คุมกำลังอีกกองหนึ่ง ยกมาทางเมืองกำแพงเพชร เพื่อแสวงหาเสบียงอาหารเช่นเดียวกัน  เมื่อกำลังทั้งสองกองยกไปแล้ว อะแซหวุ่นกี้ได้รับท้องตราว่า  พระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์ จิงกูจาราชบุตรได้รับราชสมบัติ มีรับสั่งให้กองทัพกลับไปเมืองอังวะโดยเร็ว  อะแซหวุ่นกี้จึงยกกองทัพกลับไปทางเมืองสุโขทัย  เมืองตาก ไปออกทางด่านแม่ละเมา  และสั่งให้กองทัพกะละโบ่ คอยกลับไปพร้อมกับมังแยยางู
            พระเจ้ากรุงธนบุรี  เมื่อทราบข่าวว่า  อะแซหวุ่นกี้ได้เมืองพิษณุโลกแล้วเลิกทัพกลับไป  ก็ทรงโทมนัสพระทัยยิ่งนัก  คงเป็นเพราะหวังพระทัยว่า  เมื่อทัพพม่าสิ้นเสบียงหมดกำลัง  ก็เหมือนอยู่ในเงื้อมมือไทย  พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ให้กองทัพติดตามตีข้าศึกเป็นหลายกอง  ให้พระยาพิชัย กับพระยาพิชัยสงครามยกไปกองหนึ่ง  ให้พระยาทุกขราษฎรเมืองพิษณุโลก หลวงรักษโยธา  หลวงอัคเนศรเป็นกองหน้า พระยาสุรบดินทรเป็นกองหลวงยกไปกองหนึ่ง  ให้พระยาเทพอรชุน  พระยารัตนพิมล  พระยานครชัยศรี ยกไปกองหนึ่ง  ให้พระยาธิเบศรบดีคุมพลอาสาจาม  ยกไปกองหนึ่ง ทั้ง 4 กองนี้  ให้ไปตามตีกองทัพอะแซหวุ่นกี้  ที่กลับไปทางเมืองตาก  แล้วให้พระยาพลเทพ  จมื่นเสมอใจราษฎร์  หลวงเนาวโชติ  ยกไปกองหนึ่ง  พระยาราชภักดี  ยกไปกองหนึ่ง  ไปตามกองทัพมังแยยางู  ซึ่งยกไปทางเพชรบูรณ์  ให้พระยานครสวรรค์กับพระยาสวรรคโลก  ยกไปตามกองทัพกาละโบ่  ซึ่งยกไปทางเมืองกำแพงเพชร  ส่วนกองทัพหลวงอยู่รอรับครอบครัวราษฎร ที่หนีออกมาจากเมืองพิษณุโลก อยู่ 11 วัน  แล้วมีรับสั่งให้พระยายมราช มารักษาค่ายที่บางข้าวตอก  คอยรวบรวมครอบครัวราษฎรต่อไป  ครั้นถึงวันพฤหัสบดี แรม 14 ค่ำ เดือนหก ปีวอก พ.ศ. 2319  ก็เสด็จยกทัพหลวงมาประทับอยู่ที่ค่ายบางแขม  แขวงเมืองนครสวรรค์

            กองทัพไทยที่ยกติดตามกองทัพมังแยยางูไปที่บ้านนายม  ใต้เมืองเพชรบูรณ์ก็เข้าโจมตี  ฝ่ายข้าศึกหนีขึ้นไปทางเหนือ  เข้าไปในแดนล้านช้าง  แล้วกลับพม่าทางเมืองเชียงแสน  กองทัพเจ้าพระยาจักรี  เจ้าพระยาสุรสีห์  เมื่อทราบว่าพม่าเลิกทัพกลับไป  ก็ยกกำลังจากเพชรบูรณ์ไปทางป่าพระพุทธบาท  ผ่านแขวงลพบุรี  ขึ้นไปตามตีพม่า  พระเจ้ากรุงธนบุรีประทับอยู่ที่ค่ายหลวงตำบลบางแขม  ครั้นถึงเดือน 7 ปีวอก พ.ศ. 2319  ทรงทราบว่ามีพม่าตั้งอยู่ที่กำแพงเพชร  ประมาณ 2,000 คน  จึงมีรับสั่งให้กองทัพพระยายมราช  เดินบกไปทางฝั่งแม่น้ำด้านทิศตะวันตกกองหนึ่ง  ให้กองทัพพระยาราชสุภาวดี  ยกขึ้นไปทางฟากตะวันออกกองหนึ่ง ให้พระยานครสวรรค์  ซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ บ้านโคน ใต้เมืองกำแพงเพชร  ยกกำลังขึ้นไปสมทบกัน  ตีทัพพม่าที่เมืองกำแพงเพชร ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตั้งอยู่ที่ปากคลองขลุง  ฝ่ายพม่าได้ยกหนีขึ้นไปทางเหนือ  พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จกลับคืนพระนคร  เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 7  กองทัพไทยไล่ตามตี กำลังพม่าที่ยังตกค้างอยู่ในไทยจนถึงเดือน 10 ปีวอก  จึงขับไล่พม่าออกไปจากบ้านเดิมบางนางบวช  แขวงเมืองสุพรรณบุรีต่อกับเมืองนครสวรรค์  หนีออกไปทางด่านเจดีย์สามองค์  สงครามครั้งนี้ได้รบกันตั้งแต่เดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. 2318  ถึงเดือน 10 ปีวอก พ.ศ. 2319 เป็นเวลา 10 เดือน


| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |