น้ำบ่อน้ำทิพย์
บ่อน้ำทิพย์ อยู่บนยอดเขาคะม้อ
ในท้องที่ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน มีประวัติเล่าสืบกันมาว่า
เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาที่ยอดภูเขาแห่งนี้เพื่อโปรดสัตว์
เมื่อเสด็จถึงทรงกระหายน้ำ จึงให้พระสาวกที่ติดตามมาด้วยให้ไปหาน้ำมาเสวยพระสาวกหาให้ไม่ได้
พระพุทธองค์จึงทรงตั้งพระอธิษฐาน แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกดลงไปตรงที่ประทับอยู่
เมื่อยกหัวแม่มือขึ้น ก็มีน้ำพุ่งขึ้นมาให้พระองค์เสวย แล้วทรงทำนายว่า สถานที่นี้ต่อไปจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
และจะได้ใช้น้ำนี้ไปทำพิธีต่างๆ จึงได้ชื่อว่าบ่อน้ำทิพย์ มีน้ำอยู่ตลอดปีไม่มีแห้ง
น้ำในบ่อน้ำทิพย์นี้ เมื่อตักน้ำออกไปน้ำจะยุบลงไป และจะมีน้ำไหลพุ่งขึ้นมาเอง
ยังไม่มีผู้ใดวัดได้ว่าบ่อน้ำทิพย์นี้ลึกเท่าใด เมื่อลงไปในบ่อลึก ๓ วา จากปากบ่อ
แล้วเงยหน้าขึ้นดูปากบ่อ จะสังเกตุเห็นว่าเป็นรูปคล้ายหัวแม่มือ
ในวัน ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ จะมีประชาชนไปกระทำพิธีบูชาน้ำบ่อนี้อยู่เสมอ บ่อน้ำทิพย์อยู่สูงจากเชิงเขาประมาณ
๓๐๐ เมตร ทางลาดยาวจากเชิงเขาถึงยอดเขาประมาณ ๖ กิโลเมตร อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอลำพูนประมาณ
๑๕ กิโลเมตร เส้นทางต้องผ่านป่าดงไปบางตอน การตักน้ำในบ่อนี้ต้องใช้ผู้ชาย
ห้ามสตรีลงไปตัก และห้ามเหยียบย่ำปากบ่อ ปกติน้ำในบ่อนี้จะมีสีขุ่น เมื่อกระทำพิธีพลีกรรมแล้วน้ำจึงจะใส
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
ประกอบพิธีที่พระธาตุหริภุญไชย ซึ่งมีตำนานความเป็นมาว่าสร้างขึ้นเมื่อปี
พ.ศ.๑๕๘๖ โดยพระเจ้าอาทิตย์ แห่งราชวงศ์รามัญผู้ครองเมืองลำพูน ต่อมาพระเมืองแก้วทรงปฏิสังขรณ์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๕๔ และพระเจ้ากาวิละได้ทรงปฏิสังขรณ์และยกยอดฉัตร ๔ มุม เมื่อปี
พ.ศ.๒๓๒๙
จังหวัดนครพนม
น้ำอภิเษกของจังหวัดนครพนมมีอยู่เพียงแห่งเดียว คือ น้ำบ่อพระธาตุพนม
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก คือ ที่พระธาตุพนม
บ่อวัดพระธาตุพนม
บ่อน้ำตั้งอยู่ทางทิศเหนือขององค์พระธาตุ ห่างจากกำแพงชั้นนอกประมาณ ๓๐ วา
บ่อกว้าง ๑.๕๐ เมตร ลึก ๑๐ เมตร กรุข้างบ่อด้วยไม้แดง เป็นบ่อน้ำเก่าแก่ น้ำใสรสจืดสนิท
และมีน้ำอยู่ตลอดปี ราษฎรส่วนมากใช้น้ำในบ่อนี้เป็นน้ำดื่ม มีเรื่องเล่ากันมาว่าเป็นบ่อที่พระอินทร์สร้างถวายพระพุทธเจ้าครั้งเสด็จรอบโลก
แต่ทางสันนิษฐานตามตำนานมีว่าพระยาทั้ง 5 ที่ร่วมกันสร้างพระธาตุพนมครั้งแรก
ได้ขุดบ่อและสระเพื่ออาศัยน้ำใช้ในงาน และถวายพระอรหันต์
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
องค์พระธาตุพนม เป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐกว้างด้านละ
๑๐ เมตรเศษ สูงประมาณ ๕๐ เมตร ตั้งอยู่ในวัดธาตุพนม มีกำแพงล้อมองค์พระธาตุ
๔ ชั้น องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินดินสูงจากพื้นธรรมดาประมาณ ๓ เมตร เรียกว่า
ภูกำพร้า อยู่ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 8 เส้น หน้าวัดพระธาตุพนมมีบึงใหญ่ เรียกว่า
บึงธาตุพนมตามตำนานกล่าวว่า
พระธาตุพนมสร้างหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๘ ปี พระมหากัสสปเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์
๘๐๐ องค์ ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ จากกรุงกุสินารายณ์ ประเทศอินเดีย มาประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า
และมีพระยาทั้ง ๕ หัวเมืองรับภาระร่วมกันสร้างพระเจดีย์องค์พระธาตุพนม เป็นที่เคารพนับถืออย่างสูงของพุทธศาสนิกชน
มีงานประจำปีนมัสการพระธาตุพนมในวันเพ็ญเดือนสาม มีประชาชนมานมัสการกันอย่างล้นหลามทุกปี
จังหวัดน่าน
น้ำอภิเษก จากจังหวัดน่านมีอยู่เพียงแห่งเดียวคือ น้ำบ่อแก้ว
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก คือ พระธาตุแช่แห้ง
น้ำบ่อแก้ว
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๓ มีชาวพม่าคนหนึ่งชื่อโปซกโล่ ได้อาสาเป็นนายกองขุดเหมืองหลวง
ต่อเจ้าเมืองน่าน ได้ขุดบริเวณลอมเชียงของ ทางทิศตะวันออกลึกสองเมตรครึ่ง
ได้พลอยมีสีน้ำผึ้ง พอขุดได้ลึก ๔ เมตร ได้เกิดน้ำพุขึ้นในบ่อที่ขุดนั้น จึงได้พยายามวิดน้ำออกเพื่อจะขุดต่อไป
แต่วิดน้ำออกเท่าไรน้ำก็ไม่ลด จึงขุดต่อไปไม่ได้ และน้ำก็ขึ้นมาเต็มปากบ่อพอดี
ตั้งแต่นั้นมาประชาชนก็พากันเชื่อถือว่าน้ำในบ่อนี้เป็นน้ำวิเศษ และเรียกว่า
น้ำบ่อแก้ว มาจนถึงทุกวันนี้
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จมาเมืองน่าน
พระอรหันต์กับพระอานนท์ ได้ทูลขอพระราชทาน พระเกษธาตุแก่มลราช พระพุทธองค์ทรงประทานให้และทรงพยากรณ์ว่า
เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว พระธาตุข้อมือซ้ายจะมาประดิษฐานในเมืองนี้
ครั้นพระพุทธองค์นิพพานแล้ว พระมหากัสสปได้อาราธนาให้พระธาตุเสด็จไปเมืองน่าน
อยู่รวมกับพระเกษธาตุ ที่ได้ประทานไว้ก่อนถึง พ.ศ. ๒๑๘ พระเจ้าอโศกทรงรวบรวมพระธาตุ
สร้างพระสถูปแปดหมื่นสี่พันแห่ง ซึ่งได้ทรงแจกพระธาตุ และพระสถูปขึ้นที่เมืองนี้ด้วย
แต่พระสถูปเดิมนั้นหักพังไปหมด เหลือแต่พระธาตุจมดินอยู่ เมื่อราว พ.ศ. ๒๐๐๔
ท้าวขาก่าน เจ้าเมืองน่านจึงได้ขอพระธาตุ และสร้างสถูปขึ้น เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน
และมีงานเทศกาลนมัสการพระธาตุแช่แห้งในวันเพ็ญเดือนสี่เป็นประจำทุกปี
จังหวัดร้อยเอ็ด
น้ำอภิเษกจากจังหวัดร้อยเอ็ด มีอยู่ ๓ แห่ง ด้วยกันคือ น้ำสระแก้ว น้ำสระทอง
และน้ำบึงพลานชัย
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก คือ บึงพลานชัย
น้ำสระแก้วและสระทอง
สระแก้ว อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศใต้
ประมาณ ๓๐ เส้น
สระทอง อยู่ทางทิศตะวันตกของบึงพลานชัย
สระทั้งสองแห่งนี้เป็นสระเก่าแก่ ขุดมาตั้งแต่สมัยสร้างเมืองร้อยเอ็ด
น้ำบึงพลานชัย
บึงพลานชัย เป็นบึงเก่าแก่มีมาก่อนสร้างเมืองร้อยเอ็ด
กว้างประมาณ ๓ เส้น ยาวประมาณ ๔ เส้นเศษ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ
๘ เส้น เมื่อครั้งพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
ได้มีการขุดลอกบึงนี้ให้ลึก และพูนเกาะกลางบึง ๒ เกาะ สร้างสะพานติดต่อกัน
ทำถนนรอบบึง
สถานที่ประกอบน้ำอภิเษก
ข้างบึงพลานชัย มีวัดที่สำคัญของจังหวัด คือ วัดบึงพลานชัย เดิมเป็นสำนักสงฆ์ไม่มีอุโบสถทำสังฆกรรม
ต่อมาพระยารณชัยชาญยุทธ (ถนอม บุณยเกตุ) สมุหเทศาภิบาล มณฑลร้อยเอ็ด ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา
และทำการผูกพันทธสีมา สร้างขึ้นเป็นวัด เรียกว่า วัดบึงพลานชัย ได้ใช้เป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสืบมา
จังหวัดเพชรบุรี
น้ำอภิเษกจากจังหวัดเพชรบุรี มีอยู่แห่งเดียวคือ น้ำแม่น้ำเพชรบุรี
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก คือ วัดมหาธาตุ
น้ำแม่น้ำเพชรบุรี
เป็นน้ำที่ตักจาก วัดท่าชัย (ปัจจุบัน
คือวัดท่าชัยศิริ)
ตำบล สมอพลือ อำเภอบ้านลาด ความสำคัญของน้ำที่วัดท่าชัยศิรินี้มีมาว่า ครั้งโบราณ
เมื่อกองทัพไทยรบกับกองทัพพม่า กองทัพไทยได้ถอยมาถึงวัดใต้ ซึ่งต่อมาเรียกว่า
วัดชัย ทหารไทยได้ลงดื่มน้ำที่ศาลาท่าน้ำของวัดนี้
แล้วกลับขึ้นไปยึดโบสถ์วัดใต้เป็นที่มั่นต่อสู้กับกองทัพพม่าจนพม่าแตกหนีไป
วัดนี้จึงได้ชื่อว่าวัดท่าชัย ตั้งแต่ครั้งนั้น ทางการได้ใช้น้ำแห่งนี้ในเวลาต่อมา และได้เลิกใช้ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
วัดมหาธาตุ เป็นวัดเก่าแก่ ไม่มีหลักฐานว่าสร้างแต่เมื่อใด
ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นมาแล้วประมาณ ๑,๙๐๐ ปี และเป็นวัดราษฎร์ เดิมมีชื่อว่า
วัดหน้าพระธาต
"หรือวัดหน้าประธาตุ"
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จมาตรวจราชการคณะสงฆ์ในจังหวัดเพชรบุรีตรัสว่า
ชื่อวัดยังไม่ได้ความแน่ชัดและเดิมน่าจะเป็นวัดหลวง จึงทรงขนานนามใหม่ว่า
"วัดมหาธาตุ"
และทูลขอพระราชทานให้เป็น วัดหลวงชั้นตรี ส่วนการทอดกฐินทรงอนุญาตให้ประชาชนทอดกฐินได้ตามเดิม
ครั้นเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ สิ้นพระชนม์ การทอดกฐินก็เป็นกฐินหลวงตั้งแต่ปี
พ.ศ.๒๔๖๒ วัดนี้ได้เป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้สร้างพระราชวังบนเขาวัง จึงได้ย้ายการทำพิธีถือน้ำ ฯ ไปกระทำบนเขาวัง จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายมาทำพิธีที่วัดมหาธาตุตามเดิม
วัดมหาธาตุ เป็นที่ประดิษฐานพระปรางค์ ๕ ยอด (พระศรีรัตนมหาธาตุ) ไม่ทราบว่าผู้ใดสร้าง
และสร้างแต่เมื่อใด พระปรางค์มีรูปทรงแบบเขมร จึงเข้าใจว่าเขมรสร้าง พื้นล่างของพระปรางค์เป็นศิลาแลง
มีผู้กล่าวว่าสร้างมาพร้อมกับวัดกำแพงแลง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองเพชรบุรี
พระปรางค์นี้ได้บรรจุพระบรมสาริริกธาตุไว้ทั้ง ๕ ยอด คือ ยอดใหญ่ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ยอดเล็กทางด้านทิศตะวันออกเป็นอุทเทสเจดีย์ ทางด้านทิศใต้เป็นธาตุเจดีย์ ทางด้านทิศตะวันตกเป็นบริโภคเจดีย์
และทางทิศเหนือบรรจุพระธรรมเจดีย์
พระปรางค์ ๕ ยอดนี้เคยชำรุดหักพังมาแล้ว ๒ ครั้ง ซ่อมแซมใหม่เสร็จเรียบร้อยเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๗๙ วัดส่วนสูงได้ ๒๗ วาเศษ ส่วนฐานวัดโดยรอบได้ ๖๐ วาเศษ เป็นปูชนียสถานที่ประชาชนเคารพบูชามาก
ถึงวันนักขัตฤกษ์ และวันสงกรานต์จะเปิดให้ประชาชนไปนมัสการ
จังหวัดชัยนาท
น้ำอภิเษกจากจังหวัดชัยนาทมีอยู่ ๒ แห่ง คือ น้ำตักที่หน้าวัดพระบรมธาตุ และน้ำตักที่หน้าวัดธรรมามูล
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก วัดพระบรมธาตุ
น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดธรรมามูล
วัดธรรมามูล ตั้งอยู่ที่ตำบลธรรมามูล
อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ที่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากที่ตั้งศาลากลางจังหวัดไปทางทิศเหนือประมาณ
๑๐ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนไหล่เขาธรรมามูล วัดนี้เป็นวัดโบราณ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ชื่อว่า
หลวงพ่อธรรมจักร วัดนี้ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างสมัยใด
เล่ากันมาว่าสร้างในสมัยสุโขทัย คือมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง แห่งกรุงสุโขทัย
ได้เสด็จชลมารคล่องลงมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา และได้เสด็จขึ้นประทับพักร้อนบนเขาธรรมามูล
และได้ทรงสร้างวัดนี้บนไหล่เขาธรรมามูลด้านติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ต่อ
ๆ กันมาตามลำดับ และได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง หลวงพ่อธรรมจักร เป็นพระพุทธรูปยืน ปางห้ามสมุทร สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์สูง ๘ ศอก ปัจจุบันใช้ปูนหุ้มไว้ทั้งองค์ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เมื่อประชาชนที่สัญจรไปมาโดยทางน้ำผ่านหน้าวัดธรรมามูล
ถ้ามิได้แวะขึ้นไปนมัสการหลวงพ่อธรรมจักร์ ก็จะวักน้ำในแม่น้ำตรงนั้นประพรมตัว
เพื่อความเป็นศิริมงคล เพราะถือว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงหน้าวัดธรรมามูล
เป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อธรรมจักร วัดนี้มีงานประจำปี เพื่อสมโภชปิดทองหลวงพ่อธรรมจักร์ปีละ
๑ ครั้ง คือในวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ และวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ นับเป็นงานประจำปีที่ใหญ่แห่งหนึ่งของจังหวัดชัยนาท
น้ำในเม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดพระบรมธาตุ
วัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ที่ตำบลชัยนาท
อำเภอเมืองฯ จังหวัดชัยนาท บนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศใต้ประมาณ
๔ กิโลเมตร เป็นวัดโบราณ มีพระปรางค์สร้างด้วยศิลาแลงสูง ๗ วา รูปทรงสี่เหลี่ยม
ฐานแต่ละด้านกว้างประมาณ ๓ วาเศษ มีประวัติเล่าสืบกันมาว่า เป็นวัดที่สร้างในสมัยพระศรีธรรมาโศกราช
โดยพระอรหันต์ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมา และได้สร้างพระปรางค์ด้วยศิลาแลง
แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระปรางค์ พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างวัดนี้ขึ้น
จากแผ่นศิลาจารึกไม่ได้กล่าวถึงผู้สร้างวัดนี้กล่าวแต่เพียงผู้ซ่อม เดิมพระปรางค์องค์นี้หุ้มด้วยโลหะสีขาว
การซ่อมต่อมาได้ใช้หินและปูนหุ้มไว้ มีงานนมัสการและปิดทองพระปรางค์ปีละ
๒ ครั้ง คือในวันขึ้น ๑๔, ๑๕ ค่ำ และ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ และในวันแรม ๔
ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นงานประจำปีที่ยิ่งกว่างานประจำปีอื่น ๆ ของจังหวัดชัยนาท
| หน้าแรก
|
ย้อนกลับ
| หน้าต่อไป | บน
|