น้ำอภิเษก จากจังหวัดฉะเชิงเทรามีอยู่สองแห่งด้วยกันคือ น้ำสระมหาชัย
และน้ำสระหินดาษ
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก คือวัดโสธร
น้ำสระมหาชัย
สระมหาชัย หรือ
สระลำมะชัย เป็นบึงมีมาแต่สมัยใดไม่ปรากฎ เมื่อก่อนปี พ.ศ.๒๔๕๐ บริเวณนี้เป็นป่าดง
มีหญ้าหนาทึบปิดบังพื้นน้ำอยู่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ ได้มีชาวบ้านไปหักร้างถางพง
และสร้างที่พักอาศัยชั่วคราว และได้อาศัยน้ำในบึงนี้ตลอดมา และมีจำนวนผู้เข้ามาตั้งหลักแหล่งมากขึ้นตามลำดับจนปัจจุบันบึงนี้ตื้นเขิน
ราษฎรใช้ทำนาได้เกือบหมด ตัวบึงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีพื้นที่ประมาณ ๑๐
ไร่ น้ำในบึงใสจืดใช้อุปโภคและบริโภคได้ดี
น้ำสระหินดาษ
สระหินดาษ ไม่ปรากฎประวัติความเป็นมา
บริเวณสระเป็นหินกรวดและศิลาแลง มีเนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่เศษ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดหินดาษ
เมื่อประมาณร้อยปีเศษมาแล้ว บริเวณนี้เป็นป่าดง สระนี้มีมาแล้วแต่เดิม ต่อมาเมื่อมีผู้มาตั้งรกรากบริเวณนี้จึงพบสระนี้
ที่กลางสระมีบ่อเล็ก ๆ อยู่บ่อหนึ่ง กว้างลึกประมาณ ๑ ศอก ในบ่อมีทรายอยู่เมื่อแหวกทรายออกจะพบน้ำใช้ดื่มกินได้
ปัจจุบันตัวสระกว้างประมาณ ๗ วา ยาว ๘ วา มีบันใดทำด้วยหินรวม ๔ แห่ง สระนี้ลึกประมาณ
๒ ศอก กลางสระเป็นดินปนกรวด บ่อกลางสระก็หมดสภาพไป
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๐ นายพรม ชาวบ้านดงน้อยได้สร้างวัดหินดาษขึ้น ทางวัดได้พยายามขุดสระน้ำหลายแห่งแต่ได้น้ำไม่พอใช้
และคุณภาพไม่ดี ต่อมาจึงได้ขุดบ่อน้ำใกล้สระหินดาษ ได้พบขอบบ่อเก่า และเมื่อเปิดหน้าดินชั้นแรกก็พบรูปบ่อเดิม
เมื่อขุดลึกลงไปประมาณ ๑ เมตร ก็มีน้ำไหลออกมาจากหินชานบ่อโดยรอบทุกด้าน เป็นน้ำใสสะอาด
จืดสนิท เมื่อได้ลอกบ่อเอาดินขึ้นมาจนบ่อลึกเป็นที่พอใจแล้วก็ได้น้ำพอแก่ความต้องการ ได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน บ่อดังกล่าวนี้กว้างประมาณ ๔ ศอก และลึกประมาณ ๔เมตร
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
วัดโสธร เดิมชื่อ วัดเสาธง
เนื่องจากมีเสาธงสูงใหญ่เป็นเครื่องหมายสำคัญ
ต่อมาเกิดมีลมพายุพัดเสาธงหัก ทำให้ผู้เรียกนามวัดสมัยนั้นว่า วัดเสาธงทอน
ต่อมาชื่อวัดได้เพี้ยนห้วนเข้ากลายเป็นวัดโสธร
ต่อมาไม่ปรากฎชัดว่าเป็นสมัยใด ได้เล่าสืบกันมาว่ามีพระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยน้ำมาในแม่น้ำบางปะกง
เมื่อลอยมาถึงหน้าวัดโสธรก็ลอยวนอยู่หน้าวัด บรรดาชาวบ้านและพระสงฆ์ได้ช่วยกันอัญเชิญขึ้นจากน้ำ
แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ แล้วจึงได้ขนานนามพระพุทธรูปองค์นี้ตามชื่อวัดว่า
หลวงพ่อโสธร คำว่า โสธร
แปลว่า ผู้ร่วมท้องกัน พี่ชาย น้องชาย จึงมีประวัติหลวงพ่อโสธร ตามที่เล่าสืบกันมาว่า
มีพระพี่น้อง ๓ รูป มีวิชาสามารถแปลงร่างได้ พระทั้ง ๓ รูป อยู่ทางเหนือ ได้แปลงเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำมา
เพื่อทดลองวิชาคนทางใต้ ในที่สุดได้ลอยมาในลำน้ำบางปะกง และแสดงฤทธิ์ลอยทวนน้ำ
ประชาชนเห็นเข้าก็ช่วยกันนำขึ้นฝั่งแต่ไม่สำเร็จ แล้วพระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็จมน้ำหายไป
สถานที่ดังกล่าวจึงเรียกว่า สามพระทวน ต่อมาได้เพี้ยนเป็นสำปะทวน พระพุทธรูปองค์กลาง
ได้ลอยน้ำต่อไปจนถึงคุ้งวัดใต้ ชาวบ้านพยายามนำเข้าฝั่งแต่ไม่สำเร็จจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า
บางพระ ต่อมาพระพุทธรูปองค์นี้ได้ลอยมาอยู่ที่ แหลมเหนือคุ้งบางพระ และลอยนิ่งอยู่จนทำให้เกิดน้ำวนขึ้นจึงเรียกว่า
แหลมหัววน ต่อมาได้มีผู้ทำพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นบก แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ใน
พระอุโบสถวัดโสธร เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองฉะเชิงเทรามาถึงทุกวันนี้
ทางวัดได้จัดงานประจำปีนมัสการหลวงพ่อโสธรปีละ ๒ ครั้ง คือ กลางเดือน ๕ และกลางเดือน
๑๒ มีผู้มานมัสการจากต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก
จังหวัดนครราชสีมา
น้ำอภิเษกจากจังหวัดนครราชสีมามีอยู่ ๔ แห่งด้วยกัน คือ น้ำสระแก้ว น้ำสระขวัญ
น้ำธารปราสาท และน้ำปักธงชัย
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก คือ วัดพระนารายณ์มหาราช
น้ำธารปราสาท
ธารปราสาท เป็นลำธารอยู่ในพื้นที่อำเภอโนนสูง มีน้ำไหลอยู่เสมอ ชื่อธารปราสาท มีชื่อเป็นศุภมงคล มีมาแต่โบราณถือเป็นของคู่บ้านคู่เมืองที่ศักดิ์สิทธิ์
ตั้งแต่สมัยขอมยังมีอำนาจอยู่ในดินแดนส่วนนี้
น้ำสระแก้ว
น้ำสระขวัญ
สระแก้ว และสระขวัญ อยู่ในท้องที่อำเภอเมือง
จังหวัดนครราชสีมา เป็นสระที่มีชื่อเป็นศุภมงคล มีมาเก่าแก่ตั้งแต่สมัยขอมมีอำนาจในดินแดนส่วนนี้
น้ำสระปักธงชัย
สระปักธงชัย อยู่ในท้องที่อำเภอปักธงชัย
ซึ่งเดิมเป็นเมืองปักธงชัย เป็นสระโบราณ มีมาตั้งแต่สร้างเมืองนครราชสีมา
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นสระที่มีชื่อเป็นศุภมงคล
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
วัดพระนารายณ์มหาราช เดิมชื่อ วัดกลาง
สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชพร้อมกับสร้างเมืองนครราชสีมา ได้รับพระราชทานเป็นวัดหลวง
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ และให้ชื่อว่า วัดกลางนคร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดพระนารายณ์มหาราช
ในพระวิหารของวัดมีพระประธานขนาดใหญ่มาก ถือว่าเป็นวัดสำคัญที่สุดของจังหวัดนี้
ได้ใช้เป็นที่กระทำสัตย์สาบาน ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยามาโดยตลอด ปรากฎในตำหรับพระบรมราชาภิเษกสัปดมะราชมหาจักรีวงศ์
พุทธศักราช ๒๔๖๘ ตอนหนึ่งว่า
สระขวัญ
ปลายมาส
ชัยะภูมิขันธ์
กับน้ำ
ปักธงชัย
ถวัลย์ วิศิษฏ์หก
สถานแฮ
นะครราชะ
สีมาล้ำ ชะเลศใช้
เฉลิมธรรม
น้ำอภิเษกจากจังหวัดอุบลราชธานีมีอยู่ ๓ แห่งด้วยกันคือ น้ำท่าหอชัย น้ำกุดศรีมังคละ
และน้ำกุดพระฤาชัย
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษกคือ วัดศรีทอง
น้ำท่าหอชัย
เนื่องจากเมืองอุบล ฯ เพิ่งตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
จึงไม่มีสระแก้ว สระขวัญ เช่น เมืองเก่าอื่นๆ ที่สร้างมาแต่สมัยขอมมีอำนาจ
จึงได้ลงมติให้ใช้น้ำจากแม่น้ำมูล โดยจำกัดเขตแดนลงที่ท่าหอชัย โดยเอาน้ำพระพุทธมนต์เทลงในลำน้ำมูลกลางท่าหอชัย
เพื่อให้น้ำที่นั้นเป็นน้ำชัยมงคล
น้ำกุดศรีมังคละ
และน้ำกุดพระฤาชัย
อยู่ฝั่งใต้แม่น้ำมูล ห่างจากตัวเมืองอุบล ฯ ไปประมาณ ๑๐๐ เส้น ที่มาของน้ำทั้งสองแห่งนี้ไม่แจ้งชัด
เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่า น่าจะเกิดขึ้นภายหลังสงครามไทยกับญวน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยแม่ทัพในครั้งนั้นที่ยกไปช่วยทางด้านนครพนมคือ พระพรหมวงศา (กุทอง) ต้นตระกูลสุวรรณกูฏ
เจ้าเมืองอุบล ฯ คนที่ ๓ ได้ทำพิธีทำน้ำมนต์จาก การเสี่ยงหา ตามแบบโบราณ จากกุดหนองในบริเวณนั้น
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
วัดศรีทอง เป็นวัดที่อุปฮาดโท ณ อุบล เป็นผู้สร้างถวายท่านเทวธัมมี (ม้าว) ซึ่งเป็นปุราณลัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
ฯ มีพระแก้วเก่าแก่ที่ขุดได้ที่ดงบุ่งไหม ท้องที่อำเภอวารินชำราบ เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนมาก
มีพระทองทิพย์ เป็นพระเก่าแก่อัญเชิญมาจาก
นครเวียงจันทน์ เป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไปเป็นอันมาก นอกจากนั้นชื่อวัดยังเป็นศิริมงคลอันประเสริฐ
จังหวัดจันทบุรี
น้ำอภิเษกจากจังหวัดจันทบุรีมีอยู่ ๒ แห่งด้วยกันคือ น้ำสระแก้ว และน้ำธารนารายณ์
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษกคือ วัดพลับ
น้ำธารพระนารายณ์
ถ้ำพระนารายณ์ อยู่ที่เชิงเขาสระบาป
ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดจันทบุรี อยู่ห่างจากตัวเมือง ประมาณ
๑๒ กิโลเมตร เป็นต้นของธารนารายณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เคยเสด็จประพาส นับแต่นั้นมาก็ได้นำเอาน้ำในถ้ำมาประกอบพิธีน้ำอภิเษกต่อมา
น้ำที่สระแก้ว
สระแก้ว อยู่ใกล้กับเขาสระแก้ว ตำบลพลอยแหวน
อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นสระโบราณ มีขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๗ เมตร
อยู่ในป่าทึบ น้ำในสระเต็มเปี่ยม และใสบริสุทธิ์จนมองเห็นเป็นสีมรกต มีปลานานาชนิดอาศัยอยู่
ในสระปรากฎมีแสงสว่างเป็นวงเขียวคล้ายแก้วเป็นวงรอบสระ ได้มีการนำน้ำในสระนี้มาประกอบพิธีทำเป็นน้ำอภิเษก
นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา
สถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก
วัดพลับ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกะจะ เป็นวัดที่เจริญรุ่งเรือง
และสร้างมาก่อนวัดอื่น ๆ ได้ใช้วัดนี้เป็นสถานที่ประกอบพิธีน้ำอภิเษก ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นต้นมา