| หน้าแรก | ย้อนกลับ |


    ตัวหนังสือไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
loading picture
loading picture

           พระองค์ได้รับยกย่องว่าเป็นพระบิดาแห่งการพิมพ์ไทย   ทรงจัดให้มีการสร้างตัวพิมพ์ไทย   ที่เป็นต้นแบบของตัวพิมพ์ธรรมดา ซึ่งใช้พิมพ์หนังสือกัน   ทรงให้สมเด็จพระสังฆราช (สา)  คิดวิธีให้เอาตัวหนังสือไทย มาใช้เขียนภาษาบาลี   ทรงให้จัดพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาขึ้น   นับเป็นวารสารราชการฉบับแรก   ที่ได้มีการจัดพิมพ์ในประเทศไทย   เมื่อ  ปี พ.ศ.๒๔๐๑   นอกจากนั้นยังได้มีพระราชดำริที่จะดัดแปลงอักษรไทย   และวิธีการเขียนหนังสือไทยใหม่   เพื่อให้สะดวกแก่การใช้เขียนใช้พิมพ์   ทรงคิดที่จะเอาตัวพยัญชนะ  และสระ  ให้มาอยู่ในบรรทัดเดียวกัน   โดยเรียงสระอยู่หลังพยัญชนะ เช่นอักษรยุโรป   ทรงเรียกอักษรที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นมาว่า  อักษรอริยกะ   แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ   ไม่ได้รับความนิยม   เนื่องจากรูปตัวหนังสือเปลี่ยนรูปร่างออกไปจากอักษรไทยเดิมมาก   ไปเลียนแบบรูปร่างอักษรโรมัน
         ในรัชสมัยของพระองค์  หลวงสารประเสริฐ (น้อย  อาจารยางกูร )  ได้แต่งแบบสอนหนังสือไทยขึ้นมาชุดหนึ่ง คือ   มูลบทบรรพกิจ  วาหนิติ์กร  อักษรประโยค  สังโยคพิธาน  ไวพจน์พิจารณ์  พิศาลการันต์  อนันตวิภาค  เขมรรากษรมาลา  นิติสารสาธก  และปกีรณำ   ทำให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในภาษาไทย  และอักษรไทยขึ้น
    รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ
loading picture
loading picture

           หลวงสารประเสริฐได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร  และได้ปรับปรุงตำราสอนภาษาไทยที่แต่งไว้เดิม   ให้เหลือเพียงหกเล่มแรก  เรียกว่า ชุดตำราเรียนหลวง
            เมื่อปี  พ.ศ.๒๔๓๕  กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  ทรงควบคุมรับผิดชอบการศึกษา   เห็นว่าชุดตำราเรียนหลวงยาวเกินไป   ต้องเรียนนานเกินไป   จึงทรงนิพนธ์แบบเรียนเร็วขึ้น  ๓  เล่ม   ในการนี้ได้ให้ชื่อตัวอักษรไทยทุกตัว   เพื่อให้จำได้ง่าย   ดังที่ปรากฏมาจนถึงปัจจุบันนี้    ตั้งแต่ ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูก   เป็นชื่อมาตรฐานที่ใช้กันเป็นแบบเดียวกัน   นับว่าเป็นวิธีการที่ชาญฉลาด   ไม่มีหนังสือชาติใดที่คิดทำแบบนี้   เพราะถึงจะมีอยู่บ้างก็ไม่เป็นมาตรฐานทั่วไป ต่อจากนั้นยัง ได้มีการเอาชื่อตัวอักษรเหล่านั้นมาประดิษฐ์เป็นคำร้อยกรองประกอบ   เพื่อให้จดจำง่ายขึ้นทั้งตัวอักษรแต่ละตัว   และลำดับตัวอักษรตั้งแต่ต้นจนจบ  เช่น  ก. ไก่เอ๋ย  ข. ไข่มาหา  ฃ. น้องชาย  ควายเข้านา  ฅ โสภา  เดินหน้า  ฆ  ง. ใจหาย  จ. จริงจัง  ฉ. ตีดัง  ระวังช.ช้าง......ฮ. นกฮูกตาโต
            เมื่อปี  พ.ศ.๒๔๑๖  หมอบรัดแลย์ ได้จัดพิมพ์หนังสือ อักขราภิธานศรับท์  เป็นหนังสือพจนานุกรมเล่มแรกของไทย  ใช้ตัวพิมพ์ไทยที่ได้พัฒนาแล้ว   มีคำทั้งหมดประมาณ  ๔๐,๐๐๐ คำ   ต่อมาเมื่อปี  พ.ศ.๒๔๒๖   กรมศึกษาธิการได้ให้ขุนประเสริฐอักษร (แพ  ตาละลักษณ์)  จัดทำพจนานุกรมของทางราชการขึ้นเป็นครั้งแรก
            การรวบรวมคำไทยเพื่อจัดพิมพ์   ได้เคยมีผู้รวบรวมก่อนและหลังหมดบรัดเลย์อยู่บ้าง   พอประมวลได้ดังนี้
            พ.ศ.๒๓๘๙  มิชชันนารี  เทเลอร์  โจนส์   ได้รวบรวมคำไทย   และจัดทำคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ  แต่ไม่ได้ตีพิมพ์
            พ.ศ.๒๓๙๗  สังฆราชปัลเลอกัวซ์   ได้รวบรวมคำไทย  แล้วทำคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ  ฝรั่งเศษ  และภาษาลาติน   ตีพิมพ์ที่ปารีส   ให้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า สัพพะพจนะพาสาไทย
            พ.ศ. ๒๔๓๙  บาทหลวง เวย์  ได้แก้ไขเพิ่มเติม  สัพพะพจนะพาสาไทย  แล้วจัดพิมพ์ใหม่ให้ชื่อว่า  ศริพจน์ภาษาไทย   รวบรวมคำไทยได้ประมาณ  ๓๐,๐๐๐  คำ   ทั้งที่ใช้พูดอยู่  และที่ไม่ได้ใช้
            พ.ศ.๒๔๓๔  นาย อี.บี  มิชเชล   ที่ปรึกษาทางกฎหมายของไทย   ได้รวบรวมคำไทยทำพจนานุกรม  ชื่อว่า  ลิปิกรมายนภาษาไทย   แปลเป็นภาษาอังกฤษ   กล่าวว่ามีคำไทยที่ใช้พูดกันอยู่ในสมัยนั้น  ประมาณ  ๑๔,๐๐๐ คำ   แต่หนังสือฉบับนี้ได้คัดเลือกมาเพียง  ๘,๐๐๐ คำ
    รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ

loading picture
loading picture

            พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้า ฯ  ทรงปราดเปรื่องในทางภาษาศาสตร์อย่างยิ่ง  พระองค์ได้ทรง พระราชนิพนธ์หนังสือวรรณคดี  สารคดี  ไว้มากยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใด ในประวิติศาสตร์ไทย  จนทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น พระมหาธีรราชเจ้า
            พระองค์ได้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา   กำหนดให้ประชาชนทุกคนต้องเรียนหนังสือ  กรมศึกษาธิการ  ได้เรียบเรียงตำราไวยากรณ์ไทยขึ้นเป็นแบบเรียน  โดยตั้งกำหนดกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ขึ้น สำหรับภาษาไทย   โดยอาศัยเทียบเคียงกับกฎเกณฑ์ของภาษาอังกฤษ  และชาติในยุโรปเป็นหลัก   ต่อมาพระยาอุปกิตศิลปสาร (เพิ่ม  กาญจนาชีวะ)   ได้แก้ไขปรับปรุงเสียใหม่  เพื่อให้สะดวกแก่การศึกษา   เรียกว่าวิชาหลักภาษาไทย  จัดทำเป็นหนังสือ  ๔  เล่มชุด  คือ   อักขระวิธี  วจีวิภาค  วากยสัมพันธ์  และฉันทลักษณ์   ซึ่งถือเป็นตำราหลัก   ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้
            ภาษาไทยแต่เดิม เป็นภาษาที่ไม่มีไวยากรณ์   การเขียนหนังสือไทยยุคโบราณ  ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์แน่นอน  การสะกดการันต์ก็เขียนกันตามสะดวก   มาในสมัยรัตนโกสินทร์   ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์มาตามลำดับ  ต่อมาเมื่อได้ตั้งราชบัณฑิตยสถานขึ้น   และให้รับผิดชอบในการจัดทำพจนานุกรม  คำศัพท์ในพจนานุกรม จึงเป็นแม่แบบที่ถูกต้อง
            พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้า ฯ  ได้ทรงเห็นข้อบกพร่องในการเขียนหนังสือไทย  ดังนั้น  เมื่อปี  พ.ศ. ๒๔๖๐   จึงได้ทรงดำริจะแก้ไขวิธีการเขียนหนังสือไทยให้รัดกุม  หัวข้อเรื่องที่พระองค์เห็นว่า ควรจะได้ปรับปรุงแก้ไขมีอยู่  ๕  ประการด้วยกัน  คือ
                ๑.  วิธีเขียนสระ       ซึ่งเขียนไว้ในที่ต่าง ๆ กัน  ทั้งข้างหน้า  ข้างหลัง  ข้างบน  และข้างล่าง  พยัญชนะ  ทำให้ผู้เรียนใหม่ฉงน
                ๒.  สระผสม       เป็นการผสมตามใจชอบ   โดยมิได้คำนึงถึงเสียงจริง   จึงต้องใช้วิธีจำเอาโดยตรง  ยากที่จะเข้าใจได้
                ๓.  ตัวพยัญชนะเปล่า      ไม่มีสระกำกับอยู่   ก็สามารถอ่านออกเสียงได้   เป็นเสียงอะก็มี  ออก็มี  ทำให้เป็นข้อฉงนได้  เช่น  ปฐม  ออกเสียง อะ  บดี  ออกเสียง ออ  เป็นต้น
                ๔.  วิธีใช้พยัญชนะกล้ำ       ก็ยากแก่การแก้ไข  คือ  ไม่ทราบว่าเมื่อใดจะออกเสียงกล้ำ  และเมื่อใดจะไม่ออกเสียงกล้ำ   นอกจากนี้การที่เขียนสระไว้หน้า   ทำให้ไม่แน่ว่าพยัญชนะตัวที่  ๒  จะกล้ำกับตัวที่  ๑   หรือเป็นตัวสะกด   เช่น  เขียนว่า  "โสน"  "จันทโครพ"  "เพลา"  "โคลน"  "อิเหนา"  อาจจะอ่านได้สองอย่าง  เป็นต้น
                ๕.  ลักษณะการเขียนหนังสือ      จะเขียนถ้อยคำติดกันไปหมด   ไม่เว้นระยะคำทุกคำ   อย่างเช่น  ลักษณะการเขียนหนังสือของชาวยุโรป   ทำให้เป็นที่ฉงน แก่ผู้ที่ไม่ชำนิชำนาญในเชิงการอ่านหนังสือไทย   ในเรื่องนี้   พระองค์ได้ทรงยกตัวอย่างการแก้ไขในข้อ  ๕  ก่อน   เพราะเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ง่าย
            นอกจากความคิดจะปรับปรุงแก้ไขใน  ๕  ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว   พระองค์ยังทรงคิดแก้ไขรูปสระของไทยเสียใหม่   เพื่อให้เขียนอยู่บรรทัดเดียวกันกับพยัญชนะ   โดยทรงเอาตัวอย่างแบบชาวตะวันตกบ้าง   ตามแบบของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชบ้าง   และตามแบบขอมบ้างมาเป็นหลักพิจารณา  แต่เนื่องจากพระองค์มีเวลาน้อย   ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน   แนวพระราชดำริดังกล่าวจึงไม่ประสบผลสำเร็จ
    การพัฒนาตัวหนังสือไทยในระยะหลัง
            หลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ  รูปแบบตัวหนังสือไทย ได้พัฒนามาอยู่ในขั้นที่มีสภาพคงที่  ไม่มีการเปลี่ยนแปลงออกไปมาก ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐  ได้มีการยกเลิกตัว  ฃ  และ ฅ คน  เพราะปทานุกรมที่กระทรวงธรรมการจัดพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปีนี้   ได้เขียนคำอธิบายว่า  ตัวอักษรสองตัวนี้เลิกใช้แล้ว  และไม่ได้เก็บคำศัพท์จากตัวอักษรสองตัวนี้  ไว้ในปทานุกรม
            การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการใช้ตัวหนังสือไทยเกิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕  เมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการปรับปรุงด้านภาษาและหนังสือหลายประการ   ได้มีการตัดตัวพยัญชนะ   และสระที่มีเสียงซ้ำกันออกไป  สรุปได้ดังนี้
                ๑.  ตัวอักษรที่มีเสียงซ้ำกัน  โดยตัด  ฃ  ฅ  ฆ  ฌ  ฎ  ฐ  ฑ  ฒ  ณ  ศ  ษ  และ ฬ  ตัดสระ  ใ  ฤ  ฤๅ  ฦ  ฦๅ  ออกไป   ถือว่าตัวหนังสือไม่มีใช้   และไม่กระทบกระเทือนการใช้ภาษาไทย   ตัวอักษรที่ตัดออกไป   ให้ใช้คำที่ออกเสียงพ้องกันที่เหลืออยู่แทน   เช่น  ส. ใช้แทน ศ  ษ  น ใช้แทน ณ  ด ใช้แทน  ฎ  ต  ใช้แทน  ฏ  ท  ใช้แทน  ฑ  ฒ     ถ ใช้แทน  ฐ  ค ใช้แทน  ฆ  และ ร ใช้แทน  ฬ  เป็นต้น
                ๒.  ตัว ญ  โดยทั่วไปใช้  ตัว ย แทน    แต่ในกรณีที่ต้องเขียนคำบาลี  สันสกฤต  ให้ใช้ตัว ญ ได้
แต่ให้ตัดเชิงตัว   ญ  ออก  เช่น  ผู้หญิง  เป็น ผู้หยิง   ใหญ่ เป็น ไหย่
                ๓.  ตัวกล้ำ  ทร  ที่ออกเสียง  ซ  ให้ใช้ตัว  ซ  แทน   เช่น  ทราบ เป็น ซาบ   ทราย เป็น ซาย
                ๔.  ตัว  ย  ที่  อ  นำ  ให้เปลี่ยนเป็น  ห  นำ   เช่น   อย่า  อยู่  อย่าง  อยาก  เป็น  หย่า  หยู่  หย่าง  หยาก
                ๕.  หลักทั่วไปใช้คำบาลีแทนคำสันสกฤต   เช่น  กัม  ธัม  นิจ  สัจ  แทน  กรรม  ธรรม  นิตย์  สัตย์   เว้นแต่คำที่ใช้รูปบาลีมีความหมายหนึ่ง   และรูปสันสกฤตมีอีกความหมายหนึ่ง   ก็ให้คงใช้ทั้งสองคำ   แต่เปลี่ยนรูปการเขียนตามอักษรที่เหลืออยู่   เช่น  มายา  มารยา  วิชชา  วิชา  วิทยา  กติกา  กริสดีกา  สัตราวุธ  ศาสตราจารย์  วิทยาสาสตร์  สูนย์กลาง

                ๖.  ร หันในแม่  กก  กด  กบ  กม  ยกเลิกแล้วให้ไม้หันอากาศแทน   เช่น   อุปสัค  วัธนา  บัพ  กัมการ  แต่  ร หันในแม่กน ยังคงให้มีใช้ได้   เช่น  บรรพบุรุษ  สรรค  วรรณคดี
                ๗.  คำที่มาจากบาลี  ถ้าตัวสะกดมีอักษรซ้ำ  หรืออักษรซ้อน   ในกรณีตัวหลังไม่มีสระกำกับ   ให้ตัดตัวสะกดตัวหน้าออก   เช่น  อัตภาพ  หัถกัม  ทุข  อัคราชฑูต  รัถบาล  เสถกิจ   แต่ถ้าตัวหลังมีสระกำกับ   ไม่ต้องตัดตัวสะกดออก   เช่น   อัคคี  สัทธา
                ๘.  ไม้ไต่คู้  ใช้เฉพาะในกรณีที่ออกเสียงสั้น   เช่น  เย็บ  เบ็ด  เห็น   ถ้าไม่ใช้อาจมีความหมายเป็นอย่างอื่น   คำที่มาจากบาลีสันสกฤตก็ไม่ใช้ไม่ไต่คู้   เช่น  เบญจ  เพชร  เวจ  คำที่มาจากภาษาต่างประเทศที่จำเป็นให้คงใช้ได้  เช่น  เช็ค
                ๙.   คำ  กระ  ให้เขียน  กะ   เช่น  กระจ่าง  กระทิ  เป็น  กะจ่าง  กะทิ
               ๑๐. คำที่ถอกจากภาษาต่างประเทศ   ให้เขียนตามเสียงเป็นหลัก   เช่น  ตำรวจ  เป็นตำหรวด  กำธร  เป็น  กำทอน
            เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่  ในปี พ.ศ.๒๔๘๗   ก็ได้ประกาศยกเลิกการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น   และกลับไปใช้หนังสืออย่างเดิมก่อนการเปลี่ยนแปลง
    การพัฒนาตัวเขียนในปัจจุบัน
loading picture
loading picture

            หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ตำราและวิธีการเรียนการสอนได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก  การสอนภาษาไทย   ยังใช้แบบเรียนเร็วเล่มต้นของ นายฉันท์  ขำวิไล  ต่อมาใช้ของ พระวิภาชน์วิทยาสิทธิ์  ซึ่งนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ยังต้องเรียนตัวพยัญชนะ  และสระทุกตัว   และหัดผันอักษร ผันสระ ผันวรรณยุกต์
            ในปี พ.ศ.๒๕๐๐  กระทรวงศึกษาธิการได้นำการสอนภาษาไทยแบบเบสิกมาใช้   แบบเรียนได้เปลี่ยนไป   เป็นการสอนให้อ่านเป็นคำ ๆ  เป็นเรื่องราว   ไม่ได้สอนพยัญชนะเป็นตัว ๆ   และสอนการผันแบบเดิม   เป้าหมายการสอนแบบใหม่นี้ยังกำกวมอยู่   ความแม่นยำในตัวหนังสือ  ในการอ่านและในการเขียนหนังสือไทย   เรายังพูดไม่ได้ว่าจะดีกว่าแบบเดิม
            เครื่องมือเครื่องใช้ในการเขียนก็เปลี่ยนไปมาก   การเปลี่ยนเครื่องมือเขียนทำให้รูปตัวหนังสือเปลี่ยนไป   อย่างไรก็ตามลายมือที่ถือเป็นทางการในขณะนี้   ถือว่าลายมือไทยที่สวยงาม   ใช้เขียนเป็นลายมือเพื่อเกียรติยศต่าง ๆ   ต้องเขียนด้วยตัวอาลักษณ์
    ตัวพิมพ์ไทย
            ตัวหนังสือไทยได้สร้างเป็นตัวพิมพ์   และจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกในพม่า  เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๖  โดยมิชชันนารีอเมริกา   ตัวพิมพ์ไทยที่ออกแบบขึ้นมานี้  คงอาศัยเชลยศึกชาวไทยในย่างกุ้ง ที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า ตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐  และได้มีวิวัฒนาการมาตามลำดับ  การนำตัวหนังสือไทยมาปรับปรุงเป็นรูปตัวพิมพ์   ทำให้รูปตัวหนังสือไทย   มีความแน่นอนและสวยงามขึ้นตามลำดับ
    โครงสร้างของตัวหนังสือไทย
            ยังไม่มีการค้นคว้าในรายละเอียด อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตที่น่าจะนำไปสู่ทางค้นคว้าต่อไป พอประมวลได้ดังนี้
                ๑.  ตัวหนังสือไทยมีเส้นเสมอกันหมด  ไม่มีหนา  บาง  อาจจะเนื่องจากการเขียนหนังสือไทย แต่เริ่มแรก ใช้โลหะแหลมขูดลงบนศิลา  เส้นจึงคมและสม่ำเสมอกัน  การจารลงบนใบลานก็ทำนองเดียวกัน
                ๒.  ตัวหนังสือไทยมีหัวกลมเกือบทุกตัว   หัวกลมนี้ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นสมัยใด  เพราะลายสือไท ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชประดิษฐ์ขึ้นนั้น ไม่มีหัวกลม อย่างไรก็ตามหัวกลมทำให้หนังสืไทย สวยงามมากขึ้น   อ่านง่ายขึ้น  และเป็นเอกลักษณ์พิเศษ   ไม่มีหนังสือชาติใดมี  หัวกลมเป็นจุดเริ่มต้น ของการเขียนหนังสือไทยแต่ละตัว  พยัญชนะไทย  ๔๔  ตัว  มีเพียงสองตัวเท่านั้นที่ไม่มีหัวกลมคือ  ก และ ธ
           ตัวหนังสือไทยมีอายุมาแล้วกว่า ๗๐๐ ปี ได้มีการพัฒนามาตามลำดับ นับเป็นมรดกล้ำค่าของ ชนชาวไทย การพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ออกไปนอกกรอบ ไม่เคยประสบผลสำเร็จ แต่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลง โดยคงความเป็นเอกลักษณ์ไว้ ทำให้หนังสือไทยมีความวัฒนาถาวร สมประโยชน์ที่บรรพบุรุษไทยเรา ได้สร้างไว้เป็นมรดกแก่ชนชาวไทย ซึ่งจะต้องช่วยกันรักษาไว้ชั่วกาลนาน


| หน้าแรก | ย้อนกลับ | บน |