| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |



ลายสือไทยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
loading picture
loading picture

            พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ   เมื่อครั้งยังผนวชเป็นพระภิกษุ ยังไม่ได้ครองราชย์ ได้เสด็จประพาสเมืองเหนือ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๖ ได้ทรงพบแท่นศิลาแห่งหนึ่งก่อไว้ที่ริมเนินปราสาท และเสาศิลาจารึกอักษรเขมรเสาหนึ่ง และอักษรไทยโบราณอีกเสาหนึ่ง จึงรับสั่งให้ชลอลงมาไว้ที่วัดราชาธิวาส ภายหลังเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว  จึงดำรัสสั่งให้นำไปไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ศิลาจารึกอักษรไทยโบราณนี้ก็คือ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่ได้ทรงจารึกพระราชประวัติ และเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเมืองสุโขทัย และจารึกด้วยอักษรไทยที่พระองค์ประดิษฐ์ขึ้น
            หลักศิลาจารึกหลักนี้  นับว่าเป็นศิลาจารึกหลักสำคัญ และล้ำค่ายิ่งของไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ  เป็นผู้อ่านศิลาจารึกนี้ได้เป็นคนแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙  ศาสตราจารย์ ยอร์ช  เซเดส์ ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบและอ่านศิลาจารึก และเป็นคนแรกที่ค้นคว้า เกี่ยวกับกำเนิดตัวหนังสือไทย และสรุปได้ ดังนี้
            ต้นตอของตัวหนังสือไทย เริ่มจากอักษรโฟนิเชียน ซึ่งเป็นต้นเค้าของอักษรพราหมีของอินเดีย ต่อมาขอมได้ดัดแปลงอักษรอินเดีย ให้เป็นหนังสือขอม ซึ่งปรากฎมีจารึกอักษรขอม ตั้งแต่สมัยพระเจ้าภววรมันที่ ๑ พ.ศ.๑๑๕๐  ขอมได้ดัดแปลงอักษรอินเดียใต้ เป็นตัวอักษรขอม โดยได้ปรับปรุงให้เหมาะสมขึ้น เพื่อให้สะดวกในการสลักลงบนหิน  พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงดัดแปลงตัวหนังสือขอมหวัดให้ดีขึ้นมาเป็นตัวหนังสือไทย  โดยมีการแก้ไขปรับปรุงที่สำคัญ คือ
                ๑. เปลี่ยนแปลงรูปตัวอักษรขอม ให้ง่ายและสะดวกแก่การเขียนยิ่งขึ้น
                ๒. ตัวอักษรสังโยค โดยให้เขียนพยัญชนะสองตัวเรียงตามกัน และเอาสระที่อยู่สูงกว่าและต่ำกว่าพยัญชนะมาอยู่ในบันทัดเดียวกัน
                ๓. ทรงคิดวรรณยุกต์ขึ้น  ซึ่งนับว่าเป็นคนแรกของโลกก็ว่าได้  ทำให้ตัวหนังสือไทยสมบูรณ์ เขียนแล้วอ่านออกเสียงได้ใกล้เคียงกับเสียงจริง  ยิ่งกว่าหนังสือของชาติใด ๆ  ในโลก เป็นหนังสือที่ก้าวหน้ากว่าหนังสือใด ๆ ที่มีใช้ในสุวรรณภูมิในขณะนั้น และแม้ในขณะนี้ก็ตาม
การพัฒนาเครื่องเขียนลายสืไทย
 

loading picture

            นอกจากการจารึกบนศิลาแล้ว เครื่องเขียนหนังสือไทยในสมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย ต่อมาสมัยอยุธยาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีวิธีที่สำคัญอยู่สองแบบคือ เขียนหนังสือไว้ในลักษณะสมุดไทย หรือเขียนไว้ในสมุดข่อยนั่นเอง และเขียนโดยจารลงบนใบลาน การเขียนในสมุดข่อยเป็นการเขียนหนังสือโดยทั่ว ๆ ไป  ส่วนการจารลงบนใบลาน มักใช้กับคัมภีร์ทางศาสนา เพื่อใช้สำหรับเทศน์เป็นส่วนใหญ่
    สมุดข่อย หรือสมุดไทย
            มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีหนังสือใดเหมือน คือเป็นหนังสือ ที่ใช้กระดาษยาวติดต่อเป็นแผ่นเดียวกันตลอดเล่ม โดยใช้วิธีพับกลับไปมาให้เป็นเล่ม จะทำให้เป็นเล่มยาวเท่าใดก็ได้ แต่ขนาดที่นิยมเป็นมาตรฐาน มีอยู่ด้วยกัน ๗ ขนาด  แบ่งประเภทตามการใช้งาน คือ
                ๑. สมุดพก       กว้าง ๘ ซ.ม. ยาว ๑๕ ซ.ม.
                ๒. สมุดถือเฝ้า      กว้าง ๑๐ ซ.ม. ยาว ๒๖ ซ.ม.
                ๓. สมุดจดหมายเหตุ       กว้าง ๑๒ ซ.ม. ยาว ๓๔ ซ.ม.
                ๔. สมุดพระมาลัย       กว้าง ๑๓ ซ.ม. ยาว  ๖๖  ซม.
                ๕. สมุดไสยศาสตร์      กว้าง ๑๕ ซม.  ยาว ๔๑ ซม.
                ๖. สมุดภาพไตรภูมิ      แบบ ๑  กว้าง ๑๒ ซม.  ยาว ๖๓. ซม.
                ๗. สมุดภาพไตรภูมิ      แบบ ๒  กว้าง ๒๘ ซม.  ยาว ๕ ซม.
            สมุดไทย
            เป็นรูปแบบหนังสือที่สะดวกในการใช้  สามารถบรรจุ เรื่อง บรรจุภาพได้สมบูรณ์กว่ารูปแบบหนังสือของชาติใด ๆ ที่เคยใช้กันมา สมุดข่อยทำจากเปลือกข่อย มีกรรมวิธีในการผลิตที่ซับซ้อน วัสดุที่ใช้เขียนมีหลายอย่าง เช่น ดินสอขาว  น้ำหมึกที่ทำจากเขม่าไฟ หรือหมึกจีน  สีขาวได้จากเปลือกหอยมุก สีแดงได้จากชาด  สีทองได้จากทองคำเปลวหรือทองอังกฤษ สีเหลืองได้จากส่วนผสมของรงและหรดาล หมึกขาวและดินสอขาว ใช้เขียนบนสมุดดำ หมึกดำและหมึกสี ใช้เขียนบนสมุดขาว การเขียนจะเขียนทั้งสองหน้ากระดาษ             ใบลาน
            เป็นวัสดุสำหรับเขียนอีกอย่างหนึ่ง ได้จากต้นลานที่มีอยู่ในป่าเมืองไทย ต้องคัดใบที่ได้ขนาดพอดีทั้งความกว้างและยาว และความอ่อนแก่ของใบ แล้วนำมาทำเป็นผูกใบลาน  การเขียนบนใบลานใช้วิธีจาร
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ  เมื่อมีกระดาษฝรั่ง ปากกา ดินสอ เครื่องมือในในการเขียน แบบฝรั่งเข้ามาถึงไทย  การเขียนหนังสือไทย ก็เขียนบนกระดาษ ด้วยดินสอและปากกา  ปากาเดิมเป็นปากกาหมึกจิ้ม ทำด้วยโลหะ เช่น ปากกาคอแร้ง และปากกาเบอร์ ๕ สามารถเขียนตัวอักษร เป็นเส้นหนาบางได้ ตามที่ต้องการ   ซึ่งเป็นต้นแบบของตัวหนังสือ ที่เรียกว่า ตัวอาลักษณ์  ต่อมาเมื่อใช้ปากกาหมึกซึม  และปากกาแบบอื่น ๆ เช่น  ลูกลื่น รูปตัวหนังสือก็จะเป็นเส้นสม่ำเสมอ ไม่มีหนาบาง
            ในสมัยเดียวกันนี้  ได้มีการนำตัวหนังสือไทยมาทำเป็นตัวพิมพ์ และจัดพิมพ์หนังสือไทยขึ้น และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า  ได้เกิดเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น  การพัฒนาและความก้าวหน้าในการพิมพ์ได้เจริญไปตามลำดับ  จนถึงการสร้างตัวหนังสือด้วยการเรียงพิมพ์ด้วยแสง   และการนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในการพิมพ์
การพัฒนารูปแบบตัวหนังสือไทย
    ตัวหนังสือสมัยพ่อขุนรามฯ กับพญาฦๅไทย

loading picture

    วิวัฒนาการรูปตัวหนังสือไทย

loading picture
loading picture

            รูปแบบตัวหนังสือไทย ได้มีการพัฒนามาตามลำดับ ในสมัยอยุธยาช่วงหลังถือว่าใน รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นยุคทองของกรุงศรีอยุธยา   มีความเจริญสูงสุดในทุกด้าน ตำราต่าง ๆ  เกี่ยวกับภาษาไทย ได้อ้างลักษณะตัวหนังสือไทยสมัยนี้ให้ดูเป็นหลัก ลักษณะรูปร่างตัวหนังสือไทย ได้พัฒนามาจนเป็นแบบใกล้เคียงกับตัวหนังสือที่ใช้เขียนในปัจจุบัน
    ตัวหนังสือในหนังสือจินดามณี

loading picture

            การพิมพ์หนังสือไทย เริ่มมีขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณมหาราช  เมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๕  โดยมิชชันนารีคาทอลิคฝรั่งเศส ได้มีการพิมพ์คำสอนทางคริสตศาสนา เป็นภาษาไทย จำนวน  ๒๖  เล่ม   หนังสือไวยากรณ์ไทยและบาลี ๑ เล่ม และพจนานุกรมไทยอีก ๑  เล่ม มีการตั้งโรงพิมพ์ขึ้นที่เมืองลพบุรี
            ในสมัยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์และก่อนหน้านั้น  ก่อนจะมีการนิยมเขียนหนังสือบนกระดาษฝรั่ง การเขียนหนังสือไทย ได้ยึดหลักเขียนใต้เส้นบรรทัด  โดยถือเอาด้านบนของตัวหนังสือ ไปชนด้านล่างของเส้นบรรทัด เลียนแบบการเขียนหนังสือของอินเดีย การปรับตัวหนังสือไทย ให้เป็นตัวพิมพ์สำหรับใช้พิมพ์ ทำให้เกิดรูปแบบตัวหนังสือไทยอีกแบบหนึ่ง   ที่มีความสวยงามและอ่านง่าย


| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |