| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
ตอนที่ ๔๖ พระอภัยมณีกลับเมือง
ฝ่ายพระอภัย ชวนน้องรักศรีสุวรรณมาปรึกษาว่า จะเลิกทัพกลับเมือง แล้วจะแต่งวิวาห์สินสมุทกับพระบุตรีอรุณรัศมี
องค์ศรีสุวรรณก็เห็นด้วย พระอภัยจึงสั่งน้องให้เตรียมยกพลกลับในวันพรุ่งนี้เช้า
ฝ่ายพระอนุชาศรีสุวรรณตรัสบอกกับพระมเหสีเกษราว่า นางรำภามีครรภ์แล้ว
พี่จะใคร่ให้ของสำคัญไว้ | แหวนกำไลปะวะหล่ำเครื่องทำขวัญ |
สำหรับผูกลูกเต้าเป็นเผ่าพันธุ์ | จะได้กันครหาข้างหน้าไป |
นางทูลตอบขอบคุณทูลกระหม่อม | ซึ่งโอบอ้อมเอื้อเฟื้อแก่เนื้อไข |
พระเอ็นดูกุมารประการใด | น้องมิได้เขืองขัดเป็นสัจจา |
ค มเหสีดีใจปราศัยทัก | สงสารนักชันษาอ่อนกว่าฉัน |
ได้ร่วมคู่รู้จักจะรักกัน | เหมือนพงศ์พันธุ์พี่น้องอย่าหมองใจ |
ค นางรับคำร่ำว่าประสาซื่อ | มิได้ถือสงครามตามวิสัย |
ไม่ดูถูกลูกผู้หญิงอย่ากริ่งใจ | จะรักใคร่ให้เหมือนเพื่อนชีวี |
จะชวนเจ้าเยาวลักษณ์ไปนัคเรศ | จะถือเพศพุทธกิจหรือคิดไฉน |
หรือรักรีตกีดขวางเป็นอย่างไร | ก็ตามใจใช่จะขัดอัธยา |
เชิญพระองค์นงลักษณ์ไปนัคเรศ | คือประเทศธานินทรถิ่นสถาน |
แต่หนหลังพลั้งผิดกิจการ | โปรดประทานโทษาอย่าราคี ฯ |
สร้อยสังวาลบานพับสำหรับบุตร | อย่าให้สุดสิ้นเชื้อเป็นเนื้อไข |
รำลึกถึงจึงค่อยพาลูกยาไป | ชมเมืองไทยบ้างเถิดนางอย่างหมางเมิน |
ความทุกข์ทนล้นเหลือแต่เมื่อคลอด | จะได้รอดชีวาหรืออาสัญ |
ขอบุญญาฝ่าละอองช่วยป้องกัน | อย่าให้อันตรายมีทางนี้เลย |
แต่ลูกเต้าเอามาให้ข้าเลี้ยง | ตั้งชื่อเสียงตามข้าภาษาสยาม |
เป็นเชื้อไขไว้ยศให้งดงาม | ได้ถือตามภาษาพาราเรา |
จะคอยจับปรับไหมขายฝรั่ง | เฆี่ยนให้หลังลายส่งไปโรงสี |
ขอพึ่งบุญมุลิกาเป็นสามี | พอไพรีรู้ทั่วได้กลัวเกรง ฯ |
จะกลับมาหาเจ้าอย่าเศร้าสร้อย | ไม่ขาดคอยลืมมิตรพิสมัย |
พลางลูบหลังตามเคยชะเลยใจ | เหมือนเปลวไฟฝอยนิดก็ติดเชื้อ |
ค พระลูบโลมโฉมเฉลาเยาวรักษ์ | ไม่สิ้นรักร่วมชีวิตพิสมัย |
ถึงตัวพี่นี้จะพรากจากเจ้าไป | แต่จิตใจอยู่เฝ้าทุกเช้าเย็น |
แล้วเปลี่ยนเปลื้องเครื่องทรงทั้งมงกุฎ | ให้นงนุชนางวัณฬามารศรี |
สำหรับทรงองค์โอรสเครื่องยศนี้ | เหมือนตัวพี่ผู้บิดาสถาวร ฯ |
พระจากไปไหนจะมาเห็นหน้าน้อง | เหมือนเดือนส่องภพไตรใครจะเหมือน |
จะนับปีมิได้กลับมาเยี่ยมเยือน | ยิ่งกว่าเดือนลับฟ้าเหลืออาลัย |
จะแลเหลียวเปลี่ยวเปล่าทุกเช้าค่ำ | โอ้ว่ากรรมน้องสร้างแต่ปางไหน |
นางครวญคร่ำกำสรดระทดฤทัย | สะอื้นไห้ไม่วายฟายน้ำตา ฯ |
แล้วสั่งความทรามสงวนว่าจวนรุ่ง | จะจากกรุงเตรียมองค์ตามวงศา |
แม่เนื้อคู่อยู่จงดีพี่ขอลา | นางโศกากอดบาทไม่คลาดคลาย |
ทูลกระหม่อมจอมทวีปประทีปแก้ว | จะลับแล้วเช้าเย็นไม่เห็นหาย |
ไม่มีท้องน้องจะขอเชือดคอตาย | ไม่เสียดายชีวิตสักนิดเลย |
ถึงคนอยู่ผู้อื่นสักหมื่นแสน | ไม่เหมือนแม้นทูลกระหม่อมจอมเกศา |
จะเย็นเยียบเงียบทั้งเกาะลังกา | กินน้ำตาต่างข้าวทั้งเช้าเย็น |
มาตามส่งตรงพลับพลาที่หน้าป้อม | ประณตน้อมยอกรให้พรผัว |
พอฤกษ์ดีตีฆ้องให้หมองมัว | จะทรงตัวมิใคร่ไหวฤทัยระทวย ฯ |
ค ฝ่ายทุกองค์พงศ์กษัตริย์ต่างจัดทัพ | ลงเรือกลับข้ามคุ้งไปกรุงศรี |
ต่างถึงเมืองเรื่องสำราญผ่านบุรี | พอเดือนยี่ยามหนาวคราวเหมันต์ ฯ |
ค ฝ่ายปาโมกข์โลกเชษฐรู้เหตุใหญ่ | จะเกิดไพรีเบียนเป็นเสี้ยนหนาม |
จึงทูลท้าวเจ้าเมืองตามเรื่องความ | โทษยายพราหมณ์คราวนี้ถึงที่ตาย |
ให้ชื่อเขาเนาวรัตน์จัดสำเร็จ | เมื่อเกิดเพชรจะได้ชมสมถวิล |
ฝ่ายพฤฒาลาท้าวเจ้าแผ่นดิน | ไปสู่ถิ่นฐานพราหมณ์ตามสำราญ ฯ |
ตอนที่ ๔๗ อภิเษกสินสมุท
มเหสีดีใจดังได้แก้ว | เป็นรู้แล้วพ้นทุกข์ทั้งลูกหลาน |
แล้วสั่งสาวสรรค์พนักงาน | ตระเตรียมการไว้เสียเจียวประเดี๋ยวนี้ ฯ |
ค ฝ่ายเสนีสี่นายครั้นสายแสง | ต่างตกแต่งตามกำหนดมียศถา |
แล้วเชิญเครื่องบรรณาการกับสารตรา | ตามเสนานำเข้าไปในพระโรง ฯ |
ค กรมวังบังคมบรมนาถ | ทูลเบิกราชทูตถือหนังสือสาร |
มาเฝ้าพร้อมน้อมประณตบทมาลย์ | อาลักษณ์อ่านออกความตามกิจจา ฯ |
ค พระชื่นชมสมหวังสั่งอำมาตย์ | ให้นำราชทูตาไปอาศัย |
แล้วจากอาสน์ยาตรย่างเข้าปรางค์ใน | ตรัสบอกให้อัคเรศแจ้งเหตุการณ์ |
ขอรับเลี้ยงเพียงบุตรสุจริต | ถนอมสนิทเหมือนหนึ่งในเชื้อไข |
การวิวาห์ถ้าจะเลื่อนไปเดือนใด | ตามพระทัยไม่ขัดพระอัชฌา ฯ |
มาทอดท่าหน้าแพเรือแห่แหน | อเนกแน่นในมหาชลาสินธุ์ |
บ้างร้องรำทำเพลงบรรเลงพิณ | คอยท่าบนปถพีด้วยปรีดา ฯ |
พอออกจากปากน้ำก็ค่ำพลบ | จุดเพลิงคบโคมรายขึ้นปลายเสา |
เป็นเดืนอสามยามหนาวลมข้าวเบา | พัดเพลาเพลาพอได้ใช้ใบสบาย |
ลำที่นั่งดั้งกั้นเป็นหลั่นแล่น | ไปตามแผนที่ทะเลคะเนหมาย |
ล้วนเคยคลื่นชื่นใจทั้งไพร่นาย | นั่งสบายบังลมแลชมดาว |
บอกบุตรีชี้หัตถ์แล้วตรัสว่า | ที่กลางฟ้าเรืองยาวนั้นดาวไถ |
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย | ดาวลูกไก่เขาก็เรียกสำเหนียกนาม |
ไม่ขัดข้องล่องลมถึงรมจักร | เสียงคึกคักฆ้องกลองแซ่ซ้องเสียง |
ทหารโห่โล้ล้อมมาพร้อมเพรียง | เข้าทอดเคียงรายท่าหน้าธานี ฯ |
ค หยุดสบายหลายคืนต่างชื่นแช่ม | พอเดือนแรมฤกษ์ดีพิธีไสย |
ให้หมายเวรเกณฑ์บอกสมนอกใน | ทั้งนายไพร่พร้อมพระวงศ์พงศ์ประยูร |
ปลูกโรงราชพิธีสิบสี่ห้อง | มีมุขช่องมณฑปนภศูล |
ประดับเครื่องเรืองแอร่มแจ่มจำรูญ | ที่พื้นพูนปูนลาดดาดศิลา |
ค ฝ่ายพวกถูกปลูกโรงสำหรับเล่น | บ้างลากเข็นล้อเกวียนบ้างเขียนแผง |
ผูกภูเขาเอาไม้ดัดขึ้นจัดแจง | ต่างคิดแต่งต่างกันประชันโรง |
หุ่นละครมอญรำทำโรงงิ้ว | เป็นแถวทิวสองข้างทางถนน |
เด็กผู้ใหญ่ไพร่ฟ้าประชาชน | มาเกลือนกล่นกลาดกลุ้มประชุมกัน ฯ |
ค สมเด็จท้าวเจ้าบุรีรมจักร | เห็นพร้อมพรักยินดีจะมีไหน |
ให้โหราหาฤกษ์เจริญชัย | ประจวบได้เจ็ดคำเป็นสำคัญ |
ปุโรหิตติดเทียนคอยเวียนแว่น | พลูคะแนนจันทน์เจิมเฉลิมศรี |
โหรคอยท่าหาฤกษ์เบิกบบัดพลี | ระวังตีฆ้องสำคัญเป็นสัญญา ฯ |
จะต้องดื้อถือสัตย์ขัดรับสั่ง | สู้ทนทั้งตีด่าประสาหญิง |
แกล้งทำหลับจับไข้ไม่ไหวติง | บรรทมนิ่งนึกสะอื้นฝืนฤทัย ฯ |
ทั้งลูกเต้าเล่าก็ยังอยู่ในท้อง | จะไปต้องน้อยหน้าชาติทาสี |
มิขออยู่สู้ตายวายชีวี | พระชนนีโปรดด้วยช่วยสักครา ฯ |
ค ฝ่ายโหรนั่งตั้งนาฬิกากำกับ | กำหนดนับนาทีสุริย์ฉาน |
พอฤกษ์ดีตีฆ้องก้องกังวาน | พนักงานสังข์แตรขึ้นแซ่ซ้อง |
ด้วยเกิดมาอาภัพให้ลับเสีย | ไม่เป็นเมียน้อยหญิงชาวสิงหล |
จงโปรดให้ไปภิเษกเสาวคนธ์ | เข้ามณฑลต่อทีหลังขอรั้งรอ ฯ |
แล้วทูลว่าถ้าหม่อมฉันทำขวัญแล้ว | อย่าให้แผวพาลพบประสบสม |
ยายรับคำซ้ำว่าอย่าปรารมภ์ | ให้นุ่งห่มขาวผ่องละอององค์ |
ค เข้ามณฑลมณฑปอภิวาท | ประยุรยาตรโยคีฤาษีไสย |
มโหระทึกกึกก้องทั้งฆ้องชัย | พระอภัยน้อมประณตท้าวทศวงศ์ |
ปุโรหิตติดเทียนให้เวียนแว่น | มาข้างแท่นถวายท้าวเจ้ากรุงศรี |
ท้าวทศวงศ์ส่งให้พระอัยกี | สุมาลีเกษราธิดาดวง |
ถ้วนสำเร็จเจ็ดรอบได้ชอบโชค | ดับเทียนโบกควันเฉลิมเจิมถวาย |
ให้สององค์ทรงตรารูปนารายณ์ | เป็นที่ฝ่ายหน้าพระชนกา |
ต่างอำนวยอวยพรสุนทรสวัสดิ์ | ทั่วกษัตริย์สุริยวงศ์เผ่าพงศา |
ส่วนสององค์ลงจากทองกองจินดา | นางกัมลาหลีกไปเสียในวัง ฯ |
พวกรำเต้นเล่นงานละครโขน | เสียงตระโพนกลองประชันล้วนขันแข่ง |
พวกโม่งครุ่มทุ่มกลองเล่นกลางแปลง | คุลาแต่งตัวดีเดินตีไม้ |
เล่นประชันกันกับวงพวกโหม่งครุ่ม | เป็นกลุ่มกลุ่มกลางแปลงแทงวิสัย |
หกตะเมนเล่นหน้าพลับพลาชัย | ขึ้นกระไดดาบทะลวงลอดบ่วงเพลิง |
บ้างขึ้นไต่ไม้สูงสามต่อตั้ง | รำแพนทั้งโจนร่มตามลมเหลิง |
บ้างสรวลเสเฮฮาเสียงร่าเริง | ทำชั้นเชิงรำเต้นเล่นประชัน |
เสียงกลองโยนโขนเมืองผลึกเล่น | ทำเป็นบทละครด้วยช่วยฉลอง |
เล่นบุตรลบพลบค่ำต้องจำจอง | ขึ้นขาหยั่งนั่งยองยองนองน้ำตา |
ผู้หญิงดูอยู่ข้างโขนเมืองผลึก | บ้างก็นึกเวทนาน้ำตาไหล |
หุ่นละครมอญรำระบำไทย | เพลงปรมไก่เทพทองร้องค้างคาว |
ค ฝ่ายกระบี่มีคู่สู้กับดั้ง | บังคมตั้งท่าเวียนทำเหียนหัน |
ต่างเยื้องกรายร่ายเรียวเข้าเคียวกัน | ตั้งประจัญตามทำนองตีกลองแปลง |
อันยาดีมีสำหรับแก้กับโรค | จะดับโศกนั้นไม่ได้ทั้งไตรจักร |
เมื่อหนุ่มสาวคราวเราก็เศร้านัก | อันหลานรักนี้ก็เป็นเหมือนเช่นเรา |
พระอัคเรศเกษราสารภาพ | พระไม่ทราบเหลือปัญญาจะว่าขาน |
เหมือนคเชนทรเจนขอเหลือหมอควาญ | กระหม่อมฉานวอนว่าสารพัน |
ค ฝ่ายอรุณขุนหมองเพราะครองสัตย์ | สู้ทูลทัดพจนาอัชฌาสัย |
เมื่อทำขวัญบัญชาให้คลาไตคล | ก็ตามใจไม่ขัดพระอัชฌา |
ค ฝ่ายโฉมยงองค์อรุณรัศมี | เห็นพักตร์พี่เผือดลงก็สงสาร |
เพราะโศกเศร้าเปล่าใจอาลัยลาน | นางรำคาญข้องขัดด้วยสัจจา |
ค สินสมุทสุดชื่นระรื่นรส | ด้วยโอสถเสน่หามารศรี |
สร่างประชวรสรวลสันต์ได้ทันที | พระอัยกีดีใจกระไรเลย |
ค ฝ่ายพระวงศ์พงศาคณาญาติ | เห็นหน่อนาถอิ่มเอมเกษมศรี |
ต่างชื่นชมสมถวิลด้วยยินดี | เห็นชอบทีกษัตราก็ลาไป |
ค ฝ่ายโฉมยงองค์อรุณรัศมี | สถิตที่แท่นทองของเชษฐา |
ไม่พบพานมารดรและบิดา | จนออกมาถึงทะเลว้าเหว่ใจ |
ค จะยกหน่อนริทรสินสมุท | ได้นงนุชมาด้วยกันก็หรรษา |
สถิตแท่นแสนสบายท้ายเภตรา | คอยเวลาที่จะลอบไปปลอบนาง |
เข้านั่งแนบแอบน้องนางร้องหวีด | ขยีบมีดเมินประคองของสงวน |
แล้วถอยถดลดเลื่อนเบือนกระบวน | จะมากวนก่อกรรมให้จำตาย |
พระปิตุราชมาตุรงค์ก็ปลงให้ | ควรหรือใจจึงมาเดือดไม่เหือดหาย |
มิเมตตาปรานีแล้วพี่ชาย | จะได้ตายเสียด้วยกันขยันดี ฯ |
แล้วทูลความตามซื่อเพราะถือสัตย์ | จึงข้องขัดข้อนี้ไม่มีผัว |
จะยอมอยู่คู่สองก็หมองมัว | จะฆ่าตัวเสียให้ตายวายชีวา |
ค สินสมุทสุดซื่อกลดมือนิ่ง | ประหลาดจริงใจหนอใจคอหาย |
แม้ขื่นใจเห็นไม่รอดจะวอดวาย | จะลงร้ายว่าเราพามาฆ่าตี |
ไปพาราการะเวกเสกพระน้อง | เป็นคู่ครองศฤงคารตามสารศรี |
แม้ข้องขัดตัดใจไม่ใยดี | ทำให้พี่อับอายเพียงวายปราณ ฯ |
เขายอมอยู่คู่ครองแล้วน้องรัก | จะเป็นอัคเรศพระเชษฐา |
นางวิงวอนผ่อนผันจำนรรจา | ด้วยมารยาแยบคายให้ตายใจ ฯ |
ตอนที่ ๔๘ นางเสาวคนธ์หนี
ค จะกลับกล่าวเจ้าพาราการะเวก | หวังภิเษกลูกรักเป็นศักดิ์ศรี |
ด้วยเดือนเจ็ดเสร็จพระอภัยมณี | มาบุรีเริ่มงานการวิวาห์ |
ค ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์วิมลโฉม | เป็นทุกข์โทมนัสในฤทัยถวิล |
แต่ทูตถือหนังสือมาถึงธานินทร์ | นางทราบสิ้นศุภสารการวิวาห์ |
ค ฝ่ายปิ่นปักนัคราการะเวก | จึงสั่งเอกเสนาอัชฌาสัย |
จัดเกณฑ์แห่แตรสังข์เรือดั้งไว้ | เราจะไปรับกษัตริย์ขัตติวงศ์ ฯ |
ค ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์วิมลสมร | จะจำจรจากประเทศหนีเชษฐา |
คิดอาลัยในพระอนุชา | ทั้งบิดามารดรจะร้อนรน |
จึงตรัสสั่งทั้งหลายฝ่ายข้าหลวง | ให้ทั้งปวงปิดความใครถามหา |
บอกว่าเราเข้าบำเพ็ญภาวนา | ไม่พูดจาว่าจะเสร็จสักเจ็ดวัน |
ค จะกลับกล่าวเจ้าพาราการะเวก | จวนอภิเษกฤกษ์แรมอันแจ่มใส |
แต่บุตรีศรีสวัสด์กับหัสไชย | ไปไหนไม่เห็นหายหลายเวลา |
ค พอจบเรื่องเคืองจิตพระปิตุเรศ | จึงว่าเหตุนิดหนึ่งมาหึงสา |
หนังสือนี้อีลีวันใช้ปัญญา | ประดิษฐแต่งแกล้งว่าสุดสาคร |
ค พระอภัยให้ระทดกำสรดเศร้า | สงสารเสาวคนธ์น้อยละห้อยหา |
ทั้งพระน้องสองนางต่างโศกา | เวทนานงเยาว์เสาวคนธ์ |
ค สุดสาครถอนสะอื้นค่อยฝืนพักตร์ | ทูลทรงศักดิ์ตามจริงทุกสิ่งสรรพ์ |
อันหนังสือคืออีลาลีวัน | กระหม่อมฉันมิได้ทรายที่หยาบคาย |
อย่าเพ่อคิดติดตามคอยถามข่าว | ได้เรื่องราวมั่นหมายจึงผายผัน |
อันฝรั่งลังกาอย่าฆ่าฟัน | เสียสัตย์ธรรมทศพิธผิดโบราณ ฯ |
แม้พบปะจะได้ให้ความสัตย์ | ศรีสวัสดิ์จะสร่างที่หมางหมอง |
ประการหนึ่งถึงมิอยู่เป็นคู่ครอง | เป็นพี่น้องอยู่ด้วยกันจนวันตาย |
ค หน่อนรินทรสินสมุทก็สุดเศร้า | แต่หมอบเฝ้าฟังรหัสเห็นขัดสน |
หมายว่าน้องสองสมรเขาผ่อนปรน | จะพลอยพ้นทุกข์ด้วยก็ป่วยการ |
ค่อยสั่งสอนน้องน้อยละห้อยละเหี่ย | ต่างสั่งเสียเศร้าหมองไม่ผ่องใส |
นางให้ลูกตุ๊กตากับผ้าสไบ | พระหัสไชยให้แหวนทดแทนกัน ฯ |
อันวิสัยใจจริงหญิงมนุษย์ | รักบุรุษสุดรักสมัครหมาย |
ซึ่งมารยาพาทีเพราะมีอาย | เขาไม่ตายจริงหรอกบอกให้รู้ |
ด้วยรุ่นราวสาวแส้แล้วแต่แรก | เปรียบเหมือนแขกคิดเดียดด้วยเกลียดหมู |
ต่อเมื่อไรได้เป็นเหมือนเช่นชู้ | จึงกลับรู้รักชายถวายตัว |
ยังกลับมาหาสู่ทำจู้จี้ | ประเดี๋ยวนี้ก็ได้วุ่นระหุนหัน |
มาทำเทียมเลียมเล่นเหมือนเช่นกัน | ผิดก็ฉันเชือดคอให้มรณา ฯ |
มิเคียงคู่ตามความรับสั่ง | เหมือนชิงชังจึงไม่ชมประสมสอง |
จะเคืองขัดอัธยาฝ่าละออง | จึงจำต้องตามรับสั่งไม่ฟังกัน ฯ |
ซึ่งโปรดให้ใช่จะสั่งให้สังวาส | ให้รับราชกิจการผ่านกรุงศรี |
จึงต้องตามความรับสั่งมาดังนี้ | หมายพระพี่คงจะไม่ทำน้อง |
ไม่อ่อนน้อมยอมตามความรับสั่ง | พี่ก็ยังมิให้เจ้าไปสวรรค์ |
แม้จะใคร่ได้ตายง่ายง่ายนั้น | จงผ่อนผันพอได้หว่านเป็นว่านเครือ |
พระกอดเกยเชยปรางถืออย่างยอด | เสียงฟอดฟอดเฟ้นซ้ายแล้วย้ายขวา |
ถนอมแนบแอบอรุณอุ่นอุรา | เหมือนสายฟ้าแลบรอบขอบทะเล |
เมื่อเดิมทีพี่น้องร่วมห้องหับ | แล้วก็กลับได้เสียเป็นเมียผัว |
นางน้องสาวคราวอ่อนวอนฝากตัว | ฉันได้ชั่วดีด้วยช่วยเอ็นดู |
ตอนที่ ๔๙ นางเสาวคนธ์แปลงเป็นฤาษี
ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์แปลงองค์เป็นพราหมณ์ มีบริวารติดตามไปพันร้อยคน แล่นเรือไปได้เดือนเศษเข้าเขตเมืองวาหุโลม ทางขึ้นโรมวิสัย อันเป็นเมืองใหญ่ของพวกพราหมณ์
เห็นเกาะเพลิงเริงแรงแสงสว่าง | ลุกอยู่กลางเกาะเองน่าเกรงขาม |
ตีนสิงขรล่อนโล่งพลุ่มโพลงพลาม | ยาวสักสามสิบเส้นล้วนเป็นไฟ |
มาปิดปล่องช่องชวากที่นาคผุด | ถอนพิษภุชงค์ร้ายให้หายสูย |
เหลือเปลวปล่องตรงปล่องเหมือนกองกูณฑ์ | เป็นไฟพูนสักเท่าเขาคิริน ฯ |
ค นางอ่านดูรู้โฉลกโลกเชษฐ์ | ที่เขาเขตขวางแดงกระแสสินธุ |
ว่าไหลมาแต่สวรรค์ชั้นพระอินทร์ | ผู้ใดกินแก้บาปอาบก็ดี |
ตายจะได้ไปกำเนิดเกิดสวรรค์ | ลำน้ำนั้นมาแต่หน้าพาราณสี |
พวกถือไสยในจังหวัดปัถพี | เอาซากผีนั้นมาทิ้งทั้งหญิงชาย |
เห็นปากน้ำทำป้อมคร่อมภูเขา | จำเพาะเข้าออกเดินเนินไศล |
แลพิลึกตึกกว้านสำราญใจ | เข้าจอดใกล้เมืองด่านชานบุรี |
ล้วนเสื้อกลีบจีบนุ่งคาดพุงทับ | ไม่สลับสีไหนก็ให้เหมือน |
เห็นเรือจอดทอดท่าลงมาเยือน | ดูเดินเกลื่อนตามตลิ่งทั้งหญิงชาย |
อันเมืองกลางทางไปทั้งใหญ่น้อย | ก็นับร้อยพลโจษนับโกฏิแสน |
นับถือผู้รู้ไตรเพททุกเขตแคว้น | บูชาแทนเทวดาเป็นอาจารย์ |
แม้จะใคร่ได้สดับรับโอวาท | ทำธรรมาสน์พุทธเพทเทศนา |
จะให้ศีลภิญโญในโลกา | ที่คิดสารพัดได้ดังใจปอง ฯ |
บ้างแบกกระบุงถุงได้ไปใส่ศีล | มาพร้อมสิ้นซ้ายขวาแน่นหน้าฉาน |
แล้วล่ามตรงลงเภตราว่าอาจารย์ | นิมนต์ท่านเทศน์ธรรมเหมือนสัญญา ฯ |
ค ฝ่ายนงลักษณ์อัคคีฤาษีเอก | อดิเรกรู้ธรรมคำสิกขา |
คิดประโยชน์โปรดทมิฬดังจินดา | จึงครองผ้าผูกคาดราดประคต |
ขุนด่านไล่ไพร่พลที่บนป้อม | ลงพรักพร้อมนายไพร่ไล่ฤาษี |
ฝ่ายโฉมยงนงลักษณ์พระอัคคี | เห็นเสียทีถอยมาริมสายชล ฯ |
พวกฤาษีชีพราหมณ์คุกคามขู่ | ใครรบสู้ขืนขัดจะตัดหัว |
แม้ไม่สู้กูไม่ฆ่าดอกอย่ากลัว | แล้วหามตัวนายด่านขึ้นศาลกลาง ฯ |
จึงอุตสาห์มาห้ามตามขนบ | ธรรมเนียมรบเมืองได้เหมือนใจหมาย |
แม้ครองแคว้นแดนด้าวเป็นเจ้านาย | คนทั้งหลายก็จะมาเป็นข้าไท |
ประการหนึ่งซึ่งเราถือเป็นฤาษี | ใครเห็นดีโดยจริงจงทิ้งไสย |
มาถือพุทธสดุดีไม่มีภัย | อาวุธไม่ต้องตนเป็นมลทิน |
มาตามศพพบพ่อจะขอม้วย | เราจะช่วยชุบชีวิตเหมือนคิดหมาย |
ให้พ่อฟื้นคืนรอดไม่วอดวาย | จะถือฝ่ายพุทธหรือจะดื้อดึง ฯ |
จะนับถือฤาษีผู้วิเศษ | จะฟังเทศน์ถือพุทธไม่มุสา |
ถ้าชุบขึ้นคืนชีวิตให้บิดา | จะเป็นข้าพระฤาษีทั้งพี่น้อง ฯ |
จะทิ้งชาติศาสนาข้างวาหุ | ขอสาธุถือศีลพระชินสีห์ |
อันพี่น้องสองราบุตรข้านี้ | แม่ไม่มีอุปถัมภ์เหมือนกำพร้า |
ถวายไว้ในพระองค์จงช่วยบวช | ให้รู้สวดศักราชพระศาสนา |
ทั้งข้านี้มิได้ขัดอัธยา | พระสิทธาสั่งสอนจะผ่อนตาม ฯ |
ค นายด่านเล่าว่าเจ้าวาหุโลมราช | กษัตริย์ชาติเชื้อยักษ์มักกะสัน |
เลี้ยงนกไก่ไว้กินสิ้นทั้งนั้น | สารพันสัตว์ที่มีปีกบิน |
ข้าอยู่ด่านชานสมุทเป็นสุดถิ่น | คุมทมิฬหมื่นเศษเฝ้าเขตขัณฑ์ |
ขึ้นไปนี้มีเมืองเนื่องเนื่องกัน | ยี่สิบวันถึงพาราวาหุโลม |
จะบอกกล่าวราวเรื่องไปเมืองหลวง | ตามกระทรวงทูลเหตุแจ้งเขตขัณฑ์ |
ขอเบิกด่านท่านให้เสร็จทั้งเจ็ดชั้น | ได้ผายผันไปตามความสบาย ฯ |
ค ฝ่ายทหารด่านแตกเมื่อแรกพบ | ที่หลีกหลบเหล่าชายพลัดพรายหนี |
เที่ยวบอกเล่าเจ้าเมือง เอกโทตรี | ว่าโจรตีด่านได้นายใหญ่ตาย |
ค พระทราบเรื่องเคืองขัดตรัสประภาษ | มันสามารถมีหนังสือรับฤาษี |
สรรเสริญเกินสังเกตอันเหตุนี้ | เห็นท่วงทีถ่ายเททำเล่ห์กล |
ค ฝ่ายเสนาราหูคนผู้เฒ่า | ซึ่งเป็นเจ้าเมืองตะวันด่านชั้นสาม |
รู้เวทมนตร์ทนคงเคยสงคราม | ครั้นทราบความตามรับสั่งไม่รั้งรา |
ว่าราหูผู้เฒ่าจะเอาโทษ | ให้สิ้นโคตรคนที่ถือพระฤาษี |
เป็นเคราะห์กรรมจำตายวายชีวี | พระมุนีจะคิดอ่านประการใด ฯ |
ค ฝ่ายนงเยาว์เสาวคนธ์รู้กลศึก | ฉลาดลึกแหลมปัญญาอัชฌาสัย |
จึงเสแสร้งแกล้งตอบว่าขอบใจ | ที่รักใคร่เจ้านายสู้วายปราณ |
แต่ตัวดีมิได้ผิดเขาคิดโกรธ | จะฆ่าโคตรพลอยถูกทั้งลูกหลาน |
ไม่ไต่ถามความสัตย์ปฎิญาณ | ผิดโบราณเรื่องราวท้าวพระยา |
ทำไมกับทัพทมิฬเหมือนริ้นล่อง | มาเข้ากองไฟฟ้าจะอาสัญ |
นายด่านนั่งฟังยุพลอยดุดัน | จริงกระนั้นคุณว่าไม่น่าตาย |
ค ฝ่ายราหูแม่ทัพกับทหาร | มาถึงด่านแดนมหาชลาไหล |
ให้ตั้งค่ายรายเรียงเคียงกันไป | ปักธงชัยเมืองตะวันเป็นสัญญา |
อันลูกหลานว่านเครือในเชื้อสาย | ขอถวายไว้ธุระพระฤาษี |
ช่วยรักษาอย่าให้ตายวายชีวี | วันพรุ่งนี้ข้าจะลาพระคลาไคล |
นายด่านว่าสาธุสะพระคุณช่วย | จะรอดด้วยกลเม็ดไม่เข็ดขาม |
แล้วเรียกบ่าวเหล่าสนิทมาคิดความ | ให้ปลอมตามไปอยู่ทุกบูรี ฯ |
ทูลให้ทราบบาปบุญที่คุณโทษ | ท่านช่วยโปรดผ่อนปรนให้พ้นผิด |
แม้ปลดปล่อยรอดตายไม่วายคิด | พระคุณติดก็จะต้องสนองคุณ ฯ |
ค ฝ่ายราหูผู้เฒ่าคนเจ้าเล่ห์ | สมคะเนหน่วงเหนี่ยวไม่เฉียวฉุน |
จะยกไว้ไม่ฆ่าด้วยการุณ | ช่วยทำคุณขังกรงบอกส่งไป |
ยี่สิบวันบรรลุถึงเมืองหลวง | ส่งกระทรวงกรมท่าเจ้าภาษี |
กราบทูลท้าวเจ้าจังหวัดปถพี | เหมือนคำที่นายด่านให้การมา |
จอมกษัตริย์ตรัสว่าข้านอกเจ้า | ชาติโฉดเขลาชาวทะเลเดรัจฉาน |
ช่างเชื่อถือฤาษีพวกชีพาล | มาให้การสรรเสริญจนเกินดี |
นี่แกล้งบอกหลอกเจ้าข้าวนอกหม้อ | กูไม่ขอคบฆ่าให้อาสัญ |
ตระเวณไปให้รอบขอบเขตคัน | อย่าให้มันดูเยี่ยงทั้งเวียงชัย |
ให้ราหูผู้เป็นฝ่ายนายทหาร | จับชาวด่านแดนมหาชลาไหล |
ที่นับถือฤาษีมีเท่าไร | ฆ่าเสียให้สิ้นเสร็จสำเร็จการ ฯ |
ค มนตรีรับอภิวาทมาบาตรหมาย | ตำแหน่งนายเพชรฆาตอันอาจหาญ |
ถือดาบแดงแซงสลอนนครบาล | เอานายด่านปากน้ำมาจำจอง |
ติดคาข้อมือใส่ขื่อเล็ก | สายโซ่เหล็กล่ามรั้งไว้ทั้งสอง |
พวกตรวจตรัดพัศดีเดินตีฆ้อง | สอนให้ร้องโทษทัณฑ์ที่พันพัว |
ค ฝ่ายมาลามาลัยไพร่ชาวด่าน | เห็นเกินการแก้ไขก็ใจหาย |
ฉีกหนังสือฤาษีออกคลี่คลาย | ได้แยบคายเข้าไปอยู่แทรกผู้คุม |
พวกผู้คุมรุมตีมิให้ว่า | แกล้งเหวี่ยงคาตบปากแล้วลากขึง |
แต่ชายหญิงวิ่งฮือเสียงอื้ออึง | จนทราบถึงองค์ท้าวเจ้านคร ฯ |
ค เจ้าพาราวาหุโลมเหงื่อโซมหน้า | มันหยาบช้าแค้นจิตดังพิษศร |
แม้ฆ่าตายฝ่ายอำมาตย์ราษฎร | จะขอค่อนว่ามันมาแล้วฆ่าฟัน |
ดำริพลางทางหาเข้ามาขู่ | มึงจะสู้ฝีมือกูหรือไฉน |
ยังไม่ฆ่าถ้ากูจะปล่อยไป | กลัวจะไม่ต่อตีจะหนีกู ฯ |
ค นายด่านเห็นเป็นต่อหัวร่อร่า | ให้เหมือนว่าแต่สักหนจะบนหมู |
อย่าพักเย้ยเลยถ้าปล่อยจงคอยดู | แม้ไม่สู้ภูวนัยไม่ใช่ชาย |
แล้วเอาตรามาประทับคำรับสั่ง | อย่ากักขังเข่นฆ่าให้อาสัญ |
แล้วปลดเปลื้องเครื่องพิฆาตราชทัณฑ์ | ธงสำคัญส่งให้รีบไคลคลา ฯ |
ค นายด่านรับจับธงเดินตรงออก | แกล้งโบกบอกหญิงชายทั้งซ้ายขวา |
เราจะไปให้ผู้รู้วิชา | มาเข่นฆ่าโคตรท้าวเจ้าบุรี |
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |