| ย้อนกลับ |

เรื่องพระอภัยมณีต่อจากคำกลอน

            ฝ่ายพระมังคลาเมื่อเสียทัพแล้ว ก็หนีไปกับสังฆราชบาทหลวง ไปถึงบ้านเศรษฐีแห่งหนึ่ง ได้นางยาใจลูกสาวนางเซียมวิไล แม่ม่ายเศรษฐีเป็นเมีย เมื่อรวมรวมกำลังได้บ้างเล็กน้อยแล้ว ก็พากันลงเรือกำปั่นแล่นไปเมืองลังกา แต่ถูกลมพัดไปเข้าอ่าวเมืองกำพลเพชร พอดีท้าวรามเดชเจ้าเมืองพิราลัย นางกฤษณาผู้เป็นมเหสีสำเร็จราชการแผ่นดิน พระมังคลาจึงเช้าไปฝากตัวอยู่กับนางกฤษณา แล้วได้ร่วมรักกันแต่ปกปิดความไว้ แสดงให้ผู้คนรู้ว่ารับพระมังคลาไว้เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาพระมังคลาก็ได้ผ่านสมบัติเมืองกำพลเพชร สังฆราชบาทหลวงก็เกลี้ยกล่อมผู้คนไว้เป็นกำลัง พระมังคลาได้พระขรรค์วิเศษ ฟันถูกผู้ใดจะเกิดเป็นไฟไหม้ พวกทหารก็ใช้แม่เหล็กเป็นอาวุธ เมื่ออาวุธของข้าศึกถูกเเข้าจะอ่อนยู่ไปหมด ตัวนางกฤษณาเองก็เป็นคนกว้างขวาง มีบรรดาเจ้าบ้านผ่านเมืองเป็นพวกพ้องมาก
            ฝ่ายวลายุดากับอาจารย์เจนธนู พากันหนีได้โดยสารเรือกำปั่นอังกฤษไปทางทิศใต้ จนถึงเมืองสินชัย ได้นางบุญจารีลูกสาวเศรษฐีเป็นเมียคนหนึ่ง และได้นางกรีกุมลูกสาวพราหมณ์เป็นเมียอีกคนหนึ่ง เวลานั้นเจ้าเมืองสินชัยไม่ได้อยู่ในทิศพิธราชธรรม อาจารย์เจนธนูจึงเกลี้ยกล่อมผู้คนชิงราชสมบัติ ให้แก่วลายุดาได้ ส่วนตนก็ได้รับตำแหน่งอุปราช
            ฝ่ายวายุพัฒน์กับอาจารย์สุริยัน หนีไปทางทิศตะะวันออกถึงเมืองเซ็น ของพวกแขกทมิฬเจ้าเมืองชื่อ ท้าวกบิล เมืองนี้มีความเดือดร้อนคือ ในสามปีจะมียักษ์ตนหนึ่ง มาจับคนในเมืองไปกินเสมอ ครั้งหนึ่งยักษ์มาพบเข้ากับวายุพัฒน์ พอได้กลิ่นตัวของวายุพัฒน์ก็กลัวยืนตัวแข็งอยู่ ด้วยวายุพัฒน์เป็นสายโลหิตของนางผีเสื้อ ซึ่งมีอำนาจเหนือยักษ์ตนนี้ วายุพัฒน์จึงจับเอายักษ์ตนนั้นมาใชัขับขี่เป็นพาหนะ ท้าวกบิลทราบเรื่องก็ยกนางศศิธร ผู้เป็นธิดาให้เป็นเมีย และแต่งตั้งให้วายุพัฒน์เป็นอุปราช
             ฝ่ายหัสกันกับอาจารย์สุบันเย หนีไปทางทิศเหนือถึงเมืองอินตรา อาจารย์สบันเยเที่ยวรับเป็นหมอรักษาฝีของชาวเมือง จนมีชื่อเสียงความทราบถึงท้าวมูลา เจ้าเมืองจึงเชิญไปรักษาฝีในท้องของตน อาจารย์สุบันเยเห็นว่าเป็นฝีที่รักษาไม่หาย จึงบอกว่าจะตายในห้าวัน ท้าวมูลาโกรธให้เอาตัวสุบันเยไปจำคุกไว้ แต่สุบันเยร่ายมนต์หนีออกมาได้ แล้วลอบเข้าไปตัดศีรษะท้าวมูลา เจ้าเมืองเสีย จากนั้นได้หนีไปพักอยู่ที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่งในกลางป่า เทพารักษ์ที่สิงอยู่ในศาลจึงบอกให้ไปทางทิศตะวันตก จะได้พบลาภอันประเสริฐ ทั้งสองก็พากันไปตามคำแนะนำ ไปพบเวชายันกับนางวันชายา พี่น้องเป็นลูกฝรั่งใหญ่เมืองสุลาลัย สองพี่น้องได้เล่าถึงเรื่องที่อาเขย ชิงสมบัติหัสกันกับสุบันเย รับอาสาช่วยคิดเอาสมบัติคืนมา จึงซ่องสุมผู้คนแล้วยกมาชิงเมืองสุลาลัยได้ บรรดาเสนาพฤฒามาตย์จึงอัญเชิญเวชายันขึ้นครองราชย์ แต่เวชายันไม่ยอมรับและขอถวายแก่หัสกัน
            ฝ่ายข้างเมืองผลึก นางมณฑาถึงแก่กรรม สินสมุทจึงมีสารไปถึงสุดสาครขอให้เชิญพระอภัย นางสุวรรณมาลี และนางละเวงไปในการปลงพระศพ สุดสาครจึงเรือกำปั่นให้พระอภัยไปเมืองผลึก แต่กำปั่นถูกลมพัดไปเข้าอ่าวเกาะกัลปังหา นางเทพเทพิน นางนิลกัณฐี กับตรีพลำ น้องชาย ซึ่งเป็นลูกเทวดาเจ้าเกาะ แต่มารดาเป็นมนุษย์มาพบพระอภัยเข้า ก็มีความรักใคร่นับถือ จะขอติดตามไปเรียนวิชาความรู้ด้วย พระอภัยยอมรับจึงช่วยกันเอาไม้กัลปังหา ต่อเรืองใหญ่ขึ้นลำหนึ่งแล่นไปเมืองผลึก
            ฝ่ายสินสมุทเห็นผู้ถือหนังสือไปเมืองลังกาช้าผิดปกติ จึงแต่งเรือเร็วให้ไปสืบข่าว เมื่อได้ความว่าพระอภัยออกจากเมืองลังกามานานแล้ว ยังมาไม่ถึงเมืองผลึกก็ตกใจ จึงจัดกองทัพเรือไปเที่ยวตามหา จนถึงเมืองการะเวก และเมืองรมจักร ทางสุดสาครก็ให้แต่งเรือเร็วออกติดตาม ในทิศต่าง ๆ เช่นกัน เรือเมืองลังกาและเมืองผลึก ตามไปพบพระอภัยกำลังถูกเรือโจรสลัดล้อมไว้ จึงเข้าไปช่วยขับไล่พวกโจรไปแล้ว เชิญพระอภัยมาถึงเมืองผลึก
            ฝ่ายศรีสุวรรณ สุดสาคร และหัสไชย เมื่อทราบว่าพระอภัยไปถึงเมืองผลึกแล้ว ก็พากันมาช่วยงานศพนางมณฑา ที่เมืองผลึกกันพร้อมหน้า พระกฤษณา พระเทวัญ และนางอัมพุวัน โอรสและธิดาของศรีสุวรรณ ซึ่งเกิดกับนางศรีสุดา เห็นนางเทพเทพิน นางนิลกัณฐี และตรีพลัม ก็มีความรักกันเป็นคู่ ๆ
            ฝ่ายพระมังคลาอยู่ที่เมืองกำพลเพชร ได้ทราบว่าพระบิดา พระมารดา ออกบวชเป็นฤาษี สุดสาครกับนางเสาวคนธ์ครองเมืองลังกา น้องและหลานหนีรอดจากอันตรายแล้ว ไปตั้งตนได้ก็มีความยินดี แต่สังฆราชบาดหลวงยังผูกใจเจ็บอยู่ จึงไปยุยงพระมังคลาว่า นางละเวงไปยกย่องผู้อื่น ควรจะยกกองทัพไปตีเมืองลังกา พระมังคลาก็เห็นด้วย จึงให้ไปแจ้งน้องและหลาน ให้ช่วยกันยกทัพไปตีเมืองลังกากับตน
            ฝ่ายวลายุดา วายุพัฒน์ และหัสกัน จึงปรึกษาอาจารย์ของตน อาจารย์ค้านว่าไม่ควรไปเข้ากับพระมังคลา ควรตั้งตนเป็นกลาง ควรยกกำลังไปพบพระมังคลา แล้วห้ามปรามถ้าไม่เชื่อ ก็ควรเข้ารบกับพระมังคลาเสียเอง เพื่อป้องกันเมืองลังกาไว้ ทั้งสามองค์เห็นด้วยจึงยกทัพเรือไปยังเมืองลังกา ก่อนที่กองทัพพระมังคลายกมาถึง แล้วแต่งสารไปยัง นางรำภา นางยุพาผกา และนางสุลาลีวัน รับสารภาพผิด และจะขอช่วยป้องกันเมืองลังกาไว้ นางทั้งสามได้ทราบความในสารแล้ว สงสัยว่าจะเป็นกลอุบาย จึงให้กักตัวผู้ถือสารไว้ แล้วให้เรือเร็วรีบไปแจ้งข่าวศึก แก่สุดสาครที่เมืองผลึก ศรีสุวรรณจึงให้สุดสาคร เสาวคนธ์กับพระกฤษณา  รีบกลับไปรักษาเมืองลังกา
            ฝ่ายพระมังคลา เมื่อยกทัพมาถึงเมืองลังกาแล้ว ก็เข้าตีทันที วลายุดา วายุพัฒน์ และหัสกัน ทำทีจะเข้าช่วยพระมังคลา แล้วยกทัพกลับมาเสีย แล้วแต่งสารให้เรือเร็วไปดักให้สุดสาครมีความสำคัญประการหนึ่งคือ เรื่องพระขรรค์วิเศษ วายุพัฒน์รับอาสาจะลักเอามาให้ได้ พอสุดสาครยกไปถึงเมืองลังกา ก็ออกรบกับพระมังคลา เสาวคนธ์คลอดบุตรในเวลาออกรบ ให้ชื่อว่า นรินทร์รัตน์ พระมังคลาตีหักเอาเมืองลังกาไม่ได้ ก็เสียใจยิ่งนัก นางกฤษณาแม่เลี้ยงจึงเข้าไปเล้าโลม แล้วแต่งให้คนใช้ไปเกณฑ์กองทัพเมืองต่าง ๆ ที่ขึ้นกับเมืองกำพลเพชร และขอกำลังกองทัพเมืองที่เป็นสัมพันธมิตรกับท้าวรามเดช ให้มาช่วยตีเมืองลังกา สุดสาครทราบความจึงแต่งเรือเร็วไปแจ้งข่าวศึกแก่ศรีสุวรรณ ศรีสุวรรณ สินสมุท และหัสไชย ก็ยกทัพไปเมืองลังกา พระอภัย นางสุวรรณมาลี และนางละเวง ก็พาพระเทวัญ นางอัมพุวัน นางเทพเทพิน นางนิลกัณฐี และตรีพลำ ลงเรือกัลปังหากลับไปอยู่ ณ เขา สิงคุตร์ เมื่อสามทัพไปถึงเมืองลังกาแล้ว ก็เตรียมรบกับพระมังคลา
            ฝ่ายวายุพัฒน์ ซึ่งรับอาสาสุดสาครไปลักพระขรรค์วิเศษจากพระมังคลา ก็พายักษ์ไปอยู่กับพระมังคลา พอได้โอกาสจึงให้ยักษ์แย่งพระขรรค์จากพระมังคลามาได้ จึงเกิดรบกันกับวายุพัฒน์ วลายุดา กับหัสกัน ทราบเหตุก็ยกกำลังมาช่วยวายุพัฒน์ รบกับพระมังคลา ศรีสุวรรณเห็นเป็นโอกาสจึงยกทัพเข้าตีอีกฝ่ายหนึ่ง พระมังคลาต้านทานไม่ได้ก็แตกทัพถอยกลับไป วลายุดา วายุพัฒน์ และหัสกันก็เข้าไปหาศรีสุวรรณ สินสมุท และสุดสาคร ขอขมาโทษ ศรีสุวรรณจึงพาไปเฝ้าพระอภัย ณ เขาสิงคุตร
            ฝ่ายพระมังคลาล่าทัพไปตั้งอยู่ทางทิศใต้เมืองลังกา คอยรับทัพประเทศราชและสัมพันธมิตร ที่จะยกมาช่วยพอทัพเหล่านั้น ยกมาถึงพร้อมกัน พระมังคลาก็ยกทัพมาประชิดเมืองลังกาอีก ศรีสุวรรณก็ยกทัพออกรบจนทัพประเทศราชต้องล่าถอย พระมังคลาคิดจะกลับเมืองกำพลเพชร  แต่นางกฤาณาเกรงว่าผู้คนในเมืองนั้น จะกระด้างกระเดื่องจึงให้ยกทัพไปทางทิศหรดี นางกฤษณาไปคลอดโอรสแฝดตามทางสามคนชื่อ เทวสินธ์ เทพจินดา และราเมศร์ แล้วนางกฤษณาไปกระโจนน้ำตาย พระมังคลาจึงพาลูกทั้งสามไปถึงเกาะกาหวี เป็นเมืองโบราณ ไม่มีผู้คน ถูกผีห่ากินหมด จึงอาศัยอยู่ที่เกาะนั้น
            ทัพที่พลัดไปถึงเมืองกำพลเพชร พวกเสนาทราบข่าวจึงจัดเรือออกตามไปถึงเมืองสำปั่นหนา ท้าวรายาเจ้าเมืองรับช่วยเหลือจัดกำปั่นออกติดตามไปพบ จึงเชิญพระมังคลากลับไปครองเมืองกำพลเพชร พระมังคลาจึงให้โอรสทั้งสามครองเมืองกาหวี ระหว่างเดินทางมาถึงเมืองสำปันหนา ได้ไปเฝ้าท้าวรายา ท้าวรายาเชิญให้พระมังคลาพักอยู่ที่เมืองก่อน ระหว่างที่พักอยู่ได้ลอบรักกับนางดวงแข ธิดาท้าวรายาโดยที่ท้าวรายาไม่ทราบความ
            ทางเมืองลังกา พระอภัยกับศรีสุวรรณจัดการอภิเษกพระกฤษณากับนางเทพเทพิน แล้วให้ไปอยู่เมืองรมจักร ส่วนวลายุดา วายุพัฒน์ และหัสกัน เมื่อเสร็จศึกแล้วจึงลากลับไปยังบ้านเมืองของตน
            ฝ่ายพระมังคลา เมื่อนางดวงแขมีครรภ์ ท้าวรายาทราบความจึงจัดการอภิเษกพระมังคลาให้เป็นอุปราช นางดวงแขคลอดธิดาให้ชื่อว่า ระเด่นกินเรศ ต่อมาสังฆราชบาทหลวงกับพระมังคลาคิดจะไปแก้แค้นเมืองลังกาอีก จึงขอกองทัพเรือท้าวรายา สมทบกับกองทัพเมืองกำพลเพชร ยกไปตีเมืองใหม่ได้ ศรีสุวรรณ สินสมุท และสุดสาคร ช่วยกันระดมกำลังตีทัพพระมังคลาแตกกลับไป
            มีโจรสุหรั่งชื่อ มะหุต ยกกำลังไปตีด่านปากน้ำเมืองรมจักร พระกฤษณา กับสามพราหมณ์ คือ วิเชียร โมรา และสานน ช่วยกันป้องกันเมือง รบติดพันกันอยู่
            ฝ่ายศรีสุวรรณ เสร็จศึกลังกาแล้ว จึงทูลลาพระอภัยกลับเมืองรมจักร พระอภัยให้นางนิลกัณฐี และตรีพลำ ไปด้วย เมื่อมาถึงปากน้ำเมืองรมจักร เห็นมีการรุกรบติดพันกันอยู่ จึงให้กองทัพตีขนาบเข้าไป พวกโจรสุหรั่งเห็นเหลือกำลัง จึงยอมสวามิภักดิ์ ศรีสุวรรรได้จัดการอภิเษกพระเทวัญ กับนางนิลกัณฐี และตรีพลำกับนางอัมพวัน
            ฝ่ายพระมังคลากับสังฆราชบาทหลวง เมื่อแตกทัพไปถูกคลื่นลมพัดไปถึงเกาะกาวิน เทวดาผู้รักษาเกาะชี้ทางให้ไปทางทิศทักษิณ ไปถึงเมืองโรมวิสัย สังฆราชบาทหลวงขอไปเรียนวิชาผูกภาพยนต์ กับอาจารย์พรหมพักตร์ อาจารย์ให้ไปขออนุญาตเจ้าเมืองก่อน ทั้งสองจึงไปเฝ้าเจ้าเมืองพรรณาเรื่องศาสนา ท้าววาหุโลมทมีความเลื่อมใส และขอเรียนศาสนาด้วย เมื่อสังฆราชบาทหลวงเรียนวิชาผูกภาพยนต์สำเร็จแล้ว จึงลาท้าววาหุโลมแล่นเรือไปถึงเมืองโรมพัฒน์ แล้วขออนุญาตสร้างที่พักสอนศาสนาอยู่ที่เมืองด่าน มีผู้คนนับถือมาก จนท้าวโกสัยเจ้าเมืองสงสัยว่า จะก่อการจลาจลคิดจะปราบปราม แต่สังฆราชบาทหลวงรู้ตัวก่อนจึงผูกภาพยนต์ยักษ์ ไปขู่ท้าวโกสัยให้อ่อนน้อมต่อพระมังคลา ท้าวโกสัยยอมทำตาม และยกนางบุษบงธิดาให้พระมังคลา พระมังคลาหลงนางบุษบงไม่คิดไปทำศึก สังฆราชบาทหลวงจึงไปต่อว่า พระมังคลาจึงให้ท้าวโกสัยเกณฑ์ทัพเมืองโรมพัฒน์ ยกไปเมืองลังกา และพานางบุษบงมาด้วย ระหว่างทางพบผีเสื้อยักษ์ชื่อ กาลวาต เกิดรบกันพระมังคลาเอาตราราหูฟาดถูกผีเสื้อยักษ์ จมหายไปในท้องสมุทร แล้วยกทัพมาถึงเมืองใหม่ แล้วตีเมืองใหม่ได้
            ฝ่ายสุดสาคร เห็นข้าศึกเข้มแข็งจึงมีหนังสือให้เรือเร็วรีบไปให้ศรีสุวรรณ สินสมุท หัสไชย วลายุดา วายุพัฒน์ และหัสกัน ให้รีบยกกำลังมาช่วย แล้วให้วาโหมเป็นทัพหน้า ไปตีเมืองใหม่ สุดสาครเห็นพลรบของพระมังคลาเข้มแข็งผิดมนุษย์ สงสัยจะเกิดจากเวทมนตร์ จึงให้ขุนพลคนหนึ่งสะกดเข้าไปดู รู้ว่าเป็นภาพยนต์จึงให้คนเร็วรีบไปตามอาจารย์จักรา ศิษย์ของทิศาปาโมกข์โลกเชษฐมาช่วยแก้ ยังไม่แพ้ชนะกัน
            ฝ่ายเทวสินธุ์โอรสพระมังคลา ซึ่งครองเกาะกาหวีอยู่ ไม่ทราบข่าวพระมังคลาเป็นเวลานาน จึงชวนเทพจินดา และราเมศร์ สองอนุชาออกจากเมืองกาหวี มายังเมืองสำปันหนา ท้าวรายาทราบว่าเป็นโอรสพระมังคลา จึงเตรียมทัพเรือมากับพระเทวสินธุ์ มาถึงเมืองกำพลเพชรได้ความว่าพระมังคลากับสังฆราชบาทหลวง ยกไปเมืองลังกาหลายปีแล้ว ท้าวรายากับโอรสทั้งสามของพระมังคลา จึงยกทัพจากเมืองกำพลเพชรมาเมืองลังกา ระหว่างทางพบปีศาจ เจ้าละมาน ปีศาจให้แก้ววิเศษแก่พระเทวสินธุ์ดวงหนึ่ง เมื่อมาถึงเมืองลังกา กองทัพศรีสุวรรณ กับบรรดาหลาน ซึ่งยกมาช่วยสุดสาครได้ตีทัพพระมังคลาแตกยับเยิน ถอยจากเมืองใหม่ไปอยู่ริมทะเล พระเทวสินธุ์จึงรับพระมังคลาลงเรือ เมื่อรวบรวมไพร่พลพร้อมแล้ว ท้าวโกสัยจึงมีหนังสือไปถึงเมืองขึ้น และบรรดามิตรสหายให้ยกกำลังมาช่วย แต่ก็ถูกกองทัพศรีสุวรรณตีแตกถอยไปอีก ศรีสุวรรณจึงมีหนังสือไปถึงพระมังคลาให้ไปสารภาพผิดกับพระอภัย ผู้เป็นพระบิดาเสียจะคืนเมืองลังกาให้ สังฆราชบาทหลวงเห็นว่าเป็นอุบาย แต่ท้าวรายาเห็นว่าเป็นความจริง สังฆราชบาทหลวงจึงให้พระมังคลาไล่ท้าวรายาไปเสีย ท้าวรายาจึงกลับมาเรือพร้อมด้วยเทวสินธุ์ เทพจินดา และราเมศร์ แล้วสังฆราชบาทหลวงจึงตั้งพิธีทำหุ่นภาพยนต์ เตรียมไปตีเมืองใหม่อีก แต่มนต์เสื่อมสังฆราชบาทหลวงโทษว่า เพราะนางบุษบงมาอยู่ด้วย จึงทำให้มนต์เสื่อม ให้พระมังคลาไล่นางไปเสีย พระมังคลาจึงพานางไปส่งไว้ที่เรือริมเกาะแห่งหนึ่ง พอตกกลางคืนพระมังคลาหนีไปอยู่กับนาง สังฆราชบาทหลวงทราบเรื่องก็โกรธ จึงยกกำลังไปตีเมืองใหม่ ให้ท้าวโกสัยกับบรรดาเมืองขึ้นเป็นทัพหนุน ยกกำลังไปตีทางเรือ สังฆราชบาทหลวงใช้ไฟกรดและควันพิษ เป่าไปถูกสินสมุทกับวายุพัฒน์ สลบ ปีศาจนางผีเสื้อผู้เป็นแม่สินสมุทมาบอกยาแก้ให้ แล้วบาทหลวงทำยาเบื่อไปโรยทางเหนือน้ำ ปีศาจนางผีเสื้อก็มาบอกไม่ให้ใช้น้ำในแม่น้ำลำคลอง สังฆราชบาทหลวงทำเล่ห์กลต่าง ๆ อยู่หลายคราว แต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ
            ฝ่ายพระอภัยรักษาพรตอยู่ ณ เขาสิงคุตร หลายปีไม่เห็นมีผู้ใดไปเยี่ยม จึงชวนนางสุวรรณมาลีและนางละเวงไปเยี่ยม  พบน้องชายและลูกหลานทำสงครามกันอยู่ จึงขอร้องสังฆราชบาทหลวงให้เลิกแล้วต่อกัน จะแบ่งเมืองลังกาให้คนละครึ่ง สังฆราชบาทหลวงไม่ยินยอม สินสมุทจึงเป่าปี่ขึ้น สังฆราชบาทหลวง จึงรีบยกทัพหนีลงเรือไปกับท้าวโกสัย พบเรือทราบว่าเป็นพวกพระมังคลาจึงให้ตามจับ พระมังคลาก็หนีไปยังเมืองกำพลเพชร พอถึงปากอ่าวก็พบกับท้าวรายา และโอรสทั้งสาม จึงพากันไปอยู่ในเมืองกำพลเพชร
            ฝ่ายเมืองลังกา เมื่อสังฆราช บาทหลวง หนีไปแล้วต่างก็พากันกลับเมือง หัสกันได้อภิเษกกับนางวันชายา พระอภัยกับนางสุวรรณมาลี และนางละเวงก็กลับไปยังเขาสิงคุตร
            คืนวันหนึ่งพระอภัยระลึกถึงพระโยคี และนางเงือกที่เกาะแก้วพิสดาร จึงเข้าฌาณเหาะไปเยี่ยมพระอาจารย์ และสั่งสอนนางเงือกให้รักษาศีลห้าประการ แล้วกลับมาเขาสิงคุตร
            ส่วนสังฆราชบาทหลวงไปถึงเมืองปตาหวี ท้าวกุลาเจ้าเมืองรับรองให้อยู่ในเมือง และยอมตัวเป็นศิษย์ ยกเมืองส่วยให้เป็นอันมาก สังฆราชบาทหลวงจึงจัดเรือให้ไปสืบข่าว พระมังคลาทราบว่าอยู่ที่เมืองกำพลเพชร จึงเข้าไปแจ้งความว่า สังฆราชบาทหลวงได้ไปเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองปตาหวี ให้พระมังคลาไปหา พระมังคลาไม่ยอมไป สังฆราชบาทหลวงโกรธจึงไปหาท้าวกุลาเอารูปนางบุษบงให้ดู แล้วบอกว่าเป็นน้องสาวพระมังคลา ท้าวกุลาเห็นรูปนางบุษบงก็หลงไหล จึงยกทัพไปเมืองกำพลเพชรแล้วท้าวกุลากับสังฆราชบาทหลวงก็เข้าไปพบพระมังคลา ท้าวกุลาเห็นนางบุษบงก็มีความรักใคร่ยิ่งขึ้น จึงเตือนพระสังฆราชบาทหลวงให้ขอนางให้ตน ฝ่ายท้าวโกสียรู้อุบายสังฆราชบาทหลวงจึงหนีไปหาพระมังคลา บอกเรื่องราวที่สังฆราชบาทหลวงคิดไว้ให้ทราบ พระมังคลาจึงให้พราหมณ์สุทัตเตรียมพลไว้เพื่อต่อสู้ สังฆราชบาทหลวงไปหาหพระมังคลาขอนางบุษบงให้แก่ท้าวกุลา จะได้เอาไว้เป็นกำลังไปทำศึกกับเมืองลังกา พระมังคลาขอผลัดไว้เจ็ดวัน แล้วให้ทหารเข้าประจำหน้าที่เตรียมรบ ครั้นครบกำหนดเจ็ดวันไม่ได้รับคำตอบ ท้าวกุลาจึงยกกำลังเข้าตีเมืองกำพลเพชร แล้วยึดเมืองด่านได้
            พระมังคลาเห็นข้าศึกมีกำลังมากจึงมีหนังสือไปถึงศรีสุวรรณ สินสมุทและสุดสาคร รับสารภาพผิด และขอให้ยกทัพมาช่วย สังฆราชบาทหลวงกับท้าวกุลาสู้ไม่ได้ ก็แตกไปจากเมืองด่าน เรือตกลงในน้ำวน พราหมณ์ดาวุดผู้วิเศษมาช่วยไว้ได้ จึงหนีไปถึงเมืองกาศึก ท้าวสินชัยเจ้าเมืองรับรองอย่างดี และขอเป็นศิษย์ สังฆราชบาทหลวงจึงพักอยู่ที่เมืองกาศึกนั้น
            เมื่อข้าศึกแตกหนีไปแล้ว พระมังคลาจึงไปเฝ้าศรีสุวรรณ สินสมุท และสุดสาคร เชิญให้เข้าไปพักในเมือง ครั้นจัดการบ้านเมืองเสร็จแล้ว พระมังคลาพร้อมด้วยกองทัพฝ่ายศรีสุวรรณ ก็ยกจากเมืองกำพลเพชร จะไปเฝ้าพระอภัยที่เมืองลังกา แต่เรือถูกคลื่นลมพัดไปในอ่าวเมืองของวายุพัฒน์ วายุพัฒน์จึงรับเข้าเมืองและเมื่อรู้ว่าพระมังคลากลับตัวได้แล้ว จึงคืนพระขรรค์วิเศษให้ พระมังคลากับพวกศรีสุวรรณก็แล่นเรือไปเมืองลังกา ไปเฝ้าพระอภัยทูลขอโทษ แล้วต่างก็ลากลับไปบ้านเมืองของตน
            ฝ่ายพระมังคลากลับถึงเมืองกำพลเพชรแล้ว ท้าวรายามาเชิญให้ไปทำการโสกันต์ระเด่นกินเรศ ผู้เป็นธิดาที่เมืองสำปันหนา เสร็จงานแล้วได้พานางดวงแขมาอยู่เมืองกำพลเพชร
            ฝ่ายท้าวกุลาซึ่งพักอยู่ที่เมืองกาศึกกับสังฆราชบาทหลวงไปพบนางดวงประไพธิดาของท้าวสินชัยก็มีความรักใคร่ จึงขอให้สังฆราชบาทหลวงไปขอนางให้ตน ท้าวสินชัยก็ยินยอม ท้าวกุลาได้อภิเษกกับนางดวงประไพ แล้วก็พากลับไปอยู่เมืองปตาหวี แต่สังฆราชบาทหลวงยังพักอยู่ในเมืองกาศึก เพื่อสอนวิชาให้ท้าวสินชัย
            ทางเมืองลังกา วันหนึ่งสุดสาครฝันเห็นนางมัจฉาผู้เป็นมารดาที่เกาะแก้วพิสดาร เมื่อตื่นขึ้นจึงเรียกม้ามังกรมาแล้วขึ้นขี่ไปเกาะแก้วพิสดาร เมื่อเยี่ยมพระโยคี และมารดาแล้วก็ลากลับ มาแวะเยี่ยมท้าวสุริโยทัย และพระกฤษณา แล้วกลับมายังเมืองลังกา ไปเฝ้าพระอภัย ณ เขาสิงคุตร์
            ทางเมืองรัตนา ว่างเว้นกษัตริย์มาช้านาน พวกเสนาจึงพากันไปเฝ้าศรีสุวรรณที่เมืองรมจักร ทูลขอให้ตั้งใครไปปกครอง ศรีสุวรรณจึงไปเฝ้าพระอภัยที่เมืองลังกา จึงจึงให้มีสารไปเชิญพระมังคลา วลายุดา วายุวพัฒน์ และหัสกันมาปรึกษา แต่ไม่มีใครเต็มใจไปครองเมืองรัตนา ศรีสุวรรณจึงจะให้นรินรัตน์ลูกสุดสาครที่เกิดกับเสาวคนธ์ไปปกครอง พระอภัยเห็นชอบด้วยจึงให้จัดการอภิเษกนรินทร์รัตน์ให้ครองเมืองรัตนา
            ต่อมานรินทร์รัตน์ได้ตั้งอาจารย์พรหมเมศไว้ในที่ปุโรหิต และมีหนังสือไปถึงพระมังคลาขอราเมศร์มาเป็นอุปราช สุดสาครเห็นชอบด้วยจึงจัดการอภิเษกให้
            ครั้งนั้น ยังมีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงนามว่ากัมพลรัตน์ครองเมืองเหมรา มีมเหสีชื่อว่าบุปผา มีธิดาชื่อว่าเกศพัฒน์ บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ พาสกันมาสู่ขอท้าวกำพลรัตน์ก็ไม่ยอมยกให้ เป็นเหตุให้เกิดศึก จากเจ็ดนครมาล้อมเมืองเหมรา
            ฝ่ายนรินทร์รัตน์กับราเมศร์ และอาจารย์ได้ทราบข่าวว่า เจ็ดนครไปล้อมเมืองเหมราจึงยกทัพไปช่วยท้าวกัมพลรัตน์ตีทัพเจ็ดนครแตกไป ท้าวกพลรัตน์มีความพอใจคิดจะยกธิดาให้นรินทร์รัตน์ จึงมีหนังสือถึงพระอภัย และวงญาติให้มาช่วยงาน ทั้งหมดพร้อมใจกันไปช่วยจัดงานที่เมืองเหมรา เสร็จแล้วก็กลับไปยังบ้านเมืองของตน ส่วนท้าวกำพลรัตน์ คิดจะตอบแทนบุญคุณรามเมศร์ จึงได้จัดการขอนางประภาธิดา ท้าวอภัยนุสินเจ้าเมืองสารัน ซึ่งเป็นญาติให้แก่ราเมศร์
            ยังมีกษัตริย์ทรงนามว่าเจตรัตน์ เป็นเชื้อพราหมณ์ ครองนครวายุภักษ์ มีมเหสีพระนามว่าอุทุมพร มีโอรสทรงนามภัทวงศ์  เมื่อภัทวงศ์อายุได้สิบห้าปี ท้าวเจตรัตน์คิดจะให้โอรสครองราชย์สมบัติ แต่ตามประเพณีของเมืองนี้จะต้องให้โอรสไปไหว้พระอิศวรที่เมืองรามราชก่อน เมื่อไปบวงสรวงเสร็จแล้วเดินทางกลับ เรือถูกคลื่นลมพัดพาไปเข้าอ่าวเมืองลังกา สุดสาครประทานเข้าของที่ต้องการให้ และรับรองให้พักอยู่ในเมืองลังกา ได้ไปชมเพชรนิลที่ท้ายเกาะลังกา ได้พบนางสุมาลัยธิดาที่เกิดกับนางสุลาลีวัน ก็เกิดความรักใคร่ เมื่อกลับถึงเมืองแล้วก็ขอให้ท้าวเจตรัตน์ไปขอนางให้ สุดสาครพาท้าวเจตรัตน์ไปเฝ้าพระอภัยทูลความให้ทราบ พระอภัยเห็นชอบจึงให้จัดงานอภิเษกภัทวงศ์กับนางสุมาลัย ณ เมืองลังกา
            ฝ่ายสังฆราชบาทหลวง ยังมีความแค้นเมืองลังกาอยู่ จึงให้ศิษย์ชื่อ กาวิดมาทวงเมืองลังกาคืน เมื่อไม่สำเร็จจึงเตรียมทัพมาตีเมืองลังกา ท้าวเจตรัตน์ซึ่งอยู่ที่เมืองลังกาจึงกลับไปเมืองวายุภักษ์ พาพราหมณ์สี่คนผู้เป็นอาจารย์มาช่วยคิดการสงคราม พราหมณ์ทั้งสี่คนจึงตั้งพิธีเสกน้ำรอบเกาะลังกา  ให้แข็งลุกเป็นไฟออกไปข้างละสิบโยชน์ สังฆราชบาทหลวงหาวิธีแก้ไขไม่ได้ จึงยกทัพกลับไป
            ส่วนนางมัจฉารักษาศีลห้าไม่ด่างพร้อย จนร้อนถึงพระอินทร์ลงมาตัดหางนางให้ นางจึงได้อัตภาพเป็นมนุษย์ สุดสาครจัดเรือมารับนางไปอยู่ในเมืองลังกา พระอภัยทราบความจึงพานางสุวรรณมาลีกับนางละเวงมาเยี่ยม นางมัจฉาจะขอบวชเป็นชี แต่พระอภัยไม่ยอมให้บวช โดยอ้างว่ากำเนิดเป็นสัตว์เดียรฉานบวชไม่ได้ สุดสาครได้ทำการฉลองนางมัจฉาผู้เป็นมารดา และสถาปนานามใหม่ว่า จันทวดีพันปีหลวง เสร็จการฉลองแล้วพระอภัย นางสุวรรณมาลี และนางละเวงก็กลับไปยังเขาสิงคุตร ท้าวเจตรัตน์ ภัทวงศ์และนรินทร์รัตน์ก็กลับไปยังบ้านเมืองของตน

| ย้อนกลับ | บน |