กรุงศรีอยุธยามรดกไทยและมรดกโลก

| ย้อนกลับ |


การอนุรักษ์โบราณสถานต่าง ๆ อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งได้เริ่มงานอย่างจริงจัง ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยเริ่มขุดแข่งบูรณะพระราชวังโบราณ วิหารพระมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ วัดพระราม วัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ก็ได้ดำเนินการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานต่าง ๆ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๐ จึงได้ประกาศ เขตอุทยานประวัติศาสตร์ มีพื้นที่ครอบคลุมโบราณสถานดังกล่าว มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น ๑๘๑๐ ไร่
ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ กรมศิลปากร ได้เริ่มจัดทำแผนแม่บท นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้ขยายขอบเขตพื้นที่ จากบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์เดิมให้ครอบคลุม เกาะเมืองทั้งเกาะ รวมทั้งบริเวณโดยรอบ รวมทั้งฟื้นฟูบรรยากาศของเมืองเก่า และสภาพแวดล้อม เช่น สร้างป้อมและกำแพงเมืองขึ้นมาใหม่ เป็นบางส่วน ตามแนวกำแพงเมืองเดิม ขุดลอกคูคลองโบราณให้ใช้สัญจร ได้สมจริง ตลอดจนพัฒนาย่านการค้าและหัตถกรรม ที่มีอยู่แต่โบราณ เป็นต้น
ปี พ.ศ. ๒๔๓๔ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( United Nation Education Science and Culture Organization) ได้คัดเลือกให้นครประวัติศาสตร์ศรีอยุธยา เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม นับเป็นเกียรติอันสูงส่ง ของไทย ที่นานาชาติได้เห็นคุณค่า และความสำคัญ อย่างยิ่งยวดของมรดกไทยอันมีคุณค่ายิ่งของไทย
โบราณสถานทั้งในเกาะเมืองและรอบเกาะเมืองมีอยู่มากมายหลายร้อยแห่ง เมื่อกาลเวลาผ่านไปก็ได้ถูกทำลายลงไป ในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ พบว่า ในบริเวณดังกล่าวมีโบราณสถานมากกว่า ๔๐๐ แห่ง แต่ต่อมาอีก ๒๐ ปี คือเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โบราณสถานดังกล่าวได้ถูกทำลายไปจนเหลืออยู่เพียง ๒๔๙ แห่งเท่านั้น นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล ห่วงใยในมรดกของชาติในส่วนนี้เป็นอย่างยิ่ง สมควรที่ชาวไทยทุกหมู่ทุกเหล่าได้มีจิตสำนึก ในการอนุรักษ์มรดกไทย ซึ่งแม้แต่ประชาคมโลกก็ยังเห็นคุณค่าอันสูงส่งนี้ ให้ดำรงคงอยู่เป็นเกียรติประวัติ เป็นความภาคภูมิใจ ของประชาชาวไทยตลอดไป



| ย้อนกลับ | บน |