พุทธปฏิมากร

| ย้อนกลับ |หน้าต่อไป |

พระพุทธรูปที่มีชื่อเสียงที่พบในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ที่รู้จักกันดีได้แก่ พระประธานวัดพนัญเชิง หรือพระพุทธไตรรัตนายก ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่ากันว่า "หลวงพ่อโต" พระพุทธประธานวัดมงคลบพิตร พระพุทธประธานวัดหน้าพระเมรุ และเศียรพระพุทธรูปวัดธรรมิกราช (อยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา) พระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ นั้น จะแตกต่างกันที่พระพักตร์ ซึ่งจะลำดับตามยุคสมัย ได้ดังนี้


พระพุทธไตรรัตนายก พระประธานวัดพนัญเชิง (หลวงพ่อโต)
พระพักตร์พระประธานวัดพนัญเชิงนี้ ค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม ไม่แสดงลักษณะเด่นชัดว่าเป็นศิลปอู่ทอง แต่มีเค้าโครงผสมผสานกับศิลปะก่อนกรุงศรีอยุธยา ถึง 26 ปี คือสมัยอโยธยาตอนปลาย เพราะพุทธลักษณะของพระพักตร์คลายความเคร่งเครียดลงไป น่าจะอยู่ในสมัยที่ชาวกรุงศรีอยุธยาเริ่มนับถือศาสนาพุทธแบบหินยาน

พระพุทธรูปวัดธรรมมิกราช
เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ คงเหลือเพียงพระเศียร (ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา) พระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม เคร่งฌาน ชาวบ้านนิยมเรียกว่า " หลวงพ่อแก่ " ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะเป็นไปตามแบบของพระอู่ทองทั่วไป  ในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา พระพักตร์เช่นนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะของความมีอำนาจและพลังอันเข้มแข็ง เป็นสมัยการนับถือพระพุทธศาสนามหายาน ร่วมกับอาณาจักร " นครหลวง "

หลวงพ่อวัดมงคลบพิตร
เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น พระพักตร์มีลักษณะยังเป็นเหลี่ยมแต่ค่อนข้างรี เส้นพระขนงโค้งอ่อนหวาน แสดงถึงการผสมกับศิลปะสมัยสุโขทัย ซึ่งคงสร้างก่อนสมัยพระเจ้าทรงธรรม
ในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 วิหารมงคลบพิตร ถูกไฟเผาผลาญจนทรุดโทรม เครื่องบนหักพังลงมาต้องพระเมาฬี และพระกรข้างขวาเสียหาย ต่อมาจึงซ่อมแซมบูรณะจนดีดังเดิม ส่วนพระวิหารได้สร้างขึ้นในภายหลังราวปี พ.ศ. 2498

พระประธานวัดหน้าพระเมรุ
เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่พุทธลักษณะที่ปรากฏอยู่นั้นเป็นศิลปสมัยอยุธยาตอนกลาง ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง (แบบพระทรงเครื่อง) ด้วยมีลักษณะคล้ายกับพระพุทธรูปก่ออิฐในเมรุทิศ เมรุรายวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งพระเจ้าปราสาททองสร้างขึ้น ส่วนพระประธานวัดหน้าพระเมรุ คงจะได้รับการปฏิสังขรณ์ในยุคสมัยนั้น
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ วัดนี้ใช้เป็นที่ลงพระนามสงบศึกกับพม่า จนกระทั่งคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พม่าได้ใช้วัดนี้ตั้งเป็นกองบัญชาการ จึงรอดจากการถูกทำลาย

| ย้อนกลับ |หน้าต่อไป | บน |