มหรสพ

| ย้อนกลับ |หน้าต่อไป |

เนื่องจากอาณาจักรอยุธยารุ่งเรืองยาวนานถึง ๔๑๗ ปี จึงมีมรดกทางวัฒนธรรม และประเพณีการละเล่นมากมาย หลักฐานที่ปรากฏตามพงศาวดาร จดหมายเหตุและวรรณคดี เช่น หนัง โขน ละคร ระบำต่าง ๆ การเล่นเบิกโรง โมงครุ่ม ระเบ็ง กุลาตีไม้ เทพทอง กระบี่กระบอง มวยปล้ำ หกคะเมน ไต่ลวด รำแพน ลอดบ่วง หุ่น เสภา และสักวา เมื่ออยุธยาล่มสลายลงการแสดงจึงตกทอดเป็นแบบแก่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ต่อมา แต่สำหรับอยุธยานั้นคงมีตกทอดในหมู่ชาวบ้านไม่มากนัก  รวมทั้งยังมีมหรสพใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปมาแทน
ปัจจุบันมหรสพพื้นบ้านที่ยังคงนิยมเล่นกันอยู่ในอยุธยา คือ ลิเก ลำตัด ปี่พาทย์ และละครแก้บน


ลิเกอยุธยา
ลิเกชื่อดังเป็นชาวบ้านห้วยทราย ตำบลโพธิ์ลาว อำเภอมหาราช ทั้งสิ้น และมีลิเกในอยุธยาอยู่หลายอย่างกระจายอยู่ในอำเภอต่าง ๆ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมือง บริเวณหัวรอ ประตูชัย ตลาดสวนจิตร (ตลาดอุทุมพร) และแถวสถานีรถไฟ นับเป็นหมู่บ้านลิเกแหล่งใหญ่สุดของอยุธยา  ส่วนใหญ่คณะลิเกจะไปเล่นในงานบวช งานศพ งานกฐิน งานผ้าป่า งานไหว้เจ้า และงานประจำปีของวัดต่าง ๆ ปัจจุบันเรื่องที่เล่นจะแต่งให้สอดคล้องกับยุคสมัย ส่วนเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ที่เคยนิยมแต่เดิมไม่นิยมเล่นกันเท่าใดนัก นอกจากในงานศพ

ลำตัด
ผู้เล่นลำตัดส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิม ต่างจากลิเกที่ผู้แสดงจะเป็นคนไทยล้วน ๆ เพราะลิเกต้องไหว้ครูฤาษี ซึ่งขัดกับหลักของศาสนาอิสลาม ปัจจุบันคณะลำตัดที่มีชื่อเสียงในอยุธยา จะมีอยู่ ๒ คณะ คือ คณะซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ และคณะคนไทยซึ่งเป็นชาวมุสลิม
การแสดงลำตัด เป็นการเฉีอนคารมกันด้วยเพลง (ลำ) โดยมีการรำประกอบ แต่ไม่ได้เล่นเป็นเรื่องอย่างลิเก และการแสดงต้องมีทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง และเป็นที่นิยมกันมาก  เนื่องจากเป็นการแสดงโดยการใช้ไหวพริบปฏิภาณในการด้นกลอนสด  ส่วนการประชันลำตัดระหว่าง ๒ คณะ จะใช้เสียงฮาของคนดูเป็นเกณฑ์ คณะใดได้เสียงฮาเสียงปรบมือมากกว่า ก็จะถือเป็นฝ่ายชนะ
สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงลำตัด มีเพียงกลอง รำมะนา ฉิ่ง ฉาบ และกรับ เท่านั้น


ปี่พาทย์

อยุธยานับเป็นถิ่นที่มีวงปี่พาทย์แหล่งใหญ่แหล่งหนึ่ง ในท้องถิ่นภาคกลาง มีอยู่ด้วยกันหลายวง โดยสืบทอดหลักการทางเพลงดนตรีไทยจากบ้านครู จางวางทั่ว พาทยโกศล ไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด จึงมีเพลงไทยเก่าแบบโบราณอยู่มาก
การแสดงปี่พาทย์ จะใช้แสดงทั้งงานมงคลและงานอวมงคล เช่น งานบวช งานแต่ง งานศพ ฯลฯ และเครื่องใช้ที่เล่นจะขึ้นอยู่กับเจ้าภาพว่าต้องการเครื่องน้อยหรือเครื่องมาก


ละครแก้บน
ละครแก้บน มีปรากฎตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ไม่ว่าจะเป็นละครโนรา ละครชาตรี ละครในหรือละครนอก ซึ่งเกี่ยวกับความเชื่อของผู้คนที่มีต่อสิ่งสักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เมื่อบนขอสิ่งใดแล้วและได้ผลสมตามความปรารถนาแล้ว ก็ต้องชดใช้
การแก้บนจะใช้การแสดงหรือละครประเภทใด ขึ้นอยู่กับผู้บน หากไม่ระบุมักแก้บนด้วยละครชาตรี ต่อมาระยะหลังนิยมใช้ละครนอก ซึ่งมิได้ยึดถือรูปแบบและขั้นตอนการแสดงแบบดั้งเดิมอีกต่อไป และการ "ยกเครื่อง" จัดเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของละครแก้บน โดยทำให้เสร็จในช่วงเที่ยงวัน
ละครแก้บนในอยุธยา  มีหลายคณะในระบบครอบครัว งานแสดงจะมีมากในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม  ส่วนใหญ่ในอดีตจะเป็นการแก้บนในเรื่องที่เกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วย การให้ได้มาในสิ่งที่ตนปราถนา  กลายเป็นแก้บนในเรื่องอื่น ๆ


| ย้อนกลับ |หน้าต่อไป | บน |