| ย้อนกลับ |หน้าต่อไป |

ตุ๊กตาชาวบ้าน
ตุ๊กตาดินเหนียวเป็นของเล่นที่เด็กสมัยก่อนคุ้นเคยดังมีคำพังเพยว่า "อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น" แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากยุคสมัยเปลี่ยนไป และตามท้องตลาดมีตุ๊กตาหลากสีที่ผลิตจากโรงงานให้ซื้อมากมาย
ตุ๊กตาจิ๋วดินเหนียวนั้น ส่วนใหญ่ผู้ปั้นจะปั้นทั้งเป็นตัวเดียวและเป็นชุด โดยจะสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบทในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ชุดชาวนา เด็กเลี้ยงควาย การละเล่นหัวล้านชนกัน บ่อนตีไก่ ชุดการละเล่นของเด็ก ตาแป๊ะขายก๋วยเตี๋ยวเรือ  ไปจนถึงชุดใหญ่อย่างตลาดน้ำที่มีทั้งเรือแพและเรือลำน้อย ๆ ขายสินค้านานาชนิด และอื่น ๆ อีกมาก


งอบกรุงเก่า
สิ่งที่พบเห็นกันมากในชนบท คือ ชาวนา ชาวไร่ และเหล่าพ่อค้าแม่ค้า มักชอบสวมงอบที่เราคุ้นเคย คือ งอบทรง "คุ้มเกล้า" จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย
งอบมีใช้กันแพร่หลายทั่วทุกภาค โดยจะมีรูปแบบและการเรียกชื่อ แตกต่างกันไปตามภาค เช่น ภาคเหนือและภาคอีสาน จะมีลักษณะโค้ง คล้ายกระทะคว่ำแต่ไม่ลึกนัก จะเรียกว่า "กุบ"งอบทางภาคตะวันออก อย่างจังหวัดตาก จะมีทรงกลมสูง  ส่วนงอบทางภาคใต้มียอดแหลม ทรงคล้ายหมวดกุ้ยเล้ยของจีน เรียกว่า "เปี้ยว"
งอบที่ชาวไทยทุกภาคใช้กันอย่างแพร่หลายทำจากวัสดุท้องถิ่น ที่หาได้ไม่ยาก เช่น ใบลาน หรือใบจาก
แหล่งผลิตงอบที่มีชื่อเสียงของอยุธยาสมัยก่อน คือ บ้านโพธิ์ ในเขนอำเภอเสนา เรียกกันว่า "งอบทรงมอญ" ซึ่งมีรูปร่างสวยงามและเป็นที่นิยมของคนทั่วไป ปัจจุบันอำเภอที่นิยมผลิตกันมาก คือ อำเภอบางปะหันในหลายตำบล โดยการร่วมกันผลิตและถือเป็นอาชีพรองจากการทำนา และการผลิตนั้นจะแบ่งกันทำตามความถนัดของคนแต่ละท้องที่ เช่น ตำบลตาลเอนจะสานโครงงอบ ตำบลบ้านลี่สานรังงอบ  ส่วนตำบลบางนาร้าจะทำขั้นตอนสุดท้าย คือการกรุเย็บใบลาน เข้ากับโครงงอบ ติดรังงอบ และตกแต่งจนเสร็จสมบูรณ์ ส่วนแหล่งจำหน่ายใหญ่จะอยู่ที่ตลาดบางปะหัน รวมทั้งส่งไปจำหน่ายยังจังหวัดอื่น ๆ อีกด้วย


การปรุงเรือนไทย
อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตงอบแล้ว ยังมีช่างฝีมือปลูกสร้าง เรือนทรงไทย ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ไทยอย่างหนึ่ง
สำหรับเรือนทรงไทย แม้จะมีขนาดใหญ่โตก็ตาม แต่ยังนับว่าเป็นงานหัตถกรรมชนิดหนึ่ง  เพราะเป็นการสร้างขึ้นจากฝีมือและภูมิปัญญาของคนไทย
การสร้างเรือนไทยนั้น ช่างต้องทราบขนาดของเรือนเสียก่อน  เนื่องจากการคำนวณขนาดและสัดส่วน ในการสร้างเรือนไทยเป็นสิ่งสำคัญมาก ด้วยช่างจะต้องทำเครื่องไม้ทุกตัวที่จะนำมาประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนให้ครบเสียก่อน โดยแต่ละชิ้นต้องสัมพันธ์กันพอดี และขั้นตอนของการตระเตรียมส่วนต่าง ๆ นี้ ภาษาช่างเรียกว่า "ปรุงเรือน"  ซึ่งเมื่อนำส่วนต่าง ๆ  "คุม (ต่อเข้าด้วยกัน)" แล้วจึงจะเป็นเรือนที่สมบูรณ์


เทศกาลและประเพณี

ชาวอยุธยามีชีวิตที่ผูกพันกับท้องน้ำมาโดยตลอด ในอดีตจึงมีเทศกาลที่เป็นงานประเพณีมิได้ขาด และหน้าน้ำคือเดือน 11-12 (พฤศจิกายน-ธันวาคม) จะเป็นเวลาที่คึกคักมากที่สุด ด้วยมีน้ำและข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ เช่น เทศกาลกฐิน งานไหว้พระหลังออกพรรษา รวมทั้งงานลอยกระทงอีกด้วย
นอกจากงานเทศกาลหน้าน้ำแล้ว ยังมีงานประเพณีในรอบปีที่สำคัญ ๆ เช่น งานประเพณีตรุษสงกรานต์เดือน 5 พิธีเวียนเทียนในวันมาฆบูชาและวิสาขบูชา งานเข้าพรรษา และงานสารท เป็นต้น ดังเพลงยาวไทยรบพม่า ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวร ในรัชกาลที่ 1 ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า "ทั้งพิธีปีเดือนทุกคืนวัน สารพันจะมีอยู่อัตรา ฤดูก็ได้เล่นเกษมสุข แสนสนุกทั่วเมืองหรรษา"
หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลายจนสิ้น โบราณราชประเพณีต่าง ๆ จึงย้ายมาประกอบกันในกรุงรัตนโกสินทร์ แม้ปัจจุบันจะมีประเพณีเหลืออยู่ก็ไม่แตกต่างกว่าจังหวัดอื่น ๆ แต่ที่ยังสืบทอดกันมาคือ ประเพณีตามแบบจีน คือ ประเพณีทิ้งกระจาด ที่วัดพนัญเชิง


| ย้อนกลับ |หน้าต่อไป | บน |