บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

            การศึกษาพิจารณาปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหารนั้นจำเป็นต้องทราบข้อมูลและเหตุการณ์เกี่ยวข้องทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นของเหตุการณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ ที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองอินโดจีน ซึ่งรวมทั้งกัมพูชาที่เป็นของไทยมาแต่เดิม หลังจากนั้นฝรั่งเศสก็ยึดครองส่วนที่เป็นประเทศกัมพูชาที่อยู่ติดกับประเทศไทยในปัจจุบันทางภาคตะวันออกไปถึงภาคอีสานใต้
           มูลเหตุของความขัดแย้งเกิดจากสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ๒ ฉบับ ฉบับแรกในปี พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๙๐๔) ฉบับที่สองในปี พ.ศ.๒๔๕๐ (ค.ศ.๑๙๐๗) สนธิสัญญาฉบับหลังมีข้อความตอนหนึ่งในสนธิสัญญาว่า "ได้เขียนโครงวาดในแผนที่โดยประเมินไว้แบบหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นสนธิสัญญาด้วย" โครงวาดดังกล่าวที่เขียนไว้ในแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ของฝรั่งเศสเป็นแนวเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอันเป็นที่มาของปัญหานี้
           เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ กัมพูชาได้ยื่นฟ้องไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศขอให้วินิจฉัยว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ศาล ฯ ได้มีคำพิพากษา เมื่อ๑๕ มิ.ย.๐๕ ให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชาโดยไม่ได้ตัดสินเรื่องแนวพรมแดนไทยกับกัมพูชาตามที่กัมพูชาร้องขอมาเพิ่มเติมภายหลัง ประเทศไทยโดยคณะรัฐมนตรีได้กำหนดขอบเขตปราสาทพระวิหารคืนให้กัมพูชาและส่งหนังสือแจ้งเลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อ ๑๓ ก.ค.๐๕ ว่าไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฯแล้วและขอสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา
           นับจากนั้นมาถึงปี พ.ศ.๒๕๔๘ เหตุการณ์เรื่องปราสาทพระวิหารระหว่างกัมพูชากับไทย ก็เกิดมีขึ้นเป็นระยะๆ แต่ไม่ได้มีนัยสำคัญมากนักข้อมูลทั้งหมดนี้จะมีรายละเอียดอยู่ในหัวข้อ ภูมิหลัง และ ข้อเท็จจริง ในข้อ ๒.๑ , ๒.๒ และ ๒.๓
           ปัญหาปราสาทพระวิหารได้เกิดมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญขึ้นมาเมื่อระหว่าง ปี พ.ศ.๒๕๔๘ – ๒๕๔๙ เมื่อกัมพูชาได้เริ่มดำเนินการเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกและประเทศไทยได้ดำเนินการวางมาตรการป้องกันความเสียหายที่มีจะมาสู่ประเทศไทยจากกลไกของความเป็นมรดกโลก นับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ ๓๑ ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ จนเป็นผลให้การดำเนินการของกัมพูชายังไม่เป็นผลจนนำมาสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ที่เมืองควีเบค ประเทศแคนาดา กัมพูชาจึงดำเนินการได้สำเร็จด้วยกุศโลบายที่ชาญฉลาดที่ฝ่ายไทยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดคิดไม่ถึงถึงขั้นตอนที่กัมพูชาใช้กลไกของความเป็นมรดกโลกมาเป็นมาตรการบังคับเอาแก่ประเทศไทยในอนาคต รายละเอียดในขั้นตอนนี้มีอยู่ใน ข้อเท็จจริง ในข้อ ๒.๗, ๒.๘, ๒.๙ ,๒.๑๐ ๒.๑๑, ๒.๑๒ และใน ข้อพิจารณา
           สำหรับองค์ความรู้ประกอบการพิจารณาที่จำเป็นต้องมีเป็นพื้นฐานมีอยู่ในข้อเท็จจริงในข้อ ๒.๔, ๒.๕, ๒.๖, ๒.๗, ๒.๘ และ ๒.๙
           ข้อเสนอแนะได้มาจากการพิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องและนำมาสู่ข้อสรุปว่าฝ่ายกัมพูชาอาศัยกลไกการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก เพื่อเข้าครอบครองพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิอันเป็นผลมาจากการพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งมีความกำกวมในเรื่องเขตแดน
           สำหรับการป้องกันการขยายผลของกัมพูชานั้นมีอยู่หลายประการด้วยกันรายละเอียดมีอยู่ในข้อเสนอ ในข้อ ๔.๑ - ๔.๘ โดยสรุปดังนี้
           ปัญหาปราสาทพระวิหารมีความเป็นมาที่ยาวนานและสลับซับซ้อนมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด การพิจารณาปัญหานี้โดยเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งแล้วนำมาสู่ข้อเสนอแนะนั้นมีโอกาสผิดพลาดได้มาก กัมพูชาได้ใช้กลไกการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกแต่ฝ่ายเดียวมาขยายผลเข้าครอบครองพื้นที่ในเขตของไทย และพื้นที่ที่ยังมีปัญหาอ้างสิทธิ์ระหว่างกัมพูชากับไทย ประเทศไทยต้องดำเนินการแก้ไขโดยสะกัดกั้นกลไกนี้ไว้ให้ทันท่วงทีในทุกขั้นตอนของเรื่องนี้โดยทำหนังสือไปยังคณะกรรมการมรดกโลก ยูเนสโก และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้เป็นการรุกล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลไทยเท่านั้น หรือมิฉะนั้นก็จะต้องยินยอมให้ส่วนประกอบอื่น ๆ ของปราสาทพระวิหารที่อยู่ในเขตแดนของไทยได้รับดารพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกันกับตัวปราสาทพระวิหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปแล้ว อันเป็นลักษณะของการเป็นมรดกโลกแบบข้ามพรมแดน ( Transboundary Nomination ) ระหว่างไทยกับกัมพูชา