ภูมิหลัง
ปราสาทพระวิหารเป็นโบราณสถานที่เป็นปราสาทหินตามแบบศิลปะขอมตั้งอยู่บนยอดเขาพระวิหาร ในเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา ตรงข้ามบ้านภูมิซรอล ตำบลบึงมะลู อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ตัวปราสาทเรียงเป็นชั้น ๆ เป็นทางยาวตามแนวทิศเหนือ – ใต้ เริ่มจากเชิงเขาด้านล่างทางทิศเหนือไปจนสุดยอดเขาซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ๖๕๗ เมตร ถัดลงไปเป็นหน้าผาลงไปสู่พื้นที่ที่เรียกกันว่าเขมรต่ำอยู่ ในเขตอำเภอจอมกระสาน จังหวัดกำปงธม ประเทศกัมพูชา ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปราสาทพระวิหารสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ เพื่อเป็น ศาสนสถานตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายที่นับถือพระศิวะ (อิศวร) เป็นเทพสูงสุด ปราสาทพระวิหารน่าจะถูกทิ้งร้างไปหลังปี พ.ศ.๑๙๗๔ เมื่อกองทัพกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้าสามพระยายกทัพมาตีกรุงศรียโสธรปุระ (นครวัด) นครธม ของกัมพูชาได้ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๒ ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพประสิทธิ์ประสงค์ได้ทรงไปพบปราสาทนี้ ในขณะที่พระองค์ทรงเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกพระองค์ได้สลักข้อความไว้ที่ชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า "๑๑๘ สรรพสิทธิ์" (๑๑๘ คือร.ศ.๑๑๘) เป็นเวลาก่อนการทำสัญญาปักปันเขตแดนไทยกับฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๙๐๔) จากการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในภูมิภาคส่วนนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทยคือ ในปี พ.ศ.๒๔๑๐ ไทย (สยาม) จำต้องทำสนธิสัญญายอมยกกัมพูชาให้ฝรั่งเศสเป็นผู้อารักขายกเว้นเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ยังเป็นของไทยต่อมาเมื่อเกิดกรณีพิพาทสยาม - ฝรั่งเศส ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๓๖ ฝรั่งเศสส่งเรือปืนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา และบังคับให้ไทย (สยาม) ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส เป็นการเสียลาวและกัมพูชาให้ฝรั่งเศสในครั้งนั้น ต่อมาฝรั่งเศสได้ไปยึดจันทบุรีและตราดไว้เป็นเหตุให้ไทยต้องทำสนธิสัญญาในปี พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๙๐๔) ยกหลวงพระบางกับดินแดนภาคใต้ของเทือกเขาพนมดงรักให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับจันทบุรีในสนธิสัญญาฉบับนี้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนสยาม – ฝรั่งเศส ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐ (ค.ศ.๑๙๐๗) ไทย (สยาม) ได้ทำสนธิสัญญายกเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองด่านซ้าย ตราด และเกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด คืนมาเป็นของไทย ในกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ก่อนสงครามมหาเอเซียบบูรพาในปี พ.ศ.๒๔๘๔ รัฐบาลไทยได้เข้ายึดดินแดนที่เคยเสียไปในรัชกาลที่ห้าคืนมาตามสนธิสัญญาโตเกียว แต่เมื่อสงครามมหาเอเซียบูรพายุติลงและญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงครามไทยต้องคืนดินแดนดังกล่าวให้ฝรั่งเศสอีกแต่ไทยยังคงครอบครองปราสาทพระวิหารอยู่และฝรั่งเศสได้ประท้วงในเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ (ค.ศ.๑๙๔๙) กัมพูชาได้เอกราชโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ (ค.ศ.๑๙๕๓) ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ประเทศไทยได้ตกลงจะเจรจาปัญหาเขตแดนกับกัมพูชา กัมพูชาได้ตอบรับว่าพร้อมที่จะเจรจา แต่ก็ไม่มีการเจรจากันแต่อย่างใด ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ชาวกัมพูชาได้ออกมาประท้วงเรื่องปราสาทพระวิหาร พระเจ้านโรดมสีหนุได้ทรงปราศรัยกับผู้ชุมนุม ได้กล่าวว่าไทยโกงเอาปราสาทพระวิหารของเขมรไป เขมรจึงควรทวงเอาคืนมา ต่อมาใน ๑๒ ก.ค.๐๑ พระเจ้านโรดมสีหนุเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อสันถวไมตรี และกำหนดนัดหมายคณะกรรมการที่จะมาประชุมเรื่องปราสาทพระวิหาร ๑๑ ส.ค.๐๑ คณะผู้แทนกัมพูชาได้เดินทางมาเจรจาปัญหาเรื่องเขตแดนไทย – กัมพูชา ทั้งบริเวณเขาพระวิหารและดอนโตน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จประชาชนชาวไทยได้ออกมาชุมนุมใน ๗ ก.ย.๐๑ ปราศรัยโจมตีรัฐบาลกัมพูชา ๒๔ พ.ย.๐๑ รัฐบาลกัมพูชาประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยครั้งแรกให้มีผลใน ๑ ธ.ค.๐๑ ประเทศพม่าเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ในกัมพูชา ประเทศไทยสั่งปิดพรมแดนด้านกัมพูชา ในการนี้ผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติได้เข้ามาสังเกตการณ์และไกล่เกลี่ยจนทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันขึ้นใหม่ในเดือนกุมพาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๒ ๒ ต.ค.๐๒ กัมพูชาได้ยื่นฟ้องไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศขอให้ศาลสั่งให้ประเทศไทยถอนกำลังทหารออกจากปราสาทพระวิหารและวินิจฉัยว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ฝ่ายไทยได้ตัดฟ้องโดยโต้แย้งเรื่องอำนาจศาล แต่ประเด็นดังกล่าวตกไปศาลจึงได้พิจารณาต่อถึงสนธิสัญญาและแผนที่แนบท้ายตลอดจนพฤติกรรมของฝ่ายไทยว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไทยไม่เคยโต้แย้งแผนที่ที่ผิดพลาดและการใช้อำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศสและกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร ๑๕ มิ.ย.๐๕ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้มีคำพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในอธิปไตยของกัมพูชาประชาชนไทยทั่วไปได้ชุมนุมเดินขบวน เริ่มจากจังหวัดจันทุบรีเมื่อ ๑๙ มิ.ย.๐๕ และแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ๓ ก.ค.๐๕ รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่สามจำยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาเนื่องจากตระหนักถึงกรณีในกฎบัตรสหประชาชาติของประเทศไทยและได้ส่งหนังสือแจ้งนายอูถั่น รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติตั้งข้อสงวนของไทยในคดีดังกล่าวให้ทราบต่อมาคณะรัฐมนตรีได้กำหนดขอบเขตบริเวณปราสาทพระวิหารโดยกำหนดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบปราสาทล้อมรั้วลวดหนามและทำป้ายบอกเขตบริเวณไทย – กัมพูชา หลังจากนั้นปราสาทพระวิหารได้มีการเปิดและปิดหลายครั้งและมีการผลัดเปลี่ยนกันครอบครองระหว่างเขมรแดงและรัฐบาลกัมพูชาเองทำให้การกำหนดเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งต่างยึดถือหลักคนละหลักต้องค้างคาตลอดมาจนถึงปัจจุบัน พ.ศ.๒๕๐๙ มีการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกัมพูชาตลอดแนวชายแดนเป็นเหตุให้รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nation Security Council : UNSC ) ต่อมาในปีเดียวกันได้มีการพยายามจากฝ่ายกัมพูชาขอให้ไทยสละสิทธิ์ที่สงวนไว้ตามหนังสือถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ตามมาตรา ๖๑ ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไทยไม่ยินยอมแต่ได้เสนอให้เป็นอธิปไตยร่วม (Condominium ) ระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศไปปราสาทพระวิหารโดยเสรี พ.ศ.๒๕๑๓ มีการเปิดเขาพระวิหาร ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม พ.ศ.๒๕๑๘ ปิดเขาพระวิหาร เนื่องจากเขมรแดงเข้ายึดอำนาจการปกครองกัมพูชา ๑๒ ก.ค.๒๕ เจ้านโรดมสีหนุ ให้สัมภาษณ์ นสพ. วิทยุ และโทรทัศน์ เนื่องในวันเฉลิมฉลองการจัดรัฐบาลผสมสามฝ่าย ที่โรงแรมเอราวัณ กรุงเทพ ฯ ว่า "หากรัฐบาลไทยจะรื้อฟื้นให้พิจารณาเรื่องเขาพระวิหารกันใหม่พระองค์ก็จะยอมพิจารณาด้วยเป็นอย่างดีและจะไม่ลืมบุญคุณของไทยที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อคนเขมร" ๘ เม.ย.๓๒ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่จังหวัดขอนแก่นผู้แทนราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เสนอคณะรัฐมนตรีเรื่องการขออนุญาตกัมพูชาให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเขาพระวิหารและตัวปราสาทเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่สามารถปฏิบัติได้แม้ทางรัฐบาลกัมพูชาจะเห็นด้วยและพร้อมที่จะเปิดปราสาทพระวิหารให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยรายงานว่าบริเวณเขาพระวิหารยังไม่มีความปลอดภัยและยังมีปัญหาจากข้อขัดแย้งทางการเมืองของกัมพูชาสี่ฝ่าย ๙ ม.ค.๓๕ เปิดเขาพระวิหารให้นักท่องเที่ยวเข้าชมหลังจากรัฐบาลกัมพูชาภายใต้การนำของฝ่าย CPP ได้รับชัยชนะ ๗ ก.ค.๓๗ เขมรแดงได้ส่งกำลังเข้ายึดเขาพระวิหารทำให้ต้องปิดเขาพระวิหาร เนื่องจากมีการสู้รบ ๒๙ พ.ย.๓๙ คณะรัฐมนตรีมีมติให้บูรณะปรับปรุงทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒๒๑ ตอน อำเภอ กันทรลักษ์ - เขาพระวิหาร ๒๐ - ๒๓ มี.ค.๔๐ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วม (Joint Committee - JC) ไทย – กัมพูชา เห็นชอบในหลักการที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทยกับจังหวัดพระวิหารของกัมพูชาเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย ๓๐ มี.ค.๔๑ หลังเขมรแดงบนเขาพระวิหารแปรพักตร์ร่วมกับรัฐบาลได้มีความพยายามเปิดเขาพระวิหารอีกครั้ง โดย กกล.สุรนารีกับภูมิภาคทหารที่ ๔ ของ กพช.มีการย้ายชุมชน กพช.จำนวน ๗๖ ครอบครัว ๓๕๐ คน จากบริเวณโดยรอบปราสาทลงมาอยู่บริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหาร มีการขยายชุมชนบริเวณทางขึ้นปราสาทเพิ่มมากขึ้นและเมื่อฝ่ายไทยจะสร้างอาคารสถานที่เพื่อแสดงสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว ฝ่าย กพช.ได้ห้ามมิให้มีการดำเนินการ ๒๔ ก.ค.๔๑ ผบ.กกล.สุรนารี และผู้บัญชาการกองกำลังฝ่าย CPP ในพื้นที่ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก พล.อ.เตีย บันห์ รมว.กห.ได้เจรจาตกลงร่วมทดลองเปิดจุดผ่านแดน ณ เขาพระวิหาร โดยอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ โดยฝ่ายกัมพูชาเก็บค่าผ่านแดนโดย กกล.สุรนารี ช่วยดำเนินการในเรื่องการเก็บกู้ระเบิด ๑ ส.ค.๔๑ ทดลองเปิดเขาพระวิหารเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ๑๗ ก.ค.๔๑ ในการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ นรม.ไทยกับกัมพูชาได้ตกลงในหลักการที่จะร่วมพัฒนาเขาพระวิหารให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัยและสะดวกต่อการเดินทางเข้าถึง โดยแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน พ.ศ.๒๕๔๒ มีการสร้างวัดบริเวณทางทิศตะวันตกของโคปุระหลังที่ ๑ อันเป็นส่วนหนึ่งของปราสาท พระวิหาร ห่างออกไปประมาณ ๓๐๐ เมตร เป็นบริเวณพื้นที่ที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องเส้นเขตแดนฝ่ายไทยประท้วงแต่ฝ่ายกัมพูชาก็ไม่ได้หยุดดำเนินการ มีการพัฒนาเส้นทางจากบ้านโกมุยขึ้นสู่เขาพระวิหาร เส้นทางดังกล่าวได้ล้ำเข้ามายังพื้นที่ที่ขัดแย้งเรื่อง เขตแดน ๑๔. มิ.ย.๔๓ ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย - กัมพูชา ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย – กัมพูชา ทำการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย – กัมพูชา การดำเนินการยังอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะถึงพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ดังนั้นทางราชการไทยจึงยังยึดถือแนวเขตแดนไทยตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นหลัก ๑ ส.ค.๔๔ มีการประชุมระหว่างประเทศ จนท.กต.กับนายวาร์ คิม ฮง ผู้รับผิดชอบกิจการชายแดนของกัมพูชา เพื่อแก้ปัญหาหากกรณีฝ่ายไทยต้องการสร้างศาลาที่พักบริเวณสุดถนนลาดยางบริเวณทางขึ้นปราสาท พระวิหาร ผลการประชุมให้ฝ่ายไทยชะลอการสร้างไว้ก่อนและเสนอปัญหาต่อ กต.ต่อไป ๕ พ.ย.๔๔ ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียระหว่าง ผวจ.ศก. ผู้แทนฝ่ายไทยกับนายวาร์ คิม ฮง ที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาแต่ผลการปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการตามข้อตกลง ๑๔.ธ.ค.๔๔ ฉก.กรม ทพ.๒๓ ขออนุมัติระงับการให้ประชาชนเข้าชมปราสาทพระวิหารเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุผลที่ประชาชนกัมพูชาบริเวณตลาดเชิงเขาพระวิหารได้มีการเพิ่มจำนวนขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมากเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากน้ำเน่าเสียไหลลงสู่เขตไทยบริเวณสระตราวทำให้ราษฎรไทยไม่น้อยกว่า ๕ หมู่บ้านในเขต ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ได้รับความเดือดร้อน กลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและจัดการของกัมพูชาที่ประจำอยู่บนเขาพระวิหารจำนวนไม่น้อยกว่า ๖ กลุ่ม แต่ละกลุ่มไม่สามารถปกครองบังคับบัญชากันได้ต่างแสวงหาประโยชน์ทุกรูปแบบจากนักท่องเที่ยวจนส่งผลกระทบในเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ๑๗ ธ.ค. ๔๔ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชาและประธานคณะกรรมการเพื่อดูแลและพัฒนาการท่องเที่ยวปราสาทพระวิหาร (ฝ่ายกัมพูชา) ถูกปลดจากตำแหน่งเนื่องจากได้ลงนามในบันทึกการประชุมความร่วมมือในการพัฒนาเขาพระวิหารให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ระหว่างไทย - กัมพูชา เมื่อ ๑ มิ.ย.๔๔ มิ.ย.๔๖ มีการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย – กัมพูชา ที่เมืองเสียมราฐและที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้มีมติร่วมกันเป็นครั้งแรกให้มีความร่วมมือพัฒนาเขาพระวิหารและบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทพระวิหาร เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนระหว่างสองประเทศเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนไทยกับกัมพูชาในทุก ๆ ด้าน ๓๑ พ.ค.- ๑ มิ.ย.๔๖ ฝ่ายไทยโดย กกล.สุรนารี ได้ปิดจุดผ่านแดนเขาพระวิหาร เนื่องจากฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียไหลลงแหล่งน้ำในฝั่งไทย ๓๑ พ.ค.๔๖ ที่ประชุม ครม.ร่วมไทย – กัมพูชา ที่เมืองเสียมราฐได้มีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพัฒนาเขาพระวิหาร โดยฝ่ายไทยมี รมว.กต.เป็นประธาน ฝ่ายกัมพูชามี นายสก อาน รมว.อาวุโส ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นประธาน ๒๕ มี.ค.๔๗ เปิดเขาพระวิหารเป็นแหล่งท่องเที่ยว ๒๕ พ.ย.๔๗ คณะกรรมการเพื่อพัฒนาเขาพระวิหารได้จัดประชุมที่กรุงเทพ ฯ และได้ตกลงในหลักการเกี่ยวกับความร่วมมือพัฒนาร่วมเขาพระวิหาร โดยกัมพูชาเห็นชอบกับหลักการพื้นฐานในการพัฒนาร่วม เขาพระวิหารตามที่ได้หารือกับฝ่ายไทย และขอว่าความร่วมมือนี้ควรเริ่มดำเนินการหลังจากที่ปราสาทพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว ม.ค.๔๘ กระทรวงการต่างประเทศประท้วงกัมพูชากรณีการก่อตั้งชุมชนกัมพูชาบริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหารเพราะขัดข้อตกลงไทย - กัมพูชา ปี พ.ศ.๒๕๔๓ และก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและน้ำเสีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนไทย รวมทั้งได้ประท้วงการก่อสร้างที่ทำการของหน่วยงานท้องถิ่นกัมพูชาบริเวณดังกล่าวด้วย ๘ ม.ค.๔๘ กระทรวงการต่างประเทศประท้วงต่อกัมพูชาเกี่ยวกับการก่อสร้างพัฒนาถนนจากบ้านโกมุยขึ้นสู่ปราสาทพระวิหาร ซึ่งมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศในพื้นที่ ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นต่างในเรื่องเขตแดน ๘ มี.ค.๔๘ กัมพูชายื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ๖ พ.ค.๔๘ นรม.(พ.ต.ท.ทักษิณ ฯ) ให้ฝ่ายไทยเตรียมประเด็นหารือกับกัมพูชาในการเคลื่อนย้ายชุมชนกัมพูชา และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่บริเวณตลาดทางขึ้นปราสาทพระวิหาร เพื่อนำเข้าที่ประชุมหารือกับนายฮุนเซน นรม.กัมพูชา ใน ๑๓ - ๑๔ พ.ค.๔๘ ๑๐ พ.ค.๔๘ ผบ.ทบ.ได้สั่งการในที่ประชุม ศปก.ทบ.เพื่อรองรับตามสั่งการของ นรม.ที่มีบัญชาให้ กต.เตรียมประเด็นหารือกับฝ่ายกัมพูชา เรื่องปัญหาเขตแดนบริเวณเขาพระวิหาร โดยขอให้ฝ่ายกัมพูชาเตรียมย้ายชุมชน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเส้นทางที่มีการก่อสร้างรุกล้ำเขตแดน และหากฝ่ายกัมพูชายังไม่ดำเนินการใด ๆ ฝ่ายไทยอาจใช้กำลังผลักดัน ๑๑ - ๑๖ พ.ค.๔๘ มีการเคลื่อนไหวเพิ่มเติมกำลังของทั้งสองฝ่าย โดยกัมพูชาได้ปิดประตูทางขึ้นปราสาทและอพยพครอบครัวของกำลังพลออกไปจากพื้นที่เดิม ๑๖๕ ครอบครัว คงเหลืออยู่ประมาณ ๒๐ ครอบครัว ๑๗ พ.ค.๔๘ ภาคทหารที่ ๔ ของกัมพูชา กับ กกล.สุรนารี มีการเจรจากัน แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ หลังจากนั้น รมว.กห. ของทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน เพื่อยุติการเผชิญหน้าด้วยกำลังและให้นำปัญหาเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการร่วมในระดับต่าง ๆ ๑๙ พ.ค.๔๘ ภาคทหารที่ ๔ ของกัมพูชากับ กกล.สุรนารี เจรจากันอีกครั้ง ผลการเจรจาให้คงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยทหารตามแนวชายแดนให้เป็นปกติ หลีกเลี่ยงการใช้กำลังและอาวุธ ในส่วนของสิ่งปลูกสร้างบริเวณทางขึ้นปราสาทให้เป็นเรื่องของฝ่ายบ้านเมือง ๒๐ พ.ค.๔๘ กำลังของทั้งสองฝ่ายถอนตัวเข้าสู่ภาวะปกติและฝ่ายกัมพูชาเปิดประตูทางขึ้นปราสาท พระวิหารให้ประชาชนเข้าชมปราสาทพระวิหารได้ตามปรกติ
|