๒.๗ การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
                   ๒.๗.๑ หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม มีอยู่ ๖ ประการด้วยกันคือ
                             - เป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรมหรือตัวแทนของความงดงามและเป็นผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดยิ่ง
                             - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวนและภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องหรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาเหล่านั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่งหรือบนพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดของโลก
                             - เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่งหรือเป็นพยานหลักฐานแสดงขนบธรรมเนียม ประเพณี หรืออารยธรรม ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่หรืออาจสูญหายไปแล้ว
                             - เป็นตัวอย่างของลักษณะทั่วไปของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรม
                             - เป็นตัวอย่างของลักษณะอันเด่นชัดหรือของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรมวิธีการก่อสร้างหรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวมันเองหรือเสื่อมสลายได้ง่ายเพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
                             - มีความคิดหรือความเชื่อถือที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่มีความสำคัญหรือความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์
                   ๒.๗.๒ ความเป็นมาของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
                             - ๑ ก.ย.๓๕ กัมพูชาได้เสนอให้อยู่ในบัญชีเบื้องต้น (Tentative List )
                             - ๘ ม.ค.๔๘ กัมพูชาได้ยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
                             - ๑๙ ก.ย.๔๘ สถาน ออท.ไทย ณ กรุงปารีสได้รายงานผลการหารือกับศูนย์มรดกโลก สรุปได้ว่ากัมพูชาได้ยื่นจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตั้งแต่ ม.ค.๔๘ แต่ศูนย์มรดกโลกได้ขอให้กัมพูชาเสนอเอกสารประกอบการยื่นจดทะเบียนใหม่ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนที่เขตกันชนซึ่งกัมพูชากำหนดขึ้นครอบคลุมทั้งของกัมพูชาและของไทย
                             - ๓๐ ม.ค.๔๙ กัมพูชาได้ยื่นเอกสารต่อศูนย์มรดกโลก เพื่อขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอีกครั้งหนึ่ง และยูเนสโกได้ขอให้สภาระหว่างประเทศว่าด้วยโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี (International Council on Monument and Sites : ICOMOS ) ประเมินคำขอของกัมพูชาและให้ข้อเสนอแนะก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๑ พิจารณาในเดือน ก.ค.๕๐ ที่เมือง ไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นการเสนอตามหลักเกณฑ์ที่ ๑, ๓ , และ ๔
                             - ๒๐ มี.ค.๕๐ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับผู้แทนกัมพูชา ซึ่งเดินทางมาเยือนไทยภายใต้ภารกิจของยูเนสโก โดยฝ่ายไทยได้แจ้งข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับเขตแดนให้ฝ่ายกัมพูชาทราบอย่างตรงไปตรงมาพร้อมกับข้อเสนอแนะต่าง ๆ และได้ยื่นเอกสารแสดงท่าทีข้อห่วงกังวลของไทยและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเช่นการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันในลักษณะสถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยว (Transboundary Property ) ฝ่ายกัมพูชารับทราบปัญหา และข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องเขตแดนของไทยและชี้แจงว่าเป็นปัญหาทางกายภาพ
                             - ๑๗ พ.ค.๕๐ กระทรวงการต่างประเทศได้ยื่นบันทึกช่วยจำแก่ ออท.กัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่อคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และได้ส่งสำเนาให้ประธานคณะกรรมการมรดกโลกทราบ และพิจารณาด้วย
                             - พ.ค. - มิ.ย.๕๐ ฝ่ายไทยได้ดำเนินการทั้งในส่วนที่เป็นเอกสารทางกฎหมายจัดทำเอกสารโต้แย้งข้อพิจารณาของ ICOMOS รวมทั้งเอกสารโต้แย้งท่าทีของกัมพูชาเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร และได้ดำเนินการทางการทูตเพื่อชี้แจงให้ประเทศสมาชิกของคณะกรรมการมรดกโลกทราบถึงปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกทราบถึงปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่กำลังจะมีขึ้นลงมติให้เลื่อนการพิจาณาออกไป เพื่อให้กัมพูชาหันกลับมาเจรจากับไทยให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับปัญหาเขตแดน และการใช้อำนาจอธิปไตยเสียก่อน แล้วจึงยื่นคำขอให้ร่วมกัน
                             - ๑๙ - ๒๐ มิ.ย.๕๐ นายฮอร์ นัม ฮอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา และคณะมาเยือนไทยหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในการขอรับการสนับสนุนกรณีกัมพูชาเสนอขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งจะมีการพิจารณาโดยที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๑ ที่เมืองไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ (๒๓ มิ.ย. - ๒ ก.ค.๕๐) แต่ไม่สามารถตกลงกันได้
                             - ๒๘ มิ.ย.๕๐ คณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๑ ได้มีมติเกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกให้เลื่อนการพิจารณาการขึ้นทะเบียนของกัมพูชาอออกไป และให้ไทยกับกัมพูชาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
                             - ๑๕ - ๑๗ ส.ค.๕๐ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศได้เดินทางไปเยือนกัมพูชาเพื่อเจรจาหารือกับนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรี/ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และมอบหนังสือจากนายกรัฐมนตรีที่มีถึงสมเด็จ ฯ ฮุนเซน ให้แก่ฝ่ายกัมพูชา เพื่อให้ทราบถึงความตั้งใจจริงและเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะร่วมมือกับฝ่ายกัมพูชา
                             - ๑๘ ต.ค.๕๐ บก.ทหารสูงสุด ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
                             - ๑๑ - ๑๓ ม.ค.๕๑ กัมพูชาจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ ที่เมืองเสียมราฐ ได้เสนอรายงานที่มีความคลาดเคลื่อนหลายประเด็นและละเลยที่จะกล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขตแดน รวมทั้งใช้แผนที่แสดงเขตแดนกัมพูชาซึ่งทับซ้อนกับแนวเขตแดนที่ไทยอ้างสิทธิแม้ผู้เชี่ยวชาญไทยจะได้โต้แย้งเชิงวิชาการ และแสดงข้อห่วงกังวลของฝ่ายไทยและอำนาจอธิปไตยของไทยแล้ว ที่ประชุมก็ยังคงละเลยข้อทักท้วงของฝ่ายไทย ฝ่ายไทยจึงได้กล่าวแถลงการณ์ประท้วงและถอนตัวออกจากการทำรายงานร่วม
                             - ๑๔ ม.ค.๕๑ กัมพูชาจัดการประชุมสรุปรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญต่างชาติต่อนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่ร่างรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญยังคงปรากฏแผนที่ที่แสดงเส้นเขตแดนตามที่ฝ่ายกัมพูชาอ้าง และยังคงเพิกเฉยต่อข้อทักท้วงของไทย อัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญจึงได้กล่าวแถลงการณ์ประท้วงชี้แจงท่าทีของไทย แต่นายสก อาน กล่าวว่าการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องของวัฒนธรรมไม่เกี่ยวกับเขตแดน และยูเนสโกไม่มีอาณัติที่จะพิจารณาเรื่องเขตแดน จึงขอให้หารือเรื่องนี้ต่อไป และขอให้นาย วาร์ คิม ฮอง เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการกับฝ่ายไทย เพื่อแก้ปัญหาเขตแดนบริเวณดังกล่าว
                             - ๑๕ ม.ค.๕๑ ผบ.ทหารสูงสุด พร้อมด้วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการต่อปัญหาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็น มรดกโลก
                             - ๒๑ ก.พ.๕๑ ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่สิงคโปร์และการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการของ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย ฮอร์ นัม ฮอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้แจ้ง นายนพดล ฯ ว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเจรจาเรื่องเขตแดนที่ดำเนินโดยคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา ซึ่งกัมพูชาก็พร้อมที่จะออกแถลงการณ์ยืนยันในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้กัมพูชายินดีที่ไทยจะเข้าร่วมในการพัฒนาเขาพระวิหาร ซึ่ง นายนพดล ฯ ตอบชี้แจงว่าไทยมิได้คัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา แต่ต้องการความมั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการเจรจาเส้นเขตแดนในอนาคต
                             - ๒๗ ก.พ.๕๑ นาย ฮอร์ นัม ฮอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้มีหนังสือถึง นายนพดล ฯ แจ้งว่าฝ่ายกัมพูชาได้จัดทำรายงานส่งให้ศูนย์มรดกโลก เมื่อ ๒๘ ม.ค.๕๑ ตามข้อตกลงของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกไม่เกี่ยวข้องเรื่องปัญหาการปักปันเขตแดน และการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ในเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนไม่ถือเป็นการกำหนดเส้นเขตแดนทั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – กัมพูชา จะเจรจากันในเรื่องปัญหาเส้นเขตแดนต่อไป
                             - ๒๗ ก.พ.๕๑ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. ได้เชิญผู้แทนจากกองทัพประชุมหารือเกี่ยวกับมาตรการที่ กต. จะดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิของประเทศไทยในการรักษาเอกราชอธิปไตยเหนือดินแดนบริเวณเขาพระวิหาร
                             - ๓ - ๔ มี.ค.๕๑ ในระหว่างการเดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชาว่า ไทยไม่ขัดขวางการขอขึ้นทะเบียนปราสาท พระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา แต่การขึ้นทะเบียนจะต้องไม่กระทบสิทธิ เรื่องเขตแดนและอธิปไตยของไทย และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายหารือกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ฝ่ายกัมพูชาได้เสนอร่างแถลงการณ์ร่วมให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งระบุว่าไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ตามที่ปรากฏในแผนที่แนบท้ายเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนไม่ถือเป็นการกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ รวมทั้งเสนอให้มีการประชุมร่วมกันในกรอบคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ
                             - ๒๐ - ๒๑ มี.ค.๕๑ กต. ได้เชิญทูตมิตรประเทศจำนวน ๑๙ ประเทศ เดินทางไป ทัศนศึกษาพื้นที่โครงการพระราชดำริ ในพื้นที่แถบภาคอีสานของไทย รวมถึงมีกำหนดการเดินทางขึ้นไปชมปราสาทพระวิหารด้วย โดยได้ประสานไปยัง ออท.กัมพูชา/ ไทย แต่ทาง ออท.กัมพูชา/ไทย ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง ออท. ที่ฝ่ายไทยเชิญไปร่วมคณะ ไม่ให้เดินทางไปพร้อมทั้งกล่าวว่า การเดินทางไปยังปราสาทพระวิหาร ถือเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของกัมพูชา และจะไม่รับรองความปลอดภัย ทำให้ ออท.บางส่วนยกเลิกการเดินทาง คงเหลือเพียง ๔ ประเทศ ที่เดินทางไปเยี่ยมชม และเมื่อเดินทางไปถึง จนท. กัมพูชา ก็ห้ามมิให้เดินทางเข้าไปยังปราสาทพระวิหาร
                             - ๓๐ มี.ค ๕๑ นายสมัคร ฯ ได้พบกับสมเด็จ ฯ ฮุนเซน ที่เวียงจันทน์ และเสนอให้มีการจัดทำแผนบริหารจัดการร่วมกันในพื้นที่รอบปราสาท สมเด็จ ฯ ฮุนเซน ยืนยันว่า จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทและไม่เกี่ยวกับเส้นเขตแดน ส่วนพื้นที่บริเวณรอบตัวปราสาท ฝ่ายกัมพูชายังไม่ได้พิจารณาว่า ควรจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันรูปแบบใด และทราบดีว่าพื้นที่รอบปราสาทนั้น ด้านหนึ่งเป็นของไทย โดยจะมอบหมายให้ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาหารือเรื่องนี้กับไทย
                             - ๑๐ เม.ย.๕๑ กระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญ ออท.กัมพูชา ประจำประเทศไทย มาพบเพื่อยืนยันบันทึกช่วยจำ ( Aide Memoire ) ของไทยประท้วงกัมพูชาที่ละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนไทย การมีชุมชนกัมพูชาตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ์รวมทั้งขอให้ถอนกำลังทหาร และตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
                             - ๑๑ เม.ย.๕๑ นายอุ๊ก บอริท รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ได้เชิญ ออท.ไทย ณ กรุงพนมเปญ ไปพบเพื่อมอบเอกสาร ซึ่งปฏิเสธข้อกล่าวหาของไทยทุกประการ โดยชี้ว่าไม่มีกองกำลังทหาร และตำรวจบนเขาพระวิหาร ชุมชนที่ตั้งอยู่ก็มีมานานแล้ว และตามคำตัดสินของศาลโลก เรื่องเส้นเขตแดนชัดเจนแล้ว จึงไม่มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาทพระวิหาร
                             - ๖ พ.ค.๕๑ นายนพดล ฯ ได้มอบหมายให้ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปพบหารือกับฝ่ายกัมพูชา ที่กรุงพนมเปญ เพื่อหาทางออกเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณปราสาท โดยมีผู้แทนจากกรมกิจการชายแดนทหาร และกรมแผนที่ทหาร ร่วมเดินทางไปด้วย ผลการหารือคือ ฝ่ายกัมพูชารับฟังฝ่ายไทย และผ่อนปรนในส่วนของการพัฒนาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารร่วมกัน แต่กัมพูชาก็ยังยืนยันว่าไม่มีพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องหารือร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับร่างแถลงการณ์ร่วม เพื่อรักษาสิทธิด้านเขตแดนของทั้งสองฝ่ายต่อไป
                             - ๑๔ พ.ค.๕๑ ภายหลังเข้าร่วมพิธีเปิดถนนหมายเลข ๔๘ (เกาะกง - สแรอัมเบิล ) และสะพาน ๔ แห่ง ที่จังหวัดเกาะกง กัมพูชา นายนพดล ฯ ได้หารือกับ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และการกำหนดเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา และพื้นที่พัฒนาร่วมบริเวณไหล่ทวีปที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกัน โดยฝ่ายกัมพูชาได้เสนอที่จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเป็นมรดกโลก และจะไปหารือยูเนสโก เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ต่อไป
                             - ๒๒ - ๒๓ พ.ค.๕๑ นายนพดล ฯ นำคณะผู้แทนไทยไปหารือกับ นายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่กรุงปารีส ภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเนสโก เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ให้ได้ข้อยุติก่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๒ ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา
                             - ๕ มิ.ย.๕๑ กัมพูชาเสนอร่างแผนผังฉบับปรับปรุงใหม่ให้ไทยพิจารณา
                             - ๙ - ๑๑ มิ.ย.๕๑ เจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหารสำรวจพื้นที่ปราสาทพระวิหารตามแผนผัง ที่ได้รับจากกัมพูชา
                             - ๑๖ มิ.ย.๕๑ สภาความมั่นคงแห่งชาติเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา และยูเนสโกเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร รวมทั้งแผนผังที่กัมพูชาส่งมาให้ไทยก่อนเสนอยูเนสโก
                             - ๑๗ มิ.ย.๕๑ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างคำแถลงการณ์ร่วมไทย – กัมพูชา และยูเนสโก เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก รวมทั้งแผนผังที่กัมพูชาส่งมาให้ไทย
                             - ๑๘ มิ.ย.๕๑ นายนพดล ฯ ลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมไทย – กัมพูชา และยูเนสโก ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
                             - ๒๔ มิ.ย.๕๑ คณะกรรมการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรม วุฒิสภา ได้คัดค้านการนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียวต่อยูเนสโก นายสุริยะใส กตะศิลา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอน การลงนามคำแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย กัมพูชา เป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ และเป็นการดำเนินการที่ขัดกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน
                             - ๒๗ มิ.ย.๕๑ ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดี ดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติของผู้ถูกฟ้องร้องคดีที่สอง เมื่อ ๑๗ มิ.ย.๕๑ จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
                             - ๓๑ มิ.ย.๕๑ ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องวินิจฉัยชี้ขาด ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ วรรคหก ประกอบมาตรา ๑๕๔ วรรคหนึ่ง (๑) ว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ฉบับลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๑ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่
                             - ๓ ก.ค.๕๑ ศาลรัฐธรรมนูญลงมติรับคำร้อง
                             - ๕ ก.ค.๕๑ นายนพดล ฯ ส่งหนังสือเวียนถึงประเทศสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก ทั้ง ๒๑ ประเทศ เพื่อย้ำคำสั่งศาลปกครองกลางและมติคณะรัฐมนตรีในเรื่องการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และแจ้งขอให้เลื่อนการขึ้นทะเบียนออกไป เพื่อเปิดโอกาสให้ไทยและกัมพูชาสามารถร่วมมือกันในการยื่นขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วม
                             - ๗ ก.ค.๕๑ ที่ประชุมคณะกรรมาธิการมรดกโลก ครั้งที่ ๓๒ มีมติ ๓๒ COM 8B.102 ให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตามเกณฑ์ที่ ๑ โดยที่ประชุมรับทราบว่าจะไม่ใช้แถลงการณ์ร่วมไทย – กัมพูชา และยูเนสโก มาพิจารณา เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางของไทยและรับทราบว่า กัมพูชาได้ยื่นแผนผัง (Graphic Plan) ที่ปรับปรุงใหม่และรับทราบความปรารถนาของไทย ที่แสดงออกหลายครั้งว่าต้องการจดทะเบียนปราสาทพระวิหาร และอาณาบริเวณโดยรอบเป็นมรดกโลกร่วมกับกัมพูชา และที่ประชุมได้บันทึกไว้ว่ากัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท โดยมิได้รวมอาณาบริเวณโดยรอบ
                             - ๘ ก.ค.๕๑ ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา หรือ Joint Communiqu? ลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ มีลักษณะครบองค์ประกอบของความเป็นสนธิสัญญา ตามอนุสัญญา กรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๖๙ และเป็นไปตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๑/๒๕๔๒ และที่ ๓๓/๒๕๔๓ จึงเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ และคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ฉบับลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
                             - ๑๐ ก.ค.๕๑ นายนพดล ฯ ลาออกจากตำแหน่ง มีผล ๑๔ ก.ค.๔๑
                             - ๒๑ ก.ค.๕๑ มีการประชุมคณะกรรมการชายแดนไทยกัมพูชา ( GBC ) สมัยวิสามัญ เริ่มด้วยการประชุมนอกรอบ ซึ่งเป็นการประชุมกันสองคนแล้วจึงประชุมในเวทีใหญ่ แต่ก็หาข้อยุติกันไม่ได้
                             - ๒๒ ก.ค.๕๑ กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ว่ากัมพูชาได้ส่งจดหมายร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ( UNSC ) เปิดประชุมฉุกเฉินเพื่อช่วยยุติการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างไทย – กัมพูชา สืบเนื่องจากกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าด้วยอาวุธ
                             - ๒๒ ก.ค.๕๑ นายฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาได้ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประธานอาเซียนและเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กำลังดำเนินการอยู่ที่สิงคโปร์ เรียกร้องให้อาเซียนแทรกแซงกรณีพิพาทระหว่างไทย – กัมพูชา โดยขอให้อาเซียนตั้งกลุ่มรัฐมนตรีร่วม ประกอบด้วย รมว.ต่างประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และลาว ขึ้นมาหาทางแก้วิกฤตการณ์นี้ด้วยสันติวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ด้านการทหารระหว่างไทย – กัมพูชา ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้ด้วย
                             รมว.กต.สิงคโปร์ สนองตอบโดยจัดการประชุมนอกรอบลับพิเศษ ระหว่าง รมว.กต.อาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ ในวันนั้น แต่ไม่มีผลคืบหน้าใด ๆ ไทยต้องการเจรจาแก้ปัญหากับกัมพูชาแบบทวิภาคี ซึ่งตามกฎพื้นฐานอาเซียนจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก
                             - ๒๒ ก.ค.๕๑ สมเด็จ ฯ ฮุน เซน นรม.กัมพูชา ได้ส่งจดหมายถึงยูเนสโก กล่าวหาว่าไทยมีพฤติกรรมรุกรานโดยไร้เหตุผลด้วยการส่งทหารเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อน การกระทำดังกล่าวเป็นภัยคุกคามสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเป็นการท้าทายหลักการทั้งหมดของกฎหมายระหว่างประเทศ
           ๒.๘ การพิจารณาของ ICOMOS และมติคณะกรรมการมรดกโลก
                   ๒.๘.๑ การพิจารณาของ ICOMOS มีข้อสรุปและข้อเสนอแนะ ต่อคณะกรรมการมรดกโลก ในเอกสาร WHC - 08/32. COM/INF. 8 B 1. ADD.2
                             - ในเมื่อคณะกรรมการ ฯ ได้ตัดสินใจไว้ล่วงหน้าแล้วว่าควรจะขึ้นทะเบียนทรัพย์สินชิ้นนี้ให้ได้ ICOMOS จึงมีความเห็นว่าจะขึ้นทะเบียนได้ตามหลักเกณฑ์ที่ I เท่านั้น
                             - คณะกรรมการ ฯ อาจติดใจที่จะขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่ I เท่านั้น ซึ่ง ICOMOS พิจารณาเห็นว่าจะเป็นการกระทำโดยปราศจากแผนที่และเส้นกำหนดเขตที่สมบูรณ์เพียงพอและจะทำให้การยอมรับในคุณค่าทางวัฒนธรรมของทรัพย์สินชิ้นนี้ไม่กว้างขวางเท่าที่ควรจะเป็น จากความเห็นดังกล่าวจึงไม่ปรารถนาที่จะเสนอแนะเป็นทางการต่อคณะกรรมการ ฯ ให้ขึ้นทะเบียน
                             - ตามรายงานฉบับเดิมที่เคยประเมินคุณค่าของทรัพย์สินชิ้นนี้ไว้แล้วนั้น ICOMOS พิจารณาว่าถ้าในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการ ฯ จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตามหลักเกณฑ์ที่ I เท่านั้น หลักเกณฑ์ที่ III และ IV ก็น่าที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสมในอนาคต ถ้ามีความเป็นไปได้ที่จะขยายขอบเขตของทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนแล้วให้รวมถึงภูมิทัศน์ของปราสาทตลอดจนชะง่อนผาด้วย
                             - ICOMOS ขอสนับสนุนให้รัฐภาคีทั้งสองคือกัมพูชากับไทยตกลงที่จะร่วมมือกันต่อไปในการพิทักษ์รักษาคุณค่าของทรัพย์สินชิ้นนี้ และขอแสดงความหวังว่าในอนาคตจะเป็นไปได้ที่รัฐภาคีทั้งสองจะร่วมกันเสนอการขยายขอบเขตของทรัพย์สิน ซึ่งจะเสนอให้เห็นถึงคุณค่าอันสมบูรณ์ของทรัพย์สินชิ้นนี้และ ภูมิทัศน์โดยรวม
                   ๒.๘.๒ มติการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ตามมติ 32 COM 8B.102 เมืองคิวเบค แคนาดา เมื่อ ๗ ก.ค.๕๑ สรุปได้ดังนี้
                             (๑) ได้ตรวจสอบเอกสาร WHC - 08/32. COM/INF. 8 B . ADD.2
                             (๒) อ้างถึงข้อมติ 31 COM 8 B.24 ซึ่งได้ยอมรับว่าบริเวณปราสาทพระวิหารมีความสำคัญในระดับนานาชาติ และมีคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล ตามหลักเกณฑ์ที่ (I), (III) และ (IV) และได้ตกลงในหลักการแล้วว่าปราสาทแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก
                             (๓) ได้รับทราบความก้าวหน้าที่ดำเนินโดยกัมพูชาเพื่อพัฒนาแผนบริหารจัดการสำหรับทรัพย์สินแห่งนี้ตามที่คณะกรรมการได้มีมติเรียกร้องไว้ ในมติ 31 COM 8B.24 ที่เมืองไครส์เชิร์ช นิวซีแลนด์
                             (๔) ขอบคุณรัฐบาลเบลเยียม สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสและอินเดีย ที่การทำงานของผู้เชี่ยวชาญ ขอบคุณรัฐบาลจีนกับญี่ปุ่นและ ICCROM ที่จัดหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วย
                             (๕) ยอมรับว่าแถลงการณ์ร่วมลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ.๒๐๐๘ โดยผู้แทนรัฐบาลกัมพูชาและไทยตลอดจนยูเนสโก รวมทั้งร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ซึ่งได้มีการกล่าวถึงอย่างผิดพลาดว่าได้มีการลงนามเมื่อวันที่ ๒๒ และ ๒๓ พฤษภาคม ค.ศ.๒๐๐๘ ในเอกสาร WHC - 08/32. COM/INF. 8 B 1. ADD.2 นั้นจะต้องไม่นำมาพิจารณาอีกเป็นไปตามรัฐบาลไทยที่จะยกหรืองดเว้นผลของแถลงการณ์ร่วมนั้นไว้ก่อนตามมาตรการชั่วคราวของศาลปกครองของไทย
                             (๖) รับทราบว่ากัมพูชาได้นำเสนอแผนกราฟฟิค (RGPP ) ที่ปรับปรุงใหม่ของทรัพย์สินชิ้นนี้ต่อคณะกรรมการ ฯ ได้บรรจุไว้ในเอกสาร WHC - 08/32. COM/INF. 8 B1 . ADD.2 ซึ่งแสดงให้เห็นเขตบริเวณที่ปรับปรุงใหม่ที่ได้เสนอสำหรับขึ้นทะเบียน ฯ
                             (๗) ตัดสินใจบนพื้นฐานที่มีข้อยกเว้นพิเศษที่จะรับข้อมูลที่รัฐภาคีได้เสนอมาเกินกำหนดเวลาที่ได้ระบุไว้
                             (๘) ยอมรับว่าไทยได้แสดงความปรารถนาครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะมีส่วนร่วมในการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาท ฯ และบริเวณโดยรอบ
                             (๙) รับทราบว่าทรัพย์สินที่ได้เสนอขึ้นทะเบียนแห่งนี้ได้ถูกลดขนาดลงคงเหลือเฉพาะตัวปราสาท ฯ เท่านั้น ไม่รวมบริเวณชะง่อนหินอันกว้างขวางตลอดจนหน้าผาและถ้ำ
                             (๑๐) พิจารณาต่อไปอีกว่าการวิจัยทางโบราณคดีกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นผลให้มีการค้นพบใหม่ ๆ ที่สำคัญซึ่งอาจนำไปสู่การพิจารณาเสนอมรดกโลกในลักษณะที่ข้ามพรมแดนแห่งใหม่ ซึ่งจะต้องได้รับการยินยอมเห็นชอบจากทั้งกัมพูชาและไทย
                             (๑๑) ส่งเสริมให้กัมพูชาร่วมมือกับไทย เพื่อพิทักษ์รักษาคุณค่าของปราสาทแห่งนี้และให้ตกลงกันว่าในอนาคตจะร่วมมือกันที่จะนำคุณค่าที่สมบูรณ์และภูมิทัศน์รอบ ๆ มาบรรจุไว้ในการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งใหม่ ที่จะเข้าหลักเกณฑ์ (III) และ (IV) ซึ่งได้ยอมรับไปแล้วโดยคณะกรรมการ ฯ ตามมติ 31 COM 8B.24
                             (๑๒) ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของกัมพูชาไว้ในบัญชีมรดกโลก ภายใต้ หลักเกณฑ์ที่ (I)
                             (๑๓) รับรองคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลคือปราสาทเป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมที่พิเศษประกอบด้วยวิหารชุด เชื่อมต่อกันโดยระบบทางเดินเท้าและบันได ซึ่งเป็นแกนกลางมีความยาว ๘๐๐ เมตร นับเป็นผลงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมเขมรที่มีคุณค่าโดดเด่นในด้านแบบแปลนการตกแต่งประดับประดา และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางภูมิสถาปัตย์ที่ยิ่งใหญ่อลังการ
                             องค์ประกอบของทรัพย์สินแห่งนี้ประกอบด้วยกลุ่มอาคารของปราสาท ซึ่งต้องลดความสมบูรณ์ลงในระดับหนึ่ง เนื่องจากขาดบางส่วนของบริเวณชะง่อนผาที่เป็นแหลมยื่นออกไป ซึ่งเป็นพื้นที่รายรอบขอบเขตของทรัพย์สินแห่งนี้ ในด้านการอนุรักษ์ก็มีมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมพอเพียงแต่ความก้าวหน้าในการกำหนดขอบเขตแผนบริหารจัดการนั้นยังต้องนำไปผนวกไว้ในแผนบริหารจัดการฉบับสมบูรณ์
                             (๑๔) เรียกร้องให้กัมพูชา โดยความร่วมมือกับยูเนสโก จัดประชุมคณะกรรมการประสานงานนานาชาติ เพื่อการพิทักษ์รักษาและพัฒนาทรัพย์สินนี้ ภายในเดือนกุมพาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๙ โดยให้เชิญรัฐบาลไทยมาร่วมด้วยกับให้เชิญผู้เป็นหุ้นส่วนนานาชาติอื่น ๆ ที่เหมาะสมอีกไม่เกิน ๗ ราย มาร่วมตรวจสอบนโยบายทั่วไปเกี่ยวกับการพิทักษ์รักษาคุณค่า ฯ ของทรัพย์สินแห่งนี้ โดยให้สอดคล้องกับมาตรการสากลของการอนุรักษ์
                             (๑๕) เรียกร้องให้กัมพูชาเสนอเอกสารดังต่อไปนี้ต่อศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๙
                                     ก) แผนที่ชั่วคราว เพื่อให้รายละเอียดเพิ่มเติมของทรัพย์สินที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้นี้และแผนที่กำหนดเขตพื้นที่กันชนที่ได้ระบุไว้ในแผนผังกราฟฟิค RGPP
                                     ข) แฟ้มนำเสนอมรดกโลกฉบับใหม่ที่ปรับปรุงแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการกำหนดขอบเขตของทรัพย์สินแห่งนี้
                                     ค) คำยืนยันว่าเขตการบริหารจัดการสำหรับทรัพย์สินแห่งนี้จะรวมไปถึงทรัพย์สินที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว รวมทั้งเขตพื้นที่กันชนซึ่งระบุไว้ใน RGPP
                                     ง) รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการเตรียมแผนบริหารจัดการ
                             (๑๖) เรียกร้องเพิ่มเติมให้กัมพูชาเสนอแผนบริหารจัดการฉบับสมบูรณ์สำหรับทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วนี้ รวมทั้งแผนที่ชุดล่าสุดเสนอต่อศูนย์มรดกโลก ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๑๐ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการ ฯ ในการประชุมครั้งที่ ๓๔ ในปี ค.ศ.๒๐๑๐ ต่อไป
           ๒.๙ การแถลงของฝ่ายไทยต่อคณะกรรมการมรดกโลก
                   ๒.๙.๑ รมว.กต.ไทยแถลงคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก นายนพดล ปัทมะ รมว.กต.ไทยแถลงคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร ที่ควีเบค แคนาดา เมื่อ ๗ ก.ค.๕๑
                             - เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน ฯที่คณะกรรมการได้ให้การรับรองไป ซึ่งแม้จะตั้งอยู่บนข้อบกพร่องและข้อจำกัดของคุณสมบัติต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการรับสถานะมรดกโลกที่สมบูรณ์ ตามข้อประเมินของ ICOMOS ด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ประเทศไทยประสงค์ให้บันทึกข้อสังเกตและข้อสงวน ดังนี้
                             - นอกเหนือจากข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดนต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขพื้นที่รอบปราสาทฯ ประเทศไทยประสงค์จะชี้ให้เห็นว่าข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลกไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติเนื่องจากการกระทำหรือมาตรการและการดำเนินการใด ๆ ที่จะติดตามหลังจากนี้ไม่ว่าจะโดยกัมพูชาหรือฝ่ายที่สามอื่น ๆ ในพื้นที่ข้างเคียงปราสาท ฯ ที่เป็นดินแดนไทยนั้นจะไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่าจะได้รับความยินยอมของประเทศไทยเท่านั้นในฐานะประเทศภาคีอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ค.ศ.๑๙๗๒ ประเทศไทยยืนยันสิทธิทั้งปวงของไทย ตามมาตรา ๑๑ (๓) ของอนุสัญญา ฯ ซึ่งกำหนดว่าการรวมเอาทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในดินแดนอธิปไตยหรือเขตอำนาจ ซึ่งอ้างสิทธิมากกว่าหนึ่งรัฐจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของรัฐที่มีข้อพิพาท
                             - ประเทศไทยขอย้ำว่าการประท้วงและคัดค้านเอกสารทั้งปวงที่กัมพูชาได้ยื่นเสนอขึ้นทะเบียนปราสาท ฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานทางเทคนิคของคณะผู้เชี่ยวชาญและรายงานความก้าวหน้าที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องเพราะประเทศไทยถูกปิดโอกาสไม่ให้เข้าร่วมอย่างเต็มที่จนต้องสงวนสิทธิ์และถอนตัวออกจากรายงานดังกล่าวประเทศไทยประสงค์ให้บันทึกแก่คณะกรรมการ ฯ ว่าแผนบริหารจัดการของปราสาทพระวิหารที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติจะไม่มีทางสมบูรณ์ไปได้ หากปราศจากความร่วมมือจากประเทศไทย
                             - คณะกรรมการ ได้เพิกถอนข้อเท็จจริงที่ว่าไทยมีฐานะเป็นประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญและความเป็นไปได้ที่ไทยจะยื่นเสนอบริเวณโดยรอบในเขตแดนไทยนี้มีลักษณะสอดคล้องเกื้อกูลต่อคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของปราสาท ฯ ในฐานะมรดกโลกประเทศไทยขอย้ำถึงความตั้งใจที่จะยื่นจดทะเบียนสถานที่และอาณาบริเวณในดินแดนไทยที่เกี่ยวเนื่องกับปราสาท ฯ เพื่อให้ได้รับสถานะเป็นมรดกโลก เพื่อให้คุณค่าความสำคัญและความสมบูรณ์ของสถานที่นี้
                             - โดยสรุปประเทศไทยจึงจำเป็นต้องคัดค้านข้อมติในการขึ้นทะเบียนปราสาท ฯ เป็นมรดกโลกตามที่กัมพูชาเสนอโดยฝ่ายเดียว เนื่องจากเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่ขาดความสมบูรณ์และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
                             - ไทยประสงค์จะย้ำการสงวนสิทธิ์ต่าง ๆ ตามที่ระบุในหนังสือ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ค.ศ.๑๙๖๒ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยถึงรักษาการเลขาธิการสหประชาชาติและยืนยันรักษาสิทธิของไทยว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่กระทบต่อสิทธิทั้งปวงของ ประเทศไทยเกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยตลอดจนการสำรวจและปักปันเขตแดนทางบกในพื้นที่อนาคตและท่าทีของกฎหมายของประเทศไทย
                   ๒.๙.๒ ประธานคณะกรรมการว่าด้วยมรดกโลกของไทย นายปองพล อดิเรกสาร แถลงที่ควีเบค แคนาดา เมื่อ ๗ ก.ค.๕๑ สรุปได้ดังนี้
                             - ประเทศไทยตระหนักเป็นอย่างดีว่าอนุสัญญามรดกโลกเป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งอนุรักษ์มรดกโลก เพื่อความมีจิตใจร่วมกันการเคารพซึ่งกันและกันและสันติภาพ
                             - ประเทศไทยได้ขอร้องครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ประเทศไทยได้มีส่วนในการเสนอร่วมกัน (Joint Nomination ) เพื่อให้ปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นวัดฮินดูในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ บนยอดเขาที่เป็นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอันเป็นดินแดนซึ่งยังมีข้อโต้แย้งกันระหว่างประเทศทั้งสองนั้นได้ขึ้นทะเบียนในลักษณะการเสนอร่วมแต่ได้ถูกปฏิเสธ
                             - ปราสาทพระวิหาร ได้รับการยินยอมให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเป็นกรณีพิเศษ โดยใช้หลักเกณฑ์ข้อที่ ๑ เพียงข้อเดียวเท่านั้น อีกทั้งยังปราศจากบริเวณกันชน (Buffer Zone) ซึ่งทำให้ขาดภูมิทัศน์บริเวณรอบด้านที่จะทำให้ปราสาทพระวิหารมีความสง่างามและความสมบูรณ์ด้วยเหตุผลดังกล่าวเราไม่สามารถจะยอมรับการขึ้นทะเบียนเพียงฝ่ายเดียว
                             - เราได้ประสงค์ที่จะให้เลื่อนการพิจารณาการเสนอขึ้นทะเบียนปราสาท ฯ ไปก่อนจนกว่ารัฐภาคีทั้งสองจะแก้ไขคลี่คลายข้อแตกต่างที่มีอยู่และสามารถร่วมกันขึ้นทะเบียน ฯ ซึ่งจะเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายได้
                             - เราขอประท้วงการใช้ผังทางภูมิศาสตร์หรือแผนที่ใด ๆ ของมรดกโลก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ข้อขัดแย้งยิ่งขึ้นและอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่เป็นมิตรในอนาคตระหว่างชุมชนที่อยู่รอบ ๆ บริเวณดังกล่าว
                             - พวกเราชื่นชมยินดีในความเป็นวิชาชีพของ ICOMOS โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อวิจารณ์ที่ตรงไปตรงมาและตรงประเด็นตลอดจนข้อสรุปและข้อเสนอแนะ ซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่งกับหลักการแห่งคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลความเป็นของแท้จริงและความสมบูรณ์ของมรดกโลก
                             - อนุสัญญามรดกโลกนี้ยังเป็นเรื่องของการส่งเสริมให้สาธารณชนเกิดความตระหนัก และมีส่วนร่วมตลอดจนบทบาทของชุมชนในการสนับสนุนมรดกโลก
                             - ชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ทางด้านเหนือของปราสาท ฯ ในดินแดนของประเทศไทยได้เคยเดินทางไปเยือนและเคารพบูชาพระวิหารแห่งนี้มาเป็นเวลานานนับร้อย ๆ ปี ในสมัยโบราณชุมชนในท้องถิ่นเหล่านี้ยังได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ดูแลปราสาทแห่งนี้ด้วย ดังมีข้อความปรากฏในจารึกแผ่นหนึ่งของปราสาท
           ๒.๑๐ บทความเรื่องข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประเด็นการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของ ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกของไทย
                   บทความนี้มีความยาวประมาณ ๗ หน้า แบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ๕ หัวข้อด้วยกันคือ ข้อกฎหมาย ความจริงและลักษณะของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยกัมพูชาฝ่ายเดียว ความพิลึกของกลไกปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จุดยืนเผชิญหน้าคณะกรรมการต่างชาติแทรกแซงเขตกันชนในราชอาณาจักรไทย และหลังจากประกาศจุดยืนดังกล่าวข้างต้นแล้ว
           ๒.๑๑ คำสั่งศาลปกครองกลาง เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ๒๔ มิ.ย.๕๑
                   มีผู้ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครองกลางว่าคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ ๑๗ มิ.ย.๕๑ เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชากรณีการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกพร้อมแผนที่แนบท้ายโดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายนพดล ปัทมะ) เป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม เมื่อ ๑๘ มิ.ย.๕๑ เพื่อให้ประเทศกัมพูชาเสนอต่อองค์การยูเนสโก ใน ๕ ก.ค.๕๑ แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวมีสาระสำคัญคือประเทศไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลกเป็นการกระทำโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายด้านอาณาเขตดินแดนและอธิปไตยของประเทศไทย จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สร้างภาระให้เกิดแก่ประเทศชาติ
                   ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อยังไม่มีการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาในบริเวณเขตแดนปราสาทพระวิหาร แต่ปรากฏว่าแผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วมที่กัมพูชาจัดทำขึ้นมีการกำหนดเขตรอบพื้นที่ปราสาทอาจถือได้ว่าประเทศไทยยินยอมรับเขตแดนรอบพื้นที่ปราสาทดังกล่าวโดยปริยาย การกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติที่ยากแก่การแก้ไขในภายหลัง
                   ศาลปกครองกลางจึงได้มีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อ ๑๗ มิ.ย.๕๑ ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและกัมพูชา และการดำเนินการตามติดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
           ๒.๑๒ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ ว่าเป็นหนังสือสนธิสัญญาหรือไม่
                   ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นสมาชิกสภาผู้แอทนราษฎร จำนวน ๑๕๑ คน เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ วรรคหกประกอบมาตรา ๑๕๔ (๑) เกี่ยวกับคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา ลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ เป็นหนังสือสนธิสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ หรือไม่
                   ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชาหรือ Joint Communiqu? ลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ แม้จะไม่ปรากฏสาระสำคัญอย่างชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่อันเป็นอาณาเขตของประเทศไทยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อบททั้งหมดในคำแถลงการณ์ร่วมประกอบแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า ในแผนที่หรือแผนผังแนบท้าย ซึ่งจัดทำขึ้นโดยประเทศกัมพูชาฝ่ายเดียวไม่ได้มีการกำหนดเขตของพื้นที่ N1 N2 และ N3 ให้ชัดแจ้งงว่ามีบริเวณครอบคลุมส่วนใดของประเทศเท่าใด ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่อง อาณาเขตของประเทศไทยประกอบกับการที่ประเทศกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกนั้นมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่เป็นประเด็นโต้เถียงกันในเรื่องของเส้นเขตแดนและขอบเขตที่ปราสาทตั้งอยู่ทั้งเป็นประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกันทั้งทางด้านสังคมและการเมืองมาโดยตลอด อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง คำแถลงการณ์ร่วม ฯ ดังกล่าวจึงเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย จึงเป็นหนังสือสนธิสัญญา ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๐ วรรคสอง กำหนดให้ต้องรับความเห็นชอบของรัฐสภา