๓. ข้อพิจารณา
           ในชั้นต้น คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม กลุ่มป้องกันประเทศเห็นว่าปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหารควรจะได้มีการแก้ปัญหาแบบองค์รวมในทุกมิติ จึงได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่จุดกำเนิดของปัญหานี้ วิวัฒนาการของปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันและแนวโน้มความน่าจะเป็นในอนาคต
           เมื่อเริ่มดำเนินงานโดยการประมวลข้อมูลจากทุกแหล่งทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงได้พบว่าบรรดาข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในสื่อมวลชนทุกแขนง เอกสารจากนักวิชาการที่ศึกษาพิจารณาในเรื่องนี้ รวมทั้งเอกสารข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อนำมาประมวลดูแล้วพบว่ามีความไม่สมบูรณ์ในหลายประเด็น เช่น ตัดตอนมาเป็นส่วน ๆ ความคลาดเคลื่อนในวันเวลาและเหตุการณ์เป็นต้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงได้พยายามหาต้นฉบับของเอกสารนั้น ๆ ในเรื่องที่สำคัญเช่น สนธิสัญญา ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ณ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๒๒ (พ.ศ.๒๔๔๗ ค.ศ.๑๙๐๔) สนธิสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดน ลง ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ.๒๔๕๐ ค.ศ.๑๙๐๗) คำตัดสินของศาลยุยติธรรมระหว่างประเทศกรณีปราสาทพระวิหาร เมื่อ ๑๕ มิ.ย.๐๕ หนังสือรายงานและโต้ตอบต่าง ๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องในครั้งนั้น บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย - กัมพูชา ทำการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย - กัมพูชา ลง ๑๔ มิ.ย.๔๓ คำแถลงการณ์ของกัมพูชา ไทย ยูเนสโก (Joint Communiqu? ) ลง ๒๒ พ.ค.๕๑ คณะกรรมการมรดกโลก ๒๐๐๗ - ๒๐๐๙ (World Heritage Committee 2007 - 2009 ) เกณฑ์การเลือกเพื่อขึ้นมรดกโลก (The Criteria for Selection ) อนุสัญญามรดกโลกยูเนสโก (UNECO World Heritage Convention ) ปี ค.ศ.๑๙๗๒ (พ.ศ.๒๕๑๕) ฯลฯ
           แต่เนื่องจากข้อมูลที่เกี่ยวข้องที่จะต้องนำมาพิจารณามีอยู่มากใช้เวลามากในการแสวงหาและประมวลผลข้อมูล แม้ว่าจะได้เพิ่มเวลาในการประชุมพิจารณาเป็นสองเท่าจากเวลาปกติแล้วก็ตาม เนื่องจากต้องรอเวลาในการเชิญวิทยากรที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงจากกรมแผนที่ทหาร กระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการมรดกโลกของไทย
           จากความตั้งใจเดิมที่จะศึกษาพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องปราสาทพระวิหารทั้งระบบแต่เนื่องจากปัจจัยเวลาไม่อำนวย เนื่องจากกัมพูชากับยูเนสโกจะต้องจัดประชุมกรรมการประสานงานนานาชาติ เพื่อพิทักษ์รักษาและพัฒนาปราสาทพระวิหารภายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๙ (พ.ศ.๒๕๕๒) ซึ่งในขั้นตอนนี้ประเทศไทยต้องแสดงจุดยืนเพื่อแก้ปัญหาอันจะเป็นโทษต่อประเทศไทยให้ทันเวลา ดังนั้นจึงต้องตัดตอนข้อพิจารณาปัญหาปราสาท พระวิหารทั้งหมดมาเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามกรอบเวลาดังกล่าวให้ทันเวลา เพื่อเป็นการสกัดกั้นไม่ให้ปัญหานี้ลุกลามบานปลายกลายเป็นเงื่อนตายที่แก้ไขได้ยากหรืออาจแก้ไขไม่ได้เลยในอนาคต
           ๓.๑ ปัญหาปราสาทพระวิหารเป็นปัญหาที่ยาวนานสลับซับซ้อนมาแต่เดิมและยังคงดำรงอยู่ตลอดมานั้น ตั้งแต่การตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อ ๑๓ มิ.ย.๐๕ ให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในอาณาเขตภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ( The Temple of Preach Vihear was situated in territory under the sovereignty of Cambodia ) ประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขในห้วงเวลาต่าง ๆ มาตลอดระยะเวลาเกือบครึ่งศตวรรษแต่ยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร อันเนื่องมาจากคำพิพากษาที่ไม่ชัดเจนในเรื่องเขตแดนทำให้ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาต่างตีความคำพิพากษาไปตามแนวทางของตนนับแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน และต่อเนื่องไปในอนาคต
           ๓.๒ ปัญหาปราสาทพระวิหารทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อกัมพูชาดำเนินการแต่ฝ่ายเดียวในการยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๘ – ๒๕๔๙ โดยไม่ได้หารือใด ๆ กับไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย – กัมพูชา มีมติให้ร่วมมือพัฒนาเขาพระวิหารและบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทพระวิหารร่วมกัน อย่างไรก็ตามกัมพูชาขอให้ความร่วมมือเริ่มดำเนินการหลังจากที่ได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งฝ่ายไทยรับทราบโดยไม่ได้เฉลียวใจว่ากัมพูชาจะดำเนินการกุศโลบายในเรื่องนี้ อันเป็นโทษแก่ไทย โดยที่กัมพูชาได้แนบแผนที่ที่กำหนดเขตต่าง ๆ ในอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร ตามพระราชกฤษฎีกาของกัมพูชา ลงวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๙ และแผนที่แนบระบุว่าเป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศล้ำเข้ามาในดินแดนที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์
           ๓.๓ เมื่อประเทศไทยได้รับทราบเรื่องนี้ จึงได้ดำเนินการทางการทูตต่อกัมพูชา ยูเนสโก และประเทศสมาชิกกรรมการมรดกโลกขอให้ไทยและกัมพูชานำปราสาทพระวิหารและโบรานสถานอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบในฝั่งไทยไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกันในลักษณะของการข้ามพรมแดน (Transboundary Nomination ) เพื่อความสมบูรณ์ของมรดกโลกแห่งนี้ ไทยได้เสนอเรื่องดังกล่าวในปี พ.ศ.๒๕๔๘ และปี พ.ศ.๒๕๕๐ แต่กัมพูชาไม่เห็นชอบด้วยแต่ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๑ ที่เมือง ไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ให้เลื่อนการพิจารณาการขึ้นทะเบียนของกัมพูชาออกไปและให้ไทยกับกัมพูชาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด แต่ในที่สุดกัมพูชาก็สามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเฉพาะตัวปราสาทเป็นมรดกโลกได้เมื่อ ๗ ก.ค.๕๑ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๒ ที่เมืองควีเบก ประเทศแคนาดา หลังจากได้มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วม (Joint Communiqu? ) ระหว่างไทย - กัมพูชา และยูเนสโก เมื่อ ๑๘ มิ.ย.๕๑ และได้การลงนามย่อกันไว้แล้วเมื่อ ๒๒ พ.ค.๕๑
           ๓.๔ การที่ปราสาทพระวิหารได้รับพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้เมื่อ ๗ ก.ค.๕๑ นั้น เป็นการดำเนินกุศโลบายที่ชาญฉลาดของฝ่ายกัมพูชาที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน เพื่อขยายผลการเข้าครอบครองพื้นที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิซึ่งกันและกัน (Disputed Area ) อันเป็นผลเนื่องมาจากการพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกรณีปราสาทพระวิหารเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ การขยายผลดังกล่าวนี้ก็โดยการอาศัยกลไกความเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของปราสาทพระวิหาร ซึ่งจะต้องมีเขตคุ้มครอง (Core Zone ) เขตอนุรักษ์ (Buffer Zone ) และเขตพัฒนา ( Developing Zone ) ดังนั้นแม้ว่าฝ่ายกัมพูชาที่ขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท ( Core Zone ) จนทำให้ฝ่ายไทยหลงเข้าใจผิดคิดว่าตัวปราสาทที่กัมพูชาเสนอนั้นอยู่ในรกรอบพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีของไทยมีมติไว้ เมื่อ ๓ ก.ค.๐๕ ว่าเป็นพื้นที่ของตัวปราสาทตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในครั้งนั้นเป็นการมองและวินิจฉัยปัญหานี้แบบตรงไปตรงมาไทยขาดความรู้เรื่องกลไกลของมรดกโลก และแม้แต่จะเฉลียวใจในคำแถลงการณ์ร่วมในข้อ ๒ ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ในชั้นนี้ไม่มีเขตอนุรักษ์ (Buffer Zone) ในพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของตัวปราสาท" ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นอยู่ในเขตที่ไทยอ้างสิทธิ์
           ๓.๕ ข้อมติ 32 COM 8 B.ADD2 ของคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองควีเบค ประเทศแคนาดา เมื่อ ๗ ก.ค.มีอยู่หลายข้อที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนอันเป็นโทษต่อประเทศไทยได้ ดังต่อไปนี้
                   ๓.๕.๑ ตามข้อ ๕ ได้กล่าวถึงแถลงการณ์ร่วม ลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ โดยผู้แทนรัฐบาลกัมพูชาไทย ยูเนสโก รวมทั้งร่างแถลงการณ์ร่วม ลง ๒๒ พ.ค.๕๑ ไว้อย่างคลุมเครือ แต่ได้เน้นไว้ตอนท้ายว่ารัฐบาลไทยได้ตัดสินใจที่จะยกหรืองดเว้นผลของแถลงการณ์ร่วมนี้ไว้ก่อนตามมาตรการชั่วคราวของศาลปกครองของไทย จะเห็นว่าข้อความนี้ดูเสมือนว่าแถลงการณ์ร่วมนั้นไม่มีอะไรแล้ว แต่ถ้อยคำสำนวนที่ว่า "ยกหรืองดเว้นผลของแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ไว้ก่อน"นั้น คล้ายคลึงกับถ้อยคำสำนวนแถลงการณ์ร่วมข้อ ๒ ที่ว่า "ในชั้นนี้ไม่มีเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ทางทิศตะวันตกและทิศเหนือของตัวปราสาท" ทำให้ผู้อ่านส่วนใหญ่มองข้ามไปว่าปัญหานี้จบไปแล้ว จึงไม่ต้องใส่ใจหรือทำอะไรต่อไปอีก แต่ความจริงแถลงการณ์ร่วมนี้ฝ่ายไทยควรจะต้องหาทางทำให้ยกเลิกไปโดยสิ้นเชิงอย่างเป็นรูปธรรมไม่ใช่ปล่อยไปโดยคิดว่าจบไปแล้วโดยปริยาย
                   ๓.๕.๒ ตามข้อ ๑๔ ได้กล่าวถึงการให้กัมพูชาร่วมกับยูเนสโกจัดประชุมคณะกรรมการประสานงานนานาชาติ เพื่อพิทักษ์รักษาทรัพย์สินนี้ ไม่ช้ากว่าเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ (ค.ศ.๒๐๐๙) โดยให้เชิญรัฐบาลไทยมาร่วมด้วยกับให้เชิญผู้มีหุ้นส่วนนานาชาติที่เหมาะสมไม่เกินเจ็ดรายมาตรวจสอบนโยบายทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องการพิทักษ์รักษาคุณค่า ฯ ของทรัพย์สินแห่งนี้ โดยให้สอดคล้องกับ"มาตรฐานการอนุรักษ์นานาชาติ" สาระในข้อนี้อ่านดูเผิน ๆ แล้วน่าจะเป็นคุณแก่ฝ่ายไทยในฐานะที่ไทยมีส่วนร่วมด้วย แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปแล้วน่าจะเป็นโทษเสียมากกว่าเพราะเสียงข้างมากเป็นของกัมพูชา เนื่องจากกัมพูชาและยูเนสโกเป็นผู้เลือกผู้แทนของทั้งเจ็ดชาติดังกล่าวเมื่อมีมติในเรื่องใดการออกเสียงลงมติ ฝ่ายไทยจะอยู่ในเสียงข้างน้อยหรืออาจเป็นเสียงเดียวในเจ็ดเสียงก็ได้ นอกจากนั้นข้อความที่ว่า "มาตรฐานการอนุรักษ์นานาชาติ" ข้อความนี้จะไม่มีปัญหาใด ๆ ถ้ามรดกโลกแห่งนี้ไม่ตั้งอยู่บนจุดที่คาบเกี่ยวกับดินแดนของสองประเทศหรือถ้าอยู่และสองประเทศนั้นตกลงให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกัน แต่ในกรณีปราสาทพระวิหารไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทั้งกรณีโอกาสที่จะบริหารจัดการพื้นที่ตามมาตรฐานอนุรักษ์นานาชาติก็จะต้องรุกล้ำเข้ามาในเขตของไทยดังจะเห็นได้ชัดเจนในมติข้อ ๑๕ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
                   ๓.๕.๓ ตามข้อ ๑๕ กัมพูชาต้องนำเสนอเอกสาร ๔ อย่างต่อศูนย์มรดกโลก ภายในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (ค.ศ.๒๐๑๐) มี ๓ ใน ๔ อย่างที่เป็นโทษแก่ประเทศไทยในลักษณะที่จะถูกรุกล้ำพื้นที่อ้างสิทธิของไทยบริเวณเขาพระวิหารอันเนื่องมาจากการเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารคือ
                            - "แผนที่กำหนดเส้นเขตกันชน (Buffer) ที่ได้ระบุไว้ใน RGPP " จะเห็นว่าเมื่อใดที่มีการกำหนดเขตกันชนเต็มรูปแบบอันเป็นมาตรฐานสากล เมื่อนั้นก็จะมีส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในเขตของไทย
                            - แฟ้มนำเสนอมรดกโลกที่ปรับปรุงแล้วอันสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการกำหนดขอบเขตทรัพย์สินแห่งนี้ " ขอบเขตดังกล่าวก็เป็นไปตามเขตต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งก็จะต้องล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย
                            - คำยืนยันว่าเขตการบริหารจัดการของทรัพย์สินแห่งนี้...รวมทั้งเขตกันชนที่ระบุไว้ใน RGPP " เป็นการเน้นในสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นว่าขั้นตอนต่าง ๆ ในการดำเนินการไปตามลำดับล้วนเป็นโทษต่อไทยในอนาคตทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการระงับยับยั้งไม่ให้แผนงานตามมติดังกล่าวเดินหน้าต่อไปได้อย่างทันท่วงที และด้วยมาตรการที่ให้ผลเป็นรูปธรรม
           ๓.๖ ในส่วนที่มติ 32 COM 8 B.ADD2 ให้คุณแก่ประเทศไทยก็มีอยู่หลายข้อ ควรที่ไทยจะนำมาใช้ขยายผลให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ได้แก่
                   ๓.๖.๑ ตามข้อ ๘ ที่ว่ายอมรับว่าประเทศไทยได้แสดงความปรารถนาครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะมีส่วนร่วมในการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกปราสาทพระวิหารและบริเวณโดยรอบ ในประเด็นนี้สมควรที่ได้จะได้รีบดำเนินการให้เต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการและเสนอไปให้ทันเวลาในการประชุมครั้งต่อไปเพราะเท่าที่ไทยได้ส่งไปก่อนหน้านี้เป็นเพียงเอกสารที่จำเป็นและไม่เป็นทางการเท่านั้น
                   ๓.๖.๒ ตามข้อ ๙ ที่ว่า "รับทราบว่าทรัพย์สินที่เสนอขึ้นทะเบียนแห่งนี้ได้ถูกลดขนาดลงคงเหลือปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่รวมบริเวณที่กว้างขวางอันมีหน้าผาและถ้ำ" มติข้อนี้ทำให้ลดคุณค่าแห่งความเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารลงไป ฝ่ายไทยจะต้องใช้มติข้อนี้เป็นข้อต่อรอง เพื่อให้ไทยได้ขึ้นทะเบียนองค์ประกอบอื่น ๆ ของปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ร่วมกับกัมพูชาในโอกาสต่อไป
                   ๓.๖.๓ ตามข้อ ๑๐ ที่ว่า "การวิจัยทางโบราณคดีกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นผลให้มีการค้นพบใหม่ ๆที่สำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่การพิจารณาเสนอมรดกโลกในลักษณะข้ามพรมแดนแห่งใหม่" มติข้อนี้ช่วยเสริมสิ่งที่มีอยู่แล้วทางดินแดนไทยเช่น สถูปคู่ แหล่งตัดหิน สระตราว และภาพสลักนูนต่ำที่ผามออีแดง เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบของปราสาทพระวิหารทำให้ไทยมีน้ำหนักและโอกาสมากยิ่งขึ้นในการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกร่วมกับกัมพูชา
                   ๓.๖.๔ ตามข้อ ๑๑ ที่ว่า "คงจะเป็นที่พึงปรารถนาต่อไปในอนาคตที่จะนำคุณค่าที่สมบูรณ์และภูมิทัศน์รอบๆ มาบรรจุไว้ในการเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งใหม่" มติข้อนี้เป็นการสรุปย้ำในข้อที่กล่าวนำมาแล้วทั้งสี่ข้อ ซึ่งฝ่ายไทยจะต้องนำมาขยายผลอย่างเข้มข้นจริงจัง โดยไม่ชักช้า
           ๓.๗ คำแถลงคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารของ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ต่อคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อ ๘ ก.ค.๕๑ มีสาระที่ควรจะได้นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรมและทันเวลา ได้แก่
                   - นอกเหนือจากข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในพื้นที่รอบปราสาท พระวิหารแล้ว ข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลกยังไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ การกระทำหรือมาตรการและการดำเนินการใด ๆ ต่อจากนี้ไปไม่ว่าจะโดยกัมพูชาหรือฝ่ายที่สามอื่นใด ในพื้นที่ข้างเคียงปราสาท พระวิหารที่เป็นดินแดนไทยนั้น จะไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่าจะได้รับความยินยอมของประเทศไทย ประเทศไทยยืนยันสิทธิทั้งหลายทั้งปวงของไทย ตามมาตร ๑๑ (๓) ของอนุสัญญาตุ้มครองมรดกโลก ค.ศ.๑๙๗๒ (พ.ศ.๒๕๑๕) ซึ่งกำหนดว่าการรวมเอาทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในดินแดนอธิปไตยหรือเขตอำนาจซึ่งอ้างสิทธิมากกว่าหนึ่งรัฐจะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของรัฐที่มีข้อพิพาท
                   - ประเทศไทยขอย้ำว่าการประท้วงและคัดค้านเอกสารทั้งปวงที่กัมพูชาได้ยื่นเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานทางเทคนิคของคณะผู้เชี่ยวชาญและรายงานความก้าวหน้าที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง ประเทศไทยประสงค์ให้บันทึกแก่กรรมการมรดกโลกว่าแผนบริหารจัดการของปราสาทพระวิหารที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติจะไม่มีทางสมบูรณ์ได้หากปราศจากความร่วมมือจากประเทศไทย
                   - ประเทศไทยจำเป็นต้องคัดค้านข้อมติในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารตามที่กัมพูชาเสนอโดยฝ่ายเดียว เนื่องจากเป็นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกที่ขาดความสมบูรณ์และไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์
                   - ประเทศไทยย้ำการสงวนสิทธิ์ต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๑๙๖๒ (พ.ศ.๒๕๐๕) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยถึงรักษาการณ์เลขาธิการสหประชาชาติและยืนยันรักษาสิทธิของไทยว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่กระทบต่อสิทธิทั้งปวงของประเทศไทยเกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตย
           ๓.๘ คำแถลงของนายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมรดกโลกของประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ ๓๗ เรื่องการที่กัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาท พระวิหารเป็นมรดกโลก เมื่อ ๗ ก.ค.๕๑ ที่เมืองควิเบค ประเทศแคนาดา มีสาระที่ควรนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในการดำเนินการต่อไป อย่างมีจุดมุ่งหมายและทันเวลา ได้แก่
                   - ปราสาทพระวิหารได้รับการยินยอมให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเป็นกรณีพิเศษ โดยใช้เกณฑ์ข้อที่ ๑ เพียงข้อเดียวเท่านั้น โดนปราศจากบริเวณกันชน (Buffer Zone ) ที่ถูกต้อง และปราศจากภูมิทัศน์บริเวณรอบด้านที่จำเป็น อันจะทำให้ปราสาทพระวิหารได้มีความสง่างาม และความสมบูรณ์ ดังที่ควรจะเป็นด้วยเหตุผลดังกล่าวเราไม่สามารถจะยอมรับการขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียว โดยใช้เกณฑ์เพียงข้อเดียวของปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้
                   - เราขอประท้วงการใช้ผังภูมิศาสตร์หรือแผนที่ใด ๆ ของมรดกโลก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ข้อขัดแย้งยิ่งขึ้น และอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่เป็นมิตรในอนาคต ระหว่างชุมชนที่อยู่รอบ ๆ บริเวณดังกล่าว
                   - การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ควรจะได้มีการขยายในโอกาสต่อไป โดยมีความร่วมมือจากประเทศไทย และควรจะได้พัฒนาให้เป็นกรณีตัวอย่างในการเสนอมรดกโลกข้ามพรมแดน (Transboundary Nomination ) และแม้แต่การนำเสนอมรดกโลกประเภทผสมผสานวัฒนธรรมและธรรมชาติ ด้วยก็ได้
                   - คณะผู้แทนของคณะกรรมการมรดกโลกของไทยได้ยื่นเอกสารอย่างไม่เป็นทางการสำหรับการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในลักษณะข้ามพรมแดน (Transboundary Nomination ) เพิ่มขึ้นให้กับศูนย์มรดกโลก เพื่อให้ข้อคิดและให้ความช่วยเหลือในอนาคต
           ๓.๙ จากเอกสารของ ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลกของไทย ได้ให้ข้อมูลข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะในเรื่องที่ควรจะได้ดำเนินการในเรื่องปราสาทพระวิหารในขั้นต่อไปคือ
                   - ทั้งยูเนสโกและคณะกรรมการมรดกโลกนานาชาติ ๒๑ ประเทศ ต่างก็เป็นองค์กรระหว่างประเทศแยกจากกัน ดังนั้นการเป็นภาคีสมาชิกยูเนสโกจึงไม่เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญามรดกโลก แต่โดยที่คณะกรรมการมรดกโลกมีความเชื่อมโยงกับยูเนสโก โดยที่อนุสัญญามีข้อกำหนดให้ยูเนสโกจัดเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการมรดกโลก ทำให้เกิดความสับสนโดยทั่วไปให้ดูเสมือนว่าคณะกรรมการมรดกโลกเป็นภาคส่วนของยูเนสโก
                   - ข้อกล่าวอ้างที่ว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหารไม่กระทบถึงอธิปไตยเหนือดินแดนไทย และอ้างว่ามีสถานภาพการถือครองตัวปราสาทของกัมพูชาเหมือนกับที่เป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๕ ที่ไทยมอบการถือครองปราสาทให้กัมพูชาตามคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและการขึ้นทะเบียนตัวปราสาท โดยกัมพูชาฝ่ายเดียวตามร่างข้อมติที่แคนาดา (ซึ่งยังจะต้องผ่านที่ประชุมอีกครั้งในวาระรับรองรายงานการประชุมวันสุดท้าย) โดยหลีกเลี่ยงไม่คำนึงถึงข้อบัญญัติของคณะกรรมการมรดกโลกที่กำหนดให้มีเขตกันชนและทำแผนจัดการ ซึ่งในกรณีนี้ของกัมพูชาจำเป็นต้องมีเขตกันชนรอบตัวปราสาททางด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือเข้ามาในเขตไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้เพราะข้อกำหนดดังกล่าวต้องมีเขตกันชน ปรากฏตามข้อบัญญัติ ๑๐๓ และ ๑๐๔ ของคณะกรรมการมรดกโลก ดังนั้นการให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเสียชั้นหนึ่งก่อนและในขั้นต่อไปจึงจะทำแผนจัดการบริเวณพื้นที่เขตกันชน จากตัวปราสาทไปทางทิศตะวันตกและทิศเหนือซึ่งเป็นเขตของไทย ข้อความนี้มีความปรากฏอยู่แล้วในร่างมติข้อ ๑๕
                   - ตามร่างมติข้อ ๑๔ กำหนดให้กัมพูชาดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ เพื่อให้ความคุ้มครองและพัฒนาแหล่งมรดกนี้ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๐๙ (พ.ศ.๒๕๕๒) ประกอบด้วยรัฐบาลไทยและประเทศผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ที่เหมาะสมอีกไม่เกิน ๗ ชาติ เพื่อทำการตรวจสอบสารัตถะเชิงนโยบายทั่วไป เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการอนุรักษ์ที่เป็นสากล ซึ่งก็จะพบว่าตัวปราสาทโดยลำพังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้และไม่เคยมีมรดกโลกแห่งใดเลยที่ใช้กลไกเช่นนี้เพื่อการอนุรักษ์การจะใช้กลไกนี้ต่อปราสาทพระวิหารจะยังผลให้ชาติอื่น ๆ อีก ๖ ชาติ เข้ามาแทรกแซงปกป้องกัมพูชา และกดดันประเทศไทย เพื่อใช้อธิปไตยเหนือดินแดนไทย ซึ่งจะต้องเป็นเขตกันชน ในการนี้จะต้องมีมาตรการทางกฎหมายและทางบริหารจัดการ ซึ่งกัมพูชาเป็นผู้กำหนดไว้ในแผนจัดการ ซึ่งถ้าไม่มีกลไกนี้ก็จะมีปฏิสัมพันธ์เฉพาะกัมพูชากับไทย ซึ่งจะต้องเจรจาตกลงกันเอง ประเทศไทยจึงตกอยู่ในฐานะที่จะต่อรองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติได้ดีกว่านี้อีก ๖ ประเทศมาร่วมด้วย
                   - จุดยืนเผชิญหน้าคณะกรรมการต่างชาติแทรกแซงเขตกันชนในเขตไทย ฝ่ายไทยจะต้องรีบดำเนินการทันที และประกาศให้คณะกรรมการมรดกโลก ยูเนสโก และทุกประเทศได้รับทราบเป็นทางการคือเขตกันชนจากตัวปราสาทด้านตะวันตกตลอดไปถึงด้านทิศเหนือ ซึ่งเป็นบริเวณในเขตประเทศไทยนั้นประเทศไทยจะให้จัดทำได้เท่าที่ไทยเห็นชอบด้วยเท่านั้น
                   - เมื่อได้ประกาศจุดยืนดังกล่าวแล้วหากต่อมาปรากฏชัดว่าคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลที่กัมพูชาจัดตั้งขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของยูเนสโกยังคงดำเนินการเพื่อประโยชน์ของกัมพูชาจนถึงจุดที่ประเทศไทยควรต้องปฏิเสธอย่างแข็งกร้าวก็ถึงโอกาสอันเหมาะที่จะเสริมจุดยืนข้างต้น โดยประเทศไทยประกาศถอนการเป็นภาคีอนุสัญญา (Denunciation ) ตามบทบัญญัติข้อ ๓๕ แห่งอนุสัญญามรดกโลก ค.ศ.๑๙๗๒