๔. ข้อเสนอ
           ๔.๑ ปัญหาปราสาทพระวิหาร มีความเป็นมาที่ยาวนานและสลับซับซ้อนมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด การพิจารณาปัญหานี้โดยเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งแล้วนำมาสู่ข้อเสนอแนะนั้นเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้นการไม่ทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนและถ่องแท้แล้วนำไปสู่ข้อเสนอแนะใด ๆ อาจนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติอย่างที่ปรากฏมาแล้วในหลายขั้นตอนของปัญหานี้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรที่จะตระหนักและระมัดระวังอย่างยิ่งในกรณีนี้
           ๔.๒ การแก้ไขปัญหาการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกที่กัมพูชาเสนอแต่ฝ่ายเดียวจะมีผลเสียหายต่อประเทศไทยในอนาคต โดยกลไกลของความเป็นมรดกโลก ประเทศไทยต้องรู้เท่าทันและแก้ไขให้ทันท่วงที โดยเฉพาะก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานนานาชาติ เพื่อการพิทักษ์รักษาและพัฒนาทรัพย์สินนี้ซึ่งจะจัดประชุมก่อนเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๒ โดยทำหนังสือประกาศให้คณะกรรมการมรดกโลก ยูเนสโก และทุกประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการคือ เขตกันชนจากตัวปราสาทด้านทิศตะวันตกตลอดไปถึงด้านทิศเหนือซึ่งเป็นบริเวณในเขตประเทศไทยนั้นประเทศไทยจะให้จัดทำได้เฉพาะเพื่ออนุรักษ์ตัวปราสาทเท่าที่ประเทศไทยเห็นชอบด้วยเท่านั้น
           ๔.๓ เมื่อได้ประกาศจุดยืนตามข้อ ๔.๒ แล้วหากต่อมาปรากฏชัดว่าคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ ฯ ที่กัมพูชาจัดตั้งขึ้นภายใต้อุปถัมภ์ของยูเนสโกยังคงดำเนินการเพื่อประโยชน์ของกัมพูชา ประเทศไทยต้องปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว และถึงโอกาสอันเหมาะสมด้วย การประกาศถอนการเป็นภาคีอนุสัญญา (Denunciation )ตามบทบัญญัติข้อ ๓๕ แห่งอนุสัญญามรดกโลก ค.ศ.๑๙๗๒ (พ.ศ.๒๕๑๕)
           ๔.๔ ประเทศไทยจะยินยอมให้เขตกันชน (Buffer Zone ) และเขตอื่นๆ (Zonage ) ในบริเวณปราสาท พระวิหารตามกลไกมรดกโลกที่เข้ามาในเขตแดนไทยได้ก็ต่อเมื่อส่วนประกอบอื่น ๆ ของปราสาทพระวิหารที่อยู่ในเขตไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในลักษณะที่เป็นมรดกข้ามพรมแดน (Transboundary Nomination ) ระหว่างไทยกับกัมพูชาเท่านั้น
           ๔.๕ ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมให้ทันกาล โดยไม่ชักช้าต่อข้อมติ 32 COM 8 B.ADD2 คณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองควีเบค ประเทศแคนาดา ในส่วนนี้เป็นโทษต่อประเทศไทย ให้หมดไปในทุกรูปแบบคือ
                   ๔.๕.๑ ทำเรื่องยกเลิกแถลงการณ์ร่วม (Joint communiqu? ) ลง ๑๘ มิ.ย.๕๑ อย่างเป็นทางการไปยังกัมพูชา คณะกรรมการมรดกโลก ๒๑ ประเทศ ยูเนสโก และอื่น ๆ ที่เห็นว่าเกี่ยวข้อง
                   ๔.๕.๒ ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานนานาชาติ เพื่อพิทักษ์รักษาทรัพย์สินนี้ ซึ่งจะมีการประชุมครั้งแรกไม่ช้ากว่าเดือนกุมพาพันธ์ ๒๕๕๒ ซึ่งมีผู้แทนไทยร่วมอยู่ด้วย ผู้แทนไทยจะต้องดำเนินการคัดค้านในทุกกรณีที่มีการบริหารจัดการล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย โดยแสดงจุดยืนหนักแน่นว่าไทยจะยอมให้ทำเช่นนั้นได้ตามเงื่อนไข ตามข้อ ๔.๔ เท่านั้น
                   ๔.๕.๓ ในการนำเสนอเอกสาร ๔ อย่างต่อศูนย์มรดกโลกภายในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ (ค.ศ.๒๐๑๐) ที่มีการเสนอเอกสารที่เป็นแผนที่กำหนดขอบเขตต่าง ๆ ถ้ามีส่วนใดล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยผู้แทนไทยจะต้องดำเนินการคัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนการลงมติของคณะกรรมการ
           ๔.๖ ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมโดยไม่ชักช้าต่อข้อมติ 32 COM 8 B.ADD2 ของคณะกรรมการ มรดกโลก ที่เมืองควีเบค ประเทศแคนาดา ในส่วนที่เป็นคุณต่อประเทศไทยได้แก่การเสนอขึ้นทะเบียนองค์ประกอบของปราสาทพระวิหารที่อยู่ในเขตไทยเป็นมรดกโลก ในลักษณะที่เป็นมรดกโลกข้ามพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอย่างเป็นทางการในโอกาสแรก โดยเอาเฉพาะองค์ประกอบที่มีอยู่แล้วได้แก่ สถูป สระตราว (บาราย) ภาพสลักนูนต่ำที่ผามออีแดง บริเวณชะง่อนหินอันกว้างขวางตลอดจนหน้าผาและถ้ำอันเป็นภูมิทัศน์โดยรอบของบริเวณปราสาทพระวิหาร โดยยังไม่ต้องรอการสำรวจและวิจัยทางโบราณคดีของซากโบราณสถานแบบฮินดูอีกหลายแห่งที่อยู่ในเขตไทยให้เสร็จสิ้นเสียก่อน
           ๔.๗ ยืนยันการแถลงคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของไทย ต่อคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อ ๘ ก.ค.๕๑ ที่เมืองควีเบค ประเทศแคนาดา เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการในประเด็นต่าง ๆ คือ
                   ๔.๗.๑ การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตั้งอยู่บนข้อบกพร่องและข้อจำกัดของคุณสมบัติต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการได้รับสถานะมรดกโลกที่สมบูรณ์ ตามข้อเสนอของอีโคมอส ( ICOMOS ) ด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม
                   ๔.๗.๒ ข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดนต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณรอบปราสาทพระวิหาร
                   ๔.๗.๓ ข้อมติของคณะกรรมการมรดกโลกไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ ดังนั้นการกระทำหรือมาตรการและการดำเนินการใด ๆ ที่จะติดตามมาหลังจากนี้ไม่ว่าจะโดยกัมพูชาหรือฝ่ายที่สามอื่น ๆ ในพื้นที่ข้างเคียงปราสาทพระวิหารที่เป็นดินแดนของไทยนั้นจะไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่าจะได้รับความยินยอมจากประเทศไทยเท่านั้น
                   ๔.๗.๔ ในฐานะประเทศภาคีอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ค.ศ.๑๙๗๒ (พ.ศ.๒๕๑๕) ประเทศไทยยืนยันสิทธิทั้งปวงของไทยตามมาตรา ๑ (๓) ของอนุสัญญา ซึ่งกำหนดว่าการรวมเอาทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในดินแดน อธิปไตย หรือเขตอำนาจ ซึ่งอ้างสิทธิมากกว่าหนึ่งรัฐ จะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของรัฐที่มีข้อพิพาท
                   ๔.๗.๕ แผนบริหารจัดการของปราสาทพระวิหารที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติจะไม่มีทางสมบูรณ์ได้หากปราศจากความร่วมมือจากประเทศไทย
                   ๔.๗.๖ ประเทศไทยขอย้ำถึงความตั้งใจที่จะยื่นจดทะเบียนสถานที่และอาณาบริเวณในดินแดนไทยที่เกี่ยวเนื่องกับปราสาทพระวิหาร เพื่อให้รับสถานเป็นมรดกโลก เพื่อให้คุณค่าและความสมบูรณ์ของสถานที่แห่งนี้
                   ๔.๗.๗ ประเทศไทยขอย้ำการสงวนสิทธิต่าง ๆ ตามที่ระบุในหนังสือ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๑๙๖๒ (พ.ศ.๒๕๐๕) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยถึงรักษาการเลขาธิการสหประชาชาติและยืนยันรักษาสิทธิของไทยว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่กระทบสิทธิทั้งปวงของประเทศไทยเกี่ยวกับบูรณภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยตลอดจนการสำรวจและปักปันเขตแดนทางบกในพื้นที่ในอนาคต
           ๔.๘ ยืนยันคำแถลงของนายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยมรดกโลกของประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ ๓๒ เรื่องการที่กัมพูชาเสนอปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เมื่อ ๗ ก.๕๑ที่เมืองควีเบค ประเทศแคนาดา อย่างเป็นทางการไปยังหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นเหล่านี้คือ
                   - ประเทศไทยขอประท้วงการใช้ผังภูมิศาสตร์หรือแผนที่ใด ๆ ของมรดกโลก ซึ่งอาจจะนำไปสู่ข้อขัดแย้งและอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่เป็นมิตรในอนาคตระหว่างชุมชนที่อยู่รอบ ๆ บริเวณปราสาทพระวิหาร
                   - การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ควรจะได้มีการขยายในโอกาสต่อไป โดยการพัฒนาให้เป็นกรณีตัวอย่างในการนำเสนอโลกข้ามพรมแดน ( Transboundary Nomination )