๑๕๗๗. ฉันท์ ๑ หรือฉันทะ คือ ความพอใจความรักใคร่ ความชอบใจ ความยินดีในอารมณ์ เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา (เป็นองค์ธรรมข้อหนึ่ง และเป็นข้อแรกในสี่ประการของอิทธิบาทสี่ - เพิ่มเติม) ๑๐/ ๕๘๖๕
๑๕๗๘. ฉันท์ ๒ เป็นชื่อคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง ซึ่งท่านกำหนดจำนวนคำแต่ละพยางค์ ซึ่งประกอบด้วยสระที่มีเสียงสั้นและยาวที่เรียกว่า รัสสระ และทีฆสระ หรือคำเบาและคำหนัก
ที่เรียกว่า ลหุและครุ ด้วยวิธีเรียงคำไม่เหมือนกัน จึงเรียกชื่อต่างกันไปแต่ละฉันท์
ฉันท์ กล่าวตามคัมภีร์วุตโตทัย (บาลี) มีอยู่ ๑๐๘ ฉันท์ เดิมเป็นภาษาสันสกฤต เมื่อชนชาติไทยมีความสัมพันธ์รับอารยธรรม มาจากชาวมคธแล้ว
คัมภีร์วุตโตทัยนี้แตกมาเป็นตำราของไทยเรา ปรากฎว่าแปลงขึ้นเป็นฉันท์ไทย ในสมัยอยุธยาประมาณรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง หรือในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ด้วยปรากฎว่า ฉันท์สมุทโฆษ
ซึ่งเป็นฉันท์เรื่องแรก มีขึ้นในภาษาไทยเราว่า พระมหาราชครูเป็นผู้แปลฉันท์บาลีมาแต่ง ๑๐/ ๕๘๖๘
๑๕๗๙. ฉันทลักษณ์
คือ ตำรารวมคำประพันธ์ที่เป็นแบบ กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ร่าย และคำร้องที่เรียกว่า ลำนำต่างๆ ที่โบราณาจารย์ได้รวมรวมขึ้นไว้
เป็นตำราเพื่อการศึกษาสืบต่อไป ที่เรียกว่าฉันทลักษณ์นั้นจะเนื่องด้วยเหตุสองประการคือ ประการแรกคำประพันธ์ที่เป็นคำฉันท์นั้นนับถือกันมาว่าเป็นของสูง ประการที่สองประสงค์ให้มีชื่อตรงกับไวยากรณ์ในภาษาบาลี ๑๐/ ๕๘๗๑
๑๕๘๐. ฉันทศาสตร์ เป็นตำราว่าด้วยแบบบัญญัติการแต่งฉันท์ มีประเภทต่างๆตามที่มาในคัมภีร์วุตโตทัย ซึ่งเป็นภาษาบาลีมีอยู่ ๑๐๘ ฉันท์ และได้แปลงเป็นฉันท์ไทยแล้ว ๑๐๘ ฉันท์เท่ากัน ฉันท์ทั้ง ๑๐๘ ฉันท์นี้ ท่านจัดเป็นสองพวกเรียกว่า ฉันท์วรรณพฤติและฉันท์มาตราพฤติฉันท์ใดกำหนดด้วยตัวอักษรฉันท์นั้น เรียกว่า วรรณพฤติ มี ๘๑ ฉันท์
ฉันท์ใดกำหนด้วยมาตรา ฉันท์นั้นเรียกว่า มาตราพฤติ มี ๒๗ ฉันท์
๑๐/ ๕๘๗๒
๑๕๘๑. ฉันนะ - นาย เป็นสารถีและพระสหายของพระโคดมพุทธเจ้า ครั้งยังเป็นสิทธัตถราชกุมาร เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
และเสด็จมาเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ โปรดพระประยูรญาติชาวศากยะ นายฉันนะได้ทูลขออนุญาตบวชในธรรมวินัยได้สำเร็จ แต่เมื่อบวชแล้วเป็นผู้ว่ายาก
จึงถูกพระพุทธเจ้ารับสั่งให้สงฆ์ลงโทษเป็นหลายครั้ง
พระอานนท์ทูลถาม พระพุทธเจ้าถึงการปฎิบัติต่อพระฉันนะ
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว
พระพุทธเจ้าประทานทางปฎิบัติว่า สงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะคือ ภิกษุทั้งหลายอย่าไปว่ากล่าว อย่าไปตักเตือน อย่าไปสั่งสอนอย่าไปเจรจาใด ๆ ด้วยทั้งสิ้น เว้นแต่คำที่เป็นกิจธุระโดยเฉพาะพระฉันนะถูกสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แล้วจะสำนึกผิดและสำเหนียกในธรรมวินัย จักเป็นผู้ว่าง่ายยอมรับโอวาท แล้วจักปฎิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมเอง
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว พระฉันนะถูกพระสงฆ์ลงพรหมทัณฑ์
ก็สำนึกในความผิด
ตั้งใจปฎิบัติธรรมได้บรรลุอรหัต
พร้อมด้วยปฎิสัมภิทาทั้งสี่โดยไม่นาน
๑๐/ ๕๘๘๑
๑๕๘๒. ฉัพพรรณรังสี
เป็นรัศมีหกประการคือ
๑. นีล
เขียวเหมือนดอกอัญชัน
๒. ปีตะ
เหลืองเหมือนหรดาลทอง
๓. โลหิตะ
แดงเหมือนสีตะวันอ่อน หรือตะวันแรกขึ้น
๔. โอทาตะ
ขาวเหมือนแผ่นเงิน
๕. มัญเชฎฐะ
สีหงสบาท เหมือนดอกเซ่ง
๖. ปภัสสระ
เลือมพรายเหมือนแก้วผลึก
สีทั้งหกแผ่ออกมาพร้อมกัน แผ่ซ่านออกเป็นวงกลม เหมือนพระจันทร์ทรงกลด
แสงนั้นปรากฎเกิดแก่ตาคนเป็นสีรุ้ง
๑๐/ ๕๘๘๖
๑๕๘๓. ฉาก
นอกจากหมายถึง เครื่องกั้นและเครื่องวัดมุม ๙๐ องศาแล้ว
ฉากยังมีความหมายในทางนาฎศิลป์
ดังต่อไปนี้
๑. เป็นชื่อท่ารำซึ่งเป็นท่าแบบฉบับ หรือแม่บทของละครมโนรา เรียกว่า ฉายน้อยและฉากใหญ่
๒. เป็นชื่อวิธีแสดงโขน ในบางตอนซึ่งเรียกว่า หลบฉากและหนีฉาก
๓. ภาพพื้นหลังสำหรับการแสดงละครต่าง ๆ
เพื่อให้สวยงามหรือให้เป็นสถานที่ตามเนื้อเรื่อง
๑๐/ ๕๘๘๘
๑๕๘๔. ฉาน ๑
เป็นชื่อที่ชาวพม่าเรียกชนที่พูดภาษาไทยทั่ว ๆ ไป นอกจากไทยสยาม
ถิ่นที่อาศัยของไทยใหญ่ อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำสาละวิน (คง)
ในรัฐฉานเป็นส่วนใหญ่มีเมืองเชียงตุง
เป็นเมืองสำคัญ และมีที่ตองอู ท่าตอน เมาะลำเลิง ลงไปถึงมะริด และตะนาวศรี
ฉาน หรือเงี้ยว ในเมืองไทยคงเดินทางมาจากรัฐฉาน
ในพม่าเข้ามาในอาณาเขตตอนเหนือของไทย
หรือตามชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือ และแถบแม่ฮ่องสอน
ตามปรกติฉานเรียกตัวเองว่า ไทยหลวงหรือไทยใหญ่
เพื่อแสดงความแตกต่างกับไทย หรือลาว ซึ่งเขาเรียกว่า
ไทยน้อย
๑๐/ ๕๘๙๐
๑๕๘๕. ฉาน ๒ - รัฐ
เป็นรัฐที่รวบรวมชาวประเทศ ซึ่งแต่ก่อนเป็นรัฐกึ่งอิสระ อยู่ทางตะวันออกของพม่า ก่อนที่พม่าจะเป็นอิสรภาพ ประเทศฉานปกครองโดยหัวหน้า
ที่สืบสายต่อกันมาเรียกว่าเจ้าฟ้าภายใต้การปกครองของพม่า และในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ได้รวมเป็นสหภาพ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ ฉานและรัฐว้า ได้รวมกันเข้าเป็นรัฐฉาน แต่แห่งเดียว มีรัฐมนตรีรัฐบาลพม่าเป็นหัวหน้า มีคณะมนตรีรวมทั้งสมาชิกแห่งรัฐ เป็นผู้แทนในเขตนั้นเป็นผู้ช่วย สมาชิกเหล่านี้เลือกโดยผู้แทนในสภาชั้นล่าง และโดยเจ้าฟ้า ในสภาชั้นบน รัฐบาลยอมมอบอำนาจให้ในเรื่องเกษตรกรรม การประมง สาธารณูปโภค การสื่อสาร ตำรวจ ศาล การศึกษา การสาธารณสุข และรัฐท้องถิ่น
เหมือนอำนาจท้องถิ่น เหมือนกับอำนาจท้องถิ่น ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ เจ้าฟ้านั้นคงมีอำนาจการปกครอง และการศาล ตามแต่รัฐมนตรีและสภาท้องถิ่น ถึงปี พ.ศ.๒๔๙๕ จนกว่าอำนาจของรัฐบาลจะสิ้นไป คงเหลือแต่อำนาจที่จะเลือกผู้แทนในชั้นสูงเท่านั้น
รัฐฉาน แบ่งการปกครองออกเป็นสามเขตคือ ใต้ เหนือ และตะวันออก แต่ละเขตมีผู้ปกครองคนหนึ่ง ซึ่งเขตดั้งเดิมยังคงมีอยู่เหมือนหน่วยเล็ก ๆ หน่วยหนึ่ง
๑๕๘๖. ฉาบ
เป็นชื่อเครื่องดนตรีประเภทตีประกอบจังหวะ ทำด้วยโลหะรูปร่างเป็นแผ่นกลม
แต่มีปุ่มนูนขึ้นตรงกลาง
เจาะรูตรงกลางปุ่มไว้ร้อยเชือก หรือเส้นหนังสำหรับถือตี
ชุดหนึ่งมีสองอันเท่ากัน
ฉาบเล็ก
มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๒ ซม.
เวลาบรรเลงมีหน้าที่ขัดจังหวะยั่วเย้าให้สนุกสนาน
ฉาบใหญ่
มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๕ ซม. เวลาบรรเลงมีหน้าที่ควบคุมจังหวะห่าง
ๆ
ในไตรภูมิพระร่วงมีอยู่ตอนหนึ่งกล่าวว่า "ตีกลองและฉิ่งแฉ่ง"
คำว่า แฉ่ง นี้ก็คือฉาบ เครื่องดนตรีประเภทนี้ใช้เรียกตามเสียง
ในสมัยโบราณอาจตีเปิดเหมือนอย่างการบรรเลงของชาวจีน
เสียงก็ดังแฉ่ง จึงเรียกว่า แฉ่ง ส่วนสมัยต่อมาตีประกบกัน
เสียงก็ดังฉาบจึงเรียกว่า
ฉาบ ๑๐/
๕๘๙๔
๑๕๘๗. ฉายา ๑
เป็นคำภาษาบาลีแปลว่าเงาหรือร่มเงา บางครั้งใช้คำว่าฉาย เช่น
ในสุธนคำฉันท์ว่า
"พฤกษาทรสุมสาง วิยะฉายกำบังบน"
ในบทละครครั้งกรุงเก่าใช้หมายความว่านางผู้มีโฉมงาม มีใช้มากแห่งด้วยกัน
เช่น
ตอนที่กล่าวถึงนางมโนราห์ตอนหนึ่งว่า "เมื่อนั้น โฉมตรูผู้เจ้ามโนราห์
ได้ฟังถ้อยคำนางทาสา
ฉายาเยื้องย่องเข้าห้องใน"
๑๐/ ๕๘๙๕
๑๕๘๘. ฉายา ๒
เป็นชื่อพระภิกษุสามเณรที่พระอุปัชฌายะตั้งให้เมื่ออุปสมบทและบรรพชา
โดยตั้งเป็นภาษาบาลีวิธีตั้งฉายา
ท่านผู้รู้ได้วางระเบียบแบบแผนการตั้งฉายาขึ้นไว้คือ
กำหนดเอาวันเกิดของผู้บรรพชา
และอุปสมบทกับอักษรบาลีที่ถือกันว่าเป็นอักษรประจำวันนั้นขึ้นหน้าฉายา
๑๐/ ๕๘๙๗
๑๕๘๙. ฉายา ๓
เป็นชื่อชายาของพระอาทิตย์นางหนึ่ง
๑๐/ ๕๙๐๒
๑๕๙๐. ฉำฉา
๑. พืชพันธุ์ชนิดหนึ่ง ใช้เรียกกันในภาคเหนือ
และเป็นไม้ต้นเดียวกันกับต้นก้ามกราม
ต้นก้ามปูที่เรียกกันในภาคกลาง (ดูคำก้ามปู - ลำดับที่ ๓๗๒)
๒.
เป็นคำใช้แผ่นกระดานหรือท่อนไม้เนื้ออ่อนของต่างประเทศที่ต่อเป็นหีบลังหรือภาชนะอื่น
ๆ ใช้บรรจุสิ่งของต่าง ๆ
เข้ามาในประเทศไทย
๑๐/ ๕๙๐๓
๑๕๙๑. ฉิ่ง
เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีประกอบจังหวะ ทำด้วยโลหะหล่อหนา
รูปร่างกลมเหมือนฝาชี
เจาะรูตรงกลางไว้ร้อยเชือกสำหรับถือตี สำรับหนึ่งมีสองฝา
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางจากขอบปากประมาณ
๖.๕ ซม. เวลาบรรเลงตีเป็นสองอย่าง ตีเบิกเสียงดังฉิ่ง
และตีกดประกบกันเสียงดังฉับ
มีหน้าที่ควบคุมจังหวะของวงดนตรี ให้รู้ความช้าเร็ว และจังหวะหนักเบา
ตีให้ดังฉิ่งในจังหวะเบา
และตีให้ดังฉับที่จังหวะหนัก
แต่บางเพลงตีแต่ฉับอย่างเดียวหรือฉิ่งอย่างเดียวก็มี
๑๐/ ๕๙๐๓
๑๕๙๒. ฉิน
เป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของจีน (พ.ศ.๒๙๗ - ๓๓๗) ในสมัยราชวงศ์จิวหรือโจวนั้น
ดินแดนในประเทศจีนแบ่งออกเป็นแคว้น แตกเป็นก๊กเป็นเหล่าจำนวนนับร้อย
แต่ละแคว้นแต่ละก๊กต่างมีผู้ครองแค้วนซึ่งเป็นอิสระ
อันเป็นเหตุให้การปกครองขาดความเป็นเอกภาพ
มีการรบพุ่งระหว่างแคว้นอยู่เนือง
ๆ จนกระทั่งปลายสมัยเลียดก๊ก จึงเหลือเพียงเจ็ดก๊ก
และในที่สุดจิ้นซีฮ่องเต้
แห่งแคว้นฉินก็สามารถปราบปราม และรวบรวมดินแดนต่าง ๆ ไว้ได้
จิ้นซีฮ่องเต้ ได้สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ์ (ดูจิ้นซีฮ่องเต้ - ลำดับที่
๑๔๐๗) ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้น ทรงจัดระเบียบการปกครองเสียใหม่
ทรงเป็นนักเผด็จการเด็ดขาด
จึงมิได้ใคร่ครวญคำนึงถึงประชาประสงค์และประชามติแต่อย่างใด
ทรงให้เลิกระบบศักดินา
แล้วแบ่งดินแดนออกเป็น ๓๖ จังหวัด (ภายหลังเพิ่มเป็น ๔๐ จังหวัด)
ทุกจังหวัดมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากส่วนกลางไปปกครองดูแล
ซึ่งมีสามตำแหน่งสูงสุด ในแต่ละจังหวัดคือ "โซ่ว"
ทำหน้าที่และรับผิดชอบทางด้านกิจการฝ่ายพลเรือน "วี่"
รับผิดชอบกิจการฝ่ายทหาร "เจี้ยน"
มีหน้าที่สอดส่องตรวจตราการบริหารงานการปกครอง
ของบรรดาเจ้าพนักงานในจังหวัดนั้น
ๆ ทั้งสามตำแหน่งนี้รับผิดชอบ และขึ้นตรงต่อส่วนกลางโดยเด็ดขาด
จึงนับเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปการปกครอง
จากแบบการกระจายจากศูนย์กลางมาเป็นแบบการบริหารจากศูนย์กลาง
เพื่อให้การปกครองเป็นเอกภาพ
ได้มีพระราชโองการให้ริบบรรดาอาวุธยุทธภัณฑ์และโลหะวัตถุ
อันมีสภาพเป็นอาวุธทั้งปวงที่ราษฎรครอบครองอยู่มาเป็นของหลวง
ทั้งให้ริบตำรับตำราของราษฎรทุกแขนง เหลือเฉพาะตำราสาขาแพทย์ศาสตร์
โหราศาสตร์
และเกษตรศาตร์เท่านั้น
จิ้นซีฮ่องเต้ ได้เสด็จออกตรวจราชการตามดินแดนต่าง ๆ อยู่เนืองนิจ
เมื่อเหตุการณ์ภายในประเทศเป็นระบบเรียบร้อยดีแล้ว
ก็ทรงแผ่ขยายอำนาจออกไปรอบ ๆ ราชอาณาจักร เช่นไปตีและขับไล่พวกฮั่น
ออกจากทางภาคเหนือของจีนเป็นต้น
มีการสร้างกำแพงยักษ์เพื่อป้องกันการรุกรานจากภายนอก
ประเทศจีนสมัยราชวงศ์ฉินนับเป็นประเทศที่ใหญ่และทรงพลานุภาพมากที่สุดในทวีปเอเซีย
แต่เมื่อพระองค์สวรรคต ในปี พ.ศ.๓๓๓ ครองราชย์ได้ ๓๗ ปี พระราชโอรสองค์ที่
๒ ครองราชย์ได้ ๓ ปี
พวกขบถก็ยึดอำนาจได้สำเร็จ
๑๐/ ๕๙๐๓
๑๕๙๓. ฉิมพลี
หมายถึง ไม้งิ้ว คำนี้ในวรรณคดีส่วนมากมักจะใช้สิมพลี
คือต้นงิ้วซึ่งเป็นที่อยู่ของพระยาครุฑ
งิ้วมีทั้งในมนุษย์ สวรรค์ และนรก ในโลกมนุษย์งิ้วเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่
(ดูงิ้ว
- ลำดับที่ ๑๒๓๒) ในสวรรค์หมายเอางิ้วที่เป็นสถานที่อยู่ของพระยาครุฑ
ซึ่งกล่าวว่าอยู่ในชั้นจาตุมหาราช
ในนรกหมายเอานรกขุมที่มีการลงโทษด้วยให้ขึ้นต้นงิ้ว
เพราะเหตุว่าประพฤติผิดในกาม
๑๐/ ๕๙๐๕
๑๕๙๔. ฉีดยา
เป็นวิธีบริหารด้วยยาวิธีหนึ่งในหลายวิธีด้วยกัน
การฉีดยาทำได้หลายวิธีด้วยกันได้แก่
การฉีดเข้าไปในผิวหนัง การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
การฉีดเข้าหลอดเลือดหรือหลอดเลือดแดงหรือหลอดน้ำเหลือง
การฉีดเข้าบริเวณเส้นประสาท การฉีดเข้าข้อ การฉีดเข้าช่องเยื่อหุ้มปอด
การฉีดเข้าโพรงไขกระดูก
การฉีดเข้าโพรงหนองฝี
และการฉีดเข้าช่องไขสันหลัง
๑๐/ ๕๙๐๙
๑๕๙๕. ฉุยฉาย
๑. เป็นชื่อเพลงดนตรีเพลงหนึ่ง สมัยโบราณใช้เป็นเพลงร้องอยู่ในตับมโหรี
เช่น
ตับเรื่องกากี
ตามแบบแผน เมื่อร้องเพลงฉุยฉายหน้าแล้ว
ก็ต้องร้องเพลงแม่ศรีติดต่อกันไปและปี่ก็จะต้องเป่ารับเลียนถ้อยคำ
และทำนองเช่นเดียวกัน เพราะถือว่าฉุยฉายเป็นเพลงช้า
และเพลงแม่ศรีเป็นเพลงเร็ว
แต่เป็นเพลงเร็วสองชั้น เรียกตามหน้าทับว่าสองไม้
๒. ท่ารำตามบทร้องและทำนองเพลงฉุยฉาย ในแบบที่มีปี่เป่ารับ
การรำเพลงฉุยฉายจำต้องรำให้งดงาม
ไปในเชิงพริ้งเพรา เพราะการรำเพลงฉุยฉายนี้มีความหมาย
ไปในทางรู้สึกตื่นเต้น
ที่ได้แต่งตัวสะสวย
หรือกระหยิ่มใจในการที่ได้แปลงร่างกายได้งดงาม
๑๐/ ๕๙๑๒
๑๕๙๖. ฉู่ฉี่
เป็นแกงคั่วชนิดหนึ่ง น้ำแกงข้นขลุกขลิก เครื่องปรุงน้ำพริกด้วยแกงเผ็ด
แต่ไม่ใส่เครื่องเทศ
แต่งหน้าใช้ใบมะกรูดหั่นฝอย
แทนใบโหระพา
๑๐/ ๕๙๑๔
๑๕๙๗. เฉลว เป็นเครื่องหมายทำด้วยตอก
หักขัดกันเป็นมุม ๆ ตั้งแต่ห้ามุมขึ้นไป
ซึ่งแพทย์แผนโบราณใช้สำหรับปักหม้อยาต้ม
และปักเป็นเครื่องหมายบอกขาย ปักบอกเขตก็ได้
เฉลวคือรั้วนั่นเอง ชาวอิสานเรียกว่าตะเหลว
แล้วเพี้ยนเป็นตาเหลว
๑๐/ ๕๙๑๕
๑๕๙๘. เฉลิมพระเกียรติ - วัด
เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด วรวิหาร อยู่ ต.บางศรีเมือง อ.เมือง
จ.นนทบุรี
ริมฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา
การสร้างวัดนี้เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ถึงสถานที่อันเคยเป็นที่ตั้งป้อม
มาแต่ครั้งโบราณ กำแพงรอบวัดก่ออิฐ ถือปูนมีใบเสมาเหมือนกำแพงพระราชวัง
กับให้มีป้อมไว้ทั้งสี่ด้านด้วย
๑๐/ ๕๙๑๖
๑๕๙๙. เฉลิมพระชนมพรรษา - พระราชพิธี
เป็นพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในอภิลักขิตสมัย
คล้ายวันเสด็จพระราชสมภพ
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินี
และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร
ตามวันทางสุริยคติ
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษานี้ เพิ่งเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่สี่
แต่ก่อนคือ
แต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อถึงเดือนเก้า
มีการพระราชพิธีอย่างหนึ่งเรียกว่า
พระราชพิธีตุลาภาร
คือ พระเจ้าแผ่นดินประทับบนตาชั่ง ท่ามกลางพระราชวงศ์
และข้าทูลละอองธุลีพระบาท
แล้วเอาเงินทองใส่ตาชั่งอีกข้างหนึ่ง ให้หนักเท่าพระองค์
แล้วพระราชทานเงินทองนั้นแก่พราหมณ์
พระราชพิธีนี้เลิกตั้งแต่สมัยอยุธยานั้นเอง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันพระบรมราชสมภพ
ตั้งแต่ยังทรงผนวชอยู่คือการสวดมนต์เลี้ยงพระ
เพิ่งจะทรงทำเป็นพระราชพิธีใหญ่ เมื่อพระชนมายุครบ ๖๐
พระราชทานพระบรมราชวโรกาส
ให้ถวายของเนื่องในงานนี้ได้ พวกจีนก็ถวายเทียน ดอกไม้และแพร
กับทั้งได้มีการเสด็จออกมหาสมาคม
ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ถวายพระพรชัยมงคล ทรงสดับพระธรรมเทศนา
มีสรงพระมูรธาภิเษก
มีการพระราชทานเหรียญทองคำ ตราพระมหามงกุฎแก่ข้าราชการ
มีการจุดประทีปโคมไฟในพระบรมมหาราชวัง
การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ในรัชกาลต่อ ๆ มาก็ได้ถือแบบอย่างครั้งนั้น
เป็นแนวปฎิบัติ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ตามประทีปโคมไฟถวายพระพร
ตามแบบอย่างเฉลิมพระชนมพรรษา
ของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
ในรัชกาลปัจจุบันมิได้มีการสรงพระมุรธาภิเษก
เว้นแต่ในวาระพิเศษ
๑๐/ ๕๙๑๙
๑๖๐๐. เฉียงพร้าคำ
เป็นพันธุไม้ในวงศ์เหงือกปลา หมอเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑ เมตร
พบตามป่าเบญจพรรณทั่ว
ๆ ไป ใบรูปรี ดอกสีขาวและชมพู ออกเป็นกระจุกบนช่อสั้น ๆ
ตามปลายกิ่ง
๑๐/ ๕๙๓๕
๑๖๐๑. เฉียงพร้านางแอ
เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ไม้โกงกาง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕ -
๒๐ เมตร เรือนยอดทึบแผ่กิ่งก้านสาขา พบทั่วไปตามป่าดิบแล้ง
และป่าดิบชื้นทั่วประเทศ
ใบเดี่ยวอยู่ตรงข้ามิกัน ดอกสีขาวหม่น ออกเป็นช่อแน่นสั้น ๆ ตามง่ามใบ
เนื้อไม้สีขาว
เสี้ยนตรง เลื่อยผ่าง่าย
ใช้ในการก่อสร้าง
๑๐/ ๕๙๓๘
๑๖๐๒. เฉียงพร้ามอญ
เป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์เหงือกปลาหมอ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มักปลูกกันทั่ว ๆ ไป
โดยที่เชื่อกันว่าเป็นเครื่องปัดรังควาญจากภูติผี
และใช้ทำยาแก้ปวดเมื่อยตามข้อ
ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน รูปหอกแคบ ๆ ดอกสีขาวและชมพู ออกเป็นช่อสั้น ๆ
ตามปลายกิ่ง
๑๐/ ๕๙๓๘
๑๖๐๓. แฉลบ ๑ - หอย
หอยชนิดนี้ได้ชื่ออานม้า เพราะรูปคล้ายอานจริง เก็บได้จากเกาะช้างใน
จ.ตราด
๑๐/ ๕๙๔๐
๑๖๐๔. แฉลบ๒
เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ตามต้นมีหนามเป็นแท่งแหลมแข็ง
ตามกิ่งหนามสั้น
และอ่อนกว่าตามลำต้น ใบคล้ายใบมะขาม ออกดอกเป็นช่อคล้ายดอกกระถินเล็ก ๆ
สีเหลือง
บางท้องถิ่นเรียกกระถินพิมาน
๑๐/ ๕๙๔๐
๑๖๐๕. โฉนด
เป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ
ซึ่งออกในปี
พ.ศ.๑๙๐๓ ระบุหลักฐานสำคัญอันหนึ่ง เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ไว้ที่เรียกกันว่า
"โฉนด" ๑๐/
๕๙๔๐
๑๖๐๖. โฉลก
แปลว่า ช่อง โอกาส เหมาะ ดี คุณ สิริ มงคล ราศี ฯลฯ
เป็นคำใช้ทางโหราศาสตร์
และในทางไสยศาสตร์ หรือการทำเคล็ดต่าง ๆ
ในตำราโหราศาสตร์มีใช้หลายอย่าง
๑๐/ ๕๙๔๖
๑๖๐๗. ไฉน - ปี่
เป็นปี่ของไทยชนิดหนึ่ง ทำเป็นสองท่อนสวมกัน ท่อนบนเรียกว่า "เลา"
มีลักษณะยาวเรียว มีรูกลวงทะลุตลอดเลา
เจาะรูสำหรับปิดเปิดนิ้วให้เป็นเสียงสูงต่ำ
ท่อนล่างเรียก "ลำโพง"
เพราะมีลักษณะปลายบานออกคล้ายดอกลำโพง ทำด้วยไม้เนื้อแข็งหรืองาช้าง
ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลซ้อนกันสี่ชั้น
ปี่ไฉนสมัยปัจจุบัน ใช้บรรเลงร่วมกับกลองชนะ ในการประโคม
หรือนำขบวนแห่พระบรมศพ
และศพเจ้านาย ผู้เป่าเรียกว่า "จ่าปี่"
คู่กับผู้ตีเปิงบาง ซึ่งเรียกว่า "จ่ากลอง"
ในการบรรเลงร่วมกับกลองชนะนี้ ถ้าเป็นขบวนเสด็จพยุหยาตราใช้ปี่ชวา
ไม่ใช้ปี่ไฉน
สมัยโบราณปี่ไฉน อาจบรรเลงรวมอยู่ในวงมโหรีด้วย
ต่อมาคงเห็นว่าเสียงดังเกินไป
จึงเอาออกเสีย ๑๐/
๕๙๔๙
ช.
๑๖๐๘. ช.พยัญชนะตัวที่สิบของพยัญชนะไทย เป็นตัวที่สามในวรรคที่สอง นับเป็นพวกอักษรต่ำ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กด ในคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต
ฐานกรณ์คือ ตำแหน่งที่เกิดของเสียงตัว ช ในภาษาบาลีและสันสกฤต ตัว ช เป็นพวกตาลุชะ คือมีเสียงเกิดแต่เพดาน เป็นพยัญชนะสิกิลโฆษะคือ
มีเสียงเบาและก้อง หน้า ๕๙๕๓
๑๖๐๙. ชงโค
เป็นชื่อใช้เรียกพันธุ์พืชสองสามชนิดที่เป็นไม้ต้น เป็นไม้ต้นขนาดกลาง
ที่เรียกว่าชงโค
อาจเป็นเพราะใบมีลักษณะคล้ายกีบโคก็ได้ ดอกออกเป็นช่อ
มีขนาดใหญ่คล้ายดอกกล้วยไม้
มีสีสันต่าง ๆ ขาว ม่วง
แดง
หน้า ๕๙๕๒
๑๖๑๐ ชงโลง ๑
เป็นเครื่องมือวิดน้ำชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ บางครั้งก็ใช้สังกะสีเรียบ
ทำรูปคล้ายเรือครึ่งท่อน
ยาวประมาณ ๑.๒๐ เมตร ปากที่เปิดกว้างประมาณ ๔๐ ซม.ผูกแขวนเข้ากับขาหยั่ง
ด้านที่ปิดตัน
มีด้ามสำหรับถือสำหรับจับด้ามวิดน้ำเข้าสู่ที่ต้องการ
๑๐/ ๕๙๕๓
๑๖๑๑. ชงโลง ๒ ปลา
อยู่ในวงศ์ปลาแขยง แต่มีหนวดคล้ายปลากด (ทะเล) เป็นปลาน้ำจืด
มีชื่อสามัญว่า
ปลาแขยง
เป็นปลาไม่มีเกล็ด ๑๐/
๕๙๕๓
๑๖๑๒. ชฎา
เป็นเครื่องสวมศีรษะ ในการแสดงโขน ละคร เฉพาะตัวพระ (ชาย)
ที่มีฐานะเป็นกษัตริย์
หรือราชวงศ์ชั้นสูง และเป็นเครื่องอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์
รองจากพระมหามงกุฎ
ลักษณะมียอดแหลมคล้ายมงกุฎ แต่ยังมีชฎาพิเศษที่ยอดไม่แหลมเหมือนปกติได้แก่
ชฎาเดินหน
ยอดค่อนข้างแบน เอนฉลวยไปข้างหลัง ชฎากลีบ
มียอดเหมือนชฎาเดินหน แต่แทนที่จะเขียนลายก็แกะสลักเป็นกลีบ ชฎาแปลง
ยอดมีลักษณะเดียวกัน แต่ไม่มีลายเขียน และลายแกะสลัก
ชฎาพระมหากฐินมีห้ายอด
ยอดกลางสูงอีกสี่ยอดเล็ก และต่ำกว่า ปักขนนกการเวก หรือดอกไม้ทอง
ซึ่งทำด้วยขนนก
ชฎาพอก
สำหรับสวมพระศกเจ้านาย ลงมาถึงขุนนางที่ได้รับเกียรติบรรจุโกศในสมัยโบราณ
เป็นชฎาที่ทำด้วยกระดาษ รูปร่างอย่างตะลอมพอก แต่เกี้ยวและดอกไม้ไหว
ทำด้วยทองคำ
หรือเงินรัดเป็นเครื่องประดับ
๑๐/ ๕๙๕๕
๑๖๑๓. ชฎิล ๑
เป็นนักพรตพวกหนึ่งของอินเดียโบราณ บางทีเรียก ชฎิลดาบส
มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
คู่กันไปกับพวกปริพาชก อาชีวก และพวกนิครนถ์ ชฎิล
ที่เข้าอุปสมบทในพระพุทธศาสนาที่นับว่าสำคัญได้แก่
กัสสปชฎิล สามพี่น้อง ที่พุทธเจดีย์ ที่สาญจิ ในอินเดีย มีรูปแกะสลัก
การเทศนาโปรดอุรุเวล
กัสสป ด้วย ๑๐/
๕๙๕๘
๑๖๑๔. ชฎิล ๒
เป็นชื่อมหาเศรษฐีคนหนึ่ง ในแคว้นมคธ ในสมัยพระเจ้าพิมพิสาร
ได้รับตำแหน่งเป็นขุนคลังของพระเจ้าแผ่นดิน
จนกระทั่งมีอายุแก่มาก จึงมอบสมบัติให้ลูกชายคนเล็ก
แล้วได้เข้าอุปสมบทเป็นภิกษุ
ในพระพุทธศาสนา
และบรรลุพระอรหัตผลในที่สุด
๑๐/ ๕๙๕๙
๑๖๑๕. ชดายุ
เป็นพญานกตัวใหญ่มหึมามีพี่ชายชื่อ สัมปาตี
บิดาคือ อรุณเทพ ชดายุ เป็นสหายของท้าวทศรถด้วย
จึงสมัครเป็นผู้พิทักษ์นางสีดา
ระหว่างที่พระรามและพระลักษณ์ออกไปหาผลไม้ เมื่อราพณืลักพานางสีดา
ขึ้นรถเหาะไปในอากาศ
ชดายุเข้าขัดขวาง และได้ต่อสู้กับราพณ์ถูกราพณ์ ทำร้ายตกลงยังพื้นดิน
พระราม
พระลักษณ์ ไปพบทราบเรื่อง การลักพานางสีดาจากชดายุ แล้วออกติดตามนางสีกา
ต่อไป
๑๐/ ๕๙๐๐
๑๖๑๖. ชนก ๑ - ท้าว
เป็นกษัตริย์ผู้ครองมิถิลา ต่อมาออกบวชเป็นฤษี ไปสรงน้ำพบผอบ
ซึ่งทศกัณฐ์ใส่นางสีดา
ลอยมาในแม่น้ำ พระฤษีชนกจึงเก็บเอาไปไว้เลี้ยง
ต่อมาพระชนกฤาษีเกิดความเบื่อหน่ายในพรต
จึงกลับไปครองเมืองใหม่
พานางสีดาธิดาบุญธรรมกลับเข้าเมืองด้วย
๑๐/ ๕๙๖๑
๑๖๑๗. ชนก ๒หรือมหาชนก - ชาดก
เป็นเรื่องหนึ่งในนิบาตชาดก ส่วนมหานิบาต คัมภีร์ขุททกนิกาย, สุตตันตปิฏก
กล่าวถึงพระมหาชนกว่าเป็น พระโพธิสัตว์ นับเป็นพระเจ้าชาติที่สอง
ในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ
ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพุทธจริยาในอดีตชาติ ตามชาดกกล่าวว่า
พระพุทธเจ้าครั้งเสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก
ทรงบำเพ็ญวิริยปรมัตถบารมี และเนกขัมปรมัตถบารมี
เมื่อพระมหาชนกได้ทรงเป็นกษัตริย์ครองกรุงมิถิลานคร
แล้วก็ได้ให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่พสกนิกรตลอดมา
โปรดให้สร้างศาลาทานไว้หกแห่ง ทรงบริจาคมหาทานเป็นประจำ
เมื่อพระองค์ทรงหวนระลึกถึงคราวที่พระองค์
พยามยามว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร หลังจากเรือแตกอย่างไม่ท้อถอย
จนนางมณีเมขลาเห็นความอุตสาหะ
อันแรงกล้าได้พาข้ามมหาสมุทรไปจนสำเร็จ เพราะความพยายามที่ทำมานั้น
เป็นเหตุให้ได้รับผลคือ
ครองราชสมบัตินี้ เมื่อทรงหวนระลึกไปก็ทรงปิติโสมนัส
ทรงเปล่งพระอุทานด้วยความปิติว่า
"ลูกผู้ชายควรหวังเข้าไว้ ไม่ควรเบื่อหน่ายในการงาน...
คนมีปัญญาแม้ได้รับทุกข์
ก็ไม่ควรสิ้นความหวังที่จะให้ได้รับสุข คนส่วนมากเมื่อได้รับทุกข์
ก็ทำแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์
เมื่อได้รับความสุข จึงทำสิ่งที่เป็นประโยชน์
ฯลฯ"
๑๐/ ๕๙๖๔
๑๖๑๘. ชนไก่ ๑
ภูเขาใน ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี สูง ๒๗๐ เมตร
บนยอดเขามีที่ราบเตียนอยู่ตอนหนึ่ง
กลางลานหินมีหินทรายรอบเป็นคัน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒
เมตร
และมีหลักหินปักอยู่หลักหนึ่ง มีบ่อกว้าง ๑.๕ เมตร ลึก ๒.๐๐ เมตร อยู่ใกล้
ๆ กัน กล่าวกันว่า เป็นที่ชนไก่ของขุนแผน และมีเจดีย์สูง ๕.๐๐
เมตร
๑๐/ ๕๙๗๑
๑๖๑๙. ชนไก่ ๒
ได้แก่ การเอาไก่มาตีหรือต่อสู้กัน การชนไก่เป็นทั้งกีฬาและการพนัน
ไก่ชนเป็นไก่พื้นเมืองชนิดหนึ่ง ไทยเรียกว่า ไก่อู
จะคัดเอาตัวผู้ที่มีพ่อไก่เป็นไก่ชน
จากนั้นพิจารณาคัดเลือกตามลักษณะอย่างอื่น
อันเป็นการเฉพาะตัว แล้วเอามาเลี้ยงเป็นพิเศษ
การชนไก่ของไทยมีมาแล้วแต่โบราณ
ปัจจุบันก็ยังมีอยู่
๑๐/ ๕๙๗๒
๑๖๒๐. ชนโค
เป็นกีฬาพื้นเมืองชนิดหนึ่งของชาวภาคใต้ เรียกกันเป็นสามัญว่า ชนงัว
โค หรืองัว ที่ใช้ชนต้องเป็นพันธุ์วัวชนโดยเฉพาะ เช่น พันธุ์โคอุสุภราช
พันธุ์โคนิล
ลักษณะดีตามสัตว์ ซึ่งมีอยู่เจ็ดสี มีตีนด่าง หางดอก โหนกพาดผ้า
หน้าใบโพ
๑๐/ ๕๙๗๙
๑๖๒๑. ชนแดน
อำเภอ ขึ้น จ.เพชรบูรณ์ เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.เมืองเพชรบูรณ์
ยกฐานะเป็นอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙
ภูมิประเทศเป็นเขาปนป่า
๑๐/ ๕๙๘๗
๑๖๒๒. ชนบท
อำเภอ ขึ้น จ.ขอนแก่น
เดิมเป็นเมืองตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
เรียกว่า เมืองชนบท
เปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๕ -
๒๔๖๙
ได้ยกฐานะท้องที่ด้านตะวันออกของ อ.ชนบท ขึ้นเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่า กิ่ง
อ.บ้านไผ่
ขึ้น อ.ชนบท ในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ได้ยุบ อ.ชนบท ลงเป็นตำบลขึ้น อ.บ้านไผ่
ต่อมาได้ยกฐานะเป็นอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙
ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มและป่าโปร่ง
๑๐/ ๕๙๘๕
๑๖๒๓. ชนเมชัย
เป็นชื่อกษัตริย์องค์หนึ่งของอินเดียโบราณ
ในสายจันทรวงศ์และเป็นเหลนของอรชุน
ซึ่งเป้นนักรบคนสำคัญที่สุด ของเรื่องมหาภารต
ประเพณีอินเดียถือว่า ชนเมชัยเป็นคนแรกที่ได้ฟังเรื่องมหาภารต ที่วยาสฤษี
ประพันธ์ขึ้น และคัมภีร์มหาภารตนี้
ก็ได้แพร่หลายเป็นที่รู้จักกันแต่นั้นมา
๑๐/ ๕๙๙๑
๑๖๒๔. ชนวน - หิน
หินชนวนเป็นหินแปรชนิดหนึ่ง มีเนื้อละเอียด ลักษณะคล้ายแผ่นหินบาง ๆ
เรียงซ้อนกันอยู่
หนิชนวนเกือบทั้งหมดมีต้นกำเนิดมาจากตะกอน
จำพวกดินเหนียวและบางแห่งได้มาจากละอองเถ้าถ่านจากภูเขาไฟ
แรงอัดอันเกิดจากการฝังตัวใต้พื้นดินลึก ๆ จะทำให้ตะกอนละเอียดเหล่านี้
ค่อย
ๆ แข็งตัว กลายเป็นหินดินดาน ต่อไปหินดินดานจะแปรสภาพเป็น
หินชนวน
๑๐/ ๕๙๙๒
๑๖๒๕. ชนะสงคราม - วัด
เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ประเภทราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในเขตพระนคร
เดิมวัดนี้เป็นวัดเล็ก
ๆ มีมาก่อนสร้างกรุงเทพ ฯ เล่ากันว่าแต่ก่อนเรียก วัดกลางนา
๑๐/ ๕๙๙๓
เมื่อตอนเริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ราชประเพณีต่าง ๆ
ก็นำแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยามาใช้
เหตุนี้พระราชพิธีหลายอย่าง จึงต้องใช้คณะสงฆ์มอญเข้าร่วมกับคณะสงฆ์ไทย
จึงจำเป็นต้องรีบจัดคณะสงฆ์มอญขึ้น
และให้อยู่วัดใกล้ ๆ พระบรมมหาราชวัง สมเด็จ ฯ พรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ได้ทรงสร้างวัดตองปุขึ้นใหม่
โปรดให้พระสงฆ์รามัญอยู่วัดตองปุ เพื่อให้เหมือนกับวัดตองปุ
ซึ่งเป็นวัดสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายรามัญในกรุงศรีอยุธยา
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๒๘ พม่าได้ยกกำลังเก้ากองทัพรุกเข้ามาในดินแดนไทยห้าทาง
สมเด็จ
ฯ กรมพระราชวังบวร ฯ ยกกำลังไปสกัดกั้นที่เมืองกาญจนบุรี
ซึ่งเป็นเส้นทางที่กองทัพพม่าส่วนใหญ่จะต้องผ่าน
และทรงได้ชัยชนะพม่าที่ตำบลลาดหญ้า
เมื่อเสด็จกลับมาแล้วจึงทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดตองปูใหม่หมดทั้งวัด
และเข้าใจว่าพร้อมกันนั้นจะทรงบูรณะวัดใต้ที่ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี
ซึ่งเคยเสด็จไปพักพลเกือบทุกครั้งที่ทรงยกทัพผ่านขึ้นไปทางนั้นด้วย
เสร็จแล้วได้รับพระราชทานนามใหม่คล้าย ๆ กันคือ
วัดใต้เป็นวัดไชยชุมพลชนะสงคราม
และวัดตองปุเป็นวัดชนะสงคราม
๑๖๒๖. ชนะสิบทิศ
หมายถึง พระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดี เป็นชาวเมืองพุกาม ได้ชื่อว่า จะเด็ด
ต่อมาแม่ของจะเด็ดได้มาเป็นแม่นมมังตรา โอรสพระเจ้าตองอู
จะเด็ดกับมังตราจึงเจริญวัยมาด้วยกันในพระราชวังตองอู
จะเด็ดได้รับราชการอยู่ในกรมวัง ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นนายทหารชั้นสูง เมื่อมังตราขึ้นครองราชย์
จะเด็ดได้ดำรงยศเป็น "บุเรงนอง กะยอดินนรธา"
(บุเรงนอง แปลว่า พระเชษฐภาดา กะยอดินนรธา คือ กฤษฎานุรุธ
แสดงที่รัชทายาท)
ด้วยได้อภิเษกกับพระราชธิดา
ของพระเจ้าตองอู
พระเจ้าตะเบงชเวตี้ (มังตรา)
ได้ทำการแผ่อำนาจโดยได้อาศัยบุเรงนองเป็นแม่ทัพสำคัญ
ในการขยายดินแดนไปยังมอญ ไทยใหญ่ และได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน
ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช
นับเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างไทยกับพม่า
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๙๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา
มีบุเรงนองเป็นแม่ทัพร่วมมาในกองทัพด้วย
แต่ไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ เมื่อกลับไปถึงพม่า
พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้เสียพระทัยมากจนไม่สามารถว่าราชการบ้านเมืองได้
ในที่สุดถูกพวกขุนนางจับปลงพระชนม์ พม่า มอญและไทยใหญ่
ต่างแยกกันเป็นอิสระ
ชิงอำนาจกัน บุเรงนองไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองตองอู
ในที่สุดบุเรงนองก็สามารถปราบปรามหัวเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระลงได้
ตั้งเมืองหงสาวดีเป็นราชธานีของพม่าดังเดิม
แล้วทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดี เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๖
ในปี พ.ศ.๒๑๐๖ บุเรงนองยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา
ด้วยข้ออ้างที่ไทยปฏิเสธไม่ยอมส่งช้างเผือกให้พม่าตามที่ขอมา
ฝ่ายไทยต้องยอมสงบศึกกับพม่า พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทูลขอช้างเผือก
และขอตัวบุคคลที่คัดค้านไม่ให้ช้างเผือกคือ
พระราเมศวรผู้เป็นพระราชโอรส พระยาจักรีและพระยาสุนทรสงคราม ไปเมืองพม่า
และยังได้ตรัสขอพระนเรศวร
โอรสองค์ใหญ่ของพระมหาธรรมราชาแห่งเมืองพิษณุโลก
และพระวิสุทธิกษัตริย์ไปไว้ที่เมืองหงสาวดีด้วย
โดยอ้างว่าจะเอาไปเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม
พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้แต่งกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก เมื่อปี
พ.ศ.๒๑๑๑
และตีกรุงศรีอยุธยาได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ หลังจากล้อมกรุงอยู่เก้าเดือน
พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาตลอดฤดูฝนสามเดือน
ได้อภิเษกพระมหาธรรมราชา เป็นพระศรีสรรเพชญ์ครองกรุงศรีอยุธยา
ในฐานะเจ้าเมืองประเทศราชของพม่า
กรุงศรีอยุธยาตกเป็นประเทศราชของพม่าอยู่ ๑๕ ปี
และได้ประกาศเอกราชในรัชสมัยพระเจ้านันทบุเรง
เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗
พระเจ้าบุเรงนอง ฯ
ทรงเป็นกษัตริย์ที่หลักแหลมเฉลียวฉลาดในการปกครองบ้านเมือง
และยังเป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งเก่งกล้าสามารถในการยุทธ
ในรัชสมัยของพระองค์
กรุงหงสาวดีได้แผ่อำนาจออกไปอย่างกว้างขวางเป็นที่เกรงขามของบรรดาประเทศใกล้เคียงยิ่งกว่าสมัยใด
ๆ จึงได้รับสมญาพระนามว่าพระเจ้าชนะสิบทิศ
พระองค์สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๔ พระชนมายุได้ ๖๖ พรรษา มังชัยสิงห์ราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา
ทรงพระนามว่า พระเจ้านันทบุเรง
๑๐/ ๕๙๙๙
๑๖๒๗. ชนัก
เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งทำด้วยเหล็กยาว ๒๗ ซม. หัวแหลมและหยัก
เสียบด้ามทำด้วยไม้ไผ่
ยาวประมาณ ๓ เมตร มีเชือกผูกกับด้ามไม้ชักเมื่อพุ่งถูกสัตว์
โดยมากพบใช้ประกอบในการจับปลาในโป๊ะ
ใช้แทงปลาฉลาม ปลาหมอทะเลหรือปลาใหญ่ ๆ ในน่านน้ำจืด
และใช้แทงจรเข้
๑๐/ ๖๐๐๓
๑๖๒๘. ชนาง
เป็นเครื่องดักปลามีหลายชนิด ทำด้วยไม้ไผ่ล้วน รูปร่างคล้ายปุ้งกี๋
ขอบปากล่างกว้าง
๒ เมตร ขอบปากบนยาว ๔ เมตร ลึก ๑ เมตร ขนาดช่วงตาตอนบน ๒.๕ ซม.
ช่วงตาตอนล่าง
๑ ซม. มีด้ามยาวสองอัน ยาวอันละ ๑๐ เมตร
ใช้วางไว้ริมตลิ่งให้ปากหันเข้าหาฝั่งแล้วสุมกิ่งไม้ในชนางเพื่อให้ปลาอาศัย
เมื่อจะจับปลาให้ลากชนางเข้าหาฝั่ง จึงเรียกว่า ชนางลาก
ชนางอีกชนิดหนึ่งไม่มีด้าม และขนาดย่อมกว่า เรียกว่า ชนางไม่มีคัน
ใช้มือถือได้สะดวก อีกชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายคีมเรียกว่า ชนางมือ
๑๐/ ๖๐๐๓
๑๖๒๙. ชบา
เป็นไม้เล็ก แตกพุ่มได้ กิ่งก้านกลม มีปุ่มเล็ก ๆ ตลอดกิ่ง
เปลือกบางลอกง่าย
ใช้ทำเป็นปอ หรือเชือกได้ ดอกออกตามซอกใบ ขนาดใหญ่สีแดงเลือด เกสรสีเหลือง
ชบาเป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศ มีทั้งพันธุ์ลา (กลีบชั้นเดียว) และพันธุ์ซ้อน
ดอกชบาสีแดงทางมาเลเซียถือว่าเป็นดอกไม้ประจำชาติ
๑๐/ ๖๐๐๕
๑๖๓๐. ชมนาด
เป็นไม้พันธุ์เลื้อย ลำเถาแข็ง มียางขาวทั่วทั้งต้น ดอกออกเป็นช่อเล็กๆ
สีขาว
มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นข้าวใหม่ ทำให้มีชื่อเรียกกันอีกว่า ดอกข้าวใหม่
ดอกชมนาด บานกลางคืน ชาวไทยนิยมใช้ในการปรุงแต่งเครื่องประทิ่น
๑๖๓๑. ชมบ
เป็นชื่อผีชั้นเลวพวกหนึ่ง บางท่านว่าเป็นผีปอบเขมร
ในพจนานุกรม ฯ อธิบายว่า เป็นผีผู้หญิงที่ตายในป่า
และสิงอยู่ในบริเวณที่ตาย
๑๐/ ๖๐๐๖
๑๖๓๒. ชมพู ๑ - ท้าวมหา
เป็นจุลจักร มีมเหสีชื่อแก้วอุดร ไม่มีบุตรธิดา พระอิศวร
จึงประทานพญาวานรลูกพระพาล
ชื่อนิลพัทให้ไปอยู่ช่วยกิจการในเมือง มีฤทธิ์เดชมาก ไม่ยอมไหว้ใคร
เว้นแต่พระอิศวร
และพระนารายณ์ เป็นสัมพันธมิตรแห่งพญากากาศ
เมื่อพระรามไปปกครองพลที่เขาคนธมาทน์
สุครีพและหนุมาน ช่วยกันสะกดเอาไปถวายพระรามทั้งแท่น เมื่อรู้ว่าพระรามคือ
พระนารายณ์ก็ถวายพลทั้งกรุงชมพู พระรามสั่งให้อยู่กรุงชมพูตามเดิม
และรักษากรุงขีดขินด้วย
๑๐/ ๖๐๐๗
๑๖๓๓. ชมพู ๒
เป็นไม้หว้าประจำชมพูทวีป ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่เป็นเนินเขาหิมพานต์
ด้านทิศเหนือ
หน่อหว้าที่งอกขึ้นกลายเป็นทองเนื้อสุก จึงสมมติเรียกกันว่าทองชมพูนุท
เพราะเกิดแต่ผลหว้า
๑๐/ ๖๐๐๗
๑๖๓๔. ชมพู ๓
คือสีแดงอ่อน สีแดงเรื่อ
หรือสีแดงที่มีสีขาวปนอยู่มาก
๑๐/ ๖๐๐๘
๑๖๓๕. ชมพู่
ใช้เรียกชื่อพันธุ์ไม้หลายชนิด โดยเฉพาะที่มีลักษณะเป็นไม้ต้น และมีผลใหญ่
ส่วนมากเป็นไม้ต้นขนาดกลาง ดอกออกเป็นช่อเป็นกระจุกติดตามกิ่งหรือตามซอกใบ
ที่นิยมนำมาบริโภคกันคือ ชมพู่สาแหรก ชมพู่มะเหมี่ยว ชมพู่แก้มแหม่ม
ชมพู่เขียว
ชมพู่น้ำดอกไม้ หน้า ๖๐๐๘
๑๖๓๖. ชมพูทวีป
กล่าวตามวิชาว่าด้วยไตรภูมิโลกสัณฐาน หรือจักรวาลวิทยา
ซึ่งเป็นระยะแรกของวิชาภูมิศาสตร์
เป็นทวีปใหญ่ทวีปหนึ่งในทวีปใหญ่ทั้งสี่ ซึ่งรวมอยู่ในเขาจักรวาล
และตั้งอยู่ล้อมรอบในทิศทั้งสี่แห่งเขาพระสุเมรุ
ชมพูทวีป มีสัณฐานเหมือนเรือนเกวียน มีพื้นที่ประมาณกว้างและยาวได้ ๑๐,๐๐๐
โยชน์ เป็นที่อยู่ของมนุษย์ ๓,๐๐๐ โยชน์ ป่าหิมพานต์ ๓,๐๐๐ โยชน์ มหาสมุทร
๔,๐๐๐ โยชน์ ในที่อยู่ของมนุษย์ ๓,๐๐๐ โยชน์ แบ่งออกเป็นมัธยมประเทศ
ยาว ๓๐๐ โยชน์ กว้าง ๒๕๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๙๐๐ โยชน์
จัดชมพูทวีปเป็นมัธยมประเทศกับปัจจันตประเทศ
ชมพูทวีป มีต้นไม้ประจำทวีปคือไม้ชมพู แปลว่าไม้หว้า
ในครั้งพุทธกาลชมพูทวีปแบ่งเป็นหลายอาณาจักร
มีชื่อปรากฎในบาลีอุโบสถสูตร ติกนิบาต อังคุตรนิกาย เป็นมหาชนบท ๑๖
แคว้นคือ
อังคะ มคธะ กาสี โกสละ วัชชี มัลละ เจดี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ
อัสสกะ อวันตี คันธาระ และกัมโพชะ
ชมพูทวีปมีเขาหิมพานต์ (หิมาลัย) ตั้งอยู่ตอนเหนือ
เป็นเทือกเขายาวยืดและสูงชัน
ปกคลุมด้วยป่าดงใหญ่
มีมหานทีทั้งห้าและสระใหญ่เจ็ดสระ
๑๐/ ๖๐๐๙
๑๖๓๗. ชมพูนุท
เป็นชื่อทองวิเศษชนิดหนึ่ง ว่าเกิดจากต้นชมพูและแม่น้ำชมพูนที
มีนิยามว่าทองคำเนื้อบริสุทธิ์
ทองชมพูนุทเป็นทองวิเศษชนิดหนึ่งในสี่ชนิดด้วยกัน
ท่านว่าเนื้อทองสุกปลั่งอยู่ตลอดเวลาไม่มีหมองเลย
ชมพูทวีปก็ได้ชื่อเพราะต้นชมพูต้นนี้เอง
ทองที่เกิดจากต้นชมพูนี้ได้ชื่อว่าทองชมพนุท
หน้า ๖๐๑๔
๑๖๓๘. ชมพูพาน เป็นชื่อพญาวานร ซึ่งพระอิศวรชุบขึ้นด้วยเหงื่อไคล เป็นผู้มีความรู้ในลางพยาวิเศษ สำหรับเป็นแพทย์ตำรับยาในกองทัพพระยารามได้ไปอยู่กรุงขีดขินพร้อมกับหนุมาน ครั้นพาลีตายแล้ว สุครีพนำถวายตัวพระราม เมื่อพระรามให้หนุมานกับองคตไปถวายแหวนนางสีดาได้ให้ชมพูพานไปด้วย
เมื่อพระพรตไปทำศึก ท้าวทศพินที่ลังกาชมพูพานก็ได้เป็นทูตถือสารประกาศสงคราม ภายหลังสงครามแล้วชมพูพานมีความชอบได้รับแต่งตั้งให้ไปกินเมืองปางตาล
๑๐/ ๖๐๑๕
๑๖๓๙. ชมัทอัคคี ชามัทอัคคี ชมทัคนี
เป็นชื่อฤษีภารควโคตร ลูกฤษีฤจิก เป็นผัวนางเรณุกา และเป็นบิดาปรศุราม
ซึ่งในรามเกียรติเรียกว่า รามสุร
๑๐/ ๖๐๑๘
๑๖๔๐. ชยันต์ ๑
เป็นขุนพลของท้าวทศรถ ราชาแห่งสุริยวงศ์ ผู้ครองราชย์ในกรุงอโยธยา
แคว้นโกศล
๑๐/ ๖๐๒๒
๑๖๔๑. ชยันต์ ๒
หรือไชยันต์ เป็นนามโอรสของพระอินทร์ มีเมืองชื่ออมราวดี
ปราสาทชื่อเวชยันต์
หรือไพชยนต์ ๑๐/
๖๐๒๒
๑๖๔๒. ชราสันธ์ - ท้าว
เป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในมหากาพย์ภารตะ เป็นโอรสของท้าวพฤหทรถ
กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ
และเจถี
มีนครหลวงอยู่กรุงราชคฤห์
๑๐/ ๒๐๒๓
๑๖๔๓. ชลบุรี
จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ฉะเชิงเทรา ทิศตะวันออกจด
จ.จันทบุรี
จ.ฉะเชิงเทรา จ.ระยอง และตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตก ตกทะเลในอ่าวไทย
ภูมิประเทศด้านเหนือเป็นที่ราบ
เหมาะแก่การทำนา ทำไร่ ด้านตะวันออกทั้งเฉียงใต้และเฉียงเหนือ
ตลอดจนด้านใต้ส่วนมากเป็นป่าและภูเขา
จ.ชลบุรี เป็นเมืองโบราณ มีวัดใหญ่และวัดสมณโกฎิเหมือน จ.พระนครศรีอยุธยา
มีซากเมืองเก่าสองเมืองคือ เมืองศรีพโร
และเมืองพระรถ
มีถนนติดต่อถึงกัน และจากเมืองพระรถ มีถนนต่อไปอีก ผ่านสนามชัยเขต ไป
อ.พนมสารคาม
จ.ฉะเชิงเทรา แล้วต่อไป จ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี
ถนนสายนี้ราษฎรเรียกว่า
ถนนขอม
มีบางตอนยังสมบูรณ์ดี
ในแผนที่ไตรภูมิโบราณสมัยอยุธยา ปรากฎชื่อตำบลสำคัญของชลบุรีสี่ตำบล
เรียงจากเหนือไปใต้คือ
บางทราย บางปลาสร้อย บางพระเรือ และบางละมุง
ส่วนทำเนียบศักดินาหัวเมืองตรา
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ ออกชื่อชลบุรี แต่ไม่ได้รวมกับบางละมุง
ตั้งบางละมุงเป็นอีกเมืองหนึ่งอยู่ในชั้นเมืองจัตวาด้วยกัน
ผู้รักษาเมืองชลบุรีเป็นที่ออกเมืองชลบุรีศรีมหาสมุทร
นา ๒,๔๐๐ ขึ้นประแดงอินทปัญญาซ้าย ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าเล่าว่า
เมืองชลบุรีเคยส่งส่วยไม้แดง
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ยังคงจัดให้เมืองนี้เป็นชั้นจัตวาตามเดิม
แต่มาเพิ่มเป็น ๓,๐๐๐ ผู้รักษาเมืองเป็นที่ พระชลบุรี
สังกัดกรมท่า ๑๐/
๒๐๒๖
๑๖๔๔. ชลประทาน ๑ - การ
คือ การพัฒนาแหล่งน้ำโดยการจัดสรรเพื่อใช้ประโยชน์หลาย ๆ อย่าง
ด้วยวิธีการต่าง
ๆ กัน เช่น การเก็บน้ำ การส่งน้ำ การระบายน้ำ การแปรสภาพดิน
การบรรเทาอุทกภัย
การไฟฟ้าพลังน้ำ
และการคมนาคมทางน้ำ
๑๐/ ๖๐๒๙
๑๖๔๕. ชลประทาน ๒ - กรม
มีหน้าที่พัฒนาทรัพยากรแหล่งน้ำโดยจัดสรรน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์หลาย ๆ
อย่างดังกล่าวแล้ว
ในลำดับที่ ๑๖๒๗
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ทรงตั้งกรมคลองขึ้น
ในสังกัดกระทรวงเกษตร เพื่อขุดลอกคลองในบริเวณทุ่งราบภาคกลางตอนล่าง
ที่เชื่อมระหว่าง
แม่น้ำแม่กลอง
ท่าจีน เจ้าพระยา และบางปะกง
แล้วสร้างประตูระบายน้ำ
พร้อมทั้งประตูเรือสัญจรขึ้นที่ปากคลองตอนที่จะออกแม่น้ำทั้งสองข้าง
เพื่อเก็บน้ำในคลองไว้ใช้ ในการคมนาคม การเพาะปลูก และการอุปโภคบริโภค
ต่อมากรมนี้ได้เริ่มก่อสร้างการทดและส่งน้ำ โดยสร้างโครงการป่าสักใต้
ซึ่งมีเขื่อนพระรามหก
เป็นอาคารทดน้ำในแม่น้ำป่าสักที่ จ.อยุธยา ขึ้นเป็นโครงการแรก
และได้เปลี่ยนชื่อกรมคลองเป็น
กรมทดน้ำ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ และได้เปลี่ยนเป็น กรมชลประทาน
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐
๑๐/ ๖๐๓๓
๑๖๔๖. ชลามพุชกำเนิด
เป็นชื่อกำเนิดอย่างหนึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย
มูลบัณณาสก์
สุดตันตปิฎก กล่าวว่าสัตว์ทั้งหลายมีกำเนิดสี่อย่าง เรียกว่า โยนิสี่
คือ
๑. อัณฑชโยนิ
เกิดในไข่ สัตว์พวกนี้ได้แก่ ไก่ เป็ด นก จิ้งจก งู เป็นต้น
๒. ชลามพุชโยนิ
เกิดในครรภ์ มีมดลูกหุ้มห่อ ได้แก่ มนุษย์
และบรรดาสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทั้งหลาย
๓. สังเสทชโยนิ
เกิดในเถ้าไคล ในที่มีความชื้น น้ำโสโครก เป็นต้น ได้แก่ หมู่หนอน
(และบรรดาพวกจุลชีพต่าง
ๆ ที่เกิดจากการแบ่งเซลจากเซลเดิม ได้แก่ เชื้อโรคต่าง ๆ - เพิ่มเติม)
๔. โอปปาติกโยนิ
ได้แก่ การเกิดของสัตว์จำพวกที่เกิดโตขึ้นทันที
และเมื่อแรกเกิดไม่ต้องอาศัยอะไรทั้งหมด
อาศัยอดีตกรรมอย่างเดียว เมื่อเกิดก็โตทันที ได้แก่ พวกเทวดา พรหม
สัตว์นรก
เปรต
ชลามพุชโยนิ คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ เรียกว่า คัพภเสยกะ
หมายถึง เกิดในครรภ์มารดาแบ่งออกเป็นสองอย่างคือ อัณฑชะเกิดในฟอง
และชลาพุชะ
เกิดในมดลูก
สัตว์จำพวกชลามพุช กำเนิดระหว่างอยู่ในครรภ์ จนครบสิบเดือนนั้น
คัมภีร์สดาถวรรค
สังยุตนิกาย สุตตันตปิฎก ตอนยักขสังยุต กล่าวว่า ในสัปดาห์แรก
ที่เกิด เกิดเป็นหยาดน้ำใส ๆ เหมือนน้ำมันงา เรียกว่า กลลรูป
(รูปเป็นน้ำใส) ในสัปดาห์ที่สอง
เกิดเป็นลักษณะคล้ายฟอง มีลักษณะเหมือนน้ำล้างเนื้อ เรียกว่า อัมพุทรูป
ในสัปดาห์ที่สาม
เกิดเป็นลักษณะเหมือนชิ้นเนื้อเหลว ๆ สีแดง เรียกว่า เปสิรูป
ในสัปดาห์ที่สี่
เกิดมีลักษณะเป็นก้อน มีสัณฐานเหมือนไข่ไก่ เรียกว่า ฆนรูป
ในสัปดาห์ที่ห้า
เกิดเป็นปุ่มห้าปุ่ม เรียกว่า ปัญจสาขา
คือ ห้ากิ่ง หมายถึง แขนสองข้าง ขาสองข้าง และหัวของทารก
ต่อจากนั้นในสัปดาห์ที่
๑๒ - ๔๒ อาการสามสิบสอง (บางส่วน) คือ ผม ขน เล็บ
เหล่านี้ก็ปรากฎ
๑๐/ ๖๐๓๔
๑๖๔๗. ช่วงชัย - การเล่น
เป็นการเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งเล่นกันในฤดูเทศกาล
วิธีเล่น มีผู้เล่นทั้งชายและหญิงหลาย ๆ คน แบ่งออกเป็นสองฝ่าย
ชายฝ่ายหนึ่ง
และหญิงฝ่ายหนึ่ง ยืนหันหน้าเข้าหากัน ห่างกันพอถึงกัน ใช้ผ้าขาวม้า
หรือผ้าห่มแถบ
ผู้หญิงทำเป็นลูกกลม ๆ ผูกให้แน่นเรียกว่า ลูกช่วง
เริ่มเล่นด้วย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้โยนลูกช่วงไปให้อีกฝ่ายหนึ่ง
อีกฝ่ายต้องรับให้ได้
ถ้ารับได้แล้ว ก็เอาลูกช่วงนั้นปาอีกฝ่ายหนึ่ง ถูกคนไหน คนนั้นเป็นผู้แพ้
ต้องทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าโยนไปแล้วอีฝ่ายรับไม่ได้
ก็ต้องโยนให้อีกฝ่ายรับบ้าง
ถ้าฝ่ายรับลูกช่วงได้แต่ปาอีกฝ่ายไม่ถูก
ฝ่ายถูกปาต้องเป็นผู้โยนลูกช่วงอีกต่อไป
การเล่นโดยปกติ มักเล่นติดต่อกับการร้องเพลงพวงมาลัย หรือร้องเพลงอื่น ๆ
เมื่อผู้ใดถูกปาแล้ว
ผู้นั้นต้องเป็นผู้รำ
โดยทั้งสองฝ่ายเข้ามารวมเป็นวงร่วมกันร้องเพลง
๑๐/ ๖๐๓๙
๑๖๔๘. ชวา ๑ - ปี่
เป็นปี่สองท่อนสวมกัน ท่อนหนึ่งเป็นเลาเรียว เจาะรูปสำหรับปิดเปิดนิ้ว
ให้มีเสียงสูงต่ำตามต้องการ
อีกท่อนหนึ่ง เป็นลำโพง รูปร่างและจำนวนรูปิดเปิดนิ้ว
เหมือนปี่ไฉนทุกประการ
แต่ปี่ชวามีขนาดใหญ่และยาวกว่า
ปี่ชวา ที่ใช้ร่วมกับกลองแขก ซึ่งมีฉิ่งเป็นเครื่องประกอบจังหวะอย่างหนึ่ง
สำหรับบรรเลงเป็นเอกเทศ หรือบรรเลงประกอบการแสดงกระบี่ กระบอง ชกมวย
รำกริช เป็นต้น การบรรเลงปี่ชวาร่วมกับกลองแขกนี้ ของชวาและมลายู
ใช้ฆ้องโหม่ง
เป็นเครื่องประกอบจังหวะ
วงกลองแขกปี่ชวานี้ เมื่อบรรเลงร่วมกับวงเครื่องสายไทย ก็เรียกว่า กลองแขกเครื่องใหญ่
หรือเครื่องสายปี่ชวา
ส่วนในพระราชพิธี นอกจากบรรเลงเป็นวงกลองแขกปี่ชวาแล้ว
ยังบรรเลงร่วมกับกลองชนะ
นำขบวนพยุหยาตราที่เป็นงานมงคลด้วย
๑๐/ ๖๐๔๐
๑๖๔๙. ชวา ๒ - เกาะ
เป็นเกาะสำคัญที่สุดในหมู่เกาะประเทศอินโดนิเซียทางตะวันตก
มีช่องแคบซุนดากั้นระหว่างเกาะนี้กับเกาะสุมาตรา
และทางตะวันออกมีช่องแคบบาหลีกั้นจากเกาะบาหลี
ลักษณะของเกาะเป็นรูปค่อนข้างเรียวยาว
ตอนกว้างสุดกว้าง ๒๐๓ กม. และตอนยาวที่สุดยาว ๙๗๐ กม.
ภูมิประเทศของเกาะชวา ประกอบด้วยเทือกเขาเป็นแนวยาว จากตะวันออกไปตะวันตก
ตามรูปร่างของเกาะ มีภูเขาไฟที่ดับแล้ว และที่ยังมีพลังอยู่รวมถึง ๑๑๒ ลูก
เทือกเขาที่พาดไปตามความยาวของเกาะ
อยู่ชิดไปทางใต้ของเกาะ
๑๐/ ๖๐๔๑
เมืองสำคัญในเกาะชวามีอยู่หลายเมือง ที่เป็นศูนย์กลางใหญ่ที่สุดคือ เมืองจาการ์ตา
เป็นทั้งเมืองหลวงและศูนย์กลางการค้า และวัฒนธรรมของอินโดนิเซีย
ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองจาการ์ตา
มีเมืองบันดุง
ตั้งอยู่บนที่ราบสูงในเขตเทือกเขาภาคกลางของเกาะ
เมืองนี้ได้รับสมญาว่าเป็น
ปารีสชวา
เพราะเป็นเมืองตากอากาศ
ในภาคกลางของชวามีเมืองสำคัญอยู่สามเมืองคือ เมืองเซเมรัง จอกจาการ์ตา
และสุราการ์ตา
เมืองเซเมรังเป็นเมืองท่า
และศูนย์กลางการค้าที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของอินโดนิเซีย
ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลภาคเหนือของเกาะ ส่วนเมืองจอกจาการ์ตา
และเมืองสุราการ์ตา
ตั้งอยู่ตอนในของเกาะ สองเมืองนี้มีความสำคัญ ทางด้านวัฒนธรรมโดยเฉพาะที่เมืองจอกจาการ์ตา
มีสถูปเจดีย์พระพุทธศาสนา ที่มีชื่อเสียงมากของโลกแห่งหนึ่งคือ โบโรพุทโธ
ใกล้ ๆ กันมีวิหารเก่าแก่ชื่อ วิหารเมนดุต
มีพระพุทธเก่าแก่องค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่ ภาคตะวันออกของเกาะมีเมืองสุราบายา
เป็นเมืองสำคัญที่สุดของภาค เป็นเมืองท่า มีความสำคัญรองจากจาการ์ตา
ก่อนหน้าที่นักเดินเรือชาวโปร์ตุเกส จะมาถึงเกาชวา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๕๔
นั้น ประวัติศาสตร์ของเกาะชวาแบ่งออกเป็นสองสมัยใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
สมัยแรกเป็นระยะเวลาที่ศาสนาฮินดู
มีอำนาจรุ่งเรือง และสมัยที่สอง
เป็นระยะเวลาที่ศาสนาอิสลามมีอำนาจขึ้นมาแทนที่
สมัยศาสนาฮินดูรุ่งเรืองในเกาะชวา เริ่มตั้งแต่ประมาณพุทธสตวรรษที่ ๖
ศูนย์กลางสำคัญทางด้านวัฒนธรรมและการเมืองของฮินดู
ผสมชวานี้อยู่ที่อาณาจักรมาตาราม
ในภาคกลางของชวา จนถึงประมาณปี พ.ศ.๑๔๑๗
ศูนย์กลางอำนาจได้เสื่อมไปอยู่ในชวาตะวันออก
และมีอาณาจักรต่าง ๆ ผัดเปลี่ยนกันครองอำนาจ
อาณาจักรสุดท้ายที่มีชื่อเสียงมากคือ
อาณาจักร
มาชปาหิต ได้ครองดินแดนกว้างขวางมาก
สมัยที่ศาสนาอิสลามเรืองอำนาจ
เริ่มภายหลังที่อาณาจักรมาชปาหิตเสื่อมโทรมไปมากแล้ว
ศาสนาอิสลามแพร่เข้ามาในชวา โดยอาศัยพวกพ่อค้า
ที่มาจากเมืองคุชราตในอินเดีย
และจากเมืองมะลักกา และเกาะสุมาตรา
ในชั้นต้นมีชาวพื้นเมืองที่นับถือศาสนานี้ไปมาก
แต่ต่อมาก็ค่อย ๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น และอำนาจทางการเมืองได้เปลี่ยนมือ
จากชวาตะวันออกมาเป็นของชวาภาคกลาง
มีอาณาจักรต่าง ๆ ที่รุ่งเรืองอำนาจแทนที่อาณาจักรมาชปาหิต ได้แก่
อาณาจักรเดมัก
ปาจัง และมาตาราม ซึ่งล้วนนับถือศาสนาอิสลาม
ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ชาวผิวขาวเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในชวา
เริ่มต้นด้วยพวกพ่อค้าชาววิลันดา
ที่เดินเรือมาถึงเกาะนี้ในปี พ.ศ.๒๑๓๙ ต่อมาได้สร้างเมืองปัตตาเวีย
(ต่อมาเป็นเมืองจาการ์ตา) เป็นที่มั่น แล้วค่อย ๆ
ขยายอำนาจออกไปครอบคลุมเกาะชวาทั้งหมด
ภายใน ๑๐๐ ปีเศษต่อมา
หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนนได้ ๒ วัน
ชาวพื้นเมืองได้ประกาศเอกราช
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ ตั้งสาธารณรัฐอินโดนิเซียขึ้น
เป็นการยุติการปกครองระบอบอาณานิคมมาเป็นเวลาถึง
๓๕๐ ปี ๑๐/
๖๐๔๑
๑๖๕๐. ชวาลา
เป็นตะเกียงใช้ตั้งหรือแขวนก็ได้ รูปเป็นหม้อกลม ๆ ป้อม ๆ
หล่อด้วยทองเหลืองสำหรับใส่น้ำมัน
มีเชิงสำหรับตั้งในถาด ซึ่งติดกันแน่นมีก้านสำหรับแขวน
ทำลวดลายอย่างขาโต๊ะกลึง
รอบ ๆ หมือมีพวยยื่นออกมาสามพวย เป็นที่ใส่ใส้จุดไฟกับมีที่เขี่ยใส้
มีครอบสำหรับดับไฟ
และมีใบโพ สำหรับบังลม
โดยนัยนี้ แม้จะเป็นตะเกียงไส้เดียว
ไม่มีหลอดก็น่าจะนับเป็นชวาลาได้
๑๐/ ๖๐๔๘
๑๖๕๑. ชเวดากอง - พระเจดีย์
พระเจดีย์นี้ตั้งอยู่บนยอดเนินเขา ที่ชานเมืองด้านเหนือของเมืองตะเกิงคือ
ย่างกุ้ง กล่าวกันว่าสร้างก่อนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน
ที่องค์พระเจดีย์นี้มีจารึกประวัติเป็นภาษามอญ
อยู่ด้านหนึ่งและมีจารึกคำอธิบายเป็นภาษาพม่าอยู่อีกด้านหนึ่ง
ศิลาจารึกนี้พระเจ้าธรรมเจดีย์
กษัตริย์มอญรับสั่งให้จารึกไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๘
ในคราวที่ส่งมอญไปอุปสมบทที่ลังกา
และกลับมาผูกกัลยาณสีมาที่เมืองพะโค (หงสาวดี)
แล้วพระองค์ก็ทรงให้ซ่อมพระเจดีย์ชเวดากอง
และมีรับสั่งให้จารึกไว้ มีความว่า
มีนายพานิชพี่น้องสองคนได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ตอนตรัสรู้ใหม่แล้วถวายข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง
แล้วพระพุทธเจ้าก็ประทานพระเกสามาแปดเส้น
นายพานิชทั้งสองเอาพระเกสา ใส่ในผอบพร้อมทับทิม เมื่อกลับมายังบ้านเมือง
ก็เอาไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์
ที่ได้สร้างขึ้น ณ ตำบลที่ประดิษฐานพระเจดีย์ชเวดากอง
ในปัจจุบัน
๑๐/ ๖๐๕๑
๑๖๕๒. ชเวโบ
เป็นชื่อเมืองทางภาคเหนือของพม่า ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำอิรวดี
พงศาวดารพม่าเรียกว่า
เมืองมุสโสโบ เป็นบ้านเกิดของพระเจ้าอลองพญา
ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อลองพญา
อันเป็นราชวงศ์สุดท้าย ที่ปกครองพม่าก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
ในปี
พ.ศ.๒๔๒๘ และเป็นราชธานีของพม่าอยู่ ๑๐ ปี ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๙๖ - ๒๓๐๖
ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ขณะที่มอญตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับพม่า
ประกาศตั้งกรุงหงสาวดีเป็นราชธานี
และสามารถตีเมืองอังวะราชธานีของพม่า และหัวเมืองใกล้ไว้ในอำนาจนั้น
มังลองเป็นปลัดแขวง
เมืองชเวโบ ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อมอญ สถาปนาเมืองชเวโบเป็นราชธานี ขนานนามว่า
กรุงรัตนสิงห์
ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ใช้นามว่า พระเจ้าอลอง มินตยาคยี หรืออลองพญา
แปลว่า พระโพธิสัตว์ เมื่อเห็นว่ามีกำลังพอ
ก็ยกกองทัพไปตีเมืองอังวะราชธานีเดิมของพม่าได้
เมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๖
เมื่อพระเจ้ามังระ ขึ้นเสวยราชย์ก็ได้ย้ายราชธานีไปตั้งที่กรุงอังวะเดิม
เมื่อปี
พ.ศ.๒๓๐๖
ในระยะที่พม่าทำสงครามกับอังกฤษ
พระเจ้ามินดงได้หลบหนีไปรวบรวมไพร่พลที่เมืองชเวโบ
ทำการปฎิวัติชิงราชสมบัติจากพระเจ้าพุกาม
และตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ที่เมืองชเวโบ
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๖ ต่อมาเมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษทั้งประเทศ ในปี
พ.ศ.๒๔๒๘
ชาวพม่าบางส่วน ได้หลบหนีไปรวมกำลังอยู่ที่เมืองชเวโบ
อังกฤษต้องใช้เวลาปราบปรามอยู่หลายปี
๑๖๕๓. ชหนุ - ฤาษี
ในเทพนิยายของชาวฮินดู แม่น้ำคงคาได้ชื่อว่า
เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลจากนิ้วพระบาท
พระวิษณุเทพ เดิมทีแม่น้ำคงคาไหลอยู่ในสรวงสวรรค์เท่านั้น และมีชื่อว่า
คงคาแห่งฟากฟ้า
ต่อมาฤษีภคีรถต้องการอัญเชิญแม่น้ำคงคา
ให้ไหลมาสู่พื้นโลกแล้วหลั่งไหลต่อไปยังบาดาล
เพื่อโปรดวิญญาณแห่งบรรพบุรุษ จำนวนหกหมื่นคนที่ถูกฤาษีกบิล
แผลงฤทธิ์ลืมเนตรขึ้นไปไฟไหม้
ตายตกไปอยู่ในบาดาลโลกนั้น ให้ไปสู่สุคติภพ
ด้วยเหตุนี้ ฤาษีภคีรถจึงบำเพ็ญตบะอย่างหนัก
จนในที่สุดพระศิวะทรงเมตตาอนุญาตให้แม่น้ำคงคาไหล
ลงสู่มนุษย์โลกได้ แต่ฤาษีอีกรูปหนึ่งชื่อ ชหนุ
เห็นกระแสธารของแม่น้ำคงคาไหลท่วมท้น
บริเวณโหมาวาส และโหมกูณฑ์ของตน ทำให้ลุแก่โทสะ
สำแดงฤทธิ์ดื่มน้ำจากแม่น้ำคงคาไว้ทั้งหมด
ร้อนถึงฤาษีภคีรถต้องบำเพ็ญทุกขกิริยา
เพื่อเรียกร้องขอความเห็นใจจากฤษีชหนุ
ซึ่งฤาษีชหนุ ก็เกิดความเห็นใจปล่อยกระแสธารของพระแม่คงคา
ให้ไหลออกจากพระกรรณของท่าน
ด้วยเหตุนี้แม่น้ำคงคาจึงได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ชาหนวี แปลว่า
อันเกิดจากชหนุ
๑๐/ ๖๐๕๗
๑๖๕๔. ชอง
เป็นชื่อชนกลุ่มน้อย อยู่ตามเขาเหนือจังหวัดจันทบุรี (เขาสอยดาว)
และในจังหวัดตราด
ขยายออกไปจนถึงแดนกัมพูชา นอกจากนั้นก็มีอยู่ในถิ่นอื่น ๆ เช่น
ทางตอนใต้ของจีน
ชอง มีแต่ภาษาพูด ไม่มีตัวหนังสือ และภาษาของชองใกล้ไปทางเขมร
ส่วนการแต่งตั้งประเพณีและความเชื่อถือ
ใกล้เข้ามาทางไทยมากแล้ว ชองยังมีเลือดนิกริโต ปนอยู่ประมาณร้อยละ ๒๐
ภาษาชองจัดอยู่ในตระกูลภาษามอญ
- เขมร ๑๐/
๖๐๕๘
๑๖๕๕. ช้องนาง
เป็นไม้พุ่มเตี้ย สูงประมาณ ๑ - ๑.๕๐ เมตร ดอกใหญ่ออกเดี่ยว ๆ
ตามง่ามใบหรือที่ปลายกิ่ง
เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เขตร้อน นำมาปลูกในประเทศไทย
เป็นไม้ประดับ
ใบเดี่ยวอยู่ตรงข้ามกัน รูปรี
แกมรูปไข่
๑๐/ ๖๐๖๐
๑๖๕๖. ช้องนางคลี
เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ จำพวกที่ใกล้เคียงกับผักกูด
พันธุ์ไม้นี้จะเกาะอยู่ตามต้นไม้
ตามป่าดิบทั่ว ๆ ไป ลำต้นเป็นกิ่งยาวห้อยลง ต้นหนึ่งมี ๒ - ๔ กิ่ง
กิ่งนี้เกิดจากตาที่โคนกิ่งเก่า
รวมกันอยู่เป็นกระจุก แต่ละกิ่งมักจะแยกออกจากกัน เป็นสองแขนง
และแต่ละแขนง
บางทีก็แยกออกจากกันเป็นสองแขนงอีกครั้งหนึ่ง ใบเล็กแคบ
อยู่ชิดติดกันเรียงเวียนไปตามความยาวของกิ่งหรือเรียงสลับอยู่สองข้างกิ่ง
๑๐/ ๖๐๖๒
๑๖๕๗. ช้องแมว
เป็นไม้พุ่มหรือพุ่มกึ่งเลื้อย ตามกิ่งก้านมักมีหนามตรง ๆ ปลายแหลม
ตามง่ามใบ
ดอกใหญ่สีเหลือง ออกเป็นช่อห้อยตามปลายกิ่ง บางชนิดนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
ใบรูปรีแกมรูปไข่ ผลกลม ๆ
สีเขียว
๑๐/ ๖๐๖๕
๑๖๕๘. ช่อน - ปลา
เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก
เพราะเป็นอาหารของชนทุกชั้น
รูปของปลาช่อนค่อนข้างกลม ท่อนหัวเหมือนหัวงู จึงเรียกกันว่า ปลาหัวงู
ช่อนงูเห่า - ปลา
บางทีเรียกว่า งูเห่าปลาช่อน เป็นปลาที่เคยได้ยินกัน ส่วนมากในหมู่คนไทย
เป็นปลาที่ค่อนข้างหายากในเมืองไทย
เชื่อกันว่า หากกัดใครแล้วเป็นพิษ
ช่อนทะเล - ปลา
พบในทะเลค่อนข้างเปิด อยู่ในเขตร้อนของแอตแลนติก
และไม่เคยพบในแปซิฟิกตะวันออก
ในประเทศไทยจับได้ที่บางปลาสร้อย ศรีราชา และสมุทรปราการ
ช่อนน้ำเค็ม - ปลา
ปลานี้กระจายพันธุ์อยู่ในมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก
ประเทศไทยมีปลานี้ทั้งในน้ำจืด
และน้ำเค็ม แต่มีอยู่น้อยมาก ชาวประมงเรียกปลานี้หลายชื่อด้วยกัน เช่น
ปลามะเขือ
บ้าง และปลาบู่หัวมัน
เป็นต้น
๑๐/ ๖๐๖๗
๑๖๕๙. ช้อน
เป็นเครื่องมือสำหรับตักปลาชนิดหนึ่ง มีขนาดใหญ่กว่าสวิง กักเป็นร่างแห
ขอบเป็นรูปวงกลม
หรือสามเหลี่ยม มีด้ามจับ
ช้อนมีรูปร่างต่าง ๆ กัน แบ่งออกได้เป็น ช้อนขาคีบ ช้อนคอก ช้อนคัด
ช้อนปลาสร้อย
ช้อนพาย ช้อนลอย ช้อนลาก ชั้นสนัม
หรือช้อนหางเหยี่ยว
๑๐/ ๖๐๗๐
๑๖๖๐. ช้อนนาง
เป็นไม้เถาไม่ทิ้งใบขนาดกลาง พบขึ้นพันเรือนยอดไม้ตามชายป่า
บางท้องถิ่นเรียก
รางจืด ยาเขียว ขอบชะนาง เครือเถาเขียว กำลังช้างเผือก ฯลฯ
ช่อดอก ออกตามง่ามใบ หรือปลายกิ่ง มีลักษณะเป็นช่อยาวย้อยลงมา ดอกมีตลอดปี
ต้นช้อนนาง ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ บางท้องถิ่นใช้ใบดำพอกฝี
ใบสีเขียวแก่
ออกตรงข้ามกัน รูปใบยาวรีถึงรูปหอก ผลทรงกลม ยอดเป็นปลายแหลม
ดูคล้ายหัวนก
๑๐/ ๖๐๗๓
๑๖๖๑. ช้อนหอย - นก
เป็นนกชนิดคอ่นข้างใหญ่ มีปากโค้งและยาวมากในประเทศไทยมีสามชนิด
๑. นกช้อนหอย (กุลา) ขาว ชอบเดินลุยน้ำ เอาปากยาวเที่ยวงม
หาสัตว์น้ำกิน
ชอบทำรังอยู่บนต้นไม้ ต้นเดียวกันหลาย ๆ คู่ การทำรังแบบรังของกา
๒. นกช้อนหอยดำ มีขนาดเล็กกว่านกช้อนหอยขาวเล็กน้อย
ชอบหากินทั้งในน้ำและบนพื้นดิน
ที่ชาวนาไถแล้ว
๓. นกช้อนหอยใหญ่ มีขนาดใหญ่กว่าสองชนิดแรก ชอบหากินตามใกล้ ๆ
หนองในกลางป่า
นอกจากที่พบในประเทศไทยแล้ว ยังมีนกช้อนหอยที่น่าสนใจคือ
นกช้อนหอยอเมริกาสีขาว
นกช้อนหอยสีเหลือบเขียว
และนกช้อนหอยแอฟริกา
๑๐/ ๖๐๗๔
๑๖๖๒. ช่อฟ้า
เป็นชื่อตัวไม้ที่ติดอยู่บริเวณหน้าจั่ว รูปเหมือนหัวนาคชูขึ้นเบื้องบน
ช่อฟ้าจะเห็นได้ตามหลังคาปราสาทราชฐาน
โบส์ถ วิหาร ศาลาการเปรียญ ถือกันว่าเป็นของสูง
ความเห็นเกี่ยวกับที่มาของคำว่า ช่อฟ้า มีอยู่หลายประการด้วยกัน
แต่ในปัจจุบันตัวไม้
หรือสิ่งอื่นใดที่มีรูปร่างคล้ายหัวนาค หรือหัวนกติดคันทวย
และอยู่เหนืออกไก่
ใบระกา ตามหลังคาของปราสาทราชฐาน โบส์ถ วิหาร ศาลาการเปรียญ หรือศาลา แล้ว
เราก็เรียกว่า ช่อฟ้า
ทั้งสิ้น
๑๐/ ๖๐๗๖
๑๖๖๓. ช้อยนางรำ - ต้น
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑ เมตร พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ใบออกเป็นช่อ
ๆ ช่อละสามใบ เรียงสลับกัน ดอกเล็ก สีขาวแกมม่วงอ่อน
ออกเป็นช่อแน่นตามปลายกิ่ง
ผลเป็นฝักแบน ๆ
ใบของพันธุ์ไม้ชนิดนี้ เวลาเอามือไปอยู่ใกล้ ๆ และหันกลับไปมา
ใบจะเคลื่อนไหวตามไปด้วย
บางทีก็เรียกว่า
ช้อยช่างรำ
๑๐/ ๖๐๘๐
๑๖๖๔. ชอล์ก
เป็นแร่ชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยคัลเซียมคาร์บอเนต
ซึ่งมีซิลิกาปนอยู่บ้างเล็กน้อย
เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบอยู่ทั่วไป มีสีขาวและสีเทา
ชอล์กที่บริสุทธิ์จะมีสีขาว
มีส่วนประกอบของคัลเซียมคาร์บอเนต อยู่ประมาณร้อยละ ๙๘ - ๙๙
ชอล์ก ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างทั้งในด้านเกษตรกรรม
และอุตสาหกรรม
๑๐/ ๖๐๘๐
๑๖๖๕. ชะคราม
เป็นพันธุ์ไม้ต้นเล็กเป็นพุ่ม กิ่งก้าน และใบอวบน้ำ
ชอบขึ้นอยู่ตามชายทะเลที่เป็นหาดทรายปนเลน
ต้นชะครามดูดเกลือไว้ในต้นได้มาก
ใช้เป็นผักบริโภคได้
๑๐/๖๐๘๒
๑๖๖๖. ชะโด - ปลา
เป็นพวกปลาหัวงูเหมือนอย่างปลาช่อน แต่ตัวโตกว่า
ชอบอยู่ตามแหล่งที่เป็นแม่น้ำและคลองที่กว้าง
เป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ มีขนาดยาวประมาณ ๑ เมตร หนัก ๒๐ กก.
ชอบกินสัตว์อื่นเป็นอาหาร
๑๐/ ๖๐๘๒
๑๖๖๗. ชะตา
หมายถึง เวลาที่เป็นกำเนิดของคนและของสิ่งสำคัญที่เกี่ยวกับเวลาเช่นนั้น
รูปวงกลม
แบ่งเป็นสิบสองราศี ที่โหรผูกขึ้นเรียกว่า ดวงชะตา
๑๐/ ๖๐๘๓
๑๖๖๘. ชะนี
เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งในห้าชนิดที่มีลักษณะคล้ายคน ซึ่งจัดระดับตามที่
คล้ายคนมากที่สุดลงไปตามลำดับคือกอริลลา
ชิมแปนซี อูรังอูตัง ชะนีเซียมังและชะนี
ชะนีมีลักษณะผิดกับลิงค่างชั้นต่ำทั่วไปคือมีสมองใหญ่
ไม่มีหาง ไม่มีถุงอาหารที่แก้ม
แขนยาวกว่าขามาก เวลาเดินชอบเดินสองเท้า แขนทั้งสองงอที่ศอกเพื่อการทรงตัว
ชอบอยู่เป็นฝูงระหว่างพ่อ แม่ และลูก ๆ ราว ๒ - ๕ ตัว
ชะนีมีอยู่เฉพาะในทวีปเอเซียทางภาคใต้
และภาคตะวันออกเฉียงใต้ลงไปจนถึงอินโดนีเซีย
แบ่งออกเป็นหกชนิดคือ ชะนีอินเดีย ชะนีลาว ชะนีมือขาว ชะนีมลายู ชะนีแคระ
และชะนีเทา ในประเทศไทยมีอยู่ชนิดเดียวคือ ชะนีมือขาว
ซึ่งแยกออกไปเป็นสามชนิดคือ
ชะนีธรรมดา ชะนีปักษ์ใต้
และชะนีมงกุฎ
๑๐/ ๖๐๘๘
๑๖๖๙. ชะพลู
เป็นพันธุ์พืชเล็ก ๆ ต้นมักเลื้อยไปตามดิน โดยชูยอดอ่อน ๆ
ขึ้นมาสูงพอประมาณ
ทั่วทั้งต้นมีรสเผ็ด ใบกว้างรูปหัวใจคล้ายกับใบพลู นิยมใช้บริโภคเป็นผัก
โดยเฉพาะอาหารที่เรียกว่า
เมี่ยงคำ ๑๐/
๖๐๙๓
๑๖๗๐. ชะมด
เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดหนึ่ง มีหางเป็นปล้องดำขาว
ซึ่งผิดกับอีเห็นที่หางยาวไม่มีปล้องดำขาว
ที่ข้างก้นมีต่อมเป็นถุง ซึ่งระบายน้ำกลิ่นออกมาอยู่เสมอ
น้ำกลิ่นชนิดนี้เรียกว่าชะมดเช็ด
ชาวบ้านเอาชะมดเช็ดนี้ไปใช้เข้ายาแผนโบราณ
หรือใช้ผสมกับยาสูบเป็นของที่มีราคามาก
๑๐/ ๖๐๙๓
๑๖๗๑. ชะล่า - เรือ
เป็นเรือสำหรับใช้บรรทุกสิ่งของและเครื่องใช้ ทำด้วยไม้ซุงทั้งต้น
เอามาขุดเป็นรูปเรือ
ซุงที่ใช้ตามปรกติใช้ไม้ตะเคียน
เรือชะล่าใช้บรรทุกของหนัก ๆ ซึ่งต้องเป็นเรือที่แข็งแรง
แต่ไม่ปราดเปรียว
เหมือนเรือเร็วชนิดอื่น
ๆ
๑๐/ ๖๐๙๗
๑๖๗๒. ชะลิน
ทูน้ำจืด นวลจันทร์ทะเล - ปลา มีรูปร่างป้อม แบนข้าง และหัวต่ำ
เกล็ดกลมเล็ก
และมีแถบสีเงิน ลำตัวมีสีเงินและแถบเขียวอ่อน
ปลาชนิดนี้มีมากในทะเล และตามปากแม่น้ำ เป็นปลาที่มีค่าทางอาหารมาก
และเหมาะที่จะเลี้ยงไว้ในบ่อ
ซึ่งจะหาตัวอ่อนได้จากริมทะเล
๑๐/ ๖๐๙๗
๑๖๗๓. ชะลูด
เป็นไม้เถา เนื้อไม้แข็ง ทอดยอดเลื้อยง่าย บางชนิดก็เป็นพุ่มเล็ก ๆ
อยู่ได้
นิยมใช้เนื้อไม้และดอกอบเสื้อผ้า กลิ่นหอมติดเนื้อผ้าทนนาน ใบมีขนาดต่าง ๆ
ตามแต่ชนิด ดอกออกช่อกระจุกสีขาวหรือขาวอมชมพู
มีกลิ่นหอมมากน้อยตามแต่ชนิด
๑๐/ ๖๐๙๘
๑๖๗๔. ชะอม
เป็นไม้เถาขนาดกลางถึงใหญ่ มีขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ มีดอกสีขาวเล็ก ๆ
อยู่รวมกันเป็นกระจุกทำให้ดูเป็นหัวกลม
ๆ ฝักแบนเป็นสีน้ำตาล ยอดและใบอ่อนมีกลิ่นแรง แต่มีผู้นิยมบริโภคกันมาก
ใบเป็นใบแบบใบผสม
ออกสลับกัน ๑๐/ ๖๐๙๘
๑๖๗๕. ชะอวด
อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.ร่อนพิบูลย์
ยกฐานะเป็นอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖
ภูมิประเทศด้านตะวันตกเป็นป่าสูงลึก
๑๐/ ๖๑๐๐
๑๖๗๖. ชะอำ
อำเภอขึ้น จ.เพชรบุรี อาณาเขตทางทิศตะวันออกตกอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นป่า
และเขาทางแถบชายทะเลมีบ้านพักตากอากาศหลายแห่ง
๑๐/ ๖๑๐๐
๑๖๗๗. ชะเอม
เป็นไม้เถาขนาดเล็ก ชอบขึ้นพันตามต้นไม้ต่าง ๆ ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ
ตามง่ามใบและปลายกิ่ง
ผลเป็นฝักกลม ๆ สองฝักโดยติดกัน ใบเป็นแบบใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันรูปไข่
ชะเอมหรือชะเอมเทศที่ ใช้ในการปรุงยาสูบและขนมนั้น
เป็นส่วนที่ได้จากราก
๑๐/ ๖๑๐๒
๑๖๗๘. ชะโอน - ปลา
เป็นปลาเนื้ออ่อนชนิดหนึ่ง มีชื่อต่าง ๆ กัน แต่ชื่อสามัญทั่วไปได้แก่
ปลาเนื้ออ่อน
๑๐/ ๖๑๐๓
๑๖๗๙.ชักเย่อ
(ชักกะเย่อ) เป็นชื่อการเล่นอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างรั้งเชือกกัน
โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็นสองข้าง
จำนวนเท่ากัน ใช้เชือกขนาดพอดี
กำรอบและยาวพอที่จะให้ผู้เล่นทั้งสองข้างเรียงแถวจับได้
โดยมีที่ว่างระหว่างกลางประมาณ ๑ เมตร ตรงกลางเชือกทำเครื่องหมายไว้
วางเชือกลงกับพื้นตรงกลาง
เชือกที่ทำเครื่องหมายไว้ ขีดเส้นบนพื้นให้เป็นเส้นกลาง
ห่างจากเส้นกลางออกไปสองข้างประมาณข้างละ
๑ เมตร ขีดเส้นไว้บนพื้น ให้ขนานกับเส้นกลาง คือเป็นเส้นแดนของแต่ละข้าง
เมื่อกรรมการให้สัญญาณ
ผู้เล่นทั้งสองข้างต่างพยายามดึงเชือกให้กึ่งกลางของเชือก
เข้ามาผ่านเส้นแดนของตน ผู้เล่นข้างใดสามารถดึงให้กึ่งกลางของเชือก
ผ่านเข้ามาในเส้นแดนของตนได้ถือว่าชนะในครั้งนั้น
ให้แข่งขันกันสามครั้ง
ถ้าข้างใดชนะสองครั้งถือว่าชนะในการแข่งขัน
๑๐/ ๖๑๐๕
๑๖๘๐. ชั่ง
เป็นคำใช้เรียกชื่อมาตราชั่งอย่างหนึ่ง กับใช้เรียกมาตราเงินอีกอย่างหนึ่ง
มาตราชั่งกับมาตราเงินตั้งแต่โบราณมาแทบทุกชาติ
ใช้ปนกันหรือใช้มาตราเดียวกัน
มาตราเงินไทยสมัยโบราณมีหลายมาตรา
มาตราตั้งแต่ไพลงมาถึงชั่งเป็นหลักของมาตราเงิน
ใช้กันตลอดสมัยอยุธยาจนสมัยรัตนโกสินทร์ ถึงสมัยรัชกาลที่สี่
มีการเปลี่ยนแปลงมาตราเงิน
โดยเพิ่มเงินปลีกย่อยเข้าไปอีกมีชื่อว่าโสฬส และอัฐ ดังนี้
๒ โสฬส = ๑ อัฐ, ๒ อัฐ = ๑ ไพ, ๔ ไพ = ๑ เฟื้อง, ๒ เฟื้อง = ๑ สลึง
๔ สลึง = ๑ บาท, ๔ บาท = ๑ ตำลึง , ๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง
ซึ่งเป็นชื่อมาตราเงินที่กำหหนดขึ้นเป็นขั้นสูงสุดมาแต่โบราณ จนถึงปัจจะบัน
มาตราชั่ง
ใช้สำหรับชั่งน้ำหนักสิ่งของและมีชื่อเรียกไปตามพิกัดมากน้อยไปตามลำดับ
มาตราชั่งของไทยแต่โบราณมามีหลายมาตรา ยกตัวอย่างมากตราหนึ่งคือ
๓ เมล็ดผักกาด = ๑ เมล็ดงา, ๒ เมล็ดงา = ๑
เมล็ดข้าวเปลือก
๔ เมล็ดข้าวเปลือก = ๑ กล่อม, ๒ กล่อม = ๑
กล่ำ,
๒ กล่ำ = ๑ ไพ
๔ ไพ = ๑ เฟื้อง, ๒ เฟื้อง = ๑ สลึง,
๔ สลึง = ๑ บาท, ๔ บาท = ๑ ตำลึง ๒๐
ตำลึง = ๑ ชั่ง
๒๐ ชั่ง = ๑ ดุล, ๒๐ ดุล = ๑ ภารา
มาตราชั่งของเก่าเปลี่ยนแปลงมาหลายแบบ แบบท้ายสุดคือ
๒ เมล็ดข้าว = ๑ กล่อม, ๒ กล่อม = ๑
กล่ำ,
๒ กล่ำ = ๑ ไพ, ๔ ไพ = ๑
เฟื้อง,
๒ เพื้อง = ๑ สลึง
๔ สลึง = ๑
บาท,
๔ บาท = ๑ ตำลึง, ๒๐ ตำลึง = ๑ ชั่ง,
๕๐ ชั่ง = ๑ หาบ ๑๐/
๖๑๐๘
๑๖๘๑. ชัน
เป็นชื่อทั่วไปของไม้ขนาดใหญ่ไม่ทิ้งใบชนิดหนึ่ง
บางท้องถิ่นเรียกว่ายางมอก
เต็งตานีชันตก ไม้ชันพบขึ้นทั่วไปในป่าดิบชื้นในประเทศไทย
ต้นสูงประมาณ
๓๐ - ๔๐ เมตร เปลือกเรียบ ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ เนื้อไม้เหลืองอมชมพู
ไม่ทนทาน
๑๐/ ๖๑๑๒
๑๖๘๒. ชันอากาศ - หญ้า
มีพันธุ์แพร่กระจายทั่วไปในเขตร้อน เฉพาะในประเทศไทย
มีขึ้นทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามที่ชื้นภาคกลาง
๑๐/ ๖๑๑๒
๑๖๘๓. ชั้นฉาย
เป็นการสังเกตเวลาด้วยการวัดอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่าเหยียบชั้น
คือเอาเท้าวัดเงาของหัวคนที่ยืนอยู่กลางแดด
ครั้งโบราณกำหนดเวลาด้วยวัดเงานั้น เป็นช่วงเท้าเป็นหนึ่งชั้นฉาย
เท่ากับเงายาวชั่วรอยเท้า
มีพิกัดอัตราดังนี้
๑๐/ ๖๑๑๒
๑๐ อักษร เป็น ๑ เมล็ดงา, ๔ เมล็ดงา เป็น ๑
ข้าวเปลือก,
๔ เมล็ดข้าวเปลือก เป็น ๑ องคุลี, ๑๕ องคุลี เป็น ๑
ชั้นฉาย
๑๖๘๔. ชันนะตุ
เป็นชื่อโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เป็นที่ศีรษะ เกิดจากเชื้อรา
มักจะทำให้ผมร่วง
๑๐/ ๖๑๑๕
๑๖๘๕. ชันโรง - แมลง
เป็นแมลงพวกผึ้ง แต่ไม่มีเหล็กในสำหรับต่อย มักชอบทำรังตามบ้านเรือนโรง
และต้นไม้
รังของชันโรงนี้จะกลายเป็นชัน
๑๐/ ๖๑๑๗
๑๖๘๖. ชัยเชษฐาหรือไชยเชษฐา - พระ
เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต เป็นพระโอรสพระเจ้าโพธิสาร
ประสูติเมื่อปี
พ.ศ.๒๐๗๗
มีพระมารดาเป็นพระธิดาพระเมืองเกษเกล้าซึ่งเคยครองเมืองเชียงใหม่มาก่อน
พระชัยเชษฐาได้ไปครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๘๙
ต่อมาได้กลับไปกรุงศรีสัตนาคนหุตเพื่อชิงราชสมบัติกับพระอนุชา
แล้วอยู่ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต ไม่ยอมกลับไปเชียงใหม่
ทางเชียงใหม่จึงเชิญเจ้าเมกุติแห่งเมืองนาย
มาครองเมืองเชียงใหม่
ต่อมาเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีเมืองนายได้
เจ้าเมกุติก็ยอมตนเป็นเจ้าประเทศราช เมืองเชียงใหม่ก็ขึ้นต่อกรุงหงสาวดี
เมื่อปี
พ.ศ.๒๐๙๙
หลังสงครามช้างเผือกไม่นาน เจ้าเมกุติได้คบคิดกับพระยาลำปาง น่าน
แพร่และเชียงใหม่
แข็งเมืองต่อกรุงหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง จึงยกทัพไปตีเชียงใหม่
เมื่อปี
พ.ศ.๒๑๐๗ ฝ่ายพวกเมืองเชียงใหม่เห็นเหลือกำลังก็ยอมอ่อนน้อม
กองทัพกรุงหงสาวดีจับได้พระยาเชียงแสนคนเดียว
อีกสามคนหนีไปพึ่งพระชัยเชษฐา
พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงให้พระมหาอุปราชายกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้แล้ว
จับพระมเหสี และพระญาติวงศ์ไปไว้ที่กรุงหงสาวดี
พระชัยเชษฐากลับเข้าเมืองได้
จึงแต่งพระราชสาสน์มาขอพระเทพกษัตรีราชธิดาองค์เล็กของพระมหาจักรพรรดิไปเป็นพระมเหสี
แต่ทัพพม่ายกมาชิงพระเทพกษัตรีไปได้ ด้วยความร่วมมือของพระมหาธรรมราชา
ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒
พระชัยเชษฐายกกองทัพมาช่วยฝ่ายไทยตามที่ขอไป
แต่ถูกฝ่ายกรุงหงสาวดี โดยพระมหาอุปราชา ไปซุ่มดักอยู่ที่เมืองสระบุรี
ตีทัพพระชัยเชษฐาแตกกลับไป
พระชัยเชษฐาสิ้นพระชนม์ เพราะถูกพระยานครทรยศ
ล่อให้ยกกองทัพไปตีเมืององการ
ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเมืองอัตปือขณะนี้ และหายสาบสูญไป เมื่อพระชนมายุ ๓๘
พรรษา
และได้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตเป็นเวลา ๑๔
ปี
๑๐/ ๖๑๑๗
๑๖๘๗. ชัยนาท
จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.อุทัยธานี และ จ.นครสวรรค์
ทิศตะวันออกจด
จ.นครสวรรค์ และ จ.สิงห์บุรี ทิศใต้จด จ.สุรินทร์ และ จ.สุพรรณบุรี
ทิศตะวันตกจด
จ.อุทัยธานี
จ.ชัยนาท เป็นเมืองโบราณ
ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ตรงแยกฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำเมืองสวรรค์
มีพระมหาเจดีย์และวัดเก่า ๆ หลายวัด
เมืองนี้ตั้งขึ้นภายหลังเมืองพันธุมวดี
(สุพรรณบุรี) เป็นเมืองด่านของแว่นแคว้นสุโขทัย
น่าจะได้สร้างขึ้นในรัชกาลพญาเลอไท
ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๖๐ - ๑๘๙๐ ส่วนเมืองชัยนาทบุรี
เพิ่งมาปรากฎในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๑ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๐ ที่ทางกรุงศรีอยุธยาได้ยกกองทัพไปยึดเมืองชัยนาท
แล้วให้ขุนหลวงพะงั่ว
(สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑) อยู่รักษาเมืองชัยนาท
ทางกรุงสุโขทัยแต่งทูตมาเจรจาขอเมืองชัยนาทคืน
ต่อมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระนครอินทราชาธิราช
ปรากฎว่าเจ้าสามพระยาลูกยาเธอได้ไปครองเมืองชัยนาท
ถึงปี พ.ศ.๑๙๙๔ พระเจ้าติโลกราชยกกองทัพมาตีเมืองกำแพงเพชรได้
แล้วส่งกำลังมากวาดต้อนครอบครัวถึงเมืองชัยนาท
เข้าใจว่าเมืองชัยนาท เมืองแพรก ก็คงจะถูกทิ้งร้างในครั้งนั้น
เวลาล่วงมาได้ร้อยปีเศษ
สมเด็จพระเจ้ามหาจักรพรรดิ์ ทรงตั้งเมืองชัยนาทบุรีขึ้นใหม่
ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา
ตรงข้ามกับที่ตั้งเมืองเดิม
เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗ พระเจ้าเชียงใหม่ (มังนรทาช่อ)
ยกกองทัพมาตั้งที่เมืองชัยนาท
ครั้นทัพหน้าถูกพระราชมนูตีถอยกลับไปแล้ว
พระเจ้าเชียงใหม่ก็เลิกทัพไปตั้งที่
จ.กำแพงเพชร ๑๐/ ๖๑๒๒
๑๖๘๘. ชัยนารายณ์
เป็นพระนามของกษัตริย์และเป็นชื่อเมืองที่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ชาติไทย
พระองค์ชัยนารายณ์นั้นเป็นโอรสของพระมังรายนราช กษัตริย์ราชวงศ์สิงหล
ผู้ครองเชียงโยนก
ลำดับที่สี่ สันนิษฐานว่า ประสูติเมื่อประมาณปี พ.ศ.๖๖๐
พระองค์ทรงเสกสมรสกับพระขนิษฐภคินี
ทรงไปสร้างเมืองใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๗๑๑ แล้วเรียกชื่อว่า เวียงชัยนารายณ์
ปัจจุบันได้แก่ เชียงราย
๑๐/ ๖๑๒๕
๑๖๘๙. ชัยบาดาล
อำเภอขึ้น จ.ลพบุรี เดิมเป็นเมืองขึ้นเมืองวิเชียรบุรี แล้วยุบเป็น
อ.ชัยบาดาล
ขึ้น จ.เพชรบูรณ์ ต่อมาขึ้นกับ จ.สระบุรี แล้วโอนไปขึ้น จ.ลพบุรี
ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน
เป็นป่าดง มีเขาเตี้ย ๆ ตอนกลางและตอนใต้เป็นป่ามีที่ราบลุ่มทำนา
ทำไร่
๑๐/ ๖๑๒๙
๑๖๙๐. ชัยปริตร
เป็นบทสวดมนต์บทหนึ่งในสิบสองบทที่เรียกว่า สิบสองตำนาน
เป็นมนต์สำหรับสวดเพื่อคุ้มครองป้องกันภยันตราย
เกิดขึ้นครั้งแรกในลังกาทวีป
เมื่อพุทธกาลล่วงแล้วราว ๕๐๐ ปี เนื่องจากพวกทมิฬได้เป็นใหญ่ในลังกาทวีป
พวกทมิฬถือไสยศาสตร์ตามลัทธิศาสนาพราหมณ์
ซึ่งมีการสาธยายพระเวท เพื่อเป็นสิริมงคล และเพื่อป้องกันภยันตราย
ชาวลังกาที่เป็นพุทธศาสนิกชนจึงขอให้พระสงฆ์
ช่วยหาทางในพระพุทธศาสนาสงเคราะห์ เพื่อให้เกิดสิริมงคล
และป้องกันภยันตรายให้แก่ตนบ้าง
พระสงฆ์จึงคิดวิธีสวดพระปริตรขึ้น ให้สมความปรารถนาของประชาชน
โดยเลือกพระสูตรที่มีตำนานเกี่ยวกับสิริมงคล
และป้องกันภยันตรายไปตรวจ และแต่งคำกล่าวนำที่เรียกว่า บทขัดตำนาน
แสดงตำนานและอานุภาพของพระสูตรนั้นอย่างย่อ ๆ
พระสูตรที่ใช้สวดดังกล่าวเรียกว่า
ปริตฺต ในชั้นแรกก็มีแต่น้อยสูตร ต่อมาได้เพิ่มจำนวนโดยลำดับ
มีคำกล่าวในลังกาทวีปว่า
เมื่อปี พ.ศ.๙๐๐ พระเถระทั้งหลายมี พระเรวัตเถระ เป็นประธาน
ช่วยกันสำรวจรวบรวมพระปริตรต่าง
ๆ เรียบเรียงเข้าไว้เป็นคัมภีร์ เรียกว่า ภาณวาร
ต่อมาได้มีการปรุงพระปริตรขึ้น สำหรับสวดงานหลวงขึ้นเป็นราชปริตร
ซึ่งคงจะเป็นเจ็ดตำนาน
ภายหลังได้มีการปรับปรุงเป็นสิบสองตำนาน เรียกว่า มหาราชปริตร
และเรียกแบบเดิมว่า จุลราชปริตร
ชัยปริตร เป็นบทที่ ๑๒ ในมหาราชปริตร แยกได้เป็นสามตอน ตอนต้นว่า
"มหาการุณิโก นาโถ ฯ เป ฯ อคฺคปฺปตฺโต ปโมทติ" ตอนที่สองว่า
"สุนกฺขตฺตํ สุมงฺคลํ ฯ เป ฯ ลภนฺตตฺเถ ปทกฺขิเณ" ตอนที่สามว่า
"โส อตฺถลทฺโย สุขิโต ฯ เป ฯ เต อตฺถลทฺธา สุขิตา ฯ เป ฯ สห สพฺ เพหิ
ญฺาติภิ"
๑๐/ ๖๑๓๑
๑๖๙๑. ชัยพฤกษ์
เป็นพันธุ์ไม้ทิ้งใบขนาดกลาง สูง ๓ - ๑๐ เมตร
นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทางภาคเหนือเรียก
ลมแล้ง คูน ภาคกลางเรียก ราชพฤกษ์ ดอกใหญ่กลีบเหลือง ช่อดอกยาวห้อยลง
ออกเป็นคู่หรือมากชื่อ
ตามง่ามใบ ผลเป็นฝักกลมยาว เนื้อไม้สีแดงเข้ม แข็งแต่ไม่ทนทาน
ทั้งเนื้อไม้และเปลือกชาวบ้านใช้กินกับหมาก
หรือทำเป็นน้ำฝาดใช้ในการฟอกหนัง ใบและผลใช้เป็นยาสมุนไพร
ใบเป็นแลลใบผสม
ออกสลับกันเป็นช่อ ใบย่อยรูปไข่ ๑๐/
๖๑๓๕
๑๖๙๒. ชัยภูมิ
จังหวัดภาคอีสาน มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกจด จ.ขอนแก่น ทิศใต้จด
จ.นครราชสีมา
ทิศตะวันตกจด จ.เพชรบูรณ์ ภูมิประเทศทางเหนือและทางตะวันตก
เป็นที่สูงมีภูเขาและป่าดงมาก
ตอนใต้ ตอนกลางและตอนตะวันออกเป็นที่ราบ
จ.ชัยภูมิ เดิมขึ้น จ.นครราชสีมา ในสมัยรัชกาลที่สอง
ปรากฎว่าเป็นเมืองร้าง
มีชาวเวียงจันทน์คนหนึ่งขื่อ แล
มาตั้งทำมาหากินอยู่ที่ ต.ชีลอง อ.เมืองชัยภูมิ
และส่งส่วยไปยังเวียงจันทน์
เจ้าอนุวงศ์จึงตั้งให้เป็น ขุนภักดีชุมพล
เมื่อมีผู้คนมากขึ้น จึงย้ายไปตั้งที่หนองปลาเฒ่า เรียกว่า บ้านหลวง
ต่อมาขุนภักดีชุมพล พบบ่อทองคำ ได้นำไปถวายเจ้าอนุเวียงจันทน์
จึงได้รับโปรดให้เลื่อนเป็น
พระยาภักดีชุมพล
ยกบ้านหลวงขึ้นเป็นเมืองชัยภูมิ ต่อมาย้ายไปตั้งที่บ้านหิน ใน ต.เมือง
อยู่จนถึงปัจจุบัน
๑๐/ ๖๑๓๗
๑๖๙๓. ชัยราชา หรือชัยราชาธิราช
เป็นพระนามพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๗๗ -
๒๐๘๙ พระองค์โปรด ฯ ให้ขุดคลองลัดในแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนด้านท่าราชวรดิตถ์
ทรงตรากฎหมายลักษณะพิสูจน์
การสงครามครั้งแรกกับพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๑ พระเจ้าตะเบงชเวตี้
ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงตราน
พระองค์ยกกองทัพไปตีกลับคืนมาได้ ในรัชกาลของพระองค์ มีชาวโปร์ตุเกส
ประมาณ ๓๐๐ คน เข้ามาตั้งบ้านเรือนค้าขาย อยู่ในกรุงศรีอยุธยา
พระองค์ได้เกณฑ์ชาวโปร์ตุเกส
๑๒๐ คน เข้าประจำการในกองทัพไทย ที่รบพม่าเพราะพวกนี้ชำนาญใช้ปืนไฟ
เมื่อเสร็จศึกพม่าพระองค์ทรงปูนบำเหน็จพระราชทานที่ดิน
ที่ตำบลบ้านดิน ริมฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา
เหนือคลองตะเคียนให้ชาวโปร์ตุเกสตั้งบ้านเรือน
อนุญาตให้สร้างวัดสอนศาสนาคริสตัง หรือโรมันคาทอลิก
จึงมีบาทหลวงสอนศาสนาคริสตัง
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สมเด็จพระชัยราชาทรงได้เมืองเชียงใหม่กลับมาเป็นหัวเมืองประเทศราชของไทยตามเดิม
พระมหาเทวีจิระประภาผู้ครองเมืองเชียงใหม่
เกรงอานุภาพพระเจ้าตะเบงชเวตี้จึงยอมอ่อนน้อมต่อพม่า
สมเด็จพระชัยราชาธิราชทรงยกกองทัพหลวงไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๘
ทรงตีได้นครลำปาง นครลำพูน แล้วเข้าล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ พระมหาเทวีจิระประภาเห็นว่าสู้ไม่ได้
ก็ยอมเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยาดังเดิม
สมเด็จพระชัยราชาธิราชเสด็จกลับถึงกรุงศรีอยุธยาไม่นานก็สวรรคต
เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๙
๑๐/ ๖๑๓๙
๑๖๙๔. ชัยวรมัน
เป็นพระนามของพระราชาแห่งอาณาจักรฟูนัน ในสมัยโบราณ (ซึ่งต่อมาเขตหนึ่งคือ
ประเทศกัมพูชา และเป็นพระนามกษัตริย์เขมรหลายพระองค์
ชัยวรมัน
(พ.ศ.๑๐๕๗)
เป็นพระราชาแห่งอาณาจักรฟูนัน
ซึ่งเป็นอาณาจักรที่สำคัญที่สุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในสมัยโบราณ
อาณาจักรนี้เจริญขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๗
มีศูนย์กลางอยู่ที่ราบปากแม่น้ำโขง
มีหลักฐานว่า ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศจีน
ชัยวรมันที่ ๒
(พ.ศ.๑๓๔๕ - ๑๓๙๓) เป็นผู้สถาปนาอาณาจักรเขมรโบราณ
ให้มีอิสรภาพจากอำนาจการปกครอง ของราชอาณาจักรไศเลนทร์แห่งชวา
พระองค์สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เก่าแก่ของเขมร
ก่อนสมัยพระนคร และเคยประทับในชวามาก่อน
ชัยวรมันที่ ๗
(พ.ศ.๑๗๒๔ - ๑๗๖๑) เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งของเขมร
ทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ต่างชาติ
ที่ปกครองเขมรในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖
ก่อนขึ้นครองราชย์ได้ยกกองทัพไปปราบปราม
อาณาจักรจัมปาไปจนถึงเมืองวิชัย
(บินห์ดินห์)
ในปี พ.ศ.๑๗๒๐ พวกจัมปาได้ยกกำลังทางเรือเข้าจู่โจมเขมร เข้ายึดพระนคร
พระองค์ได้รวบรวมกำลังขับไล่พวกจามออกไป
แล้วขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๑๗๒๔ และได้ปราบปรามดินแดนใกล้เคียง
ทางทิศตะวันออก
และขยายอาณาเขตออกไปทั้งภาคเหนือ และภาคตะวันตก
พระองค์ทรงนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน
ได้โปรดให้สร้างศาสนสถานหลายแห่งในนครธม
ให้สร้างที่พักคนเดินทาง ๑๒๑ แห่ง โรงพยาบาล ๑๐๒
แห่ง
๑๐/ ๖๑๔๒
๑๖๙๕. ชัยวัฒน์ - พระ
เป็นพระพุทธบูชาที่สร้างตามทัศนคติของฝ่ายมหายาน ถือได้ว่าเป็นพระชัยเช่น
สมัยโบราณได้นำพระพุทธรูปไว้ประจำที่ยอดธง
สำหรับกองทัพที่ออกสนามเรียกกันว่า
"พระชัยยอดธง"
นอกจากนี้ยังมีพระชัยกองทัพหลวง พระชัยหลังช้าง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วได้โปรดเกล้า
ฯ ให้อัญเชิญพระชัยหลังช้างนี้
ไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
คู่กับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระพุทธรูป
มีลักษณะเช่นเดียวกันขึ้นแทนเรียกว่า
พระชัยประจำรัชกาล
ประดิษฐานไว้ ณ หอพระในพระมหามณเฑียร
และสำหรับประดิษฐานในงานพระราชพิธีมงคลต่าง
ๆ ในรัชกาลสืบต่อมา จึงได้ถือเป็นราชประเพณี
ที่จะต้องหล่อพระชัยประจำรัชกาลขึ้น
พระชัยที่มีคำต่อท้ายว่า "วัฒน์" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้เติม "วัฒน์" ต่อท้ายเป็น "พระชัยวัฒน์"
เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย
พระหัตถ์ซ้ายถือตาลปัตร
๑๐/ ๖๑๔๕
๑๖๙๖. ชัยศรี - พระแสงขรรค์
ดูกกุธภัณฑ์ (ลำดับที่
๕)
๑๐/ ๖๑๕๐
๑๖๙๗. ชัยสิริ
เป็นพระนามกษัตริย์ผู้ครองเวียงชัยปราการ
องค์ที่สองคือ พระองค์ชัยศิริ เป็นราชโอรสพระองค์พรหมราช
ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเวียงชัยปราการ
เข้าใจว่าจะประสูติ เมื่อปี พ.ศ.๑๔๙๓
พระองค์ครองราชย์อยู่จนเกิดศึกอันเป็นเหตุต้องเผาเมืองทิ้ง
แล้วอพยพผู้คนล่องลงมาทางใต้ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๔๗ ทรงมาสร้างเมืองใหม่ชื่อเมืองไตรตรึงษ์
ซึ่งที่ตั้งของเมืองนี้มีผู้สันนิษฐานไว้หลายแห่งด้วยกันเช่นที่เมืองกำแพงเพชร
เมืองชัยนาท และเมืองนครปฐม
เมืองไตรตรึงษ์ ปัจจุบันอยู่ที่ ต.ไตรตรึงษ์ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร
และได้รับการขุดแต่งบูรณะแล้ว
กษัตริย์ผู้ครองเมืองไตรตรึงษ์ ต่อมาอีกสี่พระองค์มีระยะเวลา ๑๖๐ ปี
และอ้างกันว่าพระองค์ชัยสิริ
คือปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เชียงราย
ที่ลงมาครองกรุงศรีอยุธยา
๑๐/ ๖๑๕๐
๑๖๙๘. ชัยสุริยาหรือไชยสุริยา
เป็นชื่อตัวพระในวรรณคดีไทยเรื่องกาพย์พระไชยสุริยา ซึ่งพระสุนทรโวหาร
(ภู่)
เป็นผู้แต่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ
แต่งไว้ให้เด็กหัดอ่านหนังสือ
กาพย์เรื่องนี้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ได้นำมาแทรกไว้ในตำราเรียนมูลบทบรรพกิจ
ตอนที่ว่าด้วยตัวสะกดในแม่ต่าง ๆ
เพื่อให้ผู้เรียนจำง่ายเข้า
๑๐/ ๖๑๕๖
๑๖๙๙. ชา
เป็นพันธุ์ไม้ชนิดไม่ทิ้งใบ สูง ๓ - ๕ เมตร
พบขึ้นตามป่าดิบบนภูเขาบางแห่งทางภาคเหนือของประเทศไทย
และมีชื่อพื้นเมืองว่า "เมี่ยง"
ถิ่นเดิมของต้นชา สันนิษฐานว่า
จะอยู่บริเวณยอดน้ำของแม่น้ำอิรวดีแล้วแพร่กระจายเข้าไปทางตอนใต้ของประเทศจีน
ทางอัสสัมและแหลมอินโดจีน ชาได้มีผู้นำไปปลูกทั่วโลก
ประเทศจีนรู้จักชามาประมาณ
๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ชานับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งชนิดหนึ่งของโลก
ใบต้นชาเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัะน โคนใบรูปไข่กลับ
ดอกออกที่ง่ามใบเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม
กลิ่นหอม กลับดอกสีขาวหรือขาวอมชมพู เกสรสีเหลือง
ผลสีน้ำตาลแกมเขียว
๑๐/ ๖๑๕๖
๑๗๐๐. ช้า ๑ - เพลง
เป็นเพลงในอัตราสองชั้นประเภทหนึ่ง ซึ่งมักจะมีหลาย ๆ เพลง
บรรเลงติดต่อกันเรียกว่าเพลงเรื่องเช่น
เพลงช้าเต่ากินผักบุ้ง เมื่อบรรเลงเพลงซ้ำแล้ว
โดยประเพณีจะต้องบรรเลงเพลงเร็วต่อไป
เพลงช้า เป็นเพลงของปี่พาทย์สำหรับบรรเลงประกอบการแสดงโขน ละคร
ในกิริยาไปมาอันงดงาม
และเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยปรกติใช้บรรเลงเฉพาะการไปมาของโขน ละคร ตัวพญา
มหากษัตริย์หรือนางพญา
การบรรเลงปี่พาทย์ในพระราชพิธีเวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึง
หรือผู้เป็นประธานของงานนั้นมา
ปี่พาทย์ก็จะต้องบรรเลงเพลงช้า จนกว่าจะประทับเรียบร้อย
หรือประธานได้นั่งที่เรียบร้อยแล้ว
ในกรณีนี้ไม่ต้องบรรเลงเพลงเร็วติดต่อไป
ในงานพิธีที่มีพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์หรือฉันภัตตาหาร
เวลาพระสงฆ์มาก็ต้องบรรเลงเพลงช้า
จนกว่าพระสงฆ์จะเข้านั่งยังอาสนะเรียบร้อย
๑๐/ ๖๑๕๗
๑๗๐๑. ช้า ๒
เป็นชื่อประเภทท่ารำของไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นท่ารำที่เป็นแบบแผน
เป็นหัวใจของการร่ายรำ
ผู้ที่เริ่มฝึกหัดรำจะต้องรำเพลงช้าก่อนรำท่าใด ๆ เพราะในการร่ายรำเพลงช้า
มีท่าต่าง ๆ รวมอยู่เป็นอันมาก ตั้งแต่เทพพนม ปฐม เป็นต้นไป
การรำเพลงช้าในการแสดงโขน ละคร มักจะตัดท่ารำออกเสียบ้าง
เหลือไว้พอสมควรแก่เวลาที่ต้องการ
แต่การตัดต้องรู้จักปรับปรุงเชื่อมต่อ
ทำให้สนิทสนม
๑๐/ ๖๑๕๘
๑๗๐๒. ชากังราว
เป็นชื่อเดิมของเมืองกำแพงเพชร ทางฝั่งตะวันออก
ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง
เป็นเมืองโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีเมืองอยู่ฝั่งตรงข้ามคือ เมืองนครชุม
ต่อมาได้รวมเรียกสองเมืองมารวมกันเป็นเมืองกำแพงเพชร
เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (พงั่ว) ขึ้นเสวยราชย์ได้เพียงปีเศษ
ก็ยกกองทัพไปตีอาณาจักรสุโขทัย
ตีได้อาณาเขตตั้งแต่เมืองนครสวรรค์ แล้วยกทัพไปถึงเมืองชากังราว
ซึ่งเป็นด่านใหญ่ของอาณาจักรสุโขทัย
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๖ แต่ตีหักเอาเมืองไม่ได้ ต้องเลิกทัพกลับ ต่อมาเมื่อปี
พ.ศ.๑๙๑๙
ได้ยกกองทัพไปตีเป็นครั้งที่สอง แต่ก็ยังตีไม่ได้
จึงได้ยกกองทัพไปตีอีกครั้งในปี
พ.ศ.๑๙๒๑ พระมหาธรรมราชาที่ ๒ (ไสยลือไทย)
เสด็จยกทัพหลวงลงมารักษาเมืองชากังราว
แต่สู้ไม่ได้จึงยอมแพ้
อาณาจักรสุโขทัยจึงตกเป็นของประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๑
ชากังราวเป็นเมืองสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี
มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่
กำแพงเมือง หลักเมือง ศาลพระอิศวร เทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์
ตลอดจนพระพุทธรูปที่มีค่าหายาก
๑๐/ ๖๑๕๙
๑๗๐๓. ช้าง
เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดหนึ่ง มีลักษณะสำคัญคือ
มีจมูกยื่นยาวออกไปมากเรียกว่า
งวง ที่ปลายงวงมีจงอยสำหรับหยิบของ มีฟันหน้างอกยาวเรียกว่างา หูใหญ่
คอสั้น
ร่างใหญ่ น้ำหนักมาก ช้างในปัจจุบันมีอยู่สองสกุลคือ
๑. ช้างเอเชีย
ช้างเมืองไทยอยู่ในสกุลและชนิดนี้ มีหูเล็กกว่าช้างแอฟริกามาก
ที่ปลายงวงมีจงอยเดียว
งาที่มีขนาดใหญ่เรียกงาปลี งาที่ยาวเรียกว่างาเครือ
ช้างตัวผู้ที่มีงายื่นมานอกปาก
เรียกว่า ช้างพลาย
ช้างตัวผู้บางตัวมีงาเล็ก ๆ ไม่โผล่ออกมานอกปากเรียกว่า ขนาย
เรียกว่า ช้างสีดอ
ช้างตัวเมียเรียกว่า ช้างพัง
มีแต่ขนายไม่โผล่ออกนอกปาก ช้างในเอเชียหลังโค้งขึ้นที่เรียกกันว่า
หลังกุ้ง
(ช้างแอฟริกาหลังแอ่น)
ช้างในเวลานอนมักชอบยืนหลับ
ช้างในเอเชียไม่ชอบความร้อน สู้แดดไม่ใคร่ได้ชอบอยู่แต่ในที่ร่ม ชอบอาบน้ำ
และปลักโคลน เพื่อความเย็นและกันแมลงต่าง ๆ รบกวน
ช้างชอบอยู่เป็นฝูง ฝูงช้างเรียกว่า โขลง
ในโขลงหนึ่งมีช้างจ่าฝูงเป็นตัวที่จะผสมพันธุ์กับตัวเมียทั้งหมดในฝูง
ช้างตัวผู้เมื่อมีอายุมากมักเบื่อฝูง
ชอบออกไปอยู่เดี่ยวเรียกว่า ช้างโทน
๒. ช้างแอฟริกา
จะมีจะงอยสองอันที่ปลายงวง ช้างตัวเมียก็มีงายาว แต่งามักตรงและเรียว
ไม่ใหญ่อย่างงาตัวผู้
หูใหญ่กว่าช้างเอเชีย ๓ - ๔ เท่า หัวหลิม หลังแอ่น
เลี้ยงเชื่องยาก
๑๐/ ๖๑๖๐
๑๗๐๔. ช้างน้าว
เป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นตรงมีกิ่งสาขามาก ดอกสีเหลือง
ออกเป็นช่อสั้น
ๆ ตามกิ่งแก่ ผลกลมรี สุกสีดำ ทางจังหวัดกาญจนบุรี ใช้เปลือกเคี้ยวกับหมาก
แทนสีเสียด ใบเดี่ยวรูปรี ๆ
เรียงสลับกัน
หน้า ๖๑๖๕
๑๗๐๕. ช้างน้ำ
เป็นชื่อสัตว์ในวรรณคดีไทย มีรูปร่างลักษณะอย่างช้าง
แต่หางมีรูปอย่างปลา
๑๐/ ๖๑๖๕
๑๗๐๖. ช้างเผือก ๑
ช้างเผือกต้องมีลักษณะเจ็ดสี ได้แก่ ขาว เหลือง เขียว แดง ดำ ม่วง และเมฆ
และต้องประกอบด้วยคชลักษณอื่น ๆ อีก เช่น ตา เพดาน อัณฑโกศ เล็บ ขน คางใน
(ร่องผิวหนัง) ไรเล็บ สนับงา ช่องแมลงภู่ อย่างไรก็ตามยังไม่เรียกว่า
ช้างเผือก
เรียกว่า ช้างสำคัญ
ต่อเมื่อได้ตรวจคชลักษณ์ต้องตามตำรา
ลักษณะช้างเผือกในตำราคชลักษณ์ ได้แก่ ตระกูลชาติพงศ์พรหม
ตระกูลชาติอิศวรพงศ์
ตระกูลชาติพิษณุพงศ์
ตระกูลชาติอัคคิพงศ์
๑๐/ ๖๑๗๐
๑๗๐๗. ช้างเผือก ๒ - สงคราม
เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ นับเป็นสงครามครั้งที่สามระหว่างไทยกับพม่า
เนื่องจากพม่าทราบกิตติศัพท์ว่า
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงมีช้างเผือกอยู่เจ็ดเชือก
พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงให้ราชทูตเชิญพระราชสาสน์
และเครื่องราชบรรณาการ เข้ามาถวายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
ขอช้างเผือกสองเชือก
ฝ่ายไทยมีความเห็นแตกกันเป็นสองฝ่าย ฝ่ายข้างมากเห็นว่าควรประทานให้
ฝ่ายข้างน้อยเห็นว่าไม่ควร
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงเห็นชอบกับฝ่ายหลัง ไม่ยอมประทานช้างเผือก
เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
ทราบเรื่องจึงยกกองทัพตีหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ชัยชนะ
มาจนถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วล้อมกรุงไว้
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงยอมเป็นไมตรี
ทำให้ไทยต้องเสียช้างเผือกไปสี่เชือก กับต้องส่งพระราเมศวร พระยาจักรี
และพระยาสุนทรสงครามไปเมืองหงสาวดี
กับต้องส่งส่วยช้างให้พม่าปีละ ๓๐ เชือก เงินปีละ ๓๐๐ ชั่ง
และต้องยอมยกผลประโยชน์ภาษีอากร
ที่เก็บได้ในเมืองมะริดให้แก่พม่าด้วย
๑๐/ ๖๑๗๒
๑๗๐๘. ช้างเผือก ๓ เป็นชื่อเรียกกล้วยไม้ ที่มีดอกสีขาว กลิ่นหอมชนิดหนึ่งทางวิชาการถือว่าเป็นพันธุ์หนึ่งของช้างดำ หรือช้างกระ เป็นกล้วยไม้ที่มีความเจริญทางตั้ง ดอกบานในเดือนธันวาคม
ถึงมกราคมใบอวบหนารูปรางน้ำ ๑๐/
๖๑๗๔
๑๗๐๙. ช้างเผือก ๔
เป็นพระนามหนึ่งของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เรียกกันว่า พระเจ้าช้างเผือก
๑๐/ ๖๑๗๔
๑๗๑๐. ช้างเผือก ๕
เป็นชื่อเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประเภทหนึ่ง เรียกเต็มว่า
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก
(ดูเครื่องราชอิสริยาภรณ์ - ลำดับที่
๑๑๑)
๑๐/ ๖๑๗๔
๑๗๑๑. ช้างร้องไห้
เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ประเภทหมากชนิดหนึ่ง เป็นไม้ยืนต้นสูง ๑๐ - ๑๕ เมตร
ลำต้นขนาดต้นมะพร้าว ใบใหญ่คล้ายใบตาล
พบขึ้นทั่วไปตามป่าดิบทางภาคใต้
๑๐/ ๖๑๗๔
๑๗๑๒. ช้างแห เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ ๑๕ เมตร ดอกเล็กออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ผลผิวแข็งเป็นปุ่มขรุขระ มีห้าพู มีขนแข็งสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ขนนี้เป็นพิษทำให้เกิดการระคายเคือง
ใบเดี่ยวเรียงสลับกันรวมเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง
๑๐/ ๖๑๗๖
๑๗๑๓. ชาด
คำนี้เดิมทีเดียวเห็นจะมุ่งถึงลักษณะของสีหนึ่งคือ สีแดงสด
ของที่เอามาทำเป็นชาด
เดิมเห็นจะใช้สีดินแดง อันเป็นของในเมืองไทย
แล้วมีดินแดงเข้ามาจากอินเดียเรียกว่า
ดินแดงเทศ แล้วมีชาดมาจากเมืองจีน และมีสีแดงอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า เสน
มาจากเมืองจีนเหมือนกัน
๑๐/ ๖๑๗๖
๑๗๑๔. ชาดก
คำว่า ชาดก แปลว่า กล่าวถึงสิ่งที่เกิดมาแล้ว หมายความว่า
แสดงนิทานประกอบสุภาษิต
มีคำนิยามว่า เรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่มีมาในชาติก่อน ๆ
ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ชาดก
คัมภีร์ชาดก มีมาในพระไตรปิฎก ส่วนพระสูตร หรือพระสุตตันตปิฎก
เป็นส่วนหนึ่งในเก้าส่วนที่เรียกว่า
นวังคสัตถศาสตร์ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้ามีองค์เก้า และเป็นคัมภีร์ ๑ ใน
๑๕
คัมภีร์ ขุทกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เรียกกันว่า ชาดกปกรณ์ บ้าง นิบาตชาดก
บ้าง
มีจำนวนนิทานชาดกถึง ๕๕๐ เรื่อง แบ่งเป็นนิบาตได้ ๒๑ คัมภีร์
รวมคัมภีร์ทศชาติด้วยเป็น
๒๒ คัมภีร์ ท่านจัดนิทานที่มีคาถาเดียวไปจนถึง ๘๐ คาถา
รวมไว้เป็นเป็นหมวดเรียกตามจำนวนของคาถา
พวกที่มีคาถาเดียว เรียกว่า เอกนิบาต
ที่มีสองคาถาเรียกว่า ทุกนิบาต
ที่มีสามคาถาเรียกว่า ติกนิบาต ตามลำดับไปจนถึงเตรสนิบาต
คือมี ๑๓ คาถา แล้วหยุดลง ต่อจากนี้เป็นหมวดเบ็ดเตล็ด เรียกว่า ปกิณกนิบาต
แล้วไปตั้งเอาใหม่อีก ตั้งแต่วิสตินิบาต เป็นลำดับไปจนถึงอสีตินิบาต
ต่อจากนั้นก็เป็นมหานิบาต
คือ เรื่องทศชาติ
๑๐/ ๖๑๗๘
๑๗๑๕. ชาดกมาลา
เป็นหนังสือชาดกทางฝ่ายมหายาน แต่งเป็นกวีพากย์ ภาษาสันสกฤต
ที่ดีเยี่ยมมีอยู่
๓๔ เรื่อง น่าเชื่อว่าชาดกมาลาแต่งขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐
เพราะปรากฎมีผู้พบโศลกในชาดกนี้
จารึกที่ผนังถ้ำอชันตา และหลวงจีนอี้จิงก็ยังได้อ้างว่า
ระหว่างระยะเวลาดังกล่าวในประเทศอินเดียรู้จักชาดกมาลา
กันแล้วเป็นอย่างดี
๑๐/ ๖๑๘๖
๑๗๑๖. ชาตรี ๑ - ละคร
เป็นชื่อที่ชาวไทยภาคกลางเรียกละครแบบหนึ่ง ที่ชาวภาคใต้เรียกว่า โนราห์
ซึ่งเป็นละครแบบโบราณผู้แสดงเป็นชายล้วน แต่เดิมมีตัวละครเพียงสามตัวคือ
ตัวยืนเครื่อง
ซึ่งเป็นตัวนายโรง แต่งเครื่องอาภรณ์ต่าง ๆ ๑ ตัวนาง ๑ และตัวตลก
สามารถเป็นตัวเบ็ดเตล็ดต่าง
ๆ ตามต้องการ
ละครโนราห์ ชาวภาคกลางเรียกว่า ละครชาตรี
หรือบางทีก็เรียกรวมว่า โนราห์ชาตรี
การเรียกว่า ชาตรี กล่าวกันว่า เนื่องจากละครแบบนี้
แสดงแต่เรื่องที่เกี่ยวกับกษัตริย์
ชาวอินเดียเรียกตามภาษาสันสกฤตว่า กษัตริย์ แล้วเลื่อนไปเป็นฉัตรัย
ไทยเราเรียกตามสำเนียงนี้เป็น
ชาตรี ๑๐/
๖๑๘๘
๑๗๑๗. ชาตรี ๒ - เพลง
เป็นชื่อเพลงดนตรี และเพลงร้อง เช่น เพลงตลุง
เป็นเพลงที่บรรเลงรวมอยู่ในชุดออกภาษา
แต่บางกรณีก็นำมาเป็นเพลงร้อง
๑๐/ ๖๑๙๔
๑๗๑๘. ชาติ
หมายถึง กลุ่มคนที่มีความรู้สึกเป็นปึกแผ่น และมีความจงรักภักดีร่วมกัน
ปัจจุบันคำว่าชาติมีความหมายตรงกับคำว่ารัฐ
หรือประชาชนที่เป็นพลเมืองของรัฐประเทศต่าง ๆ
ในปัจจุบันถือว่ามีลักษณะเป็นชาติ
- รัฐ
ความคิดเรื่อง "ชาติ"
แพร่หลายเป็นครั้งแรกในการปฏิวัติใหญ่ของฝรั่งเศสในปี
พ.ศ.๒๓๓๒ แนวความคิดนี้ได้แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ในยุโรป
หลังจากนั้นได้แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย แอฟริกาและทวีปอื่น ๆ
ในพุทธศตวรรษที่
๒๕ เป็นพลังดลใจให้เกิดขบวนการชาตินิยมขึ้นในประเทศต่าง
ๆ
๑๐/ ๖๑๙๔
๑๗๑๙. ชาน
เป็นชื่อที่ชาวพม่าเรียกชนที่พูดภาษาไทยทั่ว ๆ ไป นอกจากไทยสยาม (ดูฉาน -
ลำดับที่ ๑๕๖๔) ๑๐/
๖๒๐๐
๑๗๒๐. ชานุมาน
อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี เดิมเป็นหมู่บ้านเรียกว่า บ้านยักขุ
โปรดให้ยกเป็นเมืองชานุมานมณฑล
แล้วยุบเป็น อ.คำเขื่อนแก้ว ขึ้นเมืองเขมราฐบุรี ครั้นยุบเป็น
อ.เขมราฐ
จึงยุบ อ.คำเขื่อนแก้ว เป็นกิ่ง อ.ชานุมาน ขึ้น อ.เขมราฐ
และยกฐานะเป็นอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑
ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ๑๐/
๖๒๐๐
๑๗๒๑. ช้าปี่ - เพลง
เป็นเพลงสำหรับร้องโขนละคร เมื่อร้องทำนองเพลงช้า
และบรรเลงรับด้วยเพลงปี่จึงเรียกว่า
เพลงช้าปี่ มีอยู่สองเพลง มีทำนองคล้ายคลึงกัน
เพลงหนึ่งสำหรับร้องและบรรเลงประกอบการแสดงละครนอก
เรียกว่า "ช้าปี่นอก"
อีกเพลงหนึ่งสำหรับร้องและบรรเลงในการแสดงละครในหรือโขนเรียกว่าเพลง
"ช้าปี่ใน"
๑๐/ ๖๒๐๐
๑๗๒๒. ช้าปี่ไหน, ชาปี่ไฉน - นก
เป็นชื่อหนึ่งของนกกะดง นกนี้โดยทั่วไปมีสีเขียว เขียวแกมเหลือง
หรือทองแดง
นกกะดงนี้จับได้บนเกาะพีพีดอน และบนเกาะใกล้เคียงจังหวัดตรัง
นกนี้ถ้าถือเอาคำชื่อนกพิราบนิโคบาร์แล้ว
เข้าใจว่าเป็นนกที่อาศัยอยู่เกาะนิโคบาร์
๑๐/ ๖๒๐๑
๑๗๒๓. ชามพวัต, ชามพวาน
เป็นจอมหมี ในรามายณะกล่าวว่าได้ยกกองทัพหมีไปช่วยพระรามตีกรุงลงกา
และได้เป็นที่ปรึกษาพระรามในการศึกครั้งนี้ด้วย
๑๐/ ๖๒๐๓
๑๗๒๔. ชามภูวราช
เป็นพญาวานร มีอีกชื่อว่า นิลเกสร
เป็นผู้แนะนำพระรามให้จองถนนข้ามไปกรุงลงกา
เมื่ออินทรชิตทำพิธีชุบศรนาคบาศ
ชามภูวราชได้แปลงตนเป็นหมีไปทำลายพิธี
เมื่อเสร็จสงครามแล้วมีความชอบได้ตำแหน่งอุปราชปางตาล
๑๐/ ๖๒๐๔
๑๗๒๕. ชานามิสม์
เป็นลัทธิศาสนาดึกดำบรรพ์ของคนทางแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปเอเชียและยุโรป
คนเหล่านี้เชื่อว่ามนุษย์จะชั่ว หรือดีขึ้นอยู่กับอำนาจลึกลับของพระเจ้า
ปีศาจและผีบรรพบุรุษ
๑๐/ ๖๒๐๖
๑๗๒๖. ชายธง - งู
เป็นงูทะเลชนิดหนึ่ง
มีอยู่ในอ่าวไทยและทั้งสองฝั่งแหลมมลายูจนถึงอ่าวเบงกอล
และมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้
งูมีพิษต่อศูนย์ประสาททำให้เม็ดโลหิตแดงแตก
ผู้ที่ถูกกัดถ้าได้รับพิษมากอาจถึงตายได้
๑๐/ ๖๒๐๖
๑๗๒๗. ชายผ้าสีดา เป็นเฟินชนิดหนึ่งที่พบในประเทศไทย มีสองชนิดลักษณะคล้ายกัน เป็นเฟินที่งอกในอากาศแบบเดียวกับกล้วยไม้เป็นเฟินที่สวยงามแปลกตาชนิดหนึ่ง ใช้เป็นไม้ประดับได้ดี
บางแห่งใช้เข้ายาสมุนไพร ๑๐/ ๖๒๐๗
๑๗๒๘. ชายไหวชายแครง
เป็นเครื่องแต่งองค์ส่วนหนึ่งในเครื่องต้นของกษัตริย์
และเครื่องแต่งกายโขนละคร
ซึ่งเลียนแบบมาจากเครื่องทรงของกษัตริย์
ชายไหวกับชายแครงเป็นคนละชิ้นห้อยอยู่ข้างหน้าใต้เจียระบาด
และรัดพระองค์ (เข็มขัด)
ลงไป
๑๐/ ๖๒๐๙
๑๗๒๙. ช้าเรือด, ช้าเลือด
เป็นพันธุ์ไม้เถา ชอบขึ้นเลื้อยอยู่ตามชายป่าละเมาะทั่วไป
เถามีหนามมากใบเป็นฝอยคล้ายใบมะขาม
ดอกเป็นช่อสีเหลือง มีฝัก
ทั้งใบและดอกมีกลิ่นเหม็นฉุน
๑๐/ ๒๖๒๑
๑๗๓๐. ชาลี
เป็นชื่อพระโอรสในพระนางมัทรีกับพระเวสสันดร ผู้ครองกรุงเชตุดร แคว้นสีพี
มีพระน้องนางชื่อพระกัณหาชินา เมื่อพระเวสสันดรถูกเนรเทศ
เนื่องจากชาวเมืองไม่พอใจที่ได้พระราชทานช้างปัจจัยนาคแก่พราหมณ์ชาวเมืองกลิงคฎร์
เพื่อทรงบำบัดทุพภิกขภัยคือ ข้าวยากหมากแพงของแคว้นนั้น พระนางมัทรี
พระชาลี
พระกัณหา ขอตามเสด็จด้วยไปอยู่เขาวงกต อยู่มาได้ระยะหนึ่ง
ชูชกพราหมณ์เฒ่ามาทูลขอสองกุมารไปเป็นคนใช้
พระเวสสันดรก็ยกให้ ชูชกพาสองกุมารหลงไปถึงกรุงเชตุดร
พระเจ้ากรุงสญชัยทรงไถ่สองกุมารจากชูชก
ชาวเมืองรู้ความแล้วก็ขอให้ไปรับพระเวสสันดร กับพระนางมัทรีกลับพระนคร
พระชาลีกลับชาติมาเกิดเป็นพระราหุล
พระกัณหาชินากลับชาติมาเกิดเป็นนางอุบลวัณณา
๑๐/ ๒๖๒๑
๑๗๓๑. ชาวน้ำ
เป็นชื่อชนพื้นเมืองเดิมพวกหนึ่งของมลายูที่ยังเหลืออยู่โดยไม่กลายเป็นมลายูไป
ชนพวกนี้อพยพเข้ามาอยู่ในแหลมมลายู ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ก่อนชาวมลายู
แบ่งออกเป็นสองพวกคือ
โอรังบุกิด
(คนเขา) และโอรังละอุด
(คนทะเล)
สมัยก่อน พวกชาวน้ำอาศัยอยู่ในเรือ
บางคราวก็ขึ้นมาพักแรมบนชายหาดในเพิงชั่วคราว
ต่อมาเมื่อไม่นานมานี้ หลายคนได้ตั้งหลักแหล่งเป็นหมู่บ้านตามชายทะเลขึ้น
พวกชาวน้ำชอบท่องเที่ยวขึ้นล่องตามชายฝั่งทะเลตะวันตกของแหลมมลายู
ตามกลุ่มเกาะมะริด
และรอบฝั่งภูเก็ตลงไปจนถึงเกาะสิงคโปร์
และยังแบ่งออกเป็นครอบครัวมีชื่อตามลำงาว
และปากน้ำที่อาศัย มีภาษาของตนเองแต่ก็สูญไปอย่างรวดเร็ว
ตามที่บันทึกมากล่าวได้ว่าใกล้เคียงกับจาม
๑๐/ ๖๒๒๔
๑๗๓๒. ชาวบน
เป็นชื่อที่คนไทยเรียกชนเผ่าละว้อหรือละว้า
ซึ่งเป็นคนชาวเขาตอนเหนือของประเทศไทยพวกหนึ่งในตระกูลมอญ
- เขมร พอแยกออกได้เป็นสองกลุ่ม
กลุ่มหนึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเพชรบูรณ์เรียกว่า
ละว้าเพชรบูรณ์
อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดนครราชสีมาเรียกว่า
ละว้าโคราช
๑๐/ ๖๒๒๖
๑๗๓๓. ชาววัง
ได้แก่ กุลสตรีที่ได้รับการอบรม และศึกษาในพระบรมมหาราชวัง ที่เรียกว่า
ผู้หญิงชาววังนั้น
มีต่างกันเป็นสามชั้น มีฐานะและโอกาสกับทั้งการศึกษา และอบรมผิดกัน
ชั้นสูง
คือเจ้านายที่เป็นพระราชธิดาประสูติ และศึกษาในพระบรมมหาราชวัง
เมื่อทรงเจริญวัยก็ได้เป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ในวังในชาววังชั้นสูง
ต่อมาถึงหม่อมเจ้าอันเกิดที่วังพระบิดา ถ้าพระบิดาสิ้นพระชนม์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดฯ
รับเข้าไปเลี้ยงที่ในพระราชวังต่อลงมาถึงชั้นลูกผู้ดีมีตระกูล
คือพวกราชินิกูล
และธิดาข้าราชการเป็นต้น หม่อมราชวงศ์ก็นับอยู่ในพวกนี้
เป็นชาววังด้วยถวายตัว
ชั้นกลาง
มักเป็นลูกคหบดี ไม่ได้ถวายตัวทำราชการ
ผู้ปกครองส่งเข้าไปถวายตัวเป็นข้าหลวง
อยู่กับเจ้านายพระองค์หญิง หรืออยู่กับผู้หลักผู้ใหญ่ที่ในพระราชวัง
แต่ยังเด็กรับใช้สอย
และศึกษาอยู่จนสำเร็จการศึกษาแล้ว พอเป็นสาวก็ลาออกไปมีเหย้าเรือน
ชั้นต่ำ
มีสองพวก พวกหนึ่งเรียกว่า โขลน
เป็นลูกหมู่คนหลวง (ผู้ชายเรียกว่าไพร่หลวง) ตามกฎหมายเก่า
เกณฑ์ให้ต้องผลัดเปลี่ยนเป็นเวรกัน
เข้าไปรับราชการในพระราชวังตั้งแต่รุ่นสาว
เพิ่งเลิกการเกณฑ์เปลี่ยนเป็นจ้างคนตามใจสมัครในสนมัยรัชกาลที่ห้า
มีหน้าที่รักษาประตูวัง และรับใช้เช่นกรรมกรในการงานต่าง
ๆ
๑๐/ ๖๒๒๗
๑๗๓๔. ชำมะนาด
เป็นไม้เถาขนาดกลาง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านทั่วไปเพราะดอกเป็นพวงขาว
มีกลิ่นหอม ๑๐/
๖๒๓๓
๑๗๓๕. ชำมะเลียง
เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒ - ๕ เมตร มักขึ้นเป็นกอ
ผลรูปร่างค่อนข้างกลมหรือรี
ๆ มีพูไม่ค่อยชัด ๒ - ๓ พู สีม่วงแก่เกือบดำ บริโภคได้ ใบเป็นแบบใบผสม
ดอกเป็นช่อยาวปานกลาง
ออกที่ง่ามใบ ดอกเล็กสีแดงคล้ำ ผลรูปค่อนข้างกลมหรือรี สีม่วงแก่
หรือเกือบดำ
บริโภคได้ รสหวานจืด ๆ ๑๐/ ๖๒๓๔
๑๗๓๖. ช้ำรั่ว - โรค
เป็นอาการอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดเนื่องจากความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะ
เป็นผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้เหมือนคนปกติ
๑๐/ ๖๒๓๕
๑๗๓๗. ชิงชัน
เป็นไม้ทิ้งใบขนาดใหญ่ มีอยู่ในป่าเบญจพรรณทั่วไป เว้นทางภาคใต้ สูง ๒๐ -
๓๐ เมตร ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ดอกดอกหนึ่งเล็กสีขาว มีกลิ่นหอม
ผลเป็นฝักแบน
หัวท้ายแหลมสีน้ำตาลแก่ มี ๑ - ๓ เมล็ด
เนื้อไม้แข็ง หนักละเอียด ทนทาน มีสีแดงเข้มถึงสีม่วงแก่
นิยมทำเป็นเครื่องเรือนชั้นสูง
ใบเป็นใบแบบผสม
ใบย่อยออกสลับกันรูปไข่กลับ
๑๐/ ๖๒๓๗
๑๗๓๘. ชิด - นาย
เป็นนายบรรดาศักดิ์มหาดเล็กชาวที่เรียกตามตำรามหาดเล็ก - ชาวที่ว่า
นายชิดภูบาลคู่กับนายชาญภูเบศร์
อยู่ในกลุ่มมหาดเล็ก ชาวที่ซ้ายขวาขึ้นอยู่กับจมื่นสรรเพชญภักดี
จมื่นศรีสรรักษ์
จมื่นไวยวรนารถ จมื่นเสมอในราช โดยมีหลวงนายศักดิ์ หลวงนายสิทธิ์
หลวงนายฤทธิ์
หลวงนายเดช
เป็นผู้บังคับบัญชารองลงมา
๑๐/ ๖๒๓๗
๑๗๓๙. ชิด - นาย นายชิต
บุรทัต เป็นกวีสำคัญคนหนึ่งของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๓๕
ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕
ผลงาน
ได้ประพันธุ์บทกวีประเภทต่าง ๆ มีทั้งโคลง ฉันท์ กาพท์ กลอน
ส่วนมากเป็นบทแสดงความเห็นต่าง
ๆ ทั้งที่เป็นคติธรรม และเหตุการณ์ในระยะเวลาที่แต่ง เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์
ได้รับยกย่องมาก และใช้เป็นแบบเรียนมาจนปัจจุบัน
เพราะถือว่าเป็นหนังสือคำฉันท์ชั้นยอดเยี่ยม
การแต่งถูกแบบแผนบังคับทุกประการ การใช้ถ้อยคำ สำนวนโวหารเพริศพริ้ง
เดินตามแบบฉันท์โบราณ
๑๐/ ๖๒๔๓
๑๗๔๐. ชินกาลมาลินี
เป็นชื่อหนังสือเรื่องหนึ่ง รจนาไว้เป็นภาษาบาลี เดิมคงจารไว้ในใบลาน
หรือสมุดกระดาษสา
อักษรที่จะคงเป็นอักษรเมืองเหนือสมัยนั้น
ต่อมาไทยตอนใต้ได้คัดลอกเป็นอักษรขอมสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ
ได้โปรดให้คัดลอกจากต้นฉบับสมัยอยุธยา
ลงในใบลานอักษรขอมเช่นเดียวกัน แล้วโปรดให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตห้าท่าน
ช่วยกันแปลเป็นภาษาไทย
แปลเสร็จแล้วเขียนไว้ในสมุดไทยสีดำฉบับหลวง มีอยู่ ๑๒
เล่มสมุดเรียกชื่อว่า
ชินกาลมาลินี
ตัวอักษรขอมเขียนภาษาบาลีด้วยเส้นทอง
ตัวอักษรไทยเขียนด้วยเส้นหรดาลที่เรียกกันว่า
ตัวรง เขียนเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๙ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕
ได้ตีพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มทั้งบาลี
และฉบับแปล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑
พิมพ์เป็นอักษรไทยทั้งหมดเรียกชื่อตามสมุดไทยว่าชินกาลมาลินี
ปี พ.ศ.๒๔๖๖ ยอช เซเดย์ แปลออกเป็นภาษาฝรั่งเศส ต่อมาเสฐียร พันธรังษี
แปลเป็นภาษาไทย
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๕ และพิมพ์เป็นเล่ม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗
ต่อมากรมศิลปากรได้แปลออกเป็นภาษาไทย
พิมพ์เป็นเล่มเรียกชื่อว่า ชินกาลมาลี
ได้มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ จากต้นฉบับภาษาสิงหล
ที่ได้ต้นฉบับจากภาษาไทย
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑
เรื่องสำคัญของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงพระสมณโคดมพุทธะ
เริ่มตั้งแต่ปรารถนาเป็นพุทธ
บำเพ็ญบารมีผ่านเวลานับเป็นกัป ๆ และผ่านพระพุทธะในอดีต ๒๔ พระองค์
ครั้งสุดท้ายทรงอุทิศในศากยตระกูล
บรรลุสัพพัญญตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธทรงและธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
และแสดงธรรมอื่น
ๆ จนปรินิพพาน พระสาวกได้ทำสังคยนาพระธรรมวินัย กล่าวถึงประวัติเมืองลังกา
กล่าวถึงพระพุทธโฆษาจารย์ ชาวอินเดียไปลังกา
เพื่อแปลพระธรรมวินัยที่เป็นภาษาสิงหลมาเป็นภาษาบาลี
กล่าวถึงประวัติเมืองลำพูน และการสร้างพระธาตุหริภุญชัย
และกล่าวถึงลาวจังคราชบรรพบุรุษของพญาเม็งราย
การสร้างเมืองเชียงราย เมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงประวัติพระรัตนพิมพ์
หรือพระแก้วมรกต
พระพุทธสิหิงค์
พระรัตนปัญญาเถระ วัดโพธาราม ที่เรียกว่า วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่
แต่งเรื่องนี้ขึ้น
เมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๐
๑๐/ ๖๒๔๙
๑๗๔๑. ชินกาลมาลีปกรณ์
ดูชินกาลมามสินี (ลำดับที่
๑๗๓๙)
๑๐/ ๖๒๕๔
๑๗๔๒. ชินโต
เป็นศาสนาประกอบด้วยเทพนิยาย ไม่มีศาสดาผู้ก่อตั้ง อนุมาน การเกิด
ประมาณก่อน
พ.ศ.๑๑๗ ปี เป็นรากศรัทธาดั้งเดิมของชนชาติญี่ปุ่น
ชินโตแปลว่าวิถีหรือบรรดาของพระเจ้า
บ่อเกิดของชินโต มาจากเทพนิยายอันเป็นรากเหง้าแห่งศรัทธาในชินโต
ก่อให้เกิดคุณลักษณะของคนญี่ปุ่น
แตกสาขาออกไปเป็นประเภทแห่งศรัทธา ส่วนใหญ่ได้แก่การบูชาธรรมชาติ
การบูชาบรรพบุรุษ
การบูชาวีรชน การบูชาจักรพรรดิ์
ความเชื่อถืออันเป็นรากใจดังกล่าว เป็นผลให้ชาวญี่ปุ่นเป็นคนรักแผ่นดิน
รักเผ่าพันธุ์
ภักดีต่อจักรพรรดิ์เยี่ยมยอดกว่าชนชาติอื่นใด
สุดท้ายได้กลายเป็นจรรยาประจำชาติประการหนึ่ง
เรียกว่า "บูชิโด"
(วินัยของชายชาติทหาร)
ชินโตผสมผสานด้วยศาสนาอื่นที่แพร่หลายเข้าสู่ญี่ปุ่นตามลำดับ
เริ่มตั้งแต่ลัทธิเต๋าและขงจื๊อ
ได้เข้าไปสู่ญี่ปุ่นในสมัยต้นของราชวงศ์ฮั่น
ศาสนาพุทธเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น
ระหว่างปี พ.ศ.๑๓๑๑ - ๑๓๘๕ และศาสนาคริสต์เข้าไป เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๒
เมื่อศาสนาเหล่านี้เข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่น
ทำให้หลักชินโตดั้งเดิม เปลี่ยนรูปไปข้างศาสนานั้น ๆ
ทั้งที่เป็นส่วนธรรมและพิธีกรรม
เกิดนิกายชินโตขึ้นมาใหม่ตามแบบที่ผสมผสานกับคำสอนของศาสนานั้น
๑๐/ ๖๒๕๔
๑๗๔๓. ชินบัญชร - คาถา
เข้าใจว่าพระเถระชาวลังกาเป็นผู้แต่ง เมื่อถอดเป็นภาษาบาลี อักษรไทยได้ ๒๒
คาถาเท่ากันกับต้นฉบับเดิมในสมุดข่อย เขียนด้วยภาษาสิงหล
กล่าวโดยสรุปแล้ว ชินบัญชรคาถามีอยู่สามฉบับคือ ฉบับสิงหลเรียกว่า ชินบัญชรปริตร
ฉบับคัมภีร์สังขยาปกาสกฎีกาเรียกว่า รัตนบัญชรคาถา
ฉบับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เรียกว่า ชินบัญชรคาถา
ทั้งสามฉบับแต่งเป็นภาษาบาลีล้วน มีเนื้อความตรงกันเหมือนนกันคือ
กล่าวถึงพระนามพระพุทธเจ้า
๒๘ พระองค์ และพระอรหันต์พุทธสาวก และสรรเสริญพระคุณไปในตัวด้วย
ต่อจากนั้นก็กล่าวถึงพระปริตร
หรือพระสูตรต่าง ๆ ในพระไตรปิฎก ซึ่งมีแนวโน้มไปในทางอธิษฐาน
ขออานุภาพคุ้มครองป้องกัน
๑๐/ ๖๒๖๘
๑๗๔๔. ชินราช
เป็นพระนามพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของประเทศไทศไทย ประดิษฐานอยู่ ณ
พระวิหารใหญ่ด้านตะวันตก
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมือง ฯ จ.พิษณุโลก เรียกพระนามเต็ม ๆ ว่า พระพุทธชินราช
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสำริด มีเรือนแก้วรององค์พระ
หน้าตักกว้าง
๒.๘๘ เมตรเศษ ( ๕ศอก คืบ ๕ นิ้ว)
ในหนังสือพงศาสดารเหนือกล่าวว่า ได้สร้างพระพุทธชินราช เมื่อปี พ.ศ.๑๕๐๐
แต่ตามข้อสันนืษฐานของสมเด็จ
ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าสร้างเมื่อราวปี
พ.ศ.๑๙๐๐
๑๐/ ๖๒๗๓
๑๗๔๕. ชินวรสิริวัฒน์ -
พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวง
เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประสูติเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๐๒ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๒
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์โดยลำดับ
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ สิ้นพระชนม์เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๑ ๑๐/
๖๒๗๘
๑๗๔๖. ชินศรี
เป็นพระนามพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งของจังหวัดพิษณุโลกคู่กับพระพุทธชินราช
พระพุทธชินศรีหล่อด้วยทองสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒.๘๙ เมตรเศษ (๕
ศอก ๙ นิ้ว ) ตำนานการสร้างเช่นเดียวกับที่กล่าวไว้ในเรื่องพระพุทธชินราช
เดิมพระพุทธชินศรีประดิษฐานอยู่ในวิหารทิศเหนือ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
อ.เมือง
ฯ จ.พิษณุโลก สมเด็จ ฯ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์
ทรงอัญเชิญลงมาประดืษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ
วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพ ฯ เมื่อปี
พ.ศ.๒๓๗๒
๑๐/ ๖๒๘๑
๑๗๔๗. ชิมแปนซี
เป็นลิงที่มีลักษณะคล้ายคนมากกว่าลิงอื่น ๆ ชอบอยู่เป็นฝูง
ในฝูงมีจ่าฝูงตัวหนึ่ง
ชอบขึ้นต้นไม้มากกว่ากอริลล่า อายุยืนประมาณ ๔๐ ปี ชิมแปนซี
มีที่อยู่ตามธรรมชาติในตอนกลางของทวีปแอฟริกาที่เป็นป่าฝน
หน้า ๖๒๘๔
๑๗๔๘. ชิวหา
เป็นรากษสแห่งกรุงลงกา เป็นหลานกากนาสูร เป็นสามีนางสำมนักขา
มีลูกชายด้วยนางสำมนักขาสองคนคือ
กุมภกาศและวรณีสูร และมีลูกหญิงชื่อนางอดูลปีศาจ
เมื่อทศกัณฐ์จะประพาสป่าจึงให้ชิวหาเป็นผู้เฝ้าเมือง
ชิวหาได้เนรมิตกายสูงใหญ่จนแลบลิ้นปิดกรุงลงกาไว้มิดชิดแล้วหลับไป
เมื่อทศกัณฐ์กลับมาเห็นเมืองมืดมิดก็โกรธ
จึงขว้างจักรสุรกานต์ออกไปตัดลิ้นชิวหาตายคาที่
๑๗๔๙. ชี ๑ - แม่น้ำ
ยอดน้ำเกิดจากเขาตอนชายเขตด้านตะวันออกเฉียงเหนือของ อ.เมือง ฯ จ.ชัยภูมิ
แล้วไหลลงมาทางใต้แล้ววกไปทางตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้
ไหลไปบรรจบแม่น้ำมูลระหว่างเขต
อ.เมือง ฯ จ.อุบลราชธานี กับ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีษะเกษ มีความยาว ๗๖๕ กม.
มีน้ำตลอดปี
๑๐/ ๖๒๘๘
๑๗๕๐. ชี ๒ - ผัก
เป็นพืชล้มลุก มีกลิ่นหอมคล้ายต้น ใบเป็นเส้นฝอย ๆ ดอกเล็กสีขาว
ผลหอมเมื่อแก่
ใช้เป็นเครื่องเทศ
นอกจากผักชีธรรมดาทั่วไปแล้ว ยังมีผักชีฝรั่ง ผักชีลาว
และผักชีล้อม
๑๐/ ๖๒๘๙
๑๗๕๑. ชี ๓ - นักบวช
ความเดิมน่าจะหมายถึงนักบวชทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าในลัทธิศาสนาใดเช่น ชีเปลือย
นักบวชในพระพุทธศาสนาก็ใชคำว่าชีบ้างเหมือนกัน
เช่นในคำว่า "ชีบานาสงฆ์"
ในคำว่า "ชีต้น"
หมายถึงพระสงฆ์
คำว่าชี
ที่มาเรียกนักบวชหญิงในปัจจุบันเข้าใจว่าจะเรียกเมื่อหมดภิกษุณีแล้ว
ผู้หญิงก็ต้องถือเอาการสมาทานศีลแปด หรือุโบสถศีลเป็นนิจตลอดชีวิตว่า
เป็นการบวชอย่างหนึ่ง
ส่วนการนุ่งขาวห่มขาวครั้งพระพุทธกาลอุบาสก อุบาสิกา ก็นุ่งขาวเหมือนกัน
การบวชชีไม่มีอุปัชฌายะเช่น พระภิกษุและเณร
และไม่มีพิธีอันเป็นหลักทางพระวินัย
แต่มีธรรมเนียมที่ถือกันคือ ผู้ปรารถนาจะบวชเป็นชี ต้องนำสักการะเข้าไปหา
พระภิกษุที่จะถือเอาเป็นอาจารย์ฝากตัว บอกความประสงค์ให้ทราบก่อน
แล้วรับไตรสรณาคมน์
สมาทานศีล
กล่าวคำอธิษฐานต่อหน้าพระสงฆ์ว่าจะถือเพศนักบวช
๑๐/ ๖๒๙๒
๑๗๕๒. ชีผะขาว ชีผ้าขาว - แมลง
เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็กชนิดหนึ่ง บัดนี้เรียกว่าหนอนกอ
แมลงชนิดนี้จะเห็นว่าบินมาตอมดวงไฟเป็นกลุ่มในตอนหัวค่ำ
บินวนเวียนกันอยู่ตามข้างฝา แต่ไม่ห่างจากแสงไฟมากนัก
แมลงดังกล่าวเรียกชื่อว่า
หนอนกอสีขาว มักวางไข่ไว้ที่ต้นหญ้าหรือต้นข้าว พอเป็นตัวหนอนแล้ว
ก็เริ่มกัดกินใบหญ้าใบข้าวทีอาศัยอยู่
ไปจนถึงโคนต้น และเจาะกัดลำต้นทะลุเข้าไปถึงใจกลางต้น
คอยกินน้ำเลี้ยงต้นหญ้าต้นข้าว
เมื่อโตเต็มที่จะกลายเป็นผีเสื้อกลางคืน
๑๐/ ๖๒๙๕
๑๗๕๓. ชีวก ๑
เป็นชื่อหมอโกมารภัจ เรียกเต็มว่า หมอชีวกโกมารภัจ
เป็นแพทย์หลวง ประจำพระองค์พระเจ้าพิมพิสาร แห่งแคว้นมคธ
ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า
พระพุทธองค์ทรงห้ามสาวกไม่ให้ฆ่าสัตว์ แต่ไม่ห้ามกินเนื้อสัตว์
พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายว่า
เนื้อที่บริสุทธิ์สามประการคือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน
ไม่ได้รังเกียจว่าเขาฆ่าเพื่อตน
เป็นเนื้อควรกิน ส่วนเนื้อไม่บริสุทธิ์สามประการคือได้เห็น ได้รู้
และรังเกียจว่าเขาฆ่าเพื่อตนเป็นเนื้อที่ไม่ควรกิน
เมื่อหมอชีวกได้ฟังแล้วก็เกิดความเลื่อมใสประกาศตนเป็นอุบาสก
แล้วได้ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์พระพุทธเจ้า
และพระสงฆ์พุทธสาวก และได้รับเอตทัคคะคือ
ยอดเยี่ยมทางเลื่อมใสในพระรัตนตรัยข้างฝ่ายอุบาสก
๑๐/ ๖๒๙๘
๑๗๕๔. ชีวก ๒
เป็นชื่อบุรุษผู้หนึ่งในนครแห่งหนึ่ง แขวงกรุงตักสิลาโบราณ
ปรากฏมีอยู่ในนามสิทธิกชาดก
อรรถกถา เอกนิบาตว่า ชีวกบุรุษผู้นี้สิ้นชีวิตลง
พวกญาติกำลังจะนำศพไปเผาที่ป่าช้า
มาณพคนหนึ่งชื่อ ปาปกะ
เป็นศิษย์พระโพธิสัตว์ผู้เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในกรุงตักสิลา
ไม่เข้าใจนามบัญญัติ คิดว่าชื่อตนเป็นกาลกิณีไม่เป็นมงคล
จึงไปขอร้องอาจารย์ให้เปลี่ยนชื่อที่เป็นมงคลเสียใหม่
อาจารย์จึงสั่งให้ไปเที่ยวหาชื่อที่เป็นมงคลตามใจชอบ
มาณพนั้นได้มาถึงนครที่ชีวกสิ้นชีวิตนั้น
จึงเข้าไปถาม มาณพมีความสงสัยว่าคนที่ชื่อชีวก (ไม่น่าจะสิ้นชีวิต)
ก็สิ้นชีวิตหรือ
เพราะคำว่าชีวกแปลว่าผู้เป็นอยู่ พวกญาติของชีวกจึงบอกว่าคนเราแม้ชื่อชีวก
หรือไม่ชื่อชีวกก็สิ้นชีวิตทั้งนั้น
มาณพนั้นได้ฟังก็วางใจเป็นกลางได้หน่อยหนึ่ง
ต่อมาได้เห็นนางทาสีผู้ยากจนชื่อธนปาลี
และพบคนหลงทางชื่อปันถก
ก็ได้รับคำตอบทำนองเดียวกันว่า ชื่อนั้นเป็นเพียงนามบัญญัติเท่านั้น
มาณพนั้นได้ฟังแล้วก็วางใจเป็นกลางได้สนิท
จึงพอใจในชื่อของตนตามเดิม
ต่อมาในสมัยพุทธกาล มาณพผู้นี้ได้กลับชาติมาเกิดเป็นกุลบุตรและออกบวช
คิดว่าชื่อของตนเป็นกาลกิณี
ไม่เป็นมงคลอีกขอเปลี่ยนชื่อใหม่บ่อย ๆ เข้า
จึงเป็นที่รู้จักกันในหมู่พระสงฆ์ว่า
นามสิทธิภิกษุ ๑๐/
๖๒๙๘
๑๗๕๕. ชีวก ๓
เป็นชื่อภิกษุรูปหนึ่งในสำนักมหาวิหารวาสี
ซึ่งเป็นฝ่ายคณะธรรมวาทีชาวลังกาผู้ขอให้พระพุทธโฆษาจารย์แปลคัมภีร์มโนรถบุรณี
อรรถกถา อังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก จากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี
การแปลอรรถกถานั้น เบื้องต้นแปลอรรถกถากุรุนทีที่เป็นภาษาสิงหล
แล้วรจนาเป็นอรรถกถาวินัยปิฎกชื่อ
สมันตปาสาทิกา
เป็นภาษาบาลี จากนั้นแปลมหาอรรถกถาในสุตตันตปิฎก
แล้วรจนาอรรถกถาทีฆนิกายชื่อ
สุมังคลวิลาสินี
และอรรถกถามัชฌิมนิกายชื่อ ปปัญจสุทนี
อรรถกถาสังยุตนิกายชื่อ สาวัตถปกาสินี อรรถกถาอังคุตรนิกายชื่อ
มโนรถปุรณ
จากนั้นจึงแปลอรรถกถาปัจจรีย์ในพระอภิธรรมปิฎก
รจนาอรรถกถาพระธรรมสังคนีชื่อ
อัฏฐสาลินี
อรรถกถาวิภังคปกรณ์ชื่อ
สัมโมหสิโนทนี
และอรรถกถาปกรณ์ทั้งห้าชื่อ ปรมัตถทีปนี
ใช้เวลาแปลอยู่หนึ่งปี ๑๐/
๖๒๙๙
๑๗๕๖. ชีวเคมี
เป็นสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาสารต่าง ๆ
ที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต
และกระบวนการต่าง ๆ ที่สารเหล่านั้นเข้าไป หรือถูกสร้างขึ้น
หรือทำปฏิกิริยาเคมีซึ่งกันและกัน
ภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตตลอดจนวิธีการต่าง ๆ ที่ใช้ในการศึกษาเหล่านั้น
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ชีวเคมีเป็นวิชาที่ใช้ความรู้ และหลักการต่าง ๆ
ของวิชาเคมีในการศึกษา
เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในสิ่งมีชีวิต
สารที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตมีอยู่มากมาย เช่น คาร์โบไฮเดรต
ซึ่งมีหน้าที่ประดุจเชื้อเพลิงให้พลังงานแก่สิ่งมีชีวิต โปรตีนเป็นสารส่วนใหญ่
ที่ประกอบเป็นเนื้อหนังของสัตว์ และโปรตีนบางอย่างมีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์
ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีต่าง ๆ
ในร่างกายสิ่งมีชีวิตให้เกิดขึ้นได้เร็ว
วิตามินส่วนใหญ่เป็นสารที่ช่วยในการทำงานของเอนไซม์
กรดนิวคลีอิกเป็นสารสำคัญในการถ่ายทอดพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปยังลูกหลาน
เป็นต้น
สารต่าง ๆ
ที่อยู่ในร่างกายสิ่งมีชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีอยู่ตลอดเวลา
เช่น ปฏิกิริยาต่อเนื่องต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นน้ำ
และคาร์บอนไดออกไซด์
โดยจะคายพลังงานออกมาให้เซลล์ของสิ่งมีชีวิตใช้ในขณะเดียวกัน
การศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีภายในร่างกายสิ่งมีชีวิตซึ่งเรียกว่า
เมตาบอลิสม์เหล่านี้
นับเป็นแขนงสำคัญแขนงหนึ่งของวิชาชีวเคมี
๑๐/ ๖๓๐๑
๑๗๕๗. ชีววิทยา
เป็นวิชาที่ว่าด้วยสิ่งมีชีวิตทั้งปวงได้แก่ พืชและสัตว์
ในลักษณะรูปพรรณสัณฐานโครงร่าง
ตลอดจนถึงการทำหน้าที่ของส่วนนั้น ๆ
ทำให้รู้ถึงธรรมชาติประวัติอันเป็นต้นตอ
และพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ
ชีววิทยาแยกแขนงออกไปเป็นสัตววิทยาคือ
การศึกษาเรื่องสัตว์ และพฤกษศาสตร์คือ
การศึกษาเรื่องต้นไม้ แต่ละแขนงยังแยกแขนงออกไปเป็นวิชาเฉพาะได้อีก เช่น
บัคเตรีวิทยา
ปรสิตวิทยา เป็นต้น
นอกจากนี้วิชาชีววิทยายังแยกออกเป็นวิชาต่าง ๆ ได้อีก เช่น
วิชาว่าด้วยเซลล์
วิชาว่าด้วยการเจริญเติบโตของตัวอ่อน
เป็นต้น
๑๐/ ๖๓๐๓
๑๗๕๘. ชื่อ
เป็นคำที่ตั้งขึ้นสำหรับเรียกคน สัตว์ ที่และสิ่งของ
เมื่อกล่าวตามที่ปรากฏในคัมภีร์บาลีมูลเหตุแห่งการตั้งชื่อมีสี่อย่างคือ
๑. อาวัตถิกนาม
ได้แก่ ชื่อที่ตั้งขึ้นตามที่กำหนดหมาย เช่น
แม่โคนมที่เลี้ยงไว้สำหรับรีดนมเรียกว่า
โคนม คนเลี้ยงวัวเรียกว่า โคบาล เป็นต้น
๒. ลิงคิกนาม
ได้แก่ ชื่อที่ตั้งขึ้นตามเพศ ลักษณะและเครื่องหมาย เช่น
คนถือไม้เท้ามีชื่อเรียกว่าคนแก่
สัตว์ที่มีหงอนมีชื่อเรียกว่านกยูง ไก่ เป็นต้น
๓. เนมิตกนาม
ได้แก่ ชื่อที่เกิดขึ้นตามเหตุ คือลักษณะและคุณสมบัติ เช่น
ผู้มีคุณสมบัติได้บรรลุวิชชาสาม
มีชื่อเรียกว่า ไตรวิชชา
พระพุทธเจ้าผู้มีปฏิปทาดำเนินไปดี มีชื่อเรียกว่า พระสุคต
เป็นต้น
๔. อธิจุสมุปันนาม
ได้แก่ ชื่อที่ตั้งตามใจชอบ
นอกจากชื่อบุคคล ยังมีชื่อรองและชื่อสกุล ชื่อรอง
หมายถึง ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว ชื่อสกุล
หมายถึง
ชื่อประจำสกุล
๑๐/ ๖๓๐๗
๑๗๕๙. ชุกชี
มีคำนิยามว่า
ฐานสำหรับประดิษฐานพระประธาน
๑๐/ ๖๓๑๓
๑๗๖๐. ชุด
เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง ทำด้วยหวาย ถักเป็นตาโต ๆ
เป็นรูปถุงห้าเหลี่ยมยาว
ๆ ยาว ๔๖ ซม. ปากกว้าง ๑๓ ซม. ก้นปิด และกว้าง ๘ ซม. ช่องตากว้าง ๖
ซม. ใช้ผูกกับกิ่งไม้หรือกับพง ปักให้ชุดนอนแนบกับพื้นดิน
มักใช้ในฤดูปลาเข้าทุ่ง
วางไข่ จับได้ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาสวาย
มีใช้ทั่วไป
๑๐/ ๖๓๑๔
๑๗๖๑. ชุนชิว
ในสมัยเลียดก๊ก เรียกประวัติศาสตร์เมืองหลู่ว่า "ชุนชิว" ตามรูปศัพท์นั้น
ชุน
แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ
ชิว
แปลว่า ฤดูใบไม้ร่วง
ขงจื้อ ซึ่งเป็นชาวเมืองหลู่ ได้เริ่มเรียบเรียงชุนชิว (ประวัติศาสตร์)
ตั้งแต่สมัยพระเจ้าโจวผิงหวัง
จนถึงสมับพระเจ้าโจวจิ้นหวังคือ ราวก่อน พ.ศ.๑๒๖๕ - ๑๐๒๔ รวม ๒๔๑ ปี
ซึ่งเรียกช่วงระยะนี้ว่า
สมัยชุนชิว
หลังจากเรียบเรียงชุนชิวได้สองปี ขงจื้อก็ถึงแก่กรรม
ในชุนชิวนั้น มีบันทึกเกี่ยวกับราชกรณียกิจ และราชกิจวัตรของเจ้า
ผู้ครองนครต่าง
ๆ ในยุคนั้น ซึ่งผู้เขียนได้หลักฐานจากบันทึกของเจ้าพนักงานราชสำนัก
แต่ละรัชสมัย
นอกจากเป็นที่รวมแห่งประวัติศาสตร์ ในสมัยนั้นแล้ว
ขงจื้อยังได้ให้คำวิจารณ์ประกอบด้วย
๑๐/ ๖๓๑๕
๑๗๖๒. ชุบศร - ทะเล
เป็นบริเวณพื้นที่ลุ่มเป็นแอ่งกว้างใหญ่ในเขต อ.เมือง จ.ลพบุรี
บริเวณนี้เมื่อถึงหน้าน้ำ
น้ำจะท่วมแลดูกว้างใหญ่ เรียกว่า ทะเลชุบศร ได้ถือมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า
น้ำในทะเลชุบศรเป็นน้ำบริสุทธิ์สะอาด
ในตำนานพื้นเมืองกล่าวว่า เมื่อพวกขอมได้เมืองละโว้เป็นเมืองขึ้น
พ่อเมืองละโว้ต้องตักน้ำในทะเลสาปนี้
ส่งส่วยแก่เจ้านครขอมหลวง ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่นครธมทุกปี
เพราะถือกันว่าพระนารายณ์ก่อนจะแผลงศร
ได้ชุบศรในทะเลนี้ก่อน ซึ่งตามคติพราหมณ์ถือว่า
เป็นน้ำมีสิริมงคลควรแก่การอภิเษกในงานพระราชพิธี
พระแสงศัตราวุธของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ได้ทำพิธีชุบที่ทะเลชุบศรนี้
เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์
มาแต่โบราณ
ในสมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงเห็นทะเลชุบศรตื้นเขิน
จึงโปรดให้ช่างชาวฝรั่งเศส
แก้ไขโดยกบดินทำเป็นคันกั้นน้ำขึ้นสองด้าน ทำปากจั่นคือ ประตูน้ำ
ไขน้ำให้ล้นไหลมาลงสระแก้
แล้วทำท่อดินเป็นทางประปาต่อจากสระแก้ว เอาน้ำมาใช้ในตัวเมืองลพบุรี
ริมฝั่งทะเลชุบศร
ได้ทรงสร้างตำหนักไว้เป็นที่ประพาสแห่งหนึ่ง เรียกว่า พระตำหนักเย็น
หรือตำหนักทะเลชุบศร
๑๐/ ๖๓๑๖
๑๗๖๓. ชุมพร
จังหวัดภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทิศตะวันออก
ตกทะเลในอ่าวไทย
ทิศใต้จด จ.สุราษฎร์ธานี ทิศตะวันตกจด จ.ระนอง และประเทศพม่า
จ.ชุมพร ตั้งอยู่ตอนแคบสุดของแหลมมลายู
ได้เป็นเมืองมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
เป็นเมืองด่านมาแต่โบราณ มีศักดิ์เป็นหัวเมืองชั้นตรี
เมืองขึ้นของเมืองชุมพรในครั้งนั้น
ทางตะวันออกมีสี่เมืองคือ เมืองปะทิว เมืองท่าแซะ เมืองตะโก
และเมืองหลังสวน
ทางตะวันตกมีสามเมืองคือ เมืองตระ (กระบุรี) เมืองมลิวัน
(ปัจจุบันอยู่ในพม่า)
และเมืองระนอง เจ้าเมืองชุมพรปรากฎในทำเนียบนาทหารหัวเมือง พ.ศ.๑๙๑๙
ว่าชื่อ
ออกญา เคางะทราธิบดีศรีสุรัตวลุมหนัก เมืองชุมพรเดิมขึ้นกลาโหม
แล้วไปขึ้นกรมท่า
ต่อมารัชกาลที่ ๑ โปรดให้ขึ้นกลาโหม พร้อมกับหัวเมืองปักษ์ใต้
ฝ่ายตะวันตกรวม
๒๐ หัวเมือง
ในปี พ.ศ.๒๓๒๘ คราวศึกพระเจ้าปดุง พม่ายกกองทัพเข้าตีเมืองไทย
แยกเป็นสองกอง
กองหนึ่งยกมาตีเมืองระนอง เมืองกระบุรี ได้ แล้วข้ามมาตีเมืองชุมพร
เผาเมืองเสีย
แล้วตีได้เมืองไชยา และนครศรีธรรมราช ต่อไป
ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ พม่ายกทัพมาตีเมืองชุมพรได้
ฝ่ายไทยยกทัพไปตีกลับคืนมาได้
ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ตั้งมณฑลชุมพรขึ้น มีเมืองไชยา
และเมืองหลังสวน
เข้ามารวมอยู่ด้วย พ.ศ.๒๔๕๘ ให้ย้ายศาลารัฐบาลมณฑลชุมพรไปตั้งที่บ้านตอน
แล้วรวมชุมพรเข้าในมณฑลนครศรีธรรมราช
ในรัชกาลที่เจ็ด โปรดให้ยุบ จ.หลังสวน ลงเป็นอำเภอ ให้รวมเข้ากับ
จ.ชุมพร
๑๐/ ๖๓๑๘
๑๗๖๔. ชุมพลนิกายาราม - วัด
เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ประเภทราชวรวิหาร
ตั้งอยู่ที่แหลมด้านเหนือของเกาะบางปะอิน
ด้านใต้ติดต่อกับพระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
วัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๕ โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
โปรดให้สร้างพร้อมกับพระราชวังบนเกาะบางปะอิน
๑๐/ ๖๓๒๐
๑๗๖๕. ชุมพลบุรี
อำเภอขึ้น จ.สุรินทร์ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ ถึงปี พ.ศ.๒๔๑๘
ได้ถูกยุบลงเป็นกิ่งอำเภอ
และได้ยกฐานะเป็นอำเภออีก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖
ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม
๑๐/ ๖๓๓๔
๑๗๖๖. ชุมพวง
อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ
เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๐๐ ขึ้น อ.พิมาย ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๐๒
๑๐/ ๖๓๓๔
๑๗๖๗. ชุมแพ
อำเภอขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง
มีภูเขาและป่าดงดิบอยู่มาก
๑๐/ ๖๓๓๗
๑๗๖๘. ชุมแสง
อำเภอขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป
ตอนใต้มีบึงใหญ่เรียกว่า
บึงบรเพ็ด
๑๐/ ๖๓๓๗
๑๗๖๙. ชูชก
เป็นชื่อพราหมณ์จำพวกนิคคาหก ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก
ที่เรียกมหาชาติว่าอยู่ที่แคว้นกลิงราช
เป็นขอทาน ท่านกล่าวว่า ชูกชกมีรูปร่างอัปลักษณ์ ประกอบด้วยบุรุษโทษ ๑๘
ประการ
ได้นางอมิตตาปนา เป็นภรรยา นางได้ขอให้ชูกชกไปขอทาสาและทาสี
ต่อพระเวสสันดร
ที่ไปประทับอยู่ ณ เขาวงกต ชูกชกก่อนออกเดินทางมีความเกรงภัย
ในหนทางจึงถือเพศเป็นนักบวช
เมื่อไปถึงประตูป่าพบพรานเจตบุตร จึงทำอุบายบอกว่า
ตนเป็นทูตจำทูลพระราชสาสน์
เพื่อเชิญเสด็จพระเวสสันดรกลับเมือง พรานเจตบุตรหลงเชื่อ
จึงส่งชูชกเข้าทางไป
เมื่อชูชกไปพบอจุตฤาษี ในระหว่างทางก็ลวงฤาษี ด้วยอุบายอีก
เมื่อชูชกพบพระเวสสันดร ตอนรุ่งเช้าโดยรอให้พระนางมัทรี
เสด็จออกไปป่าเสียก่อน
แล้วทูลขอสองกุมารต่อพระเวสสันดร พระองค์ก็ประทานให้
และขอให้ได้พบพระนางมัทรีแต่ชูชกไม่ยอม
พระเวสสันดรตรัสให้พาสองกุมารไปยังสำนักพระเจ้ากรุงสญชัย ชูชกก็ไม่ยอมอีก
พระองค์จึงตั้งค่าตัวสองกุมารไว้สูงถึงองค์ละพันตำลึง
ชูชกพาสองกุมารเดินทางกลับมาถึงทางสองแพร่ง ทางหนึ่งจะไปยังเมืองกลิงคราช
อีกทางหนึ่งจะไปยังกรุงเชตุดร ชูชกเกิดสำคัญผิดนำสองกุมารไปยังกรุงเชตุดร
พระเจ้ากรุงสญชัยพบเข้าจึงได้ไถ่สองกุมารจากชูชก ชูชกได้รับการเลี้ยงดูดี
บริโภคเกินขนาดถึงแก่กาลกิริยา
๑๗๗๐. เช็ค
คือหนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า สั่งจ่าย
สั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่ง
เมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง
ซึ่งเรียกว่า ผู้รับเงิน
เช็ค เป็นตั๋วเงินชนิดหนึ่ง
ซึ่งนิยมใช้กันมานานและรู้จักแพร่หลายที่สุด
๑๐/ ๖๓๔๕
๑๗๗๑. เช็ง
เป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของจีน ชนชาติหนู่เจิน สกุลอ้ายซินเจี๋ย
หลังได้ครองแคว้นแมนจูเรีย
สืบเนื่องมาจากราชวงศ์กิม ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศจีน ในปี พ.ศ.๒๑๗๙
ได้สถาปนาเป็นราชวงศ์เช็งขึ้น
และมุ่งจะเข้าครอบคอรงประเทศจีน
ในปี พ.ศ.๒๑๘๕ กองทัพเช็งกรีธาทัพเข้าตีประเทศจีนทางเหนือ
ในรัชสมัยพระเจ้าฉงเจิง
ปลายราชวงศ์เหม็ง (ดู เหม็ง - ลำดับที่...)
ในปี พ.ศ.๒๑๘๖ กษัตริย์ราชวงศ์เช็งสวรรคต ราชโอรสขึ้นครองราชย์แทน
ทรงพระนามว่า
พระเจ้าซุ่นฉือ ประเทศจีนขณะนั้นตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย โจรผู้ร้ายชุกชุม
ประชาชนเดือดร้อน ในที่สุดประเทศจีนก็ตกอยู่ในปกครอง ของราชวงศ์เช็ง
พระเจ้าซุ่นฉือจึงเป็นปฐมกษัตริย์
แห่งราชวงศ์เช็ง ที่ได้ครองประเทศจีน
รัฐบาลเช็ง ได้ดำเนินรัฐประศาสโนบาย ที่เฉียบขาดรุนแรง
เพื่อให้ประชาชนเกรงขามต่อรัฐบาลเช็ง
มีหลักการสังเขปคือ
๑. ให้ประชาชนทุกคนโกนศีรษะและไว้ผมเปีย เช่นเดียวกับชนชาติแมนจู
โดยกำหนดให้โกนภายใน
๑๐ วัน นับแต่วันประกาศผู้ใดฝ่าฝืน จะถูกประหารชีวิต
ผู้ที่ได้รับยกเว้นคือ
สตรี นักบวช และพระภิกษุ อีกทั้งบังคับให้ประชาชนต้องแต่งกาย แบบแมนจู
๒. สั่งประหารชีวิตบรรดาราชวงศ์เหม็งเสียสิ้น
๓. สั่งประหารชีวิตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แห่งราชวงศ์เหม็งผู้ขายชาติ
๔. ห้ามมิให้ประชาชนจัดตั้งสมาคม หรือชุมนุม หรือการประชุมใด ๆ
สถานการณ์ภายในประเทศ จนถึงพระเจ้าเฉียนหลุน บ้านเมืองอยู่ในความสงบสุข
ไม่มีภัยคุกคามใด
ๆ จากต่างประเทศ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๕ อันเป็นปีที่ ๕๗ แห่งรัชสมัยพระเจ้าเฉียนหลุน
รัฐบาลอังกฤษส่งทูตมาติดต่อกับรัฐบาลเช็ง
เพื่อขอให้ลดอัตราภาษีศุลกากรขาเข้า
ยกเลิกข้อจำกัดในการค้าและขอให้เปิดเมืองท่าใหญ่
ๆ เพื่อการค้า เช่น เทียนสิน เป็นต้น
ปีที่ ๒๑ แห่งรัชสมัยเต้ากวง
เป็นปีที่เริ่มต้นการสงครามกับต่างประเทศ
สาเหตุสืบเนื่องมาจากการที่อังกฤษ นำฝิ่นมาขายในประเทศจีน
เดิมทีรัฐบาลเช็งเคยตรากฎหมาย
ห้ามประชาชนเสพฝิ่น ต่อมาบริษัทอิสต์อินเดีย
ได้นำฝิ่นจำนวนมากเข้าประเทศจีน
เป็นเหตุให้ชาวจีนเสพฝิ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
รัฐบาลเช็งพยายามปราบแต่ฝิ่นก็ยังแพร่หลายไปทั่วประเทศจีน
พ.ศ.๒๓๘๒ ข้าหลวงกวางตุ้งได้เผาฝิ่นทิ้งเป็นจำนวนมาก
ทำให้เป็นชนวนสงครามระหว่างจีนกับอังกฤษ
และจีนแพ้ในที่สุด ต้องยกฮ่องกงให้อังกฤษนับแต่นั้นมา
พ.ศ.๒๓๙๓ หงซิ่วฉวน ได้ก่อการขบถขึ้น
โดยอาศัยการเผยแพร่ศาสนาคริสต์เป็นการบังหน้า
แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเท่าที่ควร
พ.ศ.๒๔๐๕ อำนาจอธิปไตยในการปกครองประเทศตกอยู่แก่พระนางซูสีไทเฮา
พ.ศ.๒๓๓๗ จีนทำสงครามกับญี่ปุ่น แพ้สงคราม ทำให้ต้องยกเกาหลีให้ญี่ปุ่น
พ.ศ.๒๔๔๑ พระเจ้ากวงซู่ มีพระราชประสงค์ในการปฎิรูปการปกครอง
โดยให้มีรัฐธรรมนูญปกครองประเทศ
พระนางซูสีไทเฮาทรงทราบจึงกักพระเจ้ากวงซู่ไว้
พ.ศ.๒๔๕๔ ดร.ซุนยัดเซ็น
ได้ก่อการปฎิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง
มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสำเร็จ
ราชวงศ์เช็ง
ก็เป็นอันสิ้นสุด
๑๐/ ๖๓๕๓
๑๗๗๒. เช็งเหม็ง, เช็งเม้ง ชิวหมัง
เป็นเทศกาลสำคัญเทศกาลหนึ่งของจีน ตรงกับเดือนสามของจีน (ราวเดือนเมษายน)
ส่วนจะเป็นวันใดนั้น ให้นับจากเทศกาลตงจื้อ ๑๐๖ วัน
ก็จะเป็นเทศกาลเช็งเหม็ง
(ในสมัยโบราณกำหนดแน่นอนว่า เป็นวันที่สามเดือนสามของจีน)
การที่มีชื่อว่า เช็งเหม็ง เพราะคำว่า เช็ง หมายความว่า แจ่มใส คำว่า
เหม็ง
หมายความว่า สว่าง เมื่อรวมคำสองคำก็เป็นลักษณะ
และสภาพภูมิอากาศของฤดูใบไม้ผลิ
ในประเทศจีน เทศกาลนี้มีมาเป็นเวลานับพันปี
ในระยะแรกในช่วงสามวันของเทศกาล
ถือเป็นวันห้ามก่อไฟหุงอาหาร สมัยต่อมาเช็งเหม็ง
กลายเป็นเทศกาลที่ชาวจีนไปเยี่ยมที่ฝังศพ
ของบรรพบุรุษของตน
โดยเซ่นไหว้ด้วยอาหารที่เตรียมไว้
๑๐/ ๖๓๕๘
๑๗๗๓. เชตวันวิหาร
เป็นชื่อมหาวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์
ตั้งอยู่ทางใต้ของนครสาวัตถี
ในแคว้นโกศล
(อุตรประเทศปัจจุบัน)
ชื่อ เชตวันได้จากพระนามของเจ้าชายเชตะ พระญาติสนิทของพระเจ้าปเสนทิโกศล
ผู้เป็นเจ้าของที่ดินบริเวณที่ตั้งมหาวิหาร
อนากบิณฑิกเศรษฐี
(สุทัตตอุบาสก) สละทรัพย์ซื้อจากเจ้าชายสร้างมหาวิหาร ถวายพระภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
สิ้นทรัพย์ ๓๖ โกฏิกหาปณะ
เศรษฐีกับเจ้าชายเชตะ ร่วมกันทำเป็นอุทยานใหญ่
ให้สร้างมหาวิหารเจ็ดชั้นมีกำแพงและคูเป็นขอบเขต
ภายในบริเวณปันเป็นส่วนสัด มีคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า
ที่จำพรรษาพระภิกษุสงฆ์
ที่เจริญธรรม ที่แสดงธรรม ที่จงกรม ที่อาบ ที่ฉัน ครบถ้วน
จดหมายเหตุของหลวงจีนฟาเหียนเล่าเรื่อง (ซาก) มหาวิหารเชตวัน
เมื่อประมาณปี
พ.ศ.๙๔๒ ไว้ว่า ออกจากบริเวณเมือง (สาวัตถี) ไปทางประตูทิศใต้
เดินไปประมาณ
๒,๐๐๐ ก้าว สู่ทางตะวันออกของถนนใหญ่ พบวิหารใหญ่หลังหนึ่ง
ประตูด้านหน้าของวิหารหันหน้าไปทางตะวันออก
ซากที่ยังเหลือคือฐานประรำสามฐาน หลักสองหลัก ที่หลักมีสลักรูปธรรมจักร
ด้านเหนือและรูปโคอีกด้านหนึ่ง
มีที่ขังน้ำไช้น้ำฉันของพระภิกษุยังเหลืออยู่
ในพื้นที่เก็บน้ำยังมีน้ำใสสะอาดเต็มเปี่ยม
มีไม้เป็นพุ่มเป็นกอ มีดอกออกใบ เขียวสดขึ้นอยู่โดยรอบ
ที่ใกล้วิหารหลังนี้มีซากวิหารอยู่อีกหลังหนึ่งเรียกว่าวิหารตถาคต
วิหารตถาคตแต่เดิมมามีอยู่ถึงเจ็ดชั้น บรรดาราชา อนุราชา
และประชาชนพากันมากราบไหว้
ทำการสักการะตลอดกลางคืนกลางวัน ฯลฯ
ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวิหารตถาคต ไกลออกไป ๖ - ๗ ลี้
พบวิหารอีกหลังหนึ่ง
(บุพพาราม) ซึ่งมหาอุบาสิกาวิสาขา สร้างถวายพระพุทธเจ้า
เมืองสาวัตถีนี้มีประตูใหญ่เพียงสองประตูคือ
ประตูทางทิศตะวันออกและประตูทางทิศเหนือ มีอุทยานใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง
อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้สละทรัพย์ถวายพระพุทธเจ้า
มีวิหารใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ณ ที่นี้เองเป็นที่ประทับถาวรของพระพุทธเจ้า
เพื่อทรงแสดงธรรม
ณ สถานที่ใดอันเป็นที่เคยประทับของพระพุทธเจ้า เคยเป็นที่ทรงแสดงธรรมก็ดี
สถานที่นั้นมีเครื่องหมายไว้ให้เห็นหมด
แม้สถานที่ของนางจิญจมาณวิกาก็มีเครื่องหมายแสดงไว้เหมือนกัน
ฯลฯ
เชตวันวิหารมีชื่อมากในตำนานพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าประทับประจำพรรษาอยู่ ณ
ที่นี้ถึง ๒๔ ฤดูฝน พระธรรมส่วนใหญ่แสดง ณ
ที่นี้
๑๐/ ๖๓๕๘
๑๗๗๔. เชตุดร
เป็นชื่อนครหลวงของแคว้นสีพีหรือสีวิราษฎร์หรือสีวิรัฐ
เรื่องนี้มีมาในมหาเวสสันดรชาดก
มหานิบาต ขุทกนิกาย
สุตตันตปิฎก
๑๐/ ๖๓๖๓
๑๗๗๕. เชตุพน - วัด
มีชื่อเต็มว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แต่เดิมในสมัยอยุธยาเป็นวัดโพธาราม
ในปี พ.ศ.๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้ทอดพระเนตรเห็นวัดเก่านี้
ซึ่งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังปรักหักพัง
จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวัดใหม่ขยายอาณาเขตกว้างกว่าเดิม
พระราชทานนามว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
แต่ชาวบ้านยังคงเรียกว่า วัดโพธิ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ในปี พ.ศ.๒๓๗๔ ได้โปรดเกล้า ฯ
ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันแต่งและรวบรวมสรรพวิชาทั้งหลาย
เช่นตำรายา และตัวอย่างฉันท์ชนิดต่าง ๆ
จารึกตามผนังวิหารหรือศาลาในวิหารวัดนี้
๑๐/ ๖๓๖๔
๑๗๗๖. เชน
เป็นชื่อของศาสนาหนึ่งในอินเดีย คำว่าเชนแปลว่าชนะ ได้มาจากคุณศัพท์
ของศาสดาผู้ประกาศ
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไชนะหรือชินะ ศาสนาหรือลัทธิของพระชินะ
เกิดในประเทศอินเดียก่อนพุทธศักราชประมาณ
๕๗ ปี ผู้ประกาศศาสนามีชื่อตระกูลว่า วรรธมาน
ชื่ออันประกาศคุณลักษณะว่า มหาวีระ
เป็นเผ่ากษัตริย์ลิจฉวี อุบัติในราชตระกูลเขตกุณฑคาม
ลุ่มแม่น้ำคงคาตอนเหนือ
เจ้าชายวรรธมานได้รับการศึกษาสมกับเป็นผู้อุบัติในตระกูลกษัตริย์
เชี่ยวชาญในวิทยาการที่ศึกษากันอยู่ในสมัยนั้น
เป็นผู้กล้าหาญมาแต่เยาว์ เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี กุมารรับพิธียัชโญปวีต
(พิธีสวมมงคลแสดงตนเป็นพรหมจารีตามธรรมเนียมพราหมณ์)
พระบิดาส่งไปศึกษาอยู่ในสำนักพราหมณาจารย์ มีอุปนิสัยเป็นผู้นิ่งและไม่สงบ
เมื่อายุได้ ๑๙ ปี ออกจากสำนักพรหมจารี แต่งงานกับหญิงงามชื่อยโสธา
มีธิดาชื่ออโนชา
ครองเรือนอยู่จนอายุได้ ๒๘ ปีก็ละจากเรือนไปบำเพ็ญพรต
บำเพ็ญทุกรกิริยาย่างกิเลสอยู่
๑๒ ปี ได้รับความพอใจว่าเป็นผู้ชนะ (ชินะ) แต่มหาชนเรียกมหาวีระ
มหาวีระ ท่องเที่ยวสั่งสอนอยู่ในแคว้นโกศล วิเทหะ มคธ อังคะ
ตลอดลุ่มแม่น้ำคงคาตอนเหนือ
ดับขันธ์ ณ แห่งใดแห่งหนึ่งในแคว้นพิหาร เมื่ออายุได้ ๗๐ ปี
ก่อนดับขันธ์สาวกถามศาสดาว่า
บรรดาคำสอนทั้งหมดของพระชินะอะไรเป็นสำคัญที่สุด ศาสดาตอบว่า "อหิงสธรรม
สำคัญที่สุดในบรรดาคำสอนของเรา"
ศาสดาของศาสนาเชน ในอดีตมีมา ๒๓ องค์ มหาวีระเป็นองค์ที่ ๒๔
และถือเป็นองค์สุดท้าย
ศาสดานั้น ๆ เรียกว่า ตีรถังกร
แปลว่าผู้กระทำซึ่งท่า (หรือผู้สร้างมรรคา)
เชื่อกันว่าตีรถังกรทุกองค์เป็นผู้มีดวงวิญญาณอันสมบูรณ์
บริสุทธิ์ หลุดพ้นจากเครื่องรึงรัด (ราคะและเทวษ)
ประกอบด้วยคุณลักษณะและฤทธิ์สิบอย่าง
คำสอนเป็นเบื้องต้นคือ ความเกิดเป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์
ความตายเป็นทุกข์
และความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้นั้นเป็นทุกข์
ความทุกข์สืบเนื่องมาจากความปรารถนา
ดังนั้นจึงต้องไม่ปรารถนา กล้า
เมื่อละสิ่งนี้เสียได้ก็จะพบความสุขใหญ่แห่งวิญญาณของเขาคือนิรวาณ
(หรือนิพพาน ความดับสนิท โมกษะ ความหลุดพ้น)
ธรรมที่จะพาถึงนิรวาณได้แก่ แก้วสามดวงคือความเห็นชอบ
ความรู้ชอบและความประพฤติชอบ
วินัยแยกออกเป็นห้าหัวข้อ (คล้ายศีลห้า) คือ
๑. ไม่เบียดเบียนสัตว์ (อหิงสา) ที่มีชีวิต ด้วยการกระทำใด ๆ
๒. ไม่ลักทรัพย์ของใคร ๆ
๓. ไม่พูดเท็จต่อสัตว์ใด
๔. เป็นอยู่อย่างบริสุทธิ์ด้วยกายวาจาใจ
๕. ไม่มีความปรารถนากล้า
ผู้ใดประพฤติตามบัญญัติเหล่านี้ จะถึงซึ่งความหลุดพ้น
เช่นปฏิเสธอำนาจเบื้องบนทุกอย่าง
ไม่เห็นด้วยกับความเชื่อพระเจ้าในศาสนาฮินดู
ปฏิเสธพลีกรรม และการสาธยายมนต์ใด ๆ เพื่ออ้อนวอนอำนาจจากเทพเจ้า
การโต้เถียงใด
ๆ เกี่ยวกับการสร้างโลกก็ปฏิเสธหมด
เรื่องของดวงวิญญาณ เช่น
สอนว่าวิญญาณทั้งหลายมีอยู่ทั้งในสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต
สิ่งต่าง ๆ มีวิญญาณสิงสู่อยู่ทั้งสิ้น ดวงวิญญาณของผู้ทำความชั่ว
ไม่เพียงแต่ไปเกิดในร่างของสัตว์เท่านั้น
ถ้าชั่วมากจะต้องไปเกิด (จับ) อยู่ในต้นไม้ และพันธุ์ผักต่าง ๆ
เรื่องสวรรค์นรก
ภายใต้พื้นพิภพมีนรกอยู่เก้าขุมเรียงลำดับกันอยู่ตามความหนักแห่งกรรมของผู้กระทำชั่ว
ผู้ใดประพฤติชอบ ดวงวิญญาณของผู้นั้นจะลอย (จากที่ต่ำ)
ขึ้นสู่สวรรค์ซึ่งมีอยู่ถึง
๒๖ ชั้น ชั้นสูงสุดของสวรรค์มีทวารเปิดติดต่อกับนิรวาณ
หรือโมกษะอันเป็นดินแดนแห่งความหลุดพ้น
คำสอนในศาสนาเชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คุมกันอยู่ได้จนถึงราว พ.ศ.๕๐๐
เศษ
สาวกก็แตกเป็นนิกายใหญ่สองนิกายคือ เศวตัมพร
พวกนุ่งขาว และทิคัมพร
พวกนุ่งฟ้า (ชีเปลือย) เมื่อกาลล่วงไป บัญญัติศาสนาก็ฟั่นเฝือไป
มีนิกายเล็กน้อยเกิดขึ้นอีกหลายนิกาย
แล้วแยกย่อยออกไปอีกรวม ๑๘๐ นิกาย
มีการสังคายนาธรรมวินัยของตนครั้งหนึ่งที่กรุงปาฏลีบุตร
เมื่อภายหลังศาสดานิพพานได้ ๘๐๐ ปี ได้รวบรวมคำสอนเป็นหมวดหมู่
จัดเป็นแบบเป็นบท
อรรถกถา ฎีกา เหมือนในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ของเชนเรียกว่า อังคะ
(อาคม) จัดได้ ๑๒ หมวด คัมภีร์เหล่านี้ส่วนมากใช้กันอยู่ในนิกายเศวตัมพร
พวกทิคัมพรไม่ค่อยแตะต้อง
ภาษาในคัมภีร์ครั้งแรกใช้ภาษามาคธี
คัมภีร์เหล่านี้บรรจุคำสอนของศาสดาองค์ก่อนมหาวีระ ๒๓ องค์ด้วย
ทรรศนะทางปรัชญาของเชนกำหนดไว้หลายลักษณะ ที่สำคัญมีอยู่สองลักษณะคือ
๑. ปรัชญาเกี่ยวกับอรรถนิยมที่รู้ได้โดยสามัญสำนึก
๒. ปรัชญาเกี่ยวกับพหุนิยมที่รู้กันได้หลายแง่หลายมุม
เชนไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำสอนเรื่องอนิจจตา - ความผันแปร และอนัตตา -
ความไม่เป็นตัวตน
คือความไม่มีในพระพุทธศาสนา
แต่ทรรศนะของเชนรับรองเรื่องพิจารณาหาความจริงอันมีอยู่หลายแง่หลายมุมแห่งการพิจารณา
เรียกว่า อเนกันตวาท
๑๐/ ๖๓๖๙
๑๗๗๗. เชลย
มีความหมายเป็นสองทางคือ คนและของที่ได้มาจากการทำศึก
และของอันไม่เกี่ยวแก่หลวงคือ
เป็นธรรมดาสามัญก็เรียกว่า เชลย
คำว่าเชลยคงเพิ่งมีใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
โดยอาศัยหลักฐานในกฎหมายพระไอยการทาสในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง
(สามพระยา) เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๒
ประเพณีกวาดต้อนผู้คนพลเมืองที่ตีได้ไปเป็นเชลยของฝ่ายชนะมีมาแต่ดึกดำบรรพ์
จะเห็นได้ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช
เมื่อคราวตีเมืองกลิงคราชได้กว่าสองพันปีมาแล้ว
พระเจ้าอโศก ฯ
ได้กวาดต้อนครัวชาวกลิงคราษฎร์ไปเป็นเชลยในครั้งเดียวกว่าแสนคน
๑๐/ ๖๓๗๙
๑๗๗๘. เชลียง
เป็นชื่อเมืองเก่าแก่ปรากฏชื่อในพงศาวดารและตำนานเก่า ๆ หลายแห่งด้วยกัน
สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่า
เมืองเชลียงเป็นเมืองเก่ามีมาก่อนตั้งกรุงสุโขทัยตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่เมืองสวรรคโลกเก่า
ตรงที่พระปรางค์องค์ใหญ่ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
ถึงสมัยสุโขทัยจะเป็นรัชกาลใดไม่สามารถทราบได้
ให้สร้างเมืองใหม่มีป้อมปราการก่อด้วยศิลาแลงอย่างมั่นคง
สำหรับเป็นราชธานีสำรองขึ้นข้างเหนือเมืองเชลียง
อยู่ห่างกันราว ๑ กม. ขนานนามเมืองใหม่ว่า เมืองศรีสัชนาลัย
๑๐/ ๖๓๘๒
๑๗๗๙. เชษฐาธิราช - พระ
เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๗๑)
ในปลายรัชกาล
พระองค์ประชวรหนัก
ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะมอบเวนราชสมบัติแก่พระเชษฐาธิราช
ซึ่งทรงพระเยาว์ พระชนมายุ ๑๔ พรรษาแทนพระศรีศิลป์ราชอนุชาซึ่งลาผนวชอยู่
พระเจ้าทรงธรรมเกรงว่าบรรดาข้าราชการจะไม่พร้อมใจกันสนับสนุนพระเชษฐาธิราช
จึงโปรดให้ประชุมข้าราชการ ปรากฏว่าที่ประชุมมีความเห็นแตกกันเป็นสองฝ่าย
พระเจ้าทรงธรรมจึงดำรัสสั่งเป็นความลับให้พระยาศรีวรวงศ์เป็นผู้อุปการะพระราชโอรส
และให้วางแผนรวบรวมผู้คนไว้ช่วยเหลือพระเชษฐาธิราช ซึ่งปรากฏว่า
ได้สมัครพรรคพวกเป็นจำนวนมาก
รวมทั้งยามาดา นางามาซา ออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น
ได้นำทหารอาสาญี่ปุ่น
๖๐๐ คน มาช่วยพระราชโอรส
ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๑๗๑ พระเจ้าทรงธรรมสวรรคต
พระเชษฐาธิราชขึ้นครองราชย์แล้วสั่งให้จับเจ้าพระยามหาเสนา
กับข้าราชการที่ไม่เห็นด้วยแต่ก่อน ไปประหารชีวิตเสีย สมเด็จพระเชษฐาธิราช
ทรงตั้งพระยาศรีวรวงศ์ เป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม
ซึ่งเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์
และได้กลายเป็นกำลังในการปกครองบ้านเมือง แต่คงเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูง
รวบรวมสมัครพรรคพวกคิดชิงพระราชบัลลังก์
ล่อลวงให้พระศรีศิลป์ลาสิกขา
เพื่อชิงราชสมบัติจนถูกจับสำเร็จจากนั้นก็ไม่ไว้วางใจออกญาเสนาภิมุข
จึงกราบทูลพระเชษฐาธิราชให้แต่งตั้งออกญาเสนาภิมุขเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช
แทนเจ้าเมืองคนเก่าที่ทำการขบถ
สมเด็จพระเชษฐาธิราชครงอราชย์ได้ ๑ ปี ๗ เดือน
ก็ถูกเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์
คุมพรรคพวกเข้าโจมตีพระราชวัง จับพระองค์ปลงพระชนม์เสีย
แล้วมอบราชสมบัติให้แก่
พระอาทิตยวงศ์
ราชอนุชาขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อไป
๑๐/ ๖๓๘๗
๑๗๘๐. เชอรี่
เป็นชื่อทางกรุงเทพ ฯ เรียกต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่
มีขึ้นตามป่าในเขตหนาว
และบนภูเขาสูงในเขตร้อน
ในฤดูหนาว เชอรี่จะทิ้งใบหมด และมีดอกออกเป็นกระจุก ๆ ตามรอยแผลใบ
ตามปลายกิ่งกลีบดอกสีชมพู
หรือสีกุหลาบ ทำให้ดูงดงามมาก
ผลเชอรี่เป็นรูปกลมรี เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ ซม. สีเหลือง
แต่ถ้าถูกแดดจัดจะมีสีเข้ม
รสเปรี้ยว แกมฝาด บริโภคได้ ต้นเชอรี่บางพันธุ์ปลูกเป็นไม้ประดับ
เพราะเวลาออกดอกงดงามมาก
เช่นต้นซากุระ หรือเชอรี่ญี่ปุ่น ใบเชอรี่เป็นใบแบบเดี่ยว
ออกสลับกันตามกิ่งรูปโค้งรี
ๆ ๑๐/ ๖๓๙๐
๑๗๘๑. เช่า
คือการใช้ทรัพย์สินของผู้อื่นชั่วคราว โดยให้ค่าป่วยการซึ่งเรียกว่า ค่าเช่า
การซื้อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปบูชา เช่น เช่าพระ
การซื้อโดยผ่อนส่งเงินอย่างวิธีเช่า
เมื่อส่งเงินครบตามหนังสือสัญญา แล้วได้กรรมสิทธิ์เรียก เช่าซื้อ
คำว่า เช่า ได้มีมานานแล้ว มีปรากฎอยู่ในกฎหมายตราสามดวง
ซึ่งได้รวบรวมขึ้นเมื่อปี
พ.ศ.๒๓๔๗ พบว่า พระอายการเบดเสรจได้กล่าวถึงลักษณะเช่า และยืมไว้ รวม ๑๒
มาตรา
โดยแยกออกเป็นลักษณะเช่าเสีย ๑๐ มาตรา ซึ่งว่าด้วยการเช่าที่ บ้านเรือน
ไร่นา
ครั้นเมื่อมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ได้นำมาบัญญัติไว้ในบรรพ ๓
เรียกว่า
เช่าทรัพย์ และเช่าซื้อ
๑๐/ ๖๓๙๑
๑๗๘๒. เช่าซื้อ
คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า
และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น
หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า
โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้น
เท่านี้คราวตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย มาตรา ๕๗๒
การเช่าซื้อนี้ค่าเช่าจะต้องเป็นเงินเท่านั้น
สัญญาการเช่าซื้อถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ
ย่อมเป็นโมฆะเสียเปล่า หนังสือสัญญาต้องลงลายมือชื่อทั้งคู่
ถ้าลงลายมือชื่อแต่ฝ่ายเดียว
สัญญาซื้อนั้นย่อมเป็นโมฆะ
๑๐/ ๖๔๐๕
๑๗๘๓. เชาวน์
ในวงจิตวิทยามคำนิยามต่าง ๆ กัน บางท่านกล่าวว่าเป็นความสามารถของบุคคล
ที่จะดัดแปลงหรือปรับตนเอง
ให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ และความสามารถที่จะวิจารณ์ตนเอง
เชาวน์ของคนเรานั้น อาจจัดได้โดยการทดสอบเชาวน์
เชาวน์ของแต่ละคนได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
๑๐/ ๖๔๐๗
๑๗๘๔. เชิงกราน
เป็นกระดูกที่อยู่ในส่วนล่างของลำตัว ตรงบริเวณที่ต่อกับต้นขา
เชิงกรานประกอบด้วยกระดูกตะโพกคู่หนึ่ง
รวมกับกระดูกเหนือก้นกบ และกระดูกก้นกบ ผิวนอกของเชิงกรานมีเนื้อที่กว้าง
สำหรับให้เป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อตะโพก และกล้ามเนื้อต้นขา
ภายในเชิงกรานมีโพรงเชิงกราน
ในช่องเชิงกรานมีกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
และอวัยวะสืบพันธุ์บางส่วนบรรจุอยู่
เชิงกรานจึงมีหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันอันตราย
ที่อาจจะเกิดแก่อวัยวะส่วนนี้เหล่านี้
หน้าที่สำคัญของเชิงกรานคือ เป็นฐานรับน้ำหนักตัวส่วนบน
เพื่อส่งผ่านไปยังข้อต่อตะโพกทั้งสองข้าง
สู่กระดูกต้นขา
เชิงกราน เป็นส่วนกระดูกที่แสดงลักษณะแตกต่างระหว่างเพศมากกว่า
กระดูกส่วนอื่น
ๆ ในร่างกาย เชิงกรานของผู้หญิงนั้น
ธรรมชาติได้สร้างไว้ให้เหมาะสำหรับทำหน้าที่
ซึ่งผู้ชายไปไม่ต้องกระทำคือ การตั้งครรภ์และคลอดลูก เชิงกรานของผู้หญิง
จึงมีลักษณะต่างจากของผู้ชายหลายประการ
๑๐/ ๖๔๑๓
๑๗๘๕. เชิงเทิน
คือ ดินที่พูนสูงขึ้น
เพื่อใช้ประโยชน์เป็นเชิงหรือฐานรองรับสิ่งหนึ่งสิ่งใดประการหนึ่ง
ใช้สำหรับป้องกันข้าศึก หรืออาวุธจากข้าศึกประการหนึ่ง
และใช้เป็นส่วนประกอบของป้อมปราการอีกประการหนึ่ง
คำเชิงเทิน ปรากฎอยู่ในเอกสารประวัติศาสตร์ ในเอกสารโบราณคดี
และในเอกสารทางทหารมีความหมาย
ไม่ใคร่ตรงกัน จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องคำเชิงเทินนั้น
อย่างระมัดระวังเสมอ
๑๐/ ๖๔๓๐
๑๗๘๖. เชิด - เพลง
เป็นเพลงดนตรีไทยเพลงหนึ่ง ที่บรรเลงรวมอยู่ในเพลงชุดโหมโรงเย็น
เพื่อนำออกมาบรรเลงเป็นเพลงหน้าพาทย์
สำหรับบรรเลง ประกอบกิริยาของโขนละคร ก็ใช้บรรเลงในกิริยาไปมาอย่างรีบร้อน
หรือหนทางไกล นอกจากนั้นยังใช้บรรเลงในเวลาที่รบกันได้ด้วย
เพลงเชิดเป็นเพลงที่มีกลองทัพ
ตีประกอบเป็นจังหวะด้วย บางท่านเรียกว่า เชิดกลอง
เพื่อให้ชัดเจนและแตกต่างกับเพลงเชิดอื่น
ๆ
๑๐/ ๖๔๔๓
๑๗๘๗. เชิดจีน
เป็นเพลงสำหรับร้อง และบรรเลงดนตรี ซึ่งพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร)
เป็นผู้แต่งขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ
ท่านผู้นี้เรียกกันเป็นสามัญว่า
ครูมีแขก
๑๐/ ๖๔๔๓
๑๗๘๘. เชิดฉาน
เป็นเพลงเชิด ที่มีจังหวะกลองช้า บรรเลงร่วมอยู่ในชุดเพลงโหมโรงกลางวัน
ถ้าหากนำมาบรรเลงประกอบการแสดงโขน
ละคร ใช้ในกิริยาตามจับสัตว์ที่มีความมุ่งหมาย แสดงศิลปะ การรำอย่างช้า
เช่น
แสดงโขนตอนพระรามตามกวาง เป็นต้น
เพลงเชิดฉานมีสิ่งที่แปลกกว่าเพลงเชิดอื่นอยู่ที่
เมื่อเวลาจะจบจะต้องบรรเลงเพลง "ลา" ซึ่งเพลงเชิดอื่น ๆ
ไม่มี
๑๐/ ๖๔๔๔
๑๗๘๙. เชิดฉิ่ง
ทำนองเพลงเหมือนกับเชิดกลองทุกประการ แต่ใช้ฉิ่งตีเป็นจังหวะอย่างเดียว
ไม่ตีกลองทัด
สำหรับบรรเลงประกอบกิริยาของการแสดงโขน ละคร และมหรสพอื่น ๆ เวลาแผลงศร
หรือไล่จับกัน
หรือค้นหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือลอบเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ เพลงเชิดฉิ่งนี้
นอกจากบรรเลงประกอบกิริยาดังกล่าวแล้ว
ยังนำมาเป็นเพลงร้องในบท ซึ่งดำเนินเป็นกิริยานั้น ๆ
ด้วย
๑๐/ ๖๔๔๔
๑๗๙๐. เชิดนอก
เป็นเพลงเชิดพิเศษที่บรรเลงเฉพาะเดี่ยว (คนเดียว) เท่านั้น
สมัยโบราณบรรเลงเดี่ยวด้วยปี่
โดยปรกติจะต้องบรรเลงสามเที่ยว แต่ไม่เรียกว่าเที่ยว หรือท่อน
อย่างเพลงธรรมดา
และไม่เรียกว่า ตัวเหมืองเพลงเชิดต่าง ๆ หากแต่เรียกว่า "จับ"
บรรเลงสามเที่ยวก็เรียกว่า
"สามจับ"
เพลงเชิดนอกนี้ ใช้เป็นเพลงบรรเลงประกอบโขน ละคร ในการรบกันหรือไล่จับกัน
ระหว่างสัตว์ต่อสัตว์ หรือสัตว์กับมนุษย์
หรือสัตว์กับยักษ์
๑๐/ ๖๔๔๕
๑๗๙๑. เชิดใน
เป็นเพลงเชิดธรรมดาที่ขยายขึ้นเป็นอัตราสามชั้น
และเพิ่มเติมตกแต่งเนื้อเพลงขึ้นเล็กน้อย
สำหรับบรรเลงโหมโรงเย็นให้พิสดารขึ้น หรือใช้เป็นเพลงสำหรับบรรเลงเดี่ยว
ต่อท้ายจากเพลงโหมโรงเสภา
๑๐/ ๖๔๔๖
๑๗๙๒. เชียงกราน หรือเชียงตราน
เป็นชื่อเมืองปลายแดนของประเทศไทย ทางด่านเจดีย์สามองค์ มอญเรียกว่า เมืองเติงกรายน์
อังกฤษเรียก เมืองอัตรัน
เป็นเมืองที่พม่ายกมาตีเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๘๑
ในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช
พระเจ้าตะเบงชเวตี้ กษัตริย์พม่าแห่งเมืองตองอู
ได้ยกกองทัพมาตีเมืองหงสาวดีของมอญได้
แล้วย้ายราชธานีมาตั้งที่เมืองหงสาวดี แล้วยกกองทัพมาตีเมืองเมาะตะมะ
อันเป็นเมืองมีอุปราชของพระเจ้าหงสาวดีครอง
เป็นมณฑลใหญ่อยู่ข้างฝ่ายใต้ เมื่อได้เมืองเมาะตะมะแล้ว
ก็จัดการรวบรวมหัวเมืองมอญ
ในมณฑลนั้นจึงยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน
สมเด็จพระไชยราชาธิราช เกณฑ์โปร์ตุเกสเข้ากองทัพไปด้วย ๑๒๐ คน
กองทัพไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป
ได้เมืองเชียงกรานกลับคืนมา
๑๐/ ๖๔๔๖
๑๗๙๓. เชียงขวาง
เป็นชื่อเมืองและแขวงแห่งหนึ่งในประเทศลาว อยู่ใต้บริเวณทุ่งไหหิน
และเมืองหนองแฮด
มีถนนตัดแยกมาจากถนนสายหลางพระบาง - เวียงจันน์ ตรงเหนือเมืองกาสี
ในเขตแขวงหลวงพระบางผ่านเมืองซุย
(สุย) เมืองเชียงขวางไปจนถึงเมืองเบนฮุย เขตเวียดนาม
เมืองเชียงขวาง มีอาณาเขตทิศเหนือจดเขตแขวงหัวพัน ทิศตะวันออกจดเวียดนาม
และเขตแขวงคำม่วน
ทิศใต้จดแขวงเวียงจันทน์ และทิศตะวันตกจดแขวงหลวงพระบาง
แขวงเชียงขวาง บางท่านเรียกว่า พวนหรือเมืองพวน
เนื่องจากเป็นถิ่นที่อยู่ของพวกพวน ดินแดนอันเป็นที่ตั้งเชียงขวางนั้น
เดิมขึ้นอยู่ในอาณาจักรฟูนัน
เพราะมีประวัติว่า เมื่อประมาณ ๑,๖๐๐ ปี มาแล้ว แผ่นดินสองฟากแม่น้ำโขง
อยู่ในอาณาเขตของฟูนันทั้งหมด
ต่อมาอาณาจักรฟูนัน ถูกเจนละแย่งอำนาจ อาณาจักรนั้นเลยเสื่อมสูญไป
เมื่อไทยอพยพจากยูนนานลงมา ปรากฎว่าดินแดนเหล่านี้มีชื่อเรียกต่าง ๆ
กันแล้วคือ
ทางลุ่มแม่น้ำโขงตอนเหนือ เป็นแคว้นหลวงพระบาง
ถัดหลวงพระบางไปทางเหนือและทางตะวันออก
เป็นแคว้นสิบสองจุไทย
ซึ่งทางตะวันออกต่อแดนกับแคว้นตังเกี๋ย ทางเหนือต่อแดนกับมณฑลยูนนาน
ซึ่งเป็นบ้านเมืองของไทยเดิม
อยู่ในตอนใต้ของประเทศจีน เขตแดนของสิบสองจุไทยกว้างขวางมาก
ในตอนที่อยู่ใกล้เมืองหลวงพระบางไปทางตะวันออก
จึงเรียกแยกว่า หัวพันทั้งห้าทั้งหก
ส่วนตอนที่อยู่ใกล้เวียงจันทน์เรียกว่า เมืองพวน
ถัดแดนหัวพันทั้งห้าทั้งหกและเมืองพวนออกไป คงเรียกว่า สิบสองจุไทย
มีเมืองไล
เมืองแกง หรือแถน เป็นต้น
เชียงขวางหรือพวนนั้น มีตำนานว่า แผ่นดินลาวมีกษัตริย์องค์แรกพระนามว่า
ขุนบัลลินนัว
มีโอรสห้าองค์ องค์ที่หนึ่งเป็นเจ้าเมืองหลวงพระบาง
องค์ที่สองเป็นเจ้าเมืองเวียงจันทน์
องค์ที่สามเป็นเจ้าเมืองพวน องค์ที่สี่เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่
และองค์ที่ห้าเป็นเจ้าเมืองเขมร
เจ้าเมืองพวนนั้น บางตำนานว่าชื่อ เจ็ดเจือง บางตำนานว่า เจ้าหลวง
ในสมัยเจ้าอนุวงศ์ครองเวียงจันทน์
เกิดเรื่องรบกับไทย เจ้าอนุ ฯ แพ้จึงหนีไปพึ่งญวน แล้วยกเมืองต่าง ๆ
ในครอบครองเจ็ดเมือง
รวมทั้งเมืองพวนด้วยให้ญวน ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ เมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี
ซึ่งต่อมาคือ เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ปราบปรามเจ้าอนุวงศ์ได้แล้ว
ก็ได้กวาดต้อนผู้คนที่อยู่ในเขตเวียงจันทน์บ้าง เขตเชียงขวาง หรือพวน บ้าง
ให้ไปอยู่ในท้องที่ต่าง ๆ ของไทยคือ จากเมืองโสย (สุย)
ไปอยู่ที่บ้านหมี่สนามแจง
จ.ลพบุรี บ้านทุ่งโพธิ์ บ้านวังทับคล้อ บ้านวังลุ่ม อ.ตะพานหิน จ.พิษณุโลก
และที่ จ.หนองคาย ให้ลาวพวน ผู้ไทยและแสก ซึ่งอพยพมาสมัยเจ้าอนุวงศ์
ไปอยู่เมืองพนัศนิคม
กบินทรบุรี ประจันตคาม อรัญประเทศ บางตะพาน หรือกำเนิดนพคุณ อำนาจเจริญ
หนองคาย
โพนพิสัย เป็นต้น ๑๐/
๖๔๔๙
๑๗๙๔. เชียงของ
อำเภอ ขึ้น จ.เชียงราย ตั้งอยู่บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง
อาณาเขตด้านเหนือและด้านตะวันตก
ตกแม่น้ำโขง ด้านตะวันออกบางส่วน ตกแม่น้ำโขง บางส่วนจดทิวเขาหลวง
ซึ่งปันเขตแดนไทยกับลาว
ภูมิประเทศตอนเหนือ ใต้และตะวันตก
มีเขาล้อมรอบระหว่างกลางเป็นที่ว่างทำนาได้
อ.เชียงของเดิมเป็นเมือง แล้วยุบเป็นอำเภอ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๕๐
๑๐/ ๖๔๕๗
๑๗๙๕. เชียงแขง
เป็นชื่อเมืองของชนชาติไทย ตั้งอยู่ข้างเหนือพระราชอาณาเขต
เคยมาขึ้นอยู่ในพระราชอาณาจักรไทย
บางยุคบางคราว เมืองนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของไทย พวกหนึ่งที่เรียกว่า พวกเขิน
ซึ่งเป็นพวกเดียวกับชาวเชียงตุง เจ้าเมืองเชียงแขง
ก็อยู่ในสกุลเดียวกับเจ้าเมืองเชียงตุง
เจ้าเมืองมีนามตามเกียรติยศ ที่พม่าตั้งให้ว่า
เจ้าหม่อมมหาศรีสัพพเพธังกูร
พุทธพรหมวงษา ต่อมาเมืองเชียงแขงทำไร่นาไม่ได้ผล
เจ้าเมืองจึงอพยพครอบครัวมาอยู่ที่เมืองสิงห์
ซึ่งในเวลานั้นเป็นอาณาเขตขึ้นเมืองน่าน
เพราะเจ้าเชียงแขงเกี่ยวพันในเครือญาติวงศ์กับเมืองน่าน
แล้วถวายดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง สวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
ฯ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๓๓
๑๐/ ๖๔๕๙
๑๗๙๖. เชียงคาน
อำเภอ ขึ้น จ.เลย อยู่บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง อาณาเขตด้านเหนือและตะวันตก
ตกแม่น้ำโขง
ซึ่งเป็นเส้นปันเขตแดนไทยกับลาว มีภูมิประเทศเป็นลอนสูง ๆ ต่ำ ๆ
อ.เชียงคาน เดิมเป็นเมืองแล้วยุบเป็นอำเภอ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๔๑
๑๐/ ๖๔๖๒
๑๗๙๗. เชียงคำ
อำเภอ ขึ้น จ.เชียงราย ภูมิประเทศทางตะวันออกเป็นป่าทึบ มีภูเขา
นอกจากนั้นเป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป
อ.เชียงคำ มีผู้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเวียงพางคำเดิม
ตามตำนานสิงหนวัติว่า บรรพบุรุษของเจ้าผู้ครองเมืองไตรตรึงษ์
สืบเชื้อสายมาแต่เจ้านาย
ที่ครองเมืองเวียงพางคำ เมืองนี้มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุมากคือ
พระธาตุดอนชิงแกะ
พระธาตุดอยคำ
พระธาตุสบแวน
๑๐/ ๖๔๖๒
๑๗๙๘. เชียงดาว
อำเภอ ขึ้น จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีที่ราบ
สำหรับทำการเพาะปลูกได้น้อย
ทางตอนเหนือเป็นภูเขาเสียมาก
ทำนาได้แต่ตอนกลาง
๑๐/ ๖๔๖๕
๑๗๙๙. เชียงตุง
เป็นเมืองใหญ่ เมืองหนึ่งของพม่า อยู่ในรัฐฉาน หรือไทยใหญ่ใต้
ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาลวิน
มีอาณาเขตทิศเหนือจดประเทศจีน ทิศตะวันออกจดประเทศลาว ทิศใต้จดประเทศไทย
ทิศตะวันตกจดประเทศพม่า
เมืองเชียงตุง มีชื่อเรียกอีกสองชื่อคือ เขมรัฐ
หรือเขมราษฎร กับเขิน การที่ชื่อเขมรัฐกับเขินนั้น มีผู้ให้เหตุผลว่า
เมืองนี้ตามเค้าเดิมเป็นแดนขอม
แต่พวกลาวเรียกว่า เขิน แต่ ดร.วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ กล่าวว่า
เขินเป็นคนไทยสาขาหนึ่งเรียกว่า
ไทยเขิน
พวกไทยเขินนี้ขึ้นมาจากทางใต้แล้วมาอยู่ที่เชิยงตุง
มีเครื่องจักสานทารักจากเชียงตุง
ชนิดหนึ่งคือเครื่องเขิน
ว่าเป็นของที่พวกไทยเขินคิดขึ้น
เชียงตุงมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขายาวจากเหนือมาใต้กับมีหนองน้ำมาก
มีทางระบายน้ำออกได้ทางเดียวคือ
น้ำเขินซึ่ง ไหลลงสู่แม่น้ำโขง มีคำพูดเป็นปริศนาชี้ลักษณะของเมืองว่า "เจ็ดเชียง
เก้าหนอง สิบสองประตู"
ผู้สร้างเมืองเชียงตุงนอกจากเป็นนิยายฤษีสร้างแล้ว
หมอดอดด์ได้อ้างประวัติศาสตร์ที่อังกฤษ
พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ว่าก่อนปี พ.ศ.๑๗๗๒
เรื่องราวของเมืองเชียงตุงเป็นเพียงนิยายปรัมปรากล่าวว่า
เชียงตุงนี้แต่เดิมเป็นทะเลสาบกว้างใหญ่ แล้วมีชนชาติหนึ่งจากทางเหนือ
หรือประเทศจีนอพยพมาตั้งภูมิลำเนา
พวกจีนพยายามตีเอาเป็นเมืองขึ้น แต่ไม่สำเร็จ ต่อมาพวกว้ายึดได้ แต่เมงรายมาขับไล่พวกว้าให้ถอยไปอยู่ตามภูเขา
เมงรายได้สร้างเมืองเชียงตุง และเมืองเล็มขึ้น
พาไทยเขินมาตั้งถิ่นฐานที่เชียงตุง
ในปี พ.ศ.๑๙๕๕ - ๑๙๕๘
ปรากฏว่าเชียงตุงเป็นอิสระส่งทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับเชียงใหม่
จนถึง พ.ศ.๒๑๐๓ พระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์พม่า ได้แผ่อำนาจมายึดเมืองต่าง ๆ
ในรัฐฉานรวมทั้งเชียงตุงได้ เชียงตุงพยายามกู้เอกราชหลายครั้ง
แต่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอีกในรัชสมัยพระเจ้าอลองพญา
ตลอดมาจนพม่าตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒
เชียงตุงก็ตกเป็นของอังกฤษด้วย
เมื่ออังกฤษยอมให้พม่าเป็นเอกราชในปี พ.ศ.๒๔๙๑
เชียงตุงก็ยังรวมอยู่กับประเทศพม่า
สมัยเมื่อยังเป็นอิสระ เชียงตุงเท่ากับเป็นประเทศหนึ่ง
มีเชียงตุงเป็นเมืองหลวง
มีหัวเมืองอื่น ๆ และหมู่บ้านปกครองลดหลั่นกันลงไป
ทำนองเดียวกับเมืองสมัยก่อนในถิ่นแถบนี้โดยทั่ว
ๆ ไป ผู้ปกครองมีตำแหน่งเป็นเจ้าฟ้าเรียกกันว่า
เจ้าฟ้าเชียงตุง
เมื่อตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า กิจการในรัฐ เจ้าฟ้ายังคงปกครองอย่างเดิม
เป็นแต่ส่งส่วยให้ผู้มีอำนาจเหนือ
แต่เมื่อตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ เชียงตุงมีฐานะเป็นมณฑล
ต้องยอมให้อังกฤษเข้ามาอยู่รักษาความปลอดภัย
และกิจการต่างประเทศต้องยอมให้เป็นหน้าที่ของอังกฤษ
ขนบธรรมเนียมประเพณีของเชียงตุง เดิมคล้ายกับทางลานนาไทยหลายอย่าง
เดิมชาวเชียงตุงมีภาษาใช้คือภาษาไทยเขินซึ่งคล้ายภาษาทางลานนาไทย
เชียงตุงมีส่วนเกี่ยวข้องกับไทยในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๕
พระยากาวิละ
เจ้าเมือง
เชียงใหม่นำทัพเชียงใหม่
ลำปางและน่าน ขับไล่ทัพพม่าที่ยกมารบกวนทางเหนือแตกพ่ายไป
และตีเมืองเชียงตุงมาเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของไทยได้
แต่ไทยมิได้จัดการปกครอง หรือติดต่อแบบเมืองขึ้นโดยทั่ว ๆ ไป จนถึงปี
พ.ศ.๒๓๙๓
ไทยจึงมีเรื่องกับเชียงตุง
สาเหตุเนื่องจากพม่าได้เข้ามาเกลี้ยกล่อมพวกเจ้าฟ้าในเชียงรุ้ง
แล้วยกกำลังเข้ายึดเมืองต่าง ๆ เป็นของพม่า
เจ้าอุปราชเมืองเชียงรุ้งพาครอบครัว
และราษฎรหนีเข้ามาพึ่งไทย ทางไทยเห็นว่าเชียงรุ้งเคยเป็นของไทยมาก่อน
ต้องตีคืน
และเห็นควรตีเชียงตุงด้วย จึงเกณฑ์ให้ทางเชียงใหม่ ลำพูนและลำปาง
จัดทัพไปตีเชียงตุง
แต่ทำการไม่สำเร็จ ในปี พ.ศ.๒๓๙๕ ได้ยกกำลังจากกรุงเทพ ฯ
ขึ้นไปตีเชียงตุงอีกแต่ก็ไม่สำเร็จ
ได้ยกไปอีกครั้งในปี พ.ศ.๒๓๙๗ ก็ไม่สำเร็จอีก
เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ไทยได้ยกกองทัพไปตีเชียงตุง
และยึดเชียงตุงได้
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ แล้วตั้งชื่อเชียงตุงเสียใหม่ว่า สหรัฐไทยเดิม
มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของไทย แต่พอสิ้นสงคราม
เชียงตุงต้องกลับคืนไปเป็นมณฑลหนึ่งในรัฐฉานของอังกฤษอย่างเดิม
๑๐/ ๖๔๖๕
๑๘๐๐. เชียงแตง
เป็นชื่อเมืองหนึ่ง
อยู่ในเขตประเทศเขมรตอนเหนือสุดต่อกับตอนใต้สุดของประเทศลาว
อยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบริเวณที่เรียกว่า ปากเซของ หรือเซกอง
ประเทศเขมรเรียกว่า
เมืองสตรึงแตรง
เดิมเมืองเชียงแตงเป็นเพียงหมู่บ้านชื่อบ้านหางโจว
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
ฯ โปรดให้ยกหมู่บ้านบริเวณนี้ขึ้นเป็นเมืองเชียงแตง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๗
เมืองเชียงแตงอยู่ในความปกครองของไทยบ้าง ลาวบ้างและเขมรบ้าง ต่อมาในปี
พ.ศ.๒๔๓๖
ไทยเสียดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส
เมืองเชียงแตงก็พ้นจากอำนาจของไทย
และเมื่อฝรั่งเศสได้ญวน ลาวและเขมร
เป็นเมืองขึ้นแล้วก็จัดการปกครองแบบสหภาพอินโดจีน
แบ่งออกเป็นห้ารัฐคือ ตังเกี๋ย อานัม โคจินจีน เขมรและลาว
เมืองเชียงแตงอยู่ในรัฐเขมร
๑๐/ ๖๔๗๓
๑๘๐๑. เชียงทอง
เป็นเมืองที่มีชื่อปรากฏอยู่ในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง (หลักที่ ๔)
ด้านที่สองว่า
เมื่อมหาศักราช ๑๒๙๓ (พ.ศ.๑๙๐๔)
พญาลิไทยได้ให้ไปอาราธนามหาสามีสังฆราชจากลังกาไปเมืองสุโขทัยนั้น
มีความตอนหนึ่งว่า "ใช้อมาตย์มุขมนตรี
และราชตระกูลทั้งหลายไปรับทำสักการะบูชา
ตั้งแต่เมืองฉอดมาถึงเมืองเชียงทอง
เมืองบางจันทร์ เมืองบางพารตลอดถึงเมืองสุโขทัยนี้"
สมเด็จ ฯ
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ในหนังสือสาส์นสมเด็จเป็นใจความว่า
เมืองเชียงทองนั้นเป็นเมืองขึ้นเมืองตาก อยู่ใต้เมืองตาก (ระแหง)
ลงมาไม่มากนัก
เมืองเชียงทองเดิมน่าจะอยู่ที่อื่น เป็นแต่ย้ายคนมาตั้งเมืองใหม่
จึงอยู่ชิดเมืองตากนัก
ดังมีหลักฐานอยู่ในเรื่องขุนช้างขุนแผน
ตอนพลายแก้วขึ้นไปตีเมืองเชียงอินทร์ว่า
เมืองเชียงทองเดิมเป็นเมืองขึ้นเชียงใหม่ อยู่ปลายแดนต่อเขตเมืองตาก
สมเด็จพระพันวสา
โปรดให้พลายแก้วคุมพลขึ้นไปช่วยเมืองเชียงทอง
ความในเสภาก็ว่าเมืองเชียงทองอยู่เหนือเมืองกำแพง
ระแหง เถิน ๑๐/
๖๔๗๘
๑๘๐๒. เชียงยืน
อำเภอขึ้น จ.มหาสารคาม ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบสูง มีทุ่งนา
โคกป่า
สลับกันไปแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ขึ้น อ.กันทรวิชัย
ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๐๒
๑๐/ ๖๔๘๑
๑๘๐๓. เชียงราย ๑
จังหวัดภาคเหนือสุดของประเทศไทย
อาณาเขตทิศเหนือจดแคว้นเชียงตุงประเทศพม่า
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือตกแม่น้ำโขง ทิศตะวันออกจดทิวเขาหลวงพระบาง
ซึ่งปันเขตแดนประเทศไทยกับประเทศลาว
และ จ.น่าน ทิศใต้จด จ.ลำปาง ทิศตะวันตกจด จ.เชียงใหม่
ภูมิประเทศเป็นป่าและเขาโดยมาก
จ.เชียงราย ปรากฎในพงศาวดารโยนกว่า พระยาเม็งรายสร้างขึ้น ณ
ที่ซึ่งเดิมเป็นเวียงชัยนารายณ์
เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๕ และครองราชย์อยู่ ณ เมืองนี้ จนถึงปี พ.ศ.๑๘๓๙
จึงไปสร้างเมืองเชียงใหม่
และครองราชย์อยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ ส่วนเมืองเชียงรายนั้นขุนคราม
หรือพระยาไชยสงครามโอรสของพญาเมงราย
ได้ครองราชญ์สืบต่อมา แต่นั้นเมืองเชียงรายก็ขึ้นเมืองเชียงใหม่
ต่อมา เมื่อแคว้นลานนาไทยตกไปอยู่ในปกครองของพม่า พม่าได้ตั้งขุนนางมอญคือ พระยาวิชิตวงศ์ มาครองเมืองเชียงรายจนถึงปี พ.ศ.๒๓๒๙ พระยายองกับพระแพร่ร่วมคิดกันสวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพ
ฯ จึงจับอาปะกามณีแม่ทัพพม่าที่ตั้งอยู่เมืองเชียงรายเป็นเชลยได้แล้วนำลงมาถวายยังกรุงเทพฯ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๓๐ พม่ายกกองทัพจากแคว้นเชียงตุงตีได้เมืองเชียงแสนเมืองเชียงรายสมทบทัพเมืองฝางเดิมทางผ่านเมืองพะเยามาตีเมืองนครลำปาง แต่ถูกไทยตีแตกกลับไป เมืองเชียงรายก็ร้างไปถึงปี พ.ศ.๒๓๔๖ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดให้ตั้งเมืองเชียงรายเป็นเมืองขึ้นเมืองเชียงใหม่ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ได้ยกขึ้นเป็นจังหวัด ๑๐/ ๖๔๘๑
๑๘๐๔. เชียงราย ๒ - ราชวงศ์ แต่เดิมรับรองกันว่าเชียงรายเป็นนามของราชวงศ์ ซึ่งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงตั้งขึ้น พระองค์ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓ หนีงสือบรรยายพงศาวดารสยามของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
มีข้อความตอนหนึ่งว่า "สกุลวงศ์ของพระเจ้าอู่ทอง ในพระราชพงศาวดารเรียกว่า"ราชวงศ์เชียงราย" อธิบายความยุติต้องกับพงศาวดารโยนกว่า
เป็นไทยพวกที่อพยพลงมาตั้งภูมิลำเนาในมณฑลลานนา...ผู้เป็นต้นวงศ์ทรงนามว่า พระเจ้าไชยศิริ ได้ครองจังหวัดเชียงราย เมื่อยังมีชื่อว่า เมืองไชยปราการ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าไชยศิริ ผู้ครองเมืองไชยปราการ ฯลฯ"
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยขึ้นคณะหนึ่ง มีพระยาอนุมานราชธนเป็นประธาน คณะกรรมการ ฯ ตกลงให้ขนานนามราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่
๑ (อู่ทอง) ว่าราชวงศ์อู่ทองแทนราชวงศ์เชียงราย
๑๐/ ๖๔๘๓