| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

เล่มที่ ๙ จีน - ฉัททันต์      ลำดับที่ ๑๔๔๑ - ๑๕๗๖      ๙/ ๕๒๐๙ - ๕๘๖๒

            ๑๔๔๑. จีน  ภูมิศาสตร์ จีนเป็นประเทศใหญ่ที่สุด ในทวีปเอเชียและใหญ่ที่สุดของโลก รองจากประเทศรุสเซีย มีจำนวนพลเมืองมากที่สุดกว่าประเทศอื่น ๆ ในโลก ถ้าจะแบ่งประเทศจีนอย่างกว้างๆ ก็เป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่เป็นจีนโดยตรง และส่วนที่เป็นเมืองขึ้น ซึ่งได้แก่ แมนจูเรีย (ลำดับที่...)  มองโกเลียใน  (ลำดับที่...) แดนเตอรกีตะวันออก หรือแคว้นสินเกียง (ลำดับที่...) เมื่อรวมสองส่วนนี้ก็เรียกว่า อาณาจักรจีน
                    ชนชาติจีน เดิมเป็นชนชาติเร่รอนพวกหนึ่ง อยู่ในตอนกลางหรือตอนเหนือของทวีปเอเชีย ภายหลังเมื่อ ๕,๐๐๐ ปี โดยประมาณ ก็ได้ตั้งหลักแหล่งเป็นชาวกสิกร จำกัดอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นมณฑลเชนสี ดินแดนตอนนี้จัดได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะเกิดเป็นประเทศจีน ต่อมานับเวลาเป็นพันปี จีนก็ขยายเขตแดนแผ่ลงมาทางใต้ ออกไปกว้างขวางตามลำดับ จนถึงลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ชนชาติต่าง ๆ ที่อยู่ในดินแดนเหล่านี้ ก็ถูกกลืนกลายเป็นชนชาวจีนไป
                   ประเทศจีนที่กล่าวนี้ ทิศเหนือติดประเทศแมนจูเรีย และมองโกเลีย ในซึ่งมีกำแพงยักษ์กั้นปันแดนทิศตะวันตกจดเขตแดนทิเบต ทิศใต้จดประเทศพม่า ลาวและเวียดนาม ทิศตะวันออกจตมหาสมุทรแปซิฟิก
                    ภูมิประเทศมีทั้งที่ราบ และภูเขาที่ราบขนาดใหญ่คือ ที่ราบตะวันออกเฉียงเหนือ และที่ราบใหญ่ตะวันออกเฉียงใต้ มีแม่น้ำแยงซีเกียงปันแดนที่ราบใหญ่ทั้งสองนี้ แม่น้ำขนาดใหญ่มีอยู่สามสายคือ แม่น้ำหวงโห หรือแม่น้ำเหลือง ยาวประมาณ ๔,๐๐๐ กม. แม่น้ำแยงซีเกียง อันเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดอันดับสามของโลก ไหลผ่านตอนกลางของประเทศ ยาวประมาณ ๕,๖๐๐ กม. และแม่น้ำสิเกียง (แม่น้ำตะวันตก)  ยาวประมาณ ๑,๘๐๐ กม. ส่วนภูเขามีอยู่ทั่วไป เกือบครึ่งค่อนประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เพราะต่อเนื่องจากระบบภูเขาหิมาลัย
                    ประเทศจีนโดยตรงแบ่งการปกครองออกเป็น ๑๘ มณฑลคือ กวางตุ้ง กวางสี กันสุ เกียงสี เกียงสู ไกวเจา เจ๋เกียง ชันตุง ชันสี เชนสี ฟุเกียน (ฮกเกี้ยน) ยุนนาน (ฮุนหนำ) เสฉวน ฮูนาน ฮูเป โฮนาน โฮเป และอันโหว
                    ประวัติศาสตร์  แม่น้ำแยงซีเกียงเคยเป็นที่ปันแดนชาวชนในประเทศจีนออกเป็นพวกเหนือ และพวกใต้ ซึ่งเป็นข้าศึกเคยรบกันอยู่บ่อย ๆ หลายสมัย ลักษณะรูปร่างชาวจีนเหนือ และชาวจีนใต้ ก็แตกต่างกันมาก
                    ชาวจีนไม่ได้เรียกตนว่า จีน ถ้าเป็นจีนเหนือ ก็เรียกตามตนเองว่า ชาวฮั่น อันเป็นชื่อราชวงศ์จีน ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชาวจีนทางใต้เรียกตนเองว่า ชาวถัง อันเป็นราชวงศ์หนึ่งเมื่อประมาณ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว ว่าโดยส่วนรวมจีนเรียกประเทศของตนว่า ตงก๊ก (แต้สำเนียงแต้จิ๋ว) แปลว่า ภาคกลาง แต่ที่เข้าใจกันส่วนมากว่า จีน อาจได้มาจากชื่อ ราชวงศ์จิ้น ซึ่งมีจิ้นซีฮ่องเต้ เป็นปฐมกษัตริย์
                    ที่มาของคำนี้อีกทางหนึ่งคือ เป็นคำสันสกฤต ใช้เรียกประเทศจีน ในมหากาพย์ภารตของอินเดีย มีคำว่า จีน ใช้มาก่อนแล้ว กษัตริย์อินเดียเคยตรัสว่า พระองค์เคยเสด็จกรีธาทัพขึ้นไปทางเหนือ ของประเทศอินเดียพบดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก จึงทรงขนานนามดินแดนนั้นว่า จีน
                    ชนชาติจีน มีประชากรที่เป็นชนเผ่าต่าง ๆ กันสิบกว่าเผ่ามารวมกัน มีชนเผ่าสำคัญที่ปรากฎในประวัติศาสตร์จีน มีหกเผ่าคือ
                    ๑. อินโดจีน  อยู่ในมณฑลยูนนาน ไกวเจา กวางสี ภาคตะวันตกของฮูนาน และภาคใต้ของเสฉวน
                    ๒. จีนแท้  อาศัยอยู่ทั่วทุกส่วนของประเทศ ถือกันว่าสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าอั้งตี่ กษัตริย์จีนราชวงศ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่านี้
                    ๓. แมนจู  อาศัยอยู่ทางตอนเหนือคือ ในมณฑลเลียวนิง กีริน เฮลุงเกียง พวกกิม และกษัตริย์ราชวงศ์เช็ง เป็นชนเผ่านี้
                    ๔. มองโกล  อาศัยอยู่ในมองโกเลียใน มณฑลชิงไห่ และทางเหนือของภูเขาเทียนชัน กษัตริย์ราชวงศ์หงวน เป็นชนเผ่านี้
                    ๕. เตอร์ก  หรือมุสลิม อาศัยอยู่ทางเหนือและใต้ ของภูเขาเทียนชัน กระจายไปตามมณฑลต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำฮวงโห แยงซีเกียง และสิเกียง เป็นพวกอินโดยูโรเปียน ที่นับถือศาสนาอิสลาม  แต่ได้รับอารยธรรมจากจีน เดิมอาศัยอยู่ในเตอรกีสถาน และค่อย ๆ อพยพมาทางตะวันออก เข้ามาในเขตประเทศจีน ราชวงศ์โห้วถัง โห้วจิ้น ก็เป็นชนเผ่านี้
                    ๖. ทิเบต  เดิมอาศัยอยู่ในทิเบต ภาคตะวันออกและภาคกลาง มณฑลชิงไฮ ทางใต้ของเทียนชัน นับถือลัทธิลามะ กษัตริย์ราชวงศ์ซีเซีย ก็เป็นชนเผ่านี้
                    ประวัติศาสตร์ของจีน อาจแบ่งกว้าง ๆ ออกเป็นสามระยะคือ ยุคสมัยเบื้องต้น ยุคสมัยดึกดำบรรพ์ และยุคสมัยปัจจุบัน ยุคสมัยเริ่มต้นเป็นเรื่องเทพนิยาย ยุคสมัยดึกดำบรรพ์ มีทั้งที่เป็นนิยาย และที่อาจเป็นความจริงปน ๆ กัน เรื่องราวดังกล่าวอยู่ในเรื่อง ไคเภ็ก จบลงที่ราชวงศ์เซี้ยสิ้นสุดลง
                    ราชวงศ์เจา  (ก่อน พ.ศ.๕๘๐ - พ.ศ.๒๘๘)  เจ้าวู้หวัง ได้ชัยชนะจากพระเจ้าเจาสิน (ติวอ๋อง) กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ช้างถังแล้ว ก็ปราบดาภิเษกเป็นฮ่องเต้ และเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เจา (จิว)  ตามชื่อเมืองเดิมที่ครองอยู่ เมืองนี้อยู่ในมณฑลชานสี ในระยะต่อมาเจ้าผู้ครองรัฐต่าง ๆ แตกแยกเป็นก๊กใหญ่น้อย ก๊กไหนมีกำลังมากก็ปราบก๊กที่อ่อนแอกว่า อำนาจของฮ่องเต้ก็คงเหลือเพียงในนาม ราชวงศ์เจาสืบกษัตริย์มาได้ถึง ๓๕ ชั่ว เป็นระยะเวลา ๘๗๓ ปี นับว่ายาวนานกว่าราชวงศ์ใดๆ ในประวัติศาสตร์ ประเทศจีนตอนนี้มีอาณาจักรอยู่แต่มณฑลชันสี และชันตุง เท่านั้น
                    สมัยราชวงศ์จิ๋น  (พ.ศ.๒๘๘ - ๓๓๔ )  แคว้นจิ๋น มีเจ้าผู้ครองสืบต่อกันมานาน จนถึงองค์ที่ ๓๑ คือ จิ๋นเซียนอ๋อง ถูกทางเมืองหลวงคิดกำจัด จึงยกทัพไปตีเมืองหลวงได้ แต่ไม่ประกาศตนเป็นฮ่องเต้ จนมาถึงผู้ครองแคว้นจิ๋นองค์ที่ ๓๓ คือ จิ๋นเจงอ๋อง (จิ๋นอ๋อง ในเรื่องไซฮั่น )  จึงประกาศตนเป็นฮ่องเต้ พระนามว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ พระองค์ได้ปราบปรามแคว้นต่าง ๆ ไว้ได้หมด แผ่นดินจีนในครั้งนั้นมีเขตแดนตั้งแต่มณฑลฮูเปทางเหนือ จนถึงลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงในมณฑลจี้เกียงทางทิศใต้ จดทะเลเหลืองทางทิศตะวันออก และสุดแดนมณฑลเสฉวน ทางทิศตะวันตก พระองค์ทรงแบ่งดินแดนเหล่านี้ออกเป็น ๓๖ มณฑล และตั้งข้าหลวงใหญ่ปกครองขึ้นตรงต่อฮ่องเต้
                    ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ไซฮั่น)  (พ.ศ.๓๓๗ - ๕๕๗) เล่าปัง เมื่อได้ราชสมบัติจากราชวงศ์จิ๋นองค์สุดท้ายแล้ว ก็เฉลิมพระนามเป็น พระเจ้าฮั่นเกาโจ๊ (ฮั่นโกโจ ในไซฮั่น)  ฮั่นเป็นชื่อทั้งแม่น้ำและรัฐเล็ก ๆ รัฐหนึ่ง ในมณฑลเชนสี ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่เดิมของพระเจ้าฮั่นเกาโจ๊ และนำเอาชื่อมาตั้งเป็นชื่อราชวงศ์ พระองค์จัดสังคายนารวบรวมหนังสือที่ยังเหลืออยู่ ไม่ถูกเผาในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ แล้วทรงฟื้นฟูคำสอนของขงจื้อขึ้นใหม่ ย้ายราชธานีเดิมมาตั้งที่เมืองเชียงอาน ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเชนสี พระองค์ต้องทรงทำสงครามกับพวกตาด อยู่เกือบตลอดรัชกาล และในตอนปลายแผ่นดินก็ต้องปราบปรามขบถภายในอยู่ตลอดเวลา ราชวงศ์ฮั่นสืบต่อกันมา ๑๑ องค์ พระเจ้าผิงตี่ถูกอำมาตย์ชื่อ อองมัง แย่งราชสมบัติได้ ราชวงศ์ไซฮั่นก็สิ้นสุดลง
                    ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ตั้งฮั่น)  (พ.ศ.๕๖๘ - ๗๕๗) )  เมื่ออองมัน ตั้งตัวเป็นฮ่องเต้ ไม่นานมีเชื้อพระวงศ์ฮั่นองค์หนึ่งชื่อ ลิวสิว ยกกองทัพมาตีเมืองหลวงได้ แล้วขึ้นเป็นฮ่องเต้ ทรงพระนาม พระเจ้ากวงวูตี่ และโปรดให้ย้ายราชธานีไปตั้งที่เมืองโละหยาง (ลกเอี๋ยงในเรื่องตั้งฮั่น) ซึ่งอยู่ในมณฑลโฮนันในปัจจุบัน ทรงแบ่งอาณาจักรจีนจาก ๓๖ มณฑล ให้เหลือเพียง ๑๓ มณฑล ให้มีอุปราชปกครองในแต่ละมณฑล
                    พระเจ้ามิงตี่ ได้ครองราชย์องค์ต่อมา (พ.ศ.๖๐๑ - ๖๑๙)  ได้นำเอาพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในประเทศจีนเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังได้สร้างเขื่อนใหญ่ กั้นแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห) เขื่อนนี้ยาวถึง ๔๘ กิโลเมตร
                    สมัยสามก๊ก (พ.ศ.๗๕๗ - ๗๖๖)  ในตอนปลายราชวงศ์ฮั่น มีนายทหารชั้นแม่ทัพชื่อ ตั๋งโต๊ะ ได้ปราบจลาจลขึ้นในเมืองหลวงได้ แล้วราชบุตรของพระเจ้าลิงตี่ (เล่งตี่ในตั้งฮั่น) ขึ้นเป็นฮ่องเต้ ทรงพระนาม พระเจ้าเสียนตี่ (เฮี่ยนเต้) ตั้งตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการ ย้ายราชธานีจากเมืองลกเอี๋ยง กลับไปตั้งที่เมืองเชียงอานตามเดิม ต่อมาตั๋งโต๊ะถูกกำจัดลงได้ โจโฉถือโอกาสคุมกองทัพเข้ามายึดราชธานีไว้ได้ กักพระเจ้าเสียนเต้ไว้ ตนเองขึ้นเถลิงอำนาจ ต่อจากนี้ไปประวัติศาสตร์จีน ก็เข้าสู่ยุคสามก๊กคือ
                    ๑. ก๊กเว  (วุยในสามก๊ก)  อยู่ตอนเหนือและตอนกลาง ราชธานีอยู่ที่เมืองโละหยาง (ลกเอี้ยง)
                    ๒. ก๊กหวู  (หงอในสามก๊ก)  อยู่ทางใต้ของแม่น้ำยางซี มีมณฑลฮูนาน ฮูเป เกียงซู และจี้เกียง ตั้งราชธานีที่เมืองนานกิง (น่ำเกีย)
                    ๓. ก๊กฉุ  (จกในสามก๊ก)  อยู่ทางตะวันตกของประเทศจีน ได้แก่ มณฑลเสฉวน ตั้งราชธานีที่เมืองเจงคู (เซ่งโต๋ - แต้จิ๋ว) ทั้งสามก๊ก ทำสงครามขับเคี่ยวกันตลอดมาในที่สุด ก๊กเว ยกไปตีก๊กฉุได้
                    ราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ไซจิ้น)  (พ.ศ.๘๐๘ - ๘๖๐)  ในเวลา ๓๐๐ ปี ต่อจากสามก๊กประเทศจีนตกอยู่ในระยะเกิดกลียุค แตกกันเป็นก๊กเล็ก ๆ มากมาย ผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้าเฉ่าเป (โจผี)  ไม่ทรงสามารถ ซือหม่าเจียว (สุมาเจียว)  บุตร ซือหม่าอี้ (สุมาอี้)  ได้สิทธิขาดราชการงานเมือง เมื่อซื่อหม่าเจียว สิ้นชีวิตแล้ว ซื่อหม่าย่วย (สุมาเอี๋ยน)  ผู้เป็นน้องชายได้รับตำแหน่งแทน ภายหลังแย่งราชสมบัติได้ ประกาศตนเป็นจิ้นบู๊ฮ่องเต้ เปลี่ยนราชวงศ์เป็นไซจิ้น ในรัชกาลนี้ได้เมืองกังตั๋ง หรือแคว้นวู มารวมเป็นอาณาเขตเดียวกัน
                    ราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ตั้งจิ้น)  (พ.ศ.๘๖๐ - ๙๖๓)  สมัยนี้บ้านเมืองเป็นกลียุคอีก ทางส่วนใต้ของแม่น้ำแยงซี มีผู้อ้างตนเป็นทายาทฮ่องเต้อยู่มากมายหลายคน ต่างตั้งตนเป็นอิสระ ส่วนทางเหนือของแม่น้ำแยงซี พวกตาดยกเข้ามาแล้วไม่ยอมถอยกลับ ในที่สุดทางตอนใต้ ลิวหยือ (เล่าหยู)  ซึ่งมีเชื้อตาด และเคยเป็นแม่ทัพของฮ่องเต้ สามารถปราบก๊กต่าง ๆ ได้หมดสิ้น แล้วคิดขบถยกทัพเข้ามาแย่งราชสมบัติ ในเมืองหลวงจับฮ่องเต้องค์สุดท้าย แห่งราชวงศ์จิ้น ไปปลงพระชนม์ และประกาศตนเป็นฮ่องเต้ เปลี่ยนเป็นราชวงศ์สุง (ซ้อง)
                    ราชวงศ์สุง (พ.ศ.๙๖๐ - ๑๐๒๒)  ในสมัยพระเจ้าเวนตี่ (บุนเต้)  ฮ่องเต้องค์ที่สี่ ในราชวงศ์สุง พวกตาดก๊กเว ยกทัพเข้ามาตีหัวเมืองตอนใต้ไว้ได้ถึงหกมณฑล มีฮ่องเต้สืบต่อมา ๘ องค์
                    ราชวงศ์ซี้  (พ.ศ.๑๐๒๒ - ๑๑๐๕)  แม่ทัพคนหนึ่งชิงราชสมบัติจากฮ่องเต้องค์ที่ ๘ แห่งราชวงศ์สุง ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์จี๊ (ซี้)  ถัดจากนั้นก็ถึงราชวงศ์เหลียว ราชวงศ์เฉน และราชวงศ์สุย โดยลำดับ
                    ราชวงศ์ถัง  (พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๕๐)  ราชวงศ์ถังยืนยาวมาเกือบ ๓๐๐ ปี เป็นยุคที่ประเทศจีนมีความเจริญรุ่งเรืองกว่ายุคใด ๆ ในประวัติศาสตร์จีนที่มีมาแล้ว ยกเว้นแต่ราชวงศ์ฮั่น พระเจ้าถังไทจุง (ไทจง)  เป็นฮ่องเต้ ที่มีพระนามโด่งดังเท่ากับเป็นมหาราชองค์หนึ่งของจีน ในรัชสมัยของพระองค์ ทรงทำศึกได้ชัยชนะอย่างใหญ่หลวง ต่อพวกตาดเตอรโกแมน (บรรพบุรุษของตุรกีปัจจุบัน ซึ่งเป็นตาดตะวันตก พวกหนึ่งเรียกรวม ๆ ว่า พวกไซฮวน ในเรื่องพงศาวดารจีน
                    ในปี พ.ศ.๑๑๗๓  พระองค์โปรดให้ภิกษุเหี้ยนจัง (ถังซำจั๋ง)  ไปสืบพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย พ.ศ.๑๑๘๘ พระองค์ทรงกรีธาทัพไปตีประเทศเกาหลี ซึ่งสมัยนั้นแบ่งออกเป็นสามแคว้น แต่ตีไม่สำเร็จได้ทั้งสามแคว้น ฮ่องเต้องค์ต่อมาคือ พระเจ้าเกาจุง ทรงจัดทัพไปตีเกาหลี เมื่อปี พ.ศ.๑๒๐๐ ได้ชัยชนะได้เกาหลีมาเป็นเมืองขึ้นได้ทั้งหมด อีก ๒ - ๓ ปีต่อมาพวกตูรฟาน (ไซฮวนรวมทิเบตด้วย) ยกกองทัพใหญ่เข้ามีตีเขตแดนจีนทางตะวันตก จีนยกกำลังไปต้านทานผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะหลายครั้ง ในที่สุดจีนได้ชัยชนะ ฮ่องเต้องค์ต่อมาคือ พระเจ้าชุงจุง ขึ้นเสวยราชเพียงสามเดือนก็ถูกนางวูเฮา พระราชมารดาถอดออกจากราชสมบัติ แล้วนางวูเฮา ก็ตั้งตนเป็นฮ่องเต้ผู้หญิง ซึ่งไม่เคยมีประเพณีอย่างนี้มาก่อน (ดูเรื่องบูเช็กเทียน)
                    ในสมัยพระนางวูเฮา ครองราชย์มีพวกขี่ตั๋น อันเป็นชนชาติตาดตะวันออก อยู่ทางมณฑลเชนสี ขึ้นไปในเขตแคว้นแมนจูเรีย ยกกำลังเข้ามาตีปล้นเขตแดนตอนเหนือของจีนอยู่บ่อย ๆ
                    หลังจากนั้น จนถึงฮ่องเต้องค์ที่ ๒๐ ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายในราชวงศ์ถัง บ้านเมืองก็ตกอยู่ในระยะเสื่อมลงตามลำดับ
                    สมัยห้าราชวงศ์  ได้แก่ ราชวงศ์เอ๊าเหลียว (พ.ศ.๑๔๕๐ - ๑๔๖๖)  มีฮ่องเต้ ๒ องค์ ราชวงศ์เอ๊าถัง (พ.ศ.๑๔๖๖ - ๑๔๗๙)  มีฮ่องเต้ ๔ องค์ ราชวงศ์เอ๊าจิ้น (พ.ศ.๑๔๗๙ - ๑๔๙๐)  มีฮ่องเต้ ๒ องค์ ราชวงศ์เอ๊าฮั่น  (พ.ศ.๑๔๙๐ - ๑๔๙๔)  มีฮ่องเต้ ๒ องค์ ราชวงศ์เอ๊าโจ  (พ.ศ.๑๔๙๔ - ๑๕๐๓) มีฮ่องเต้ ๓ องค์
                    ราชวงศ์สุง (ซ้อง)  (พ.ศ.๑๕๐๓ - ๑๘๒๓)  มีฮ่องเต้สืบต่อกันมา ๑๘ องค์ (ดูพงศาวดารจีนเรื่อง น่ำปัก) ในปี พ.ศ.๑๖๖๘ พวกกิมเมื่อปราบพวกขีตั๋นแล้ว ก็ยกทัพมาประชิดแดนจีน แล้วตีเข้ามาถึงเมืองไคเฟงฟู (อยู่ในมณฑลโฮนัน)  อันเป็นราชธานีพระเจ้าสุงฮุยจุง เสด็จหนีไปเมืองนานกิง ประเทศจีน ตอนนี้แบ่งเป็นสองภาค ภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นของพวกกิม ภาคใต้ถัดแม่น้ำแยงซีลงมาเป็นของพวกจีน โดยมีนานกิงเป็นราชธานี
                    พ.ศ.๑๖๗๕  พวกตาดมองโกล ปรากฎตนขึ้นครั้งแรกทางพรมแดนตอนเหนือของจีน ต่อมาถึงปี พ.ศ.๑๗๐๕ เจงกิสข่านยกพวกตาดมองโกลเข้าประเทศจีนได้ แล้ววกไปตีพวกตาดกิม ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ที่แหลมเลียวตุง (ในแคว้นแมนจูเรียตอนใต้)  พระเจ้าหลีจุง ฮ่องเต้องค์ที่ ๘ ในราชวงศ์สุง ทรงทำไมตรีกับตาดมองโกล แล้วร่วมกันโจมตีพวกกิม จนพ่ายแพ้ล่มจนหมดไป
                    เมื่อหมดพวกกิม อันเป็นกันชนแล้ว ตาดมองโกลก็เริ่มเป็นปรปักษ์กับจีน ได้รบขับเคียวกันถึง ๕๐ ปี จีนก็แพ้ หมดราชวงศ์สุง ลงเพียงนี้
                    ราชวงศ์หยวน (หงวน) (พ.ศ.๑๘๒๓ - ๑๙๑๑)  กุบไลข่าน โอรสองค์ที่สองของเจงกิสข่าน เป็นฮ่องเต้ในประเทศจีน ทรงพระนาม พระเจ้าสีจู๊ (สีโจ๊)  ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หยวน ตั้งราชธานีที่กรุงกำบูลุค หรือกรุงปักกิ่ง ทรงประพฤติพระองค์เป็นไปในทางวัฒนธรรมจีนทุกอย่าง ในเรื่องศาสนาได้ให้เผาคัมภีร์ในลัทธิต่างๆ หมด ยกเว้นคัมภีร์เต๋าเต๊ะจิง  (เต๋าเต้กเก็ง) ของลัทธิเต๋า เท่านั้น พระองค์สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๗ มีฮ่องเต้สืบต่อมา ๑๐ องค์ ก็เปลี่ยนเป็นราชวงศ์หมิง
                    ราชวงศ์หมิง  (พ.ศ.๑๙๑๑ - ๒๑๘๓) จูหงวนฉ่าง เมื่อได้ราชสมบัติแล้วก็ขึ้นเป็นพระเจ้าไทจู้ แห่งราชวงศ์หมิง ทรงตั้งราชธานีเป็นสองแห่งคือ นานกิง เป็นราชธานีใต้ และไคเฟอฟู เป็นราชธานีเหนือ มีฮ่องเต้สืบต่อมา ๑๖  องค์ ก็ถูกหลีซูเจง เป็นขบถชิงราชสมบัติได้
                    ราชวงศ์ชิง (เชง)  (พ.ศ.๒๓๘๘ - ๒๔๕๐)  ในสมัยราชวงศ์หมิง พวกแมนจูซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่เหนือเมืองมุกเดน ไปทางตะวันออก ได้ยกทัพมาตีจีนตอนเหนือ ทั้งสองฝ่ายตั้งทัพคุมเชิงกันอยู่ เมื่อทางจีนเกิดวุ่นวาย พวกแมนจูถือโอกาสยกทัพเข้ากรุงปักกิ่ง หัวหน้าแมนจูยกหลานของตนเป็นฮ่องเต้ องค์แรกในราชวงศ์ชิง มีฮ่องเต้ต่อมาอีก ๑๐ องค์ เป็นระยะเวลา ๒๖๘ ปี ฮ่องเต้องค์สุดท้ายถูกคณะเก๊กเหม็ง ถอดออกจากราชสมบัติ
            ๑๔๔๒. จีนจันตุ - พระยา  เป็นขุนนางจีน ชั้นผู้ใหญ่ผู้หนึ่งอาสาพระยาละแวกเจ้าเมืองเขมร ไปตีเมืองเพชรบุรี ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๑๒๑ พระยาละแวกจึงจัดกองทัพเรือ ให้พระยาอุเทศราชากับพวกพระยาจีนจันตุเป็นแม่ทัพ คุมพลประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน เข้ามาตีเมืองเพชรบุรี แต่ตีไม่สำเร็จต้องยกทัพกลับไป พระยาจีนจันตุ เกรงอาญาจึงรีบอพยพครอบครัว ลงเรือหนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ยังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็ทรงให้ความอุปถัมภ์ไว้ แต่พระยาจีนจันตุเมื่อได้รู้ตื้นลึกหนาบางของกรุงศรีอยุธยาแล้ว พอได้โอกาสก็พาครอบครัวลงเรือสำเภา จะหลบหนีออกทะเลกลับไปเขมร
                    ในระยะเวลานั้น สมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ทรงเห็นพฤติกรรมเช่นนั้น จึงพาทหารลงเรือไล่ติดตาม พระยาจีนจันตุไปทันเกิดการสู้รบกัน ไปจนถึงเมืองธนบุรี พอสำเภาของพระยาจีนจันตุ ได้ลมแล่นใบออกทะเลไปได้ เรือฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเป็นเรือเล็ก สู้คลื่นไม่ได้จึงจำต้องเสด็จกลับ           ๙/ ๕๒๕๓
            ๑๔๔๓. จี้ลี่  (เว้น)           ๙/ ๕๒๕๕
            ๑๔๔๔. จีวร  คือ บริขารของพระภิกษุ และสามเณร ที่ประกอบด้วยชิ้นผ้าขนาดต่าง ๆ มาเย็บเป็นผืนใช้เป็นผ้านุ่ง ผ้าห่ม ของพระภิกษุและสามเณร คำนี้คนทั่วไปหมายเอาเฉพาะผืนที่ห่มเท่านั้น แต่ในพระวินัย หมายถึง บริขารที่จำเป็นอย่างหนึ่ง จัดเป็นปัจจัยหนึ่งในปัจจัยสี่
                    ผ้าที่จะทำเป็นจีวรได้ ต้องทำด้วยวัตถุหกชนิดคือ ทำด้วยเปลือกไม้ ทำด้วยฝ้าย ทำด้วยใยไหม ทำด้วยขนสัตว์ ยกเว้นผม และขนมนุษย์ ขนหางสัตว์  ขนปีกนกเค้า ทำด้วยเปลือกป่าน และผ้าที่ทำด้วยของห้าอย่างนั้น แต่อย่างใดอย่างหนึ่งเอามาปนกันทำผ้า
                    จำนวนจีวร สามผืนอันได้แก่ สบงผ้านุ่ง จีวรผ้าห่ม สังฆาฎิผ้าทาบ รวมเรียกว่า ไตรจีวร ผ้าไตรจีวร นั้น พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้เป็นของตัด ถ้าทำได้ให้ตัดครบทั้งสาม ถ้าผ้าไม่พอให้ผ่อนตัดแต่สองผืน หรือผืนเดียว ตามแต่จะทำได้ ก็ยังไม่พอให้ใช้ผ้าเพลาะ เพราะแต่ครั้งปฐมโพธิกาล พระพุทธเจ้าโปรดให้ภิกษุใช้ผ้าบังสุกุลจีวร ไม่ทรงอนุญาตให้รับคหบดีจีวร ภิกษุต้องไปเก็บเอาผ้าบังสุกุล มาซักให้สะอาด แล้วเย็บประกอบเข้าเป็นจีวร จีวรจึงมีลักษณะเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย
                    ต่อเมื่อเสด็จทักขิณาชนบท ได้ทอดพระเนตรอันนาของชาวมคธ จึงโปรดให้พระอานนท์ตัดจีวรแบบอันนานั้น ใช้มาจนถึงปัจจุบัน ขนาดจีวร ยาว ๙ คืบ กว้าง ๖ คืบ โดยสุคตประมาณ
                    จีวรนั้น โปรดให้ย้อมด้วยของหกอย่างคือ ราก หรือเหง้า ต้นไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ จีวรย้อมแล้วเรียกว่า กาสายะ บ้าง กาสาวะ บ้าง ที่แปลว่า ย้อมด้วยน้ำฝาด และทรงห้ามสีบางอย่างไว้คือ สีคราม สีเหลือง (เช่นสีดอกบวบ หรือดอกคูน) สีแดง สีบานเย็น สีแสด  สีชมพู และสีดำ
                    การครองจีวร ให้นุ่งห่มให้เป็นปริมณฑลคือ เรียบร้อย ในการแสดงความเคารพ หรือทำวินัยกรรม ให้ห่มดอง ในการเข้าบ้าน
                    มีคำที่ใช้เนื่องด้วยจีวรอีกหลายคำมี จีวรกรรม หมายถึง การทำกิจเนื่องด้วยจีวร ซักย้อม เป็นต้น จีวรกาลสมัย คือ เวลาที่ภิกษุทำจีวร ระยะเวลาที่อนุฐาตให้ภิกษุทำจีวร จีวรทานสมัย คือ เวลาถวายจีวร
            ๑๔๔๕. จุงกิง  เป็นชื่อเมืองในมณฑลเสฉวน ภาคตะวันออกของประเทศจีน อยู่บนแหลม ตรงบริเวณที่แม่น้ำแยงซีเกียง กับแม่น้ำเกียลิง มาสบกัน
                     จุงกิง มีประวัติศาสตร์มากว่า ๔,๒๐๐ ปี ได้เป็นอาณาจักรหนึ่งเมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปี ก่อน พ.ศ.  จุงกิงได้เป็นอาณาจักรหนึ่ง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๐๐ ในสมัยราชวงศ์ฉิน จุงกิงก็สูญสิ้นสภาพความเป็นเมืองไป ดินแดนบริเวณจุงกิงมักถูกใช้เป็นฐานทัพของพวกหัวหน้าขบถ
                     สัญญาจีน - บริติช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ และสัญญาปักกิ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ทำให้จีนต้องเปิดจุงกิงเป็นเมืองท่าตามสัญญาญี่ปุ่น ได้สิทธิสัมปทานในจุงกิงหลังจากที่ได้ทำสัญญา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘  จุงกิงได้เป็นเมืองเทศบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ และได้เป็นเมืองหลวงของจีน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ - ๒๔๘๙
            ๑๔๔๖.  จุงเจีย  เป็นไทยเดิมกลุ่มหนึ่งในจีน ส่วนมากอยู่ในมณฑลไกวเจาหรือกุยจิ๋ว นับว่าเป็นไทอยู่ในจำพวกเดียวกับไทยน้อย           ๙/ ๕๒๖๗
            ๑๔๔๗. จุณจริยบท  เป็นบทบาลีเล็กน้อยที่ยกขึ้นแสดงก่อนเนื้อความ เป็นสำนวนร้อยแก้ว นิยมใช้เรียกตามหนังสือมหาชาติกลอนเทศน์ฉบับหอพระสมุด หมายถึง คำบาลีที่ขึ้นต้นของกัณฑ์นั้น ๆ           หน้า ๕๒๖๗
            ๑๔๔๘. จุน  อำเภอขึ้น จ.เชียงราย แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ขึ้น อ.เชียงคำ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
                     ภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีทุ่งนาสองข้างทาง สลับป่าเป็นบางตอน    ๙/ ๕๒๖๙
            ๑๔๔๙. จุนทะ ๑ - นาย  ชื่อเต็มว่านายจุนทะกรรมารบุตร เป็นชาวเมืองปาวา แคว้นมัลละ เป็นช่างทอง เมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จถึงนครปาวา เข้าพักอยู่ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะ เขาได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมเทศนาเห็นแจ้งชัดในหลักธรรม ตั้งใจจะนำมาประพฤติปฏิบัติ มีความอาจหาญร่าเริงในธรรมนั้น จึงได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ประมาณห้าร้อยที่ตามเสด็จให้เสวยภัตตาหารในเรือนของตน เขาได้จัดภัตตาหาร
อย่างประณีตบรรจงเป็นพิเศษชนิดหนึ่งเรียกว่า สูกรมัทวะ แปลว่า เนื้อสุกรอ่อน  พระพุทธองค์โปรดให้เขาถวายสูกรมัทวะเฉพาะพระองค์เท่านั้น ถวายภัตตาหารอื่นที่เตรียมไว้แด่ภิกษุสงฆ์ และให้นำสูกรมัทวะที่เหลือไปฝังสีย
                     เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์โปรดให้พระอานนท์แจ้งแก่ภิกษุทั้งหลายว่าใครจะอยู่หรือจะไปที่ใดก็ตามอัธยาศัย ส่วนพระองค์จะเสด็จยังนครกุสินารา
                     ตั้งแต่เสวยบิณฑบาตของนายจุนทะแล้ว พระพุทธองค์ก็ประชวรมากขึ้น อาการท้องกำเริบมากถึงประชวรขันทิกาพาธ ในขณะนั้นทรงลงพระโลหิต แต่ก็ยังเสด็จพุทธดำเนินไปยังกรุงกุสินารา พระพุทธองค์ได้ตรัสข้อความตอนหนึ่งเกี่ยวกับนายจุนทะว่าดูกรอานนท์ บางทีจะมีใครทำความร้อนใจให้นายจุนทะกรรมารบุตรได้บ้าง เหมือนกันว่าไม่ใช่บุญของท่านแล้ว ท่านเคราะห็์ไม่ดีเลยพระพุทธองค์เสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อมีเหตุอย่างนี้ เธอต้องช่วยบรรเทาความร้อนใจของนายจุนทะด้วยอุบายอย่างนี้ว่า เป็นลาภของท่านแล้ว ท่านมีบุญหนักหนาแล้ว พระพุทธองค์เสวยบิณฑบาตของท่านเป็นครั้งสุดท้ายแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน เรื่องนี้ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์เอง บิณฑบาตสองครั้งนี้มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกันมีผลมาก มีอานิสงส์มากกว่าบิณฑบาตครั้งอื่น ๆ ทั้งหมด บิณฑบาตสองครั้งนั้นคือ
                     ๑. พระพุทธองค์บิณฑบาตครั้งใดแล้วได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
                     ๒. พระพุทธองค์เสวยบิณฑบาตครั้งใดแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
                     นายจุนทะได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่าสมณะในโลกมีเท่าใด พระพุทธองค์ตรัสตอบว่าสมณะในโลกนี้มีสี่ ไม่มีสมณะที่ห้า  สมณะสี่เหล่านั้นได้แก่ สมณะผู้ชนะสรรพกิเลสด้วยมรรค สมณะผู้แสดงมรรค สมณะผู้อยู่ในมรรค และสมณะผู้ประทุษร้ายมรรค
                     นายจุนทะได้ฟังพุทธานุศาสน์แล้วได้ความพอใจ ประกาศตนพร้อมทั้งบุตร และภริยาถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะตลอดชีวิตตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป           หน้า ๕๒๗๑
            ๑๔๕๐.  จุนทะ ๒ - พระเถระ  เป็นชาวเมืองนาลันทา เป็นน้องพระสารีบุตร ตัวท่านเป็นน้องคนสุดท้องของพี่น้องเจ็ดคน ทุกคนเลื่อมใสในพระธรรมวินัย ออกบวชในพระพุทธศาสนาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทุกคน ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เป็นสามเณร เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วได้ติดตามพระสารีบุตรไปในที่ต่าง ๆ และเมื่อได้โอกาสก็เข้าอยู่ในพุทธสำนัก อยู่งานเฝ้าปรนนิบัติพระพุทธเจ้าตามโอกาส ได้ติดตามพระพุทธองค์ไปในที่ต่าง ๆ
                     คราวหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์  พระพุทธองค์ประชวรหนัก พระพุทธองค์ก็โปรดให้พระจุนทะแสดงโพชฌงค์เจ็ดประการถวาย พระพุทธองค์ก็ทรงสำราญพระทัย หายจากประชวร           ๙/ ๕๒๗๖
            ๑๔๕๑. จุนสี  เป็นสิ่งที่มีปรากฏในตำรายาไทย - จีนโบราณ มีการใช้จุนสีในประเทศไทยมานานโดยเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าเข้าจากจีน นิยมใช้ผสมยาสะตุบดเป็นผงทาส่วนของร่างกายที่มีกลิ่นตัว  ละลายน้ำจาง ๆ ใช้บ้วนปากทำให้ฟันทนไม่โยกคลอน  ละลายน้ำจาง ๆ รดผักเพื่อฆ่าเพลี้ยแมลงบางชนิด และทาหรืออาบสัตว์เลี้ยงเพื่อฆ่าพวกเห็บต่าง ๆ
                    ชาวอียิปต์โบราณใช้จุนสีเป็นยา รวมทั้งใช้ถลุงเอาโลหะทองแดงทำภาชนะใช้สอยและอาวุธ ต่อมาชาวยุโรปจึงได้ค้นพบแหล่งกำเนิดในธรรมชาติ แล้วคิดค้นหาทางใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง           หน้า ๕๒๘๑
            ๑๔๕๒. จุ๊บแจง - หอย  เป็นหอยกาบเดียว เปลือกม้วนเป็นวงค่อนข้างยาว ช่องปากเป็นรูอยู่ตอนหน้า เปลือกหนา ฝาปิดปากเป็นวง มีจุดอยู่ตรงกลาง ลักษณะคล้ายเขาสัตว์ เปลือกใช้ทำเครื่องประดับได้ ใช้เป็นอาหารได้           ๙/ ๕๒๘๓
            ๑๔๕๓. จุลกฐิน  เป็นเรื่องกฐินที่เป็นพระพุทธานุญาตเป็นพิเศษ เฉพาะกาล มีจำกัดให้ทำจีวรให้เสร็จในวันนั้น           ๙/ ๕๒๘๓
            ๑๔๕๔. จุลกาล ๑ เป็นชื่อภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ เป็นกระดุมพีที่มั่งคั่งคนหนึ่ง เป็นชาวเสตัพยนคร ในครั้งพุทธกาล มีพี่ชายร่วมมารดาเดียวกันสองคน ชื่อมหากาล และมัชฌิมกาล
                   เมื่อออกบวชในพุทธศาสนา บวชตามมหากาลผู้เป็นพี่ชายคนโต ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา บวชเพื่อจะชวนพี่ชายสึก เมื่อมหากาลได้บรรลุอรหัตแล้ว พระพุทธเจ้าพร้อมพระภิกษุสงฆ์จะเสด็จจาริกไปยังเสตัพยนคร ภริยาทั้งสองคิดจะจับจุลกาลผู้เป็นสามีให้สึก จึงส่งคนไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า พระมหากาลจึงส่งพระจุลกาลให้ล่วงหน้าไปก่อน เพื่อจัดเตรียมปูอาสนะถวายพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ภริยาทั้งสองแกล้งปูอาสนะผิด ๆ แล้วฉุดผ้านุ่งผ้าห่มออกให้นุ่งผ้าขาวสวมเทริดมาลา แล้วส่งให้ไปนำพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์มายังเสตัพยนคร ภิกษุสงฆ์ยกโทษว่าพระจุลกาลได้รับอันตรายแห่งบรรพชา พระพุทธเจ้าตรัสสอบภิกษุทั้งหลายว่าจุลกาลนี้คิดถึงแต่ฆราวาสและลูกเมีย เป็นคนมักมากด้วยสุภารมณ์ไม่สำรวมอินทรีย์ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นคนเกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน มารย่อมรังควานได้ ส่วนผู้ที่ไม่มักมองเห็นแต่ของสวยงาม สำรวมอินทรีย์ รู้จักประมาณในการบริโภค มีศรัทธา มีเพียรอยู่เสมอ มารย่อมรังควานไม่ได้
            ๑๔๕๕. จุลกาล ๒  เป็นอุบาสกผู้เป็นโสดาบัน รักษาอุโบสถศีลเป็นนิจ เป็นชาวเมือง สาวัตถี วันหนึ่งพวกขโมยข้าวของชาวบ้านมา เจ้าของติดตามมาทัน จึงทิ้งของที่ขโมยมาตรงหน้าจุลกาล คนทั้งหลายสำคัญว่าจุลกาลเป็นผู้ขโมย จึงพากันรุมโบย นางกุมภทาสีมาพบเข้าจึงชี้แจงคนทั้งหลายให้เข้าใจว่าจุลกาลไม่ใช่โจร จึงให้ปล่อยตัวไป จุลกาลได้เล่าเรื่องดังกล่าวให้ภิกษุทั้งหลายฟัง ภิกษุทั้งหลายนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า จุลกาลรอดชีวิตมาเพราะนางกุมภทาสีช่วยเหลือด้วย เพราะตนเองไม่ได้ขโมยด้วย เพราะธรรมดาสัตว์โลกผู้ใดกระทำบาปของผู้นั้นก็เศร้าหมองเอง ผู้ใดไม่ทำบาปเอง ผู้นั้นก็บริสุทธิ์เอง ความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ เป็นของเฉพาะตน คนอื่นทำให้ไม่ได้ จุลกาลได้สดับแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล บริษัทผู้ร่วมสดับก็ได้บรรลุผลเป็นจำนวนมาก           ๙/ ๕๒๘๘
            ๑๔๕๖. จุลจอมเกล้า  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ห้าแห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เสด็จสมภพเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๐ ทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ เลื่อนเป็นกรมขุนพินิจประชานาถ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐
                    เมื่อทรงพระเจริญก็ได้โปรดให้ทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ อันนับถือกันในสมัยนั้นว่าสมควรแก่พระราชกุมารจะทรงศึกษาทุกอย่าง ส่วนการศึกษาวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณี และโบราณคดีต่าง ๆ นั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงฝึกสอนด้วยพระองค์เองตามเวลาและโอกาสอันสมควร
                    ส่วนหน้าที่ราชการนั้น ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก ต่อมาได้ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง แล้วต่อมาได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกรมพระคลังมหาสมบัติกับกรมล้อมพระราชวังเพิ่มขึ้นอีก
                    พระองค์ขึ้นเสวยราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ เมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ตกลงให้มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปก่อน จนกว่าจะทรงผนวชแล้วระหว่างนั้น ในบางโอกาสได้เสด็จประพาสยังประเทศใกล้เคียง เพื่อทรงศึกษาวิชารัฐศาสตร์ที่ชาวตะวันตกนำมาดัดแปลงใช้กับชาวตะวันออก ตลอดจนการจัดการศึกษา การค้า โดยเสด็จไปสิงคโปร์ ปัตตาเวีย สมารัง ในปี พ.ศ.๒๔๑๓ และอินเดีย ในปี พ.ศ.๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับ ก็ได้ทรงถือโอกาศทอดพระเนตรมณฑลฝั่งทะเลตะวันตกของไทยด้วย
                    เมื่อพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ในปี พ.ศ.๒๔๑๖ ได้เสด็จออกผนวชเป็นเวลา ๑๕ วัน นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองราชย์ ได้เสด็จออกทรงผนวชในพระบวรพุทธศาสนา
                    เมื่อทรงลาผนวชแล้ว ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖
                    ในระหว่างที่พระองค์ทรงครองราชย์อยู่ ๔๒ ปี เศษ พระองค์ได้ทรงบริหารประเทศให้เจริญรุ่งเรืองเป็นเอนกประการ เฉพาะเรื่องที่สำคัญ ๆ ได้แก่
                    การเปลี่ยนแบบแผนประเพณีบางอย่าง ให้เป็นแบบสากลมากยิ่งขึ้น เปลี่ยนแปลงกฎมณเทียรบาลบางอย่างเช่น ตั้งมกุฎราชกุมารขึ้นแทนตำแหน่งพระมหาอุปราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๙ เปลี่ยนชื่อเดือนปฏิทินเป็นภาษาบาลี เลิกใช้จุลศักราช (จ.ศ.) ให้ใช้รัตนโกสินศก (ร.ศ.) แทน
                    การเลิกทาส พระองค์ทรงริเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๗ และทรงกระทำสำเร็จเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.๒๔๔๘ เป็นการเลิกทาสอย่างละมุนละม่อมค่อยเป็นค่อยไป ไม่ให้กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของผู้มีทาสและผู้เป็นทาสเอง
                    การเปแลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง  พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยการตั้งเคาน์ซิลออฟสเตดหรือสภาที่ปรึกษาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ ต่อมาได้ทรงตั้งปรีวี เคาน์ซิล หรือสภาองคมนตรีขึ้นในปีเดียวกัน ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๑ - ๒๔๓๔ พระองค์ได้ทรงพิจารณาและปฎิรูปการปกครองใหม่ โดยทรงเลือกประเพณีการปกครอง ทั้งของไทยและต่างประเทศมาปรับปรุงแก้ไข ในที่สุดได้มีการตั้งกระทรวงใหม่ทั้งหมด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ มี ๑๒ กระทรวงได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงนครบาล กระทรวงวัง กระทรวงเกษตรพาณิชการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพระคลัง กระทรวงยุทธนาธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงธรรมการ กระทรวงโยธาธิการ และกระทรวงมุรธาธิการ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ เหมือนกับการพลิกแผ่นดินและระบอบการปกครองที่ไทยใช้มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นเวลา ๔๐๐ ปี เศษ
                    ส่วนการปกครองในหัวเมืองก็มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองในส่วนกลาง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๗ เป็นต้นมา โดยให้จัดหัวเมืองเป็นมณฑล เทศาภิบาล แบ่งออกได้เป็น ๑๘ มณฑล แต่ละมณฑลมีข้าหลวงเทศาภิบาลออกไปประจำมณฑลละ ๑ คน ประกอบด้วยข้าหลวงใหญ่ เป็นประธาน มีข้าหลวงยุติธรรม ข้าหลวงมหาดไทย ข้าหลวงคลัง แพทย์ และเลขานุการเป็นข้าหลวงผู้ช่วย ส่วนการปกครองจังหวัดนั้นมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้า ประกอบด้วยกรมการผู้ใหญ่ ผู้น้อย แต่เดิมทำหน้าที่ปกครอง ขึ้นกับข้าหลวงเทศาภิบาล มณฑล สำหรับการปกครองในชั้นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านก็ให้ตรา พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖ ขึ้นใช้ โดยให้ราษฎรเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นเอง เว้นไว้แต่มณฑลพายัพกับมณฑลปัตตานี ซึ่งเดิมเรียกว่า บริเวณเจ็ดหัวเมือง ก็โปรดให้ใช้ข้อบังคับแยกออกไปต่างหาก
                    นอกจากนั้นยังมีการตรา พ.ร.บ.จัดการสุขาภิบาลตามหัวเมืองต่าง ๆ พ.ศ.๒๔๕๐ ขึ้นใช้เพื่อทดลองใช้ระบอบการปกครองแบบเทศาภิบาล อย่างของต่างประเทศ ที่ให้ราษฎรปกครองกันเอง
                    การปรับปรุงภาษีอากร  มีการปรับปรุงเรื่องภาษีอากรใหม่ จัดตั้งหน่วยราชการขึ้น ทำหน้าที่โดยเฉพาะคือหอรัษฎากรพิพัฒน์ ตรา พ.ร.บ.สำหรับหอรัษฎาพิพัฒน์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่เจ้าพนักงานบัญชีกลาง เจ้าจำนวน เจ้าภาษี และนายอากรทั้งปวงได้ถือเป็นหลักปฎิบัติ ต่อมาได้ตรา พ.ร.บ. สำหรับกรมพระคลังมหาสมบัติ และว่าด้วยกรมต่าง ๆ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๘ เพื่อให้เป็นหลักสำหรับดำเนินการด้านการคลังของประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าตามแบบนานาอารยประเทศ
                    การบำรุงการศึกษา  มีการจัดการศึกษาใหม่ โดยเฉพาะโรงเรียนสอนภาษาไทย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่ และแต่งตำราเรียนภาษาไทยขึ้นด้วย นับเป็นการแต่งตำราเรียนครั้งแรก ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งกรมศึกษาธิการเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ ให้โรงเรียนทั้งหมดมาขึ้นกับกรมนี้ ส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสไปศึกษา ณ ต่างประเทศ โปรดให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศ
                    การศาล เดิมการศาลปนอยู่กับงานด้านการบริหารและแยกย้าย กระจายไปอยู่ในหน่วยราชการต่างๆ จึงได้โปรดให้แยกศาลมารวมอยู่ ณ ที่แห่งเดียวกัน และปรับปรุงให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นคือ ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้ตรา พ.ร.บ. จัดการศาลในสนามสถิตยุติธรรม กับตั้งศาลโปลิสสภา พ.ศ.๒๔๓๘  ได้ตรา พ.ร.บ.ศาลหัวเมือง พ.ศ.๒๔๕๑ ได้ตรา พ.ร.บ.ศาลยุติธรรม กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายลักษณะอาญาขึ้น
                   การทหารและตำรวจ ได้มีการปรับปรุงให้สมกับกาลสมัย เช่น ปี พ.ศ.๒๔๓๐ ได้ตรา พ.ร.บ.จัดการทหารและตั้งโรงเรียนนายร้อย ปี พ.ศ.๒๔๓๗ ประกาศตั้งกระทรวงกลาโหม และตรา พ.ร.บ.การเกณฑ์ทหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘
                    ด้านการตำรวจได้ขยายหน้าที่ตำรวจนครบาลออกไปถึงส่วนภูมิภาค ด้วยวิธีจัดตั้งตำรวจภูธรในรูปของกองทหารโปลิสขึ้นก่อน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๘ ต่อมาเปลี่ยนเป็นกองตระเวณหัวเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ และยกเป็นกรมตำรวจภูธร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ โดยมีตำรวจจ้างเป็นกำลังพล ต่อมาเมื่อมี พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารขึ้นมา ทางกรมตำรวจภูธรก็ขอใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขอเกณฑ์คนมาเป็นตำรวจด้วย
                    การพระศาสนา  พระองค์ได้ทรงบูรณปฎิสังขรณ์พระอารามต่าง ๆ เป็นอันมาก มีการตั้งสถานศึกษาชั้นสูง ได้แก่ มหามงกุฎราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีการชำระพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ ร่างระเบียบการปกครองของสังฆมณฑล แล้วตรา พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ ออกมาเป็นหลักปกครองฝ่ายพุทธจักร ออกระเบียบการปกครองนิกายญวน นิกายจีน และได้ตรา พ.ร.บ.กำหนดสิทธิแก่ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ทรงสละพระราชทรัพย์ร่วมสร้าง และปฎิสังขรณ์สุเหร่าของอิสลามมิกชน
                    เมื่อมีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย อุปราชอินเดียสมัยนั้นได้ส่งมาถวาย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ พระองค์ได้ทรงแบ่งพระราชทานไปให้แก่ประเทศญี่ปุ่น พม่า และลังกา ตามที่ขอเข้ามา แล้วประดิษฐานส่วนที่เหลือไว้ ณ เจดีย์ยอดบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกษ
                    การคมนาคม  มีการสร้างทางรถไฟสายพระนคร และจังหวัดนครราชสีมาขึ้นเป็นสายแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ และได้มีการขยายออกไปอีกหลายสาย ในระยะเวลาต่อมามีความยาว ๙๘๒ กม. และเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ มีทางรถไฟที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ๖๙๐ กม.
                    การโทรเลข มีการสร้างครั้งแรกระหว่างพระนครกับจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๒ แล้วตั้งเป็นกรมโทรเลข ในปี พ.ศ.๒๔๒๖ กรมไปรษณี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐
                    ถนนหนทางส่วนใหญ่จัดทำในจังหวัดพระนครก่อน และสร้างสะพานข้ามคลองต่าง ๆ
                    การเกษตรกรรม  ได้ทรงส่งเสริมการป่าไม้ มีการตรา พ.ร.บ.รักษาเมือง พ.ศ.๒๔๑๗ เป็นกฎหมายฉบับแรก ที่เกี่ยวกับการควบคุมการอนุญาตให้ทำป่าไม้สัก ได้ตั้งกรมป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙
                    การเหมืองแร่  ตั้งกรมโลหกิจภูมิวิทยา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ มีหน้าที่ควบคุมกิจการเหมืองแร่ ให้เป็นไปตามแบบอย่างต่างประเทศ ตรา พ.ร.บ.การทำเหมืองแร่ฉบับแรก เมื่อ ร.ศ.๑๒๐ (พ.ศ.๒๔๔๔)
                    การชลประทาน  ตั้งกรมคลองควบคุมการทดน้ำ หรือชลประทาน ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕
                    การเสด็จประพาส  พระองค์ได้เสด็จประพาสแทบทุกมณฑล นอกจากนั้นพระองค์ได้เสด็จต่างประเทศถึงเจ็ดครั้งคือ พ.ศ.๒๔๑๓ เสด็จสิงคโปร์ สมารัง ปัตตาเวีย หรือชวา พ.ศ.๒๔๑๔ เสด็จพม่า และอินเดีย พ.ศ.๒๔๓๒ เสด็จมลายู พ.ศ.๒๔๓๙ และ พ.ศ.๒๔๔๔ เสด็จชวา พ.ศ.๒๔๔๐ และ พ.ศ.๒๔๕๑ เสด็จยุโรป
                    การสุขาภิบาลและการพยาบาล  ได้มีการตรา พ.ร.บ.ปกครองท้องที่เมื่อ ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐)  และมีการตราพระราชกำหนดการสุขาภิบาลขึ้น ในพระนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ตั้งกรมสุขาภิบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ตรา พ.ร.บ.จัดการป้องกันกาฬโรค อหิวาตกโรค และไข้ทรพิษ พ.ศ.๒๔๕๑  จัดตั้งโรงพยาบาลศิริราชขึ้นเป็นโรงพยาบาลแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ ตั้งกรมพยาบาลขึ้นควบคุม ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ ตั้งสภาอุนาโลมแดง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ ต่อมาเป็นสภากาชาดไทย
                    ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  มีการทำสนธิสัญญาทางไมตรี พาณิชย์ และเดินเรือกับอิตาลี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ กับออสเตรียฮังการี ปี พ.ศ.๒๔๑๒  กับสเปน ปี พ.ศ.๒๔๑๒ กับญี่ปุ่น ปี พ.ศ.๒๔๓๐ และกับรุสเซีย ในปี พ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้น
                    ด้านวรรณคดี  พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้มากมาย ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ประเภทร้อยแก้วแบ่งเป็นหมวด ๆ คือ พระบรมราชาธิบาย พระบรมราโชวาท จดหมายเหตุเสด็จประพาส และพระราชนิพนธ์เป็นอย่างถ้อยคำของผู้อื่น  ในด้านร้อยกรองนั้น ทรงพระราชนิพนธ์ได้แทบทุกอย่างทุกชนิด ได้อย่างยอดเยี่ยม จนถึงกับยกย่องกันว่า ทรงบริบูรณ์ด้วยลักษณะของกวีตามคติ ของพระพุทธศาสนาสี่ประการ
                    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓           ๙/ ๕๒๘๙
            ๑๔๕๗. จุลชีพ  หมายถึง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก ที่ไม่สามารถเห็นด้วยตาเปล่าได้ ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ดูจึงเห็นได้ ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ นักชีววิทยาชาวเยอรมันชื่อ เฮกเกล ได้คิดตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ว่า โปรติสตา อันเหมายถึง สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่มีเนื้อเยื่อคือ ไม่มีเซลชนิดต่าง ๆ สำหรับแบ่งหน้าที่การทำงาน ในการดำรงชีพ ได้แก่ พวกที่มีเซลล์เดียวเป็นส่วนมาก แต่พวกที่มีหลายเซลล์  แต่ว่าไม่มีเนื้อเยื่อ เช่น สาหร่ายทะเล เป็นต้น ก็นับว่าเป็นพวกโปรติสตา เหมือนกัน
                    ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งพวกโปรติสตา ออกเป็นหลายกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า ไฟลัม  มีอยู่ ๑๒ ไฟลัม ด้วยกัน          ๙/ ๕๓๐๖
            ๑๔๕๘. จุลพน  คำว่า จุลพน แปลว่า ป่าน้อย  คำว่าจุลพนในที่นี้เป็นชื่อกัณฑ์หนึ่งในเรื่องมหาชาติ หรือเวสสันดรชาดก นับเป็นกัณฑ์ที่หกของเรื่อง พรรณนาข้อความตั้งแต่พรานเจตบุตรเชื่อว่า ชูชกเป็นราชทูตมาจากราชสำนักพระเจ้ากรุงสัญชัย แล้วจัดการต้อนรับด้วยดี แล้วแนะนำทางที่จะไปยังเขาวงกต           ๙/ ๕๓๑๕
            ๑๔๕๙. จุลยุทธการวงศ์  เป็นหนังสือพงศาวดารไทยคู่กับมหายุทธการวงศ์ เชื่อกันว่าสมเด็จพระวันรัตวัดพระเชตุพน องค์ที่เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นผู้แต่ง มีทั้งฉบับภาษาบาลี และฉบับภาษาไทย
                    ฉบับที่เป็นภาษาบาลีเป็นเรื่องพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เริ่มแต่เรื่องสกุลวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองเป็นต้นมา ความมาสุดลงเพียงรัชกาลสมเด็จพระอินทราชาธิราช
                    ส่วนฉบับภาษาไทยกล่าวมูลประวัติในการสมภพของพระร่วงเจ้า ผู้กู้อิสรภาพของไทยจากขอม แต่ก็ไม่จบ พอถึงตอนพระเจ้าอู่ทองครองกรุงศรีอยุธยา ก็หมดต้นฉบับ ข้อความในจุลยุทธการวงศ์ได้ลงท้ายไว้ว่า จ.ศ.๗๑๒ (พ.ศ.๑๘๙๑) ปีขาล โทศก ทรงสร้างพระนครเสร็จให้นามว่า กรุงเทพมหานคร ตามนามพระนครเดิม  ให้นามว่าทวาราวดี เหตุมีคงคาล้อมดุจนามเมืองทวาราวดี  ให้นามศรีอยุธยา เหตุเป็นที่อยู่แห่งชนชราทั้งสองคือยายศรีและตาอุทยาเป็นสามีภรรยาอาศัยอยู่ในที่นั้น  นาม ๑ และนามทั้งสามประกอบกันเรียกว่า กรุงเทพมหานครทวาราวดีศรีอยุธยา
                    ในครั้งนั้น เมืองประเทศราชขึ้น ๑๖ หัวเมืองคือเมืองมะละกา เมืองชวา เมืองตะนาวสี เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองจันทบูรณ์ เมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์
                    จุลศักราช ๗๓๑ (พ.ศ.๑๙๑๒) ปีระกา เอกศก สมเด็จพระรามาธิบดีสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๒๐ ปี           ๙/ ๕๓๑๗
            ๑๔๖๐. จุลวงศ์  เป็นหนังสือพงศาวดารลังกาที่แต่งต่อจากหนังสือมหาวงศ์ มีผู้แต่งหลายคนด้วยกันถือกันว่า เป็นพงศาวดารที่เก่าแก่ที่สุดเรื่องหนึ่งคู่กับมหาวงศ์
                    พระมหานามเถระได้ชี้แจงเหตุที่แต่งหนังสือมหาวงศ์และจุลวงศ์ตอนต้นไว้ว่า เดิมเรื่องพงศาวดารลังกามีอยู่เป็นภาษาสิงหลหลายเรื่อง ท่านได้รวบรวมแต่งเป็นภาษาบาลี ความมุ่งหมายเพื่อเรียบเรียงตำนานพระพุทธศาสนาในลังกาเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งเรื่องพงศาวดารบ้านเมือง และเรื่องประวัติพระพุทธศาสนาประกอบกัน           ๙/ ๕๓๒๙
            ๑๔๖๑. จุลวรรค  เป็นชื่อวรรคหนึ่งในห้าวรรคของคัมภีร์พระวินัยปิฎกอันได้แก่ อาทิกรรม ปาจิตตียภัณฑ์มหาวรรค จุลวรรค ปริวารวรรค ใช้อักษรย่อว่า อา.ปา.น.จุ.ป. เรียกกันว่า หัวใจพระวินัยปิฎก
                    คัมภีร์จุลวรรคแบ่งออกเป็น ๑๒ ขันธกะ           ๙/ ๕๓๓๐
            ๑๔๖๒. จุลศักราช  แปลว่า ศักราชน้อย  ในวงการศึกษาเชื่อกันว่าสังฆราชบุพพะโสระหัน ซึ่งลาสิกขาออกมาแล้วชิงราชสมบัติในประเทศพม่า ตั้งขึ้นเมื่อปีกุน พ.ศ.๑๑๘๒ (ค.ศ.๖๓๙, ม.ศ.๕๖๑)
                    ศก  คำว่า ศก หมายความว่า จำนวนปีจุลศักราชตั้งแต่ ๑ - ๑๐ ซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันคือ
                            ถ้าตัวเลขสุดท้ายของจุลศักราช  เป็น ๑, ๑๑, ๒๑ เรียกว่า เอกศก  เป็น ๒, ๑๒, ๒๒ เรียกว่า โทศก  เป็น ๓, ๑๓, ๒๓ เรียกว่า ตรีศก  เป็น ๔, ๑๔, ๒๔ เรียกว่า จัตวาศก  เป็น ๕, ๑๕, ๒๕ เรียกว่า เบญจศก  เป็น ๖, ๑๖, ๒๖ เรียกว่า ฉศก  เป็น ๗, ๑๗, ๒๗ เรียกว่า อัฐศก  เป็น ๙, ๑๙, ๒๙ เรียกว่า นพศก  เป็น ๑๐, ๒๐ , ๓๐ เรียกว่า สัมฤทธิ์ศก           ๙/ ๕๓๓๑
            ๑๔๖๓. จุลินทรีย์  เป็นสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งมีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ส่องขยาย จุลินทรีย์ประกอบด้วยเซลล์เดียว แต่มีรูปร่างแตกต่างกันไป อาศัยอยู่ในที่ต่าง ๆ แม้ในร่างกายของสิ่งมีชีวิต สามารถก่อให้เกิดการบูดเน่าและผุเปื่อย พวกที่ให้โทษเรียกว่า เชื้อโรค
           ๑๔๖๔. จุฬา  เป็นชื่อว่าวชนิดหนึ่งมีรูปร่างห้าแฉก หัวแหลมเป็นรูปกรวย โครงร่างประกอบด้วยไม้ห้าอันเรียกไม้อกหนึ่งอัน ไม้ปีกสองอัน และไม้ขากบสองอัน  ผู้สนใจอาจศึกษารายละเอียดได้จากหนังสือตำนานว่าวพนันตำราผูกว่าว วิธีชักว่าว พ.ศ.๒๔๖๔ เรียบเรียงโดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด  เศรษฐบุตร)
                    เนื่องจากชาวไทยนิยมเล่นว่าวกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบัน การสร้างร่างและวิธีเล่นว่าวได้วิวัฒนาการไปตามกาลสมัย           ๙/ ๕๓๔๔
            ๑๔๖๕. จุฬามณี ๑ - เจดีย์  เป็นพระธาตุเจดีย์องค์หนึ่งตั้งอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หน้าเวชยันต์พิมาน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของนครไตรตรึงษ์ เป็นที่บูชาสักการะของท้าวสักกเทวราช และเทวดาทั้งหลาย           ๙/ ๕๓๔๗
            ๑๔๖๖. จุฬามณี ๒ - วัด  เป็นวัดโบราณที่มีชื่อ และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเชื่อกันว่าที่ตั้งของวัดนี้เดิมเป็นที่ตั้งเมืองสองแควเก่ามาก่อน  ต่อมาจึงได้ย้ายไปตั้งที่เมืองพิษณุโลกปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๘ เมืองสองแควเพิ่งมาเปลี่ยนเป็นเมืองพิษณุโลกในรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถ
                    เหตุที่ทำให้วัดนี้สำคัญก็เพราะสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงผนวช และประทับอยู่วัดนี้ถึงแปดเดือนเศษ ตามการสันนิษฐานจากโบราณวัตถุ เช่น พระปรางค์ เป็นต้น ประมาณได้ว่าวัดนี้ควรสร้างเมื่อปี พ.ศ.๑๗๐๐ - ๑๘๐๐ สมัยขอมยังปกครอง           ๙/ ๕๓๕๒
            ๑๔๖๗. จุฬามณี ๓ - วัด  เป็นวัดราษฎร์โบราณวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือปากคลองบ้านกุ่ม ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
                    วัดนี้มีชื่ออยู่ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๓ เรื่องกรุงเก่า แต่ไม่มีประวัติของวัด สันนิษฐานกันว่า ชาวบ้านร่วมกันสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช           ๙/ ๕๓๔๓
            ๑๔๖๘. จุฬาราชมนตรี - ตำแหน่ง  ตำแหน่งนี้เท่ากับเป็นประธาน หรือเป็นหัวหน้าในกิจการศานาอิสลามแห่งประเทศไทย ตาม พ.ร.ฎ.สองฉบับคือ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยศาสนูปถัมภ์แห่งศาสนาอิสลาม พ.ศ.๒๔๘๘ กำหนดไว้ให้จุฬาราชมนตรี มีหน้าที่ปฏิบัติราชการส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ ในเรื่องที่จะทรงอุปถัมภ์ศาสนาอิสลาม และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๑ ที่กำหนดใหม่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาแก่กรมศาสนา ในกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวแก่การศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม และนอกจากหน้าที่ตาม พ.ร.ฎ.ดังกล่าวแล้ว จุฬาราชมนตรียังเป็นประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และถอดถอน ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถวายคำแนะนำ
                    จุฬาราชมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีอำนาจและหน้าที่ดังนี้
                    ๑. ให้คำปรึกษา หารือ แก่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม
                    ๒. เป็นผู้กำหนดระเบียบการแต่งตั้ง ถอดถอน และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวแก่ศาสนกิจของสุเหร่า ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย
                    ๓. ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในจังหวัดที่ไม่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด
                    ๔. เป็นผู้สั่งให้เลิกมัสยิด
                    ๕. วินิจฉัยและมีคำสั่ง กรณีกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ถูกลงโทษจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม
                    จุฬาราชมนตรี เดิมเป็นราชทินนามหรือนามบรรดาศักดิ์ชั้นสัญญาบัตร ดำรงตำแหน่งเข้ารับราชการ ตำแหน่งนี้เท่าที่ปรากฎตามพระราชพงศาวดาร ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งพระราชทานแก่ข้าราชการในกรมท่าขวา สังกัดอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศสมัยก่อน
                    ตำแหน่งนี้สันนิษฐานว่า พระเจ้าแผ่นดินคงจะพระราชทานแก่ผู้ที่เป็นแขก หรือมีเชื้อสาย หรือทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับทางราชการกับแขกเท่านั้น           ๙/ ๘๓๖๓
            ๑๔๖๙. จุฬาลงกรณ์ ๑ - สมเด็จเจ้าฟ้าชาย  เป็นพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ           ๙/ ๕๓๗๑
            ๑๔๗๐. จุฬาลงกรณ์ ๒ - มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นสถานศึกษาและการวิจัย โดยมุ่งหมายจะส่งเสริมวิชาการชั้นสูง วิชาชีพชั้นสูงและทนุบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ
                    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โดยประกาศประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโอนไปขึ้นอยู่ในกระทรวงธรรมการ           ๙/ ๕๓๗๑
            ๑๔๗๑. จุฬาลงกรณ์ ๓ - โรงพยาบาล  เป็นโรงพยาบาลของสภากาชาดไทย สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ เปิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗           ๙/ ๕๓๘๐
            ๑๔๗๒. จุฬาลัมผา หรือโกฐจุฬาลัมผา เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ใช้เป็นตัวยาผสมอยู่ในตำรับยาแผนโบราณ เป็นสมุนไพรตากแห้ง มีกลิ่นของยาเขียว ได้มาจากทุกส่วนของต้นไม้เล็ก ๆ ประเภทล้มลุก          ๙/ ๕๓๘๓
            ๑๔๗๓. จูกัดเหลียง   ดูขงเบ้ง (ลำดับที่ ๖๘๔)           ๙/ ๕๓๘๔
            ๑๔๗๔. จูงนางเข้าห้อง  เป็นชื่อการเล่นชนิดหนึ่ง อุปกรณ์ในการเล่นมีกระดาน หรือกระดานเขียนตารางเป็นก้นหอย แบ่งออกเป็นช่องเล็ก ๆ ประมาณ ๒๐ - ๓๐ ช่อง ในช่องสุดที่เป็นศูนย์กลางมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดวางเอาไว้ สมมติเป็นนาง อุปกรณ์ต่อไปเป็นเบี้ยหอยห้าเบี้ยหรือลูกเต๋าหนึ่งลูก สำหรับทอด มีตัวหมากรุกหรือสิ่งอย่างอื่น ชิ้นเล็ก ๆ สีแตกต่างกัน สำหรับผู้เล่น
                    วิธีเล่น เริ่มด้วยผู้เล่นคนหนึ่งในจำนวนผู้เล่นสองหรือสามคน ทอดเบี้ยหรือลูกเต๋า เมื่อได้กี่แต้มแล้วก็นำสิ่งประจำตัวผู้เล่นนั้นเวียนไปตามตาราง จากปลายนอกสุดเข้าไปเท่านั้น ตารางตามจำนวนแต้มที่ทอดได้ แล้วเวียนคนต่อไปจนครบตัวผู้เล่นเป็นรอบ ผู้ใดสามารถเดินสิ่งประจำตัวเข้าไปถึงวงในที่สุดก่อน ให้นำ "นาง" คือของที่วางอยู่ในตารางในสุดเดินคู่ออกมาด้วยวิธีทอดเบี้ย หรือลูกเต๋าเช่นเดียวกัน ในระหว่างทางถ้าผู้เล่นคนหลัง นำตัวหมากประจำตัวนี้มาหยุดในตารางเดียวกับคนก่อน ให้ถือว่าคนก่อนถูกไล่ออกไป คนใหม่เข้ามาแทน ถ้ามีนางอยู่ด้วยคนใหม่ก็ได้จูงนางต่อไป ผู้จูงนางออกได้ก่อนเป็นผู้ชนะ           ๙/ ๕๓๘๔
            ๑๔๗๕. จูล เจนส์ เปรสคอตต์  เป็นนักฟิสิคส์ ชาวอังกฤษ ผู้ตั้งหลักการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพลังงานในแบบต่างๆ คือ กฎแรก ๆ เกี่ยวกับเธอร์โมไดนามิก จึงได้ตั้งเอาชื่อของท่านมาตั้งชื่อให้แก่หน่วยพลังงานว่า "จูล"
                   จูล เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๒๖๑ ที่เมืองแลงกาเชียร ประเทศอังกฤษ ท่านได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางด้านปริมาณแห่งผลทางด้านไฟฟ้า กลศาสตร์ และเคมี จึงช่วยนำท่านไปสู่การาค้นพบที่สำคัญยิ่ง           ๙/ ๕๓๘๕
            ๑๔๗๖. จูล่ง  เป็นฉายานาม เป็นชาวเมืองเสี่ยซัว ปัจจุบันคือ เมืองฮู่เปย เดิมเป็นทหารของกองซุนจ้าน เป็นผู้มีฝีมือดี รูปร่างสง่า เมื่อมาสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่ จึงทำให้เล่าปี่รักใคร่ชอบพอมาก จูล่งเป็นหนึ่งในห้าทหารเสือเล่าปี่ เป็นคนกล้าและซื่อสัตย์ต่อเจ้านาย เป็นที่ไว้วางใจของเล่าปี่ ตั้งแต่ออกรบยังไม่เคยแพ้ศัตรู จึงได้รับสมญานามว่าฮกเจี่ยง แปลว่าขุนพลผู้มีบุญญานุภาพ           ๙/ ๕๓๘๖
            ๑๔๗๗. จูฬธนุคหบัณฑิต - ชาดก  มีมาในชาดกขุททกนิกาย อรรถกถาชาดก  ปัญจกนิบาต และในธัมมปทัฏกถา พระพุทธเจ้าตรัสแสดงเรื่องนี้แก่พวกภิกษุ โดยทรงปรารภ ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งซึ่งมีใจวิตกถึงหญิงสาวผู้เคยเป็นภรรยาเก่า เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน แล้วทรงแสดงธรรมภาษิตไว้เป็นข้อกำหนดว่า "ตัณหาย่อมพอกพูนยิ่งขึ้นแก่ชนผู้ถูกวิตกย่ำยี มีราคะจัด ฝักใฝ่เห็นแต่อารมณ์ว่างาม บุคคลนั้นทำเครื่องผูกตนให้มั่น ส่วนภิกษุใดยินดีแต่ธรรมที่จะระงับวิตก เจริญอสุภฌานอยู่มีสติทุกเมื่อ ภิกษุนั้นจักทำตัณหาให้สูญสิ้นได้ จะตัดเครื่องผูกแห่งมารได้"
                   ภิกษุหนุ่มรูปนั้น ฟังพระพุทธโอวาทแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล           ๙/ ๕๓๘๘
            ๑๔๗๘. จูฬปันถก - พระเถระ  เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่งนับเนื่องในอสีติมหาสาวก เมื่อเป็นคฤหัสถ์ท่านอยู่ในเมืองราชคฤห์ ท่านมีพี่ร่วมท้องกับท่านชื่อ มหาปันถกคือ พระมหาปันถก พระพุทธสาวก พระมหาปันถกได้บวชเณรก่อนจนอายุครบก็ได้อุปสมบท แล้วได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา จึงต้องการให้น้องชายบวชด้วย จูฬปันถกได้บวชเป็นเณร พระเถระผู้พี่ก็ให้สามเณรน้องชายศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ จนต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วกลายเป็นคนเขลาไป พระมหาปันถกผูกคาถาบทหนึ่งให้ท่องบ่นเพียงคาถาเดียว แต่พระจูฬปันถก ท่องบ่นอยู่สี่เดือนก็ยังไม่ได้ พระมหาเถระผู้เป็นพี่ชายเห็นดังนั้นก็บอกว่าให้สึกไปช่วยโยมตาทำงานดีกว่า แล้วตัดพระจูฬปันถกออกจากบัญชีวัด ดังนั้นเมื่อหมอชีวกขอให้เผดียงสงฆ์ ๕๐๐ รูป ไปรับบิณฑบาตที่บ้านตน จึงไม่มีพระจูฬปันถกรวมอยู่ด้วย
                   พระจูฬปันถก ทราบเรื่องก็เสียใจ คิดจะสึกก็ออกจากวัดไป พระพุทธเจ้าทรงแผ่ข่ายพระญาณยามเช้าทราบเรื่อง จึงเสด็จไปดัก ไปดักทางอยู่ แล้วประทานผ้าขาวผืนหนึ่ง รับสั่งแนะนำว่า เธอจงลูบผ้าขาวผืนนี้ แล้วบริกรรมว่า รโชหรณํ ซ้ำกันไปหลายๆ ครั้ง             ๙/ ๕๓๙๓
            ๑๔๗๙. จูฬสุภัททา - นาง เป็นสะใภ้ของอุคเศรษฐี ชาวอุคนคร เป็นธิดาของอนาถบิณฑิกเศรษฐี แห่งนครสาวัตถี ในสมัยพุทธกาล อยู่มาวันหนึ่งพ่อผัวถือว่า เป็นวันมงคลจะทำการสักการะพวกชีเปลือย จึงส่งข่าวให้นางจุฬสุภัททามาไหว้ พวกชีเปลือย แต่นางรู้สึกละอายใจจึงไม่ปรารถนาไปตามที่พ่อผัวประสงค์  ภริยาอุคเศรษฐีแม่ผัวของนางคิดว่า พวกสมณะของลูกสะใภ้นี้เป็นอย่างไร จึงเรียกนางมาถาม นางจึงประกาศเกียรติคุณของพระพุทธเจ้า และพระสาวกให้แม่ผัวทราบ แม่ผัวได้ฟังแล้วรู้สึกมีความยินดี จึงกล่าวกับนางว่า นางสามารถจะแสดงพวกสมณะดังกล่าว ให้ตนเห็นได้หรือไม่ นางก็รับคำแล้วจึงเตรียมมหาทาน เพื่อถวายแด่พระพุทธเจ้า พร้อมพระพุทธสาวกเสร็จแล้ว ได้กล่าวคำอัญเชิญพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขฉันภัตตาหารเช้า ในวันพรุ่งนี้ ด้วยสัญญาณของข้าพระเจ้านี้ ขอพระพุทธองค์จงทรงทราบว่า ข้าพเจ้านิมนต์พระองค์แล้ว เมื่อกล่าวจบจึงซัดดอกมะลิแปดกำไปในอากาศ ดอกไม้เหล่านั้นลอยไปเป็นเพดาน อันสำเร็จด้วยดอกไม้ อยู่เบื้องบนพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงธรรมอยู่ ขณะนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังธรรมแล้วได้นิมนต์ พระพุทธเจ้าฉันภัตตาหารเช้าในวันพรุ่งนี้เช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกอนาถบิณฑกเศรษฐีว่า ได้รับนิมนต์ไว้ก่อนแล้ว ตรัสว่า นางจูฬสุภัททาได้นิมนต์ไว้แล้ว อนาถบิณฑกเศรษฐีกราบทูลว่า นางอยู่ไกลจากที่นี้ถึง ๑๒๐ โยชน์ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ถูกแล้ว แต่นางเป็นสัตบุรุษ (ผู้มีบุญอันได้ทำไว้)  แม้จะอยู่ในที่ไกลก็ปรากฎเหมือนอยู่เฉพาะหน้า ด้วยว่า "สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมปรากฎในที่ไกล เหมือนภูเขาหิมพานต์ ส่วนอสัตบุรุษย่อมไม่ปรากฎในที่นี้ เหมือนลูกศรที่ซัดไปในราตรี ฉะนั้น"            ๙/ ๕๔๐๓
            ๑๔๘๐. จูเฬกสาฎก  เป็นชื่อพราหมณ์คนหนึ่ง ในสมัยพุทธกาล เป็นชาวนครสาวัตถี ที่มีชื่อเรียกเช่นนี้ เพราะพราหมณ์และนางพราหมณ์มีผ้าสาฎก สำหรับห่มผืนเดียวกัน และได้นำผ้าสาฎกผืนนั้นไปถวายพระพุทธเจ้า แล้วได้อานิสงส์ทันตาเห็น โดยพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าสาฎกถึง ๓๒ คู่ และสิ่งอื่น ๆ ให้อีกมา พราหมณ์ได้ไว้ถวายผ้าสาฎกแด่พระพุทธเจ้าถึงเจ็ดครั้ง เมื่อพวกภิกษุนำเรื่องนี้มาสนทนากัน จึงตรัสว่า ถ้าพราหมณ์จูเฬกสาฎกได้ถวายแก่เราในปฐมยาม เธอจะได้สรรพวัตถุอย่างละ ๑๖ ถ้าได้ถวายเรามัชฌิมยาม เธอจะได้สรรพวัตถุอย่างละ ๘ แต่เพราะเธอถวายแก่เราในเวลาจวนใกล้รุ่ง เธอจึงได้สรรพวัตถุอย่างละ ๔ เท่านั้น ความจริงกรรมดี บุคคลเมื่อจะกระทำอย่าทำให้จิตคิดจะทำซึ่งเกิดขึ้นเสื่อมเสีย ควรทำในทันทีทีเดียว เพราะว่ากุศลที่บุคคลทำช้า  เมื่อให้สมบัติ ย่อมให้ช้าเหมือนกัน เพราะฉะนั้น  บุคคลควรทำกรรมดีในลำดับจิตทุปบาททีเดียว  แล้วทรงแสดงธรรมภาษิต เป็นข้อกำหนดว่า
                        "บุคคลควรรีบขวนขวายในความดี ควรห้ามจิตเสียจากความชั่ว เพราะเมื่อเราทำความดีช้า ๆ อยู่ใจจะยินดีในความชั่ว"            ๙/ ๕๔๐๘
            ๑๔๘๑. จูฮองบู๊  เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิง เกิดเมื่อปี พ.ศ.๑๘๗๑ ในสกุลสามัญชน ในเมืองเหาโจว (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลอันฮุย)  เดิมแซ่จู ชื่อหยวนจัง เมื่ออายุ ๑๗ ปี ได้ไปขอบรรพชาเป็นสามเณร ในวัดหวังเจี้ยง ใกล้บ้านเกิดของตน
                    ในนั้น ราชวงศ์ชาวมองโกล ที่ปกครองประเทศจีนในนามราชวงศ์หงวน (หยวน)  กำลังตกต่ำ มีชาวจีนตั้งตัวเป็นขบถมากมาย เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี หยวนจัว ได้ลาสิกขาแล้วไปสมัครเป็นทหารในกองทัพของขุนศึกชื่อ กวอจื่อซิง ซึ่งตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองเหาโจว นั้นเอง เมื่อเขาคุมทหารไปรบครั้งใด ก็ไม่เคยแพ้กลับมาเลย จึงเป็นที่รักใคร่โปรดปรานของกวอจื่อซิงมาก ถึงกับยกบุตรีบุญธรรมให้เป็นภรรยา
                    เมื่อกวอจื่อซิง สิ้นชีพแล้ว หยวนจังก็ได้ตั้งตนเเป็นขุนศึกบ้าง ที่เมืองฉูโจว (ปัจจุบันเป็นอำเภอฉวนเจียว และไหลอัน ในมณฑลอันฮุย)  แล้วเริ่มแผ่อำนาจออกไปตีได้จังหวัดต่าง ๆ เช่น ไท่ผิง (ปัจจุบันเป็นอำเภอในมณฑลอันฮุย)  หนิงกว่อ (ปัจจุบันเป็นอำเภอในมณฑลอันฮุย)  และจี้ชิ่ง (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจียงซ)  หยวนจึงสถาปนาตนเองเป็น หวู่กว๋อกุง และหวูหวางตามลำดับ
                    ต่อมา หยวนจึง มีบัญชาให้แม่ทัพยกพลสองแสนห้าหมื่นคน ขึ้นไปตีกรุงยันจิง (ปักกิ่ง)  สามารถไล่พวกมองโกลออกจากประเทศจีนเป็นผลสำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๑ หยวนจังได้สถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นคือ ราชวงศ์หมิง ตั้งราชธานีที่เมืองยิ่งเทียน (นานกิง)  มีนามรัชกาลว่า หุงหวู่ (ฮองบู๊)  พระองค์สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๑ เมื่อสวรรคตแล้วได้รับการถวายพระนามว่า ไท่จู่            ๙/ ๕๔๑๑
            ๑๔๘๒. เจ่ง - พระยา  เป็นเจ้าเมืองเตริน (อัตวัน) เกิดในเมืองมอญ ทำราชการอยู่กับพม่า ได้เคยคุมกองมอญสมทบพม่า เข้ามาเมืองไทยครั้งหนึ่ง เมื่อพม่าตีเมืองหลวงพระบาง ในปี พ.ศ.๒๓๑๕ ในครั้งนั้นพม่าได้พระยาเจ่ง รักษาเมืองเชียงแสน ได้เจ้าชาวเมืองเชียงแสนเป็นภริยา เกิดบุตรเป็นต้นตระกูลคชเสนีสายเหนือ เสร็จศึกครั้งนั้นแล้ว พม่าให้เป็นเจ้าเมืองเตริน
                    หลังกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ไม่นาน พระยาตาก ก็สามารถกอบกู้เอกราชได้ พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่าจึงให้ แพกิจจา คุมกำลังและถือหนังสือรับสั่งลงมาถึงปะกันหวุ่น เจ้าเมืองเมาะตะมะ ตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ เป็นแม่ทัพยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ปะกันหวุ่นให้เกณฑ์พลรามัญเมืองเมาตะมะ เข้ากองทัพแล้วให้เกณฑ์พระยาเจ่ง เจ้าเมืองเตริน และเพื่อนอีกหลายคน เป็นกองหน้า พระยาเจ่งและพวกชวนกันคิดขบถ ฆ่าแพกิจจาและไพร่พลพม่าเสียสิ้นที่ท่าดินแดง แล้วยกทัพกลับไปเมืองเมาะตะมะ  บรรดารามัญไพร่นายก็มาเข้ากับพระยาเจ่ง เป็นอันมาก  แล้วเข้าปล้นเมืองเมาะตะมะได้
                    พระยาเจ่ง และพรรคพวก เห็นที่จะชิงเอาเมืองมอญทั้งปวงได้ จึงยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองสะโตง เมืองหงสาวดี แล้วยกเข้าตีเมืองย่างกุ้ง แต่ตีหักไปได้ครึ่งเดียว พระเจ้าอังวะก็ให้อะแซหวุ่นกี้ ยกทัพมารบมอญ กองทัพมอญสู้ไม่ได้ก็ถอยกลับมาเมืองเมาะตะมะ อะแซหวุ่นกี้ก็ยกทัพติดตามมา พวกมอญเห็นเหลือกำลัง จึงกวาดต้อนครัวมอญหนีมาพึ่งไทย มีจำนวนประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน โดยเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์บ้าง เมืองตากบ้าง และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากเกร็ด แขวงเมืองนนท์ ขึ้นไปจนถึงเมืองสามโคก จึงทรงตั้งพระยาบำเรอภักดิ์ครั้งกรุงเก่าซึ่งเป็นเชื้อมอญให้เป็นพระยารามัญวงศ์ มียศเสมอจตุสดมภ์ เรียกกันว่า จักรีมอญ เป็นหัวหน้าควบคุมกองมอญทั่วไป ส่วนพระยาเจ่ง เข้าใจว่าได้เป็นพระยามหาโยธา ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงได้เป็นเจ้าพระยามหาโยธา ฯ ที่จักรีมอญแทนพระยารามัญวงศ์
                    ตั้งแต่พวกมอญเข้าสวามิภักดิ์ครั้งนั้นแล้ว ต่อมาเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปทำสงครามกับพม่าครั้งใด ก็ปรากฏว่ามีทหารกองมอญพระยารามัญวงศ์ ควบคุมเข้าขบวนทัพไปด้วยทุกครั้ง
                    ในคราวที่พระเจ้าปดุงยกทัพเก้าทัพมาตีเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๘ ฝ่ายไทยยกไปตั้งรับที่ทุ่งลาดหญ้า (เชิงเขาบรรทัด)  เมืองกาญจนบุรี  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงจัดให้พระยามหาโยธา (เจ่ง) คุมกองมอญจำนวน ๓,๐๐๐ ยกไปขัดตาทัพอยู่ที่ด่านกรามช้าง อันเป็นช่องเขาริมลำน้ำแควใหญ่ ในทางที่ข้าศึกจะยกมา กองมอญมีจำนวนน้อยกว่าต้องล่าถอย
                    นับแต่พระยาเจ่งได้เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อไทยแล้วก็ได้รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมา และได้เข้าร่วมในราชการสงครามหลายครั้งหลายหน  ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้พระราชทานนามสกุลแก่ผู้สืบสกุลตรงลงมาจากเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ว่าคชเสนี
            ๑๔๘๓. เจ้ง  เป็นเครื่องดนตรีจีนชนิดหนึ่ง มีสายสำหรับดีดคล้ายจะเข้ เจ้งเป็นเครื่องดนตรีประเภทสายมี ๑๓ สาย  เริ่มมีในสมัยราชวงศ์จิ๋น  เจ้งในสมัยโบราณมี ๕ สาย ตัวเครื่องทำด้วยไม้ไผ่           ๙/ ๕๔๒๓
            ๑๔๘๔. เจงตู  เป็นเมืองหลวงของจีนภาคตะวันตก เป็นศูนย์กลางการปกครองของมณฑลเสฉวน ตั้งอยู่ทางมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลุ่มแม่น้ำแดง แห่งมณฑลเสฉวน
                    หลังปี พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากของจีนได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองนี้            ๙/ ๕๔๒๖
            ๑๔๘๕. เจ็ดตำนาน หมายถึงชื่อบทสวดมนต์คัมภีร์หนึ่งที่เรียกว่า เจ็ดตำนานน่าจะเป็นเพราะบทสวดมนต์นี้ มีพระสูตรที่เป็นหลักสำคัญของเรื่องรวมเจ็ดสูตรด้วยกัน ในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงที่ใช้เป็นแบบอยู่ทุกวันนี้เรียกว่า จุลราชปริต  มีพระสูตรที่ยกเป็นหลักเจ็ดสูตรด้วยกันคือ มงคลสูตร รัตนสูตร กรณียเมตสูตร อหิราชกสูตร หรือขันธปริต ธชัคสูตร หรือธชัคปริต อาฏานาฏิยปริต และองคุลิมาลสูตร หรือโพชฌงคปริต
                    บทนอกที่มีมาข้างต้น หรือที่ต่อท้ายเป็นบทประกอบ เจ็ดตำนานนิยมสวดในงานมงคลทั่วไป            ๙/ ๕๔๒๗
            ๑๔๘๖. เจดีย์ ๑  กล่าวโดยทั่วไปตามความเข้าใจเป็นสามัญหมายถึงสิ่งที่ก่อด้วยอิฐถือปูน รูปคล้ายจอมฟางมียอดแหลม บรรจุพระธาตุและอัฐิ และสิ่งอื่น ๆ ของพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์ เรียกซ้อนว่าอัฐิธาตุ ก็มีอัฐิของพระพุทธเจ้านั้นเรียกกันสามอย่างคือ พระมหาธาตุ พระบรมธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุ  นอกจากนั้นยังมีส่วนที่เป็นพิเศษของพระพุทธเจ้า ที่เรียกโดยมีคำว่าธาตุต่อท้ายอีก เช่น พระเกศธาตุ พระทันตธาตุ เป็นต้น
                    พระเจดีย์ที่บรรจุพระมหาธาตุเรียกกันว่า พระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งมักเป็นพระเจดีย์ใหญ่เป็นประธานของพระเจดีย์ที่อยู่ด้วยกัน และวัดที่มีเจดีย์แบบนี้เรียกกันว่า วัดพระธาตุ  ส่วนพระเจดีย์ที่บรรจุอัฐิคนธรรมดาเรียกกันว่า เจดีย์เฉย ๆ
                    เจดีย์ที่มียอดแบบปรางค์เรียกกันว่า พระปรางค์
                    โดยทั่วไป เจดีย์ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างขึ้นมาเพื่อบรรจุอัฐิเท่านั้น แม้บรรจุสิ่งอื่นก็เรียกว่าเจดีย์ได้เหมือนกัน เช่น พุทธเจดีย์ท่านแบ่งไว้เป็นสี่อย่างคือ
                            ๑. ธาตุเจดีย์  หมายถึง สิ่งก่อสร้างที่บรรจุพระธาตุไว้ จะมียอดแหลมหรือไม่ ไม่ได้กำหนด แม้ธาตุพระอรหันต์ก็เรียกธาตุเจดีย์
                            ๒. บริโภคเจดีย์  หมายเอาเจดีย์ที่บรรจุของใช้อันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า มีบาตร จีวร เป็นต้น และหมายความรวมไปถึงสังเวชนียสถานที่ตำบลด้วย
                            ๓. ธรรมเจดีย์  หมายเอาเจดีย์ที่บรรจุ หรือจารึกพระธรรมของพระพุทธเจ้า
                            ๔. อุเทสิกเจดีย์  หมายเอาเจดีย์ที่เป็นที่บรรจุพระพุทธรูป หรือองค์พระพุทธรูปเอง ตลอดไปถึงรอยพระพุทธบาท
                        โครงสร้างของเจดีย์  ที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดมีอายุมากกว่า ๑,๘๐๐ ปี คือพระสถูปที่ศานจิ ในประเทศอินเดีย เดิมมีสัณฐานเหมือนโอคว่ำ ต่อมาจึงตบแต่งให้วิจิตรงดงามขึ้นเช่นแต่งกองดินเป็นรูปทรง ทำเขื่อนให้เป็นฐานและชั้นทักษิณ ทำรูปบัลลังก์แล้วต่อฉัตรเป็นยอด โครงสร้างส่วนใหญ่ แบ่งออกได้ดังนี้
                            ตอนล่าง  เป็นที่ตั้งของเจดีย์เรียกว่าฐาน จะสร้างให้สูงเป็นกี่ชั้นแล้วแต่เห็นสมควร ถ้ามีหลายชั้น ชั้นล่างสุดต้องเป็นฐานเขียง แล้วเป็นฐานปัทม์และฐานเท้าสิงห์โดยลำดับ ถ้าเป็นเจดีย์รูปกลมฐานก็กลม ซ้อนขึ้นไปหลาย ๆ วง ถ้าฐานตอนใดทำได้กว้างเดินได้รอบก็เรียกว่า ฐานทักษิณ คือใช้เป็นที่ประทักษิณ ฐานเหล่านี้จะย่อมุมไม้แปด ไม้สิบสอง หรือจะไม่ย่อก็แล้วแต่เรื่อง
                            ตอนถัดฐานขึ้นไป  เป็นองค์เจดีย์เรียกว่า องค์ระฆัง หรือลอมฟาง ตอนบนสุดเรียกว่า คอระฆัง องค์ระฆังเป็นรูปกลม หรือเหลี่ยมซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ก็มี จะย่อมุมเป็นไม้อะไรก็ตามที
                            ถัดคอระฆังขึ้นไป  เป็นแท่นสี่เหลี่ยมฐานปัทม์เรียกว่า บัลลังก์ เหนือบัลลังก์ขึ้นไปเป็นรูปคล้ายเสาเตี้ย ๆ เรียงกันเป็นแถว มีอยู่แต่เจดีย์ไทยเท่านั้น ถัดขึ้นไป มีรูปกลม ๆ ป้อม ๆ เรียวขึ้นไปเรียกว่า ปล้องไฉน หมดปล้องไฉนแล้วมีรูปเหมือนปลีกล้วย จึงเรียกตอนนี้ว่า ปลี บางเจดีย์มักมีลวดกลม ๆ คั่นอยู่ระหว่างกลาง แบ่งปลีออกเป็นสองตอน เป็นปลีล่างปลีบน ลวดกลม ๆ นี้เรียกว่า ลูกแก้ว ปลายยอดสุดเป็นตุ่มเรียกว่า หยาดน้ำค้าง
                        ลักษณะเจดีย์แบบต่าง ๆ ในประเทศไทย  ประเทศไทยมีเจดีย์อยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภาคเป็นจำนวนมาก มีทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน ดังนี้
                            แบบอิทธิพลพุกาม  ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือ และภาคพายัพ ลักษณะของเจดีย์ส่วนใหญ่เป็นซุ้มคูหาอย่างวิหารย่อเหลี่ยม ย่อมุมเป็นรูปต่าง ๆ หลังคาเป็นยอดเจดีย์ จะเรียกว่าวิหารยอดเจดีย์ก็เห็นจะได้
                            แบบโคตรบูรหรือขอมเก่า  ส่วนมากอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม ตัวระฆังก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียวขึ้นไปอย่างรูปแจกันบางชนิด
                            แบบศรีวิชัย  ส่วนมากมีทางภาคใต้ โดยสร้างเจดีย์ทำนองเดียวกับแบบพุกาม แต่มีเจดีย์น้อย ตั้งอยู่ตามมุมทั้งสี่ด้านของชั้น ที่ซ้อนพนมกันขึ้นไปอย่างหลังคาปราสาท
                            แบบพุกามและแบบศรีวิชัย  เป็นการผสมสองแบบเข้าด้วยกัน เป็นวิหารยอดเจดีย์
                        จอมเจดีย์  มีอยู่แปดองค์คือ พระปฐมเจดีย์ พระมหาธาตุเมืองละโว้ พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุพนม พระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเชลียง พระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช พระเจดีย์ วัดช้างล้อม อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และพระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล            ๙/ ๕๔๓๗
            ๑๔๘๗. เจดีย์ ๒ - หอย  มีเปลือกม้วนเป็นวงหลายชั้น รูปร่างค่อนข้างยาว ปลายแหลม  คล้ายยอดเจดีย์             ๙/ ๕๔๕๔
            ๑๔๘๘. เจดีย์เจ็ดแถว - วัด  เป็นวัดโบราณอยู่ในกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย ได้หลักฐานว่า เป็นที่ประดิษฐานพระอัฐธาตุ พระราชวงศ์สุโขทัย ตั้งอยู่ติดกับวัดช้างล้อม และวัดสวนแก้วอุทยานใหญ่ มีคูและกำแพงศิลาล้อมรอบ มีวัดภายในกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง ๒ เส้น ๗ วา ยาว ๓ เส้น  ๘ วา ภายในกำแพงแก้วชั้นใน มีพระมหาธาตุเจดีย์ฐาน ๖ วา สี่เหลี่ยมจตุรัส            ๙/ ๕๔๕๔
            ๑๔๘๙. เจดีย์เจ็ดยอด  ตั้งอยู่ที่ ต.ช้างเผือก อ.เมือง ฯ จ.เชียงใหม่ ในวัดโพธารามมหาวิหาร เจดีย์ทั้งเจ็ดองค์นี้ตั้งอยู่บนหลังคาพระวิหารโถง ทั้งพระวิหารและเจดีย์ ส่วนใหญ่สร้างด้วยแลง เกือบทั้งหมด มีอิฐประกอบอยู่บ้างเป็นส่วนน้อย
                    ตามตำนานกล่าวว่า เจดีย์เจ็ดยอดนี้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๘๘๐ (พ.ศ.๒๐๖๑)  โดยที่พระเจ้าติโลกราช ได้โปรดให้สีหอำมาตย์นำคณะช่างเขียน ช่างปั้น ออกไปอินเดียสำรวจแบบพระเจดีย์ และถาวรวัตถุจำลองแบบพระเจดีย์ ที่พุทธยา มาสร้างเจดีย์เจ็ดยอดนี้ขึ้นไว้
                    ลักษณะของเจดีย์เป็นเจดีย์กลุ่ม มีอยู่เจ็ดองค์ หรือเจ็ดยอด มีเจดีย์องค์สูงใหญ่เป็นประธานอยู่กลาง             ๙/ ๕๔๕๘
            ๑๔๙๐. เจดีย์บูชา - คลอง  เป็นชื่อคลองที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ขุดเมื่อครั้งให้ทำการปฎิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ ในปี พ.ศ.๒๓๙๖ แต่งานขุดคลองนี้ยังค้างอยู่ จากหลักฐานพบว่า คลองนี้ขุดเสร็จก่อนปี พ.ศ.๒๔๐๑ เป็นคลองที่ขุดใหม่ อยู่แขวงเมืองนครไชยศรี ปากคลอง อยู่กับท้ายบ้านท่านา ปลายคลองจดพระปฐมเจดีย์ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ ๖๐๐ ชั่งเศษ จ้างจีนขุดคลองนี้ขึ้น            ๙/ ๕๔๖๑
            ๑๔๙๑. เจดีย์สามองค์ - ด่าน  อยู่ในเขต อ.สังขละ จ.กาญจนบุรี ตรงเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าคือ อยู่บนพรมแดนหนึ่งองค์ อยู่ในเขตไทยหนึ่งองค์ และอยู่ในพม่าหนึ่งองค์
                    ในทางประวัติศาสตร์ การสงครามระหว่างไทยกับพม่า ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยา มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองกาญจนบุรี เป็นเมืองหนึ่งที่พม่าต้องผ่านเข้ามา หรือเมื่อกองทัพไทยจะยกออกไปรบพม่า ก็ต้องผ่านเมืองนี้ และต้องใช้ด่านเจดีย์สามองค์ในการผ่านเข้าออก
                    พระเจดีย์สามองค์นั้นเป็นของเก่า เมื่อตรวจพิเคราะห์ตามพงศาวดารเห็นว่า น่าจะสร้างเมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเรียกทางสายนั้นว่า ทางพระเจดีย์สามองค์มาเก่าแก่ รูปพระเจดีย์เป็นพระเจดีย์มอญ อาจเป็นเพราะช่างมอญทำ            ๙/๕๔๖๒
            ๑๔๙๒. เจตพังดี  เป็นต้นไม้พุ่มเล็ก ๆ ใช้รากหรือใช้ทุกส่วนของต้นมาตากแห้ง เป็นสมุนไพร เป็นต้นไม้พื้นเมืองของประเทศไทย
                     เจตพังดี เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่ใช้เป็นตัวยาผสมอยู่ในตำรับยาแผนโบราณ            ๙/ ๕๔๖๙
            ๑๔๙๓. เจตภูติ  ตามสามัญที่เข้าใจกัน เจตภูติคือ วิญญาณที่สิงอยู่ในตัวคน กล่าวกันว่าออกจากร่างได้ ในเวลานอนหลับ
                    เจตภูติ นั้น มีลักษณะอย่างหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับขวัญคือ ไม่มีแต่หนึ่งเท่านั้น ตามคติชาวบ้านว่า เจตภูติมีสี่ด้วยกัน เมื่อคนเจ็บไข้มีอาการหนัก เข้าขั้นตรีทูต บอกลักษณะว่าจะไม่รอด แสดงว่าเจตภูติออกไปจากตัวแล้วสาม ยังเหลืออีกหนึ่งเท่านั้น            ๙/ ๕๔๗๑
            ๑๔๙๔. เจตมูลเพลิง  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใช้รากจากต้นที่มีอายุประมาณสามปีแล้ว มาตากแห้งเป็นสมุนไพร ชนิดดอกมีสีขาว เรียกว่า เจตมูลเพลิงขาว ชนิดดอกสีแดงเรียก เจตมูลแดง            ๙/ ๕๔๗๓
            ๑๔๙๕. เจตสิก  เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งบัญญัติเพื่อแสดงชื่อ ปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ในปรมัตถธรรมสี่อย่างคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
                    เจตสิก คือ สภาวธรรมที่แต่งจิตให้เป็นต่าง ๆ  เจตสิกกำหนดโดยจำนวนมี ๕๒ ดวง            ๙/ ๕๔๗๓
            ๑๔๙๖. เจตี หรือเจตีย์  เป็นชื่อแคว้นใหญ่แคว้นหนึ่งใน ๑๖ แคว้นของอินเดีย ในสมัยพุทธกาล ชาวเจตีมีกล่าวถึงอยู่ในเรื่องเวสสันดรชาดก เมื่อคราวพระเวสสันดรเสด็จไปเขาวงกต ในหิมวัตประเทศ เชิงเขาหิมาลัย ได้เสด็จผ่านแคว้นเจตี
                    แคว้นเจตี นับว่าเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนา ที่สำคัญแห่งหนึ่งแม้ในสมัยพุทธกาล คัมภีร์อังคุตรนิกายได้กล่าวถึง สูตรต่าง ๆ หลายสูตร ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสที่แคว้นนี้ เมืองปาจิมวังสทายะ  ที่พระพุทธองค์ไปเยี่ยมพระอนุรุทธเถระ ที่อยู่ในแคว้นนี้             ๙/ ๕๔๘๑
            ๑๔๙๗. เจนเนอร์ เอ็ดวาร์ด  เป็นแพทย์ชาวอังกฤษ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๒ ที่เมืองเบิร์คลีย ประเทศอังกฤษ เขาเป็นคนแรกที่เริ่มต้นค้นพบวิธีการปลูกฝี เพื่อป้องกันไข้ทรพิษ ทำให้โรคนี้หยุดระบาดลงไปอย่างมาก และได้นำมาใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน เจนเนอร์ถึงแก่กรรม เมื่อมี พ.ศ.๒๓๖๖            ๙/ ๕๔๘๓
            ๑๔๙๘. เจนละ  หนังสือประวัติศาสตร์ราชวงศ์สุย ได้กล่าวไว้ว่า "อาณาจักรเจนละ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหลินอี้ (คือ จัมปา - ดู คำจาม (ลำดับที่ ๑๓๕๙)  ซึ่งเดิมเป็นเมืองขึ้นอาณาจักรฟูนัน ...พระเจ้าจิตรเสนได้โจมตีฟูนัน และปราบฟูนันลงได้"
                    คำว่า เจนละ ได้ปรากฎชื่อในประวัติศาสตร์ครั้งแรก เมื่อคราวที่เจนละส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี กับราชสำนักจีน เมื่อปี พ.ศ.๑๑๕๙ ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระเจ้าอีศานวรมันที่ ๑ กษัตริย์องค์ที่สาม แห่งอาณาจักรเจนละ
                    เจนละ เคยเป็นเมืองขึ้นของฟูนันมาก่อน และต่อมามีอำนาจเหนือดินแดนที่เป็นประเทศกัมพูชา ปัจจุบันแทนฟูนัน อาณาจักรนั้นมีดินแดนแผ่ไปจนถึงกัมพูชาตอนใต้ และแคว้นโคจินจีน เจนละอยู่ทางตอนเหนือของฟูนัน ครอบคลุมอาณาบริเวณตามลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ และตอนกลาง นับตั้งแต่เมืองสตรึง เตรง ขึ้นไปทางเหนือ ศูนย์กลางอาณาจักรเจนละ เดิมอยู่ในบริเวณเมืองจัมปาศักดิ์ ใต้ปากแม่น้ำมูลลงไปเล็กน้อย ครอบคลุมดินแดนที่เป็นภาคเหนือของกัมพูชา และภาคใต้ของประเทศลาวในปัจจุบัน
                            เจนละบก - เจนละน้ำ  หนังสือประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ถัง กล่าวไว้ว่า ภายหลังปี พ.ศ.๑๒๔๙ ไม่นานนักอาณาจักรเจนละก็แบ่งออกเป็นสองอาณาจักรคือ เจนละบกหรือเจนละเหนือ กับเจนละน้ำหรือเจนละใต้ มีอาณาเขตจดทะเล
                            เรื่องของเจนละบกได้มาจากบันทึกของคณะทูตจีน จีนเรียกเจนละบกว่าเหวินตัน และดูเหมือนว่าดินแดนของเจนละบก จะยาวไปทางเหนือ จนจดมณฑลยูนนาน โดยมีพลเมืองที่เป็นพวกข่า และบางทีก็พวกไทยด้วย อยู่ตามชายแดนที่ติดต่อกับอาณาจักรน่านเจ้า ทูตคณะแรกของเจนละบก ได้ไปถึงเมืองจีน เมื่อปี พ.ศ.๑๒๖๐ และ พ.ศ.๑๒๖๑ เจนละบกก็ร่วมมือกับจีนทำสงครามกับเจ้าเมืองเจียวเจา (ตังเกี๋ย) ซึ่งเป็นคนจีน แต่ก็เป็นฝ่ายแพ้ บันทึกสุดท้ายที่เกี่ยวกับราชทูตจากเหวินตันคือ เมื่อปี พ.ศ.๑๓๔๒
                            ส่วนเจนละน้ำนั้น ใน ๕๐ ปีหลังแห่งพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ได้ถูกพวกโจรสลัดมาเลย์จากชวาโจมตี ศิลาจารึกของชวาอ้างว่า พระเจ้าสญชัยได้ยึดเจนละน้ำไว้ได้
            ๑๔๙๙. เจฟเฟอร์สัน โธมัส (พ.ศ.๒๒๘๖ - ๒๓๖๙)  เป็นประธานาธิบดีคนที่ ๓ ของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ร่างคำประกาศอิสระภาพของอเมริกา เป็นผู้ให้กำเนิดพรรคการเมืองซึ่งต่อมาเรียกว่าพรรคดีโมแครต
                    เหตุการณ์สำคัญที่สุดในสมัยการบริหารของเจฟเฟอร์สัน สมัยแรกคือ การซื้อหลุยเซียนา จากพระเจ้านโปเลียน แห่งฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๖ ด้วยราคาเพียง ๑๕ ล้านดอลลาร์ ทำให้พื้นที่ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว ดินแดนที่ซื้อมาครั้งนี้ไม่ใช่ดินแดนที่เป็นรัฐหลุยเซียนาในปัจจุบันเท่านั้น หากแต่เป็นดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล นับจากแม่น้ำมิสซิสซิปปีไปจนจดเทือกเขารอกกีส์ และจากแดนแคนาดาไปจนถึงอ่าวเมกซิโก            ๙/ ๕๔๙๙
            ๑๕๐๐. เจมส์ที่ ๑ - พระเจ้า (พ.ศ.๑๙๓๗ - ๑๙๘๐) เป็นกษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๙ พระราชบิดาได้ส่งพระองค์ไปศึกษายังฝรั่งเศส แต่พระองค์ถูกทหารเรืออังกฤษจับได้ พระเจ้าเฮนรีที่ ๔ ของอังกฤษได้เอาพระองค์ไปกักขังไว้เป็นเวลาถึง ๑๘ ปี พระเจ้าเฮนรีที่ ๕ ขึ้นครองราชย์สมบัติ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๕๖ พระองค์ได้นำเจ้าชายเจมส์ไปเลี้ยงดูอย่างดี เมื่อพระเจ้าโรเบอร์ตที่ ๓ พระราชบิดาเจ้าชายเจมส์สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๙ โรเบอร์ตแห่งอัลบานี ก็ได้ปกครองประเทศในพระนามของพระมหากษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ ต่อมาหลังจากที่ได้ทำหน้าที่นี้ระหว่างที่พระเจ้าโรเบอร์ตประชวรอยู่
                    พระเจ้าเจมส์ได้เสด็จกลับอังกฤษหลังจากที่รพะเจ้าเฮนรีที่ ๕ สวรรคตแล้ว หลังจากที่ได้ร่วมรบกับพระเจ้าเฮนรีที่ ๕ ในดินแดนฝรั่งเศสอยู่สองปี เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ ๖ ขึ้นครองราชย์ ประจวบกับโรเบิร์ตแห่งอัลบานีสิ้นพระชนม์ ทำให้พระเจ้าเจมส์มีโอกาสเจรจากับอังกฤษ ให้ปลดปล่อยพระองค์ในปี พ.ศ.๑๙๖๗ ทั้งนี้พระองค์ต้องเสียค่าไถ่เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ ปอนด์
                    เมื่อพระองค์เสด็จกลับถึงสกอตแลนด์ ได้ทรงเร่งปรับปรุงบ้านเมืองให้เข้มแข็งเป็นการด่วน โดยทรงใช้มาตรการรุนแรงเด็ดขาด            ๙/ ๕๕๑๓
            ๑๕๐๑. เจมส์ที่ ๒ - พระเจ้า (พ.ศ.๑๙๗๓ - ๒๐๐๓)  กษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ โอรสพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ ในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ได้มีการช่วงชิงอำนาจกันระหว่างผู้ที่มีอำนาจในสกอตแลนต์ เกิดสงครามกลางเมือง มายุติลงเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๘๙
                    ในรัชสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ นับว่าเป็นสมัยที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ ด้านนิติบัญญัติของสกอตแลด์มาก            ๙/ ๕๕๑๗
            ๑๕๐๒. เจมส์ที่ ๓ - พระเจ้า (พ.ศ.๑๙๙๔ - ๒๐๓๑)  กษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ เป็นโอรสองค์โตของพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์กาเรต พระราชธิดาพระเจ้าคริสเตียนที่ ๑ แห่งเดนมาร์ก และนอร์เวย์ มีผลทำให้พระองค์ทรงผนวกเอาออร์คนี ซึ่งเป็นกลุ่มเกาะและจังหวัดทางภาคเหนือของสกอตแลนด์และเชตแลนด์ ซึ่งเป็นหมู่เกาะทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของออร์คนีมารวมกับสกอตแลนด์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๕            ๙/ ๕๕๒๐
            ๑๕๐๓. เจมส์ที่ ๔ - พระเจ้า (พ.ศ.๒๐๑๖ - ๒๐๕๖)  กษัตริย์สกอตแลนด์ โอรสองค์โต ของพระเจ้าเจมส์ที่ ๓ พระองค์เข้าร่วมกับพวกขบถ ทำสงครามกับพระราชบิดาและมีชัยชนะ เป็นเหตุให้พระราชบิดาถูกลอบปลงพระชนม์ พระองค์นับว่าเป็นกษัตริย์สกอตแลนด์องค์หนึ่ง ในไม่กี่องค์ที่ได้รับความนิยมยกย่องจากประชาชนอย่างมาก ทรงปกครองบ้านเมืองโดยราบรื่น
                    ในปี พ.ศ.๒๐๔๖ พระองค์ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาร์กาเรต พระราชธิดาของพระเจ้าเฮนรี การอภิเษกสมรสครั้งนี้เป็นเหตุทำให้ราชวงศ์สจวต ได้ขึ้นครองราชย์บัลลังก์อังกฤษในเวลาต่อมา
                    พระเจ้าเจมส์ที่ ๔ ได้ทรงปราบปรามพวกขบถตามเกาะต่าง ๆ ทางภาคตะวันตกของประเทศ และทรงรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่น ยกฐานะของพระองค์เทียบบ่าเทียบไหล่กับบรรดากษัตริย์ต่าง ๆ ในยุโรป            ๙/ ๕๕๒๒
            ๑๕๐๔. เจมส์ที่ ๕ - พระเข้า (พ.ศ.๒๐๕๕ - ๒๐๘๕)  กษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ โอรสพระเจ้าเจมส์ที่ ๔ ในสมัยที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น สกอตแลนด์ได้กลายเป็นประตูสมรภูมิ ที่หาผลประโยชน์ของอังกฤษและฝรั่งเศส
                    ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๗๒ - ๒๐๗๓ พระองค์ทรงใช้ความพยายามอย่างแรงกล้าในอันที่จะปราบปรามเมืองขึ้นทั้งหลาย ทางภาคใต้ที่กระด้างกระเดื่อง ต่อมาได้มีการเจรจาประนีประนอมกับอังกฤษ และได้ทรงลงพระนามในสัญญา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๗            ๙/ ๕๕๒๖
            ๑๕๐๕. เจมส์ที่ ๑ - พระเจ้า (พ.ศ.๒๑๐๙ - ๒๑๖๘) กษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์ และทรงเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ ๖ แห่งสกอตแลนด์ ๓๖ ปี จนถึงปี พ.ศ.๒๑๔๖ พระองค์จึงได้ทรงเป็นกษัตริย์ของอังกฤษอีกตำแหน่งหนึ่ง นับว่าพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ราชวงศ์สจวตองค์แรกของอังกฤษ
                    ในการปกครองสกอตแลนด์นั้น พระเจ้าเจมส์ทรงมีจุดมุ่งหมายสองประการคือ ประการแรกทรงเดินสายกลางระหว่างพวกโรมันคาทอลิกกับพวกโปรเตสแตนท์ ทั้งที่พระองค์เป็นโปรเตสแตนท์ ประการที่สองก็คือ เพื่อจะได้เป็นทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ
                    เมื่อพระนางเจ้าอลิซาเบธสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๖ แล้ว พระองค์ก็ได้รับเชิญให้เป็นกษัตริย์อังกฤษ นับว่าเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงปกครองทั้งอังกฤษ และสกอตแลนด์
                    คัมภีร์ไบเบิลที่แปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ และพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๔ นั้น เรียกว่าฉบับคิงเจมส์ และถือเป็นฉบับมาตรฐาน ที่ชาวอังกฤษนิยมมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน            ๙/ ๕๕๓๐
            ๑๕๐๖. เจมส์ ๒ - พระเจ้า (พ.ศ.๒๑๗๖ - ๒๒๔๔)  กษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ทรงเป็นโอรสองค์เล็กของพระเจ้าชาร์ลที่ ๑ และทรงเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ ๗  แห่งสกอตแลนด์ ไปพร้อม ๆ กัน ทรงครองราชสมบัติหลังจากพระเชษฐาของพระองค์คือ พระเจ้าชาร์ลที่ ๒ สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๘ ก่อนขึ้นครองราชย์พระองค์ได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพเรือ และได้ปฎิรูปกองทัพเรือเสียใหม่ ทำให้ทรงมีชัยชนะเหนือพวกดัตช์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๘
                    พระองค์ได้ฟื้นฟูคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิกขึ้นมาใหม่ พระองค์ตัดสินพระทัยลาออกจากตำแหน่งแม่ทัพเรือ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๑๖ ต่อการเป็นคาทอลิกของพระองค์ แต่ก็ได้กลับมาเป็นแม่ทัพเรืออีกครั้งในปี พ.ศ.๒๒๒๗
                    พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๘ โดยไม่มีเหตุร้ายใด ๆ เกิดขึ้น เมื่อ ดยุค แห่งมอนมัธ ก่อการขบถขึ้นที่อังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๘ ประชาชนได้เข้าข้างพระเจ้าเจมส์
                    ในปี พ.ศ.๒๒๓๑ พวกชนชั้นสูงของอังกฤษ มีความโกรธแค้นในนโยบายของพระองค์ ได้ติดต่อกับวิลเลียม แห่งออเรนจ์ ต่อต้านพระองค์ จนต้องเสด็จลี้ภัยไปฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงให้ความอุปถัมภ์ ในปี พ.ศ.๒๒๓๙ พระองค์พยายามจะกลับไปมีอำนาจเป็นครั้งสุดท้าย แต่ประสบความล้มเหลว และสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๔
                    เมื่อพระเจ้าเจมส์ เสด็จหนีไปฝรั่งเศสแล้ว รัฐสภาอังกฤษได้ประกาศตั้ง เจ้าชายวิลเลียม แห่งออเรนจ์ กับชายาคือ เจ้าหญิงแมรี ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ เป็นผู้ปกครองประเทศร่วมกัน            ๙/ ๕๕๓๖
            ๑๕๐๗. เจมส์ที่ ๑ - พระเจ้า (พ.ศ.๑๗๕๑ - ๑๘๑๙)  หรือพระเจ้าเจมส์ ผู้พิชิต กษัตริย์ของอาเรกอน  ซึ่งเดิมเป็นราชอาณาจักรหนึ่ง ปัจจุบันเป็นแคว้นหนึ่ง อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน พระองค์ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ แห่งมอนต์ปีเลียร์ เมืองหลวงของเวอร์มอนต์ พระองค์ทรงอภิเษกครั้งที่สองกับ เจ้าหญิงโยลันเด พระราชธิดาของพระเจ้าแอนดริวที่ ๒ แห่งฮังการี
                    พระเจ้าเจมส์ เป็นกษัตริย์ที่เฉลียวฉลาด และทรงมีความอดทนมากพระองค์หนึ่ง ในปี พ.ศ.๑๗๗๑ พระองค์ทรงปราบปรามเมืองขึ้นต่าง ๆ ที่ไม่ปฎิบัติตามพระราชโองการของพระองค์ ทรงพิชิตหมู่เกาะบาเลียริก ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งของสเปน อยู่ทางภาคตะวันตกของทะเลเมดิเตอเรเนียน แถบตะวันตก แล้วพระองค์ก็ทรงสนพระทัยดินแดนของพวกเจ้าชายมุสลิม แห่งวาเลนเซีย ซึ่งอยู่ริมทะเลเมดิเตอเรเนียน และเคยเป็นของสเปนมาก่อน ทรงพิชิตเมืองวาเลนเซียได้ในปี พ.ศ.๑๗๘๑  และพิชิตได้ทั้งอาณาจักรในปี พ.ศ.๑๗๘๘
                    พระเจ้าเจมส์ นับว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งในสมัยกลาง ในฐานะที่ทรงปลดเปลื้องดินแดนของอาเรกอน ให้พ้นจากการคุกคามของพวกมุสลิม พระองค์ทรงพยายามที่จะสถาปนาความเป็นใหญ่เหนือ ทเลมเซน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแอลจีเรียในปัจจุบัน และบาเกียในอัฟริกา ทั้งนี้เพื่อจะยึดเมืองตูนิส ไว้ให้มั่นคง
                    ในระยะ ๒๐ ปี หลังแห่งพระชนม์ชีพ พระองค์ได้ทำสงครามกับพวกมัวร์ ในเมอเซียร์ ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณของพวกแองโกลแซกซอน อยู่ทางภาคกลางของเกาะอังกฤษ การที่พระองค์พิชิตพวกมัวร์นี้ จึงทำให้พระองค์ได้รับขนานพระนามว่า พระเจ้าเจมส์ผู้พิชิต            ๙/ ๕๕๔๖
            ๑๕๐๘. เจมส์, เจสสี วูดสัน  (พ.ศ.๒๓๙๐ - ๒๔๒๕)  เป็นนักปล้นรถไฟ และธนาคาร ที่ลือชื่อของอเมริกา เกิดที่ เคลย์ คาน์ตี มลรัฐมิซซูรี ครอบครัวเป็นชาวนา เรื่องราวของเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่ง แห่งคติชาวบ้านของอเมริกัน            ๙/ ๕๕๕๐
            ๑๕๐๙. เจมส์ วิลเลียม  (พ.ศ.๒๓๘๕ - ๒๔๕๓)  เป็นนักจิตวิทยา และปรัชญาเมธี ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เกิดที่เมืองนิวยอร์กซิตี มลรัฐนิวยอร์ก ได้รับแต่งตั้งเป็นศาตราจารย์วิชาปรัชญา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ ในระยะนี้เอง ท่านได้เขียนหนังสือชื่อ "หลักการแห่งวิชาจิตวิทยา"  ขึ้นสองเล่ม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ทำให้ท่านได้กลายเป็นบุคคลที่นานาชาติ สนใจขึ้นมาทันที
                    วิลเลียม เจมส์ มีความเห็นว่าโลกเรานี้มีแต่การเปลี่ยนแปลง และความบังเอิญ เป็นโลกแห่งความหลากหลาย แห่งความผันแปร และแห่งความเป็นต่าง ๆ กัน เต็มไปด้วยความกาหล อลหม่าน ความใหม่ ความแปลกและการต่อสู้ดิ้นรน กฎแห่งธรรมชาติมิได้เป็นหลักการนิรันดร แต่เป็นนิสัยแห่งสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง และที่ได้มาในภายหลัง คุณสมบัติต่าง ๆ ของมนุษย์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามโอกาส            ๙/ ๕๕๕๒
            ๑๕๑๐. เจมส์ทาวน์  เดิมเป็นชื่อหมู่บ้านในมลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นสถานที่แห่งแรก ที่ชาวอังกฤษได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งเป็นอาณานิคม เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๐            ๙/ ๕๕๕๗
            ๑๕๑๑. เจริญกรุง - ถนน  เป็นชื่อถนนสายหนึ่งในจังหวัดพระนคร เริ่มตั้งแต่ถนนสนามชัย ไปถึงแม่น้ำเจ้าพระยาถนนตก ยาวประมาณ ๘.๖ กม. สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔            ๙/ ๕๕๖๐
            ๑๕๑๒. เจว็ด  เป็นรูปเทพารักษ์ ที่ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิ หรือศาลเจ้า มักทำเป็นรูปเทวดา ถือพระขรรค์             ๙/ ๕๕๖๑
            ๑๕๑๓. เจษฎาบดินทร์ - กรมหมื่น  เป็นพระอิสริยยศของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ  ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
                    กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทับ เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติ ณ พระราชวังเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐
                    พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๖ ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมท่า ได้โปรดให้จัดสำเภาหลวงออกไปค้าขาย ณ เมืองจีน  ต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ทรงบังคับราชการในกรมพระตำรวจอีกตำแหน่งหนึ่ง
                    ในปี พ.ศ.๒๓๖๓ มีข่าวว่าพม่ายกกำลังมาตั้งยุ้งฉางที่เมืองกาญจนบุรี เพื่อยกเข้ามาตีพระนคร พระองค์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้นำกำลังทหาร ๓,๐๐๐ ไปตั้งขัดตาทัพ ณ ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี อยู่เป็นเวลาปีเศษ แต่ไม่มีทัพพม่ายกมาจึงเสด็จกลับ พระองค์มีหน้าที่ในการป้องกันพระนคร เป็นแม่กองสร้างป้อมที่เมืองสมุทรปราการหกป้อม
                    พระองค์มีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสร้างพระพุทธปฏิมาหลายองค์ ทรงสร้างพระไตรปิฎกทั้งคำอรรถและคำแปล โปรดให้ตั้งโรงทานไว้ที่วังสำหรับเลี้ยงยาจกวณิพก และทรงบำเพ็ญกุศลการจรตามกาลสมัย
                    พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗
            ๑๕๑๔. เจอร์ซี ๑ - เกาะ  เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะแชนแนลของบริเตนใหญ่ อยู่ในช่องแคบอังกฤษ  เกาะนี้มีฐานะเป็นคราวน์ดิเปนเดนซีของบริเตนใหญ่  มีสภานิติบัญญัติ การปกครองท้องถิ่น กฎหมาย  และศาลเป็นของตนเอง            ๙/ ๕๕๗๐
            ๑๕๑๕. เจอร์ซี ๒ - เมือง  เป็นที่ตั้งที่ทำการรัฐบาลของฮัดสันเคาน์ตี และเป็นท่าเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งในมลรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา  นับว่าเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของมลรัฐนั้น            ๙/ ๕๕๗๔
            ๑๕๑๖. เจา  ดูจิว (ลำดับที่ ๑๔๓๖)            ๙/ ๕๕๗๖
            ๑๕๑๗. เจ้า ๑  หมายถึง เชื้อสายของพระเจ้าแผ่นดิน และของเจ้านาย            ๙/ ๕๕๗๖
                    ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งได้ตั้งขึ้นแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สร้างกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๑๙๐๑ ภายหลังสร้างกรุงแล้ว ๘ ปี ได้แบ่งเจ่าออกเป็นสี่ชั้นคือ
                            ๑. ชั้นที่ ๑  ได้แก่ พระเจ้าลูกเธอ เกิดด้วยพระอัครมเหสี เรียกว่า สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า มียศใหญ่กว่าเจ้านายทั้งปวง ต้องอยู่ในเมืองหลวง
                            ๒. ชั้นที่ ๒  ได้แก่ ลูกหลวงเอกซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน และพระมารดาต้องเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน พระเจ้าลูกเธอชั้นนี้มียศได้กินเมืองเอกคือ เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองนครราชสีมา เป็นต้น
                            ๓. ชั้นที่ ๓  ได้แก่ ลูกหลวงโทซึ่งเป็นพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินที่เกิดแต่พระมารดาเป็นหลานหลวงคือ หลานพระเจ้าแผ่นดินสายตรง มียศกินเมืองโทอย่างเมืองสวรรคโลก เมืองสุพรรณ เป็นต้น
                            ๔. ชั้นที่ ๔  ได้แก่ พระเยาวราชคือ เจ้าผู้น้อย ได้แก่ พระราชโอรสที่เกิดด้วยพระสนม ไม่ได้กินเมือง
                            เจ้าทั้งสี่ชั้นนี้เป็นลูกหลวงทั้งสิ้น  เจ้าที่ถือว่าเป็นชั้นพระองค์เจ้ามีทั้งหมด ๒๐ ชั้นด้วยกัน เป็นพระองค์เจ้าชั้นเอก ๑๐ ชั้น พระองค์เจ้าชั้นโท ๗ ชั้น และพระองค์เจ้าชั้นตรี ๓ ชั้น  เจ้าชั้นที่ถัดตกชั้นพระองค์เจ้าลงไปเป็นหม่อมเจ้า มีศักดินา ๑,๕๐๐ ลูกของหม่อมเจ้าเป็นหม่อมราชวงศ์ มีศักดินา ๕๐๐  ลูกของหม่อมราชวงศ์เป็นหม่อมหลวง มีศักดินา ๔๐๐
            ๑๕๑๘. เจ้า ๒  หมายถึงเทพารักษ์ จัดเข้าอยู่ในพวกผีธรรมชาติหรือเทวดาพวกหนึ่งไม่ใช่เทวดาชั้นสูงเช่น เจ้าพ่อหลักเมือง เจ้าทุ่ง เจ้าท่า เจ้าป่า เจ้าเขา เป็นต้น            ๙/ ๕๕๙๐
            ๑๕๑๙. เจ้ากรม  คำนี้ปรากฏตามหลักฐานว่าได้มีใช้มาแล้วแต่โบราณ เท่าที่พบมีอยู่ในทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายทหาร และพลเรือนซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงบัญญัติขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ เช่น เจ้ากรมมหาดไทย (ฝ่ายพลำภัง, ฝ่ายตำรวจภูธร)  เจ้ากรมอาญาวิเศษ (ขวา, ซ้าย)
                    ประเพณีเรียกพระนามเจ้านายเป็นกรมต่าง ๆ เพิ่งปรากฏในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ตั้งแต่ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ เป็นเจ้ากรมหลวงโยธาทิพ  และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสุดาวดี เป็นเจ้ากรมหลวงโยธาเทพ            ๙/ ๕๕๙๑
            ๑๕๒๐. เจ้าขว้าว - ด่าน  เป็นชื่อด่านซึ่งเป็นทางเดินทัพของพม่าในสมัยโบราณ นัยว่าอยู่ริมแม่น้ำภาชี ในจังหวัดราชบุรี ทางตะวันตก            ๙/ ๕๕๙๓
            ๑๕๒๑. เจ้าครอก  เป็นคำสำหรับเรียกผู้มียศในราชสกุล แม้เจ้านายที่ทรงศักดิ์ เป็นเจ้าฟ้า แต่โบราณก็เรียกกันว่า เจ้าครอกฟ้า            ๙/ ๕๕๙๔
            ๑๕๒๒. เจ้าคุณ  คำนี้แต่เดิมน่าจะเป็นคำสำหรับคนทั้งหลาย เรียกยกย่องซึ่งหมายความว่า เป็นเจ้าโดยคุณหาได้เป็นยศ บรรดาศักดิ์ไม่ และน่าจะมีประเพณีใช้คำนี้มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
                    คำเจ้าคุณ ที่เป็นคำเรียกผู้มีบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่ชั้นพระยาขึ้นไปนั้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า เดิมเห็นจะเรียกแต่เฉพาะ ผู้ที่เป็นเจ้าพระยา ภายหลังเรียกเจ้าคุณลงมาถึงขุนนางผู้ใหญ่ชั้นพระยา ที่ได้รับพานทองเครื่องยศ พระยาสามัญหาเรียกเจ้าคุณไม่ ที่มาเรียกพระยาทุกชั้นว่า เจ้าคุณ ดูเหมือนจะเกิดในรัชกาลที่ ๖ ส่วนพระสงฆ์ซึ่งเป็นพระราชาคณะ ที่เรียกเจ้าคุณนั้น  เดิมทีเห็นจะเรียกแต่ที่เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ต่อมาก็จะเพิ่มลงมาเรียกเพียง พระราชาคณะผู้ใหญ่ แล้วต่อมาเลยเรียกพระราชาคณะทุกชั้นว่า เจ้าคุณ
                    สำหรับคำเจ้าคุณ ซึ่งเป็นยศบรรดาศักดิ์ฝ่ายในนั้น มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ  และในรัชสมัยพระเสือ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
            ๑๕๒๓. เจ้าจอม, เจ้าจอมมารดา, เจ้าคุณจอมมารดา, จอม, จอมมารดา  คำเหล่านี้เป็นคำนำหน้านามสตรี บรรดาศักดิ์ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายใน
                    ประเภทที่เรียก พระสนม นั้น แบ่งเป็นสามชั้นคือ พระสนมเอก พระสนมโท และพระสนมตรี บรรดาพระสนมเหล่านี้ จะโปรดเกล้า ฯ ให้สูงศักดิ์ขึ้นตามศักดิ์เดิมของตระกูลบ้าง ตามความดีความชอบ ที่ทรงโปรดปรานบ้าง ชั้นแรกโปรดให้อยู่ในตำแหน่งเจ้าจอม เมื่อมีพระราชโอรส พระราชธิดา ก็โปรดให้อยู่ในตำแหน่ง เจ้าจอมมารดา เจ้าคุณจอมมารดา
                   พระภริยาในสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็เรียกว่า เจ้าจอม เจ้าจอมมารดา และเจ้าคุณจอมมารดา            ๙/ ๕๕๙๙
            ๑๕๒๔. เจ้าเซ็น  หมายถึง คนพวกหนึ่งถือลัทธิอิสลาม ซึ่งนับถืออิหม่าม ฮูเซ็น ผู้เป็นหลานตา ของพระมะหะหมัด อย่างหนึ่ง หมายถึง บุคคลชื่อ อิหม่ามฮูเซ็น ที่เป็นหลานพระมะหะหมัด อย่างหนึ่ง และหมายถึง เพลงไทยเพลงหนึ่ง
                            อิหม่ามฮูเซ็น  เป็นหลายพระมะหะหมัด (นบี มูฮำมัด - เพิ่มเติม)  เมื่อพระมะหะหมัด ล่วงลับไปแล้ว อาบูบากร์ ผู้เป็นพ่อตาของพระมะหะหมัด ได้ปกครองอาณาจักร และอิสลามิกชนสืบต่อมา แต่ได้บัญญัติคำเรียกตำแหน่งที่ดำรงอยู่ใหม่ว่า กาลิฟา หรืออย่างที่ไทยเรียกว่า กาหลิบ อาบูบากร์ ดำรงตำแหน่งกาหลิบอยู่สองปี ก็ถึงแก่กรรม โอมาร์ได้ขึ้นเป็นกาหลิบ ดำรงตำแหน่งอยู่สิบปีก็ถึงแก่กรรม โอธมานขึ้นเป็นกาหลิบ อยู่สิบสองปีก็ถึงแก่กรรม อาลีจึงได้เป็นกาหลิบ ท่านผู้นี้เป็นบุตรเขยของพระมะหะหมัด และเป็นบิดาของอิหม่ามฮูเซ็น
                            เมื่อกาหลิบอาลี ขึ้นดำรงตำแหน่งแล้ว โมอะวิยะ ซึ่งเคยร่วมคณะบุคคลสำคัญของพระมะหะหมัดสมัยแรก แต่ถูกพระมะหะหมัดขับไล่ออกไปจากคณะ เพราะมีความผิด และเป็นศัตรูกับกาหลิบอาลี ได้ไปซ่องสุมผู้คนตั้งตนเป็นอิสระ ได้ยกกำลังเข้าตีเมืองเมดินะ ถึง ๒๓ ครั้ง แต่ไม่สำเร็จจึงใช้อุบายมอบหญิงงานให้แก่ นายม้า ของกาหลิบอาลี แล้วแนะนำให้ลอบฆ่ากาหลิบอาลี ขณะที่เข้าไปสวดมนต์ในมัสยิด จากนั้น โมะอะวิยะ ก็ยกกำลังเข้ายึดกรุงเมดินะได้ สถาปนาตนเอง เป็นกาหลิบ ย้ายนครหลวงไปดามัสกัส พร้อมกับเปลี่ยนวงศ์กาหลิบใหม่เป็น โอมัยยาท
                            กาหลิบโมอะวิยะ ดำรงตำแหน่งอยู่ ๒๐ ปี ก็ถึงมรณกรรม ยาซิดผู้เป็นบุตร ขึ้นดำรงตำแหน่งยาซิดเคยเป็นอริกับหะซัน และฮูเซ็นมาก่อน พอยาซิดได้เป็นกาหลิบ หะซันก็ตั้งตนเป็นกาหลิบ ครองกรุงเมตินะ ยาซิดจึงส่งนางยะดา มาเป็นอนุภรรยาหะซัน และลอบวางยาพิษหะซัน ถึงแก่มรณกรรม ฮูเซ็นจึงเป็นกาหลิบ ครองกรุงเมตินะ สืบต่อมา ยาซิดออกอุบายฆ่าฮูเซ็น ที่ทุ่งกัตบาลา เมื่อปี พ.ศ.๑๒๒๓ ทหารของยาซิด ตัดศีรษะและมือของฮูเซ็น เอาศีรษะไปให้ยาซิด เอามือทิ้งไว้ข้างศพ
                            พวกที่นับถือกาหลิบอาลี พากันโกรธแค้น ตั้งตนเป็นศัตรูไม่ยอมรับยาซิดเป็นกาหลิบ แล้วแยกลัทธิศาสนาออกมาเป็น นิกายชีเอต์ (ชีอะห์)  คือ พวกเจ้าเซ็นขึ้นมา พวกนี้นับถือว่าวงศ์กาหลิบอาลี ซึ่งเป็นบุตรเขยพระมะหะหมัด และเป็นบิดาของฮูเซ็น เป็นอิหม่าม ที่แท้จริงสืบต่อจากพระมะหะหมัด นี้คือที่มาของลัทธิเจ้าเซ็น ที่ศาสนาอิสลามเกิดแบ่งแยกลัทธิขึ้นในครั้งแรก
                            พวกซิเอต์ ยึดถือกันว่าอิหม่ามมีจำนวนสิบสองคน คนสุดท้ายชื่อ อาบูเอลกาซิม ที่จะมาเป็นอิหม่ามในวันข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีคณะบัณฑิตเรียกว่า มูเชตนีทส์ เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในข้อพิพาท หรือข้อเคลือบคลุมในลัทธิ กับมีพิธีเต้นเจ้าเซ็น เพื่อเป็นการระลึกถึงวันมรณกรรมของฮูเซ็น ในเดือนโมหร่ำ (มะหะหร่ำ มุหัรรอม)            ๙/ ๕๖๐๒
            ๑๕๒๕. เจาตากวน  เป็นชื่อทูตพานิชจีนคนหนึ่ง ในคณะทูตจีนที่ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศกัมพูชา ในสมัยโบราณและได้บันทึกเหตุการณ์ และขนบธรรมเนียมของกัมพูชาสมัยนั้น ไว้อย่างละเอียดมีความว่า
                    กองทัพมองโกลขนาดย่อม ได้ยกทัพจากจัมปาเข้าไปในกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๖ ต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๒๘ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๘ ของกัมพูชาได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิ์กุบไลข่าน ปี พ.ศ.๑๘๓๘ พระองค์ได้สละราชสมบัติให้แก่พระเจ้าศรินทรวรมัน (พ.ศ.๑๘๓๘ - ๑๘๗๐)  ผู้เป็นพระราชบุตรเขย ในปีนี้เองที่กัมพูชาได้ต้อนรับคณะทูตจีน ซึ่งมีเจาตากวน เป็นทูตพานิชรวมอยู่ด้วย
                    เจ้าตากวน ยังคงเรียกชื่อประเทศกัมพูชาว่า เจนละ อยู่ แต่เรียกประชาชนว่า ชาวกัมพูชา เจาตากวนได้พรรณาเรื่องเมืองหลวง ของกัมพูชาไว้ค่อนข้างละเอียดคือ ปราสาทนครวัด กับปราสาทบายน ปราสาทบาปวน พิมานอากาศ ปราสาทพนมบาเก็ง บาราย
                    บรรดาบ้านทั้งหลายหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ชาวกัมพูชาผิวหยาบ และดำมาก แต่พวกผู้หญิงที่อยู่ในวัง หรือคฤหาสน์ใหญ่ ๆ ผิวขาวดังหยก ผู้หญิงเปลือยอก เดินเท้าเปล่า การแต่งกายแตกต่างกันไปตามฐานันดร และฐานะ ผ้าดีที่สุดโดยเฉพาะผ้าไหม ได้ไปจากเมืองไทย คนทั้งหลายเกล้าผมมวย แต่ไม่มีเครื่องประดับศีรษะ แม้แต่พวกผู้หญิง คนงาน ก็สวมแหวนและกำไลทองคำ
                    ในด้านภาษาเจาตากวน บอกว่าภาษาของชาวกัมพูชาคล้ายคลึงกับภาษาของพวกจามและไทย ระเบียบแห่งถ้อยคำแตกต่างจากของจีนมาก พวกขุนนาง นักปราชญ์ และพระต่างก็มีภาษาของตนโดยเฉพาะภาษาที่พูดกันในเมือง กับชนบทก็ไม่เหมือนกัน
                    ด้านกองทัพ ทหารเดินเปลือยกายและเท้าเปล่า มือขวาถือหอก มือซ้ายถือโล่ ชาวกัมพูชาไม่มีคันธนู หรือลูกศร ไม่มีปืนใหญ่ ไม่มีเกราะหรือหมวกเหล็กใช้             ๙/ ๕๖๐๕
            ๑๕๒๖. เจ้าท่า - กรม  ในสมัยโบราณมิได้เรียก กรมเจ้าท่า อย่างเช่นในปัจจุบัน แต่เรียกกันว่า เจ้าภาษี บ้าง นายอากร บ้าง นายด่าน บ้าง และนายขนอนตลาด บ้าง ซึ่งทั้งหมดมีหน้าที่ราชการอย่างเดียวกันคือ บังคับการจอดทอดสมอเรือค้าขาย เก็บค่าธรรมเนียม เรือค้าขายที่เข้าและออกราชอาณาจักร โดยขึ้นอยู่ในความปกครองและบังคับบัญชาของกรมพระคลัง
                    ส่วนคำว่า กรมท่า แต่เดิมคงหมายถึง เจ้าท่าตามระบบเก่า หากแต่มีความหมายกว้างขวางออกไปอีก กรมท่าเป็นส่วนราชการซึ่งมีมาแล้ว แต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
                            เจ้าท่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ตามประวัติศาสตร์ คำ "เจ้าท่า" มีมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ แล้ว ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา เจ้าท่าซึ่งขณะนั้น เรียกกันว่า นายอากร นายด่าน นายขนอนตลาด และมีหน้าที่บังคับการจอดทอดสมอของเรือเก็บค่าธรรมเนียมแก่เรือค้าขายที่เข้าออกน่านน้ำ ราชอาณาจักรซึ่งขึ้นอยู่ในความปกครอง และบังคับบัญชาของกรมพระคลังตลอดมา
                            เจ้าท่าสมัยกรุงธนบุรี  พระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เริ่มกิจการเจ้าท่าขึ้นใหม่ โดยเริ่มตั้งกรมเจ้าท่า เพื่อดูแลตรวจตราบรรดาเรือแพ และเก็บเงินค่าธรรมเนียมเรือ ที่ไปมาค้าขายและเรือที่เข้าออกประเทศไทย
                            เจ้าท่าสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ มีพ่อค้าชาติต่างๆ เช่น อาหรับ อินเดีย ชวา มลายู จีนและญี่ปุ่น เข้ามาทำการค้าขายเป็นจำนวนมาก พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯให้ขุนแกล้วกลางสมุทร เป็นเจ้าพนักงาน คุมเรือสำเภาหลวงไปค้าขายทางเมืองแขก และเมืองจีน ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นพระวิเศษภาษา ฯ ให้เป็นเจ้าท่าเมืองนครศรีธรรมราช
                            กิจการเจ้าท่าของไทยได้เจริญมาตามลำดับ และนับแต่ เซอร์ จอห์น บาวริง เข้ามาขอทำสัญญาเลิกวิธีการค้าแบบโบราณ ตั้งแต่นั้นมาก็ได้มีเรือค้าขายของประเทศต่าง ๆ เข้ามาในกรุงเทพ ฯ เป็นจำนวนมากขึ้นโดยลำดับ กิจการของกรมท่าก็เพิ่มพูนมากขึ้น จึงได้จัดงานของกรมท่าออกเป็นสามฝ่าย เรียกว่า กรมท่ากลาง กรมท่าซ้าย และกรมท่าขวา  กรมท่ากลางมีหน้าที่เป็น กองกลางรับหน้าที่ส่วนใหญ่ในกิจการทั่วไป และติดต่อกับฝรั่งชาวยุโรป กรมท่าซ้าย ติดต่อกับคนจีน กรมท่าขวา ติดต่อกับคนแขก และมีหน้าที่ชำระความของคนต่างชาติด้วย
                            เมื่อมีเรือค้าขายเข้ามากรุงเทพ ฯ มากขึ้น ก็จำเป็นต้องปรับปรุงกิจการฝ่ายเจ้าท่าให้เหมาะสม เช่น  การท่าเรือ การท่ารอง การทำเครื่องหมายทางเรือ และการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเดินเรือ ทางราชการจึงได้จัดหาชาวยุโรปมาช่วยราชการของกรมท่า ฝ่ายเจ้าท่า ได้ตกลงจ้างกัปตัน จอห์น บุช ชาวอังกฤษ มาเป็นผู้ริเริ่มงานฝ่ายเจ้าท่าขึ้นกับกรมท่ากลาง กัปตันบุชรับราชการจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิสูตรสาครดิษฐ์ ในปี .ศ.๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรดให้ กัปตันบุชจัดสร้างประภาคารขึ้นที่สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา ฯ และวางสามขาทุ่น เครื่องหมายร่องน้ำทางเดินเรือ ตั้งแต่ปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยาไปตามชายฝั่งทะเลตะวันออกไปถึงเขต จ.ระยอง
                            เจ้าท่าเดิมอยู่ในกรมพระคลัง ต่อมาย้ายมาขึ้นกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดิมมีชื่อว่า กรมท่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ได้ย้ายไปขึ้นกระทรวงโยธาธิการ ปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้ยุบตำแหน่งเจ้าท่าเป็นตำแหน่ง เวรท่า พ.ศ.๒๔๓๙ ยกฐานะเวรท่า ขึ้นเป็น กรมเจ้าท่า พ.ศ.๒๔๔๔ ย้ายสังกัดกรมเจ้าท่าไปขึ้นกระทรวงนครบาล พ.ศ.๒๔๔๘ กรมเจ้าท่าได้ยกฐานะเป็นกรมชั้นอธิบดี  และได้มีการตรา พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ร.ศ.๑๒๔๓ ได้เริ่มมีการปรับปรุงกิจการกรมเจ้าท่าขึ้นใหม่ โดยยกเอางานบางส่วนจากกรมคลองเดิม มารวมกับกรมเจ้าท่า พ.ศ.๒๔๕๖  มีการตรา พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยขึ้นใหม่ และยกกระทรวงนครบาล ไปสังกัดรวมกับกระทรวงมหาดไทย             ๙/ ๕๖๒๐
            ๑๕๒๗. เจ้าที่  เป็นเทวดารักษาพื้นที่ หรือเทพารักษ์ประจำพื้นที่ของบ้าน โดยมาเรียกว่า พระภูมิ หรือพระภูมิเจ้าที่
                    ตามปกติชาวบ้านเมื่อปลูกสร้างบ้านเรือนแล้ว มักจะตั้งศาลขึ้นไว้ประจำบ้านเพื่อให้เป็นที่สิงสถิตของเทวดา ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของที่นั้น และทำพลีบูชาตามกาลเวลา เทวดาซึ่งอยู่ในศาลนี้เรียกว่า พระภูมิเจ้าที่
                    ในตำราพระภูมิเจ้าที่กล่าวว่า พระภูมิเจ้าที่มีอยู่ด้วยกันเก้าองค์คือ
                            ๑. พระภูมิบ้านเรือน
                            ๒. พระภูมิรักษาประตู และหัวกระได ตรงกับทวารารักษ์ หรือทวารบาลของอินเดีย และจีน โบราณห้ามไม่ให้เหยียบธรณีประตู เพราะถือว่าตรงนั้นเป็นที่อยู่ของท่าน
                            ๓. พระภูมิรักษาโรงบ่าวสาว หรือเรือนหอ
                            ๔. พระภูมิโรงวัวควาย
                            ๕. พระภูมิยุ้งข้าว
                            ๖. พระภูมินา
                            ๗. พระภูมิสวน
                            ๘. พระภูมิลาน
                            ๙. พระภูมิวัด            ๙/ ๕๖๔๕
            ๑๕๒๘. เจ้าป่า  หมายถึง ผีที่สิงสถิตอยู่ตามป่า มักมีศาลเป็นที่สิงสถิตของเจ้าป่า อยู่ตรงปากช่องเขา หรือปากทางที่จะเข้าป่าเข้าดง ใครจะเข้าไปล่าสัตว์ตัดต้นไม้ ต้องขอต่อเจ้าป่าเสียก่อน             ๙/ ๕๖๔๗
            ๑๕๒๙. เจ้าพระยา ๑ - บรรดาศักดิ์  เจ้าพระยาที่ปรากฎเป็นหลักฐานนั้น แรกมีในกฎหมายทำเนียบศักดินา ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘ ในทำเนียบนั้น เจ้าพระยาเป็นชั้นสูงสุดของขุนนาง ซึ่งในครั้งนั้นมีอยู่ห้าท่านด้วยกัน เป็นข้าราชการอยู่ในราชธานีสามท่าน เป็นเจ้าเมืองสองท่าน ถือศักดินาท่านละ ๑๐,๐๐๐ เสมอกัน
                    บรรดาศักดิ์เจ้าพระยานี้ ได้รับพระราชทานเครื่องยศต่างกัน ปรากฎตามหลักฐานว่า นับแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เป็นต้นมา ได้พระราชทานสุพรรณบัฎ พร้อมด้วยเครื่องยศอื่น แก่เจ้าพระยาผู้ทรงคุณพิเศษ หรือผู้เป็นราชินิกุล ส่วนนอกนั้น ก็พระราชทานเพียงชั้นหิรัญบัตร พร้อมด้วยเครื่องยศอื่น ๆ            ๙/ ๕๖๔๘
            ๑๕๓๐. เจ้าพระยา ๒ - แม่น้ำ  เกิดจากแม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน มาสบกันที่ ต.ปากน้ำโพ และ ต.แดงใหญ่  อ.เมือง จ.นครสวรรค์ แล้วไหลลงมาทางใต้ ผ่านจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี พระนคร และสมุทรปราการ ไปลงทะเลในอ่าวไทย ยาวประมาณ ๓๖๐ กม.
                    ทางแยกของแม่น้ำเจ้าพระยามีหลายสายคือ แม่น้ำสะแกกรัง แม่น้ำมะขามเฒ่า แม่น้ำน้อย แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก
                    นอกจากนี้ยังมีคลองที่แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไปเชื่อมต่อกับแม่น้ำสำคัญหลายสายคือ คลองศาลาแดง คลองบางแก้ว คลองบางโผงเผง คลองรังสิต คลองบางบัวทอง คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ คลองดาวคะนอง คลองพระโขนง และคลองสำโรง
            ๑๕๓๑. เจ้าพระยา ๓ - เขื่อน  เป็นชื่ออาคารชลประทานที่ปิดกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก อยู่ในเขต อ.สรรพยา จ.ชัยนาท  เขื่อนนี้สามารถทดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีระดับสูง + ๑๖ เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางได้ตลอดปี (สูงจากระดับท้องแม่น้ำขึ้นมา ๑๑ เมตร หรือประมาณระดับตลิ่งบริเวณนั้น)
                    การทดน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาทำให้มีน้ำส่งเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่สี่สายได้ทุกขณะ คือทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาสองสายเป็นแม่น้ำสุพรรณ และแม่น้ำน้อยซึ่งเป็นลำน้ำเดิม ส่วนฝั่งซ้ายมีสองสายเป็นคลองขุดใหม่คือ คลองชัยนาท - ป่าสัก และคลองชัยนาท - อยุธยา และมีคลองแยกออกจากคลองสายใหญ่ทั้งสี่สายนี้ ๓๓๐ คลอง เป็นความยาวประมาณ ๓,๔๐๐ กม. ส่งน้ำช่วยพื้นที่ได้ประมาณ ๕,๗๑๘,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขต ๑๖ จังหวัด รวมเรียกว่าโครงการเขื่อนเจ้าพระยา
                    เขื่อนเจ้าพระยานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงให้กำเนิดโดยยืมตัวผู้เชี่ยวชาญทางชลประทานชาวฮอลันดา จากประเทศชวา มาศึกษาสภาพปรากฏการณ์ธรรมชาติของทุ่งราบภาคกลาง เขื่อนนี้เริ่มสร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๕ เสร็จในปี พ.ศ.๒๕๐๐            ๙/ ๕๖๕๘
            ๑๕๓๒. เจ้าฟ้า  เดิมคำนี้ได้ชื่อมาแต่ลูกหลวงที่ได้กินเมืองจริง เจ้าฟ้าคือเจ้าแผ่นดินย่อย หรือเจ้าเมืองเจ้าฟ้าแบบนี้ทางสหรัฐไทยใหญ่ยังมีอยู่ เช่น เจ้าฟ้าแสนหวี เจ้าฟ้าเมืองนาย เป็นต้น
                    คำว่า "เจ้า" กับ "เจ้าฟ้า" สองคำนี้เป็นคำภาษาไทยเก่าแก่มาก น่าจะมาจากเมืองเดิมอันตกเป็นแดนจีนในปัจจุบัน
                    ยศเจ้าฟ้าแรกเข้ามามีขึ้นในประเทศสยามเมื่อใดนั้น ได้พบหลักฐานในหนังสือ "มหาราชวงศ์" พงศาวดารพม่าว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา (คราวขอช้างเผือก) มีชัยชนะแล้วตั้งพระมหาธรรมราชาผู้ครองเมืองพิษณุโลก เป็นเจ้าฟ้าสองแคว (สองแควเป็นชื่อเมืองพิษณุโลก)
                    ตามกฎมณเฑียรบาลเดิมนับแต่ตั้งกรุงศรีอยุธยาจนถึง ๒๐๐ ปี มีขนบธรรมเนียมอยู่ว่าเจ้าฟ้านั้นมีอยู่เพียงสองชั้นเท่านั้น คือลูกเธอที่เกิดด้วยลูกหลวง และหลานหลวง ส่วนลูกพระอัครมเหสี และลูกสนมไม่เป็นเจ้าฟ้า
                    ยศของเจ้าฟ้าคือเจ้าเมือง จึงยังคงติดอยู่กับเจ้านายซึ่งเป็นลูกหลวง หลานหลวง ถึงไม่ได้ครองเมืองแล้วก็ยังเรียกเจ้าฟ้าอยู่เสมอ            ๙/ ๕๖๖๔
            ๑๕๓๓. เจ้าหมื่น, จมื่น  เป็นชื่อตำแหน่งหัวหมื่นในกรมมหาดเล็ก ซึ่งเคยมีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
                    หนังสือตำราหน้าที่มหาดเล็กว่าเป็นตำราแต่งแบบครั้งกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า "อย่างธรรมเนียมมหาดเล็กแต่ก่อนให้หมื่นสารเพชภักดี หมื่นศรีสรรักษ์ หมื่นไวยวรนาถ หมื่นเสมอใจราช นายสิทธิ์ นายฤทธิ์ นายเดช ฯลฯ ผู้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวโดยสุจริต"
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มี พ.ร.บ.กรมมหาดเล็ก และมีแบบเรียนราชการกรมมหาดเล็กขึ้น ระบุว่าตำแหน่งต่าง ๆ ในกรมมหาดเล็กจัดเป็นเจ็ดชั้น มีจางวาง หัวหมื่นเป็นชั้นที่สอง และจัดเป็นสี่เวรคือเวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ และเวรเดช  เจ้าหมื่นทั้งสี่อย่างเก่า มีหน้าที่เป็นหัวหน้าเวรมหาดเล็กคนละเวร            ๙/ ๕๖๗๔
            ๑๕๓๔. เจ้าอธิการ   คำนี้เป็นคำบัญญัติตามกฎหมายบ้านเมืองอย่างหนึ่ง  เป็นคำบัญญัติตามพระวินัยพุทธบัญญัติอย่างหนึ่ง
                    ที่ว่าตามกฎหมายนั้นคือ กำหนดตามลำดับชั้นตำแหน่งการปกครองคณะสงฆ์ เรียกพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล และพระภิกษุรูปนั้นไม่มีสมณศักดิ์ชั้นใดชั้นหนึ่ง ว่าเจ้าอธิการ
                    ที่ว่าตามพระวินัยพุทธบัญญัตินั้นหมายความว่า พระสงฆ์พุทธสาวก ทางฝ่ายอาณาจักรยกให้เป็นคณะพิเศษจัดการปกครองดูแลกันเองในหมู่ของตน แต่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้อนุวัตตามกฎหมายฝ่ายอาณาจักร ในคณะสงฆ์นั้นมีกิจที่จะต้องทำ เพื่อส่วนรวมของหมู่คณะอยู่ จึงโปรดให้พระสงฆ์ประชุมกัน คัดเลือกพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่พระสงฆ์เห็นว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ไม่มีอคติทั้งสี่ประการ เป็นผู้ทำกิจนั้นในนามของสงฆ์            ๙/ ๕๖๘๓
            ๑๕๓๕. เจิม  เป็นการเอาแป้งหอมแต้มเป็นจุด ๆ ลงที่คนหรือสิ่งที่ต้องการให้มีความเจริญ การเจิมเป็นเรื่องมีอยู่ในพิธีโบราณของชาติต่าง ๆ อยู่มากชาติ โดยเฉพาะชาวอินเดียนิยมการเจิมมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ และดูเหมือนจะทำมากที่สุด การเจิมของอินเดียมีหลายแบบแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์            ๙/ ๕๖๘๔
            ๑๕๓๖. เจียง เกียง เกี๋ยง - เดือน  เดือนเจียงคือเดือนอ้าย นับเป็นเดือนที่หนึ่งของลัทธิไทยฝ่ายเหนือ ตรงกับเดือนสิบเอ็ดของลัทธิไทยฝ่ายใต้ ใช้ตรงกับลัทธิจีน เร็วกว่าเดือนจันทรคติตามลัทธิไทยฝ่ายใต้อยู่สองเดือน การที่เป็นเช่นนี้มีเรื่องเล่าว่าเป็นอุบายของพระนางจามเทวีที่บ่ายเบี่ยงการอภิเษกสมรสกับขุนหลวงมาลังคะ หัวหน้าชนเผ่ามิลักขะ ที่มีบ้านเมืองอยู่บริเวณเมืองเชียงใหม่ปัจจุบัน            ๙/ ๕๖๙๓
            ๑๕๓๗. เจียด  เป็นภาชนะสำหรับใส่หมวก มีรูปอย่างหีบหมาก แต่มีเชิง  มีทั้งเจียดทอง เจียดเงิน และเจียดถม ใช้พระราชทานประดับยศเมื่อก่อนมีพานหมาก เมื่อมีพานหมากแล้วเจียดก็เลิกไป            ๙/ ๕๖๙๗
            ๑๕๓๘. เจียรบาด  เป็นผ้าคาดเอวทิ้งชายให้ห้อยลงตรงหน้าขาทั้งสองข้าง เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องทองพระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงฝ่ายชาย ผ้าเจียรบาดเป็นผ้าที่ได้ตบแต่งเย็บปักประดับประดาด้วยวัตถุอันมีค่า เป็นลวดลายงดงาม เมื่อคาดผ้านี้แล้วจึงจะคาดเข็มขัดทับอีกชั้นหนึ่ง            ๙/ ๕๖๙๗
            ๑๕๓๙. แจกคอบไบต์  เป็นชื่อพรรคการเมืองที่สนับสนุนราชวงศ์สจวตที่ลี้ภัยหลังการปฏิวัติ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๑  คำนี้มาจากคำละตินว่าแจกคอบบัส มีความหมายเท่ากับเจมส์ในภาษาอังกฤษ ดังนั้นเมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ ถูกขับออกจากราชบัลลังก์แห่งบริเตนใหญ่แล้ว ประชาชนที่จงรักภักดีต่อพระองค์จึงเรียกพวกตนเองว่า พวกแจกคอบไบต์ในสกอตแลนด์ พรรคนี้กำลังเข้มแข็งกว่าในอังกฤษ และที่นับว่าเข้มแข็งที่สุดในไอร์แลนด์ที่ประชาชนนับถือ คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก
                    พระเจ้าเจมส์ที่ ๒ ทรงถูกถอดออกจากราชสมบัติ เพราะพระองค์ทรงพยายาม ี่จะทำให้ประเทศบริเตนใหญ่ กลายเป็นประเทศที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกอีกครั้งหนึ่ง
                    พวกแจกคอบไบต์ ได้พยายามก่อการขบถต่อพระเจ้ายอร์ชที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๘ และต่อพระเจ้ายอร์ชที่ ๒ ในปี พ.ศ.๓๒๘๘ เพื่อเอาราชสมบัติของบริเตนใหญ่ กลับมาถวายเจ้าชายเจมส์ เอดเวิร์ด สจวต โอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ ๒                ๙/ ๕๖๙๘
            ๑๕๔๐. แจง ๑ - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ ๘ - ๑๒ เมตร ลำต้นเกลี้ยง เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ พบตามป่าเบญจพรรณทั่ว ๆ ไปในประเทศ ชาวบ้านนิยมใช้ไม้ทำดินปืนกัน ใบเรียงสลับกันช่อหนึ่งมี ๓ ใบ ดอกสีขาวออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่ง ผลกลมรี อุ้มน้ำ            ๙/ ๕๗๐๘
            ๑๕๔๑. แจง ๒ - เทศน์  หมายถึง เทศน์สังคายนาเรียกว่า เทศน์แจงคือ แสดงหลักธรรมของพระพุทธศาสนาครบทุกประการคือ แสดงพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม หรือนัยหนึ่งว่าแสดงศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา หรือนัยหนึ่งว่าแสดงปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
                    ประเพณีเทศน์ แจงที่นิยมทำกันนั้นเรียกกันว่า มีแจงหรืองานแจง ถือกันว่าเป็นงานใหญ่งานหนึ่ง เป็นหน้าที่ของลูกจะต้องทำให้พ่อแม่หรือลูกศิษย์ ต้องทำให้ครูอาจารย์ที่เป็นสมภารเจ้าวัด ทำเป็นงานสามวันสามคืน นิยมทำให้พ่อแม่เมื่อตายแล้วเรียกทำภาษาวัดว่า บุพเปตพลี หรือทักษิณานุปทาน
                    ประเพณีมีแจงนั้น ต้องนิมนต์พระเทศน์สามองค์ และต้องเลือกพระผู้ใหญ่ที่อายุพรรษามากหน่อย สมมติให้เป็นพระมหากัสสปองค์หนึ่ง เป็นพระอุบาลีองค์หนึ่ง และเป็นพระอานนท์องค์หนึ่ง มีพระสวดแจงอีกสี่องค์เรียกว่าพระมหานาคคือพระสวดแจง ทั้งเจ็ดองค์นี้ต้องจัดไทยธรรมเสมอกัน คือต้องทำเป็นสังเค็ด เครื่องสังเค็ดมีอัฐบริขารครบสำรับ            ๙/ ๕๗๐๘
            ๑๕๔๒. แจ้ง ๑ - ครู  เป็นครูเสภาที่มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๔ บ้านอยู่หลังวัดระฆัง เป็นคนเพลงมีชื่อเสียง เลื่องลือในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อเลิกเล่นเพลงได้หันมาเล่นเสภา และเป็นนักสวดด้วย ได้แต่งลำสวดไว้หลายบท ส่วนเสภานั้นก็ได้แต่งไว้หลายตอนด้วยกัน            ๙/ ๕๗๑๔
            ๑๕๔๓. แจ้ง ๒ - วัด  ปัจจุบันทางราชการเรียกว่า วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ต.วัดอรุณ อ.บางกอกใหญ่ จ.พระนคร
                    วัดนี้สร้างในสมัยอยุธยา ยังมีโบสถ์และวิหารหลังเล็กหน้าพระปรางค์ ซึ่งเป็นถาวรวัตถุ... ของวัดเป็นหลักฐาน เดิมวัตถุนี้มีชื่อว่า วัดมะกอก ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีชื่อวัดเปลี่ยนใหม่เป็นวัดแจ้ง มีเรื่องเล่าถึงที่มาของชื่อวัดแจ้งว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่าได้แล้ว มีพระราชประสงค์จะทรงย้ายราชธานีมายังกรุงธนบุรี จึงโปรดให้กรีธาพลล่องลงมาทางชลมารคถึงวัดนี้พอดี ได้อรุณหรือรุ่งแจ้ง ทรงเห็นเป็นมหามงคลอุดมฤกษ์ จึงโปรดให้เทียบเรือพระที่นั่ง ณ ท่าน้ำ เสด็จขึ้นนมัสการพระปรางค์ โอกาสต่อมาได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ แล้วโปรดให้เรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดแจ้ง
                    งานเสริมสร้างพระปรางค์มาสำเร็จลงในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระปรางค์สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว ฐานกลม วัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๑๗ วา            ๙/ ๕๑๑๘
            ๑๕๔๔. แจซ  เป็นดนตรีประเภทหนึ่ง ซึ่งมีกำเนิดในหมู่พวกนิโกรอเมริกัน ทางภาคใต้ ของสหรัฐอเมริกา เมื่อกลาง ๆ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ และต่อมาได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วไป เพลงแจซมีทั้งการบรรเลงดนตรีล้วน ๆ และการขับร้องร่วมกับการบรรเลง            ๙/ ๕๗๒๓
            ๑๕๔๕. แจ้ห่ม  อำเภอขึ้น จ.ลำปาง ภูมิประเทศลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีป่าไม้สักเป็นส่วนมาก            ๙/ ๕๗๓๕
            ๑๕๔๖. โจโฉ  เป็นชาวเมืองเฉียว แห่งแคว้นเผ้ย รับราชการทหารมียศชั้นจอมพล เป็นผู้มีไหวพริบ ฉลาดแกมโกง ชอบกล่าวเท็จเพื่อเอาตัวรอด ในวัยหนุ่มชอบเที่ยวเตร่ ชอบชกต่อยตีรันฟันแทง ไม่รักที่จะยึดอาชีพใด ๆ เป็นหลักเป็นฐาน
                    เมื่อโจโฉมีอายุได้ ๒๐ ปี ก็สอบได้ปริญญา (จอหงวน ) และเริ่มออกรับราชการเป็นนายอำเภอ ต่อมาเกิดขบถโจรโผกผ้าเหลือง โจโฉได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารคุมไพร่พลไปร่วมปราบปรามขบถด้วย เมื่อสิ้นขบถแล้วโจโฉได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เมื่อเล็งเห็นผลประโยชน์บางประการ โจโฉจึงลาออกจากราชการ
                    เมื่อตั๋งโต๊ะ ดำเนินการคิดจะครองแผ่นดิน โจโฉได้ดำเนินการจนปราบตั๋งโต๊ะลงได้ พระเจ้าเหี้ยนเต้ จึงโปรดให้โจโฉเป็นนายทหารชั้นจอมพล ต่อมาได้สถาปนาเป็นมหาอุปราช ในปีที่สิบสามแห่งรัชสมัยของพระองค์ และในปีที่สิบเก้าแห่งรัชสมัยของพระองค์ พระมเหสีของพระองค์ถูกโจโฉสั่งสำเร็จโทษ ในปีที่ยี่สิบเอ็ดแห่งรัชสมัยของพระองค์ ทรงสถาปนาโจโฉเป็นอ๋อง อันเป็นบนรรดาศักดิ์สูงสุด
                    โจโฉ ถึงแก่กรรม ณ เมืองลั่วหยาง เป็นปีที่ยี่สิบห้าแห่งรัชสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ (ประมาณปี พ.ศ.๗๖๓) เมื่ออายุได้ ๖๕ ปี         ๙/ ๕๗๓๕
            ๑๕๔๗. โจด  เป็นชื่อเรียกไม้ไผ่ขนาดเล็กชนิดหนึ่ง บางท้องถิ่นเรียกว่า หญ้าเพ็ก
                   ไม้ไผ่ชนิดนี้ พบขึ้นเป็นพืชหนาแน่น ซึ่งเป็นพืชชั้นล่างปกคลุมดินทั่วไป ในป่าแดง ป่าดิบ            ๙/ ๕๗๔๒
            ๑๕๔๘. โจดก - เมือง  เป็นเมืองหนึ่งอยู่ในเวียดนามตอนใต้ ในเขตของแคว้นโดจินจีนเดิม ติดกับเขตแดนประเทศกัมพูชา
                    เมืองโจดก เป็นเมืองหนึ่งที่ทางกัมพูชาอ้างว่าเคยเป็นของกัมพูชามาก่อน
                    สำหรับไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองโจดกนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองและยุทธศาสตร์ สมัยก่อนอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ของกัมพูชาเองเป็นข้อใหญ่ เมื่อญวนกับไทยต้องรบกัน เพราะมีกัมพูชาเป็นเหตุ จุดสำคัญที่ไทยและญวนชิงความได้เปรียบกันนั้น เมืองโจดกก็เป็นจุดหนึ่ง เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ตรงดินแดนที่ติดกันระหว่างกัมพูชาและญวน แต่อยู่ใกล้พนมเปญมากกว่าไซ่ง่อน ถ้าฝ่ายใดคุมเมืองนี้ได้ก็เป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะเมื่อกองทัพเรือของไทยยกไปช่วยกัมพูชา มักไปขึ้นที่บันทายมาศ (พุทไธมาศ) ปัจจุบันคือ เมืองฮาเตียน จากเมืองบันทายมาศไปเมืองโจดก มีคลองตัดตรงไป หากยึดเมืองฮาเตียน และโจดกได้ ก็ป้องกันพนมเปญได้ ทางญวนก็เช่นเดียวกัน ถ้ายึดสองเมืองนี้ได้ก็เข้าตีพนมเปญได้สดวก            ๙/ ๕๗๔๓
            ๑๕๔๙. โจโด - เกียว  เป็นคติความเชื่อทางศาสนาในเรื่องการเกิดใหม่ในสวรรค์สุขาวดีของพระอมิตาภะพุทธเจ้า ความเชื่อถือนี้มีมาตั้งแต่สมัยโชโตกุ โตชิ (พ.ศ.๑๑๓๖ - ๑๑๖๔) แล้ว ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โฮเนน (พ.ศ.๑๖๗๖ - ๑๗๕๕) ก็ได้ตั้งพุทธศาสนิกายโจโดขึ้น            ๙/ ๕๗๕๐
            ๑๕๕๐. โจโดชิน - ชู  เป็นชื่อพุทธศาสนานิกายหนึ่งที่ชินแรน (พ.ศ.๑๗๑๖ - ๑๘๐๕)  ได้ตั้งขึ้น นิกายนี้ได้พัฒนาคำสอนของโจโด และเทศนาสอนเรื่องความหลุดพ้นที่เป็นหลักของนิกายนี้ไว้ว่า "แม้คนชั่วก็อาจได้รับโอกาสเพื่อความหลุดพ้น"         ๙/ ๕๗๕๑
            ๑๕๕๑. โจโด - ชู  เป็นพุทธศาสนานิกายใหม่ที่โชเนน (พ.ศ.๑๖๗๖ - ๑๗๕๕)  ได้ตั้งขึ้นโชเนนได้พัฒนาคำสอนของศาสนาโจโด ให้เจริญยิ่งขึ้น แม้ว่าจะได้รับการปราบปรามจากพุทธศาสนาแบบเดิม ๆ อย่างรุนแรง แต่อิทธิพลของคำสอนนี้ก็ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอย่างมั่นคง         ๙/ ๕๗๕๒
            ๑๕๕๒. โจผี  เป็นบุตรคนโตของโจโฉ มีความสามารถในการประพันธ์บทกวีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองแต่ครั้งยังเยาว์ รักการร่ายรำทำเพลง อาวุธนานาชนิด ชำนาญในการยุทธสงคราม
                     ในปีที่ ๑๖ แห่งสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ ราชวงศ์ฮั่น โจผีได้ดำรงตำแหน่งรองมหาอุปราชของแผ่นดินจีน เมื่อสิ้นโจโฉ โจผีได้ดำรงตำแหน่งอ๋องแทนบิดา พระเจ้าเหี้ยนตี้ ได้ทรงสละราชสมบัติให้แก่โจผี แต่แคว้นจกและกังตั๋งยังไม่ยอมรับรองความเป็นฮ่องเต้ของโจผี
                     โจผีครองราชย์ได้ ๗ ปี ก็ถึงแก่กรรม เมื่ออายุได้ ๓๙ ปี         ๙/ ๕๗๕๒
            ๑๕๕๓. โจงสุหรั่ง  เป็นนายพวกโจรสลัดในเรื่องพระอภัยมณี คุมเรือกำปั่นใหญ่ พร้อมด้วยกำปั่นน้อย ประมาณ ๕๐๐ ลำเป็นบริวาร เที่ยวไปในทะเล คอยดักตีเรือพวกพ่อค้าพานิช เอาสิ่งของที่มีราคาได้มาพบสินสมุทกับนางสุวรรณมาลี อยู่บนแผ่นผาเนื่องจากเรือแตก จะขอโดยสารไปด้วยจนถึงฝั่ง จึงรับคนทั้งสองมาลงเรือกำปั่นใหญ่ โจรสุหรั่งเห็นนางสุวรรณมาลีรูปสวยคิดจะได้นางมาเป็นของตน จึงมอมเหล้าสินสมุท นางสุวรรณมาลีเจรจาบ่ายเบี่ยง ออกอุบายให้สินสมุทตื่นขึ้นก่อน เมื่อสินสมุทฟื้นขึ้นรู้เรื่องก็โกรธฆ่าโจรสุหรั่งตาย         ๙/ ๕๗๓๔
            ๑๕๕๔. โจว  ราชวงศ์หนึ่งของจีน  ดูจิว (ลำดับที่ ๑๔๓๖)         ๙/ ๕๗๕๕
            ๑๕๕๕. โจสิด (พ.ศ.๗๔๕ - ๗๗๕)  เป็นบุตรคนสุดท้องของโจโฉ เมื่ออายุเพียง ๑๐ ปี ก็สามารถท่องจำโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ของโบราณกวีไว้ได้หลายพันบท ทั้งยังสามารถแต่งบทประพันธ์ต่าง ๆ ได้อย่างดียิ่ง จึงเป็นที่โปรดปรานของบิดามาก มีอยู่หลายครั้งที่โจโฉประสงค์จะแต่งตั้งโจสิดเป็นผู้สืบตำแหน่ง "อ๋อง" แทนตน แต่โจสิดเป็นคนเจ้าอารมณ์ มักทำการตามอำเภอใจ และไม่สำรวมในการดื่มสุรา บุคคลิกลักษณะเหล่านี้แตกต่างจากโจผีมาก
                      เมื่อโจโฉสิ้นชีพลง โจผีขึ้นครองตำแหน่ง "อ๋อง" แทน ต่อมาได้สถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้แทน ได้พยายามหาเหตุฆ่าโจสิด แต่โจสิดก็ใช้ความสามารถเอาตัวรอดได้         ๙/ ๕๗๕๕
            ๑๕๕๖. โจฬมณฑล  เป็นชื่อประเทศทางภาคใต้ของอินเดียสมัยโบราณ มีดินแดนนับตั้งแต่ฝั่งทะเล โคโรมันเดลแห่งอินเดีย ภาคใต้ไปจนถึงแม่น้ำเพนเนอร์ ตันโจร์ ปัจจุบันได้แก่ ดินแดนส่วนหนึ่งแถบฝายฝั่งทะเลของแคว้นมัทราส และแคว้นอันธรประเทศ ประชาชนส่วนมากเป็นชาวทมิฬ เรียกว่า โจละหรือโจฬะส่วนมากนับถือศาสนาฮินดู
                     พงศาวดารลังกากล่าวถึงพวกโจฬะหรือโจฬทมิฬว่ายกกองทัพไปย่ำยี และปล้นสะดมลังกาบ่อย ๆ ถ้ากษัตริย์ลังกาองค์ใดอ่อนแอ พวกโจฬะก็มักตั้งตัวเป็นกษัตริย์ครองลังกาเสียเอง
                     กษัตริย์โจฬะที่นับว่ามีชื่อเสียงที่สุดคือพระเจ้าราชราชที่ ๑ (พ.ศ.๑๕๒๘ - ๑๕๕๖) กับกษัตริย์ราเชนทรที่ ๑ (พ.ศ.๑๕๕๖ - ๑๕๘๕) ในสมัยราชวงศ์โจฬะ มีอำนาจและรุ่งเรืองถึงที่สุด พระเจ้าราชราชพิชิตลังกาได้ และพระเจ้าราเชนทร ได้ยกกองทัพรุกไปจนถึงปากแม่น้ำคงคา แล้วส่งกองทัพเรือไปพิชิต และครอบครองส่วนหนึ่งของพม่า มลายู และสุมาตราได้ แต่ยึดครองอยู่ได้ไม่นานนัก
                     อำนาจของพวกโจฬะได้เสื่อมลง เมื่อสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ต่อมาดินแดนแถบภาคใต้ของอินเดียก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาอิสลาม จนกระทั่งคราวหนึ่งถึงกับตั้งระบบการปกครองแบบสุลต่านขึ้นที่เมืองมถุรา ทางใต้สุดของอินเดีย
                     กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์โจฬะคือ พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๓ ซึ่งทรงเป็นเจ้าชายที่ยังเป็นอิสระ อยู่จนถึงปี พ.ศ.๑๘๑๐ หลังจากนั้นก็ไม่ทราบเรื่องราวของราชวงศ์โจฬะอีก         ๙/ ๕๗๕๗
            ๑๕๕๗. ไจตันยะ (พ.ศ.๒๐๒๘ - ๒๐๗๖)  เป็นนักบุญที่สำคัญที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของศาสนาฮินดู นิกายไวษณพ ไจตันยะเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่คงแก่เรียน แห่งเมืองนะทิอา ในแคว้นเบงกอล พออายุได้ ๒๔ ปี ก็สละโลก ใช้เวลาทั้งหมดเทศน์สอนเรื่องความรักและภักดีอยู่ในแคว้นโอริสสาเป็นเวลาถึง ๑๘ ปี และในแคว้นเดกกัน และทีอื่น ๆ อีก ๖ ปี สานุศิษย์ของท่านเข้าใจว่าท่านเป็นอวตารของพระนารายณ์ ท่านคัดค้านเรื่องการประกอบพิธีรีตองทางศาสนา ประณามการถือชั้นวรรณะ และสอนให้มีศรัทธาในพระนารายณ์          ๙/ ๕๗๗๐

ฉ.

            ๑๕๕๘. ฉ. พยัญชนะตัวที่เก้าของอักษรไทย  เป็นตัวที่สองของวรรคที่สอง อยู่ในจำพวกอักษรสูง มีฐานกรณ์เกิดแต่เพดาน (ตาลุชะ) เป็นชนิดอโฆษะคือ มีเสียงหนัก ไม่ก้อง         ๙/ ๕๗๗๒
            ๑๕๕๙. ฉกษัตริย์  เป็นชื่อกัณฑ์ที่สิบสองในเรื่องมหาชาติ หรือเรื่องเวสสันดรชาดก ใจความของกัณฑ์นี้กล่าวถึงกษัตริย์ทั้งหก พระองค์คือ พระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระเวสสันดร พระนางมัทรี พระชาลีราชกุมาร พระกัณหาราชกุมารี ซึ่งจากกันไป แล้วได้กลับเสด็จมาพบกัน ดีพระทัยถึงสลบไปทั้งหกพระองค์ ท้าวสักกะจึง
ทรงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษ ตกลง ณ สมาคมกษัตริย์ทั้งหกพระองค์ก็กลับฟื้นพระองค์เป็นมหัศจรรย์         ๙/ ๕๗๗๒
            ๑๕๖๐. ฉกามาพจร  เป็นสวรรค์หรือเทวโลกชั้นกามาพจรหกชั้นคือ ชั้นจตุมหาราชิกา ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสัตดี
                คำว่าชั้นกามาพจรแปลว่า ชั้นที่ยังยินดีในเบญจกามคุณคือ รูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส อย่างเดียวกับมนุษย์ เพียงแต่สมบูรณ์กว่า และปราณีตกว่าเท่านั้น และแต่ละชั้นก็ประณีตกว่ากันขึ้นไปตามลำดับ         ๙/ ๕๗๗๕
            ๑๕๖๑. ฉนาก - ปลา  เป็นปลากระดูกอ่อน อยู่ในพวกกระเบน หางหนา ปากบนเป็นกระดูกแข็ง แบ่งออกเป็นแฉกเล็ก ๆ อีกข้างละ ๑๗ - ๓๕ อัน         ๙/ ๕๗๘๐
            ๑๕๖๒. ฉบัง  เป็นชื่อกาพย์ชนิดหนึ่ง บทละ ๑๖ คำ (ดูกาพย์ - ลำดับที่ ๓๗๓)         ๙/ ๕๗๘๑
            ๑๕๖๓. ฉลองพระองค์ - พระพุทธปฏิมากร  หมายถึง พระพุทธรูปเท่าพระองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์         ๙/ ๕๗๘๑
                     เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องต้น (ดูเครื่องต้นประกอบ - ลำดับที่ ๑๑๐๓) ประดับเนาวรัตน์ในอิริยาบทยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์เป็นกิริยาห้าม ซึ่งเรียกกันว่า ปางห้ามสมุทร
                     พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์ในกรุงรัตนโกสินทร์มีอยู่เพียงสิบองค์ที่ประดิษฐานอยู่บนฐานมุมพระเบญจาที่ตั้งบุษบก ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
                     ประเพณีการหล่อพระเท่าพระองค์หรือพระเท่าตัวนั้นมีมาแต่โบราณ  บรรดาเจ้านาย ขุนนาง และราษฎรที่มีฐานะมักนิยมหล่อพระเท่าพระองค์ หรือเท่าตัวไว้ให้บุตรหลาน และผู้ที่เคารพนับถือได้บูชาเป็นเครื่องระลึกถึง เมื่อตัวผู้เป็นเจ้าของล่วงลับไปแล้ว
                     หลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ แล้ว ในรัชสมัยต่อมาไม่ปรากฏว่าได้ทรงสร้างพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์ทรงเครื่องกษัตริย์ขึ้นอีก
                     การสร้างพระเท่าตัวนั้นจะสร้างเป็นพระปางใดก็ได้ไม่จำกัด แต่พระที่สร้างเป็นพระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์นั้นสร้างเป็น พระปางห้ามสมุทรแบบเดียวกันหมด
            ๑๕๖๔.  ฉลอม - เรือ  เป็นเรือต่อชนิดหนึ่งที่นิยมใช้กันตามจังหวัดที่ตั้งอยู่ตามฝั่งทะเล โดยเฉพาะที่จังหวัดสมุทรสาคร มีตำบลอยู่ตำบลหนึ่งเรียก ตำบลท่าฉลอม         ๙/ ๕๗๘๗
                    เรือฉลอมเป็นทั้งเรือหาปลา เรือบรรทุกและเรือสินค้า  ถ้าบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม ทางการอาจเกณฑ์เอาไปใช้เป็นเรือรบด้วยก็ได้
                    เรือฉลอมเป็นเรือที่ต่อขึ้นด้วยการเอาตัวไม้ เช่น กระดูกงู กง กราบ เป็นต้น ประกอบกันเข้าเป็นลำเรือ ไม่ใช่เรือขุดอย่างภาคเหนือ เรือฉลอมโดยปรกติติดใบเพื่อให้เรือแล่น แต่ก็มีบางลำติดแจวหรือกรรเชียงได้ด้วยเพื่อใช้ในโอกาสที่แล่นเข้าไปในแม่น้ำลำคลอง และในเวลาที่ไม่มีลม
            ๑๕๖๕. ฉลาม - ปลา  เป็นปลากระดูกอ่อน รูปร่างค่อนข้างกลม และเพรียวลม ว่ายน้ำได้คล่องแคล่ว และว่องไวมาก ในเมืองไทยมีฉลามหลายสกุลหลายชนิด แบ่งออกได้เป็นสี่วงศ์คือ ฉลามหิน ฉลามปลาวาฬ ฉลามหนู และฉลามหัวค้อน         ๙/ ๕๗๙๑
            ๑๕๖๖. ฉวาง ๑  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ภูมิประเทศทางตะวันออกเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา ทางตะวันตกเป็นโคกสลับแอ่งเหมาะแก่การทำสวนยาง         ๙/ ๕๗๙๒
            ๑๕๖๗. ฉวาง ๒  เป็นวิชาเลขชั้นสูงของโบราณ มีสองอย่างคือ ฉวางเชิงชัก และฉวางเกร็ด ที่เรียกว่าฉวางนั้นเพราะตั้งแต่สามจำพวกขึ้นไป ฉวางเชิงชักนั้นต้องพร้อมด้วยวิธีเจ็ดอย่างคือ จำพวก จำบัง ฉวาง นิกร พยุหร ทรัพย์ พรรนก  ส่วนฉวางเกร็ดน้นมีไม่ครบทั้งเจ็ดวิธี         ๙/ ๕๗๙๔
            ๑๕๖๘. ฉะ  เป็นชื่อท่ารำตอนหนึ่งของการแสดงโขนเฉพาะยักษ์กับลิง ท่ารำที่เรียกว่า "ฉะ" นี้อยู่ในแม่ท่าคือท่าที่เป็นแบบฉบับ แยกออกเป็นสองลักษณะคือ ฉะใหญ่กับฉะน้อย
                    ท่าฉะใหญ่และฉะน้อยนี้ นอกจากจะอยู่ในแม่ท่าแล้ว ยังนำมาใช้รำในเพลงเชิด และเพลงปฐมได้ทั้งยักษ์และลิง ท่าฉะใหญ่นั้นสำหรับเวลาที่ดนตรีดำเนินจังหวะช้า ส่วนท่าฉะน้อยนั้นสำหรับรำเวลาที่ดนตรีดำเนินจังหวะเร็ว         ๙/ ๕๗๙๗
            ๑๕๖๙. ฉะเชิงเทรา  จังหวัดภาคกลาง สามัญเรียกว่า แปดริ้ว มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกจด จ.นครนายก และ จ.ปราจีนบุรี  ทิศใต้จด จ.ชลบุรี ระยองและตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตกจด จ.พระนคร และ จ.สมุทรปราการ
                    ฉะเชิงเทราตั้งเป็นเมืองขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยารัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เป็นที่ระดมพลในเวลาสงคราม เคยเป็นที่ตั้งศาลาว่าการมณฑลปราจีน
                    ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม โดยมากมีป่าและเขาจำนวนน้อย        ๙/ ๕๗๙๘
            ๑๕๗๐. ฉะหน้าโรง  เป็นการร้องเพลงฉ่อย หรือเพลงทรงเครื่องในตอนเบิกโรง ซึ่งโดยประเพณีแล้วจะต้องเริ่มด้วยการไหว้ครูคือ ทั้งฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง จะออกมาร้องไหว้คุณพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ ตลอดจนคุณบิดามารดาเสียก่อน เมื่อจบแล้วปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลงสาธุการ จบแล้วพ่อเพลง (หัวหน้าฝ่ายชาย) ก็จะเริ่มร้องเป็นการประเดิมเบิกโรง ตอนนี้แหละที่เรียกว่า ฉะหน้าโรง การว่าเพลงกันในตอนนี้ ผู้ชายจะร้องเชิญชวนจนฝ่ายหญิงออกมาร่วมร้องด้วย แล้วก็ร้องเกี้ยวพาราสีกัน และว่ากันเจ็บ ๆ แสบ ๆ         ๙/ ๕๘๐๑
            ๑๕๗๑. ฉัตร  ๑ - ต้น  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้หลายชนิดได้แก่ฉัตรทอง ฉัตรพระอินทร์ ฉัตรสามชั้น เป็นต้น         ๙/ ๕๘๐๓
            ๑๕๗๒. ฉัตร ๒  เป็นเครื่องสูงสำหรับแขวน ปักตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ มีรูปร่างคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่างลดหลั่นกันไปโดยลำดับ ฉัตรไม่ว่าจะกี่ชั้นก็ตาม เป็นของตัวเองหนึ่งชั้น นอกนั้นจะมีซ้อนกันอยู่ที่ชั้น ก็หมายความว่าเป็นผู้ชนะกี่ทิศ เช่น ฉัตรสามชั้น หมายถึงผู้ชนะในสองทัพ  ฉัตรเก้าชั้นหมายถึงผู้ชนะในแปดทิศ
                    คนไทยจะใช้ฉัตรเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศแต่ครั้งใดไม่ปรากฎหลักฐาน แต่ในสมัยอยุธยาได้มีการใช้ฉัตรเป็นเครื่องหมายประกอบเกียรติยศ มาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เพราะมีข้อความในกฎมณเฑียรบาลฉบับที่ตราขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๑ กำหนดไว้ว่า "หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า ได้อภิรมสามชั้น พระอุปราชได้อภิรมสองชั้น"
                    ฉัตรมีอยู่สองประเภทคือ เป็นฉัตรแขวนหรือปักเป็นเครื่องแสดงพระอิสริยยศ ผู้ทรงฉัตรประเภทหนึ่ง เป็นฉัตรตั้งในพิธีหรือเชิญไปในขบวนแห่ เพื่อเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศอีกประเภทหนึ่ง ฉัตรสำหรับแขวนหรือปัก เป็นฉัตรเดี่ยวมีอยู่สี่ชนิดคือ เศวตฉัตร (ฉัตรขาว)  ฉัตรขาวลายทอง ฉัตรตาด และฉัตรโหมด ทั้งหมดเป็นฉัตรเตี้ย ใช้แขวนหรือปักเดี่ยววทั้งสิ้น เว้นพระมหาเศตวฉัตรที่ถวายในโอกาสที่พระมหากษัตริย์เสด็จขึ้นเถลิงราชสมบัติ บรมราชาภิเษกเท่านั้น ที่เป็นฉัตรทรงชะลูด ฉัตรแต่ละชนิดมีชั้นมีสี และใช้สำหรับแสดงอิสริยยศต่างกันคือ
                    ๑. เศวตฉัตร  เป็นฉัตรผ้าขาวทรงกว้างมีสี่แบบคือ นพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นฉัตรเก้าชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษก ตามโบราณขัตติยราชประเพณีแล้ว เรียกกันโดยย่อว่า พระมหาเศวตฉัตร พระสัปตปฎลเศวตฉัตร เป็นฉัตรเจ็ดชั้น สำหรับพระอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ที่ยังมิได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระอัครมเหสี สมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระยุพราช เบญจปฎลเศวตฉัตร เป็นฉัตรห้าชั้น สำหรับพระราชวงศ์ที่ดำรงพระยศเจ้าฟ้า พระมเหสีชั้นพระราชเทวี และพระอัครชายาเธอ กับสกลมหาสังฆปรินายก ที่ได้รับสมณุตมาภิเษกเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
                    ๒. ฉัตรขาวลายทอง  เป็นฉัตรห้าชั้น พื้นขาวเขียนลายทองห้อยจำปาทอง เป็นฉัตรสำหรับพระบรมราชวงศ์ ชั้นพระองค์เจ้าที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าต่างกรม ชั้นสมเด็จกรมพระยา
                    ๓. ฉัตรตาด  มีสองแบบคือ ฉัตรตาดขาวห้าชั้น เป็นฉัตรสำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา ของพระมหากษัตริย์ ที่ดำรงพระยศพระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมพระ
                    ฉัตรตาดเหลืองห้าชั้น  สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา ของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระยศ พระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมหลวง กับเป็นฉัตรสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
                    ๔. ฉัตรโหมด  มีห้าแบบคือ ฉัตรโหมดขาวห้าชั้น สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา ของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมขุน ฉัตรโหมดเหลืองห้าชั้น สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดา ของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าต่างกรมชั้นกรมหมื่น ฉัตรโหมดทองห้าชั้น สำหรับพระราชโอรส พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าแต่มิได้ทรงกรม ฉัตรโหมดเงินสามชั้น สำหรับพระโอรส พระธิดา ในสมเด็จพระบวรราชเจ้า ที่ดำรงพระอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าต่างกรม ฉัตรโหมดทองสามชั้น สำหรับพระโอรส พระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้า ที่มิได้ทรงกรม
                    สำหรับฉัตรตั้งในพิธี หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ มีอยู่หกชนิดคือ
                    ๑. พระมหาเศวตฉัตรกรรภิรมย์  เป็นฉัตรห้าชั้น สำรับหนึ่งมีสามองค์คือ พระเสนาธิปัตย พระฉัตรไชย พระเกาวพ่าห์ (ดูก กรรภิรมย์ - ลำดับที่ ๔๘)
                    ๒. พระอภิรุมชุมสาย  เป็นฉัตรเครื่องสูง สำหรับใช้ในกระบวนแห่ หรือสวมฐานตั้งเป็นเกียรติยศ ประจำสถานที่หรือเฉพาะงาน สำรับหนึ่งประกอบด้วย ฉัตรเจ็ดชั้น ๔  ฉัตรห้าชั้น ๑๐  ฉัตรชุมสาย ๕
                    อภิรุมชุมสายนี้ มีสองแบบคือ แบบปักหักทองขวางแบบหนึ่ง และแบบลายทองแผ่ลวดอีกแบบหนึ่ง
                    ๓. ฉัตรเครื่องสูงวังหน้า  เป็นเครื่องสูงสำหรับสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวร ฯ และ พระราชโอรส - ธิดา สำรับหนึ่งมีฉัตรห้าชั้น ๔ และฉัตรสามชั้น ๑๐
                    ๔. ฉัตรเครื่อง  เป็นฉัตรห้าชั้น ใช้สำหรับศพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ศพผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นเจ้าพระยาสุพรรณบัฎ หรือหิรัญบัฎ องคมนตรี ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ที่ถึงอสัญกรรมในตำแหน่ง
                    ๕. ฉัตรเบญจา  เป็นฉัตรห้าชั้น ใช้สำหรับการศพพระราชวงศ์ ชั้นหม่อมเจ้า ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่ำกว่า ทุติยจุลจอมกล้าวิเศษลงมา พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ แต่พระราชาคณะชั้นธรรม ถึงพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง และผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าขึ้นไป แต่ไม่ถึงปฐมจุลจอมเกล้า รวมทั้งบิดามารดาของผู้กำลังดำรงตำแหน่งองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานสภา ฯ และประธานศาลฎีกา ด้วย
                    ๖. ฉัตรราชวัติ  คำว่า ราชวัติ หมายถึง รั้วที่มีฉัตรปักเป็นระยะ ใช้ฉัตรสีต่าง ๆ อันเป็นแม่สี  ซึ่งเรียกกันว่า เบญจรงค์ และฉัตรเงิน ทอง นาค ชั้นของฉัตรสุดแล้วแต่งาน          ๙/ ๕๘๐๓
            ๑๕๗๓. ฉัตรมงคล - พระราชพิธี  เรียกเป็นเฉพาะว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล เรียกวันทำพระราชพิธีนั้นว่า วันฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีที่กำหนดให้มีขึ้น โดยถือวันครบรอบปีแห่งการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ของพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ แต่ละรัชกาลอันถือว่าเป็นวันมหามงคลสมัย
                     พระราชพิธีฉัตรมงคลนี้เริ่มมีขึ้นในรัชกาลที่สี่ ซึ่งเดิมเป็นเพียงการสมโภชเครื่องราชูปโภค และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำกันเอง หาได้เกี่ยวข้องเป็นการหลวงไม่         ๙/ ๕๘๑๕
            ๑๕๗๔. ฉัททันต์ ๑  เป็นชื่อสระใหญ่สระหนึ่งในจำนวนเจ็ดสระ ซึ่งถือว่าเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำใหญ่ทั้งห้าสาย ในประเทศอินเดียคือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหี          ๙/ ๕๘๒๐
            ๑๕๗๕. ฉัททันต์ ๒  เป็นชื่อตระกูลช้างสำคัญตระกูลหนึ่งในจำนวนสิบตระกูล ในช้างสิบตระกูลนี้ ตระกูลฉัททันต์และตระกูลอุโบสถ ได้รับการยกย่องว่าเป็นตระกูลชั้นสูง "ช้างอาชาไนย" คือ ช้างที่ได้รับยกย่องว่า มีกำเนิดดี แสนรู้ ฝึกหัดได้ง่ายนั้น ย่อมเกิดจากสองตระกูลนี้เท่านั้น
                     ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรา บำเพ็ญบารมี เพื่อเป็นพระพุทธเจ้านั้น ก็ได้เคยเกิดในตระกูลช้างฉัททันต์นี้ (ดู ฉัททันต์ ๓ - ลำดับที่ ๑๕๖๐)         ๙/ ๕๘๒๔
            ๑๕๗๖. ฉัททันต์ ๓  เป็นชื่อช้างโพธิสัตว์เชือกหนึ่ง เกิดในตระกูลช้างฉัททันต์ ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณสระฉัททันต์ ในป่าหิมพานต์ ได้เป็นจ่าฝูงช้าง ช้างบริวารสืบต่อจากพ่อ พระยาช้างมีนางพระยาช้างพัง สองเชือกเป็นคู่ครองชื่อ มหาสุภัททา และจุลสุภัททา ต่อมานางช้างจุลสุภัททา หาว่าพระยาช้างฉัททันต์ลำเอียงรักนางพระยาช้างมหาสุภัททามากกว่าตน จึงตั้งความอาฆาตไว้ว่า เมื่อใดตนมีโอกาสจะขอแก้แค้นให้สาสม
                     ต่อมาเมื่อพระโพธิสัตว์ปรุงผลมะซาง และเผือกมันด้วยน้ำผึ้ง ถวายพระปัจเจกพระพุทธเจ้า จำนวน ๕๐๐ องค์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่บริเวณสระฉัททันต์นั้น ครั้งนั้น นางพระยาช้างจุลสุภัททาก็ได้ปรุงผลไม้ถวายพระปัจเจกพระพุทธเจ้าด้วย แล้วได้อธิษฐานขอให้ไปเกิดในราชตระกูลมัทราช มีนามว่า สุภัททา เมื่อเจริญวัยแล้ว ขอให้ได้เป็นอัครมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้าพาราณสี จนได้มีโอกาสล้างแค้นพระยาช้างฉัททันต์ได้สำเร็จ
                     ด้วยแรงอธิษฐานนั้น เมื่อนางตายไปก็ได้ไปเกิดในราชตระกูลมัทราช และได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี สมตามที่ได้อธิษฐานไว้ พระนางได้ทรงเลือกนายพรานชื่อ โสณุตตระ มาบอกอุบายวิธีที่จะจับพระยาช้าง ตลอดจนทางที่จะไปยังสระฉัททันต์ นายพรานทำตามที่พระนางรับสั่ง ได้พบพระยาช้าง และได้ใช้หน้าไม้อาบยาพิษยิงทันที พระยาช้างเห็นนายพรานมีจีวรหุ้มกาย จึงไม่กล้าทำร้ายเพราะมีความเคารพในพระปัจเจกพุทธเจ้ามาก และเมื่อพระยาช้างทราบเรื่องจากนายพรานว่า ต้องการงาจึงยอมให้ตัดงาของตน และยังใช้งวงจับเลื่อย ช่วยตัดจนสำเร็จ พระยาช้างก็สิ้นชีวิต เมื่อนายพรานเอางาไปถวายพระนาง เมื่อพระนางทราบว่า พระยาช้างฉัททันต์สิ้นชีวิต ก็เศร้าโศกเสียพระทัย และได้สวรรคตในคืนนั้นเอง         ๙/ ๕๘๒๖

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |