| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

เล่ม ๘  จรวด - จี๊ด      ลำดับที่ ๑๒๘๘ - ๑๔๔๐      ๘/ ๔๕๔๙ - ๕๒๐๘

            ๑๒๘๘. จรวด  ๑. เป็นชื่อดอกไม้ไฟชนิดพุ่งขึ้นสูงมีหาง เรียกกันเป็นสามัญว่า กรวด ในคำประพันธ์ใช้ว่า ตรวจก็มี
                         จรวด หรือกรวด ดังกล่าวถ้าเป็นขนาดใหญ่มากเรียกว่า บ้องไฟ หรือบั้งไฟ ซึ่งเป็นการเล่นไฟของชาวไทยทางภาคอีสาน (ดู บ้องไฟ ลำดับที่ ....)
                         จรวด หรือกรวด นี้ปรากฎในหนังสือเก่าว่า จุดเพื่อเป็นพุทธบูชา นอกจากนั้นในงานเผาศพ ก็มีจุดกันด้วยเหมือนกัน
                          ๒. เป็นพาหนะ ซึ่งเคลื่อนที่ได้ตามหลักเกณฑ์ของแรงสะท้อน ด้านท้ายของเครื่องยนต์จรวด เป็นพวยมีลักษณะเป็นปากแตร กาซร้อนพุ่งออกมาด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดแรงปฎิกิริยา ผลักจรวดไปในทิศทางตรงข้าม
                         ขีปนาวุธ เป็นจรวดซึ่งใช้เป็นพาหนะ นำอาวุธระเบิดไปทำลายเป้าหมายไกล ๆ
                         จรวด เป็นพาหนะชนิดเดียว ที่ใช้ในการสำรวจอวกาศ        ๘/ ๔๕๔๙
            ๑๒๘๙. จระเข้  เป็นสัตว์เลื้อยคลานวงศ์แรก หรือพวกแรกที่เริ่มพัฒนาการด้านกายวิภาคศาสตร์ โดยมีหัวใจครบสี่ห้อง เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป ผิดกับสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ ที่มีหัวใจเพียงสามห้อง นอกจากนี้ยังมีกระบังลมแบ่งช่องทรวงอก กับช่องท้องออกเป็นสองส่วน เช่นเดียวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
                         ตามปกติจระเข้อยู่ในน้ำ และชอบขึ้นมาตากแดดตอนเช้า จระเข้ในประเทศไทยมีสามชนิด
                        ๑. จระเข้เค็ม  มีส่วนปากยาวกว่าจระเข้น้ำจืดมาก อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด มีอยู่ตั้งแต่อ่าวเบงกอล ตามชายฝั่งเกาะลังกา อินเดีย ตลอดไปจนถึงฮ่องกง ทางใต้มีไปถึงเกาะมลายู อินโดนิเซีย จนถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย เกาะโซโลมอน และเกาะฟิจิ
                        ๒. จระเข้น้ำจืด  มีส่วนปากทู่และสั้นกว่าจระเข้น้ำเค็ม มีอาศัยอยู่ในลำน้ำ และในบึงของประเทศไทย เขมร และเวียดนาม ไปจนถึงเส้นรุ้ง ๑๖ องศาเหนือ ทางปักษ์ใต้ถึงตอนเหนือของมลายู และเคยมีในชวาด้วย
                        ๓. ตะโขง  หรือจระเข้ปากกระทุงเหว มีปากเรียวยาว มีอยู่ในประเทศไทย มลายู บอร์เนียว และในหมู่เกาะมลายูอื่น ๆ ในประเทศไทยมีอยู่ในลำน้ำใกล้ไปทางมลายู       ๘/ ๔๕๕๐
            ๑๒๙๐. จระนำ  เป็นสถาปัตยกรรมแบบที่ทำเป็นซุ้ม รูปคล้ายหน้าต่าง ติดตั้งอยู่ใต้ชายคาอาคาร  ในระดับเดียวกับคอสอง เพื่อเป็นช่องลมระบายอากาศ หรือให้แสงสว่างเข้า บางทีก็ทำลึกเข้าไปเล็กน้อย ข้างในในอุดตัน เพื่อเพิ่มความงดงามให้แก่อาคาร
            ๑๒๙๑. จราจร - การ  หมายถึง การที่ยวดยานพาหนะ เคลื่อนที่ไปตามทางทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ รวมถึงการที่คนเดินเท้าไปตามทาง และการที่สัตว์พาหนะถูกต้อน หรือขับขี่ไปตามทาง
                        คำจารจรนี้ เพิ่งใช้กันแพร่หลาย เมื่อทางราชการได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก  พ.ศ.๒๔๗๗
                        การจราจร อาจแบ่งออกได้เป็นสามทางด้วยกันคือ
                        ๑. การจราจรทางบก  ได้แก่ การที่ยวดยานทุกชนิด การเดินเท้าและสัตว์ พาหนะเคลื่อนไปตามทางบก
                        ๒. การจราจรทางน้ำ  ได้แก่ การที่ยวดยานพาหนะทางน้ำทุกชนิดเคลื่อนไปในแม่น้ำลำคลองตลอดถึงเขตน่านน้ำในทะเลด้วย
                        ๓. การจราจรทางอากาศ  ได้แก่ การที่อากาศยานทุกชนิดเคลื่อนไปทั้งในเขตของประเทศ และเขตติดต่อกับต่างประเทศตามสัญญาระหว่างประเทศ
                        เฉพาะในประเทศไทย ทางราชการได้ออกกฎหมายควบคุม และวางระเบียบเป็นข้อบังคับกำหนดวิธีการปฏิบัติให้เป็นแบบเดียวกัน เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๔๗๗  พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.๒๔๕๖  พ.ร.บ.ควบคุมการจอดเรือในแม่น้ำลำคลอง พ.ศ.๒๔๗๙  พ.ร.บ.ป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ.๒๔๙๗ และกฎกระทรวง  พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.๒๔๙๗ และกฎกระทรวง
            ๑๒๙๒. จริยศาสตร์  เป็นสาขาหนึ่งของวิชาปรัชญา เป็นวิชาที่ศึกษาเรื่องคุณค่าแห่งพฤติกรรม และคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ปัญหาที่นักจริยศาสตร์พยายามที่จะให้คำตอบก็คือ ความดี ความชั่ว ผิด ถูก คืออะไร มีมาตรฐานอะไรหรือไม่ มาตรฐานนั้นเปลี่ยนแปลงได้หรือว่าแน่นอนตายตัว ความดีหรือความไม่ดี เป็นสิ่งที่ใจมนุษย์คิดขึ้นเอง หรือว่า
เป็นลักษณะที่มีอยู่จริงในการกระทำอันนั้น             ๘/ ๔๕๘๑
            ๑๒๙๓. จริยศึกษา  คือการศึกษาที่ก่อให้เกิดความรู้ เจตคติและทักษะในเรื่องศีลธรรม และวัฒนธรรมทั้งปวง จริยศึกษาเป็นเรื่องของสังคมส่วนรวมโดยแท้จริง         ๘/ ๔๕๘๔
            ๑๒๙๔. จริยาปิฎก  เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยพระจริยา (การบำเพ็ญบารมี) ของพระพุทธเจ้าในชาติที่ล่วงแล้ว รวมอยู่ในขุททกนิกายแห่งพระสุตตันตปิฎก จริยาที่ท่านรวบรวมไว้ในจริยาปิฎกนี้ จำกัดเฉพาะที่ทรงประพฤติในกัลป์สุดท้ายที่เรียกว่า ภัทรกัลป์นี้เท่านั้น ซึ่งมีอยู่ ๓๕ จริยา หรือ ๓๕ ชาติด้วยกัน ท่านจัดเป็นสามวรรคคือ
                         วรรคแรก  เรียก  อกิตติวรรค มีสิบจริยา เริ่มด้วยอกิตติจริยา คือความประพฤติครั้งเสวยพระชาติเป็นอกิตติดาบส ในวรรคนี้เลือกสรร เฉพาะชาติที่ทรงบำเพ็ญทานบารมีเป็นสำคัญ
                          วรรคที่สอง  เป็นหัตถินาควรรค มีสิบจริยา เริ่มด้วยมาตุโปสภจริยา คือความประพฤติครั้งเสวยพระชาติเป็นช้างเผือกผู้เลี้ยงมารดา
ซึ่งตาบอด ในวรรคนี้เลือกสรรเฉพาะชาติที่ทรงบำเพ็ญศีลบารมีเป็นสำคัญ
                          วรรคที่สาม  เรียก ยุธัญชยวรรค มีสิบห้าจริยา เริ่มด้วยยุธัญชยจริยา คือความประพฤติครั้งเสวยพระชาติเป็นเจ้าชายพระนามว่า ยุธัญชย ในวรรคนี้รวบรวมชาติที่ทรงบำเพ็ญบารมีที่เหลือคือ เนกขัมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจบารมี อธิษฐานบารมีเมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี เป็นสำคัญ        ๘/ ๔๕๙๐
           ๑๒๙๕. จเร  เป็นคำไทยที่มาจากภาษาบาลี หมายถึง ผู้ดูแล หรือผู้ตรวจตรา มีความหมายไปถึงผู้ทำหน้าที่ตรวจตราดูแลการต่างๆ แทนผู้บังคับบัญชาหัวหน้าหน่วยในวงราชการหรือธุรกิจก็ได้
                        ในทางทหาร เรียกหน้าที่ตรวจราชการดังกล่าวว่า "การจเร"และเรียกผู้ปฎิบัติหน้าที่ว่า"นายทหารจเร"        ๘/ ๔๕๙๒
           ๑๒๙๖. จวด  เป็นชื่อปลา มีรูปร่างยาว แบนข้าง กินเนื้อเป็นอาหาร อาศัยอยู่ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นตามชายทะเลที่เป็นทราย เป็นปลาค่อนข้างใหญ่ ใช้เป็นอาหารได้ดี        ๘/ ๔๖๐๑
            ๑๒๙๗. จอก  เป็นพืชที่ลอยอยู่บนผิวน้ำตามบ่อน้ำที่มีน้ำนิ่ง ๆ หรือตามคูที่มีน้ำไหล ไม่มีลำต้น มีแต่รากเป็นกลุ่มใหญ่ลอยอยู่ในน้ำหรือเกาะยึดโคลนอยู่ ใบเป็นแผ่นสีเขียวสดซ้อน ๆ กันเป็นกลุ่มชูตั้งบนผิวน้ำ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วโดยทอดกิ่งก้านไปตามผิวน้ำ
                        จอกแหน  เป็นพืชมีขนาดเล็กกว่าจอกมาก โดยมีใบสองใบเป็นรูปไข่เล็ก ๆ ค่อนข้างหนา ชอบลอยอยู่ในคูหรือบ่อน้ำ ตามสถานที่มีน้ำนิ่ง ๆ
                        จอกหูหนู  มีลักษณะคล้ายกับจอก ชอบขึ้นอยู่ในทุ่งนาที่มีน้ำท่วม
                        จอกหิน  ชอบอยู่ตามซอกหินที่มีน้ำตก
                        จอกบ่อวาย  ชอบขึ้นในที่ชื้นและเป็นดินทราย
                        จอกโหม หรือหญ้าหัวไม้ขีด  มีลักษณะเหมือนต้นหญ้า พบในนาข้าวและบนภูกระดึง        ๘/ ๔๖๐๓
           ๑๒๙๘. จองเปรียง เป็นชื่อพิธีอย่างหนึ่งของพราหมณ์ เป็นพิธีจุดโคมรับพระเจ้า ทำในวันเพ็ญเดือนสิบสอง
                        พิธีจองเปรียงตามหลักฐานปรากฏว่ามีทำมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัยตลอดมาจนสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ เพิ่งเลิกไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ
                        ในสมัยสุโขทัย ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่องนางนพมาศอันเป็นหนังสือกล่าวถึงข้อความเกี่ยวด้วยมนุษยชาติ และพรรณนาถึงหน้าที่ราชการฝ่ายใน ตลอดจนแบบพิธีสิบสองเดือนซึ่งเป็นประเพณีครั้งสุโขทัย
                        ในสมัยอยุธยา มีกล่าวถึงพิธีจองเปรียงอยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่า "เดือนสิบสอง พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม" และมีกล่าวอยู่อีกแห่งหนึ่งในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ตอนว่าด้วยพระราชพิธีสิบสองราศรี
                        ในสมัยรัตนโกสินทร์หนังสือลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑๐ ตอนที่กล่าวถึงจดหมายรายการพระราชพิธีต่างๆ ครั้งรัชกาลที่ ๑ กล่าวถึงพิธีจองเปรียงไว้        ๘/ ๔๖๐๔
            ๑๒๙๙. จ้องหน่อง  เป็นชื่อเครื่องเล่นอย่างหนึ่งของไทย เป็นเครื่องดนตรีที่จัดเข้าอยู่ในประเภทดีดดึง และนับเนื่องเป็นเครื่องประโคม หรือบรรเลงอยู่ในกลุ่มดีดให้เกิดเสียง
                        ลักษณะของจ้องหน่องคล้ายกับเพลี้ยค่อนข้างมาก เป็นเครื่องเล่นตระกูลเดียวกัน วัตถุที่ทำก็เหมือนกัน รูปลักษณะก็คล้ายคลึงกันเสียงก็คล้ายกัน        ๘/ ๔๖๒๐
            ๑๓๐๐. จ้อน ดูกระรอก (ลำดับที่ ๑๑๖)        ๘/๔๖๒๔
           ๑๓๐๑. จอบ - หอย เป็นหอยที่มีเปลือกบาง และค่อนข้างเปราะ รูปร่างเหมือนซองพลู ใช้เป็นอาหารได้ปรกติอาศัยอยู่ตามชายทะเลที่เป็นโคลนหรือทราย        ๘/ ๔๖๒๔
            ๑๓๐๒. จอฟเฟร์, โจเซฟ จักส์ เซแซร์  เป็นจอมพลของกองทัพฝรั่งเศส เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๕  บรรพบุรุษเป็นชาวสเปน  ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จอฟเฟร์ได้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ควบคุมบังคับบัญชากองทัพฝรั่งเศส และอังกฤษในแนวรบด้านตะวันตก ได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษแห่งการรบที่ลุ่มแม่น้ำมาร์น มีผลให้กรุงปารีสพ้นจากการยึดครองของเยอรมัน
                       ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ จอมพลจอฟเฟร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะทูตทหารพิเศษแห่งประเทศฝรั่งเศส เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเจริญทางพระราชไมตรี        ๘/ ๔๖๒๕
            ๑๓๐๓. จอมเกล้า  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ พระมหากษัตริย์องค์ที่สี่ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงมีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๗ ทรงมีพระอนุชาร่วมพระชนกชนนี้คือ เจ้าฟ้าชายจุฑามณี ซึ่งต่อมาทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ตามลำดับ
                       เมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม ศึกษาวิธีอ่านเขียนภาษาไทย หนังสือขอม คณิตศาสตร์ ภาษาบาลี และยังได้ศึกษาวิชาคชกรรม และตำราพิชัยสงครามจากเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช นอกจากนี้ยังได้ศึกษาจากสำนักกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
                       เมื่อพระบรมชนกนาถสวรรคต พระองค์มีพระชนมายุ ๒๐ พรรษา และทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดราชาธิวาส และได้ทรงอยู่ในเพศบรรพชิตต่อไปอีกถึง ๒๑ ปี ได้เสด็จไปประทับวัดมหาธาตุ ในปี พ.ศ.๒๓๗๒ ได้เสด็จกลับมาครองวัดราชาธิวาส พ.ศ.๒๓๗๙ เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศ และประทับอยู่จนลาผนวช เสด็จขึ้นครองราชย์
                       พระองค์ทรงตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๗๒ ทรงจัดให้มีการเรียนพระปริยัติธรรม และการสอบปริยัติธรรมของพระสงฆ์ ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ ภาษาลาติน ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ทรงค้นพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง และศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไทย ทรงค้นพบพระแท่นมนังคศิลา ทรงค้นพบพระปฐมเจดีย์ ฯลฯ เป็นต้น
                       พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔ ในรัชกาลของพระองค์นับได้ว่า เป็นสมัยเริ่มของประเทศไทยสมัยใหม่ ทรงเปลี่ยนแปลงวิเทโศบายของประเทศไทย มีสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และเกือบทุกประเทศในยุโรป
                       ในด้านการทะนุบำรุงบ้านเมือง ทรงเริ่มสร้างถนนสำคัญในกรุงเทพ ฯ สร้างตึกแถว สถานที่ราชการ และพระราชวังตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก
                       ด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ได้เริ่มจัดให้เป็นระเบียบตามแบบยุโรป มีการจ้างชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการเป็นที่ปรึกษาในกิจการด้านต่าง ๆ และยังรับราชการเป็นกงศุลไทยประจำประเทศต่าง ๆ ส่งราชทูตไปเจริญทางพระราชไมตรียังยุโรป
                       นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงเปลี่ยนแปลงและยกเลิกประเพณีเก่า ๆ ที่ล้าสมัยและยังตั้งธรรมเนียมใหม่ขึ้นหลายอย่าง
                       พระองค์เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ พระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา        ๘/ ๔๖๒๖
            ๑๓๐๔. จอมทอง  เป็นชื่อต้นไม้อันเป็นชื่อทางภาคใต้ ทางภาคกลางเรียกว่าทองกวาว ทองธรรมชาติ        ๘/ ๔๖๓๐
            ๑๓๐๕. จอมทอง  อำเภอขึ้น จ.เชียงใหม่ ทางตะวันตกเป็นที่ราบสูง มีเทือกเขาอินทนนตั้งอยู่ เป็นที่อยู่ของพวกชาวเขา มีพวกยาง แม้วเย้า
                        ภูมิประเทศทางตะวันออกเป็นที่ราบสูง มีเทือกเขาอินทะนน ซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกชาวเขา มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก มีพระบรมธาตุประดิษฐานไว้ที่วัดพระธาตุศรีจอมพล           ๘/ ๔๖๓๐
            ๑๓๐๖. จอมทัพ  เป็นตำแหน่งสูงสุดของกองทัพไทย โดยพระราชประเพณี พระมหากษัตริย์พระองค์เดียวเท่านั้น ที่จะทรงดำรงตำแหน่งนี้
                       คำว่าจอมทัพเท่าที่ค้นพบแล้วปรากฎว่า อยู่ในต้นรัชกาลที่หก        ๘/ ๓๖๓๒
            ๑๓๐๗. จอมบึง อำเภอขึ้น จ.ราชบุรี ที่เรียกว่าจอมบึงเพราะมีบึงใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง กว้าง ๒ กม. ยาว ๔ กม. อ.จอมบึง เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.เมืองราชบุรี ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑
                       ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง เต็มไปด้วยป่า และเทือกเขา ที่เรียกว่า จอมบึง เพราะมีบึงใหญ่อยู่แห่งหนึ่ง กว้าง ๒ กม.ยาว ๔ กม.      ๘/ ๔๖๔๒
            ๑๓๐๘.จอมพระ  อำเภอขึ้น จ.สุรินทร์ เมื่อแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ขึ้น อ.ท่าตูม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
                        ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง และป่าละเมาะ       ๘/ ๔๖๔๕
            ๑๓๐๙. จอมพล  เป็นลำดับยศชั้นสูงสุดของนายทหารสัญญาบัตรในกองทัพไทย อยู่เหนือยศพลเอกของทั้งสามเหล่าทัพ
                        ยศจอมพล มิได้ใช้กันทั่วทุกประเทศ เฉพาะที่ใช้มีญี่ปุ่น จีน ไทย เยอรมันรุสเซีย สวีเดน อังกฤษ และออสเตรเลีย
                        สำหรับประเทศไทย เริ่มใช้คำว่าจอมพลเป็นลำดับยศสูงสุดของนายทหาร ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แต่ก่อนหน้านั้น กองทัพไทยยังไม่มีประเพณีใช้ยศทหารตามอย่างสากลเพียงแต่ใช้นามบรรดาศักดิ์อย่างเดียวก็พอจะทราบได้ว่าผู้นั้นมีตำแหน่งหน้าที่อะไรมีอำนาจเพียงใด ทั้งยังพอทราบว่าผู้นั้นมีศักดินาเท่าใดได้อีกด้วยตำแหน่งและหน้าที่ของนายทหารแต่ละคนในกองทัพ เป็นเครื่องบอกอำนาจและหน้าที่อยู่ในตัวแล้ว
                        ในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พบคำว่าจอมพลอยู่ในพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ตอนหนึ่งว่า

ซ้ำจับลูกตีด้วยคันศิลป์ ล้มดิ้นเข้ามัดแล้วสักหน้า
ปล่อยไปมันนำทัพม มีสองกษัตราเป็นจอมพล
                        อีกตอนหนึ่งว่า
แลเห็นจัตุรงคพยุหบาตร  เกลื่อนกลาดมาในแนวป่า
จอมพลนั้นสี่กษัตรา  ต่างทรงรัถาอำไพ
                        ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ได้มีพระราชกำหนดแต่งตัวทหารราบ ได้กำหนดเครื่องแบบทหาร ตั้งแต่จอมพลไปถึงพลทหาร แต่แทนที่จะเรียกยศกลับเรียกว่า "ตำแหน่ง" ทั้งนี้เนื่องจากว่าในสมัยนั้นคำว่า "ยศ" ยังไม่เกิด และการเรียงลำดับอาวุโสนายทหารยังไม่เป็นที่เรียบร้อยแน่นอน
                        ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้ตรา พ.ร.บ.ศักดินาทหารบกทหารเรือไว้ทุกตำแหน่ง และต่อมาในปีเดียวกันก็ได้มีพ.ร.บ.สำหรับลำดับยศนายทหารบก โดยกำหนดให้เรียงกันตามศักดินายศทหาร
                        คำว่าจอมพลปรากฎใน พ.ร.บ.กรมยุทธนา ที่ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ มีความว่า
                        "ข้อ ๑๕ ให้เลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทั่วไปและผู้แทนตามข้อ ๑ และข้อ ๒ ใน พ.ร.บ.นั้นเสีย ให้ตั้งตำแหน่งที่จอมพล (ที่ตรงกับตำแหน่งเรียกตามภาษาอังกฤษว่าคอมมานเดออินชีพ) สำหรับบังคับบัญชาราชการใน กรมทหารบก กรมทหารเรือ และกองทหารบก กองทหารเรือได้สิทธิขาดทั้งสองกรมทั้งสองฝ่าย โดยราชประเพณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน จะได้เสด็จดำรงตำแหน่งที่จอมพลนี่ ฯลฯ นี้"
                        ในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้มีประกาศยกเลิกการใช้สายยงยศ สำหรับตำแหน่งจอมพลมีความตอนหนึ่งว่า "จอมพลเป็นยศทหารส่วนหนึ่ง หาใช่ตำแหน่งไม่"
                        ในปี พ.ศ.๒๔๗๙   ได้มี พ.ร.บ.ยศทหารได้กำหนดลำดับยศนายทหารชั้นสัญญาบัตร และนายทหารชั้นประทวนไว้เป็นการแน่นอนทั้งสามเหล่าทัพ เฉพาะชั้นยศจอมพลได้บ่งไว้ว่าเป็นยศชั้นสูงสุดของนายทหารชั้นสัญญาบัตร          ๘/ ๔๖๔๕
           ๑๓๑๐. จอนห์ บูลเป็นชื่อล้อเรียกประเทศอังกฤษ ชื่อนี้เริ่มมีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๒ แต่เพิ่งทราบกันแพร่หลายในปี พ.ศ.๒๒๕๕ ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ มีการเรียกชื่อ จอห์น บูล ล้อประเทศอังกฤษมากขึ้น ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ได้มีริเริ่มเขียนภาพจอห์น บูล เป็นครั้งแรก เป็นภาพคนร่างล่ำเตี้ย สวมหมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อหางยาวแบบราตรี ขากางเกงสอดเข้าในรองเท้าบู้ต และมีธงอังกฤษทับบนเสื้อกั๊ก            ๘/ ๔๖๗๗
            ๑๓๑๑. จะกละ - ผี  ในภาคอีสานไม่มีภาษาเรียก ผีจะกละ มีแต่ผักกะ และผีกะนั้น ก็เป็นพวกผีปอบนั่นเอง         
                       ทางภาคใต้ ผีจะกละ เป็นผีมีรูปลักษณะเหมือนแมว เป็นผีป่าพวกหมอผีเลี้ยงไว้สำหรับใช้ให้ไปทำร้ายผู้เป็นศัตรู

                        ภาคพายัพ คำว่า กะ เป็นคำไทยเดิม หรือไทยลานนา มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า จะกละ ซึ่งเป็นคำไทยภาคกลาง ผีกะกับผีปอบ เป็นผีชนิดเดียวกัน แต่เรียกชื่อผิดกันตามท้องถิ่น        ๘/ ๔๖๗๘
           ๑๓๑๒. จะเข้  เป็นเครื่องดนตรีไทยชนิดหนึ่ง ที่มีสายและดัดเป็นเสียง ซึ่งบรรเลงผสมอยู่ในวงเครื่องสาย และมโหรี
                        ลักษณะของจะเข้ แบ่งออกได้เป็นสองตอน ตอนหนึ่งเป็นรูปยาวตรง อีกตอนหนึ่งเป็นกระพุ้งออกไปคล้ายใบพาย สายจะเข้มีสามสาย สายเอก ซึ่งมีเสียงสูง กับสายกลางซึ่งมีเสียงทุ้ม ทำด้วยไหมฟั่นเป็นเกลียว ส่วนอีกสายหนึ่งมีเสียงต่ำ ทำด้วยลวดทองเหลืองเรียกว่า สายลวดไม้ดีดจะเข้ทำด้วยงาช้างหรือกระดูกสัตว์
                        จะเข้นี้ สันนิษฐานกันว่า เป็นเครื่องดนตรีที่ไทยเราได้แบบมาจาก มอญ         ๘/ ๔๖๘๒
           ๑๓๑๓. จะนะ อำเภอ ขึ้น จ.สงขลา มีอาณาเขตทางเหนือตกทะเลในอ่าวไทย อ.จะนะ เดิมเป็นเมืองตั้งที่บ้านในวัง ในเขต อ.นาทวี เรียกว่า วังดาโต๊ะ ซึ่งในปัจจุบันเรียกกันว่า วังโต้ ภายหลังได้ย้ายไปตั้งที่ปลักจะนะ จึงเรียกกันว่า เมืองจะนะ แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.ป่าชิง ต่อมาย้ายไปตั้งที่ ต.จะโหนง
                        เมืองจะนะ เป็นเมืองเก่า ในสมัยกรุงธนบุรี หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยียง) เจ้าเมืองสงขลา เห็นเมืองจะนะ อุดมด้วยแร่ดีบุก จึงให้ขุนรองราชมนตรี (ฉิม) เจ้าเมืองจะนะ คุมไพร่ส่วยดีบุกเก้าหมวดขึ้นเมืองสงขลา ต่อมาขุนรอง ฯ กับนายทิดเพ็ดได้คบคิดกันเป็นขบถมาตีค่ายเจ้าเมืองสงขลาคนใหม่ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จลงไปจัดการทางปักษ์ใต้ ให้ประหารชีวิตขุนรอง ฯ เสีย ส่วนนายทิดเพ็ดได้ทำความชอบไปตีเมืองปัตตานี ต่อมาเลยได้เป็นเจ้าเมืองจะนะ ในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง
                        เมืองจะนะ ขึ้นเมืองสงขลาตลอดมาจนถึงปี พ.ศ.๒๓๘๑ ตนกู หมัดสะวะ หลานเจ้าพระยาไทรบุรีปะแงรัน เป็นขบถ ยกทัพมาเผาเมืองจะนะ แต่พวกไทยชาวเมืองจะนะได้ร่วมกับกองทัพเมืองสงขลา ปรายปรามพวกขบถจนสำเร็จแล้ว จึงไปตั้งเมืองจะนะขึ้นใหม่ ต่อมถูกยุบเป็นอำเภอจะนะ ตั้งที่ว่าการที่ ต.นาทวี จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๓ จึงย้ายไปตั้งที่ ต.บ้านนา         ๘/ ๔๖๘๖
            ๑๓๑๔. จะปิ้ง   เป็นเครื่องปิดที่ลับของเด็กหญิง ทำด้วยเงิน ทอง หรือนาก เป็นต้น เข้าใจว่าคำนี้ จะเพี้ยนมาจากคำในภาษาโปร์ตุเกส ที่แปลว่า แผ่นโลหะสำหรับปิดช่องปิดรูต่าง ๆ            ๘/ ๔๖๘๙
            ๑๓๑๕. จะละเม็ด ๑  เป็นชื่อที่ใช้เรียกไข่ของเต่าทะเล มีรูปร่างกลมเหมือนมะนาว แต่เปลือกนุ่มบุบบิบได้ แม้จะต้มแล้ว ไข่ขาวก็ไม่แข็งตัว
                        เต่าทะเล ชอบวางไข่ในทรายบนชายหาด แล้วกลบไว้เป็นอย่างดี ปล่อยทิ้งไว้ให้ฟักเป็นตัว         ๘/ ๔๖๙๐
            ๑๓๑๖. จะละเม็ด ๒  เป็นชื่อปลาชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างป้อม ค่อนข้างสั้น ตัวแบนข้างมาก เกล็ดละเอียด ใช้เป็นอาหารได้ดี รสอร่อย และขายมีราคา
                       ปลาจะละเม็ด มีสีผิดกันสุดแต่ขาวมาก หรือดำมาก จึงได้ชื่อต่างกันคือ ปลาจะละเม็ดขาว ปลาจะละเม็ดเทา และปลาจะละเม็ดดำ        ๘/ ๔๖๙๐
            ๑๓๑๗. จักขุบาล - พระ  เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เป็นพระอรหันต์ตัวอย่างของการปฎิบัติสมณธรรม เพื่อบรรลุมรรคผล        ๘/ ๔๖๙๑
            ๑๓๑๘. จักจั่น  เป็นแมลงประเภทหนึ่ง เท่าที่พบในโลกมีอยู่เกือบ ๑,๐๐๐ ชนิด ส่วนมากมีอยู่ในเขตร้อน จักจั่นสามารถส่งเสียงร้องได้แปลก ๆ แตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของจักจั่นเอง ปกติเวลาร้องจะจับกลุ่มกันร้อง และส่งเสียงดังเซ็งแซ่ ได้ยินกันไปได้ไกล ๆ การเรียกชื่อบางคนเรียกตามสีของลำตัว เช่น เรียกชนิดสีเขียวว่า จักจั่น เรียกชนิดสีน้ำตาลว่า เรไร          ๘/ ๔๗๐๘
            ๑๓๑๙. จักร  ๑  โดยมากหมายถึง วง หรืออาวุธ มีรูปเป็นวงกลมมีเป็นแฉก ๆ ที่หมายถึง วง เช่น พุทธจักร ธรรมจักร อาณาจักร         ๘/ ๔๗๑๐
            ๑๓๒๐. จักร  ๒  ในภาษาสันสกฤตเขียนว่า จกฺร มีคำแปลไว้มากในพจนานุกรม บางเล่มให้คำแปลไว้ถึง ๒๐ อย่างเศษ เช่นแปลว่า ล้อ วงกลม อาณาจักร ขอบฟ้า ราศีจักร ฯลฯ         ๘/ ๔๗๑๓
            ๑๓๒๑. จักร ๓  ในภาษาบาลีเขียนคำว่า จกฺก หมายถึง สมบัติ ลักษณะ ทาน รัตนะ ธรรมจักร เป็นต้น         ๘/ ๔๓๑๔
            ๑๓๒๒. จักรปาณี  ๑  เป็นราชทินนามของลูกขุน ณ ศาลหลวง มีหน้าที่พิจารณาความ หรือชำระอรรถคดี         ๘/ ๔๗๒๙
           ;๑๓๒๓. จักรปาณี ๒ - หลวง เป็นกวีในสมัยรัตนโกสินทร์ ชื่อเดิม ฤกษ์ มีชาติภูมิอยู่กรุงเก่า ได้บวชเรียนจึงได้ชื่อว่า มหาฤกษ์ ลาสิกขาแล้วได้รับราชการอยู่ในกรมอาลักษณ์ มีชื่อเสียงในทางกาพย์ กลอน
           ๑๓๒๔.จักรไปยาล เป็นคำมาจากภาษาบาลี มีคำนิยามว่า "เนื้อความควรเพื่ออันรักษาไว้  เนื่อความควรเพื่อให้พิสดาร เนื้อความอันควรเพื่อให้ความเป็นของอันบัณฑิตพึงรักษาไว้"  จักรไปยาล ไปยาลน้อย " ฯ " เป็นเครื่องหมายละรูปคำไปยาลใหญ่ " ฯลฯ" เป็นเครื่องหมายละข้อความ จักรไปยาล หมายความว่าวิธีขยายความที่ย่อไว้ให้พิสดาร
          ๑๓๒๕. จักรพรรดิ์  หมายถึง พระราชาผู้ยิ่งใหญ่กว่าพระราชาทั้งหลายคือ เป็นพระราชาองค์เดียวในโลก ที่ไม่มีพระราชองค์ใดยิ่งใหญ่กว่า และทั่วโลกก็ยอมรับเช่นนั้นด้วย ในคัมภีร์พระพุทธศาสนากล่าวว่า ในโลกธาตุหนึ่งจะมี พระเจ้าจักรพรรดิ์ได้องค์เดียว และผู้หญิงเป็นจักรพรรดิ์ไม่ได้ เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต
                          ในคัมภีร์อรรถกถา ยอมรับว่า พระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ.๒๔๖ - ๓๑๒) เป็นจักรพรรดิ์ แห่งชมพูทวีป         ๘/ ๔๗๓๖
            ๑๓๒๖. จักรพาก - นก  เป็นนกในวงศ์นกเป็ดน้ำ ทางวรรณคดีนิยมว่าคู่ของนกนี้ ต้องพรากและครวญถึงกันในเวลากลางคืน        ๘/ ๔๗๔๒
            ๑๓๒๗. จักรภพ  เป็นศัพท์ที่นักเขียนในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ใช้ในความหมายถึง กลุ่มชนทางการเมือง หรือหมายถึงคำว่ารัฐ ในความหมายที่ใช้กันในพุทธศตวรรษที่ ๒๕
                        ประเทศในเครือจักรภพ หมายถึง กลุ่มประเทศที่สวามิภักดิ์ต่อองค์ประมุขของประเทศอังกฤษ และยกย่องให้เป็นผู้นำของจักรภพ ประกอบด้วยประเทศที่ปกครองตนเอง ๑๔ ประเทศคือ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ปากีสถาน ลังกา กานา มาเลเซีย สิงคโปร์ ไนจีเรีย ไซปรัส เซียราเลโอน แทนแกนยิกา และประเทศอื่น ๆ ที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ
                        จักรภพแตกต่างจากสหพันธ์ เพราะไม่มีรัฐบาล รัฐธรรมนูญ กองทัพ หรือศาลส่วนกลาง         ๘/ ๔๗๔๔
            ๑๓๒๘. จักรยาน  เป็นรถถีบ ไม่ทราบว่าเริ่มใช้คำนี้ในไทยเมื่อใด แต่ในคัมภีร์สรรพพจนานุโยค (พ.ศ.๒๔๔๒) ได้นิยามคำนี้ไว้ว่า " รถถีบด้วยเท้าให้เดิน มีข้อใหญ่ข้างหน้า ล้อเล็กข้างหลัง รถไบโศรเก็ล รถจักรยานเช่นนี้ ถีบเดินเร็วนัก"         ๘/ ๔๗๔๗
            ๑๓๒๙. จักรรัตนะ  คือ สมบัติพิเศษของพระเจ้าจักรพรรดิ์ เกิดขึ้นด้วยอานุภาพบุญญาภิสมภาร ของพระเจ้าจักรพรรดิ์ เป็นคู่บารมีของพระเจ้าจักรพรรดิ์ มีอยู่เจ็ดประการ จักรรัตนะ เป็นประการแรก เป็นจักรแก้ว มีลักษณะเป็นวงกลม มีซี่ประมาณพันซี่ มีดุม มีกง มีส่วนของจักรครบครัน จักรแก้วนี้มีอานุภาพยิ่งนัก        ๘/ ๔๗๕๑
            ๑๓๓๐. จักรราศี  คือ  อาณาเขตโดยรอบดวงอาทิตย์ ที่ดาวเคราะห์เดิน ดาวเคราะห์เหล่านี้มีวิถีโคจรไปตามจักร รอบดวงอาทิตย์แบ่งออกเป็น ๑๒ ส่วน หรือ ๑๒ ราศี ใน ๑ ราศี แบ่งเป็น ๓๐ ส่วน หรือ ๓๐ องศา ในราศียังแบ่งออกเป็น ตรียางศ์ นวางศ์ และเวลา ซึ่งได้แก่ อาทิตย์ และจันทร์ เป็นลำดับ จนกระทั่งถึงสงเกษตร ประจำจักรราศี เป็นลำดับสุดท้าย ใน ๑๒ ราศี แต่ละราศีจะมีนามที่บัญญัติไว้ และมีความหมายดังนี้
                       ราศีที่ ๑        เรียกราศีเมษ    สัญญลักษณ์เป็นรูปแกะหรือแพะ
                       ราศีที่ ๒            "    พฤษภ            "      โค
                       ราศีที่ ๓            "     เมถุน           "       คนคู่ (ชายหญิง)
                       ราศีที่ ๔            "    กรกฎ            "        ปู
                       ราศีที่ ๕            "      สิงห์            "        สิงห์ หรือสีหะ
                       ราศีที่ ๖             "     กันย์            "       หญิงสาว พรหมจารี
                       ราศีที่ ๗            "      ตุล             "      ตราชั่ง หรือคันชั่ง
                       ราศีที่ ๘            "      พฤศจิก         "       แมลงป่อง
                       ราศีที่ ๙            "     ธนู               "     คนโกร่งธนู
                       ราศีที่ ๑๐          "      มกร             "    รูปคนกับหม้อน้ำ
                       ราศีที่ ๑๑           "     กุมภ์             "     คนกับหม้อน้ำ
                       ราศีที่ ๑๒           "     มีน              "    รูปปลาสองตัว        ๘/ ๔๗๕๕
            ๑๓๓๑. จักรวรรดินิยม  เป็นองค์การการเมือง ซึ่งหมู่ชนชาติหนึ่งในองค์การนั้นควบคุมหมู่ชนชาติอื่น อาจมีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ลัทธิอาณานิคม หรือนโยบายแสวงหาเมืองขึ้น การขยายอำนาจการปกครอง หรืออิทธิพลของชาติหนึ่ง หรือรัฐหนึ่งไปยังดินแดนของชนชาติอื่นนี้ อาจเป็นไปในรูปการเมือง เศรษฐกิจ หรือวัฒนธรรม
                       จักรวรรดินิยมโรมัน เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.๔๑๖ ออกัสตัส ซีซาร์  ปกครองอาณาจักรอันกว้างใหญ่ ตั้งแต่เกาะอังกฤษ ไปจนถึงประเทศอิยิปต์ ต่อมาได้เสื่อมอำนาจลงเช่นเดียวกับจักรวรรดิ์ต่าง ๆ ที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนแล้ว ด้วยสาเหตุหลายประการ รวมทั้งการรุกรานของพวกกอธ ซึ่งชาวโรมันให้สมญาว่า พวกอนารยชน เมื่อสิ้นรัชกาลจักรพรรดิ์คอนสแตนไตน์ แล้ว โอรสทั้งสองของพระองค์ได้ทรงจัดการแบ่งจักรวรรดินิยมเดิมออกเป็นสองภาคคือ ภาคตะวันตก มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองหลวงเดิมคือ กรุงโรม และภาคตะวันออก มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองคอนสแตนติโนเปิล จักรวรรดิ์ภาคตะวันตก สิ้นอำนาจลงในปี พ.ศ.๑๐๑๙ ส่วนจักรวรรดิภาคตะวันออก หรือที่รู้จักกันในนามว่า จักรวรรดิ์ไบแซนไทน์ ยังอยู่ต่อมาจนถูกพวกเตอร์ก โจมตีเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล ในปี พ.ศ.๑๙๙๖
                      จักรวรรดิ์ออตโตมาน  ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๒ พวกเตอร์กสามารถจัดตั้งอาณาจักรนี้ขึ้น มีอาณาเขตกว้างขวางจากมอรอกโค ตลอดภาคเหนือของอัฟริกา ผ่านอาเรเบีย และเอเชียไมเนอร์ ไปจนถึงเปอร์เชีย รวมทั้งดินแดนบริเวณรอบทะเลดำ
                      ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๑ และ ๒๒ การที่ประเทศในยุโรปดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยม เนื่องจากมีความเชื่อว่า การที่ประเทศจะมีความมั่นคงทางการเมือง และมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนั้น จำเป็นจะต้องมีอาณานิคมโพ้นทะเล เพื่อเป็นที่ผลิตผลประโยชน์ รายได้ให้แก่บ้านเมืองของตน ได้มีการตั้งบริษัทอิสท์ อินเดีย ของอังกฤษ ฮอลันดา และฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๑๔๓ , ๒๑๔๕ และ ๒๑๘๕ ตามลำดับ
                      ในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ อังกฤษกลายเป็นชาติมหาอำนาจ ที่มีดินแดนอาณานิคมกว้างขวางยิ่งกว่า ชาวยุโรปชาติอื่น ๆ
                      ในปี พ.ศ.๒๓๗๗ เป็นเริ่มศักราชใหม่ของจักรวรรดิ์ฝรั่งเศส ฝรั่งเศสมีเมืองท่าในอินเดีย ๕ เมือง เข้ายึดแอลจีเรีย ในปี พ.ศ.๒๓๘๕ ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๘๓ - ๒๓๙๕ ฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงในอินโดจีน และเป็นการเริ่มต้นการขยายอำนาจของฝรั่งเศส ในอาเซียอาคเนย์ ได้ร่วมมือกับอังกฤษทำสงครามกับจีน ในปี พ.ศ.๒๔๐๐ - ๒๔๐๑
                       ยังมีชาติใหม่ที่หันมาดำเนินนโยบายจักรวรรดินิยม ในทวีฟอัฟริกาและเอเชีย เพิ่มขึ้นอีกได้แก่ สหรัฐอเมริกา รุสเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมัน ในทวีปเอเชียมีเพียงสามประเทศเท่านั้นคือ จีน ญี่ปุ่น และไทย ที่ยังคงรัษาเอกราชไว้ได้
                       หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชนชาติต่างๆ ที่เป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจเริ่มตื่นตัว ดำเนินกาเรียกร้องอิสรภาพ เพื่อปกครองตนเอง และเริ่มโจมตีนโยบายจักรวรรดินิยม ประเทศเล็ก ๆ ในยุโรปหลายประเทศ มีความคิดทางชาตินิยมมากขึ้น หลายประเทศมีลักษณะเป็นเผด็จการ และหลายประเทศเริ่มนโยบายจักรวรรดินิยม
                       หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง มีการเปลี่ยนแปลงในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ขนานใหญ่ การเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของประเทศอาณานิคม ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง เป็นผลให้อาณานิคมของประเทศมหาอำนาจทั้งในทวีปอัฟริกา และเอเชียได้รับเอกราช ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออก กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ประเทศเล็ก ๆ แถบทะเลบอลติก ถูกผนวกเข้าในสหภาพโซเวียตรุสเซีย
            ๑๓๓๒. จักรวรรดิราชาวาส - วัด  เป็นวัดโบราณ เดิมชื่อวัดสามปลื้ม เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิง) สถาปนาในรัชกาลที่สาม เมื่อเจ้าพระยาบดินทร์เดชาเป็นแม่ทัพ ขึ้นไปปราบเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญพระบางมาถวาย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ จึงโปรดให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส จนถึงปี พ.ศ.๒๔๐๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงได้พระราชทานพระบางไปไว้ ณ เมืองหลวงพระบาง
            ๑๓๓๓. จักรวรรดิวัตร  คือหน้าที่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ตามปกติพระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นธรรมิกราช ทรงประพฤติพระองค์ในธรรม มีธรรมเป็นใหญ่  ในจักรวัตติสูตร ปาฏิกวรรค ทีฆนิกาย สุตตันตปิฎก ได้แสดงหน้าที่ของพระเจ้าจักรพรรดิไว้สิบประการ ต้องทรงจัดการปกครองบ้านเมืองให้เรียบร้อย เป็นที่ร่มเย็นแก่ประชาชนโดยทั่วไป ให้ความคุ้มครองป้องกันรักษาโดยธรรม         ๘/ ๔๗๗๕
            ๑๓๓๔. จักรวาล ๑  กล่าวตามวิชาว่าด้วยไตรภูมิโลกสัณฐานว่ามีลักษณะเป็นปริมณฑล คือมีสัณฐานเป็นวงกลมเหมือนกงรถ คำว่าจักรวาลในบาลีหลายแห่ง แสดงว่ามีหลายจักรวาล เท่าที่ค้นพบมีตั้งแต่หมื่นจักรวาลขึ้นไป เช่น ในธรรมปทัฎฐกถากล่าวถึงตอน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเล็งพระญาณตรวจดูสัตว์โลก ผู้ควรจะได้บรรลุธรรมว่า ทรงแผ่ข่ายคือพระญาณไปในหมื่นจักรวาล  ตอนกล่าวถึงเมื่อทรงแสดงยมกปาฎิหาริย์ของพระพุทธเจ้าว่ามีพระอาญาแผ่ไปในแสนโกฎิจักรวาล  ในมงคลทีปนีตอนกล่าวถึงการคิดเรื่องมงคลของเทวดา และมนุษย์ว่าได้เลื่องลือไปในหมื่นจักรวาล เป็นต้น  และในคัมภีร์ปกรณ์วิเศษชื่อวิสุทธิมรรค ตอนแก้พุทธคุณบทโลกวิทู กล่าวว่าอนันตจักรวาล หรืออนันตโลกธาตุ จึงเป็นอันยุติได้ว่าโลกธาตุนั้นกำหนดจักรวาลไว้เป็นอันมากและจักรวาลหนึ่ง ๆ จัดเป็นโลกธาตุหนึ่ง ๆ และในระหว่างโลกธาตุนั้นมีโลกันตรนรก        ๘/ ๔๗๗๖
            ๑๓๓๕. จักรวาล ๒ (เอกภพ)  กล่าวตามวิชาดาราศาสตร์ คือ สภาพรวมหมดอันประกอบขึ้นจากระบบของสารขนาดใหญ่มีมวลสูง ซึ่งในปัจจุบันอาจจำแนกออกได้เป็นสี่พวกคือ
                        ๑. กาแลคซีธรรมดา  เป็นระบบที่ประกอบด้วยดาวฤกษ์เป็นปริมาณพันล้านถึงแสนล้านดวง นอกจากนั้นกาแลคซียบางชนิดยังมีกาซ และฝุ่นอยู่ด้วยเป็นจำนวนไม่น้อย ระบบวัตถุมีมวลสูงชนิดนี้มีอยู่ในเอกภพมากกว่าชนิดอื่น โลกและดวงอาทิตย์ของเราก็เป็นหน่วยหนึ่งในกาแลคซี เช่นนี้ เมื่อมองดูจากโลกที่ปรากฏเป็นทางขาวเรืองบนท้องฟ้าเรียกกันว่าทางช้างเผือก
                       ๒. กาแลคซีวิทยุ  เป็นกาแลคซีที่แผ่รังสีคลื่นวิทยุอย่างแรงผิดปกติ กาแลคซีจำพวกนี้มักจะปรากฏเป็นรูปลักษณะแปลกประหลาด ส่อว่ากำลังมีปรากฏการณ์อย่างรุนแรงบังเกิดอยู่
                       ๓. ควอซาร์วิทยุ  หรือแหล่งกำเนิด (คลื่นวิทยุ) กึ่งดาว เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุอย่างแรง แต่มีขนาดปรากฏเล็กกว่ากาแลคซีธรรมดา ราวสิบเท่า และปรากฏในภาพถ่ายเป็นจุดคล้ายคลึงกับดาวฤกษ์ จีงได้ชื่อว่ากึ่งดาว เป็นวัตถุที่มีความสุกสว่างราวร้อยเท่าของกาแลคซีธรรมดา เป็นระบบสสารที่ค่อนข้างหายาก ได้มีผู้พบเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ และในปี พ.ศ.๒๕๐๘ ก็ได้พบวัตถุเช่นนี้ประมาณ ๔๐ หน่วย
                       ๔. ควอซาร์เงียบ หรือกาแลคซีกึ่งดาว เป็นระบบสสารมวลสารสูงชนิดสุดท้ายซึ่งเพิ่งมีการค้นพบในปี พ.ศ.๒๕๐๘  วัตถุชนิดนี้มีความสว่างมาก เหมือนกับพวกควอซาร์วิทยุ แต่ไม่แผ่รังสีคลื่นวิทยุออกจากตัว และมีจำนวนมากมายประมาณ ๕๐๐ เท่าของควอซาร์วิทยุ เชื่อกันว่ามีกาแลคซีกึ่งดาวอยู่จำนวนนับล้านหน่วย
                       เวหากันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งมีระบบสสารทรงมวลสูงเหล่านี้กระจัดกระจายแผ่ไป ยังไม่อาจสำรวจพบขอบเขตใด ๆ นี้คือ เอกภพ หรือจักรวาลทางดาราศาสตร์        ๘/ ๔๗๙๒
            ๑๓๓๖. จักราช  อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศเป็นที่ราบส่วนมาก เหมาะแก่การทำนา         ๘/ ๔๗๙๓
            ๑๓๓๗. จักรี - พระราชวงศ์  คือ นามพระบรมราชวงศ์แห่งพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย สมัยที่มีกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
                       สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก พระนามเดิมว่าทองดี ทรงเป็นข้าราชการในพระราชสำนักกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ มีราชทินนามว่าหลวงพินิจอักษร และทรงมีบุตรคนที่ห้านามว่าทองด้วงซึ่งต่อมาได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นองค์ปฐมบรมมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร ฯ เป็นราชธานี          ๘/ ๔๗๙๓
            ๑๓๓๘. จังกอบ  ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีความตอนหนึ่งว่า "เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง...เจ้าเมืองไม่เก็บจกอบแก่ราษฎรเลย"
                        จกอบว่าเป็นภาษาเขมร หมายความถึงภาษีชนิดหนึ่งเก็บแก่สัตว์ และสิ่งของซึ่งนำเข้ามาจำหน่าย สมัยต่อมาครั้งกรุงศรีอยุธยามีคำว่าจังกอบ และจำกอบอยู่หลายแห่ง เช่น ในลักษณะอาญาหลวง มาตรา ๑ ว่า "และเก็บจังกอบในสำเภานาวาเรือใหญ่น้อยก็ดี" แสดงว่าจังกอบเป็นภาษีชนิดหนึ่งเรียกเก็บจากสินค้าเข้าออก
            ๑๓๓๙. จังเกียง  เป็นวานรในกองทัพพระราม เป็นกลุ่มลิงพลรบ ไม่ได้เป็นชื่อวานรตัวใดตัวหนึ่ง         ๘/ ๔๘๑๑
           ๑๓๔๐. จังหวัด คือ บริเวณเขตที่ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การปกครอง สำหรับประเทศไทยแบ่งออกเป็น ๗๖ จังหวัด          ๘/ ๔๘๑๒
            ๑๓๔๑. จัณฑาล  เป็นชื่อชนวรรณะต่ำจำพวกหนึ่งในสังคมฮินดู ประเพณีแบ่งออกเป็นสี่ชั้น หรือสี่วรรณะมีมาแต่โบราณกาลในอินเดีย วรรณะทั้งสี่ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร แต่ละวรรณะยังมีสาขาแบ่งแยกออกไปอีก จัณฑาลเป็นสาขาที่ต่ำต้อยที่สุด ในวรรณศูทร
                        คัมภีร์ทางศาสนาฮินดูหลายเล่ม มีข้อความระบุไว้ว่า จัณฑาลเป็นพวกที่ต่ำต้อย และสังคมรังเกียจเหยียดหยามที่สุด จัณฑาลเกิดจากเลือดพันทางคือ พ่อกับแม่ต่างวรรณะกัน
                        หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งเดินทางไปสืบศาสนาในประเทศอินเดีย ระหว่างปี พ.ศ.๙๔๘ - ๙๕๔  ได้เขียนเรื่องราวของจัณฑาลไว้ว่า เมื่อพวกจัณฑาลเวลาจะผ่านเข้าประตูเมือง หรือจะไปยังตลาดต้องตีเกราะเคาะไม้ เป็นสัญญาณให้ผู้อื่นรู้ว่า เขากำลังมาผู้คนจะได้หลีกเลี่ยงไม่ไปแตะต้องถูกเนื้อตัวเข้า
                        หลังจากที่ได้เอกราชแล้ว อินเดียได้ประกาศใช้กฎหมายเลิกการถือชั้นวรรณะ และให้สิทธิเสรีภาพแก่พวกชนวรรณต่ำ        ๘/ ๔๘๑๓
            ๑๓๔๒.จตุรัส  อำเภอขึ้น จ.ชัยภูมิ เดิมเป็นเมืองเรียกว่า เมืองสี่มุม ขึ้นเมืองนครราชสีมา ตั้งศาลาที่ว่าการที่ ต.หนองบัวใหญ่ แล้วยุบเป็นอำเภอ ย้ายไปตั้งที่ ต.บ้านกอก
                       ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ลุ่มและป่า ตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ลุ่ม ๆ ดอนๆ        ๘/ ๔๘๑๗
            ๑๓๔๓. จัน - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูง ๑๕ - ๒๐ เมตร เปลือกสีดำแตกเป็นสะเก็ดหยาบ ๆ ผลรูปกลมแบน เมื่อสุกจะมีสีเหลืองมีกลิ่นหอม รสหวานกินได้ ชนิดลูกกลมมักจะเรียกว่า ลูกอิน พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ         ๘/ ๔๘๑๗
            ๑๓๔๔. จั่น ๑ - หอย  เรียกกันเป็นสามัญว่า เบี้ยจัน เป็นหอยขนาดเล็กสีขาวจนถึงเหลืองอ่อน เบี้ยใช้เป็นอุปกรณ์ซื้อจ่ายมาแต่ครั้งโบราณ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มาร์โคโปโลพบว่าเบี้ยใช้กันในยูนนาน หอยชนิดนี้มลายูเรียก บี้ หรือเบี้ย ซึ่งใช้เป็นค่าอากร หรือภาษี ไทยมีคำ หอยเบี้ย         ๘/ ๔๘๑๘
            ๑๓๔๕. จั่น ๒   เป็นเครื่องดักสัตว์มีอยู่หลายอย่างต่างกัน และใช้ดักสัตว์ต่างชนิดกัน ทั้งในน้ำและบนบก
                         ๑. เครื่องดักสัตว์น้ำ  จั่นเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำด้วยไม้ไผ่รูปร่างคล้ายกรวย ปลายสอบตัน ยาวประมาณ ๒๑ เมตร กว้าง ๖๐ ซม.  พบใช้ทั่วไปในภาคกลาง
                         จั่นดักปู  เป็นชื่อเรียก แร้วดักปู อีกชื่อหนึ่ง พบทั่วไปในจังหวัดชายทะเล
                         ๒. เครื่องดักสัตว์บก  เป็นเครื่องดักสัตว์คล้ายกรง มีอยู่หลายอย่างเช่น จั่นหับ ใช้ดักเสือ จั่นห้าว ใช้ดักสัตว์เล็ก เช่น หมูป่า หรือเม่น         ๘/ ๔๘๑๙
            ๑๓๔๖. จั่น ๓ - ต้น  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง ๑๐ - ๑๕ เมตร เปลือกสีดำ แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ พบตามป่าเบญจพรรณทั่ว ๆ  ไป ใบเป็นช่อ ดอกสีม่วงน้ำเงิน ออกเป็นช่อแน่น เวลาออกดอกผลัดใบหมด        ๘/ ๔๘๒๑
            ๑๓๔๗. จันทกินรี - พระ  เป็นพระชายาเอกของพระจันทกินนร ในเรื่องพระจันทกินรีคำฉันท์         ๘/ ๔๘๒๑
            ๑๓๔๘. จันทกุมาร  เป็นเรื่องที่มีมาในนิบาตชาดก ส่วนมหานิบาต เชื่อกันว่าจันทกุมารเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นพระเจ้าชาติหนึ่งในพระเจ้าสิบชาติ กับมีมาในจริยาปิฎก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพุทธจริยา ในอดีตชาติทั้งสองเรื่องมาในคัมภีร์ขุททกนิกาย สุตตันตปิฎก
                         ในชาดกกล่าวว่า พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย เนื่องจากพวกภิกษุสนทนากันถึงเรื่องพระเทวทัต จองเวรพระพุทธเจ้า หาอุบายปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าตลอดมา พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ที่เทวทัตพยายามฆ่าพระพุทธองค์นั้น มิใช่แต่ครั้งนี้เท่านั้น แม้ครั้งก่อน ๆ ก็เคยมีมา แล้วจึงได้ตรัสเล่าเรื่องจันทกุมาร         ๘/ ๔๘๒๔
            ๑๓๔๙. จันทโครบ   เป็นโอรสพระเจ้าพรหมทัตในเรื่อง จันทโครบ เรื่องนี้เดิมเป็นหนังสือประมาณสองเล่มสมุดไทย กล่าวกลอนตั้งแต่ต้นจนได้นางมุจลินท์ ลูกสาวพระยานาค นับถือกันมาแต่โบราณว่า แต่งดีทั้งความบรรยาย และความพรรณา เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่ง ตั้งแต่เล่ม ๓ ถึงเล่ม ๔๐ - ๔๑ เป็นสำนวนแต่งต่อในชั้นหลัง        ๘/ ๔๘๓๑
            ๑๓๕๐. จันทน์ - ต้น  เป็นชื่อเรียกพรรณไม้หลายชนิด ที่เนื้อไม้มีกลิ่นหอม เช่น จันทน์หอม หรือจันทน์พม่า จันทน์ขาว หรือจันทนา จันทน์ชะมด จันทน์แดง หรือจันทน์ผา จันทน์เทศ หรือจันทน์บ้าน         ๘/ ๔๘๓๒
            ๑๓๕๑. จันทบุรี  เป็นจังหวัดภาคกลางทิศเหนือจด จ.ปราจีนบุรี ทิศตะวันออก จด จ.ตราด และประเทศกัมพูชา ทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตก จด จ.ระยอง
                        จันทบุรี เป็นเมืองโบราณมีชื่อปรากฎในพงศาวดารมาแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา มีซากเมืองเก่าอยู่สองแห่ง แห่งหนึ่งอยู่ใน ต.ตลาดจันทบุรี ยังมีคูเมืองและเชิงเทิน พอสังเกตเห็นได้ อีกเมืองหนึ่งอยู่ใน ต.คลองนารายณ์ ชาวบ้านเรียกว่า เมืองเพนียดบ้าง เมืองกาไวบ้าง มีผู้ขุดพบศิลาจารึกที่วัดเพนียด ซึ่งเป็นวัดโบราณอยู่ทางทิศใต้กำแพงเมือง ๔๐๐ เมตร บริเวณเมืองยังมีศิลาแผ่นใหญ่ ๆ สลักเป็นลวดลายอย่างโบราณเหลืออยู่บ้าง และมีเค้าเชิงเทินและถนนสายใหญ่ ๆ สองสาย
                        อีกเมืองหนึ่งเรียกเมืองใหม่ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๗ อยู่ใน ต.บางจะกละ อ.เมือง ฯ
                        จังหวัดนี้อยู่ในความยึดครองชั่วคราวของฝรั่งเศสครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ - ๒๔๔๗
                        ภูมิประเทศมีเขาล้อมรอบ ทางเหนือเป็นที่ดอน และเป็นป่าดง ตอนกลางและตอนใต้ เป็นที่ลุ่มทำนาได้ ทางตะวันออกเป็นที่ดอน         ๘/ ๔๘๓๓
           ๑๓๕๒. จันทร์ - ดวง เป็นบริวารดวงเดียวของโลก ดวงจันทร์มีรัศมี ๑,๗๓๘ กม.ปราศจากบรรยากาศ โคจรวนรอบโลก ในวงทางใกล้เคียงกับวงกลม ด้วยระยะห่างเฉลี่ย ๓๘๔,๔๐๔ กม. มีมวลเท่ากับ ๑/๘๑ ของมวลของโลก มีแรงโน้มถ่วงประมาณ ๑/๖ ของโลก  ๘/ ๔๘๓๖
           ๑๓๕๓. จันทรกานต์ เป็นแร่ประกอบหินที่มีค่าสูงชนิดหนึ่ง ซึ่งจัดเข้าอยู่ในมวลรัตนชาติด้วยปกติมีสีขาวปนฟ้าหรือเสียงขุ่นมัวอย่างน้ำนม แต่มีวาวขาว ฉาบหน้าเหมือนวาวมุก ในหอยกาบหรือวาวแสงจันทรในหยาดน้ำค้าง         ๘/ ๔๘๓๗
           ๑๓๕๔. จันทรเกษม เป็นชื่อวังตั้งอยู่ที่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวกันวาสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๕ สำหรับเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรฯ
                      ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างวังที่ประทับขององค์รัชทายาทขึ้นที่ถนนราชดำเนินนอก พระราชทานนามว่า วังจันทรเกษม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนการเรือน และในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ใช้เป็นที่ตั้งของกระทรวงธรรมการ         ๘/ ๔๘๓๘
            ๑๓๕๕. จันทรคติ เป็นวิธีนับวันกันอย่างโบราณ โดยถือเอาการเดินของดวงจันทรเป็นหลัก ในการนับเรียกเป็นอันดับต้นว่า ขึ้นค่ำหนึ่ง ขึ้นสองค่ำ ไปจนถึงขึ้นสิบห้าค่ำ (ตามความสว่างของดวงจันทร) ที่เรียกว่า ข้างขึ้น ต่อจากนั้นก็นับว่า แรมค่ำหนึ่ง แรมสองค่ำ ไปจนถึงแรมสิบห้าค่ำที่เรียกว่า ข้างแรม กำหนดให้มีวันทางเดือนจันทรคติ ๓๐ วัน แบ่งเป็นประเภทเดือนคู่ ให้มี ๓๐ วัน เดือนคี่ให้มี ๒๙ วัน
                         เดือนจันทรคติ เริ่มต้นปีที่เดือนอ้าย แล้วมาเดือนยี่ เดือนสาม จบที่เดือนสิบสอง ต่อมาเปลี่ยนเป็นขึ้นปีใหม่ จันทรคติที่เดือนห้า แล้วไปสิ้นสุดที่เดือนสี่
                         สิบสองเดือนจันทรคติ เป็นหนึ่งปี นักษัตร ซึ่งเรียกชื่อปีตามรูปดาวนักษัตรสิบสองรูป ตามจักรราศีคือ ๑. ปีชวด (ดาวหนู)  ๒. ปีฉลู (ดาววัว)  ๓. ปีขาล (ดาวเสือ)  ๔.ปีเถาะ (ดาวกระต่าย)  ๕. ปีมะโรง (ดาวมังกร)  ๖. ปีมะเส็ง (ดาวงูเล็ก)  ๗. ปีมะเมีย (ดาวม้า)  ๘. ปีมะแม (ดาวแพะ)  ๙. ปีวอก (ดาวลิง)  ๑๑. ปีจอ (ดาวหมา)  ๑๒. ปีกุน (ดาวหมู)
                         ปีจันทรคติบางปีมี ๑๓ เดือน เรียกว่า ปีอธิกมาส เพื่อให้เดือนต่าง ๆ ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับฤดูกาล และเพื่อให้ผูกพันกับพระวินัยกิจ ทางพระพุทธศาสนาด้วย ประเพณีเพิ่มเดือนอธิกมาสของไทย จึงเพิ่มเฉพาะเดือนแปดทั้ง ๆ ที่เดือนอธิกมาส เมื่อคำนวณแล้วอาจจะตกอยู่ในเดือนใดเดือนหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ด้วยปีจันทรคติมีเพียง ๓๕๔ วัน
                        ประเทศไทยเริ่มใช้ปีจันทรคติ และวันจันทรคติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย มาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ จึงเปลี่ยนเวลาเริ่มต้นวันเป็นเที่ยงคืนตามแบบสากล ปี พ.ศ.๒๔๖๓ กำหนดเวลามาตรฐานของประเทศไทย เท่ากับ ๗ ชั่วโมง ตะวันออกของกรีนิช ปี พ.ศ.๒๔๘๔ เปลี่ยนวันต้นปีจาก ๑ เมษายน มาเป็น ๑ มกราคม โดยเริ่มตั้งแต่มกราคม พ.ศ.๒๔๘๓ เดิม
                        ๑  ปีจันทรคตินั้น กำหนดเอาระยะเวลาที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก ๑๒ ครั้ง ในเวลา ๓๕๔ วัน และระยะเวลารอบโลก ๑ ครั้ง เท่ากับ ๒๙ วันครึ่ง ด้วยเหตุนี่จึงต้องกำหนดให้มีเดือนคู่กับเดือนคี่ เพราะถ้าจะนับเดือนทางจันทรคติ ก็ยังขาดอยู่อีก ๑๒ ชั่วโมง ถ้านับเดือนจันทรคติ ๓๐ วัน ก็เกินไป ๑๒ ชั่วโมง จึงต้องกำหนดเอาสองเดือนมี ๕๙ วัน โดยแบ่งเดือน ๓๐ วัน ๖ เดือน เดือน ๒๙ วัน ๖ เดือน แบ่งเดือนเป็นสองปักษ์ ปักษ์หนึ่งมี ๑๕ วันบ้าง ๑๔ วันบ้าง
            ๑๓๕๖. จันทรคราส  เป็นปรากฎการณ์เมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าสู่เขตเงามัว และเงามืดของโลก ถ้าระนาบทางโคจรของดวงจันทร์ของโลก ทับสนิทเป็นระนาบเดียวกับวงทางโคจรของโลก รอบดวงอาทิตย์แล้ว  จะเกิดจันทรคราสขึ้นทุกคืนเดือนเพ็ญ          ๘/ ๔๘๔๕
            ๑๓๕๗. จันทรคุปต์  เป็นชื่อกษัตริย์สามพระองค์ ในประวัติศาสตร์อินเดียสมัยโบราณ ดังนี้
                        ๑. จันทรคุปต์เมารยะ  เป็นพระอัยกาพระเจ้าอโศกมหาราช ได้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมารยะในอินเดีย ภายหลังพระพุทธปรินิพานได้ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ  เป็นกษัตริย์องค์แรกที่สามารถ ผนึกดินแดนอันกว้างใหญ่ ของอินเดียให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้
                        ในะระยะนั้น พวกกรีกแห่งแมกซิโดเนีย โดยเริ่มแรกมีพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ (หรือกษัตริย์มีนานเดอร์ ในคัมภีร์มิลินทปัญหาของชาวพุทธ) เป็นผู้นำได้บุกรุกเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย และได้ยึดครองอาณาบริเวณที่อยู่ในขอบเขตขัณฑ์สีมาของอินเดียนเอง ตลอดจนที่อยู่ภายนอกมากมายหลายประเทศ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์กลับไปถึงบาบิลอน และถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๒๐ อาณาจักรอันไพศาลของพระองค์ก็เริ่มคลอนแคลน โดยเฉพาะในอินเดีย จันทรคุปต์เป็นบุคคลแรกที่รวบรวมกำลัง ทำการขับไล่อำนาจและขจัดอิทธิพลของพวกกรีก ออกไปจนเกือบหมดสิ้น
                        กล่าวได้ว่า เมื่อรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์สิ้นสุดลง เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕ นั้น พระองค์ได้เป็นใหญ่ในดินแดนทั้งหมดของอินเดีย ตั้งแต่เหนือแม่น้ำนัมมทา ขึ้นไปถึงอัฟกานิสถานทั้งประเทศ และอาจเป็นไปได้ที่แผ่ข้ามแม่น้ำนัมมทา ลงไปทางทิศใต้ด้วย
                        ๒. จันทรคุปต์ที่ ๑  เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๑ แห่งราชวงศ์คุปตะในแคว้นมคธ ครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ.๘๖๒ - ๘๗๘  กล่าวกันว่า พระองค์เป็นต้นกำเนิดศักราชคุปตะ ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๘๖๓
                       ๓. จันทรคุปต์ที่ ๒  เป็นกษัตริย์องค์ที่ห้า แห่งราชวงศ์คุปตะ ครองราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๙๑๘ - ๙๕๗ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่นครปาฎสีบุตร ในรัชสมัยของพระองค์กิจการด้านศิลปวัฒนธรรมได้รับการฟื้นฟู สนับสนุนอย่างดีเลิศถึงกับเรียกกันว่า เป็นยุคทองของอินเดีย
                       หลวงจีนฟาเหียนได้ไปถึงอินเดีย ในรัชสมัยของจันทรคุปต์นี้เอง ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้พระองค์จึงได้รับสร้อยสมญานามว่า วิกรมาทิตย์ มีความหมายว่า มีความเก่ากล้าสามารถ ร้อนแรงประดุจดวงอาทิตย์          ๘/ ๔๘๔๖
            ๑๓๕๘. จันทรภาคา  เป็นชื่อโบราณของแม่น้ำจีนพ ในประเทศอินเดียมียอดน้ำเกิดจากทะเลสาบแห่งหนึ่ง ทางตอนใต้ของประเทศธิเบต ในมิลินทปัญหากล่าวว่า มีแม่น้ำไหลมาจากหิมวันต์อยู่ ๕๐๐ สาย สายสำคัญมีอยู่ ๑๐ สายคือ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี สินธุ สรัสวดี เอตภวดี อิตังสา และจันทรภาคา          ๘/ ๔๘๕๕
            ๑๓๕๙. จันทรภาณุ  เมื่อพิจารณาจากข้อความในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว มีผู้ลงความเห็นว่า จันทรภาณุ เห็นจะเป็นตำแหน่งที่เรียกกันว่า อุปราช
                        ปรากฎในปี พ.ศ.๑๗๗๓ ว่าเจ้าผู้ครองนครตามพรลิงค์ ทรงพระนามว่า จันทรภาณุ พระองค์ได้ยกทัพไปรบเกาะลังกา
                        ในหนังสือแหลมอินโดจีน สมัยโบราณกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า ถึงกึ่งแรกศตวรรษที่ ๑๘ แห่งพุทธศักราช กษัตริย์องค์สุดท้ายที่ลือชื่อของกรุงชาวกะ ขึ้นเสวยราชย์ ได้ความตามศิลาจารึกลง พ.ศ.๑๗๗๐ ว่าทรงพระนาม พระเจ้าจันทรภาณุ           ๘/ ๔๘๕๕
            ๑๓๖๐. จันทรวงศ์  คือ วงศ์กษัตริย์ซึ่งนับสกุลเนื่องจากพระจันทร ลงมาทางพระพุธซึ่งว่าเป็นโอรสพระจันทร กับนางดารา ผู้เป็นมเหสี พระพฤหัสบดี หรืออีกนัยหนึ่งว่า เป็นโอรสนางโรหิณี มเหสีเอกของพระจันทรเอง
                       จันทรวงศ์ แบ่งเป็นสองสาขาใหญ่คือยาทพและเปารพ        ๘/ ๔๘๖๒
            ๑๓๖๑. จันท์สุดา  เป็นลูกสาวท้าวพรหมจักร ผู้ครองนครจันทรนครในเรื่องคาวี  นางเป็นผู้ที่มีรูปงามและเกษาหอม        ๘/ ๔๘๖๙
            ๑๓๖๒. จันทา  จากเรื่องสังข์ทอง ในปัญญาสชาดก นางจันทาเป็นมเหสีฝ่ายขวา ของพระเจ้าพรหมทัต ผู้ครองราชสมบัติในพรหมนคร มีบุตรเป็นสังข์ทอง         ๘/ ๔๘๖๙
            ๑๓๖๓. จับยี่กี  เป็นการพนันชนิดหนึ่ง มีมาแต่สมัยราชวงศ์ถัง เรียกว่า "ซังลัก" แปลว่า คู่หก หรือจับยี่กี แปลว่า หมากรุกสิบสองตัว ต่อมาได้ดัดแปลงการพนันชนิดนี้ใหม่ ในจังหวัดแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง  อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นมีไพ่มี ๑๒ ใบ ไม้กระดานสี่เหลี่ยมจตุรัสตรงกลาง มีเส้นแบ่งเขตฝ่ายแดงและดำ หีบไม้สำหรับใส่ไพ่ และกล่องไม้มีลิ้นชัก สำหรับใส่ไพ่หนึ่งตัว        ๘/ ๔๘๗๑
            ๑๓๖๔. จับสั่น - ไข้  ดู มาเลเรีย (ลำดับที่ ...)          ๘/ ๔๘๗๔
            ๑๓๖๕. จำปานคร  เป็นชื่อเมืองหลวงครั้งโบราณของแคว้นอังคะ หรือเบงกอลในปัจจุบัน ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำจัมปา ปัจจุบันเป็นแม่น้ำจันทัน  ยังมีหมู่บ้านชื่อ จัมปานคร และจัมปาปูร สองหมู่บ้านเหลืออยู่ที่ตรงนั้น         ๘/ ๔๘๗๔
            ๑๓๖๖. จ่า - บรรดาศักดิ์  ดู ฐานันดร (ลำดับที่ ...)         ๘/ ๔๘๗๔
            ๑๓๖๗. จาก  เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ชอบขึ้นตามบริเวณริมฝั่งแม่น้ำตื้น ๆ โดยมีลำต้นทอดไปตามเลน หรือโคลน ชูก้านใบตั้งตรงสูงพ้นน้ำขึ้นมาประมาณ ๔.๕๐ - ๖.๐๐ เมตร ดอกออกเป็นช่อ ด้วยเหตุนี้ผลจากจึงรวมกันเป็นช่อใหญ่
                       จากเป็นพืชที่มีประโยชน์มาก ทั้งใบ ช่อดอกและผล ใบเมื่อนำมาเย็บซ้อน ๆ กันแล้วใช้มุงหลังคาได้ ผลจากใช้เป็นอาหารได้         ๘/ ๔๘๗๔
            ๑๓๖๘. จากุน  เป็นชื่อชนพื้นเมืองเดิมพวกหนึ่งของแหลมมลายู อพยพเข้ามาอยู่ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ก่อนชาวมลายู แต่มาภายหลังพวกเงาะ  พวกจากุนที่ยังเหลืออยู่ไม่กลายเป็นมลายู แบ่งกว้าง ๆ ได้เป็นสองพวกคือพวกโอรังบูกิด (คนเขา) และพวกโอรังละอดุด (คนทะเล)       ๘/ ๔๘๗๕
            ๑๓๖๙. จาคะ  หมายถึง การเสียสละ การให้ปัน เป็นคำแสดงความหมายถึงคุณธรรมอย่างหนึ่ง คำนี้ถ้ามาในหมวดธรรมคู่กับคำว่าทาน  จาคะหมายถึงการสละสิ่งที่เป็นข้าศึก แก่ความจริงใจ ได้แก่ความโลภ โกรธ หลง การเสียสละนี้ท่านให้พิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบก่อนว่าสมควรอย่างไร       ๘/ ๔๘๗๖
            ๑๓๗๐. จาโคแบง  เป็นชื่อพรรคการเมือง ที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๓๖ - ๒๓๓๗ พวกจาโคแบงเป็นพวกที่กุมอำนาจการปกครองประเทศอยู่
                       คำว่าจาโคแบงเป็นชื่อที่พวกฝรั่งเรียกพวกที่นับถือลัะทธินิกายโคมินิกันในตอนแรก ๆ พวกจาโคแบงส่วนใหญ่ มีหัวไม่รุนแรงนักและมีความเชื่อถือในการปกครอง ที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย      ๘/ ๔๘๗๗
            ๑๓๗๑. จางวาง  ดูฐานันดร (ลำดับที่ ....)         ๘/ ๔๘๘๕
            ๑๓๗๒. จาณักยะ  เป็นชื่อของนักการปกครองและอำมาตย์เอกของพระเจ้าจันทรคุปต์เมารยะ
                        จาณักยะ ได้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ให้แก่ จันทรคุปต์ จบดีเยี่ยมทั้งในด้านกฎหมายและพลเรือน        ๘/ ๔๘๗๕
            ๑๓๗๓. จาตุมหาราช  ดูจตุโลกบาล (ลำดับที่๑๔๘๒)         ๘/ ๔๘๙๑
            ๑๓๗๔. จาตุรงคมหาปธาน  แปลว่า การตั้งความเพียรมีองค์สี่คือ หนัง เอ็น กระดูก เนื้อเลือด รวมเป็นองค์สี่ หมายความว่า ตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า ถึงเนื้อเลือดจะแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ยอม ถ้าทำกิจไม่สำเร็จจะไม่ยอมเลิก กล่าวเฉพาะพระพุทธเจ้าคราวประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิ์ในเย็นวันที่จะตรัสรู้นั้น          ๘/ ๔๘๙๑
            ๑๓๗๕. จาตุรงคสันนิบาต  เป็นชื่อของการประชุมพุทธสาวกเป็นพิเศษคือ มาฆบูชา เป็นการประชุมพร้อมด้วยองค์สี่ ในอรรถกถาสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย กำหนดองค์สี่ไว้ดังนี้
                        ๑. พระสงฆ์พุทธสาวก มีจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ที่มาประชุมกันนั้นเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณทั้งหมด
                        ๒. ทั้งหมดนั้นเป็นเอหิภิกขุ พระพุทธองค์ทรงประทานอุปสมบททั้งหมด
                        ๓. ทั้งหมดนั้นมาพร้อมกันเอง โดยไม่ได้นัดหมาย
                        ๔. วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
                        พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะสม จึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมนั้น
                        โอวาทปาติโมกข์ มีใจความสำคัญเป็นสองข้อ ข้อหนึ่งทรงแสดงคำสอนของพระพุทธศาสนา โดยรวมยอดว่ามีสามประการคือ ไม่ทำชั่วทุกอย่าง ทำความดีให้บริบูรณ์ และทำจิตให้ผ่องแผ้ว        ๘/ ๔๘๙๓
            ๑๓๗๖. จาน - เกาะ  เป็นชื่อเกาะอยู่ในเขต อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ห่างจากฝั่ง ๘ กม. กว้าง ๕๐๐ เมตร ยาว ๙๐๐ เมตร ยอดสูง ๖๓ เมตร บนเกาะมีรังนกอีแอ่น          ๘/ ๔๘๙๖
            ๑๓๗๗. จานิสซารีส์  เป็นชื่อกองทหารประจำการที่ลือชื่อของจักรวรรดิ์ออตโตมานของตุรกี ในปี พ.ศ.๑๘๗๓ ได้มีการใช้ระบบพรากเด็กหนุ่ม ที่นับถือคริสตศาสนาจำนวนมาก จากพ่อแม่เอามาเป็นทหารทุกปี ปีแรกเอามาเพียง ๑,๐๐๐ คนก่อน แล้วให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม เมื่อได้รับการฝึกทหารเป็นเวลานานพอสมควรแล้วก็บรรจุเป็นเยนิ เจรี หรือทหารใหม่ พวกอานิสซารีส์จะไว้หนวดเคราไม่ได้ จะแต่งงานไม่ได้ จะทิ้งโรงทหารไปไม่ได้ และจะค้าขายก็ไม่ได้จะต้องใช้เวลาเฉพาะการฝึกหัดและปฏิบัติตามยุยทธวิธีเท่านั้น
                        ในปี พ.ศ.๒๑๓๔ กองทัพจานิสซารีส์มีทหารรวม ๔๘,๖๘๘ คน ในปี พ.ศ.๒๑๘๓ - ๒๑๙๑ ได้ลดจำนวนลงเหลือ ๑๗,๐๐๐ คน ในปี พ.ศ.๒๓๖๙ มีทหารถึง ๑๓๕,๐๐๐ คน จำนวนนี้เป็นจำนวนที่ปรากฎตามใบเบิกจ่ายเท่านั้น ในยามสงบกองทัพจานิสซารีส์จะไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง
                       กองทัพจานีสซารีส์ มาถึงจุดจบในสมัยสุลต่านมะหะหมัดที่สอง เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ โดยสมาขิกของกองทัพนี้ได้ถูกฆ่าตายจนหมดสิ้น         ๘/ ๔๘๙๖
            ๑๓๗๘. จาม  เป็นชนชาติหนึ่งที่เคยเจริญรุ่งเรืองมานาน แต่บัดนี้ได้สูญสิ้นประเทศของตนไปหมด คงมีอยู่กระจัดกระจายตามแถบภูเขา ลุ่มแม่น้ำโขง มีจำนวนไม่มากนัก
                       ถิ่นกำเนิดของจามไม่ทราบชัดว่ามาจากไหน แต่เมื่อดูจากภาษาพูดก็ทำให้สันนิษฐานได้ว่า คงเป็นพวกมลายูหรืออินโดนีเซีย แต่ก็มีคำในเครือญาติใช้ร่วมกับคำไทยอยู่มากคำ
                      พวกจามเดิมนับถือศาสนาพุทธ ฝ่ายมหายาน และศาสนาพราหมณ์ ที่ถือพระศิวะเป็นใหญ่ ภายหลังมีพวกมลายูข้ามทะเลมาเผยแพร่ศานาอิสลามในจัมปา พวกจามโดยมากจึงเข้ารีตนับถืออิสลาม แต่ก็คงมีฮินดูปะปนอยู่ในจารีตประเพณีต่าง ๆ อยู่มาก
                      อาณาจักรของพวกจามที่เรียกจัมปานั้น ได้เริ่มมีขึ้นเมื่อประมาณตอนต้นหรือตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๘ ตอนแรกดูเหมือนที่เริ่มต้นที่เมืองกวางนามใต้ เมืองเว้ลงไปไม่มากนัก ต่อมาได้ขยายเขตลงมาทางใต้เป็นระยะทางกว่า ๓๒๐ กม. จนถึงอ่าวคัมราห์น และขยายไปทางตะวันตก พ้นเทือกเขาอันนัมเข้าไปยังลุ่มแม่น้ำโขงอันได้แก่ กัมพูชา และภาคใต้ของลาวในปัจจุบัน
                      เรื่องราวของพวกจาม มีปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกความทรงจำของผู้สำเร็จราชการจีน ที่มาปกครองมณฑลต่าง ๆ ที่มีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ เมื่อปี พ.ศ.๘๒๓ ว่า พวกจามได้โจมตีเขตแดนที่อยู่ในความยึดครองของจีนเนือง ๆ เพราะได้รับการสนับสนุนจากอาณาจักรฟูนัน ซึ่งอยู่ทางทิศใต้และตะวันตกของอาณาจักรจัมปา พวกจามมักยกกองทัพไปตีบ้านเมืองชายราชอาณาจักรของจีนอยู่เสมอ ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒ สมัยราชวงศ์ถังสามารถยับยั้งการรุกรานของพวกจามได้ชั่วคราว จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕
                      ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ อาณาจักรจัมปาถูกพวกชวาโจมตีอย่างหนัก ในปี พ.ศ.๑๓๑๗ พวกชวาได้ทำลายเทวาลัยโพนนครอันเก่าแก่อยู่ในเมืองนาตรังปัจจุบัน ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าชัยสิงหวรมันที่ ๑ (พ.ศ.๑๔๔๑ - ๑๔๔๖) ได้มีสัมพันธไมตรีกับชวาอย่างใกล้ชิด ทำให้ชวามีอิทธิพลเหนือศิลปะของจามในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เป็นอย่างมาก
                      พ.ศ.๑๔๕๐ ราชวงศ์ถังสิ้นอำนาจ อานันได้ตั้งอาณาจักรไดโคเวียด (อานัมและตังเกี๋ย) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๔๘๒ ต่อมาได้ยกกองทัพมาย่ำยีจัมปา ทำลายเมืองอินทรปุระ และปลงพระชนม์พระเจ้าปรเมศวรวรมัน พระเจ้าอินทรวรมันที่ ๔ ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ลี้ภัยไปอยู่ทางใต้ และขอให้จีนช่วยแต่ไม่เป็นผล เมื่อพระเจ้าอินทรวรมันที่ ๔ สิ้นพระชนมม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๓๒ ชาวอานัมชื่อเหลียวกีกอง ซึ่งยึดอำนาจได้ก็ตั้งตนเป็นกษัตริย์จัมปา และขอให้จีนรับรองฐานะของตน
                      ในปี พ.ศ.๑๕๓๑ พวกจามได้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพโดยมีชาวพื้นเมืองคนหนึ่ง ต่อมาตั้งตัวเป็นกษัตริย์ที่เมืองวิชัย (บินห์ดินห์)   ทำการได้สำเร็จใช้พระนามว่า พระเจ้าหริวรมันที่ ๒ ผู้ตั้งราชวงศ์ที่ ๗ พระองค์ขอให้จีนรับรองฐานะของพระองค์ เป็นผลสำเร็จ แล้วยกทัพไปโจมตีอานัมหลายครั้งด้วยกัน ในที่สุดอาณาจักรทางเหนือของจามก็อวสานลง พวกอานัมได้โจมตีมณฑลต่าง ๆ จน จามต้องทิ้งเมืองอินทรปุระมาอยู่ที่เมืองวิชัย
                      ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จามต้องสูญเสียแคว้นต่าง ๆ ทางเหนือให้แก่อานัม ในปี พ.ศ.๑๕๗๓ ได้ทำสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ แห่งกัมพูชา
                      ในรัชสมัยพระเจ้าวรมันที่ ๓ มีจารึกจำปานคร ปรากฎใช้ภาษาไทยลงศักราชเทียบเท่า พ.ศ.๑๕๙๘
                      พระเจ้าหริวรมันที่ ๔ ได้ตั้งราชวงศ์ที่ ๙ ทรงสามารถบูรณะปฎิสังขรณ์บ้านเมืองที่ถูกทำลายไป ทำให้จัมปากลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกอย่างรวดเร็ว ได้ขับไล่อานัมออกไปและบุกรุกกัมพูชา เข้าไปจนถึงเมืองซำบอร์ ริมฝั่งแม่น้ำโขง และได้ทำลายปูชนียวัตถุ ทางศาสนาลงหมดสิ้น
                      พ.ศ.๑๖๘๘ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ แห่งกัมพูชา ได้ยกทัพไปรุกรานจัมปา ยึดเมืองวิชัยซึ่งเป็นเมืองหลวงได้ ก็ตั้งตัวเป็นใหญ่เหนืออาณาจักรจัมปา พระเจ้าชัยหริวรมันที่ ๑ ได้ขับไล่เขมรออกไป แล้วยกทัพไปโจมตีเขมร ในปี พ.ศ.๑๗๙๒  ยึดเมืองวิชัยคืน
                      พ.ศ.๑๗๒๐ พระเจ้าชัยอินทรวรมันที่ ๔ ยกทัพเรือทางทะเลไปยังดินแดนปากแม่น้ำโขง แล้วแล่นเรือไปตามแม่น้ำโขง เข้ายึดนครธมโดยเขมรไม่ทันรู้ตัว พ.ศ.๑๗๓๓ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ สร้างนครธมขึ้นใหม่ แล้วยกทัพไปตีอาณาจักรจัมปาได้
                      การที่พวกมองโกลมีชัยชนะในประเทศจีน ทำให้สงครามระหว่างอานัมกับจัมปา ยุติลงอีก ๕ ปี ต่อมาคือ ปี พ.ศ.๑๘๐๐ กองทัพมองโกล เข้าตีเมืองฮานอยแต่ไม่สำเร็จ ในปี พ.ศ.๑๘๒๔ กุบไบข่าน ส่งขุนพลผู้หนึ่งมาปกครองจัมปา แต่ก็พบอุปสรรค และการต่อต้านมากมาย และในที่สุดก็ถูกฆ่าตาย
                      ปี พ.ศ.๑๘๕๕  อานัมยกกองทัพมาตีจัมปา ปลดพระเจ้าชัยสิงหวรมันที่ ๔ และจับไปเป็นเชลย และตั้งอนุชาของพระองค์นาม เชนัง เป็นกษัตริย์แทน ตอนนี้จัมปากลายเป็นแคว้นหนึ่งของอานัม ผู้ปกครองจัมปาถูกลดฐานะลงเป็นเจ้าประเทศราชชั้นสอง เชนังพยายามต่อสู้ในปี พ.ศ.๑๘๖๑ แต่พ่ายแพ้ยับเยินต้องหนีไปอยู่ที่ชวา อันเมืองเมืองเกิดของพระราชมารดาของพระองค์
                      ในปี พ.ศ.๑๙๑๔  จัมปาตีและทำลายเมืองฮานอยได้ แต่จีนโดยปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง สั่งให้จัมปายุติสงคราม กษัตริย์จัมปาจึงหันไปปราบปรามพวกสลัดในทะเลหลวง และสิ้นพระชนม์ในการรบทางทะเล เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๓
                      ในปี พ.ศ.๒๐๑๔ อานัมก็พิชิตจัมปาได้อย่างเด็ดขาด สงครามครั้งนี้ ชามจัมปาถูกฆ่าตายไม่น้อยกว่า ๖๐,๐๐๐ คน พวกอานัมจับพวกราชตระกูล และเชลยศึกอีกประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน กลับไปอานัม อานัมได้ผนวกจัมปาทั้งหมด แต่ทางตอนใต้บางส่วน พวกจามก็ยังคงมีแว่นแคว้นของตน อยู่ต่อมาอีกหลายร้อยปี จีนรับรองกษัตริย์จาม จนถึงปี พ.ศ.๑๙๘๖ ราชสำนักจามคงมีอยู่ในภูมิภาคนี้จนถึงปี พ.ศ.๒๒๖๑ ซึ่งเป็นปีที่กษัตริย์องค์สุดท้ายของชาวจาม ได้อพยพพลเมืองเกือบทั้งหมด หนีความกดขี่ของอานัมเข้าไปในดินแดนกัมพูชา
                     ลำดับกษัตริย์จาม  ราชวงศ์ที่ ๑ (พ.ศ.๗๓๕ - ๘๗๙) มี ๕ องค์  ราชวงศ์ที่ ๒ (พ.ศ.๘๗๙ - ๙๖๓) มี ๖ องค์  ราชวงศ์ที่ ๓ (พ.ศ.๙๖๓ - ๑๐๗๒) มี ๙ องค์  ราชวงศ์ที่ ๔ (พ.ศ.๑๐๗๒ - ๑๓๐๐) มี ๙ องค์  ราชวงศ์ที่ ๕ (พ.ศ.๑๓๐๑ - ๑๔๐๒) มี ๕ องค์  ราชวงศ์ที่ ๖ (พ.ศ.๑๔๑๘ - ๑๕๓๔) มี ๙ องค์ ราชวงศ์ที่ ๗ (พ.ศ.๑๕๓๔ - ๑๕๘๗) มี ๖ องค์  ราชวงศ์ที่ ๘ (พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๖๑๗) มี ๓ องค์ ราชวงศ์ที่ ๙ (พ.ศ.๑๖๑๗ - ๑๖๘๒) มี ๕ องค์  ราชวงศ์ที่ ๑๐ (พ.ศ.๑๖๘๒ - ๑๖๘๘) มี ๑ องค์  ราชวงศ์ที่ ๑๑ (พ.ศ.๑๖๘๘ - ๑๘๖๑) มี ๑๑ องค์  ราชวงศ์ที่ ๑๒ (พ.ศ.๑๘๖๑ - ๑๙๓๓) มี ๓ องค์  ราชวงศ์ที่ ๑๓ (พ.ศ.๑๙๓๓ - ๒๐๐๑) มี ๕ องค์ และราชวงศ์ที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๐๐๑ - ๒๐๑๔) มี ๒ องค์         ๘/ ๔๙๐๓
            ๑๓๗๙. จามจุรี  เป็นต้นไม้ใหญ่ แตกง่ามในระยะสูง ทรงพุ่มแผ่สล้าง ไม้พันธุ์นี้มีกระจัดกระจายทั่วไปในอัฟริกาและเอเชีย ในประเทศไทยเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่น ต้นพฤกษ์ ต้นซึก และมะรุมป่า  ใบค่อนข้างใหญ่เป็นช่อรวม ดอกเล็กเกสรเป็นฝอย ดอกรวมกันเป็นกระจุก ฝักแบนปลายมน        ๘/ ๔๙๒๕
            ๑๓๘๐. จามเทวี  ๑. เป็นราชธิดาของพระเจ้าจักกวัตติ กรุงละโว้ (ลพบุรี) มาปกครองแคว้นหริภุญชัย (ลำพูน) ระหว่างปี พ.ศ.๑๒๐๕ - ๑๒๕๘)  มีราชโอรสชื่อ เจ้ามหันตยศ กับเจ้าอินทวร พระนางสิ้นพระชนม์เมื่อชันษาได้ ๙๒ ปี
                        ๒. เป็นชื่อวัดเรียกว่า วัดกุดกู่ อยู่ในอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน มีเจดีย์โบราณสององค์ ฝีมือช่างสกุลหริภุญชัยคือ สุวรรณเจดีย์จังโกฏ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลง ย่อห้าชั้น แต่ละชั้นทุกด้านมีซุ้มทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย ชั้นละสามองค์ และตามมุมทั้งสี่ของทุกชั้นเจดีย์  มีเจดีย์ทิศประดับ ตามตำนานกล่าวว่า เจ้ามหันตยศสร้างขึ้นเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุพระนางจามเทวี เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๒๕๘
                        รัตนเจดีย์  เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐ ตอนกลางแต่ละเหลี่ยมีพระพุทธรูปยืน ประดิษฐานอยู่ในซุ้มทิศ เหนือขึ้นไปมีลวดบัวสามชั้น ถัดขึ้นไปมีพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มทิศโดยรอบ ตอนบนเป็นองค์สถูปทรงกลม เจดีย์องค์นี้พระเจ้าสรรพสิทธิทรงสร้าง เมื่อปี พ.ศ.๑๖๓๐         ๘/ ๔๙๒๕
           ๑๓๘๑. จามเทวีวงศ์ เป็นตำนานว่าด้วยเรื่องพงศาวดารของเมืองหริภุญชัย พระโพธิรังษีชาวเชียงใหม่แต่งเป็นภาษามคธ ในสมัยเมื่อเชียงใหม่เป็นราชธานีของแคว้นลานนาแปลและพิมพ์เป็นภาษาไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓         ๘/ ๔๙๒๖
           ๑๓๘๒. จามร ดู เครื่องต้น (ลำดับที่..๑๑๒๐..)         ๘/ ๔๙๒๖
            ๑๓๘๓. จามรี  เป็นสัตว์จำพวกเคี้ยวเอื้อง รูปร่างคล้ายงัวขนาดใหญ่ มีอยู่ในประเทศทิเบต และในแผ่นดินระดับสูงสุด ของทวีปเอเซียตอนกลาง มีทั้งเป็นสัตว์ป่า และสัตว์เลี้ยง จามรีเป็นสัตว์ทนหนาวได้ดีด้วย มีขนหนา สันสกฤตเรียก จามรีว่า จามร ในภาษาฮินดีเป็น จารี
                        ในประเทศอินเดียสมัยโบราณมักใช้ขนหางจามรี ทำเป็นแสปัดถือว่าเป็นของสูง นอกจากนี้ยังใช้หางจามรีเป็นภู่ประดับเครื่องม้า ของพวกกษัตริย์นักรบพวกตาดในประเทศตอนกลางของทวีปอาเซียใช้พู่จามรีเป็นธวัชคือ ธงประจำกองทหาร        ๘/ ๔๙๒๖
            ๑๓๘๔. จาเมกา  เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะอินดิสตะวันตก เป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ จาเมกาเป็นเกาะอยู่ในทะเลแคริบเบียน ห่างจากประเทศคิวบาด้านตะวันออก ไปทางด้านใต้ประมาณ ๑๔๕ กม. มีเมืองคิรสตันเป็นเมืองหลวง และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดพลเมืองร้อยละ ๙๕ เป็นนิโกร หรือเลือดผสมชาวผิวขาวกับนิโกร ที่เหลือเป็นอินเดีย จีน และชาวยุโรป
                        คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส พบเกาะจาเมกา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๗ จาเมกาอยู่ในปกครองของสเปน มาจนถึงปี พ.ศ.๒๑๙๘ หลังจากนั้นอังกฤษได้เข้ามายึดครองขับไล่ พวกสเปนออกไปหมด ได้มีการจัดตั้งบริษัทรอยัลอัฟริกา เมื่อปี พ.ศ.๒๒๑๕ โดยอังกฤษเป็นผู้ผูกขาดการค้าทาสแต่ผู้เดียว และนับแต่นั้น จาเมกาก็เป็นตลาดค้าทาสที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
                       จาเมกาเข้าร่วมสหพันธรัฐอินดิสตะวันตก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ และถอนตัวออก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ และประกาศตนเป็นประเทศเอกราช ในเครือจักรภพอังกฤษในปีเดียวกัน         ๘/๔๙๒๗
            ๑๓๘๕. จาร  เป็นการเขียนด้วยเหล็กแหลมบนใบลาน เป็นต้น เป็นคำมาจากภาษาเขมร
                         ใบลานที่ใช้จารในท้องตลาดมีอยู่ห้าชนิดเรียกกันว่า หมาย มีห้าหมายเพื่อสะดวกในการกำหนดราคาและการใช้ถ้าจารหนังสือที่เป็นตำรา เช่น มูลกัจจายนะ ใช้ห้าหมาย เพราะเป็นขนาดใหญ่กว้าง เรียกกันเป็นพิเศษว่า ลานมูล ใช้จารตัวใหญ่เพียงสามบรรทัดคือ บน กลางและล่าง ในระหว่างบรรทัดมีจารตัวเกษียนคือตัวอักษรเล็ก ๆ แทรกลงอีก
                        ถ้าจะใช้จารหนังสือบาลีอื่น ๆ เช่น พระไตรปิฎก ใช้สีหมายขนาดใหญ่ จำนวนที่ซื้อขายปรกติไม่นับจำนวนใบ เขามีประมาณไว้เรียกว่า กับมีจำนวนประมาณ ๕๐๐ - ๘๐๐ ใบ จะคัดลานออกเป็นชนิดคือ เป็นหมายให้มีขนาดกว้างยาวเท่าๆ กัน กว้างประมาณ ๕๕ ซม. ยาวประมาณ ๕๐ ซม. เมื่อเลือกได้ขนาดและจำนวนพอแล้วจะมีแผ่นไม้หนาประมาณ ๒.๕ ซม. กว้างยาวเท่าขนาดของลานจริง เจาะรูสองรู กะส่วนเท่าๆ กันเป็นสามส่วนของใบลาน ใช้ลวดร้อยแล้วเอาไม้ประกับใส่ทับอีกด้านหนึ่งเรียกว่า กับหนึ่ง
                       ที่เรียกว่า ผูกนั้น กำหนดโดยนับใบลานได้ ๒๔ ลานเฉพาะที่มีตัวหนังสือใบปกต่างหากเรียกว่าผูกหนึ่ง มีสองอังกา อังกาหนึ่งมี ๑๒ ลาน คำว่าอังกา เป็นคำบาลีแปลว่าหน้า แต่ใบลานที่จารเป็นหนังสือแล้ว แม้มีสองหน้าก็รวมเรียกว่าอังกาเดียว
           ๑๓๘๖. จารฺวาก เป็นชื่อปรัชญาวัตถุนิยมระบบหนึ่งในอินเดีย  คำสอนของลัทธินี้ การเห็นประจักษ์เท่านั้นเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ โลกประกอบด้วยธาตุสี่ประการคือดิน น้ำ ลม ไฟ ทรัพย์สมบัติ และความสนุกเพลิดเพลินเป็นเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ในโลก วัตถุเป็นสิ่งที่มีความคิดนึกได้ โลกหน้าหรือโลกอื่นไม่มี ความตายเป็นการสิ้นสุดของสรรพสิ่งทั้งหลาย
                       ตามนัยหรือหลักคำสอนของลัทธินี้ คุณธรรมความดีจึงเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ ความสุขสนุกสนานเท่านั้นที่มีความจริงแท้แน่นอน ชีวิตเป็นการสิ้นสุดของชีวิต ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมกิเลสตัณหาแต่ประการใด
                       ผู้รู้บางท่านมีความเห็นว่าลัทธิจารฺวากอาจจะเป็นปรัชญาระบบแรกของอินเดียก็ได้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในคัมภีร์พุทธศาสนามีการ กล่าวถึงพวกมิจฉาทิฏฐิหลายประเภทด้วยกัน เช่น ในสามัญผลสูตรมีข้อความกล่าวถึงครูทั้งหกในยุคนั้น         ๘/ ๔๙๓๓
            ๑๓๘๗. จารีต  เป็นประเพณีที่ถือสืบต่อ ๆ กันมานาน ด้วยคนหมู่มากเห็นว่าถ้าผู้ใดในหมู่คณะฝ่าฝืนข้อห้าม หรืองดเว้นไม่ทำตามที่มีกำหนดไว้ ก็เป็นการผิดประเพณี เป็นที่เสียหายแก่วิถีชีวิตของคนในส่วนรวม เรียกว่าจารีตประเพณี จารีตประเพณีนั้น ได้แก่ ประเพณี คือ นิสัยสังคม
                        จารีตประเพณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรม ซึ่งคนในสังคมถือว่าเป็นสิ่งมีค่าแก่ส่วนรวม ถ้าใครฝ่าฝืน หรืองดเว้นไม่กระทำตามประเพณี ก็ถือว่าเป็นผิด เป็นชั่ว        ๘/ ๔๙๕๕
            ๑๓๘๘. จารีตนครบาล  เป็นระบบการไต่สวนดำเนินคดีด้วยการทรมานจำเลยเพื่อให้จำเลยนั้นให้การตามความสัตย์จริง แต่มิได้กระทำแก่ผู้ต้องหา หรือจำเลยทุกคนไป จะกระทำก็ต่อเมื่อผู้ร้ายด้วยกันซัดทอดไปถึงผู้ต้องหา หรือจำเลยมีเหตุพิรุธอย่างใดอย่างหนึ่ง
                        ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตรา พ.ร.บ.ยกเลิกวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล ร.ศ.๑๑๕
                        การใช้จารีตนครบาลมีมาแต่เริ่มสร้างกรุงศรีอยุธยา เพราะกฎหมายลักษณะโจรบัญญัติขึ้นในแผ่นดินพระรามาธิบดีที่ ๑ และอาจมีใช้กันมาก่อนนี้ก็ได้         ๘/ ๔๙๕๙
            ๑๓๘๙. จารึก  หมายถึงเอกสารที่เขียนเป็นตัวอักษรหรือเครื่องหมายตามสัญนิยมอื่น ๆ ใหเป็นรอยลึกในศิลาหรือโลหะ หรือบนวัตถุอื่นใดที่มีลักษณะแข็ง และคงทนถาวรได้
                        จารึกของชาวฟินิเซียนที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดมีอายุกว่า ๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช  ศิลาจารึกของกรีกที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดก็ประมาณ ๑๐๐ ปีก่อนคริสตศักราช
                        จารึกเก่าที่สุดซึ่งค้นพบในประเทศไทยคือจารึก "เย ธมฺมา" ที่พระปฐมเจดีย์ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๐๐๐ - ๑๒๐๐ ในประเทศพม่าจารึกบนแผ่นทองคำ เป็นเรื่องความในคัมภีร์กถาวัตถุประมาณ พ.ศ.๑๐๕๐ ๑๑๕๐ และในประเทศกัมพูชาจารึกตั้งแผ่นดินพระเจ้าภววรมันที่ ๑ พ.ศ.๑๑๕๐  ตัวอักษรจารึกในประเทศทั้งสามดังกล่าว เป็นอักษรเดียวกันทั้งนั้น และเหมือนกันกับอักษรอินเดียฝ่ายใต้ที่ใช้อยู่ในราชวงศ์กทัมพะและราชวงศ์ปัละวะ อาจกล่าวได้ว่าอักษรอินเดียชนิดนี้เป็นเค้ามูลของอักษรมอญ - เขมร และชนชาติอื่น ๆ เคยใช้อยู่ในดินแดนนี้
                        จารึกอักษรไทยภาคกลาง จารึกเก่าที่สุดคือ ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๕ เขียนด้วยตัวอักษรไทย ที่พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๖
                        จารึกอักษรไทยเหนือ ในตำนานอักษรไทยเรียกว่า อักษรลื้อ ซึ่งเกิดจากอักษรไทยเดิม อันสืบเนื่องมาจากอักษรมอญโบราณ ในวงการศึกษาเรียกว่า หนังสือธรรม ใช้สำหรับเขียนคัมภีร์พระไตรปิฎกหรือหนังสือเทศนาต่าง ๆ            ๘/ ๔๙๖๔
            ๑๓๙๐. จาลุกยะ  เป็นชื่อราชวงศ์กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรหนึ่งที่มีอำนาจเหนืออาณาจักรอื่น ๆ ในบริเวณที่ราบสูงเดดคาน ประเทศอินเดีย ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๓ ระยะหนึ่ง และระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๗ อีกระยะหนึ่ง
                       กษัตริย์ราชวงศ์จาลุกยะ แบ่งออกได้เป็นสามกลุ่ม    ๘/ ๔๙๗๔
            ๑๓๙๑. จาว  เป็นส่วนหนึ่งของคัพภ์ หรือส่วนที่เจริญเติบโตเป็นต้นอ่อนอยู่ภายในผลมะพร้าว หรือผลตาล ซึ่งเรียกกันว่า จาวมะพร้าว และจาวตาล แต่ทางพฤกษศาสตร์เรียกจาวดังกล่าวว่า ใบเลี้ยง จาวตาลและจาวมะพร้าว ใช้เป็นอาหารได้         ๘/ ๔๙๘๕
            ๑๓๙๒. จาวมะพร้าว - มัน  เป็นไม้เถาชนิดหนึ่ง ลำต้นมีเนื้ออ่อนอาจยาวถึง ๑๐ เมตร รูปสี่เหลี่ยม ผลยาวประมาณ ๑.๕ ซม. มีรูปหน้าตัดเป็นสามเหลี่ยม มันชนิดนี้ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ์ และป่าดิบทั่วประเทศ หัวมันใช้เป็นอาหารได้         ๘/ ๔๙๘๘
            ๑๓๙๓. จ้ำจี้  เป็นการเล่นของเด็กชนิดหนึ่ง เล่นกันหลายคนเป็นวง เอามือทั้งสองข้างของแต่ละคน แผ่ทาบลงบนพื้นข้างหน้าตน แล้วเด็กคนหนึ่งในวง เป็นผู้ดำเนินการเล่น เอานิ้วไปแตะที่หลังมือเด็กในวง ที่วางแผ่อยู่ทุก ๆ มีวนซ้ายหรือขวาก็ได้ (ปรกติวนขวา - เพิ่มเติม) ปากร้องบทจ้ำจี้ซึ่งมีอยู่หลายบทด้วยกัน ถ้าคำร้องสุดท้ายของบทจ้ำจี้ตกที่มือผู้ถูกจี้ เด็กเจ้าของมือก็ชักมือออก แล้วขึ้นบทจำจี้ใหม่ เวียนต่อไปหลายครั้งหลายหน จนกว่ามือเหล่านั้นเหลือสุดท้าย เพียงมือเดียว เจ้าของมือนั้นตกอยู่ในฐานะ โหล่ผี ต้องถูกเพื่อนในวงกินตับ
                        การเล่นจ้ำจี้ทำนองนี้ มีในชนชาติอื่นด้วย เช่น จีน ญวน ญี่ปุ่น อินเดีย และชาวตะวันตก
            ๑๓๙๔. จำนอง  หมายถึง ตกลงทำสัญญาโดยเอาทรัพย์สินตราไว้แก่เจ้าหน้า เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ แต่ไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น เดิมเคยเรียกการทำสัญญาดังกล่าวว่า จำนำ
                        ทรัพย์สินที่จะจำนองได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ในมาตรา ๗๐๓ ได้กำหนดไว้สองประเภทคือ อสังหาริมทรัยพ์ทุกชนิด อาจจำนองได้ทั้งสิ้น ส่วนสังหาริมทรัพย์นั้น มีจำกัดไว้ว่า ต้องได้จดทะเบียนแล้ว ได้แก่ เรือกำปั่น หรือเรือตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟ หรือเรือยนต์ มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป เรือนแพ สัตว์พาหนะ หรือสังหาริมทรัพย์ นอกจากซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ ให้จดทะเบียนเฉพาะการ         ๘/ ๔๙๙๓
            ๑๓๙๕. จำนำ  คำว่า จำนำได้มีมานานแล้ว หมายถึง คำที่ใช้ในกฎหมาย เช่น ตกลงทำสัญญาโดยส่งมอบสังหาริมทรัพย์ ให้แก่เจ้าหนี้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้
                        จำนำพรรษา  หมายถึง ผ้าที่ทายกถวายแก่พระสงฆ์ ที่อยู่จำพรรษาในวัดนั้น         ๘/ ๕๐๐๑
            ๑๓๙๖. จำปา  เป็นไม้ยืนต้น  นิยมปลูกเก็บเอาดอกมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ ที่เป็นของป่า ต้นมักสูงสุด แต่ที่นำมาปลูกต้นมักเล็กกว่า ดอกออกเดี่ยวตามซอกใบ ติดกับกิ่งมีสีเหลืองส้มหม่น ๆ จนเรียกกันเป็นพิเศษว่า สีดอกจำปา
                        จำปาขาว  เป็นชื่อใช้เรียกต้นลั่นทมในภาคอีสาน
                        จำปาแขก  เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ดอกเล็กกว่าดอกจำปา
                        จำปาเทศ  เป็นต้นไม้ใหญ่ ดอกสีเหลืองนวล ค่อนข้างใหญ่มีขึ้นทั่วไปในประเทศไทย
                        จำปาลาว  ใช้เรียกต้นลั่นทมในภาคเหนือ          ๘/ ๕๐๑๐
            ๑๓๙๗.  จำปาดะ  เป็นไม้ต้นขนาดกลางสูง ๑๐ - ๑๕ เมตร ดอกผลคล้ายขนุน แต่ขนาดย่อมกว่า ยวงสีเหลือง นุ่ม รสหวานจัด เป็นผลไม้พื้นเมืองในแหลมมลายู ขนุนบ้านชนิดที่เนื้อเหลืองจำปาก็เรียกกันว่าขนุนจำปาดะ
                        จำปาดะ มีใบเดี่ยว เรียงสลับกัน         ๘/ ๕๐๑๑
            ๑๓๙๘. จำปาศักดิ์  จัมปาศักดิ์ เป็นชื่อเมืองทางภาคใต้ของประเทศลาว อยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ห่างไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ จ.อุบลราชธานี ประมาณ ๑๑๐ กิโลเมตร ตัวเมืองอยู่ติดต่อกับภูเขา
                        ตามประวัติกล่าวว่า แต่เดิมลาวทางเหนือได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานสร้างเมืองขชึ้นเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ชื่อนครกาลจำบากนาคบุรีศรี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๖ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นนครจัมปาศักดิ์นาคบุรีศรี มีกษัตริย์ปกครอง กลายเป็นศูนย์กลางการปกครองอาณาจักรนลาวทางใต้ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๒๑ กองทัพไทยได้ยกมาตีเมืองนี้ได้ จึงกลายเป็นประเทศราชของไทย ตลอดมาจนตกไปเป็นของฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ เมื่อเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนได้เมืองนี้กลับคืนมา
                        เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยต้องคืนเมืองนี้ให้ฝรั่งเศสไปในปี พ.ศ.๒๔๘๙           ๘/ ๕๐๑๓
            ๑๓๙๙. จำปี  เป็นพันธุ์ไม้วงศ์เดียวกับจำปา ลักษณะก็คล้ายจำปา แต่กิ่งก้านและใบเกลี้ยง เป็นมัน ขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าจำปา ดอกมีขนาดเล็กกว่าจำปาและมีสีขาว กลิ่นหอมเย็นบานเวลาค่ำ         ๘/ ๕๐๑๓
            ๑๔๐๐. จำปูน  เป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามซอกใบ ลักษณะคล้าย ดอกนมแมว แต่ใหญ่กว่าเล็กน้อย ต้นจำปูนพบอยู่ทางภาคใต้ของไทย         ๘/ ๕๐๑๓
            ๑๔๐๑. จิก - ต้น  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้สกุลวงศ์หนึ่งมีหลายชนิด โดยมากเป็นพันธุ์ไม้ ที่ชอบขึ้นตามที่ลุ่มชายน้ำ และชายทะเล
                        จิกนา  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง ๑๐ - ๑๕ เมตร ดอกสีแดงเป็นช่อห้อย ออกตามปลายกิ่ง
                        จิกน้ำ  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ ๓ เมตร ดอกสีขาว เกสรแดง ออกเป้นช่อห้อย
                        จิกบ้านหรือจิกสวน  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง ๑๐ - ๑๕ เมตร ดอกสีขาว เกสรแดง ออกเป็นช่อห้อยตามปลายกิ่ง ยอดอ่อนเป็นอาหารประเภทผักได้
                        จิกเล  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๐ - ๑๕ เมตร ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามปลายกิ่งแขนง ดอกสีขาว เกศรสีชมพู พบขึ้นทั่วไปตามชายฝั่งทะเล         ๘/ ๕๐๑๓
            ๑๔๐๒. จิงกูจา (พ.ศ.๒๓๐๐ - ๒๓๒๔)  เป็นพระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์ที่สี่ แห่งราชวงศ์อลองพญา เป็นราชบุตรองค์ใหญ่ของพระเจ้ามังระ ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๙ ไม่สนพระทัยในการปกครอง ถูกสำเร็จโทษในปี พ.ศ.๒๓๒๔         ๘/ ๕๐๑๖
            ๑๔๐๓. จิ้งจก  เป็นสัตว์คลานขนาดเล็ก สามารถปรับตัวได้ให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ที่อาศัยวางไข่ และอาจทำให้หางหลุดออกจากตัวได้ตามที่ต้องการเ พื่อหลอกศัตรู และหางนั้นงอกใหม่ได้
                        จิ้งจก  พบในเขตร้อนทั่วไป มีมากสกุลมากชนิด         ๘/ ๕๐๑๗
            ๑๔๐๔. จิงจ้อ  เป็นชื่อทั่ว ๆ ไปของไม้เถาขนาดเล็กถึงขนาดกลางของพันธุ์ไม้หลายชนิด มักพบขึ้นปกคลุมพุ่มไม้ตามชายทุ่งชายป่าทั่วไป มีชื่อเรียกตามภาคต่าง ๆ ของไทย เป็นจิงจ้อใหญ่ จิงจ้อเหลือง จิงจ้อวอก อีกชนิดหนึ่งเป็นไม้เถาขนาดกลาง มีชื่อเรียกตามภาคต่าง ๆ เป็นจิงจ้อขาว จิงจ้อหลวง จิงจ้อขน อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า จิงจ้อขาว จิงจ้อน้อย จิงจ้อผี         ๘/ ๕๐๑๗
            ๑๔๐๕. จิ้งจอก  เป็นหมาป่าชนิดหนึ่ง หมาป่าทั้งหมดในโลกปัจจุบันมีอยู่ ๑๔ สกุล ๑๕ ชนิด มีอยู่ตามทวีปต่าง ๆ แทบทั่วโลก แต่ไม่มีในขั้วโลกใต้ เกาะนิวกินี เกาะนิวซีแลนด์ หมู่เกาะมาเลนิเซีย โมลุกกะ เซลีเบส เกาะไต้หวัน ดามากัสการ์ เวสต์อินดัส และหมู่เกาะโอเชียนิก
                        ในประเทศไทยมีหมาป่าอยู่สองสกุล สกุลละชนิด จึงมีอยู่เพียงสองชนิดคือหมาจิ้งจอกและหมาไน
                        หมาจิ้งจอก มีสีตามตัวทั่วไปเป็นสีน้ำตาลแถบเทา หางเป็นพู่ยาวประมาณ ๒๕ ซม. ชอบหากินในตอนกลางคืน และตอนจวนพลบกับตอนเช้าตรู่ นอนตามโพรงไม้ โพรงดิน ไม่รวมอยู่เป็นฝูงใหญ่ ๆ  มักจะไปโดดเดี่ยวหรือไม่ก็เป็นฝูงเล็ก ๆ เพียง ๒ - ๔ ตัว หากินสัตว์เล็ก ๆ            ๘/ ๕๐๒๐
            ๑๔๐๖. จิงโจ้  เป็นสัตว์มีอยู่ตามธรรมชาติในทวีปออสเตรเลีย เกาะทาสมาเนีย เกาะนิวกินี หมู่เกาะบิสมาร์ก และเกาะใกล้เคียงอื่น ๆ  แบ่งออกเป็น ๑๗ สกุล ๕๒ ชนิด ทุกชนิดมีขาหลังใหญ่โต แข็งแรงสำหรับใช้กระโดด แต่ขาหน้าเล็ก
                       จิงโจ้ตัวเมียมีถุงเลี้ยงลูกที่หน้าท้องในถุงมีนมสี่เต้า แต่น้ำนมครั้งละสองเต้า
                       จิงโจ้มีหางยาวและแข็งแรง ใช้หางในการรักษาการทรงตัว เมื่อเคลื่อนที่ เวลายืนหรือนั่ง จะใช้หางยันเป็นขาที่สาม
                       จิงโจ้ทุกชนิดชอบกินผักหญ้า ผสมพันธุ์ปีละครั้ง มีลูกครั้งละตัวลูกอยู่ในท้อง เพียงระยะสั้น พอมีขนาดโตเท่าปลายนิ้วก้อย ก็คลอดออกมาแล้วพาตัวเลื่อนไปตามหน้าท้องแม่ จนเข้าไปในถุงหน้าท้องแม่ เอาปากดูดหัวนม โดยไม่ปล่อยเลย จนกระทั่งโตขึ้น
                       จิงโจ้ที่รู้จักกัน เป็นสามัญในไทยคือ จิงโจ้ขนาดใหญ่ที่สุด
                       จิงโจ้นอกจากที่กล่าวนี้ ในคำไทยยังมีความหมายถึงสัตว์และสิ่งอื่นด้วยคือ เป็นนกขนาดเล็กชนิดหนึ่ง แมงมุมชนิดหนึ่งมีขายาว ขาวิ่งอยู่บนหลังน้ำ เครื่องห้อยเปลให้เด็กดูเล่นทำด้วยไม้ไผ่จัก ทหารหญิงในวังหลวงรัชกาลที่ ๔ และเครื่องป้องกันในจักรเรือไม่ให้สวะเข้าไปปะ และกันกระทบ และกันไม่ให้เพลาแกว่ง          ๘/ ๕๐๒๒
            ๑๔๐๗. จิ้งหรีด  เป็นแมลงพวกหนึ่ง มีหัวกว้างอกกว้างเท่ากับความกว้างของหัว ลำตัวเรียวไปทางหาง มีอยู่มากมายหลายชนิดในประเทศไทย จิ้งหรีดเหล่านี้ทำเสียงได้เพราะ และแปลก ๆ แตกต่างกันไปโดยใช้ขอบปีกหน้าถูกัน จะเกิดเสียงดังเป็นจังหวะ
                        จิ้งหรีดชอบหลบซ่อนอยู่ในที่มืด ออกหากินเวลากลางคืนอาหารมีมากอย่างเป็นพืช และผักต่าง ๆ บางครั้งจึงก่อความเสียหายแก่กสิกร          ๘/ ๕๐๒๕
            ๑๔๐๘. จิงหัน, จิงหุน  เป็นชื่อของตัวน้ำนอง ซึ่งเป็นปลวกชนิดหนึ่ง สีตัวค่อนข้างคล้ำ          ๘/ ๕๐๒๗
            ๑๔๐๙. จิ้งเหลน  เป็นสัตว์เลื้อยคลาน มีสี่เท้า ในโลกนี้เท่าที่พบกมีอยู่ประมาณกว่า ๖๐๐ ชนิด ขาและนิ้วเท้ามักจะเล็ก มีเกล็ดเรียบลื่น ลิ้นสั้นตรงปลายไม่มีแฉกออกลูกเป็นตัว ส่วนมากชอบอยู่ตามพื้นดิน มักแอบอยู่ใต้ก้อนหิน ขอนไม้ที่ผุพัง
                        จิ้งเหลน ในประเทศไทยเท่าที่สำรวจพบมีอยู่ ๑๑ สกุล ๔๖ ชนิด          ๘/ ๕๐๒๗
            ๑๔๑๐. จิญจมาณวิกา เป็นชื่อหญิงคนหนึ่งในครั้งพุทธกาล เป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนาประเภทหนึ่ง ในพวกปริพาชก เป็นหญิงสาวผู้มีโฉมงามเป็นเลิศ นางได้รับภาระจากพวกเดียรถีย์ ทำอุบายไปกล่าวโทษติเตียนพระพุทธเจ้า ใส่ไคล้พระพุทธองค์ด้วย อสัทธรรมว่าได้ร่วมสมัครสังวาสกับตน จนตั้งครรภ์ แต่อุบายของนางไม่เป็นผล เหตุด้วยท้าวสักเทวราช เสด็จมานิรมิตเป็นลูกหนู ทำลายอุบายของนางเสียก่อน นางจึงมีอันเป็นให้ถูกแผ่นดินสูบตาย ไปเกิดในเ
อเวจีนรก
                        เรื่องนางจิญจมาณวิกานี้ มีปรากฎในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ในมหาปทุมชาดก อรรถกถาชาดก ทวาทสกนิบาต และในวิวิธชาดก          ๘/ ๕๐๒๘
            ๑๔๑๑. จิต  ใจ หมายถึงความรู้สึกนึกคิด มีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง เช่น มโน มานัส หรือมนัส วิญญาณ คำว่าจิต และคำที่เป็นไวพจน์ ส่วนมากมีความหมายอย่างเดียวกันคือ รู้แจ้ง อารมณ์
                        อัตตภาพที่สมมุติว่าเป็นตัวตนเรานี้ แยกออกได้เป็นสองส่วนคือ รูป ได้แก่ ส่วนที่เป็นร่างกาย และนาม ได้แก่ ส่วนที่เป็นใจ รูปกับนามนี้เรียกรวมกันว่า นามรูป แบ่งออกไปเห็นห้ากอง เรียกว่า ขันธ์ห้า ส่วนที่เป็นรูปหรือกาย เรียก รูปขันธ์  ส่วนที่เเป็นนาม หรือใจ จัดเป็นสี่กองคือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ วิญญาณขันธ์ คือ ความรู้แจ้งอารมณ์เรียกว่า จิต ส่วนที่เหลืออีกสามขันธ์เป็น เจตสิก
                        จิตนั้น โดยธรรมชาติแบ่งเป็นสี่คือ กุศล (บุญ)  อกุศล (บาป)  วิบาก (ผลของบุญและบาป)  และกิริยา (สักแต่ว่าเป็นกิริยา ไม่ใช่บุญ ไม่ใช่บาป )
                        ๑. จิต ที่เป็นกุศลเรียกว่า กุศลจิต  จัดโดยภูมิเป็นสี่คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกตรภูมิ
                        ๒. จิต ที่เป็นอกุศล เรียกว่า อกุศลจิต เป็นกามาวจรภูมิอย่างเดียว จัดโดยมูลเป็นสามคือ โลกมูล โทสมูล และโมหมูล
                        ๓. จิตที่เป็นผลของกุศลจิต หรืออกุศลจิต เรียกว่า วิปากจิต เรียกสั้นว่า วิบาก จัดโดยภูมิเป็นสี่คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปวจรภูมิ และโลกุตรภูมิ
                        ๔. จิต ที่เป็นกิริยา เรียกว่า กิริยาจิต เรียกสั้น ๆ ว่า กิริยาจัดโดยภูมิเป็นสามคือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมิ
                        เมื่อรวมจิตเข้าด้วยกันเป็น ๘๙ ดวง คือ กุศลจิต ๒๑ ดวง อกุศลจิต ๑๒ ดวง วิปากจิต ๓๖ ดวง และกิริยาจิต ๒๐ ดวง          ๘/ ๕๐๕๓
            ๑๔๑๒. จิตคหบดี  เป็นอุบาสก ผู้ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลชั้นอนาคามี เป็นมหาเศรษฐีผู้มีศรัทธาแก่กล้า มีศีลสมบูรณ์ ได้สร้างมหาวิหารถวายพระสงฆ์ ผู้มาจากจาตุรทิศไว้ในสวนของตน ที่อุทิศถวายให้เป็นสังฆารามคือ สวนอัมพาฎก (สวนมะกอก) ในนครปัจฉิกาสณฑ์
                        จิตคหบดี ได้ฟังธรรมจากพระมหาเถระ ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในปัญวัคคีย์ ก็ได้บรรลุโสดาบัน ครั้นต่อมาได้ฟังธรรมจากพระสารีบุตร ก็ได้บรรลุอนาคามิผล หลังจากนั้นจึงไปเผ้าพระพุทธเจ้า          ๘/ ๕๐๔๕
            ๑๔๑๓. จิตคุปต์  เป็นชื่อพนักงานในยมโลก มีหน้าที่บันทึกบุญบาป และชื่อมนุษย์ชายหญิง ผู้กระทำบุญบาป ลงบัญชีไว้ แล้วนำไปอ่านถวายพระยายม ทั้งนี้เป็นไปตามคัมภีร์ว่าด้วยเรื่อง เทพนิยายวิทยา แต่คัมภีร์ฝ่ายพระพุทธศาสนา กล่าวเป็นอย่างอื่น          ๘/ ๕๐๕๑
            ๑๔๑๔. จิตตะกอง  เป็นชื่อจังหวัดหนึ่งในแคว้นเบงกอลตะวันออก ของประเทศปากีสถาน (ปัจจุบันคือ ประเทศบังคลาเทศ - เพิ่มเติม) ใกล้กับพรมแดนประเทศพม่า ทางตะวันตกติดต่อกับอ่าวเบงกอล เดิมทีเดียวเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรฮินดูโบราณ  ต่อมาตกอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรอารากัน (ยะไข่) และจักรวรรดิ์โมกุล ผลัดเปลี่ยนกันหลายครั้ง จนถึงปี พ.ศ.๒๓๐๓ จึงตกเป็นของอังกฤษ และเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นเบงกอลบริติช ตลอดมาถึงปี พ.ศ.๒๔๙๐ จึงรวมเข้ากับแคว้นเบงกอลตะวันออก ดังกล่าว          ๘/ ๕๐๕๙
            ๑๔๑๕. จิตรกรรม  หมายถึง งานศิลปกรรมสาขานึ่ง ในห้าสาขา ซึ่งเรียกว่า วิจิตรศิลป์ หรือวิสุทธิศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม วรรณคดี และดนตรี ซึ่งรวมนาฎศิลป์เข้าไว้ด้วย
                        กล่าวอย่างสามัญจิตรกรรมคือ ศิลปะการวาดภาพ มนุษย์ได้สร้างงานจิตรกรรม มาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ยุคสมัยหินเก่า งานจิตรกรรมดังกล่าวเขียนอยู่บนผนังถ้ำ ภาพี่เขียนส่วนใหญ่ได้แก่ สัตว์ป่าที่มีอยู่ในสมัยนั้น ภาพดังกล่าวมีอยู่ทั่วไปในส่วนต่าง ๆ ของโลก วิวัฒนาการของงานจิตรกรรม ดำเนินเรื่อยมาเข้าสู่สมัยหินใหม่ สมัยทองแดง สมัยสัมฤทธิ์และเหล็ก ตามลำดับ
                        ทางด้านตะวันออก งานจิตรกรรมสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมศาสนาเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ งานจิตรกรรมจึงเขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติและชาดกมากกว่าเขียนเรื่องอื่น          ๘/ ๕๐๖๐
            ๑๔๑๖. จิตรกูฏ  เป็นชื่อเขาลูกหนึ่งในอินเดียสมัยพุทธกาลว่าเป็นเขาตั้งอยู่โดดเดี่ยวอยู่ไม่สู้ไกลจากหิมวันต์ประเทศ  ในรามเกียรติ์กล่าวว่าเมื่อพระรามเดินดง เคยเสด็จมาพักแรมที่เขานี้อยู่ระยะหนึ่ง          ๘/ ๕๐๖๕
            ๑๔๑๗. จิตรลดา ๑  เป็นชื่อสวนสวรรค์ของพระอินทร์แห่งหนึ่งในสวนสวรรค์ทั้งสี่ในดาวดึงสพิภพ (สวนนันทวัน สวนจิตรลดาวัลย์ สวนปารุสกวันและสวนมิสกวัน) ตั้งอยู่บนยอดเขาสิเนรุราช หรือเขาพระสุเมรุ          ๘/ ๕๐๖๖
            ๑๔๑๘. จิตรลดา ๒ - กาพย์  มีรูปเหมือนโคลงเก่าซึ่งไม่บังคับเอกโท ดังนั้นกาพย์จิตรลดาจึงเป็นได้ทั้งกาพย์ทั้งโคลง          ๘/ ๕๐๖๘
            ๑๔๑๙. จิตรเลขา  ในอนิรุทธ์คำฉันท์เรียกพิจิตรเลขา เป็นพระพี่เลี้ยงนางอุษาธิดาของพาณาสูรผู้ครองโศณิตปุระ นางมีความถนัดในการวาดรูป ฝีมือเยี่ยมเป็นอย่างเอก ได้วาดรูปถวายนางอุษาจนพบพระอนิรุทธ์ที่แอบมาหานางแล้วหายไป          ๘/ ๕๐๖๙
            ๑๔๒๐. จิตวิทยา  เป็นวิชาที่ใช้วิธีการเชิงวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมของคนในลักษณะเฉพาะตน และในลักษณะที่อยู่ในกลุ่มหรือหมู่คณะ
                        วิชาจิตวิทยามีความเป็นมาสองทาง ทางหนึ่งคือ วิชาปรัชญา อีกทางหนึ่งคือ วิชาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิชาสรีระวิทยา            ๘/ ๕๐๗๐
            ๑๔๒๑. จิตวิทยาการศึกษา  มีความหมายสำคัญแบ่งออกเป็นสองนัยคือ
                        ๑. การศึกษาถึงข้อเท็จจริง หลักเกณฑ์ การทดลอง การวิจัยเกี่ยวกับผลประกอบทางจิตวิทยาที่มีผลต่อการศึกษาของเด็ก
                        ๒. การศึกษาธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก          ๘/ ๕๐๘๑
            ๑๔๒๒. จิตวิทยาสังคม  เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับบุคคลซึ่งอยู่ในสังคม และมีความสัมพันธ์กับสังคม และวัฒนธรรมที่แวดล้อมอยู่ตลอดเวลา
                         วิชาจิตวิทยาสังคม คือ วิชาที่เราศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลหนึ่ง  ที่มีต่อคนอื่น ๆ หรือบุคคลกลุ่มอื่น        ๘/ ๕๐๙๗
            ๑๔๒๓. จิตหัตถ์  เป็นชื่อพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์สมบูรณ์ด้วยปฏิสัมภิทาทั้งสี่ในพระพุทธศาสนาท่านอยู่ในพวกที่เรียกว่าทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา คือปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า เนื่องจากเป็นผู้มีจิตไม่หนักแน่นมั่นคงมีปัญญายังไม่แก่กล้าพอจะรู้แจ้งธรรม ทั้งเมื่อออกบวชก็ไม่ได้บวชด้วยศรัทธา ครั้นบวชแล้วก็ถูกอำนาจกิเลสรบกวนจึงลาสึก เมื่อไม่พอใจในชีวิตฆราวาสก็กลับมาบวชใหม่ เป็นอย่างนี้ถึงหกครั้ง ครั้งที่เจ็ดได้พบภาพสลดใจจากภรรยาของท่านเอง จึงตัดสินใจบวชไม่สึกอีก และไม่นานก็บรรลุพระอรหันต์          ๘/ ๕๑๐๘
            ๑๔๒๔. จิ้น ๑ - แคว้น  เป็นชื่อแคว้นหนึ่งของจีนในสมัยเลียดก๊ก (๕๗๒ ปีก่อน พ.ศ. - พ.ศ.๓๒๒) มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่พระเจ้าโจวเฉิงหวัง (ครองราชย์ ๕๗๒ - ๕๓๕ ปีก่อน พ.ศ.) ทรงให้อนุชาเป็นเจ้าเมืองถัง มีราชทินนามว่าถังโห็ว ต่อมาโอรสถังโห็วย้ายไปครองเมืองจิ้น สถาปนาตนเองเป็นจิ้นโห็ว สมัยต่อมาเมืองจิ้นได้ขยายอาณาเขตกว้างขวางขึ้นเป็นแคว้น มีดินแดนครอบคลุมไปถึงภาคใต้ของทั้งมณฑลซันซี และมณฑลเหอเป่ย ครั้นปลายสมัยเลียดก๊ก แคว้นจิ้นถูกแบ่งเป็นแคว้นย่อยสามแคว้นคือ หัง เจ้าและเว่ย แคว้นจิ้นสิ้นสุด เมื่อปี พ.ศ.๙๐          ๘/ ๕๑๑๓
            ๑๔๒๕. จิ้น ๒  เป็นราชวงศ์หนึ่งของจีน ต่อจากสมัยสามก๊ก แบ่งเป็นสองระยะ          ๘/ ๕๑๔๔
                         ๑. ไซจิ้น (พ.ศ.๘๐๘ - ๘๕๙) มีเมืองลกเอี๋ยน (ลั่วหยัง) เป็นราชธานี มีกษัตริย์สี่พระองค์
                         ๒. ตั้งจิ้น (พ.ศ.๘๖๐ - ๙๖๒) มีเมืองเกียนเงียบ (เจี้ยนเอี้ย) ปัจจุบันคือเมืองนานกิง เป็นราชธานี มีกษัตริย์สิบเอ็ดองค์
                        ในราชวงศ์ตั้งจิ้นนี้ บรรดาผู้คงแก่เรียนหันไปศึกษาปรัชญาเมธีของจีนโบราณ ต่อมาเมื่อพระกุมารชีพแห่งอินเดียเดินทางไปสู่ประเทศจีน นำเอาพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้าไปเผยแผ่ด้วย เพราะมีคำสอนในนิกายศูนยตวาทิน มีหลักธรรมคล้ายคลึง และเข้ากับหลักคำสอนของเหลาจื๊อ นักปราชญ์จีนที่รู้ในลัทธิเต๋าดีอยู่เดิม จึงหันมาสนใจและศึกษานิกายมหายานมากขึ้น ในที่สุดพระกุมารชีพ ได้รับสถาปนาเป็นราชครูแห่งพระเจ้าโห้วฉิน  พระกุมารชีพได้ทำงานสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามหายาน คือการถ่ายทอดพระไตรปิฎกจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนไว้ได้มากที่สุด
            ๑๔๒๖. จิ้น ๓ - ราชวงศ์  เป็นชื่อราชวงศ์หนึ่งของจีนในสมัยอู่ไต้ยุคหลัง (พ.ศ.๑๔๕๐ - ๑๕๐๓) ในปี ๑๔๕๙ สือจิ้งถังได้ขอกำลังทัพจากเจ้าแห่งคี่ตัน (ชนชาติหนึ่งอยู่ทางทิศพายัพของจีน) เพื่อโค่นล้มราชวงศ์ถัง โดยยอมถวายตัวเป็นราชบุตรบุญธรรมของเจ้าองค์นั้น เมื่อดำเนินการจนสำเร็จแล้ว เจ้าแห่งคี่ตันจึงทรงสถาปนา ให้สือจิ้งกังขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า เกาจู่ เปลี่ยนราชวงศ์เป็นจิ้น แล้วพระเจ้าเกาจู่ยินยอมยกดินแดน ๑๖ จังหวัดทางภาคเหนือของจีนแก่พระเจ้าคี่ตัน พวกคี่ตันจึงรวมดินแดนที่ตนมีอยู่เดิมและที่ได้มาใหม่แล้วตั้งเป็นอาณาจักรเหลียงขึ้น
                        การยกดินแดน ๑๖ จังหวัดให้แก่คี่ตันนี้นับเป็นต้นเหตุแห่งการสูญเสียดินแดนทั้งหมดทางภาคเหนือของจีนอย่างถาวร กล่าวคือ ชนชาวจีนในมณฑลต่าง ๆ ทางภาคเหนือต้องเหินห่างจากวัฒนธรรมจีนเดิม และในขณะเดียวกันก็ต้องรับเอาขนบประเพณีของชนเผ่าผู้รุกรานแทนเป็นเวลาเกือบ ๒๐๐ ปีมาก่อนคือตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าถังเสวียนจง (ครองราชย์ พ.ศ.๑๒๕๖ - ๑๒๙๘)  ครั้นถึงราชวงศ์ซ้อง ประเทศจีนไม่สามารถตีเอาดินแดนเหล่านั้นคืนมาได้
                       ส่วนราชวงศ์จิ้นนั้นมีอาณาเขตอยู่ในมณฑลเหอหนัน ซันตง สั่นซี กันซู่ ตลอดทั้งภาคใต้ของมณฑลเหอเป่ย มีเมืองไคเฟิงในมณฑลเหอหนันเป็นเมืองหลวง ราชวงศ์นี้สืบต่อมาได้เพียงรัชกาลเดียวก็ถูกพวกคี่ตันโค่นล้มในปี พ.ศ.๑๕๐๙          ๘/ ๕๑๑๗
            ๑๔๒๗. จิ้นซีฮ่องเต้  เป็นพระเจ้าแผ่นดินจีนที่สามารถรวมอาณาจักรจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ เมื่อปี พ.ศ.๓๒๒ แล้วสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือฮ่องเต้มีศักดิ์สูงกว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่นที่เคยปกครองประเทศจีนมาก่อน
                       จิ้นซีฮ่องเต้ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๘๔ ในสมัยเลียตก๊ก เป็นบุตรเจ้าเมืองจิ๋น เมื่ออายุ ๑๓ ปี ได้เป็นเจ้าเมืองต่อจากบิดา มีนามว่า จิ๋น อ๋อง เจ้ง
                       ประเทศจีนในปลายราชวงศ์จิว ได้แบ่งแยกออกเป็นเจ็ดก๊ก แต่ละก๊กมีเจ้าเมืองปกครอง และสถาปนาตนเองเป็นอ๋อง (หวัง) จิ๋น อ๋อง เจ้ง ได้วางแผนรวมรวมประเทศจีนให้เป็นปึกแผ่น ได้สำเร็จเมื่อครองเมืองจิ๋นได้ ๒๖ ปี (พ.ศ.๓๒๒)
                       จิ๋นซีฮ่องเต้ ได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อป้องกันอิทธิพลทั้งภายใน และภายนอกราชอาณาจักร เช่น ขับไล่พวกฮั่นซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของจีน ริบอาวุธประชาชน กวาดต้อนพวกผู้ดีมีเงินมาอยู่ในเขตราชธานี สร้างถนน เผาตำรา จับอาจารย์สำนักต่าง ๆ มาฝังทั้งเป็น ฯลฯ
                       จิ้นซีฮ่องเต้ มีพละกำลังแข็งแกร่งในการประกอบกรณียกิจประจำวัน ซึ่งทรงกำหนดไว้ว่า ถ้าไม่เสร็จตามอัตราที่กำหนดไว้ จะไม่ทรงพักผ่อน นอกจากนี้ยังออกตรวจราชการในจังหวัดทุรกันดาร โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก พระองค์ได้กำหนดมาตรา ชั่ง ตวง วัด ตลอดจนเงินตราและภาษา เพื่อเป็นมาตรฐานขึ้นใหม่ โปรดให้นำอักษรเมืองจิ๋น ที่เคยใช้มาแต่เดิมมาดัดแปลงให้เขียนง่ายขึ้น ประกาศใช้เป็นภาษากลางทั่วประเทศ ด้านการปกครองให้เลิกระบบผู้ครองเมือง และรวมอำนาจทั้งหมด ซึ่งคอยควบคุมการปกครองของแต่ละเมืองโดยตรง  เขตปกครองแบ่งออกเป็นจังหวัด และอำเภอ ผู้ปกครองจังหวัด และอำเภอต้องได้รับการแต่งตั้ง ไม่ใช้วิธีสืบสกุล
                       ในปี พ.ศ.๓๒๓ ได้เริ่มสร้างถนนสายใหญ่ ๆ ขึ้นสองสายคือ สายตะวันออก เริ่มจากเมืองห้ำเอี๋ยง ตัดตรงไปยังอาณาจักรของเมืองเอี๋ยน และเจ๋ เดิม สายใต้ผ่านเมืองฌ้อเดิม ทั้งสองสายมีความกว้าง ๕๐ ก้าว พื้นถนนมีความมั่นคงแข็งแรงมาก สองข้างถนนปลูกต้นสนไว้ทุกระยะ ๓๐ ศอก (จีน)
                       ในปี พ.ศ.๓๒๘ พระองค์ได้ทำการขับไล่พวกฮัน ซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของจีน เพื่อเป็นการป้องกันราชอาณาจักร ในปี พ.ศ.๓๒๙ - ๓๓๐ ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเป็นการใหญ่ มีการสร้างถนนสายยาวที่สุด มีความยาวถึง ๑,๘๐๐ ลี้ และสร้างกำแพงเมืองจีนที่ยาวที่สุด ซึ่งแต่เดิมในสมัยเลียดก๊ก เมืองต่าง ๆ ที่อยู่ทางเหนือ เช่น เจ๋ งุ่ย ฌ้อ ล้วนมีกำแพงของตนทั้งสิ้น มาในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ จึงทำการซ่อมแซมและสร้างเสริม เพื่อให้มีกำแพงติดต่อกันตลอด ภาคเหนือเป็นระยะทางยาวถึง หมื่นลี้เศษ
                       ในปี พ.ศ.๓๓๓ จิ๋นซีฮ่องเต้ ได้ทรงออกตรวจราชการเป็นครั้งสุดท้าย เป็นระยะทางยาวที่สุด ทรงประชวรและสวรรคต ณ มณฑลโฮไป ปัจจุบัน          ๘/ ๕๑๒๐
            ๑๔๒๘. จินดามณี  ๑  เป็นชื่อหนังสือสำคัญเรื่องหนึ่ง ในวรรณคดีไทยใช้เป็นตำราแบบเรียนภาษาไทย แพร่หลายมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
                        หนังสือจินดาฉบับพิมพ์ ที่รู้จักกันแพร่หลายมีสองฉบับคือ ฉบับกรมศิลปากร เล่ม ๑ และเล่ม ๒ นอกจากนั้นยังมีฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเล ฉบับโรงพิมพ์พาณิชศุภผล และฉบับโรงพิมพ์หมอสมิซ บางคอแหลม
                        จินดามณี เล่ม ๑ กรมศิลปากร  มีข้อความกล่าวว่า พระโหราธิบดี แต่งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ตอนต้นมีร่ายนำ แล้วรวบรวมศัพท์ที่มีเสียงพ้องกัน แต่เขียนผิดกัน มาลงไว้เป็นตัวอย่างหัดอ่าน หัดเขียน ตอนต่อไปมีกาพย์สำหรับให้จำคณะทั้ง ๘ ในการแต่งคำประพันธ์ประเภทฉันท์ จากลักษณะการแต่งหนังสือจินดามณี เห็นได้ว่าผู้แต่งมีความรอบรู้ในวิชาอักษรศาสตร์ และวรรณคดีอย่างสูง นับว่าจินดามณีเป็นตำราเรียนอันวิเศษ ในภาษาไทยเล่มหนึ่ง
                        จินดามณี เล่ม ๒ พระนิพนธ์กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ขึ้นต้นด้วยฉันท์วสันตดิลก แล้วต่อไปแจกลูกรวมทั้งอักษรกล้ำ ในแม่ ก กา กก กด กบ กน และเกอย แล้วผันอักษรกลางทุกตัวด้วยวรรณยุกต์ เอก โท ตรี จัตวา (ห้าเสียง) ผันอักษรสูงด้วย เอก โท (สามเสียง) ผันอักษรต่ำ เอก โท (สามเสียง) รวมทั้งอักษรกล้ำทุกแม่ และอักษรต่ำที่มี ห และ อ นำ เล่ม ๒ นี้ แต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๓
                        จินดามณี ฉบับหมอบรัดเล จัดพิมพ์  เป็นฉบับสำรวมใหญ่คือ พิมพ์รวมกันไว้หลายเรื่องในเล่มเดียวกัน มีประถม ก กา แจกลูก จินดามณี ประถมมาลา และปทานุกรม นอกจากนั้นยังมีเพิ่มเติม แทรกเรื่องคำอธิบายต่าง ๆ ไว้อีก เช่น อักษรควบ ได้เอาเครื่องหมายวรรคตอน ในภาษาอังกฤษมาลงไว้ด้วย มีราชาศัพท์ ศัพท์กำพูชา คำชวา และโคลงกลบทต่าง ๆ ในจารึกวัดพระเชตุพน
                        จินดามณี ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ  นายขจร สุขพานิช ได้ขอถ่ายไมโครฟิลม์ มาจากต้นฉบับสมุดข่อยที่เก็บอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นำมามอบให้กรมศิลปากร กล่าวว่าแต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๕ มีแจกอักษร และผันอักษรตามวรรณยุกต์ เอก โท ตรี จัตวา และบอกฐานที่เกิดของพยัญชนะ แล้วถึงประสมอักษร และสะกดแม่ต่าง ๆ
                        จินดามณีฉบับความแปลกมีอยู่สองฉบับคือ ฉบับสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับฉบับที่เป็นสมบัติเดิมของหอสมุดแห่งชาติ ทั้งสองเล่มมีบานแพนก ขึ้นต้นเหมือนกันทั้งสองฉบับ แปลกจากฉบับอื่นคือ "ศักราช ๖๔๕ (เข้าใจว่าเป็นจุลศักราช ตรงกับปี พ.ศ.๑๘๒๖ และตรงกับที่กล่าวไว้ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหง ฯ)  พญาร่วงเจ้าได้เมืองศรีสัชนาไลย จึงแต่งหนังสือไทย และแม่อักษรทั้งหลายตามพาทย ทั้งปวง อันเจรจาซึ่งกัน แลครั้งนั้นแต่งแต่แม่อักษรไว้ จะได้แต่งเปนปรกติวิถารณหามิได้ แลกุลบุตรผู้อ่านเขียนเป็นอันยากนัก แลอนึ่งแม่หนังสือแก่ ก กา ถึง กน ฯลฯ จนถึงเกย นั้น เมืองขอมก็มีแต่งอยู่แล้ว พญาร่วงเจ้าจึงแต่งแต่รูปอักษรไทยต่างๆ แลอักษรขอมคำสิงหล พากยนั้น เดิมมีแต่ดั่งนี้ ฯลฯ"          ๘/ ๕๑๒๖
            ๑๔๒๙. จินดามณี  ๒  ชื่อวิชาหรือมนตรที่นางยักษิณี บอกแก่ลูกชายที่มาอยู่ในหมู่มนุษย์ ในเรื่อง ปทกุสลชาดก ในณิบาตชาดก นวกนิบาต เล่ม ๑๐ เค้าเรื่องเหมือนเรื่องพระอภัยมณี ตอนต้น           ๘/ ๕๑๓๗
            ๑๔๓๐. จินดามณี  ๓  เป็นชื่อมหากาพย์ของวรรณคดีทมิฬ เป็นเรื่องเล่าถึงการท่องเที่ยว เผชิญภัยต่าง ๆ ของพระราชกุมารชื่อ ชีวกะ แต่งเป็นแบบกาพยสันสกฤต และเป็นฉันท์ นอกจากนี้คำว่า จินฺตามณิ ในภาษาสันสกฤต ยังเป็นชื่อคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น คัมภีร์เกี่ยวกับโหราศาสตร์ และคัมภีร์อรรถกถาต่าง ๆ
            ๑๔๓๑. จินตกวี  คือ กวีผู้แต่งกลอนตามเรื่องที่คิดผูกขึ้นเอง เช่น สุนทรภู่ คิดผูกเรื่องพระอภัยมณีขึ้นแต่งเป็นกลอน ชื่อว่า เป็นจินตกวี          ๘/ ๕๑๓๗
            ๑๔๓๒. จินตหรา  เป็นชื่อนางหนึ่งในบทละครเรื่อง อิเหนา เป็นพระธิดาของเจ้าเมืองหมันหยา มีพระรูปโฉมงดงาม เป็นราชกุมารี ที่รักของพระบิดาและเหล่าพระญาติ ได้พบอิเหนาที่เมืองหมันหยา เกิดความรักอยากเป็นคู่ครองซึ่งกันและกัน ภายหลังอิเหนาได้นางเป็นชายา โดยไม่เปิดเผย ต่อมาท้าวหมันหยาได้รับสารของศรีปัตหรา เจ้ากรุงกุเรปัน พระบิดาของอิเหนา ให้ส่งพระธิดามายังเมืองกาหลัง จะอภิเษกเป็นราชเทวี รองนางบุษบา พร้อมด้วยนางกษัตริย์อื่น ๆ นางจินตหราไม่ยินยอมในตอนแรก แต่เมื่อพระบิดาวิงวอน ขอให้นางรับอภิเษก เพื่อเห็นแก่บ้านเมือง นางจึงยอมรับ และเสด็จเข้าร่วมราชพิธีอภิเษก เป็นประไหมสุหรี ฝ่ายขวา           ๘/ ๕๑๓๘
            ๑๔๓๓. จิบ  เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ซึ่งมีหลายอย่างในท้องที่ต่าง ๆ กันคือ
                        ๑. เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ใช้เลาไม้ลำปักในคลอง เรียงทางซ้ายและทางขวาเป็นลำดับ เปิดช่องตอนท้ายไว้ แล้วเอาเฝือกขนาบกับเสาสองข้างอย่างเดียวกับกะบัง (ลำดับที่ ๒๕๔)  ระหว่างกลางเอาอวนลงกัน ให้ปลาเข้าถุงอวน  จับเมื่อเวลาน้ำไหลอ่อน
                        ๒. เครื่องมือตาข่าย  ประกอบด้วยไม้ไผ่รูปสามเหลี่ยม ทำเป็นโครงของปากจิบ ตอนล่างเรียบและราบ แต่ตอนบนที่ไม้ไผ่ประจบกันนั้น ต่อยาวขึ้นมาเป็นที่สำหรับถือ ใช้ถุงจิบกว้าง ๑ เมตร สี่เหลี่ยม เย็บติดสามด้าน ส่วนที่เหลือผูกเชือกตอนกลาง เพื่อยกขึ้นลง ใช้ในภาคอีสาน
                        ๓. เครื่องมือตามข้อ ๒ บางคราวก็ใช้นั่งห้างจับปลาเรียก ห้างจิบ มักพบในภาคเหนือ
                        ๔. ลี่  เป็นเครื่องมือใช้จับสัตว์น้ำที่มีกระแสน้ำไหลแรง จนปลาทานกำลังน้ำไม่ได้ ต้องกระโดดขึ้นไปบนร้านโจน ให้คนจับ ครั้นเวลาน้ำลดไม่มีกำลังพอพัดปลาขึ้นร้าน ก็จะเปลี่ยนลี่ เป็นจิบ จิบที่เปลี่ยนจากลี่ นี้มีในภาคกลาง และภาคเหนือ
            ๑๔๓๔. จิ้มก้อง  การจิ้มก้อง มีว่าแต่โบราณกาลมาจีนถือว่า พระเจ้ากรุงจีนเป็นราชาธิราช อยู่เหนือเจ้าประเทศอื่นๆ จึงมีคำเรียกพระเจ้ากรุงจีนว่า ฮ่องเต้ เรียกเจ้าประเทศอื่นว่า อ๋อง เมื่อประเทศต่าง ๆ ไปค้าขายถึงเมืองจีน ก็มีพระราชสาสน์และมีเครื่องราชบรรณาการ ไปถวายพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งจีนเรียกว่า จิ้มก้อง เมื่อนั้นจีนจึงยอมให้เรือของประเทศนั้น ๆ เข้าไปทำการค้าขายกับจีนได้
                        จีนถือว่า ประเทศที่ไปจิ้มก้อง ยอมเป็นประเทศราชไปแสดงความสวามิภักดิ์ต่อจีน ส่วนประเทศต่าง ๆ นั้น ถือว่าเป็นการเจริญทางพระราชไมตรีกับจีน
                        จากจดหมายเหตุจีน ได้ความว่าไทยไปจิ้มก้องพระเจ้ากรุงจีน ตั้งแต่สมัยเมื่อพระเจ้ารามคำแหง ฯ ครองกรุงสุโขทัย เป็นปฐม และมีสืบมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้เลิก
                        เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๕ ง่วนสีโจ๊ ฮ่องเต้ (กุบไลข่าน) ให้ทูตมาเกลี่ยกล่อม เสียมก๊ก คือ กรุงสุโขทัย กับหลอฮกก๊ก คือ กรุงละโว้ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่รวมกันเป็น เสียมหลอฮกก๊ก ให้ไปอ่อนน้อมต่อกรุงจีน พ.ศ.๑๘๓๖ ง่วนสีโจ๊ ฮ่องเต้ ให้ราชทูตไปทำทางพระราชไมตรีด้วยพระเสียมก๊ก
                        ต่อมาพระเจ้าไถ่โจ๊ ฮ่องเต้ ทรงปรารภว่า ประเทศต่างๆ ที่อยู่ไกลคือ เจียมเสีย (จัมปา) งังน่าง (ญวน) ซีเอี้ยง (โปร์ตุเกส) ซอลี้ (สเปน) เอี่ยวอวา (ชวา)  เสียมหลอฮกก๊ก (เมืองไทย) ปะหนี (ปัตตานี) กำพัดฉิ (กัมพูชา) เคยไปจิ้มก้องทุกปี ฝ่ายจีนสิ้นเปลืองมากนัก จึงห้ามไม่ให้ไปทุกปี (ให้ไปสามปีครั้ง)
                        เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๘  นายห้างปุนถัง มีจดหมายมาถึงกระทรวงต่างประเทศว่า ตกต่งภาคกวางตุ้ง สั่งให้ทวงก้อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงปรึกษาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ กับเคาซิลออฟสเตต ได้ความเห็นเป็นสองฝ่าย เห็นว่าควรไปจิ้มก้องฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าไม่ควรอีกฝ่ายหนึ่ง ครั้งนั้นยุติให้พระยาโชฎึก ฯ มีจดหมายไปถึงนายบ้านปุนถัง ให้บอกต๋งต๊กว่า ถ้าจะให้ทูตไทยไปเมืองจีนก็ต้องให้ขึ้นบกที่เมืองเทียนจิ๋น เหมือนทูตฝรั่งจึงจะไป แต่นั้นจีนก็ไม่ทวงก้อง ต่อมา          ๘/ ๕๑๔๐
            ๑๔๓๕. จิ้มฟันจระเข้  เป็นปลาที่มีลักษณะแปลกออกไปที่ลำตัวหุ้มด้วยแผ่น (กระดูก) เรียงเป็นแถวและเป็นวงรอบตัว แทนที่จะเป็นเกล็ด
                         ปลาชนิดนี้มีลำตัวยาว เป็นเหลี่ยมหัวเรียว มีปากยาวยื่นออกมา แบนข้าง ท่อนหางยาวกว่าลำตัว ปลาในสกุลนี้อยู่ได้ทั้งในน้ำจืด และน้ำกร่อย ในเขตร้อน          ๘/ ๕๑๕๑
            ๑๔๓๖. จิรประภา  เป็นนางกษัตริย์ราชวงศ์เม็งราย ผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๘๗ - ๒๑๒๑ นับได้เป็นสามสมัยคือ สมัยแรก พ.ศ.๒๐๘๑ - ๒๐๘๗ สมัยต่อมา พ.ศ.๒๐๙๐ - ๒๐๙๕  และครั้งที่สาม พ.ศ.๒๑๐๗ - ๒๑๒๑          ๘/ ๕๑๕๒
            ๑๔๓๗. จิว ๑ เป็นราชวงศ์หนึ่งของจีน (ก่อน พ.ศ.๕๗๙ - พ.ศ.๒๘๗)
                       ประวัติความเป็นมา ในปลายราชวงศ์ซัว (ก่อน พ.ศ.๑๒๒๓ - ก่อน พ.ศ.๕๘๐) ในประเทศจีนมีรัฐอยู่แห่งหนึ่งชื่อ จิว (โจว) ตั้งอยู่ในมณฑลลั่นซีปัจจุบัน ในแถบลุ่มแม่น้ำเว่ย
                       อาณาเขตของประเทศจีนในสมัยราชวงศ์จิวนี้ ได้แก่ มณฑลต่าง ๆ ในลุ่มแม่น้ำฮวงโห และแยงซีเกียง และมณฑลเหลียวหนิง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน
                    ราชวงศ์จิว เจริญที่สุดในรัชสมัยพระเจ้าเฉิงหวาง และคังหวางเริ่มเสื่อมในรัชสมัยพระเจ้าอี๋หวาง และสิ้นสุดราชวงศ์จิวยุคแรก ในรัชสมัยพระเจ้าอิวหวาง เมื่อก่อน พ.ศ.๒๒๘ เรียกยุคนี้ว่า ราชวงศ์จิวตะวันตก พระราชโอรสได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าผิงหวางทรงย้ายเมืองหลวงไปอยู่เมืองลั่วอี้ (อำเภอลั่วหยาง ในมณฑลเหอหนันปัจจุบัน)  เมื่อก่อน พ.ศ.๒๒๗ กษัตริย์ที่สืบต่อจากพระเจ้าผิงหวาง มี ๒๐ พระองค์
                      ราชวงศ์จิว สิ้นสุดลงด้วยการถูกรัฐฉิน ตีได้ในปี พ.ศ.๒๘๗ เรียกราชวงศ์จิว ช่วงนี้ว่า ราชวงศ์จิวตะวันออก นักประวัติศาสตร์จีน ได้แบ่งราชวงศ์จิวตะวันออกเป็นสองยุคย่อยคือ
                      ๑. ชุนชิว  (ก่อน พ.ศ.๑๗๙๓ - พ.ศ.๖๒)  ที่เรียกชื่อนี้ เพราะได้ชื่อมาจากหนังสือชุนชิว อันเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของรัฐหลู่ ซึ่งขงจื้อ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคนั้นได้แต่งไว้ ในสมัยชุนชิวนี้ อำนาจของกษัตริย์ราชวงศ์จิว เสื่อมโทรมลงมาก
                      ๒. จั้นกว่อ  (พ.ศ.๖๓ - ๓๒๑)  คำว่า จั้น แปลว่า สงคราม กว่อ แปลว่า ประเทศหรือรัฐ จึงแปลว่า รัฐต่า งๆ ทำสงครามกัน จนในที่สุดเหลือเพียงเจ็ดรัฐใหญ่ ๆ ได้แก่ ฉิน ฉี ฉู่ เอียน หัน เจ้า และเว่ย
                      . เป็นราชวงศ์ของจีน (พ.ศ.๑๑๐๐ - ๑๑๒๓)  นักประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า เป่ยโจว หรือโห้วโจว  เป็นราชวงศ์สุดท้ายแห่งสมัยเป่ยเฉา (พ.ศ.๙๓๙ - ๑๑๒๔)  มีเมืองฉางอัน (อำเภอฉางอัน มณฑสั่นซี)  เป็นเมืองหลวงมีอาณาเขตทิศเหนือ จดมณฑลภาคเหนือ ทิศตะวันออกจดภาคตะวันตก ของมณฑลเหอเป่ย เหอหนัน ทิศใต้จดแม่น้ำแยงซีเกียง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ จดเมืองกูจัง มณฑลกันซู กษัตริย์ราชวงศ์นี้มีทั้งสิ้นห้าพระองค์ สุดท้ายถูกขุนนาง บรรดาศักดิ์สุยกุง ชิงราชสมบัติ แล้วสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สุยเหวินตี้ เปลี่ยนราชวงศ์เป็นสุ่ย
                      ๓. เป็นชื่อราชวงศ์ของจีน (พ.ศ.๑๒๓๓ - ๑๒๔๗)  พระนางบูเช็กเทียนขึ้นเสวยราชย์ เปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นโจว หรือจิว เมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๒๔๘ พระเจ้าจุงจุง ผู้ถูกยึดอำนาจได้ราชสมบัติคืน เปลี่ยนชื่อราชวงศ์กลับมาเป็น ราชวงศ์ถัง ดังเดิม
                      ๔. เป็นชื่อราชวงศ์ของจีน (พ.ศ.๑๔๙๕ - ๑๕๐๒)  เป็นราชวงศ์สุดท้ายในสมัยอู่ไต้ มีแม่ทัพประจำเมืองเย่ (อำเภอเย่ ในมณฑลเหอหนัน ชิงราชบัลลังก์ จากราชวงศโห้วฮั่น แล้วสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าไท่จู่ เมื่อปี พ.ศ.๑๔๙๔ เปลี่ยนราชวงศ์เป็น จิว ตั้งเมืองเปี้ยน (อำเภอไคเพิง ในมณฑลเหอหนาน ปัจจุบัน)  เป็นเมืองหลวง มีอาณาเขตครอบคลุมไปยังมณฑลต่าง ๆ คือ เหอหนัน ซันตุง สั่นซี กันซู่ หูเป่ย ภาคใต้ของเห่อเป่ย และภาคเหนือของอันฮุย ราชวงศ์นี้ สิ้นสุดเมื่อเจ้าควงอิ้น ผู้ตรวจราชการทหารและข้าหลวงภาค ขึ้นครองราชย์แล้วก็เปลี่ยน เป็นราชวงศ์ซุ่ง หรือซ้อง           ๘/ ๕๑๕๔
            ๑๔๓๘. จิวยี่  เป็นบุคคลสมัยสามก๊กของประเทศจีน เกิดเมื่อปี พ.ศ.๗๑๘ ณ เมืองซู ในมณฑลอันฮุย ปัจจุบัน บิดาเป็นข้าหลวงเมืองลกเอี๋ยง (ลั่วหยัง)  เป็นเพื่อนของซุนเซ็ก พี่ชายซุนกวน เมื่อซุนกวนขึ้นครองกังตั๋ง ต่อจากซุนเซ็ก จิวยี่ก็ได้เป็นนายทัพ
                        เมื่อปี พ.ศ.๗๔๕ โจโฉ ได้มีหนังสือถึงซุนกวน เกลี้ยกล่อมให้มาสวามิภักดิ์ต่อตนเอง จิวยี่ไม่เห็นด้วย ซุนกวนเห็นด้วยกับจิวยี่ ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อโจโฉ ต่อมาในปี พ.ศ.๗๕๑ โจโฉยกทัพใหญ่ลงมาตีได้เมืองเก็งจิ๋ว แล้วเตรียมยกล่วงลงมาตีกังตั๋งต่อไป จิวยี่อาสาออกสู้โจโฉ ระหว่างนั้นเล่าปี่ตั้งหลักอยู่ที่เมืองแห่เข้า (แฮเค้า)  และตกลงรวมกำลังกันเข้าสู้โจโฉ โดยมีขงเบ้ง จิวยี่ และโลซก เป็นที่ปรึกษา ขณะนั้นโจโฉตั้งทัพอยู่ทางฝั่งเหนือ (ฝั่งซ้าย) ของแม่น้ำแยงซีเกียง ส่วนจิวยี่ตั้งทัพอยู่ฝั่งใต้ (ฝั่งขวา) ของแม่น้ำแยงซีเกียง อุยกายได้ออกอุบายให้โจโฉ ผูกเรือรบเรียงกันเป็นลูกโซ่ เพื่อจะได้จุดเพลิงเผากองทัพเรือโจโฉเป็นผลสำเร็จ  โจโฉต้องถอยทัพขึ้นเหนือไปตั้งหลักที่เมืองลำก๋น จิวยี่แนะนำซุนกวนให้ปฎิบัติต่อเล่าปี่ มิให้คิดการใหญ่ได้ แต่ซุนกวนไม่เห็นด้วยมุ่งแต่จะทำสงครามกับโจโฉ โดยอาศัยเล่าปี่ช่วย จิวยี่เห็นซุนกวนไม่ฟังคำตน จึงขอทหารซุนกวนยกทัพไปตีเสฉวน อันเป็นเมืองของเล่าเจี้ยง ระหว่างเดินทัพแผลที่ถูกเกาทัณฑ์กำเริบ ถึงแก่กรรมระหว่างเดินทัพนั้น เมื่อปี พ.ศ.๗๕๓ อายุเพียง ๓๖ ปี          ๘/ ๕๑๖๓
            ๑๔๓๙. จี๊เกียง เป็นชื่อมณฑลหนึ่งของจีน เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมและเป็นแหล่งกำเนิดของนักปราชญ์ราชบัณฑิต ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นจำนวนมาก
                        จี๊เกียง เป็นมณฑลที่เล็กที่สุดในประเทศจีน ตั้งอยู่ท่ามกลางสี่มณฑลคือ เกียงซู อันฮุย เกียวสี และฮกเกี้ยน แถบชายฝั่งทะเล มีการคมนาคมทางน้ำติดต่อระหว่างหยินเสี้ยน ติ้งไห่ ไห่เหมิน หยิงเจีย กับเซี่ยงไฮ้ และหมินโจว
                        หูโจว (หังโจว)  เคยเป็นเมืองที่เจริญมาก เคยเป็นราชธานีของหนำซ้องในสมัยโหงวต่ออู่ไถ่ (ห้ายุค)           ๘/ ๕๑๗๑
            ๑๔๔๐.  จี๊ด - พยาธิ พยาธิตัวจี๊ด พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๗ มีพบเกิดในคนไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒
                        ในคนตัวจี๊ดมักเข้าไปอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวมปวด และคันผิวหนังเป็นผื่นแดง และเปลี่ยนที่ไปเรื่อย ๆ อาการต่าง ๆ อาจคงอยู่เป็นเวลานานนับจำนวนอาทิตย์ หรือเดือน ก็ได้ พยาธิอาจโผล่ออกมาที่ผิวหนัง และหลุดออกมาได้ง่ายโดยใช้มือบีบ หรือปลายเข็มเขี่ยบริเวณที่พยาธิโผล่ ออกมาจะเกิดเป็นปุ่มพอง สีค่อนข้างแดงตัวจี๊ดอาจเข้าไปในลูกตา หรืออวัยวะอื่น ๆ ได้
                         การป้องกันไม่กินเนื้อปลาดิบ หรืออาหารที่ปรุงด้วยเนื้อปลาดิบหรือเนื้อสัตว์ดิบ

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |