| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

เล่ม ๒๑   พายุ - ภักดี      ลำดับที่ ๓๙๕๔ - ๔๑๐๗      ๒๑/ ๑๓๑๘๑ - ๑๓๘๕๒

            ๓๙๕๔. พายุ  คือ ลมที่พัดแรง ส่วนมากมักจะเกิดในขณะที่เป็นลมแรง พัดเรียบเข้าหาบริเวณศูนย์กลางที่มีความกดอากาศต่ำกว่าความกดอากาศในบริเวณโดยรอบมาก เรียกกันว่า "พายุหมุน" แต่ก็มีลมแรงที่ไม่เกี่ยวกับพายุหมุนก็มี เช่น ลมแรงบริเวณพายุ ฝน ฟ้าคะนองและบริเวณด้านหน้าของแนวปะทะอากาศเย็น
                     พายุหมุน มักจะก่อตัวในบริเวณพื้นน้ำที่อุ่น และกว้างใหญ่ ตามข้อตกลงขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้กำหนดให้เรียกชื่อตามขนาดกำลังความเร็วของลม ใกล้บริเวณศูนย์กลางพายุ ซึ่งแบ่งไว้เป็นสามขนาดคือ
                     ๑. พายุดีเปรสชั่น  มีความเร็วลมสูงสุดใกล้บริเวณศูนย์กลางต่ำกว่า ๓๔ นอต หรือ ๖๓ กม.ต่อชั่วโมงเป็นพายุมีกำลังอ่อน
                     ๒. พายุโซนร้อน  มีความเร็วลมรอบบริเวณศูนย์กลางตั้งแต่ ๓๔ นอต หรือ ๖๓ กม.ต่อชั่วโมง แต่ไม่ถึง ๖๔ นอต หรือ ๑๑๘ กม.ต่อชั่วโมง เป็นพายุที่มีกำลังปานกลาง แรงกว่าพายุดีเปรสชั่นที่เรียกว่า พายุโซนร้อน เพราะมีต้นกำเนิดคือ ก่อตัวขึ้นในบริเวณทะเล หรือมหาสมุทรในโซนร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร เมื่อเคลื่อนที่ไปที่เส้นรุ้งสูง ๆ นอกโซนร้อนหรือพายุที่เกิดขึ้นนอกโซนร้อนจะเรียกว่า พายุนอกโซนร้อน
                     ๓. พายุไต้ฝุ่น  มีความเร็วลมรอบบริเวณศูนย์กลางตั้งแต่ ๖๔ นอต หรือ ๑๑๘ กม.ต่อชั่วโมง ไต้ฝุ่นเป็นคำภาษาจีน แปลว่า ลมใหญ่ เป็นพายุที่มีความุรนแรงมากใช้เรียกพายุหมุนที่เกิดในแถบภาคกลาง และภาคตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ รวมทั้งทะเลญี่ปุ่น ทะเลเหลือง ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้และอ่าวไทย พายุเช่นเดียวกันนี้ถ้าเกิดในแถบมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอาหรับและอ่าวเบงกอลเรียกว่า พายุไซโคลน ถ้าเกิดในแถบมหาสมุทรแอดแลนติก ทะเลแคริเบียน อ่าวเมกซิโก และภาคตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือเรียกว่า พายุเฮอริเคน เป็นการเรียกชื่อต่างกันตามที่เกิดในประเทศฟิลิปปินส์เรียกว่า บาเกียว ในประเทศออสเตรเลียเรียก วิลลี - วิลลี่ เป็นพายุที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ ๑๐๐ - ๑,๐๐๐ กม.หรือมากกว่านั้น
                      พายุทอร์นาโด  เป็นพายุประจำถิ่นขนาดเล็กมีความรุนแรงมากมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑ - ๓ กม. บริเวณศูนย์กลางมีความกดอากาศต่ำมาก จึงทำให้อากาศรอบนอกที่พัดเข้าหาศูนย์กลางมีความเร็วลมสูงมาก จะเริ่มก่อตัวในระดับสูงจากพื้นดินหลายพันฟุต สังเกตได้จากเมฆที่ม้วนตัวเป็นรูปกรวยหรืองวง ยื่นออกมาจากฐานของเมฆ พายุฟ้าคะนองลงมายังพื้นดิน พายุนี้มีสีเทาหรือสีดำมีเสียงฟ้าคะนองดังมาก เกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ บริเวณของโลก แต่ที่เกิดมากที่สุดคือ บริเวณตอนกลางของสหรัฐอเมริกา และทางตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย
                      พายุฟ้าคะนอง  ซึ่งเกิดจากเมฆคิวมูโลนิมบัส มีทั้งฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ลมกระโชกแรง มีฝนตกหนักและบางครั้งอาจมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุนี้เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น และเกิดเนื่องจากมีอากาศยกตัวขึ้นสู่เบื้องบนอย่างรุนแรงในระยะแรกของการก่อตัวของเมฆ และมีการจมตัวลงของอากาศอย่างรุนแรง พร้อมกับมีน้ำฟ้าตกลงมาในชั้นเจริญเติบโตเต็มที่และชั้นสลายตัวของเมฆ อากาศที่จมตัวลงมาพร้อมกันกับฝนนี้ จะมีอัตราเร่งอันเกิดจากเม็ดฝนที่ตกลงมาช่วย ทำให้อากาศที่เคลื่อนตามลงมาแรงขึ้นและจะมีกำลังแรงมาก เมื่อลงมาใกล้พื้นดิน เมื่อลงมาสู่พื้นดินก็จะยังคงพัดแรงไปรอบ ๆ เป็นระยะไกล ๆ ได้
                      พายุฝุ่น  เกิดขึ้นจากการยกตัวของกระแสอากาศขึ้นสู่เบื้องบน และมวลอากาศที่อยู่ข้างเคียงเคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่ มีสาเหตุเกิดเนื่องจากแผ่นดินที่ร้อนจัด เช่น บริเวณที่เป็นทะเลทราย ทำให้อากาศที่อยู่เหนือขึ้นไปมีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีน้ำหนักเบากว่าอากาศรอบ ๆ บริเวณมาก จึงเกิดการยกตัวของอากาศร้อนนั้น และอากาศที่เย็นกว่ารอบนอก จะพัดเข้ามาแทนที่ มีกำลังแรงขนาดพายุได้ และจะพัดเอาฝุ่นผงลอยตัวขึ้นไปในบรรยากาศ ตามทางที่พายุฝนผ่านไปได้ ฝุ่นในอากาศรวมตัวกันมีบริเวณสูงขึ้น ครามคละคลุ้งมืดดำของฝุ่นหมุนวนเป็นความชัน สูงถึงประมาณ ๓๐ เมตร หมุนตัวผ่านไปยังบริเวณต่าง ๆ อย่างไม่มีทิศทางแน่นอน เมื่อความรุนแรงลดน้อยลงฝุ่นจะจมตัวลง และส่วนที่ยังคลุคลุ้งอยู่จะมีลักษณะคล้ายหมอก
                    พายุหมุน ลูกสำคัญ ๆ ที่ก่อความเสียหายแก่ประเทศไทยเป็นอย่างมากมีดังนี้
                    ในเดือนกันยาน พ.ศ.๒๔๘๕ พายุหมุนโซนร้อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นจำนวนสองลูกติดต่อกัน เป็นผลให้มีฝนตกหนักหลายแห่ง ในบริเวณตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไป ทำให้เกิดอุทกภัยทั่วไป โดยเฉพาะภาคกลางมีระดับน้ำสูงมาก และน้ำได้ท่วมเป็นระยเวลานานรวมเดือน
                    ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๕ มีพายุหมุนโซนร้อนสองลูก เคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศไทยเกิดน้ำท่วม และพายุแรง แต่ความเสียหายมันดีกว่าปี พ.ศ.๒๔๘๕
                    ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๕ มีพายุหมุนโซนร้อนชื่อ ฮาเรียต ได้ก่อตัวขึ้นในแหลมญวน แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย และขึ้นฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย บริเวณแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราชแล้วผ่านไปสู่อ่าวอันดามันแล้วเคลื่อนตัวลงไปยังอ่าวเบงกอล พายุลูกนี้สร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยมาก มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑,๐๐๐ คน บ้านเรือนปรักหักถึงประมาณ ๔๐,๐๐๐ หลัง รวมค่าเสียหายประมาณ ๑๒๐ ล้านบาท          ๒๑/ ๑๓๑๘๑
            ๓๙๕๕. พาราณสี  เป็นชื่อเมืองหนึ่งในประเทศอินเดียตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา รัฐอุตรประเทศเป็นเมืองทางศาสนาที่สำคัญที่สุดของผู้นับถือศาสนาฮินดู ตามตำนานเทพนิยามของอินเดียกล่าวว่า พระวิษณุได้สร้างเมืองพาราณสีขึ้นตามคำสวดอ้อนวอนของฤาษีเจ็ดตน
                    ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงเมืองพาราณสีว่า เป็นนครหลวงของแคว้นกาสี
                    ออรังเซบ กษัตริย์ราชวงศ์โมกุล ซึ่งครองอินเดียระหว่างปี พ.ศ.๒๑๙๓ - ๒๒๕๐ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองนี้เป็นมุฮัมมะคะปัด เมื่ออรังเซบสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ไม่มีใครเรียกชื่อนี้อีก
                    ตามทรรศนะของนักประวัติศาสตร์อายุเมืองพาราณสีอาจนับย้อนหลังไปได้ไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ปี กล่าวได้ว่าเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ที่ยังคงต้องอยู่จนถึงปัจจุบัน ในสมัยที่พวกอารยันอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ตามลุ่มน้ำในอินเดียภาคเหนือ พาราณสีเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองอยู่แล้ว กษัตริย์ราชวงศ์ต่าง ๆ ได้ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นครองราชย์ในเมืองพาราณสี สืบต่อมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ก่อนสิ้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ กษัตริย์ราชวงศ์ปาฐัญ ได้เป็นผู้ครองนครนี้ต่อจากนั้น ก็เป็นราชวงศ์โมกุล และในที่สุดก็อยู่ใต้ปกครองของอังกฤษ
                    อำนาจของราชวงศ์โมกุลเสื่อมลง และสิ้นสุดไปในที่สุด ในปี พ.ศ.๒๔๐๑ เมืองพาราณสีกลับมีมหาราชฮินดูเป็นผู้ปกครองสืบต่อมาอีกหลายองค์ องค์สุดท้ายมีพระชนมชีพอยู่ถึงปี พ.ศ.๒๕๒๗
                    เชื่อกันว่าความสำคัญทางด้านศาสนาและปรัชญาของเมืองพาราณสีมีมาก่อนยุคสงครามมหาภารตะ ซึ่งมีขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๘๕๗  เป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านการศึกษาคัมภีร์พระเวท และภาษาสันสฤต ที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่ง ของอินเดียในสมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมื่ออิทธิพลของกษัตริย์มุสลิม แผ่ขยายไปทั่วอินเดีย การศึกษาพระเวท และภาษาสันสกฤตที่เมืองพาราณสี เสื่อมถอยลงจนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จึงได้มีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่
                ในบรรดาเทวาลัยของเมืองพาราณสรี ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐ แห่งนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ เทวาลัยวิศวนาถ ที่สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๖  เทวาลัยนี้ได้ถูกพวกมุสลิมโมกุล ทำลายหลายครั้ง และก็มีการสร้างขึ้นใหม่ ครั้งสุดท้ายกษัตริย์ออรังเซบ ได้สั่งให้ทำลายเมื่อปี พ.ศ.๒๒๑๒ แล้วให้สร้างสุเหร่าขึ้นแทนที่ เรียกว่า สุเหร่าออรังเซบ
                ชาวฮินดูถือว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ การได้อาบน้ำในแม่น้ำคงคาที่เมืองพาราณสี เชื่อกันว่าเป็นมหากุศล หากตายลงและศพได้เผาที่ท่าน้ำเมืองพาราณสี จะทำให้วิญญาณเข้าถึงความหลุดพ้น หรือโมกษะ
                พาราณสียังเป็นเมืองสำคัญของพุทธศาสนิกชน สังเวชนียสถานแห่งหนึ่งในสี่แห่งของพุทธศาสนาคือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ก็อยู่ที่พาราณสี ปัจจุบันเรียกว่า สารนาถ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๘๐ กม. โบราณวัตถุที่สำคัญของพระพุทธศาสนาที่สารนาถคือ ธัมเมทสถูป ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงให้สร้างขึ้นตรงที่เข้าใจว่า เป็นที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตนสูตร  มีเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก ฯ เป็นเครื่องหมายว่า สถานที่นี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก      ๒๑/ ๑๓๑๙๑
            ๓๙๕๖. พาราพิน  หมายถึง ของแข็งประเภทหนึ่ง ลักษณะคล้ายขี้ผึ้งสีขาว หรือไม่มีสีเป็นของแข็ง โปร่งแสง ณ อุณหภูมิธรรมดา ไม่มีกลิ่นไม่มีรส เมื่อสัมผัสจะรู้สึกลื่น ๆ มีผู้ผลิตสารนี้ออกเป็นสินค้าครั้งแรกจากหินน้ำมัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ ปัจจุบันการผลิตสารนี้เป็นอุตสาหกรรม โดยกรรมวิธีต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมดิบ ประเภทพารัพพินิก
                    ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการสังเคราะห์ขี้ผึ้งพาราพินขึ้น ได้มีความบริสุทธิ์กว่าที่ได้จากน้ำมันปิโตรเลียม และนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมผลิตขี้ผึ้ง ขัดพื้นสำหรับใช้งานหนัก อุตสาหรรมผลิตผ้า และกระดาษกันน้ำ อุตสาหกรรมย้อมหนัง ทำยากันสนิมและอื่น ๆ อีกมาก
                    น้ำมันพาราพิน หรือน้ำมันก๊าดเป็นน้ำมันใสไม่มีสีหรือสีเหลืองจาง ๆ ไม่สะสมเป็นน้ำ มีผู้ผลิตออกมาเป็นสินค้าครั้งแรก เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๓ ใช้เป็นเชื้อเพลิงเป็นทินเนอร์สำหรับสีทา เป็นส่วนผสมในยาฆ่าแมลง เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นและจรวด          ๒๑/ ๑๓๒๐๑
            ๓๙๕๗. พาลจันทร์  หมายถึง พระจันทร์ข้างขึ้นอ่อน ๆ หรือพระจันทร์เสี้ยว มีลักษณะโค้งบางเรียวงาม ส่วนโค้งเรียวที่สุดของพระจันทร์เรียกว่า จันทรกลา เมื่อรวมได้ทั้งหมด ๑๖ จันทรกลาก็จะเป็นพระจันทร์เต็มดวงเรียกว่า สมบูรณ์จันทร์ และถ้าจันทร์กลานับได้แปดส่วน ก็จะเป็นพระจันทร์ครึ่งซีกเรียกว่า อรรถจันทร์
                    พาลจันทร์หรือพระจันทร์เสี้ยวเป็นปิ่นปักพระโมลีของพระศิวะ ทำให้ได้รับฉายานามว่า จันทรเศขร แปลว่าผู้มีปิ่นปักผมคือพระจันทร์          ๒๑/ ๑๓๒๐๗
            ๓๙๕๘. พิกุล  เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๘ - ๑๕ เมตร เรือนยอดแน่นทึบ แตกกิ่งต่ำ ใบมนรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปหอก ออกเรียงสลับเวียนกันบนกิ่ง ดอกสีขาวแผ่กว้างเป็นพุ่มกลมปนเหลือง กลิ่นหอมแรง ออกเป็นกระจุก ๒ - ๖ ดอก ตามง่ามใบและตามยอด ผลรูปไข่หรือกลมรี ๆ
                    พิกุลมีดอกเป็นระยะ ๆ ตลอดปี นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและให้ร่มเงา
                    พิกุลใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง หรือน้ำตาลแกมแดงเข้มเสี้ยนตรง เนื้อละเอียดมากและสม่ำเสมอ หนักเหนียว เลื่อยไสกบ ตกแต่งง่าย ขัดชักเงาได้ดีใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ เช่น ทำเสา รอด ตง ทำด้ามเครื่องมือ ไม้เท้า ด้ามร่มและเครื่องเรือน เปลือกใช้ต้มเอาน้ำอมเป็นยากลั้วล้างปากรักษาโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟัน เป็นยาคุมธาตุ ดอกนิยมใช้อบร่ำเสื้อผ้า ดอกแห้งใช้ป่นทำเป็นยานัตถ์ใช้เป็นยารักษาไข้ ปวดหัว เจ็บคอ ไหล่และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แก้ร้อนใน          ๒๑/ ๑๓๒๑๐
            ๓๙๕๙. พิกุลทอง - เรื่อง  เป็นชื่อบทละครนอกเรื่องหนึ่งในเรื่องมีตัวละครชื่อนางพิกุลทองเป็นธิดาท้าวสันนุราช นางมีคุณสมบัติพิเศษคือมีผมหอม และเวลานางเอ่ยปากพูดจะมีดอกพิกุลร่วงออกจากปาก ต่อมาได้แต่งงานกับพระพิชัยวงศ์กุฎโอรสของพระสังข์ศิลป์ไชยมีลูกสองคนคือ เจ้ารัก และเจ้ายม           ๒๑/ ๑๓๒๑๑
            ๓๙๖๐. พิคริก - กรด  เป็นสารประกอบอินทรีย์ชนิดหนึ่งมีผู้สังเคราะห์ขึ้นได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๔ สารนี้เป็นกรดแก่ลักษณะเป็นผลึกสีเหลือง
                    เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๒ เริ่มใช้กรดนี้เป็นสีย้อมใช้ย้อมเส็นไหมให้เป็นสีเหลือง โดยที่กรดนี้สามารถระเบิดได้อย่างรุนแรงจึงได้มีการใช้กรดนี้เป็นดินระเบิด แต่เนื่องจากเป็นกรดแก่จึงกัดกรอบผิวโลหะของลูกปืนได้ง่าย และระเบิดได้ง่ายมาก เมื่อกระทบกระเทือนอย่างแรง เหตุนี้เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การใช้สารนี้เป็นดินระเบิด
                    กรดพิคริกยังมีสมบัติเป็นยาระเงับเชื้อ และยาสมานได้อีกด้วยจึงนำมาใช้ประโยชน์ในทางเภสัชกรรม โดยนำไปทำเป็นยาขี้ผึ้ง และทำเป็นสารละลายสำหรับใช้ทาภายนอก          ๒๑/ ๑๓๒๑๓
            ๓๙๖๑. พิฆาต - เรือ  เป็นเรือรบประเภทหลักที่มีความสำคัญต่อการรบทางเรือ เรือประเภทนี้สร้างขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เรียกว่า เรือพิฆาตตอร์ปิโดในสมัยแรก เป็นเรือที่มีขนาดใหญ่กว่าเรือตอร์ปิโด และมีความเร็วสูงกว่า ปืนใหญ่มีขนาดใหญ่กว่า ในสมัยแรกมีระวางขับน้ำประมาณ ๓๐๐ ตัน ความเร็ว ๒๕ - ๒๗ นอต
                   ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ.๒๔๕๗ - ๒๔๖๑) เรือนี้ได้ขยายขนาดขึ้นไปจนถึง ๑,๐๐๐ ตันเศษ ความเร็ว ๓๐ - ๓๕ นอต ชื่อของเรือรบประเภทนี้เป็นเรือพิฆาต
                   ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกับครั้งที่สอง เรือพิฆาตที่สร้างขึ้นมีระวางขับน้ำ ๑,๓๐๐ - ๒,๕๐๐ ตัน ความเร็ว ๓๒ - ๔๐ นอต
                    หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสามารถนำเอาอาวุธนำวิถีมาติดตั้งในเรือพิฆาตได้ จึงเลิกใช้อาวุธตอร์ปิโดในเรือพิฆาต ปัจจุบันเรือพิฆาตมีระวางขับน้ำ ๔,๐๐๐ - ๙,๐๐๐ ตัน ความเร็วสูงสุด ๓๐ นอต ติดตั้งอาวุธนำวิถีสำหรับยิงเรือบนพื้นน้ำ และต่อสู้อากาศยานติดตั้งเครื่องมือค้นหาข้าศึกทั้งสามภาคพื้น และติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำ
                    ประเทศไทยมีเรือรบในแม่น้ำที่เรียกว่า เรือพิฆาต ใช้มาตั้งแต่สมัยโบราณ ในปี พ.ศ.๒๔๕๐ กองทัพเรือได้สั่งสร้างเรือตอร์ปิโดดิสทรอยเยอร์หนึ่งลำ เรือตอร์ปิโดสามลำจากประเทศญี่ปุ่น เรือพิฆาตตอร์ปิโด้ขึ้นระวางประจำการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ ได้รับพระราชทานชื่อว่า เสือทะยานชล มีระวางขับน้ำ ๓๘๕ ตัน ยาวประมาณ ๗๐ เมตร ความเร็ว ๒๘ นอต
                    ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ สหรัฐอเมริกาได้ให้กองทัพเรือยืมเรือพิฆาตคุ้มกัน สร้างสมัยสงครามโลกครั้งที่สองได้ขึ้นระวาง และได้รับพระราชทานชื่อว่าปิ่นเกล้า มีระวางขับน้ำ ๑,๒๔๐ ตัน ความเร็ว ๑๙.๕ นอต เรือลำนี้ได้รับโอนเป็นของกองทัพเรือ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ และยังคงประจำการต่อมาโดยจัดอยู่ในประเภทเรือฟรีเกต          ๒๑/ ๑๓๒๑๕
            ๓๙๖๒. พิจิตร  จังหวัดภาคกลางมีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.พิษณุโลก ทิศตะวันออกจด จ.เพชรบูรณ์ ทิศใต้จด จ.นครสวรรค์ และจ.กำแพงเพชร ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนา มีห้วยหนองคลองบึงมาก ทางตะวันตก และตะวันออกเป็นที่ดอนมีป่าไม้กระยาเลย
                    จ.พิจิตรเป็นเมืองโบราณในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระยาโคตรบองสร้าง ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเรียกสระหลวง บางแห่งเรียกโอฆบุรี ตัวเมืองเก่าตั้งอยู่ที่แม่น้ำน่านเดิม ซึ่งปัจจุบันเรียกแม่น้ำพิจิตร หรือแม่น้ำเมืองเก่า ในสมัยสุโขทัยเป็นเมืองขึ้นชั้นใน เมื่ออำนาจทางสุโขทัยเสื่อมลงตกเป็นอาณาเขตกรุงศรีอยุธยา เมืองพิจิตรจึงเป็นหัวเมืองชั้นนอกขึ้นเมืองพิษณุโลก
                    เมืองนี้มีสิ่งสำคัญคือ เมืองพิจิตรเก่า เมืองบ่าง บึงไชยบวน บึงสัพงาย บึงสีไฟ เขารูปช้างและวัดท่าหลวง          ๒๑/ ๑๓๒๒๑
            ๓๙๖๓. พิชัย  อำเภอขึ้น จ.อุตรดิตถ์ ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มใช้ทำนา ตอนตะวันตกเป็นที่ดอนมีป่าไม้และภูเขา มีที่ราบใช้ทำไร่บ้าง ตอนตะวันตกเป็นป่าไม้เบญจพรรณ
                    เมืองพิชัยเป็นเมืองเก่า ตัวเมืองเดิมอยู่ริมแม่น้ำน่านฝั่งซ้าย พงศาวดารเหนือกล่าวว่า เจ้าไวยปักษาสร้างเมืองพิชัย ในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐบ่งไว้ว่า ได้เริ่มก่อสร้างกำแพงเมืองพิชัย เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๓
                    ในปี พ.ศ.๒๑๒๗ สมเด็จพระนเรศวร ฯ เสด็จขึ้นไปขับไล่พม่า พระยาพิชัยประมาทตั้งแข็งเมือง จึงถูกปราบ และให้ประหารชีวิต แล้วกวาดต้อนคนจากเมืองเหนือมากรุงศรีอยุธยา
                   ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อเวลาไปตีเมืองสวางคบุรีคราวปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง น่าจะเสด็จขึ้นไปทางเมืองพิชัย พอถึงคราวเสด็จยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ครั้งแรก โปรดให้ประชุมทัพที่เมืองพิชัย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๕ พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย เจ้าพระยาสุรสีห์ ยกกองทัพไปช่วยพระยาพิชัย ยกออกตีกระหนาบพม่าก็แตกพ่ายไป ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๖ โปสุพลาแม่ทัพพม่ายกตีเมืองพิชัยอีก พระยาพิชัยนำทหารเข้าตลุมบอนไล่ฟันพม่าจนดาบหัก จึงเลื่องลือเรียกกันว่า พระยาพิชัยดาบหัก
                    เมืองพิชัยคงทิ้งร้างอยู่อีกพักหนึ่งจนถึงรัชกาลที่สาม เมื่อปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ โปรดให้ล้มแว่วแคว้นศรีสัตนาคนหุตเสียแบ่งเอาดินแดนบางส่วนมาขึ้นแก่เมืองพิชัย แดนเมืองพิชัยจึงไปจดแม่น้ำโขง ทั้งมีหน้าที่ตรวจตรารักษาการณ์ไปจนถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองหลวงพระบางด้วย ฉะนั้นของถึงรัชกาลที่สี่จึงโปรดให้ยกเป็นเมืองโท
                    ในรัชกาลที่ห้า เมื่อโปรดให้กองทัพขึ้นไปปราบฮ่อ ก็ได้ประชุมทัพฝ่ายเหนือที่เมืองพิชัย เมื่อดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตกเป็นของฝรั่งเศส จึงรวมกับหัวเมืองอื่นตั้งมณฑลพิษณุโลก ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ โปรดให้ย้ายที่ว่าการเมืองพิชัยไปตั้งที่เมืองอุตรดิตถ์เรียกว่า เมืองพิชัยเหมือนกัน ต่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ จึงเปลี่ยนเรียกเมืองอุตรดิตถ์ ส่วนชื่อเมืองพิชัยเอาไปเรียกเมืองพิชัยเก่า ต่อมายุบเป็นอำเภอ          ๒๑/ ๑๓๒๒๓
            ๓๙๖๔. พิชัยญาติ - เจ้าพระยา  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๘ สอบไล่ได้เป็นเนติบัญฑิตชั้นที่หนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้เป็นผู้พิพากษษศาลแพ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ ได้เป็นข้าหลวงจัดการที่ดินนา และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเมธีนฤปการ ได้เป็นผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และเป็นข้าหลวงพิเศษจัดการที่นา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ เป็นอธิบดีศาลแพ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระเมธีนฤปกร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ได้เป็นกรรมการศาลฎีกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยากฤติกานุกรณ์กิจ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ ได้เป็นมหาอำมาตย์ตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ เป็นองคมนตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ เป็นมหาอำมาตย์โท เมื่อปี พ.ศ.ได้เป็นอธิบดีศาลฎีกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาพิชัยญาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ ...ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙ เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้เป็นประธานสภาผู้แทน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖          ๒๑/ ๑๓๒๒๖
            ๓๙๖๕. พิชัยญาติการาม - วัด  เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหารตั้งอยู่ริมคลองบ้านสมเด็จ ต.ตลาดแขก เขตคลองสาน กรุงเทพ ฯ
                    วัดนี้เดิมเป็นวัดร้างไม่ทราบชื่อวัด ครั้งถึงปี พ.ศ.๒๓๘๔ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีพิพัฒ ฯ ได้สร้างวัดนี้ขึ้นใหม่ทั้งวัดแล้วถวายเป็นพระอารามหลวง และได้รับพระราชทานนามว่าวัดพระยาญาติดารามถึงรัชกาลที่สี่ทรงเปลี่ยนนามวัดใหม่เป็นวัดพิชัยญาติดาราม ๒๑/ ๑๓๒๓๐
            ๓๙๖๖. พิชัยดาบหัก - พระยา  ในปี พ.ศ.๒๓๑๖ โปสุพลาได้ยกทัพเข้าตีเมืองพิชัยเป็นครั้งที่สอง พระยาพิชัยได้สร้างเกียรติประวัติอันเป็นแบบอย่างที่สมควรยกย่อง  ท่านได้ไล่ฟันทหารพม่าแตกยับเยิน จนดาบที่ถืออยู่หักดังที่สมญาว่า พระยาพิชัยดาบหัก
                    พระยาพิชัยดาบหักได้ประกอบวีรกรรมกล้าหาญนี้ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ อันเป็นแบบอย่างที่สมควรยกย่องไว้ให้ประชาชนชาวไทย พึงจดจำสืบต่อมา ท่านได้ไล่ฟันทหารพม่าข้าศึกแตกยับเยิน จนดาบที่ท่านถืออยู่หัก ดังที่มีสมญานามว่า " พระยาพิชัยดาบหัก " ปัจจุบันรูปปั้นของท่านได้ประดิษฐานอย่างตระหง่านสง่างาม หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์        ๒๑/ ๑๓๒๓๔
            ๓๙๖๗. พิชัยนุราช - พระ  เป็นชื่อตัวละครนอก เรื่องมณีพิชัยเป็นพระบิดาของพระมณีพิชัย มีนางยอพระกลิ่น ซึ่งเป็นธิดาของพระอินทรกับนางเกศินีเป็นคู่ครอง พระเจ้ากรุงจีนต้องการพระมณีพิชัยเป็นเขย แต่ติดที่พระมณีพิชัยมีคู่ครองแล้ว          ๒๑/ ๑๓๒๓๗
            ๓๙๖๘. พิชัยสงคราม - ตำรา  เป็นตำราว่าด้วยวิธีการเอาชนะข้าศึกในสงคราม ซึ่งนักปราชญ์ทางทหารสมัยโบราณ ได้แต่งขึ้นจากประสบการณ์ และจากการทดลอง เพื่อให้แม่ทัพนายกองใช้ศึกษา และเป็นคู่มือในการอำนวยการรบให้หน่วยทหารมีชัยชนะแก่ข้าศึก
                    ประเทศต่าง ๆ มีตำราพิชัยสงครามเท่าที่หาได้ในปัจจุบันคือ
                   ตำราพิชัยสงครามฮินดูโบราณ  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ นายร้อยเอกยีอี เยรินีนายทหารชาวอิตาลี ภายหลังได้เป็นนายพันเอกพระสารสาสน์พลขันธ์ ได้เรียบเรียงตำราพิชัยสงครามฮินดูโบราณขึ้น อ้างว่าเก่าแก่มีอายุถึง ๒,๕๐๐ ปี คือ คัมภีร์ นีติศาสตร์ไม่ทราบผู้แต่งกับคัมภีร์นิติประกาศิกา แต่งโดยไวคัมปายัน อาจารย์สอนวิชาทหารกรุงตักสิลา และได้นำเรื่องราวจากเรื่องนางนพมาศ ราชาธิราชและพระราชพงศาวดารมาอธิบายประกอบ          ๒๑/ ๑๓๒๓๗
                   ตำราพิชัยสงครามจีน  นักปราชญ์จีนได้แต่งตำราพิชัยสงครามไว้ในสมัยต่าง ๆ มากมาย ที่ยังมีต้นฉบับครบถ้วนรวมเจ็ดฉบับ แต่ที่สำคัญและดีเด่นมีอยู่สองฉบับคือ ตำราพิชัยของซุนวู หรือตำราพิชัยสงครามสิบสามบท แต่งขึ้นปี พ.ศ.๔๓ เป็นปรัชญาในการป้องกันประเทศ และรวมเอาวิถีการดำรงชีวิตในชั้นเชิงที่แยบคาย ซึ่งไม่มีในตำราอื่น ๆ จึงถือกันว่าเป็นตำราพิชัยสงครามที่สมบูรณ์ยอดเยี่ยมที่สุด โดยได้กล่าวถึงการวางแผนสงคราม การดำเนินสงคราม ยุทโธบาย ความตื้นลึกหนาบาง การสัปยุทธ์ชิงชัย นานาวิการ การเดินทัพ ลักษณะพื้นภูมิ นวภูมิ พิฆาติด้วยเพลิงและการใช้จารกรรม
                   ตำราพิชัยสงครามพม่า  มีอยู่สองฉบับในหอสมุดแห่งชาติแปลเป็นภาษาไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๑ เนื้อหามีเรื่องการจัดบ้านเมืองให้พร้อมรบ สาเหตุที่ทำให้บ้านเมืองสงบสุข และเกิดยุคเข็ญ สาเหตุที่จะเกิดสงคราม การหาข่าวข้าศึก บุคคลและตระกูลที่หายาก ลักษณะของผู้ที่จะเป็นแม่ทัพ ลักษณะที่จะชนะสงคราม การจัดขบวนรุก ตั้งรับและถอย ฤกษ์ยามต่าง ๆ ในสงคราม
                   ตำราพิชัยสงครามไทย  พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๑ สมเด็จพระรามาธิบดี ๒ (พ.ศ.๒๐๔๑ - ๒๐๗๒) "แรกให้ทำตำราพิชัยสงคราม" โดยโปรดให้นำเอาตำราพิชัยสงคราม ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายฉบับมาชำระ และเรียบเรียงให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นหมู่เหล่า แล้วคัดเป็นฉบับหลวง ครั้นกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง ต้นฉบับที่มีบริบูรณ์เช่นฉบับหอหลวง ก็เลยสูญเหลือแต่ฉบับที่มีผู้คัดลอกไว้ได้แห่งละเล็กละน้อย มักเป็นตำราที่แต่งใหม่ในปลายสมัยอยุธยาเป็นพื้น
                  สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่หนึ่งและที่สอง ได้มีการคัดลอกตำราพิชัยสงครามฉบับปลีกของปลายสมัยอยุธยาซึ่งเหลืออยู่ได้หลายสิบเล่มสมุดไทย โดยยังคงรักษาคำร้อยกรองของเดิมไว้ครบถ้วน
                  ในปี พ.ศ.๒๓๖๘ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราชวังสถานมงคลได้ให้ชำระตำราพิชัยสงครามให้ถูกต้องครบถ้วน ได้เชิญพระตำรับพิชัยสงครามจากข้างที่ (ฉบับหลวง) มาชำระสอบสวนถึง ๑๔ เล่มสมุดไทย เมื่อชำระเสร็จแล้วได้คัดลงสมุดไทยได้สิบเล่ม (สองชุด) ถือเป็นตำราพิชัยสงครามฉบับสุดท้ายที่ชำระอย่างสมบูรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์
                  ในรัชกาลที่สี่ ได้ทรงเริ่มปฏิรูปกองทัพไทยเข้าสู่แบบตะวันตก
                  ในรัชกาลที่ห้า ทางการทหารได้ใช้ตำรายุทธศาสตร์แทนตำราพิชัยสงคราม ผู้เป็นเจ้าของตำราพิชัยสงคราม จึงนำมามอบให้ หรือขายให้หอสมุดแห่งชาติ เป็นจำนวนมาก ตามบัญชีมีอยู่ ๒๑๙ เล่ม ส่วนมากเป็นคำร้อยกรองแบบฉันท์ โคลง กลอน และร่ายบ้าง แต่งเป็นคำร้อยแก้วบ้าง
                  เมื่อดูจากตำราเดิมจะแบ่งออกเป็นสามแผนก คือว่าด้วยเหตุแห่งสงครามว่าด้วยอุบายสงคราม และว่าด้วยยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ส่วนการถือนิมิตฤกษ์ยามและเลขยันต์อาถรรพศาสตร์ก็จะมีมาบ้างแล้วแต่โบราณมาเชื่อถือแก่กล้าขึ้นในตอนปลายสมัยอยุธยา          ๒๑/ ๑๓๒๓๗
            ๓๙๖๙. พิณ  เป็นชื่อเรียกเครื่องดนตรีไทยประเภทที่ดีดเป็นเสียงบางอย่างมาจากคำว่า "วีณา" ในภาษาบาลีและสันสกฤตซึ่งเรียกเครื่องดีดทุก ๆ อย่าง เครื่องดนตรีของไทยสมัยปัจจุบันที่เรียกว่าพิณมีอยู่เพียงสองอย่างคือ พิณน้ำเต้ากับพิณเปี้ยะ หรือเพียะ พิณน้ำเต้าเป็นพิณที่มีสายเดี่ยวสายทำด้วยลวดทองเหลือง กระพุ้งเสียงสำหรับให้เกิดกังวาน ทำด้วยเปลือกผลน้ำเต้าแก่ตัดครึ่งผล ส่วนพิณเปี้ยะมีรูปร่างเหมือนพิณน้ำเต้า หากแต่กระพุ้งเสียงที่ทำให้เกิดกังวานนั้นทำด้วยกะลามะพร้าว และบางอันก็มีสองสาย เวลานี้ยังมีอยู่บ้างใน จ.เชียงรายแต่ก็น้อยเต็มทีใกล้จะสูญอยู่แล้ว
                    ส่วนพิณในคำกลอนเรื่องกากี และพิณในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ฯ ไม่ทราบว่าเป็นพิณชนิดใดมีรูปร่างอย่างไร ที่ภาพปูนปั้นที่หน้าบันปรางค์วัดพระพายหลวง มีรูปคนดีดพิณ ซึ่งพิณนั้นมีรูปเช่นเดียวกับกระจับปี่สมัยนี้แม้รูปที่ช่างเขียน เขียนพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกกิริยา มีพระอินทร์มาดีดพิณสามสายถวายเป็นปริศนาธรรม ภาพพิณก็มีรูปร่างอย่างกระจับปี่สันนิษฐานว่า พิณดังกล่าวก็คือ เครื่องดีดที่เรียกว่า กระจับปี่นี้เอง แต่เดิมคงเรียกว่าพิณ
                    คำว่าพิณของอินเดียที่ไทยเอามาใช้นั้นหมายถึงเครื่องดนตรีประเภทดีดที่เป็นเสียงได้ทุก ๆ อย่าง ไม่เลือกว่าจะมีรูปเป็นอย่างไร
                    พิณในต่างประเทศก็เป็นเครื่องดนตรีอย่างหนึ่งของฝรั่งเป็นเครื่องดนตรีใหม่ที่สุดที่ดีดด้วยมือ          ๒๑/ ๑๓๒๔๘
            ๓๙๗๐. พิณพาทย์  เป็นชื่อเรียกวงดนตรีไทยที่มีปีฆ้อง กลอง ตะโพนผสม ซึ่งมีขนาดวงต่าง ๆ กัน เช่นพิณพาทย์เครื่องห้า พิณพาทย์เครื่องคู่ และพิณพาทย์เครื่องใหญ่ การเรียกวงดนตรีที่มีเครื่องผสมอย่างนี้บางสมัยก็ปี่พาทย์
                    ในรัชกาลที่หก ใช้พิณพาทย์ทั้งนั้น ครั้นถึงรัชกาลที่เจ็ดจึงเริ่มใช้เปลี่ยนใช้คำปี่พาทย์เรียกวงบรรเลงประเภทนี้ต่อมา          ๒๑/ ๑๓๒๕๒
            ๓๙๗๑. พิทยลาภ ๑  พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระนามเดิม คือพระองค์เจ้าชายโสณบัณฑิต เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่สี่ประสูติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖ ทรงเริ่มรับราชการเป็นราชองครักษ์ในกรมทหารมหาดเล็ก และในออฟฟิศหลวงตำแหน่งผู้ช่วยราชเลขาธิการฝ่ายต่างประเทศ ในปี พ.ศ.๒๔๒๖ ได้เสด็จไปประจำ ณ สถานทูตที่ลอนดอนในตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร และในปี พ.ศ.๒๔๒๗ ได้เสด็จไปในขบวนราชทูตเจริญทางพระราชไมตรี ณ สหรัฐอเมริกาในฐานะที่ปรึกษาคณะทูต ซึ่งมีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ทรงเป็นราชทูตริเสศ
                    ต่อมาได้เสด็จกลับมารับราชการในตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้เสด็จราชการปราบเงี้ยวยางแดง ซึ่งยกทัพบุกรุกมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ ประทับจัดราชการอยู่ที่นครเชียงใหม่สามปีจึงเสด็จกลับกรุงเทพ ฯ และได้รับสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาในปี พ.ศ.๒๔๓๔  กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดาได้ทรงรับราชการ ต่อมาในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ควบกับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการอยู่ระยะหนึ่ง ทรงเป็นสภานายกรัฐมนตรี จัดวางแบบอย่างการประชุมรัฐมนตรี ทรงจัดสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาและเริ่มสร้างสายเพชรบุรี ทรงวางแบบอย่างกรมเจ้าท่า จัดการรักษาคลองน้ำทั้งปวงในกรุงเทพ ฯ
                    ต่อมาได้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง และได้รับสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓          ๒๑/ ๑๓๒๕๒
            ๓๙๗๒. พิทยลาภ ๒  พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรพระนามเดิมคือ ม.จ.ธานีนิวัต โสณกุล เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ได้เป็นนักเรียนหลวงเสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ได้ทรงรับปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาบุรพคดีจากมหาวิทยาลัยออซฟอร์ด ในปีพ .ศ.๒๔๕๑ แล้วเสด็จกลับมารับราชการในกระทรวงหมาดไทยตำแหน่งปลัดกรมพลำพังในปี พ.ศ.๒๔๕๓ และได้ทรงเป็นข้าหลวงมหาดไทยมณฑลอยุธยาในปีต่อมา
                    ในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ทรงเป็นผู้ช่วยเลขานุการฝ่ายต่างประเทศ
                    ในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ทรงเป็นผู้ช่วยราชเลขาธิการเลขานุการเสนาบดีสภาและเลขานุการองคมนตรีสภา ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ และทรงเป็นราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศอีกตำแหน่งหนึ่งในปี พ.ศ.๒๔๖๒
                    ในปี พ.ศ.๒๔๖๕ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระวงวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต
                    ในรัชกาลที่เจ็ดทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ และทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๗๕ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ทรงเป็นอภิรัฐมนตรีรวมอยู่ในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทรงเป็นประธานองคมนตรี ในปี พ.ศ.๒๔๙๒
                    ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สามครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๙๔, ๒๕๐๖ (สองครั้ง) และได้ทรงดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีจนสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗          ๒๑/ ๑๓๒๕๔
            ๒๙๗๓. พิธีการทูต  หมายถึง ระเบียบแบบแผน และหลักปฏิบัติทางการทูตที่ใช้ถือปฏิบัติอย่างเป็นทางการทูต ที่ใช้ถือปฏิบัติอย่างเป็นทางการของแต่ละประเทศ ทั้งนี้โดยอาศัยหลักสำหรับสองประการคือ ประการแรกได้แก่ หลักจารีตระหว่างประเทศ ที่ได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยคำนึงถึงอัธยาศัยไมตรี และหลักถ้อยที่ถ้อยปฏิบัติระหว่างประเทศ และประการที่สองได้แก่ หลักการที่กำหนดไว้ในกฎหมายสนธิสัญญา และอนุสัญญาระหว่างประเทศ
                    งานเกี่ยวกับพิธีการทูตที่ปฏิบัติในกระทรวงการต่างประเทศแบ่งออกได้เป็นสามประเภทด้วยกันคือ
                    ประเภทที่หนึ่ง  ได้แก่ งานด้านแบบพิธีทางการทูตและกงสุลได้แก่ งานเกี่ยวกับการแต่งตั้งและถอนทูต กงสุลและผู้ช่วยทูตฝ่ายต่าง ๆ ทั้งของไทยและของต่างประเทศ การจัดทำหนังสือรายนามคณะผู้แทนทางการทูต กงสุลและองค์การระหว่างประเทศที่ประจำอยู่ในประเทศไทย งานเกี่ยวกับการเสด็จ ฯ หรือไปเยือนต่างประเทศขององค์พระประมุขของประเทศ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ หัวหน้ารัฐบาล คณะทูตสันตไมตรีและบุคคลสำคัญ ๆ ของไทย การนัดหมายให้หัวหน้าคณะทูต และกงสุลกับภริยา รวมทั้งบุคคลสำคัญชาวต่างประเทศในระดับต่าง ๆ ที่มาเยือนประเทศไทยซึ่งทางราชการพิจารณาเห็นสมควรได้เข้าเฝ้า ฯ องค์พระประมุขหรือเข้าพบหัวหน้ารัฐบาลและบุคคลสำคัญในระดับต่าง ๆ ของไทย การเสนอของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่บุคคลสำคัญชาวต่างประเทศ การแสดงความยินดี เสียใจเพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีในวัน และโอกาสสำคัญต่าง ๆ ของประเทศที่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสันชาติของทุกประเทศ
                   ประเภทที่สอง  ได้แก่ งานด้านการรับรอง ได้แก่ การจัดพิธีการต่าง ๆ ในการต้อนรับ รับรองและอำนวยความสะดวกต่อองค์พระประมุข ประมุขของรัฐ หัวหน้ารัฐบาล คณะทูตสันติไมตรี คณะผู้แทนและบุคคลสำคัญ ๆ ของต่างประเทศที่มาเยือนอย่างเป็นทางการ การรับรองคณะผู้แทนทางการทูต และกงสุลของต่างประเทศม าประจำการในประเทศไทย การดำเนินงานด้านการจัดเลี้ยง ทั้งในด้านการเลี้ยงรับรองและการเลี้ยงอาหาร เช่น อาหารเช้า อาหารกลางวัน และอาหารเย็นของทางราชการ นอกจากนั้นยังรับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านการต้อนรับ การจัดลำดับอาวุโสแก่ผู้แทนทางการทูต กงสุลและคณะผู้แทนขององค์การระหว่างประเทศ ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมในงานพระราชพิธี และงานสำคัญต่าง ๆ ของทางราชการ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกอื่น ๆ แก่คณะผู้แทนทางการทูต กงสุลและคณะผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเมื่อได้รับคำร้องขอ
                   ประเภทที่สาม  ได้แก่ งานด้านเอกสิทธิ์ และความคุ้มกันได้แก่ การออกบัตรประจำตัวให้แก่คณะผู้แทนทางการทูต กงสุลและคณะผู้แทนขององค์การระหว่างประเทศ การออกบัตรอนุญาตประเภทอื่น ๆ ตามสิทธิที่เขาพึงได้รับ การพิจารณาให้เอกสิทธิ์เกี่ยวกับสิทธิการพักอาศัย สิทธิการเดินทางออกประเทศไทยได้ตลอดเวลา ที่ได้รับแต่งตั้งให้ประจำประเทศไทย การยกเว้นภาษีอากรแก่สิ่งของที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค รวมทั้งยานพาหนะที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ การอำนวยความสะดวกในการจดทะเบียน การจำหน่ายและการประเมินภาษียานพาหนะของบุคคลในคณะทูต กงสุลและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ          ๒๑/ ๑๓๒๕๗
            ๓๙๗๔. พินัยกรรม  มีบทนิยามว่า "เอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย"
                    พินัยกรรมเป็นเรื่องเฉพาะตัวมีผลบังคับได้ก็เฉพาะแต่ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือการอันอยู่ในอำนาจของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น บิดาจะทำพินัยกรรมแทนบุตรไม่ได้ แม้บุตรจะเป็นผู้เยาว์ก็ตาม
                    พินัยกรรมต้องทำตามแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ พินัยกรรมที่ทำไม่ถูกต้องตามแบบจะเสียไปคือ เป็นโมฆะ อย่างไรก็ตาม ทรัพย์มรดกก็ตกทอดไปยังทายาทตามกฎหมายอยู่แล้ว
                    ประเทศไทยมีกฎหมายมรดกมาแต่โบราณ แม้ครั้งสุโขทัยก็ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกว่า เมื่อพ่อแม่ตายให้ทรัพย์สินตกได้แก่ ลูกของมัน แต่การทำพินัยกรรม ยังไม่ปรากฎว่ามีในสมัยนั้น เข้าใจกันว่าเรื่องพินัยกรรมและมรดกมีมาแต่สมัยอยุธยา
                    เรื่องพินัยกรรมได้นำมาป้องกันไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ออกมาในปี พ.ศ.๒๔๖๘ ได้วางหลักในการทำพินัยกรรมไว้หลายแบบ คือ
                    ๑. - แบบเขียนเอง  ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนด้วยมือของตนเองทั้งฉบับ เขียนเสร็จแล้วลงลายมือชื่อของตนไว้ โดยไม่ต้องมีพยานลงชื่อรับรอง เหมือนดังพินัยกรรมแบบอื่น แต่ต้องลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมนั้นไว้ด้วยจะจั่วหน้าส่งพินัยกรรมหรือไม่ก็ได้ ข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นสดแท้ แต่ผู้ทำพินัยกรรมประสงค์ข้อสำคัญคืออย่าให้ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดี หรือเป็นข้อกำหนดที่พ้นวิสัย ไม่อาจปฏิบัติได้ก็เป็นโมฆะเหมือนตัวนิติกรรมอื่นทั้งหลาย
                    ๒. - แบบคนอื่นเขียนให้หรือพิมพ์  ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ถ้าเซ็นชื่อในพินัยกรรมไม่เป็นก็พิมพ์ลายนิ้วมือ และต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน พยานจะต้องไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรมเองหรือสามีภริยาของผู้รับพินัยกรรมกับต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว จะต้องไม่วิกลจริต หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ หูหนวกหรือเป็นใบ้หรือตาบอดทั้งสองข้าง ผู้เขียนหรือพิมพ์ต้องลงชื่อไว้ด้วยจะลงชื่อเป็นพยานด้วยก็ได้
                    ๓. - แบบเอกสารฝ่ายเมือง  ผู้ทำพินัยกรรมต้องไม่ทำที่อำเภอหรือเขตในกรุงเทพ ฯ หรือขอให้เจ้าหน้าที่มาทำที่บ้านหรือสถานที่อื่นใดนอกสถานที่ราชการก็ได้ ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องบอกข้อความที่ตนประสงค์จะใส่ไว้ในพินัยกรรมแก่เจ้าหน้าที่ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ผู้ทำพินัยกรรมลงลายชื่อไว้ในพินัยกรรมต่อหน้าพยานนั้น และพยานก็จะลงชื่อไว้ในพินัยกรรมด้วย เจ้าหน้าที่ผู้จัดทำพินัยกรรมจะลงลายมือชื่อ วันเดือนปีในพินัยกรรม
                   ๔. - แบบเอกสารลับ  หลังจากทำพินัยกรรมแล้วจะใส่พินัยกรรมไว้ในซองผนึกเรียบร้อย ลงลายมือชื่อตามรอยผนึกนั้น จากนั้นจะนำซองบรรจุพินัยกรรมนั้น ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่อำเภอต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลเหล่านั้นว่าซองนั้นเป็นซองพินัยกรรมของตน เมื่อเจ้าหน้าที่อำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และวันเดือนปีที่แจ้งลงไว้บนซองพินัยกรรมแล้ว เจ้าหน้าที่และพยานจะลงลายมือชื่อ และประทับตราบนซองนั้น
                   ๕. - แบบปากเหล่าหรือพินัยกรรมทำด้วยวาจา  กฎหมายให้ทำได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งไม่สามารถจะทำแบบอื่นได้ด้วยความจำเป็นคับขัน ถ้าผู้ทำพินัยกรรมตายเสียในคราวนั้น พินัยกรรมนั้นก็มีผลใช้ได้ แต่ถ้ายังไม่ตายและมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกถึงหนึ่งเดือน นับแต่ผู้นั้นกลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมแบบอื่นได้แล้ว พินัยกรรมที่ทำด้วยวาจาจะสิ้นผลไปโดยปริยาย
                   ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมอยู่ต่างประเทศ จะทำตามกฎหมายต่างประเทศก็ได้ และหากจะทำเอกสารฝ่ายเมือง หรือทำเป็นเอกสารลับก็ให้ไปทำที่สถานทูต
หรือสถานกงสุล แทนอำเภอ ถ้าเป็นกรณีอยู่ในยุทธภูมิ ก็ให้ทำกับแม่ทัพนายกอง          ๒๑/ ๑๓๒๖๐
            ๓๙๗๕. พิบูลมังสาหาร  อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม โดยมากมีดงใหญ่ และภูเขาอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้บ้าง
                    อ.พิบูลมังสาหารเดิมเป็นแต่เพียงหมู่บ้านเรียกว่า บ้านกวางชะโด ถึงปี พ.ศ.๒๔๐๖ รัชกาลที่สี่โปรดให้ยกขึ้นเป็นเมืองเรียกว่า เมืองพิบูลมังสาหาร ยุบเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.โพธิไทร เรียกกันว่า เมืองใหม่ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๔ ได้ย้ายกลับมาตั้งที่ ต.พิมูล และเรียกชื่อว่า อ.พิมูลมังสาหารถึงปี พ.ศ.๒๔๘๓ เปลี่ยนชื่อ ต.พิมูล เป็น ต.พิบูล และอ.พิมูลมังสาหาร เป็น อ.พิบูลมังสาหาร                      ๒๑/ ๑๓๒๗๑
            ๓๙๗๖. พิบูลสงคราม - หลวง  เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ยาวนานเป็นประวัติการณ์คือ ระยะแรก ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๔๘๗ ระยะที่สองระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๑ - ๒๕๐๐ รวมเวลาถึง ๑๖ ปี
                    หลวงพิบูลสงคราม (แปลก)  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ เข้าเรียนที่โรงเรียนนายทหารบก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ ออกเป็นนักเรียนทางการนายร้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ อยู่เหล่าทหารปืนใหญ่ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เข้าเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ และได้รับทุนไปศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ ได้พบปะกับเพื่อนนักเรียนไทยในฝรั่งเศสหลายคน นัดพบกันในกรุงปารีส เพื่อวางแนวทางเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อเรียนจบหลักสูตรในปี พ.ศ.๒๔๗๐ แล้วก็เดินทางกลับประเทศไทย ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยเอก ได้รับตำแหน่งหน้าที่ราชการสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้รับพระทานยศเป็นนายพันตรี และบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพิบูลสงคราม ประจำกรมจเรทหารปืนใหญ่ และเป็นนายทหารประจำพระองค์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์อีกตำแหน่งหนึ่ง สมัยนั้นนายพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นจเรทหารปืนใหญ่
                    ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ นายพันตรีหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในฝ่ายทหาร และได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวคนหนึ่ง ในจำนวน ๗๐ คน และได้เป็นกรรมการราษฎรคนหนึ่งในจำนวน ๑๔ คน ซึ่งมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นประธาน และต่อมาก็ได้เป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งในคณะรัฐมนตรี
                    ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดที่สาม มียศเป็นนายพันโท ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารฝ่ายยุทธการ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ได้รับพระราชทานยศเป็นนายพันเอกและได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นครั้งแรก และเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก และเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี พ.ศ.๒๔๗๘
                    ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกและได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตรี
                    ในการสร้างชาติให้เจริญก้าวหน้ารัฐบาลของนายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ได้ประกาศใช้รัฐนิยมรวม ๑๒ ฉบับ ในฉบับที่หนึ่ง ได้เปลี่ยนชื่อประเทศสยาม เป็นประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ และเพื่อให้มีการปฏิบัติตามรัฐนิยมกันอย่างแพร่หลายรัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.บ.บำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.๒๔๘๓ ขึ้น ต่อมาได้มีประเทศพระบรมราชโองการ กำหนดวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่แทนวันที่ ๑ เมษายน โดยเริ่มปีใหม่ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ แทนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๓
                    ในด้านการต่างประเทศรัฐบาลจัดให้มีการฉลองสนธิสัญญากับนานาประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ สนธิสัญญาชุดนี้ให้เอกราชโดยสมบูรณ์แก่ประเทศไทย แต่ต่อมาประเทศไทยต้องเผชิญกับกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส เนื่องจากไทยได้เสนอขอปรับปรุงเขตแดนตามลำแม่น้ำโขง โดยอาศัยร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์กับปรับปรุงเขตแดน
ให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือให้ถือว่าแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทย กับอินโดจีนของฝรั่งเศส ตั้งแต่ทิศเหนือลงมาทางใต้จนถึงเขตแดนกัมพูชา โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝรั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามกับหลวงพระบางและตรงข้ามปากเซคืนมา นอกจากนี้ยังขอคำมั่นว่า ถ้าหากอำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศสในอินโดจีนเปลี่ยนไปแล้ว ขอคืนแคว้นลาว และกัมพูชาให้แก่ประเทศไทย ฝ่ายปฏิเสธข้อเสนอของไทย จึงเกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ระหว่างวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ ถึงวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๔ ในการทำสงครามนี้ พลตรีหลวงพิบูลสงครามได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
                    ฝ่ายญี่ปุ่นได้เข้ามาแก้ไขกรณีพิพาทจัดให้มีการประชุมสันติภาพ ณ กรุงโตเกียว และนำไปสู่การลงนามในอนุสัญญาโตเกียว เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ไทยได้ดินแดนอินโดจีนคืนมารวมสี่จังหวัดคือ พระตะบอง พิบูลสงคราม จัมปาศักดิ์และลานช้าง
                    ต่อมาได้มีการยกเลิกประเพณีพระราชทานบรรดาศักดิ์ และให้ใช้ราชทินนามเป็นนามสกุลได้
                    ในระหว่างนั้นฝรั่งเศสเป็นฝ่ายปราชัยเยอรมนี เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๔ ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรของเยอรมนี ได้ฉวยโอกาสขยายตัว เข้ามายึดครองอินโดจีนของฝรั่งเศส กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในอินโดจีน ครั้นถึงวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ญี่ปุ่นประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่ (อังกฤษ)  และขอเดินทัพผ่านประเทศไทยไป เพื่อรุกเข้าสู่มลายูและพม่า อันเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ประเทศไทยต้องยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยได้ และไทยจำต้องเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของญี่ปุ่น ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่
                    ญี่ปุ่นเสนอว่าภาษาไทยเรียนได้ยาก ควรใช้ภาษาญี่ปุ่นแทน จอมพล ป.พิบูลสงคราม หาทางออกโดยจะปรับปรุงภาษาไทย ให้เรียนได้ง่ายกว่าแต่ก่อน ได้มีการปรับปรุงเสร็จ และประกาศใช้เป็นทางราชการ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๕ ให้งดใช้สระห้าตัว คือ ใจ ฤ ฤา ฦ ฦา และงดใช้พยัญชนะ ๑๓ ตัว ที่จะซ้ำกัน คือ ฃ ต ฆ ฌ ฎ ฏ ฐ ฒ ณ ศ ษ ฬ ส่วน ญ ให้ตัดเชิงออก
                    จอมพล ป.พิบูลสงครามพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.๒๔๘๗ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.อนุมัติ พ.ร.ก. ระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบุรี พ.ศ.๒๔๘๗ ในบริเวณรอบรอยพระพุทธบาท จ.สระบุรี
                    ครั้งถึงวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๘ จอมพล ป. พิบูลสงครามถูกจับในข้อหาตามกฎหมายอาชญากรรมสงคราม แต่พ้นข้อกล่าวหา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ภายหลังรัฐประหารวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ จอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาแห่งประเทศไทยต่อมาในวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๑ ท่านได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง สืบต่อมาจนถึงวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๐ ท่านต้องพ้นตำแหน่งไปเนื่องจากเกิดรัฐประหาร ท่านต้องไปพำนักอยู่ต่างประเทศ และถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗          ๒๑/ ๑๓๒๗๒
            ๓๙๗๗. พิปูน  อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มมีภูมิเขาสลับซับซ้อน ทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ตอนกลางเป็นที่ราบใช้ในการประกอบกสิกรรม
                    อ.พิปูน แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ขึ้น อ.ฉวาง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙          ๒๑/ ๑๓๒๙๑
            ๓๙๗๘. พิพิธภัณฑสถาน เป็นสถานที่ซึ่งเก็บรักษาสิ่งของต่าง ๆ มักเรียกสั้น ๆ ว่า พิพิธภัณฑ์ มีบทนิยามว่า "สิ่งของต่าง ๆ ที่รวบรวมไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา เช่น โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ" และบทนิยามคำว่า พิพิธภัณฑ์สถานมีว่า "สถาบันถาวรที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรมหรือด้านวิทยาศาสตร์โดยมีความมุ่งหมาย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเล่าเรียน และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินเจริญใจ"
                    พิพิธภัณฑสถานหรือพิพิธภัณฑ์ แต่เดิมเมื่อแรกตั้งในรัชกาลที่ห้า ได้เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า มิลเซียม คำพิพิธภัณฑสถานได้บัญญัติในรัชกาลที่เจ็ด
                    พิพิธภัณฑสถานทุกชนิดทุกประเภท ล้วนมีภาระหน้าที่อย่างเดียวกันคือ เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เชื่อมโยง อดีต ปัจจุบันและอนาคต          ๒๑/ ๑๓๒๙๒
            ๓๙๗๙. พิมพ์ - การ  คือการจำลองต้นฉบับที่เป็นตัวหนังสือ หรือภาพลงบนวัตถุที่เป็นพื้นราบ หรือใกล้เคียงพื้นราบ ออกเป็นจำนวนมาก ๆ เหมือน ๆ กัน โดยอาศัยเครื่องมือช่วยในการจำลอง
                    ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ คนจีนรู้จักแกะแผ่นไม้เป็นแม่พิมพ์ เอาหมึกทาแล้วกดลงบนแผ่นกระดาษ เป็นการเริ่มต้นระบบการพิมพ์จากแม่พิมพ์ไม้ ซึ่งต่อมาได้แพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชียบางประเทศ และไปถึงยุโรปด้วย
                    ในปี พ.ศ.๑๕๘๔ - ๑๕๙๒ ชาวจีนชื่อไปเช็ง ได้เป็นผู้คิดวิธีพิมพ์จากตัวพิมพ์ โดยการสร้างตัวหนังสือแต่ละตัวเป็นตัวพิมพ์นำตัวพิมพ์มาเรียงกันเป็นบรรทัด จัดรวมกันเป็นหน้าหนังสือ นำไปพิมพ์ทำให้เกิดการเรียงพิมพ์ และการพิมพ์ด้วยตัวเรียงพิมพ์ และในปี พ.ศ.๑๙๙๓ ชาวเยอรมันชื่อ โยฮานส์ กูเตนเบิร์ก ได้คิดระบบการพิมพ์ด้วยตัวเรียงพิมพ์ขึ้นใหม่ในยุโรป
                    สำหรับประเทศไทย การพิมพ์น่าจะมีการนำเข้ามาครั้งแรกจากยุโรป ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ต่อมาบาทหลวงคาทอลิก ชื่อการ์โนลต์ ได้จัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นอีกในสมัยกรุงธนบุรี และต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการจัดพิมพ์หนังสือไทย โดยใช้ตัวพิมพ์อักษรโรมันปรากฏหลักฐาน
คือหนังสือคำสอนคริสตังภาคต้น พิมพ์ในปี พ.ศ.๑๓๓๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๘ พวกมิชชันนารีอเมริกัน ได้มอบให้หมอบรัดเลย์นำตัวพิมพ์ใหม่ที่ชื่อจากสิงคโปร์ พร้อมทั้งเครื่องพิมพ์เข้ามาในเมืองไทย และจัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวพิมพ์อักษรไทยขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย และจัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวพิมพ์อักษรไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙           ๒๑/ ๑๓๒๙๗
            ๓๙๘๐. พิมพการัง  เป็นชื่อหอยชนิดหนึ่งนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า หอยพิม หอยพิมปะการัง หอยเล็บมือ เป็นหอยสองกาบเปลือกสีขาวบางและเปราะ รูปร่างเป็นทรงกระบอกเรียวไปทางท้ายตัว ยาวประมาณ ๘ - ๑๕ ซม. อยู่ในที่มืด มีแสงเรืองฝาทั้งสองเมื่อปิดเข้าหากันแล้ว ก็ยังมีช่องเปิดที่หัวและท้าย ให้เท้าและท่อน้ำยื่นออกไปได้ใต้บานพับ ที่ทำให้ฝาปิดเปิดได้ มีเงี่ยงยื่นลงมาอยู่ด้านในของเปลือกใช้ช่วยยืดส่วนที่เป็นตัวหอยให้ติดทับเปลือก หอยพิมมีเท้าขนาดใหญ่ ท่อน้ำเข้าและท่อน้ำออกรวมกันเป็นอันเดียว ขนาดใหญ่และยาว อาศัยอยู่ในรูตามพื้นดิน หินปะการังและในไม้รูที่อยู่ขุดเจาะขึ้นเอง โดยขุดลึกลงไปตรง ๆ เมื่อเข้าอยู่ในรูแล้วก็จะไม่มีการเคลื่อนย้าย หรือออกมาจากรูแล้วก็จะไม่มีการเคลื่อนย้าย หรือออกมาจากรูอีก อาหาร น้ำและอากาศจะผ่านเข้าไปทางท่อน้ำที่ยื่นออกมานอกเปลือก การอาศัยอยู่ในรูเป็นการปกป้องตัวเองจากศัตรู ซึ่งได้แก่ ดาวทะเล กุ้ง และปู ซึ่งมักจะจับหรือหนีบปลายท่อน้ำที่ยื่นออกมาจากรู เนื้อหอยพิมใช้เป็นอาหารได้ดี          ๒๑/ ๑๓๓๐๔
            ๓๙๘๑. พิมพิสาร - พระเจ้า  เป็นพระราชาธิราชแห่งแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล มีกรุงราชคฤห์เป็นเมืองหลวง มีแคว้นอังคชนบท รวมอยู่ในราชอาณาเขตด้วย มีอาณาเขตติดต่อกับแคว้นโกศลกาลีและวัชชี กรุงราชคฤห์เป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คนเจริญด้วยวิทยาความรู้ ตลอดจนการค้าขาย เป็นที่รวมของบรรดาคณะจารย์เจ้าลัทธิในสมัยนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน ในพระพุทธศาสนาด้วย (ดูราชคฤห์ - ลำดับที่...)
                    พระเจ้าพิมพิสารเป็นกษัตริย์สืบราชสันติวงศ์ในกรุงราชคฤห์เป็นองค์ที่ ๒๖ โดยมีพระนางเวเทหขันธราธิดา พระน้องนางของเจ้าชายปเสนทิโกศลราชกุมาร ราชโอรสพระเจ้ามหาโกศลราชแห่งกรุงสาวัตถีเป็นพระอัครมเหสีมีพระโอรสชื่อ เจ้าชายอชาตศัตรู ซึ่งต่อมาได้สมคบกับพระเทวทัตคิดจะปลงพระชนม์พระราชธิดา เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบเรื่อง จึงยกราชสมบัติให้แต่พระเทวทัต ยังยุยงให้พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารเสีย พระเจ้าอชาตศัตรูจึงจับพระราชบิดาขังไว้ และให้อดอาหารจนสิ้นพระชนม์
                    พระเจ้าพิมพิสารยังทรงมีพระมเหสีอื่น ๆ อีก คือพระนางเขมา และพระนางปทุมวดีแห่งนครอุชเชนี ทั้งสององค์ได้ออกบวชเป็นพระภิกษุณีองค์ต่อมาคือ พระนางอัมพปาลี
                    พระเจ้าพิมพิสารมีแพทย์หลวงประจำพระองค์คือ หมอชีวโกมารภัจ ซึ่งต่อมาพระเจ้าพิมพิสารได้นำถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์พระพุทธเจ้าอีกด้วย
                    พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงพบกับเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อคราวเสร็จออกบรรพชา และได้รับการขนานนามว่า พระมหาบุรุษครั้งแรกที่เขาบัณฑวบรรพต โดยพระมหาบุรุษเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบได้เสด็จไปเฝ้า และทรงเลื่อมใสศรัทธาถึงกับจะทรงแบ่งราชสมบัติให้ครอบครอง แต่พระมหาบุรุษมิได้มีพระประสงค์ เนื่องจากทรงออกผนวช เพื่อมุ่งหมายพระสัมมาสัมโพธิญาณแต่อย่างเดียว พระเจ้าพิมพิสารจึงทูลขอปฏิญญาจากพระมหาบุรุษว่า หากพระองค์ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ขอให้เสด็จมายังกรุงราชคฤห์ และแสดงธรรมโปรดพระองค์ด้วย
                    ต่อมาเมื่อพระมหาบุรุษทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว มีพระประสงค์จะประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงที่กรุงราชคฤห์ จึงเสด็จทรงมีพระอริยสาวกประมาณหนึ่งพันองค์ มีพระอุรเวลกัสสปเป็นประธานไปยังแคว้นมคธ และประทับอยู่ที่สัฏฐิวันใกล้กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปเฝ้าพร้อมพราหมณ์ และคหบดีเป็นจำนวนสิบสองหมื่น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม โปรดพระเจ้าพิมพิสารสิบเอ็ดหมื่น จนบรรลุเป็นพระโสดาบันอีกหนึ่งหมื่นให้เลื่อมใสอยู่ในพระรัตนตรัย จากนั้นได้ถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นสังฆารามและพุทธวาส          ๒๑/ ๑๓๓๐๕
            ๓๙๘๒. พิมเสนหรือภิมเสน  ภีมเสน พิมเสนเกร็ด พิมเสนตรังกานู และพรมเสน เป็นสารธรรมชาติที่ได้จากต้นไม้หลายชนิด และหลายวงศ์แต่ที่ให้พิมเสนคุณภาพดีนั้น ได้จากต้นไม้ชื่อพิมเสนต้น
                    พิมเสนมีลักษณะเป็นเกล็ดเล็ก ๆ สีขาวขุ่นหรือแดงเรื่อ มีกลิ่นหอมเย็นฉุนระเหิดได้ ติดไฟให้แสงจ้า และมีควันมาก ไม่มีขี้เถ้า หนักกว่าน้ำเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ ยากัดเสมหะ ยากระตุ้นการหายใจ กระตุ้นสมอง บำรุงหัวใจ ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อาการเกร็ง ยาระงับความกระวนกระวาย ยาทำให้ง่วงซึม
                    พิมเสนต้นเป็นต้นไม้ที่มีขนาดสูงใหญ่มาก เรียกได้ว่าเป็นพญาไม้สูงถึง ๗๐ เมตร ลำต้นเปลาขึ้นไป ๒๗ - ๓๘ เมตร เรือนยอดเป็นรูปฉัตร มีกิ่งก้านสาขาใหญ่ หลายกิ่งตกยอดทรงแหลม ใบตอนบน ๆ ออกเป็นใบสลับ แต่ตอนล่าง ๆ ออกตรงกันข้ามแผ่นใบเป็นรูปไข่ ดอกมีกลิ่นหอมชื่นใจ ในเนื้อไม้แก่ ๆ จะมีพิมเสนตกเกล็ดออกมา          ๒๑/ ๑๓๓๑๒
            ๓๙๘๓. พิมาย ๑  เป็นพระนามหนึ่งของกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองพิมาย เรียกกันว่าเจ้าพิมาย เป็นราชโอรสในพระเจ้าบรมโกศ
                    เมื่อพระเจ้าบรมโกศสวรรคตในปี พ.ศ.๒๓๐๑ ราชสมบัติได้แก่ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต พระมหาอุปราช ฝ่ายเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรีทรงตั้งพระองค์เป็นอิสระ แสดงท่าที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง พระเจ้าอุทุมพรจึงถวายราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าเอกทัศผู้เป็นพระเชษฐา ภายหลังที่ทรงราชย์อยู่ได้เดือนเศษ แล้วเสด็จออกไปทรงผนวชที่วัดศรีอโยฌิยา แล้วมาประทับอยู่ที่วัดประดู่ทรงธรรม
                    ในการเปลี่ยนแผ่นดินครั้งนั้นขณะที่พระเจ้าอุทุมพรทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่วัดกระโจม กรมหมื่นเทพพิพิธไม่พอพระทัยจึงได้คบคิดกับเจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราชและพระยาเพชรบุรีเป็นขบถ มีความมุ่งหมายที่จะอัญเชิญพระเจ้าอุทุมพรกลับมาครองราชย์ตามเดิม พระเจ้าเอกทัศ จึงให้เนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธ ไปอยู่เกาะลังกา มีผู้นับถือมาก ชาวลังกาที่ขบถต่อพระเจ้ากรุงลังกา คิดจะถวายราชสมบัติแก่กรมหมื่นเทพพิพิธ พระเจ้ากรุงลังกาจึงโปรดให้จับกรมหมื่นเทพพิพิธ พระองค์จึงหนีไปอาศัยอยู่ในอินเดีย
                    เมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธได้ข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าจึงได้กลับมาเมืองไทย แต่กรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่พม่าตามข่าวลือ พระเจ้าเอกทัศจึงให้คุมตัวไว้ที่เมืองมะริด ครั้นพม่าตีเมืองมะริดได้ กรมหมื่นเทพพิพิธจึงหนีมาอยู่ที่เมืองเพชรบุรี พระเจ้าเอกทัศจึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปคุมขังไว้ที่เมืองจันทบุรี
                    กรมหมื่นเทพพิพิธทรงดำริที่จะขับไล่พม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา จึงทรงเกลี้ยกล่อมรวบรวมผู้คนได้เป็นอันมาก แต่พม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้เสียก่อน จึงได้พาครอบครัวไปอยู่ที่ด่านโคกพระยา ในเขตเมืองนครราชสีมา และเริ่มเกลี้ยกล่อมพระยานครราชสีมามาให้เป็นพรรคพวก แต่พระยานครราชสีมาไม่ยอมร่วมมือด้วย กรมหมื่นเทพพิพิธ ทรงให้พรรคพวกลอบฆ่าพระยานครราชสีมาเสียแล้ว ขึ้นนั่งเมืองแทน หลวงแพ่งผู้เป็นน้องชายพระยานครราชสีมา ไม่ยอมร่วมด้วย หนีไปเกณฑ์ผู้คนที่เมืองพิมาย แล้วจัดตั้งเป็นกองทัพ ยกไปตีเมืองนครราชสีมาคืนมาได้ และจับกรมหมื่นเทพพิพิธกับครอบครัวมาได้ แต่พระพิมายได้ขอชีวิตไว้
                    พระพิมายจงรักภักดีต่อเจ้านายกรุงศรีอยุธยา จึงยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นเป็นเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธจึงตั้งพระพิมายเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งต่อมาได้คิดอุบายจับหลวงแพ่งฆ่าเสีย เจ้าพิมายสามารถแผ่อำนาจออกไปยังหัวเมืองใกล้เคียงกลายเป็นชุมนุมเจ้าพิมายมีเมืองพิมายเป็นราชธานี แต่ในที่สุดก็ถูกพระเจ้าตากสินตีได้ และถูกประหารชีวิต          ๒๑/ ๑๓๓๒๕
            ๓๙๘๔. พิมาย ๒ - ปราสาทหิน  ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของเมืองพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เมืองนี้เคยเป็นเมืองมาแต่โบราณ ปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอ
                    ลักษณะเมืองพิมายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๕๖๕ เมตร ยาวประมาณ ๑,๐๓๐ เมตร กำแพงเมืองทั้งสี่ด้านเป็นเนินดิน ประตูเมืองก่อด้วยศิลาทรายในเมืองมีสระแก้ว สระพลุ่งและสระขวัญ นอกกำแพงเมืองมีสระเพรง
                    ปราสาทหินพิมายเป็นพุทธสถานมีกำแพงสี่เหลี่ยมล้อมรอบมีประตูซุ้มทั้งสี่ทิศ ช่องประตูซุ้มอยู่ตรงกัน ประตูซุ้มใหญ่ที่สุดอยู่ด้านหน้าอยู่ทางทิศใต้ คงเป็นเพราะแต่เดิมมีถนนตัดจากประเทศกัมพูชาขึ้นมาทางทิศใต้
                    หน้าประตูซุ้มแห่งนี้ก่อเป็นสะพานนาค กว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ ๓๒ เมตร สูงจากพื้นดินประมาณ ๒.๕๐ เมตร มีบันไดลงสู่พื้นดินแยกเป็นสามทาง ที่เชิงบันไดตั้งรูปสิงห์ แล้วจึงถึงประตูซุ้ม ประตูซุ้มก่อแบ่งเป็นสามคูหาจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ
                    ต่อจากประตูซุ้มด้านทิศใต้ชักปีกกาเป็นกำแพงออกไปข้างละราว ๘๐ เมตร แล้วจึงหักมุมเป็นแนวกำแพงด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตกต่อไป ส่วนบนหรือหลังคาของซุ้มประตูด้านทิศใต้ ตรงคูหากลางก่อสูง นอกนั้นลดหลั่นกันไปตามลำดับ การสร้างประตูซุ้มมีคูหาติดต่อกันทั้งสี่ทิศนี้ ทำให้แลดูมีลักษณะคล้ายรูปกากบาท ประตูซุ้มของกำแพงทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ก็มีลักษณะอย่างเดียวกับประตูทางทิศใต้ ผิดแต่ไม่มีสะพานนาคข้างหน้าเท่านั้น กำแพงของปราสาทหินพิมายสร้างด้วยศิลาทรายสีแดง ทางด้านเหนือและด้านใต้ยาวประมาณ ๒๒๐ เมตร ด้านตะวันออก และด้านตะวันตก ยาวประมาณ ๒๗๗.๕๐ เมตร
                    นอกประตูซุ้มด้านทิศใต้มีซากอาคารสร้างด้วยศิลาทราย และศิลาแลงอยู่หลังหนึ่งทางทิศตะวันตก ขนาดกว้างประมาณ ๒๖ เมตร ยาวประมาณ ๓๕ เมตร เดิมเรียกกันว่าคลังเงิน ปัจจุบันเปลี่ยนเรียกชื่อเป็นธรรมศาลา
                    ถัดประตูซุ้มด้านใต้เข้าไปเป็นลานใหญ่คือ สามชั้นนอก มีสระน้ำอยู่สี่มุม มุมละสระ บนลานชั้นนอกตอนใกล้ประตูซุ้มกำแพงทิศตะวันตก มีซากอาคารก่อด้วยศิลาหลังหนึ่ง สันนิษฐานว่า อาจเป็นพระตำหนัก หรืออาจเป็นหอไตร หรือบรรณาลัย ที่เก็บรักษาตำราทางศาสนาก็ได้
                    ต่อจากลานชั้นนอกเข้าไปถึงระเบียงคดก่อยกฐานมีประตูซุ้มสี่ทิศ และประตูทางทิศใต้มีขนาดใหญ่กว่า ประตูทางทิศอื่น ภายในระเบียงคด มีทางเดินทะลุถึงกันทั้งสี่ด้าน หลังคามุงด้วยแผ่นศิลาทำเป็นรูปหลังคาเรือประทุน ที่ประตูซุ้มด้านใต้ของระเบียงคดมีค่าจารึกอยู่บนแผ่นหินด้านขวามือร้าวปี พ.ศ.๑๖๕๑ และ ๑๖๕๕
                    ต่อจากระเบียงคดเข้าไปจะเป็นลานชั้นใน เป็นที่ตั้งของปรางค์สามองค์ และอาคารหนึ่งหลัง ปรางค์ใหญ่อยู่ตรงกลาง ปรางค์น้อยอยู่ข้างหน้าทั้งซ้าย และขวาของปรางค์องค์ใหญ่ องค์ซ้ายเรียกกันว่า ปรางค์พรหมทัต องค์ขวาเรียกว่า ปรางค์หินแดงบนทับหลังของปรางค์พรหมทัต มีภาพสลักพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืน เป็นแนวมีบริวารประกอบทับหลังชิ้นนี้อยู่ในศิลปะขอมแบบบายน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ด้านหลังปรางค์หินแดง มีอาคารน้อยหลังหนึ่งได้พบศิวลึงค์ขนาดย่อม สลักด้วยศิลา ๒ - ๓ ชิ้น เรียกอาคารหลังนี้ว่า หอพราหมณ์
                    ถัดปรางค์พรหมทัตกับปรางค์หินแดงเข้าไปเป็นปรางค์องค์ใหญ่ คือปรางค์องค์ประธานของปราสาทหินพิมาย ทัพสัมภาระที่ใช้ก่อสร้างมีทั้งศิลาปูนและศิลาทราย ประตูเข้าออกองค์ปรางค์มีทั้งสี่ทิศ มุขหน้าของปรางค์ใหญ่มีทางขึ้นลงสามทางคือ ซ้าย ขวาและหน้า
                    ทับหลังชิ้นสำคัญสี่ชิ้นที่อยู่เหนือประตูชั้นในด้านหน้ารอบปรางค์องค์กลางแสดงให้เห็นว่า ปราสาทหินพิมายสร้างขึ้นในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน คือ ด้านทิศใต้จำหลักภาพเป็นสองแนว แนวบนเป็นพระพุทธรูปนาคปรกประทับอยู่ระหว่างกลางพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิหกองค์ แนวล่างมีภาพอุบาสก อุบาสิการนำสิ่งของมาถวาย  ด้านทิศตะวันตกจำหลักเป็นสองแนวเช่นกัน แนวบนเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประทับยืนอยู่ระหว่างต้นไม้คู่หนึ่ง มีกษัตริย์นั่งเฝ้าอยู่ข้าง ๆ พร้อมด้วยบริวาร แนวล่างเป็นรูปพนักงานชาวประโคมกับฟ้อนรำ  ด้านทิศเหนือจำหลักภาพเป็นสองแนว แนวบนเป็นภาพเทวดาสามพักตร์สี่กรห้าองค์ เข้าใจว่าคือ พระวัชรสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ประจำองค์ พระอาทิพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน  ด้านทิศตะวันออกจำหลักเป็นสองแนวเช่นกัน แนวบนเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ ประทับนั่งเรียงแถวอยู่ในเรือนแก้วสิบองค์ แนวล่างเป็นเทพบุตรและเทพธิดากำลังฟ้อนรำ
                    จากจารึกและศิลปะซึ่งตกอยู่ในศิลปะขอมแบบปาปวน (ราวพ.ศ.๑๕๕๐ - ๑๖๕๐)  จึงอาจกล่าวได้ว่าปราสาทหินพิมาย คงจะเริ่มสร้างในสมัยพระจ้าชัยวรมันที่หก (พ.ศ.๑๖๒๓ - ๑๖๕๐)  และสำเร็จลงในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๗          ๒๑/ ๑๓๓๒๙
            ๓๙๘๕. พิมาย ๓  อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ราบ เหมาะแก่การทำนา ตอนใต้เป็นป่าไม้
                    พิมายเป็นอำเภอสำคัญของ จ.นครราชสีมา เป็นเมืองเก่าแก่สมัยขอม พวกขอมตั้งเป็นราชธานี สำหรับปกครองท้องที่แผ่นดินที่ราบสูงตอนใต้ มีซากโบราณสถานปรากฏอยู่หลายอย่างเช่น ปราสาทหิน
                    อ.พิมายแต่เดิมก็ชื่อว่า พิมาย ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองพิมาย ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พิมายตามเดิม
                    มีนิยามที่เป็นประวัติของเมืองพิมาย คือเรื่องของท้าวปาจิตกับนางอรพิมพ์ ที่ อ.พิมายมีต้นไม้ใหญ่อยู่ต้นหนึ่งเรียกว่า ไทรงาม แผ่กิ่งก้านสาขาออกต่อเนื่องกัน เป็นบริเวณใหญ่รุ่มรืนเป็นรมณียสถาน          ๒๑/ ๑๓๓๓๙
            ๓๙๘๖. พิมาย ๔  เป็นชื่อเขื่อนกั้นแม่น้ำมูลที่คุ้งไทรงาม ต.ในเมือง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ส่งน้ำให้ระบบการส่งน้ำของโครงการทุ่งสัมฤทธิ์ รวม ๑๕๓,๐๐๐ ไร่ เริ่มงานก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖          ๒๑/ ๑๓๓๔๑
            ๓๙๘๗. พิราบ - นก  เป็นนกที่อาศัยตามเขาหิน แต่ต่อมากลับเชื่องและกลายเป็นนกบ้านไปอย่างรวดเร็ว นกนี้บินแข็งมาก สามารถจะบินกลับเรือนรัง หรือบ้านของเจ้าของเดิม ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปเป็นร้อย ๆ กิโลเมตรได้ถูกต้อง จึงมีคนชอบใช้เป็นนกสื่อสารกันมาก          ๒๑/ ๑๓๓๔๓
            ๓๙๘๘. พิษณุโลก  จังหวัดภาคกลางมีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.อุตรดิตถ์ ทิศตะวันออกจด จ.เลย และจ.เพชรบูรณ์ ทิศใต้จด จ.พิจิตร ทิศตะวันตกจด จ.กำแพงเพชรและจ.สุโขทัย ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกส่วนมากเป็นป่าไม้ และเขามีที่ราบน้อย นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่มทั่ว ๆ ไป ทั้งในที่ลุ่มแม่น้ำน่าน และที่ลุ่มแม่น้ำยม
                    จ.พิษณุโลกเป็นเมืองโบราณพื้นที่เดิมก่อนที่จะสร้างเมืองขึ้นเห็นจะเป็นท้องที่ของเมืองโอฆบุรี เพราะปรากฏในพงศาวดารเหนือว่า เมื่อพระเจ้าพสุจราชกรุงศรีสัชนาลัยสวรรคต แล้วพระธรรมไตรโลกโอรส ได้ขึ้นเสวยราชย์แล้ว ออกผนวชที่เมืองโอฆบุรี พระเจ้าโกรพราช ให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระเกศธาตุ แล้วพระราชทานนามว่า วัดจุฬามณี เข้าใจว่าเป็นวัดเดียวกันกับวัดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงสร้าง (บูรณะ) เมื่อเสด็จขึ้นไปประทับเมืองพิษณุโลกแล้วทรงผนวชที่วัดนั้น
                    เมืองพิษณุโลกเคยเป็นเมืองมาแล้วก่อนสมัยขอม ครั้นต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๔๐๐ ขอมได้ครอบครองเมืองนี้ปรากฏหลักฐานคือ ปรางค์ศิลาแลงที่วัดจุฬามณี เดิมที่เดียวคงเรียกชื่อเมืองนี้ว่า เมืองสองแควที่ตั้งเมืองเดิมอยู่ที่วัดจุฬามณีในระหว่างแม่น้ำน่านกับแควน้อย ถึงปี พ.ศ.๑๙๐๒ พญาสิไทมาประทับเมืองพิษณุโลก ครั้นปี พ.ศ.๑๙๒๑ พญาไสยฤาไท ต่อสู้กองทัพกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ก็ยอมอ่อนน้อมโปรดแบ่งเขตเป็นสองมณฑล เมืองตาก กำแพงเพชรและพระบาง เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองใหญ่ ให้พระยายุธิษฐิระบุตรติดพระมเหสีสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ปกครอง พญาไสยฤาไทคงปกครองเมืองสุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก แล้วย้ายตัวเมืองจากที่เดิมมาสร้างใหม่ในฝั่งเดียวกัน
                    ในปี พ.ศ.๑๙๘๑ พระมหาธรรมราชาที่ห้าสวรรคต สมเด็จพระราเมศวร ต้องเสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งให้รวมหัวเมืองเหนือทั้งปวงคือ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย สวรรคโลก พิชัย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ตาก พระบาง ถึงปี พ.ศ.๑๙๙๑ สมเด็จพระบรมราชาที่สองสวรรคต สมเด็จพระราเมศวร ต้องเสด็จกลับมาครองกรุงศรีอยุธยา เฉลิมพระนามเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทางเมืองเหนือจึงให้เจ้าเมืองปกครองขึ้นกรุงทุกเมือง สมัยนั้นพระเจ้าติโลกราช เป็นใหญ่ในอาณาจักรลานนา มีอำนาจมาก ยกกองทัพลงมารบกวนเมืองเหนือเนือง ๆ จึงต้องเสด็จขึนไปประทับที่เมืองพิษณุโลก ทรงสถาปนาวัดจุฬามณี แล้วทรงผนวชที่วัดนั้นแปดเดือน ในปี พ.ศ.๑๙๙๒ พระองค์เสด็จสวรรคตที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๑ พระเชษฐาโอรสเกิดแต่พระชนนีเชื้อราชวงศ์สุโขทัย ได้ครองเมืองเหนือ ประทับ ณ เมืองพิษณุโลกถึงปี พ.ศ.๒๐๓๔ เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สามสวรรคต แล้วก็เสด็จลงมาเสวยราชย์กรุงศรีอยุธยา เป็นสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง เมืองพิษณุโลกก็ว่างผู้ปกครอง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๖๙ โปรดตั้งสมเด็จหน่อพุทธารกูรเจ้าเป็นอุปราช ประทับอยู่เมืองพิษณุโลกได้สามปี สมเด็จพระรามาธิบดีที่สองสวรรคต ต้องเสด็จมาครองราชย์เป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สี่ จึงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอพระชนนี เป็นเชื้อพระวงศ์เมืองเหนือ เป็นพระไชยราชาไปครองเมืองพิษณุโลก ต่อปี พ.ศ.๒๐๗๗ พระไชยราชาเสด็จลงมาปราบดาภิเษก เป็นสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระองค์สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๐ ขุนพิเรนทรเทพเชื้อพระวงศ์เมืองเหนือราชบุตรเขย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ได้ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เป็นพระมหาธรรมราชา
                    สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสวยราชย์ได้เจ็ดเดือน พระเจ้าตะเบงชะเวดี้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาคุมกองทัพเมืองเหนือลงมาช่วย พม่าถอยทัพไปทางเหนือ พระมหาธรรมราชา และพระราเมศวร คุมกำลังตามตีทัพพม่า ถูกบุเรงนองจับได้ทั้งสององค์ ต้องเสียช้างชนะงาพลายศรีมงคล กับพลายมงคลทวีปแลกตัวคืนมา
                    ในปี พ.ศ.๒๑๐๖ พระเจ้าบุเรงนองกองทัพมาตีเมืองเหนือที่เป็นเมืองขึ้นเมืองพิษณุโลกได้แล้วเข้าตีเมืองพิษณุโลก พระมหาธรรมราชาต้องยอมอ่อนน้อม ถือน้ำกระทำสัตย์พระเจ้าบุเรงนอง เอาสมเด็จพระนเรศวรไปเป็นตัวจำนำอยู่ ณ เมืองหองสาวดี แล้วพม่าจึงยกทัพมาติดกรุงศรีอยุธยา
                    เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ออกทรงผนวชพระมหาธรรมราชาไม่ยอมอยู่ในบังคับบัญชาพระมหินทร ซึ่งครองราชย์แทนอยู่ พระมหินทรจึงชวนพระไชยเชษฐา ผู้ครองแคว้นลานช้าง ให้มาตีเมืองพิษณุโลก เหตุเพราะพระมหาธรรมราชา ไปทูลพระเจ้าบุเรงนอง ให้มาแย่งพระเทพกษัตริย์ ที่พระราชทานทรงไชยเชษฐาไป แต่สู้พระมหาธรรมราชาไม่ได้ เมื่อไทยแตกกันด้วยอุบายพม่า พม่าจึงเกณฑ์ไทย เมืองเหนือให้พระมหาธรรมราชาเป็นแม่ทัพ ยกมารบด้วยทัพหนึ่ง ในปี พ.ศ.๒๑๑๑ พระเจ้าบุเรงนองตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว ก็เดินทัพกลับทางเมืองพิษณุโลก
                    สมเด็จพระนเรศวร ฯ เสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๔ แต่เมื่อพระองค์ประกาศอิสรภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗ ก็โปรดให้กวาดต้อนครอบครัว ทิ้งเมืองให้ร้างไว้แปดปี
                    เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๔ พม่ายกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ โปรดให้เจ้าพระยาพิษณุโลก ยกกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปช่วย แต่ช่วยไม่ทันเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๓๑๐ แล้วเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)  ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าอิสระชุมนุมหนึ่ง
                    ถึงปี พ.ศ.๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพเรือไปตีชุมนุมเจ้าพิษณุโลก แต่ต้องทัพกลับมาเจ้าพระยาพิษณุโลก จึงทำพิธีราชภิเษกเป็นกษัตริย์อยู่ได้เจ็ดวัน ก็ถึงพิราลัย เจ้าพระฝางจึงยกกองทัพมาล้อมเมืองพิษณุโลกได้สองเดือน ก็เข้าเมืองได้ กวาดต้อนชาวเมืองพิษณุโลกไปไว้เมืองสวางคบุรี รวมเข้าไว้ในชุมนุมของเจ้าพระฝางอยู่มาอีกสองปี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เสด็จยกทัพเรือขึ้นไปตีก๊กเจ้าพระฝางตีได้เมืองพิษณุโลกแล้วยกขึ้นไปตีเมืองสวางคบุรี เจ้าพระฝางทิ้งเมืองหนีไปโปรดให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๘ อะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพพม่ามาล้อมเมืองพิษณุโลก จนไทยขัดสนเสบียงอาหารต้องทิ้งเมือง
                    เมืองพิษณุโลกเป็นหัวเมืองเอก ตามกฎมณเฑียรบาลว่า เป็นเมืองพระยามหานครมีสิ่งสำคัญคือ ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ เช่น พระศรีรัตนมหาธาตุ และพระพุทธชินราช มีโบราณสถานคือ พระราชวังจันทน์ สร้างครั้งพระเจ้าลิไท วัดจุฬามณีซึ่งตามพงศาวดารเหนือว่าพระเจ้าโกรพราชให้สร้าง        ๒๑/ ๑๓๓๔๓
            ๓๙๘๙. พีชคณิต  เป็นแขนงหนึ่งของวิชาคณิตศาสตร์ นอกจากจะใช้ตัวเลข ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนจำนวนเหมือนในวิชาเลขคณิตแล้ว พีชคณิตยังใช้ตัวอักษรแทนจำนวน ที่ยังไม่ได้กำหนดค่าที่แน่นอน มีการบวก ลบ คูณ หาร ยกกำลังตัวอักษรที่เขียนแทนจำนวน เช่นเดียวกับตัวเลข ผลที่ได้รับเป็นนิพจน์ (สัญลักษณ์ที่แทนหลาย ๆ พจน์บวกหรือลบกัน)  ทางพีชคณิต การทำเช่นนี้เป็นการง่ายที่จะศึกษาสมบัติของจำนวนเพื่อนำไปสู่การวางกฎเกณฑ์ทั่วไป
                    เราอาจแก้ปัญหาเลขคณิตที่ยุ่งยากได้ง่ายโดยใช้วิธีพิชคณิต เริ่มด้วยการให้ตัวอักษรแทนจำนวนที่ยังไม่รู้ค่า ตั้งสมการตามเงื่อนไขที่โจทย์กำหนด คำนวณหาผลลัพธ์จากการแก้สมการ แล้วจึงตรวจสอบผลลัพธ์
                    วิชาพีชคณิตมีประโยชน์มากในการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และวิชาอื่น ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้สูตร เมื่อกำหนดค่าต่าง ๆ ตามที่สูตรต้องการมาให้การคำนวณหาค่า ที่เหนืออาจต้องใช้การแก้สมการ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๗๙๓ ชาวกรีกผู้หนึ่งแห่งละเล็กซานเดรียเป็นคนแรก ที่เริ่มใช้ตัวอักษรแทนจำนวนที่ยังไม่รู้ค่า ประมาณปี พ.ศ.๑๓๖๓ ชาวอาหรับผู้หนึ่งได้เขียนหนังสือวิชาว่าด้วยการแก้สมการ ต่อมาชาวยุโรปหลังสงครามครูเสด (หลังปี พ.ศ.๑๙๔๓)  นำหนังสือนี้ไปแปลเพื่อศึกษาเล่าเรียน
                    วิชานี้ในภาษาไทยใช้คำว่า พีชคณิตกันเป็นที่แพร่หลาย (พบในหลักสูตรสามัญศึกษา พ.ศ.๒๔๕๔)  พีชคณิต ค่าชื่อนี้ตรงกันกับชื่อที่ภาสกร นักคณิตศาสตร์ชาวอินเดียแต่งไว้เมื่อ ๘๐๐ ปีก่อน ในปี พ.ศ.๑๖๙๓ ภาสกรได้เป็นผู้อำนวยการหอดาราศาสตร์เมืองอุชเชนี ได้แต่ตำราดาราศาสตร์ขึ้นชุดหนึ่ง แบ่งออกเป็นบท ๆ บทที่หนึ่งกล่าวถึงวิชาเลขคณิต บทที่สองมีชื่อว่า พีชคณิต กล่าวถึงการแก้สมการบทที่สาม และที่สี่ กล่าวถึงวิชาดาราศาสตร์ และรูปทรงกลม
                   คำว่าพีช (อ่านว่าพีชะ)  แปลว่า เมล็ดพันธุ์ไม้หรือพืช คณิตแปลว่าการนับ การคำนวณ พีชคณิตเป็นวิชาคำนวณที่ใช้วิธีการคล้ายการปลูกต้นไม้
                   ในระยะเวลาประมาณ ๒๐๐ ปีมานี้ นักคณิตศาสตร์ได้พยายามเสาะหาหลักเกณฑ์ทั่วไปของพีชคณิต หลังจากนั้นได้สร้างวัถตุทางคณิตศาสตร์ขึ้นใหม่ กำหนดให้มีสมบัติบางอย่างเหมือนจำนวน เช่น เวกเตอร์และเมตริก ทำให้เกิดพีชคณิตใหม่เรียกว่า วิชาพีชคณิตเชิงเส้น ต่อมาก็สมมติวัตถุทางคณิตศาสตร์ขึ้นมาลอย ๆ เป็นนามธรรมแทนวัตถุที่กล่าวถึงแต่ละตัวด้วยอักษร แต่กำหนดให้มีสมบัติบางอย่างเหมือนจำนวน สมบัติบางอย่างอาจแตกต่างกัน จึงเกิดพีชคณิตแขนงใหม่เรียกว่า วิชาพีชคณิตนามธรรม ซึ่งแตกแขนงออกไปเป็นทฤษฎีของกลุ่ม วง และพื้นภูมิ
                   ดังนั้นในความหมายปัจจุบัน พีชคณิตเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่ประกอบขึ้นด้วยวัตถุทางคณิตศาสตร์บางอย่าง วัตถุเหล่านี้แทนด้วยสัญลักษณ์ทางพีชคณิต เริ่มด้วยการวางสัจพจน์ (ข้อความที่ยอมรับในวิชาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ว่าจริง โดยไม่ต้องพิสูจน์)  ให้นิยามของการดำเนินการแล้ว ใช้ตรรกศาสตร์สร้างข้อความที่พิสูจน์ได้ว่าจริง          ๒๑/ ๑๓๓๔๙
          ๓๙๙๐. พีล่อโก๊ะ  เป็นกษัตริย์องค์ที่สี่แห่งราชวงศ์สินโล ซึ่งครองอาณาจักรน่านเจ้าในจีนใต้ ประมาณปี พ.ศ.๑๑๙๔ - ๑๔๔๕ ในระยะเวลาเกือบสามร้อยปีนั้น อาณาจักรน่านเจ้ามีลักษณะเป็นไทย ครั้นราชวงศ์สินโลสิ้นสุดลง ก็กลายเป็นจีนยิ่งขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งถูกโค่นลง โดยกองทัพของพระเจ้าหงวนสีโจ้งฮ่องเต้ หรือพระเจ้ากุบไลข่าน เมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๖
                พระเจ้าพีล่อโก๊ะ เป็นพระโอรสของพระเจ้าโลเซงปี ในรัชสมัยของพระองค์ (พ.ศ.๑๒๗๑ - ๑๒๙๑) พระองค์ทรงกระชับสัมพันธไมตรีกับจีน เคยเสด็จไปสู่ราชสำนักจีน ช่วยจีนรบทิเบตตลอดจนร่วมมือในการปราบการขบถ และโจรผู้ร้ายด่านหัวเมือง ทรงรวบรวมแคว้นต่าง ๆ ห้าแคว้นเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับน่านเจ้า เมื่อพระเจ้าสินโลได้ตั้งอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นนั้น มีกลุ่มชนอยู่ถึง ๓๗ กลุ่ม จึงทรงแบ่งออกเป็นหกแคว้น พระองค์ทรงครองแคว้นหนึ่ง อีกห้าแคว้นโปรดให้ญาติใกล้ชิดไปครอง ภายหลังแคว้นทั้งห้านี้ถือตนเป็นอิสระ พระเจ้าพีล่อโก๊ะสามารถปราบแคว้นทั้งห้าลงได้ ครั้นพระองค์สิ้นพระชนม์ พระเจ้าพีล่อฝงราชโอรสได้เสวยราชย์ต่อมา          ๒๑/ ๑๓๓๘๓
            ๓๙๙๑. พืชมงคล - พระราชพิธี  เป็นพระราชพิธีที่นำเอาการปฎิบัติทางพระพุทธศาสนา เข้าไปมีส่วนประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งศาสนาพราหมณ์ถือปฎิบัติแต่โบราณกาล เท่าที่มีจดหมายเหตุอ้างอิงคือ สมัยสุโขทัย แต่อาจมีก่อนนั้นแล้ว เรียกสั้น ๆ ว่า พิธีแรกนา จัดเป็นพิธีของพระเจ้าแผ่นดิน           ๒๑/ ๑๓๓๕๔
            ๓๙๙๒. พุก - หนู  ในประเทศไทยมีสองชนิดคือ หนูพุกเล็ก และหนูพุกใหญ่
                    หนูพุกใหญ่ เป็นหนูขนาดใหญ่มากในเมืองไทย พบตามทุ่งนาที่ราบต่ำทั่วไป มีขนหลังเท้าดำ ใต้ท้องสีขาวจาง ๆ ขนยาวรุงรัง หางยาวสีดำ
                    หนูพุกเล็ก มีมากทางจังหวัดจันทบุรี ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศไทย           ๒๑/ ๑๓๓๕๔
            ๓๙๙๓. พุกาม  เป็นชื่ออาณาจักรหนึ่ง ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในตอนเหนือของพม่า โดยมีเมืองพุกามเป็นราชธานี กษัตริย์ผู้เรืองอำนาจและทรงตั้งราชวงศ์พุกามขึ้นคือ พระเจ้าอนุรุทธหรืออโนรธามังช่อ ทรงเป็นกษัตริย์องค์แรกที่รวมพม่าเหนือ กับพม่าใต้อันได้แก่ อาณาจักรมอญเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน พระองค์ทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาก เมืองพุกามจึงกลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในเมืองพม่า แทนเมืองสะเทิม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมอญ และได้แผ่อิทธิพลเข้ามาสู่ประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๖๐๐ พระองค์ครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๖๒๐ และราชวงศ์พุกาม ครอบครองประเทศพม่าระหว่างปี พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๘๓๐
                    ภายหลังที่พวกปยุ เสียราชธานีแก่กองทัพน่านเจ้าแล้ว ชาวพม่าได้รวบรวมกำลังตั้งเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ มีกษัตริย์ปกครองคือ เมืองพุกาม ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำอิรวดี ใต้ทางแยกของแม่น้ำชินด์วินลงมาเล็กน้อย มีการแย่งราชสมบัติและเปลี่ยนราชวงศ์กันหลายครั้ง จนถึงรัชสมัยพระเจ้าอนุรุทธ เมื่อปี พ.ศ.๑๕๘๗
                    พระเจ้ากุบไลข่านได้ให้กองทัพเข้าตีอาณาจักรพุกาม ได้เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๐            ๒๑/ ๑๓๓๕๖
            ๓๙๙๔. พุด - ต้น  เป็นชื่อพันธุ์ไม้ไทยหลายชนิด ที่พบทั่ว ๆ ไปมีดังนี้
                     พุด หรือข่อยด่าน หรือพุดผา  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางไม่ผลัดใบ สูง ๑๐- ๑๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ใบรูปรีหรือไข่กลับ ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามปลายกิ่ง กลิ่นหอม กลีบดอกสีขาวสะอาด ผลรูปไข่กลับ ผิวเรียบ เนื้อไม้สีเหลืองนวลละเอียด เสี้ยนตรง ใช้ทำเครื่องกลึง และสลัก
                    พุดจีน   เป็นไม้พุ่ม อาจสูงถึง ๒ เมตร ใบบางทีเรียงระดับเดียวกันสามใบ รอบกิ่งอยู่ติดกัน รูปหอกหรือรี ดอกออกเดี่ยว ๆ เกือบที่ปลายกิ่ง กลิ่นหอมมาก ดอกสีขาว ก่อนโรยสีเหลืองอ่อน ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ พรรณที่มีกลีบดอกซ้อน เรียกกันว่า พุดซ้อน
                    พุดใหญ่ หรือผ่าด้าน หรือคำมอก หรือชันยอด  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง อาจสูง ๑๐ - ๑ - เมตร ใบรูปขอบขนาน หรือไข่กลับ ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ มีกลิ่นหอม ผลรูปรี เนื้อไม้สีขาวนวลละเอียด เสี้ยนตรง ใช้ในการกลึงและแกะสลัก
                    พุดจีบ หรือพุดสวน หรือพุดสา  เป็นไม้พุ่ม อาจสูง ๑ - ๒ เมตร ใบรูปรี แกมขอบขนาน หรือไข่กลับ ดอกออกเป็นกระจุกตามง่ามกิ่ง กลิ่นหอม ผลเป็นฝักคู่ ปลูกเป็นไม้ประดับ ชนิดดอกซ้อนเรียกกันว่า พุดซ้อน           ๒๑/ ๑๓๓๖๒
            ๓๙๙๕. พุดตาน - พระที่นั่ง  เป็นราชบัลลังก์ สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทหาร พลเรือน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีวันเฉลิมพระชนม์พรรษา หรือการพระราชพิธีสำคัญ เช่น สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร
                    นอกจากนี้ใช้สำหรับเป็นพระราชยาน เสด็จประทับโดยกระบวนพยุหยาตราสถลมารค เลียบพระนคร เมื่อบรมราชาภิเษกแล้ว และบางคราวใช้เป็นพระราชยาน ประทับเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอารามหลวง โดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่สถลมารค
                    พระที่นั่งพุดตาน สร้างทำด้วยไม้สักห้าชั้น หักมุมไม้สิบสอง ฐานสุดล่างกว้างยาวเท่ากัน ด้านละหนึ่งเมตร ทั้งองค์จำหลักลวดลายปิดทองคำเปลวประดับรัตนชาติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีสำคัญ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จะได้เชิญขึ้นตั้งบนพระแท่นราชบัลลังก์ นพปฎลมหาเศวตฉัตร เป็นพระแท่นขนาดใหญ่ สร้างในรัชกาลที่หนึ่ง ด้วยไม้สักจำหลักลายลงรักปิดทอง ประดับรัตนชาติ องค์พระแท่นราชบัลลังก์ แบ่งเป็นห้าชั้น ชั้นล่างสุดเป็นฐานสี่เหลี่ยม หน้ากระดานเรียบ กว้างยาวเท่ากัน ด้านละ ๑.๙๐ เมตร ตอนบนขอบสองชั้นประดับกระจัง
                    พระที่นั่งพุดตาน เมื่อจะใช้เป็นพระราชยานประทับเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เป็นกระบวนพยุหยาตราสถลมารค จะตั้งพระที่นั่งนี้โดยมีคนหามสิบหกนาย ยกคานที่แอกและลูกแอก ขึ้นบ่าแบกเดินไปตามทางที่จัดเป็นกระบวนราชอิสริยยศ           ๒๑/ ๑๓๓๖๔
            ๓๙๙๖. พุทธคยา ๑  เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อยู่ในเขตจังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
                    ในสมัยพุทธกาล เรียกสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่า โพธิมัณฑะ หรือโพธิมณฑล คือ บริเวณโดยรอบต้นไม้ที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งต่อมาเรียกว่า ต้นโพธิ หรือมหาโพธิ อยู่ในเขตตำบลอุรุเวลา แคว้นมคธ ห่างจากเมืองคยา สามคาวุต ห่างจากนครราชคฤห์ สี่โยชน์ สามคาวุต ห่างจากเมืองพาราณสี ๑๕ โยชน์ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา บนฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของโพธิมณฑล เป็นหมู่บ้านเสนานิคม ฉะนั้น ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา บางทีก็เรียกบริเวณเหล่านี้ รวมกันว่า อุรุเวลาเสนานิคม
                    ชื่อพุทธคยา น่าจะตั้งขึ้นเมื่อศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดู เข้าไปยึดครองเมืองคยาทั้งหมด และปรับปรุงดัดแปลง พุทธสถานเดิมให้เป็นของตน จึงเรียกเมืองคยาส่วนนั้นว่า พรหมคยา เรียกบริเวณที่เป็นโพธิมณฑลว่า โพธคยา หรือ พุทธคยา (ดู คยา - ลำดับที่ ...ประกอบ)
                    หลังพุทธปรินิพพาน ประมาณ ๑๐๐ ปี พระพุทธสาสนาเริ่มเสื่องลง พวกนับถือศาสนาพราหมณ์ มีกำลังขึ้นได้เข้าไปครอบครองดินแดนเมืองคยา โพธิมณฑล ถูกย่ำยีจนเป็นสถานที่รกร้างเรื่อยมา จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ขึ้นครองราชย์ ณ เมืองปาฎลีบุตร แคว้นมคธ  เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒ และหลังจากทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ได้เสด็จไปนมัสการสังเวชนียสถานสี่ตำบล และสถานที่สำคัญทั่วทุกแห่ง เสด็จไป ณ ที่ใด ก็โปรดให้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์ปูชนียสถาน ให้กลับมีสภาพดีขึ้น หรือให้สร้างขึ้นใหม่ พร้อมกับสร้างเสาศิลาจารึก แสดงประวัติของสถานที่สำคัญนั้น ๆ ไว้ด้วย ที่โพธิมณฑล พระเจ้าอโศก ฯ โปรดให้ก่อสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ เรียกกันต่อมาว่า มหาโพธิวิหาร โพธิมณฑลจึงกลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  แล้วก็ทรุดโทรมลงหลังจากพระเจ้าอโศก ฯ สวรรคตแล้ว
                    ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๘๗๓ พระเจ้าแผ่นดินลังกา ทรงพระนามว่า สิริเมฆวรรณ ทรงให้สร้างพระวิหารขึ้นไว้ในบริเวณโพธิมณฑล เพื่อเป็นที่พักของพระพุทธศาสนิกชน ชาวลังกาที่เดินทางไปบูชา และทรงขออนุญาตพระเจ้าสมุทรคุปต์ ผู้ครองแคว้นมคธ ในสมัยนั้นสร้างวิหารอีกหลังหนึ่ง เพื่อเป็นที่พักอาศัยของคณะสงฆ์ ชาวลังกา
                    หลวงจีนฟาเหียน ซึ่งเดินทางไปสืบพระพุทธศาสนา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๙๐๐ ได้เขียนบรรยายสภาพของโพธิมณฑลไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า ณ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ มีพุทธวิหารอยู่สามหลัง มีพระภิกษุผู้ทรงศีล อาศัยอยู่ทุกแห่ง มีราษฎรตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่โดยรอบ ชาวบ้านเหล่านั้นคอยอังคาสพระภิกษุสงฆ์ด้วยอาหาร และเครื่องนุ่งห่มมิให้เดือดร้อน ภิกษุสงฆ์เป็นผู้ทรงศีลรักษาวินัยกันได้เคร่งครัด มีพระสถูปใหญ่องค์หนึ่ง ยังไม่ปรักหักพังแต่อย่างใด ตั้งแต่สมัยพุทธปรินิพานเป็นต้นมา
                    หลวงจีนถังซัมจั๋ง ซึ่งเดินทางไปสืบพระพุทธสาสนา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๐๐๐ ได้เขียนบรรยายไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า "ไปทางทิศตะวันออกของโพธิมณฑล มีวิหาร (สถูป) ใหญ่หลังหนึ่ง มีความสูงประมาณ ๑๖๐ ถึง ๑๗๐ ฟุต (ศอก - เพิ่มเติม) ตรงฐานล่างเป็นกำแพงกว้างประมาณ ๒๐ ก้าว หลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องสีฟ้า ตามช่องบนองค์วิหาร (สถูป) แต่ละชั้นมีพระพุทธรูปทองคำ แต่ละช่องโดยรอบทั้งสี่ทิศ มีลวดลายสลักงดงามมาก ฯลฯ "  ต่อจากนั้นได้พรรณาถึงช่องต่าง ๆ โดยรอบองค์สถูปว่า บางช่องมีรูปฤาษี บางช่องมีรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร บางช่องมีพระพุทธรูป บางช่องมีรูปพระเมตไตรย และยังพรรณาเพิ่มเติมว่า มหาวิหารนี้ พระเจ้าอโศก ฯ เป็นผู้สร้างไว้ ต่อมาภายหลังมีพราหมณ์มาก่อเพิ่มเติมขึ้นให้ใหญ่โตกว่าเก่า
                    เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๖๒๑ มีพระภิกษุชาวพม่าหมู่หนึ่งเดินทางไปถึงโพธิมณฑล เห็นสภาพปรักหักพังของพระวิหาร ก็ช่วยกันบูรณปฎิสังขรณ์ ให้ดีขึ้นดังเดิม
                    ผู้รักษาโพธิมณฑล เปลี่ยนมือกันอยู่ระหว่างชาวอินเดียกับชาวลังกาสืบมา จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ศาสนาอิสลามก็เข้าไปรุกรานทำเสียหายยับเยิน โพธิมณฑลกลายเป็นป่าเปลี่ยว ครั้นสิ้นอำนาจของพวกมุสลิมแล้ว บริเวณโพธิมณฑลก็ตกเป็นสมบัติของเศรษฐีชาวฮินดูชื่อ มหันต์ มาโดยตลอด แต่ไม่ได้บำรุงรักษาแต่อย่างใด ปล่อยให้รกร้างเป็นป่า และให้ชาวบ้านเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่โดยรอบ ระหว่างนั้นก็มีภิกษุชาวเนปาล  ทิเบต และจีน ไปนมัสการพุทธสถานแห่งนี้มิได้ขาด
                    เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๑๓ มีนักพรตจาริกแสวงบุญชื่อ โคสิงฆามันคีรี เดินทางไปถึงโพธิมณฑล ได้พบเห็นความเปลี่ยวเปล่าอยู่ในบริเวณป่าพุทธวิหาร และสถานที่โดยรอบ พบว่าสถูปปรักหักพังหาชิ้นดีไม่ได้ จึงตกลงจะทำสถานที่ให้ถาวร เที่ยวชักชวนพวกนักพรต และบรรดาศิษย์ให้เข้าไปตั้งนิวาสสถานอยู่ในบริเวณนั้น มีชาวฮินดูเข้าไปเป็นศิษย์อาศัยอยู่เป็นอันมาก โพธิมณฑลจึงตกไปอยู่ในความคุ้มครองของชาวฮินดูมากขึ้นโดยลำดับ จนในที่สุด หมู่บ้านในบริเวณนั้นก็ตกเป็นของนักพรตผู้นี้ โดยได้รับพระราชทานเป็นสิทธิขาดจากพระราชาอินเดีย
                    เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๑๔ ทางพม่ามีกษัตริย์ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้เสด็จไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งนี้ และทรงส่งพระภิกษุไปจำพรรษาอยู่หลายคราว
                    ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๑๑๗ มีกษัตริย์พม่าอีกองค์หนึ่ง ส่งธรรมทูตและพระราชสาสน์ไปยังรัฐบาลอินเดีย แสดงความปรารถนาจะร่วมทำนุบำรุงโพธิมณฑล และจะส่งคนมาช่วยเฝ้าสถานที่ไว้สองคน และขอให้คนพม่าได้เดินทางถวายบูชาสักการะ ในนามของพระองค์ได้ปีละหนึ่งครั้งหรือสองครั้ง
                    มหันต์ยินยอมให้กษัตริย์พม่าทรงกระทำตามพระราชประสงค์ แต่มีข้อแม้ว่าจะตั้งเทวรูปของตนไว้ ภายในบริเวณโพธิมณฑลด้วย
                    รัฐบาลอังกฤษผู้ปกครองอินเดีย และมหันต์ได้ช่วยกันทำนุบำรุงและก่อสร้างสถานที่ต่าง ๆ ตามแผนการของพม่าจนเสร็จในเวลาต่อมา แต่หลังจากนั้นก็ถูกปล่อยให้ทรุดโทรมลงอีก จนกระทั่ง เซอร์ เอ็ดวิน อาโนลต์ ชาวอังกฤษได้เดินทางไปถึงตำบลพุทธคยา เมื่อกลับไปอังกฤษแล้ว ได้เขียนหนังสือเชิดชูพระพุทธศาสนาเล่มหนึ่งชื่อ ประทีปแห่งอาเซีย ทำให้ท่านธรรมบาล ชาวลังกาเกิดความบันดาลใจเข้าไปส่งเสริม และฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียได้สำเร็จในเวลาต่อมา
                    เมื่อครั้งฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษในอินเดีย รัฐบาลอินเดียสมัย นายวาหรลาล เนห์รู เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บูรณะซ่อมแซมบำรุงพุทธคยา และสังเวชนียสถานอีกสามแห่ง ตลอดจนพุทธสถานอื่น ๆ ได้เชิญบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ให้ไปสร้างวัดประจำชาติขึ้นที่พุทธคยา จึงมีวัดไทย วัดลังกา วัดพม่า วัดทิเบต และวัดญี่ปุ่น               ๒๑/ ๑๓๓๖๙
            ๓๙๙๗. พุทธคยา ๒  เป็นชื่อวัดไทยที่รัฐบาลไทยสร้างขึ้นที่พุทธคยา เรียกชื่อเต็มว่า วัดไทยพุทธคยา สร้างขึ้นในคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ อยู่ห่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๔๐๐ เมตร            ๒๑/ ๑๓๓๘๐
            ๓๙๙๘. พุทธชาด - ต้น  เป็นไม้เถาเล็กๆ นิยมปลูกตามบ้านทั่วไป เนื่องจากดอกมีกลิ่นหอมมาก ใบเป็นแบบใบผสม มีใบย่อยสามใบ ตัวใบรูปโค้งรี หรือรูปไข่กลับ ช่อดอกสั้น ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ผลกลมสีดำ           ๒๑/ ๑๓๓๘๒
            ๓๙๙๙. พุทธรักษา  มีลำต้นหรือเหง้าอยู่ในดิน และแทงหน่อขึ้นมาชิด ๆ กัน ทำให้ดูเป็นกอแบบต้นขมิ้น ข่า ฯลฯ สูง ๑ - ๑.๕๐ เมตร นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ใบแบบใบกล้วย แต่รูปโค้งรี หรือรูปไข่โค้งรี ช่อดอกออกที่ปลายลำต้นเป็นก้านยาว ไม่แตกแยกสาขา แต่มีดอกมาก ซึ่งจะทยอยกันบาน ครั้งละ ๑ - ๓ ดอก ขนาดดอกเล็กปานกลาง สีเแดง หรือเหลืองสด ผลกลมเปลือกสีน้ำตาล            ๒๑/ ๑๓๓๘๓
            ๔๐๐๐. พุทธเลิศหล้านภาลัย  เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สอง แห่งราชวงศ์จักรี เป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ทรงพระนามเดิมว่า ฉิม เมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
                    พ.ศ.๒๓๓๒ ทรงผนวช และประทับอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ต่อมาได้รับพระราชทานอุปราชาภิเษกเป็น พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าบุญรอด เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงสถาปนาเป็น พระอัครมเหสี มีพระราชโอรสด้วยกันสามองค์ องค์ที่หนึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์  องค์ที่สองคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ และองค์ที่สามคือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ส่วนพระราชโอรสองค์ใหญ่คือ พระองค์เจ้าทับ ประสูตแต่เจ้าจอมมารดาเรียม ได้รับสถาปนาเป็น กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ภายหลังได้ครองราชย์ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ
                    พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๒ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๗
                    ในการพัฒนาบ้านเมือง พระองค์ทรงมีความมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างการป้องกันเมืองหน้าด่านไว้ โปรดให้สร้างเมืองขึ้นที่ปากลัด สำหรับสกัดกั้นข้าศึกที่อาจจะมาทางทะเล มีป้อมและเครื่องป้องกันข้าศึกทุกปราการ พระราชทานนามว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ โปรดให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้น ให้มีป้อมปราการและเครื่องป้องกันข้าศึก ที่จะมารุกรานทางทะเล
                    กรุงรัตนโกสินทร์ได้ธงชาติประจำประเทศไทย ในรัชสมัยของพระองค์เป็นครั้งแรก โดยโปรดให้ทำรูปช้างสี่ขาว อยู่กลางวงจักร ติดในธงพื้นแดง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐ ต่อมาให้มีรูปช้างสีขาว ในธงแดงเท่านั้น เพื่อใช้เป็นธงสำหรับชักบนเรือกำปั่นหลวง ที่แต่งไปค้าขายกับนานาประเทศ
                    พระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ทรงให้สร้างวัดสุทัศน์ ต่อจนเสร็จทรงให้บูรณะปฎิสังขรณ์วัดแจ้ง แล้วพระราชทานนามว่า วัดอรุณราชวราราม โปรด ฯ ให้สร้างพระมณฑปพระพุทธบาท ต่อจนเสร็จ
                    พระองค์ได้มีพระราชกำหนดห้ามการสูบฝิ่น และการซื้อขายฝิ่น เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๔ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษรุนแรง
                    พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถทางวรรณกรรมและศิลปกรรม วรรณคดีของชาติเจริญรุ่งเรืองมากในรัชสมัยของพระองค์ ทรงชำนิชำนาญลักษณะโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน พระราชนิพนธ์ที่สำคัญคือ บทละครเรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ ไชเชษญ์ คาวี ไกรทอง มณีพิชัย และสังข์ทอง เสภาเรื่องขุนช้าง - ขุนแผน กาพย์เห่เรือ
                    ในด้านการต่างประเทศ พม่าได้ยกำลังทางบกและทางเรือ มาตีหัวเมืองไทยทางปักษ์ใต้ ฝ่ายทะเลตะวันตก เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์ได้เพียงสองเดือน พม่าตีได้เมืองตะกั่วป่า และตะกั่วทุ่ง แล้วข้ามไปล้อมเมืองถลาง พอทราบว่ากองทัพไทยยกมาใกล้เมืองถลาง จึงกวาดต้อนผู้คนริบทรัพยสมบัติเอา จุดไฟเผาเมืองถลาง แล้วยกทัพกลับไป ส่วนกองทัพพม่าที่ยกมาตีเมืองชุมพร ต้านทานกองทัพไทยไม่ได้ก็แตกหนีกลับไป  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๒ พระเจ้าจักกายแมง ได้เกลี้ยกล่อมพระยาไทรบุรีเข้าเป็นพวก ชุมนุมกองทัพที่เมืองเมาะตะมะ ฝ่ายไทยจัดกำลังสี่กองทัพ กองทัพที่หนึ่งไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี เพื่อต่อสู้ข้าศึกที่จะเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ กองทัพที่สอง ตั้งอยู่ที่เมืองพชรบุรี เพื่อต่อสู้ข้าศึกที่จะยกเข้ามาทางด่านสิงขร กองทัพที่สาม ยกไปทางเมืองถลาง กองทัพที่สี่ คอยต่อสู้ข้าศึกที่จะยกเข้ามาทางหัวเมืองปักษ์ใต้ แต่ทัพพม่าไม่ยกเข้ามาเพราะต้องเผชิญศึกกับอังกฤษ
                    เกี่ยวกับเขมรและญวน เมื่อตอนต้นรัชกาลเขมรเป็นประเทศราชของไทย ญวนเป็นไมตรีกับไทย ต่อมาเขมรมักไม่เชื่อฟังไทย และส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้ญวนทุกปี
                    ในด้านสัมพันธภาพกับจีนในปี พ.ศ.๒๓๕๓ โปรดให้ทูตานุทูตเชิญพระราชสาสน์ไปถวายพระเจ้าเกียเข่ง ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อทรงทราบที่ได้มีการเปลี่ยนรัชกาลใหม่ พร้อมกับการเจริญทางพระราชไมตรีที่ได้มีมาแต่ก่อน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๓ พระเจ้าเต้ากวางราชโอรสได้ขึ้นครองราชย์ ได้มีพระราชสาสน์มาแจ้งว่า จีนได้เปลี่ยนรัชกาลทางไทย ได้ให้พระยาสุวัสดิสุนทรเป็นราชทูต เชิญพระราชสาสน์ไปถวายบังคมพระศพพระเจ้าเกียเข่ง และแสดงความยินดีกับพระเจ้าเต้ากวาง พร้อมถวายเครื่องราชบรรณาการ การเจริญทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับจีน มีลักษณะเป็นพระราชไมตรี เพื่อขอความสะดวกในการค้าขายกับจีน
                    โปร์ตุเกสเป็นประเทศในทวีปยุโรปที่ไทยได้เปิดความสัมพันธ์เป็นประเทศแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๑ เจ้าเมืองหมาเก๊าได้ให้ชาวโปร์ตุเกสผู้หนึ่ง เดินทางเข้ามาขอความสะดวกในการค้าขาย และการต่อเรือ ฝ่ายไทยได้ในการต้อนรับในฐานะเป็นพ่อค้าชาวต่างประเทศ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอภัยวานิช พร้อมกับที่ดินและบ้าน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตโปร์ตุเกส หลวงอภัยวานิชได้นำปืนมาขายให้แก่รัฐบาลไทย และต่อมาก็ได้เป็นกงสุลโปร์ตุเกสประจำกรุงเทพ ฯ
                    อังกฤษได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยภายหลังโปร์ตุเกส รัฐบาลอังกฤษมอบให้ผู้สำเร็จราชการอินเดีย แต่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในแหลมอินโดจีนในปี พ.ศ.๒๓๖๕ ฝ่ายจอห์นครอเฟิร์ดได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูตมาเจรจาขอให้ไทยยกเลิก หรือลดหย่อนการเก็บภาษี และวิธีการค้าขายสินค้าบางอย่างเป็นของหลวง และต้องการเจรจาเรื่องเมืองไทรบุรีกับไทยด้วย โดยประสงค์จะให้เจ้าพระยาไทรบุรีพ้นจากอำนาจเมืองนครศรีธรรมราช แต่การเจรจาประสบความล้มเหลวเนื่องจากอุปสรรคทางภาษา           ๒๑/ ๑๓๓๘๔
            ๔๐๐๑. พุทธวงศ์  เป็นคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย สุตตันตุปิฎกเป็นคัมภีร์ลำดับที่ ๑๔ ในจำนวน ๑๕ คัมภีร์ด้วยกัน ได้พรรฌาความเป็นสี่ตอน
                   ตอนที่หนึ่ง แสดงรัตนจงกลมกัณฑ์ว่าด้วยพระพุทธานุภาพ พระพุทธองค์ทรงเนรมิตจงกรมแก้วในอากาศ
                   ตอนที่สอง แสดงพุทธวงสกถาว่าด้วยประวัติของพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์
                   ตอนที่สาม แสดงพุทธปกิฌกัณฑ์ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
                   ตอนที่สี่ แสดงธาตุภาชนียกถาว่าด้วยการแจกพระบรมสารีริกธาตุ
                  ตอนที่หนึ่งแสดงพุทธานุภาพ  เริ่มต้นแต่ท้าวมหาพรหมทราบพุทธปริชิตกว่า ทรงมีความเป็นผู้ขวนขวายน้อย ที่จะไม่ทรงแสดงธรรม จึงมาเฝ้ากราบทูลอาราธนาว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสธุลีในจักษุน้อย เมื่อได้ฟังธรรมย่อมสามารถรู้ได้ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์เหล่านั้นด้วยเถิด พระผู้มีพระภาคทรงทรงสดับแล้วได้ตรัสว่าสัตว์เหล่าใดมีความเชื่อมั่นในตัวเอง ตั้งใจฟ้งด้วยดีตภาคตจะเปิดประตูนิพพานอมตธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น บัดนี้ตถาคตตกลงใจว่าจะแสดงธรรมแก่สัตว์ทั้งหลายแล้ว ขณะนั้นมารผู้มีบาปได้ช่องจึงเข้ามาเฝ้าพระพุทธองค์กราบทูลว่า ความปรารถนาของพระองค์สำเร็จหมดแล้ว พระองค์เสร็จต่อพรหมจรรย์แล้ว บัดนี้เป็นสมควรแล้วที่จะเสด็จปรินิพานได้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มารผู้มีบาปตถาคตจะยังไม่ปรินิพพานก่อน ตราบเท่าที่พรหมจรรย์นี้ของเรา จักยังไม่สำเร็จประโยชน์แพร่หลายกว้างขวางชนหมู่มาก รู้ทั่วถึงธรรมเป็นปึกแผ่นแน่นหนา เป็นไปมากและตราบเท่าที่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว ในลำดับนั้นพระองค์ทรงอธิษฐานพระองค์ ในอันที่จะสั่งสอนเวไนยสัตว์ ให้บรรลุมรรคผลนิพพานสืบต่อไป จากนั้นก็ทรงเลือกหาผู้ที่สมควรจะรับธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก ทอดพระเนตรเห็นปัญจวัคคีย์ด้วยพุทธญาณ จึงได้เสด็จไปโปรดด้วยพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร เป็นปฐมเทศนา เมื่อจบเทศนานั้นพระอัญญาโกณทัญญะได้รู้ทั่วถึงธรรมว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา" แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท เป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา จากนั้นได้ทรงแสดงธรรมโปรดท่านที่เหลือทั้งสี่ ให้พิจารณาเห็นธรรมตามเป็นจริง บรรลุมรรคผลตามสามารถ แล้วประทานเอหิภิกขุอุปสมบทแก่ทั้งสี่ท่าน แล้วทรงแสดงอนัตตลักขณธรรม เมื่อเทศนาจบท่านทั้งห้าบรรลุเป็นพระอรหันต์ จากนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม โปรดพระยศกับสหายอีก ๕๔ องค์ รวมเป็น ๕๕ องค์ ได้พระอรหันต์หกสิบองค์ แล้วตรัสส่งให้พระสาวกเหล่านั้น ไปแสดงธรรมสั่งสอนประชาชนในทิศต่าง ๆ ด้วยพระดำรัสว่า พวกเธอตัดบ่วงที่ผูกพันตนเองได้แล้ว จงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก จงไปทางละคนอย่าไปทางเดียวกัน สองคน ส่วนเราตถาคตก็จะไปยังตำบลอุรุเวลา แคว้นมคธ เพื่อโปรดชฏิลสามพี่น้อง เมื่อพระผู้มีพระภาคโปรดชฏิลสามพี่น้อง พร้อมบริวารหนึ่งพัน ให้บรรลุมรรคผลแล้วประทานเอหิภิกขุอุปสมบท จากนั้นเสด็จเข้ากรุงราชคฤห์ เพื่อทรงเปลืองปฏิญญาที่ถวายไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสาร พร้อมไพร่ฟ้าประชาชนเป็นจำนวนมาก ให้บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคล พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายสวนหลวงเวฬุวัน เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก
                    พระผู้มีพระภาคทรงมีพระพุทธวิตกว่า พวกพรหมพร้อมเทวดา มาร คผธรรมห์ นาค ครุฑ ไม่รู้จักว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พุทธานุภาพเป็นอย่างไร พระกำลังเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้ามีประโยชน์แก่โลกอย่างไร จึงแสดงพุทจานุภาพให้ปรากฎชัด ทรงเนรมิตรัตนจงกรมในนภากาศแล้วเสด็จจงกลมอยู่ ทรงบันดาลให้โลกนี้ เทวโลกและพรหมโลกสว่างไสวเป็นอันเดียวกัน อันนั้นเป็นความมหัศจรรย์ บรรดาเทวดาทุกชั้น และเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหมต่างก็แสดงความยินดี ทวยเทพในหมื่นโลกธาตุมาประชุมกัน ในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกระทำพุทธบูชา
                   ตอนที่สองว่าด้วยพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์  ได้แก่ พระทีปังกรพุทธเจ้า พระโกญทัญญพุทธเจ้า พระมงคลพุทธเจ้า พระสมุนพุทธเจ้า พระเรวตพุทธเจ้า พระโสภิตพุทธเจ้า พระอโนมาทัสสีพุทธเจ้า พระปทุมพุทธเจ้าพระนารทพุทธเจ้า พระปทุมุตรพุทธเจ้า พระสุเมธพุทธเจ้า พระสุชาตพุทธเจ้า พระปิยทัสสีพุทธเจ้า พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า พระสิทธัตถพุทธเจ้า พระติสสพุทธเจ้า พระปุสสพุทธเจ้า พระวิปัสสัพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้า พระเวสสภูพุทธเจ้า พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า
                   พระโคตมพุทธเจ้า  เสด็จอุบัติ ณ สวนลุมพินี พรมแดนเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกชนบทกับเมืองเทวทหะแคว้นเดียวกัน พระเจ้าสุทโธทนราชาเป็นพระชนก พระนางเจ้ามหามายาราชเทวีเป็นพระชนนีเสด็จอยู่ครองฆราวาส ๒๙ ปี พระนางเจ้ายโสธราเทวีเป็นพระชายา มีพระโอรสพระองค์หนึ่งพระนามว่าราหุลกุมาร ทรงเห็นนิมิตสี่ประการ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ด้วยอัสวราชยานพระที่นั่งต้น ทรงบำเพ็ญเพียรประพฤติทุกกรกิริยาอยู่หกปี ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมนาสัมโพธิญาณ ณ ภายใต้ควงไม้อัสสัตถพฤกษ์โพใบ เป็นไม้โพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลเสนานิคม กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เมื่อท้าวสหัมบดีพรหมกราบทูลอาราธนาเสด็จจากพุทธคยา ไปยังกรุงพาราณสี ทรงประกาศพระอนุตรธรรมจักรอันบวร โปรดคณะพระปัญจวัคคัย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน กรุงพาราณสี แคว้นกาสี ทรงพักจำพรรษา ณ ที่นั้น ทรงแสดงธรรมโปรดพระยศกับพวกอีก รวม ๕๕ คน หมดฝนแล้วได้พระสาวก ๖๐ องค์ ทรงส่งไปประกาศพระศาสนา ณ ทิศต่าง ๆ ส่วนพระองค์เองเสด็จกลับไปยังตำบลอุรุเวลา เพื่อโปรดชฎิลสามพี่น้องกับบริวารหนึ่งพันองค์ประทานเอหิภิกขุอุปสมบทแล้ว ทรงพาเข้ากรุงราชคฤห ทรงเปลื้องปฏิญญาที่ถวายไว้แก่พระเจ้าพิมพิสาร ทรงพาภิกษุสงฆ์เข้าพัก ณ วัดเวฬุวัน มีพระสารีบุตรเถระกับพระมหาโมคคัลลานเกระ เป็นคู่พระอัครสาวก พระอานนท์เถระเป็นพระพุทธอุปฐาก พระเขมาเถรีกับพระอุบลวรรณาเถรีเป็นคู่พระอัครเถรี จิตตคฤหบดีกับหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวีเป็นคู่อัครอุปัฏฐาก นางนันทมาตาอุบาสิกากับนางอุตราอุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา ในพระศาสนานี้มีมหาสาวกสันนิบาตครั้งเดียว มีพระสงฆ์มาประชุมกัน ๑,๒๕๐ องค์ พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ทรงแสดงหลักทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีหลักสำคัญสามประการ ห้ามทำความชั่วทั้งปวง ให้ทำความดีให้บริบูรณ์ ให้ทำจิตให้สะอาดหมดจด พระองค์ทรงดำรงค์พระชนม์อยู่ประมาณ ๑๐๐ ปี (ในมหาปรินิพพานสูตร มหาวรรคทีฆนิกายและพระสูตรอื่นว่า ๘๐ ปี) ทรงแสดงธรรม ทรงบัญญัติพระวินัยไว้พระศาสนาแก่บริษัททั้งสี่ (ภิกษุ ภิกษุนี อุบาสก อุบาสิกา - เพิ่มเติม) เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ระหว่างต้นรังทั้งคู่ในสาลวโนทยาน สวนหลวงกรุงกุสินารา แคว้นมัลละ พระบรมธาตุของพระองค์แผ่ไปในทิศต่าง ๆ
                   ตอนที่สาม แสดงพุทธปกิณกกัณฑ์  ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าข้อความสำคัญก็คือ แสดงว่ากัปไหนมีพระพุทธเจ้าที่กล่าวพระนามมาแล้ว เสด็จอุบัติในกัปไหน
                   ตอนที่สี่แสดงธาตุภาชนียกถา  ว่าด้วยการแบ่งพระบรมสารีริกาธาตุไปในประเทศต่าง ๆ พระบรมสารีริกาธาตุทะนานหนึ่ง พระเจ้าอชาติศัตรู ทรงนำไปใช้ที่นครราชคฤห์ ทะนานหนึ่งอยู่ในเมืองเวสาลี ทะนานหนึ่งอยู่ในนครกบิลพัสดุ์ ทะนานหนึ่งอยู่ในอัลลกัปปนคร ทะนานหนึ่งอยู่ในรามคามนคร ทะนานหนึ่งอยู่ในเวฏฐาทีปกนคร ทะนานหนึ่งอยู่ในเมืองปาวาของมัลลกษัตริย์ ทะนานหนึ่งอยู่ในเมืองกุสินารา
                    โทณพราหมณ์ให้สร้างสถูปบรรจุทะนานทอง โมฬิยกษัตริย์ให้สร้างสถูปบรรจุพระพุทธสรีรางคาร พระสถูปบรรจุพระบรมธาตุแปดแห่งเป็นเก้าแห0่ง ทั้งตุมพเจดีย์ รวมพระอังคารด้วยเป็นสิบแห่ง          ๒๑/ ๑๓๓๙๕
            ๔๐๐๒. พุทไธศวรรย์ - วัด  เป็นวัดราษฎร์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่คนละฝั่งกับตัวเมือง สมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง) โปรดให้สถาปนาวัดนี้ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๖ เกือบพูดได้ว่าเป็นวัดเดียวที่มิได้ถูกข้าศึกทำลาย เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๑๓๑๐ ฉะนั้นจึงยังคงมีสิ่งที่เป็นโบราณวัตถุ โบราณสถาน ปรากฎอยู่เพื่อเป็นพยาน ถึงความรุ่งเรืองสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชะานี
                    สิ่งสำคัญของวัดมีอยู่ทั้งในเขตพุทธาวาส ที่มีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนยาว ๑๙๒ เมตร กว้าง ๙๒ เมตร และอยู่ภายนอกเขตพุทธาวาส แต่อยู่ใกล้ ๆ กับกำแพงแก้ว คือ
                     ๑.  พระอุโบสถ  ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปใหญ่เก้าองค์ พัทธสีมาเป็นสีมาคู่ รอบพัทธสีมามีวิหารหลังเล็ก ๆ และหมู่พระเจดีย์ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิบรรพบุรุษ
                    ๒.  พระปรางค์ หรือพระมหาธาตุ  ตั้งอยู่กึ่งกลางบริเวณพุทธาวาส อยู่หน้าพระอุโบสถ
                    ๓.  พระระเบียงรอบพระปรางค์ เกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส รอบพระระเบียงมีพระพุทธรูปนั่งปางต่าง ๆ ร้อยแปดองค์
                    ๔.  ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ อยู่นอกเขตพุทธาวาสใกล้กำแพง ด้านทิศตะวันตก
                    ๕.  สิ่งอื่น ๆ ที่สำคัญได้แก่ วิหารพระนอน วิหารสี่ทิศ วิหารทรงเครื่อง และพระเจดีย์ห้ายอด เป็นต้น    ๒๑/ ๑๓๔๒๓
            ๔๐๐๓. พุทไธสง  อำเภอขึ้น จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศตอนตะวันออกเป็นที่ลุ่ม ตอนกลางและตอนตะวันตกเป็นที่ราบ และป่าโปร่งทำนาได้มีเกลือสินเธาว์ทั่ว ๆ ไป หน้าแล้งกันดารน้ำ
                    อ.พุทไธสงเป็นเมืองเก่าสมัยขอม ยังมีเนินดินปรากฏอยู่ที่เรียกชื่อว่า พุทไธสงนี้ เลือนมาจากภาษาเขมร คือ บันทายสรอง แปลว่ากำแพงสูง          ๒๑/ ๑๓๔๒๘
            ๔๐๐๔. พุทไธสวรรย์ - พระที่นั่ง ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาภายหลังในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ได้มีการยกเลิกตำแหน่งวังหน้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดให้ย้ายมิวเซียมจากศาลาสหทัยสมาคม ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง ไปตั้งในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคลแทน
                    พระที่นั่งพุทไธสวรรย์นี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้โปรดให้สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.๒๓๓๘ ให้เป็นพุทธสถานถวายเป็น พระวิมานประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ที่ได้ทรงอัญเชิญมาเมื่อคราวเสด็จเป็นจอมทัพ ไปช่วยพระยาเชียงใหม่กาวิละขับไล่กองทัพพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐ และใช้เป็นที่สำหรับทำการพระราชพิธีต่าง ๆ
                  พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ เป็นสถานที่สำคัญเก่าแก่ และมีคุณค่ายิ่งในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะและโบราณคดี ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบศิลปะ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น          ๒๑/ ๑๓๔๒๘
            ๔๐๐๕. พุทรา  เป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นขนาดเล็ก สูง ๕ - ๑๐ เมตร มีหนามแหลมคม ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน รูปเกือบกลม ดอกเล็กสีเขียวอ่อน ออกเป็นช่อเล็กที่โคนก้านใบผลรูปกลม เมื่อดิบสีเขียว สุกสีเหลืองส้มหรือน้ำตาล มีรสอมเปรี้ยวอมหวาน
                    เนื่องจากเปลือกต้นไม้มีรสฝาดจึงใช้เป็นยากินแก้ท้องร่วงและอาเจียน          ๒๑/ ๑๓๔๓๔
            ๔๐๐๖. พุท - ดาว  เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ห่างดวงอาทิตย์ประมาณ ๕๘ ล้านกิโลเมตร มีขนาดโตกว่าดวงจันทร์ของโลกเล็กน้อย ลักษณะภายนอกมีหลุมบ่อคล้ายดวงจันทร์ ด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์ร้อนมากในขณะที่ด้านตรงข้ามมืดและเย็นจัด
                    ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์หนึ่งในห้าดวงที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เวลาที่อาจจะเห็นได้คือ ทางทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ หรือทางทิศตะวันออกในเวลาจวนสว่าง ดาวพุธมีการเคลื่อนที่สองอย่างคือ เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ และหมุนรอบตัวเอง ใช้เวลาเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์รอบละ ๘๗.๙๖๗ วัน หมุนรอบตัวเองรอบละ ๕๘.๖๕ วัน ทิศทางการเคลื่อนที่เป็นทางเดียวกันกับโลก การหมุนรอบตัวเองของดาวพุธ จะยาวนานน้อยกว่าหนึ่งวันของดาวพุธ ซึ่งยาวประมาณ ๑๗๖ วันของโลก
                    วงโคจรของดาวพุธรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีมากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นยกเว้นดาวพลูโต
                    ดาวพุธไม่มีบรรยากาศห่อหุ้ม เส้นแรงแม่เหล็กรอบดาวพุธมีลักษณะคล้ายของโลก คือ เส้นแสงด้านที่หันไปทางดวงอาทิตย์อยู่ชิดกัน ในขณะที่ด้านตรงข้ามถ่างออกจนกลายเป็นหาง          ๒๑/ ๑๓๔๓๕
            ๔๐๐๗. พุนพิน  อำเภอขึ้น จ.สุราษฎร์ธานี ภูมิประเทศส่วนมากเป็นที่ราบ เป็นชุมทางคมนาคมติดต่อทุกอำเภอใน จ.สุราษฎร์ธานี เพราะตั้งอยู่ริมแม่น้ำตาปี และเป็นที่ตั้งสถานรถไฟสุราษฎร์ธานี
                    ในรัชกาลที่หนึ่ง พม่ายกทัพไปตีหัวเมืองปักษ์ใต้ เจ้าพระยานครให้กรมการคุมพล ๑,๐๐๐ เศษ ยกไปตั้งขัดตาทัพที่อำเภอนี้ อ.พุนพินเปลี่ยนเป็น อ.ท่าข้ามอยู่ครั้งหนึ่งกลับมาชื่อ อ.พุนพินอีก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑          ๒๑/ ๑๓๔๔๙
            ๔๐๐๘. พุพอง - โรค  เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง แพทย์แผนโบราณกล่าวถึงโรคนี้ว่ามีลักษณะจำเพาะคือ เริ่มด้วยมีเม็ดใสขนาดเล็กเกิดขึ้นตามตัว บางเม็ดเกิดมีหนอง ทำให้มีอาการเจ็บปวดตะครันตะครอ หรือมีไข้ เม็ดพุพองนี้จะโตและแตกออกมีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลเยิ้ม เกิดการลุกลามไปยังที่อื่นได้ง่าย และกลายเป็นโรคผิวหนังอย่างเรื้อรัง
                    การรักษาโรคนี้ตามแนวแพทย์แผนโบราณประกอบด้วย ยากินและยาทา แพทย์แผนปัจจุบันจัดโรคพุพองอยู่ในพวกโรคติดเชื้อของผิวหนัง          ๒๑/ ๑๓๔๕๐
            ๔๐๐๙. พุ่มข้าวบิณฑ์  มีบทนิยามว่า "ข้าวสุกที่บรรจุในกรวยใส่ไว้ในพุ่มดอกไม้ใช้ในการเซ่นบูชา, ชื่อลายอย่างหนึ่งรูปเหมือนพุ่มข้าวบิณฑ์ บางทีเรียกว่า ทรงข้าวบิณฑ์"
                    คำว่าพุ่มข้าวบิณฑ์นี้ทางการช่างศิลปะไทยแต่เดิม ท่านกำหนดเอารูปลักษณะทรวดทรงภายนอกจากบาตรพระ พุ่มข้าวบิณฑ์จำแนกออกในรูปลักษณะ และความหมายสำหรับใช้ในงานต่าง ๆ กัน คือ
                    ๑. เป็นทรงพุ่มใช้เป็นเครื่องตกแต่งหลังคาเรือนยอด โดยปักอยู่ส่วนบนสุดของยอดบุษบก ยอดมณฑป ยอดปราสาท ยอดมงกุฎ (พระวิหารยอดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ยอดเทียนเครื่องบูชา
                    ๒. เป็นทรงพุ่มดอกไม้สด สำหรับจัดพานเป็นเครื่องนมัสการหรือถวายสักการะพระพุทธปฏิมา พระพุทธบาท พระบรมสารีริกาธาตุ เทพยอดา พระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ในอดีต
                    ๓. เป็นทรงของส่วนยอดเจดีย์ในสมัยสุโขทัยเรียกว่า เจดีย์ยอดทรงข้าวบิณฑ์
                    ๔. เป็นทรงพุ่มดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง สำหรับเจ้าหน้าที่เชิญเข้าในขบวนเครื่องสูงแทนจารมร
                    ๕. เป็นชื่อลายอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะของทรงพุ่มเข้าตามรูปทรงของข้าวบิณฑบาต หรือทรงดอกบัวตูม ลายที่ประดิษฐ์อยู่ในทรงพุ่มนี้เรียกว่า ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ แบ่งออกเป็นสามประเภท คือ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ดอกลาย ก้านแย่งและโคมแย่ง ทั้งสามประเภทนี้ยังแบ่งเป็นชนิดของลายได้อีกสามชนิดคือ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ธรรมดาหน้าสิงห์ และเทพประนม          ๒๑/ ๑๓๔๕๒
            ๔๐๑๐. พุมเรียง  เป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นสูงยาว ๑.๕ - ๑๐ เมตร ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกมีใบย่อยจำนวนคู่ ๑ - ๑๔ คู่ แกนกลางใบกลมแบน หรือมีครีบดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ หรือที่ยอดสีแดงเข้ม บางครั้งอาจเป็นสีเหลืองและขาว ผลแบนรูปไข่รีหรือเกือบกลม ผลอ่อนสีขาว ผลแก่จัดสีแดงเข้ม ยอดดำเนื้อมีรสหวานบริโภคได้ กล่าวกันว่ารากใช้ทำยาแก้ไข้          ๒๑/ ๑๓๔๖๒
            ๔๐๑๑. พู่กลิ่น  เป็นเครื่องแขวนดอกไม้สดของไทยขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายพู่ ส่งกลิ่นหอมของดอกไม้ที่นำมาเย็บและร้อย ใช้แขวนประดับตกแต่งสถานที่ ในที่ไม่กว้างใหญ่นัก เช่น ช่องประตู หน้าต่าง มุมห้อง หรือใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องแขวนขนาดใหญ่เช่น ระย้าใช้พู่กลิ่นแขวนตามมุมทุกมุม          ๒๑/ ๑๓๔๖๒
            ๔๐๑๒. พู่ระหง  เป็นไม้พุ่ม ลำต้นและใบคล้ายชบา ใบรูปไข่ขอบใบหยักแหลม ดอกใหญ่สีแดง ดอกติดอยู่กับกิ่งในลักษณะห้อยคว่ำ ผลรูปยาว
                    พู่ระหงเป็นไม้พื้นเมืองของแอฟริกานำมาปลูกเป็นรั้วหรือไม้ประดับ          ๒๑/ ๑๓๔๖๙
            ๔๐๑๓. เพ็ก - ต้น  เป็นไผ่ขนดเล็ก สูงราว ๑ - ๓ เมตร มีเหง้าแข็งอยู่ใต้ดิน ลำต้นเล็กกลม ดอกขนาดเล็ก ต้นเพ็กมักขึ้นเป็นหมู่หนาแน่นตามป่าเต็งรัง          ๒๑/ ๑๓๔๖๙
            ๔๐๑๔. เพชร  มีส่วนประกอบทั้งสิ้นเป็นธาตุคาร์บอน ผลึกมีแกนลายแกนเท่ากันมีความแข็ง ๑๐ แข็งกว่าแร่อื่น ๆ ที่เกิดตามธรรมชาติทุกชนิด มีแนวแตกเรียบที่สมบูรณ์สี่ทิศทาง ซึ่งจะแตกขนานกับหน้าผลึก แนวแตกดังกล่าวจะเป็นแนวที่เพชรแตกออกง่ายที่สุด ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการตัด และเจียระไนเพชร
                    เพชรมีหลายสีตั้งแต่ชนิดที่ใสบริสุทธิ์ไม่มีสีไปจนกระทั่งดำ อาจมีสีเหลือง น้ำตาล เขียว น้ำเงิน แดง และชมพู เพชรที่มีสีต่าง ๆ ดังกล่าว ปรกติเรียกรวมว่า สีแฟนซี
                    ปรกติถือว่าเพชรน้ำดีจริง ๆ นั้นจะใสบริสุทธิ์ ไร้สี ไร้มลทิน ชนิดที่มีสีอมฟ้าหรือที่เรียกกันว่า สีน้ำมันก๊าด ความจริงเป็นเพชรไม่มีสีแต่ที่เห็นเป็นสีฟ้าปน เกิดขึ้นเนื่องจากการเรื่องแสง โดยรังสีเหนือม่วงที่มีอยู่ในแสงแดด แต่บางคำว่ากล่าวว่า เพชรชนิดที่มีสีชมพูหรือน้ำเงิน แม้จะออกสีดังกล่าวเพียงเล็กน้อย ก็แพงกว่าเพชรสีขาวสีขาวบริสุทธิ์
                    เพชรมีความวาวสูง ปรกติหากยังไม่มีการตัดขัด และเจียระไนจะไม่เห็น เนื่องจากเพชรหลุดจากต้นกำเนิดเดิม ถูกพัตพาขัดสีทำให้เนื้อขุ่นด้าน เพชรมีความโปร่งใสมาก และมีการสะท้อนแสงที่ดี พื้นผิวของเพชรจะสะท้อนแสงได้ประมาณร้อยละ ๑๗ ค่าของความโปร่งใสเป็นคุณสมบัติที่เรียกกันว่า น้ำ น้ำของเพชรจึงขึ้นอยู่กับความใสขุ่นของเพชร
                    เพชรเกิดในสภาวะที่มีความร้อน ความดันสูงภายใต้เปลือกโลก มีระดับความลึกนับสิบ ๆ กม. (ราวถึง ๘๐ กม.หรือมากกว่านั้น) หินชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า ดิมเบอร์ไลต์เป็นตัวนำพาขึ้นมา
                    แหล่งเพชรพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ ๒๕๐ ปีก่อนพุทธศักราชจากนั้นได้พบในส่วนต่าง ๆ ของโลกอีกหลายแห่ง แหล่งที่สำคัญคือ แหล่งเพชรในแอฟริกา และไซบีเรีย นอกจากนั้นก็มีบอร์เนียว บราซิล สหรัฐอเมริกา รัสเซียและออสเตรเลีย ฯลฯ ในประเทศไทยพบเพชรปนอยู่ในลานแร่ดีบุก จำนวนเล็กน้อยแถบบริเวณ จ.พังงา และจ.ภูเก็ต
                    นอกเหนือจากการนำเพชรมาเป็นเครื่องประดับแล้ว เพชรชนิดที่ไม่มีสมบัติของรัตนชาติ ยังนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์ได้ มีผู้นำเพชรมาทำเป็นผงขัดหลายชนิด และยังคงใช้กันมาจนปัจจุบัน โดยนำมาตำให้เป็นผง แล้วฝังในใบเลื่อยที่ใช้ในการตัดเพชร เพื่อทำการเจียระไน หรือตัดหิน และแร่อื่น ๆ ใช้ทำหัวเจาะในเครื่องมือเจาะตรวจหิน และใช้ทำอุปกรณ์ในการตัดแก้ว          ๒๑/ ๑๓๔๖๙
            ๔๐๑๕. เพชร ๒  เขื่อนกั้นแม่น้ำเพชรบุรีที่คุ้งท่าซิก ต.ท่าคอย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ส่งน้ำในพื้นที่ในระบบการส่งน้ำของโครงการเพชรบุรี ๓๓๖,๐๐๐ ไร่ และส่งไปใช้อุปโภคบริโภคที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เริ่มงานก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ โดยทำได้แต่งานดิน งานทั้งโครงการเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ สินค้าใช้จ่าย ๓๘ ล้านบาท          ๒๑/ ๑๓๔๗๙
            ๔๐๑๖. เพชรกลับ - ต้น  เป็นไม้ล้มลุกจำพวกว่านชนิดหนึ่งมีเหง้าใต้ดินกลม ๆ ส่งลำต้นขึ้นมาเหนือพื้นดินสูงประมาณ ๖๐ ซม. ใบสีเขียว ด้านล่างสีม่วง ดอกสีแดง ออกที่ปลายยอด          ๒๑/ ๑๓๔๘๒
            ๔๐๑๗. เพชรบุรี  จังหวัดภาคตะวันตก มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ราชบุรี และจ.สมุทรสงคราม ทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ทิศใต้จด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทิศตะวันตกจดทิวเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นเขาปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นที่ลาดจากทิศตะวันตกมาทิศตะวันออก ทางทิศตะวันตกเป็นป่าและภูเขา นอกนั้นเป็นที่ราบลงไปจนถึงชายทะเล
                    จ.เพชรบุรีเป็นเมืองเก่าที่สุดเมืองหนึ่งของประเทศไทย เมืองนี้เดิมคงเป็นเมืองของมอญมาก่อน และคงจะเป็นเมืองที่รับอารยธรรมจากอินเดียมาแต่ดึกดำบรรพ์ ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ กษัตริย์ผู้ครองนครศรีธรรมราชได้แผ่อำนาจขึ้นมาถึงทวารวดีและเขมร เพชรบุรีก็คงตกอยู่ในอำนาจด้วย ครั้นถึงตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พระเจ้าอนุรุทธกษัตริย์พุกาม ได้บุกรุกลงมาในดินแดนของเขมร ได้ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ไทยได้โอกาสจึงแผ่อำนาจลงไปทางใต้จนถึงแหลมมลายูในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เมืองเพชรบุรีจึงตกเป็นของไทย
                    สิ่งสำคัญในจังหวัดนี้คือ พระปรางค์ที่วัดมหาธาตุ และปราสาทหินที่วัดกำแพงแลง เป็นโบราณสถานสมัยขอมทั้งสองแห่ง และยังมีพระเจดีย์แดงที่วัดเสาธงอีกแห่งหนึ่ง ก็ว่าเป็นโบราณสถานก่อนสมัยสุโขทัย วัดสุวรรณาราม (วัดใหญ่) ที่ศาลาการเปรียญมีภาพฝีมือครั้งกรุงศรีอยุธยา และที่บานประตูสลักลวดลายงดงามมาก นอกจากนี้ยังมีสถานที่และปูชนียวัตถุอีกมาก เช่น เขาวัง เขาหลวง เขาบันไดอิฐ พระพุทธไสยาสน์ที่วัดพระนอน          ๒๑/ ๑๓๔๘๒
            ๔๐๑๘. เพชรบูรณ์  จังหวัดภาคกลางมีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.เลย ทิศตะวันออกจด จ.ขอนแก่น และจ.ชัยภูมิ ทิศใต้จด จ.ลพบุรี และจ.นครราชสีมา ทิศตะวันตกจด จ.พิษณุโลก จ.พิจิตร และจ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศมีเทือกเขาขนานกับแม่น้ำป่าสักทั้งสองฟาก ตอนริมแม่น้ำท่วมถึงเกือบทุกแห่ง ถัดขึ้นไปริมเชิงเขาเป็นโคกสลับแอ่ง
                    จ.เพชรบุรีเป็นเมืองโบราณเป็นเมืองที่ได้สร้างมาสองยุค แต่สร้างซ้ำลงในที่เดียวกัน สิ่งที่สำคัญคือ พระมหาธาตุ และวัดโบราณ ทำให้เข้าใจว่า ยุคแรกจะสร้างเมื่อเมืองเหนือคือ สุโขทัย หรือพิษณุโลก เป็นเมืองหลวงด้วย เจ้าแม่น้ำไว้กลางเมือง เช่น เมืองพิษณุโลก แนวกำแพงเมืองกว้างยาวราว ๘๐ เมตร ยุคที่สองจะสร้างในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ด้วยมีป้อมและกำแพงก่อด้วยอิฐปนศิลาสัณฐาน คล้ายที่เมืองนครราชสีมา แต่เล็กและเตี้ยกว่า เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองเหมือนกัน เป็นแตร่นแนวกำแพงเมืองให้เล็กลงกว่าเก่า ภูมิฐานที่สร้างส่อให้เห็นว่าส่วนรับป้องกันศัตรูทางฝ่ายเหนือ เพราะสร้างประชิดทางโคกป่าด้านเหนือ เอาทำเลไร่นาไว้ทางใต้เมืองทั้งสิ้น
                    จังหวัดนี้มีสิ่งสำคัญคือ วัดมหาธาตุ สละรี พุน้ำร้อน เมืองศรีเทพ ซึ่งเป็นเมืองร้างสมัยโบราณและภูเขาภูปูน          ๒๑/ ๑๓๔๘๘
            ๔๐๑๙. เพชรมงกุฎ ๑ - พระ  เป็นชื่อตัวละครเอกฝ่ายชายในวรรณคดีเรื่องลิสิตเพชรมงกุฎ          ๒๑/ ๑๓๔๘๙
            ๔๐๒๐. เพชรมงกุฎ ๒ - ลิสิต  เป็นชื่อวรรณคดีไทยเรื่องหนึ่ง แต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดง่ายสลับกับโคลงซึ่งเรียกว่า ลิสิต ผู้แต่งคือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อครั้นมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรวิชิต หรือสรรพวิชต
                    นิทานเรื่องเพชรมงกุฎเป็นนิทานเรื่องที่หนึ่งของนิทานเวตาล เนื้อเรื่องมีต้นเค้ามาจากวรรณคดีสันสกฤตประเภทนิทาน เรื่องราวของนิทานเรื่องนี้ เป็นการผจญภัยของพระเพชรมงกุฎ และในตอนจบผู้เล่าจะตั้งปัญหาตามผู้ฟังให้ตอบคำถามลักษณะนิทานแบบนี้เรียกว่า นิทานประเทืองปัญหา
                    ลักษณะการแต่งเรื่องนี้ดำเนินเรื่องตามแบบลิสิตพระลอแต่รวบรัดกว่า          ๒๑/ ๑๓๔๙๑
            ๔๐๒๑. เพชรสังฆาต  เป็นไม้เถาเลื้อย ลำต้นอวบสีเขียว สี่เหลี่ยมเป็นครีบคอดเป็นข้อ ๆ ยาวประมาณ ๔.๕ เมตร ใบเดี่ยวรูปหัวใจหรือรูปไต มีมือจับอยู่ตรงข้ามกับใบ ดอกเล็กสีขาวออกเป็นช่อสั้น ๆ มีมากดอกตามง่ามใบ ผลกลมโต สุกสีแดงรสเปรี้ยวจัด ใบและยอดอ่อนมีสรรพคุณรักษาโรคกะเพาะ บดเป็นผงกินแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ น้ำคั้นจากลำต้นใช้กินเมื่อประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ และรักษาโรคลักกะปิดลักกะเปิด          ๒๑/ ๑๓๔๙๓
            ๔๐๒๒. เพ็ญ  อำเภอขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศตอนตะวันออก และตะวันตกเป็นที่ลุ่มทำนาได้ แต่หน้าฝนน้ำท่วมบ่อย ตอนเหนือ ตอนกลางและตอนใต้ เป็นที่ดอนมีป่าไม้มากมีทุ่งราบทำนาได้เป็นแห่ง ๆ
                    อ.เพ็ญ เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งแต่ไม่ปรากฏชื่อ และได้ร้างไปเสียนาน เดิมชื่อ อ.เมืองเพ็ญ เปลี่ยนเป็น อ.เพ็ญ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐          ๒๑/ ๑๓๔๙๔
            ๔๐๒๓. เพทราชา - สมเด็จพระ  เดิมเป็นคนสามัญชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี เป็นข้าราชการที่ใกล้ชิดและเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เป็นจางวางกรมช้าง มีฝีมือในราชการสงคราม กระทำความชอบหลายครั้ง ได้โดยเสด็จพระราชสงครามครั้งเชียงใหม่ด้วย ได้แสดงความสามารถ เมื่อครั้งของกองทัพไทยไปช่วยพระศรีไชยเชษฐา รักษาราชบัลลังก์กรุงกัมพูชา และขับไล่นักองตนจนต้องหนีไปพึ่งญวน นอกจากนั้นแม่ของพระเพทราชาเป็นพระนม และน้องสาวเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ
                    ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงเปิดความสัมพันธ์กับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสได้มีการแลกเปลี่ยนทูตต่อกัน ปรากฏว่าอิทธิพลของฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยาเพิ่มขึ้น โดยเมื่อคณะทูตฝรั่งเศสครั้งที่สองซึ่งมีเซเบเรต์และเดอลาลูแบร์เป็นทูตได้เดินทางมาถึงเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๐ ได้นำกองทหารฝรั่งเศส ๖๓๖ คนและช่างฝีมือ ๑๐๐ คน และติดตามมาด้วยบาทหลวงเยซูอิตหลายรูป ทำให้ไม่เป็นที่ไว้วางใจ ได้ตามความเห็นของบรรดาขุนนางข้าราชการ และสามัญชน สถานการณ์ส่อว่า อาจจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น อันอาจจะเป็นภัยแก่บ้านเมืองได้ พระเพทราชาจึงได้รวบรวมขุนนาง ข้าราชการและไพร่พลเป็นสมัครพรรคพวก ตั้งเป็นคณะต่อต้านฝรั่งเศส เป็นคณะที่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป โดยมีหลวงสุรศักดิ์ (เดื่อ) บุตรพระเพทราชาเป็นบุคคลชั้นนำของคณะ
                    เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงประชวรประทับอยู่ในพระราชวังเมืองลพบุรี เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ได้คบคิดกับบาทหลวงเยซูอิดฝรั่งเศส จะเกลี้ยกล่อมพระปีย์เป็นพรรคพวกของตน และให้เลื่อมใสในศาสนาคริสตัง พระปีย์ได้รับพระกรุณาอย่างมากจากสมเด็จพระนารายณ์เหมือนราชบุตรบุญธรรม
                    พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์คบคิดกันที่จะชิงราชบัลลังก์จึงได้ดำเนินการเป็นขั้นตอน เพื่อให้ได้ผลตามความมุ่งหมาย โดยขั้นแรกจัดการกำจัดคู่แข่งชิงราชสมบัติ และหัวหน้าสนับสนุนโดยสั่งกองทหารล้อมพระราชวังเมืองลพบุรี ซึ่งได้ใช้เป็นกองบัญชาการ แล้วอ้างพระราชโองการ เรียกเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และนายทหารฝรั่งเศสไปอยู่ที่เมืองนั้น อ้างว่ากำลังสืบจับผู้คิดกบฎชิงราชบัลลังก์แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์และพระปีย์ประหารชีวิตเสีย ขั้นต่อมาได้ออกอุบายให้เจ้าฟ้าอภัยทศ และเจ้าฟ้าน้อยเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา ไปเมืองลพบุรี แล้วจัดการปลงพระชนม์เจ้านายทั้งสองเสีย ขั้นที่สามต่อมาพระเพทราชา ออกอุบายจะให้กองทหารฝรั่งเศสที่เมืองธนบุรี และเมืองมะริด ยกขึ้นไปเสริมกำลังกองทัพไทยที่จะไปทางเมืองลาว แต่กองทหารฝรั่งเศสไม่ยอมไป กองทหารไทยจึงยกไปล้อมป้อมทางฝั่งตะวันออกของเมืองธนบุรี ในที่สุดนายพลเดอฟอร์ชยอมถอนทหารฝรั่งเศสออกจากเมืองไทย
                    สมเด็จพระนารายณ์ ฯ สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๑ มีพระชันษา ๕๖ ปี เวลานั้นหมดสิ้นเจ้านายที่จะรับรัชทายาท ข้าราชการทั้งปวง จึงจำต้องเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ขณะมีพระชันษา ๕๖ ปี ครองราชย์อยู่ ๑๕ ปี พระองค์ทรงกระชับสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ปราสาททอง โดยโปรดให้พระอัครมเหสีเดิมเป็นพระอัครมเหสีกลาง พระราชกัลยาณีกรมหลวงโยธาทิพ พระบรมราชภดินี้ของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เป็นอัครมเหสีฝ่ายขวา และเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพพระราชธิศของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย นอกจากนั้นก็ได้สถานปนาหลวงสรศักดิ์เป็นวังหน้า ตั้งนายจบคชประสิทธิศิลป์เป็นวังหลัง ตั้งนายกรินคชประสิทธิ์ทรงบาศซ้าย ซึ่งเป็นพระนัดดาเป็นเจ้าราชนิกูลชื่อเจ้าพระยาพิชัยสุรินทร เป็นต้น
                    สมเด็จพระเพทราชา ประสบภัยที่มีอยู่กำเริบพยายามก่อการกบฎตลอดเวลา ๑๕ ปี การกบฎต่าง ๆ ที่ได้จัดการปราบลงได้ คือ กบฎธรรมเถียร กบฎพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยารามเดโชชัยเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และกบฎบุญกว้าง
                    ในตอนปลายแผ่นดินของพระองค์ การสืบราชสมบัติได้กลายเป็นปัญหายุ่งยากด้วยเหตุว่าวังหน้า (หลวงสรศักดิ์) มีความปรารถนาจะได้ครองราชย์ จึงได้ดำเนินการกำจัดผู้ที่จะเป็นอุปสรรค ด้วยการโค่นอำนาจวังหลัง และเจ้าพระยาสุรสงคราม
                    สมเด็จพระเพทราชาทรงมีพระราชโอรส กับเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าขวัญ มีผู้รักใคร่นับถือกันมากด้วยเหตุว่า ทรงสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทางพระราชมารดา วังหน้าได้ออกอุบายให้จับเจ้าฟ้าขวัญไปสำเร็จโทษเสีย สมเด็จพระเพทราชาทรงพิโรธมาก ทรงมอบเวนราชสมบัติให้เจ้าพระยาพิชัยสุรินทร์พระนัดดา และเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๒๔๖ เจ้าพระยาอภัยสุรินทร์ ได้นำเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ไปถวายวังหน้า ให้รับมอบราชสมบัติ          ๒๑/ ๑๓๔๙๕
            ๔๐๒๔. เพนิซิลลิน  เป็นชื่อสารประกอบอินทรีย์ชื่อนำไปใช้เป็นยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาโรคต่าง ๆ ได้มากมายหลายชนิด เพราะว่าไม่ทำอันตรายต่อเซลล์ของร่างกาย และทั้งมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังหุ้มเซลล์ของแบคทีเรียทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวทวีจำนวนออกไปได้อีกและในที่สุดก็ถูกทำลายไป เพนิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะตัวแรก ที่นำมาใช้รักษาโรค และนับเป็นการเริ่มศักราชของการใช้ยาปฏิชีวนะ เซอร์ละเล็กซานเดอร์เฟลมิงเป็นผู้ค้นพบสารนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑
                    เพนิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคได้มากกมายหลายโรค ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ประเภทแกรมบวก และประเภทแกรมลบบางชนิด แต่ใช้รักษาไม่ได้กับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส          ๒๑/ ๑๓๕๐๔
            ๔๐๒๕. เพนียด  สมัยโบราณมีการจับช้างไว้ใช้ราชการ จึงต้องสร้างเพนียด คือ คอก เมื่อต้อนโขลงช้างเข้าเพนียด แล้วจึงคัดเลือกตามต้องการของทางราชการ
                    ลักษณะของเพนียดทำด้วยเสาไม้แก่น มีความแข็งแรงมั่นคงทั้งต้น ปักลงไปพื้นดินลึก ๑.๕ - ๒.๐ เมตร ปักเรียงรายห่างเว้นระยะแต่ละต้น ให้หมอช้างความช้าง และผู้มีหน้าที่ในการคล้องช้าง หลบตัวออกมาได้สะดวกพ้นอันตราย เมื่อช้างไล่ทำร้ายคอก หรือเพนียดนี้ ปักเสาล้อมเรียงรายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือรูปไข่ใช้พื้นที่ล้อมเป็นเพนียดประมาณ ๒๐ หรือ ๓๐ ไร่ มีประตูด้านหน้าที่ช่องโค้งหัวตัว อ และหางตัว อ จัดเป็นประตูด้านที่ต้อนล่อนำช้างเข้าเพนียด และที่ด้านหลังมีประตูสำหรับ คัดเลือกช้างสำคัญ ที่ต้องการได้แล้ว จะได้ผ่านเข้าประตูหลังนี้ ที่ประตูจะมีเสาที่เรียกว่า เสาโตงเตง คือ เป็นเสาคู่ขนานเมื่อช้างลอดผ่านเข้าไปแล้ว เสาจะปิดกันขวางประตูช้างจะออกไปอีกไม่ได้ ส่วนช้างที่ไม่ต้องการก็ปล่อยออกทางประตูแรกเข้า
                    ในการคล้องช้างเข้าเพนียด จะมีพลับพลาสร้างติดกับเพนียดด้านหนึ่ง สำหรับพระมหากษัตริย์ทอดพระเนตรในพลับพลา จะต้องเทวรูปพระพิฆเนศสำหรับสักการะ และนอกเพนียดอีกด้านหนึ่ง จะต้องปลูกศาลตั้งรูปพระครูประกำ ซึ่งเป็นครูของหมอเฒ่า หมอช้าง หมอควาญ เป็นเทวรูปหล่อด้วยโลหะสำริด ลักษณะหน้าเป็นคน ผมศีรษะเลียบ โดยรวมปกไว้ด้านหลัง นั่งบนแท่นโลหะหน้ากระดานสองชั้น มือถือด่อน (เหล็กกลมปลายแหลมด้ามเจาะรู) และถือเชือกบาศ (ทำด้วยโลหะ) เหน็บขอช้างไว้ข้างหลัง
                    การคล้องช้างในเพนียดมีมาแต่สมัยอยุธยา ต่อมาในรัชกาลที่ห้า มีการคล้องช้างไปเพนียดถึงสี่ครั้ง          ๒๑/ ๑๓๕๑๒
            ๔๐๒๖. เพรซีโอดิเมียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๕๙ มีผู้ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ จากแร่ไดดิเมีย ธาตุนี้มีปรากฏอยู่เป็นปริมาณน้อยในธรรมชาติ และเป็นธาตุที่หายากธาตุหนึ่ง เป็นโลหะมีลักษณะอ่อนตีแผ่ให้เป็นแผ่นได้ สีเหลืองอ่อน ๆ คล้ายสีเงิน เมื่อทิ้งไว้ในอากาศผิวจะกลายเป็นสีเขียว เนื่องจากทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ
                    ประโยชน์ของธาตุนี้ก็คือ ใช้เจือในโลหะเจือ ใช้ทำถ่านไฟแช็ก เจือลงในแมกนีเซียมอัลลอย เพื่อใช้ทำชิ้นส่วนของเครื่องยนต์เจ็ต ใช้ผสมกับธาตุนีโอดิเมียม เพื่อทำแก้วไดดีเมียม ซึ่งนำไปใช้ทำแว่นสำหรับป้องกันสายตา เป็นต้น          ๒๑/ ๑๓๕๑๔
            ๔๐๒๗. เพรียง  เป็นหอยสองฝาที่เจาะไชไม้ และอาศัยอยู่ในเนื้อไม้ การเจาะไชทำให้ไม้และท้องเรือชำรุดเสียหายบางที่เรียกว่า หนอนเรือ
                    เพรียงมีรูปร่างยาวคล้ายนหนอน ลำตัวสีค่อนข้างขาวขุ่น เปลือกเป็นสองฝาสีขาวขนาดสั้นกว่าลำตัวมาก จึงคลุมเฉพาะส่วนต้นของลำตัวไว้ ลำตัวส่วนที่เหลือมีหลอดที่เป็นหินปูนบาง ๆ หุ้มไว้ ด้านนอกของเปลือกเป็นสันคมคล้ายฟันเลื่อย เมื่อหมุนตัวไปมาเปลือกจะเจาะไม้ให้เป็นรูลึกลงไปทีละน้อย ๆ บางรูลึกถึง ๖๐ ซม. เมื่อเข้าอยู่ในรูแล้ว ก็จะไม่มีการเคลื่อนย้ายอีกตลอดชีพ เพรียงจะอยู่ในรูทั้งตัว แต่จะยื่นส่วนท้ายที่มีพัลเล็ตหนึ่งคู่ และท่อน้ำซึ่งมีสองท่อโผล่ขึ้นมาเหนือรู เป็นทางให้น้ำไหลเข้าและออก ระยะที่เป็นตัวอ่อนอยู่ในน้ำทะเลจะถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ เมื่อเจริญถึงระยะที่มีเปลือกจึงเข้าเกาะตามไม้
                    นอกจากนี้คำว่า "เพรียง"ยังใช้เรียกชื่อสัตว์ที่อยู่ในทะเลอีกพวกหนึ่งที่พบเกาะอยู่ตามก้อนหิน หรือไม้ที่อยู่ในทะเล อาศัยไม้หรือก้อนหินเป็นที่ยึดเกาะ แต่ไม่เจาะหรือทำอันตรายต่อไม้ ตัวมีเปลือกแข็งหุ้มเพื่อป้องกันอันตราย          ๒๑/ ๑๓๕๑๖
            ๔๐๒๘. เพลง ๑  หมายถึง เสียงร้องหรือเสียงดนตรีที่เป็นทำนองเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับสับสนกันตามแต่ผู้แต่งได้ประดิษฐ์เรียบเรียงขึ้นโดยมีประโยค วรรค ตอน สัมผัสและจังหวะถูกต้องตามทฤษฎีดุริยางคศิลป์ เพลงแต่ละเพลงมีความยาวไม่เท่ากัน บางเพลงมีท่อนเดียวจบ บางเพลงมีสองท่อน สามท่อน สี่ท่อนจบ บางเพลงยาวถึงเจ็ดท่อนจบก็มี นอกจากนั้นยังแบ่งเพลงออกไปตามลักษณะและกรณีที่ใช้เป็น
หลายจำพวกคือ เพลงมโหรี เพลงเสภา เพลงเรื่อง เพลงตับ เพลงเกร็ด เพลงหน้าพาทย์ เพลงเบ็ดเตล็ด และเพลงภาษา
                   เพลงมโหรี  บรรเลงเพื่อการขับกล่อม บรรเลงด้วยวงมโหรี ในสมัยอยุธยามีแต่เพลงอัตราสองชั้นเท่านั้น บางทีก็รวมหลาย ๆ เพลง บรรเลงติดต่อกันเป็นตับ เรียกชื่อตามชื่อเพลง อันดับแรกของตับเท่านั้น บางทีก็แยกออกบรรเลงเป็นเพลง ๆ เรียกว่าเพลงเกร็ด หรือเพลงเกร็ดนอกเรื่อง
                   เพลงเสภา  คือเพลงที่ร้องแทรกในการขับเสภา เริ่มตั้งแต่เพลงโหมโรงเสภาแล้ว จึงมีเพลงร้องต่าง ๆ ให้มีพาทย์รับ ในสมัยโบราณเป็นเพลงอัตราสองชั้นเท่านั้น ครั้งถึงรัชกาลที่สี่ ความนิยมเพลงสามชั้นได้แพร่หลายขึ้นในวงการบรรเลง เพลงปี่พาทย์ เพลงเสภาจึงเปลี่ยนเป็นเพลงสามชั้นไปด้วย
                   เพลงเรื่อง  เป็นเพลงหลาย ๆเพลงที่นำมาเรียบเรียงต่อกัน บรรเลงดนตรีโดยเฉพาะไม่มีขับร้อง และใช้ชื่อเพลงอันดับแรกเป็นชื่อเรื่อง แบ่งออกได้เป็นหลายอย่าง เช่น เรื่องเพลงช้า เรื่องเพลงฉิ่ง เรื่องเพลงเร็ว เรื่องปี่ชวา
                   เพลงตับ  คือเพลงหลาย ๆ เพลงนำมาขับร้อง และบรรเลงติดต่อกันซึ่งแยกได้เป็นสองอย่างคือ ตับเพลงและตับเรื่อง
                   เพลงเกร็ด  ได้แก่ เพลงที่ขับร้อง หรือบรรเลงโดยเฉพาะเป็นเพลง ๆ ไม่ติดต่อกับเพลงอื่น
                   เพลงหน้าพาทย์  หมายถึง เพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาทั้งปวง หรือเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของมนุษย์ ของสัตว์ ของเทวดา ฯลฯ หรือวัสดุใด ๆ
                   เพลงเบ็ดเตล็ด  ได้แก่ เพลงเล็ก ๆ อัตราสองชั้น หรือชั้นเดียว ซึ่งไม่อยู่ในเพลงตับ หรือเพลงเรื่องใด ๆ นำมาบรรเลงเป็นพิเศษ
                   เพลงภาษา  เป็นเพลงที่นำมาจากเพลงชองชาติอื่น หรือเพลงไทยแต่แต่งให้ทำนอง มีสำเนียงเป็นของชาติอื่น
                   เพลงประเภทดังกล่าวนี้ เป็นไปตามกำหนดของเพลงนั้น ๆ แต่ในด้านดนตรี ผู้แต่งอาจดำเนินทำนองไปได้หลายประการ ซึ่งเรียกว่า ทาง อาจเป็นทางพื้นไม่พลิกแพลง ทางกรอ ดำเนินทำนองเป็นเสียงยาวเป็นระยะ ๆ ทางลูกล้อลูกขัด คือมีลูกเล่นที่ผลัดกันบรรเลงสลับเป็นตอน ๆ          ๒๑/ ๑๓๕๑๙
            ๔๐๒๙. เพลง ๒  หมายถึง การร้องที่เล่นเพื่อความรื่นเริง เป็นพื้นบ้านหรือพื้นเมือง บางอย่างก็ร้องเล่นตามฤดูกาล เพลงประเภทนี้แต่ละอย่างวางแบบทำนองไว้เป็นหลักเท่านั้น ผู้ร้องจะยักเยื้องไปได้ตามเสียงของถ้อยคำ และมีความยาวไม่จำกัด แล้วแต่ผู้ร้องจะลงเมื่อใด โดยมากมักจะมีลูกคู่คอยร้องรับ ในตอนลงจบหรือแทรกสลับเป็นตอน ๆ เช่น เพลงพิษฐาน เพลงพวงมาลัย เพลงเต้นกำ เพลงรำเคียว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงสงฟาง เพลงปรบไก่ เพลงโคราช เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเทพทอง เพลงเรือ            ๒๑/ ๑๓๕๒๓
            ๔๐๓๐. เพลง ๓  หมายถึง ท่ารำอาวุธ หรือการต่อสู้ด้วยอาวุธต่าง ๆ ในสมัยโบราณ การรำหรือต่อสู้กันไปจบขบวนหนึ่ง ก็เรียกว่า เพลงหนึ่ง           ๒๑/ ๑๓๕๒๖
            ๔๐๓๑. เพลี้ย ๑  เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างหนึ่ง ดีดเป็นเสียง ทำด้วยไม้ไผ่ซีกเล็กๆ ยาวไม่จำกัด แล้วแต่ความประสงค์ของเจ้าของ ในตอนที่ยาวพ้น ส่วนสำคัญที่ทำลิ้นให้เกิดเสียงแล้ว บางคนก็เหลาให้เรียวยาว ส่วนสำคัญที่จะให้เกิดเสียงนั้น จะต้องเจาะขุดเนื้อไม้ทางด้านท้องให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เซาะเหลาด้านผิวไม้ทำลิ้นเป็นเข็ม อยู่ตรงกลางสองข้างลิ้น มีปีกหรือกราบ เป็นแผ่นบางเลื่อนตากแต่งให้ได้ส่วนสัดกับลิ้น ตอนหัวเหลาให้มน และบากปลายลงให้พอเหมาะ ที่จะใช้หัวแม่มือดีด เสียงเพลี้ยมีระดับเดียว รูปลักษณะของเพลี้ย คล้ายกับจ้องหน่อง แต่จ้องหน่อง ต้องมีสายเชือกผูกตอนหัว สำหรับกระตุกให้เป็นเสียงเรียกว่า ชัก             ๒๑/ ๑๓๕๒๖
            ๔๐๓๒. เพลี้ย ๒ -  แมลง  เป็นแมลงที่มีปากชนิดเจาะดูด หรือเขี่ยดูดและทำลายพืช โดยวิธีดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้พืชมีอาการต่าง ๆ กัน
                    เพลี้ย แบ่งออกได้เป็นหลายประเภท เรียกชื่อตามรูปร่างลักษณะของลำตัว ที่เห็นว่าคล้ายสิ่งใดก็เรียกตามนั้น หรือเรียกตามนิสัยของเพลี้ย และเรียกตามลักษณะอาการของพืชที่แสดงออก           ๒๑/ ๑๓๕๒๖
            ๔๐๓๓. เพี้ย - ปลา  เป็นปลาน้ำจืด ที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ชอบอยู่ในน้ำนิ่ง ในแหล่งน้ำที่มีทางติดต่อกับแม่น้ำ นับเป็นปลาที่ชุกชุมมากชนิดหนึ่ง มีอีกชื่อหนึ่งว่า ปลากา จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาตะเพียน เป็นปลาประเภทกินพืชขนาดเล็ก คนนิยมบริโภคเพราะมีรสชาดดี นับเป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง มีขนาดโตเคยจับได้ยาวถึง ๖๐ ซม. ลูกปลามีผู้นำไปเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงาม มีชื่อทางการค้าว่า ฉลามดำ            ๒๑/ ๑๓๕๓๔
            ๔๐๓๔. เพื่อน - นาง  เป็นชื่อตัวละคร ตัวนางในเรื่อง พระลอ เป็นธิดาองค์หนึ่งในจำนวนสององค์ ของท้าวพิชัยพิษณุกร แห่งเมืองสอง ธิดาอีกองค์หนึ่งเป็นน้องชื่อ นางแพง มีพี่เลี้ยงชื่อ นางรื่น และนางรวย เมื่อเจริญวัยได้ยินข่าวเล่าลือถึงความงามของพระลอ ผู้ครองเมืองสรวง ทั้งพี่น้องสองนางก็พากันหลงไหลใฝ่ฝัน  สองนางพี่เลี้ยงจึงคิดหาอุบายไปเสาะแสวงหาหมอทำเสน่ห์ ในที่สุดได้ไปพบปู่เจ้าสมิงพรายช่วยทำเสน่ห์ ให้พระลอลุ่มหลงนาง พระลอได้เดินทางมายังเมืองสอง แต่ย่าเลี้ยงของสองนางพี่น้อง มีความอาฆาตในพระลอ เนื่องจากพระลอได้ฆ่าสามีของนางตาย ในสงครามยุทธหัตถี นางจึงออกอุบายประหารหลานสาวทั้งสอง พระลอ และพี่เลี่ยงอีกสี่คน ท้าวพิชัยพิษณุกร รู้ข่าวก็สายเกินไป จึงให้ทำพิธีศพอย่างสมเกียรติ รวมทั้งแจ้งข่าวไปยังเมืองสรวง
                    เมื่อทั้งสองเมืองต้องเสียเจ้านายของตนไป จึงกลับเป็นไมตรีกันได้           ๒๑/ ๑๓๕๓๖
            ๔๐๓๕. แพง - นาง  เป็นชื่อตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องพระลอ นางแพงเป็นน้องสาวของนางเพื่อน ทั้งสองนางมีรูปโฉมเหมือนกัน มีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกันยิ่งกว่าฝาแฝด นางแพงตกเป็นภริยาของพระลอเช่นเดียวกับพี่สาว และถึงแก่ความตายพร้อมกัน            ๒๑/ ๑๓๕๓๗
            ๔๐๓๖. แพงพวย  เป็นพืชลอยน้ำ ลำต้นอวบ ลำต้นที่ลอยอยู่บนผิวน้ำอาจถึง ๔ เมตร ส่วนลำต้นที่ตั้งตรงพ้นผิวน้ำ อาจสูงถึง ๖๐ ซม. มีรากออกตามข้อและมีรากพิเศษสีขาว คล้ายสำลี รูปแหลมเป็นทุ่น ช่วยพยุงให้ลอยน้ำได้ ปรกติลำต้นเกลี้ยง ใบเป็นใบเดี่ยวคล้ายแพงพวยฝรั่ง แต่เรียงสลับกันเป็นรูปขอบขนานกว้างแถมรูปรี ดอกออกเดี่ยว ๆ ที่โคนก้านใบ ค่อนไปทางยอด ดอกสีขาวนวล โคนกลีบดอกสีเหลือง ผลรูปยาว สีน้ำตาลอ่อน
                     แพงพวย ใช้เป็นผักจิ้ม และยาสมุนไพร ขึ้นในคูคลอง หนอง บึง และที่ลุ่มทั่วไป           ๒๑/ ๑๓๕๓๗
             ๔๐๓๗. แพงพวยฝรั่ง  เป็นพืชล้มลุกโคนต้นค่อนข้างแข็ง สูง ๓๐ - ๙๐ ซม. ลำต้นสีเขียวอ่อน มีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยว เรียงเป็นคู่ตรงกันข้าม รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ กลิ่นเหม็นเขียว กลีบดอกมีหลายสี เช่น ขาว ชมพู ม่วง ม่วงเข้ม ผลเป็นฝักคู่ ทรงกระบอก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
                    พืชชนิดนี้ เป็นไม้ประด้บทั่ว ๆ ไป ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของดิน น้ำ อากาศ ได้มีการนำพันธุ์ต้นเตี้ยมาปลูกเพื่อใช้ทำยา กล่าวกันว่ามีสรรพคุณหลายอย่าง ทั้งต้นแก้โรคเบาหวาน ลดความดันโลหิต ขับระดู ใบบำรุงหัวใจ เป็นยาถ่ายสำหรับคนที่ท้องผูกเรื้อรัง ช่วยย่อย แก้โรคมะเร็งในเม็ดเลือดของเด็ก รากแก้บิด ขับระดู ขับพยาธิ และทำให้แท้งได้           ๒๑/ ๑๓๕๓๘
            ๔๐๓๘. แพทย์  ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.๒๔๗๙ แบ่งผู้ทำการรักษาโรคออกเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน ผู้ได้ผ่านการศึกษาที่มีหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วยวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน กับแพทย์แผนโบราณซึ่งเล่าเรียนโดยวิธีสืบทอดกันมา และไม่มีวิทยาศาสตร์เป็นองค์ประกอบ
                    แพทย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นแผนปัจจุบัน หรือแผนเดิม ย่อมมีอุดมคติตรงกันในอันที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยไข้ ให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน หน้าที่ของแพทย์อาจสรุปลงเป็นคำขวัญสั้น ๆ ว่า "แพทย์ดีนั้นไซร้ ช่วยให้รอดตาย แก้เจ็บปวดหาย ผ่อนคลายความกลัว"
                    โดยที่แพทย์ย่อมมีทั้งที่ดีจริง และดีไม่จริง เช่นเดียวกับบุคคลในอาชีพอื่น ๆ ทางการจึงมีบทบัญญัติว่าด้วยมารยาท กำชับไว้อีกชั้นหนึ่ง มีข้อห้ามเป็นรายย่อยลงไปอีก เช่น ห้ามโฆษณาตนเอง ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ห้ามชักชวนคนไข้มารักษากับตัว ห้ามรับรองความเจ็บป่วยที่ไม่เป็นจริง ห้ามรับรองยาตำรับที่ไม่เปิดเผย ห้ามปฎิเสธการช่วยเหลือคนไข้ ที่อยู่ในระยะอันตราย และห้ามเปิดเผยความลับของคนไข้
                    ในประเทศอื่น บางประเทศยังมีการควบคุมอัตราค่าธรรมเนียมการรักษาโรคอีกด้วย แต่เมืองไทยยังไม่มี           ๒๑/ ๑๓๕๓๘
            ๔๐๓๙. แพร - ผ้า  เป็นชื่อผ้าชนิดหนึ่ง ที่ทอจากใยไหม มีความละเอียดอ่อนกว่าผ้าไหมธรรมดา จึงมีลักษณะเด่นตรงที่มีความเงางาม และความอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ ถือเป็นผ้าชั้นสูงที่มีราคาแพง กษัตริย์สมัยก่อนนิยมใช้เป็นของกำนัลต่อกัน ผ้าแพรชั้นสูงมักจะทอเป็นลวดลายที่วิจิตรพิสดาร เมื่อย้อมแล้ว ส่วนที่เป็นลวดลายจะสะท้อนแสง และดูเป็นเงางามผิดกับส่วนที่เป็นพื้น
                    ผ้าแพรมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตามลวดลายที่ปรากฎบนผ้า เช่น แพรริ้วมะลิเลื้อย แพรก้านแย่ง แพรริ้วขอ แพรดอกถี่ แพรดอกสะเทิ้น แพรดอกลาย แพรอริยา แพรมังกร ผ้าแพรมีเนื้อดีและต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นด้าย คุณภาพของใยไหม และความละเอียดของลายทอ
                    ประวัติการใช้ผ้าแพรในประเทศไทย สืบย้อนหลังไปได้ถึงสมัยอาณาจักรลานนาไทย ในสมัยนั้นผ้าแพรล้วนส่งมาจากประเทศจีน และมีราคาแพง นิยมนำมาใช้พันศีรษะหรือคาดเอว ถึงสมัยอยุธยามีการนำแพรเข้ามาจากประเทศอินเดียบ้าง ในสมัยรัตนโกสินทรชาวจีนบางกลุ่ม ได้ริเริ่มย้อมผ้าแพรขึ้นในประเทศไทย โดยตั้งโรงย้อมขึ้นรับย้อมผ้าแพรขาว ซึ่งส่วนมากส่งมาจากเซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง สีที่นิยมใช้กันมากคือ สีดำ ซึ่งได้จากการย้อมโดยใช้ผลมะเกลือ
                    เนื่องจากผ้าแพร ที่เป็นของแท้มีราคาแพงมาก จึงได้มีการนำผ้าใยประดิษฐ์ ซึ่งหาได้ง่ายและราคาถูกกว่า มาทำเลียนแบบเรียกว่ าแพรเพียบ ที่นิยมใช้กันมากที่สุด ทอจากใยวิสโคสเรยอน            ๒๑/ ๑๓๕๕๐
            ๔๐๔๐. แพร่  จังหวัดภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.ลำปาง และ จ.พะเยา  ทิศตะวันออกจด จ.น่าน ทิศใต้จด จ.อุตรดิตถ์ และ จ.สุโขทัย ทิศตะวันตกจด จ.ลำปาง ภูมิประเทศเป็นป่า และเขาโดยรอบ มีที่ราบทำนาได้ตามลุ่มแม่น้ำยม นอกนั้นก็มีที่ราบเป็นแห่ง ๆ มีภูเขา และป่าไม้ โดยทั่วไป
                    เมืองแพร่ เป็นเมืองโบราณสมัยสุโขทัย เคยเป็นเมืองขึ้นกรุงสุโขทัย ในสมัยอยุธยาเมืองแพร่ตกไปเป็นเมืองขึ้น ของอาณาจักรลานนาบ้าง กรุงศรีอยุธยาบ้าง
                    สมัยรัตนโกสินทร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ เงี้ยวได้ก่อการจลาจลขึ้น เจ้าผู้ครองเมืองแพร่ มีส่วนรู้เห็นด้วยจึงหนีไปอยู่เมืองหลวงพระบาง แต่นั้นมาก็เลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองแพร่
                    เมืองแพร่ มีโบราณสถานและสิ่งที่น่าดูคือ พระธาตุช่อแฮ ที่ ต.ป่าแดง อ.เมืองแพร่ วัดพระหลวง ที่ ต.ดอนมูล อ.สูงเม่น พระธาตุปูแจ ที่ อ.ร้องกวาง ถ้ำอลงกรณ์ ถ้ำผานางคอย และน้ำตกห้วยแม่เกิง            ๒๑/ ๑๓๕๕๓
            ๔๐๔๑. แพลทินัม  เป็นธาตุลำดับที่ ๗๘ ในปี พ.ศ.๒๓๔๖ นักเคมีชาวอังกฤษได้สะกัดแยกธาตุนี้ออกเป็นโลหะบริสุทธิ์ได้เป็นคนแรก
                    ในธรรมชาติธาตุแพลทินัมมีปรากฎกระจายอยู่ทั่วไปในเปลือกโลก และมีปริมาณน้อย โดยมีปรากฎอยู่ในลักษณะที่เป็นโลหะเจือกับโลหะอื่น
                    แพลทินัม เป็นโลหะที่มีประโยชน์อย่างยิ่งและมีราคาสูงมาก ลักษณะเป็นโลหะสีเงินเป็นเงางาม อ่อน ตีแผ่ให้เป็นแผ่น หรือดึงรีดให้เป็นเส้นลวดได้ ไม่ทำปฎิกิริยากับออกซิเจน และกับสารประกอบของกำมะถันในอากาศ สามารถรวมกับธาตุอื่นเป็นสารประกอบได้หลายสาร สามารถรวมตัวกับโลหะอื่นเป็นโลหะเจือได้หลายชนิด ซึ่งมีประโยชน์มาก ใช้แพททินัมไปทำเบ้าชนิดทนไฟ ทำเทอร์มอมิเตอร์ สำหรับวัดอุณหภูมิสูง ๆ ทำอิเล็กโทรด ทำเป็นเส้นลวดเชื่อมติดกับหลอดแก้ว หรือกระเปาะแก้ว เพื่อนำกระแสไฟฟ้าในงานวิทยาศาสตร์หลายอย่าง ใช้เป็นตัวเร่งปฎิกิริยาในงานเคมีที่สำคัญ ๆ มากมาย ใช้ทำเป็นเส้นลวดต้านทานในเตาไฟฟ้า ที่ให้อุณหภูมิสูงมาก และอื่น ๆ อีกมาก
            ๔๐๔๒. แพลเลเดียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๔๖ นักเคมีชาวอังกฤษค้นพบ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๖ ธาตุแพลเลเดียมมีปรากฎอยู่ในธรรมชาติ กระจัดกระจายทั่วโลก แต่มีปริมาณน้อยยิ่ง จะพบรวมตัวปนอยู่กับแพลทินัม และโลหะอื่นที่เป็นธาตุในตระกูลแพลทินัม
                    แพลเลเดียม สามารถรวมตัวกับโลหะอื่นเป็นโลหะเจือได้หลายชนิด ซึ่งมีความแข็งแรงและทนทานมาก โลหะทองคำเมื่อเจือด้วยแพลเลเดียมเพียงเล็กน้อย ก็จะได้โลหะเจือสีขาวเป็นเงาเรียกกันว่า ทองคำขาว ใช้ทำเครื่องประดับทอง เช่น แหวน สายสร้อย           ๒๑/ ๑๓๕๖๑
            ๔๐๔๓. แพะ ๑ - สัตว์  แพะโดยทั่วไปมีรูปร่างคล้ายแกะ แต่แพะมีเคราใต้คาง ซึ่งแกะไม่มี นอกจากนั้นแพะตัวผู้จะมีกลิ่นสาบที่ใต้โคนหาง กลิ่นสาบนี้จะกระจายจากต่อมนี้ไปทั่วตัวเรียกกันว่า กลิ่นแพะ แต่แกะไม่มีต่อมนี้ แพะมักมีเขายาวคล้ายดาบโค้งไปทางข้างหลัง แกะมักมีเขาม้วนกลับไปใต้หู แพะมักมีขนเป็นเส้นตรง ๆ ส่วนมากขนสั้น แต่แกะมีขนม้วนหนาไปทั่วตัว
                แพะมีเชื้อสายดั้งเดิม นับตั้งแต่เอเชียตะวันตก จากปากีสถานไปทางอิรัก อิหร่าน กรีซ เกาะครีต และเลยไปทางเอธิโอเปีย ตลอดถึงตามเขาสูงทิศใต้ของยุโรป           ๒๑/ ๑๓๕๖๔
            ๔๐๔๔. แพะ ๒ - ปลา  เป็นปลาทะเลขนาดเล็ก อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเลมีอยู่หลายชนิด มีหนวดใต้คางสองเส้น ซึ่งไม่มีปลาทะเลชนิดใดเหมือน ชนิดที่จัดว่าโตเต็มที่ยาวประมาณ ๓๐ ซม. เป็นปลาที่ประกอบอาหารได้หลายชนิด มีรสอร่อยพอสมควร ราคาไม่สูงนัก            ๒๑/ ๑๓๕๗๓
            ๔๐๔๕. โพ - ต้น  เป็นชื่อเรียกไม้ยืนต้นหลายชนิดในวงศ์หม่อน ทุกส่วนมีน้ำยาง สีขาวขุ่น โดยทั่ว ๆ ไปหมายถึง ต้นโพศรีมหาโพธิ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อาจสูงถึง ๓๐ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน รูปหอก ฐานใบกว้างปลายใบมีติ่งเรียวแหลม ยื่นยาวออกไป ขนาดใบประมาณ ๑๓ x ๑๐ ซม. ดอกเล็กมาก อยู่รวมกันภายในกระเปาะหุ้มที่ดูดคล้ายผล ออกเป็นคู่ ๆ ตามง่ามใบ สุกสีม่วงเข้ม ปลูกกันในบริเวณวัดในพระพุทธศาสนา มีเรือนยอดกว้างแผ่กิ่งก้านสาขา
                    ต้นโพ ชนิดที่เรียกว่า "ศรีมหาโพธิ์" มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ที่ประเทศอินเดีย พระสิทธัตถ โคตมะ ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมพุทธเจ้า ขณะประทับอยู่ภายใต้ควงไม้ชนิดนี้ จึงเรียกกันว่า ศรีมหาโพธิ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ต้นโพธิ            ๒๑/ ๑๓๕๗๖
            ๔๐๔๖. โพง  เป็นเครื่องมือทำการประมง จัดเป็นเครื่องมือทำการประมงประเภทเบ็ดเตล็ดชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จักสานด้วยไม้ไผ่ การสานจะเป็นแบบตาถี่มาก หรือไม่มีช่องตา แล้วใช้ชันยาเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วไหล ตัวโพงมีขนาดยาวประมาณ ๑ เมตร คันโพงทำด้วยไม้ไผ่กลม ยาวประมาณ ๑.๕ เมตร ใช้วิดน้ำจากแหล่งน้ำขนาดเล็ก แล้วจับปลาที่อาศัยอยู่ในที่นั้น ๆ            ๒๑/ ๑๓๕๘๐
            ๔๐๔๗. โพงพาง  เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำประจำที่ ประกอบด้วยเสาขนาดใหญ่สองต้น ยาวประมาณ ๑๓ เมตร หรือยาวสุดแท้แต่ความลึกของน้ำ และมีอวนถุงตาข่าย ปากถุงกว้างประมาณ ๘ เมตร ลึกประมาณ ๔ เมตร ยาวประมาณ ๑๔ เมตร เครื่องมือนี้ตั้งในที่ที่มีกระแสน้ำไหลแรง เอาอวนไปผูกติดเข้ากับหลักกาง และสอดคร่อมกับไม้ปักลงไปให้ถึงพื้นดิน ใช้ประจำที่ จะทำการกู้ปลายถุงอวนขึ้นเพื่อจับสัตว์น้ำอยู่เสมอ เมื่อหมดกระแสน้ำไหลจึงเลิกจับ           ๒๑/ ๑๓๕๘๐
            ๔๐๔๘. โพชฌงค์  เป็นชื่อหมวดธรรมที่เป็นเหตุให้ตรัสรู้อริยสัจสี่ของพระโยคาวจร (ผู้หยั่งลงสู่ความเพียร หรือผู้มีความเพียร) ในพระพุทธศาสนา หมวดธรรมนี้มีอยู่เจ็ดข้อคือ สติ ความระลึกได้ ธรรมวิจัย ความเลือกเฟ้นธรรม วิริยะ ความพากเพียร ปิติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ สมาธิความตั้งใจมั่นและอุเบกขา ความวางเฉย
                    บางแห่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักว่า สติปัฎฐานสี่ เมื่อเจริญแล้วทำให้มาก แล้วย่อมยังโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์ โพชฌงค์เจ็ดเมื่อเจริญแล้วทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติ ให้บริบูรณ์
                    โพชฌงค์นี้ ในพระบาลีท่านแสดงเป็นความหมายของภาวนาปธาน คือ ความเพียรในการทำให้เกิดกุศลธรรม และเป็นยอดของปธานทั้งหลาย เป็นภาวนาพละ เป็นวิธีกำจัดอาสวะด้วยภาวนา เป็นกรรมชนิดไม่ดำ ไม่ขาว ซึ่งเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เป็น อปริหานิยธรรม คือ เป็นไปเพื่อความเจริญถ่ายเดียว ไม่มีเสื่อมเลย และเป็นมรรคาให้ถึง อสังตะ คือ นิพพาน เช่นเดียวกับโพธิปักขิยธรรม อย่างอื่น ๆ          ๒๑/ ๑๓๕๘๓
            ๔๐๔๙. โพทะเล  อำเภอ ขึ้น จ.พิจิตร ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มโดยมาก ทางตะวันตก เป็นป่ามีไม้เบญจพรรณ
                    อ.โพทะเล เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.บ้านน้อย ต่อมาย้ายมาตั้งที่ ต.บางคลาน ตรงที่ร่วมลำน้ำพิจิตรเก่าและแม่น้ำยม และเรียกชื่ออำเภอว่า อ.บางคลาน มาเปลี่ยนชื่อเป็น อ.โพทะเล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๑/ ๑๓๕๙๑
            ๔๐๕๐. โพแทสเซียม  เป็นธาตุสำคัญลำดับที่ ๑๙ นักเคมีชาวอังกฤษค้นพบ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๐
                    โพแทสเซียม เป็นธาตุที่ว่องไวต่อปฎิกิริยาเคมี ฉะนั้น ในธรรมชาติจึงไม่มีปรากฎอยู่ในภาวะอิสระ แต่มีภาวะรวมตัวอยู่กับธาตุอื่นเป็นสารประกอบ เป็นธาตุที่มีอยู่เปลือกโลกมาก เป็นอันดับแปด และเป็นอันดับหกในทะเล
                    สำหรับมนุษย์ และสัตว์ชั้นสูง ธาตุโพแทสเซียมในรูปของไอออน มีความสำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิต เพราะมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการตอบสนองของกล้ามเนื้อ และประสาท จังหวะการเต้นของหัวใจ ความดันของเหลวภายในเซลล์ หากร่างกายได้รับธาตุนี้น้อยไป หรือได้รับมากเกินไป ก็จะเป็นอันตรายถึงตายได้
                    สารประกอบหลายสารของโพแทสเซียม มีความสำคัญและมีประโยชน์ยิ่งในอุตสาหกรรมหลายประเภท ได้แก่ โพแทสเซียมคาร์บอเนต โพแทสเซียมคลอไรด์ โพแทสเซียมคลอเรต โพแทสเซียม ไซอาไนด์ โพแทสเซียมไนเตรต โพแทสเซียมซัลเฟต โพแทสเซียมไบรไมด์ โพแทสเซียมเพอร์แมงกาเนต โพแตสเซียมเฟอร์รีไซอาไนด์ โพแทสเซียมเฟอร์โรไซอาไนด์ โพแทสเซียมไอโอไดด์  โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์            ๒๑/ ๑๓๕๙๒
            ๔๐๕๑. โพธาราม  อำเภอ ขึ้น จ.ราชบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบมีป่าและภูเขาบ้าง
                    อ.โพธาราม เดิมตั้งอยู่ที่ ต.เจ็ดเสมียน เรียกว่า อ.เจ็ดเสมียน ครั้นปี พ.ศ.๒๔๓๘ ย้ายไปตั้งที่ ต.โพธาราม เปลี่ยนชื่อเป็น อ.โพธาราม            ๒๑/ ๑๓๖๐๑
            ๔๐๕๒. โพธิชัย  อำเภอ ขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง
                    อ.โพธิชัย แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ขึ้น อ.โพนทอง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒           ๒๑/ ๑๓๖๐๒
            ๔๐๕๓. โพธิทอง  อำเภอ ขึ้น จ.อ่างทอง ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มทั่ว ๆ ไป แต่ทางด้านตะวันตก มีที่ดอนและป่าไม้บ้าง
                    อ.โพธิทอง ชาวบ้านเรียกว่า อ.ห้วยลิง เพราะเดิมตั้งที่ว่าการอยู่ที่ ต.ห้วยลิง ภายหลังย้ายไปตั้งที่ ต.อ่างแก้ว มีโบราณสถานคือ วัดโพธิทอง ซึ่งเป็นวัดที่ กรมขุนพรพินิต (ขุนหลวงหาวัด) ทรงผนวชมีซากตึกร้างซึ่งเป็นที่ประทับของกรมขุนพรพินิต เรียกว่า ตึกคำหยาด และวัดขุนอินทประมูล           ๒๑/ ๑๓๖๐๒
            ๔๐๕๔. โพธิประทับช้าง  อำเภอ ขึ้น จ.พิจิตร  ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขา มีแม่น้ำยม ไหลผ่าน
                    อ.โพธิประทับช้าง ตั้งตามชื่อหมู่บ้านโพธิประทับช้าง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ ขึ้น อ.เมืองพิจิตร ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖           ๒๑/ ๑๓๖๐๓
            ๔๐๕๕. โพธิปักขิยธรรม  คือ ธรรมเกื้อกูลแก่ความตรัสรู้ ข้อปฎิบัติที่เป็นเหตุให้ถึงความตรัสรู้ มีข้อธรรมทั้งหมดสามสิบเจ็ดข้อ แบ่งออกเป็น หมวดคือ
                     สติปัฎฐานสี่  ได้แก่  กายานุปัสสนา มีสติกำหดนพิจารณาเห็นกายเป็นอารมณ์ เวทนานุปัสสนา มีสติกำหนดพิจารณาเวทนา ในเวทนาเป็นอารมณ์  จิตตานุปัสสนา มีสติกำหนดพิจารณาเห็นใจในใจเป็นอารมณ์  ธัมมานุปัสสนา มีสติกำหนดพิจารณา เห็นธรรมในธรรมเป็นอารมณ์
                    -  สัมมัปธานสี่  ได้แก่ ความเพียรสี่อย่างคือ สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน  ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว  ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน  อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม
                    -  อิทธิบาทสี่  คือ คุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์สี่อย่างคือ ฉันทะ ความพอใจ รักใคร่ในสิ่งนั้น  วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น ไม่ยอมหยุด จิตตะ  ความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ เอาใจจดจ่อแต่ในสิ่งนั้น วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งนั้น คอยควบคุมดูแลให้เป็นไปด้วยดี
                    -  อินทรีย์ห้า  คือ ความเป็นใหญ่ในกิจอันเป็นหน้าที่ของตน มีห้าอย่างคือ  ศรัทธา ความเชื่อ เช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว  วิริยะ ความเพียร ลงมือกระทำจริง ๆ ทำจนสำเร็จ  สติ ความระลึกได้ จำได้แม่นยำไม่ยอมลืม  สมาธิ ความตั้งใจมั่นในการตั้งติดแน่นไม่ยอมหลุดถอน ปัญญา ความรอบรู้ เช่น รู้เท่า รู้ทัน รู้แท้
                    -  พละห้า  เป็นกำลังในหน้าที่ของตน มีห้าอย่างคือ  ศรัทธา ความเชื่อ เช่น เชื่อผลของกรรม  วิริยะ ความเพียร ถือเพียรละอกุศล เพียรทำแต่กุศล  สติ ความระลึกได้ สมาธิ ความตั้งใจมั่น ปัญญา ความรอบรู้ คือ ทำความรู้ให้รอบคอบ ประกอบด้วยเหตุผล
                    - โพชฌงค์เจ็ด  ธรรมเป็นองค์เแห่งความตรัสรู้มีเจ็ดอย่างคือ สติสัมโพชฌงค์ คือ สติความระลึกได้  ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ ความสอดส่อง ความศึกษาค้นคว้าความเลือกคัดข้อธรรม นำมาประพฤติปฎิบัติให้เหมาะแก่จริยาของตน วิริยสัมโพชฌงค์ คือ ความเพียรพยายามทำไปไม่ยอมหยุด  ปิติสัมโพชฌงค์ คือ ความอิ่มใจเมื่อได้รับผลแห่งการปฎิบัตินั้น ๆ  ปัสสิทธิสัมโพธิฌงค์ คือ ความสงบกาย สงบใจ และอารมณ์  สมาธิโพชฌงค์ คือ ความตั้งใจมั่น  อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ ความวางเฉย เมื่อได้ทำครบทุกอย่างแล้ว
                    -  มรรคมีองค์แปด  ได้แก่ ข้อปฎิบัติให้ถึงนิพพาน มีองค์แปดประการคือ สัมมาทิฐิ ปัญญาอันเห็นชอบคือ เห็นอริยสัจสี่ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค สัมมาสังกัปกะ ความดำริชอบ คือ ดำริจะออกจากกาม ดำริอันไม่พยาบาท ดำริในอันไม่เบียดเบียน สัมมากัมมันตะ การทำการงานชอบคือ เว้นจากการทุจริต สามประการ  สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ เว้นจากการเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด  สัมมาวายมะ ความเพียรชอบ คือ เพียรในสี่สถานดังกล่าวแล้วข้างต้น สัมมาสติ ความระลึกชอบคือ ระลึกในสติปัฎฐานสี่ ดังกล่าวแล้วข้างต้น  สัมมาสมาธิ ความตั้งใจไว้ชอบคือ เจริญฌานทั้งสี่ (ดู ฌาน - ลำดับที่ ๑๙๐๖ ประกอบ)                ๒๑/ ๑๓๖๐๔
            ๔๐๕๖. โพธิสัตว์  มีความหมายหลายอย่าง เช่น ผู้ข้องอยู่ในภาวะแห่งการตรัสรู้ ผู้มีโพธิ ผู้แสวงหาโพธิธรรม ผู้มีโพธิเป็นสาวัตถะ มุ่งถึงสภาวะแห่งดวงจิต ซึ่งแสวงหาโพธิเพื่อสัตว์อื่น หรือมุ่งถึงตัวสารัตถธรรม
                    การนับถือโพธิสัตว์แยกเป็นสองคติคือ คติฝ่ายเถรวาท และคติฝ่ายอาจริยวาท (มหายาน)
                    คติฝ่ายเถรวาท  หมายถึง พระพุทธเจ้าสมัยบำเพ็ญบารมีธรรม สิบประการ (ทศบารมี) คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และอุเบกขา เพื่อบำเพ็ญบารมีเหล่านั้นเต็มเปี่ยมแล้ว ตรัสรู้สั่งสอนธรรมที่ตรัสรู้นั้นช่วยเหลือสรรพสัตว์อื่น
                    คติฝ่ายอาจาริยวาท (มหายาน)  โพธิสัตว์ไม่จำกัดอยู่เพียงฐานะก่อนกาลตรัสรู้ไม่จำเป็นต้องมีภาวะต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น แต่มีขอบเขตกว้างขวาง ไปถึงสรรพสัตว์สูงต่ำทั้งปวง ผู้มีศีลประพฤติธรรม มุ่งหน้าช่วยเหลือสัตว์อื่นผู้มีทุกข์โดยไม่มีประมาณ เมื่อปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ปฏิบัติธรรมยังชีวิต ให้ถึงซึ่งอุดมการณ์ต้องถืออธิษฐานธรรม เป็นมหาปณิธานแน่วแน่สี่ประการเป็นเบื้องต้น คือ
                     ๑. จะทำลายกิเลสตัณหาของตนให้หมดสิ้นไป
                     ๒. จะขจัดกิเลสปฏิบัติตนให้เข้าถึงสัจธรรม (พุทธภูมิ)
                     ๓. จะช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลายให้รู้ตามที่ตนรู้
                     ๔. จะช่วยทำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ทั้งปวง (นำสัตว์ไปสู่ความเป็นพุทธะ)
            ๔๐๕๗. โพธิสารหลวง  เป็นพระนามของกษัตริย์ครองกรุงศรีสัตนาคนหุตขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๓ สิ้นพระชนม์เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๙๐ พระองค์เป็นพระราชบิดาของพระไชยเชษฐา และได้สนับสนุนพระราชโอรสองค์นี้ให้ได้ครองเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากพระไชยเชษฐามีพระราชมารดาเป็นเจ้าหญิงเชียงใหม่          ๒๑/ ๑๓๖๒๔
            ๔๐๕๘. โพนทอง  อำเภอขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศตอนเหนือ และตะวันออกเป็นภูเขาสูงและดงใหญ่ ตอนกลางเป็นโคกสลับแอ่ง ตอนใต้เป็นที่ราบ
                    อำเภอโพนทองตั้งขึ้นโดยโอน ต.แวง  ต.นาแซง ซึ่งขึ้น อ.เสลภูมิ ต.กกโพธิ ต.ชุมพร ซึ่งขึ้น อ.กุธินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ต.เชียงใหม่ ต.ขามเปี้ย ซึ่งขึ้น อ.กมสาไสย จ.กาฬสินธุ์ และต.ม่วง อ.ธวัชบุรี มารวมกันเป็นอำเภอ ตั้งที่ว่าการที่ ต.แวง เรียกชื่อว่า อ.โพนทอง ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๘ ได้โอน ต.นาแซง กับ ต.ท่าม่วงไปขึ้น อ.เสลภูมิ ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.แวง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.โพนทอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖         ๒๑/ ๑๓๖๒๖
            ๔๐๕๙. โพนพิสัย  อำเภอขึ้น จ.หนองคาย มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก แม่น้ำโขง ภูมิประเทศเป็นที่ดอนโดยมาก ตอนกลางเป็นป่าดง ตอนใต้เป็นที่ราบ ตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่ม
                    อ.โพนพิสัย มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เมืองปากห้วย เพราะตั้งอยู่ริมปากห้วยหลวงโพนพิสัย         ๒๑/ ๑๓๖๒๗
            ๔๐๖๐. โพรงแสม  เป็นชื่อขนมไทยชนิดหนึ่งทำด้วยแป้งข้าวเจ้าผสมแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลปีบและทอดด้วยน้ำมันมีรูปทรงกระบอกเป็นโพรงตรงกลาง และมีน้ำตาลหยอดแต่งลวดลายด้านนอก เป็นขนมไทยในสมัยโบราณที่ใช้ในพิธีแต่งงาน         ๒๑/ ๑๓๖๒๗
            ๔๐๖๑. โพรแทกทิเนียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๙๑ เป็นธาตุที่มีปรากฏอยู่ในธรรมชาติ และเป็นธาตุที่หายากยิ่งกว่าธาตุเรเดียม มีปะปนอยู่ในสมัยแร่ยูเรเนียมทุกชนิด เป็นธาตุกัมมันตรังสี ลักษณะเป็นสีเทาอ่อนเป็นมันวาว เป็นธาตุที่มีประโยชน์มากในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และมีราคาแพงมาก         ๒๑/ ๑๓๖๒๙
            ๔๐๖๒. โพรมีเทียม  เป็นธาตลำดับที่ ๖๑ เป็นธาตุกัมมันตรังสีที่ไม่มีปรากฏในธรรมชาติ มีลักษณะเป็นโลหะสีเงิน         ๒๑/ ๑๓๖๓๒
            ๔๐๖๓. โพระดก - นก  นกในวงศ์นี้ประเทศไทยมีอยู่ ๑๓ ชนิด มีลักษณะที่สำคัญ คือ ปากหนาสั้น เวลากินอาหารอิ่มแล้ว ชอบร้องซ้ำ ๆ กันเสียงดัง "โหกป๊ก โหกป๊ก" เป็นจังหวะทุก ๆ ๓ - ๔ วินาที แทบตลอดทั้งวันไปจนจวนพลบ บางคนจึงเรียกนกพวกนี้ว่า นกกระเวนโพร หรือนกตระเวนไพร
                    นกโพระดกเป็นนกค่อนข้างใหญ่เกือบเท่านกเอี้ยง นกสาลิกา บนหลังและปีกสีเขียว บนหัวและอกสีน้ำตาล มีลายสีขาว ๆ ทั่วอก พบตามป่าสูงทั่วไป         ๒๑/ ๑๓๖๓๖
            ๔๐๖๔. โพล้ง  เป็นชื่อหอยชนิดหนึ่งสกุลเดียวกับหอยเบี้ยที่ใช้แทนเงินในสมัยโบราณ เป็นหอยขนาดใหญ่ เปลือกแข็งหนา เป็นมันลักษณะเป็นรูปไข่ ยาว ๘ - ๑๐ ซม.  ๒๑/ ๑๓๖๓๖
            ๔๐๖๕. โพสพ - แม่  มีบทนิยามว่า "เทพธิดาประจำข้าว, เจ้าแม่แห่งข้าว" ทางอินเดียถือพระศรีเทวีเป็นแม่ข้าว ทางชวาเรียกแม่ข้าวว่าพระศรี ตรงกับของอินเดีย ทำรูปเป็นเทวดาผู้หญิงทรงมงกุฎ และอาภรณ์ตามอย่างนางฟ้าชั้นเทวี หัตถ์ซ้ายถือรวงข้าว หัตถ์ขวาหงายเป็นอย่างประทานพร
                    แม่โพสพของไทยเราทำรูปเป็นผู้หญิงสาวชั้นสามัญ ไว้ผมประบ่ามีครอบหน้า และจอนหูประดับด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ตามเคยในภาพเขียน แต่หน้าผ้าจีบสไบเฉียงจากขวาไปซ้าย นั่งพับเพียบแพนงเชิงอย่างไทย         ๒๑/ ๑๓๖๓๗
            ๔๐๖๖. ไพ่  เป็นเครื่องเล่นการพนันทำด้วยกระดาษแข็ง หรือวัตถุอื่นเช่น งาช้าง หรือพลาสติก รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือกลมมีไพ่ผ่อง ไพ่ตอง และไพ่ป๊อก เป็นต้น นอกจากนี้ไพ่ อาจใช้เป็นเครื่องพยากรณ์โชคชะตา หรือเล่นเกมสีต่าง ๆ ที่มิใช่การพนันได้ด้วย
                    ไพ่มีมาช้านานหลายพันปีมาแล้ว เชื่อว่าจีนเป็นผู้คิดไพ่ขึ้น เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ไพ่ของเปอร์เซียเริ่มมีเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๒๑ มีไพ่ทำด้วยงาช้าง ด้านหลังเป็นภาพสีเกี่ยวกับชีวิตในราชสำนัก ไพ่ของอิตาลีเริ่มมีเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีรูปคนถูกแขวนเอาหัวลง ซึ่งเป็นภาพของยุคาส์คงจะเป็นไพ่เริ่มแรกที่เล่นในยุโรป ไพ่ของฝรั่งเศสเริ่มมีในปี พ.ศ.๒๐๙๓ มีการออกแบบไพ่เป็นรูปคิงถือพัดและรูปควีนถือคฑา
                    ไพ่ป๊อก ที่ใช้เล่นกันทั่วไปในขณะนี้เรียกกันว่า สำหรับมาตรฐาน โดยฝรั่งเศสเป็นต้นกำเนิดมีไพ่รวมทั้งสิ้น ๕๒ ใบ แบ่งออกเป็นสี่ชุด และแบ่งออกได้เป็นสองพวก คือ พวกดำ ได้แก่ โพดำกับดอกจิก พวกแดง ได้แก่ โพแดงกับข้าวหลามตัด แต่ละชุดมี ๑๓ ใบ
                    การพนันที่ต้องใช้ไพ่เล่นมีหลายอย่าง เช่น ไพ่นกกระจอก ไพ่ผ่องไทย ไพ่ผ่องจีน ไพ่ซีเซ็ก ไพ่โปกเกอร์ ไพ่เผ ไพ่รัมมี และอื่น ๆ อีกมาก         ๒๑/ ๑๓๖๕๑
            ๔๐๖๗. ไพฑูรย์  เป็นรัตนชาติ หรือแร่ชนิดหนึ่งที่ประกอบด้วย ธาตุเบริลเลียม อะลูมิเนียม และออกซิเจน มีความวาวคล้ายแก้วมีความโปร่งใสไปจนกระทั่งโปร่งแสง รอยแตกไม่เรียบและแตกคล้ายรูปโค้งเว้าก้นหอยมีสีได้หลายสี
                    ปรกติไพฑูรย์มีน้ำตาลอมเหลืองไปจนกระทั่งเหลืองอ่อน,เหลืองน้ำผึ้ง และชนิดที่มีสีอมเขียว ปรกติแร่ชนิดนี้ หากเจียระไนรูปโค้งหลังเต่า เมื่อถูกแสงสว่างจะเกิดปรากฎการณ์สะท้อนของแสงเป็นแนวเส้นขาว (ขาวอมฟ้า) หรือเขียวเทาเหมือนสีลายพาดผ่าน ลักษณะคล้ายตาแมว จึงเรียกกันทั่วไปอีกอย่างหนึ่งว่า เพชรตาแมว ไพฑูรย์ยังมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แก้วสีไม้ไผ่         ๒๑/ ๑๓๖๕๒
            ๔๐๖๘. ไพม้าหรือพายม้า - เรือ  เป็นเรือขุดเสริมกราบ หัวงอน ท้ายงอน บางทีเรียกว่า เรือพลายม้ามีทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ใช้พายหรือใช้แจว ใช้บรรทุกสินค้า หรือใช้งานอื่น ๆ เป็นเรือพม่าอย่างเก่าที่ใช้กันอยู่ทั่วไปตามพื้นเมือง เป็นเรือเล็ก ๆ รูปร่างเหมือนกับเรือของเรา พม่ามาสร้างไว้ในกรุงศรีอยุธยา คนไทยเรียกเรือพม่า ภายหลังจึงเรียกชื่อไปต่าง ๆ ตามท้องถิ่นทางราชการ เรียกว่า เรือเผ้นม้า          ๒๑/ ๑๓๖๕๔
            ๔๐๖๙. ไพร่  มีบทนิยามว่า "ชาวเมือง, พลเมืองสามัญ, คนเลว สามัญ" ในสมัยอยุธยา (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๒๓๑๐) สังคมไทยแบ่งออกเป็นหลายชั้น นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมาก็คือ เจ้านาย ขุนนาง ราษฎรและทาส ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) ได้โปรดเกล้า ฯ ให้แบ่งหน้าที่ราชการออกเป็นฝ่ายทหาร และพลเรือน ฝ่ายทหารมีสมุหกลาโหมเป็นหัวหน้า ฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายกเป็นหัวหน้า
                    ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่สองได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำสารบัญชี ทำการพิธี การทำตำราพิชัยสงคราม เฉพาะการทำสารบัญชีนั้นได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งกรมสรัสวดีขึ้น เรียกกันทั่วไปว่า สัสดี มีหน้าที่เป็นเจ้าพนักงาน ทำทะเบียน พลเมือง มีสาขาตั้งอยู่ตามหัวเมืองทุกแห่ง
                    ในการทำทะเบียนพลเมือง มีความมุ่งหมายที่จะจัดคนเข้ารับราชการทั้งฝ่ายทหาร และพลเรือน แบ่งออกเป็นสามประเภท คือ
                    ๑. ไพร่สม ได้แก่ ชายฉกรรจ์ที่มีอายุ ๑๘ ปี และมีหน้าที่รับราชการจนถึงอายุ ๖๐ ปี หรือมีเหตุรับราชการสามคน จึงพ้นหน้าที่รับราชการ, ไพร่สมต้องฝึกหัดราชการจนถึงอายุ ๒๐ ปี เมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปี ก็เปลี่ยนไปเป็นไพร่หลวง
                    ๒. ไพร่หลวง เป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา ไพร่หลวงรับราชการต่อไปจนถึงเวลาปลดออกจากราชการ และผลัดเปลี่ยนเข้าเวรรับราชการ โดยให้แรงงานแก่ทางราชการ
                    ๓. ไพร่ส่วย ได้แก่ พวกที่ประสบความยากลำบากในการเดินทาง เพราะตั้งภูมิลำเนาอยู่ห่างไกลจากสถานที่รับราชการ จึงต้องจัดหาสิ่งของ ที่ต้องการใช้ในราชการ ส่งมาทดแทนแก่ทางราชการ เมื่อมีศึกสงครามมาประชิดบ้านเมือง มีการระดมไพร่เข้ารับราชการพวกไพร่ส่วย จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งระดมพล เข้าประจำการในกองทัพอย่างพรักพร้อม
                    ในสมัยธนบุรี (พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๒๕)  สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ได้สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้แก่บ้านเมืองได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกำหนด เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๗ ให้เริ่มมีการสักเลขหมายหมู่ของไพร่ไว้ที่ข้อมือว่า สังกัดนายกรมไหนและเมืองใด ควรสังเกตว่าไพร่มีคำเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เลก หรือ เลข หมายถึงเลขหมายหมู่ที่พวกไพร่สังกัดอยู่
                    ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สถาบันไพร่ยังมีความจำเป็นสำหรับการป้องกัน และพัฒนาราชอาณาจักรไทย แต่ได้มีการผ่อนปรนให้ทำงานลดน้อยลง โดยในรัชกาลที่หนึ่งไพร่หลวงเข้ารับราชการเพียงปีละสี่เดือน ต่อมาในรัชกาลที่สองเหลือปีละสามเดือน ฝ่ายขุนนางซึ่งบังคับบัญชาไพร่ ก็ให้ความคุ้มครองแก่ไพร่ของตนในด้านต่าง ๆ เช่น ในการพิจารณาคดีไพร่ที่ต้องโทษขุนนางที่มีตำแหน่งสำคัญ ๆ บางคนออกหนังสือประทับตรา ยกเว้นภาษีบางอย่างให้แก่ไพร่ของตนเป็นต้น ไพร่ที่มีศักดินาตั้งแต่ ๑๐ - ๒๕ ไร่ และได้รับความอุปถัมภ์แก่ไพร่ และครอบครัว คนชรา ผู้หญิงและเด็กก็จัดอยู่ในประเภทบริวารของไพร่
                    ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการทำศึกกับพม่า ญวน ลาว เขมร ตลอดไปจนถึงมลายู ในแต่ละครั้งมีการกวาดต้อนผู้คนเข้ามาเป็นเชลยจำนวนมาก โดยได้กวาดต้อนมาจากหัวเมืองชายแดน และทางราชการได้แจกจ่ายบุคคลเหล่านั้นให้เป็นไพร่ ซึ่งแบ่งออกเป็นประเภท ๆ ดังต่อไปนี้
                    ๑. ไพร่เชลยศึก  พระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่เจ้านาย แม่ทัพนายกองที่มีความดีความชอบในราชการสงคราม ส่วนที่เหลือให้เป็นไพร่หลวงสังกัดกรมกองต่าง ๆ
                    ๒. ไพร่เกลี้ยกล่อม  ในการสงครามกับญวนในรัชกาลที่สามได้เกลี้ยกล่อมชาวลาวและชาวเขมรเข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขต มีฐานะเป็นไพร่เกลี้ยกล่อม
                    ๓. ไพร่สวามิภักดิ์  เป็นพวกที่อพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
                    ในปี พ.ศ.๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ขึ้นครองราชย์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้แผ้วถางเลิกระบบไพร่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๕ โดยมีการตรา พ.ร.บ.หลายฉบับมีลักษณะเป็นทหาร "สมัคร" เสียก่อน โปรดเกล้า ฯ ให้รับไพร่หลวง และบุตรในหมู่ใดกระทรวงใดเข้ามาเป็นทหารในกรมทหารม้า เมื่อรับราชการครบห้าปีก็พ้นจากประจำการ ปรากฎว่ามีผู้สมัครเป็นทหารกันมาก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๒ ทางราชการได้จัดให้มีการสำรวจสำมะโนครัวไพร่ขึ้น เมื่อไพร่ผู้ใดจะโอนไปอยู่กับผู้ใดจะโอนสำมะโนครัวไปด้วย ผู้ที่รับผิดชอบควบคุมสำมะโนครัว คือ นายอำเภอ และกำนันในแต่ละท้องที่
                    ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้าให้ตรา พ.ร.บ.ลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ.๑๒๔ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบทหาร จากการสมัครมาเป็นเกณฑ์ โดยกำหนดให้ไพร่ที่มีอายุ ๑๘ - ๒๐ ปี ต้องเข้ามารับการคัดเลือกเป็นทหารทุกคนในแต่ละปี ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก จะต้องเข้ามารับราชการทหาร ในกองประจำการเป็นเวลาสองปี จึงเป็นกองหนุน แล้วไม่ต้องเสียเงินค่าราชการใด ๆ อีกต่อไปจนตลอดชีวิต ส่วนคนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจะเสียเงินให้ราชการแทน หรือรอไว้สำหรับการคัดเลือกในปีต่อไปก็ได้         ๒๑/ ๑๓๖๕๕
            ๔๐๗๐. ไพรบึง  อำเภอ ขึ้น จ.ศรีสะเกษ ภูมิประเทศส่วนมาเป็นที่ราบเป็นทุ่งนา และป่าละเมาะ พื้นที่เป็นดินปนทราย
                    อ.ไพรบึง แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ขึ้น อ.ขุขันธ์  ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘         ๒๑/ ๑๓๖๖๑
            ๔๐๗๑. ไพล  เป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นสะสมอาหารใต้ดินเป็นเหง้าใหญ่ เนื้อเหง้าที่เหลืองเข้ม กลิ่นหอมฉุน รสร้อนซ่า ลำต้นส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินสูง ๓๐ - ๑๕๐ ซม. รอบลำต้นมีใบออกเรียงสลับกันไม่มีก้านใบ มีเป็นกาบแบนเรียบ ตัวใบรูปเรียว ออกดอกเป็นช่อมีก้านช่อดอกยาว ๑๘ - ๓๐ ซม. ชูออกมาจากเหง้าดอก ออกเรียงซ้อนกันเป็นรูปคล้ายกระสวย หรือรูปไข่เจียว ตัวดอกสีครีมหรือเหลืองซีด
                    มีการนำเหง้าไพลมาใช้ในทางการแพทย์แผนโบราณของประเทศต่าง ๆ ใช้แก้ปวดท้อง แก้บวม และขับพยาธิในเด็ก แก้พิษ หนองฝี แก้ไข้ แก้จุกเสียด ปวดท้องและท้องเสีย แก้เคล็ดยอก ฟอกช้ำ ปวดเมื่อย แก้เหน็บชา ขับระดู ขับน้ำคาวปลา ให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้หืด
                    มีการศึกษาเกี่ยวกับการออกฤทธิ์ของไพลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกายสัตว์ทดลอง พบว่ามีผลต่อการลดจังหวะการเต้น และการหดของหัวใจ มีฤทธิ์คล้ายเป็นยาชาเฉพาะที่ และมีฤทธิ์ในการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ         ๒๑/ ๑๓๖๖๒
            ๔๐๗๒. ไพลิน  เป็นพลอยแซปไฟร์ที่มีสีน้ำเงินจัด มีเหลือบกำมะหยี่ที่สวยงามนับเป็นเลิศ พบมากที่บ่อไพลินในประเทศเขมร
                พลอยไพลินเป็นแร่ชนิดหนึ่งในตระกูลคอรันดัม, พลอยสีน้ำเงินของไทยที่พบมักจะเป็นรูปหกเหลี่ยม ปลายเรียวทั้งด้านบนและด้านล่าง
                    ไพลินมีความแข็ง ๙ ตามสเกลความแข็งเปรียบเทียบมาตรฐานของโมห์นับว่าแข็งเป็นลำดับสองรองจากเพชร และสูงกว่าควอตซ์          ๒๑/ ๑๓๖๖๓
            ๔๐๗๓. ไพศาลี  อำเภอขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงมีป่าไม้ และภูเขาอยู่ทั่วไป
                   อ.ไพศาลีแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ขึ้น อ.ท่าตะโก ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘         ๒๑/ ๑๓๖๗๒

            ๔๐๗๔. ฟ.พยัญชนะตัวที่ ๓๑ ของพยัญชนะไทย  เป็นพวกอักษรต่ำ ใช้เป็นตัวสะกดในแม่กบในคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ
                   อักษร ฟ ออกเสียงโดยใช้ฟันบนกดลงที่ริมฝีปากล่าง เป็นเสียงเสียดแทรกและเสียงไม่ก้อง        ๒๑/ ๑๓๖๗๒
            ๔๐๗๕. ฟลูออรีน เป็นธาตุลำดับที่ ๙ ในธรรมชาติไม่มีปรากฎอยู่ในภาวะอิสระ เนื่องจากธาตุนี้มีความว่องไวมากที่สุดในการทำปฏิกิริยาเคมี ดังนั้นจึงมีปรากฎอยู่ แต่ในภาวะรวมตัวกับธาตุอื่นเป็นสารประกอบอยู่ในแร่ต่างๆ
                    ธาตุฟลูออรีนมีสถานะเป็นแกสที่อุณหภูมิ และความดันปรกติมีสีเหลืองซีด กลิ่นฉุนจัดกัดเหยื่อจมูก เป็นแกสพิษอย่างแรง ธาตุฟลูออรีนสามารถทำปฎิกิริยากับสารประกอบอนินทรีย์ และสารประกอบอินทรีย์ได้เกือบทุกชนิด ผงละเอียดของโลหะคาร์บอน แก้ว เซรามิค และแม้แต่ฝอยละอองน้ำ ก็ลุกไหม้ในแกสฟลูออรีนให้เปลวไฟ สว่างจ้าได้ ธาตุฟลูออรีนเป็นตัวออกซิไดส์ที่แรงมากยิ่งกว่าธาตุอื่น ๆ ทั้งหมด
                    ธาตุฟลูออรีนและสารประกอบของธาตุนี้มีประโยชน์มากมาย ร่างกายมนุษย์ต้องการฟลูออรีนปริมาณน้อย ๆ ที่เหมาะสมเพื่อความแข็งแรง และความสมบูรณ์ของฟันและกระดูก         ๒๑/ ๑๓๖๗๔
            ๔๐๗๖. ฟองน้ำ - สัตว์  เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในน้ำทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยเกาะติดอยู่กับวัตถุ เช่น รากไม้ ก้อนหิน หรือติดอยู่กับพื้น ฟองน้ำน้ำจืดมักมีลักษณะเป็นก้อนกลมสีน้ำตาล พบในหนองบึง และชายฝั่งแม่น้ำ ฟองน้ำที่อยู่ในทะเลมีสี และรูปร่างเป็นหลายแบบ ฟองน้ำมีขนาดแตกต่างกันไป ตามแต่ชนิดตั้งแต่ขนาด ๑ - ๓ มม. จนถึงขนาดใหญ่มาก
                    ฟองน้ำเป็นสัตว์หลายเซลล์ชั้นต่ำสุด ที่เซลล์เริ่มประกอบกันเป็นเนื้อเยื่อ ระบบต่าง ๆ ยังไม่เจริญ ไม่มีปาก ไม่มีทางเดินอาหาร ไม่มีระบบประสาท มีช่องว่างเป็นโพรงอยู่กลางลำตัว ฟองน้ำกินพืช และสัตว์ขนาดเล็ก รวมทั้งสารอินทรีย์ขนาดเล็กอื่น ๆ ที่ลอยอยู่ในน้ำ และดูดเซลล์ที่มีแส้ดักไว้ อาหารบางประเภทจะซึมผ่านเข้าผนังเซลล์ของฟองน้ำโดยตรง บางประเภทก็ถูกนำไปย่อยภายในเซลล์ อาหารที่เหลือใช้ก็จะถูกสะสมไว้ ฟองน้ำมีการแพร่พันุ์เป็นสองแบบ คือ การสร้างเซลล์สืบพันธุ์และการแตกหน่อ         ๒๑/ ๑๓๖๘๐
            ๔๐๗๗. ฟลอร์เรนไนติงเกล  (ดูไนติงเกล - ลำดับที่ ๒๙๘๐)         ๒๑/ ๑๓๖๘๔
            ๔๐๗๘. ฟอลคอน  เป็นชาวกรีกเกิดเมื่อราวปี พ.ศ.๒๑๙๐ มีนามสกุลว่า เยรากี แปลว่า เหยี่ยว นกเขา เขาได้เดินทางไปอยู่ที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๑๒ เขาได้เป็นเด็กประจำเรือโฮปเวลล์ ซึ่งเดินทางมาค้าขายทางประเทศต่าง ๆ ในทวีปเอเซีย  และต่อมาได้เปลี่ยนไปรับจ้างเป็นลูกเรือ ของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ และได้มาประจำสถานีการค้าของบริษัทที่กรุงศรีอยุธยา
                    เมื่อราวปี พ.ศ.๒๒๒๒ เจ้าหน้าที่อาวุโสของบริษัทอินเดียตะวันออกได้นำเขาไปฝากกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) เพื่อทำหน้าที่ล่าม และได้เข้ารับราชการในตำแหน่งสมุหบัญชีในกรมพระคลังสินค้า ได้แสดงความสามารถในด้านต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงวิชาเยนทร์ มีตำแหน่งในกรมพระคลังสินค้า ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาวิชาเยนทร์ และพระยาวิชาเยนทร์ได้แสดงบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และการค้าขายกับบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส
                    เมื่อวิชาเยนทร์ได้เป็นหัวหน้าในราชการต่างประเทศ ก็ตั้งใจพยายามที่จะให้บังเกิดประโยชน์แก่เมืองไทยด้วย คิดจะให้ไทยเป็นสัมพันธมิตรกับฝรั่งเศส  กีดกันมิให้ฮอลันดาและอังกฤษคิดรายได้ และคิดจะบำรุงการค้าขายของไทยให้เจริญโภคทรัพย์เป็นกำลังของบ้านเมือง สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงเห็นชอบกับฟอลคอน จึงโปรด ฯ ให้ส่งคณะทูตไทยไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔
                    เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ประชวร พระเพทราชาได้ยึดอำนาจการปกครองที่กรุงศรีอยุธยา พระเพทราชาไม่ชอบเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ที่ได้เปลี่ยนไปเข้ารีดนับถือศาสนาคริสตัง และเกื้อกูลบาทหลวงฝรั่งเศสในการเผยแพร่ศาสนานี้ ตลอดจนใกล้ชิดกับกองทหารฝรั่งเศสของนายพลเดส์ ฟาร์ช ซึ่งอาจจะเป็นภัยแก่บ้านมืองในเวลาต่อไป
                    ในปี พ.ศ.๑๒๓๑ สมเด็จพระนารายณ์ประชวร และประทับอยู่ ณ พระราชวังเมืองลพบุรี ทรงชุบเลี้ยงเจ้าราชนิกุล ซึ่งทรงแต่งตั้งเป็นพระปีย์ ทรงเมตตาเหมือนพระราชบุตรบุตรธรรม เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เข้าใจว่า เมื่อถึงเวลามอบเวนราชสมบัติ คงพระยศให้แก่พระปีย์ จึงได้คบคิดกับบาทหลวง พยายามเกลี้ยกล่อมให้พระปีย์เลื่อมใสในศาสนาคริสตัง และกลายเป็นผู้นิยมฝรั่งเศส
                    พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์เห็นสมเด็จพระนารายณ์ทรงมีพระอาการหนัก จึงล่อให้พระปีย์ และเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เข้าไปในพระราชวัง แล้วกล่าวหาว่าคบคิดกันเป็นกบฎชิงราชสมบัติแล้วประหารชีวิตทั้งสองคน         ๒๑/ ๑๓๖๘๔
            ๔๐๗๙. ฟอสฟอรัส  เป็นธาตุลำดับที่ ๑๕ นักรสายนเวท ชาวเยอรมันเป็นผู้ค้นพบ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๑๒
                    ในธรรมชาติธาตุฟอสฟอรัสไม่มีปรากฎอยู่ในภาวะอิสระ เนื่องจากมีความว่องไวมากในการทำปฏิกิริยาเคมี ดังนั้นจึงปรากฏอยู่แต่ในภาวะรวมตัวกับธาตุอื่น เป็นสารประกอบ และพบกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในเปลือกโลก จัดว่ามีอยู่มากในเปลือกโลกเป็นอันดับที่ ๑๒ มีปรากฏอยู่ในลักษณะเป็นสารประกอบฟอสเฟตในแร่ธาตุต่าง ๆ เกือบ ๒๐๐ ชนิด
                    ฟอสฟอรัสเป็นอโลหะมีประมาณสิบอัญรูป ที่สำคัญมีสามอัญรูป คือ
                    ฟอสฟอรัสขาว ฟอสฟอรัสแดงและฟอสฟอรัสดำ
                    ธาตุฟอสฟอรัส และสารประกอบของธาตุนี้ มีประโยชน์อย่างมากมาย กล่าวคือ เมื่อทำฟอสฟอรัสให้เป็นสารประกอบซัลไฟด์ คลอไรด์ และออกไซด์ แล้ว ก็สามารถนำไปใช้ในงานสังเคราะห์เคมีภัณฑ์ ได้มากมาย ซึ่งมีทั้งเคมีภัณฑ์ อินทรีย์ และอนินทรีย์  นอกจากนี้ยังใช้ฟอสฟอรัสในกิจการทหารคือ ใช้ทำระเบิดเพลิง หมอกควัน ควันสัญญาณ ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตโลหะเจือ ใช้ทำสารประกอบที่ใช้เป็นยารักษาโรค
                    ในมนุษย์และสัตว์ ของเหลวภายในเซลล์ของเนื้อเยื่อ จะต้องมีธาตุฟอสฟอรัส ปรากฎอยู่ด้วยในลักษณะที่เป็น ฟอสเฟตไอออน
                    สำหรับสารประกอบฟอสเฟต นอกจากจะใช้ทำปุ๋ยแล้ว ยังใช้สารบางสารไปขจัดคราบกระด้างของน้ำ เพื่อใช้กับหม้อน้ำเครื่องจักรได้ด้วย      ๒๑/ ๑๓๖๙๒
            ๔๐๘๐. ฟัก  เป็นพืชล้มลุกฤดูเดียว ในภาคกลางเรียกฟักขาว ฟักเขียว ฟักจีน หรือแฟง พันธุ์ไม้นี้อยในวงศ์เดียวกับตำลึง ฟักทอง และฟักขาว เป็นไม้เลื้อยเถาอ่อน ลำเถาทอดยาวไปได้ไกลมาก มีมือจับเป็นเส้นยาว ปลายแยกเป็นสองแฉก หรือสามแฉกอยู่ตรงข้อในตำแหน่งตรงข้ามกับใบ ลำเถาค่อนข้างกลมหนามีร่องลึก ตามความยาวมีขนแข็ง ๆ สีขาวจำนวนมากปกคลุมทั่วไป ในเดียวรูปไข่ค่อนข้างกว้าง ดอกเดียวแยกเพศ ออกตรงซอกใบ กลีบดอกสีเหลือง ผลกลมยาวคล้ายรูปทรงกระบอก เปลือกหนา ยาว ๓๐ - ๔๐ ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๕ - ๒๐ ซม. เมล็ดแบนสีขาว
                    ฟักเป็นพืชผักที่รู้จักกันมานานมาก ผลใชประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน ใบและยอดใช้ต้มบริโภคเป็นผัก ผลใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับน้ำเหลืองเสีย และเส้นเลือด ใบใช้เป็นยาพอก รากใช้รักษาโรคหนองใน         ๒๑/ ๑๓๗๐๐
            ๔๐๘๑. ฟัน  ฟันของมนุษย์มีสองชุด ชุดแรกเรียกฟันน้ำนม เริ่มมีตั้งแต่อายุหกเดือนขึ้นไป เริ่มหลุดเมื่อมีฟันแท้ออกมาตั้งแต่อายุ ๗ - ๑๒ ขวบ ฟันแท้จะขึ้นครบต่อเมื่อมีกรามซี่ที่สาม หรือซี่สุดท้ายงอกขึ้นมาเมื่ออายุ ๑๘ - ๒๑ ปี
                    ฟันแต่ละซี่แบ่งออกได้เป็นสามส่วน คือ ตัวฟัน คอฟัน และรากฟัน  ตัวฟัน คือ ส่วนของฟันที่งอกขึ้นมาปรากฏอยู่ในช่องปาก  รากฟัน คือ ส่วนของฟันที่ฝั่งอยู่ในเบ้ารากฟันของกระดูกขากรรไกรทั้งบนและล่าง ส่วนที่ต่อระหว่างรากฟันกับตัวฟันคือ คอฟัน ซึ่งเป็นส่วนของฟันที่มีเหงือกมาสัมผัสอยู่
                    ฟันแต่ละซี่ประกอบขึ้นด้วยเนื้อเยื่อ รวมสี่ชนิด มีทั้งชนิดแข็งและชนิดอ่อน ชนิดแข็งที่อยู่ชั้นนอกของตัวฟันเรียกว่า เคลือบฟัน มีสีขาวปนเหลือง และเป็นมันที่รากฟัน ก็มีเคลือบรากไม่แข็งแรงเหมือนเคลือบฟัน ส่วนเนื้อฟันคือ เนื้อเยื่อที่ประกอบกันขึ้นเป็นตัวฟันทั้งซี่ ส่วนเนื้อเยื่อชนิดอ่อนเรียกว่า พัลป์หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ประสาทฟัน บรรจุอยู่ในโพรงพัลป์ และคลองรากฟัน ประกอบด้วยเนื้อเยื่อยึดต่อเส้นประสาท เส้นโลหิตและระบบน้ำเหลือง มีช่องทางติดต่อกับภายนอก ทางรูเปิดเล็ก ๆ ที่ปลายรากฟัน
                    มนุษย์มีฟันน้ำนม ๒๐ ซี่ ฟันแท้ ๓๒ ซี่ ชุดฟันน้ำนมในขากรรไกรแต่ละอันจะมีฟันตัดสี่ซี่ ฟันเขี้ยวสองซี่และฟันกรามสี่ซี่  ชุดฟันแท้มีฟันตัดสี่ซี่ ฟันเขี้ยวสองซี่ ฟันกรามน้อยสี่ซี่และฟันกรามหกซี่         ๒๑/ ๑๖๗๐๒
            ๔๐๘๒. ฟันม้า  เป็นคำที่ใช้เรียกแร่แฟลด์สปาร์ที่มีสีขาวหรือสีไข่ไก่ เนื้อขุ่น ลักษณะผลึกเป็นแท่งสั้น ๆ เป็นแร่ประกอบหินสำคัญของหินอัคนี โดยเฉพาะพวกหินแกรนิต ลักษณะเป็นแท่งสั้น ๆ ดูคล้ายฟันม้าจึงเรียกกันว่า หินฟันม้า (ดูเฟลด์สปาร์ - ลำดับที่ ๔๐๖๙ ประกอบด้วย)         ๒๑/ ๑๓๗๐๙
            ๔๐๘๓. ฟ้า  มีบทนิยามว่า "ส่วนเบื้องบนที่แลเห็นครอบแผ่นดินอยู่"
                    ฟ้ามีลักษณะเป็นผิวของรูปครึ่งทรงกลมกลวง โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ ณ จุดที่ผู้สังเกตอยู่ ทั้งนี้เพราะระยะจากผู้สังเกตที่มองไปยังจุดต่าง ๆ บนฟ้ายาวเท่ากันทุกทิศทาง ของระดับที่ฟ้าจดแผ่นดิน อันราบเรียบเป็นระดับต่ำสุดอยู่รอบตัว ผู้ดูทุกทิศทางเรียกว่า ขอบฟ้า จุดบนฟ้าที่ต้องเงยหน้าขึ้นไปดูมากที่สุดคือ จุดสูงสุดของฟ้าเรียกว่า จุดเหนือศีรษะ อยู่สูงกว่าขอบฟ้า ๙๐ องศา
                    มีจุดสำคัญสี่จุดที่ระดับขอบฟ้า คือ จุดทิศทั้งสี่ได้แก่จุดทิศตะวันออก จุดทิศตะวันตก จุดทิศเหนือและจุดทิศใต้ จุดทิศตะวันออกหมายถึงจุดที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในวันที่ ๒๑ มีนาคมหรือ ๒๓ กันยายน จุดทิศตะวันตก คือจุดที่ดวงอาทิตย์ตกใจวันที่ ๒๑ มีนาคมหรือ ๒๓ กันยายน จุดทิศเหนือและจุดทิศใต้อยู่ห่างจากจุดทิศตะวันออกไปข้างละ ๙๐ องศา
                    ฟ้ามีลักษณะกว้างใหญ่ไพศาลไกลสุดตาจึงเรียกจุดนี้ว่า ท้องฟ้า
                    ถ้าออกไปอยู่ในอวกาศไกลจากโลกจะเห็นฟ้าเป็นผิวของรูปทรงกลมกลางเรียกว่า ทรงกลมฟ้า
                    ฟ้าของโลกมีสีคราม ในอวกาศหรือบนดวงจันทร์ ฟ้ามีสีดำ ทั้งนี้เพราะในอวกาศ และบนดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศ แต่บนโลกมีบรรยากาศที่หนาทึบมาก เมื่ออยู่ที่ผิวโลกบรรยากาศ สามารถแยกแสงอาทิตย์ออกเป็นสีต่าง ๆ ได้ และส่วนที่เป็นสีน้ำเงินถูกบรรยากาศกระเจิงกลับสู่ท้องฟ้ามากกว่าสีอื่น ๆ ดังนั้นฟ้าจึงมีสีครามหรือสีน้ำเงิน         ๒๑/ ๑๓๗๐๙
            ๔๐๘๔. ฟากท่า  อำเภอขึ้น จ.อุตรดิตถ์ มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันออกจดประเทศลาว ภูมิประเทศเป็นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ อยู่ในทิวเขาทั้งฟากด้านตะวันออก และตะวันตก มีป่าไม้เบญจพรรณมาก
                    อ.ฟากท่า แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ขึ้น อ.น้ำปาด ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑    ๒๑/ ๑๓๗๑๔
            ๔๐๘๕. ฟ้างุ้ม  เป็นพระนามของกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรล้านช้าง ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๑๘๕๙ เป็นพระโอรสของขุนยักษ์ฟ้า เมื่อขุนยักษ์ฟ้าไปเป็นชู้กับพระชายาชาวเขมรของพระบิดา จึงถูกเนรเทศไปนอกอาณาจักรล้านช้าง เจ้าชายฟ้างุ้มติดตามพระบิดาไปด้วย โดยอาศัยแพเป็นพาหนะ ครั้นแพนี้ไปถึงแก่งลี่ผีติดกับอาณาจักรเขมรโบราณหรือขอม ภิกษุรูปหนึ่งได้เลี้ยงเจ้าฟ้างุ้มไว้ถึงเจ็ดปี แล้วจึงนำไปถวายตัวต่อกษัตริย์ขอม ซึ่งได้เลี้ยงดูเจ้าฟ้างุ้มเสมือนราชบุตรบุญธรรม ครั้นอายุได้ ๑๖ ปี พระเจ้าแผ่นดินขอมได้ประทานพระธิดาเป็นพระชายา ต่อมาได้โปรดให้แต่งทัพไปตีล้านช้าง เพื่อชิงราชสมบัติ
                    ระหว่างเดินทัพไปล้านช้างเจ้าฟ้างุ้มไปพบเจ้าคำย่อโอรสเจ้าเมืองพวน ซึ่งเป็นแคว้นอิสระอยู่ในเวลานั้น เจ้าคำย่อกลัวพระบิดาจะจับฆ่า เพราะได้ลอบเป็นชู้กับชายาของพ่อจึงได้หนีไปพบเจ้าฟ้างุ้ม ทั้งสองตกลงกันว่า ถ้าเจ้าฟ้างุ้มช่วยตีเมืองพวนได้ เจ้าคำย่อจะยอมเป็นเมืองขึ้นของเจ้าฟ้างุ้ม ในที่สุดเจ้าฟ้างุ้มตีเมืองพวนได้และเจ้าคำย่อได้เป็นพระยาคำย่อ และจัดกำลังจากเมืองพวนไปสมทบกองทัพเจ้าฟ้างุ้มยกไปตีล้านช้างได้ เจ้าฟ้างุ้มขึ้นครองราชย์ล้านช้าง ทรงพระนามว่า พระเจ้าฟ้างุ้ม เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๖ และสิ้นสุดลง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๖
                    เจ้าฟ้างุ้มได้แสดงความสามารถยกกองทัพไปตีบ้านเล็กเมืองน้อยได้มามาก นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ได้ยกย่องเจ้าฟ้างุ้มว่า ได้ทำความเข้มแข็งให้แก่อาณาจักรล้านช้าง เช่นเดียวกับพระเจ้ารามคำแหง ฯ ทรงทำให้แก่อาณาจักรสุโขทัย แต่เจ้าฟ้างุ้มประพฤติตนไม่ดีไม่งามชอบผิดลูกเมียผู้อื่น จนในที่สุดบรรดาข้าราชการได้ร่วมมือกันปลดพระองค์จากราชสมบัติ และขับไล่ออกจากอาณาจักรล้านช้าง         ๒๑/ ๑๓๗๑๕
            ๔๐๘๖. ฟ้ามุ่ย  เป็นกล้วยไม้ประเภทที่ความเจริญเติบโตเริ่มจากปลายยอดขึ้นไปปรกติชอบเกาะอยู่บนต้นไม้ ใบแคบรูปรางน้ำ ช่อดอกออกตามง่ามใบ ตอนปลายลำต้น ช่อหนึ่งมีประมาณ ๕ - ๑๕ ดอก สีม่วงอ่อนหรือม่วงเข้ม เกสรสีขาวออกดอกเดือนสิงหาคม - ตุลาคม พบตามป่าเขาทางภาคเหนือ ตั้งแต่ความสูง ๖๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป         ๒๑/ ๑๖๗๑๘
            ๔๐๘๗. ฟ้ารั่ว  เป็นพระนามของเจ้าฟ้ารั่ว ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ กรุงสุโขทัยได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งได้กระทำโดยสองวิธีคือ วิธีแรก โดยทำศึกสงครามปราบปรามเมืองต่าง ๆ ที่เป็นอิสระ วิธีหลังคือ เมืองเหล่านั้นอ่อนน้อมสวามิภักดิ์พ่อขุนรามคำแหงได้อาณาจักรมอญมาเป็นประเทศราช เนื่องจากเจ้าฟ้ารั่วผู้ครองอาณาจักรมอญมาสวามิภักดิ์
                    เจ้าฟ้ารั่วมีนามเดิมว่า มะกะโท หลักฐานไทยไม่ตรงกับหลักฐานมอญหรือพม่าเกี่ยวกับประวัติเจ้าฟ้ารั่ว ตามหลักฐานไทยเจ้าฟ้ารั่ว มีเชื้อสายไทยใหญ่อยู่ที่เมืองเมาะตะมะ ต่อมาได้เป็นพ่อค้าเร่เดินทางไปยังกรุงสุโขทัย ส่วนหลักฐานมอญมีใจความว่า เมื่อมอญได้รวมกันเป็นอาณาจักรเดียวกันได้ การกบฏได้เกิดขึ้นในแคว้นตะนาวศรี เมื่อพระเจ้านรสีหบดีแห่งอาณาจักรพุกามขึ้นครองราชย์ มีพวกกบฎมอญพวกหนึ่งชื่อมะกะโทมีบิดาเป็นนักผจญภัยคนไทย มารดาเป็นมอญ เกิดที่เมืองสะโตง ตามหลักฐานพม่าเมื่อการกบฏล้มเหลว มะกะโทได้หนีมารับราชการในกรมช้าง ณ กรุงสุโขทัย ต่อมามีความชอบพ่อขุนรามคำแหง ฯ โปรดให้มะกะโทเข้ารับราชการในราชสำนัก และได้ผูกสมัครรักใคร่กับราชธิดาองค์หนึ่งของพระองค์ แล้วแอบหนีไปอยู่เมืองเมาะตะมะ
                    เมื่อมะกะโททราบว่ากองทัพพม่าพ่ายแพ้พวกมองโกล เขาได้เกลี้ยกล่อมให้เจ้าเมืองมอญที่นิยมพม่าประจำเมืองเมาะตะมะมาทำการกบฏ ครั้นถูกปฎิเสธ เขาที่ได้ปลุกระดมชาวเมืองเมาะตะมะให้ก่อการจลาจล และจับเจ้าเมืองคบนั้นฆ่าเสียแล้วยกตนเองเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้ารั่ว ต่อมาเมื่อกรุงพุกามแตกแล้วในปี พ.ศ.๑๘๓๐ มะกะโทได้รวบรวมพรรคพวกสมทบกับตะระพญา ซึ่งเป็นมอญเหมือนกัน และเจ้าเมืองหงสาวดีขับไล่พม่าออกจากแคว้นหงสาวดีได้ปกครองดินแดน ทั้งหมดทางใต้เมืองแปร และเมืองตองอูคือ หัวเมืองมอญทั้งหมด มะกะโทได้เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรมอญ
                    มะกะโทได้มีสาสน์กราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษต่อพ่อขุนรามคำแหง ฯ ในการพาพระราชธิดาไปจากกรุงสุโขทัย อาณาจักรมอญ จึงเป็นประเทศราชของกรุงสุโขทัย ตลอดรัชกาลของพระองค์
                    ครั้นเจ้าฟ้ารั่วสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๘๓๙ แล้ว มีการชิงราชสมบัติในที่สุดพระเจ้าแสนเมืองมิ่งได้ขึ้นครองราชบัลลังก์มอญ และตั้งเป็นอิสระต่อกรุงสุโขทัย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลังพ่อขุนรามคำแหง ฯ สวรรคตแล้ว (พ.ศ.๑๘๒๒ - ๑๘๔๒)         ๒๑/ ๑๖๗๑๘
            ๔๐๘๘. ฟาสซิสต์  เป็นลัทธิการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลีภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อิตาลีได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบประชาธิปไตย มาเป็นระบอบฟาสซิสต์ของเบนิโตมุสโสลินี
                    หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อิตาลีไม่ได้ส่วนแบ่งดินแดนตามที่ตนต้องการ อิตาลีต้องการได้แอลบาเนียเป็นเมืองในอาณัติภายใต้สันนิบาตชาติ แต่ในที่สุดอิตาลีต้องถอนกำลังของตนออกจากแอลบาเนียและฟิอูเมในแอฟริกา อิตาลีได้ส่วนแบ่งดินแดนเพียงเล็กน้อยมารวมกับลิเบีย และโซมาลีแลนด์ ซึ่งเป็นอาณานิคมของตนอยู่แล้ว ทำให้พวกชาตินิยมโกรธเคือง ถึงกับได้ประกาศสัญญาว่าจะสร้างอิตาลีขึ้นใหม่
                    ในขณะเดียวกันสถานการณ์ภายในก็ตกต่ำ เกิดการว่างงาน ค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อ เศรษฐกิจทรุดโทรมลงทำให้กรรมกรและเกษตรกรปั่นป่วน มีการนัดหยุดงานและการปิดโรงงานต่าง ๆ ตามชนบท ทำให้ชาวอิตาเลียนหลายกลุ่มแสดงความปรารถนาที่จะให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ต้องการให้มีการปรับปรุงการปกครองครั้งใหญ่ พวกชาตินิยม และทหารเรียกร้องที่จะให้มีบุคคลชุดใหม่มาบริหารบ้านเมือง
                     เบนิโตมุสโสลินี และพรรคฟาสซิสต์ จึงได้โอกาสเข้าควบคุมการปกครองของประเทศอิตาลี พระเจ้าวิกเตอร์เอมานูเอลที่สาม ทรงแต่งตั้งเบนิโตมุสโสลินี เป็นายกรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕
                    เบนิโตมุสโสลินีเกิด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๖ บิดาเป็นช่างตีเหล็กมีความโน้มเอียงไปทางลัทธิโซเชียลสิสต์ มารดาเป็นครู เขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนฝึกหัดครูแล้ว ประกอบอาชีพครู แต่ไม่ชอบเป็นครู ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขาต้องเข้ารับราชการเป็นพลทหาร ต่อมาได้กลับไปเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ราษฎรอิตาเลียที่เคยทำอยู่เดิม ได้ตั้งพรรคฟาสซิสต์ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๖๒ มีผู้นิยมพรรคนี้กันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พระเจ้าวิกเตอร์เอมานูเอลที่สามทรงมอบให้มุสโสลินีจัดตั้งรัฐบาลในปี พ.ศ.๒๔๖๕ และดำรงตำแหน่งผู้นำจนสิ้นอำนาจในปี พ.ศ.๒๔๘๖
                    ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงหลายอย่าง การเกษตรกรรมได้รับการส่งเสริมช่วยเหลือ เพื่อให้อิตาลีสามารถผลิตอาหารเพียงพอเลี้ยงตัวเอง ด้านศาสนาได้ดำเนินการประสานความกลมเกลียวระหว่างสันตปาปากับรัฐบาล โดยได้ลงนามในสนธิสัญญาลาเตอราน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ รับรองฐานะของสันตะปาปาว่าเป็นประมุขของรัฐวาติกัน สำหรับคนว่างงานพรรคฟาสซิสต์ได้วางโครงการใหญ่โต เพื่อก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจรัฐสงวนลัทธิ ที่จะเข้าแทรกแซงในคิวภาคกรรม จำกัด การใช้วิธีการผลิตกรรม รัฐอาจจะเข้าทำงานเป็นเจ้าของแทนแล้วแต่กรณี
                    ในปี พ.ศ.๑๔๗๘ อิตาลีส่งกองทัพเข้าตีประเทศอะบิสซีเนีย (เอธิโอเปีย ปัจจุบัน) ได้เป็นอาณานิคม และยังได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศสอดคล้องกับอะคอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมันตามที่เรียกกันว่า แกนโรม - เบอร์ลิน ซึ่งในที่สุดได้นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง         ๒๑/ ๑๖๗๒๑
            ๔๐๘๙. ฟาเหียน  เป็นชื่อพระธรรมจารึกชาวจีน ผู้ปรากฏชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานหนึ่งในจำนวนสามรูป คือฟาเหียน ถังซัมจั๋ง (หยวนจั้ง ฮวนฉ่าง หรือเซียนจัง) และอีจิ้ง (หงี่เจ๋ง)
                    พระธรรมจาริกชาวจีนทั้งสามรูปได้เดินทางจากประเทศจีนไปสืบพระศาสนายังประเทศอินเดีย เล่าเรื่องการเดินทางของท่านไว้ทุกรูปเป็นศาสนประวัติ แสดงเรื่องพระพุทธศาสนา วรรณคดีและโบราณคดีเป็นประโยชน์แก่การศึกษาอย่างกว้างขวาง (ดูถังซัมจั๋ง - ลำดับที่...๒๓๘๔)
                    ฟาเหียน (พ.ศ.๙๑๗ - ๑๑๐๓) เกิดที่ตำบลบู๊เอี๋ยง จังหวัดเพ่งเอี๋ยง มณฑลเชนสี คำว่า ฟาเหียนเป็นชื่อฉายา เมื่ออุปสมบทเป็นสมณะจีนรูปแรก ที่ได้เดินทางไปสืบพระศาสนา เมื่อปี พ.ศ.๙๔๒ ก่อนพระถังซัมจั๋งราว ๒๓๐ ปี
                    ฟาเหียนบรรพชนเป็นสามเณรแต่ยังเล็กเติบโตอยู่ในวัดจนได้อุปสมบทเป็นคนมีวิริยะกล้า ศึกษาพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา เห็นความประพฤติของพระภิกษุมหายานวิปริตไม่ลงรอยกัน ต่างฝ่ายอ้างว่าฝ่ายตนปฏิบัติถูกต้องไม่มีครูบาอาจารย์คนใดตัดสินได้ จึงตั้งจิตอธิษฐานเดินทางไปสืบหาพระคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่ถูกต้องยังประเทศอินเดีย
                    ฟาเหียนกับสหายอีกหลายรูปออกเดินทางจากประเทศจีน โดยทางบกไปยังชมพูทวีป ดูการพระศาสนาไปตลอดทาง นัยว่าใช้เวลาถึงหกปีอยู่ศึกษา และคัดลอกพระคัมภีร์อยู่อีกสี่ปี ออกจากชุมพูทวีปข้ามไปแสวงหาพระคัมภีร์ที่เกาะลังกาอีกสามปี จึงเดินทางกลับประเทศจีนใช้เวลาทั้งหมดสิบห้าปี
                    เมื่อกลับถึงประเทศจีนได้พระภิกษุชาวอินเดียรูปหนึ่งผู้เป็นสหายใกล้ชิดชื่อ พุทธภัทสะ มาช่วยแปลคัมภีร์ที่เป็นภาษาสันสกฤตออกเป็นภาษาจีน และได้ช่วยบันทึกเรื่องการเดินทางตามคำบอกของตนด้วย
                    การเดินทางของฟาเหียน มีสมณทูตร่วมทางแบ่งเป็นสองคณะละห้ารูป ก่อนออกเดินทางฟาเหียนปรารภว่าเห็นพระวินัยปิฎกไม่มีระเบียบเป็นแบบปฏิบัติ
ในหมู่สงฆ์มีความวิปลาสคลาดเคลื่อนไม่มีผู้ใดตัดสิ้นว่าผิดถูกจึงปรึกษากับเพื่อนภิกษุพร้อมใจกันออกเดินทางไปสืบพระศาสนา เฟ้นหาคัมภีร์พระวินัยปิฎกที่ถูกต้องสมบูรณ์
                    คณะธรรมจาริกออกจากเมืองเชียงอาน มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ผ่านด่านชายแดนหลายด่าน คณะธรรมจาริกทั้งสองคณะ แยกกันออกเดินทางแล้วนัดพบ
กันข้างหน้าที่ด่านตุนกวนตรงสุดกำแพงใหญ่ นายด่านนิมนต์คณะธรรมจาริก นักสอนธรรมอยู่เดือนเศษ แล้วจัดพาหนะคนนำทาง และเสบียงเดินทางเตรียมตัว ข้ามทะเลทรายโกบี อันเป็นเส้นทางวิบากทางเดียว ที่ชาวอินเดียกับชาวจีน ใช้ติดต่อกันมาแต่โบราณ โกษีเป็นทะเลทรายกว้างใหญ่กลางทวีปเอเชียมีพายุร้อน ภูตผีปีศาจ ผู้เดินทางต้องล้มตายเป็นอันมาก เบื้องบนไม่มีนกบิน เบื้องล่างไม่มีสัตว์ออกหากินมองสุดสายตาไม่เห็นเส้นทางมองเห็นแต่กระดูกมนุษย์เป็นระยะ ๆ คณะของฟาเหียนผ่านไปได้แต่มีบางรูปเลิกล้มความตั้งใจ เดินทางกลับ
                    พ้นทะเลทรายแล้วต้องขึ้นเขาสูงผ่านแม่น้ำลึกไปตลอดแนว เดินไปหลายวันจึงพบบ้านผู้คน ตลอดทางที่ผ่านไปบางวัดมีภิกษุฝ่ายเถรวาท มีวินัยเคร่งครัดจำนวนหลายพันรูป บางวัดเป็นมหายาน เฉพาะที่เมืองโขตานทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศทิเบต มีภิกษุฝ่ายมหายานเป็หมื่น มีวัดใหญ่ ๑๔ วัด เป็นเมืองพระพุทธศาสนาภิกษุฝ่ายเถรวาท และมหายานต่างฝ่ายต่างอยู่ศึกษาบำเพ็ญสมณธรรม ไม่มีการวิวาทกัน คณะธรรมจาริกพักที่เมืองโขตานสามเดือน เพื่อรอดูงานแห่พระพุทธรูป
                    ฟาเหียนเหยียบแผ่นดินชมพูทวีปทางเมืองตักกสิกา แคว้นคันธาระได้พบวัดและเจดีย์ที่มีความสวยงาม ทุกเวลาเช้าพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จบูชาพระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ และมีพระเจ้าแผ่นดินในเมืองอื่นส่งช่างมาวาดรูปพระพุทธฉายาอยู่ไม่ขาด
                    จากเมืองอุทยานผ่านไปถึงราชอาณาจักรมัธยะ (มัธยมประเทศ) เป็นใจกลางของจักรวรรดิ์ ราชวงศ์คุปตะ อากาศร้อนประชาชนส่วนมากประกอบอาชีพการเกษตร ยึดมั่นในศีลธรรมต่างเคร่งครัดไม่มีใครเลี้ยง หมู เป็ด ไก่ เป็นอาหารไม่มีการขายวัว ควายให้เป็นอาหาร และไม่มีโรงต้มกลั่นสุรา
                    ในเวลานั้นพระพุทธศาสนาในอาณาจักรมัธยะเสื่อมโทรมมาก ยากแก่การแสวงหาพระคัมภีร์ที่สมบูรณ์ ฟาเหียนต้องจาริกไปตามเมืองต่าง ๆ เพื่อศึกษาภาษาสันสกฤต บาลีและต้องปลีกเวลาออกแสวงหาพระคัมภีร์ด้วย เมืองต่าง ๆ ดังกล่าวได้แก่ เมืองสังกัสสะ กันยากพย์ (กาโนช) สาเกต สาวัตถี กบิลพัสดุ เวสาลี ปาตลีบุตร นาลันทา ราชคฤห์ คยา พาราณสีโกสัมพี
                    ที่เมืองปาตลีบุตรหวังจะได้คัดลอกคัมภีร์พระวินัยปิฎก หรือพระปาติโมกข์ ฉบับดั้งเดิมกลับได้แต่คัมภีร์วินัยหมวดมหาสังคีติและอีกสิบแปดหมวด ทุกหมวดมีมติของอาจารย์ (ฝ่ายมหายาน) ปะปนอยู่ แต่หลักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกัน ต่อจากนั้นได้คัดลอกพระวินัยอีกหมวดหนึ่งประมาณเจ็ดพันคาถา เป็นวินัยของสงฆ์นิกายสรวาสติวาท หมวดนี้พระสงฆ์ในประเทศจีนปฏิบัติอยู่ แต่ไม่ได้จารึกไว้เป็นลายลักษณอักษรที่แห่งเดียวกันนี้ ได้คัมภีร์สังยุตตอภิธัมมหทัย เป็นหนังสือประมาณหกพันคาถา กับได้พระสูตรอีกหมวดหนึ่งประมาณสองพันห้าร้อยคาถา ได้คัมภีร์ปรินิพพานสูตร คัมภีร์อภิธรรม และมหาสังคีติด้วย ฟาเหียนพักอยู่ที่สังฆารามแห่งนี้สามปี ศึกษาภาษาสันสกฤต และคัดลอกคัมภีร์ต่าง ๆ ได้มากกว่าที่อื่น
                   ในที่สุดฟาเหียนได้คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ชุดหนึ่งที่มีผู้เก็บซ่อนไว้ในเจดีย์วัดมหายานในสุวรรโณทยาน เมืองสาวัตถีเป็นพระไตรปิฎก มีข้อความถูกต้องครบถ้วน ตามที่พระมหาเถระร่วมกันร้อยกรองเป็นหมวดหมู่ไว้ตั้งแต่สังคายนาครั้งแรก พระไตรปิฎกฉบับนี้เป็นของฝ่ายเถรวาท แสดงว่าในสมัยนั้นพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทในอินเดียหาผู้เอาใจใส่เกือบไม่ได้ เมื่อได้พระไตรปิฎกฉบับนี้แล้ว ฟาเหียนพยายามแสงหาคัมภีร์พระสูตรฝ่ายมหายานต่อไป ได้เดินทางไปอยู่ที่แคว้นจัมปาตามลำน้ำคงคา ไปทางทิศตะวันออกพักคัดลอกคัมภีร์พระสูตรภาษาสันสกฤต (ของมหายาน) รวบรวมพระพุทธรูปหล่อ และภาพเขียนเท่าที่หาได้ใช้เวลาที่เมืองนี้สองปี เตรียมตัวเดินทางไปเกาะลังกา เพื่อสืบศาสนาที่เกาะนั้นแล้วจะกลับประเทศจีนทางทะเล
                    มาตอนหลังฟาเหียนศึกษาคัดลอกพระคัมภีร์อยู่ผู้เดียว รวมเวลาตั้งแต่เดินทางจากเมืองเชียงอานมาเป็นเวลาสิบสองปี
                    ฟาเหียน อาศัยเรือสำเภาออกจากชมพูทวีปสิบสี่วันถึงเกาะลังกา พักอยู่ที่มหินตเลได้เข้าบูชาพระทันตธาตุ จาริกบูชาตามสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา คัดลอกคัมภีร์ที่ต้องการอยู่อีกสองปี ได้คัมภีร์พระวินัยปิฎกฉบับของนิกายมหิสาสกะ คัมภีร์ทีรฆาคม (ทีฆนิกาย) สัมยุตาคม (สังยุตนิกาย) และคัมภีร์ปกรณ์วิเสส จนเป็นที่พอใจแล้ว อาศัยเรือสำเภาจากเกาะลังกา หมายใจจะกลับประเทศจีน
                    ฟาเหียนรอนแรมไปกลางทะเลถูกพายุหนักอยู่สิบห้าวัน ต้องทิ้งสัมภาระหนักลงทะเลเหลือไว้แต่คัมภีร์ และพระพุทธรูป สำเภาลอยอยู่ในทะเลถึงเก้าสิบวัน คลื่นซัดเข้าสู่ฝั่งประเทศชวา ซึ่งเป็นเกาะใหญ่เห็นประชาชนนับถือศาสนาพราหมณ์ มีผู้เข้าพุทธรรมบ้างแต่เพียงเล็กน้อย ต้องอาศัยรอหาเรือใหญ่เตรียมเสบียงอาหาร อยู่บนเกาะนี้ห้าเดือน
                    สำเภาบรรทุกผู้โดยสารสองร้อยคน มุ่งหน้าไปทางทิศอีสานตรงไปมณฑลกวางตุ้ง แล่นไปได้เดือนเศษ บังเกิดพายุพัดอย่างหนัก พวกคนเรือส่วนใหญ่นับถือศาสนาพราหมณ์ ต่างเห็นกันว่าเพราะมีนักบวชในพระพุทธศาสนา อาศัยมาเป็นกาลกิณี  ควรจะส่งขึ้นเกาะ บังเอิญผู้โดยสารคนหนึ่งนับถือพระพุทธศาสนา เป็นอุปัฎฐากฟาเหียนมาแต่เกาะลังกาคัดค้าน ยอมให้ส่งตัวเองขึ้นเกาะแทน แล้วขู่ว่าถ้าไปถึงแผ่นดินจีน จะนำเรื่องไปฟ้องพระเจ้าแผ่นดินจีน ผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภกพระพุทธศาสนา คนเรือจึงไม่กล้าส่งฟาเหียนขึ้นเกาะ สำเภาแล่นต่อไปอีกสิบสองวัน ก็ถึงยังเมืองเชียงกวาง มณฑลซิงจิว ลีอี้ผู้รักษาการจังหวัดเป็นชาวพุทธเคร่งครัด ทราบว่ามีสมณะนำพระสูตรและพระปฎิมา มาจากชมพูทวีปก็ออกมาต้อนรับ ให้พักอยู่ตลอดพรรษา เมื่อออกพรรษา ฟาเหียนก็ลาเดินทางต่อไปเมืองเชียงอาน นำพระคัมภีร์ และพระพุทธรูปตรงไปเมืองหลวง (นานกิง) เข้าหาพระเถระผู้ใหญ่ รวบรวมสมณะน้อยใหญ่ ร่วมกับพระเถระพุทธภัทระ ชาวอินเดีย ตั้งกองแปลคัมภีร์ออกเป็นภาษาจีน รวมเวลาตั้งแต่ออกจากเมืองเชียงอาน (อายุ ๒๕ ปี) ศึกษาคัดลอกคัมภีร์รวมเวลาสิบห้าปี
                    พระจักรพรรดิ์ผู้ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ให้ตั้งกองนักปราชญ์พระพุทธศาสนามหายานของจีนขึ้น และให้รวบรวมพระคัมภีร์ทั้งหลาย ที่ฟาเหียนนำมาจากชมพูทวีปไว้เป็นคัมภีร์ในชุดพระไตรปิฎกมหายานของจีนทั้งหมด
                    ฟาเหียนมีชีวิตต่อมาอีกสี่สิบปี ถึงมรณภาพ เมื่ออายุแปดสิบปี  (ลำดับที่ ๒๓๘๔)         ๒๑/ ๑๓๗๒๗
            ๔๐๙๐. ฟิสิกส์  เป็นชื่อวิชาแขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับเคมี ชีววิทยา แท้จริงแล้วฟิสิกส์เป็นวิชาหลักของวิทยาศาสตร์ คำนี้มาจากภาษากรีก แปลว่า ธรรมชาติ ดังนั้นวิชาฟิสิกส์จึงเกี่ยวกับความเป็นจริง หรือกฎเกณฑ์ของความเป็นไปตามธรรมชาติ วิชาฟิสิกส์และเคมี รวมทั้งสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งไม่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจัดเป็น วิทยาศาสตร์กายภาพ
                    พื้นฐานของวิชาฟิสิกส์ เกี่ยวกับสาระความจริงของธรรมชาติจึงเป็นวิชาที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสสาร และวัตถุต่าง ๆ ความเข้าใจนั้นได้เพิ่มขึ้นเสมอมา ด้วยการทดลองค้นคว้า และสร้างทฤษฎีขึ้นให้สมเหตุผล         ๒๑/ ๑๓๗๓๖
            ๔๐๙๑. ฟุตบอล  เป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ที่ได้รับความนิยม และมีการเล่นอย่างแพร่หลายในประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลก การกีฬาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการเล่นฟุตบอลนี้ ที่จริงได้มีการเล่นกันมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน แต่กีฬาฟุตบอลที่มีวิธีการเล่น ตลอดจนกติกา และระเบียบการเล่นเหมือนที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ได้เริ่มเล่นเป็นครั้งแรก เมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๐๖ โดยคณะกรรมการควบคุมการเล่น หรือสมาคมฟุตบอลในอังกฤษ ในขณะนั้นเป็นผู้วางระเบียบ กฎ กติกา และวิธีเล่น ให้เป็นแบบฉบับที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วิธีเล่นฟุตบอลตามแบบใหม่นี้ ต่อมาจึงได้มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ซอกเกอร์
                    การเล่นฟุตบอลมีข้างละ ๑๑ คน เป็นผู้รักษาประตู ๑ คน กองหลัง ๒ คน กองกลาง ๓ คน และกองหน้า ๕ คน
                    สนามฟุตบอล มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว ๙๑ - ๑๑๙ เมตร กว้าง ๔๖ - ๙๑ เมตร ผู้เล่นแต่ละฝ่ายยกเว้น ผู้รักษาประตูพยายามที่จะใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ยกเว้นส่วนของแขน นำพาลูกให้ผ่านเส้นหลังประตูไป ในระหว่างเสาประตู และใต้คานของอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้ จะได้หนึ่งประตู          ๒๑/ ๑๓๗๓๙
            ๔๐๙๒. ฟูนัน - อาณาจักร  เป็นอาณาจักรที่สำคัญที่สุดในภาคเอเชียอาคเนย์ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๖ - ๗ คำนี้มาจากภาษาเขมรโบราณ (ขอม) ว่า "บนัม" และภาษาเขมรปัจจุบันว่า "พนม"  คือ ภูเขา พระราชาแห่งอาณาจักรนี้มีพระนาม ตามภาษาสันสกฤตว่า บรรพตภูบาล หรือไศลราช ศูนย์กลางของอาณาจักรนี้เดิมชื่อกันว่า ตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ หรือที่ราบปากแม่น้ำโขง แต่ในขณะที่เจริญสูงสุดนั้น ดินแดนของอาณาจักรฟูนันได้ครอบคลุมไปถึงประเทศเวียดนามตอนใต้ ลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง ตลอดจนส่วนใหญ่ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแหลมมลายู
                    ปัจจุบัน นักปราชญ์ฝรั่งเศสผู้หนึ่ง สันนิษฐานว่าศูนย์กลางดั้งเดิมของอาณาจักรฟูนัน อาจตั้งอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในบริเวณเมืองอู่ทอง เพราะ ณ  ที่นั้นได้ค้นพบโบราณวัตถุหลายอย่าง ที่แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะอมราวดี ทางภาคใต้ของประเทศอินเดีย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๗ - ๙ ตลอดจนวัตถุที่คล้ายคลึงกับที่ค้นพบ ณ เมืองออกแก้ว ในแหลมโคชินจีน ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม อันเชื่อกันว่าเป็นเมืองท่าของอาณาจักรฟูนัน วัตถุเหล่านี้มีลูกปัด เครื่องประดับทำด้วยโลหะ เศษเครื่องถ้วยชาม ฯลฯ อันมีสืบต่อลงไปจนถึงสมัยอาณาจักรทวารวดี ในประเทศไทย แต่มิได้สืบต่อลงไปในอาณาจักรเจนละ ซึ่งมีอำนาจสืบต่อจากอาณาจักรฟูนัน ในประเทศกัมพูชา ส่วนการขยายอำนาจของอาณาจักรฟูนันนั้น เห็นว่าอาจจะขยายจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกคือ ขยายจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังลุ่มแม่น้ำโขง ทางตอนใต้ของประเทศกัมพูชาก็ได้ ราชธานีในขณะหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน ตั้งอยู่ที่เมืองวยาธปุระ หรือเมืองพราน ซึ่งอยู่ใกล้กับเขาบาพนม และหมู่บ้านบนัม ในแคว้นไพรเวง
                    จดหมายเหตุราชวงศ์ฉี ภาคใต้ได้กล่าวเกี่ยวกับอาณาจักรฟูนันว่า ประชาชนของอาณาจักรนี้โหดร้าย และเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม เข้าโจมตีเมืองใกล้เคียงที่ไม่ยอมอ่อนน้อม และกดขี่ประชาชนลงเป็นทาส
                    รัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันเป็นสมัยที่อาณาจักรฟูนันเจริญรุ่งเรือง ดังเห็นได้จากการรับรองของพระจักรพรรดิ์จีน เมื่อราชทูตฟูนันเดินทางเข้ามายังประเทศจีน ในปี พ.ศ.๑๐๔๖ พระจักรพรรดิ์จีนทรงมีพระราชโองการว่า "พระราชาแห่งอาณาจักรฟูนัน ทรงพระนามว่า โกณฑิยะชัยวรมัน ประทับอยู่สุดเขตโพ้นทะเล... ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายเป็นหลายครั้ง สมควรตอบแทนให้ทัดเทียมกัน และให้ตำแหน่งอันมีเกียรติยศคือ ตำแหน่งขุนพลแห่งภาคสันติใต้ กษัตริย์แห่งฟูนัน"
                    อาณาจักรฟูนัน ได้เป็นใหญ่อยู่ในแหลมอินโดจีนถึง ๕๐๐ ปี บรรดาพระราชาแห่งประเทศกัมพูชา สมัยก่อนสร้างเมืองพระนคร ได้ทรงยอมรับประเพณีการตั้งราชวงศ์ ของกษัตริย์ฟูนันมาเป็นของพระองค์
                    ทางด้านฝ่ายไทยมีบางท่านเห็นว่า คำว่า ฟูนัน โปหนำ หรือฝูหนาน นี้ ตรงกับอาณาจักรโคตรบูร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เพราะไทยมีคำว่า นครพนม พระธาตุพนม        ๒๑/ ๑๓๗๔๕
            ๔๐๙๓.  เฟอร์เนียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๑๐๐ เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นไม่มีปรากฎอยู่ในธรรมชาติ นักฟิสิกส์อเมริกัน และคณะได้ค้นพบธาตุนี้จากฝุ่นละออง เถ้าธุลี และเศษวัสดุที่ได้จากการระเบิดของลูกระเบิดเทอร์โมนิวเคลียร (ระเบิดไฮโตรเจน) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ ธาตุเฟอร์เนียมที่พบเป็นไอโซโทป         ๒๑/ ๑๓๗๖๐
            ๔๐๙๔. เฟลด์สปาร์   เป็นแร่ซิลิเกต ในตระกูลเทกโทซิลิเกต และจัดเป็นแร่ประกอบหิน ที่พบแพร่หลายในหินอัคนี ทราบกันทั่วไปในชื่อ หินฟันม้า
                    โครงสร้างของแร่ตระกูลเฟลด์สปาร์ทุกชนิด ปรกติคล้ายคลึงกัน ซึ่งทำให้แร่มีสมบัติทางฟิสิกส์เหมือนกัน เช่น รูปผลึก แนวแตกเรียบ ความแข็ง ความถ่วงจำเพาะ
                    การใช้ประโยชน์ของเฟลต์สปาร์นั้น ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบทางเคมีของเฟลด์ สปาร์ ในแต่ละชนิดและแต่ละแหล่งเป็นหลัก ส่วนประกอบทางเคมีจะเป็นตัวควบคุมสมบัติทางกายภาพไปในตัวด้วย
                    ในอุตสาหกรรมเซรามิก เฟลด์ สปาร์ ใช้เป็นวัตถุผสมเพื่อเป็นตัวลดอุณหภูมิ หรือลดจุดหลอมเหลวให้ต่ำลง และเข้าไปผสมเป็นเนื้อประสานแบบแก้ว ในการทำเครื่องปั้นดินเผา เครื่องขาว กระเบื้องปูพื้นคุณภาพสูง และยังใช้ในการทำน้ำยาเคลือบเครื่องขาว และแผ่นเหล็ก เป็นต้น
                    แร่ในตระกูลเฟลด์ สปาร์ บางชนิดมีสมบัติจัดเป็นรัตนชาติ นำมาทำเป็นเครื่องประดับได้         ๒๑/ ๑๓๗๖๒
            ๔๐๙๕. เฟิน  เป็นพืชจำพวกไม้ใบ ไม่มีดอก สืบพันธุ์โดยการสร้างสปอร์และเซลล์สืบพันธุ์ พืชจำพวกเฟินมีขนาดและแหล่งที่ขึ้นต่าง ๆ กัน มีตั้งแต่ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ คล้ายไม้ยืนต้น ซึ่งบางชนิดมีความสูงถึง ๒๔ เมตร เป็นพืชที่ชอบความชุ่มชื้น โดยเฉพาะเทือกเขาในเขตร้อน ซึ่งมีอุณหภูมิเหมาะสม และมีร่มเงา  เฟินมีอยู่ทั่วโลกกว่า ๙,๐๐๐ ชนิด มีบางชนิดนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ บางชนิดบริโภคได้
                    ลักษณะของเฟิน ที่สังเกตได้ง่ายคือ ใบอ่อนจะม้วนเป็นขดตรงปลาย เนื่องจากส่วนโคนเจริญเร็วกว่าส่วนปลาย ลำต้นมักจะทอดไปตามพ้น หรือฝังอยู่ใต้ดิน เฉพาะพวกที่มีขนาดใหญ่ และขึ้นอยู่ตามป่ามักจะมีใบใหญ่ และลำต้นตั้ง
ตรง         ๒๑/ ๑๓๗๗๔
            ๔๐๙๖. เฟื่องฟ้า  เป็นพรรณไม้ประเภทกึ่งเลื้อย กึ่งรอเลื้อย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายชนิดหนึ่ง ในประเทศไทย เป็นพันธุ์ไม้ที่เริ่มออกดอกในช่วงเทศกาลตรุษจีน จึงเรียกว่า ดอกตรุษจีน เฟื้องฟ้ามีลำต้นค่อนข้างแข็งมีเนื้อไม้ มีหนามแหลมคม ลำต้น และกิ่งทำหน้าที่ในการเกาะเกี่ยวเพื่อเลื้อยพัน ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อ ตามปลายกิ่ง ขนาดกิ่งค่อนข้างใหญ่ ส่วนที่เห็นเป็นแผ่นสีสดใสคือ ใบประดับที่รองรับช่อดอก ตัวดอกที่แท้จริงมีขนาดเล็ก ใบประดับนี้มีสีต่าง ๆ กัน ทั้งชนิดที่มีสีเดียวล้วน ๆ และสองสีปนกัน
                    เฟื่องฟ้าเจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด แต่ชอบดินร่วนปนทรายเป็นพิเศษ ต้องการแสงแดดมาก และต้องการน้ำค่อนข้างน้อย ทนแล้งได้ดี ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง และปักชำกิ่ง ปลูกง่ายและไม่ต้องดูแลมากนัก         ๒๑/ ๑๓๗๗๕
            ๔๐๙๗. แฟรนเซียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๙๗ เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่มีปรากฎในธรรมชาติ จัดอยู่ในหมู่ธาตุโลหะ แอลคาไล ลักษณะเป็นโลหะ ในธรรมชาติธาตุนี้มีปรากฎอยู่ในลักษณะเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสี ปะปนอยู่ในสินแร่ยูเรเนียม มีปรากฎอยู่ในธรรมชาติเป็นปริมาณน้อยยิ่งคือ เพียง ๑ ออนซ์ เท่านั้นในเปลือกโลก        ๒๑/ ๑๓๗๗๗
            ๔๐๙๘. ไฟลามทุ่ง - โรค  เป็นโรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ที่เกิดจากการติดเชื้ออย่างปัจจุบัน พบมากในทารก เด็กเล็กและคนสูงอายุ ตำแหน่งที่พบมากที่สุดคือ ใบหน้า มักเป็นที่สันจมูกและแก้มข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง การติดเชื้อจะลุกลามไปอย่างรวดเร็ว จนโตเต็มที่ภายใน ๓ - ๖ วัน
                   ในทางการแพทย์แผนโบราณกล่าวว่า โรคนี้เกิดจากโลหิตเป็นพิษ ร่วมกับเนื้อหนังพิการ ทำให้เกิดอาการผิวหนังอักเสบ มีลักษณะเหมือนไฟไหม้ แดงลุกลามรวดเร็ว คนไข้รู้สึกปวด และปวดร้อนมาก และมีไข้สูง การรักษาโรคนี้มีทั้งการใช้ยากิน และยาทา        ๒๑/ ๑๓๗๘๐

            ๔๐๙๙. ภ พยัญชนะตัวที่ ๓๒ เป็นอักษรต่ำ ใช้เป็นตัวสะกดใยแม่กบ ในคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต อักษร ภ ออกเสียงโดยผนึกริมฝีปากบนและล่างเข้าด้วยกันเพื่อกักลมไว้ และปล่อยลมพ่นออกมา    ๒๑/ ๑๓๗๘๒
            ๔๑๐๐. ภควัทคีตา  เป็นชื่อคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ขจองงศาสนาฮินดู โดยเฉพาะสำหรับนิกายไวษณพหรือผู้ที่ยกย่องพระวิษณุ (นารายณ์) เป็นพระเจ้าสูงสุดชื่อคัมภีร์นี้แปลว่าบทเพลง (หรือลำนำ) ของพระผู้เป็นเจ้า คัมภีร์นี้มิได้มีลักษณะเป็นเอกเทศเหมือนดังคัมภีร์พระเวทแต่ละเล่ม แต่ที่จริงเป็นเพียงบทสนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคลสองคน ซึ่งเป็นข้อความที่แทรกเข้ามาในบรรพที่หก (ภีษมบรรพ) แห่งกาพย์มหาภารตะ ฝ่ายที่ถามปัญหาคือ อรชุน เจ้าชายฝ่ายปาฌฑพ แห่งจันทรวงศ์ ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพใหญ่ มาทำสงครามแย่งชิงเมืองหัสดินาปุระ จากฝ่ายเคารพแห่งจันทรวงศ์เช่นเดียวกัน ซึ่งมีเจ้าชายทุรโยชน์ และกองทัพพันธมิตรมากมาย เป็นคู่สงครามด้วยฝ่ายผู้ตอบปัญหา และเป็นผู้อธิบายตลอดทั้งเรื่องคือ กฤษณะ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายราชสกุลจันทรวงศ์สาขายาทพ ขณะทำหน้าที่เป็นสารถีขับรถศึกให้อรชุน บทสนทนาโต้ตอบนี้ถ่ายทอดออกมาโดยสญชัย ผู้เป็นเสวกามาตย์ของพระเจ้าธฤตราษฎร์ พระราชาเนตรบอดแห่งเมืองหัสดินาปุระ โดยมหาฤษีวยาส หรือฤาษีกฤษณไทวปายนเป็นผู้ให้ตาทิพย์แก่สญชัย เพื่อแลเห็นเหตุการณ์รบพุ่งครั้งนั้น และมาให้ชื่อกันภายหลังว่าภควัทคีตา
                    ถ้าจะกล่าวแล้วคำสอนในคัมภีร์ภควัทคีตาเกือบครึ่งเล่มเป็นคำสอนในคัมภีร์อุปนิษัท และอีกกว่าครึ่งเล่มเป็นคำสอนแบบพวกภาควตะซึ่งบูชาพระกฤษณะเป็นเทพสูงสุด ภควัทคีตาแบ่งออกเป็นตอน ๆ เรียกว่า อัธยายะ รวม ๑๘ อัธยายะ ได้แก่ ความท้อถอยของอรชุน หลักรู้โดยอาศัยแนวความคิดในปรัชญาสางขยะและโยคะ หลักปฏิบัติ หลักจำแนกญาณหลักแห่งการสละกรรม และประกอบกรรม หลักแห่งการเข้าฌาน หลักญาณ หลักพรหม ผู้ไม่เสื่อม หลักเข้าแห่งวิทยาและเจ้าแห่งวความลึกลับ หลักทิพยอำนาจ หลักการเห็นรูปยิ่งใหญ่แท้จริงของพระเจ้า หลักภักดี หลักจำแนกร่างกายและผู้รู้ร่างกาย หลักจำแนกคณะทั้งสาม หลักว่าด้วยบุรุษผู้ประเสริฐสุด หลักว่าด้วยการบจำแนกทิพยสมบัติและอสุรสมบัติ หลักจำแนกศรัทธาสามอย่าง หลักว่าด้วยการสละ ซึ่งเป็นปฏิปทาแห่งการหลุดพ้น
                    ภควคีตา เริ่มเรื่องโดยกล่าวถึงวันแรกแห่งมหาสงครามระหว่างฝ่ายเการพ และฝ่ายปาณฑพ เมื่อกองทัพทั้งสองมาเผชิญหน้ากันที่ทุ่งกุรเกษตร ฝั่งขวาของบแม่น้ำยมนานั้น อรชุนผู้นำทัพฝ่ายปาณฑพ ซึ่งเป็นฝ่ายธรรมะ ได้สั่งให้สารถีคือกฤษณะขับรถออกหน้ากองทัพ เพื่อจะให้สัญญาณรบกับฝ่ายเการพ ซึ่งเป็นฝ่ายอธรรม แต่เมื่อมองไปในกองทัพของศัตรูก็เห็นนายทัพนายกองฝ่านนั้นล้วนแต่เป็นผู้ที่รู้จักสนิทกันมาก่อน บางคนก็เป็นญาติพี่น้อง บางคนก็เป็นครูบาอาจารย์ และมิตรสหาย ก็เกิดความท้อแท้ในใจ เพราะความสงสารไม่อาจให้สัญญาณรบ กฤษณะทราบวาระน้ำจิตของอรชุนจึงกล่าวเตือนสติ โดยยกหลักคำสอนในคัมภีร์อุปนิษัท มากระตุ้นให้อรชุนเข้าใจในความจริง อันเร้นลับว่าอาตมัน หรือพระเจ้าที่อาศัยอยู่ในร่างมนุษย์นั้นมีความเป็นอมตะ ไม่มีสิ่งใดหรือใคร ๆ จะทำอันตรายหรือฆ่าได้ กฤษณะเริ่มบทบาทของพระเจ้าในร่างมนุษย์ ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป โดยชี้ให้เห็นความจริงอันเป็นคำสอนเร้นลับ (รหัสยลัทธิ)
                    อาตมันนี้ไม่เคยเกิดไม่เคยตาย จะไม่เป็นอีกเมื่อได้เป็นแล้วอาตมันนี้ไม่เกิด มีความเที่ยงแท้ในภายหน้า และมีความเที่ยงแท้มาแล้วในอดีต ย่อมฆ่าไม่ตาย ในเมื่อร่างกายถูกฆ่า
                    อาตมันนี้ ไม่ถูกตัดไม่ถูกเผา ใครทำให้เปียกก็ไม่ได้  ทำให้แห้งก็ไม่ได้ เป็นสิ่งเที่ยงแท้ ย่อมปรากฎทั่วไป ย่อมมั่นคง ไม่หวั่นไหว มีแต่ความยั่งยืนตลอดไป
                    อาตมันนี้ กล่าวกันว่าไม่มีการปรากฏในรูปนั้นรูปนี้ เป็นอจินไตย (ไม่พึงคิดไม่พึงเดา) ไม่มีวิการ (การเปลี่ยนแปลงรูปหรือภาวะ) ฉะนั้นเมื่อรู้ความจริงเช่นนี้แล้ว ท่านจะระทดระท้อด้วยเหตุใดเล่า (ภควัทคีตา อัธยายะ ที่ ๒ ข้อที่ ๑๙ - ๒๕)
                    กฤษณะเตือนอรชุนให้ระลึกถึงหน้าที่อันแท้จริงของกษัตริย์หรือนักรบว่า จะต้องต่อสู้เพื่อปราบศัตรูให้สิ้นไป การที่ชนวรรณกษัตริย์ละทิ้งหน้าที่ของตนย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ไร้เกียรติยศ และจะถูกคนทั้งหลายติเตียนไปชั่วชีวิต หน้าที่เป็นภาระศักกดิ์สิทธิ์ที่เกิดมาพร้อมวรรณะ ชนแต่ละวรรณะ จะต้องทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ และได้เน้นให้อรชุนตระหนักว่าหากถูกฆ่า ท่านก็จะได้ไปสู่สวรรค์ หากชนะท่านก็จะได้ครองแผ่นดินโลก ฉะนั้นจงทำใจให้มั่นคงเพื่อจะรบ ณ บัดนี้
                    จากนั้น กฤษณะก็เริ่มการสอนหลักธรรมอันนำมนุษย์ไปสู่ความหลุดพ้นทุกข์คือ โมกษธรรม ซึ่งทำให้อรชุนเกิดความพิศวงงงงวย เพราะเป็นตอนที่กฤษณะประกาศตนเองว่าเป็นพระเจ้าในร่างมนุษย์ เป็นพระเจ้าที่อวตารมาในโลกเพื่อปราบอธรรม เพื่อธำรงไว้ซึ่งธรรมะเป็นหลักโลกต่อไป
                    อรชุนได้ซักถามปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับพระเจ้า กฤษณะก็ได้อธิบายความอันเกี่ยวกับภาวะของพระเจ้าและหนทางไปสู่พระเจ้า อันเป็นความหลุดพ้นอย่างละเอียดพิสดาร โดยหยิบยกปรัชญาสาขาต่าง ๆ มากล่าวประกอบคำอธิบายหลายเรื่องเช่น กล่าวถึงคำสอนตามหลักปรัชญาสางขยะ ปรัชญาอุปนิษัท และปรัชญาเวทานตะ แต่มิได้เน้นจริงจังแน่นอนลงไปในปรัชญาสาขาใดโดยเฉพาะ สรุปได้ว่ากฤษณะกล่าวถึงคนในลักษณะสองอย่างคือ ในลักษณะที่เป็นนามธรรมคือมีภาวะความเป็นอยู่ แต่ไม่แสดงรูปร่างของพระเจ้าให้ปรากฎ ซึ่งในลักษณะเช่นนั้นก็คือ อาตมันหรือปรมาตมันหรือพรหม อันเป็นพระเจ้าในแบบนามธรรม ในขณะเดียวกันก็กล่าวถึงตนเองในฐานะพระเจ้าซึ่งมีรูปร่างเป็นพระเจ้าผู้ทรงสรรพศักดิ์สูงสุด แต่ผู้เดียวในสากลจักรวาล
            ๔๑๐๑. ภควัม - พระ  เป็นชื่อพระเครื่อง หรือพระเครื่องรางอย่างหนึ่ง ทำรูปมีพระพักตร์คว่ำหน้า และปิดทวารทั้งเก่า และเป็นชื่อหินชนิดหนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างเหมือนพระภควัม พระภควัมนี้มีมาแต่โบราณเรียกกันว่า พระปิดทวาร หรือพระปิดตา หรือพระมหาอุดปิดทวาร สร้างครั้งแรกในอินเดียราวปี พ.ศ.๑๒๐๐ มีหลายขนาด
                    คำว่า ภควัม หมายถึง ภควา คือ หมายถึง พระพุทธเจ้า มูลเหตุในการสร้างเข้าใจว่ามาจากการสอนธรรมในพระพุทธศาสนา ให้คนสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ซึ่งเรียกว่า อายตนภายในหก หรืออินทรียหก เพราะเป็นสื่อรับอารมณ์หกอย่างที่มากระทบ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
                    พระภควัมนี้ คนโบราณใช้อม แล้วทำให้ข้าศึกจังงัง ทำอันตรายตนไม่ได้ กล่าวกันเป็นสามัญว่า พระภควัมนั้น มีอานุภาพในทางยิงไม่ออก ฟันแทงไม่เข้า เป็นพระอยู่ยงคงกระพันชาตรี         ๒๑/ ๑๓๗๙๕
            ๔๑๐๒. ภรต ๑  เป็นนามพระราชาและวีรบุรุษดึกดำบรรพ์ของชนอารยัน - อินเดียเผ่าหนึ่ง มีชื่อเสียงโด่งดังในการสงคราม ปรากฎชื่อหลายแห่งในคัมภีร์ฤคเวท (อายุประมาณ ๓๕๐๐ - ๔๐๐๐ ปี) ของศาสนาพราหมณ์ ผู้สืบเชื้อสายต่อมาได้นามว่า พวก ภารต ทั้งสิ้น          ๒๑/ ๑๓๗๙๘
            ๔๑๐๓. ภรต ๒  เป็นนามพระราชาแห่งแคว้นจันทรวงศ์ ผู้ครองนครหัสดินาบุระ เป็นโอรสของท้าวทุษยันต์ กับนางศกุนตลา พระราชาภรตได้รับยกย่องว่า เป็นจักรพรรดิ์องค์แรกของอินเดีย ทรงครอบครองแผ่นดินโลกทั้งหมด คัมภีร์ปุราณะฉบับต่าง ๆ กล่าวว่า พระองค์เป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ หรือพระนารายณ์
                    พระพรต ครองโลกอยู่ ๒๗,๐๐๐ ปี ก็สิ้นพระชนม์แผ่นดินที่พระองค์ครอบครอง จึงได้นามว่า ภารต และมีเชื้อสายเป็นกษัตริย์สืบมาอีก ๒๕ องค์ จึงได้เกิดสงครามใหญ่ เรียกว่า มหาภารตะ           ๒๑/ ๑๓๗๙๘
            ๔๑๐๔. ภรต ๓  เป็นโอรสของท้าวทศรถกับพระนางไกเกยี (ไกยเกษี) ได้ครอบครองกรุงอโยธยา แทนพระราม เป็นเวลาสิบสี่ปี จนพระรามเสด็จกลับจึงถวายเมืองคืน
                    ในระหว่างครองกรุงอโยธยา พระภรตได้ประหารคนธรรพ์ ผู้ชั่วช้าถึง ๓๐ ล้านคน  เพราะพวกนั้นได้ก่อกรรมทำเข็ญแว่นแคว้นแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ รวมทั้งแคว้นเกกัย ของพระเจ้ายุธาชิ ผู้เป็นพระเจ้าตาของพระพรตด้วย แล้วแบ่งดินแดนลุ่มแม่น้ำสินธุ ออกเป็นสองส่วนมอบให้โอรสทั้งสองของพระองค์ ให้ครององค์ละแคว้น
                    เมื่อครบสิบสี่ปี พระรามเสด็จกลับพระนคร พระภรตถวายบ้านเมืองคืนแก่พระรามแล้ว จนกระทั่งถึงเวลาที่พระรามจะกลับคืนไปสู่ภาวะของพระวิษณุ พระรามเสด็จไปสู่แม่น้ำสรยู แล้วกลายพระองค์เป็นพระเจ้า พระภรตกับพระศัตรุฆน์ ตามไปด้วยเมื่อถึงเวลาดังกล่าว พระภรตก็คืนร่างเป็นหอยสังข์ สถิตในหัตถ์ขวา ด้านหน้าของพระวิษณุ ส่วนพระสัตรุฆน์ก็กลายเป็นจักร สถิตอยู่ในพระหัตถ์ขวา ด้านหลังของพระวิษณุ เช่นเดียวกัน         ๒๑/ ๑๓๗๙๙
            ๔๑๐๕. ภรต ๔  เป็นนามของพระราชาองค์หนึ่ง ในสมัยพระมนู องค์ที่หนึ่ง เป็นโอรสองค์ใหญ่ ในจำนวนร้อยองค์ของพระเจ้าฤษภะ ผู้ครองแคว้นหิมะ ในชมพูทวีป ดินแดนที่พระองค์ครองนี้คัมภีร์ภควตปุราณะ ตอนที่ห้า อ้างว่า ต่อมาได้ชื่อว่า ภารตะ และสรุปว่า ภารตะ ก็คือ อินเดียทั้งหมดนั่นเอง
                    พระภรต ครองราชย์อยู่โกฎปี ตลอดเวลาทรงมีศรัทธาเต็มเปี่ยมต่อพระวิษณุองค์เดียว ในที่สุด สละราชสมบัติออกบวชเป็นฤาษี เพื่ออุทิศตนในการเข้าฌานสมาธิ ระลึกถึงพระวิษณุ ในที่สุดก็บรรลุโมกษะ หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง เข้ารวมเป็นองค์เดียวกับพระวิษณุ          ๒๑/ ๑๓๘๐๑
            ๔๑๐๖. ภรต ๕  รู้จักกันแพร่หลายว่า ภรตมุนี เป็นฤษีโบราณผู้หนึ่ง สันนิษฐานว่า มีชีวิตอยู่ราวพุทธศตวรรษที่สอง เป็นผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือทั่วอินเดีย และประเทศใกล้เคียงว่า เป็นบุคคลคนแรกที่เขียนตำราละครของอินเดียเป็นคนแรก ที่เขียนตำราละครของอินเดียเรียกว่า นาฎยศาสตร์ หรือภารตศาสตร์ (ดู ภารตศาสตร์ - ลำดับที่ ๓๙๘๒ ประกอบ)
                    ภรตมุนี ได้จัดการแสดงละครเป็นครั้งแรกที่ด้านหลังภูเขาหิมวันต์ อันเป็นที่กว้างขวางและรื่นรมย์ เรื่องที่แสดงมีสองเรื่องคือ เรื่องการกวนน้ำทิพย์ อันเป็นเรื่องในนารายณ์อวตารปางที่สอง หรือกูรมาวตาร อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องเฉลิมพระเกียรติพระศิวะ ในการที่ทรงได้ชัยชนะต่อพวกอสูรคือ เรื่องการเผาป้อมของอสูรตรีปุระ
                    ในประเทศไทย มีประเพณีสืบมาว่า เมื่อมีการแสดงละครรำ จะต้องมีการบูชาหัวฤษี ก่อนเสมอ หัวฤษีดังกล่าวก็แทนพระภรตมุนี นั่นเอง         ๒๑/ ๑๓๘๐๓
            ๔๑๐๗. ภักดี - ลัทธิ  หมายถึง ทางแห่งความจงรักภักดี ซึ่งมนุษย์ปฎิบัติต่อพระเจ้าสูงสุด เพื่อความหวังว่า มนุษย์อาจถึงพระเจ้าได้แน่นอนกว่าวิธีอื่น ๆ
                   ลัทธิภักดีนี้ในอินเดีย แบ่งเป็นสองภาคคือ ตั้งแต่เมืองพาราณสีไปทางภาคตะวันออก เป็นเขตของผู้ถือลัทธิภักดีต่อพระศิวะ หรือพระอิศวร ส่วนทางภาคตะวันตกทั้งหมดเป็นเขตของผู้ถือลัทธิภักดีต่อพระวิษณุ หรือพระนารายณ์
                  นิกายไวษณพ มุ่งเน้นลัทธิภักดีมาก่อน ส่วนนิกายไศวะภายหลัง ลัทธิภักดีเกิดขึ้นภายหลังความรู้สึกของคนอารยัน - อินเดีย รุ่นโบราณมาก ครั้งนั้นคำภักดียังไม่มีที่ใช้มีแต่เพียงศรัทธาและประสาทะ คำว่า ภักดี เพิ่งปรากฎใช้เป็นครั้งแรกไม่เกิน ๑,๔๐๐ ปี มานี้ นับว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายในศาสนาพราหมณ์และฮินดู

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |