๔๑๐๘. ภัททิยะ - พระเถระ เป็นพระเถระองค์หนึ่งซึ่งสำเร็จเป็นพระอรหันต์รุ่นแรกของพระพุทธศาสนา นับเป็นพระสาวกองค์ที่สาม ในจำนวนพระเบญจวัคคีย์และนับเป็นพระมหาสาวก องค์ที่สิบในพระมหาสาวกแปดสิบรูปด้วย
พระภัททิยะเป็นชาวกรุงกบิลพัสด์เป็นบุตรของพราหมณ์คนหนึ่งในแปดคน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษและได้รับเลือกจากพราหมณ์ร้อยแปดคนที่พระเจ้าสุทโธทนะเชิญมารับภัตตาหารในพระราชวัง
เพื่อประกอบพิธีทำนายพระลักษณะพระราชกุมารที่ประสูติใหม่และได้ขนานพระนามพระราชกุมารว่าสิทธัตถราชกุมาร
เมื่อพราหมณ์ผู้เป็นบิดาได้ร่วมทำนายและเห็นชอบกับคำทำนายของโกณฑัญญะพราหมณ์ว่า
พระราชกุมารมีพระลักษณะถูกต้องตามมหาปุริส ลักษณะพยากรณ์ศาสตร์ทุกประการ
และจะต้องเสด็จออกทรงผนวชเป็นศาสดาเอก ในโลกแล้วได้นำความาเล่าและสั่งบุตรหลานไว้ว่า
ถ้าพระสิทธัตถราชกุมารเสด็จออกผนวชเมื่อไรให้พากันออกบวชตามเสด็จด้วย
ครั้นพระสิทธัตถราชกุมารเสด็จออกผนวชจึงพร้อมด้วยพราหมณ์สี่คน มีโกณฑัญญะ
เป็นหัวหน้าได้ออกบวชตามเสด็จด้วยและติดตามไปยังตำบลอุรุเวสาเสนานิคม แขวงกรุงราชคฤห์
เฝ้าปฏิบัติพระมหาบุรุษขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา ครั้นเห็นพระองค์ทรงเลิกละทุกรกิริยา
และหันมาทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตก็คลายความเลื่อมใส พร้อมใจกันหนีไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
แขวงเมืองพาราณสี เมื่อพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
เสด็จไปทรงแสดงพระธรรมจักกัปปวัตนสูตรโปรดเป็นปฐมเทศนาจนพระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็น
ธรรมและเมื่อทรงแสดงปณิณกเทศนาอีกสี่องค์ที่เหลือก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมาเมื่อได้ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ทั้งห้าท่านก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ๒๒/ ๑๓๘๕๓
๔๑๐๙. ภัทรบท
มีบทนิยามว่า ชื่อดาวนักษัตรมีสี่ดวง เรียกว่าดาวเพดาน เมื่อแยกเพียงสองดวงหน้า
เรียกว่าบุรพภัทรบท เป็นดาวฤกษ์ที่ ๒๕ อีกสองดวงหลังเรียกว่า อุตรภัทรบท เป็นดาวฤกษ์ที่
๒๖..."
หมู่ดาวนักษัตรเป็นหมู่ดาวแคบ ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวในระบบดาราศาสตร์สากล
ซึ่งแบ่งดาวออกเป็น ๘๘ กลุ่ม หมู่ดาวนักษัตรเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ในแถบที่ดวงจันทร์ผ่าน
เนื่องจากดวงจันทร์ผ่านหมู่ดาวต่าง ๆ จากตะวันตกไปตะวันออกในเวลาประมาณ ๒๗
วัน ปราชญ์โบราณจึงแบ่งดาวฤกษ์ที่ดวงจันทร์ผ่านออกเป็น ๒๗ หมู่ หรือ ๒๗ ฤกษ์
ดาวภัทรบทเป็นหมู่ดาวรวมสองหมู่ดาวนักษัตรเข้าด้วยกัน คือ บุรพบทฤกษ์ที่ ๒๕
และอุตรภัทรบทฤกษ์ที่ ๒๖
ดาวเพดานมีประโยชน์ในการหาทิศทางได้ เพราะดวงที่หนึ่งและที่สองเรียงอยู่ในแนวทิศเหนือ
- ใต้ ส่วนดวงที่สองและที่สามเรียงอยู่ในแนวตะวันตก - ตะวันออก
เมื่อดวงจันทร์มาอยู่ในหมู่ดาวเพดานหรือภัทรบท จะตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ
๒๒/ ๑๓๘๕๔
๔๑๑๐. ภัทรบิฐ
มีบทนิยามว่า "แท่นสำหรับเทพบดีหรือพระราชาประทับถือว่าเป็นมงคล"
ในราชการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เรียกว่า พระที่นั่งภัทรบิฐใช้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ลักษณะคล้ายเก้าอี้มีกงเท้าแขน ด้านหลังพนักพิง และตั้งนพปฎลมหาเศวตฉัตร
พระที่นั่งภัทรบิฐนี้แต่เดิมเป็นแท่นหรือตั่งราชอาสน์สี่เหลี่ยมมีสัปตปฎลเศวตฉัตรกางกั้น
ต่อมาเปลี่ยนเป็นมีลักษณะคล้ายกับเก้าอี้ พระที่นั่งภัทรบิฐมีความสำคัญคู่กับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพระราชอาสน์
ซึ่งเป็นพระแท่นแปดเหลี่ยมสลักลายปิดทองประดับกระจกกลางปักคันสัปตปฎลเศวตฉัตรประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณเช่นเดียวกัน
๒๒/๑๓๘๕๙
๔๑๑๑. ภาควัตปุราณะ ได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นมหาปุราณะเล่มเดียว
ในสิบแปดเล่มที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุด มีคนอ่านมากที่สุดในอินเดียและได้รับการแปลถ่ายทอด
ออกเป็นภาษาถิ่นของอินเดียเกือบทุกสาขา
ภาควัตปุราณะ เป็นคัมภีร์ปุราณะสำคัญที่สุดของพวกไวษณพ ซึ่งยกย่องพระกฤษณะหรือพระวิษณุอวตาร
ปางที่แปดเป็นศูนย์กลางแห่งศรัทธาปสาทะและความภักดี คัมภีร์เล่มนี้มีความยาวประมาณ
๑๘,๐๐ โศลก แบ่งออกเป็นบทใหญ่ ๆ สิบสองบท แบ่งเป็นตอนย่อย ๆ ๓๓๒ ตอน บทที่สิบถือว่าเป็นหัวใจของคัมภีร์เล่มนี้
เพราะกล่าวถึงกำเนิดและความเป็นมา ของพระกฤษณะอย่างละเอียดเป็นหนังสือปุราณะเล่มเดียวที่บันทึกการอวตารของพระวิษณุไว้ถึง
๒๒ ครั้งที่ผ่านไปแล้วและจะมีการอวตารอีกในครั้งที่ ๒๓ มีอวตารปางหนึ่งเป็นพระพุทธเจ้าและปางหนึ่งเป็นกบิลฤษี
(ฤษีตาไฟ) ๒๒/ ๑๓๘๖๖
๔๑๑๒. ภาชี
อำเภอขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนาโดยทั่วไป
อ.พาชี เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.อุทัย ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปีพ.ศ.๒๔๘๖
๒๒/ ๑๓๘๖๗
๔๑๑๓. ภาณุราช
เป็นเสนายักษ์ตนหนึ่งของทศกัณฐ์ มีบทบาทตอนกองทัพพระรามข้ามมหาสมุทร
ไปถึงชายฝั่งเมืองลงกา ทศกัณฐ์ในภาณุราชเนรมิตป่าที่น่ารื่นรมย์ขึ้นแห่งหนึ่ง
เพื่อล่อให้กองทัพพระรามหลงเข้าไปตั้งมั่น และให้ภาณุราชลงไปซ่อนตัวใต้พื้นป่าคอยทำลายล้างทั้งกองทัพด้วยการพลิกแผ่นดินให้คว่ำลง
พิเภกทูลว่าอาจเป็นกลลวงของทศกัณฐ์ หนุมานแทรกแผ่นดินไปพบภาณุราชและฆ่าเสีย
๒๒/ ๑๓๘๖๘
๔๑๑๔. ภาพยนตร์ เป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง
เช่นเดียวกับจิตรกรรมและงานประพันธ์จิตรกร แสดงความรู้สึกนึกคิดทางภาพเขียน
นักประพันธ์ใช้ถ้อยคำ แต่ผู้สร้างภาพยนตร์แสดงความรู้สึกนึกคิดของตนผ่านทางภาพยนตร์
การสร้างภาพยนตร์ได้กลายเป็นงานอุตสาหกรรม
และต้องอาศัยผู้ชำนาญงานเป็นจำนวนมากต้องใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสูง ภาพยนตร์มีประวัติสั้นมากเริ่มมีการคิดทำภาพยนตร์
เมื่อปีพ.ศ.๑๓๔๓
ภาพยนตร์แบ่งได้เป็นสี่ประเภทคือ ภาพยนตร์บันเทิง ภาพยนตร์การศึกษาและฝึกอบรม
ภาพยนตร์สารคดีและภาพยนตร์โฆษณา
ในปีพ.ศ.๒๔๓๒ ทอมัส เอ เอดิสัน ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์เครื่องถ่ายภาพให้เคลื่อนไหวได้
เมริเอส์เป็นคนแรกที่สร้างภาพยนต์โดยเอาฉากต่าง ๆ มาจัดเข้าด้วยกันเพื่อบอกเรื่องในปีพ.ศ.๒๔๔๓
เมริเอส์สร้างภาพยนตร์ชื่อซินเดอเรลลาใช้เวลาฉาย ๔ นาทีเต็ม
สำหรับประเทศไทยได้เริ่มมีภาพยนตร์เข้ามาฉายครั้งแรกราวปี พ.ศ.๒๔๔๕ เรียกว่าหนังญี่ปุ่น
เพราะคนญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้ามาฉายส่วนคำว่าภาพยนตร์นั้นมาเกิดในรัชกาลที่หก
โรงภาพยนตร์แต่แรกเป็นกระโจมอยู่ ที่เวิ้งนครเกษมและมีโรงภาพยนตร์อื่น ๆ ในยุคแรกได้แก่โรงหนังปีระกา
โรงหนังพัฒนากร โรงหนังพัฒนารมย์และโรงหนังสิงคโปร์ (เฉลิมบุรี) ฉายหนังเงียบของฝรั่งเศสและอเมริกา
ผู้สร้างภาพยนตร์เงียบในสมัยนั้นก็มีศรีกรุงเริ่มด้วยเรื่องน้ำท่วมเมืองซัวเถา
ภาพยนตร์เรื่องแรกของไทยที่มีผู้แสดงคือ นางสาวสุวรรณ สร้างเมื่อปีพ.ศ.๒๔๖๗
ผู้นำในการสร้างภาพยนตร์เสียงเป็นรายแรกคือ ศรีกรุง สร้างเรื่องหลงทาง เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๕
๒๒/๑๓๘๖๙
๔๑๑๕. ภารตวรรษ
แปลตามรูปศัพท์ว่า ดินแดนแห่งลูกหลานของพระภรต หมายถึงประเทศอินเดีย ชื่อภารตวรรษ
เป็นชื่อเรียกประเทศอินเดียสมัยแรก ๆ ในทางตำนานอันมีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์ปุราณะฉบับต่าง
ๆ เช่น วิษณุปุราณะ
เป็นที่น่าสังเกตว่าชื่อภารตวรรษนี้คงจะเกิดขึ้นภายหลังพุทธกาล เพราะคัมภีร์ปุราณะต่าง
ๆ ซึ่งอ้างถึงภารตวรรษล้วนเป็นผลงานที่รวบรวมและแต่งขึ้นในสมัยไล่เลี่ยและสมัยพุทธกาลทั้งสิ้น
๒๒/ ๑๓๘๘๒
๔๑๑๖. ภารตศาสตร์ คือภารตนาฏยศาสตร์หรือนาฏยเวทเป็นคัมภีร์สำคัญที่สุดทางทฤษฎีการฟ้อนรำ
การละครและการประพันธ์ของอินเดียโบราณและเป็นต้นฉบับหรือแบบอย่างที่ทำให้เกิดการแต่งหนังสือประเภทนี้อย่างแพร่หลายและแตกสาขาออกไปอย่างกว้างขวาง
ในสมัยต่อมาจึงนับว่าคัมภีร์ภารตศาสตร์ของภรตมุนีเป็นแม่บทของตำราละครและตำราการประพันธ์ทุกเล่มของอินเดียและมีอิทธิพลอย่างสูงสุดในด้านความศักดิ์สิทธิ์
ถึงกับเรียกว่าเป็นพระเวทที่ห้าเช่นเดียวกับคัมภีร์ปราณะทั้งหลาย
คัมภีร์ภารตศาสตร์อาจจะแต่งในช่วงเวลาประมาณปีพ.ศ.๑๕๐ - ๑๔๕๐
๒๒/ ๑๓๘๘๗
๔๑๑๗. ภาษา
คำว่าภาษาเป็นคำสันสกฤตมาจากรากศัพท์เดิมว่า ภาษ แปลว่า กล่าว พูด หรือบอก
เมื่อนำมาใช้เป็นคำนามมีรูปเป็นภาษา แปลตามรูปศัพท์ว่า คำพูดหรือถ้อยคำ
นักภาษาศาสตร์ให้คำนิยามว่า ภาษาเป็นระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์ใช้ติดต่อสื่อสารจะอยู่ในรูปของเสียงพูดหรือตัวเขียนก็ได้
ภาษาอาจจำแนกออกเป็นสองประเภทใหญ่ คือ
๑. ระบบสื่อสารที่ใช้เสียงพูดหรือลายลักษณ์อักษรแทนเสียงพูดเป็นสำคัญเรียกว่า
วัจนภาษา
๒. ระบบสื่อสารซึ่งไม่ใช้เสียงพูดหรือลายลักษณ์อักษรแทนเสียงพูดเป็นสำคัญเรียกว่า
อวัจมภาษา ได้แก่
๑. เสียงประกอบและลักษณะการพูดเช่นเสียงแสดงอาการลังเล เสียงเลียบ เสียงธรรมชาติ
เสียงอุทาน เสียงเรียก เสียงหัวเราะ และเสียงสะอื้น ลักษณะการพูดเช่นจังหวะการหยุด
การลงเสียงหนักพิเศษ ทำนองเสียง ความดัง - ค่อย และลักษณะน้ำเสียง
๒. ท่าทาง ได้แก่การเคลื่อนไหวของส่วนต่าง ๆ บนใบหน้า แขน ขา สีรษะ และอวัยวะส่วนอื่น
ๆ ของร่างกาย
๓. ระยะห่างระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ อาจแตกต่างกัน
สัตว์ก็มีระบบสื่อสารซึ่งสามารถส่งความหมายได้ มากกว่าการใช้คำพูดหรือท่าทางเช่นผึ้งมีสื่อคือ
การเคลื่อนไหวของร่างกาย สัตว์อื่น ๆ ก็มีระบบสื่อสารเช่นนก ปลาโลมา ใช้เสียงร้องเป็นสัญญาณ
ส่วนลิงใช้ทั้งการเคลื่อนไหวและการทำหน้าตา
๒๒/ ๑๓๘๙๓
๔๑๑๘. ภาษิต
มีบทนิยามว่า "คำกล่าว ตามศัพท์เป็นคำกลาง ๆ ใช้ทั้งทางดี ทางชั่ว แต่โดยความหมายแล้วประสงค์คำกล่าวนี้ถือว่าเป็นคติ"
คำที่มักใช้ในความหมายใกล้เคียงกับภาษิตคือ สุภาษิต เป็นสิ่งที่แสดงถึงภูมิปัญญาของชนในชาติ
และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง แต่ละชาติแต่ละภาษาย่อมมีสุภาษิตของตนแตกต่างกันไปตามความนิยมและภูมิธรรม
ชาติไทยได้ชื่อว่าเป็นชาติที่ร่ำรวยภาษิต ซึ่งสะสมมาแต่โบราณกาลในสมัยสุโขทัยมีภาษิตพระร่วงนับเป็นภาษิตไทยแท้
ๆ ที่ติดปากคนไทยสืบมา ภาษาไทยอุดมด้วยภาษิตสำนวนต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีคำพังเพยอีกเป็นจำนวนมาก
เรามักใช้ปนกันจนแยกไม่ออก ภาษิตเกิดจากการกลั่นกรองความคิดและสติปัญญา
อันลึกซึ้งเฉียบแหลมของบรรพบุรุษไทยที่ถ่ายทอดมาสู่อนุชนรุ่นหลัง สะท้อนภาพสังคมไทยและอุปนิสัยใจคอของคนไทย
โครงสร้างของภาษิตไทยพื้นบ้านนั้นส่วนมากประกอบด้วยไทยแท้พยางค์เดียว เรียงกันอยู่ในรูปของวลีหรือกลุ่มคำบ้าง
ในรูปของประโยคบ้าง จำนวนคำที่มาเรียงกันนั้น อาจเป็นจำนวนคู่หรือคี่ก็ได้
ถ้าเป็นจำนวนคู่ก็มักมีเสียงสัมผัส ถ้าเป็นจำนวนคี่อาจมีเสียนงสัมผัสหรือไม่มีก็ได้
ภาษิตไทยเหล่สานี้แต่ละบทมีจังหวะอยู่ในตัว มีความหมายกระชับ และมีเสียงไพเราะคล้ายดนตรีทำให้จำง่าย
จำได้นาน
ความหมายของภาษิตส่วนมากจะเป็นไปในเชิงสั่งสอน หรือเป็นการใช้ข้อสังเกตเกี่ยวกับสิ่งต่าง
ๆ ในธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมอละสังคมมนุษย์
๒๒/ ๑๓๙๐๓
๔๑๑๙.ภาษี
หมายถึงสิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎรเพื่อนำมาใช้ให้เกิดแก่สังคม โดยส่วนร่วมโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร
ภาษีอากรไม่จำเป็นต้องเรียกเก็บในรูปตัวเงินเสมอไป ภาษีอากรบางประเภทอาจเรียกเก็บในรูปของสินค้าหรือบริการก็ได้
เช่น การเกณฑ์ทหาร ซึ่งมีลักษณะเป็นการบังคับซื้อบริการจากผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร
ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าจ้างแรงงานที่ควรจะได้ตามปรกติ ค่าแรงงานส่วนที่ขาดหายไปจัดว่าเป็นภาษีอากร
ที่เรียกเก็บจากผู้ถูกเกณฑ์ทหาร อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การเวนคืนที่ดินของรัฐราคาที่ดินที่รัฐจ่ายให้นั้นมักจะต่ำกว่าราคาตลาด
ส่วนแตกต่างของราคาที่ได้รับกับราคาที่ควรได้ คือภาษีอากรที่รัฐบาลเก็บจากเจ้าของที่ดิน
การจำแนกการเก็บภาษีอากรมีหลายวิธีด้วยกัน ถ้าจำแนกตามหลักการผลักภาระภาษี
จะแบ่งเป็น ภาษีทางตรง ซึ่งหมายถึงภาษีที่ผู้เสียภาษีไม่สามารถผลักภาระภาษีไปให้ผู้อื่น
และภาษีทางอ้อม ซึ่งหมายถึงภาษีที่ผู้เสียภาษีผลักภาระไปให้ผู้อื่นต่อไปได้
หรือถ้าจำแนกตามลักษณะของฐานภาษีจะแบ่งเป็นภาษีที่เก็บจากฐานรายได้ภาษีที่เก็บจากฐานบริโภคและภาษีที่เก็บจากฐานทรัพย์สินเป็นต้น
- การจัดเก็บภาษีอากรของไทยในอดีต มีหลักฐานปรากฎในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง
ฯ ในสมัยสุโขทัยอันแสดงว่าก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ ก็ได้มีการเก็บภาษีอากรกันอยู่แล้ว
ในสมัยอยุธยามีการจัดเก็บภาษีอากรแยกได้เป็นสี่ประเภท คือ จังกอบ (จกอบ) อากร
ส่วย และฤชา ซึ่งเรียกกันรวม ๆ ว่า ส่วยสาอากรหรือส่วยสัดพัทธยากร
จังกอบ คือ การเก็บชักส่วนจากสินค้าหรือเก็บเป็นเงินตามขนาดยานพาหนะที่ขนสินค้าทั้งทางบกและทางน้ำ
เช่น เรือ เกวียน เมื่อผ่านขนอน (สถานที่เก็บจังกอบ)
อากร คือ การเก็บชักส่วนจากผลประโยชน์ที่ราษฎรทำมาหาได้จากการประกอบการต่าง
ๆ เช่น ทำนา ทำไร่ ทำสวน หรือการใช้สิทธิพิเศษของรัฐบาลในการอนุญาตให้จับปลา
เก็บของป่า ต้มสุรา เล่นการพนัน
ส่วย คือ การยอมให้บุคคลบางจำพวกส่งเงินหรือสิ่งของที่รัฐต้องการใช้แทนการมาทำงานให้รัฐด้วยแรงตนเอง
เช่น อนุญาตให้ราษฎรตั้งภูมิลำเนาอยู่ชายดงพญาไฟหาดินมูลค้างคาวในดงนั้นมาหุงดินประสิวส่งรัฐบาลสำหรับทำดินปืนหรือยอมให้ราษฎรชาวเมืองถลางหาดีบุกนำมาส่ง
รัฐบาลสำหรับทำลูกปืนแทนรับราชการทหาร
นอกจากนี้ยังมีส่วยอีกหลายอย่าง เช่น เครื่องราชบรรณาการซึ่งประเทศราชส่งมาให้
พัทธยา หมายถึงการริบทรัพย์สมบัติของผู้ต้องพัทธยา (ผู้ต้องโทษ) เข้าเป็นของหลวง
เกณฑ์เฉลี่ย หมายถึงการเกณฑ์เงิน แรงงานหรือสิ่งของช่วยราชการเป็นครั้งคราว
ส่วยแทนแรง หมายถึงการยอมให้ชายฉกรรจ์ซึ่งมีหน้าที่รับราชการส่งเงินมาจ้างคนรับราชการแทนตนได้
ฤชา คือ ค่าธรรมเนียมซึ่งเรียกเก็บจากบริการต่าง ๆ ที่รัฐบาลทำให้เพื่อประโยชน์แก่ราษฎรบางคนเป็นการเฉพาะตัว
เช่น ผู้ใดขอจดโฉนดตราสารเป็นสำคัญแก่กรรมสิทธิ์มิให้ผู้อื่นบุกรุกที่ดินสวนไร่นาของตนหรือราษฎรเป็นความกัน
รัฐบาลต้องชำระความให้ในโรงศาล ฝ่ายใดแพ้คดีถูกปรับไหมใช้เงินแก่ฝ่ายชนะเท่าใด
รัฐบาลย่อมเก็บเป็นค่าฤชากึ่งหนึ่ง
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นการจัดเก็บภาษีอากรคงถือแบบตามสมัยอยุธยาเป็นหลัก
ครั้นถึงรัชกาลที่สามได้มีการปรับปรุงภาษีอากรครั้งใหญ่ โดยปรับปรุงและเพิ่มประเภทอากรอีกเป็นจำนวนมาก
รวมทั้งได้เปลี่ยนรูปการจัดเก็บภาษีอากรจากสิ่งของมาเป็นตัวเงินมากขึ้น ทำให้การจัดเก็บภาษีอากรเปลี่ยนไปเป็นวิธีการผูกขาดจัดเก็บโดยเอกชนมากขึ้น
การที่ผู้ใดจะได้รับทำภาษีอากรชนิดใดก็ต้องเป็นผู้ประมูลได้เรียกว่า เจ้าภาษีนายอากร
ในสมัยรัชกาลที่ห้าได้มีการปฏิรูปทางด้านการคลังและระบบภาษีอากรครั้งใหญ่นับเป็นการวางรากฐานระบบและระเบียบปฏิบัติการเก็บภาษีอากรของประเทศอย่างสมัยใหม่
- การจัดเก็บภาษีอากรของไทยในปัจจุบัน มีหลายประเภทที่สำคัญได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการค้า ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่เป็นต้น
หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดเก็บภาษีมีหลายหน่วยงานด้วยกัน แต่ภาษีอากรส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บ
โดยกรมสรรพากร กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตในสังกัดกระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีได้
รวมกันทั้งสิ้นเกินกว่าร้อยละ ๙๐ ของภาษีอากรที่จัดเก็บได้ทั้งหมด
๒๒/๑๓๙๑๒
๔๑๒๐. ภาษีเจริญ
เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมเป็นอำเภอเรียก อ.ภาษีเจริญ ชาวบ้านมักเรียกว่า อ.รางบัว
เพราะที่ว่าการอำเภออยู่ใกล้วัดรางบัว เปลี่ยนเป็นเขตเมื่อปีพ.ศ.๒๕๑๖
๒๒/ ๑๓๙๑๙
๔๑๒๑. ภิกษุ มีบทนิยามว่า
"พระผู้ชายในพระพุทธศาสนา" ผู้ชายที่จะเป็นพระในพระพุทธศาสนาต้องบวชหรืออุปสมบทเป็นภิกษุและต้องเป็นผู้ที่สงฆ์บวชให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า
ญัตติจตุตถกรรมอุปสมบท ผู้ที่จะอุปสมบทต้องเป็นชายมีร่างกายสมบูรณ์ มีอายุครบกำหนดไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามพุทธบัญญัติ
เมื่อสงฆ์จะให้อุปสมบทต้องชุมนุมภิกษุให้ได้องค์กำหนดและต้องชุมนุมในแขตชุมนุม
ซึ่งเรียกว่า สีมา จึงจะให้อุปสมบทสำเร็จ
ในตอนปฐมโพธิกาลวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตได้หกกรณี คือ
๑. เอหิภิกขุอุปสมบท คือ บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุมีสังวาสคือ
ธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมเสมอด้วยพระองค์และภิกษุอื่นที่ได้รับอนุญาตเช่นเดียวกัน
๒. ติสรณคมอุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีทรงอนุญาตให้พระสาวกรับเข้าหมู่ได้
ด้วยวิธีให้ผู้ร่วมเข้าหมู่นั้นถือเพศก่อนแล้วแสดงตนถึงสรณสาม
๓. โอวาทปฏิคคหณอุปสมบท คือ บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีรับพระพุทธโอวาทดังที่ประทานแก่พระมหากัสสปเถระ
๔. ปัญหาพยากรณอุปสมบท คือ บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีกราบทูลกล่าวแก้ปัญหาถวายพระพุทธองค์แล้วทรงอนุญาตให้เป็นพระภิกษุด้วยวิธีนั้น
ดังที่ประทานแก่สามเณรโสปากะ
๕. ครุธัมมปฏิคคหณอุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีการได้รับครุธรรมแปดประการดังที่ประทานแก่พระมหาปชาบดี
๖. ทูเตนอุปสมบท คือ บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีส่งทูตไปรับบวชแทนดังที่ทรงอนุญาตแก่นางอัฒกาสีคณิกา
ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในการบริหารคณะภิกษุหลายรูปเข้าประชุมกันเป็นหมู่
เพื่อทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเรียกว่า สงฆ์ สงฆ์นั้นย่อมมีองค์ประชุมเป็นกำหนดสำหรับกิจนั้น
ๆ การให้อุปสมบทในปัจจันตชนทบคือ แดนที่หาพระภิกษุยากต้องการสงฆ์มีภิกษุห้ารูป
ในมัชฌิมประเทศคือแดนที่หาพระภิกษุง่ายต้องการสงฆ์มีพระภิกษุสิบรูป แต่ในประเทศไทยปัจจุบันการบวชนาคนิยมใช้พระภิกษุรวม
๒๘ รูป คือ พระอุปัชฌาย์ หนึ่งรูป พระคู่สวดสองรูป พระอันคับ ๒๕ รูป เกินกว่านี้ไม่ห้าม
ตกมาถึงชั้นนี้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ทำด้วยวิธี ซึ่งเรียกว่าญัตติจตุตกกรรมอุปสมบท
คือภิกษุประชุมครบองค์กำหนดในเขตแห่งชุมนุม ซึ่งเรียกว่า สีมา กล่าววาจาประกาศเรื่องความที่จะรับคนนั้น
ๆ เข้าหมู่และได้รับความยินยอมจากภิกษุทั้งปวง
เมื่อทรงเลิกติสรณคมนอุปสมบทแล้วได้ทรงอนุญาตให้เอาวิธีนั้นมาใช้บวชกุลบุตร
ผู้มีอายุยังหย่อนไม่ครบ เป็นพระภิกษุให้เป็นสามเณร การบวชจึงเป็นสอง คือ
บวชเป็นภิกษุหรือบวชพระเรียกอุปสัมปทาหรืออุปสมบท บวชเป็นสามเณรเรียกว่าบรรพชาหรือบวชเณรและวิธีที่สงฆ์จะให้อุปสมบทก็ให้แก่ผู้ได้รับบรรพชาหรือเป็นสามเณรมาแล้วใช้เป็นธรรมเนียมมาจนบัดนี้
สงฆ์ผู้จะให้อุปสมบทนั้นต้องตรวจตราผู้จะให้อุปสมบท ให้เห็นว่าเป็นผู้สมควรก่อน
คือ ต้องให้ผู้นั้นหาภิกษุรับรองหรือชักนำเข้าหมู่รูปหนึ่งเรียกว่า อุปัชฌายะ
นั้น ต้องเป็นผู้ใหญ่สามารถจะฝึกสอนเมื่อบวชแล้ว จะต้องตรวจตราเครื่องบริขารที่จำเป็นของภิกษุ
คือ ไตรจีวรกับบาตรให้มีพร้อม ถ้าบกพร่องเป็นหน้าที่ของอุปัชฌายะ จะต้องหาให้การซักไซ้ด้วยเรื่องเหล่านี้
สงฆ์สมมติให้ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ทำและการอุปสมบทนี้ต้องให้แก่ผู้สมัครเท่านั้น
ถ้าเขาไม่สมัครจะให้ขืนใจเขาไม่ได้ จึงมีเป็นธรรมเนียมว่าผู้จะอุปสมบทที่ต้องเปล่งคำขอกรณียกิจเหล่านี้เรียกว่า
บุรพกิจ ควรทำให้เสร็จก่อนสวดประกาศ เมื่อพร้อมด้วยสมบัติดังกล่าวแล้วจึงเป็นวาระที่จะสวดประกาศรับผู้นั้น
เป็นภิกษุเข้าหมู่เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปหนึ่งผู้มีความรู้ความสามารถประกาศให้สงฆ์ฟังวาจาประกาศนั้นสี่จบ
จบแรกเป็นคำเผดียงสงฆ์ ขอให้อุปสมบทคนชื่อนั้นเรียกว่าญัตติอีกสามจบ เป็นคำปรึกษาหารือกันและกันของสงฆ์ที่ตกลงรับผู้นั้นเป็นภิกษุเข้าหมู่เรียกว่า
อนุสาวนา ในระหว่างนี้ถ้ามีภิกษุแม้รูปหนึ่งคัดค้าน การนั้นเป็นอันเสียใช้ไม่ได้
ถ้านิ่งอยู่ทุกรูปถือเอาเป็นยอม ต่อนั้นมีคำประกาศซ้ำท้ายว่าสงฆ์รับผู้นั้นเป็นภิกษุเข้าหมู่เสร็จแล้ว
ผู้ประกาศจำข้อความนี้ไว้ ในคำประกาศนั้นจำต้องระบุชื่อผู้ขออุปสมบทระบุชื่อพระอุปัชฌายะผู้รับรองหรือนำเข้าหมู่คณะ
ระบุชื่อสงฆ์ผู้เป็นเจ้าการขาดไม่ได้ และจะต้องประกาศให้ครบกำหนด และถูกระเบียบต่อหน้าไม่ลับหลัง
ดังนี้เรียกว่า กรรมวาจาสมบัติ พระสงฆ์จะให้อุปสมบทต้องทำให้ได้พร้อมสมบัติห้าประการ
พระภิกษุในพระพุทธศาสนาเมื่อบวชแล้วต้องปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติคือ ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม
ซึ่งยกขึ้นเป็นศีลหรือสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ ที่มาในพระปาติโมกข์และที่ไม่ได้มาในพระปาติโมกข์
ศีลหรือสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ ที่มาในพระปาติโมกข์ คือ ปาราชิก ๔ สังฆาทิเสส ๑๓
อนิยต ๒ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ ปาจิตติย์ ๙๒ ปาฏิเทสนียะ ๔ เสขิยะ ๗๕
รวมเป็น ๒๒๐ นับทั้งอธิกรณ์สมถะ ๗ ด้วย เป็น ๒๒๗
การลาสิกขา คือการปฏิญาณตนเป็นผู้อื่นจากภิกษุต่อหน้าภิกษุด้วยกันแล้วละเพศภิกษุเสียถือเอาเพศที่ปฏิญาณนั้น
ท่านอนุญาตให้ทำอย่างนั้นได้ แม้ต่อหน้าคนอื่นจากภิกษุ คำปฏิญาณนั้นต้องชัดพอที่ผู้ฟังจะรู้ได้ว่า
ตนละความเป็นภิกษุถึงความเป็นผู้อื่น การปฏิญาณนั้นต้องทำเป็นกิจจะลักษณะ
คำปฏิญาณที่ใช้อยู่ในบัดนี้สองคำควบกันว่า "สิกขํ ปจฺจกฺขามิ คิหีติมํ ธาเรถ"
แปลว่า "ข้าพเจ้าขอลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์ " เมื่อถือเพศคฤหัสถ์แล้ว
แสดงอุปาสกัตตเพศ คือแสดงคนเป็นอุบาสกต่อหน้าพระรัตนตรัยอีกวาระหนึ่ง โดยความเป็นนิจศีลตลอดชีวิตอีกชั้นหนึ่ง
๒๒/ ๑๓๙๒๐
๔๑๒๒. ภิกษุณี มีบทนิยามว่า
"พระผู้หญิงในพระพุทธศาสนา" ในสมัยพุทธกาลภิกษุณีองค์แรกคือพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะเสด็จนิพพานแล้ว
พระนางมหาปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระน้า นางเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอพระพุทธานญาตให้หญิงได้บวชในพระธรรมวินัย
แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปถึงเมืองไพศาลีประทับที่กูฎาคาร
ป่ามหาวัน พระนางมหาปชาบดีได้ตัดพระเมาลีของพระองค์พร้อมด้วยนางสากิยานี ทรงผ้ากาสาวพัสตร
อธิษฐานเพศบรรพชิตอุทิศเฉพาะพระศาสดาไปยังเมืองไพศาลี ยืนกรรแสงอยู่ที่ซุ้มพระทวารกูฎาคาร
พระอานนท์เสด็จมาพบทูลถามสาเหตุเมื่อทราบแล้วจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลเรื่องให้ทรงทราบแล้วกราบทูลขอให้ทรงอนุญาตให้ผู้หญิงได้บวชในพระธรรมวินัย
พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงอนุญาต พระอานนท์จึงทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ถ้าผู้หญิงได้บวชในพระธรรมวินัยแล้วจะบรรลุมรรคผลได้หรือไม่
พระพุทธเจ้าดำรัสว่าผู้หญิงบวชก็สามารถบรรลุมรรคผลได้ พระอานนท์จึงขอให้ผู้หญิงได้บวชในพระธรรมวินัย
พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ถ้าพระนางมหาปชาบดีจะยอมรับเงื่อนไขครุธรรมแปดประการก็บวชได้
ครุธรรมแปดประการนั้นคือ
๑. นางภิกษุณีแม้บวชแล้วได้ร้อยพรรษาต้องกราบไหว้ ลุกต้อนรับประนมมือและทำสามีจิกรรมอื่น
ๆ แก่ภิกษุแม้บวชในวันนั้น
๒. ภิกษุณีไม่ควรอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ
๓. ภิกษุณีต้องปฏิบัติตามหลักธรรมสองประการคือ จะต้องทำอุโบสถกรรมและเข้าไปฟังคำสอนจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้วต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายโดยสถานทั้งสามคือ โดยได้เห็น
โดยได้ยิน โดยรังเกียจ
๕. ภิกษุณีต้องครุกาบัติ (อาบัติสังฆาทิเสส) แล้วต้องประพฤติปักขมานัต (อยู่ปริวาสกรรม)
จากสงฆ์ทั้งสองฝ่ายปักษ์หนึ่ง (๑๕ วัน)
๖ ภิกษุณีต้องอุปสมบทในสงฆ์สองฝ่าย เมื่อได้เป็นสิกขมานาศึกษาธรรมหกข้อ (ศีลหกข้อ)
ตั้งแต่สิกขาบทปาณาติปาตาเวรมณีถึงวิกาลโภชนา เวรมณีครบสองปีแล้ว
๗. ภิกษุณีอย่าพึงด่า อย่าพึงบริภาษภิกษุด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง
๘. ตั้งแต่วันอุปสมบทเป็นต้นไป ห้ามไม่ให้ภิกษุณีว่ากล่าวภิกษุ แต่ให้สดับรับโอวาทของภิกษุว่ากล่าว
นางภิกษุณีฝ่ายเดียว
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทตามลำดับที่ภิกษุณีประพฤติในกาลนั้น ๆ รวมเป็นสิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ได้
๓๑๑ สิกขาบท คือ ปาราชิก ๘ สังฆาทิเสส ๑๗ นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ สุทธิกปาจิตตีย์
๑๖๖ ปาฏิเทสนียะ ๘ เสขิยวัตร ๗๕ และอธิกรณสมถะ ๗
๒๒/๑๓๙๒๗
๔๑๒๓. ภีมเสน
เป็นชื่อหนึ่งของภีมะในเรื่องมหาภารตะ (ดูภีมะ ๑ - ลำดับที่ ๔๑๒๓) ๒๒/
๑๓๙๓๑
๔๑๒๔. ภีมะ ๑
เป็นชื่อวีรบุรุษสำคัญคนหนึ่งในมหากาพย์เรื่องมหาภารตะ คำว่า "ภีมะ" แปลว่า
ผู้เป็นที่น่าสะพรึงกลัว" เป็นเจ้าชายปาณฑพองค์ที่สองในจำนวนทั้งหมดห้าองค์
ภีมะมีชีวิตอยู่ในช่วงนารายณ์อวตารปางที่แปด (กฤษณะวตาร) แต่มีพี่ชายร่วมบิดาเดียวกันคือ
หนุมาน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงนารายณ์อวตารปางที่เจ็ด (รามจันทราวุตาร) และมีชีวิตยืนยาวมาถึงนารายณ์อวตารปางที่แปดได้พบกับภีมะ
ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดา (พระวายุ) กับตน
ภีมะเป็นคนรูปร่างใหญ่โตมีพละกำลังยิ่งใหญ่ ถือกระบองเป็นอาวุธ เป็นคนใจกล้าหาญโหดเหี้ยมร้ายกาจ
เจ้าโทสะปากร้ายไม่เคยปราณีต่อศัตรูเป็นคนหยาบคายและกินจุมาก
ชีวิตในบั้นปลายตอนภีมะ ตอนออกเดินป่าพร้อมด้วยพี่ ๆ น้อง ๆ ปาณฑพและนางเทราปทีมุ่งหน้าไปยังเขาสุเมรุ
ระหว่างการเดินทาง เมื่อใกล้ถึงจุดหมายผู้ร่วมขบวนก็ล้มตายไปทีละคน เริ่มจากนางเทราปที
สหเทพ นกุล และอรชุน จากนั้นก็เป็นภีมะ ๒๒/ ๑๓๙๓๑
๔๑๒๕. ภีมะ ๒
เป็นชื่อกษัตริย์แห่งเมืองวิทรรภ์ในเรื่องพระนล อันเป็นเรื่องแทรกในมหากาพย์มหาภารตะ
เป็นผู้ที่ใจดีมีเมตตาและมีความรักลูกหลานเป็นอย่างยิ่ง เมื่อนางทมยันตีผู้เป็นพระธิดาหลงรักพระนล
ท้าวภีมะก็รับช่วยเหลือโดยจัดให้มีพิธีสยุมพรจนนางเลือกคู่ได้พระนลเป็นสามี
๒๒/๑๓๙๓๖
๔๑๒๖. ภีมะ ๓ เป็นชื่อบุคคลหนึ่งในปัทมบุราณะแสดงให้เห็นถึงความสูงส่ง
และความศักดิ์สิทธิของพราหมณ์ว่าอาจช่วยแม้คนวรรณะต่ำต้อย เช่น วรรณศูทรให้ขึ้นสวรรค์ของพระวิษณุได้
๒๒/๑๓๙๓๖
๔๑๒๗. ภู่ - แมลง เป็นแมลงที่มีลักษณะทั่วไปคล้ายผึ้งมากจนทำให้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่ม
จัดเอาไว้เป็นแมลงในวงศ์เดียวกัน
แมลงภู่มักจะทำรังโดยการเจาะเป็นรูเข้าไปในเนื้อไม้แห้ง ๆ และมักจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม
สอง - สามคู่ในรังเดียวกัน ๒๒/๑๓๙๓๗
๔๑๒๘. ภูกระดึง
อำเภอขึ้น จ.เลย ภูมิประเทศเป็นป่ามีเขาใหญ่ เช่น ภูกระดึงมีที่ราบน้อย
อ.ภูกระดึงตั้งชื่อตามเขา (ภู) กระดึง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๕ ขึ้น
อ.วังสะพุง ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๖ ๒๒/ ๑๓๙๔๐
๔๑๒๙. ภูเก็ต
จังหวัดภาคใต้เป็นเกาะขนาดใหญ่อยู่ใกล้ฝั่งตะวันตกของแหลมมลายูทาง จ.พังงา
ส่วนกว้างที่สุดราว ๒๑ กม. ส่วนยาวที่สุดราว ๔๙ กม. มีเกาะเล็กเกาะน้อยเป็นบริวารอยู่
๒๖ เกาะ เช่น เกาะพร้าว เกาะสิเหร่ เกาะตะเภาน้อย เกาะโล้น เกาะแวว เกาะงาใหญ่
เกาะนาคาใหญ่ เป็นต้น ภูมิประเทศเป็นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ มีที่ราบเป็นตอน ๆ มีแหลมและอ่าวหลายแห่ง
คือ แหลมงา แหลมอ่าวขาม แหลมพระเจ้า แหลมวิง แหลมขาด แหลมทราย แหลมยาง แหลมเนือ
แหลมไทร มีอ่าว คือ อ่าวภูเก็ต อ่าวขาม อ่าวราไวย์ อ่าวฉลอง อ่าวป่าตอง อ่าวกมลา
อ่าวบางเทา อ่าวสะป่า อ่าวสิเหร่
พลเมืองนอกจากไทยชาวพื้นเมืองแล้ว รองลงมาก็มีชาวจีนส่วนมาก ถัดมาก็มีชาวมลายู
อินเดีย พม่า ฝรั่ง และญี่ปุ่น เป็นต้น เกาะภูเก็ตมีแร่ดีบุกมากจึงมีชนต่างชาติเข้ามาทำเหมืองและทำการค้าขายกันมาก
เกาะภูเก็ตเดิมเรียกว่าเกาะฉลางหรือถลาง ซึ่งบัดนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอหนึ่งในเกาะนี้คือ
อ.ถลาง เอกสารกล่าวถึงเกาะภูเก็ตเก่าแก่ที่สูงก็คือตำนานเมืองไทรกล่าวว่า
มะโรงมหาวังษาผู้สร้างเมืองไทรบุรีแล่นเรือจากอินเดียมาแวะเกาะสลาง คือ เกาะภูเก็ต
ก่อนหน้าไปสร้างเมืองไทรบุรี สันนิษฐานว่าระยะเวลาตกอยู่ราวพุทธศตวรราที่
๑๘ จดหมายเหตุชาวยุโรปเรียกเกาะนี้ว่า ยังซีลอน
เกาะภูเก็ตก่อนสมัยสุโขทัยขึ้นเมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วทุ่ง รวมทั้งดินแดนส่วนอื่นในแหลมมลายูเหล่านี้ขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช
ครั้นเมื่อพระเจ้ารามคำแหง ฯ ทรงขยายเขตแดนลงไปใต้ตลอดแหลมมลายู เกาะภูเก็ตจึงตกอยู่ในครอบครองของกรุงสุโขทัย
แต่นั้นตลอดมาสมัยอยุธยาตอนต้นไม่ปรากฎว่าได้กล่าวถึงเรื่องเกาะภูเก็ต เพราะคงขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช
เมื่อปีพ.ศ.๒๓๒๘ พม่ายกทัพเรือมาตีเมืองถลาง ภริยาเจ้าเมืองถลางชื่อจันกับน้องสาวชื่อมุกได้รวบรวมกำลังต่อต้านไว้ได้
จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร
ในปีพ.ศ.๒๓๕๒ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลางได้ แต่ถูกทัพกรุงตีแตกกลับไป บ้านเมืองยับเยินมากราษฎรพาหนีข้ามไปรวมกันบนฝั่งที่
ต.กระพูงา ซึ่งภายหลังตั้งเป็นเมืองพังงาขึ้น เมืองถลางก็ร้างไปคราวหนึ่งจนถึงรัชกาลที่สามราษฎรจึงกลับไปอยู่ที่เมืองถลางอีก
มาในรัชกาลที่สี่โปรด ฯ ให้ยกศักดิ์เมืองภูเก็ตขึ้นเป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพ
ฯ ย้ายที่ว่าการเมืองถลางไปภูเก็ตและลดเมืองถลางเป็นหัวเมืองขึ้นภูเก็ต ถึงรัชกาลที่ห้า
ลดเมืองถลางลงเป็นอำเภอ เกาะถลางก็เปลี่ยนชื่อเป็นเกาะภูเก็ต ครั้นเมื่อมีการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล
จ.ภูเก็ต ก็ได้เป็นที่ตั้งที่ว่าการมณฑลภูเก็ต ๒๒/ ๑๓๙๔๐
๔๑๓๐. ภูเขา คือพื้นที่ดินส่วนที่สูงขึ้นมาจากบริเวณรอบ
ๆ และมีความลาดชันมากความแตกต่างระหว่างยอดเขากับเชิงเขามากกว่า ๖๐๐ เมตรขึ้นไป
ไหล่เขาของภูเขาสูงใหญ่จะทำมุม ๒๐ - ๒๕ องศากับพื้นราบเป็นส่วนใหญ่ ความแตกต่างระหว่างยอดเขากับเชิงเขาประมาณ
๓,๐๐๐ - ๔,๕๐๐ เมตร ภูเขาสูงใหญ่นั้นส่วนใหญ่จะมีหลายเทือกหลายแนวสลับกับหุบเขาลึก
เรียกว่า กลุ่มเทือกเขา กลุ่มเทือกเขาสูงใหญ่ในปัจจุบันเกิดขึ้นในยุคเทอร์เชียรี
จากการเคลื่อนไหวแปรรูปของเปลือกโลก กลุ่มเทือกเขาเหล่านี้จะมีความกว้างมากและทอดยาวเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร
เรียกว่า กลุ่มเทือกเขาระบบแอลไพน์ มีปรากฎอยู่ในทวีปต่าง ๆ ทั้งในยุโรป เอเชีย
แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ตลอดจนออสเตรเลีย เช่น เทือกเขาแอลฟ์ เทือกเขาหิมาลัย
เทือกเขาร็อกกี เทือกเขาเขอตลาส เทือกเขาแอนดิส
ก่อนถึงยุคเทอร์เชียรีมีภูเขาที่เกิดจากการเคลื่อนไหวแปรรูปมาแล้วสองครั้งด้วยกัน
ภูเขารุ่นที่หนึ่งเรียกกว่า ภูเขาระบบคาสิโดเนียน เกิดเมื่อประมาณ ๓๐๐ ล้านปีมาแล้ว
พบอยู่ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย พาดผ่านสกอตแลนด์ไปจนถึงไอร์แลนด์ ภูเขารุ่นที่สองเรียกว่า
ภูเขาระบบเฮอร์ซีเนียน เกิดเมื่อประมาณ ๒๐๐ ล้านปีมาแล้ว ปรากฎอยู่ทุกทวีป
เช่น เทือกเขาอูราล เทือกเขาแอพพาเลเชียน ที่สูงทางตะวันออกของทวีปออสเตรเลียในประเทศไทยทิวเขาด้านตะวันตกของไทย
ซึ่งเป็นแนวพรมแดนไทยกับพม่า ทิวเขาที่เป็นแกนกลางของคาบสมุทรภาคใต้จัดอยู่ในภูเขารุ่นที่สองนี้
ภูเขามีหลายชนิดด้วยกันได้แก่
๑. ภูเขารูปโดม เป็นภูเขารูปกลมมีรูปร่างคล้ายกระทะคว่ำ มีขนาดต่าง ๆ กันไปตั้งแต่ความกว้างน้อยกว่า
๑ กม. ไปจนถึงความกว้างหลายร้อยกิโลเมตร เกิดจากการโค้งงอของชั้นหินจนมีโครงสร้างเป็นรูปคล้ายกระทะคว่ำ
ปัจจุบันภูเขารูปโดมส่วนใหญ่มีขนาดไม่สูงใหญ่มากนักเพราะเป็นภูเขารุ่นเก่าผ่านการสึกกร่อนมาเป็นเวลายาวนาน
๒. ภูเขาบล็อก เป็นภูเขาที่เกิดจากการเลื่อนตัวของหินในระยะที่เกิดขึ้นนั้น
ภูเขาบล็อกจะมีด้านหนึ่งชัน ซึ่งมักจะเป็นด้านเดียวกับผิวรอบเลื่อน ๆ อีกด้านหนึ่งมีความลาดเทน้อย
เกิดจากชั้นหินที่วางตัวเอียง ๆ ภูเขาบล็อกจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เริ่มด้วยด้านที่ชันมาก
รอยเลื่อนจะถูกทำลายไปในอัตราที่เร็วกว่าอีกด้านหนึ่ง แม่น้ำที่ไหลลงไปตามหน้าผาจะกัดเซาะทำให้เกิดหุบเขา
นาน ๆ เข้าภูเขาจะมีรูปร่างที่สมมาตรกันมากขึ้น ค่อย ๆ ลึกกร่อนจนหายไปในที่สุด
๓. ภูเขาที่เกิดจากรอยคดโค้งของหิน มักจะเป็นเทือกเขายาว วางตัวซ้อนกันหรือต่อกันเป็นแนวสลับกับหุบเขา
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลุ่มเทือกเขา ภูเขาชนิดนี้รุ่นหลังสุดเรียกว่า ภูเขาระบบแอลไพน์เป็นกลุ่มเทือกเขาขนาดใหญ่
ตัวอย่างเช่น เทือกเขาหิมาลัย เทือกเขาแอลพ์ เทือกเขารอกกี เทือกเขาแอนดิส
ในประเทศไทยคือทิวเขาที่เป็นแนวพรมแดนระหว่างไทยกับพม่า ทิวเขาที่เป็นแกนกลางของคาบสมุทรภาคใต้
รวมทั้งอาณาเขตที่สูงในพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี
เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช สงขลา ทิวเขาเหล่านี้จัดเข้าในภูเขารุ่นที่สองในระยะแรกที่มีการคดโค้งของเปลือกโลกชั้นหินรูปประทุนหงายมักเป็นหุบเขา
๔. ภูเขาแบบซับซ้อน เป็นภูเขาที่มีโครงสร้างหลายรูปแบบรวม ๆ กันอยู่ แต่ละแบบมองเห็นได้ชัดเจน
ภูเขาชนิดนี้อาจประกอบด้วยหินอัคคีล้วน ๆ หรือหินแปรล้วน ๆ หรือเป็นหินชั้นที่ได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
แต่ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยหินทั้งสามประเภทดังกล่าวแล้ว ๒๒/ ๑๓๙๔๕
๔๑๓๑. ภูเขาทอง
(ดูบรมบรรพต - ลำดับที่ ๒๙๙๓) ๒๒/ ๑๓๙๔๘
๔๑๓๒. ภูเขาไฟ
เป็นภูเขาที่เกิดขึ้นจากการประทุของแมกมาหรือหินหนืด และแก๊สจากใต้เปลือกโลกออกมาสู่ผิวโลกแล้วทับถมพอกพูนตรงบริเวณประทุจนปรากฎเป็นสภาพเด่นทางภูมิศาสตร์
ปรกติจะมีลักษณะเป็นรูปกรวยคว่ำ ตรงยอดเขาที่เป็นปากปลองภูเขาไฟจะเว้าเป็นแอ่งหรือเป็นหุบลึกที่มีขอบเกือบกลม
แหล่งแมกมาหรือหินหนืด หรือหินหลอมเหลวอาจเกิดขึ้น ณ ที่ส่วนใดของโลกก็ได้โดย
ณ ที่นั้นมีอุณหภูมิสูงมากพอที่จะหลอมละลายหินแข็งได้ การระเบิดของภูเขาไฟแต่ละแห่งได้พ่นสารหรือวัสดุลักษณะและขนาดต่าง
ๆ ออกมามากบ้างน้อยบ้างได้แก่
หินชั้นภูเขาไฟ เป็นหินที่ประกอบด้วยสารแข็งขนาดต่าง ๆ ที่ภูเขาไฟพ่นออกมา
มูลภูเขาไฟ เป็นเศษหินชิ้นส่วนภูเขาไฟ เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟแล้วพ่นลาวาขึ้นไปในอากาศแล้วกลับตกลงมา
เมื่อแข็งตัวแล้วทำให้มีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ขนาด ๒ - ๒๖ มม.
กรวดภูเขาไฟ มูลภูเขาไฟเนื้อแก้ว มีสีคล้ำและเป็นรูพรุน ขนาด ๔ - ๓๒ มม.
เถ้าธุลีภูเขาไฟ มีขนาดไม่เกิน ๔ มม.
ลาวา คือแมกมาหรือหินหลอมเหลวจากใต้เปลือกโลกออกมาสู่ผิวโลก มีลักษณะแตกต่างกัน
ตามส่วนประกอบทางเคมีและอุณหภูมิ มีอุณภูมิระหว่าง ๖๐๐ - ๑,๒๐๐ องศาเซลเซียส
แกส ภูเขาไฟเกือบทุกแห่งจะมีแก๊สออกมาด้วย รวมทั้งไอน้ำซึ่งมีด้วยเสมออุณหภูมิของแก๊สจะสูงประมาณ
๑,๐๐๐ องศาเซลเซียส
การประทุและหยุดประทุแสดงถึงสภาวะภาพในภูเขาไฟ ทำให้สามารถจัดแยกภูเขาไฟดังกล่าวได้เป็นพวก
ๆ คือ พวกที่ยังมีพลัง หมายถึงภูเขาไปที่มีการบันทึกไว้ว่ากำลังมีการประทุอยู่
และภูเขาเขาไฟที่ไม่ได้มีการระเบิดหรือประทุอยู่ขณะนี้แต่คาดว่าจะต้องมีการประทแน่นอนเรียกว่า
ภูเขาไฟมีพลัง ภูเขาไฟที่เคยมีการประทุมาแล้วและขณะนี้ไม่ได้ประทุ แต่คาดว่าจะมีการประทุในอนาคตเรียกว่าภูเขาไฟสงบ
ภูเขาไฟที่ไม่มีการประทุในขณะนี้และทราบแน่ชัดว่าจะไม่มีการประทุขึ้นอีกในภายหน้าเรียกว่า
ภูเขาไฟดับสนิท
ภูเขาไฟเกิดขึ้นทั้งแผ่นดินที่เป็นทวีปในพื้นท้องทะเลและมหาสมุทร รวมทั้งในบริเวณหมู่เกาะต่าง
ๆ ปัจจุบันภูเขาไฟเกิดอยู่ในส่วนใหญ่ที่เป็นแนวเขตที่มีพลังอันเป็นเขตที่มีการแตกและเลื่อนเหลื่อมกันเป็นแนวแบบฟันเลื่อยในพื้นท้องมหาสมุทรผ่านหมู่เกาะมาจนถึงบนทวีป
ได้มีการแบ่งเขตที่มีพลังภูเขาไฟออกเป็นสามแนว คือ แนวที่หนึ่งได้แก่ แนวเทือกภูเขาไฟโดยทั่วไปเกิดอยู่ตามขอบทวีปและหมู่เกาะรูปโค้ง
แนวที่สองเกิดอยู่ในแผ่นเปลือกโลก แผ่นใดแผ่นหนึ่งตรงที่เป็นจุดกำเนิดแมกมาอันเนื่องมาจากศูนย์พลังภูเขาไฟหรือจุดร้อน
ซึ่งอยู่ลึกลงไปในโลก แนวที่สามเกิดอยู่ใต้มหาสมุทรตรงบริเวณที่แผ่นเปลือกโลกต่าง
ๆ มีการแยกห่างจากกันอันเป็นช่องทางให้แมกมาข้างใต้พุ่งขึ้นมาได้
๒๒/๑๓๙๔๘
๔๑๓๓. ภูเขียว อำเภอขึ้น
จ.ชัยภูมิ ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีภูเขาบ้าง ทางทิศตะวันออกเป็นป่าและภูเขา
อ.ภูเขียว เป็นเมืองเก่าในรัชกาลที่สี่เรียกเมืองภูเขียวขึ้น เมืองนครราชสีมาภายหลังยกขึ้นตรงกระทรวงมหาดไทย
ราวปีพ.ศ.๒๔๒๕ ได้แยกเมืองภูเขียวเป็นเมืองเกษตรสมบูรณ์อีกเมืองหนึ่ง แล้วต่อมาได้ยุบเมืองทั้งสองเป็น
อ.ภูเขียว แล้วกลับมาตั้งที่ อ.เกษตรสมบูรณ์อีก อ.ภูเขียวเปลี่ยนชื่อเป็น
อ.ผักปัง เมื่อปีพ.ศ.๒๔๗๑ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ภูเขียว เมื่อปีพ.ศ.๒๔๘๑
๒๒/๑๓๙๕๔
๔๑๓๔. ภูฎาน - ประเทศ
ตั้งอยู่ที่เทือกเขาหิมาลัยตะวันออกระหว่างทิเบตกับประเทศอินเดีย ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับประเทศจีน
ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกติดต่อกับประเทศอินเดีย มีพื้นที่ ๔๖,๖๐๐
ตารางกิโลเมตร ภาคเหนือเป็นภูเขาสูงถัดลงมาเป็นหุบเขาที่อุมดสมบูรณ์ตอนใต้สุดเป็นที่ราบ
เมืองหลวงชื่อทิมพู
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ ป่าไม้ แหล่งป่าอยู่ที่ที่ราบทางตอนใต้ ป่าไม้ทำรายได้สูงสุดแก่ภูฎานและทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
การค้าขายส่วนใหญ่เป็นการค้ากับอินเดีย
พลเมืองส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ภาษาราชการคือภาษาซองคา ภาษาเนปาลและภาษาอังกฤษ
มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
สมัครเป็นสมาชิกองค์การสหประชาติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ ภูฎานได้ทำสนธิสัญญากับอินเดียยินยอมให้อินเดีย
ให้คำแนะนำในกิจการต่างประเทศ แต่จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารกิจการภายในประเทศ
ในปีพ.ศ.๒๔๐๘ ภูฎานได้ทำสัญญากับอังกฤษซึ่งปกครองอินเดียในฐานะอาณานิคม ภูฎานจะได้รับเงินอุดหนุนจากอังกฤษปีละ
๕๐,๐๐๐ รูปี
ในปีพ.ศ.๒๔๑๗ ภูฎานได้ทำสัญญากับบริษัทอินเดียตะวันออกยินยอมส่งบรรณาการคือ
ม้าห้าตัวแก่บริษัทเป็นประจำทุกปีและจะไม่รุกรานอินเดีย ต่อมาภูฎานบุกรุกดินแดนของอินเดีย
อังกฤษจึงเข้ายึดครองภูฎาน ในปีพ.ศ.๒๔๕๐ เซอร์ อุกเยน วังชุก ผู้ว่าการมณฑลตองสาในภูฎานตะวันออกได้รับเลือกเป็นมหาราชองค์แรกของภูฎาน
และในปีพ.ศ.๒๕๑๒ ได้เปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ๒๒/ ๑๓๙๕๕
๔๑๓๕. ภูติ
(ดูผี - ลำดับที่ ๓๖๘๑) ๒๒/ ๑๓๙๕๘
๔๑๓๖. ภูมิพล ชื่อเขื่อนเก็บน้ำ
กั้นแม่น้ำปิงตอนที่เขาประชิดเข้าหากันจนจดฝั่งลำน้ำบริเวณเขาแก้ว ทางท้ายน้ำของเขายันฮี
๑ กม. อยู่ใน อ.สามเงา จ.ตาก มีพื้นที่รับน้ำเหนือเขื่อน ๒๖,๓๘๖ ตารางกิโลเมตร
มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยปีละ ๘,๖๐๐ ล้านลบ.เมตร
เริ่มดำเนินการเมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๕ เปิดทำการเขื่อนปีพ.ศ.๒๕๐๔ และเปิดโรงไฟฟ้าพลังน้ำเมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๗
ตัวเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งสูงจาก
๒๒/ ๑๓๙๕๘
๔๑๓๗. ภูมิศาสตร์
เป็นศาสตร์ทางพื้นที่ว่าด้วยการจัดพื้นที่ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ โดยค้นหาหลักเกณฑ์ทั่วไป
อันเกิดจากความสัมพันธ์ทางพื้นที่ ระหว่างองค์ประกอบทางด้านสภาพแวดล้อมธรรมชาติ
กับองค์ประกอบทางด้านสังคม หรือมนุษย์เป็นสำคัญ
อาจกล่าวสรุปได้ว่า ภูมิศาสตร์เป็นทายาทของระบบสังคมและเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
เพื่อการอยู่รอดและอยู่อย่างภาคภูมิ จึงต้องมีการปรับแนวคิด โดยปรับปรุงรายเนื้อหาวิชา
และวิธีการให้ทันสมัย จึงเป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ในการเรียน
การสอน การฝึกฝนอบรม และการวิจัยทางภูมิศาสตร์ ในปัจจุบัน อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในอดีต
๒๒/๑๓๙๖๑
๔๑๓๘. ภูริทัต - พระโพธิสัตว์
เป็นพระโพธิสัตว์พระชาติที่หก ในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ
ซึ่งจะกล่าวถึงพระพุทธจริยาของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ พระพุทธจริยาในพระชาติที่หกนี้
ทรงบำเพ็ญศีลบารมีเป็นสำคัญ
มีเรื่องอยู่ในภูริทัตตชาดก ตามเรื่องกล่าวว่า สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์
ทรงพระนามว่า ภูริทัต นั้น พระองค์ทรงเป็นพระโอรสของท้าวธตรฐ และพระนางสมุททชา
ซึ่งเป็นราชธิดาแห่งราชบุตรของพระเจ้าพรหมทัต และนางนาค ม่ายตนหนึ่ง ในสมัยเมื่อพระเจ้าพรหมทัต
ทรงครองราชย์อยู่ที่กรุงพาราณสี ๒๒/๑๓๙๖๗
๔๑๓๙. ภูเรือ
อำเภอ ขึ้น จ.เลย มีอาณาเขตทางทิศเหนือจดประเทศลาว ภูมิประเทศเป็นป่า และภูเขาส่วนมาก อ.ภูเรือ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗
๒๒/๑๓๙๗๖
๔๑๔๐ ภูเวียง
อำเภอ ขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง มีป่าโปร่ง และทุ่งสลับกัน
๒๒/๑๓๙๗๑
๔๑๔๑. ภูษามาลา - พนักงาน
เป็นเจ้าพนักงานในราชสำนัก มีมาแต่โบราณเห็นจะก่อน รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
กรมภูษามาลา มีสืบเนื่องมาจนถึงสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๗๕ จึงได้ยุบกรมนี้ลงเป็นแผนกเรียกว่า แผนกราชูปโภค แต่คงปฎิบัติหน้าที่ในงานเดิม
และผนวกงานพระแสงต้นรวมเข้าไว้ด้วย
๒๒/๑๓๙๗๔
๔๑๔๒ เภสัช ๑
มีบทนิยามว่า "ยาแก้โรค" มาจากคำภาษาบาลีว่า เภสัช
ในพระพุทธศาสนามักใช้คำนี้เข้าคู่กับคำ "ศิลาน" (แปลว่า เจ็บไข้, เป็นไข้,
คนไข้) เป็นศิลานเภสชฺช แปลว่า ยาแก้โรคของภิกษุไข้ ศิลานเภสัชมีห้าอย่าง
เรียกสั้นๆ ว่า เภสัชห้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในปัจจัยสี่ของภิกษุ
(ดู เภสัช ๒ - ลำดับที่ ๔๑๐๑)
ไทยนำคำ เภสชฺช มาใช้แบบไทยว่า เภสัช แทนคำว่า ยา หรือยาแก้โรค ทั้งที่เป็นยาแผนโบราณ
และยาแผนปัจจุบัน โดยใช้คำนำหน้าคำอื่น ๆ เช่น เภสัชกร เภสัชกรรม เภสัชศาสตร์
๒๒/๑๓๙๗๘
๔๑๔๓. เภสัช ๒
เป็นคำที่ใช้ในสังฆมณฑลของพระพุทธศาสนา หมายถึง ศิลานเภสัช คือ ยาแก้โรคของภิกษุ
มีเภสัชห้า เป็นต้น
เภสัชห้า เป็นยาชุดแรกที่ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับประเคนไว้ฉันได้ในกาล แต่ต่อมาทรงอนุญาตให้ฉันยาได้
ทั้งในกาลและในเวลาวิกาล และเก็บไว้ได้มีกำหนดเจ็ดวัน เภสัชห้าคือ เนยใส
เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
นอกจากเภสัชห้า ซึ่งเป็นยาชุดแรกแล้ว ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตยาชนิดอื่น
ๆ อีกมาก ตามความจำเป็นเมื่อมีภิกษุอาพาธขึ้น เมื่อกาลล่วงไปแล้วมีโรคร้ายเกิดแก่พระภิกษุมากขึ้น
พระศาสดาก็ทรงอนุญาตให้สังฆมณฑล นำสมุนไพรมาใช้เป็นศิลานเภสัชรักษาโรคเหล่านั้น
๒๒/๑๓๙๗๙
๔๑๔๔. เภสัชกร
เป็นชื่อที่ใช้เรียกผู้ประกอบอาชีพทางเภสัชกรรม หมายถึง ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องยา
นับตั้งแต่การจัดหาวัสดุที่ใช้เป็นยา การคัดเลือก การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
การป้องกันการเสื่อมคุณภาพ การเตรียมขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ ให้สะดวกแก่คนไข้ การวิเคราะห์หาความบริสุทธิ์และสิ่งปลอมปนในยา
การจัดหามาตรฐานของยา ตลอดจนการควบคุมดูแลการจ่ายยาให้แก่คนไข้ ให้ถูกต้องและปลอดภัย
เภสัชกร ที่จะประกอบอาชีพควบคุมการผลิตยา ขายยา หรือนำยาเข้ามาในราชอาณาจักรได้นั้น
จะต้องขึ้นทะเบียน และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะ เสียก่อน
๒๒/๑๓๙๘๔
๔๑๔๕. เภสัชกรรม
มีบทนิยามว่า "วิทยาศาสตร์แขนงที่ว่าด้วยการเตรียมเครื่องยา ตัวยาจากธรรมชาติ
หรือการสังเคราะห์ให้เป็นยาสำเร็จรูป "คำนี้ กระทรวงธรรมการได้ประกาศ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๗๖ แทนคำว่า ปรุงยา และวิชาเภสัชกรรม แทนคำว่า วิชาปรุงยา ความจริงคำว่า
เภสัชกรรมนี้ได้รู้จักใช้กันมาก่อนหน้านี้แล้ว
ในสมัยโบราณนับพันปีมาแล้ว วิชาชีพเภสัชกรรม และการแพทย์ รวมอยู่ในบุคคลคนเดียวกัน
และมักเป็นนักบวชด้วย ต่อมาเมื่อมนุษย์เจริญขึ้นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับทางยา
และการรักษาพยาบาลมากขึ้น จึงเริ่มแยกออกจากกัน ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เชื่อกันว่าได้มีร้านขายยาเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกในนครแบกแดด
ต่อมาในปี พ.ศ.๑๗๘๓ พระเจ้าเฟรเดอริกที่สอง กษัตริย์ชาวเยอรมัน ผู้เป็นประมุขของจักรวรรดิ์โรมัน
อันศักดิ์สิทธิ์ได้ออกกฎหมายแยกวิชาชีพเภสัชกรรม และการแพทย์ออก
จากกัน
๒๒/๑๓๙๘๗
๔๑๔๖. เภสัชศาสตร์
เป็นการศึกษาเรื่องการเยียวยา และยาบำบัดโรคมีมาคู่กับมนุษยชาติ ในตอนแรกจะอยู่ในบุคคลคนเดียวกัน
มีอายุมากกว่า ๔,๐๐๐ ปี มาแล้ว
เภสัชศาสตร์เป็นวิชาความรู้เกี่ยวกับยาแก้โรค ผู้ที่จะไปปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวกับยา
จึงต้องเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาพื้นฐาน ทั้งพืช สัตว์ แร่ธาตุ คณิตศาสตร์ วิชาฟิสิกส์
เคมี พิษวิทยา การตรวจเครื่องยา ตัวยา การสกัด การทำให้บริสุทธิ์ การสังเคราะห์
การเตรียมยาสำเร็จรูป การปรุงยา การถนอม ฤทธิ์ของยาต่อคนหรือสัตว์ สารพิษ
การเปลี่ยนแปลงของยาในร่างกาย กฎหมายเกี่ยวกับยา และการแพทย์ การตลาด อุตสาหกรรมทำยา
๒๒/๑๓๙๘๙
๔๑๔๗. ไภสัชคุรุ.
เป็นพระนามของพระพุทธเจ้าในอดีตพระองค์หนึ่ง ตามคติในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานคือ
ธยานิพุทธเจ้า ตามทฤษฎีตรีกาย (ดู คำตรีกาย - ลำดับที่
๒๑๑๐) ทรงมีฤทธิ์อำนาจมีพระเมตตา
และทรงขจัดโรคพยาธิทุกชนิด ที่เกิดทางร่างกายและเกิดทางจิต (คือ กิเลส) ตลอดถึงวิปริตภัยอันตรายอื่น
ที่เกิดจากอำนาจของบุคคล และธรรมชาติให้สลายพ่ายแพ้ไปได้ หากผู้ปรารภมีศรัทธาคารวะต่อพระองค์
พระพุทธเจ้าพระองค์นี้มีพระนามอีกหลายอย่างเช่นไภสัชคุรุราช แปลว่าจอมหมอยา
และไภสัชคุรุไวฑูรยประภาตถาคต แปลว่าพระตถาคตผู้ทรงเป็นจอมแพทย์ทางยา ทรงพระรัศมีอันไพฑูรย์
๒๒/๑๓๙๙๔
๔๑๔๘. ม พยัชนะตัวที่ ๓๓
เป็นพวกอักษรต่ำ ใช้เป็นตัวสะกดใน แม่กม เป็นตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะรูปหนึ่ง
ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ รูป ของไทย
อักษร ม แทนเสียงพยัญชนะหนึ่งในกลุ่มพยัญชนะนาสิกในภาษาไทย เสียงพยัญชนะนาสิกที่แทนด้วยอักษร
"ม" เป็นพยัญชนะเสียงก้อง
ในระบบอักขรวิธีไทยอักษร "ม" เป็นได้ทั้งพยัญชนะต้น และตัวสะกดในคำไทย และคำยืมจากต่างประเทศ
๒๒/๑๔๐๐๔
๔๑๔๙. มกุฏ
(ดู มงกุฎ - ลำดับที่ ๔๑๕๓) ๒๒/๑๔๐๐๖
๔๑๕๐. มคธ ๑ - ภาษา
(ดู บาลี -ลำดับที่
๓๑๕๐) ๒๒/๑๔๐๐๖
๔๑๕๑. มคธ ๒
เป็นชื่ออาณาจักรหนึ่งของอินเดียโบราณ มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาการ
การพาณิชย์ และการทหาร เป็นถิ่นกำเนิด และเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
โดยมีพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ของอาณาจักรนี้ เป็นศาสนูปถัมภก องค์แรก และมีกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรนี้องค์ต่อ
ๆ มาหลายพระองค์ เช่น พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ พระเจ้าสมุทรคุปตะ
แห่งราชวงศ์คุปตะ เป็นกำลังสำคัญในการทำนุบำรุง ส่งเสริมและเผยแผ่ให้แพร่หลายไปในนานาประเทศ
ดินแดนของอาณาจักรนี้ ในปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหารภาคใต้
ในต้นพุทธกาล มคธเป็นมหาชนบท หรืออาณาจักรหนึ่งในจำนวน ๑๖ อาณาจักร ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอุโปสถสูตร
แห่งติกนิบาต อังคุตรนิกาย ต่อมามคธได้แผ่อำนาจออกไปกว้างขวาง รวมเอาอาณาจักรอื่น
ๆ มาอยู่ในการปกครอง จนกลายเป็นหนึ่งในจำนวนสี่อาณาจักรในยุคเดียวกันคือ มคธ
โกศล วังสะ และอวันตี แต่หลังพุทธกาลในรัชสมัยพระเจ้าอโศก ฯ อาณาจักรมคธ มีอาณาเขตกว้างขวางทึ่สุด
ตั้งแต่ภาคเหนือจดภาคใต้ของชมพูทวีป
๒๒/๑๔๐๐๖
๔๑๕๒. มงกุฎ
เป็นเครื่องราชศิราภรณ์ของพระมหากษัตริย์อย่างหนึ่ง ถือเป็นเครื่องหมายยศอันสูงสุด
สำหรับพระมหากษัตริย์ เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
พระมหากษัตริย์ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นโอกาสแรก ในวันถวายสิริราชสมบัติในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
และในโอกาสต่อมาเมื่อเสด็จออกมหาสมาคม ในพระราชพิธีเดียวกัน ในการทรงพระมหามงกุฎนี้
จะต้องทรงเครื่องต้นด้วย
มงกุฎรอง ที่เรียกกันว่า พระชฎา พระชฎาที่สร้างในรัชกาลต่าง ๆ มีอยู่ห้าองค์คือ
พระชฎากลีบ พระชฎาเดินหน พระชฎาห้ายอด สร้างในรัชกาลที่หนึ่ง และรัชกาลที่หก
รวมสององค์ ชฎาห้ายอด ที่เรียกว่า พระมหาชมพู สร้างในรัชกาลที่ห้า
นอกจากมงกุฎ ดังกล่าวแล้ว ในทางนาฎศิลป์ได้สร้างชฎา สำหรับโขน ละคร ไว้อีกมาก
ชฎาบางประเภทก็เรียกกันว่า มงกุฎ ได้แก่ มงกุฎยอดกนก มงกุฎยอดหางไก่ มงกุฎยอดหางไหล
มงกุฎยอดสามกลีบ มงกุฎยอดก้านไผ่ มงกุฎยอดนาค มงกุฎยอดน้ำเต้า
๒๒/๑๔๐๑๙
๔๑๕๓. มงคลบพิตร - พระ
เป็นพระพุทธรูปหุ้มทองสำริด องค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หน้าตักกว้าง ๙.๕๕
เมตร สูงแต่ทับเกษตรถึงสุดพระเมาลี ๑๒.๔๕ พระกรรณยาวข้างละ ๑.๘๑ เมตร พระเนตรยาวข้างละ
๑.๐๕ เมตร พระนาสิกแต่ใต้พระอุนาโลม ถึงปลายพระนาสิก ๑.๒๓ เมตร ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารข้างกำแพงวัดพระศรีสรรเพชญ์
ด้านใต้ในพระราชวังโบราณ กรุงศรีอยุธยา
พระมงคลบพิตรถ้าจะพิจารณารูปร่างลักษณะแล้วก็พอจะกล่าวได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น
เดิมประดิษฐานอยู่ทางตะวันออกนอกพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรด ฯ ให้ชะลอมาไว้ทางทิศตะวันตก
ณ ที่ประดิษฐานปัจจุบัน
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว วิหารพระมงคลบพิตรถูกไฟไหม้ เครื่องบนหักพังลงมาต้องพระเมาลี
และพระกรขวาขององค์พระหัก
ในปี พ.ศ.๒๑๔๙๙ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ให้ซ่อมหลังคาพระวิหารใหม่ให้เหมือนของเดิม
ซ่อมผนัง ซ่อมพื้น ตลอดจนองค์พระใหม่หมด ๒๒/๑๔๐๒๓
๔๑๕๔. มงคลสูตร
เป็นพระสูตรที่ห้า ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ พระพุทธเจ้าทรงตรัสพระสูตรนี้
แก่เทพบุตรตนหนึ่งที่วัดพระเชตุวันมหาวิหาร นครสาวัตถี เทพบุตรตนนั้น เข้าไปทูลถามข้อมงคลว่า
เทวดา และมนุษย์เป็นอันมาก หวังความสวัสดี พากันคิดเรื่องมงคล ขอพระองค์ได้โปรดตรัสมงคลอันสูงสุดด้วยเถิด
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสมงคล ๓๘ ประการ โดยพุทธภาษิตดังนี้
การไม่คบคนพาล หนึ่ง การคบบัณฑิต หนึ่ง การบูชาบุคคลที่ควรบูชา หนึ่ง การอยู่ในประเทศ
(ท้องถิ่น) อันสมควร หนึ่ง ความเป็นผู้มีบุญได้ทำไว้ในปางก่อน หนึ่ง การตั้งตนไว้ชอบ
หนึ่ง ความเป็นผู้ได้สดับตรับฟังมาก หนึ่ง ความเป็นผู้มีศิลปะ หนึ่ง วินัยที่ได้ศึกษามาดีแล้ว
หนึ่ง วาจาที่เป็นสุภาษิต หนึ่ง การบำรุงมารดา บิดา หนึ่ง การสงเคราะห์บุตร
หนึ่ง การสงเคราะห์ภริยา หนึ่ง การงานที่ไม่อากูล หนึ่ง ทาน หนึ่ง
ธรรมจริยา (การประพฤติธรรม) หนึ่ง การสงเคราะห์ญาติ หนึ่ง การงานที่ปราศจากโทษ
หนึ่ง การงดเว้นจากบาป หนึ่ง การไม่ดื่มน้ำเมา (
) หนึ่ง ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย หนึ่ง ความเคารพ หนึ่ง ความถ่อมตน
หนึ่ง ความสันโดษ หนึ่ง ความกตัญญู หนึ่ง การฟังธรรมโดยกาลอันควรหนึ่ง ขันติ
(ความอดทน) หนึ่ง ความเป็นผู้ว่าง่ายหนึ่ง การเห็นสมณะหนึ่ง การสนทนาธรรมโดยกาลอันควรหนึ่ง
ตบะ (ความเพียรเผากิเลส) หนึ่ง ความประพฤติพรหมจรรย์หนึ่ง การเห็นอริยสัจหนึ่ง
การทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานหนึ่ง จิตที่ไม่หวั่นไหวในเมื่อถูกต้องโลกธรรมหนึ่ง
ความไม่เศร้าโศกหนึ่ง ความคลายกำหนัดหนึ่ง ความเกษมจากโยคะ (กิเลสเครื่องร้อยรัด)
หนึ่ง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นมงคลอันสูงสุด ผู้ที่กระทำมงคลให้ประจักษ์แล้ว จะไม่เป็นผู้พ่ายแพ้
และบรรลุถึงความเป็นผู้สวัสดีในที่ทุกสถาน
ในตำนานของบทสวดมนต์ซึ่งเรียกว่าเจ็ดตำนาน ท่านถือเอาพระสูตรที่เป็นหลักไว้เจ็ดพระสูตรด้วยกัน
และกำหนดเอามงคลสูตรนี้เป็นพระสูตรที่หนึ่ง เวลามีศาสนพิธีเนื่องในงานมงคล
เมื่อพระสงฆฺเจริญพระพุทธมนต์มาถึงบทมงคลสูตร ซยึ่งบจะขึ้นต้นว่า "เอเสวนา
จ พลาน " เจ้าภาพจะจุดเทียนมงคลถวายพระสงฆ์ผู้เป็นประธาน เพื่อให้ทำน้ำพระพุทธมนต์
๒๒/ ๑๔๐๓๕
๔๑๕๕. มณฑป
เป็นเรือนยอดที่มีรูปสี่เหลี่ยม มณฑปกับบุษบก ลักษณะรูปหลังคาเป็นอย่างเดียวกัน
ต่างแต่ขนาดใหญ่กับเล็ก แถมปราสาทเข้าด้วยกัน ถ้ามีมุขก็เรียก "ปราสาท" จะเห็นได้ว่าจากหลังคาปราสาทว่าเป็นเรือนชั้น
เรือนยอดขนาดใหญ่ที่คนเข้าได้หลายคนเรียกว่ามณฑป ถ้าประกอบกับมุขเรียกว่าปราสาท
เฉพาะยอดอาจเป็นทรงจอมแห หรือยอดปรางค์ก็ได้ ถ้ามีแต่ยอดขนาดเล็กคนเข้าได้คนเดียว
หรือเข้าไม่ได้เลยเรียกว่าบุษบก
มณฑปนี้เป็นสถาปัตยกรรมไทยชั้นสูงสุด ประเภทเครื่องยอด นับเป็นศิลปไทยที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งในบรรดาศิลปะไทยหลากหลายชนิด
๒๒/ ๑๔๐๔๑
๔๑๕๖. มณฑล
เป็นเขตท้องที่ของราชการบริหารส่วนภูมิภาคที่รวมหัวเมือง (จังหวัด) หลาย ๆ
หัวเมืองเข้าเป็นเขตปกครองอันเดียวกัน
มณฑลเป็นเขตการปกครองที่ได้จัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในรัชกาลที่ห้า
ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการปฏิรูปราชการบริหารส่วนภูมิภาค โดยมีการปรับปรุงเมืองพระยามหานครหรือหัวเมืองชั้นนอก
จัดตั้งเป็นมณฑลขึ้นแทน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๗ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๙
ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ ได้จัดตั้งมณฑลพิษณุโลกกับมณฑลปราจีนบุรีขึ้น ทั้งได้ปรับปรุงมณฑลนครราชสีมาให้เป็นไปตามระเบียบใหม่
และในปลายปี พ.ศ.๒๔๓๗ เมื่อได้โอนราชการฝ่ายพลเรือนในหัวเมืองทั้งปวงที่เคยขึ้นต่อกระทรวงกลาโหม
และกระทรวงการต่างประเทศ มาขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียวแล้ว ได้มีการรวบรวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง
ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้จัดตั้งมณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขการจัดระเบียบมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก
โดยเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลภูเก็ตเป็นมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง
ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้จัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช และมณฑลชุมพรขึ้นใหม่ และได้จัดระเบียบมณฑลเขมร
ให้เป็นไปตามรูปมณฑลเทศาภิบาล
ในปี พ.ศ.๒๔๔๐ ได้รวมหัวเมืองมลายูฝ่ายตะวันออก จัดตั้งเป็นมณฑลไทรบุรี
ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ จัดตั้งมณฑลจันทบุรี และมณฑลปัตตานี
เมื่อเสร็จการจัดระเบียบแล้ว มณฑลเทศาภิบาลมีรวม ๒๐ มณฑล ต่อมายุบเลิกไปสองมณฑลคือ
มณฑลบูรพา และมณฑลไทรบุรี เมื่อมีการยกดินแดนให้แก่ประเทศฝรั่งเศส และประเทศอังกฤษ
ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้มีการปรับปรุงการจัดระเบียบราชการบริหารใหม่ทั้งหมด โดยเลิกมณฑล
และให้จังหวัดเป็นเขตการปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด
๒๒/ ๑๔๐๔๖
๔๑๕๗. มณฑา - นาง
เป็นชื่อตัวละครตัวหนึ่งในละครนอกเรื่องสังข์ทอง นางมณฑาเป็นมเหสีท้าวสามล
เป็นพระมารดานางรจนา และพระธิดาอื่นอีกหกองค์ เมื่อพระธิดาทั้งเจ็ดเจริญวัย
ท้าวสามลและนางมณฑา ก็จัดให้พิธีเลือกคู่ นางรจนาธิดาองค์สุดท้องเลือกได้เจ้าเงาะ
พระบิดาจึงขับไล่ให้ไปอยู่ที่ปลายนากับเจ้าเงาะ ต่อมาท้าวสามลคิดจะกำจัดเจ้าเงาะ
(ด้วยการหาปลาและหาเนื้อแข่งกับหกเขย - เพิ่มเติม)
แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดมีศึกมาติดเมือง (พระอินทร์แปลงมาเพื่อช่วยเงาะ - เพิ่มเติม)
หกเขยสู้ไม่ได้ นางมณฑาต้องออกไปอ้อนวอนเจ้าเงาะให้ออกไปตีคลี (พนัน - เพิ่มเติม)
กับพระอินทร์ ผลที่สุดเจ้าเงาะต้องถอดรูป (และออกไปตีคลีชนะ - เพิ่มเติม)
นางมณฑามีบทบาทเป็นภริยาที่ดี เป็นผู้ให้สติสามี และทำหน้าที่แม่ที่ดี
๒๒/ ๑๔๐๕๔
๔๑๕๘. มณีปุระ
เป็นชื่อแคว้นหนึ่งในประเทศอินเดียปัจจุบัน เดิมเป็นรัฐอิสระมาแต่โบราณมีประวัติความเป็นมา
ย้อนหลังขึ้นไปกว่าพันปี เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
มณีปุระ เป็นดินแดนที่ล้อมรอบไปด้วยทิวเขาสูง ตั้งอยู่สุดพรหมแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย
ติดกับประเทศพม่า อยู่ทางทิศตะวันออก และทิศตะวันออกเฉียงใต้ พรหมแดนด้านทิศตะวันตก
และทิศเหนืออยู่ติดกับแคว้นอัสสัม อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ๒,๖๐๐ ฟุต ลักษณะเป็นที่ราบสูงมีหุบเขามากมาย
ทิวเขามณีปุระเป็นประดุจกำแพงกั้นรัฐนี้กับประเทศพม่า
พลเมืองส่วนใหญ่เป็นชนชาวมองโกลสาขาหนึ่ง ภาษาที่ใช้จัดอยู่ในตระกูลทิเบต
- พม่า นอกจากนั้นเป็นชนชาวเขาเผ่านาคะและเผ่ากุคิ - ชิน คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู
มีนับถือศาสนาอิสลามร้อยละห้า
ในปี พ.ศ.๒๓๕๖ พม่าส่งกองทัพไปรุกราน และได้ชัยชนะ ราชาแห่งมณีปุระขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ
พม่าจำยอมรับรองฐานะของแคว้นมณีปุระ ว่าเป็นเอกราชตามเดิม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๓
ราชาแห่งมณะปุระเกิดวิวาทกับพระอนุชา ผู้ว่าราชการอังกฤษประจำแคว้นอัสสัมเข้าไปไกล่เกลี่ย
และถูกฆ่าตาย กองทัพอังกฤษจึงเคลื่อนเข้าไปในแคว้นมณีปุระ และปราบปรามจนเหตุการณ์สงบลง
แล้วตั้งราชกุมารองค์หนึ่งขึ้นเป็นกษัตริย์ ในความควบคุมทางการเมืองของอังกฤษมาจน
ถึงสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พวกกุกิได้ก่อการปฎิวัติขึ้น เพื่อแบ่งการปกครองเป็นสามส่วน
แต่เหตุการณ์ก็ยุติลง
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อกองทัพญี่ปุ่นยึดประเทศพม่าได้แล้วก็ได้รุกเข้าไปในแคว้นมณีปุระ
ชนเผ่านาคะและเผ่ากุกิ ได้ช่วยทหารอังกฤษต่อสู้กับญี่ปุ่นจนสิ้นสงคราม มณีปุระถูกผนวกเข้าเป็นแค้วนหนึ่งของประเทศอินเดีย
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ อินเดียได้แต่งตั้งข้าหลวงใหญ่มาปกครอง มณีปุระได้รับสิทธิให้ส่งผู้แทนจำนวนสามคน
เข้าร่วมในรัฐสภาของประเทศอินเดีย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ มณีปุระได้รับสิทธิให้เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น
๓๐ คน และสมาชิกที่รัฐบาลแต่งตั้งอีกสองคน เพื่อทำหน้าที่ดูแลกิจการภายในแว่นแคว้น
๒๒/๑๔๐๕๔
๔๑๕๙. มณีพิชัย - พระ
เป็นชื่อตัวละครเอกฝ่ายชายในบทละครนอกเรื่อง มณีพิชัย พระมณีพิชัยเป็นโอรสของท้าวพิชัยนุราชกับนางจันทร
เมื่อย่างเข้าวัยหนุ่ม พระมณีพิชัยได้ออกไปประพาสป่า และได้พบกับนางยอพระกลิ่น
(ดูยอพระกลิ่น - ลำดับที่...) นางจันทรไม่พอใจจะรับนางเป็นลูกสะใภ้ และอยากจะให้พระมณีพิชัย
ได้กับธิดาของพระเจ้ากรุงจีน จึงออกอุบายหาว่านางยอพระกลิ่นกินแมว จึงเป็นผีกระสือต้องเอาใส่หีบไปทิ้งนอกวัง
พระอินทรทราบว่านางตกทุกข์ได้ยาก จึงลงมาช่วยและแปลงนางให้เป็นพราหมณ์หนุ่ม
เรื่องดำเนินต่อไปอีกหลายเหตุการณ์ในที่สุดทั้งสองก็ได้อยู่ด้วยกันตลอดไป
๒๒/ ๑๔๐๕๗
๔๑๖๐. มณีเมขลา
เป็นชื่อเทพธิดาองค์หนึ่งในวรรณคดีบาลีมีเรื่องราวปรากฎในนิยายชาดกสองเรื่อง
คือ มหาชนกชาดก และสังขชาดก นางมณีเมขลาได้รับคำสั่งจากท้าวจตุโลกบาล ให้ทำหน้าที่ตรวจตราดูแลท้องทะเล
คอยช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเรืออับปาง
วรรณคดีบาลีอันเป็นที่มาแห่งเรื่องนางมณีเมขลามิได้กล่าวไว้ ณ ที่ใดว่า นางถือดวงแก้ว
หรือมีสายรัดเอวประดับด้วยแก้วมณี (ตามคำแปลว่า "ผู้มีสายรัดเอวประดับด้วยแก้วมณีต่าง
ๆ") ตามความเชื่อถือของไทยแต่โบราณ และหลักฐานในเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่หนึ่งแสดงว่า
นางมณีเมขลาถือดวงแก้วอันเป็นมณีวิเศษ อยู่ดวงหนึ่งแสงแก้วมณีคือแสงฟ้าแลบ
แสงแก้วของนางทำให้อสูรตนหนึ่งชื่อรามสูร อยากได้จึงเข้ายื้อแย่งแต่นางหลบหลีกไปได้
และชูดวงแก้วล่อไปมาทำให้รามสูรโกรธ จึงขว้างขวานเพชรอาวุธคู่กายไปยังนางหวังจะฆ่านางเสีย
แต่นางก็ไม่เป็นอันตรายเพราะแก้ววิเศษคุ้มครองอยู่
๒๒/ ๑๔๐๕๘
๔๑๖๑. มด
เป็นแมลงพวกหนึ่ง มีลักษณะที่สำคัญคือ บริเวณส่วนท้องคอดกิ่ว บริเวณที่ติดกับอกทางด้านหลัง
ของส่วนท้องปล้องที่หนึ่ง หรือในมดบางชนิดที่รวมไปถึงปล้องที่สอง มีลักษณะเป็นโหนกสูงขึ้น
มดอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเช่นเดียวกับปลวก มีชีวิตแบบสังคม โดยทำรังอยู่ดัวยกัน
รังหนึ่ง ๆ เป็นร้อยเป็นพัน หรือหลายหมื่นหลายแสนตัว ไม่มีชนิดใดอยู่โดดเดี่ยวประกอบด้วยวรรณะคือขนาดรูปร่างลักษณะและเพศต่างกัน
กล่าวคือ มดตัวเมียเป็นแม่รัง ตัวผู้เป็นพ่อรัง และมดงานอันเป็นมดตัวเมียที่เป็นหมันทำหน้าที่สร้างรัง
เลี้ยงรังและเฝ้ารัง ในแต่ละวรรณะก็อาจจะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันออกไปอีก
มดมีวงจรชีวิตในลักษณะที่พ่อรัง และแม่รังที่มีปีกจะบินออกจากรัง และผสมพันธุ์กันเมื่อถึงเวลา
ซึ่งในระยะเช่นนี้ มดอาจจะมีการผสมต่างพันธุ์กันก็ได้ เมื่อผสมแล้วมดตัวผู้มักจะตาย
มดตัวเมียซึ่งจะสร้างรังใหม่ก็จะหาที่พักพิงที่มิดชิด และสลัดปีกทิ้งรอจนไข่แก่ก็จะวางไข่
เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อน แม่รังก็จะให้อาหารเลี้ยงลูกอ่อนจนกระทั่งเข้าดักแด้
และออกมาเป็นตัวโตเต็มที่ ซึ่งจะเป็นมดงานที่เลี้ยงดูแม่ต่อไป
๒๒/ ๑๔๐๖๒
๔๑๖๒. มดลูก
เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์ สตรีมีผนังเป็นกล้ามเนื้อหนา รูปร่างคล้ายสามเหลี่ยมเอายอดลง
หรือคล้ายผลชมพู่อยู่หลังต่อกับกระเพาะปัสสาวะ และอยู่หน้าต่อกับทวารหนัก
มีขนาดแตกต่างกันไปตามวัย มดลูกมีหน้าที่ทำให้เกิดเลือดประจำเดือน เป็นทางผ่านของตัวอสุจิขึ้นไปพบกับไข่
เตรียมรองรับไข่ที่ผสมแล้ว ให้ฝังตัวเจริญเติบโตจนครบกำหนดคลอด และเป็นอวัยวะที่ขับให้เด็กคลอดทางช่องคลอด
ระหว่างมีครรภ์ตัวมดลูกขยายโตขึ้นได้มากกมาย หลังจากคลอดบุตร มดลูกก็จะหดตัวเล็กลงทันที
แต่ก็ยังใหญ่กว่าขนาดปกติ หลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ หดตัวลงอย่างช้า ๆ เรียกว่า
มดลูกเข้าอู่จนถึงปลายสัปดาห์ที่หกหลังคลอด มดลูกจึงมีขนาดกลับมาเท่าปรกติ
๒๒/ ๑๔๐๖๖
๔๑๖๓. มธุปายาส
(ดูปายาส - ลำดับที่ ๓๕๓๘) ๒๒/
๑๔๐๖๙
๔๑๖๔. มนังคศิลา
เป็นชื่อของพระแท่นที่พ่อขุนรามคำแหง โปรด ฯ ให้สร้างขึ้นไว้ที่กลางดงตาลแห่งหนึ่ง
ในกำแพงกรุงสุโขทัย
พ่อขุนรามคำแหง ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นหัวหน้าอบรมเจ้านายข้าราชการ ตลอดจนอาณาประชาราษฎรให้มีความรู้
ในการปกครองบ้านเมืองและตั้งอยู่ในศีลธรรม ครั้นถึงวันธรรมสวนะพระองค์ทรงนิมนต์พระสงฆ์
ซึ่งทรงคุณวุฒิในพระพุทธศาสนาขึ้นนั่งบนพระแท่นมนังคศิลา เพื่อแสดงธรรมแก่ราษฎรในวันอื่นพระองค์เองเสด็จขึ้นประทับ
บนพระแทนเพื่อว่าราชการบ้านเมือง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พระองค์ทรงพบพระแท่นนี้เมื่อปีพ.ศ.๒๓๗๖
และโปรด ฯ ให้ชะลอมาไว้ที่วัดราชาธิวาส และเมื่อพระองค์ได้เสร็จขึ้นครองราชย์แล้วก็โปรด
ฯ ให้นำพระแท่นนี้ไปไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
๒๒/ ๑๔๐๖๙
๔๑๖๕. มนุษยธรรม
มีบทนิยามว่า "คุณธรรมที่มนุษย์ในสังคมที่ปฏิบัติต่อกันเช่นความเมตตากรุณา"
มนุษยธรรม จึงหมายถึงคุณธรรมที่ทำให้มนุษย์แตกต่างกับสัตว์อื่น ๆ
หลักมนุษยธรรมในพระพุทธศาสนาได้แก่ เบญจศีล - เบญจธรรม
ขงจื้อได้กล่าวถึงมนุษยธรรมไว้ว่า "มนุษยธรรม ก็คือคุณธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์จริง
ๆ "และบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีมนุษยธรรม นั้น จะต้องสามารถปฏิบัติคุณธรรมห้าประการ
คือ ความสุภาพอ่อนโยน ความไม่เห็นแก่ตัว การศรัทธาที่ดีงาม ความขยันและความเมตตากรุณา
เม่งจื้อ (ประมาณ พ.ศ.๑๔๑ - ๒๕๔) นักปราชญ์ที่สำคัญอีกคนหนึ่งของจีนได้กล่าวถึงมนุษยธรรมไว้ว่า
ความรู้สึกเมตตากรุณาเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดมนุษยธรรม และมนุษยธรรมนี้เป็นคุณธรรมที่สำคัญยิ่งในการปกครองบ้านเมือง
๒๒/ ๑๔๐๗๒
๔๑๖๖. มนุษยศาสตร์
เป็นชื่อของความรู้หรือวิชาการสาขาหนึ่งในจำนวนวิชาการสาขาใหญ่สี่สาขา ซึ่งรวมกันเป็นหลักสูตรการศึกษาปัจจุบันในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั่วไปในประเทศต่าง
ๆ ทั่วโลกอันได้แก่ สาขาวิชามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์กายภาพ และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
คำว่า มุนษยศาสตร์ในความหมายดั้งเดิมหมายถึง การศึกษาทางวรรณคดีคลาสสิกของกรีก
และโรมันเท่านั้น และในกาลต่อมาได้ขยายความให้กว้างออกไปโดยแยกออกเป็นความรู้ต่าง
ๆ อันเกี่ยวกับความนึกคิดของมนุษย์ และวัฒนธรรมในชนชาติต่าง ๆ ทั่วโลก ดังนั้นในปัจจุบันวิชามนุษยศาสตร์
จึงประกอบด้วย กลุ่มความรู้ย่อย ๆ หลายกลุ่มได้แก่ กลุ่มทางภาษา วรรณคดีและวรรรกรรม
ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ปรัชญา ดนตรี ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม การละคร นาฎศาสตร์
ฯลฯ ซึ่งแต่ละกลุ่มวิชาดังกล่าวยังแยกออกเป็นวิชาย่อย ๆ อีกมาก
๒๒/ ๑๔๐๗๖
๔๑๖๗. มนู - พระ
เป็นนามสมมุติ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้สร้างมนุษยชาติความคติของชาวฮินดูโบราณ
ชาวฮินดูนับถือมนูว่า เป็นผู้ปกครองโลกด้วยมีรวมทั้งหมด ๑๔ องค์ ช่วงเวลาขององค์หนึ่ง
ๆ เรียกว่า "เมนวันดร" เป็นเวลายาวนานกว่าสี่ล้านปี องค์แรกชื่อว่า พระสยายมภูวะ
ถือว่าเป็นผู้ออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ตราบเท่าวันนี้
ยุคที่กำลังเป็นอยู่นี้เป็นยุคของมนูองค์ที่เจ็ด เมื่อสิ้นยุคขององค์ที่สิบสี่แล้ว
โลกจะถึงกาลอวสาน มอดไหม้ไปกับไฟประลัยกัลป์
คัมภีร์พระเวทยกย่องมนูว่าเป็นต้นพิธีบูชายัญ โดยพระเจ้าประทานไฟแก่เขา เพื่อการบูชา
มีเรื่องเล่าว่า ปลาตัวหนึ่งชื่อมนูมีบุญคุณต่อมันได้บอกให้มนูทราบว่า น้ำจะท่วมโลก
มนุษย์จะตายหมดทั้งโลกให้มนูสร้างเรือไว้ใช้ เมื่ออุทกภัยมาถึงมนูจึงสร้างเรือใหญ่ขึ้นลำหนึ่ง
พอน้ำท่วมโลก มนูได้ผูกเรือไว้กับครีบหลังของปลาตัวนั้น ปลานั้นได้จูงเรือพามนูไปพำนักอยู่บนยอดเขาแห่งหนึ่งโดยปลอดภัย
มนุษย์ก็ถูกน้ำท่วมตายหมดทั้งโลก มนูจึงได้ทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าขอให้ประทานมนุษย์แก่โลก
มนูได้เทนมเปรี้ยว และเนยลงในมหานที หลังจากนั้นหนึ่งปี ได้เกิดมีสตรีคนหนึ่งเรียกว่า
บุตรสาวมนู
ชายหญิงคู่นี้เองเป็นผู้สร้างมนุษยชาติขึ้นมาใหม่ในโลก
ในคัมภีร์มหาภารตะกล่าวว่าปลาตัวนั้นก็คือ พระพรหม ซึ่งคัมภีร์ปุราณะ กล่าวว่า
พระวิษณุแบ่งภาคมาเกิด มนูตามคัมภีร์พระเวท จึงมีลักษณะคล้ายกับโนอา ในคัมภีร์เยเนซิสของศาสนาคริสต์
ซึ่งกล่าวถึงน้ำท่วมโลก ท่วมสรรพสิ่งที่มีชีวิตตายหมด เว้นแต่ครอบครัวของโนอา
กับสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่โนอาเลือกรับใส่เรือไว้สืบเผ่าพันธุ์
มนูปรากฎในกฎหมายเก่าของไทยในชื่อว่า "มนูสาร"
หรือ มโนสาร ไทยถือว่าเป็นผู้แต่งกฎหมาย คำมนูตามตำรากฎหมายไทยก็ถือคติตามชาวฮินดู
๒๒/ ๑๔๐๗๙
๔๑๖๘. มนูธรรมศาสตร์
เป็นชื่อกฎหมายฉบับหนึ่งของฮินดู ซึ่งเชื่อกันว่าเทพเจ้าที่มีบาปว่า มนู เป็นผู้แต่งเรียกว่ามนูสัมฤติ
มีมานับพันปี จนสืบสาวหาเค้าเงื่อนที่แท้จริงไม่ได้ เป็นกฎหมายที่แสดงหลักความยุติธรรม
ที่มีชื่อเสียงที่สุด ในบรรดาประมวลกฎหมายฮินดูที่เรียกว่า มานวธรรมศาสตร์
และเป็นกฎหมายที่เป็นแบบอย่างของกฎหมายโบราณ
ทั้งหลายในแหลมอินโดจีน ตลอดถึงอินโดนีเชีย
กฎหมายฉบับนี้เห็นกันว่าแต่งขึ้นหลังพุทธกาล ประมาณปี พ.ศ.๓๕๐ เป็นตำรากฎหมายที่สืบเนื่องมาจาก
ตำรากฎหมายอื่นหลายฉบับที่มีมาก่อน
เนื้อหาของมนูธรรมศาสตร์ และของตำราฉบับอื่นที่กล่าวมานั้นมิได้มีบทบัญญัติอันเป็นกฎหมาย
แต่ประกอบด้วย หลักธรรมในศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ถึงกับถือกันว่า การศึกษากฎหมายมนูธรรมศาสตร์
เป็นการศึกษาคัมภีร์พระเวท ส่วนหนึ่งคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ จึงเริ่มด้วยตำนานกำเนิดของโลกเยี่ยงตำนานทางศาสนาทั้งหลาย
แบ่งเป็นสิบสองบรรพ มีตัวกฎหมายที่แท้จริงคือ กฎหมายอาญา และกฎหมายแพ่งอยู่เพียงสองบรรพ
๒๒/ ๑๔๐๘๑
๔๑๖๙. มโนภาพ
การกำหนดความหมายของคำนี้ยังหาข้อสรุปที่แน่นอนไม่ได้ มีผู้ให้ความหมายของมโนภาพไว้อย่างง่าย
ๆ ว่าเป็นความคิดรวบยอมเกี่ยวกับสิ่งของเหตุการณ์ หรือความคิดตามความเข้าใจของแต่ละบุคคล
มโนภาพของคนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกับการเกิดของมนุษย์ แต่เกิดจากการเรียนรู้ในสังคม
การเรียนรู้มโนภาพของคนนั้นพบว่าภาษามีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก นอกจากนั้นพัฒนาการของบุคคลก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง
ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้มโนภาพด้วยเช่นกัน
มโนภาพมีบทบาทสำคัญอย่างมากในสังคมมนุษย์ เนื่องจากสามารถนำมาใช้ เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ต่างกัน
ในการสื่อสารให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และยังเป็นสื่อที่แสดงถึงความคิดความเข้าใจของบุคคลในสังคมอีกด้วย
๒๒/ ๑๔๐๘๗
๔๑๗๐. มโนรมย์
อำเภอขึ้น จ.ชัยนาท ภูมิประเทศตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งเป็นที่ทำไร่ผัก
และไร่ล้มลุกที่ห่างฝั่งทางตะวันออกเป็นที่ราบ ทำนาได้ทั่ว ๆ ไปทางตะวันตกเป็นที่ลุ่มลึก
ทำนาได้บ้าง
อ.โนรมย์ เดิมเป็นเมืองสมัยอยุธยาปรากฎชื่อในพระราชพงศาวดาร เมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๕
ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าฉนวน ภายหลังยุบเป็นอำเภอ ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ แล้วย้ายที่ว่าการมาตั้งที่
ต.คุ้งสำเภา ตรงข้ามปากแม่น้ำสะแกกรัง
๒๒/ ๑๔๐๙๔
๔๑๗๑. มโนราห์ - นาง
เป็นชื่อนางเอกในเรื่องสุธนชาดก อยู่ในคัมภีร์ปัญญาสชาดก
ซึ่งมักจะเรียกกันว่า คัมภีร์ชาดกนอกนิบาต เพราะมิได้อยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก
คัมภีร์ปัญญาสชาดกนี้กล่าวกันว่า พระเถระชาวล้านนา ได้ให้บรรดาศิษย์ของท่านแต่งขึ้นไว้เป็นภาษาบาลี
ในนครเชียงใหม่ เมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๐๐
ที่ระเบียงปูชนียสถานบุโรพุทโธในประเทศอินโดนีเชีย มีแผ่นภาพศิลาจำหลักเรื่องสุธนมโนราห์
แต่ดำเนินเรื่องตามสุธนาวตานในคัมภีร์ทิวยาวทาน
เนื้อเรื่องของนางมโนราห์ในสุธนชาดกนี้แพร่หลายไปในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแทบทุกประเทศ
และนำไปปรับปรุงแสดงให้ประชาชนชมก็มาก โดยเฉพาะประเทศไทยภาคกลาง ได้มีบทละครเรื่องมโนราห์ฉบับกรุงเก่าปรากฎอยู่
แต่งเป็นกลอนแบบที่จะต้องร้องตามทำนองละครที่เรียกว่า "ชาตรี"
ส่วนในภาคใต้ของไทยกล่าวว่า เรื่องมโนราห์เป็นเรื่องแรกที่แสดงเป็นละคร และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
จึงเรียกการแสดงนี้ว่า "มโนราห์"
ถือว่าเป็นมหรสพสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยภาคใต้
๒๒/ ๑๔๐๙๔
๔๑๗๒. มโนราห์ ๒
มีบทนิยามว่า "ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้มีแม่บทท่าร่ายรำ
อย่างเดียวกับละครชาตรี โนราก็ว่าเขียนว่ามโนราห์ก็มี
คำว่า มโนราห์เป็นคำที่คนภาคใต้รู้จัก และใช้เรียกกันในชั้นหลัง แต่เดิมเรียกว่า
ชาตรี ต่อมาเมื่อรับเอาเรื่องนางมโนราห์ในสุธนชาดกมาแสดงและคนนิยมมาก จนเรียกการแสดงนี้ว่า
มโนราห์ แต่บางที่เรียกควบกันว่า มโนราห์ชาตรี
คำว่า ชาตรี มีความหมายตรงกับละครเร่ คือ เที่ยงรำเที่ยงร่อนไปตามที่ต่าง
ๆ เดิมไม่มีเวทีหรือโรงอย่างทุกวันนี้
แม่บทท่ารำของมโนราห์ชาตรีมีสิบสองท่า แล้วขยายเป็นท่าแม่ลายต่าง ๆ อีกมากมายตามวิวัฒนาการทางศิลปะ
ในตำราฟ้อนรำฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ มีบทกลอนแสดงแม่บทท่ารำไว้ถึง ๖๘ ท่า
ซึ่งมโนราห์ชาตรีของภาคใต้ ยังใช้รำอยู่จนบัดนี้
๒๒/ ๑๔๑๐๓
๔๑๗๓. มโนสาร
เป็นนามสมมติของปราชญคนหนึ่ง ซึ่งโบราณถือว่า เป็นผู้แต่งคัมภีร์กฎหมายชื่อพระธรรมศาสตร์
ปรากฎอยู่ในกฎหมายเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา
๒๒/ ๑๔๑๑๖
๔๑๗๔. มโนสาเร่ - คดี
เป็นชื่อคดีจำพวกหนึ่งซึ่งไม่ค่อยสำคัญบ้างก็เรียกคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ ในทางแพ่งเป็นคดีที่มีฐานทรัพย์น้อย
ส่วนในทางอาญาเป็นคดีมีโทษต่ำ
ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความฉบับเก่า ร.ศ.๑๑๕ และฉบับ ร.ศ.๑๒๗ ผู้บัญญัติกำหนดทุนทรัพย์
สำหรับคดีมโนสาเร่ไว้ ไม่เกิน ๒๐๐ บาท ส่วนคดีอาญากำหนดโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน
๒๒/ ๑๔๑๑๘
๔๑๗๕. มนังการ
มาจากคำบาลีแปลว่า "ความถือว่าเป็นของเรา" ในภาษาบาลีนั้น คำมนังการ
มีกล่าวถึงในที่ใดจะมีคำอหังการซึ่งแปลว่า "ความถือว่าเป็นเรา" และคำว่านามานุสัย
ซึ่งแปลว่า "ความถือตัวเป็นกิเลสนอนเนื่องในสันดานอยู่ในสันดาน" รวมอยู่ด้วย
ในทางพระพุทธศาสนาอหังการ มนังการ และนามานุสัย คือ ตัณหา มานะและทิฐะ ซึ่งมีอยู่ร่วมกัน
อหังการคือตัวทิฐิได้แก่สัสตทิฐิที่มีความเห็นว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน
เราเขาหรือวัตถุทานและกิเลสกามเป็นของเที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนเป็นอย่างอื่น มนังการ
คือ ตัวตัณหาได้แก่ ภวตัณหาที่มีความเป็นไปในภพหรือความติดภพ ติดชาติของตน
หรือความอยากมีอยากเป็น และอยากเกิดไม่มีที่สิ้นสุด นามานุสัย คือตัวมนะ ได้แก่
มานสังโยชน์อันเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน มีลักษณะเย่อหยิ่งถือตัว
และมีหน้าที่ผูกจิตของสัตว์ไว้
๒๒/ ๑๔๑๒๓
๔๑๗๖. มยุรฉัตร
เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศในกระบวนแห่พระราชพิธีโสกันต์ พระราชโอรส พระราชธิดาชั้นเจ้าฟ้า
รูปลักษณะเป็นพุ่มแต่งด้วยขนนางนกยูง ยอดมีฉัตรสามชั้นฉลุลายพุ่ม และฉัตรสูง
๑๓ ซม. มีคันโลหะหุ้มทองคำต่อเป็นด้ามสำหรับถือยาวประมาณ ๔๘ ซม. เยาวกุมารีราชสกุลที่ไว้จุก
เป็นผู้ถือเชิญเข้ากระบวนพระอิสริยยศแห่จากพระตำหนักฝ่ายใน ออกไปยังเขาไกรลาสและเมื่อพระราชโอรส
พระราชธิดาได้เข้าพระราชพิธีลงสรงโสกันต์แล้ว กระบวนแห่ตอนนี้ผู้เชิญพุ่มมยุรฉัตรต้นไม้ทอง
พุ่มต้นไม้เงินจะเปลี่ยนเป็นกุสสตรีผู้ใหญ่
ตำแหน่งในริ้วกระบวนพระอิสริยยศมยุรฉัตร จัดอยู่หน้าพระที่นั่งราชยานที่พระราชโอรส
พระราชธิดาประทับแห่ไปเข้าพระราชพิธีโสกันต์
๒๒/๑๔๑๒๙
๔๑๗๗. มรกต
เป็นพลอยสีเขียวมีราคา หรือรัตนชาติมีค่าสูงชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ยากมากเป็นหนึ่งในนพรัตน์
มรกตจัดเป็นพลอยประจำเดือนเกิด คือเดือนพฤษภาคม มรกตบางตัวอย่างมีสีอ่อนจางไป
จนกระทั่งออกขาวอมเขียว ปรกติไม่จัดเป็นรัตนชาติเฉพาะที่มีสีเขียวเข้ม หรือสีเขียวใบหญ้าเท่านั้นที่มีราคาแพงที่สุด
และนิยมกันมากที่สุด
การเจียระไนมรกต จะเจียระไนแบบเหลี่ยมชั้น จึงเป็นแบบเฉพาะของมรกต ที่ได้รับการเจียระไน
และมักจะเรียกกันโดยทั่วไปว่า เหลี่ยมมรกต
ลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีแปดด้านเป็นชั้นบนสามชั้น ชั้นล่างสามชั้น
๒๒/ ๑๔๑๓๐
๔๑๗๘. มรดก
ความหมายทั่วไปคือสิ่งซึ่งตกทอด อาจเป็นทรัพย์สินคุณค่าทางสังคมแม้แต่หนี้สินหรือความรับผิดก็ได้
ความหมายเฉพาะมรดก หมายถึง ทรัพย์สิน และความรับผิดชอบของบุคคล ซึ่งมีอยู่เวลาตาย
และตกทอดแก่ทายาท หรือผู้รับมรดก ถ้าไม่มีผู้รับก็ให้ตกแก่แผ่นดิน ตามหลักทรัพย์สินที่จะตกทอดเป็นมรดกนั้นต้องเป็นของเอกชน
ส่วนการตกทอดอย่างไรนั้น ย่อมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของแต่ละสังคมในประเทศไทย
มีกฎหมายว่าด้วยเรื่องนี้โดยเฉพาะเรียกว่า กฎหมายมรดก
กฎหมายว่าด้วยมรดกนั้น ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา
ผู้มีสิทธิได้รับมรดกได้แก่ ลูกหลานของผู้ตายเหมือนสมัยนี้ ถ้าไม่มีลูกหลานจึงให้ตกได้แก่ผู้มีบุญคุณ
น่าสังเกตว่าการกำหนดตัวผู้มีสิทธิรับมรดก ของประเทศต่าง ๆ ไม่ได้ทิ้งหลักกฎหมายโรมันเลย
การรับมรดกตามกฎหมายไทยมีมาแต่โบราณกาล ปรากฏในกฎหมายตั้งแต่สมัยพระเจ้ามังรายแห่งลานนา
และสมัยพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย การแบ่งปันมรดกในสมัยลานนานั้นคือ เอาคำสั่งของผู้ตายเป็นสำคัญ
ถ้าผู้ตายไม่ได้สั่งไวัจึงให้มรดกได้แก่ลูกเมียของผู้ตาย
มรดกตามกฎหมายระบบใหม่ตามแบบตะวันตก ซึ่งไทยได้จัดทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า
ลักษณะมรดกบัญญัติไว้ในบรรพ ๖ หรือตอนที่ ๖ ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
๒๒/ ๑๔๑๓๗
๔๑๗๙. มรรค
มีบทนิยามว่า "ทาง เหตุ ใช้คู่กับผลว่าเป็นเหตุเป็นผลในทางพระพุทธศาสนา เป็นชื่อแห่งโลกุตรธรรม
คู่กับผลมีสี่ชั้น คือ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค"
มรรคเป็นทางของจิตให้ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญจิตดำเนินไปสู่พระนิพพาน หรือทางของจิตซึ่งจะยังผู้ปฏิบัติให้เข้าถึง
ความเป็นพระอริยบุคคลเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติ ได้ถึงความดับทุกข์ โดยดำเนินไปตามทางที่จะไปสู่พระนิพพาน
หรือทางที่จะให้เข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคลนั้น
กล่าวโดยองค์ธรรมทางนั้นได้แก่มรรคมีองค์แปดที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา
แปลว่าทางสายกลาง คือ สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
สับมาวาจา การเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การทำงานชอบ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพชอบ
สัมมาวายามะ การตั้งความเพียรชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ สัมมาสมาธิความตั้งใจชอบ
มรรค นอกจากแปลว่าทางและเหตุ ยังมีแปลว่า "เป็นเครื่องไปสู่พระนิพพาน" "เป็นธรรมอันผู้ต้องการพระนิพพานพึงแสวงหา"
"เป็นธรรมอันฆ่ากิเลส"
"มรรคได้ชื่อว่าเป็นธรรมไม่มีเครื่องหมาย เพราะกำหนดรู้สังขารโดยเป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วออกจากสังขาร หรือไม่มีรูปนิมิต ราคะนิมิต เป็นต้น"
"มรรคๆ ได้ชื่อว่า เป็นธรรมไม่มีที่ตั้ง ว่างเปล่า โล่งเตียน เพราะว่างเปล่าปราศจากสังขารและราคะ
เป็นต้น แและเพราะนิพพานอันว่างเปล่า ไม่มีเครื่องหมาย และไม่มีที่ตั้งเป็นอารมณ์"
๒๒/ ๑๔๑๔๙
๔๑๘๐. มรสุม - ลม
เป็นชื่อเรียกชนิดของลมตามศัพท์ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นศัพท์ที่มาจากภาษาอาหรับซึ่งแปลว่าฤดู
ปัจจุบันคำว่ามรสุมหมายถึงลมประจำฤดู ซึ่งบริเวณที่มรสุมพัดปกคลุมอยู่ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลในเขตร้อน
และบริเวณใกล้เคียงจากทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันตก มาทางฝั่งตะวันออก ปกคลุมบริเวณมหาสมุทรอินเดียทะเลอาระเบียน
ประเทศอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทะเลจีน ตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย
และมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก
สาเหตุพื้นฐานของการเกิดมรสุม เนื่องจากความแตกต่างของอุณหภูมิประจำปี ระหว่างพื้นดินของทวีปกับพื้นน้ำของมหาสมุทร
ทำให้เกิดความแตกต่างของความเกิดอากาศที่ปกคลุมพื้นดิน และพื้นน้ำมวลอาการจะเคลื่อนตัวจากบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำ
และมีความกดอากาศสูงไปยังบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง และมีความกดอากาศต่ำกว่า
การเคลื่อนตัวของมวลอากาศนี้ ก่อให้เกิดการพัดของกระแสลมคล้ายลักษณะการเกิดลมบก
ลมทะเล ด้วยเหตุนี้จึงแบ่งมรสุมออกได้เป็นสองชนิด คือ
๑. มรสุมในฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ
สาเหตุที่เกิดมรสุมนี้เนื่องจากในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนมีนาคม ผืนแผ่นดินในบริเวณตอนเหนือของเขตร้อน
และบริเวณใกล้เคียงของซีกโลกเหนือมีอุณหภูมิลดลง และมีความกดอากาศสูงขึ้น
โดยเฉพาะบริเวณความกดอากาศสูงในทะเลทรายสะฮาราในเอเชียกลาง และในไซบีเรียทั้งควาากดอากาศสูงขึ้น
และแผ่มวลอากาศลงมาทางใต้เข้าสู่บริเวณเขตร้อน และบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรในซีกโลกใต้
ซึ่งมีอุณหภูมิสูง เนื่องจากได้รับรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่องตรงอยู่
ทำให้เกิดบริเวณความกดอากาศต่ำที่เห็นได้ชัดเจน ในทะเลทรายกาลาฮารีของทวีปแอฟริกา
ในมหาสมุทรอินเดียในตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย และหมู่เกาะโซโลมอน ดังนั้นจึงเกิดกระแสลมพัดจากซีกโลกเหนือ
ลงมาทางใต้เรียกกันว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
๒. มรสุมในฤดูร้อนของซีกโลกเหนือ
สาเหตุที่เกิดมรสุมนี้เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน
ผืนแผ่นดินในบริเวณเขตร้อนของซีกโลกเหนือ และบริเวณใกล้เคียง มีอุณหภูมิสูงขึ้น
เนื่องจากได้รับรังสีความร้อน จากดวงอาทิตย์ที่ส่องตรงอยู่ ทำให้เกิดเป็นบริเวณความกดอากาศต่ำที่เห็นได้ชัดเจน
ในทะเลทรายสะฮารา ในเอเชียกลางในปากีสถาน และอินเดียตอนเหนือ และในประเทศจีนตอนใต้
มวลอากาศในบริเวณดังกล่าวข้างต้นนี้จะลอยตัวขึ้น และถูกแทนที่โดยมวลอากาศที่พัดมาจากบริเวณเขตร้อน
และบริเวณใกล้เคียงเส้นศูนย์สูตรในซีกโลกใต้ ซึ่งมีอุณหภูมต่ำ และมีความกดอากาศสูงที่เห็นได้ชัดเจน
ในทะเลทรายกาลาฮารี ในมหาสมุทรอินเดีย ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ และในทวีปออสเตรเลีย
ดังนั้น จึงเกิดกระแสลมพัดจากซีกโลกใต้ขึ้นไปทางเหนือ ทำให้เกิดเป็นมรสุมในฤดูร้อน
ของซีกโลกเหนือเรียกกันว่า ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้
มรสุมจะมีอิทธิพลปรากฎเด่นชัดมากที่สุดในทวีปเอเชียบริเวณประเทศอินเดีย ปากีสถาน
บังคลาเทศ พม่า ไทย และคาบสมุทรอินโดจีน เพราะมีความแตกต่างในภูมิประเทศที่เป็นผืนแผ่นดิน
และพื้นน้ำอย่างชัดเจน ๒๒/
๑๔๑๖๑
๔๑๘๑. มฤคทายวัน ๑
เป็นชื่อสังเวชนียสถานแห่งหนึ่งทางพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา
อยู่ชานเมืองพาราณสี รัฐอุตรประเทศ
อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐ กม. ในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาสายบาลีเรียกชื่อเต็มว่า
อิสิปตนมิคทายวัน
ปัจจุบันเรียกกันว่า สารนาถ
เมื่อพระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เสด็จพุทธดำเนินจากโพธิมณฑล
จนถึงมฤคทายวันเป็นระยะ ๑๘ โยชน์ (โยชน์ละ ๔๐๐ เส้น เท่ากับ ๒๘๘ กม.) ทรงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อธัมมจักกัปวัตนสูตร
โปรดเบญจวัคคีย์
เป็นครั้งแรกเป็นการพระพุทธศาสนา ณ ที่นี้เป็นครั้งแรก และเป็นที่มาแห่งวันอาสาฬหบูชา
เมื่อทรงแสดงพระธรรมจักรจบลง พราหมณ์โกณทัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม
แล้วทูลขออุปสมบท
และพระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทให้พระโกณทัญญะ จึงเป็นพระภิกษุสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา
ส่วนเบญจวัคคีย์ที่เหลือ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอบรมสั่งสอนในวันต่อมา ก็ได้วงตาเห็นธรรมวันละรูป
แล้วทูลขออุปสมบทเป็น พระภิกษุตามลำดับจนครบทั้งห้ารูป จากนั้นพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาชื่อ
อนัตตลักขณสูตร
โปรดพระภิกษุเบญจวัคคีย์พร้อมกัน เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระภิกษุเบญจวัคคีย์
ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้งห้ารูป
ในระหว่างที่พระพุทธเจ้า กับพระอรหันตสาวกห้ารูปพักจำพรรษาอยู่ ณ มฤคทายวัน
มีบุตรเศรษฐีาชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งชื่อยศ เกิดเบื่อหน่ายชีวิตฆราวาสมาพบพระพุทธเจ้าในคืนวันหนึ่ง
เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาชื่อ อนุปุพพิกถาห้า
(ว่าด้วยเรื่อง ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ของการออกบวชจากกามตามลำดับ)
ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบัน แล้วทูลขออุปสมบท
พระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทให้วันรุ่งขึ้นบิดามารดา และภริยาของพระยศออกตามหาพระยศมาพบพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาชื่ออนุปุพพิกกถา ทั้งสามท่านได้ดวงตาเห็นธรรม
ทูลขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง นับเป็นอุบาสกอุบาสิกาผู้นับถือพระรัตนตรัยเป็นคณะแรก
พระยศได้ฟังพระธรรมเทศนาอยู่ด้วยแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ต่อมามีสหายของพระยศจำนวน
๕๔ คน มาหาพระยศเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุทั้งหมด รวมมีพระอรหันต์ในครั้งนั้นในพรรษาแรกถึงหกสิบรูป
ครั้นหมดฤดูฝน (ออกพรรษาแล้ว) ทรงเรียกประชุมสงฆ์ มีพระดำรัสให้พระอรหันตสาวกเหล่านั้นออกไป
ประกาศพระศาสนามีใจความว่า บัดนี้พวกเธอหลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์
และของมนุษย์แล้ว จงเที่ยวจารึกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่คนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขของเทวดา
และมนุษย์เถิด จงแยกย้ายไปทางละรูปด้วยมีคนจำนวนมากที่มีกิเลสน้อย ถ้าไม่ได้ฟังธรรม
จะสูญเสียผลอันตนพึงจะได้ จงไปแสดงธรรมอันงาม
ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมอรรถรสให้ครบบริบูรณ์แก่พวกเขาเถิด
ส่วนเราตถาคตจะไปประเทศธรรมที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
ในระหว่างทาง ทรงพบกับพวกภัททิยกุมารจำนวนสามสิบคน
ทรงแสดงธรรมโปรดจนสำเร็จ เป็นพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอนาคามี
และทรงให้อุปสมบททั้งหมด แล้วโปรดให้จารึกไปเผยแพร่พระศาสนาเป็นคณะที่สอง
หลังพุทธปรินิพพานได้ราว ๒๗๔ ปี พระเจ้าอโศก ฯได้เสด็จขึ้นครองราชย์ในอาณาจักรมคธ
ทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จึงทรงทำนุบำรุงพระพุทธศานาเป็นการใหญ่
เสด็จไปนมัสการสังเวชนียสถานและพุทธสถานทุก ๆ ตำบล แล้วโปรดให้สร้างพระเจดีย์
พระวิหาร และเสาศิลาจารึกขึ้น ณ ตำบลนั้น ๆ ถึง ๘๔,๐๐๐ ตำบล
ที่มฤคทายวัน พระเจ้าอโศก ฯ โปรดให้สร้างถาวรวัตถุเป็นอนุสรณ์ไว้หลายอย่างได้แก่
๑. พระสถูปสององค์ คือ ธัมมราชิกสถปู
อยู่ทางทิศตะวันตกของธัมมเมกขสถูป โปรดให้สร้างขึ้น ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้าเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์รวมหกครั้ง แต่ถูกพวกมุสลิมมีกุตม์
- อุด - ดิน เป็นหัวหน้า ทำลายคร้งใหญ่ เมื่อราวปี พ.ศ.๑๗๓๘
(มคฤทายวันร้างครั้งนี้) และเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๗ ราชาผู้ครองเมืองพาราณสีชื่อ
ชคัต สิงห์ สั่งให้ฝังซากธัมมราชิกสถูป และกุฏิวิหารอื่น ๆ เพื่อเอาอิฐหินและดินไปทำสะพานข้ามแม่น้ำคงคา
ปรากฎว่าได้พบพระบรมสารีริกธาตุ บรรจุอยู่ในผอบหินอ่อนสีมรกต ซึ่งอยู่ภายในแท่งหินทรงกลมอีกชั้นหนึ่ง
ชคัต สิงห์ สั่งให้คนนำเอาพระบรมสารีริกธาตุไปทิ้งในแม่น้ำคงคา
ส่วนธัมเมกขสถูปนั้น
พระเจ้าอโศก ฯ โปรดให้สร้างขึ้น ณ จุดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมจักร
โปรดเบญจวัคคีย์ พระสถูปนี้มีผู้บูรณปฏิสังขรณ์ต่อเติมหลายครั้ง
๒. เสาอโศก คือ
เสาศิลาจารึกที่พระเจ้าอโศก ฯ โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า ณ มฤคทายวันนี้
พระพุทธเจ้าทรงตั้งสังฆมณฑลขึ้นเป็นครั้งแรก แล้วทรงหมุนวงล้อแห่งพุทธธรรมให้เคลื่อนออกไปจากที่นี้
ดังจะเห็นได้จากรูปลักษณะของเสาอโศกนี้คือ เดิมเสานี้สูงประมาณ ๑๕ เมตร ที่หัวเสาสลักเป็นรูปสิงห์สี่ตัว
ยืนหันหลังเข้าหากัน ที่ฐานสลักเป็นรูปวงล้อธรรมจักรสี่วงอยู่ตรงเท้า ของสิงห์แต่ละตัว
เหนือหัวสิงห์ทั้งสัตว์มีวงล้อธรรมจักรปักอยู่หนึ่งวง จารึกพระคาถา ๓๒ บท
มี "เย ธมฺมา เหตุปภวา" เป็นต้น
ในสมัยราชวงศ์ศุงคะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๔ - ๕) ซึ่งปกครองอาณาจักรมคธสืบต่อมา
จากราชวงศ์โมริยะของพระเจ้าอโศก ฯ พระเจ้าบุษยมิตรผู้สถานปนาราชวงศ์นี้ นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูเคร่งครัด
และสั่งให้ทำลายพระพุทธศาสนาทุกรูปแบบ (ดูบุศยมิตร - ลำดับที่ ๓๑๗๗ ประกอบ)
มฤคทายวันไม่ได้รับการเอาใจใส่แต่อย่างใด
ในสมัยราชวงศ์กุษาณะของพวกอ้ายสี ที่ยกมาจากเอเชียกลางมีอำนาจปกครองอินเดียตอนเหนือ
โดยเฉพาะในรัชสมัยเพระเจ้ากนิษกะที่สอง ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
ทำให้พระพุทธศาสนากลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหนึ่ง สมัยนั้นมฤคทายวันก็กลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง
ในสมัยราชวงศ์คุปตะ (ราวพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๑) นับเป็นยุคทองของมฤคทายวัน
แต่เมื่อสิ้นราชวงศ์นี้ก็เริ่มเสื่อมลง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๑๑๔๙ พระเจ้าหรรษวรรธนะกษัตริย์ราชวงศ์ธเนศวรองค์ที่หก
ได้แผ่อาณาเขตมาครองอาณาจักรมคธทั้งหมด พระองค์ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างพระเจ้าอโศก
ฯ มฤคทายวันก็ได้รับการพัฒนายิ่งขึ้น จนกลายเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง
มีพระภิกษุสงฆ์ถึง ๑,๕๐๐ รูป พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้สังกัดนิกายสัมมีติยะแห่งเถรวาท
หลังจากพระเจ้าหรรษวรรธนะสวรรคตแล้ว กษัตริย์วรรณศูทรทางตะวันออกคือ รัฐพิหาร
และเบงกอลในปัจจุบัน ได้สถาปนาราชวงศ์ปาละขึ้น และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญอีกหลังจากซบเซาอยู่พักหนึ่ง
ต่อมาพระเจ้าโควินทจันระแห่งราชวงศ์คาหัฑวาล (พ.ศ.๑๑๕๗ - ๑๑๙๗) ครองราชย์ที่นครกโนช
ปกครองเขตอโยธยา และพาราณสีมีพระมเหสีพระนามกุมารเทวี ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก
หลังจากรัชกาลนี้แล้ว มฤคทายวันก็เสื่อมลงจนร้าง ด้วยอิทธิพลของฮินดูในระยะแรก
และของมุสลิมในระยะต่อมา รวมเวลาที่ถูกทิ้งร้างประมาณ ๗๐๐ ปี
จนถึงสมัยการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย มีอนาคาริกธรรมบาลชาวศรีลังกาเป็นผู้นำ
เมื่อปี พ.ศ.๑๔๓๔ มฤคทายวันก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่
๒๒/ ๑๔๑๖๗
๔๑๘๒. มฤคทายวัน ๒
เป็นชื่อวัดไทยในประเทศอินเดียวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ที่อิสิปตนมฤคทายวัน หรือสารนาถ
เมืองพาราณสี เรียกชื่อว่า วัดมฤคทายวันมหาวิหาร อีกชื่อว่า วัดไทยสารนาถ
เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ในพื้นที่ ๓๒ ไร่
๒๒/ ๑๔๑๘๗
๔๑๘๓. มฤคทายวัน ๓
เป็นพระนามพระราชนิเวศน์ที่รัชกาลที่หก โปรดให้สร้างขึ้น ณ ชายหาด ต.ห้วยทรายเหนือ
อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูงเป็นหมู่เรือน
และมีทางเดินติดต่อกันได้ทั้งชั้นบน และชั้นล่าง โดยสร้างเป็นไม้สักเรือนหรืออาคารมี
๑๖ หลัง ๑๙ บันได เสา ๑,๐๘๐ ต้น มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๓๒ ไร่
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ประกอบด้วยพระที่นั่งใหญ่สามองค์ หันหน้าเรียงแถวขนานไปกับชายทะเล
มีนามเรียกจากชั้นในสุด จนถึงประตูพระราชนิเวศน์ด้านหน้าคือ พระที่นั่งสมุทพิมาน
พระที่นั่งพิศาลสาคร และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์
๒๒/๑๔๑๙๒
๔๑๘๔. มลยฬัม - ภาษา
เป็นภาษาหนึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาทราวิท ใช้พูดกันในท้องถิ่นภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย
มีผู้พูดภาษานี้ราว ๒๐ ล้านคน
๒๒/ ๑๔๑๙๙
๔๑๘๕. มลายู
(ดูมาเลเชีย - ลำดับที่...)
๒๒/
๑๔๒๐๐
๔๑๘๖. มลาว
(ดูลาว - ลำดับที่...) ๒๒/
๑๔๒๐๐
๔๑๘๗. มลิวัน - เมือง
เป็นเมืองหนึ่งในบทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ เมืองมลิวันเป็นเมืองของท้าวจักรวรรดิ์พระยายักษ์
เพื่อนร่วมสาบานของทศกัณฐ์ เป็นเมืองที่มีด่านกลถึงสองด่าน คือ ด่านไฟกัลย์และด่านน้ำกรด
๒๒/ ๑๔๒๐๐
๔๑๘๘. มวก
เป็นชื่อเรียกพรรณไม้ชนิดหนึ่งเป็นไม้เถายาว ๒๐ - ๓๐ เมตร เลื้อยไปตามต้นไม้อื่นทุกส่วน
มีน้ำยางขาวใบเรียงตรงข้ามกันรูปหอกขอบขนาน ดอกขาวออกเป็นช่อสั้น ๆ มาก ออกตามปลายกิ่ง
กลิ่นหอมอ่อนผลเป็นฝักคู่เรียวขอดเป็นข้อ ๆ ๒ - ๑๐ ข้อ
๒๒/ ๑๔๒๐๒
๔๑๘๙. มวกเหล็ก
อำเภอขึ้น จ.สระบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงมีภูเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ
(เขาใหญ่)
อ.มวกเหล็ก ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒
๒๒/ ๑๔๒๐๓
๔๑๙๐. ม่วง - เรือ
เป็นเรือขุดทั้งลำเหมือนเรือมาด มีรูปร่างยาวเพรียวหัวงอนท้ายงอนใช้สำหรับพายเล่น
พบใช้กันในลำน้ำโขงแถว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
๒๒/ ๑๔๒๐๓
๔๑๙๑. ม่วงสามสิบ
อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงทำนาได้ตลอด
อ.ม่วงสามสิบ เดิมตั้งที่ว่าการอยู่ในเมืองอุบล ฯ เรียก อ.อุตตรูปลนิคม ต่อมาไปตั้งที่
บ.หนองคู ใน อ.ตระการพืชผล เรียกว่า อ.เกษมสีมา แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.ม่วงสามสิบ
เมื่อปีพ.ศ.๒๔๕๘ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ม่วงสามสิบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๒/ ๑๔๒๐๓
๔๑๙๒. มวน - แมลง
เป็นแมลงพวกหนึ่งที่เมื่อเจริญวัยเต็มที่จะมีปีกสองคู่ มีปากเป็นท่อยาวคล้ายเข็มใช้ในการเจาะ
ดูดอาหารกินในปัจจุบันมีมวนไม่ต่ำกว่า ๓๐,๐๐๐ ชนิด ที่ได้มีการวิเคราะห์ชื่อวิทยาศาสตร์กันไว้แล้ว
มีทั้งชนิดที่อยู่ในน้ำ ครึ่งน้ำครึ่งบกและอยู่บนบก
๒๒/ ๑๔๒๐๔
๔๑๙๓. มวย
คือการชกกันด้วยหมัด และอวัยวะต่าง ๆ บนเวที มีกติกาให้ชกตามประเภทของมวยนั้น
ๆ
๑. มวยไทย
เป็นศิลปะประจำชาติไทยเป็นการละเล่นพื้นบ้าน และเริ่มมีการฝึกอย่างจริงจัง
และเป็นระบบครั้งแรกในหมู่ทหารโดยกรมทนายเลือก ต่อมาได้มีการวิวัฒนาการ จนเป็นรูปแบบของศิลปะการต่อสู้
ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น และมีการฝึกสอนกันตามสำนักมวยต่าง ๆ ในสมัยก่อนมีการแข่งขันชกมวยกันด้วยหมัดเปล่า
ๆ ยังไม่มีการพันด้วยดิบ (คาดเชือก) สมัยอยุธยาตอนปลาย มีคนไทยคนหนึ่ง ที่ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย
ในการชกมวยไทยมากที่สุดคือ นายขนมต้ม
จึงเปรียบเหมือนบิดาของมวยไทย
ในสมัยอยุธยาตอนปลายมีการฝึกมวยไทยตามสำนักต่าง ๆ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์หลังสงครามโลก
ครั้งที่หนึ่ง รัชกาลที่หกทรงจัดให้มีการแข่งขันชกมวยไทยการกุศล เพื่อเก็บรายได้บำรุงกองเสือป่าขึ้น
ที่เวทีมวยโรงเรียนสวนกุหลายในปี พ.ศ.๒๔๖๓ การแข่งขันชกมวยการกุศลครั้งนั้น
ได้ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันมวยไทยอาชีพ มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นก็ยังมีการแข่งขันกันที่เวทีหลักเมือง
เวทีสวนเจ้าเชด
แม่ไม้ละลูกไม้มวยไทย แม่ไม้คือ
ท่าครูเป็นท่าย่างสามขุม ลูกไม้หรือไม้มวย
มีทั้งไม้เด็ด ไม้ตายและไม้เป็น ไม้เด็ดคือ
ลูกไม้ที่มีประสิทธิภาพและอันตรายสูง ไม้ตายคือไม้มวยที่ฝ่ายปรปักษ์กระทำ และผู้รับไปสามารถแก้ไขได้
อวัยวะที่ใช้ในการต่อสู้ปรปักษ์มีอยู่ด้วยกันหกชนิดคือ หมัด เท้า แข้ง เข่า
ศอก และแขนท่อนล่าง
๑. หมัด ใช้ทิ่ม
กระแทก กระทุ้ง เหวี่ยง เขก โขก ทุบ
๒. เท้า ใช้ถีบ
เหน็บ ฉัด (เตะด้วยปลายโด่ง) ยัน เหยียบ เตะและกระดุกเท้า
๓. แข้ง ใช้เหวี่ยง
๔. เข่า ใช้ยิง
โยน ยัด เหวี่ยง กด กระตุก
๕. ศอก ใช้เหวี่ยง
ปัก งัด ทิ่ม เฉือน กด และกระทุ้ง
๖. แขนท่อนล่างใช้สับ เสียบ ปัด เหวี่ยง เฆี่ยน
ไม้มวยหรือลูกไม้ที่เรียกขานกันโดยทั่วไป ได้แก่ สลับฟันปลา ปักษาแหวกรัง
ชวาซัดหอก อิเหนาแทงกริช ยกเขาพระสุเมรุ ตาเถรค้ำฟัก มอญยันหลัก ปักลูกทอยจระเข้ฟาดหาง หักงวงไอยรา ปิดหางนาคา วิรุณหกกลับ ดับชวาลา ขุนยักษ์จับลิงหักคอเอราวัณ มณโฑฝั่งแท่น หนุมาณถวายแหวน มุดบาดาล ไต่เขาพระสุเมรุ เอราวัณเสยงาเถรกวาดลาน ฝานลูกบวบ สับหัวมัจฉา พระเจ้าตานั่งแท่น สุครีพถอนต้นรัง กวางเหลียวหลังบาทาลูบพักตร์ ขะแมค้ำเสา ทัดมาลา พม่ารำขวาน
๒. มวยสากลเป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่นิยมกันทั่วโลก มีกติกาการชกต่างกับกีฬามวยไทย คือ ไม่ยอมให้ผู้ชกใช้อวัยวะอื่นใดนอกจากหมัด
มวยสากลมีมาช้านานแล้วจากหลักฐานที่พบทำให้ทราบว่ามวยโบราณ เริ่มมีขึ้นในสมัยกรีกโบราณ
ถึงสมัยโรมันรุ่งเรือง เมื่อโรมันเข้ายึดครองอังกฤษได้นำมวยเข้าไปเผยแพร่ด้วย
ในปี พ.ศ.๒๒๘๓ ได้มีการคิดกติกามวยสากล และประดิษฐ์นวมขึ้นตกทอดมาถึงปัจจุบัน
๓. มวยปล้ำ
เป็นกีฬาที่มีมาตั้งแต่สมัยกรีก และโรมัน เป็นการต่อสู้ในขั้นประชิดตัว จึงมักใช้กำลังกายเป็นส่วนใหญ่
๒๒/ ๑๔๒๐๗
๔๑๙๔. มวล - น้ำหนัก
ความหมายโดยทั่วไปมวลคือ อนุภาคที่รวมอัดกันเป็นเสมือนเนื้อของวัตถุ เป็นเหตุให้วัตถุนั้นมีสภาพปรกติเป็นของแข็ง
ของเหลวหรือแก๊ส ซึ่งมีค่าความหนาแน่นต่าง ๆ กัน ส่วนน้ำหนักของวัตถุคือ แรงดึงดูด
เนื่องจากความโน้มถ่วงระหว่างโลก กับมวลของวัตถุนั้น โดยนัยมีวัตถุใดมีมวลมากก็ยอมมีน้ำหนักมาก
นอกจากนั้นแรงดึงดูด เนื่องจากความโน้มถ่วงระหว่างโลก กับมวลของวัตถุนั้น
ยังเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับระยะทาง ระหว่างจุดศูนย์ถ่วงของวัตถุ กับจุดศูนย์กลางของโลก
ถ้าระยะระหว่างทางดังกล่าวมีค่าน้อย แรงดึงดูดก็จะมีค่ามากน้ำหนักของวัตถุก็จะมีค่ามากขึ้น
ในทางวิทยาศาสตร์ การจะให้ความหมายของมวลให้ถูกต้องแท้จริง โดยไม่มีข้อแย้งเลยนั้น
เป็นการยากอย่างยิ่งในวิชาพิสิกส์ชั้นสูง กำหนดว่ามวลเป็นพลังงาน ทั้งนี้โดยอาศัยความจริง
เรื่องการแปรเปลี่ยนสภาพกันได้ ระหว่างมวลกับพลังงาน ซึ่งไอน์สไตน์ได้ตั้งเป็นสูตรไว้
เรื่องมวล และพลังงานนี้ ทำให้มีกฎทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นกฎหนึ่งคือ กฎความถาวรของมวล
- พลังงาน ซึ่งมีใจความว่า "มวลและพลังงานที่มีอยู่ทั้งสิ้นในจักรวาล ย่อมมีปริมาณคงที่ทั้งสองอย่างนี้
จะสร้างให้มีขึ้น หรือทำลายให้สูญสิ้นไปไม่ได้มวล และพลังงานสามารถแปรสภาพเข้าหากันได้
ในวิชากลศาสตร์ควอนตัม กำหนดความหมายของมวลเป็นไปในรูปของคลื่นโมเมนตัม และค่าคงตัวของพลังค์
ในสภาพปกติ มวลมีค่าคงที่ แต่ในสภาพที่วัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงยิ่ง
มวลของวัตถุนั้น ๆ จะเพิ่มขึ้น ถ้าวัตถุเคลื่อนที่ด้วยความเร็วของแสงมวลของวัตถุนั้น
จะมีค่าอนันต์คือมากจนประมาณมิได้
มวลมีหน่วยต่าง ๆ กัน เช่น กิโลกรัม กรัมและสลัก ส่วนน้ำหนักของวัตถุคือแรง
จึงใช้หน่วยของแรงเช่นนิวตัน ไดน์ ปอนด์และเพาน์ดัล
๒๒/ ๑๔๒๓๖
๔๑๙๕. มหันตโทษ
โดยทั่วไปหมายถึง โทษหนัก หรือบาป ความชั่ว หรือผลแห่งความผิดที่ต้องรับอย่างหนัก
แต่ในแง่ของอาชญาวิทยา ทัณฑวิทยา และในแง่ของการบังคับโทษตามหลักกฎหมายหมายถึง
"การใช้มาตรการลงโทษทางกฎหมาย ควบคุมความประพฤติ และคุ้มครองพิทักษ์ผลประโยชน์ของสมาชิกในสังคม
ตามหลักกฎหมายมหาชน ในอันที่จะบังคับใช้กฎหมายลงโทษ แก่ผู้กระทำผิดภายใต้หลักนิติกรรม
เพื่อให้ได้รับความเจ็บปวด หรือส่งผลร้ายอื่นใดแก่ผู้ถูกลงโทษ ในสถานหนักตามผลที่แห่งการกระทำผิดอันอุกฤษฏ์ที่มีต่อสังคม"
ประเทศไทยยุคก่อนแบ่งระดับการลงโทษออกเป็นหลายระดับที่เรียกกันว่า ราชทัณฑ์ออกเป็นสี่ระดับคือ
ระดับโทษมหันต์ ระดับปถม มัทยม และอวสาน ครั้นได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา
เมื่อร.ศ.๑๒๗ และได้มีการปรับปรุงกฎหมายนี้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐
กฎหมายอาญาได้กำหนดโทษ สำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดไว้ห้าสถานคือ ประหารชีวิต
จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน
โทษที่จัดว่าเป็นมหันตโทษก็คือ โทษประหารชีวิต หรือโทษจำคุกยาวนาน และริบทรัพย์
มหันตโทษที่ว่าเป็นความชั่ว หรือเป็นบาปหนักนั้น ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึง
โทษที่เกิดแก่ผู้ทำ อนันตริยกรรมห้า คือ ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
และยังสงฆ์ให้แตกจากกันถือว่าเป็นบาปหนักที่สุด ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปาราชิกของผู้นับถือพระพุทธศาสนา
๒๒/ ๑๔๒๔๐
๔๑๙๖. มหากฐิน
เป็นราชศิราภรณ์สำหรับพระมหากษัตริย์ รูปทรงคล้ายพระมหามงกุฎ ผิดกันแต่มีขนนก ซึ่งเรียกกันว่า พระยี่ก่า ปักและตอนบนก่อนถึงยอดเป็นลายกาบไผ่ มียอดห้ายอด มีชื่อเรียกเป็นทางราชการว่า พระชฎาห้ายอด เข้าชุดกับพระชฎากลีบและพระชฎาเดินหน แต่ที่มาเรียกกันว่า พระมหากฐิน เพราะเป็นพระชฎาที่พระมหากษัตริย์ทรงเวลาเสด็จ โดยกระบวนพยุหยาตราไปถวายผ้าพระกฐิน ๒๒/๑๔๒๔๘
๔๑๙๗. มหากัจจายนะ - พระ
เป็นชื่อพระมหาเถระผู้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยม
(เอตทัคคะ) ในทางอธิบายธรรมย่อให้พิสดารเป็นพิเศษ จึงเป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระพุทธศาสนา
กล่าวกันมาว่า เพราะรูปสมบัติของท่านทำให้ผู้พบเห็นหลงรักอยู่เนือง ๆ ท่านจึงนิรมิตกายให้ปรากฎเป็นคนอ้วนล่ำพุงพลุ้ยต่อมาพุทธศาสนิกชน นิยมสร้างรูปลักษณะที่ท่านนิรมิตเป็นสิ่งเคารพ และเรียกเพี้ยนว่า พระสังกระจาย ๒๒/ ๑๔๒๕๐
๔๑๙๘. มหากัสสป - พระ
เป็นชื่อพระมหาเถระผู้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยม
(เอตทัคคะ) ในทางเป็นผู้มักน้อย สันโดษและได้ทรงแลกสังฆาฎิ ของพระองค์กับพระมหากัสสป
เพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงยกย่องพระมหากัสสปว่ามีวิหารธรรม คือ ธรรม เครื่องเป็นอยู่เสมอด้วยพระองค์
หลังพุทธปรินิพพาน ท่านได้เป็นประธานสงฆ์ใ นงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธองค์
และเป็นประธานสงฆ์ ๕๐๐ รูป ทำปฐมสังคายนา
๒๒/๑๔๒๖๕
๔๑๙๙. มหากาพย์
เป็นคำแปลจากภาษาอังกฤษ ซึ่งมาจากศัพท์เดิมในภาษากรีกที่แปลว่า ถ้อยคำหรือลำนำ
ในสมัยหลังมุ่งเน้นเฉพาะบทประพันธ์ร้อยกรอง ที่มีเนื้อหาสาระสดุดี การทำอันกล้าหาญของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
หรือหลาย ๆ คนรวมกัน เรื่องราวดังกล่าวนี้จะเป็นนิยาย ตำนานหรือประวัติศาสตร์ก็ได้
มหากาพย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อาจจะเป็นเรื่องคิลคาเมษ
ที่เล่ากันในดินแดน
แถบเมโสโปรเตเมียราวสี่พันปีมาแล้ว แต่มหากาพย์เรื่องนี้ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จัก
และได้รับความนิยมเท่ากับมหากาพย์สองเล่มที่โฮเมอร์ มหากวีของกรีกได้รจนาขึ้นในสมัยต่อมาคือ
เรื่องอีเลียด
และโอดิสซีย์
ซึ่งกลายเป็นต้นตำรับ หรือแบบฉบับ ของการแต่งกาพย์ทั้งหลายในสมัยต่อมา
โฮเมอร์ได้รับความนับถือยกย่องมาช้านานหลายศตวรรษว่า เป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของกรีกสมัยโบราณ
และมหากาพย์ทั้งสองเรื่องของเขาก็เป็นที่นับถือ กันว่ามีคุณลักษณะทั้งทางเป็นวรรณคดี
และเป็นเครื่องใช้แสดงวัฒนธรรมควบคู่กันไปเป็นทั้งศิลปะ และเป็นทั้งความรู้ประการสุดท้ายก็คือ
เขาได้วางหลักเกณฑ์ว่ามหากาพย์นั้น นอกจากจะเป็นวรรณคดีสดุดีวีรกรรมแล้ว ยังต้องเป็นวรรณคดีประเภทสั่งสอนอีกด้วย
คือ เสนอการสอนคุณธรรมแก่ผู้อ่านผู้ฟัง โดยยึดถือบทบาทความประพฤติของตัวบุคคลสำคัญ
ในมหากาพย์เป็นตัวอย่าง
หลังจากสมัยโฮเมอร์แล้ว มาในสมัยอาณาจักรโรมันมีกวีชาวโรมันคนหนึ่งชื่อ เวอร์จิล
ได้เขียนมหากาพย์เรื่องเอนีด
เป็นภาษาละติน มหากาพย์เรื่องนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถือกันว่าเป็นหนังสือที่ยิ่งใหญ่เป็นที่สองรองจากคัมภีร์ไบเบิล
ในด้านอิทธิพลที่มีต่อวรรณคดีรุ่นหลัง ๆ อย่างมาก ตัวเวอร์จิลเองนั้น ได้รับยกย่องว่าเป็นกวีสูงสุด
เป็นผู้รอบรู้ทั้งปวง และเป็นผู้มีทรรศนะแบบครสิต์ทั้ง ๆ ที่เขาเกิดก่อนพระเยซูคริสต์หลายปี
มหากาพย์ของเวอร์จิล ได้รับความยกย่องว่า เป็นงานประพันธ์ที่เด่นสุดยอดของการประพันธ์ทั้งปวง
มหากาพย์แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ มหากาพย์มุขปาฐะกับมหากาพย์ตัวเขียน ประเภทแรกคือ
มหากาพย์มุขปาฐะนั้น แต่งขึ้นด้วยรูปแบบคำประพันธ์ที่เรียบง่าย และเหมาะสำหรับใช้ขับร้อง
อาศัยความทรงจำ และสืบทอดกันมาแบบปากต่อปากคือ ฝึกการออกเสียงตามแบบแผนที่กวีกำหนดไว้แต่ดั้งเดิม
มหากาพย์แบบนี้คือ รามายณะ มหาภารตะ อิลเลียด โอดิสซีย์ ฯลฯ
เฉพาะวงวรรณคดีไทยคำว่ามหากาพย์มิได้มีที่ใช้ในสมัยก่อน แต่ลักษณะของรูปแบบ
และเนื้อหาสาระแบบมหากาพย์นั้นมีมานานแล้ว รู้จักกันในคำว่า วรรณคดียอพระเกียรติวรรณคดีไทยชั้นเยี่ยม
ที่นับว่าเป็นมหากาพย์อย่างถูกต้อง และเหมาะสมมีอยู่สองเรื่องคือ ลิลิตยวนพ่าย
และลิลิตตะเลงพ่าย ๒๒/
๑๔๒๕๗
๔๒๐๐. มหากาล - พระ
เป็นชื่อพระเถระผู้สำเร็จพระอรหันต์รูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา ไม่ปรากฎว่าได้รับเอตทัคคะในทางใดเป็นพิเศษ
๒๒/ ๑๔๒๖๓
๔๒๐๑. มหากาฬ
เป็นชื่อป้อม ๆ หนึ่งประจำบนกำแพงล้อมกรุงรัตนโกสินทร์ด้านทิศตะวันออก
ตรงหัวคลองมหานาคต่อกับคลองคูพระนคร สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๒๓๒๖ - ๒๓๒๘ พร้อมกับป้อมอื่น
ๆ รวม ๑๔ ป้อมด้วยกัน ลักษณะเป็นป้อมรูปทรงแปดเหลี่ยม ก่อยื่นออกไปจากกำแพง
ตรงกลางก่อเป็นป้อมซ้อนกันสองชั้น ชั้นบนทำหลังคามุงกระเบื้องคาดปูน เป็นอย่างหลังคาทรงยอดเกี้ยว
ปลายกำแพงทำเป็นใบสีมา แบบเดียวกับใบสีมาของกำแพงพระนคร ต่อออกไปเป็นปีกป้อมทางข้างเหนือ
และข้างใต้ ต่อเข้ากับลูกป้อมทั้งสองข้าง
๒๒/ ๑๔๒๖๕
๔๒๐๒. มหาจักรพรรดิ์ - สมเด็จพระ
เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๑ มีพระนามเดิมว่า
พระเฑียรราชา สันนิษฐานกันว่าทรงเป็นพระอนุชาต่างพระชนนีกับสมเด็จพระไชยราชาธิราช
เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสรรคตในปี พ.ศ.๒๐๘๘ พระโอรสองค์ใหญ่พระนามว่า
แก้วฟ้าพระชันษา ๑๑ พรรษา ได้ขึ้นครองราชย์พระเฑียรราชาได้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
ต่อมาพระเฑียรราชาได้ออกผนวช ท้าวศรีสุดาจันทรพระสนมเอกของพระไชยราชา และเป็นพระมารดาของพระแก้วฟ้าได้สิทธิขาดในราชการบ้านเมือง
ได้เป็นชู้กับพันบุตรศรีเทพ ซึ่งต่อมาได้เป็นขุนวรวงศาธิราช เมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้น
ขุนวรวงศาจึงลอบปลงพระชนม์ พระแก้วฟ้าแล้วขึ้นครองราชย์ แต่ครองราชย์ได้เพียง
๔๒ วัน ขุนพิเรนทรเทพ และพวกก็ได้ทำอุบายจับขุนวรวงศาธิราช และท้าวศรีสุดาจันทร์
กับบุตรฆ่าเสีย แล้วไปอัญเชิญพระเฑียรราชาให้ลาผนวช ขึ้นครองราชย์ เมื่อปี
พ.ศ.๒๐๙๑ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
ในรัชสมัยของพระองค์ต้องทำสงครามกับพม่าถึงสามครั้ง คือ ครั้งที่หนึ่งสงครามคราวสมเด็จพระศรีสุริโยทัย
สิ้นพระชนม์บนหลังช้าง ครั้งที่สองคราวขอช้างเผือก ครั้งที่สามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก
๒๒/ ๑๔๒๖๙
๔๒๐๓. มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
ตั้งอยู่ในบริเวณวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ / กรุงเทพ ฯ เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม ของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ และโปรดให้เรียกว่า มหาธาตุวิทยาลัย
นับเป็นครั้งแรกที่ใช้คำว่า วิทยาลัยในประเทศไทย
มหาธาตุวิทยาลัยเพิ่งมาเปิดดำเนินการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐
ปัจจุบันได้จัดการศึกษาในระดับต่าง ๆ ห้าระดับด้วยกันคือ โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา
โรงเรียนบาลีอบรมศึกษา โรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษา วิทยาลัยครูศาสนศึกษา
และมหาวิทยาลัย ซึ่งแบ่งออกเป็นสี่คณะคือ คณะมนุษยศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์
และคณะสังคมศาสตร์ และมีวิทยาเขตอันเป็นสาขาของมหาวิทยาลัยในจังหวัดต่าง ๆ
อีกแปดวิทยาเขตคือ วิทยาเขตหนองคาย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช วิทยาเขตเชียงใหม่
วิทยาเขตขอนแก่น วิทยาเขตแพร่ วิทยาเขตอุบลราชธานี วิทยาเขตนครราชสีมา และวิทยาเขตสุรินทร์
นอกจากนั้นทางมหาวิทยาลัยยังได้ให้กำเนิดโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๓๓) มีเปิดสอนทั้งประเทศกว่า ๓๐๐ แห่ง
ด้านงานวิจัยทางมหาวิทยาลัยได้จัดตั้ง สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ขึ้น
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒
งานสำคัญที่ทางมหาวิทยาลัยดำเนินร่วมกับคณะสงฆ์ มีหลายโครงการด้วยกัน เช่น
งานพระธรรมทูต
งานพระธรรมจาริก และการส่งพระพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต
ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ ทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกาและออสเตรเลีย
๒๒/ ๑๔๒๘๑
๔๒๐๔. มหาชนะชัย - อำเภอ
ขึ้น จ.ยโสธร ภูมิประเทศเป็นทุ่งนากับป่าดอนปนคละกันเป็นตอน ๆ มีแม่น้ำชีไหลผ่านท้องที่
อ.มหาชนะชัย เป็นเมืองเก่า เดิมเป็นเพียงหมู่บ้านเรียกว่า บ้านเสินชัย
ในรัชกาลที่สี่โปรดให้ยกบ้านเสินชัย เป็นเมืองมหาชนะชัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖
แล้วยุบเป็น อ.มหาชนะชัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ฟ้าหยาดอยู่คราวหนึ่ง
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.มหาชนะชัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๒/ ๑๔๒๘๗
๔๒๐๕. มหาชมพู
(ดูชมพู - ท้าวมหา ลำดับที่ ๑๖๓๒)
๒๒/ ๑๔๒๘๘
๔๒๐๖. มหาชาติ
เป็นคำที่ใช้เรียกเรื่องเวสสันดรชาดก และเรียกการเทศน์เวสสันดรชาดกว่า เทศน์มหาชาติ
มหาชาติ หมายถึง พระชาติ (การเกิด) อันยิ่งใหญ่ เพราะว่าพระโพธิสัตว์ซึ่งได้เสวยพระชาติในกำเนิดของพระเวสสันดร
อันเป็นพระชาติสุดท้าย ก่อนที่จะกลับชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้านั้น ได้ทรงบำเพ็ญทานอันเป็นบารมี
สูงสุด ทรงบำเพ็ญบารมีสิบครบบริบูรณ์ในพระชาตินี้
เรื่องมหาชาติเดิมแต่งเป็นคาถาภาษาบาลีมีจำนวนหนึ่งพันคาถา ในสมัยก่อนพุทธศาสนิกชนชาวไทย
ก็คงจะใช้คัมภีร์ชาดกภาษาบาลีเทศน์ และสวดกันเรียกว่า เทศน์คาถาพัน
ต่อมาจึงมีผู้แปลออกเป็นภาษาไทย และมีการแต่งเป็นร้อยกรองจนเกิดมีมหาชาติในพากย์ภาษาไทยสำนวนต่าง
ๆ หลายสำนวน และแบ่งเป็นหลายตอน แต่ละตอนเรียกว่ากัณฑ์มีทั้งหมดสิบสามกัณฑ์
คือทศพร หิมพานต์ ทานกัณฑ์ วนปเวสน์ ชูชก จุลพน มหาพน กุมาร มัทรี สักบรรพ
มหาราช ฉกษัตริย์ และนครกัณฑ์
หนังสือมหาชาติฉบับแปลเป็นภาษาไทยที่จัดว่าเก่าแก่ที่สุดคือ มหาชาติคำหลวง
แต่งโดยนำคาถาภาษาบาลีบาทหนึ่งมาเป็นบท ตั้งแล้วแปลเป็นคำร้อยกรองภาษาไทยวรรคหนึ่ง
สลับกันไป แต่งขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๒๕ ส่วนมหาชาติที่ใช้เทศน์กันอยู่ทุกวันนี้เป็นมหาชาติกลอนเทศน์
แต่งโดยวิธีนำทั้งคาถา และอรรถกถาภาษาบาลีมาตั้งไว้แล้ว แต่งความภาษาไทยเป็นแบบร่ายยาวต่อ
การเทศน์มหาชาติแต่เดิมไม่ปรากฎหลักฐานว่า นิยมมีเทศน์ในฤดูกาลใด แต่ถือเป็นประเพณีสำคัญที่จำเป็นต้องมีทุกปีจะขาดเสียมิได้
ปัจจุบันในกรุงเทพ ฯ นิยมมีเทศน์มหาชาติ เมื่อเทศกาลจะออกพรรษา ส่วนตามหัวเมืองมีเทศน์เมื่อออกพรรษาแล้ว
การเทศน์มหาชาติที่ครบพิธีจะต้องเทศน์คาถาพันก่อนแล้วจึงเทศน์มหาชาติจบแล้ว
จึงมีเทศน์อริยสัจ ดังนั้นการมีเทศน์มหาชาติ จึงมักใช้เวลาอย่างน้อยสามวัน
๒๒/ ๑๔๒๘๘
๔๒๐๗. มหาดไทย - กระทรวง
เป็นกระทรวงที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครอง และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
ในการปฏิรูปการปกครองประเทศใหม่ให้เป็นแบบอย่างอารยประเทศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕
ได้มีการจัดตั้งกระทรวงขึ้นสิบสองกระทรวง กระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงหนึ่งที่สถาปนาขึ้นมีหน่วยงาน
และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศทั้งในระดับจังหวัด
อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และยังต้องสนองงานของกระทรวงอื่น ๆ อีกทุกกระทรวง
๒๒/ ๑๔๒๙๔
๔๒๐๘. มหาดเล็ก
มีบทนิยามว่า "ข้าราชการในพระราชสำนัก มีหน้าที่รับใช้พระเจ้าแผ่นดินผู้รับใช้ประจำเจ้านาย
หรือผู้ที่ถวายตัวเป็นผู้รับใช้เจ้านาย
มหาดเล็กมีมาตั้งแต่โบราณกาล พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ซึ่งได้ตราขึ้นในรัชสมัย
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) ได้กำหนดศักดินามหาดเล็กไว้ เช่น
นายศักดิ์ นายฤทธิ์ นายสิทและนายเดชศักดินา ๘๐๐ นายจ่าเรศ นายจ่ายง นายจ่ารง
และนายจ่ายวดศักดินา ๖๐๐
ใน พ.ร.บ.กรมมหาดเล็ก ร.ศ.๑๑๒ ได้แบ่งมหาดเล็กเป็นสี่จำพวกคือ
๑. มหาดเล็กบรรดาศักดิ์
ได้แก่ บรรดามหาดเล็กที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร
๒. มหาดเล็กวิเศษ
ได้แก่ บรรดาบุตรข้าราชการที่ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก
๓. มหาดเล็กคงกรมได้แก่
บรรดามหาดเล็กจำพวกต่าง ๆ และคนจำพวกที่จางวางหัวหมื่น และนายเวรจัดขึ้นรับราชการ
และบรรดาคนที่ไม่ได้ถวายตัว
๔. มหาดเล็กยาม
ได้แก่ บรรดามหาดเล็กที่จางวางคัดเลือกจากมหาดเล็กวิเศษ หรือมหาดเล็กคงกรม
ที่มีคุณวุฒิสมควรรับราชการได้ยกขึ้นเป็นมหาดเล็ก ประจำการเข้าเวรรับราชการที่ได้รับพระราชทานเงินเดือน
นอกจากมหาดเล็กดังกล่าวแล้ว ยังมีมหาดเล็กอีกพวกหนึ่งเรียกว่า มหาดเล็กไล่กา
เป็นพนักงานคอยช่วยไล่กา ณ ที่ทรงบาตร
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.๒๔๗๕ กรมมหาดเล็กถูกลดฐานะลงมาเป็นกองมหาดเล็ก
สังกัดสำนักพระราชวัง ข้าราชการมหาดเล็ก มีฐานะเป็นข้าราชการพลเรือน
๒๒/ ๑๔๒๙๘
๔๒๐๙. มหาดเล็กรายงาน
มีบทนิยามว่า "มหาดเล็กซึ่งมีหน้าที่รายงานการสร้างวัดหรือคนเจ็บป่วย, ชื่อตำแหน่งข้าราชการชั้นฝึกหัดในหัวเมือง"
มหาดเล็กรายงาน เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งมาแต่สมัยอยุธยา ต่อมาในรัชกาลที่ห้าได้มีการจัดตั้ง
สำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือนขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๔๒ นักเรียนที่สอบไล่ได้เลื่อนชั้นไปเรียนชั้นปีที่สอง
และทางราชการได้นำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เมื่อเปิดสอนจนสิ้นปีที่สองแล้ว
ก็ได้ส่งนักเรียนออกไปเป็น ผู้ตรวจการครั้งแรกหกคน สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
โปรดให้เรียกผู้ตรวจการณ์ เหล่านี้ตามแบบโบราณว่า มหาดเล็กรายงาน ให้สมุหเทศาภิบาล
มอบให้ไปทำการในหน้าที่ปลัดอำเภอ เมื่อทำงานอยู่ประมาณไม่เกินหนึ่งปี ก็มีความชำนาญ
พอจะรับราชการในตำแหน่งข้าราชการชั้นสัญญาบัตร เช่น เป็นนายอำเภอได้ ก็ให้ออกจากรมมหาดเล็ก
ไปเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทย แต่ยังไม่ได้รับสัญญาบัตรชั้นขุนนาง อยู่อีกราวสองปี
จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรชั้น "ขุน"
๒๒/๑๔๓๐๕
๔๒๑๐. มหาตมคานธี
เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๒ ในรัฐราชโกฏ ประเทศอินเดียด้านตะวันตก เมื่ออายุ ๑๓
ปีได้แต่งงาน อายุ ๑๘ เดินทางไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศอังกฤษ
ระหว่างอยู่ประเทศอังกฤษคานธีได้มีโอกาสอ่านหนังสือภควัทคีตา คัมภีร์ของชาวฮินดู
ได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิล หนังประทีปแห่งทวีปอาเชียเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ และหนังสืออีกเล่มหนึ่งในบทที่ว่า
ด้วยศาสดาพยากรณ์แห่งศาสนาอิสลาม คานธีพยายามศึกษาคำสอนในศาสนาฮินดู คริสต์
พุทธ และอิสลาม เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจ ในคำสอนของศาสนา เหล่านี้อย่างถ่องแท้
เมื่อกลับประเทศอินเดียในปี พ.ศ.๒๔๓๕ หลังจากสอบได้เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษแล้ว
ต่อมาได้มีโอกาสไปประเทศแอฟริกาใต้ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ซึ่งได้เปลี่ยนชีวิตของคานธีโดยสิ้นเชิง
อนุสนธิแห่งเหตุการณ์นี้เกิดจากอำนาจแห่งความรู้สึกเหยียดผิว และนับจากนั้นมา
คานธีก็ได้อุทิศตนเข้าต่อสู้ เพื่อสิทธิในฐานะเป็นมนุษย์ของชาวอินเดียในแอฟริการใต้
ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ คานธีเดินทางกลับประเทศอินเดีย เมื่อถึงเมืองบอมเบย์คานธีได้เปลี่ยนไป
เป็นอีกคนหนึ่งโดยสิ้นเชิง คานธีได้หันมาใช้เสื้อผ้าแบบพื้นเมือง ของชาวคชราต
(คุชราฐ - ลำดับที่ ๑๐๘๐ เพิ่มเติม)
อันเป็นถิ่นกำเนิดของคานธี หลังจากนั้นได้ออกเดินทางไปยังภาคต่าง ๆ ของประเทศ
เพื่อศึกษาและรู้เห็นอินเดียอย่างแท้จริง เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม
กฎหมายโรว์ แลตค์ พ.ศ.๒๔๖๒ ซึ่งไม่ยอมให้สิทธิเสรีภาพในฐานะพลเมืองแก่ชาวอินเดีย
เป็นต้นเหตุผลักดันคานธี ให้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ เพื่ออิสรภาพของอินเดีย
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๒ จนถึงมรณกรรมในปี พ.ศ.๒๔๙๑
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๗ - ๒๔๗๒ ดูเหมือนว่าคานธีจะได้วางมือจากปฏิบัติการทางการเมือง
แบบเร่าร้อนและหันไปอุทิศเวลาให้แก่ปัญหาสำคัญ ๆ ของประเทศชาติ เช่น ปัญหาระหว่างฮินดู
- มุสลิม ปัญหาการถือชั้นวรรณะ ความเสมอภาคของสตรี และการฟื้นฟูเศรษฐกิจในชนบททั่วไป
ในวัน ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๓ คานธีได้ประกาศปฏิญญาอิสรภาพสมบูรณ์ มีประชาชนจำนวนล้าน
ๆ ได้สมาทานรับข้อปฏิบัติ ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ คานธีได้กล่าวในที่ประชุมแห่งหนึ่งในเมืองโลซานน์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า
เราควรจะพูดว่า "ความจริงคือพระเจ้า" ดีกว่าจะพูดว่า "พระเจ้าคือความจริง"
คาธีถูกจับกุมตัวอีกครั้งในปีเดียวกันนี้ และได้อดอาหารประท้วงรัฐบาลอังกฤษ
ในการที่รัฐบาลอังกฤษพยายาม สร้างความแตกแยกให้เกิดแก่มวลชน ด้วยการให้มุสลิม
และชนวรรณะต่ำต้อยมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยแยกออกไปเป็นกลุ่มชนต่างหาก
การประท้วงครั้งนี้ทำให้อังกฤษต้องเลิกล้มแผนการดังกล่าว
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ คานธีได้กลับมาสู่วงการเมืองอีกครั้ง
ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะให้อินเดียปกครองตนเองในไม่ช้า
คณะผู้แทนของรัฐบาลอังกฤษ ได้เดินทางไปเจรจาการเมืองในอินเดีย แต่ไม่สามารถจะหาทางตกลงกันได้
ระหว่างพรรคคองเกรสกับสันนิบาตมุสลิม
ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ รัฐบาลอังกฤษได้เชิญให้นายยวาหะ ระลาล เนห์รู จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว
สันนิบาตมุสลิมได้ประกาศ
"วันลงมือปฏิบัติการโดยตรง"
ยังผลให้เกิดการนองเลือดขนานใหญ่ในเบงกอล ซึ่งได้ระบาดไประหว่างชุมชนมุสลิม
กับฮินดูในหลายจังหวัดในเบงกอลตะวันออก และในแคว้นพิหาร คานธีได้เดินทางไปตามชนบทซึ่งเต็มไปด้วยกลิ่นไอของคาวเลือด
และความเคียดแค้น เพื่อให้ชุมชนทั้งสองกลุ่มศาสนายุติการประหัดประหารกัน และหันมาปรองดองกัน
ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ อุปราชคนใหม่ของอินเดียคือ ลอร์ด เมาแบตแตน ได้มาเจรจาหาลู่ทางให้ประชาชน
ในอนุทวีปได้รับอิสรภาพ ก่อนหน้านี้ได้มีการประชุมกันระหว่างรัฐบาลอังกฤษ
กับผู้นำของพรรคคองเกรส และนายจินนาห์ผู้นำสันนิบาตมุสลิม
แต่นายจินนาห์ยืนยันให้มีการแบ่งแยกประเทศ คานธีไม่เห็นด้วยโดยประการทั้งปวงที่จะให้มีการแบ่งแยกประเทศ
อินเดียถูกแบ่งแยก และเป็นอิสระในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๐ คานธีปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วม
การฉลองอิสรภาพในกรุงเดลี หากได้เดินทางไปยังนครกัลกัตตา ซึ่งเป็นสถานที่ชาวฮินดูกับชาวมุสลิมรบราฆ่าฟันกันอยู่
และประกาศอดอาหารจนกว่าการต่อสู้จะยุติลงซึ่งก็ได้ผล
คานธีถูกมาตกรรมในวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๑ ที่กรุงนิวเดลี
๒๒/ ๑๔๓๐๙
๔๒๑๑. พระมหาธรรมราชา ๑
เป็นพระนามของกษัตริย์สี่องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์สุโขทัย หรือราชวงศ์พระร่วง
พระมหาธรรมราชาที่หนึ่ง
คือ พญาสิไท หรือพระเจ้าสิไทเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเลอไท
มักเรียกกันว่า พระมหาธรรมราชาลิไท เริ่มรัชกาลเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๙๐ และสิ้นสุดลงประมาณปี
พ.ศ.๑๙๑๗
พระมหาธรรมราชาที่หนึ่ง ทรงเป็นนักปราชญ์ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่คราวหนึ่ง
ทรงศึกษาพระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน และทรงแต่งหนังสือไตรภูมิพระร่วง
หรือเตภูมิกถา
ซึ่งเป็นหนังสือไทยที่แต่งเก่าก่อนหรืออื่น ๆ นอกจากศิลาจารึกครั้งพระเจ้ารามคำแหง
ฯ พระองค์โปรดให้สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นหลายองค์ ในกรุงสุโขทัยนับว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงาม
ซึ่งในปัจจุบันเรียกกันว่า พระพุทธรูปแบบสุโขทัย
ทรงอาราธนาพระเถระชาวลังกาเข้ามาเป็นสังฆราช ณ กรุงสุโขทัย และทรงแบ่งพระสงฆ์ออกเป็นสองฝ่าย
คือ คามวาสี คือ พวกที่เล่าเรียนพุทธวจนะ และอรัญวาสีคือ พวกที่เล่าเรียนทางสมถหรือวิปัสนา
ทางด้านการปกครอง พระองค์ทรงสร้างถนนพระร่วง
ตั้งแต่เมืองศรีสัชนาลัย ผ่านเมืองสุโขทัยจนถึงเมืองกำแพงเพชร
สร้างเมืองสองแคว (พิษณุโลก) ขึ้นเป็นเมืองลูกหลวง และบูรณะเมืองนครชุม (กำแพงเพชรฝากตะวันออก)
อีกเมืองหนึ่ง
พระมหาธรรมราชาที่สอง
มีอีกพระนามว่า ไสลือไท
เริ่มรัชกาลเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๑๗ สิ้นรัชกาลเมื่อใดไม่ปรากฎ ประมาณกันว่าในปี
พ.ศ.๑๙๔๒ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง (พะงั่ว) ยกกองทัพกรุงศรีอยุธยาไปตีเมืองชากังราว
(ตรงข้ามเมืองกำแพงเพชร) ในอาณาเขตกรุงสุโขทัย พระมหาธรรมราชาที่สองสู้ไม่ได้ออกมายอมแพ้
กรุงสุโขทัยจึงกลายเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา อาณาจักรสุโขทัยถูกแบ่งออกเป็นสองอาณาเขต
คือ อาณาเขตเหนือและอาณาเขตใต้ อาณาเขตเหนือทางลำแม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมมีเมืองสุโขทัย
สวรรคโลก พิษณุโลกและพิจิตร พระมหาธรรมราชาที่สองทรงย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองพิษณุโลก
เมืองสุโขทัยยังคงมีเจ้าเมืองปกครองตลอดสมัยอยุธยา ส่วนอาณาเขตใต้ตามลำแม่น้ำพิง
(ลำน้ำปิง) มีเมืองตาก กำแพงเพชร และนครสรรค์ พระยายุธิษฐิระราชบุตรบุญธรรมของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง
(พะงั่ว) ปกครอง
พระมหาธรรมราชาที่สาม
เป็นพระราชโอรสพระมหาธรรมราชาที่สองขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๒ - ๑๙๔๖
พระมหาธรรมราชาที่สี่
เป็นพระราชโอรสพระมหาธรรมราชาที่สามพระนามเดิมพระยาบาลเมือง ครองเมืองพิษณุโลก
เมื่อปี พ.ศ.๑๙๖๒ - ๑๙๘๑ เมื่อพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ.๑๙๘๑ พระราเมศวรราชโอรสในสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง
(เจ้าสามพระยา) ได้เสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก ในฐานะพระมหาอุปราชเป็นการผนวกอาณาจักรสุโขทัยเข้ากับอาณาจักรอยุธยาครั้งแรก
๒๒/ ๑๔๓๑๙
๔๒๑๒. พระมหาธรรมราชา ๒ - สมเด็จ
พระนามเดิมว่า ขุนพิเรนทรเทพ เป็นผู้ทูลเชิญพระเทียรราชาขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา
ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ขุนพิเรนทรเทพ มีเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง
และเป็นพระญาติกับสมเด็จพระไชยราชา ได้รับสถาปนาเป็นพระมหาธรรมราช ได้ไปครองเมืองพิษณุโลกบังคับบัญชาหัวเมืองเหนือทั้งปวง
และได้รับพระราชทานพระวิสุทธิกษัตริย์ราชธิดาองค์ใหญ่ ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เป็นพระมเหสี
เมื่อคราวสงครามกับพระเจ้าตะเบงชเวตี้ในปี พ.ศ.๒๐๙๑ เมื่อทัพพม่ายกกลับไปทางเมืองตาก
พระราเมศวรกับพระมหาธรรมราชา คุมทัพติดตามโจมตีกองทัพพม่าล้มตายลงมากมาย แต่ไปเสียที่กลอุบายของพระเจ้าบุเรงนอง
เมื่อตามตีไปใกล้กับกองทัพหลวงพม่าที่เมืองกำแพงเพชร กองทัพพม่าจับพระราเมศวร
และพระมหาธรรมราชาได้ ฝ่ายไทยต้องขอทำไมตรีกับพม่า โดยมอบช้างชนะงาสองเชือกแลกทั้งสองพระองค์กลับมา
ในปี พ.ศ.๒๑๐๖ เมื่อสงครามคราวพม่าขอช้างเผือกอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าบุเรงนองยกทัพพม่าผ่านเมืองตาก
และตีเมืองกำแพงเพชรได้ แล้วมุ่งหน้าเข้าตีเมืองพิษณุโลก พระมหาธรรมราชาถูกล้อมอยู่ในเมืองพิษณุโลก
จนหมดเสบียงอาหารต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนอง ผลของสงครามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ต้องยอมทำไมตรีกับพม่า
แต่พระเจ้าบุเรงนอง มีนโยบายที่จะขยายอาณาเขต จึงได้พยายามยุยงให้ชาวไทยแตกสามัคคีกัน
ในขั้นแรกยุให้พระมหาธรรมราชาแข็งข้อต่อกรุงศรีอยุธยาอยู่เนือง ๆ และหันไปแจ้งข่าวให้ทราบ
ทำให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์รู้สึกอัปยศ และเสียพระทัยเป็นอันมาก จึงเสด็จออกทรงผนวช
และมอบราชการบ้านเมืองให้พระมหินทร์ พระราชโอรสองค์ที่สองของพระองค์
พระเจ้าบุเรงนองได้สถาปนาพระมหาธรรมราชาเป็นเจ้าฟ้าสองแคว
ตามหลักฐานของไทยพระมหาธรรมราชาได้รับการอภิเษกเป็นพระศรีสรรเพชญ์
ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าประเทศราชของพม่า ซึ่งบางที่เรียกกันว่า เจ้าฟ้าพิษณุโลก
พระเจ้าบุเรงนองได้เกณฑ์ให้พระมหาธรรมราชา คุมทัพไปเมืองเชียงใหม่ และสมทบกับทัพพม่า
เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.๒๑๑๒ แล้วพระองค์ได้ทำการปราบดาภิเษก
เป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ครองราชย์กรุงศรีอยุธยา
พระองค์ครองราชย์อยู่ได้ ๒๑ ปี (พ.ศ.๒๑๑๒ - ๒๑๓๓) สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงประกาศอิสระภาพ
เมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗ ๒๒/
๑๔๓๒๓
๔๒๑๓. มหาธาต ๑ - วัด
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหารมีชื่อเต็มว่า วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
ตั้งอยู่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพ ฯ คนทั่วไปนิยมเรียกว่า วัดมหาธาตุ
เป็นวัดโบราณสร้างมาแต่สมัยอยุธยาเดิมเรียกกันว่า วัดสลัก
ในปี พ.ศ.๒๓๒๖ ได้รับพระราชทานนามว่า วัดนิพพานาราม
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงโปรดให้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกที่วัดนี้ เมื่อปี
พ.ศ.๒๓๓๑ แต่ก่อนถึงกำหนดการทำสังคายนา ได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดพระศรีสรรเพชญ์ดาราม
ในปี พ.ศ.๒๓๔๖ ได้เปลี่ยนนามวัดใหม่เป็นวัดมหาธาตุ และเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันในปี
พ.ศ.๒๔๓๗ ๒๒/
๑๔๓๒๙
๔๒๑๔. มหาธาตุ ๒ - วัด
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหารตั้งอยู่ที่ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
เป็นวัดที่สร้างมาแต่โบราณ เรียกกันว่า วัดหน้าพระธาตุ
แต่ในเอกสารบางแห่งใช้ว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
โดยถือพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือพระพุทธปรางค์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยขอมเป็นสัญลักษณ์
๒๒/๑๔๓๓๙
๔๒๑๕. มหาธาตุ ๓ - วัด
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหารตั้งอยู่ที่ ต.คลองกระแชง อ.เมือง จ.เพชรบุรี
สันนิษฐานว่า คงสร้างมาแต่สมัยสุโขทัย ชาวบ้านเรียกกันมาแต่เดิมว่า วัดหน้าพระธาตุ
ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง และเปลี่ยนนามวัดเป็นวัดมหาธาตุวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖
๒๒/ ๑๔๓๔๐
๔๒๑๖. มหาธาตุ ๔ - วัด
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
สันนิษฐานว่า สร้างเมื่อราวปี พ.ศ.๑๙๒๖ โดยพระเจ้าเพชรบูรณ์ เจ้าเมืองเพชรบูรณ์ต่อมามีสภาพเป็นวัดร้าง
ในช่วงที่เป็นวัดร้างนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น
เจ้าพระยาจักรี กับสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์
ทรงยกทัพไปรบกับพม่าที่เมืองพิษณุโลก ราวปี พ.ศ.๒๓๑๘ ได้นำไพร่พลมาทางเมืองเพชรบูรณ์
และกระทำพิธีบวงสรวง เพื่อชัยชนะที่วัดมหาธาตุ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รับสั่งให้เจ้าเมืองเพชรบูรณ์
เกณฑ์ผู้คนบูรณวัดมหาธาตุครั้งใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง
๒๒/ ๑๔๓๔๒
๔๒๑๗. มหานามะ - พระเถระ
เป็นชื่อพระเถระองค์หนึ่ง ซึ่งสำเร็จเป็นพระอรหันต์ รุ่นแรกของพระพุทธศาสนา
นับเป็นพระสาวกองค์ที่สี่ ในจำนวนพระเบญจวัคคีย์ และนับเป็นพระมหาสาวกองค์ที่สิบเอ็ด
ในจำนวนพระมหาสาวกแปดสิบองค์ด้วยกัน
พระมหานาม เป็นชาวกรุงกบิลพัสดุ เป็นบุตรของพราหมณ์คนหนึ่งในแปดคน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการทำนายลักษณะของคน
ที่พระเจ้าสุทโธทนะเชิญ
มารับภัตตาหาร เพื่อประกอบพิธีทำนายพระลักษณะพระราชกุมารที่ประสูติใหม่
และได้รวมขนานพระราชกุมารว่า สิทธัตถราชกุมาร
๒๒/ ๑๔๓๔๔
๔๒๑๘. มหานิกาย
มีบทนิยามว่า "ชื่อคณะสงฆ์นิกายหนึ่งคู่กับธรรมยุติกนิกาย" มหานิกายเป็นนิกายสงบอันเป็นพื้นมาแต่เดิมคือ
มีมาก่อนคณะสงฆ์ จะแตกกันเป็นสองฝ่ายได้แก่ฝ่ายทักษิณนิกายกับฝ่ายอุตรนิกาย
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงไปประมาณร้อยปี พระสงฆ์สาวกแตกกันเป็นสองฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งมีพระยสกากัณฑกบุตรเป็นหัวหน้า อีกฝ่ายหนึ่งเป็นพวกวัชชีบุตร ฝ่ายแรกเป็นพวกเดิมอยู่ในชมพูทวีปฝ่ายใต้ได้ชื่อว่า
ทักษิณนิกาย
หรือเถรวาท
หรือหินยาน
ฝ่ายหลังอยู่ในชมพูทวีปฝ่ายเหนือได้ชื่อว่า อุตรนิกาย
หรืออาจริยวาท
หรือมหายาน
กล่าวเฉพาะประเทศไทยชั้นแรกมีสองนิกายคือ นิกายอันเป็นพื้นมาแต่เดิม และรามัญนิกายคือ
นิกายอันมีมาแต่สมัยอยุธยา ครั้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้มีธรรมยุติกนิกายเกิดขึ้น
โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ครั้งแรกดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ และทรงผนวชอยู่ได้ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่
๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๓๗๙ เป็นแต่สำนักเรียกว่าสำนักวัดบนคือ วัดบวรนิเวศวิหาร รวมขึ้นอยู่ในคณะกลาง
ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มาแยกเป็นคณะอิสระปกครองตนเอง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าขึ้นครองราชย์
๒๒/ ๑๔๓๔๐
๔๒๑๙. มหาบัณฑิต
ผู้ได้รับปริญญาโทคือปริญญามหาบัณฑิต การแบ่งปริญญาออกเป็นสามชั้นได้แบบอย่างมาจากมหาวิทยาลัยในประเทศยุโรป
และอเมริกา
ปริญญาโทสำหรับสาขาวิชาต่าง ๆ กำหนดเวลาเรียนอย่างน้อยหนึ่งปีและสองปี ภายหลังปริญญาตรี
นอกจานี้ยังแบ่งหลักสูตรออกเป็นสองแบบคือ แบบเขียนวิทยานิพนธ์ และแบบไม่เขียนวิทยานิพนธ์
(ดูปริญญา - ลำดับที่ ๓๓๖๒)
๒๒/๑๔๓๔๙
๔๒๒๐. มหาปชาบดี
(ดูโคตมี - ลำดับที่ ๑๑๗๖ และภิกษุณี - ลำดับที่ ๔๑๒๒)
๒๒/ ๑๔๓๔๙
๔๒๒๑. มหาประยุรวงศ์
เป็นราชทินนามชั้สูงสุดของเจ้าพระยาในรัชกาลที่สี่คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์
ซึ่งมักเรียกว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ท่านมีนามเดิมว่า ดิศ บุนนาค เป็นบุตรเจ้าพระยามหาเสนา
(บุนนาค ต้นสกุลบุนนาค) มารดาชื่อ เจ้าคุณนวล สกุล ณ บางช้าง
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ เกิด เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๑ แรกเข้ารับราชการเป็นนายสุจินดา
หุ้มแพรมหาดเล็ก แล้วเป็นหลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก เป็นจมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็ก
เป็นพระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก เป็นเจ้าพระยาพระคลัง เป็นเจ้าพระยามหาเสนาแต่ท่านไม่รับ
โดยอ้างว่าเป็นแล้วอายุสั้นจึงเรียกว่า เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม
ต่อมาในรัชกาลที่สี่โปรด ฯ ให้ยกขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาคือ ศักดินา ๓๐,๐๐๐
พระราชทานกลด เสลี่ยงงา พระแสงประดับพลอยลงยาราชาวดี เป็นเครื่องสำหรับอิสริยยศอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม
ให้สำเร็จราชการตลอดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ท่านถึงแก่พิราลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘
๒๒/ ๑๔๓๔๙
๔๒๒๒. มหาพน
เป็นชื่อกัณฑ์ที่เจ็ดของเรื่องมหาชาติว่าด้วยป่า หมายถึง ป่าที่พระเวสสันดรพร้อมด้วยพระนางมัทรี
พระชาลีและพระกัณหา เสด็จไปผนวชเป็นฤษีที่เขาวงกต เพราะเป็นป่าใหญ่จีงเรียกว่ามหาพน
ป่ามหาพนอยู่ในเขตเมืองมาตุลนคร แคว้นเจตรัฐ ห่างจากเมืองเชตุดร ประมาณ ๓๐
โยชน์ (๔๘๐ กม.) ๒๒/๑๔๓๕๑
๔๒๒๓. มหาพิชัยญาติ
เป็นราชทินนามชั้นสูงสุดของเจ้าพระยาในรัชกาลที่สี่คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ
ซึ่งมักเรียกกันว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย เพราะเป็นน้องร่วมบิดามารดาของ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๔ เดิมชื่อ ทัต บุนนาค
แรกเข้ารับราชการเป็นายสนิท หุ้มแพร ต่อมาในรัชกาลที่สอง ขึ้นไปรับราชการในวังหน้า
เป็นจมื่นเด็กชา แล้วกลับมารับราชการในวังหลวงเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก
เป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี
ในรัชกาลที่สี่โปรด ฯ ให้เป็นสมเด็จพระเจ้าพระยาเรียกกันว่า สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย
ถือศักดินา ๓๐,๐๐๐ พระราชทานกลด เสลี่ยงงา พระแสงลงยาราชาวดี เป็นเครื่องสำหรับพระองค์เจ้าต่างกรม
ถือดวงตราจันทรมณฑลเทพบุตรชักรถ ให้สำเร็จราชการในพระนครทุกสิ่งทุกพนักงาน
ท่านถึงแก่พิราลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๐
ในจดหมายเหตุของชาวต่างชาติ ท่านเคยปฏิบัติราชการปราบปรามเมืองกลันตัน ซึ่งพระยากลันตัน
และพระยาบาโงยวิวาทกันให้สงบเรียบร้อย เป็นผู้สร้างวัดพิชัยญาติการาม เป็นผู้สร้างเจดีย์บนยอดเขาเมืองสงขลา
๒๒/ ๑๔๓๕๓
๔๒๒๔. มหาภารตะ
เป็นชื่อของมหากาพย์สำคัญเรื่องหนึ่งที่แต่งในประเทศอินเดียสมัยโบราณ แต่งด้วยคำประพันธ์ร้อยกรองที่เรียกว่า
โศลกและฉันท์ หลายชนิดรวมกันประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท และมีคำประพันธ์ร้อยแก้วแทรกบางตอน
ผู้แต่งคือฤาษีชื่อ วยาส อย่างไรก็ดี มหากาพย์ภาษาสันสกฤตเรื่องยาวที่สุดในโลก
เรื่องนี้มีประวัติความเป็นมาที่คลุมเครือ และเป็นปัญหาหลายอย่างที่ยังหาข้อยุติไม่ได้
คำว่า ภารตะ แปลว่า ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระภรต
ผู้เป็นจักรพรรดิ์โบราณของอินเดีย เป็นโอรสของพระราชาทุษยันต์ แห่งนครหัสตินาปุระ
กับนางศกุนตลา พระภรตเป็นยอดวีระกษัตริย์แห่งราชสกุลจันทรวงศ์ ครอบครองดินแดนลุ่มแม่น้ำยมุนาและแผ่อาณาเขตไปทั้งทางตะวันออกและตะวันตกเป็นดินแดนกว้างใหญ่
บรรดาลูกหลานของพระภรต ในกาลต่อมาได้นามว่าเป็นพวกภารตะ และอาณาจักรอันกว้างใหญ่
ที่ชนภารตะเหล่านี้อาศัยอยู่ก็ได้นามว่า ภรตวรรษ
ในกาลต่อมาเกิดสงครามในหมู่ภารตะด้วยกันเองคือ พวกภารตะ ตระกูลเการพ
กับพวกภารตะตระกูลปราณฑพได้ทำสงครามกัน
ณ ทุ่งกรุเกษตร
ใกล้แม่น้ำยมุนาเป็นเวลาสิบแปดวัน ต่างฝ่ายก็มีพรรคพวกเป็นกษัตริย์แว่นแคว้นต่าง
ๆ การสงครามครั้งนี้ ได้ล้างผลาญชีวิตผู้คนทั้งสองฝ่ายลงเป็นอันมาก ในที่สุดฝ่ายปาณฑพชนะ
การรบครั้งนี้ถือกันว่าเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียที่เคยมีมา และเชื่อกันว่าเป็นเรื่องจริง
แต่ไม่มีหลักฐานบันทึกแน่นอนทางประวัติศาสตร์ หากปรากฎในรูปแบบของอิติหาส
(ตำนาน) ซึ่งกลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิในปัจจุบัน
มหากาพย์เรื่องมหาภารตะมีกำเนิดมาจากบทเพลง
หรือลำนำที่ใช้ขับร้องสรรเสริญวีรบุรุษในสมัยโบราณ ตั้งแต่ปลายสมัยพระเวท
หรือราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว เรื่องมหาภารตะแต่งด้วยคำประพันธ์รวมห้าประเภท คือ
๑. แต่งเป็นฉันท์โบราณหรือฉันท์ หมวด แบบที่ใช้แต่งคัมภีร์พระเวท
๒. แต่งเป็นโศลก (คำประพันธ์แบบหนึ่งมีวรรคละแปดพยางค์ รวมสี่วรรคเป็นหนึ่งบทดัดแปลงมาจากฉันท์โบราณที่ใช้แต่งพระเวท)
๓. แต่งเป็นฉันท์ประเภทวรรคพฤตตะ
๔. แต่งเป็นฉันท์ประเภทมาตราพฤตตะ
๕. แต่งเป็นร้อยแก้วเพื่อเชื่อมข้อความบางตอนในเรื่อง
คัมภีร์มหาภารตะมีความสัมพันธ์ต่อวัฒนธรรมไทยหลายด้านด้วยกัน ตั้งแต่สมัยโบราณเรื่อยมา
ในด้านวรรณคดีมหาภาระมีเรื่องแทรก (อุปาขยาน) หลายเรื่อง ซึ่งกวีไทยเอาเนื้อเรื่องมาแต่งวรรณกรรมไทย
เช่น เรื่องอนิรุทธ์คำฉันท์ อุณรุทคำกลอน กฤษณาสอนน้อง คำฉันท์บทละครเรื่องศกุนตลา
บทละครเรื่องสาวิตรี พระนลคำหลวง ลิลิตนาราย์สิบปาง ที่ย่อเรื่องทั้งหมดมาแต่งเป็นคำกลอนก็คือ
สงครามมหาภารตะคำกลอน ฯลฯ ที่เป็นวรรณกรรมเชิงปรัชญาก็มีเรื่องภควัทคีตา ในด้านราชทินนามก็ปรากฎว่าไทยได้นำชื่อต่าง
ๆ ในมหาภารตะมาเป็นราชทินนามขุนนางข้าราชการและเจ้านายเป็นอันมาก
๒๒/ ๑๔๓๕๔
๔๒๒๕. มหามงกุฎราชวิทยาลัย
เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์อีกแห่งหนึ่งเป็นของคณะสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เรียกว่า
สภาการศึกษามหามงกุฎราชวิทยาลัย ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ ตามพระดำริของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส
วัตถุประสงค์แห่งการตั้งมหามงกุฎราชวิทยาลัยนั้น ในระยะแรกได้วางวัตถุประสงค์ไว้สามประการ
คือ
๑. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย
๒. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาวิทยาซึ่งเป็นของชาติภูมิและต่างประเทศแห่งกุลบุตร
๓. เพื่อเป็นสถานที่จัดการสั่งสอนพระพุทธศาสนา
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๘ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์องค์สกลมหาสังฆปรินายก
ในฐานะนายกกรรมการมหามงกุฎราชวิทยาลัย ได้ทรงมีคำสั่งตั้งสภาการศึกษาของมหามงกุฎราชวิทยาลัยขึ้น
เป็นสถาบันการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย
ปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๓๓) มหามงกุฎราชวิทยาลัยได้จัดการศึกษาระดับต่าง ๅ รวมสามระดับด้วยกัน
คือ
๑. บุรพศึกษา
๒. เตรียมอุดมศึกษา
๓. มหาวิทยาลัย แบ่งออกเป็นสี่คณะคือ คณะศิลปศาสตร์ คณะศาสนาและปรัชญา คณะสังคมศาสตร์
และคณะศึกษาศาสตร์ ๒๒/
๑๔๓๗๐
๔๒๒๖. มหายาน
เป็นชื่อลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อาจริยาวาท
คู่กับลัทธิพระพุทธศาสนาฝ่ายใต้ ซึ่งเรียกชื่อว่า หินยาน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
เถรวาท
พระพุทธศาสนามหายานแยกออกจากกลุ่มพระพุทธศาสนาดั้งเดิม ตามแนวความคิดใหม่ของกลุ่มพระภิกษุชาววัชชี
เมื่อก่อนการสังคายนาครั้งที่สอง ภายหลังพุทธปรินิพพานราว ๑๐๐ ปี ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ก็คือ
พระพุทธดำรัสแก่พระสงฆ์สาวก ก่อนพุทธปรินิพพานได้แก่ เรื่องมหาปเทศสี่
หรือหลักธรรมเรื่องให้พิจารณาความควร และไม่ควรของการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก
อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสิกขาบทในพระวินัย ซึ่งมีพระพุทธานุญาตไว้ว่า
"ในกาลต่อไปหากภิกษุสงฆ์มีความจำนงจะถอดถอนสิกขาบทเล็กน้อย อันใดอันหนึ่ง
ตามควรแก่กาละเทศะ ที่จะพึงปฏิบัติก็ให้ทำได้ อาศัยพระพุทธานุญาตินี้ ทำให้เกิดแนวความคิดใหม่ในหลักธรรม
และความมีศีลาจารวัตรแตกต่างกันออกไป
ปัจจัยหลักข้างต้นเป็นเหตุให้เกิดแนวความคิดใหม่ในกลุ่มของภิกษุชาววัชชี คือร่วมกันแก้ไขพุทธบัญญัติละเมิดพระวินัยสิบข้อ
มีการฉันอาหารในเวลาวิกาล จับต้องเงินทอง ดื่มเครื่องดองของเมา เป็นต้น เป็นเหตุให้พระเถระผู้ใหญ่
คือ พระยสกาชาวเมืองปาฐาร่วมประชุมสงฆ์ยกขึ้น
สัมมนาพระธรรมวินัยที่เมืองเวสาลี เพื่อระงับอธิกรณ์ แต่กลุ่มภิกษุชาววัชชีไม่ยอมรับผิด
ได้แยกพวกออกไปประกาศสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นใหม่เป็นมหาสังคีติ
ประกาศเรียกชื่อพวกตนเองว่า มหาสังฆิกะ
คือกลุ่มใหญ่ หรือพวกมากใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลักจารึกคัมภีร์ กลายเป็นต้นเหตุใหญ่
มีแนวความคิดแตกแยกออกไปอีกกว่าสิบกลุ่ม นิกายกลายเป็นพระพุทธศาสนอย่างใหม่คือ
มหายานแปลความหมายว่า พาหนะใหญ่สามารถขนสรรพสัตว์ให้ออกจากกองทุกข์ได้มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง
พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ในภายหลังเป็นสาเหตุแปรเปลี่ยนหลักพระธรรมวินัย ดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าแพร่หลายออกไป
โดยได้รับอุปการะจากกษัตริย์ ผู้ทรงอำนาจของชมพู ทวีปอีกหลายองค์ เช่น พระราชากนิษกะแห่งบุรุษปุระ
จึงเป็นผลให้นานาทรรศนะแพร่หลายออกไป มีหลักปฏิบัติสำคัญที่พึ่งกำหนด เปรียบเทียบได้โดยสังเขป
คือ
เรื่องพระพุทธเจ้าของฝ่ายมหายาน
ก. กำหนดว่าเมื่อเกิดโลกอันเป็นที่อาศัยของหมู่สัตว์มีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งพระนาม
อาทิพุทธ
เป็นสยัมราทรงเกิดเอง เป็นมาพร้อมกับโลก ด้วยอำนาจฌานของพระอาทิพุทธ ทำให้เกิดพระพุทธเจ้าอื่นคือ
พระธยานิพุทธ
ห้าพระองค์ได้แก่ พระไวโรจนะ พระอักโษภยะ พระรัตนสมภพ พระอมิตาภะ และพระอโฆสิทธิ
และมีพระธยานิโพธิสัตว์อีกห้าองค์
คือ พระสมันตะภัทร พระวัชรปาณี พระรัตนปาณี ปัทมปาณี หรือพระอวโลกิเตศวร และพระวิศวปาณี
พระธยานิพุทธ และธยานิโพธิสัตว์ เหล่านี้เกิดมาเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ และรักษาพระศาสนาด้วยอำนาจฌานของพระอาทิพุทธเช่นเดียวกัน
ข. พระพุทธเจ้ามีสองประเภทคือ พระมานุสสพุทธได้แก่ พระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติเป็นมนุษย์
เช่น พระสมณโคตมประเภทหนึ่ง และพระธยานิพุทธ ได้แก่ พระพุทธเจ้าที่เกิดจากอำนาจฌานของพระอาทิพุทธเจ้าอีกประเภท
หนึ่ง
ค. พระพุทธเจ้า (ผู้ตรัสรู้) มีมากมายเหลือจะนับได้เหมือนจำนวนทรายในแม่น้ำคงคา
ทรงอุบัติมาแล้วในอดีตอันหาที่สุดมิได้ (ปรากฎมีกว่าล้านองค์อ้างบทสวดสัมพุทธเธ)
ง พระพุทธเจ้า (มานุสสพุทธ) มีพระสมณโคตมเป็นต้นมีพระกายสามคือ ธรรมกาย
ได้แก่ ภาระหรือสารัตถะแห่งการตรัสรู้กล่าวโดยสังเขปคือ พระธรรมที่ตรัสรู้
สัมโภคกาย
กล่าวโดยสังเขปได้แก่ พระธรรมที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ หรือการบำเพ็ญธรรมของพระโพธิสัตว์
เพื่อประโยชน์สุขของมหาชน
นิรมานกาย
คือร่างกายของมนุษย์ธรรมดา ประกอบด้วย ขันธ์ห้า ตกอยู่ในอำนาจการเกิด แก่
เจ็บ ตาย แต่ร่างนั้นสามารถเนรมิตเป็นรูปใดรูปหนึ่งได้ด้วยอำนาจฌานของพระมานุสสพุทธ
เรื่องของพระธรรม
มีแนวความคิดแตกต่างหนักเบากว่ากันเป็นส่วนสำคัญ คือ ฝ่ายมหายานเห็นว่า
ก. พระธรรมสำคัญกว่าพระพุทธ โดยอ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระธรรมว่า มีฐานะสูงกว่าพระองค์ทรงเคารพพระธรรม
และทรงยกพระธรรมเป็นศาสดาแทนพระองค์
ข.พระธรรมสำคัญกว่าพระวินัย หลักการของฝ่ายมหายาน มีว่าพระธรรมมีอยู่คู่กับโลก
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงค้นพบพระธรรมแล้ว ทรงสอนให้พุทธสาวก ปฏิบัติตามพระธรรม
ขณะใดที่พุทธสาวกมิได้ปฏิบัติธรรม ตามธรรมก็ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นเป็นข้อห้าม
มหายานเน้นหนักว่าคนใด หรือกลุ่มใดปฏิบัติตมพระธรรมแล้ว ชนเหล่านั้นอยู่ได้ด้วยสุขสงบเสมอไป
ความไม่มีวินัยในกลุ่มชนมาจากเหตุอันเดียวคือ ปราศจากธรรม
ค. พระธรรมที่เป็นอาทิธรรม ฝ่ายมหายานอ้างเรื่องเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว
ตั้งพระเมตตาเป็นปุเรจาริก ใคร่จะทรงแสดงธรรมที่ตรัสรู้แก่มหาชน แต่เมื่อทรงพิจารณาถึงความลุ่มลึกของพระธรรมอันยากที่ผู้อื่น
จะรู้ตามได้ก็ทรงท้อพระทัย แต่เมื่อทรงใช้พระปัญญาพิจารณาเห็นว่า มนุษย์มีปัญญาสี่ระดับเหมือนดอกบัวสี่เหล่า
จึงทรงตัดสินพระทัยสั่งสอนนิกรชน พระพุทธจริยาดังกล่าวนี้ เมตตาคุณจึงเป็นอาทิธรรมคือ
ธรรมแม่บทมี ปัญญาคุณเป็นธรรมคู่ประกอบเป็นกำลัง ยังพระวิสุทธิคุณให้ปรากฎ
สำหรับเรื่องของพระสงฆ์ คำว่า พระสงฆ์ ไม่นิยมเรียกในฝ่ายมหายาน เพราะไม่ต้องรับพิธีกรรม
เช่น ฝ่ายเถรวาท ไม่มีการปฎิบัติตามภาวะของพระภิกษุ เหมือนฝ่ายเถรวาท จึงควรเรียกอย่างได้เพียงนักบวช
นักบวชฝ่ายมหายานแตกต่างจากเถรวาทอย่างมกา อีกประการหนึ่งคือ นักบวชมีครอบครัวได้
อันมีมูลเหตุมาจาก
ก. การบำเพ็ญโพธิสัตว์จริยา ฝ่ายมหายานกำหนดว่า ผู้ปฎิบัติธรรมจะต้องบำเพ็ญโพธิสัตว์ธรรมคือ
มี เมตตา (พรหมวิหาร) เป็น อัปปมัญญา คอยช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ก่อน
จึงช่วยเหลือตนเอง โพธิสัตว์จะอยู่ในเพศใด วัยใดก็ได้ ถ้าอยู่ในเพศฆราวาส
บำเพ็ญบารมีหก ส่วนพระโพธิสัตว์ที่ออกบวชบำเพ็ญบารมีสิบ (ดู โพธิสัตว์ - ลำดับที่...)
ความเชื่อนี้ ทำให้เกิดหลักคำสอน เกี่ยวกับโพธิสัตว์ฝ่ายหญิง ซึ่งถือเป็นศักติของโพธิสัตว์ฝ่ายชายขึ้นในนิกายพุทธตันตระ
(พุทธผสมฮินดู)
ข. ในประวัติศาสตร์จีน แผ่นดินพระเจ้าเหยาซิว (พ.ศ.๙๓๖ - ๙๕๘) บัณฑิตคนหนึ่งชื่อ
กุมารชีพ
(พ.ศ.๘๘๗ - ๙๕๖ ตระกูลพราหมณ์ เกิดในเอเชียกลางแคว้นกุจา หรือกษะ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ออกบวชศึกษาธรรมศาสตร์ และภาษาศาสตร์ มีชื่อเสียงมาก จักรพรรดิ์จีนต้องการตั้งไว้เป็นกำลัง
มีสาสน์ขอไปยังผู้ครองแคว้นในเอเชียกลางไม่สำเร็จ จึงส่งกองทัพเข้าตีได้ตัว
กุมารชีพมายังเมืองชางอาน ท่านตั้งหน้าเรียนภาษาจีนจนแตกฉาน แปลพระคัมภีร์มหายาน
จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนไว้มากกว่านักบวชชมพูทวีปรูปใด ที่เข้าไปเผยแผ่ศาสนาในประเทศจีน
ครั้น กุมารชีพล่วงเข้าวัยชรา จักรพรรดิ์จีนเกรงว่า ต่อไปจะหาผู้ปัญญาเป็นกำลังของแผ่นดินและพระศาสนาไม่ได้
จึงได้ใช้อุบายให้ท่านมีลูกไว้สืบเชื้อสาย จึงให้ส่งน้ำเมาเข้าไปในกุฎิ พร้อมหญิงสาวสวยถึงสิบคน
ในที่สุดกุมารชีพต้องล่วงศีล แต่ไม่ยอมเปลื้องผ้ากาสาวพัตร
นักบวชจีนในชั้นต้น และนักบวชมหายานส่วนใหญ่ ในภายหลังได้ตัวอย่างจากกุมารชีพ
ทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้
ค. เรื่องเกิดจากตัวอย่างในประเทศจีนอีกเรื่องหนึ่งมีว่า ในสมัยแผ่นดินราชวงศ์ถัง
ที่วัดเส้าหลิน อารามหลวงในนครลกเอี๋ยง เป็นสำนักศูนย์กลางของ "เซน"
ซึ่งเป็นที่มาของยุทธจักรกำลังภายใน ในสมัยราชวงศ์นี้ มีการขบถแย่งชิงราชสมบัติอยู่หลายคราว
แต่ละคราวจักรพรรดิ์จีนได้ใช้กำลังของนักบวช วัดเส้าหลิน ซึ่งยอมเสียสละพระวินัยมาใช้ชีวิตเหมือนผู้ครองเรือน
เข้าปราบขบถเมื่อเสร็จงานแล้ว ก็กลับไปบำเพ็ญสมณธรรมตามเดิม จักรพรรดิ์จีนจึงสนองคุณด้วยการอนุญาตให้ใช้ชีวิตอย่างฆราวาสได้
ฆ. เมื่อพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน จากประเทศจีนเข้าสู่ญี่ปุ่นก็ได้ตัวอย่างของจีน
มาเป็นแนวทางปฎิบัติ ทั้งส่วนที่เป็นหลักปฎิบัติโดยตรง และส่วนที่มองเห็นสัจธรรม
ในหลักการที่ว่า การปฎิบัติธรรมสำคัญกว่า มีผลกว่าการทนรักษาพระวินัย โดยปราศจากธรรม
ง. ทางมาของนักบวชมีครอบครัว อาจมีความเป็นไปได้จากการผสมระหว่างหลักการ "ธรรมสำคัญกว่าวินัย"
กับคำสอนของเจ้าชายโชโตกุ (พ.ศ.๑๑๓๙ - ๑๑๗๒) มกุฏราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ผู้ประกาศรัฐธรรมนูญสันติภาพไว้
๑๗ มาตรา ความในธรรมนูญให้บูชาพระรัตนตรัย มีคำสอนแบบฉบับของการปฎิบัติธรรม
ปฎิเสธการแยกกลุ่มระหว่างเถรวาท กับมหายาน ให้มารวมเป็น "เอกยาน"
มีธรรมกายเป็นหลักยืน
ไม่มีการแบ่งแยกการปฎิบัติธรรม ระหว่างนักบวชกับผู้ครองเรือน ไม่ต้องเพศ นิกาย
จ. ต่อมามีวิวัฒนาการเป็นทางมาของนักบวช มีครอบครัวได้ ซึ่ง โฮเนน โชนิน ผู้ตั้งนิกายโยโดชินชู
หรือนิกายสุขาวดี
ปฎิรูปหลักปฎิบัติดังกล่าวนี้ ต่อมาศิษย์ของโฮเนน คือ ชินรัน ประกาศหลักปฎิบัติขึ้นมาใหม่
เรียกว่า ฮิโซอิโซกุ แปลว่า ไม่มี นักบวชไม่มีผู้ครองเรือน มีแต่ผู้ปฎิบัติธรรม
ชินรัน โชนิน มีครอบครัวเหมือนผู้ครองเรือนทั่วไป คำสอนและการปฎิบัติของชินรัน
มีผู้พอใจ เพราะง่ายต่อการปฎิบัติ กลุ่มของชินรัน เป็นกลุ่มมหายานที่แพร่หลายที่สุด
ในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน
ฉ. เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคฟื้นฟูระบบจักรพรรดิ์ในสมัยเมจิ (พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๕๕)
จักรพรรดิ์ทรงประกาศรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ให้เสรีภาพการนับถือศาสนา ในปี
พ.ศ.๒๔๓๒ ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา
เรื่องปฎิญญา
(โพธิสัตว์จริยา) ของโพธิสัตว์ ก่อนบำเพ็ญตนเป็นโพธิสัตว์ไม่มีฝ่ายเถรวาท
แต่มีเป็นหลักปฎิบัติในฝ่ายมหายาน ผู้บำเพ็ญธรรม กล่าวปฎิญญา หรือตั้งปณิธานต่อหน้าอาจารย์แล้ว
ลงมือบำเพ็ญบารมีเป็น โพธิสัตว์จริยาฐานแรกแห่งการปฎิบัติธรรม ของพระโพธิสัตว์
เรื่องการตรัสรู้ธรรม
ดำเนินตามหลักโพธิสัตว์มรรค
ของนาคารชุน นักปราชญ์ผู้ใหญ่ฝ่ายลัทธิมาธยามิกะ
ได้วางหลักแห่งการทำตนให้หลุดพ้นไว้ดังนี้
๑. ดำเนินตามมรรคแปด
๒. ดำเนินตามหลักฌานสมาบัติ (หลักของนิกายเซน) เพื่อค้นหาความจริงตามพระธรรม
๓. ส่งจิตให้เข้าสู่ความลึกลับของจักรวาลชีวิต ฯลฯ ตามหลักของนิกายมนตรยาน
๔. ดำเนินตามหลักศรัทธายังประโยชน์ให้สำเร็จคือ ศรัทธาในพระพรของพระพุทธเจ้า
ตามหลักของนิกายโยโดชินชู (นิกายสุขาวดี หรือนิกายชิน (นิกายศรัทธา)
๔๒๒๗. มหายุค
(ดู จตุรยุค - ลำดับที่ ๑๒๘๐)
๒๒/ ๑๔๓๘๖
๔๒๒๘. มหาราช ๑
อำเภอ ขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา ภูมิประเทศเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา
อำเภอนี้ สมัยอยุธยารวมการปกครองอยู่ในท้องที่แขวงขุนนคร เมื่อตั้งกรุงเทพ
ฯ ได้ยกกรุงเก่าเป็นเมืองจัตวา แล้วเปลี่ยนชื่อแขวงขุนนคร เป็นแขวงนครใหญ่
และแขวงนครน้อย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๘ จึงแบ่งแขวงนครใหญ่ ข้างเหนือ เป็น อ.นครใหญ่
เขตข้างใต้เป็น อ.นครใน ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อ อ.นครใหญ่ เป็น อ.มหาราช
ตามชื่อดตำบลซึ่งตั้งที่ว่าการอำเภอ
๒๒/๑๔๓๘๗
๔๒๒๙. มหาราช ๒
เป็นชื่อกัณฑ์ที่สิบเอ็ดของเรื่อง มหาชาติ ว่าด้วยเรื่องตั้งแต่พราหมณ์ชูชก
พาสองกุมารไปถึงนครสีพี พระเจ้าสญชัยทรงไถ่สองกุมาร พระชาลีเล่าความทุกข์ยากของพระเวสสันดร
และพระนางมัทรี พระเจ้าสญชัยให้เตรียมทัพจะไปรับพระเวสสันดร และพระนางมัทรี
ยังเขาวงกต กลับคืนสู่นครสีพี
๒๒/
๑๔๓๘๗
๔๒๓๐. มหาราชครู - พระ
ในสมัยโบราณพระมหาราชครู เป็นตำแหน่งประธานคณะพราหมณ์ ผู้มีหน้าที่ประกอบพระราชพิธีในราชสำนักของพระมหากษัตริย์
เป็นที่ปรึกษาราชการและทำหน้าที่ตุลาการลูกขุน ณ ศาลหลวง มีศักดินา ๑๐,๐๐๐
๒๒/ ๑๔๓๙๐
๔๒๓๑. มหาวงศ์
เป็นหนังสือพงศาวดารลังกา แต่งเป็นคาถาภาษาบาลีตลอดเรื่อง มีผู้แต่งหลายคน
แบ่งออกเป็น ร้อยเอ็ดปริเฉท และรวมเนื้อหาเป็นตอนใหญ่ได้หกตอน
ตอนที่หนึ่ง
ตั้งแต่ปริเฉทที่ ๑ - ๓๘ กล่าวถึงเรื่องตั้งแต่มนุษย์คนแรก ไปอยู่เมืองลังกา
และต่อสู้กับยักษ์จนถึงประวัติพระพุทธศาสนา เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน
พระสงฆ์สาวกกำลังทำสังคายนาสามครั้งแล้ว พระมหินทรเถระไปประดิษฐานพระพุทธศาสนา
ในลังกาทวีป ในรัชสมัยพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ จนถึงรัชสมัยพระเจ้ามหาเสนะ
(พ.ศ.๘๐๔)
ตอนที่หก
ตั้งแต่ปริเฉทที่ ๙๙ - ๑๐๑ กล่าวถึงการสิ้นราชวงศ์กษัตริย์สิงหล เป็นเรื่องสุดท้าย
แต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๘
หนังสือมหาวงศ์นี้ แปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย
๒๒/ ๑๔๔๙๓
๔๒๓๒. มหาวิทยาลัย
แปลโดยรูปศัพท์ว่า ที่อยู่ของวิชาการ หรือความรู้อันยิ่งใหญ่ ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัย
หมายถึง สถาบันทางวิชาการที่ทำหน้าที่จัดการศึกษา ระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาระดับสูงสุดของประเทศ
แนวคิดและการจัดตั้งสำนักศึกษาชั้นสูง ซึ่งเทียบได้กับระดับอุดมศึกษานั้น
เริ่มขึ้นจากโลกตะวันตก ตั้งแต่สมัยกรีกและโรมัน เมื่อกว่า ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว
คือ อะแคเดมี ของพลาโต และไลซีอัม ของอริสโตเติล สำนักศึกษาในยุคนั้น มุ่งพัฒนาสความเรื่องปัญญา
และคุณธรรม ของผู้เรียนจึงเน้นการให้ความรู้ประเภทปรัชญา ตรรกศาสตร์ ภาษา
และกฎหมาย ให้เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับกลุ่มเฉพาะ ให้เป็นอภิชนเพื่อเตรียมทำหน้าที่ปกครองประเทศ
ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ได้มีการรวมกลุ่มนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ
และนักศึกษาเข้าด้วยกัน ตามเมืองใหญ่ ๆ ในบางประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาวิชาที่สนใจ
และเห็นประโยชน์ จึงนับเป็นการเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยอย่างถาวร ในฐานะเป็นศูนย์รวมความรู้
ความคิดทางวิชาการ ควบคู่ไปกับการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพชั้นสูงด้วย
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ เป็นต้นมา บทบาทความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย
และการใช้เทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางวิชาการแขนงต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของชีวิตและสังคม
ได้เข้าไปมีส่วนสำคัญในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย อาจกล่าวได้ว่าแนวความคิดและการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
จากประเทศตะวันตกได้แพร่หลาย และมีอิทธิพลต่อระบบมหาวิทยาลัยของประเทศอื่น
ๆ ทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย แนวคิดและการจัดตั้งมหาวิทยาลัย เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อประมาณร้อยปี
มานี้เองคือ
ช่วงระยะเวลาก่อนปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรก ในปี พ.ศ.๒๔๕๙
คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเมือง
ขึ้นหลังปี พ.ศ.๒๔๗๕ และในปี พ.ศ.๒๔๘๖ มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร
หลังปี พ.ศ.๒๕๐๐ มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
หลังปี พ.ศ.๒๕๑๔ เป็นต้นมา มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิดคือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
(พ.ศ.๒๔๑๔) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (พ.ศ.๒๕๒๑)
ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้มีการยกฐานะวิทยาลัยเอกชนขึ้น เป็นมหาวิทยาลัยสี่แห่งคือ
มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
๒๒/ ๑๔๓๙๕
๔๒๓๓. มหาวีระ
(ดู เชน - ลำดับที่ ๑๗๗๖)
๒๒/ ๑๔๔๐๕
๔๒๓๔. มหาสงกรานต์
(ดู สงกรานต์ - ลำดับที่....)
๒๒/ ๑๔๔๐๕
๔๒๓๕. มหาสติปัฎฐานสูตร
เป็นพระสูตรที่เก้า ในคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยเรื่อง
การตั้งสติอย่างยิ่งใหญ่ ในการกำหนดพิจารณาอารมณ์แห่งกัมมัฎฐาน สี่อย่าง เรียกว่า
สติปัฎฐานสี่
พระพุทธเจ้าตรัสแสดงสติปัฎฐานสี่ว่า "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางดำเนินทางเดียว
เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อระงับความโศกเศร้า และความคร่ำครวญ
เพื่อดับทุกข์ และโทรมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม (คือ อริยมรรค) เพื่อเห็นแจ้งพระนิพพาน
ทางดำเนินทางเดียวนี้คือ สติปัฎฐานสี่"
พระพุทธองค์ทรงจำแนกทางดำเนินทางเดียว ตามอารมณ์สี่อย่างคือ กาย เวทนา จิต
ธรรม ดังนี้
๑. กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากายในกาย
๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาในเวทนา
๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฎฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตในจิต
๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมในธรรม
๒๒/ ๑๔๔๐๕
๔๒๓๖. มหาสมัยสูตร
เป็นพระสูตรที่เจ็ดในคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยการประชุมใหญ่ของพวกยักษ์
เทวดา และพรหม ในสิบโลกธาตุ ณ ป่ามหาวัน ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ วัตถุประสงค์ของการประชุมคือ
เพื่อมาเฝ้าพระพุทธเจ้า และชมปฎิปทาของพระภิกษุจำนวนห้าร้อยรูป ซึ่งล้วนเป็นพระอรหันต์
ที่ตามเสด็จมาพัก ณ ป่ามหาวัน
ความในมหาสมัยสูตร ตอนหนึ่งว่า เมื่อผู้เข้าประชุมได้อภิวาทพระบรมศาสดาแล้ว
เทพจากสวรรค์ชั้นสุทธาวาสสี่องค์ ได้กล่าวคาถาองค์ละบท จากนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสบอกพระภิกษุเหล่านั้นว่า
มีเทวดาจำนวนมากจากสิบโลกธาตุ มาประชุมใหญ่กัน และตรัสแนะนำว่าเป็นใครมาจากไหน
มหาสมัยสูตรนี้ เป็นคาถาภาษาบาลีแบบปัฐยาวัตร ถือเป็นพระพุทธมนต์ที่บริบูรณ์ทั้งอรรถ
และพยัญชนะเป็นที่เจริญจิต เจริญใจและเป็นมงคลแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
ในสมัยโบราณเมื่อมีการประชุมใหญ่ เพื่อทำพิธีมงคลทุกครั้ง นิยมอาราธนาพระสงฆ์
มาเจริญพระพุทธมนต์มหาสมัยสูตร ๒๒/๑๔๔๑๒
๔๒๓๗. มหาสมุทร
คือ พื้นผิวน้ำเค็มขนาดมหึมา แผ่ตามผิวโลกถึงสามในสี่ส่วน ความจริงพื้นมหาสมุทรเป็นผืนน้ำผืนเดียว
ที่ติดต่อถึงกันหมด โดยที่ซีกโลกเหนือ มีส่วนพื้นน้ำร้อยละ ๖๑ และซีกโลกใต้มีพื้นน้ำร้อยละ
๘๑ แต่เราเรียกชื่อส่วนต่าง ๆ ของห้วงน้ำขนาดใหญ่เหล่านี้ว่า มหาสมุทรแปซิฟิก
มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรอาร์กติก
ท้องทะเล และมหาสมุทร มีความจุประมาณ ๑,๓๖๐ ล้านลูกบาศก์ กิโลเมตร และมีพื้นผิวประมาณ
๓๖๑ ล้านตารางกิโลเมตร ท้องทะเลมีความลึกเฉลี่ย ๓,๗๙๐ เมตร ตำแหน่งลึกที่สุดของมหาสมุทรอยู่ที่
มาเรียนาเทรนซ ระหว่างเกาะกวม กับเกาะแย็ป ลึกประมาณ ๑๐,๘๕๐ เมตร
สัณฐานของพื้นท้องมหาสมุทร
อาจแบ่งออกได้เป็นสามประเภทใหญ่ และแต่ละประเภทประกอบด้วยภูมิประเทศย่อย ๆ
ออกไป ดังนี้
๑. ขอบทวีป
เริ่มจากบริเวณไหล่ทวีป
ที่เป็นชายหาด และเปลี่ยนระดับตามลักษณะน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งค่อย ๆ ลาดเอียงยื่นออกไปจากฝั่ง
ถึงระดับความลึกประมาณ ๑๘๐ เมตร ถ้าชายฝั่งเป็นภูเขา ไหล่ทวีปจะแคบ ถัดจากไหล่ทวีปลงไป
เป็นลาดทวีป ซึ่งมีความลึกสูงสุดที่ระดับ
๔,๐๐๐ เมตร และถัดจากนี้ลงไปเรียกว่า ลาดตีนทวีป ซึ่งมีความลึกต่างกัน ส่วนที่สูงเหนือผิวน้ำ
เรียกว่า เกาะ ส่วนที่ลึกเรียกว่า ร่องลึกบาดาล
๒. พื้นท้องทะเล
ประกอบด้วยพื้นราบขั้นบาดาล ภูเขาใต้น้ำและภูเขายอดราบ ที่ราบสูงใต้ทะเล และหมู่เกาะรูปโค้ง
พื้นราบขั้นบาดาล มีขนาดแผ่กว้างในมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนในแปซิฟิกมีน้อย
ที่ราบใต้ทะเลเหล่านี้ ต่อเนื่องกันด้วยหุบเขาผาชัน ใต้ทะเล หรือร่องลึกที่รับตะกอนจากตัวทวีป
ท้องมหาสมุทรแปซิฟิก เต็มไปด้วยภูเขาใต้น้ำ อันเกิดจากอิทธิพลของภูเขาไฟ
๓. สันเขาใต้น้ำกลางสมุทร
ประกอบด้วย สันเขาเหลื่อมซ้อนกัน มีทั้งหุบเขาทรุดใต้น้ำ และหุบเขาใต้น้ำ
สมบัติของน้ำทะเล
น้ำทะเลประกอบด้วย สารละลายอินทรีย์ และสารอนินทรีย์ ได้แก่ เกลือแร่ต่าง
ๆ และแก๊ส ที่ละลายน้ำได้
อุณหภูมิของผิวน้ำทะเล แตกต่างกันไปตามแนวเส้นรุ้ง ฤดูกาลและปัจจัยอื่นอีกมาก
อุณหภูมิของน้ำทะเลลึก ๆ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล และกลางวันกับกลางคืน
มหาสมุทรเป็นแหล่งเก็บความร้อนมหาศาล จึงเป็นตัวควบคุมปริมาณความร้อน ในบรรยากาศด้วย
ลดความรุนแรงของอากาศ และรักษาระดับสมดุลของอุณหภูมิด้วย
กระแสน้ำ คลื่น และน้ำขึ้นลง
เกิดจากอิทธิพลของแรงสามประการคือ แรงที่เกิดจากพลังความร้อนของดวงอาทิตย์
แรงที่เกิดจากการหมุนของโลก และแรงที่เกิดจากลมประจำ และลักษณะชายฝั่งของแต่ละทวีป
สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร
เริ่มวงจรกันด้วยพืชน้ำขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ล่องลอยอยู่ใกล้ผิวน้ำ เพราะจำเป็นต้องใช้แสงแดด
เพื่อการดำรงชีวิต และขยายจำนวนพืชเหล่านี้ จะเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดเล็ก
ส่วนที่ใหญ่กว่าจะกินสัตว์เล็กเป็นอาหาร จากระดับผิวน้ำจนถึงความลึกประมาณ
๒๐๐ เมตร ซึ่งยังพอจะมีแสงส่องถึง จึงถูกจัดเป็นระดับที่พืช และสัตว์ทะเลส่วนใหญ่อาศัยอยู่
๒๒/ ๑๔๔๑๔
๔๒๓๘. มหาสารคาม
จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.กาฬสินธุ์ ทิศตะวันออก
จด จ.ร้อยเอ็ด ทิศใต้ จด จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ทิศตะวันตก จด จ.ขอนแก่น
และ จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ทางเหนือมีภูเขาและป่าทึบ เรียกว่า
ดงแม่เผด หรือดงเปรต อยู่ในเขต อ.กันทรวิชัย
จ.มหาสารคาม ตั้งขึ้นในรัชกาลที่สี่ โดยโปรดให้ยกบ้านลาดกุด นางใย ในแขวงเมืองร้อยเอ็ด
ขึ้นเป็นเมืองมหาสารคาม ตั้งที่ว่าการที่ หนองกระทุ่ม ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๖ จึงย้ายไปตั้งที่
ต.ตลาด อ.ตลาด คือ อ.เมือง ฯ ในปัจจุบัน มีสิ่งสำคัญคือ ลำน้ำชี ลำน้ำเตา
ลำน้ำห้องวอก ลำน้ำเสียว มีพระพุทธรูปโบราณ มีปรางค์กู่
จ.มหาสารคาม มีสิบอำเภอ คือ อ.เมือง ฯ อ.กันทรวิชัย อ.แกดำ อ.โกสุมพิสัย อ.เชียงยืน
อ.นาเชือก อ.นาดูน อ.บรบือ อ.พยัคฆภูมิพิสัย และ อ.วาปีปทุม
๒๒/ ๑๔๔๒๘
๔๒๓๙. มหาสาวก - พระ
มีบทนิยามว่า "พระสาวกชั้นผู้ใหญ่ของพระพุทธเจ้าแปดสิบองค์ ซึ่งรวมพระอัครสาวกทั้งสององค์เข้าไว้ด้วย"
ที่เรียกว่า พระมหาสาวกนั้น ท่านกำหนดเอาผู้ที่มีความเลื่อมใส สมัครใจเข้าบวชถือเพศ
เป็นภิกษุได้รับอนุญาตให้ประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้ ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์
ขีณาสพ พร้อมทั้งคุณธรรม มีปฎิสัมภิทา เป็นต้น และได้รับเอตทัคคะ คือ ย่อมเยี่ยมกว่าพระสาวกองค์อื่น
ๆ เป็นเฉพาะตามคุณธรรมของแต่ละองค์ เป็นส่วนใหญ่ พระมหาสาวกดังกล่าวมีนามปรากฎ
ตามคัมภีร์ปรมัตถทีปนี อรรถกถาเถรคาถา ดังต่อไปนี้
พระอัญญาโทณฑัญญะ พระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ พระยศเถระ พระอุรุเวลกัสสปปเถระ
พระมหากัสสปเถระ พระมหากัจจายนเถระ พระโมฆราชเถระ พระวัปปเถระ พระภัททิยเถระ
พระมหานามเถระ พระอัสสชิเถระ พระวิมลเถระ พระปุณณธิเถระ พระภควัมปติเถระ
พระคยากัสสปเถระ พระอชิตเถระ พระปุณณกเถระ พระเมตตคูเถระ พระโธตกเถระ พระอุปสิวเถระ
พระนันทเถระ พระเหมกเถระ พระโตเทยยเถระ พระกัปปเถระ พระธตุกัณณีเถระ พระภัทราวุธเถระ
พระอุทยเถระ พระโปสาลเถระ พระปิงศัยเถระ พระราชเถระ พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
พระกาฬุทายีเถระ พระนันทศากยเถระ พระราหุลเถระ พระอุบาลีเถระ พระภัททิยเถระ
(กาฬิโคธาบุตร) พระอนุรุทธเถระ พระอานนทเถระ พระภัคคุเถระ พระกิมพิลเถระ พระโสณโกฬิวิสเถระ
พระรัฐบาลเถระ พระบิณโฑภารทวาชเถระ พระมหาปันถกเถระ พระจูฬปันถกเถระ พระโสณกุฎิกัณณเถระ
พระลกุณฎกภัททิยเถระ พระสุภูติเถระ พระกังขาเรวตเถระ พระวักกลิเถระ พระกุณฑธานเถระ
พระวังคีสเถระ พระปิลันทวัจฉเถระ พระกุมารกัสสปเถระ พระมหาโกฎิฐิตเถระ พระโสภิตเถระ
พระมหากัปปินเถระ พระสาคตเถระ พระอุปเสนเถระ พระขทิรวนิยเรวตเถระ พระสิวลีเถระ
พระพาหิยทารุจิริยเถระ พระพากุลเถระ พระทัพพมัลลบุตรเถระ พระอุปวาณเถระ พระเมฑิยเถระ
พระนาคิตเถระ พระจุนทเถระ พระยโสชเถระ พระสภิยเถระ พระเสลเถระ พระปุณณเถระ
(พระมหาปรันตปเถระ) พระองคุลิมาลเถระ
๒๒/ ๑๔๔๒๙
๔๒๔๐. มหาสุรสิงหนาท
เป็นสร้อยพระนามของสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เรียกอีกพระนามหนึ่งว่า
สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาธิราชของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
ฯ พระองค์มีพระนามเดิมว่า บุญมา พระบิดาชื่อ พระพินิจอักษร (ทองดี) พระมารดาชื่อ
ดาวเรือง เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ในปี พ.ศ.๒๓๐๒ บิดาได้นำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก
ในสมเด็จพระเจ้าเอกทัต ต่อมาได้เลื่อนเป็น นายสุดจินดา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๖
ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้เสียแก่ข้าศึก นายสุดจินดา (บุญมา) ได้ปรึกษากับเพื่อนชายอีกสามคน
หนีออกจากวงล้อมของข้าศึก ไปหาหลวงยกระบัตร (ทองด้วง) พี่ชายที่เมืองราชบุรี
จากนั้นได้เดินทางไปร่วมกู้บ้านเมืองกับพระยาตาก และได้แวะรับเอามารดาของพระยาตาก
ที่บ้านแหลม เมืองสมุทรสงคราม ไปให้พระยาตาก ด้วย พระยาตากรับนายสุดจินดาให้เข้ารับราชการด้วย
และแต่งตั้งขึ้นเป็น พระมหามนตรี เจ้ากรมตำรวจในขวา ศักดินา ๒,๐๐๐
พระมหามนตรี ร่วมกู้แผ่นดินมากับพระยาตาก จนยึดกรุงศรีอยุธยาได้แล้วสถาปนาเมืองธนบุรี
เป็นราชธานีในปลายปี พ.ศ.๒๓๑๐ พระมหามนตรี ออกไปรับ หลวงยกกระบัตร (ทองด้วง)
จากเมืองราชบุรี เข้ามารับราชการอยู่กับพระยาตากด้วย ซึ่งก็ได้โปรดเกล้า ฯ
ให้เป็นที่ พระราชวรินทร์ เจ้ากรมตำรวจขวา
พระมหามนตรี (บุญมา) เกิดมาเป็นนักรบกู้แผ่นดิน และรบชนะเกือบทุกครั้ง
จนแม่ทัพพม่ายอมเรียกท่านว่า "พระยาเสือ"
ท่านได้ออกศึกในราชการสงคราม ที่มิได้หยุดพักเลย ตลอดเวลา ๓๕ ปี ระหว่างรับราชการอยู่สองแผ่นดินคือ
ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ๑๖ ครั้ง และในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
ฯ ๘ ครั้ง
ในปี พ.ศ.๒๓๑๑ ได้ร่วมกับ พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) ตี ก๊กเจ้าพิมาย ที่เมืองนครราชสีมา
เสร็จศึกครั้งนี้ พระราชวรินทร์ (ทองด้วง) ได้เลื่อนเป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์
และพระมหามนตรี (บุญมา) ได้เลื่อนเป็น พระยาอนุชิตราชา
พ.ศ.๒๓๑๓ ร่วมกับกองทัพหลวงตี ก๊กเจ้าพระยาฝาง ได้หัวเมืองเหนือส่วนกลางทั้งหมด
พระยาอนุชิตราชา (บุญมา) ซึ่งได้เลื่อนเป็น พระยายมราช อยู่ก่อน ได้เลื่อนเป็น
เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช และโปรดเกล้า ฯ เลื่อน พระยาอภัยรณฤทธิ์ (ทองด้วง)
เป็น พระยายมราช ซึ่งต่อมาไม่ช้าก็ได้เลื่อนเป็น เจ้าพระยาจักรี
พ.ศ.๒๓๒๐ ตีทัพเจ้าอิน แห่งนครจำปาศักดิ์ ได้เมืองจำปาศักดิ์กับเมืองทางภาคตะวันออก
เฉียงเหนือได้อีกหลายเมือง เสร็จศึกคราวนี้ เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) ได้เลื่อนเป็น
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
พ.ศ.๒๓๒๑ ร่วมกับ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตีกรุงศรีสัตนาคนหุต
(ล้านช้าง) ยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ ล้อมอยู่สี่เดือน จึงตีได้ และได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร
(พระแก้วมรกต) กับพระบาง จากเวียงจันทน์ ลงมาด้วย
พ.ศ.๒๓๒๓ ปราบจลาจลในกรุงกัมพูชา ร่วมกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
พอเกิดจลาจลในกรุงธนบุรี ต้องยกทัพกลับมาปราบจลาจล
เมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ท่านได้รับสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งมหาอุปราช (วังหน้า)
พ.ศ.๒๓๒๘ พระองค์ทรงทำสงครามเก้าทัพ เอาชนะข้าศึกได้ด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว
และพระปรีชาสามารถ แล้ขับไล่พม่าออกจากหัวเมืองปักษ์ใต้ จากนั้นได้เลยไปปราบหัวเมืองปัตตานี
ที่เอาใจออกห่าง ทำให้เมืองกลันตันและเมืองตรังกานู อ่อนน้อมขอขึ้นกับกรุงเทพ
ฯ ด้วย
พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๖ พระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา
๔๒๔๑. มหาหงส์
เป็นพืชล้มลุก ข้ามฤดูคล้ายขิงข่า มีเหง้าอยู่ในดิน ตั้งต้นขึ้นสูง ๑ - ๑.๕
เมตร ใบมีกาบใบหุ้มลำต้น และมักมีหน่องอกขึ้นด้านข้าง ใบเกลี้ยง ยาวปลายแหลม
เรียงสลับกันสองข้าง ถึงฤดูฝนดอกจะออกที่ยอด ปลายยอดโป่งออกเป็นรูปไข่ มีกาบหุ้มดอกเรียงสลับกัน
กลีบดอกสีขาว มีกลิ่นหอม บานเกือบตลอดปี
๒๒/ ๑๔๔๔๒
๔๒๔๒. มหาหิงค์
เป็นยางไม้มีสีขาวแกมเทา สีเหลืองด้าน หรือสีน้ำตาลอมแดง ได้จากการกรีด และรากของต้นมหาหิงค์
ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกไม่เกิน ๓ เมตร ลำต้นสีเขียวเกลี้ยง ใบเป็นฝอย เมื่อออกดอกแล้ว
มักสลัดใบ ดอกสีเหลืองอ่อน รากและเหง้ากลมยาวเรียว สีน้ำตาล เนื้อในสีขาวจะให้ยางเมื่ออายุได้ประมาณห้าปี
มหาหิงค์ มีน้ำมันหอม น้ำมัน ยางกาว และชัน รวมตัวกันอยู่ บางส่วนของน้ำมันนี้มีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าแมลงได้
มหาหิงค์มีกลิ่นฉุน ร้อน และเผ็ดร้อน และขม มีสรรพคุณเป็นยา ใช้เป็นยาขับลมผาย
แก้อาการเกร็ง แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เสียดท้อง ขับประจำเดือน แก้อาการทางประสาท
ชนิดฮิสทีเรีย ใช้เป็นยาภายนอกทาแก้กลาก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
๒๒/ ๑๔๔๔๓
๔๒๔๓. มหิดล ๑
เป็นอักษรพยางค์ต้นของพระนาม ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าฟ้า
พระราชโอรสองค์ที่เจ็ด ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ประสูติเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๓๔ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาทรงย้ายไปศึกษาวิชาทหารเรือ
ที่ประเทศเยอรมัน เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เสด็จกลับมารับราชการ ได้รับพระราชทานยศ
นายพันเอก ทหารบก และนายนาวาเอก ทหารเรือ
ต่อมาพระองค์ได้เสด็จไปศึกษาวิชาการแพทย์ ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว
ได้เสด็จกลับมาทรงประกอบพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการแพทย์ เพื่อประชาชนเป็นเอนกประการ
พระองค์ทรงประชวรสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ โปรดเกล้า
ฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น กรมหลวง
พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาว สังวาลย์ (สกุลเดิม ชูกระมล) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓
(รัชกาลที่ ๘ ที่ ๙ ประกาศสถาปนาพระอิสริยยศ เฉลิมพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
) มีพระราชโอรส พระราชธิดา สามพระองค์คือ
๑. หม่อมเจ้าหญิง กัลยาณิวัฒนา (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ทรงสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเฉลิมพระเกียรติยศเป็น
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
๒. หม่อมเจ้าชาย อานันทมหิดล (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ทรงสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้เสด็จเสวยราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่แปด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙)
๓. พระองค์เจ้าชาย ภูมิพลอดุยเดช (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ทรงเฉลิมพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๗๘ เสด็จเสวยราชสมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙
ในปี พ.ศ.๒๔๗๒ มีประกาศพระราชทานนามสกุล ตาม พ.ร.บ.นามสกุล พ.ศ.๒๔๕๘
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ นามสกุล มหิดล
ณ อยุธยา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงประกาศสถาปนาเฉลิมพระอิสริยยศ พระนามาภิไธยว่า
สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงสถาปนาพระอิสริยยศ เฉลิมพระนามาภิไธยว่า
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓
๒๒/ ๑๔๔๔๖
๔๒๔๔. มหิดล ๒ มหาวิทยาลัย
มีต้นกำเนิดจากโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ และได้ขยายกิจการจนสามารถเปิดเป็นโรงเรียนแพทย์
แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ มีชื่อว่า โรงแพทยกร
และได้รับพระราชทานนามเป็นราชแพทยาลัย
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ ต่อมาได้ยกฐานะเป็นคณะแพทยศาสตร์
ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น คณะแพทยศาสตร์จึงโอนเข้ามาเป็นคณะหนึ่ง
ในมหาวิทยาลัยนี้คือ คณะแพทยศาสตร์ และศิริราชพยาบาล
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล
๒๒/๑๔๔๕๑
๔๒๔๕. มหินทรเถระ - พระ
เป็นโอรสพระเจ้าอโศกมหาราช และเป็นพระเชษฐาของพระสังฆมิตตาเถรี ได้ผนวชเป็นพระภิกษุ
ท่านได้บรรลุพระอรหันต์ ในวันอุปสมบทนั้น
ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่กับพระอุปัชฌาย์เป็นเวลาสามพรรษา และต้องรับภาระควบคุมดูแลสั่งสอน
บรรดาศิษย์ของพระอุปัชฌาย์เป็นเวลาถึงเจ็ดปี เมื่อท่านผนวชได้สิบสองพรรษาได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าสมณทูตสายหนึ่ง
ในเก้าสายไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ลังกา นับว่าเป็นครั้งแรกที่พระพุทธศาสนาได้เข้าไปสู่ลังกา
พระมหินทรเถระ พร้อมกับพระเถระอีกสี่รูป ได้ไปยังลังกาและได้พบพระเจ้าเทวานัมปิยติส
กษัตริย์ลังกาผู้เป็นพระสหายกับพระเจ้าอโศก ฯ ท่านเทศนา จุฬหัตถิปโทปมสูตร
ให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อย่างแจ่มแจ้ง และได้อธิบายถึงวิธีเข้ามานับถือพระพุทธศาสนา
และอุปสมบทเป็นพระภิกษุ พระสูตรนี้ได้รวมคำสอนที่สำคัญของพระพุทธเจ้าไว้เป็นจำนวนมาก
เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าเทวานัมปิยติส พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ก็ประกาศตนเป็นพุทธมามกะทันที
เมื่อพระพุทธศาสนาสามารถหยั่งรากลงสู่ลังกาทวีปแล้ว ชาวสิงหลเป็นจำนวนมาก
ได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ทำให้สังฆมณฑลเป็นปึกแผ่นมั่นคงยิ่งขึ้น
พระมหินทรเถระจึงได้ทูลพระเจ้าเทวานัมปิยติส ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก สังคายนาพระธรรมวินัย
แล้วท่านได้นัดประชุมพระภิกษุสงฆ์ ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย ๒,๘๐๐ รูป ทำสังคายนาที่ถูปาราม
เมืองอนุราชปุระ เมื่อราวปี พ.ศ.๓๑๘ กระทำอยู่สิบเดือนจึงสำเร็จ นับเป็นการสังคายนาครั้งที่สี่
และเป็นครั้งแรกของประเทศลังกา ๒๒/๑๔๔๕๓
๔๒๔๖. มหินทราธิราช - พระ
เป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง ในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย
พระองค์ได้โดยเสด็จพระราชบิดา ในการศึกสงครามกับพม่า มาตั้งแต่ต้นรัชกาลคือ
ในปี พ.ศ.๒๐๑๙ ที่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ยกทัพพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยา และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย
ถูกพระเจ้าแปรฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๐๖ คราวสงครามช้างเผือก พระมหาจักรพรรดิ์ทรงยอมทำไมตรีกับพระเจ้าบุเรงนอง
แต่พระเจ้าบุเรงนองทรงยุยงพระมหาธรรมราชา พระราชบุตรเขยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
และครองเมืองพิษณุโลกอยู่นั้น ให้แข็งข้อต่อกรุงศรีอยุธยา และหันไปฝักฝ่ายกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง
ดังปรากฎในกรณีที่พระองค์แจ้งให้กองทัพพม่า ยกมาชิงพระเทพกษัตริย์ไปยังกรุงหงสาวดี
ในระหว่างที่เสด็จไปเวียงจันทน์ เพื่อเข้าสู่พระราชพิธีอภิเษกเป็น พระอัครมเหสีของ
พระเจ้าไชยเชษฐา แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต ตามที่ได้กราบทูลขอมา เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
ทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก จึงเสด็จออกทรงผนวช และยกราชสมบัติให้แก่พระมหินทราธิราช
สมเด็จพระมหินทราธิราชได้ทรงคบคิดกับพระเจ้าไชยเชษฐา ที่จะจับพระมหาธรรมราชา
แต่พระมหาธรรมราชาได้เดินทางไปเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองเสียก่อน พระเจ้าบุเรงนองจึงสถาปนาพระมหาธรรมราชาเป็นเจ้าฟ้าสองแคว
สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงทราบเรื่อง จึงได้กราบทูลขอให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงลาผนวช
กลับมาครองราชย์ใหม่ แล้วเสด็จไปเมืองพิษณุโลก พร้อมสมเด็จพระมหินทราธิราช
เพื่อรับพระวิสุทธิกษัตริย์และพระราชนัดดา มายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าบุเรงนองเห็นเป็นโอกาส
จึงได้กรีฑาทัพ โดยรวมทหารจากประเทศราชทั้งปวง เข้ามาทางด่านแม่ละเมา เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา
เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๑
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ และพระมหินทร ได้ช่วยกันป้องกันรักษาพระนครไว้อย่างเต็มความสามารถ
ระหว่างนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงประชวร และเสด็จสวรรคต
พระเจ้าบุเรงนอง ล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ห้าเดือน ก็ยังตีเอาพระนครไม่ได้ ประกอบกับฤดูฝนกำลังย่างเข้ามา
พระองค์จึงใช้วิธีเกลี้ยกล่อม ให้พระยาจักรีทรยศต่อเมืองไทย โดยรับอาสาเป็นไส้ศึกให้พม่า
จัดการให้การป้องกันพระนครอ่อนแอลง เมื่อพม่าเข้าโจมตีพระนครในตอนกลางคืน
เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๑๑๒ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่ข้าศึก
เมื่อสิ้นสงครามแล้ว พระเจ้าบุเรงนองก็หาเรื่องเอาผิดพระยาจักรี แล้วให้ประหารชีวิต
เนื่องจากชิงชังว่าเป็นคนทรยศต่อชาติบ้านเมืองของตนเอง
หลังกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว พระเจ้าบุเรงนองเสด็จยกทัพกลับไปทางเมืองกำแพงเพชร
สมเด็จพระมหินทราธิราชก็โดยเสด็จ ครั้นถึงแดนเมืองแครง สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงพระประชวร
เสด็จสวรรคต ๒๒/๑๔๔๕๘
๔๒๔๗. มโหระทึก - กลอง
เป็นกลองโลหะชนิดหนึ่ง ส่วนมากทำด้วยโลหะผสม ระหว่างทองแดงกับดีบุก มีขนาดต่าง
ๆ รูปทรงกระบอก แต่คอดตรงกลาง ทำให้แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นตัวกลอง
อีกส่วนหนึ่งเป็นฐานกลอง ส่วนตัวกลองมีหน้ากลองเป็นแผ่นเรียบ ส่วนฐานกลองเป็นรูปกรวย
กลวง มีหูหล่อติดกับตัวกลอง สำหรับร้อยเชือกหาม หรือแขวนกับหลัก ซึ่งปักตรึงกับฐานแน่นหนา
ตีด้วยไม้สองอัน รัวให้เป็นเสียงกังวาน
นักวิชาการด้านโบราณคดี ส่วนมากลงความเห็นว่า กลองมโหรทึกทำขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยโลหะตอนปลาย
หรือประมาณ ๒,๕๐๐ - ๑,๙๐๐ ปี มาแล้ว ตรงกับสมัยสำริดช่วงสุดท้ายของเวียดนาม
ซึ่งเรียกกันว่า สมัยวัฒนธรรมดองซอน การทำกลองประเภทนี้ มีสืบเนื่องกันต่อมา
แม้ในพุทธศตวรรษที่ ๒๕ นี้ ก็พบว่าชนบางเผ่าในสหภาพพม่า ก็ยังทำกลองมโหระทึกอยู่
ความมุ่งหมาย ในการทำกลองมโหระทึก พอสรุปได้ดังนี้
๑. ใช้ตีในงานพิธีต่าง ๆ เช่น พิธีขอฝน รักษาคนไข้ ขับไล่ภูติผี และในพิธีกรรมเกี่ยวกับคนตาย
๒. ใช้ประโคมเป็นดนตรี
๓. ใช้ตีเป็นสัญญาณเมื่อมีศึก หรือตีเมื่อออกไปทำศึก
๔. ใช้เป็นของรางวัล หรือเครื่องบรรณาการ
๕. ใช้เป็นสิ่งแสดงว่า ผู้มีกลองชนิดนี้ เป็นที่เคารพยกย่องของเพื่อนบ้าน
หรือเป็นคนมั่งมี
ในประเทศไทย มีหลักฐานทางวรรณคดีที่กล่าวถึงการใช้กลองมโหระทึก ว่าใช้ประโคมเป็นดนตรี
และใช้ตีในพระราชพิธีต่าง ๆ ๒๒/๑๔๔๖๒
๔๒๔๘. มโหรี
เป็นชื่อวงดนตรีที่มีเครื่องผสมทั้งดีด สี ตี เป่า เป็นวงดนตรีที่บรรเลงเฉพาะ
เพื่อขับกล่อมให้เกิดความรื่นรมย์ ไม่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงมหรสพใด ๆ เดิมมโหรีวงหนึ่ง
มีสี่คน คือ คนเสียง สำหรับขับร้องลำนำ และตีกรับพวง ให้จังหวะ คนสีซอสามสาย
คนดีดกระจับปี่ และคนตีโทน
ตอนปลายสมัยอยุธยา มีคนเป่าขลุ่ย และคนตีรำมะนา เพิ่มขึ้นอีกสองคน ต่อมาราวในรัชกาลที่หนึ่ง
ได้เพิ่มระนาดไม้ กับระนาดแก้ว ขึ้นอีกสองสิ่ง วงมโหรีจึงมีแปดคนด้วยกัน และมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในรัชกาลที่สาม
กับรัชกาลที่สี่
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า มาจนถึงปัจจุบันได้จัดวงมโหรี โดยมีเครื่องดนตรีผสมอยู่ในวงแบบแผนอยู่สามขนาด
ดังนี้
วงมโหรีวงเล็ก
ประกอบด้วย
- ซอสามสายหนึ่งคัน ทำหน้าที่คลอเสียงคนร้อง และบรรเลงดำเนินทำนองร่วมในวง
- ซอด้วงหนึ่งคัน เดินทำนองโดยเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง
- ซออู้หนึ่งคัน ดำเนิทำนองเป็นเชิง หยอกล้อยั่วเย้า ไปกับทำนองเพลง
- จะเข้ หนึ่งตัว ดำเนินทำนองโดยเก็บบ้าง รัวบ้าง และเว้นห่างบ้าง
- ขลุ่ยเพียงออ หนึ่งเลา ดำเนินทำนองเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง
- ระนาดเอก หนึ่งราง ดำเนินทำนองเก็บบ้าง กรอบ้าง ทำหน้าที่เป็นผู้นำวง
- ฆ้องวง หนึ่งวง ดำเนินทำนองเนื้อเพลงเป็นหลักของวง
- โทน หนึ่งลูก รำมะนา หนึ่งลูก ตีสอดสลับกัน ควบคุมจังหวะหน้าทับ
- ฉิ่ง หนึ่งคู่ ควบคุมจังหวะย่อย แบ่งให้รู้จังหวะหนักเบา
วงมโหรีเครื่องคู่
ประกอบด้วย ซอสามสาย หนึ่งคัน ซอสามสายหลิบ หนึ่งคัน ซอด้วง สองคัน ซออู้
สองคัน จะเข้ สองตัว ขล่ยเพียงออ หนึ่งเลา ขลุ่ยหลิบ หนึ่งเลา ระนาดเอก หนึ่งราง
ระนาดทุ้ม หนึ่งราง ฆ้องวง (มโหรี) หนึ่งวง ฆ้องวงเล็ก หนึ่งวง โทน หนึ่งลูก
รำมะนา หนึ่งลูก ฉิ่ง หนึ่งคู่
- วงมโหรีเครื่องใหญ่ ประกอบด้วย เครื่องดนตรีทุกอย่าง มีจำนวนเท่ากับวงมโหรีเครื่องคู่
หากแต่เพิ่มเครื่องดนตรีอีกสองอย่างคือ
- ระนาดเอกทอง หนึ่งราง วิธีดำเนินทำนองเหมือนระนาดเอก แต่มิได้เป็นผู้นำวง
- ระนาดทุ้มทอง หนึ่งราง ดำเนินทำนองคล้ายระนาดเอก แต่เดินทำนองห่าง
ส่วนฉาบ และโหม่ง ซึ่งเป็นเครื่องประกอบจังหวะ เมื่อเห็นสมควรจะนำมาผสมด้วย
ก็เพิ่มเติมได้ ทั้งสามวง ๒๒/ ๑๔๔๗๔
๔๒๔๙. มโหสถ
เป็นชื่อพระโพธิสัตว์ลำดับที่ห้า ในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ ทรงเน้นการบำเพ็ญปัญญาบารมี
เป็นสำคัญ จนได้รับยกย่องว่าเป็นยอดมหาบัณฑิต ผู้มีปัญญา
มโหสถ เป็นบุตรของเศรษฐีสิริวัตรกะ กับนางสุมนาเทวี แห่งหมู่บ้านปราจีน ยวมัชฌคาม
แคว้นวิเทหรัฐ เมื่อท่านถือกำเนิด พระเจ้าวิเทหราช กษัตริย์แห่งมิถิลานคร
แคว้นวิเทหรัฐ ได้สุบินนิมิตน่าพิศวง จึงตรัสเล่าให้มหาบัณฑิตสี่คน ซึ่งเป็นปุโรหิตาจารย์ฟัง
ได้รับคำทำนายว่า พระองค์จะได้บัณฑิตคนที่ห้า ซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญา และปรีชาญาณอันสูงส่ง
ที่จะเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร แต่วัยเยาว์และจะเป็นที่เคารพบูชา ทั้งมนุษย์และเทพยดา
ยากที่จะหาผู้เสมอเหมือน
ครั้นเวลาผ่านไปเจ็ดปี พระเจ้าวิเทหราชจึงมีรับสั่งให้อำมาตย์ แยกย้ายออกไปค้นหาบัณฑิตคนที่ห้าจนพบ
มโหสถรับราชการด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ยามบ้านเมืองเกิดศึกสงครามก็ใช้สติปัญญา
อันหลักแหลมแก้ไขสถานการณ์ไว้ได้ มิถิลานคร จึงไม่ต้องตกอยู่ในครอบครองของพระเจ้าจุลนี
แห่งปัญจาลนคร และทำให้พระเจ้าจุลนี กลับมาเป็นมิตร
พระเจ้าจุลนี ขอให้มโหสถมารับราชการกับพระองค์ แต่มโหสถยืนยันว่า ตราบใดที่พระเจ้าวิเทหราชยังมีพระชนม์ชีพอยู่
ก็จะไม่ขออยู่กับพระราชาองค์อื่น ต่อมาเมื่อพระเจ้าวิเทหราชสวรรคต มโหสถจึงได้ไปรับราชการกับพระเจ้าจุลนี
ตามที่ได้ให้คำปฎิญาณไว้
ตลอดเวลาที่รับราชการอยู่ในราชสำนักพระเจ้าจุลนี มโหสถก็ได้ใช้ปัญญาอันล้ำเลิศ
แก้ไขเรื่องทุกข์ร้อนต่าง ๆ ของชาวปัญจาลนคร ได้สำเร็จตลอดมา จนได้รับยกย่องว่า เป็นยอดมหาบัณฑิต ๒๒/ ๑๔๔๗๘