๔๒๕๐. มอ ๑ เป็นชื่อเรียกเรือประเภทหนึ่งที่ชาวบ้านสมัยก่อนใช้เป็นพาหนะเดินทางไปตามแม่น้ำลำคลองในย่านภาคกลาง และแถบหัวเมืองเหนือตอนล่าง เป็นเรือที่ทำด้วยไม้ตะเคียนทั้งต้น
นำมาถากโกลนให้เป็น"มาด" คือ รูปเรืออย่างหยาบ
เมื่อแต่งแล้วจะเป็นรูปลักษณะคล้ายฝักนุ่นผ่าซีก มีไม้เหลี่ยมวางพาดขวางแคมเรือ ตอนที่ถัดหัวและท้ายเรือเข้ามาเล็กน้อย เรียกว่า หูกระต่าย
สำหรับคล้องเชือกหรือล่ามโซ่กับหลักกันเรือลอย แคมเรือทั้งสองข้างเสริมกราบด้วยกระดานสูงข้างละหนึ่งศอกเรียกว่า ข้างกระดาน กราบนี้ยึดติดกับกงข้าง ซึ่งวางขึ้นเป็นคู่ ๆ อยู่ด้านข้างในท้องเรือ ข้างบนใส่ประทุนสานด้วยไม้ไผ่เป็นโครงแล้ว กรุด้วยใบจากอ่อน ตอนท้ายเรือมักมีแผง
หรือกระแชงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทรงครุ่ม ยกขึ้นมุงต่อออกไปจากท้ายประทุน ในเรือมักปูกระดานเป็นพื้นตลอดลำติดหลักแจวไว้ที่ตอนหัว และท้ายเรือ เรือมอแต่ละลำ มีขนาดยาวประมาณ ๕ - ๗ วา ปากกว้างประมาณหนึ่งวา
เรือมอ ปรกติใช้บรรทุกสินค้าที่เป็นของกิน ของใช้จากตัวเมืองไปขายตามชนบท ขากลับจะซื้อสินค้าพื้นเมืองมาขาย จึงเปรียบเหมือนร้านชำลอยน้ำ ๒๓/๑๔๕๒๙
๔๒๕๑. มอ ๒ - เขา นักเล่นก่อเขามอ แต่ก่อนเรียก ภูเขาจำลอง ที่ก่อเลียนแบบภูเขาจริงว่า "เขามอ" คำว่า "มอ" มาจากคำว่า "ถมอ" ในภาษาเขมรซึ่งแปลว่า ก้อนหิน
ความนิยมเล่นก่อเขามอ และตกแต่งประดับเหย้าเรือนด้วยเขามอ
ได้รับความนิยมสืบทอดมาแต่สมัยอยุธยา
ถึงสมัยรัตนโกสินทร์
เขามอ เป็นเครื่องเล่นคู่กันมากับไม้ดัด
จึงมีการนำไม้ดัดมาปลูกแซมแอบเขามอ
ประเภทก่อลงในกระถางในอ่าง ๒๓/๑๔๕๓๔
๔๒๕๒. มอง
เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ ประเภทอวนชนิดหนึ่ง มีใช้ในจังหวัดภาคเหนือ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมากมีขนาดยาวราว ๒๐๐ เมตร ลึกราว ๑.๗๐
เมตร
คราวบนมีทุ่นลอย ทำด้วยไม้ไผ่ คราวล่าง มีลูกถ่วง ทำด้วยดินเหนียวเผาแข็ง
เป็นรูปวงแหวนเรียกว่า ลูกมอง
วิธีใช้ จะใช้คนสองคน คนหนึ่งจับชายมองยืนประจำที่
อีกคนหนึ่งจับชายมองด้านที่เหลือ
แล้วลากไปในน้ำเป็นรูปครึ่งวงกลม มาบรรจบกับคนยืนประจำที่แล้ว
ทั้งสองคนก็เดินลากมองเข้าหาฝั่ง
เพื่อจับปลาต่อไป ๒๓/๑๔๕๔๗
๔๒๕๓. มองโกล
เป็นชนพวกเร่ร่อน เลี้ยงสัตว์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโอนอน และเครูเลน
ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศมองโกเลีย
พวกมองโกลเริ่มขยายอำนาจในสมัยเจงกิสข่าน
ด้วยความสามารถของประมุข ความสามารถในการขี่ม้าใช้อาวุธบนหลังม้า
การจู่โจมข้าศึก
และการติดต่อสื่อสาร
ทำให้พวกมองโกลขยายอำนาจออกไปกว้างใหญ่ที่สุดในโลกที่เคยมีมา
จากมหาสมุทรแปซิฟิกถึงทะเลเมดิเตอเรเนียน ในขณะที่มีประชากรไม่เกิน
๒,๕๐๐,๐๐๐
คน แต่สามารถปกครองจักรวรรดิ์ ที่มีประชากรหลายร้อยล้านคน
ได้ในเวลาไม่ถึงศตวรรษ
ทั้งทำให้การติดต่อระหว่างเอเชียกับยุโรป มีความสะดวกและปลอดภัย
นามเดิมของ เจงกิสข่าน คือ เตมูจิน
(พ.ศ.๑๗๑๐ - ๑๗๗๐) เป็นบุตรของหัวหน้าเผ่ามองโกลเผ่าหนึ่ง
เตมูจินสร้างสมอำนาจโดยสร้างความจงรักภักดีส่วนตัว
ซึ่งเป้นเรื่องสำคัญของพวกมองโกล และความสามารถในการรบ
เนื่องจากพวกมองโกลรบกันเกือบตลอดเวลา
เตมูจินได้รับเลือกจากหัวหน้าเผ่ามองโกลทั้งหลาย ให้เป็นประมุข เมื่อปี
พ.ศ.๑๗๔๙
และได้ตำแหน่ง เจงกิสข่าน และว่า จักรพรรดิราช
กองทัพมองโกลได้พิชิตเผ่า และอาณาจักรต่าง ๆ จากแมนจูเรีย ถึงทะเลดำ
และพิชิตจีนตอนเหนือจนผ่านกำแพงเมืองจีนลงมา
เจงกิสข่านสวรรคตในระหว่างการโจมตีอาณาจักรเซียตะวันตก อีกครั้งหนึ่งในปี
พ.ศ.๑๗๗๐ แม้กระนั้นในปีถัดมา ผู้ปกครองของเซียตะวันตก ก็ต้องยอมจำนน
เจงกิสข่าน แบ่งจักรวรรดิ์ออกเป็นสี่ส่วน
ให้กับโอรสที่เกิดกับมเหสีใหญ่ทั้งสี่
ตามประเพณีของพวกมองโกล ต่อมาโอรสและนัดดา ยังขยายอาณาเขตแดนออกไปอีก
ในช่วงที่กว้างใหญ่ที่สุด
เขตแดนทั้งสี่คือ
๑. แคว้นข่าน ของมหาข่าน ในเอเชียตะวันออก
๒. แคว้นข่าน แห่งจะฆะได ในเอเชียกลาง
๓. แคว้นข่าน แห่งเปอร์เซีย หรืออิลข่าน ในเปอร์เซีย
๔. แคว้นข่าน แห่งคิพจัก ในรัสเซีย
ทั้งสี่แคว้นถือว่า ข่านแห่งแคว้นมหาข่าน เป็นประมุขสูงสุด
และในระยะแรกถือว่าอยู่ภายใต้การปกครองร่วมกัน
จากนครหลวงคาราโกรัม แต่ต่อมาต่างตั้งตนเป็นอิสระ
และหมดอำนาจลงไปในพุทธศตวรรษที่
๒๐ และ ๒๑
โอรสและนัดดา ของเจงกิสข่านได้ขยายเขตแดนของจักรวรรดิ์มองโกล
ให้กว้างใหญ่ต่อไป
มหาข่านออกได พิชิตพวกจีนทางตอนเหนือของจีนลงได้ และกุบไล
นัดดาของเจงกิสข่านพิชิตอาณาจักรน่านเจ้า
ในปี พ.ศ.๑๗๙๖
ในสมัยกุบไลข่าน
(พ.ศ.๑๘๐๓ - ๑๘๓๗) พระองค์ได้ย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรมองโกล
จากคาราโกรัม
ลงมาที่ต้าตู
(มหานครหลวง) ในปี พ.ศ.๑๘๑๔
พระองค์ทรงตั้งราชวงศ์แบบจีนขึ้นมาคือ
ราชวงศ์หยวนแปลว่า
การเริ่มต้นครั้งแรก หรือต้นกำเนิด กุบไลข่านพิชิตราชวงศ์ซ่ง ได้ในปี
พ.ศ.๑๘๒๒
ทำให้จักรวรรดิ์จีนอยู่ภายใต้อำนาจของมองโกล โดยสมบูรณ์
กุบไลข่าน ได้ขยายอำนาจมองโกลออกไป ในปี พ.ศ.๑๘๑๗ และ ๑๘๒๔
ได้ส่งกองทัพเรือไปตีญี่ปุ่น
แต่ไม่สำเร็จทั้งสองครั้ง ส่งกองทัพไปตีอาณาจักรพุกามของพม่า
โจมตีเวียดนาม
และส่งกองทัพเรือไปโจมตีชวา นอกจากนี้ ยังส่งทูตไปยังอาณาจักรต่าง ๆ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ให้ส่งทูตพร้อมบรรณาการไปถวายพระองค์
เมื่อกุบไลข่าน สวรรคตนัดดาของพระองค์คือ ติมุร์ หรือจักรพรรดิ์เฉินจง
(พ.ศ.๑๘๓๗
- ๑๘๕๐) ได้ครองราชย์ต่อมา
หลังจากนั้นได้มีจักรพรรดิ์ปกครองต่อมาอีกแปดองค์
ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๕๐ - ๑๘๗๖ อำนาจของมองโกลได้เสื่องลงอย่างรวดเร็ว
จักรพรรดิ์องค์สุดท้ายคือ
ซุ่นตี่ เกิดกบฎชาวนาขึ้นหลายครั้ง มีการเกณฑ์ราษฎร ๑๕๐,๐๐๐ คน
มาขุดลอกแม่น้ำเหลือง
ราษฎรทุกข์ยาก มีเสียงเรียกร้องให้ก่อการกบฎ แพร่ขยายออกไปในที่สุด
ได้มีผู้นำสามารถโค่นราชวงศ์หงวนคือ
จู หยวนจาง หรือจักรพรรดิ์หงอู่ ผู้สถาปนาราชวงศ์หมิง ในปี
พ.ศ.๑๙๑๑
๒๓/๑๔๕๕๐
๔๒๕๔. มองโกเลีย - ประเทศ
ก่อนนี้เรียกว่า มองโกเลียนอก ตั้งอยู่ในเอเชียกลาง ด้านตะวันออก
ทางเหนือติดต่อกับประเทศรัสเซีย
ทางทิศตะวันออก ตะวันตก และทิศใต้ ติดต่อกับประเทศจีน มีพื้นที่ ๑,๕๖๔,๖๖๐
ตร.กม. เมืองหลวงชื่อ อูลานบาตอร์
ในบันทึกเหตุการณ์ของราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๔๙)
ได้กล่าวถึงพวกมองโกลว่า
เป็นนักรบที่เร่ร่อนไปในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ของทะเลสาบไบคาล
พวกมองโกล ซึ่งมีเจงกิสข่าน เป็นผู้นำสามารถรวมตัวกันได้เป็นครั้งแรก
เมื่อปี
พ.ศ.๑๗๔๘ เจงกิสข่านและข่านองค์ต่อ ๆ มาได้นำจักรวรรดิ์มองโกล
ไปสู่ความมีอำนาจทางทหาร
มองโกลได้เข้ายึดครองดินแดนส่วนต่าง ๆ ทั้งในเอเชีย และยุโรปตะวันออก
ทำให้ดินแดนส่วนต่าง
ๆ ภายใต้การยึดครองของมองโกล ได้ติดต่อกันทางการค้า
รวมทั้งการติดต่อกันโดยตรงระหว่างยุโรปกับเอเชียตะวันออกเป็นครั้งแรกด้วย
จักรวรรดิ์มองโกลเจริญรุ่งเรืองถึงจุดสุดยอด ในรัชสมัยของกุบไลข่าน
(พ.ศ.๑๗๕๙
- ๑๘๓๗) หลังจาก กุบไลข่านสิ้นพระชนม์
จักรวรรดิ์มองโกลก็เริ่มเสื่อมลง
จีนสมัยราชวงศ์เหม็ง สามารถขับไล่พวกมองโกลออกไปในปี พ.ศ.๑๙๑๑
และดินแดนของพวกมองโกลในตะวันออกใกล้
ถูกพวกออตโตมานเตอร์ก ยึดครอง ทางยุโรปอำนาจของพวกมองโกลก็สิ้นสุดลงด้วย
ในปี
พ.ศ.๒๐๒๓
ในปี พ.ศ.๒๑๘๗ พวกแมนจู
ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของแมนจูเรีย
ได้เข้าปกครองจีนโดยการยึดอำนาจการปกครองจากราชวงศ์เหม็งได้
และตั้งราชวงศ์เช็งขึ้น
พวกแมนจูได้รับความช่วยเหลือจากพวกมองโกล
กลุ่มที่อาศัยอยู่ทางด้านตะวันออกของทะเลทรายโกบี
ซึ่งต่อมาดินแดนส่วนนี้เรียกว่า มองโกเลียใน
ยังพวกคาลคา
ซึ่งเป็นพวกมองโกลกลุ่มหนึ่ง
ซึ่งอาศัยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทะเลทรายโกบี
ที่เรียกว่า มองโกเลียนอก พวกคาลคาได้ทำสงครามกับพวก แมนจูเรียหลายครั้ง
ในที่สุดก็ยอมรับอำนาจการปกครองของแมนจู
แต่ขอสงวนสิทธิ์ในการปกครองท้องถิ่นของตัวเองไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๔๓
เป็นต้นมา
จีนพยายามที่จะเพิ่มอำนาจการปกครองมองโกเลีย ให้มั่นคงกว่าเดิม
และพยายามที่จะปกครองมองโกเลีย
ในฐานะอาณานิคมเป็นเหตุให้มองโกเลีย หันไปพึ่งรัสเซีย ในปี พ.ศ.๒๔๕๐
ญี่ปุ่นกับรัสเซียได้ทำสัญญาลับต่อกัน
มีใจความว่า ญี่ปุ่นยอมรับว่ามองโกเลียนอก เป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย
ฝ่ายรัสเซียยอมรับฐานะของญี่ปุ่นในมองโกเลียใน
ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ เกิดการปฎิวัติในจีน พวกมองโกลในมองโกเลียนอก
จึงขับไล่จีนออกไป
และประกาศเอกราช ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๕ ได้ทำสนธิสัญญากับรัสเซีย
ให้มองโกเลียนอกเป็นรัฐในอารักขาของรัสเซีย
และรัสเซียยอมรับว่า มองโกเลียนอก
เป็นรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเอง
ในปี พ.ศ.๒๔๖๐ เกิดการปฎิวัติในรัสเซีย
ญี่ปุ่นจึงเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาในมองโกเลียนอก
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๒ จีนได้เข้ามาปกครองมองโกเลียนอกอีกครั้งหนึ่ง
มองโกเลียนอกจึงกลับไปพึ่งพารัสเซียอีก
ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๔ กองทัพมองโกล และรัสเซีย ยึดอำนาจจากจีนได้
และจัดตั้งรัฐบาลขึ้น
มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในที่สุดถึงปี พ.ศ.๒๔๖๗
มองโกเลียได้เปลี่ยนการปกครองเป็น
ระบอบสังคมนิยม
สภาพทางภูมิศาสตร์
พื้นที่ส่วนใหญ่ของมองโกเลีย เป็นที่ราบสูง ความสูงเฉลี่ย ๙๐๐ - ๑,๘๐๐
เมตร
รอบ ๆ ที่ราบสูงเป็นภูเขาและที่สูง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมองโกเลีย
เป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายโกบี
๒๓/๑๔๕๕๗
๔๒๕๕. มองคร่อ
เป็นชื่อโรคชนิดหนึ่งในห้าอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นโรคอันตรายในพระพุทธศาสนา
หมอชีวกโกมารภัจได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า
กุลบุตรที่เป็นโรคใดโรคหนึ่งในห้าโรค ได้แก่ โรคเรื้อน โรคฝีเรื้อรัง
โรคกลาก
โรคมองคร่อ และโรคลมบ้าหมู ไม่สมควรอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุ
มีบทนิยามคำ มองคร่อ ไว้ว่า " โรคหลอดลมโป่งพอง
มีเสมหะคั่งอยู่มากกว่าปรกติ
ในส่วนที่พองทำให้มีอาการไอเรื้อรัง จะไอหนักในเวลาเช้ามืด
ห้ามผู้เป็นโรคนี้บวชเป็นภิกษุ"
๒๓/๑๔๕๖๕
๔๒๕๖. มอญ
หรือที่เรียกว่า รามัญ ตะเลง และ เปกวน (หมายถึง ชาวเมืองพะโค
หรือหงสาวดี)
เป็นชนชาติเผ่าพันธุ์หนึ่ง จัดอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติก
ภาษามอญมีความเกี่ยวข้องกับภาษาเขมร
และภาษาท้องถิ่นของเวียดนาม ซึ่งอยู่ในเครืออานัมไมต์
และมีความสัมพันธ์ห่าง
ๆ กับภาษาอินโดนิเซีย
พวกมอญ เรียกตนเองว่า รมัน ซึ่งเพี้ยนมาเป็น มอญ แต่พม่าเรียกพวกนี้ว่า
ตะเลง
ซึ่งมาจากคำว่า ตลิงคานะ อันหมายถึง
แคว้นหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย
ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของวัฒนธรรม ผสมระหว่างฮินดูกับพระพุทธศาสนา
พงศาวดารพม่า กล่าวว่า มอญเป็นชนชาติแรก ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่า
มาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสต์กาล
มอญตั้งอาณาจักรอยู่ทางตอนใต้ค่อนไปทางตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี
ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน
และแม่น้ำสะโตง และมีอาณาเขตแผ่ขยายลงไปทางใต้ ถึงเมืองทะวาย
มีศูนย์กลางการเมือง
และวัฒนธรรมอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ณ
ที่นั้นมีอาณาจักรที่นับถือพระพุทธศาสนาคือ
ทวารวดี ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา
นครหลวงซึ่งเป็นที่รู้จักแห่งแรกคือ
นครปฐม ซึ่งได้พบจารึกภาษามอญ ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดประมาณปี พ.ศ.๑๑๔๓
นอกจากนครปฐมแล้วยังมีเมืองอื่น
ๆ ที่รวมอยู่ในอาณาจักรนี้ด้วย
ดังที่ได้พบศิลาจารึกเป็นภาษามอญโบราณเขียนด้วยอักษรปัลลวะของพุทธศตวรรษที่
๑๒ ได้แก่จารึกวัดพระมหาธาตุ จ.นครราชศรีธรรมราช จารึกวัดโพธิ์ร้าง
จ.นครปฐม
จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย จ.ลพบุรี จารึกถ้ำพระนารายณ์ จ.สระบุรี
จารึกเมืองบึงคอกช้าง
จ.อุทัยธานี และจารึกที่มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕
ซึ่งเป็นภาษามอญโบราณใช้รูปอักษรหลังปัลลวะเช่น
จารึกเสาแปดเหลี่ยม จ.ลพบุรี จารึกใบเสมาวัดโนนศิลา จ.ขอนแก่น
จารึกพระพิมพ์เผานาดูล
จ.มหาสารคาม จารึกพระพิมพ์ดินเผาเมืองฟ้าแดด และจารึกวัดโพธิชัยเสนาราม
จ.กาฬสินธุ์
จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล จ.นครสวรรค์ และที่ จ.ชัยภูมิ
พงศาวดารมอญกล่าวว่า อาณาจักรสะเทิน สร้างก่อนปี พ.ศ.๒๔๑
โดยพระราชโอรสสององค์ของพระเจ้าติสสะ
ผู้ครองแคว้นหนึ่งของอินเดีย
ซึ่งได้นำบริวารลงเรือสำเภาล่องมาจนถึงอ่าวเมาะตะมะ
จึงตั้งรกรากที่นั่น ให้สร้างเมืองขึ้น ณ บริเวณอ่าวเมาะตะมะ
ตั้งชื่อเมืองว่าสะเทิมหรือสุธรรมวดี
อาณาจักรสะเทิมมีกษัตริย์ปกครอง ๕๙ พระองค์
ในระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่สามถึงต้นพุทธศตวรรษที่สี่ พระเจ้าอโศก ฯ
แห่งอินเดียได้ส่งพระโสณะ
และพระอุตระมาประกาศพระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ
ซึ่งมอญอ้างว่าเมืองสะเทิมเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรนี้
อาณาจักรสะเทิมเจริญรุ่งเรืองมาก รับอารยธรรมอินเดียมาใช้ที่สำคัญคือ
อักษรศาสตร์และศาสนา
โดยเฉพาะรับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมา จึงทำให้มอญมีบทบาทมากที่สุด
ในการถ่ายทอดอารยธรรมอินเดียให้แก่ชนชาติอื่น
ๆ ในเอเซียอาคเนย์
ในปี พ.ศ.๑๓๗๕ พวกน่านเจ้าเข้ารุกรานทางตอนเหนือของพม่า
และได้ทำสงครามกับอาณาจักรพยุหรือปยุ
พวกน่านเจ้าได้กวาดต้อนชาวพยุ ไปเป็นเชลยศึกเป็นจำนวนมาก
พวกที่เหลือได้ลี้ภัยลงมาทางใต้และมาสร้างเมืองพุกาม
มอญได้สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่คือเมืองหงสาวดีหรือพะโค เมื่อปี พ.ศ.๑๓๖๘
ช่วงปี พ.ศ.๑๖๐๐ - ๑๘๓๐ หงสาวดีอยู่ในอำนาจของอาณาจักรพุกาม
พระเจ้าอโนรธามังช่อ
(พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๖๒๐) เป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์พุกาม
และเป็นผู้ตีสะเทิมได้
ในปี พ.ศ.๑๕๘๗ พม่าได้รับการถ่ายทอดพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท วัฒนธรรม
สถาปัตยกรรม
และวิชาการต่าง ๆ จากมอญ
รวมทั้งรับเอาตัวอักษรมอญไปดัดแปลงเป็นตัวอักษรพม่าเป็นครั้งแรก
ศิลาจารึกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าครรชิต
กษัตรย์องค์ที่สามของราชวงศ์พุกาม
(พ.ศ.๑๖๒๐ - ๑๖๒๗) ส่วนใหญ่เป็นภาษามอญ
ประวัติศาสตร์ของอาณาจักรมอญ
ที่ได้รับการรับรองเป็นทางการเริ่มในรัชสมัยพระเจ้าฟ้ารั่ว
(พ.ศ.๑๘๓๐ - ๑๘๔๙) ในปี พ.ศ.๑๘๓๐ มองโกลยกทัพมาตีพม่าได้
ทำให้มอญเป็นเอกราชอีกครั้งหนึ่ง
พระเจ้าฟ้ารั่วได้สถาปนาอาณาจักรมอญอิสระขึ้น มีเมืองเมาะตะมะ เป็นราชธานี
และสถาปนาราชวงศ์เจ้าฟ้ารั่วขึ้น
หรือที่เรียกกันว่าราชวงศ์หงสาววดีบ้างหรือราชวงศ์ไทยใหญ่บ้าง
- ตะเลงบ้าง ในรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ได้โปรดให้พระมอญชื่อพระสารีบุตร
แปลคัมภีร์พระธรรมศาสนา ที่ได้เค้ามาจากอินเดียเป็นภาษามอญ
และให้แปลเป็นภาษาพม่าด้วย
ซึ่งไทยได้รับคัมภีร์นี้มาเป็นต้นแบบของกฎหมายไทย
ราชวงศ์ฟ้ารั่วปกครองมอญมาจนถึงปี
พ.ศ.๒๐๘๒ มีกษัตริย์ปกครองรวม ๑๘ องค์ ที่สำคัญมีดังนี้
๑. พญาอู่
หรือพระเจ้าพินยาอุ
(พ.ศ.๑๘๙๖ - ๑๙๒๘) พระองค์โปรด ฯ ให้ย้ายเมืองหลวงกลับไปที่หงสาวดีตามเดิม
๒. พระเจ้าราชาธิราช
(พ.ศ.๑๙๒๘ - ๑๙๖๘) ทรงมีอานุภาพมาก ได้แบ่งอาณาจักรมอญออกเป็น ๓๒ มณฑล
ทรงรบรับขับเคี่ยวกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง
(บินคยอง ) แห่งอังวะเป็นสงครามยาวนานถึงสิบปี
มีชาวโปร์ตุเกสเข้ามาติดต่อค้าขายกับมอญ
และช่วยมอญสร้างกำแพงเมืองและป้อมคูที่เมืองสิเรียม ซึ่งเป็นเมืองท่า
ต่อมาพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ แห่งราชวงศ์ตองอู (พ.ศ.๒๐๗๔ - ๒๐๘๔)
ได้ยกกองทัพมาตีมอญได้ในปี
พ.ศ.๒๐๘๒ แล้วย้ายราชธานีมาตองอู มาอยู่ที่หงสาวดี
ในปี พ.ศ.๒๑๔๑ เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู และเจ้าเมืองอังวะ
ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระเจ้านันทบุเรง
ก่อการจลาจลขึ้น เจ้าเมืองตองอูไปชวนพระเจ้ายะไข่ให้ร่วมมือด้วย พวกยะไข่เผาเมืองหงสาวดี
และกวาดต้อนชาววมอญกลับไปยะไข่หลายพันครอบครัว
และมอบให้ทหารชาวโปร์ตุเกสควบคุมเมืองสิเรียมไว้
ต่อมากำลังทัพโปร์ตุเกสช่วยมอญขับไล่มหาอุปราชแห่งยะไข่ไปได้
แต่ในที่สุดกษัตริย์พม่าก็ตีเมืองสิเรียมได้
มอญจึงต้องตกอยู่ในอำนาจของพม่าอีก ถึงปี พ.ศ.๒๑๗๘
พม่าย้ายเมืองหลวงกลับไปอยู่ที่กรุงอังวะ
พวกมอญได้ก่อการจลาจลครั้งใหญ่อีก แต่ก็ถูกพม่าปราบได้
จึงพากันอพยพเข้าไทยเป็นจำนวนมาก
ในปี พ.ศ.๒๒๐๔ รัชสมัยพระเจ้าแปร (ปเย)
กษัตริย์องค์ที่เจ็ดแห่งราชวงศ์ตองอู
พม่าเกณฑ์ชาวมอญจาก ๓๒ เมือง ซึ่งขึ้นนกับเมาะตะมะ
ไปช่วยรบป้องกันกรุงอังวะ
จากการรุกรานของชาวจีนซึ่งอพยพมาจากยูนนาน มีมอญกลุ่มหนึ่งประมาณห้าพันคน
เผาเมืองเมาะตะมะแล้วหลบหนีพม่ามาพึ่งไทย โดยเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์
สมเด็จพระนารายณ์
ทรงให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลสามโคกบ้าง คลองคูจามบ้าง ใกล้วัดตองปุบ้าง
ในปี พ.ศ.๒๒๘๓ ไทยใหญ่ก่อการกบฎแล้วสมทบกับชาวมอญ
ที่เมืองหงสาวดีซึ่งมีสมิงทอพุทธเกติ
เป็นผู้นำ เข้ายึดเมืองสิเรียม และเมืองเมาะตะมะไว้ได้
แล้วยึดได้พม่าตอนล่าง
เมืองแปร ตองอู แล้วรุกขึ้นไปตามลำแม่น้ำอิรวดี มุ่งไปสู่เมืองอังวะ
แต่ถูกพม่าต้านไว้
สมิงทอสละราชสมบัติ พญากาละตั้งตนเป็นกษัตริย์แทน
นำกองทัพมอญรุกขึ้นไปทางเหนือ
จนเลยกรุงอังวะตีเมืองอังวะได้ ในปี พ.ศ.๒๒๙๓
หัวหน้าหมู่บ้านมุกโชโบชื่อ อลองเซย่า ได้ซ่องสุมผู้คนรบชนะมอญ
แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่า
พระเจ้าอลองพญา ราวปี พ.ศ.๒๒๙๘ ตีได้เมืองแปร เข้ายึดเมืองสิเรียมได้ในปี
พ.ศ.๒๒๙๙ และตีเมืองหงสาวดีได้ในปี พ.ศ.๒๓๐๐
สามารถปราบปรามอาณาจักรมอญได้ราบคาบ
ได้ฆ่าฟันชาวมอญชนิดทำลายล้างเผ่าพันธุ์ พวกมอญได้หนีไปทางตะวันตก
และหนีเข้าไทย
ทำให้ไม่มีมอญอยู่ในหงสาวดีถึง ๑๘๐ ปี
พม่าสามารถรวมมอญเป็นส่วนหนึ่งของพม่าอย่างเด็ดขาด
ตามประวัติศาสตร์ มอญอาศัยอยู่ในประเทศพม่า และประเทศไทยเท่านั้น
มีการอพยพครั้งสำคัญของชาวมอญ
เข้ามาในประเทศไทยถึงเจ็ดครั้ง ในสมัยอยุธยาสี่ครั้ง
สมัยรัตนโกสินทร์สามครั้ง
ปัจจุบันอาศัยอยู่ในบริเวณภาคกลางเป็นส่วนใหญ่
๔๒๕๗. มอญ - เขมร - ภาษา
เป็นกลุ่มภาษาของชนหลายชาติในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เป็นภาษาย่อยกลุ่มหนึ่ง
ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ซึ่งแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ กลุ่มภาษามุนดา
กลุ่มภาษานิโคบาร์
และกลุ่มภาษามอญ - เขมร
ลักษณะทั่วไปเป็นภาษาคำติดต่อ แต่ปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากภาษาคำโดดคือ
ภาษาจีน
และภาษาไทย ทำให้มีลักษณะใกล้ภาษาคำโดดมากขึ้น
เป็นภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์
เป็นภาษาที่สร้างคำด้วยการติดต่อคำ
การประกอบคำเข้าเป็นวลีและประโยคเป็นลักษณะ
ประธาน - กิริยา - กรรม ส่วนขยายของแต่ละส่วนอยู่ข้างหลัง
ยกเว้นส่วนขยายของกิริยา
ซึ่งจะปรากฎหลังกรรมได้ ภาษาเขมรตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา
ได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยมาก
ชนชาติมอญมีตัวอักษรใช้มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สิบเจ็ด
นับเป็นชนชาติเก่าแก่ที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่มีตัวอักษรใช้
ชนชาติเขมรมีอักษรปรากฎหลักฐานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สิบสอง
และตัวอักษรของสองชนชาตินี้ได้เป็นต้นเค้า ของตัวอักษรของชาติอื่น ๆ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ
ตัวอักษรไทย ตัวอักษรล้านนา ตัวอักษรธรรม
ตัวอักษรพม่า
๒๓ /๑๔๕๙๐
๔๒๕๘. มอด
เป็นแมลงที่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เจาะกินเข้าไปในวัสดุต่าง ๆ
ทำให้เกิดเป็นรูพรุนอยู่ทั่วไป
มอดส่วนใหญ่เป็นแมลงปีกแข็ง จะมีพวกหนอนผีเสื้อเป็นส่วนน้อย
มอดมีอยู่มากมายหลายชนิด
ที่พบเห็นได้บ่อย ได้แก่
๑. มอด ประเภทเจาะเมล็ดพืช หรือวัสดุที่เก็บไว้ในโรงเก็บ
มีมอดข้าวสาร
มอดข้าวเปลือก มอดถั่ว มอดยาสูบ มอดแป้ง มอดผ้า
๒. มอด ประเภทเจาะเนื้อไม้สด มีมอดไม้สัก
๓. มอด ประเภทเจาะเนื้อไม้แห้ง มีมอดไม้ไผ่
มอดไม้แห้ง
๒๓ / ๑๔๕๙๘
๔๒๕๙. มอร์ฟีน
เป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทอัลคาลอยด์
ที่สำคัญสารหนึ่งซึ่งมีอยู่ในฝิ่นดิบ
มีรสขม ลักษณะเป็นผลึกไม่มีสี ในทางการแพทย์ใช้มอร์ฟีน
ในรูปของเกลือซัลเฟต
ไฮโดรคลอไรด์ แอซิเทต หรือทาร์เทรต ใช้เป็นยาระงับความปวด และทำให้หลับลึก
มอร์ฟีน เป็นยาเสพติดให้โทษ แรงกว่าฝิ่น ๘ - ๑๐ เท่า
จัดเป็นยาเสพติดประเภทกดประสาท
เช่นเดียวกับฝิ่น และเฮโรอีน มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง
มอร์ฟีนออกฤทธิ์กดศูนย์การหายใจในสมอง
ทำให้หายใจช้าและตื้น เป็นผลข้างเคียงที่สำคัญ
และอันตรายมาก
๒๓/๑๔๖๐๔
๔๒๖๐. มะกรูด
เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒ - ๑๒ เมตร ลำต้นคดงอ แตกกิ่งเป็นพุ่ม
ใบเป็นชนิดใบประกอบเรียงสลับกัน
มีต่อมน้ำมันกลิ่นหอมฉุน คล้ายใบส้มโอ ดอกมีน้อย สีขาว หรือสีชมพูอ่อน
ออกเป็นกระจุกสั้น
ๆ ตามง่ามใบตอนบน และปลายกิ่ง กลิ่นหอมอ่อน ๆ ผลค่อนข้างกลมสีเขียวเข้ม
ขนาดผลเท่าผลส้มจีน
ผิวย่นขรุขระ กลิ่นหอมฉุน เนื้อในสีขาว รสค่อนข้างเปรี้ยว
ใบและผลใช้ปรุงอาหาร
๒๓/๑๔๖๐๗
๔๒๖๑. มะกล่ำ
เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ อย่างน้อยสองชนิดคือ มะกล่ำต้น และมะกล่ำเผือก
มะกล่ำต้น
เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูงถึง ๒๐ เมตร ลำต้นตรงเปลา เรือนยอดกลม
เรือนใบค่อนข้างโปร่ง
ใบเป็นใบประกอบสองชั้นเรียงสลับกัน รูปรีหรือรีแกมรูปไข่
ดอกเล็กเรียงชิดกันแน่น
เป็นช่อยาวคล้ายหางกระรอก ออกตามง่ามใบและตอนปลาย ๆ กิ่ง
แรกบานสีขาวใกล้จะโรยสีเหลืองอ่อน
กลิ่นหอมอ่อนๆ ผลเป็นฝักบิด ๆ แก่จัดแตกเป็นสองซีก เมล็ดกลมแบนนูน ตรงกลาง
ผิวแข็งเป็นมันสีแดง เนื้อไม้สีน้ำตาลแกมแดง ใช้ทำเสาก่อสร้างบ้านเรือน
ใบเมล็ดเนื้อไม้และราก
ใช้ทำยา
มะกล่ำตาไก่
ต่างกับพันธุ์แรกตรงที่ใบย่อย และก้านใบมีขนเป็นมัน
เมล็ดเล็กกว่าพันธุ์แรก
บางทีสีแดงครึ่งหนึ่ง สีดำครึ่งหนึ่ง
มะกล่ำเผือก เป็นไม้เถาเนื้ออ่อน เถายาว ๒ - ๕ เมตร
ใบเป็นใบประกอบชั้นเดียวเรียงสลับกัน
ใบย่อย ๕ - ๑๖ คู่ ดอกเล็กออกเป็นกระจุกบนด้านเดียวกันของก้านช่อดอก
ดอกแรกบานสีม่วงอ่อน
ใกล้โรยสีเหลืองแกมแดง ผลเป็นฝักแบนขอบขนาน โคนสอบเมล็ดรูปไข่ ๕ -
๑๓
เมล็ด ต่อฝัก สีน้ำตาลเข้ม หรือดำคล้ำ
มะกล่ำตาหนู
ลักษณะคล้ายกันกับชนิดแรก ต่างกันที่ใบ ช่อหนึ่งมีใบย่อย ๘ - ๑๗ คู่
ฝักหนาขอบขนาน
โคนตัด เมล็ดรูปรี ๆ ๓ - ๖ เมล็ดต่อฝัก ผิวแข็งสีแดงเป็นมัน
มีจุดสีดำบนขั้วเมล็ด
เมล็ดมีพิษ ๒๓/๑๔๖๐๙
๔๒๖๒. มะกอก
เป็นไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่ ผลัดใบในฤดูแล้ง เรือนยอดแผ่สาขากว้าง
ลำต้นเปลากลมสูง
๓๐ - ๔๐ เมตร ใบประกอบเรียงสลับกัน มีใบย่อยรูปรีขอบขนาน ดอกเล็กสีขาว
ออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง
ผลกลมรี ขนาด ๓ - ๔ ซม. สุกสีเหลือง เนื้อนุ่ม รสเปรี้ยว ๆ ฝาด ๆ กินได้
เมล็ดแข็ง
เนื้อไม้ค่อนข้างอ่อนสีขาว ใช้ในอุตสาหกรรมไม้ขีดไฟ และไม้ยาว ไม้ยัด
นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้ที่เรียกกันว่า มะกอก ต่าง ๆ เช่น
มะกอกน้ำ หรือสารภีน้ำ
เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๘ - ๑๒ เมตร ใบรีแคบ เรียงสลับกัน
ดอกออกเป็นช่อเรียงตามง่ามใบ
กลีบดอกสีขาว ผลรีขนาด ๑.๕ - ๒.๕ ซม. เมล็ดแข็ง ดองแล้วกินได้ รสเปรี้ยว
มะกอกดอน
เป็นไม้ต้นขนาดกลางสูง ๑๕ - ๑๘ เมตร ลำต้นตรงเปลา ใบประกอบเรียงตรงข้ามกัน
มีใบย่อย ๓ - ๔ คู่เรียงตรงข้ามกัน ดอกเล็กสีเหลืองแกมน้ำตาล
ออกเป็นช่อสั้น
ๆ ที่ปลายกิ่ง ผล กลมรี ผิวแข็ง ขนาด ๒.๕ x ๖ - ๙ ซม. เมล็ดแบน
มีครีบตรงปลาย
มะกอกเกลื้อน
เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตรงเปลา ใบประกอบเรียงสลับกัน
มีใบย่อย
๓ - ๔ คู่ เรียงตรงข้ามกัน ดอกสีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อเรียวตามง่ามใบ
ตอนปลายกิ่ง
ผลกลมรี ยาวราว ๔ ซม. สุกสีเหลืองอมเขียว รสคล้ายลูกกาน้า กินได้
เมล็ดแข็ง
เนื้อไม้สีขาว ค่อนข้างแข็ง ใช้ในการก่อสร้าง ต้นสูง ๑.๕๐ ๓.๐๐
เมตร
๒๓/๑๔๖๑๑
๔๒๖๓. มะก่องข้าว
เป็นไม้พุ่ม ใบเรียงสลับกันรูปไข่แกมรูปหัวใจ ดอกสีเหลืองออกเดี่ยว ๆ
ตามง่ามใบ
ตอนปลายกิ่ง ผลกลมแบน มีหลายแฉก
ใช้ทำยาได้
๒๓/๑๔๖๑๕
๔๒๖๔. มะกะโท
(ดู ฟ้ารั่ว - ลำดับที่ ๔๐๘๗)
๒๓/๑๔๖๑๕
๔๒๖๕. มะกา
เป็นไม้พุ่ม ต้นสูง ๒ - ๓ เมตร แตกกิ่งก้านมาก ใบเรียงสลับในระนาบเดียวกัน
รูปรีแกมรูปไข่กลับ ดอกสีขาวเล็ก ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ผลกลมแก่จัดสีดำ
ใบใช้ทำยาได้ ๒๓/๑๔๖๑๕
๔๒๖๖. มะเกลือ
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่สูงถึง ๓๐ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม
ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน
รูปไข่หรือรูปไข่แกนขอบขนาน ใบแห้งออกสีดำ
ดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่ต่างต้นกัน
ดอกตัวผู้สีส้มออกแสด ออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ ดอกตัวเมียสีขาว
ออกเดี่ยวตามง่ามใบ
ผลกลมเกลี้ยง
เนื้อไม้มะเกลือมีน้ำหนักมากที่สุดของไทย นิยมใช้ทำเครื่องเรือน ไม้ถือ
เปลือกใช้ใส่น้ำตาลสดกันบูด
ผลอ่อนใช้ย้อมผ้า และแห อวนให้เป็นสีดำ
และใช้เป็นยาขับพยาธิได้ด้วย
๒๓/๑๔๖๑๕
๔๒๖๗. มะขวิด
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีหนามและตรง
ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก
เรียงสลับกัน ใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน รูปไข่กลับ ดอกออกเป็นช่อ
มีดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศอยู่ในช่อเดียวกัน
กลีบดอกสีแดงหม่น ผลกลม เปลือกแข็งหยาบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๗ - ๑๐ ซม.
ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก
ฝังอยู่ในเนื้อภายในผล เมื่อสุกเนื้อมีสีน้ำตาลอ่อน รสเปรี้ยวอมหวาน
มีกลิ่นหอม
บริโภคได้ ๒๓/๑๔๖๑๖
๔๒๖๘. มะขาม ๑
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕ - ๒๕ เมตร
เนื้อไม้แน่นละเอียดพอสมควร
สีขาว แก่นมีน้อย ลำต้นมักเตี้ยไม่เปลา เรือนยอดมักแผ่กว้าง
ใบเป็นแบบผสมออกสลับกัน
ช่อดอกสั้นออกตามปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองมีเส้นแดงผ่าน ผลเป็นฝัก
รูปทรงค่อนข้างแบนยาว
๕ - ๑๐ ซม. ผิวเมล็ดสีน้ำตาลแก่ มีเนื้อหนาเปียกชื้น สีน้ำตาลคล้ำ ๆ
หุ้มทุกเมล็ด
รสเนื้อหุ้มเมล็ดเปรี้ยวจัด ถึงหวานสนิท แล้วแต่พันธุ์
เนื้อไม้มะขาม นิยมใช้ทำเขียง สาก ลูกหีบน้ำมัน ฯลฯ ใบอ่อน ดอก และผล
ใช้บริโภคเป็นอาหาร
เป็นเครื่องปรุงอาหาร และมีสรรพคุณทางยา
เมล็ดเป็นยาขับพยาธิ
๒๓/๑๔๖๑๗
๔๒๖๙. มะขาม ๒
อำเภอ ขึ้น จ.จันทบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือ เป็นที่ป่าดอนมีเขามาก
ตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบ
ทำการเพาะปลูกได้
อ.มะขาม เดิมเรียก อ.ท่าหลวง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.มะขาม เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๔๖๑๘
๔๒๗๐. มะขามเทศ
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ ลำต้นและกิ่งมีหนามสั้น ๆ เป็นคู่ ๆ
อยู่ห่าง
ๆ กัน แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบเป็นใบประกอบเรียงสลับกัน
ช่อดอกแยกแขนงออกตามปลายกิ่ง
ดอกเล็กสีขาว เรียงอัดกันแน่นเป็นกระจุกกลม ๆ ผลเป็นฝักสีเขียว ขดเป็นวง
เมื่อแก่จัดเปลือกฝักแตกอ้าออก
เนื้อหุ้มเมล็ดสีขาว แดงเรื่อ ๆ หรือสีแดง บริโภคได้
เปลือกมีน้ำฝาดสีเหลือง ใช้ย้อมผ้า หนัง แห อวน ใช้เป็นยาห้ามเลือด
ชะล้างบาดแผล
แก้ท้องร่วง เนื้อไม้ใช้ทำฟืน
๒๓/๑๔๖๑๘
๔๒๗๑. มะขามป้อม
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง ๘ - ๒๐ เมตร เรือนยอดโปร่งมาก
เพราะมีใบละเอียดเล็ก
เนื้อไม้สีแดงอมน้ำตาล ใบแบบใบผสม มีใบย่อยมาก รูปใบคล้ายใบมะขาม
แต่เล็กกว่ามาก
ดอกสีขาวนวล ช่อดอกเป็นก้านสั้น ๆ ตามง่ามใบ สีขาวอมเหลือง
ดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย
แยกกันอยู่คนละดอก ผลกลมมีเนื้อหนา สีขาวเหลืองซีด ๆ ขนาด ๑.๕ - ๒.๕ ซม.
เนื้อบริโภคได้
รสเปรี้ยวอมฝาด ขม หวาน มีสรรพคุณใช้เป็นยา ลำต้นใช้ทำเสาเรือนเล็ก ๆ
ด้ามเครื่องมือ
เปลือก และใบให้สีน้ำตาล แกมเหลือง
ใช้ย้อมผ้า
๒๓ / ๑๔๖๑๙
๔๒๗๒. มะเขือ
เป็นไม้ล้มลุก พุ่มเตี้ย ๆ สูง ๐.๗๕ - ๑.๒๐ เมตร มีหนามห่าง ๆ
ใบออกสลับกัน
รูปไข่กว้าง ๆ ดอกออกเดี่ยวบนช่อสั้น ๆ ออกตรงข้ามกับก้านใบ สีกลีบดอกต่าง
ๆ เช่น ขาว ขาวอมม่วง ม่วง เหลือง ฯลฯ ผลโดยปรกติไม่มีขน มีเมล็ดมาก
รูปทรงลักษณะแตกต่างกันตามพันธุ์
มะเขือ
เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก
ปลูกมากในยุโรป และอเมริกา เพื่อใช้บริโภค และใช้เป็นวัตถุดิบ
ในอุตสาหกรรมเครื่องกระป๋อง
๒๓/๑๔๖๒๐
๔๒๗๓. มะคังแดงหรือมะคังป่า
เป็นไม้ต้นขนาดกลางสูง ๕ - ๑๐ เมตร เปลือก กิ่ง และลำต้นสีแดงสดุดตา
กิ่งมีหนาม
ใบออกทางปลายกิ่งรูปไข่
กลีบดอกแยกเพศกับรูปดอกเป็นหลอด
ผลกลมโตเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ - ๔
ซม.
๒๓/๑๔๖๒๑
๔๒๗๔. มะค่า
เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มักแตกกิ่งต่ำ อาจสูงถึง ๓๐ เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง
ใบเป็นช่อเรียงสลับกัน
ดอกออกเป็นช่อโปร่งที่ปลายยอด กลีบดอกสีชมพูอมแดงหรือสีชมพู
ผลเป็นฝักแบนหนา
เมล็ดแก่สีดำแข็งมาก
เนื้อไม้แข็งแรงทนทานใช้ในการก่อสร้าง เช่น ทำเสา หมอนรองรางรถไฟ
ทำตัวถึงรถบรรทุก
ทำเครื่องมือกสิกรรม ปุ่ม ซึ่งเรียกว่า ปุ่มมะค่า มีลวดลายสวยงาม
และราคาสูงใช้ทำเครื่องเรือนชั้นดี
เปลือกมีน้ำฝาดใช้ฟ่อกหนัง
เมล็ดในฝักอ่อนใช้บริโภคได้
๒๓/๑๔๖๒๒
๔๒๗๕. มะค่าแต้
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงราว ๑๕ เมตร เรือนยอดปลายตัด
แผ่กว้างใบเป็นใบผสมเรียงสลับกัน
ช่อดอกยาว ๑๐ - ๒๕ ซม. กลีบดอกสีแดงอมเหลือง
ผลเป็นฝักแบนส่วนมากรูปไข่มีหนานแหลมสั้นห่าง
ๆ เมล็ดกลมแบน ๒๓/
๑๔๖๒๓
๔๒๗๖. มะค่าโมง
เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูงถึง ๓๐ เมตร
เรือนยอดบนแผ่กว้างใบเป็นใบผสมเรียงสลับกัน
ช่อดอกยาว ๕ - ๑๕ ซม. กลีบดอกสีชมพูรูปขอบขนาน ผลเป็นฝักแข็งหนา
เมล็ดค่อนข้างกลมแก่สีดำแข็ง
มะค่าโมงใช้ในการก่อสร้างที่ถาวรปุ่มมะค่าใช้ทำเครื่องเรือนราคาแพง
เมล็ดอ่อนกินได้คล้ายเมล็ดอ่อนของบัว
เมล็ดแก่ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ และรักษาโรคผิวหนัง ๒๓/๑๔๖๒๕
๔๒๗๗. มะงั่ว
เป็นไม้พุ่มขนาดกลางหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง ๓ - ๕ เมตร
มีกิ่งมากที่ง่ามใบมีหนามแหลม
ใบรูปโค้งยาวรี หรือรูปไข่ กลีบช่อดอกสั้นออกตามง่ามใบ
กลีบดอกสีขาวปนชมพูหรือปนม่วงอ่อน
กลิ่นหอม ผลรูปกลมยาว ผิวเปลือกหยาบหนาเนื้อภายในเปรี้ยว
มะงั่วเป็นพันธุ์ไม้สกุลส้ม
๒๓/๑๔๖๒๗
๔๒๗๘. มะซาง
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง อาจสูงถึง ๒๐ เมตร ลำต้นตรงเปลา พุ่มเรือนยอดทึบ
ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับกันเป็นกลุ่มตอนปลายกิ่ง
รูปไข่ กลีบดอกออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ตอนปลายกิ่งสีขาว กลิ่นหอมเล็กน้อย
ผลรูปรีหรือรูปไข่สีน้ำตาลเข้มผิวเป็นมัน เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องตบแต่งบ้าน
ทำเรือ ผลสุก รสหวานกินได้ ๒๓/๑๔๖๒๗
๔๒๗๙. มะซ่าน
เป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลางสูง ๔ - ๑๕ เมตร ลำต้นคดงอ
เรือนยอดเป็นพุ่มกลม
เนื้อไม้สีแดงอมน้ำตาลใบเดี่ยวเรียงสลับกันรูปไข่ กลีบดอกสีเหลืองสด
ออกเดี่ยวไม่เกินสองดอก
ออกตามปลายกิ่งหลังจากผลัดใบแล้ว กลีบดอกสีเหลือง
ผลแก่สีเหลืองอมส้ม
๒๓/๑๔๖๒๙
เนื้อไม้ใช้ทำแจว พาย ทำพานท้ายและรางปืน ผลกินได้เปลือกและผลใช้ทำยา
๔๒๘๐. มะดัน
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง ๖ - ๑๐ เมตร ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน รูปขอบขนาน
ดอกออกตามง่ามใบเป็นดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศอยู่เป็นกลุ่ม
กลีบดอกสีเหลือง ผลสดสีเขียวอมน้ำ เมล็ดโค้งมีเนื้อเยื่อหุ้ม
ผลมะดันเป็นรสเปรี้ยว นำมาประกอบอาหาร
หรือทำเป็นผลไม้ดองหรือแช่อิ่มทั้งผล
และกิ่งอ่อนที่เรียกว่า รกมะดัน มีสรรพคุณเป็นยาล้างเสมหะ แก้ระดูสตรี
และขับฟอกโลหิต
๒๓/๑๔๖๓๐
๔๒๘๑. มะดัหวีหรือมะเดหวี
เป็นชื่อตำแหน่งมเหสีหรือสองของกษัตริย์ชวา มะดีหวี
ใช้เรียกในเรื่องดาหลัง
ส่วนมะเดหวีใช้เรียกในเรื่องอิเหนา ถ้าเป็นไทยจะตรงกับคำว่า ราชเทวี
ตำแหน่งมเหสีทั้งหมดของชวามีอยู่ห้าตำแหน่ง
ตำแหน่งแรกคือ ประไหมสหรี
มะเดหวีจะทำหน้าที่ดูแลพระโอรส และพระธิดาของกษัตริย์อย่างใกล้ชิด
และว่าราชการฝ่ายในเกือบทุกอย่างแทนประไหมสุหรี
๒๓/๑๔๖๓๐
๔๒๘๒. มะดุก
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง ๒๐ - ๓๐ เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน
รูปขอบขนานแถบรี
ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน
ผลสดกลมโตเส้นผ่าศูนย์กลาง
๒.๕ - ๔ ซม. สุกกินได้รสหวานปะแล่ม ๆ เมล็ดเปลือกแข็ง ขรุขระ
เนื้อไม้สีขาวใช้ทำครก สาก กระเดื่อง รากกินแก้พิษฝีภายใจ ประดง
น้ำเหลืองเสีย
แก้โรคผิวหนัง ๒๓/๑๔๖๓๑
๔๒๘๓. มะเดื่อ
เป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่ม บางทีพบเป็นไม้เลื้อย
เนื้อแข็งมียางขาวมีหูใบเป็นคู่แยกจากกันเป็นอิสระ
ดอกขนาดเล็กฝังอยู่ในฐานะรองดอก ออกตามง่ามใบหรือลำต้น เป็นคู่
เดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม
ผลเกิดจากดอกเพศเมียมีเนื้อขาว เมล็กแข็ง
ในประเทศไทยมีมะเดื่ออยู่หลายชนิดคือ
มะเดื่อขน
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กสูง ๒ เมตร ใบเดี่ยว
ออกเรียงสลับกันรูปขอบขนานหรือเป็นรูปหัวใจ
ผลกลมออกเป็นคู่ตามง่ามใบ มีขนแข็งปกคลุมทั่วไป ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว
๑ ซม.
มะเดื่อปล้อง
เป็นไม้พุ่มกิ่งไม้ยืนต้น สูงถึง ๑๕ เมตร ส่วนต่าง ๆ มีขนสั้น
ค่อนข้างแข็งสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนปกคลุมทั่วไป
ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันรูปรีแกมขอบขนานหรือแกมรูปไข่
ผลออกเป็นกลุ่มตามลำต้นหรือตามง่ามกิ่งใหญ่ที่ไม่มีใบ
เมื่อแก่สีเหลือง
มะเดื่ออุทุมพร
เป็นไม้ยืนต้นสูงถึง ๒๐ เมตร ที่โคนมีพูพอนขนาดใหญ่
กิ่งและผลอ่อนมีขนละเอียดสีขาวปกคลุม
เมื่อแก่เกลี้ยง ใบเดี่ยวออกเรียงเวียนสลับกัน
มีรูปร่างหลายแบบตั้งแต่รูปรีถึงรูปไข่
กลีบผลออกเป็นกลุ่มตามลำต้นและกิ่งใหญ่ที่ไม่มีใบ เมื่อสุกสีแดงสด
ผลอ่อนใช้เป็นผักสด
เนื้อไม้ใช้ทำบัณเฑาะว์ ๒๓/๑๔๖๓๑
๔๒๘๔. มะเดื่อดิน
เป็นไม้เถามียางขาวมีเนื้อไม้แข็ง ตามลำต้นอ่อนมีขนละเอียด
ใบหนาออกตรงข้ามกันเป็นคู่
ๆ รูปใบโค้งรี ช่อดอกสั้นออกที่ง่ามใบและปลาย ๆ กิ่ง
ดอกมีลักษณะเป็นรูปหลอด
กลีบดอกเรียงแคบสีขาว กลิ่นหอม ผลเป็นฝักเรียงยาว ๑๕ - ๒๐ ซม. ออกเป็นคู่
เมล็ดมีมากรูปแบนยาวมีขนละเอียดคล้ายไหมยาว ๓ - ๔ ซม.
ติดเป็นกระจุกที่ขั้ว
๒๓/ ๑๔๖๓๔
๔๒๘๕. มะตาด
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง ๑๐ - ๑๕ เมตร ใบใหญ่บางรูปไข่
กลีบมักออกตามปลายกิ่ง
ดอกออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบทางปลายกิ่ง มีกลิ่นหอมเล็กน้อย กลีบดอกบางสีขาว
ผลกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ - ๑๒ ซม. ผิวสีเขียวอมเหลือง กินได้
รสเปรี้ยวเล็กน้อย
๒๓/๑๔๖๓๕
๔๒๘๖. มะตูม
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางสูง ๘ - ๑๕ เมตร
กิ่งมีหนามแหลมใบผสมเรียงสลับกัน
ดอกสีขาวหอมอ่อนออกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามปลายกิ่ง ผลรูปสรีแกมรูปไข่
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
๕ - ๑๒.๕ ซม. เปลือกแข็ง ผิวเกลี้ยงแก่จัดสีน้ำตาลแกมเหลือง
เนื้อในนุ่มมีเมล็ดมาก
เมล็ดอ่อนมีน้ำเมือกเหนียวหุ้มเนื้อในผลกินได้
เมือกหุ้มเมล็ดอ่อนใช้แทนกาวได้ใบกินได้และนิยมใช้ในพิธีมงคล
ผลใช้ทำยา ๒๓/๑๔๖๓๖
๔๒๘๗. มะเทิ่ง - นาย
เป็นชื่อตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องราชาธิราช
ตอนพระยาน้อยชมตลาด มะเทิ่งมีภริยารุ่นอายุ ๑๖ ปี ชื่อเม้ยเจิง
ต้นฉบับเดิมใช้ชื่อว่า เม้ยมะนิก สองสามีภริยามีอาชีพขายแป้ง
และน้ำมันกอมในตลาดเมืองตะเกิง
อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าราชาธิราช (ก่อนขึ้นครองราชย์เรียกว่า พระยาน้อย)
ได้เสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุนอกเมืองตะเกิง
ได้พบนางเม้ยมะนิกนั่งขายของอยู่ พระยาน้อยมีครามพอใจนางเป็นอันมาก
จึงเอาตัวนางไปเลี้ยงดูเป็นสนมเอก
และเมื่อขึ้นครองราชย์แล้วก็แต่งตั้งให้เป็นมเหสีฝ่ายซ้าย
๒๓/๑๔๖๓๗
๔๒๘๘. มะนาว
เป็นไม้พุ่มสูง ๐.๕ - ๓.๕ เมตร ตามลำต้นมีหนามแหลมใบเป็นใบประกอบ
เนื้อใบหนาเป็นมันมีต่อมน้ำมันอยู่ทั่วไป
ดอกสีขาวมีกลิ่นหอม ผลกลมผิวบางเรียบเป็นมัน เมื่ออ่อนสีเขียว
เมื่อสุกสีเหลือง
มะนาวมีวิตามินซีสูงใช้ประกอบอาหารและเครื่องดื่ม
ใช้บริโภคแก้เลือดออกตามไรฟันป้องกันการเป็นหวัดปรุงเป็นยากัดเสมหะ
แก้ไอเจ็บคอ ใบต้นเป็นยาฟอกโลหิตระดู เมล็ดคั่วให้เหลืองผสมเป็นยาขับเสมหะ
แก้โรคซางของเด็ก รากใช้เป็นยาถอนพิษ ไข้ช้ำ
น้ำมันหอมระเหยจากดอกใช้แต่งกลิ่นยา
น้ำหอมเครื่องสำอาง
ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากผิวใช้แต่งกลิ่นเป็นยาขับลมในกระเพาะ
และเป็นยากระตุ้น ๒๓/๑๔๖๓๘
๔๒๘๙. มะนาวเทศ
เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูง ๒ - ๕ เมตร
ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมทั่วไป
ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ใบออกสลับกัน ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดี่ยว
ออกเป็นช่อเดี่ยวกลุ่มละหนึ่งช่อใบ
ตามแผ่นใบมีต่อมน้ำมันกระจายทั่วไปก็เหมือนใบส้ม ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว
หรือสองสามดอกที่โคนก้านช่อใบสีขาวอมเขียว
กลิ่นหอมเย็นผลสดสีเขียวยาวรี เมื่อสุกค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๒ -
๑๔ มม. มีต่อมน้ำมันทั่วไป
เมื่อสุกสีแดงคล้ำเนื้อในเป็นยางรสหวานเจือเผ็ดกินได้
มะนาวเทศนิยมใช้เป็นไม้ประดับ
๒๓/๑๔๖๓๙
๔๒๙๐. มะปราง
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูง ๑๕ - ๒๕ เมตร
ใบออกตรงข้ามกันเป็นรูปโค้งเรียวแบบปลายหอก
ช่อดอกใหญ่ออกที่ง่ามใบและปลายกิ่ง
ดอกเล็กผมกลมยาวเปลือกบางเกลี้ยงเวลาสุกสีเหลืองส้ม
เนิ้อภายในหนาชุ่มน้ำสีเหลืองส้มรสเปรี้ยวถึงหวานสนิทแล้วแต่พันธุ์
ผลมะปรางนิยมบริโภคเป็นผลไม้มาแต่สมัยโบราณ
๒๓/๑๔๖๔๐
๔๒๙๑. มะปริง
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูง ๑๕ - ๒๕ เมตร ลักษณะทั่วไป
เช่นเดียวกับมะปราง
แตกต่างกันที่ใบเล็กกว่าช่อดอกสั้นกว่า
และผลมีขนาดย่อมกว่า
๒๓/๑๔๖๔๐
๔๒๙๒. มะฝอ
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูง ๑๐ - ๑๕ เมตร
ใบคล้ายใบโพธิออกตรงกันข้ามกันตามปลายกิ่ง
ดอกแยกเพศแต่อยู่ต้นเดียวกัน ผลกลม
เปลือกหนาแข็งกินได้
๒๓/ ๑๔๖๔๑
๔๒๙๓. มะพร้าว - ต้น
ต้นสูง ๑๐ - ๑๒ เมตร ลำต้นสีน้ำตาล มีรอบวงเป็นแผลโดยรอบ
เกิดจากก้านใบแก่ที่หลุดร่วงไป
ลำต้นมักโค้งเอียง ไม่แตกกิ่งก้านโคนต้นจะมีรากย่อย ๆ อยู่เป็นอันมาก
ใบยาวแผ่กระจายอยู่ที่ปลายลำต้น
ประกอบด้วย ใบย่อยรูปเอนขนานปลายใบแหลมยาวเนื้อใบเหนียวเป็นมัน
ดอกออกเป็นช่อใหญ่ใกล้ยอดสีขาว
หรือเหลืองอ่อนประกอบด้วยดอกตัวผู้เป็นจำนวนมากที่ปลายช่อ
ที่โคนช่อเป็นดอกตัวเมียที่มีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้
ผลมีเปลือกนอกหนาผิวเป็นมันภายใจมีเส้นใย เมล็ดใหญ่เปลือกแข็งเรียกว่า
กะลา
ภายในกลางมีเนื้อสีขาวหนา ๑ - ๒ ซม. ติดกับกะลา ตรงกลางมีน้ำขัง
ช่อดอกของมะพร้าวที่เรียกว่า จั่น
เมื่อมัดรวมกันเอามีดคม ๆ ปาด จะมีน้ำไหลหยดออกมาเรียกว่า น้ำตาลสด
เมื่อนำมาเคี่ยวให้งวดเรียกน้ำตาลมะพร้าว
ใช้ปรุงอาหารได้เมื่อนำไปหมักบูดเป็นเมรัยเรียกว่า น้ำตาลเมา
ผลอ่อนเรียกว่า มะพร้าวอ่อน
บริโภคน้ำและนำไปทำน้ำส้มได้ เมื่อทิ้งไว้จนเนื้อแก่แข็งหนาเรียกว่า มะพร้าวห้าว
น้ำมะพร้าวห้าวใช้ดองผักเป็นอาหาร
และแช่เครื่องมือที่ขึ้นสนิมให้สนิมออกได้
เนื้อมะพร้าวห้าวนำมาขูดคั้นได้น้ำกะทิ
ใช้ประกอบอาหารน้ำมันที่ได้จากเนื้อมะพร้าวเรียกว่า น้ำมันมะพร้าว
ใช้ตามตะเกียงทอดอาหาร และทำเป็นเนยเทียนได้
เส้นใยจากเปลือกหุ้มผลหรือที่โคนก้านใบเหนียวใช้ทำเชือก
พรมเช็ดเท้า เบาะ ก้านใบย่อยใช้ทำไม้กวาด ใบสดใช้ห่อขนม สานทำของเล่นเด็ก
กะลามะพร้าวใช้ทำทะนาน กระจ่า กะโหลก แกะสลัก
ใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนสูง
เมื่อเผาให้เป็นถ่านใช้ฟอกสี
ดูดซับและดูดพิษได้น้ำมะพร้าวอ่อนใช้ดื่มแก้อ่อนเพลีย
๒๓/๑๔๖๔๒
๔๒๙๔. มะพลับ
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางใบรูปขอบขนาน
ดอกออกเป็นช่อดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ต่างต้นกัน
ผลกลมมีขนในตอนแรกต่อไปเกลี้ยง ผลสุกมีรสฝาด ๆ หวาน ๆ กินได้
ผลอ่อนให้สีน้ำตาลใช้ย้อมผ้า
แห อวน เปลือกลำต้นรสฝาดใช้สมานแผลกินแก้ท้องร่วง มีหลายชนิดด้วยกัน
คือมะพลับดง
มะพลับเจ้าคุณ มะพลับเล็ก มะพลับทอง มะพลับไข่นก มะพลับขน
มะพลับเล็บนาง
๒๓/๑๔๖๔๓
๔๒๙๕. มะพูด
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ตามลำต้นมียางขาว เมื่อถูกอากาศเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ใบเดี่ยวรูปขอบขนานเป็นรูปไข่ ออกตรงข้ามเป็นคู่ ๆ
ดอกสีขาวเหลืองออกตามง่ามใบ
กลิ่นออกเปรี้ยว ใบดอกสมบูรณ์เพศ
ผลกลมเกลี้ยงปลายผลมียอดเกสรตัวเมียติดอยู่
เปลือกผลมียางสีเหลือง เมล็ดสีน้ำตาลมีเนื้อเยื่อหุ้มเมื่อสุกสีเหลือง
หรือสีส้มแดง
และนุ่ม รสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ กินได้ ทำเป็นผลไม้กวน
เปลือกมีรสฝาดใช้ชำระบาดแผล
ย้อมเสื้อ
เมล็ดบดผสมน้ำส้มหรือเกลือใช้ทาแก้บวม
๒๓/๑๔๖๔๖
๔๒๙๖. มะแพน
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงราว ๒๐ เมตร ใบเป็นใบประกอบ
ดอกออกเป็นช่อกระจายตามง่ามใบและปลายกิ่งสีเหลืองหรือขาว
ผลค่อนข้างกลม เนื้อนุ่ม เมล็ดแข็ง เมื่อสุกมีสีน้ำตาลดำ รสเปรี้ยว ๆ หวาน
ๆ
เนื้อไม้ใช้ทำเสา กระดาน เครื่องตกแต่งบ้าน เครื่องมือกสิกรรม
และกรอบประตู
หน้าต่าง ผลกินได้ รากใช้เป็นยาถอนพิษและแก้ไข้ มะแพนเป็นไม้หวงห้ามประเภท
ก. ๒๓/๑๔๖๔๖
๔๒๙๗. มะเฟือง ๑
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านสาขามากใบประกอบเรียงเวียนสลับรอบกิ่ง
ดอกเล็กออกเป็นช่อกระจายสีขาวม่วงแดงอ่อน
ๆ ผลรูปรีมีร่องลึกทำให้เกิดสันห้าสัน จากโคนไปยังปลายผล ผิวเรียบเป็นมัน
เปลือกบางเมื่ออ่อนสีเขียวที่สันเป็นสีเหลืองปนชมพู
เมื่อสุกสีเหลืองเข้มเนื้อนุ่มและฉ่ำน้ำ
กินได้ ทำเป็นผลไม้กวน แช่อิ่มหรือดอง
น้ำคั้นจากผลมะเฟืองผสมในเครื่องดื่มจะทำให้กลิ่นหอมชวนดื่ม
และยังเป็นยาขับเสมหะขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้บิด
เลือดออกตามไรฟันลดอาการอักเสบ
แก้อาเจียนเป็นเลือด ใช้ขัดผิวโลหะและกัดคราบสนิมบนผ้าได้
ใบและรากดับพิษร้อน
แก้ไข ใบและผลทำยาต้มทำให้หยุดอาเจียนได้
ดอกทำยาขับพยาธิ
๒๓/๑๔๖๔๗
๔๒๙๘. มะเฟือง ๒ - เต่า
(ดูเต่า - ลำดับที่
๒๓๓๑)
๒๓/๑๔๖๔๘
๔๒๙๙. มะไฟ
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางสูงถึง ๑๕ เมตร
ใบเรียงสลับเวียนกันเป็นกระจุกอยู่ตามปลายกิ่ง
ดอกออกเป็นช่อยาว ๆ ตามง่ามใบล่าง ๆ หรือตามลำต้น
ดอกสีชมพู่อมเหลืองมีกลิ่นหอมเล็กน้อย
ผลรูปรีกว้างหรือค่อนข้างกลมห้อยเป็นสายตามกิ่งหรือตามลำต้น
สีครีมหรือเหลืองอมส้ม
เปลือกผลเหนียวแก่จัดจะแยกออกจากกันเป็นสามเสียง
ล้อมรอบด้วยเนื้อสีครีมขุ่นหรือสีม่วงจาง
ๆ ระหว่างเม็ดมีเยื่อบางสีขาวคั่นอยู่ รสอมเปรี้ยวอมหวาน ผลแก่กินได้
เนื้อไม้มีค่าทางเศรษฐกิจใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านเช่น
ทำเครื่องเรือน
๒๓/๑๔๖๔๘
๔๓๐๐. มะม่วง
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่
ทุกส่วนมียางกิ่งก้านแยกสาขาเรือนยอดเป็นพุ่มทับกลมกว้างใบเดี่ยวรูปขอบขนานแคบ
ๆ หรือรูปหอก ออกดอกเป็นช่อใหญ่ ๆ ตามปลายกิ่งสีเหลืองนวลหรือขาว
กลิ่นหอมช่อดอกมีทั้งดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศ
ผลเมื่อยังไม่สุกสีเขียว เมื่อสุกเต็มที่เปลี่ยนเป็นสีได้ตั้งแต่
เหลืองอมเขียว
เหลือง ส้ม หรือแดง ผลดิบมีรสเปรี้ยว แก่จัดมีรสค่อนข้างมันแล้วแต่พันธุ
เมล็ดเปลือกแข็งมีเนื้อหุ้ม
และเป็นเส้นใยมาก
ส่วนต่าง ๆ ของมะม่วงยังมีสรรพคุณเป็นสมุนไพร เช่น เปลือก
ผลดิบเป็นยาคุมธาตุ
เหลือกและเนื้อในเมล็ดกินแก้ท้องร่วง แก้บิด แก้อาเจียน
ใบเผาสูดเอาควันรักษาโรคเกี่ยวกับลำคอและไอ
ยางจากผลและต้น ผสมกับน้ำส้ม หรือน้ำมัน ทาแก้คันรักษาโรคผิวหนัง
ผลสุกนอกจากบริโภคเป็นผลไม้แล้วยังเป็นยาบำรุงกำลัง
ยาระบายอ่อน ๆ และขับปัสสาวะได้ด้วย
เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในร่ม
ทำลั่งใส่ของ
มะม่วงมีคุณค่าทางการถนอมอาหารโดยนำมาดองเป็นส้มลิ้ม หรือทำเป็นผลไม้กวน
น้ำคั้นจากผลมะม่วงใช้ดื่มเป็นบำรุงร่างกาย
๒๓/ ๑๔๖๔๙
๔๓๐๑. มะม่วงป่า
เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่สูง ๒๐ - ๔๐ เมตร ลำต้นเปลาตรง
เรือนยอดกลมเป็นพุ่มกลม
ดอกมีลักษณะคล้ายคลึงกับมะม่วง แต่ผลมีลักษณะแตกต่างกันไปแต่ละชนิด
ทุกชนิดทางการประกาศเป็นไม้หวงห้ามประเภท
ก. ๒๓/๑๔๖๕๑
๔๓๐๒. มะม่วงหิมพานต์
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางมียางใบเดี่ยว ออกสลับกันรูปไข่กว้าง
ดอกออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง
กลิ่นหอมเอียนสีเหลืองจางจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู
ผลรูปไตติกอยู่บนฐานดอกที่เจริญขึ้นมาคล้ายผลผลชมพู่สีส้มหรือสีแดงเลือดหมูเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมีน้ำมันเมล็ดรูปไต
ใบอ่อนใช้บริโภคเป็นฝัก เมล็ดเมื่อคั่วไฟ
และกะเทาะเอาเปลือกออกแล้วบริโภคได้
นอกจากนี้ยังกินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการบวมน้ำ ฐานดอกที่เจริญมาเป็นผล
เมื่อสุกมีกลิ่นหอมกินเป็นยาบำรุงกำลัง
และยาระบายอ่อน ๆ ใบเผาสุดเอาควันรักษาโรคเกี่ยวกับลำคอและไอ
น้ำมันที่มีในเปลือกหุ้มเมล็ดมีกรดที่เป็นพิษ เมื่อขบเคี้ยวทำให้ขากรรไกร
และลิ้นแข็ง ถูกผิวหนังทำให้เกิดระคายเคืองใช้ทำให้ชา รักษาโรคเรื้อน
และโรคผิวหนังใช้กัดเนื้องอกบางชนิด
เช่น หูดหรือตาปลา ๒๓/๑๔๖๕๓
๔๓๐๓. มะยง
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ใบเดี่ยวรูปยาวรี
ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบและปลายกิ่งสีขาวเหลืองอ่อนหรือเหลือง
ผลรูปรีป้อม เมื่อแก่สีส้ม เมล็ดแข็งมีเสี้ยนมาก
ผลใช้บริโภคเป็นผลไม้รสเปรี้ยว
ๆ หวาน ๆ ผลดิบเปรี้ยวมาก ชนิดที่ผลสุกรสหวานเรียกกันว่า มะปรางหวาน
และมะยงชิด
เนื้อไม้หนักแข็ง และทนทานใช้ทำเครื่องมือกสิกรรม ทำเครื่องกลึง
เครื่องแกะสลัก
ทำซอด้วง ซออู้ พานท้ายปืน รากเป็นยาถอนพิษไข้ ถอนพิษสำแดง
แก้ไข้ตัวร้อน
๒๓/๑๔๖๕๔
๔๓๐๔. มะยม
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กใบค่อนข้างเล็กรูปไข่ หรือรูปรี
ดอกขนาดเล็กออกเป็นช่อ
สีแดงเรื่อ ๆ แยกเป็นดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย บางครั้งพบดอกสมบูรณ์เพศ
ผลกลมแบนที่ปลายทั้งสองพูรอบผล
๖ - ๘ พู เมื่อสุกสีเขียวหรือสีเหลืองอ่อน รสเปรี้ยวจัดเมล็ดแข็งเล็ก
ยอดอ่อนบริโภคเป็นฝักได้
ผลบริโภคสด หรือนิยมดองเกลือ ทำเป็นผลไม้กวน
รากใช้ปรุงเป็นยาแก้โรคผิวหนัง
แก้ประดง แก้น้ำเหลืองเสีย ผืนคัน แก้ไข้ ใบต้นเอาน้ำอาบแก้คัน เหือด หัด
อีกสุกอีใส ๒๓/๑๔๖๕๔
๔๓๐๕. มะระ
เป็นไม้เลื้อยมีมือเกาะเกี่ยวพันกับหลัก
ใบรูปหัวใจดอกแยกเป็นดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย
ผลรูปขอบขนาน หรือค่อนข้างกลม ผิวตะปุ่มตะปั่ม แก่จัดมีสีแดง ขอบย่น
ผลสดบริโภคเป็นผักมีรสขมเป็นยาเจริญอาหาร
แก้โรคไขข้อ บำรุงถุงน้ำดี แก้โรคของม้ามและตับ
ถ้าตากแห้งบดเป็นผลใช้โรยแผลแก้ค้น
ทำเป็นขี้ผึ้งใช้ทาแก้หิดและโรคผิวหนัง
ผลมะระมีสารที่มีอำนาจลดน้ำตาลในเลือดได้
จึงใช้รักษาโรคเบาหวาน ใบลวกบริโภคเป็นยาเจริญอาหาร ยาฟอกเลือด
ยาระบายอ่อน
ๆ และยาขับพยาธิเข็มหมุด น้ำคั้นจากใบ และผลใช้เป็นยาขับลม บำรุงธาตุ
แก้เสียดท้องใช้ถ่ายพยาธิ
อมแก้ปากเปื่อย บำรุงประจำเดือน ส่วนรากเป็นยาฝาดสมาน
ใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร
๒๓/๑๔๖๕๖
๔๓๐๖. มะริด
เป็นชื่อเมืองอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า
มีอาณาเขตทิศตะวันออกจดประเทศไทยตอนใต้
โดยมีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นพรมแดน ทิศตะวันตกจดมหาสมุทรอินเดีย
ทิศเหนือจุดเมืองทะวาย
มะริด
เป็นเมืองเก่าอยู่บนฝั่งทะเลอันดามันเคยเป็นดินแดนที่อยู่ในอาณาจักรสุโขทัย
และอาณาจักรอยุธยา (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๒๓๑๐) มะริดเป็นเมืองท่าของเมืองตะนาวศรี
มีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศทางหัวเมืองตะวันตก
หลังสงครามช้างเผือกในปี พ.ศ.๒๑๐๖ พม่าให้ยกภาษีอากร
และผลประโยชน์เมืองมะริดให้แก่พม่า
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงมีพระบัญชาให้ข้าราชการผู้ใหญ่
(ที่ต้องโทษขั้นอุกฤษฎ์ในระหว่างสงครามยุทธหัตถี)
เป็นแม่ทัพนายกองคุมทัพไปตีเมืองทะวาย และเมืองตะนาวศรี (รวมเมืองมะริด)
เป็นการแก้ตัวได้ชัยชนะ
เมืองทะวาย และเมืองตะนาวศรี (รวมเมืองมะริด)
ก็กลับมาเป็นของอยุธยาอีก
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑)
เมืองมะริดคงเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรือง
และเป็นที่ต้องการของบริษัท อินเดียตะวันออกของอังกฤษ
ประกอบกันขณะนั้นบริษัทนี้มีกรณีพิพาทกับไทยเรื่องการละเมิดสิทธิผูกขาดการค้าของบริษัท
บริษัทจึงส่งเรือปั่นสองลำไปยังเมืองมะริด พร้อมกับคำสั่งให้ยึดเมืองนั้น
และให้จับเรือไทย และชาวอังกฤษที่รับราชการกับไทยด้วย
ฝ่ายพระยาตะนาวศรีเห็นว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยจึงทำการต่อสู้
การประกาศสงครามกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ สมเด็จพระนารายณ์ ฯ
ทรงถือว่า
กรุงศรีอยุธยาไม่ได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลอังกฤษ แต่ประกาศสงครามกับบริษัท
ฯ เท่านั้น
ในสมัยรัตนโกสินทร์
พม่ายังคงปกครองเมืองมะริดอยู่และเมื่อพม่าทำสงครามกับอังกฤษครั้งที่หนึ่ง
(พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๖๙) และยุติลงด้วยสนธิสัญญายันดาโม ในปี พ.ศ.๒๓๖๙
เมืองมะริดได้เปลี่ยนไปอยู่ในการปกครองของอังกฤษ
ต่อมาเมื่อพม่าได้รับเอกราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑
เมืองมะริดก็กลับไปเป็นของพม่า
๒๓/๑๔๖๕๖
๔๓๐๗. มะรุม
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางใบประกอบแบบสามชั้นใบย่อย ๖ - ๙ คู่ ขนาดเล็ก
ออกตรงข้ามกัน
รูปไข่หรือไข่ กลีบดอกสีขาวออกเป็นช่อแผ่กว้าง กลิ่นหอมเหมือนน้ำผึ้ง
ผลเป็นฝักสีเขียวกลมยาว
ห้อยลงมีร่องตามยาวรอบฝักเก้าร่อง เมล็ดกลมปีกกว้าง
ฝักอ่อนบริโภคเป็นอาหารได้ นอกจากนี้ส่วนต่าง ๆ ยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร
คือ รากต้นกับน้ำใช้อมกลั้วคอ ล้างแผลดื่มเพื่อขับปัสสาวะ
ใช้ภายนอกเป็นยาถูนวด
ทำให้เลือกมาเลี้ยงผิวหนังใช้แต่งกลิ่นอาหาร เปลือกลำต้นสด ๆ
ใช้อมข้างแก้มถอนพิษสุราได้
และยังเป็นยาขับลมในลำไส้ ใบอุดมด้วยวิตามินเอ
และซีใช้แก้โรคลักปิดลักเปิด
ทำเป็นยาพอกแผลได้ ดอกเป็นยาบำรุงขับน้ำตา และขับปัสสาวะได้
เมล็ดแก่ให้น้ำมันใช้เป็นยาแก้หอบ
แก้บวม บำรุงไฟธาตุ
น้ำมันจากเมล็ดใช้หล่อลื่นเครื่องจักร
๒๓/๑๔๖๖๑
๔๓๐๘. มะเร็ง
เป็นเซลล์เนื้อร้ายที่เจริญเติบโตผิดปรกติแทรกซึมเข้าไปในเซลล์ที่ดี
อยู่โดยรอบสามารถบุกรุกทำลายอวัยวะที่มันอาศัยอยู่
และสามารถกระจายเข้าสู่หลอดเลือดและหลอดน้ำเหลือง
เมื่อมะเร็งไปก่อตัวในอวัยวะดังกล่าว
ก็จะเจริญเติบโตและทำลายอวัยวะที่มันไปอาศัยอยู่ใหม่
ทำให้อวัยวะสูญเสียหน้าที่
และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
เนื่องจากโรคมะเร็งส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง
การป้องกันจึงกระทำได้ยาก
การป้องกันที่ทำได้คือ การหลีกเลี่ยงละเว้น
หรือลดสิ่งที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดมะเร็ง
๒๓/๑๔๖๖๒
๔๓๐๙. มะละกอ
เป็นพืชที่มีลำต้นจัดเป็นพวกไม้เนื้ออ่อน ลำต้นเดี่ยวภายใจกลวง
ไม่มีเนื้อไม้
ลำต้นเป็นลำชะลูดใบเรียงตัวแบบเกลียว ใบมีขนาดใหญ่ประกอบด้วย
ก้านใบที่ยาวและกลวง
เป็นพืชที่มีทั้งดอกตัวผู้ ดอกตัวเมียและดอกสมบูรณ์เพศแยกกันอยู่คนละต้น
หรืออาจจะอยู่บนต้นเดียวกันก็ได้
โดยทั่วไปผลมะละกอมีขนาดยาว ๗ - ๓๐ ซม. น้ำหนัก ๑ - ๒ กก.
ขนาดของผลนี้แตกต่างกันไป
ขึ้นอยู่กับพันธุ์และชนิดของดอกที่ผลพัฒนาขึ้นมา
โดยปรกติผลมะละกอมีเปลือกเรียบสีเขียว
จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มเมื่อสุก เนื้อมะละกอจะมีส้มหรือสีแดงส้ม
รสหวาน
๒๓/๑๔๖๖๖
๔๓๑๐. มะละกา
เป็นรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแหลมมะลายู
มีอาณาเขตทิศเหนือจดรัฐเนกรีเซมมิลัน
ทิศตะวันออกจดรัฐยะโฮร์ ทิศใต้และทิศตะวันตกจดช่องแคบมะละกา
มะละกาเป็นเมืองสำคัญทางการค้ามาแต่สมัยโบราณ
และเคยเป็นเมืองประเทศราชของไทยมาก่อน
ดังปรากฎในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนหนึ่งว่า "ฝ่ายกระษัตร์
ได้แต่ถวายดอกไม้ทองเงินทั้งนั้น
๒๐ เมือง คือ ...เมืองฝ่ายใต้ เมืองอุยองตะหนะ เมืองมลากา เมืองมลายู
เมืองวรวารี..."
ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้แต่งกองทัพไปตีเมืองมะละกาครั้งหนึ่ง
เมื่อปี
พ.ศ.๑๙๙๘ เมืองมะละกาเคยขึ้นกรุงศรีอยุธยามาแต่ครั้งพระเจ้าอู่ทอง
ในตำนานของโปร์ตุเกสว่าไทยได้ยกกองทัพไปตีเมืองมะละกาเมื่อก่อนโปร์ตุเกสไปถึง
เมืองมะละกาเดิมเป็นหมู่บ้านของชาวมลายูเผ่าชาวเล ซึ่งมีอาชีพทำประมง
และเป็นโจรสลัดคอยรังควานการเดินเรือในช่องแคบมะละกา
ต่อมาเมื่อราวปี
พ.ศ.๑๙๔๔ ชาวชวาจำนวนหนึ่ง มีเจ้าชายปรเมศวร
เป็นหัวหน้าได้ลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่เมืองคูมาสิกคือ
สิงคโปร์ปัจจุบัน เนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ในอาณาจักรมัชปาหิต
ในชวาภาคตะวันออก
ขณะนั้นเจ้าผู้ครองเมืองตูมาสิกยอกสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรไทย
เจ้าชายประเมศวรได้ฆ่าเจ้าผู้ครองเมืองนั้น
แล้วยึดอำนาจไว้ได้ ราวปี พ.ศ.๑๙๔๕ ราชาแห่งเมืองปาหัง
ซึ่งยอมขึ้นกับอาณาจักรไทย
ได้ยกกองทัพไปโจมตีเจ้าชายปรเมศวร จึงพาบริวารหนีไปอยู่ที่หมู่บ้านชาวเล
และได้สร้างหมู่บ้านนั้นขึ้นเป็นเมืองชื่อ
เมืองมะละกา โดยได้รับความร่วมมือจากพวกโจรสลัด
และชาวมลายูที่อพยพมาจากเมืองปาเล็มมังในเกาะสุมาตรา
เมืองมะละกาได้เจริญรุ่งเรืองกลายเป็นศูนย์การค้าทางทะเล
เมื่อทูตจีนไปเยือนเมืองมะละการาวปี พ.ศ.๑๙๔๖ เจ้าชายปรเมศวร
จึงถือโอกาสขอให้พระเจ้ากรุงจีนแห่งราชวงศ์เหม็ง
รับรองเอกราชของเมืองมะละกา ต่อมาราวปี พ.ศ.๑๙๔๘ เจ้าชายปรเมศวร
ได้ส่งทูตไปเจริญทางไมตรีกับจีน
พระเจ้ากรุงจีนราชวงศ์เหม็งองค์ที่สาม พระนามยุงโล
ทรงรับรองว่าเจ้าชายปรเมศวร
เป็นกษัตริย์ผู้ครองเมืองมะละกา
ราวปี พ.ศ.๑๙๕๒ แม่ทัพเช็งโห ซึ่งคุมกองทัพเรือของจีนไปเยือนเมืองมะละกา
และยืนยันว่าเจ้าชายปรเมศวรมีอำนาจอธิปไตยปกครองเมืองมะละกา
แต่กรุงศรีอยุธยายังถือว่า เมืองมะละกาเป็นเมืองประเทศราชของไทยอยู่
ขณะนั้นสุมาตราได้เปลี่ยนศาสนาจากศาสนาพุทธผสมพราหมณ์
เป็นศาสนาอิสลามที่พ่อค้าชาวอินเดีย
และชาวอาหรับนำมา เจ้าชายปรเมศวร
จึงได้เปลี่ยนศาสนาจากศาสนาพุทธผสมพราหมณ์
มาเป็นศาสนาอิสลาม และเปลี่ยนนามมาคติทางศาสนานั้นว่า เมกิตอีสกานเดอร์
ชาห์
และได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง พระธิดาแก่งสุลาต่านรัฐปาไช
ที่เปลี่ยนศาสนาไปนับถือศาสนาอิสลามไม่นาน
ขณะนั้นเจ้าชายปรเมศวรมีพระชนม์ ๗๒ พรรษาแล้ว และสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๑๙๘๗
รายาอิบราฮินผู้เป็นโอรสก็สืบราชสมบัติต่อมา ทรงใช้พระนามว่า ศรีปรเมศวร
ชาห์
ซึ่งเป็นพระนามผสมระหว่างคติศาสนาฮินดู กับอิสลาม
พระองค์ถูกพวกทมิฬที่นับถือศาสนาอิสลาม
โดยมีรายากาซิมพระเชษฐาต่างมารดาเป็นหัวหน้าเข้ายึดอำนาจและปลงพระชนม์
รายากาซิมขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่สี่ (ราว พ.ศ.๑๙๘๙)
ใช้พระนามว่ามุซัฟฟา
ชาห์ พระเจ้ากรุงจีนทรงรับรองยุศสุลต่านของพระองค์
นับแต่นั้นมาจึงออกพระนามพระองค์ว่า
มุซัฟฟาร์ ชาห์ และเป็นสุลต่านองค์แรกของมะละกา และไม่ยอมขึ้นกับไทย
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
จึงส่งกองทัพไปปราบแต่ไม่สำเร็จต้องถอยกลับ
ฝ่ายมะละกายกกำลังไปปราบเมืองปาหัวและเมืองปาไซได้ด้วย
ทำให้มะละกาเป็นอาณาจักรหนึ่งของแหลมมลายู
ต่อมาเมืองสุลต่านมุซัฟฟาร ชาห์ สิ้นพระชนม์ สุลต่านมันสุร์ ชาห์
ผู้เป็นโอรสได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองมะละกา
เมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๐๐ เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามเคร่งครัดมาก ได้สั่งให้ทำลายวัตถุเคารพของศาสนาเดิม
คือศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์เสียสิ้น
และได้แผ่อำนาจเข้าไปปกครองเมืองปาหัง แคมปาร์และอินทรคีร์ ต่อมาในปี
พ.ศ.๒๐๐๒
ทางกรุงศรีอยุธยาได้ให้ออกญาจักรียกทัพบกมาทางเมืองปาหังเข้าตีเมืองมะละกาแต่ไม่สำเร็จต้องถอยทัพกลับ
ต่อมาให้ออกญาเดโชยกกำลังทางเรือไปตีเมืองมะละกาอีก
ตั้งล้อมอยู่นานแต่ตีไม่ได้ต้องถอยทัพกลับ
มะละกาจึงยกทัพไปตีเอาเมืองปาหังกลับคืนมาได้
แล้วแต่งทูตมาขอเป็นไมตรีกับไทย
ฝ่ายไทยซึ่งกำลังทำสงครามติดพันอยู่กับเชียงใหม่ก็ยอมเป็นไมตรีด้วย
แต่ต่อมากองทัพไทยจากเมืองนครศรีธรรมราชยกออกไปทางเมืองกลันตันเข้าตีเอาปาหังคืนแต่ไม่สำเร็จ
จนโปร์ตุเกสเข้ายึดครองมะละกา
ในช่วงสองสุลต่านนี้ มะละกามีอำนาจปกครองรัฐต่าง ๆ คือ ไทรบุรี ตรังกานุ
ปาหัง
ยะโฮร์ แจมยี, แคมปาร์ อินทรคีรี หมู่เกาะคาริมอนและเกาะชินตัง
เมื่อสุลต่านมันสุร์
ชาห์สิ้นพระชนม์ โอรสคือ สุลต่านอาลาอุดดิน รายัต ชาห์ (พ.ศ.๒๐๒๐ -
๒๐๓๐)
และสุลต่านมาหมุด (พ.ศ.๒๐๓๑ - ๒๐๕๔) อมุชาของสุลต่านอาลาอุดดิน
ในสมัยสุลต่านมาหมุด
มะละกาเจริญมั่งคั่งถึงที่สุดได้ทำสงครามกับไทยอีกครั้งจนปี พ.ศ.๒๐๕๔
มะละกาก็ตกเป็นของโปร์ตุเกส
และโปร์ตุเกสได้เปิดสัมพันธไมตรีกับไทย
โปร์ตุเกสได้ดำเนินการให้มะละกาเป็นเมืองที่เข้มแข็งมั่นคง
โดยสร้างให้เป็นเมืองป้อมปราการ
เพื่อควบคุมเส้นทางเดินเรือไปยังหมู่เกาะโมลุกกะ
สร้างเมืองมะละกาให้เจริญขึ้นเป็นตลาดเครื่องเทศ
ทำให้ชาวอาแจ ชาวยะโฮร์
ชาวอังกฤษและชาวฮอลันดิพยายามแย่งชิงผลประโยชน์ต่าง
ๆ ของฮอลันดา ในที่สุดในปี พ.ศ.๒๑๘๒ ฮอลันดา
ซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เมืองปัตตาเลียได้ใช้กำลังทาหรโค่นอำนาจของโปร์ตุเกสที่เมืองมะละกา
รวมเวลาที่โปร์ตุเกสปกครองมะละกา ๑๓๐ ปี
ฮอลันดาปกครองมะละกา มาถึงปี พ.ศ.๒๓๖๗
ก็ต้องทำสนธิสัญญาโอนมะละกาให้แก่อังกฤษ
เพื่อแลกเปลี่ยนกับเมืองเบนคูเลนในเกาะสุมาตรา และเมืองปันตัมในเกาะชวา
รวมเวลาที่ฮอลันดาปกครองมะละกาถึง
๑๘๓ ปี
อังกฤษได้รวมเกาะปีนังเมืองมะละกา และเกาะสิงคโปร์
เข้าเป็นสเตรตเซตเทิลเมนท์ขึ้นต่อผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดีย
จนถึงปี พ.ศ.๒๔๑๐ จึงได้โอนไปขึ้นกับกระทรวงอาณานิคมอังกฤษ จนถึงปี
พ.ศ.๒๕๐๐
อังกฤษได้มอบเอกราชให้แก่สหพันธรัฐมลายา
ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นประเทศมาเลเซีย
มะละกาจึงเป็นรัฐหนึ่งของมาเลซีย
มาจนถึงปัจจุบัน
๒๓/๑๔๖๗๐
๔๓๑๑. มะลิ
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก
บางครั้งกิ่งอาจเลื้อยพาดไปตามต้นไม้อื่นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่
ๆ รูปไข่หรือกลม ดอกสีขาวบริสุทธิ์ มีกลิ่นหอมมากออกเป็นช่อสั้น ๆ
ที่ปลายยอด
ผลกลมสีดำ
มะลิปลูกเป็นไม้ประดับประจำบ้าน เด็ดดอกมาลอยน้ำดื่มและล้างหน้า
ร้อยพวงมาลัยบูชาพระ
หรือทำเครื่องมงคลต่าง ๆ ใช้แต่งกลิ่นอาหาร ต้นมะลิเป็นยาขับเสมหะ
และขับเลือด
รากฝนกินแก้ร้อนใน แก้เสียดท้อง แก้พิษงู
ใบสดผสมกับกะลามะพร้าวรักษาแผลพุพอง
และฝีดาาให้แห้งเร็วขึ้น ดอกสดแช่น้ำเมาน้ำเป็นกระสายยา แก้ไขตัวร้อน
แก้โรคตาเจ็บ
ดอกมีน้ำมันหอมระเหยมากกลับเอาน้ำมันหอมได้
๒๓/๑๔๖๘๑
๔๓๑๒. มะแว้ง
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กแตกกิ่งก้านสาขามากตามลำต้นกิ่งก้านมีหนามแหลม
ใบรูปไข่หรือรูปขอบขนาน
ดอกออกเป็นช่อสีขาว ผลรูปกลม เมื่ออ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีแดง
ผลใช้บริโภคเป็นผักมีรสขมเป็นยา
ขับลมช่วยบำบัดโรคเบาหวาน ช่วยให้น้ำตับอ่อนเดินสะดวอก
ผลสุกเป็นยาแก้ไอได้ดี
รากเป็นยาขับเสมหะ แก้ไอขับปัสสาวะ
บำรุงธาตุ
๒๓/๑๔๖๘๓
๔๓๑๓. มะหวด
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางเรือนยอดหนาแน่น ใบประกอบมีใบย่อย ๔ - ๖ คู่
ดอกสีขาวแกมเขียวกลิ่นหอมออกเป็นช่อ
ผลเมื่อยังอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จัดเป็นสีม่วงออกดำ เนื้อบางอุ้มน้ำ
รสหวานปนฝาดเล็กน้อย
เนื้อไม้ใช้ทำครก สาก กระเดื่อง รากรักษาไข้ แก้พิษฝีภายใน
ดับพิษร้อนตำพอกศีรษะ
แก้ไข้ พอกรักษาโรคผิวหนังผื่นคัน เมล็ดต้มกินแก้ไข้ซางเด็ก แก้ไอกรน
รักษาโรคหอบ
๒๓/๑๔๖๘๔
๔๓๑๔. มะหะหมัด
หรือมูฮัมมัด อิบนิ อับดุลเลาะห์ คือนามของศาสดาของศาสนาอิสลาม เกิดที่นครเมกกะ
เมื่อปี พ.ศ.๑๑๑๓ เป็นชนเผ่ากุเรช
ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวอาหรับ
เพราะมีความผูกพันกับสถาบันศาสนาสั่งคุม
และปกครองของชาวอาหรับมาโดยตลอด มะหะหมัดกำพร้าบิดาตั้งแต่เกิด
และกำพร้ามารดาตั้งแต่ยังเด็ก
ต้องอยู่กับปู่ชื่ออับดุลดอลิบ
ซึ่งให้การอบรมบ่มนิสัยอย่างดี
เมื่อโตขึ้นได้นำไปฝากเข้าทำงานเป็นลูกจ้างกับนางคอดีเจาะห์
เศรษฐีนีม่ายแห่งนครเมกกะ
ทำให้ธุรกิจการค้าของนางเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้นางไว้ใจ
และขอแต่งงานด้วย
ขณะนั้นนางอายุได้ ๔๐ ปี และมะหะหมัดอายุได้ ๒๕ ปี
ช่วงก่อนการได้รับบัญชาจากพระเจ้า ให้เป็นศาสดาของศาสนาอิสลามมะหะหมัด
มักใช้เวลาปฏิบัติธรรมอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งชื่อถ้ำฮีร้อ
อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อปฏิบัติตามหลักคำสอนของอีบรงฮิน
อันเป็นรากฐานแห่งวิถีชีวิตแบบอิสลามในระยะต่อมา
มะหะหมัดได้รับบัญชาจากพระเจ้า
ให้เป็นศาสดาของศาสนาอิสลาม
เมื่ออายุราว ๔๐ ปี
และได้เริ่มเผยแพร่ศาสนาที่นครเมกกะเป็นครั้งแรกใช้เวลาถึงสิบสองปี
จึงทำให้ชาวเมกกะเข้าใจ และยอมรับศาสนาอิสลาม โดยเน้นความสำนึกความเชื่อ
และศรัทธาต่อพระเจ้า
ซึ่งเชื่อว่าเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิต และสรรพสิ่งทั้งปวง
และเป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต
ที่รวมถึงหลักจริยธรรมที่ทุกคนพึงนำมาปฏิบัติ
ต่อจากนั้นมูหะหมัดได้เดินทางไปยังเมืองมะดืนะห์
ใช้เวลาสิบปีในการเผยแพร่ศาสนาแก่ชาวเมืองนั้น โดยเน้นถึงปัญหาสังคม
เศรษฐกิจและการเมืองเป็นสำคัญ
ในปี พ.ศ.๑๑๗๕ มะหะหมัดได้ล่วงลับลง ณ นครมะดีนะห์ เมื่ออายุราว ๖๒ ปี
รวมระยะเวลาในการเผยแพร่ศาสนา
๒๒ ปี
หลักคำสอนและแนวความคิดที่มะหะหมัดใช้เผยแพร่ศาสนาสรุปได้ดังนี้
๑. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ได้ปลูกฝังให้มุสลิมได้มีสำนึกว่าบ่อเกิดแห่งชีวิต
และสรรพสิ่งทั้งปวงนั้นมาจากพระเจ้า
พระเจ้าเป็นผู้สร้างธรรมชาติกฎธรรมชาติ
และอยู่เหนือกฎธรรมชาติ มีหลักสามประการที่มุสลิมทุกคนต้องยึดมั่น
และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
คือ หลักความศรัทธาหกประการ หลักปฏิบัติห้าประการและมีหลักประจำใจด้วย
หลักความศรัทธาหกประการ ได้แก่ ความศรัทธาต่อสิ่งสูงสุดคือ
อัลเลาะห์ไม่หลงไหลในตนเอง
มีใจกว้างพร้อมที่จะยอมรับความจริง มีความปรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง
ขยันหมั่นเพียรในการใช้ความรู้ความสามารถให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและส่วนรวม
หลักปฏิบัติห้าประการคือ
๑. ให้พร้อมที่จะอุทิศตนเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติ
๒. กล้าที่จะประกาศทำแต่ความดีละเว้นความชั่ว
๓. รู้จักรักษาเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ส่วนตน
และส่วนรวมโดยการนฆาซวันละห้าครั้ง
๔. ฝึกให้รู้จักความหิวโหย โดยการถือศีลอดปีละราว ๓๐ วัน
๕. รู้จักสละทรัพย์โดยการจ่ายภาษีรายได้ราวร้อยละ ๒ - ๕ ต่อปี
เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนรวม
นอกจากนี้คือการร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนา ณ นครเมกกะปีละครั้ง
๒. ความสำคัญระหว่างบุคคลต่อบุคคล
ให้มนุษย์ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และหวังดีต่อกัน
ห้ามเกลียดชังและอิจฉาริษยาผู้อื่น
ความช่วยเหลือนั้นไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา ฐานะทางสังคม และวัฒนธรรม
๓. แนวคิดทางเศรษฐกิจ
ให้ทุกคนได้มีกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน
หรือทรัพย์สินตามความสามารถของแต่ละบุคคล
ที่ที่ร่ำรวยจะต้องแบ่งปันให้กับผู้ที่ทุกข์ยาก
โดยการจ่ายภาษีรายได้ราวร้อยละ
๒.๕ ต่อปี และต้องพร้อมที่จะบริจาค
หรือให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในยามที่เกิดภัยธรรมชาติ
ห้ามการหาความร่ำรวย โดยการออกเงินกู้ กักตุนสิ้นค้าไว้เก็งกำไร
หรือใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจทำให้ผู้อื่นล้มละลาย
๔. แนวคิดทางการเมืองและการปกครอง
ให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่มุสลิมจะต้องมีผู้นำทางการเมือง
ซึ่งมีหน้าที่บริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้า
ผู้นำต้องได้รับเลือกตั้งจากประชาชาติอิสลาม
การบริหารประเทศจะต้องเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย
(แบบอิสลาม)
๕. ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้ม
ให้มนุษย์ใช้สติปัญญา
และความสามารถในการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง
และส่วนรวม
๖. การให้ความสำคัญด้านการศึกษา
ให้มุสลิมทุกคนขยันศึกษาหาความรู้ตลอดชีวิต
โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นความรู้ทางศาสนาแต่ฝ่ายเดียว
๗. การให้ความสำคัญต่อสถานภาพของสตรีในสังคมมุสลิม
สตรีมีสิทธิอันชอบธรรมในการแบ่งมรดก
และการขอหย่าร้างที่สอดคล้องกับเจตนารมย์ของศาสนาอิสลาม
๘. แนวคิดด้านสงคราม และสันติภาพ
ได้สร้างอุดมการณ์อิสลาม ปลูกฝังให้มุสลิมมีความสำนึกว่าสัมติภาพคือ
สิ่งแสดงคุณค่าแห่งความเป็นมนุาย์
จึงประณามการทำสงคราม และเรียกร้องให้แก้ปัญหา
โดยสันติวิธีแต่ถ้ามีการรุกรานจากศัตรูนอกประเทศก็ให้มีการตอบโต้เท่าที่จำเป็น
โดยห้ามใช้กำลังอาวุธทำร้ายผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด
และห้ามทำความเสียหาย
หรือเผาผลาญทรัพย์สิน หรือทรัพยากรธรรมชาติ
ซึ่งเป็นสมบัติของฝ่ายตรงข้ามด้วย
๙. แนวคิดด้านกฎหมาย
ให้นำกฎหมายอิสลามมาใช้กับบุคคลทุกระดับ
๑๐. แนวคิดด้านสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา
มะหะหมัดประณามการบังคับให้ผู้ใดผู้หนึ่งยอมรับนับถือศาสนาโดยใช้กำลังบังคับ
๒๓/๑๔๖๘๕
๔๓๑๕. มะหาด
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางกิ่งอ่อน ใบรูปรีหรือรูปไข่ ดอกออกเป็นกลุ่ม
ดอกตัวผู้สีเหลืองรูปขอบขนานหรือกลม
ผลเนื้อนุ่มรูปกลมกึ่งเป็นพู ผิวเรียบหรือขรุขระ สีส้ม หรือแดงอมส้ม
เมล็ดรูปขอบขนาน
ผลใช้บริโภคได้เป้นยาขับพยาธิตัวตืด
เปลือกลำต้นใช้เป็นยาสมานเนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างเส้นใยใช้ทำเชือก
๒๓/๑๔๖๘๒
๔๓๑๖. มะอึก
เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ตามลำต้นกิ่งก้านมีขนสั้นตั้งตรงปกคลุม
และบางที่มีหนาม
ใบใหญ่มีขนหนาแน่น ดอกสีขาวออกเป็นช่อตามง่ามใบ ผลกลมเมื่ออ่อนสีเขียว
เมื่อแก่สีเหลือง
หรือส้มมีขนสั้นปกคลุม ผลสุกรสเปรี้ยวพอควรใช้ปรุงรสอาหาร
มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร
รากเป็นยากัดเสมหะ แก้ไข้ แก้ปวด แก้ไอ พอกแก้คัน ใบเป็นยาพอก
ผลเป็นยากัดเสมหะ
เมล็ดเมื่อเผาแล้วสูดดมควันแก้ปวดฟัน
๒๓/๑๔๖๘๓
๔๓๑๗. มะฮอกกานี
เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีเรือนยอดหนาแน่นใบเขียวเข้มดกหนาทึบ ใบประกอบ
มีใบย่อย
๓ - ๖ คู่ ออกตรงข้ามกันใบรูปรี ดอกขนาดเล็กสีเหลืองอมเขียวจาง ๆ
ออกเป็นช่อกระจายตามง่ามใบ
ผลใหญ่แข็งรูปไข่รูปทรงกระบอก เมล็ดมีปีกบางกว้าง รสขม
เปลือกมีรสฝาดเป็นยาสมาน ยาแก้ไข้ เจริญอาหาร
เป็นยาแก้ไข้จับสั่น
๒๓/๑๔๖๘๔
๔๓๑๘. มักกะสัน เป็นชื่อเสียงท่าสำคัญในภาคใต้ของเกาะเซลีเบส
ประเทศอินโดนีเซีย
เกาะเซลีเบสมีชื่อภาษาอินโดนีเซียว่าสุลาเวสี
ตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกของเกาะบอร์เนียว
โดยมีช่องแคบมักกะสันกั้นอยู่
ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๕๙ - ๒๒๑๐ ชาวมักกะสันถูกชาวฮอลันดารุกรานอย่างหนัก
จึงอพยพหลบภัยไปอยู่แถบหมู่เกาะอินเดียตะวันออกมลายู
และส่วนหนึ่งเข้ามาสู่ประเทศไทยสมัยอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์ ฯ
ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ปากคลองตะเคียน จ.พระนครศรีอยุธยา
ชาวมักกะสันมีรูปร่างใหญ่โตน่ากลัว นิสัยกล้าหาญ ดุร้าย เหน็บกริช
บางทีใช้หอกซีด
และลูกดอกอาบยาพิษ จึงมีคำเรียกในภาษาไทย ยักษ์มักกะสัน
เมื่อราวปี พ.ศ.๒๒๒๘ ชาวมักกะสันได้ก่อการขบถทั้งที่อยุธยา และที่บางกอก
เนื่องจากไม่พอใจที่ทางราชการไทยให้อำนาจแก่ฟอลคอน
หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ทำให้พวกคริสต์ขัดขวางผลประโยชน์ของพวกมุสลิม
แต่ทางราชการไทยได้ปราบปรามขบถมักกะสันลงได้อย่างรวดเร็ว
๒๓/ ๑๔๖๘๕
๔๓๑๙. มักยาร์
เป็นชนเผ่าฟินองเกรีย ซึ่งมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในที่ราบของเอเชียกลาง
และอพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนทวีปยุโรปตะวันออก
ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศฮังการี ดินแดนแห่งนี้มีชนเผ่าเซลด์ และเผ่าสลาฟ
ตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อน
ต่อมาได้ถูกยึดครองโดยชาวโรมัน ชนเผ่าเยอรมัน พวกฮั่น และพวกอะวาร์ตามลำดับ
เมื่อราวปี พ.ศ๑๔๓๘
ชนเผ่ามักยาร์ได้รวบรวมกำลังตั้งรัฐฮังการีขึ้นมีนายอาร์ปีด
เป็นหัวหน้า ต่อมา เซนต์ สตีแฟน ซึ่งเป็นหัวหน้าพวกมักยาร์
สืบเชื้อสายจากอาร์ปีด
ได้ยกฐานะของตนขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์อาร์ปัด เซนต์
สตีเฟนได้เผยแพร่คริสต์ศาสนา
ในปี พ.ศ.๑๘๔๔ ราชวงศ์อาร์ปัดสิ้นสุดลง
เนื่องจากขาดเจ้านายที่จะสืบราชสมบัติต่อไป
ฮังการีจึงเปลี่ยนไปอยู่ใต้การปกครองของเจ้านายต่างประเทศ
หลังปี พ.ศ.๒๓๕๘ ชาวฮังการี ซึ่งนิยมเรียกตัวเองว่า มักยาร์ พยายามฟื้นฟู
ฐานะประเทศของตนในการนำของคอสสุท
และก่อการปฎิวัติต่อสู้พระจักรพรรดิ์ออสเตรียในปี
พ.ศ.๒๓๙๑ - ๒๓๙๒ แต่ปราชัย ได้มีการเจรจาประนีประนอมกัน
จนบรรลุผลสำเร็จในปี
พ.ศ.๒๔๑๐ เปลี่ยนฐานะฮังการีเป็นราชอาณาจักรตามเดิม
โดยยอมรับว่าจักรพรรดิ์ออสเตรเลียเป็นกษัตริย์ของตนด้วย
จักรวรรดิ์ออสเตรีย เปลี่ยนชื่อเป็นจักรวรรดิ์ออสเตรีย - ฮังการี
ต่อมาเมื่อพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ออสเตรีย - อังการี จึงแบ่งออกเป็นสองประเทศ คือ ออสเตรีย กับฮังการี
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๖ กองทัพฮังการีเข้าร่วมกับกองทัพนาซีบุกรัสเซีย เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๔ แต่แพ้สงคราม และกลายเป็นสาธารณรัฐปกครอง
ตามระบอบคอมมิวนิสต์
๒๓/๑๔๖๘๖
๔๓๒๐. มังกยอชวา
นามพระมหาอุปราชาโอรสพระเจ้านันทบุเรง ในปี พ.ศ.๒๑๓๓ พระเจ้านันทบุเรง
โปรดให้พระมหาอุปราชา
ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก
โดยยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์แขวงเมืองกาญจนบุรี
สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้เคลื่อนทัพหลวงไปถึงเมืองสุพรรณบุรี
ซุ่มซ่อนสองข้างทางบริเวณริมแม่น้ำท่าคอย
ซึ่งอยู่เลยเมืองสุพรรณบุรี ไปทางเมืองกาญจนบุรีเล็กน้อย
เมื่อพม่ารุกเข้ามาจึงถูกกองทัพไทยโจมตีเสียหายหนักแตกถอยกลับไป
พระมหาอุปราชาถูกภาคทัณฑ์ให้ทำการรบแก้ตัวใหม่
ถึงปีพ.ศ.๒๑๓๕ พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์
ประกอบด้วย
กองทัพกรุงหงสาวดี กองทัพเมืองแปรและกองทัพเมืองตองอู
ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่ถูกเกณฑ์ให้ทำหน้าที่รวบรวมเสบียงอาหารในแคว้นล้านนา
ลำเลียงลงมาทางเรือ
สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงยกกองทัพออกไปต่อสู้ข้าศึกทางเมืองสุพรรณบุรี
ครั้นถึงเดือนยี่
แรมสองค่ำ ปี พ.ศ.๒๑๓๕ พระองค์ทรงกระทำยุทธหัตถีที่ตำบลหนองสาหร่าย
แขวงเมืองสุพรรณบุรี
ทรงจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ถูกพระอังสาขวาของพระมหาอุปราชา
ขาดสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง
กองทัพพม่าจึงเชิญพระศพพระมหาอุปราชากลับไปกรุงหงสาวดี
กองทัพไทยติดตามไปทันกองระวังหลังของพม่าที่เมืองกาญจนบุรี
และตีข้าศึกแตกพ่ายไปยึดได้ช้างม้าเครื่องศัตราวุธของข้าศึกได้เป็นอันมาก
หน้า ๑๔๖๘๙
๔๓๒๑. มังกร ๑ - ดาว
พจนานุกรม ฯ ให้ความหมายว่า "ชื่อดาวในราศีที่ ๑๐ ใน ๑๒ ราศี"
ดาวมังกรเป็นกลุ่มดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่งในแถบที่ดวงอาทิตย์
ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ผ่านแถบดังกล่าวเรียกว่า แถบจักรราศี
ซึ่งมีกลุ่มดาวสำคัญ
๑๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีชื่อที่สัมพันธ์กับชื่อเดือนต่าง ๆ คือ
กลุ่มดาวแกะหรือเมษ
สัมพันธ์กับเดือนเมษายน กลุ่มดาวแพะทะเลหรือมกร สัมพันธ์เดือนมกราคม
และกลุ่มดาวปลาหรือมีน
สัมพันธ์กับเดือนมีนาคม
กลุ่มดาวมังกรเป็นกลุ่มดาวที่อยู่ในซีกฟ้าด้านใต้ประกอบด้วยดาวฤกษ์หลายดวงที่เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านโค้ง
ดาวแต่ละดวงปรากฎสว่างน้อย แต่พอมองเห็น
ถ้านับเฉพาะดวงที่มีความสว่างอยู่อันดับสี่และดีกว่าจะมีดาวอยู่เจ็ดดวง
ดวงอาทิตย์จะผ่านเข้าเขตกลุ่มดาวมังกรประมาณวันที่ ๒๑
มกราคมและจะปรากฎเคลื่อนไปทางทิศตะวันออกช้า
ๆ จนออกจากเขตกลุ่มดาวมังกรประมาณวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์
ระหว่างนี้จะมองไม่เห็นกลุ่มดาวมังกร
เพราะจะตกลับขอบฟ้าพร้อม ๆ
กับดวงอาทิตย์
หน้า ๑๔๖๙๓
๔๓๒๒. มังกร ๒ - ปลา
เป็นปลาทะเลมีอยู่สอง-สามสกุล แต่ละสกุลก็อยู่ต่างวงศ์กันไป
๑. สกุลแรกที่รู้จักดีในน่านน้ำไทยมีอยู่สามชนิด
ในบางท้องถิ่นอาจมีชื่อเรียกต่าง
ๆ ออกไป เช่น ปลายอดจาก ปลาหลด และปลาเบี้ยว
ลักษณะรูปร่างลำตัวยาวปากคล้ายงูไม่มีเกล็ด
จะงอยปากเล็กเรียวแหลม ปากกว้าง
ไม่มีครีบท้องสีลำตัวตอนบนเป็นสีเทาอมเหลือง
และสีจะซีดจางลง
บริเวณด้านท้องสีขาวนวลพบในท้องทะเลที่พื้นหน้าดินเป็นโคลนเหลวชอบขุดรูอยู่เป็นพวกปลากินเนื้อมีนิสัยดุร้าย
บางชนิดโตเต็มที่ยาวถึง ๒ เมตร
๒. สกุลที่สอง มีหลายชนิด โดยมากคนทั่วไปเรียกว่า ปลาสิงห์โต
ลักษณะรูปร่างลำตัวสั้นแบนข้างเล็กน้อย
บนหัวมีสันกระดูก ซึ่งมีหนามแหลมสั้น ๆ บนสันนั้นด้วย บริเวณหน้าขอบตา
และตาจะมีหนวดขนาดสั้นบ้างยาวบ้าง
ครีบหลังมีก้านครีบแข็งและก้านครีบอ่อน
ครีบก้นมีก้านครีบแข็งและก้านครีบอ่อน
ก้านครีบหูยาว สีของตัวปลาเป็นสีชมพูเข้ม ความงามของริ้วลาย
และสีสันเป็นที่ดึงดูดสายตาผู้พบเห็นเป็นที่นิยมของนักเลี้ยงปลาตู้
หน้า ๑๔๖๙๕
๔๓๒๓. มังกุ
เป็นชื่อเรือชนิดหนึ่งของไทยที่ใช้เป็นยานพาหนะสำหรับเดินทาง
หรือบรรทุกสินค้า
และสิ่งของต่าง ๆ ล่องไปทางน้ำไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ในย่านภาคกลาง
มังกุเป็นเรือชนิดต่อขนาดใหญ่ยาว ๒๐ - ๒๘ เมตร
ใกล้เคียงกับความยาวของเรือโขมดยา
ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกัน ทำด้วยไม้กระดานขนาดยาว
และหน้ากว้างนำมาประกอบคุมกันขึ้นเป็นลำเรือ
โดยใช้กงเป็นโครงสร้าง กำกับเปลือกเรือให้คุมกันอย่ได้และมั่นคง
ส่วนหัวและท้ายของเรือมังกุต่อไม้โขนให้งอนเชิดสูงขึ้น
ปลายโขนเรือฟันให้เว้าลงไปคล้ายหน้ากาบกล้วยสองรอย
เนื้อไม้ที่คงเหลืออยู่จะมีลักษณะคล้ายเส้าปลายแหลมสามเส้า
ส่วนท้ายเรือมักทำโขนเชิดสูงกว่าส่วนหัวเรือ โขนหัวเรือ และท้ายเรือ
ยังต่อไม้กราบทั้งคู่
แล่นขึ้นไปรับกับส่วนโขนดังกล่าว และที่ด้านหลังโขนเรือทั้งสองข้าง
ยังทำไม้เป็นแผ่นรูปสามเหลี่ยมเรียกว่าจับปิ้ง
เรือมังกุเป็นเรือพาย
เรือมังกุที่ใช้ในราชการมักมีขนาดลำเรือยาวใช้ข้าราชการเป็นฝีพายโดยนั่งเป็นคู่
ๆ บนกระทงเรือ มีจำนวน ๔๐ - ๕๐
คน
๒๓/๑๔๖๙๙
๔๓๒๔. มังคุด
เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นตรง ยางสีเหลือง ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่
ๆ มีขนาดต่าง ๆ กันรูปรีหรือขอบขนาน ดอกออกเดี่ยว ๆ
หรือเป็นคู่ที่ใกล้ปลายกิ่ง
สีเขียวอ่อน ผลกลมขนาดผลส้มผิวเรียบ เปลือกหนา เมื่ออ่อนสีเขียวอ่อน
เปลี่ยนเป็นม่วงสีแดง
หรือม่วงดำเมื่อสุก เมล็ดใหญ่แบนล้อมรอบด้วยเนื้อเยื่อสีขาวอุ้มน้ำ
รสหวานอมเปรี้ยวบริโภคเป็นผลไม้เปลือกผลมีรสฝาด
เป็นยาสมานแผล และใช้ล้างแผลแทบต่างทับทิม แก้ท้องเสียเรื้อรัง
โรคเกี่ยวกับลำไส้
เปลือกของผลนี้ผสมกับลูกสมอไทยให้สีดำใช้ย้อมผ้าได้
๒๓/๑๔๗๐๒
๔๓๒๕. มังชัยสิงห์
เป็นพระนามเดิมของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง (ดูนันทบุเรง - ลำดับที่ ๒๗๙๖
ประกอบ)
๒๓/๑๔๗๐๔
๔๓๒๖. มังระ
เป็นโอรสองค์ที่สองพระเจ้าอลองพญาแห่งพม่า
และเป็นกษัตริย์องค์ที่สามแห่งราชวงศ์อลองพญา
ครองราชย์อยู่ ๑๓ ปี (พ.ศ.๒๓๐๖ - ๒๓๑๙)
พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากเมืองรัตนสิงห์
มาตั้งที่กรุงอังวะเหมือนแต่ก่อน
พระองค์ทรงดำเนินพระราโชบายเจริญรอยตามพระเจ้าบุเรงนอง
และพระเจ้าอลองพญาที่จะสร้างจักรพรรดิ์พม่า
โดยเฉพาะพยามจะตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้
โดยกำหนดยกทัพมาตีหัวเมืองไทยทีละขั้น
ขั้นแรกให้มังมหานรธาคุมทัพมาตีเมืองทวาย
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๗ แล้วยกทัพไปตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี เมืองระนอง
และเมืองอื่นจนถึงเมืองปราณ
แต่กองทัพพญาพิพัฒน์ และพระยาตาก (สิน) สามารถสะกัดกั้นข้าศึกไว้ได้
ก่อนที่จะรุดไปถึงเมืองเพชรบุรี
กองทัพพม่าต้องถอยกลับไปเมืองตะนาวศรี
ในขั้นต่อมา
พระเจ้ามังระตั้งเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพคุมกำลังพลพม่าล้านนาและล้านช้างประมาณ
๒๐,๐๐๐ คน เคลื่อนจากเมืองเชียงใหม่ลงมาทางใต้
ตีหัวเมืองรายทางได้ตามลำดับ
ฝ่ายมังมหานรธายกทัพประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน เข้าตีไทยทางเมืองสุพรรณบุรี
ผ่านเมืองธนบุรีไปบรรจบกองทัพเนเมียวสีหบดี
ที่เขตกรุงศรีอยุธยา ใช้เวลาประมาณปีเศษ
แล้วตั้งค่ายล้อมพระนครทางด้านทิศเหนือ
และทิศใต้ ต่อมาได้ขยายออกไปล้อมไว้หมดทุกด้าน
ในระหว่างนั้นมังมหานรธาถึงแก่กรรมเนเมียวสีหบดี
ได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้ามังระให้เป็นแม่ทัพใหญ่แต่ผู้เดียว
ในที่สุดก็ตีกรุงศรีอยุธยาได้
เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ หลังจากล้อมอยู่ ๑ ปี ๒ เดือน
ในระหว่างนั้นพม่าต้องเผชิญการสงครามกับจีนทางด้านยูนนาน
กองทัพจีนบุกรุกพม่าสี่ครั้งแตกพ่ายแพ้กลับไปทุกครั้ง
พระเจ้ามังระทรงพระพิโรธที่แม่ทัพพม่าปล่อยให้กองทัพจีนล่าถอยกลับไป
แม่ทัพเหล่านั้จึงคุมทัพไปตีแคว้นมณีปุระได้
และได้กวาดต้อนชาวมณีปุระหลายพันคนไปยังพม่า
ในปีพ.ศ.๒๓๑๘ พระเจ้ามังระมีพระบัญชาให้ยกทัพมาตีเมืองไทยอีกครั้ง
อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพ
ก่อนปีนั้นไทยได้รบพม่ามา ๘ ครั้งแล้วในสมัยธนบุรี
ในการตีหัวเมืองของไทยอะแซหวุ่นกี้ได้ยกทัพเข้าล้อมเมืองพิษณุโลก
เมื่อพระเจ้ามังระสิ้นพระชนม์จิงกูจาพระโอรสได้ครองราชย์
และมีรับสั่งให้อะแซหวุ่นกี้ยกทัพกลับไป
หน้า ๑๔๗๐๔
๔๓๒๗. มัชฌิมนิกาย
เป็นชื่อนิกายที่สองแห่งพระสุตตันตปิฎก
เป็นหมวดที่รวมพระสูตรที่มีเนื้อความปานกลาง
แบ่งย่อยออกไปเป็นสามปัฌณาส (หมวดห้าสิบ) พระสูตรตอนต้นเรียกว่า มูลปัฌณาส
พระสูตรตอนกลางเรียกว่า มัชฌิมปัฌณาส พระสูตรตอนท้ายเรียกว่า อุปุริปัฌณาส
ในปัฌณาสนั้น ๆ แบ่งเป็นตอน ๆ เรียกว่า วรรค
วรรคหนึ่งปรกติมีสิบพระสูตรมีอยู่เพียงวรรคเดียวเท่านั้น
คือ อุปริปัฌณาสที่มีสิบสองพระสูตร รวมเป็น ๑๕๒
พระสูตร
๒๓/๑๔๗๐๘
๔๓๒๘. มัชฌิมประเทศ
มีบทนิยามว่า "ประเทศอินเดียตามแบบหมายถึงอินเดียตอนกลาง" ชมพูทวีปนั้น
แบ่งออกเป็นสองจังหวัด
คือมัชฌิมชนบทหรือมัชฌิมประเทศแปลว่า ประเทศกลาง
ภายนอกเรียกว่าปัจจันตชนบท
หรือปัจจันตประเทศ
แปลว่าประเทศปลายแดน
๒๓/๑๔๗๑๑
๔๓๒๙. มัชฌิมาปฏิปทา
แปลตามรูปคำว่า ทางสายกลาง
ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึงทางปฏิบัติหรือทางดำเนินไปเพื่อถึงความดับทุกข์
หรือทางปฏิบัติหรือดำเนินไปเพื่อบรรลุถึงโลกุตรธรรม คือ มรรคผล
นิพพาน
(ดู มรรค ลำดับที่
๔๑๗๙...ประกอบด้วย)
๒๓/๑๔๗๑๒
๔๓๓๐. มัชปาหิต
เป็นชื่ออาณาจักรหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอำนาจอยู่ระหว่างปี
พ.ศ.๑๘๓๖
- ๒๐๖๓ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ชวาภาคตะวันออก
(ใกล้เมืองสุราบายาในปัจจุบัน)
แผ่อิทธิพลไปครอบครองดินแดนที่เป็นหมู่เกาะอินเดียตะวันออกทั้งหมดยกเว้นเกาะซิลิเบสภาคเหนือ
และข้ามฟากมาครอบงำรัฐต่าง ๆ ในแหลมและคาบสมุทรมลายู รวมทั้งปัตตานี
ซึ่งขณะนั้นเรียกว่าลังกาสุกะ
และกลันตัน
มีหลักฐานหลายแห่งกล่าวถึงความเป็นมาของอาณาจักรมัชฌปาหติ คือ
ก่อนเกิดอาณาจักรนี้ในชวาตะวันออก
มีรัฐหรืออาณาจักรเล็ก ๆ หลายอาณาจักร
แต่อาณาจัรที่มีอานุภาพมากที่สุดได้แก่
อาณาจักรสิงหัตส่าหรี ซึ่งพระเจ้าเกนอังรกทรงตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๗๖๓
สามารถปราบอาณาจักรจงคละและอาณาจักรกะฑิริได้สำเร็จ
ต่อมาในสมัยพระเจ้ากฤตนคร (พ.ศ.๑๘๑๑ - ๑๘๓๕) ร่วมสมัยกับพ่อขุนรามคำแหง ฯ
แห่งกรุงสุโขทัยเป็นกษัตริย์ชวาองค์แรก
ที่ยกกองทัพไปปราบอาณาจักรศรีวิชัยที่สุมาตราได้
และได้ยึดครองบางส่วนของเกาะสุมาตราตีได้เกาะบาหลี
มะทุราส่วนหนึ่งของเกาะบอร์เนียว
และเกาะใกล้เคียงอื่น ๆ
และเริ่มมีสงครามกับไทยเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือช่องแคบมะละกาด้วย
ในปีสุดท้ายแห่งรัชกาลนี้ คณะทูตจีนจากราชสำนักจีน (จักรพรรดิ์กุบไล่ข่าน)
ได้มาทวงเครื่องบรรณาการ (จิ้มก้อง)
พระเจ้ากฤตนครทรงพิโรธให้จับตัวราชทูตมาตัดหู
และกรีดหน้าแล้วปล่อยตัวไป
หลังจากนั้นไม่นานเจ้าชายชัยขัตวงศ์แห่งกะฑิริได้ก่อการขบถยึดอำนาจไว้ได้
พระเจ้ากฤตนครสิ้นพระชนม์ในที่รบ ระเด่นวิชัยราชบุตรเขยของพระองค์
หนีภัยไปซ่องสุมผู้คนอยู่ที่มัชปาหิต
ในปี พ.ศ.๑๘๓๖ จักรพรรดิ์กุบไล่ข่ายได้ส่งกองเรือมาแก้แค้น
ระเด่นวิชัยได้เข้าร่วมกับกองทัพจีน
ยกกำลังเข้าล้อมอาณาจักรสิงหัตสาหรีปราบเจ้าชายชัยขัตวงศ์ได้แล้วระเด่นวิชัยได้ระดมกำลังขับไล่ทหารจีนออกไปจากชวาได้
แล้วขึ้นครองราชย์สืบแทน แต่ได้ย้ายราชธานีไปสร้างราชธานีใหม่ ณ
ที่ตั้งค่ายมัชปาหิตเรียกอาณาจักรใหม่ว่าอาณาจักรมัชปาหิต
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๓๖
ไทยห็นมัชปาหิตแผ่อำนาจเข้ามาแย่งเมืองอาเจ
ซึ่งเป็นของไทยในเกาะสุมาตราจึงส่งกองทัพไปรบมัชปาหิต
เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๘ สงครามได้ยุติลงเพราะพระเจ้ากรุงจีนขอไว้
ต่อมามัชปาหิตได้ยกกองทัพไปสุมาตรา และเข้าตีเมืองอาเจอีก
กองทัพเรือไทยจึงยกลงไปตีเกาะชวา
เมื่อปี พ.ศ.๑๘๔๙ ในการสงครามครั้งนั้นไทยได้ทิ้งปืนใหญ่ไว้สองกระบอก
อาณาจักรมัชปาหิตมีกษัตริย์ปกครองเจ็ดองค์
ต่อมาได้มีการก่อการขบถจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองยืดเยื้อ
ทำให้อำนาจของอาณาจักรมัชปาหิต อ่อนกำลังลงรัฐต่าง ๆ
ที่เคยอยู่ในอำนาจต่างก็ตั้งตัวเป็นอิสระ
เจ้าชายปรเมศวรได้อพยพลี้ภัยไปสร้างเมืองมะละกาขึ้นที่แหลมมลายู
การขบถสงบลงโดยพระเจ้ายูโล
แห่งราชวงศ์เหม็ง
ส่งแม่ทัพเช็งโหยกกองทัพเรือไปปราบจับหัวหน้าขบถประหารชีวิต
อาณาจักรมัชปาหิตเสื่อมสลายไปเพราะอาณาจักรมะละกา
ซึ่งเข้ารีตศาสนาอิสลามแล้วยกกองทัพไปรุกรานมัชปาหิต
เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๑ โอรสของกษัตริย์โบนัง
ผู้เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของมัชปาหิต
พร้อมด้วยเจ้านาย และบริหารได้ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในเกาะบาหลี
และได้สกัดกั้นไม่ให้ศาสนาอิสลาม
แผ่เข้าไปในเกาะนั้นได้สำเร็จ
๒๓/๑๔๗๑๒
๔๓๓๑. มัญจาคีรี
อำเภอขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำ
อ.มัญจาคีรีเดิมตั้งที่ว่าการอยู่ที่
บ.หัวนา จ.จระเข้ อ.เมือง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๙ ได้ย้ายไปตั้งที่ บ.สวนหม่อน
ในปี พ.ศ.๒๔๓๐ ย้ายไปตั้งที่ ต.กุดเค้า แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.กุดเค้า
มาเปลี่ยนชื่อเป็น
อ.มัญจาคีรี เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๔๗๑๖
๔๓๓๒. มัญชูคีรี
เป็นพระโพธิสัตว์ผู้เป็นเจ้าแห่งปัญญา
ทรงมีหน้าที่พาผู้ที่โง่เขลาเบาความรู้ให้เข้าถึงความเห็นแจ้ง
และความหลุดพ้น ตามความในพระสูตรสำคัญของมหายานสองพระสูตรคือ
สัทธรรมปุณทริกสูตร
และไภสัชคุรุไวทูรย์ประภาตภาคตสูตร
เมื่อกล่าวถึงเรื่องพระพุทธเจ้าขณะจะแสดงธรรมข้อใด
มักตรัสผ่านพระปัญชุคศรี (แทนที่จะตรัสผ่านพระอานนท์ตามทฤษฎีของฝ่ายเถรวาท)
พระโพธิสัตว์มัญชูศรี
ปรากฎอยู่ในจำนวนพระโพธิสัตว์องค์สำคัญของมหายานอีกหกองค์คือ
กวนอิม (อวโลกิเตศวร) มหาสถามปราปต์ ศรีอาริยเมตไตรย สมันตภัทร กษิติครรภ
และวชิรปาณี
ภายในพุทธสถานของมหายาน มีรูปวาดและปฎิมากร ของพระมัญชูศรี
ซึ่งนิยมวาดและสร้างส่วนใหญ่
เป็นรูปพระศากยมุนีประทับเป็นประธาน ข้างซ้ายมีพระมัญชูศรี ซึ่งหมายถึง
พระปัญญาบารมี
หรือพระปัญญาคุณ ข้างขวามีพระโพธิสัตว์ สมันตภัทร ซึ่งหมายถึง
ตัวพระเมตตาบารมี
หรือพระเมตตาคุณ เมื่อรวมพระศากยมุนี ซึ่งหมายถึง พระบริสุทธิคุณ ด้วย
จึงรวมเป็นพระคุณสาม
ให้เห็นพร้อมในคราวเดียวกัน
๒๓/๑๔๗๑๗
๔๓๓๓. มัณฑเล
เป็นเมืองใหญ่ลำดับสองของประเทศพม่าเป็นเมืองหลวงเมืองสุดท้าย
ของราชวงศ์อลองพญาอันเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศ
และเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรม
พระเจ้ามินดงสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๐
เมืองนี้ตั้งอยู่ตอนกลางของลุ่มแม่น้ำอิรวดีอยู่เหนือกรุงย่างกุ้งประมาณ
๖๐๐ กม. เมื่อพม่าเสียเอกราชให้แก่อังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๒๙
ย่างกุ้งก็ได้เป็นนครหลวงแทน
๒๓/๑๔๗๒๑
๔๓๓๔. มัตสยปุราณะ
(ดูปุราณะ - ลำดับที่
๓๕๗๘)
๒๓/๑๔๗๒๖
๔๓๓๕. มัตสยาวตาร
(ดูนารายณ์สิบปาง ลำดับที่ ๓๘๖๒,๓๘๖๓)
๒๓/๑๔๗๒๖
๔๓๓๖. มัทนพาธา - เรื่อง
เป็นชื่อวรรณคดีเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า
ฯ มัทนพาธาเป็นบทละครพูดคำฉันท์เรื่องแรก และเรื่องเดียวของไทย
ที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร
ให้เป็นยอดของบทละครพูดคำฉันท์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗
เนื้อเรื่องของมัทนพาธาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ
ทรงวางรูปเรื่องขึ้นโดยอัตโนมัติมิได้ทรงนำมาจากเรื่องใด
ๆ ทั้งสิ้นเป็นต้นตำนานดอกกุหลาบ ทรงวางเรื่องให้นางเอกเป็นนางฟ้า
ที่ถูกสาปลงมาเป็นดอกกุหลาบในโลกมนุษย์ผู้สาปนางคือ
สุเทษณ์เทพบุตร เนื่องจากหลงรักนางมาแต่ชาติปางก่อน
ครั้นมาเกิดเป็นเทพบุตรก็ยังรักนางอีกแต่นางไม่รักตอบ
๒๓/๑๔๗๒๖
๔๓๓๗. มัทรี ๑ - พระนาง
เป็นพระมเหสีของพระเวสสันดรเป็นพระราชธิดาแห่งราชวงศ์มาตุละ
พระนางมีพระโอรสหนึ่งองค์พระนามว่าพระชาลี
มีพระธิดาหนึ่งองค์พระนามว่าพระกัณหา
เมื่อพระเวสสันดรถูกเนรเทศไปอยู่เขาวงกต พระนางมัทรีพร้อมด้วยพระชาลี
และพระกัณหาได้ติดตามไปอยู่ด้วย
เวลาจริงไปเจ็ดเดือนพราหมณ์ชูชก ได้ติดตามขอพระราชทานพระชาลี
และพระกัณหาจากพระเวสสันดรไปเป็นทาสรับใช้
พระเวสสันดรก็ได้พระราชทานสองกุมารให้ไป
ท้าวสักเทวราชทรงดำริว่า เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานสองกุมารแก่ชูชกไปแล้ว
ถ้ามีใครมาทูลของพระนางมัทรีอีก พระองค์ก็จะทรงพระราชทานให้
ท้าวสักเทวราชจึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์
ไปทูลพระนางมัทรีเสียก่อน เมื่อพระเวสสันดรพระราชทานให้แล้ว
เพื่อมิให้พระองค์พระราชทานแก่ใครอีก
ภายหลังพระเวสสันดร พระนางมัทรีพร้อมด้วยพระชาลี
พระกัณหาก็ได้กลับไปอยู่ร่วมกันในนครสีพีอย่างสุขสำราณในพระชาติสุดท้าย
พระนางมัทรีได้กลับชาติมาเกิดเป็นพระนางยโสธราพิมพา (ดูยโสธรา -
ลำดับที่...
ประกอบ) ๒๓/๑๔๗๒๗
๔๓๓๘. มัทรี ๒
เป็นชื่อกัณฑ์ที่เก้าของเรื่องมหาชาติว่าด้วย
เรื่องพระนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้ขณะเดินทางกลับ
เทพบุตรสามองค์จำแลงกายเป็นสัตว์ร้าย
มาขวางทางไว้ไม่ให้กลับทันขณะที่พราหมณ์ชูชกพาสองกุมารไป
๒๓/๑๔๗๓๐
๔๓๓๙. มัธยมประเทศ
(ดูปัจจันตประเทศ ลำดับที่
๓๔๕๘))
๒๓/๑๔๗๓๓
๔๓๔๐. มัธยมศึกษา
เป็นการศึกษาหลังระดับประถมศึกษา หรือระหว่างประถมศึกษากับอุดมศึกษา
กำหนดเวลาเรียนหกปี
มีจุดมุ่งหมาย ให้ผู้เรียนมีความรู้ทางวิชาการ และวิชาชีพที่เหมาะสมกับวัย
ความต้องการ ความสนใจและความถนัด เพื่อให้แต่ละบุคคลเข้าใจ
และรู้จักเลือกวิชาชีพที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง
และสังคม แบ่งการศึกษาออกเป็นสองตอน คือ
มัธยมตอนต้นกับมัธยมศึกษาตอนปลายใช้เวลาเรียนตอนละสามปี
ผู้เรียนในระดับนี้ ต้องเป็นโสดแต่ไม่กำหนดอายุผู้เรียน
การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
เป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนพัฒนาคุณภาพชีวิต
และการศึกษาต่อให้สามารถเลือกแนวทาง ที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม
ตามบทบาทและหน้าที่ของตน
ในฐานะพลเมืองดี โดยให้ผู้เรียนมีความรู้ และทักษะเพียงพอที่จะเลือก
และตัดสินใจประกอบสัมมาชีพ
ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และครองชีวิตโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคม
การศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
เป็นการเพิ่มเติมจากตอนต้นโดยให้ผู้เรียนได้พัฒนาเชาวน์ปัญญา
มีความรู้และทักษะเฉพาะด้านตามศักยภาพ เป็นช่องทางในการประกอบอาชีพ
รวมพัฒนาสังคมด้วยแนวทาง
และวิธีการใหม่ ๆ และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
คำว่า มัธยมศึกษาเริ่มปรากฎเป็นครั้งแรก
ในประวัติการศึกษาไทยในร่างโครงการศึกษา
พ.ศ.๒๔๔๑ ซึ่งพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ร่างขึ้นทูลเกล้า ฯ
ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
ฯ และได้มีวิวัฒนาการดังนี้
พ.ศ.๒๔๔๑ เป็นการศึกษาประเภทสามัญเรียกว่า การเล่าเรียนเบื้องกลาง
กำหนดเวลาเรียนสี่ปี
อายุผู้เรียนตั้งแต่ ๑๔ - ๑๗ ปี
พ.ศ.๒๔๔๕ ใช้เวลาเรียนแปดปี ผู้เรียนจะต้องมีอายุไม่เกิน ๑๕ ปี
พ.ศ.๒๔๕๖ ใช้เวลาเรียนแปดปี แบ่งเป็นมัธยมศึกษาตอนต้นสามปี
ตอนกลางสามปี
และตอนปลายสองปี
พ.ศ.๒๔๖๔ แบ่งเป็นมัธยมศึกษาสามัญ และมัธยมศึกษาวิสามัญ
มัธยมศึกษาสามัญแบ่งออกเป็นตอนต้น
ตอนกลาง และตอนปลาย รวมแปดปี ส่วนมัธยมศึกษาวิสามัญจัดเป็นสามชั้น
ถึงชั้นต่ำ
ชั้นกลาง และชั้นสูง
พ.ศ.๒๔๗๑ ปรับปรุงหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เวลาเรียนสองปี
โดยแยกเป็นสามแผนก
ถึงแผนกกลาง สอนวิชาทั่วไป แผนกภาษาสอนหนักไปทางภาษาต่างประเทศคือ
ให้เรียนภาษาอังกฤษ
และเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศส หรือภาษาเยอรมัน หรือภาษาจีน
และแผนกวิทยาศาสตร์
สอนหนักไปทางวิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์
พ.ศ.๒๔๗๕ ชั้นมัธยมศึกษา แบ่งเป็นสองตอนคือ ตอนต้นสี่ปี (ม.๑ - ม.๔)
ตอนปลายสี่ปี
(ม.๕ - ม.๘) ในตอนปลายแบ่งเป็นสี่แผนก เป็นสายสามัญสองแผนกคือ
แผนกอักษรศาสตร์
และแผนกวิทยาศาสตร์ สายวิสามัญสองแผนกคือ แผนกกสิกรรม พาณิชยกรรม
อุตสาหกรรม
และแผนกวิชาช่างฝีมือ
พ.ศ.๒๔๗๙ ลดการศึกษาระดับมัธยมเหลือหกปี แบ่งเป็นสองตอนคือ
ตอนต้นสามปี
(ม.๑ - ม.๓) ตอนปลาย (ม.๔ - ม.๖) ส่วนมัธยมศึกษาปีที่ ๗ - ๘
เรียกใหม่ว่า
ชั้นเตรียมอุดมศึกษา มีจุดมุ่งหมายว่าเมื่อจบแล้ว
จะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย
พ.ศ.๒๔๙๑ แบ่งหลักสูตรระดับเตรียมอุดมศึกษาออกเป็นสองแผนกคือ
แผนกอักษรศาสตร์
และแผนกวิทยาศาสตร์
พ.ศ.๒๔๙๔ ชั้นมัธยมศึกษาแบ่งเป็นสามสายคือ มัธยมสามัญศึกษา
มัธยมวิสามัญศึกษา
และมัธยมอาชีวะศึกษา ทั้งสามสายมีตอนต้นและตอนปลาย ตอนละสามปึ
พ.ศ.๒๕๐๓ แบ่งเป็นสองตอนคือ ตอนต้นแบ่งเป็นสายสามัญสามชั้น (ม.ศ.๑ -
ม.ศ.๓) และสายอาชีพ ๑ - ๓ ชั้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย
ซึ่งแบ่งเป็นสองสายคือ
สายสามัญสองชั้น (ม.ศ.๔ - ฒ.ศ.๕) และสายอาชีพ ๑ - ๓ ชั้น
พ.ศ.๒๕๑๐ ใช้หลักสูตรประโยคมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนมัธบมแบบประสม
กำหนดเวลาเรียนสามปี (ม.ศ.๑ - ม.ศ.๓)
หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายสองปี
(ม.ศ.๔ - ม.ศ.๕)
พ.ศ.๒๕๑๘ หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายสองปี (ม.ศ.๔ - ม.ศ.๕)
มีวิชาบังคับและวิชาเลือก
เพื่อให้ผู้เรียนศึกษาต่อในชั้นอุดมศึกษา หรือออกไปประกอบอาชีพ
พ.ศ.๒๕๒๑ แบ่งหลักสูตรออกเป็นสองตอนคือ ตอนต้นสามปี (ม.๑ - ม.๓)
และตอนปลายสามปี
(ม.๔ - ม.๖)
พ.ศ.๒๕๒๔ ประกาศใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เวลาเรียนสามปี (ม.๔ -
ม.๖)
วิชาที่เรียนแบ่งเป็นวิชาบังคับ และวิชาเลือก หน้า ๑๔๙๓๓
๔๓๔๑. มัน ๑
เป็นชื่อที่ใช้เรียกไม้เถา หรือไม้ต้นหลายสกุล
และหลายวงศ์ที่หัวใช้เป็นอาหารได้
และยังใช้เรียกหัว หรือผลผลิตของหัวที่นำมาบริโภค
มันเป็นพืชทีส่วนของราก หรือเหง้า หรือลำตัน
ขยายตัวเป็นที่สะสมอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต
ที่พืชสังเคราะห์ขึ้น โดยอาศัยคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ แสงแดด
และอาหารพวกแร่ธาตุต่าง
ๆ มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ชนิด
การขยายพันธุ์ทำได้หลายวิธี
คือใช้ตาที่หัวซึ่งมีราก เช่น มันเสา มันมือเสือ ใช้หัวขยายพันธุ์ เช่น
มันฝรั่ง
มันสำปะหลังใช้ลำต้น ซึ่งมีตาออกรากขยายพันธุ์ มันเทศใช้เถา หรือหัว
หรือเมล็ดขยายพันธุ์ได้
มันที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ
มันสำปะหลังซึ่งจัดเป็นอาหารที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ทั่วโลกใช้เป็นทั้งอาหารหลักโดยตรงของมนุษย์
เลี้ยงสัตว์และในกิจการอุตสาหกรรม
มันสำปะหลัง
เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ ๑ - ๕ เมตร มีอายุหลายปี ใบเดี่ยว เวียนสลับรอบลำต้น
ดอกเป็นดอกตัวผู้และตัวเมียร่วมต้น แต่แยกอยู่คนละดอกในช่อเดียวกัน
ช่อดอกเป็นแบบช่อรวม
ออกที่จุดแตกกิ่งที่ยอดของต้น ผลเป็นแบบผลตะแบก
ระบบรากมีสองชนิดคือ รากจริงเจริญเติบโตไปทางด้านลึกใช้ยึดเหนียว
และหาอาหารให้แก่ต้น
ส่วนรากสะสมเจริญเติบโตไปทางด้านข้างรอบ ๆ ต้น เมื่อต้นอายุได้ ๒ - ๓
เดือน
รากสะสมจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรียกว่า หัว
ทุกส่วนของมันสำปะหลังมียางเป็นของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนม
เป็นพิษอย่างร้ายแรง
จึงไม่ควรกินมันสำปะหลังดิบ
มันเทศ
เป็นไม้เถา ลำต้นทอดไปตามพื้นดินตามลำต้น และใบมียางสีขาว มีเหง้าใต้ดิน
ใบมีรูปร่างหลายแบบ
ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อมี ๒ - ๓ ดอก ผลรูปไข่เกลี้ยง ๆ
เมล็ดค่อนข้างกลมเกลี้ยง
เหง้าเป็นหัวใต้ดินมีสีขาวผองหรือสีม่วง กินเป็นอาหาร
และทำเป็นแป้งได้หัวมันเทศตำให้ละเอียดพอกแผลเริม
งูสวัดและถอนพิษได้
มันฝรั่ง
เป็นพืชล้มลุก ลำต้นเป็นกิ่งตั้งตรงสูง ๔๕ - ๗๕ ซม. ใบประกอบรูปรีปลายแหลม
๒ - ๔ คู่ ดอกมีห้ากลีบ สีของดอกขึ้นอยู่กับพันมีทั้งขาว ชมพู
หรือชมพูอมม่วง
หัวมีลักษณะกลม หรือรีแบบทรงกระบอก ผิวสีขาว สีแดง หรือม่วง
เนื้อสีขาวออกเหลือง
หัวมันฝรั่งเป็นอาหารหลัก ที่มีความสำคัญของประเทศในยุโรป
มีคุณค่าทางอาหารสูง
มีทั้งโปรตีน วิตามินซี และวิตามินบี
มันแกว
เป็นไม้เถามีใบย่อยสามใบ ดอกเหมือนพืชตระกูลถั่ว ใบมีสารเป็นพิษ
ใช้ทำปุ๋ยพืชสดได้
ดอกสีม่วง หรือสีขาว ระบบรากของมันแกวลึก รากส่วนที่ขยายโป่งออกเป็นหัว
มีรสหวานกินได้
ต้นหรือเถาใช้ทำเส้นใยได้ ในต้นมียางเป็นพิษ เมื่อถูกมือทำให้มือเปื่อย
และคันใช้เบื่อปลาได้
เมล็ดมีพิษมาก แต่ใช้เป็นสารกำจัดแมลงได้
มันกลอย
เป็นไม้เถามีหนาม ใบประกอบมีสามใบย่อย
ช่อดอกมีขนาดใหญ่ดอกเล็กสีเหลืองอ่อน
มีหัวกลมใหญ่อยู่ใต้ดิน หัวเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุหนึ่งปี เปลือกสีครีม
เนื้อในหรือแป้งสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน
หัวค่อนข้างใหญ่หนัก ๕ - ๑๖ กก. หัวดิบมีพิษ
เมื่อเมาต้องนำหัวมาหั่นเป็นชิ้นบาง
ๆ แช่น้ำปูน แล้วชะล้างในน้ำที่ไหลประมาณ ๓ - ๔ วัน
เพื่อล้างสารพิษออกจึงกินได้
แป้งมีสมบัติพิเศษตรงที่คงความเหนียวหนืดได้ เมื่อให้ความร้อนนาน ๆ
มันมือเสือ
เป็นไม้เถาที่ลำต้นพันไปทางซ้าย มีหนามมากบริเวณโคนต้น
บริเวณข้อและข้างโคนก้านใบ
ใบออกแบบสลับรูปหัวใจ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมีย แยกอยู่ต่างต้นกัน
ผลเป็นแบบผลตะแบกมีสามแฉก
เมล็ดขนาดเล็กเกรน มีปีกโดยรอบ หัวมักมีสี่หัว หรือมากกว่า รูปร่างกลมยาว
หรือค่อนข้างแบนเล็กน้อย ขอบหยักเว้าเป็นแว่ง คล้ายมือเสือ
เปลือกนอกบางสีน้ำตาลอ่อน
หรือน้ำตาลเทา มีรากแข็งคล้ายเสี้ยน
เนื้อในสีขาวกินได้
๒๓/๑๔๗๔๖
๔๓๔๒. มัน ๒
หรือไขมัน เป็นเนื้อเยื่อเกียวพันของร่างกาย
เนื้อเยื่อนี้มีเซลล์ไขมันสะสมกันอยู่เป็นจำนวนมากจนหนาตัวขึ้นมา
สามารถแยกออกเป็นแผ่น หรือเป็นก้อนโตพบบริเวณใต้หนังขั้วของกระเพาะอาหาร
และขั้วของลำไส้
หรือแทรกอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
น้ำมันจากคนและสัตว์ เป็นสารประกอบจำพวกไทรกลีเซอไรด์
เช่นเดียวกับน้ำมันจากพืชเพียงแต่กรดไขมันของมันสัตว์
มักจะเป็นชนิดที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ และเป็นสารประกอบประเภทอิ่มตัวกว่า
ทำให้ร่างกายนำคอเลสเทอรอล
ซึ่งเป็นสารประเภทหนึ่งไปเผาผลาญได้ช้ากว่าปรกติ
จึงเป็นเหตุให้คอเลสเทอรอลตกค้างอยู่มาก
และเกาะพอกพูนอยู่ที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งได้ง่ายขึ้น
เมื่อบริโภคอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน
เข้าไปก็จะเกิดกระบวยการเบตตาบอลิซึ่ม
ร่วมทำให้เกิดพลังงาน และอาจนำอาหารเหล่านั้น
แปรเปลี่ยนไปเป็นไขมันได้แล้วนำไปเก็บสะสมในรูปของเนื้อเยื่อไขมัน
ร่างกายจะนำไขมันที่เก็บสะสมไว้ไปเปลี่ยนเป็นพลังงานในภาวะที่ร่างกายขาดแคลนอาหาร
เนื่องจากไขมันเป็นสารที่ให้พลังงานมากกว่าคาร์โบไฮเดรต
และมีของเสียจากการเผาผลาญน้อยกว่าโปรตีน
๒๓/๑๔๗๔๙
๔๓๔๓. มันธาตุราช
เป็นพระราชจักรพรรดิ์แห่งชมพูทวีปในกาลเป็นปฐมกัปที่ล่วงมาแล้ว
พระองค์ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าวรอุโบสถราช
ทรงมีฤทธิ์เดชมากบริบูรณ์ด้วยแก้ววิเศษเจ็ดประการ
พระองค์ไม่มีความพอพระทัยในราชสมบัติจนได้ขึ้นไปเสวยสมบัติในสวรรค์ก็ยังไม่พอพระทัย
พระพุทธเจ้าทรงตรัสเล่าเรื่องนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย
โดยทรงปรารภถึงภิกษุรูปหนึ่งที่ออกบวชในธรรมวินัยแล้วมีความกระสันอยากสึกออกมาเป็นฆราวาส
๒๓/๑๔๗๕๐
๔๓๔๔. มันปู เป็นไม้พุ่มเลื้อยมีกลิ่นหอม ใบออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ
รูปไข่หรือรูปหอก
ดอกสีม่วง ออกเป็นช่อกระจาย ผลรูปรีกว้างแบน เมล็ดมีปีกบาง
มันปูเป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับลำไส้ รากและเปลือกเป็นยาทำให้อาเจียน
ใบบริโภคดิบ
ๆ หรือถ้านำมาต้มจะลดกลิ่นลง แก้ท้องอืด ท้องเฟือ อาหารไม่ย่อย
และโรคไขข้อ
๒๓/๑๔๗๕๘
๔๓๔๕. มันสมองหรือสมอง
เป็นอวัยวะของระบบประสาทอยู่ส่วนหัวหรือในกระโหลกศีรษะของคนหรือสัตว์
เป็นที่รวมของเซลล์ประสาท
เซลล์พยุง และใยประสาท สมองของสัตว์ชั้นสูงจะมีขนาดใหญ่ นิ่ม
สีค่อนข้างขาวคล้ายไขมัน
สมองของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังมีเซลล์ประสาท และเซลล์พยุงอยู่ส่วนนอก
และใยประสาทส่วนใหญ่อยู่ส่วนใน
สมองมีประสาทสมองออกมาเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ
ช่องอก
และช่องท้อง ปลามีประสาทสมอง ๑๑ คู่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีประสาทสมอง ๑๒
คู่ สมองต่อกับใขสันหลังทางด้านล่าง หรือทางด้านหาง สมองและไขสันหลัง
มีเยื่อหุ้มสมองหุ้ม
และยึดให้ติดอยู่กับกะโหลกศีรษะ และกระดูกสันหลัง
ในระหว่างเยื่อสมองกับสมองมีน้ำไขสันหลังแทรกอยู่
และน้ำไขสันหลังยังมีอยู่ในโพรงของสมอง
และในท่อส่วนกลางตามยาวของไขสันหลังด้วย
น้ำไขสันหลังทำหน้าที่กันการกระเทือน
ที่จะมีต่อสมองที่ลอยตัวอยู่ในน้ำไขสันหลัง
นอกจากนั้นยังทำหน้าที่นำอาหารเข้าสู่สมอง และไขสันหลัง
และนำของเสียออกจากอวัยวะทั้งสองนั้นด้วย
ในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคน สมองแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ
คือ สมองส่วนหน้า สมองส่วนกลาง และสมองส่วนหลัง
ซีรับรัม
ซึ่งอยู่ในสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด การสั่งงาน
และการประสานการทำงานของอวัยวะซีกซ้าย
และซีกขวาของร่างกาย ตลอดจนการประสานการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ
ส่วนแกนของสมองส่วนหน้า
ทำหน้าที่ควบคุมประสาทอัตโนมัติ ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย
ควบคุมการหลั่งฮอร์โมน
ควบคุมการปรับอวัยวะภายในของร่างการให้อยู่ในระดับปรกติ
สมองส่วนกลาง
เป็นส่วนประสานการทำงานของตา และของหูกับการทำงานของอวัยวะอื่น
และทำหน้าที่เป็นทางผ่านของกลุ่มใยประสาท
ระหว่างสมองส่วนหน้า กับไขสันหลัง
ซีรีเบลลัม
ซึ่งอยู่ในสมองส่วนหลังควบคุมการเคลื่อนไหวให้นุ่มนวล
และทำหน้าที่ควบคุมการกะระยะทางให้ถูกต้อง
ส่วนก้านของสมอง
ซึ่งอยู่ในสมองส่วนหลังทำหน้าที่ควบคุมการหายใจ ควบคุมการหลับการตื่น
การทรงตัว
และเป็นทางผ่านของเส้นประสาทจากสมอง ไปยังไขสันหลัง
และจากไขมันหลังไปยังสมอง
๒๓/๑๔๗๕๙
๔๓๔๖. มั๊ม
เป็นอาหารชนิดหนึ่งของชาวไทย ในบางจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เก็บไว้บริโภคได้นาน
ๆ ลักษณะคล้ายไส้กรอก
ส่วนมากทำจากเนื้อและตับวัว
๒๓/๑๔๗๖๑
๔๓๔๗. มัสหมั่น
เป็นชื่อแกงชนิดหนึ่ง เดิมเป็นอาหารของชาวมุสลิม แกงกับเนื้อสัตว์ เช่น
ไก่หรือเนื้อวัว
เป็นแกงซึ่งค่อนข้างข้น มีรสหวานและเปรี้ยวนำ
แกงมัสหมั่นมีปรากฎชื่ออยู่ในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่สองว่า
"มัสหมั่นแกงแก้วตา
หอมยี่หร่ารสร้อนแรง"
๒๓/๑๔๗๖๑
๔๓๔๘. ม้า ๑
เป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังจัดอยู่ในชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอันดับสัตว์กีบเดี่ยว
ซึ่งเป็นพวกเดียวกันกับสมเสร็จ และแรด วงศ์ม้าและลา
เป็นสัตว์ที่จัดไว้ในสกุลเดียวกัน
๑ ประมาณ
ต้นตระกูลของม้า มีกำเนิดมาเมื่อ ๖๕ - ๗๐ ล้านปีมาแล้ว
กระจายพันธุ์ทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ
เป็นสัตว์ที่กินใบไม้เป็นอาหารมีอยู่หลายชนิด ขาหน้ามีสี่นิ้ว
ขาหลังมีสามนิ้ว
ม้าป่าตามธรรมชาติจะอาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่มากตามทุ่งโล่ง
แต่ละฝูงจะประกอบไปด้วยม้าตัวเมีย
ลูกม้า ม้ารุ่นและม้าตัวผู้ ซึ่งจะมีอยู่เพียงตัวเดียว
และทำหน้าที่เป็นจ่าฝูง
ม้ารุ่นตัวผู้หากโตเต็มที่จะถูกจ่าฝูงขับไล่ออกจากฝูง
ม้ารุ่นตัวผู้ที่ถูกขับไล่เหล่านี้จะพยายามเข้าฝูง
โดยเฉพาะในช่วงฤดูผสมพันธุ์ แต่ต้องต่อสู้กับจ่าฝูงเสียก่อน
ตัวที่ชนะจะเป็นจ่าฝูงออกหากินปกป้องภยันตรายต่าง
ๆ ให้กับม้าในฝูง และผสมพันธุ์กับตัวเมียที่โตเต็มที่ทุกตัวภายในฝูง
ม้าตัวเมียตกลูกครั้งละหนึ่งตัว
ลูกม้าอายุสี่ปีจึงจะเป็นตัวเต็มวัย ปรกติอายุยืนประมาณ ๑๐ ปี
แต่บางตัวอายุยืน
๓๐ - ๔๐ ปี
การติดต่อสื่อสารภายในฝูง หรือตัวอื่นที่อยู่นอกฝูงก็โดยการส่งเสียงร้อง
และการแสดงท่าทาง
หรืออาการต่าง ๆ การต่อสู้ระหว่างม้าตัวผู้ด้วยกัน
ปรกติจะใช้ขาหน้าทั้งคู่ยกขึ้นแล้วตะกายกัน
และอาจใช้ฟันกัดกัน บางครั้งจะใช้สองขาหลังดีดไปข้างหลังพร้อม ๆ กัน
ส่วนการต่อสู้กับสัตว์อื่น
ๆ จะใช้เฉพาะสองขาหลัง
มนุษย์ใช้ประโยชน์จากม้าในระยะแรก ๆ ด้วยการล่าม้า เพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร
ส่วนม้าเลี้ยงคาดว่าคงจะมีมานานแล้วอย่างน้อยก็กว่า ๓,๐๐๐ ปีก่อน
พุทธศักราช
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ม้าแล้วนำมาผสมพันธุ์กัน
ชาวอาหรับเป็นชาติแรกที่ดำเนินการในเรื่องนี้
ม้าที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นม้าเลี้ยงทั้งสิ้น
และเป็นม้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น
ม้าเป็นสัตว์พาหนะตามกฎหมาย เช่นเดียวกับ ช้าง วัว ควาย ลา และล่อ
จะต้องมีการบันทึกรูปพรรณสัญฐาน
และจดทะเบียนการครอบครองเหมือนกับอสังหาริมทรัพย์
๒๓/๑๔๗๖๒
๔๓๔๙. ม้า ๒ - ปลา
อยู่ในวงศ์เดียวกับปลาจวด ซึ่งเป็นปลาทะเลทั้งหมด
ลำต้นค่อนข้างยาวแบนข้างจะงอยปากสั้น
พบแพร่หลายอยู่ในน่านน้ำหลายประเทศ แหล่งอาศัยทั้งในทะเล
ในน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำ
และในแม่น้ำ
ปลาม้ากินอาหารประเภทสัตว์จัดเป็นปลาชั้นดีเคยพบขนาดโตเต็มที่ยาวเกินกว่าหนึ่งเมตร
เนื้อปลามีรสชาดอร่อย
ประกอบอาหารได้หลายแบบ
๒๓/๑๔๗๖๙
๔๓๕๐. ม้า ๓ - ปู
(ดูปูม้า - ลำดับที่
๓๓๙๔)
๒๓/๑๔๗๗๒
๔๓๕๑. มาเก๊า
ประกอบด้วย เกาะเล็กสองเกาะ คือ เกาะไตปา และเกาะโคลาน รวมพื้นที่ ๑๖
ตร.กม.
ตั้งอยู่ใกล้ผืนแผ่นดินจีนห่างจากเมืองกวางตุ้ง ๑๒๘ กม.
มาเก๊าเป็นดินแดนจีนอยู่ในปกครองของโปร์ตุเกสมาก่อน
ชาวโปร์ตุเกสได้เดินทางไปถึงประเทศจีน
ในสมัยราชวงศ์เหม็ง ภายหลังที่โปร์ตุเกสตีได้เมืองมะละกาในปี พ.ศ.๒๐๕๔
และแต่งทูตมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง
(พ.ศ.๒๐๓๔ - ๒๐๗๒)
กองเรือรบโปร์ตุเกสได้ไปถึงเมืองกวางตุ้งเมื่อประมาณ
ปี พ.ศ.๒๐๕๙ และได้รับการต้อนรับอย่างดี
ในปี พ.ศ.๒๑๐๐
ชาวโปร์ตุเกสได้รับอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานได้ที่เมืองมาเก๊าในแหลมมาเก๊า
โปร์ตุเกสได้ทำนุบำรุงเมืองนี้
ให้เป็นศู่นย์กลางการค้าของชาวยุโรปที่ติดต่อกับจีน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๐
จีนตกลงลงนามในสนธิสัญญาฉบับหนึ่งมอบอธิปไตยในมาเก๊าให้แก่โปร์ตุเกส
ครั้นอังกฤษได้ปกครองเกาะฮ่องกงตามสนธิสัญญานานถึง พ.ศ.๒๓๘๕
ก็ได้พัฒนาเกาะสี้ให้เป็นศูนย์กลางการค้า
และการเงินที่เจริญก้าวหน้ายิ่งกว่ามาเก๊า ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา
(พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘) มีผู้ลี้ภัยไปอยู่ในมาเก๊าหกแสนคน
รายได้ของมาเก๊าได้แก่
ภาษีจากบ่อน การพนัน การท่องเที่ยว การทำประทัด ไม้ขีดไฟ และธูป
กับปลาตากแห้ง
มาเก๊ามีระบบการปกครองแบบกึ่งอธิปไตยมากกว่าเป็นอิสระจากประเทศจีน เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๑๙ โปร์ตุเกสได้ให้อธิปไตยแก่มาเก๊าอย่างกว้างขวาง และในปี พ.ศ.๒๕๓๐
โปร์ตุเกสและจีน ได้ทำความตกลงกัน โดยโปร์ตุเกสจะคืนมาเก๊าให้จีน ในปี
พ.ศ.๒๕๔๒
โดยจีนให้การรับรองว่าจะไม่มีการแทรกแซงวิถีชีวิตความเป็นอยู่
ตลอดจนระบอบทุนนิยมในมาเก๊าเป็นเวลา
๕๐ ปี
เช่นเดียวกับที่ให้การรับรองเกาะฮ่องกง
๒๓/๑๔๗๗๒
๔๓๕๒. มาฆบูชา
(ดูจาตุรงสันนิบาต - ลำดับที่
๑๓๗๕)
๒๓/๑๔๗๗๔
๔๓๕๓. มาณีกี - ลัทธิ
เป็นขบวนการทางศาสนามี่เกิดในเปอร์เชีย (อิหร่านปัจจุบัน)
เมื่อพุทธศตวรรษที่แปด
คำว่ามาณีกี มาจากคำว่ามณี หรือมาเนส ซึ่งเป็นชื่อของศาสดาผู้ตั้งลัทธินี้
มณีเกิดเมื่อปี พ.ศ.๗๕๙ ในบาปิโลเนียภาคใต้
ซึ่งในสมัยเป็นส่วนหนึ่งของจักรพรรดิ์อิหร่านอันได้แก่
ประเทศอิรักในปัจจุบัน มณีได้เจริญเติบโตอยู่ในประชาชน
ที่ได้รับอิทธิพลของคำสอนของศาสนายิว
ผสมกับศาสนาคริสต์ เมื่อมณีอายุได้ ๒๔ ปี
เทพได้บอกให้ท่านออกประกาศคำสอนของท่านต่อประชาชน
ตอนแรกท่านได้เดินทางไปยังเตสิโฟนแล้วต่อไปยังภาคตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอินเดีย
ปัจจุบันได้แก่ บาลูชิสถาน แล้วเดินทางกลับเปอร์เซียเข้าเฝ้า
และสนทนากับพระเจ้าชาปูรที่หนึ่ง
และได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ศาสนาใหม่ของท่านในเปอร์เชียได้อย่างเสรี
และได้ส่งศาสนาทูตไปเผยแพร่ในดินแดนต่างประเทศพร้อม
ๆ กันไปด้วย เมื่อพระเจ้าชาปูรที่หนึ่งสวรรคต พระเจ้าวาหรามที่หนึ่ง
ผู้เป็นโอรสองค์เล็ก
ได้ครองราชย์มณีถูกจับจำคุกจนถึงแก่ชีวิต
หลักคำสอนที่สำคัญของลัทธิมาณีกี
เป็นหลักคำสอนที่มีการผสมผสานระหว่างคริสต์ศาสนา
กับพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่
แต่เน้นในเรื่องการใช้เหตุผลมากกว่าศรัทธา ชนิดที่สอนให้เชื่ออย่างงมงาย
ทำให้นักปราชญ์คนสำคัญของตะวันตก
เช่น ออกัสตินและเพื่อน ๆ ได้หันมานับถือลัทธิมาณีกีอยู่เป็นเวลานาน
แต่ภายหลังนักบวชในลัทธิมาณีก็ได้โต้วาทะพ่ายแพ้แก่เซนต์อันโบรส
นักบวชที่มีชื่อเสียงของคริสต์ศาสนา จึงทำให้ออกัสตินหมดศรัทธา
แล้วหันไปนับถือคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก
ในที่สุดได้รับสถาปนาเป็นเซนต์ในตอนต้นสมัยกลาง
มณีเห็นว่าตัวท่านเป็นศาสดาพยากรณ์องค์สุดท้ายที่พระเจ้าส่งมาให้โปรดมนุษยชาติ
โดยเริ่มจากอาศัยเป็นต้นมา และเชื่อว่าศาสดาพยากรณ์ที่สำคัญได้แก่
พระพุทธเจ้า
โซโรอัสเตอร์ และพระเยซู นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๘ - ๑๙
ลัทธิมาณีกีได้รับการตอบสนองในดินแดนบางส่วนของโลก
ตั้งแต่ฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของยุโรป ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของเอเชีย
ในสามสิบปีสุดท้ายของพุทธศตวรรษที่สิบสอง
ศาสนจักรมาณีกีได้ขยายตัวเข้าไปในตะวันออกไกลและได้ไปปรากฎในประเทศจีน
เมื่อปี พ.ศ.๑๒๑๘ จนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อพวกมองโกล
ซึ่งมีเจงกิสข่านเป็นผู้นำได้ยกกองทัพไปย่ำยีเตอร์กิสถานลัทธิมาณีกีก็ได้ถูกทำลายเป็นครั้งสุดท้ายด้วย
เป็นที่มาสังเกตว่า
ลัทธิมาณีกีที่ได้เข้าสู่เอเชียกลางและประเทศจีนนั้นได้พยายามเป็นคำสอนของตนให้เข้ากับพระพุทธศาสนา
ลัทธิมาณีกีที่เข้าไปเผยแพร่อยู่ทางตะวันตกก็พยายามปรับตัวเข้ากับคำสอนในคริสต์ศาสนา
และกลายเป็นคริสต์ศาสนามากขึ้น
๒๓/๑๔๗๗๔
๔๓๕๔. มาธยมิกนิกาย
เป็นนิกายหนึ่งของพระพุทธศานาฝ่ายมหายานแปลตามศัพท์ว่า นิกายทางสายกลาง
ภิกษุนาคารชุนเป็นปฐมาจารย์ของนิกายนี้
ท่านมีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่เจ็ด
เกิดในวรรณะพราหมณ์เป็นชาวเมืองวิธรรพในอินเดียภาคใต้
ท่านเป็นคณาจารย์ฝ่ายมหายานที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยของท่าน
ท่านมีความรู้ดีทั้งฝ่ายพราหมณ์และฝ่ายพุทธ
ท่านได้อธิบายพุทธมติด้วยระบบวิภาษวิธี
นอกจากจะรู้จักกันในนามนิกายมาธยมิกะแล้ว
นิกายนี้ยังรู้จักกันทั่วไปในอีกชื่อหนึ่งว่า
นิกายศูนยวาท
โดยถือเอาคำสอนเรื่อง ศูนยตา
ที่นาคารชนได้แสดงไว้ในมหาปรัชญาปารมิตาสูตร
ท่านได้แสดงทรรศนะของท่านโดยยึดคำสอนเรื่องอนัตตา
และปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธศาสนาเป็นหลัก
แสดงให้เห็นว่าคำสอนของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงกลางระหว่างอัตถิตา
ที่ยึดว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่จริง
โดยตัวของมันเอง ซึ่งมีลักษณะเป็นสัสสตทิฎิฐิ หรือความเห็นว่าเที่ยง
กับฝ่ายนัตถิทา
ที่ยึดถือว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่จริง
ซึ่งมีลักษณะเป็นอุจเฉททิฏฐิ หรือความเห็นว่าขาดสูญ
ท่านกล่าวว่าโดยเหตุที่โลก
และสิ่งทั้งปวงมีสภาพเป็นปฏิจจสมุปปันธรรม
(คือสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดมีขึ้น)
มันจึงเป็นสิ่งสัมพันธ์
(คือสิ่งที่มีความเป็นของมันต้องขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น
เพราะเป็นสิ่งสัมพันธ์มันจึงไม่มีสุวลักษณะ
ลักษณะที่แสดงถึงความมีอยู่ได้โดยตัวของตัวเอง
โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่น มันจึงเป็นศูนยตา คือ
ว่างเปล่าจากความเป็นสิ่งที่มีอยู่ได้โดยตัวของมันเอง
เพราะเหตุนั้นปฏิจจสมุปปันนธรรมอันใด ศูนยตาก็อันนั้น ศูนยตาอันใด
มัชฌิมาปฏิปทาก็อันนั้น
เมื่อพิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยสายเกิดก็เป็นโลกสมุทัย
ความยึดถือในนัตถิตาก็หมดไป
เมื่อพิจารณาปฏิจจสมุปบาทโดยสายดับก็เป็นโลภนิโรธความยึดถือในอัตถิก็หมดไป
ท่านได้ยกพระพุทธภาษิตในสังยุตุตนิกายมาสนับสนุนมติของท่านว่า
"ดูก่อนกัจจานะโลกนี้โดยมากอาศัยส่วนสุดสองอย่างคือ
อัตถิถา (ความมี) หนึ่งนัตถิตา (ความไม่มี) หนึ่ง
ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลกด้วยปัญญอันชอบตามความเป็นจริงแล้ว
นัตถิตายอมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลกด้วยปัญญา
อันชอบตามความเป็นจริงแล้วอัตถิตาย่อมไม่มี...
ดูก่อนกัจจานะข้อที่ว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่นี้เป็นส่วนสุดยอดอย่างหนึ่ง
ข้อที่ว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่นี้เป็นส่วนสุดที่สอง
ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลางไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร..."
๒๓/๑๔๗๘๖
๔๓๕๕. มาน - โงด
(ดูท้องมาน - ลำดับที่
๒๔๗๗)
๒๓/๔๗๙๑
๔๓๕๖. ม่านลายหรือปั้นลายหรือตาพายหลังลาย
เป็นตาพายน้ำชนิดเดียวกับชนิดหนึ่งในจำนวนห้าชนิด
ที่มีรายงานในประเทศไทยชอบอาศัยอยู่ในน้ำจืด
เป็นตะพายน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปรกติจะอยู่ในน้ำ
ชอบอยู่ในที่น้ำไหลใสสะอาดพื้นเป็นทราย
๒๓/๑๔๗๙๑
๔๓๕๗. มานวธรรมศาสตร์
เป็นคัมภีร์หรือตำราทางศาสนาฉบับหนึ่งของฮินดู
เป็นคัมภีร์ที่เกิดจากแนวคิดประเพณี
และวิธีปฏิบัติของชาวฮินดู ซึ่งสืบทอดกันมากนับพันปี
นักปราชญ์หลายท่านมีความเห็นว่า
มานวศาสตร์เป็นคัมภีร์ฉบับเดียวกับคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์
เนื้อความของคัมภีร์เริ่มด้วยจินตนาการเกี่ยวกับการสร้างโลก ประกอบด้วย
แนวปฏิบัติของมนุษย์ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับธรรมชาติ
ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน
๒๓/๑๔๗๙๕
๔๓๕๘. ม้าน้ำ - ปลา
เป็นกลุ่มปลาที่มีรูปร่างลักษณะแปลกตาไม่เหมือนปลาอื่น ๆ
และพฤติกรรมบางอย่างก็ผิดแปลกไปจากปลาอื่น
พบว่ามีอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของโลกเพียง ๒๔ ชนิด และอยู่ในบริเวณทะเลเขตร้อน
และเขตอบอุ่นเท่านั้น
ในน่านน้ำไทยพบอยู่สองชนิด
๒๓/๑๔๗๙๘
๔๓๕๙. มานุษยวิทยา
เป็นวิชาที่ศึกษามนุษยจากหลาย ๆ แง่มุม โดยเน้นที่การศึกษาวัฒนธรรม
ซึ่งหมายถึง
วิถีชีวิต แบบแผน พฤติกรรม ความรู้ ความเข้าใจของมนุษย์กลุ่มต่าง ๆ
ซึ่งเป็นคนละเผ่าพันธุ์กัน
และกระจายอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของโลก ทั้งในปัจจุบันและอดีต
ดังนั้นมานุษยวิทยา
จึงเป็นวิชาที่มีขอบเขตกว้างขวางมากในแง่ภูมิศาสตร์
นักมานุษยวิทยาได้รวบรวมรายละเอียดของวิถีชีวิตชนเผ่าต่าง
ๆ
วิชาที่เป็นองค์ประกอบ
ในสหรัฐอเมริกามานุษยวิทยาประกอบด้วย วิชาหลักสี่วิชาคือ
๑. มานุษยวิทยากายภาพ
หรือมานุษยวิทยาชีวิภาพศึกษาวิวัฒนาการทางกายภาพของมนุษย์ตั้งแต่มนุษย์โบราณมาจนถึงมนุษย์โฮโมเซเปียน
ตลอดจนกลไกของวิวัฒนาการ เช่น หลักทางพันธุกรรมศาสตร์
และแนวคิดเกี่ยวกับเชื้อชาติ
๒. โบราณคดี
ศึกษาร่องรอยของมนุษย์ในอดีต
โดยเฉพาะในยุคก่อนประวัติศาสตร์
๓. ภาษาศาสตร์
ศึกษาโครงสร้างของภาษาและการสื่อสารของมนุษย์
๔. มานุษยวิทยาวัฒนธรรม
บางทีเรียกว่าชาติพันธุ์วิทยา
ศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบและอธิบายวิถีชีวิตของมนุษย์ในที่ต่าง
ๆ ในแขนงนี้ได้รวมงานที่เรียกว่าชาติพันธุ์วรรณาไว้ด้วย
ส่วนในอังกฤษวิชามานุษยวิทยาจะประกอบด้วย มานุษยวิทยากายภาพ
และมานุษยวิทยาสังคม
สำหรับประเทศไทยเป็นระบบของสหรัฐอเมริกา
และอังกฤษ
หน้า ๑๔๘๐๓
๔๓๖๐. ม้าม
เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกายตรงบริเวณชายโครงซ้ายลึกเข้าไปทางส่วนหลัง
และอยู่หลังกระเพาะอาหารตรงระดับซีโครงซีที่
๙ - ๑๐ และ ๑๑ พื้นผิวด้านบนสัมผัสกับส่วนซี่โครงของกะบังลม
ส่วนพื้นผิวด้านล่างสัมผัสกับกระเพาะอาหาร
ตับอ่อน ไตข้างซ้ายและลำไส้ใหญ่ส่วนโค้งพับทางด้านซ้าย
มีลักษณะอ่อนนุ่มคล้ายยางลบ
มีสีม่วง เคลื่อนไหวได้เล็กน้อย
ขนาดของม้ามแตกต่างกันได้มากตามอายุปรกติโตประมาณกำปั้น
โดยเฉลี่ยหนักประมาณ
๑๕๐ กรัม ภายในบ้านมีหลอดเลือดมากมาย
ภายนอกมีเยื่อบุช่องท้องลักษณะพังผืดบาง
ๆ หุ้มอยู่โดยรอบยกเว้นบริเวณขั้วม้าม
ซึ่งเป็นทางเข้าของหลอดเลือดแดงและทางออกของหลอดเลือดดำ
ม้ามมีหน้าคือ
ก. สร้างเม็ดเลือดแดงในช่วงอายุที่ยังเป็นเอมบริโอ คือ
เมื่อทารกอยู่ในครรภ์มารดา
เมื่อพ้นระยะนี้ไปแล้ว ก็สิ้นสุดหน้าที่
ข. เป็นเครื่องกรองเลือด เช่นเดียวกับต่อมน้ำเหลือง
เม็ดเลือดแดงที่ถึงอายุขัย
(ประมาณ ๑๒๐ วัน) จะถูกทำลาย ซากของเม็ดเลือดแดง จะถูกเซลล์ที่พิเศษกิน
ส่วนฮีโมโกลบินจะแตกตัวแล้วนำไปสู่ตับ
โกลบินจะถูกนำไปเก็บที่คลังของโปรตีน หรือถูกขับถ่ายออกทางปัสสาวะ
ภายหลังที่ถูกทำลายไป
ฮีมจะถูกแยกออกเป็นเหล็ก โดยเหล็กนี้จะถูกเก็บไว้
และนำมาใช้สร้างเม็ดเลือดแดงอีก
ส่วนสารสีก็จะถูกตับเปลี่ยนแปลงได้ เป็นสีน้ำดี แล้งถูกขับออกทางอุจจาระ
(เป็นสีของอุจจาระ)
การสร้างและการทำลายเม็ดเลือดแดง เกิดขึ้นในอัตราเดียวกัน
ทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงคงที่อยู่เสมอ
ค. เป็นคลังเก็บเลือด มีเลือดเก็บอยู่ในม้าม ประมาณ ๓๕๐ มล .
ไว้สำรองใช้ในยามฉุกเฉิน
ม้ามจะบีบตัวขับเลือดเข้าสู่การไหลเวียนได้ประมาณ ๒๐๐ มล.
การออกกำลังกายอย่างรุนแรง
ทำให้ร่างกายต้องการเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ เช่น กล้ามเนื้อ ปอด หัวใจ
ฯลฯ เพิ่มมากขึ้นกว่าในภาวะฟัก ในการนี้ร่างกายจะได้รับเลือดจากอวัยวะอื่น
ๆ เพิ่มขึ้น เช่น จาก ม้าม ตับ กระเพาะอาหาร ลำไส้ และไต เพราะอวัยวะต่าง
ๆ เหล่านี้จะได้รับเลือดลดลงจากเดิม ถึงร้อยละแปดสิบ
โดยการทำงานของประสาทซิมพะเทติก
ม้าม ยังมีหน้าที่เหมือนเนื้อเยื่อ น้ำเหลือง (ระบบน้ำเหลือง) คือ
ก. ทำลายแบคทีเรีย และขจัดสิ่งแปลกปลอมโดยเซลล์ ที่มีหน้าที่ทำลาย
ข. สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย
ค. ส่งน้ำในเนื้อเยื่อกลับคืนเข้าสู่การไหลเวียนของเลือด
เมื่อมีน้ำมากอยู่ในที่ว่างระหว่างเซลล์
น้ำ (และโปรตีน) จะถูกนำกลับสู่เลือดในระบบน้ำเหลือง
ม้าม ไม่ใช่อวัยวะที่จำเป็นต่อร่างกายชนิดที่จะขาดเสียมิได้
เพราะมีเนื้อเยื่อพิเศษที่สร้างเลือด
สามารถทำหน้าที่แทนม้ามได้ ถ้าจำเป็นอาจตัดม้าม
ทิ้งได้
๒๓/ ๑๔๘๑๖
๔๓๖๑. ม้ามังกร
เป็นชื่อสัตว์พาหนะของสุดสาคร โอรสองค์ที่สองของพระอภัยมณี
มีนางเงือกเป็นมารดา
ชื่อเต็มของม้ามังกรคือ นิลมังกร แสดงว่าลักษณะของมันเป็นม้า
และมังกรผสมกัน
คือ มีหน้าเหมือนมังกร มีกายเป็นม้า มีหางเป็นนาค และมีฤทธิ์เดชอื่น ๆ
เช่น
เขี้ยวเป็นเพชร เกล็ดเป็นนิล ลิ้นเป็นปาน
คงทนต่ออาวุธมีกำลังมาก
๒๓/๑๔๘๑๙
๔๓๖๒. มายอ
อำเภอ ขึ้น จ.ปัตตานี ภูมิประเทศตอนกลางลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตอนเหนือ
ส่วนมากเป็นที่ลุ่ม
ตอนใต้เป็นที่ดอนโดยมาก พลเมืองส่วนมากเป็นไทยอิสลาม
อ.มายอ เดิมตั้งที่ว่าการที่ บ.ระเกาะ ต.เกาะจัน เรียกว่า อ.ระเกาะ
แล้วย้ายไปตั้งที่
ต.มายอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.มายอ
๒๓/๑๔๘๒๐
๔๓๖๓. ม้าย่อง
เป็นชื่อเพลงไทยเพลงหนึ่ง ใช้ทั้งบรรเลงและร้องส่งให้ดนตรีรับ
เพลงม้าย่องสองชั้นเป็นเพลงเก่า
สมัยอยุธยา สำหรับร้องส่งในวงมโหรีและประกอบการแสดงละคร
ในตำราดนตรีโบราณจัดไว้เป็นเพลงตับเรียกว่า
เพลงตับเรื่องม้าย่อง มีอยู่สามเพลงด้วยกันคือ เพลงม้าย่อง เพลงม้ารำ
และเพลงพิไสน้ำทอง
๒๓/๑๔๘๒๑
๔๓๖๔. มาร
มาจากคำบาลีแปลว่า ผู้ให้ตายคือ ให้ตายจากคุณงามความดี ในทางพระพุทธศาสนา
หมายถึง ผู้กีดกันบุญกุศล ท่านจำแนกไว้าห้าจำพวกด้วยกันคือ
๑. กิเลสมาร มาร คือ กิเลส
๒. ขันธมาร มาร คือ ขันธ์ห้า
๓. อภิสังขารมาร มาร คือ อภิสังขารสาม
๔. เทวปุตตมาร มาร คือ เทพบุตร
๕. มัจจุมาร มาร คือ ความตาย
ตามความเข้าใจของคนทั่ว ๆ ไป ในปัจจุบัน ผู้ที่มีจิตใจบาปหยาบช้า
คอยกีดกันขัดขวางผู้อื่น
ไม่ให้ทำความดีก็เรียกว่า
เป็นมาร
๒๓/๑๔๘๒๓
๔๓๖๕. มารวิชัย
เป็นชื่อเรียกพระพุทธรูปปางหนึ่ง โดยเรียกตามเค้าเรื่องของพระพุทธเจ้า
ครั้งยังเป็นพระมหาบุรุษก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ได้ทรงชนะพญามารและเสนามาร ด้วยพระบารมีสามสิบทัศ ที่ทรงบำเพ็ญมา
พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยบถ
นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวา
วางที่พระชานุ
(เข่า)
นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณี
๒๓/๑๔๘๒๘
๔๓๖๖. มาราธอน
หมายถึง การแข่งขันวิ่งประเภทหนึ่ง มีระยะทาง ๒๖ ไมล์ ๓๘๕ หลา หรือ ๔๒.๑๙๕
กม. ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรก ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่หนึ่ง
ที่กรุงเอเธนส์ ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ มีนักกีฬาเข้าแข่งขัน ๒๙๕ คน
การแข่งขันครั้งนั้นเป็นการทบทวนอนุสรณ์ของนายฟิดิฟ
ฟีดัส พลทหารสื่อสาร ซึ่งวิ่งจากสมรภูมิกลางทุ่งมาราธอน ไปยังกรุงเอเธนส์
เพื่อนำข่าวชัยชนะที่กองทัพเอเธนส์ มีต่อกองทัพเปอร์เซีย เมื่อปี
พ.ศ.๕๓
๒๓/๑๔๘๓๒
๔๓๖๗. มาลัยสูตร
เป็นพระสูตรหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่า เป็นพระสูตรนอกคัมภีร์พระไตรปิฎก
ไม่ปรากฎชื่อผู้แต่ง
และไม่ทราบสมัยที่แต่ง บางท่านสันนิษฐานว่า
เป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
เพราะกล่าวถึงปาฎิหารย์และกล่าวถึง พระโพธิสัตว์
ซึ่งจะมาตรัสรู้ในภายภาคหน้า
คล้ายกับคติของฝ่ายมหายาน
มาลัยสูตร
เป็นพระสูตรที่เชื่อถือกันมากในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวไทยมาเป็นเวลาช้านาน
เช่น นิยมมีเทศน์มาลัยสามธรรมาสน์ คือ
นิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์ปุจฉาวิสัชนากับสามองค์
องค์หนึ่ง สมมุติตนเป็นพระมาลัยเทวเถระ องค์หนึ่ง
สมมุติตนเป็นพระศรีอาริยเมตไตย
บรมโพธิสัตว์ องค์หนึ่ง สมมุติตนเป็น กระทาชายคนเข็ญใจ
เทศน์ปุจฉาวิสัชนากัน
ถึงเรื่อง นรก สวรรค์ บาป บุญ ที่จะทำให้คนไปตกนรก และขึ้นสวรรค์
ว่ามีอย่างไร
และศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตร เป็นอย่างไร
มีกวีแต่งเรื่องราวในมาลัยสูตร เป็นกลอนสดไว้ในวรรณคดีไทย
ฉบับเก่าที่สุดคือ
พระมาลัยกลอนสวด แต่งราวปี พ.ศ.๒๒๘๑ นอกจากนั้น เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์
ยังได้ทรงนิพนธ์มาลัยสูตร
เป็นคำกลอนลิลิตไว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๐ เรียกกันว่า พระมาลัยคำหลวง
นิยมนำมาสวดในงานพิธี
กล่าวคือ แต่เดิมมาใช้สวดในงานมงคลบ่าวสาว คือ
ใช้สวดในขณะที่เจ้าบ่าวไปนอนเฝ้าหอ
แต่ต่อมาจนบัดนี้กลับนำไปสวดในงานอวมงคลคือ
สวดหน้าศพ
๒๓/๑๔๘๓๓
๔๓๖๘. ม้าลาย
เป็นสัตว์ที่มีลวดลายสวยงามแปลกตา ถึงแม้ได้ชื่อว่า ม้าลาย
แต่ลักษณะส่วนใหญ่แตกต่างจากม้า
โดยส่วนรวมแล้วเหมือนลา มากกว่า
ม้าลายเป็นสัตว์หัวดื้อ สอนไม่จำ ฟันคม สามารถกัด และเตะได้รุนแรงมาก
เป็นสัตว์ที่ปราดเปรียว
วิ่งได้เร็ว ม้าลายแบ่งออกได้เป็นสามชนิดคือ ม้าลายเกรวี ม้าลายภูเขา
และม้าลายพื้นราบ
ม้าลายอายุยืนประมาณ ๒๕ - ๓๐ ปี
ม้าลายพื้นราบ โดยมากอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ฝูงหนึ่งอาจมีหลายร้อยตัว
จนถึงพันตัวก็มี
ชอบเล็มหญ้าหากินในทุ่งหญ้า
รวมกับสัตว์ป่าอื่นๆ
๒๓/๑๔๘๓๕
๔๓๖๙. มาลาเรีย - ไข้
เป็นไข้ที่เกิดเพราะถูกยุงก้นปล่อง ที่มีเชื้อมาลาเรียกัด
มีอาการหนาวและสั่น
มาลาเรียเริ่มใช้เรียกโรคนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๗๐
เป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงของประเทศต่าง
ๆ ในแถบร้อน และแถบอบอุ่น
มีสถิติการตายด้วยโรคนี้เป็นลำดับที่หนึ่งมาเป็นเวลานาน
ปัจจุบันอัตราการตายลดลงไปมาก เหลือเป็นอันดับหกของอัตราการตายทั้งประเทศ
ไข้มาลาเรีย มีอาการที่สำคัญคือ จับไข้เป็นเวลา วันเว้นวัน
หรือวันเว้นสองวัน
การจับไข้กินเวลาตั้งแต่ ๑๕ นาที จนอาจถึง ๑ ชั่วโมง
เดิมมาลาเรีย มีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น ไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ดอกสัก ไข้ป้าง
ไข้เจลียว ฯลฯ ๒๓/๑๔๘๔๐
๔๓๗๐. มาเลเซีย
เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ ๓๓๒,๕๖๖ ตร.กม.
ประกอบด้วย
ดินแดนสองส่วนแยกออกจากกัน ส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในคาบสมุทรมลายู
มีชื่อเรียกว่า
มาเลเซียตะวันตก มีพื้นที่ ๑๓๓,๑๐๐ ตร.กม. อีกส่วนหนึ่งตั้งอยู่ในภาคเหนือ
และภาคตะวันตกของเกาะบอร์เนียว มีชื่อว่า มาเลเซียตะวันออก มีพื้นที่
๑๙๙,๔๔๐
ตร.กม.
ลักษณะภูมิประเทศของมาเลเซียตะวันตก ประกอบด้วยเทือกเขาสูงเป็นแนวยาว
อยู่ทางตอนในของคาบสมุทร
ส่วนตามบริเวณชายฝั่งทะเลมีที่ราบ
แม่น้ำสายยาวที่สุดของมาเลเซียตะวันตกคือ
แม่น้ำปาหัง ยาว ๔๕๐ กม.
ส่วนมาเลเซียตะวันออก มีเทือกเขาสูง ๆ อยู่ทางตอนใน ยอดสูงที่สุดสูง
๔,๑๐๑ เมตร เป็นยอดเขาสูงสุดในเกาะบอร์เนียว
ประชากรของมาเลเซีย ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ ได้แก่ คนเชื้อชาติมาเลย์
(หรือมลายู)
ร้อยละ ๔๔ เชื้อชาติจีน ร้อยละ ๓๖ เชื้อชาติอินเดีย ร้อยละ ๑๐
และชนพื้นเมืองเผ่าต่าง
ๆ ร้อยละ ๑๐ ประชากรนับถือศาสนาและลัทธิต่าง ๆ กัน
โดยมีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ
นอกนั้นมีศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู พระพุทธศาสนา ลัทธิขงจื้อ ลัทธิเต๋า
และลัทธินับถือผีสางเทวดา
มาเลเซีย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
โดยมีประมุขของประเทศดำรงตำแหน่งพระราชาธิบดี
(ยังดี เปอตวน อากง) เลือกตั้งขึ้นจากที่ประชุมของสุลต่านเก้ารัฐคือ
กลันตัน
ตรังกานู เคดะห์ (ไทรบุรี) เนกรีเซมบีลัน ปะลิส เประ ปาหัง สลังงอ
และยะโฮร์
ดำรงตำแหน่งวาระละห้าปี ส่วนประมุขของฝ่ายบริหารคือ นายกรัฐมนตรี รัฐสภา
ประกอบด้วยสองสภา
ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภา
ซึ่งมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง
และการแต่งตั้งรวมกัน
การปกครองเป็นแบบสหพันธรัฐคือ แบ่งออกเป็นรัฐต่าง ๆ รวม ๑๓ รัฐ
อยู่ในมาเลเซียตะวันตก
๑๑ รัฐ และในมาเลเซียตะวันออก ๒ รัฐ รัฐที่ไม่มีสุลต่าน มีอยู่ ๔ รัฐคือ
ปีนัง
มะละกา ซาบาห์ และซาราวัก เมืองหลวงของประเทศคือ กัวลาลัมเปอร์
ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมาเลเซีย แบ่งออกเป็นสองส่วนต่างหากจากกันคือ
ก. - มาเลเซียตะวันตก
ก่อนจะสถาปนาเป็นประเทศเอกราช ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ดินแดนของมาเลเซียตะวันตก
รู้จักกันในชื่อว่า
มลายู
เคยเป็นดินแดนใต้ การปกครองของไทยบ้าง ของประเทศตะวันตกบ้าง
ดินแดนที่เคยอยู่ใต้การปกครองของไทย ได้แก่ เคดะห์ (ไทรบุรี) กลันตัน
ตรังกานู
ปะลิส และปีนัง (เกาะหมาก) ส่วนชาติตะวันตก ได้แก่ โปร์ตุเกส
เข้ามายึดครองมะละกา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๔ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๘๔ ฮอลันดา
ยึดมะละกาไปได้
และต่อมาอีกร้อยปีเศษ อังกฤษ
ได้เข้ามาแทนที่ฮอลันดา ได้สร้างสถานีการค้าขึ้นที่ปีนัง ในปี พ.ศ.๒๓๒๙
และสิงคโปร์ในปี
พ.ศ.๒๓๖๒ และยึดเมืองมะละกาจากฮอลันดาในปี พ.ศ.๒๓๖๗ อังกฤษได้ค่อย ๆ
ขยายอิทธิพลออกไปในรัฐต่าง
ๆ ของมลายู โดยการเจรจาทำสนธิสัญญากับสุลต่าน
ผู้ครองรัฐบีบบังคับให้รัฐต่าง
ๆ ต้องเข้ามาอยู่ใต้การดูแลปกครองของอังกฤษ จนหมดสิ้นในที่สุด
ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้เข้ามายึดครองมลายูแทนอังกฤษ
เมื่อสงครามยุติลงอังกฤษได้กลับมาปกครองอีก
แต่ก็ถูกต่อต้านจากชาวมาเลเซีย ในที่สุดอังกฤษได้ยอมมอบเอกราชให้ ในปี
พ.ศ.๒๕๐๐
และได้มีการสถาปนารัฐต่าง ๆ ในมาเลเซียตะวันตกทั้ง ๑๑ รัฐ
ขึ้นเป็นประเทศสหพันธรัฐมลายู
สิงคโปร์ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ได้ขอเข้าร่วมเป็นรัฐหนึ่งของมาเลเซีย
พร้อมกับรัฐซาราวัก และซาบาห์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๘
สิงคโปร์ได้ขอแยกออกไปตั้งเป็นประเทศ
๒๓/๑๔๘๔๖
๔๓๗๑. ม่าเหมี่ยว
(ดู ชมพู่ ลำดับที่
๑๖๓๕)
๒๓/๑๔๘๕๒
๔๓๗๒. มิตรภาพ
เป็นชื่อของทางหลวงแผ่นดินสายสระบุรี - นครราชสีมา
ตั้งต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข
๑ (พหลโยธิน) ที่ กม.๑๐๗.๓๐๐ ต.ปากข้าวสาร อ.เมือง ฯ จ.สระบุรี ถึง
อ.เมือง
ฯ จ.นครราชสีมา ยาว ๑๔๗ กม. สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ เสร็จปี พ.ศ.๒๕๐๑
ปัจจุบันคือ
ตอนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ ทางหลวงแผ่นดินสายพิษณุโลก - หล่มสัก
ตั้งต้นต่อจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๒ (ตอนสุโขทัย - พิษณุโลก) ตรง
กม. ที่ ๕๗.๗๗๑ ต.บ้านคลอง อ.เมือง ฯ จ.พิษณุโลก ไปสุดที่ กม.๑๓๐.๕๓๙
ต.หนองไขว่
อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ระยะทาง ๑๒๔.๙ กม. เริ่มสร้างปี พ.ศ.๒๕๐๐
เสร็จปี
พ.ศ.๒๕๐๔ ปัจจุบันคือ ตอนหนึ่งของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข
๒๑
๒๓ /๑๔๘๕๒
๔๓๗๓. มินดง - พระเจ้า
เป็นกษัตริย์ที่มีชื่อเสียงและความสามารถมากที่สุดองค์หนึ่งของราชวงศ์อลองพญา
ของพม่าครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๙๖ - ๒๔๒๑ พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่
การฑูตที่ชาญฉลาดลึกซึ้ง ในการติดต่อกับอังกฤษ
และการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยแบบตะวันตก
๒๓/๑๔๘๕๓
๔๓๗๔. มิ้ม - ผึ้ง
เป็นผึ้งชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ผึ่งมิ้ม (ดู ผึ้ง - ลำดับที่
๓๖๗๑)
๒๓/๑๔๘๖๖
๔๓๗๕. มิลักขะ
เป็นชื่อเรียกชาวพื้นเมืองเดิมของอินเดีย มีชื่อเรียกอีกสองชื่อว่า
ดราวิเดียน
หรือดราวิด มีรูปร่างเตี้ย ผิวดำ จมูกกว้าง อาศัยอยู่ในอินเดียมาแต่เดิม
ก่อนที่พวกอารยันจะเข้ามาตั้งตัวเป็นใหญ่
ปกครองเมื่อประมาณ ๙๕๐ ปี ก่อนพุทธศักราช พวกอารยันได้รุกรานพวกมิลักขะ
จากทางเหนือทำให้พวกนี้ต้องถอยร่นลงมาทางใต้
และบางส่วนข้ามไปยังเกาะศรีลังกา
จากการขุดค้นพบอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕
ทำให้ทราบว่าอารยธรรมของอินเดียนั้น
มีมาก่อนพวกอารยันจะนำความเจริญเข้ามาสู่อินเดีย
พวกมิลักขะเป็นผู้สร้างอารยธรรมที่ทำให้อินเดีย
มีความเจริญอย่างสูง มาตั้งแต่ช่วงประมาณ ๒,๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช
คณะผู้ขุดค้นโบราณวัตถุของสมามคมโบราณคดีอังกฤษในอินเดีย ในปี พ.ศ.๒๓๗๙
(ต้นฉบับ
พ.ศ.๑๓๗๙) ค้นพบได้ซากเมืองฮาร์รัปปา ในแคว้นปัญจาบ ต่อมาในปี
พ.ศ.๒๓๘๐
(ต้นฉบับ พ.ศ.๑๓๘๐) ค้นพบซากเมืองโมเหนโจ ทาโร ในแคว้นสินธุ
บริเวณที่เป็นความเจริญของอารยธรรมนี้
อยู่บนแม่น้ำสินธุ และมีอาณาเขตกว้างขวางมากคือ
ครอบคลุมพื้นที่จากตะวันตกไปตะวันออกถึง
๑,๕๐๐ กม. แสดงว่า
อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างใหญ่กว่า
อารยธรรมที่รุ่งเรืองในสมัยเดียวกัน อันได้แก่ อารยธรรมอียิปต์
และอารยธรรมเมโสโปเตเมีย
๒๓ /๑๔๘๖๖
๔๓๗๖. มิลินทปัญหา - คัมภีร์
เป็นคัมภีร์เก่าแก่และสำคัญคัมภีร์หนึ่งในพระพุทธศาสนา เชื่อกันว่า
รจนาขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๔ - ๕ เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมคำสนทนาธรรม ระหว่างพระเจ้ามิลินท์
กับพระนาคเสน
โดยพระเจ้ามิลินท์เป็นผู้ถาม และพระนาคเสนเป็นผู้ตอบ
ศาตราจารย์ ริส เดวิด ผู้แปลมิลินทปัญหา เป็นภาษาอังกฤษ เป็นคนแรกเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๓๓ กล่าวว่า มิลินทปัญหา แต่งขึ้นทางอินเดียภาคเหนือ
ราวแรกตั้งคริสต์ศักราช
ในเวลาที่พระพุทธศาสนายังไม่เกิดแยกกัน เป็นนิกายมหายาน ข้างฝ่ายเหนือ
และนิกายเถรวาทข้างฝ่ายใต้
และเดิมคงแต่งเป็นภาาาสันสกฤต หรือภาษาปรากฤต เช่นเดียวกับคัมภีร์อื่น ๆ
ที่รจนาขึ้นในอินเดียภาคเหนือ
แต่ฉบับเดิมสูญหายไปแล้ว ฉบับที่ปรากฎสืบมาจนถึงทุกวันนี้
เป็นฉบับที่ชาวลังกาได้แปลเป็นภาษาบาลีไว้
ริด เดวิดส์ ได้ให้ข้อสรุปไว้ว่า เมื่อประมวลหลักฐานต่าง ๆ
จากชื่อสถานที่สำคัญและแม่น้ำสำคัญที่กล่าวถึงในคัมภีร์นี้แล้ว
ก็พอสรุปได้ว่า
ผู้รจนาคัมภีร์นี้อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย
หรือในแคว้นปัญจาป ของอินเดียปัจจุบัน และกล่าวอีกว่า มิลินทปัญหา
รจนาขึ้นภายหลังคัมภีร์กถาวัตถุ
ซึ่งเป็นคัมภีร์ในพระอภิธรรมปิฎก ที่แต่งโดยพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ
ในคราวกำลังสังคายนาครั้งที่สาม
เพราะเมื่อเปรียบเทียบคัมภีร์ทั้งสองดูแล้ว จะเห็นว่าข้อความในมิลินทปัญหา
หลายตอนมาจากคัมภีร์กถาวัตถุ
พระเจ้ามิลินท์ หรือพระยามิลินท์ เป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีก ครองสาคลนคร
ในแคว้นปัญจาป
ปัจจุบัน ประสูติที่เมืองอาเล็กซานเดรีย ทางเป็นกษัตริย์ที่เป็นนักปราชญ์
มีความรอบรู้ในด้านศาสนา และปรัชญา ทั้งตะวันตกและตะวันออก
อย่างหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก
พระองค์ได้ยกกองทัพไปตีเมืองต่าง ๆ
แผ่อำนาจมาถึงตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำคงคา
เดิมพระองค์มิได้ทางเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
และยังพยายามขัดขวางการขยายตัวของพระพุทธศาสนาอีกด้วย
พระองค์ได้ประกาศท้าโต้วาทะ กับบรรดาพราหมณ์และคฤหัสถ์
ผู้เป็นปราชญ์ในลัทธิศาสนาต่าง
ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาและปรัชญา ปรากฎว่าไม่มีผู้ใดสู้ได้
คณะสงฆ์ในสมัยนั้น จึงได้เลือกพระนาคเสน ซึ่งเป็นพระเถระผู้สามารถรูปหนึ่ง
มาสนทนาเรื่องศาสนาและปรัชญา กับพระเจ้ามิลินท์
พระนาคเสนเกิดที่กชิงคลคาม
ใกล้ภูเขาหิมาลัย ได้ศึกษาศิลปวิทยาตั้งแต่อายุเจ็ดขวบ
ศึกษาเล่าเรียนได้รวดเร็วมาก
มีความรอบรู้ทั้งไตรเพท และศิลปศาสตร์อื่น ๆ แต่มีความรู้สึกว่า
วิชาการต่าง
ๆ ที่เล่าเรียนมาทั้งหมด ไม่มีสาระอะไรมากนัก ต่อมาได้พบกับพระโรหณเถระ
จึงถามท่านว่า
ท่านรู้วิชาคือ มนตร์อันสูงสุดในโลกหรือไม่ ท่านตอบว่า
รู้แต่จะบอกให้เฉพาะผู้ที่บวชเท่านั้น
พระนาคเสนจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร แล้วต่อมาได้อุปสมบทเป็นภิกษุ
ได้ศึกษาอภิธรรมก่อน
จนมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฏก ต่อมาพระโรหณเถระ
ได้ส่งพระนครเสนไปอยู่กับพระอัสสคุตเถระ
เพื่อศึกษาความรู้เพิ่มเติม
ต่อมาพระอัสสคุตเถระได้ส่งพระนาคเสนไปอยู่ในสำนักของพระพุทธรักขิตเถระ
ณ อโศการาม เมืองปาฎลีบุตร เพื่อศึกษาพระพุทธวจนะ
ให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น
และได้ปฎิบัติสมณธรรม จนกระทั่งได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
พร้อมทั้งปฎิสัมภิทาสี
คือ ปัญญาแตกฉานในเหตุในผล ในนิรุกติศาสตร์ และในปฎิภาณไหวพริบ
เมื่อพระนาคเสน ได้เป็นพระอรหันต์แล้วก็กลับไปถิ่นเดิม
และทางคณะสงฆ์ได้พาท่านไปยังสาคลนคร
เพื่อโต้ตอบปัญหากับพระยามิลินท์ เมื่อพระเจ้ามิลินท์ทรงทราบว่า
ยังมีพระเถระผู้ฉลาดมีสติปัญญาคือ
พระนาคเสน จึงเสด็จไปหาและได้มีการสนทนาโต้ตอบปัญหาต่าง ๆ
ระหว่างกันอยู่เป็นเวลาหลายวัน
ผลปรากฎว่า พระเจ้ามิลินท์สู้ไม่ได้ จึงยอมแพ้ และเลื่อมใสในพระนาคเสนมาก
ถึงกับทรงสร้างมิลินทวิหารถวาย
พระเจ้ามิลินท์ทรงเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดมาก
ได้ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ให้แพร่หลายไปในอาณาบริเวณตั้งแต่ภูเขาฮินดูกูษ จนถึงลุ่มแม่น้ำสินธุ
ทรงมีความยุติธรรมอย่างยอดเยี่ยม
และทรงเป็นที่รักของประชาชนทุกชั้นวรรณะ
ในเหรียญกษาปณ์ที่มีรูปพระองค์นั้น
มีตราธรรมจักรอยู่ด้วย ต่อมาพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงสละราชสมบัติ
ออกผนวชเป็นภิกษุ
และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
๒๓/๑๔๘๗๕
๔๓๗๗. มิสซา
มาจากคำว่า ละติน ซึ่งแปลว่า ถูกส่งไปแล้ว
มิสซาเป็นพิธีกรรมของชาวคริสต์นิกายคาทอลิกโดยเฉพาะ
นิกายอื่น ๆ นิยมใช้ว่า ศีลมหาสนิท หรืออาหารค่ำมื้อสุดท้าย
เป็นการระลึกถึงการบริโภคอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู
กับสาวกทั้งสิบสองคน ในวันพฤหัสบดีก่อนจะถูกจับตัวไปในตอนดึกวันเดียวกัน
และถูกกล่าวโทษถึงขั้นถูกตัดสินประหารชีวิต
ด้วยวิธีตรึงกางเขนในวันศุกร์เวลาบ่ายสามโมง ตามคัมภีร์ไบเบิล
มีกล่าวไว้ว่า
ระหว่างที่บริโภคอาหารกันอยู่ พระเยซูได้หยิบขนมปังมาถือก้อนหนึ่ง
อธิษฐานและบิออกแจกจ่ายให้สาวก
พลางกล่าวว่า "จงรับไปแบ่งกันกินให้ทั่วกันเถิด เพราะนี่คือ กายของเรา
และได้จับจอกเหล้าองุ่นมาถือแล้วกล่าวว่า
จงรับไปแบ่งกันกินให้ทั่วหน้าเถิด เพราะนี่คือโลหิตของเรา
ที่จะหลั่งออกเพื่อไถ่บาปมนุษย์
" แล้วเสริมว่า" จงทำเช่นเดียวกันนี้เพื่อระลึกถึงเรา"
พิธีกรรมนี้ ในระยะเริ่มแรกชาวคริสต์คงได้ปฎิบัติกันในรูปของความรัก
ความเสียสละต่อกันโดยพยายามเลียนแบบ
การเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู ให้ใกล้เคียงที่สุด
เพื่อระลึกและรับส่วนแบ่งจากบุญบารมีของพระเยซู
โดยเลี้ยงกันจริง ๆ ในเวลาค่ำ ใครมีทรัพย์สิ่งของมากก็บริจาคมาก
มีน้อยก็บริจาคน้อย
ใครขัดสนก็ได้รับการช่วยเหลือ ทุกคนร่วมชุมนุมกันในฐานะเสมอกัน จากนั้น
ประธานของที่ประชุมก็หยิบขนมปัง
และเหล้าองุ่นขึ้นเสก และแจกจ่ายกันกิน และดื่มกันทั่วหน้า
นำส่วนที่เหลือไปฝากแก่ผู้ที่ไม่ได้มา
ต่อมาเริ่มมีการปฎิบัติผิดเจตนาดั้งเดิมคือ ถือโอกาสมาดื่มฟรีกินฟรี
นักบุญเปาโลจึงเตือนให้คิดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ
ศีลมหาสนิท เมื่อเป็นเช่นนี้ การชุมนุมเพียงแต่เพื่อเสกศีล
และรับศีลมหาสนิท
ก็จะสั้นเกินไป จึงได้มีพิธีเตรียมตัวเตรียมใจ โดยการสวดมนตร์ ร้องเพลง
อ่านคัมภีร์
และเทศน์ บางคนที่รู้สึกว่า ยังไม่พร้อมที่จะรับศีลมหาสนิท
แต่ก็อยากร่วมชุมนุมจึงขอร่วมพิธีมิสซา
โดยไม่รับศีลมหาสนิท
มิสซาจึงปรากฎแยกออกจากการรับศีลมหาสนิท
๒๓/๑๔๘๘๑
๔๓๗๘. มีเทน
เป็นแก๊ส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่เป็นพิษ เบากว่าอากาศจุดไฟติด
ให้เปลวไฟสีชัด
สว่างเรือง ให้ความร้อนสูง ผลที่ได้จากการเผาไหม้คือ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
ในธรรมชาติ แก๊สมีเทน มีปรากฎอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ เช่น มีอยู่ประมาณร้อยละ
๗๕ ในแก๊สธรรมชาติ ตามหนองน้ำ บึง คลอง
ที่มีซากพืชทับถมเน่าเปื่อยอยู่ที่ก้นท้องน้ำ
แบคทีเรียที่ไม่ใช้อากาศ จะทำให้ซากพืชดังกล่าวย่อยสลายตัว
ให้กาสมีเทนเกิดขึ้น
เมื่อแก๊สนี้ลอยขึ้นสู่อากาศจนมีปริมาณพอเหมาะ
ก็จะมีปฎิกิริยาเคมีกับแก๊สออกซิเจนในอากาศ
ทำให้แก๊สมีเทนติดไฟ ให้แสงเรืองวูบวาบ ลอยไปมา
เห็นได้ชัดในเวลากลางคืนเดือนมืด
ชาวบ้านเรียกกันว่า ผีกระสือ
แก๊สชีวภาพมีองค์ประกอบเป็นแก๊สมีเทน ประมาณร้อยละ ๕๔ - ๗๐
แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
ประมาณร้อยละ ๒๗ - ๔๕ นอกนั้นเป็นแก๊สอื่น ๆ
ปะปนอยู่ด้วย
๒๓/๑๔๘๘๘
๔๓๗๙. มีนบุรี
เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมเป็นอำเภอ เคยเป็นเมืองตั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕
โดยรวมอำเภอสี่อำเภอ
ในทุ่งแสนแสบ คือ อ.คลองสามวา อ.แสนแสบ อ.เจียรดับ และ อ.หนองจอก
ยกขึ้นเป็นเมืองตั้งใหม่
รวมอยู่ในมณฑลกรุงเทพ ฯ ชื่อ เมืองมีนบุรี ต่อมายุบเป็นอำเภอ ขึ้น
จ.พระนคร
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ เปลี่ยนเป็นเขต เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๑๖
๒๓/๑๔๘๙๑
๔๓๘๐. มือเสือ ๑ - หอย
เป็นหอยสองฝาขนาดใหญ่ มีแหล่งอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง ในแถบมหาสมุทรอินเดีย
และมหาสมุทรแปซิฟิก
หอยมือเสือ ที่แพร่กระจายอยู่ในน่านน้ำทั่วโลก มีสองสกุล หกชนิด
ชนิดที่ใหญ่ที่สุดมีรายงานว่า
เปลือกยาวถึง ๑.๓๗ เมตร หนักประมาณ ๓๐๐ กก.
หอยมือเสือ มีเปลือกหนาและหนัก สีขาวหรือเหลืองอ่อน ลักษณะเป็นลอน
เหมือนกระเบื้องลูกฟูก
ตัวหอยยึดติดกับเปลือกด้วยกล้ามเนื้อ ที่บริเวณกลางลำตัว
กล้ามเนื้อนี้ยังทำหน้าที่ดึงเปลือกให้ปิดเข้าหากัน
เมื่อถูกรบกวน ๒๓/๑๔๘๙๒
๔๓๘๑. มือเสือ ๒ - มัน
(ดู มัน - ลำดับที่
๔๓๔๑)
๒๓/๑๔๘๙๔
๔๓๘๒. มุก - หอย
เป็นหอยสองฝา ที่อาศัยอยู่ในทะเล สามารถสร้างไข่มุกที่มีคุณภาพดี
เปลือกมีลักษณะค่อนข้างกลมแบน
ด้านนอกเป็นสีเทา สีน้ำตาลหรือสีม่วงเข้ม แล้วแต่ชนิด
ด้านในมีสีเหลือบเป็นมันวาว
เหมือนสีมุก ตัวหอยยึดติดกับเปลือกด้วยกล้ามเนื้อ ที่อยู่บริเวณกลางลำตัว
อวัยวะภายในมีแผ่นเนื้อเยื่อบางปกคลุม เหงือกใหญ่โค้งไปตามเปลือก
ทำหน้าที่หายใจ
และกรองอาหาร ตีนมีขนาดเล็ก ยื่นออกไปทางด้านหน้าใช้ในการเคลื่อนที่
หอยมุก มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น หอยมุกจาน หอยมุกญี่ปุ่น
เปลือกของหอยมุกยังนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง
เช่น ใช้ประดับตกแต่งของใช้และเครื่องเรือน เรียกกันว่า เครื่องมุก
หรือใช้ประดับบานประตูโบสถ์
และวิหารของวัด
ไข่มุก เกิดขึ้นเนื่องจากมีวัตถุจากภายนอก
พลัดเข้าไปติดอยู่ในตัวหอยโดยบังเอิญ
ติดแน่นจนหอยไม่สามารถขจัดออกไปจากตัวได้ หอยจึงผลิตน้ำเมือกออกมาเคลือบ
ในน้ำเมือกมีสารพวกหินปูนที่อยู่ในรูปอาราโกไนต์
ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่หอย นำไปสร้างเปลือก
น้ำเมือกจะเคลือบสิ่งแปลกปลอม
ดังกล่าวเป็นชั้น ๆ จนแข็งตัวและหนาขึ้นตามลำดับ กลายเป็นมุกอยู่ในตัวหอย
มีชั้นมุกหนาเกิดเป็นสีรุ้ง แวววาว
ไข่มุก เป็นเครื่องประดับที่สวยงามและมีค่า
เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย
๒๓ / ๑๔๘๙๔
๔๓๘๓. มุกดา หรือมุกดาหาร
เป็นรัตนชาติชนิดหนึ่ง มีสีหมอกจัด ทางวิชาการคือ มูนสโตน
ในตำรานพรัตน์ของไทย
มุกดาเป็นรัตนชาติ ในอันดับที่เจ็ด "มุกดาหาร หมอกมัว"
คำว่า มุกดาหาร ในตำรานพรัตน์แต่เดิมหมายถึง ไข่มุก
คำไทยที่ใช้เรียกมุกดาหาร
อีกคำหนึ่งคือ จันทรกานต์ และมีอีกชื่อว่า มณีจักร
ทางวิชาการ มูนสโตน เป็นเพลล์สปาร์ ชนิดออร์โทเคลล์ หรือ
อะดูลาเรีย
ไร้สีโปร่งแสง จนเกือบโปร่งใสสมบูรณ์ เมื่อสะท้อนแสงออกสีอมฟ้า
หรือสีน้ำเงิน
เหลือบน้ำนม หรืออาจมีเหลือบอย่างมุก
คล้ายปรากฎการณ์ทางแสงแบบโอปอล์
๒๓/๑๔๘๙๗
๔๓๘๔. มุกดาหาร
จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือจด จ.นครพนม ทิศตะวันออก
ตกแม่น้ำโขง
และประเทศลาว ทิศใต้จด จ.อุบลราชธานี จ.ยโสธร และ จ.ร้อยเอ็ด ทิศตะวันตก
จด
จ.กาฬสินธ์ ระยะทางตามถนน (ทางหลวงแผ่นดิน) ห่างจากกรุงเทพ ฯ ๖๔๗ กม.
ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง
ด้านทิศใต้และทิศตะวันตก มีทิวเขาภูพาน ป่าไม้และดงทึบ
ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบสลับป่า
และมีแม่น้ำโขงเป็นเขตกั้นแดนกับประเทศลาว มีลำน้ำสำคัญหลายสาย
จ.มุกดาหาร เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า
เจ้ากินรี เจ้าเมืองโพสิน ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
ได้อพยพมาตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงปากห้วยมุก
ให้ชื่อเมืองว่า มุกดาหาร มีฐานะเป็นเมืองขึ้นการปกครองกับมณฑลอุดร
ต่อมาได้ยุบเมืองมุกดาหารลงเป็นอำเภอขึ้น
จ.นครพนม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ถึง พ.ศ.๒๕๒๕ ยกฐานะเป็นจังหวัด โดยให้แยก
อ.มุกดาหาร
อ.คำชะอี อ.ดอนตาล อ.นิคมคำสร้อย กิ่ง อ.ดงหลวง กิ่ง อ.หว้านใหญ่
ออกจากการปกครองของ
จ.นครพนม ๒๓/๑๔๙๐๕
๔๓๘๕. มุข
เป็นส่วนหนึ่งของเรือน หรือสถานที่ที่ยื่นเด่นออกมาจากส่วนใหญ่ทางด้านหน้า
มุขสร้างสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยในตอนเริ่มแรก
ต่อมาเปลี่ยนเป็นสถานที่ราชการ
สถานที่ราชการที่สร้างใหม่ นิยมสร้างแบบมีมุขด้วย
การมีมุขก็เพื้อให้มีพื้นที่สำหรับใช้สอยในการขึ้นลง
เป็นโถงรับแขก เป็นท้องพระโรงสำหรับวัง และเป็นที่ขึ้นลงรถในร่ม
มุขจะมีหนึ่ง
- สองชั้นตามลักษณะของเรือนส่วนใหญ่ หรือมีชั้นเดียวสำหรับเรือสองชั้นก็มี
มุขที่มีสองชั้นนั้น ชั้นบนจะใช้เป็นที่อยู่อาศัย
หรือเป็นห้องพระ
๒๓/๑๔๙๐๗
๔๓๘๖. มุจลินท์
เป็นคำภาษาบาลี แปลว่า ต้นจิก ในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ใหม่ ๆ
คราวหนึ่งได้เสด็จไปประทับเสวยวิมุติสุข
ณ ใต้ต้นมุจลินท์
ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์เจ็ดวัน
ในช่วงนั้นได้มีฝนตกพรำตลอดทั้งเจ็ดวัน พญานาคตนหนึ่งได้ออกจากนาคพิภพ
มาทำขนดล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้าไว้เจ็ดชั้น
แล้วแผ่พังพานคลุมเบื้องพระเศียรเหมือนกับเศวตฉัตรกันฝนให้แก่พระพุทธเจ้า
ทำให้พญานาคตนนั้นได้ชื่อว่า พญามุจลินท์
ด้วย
๒๓/๑๔๙๑๐
๔๓๘๗. มุตกิจ
โรคระดูขาว หรือโรคตกขาว เป็นคำใช้เรียกสิ่งที่ถูกขับออกจากช่องคลอด
ที่ไม่ใช่เลือด
ภาวะนี้พบได้ประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยทางนรีเวชวิทยา
เป็นภาวะที่ไม่ค่อยรุนแรง
๒๓/๑๔๙๑๐
๔๓๘๘. มุตฆาต
โรคปัสสาวะ ช้ำเลือดช้ำหนอง
จะพบได้ในภาวะที่บุคคลนั้นมีความผิดปรกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
เช่น การอักเสบ เวลาผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะจะรู้สึกเจ็บเสียวมาก
ถ่ายปัสสาวะออกมาด้วยความยากลำบาก
มีน้ำปัสสาวะออกมาครั้งละเล็กละน้อย รู้สึกว่าถ่ายออกไม่หมด
และอยายถ่ายอยู่ตลอดเวลา
จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่ได้พักผ่อน
๒๓/๑๔๙๑๓
๔๓๘๙. มุสิลม
(ดู อิสลาม - ลำดับที่
...)
๒๓/๑๔๙๑๔
๔๓๙๐. มูก
(ดู น้ำมูก - ลำดับที่
๒๘๙๘)
๒๓/๑๔๙๑๔
๔๓๙๑. มูกเลือด
มีบทนิยามว่า "โรคที่มีมูกและเลือดในลำไส้ ติดออกมากับอุจจาระ" ในแง่ของคำ
เป็นคำเฉพาะที่ใช้เรียกน้ำคัดหลั่งภายนอก ซึ่งมีมูกปนกับเลือด
และต้องถูกขับออกมาจากอวัยวะที่สำคัญของร่างกายสองแห่ง
ได้แก่ ทวารหนัก กับช่องคลอด
เท่านั้น
๒๓/๑๔๙๑๔
๔๓๙๒. มูเซอ
เป็นชาวเผ่าหนึ่งในตระกูลภาษาจีน - ทิเบต สาขาทิเบต - พม่า เรียกตนเองว่า
ลาฮู มีถิ่นที่อยู่กระจัดกระจายอยู่ทางทิศตะวันตกของยูนนาน ประเทศจีน
ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน
ประเทศพม่า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศลาว
มูเซอจำนวนหนึ่งอพยพไปอาศัยอยู่ในเกาะไต้หวัน
และสหรัฐอเมริกา ทางภาคเหนือของไทยมีมูเซอ อาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร
จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.นครสวรรค์ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ลำพูน
รวมประมาณ
๓,๙๐๐๐ คน (พ.ศ.๒๕๒๗)
มูเซอส่วนใหญ่ใช้ชีวิตประจำวันเป็นไปตามจารีตประเพณีดั้งเดิม
ชาวเขาเผ่ามูเซอ มีสาขาย่อยอยู่ ๒๓ สาขา
แต่ละสาขามีการแต่งกายและสำเนียงการพูดเพี้ยนกัน
แต่ละสาขาก็มีถิ่นที่อยู่ในที่ต่าง ๆ กัน กล่าวคือ ประเทศไทยมีมูเซอแดง
ดำ
ดำ(เชเล) กู่ เล๊า ชีบาแก๊ว ชีบาหลา จ้าบ้า เวหยะ ขาว พู้บีลี
ชีนะแก้ว
และไกสี ในประเทศพม่ามีมูเซอแดง ดำ (เชเล) ดำ กู่เล้า เวหยะ
ชิบาแก้ว
บ่อฟ๊ะ มุยคิ่น และฮู่ลี้ ประเทศลาวมี มูเซอพู หรือมูเซอขาว พู้บีลี
และอ้าบ๊า
ประเทศจีนมี มูเซอดำ ไกชี ค้าคา อะแล้ นะแพ ป่าน่าย ล่าฮู้ จ่อแม้
หน่าเมี้ยว
และอะดองก๋า
มูเซอ มักตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างอิสระ
นิยมตั้งหมู่บ้านบนภูเขาระหว่างความสูง
๕๐๐ - ๑,๓๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มักอยู่ในชนบทที่อยู่ห่างไกลคมนาคม
มีการเลือกสมาชิกในหมู่บ้านขึ้นเป็นหัวหน้าเรียกว่า
" คะเช่พ้า " หรือเจ้าของหมู่บ้าน มูเซอเชื่อว่าผีฟ้า "หงื่อซา"
เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด
และยังมีระดับรอง ๆ ลงมา นอกจากผีบนฟ้า ผีบนดินแล้ว ยังมีผีหมู่บ้าน
ผีบ้าน
ผีบรรพบุรุษและผีญาติ ในหมู่บ้านมูเซอแดง
จะมีกลุ่มผู้นำทางศาสนาอยู่หนึ่งกลุ่ม
ประกอบด้วย "ตูบู" หรือคนไทยพื้นราบเรียกว่า "ป่าจอง" เป็นหัวหน้า
มูเซอ มีกฎหมายจารีตประเพณีที่จดจำสืบทอดต่อจากบรรพบุรุษ
ข้อบังคับมักจะมีผลใช้บังคับแก่ผู้กระทำผิดของสมาชิกหมู่บ้าน
และเกิดขึ้นในหมู่บ้าน
มูเซอมีข้อห้ามมิให้มีการแต่งงานระหว่างญาติที่ใกล้ชิด
ที่สืบทอดสายเลือดจากบรรพบุรุษเดียวกัน ภายในสามชั่วอายุคน
อีกทั้งมีการป้องกัน
และห้ามมิให้พี่น้องของสามี แต่งงานกับพี่หรือน้องภรรยา
สังคมมูเซอ แบบดั้งเดิมมีความบากบั่นต่อสู้
เพื่อให้ได้มาของอาหารและเครื่องนุ่งห่ม
ที่อยู่อาศัยของชาวมูเซอสามารถสร้างเสร็จภายในหนึ่งวัน
ภายในบ้านและบริเวณบ้าน
ถือว่าเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่กระทำผิดประเพณีจะถูกปรับไหม
ค่าปรับไหมจะแบ่งให้ผู้เสียหายส่วนหนึ่ง
ให้แก่ชาวบ้านส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะเป็นค่าประกอบพิธีกรรม
ขออภัยโทษต่อผีผู้คุ้มครองบ้านและหมู่บ้าน
โดยทั่วไปชาวเขาเผ่านี้ รักสงบแต่จะแสดงพฤติกรรมที่รุนแรง
เมื่อคิดว่าถูกรังแก
๒๓/๑๔๙๑๗
๔๓๙๓. มูรธาภิเษก
เป็นชื่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้รดพระเศียร ในพระราชพิธีราชาภิเษก
หรือพระราชพิธีอื่น
ๆ เรียกว่า น้ำมูรธาภิเษก ในคำว่า สรงน้ำมูรธาภิเษก หรือสรงมูรธาภิเษก
แปลว่า
การยกให้ หรือการแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ
ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ถือว่า การยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่
ทรงสิทธิ์อำนาจนั้น
จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ และเชื่อถือกันมาว่า
น้ำที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น
ได้แก่ น้ำในแม่น้ำคงคาซึ่งไหลลงมาจากสวรรค์
และแม่น้ำที่นับเนื่องในแม่น้ำคงคา
ซึ่งเรียกรวมว่า สัปตสินธวะ ได้แก่
แม่น้ำเจ็ดสายที่ไหลแยกออกจากแม่น้ำคงคา
ตั้งแต่แรกเกิดแม่น้ำคงคาคือ ยมุนา สรัสวดี โคธาวรี นัมมทา สินธุ
และกาเวรี
แต่คติทางไทยซึ่งถือตามคัมภีร์เวสสันดรชาดก
ถือว่าแม่น้ำที่ไหลแยกจากแม่น้ำคงคามีสี่สายคือ
ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ เมื่อรวมกับแม่น้ำคงคา จึงเป็นห้าสายเรียกว่า
ปัญจมหานที
น้ำสรงมูรธาภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่บรรจุในทุ้งสหัสธารานั้น
เจือด้วยน้ำปัญจมหานทีในมัธยมประเทศ และน้ำเบญจสุทธคงคา
ในแม่น้ำสำคัญทั้งห้าของราชอาณาจักรไทย
ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ ต.ท่าชัย แขวง จ.เพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี
ตักที่
ต.ดาวดึงส์ แขวง จ.สมุทรสงคราม แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ ต.บางแก้ว แขวง
จ.อ่างทอง
แม่น้ำป่าสัก ตักที่ ต.ท่าราบ แขวง จ.สระบุรี แม่น้ำบางปะกง ตักที่
ต.บึงพระอาจารย์
แขวง จ.นครนายก และน้ำสี่สระ คือ สระเกศ สระแก้ว สระคงคา สระยมุนา แขวง
ต.สุพรรณบุรี
ซึ่งเคยแต่งเป็นน้ำสรงมูรธาภิเษก สมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชมาแต่โบราณกาล
นอกจากนี้ ยังเจือด้วยน้ำอภิเษก ซึ่งทำพิธีพลีกรรม
ตักมาจากปูชนียสถานสำคัญในจังหวัดต่าง
ๆ ทั่วราชอาณาจักร และปนด้วย น้ำพระพุทธปริต ที่พระสงฆ์ราชาคณะหนึ่งรูป
พระครูปริตรสี่รูป
พระสงฆ์ราชาคณะรามัญหนึ่งรูป พระครูปริตรรามัญสี่รูป รวมสิบรูป
เจริญพระพุทธมนต์เสกทำน้ำพระพุทธปริตร
๒๓/๑๔๙๒๓
๔๓๙๔. มูล - แม่น้ำ
ยอดเขาเกิดจากเขาละมั่ง ใน จ.นครราชสีมา ไหลลงทางทิศตะวันออก
และตะวันออกเฉียงเหนือ
เป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน
แม่น้ำที่เป็นแควและไหลลงแม่น้ำมูลคือ ลำพระเพลิง ลำตะคอง แม่น้ำชี
ห้วยขะยุง
ลำโคมใหญ่ และลำโคมน้อย
แม่น้ำมูลไหลไปบรจบแม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียมตรงสุดทิวเขาพนมดงรัก ยาว ๗๕๐
กม. มีเขื่อนพิมายกั้นแม่น้ำที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
พื้นที่ทางฝั่งซ้ายจาก
อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ไปถึง อ.ราศีไศล จ.ศรีษะเกษ
ขึ้นไปเป็นทุ่งกว้างใหญ่
เรียกว่า ทุ่งกุลาร้องไห้ ๒๓/๑๔๙๒๗
๔๓๙๕. มูลนิธิ
มีบทนิยามว่า "ทรัพย์สินอันจัดไว้เป็นแผนกเพื่อบำเพ็ญทาน การวิทยาศาสตร์
วรรณคดี
หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น ๆ และไม่ได้ค้ากำไร ;
สถาบันที่มีวัตถุประสงค์ดังว่ามานี้
"
ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิ ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัด
แต่จากหลักฐานที่ปรากฎเชื่อกันว่า
เกิดขึ้นนานมาแล้ว
โดยเริ่มจากผู้มีอันจะกินได้ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ต่อมาในยุคกลางความช่วยเหลือนั้นยิ่งเด่นชัด คนร่ำรวยซึ่งมักได้แก่ นักบวช
ข้าราชการ และพ่อค้าวานิช บริจาคทรัพย์สินสร้างโบสถ์
ขณะเดียวกันก็ช่วยค้ำจุนโรงเรียน
สถานพยาบาล และโรงเลี้ยงเด็กกำพร้าด้วย
ในประเทศไทยมูลนิธิเพิ่งมีบทบาท เมื่อประมาณ ๘๐ ปี ที่ผ่านมานี้
ในตอนนั้นเป็นเพียงกลุ่ม
หรือคณะบุคคลที่ร่วมมือกันทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ต่อมารัฐบาลเห็นความสำคัญจึงได้ตราบทควบคุม
และการให้อำนาจไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๙๖ มาตรา ๘๑ -
๙๗
๒๓/๑๔๙๒๙
๔๓๙๖. มูลบทบรรพกิจ
เป็นชื่อแบบเรียนภาษาไทย ผู้แต่งคือ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย
อาจารยางกูร)
แต่งขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๑๔ แล้วนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
ฯ มีห้าตอนคือ มูลบทบรรพกิจ วาหะนิตินิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน
และพิศาลการันต์
ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ลงพิมพ์ในโรงพิมพ์หลวง สองพันฉบับ
เพื่อไว้เป็นแบบให้กุลบุตรศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย
เป็นเครื่องเรืองปัญญาให้ได้ความฉลาด รู้ใช้อักษร และไม้เอก โท
ให้ถูกถ้วนชำนาญชัดเจน
กว้างขวางเป็นคุณแก่ราชการสืบไป
คำว่า มูลบท ได้ใช้เรียกเป็นชื่อย่อของตำราเรียนทั้งห้าตอนนี้
ในเนื้อเรื่องแต่ละตอน
จะมีเนื้อความสอนวิธีอ่าน และเขียนหนังสือไทย
ตอนที่หนึ่ง
ใช้ชื่อว่า มูลบทบรรพกิจ มีเนื้อความว่าด้วยการผสมอักษรคือ
การผสมพยัญชนะกับสระ
ซึ่งเรียกว่า คำสะกด แม่ ก.กา ผู้แต่งได้คัดกาพย์เรื่อง ไชยสุริยา
ของพระสุนทรโวหาร
(ภู่) ที่แต่งไว้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ
มาเป็นบทอ่านเทียบ
ทุกคำเป็นการผสมพยัญชนะกับสระเท่านั้น เมื่อมีการผสมแบบนี้เรียกว่า แม่
ก.กา
แต่ถ้ามีตัวสะกดตั้งแต่แม่ กก จนถึงแม่เกย
ก็จะมีคำอ่านเทียบเป็นแม่เป็นหมวดไปอีกจนจบเรื่องพระไชยสุริยา
ตอนที่สอง
ว่าด้วยอักษรนำ
ตอนที่สาม
อักษรประโยค ว่าด้วยอักษรควบและการใช้บุรพบท กับ แก่ แต่ ต่อ
ตอนที่สี่
สังโยคพิธาน และไวพจน์พิจารณ์ว่าด้วยคำบาลีสันสกฤตและคำพ้อง
ตอนที่ห้า
พิศาลการันต์ ว่าด้วยการใช้การันต์และการใช้วรรณยุกต์ ตรี จัตวา
และไม้ไต่คู้
๒๓/๑๔๙๓๗
๔๓๙๗. เม็ก - ต้น
เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๓ - ๔ เมตร ลำต้นคดงอ
ใบเรียงตรงกันข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย
ในระนาบเดียวกัน ใบรูปไข่แกมรูปหอก ดอกขาวออกเป็นช่อสั้น ๆ
มากดอกตามปลายกิ่ง
ผลกลมรีสุกสีขาว
ใบอ่อนกินได้
๒๓/ ๑๔๙๓๘
๔๓๙๘. เมกกะ
เป็นเมืองสำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของศาสนาอิสลาม ในสมัยโบราณเรียกว่า
บักกะฮ์
และบางครั้งคัมภีร์กุรอานเรียกเมืองนี้ว่า อุมมุลกุรอ หมายถึง ตำบลใหญ่
และอัลบะละดุลอะมีน
หมายถึงเมืองที่สงบปลอดภัย
เมกกะ ตั้งอยู่ในหุบเขาอินเดียแคว้นหิญาซ
ปัจจุบันอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบีย
ห่างจากทะเลแดง ทางด้านตะวันออกประมาณ ๑๑๓ กม.
บริเวณเมืองเป็นหุบเขาทะเลทราบมีภูเขาหินสูง
๖๐ - ๑๕๐ เมตร อยู่รายรอบ เวลาฝนตกน้ำไหลหลากผ่านทางบริเวณตัวเมือง
ทำให้เกิดน้ำท่วมได้
ปรากฎในประวัติศาสตร์ว่า กะอุบะฮุ ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองได้พังลง
และได้ก่อสร้างขึ้นใหม่หลายครั้ง
เมกกะเป็นเมืองโบราณสร้างขึ้นมาในสมัยอิบรอฮีม (อับราฮาม) กับอิสมาอีล
ประมาณปี
พ.ศ.๓๔๗ โดยที่อิบราฮิมได้นำภริยาชื่อ ฮาญัร และบุตรชื่อ อิสมาอีล
ซึ่งยังเป็นทารกจากแคว้นปาเลสไตน์
มาอยู่ที่หุบเขาที่แห้งแล้ง ไม่มีพืชพรรณธัญญาหาร
จากนั้นอิบรอฮีมก็เดินทางกลับปล่อยให้ภริยา
และบุตรอยู่ที่นั่นแต่ลำพัง โดยบอกว่าเป็นคำสั่งของพระเป็นเจ้า
เมื่อน้ำดื่มที่นำติดตัวมาหมด
นางฮาญัรก็วิ่งหาแหล่งน้ำ และขึ้นไปบนเนินเขา เพื่อจะได้มองเห็นกองคาราวาน
เดินทางผ่านมาจะได้ขอแบ่งปันน้ำดื่ม แต่ก็ไม่พบแต่อย่างใด
ในขณะที่นางวิ่งหาน้ำอยู่อย่างกระวนกระวายนั้น
นางได้พบตาน้ำพุที่ใกล้ ๆ กับที่นางพักอยู่ ตาน้ำพุนี้ได้ชื่อว่า ซำซำ
เป็นน้ำแร่รสค่อนข้างกร่อย ต่อมามีลักษณะเป็นบ่อ มีมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อมีน้ำที่หุบเขาแห่งนั้นก็ปรากฎว่า
มีกองคาราวานเดินทางผ่านมา แวะพักอาศัยเป็นจำนวนมาก
จนกลายเป็นเมืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สถานที่สำคัญในนครเมกกะได้แก่ กะอฺบะฮฺ เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม กะอฺบะฮฺ
เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสูง
๑๕ เมตร กว้าง ๑๐.๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร มีลักษณะเป็นห้องโถง
มีประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ถัดจากประตูไปในมุมเดียวกันมีหินดำที่เรียกว่า หะญะรุลอัสวัค
วางอยู่ที่ผนังระดับสูงจากพื้น ๑.๕๐ เมตร หินดำนี้มีขนาดเส็นผ่าศูนย์กลาง
๒๐ ซม. ผู้ไปบำเพ็ญอัจญ หรืออุมเราะฮฺ
จะต้องจบหรือสัมผัสหินดำนี้ในขณะวนรอบ
(เฏาะวาฟ) กะอฺบะฮฺ แต่ละรอบ ผนัง กะอฺบะฮฺ
ทั้งสี่ด้านด้วยผ้ามานสีดำจะเปิดให้เห็นตัวอาคารเฉพาะที่ประตูเท่านั้น
กะอฺบะฮฺ เป็น กิมละฮฺ
ของมุสลิมทั่วโลก หมายถึง ทิศที่มุสลิมต้องหินหน้าไปในเวลานมาซ
และเป็นศูนย์กลางของการบำเพ็ญอัจญ์
มัสญิดหะฐอม เป็นลักษณะอาคารทรงแปดเหลี่ยมบริเวณกว้างล้อมรอบกะอฺบะฮฺ
ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางเวลานมาซผู้ทำนมาซจะหันหน้าเข้าสู่กะอฺบะฮฺ
เป็นจุดเดียวกัน
ประวัติศาสตร์อิสลามกล่าวถึงผู้สร้างกะอฺบะฮฺ คนแรกคือ อาดัม
ซึ่งคัมภีร์กุรอานระบุว่าเป็นอาคารหลังแรกที่ถูกก่อตั้งขึ้นสำหรับมนุษยชาติต่อมาอิบรอฮีมกับอีสมาอีล
อิบรอฮีม เมื่อนำภริยา และบุตรมาไว้ ณ
ที่ดังกล่าวแล้วก็ได้มาเยี่ยมหลายครั้ง
ต่อมาได้รับคำสั่งจากอัลลอร์ให้สร้าง กะอฺบะฮฺ ขึ้น
และเรียกร้องเชิญชวนให้มนุษยชาติ
ไปบำเพ็ญฮัจญ์ กะอฺบะฮฺ จึงเป็นจุดศูนย์กลางของการบำเพ็ญฮัจญ์จนถึงปัจจุบัน
บริเวณหวงห้ามของนครเมกกะ หรือ หะร็อมมักกะฮฺ หมายถึง บริเวณรอบ ๆ
นครเมกกะที่ห้ามการกระทำนั้นในสถานที่ทั่วไป
เช่น ห้ามตัดต้นไม้ ห้ามล่าสัตว์ ห้ามต่อสู้กันนอกจากเพื่อป้องกันตัว
และห้ามผู้ที่ไม่ศรัทธาเข้าไปในบริเวณนั้น
ขอบเขตบริเวณหวงห้ามรอบ ๆ นครเมกกะมีรัศมีไม่เท่ากัน
เช่นในทิศทางไปเมืองมะดีนะฮฺ
ประมาณ ๕ กม. ทิศทางด้านประเทศอิรัก ประมาณ ๑๑ กม. ด้านฏออิฟ ประมาณ ๑๑
กม.
ด้านญิอ์รอนะฮ์ ประมาณ ๑๔.๕ กม. และด้านเมืองท่าญิดคะ ประมาณ ๑๖
กม.
๒๓/๑๔๙๓๙
๔๓๙๙. เมฆ
เป็นปรากฎการณ์ของไอน้ำที่เกิดจากการกลั่นตัวให้มองเห็นเป็นรูปร่างลักษณะต่าง
ๆ ลอยอยู่ในอากาศ เมฆมีลักษณะปรากฎเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
ขึ้นอยู่กับกระแสอากาศเปลี่ยนแปลงไปในแนวตั้งหรือแนวนอน
บางครั้งเป็นก้อน บางครั้งเป็นแผ่น แต่เมฆในระดับสูงมากๆ
มักจะเป็นฝ้าหรือเป็นฝอย
ปรกติแล้วเมฆเป็นสีขาวหรือเสี้ยว เหลืองอ่อน แต่จะเห็นเป็นสีดำคล้ำขั้น
ถ้าเมฆหนาทึบหรือมีเมฆเบื้องบนบังแดดไว้
เมฆในระดับหนึ่ง ๆ มักจะมีฐานราบเคลื่อนที่ไปได้ตามทิศทางของลม
เมฆเรียกชื่อกันทั่วไปตามลักษณะที่มองเห็นได้เป็นสี่ประเภท คือ
๑.เมฆฝอย
ลอยอยู่ในระดับสูงจากพื้นดินมากมองเห็นเป็นริ้ว
ถ้าเมฆประเภทนี้หนาขึ้นก็จะเห็นเป็นฝ้าหรือแผ่นบาง ๆ แสงอาทิตย์ในมุมสูง
ส่องผ่านจะเกิดแสงหักเหทำให้เห็นเป็นวงแสง
"อาทิตย์ทรงกรด"
แต่แสงอาทิตย์ในมุมต่ำใกล้เวลาดวงอาทิตย์ตกดิน
อาจทำให้เห็นเมฆปรากฎการณ์ที่เรียกว่า
ผีตากผ้าอ้อม
๒.เมฆแผ่น
ลอยแผ่ติดต่อหรือต่อเนื่องออกไปในแนวนอน
ถ้าลอยอยู่ใกล้พื้นดินจะมีลักษณะคล้ายหมอกหรือกึ่งหมอกเมฆ
แสดงว่ามีอากาศชื้น
เมฆที่เกิดใกล้ชิดพื้นดินเรียกว่า หมอก
๓.เมฆก้อน
ลอยอยู่ในระดับต่ำมองเห็นได้ชัดเจนเหมือนกลุ่มก้อนสำลีและมักจะมีรูปขยายขึ้นไปในแนวตั้ง
ถ้าเป็นก้อนใหญ่ก็จะมีความหนาทึบขึ้น
ถ้ามียอดสูงขึ้นมากก็มีโอกาสที่ไอน้ำจะรวมตัวเป็นฝนได้มากขึ้น
และขนาดเม็ดฝนใหญ่ขึ้น
๔.เมฆฝน
ลอยแผ่ขยายในระดับต่ำและหนาทึบขึ้นไปเบื้องบนจนสีมืดคล้ำสีเทาแก่หรือสีดำ
มักจะทำให้ฝนตกจะปรากฎเมื่อมีลักษณะอากาศไม่ดี
เมฆเกิดขึ้นได้จากการกลั่นตัวของไอน้ำที่มองไม่เห็นในอากาศ
ถ้าอากาศเย็นลงจะมีความสามารถรับไอน้ำได้ลดลง
และเมื่อเย็นจัดลงไปอีก จนถึงสถานะอิ่มไอน้ำก็พร้อมที่จะกลั่นตัว
รวมไอน้ำเป็นสภาพของเหลวคือ
ละอองน้ำให้เป็นเมฆได้
ปรากฎการณ์ธรรมชาติเช่นนี้เกิดขึ้นได้เมื่ออากาศส่วนหนึ่งต้องลอยขึ้น
และลดอุณหภูมิลงด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง
แต่สิ่งที่สำคัญที่ช่วยให้เกิดการกลั่นตัวได้ก็คือ
อนุภาคกลั่นตัว ซึ่งเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็น
แต่ดูดน้ำได้ในบรรยากาศ
เช่น อนุภาคเกลือทะเล
และอนุภาคของสารเคมีจากฝุ่นเถ้าธุลีจากโรงงานอุตสาหกรรม
ฯลฯ อนุภาคเหล่านี้เป็นพาหะที่ไอน้ำจะยึดเหนี่ยว และรวมตัวให้เป็นละอองน้ำ
มีขนาดใหญ่ขึ้น ได้พร้อมกับการคายความร้อนแฝง เฉลี่ยออกมาให้อากาศโดยรอบ
เรียกว่า
การควบแน่น
คือการกลั่นตัวนั่นเอง
๒๓/๑๔๙๔๒
๔๔๐๐. เมฆทูต
เป็นชื่อของวรรณกรรมสำคัญในภาษาสันสกฤตเรื่องหนึ่งรจนาโดยกาลิทาส
กวีและนักแต่งบทละครเอกของอินเดีย
เนื้อหาของเมฆทูตมีอยู่ว่า มียักษ์ (อมนุษย์)
ตนหนึ่งประกอบกรรมทำผิดโดยลืมหน้าที่เจ้านายคือท้าวกุเวรโกรธ
จึงเนรเทศจากนครอลกาบนเขาไกรลาสในเทือกเขาหิมาลัยให้ไปอยู่บนเขารามคีรี ณ
ป่าสินชัยทางทิศใต้มีกำหนดหนึ่งปี โดยยักษ์ต้องพรากจากภริยาไปแต่ผู้เดียว
เมื่อกาลเวลาล่วงไป พอเข้าฤดูฝน ยักษ์ก็คิดถึงภริยาของตน
เมื่อเห็นเมฆก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งกำลังลอยไปทางทิศเหนือ
อันเป็นที่ตั้งของนครอลกา จึงเอ่ยปากขอร้อง
ให้เมฆก้อนนั้นช่วยทำหน้าที่เป็นทูต
นำข่าวความเศร้าโศกของตน ไปบอกให้ภริยาทราบ
อันเป็นเหตุให้กาพย์เรื่องนี้ได้เกิดขึ้น
เมฆทูตเป็นขัณฑกาพย์ ซึ่งหมายถึงกาพย์ย่อยคู่กับมหากาพย์
คำฉันท์ที่ใช้มีความหมายว่า
ลีลาแห่งการย่างเยื้องหรือก้าวไปช้า ๆ เมฆพูดประกอบด้วยฉันท์
หรือโศลกจำนวน
๑๑๕ บท แต่ละบทมีสี่บาท เมฆทูตแบ่งออกเป็นสองภาค ภาคต้นบรรยายถึงทัศนียภาพ
ที่ก้อนเมฆจะได้ประสบพบเห็นระหว่างทาง
ที่ล่องลอยจากภูเขาคีรีไปยังยอดเขาไกรลาส
ภาคปลายพรรณาถึงความงามของนครอลกา
และสภาพอันผ่ายผอมโศกาดูรของภริยา
๒๓/๑๔๙๔๖
๔๔๐๑. เม็ง - ชาติ
เม็งเป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในภาคเหนือ
เชื่อกันว่าเม็งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมอันเก่าแก่
ซึ่งได้สืบทอดมาถึงคนภาคเหนือในสมัยหลัง
ปัจจุบันยังมีชนกลุ่มเม็งอาศัยในจังหวัดต่าง
ๆ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน
เม็งกลุ่มนี้มีวิวัฒนาการประวัติความเป็นมาวัฒนธรรม
ประเพณีและความเชื่อของตนที่แตกต่างไปจากกลุ่มชนอื่น ๆ ในภาคเหนือ
คำว่า เม็ง เป็นคำที่ชาวภาคเหนือ หรือล้านนาเรียกชนชาติในตระกูลมอญ เขมร
จากหลักฐานศิลาจารึก
และศิลปกรรมที่ขุดพบ สันนิษฐานว่า ศูนย์กลางของมอญโบราณ
หรือเม็งอยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา
คือ อาณาจักรทวารวดีในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓
ซึ่งพบศิลาจารึกอักษรมอญที่นครปฐม
ราชบุรี อู่ทอง และลพบุรี ความเจริญของเม็ง
หรือมอญแบบทวารวดีได้ขยายตัวไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และภาคเหนือ ได้พบศิลาจารึกมอญที่เมืองฟ้าแดดสูงยาว จ.กาฬิสนธุ์
และที่หริภุญชัย
หรือลำพูน มีอายุเก่าถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ และต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๗
ต่อมาครามเจริญของเม็ง
หรือมอญย้ายไปมีศูนย์กลางที่เมืองสะเทิม
ในพม่าตอนใต้ในระหว่างพุทธศตวรรษที่
๑๖
เม็งจากวรรณกรรมท้าวฮุง หรือท้าวเจือง ฉบับประเทศลาวขุนเจือง
เป็นวีรบุรุษของชนหลายเผ่า
เช่น ลาว อีสาน ล้านน่าและเชียงตุง เชื่อว่า ขุนเจืองมีชีวิตอยู่ระหว่างปี
พ.ศ.๑๖๒๕ - ๑๗๐๕ ในวรรณกรรมเรื่องนี้เขียนถึงคนเม็งว่า เม็ง มอญ และขอม
เป็นชนเผ่าเดียวกัน
อาจกล่าวได้ว่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ พวกเมงคบุตร
ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของลุ่มแม่น้ำปิง
ได้มีความสัมพันธ์ผสมผสานกับชนกุล่มอื่น คือ ละโว้ และลัวะ
พร้อมกับพัฒนาวัฒนธรรมของตนเป็นแบบหริภุญชัย
โดยได้รับอิทธิพลจากทวารวดีที่ละโว้ หรือภาคกลาง อาณาจักรทวารวดีนั้น
เป็นอาณาจักรของคนที่พูดภาษามอญโบราณ
ในภาคกลางได้ขยายอำนาจ หรือวัฒนธรรมของตนขึ้นไปถึงพวกเม็งที่หริภุญชัย
และต่อมาได้ขยายลงมาถึงลุ่มแม่น้ำวังใน
จ.ลำปางด้วย
จากการพบศิลปะสกุลหริภุญชัย หรือมอญที่พบในเมืองหริภุญชัย
และเมืองบริวารได้แก่
เวียงเถาะ อ.จอมทอง เวียงท่ากาบ อ.สันป่าตองและเวียงมะโน อ.หางดง
จ.เชียงใหม่
พบศิลปะวัตถุ เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์
ศิลาจารึกภาษามอญที่เหมือนกับที่พบในภาคกลาง
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะศิลาจารึกภาษามอญโบราณ
ที่พบนั้นมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับศิลาจารึกที่เมืองพุกาม
สมัยพระเจ้าครรชิตประมาณปี พ.ศ.๑๖๒๘ - ๑๖๕๕ แสดงว่าเม็ง
หรือมอญที่อาศัยอยู่ที่ลุ่มน้ำปิง
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความสัมพันธ์กับมอญที่อยู่ในพม่าตอนใต้
อักษรเม็งหรือมอญโบราณได้พัฒนามาสู่อักษรพื้นเมืองในภาคเหนือคือ
อักษรธรรมล้านนา
ปฏิทินของเม็งได้นำมาใช้ร่วมกับปฏิทินของล้านนา
ในการจดบันทึกทั้งศิลาจารึก
และใบลาน ๒๓/๑๔๙๔๘
๔๔๐๒. เม่งจื้อ
เป็นนักปราชญ์จีนที่มีชื่อเสียงมากผู้หนึ่งเกิด เมื่อปี พ.ศ.๑๗๑
ถึงแก่กรรม
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔ เป็นชาวแคว้นฉี ซึ่งอยู่ใกล้กับแคว้นหลู่
อันเป็นบ้านเกิดของขงจื้อ
นับว่าเป็นทายาทผู้ยิ่งใหญ่ของขงจื้อ
เม่งจื้อ มีลักษณะอย่างเดียวกับขงจื้อ คือ
คำสอนของท่านตั้งอยู่ในบนหลักการของมนุษยธรรม
และท่านได้เพิ่มความยุติธรรม ระเบียบแบบแผนหรือหน้าที่เข้าไว้ด้วย ๒๓/๑๔๙๕๙
๔๔๐๓. เม็งราย - พญา
พญาเม็งราย (พ.ศ.๑๗๘๒ - ๑๘๕๔) มีพระนามที่ถูกต้องว่า พญามังราย
พระองค์เป็นกษัตริย์ไทยฝ่ายเหนือ
ผู้ทรงรวบรวมอาณาจักรล้านนา ขึ้นเป็นปึกแผ่นสมัยเดียวกับพ่อขุนรมคำแหง ฯ
ผู้ทรงสร้างอาณาจักรสุโขทัยขึ้น
พญาเม็งรายเป็นโอรสของลาวเม็งแก่งหิรัญนครเงินยางเชียงราวขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่
๑๕ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๘ พระองค์มีพระประสงค์ ที่จะสร้างอาณาจักรใหญ่
โดยรวบรวมเมืองที่เป็นอิสระต่าง
ๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เริ่มจากหัวเมืองฝ่ายเหนือก่อน
แล้วจึงขยายลงมาทางหัวเมืองฝ่ายใต้
และทรงสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกหลายเมือง เช่น เมืองเชียงราย
(พ.ศ.๑๘๐๕)
เป็นเมืองหลวงใหม่ เมืองฝาง (พ.ศ.๑๘๑๖) เมืองชะแว
ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลำพูน
(พ.ศ.๑๘๒๖) เวียงกุมกาม (พ.ศ.๑๘๒๙) และเมืองเชียงใหม่
(พ.ศ.๑๘๓๙)
อาณาเขตของล้านนา สมัยของพระองค์ทางทิศเหนือถึงเชียงรุ่ง เชียงตุง
ทางทิศตะวันออกถึงแม่น้ำโขง
แต่ไม่รวมพะเยา แพร่และน่าน ทิศใต้ถึงลำปาง ทิศตะวันตกถึงพุกาม
พระองค์ทรงปกครองโดยอาศัยกฎหมายชื่อว่า
ผังรายศาสตร์
ราชวงศ์เม็งรายครอบครองอาณาจักรล้านนาไทยเป็นเอกราชอยู่
และขยายอาณาเขตลงมาถึงพะเยา
ตาก น่าน แพร่ สวรรคโลกและสุโขทัยจนถึงปี พ.ศ.๒๑๐๑ จึงถูกพม่าตีแตก
หลังจากนั้นล้านนาไทยก็เป็นเมืองขึ้นของพม่าบ้าง
เป็นเอกราชบ้างและเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาบ้าง รวมเป็นเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี
จึงได้ร่วมมือกับไทย
ทางใต้ขับไล่พม่าออกไป
และมารวมเป็นประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน
๒๓/๑๔๙๖๗
๔๔๐๔. เมตไตรย
เป็นพระนามพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตกาล
นับเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ห้า
และองค์สุดท้ายของภัทรกัปนี้
พระศากยโคดมพุทธเจ้า ตรัสพยากรณ์ไว้ในจักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค
แห่งพระสุตตันตปิฎก
๒๓/๑๔๙๗๑
๔๔๐๕. เมทิลแอลกอฮอล์
มีอีกชื่อว่า เมทานอล มีลักษณะเป็นของเหลวใสปราศจากสีเป็นสารพิษ
จุดไฟติดให้เปลวไปสว่างเรือง
เป็นสารที่มีประโยชน์มากในอุตสาหกรรม โดยใช้เป็นตัวทำละลาย เช่น
ละลายเซลแล็ก
แลกเกอร์ ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสีย้อม เครื่องหอม ฟอร์มาลดีไฮด์
สารผสมกันมิให้น้ำในหม้อน้ำรถยนต์แข็งตัวในฤดูหนาวใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับสังเคราะห์สารอื่นได้มากมายและยังใช้เป็นเชื้อเพลิง
ได้ด้วย
๒๓/๑๔๙๗๑
๔๔๐๖. เม่น
เป็นสัตว์ในวงศ์ที่มีลักษณะพิเศษ คือ
มีขนที่ธรรมชาติดัดแปลงให้เป็นหนามแข็ง
ปลายแหลม หลุดง่าย ใช้ป้องกันตัว เมื่อเม่นถูกสัตว์ไล่กัด
ก็จะพองขนหนามแข็งออก
พร้อมทั้งวิ่งไประยะหนึ่ง แล้วหยุดกระทันหัน
ทำให้สัตว์ที่วิ่งไล่ตามหยุดไม่ทันก็จะชนโดนขนหนามแข็งและถูกตำได้
เม่นชอบกินหน่อไม้ รากไม้ หัวเผือก หัวมัน
เปลือกไม้และผลไม้สุกที่ร่วงหล่นมีฟันแทะที่แข็งมาก
จึงสามารถกัดแทะกระดูกและงาช้างกินเป็นอาหารเสริมได้
เม่นชอบนอนในโพรงดิน
๒๓/๑๔๙๘๐
๔๔๐๗. เมนเดลีเวียน
เป็นธาตุลำดับที่ ๑๐๑ เป็นธาตุกัมมัมตรังสีไม่มีปรากฎอยู่ในธรรมชาติ
เป็นธาตุที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น
คณะผู้สร้างธาตุนี้ขึ้นเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๙๘
๒๓/๑๔๙๘๑
๔๔๐๘. เมนทอล
มีอีกชื่อหนึ่งว่า การบูรเปปเปอร์มินต์
เป็นาารประกอบอินทรีย์ลักษณะเป็นผลึกสีขาว
มีกลิ่นแรง หอมเย็น เมื่อสูดดมจะให้ครามรู้สึกเย็นซ่า
บริเวณเยื่อเมือกของจมูกและลำคอ
กลิ่นและรสคล้ายกลิ่น และรสของพืชเปปเปอร์มินต์ สเปียร์มินต์และพืชอื่น ๆ
ในสกุลเมนทา พืชสกุลนี้มีชื่อสามัญเรียกกันว่ามินต์ เท่าที่พบมีมากกว่า ๒๕
ชนิด สะระแหน่ก็จัดอยู่ในสกุลนี้
พืชในสกุลนี้สร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นได้โดยวิธีการชีวิเคมีอันสลับซับซ้อน
น้ำมันหอมระเหยที่พืชสกุลนี้สร้างขึ้นมานั้นเรียกกันว่า น้ำมันมินต์
ซึ่งประกอบด้วยสารต่าง
ๆ มากมายประมาณ ๔๐ ชนิด แต่องค์ประกอบส่วนใหญ่คือ เมนทอล
ปัจจุบันเรานำเมนทอลไปใช้ประโยชน์ได้สามกรณี คือ
๑. ใช้ในทางเภสัชกรรม เช่น ทำยาหม่อง ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดท้อง ปาล์มต่าง ๆ
น้ำมันท่านวด
ยาทาแก้คัน ยาแก้หวัด ยาประเภทสูดดมต่าง ๆ
๒. ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ เช่น ครีม แป้งหอม สบู่หอม โลชั่น แชมพู
๓. ใช้เป็นสารปรุงรสและกลิ่น เช่น ลูกอม ยาสีฟัน หมากฝรั่ง
บุหรี่
๒๓/๑๔๙๘๓
๔๔๐๙. เม่นทะเล
เป็นสัตว์ทะเลที่มักจะถูกเรียกว่า หอยเม่น เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง
ลักษณะทั่วไปมีรูปกลมคล้ายผลส้มหรือเป็นรูปไข่
อวัยวะภายในถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกแข็ง
หนามที่คลุมตัวมีสองชนิด คือ นามใหญ่ และหนามเล็ก
บางชนิดที่ปลายหนามมีถุงน้ำพิษ
ด้านล่างของลำตัวยังมีหลอดตีน ซึ่งเป็นหลอดกลมยาวยืดหดได้ใช้เคลื่อนที่
ปากของเม่นทะเลอยู่ทางด้านล่าง
ช่องทวารอยู่ด้านบนตรงข้ามกับช่องปาก
เม่นทะเลมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ตามพื้นทราบ
ซอกหินและปะการังลงไปถึงใต้ท้องทะเลระดับลึก
ๆ ๒๓/๑๔๙๘๖
๔๔๑๐. เมรัย
(ดูสุรา - ลำดับที่...)
๒๓/๑๔๙๘๘
๔๔๑๑. เมรุ
เป็นคำบาลีมีบทนิยามว่า "ชื่อภูเขากลางจักรวาล
มียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ซึ่งพระอินทร์อยู่ ที่เผาศพ หลังคาเป็นยอดมีรั้วล้อมรอบราชาศัพท์ใช้ว่า
พระเมรุ"
เมรุที่เป็นชื่อภูเขาเป็นแนวความคิดความคติพราหมณ์ผสมกับคติทางพระพุทธศาสนา
ส่วนเมรุที่เป็นที่เผาศพ ลักษณะส่วนใหญ่มักยกพื้นสูง สัณฐานสี่เหลี่ยม
มีหลังคาเครื่องยอดกลุ่ม
ประดับตกแต่งให้วิจตรงดงาม ประเพณีนิยมครั้งแรก ใช้เฉพาะเจ้านายเรียกว่า พระเมรุ
ถ้าใช้กับพระมหากษัตริย์และพระมเหสีหรือพระบรมราชชนนีเรียกว่า "พระเมรุมาศ"
ในสมัยก่อนตัวเมรุสร้างด้วยไม้ใช้เพียงคราวเดียวแล้วรื้อจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
มีการสร้างเมรุถาวรก่ออิฐก่อปูน เรียกว่า เมรุปูน
๒๓/๑๔๙๘๘
๔๔๑๒. เมโสโปเตเมีย
คือ อาณาบริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย ซึ่งได้รับยกย่องว่า
เป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่ง
คำว่า เมโสโปเตเมีย เป็นภาษากรีกแปลว่า ดินแดนระหว่างแม่น้ำ
ได้เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราช
ความหมายแต่แรกนั้นหมายถึง บริเวณระหว่างแม่น้ำไทกริส
ซึ่งอยู่ทางตะวันออกกับแม่น้ำยูเฟรติสซึ่งอยู่ทางตะวันตก
แม่น้ำทั้งสองนั้นมีต้นน้ำอยู่ทางภูเขาด้านเหนือ
และไหลลงทะเลทางใต้ที่อ่าวเปอร์เซีย
ต่อมาได้หมายรวมบริเวณใกล้เคียงด้วยคือ ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำไทกริส
ออกไปจนถึงเทือกเขาซากรอส
และเคยไปทางทิศตะวันตก ของแม่น้ำยูเฟรตีส ถึงบริเวณที่ราบสูง
และทะเลทราบซีเรีย
ในประวัติศาสตร์สมัยโบราณส่วนทางใต้ของเมโสโปรเตเมียเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า
บาปิโลเนีย
ส่วนทางเหนือเรียกว่า
อัสสิเรีย
บริเวณครึ่งหนึ่งทางด้านใต้ ของบาปิโลเนียเรียกว่า ซูเมอร์
ครึ่งหนึ่งของทางเหนือของบาปิโลเนียเรียกว่า
อัคคัด
ในแง่ภูมิศาสตร์เมโสโปเตเมียจะครอบคลุมส่วนใหญ่ของประเทศอิรักปัจจุบันจากการศึกษาค้นคว้าทางธรณีวิทยา
มานุษยวิทยา โบราณคดีและศาสตร์สาขาอื่น ๆ มีผลสรุปว่า
เมโสโปเตเมียเป็นแหล่งการเพาะปลูกตั้งแต่ราว
๘,๕๐๐ ปี
ก่อนพุทธศักราชแถบเชิงเขาซากรอสและยังเป็นแหล่งเริ่มต้นการตั้งชุมชนอย่างถาวรที่เก่าแก่ที่สุดราว
๕,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช
ระหว่าง ๔,๕๐๐ - ๓,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราชแถบตอนเหนือของเมโสโปเตเมียได้แก่
ที่ฮัสซุนาและที่ฮาลัฟ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของฮัสซูนา มีการเริ่มใช้ทองแดง
มีการทำถนนปูด้วยหิน การก่อสร้างอาคารด้วยอิฐและการสร้างหลังคารูปโดม
การก่อเตาเผาถ้วยชาม
ผลิตถ้วยชามที่มีลวดลายสวยงาม ขณะเดียวกัน ทางทิศใต้ของเมโสโปเตเมีย
เมื่อราว
๔,๕๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช ได้มีการตั้งชุมชนทางเกษตรที่อุไบด์
ซึ่งอยู่ใกล้เมืองเออร์
ชุมชนนี้ได้ขยายตัวออกไปทางทิศเหนือ และทิศใต้คือ ไปถึงตอนเหนือของซีเรีย
และฝั่งทะเลตะวันออกของซาอุดีอาราเบียตามลำดับ
ราว ๓,๕๐๐
ปีก่อนพุทธศักราชความเจริญที่สำคัญที่สุดของแถบเมโสโปเตเมียได้แก่
การก่อสร้างเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมีอาคารมั่นคงถาวร เช่น โบสถ์วิหารของศาสนา
และการคิดประดิษฐ์ตัวอักษร แหล่งของความเจริญอยู่ที่เมืองอุรุก
ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุด
ส่วนการประดิษฐ์ตัวอักษร เริ่มจากการเขียนภาพบนแผ่นดินเหนียว
ซึ่งนับเป็นต้นเค้าของตัวอักษรคูนิฟอร์มของพวกซูเมเรียน
และบาปิโลเนียนในภายหลัง
พวกซูเมเรียนเป็นชนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งตน
และขยายอาณาจักรครอบครองแถบเมโสโปเตเมีย
มีความเจริญสูงสุดราว ๒,๕๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช
บริเวณที่เป็นแคว้นซูเมอร์ของซูเมเรียน
อยู่ทางตอนใต้ของเมโสโปเตเมียมีเมืองสำคัญคือ เมืองอุรุก และเมืองคิช
พวกอัคคาเดียนเป็นชุมชนที่ตั้งตนทางตอนเหนือของแคว้นซูเมอร์ในบริเวณที่เรียกว่าแคว้นอัคคัดราว
๑,๙๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช พวกอัคคาเดียนได้เข้ายึดอำนาจ และปกครองเมืองต่าง
ๆ ของพวกชูเมเรียนแต่คงอยู่เพียงหนึ่งศตวรรษเศษ
ต่อมาพวกซูเมเรียนกลับพื้นคืนอำนาจขึ้นมาใหม่
โดยมีศูนย์สำคัญอยู่ที่เมืองเออร์
การตั้งอาณาจักรบาปิโลเนียได้ปรากฎขึ้นที่ตอนกลางระหว่างซูเมอร์กับอัคคัดกษัตริย์องค์สำคัญคือ
พระเจ้าฮัมมูราบี (๑๒๔๙ - ๑๒๐๗ ปีก่อนพ.ศ.)
ได้รวบร่วมประมวลกฎหมายฮัมมูราบี
ซึ่งถือเป็นประมวลกฎหมายที่เป็นลายลักษณะอักษรที่สมบูรณ์และเก่าแก่ที่สุดได้ให้จารึกไว้บนแท่งหินสูงประมาณ
๒.๔๐เมตรดัวยอักษรยูนิฟอร์มนครหลวงของอาณาจักรนี้คือบาปิโลน
อาณาจักรบาปิโลนได้เสื่อม และสลายลงเมื่อ ๑๐๕๒ ปีก่อน
พ.ศ.จากการบุกรุกของพวกฮิตไคต์จากอะนาโตเลีย
จากนั้นพวกแคสไซต์จากแถบภูเขาซากรอส ได้เข้าบุกรุก
และครอบครองบาปิโลนอยู่ราว
๔๐๐ ปี
ราว ๑๐๗ ปี ก่อนพ.ศ. พวกอัสซีเรียน
สามารถรวมตัวและจัดตั้งอาณาจักรขึ้นบริเวณตอนเหนือของเมโสโปเตเมีย
มีอาณาเขตกว้างขวางจุดบริเวณเอเซียไมเนอร์
ตลอดมาถึงชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียน
ต่อมาได้ขยายอำนาจไปถึงอียิปต์ ตีได้อียิปต์ เมื่อ ๑๒๘ ปีก่อน พ.ศ.
ความเสื่อมของพวกฮัสซีเรียนปรากฎขึ้น เพราะถูกโจมตีจากพวกมีดส์
ซึ่งมาจากอิหร่าน
ร่วมกับพวกบาปิโลเนียนใหม่ ที่เรียกกันว่า พวกคัลเดียน ยึดนครนิเนเวอหืได้
เมื่อ ๗๘ ปีก่อน พ.ศ. พวกคัลเดียนได้ขยายอาณาเขตไปถึงนครเยรูซาเล็ม
เข้าทำลายนครแห่งนี้
เมื่อ ๔๓ ปีก่อน พ.ศ. เผาวิหารโซโลมอน จับกุมชาวยิวไปคุมขังที่บาปิโลน
จักรวรรดิ์บาปิโลเนียนใหม่ได้เสื่อม และสิ้นสุดในปี พ.ศ.๔
เมื่อพระเจ้าไซรัสที่
๒ แห่งเปอร์เซียเข้ายึดทรงบาปิโลนได้
พวกเปอร์เซียครองอำนาจอยู่ได้สองศตวรรษ
พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราช
แห่งมาเซดอนก็ยาตราทัพเข้าบุกอาณาจักรเปอร์เซียได้ชัยชนะต่อพระเจ้าดาริอสที่
๓ ของเปอร์เซีย เป็นผลให้วัฒนธรรมกรีก แพร่หลายเข้ามายังเมโสโปเตเมีย
กลุ่มชนที่เข้ามายังเมโสโปเตเมียภายหลังพวกกรีกคือ
พวกพาร์เทียนจากตะวันออกของอิหร่าน
ราวปี พ.ศ.๔๐๒
อำนาจเหนือเมโสเปเตเมียได้เปลี่ยนจากพวกพาร์เนียนไปยังพวกซัสซาเนียน
เมื่อปี
พ.ศ.๗๖๗ และยั่งยืนต่อมาราวสี่ศตวรรษ ระหว่างนี้เมโสโปเตเมีย
ยังคงเป็นแหล่งของความร่ำรวย
และเป็นแหล่งของการเผยแพร่คริสต์ศาสนา
ถึงแม้พวกซัสซาเนียนมิได้นับถือคริสต์ศาสนา
แต่นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ก็ตาม
เมื่อศาสนาอิสลามเริ่มแพร่หลายในพุทธศตวรรษที่ ๑๒
แถบแหลมอาระเบียแล้วก็ได้ขยายเข้ามายังเมโสโปเตเมีย
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๑๗๗ ครั้งถึงปี พ.ศ.๑๑๘๔ ทั่วอาณาบริเวณเมโสโปเตเมีย
ก็ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของมุสลิมอาหรับ
จากนั้นมาประวัติศาสตร์ของเมโสโปเตเมียก็คือ
ประวัติศาสตร์ของประเทศอิรักนั่นเอง
หน้า ๑๔๙๙๙
๔๔๑๓. เม่า - แมลง
เป็นปลวกที่อยู่ในวรรณะผสมพันธุ์อันเป็นระยะที่มีปีกทั้งตัวผู้และตัวเมีย
(ดูปลวก - ลำดับที่
๓๓๙๘)
๒๓/๑๕๐๐๗
๔๔๑๔. เมารยะ โมริยะ
เป็นนามเรียกกษัตริย์พวกหนึ่งในอินเดียสมัยพุทธกาล
และเป็นชื่อราชวงศ์สำคัญราชวงศ์หนึ่งของอินเดียภายหลังพุทธกาล
คัมภีร์ปราณะกล่าวว่า พระเจ้าจันทรคุปต์ ซึ่งเป็นผู้ตั้งราชวงศ์เมารยะ
ในเวลาต่อมาเป็นโอรสของนางมุรา
สนมองค์หนึ่ง ซึ่งมีเชื้อสายศุทร ของกษัตริย์นันทะองค์สุดท้าย
แห่งกรุงปาฏีลบุตร
เพราะเหตุที่สืบเชื้อสายมาจากนางมุรา พระเจ้าจันทรคุปต์จึงได้ชื่อว่าเป็น
"โมริยะ หรือ เมารยะด้วย
ประมาณปี พ.ศ.๒๐๐
พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์แห่งมะเซดอนได้นำกองทัพรุกรานผ่านเปอร์เซียเอเซียกลาง
เข้ามาจนถึงภาคเหนือของอินเดียได้ตีเมืองต่าง ๆ
ในอินเดียตอนเหนือไว้ได้มากมาย
ในสมัยนั้นพระราชบิดาของจันทรคุปต์ ถูกปลงพระชนม์ที่ชายแดนโมริยนคร
พระมารดาซึ่งกำลังทรงครรภ์
ได้อพยพหนีภัยเข้ามาอยู่ในเมืองปาฏลีบุตร และได้คลอดบุตรที่นั่น
ต่อมามีชาวเมืองดักศิลาคนหนึ่งชื่อ
จาณักยะ ได้รับจันทรคุปต์ไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม
แล้วพาไปศึกษาศิลปศาสตร์ต่าง
ๆ ที่เมืองตักศิลาเวลานั้น ดินแดนในอินเดียทางตะวันตก รวมทั้งเมืองตักศิลา
ตกอยู่ในอำนาจของพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์แล้ว จาณักยะกับจันทรคุปต์
จึงได้คิดอ่านกอบกู้เอกราช
โดยซ่องสุมผู้คนไว้มากมาย แล้วส่งไปเป็นกองโจร
ออกรังควานกองทัพพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์อยู่ตลอดเวลา
เมื่อพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์แล้ว จันทรคุปต์ก็ประกาศเข็งแมือง
และดำเนินการอำนาจกรีกให้พ้นไปจากอินเดียตะวันตก
จนเป็นผลสำเร็จ โดยโจมตีเมืองปัญจาปก่อน แล้วจึงยกกองทัพไปตีเมืองต่าง ๆ
แถบลุ่มน้ำคงคาได้สำเร็จ
และตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นในเขตปัญจาปแล้วยกกองทัพไปตีเมืองต่าง ๆ
ที่ขึ้นกับอาณาจักรมคธก่อน
แล้วจึงเข้าตีเมืองปาฏลีบุตรได้ จับกษัตริย์นันทะได้
จึงตั้งตนเป็นใหญ่ในเมืองปาฏลีบุตร
เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โมริยะ และได้แผ่อาณาเขตเข้าไปถึงอัฟกานิสถาน
และบาลูชิสถาน
แล้วได้สร้างสันติภาพถาวรกับพวกกรีก
โดยได้อภิเษกกับธิดาของซีลิวกุสเจ้าเมืองกรีก
พระเจ้าจันทรคุปต์ครองราชย์อยู่ได้ ๒๔
พรรษาก็มอบราชสมบัติให้พระราชโอรสพระนามว่า
พินทุสาร และสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓
พระเจ้าพินทุสารได้แผ่อำนาจไปจนถึงไมซอร์ทางภาคใต้
พระองค์มีศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาพราหมณ์มาก
ต่างจากพระราชบิดา ที่เลื่อมใสในศาสนาเชนองค์หนึ่ง ของพระองค์พระนามว่า
ธรรมมามีพระราชโอรสสององค์คือ
เจ้าชายอโศกกับเจ้าชายติสสะเจ้าชายอโศก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปราช
ปกครองแคว้นอวันตี
ซึ่งมีเมืองอุชเชนีเป็นเมืองหลวง เมื่อพระเจ้าพินทุสารสวรรคต
พระองค์ได้ยึดราชสมบัติ
ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๗๑
ในคัมภีรมหาวงศ์กล่าวว่า พระเจ้าอโศกสั่งให้ประหารชีวิตพระเชษฐา
และพระอนุชาต่างพระมารดาทั้งหมดรวม
๙๙ องค์ เหลือแต่เจ้าชายติสสะ ซึ่งพระองค์แต่งตั้งให้เป็นอุปราช
แต่ต่อมาได้ออกผนวช
และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
ในระยะแรก ๆ ที่ขึ้นครองราชย์พระเจ้าอโศกมิได้สนพระทัยในเรื่องศาสนา
เลยมุ่งแต่จะแผ่อำนาจอย่างเดียว
สามารถขยายอาณาจักรไปเกือบทั่วดินแดน ที่เรียกว่า อินเดีย
ปัจจุบันนี้ยกเว้นดินแดนภาคใต้ที่อยู่ในปกครองของพวกทมิฬ
ทางเหนือได้แผ่อาณาจักรไปจดภาคใต้ของอาณาจักรซีเรีย
ซึ่งอยู่ในปกครองของกรีก
เอเชียตะวันตก แคชเมียร์ เนปาล เบงกอลภาคเหนือ และภาคตะวันออก
การทำสงครามโดยไม่ปราณีศัตรูทำให้พระองค์ได้รับสมญานามว่า
จัณฑาโศก
แปลว่าอโศกผู้ดุร้าย
ครั้งหลังสุดเมื่อพระองค์ทรงพิชิตแคว้นกสิงคราษฎร์ ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่
และมีอำนาจมากแคว้นหนึ่งทางภาคใต้ของอินเดีย
ได้แล้วทรงรู้สึกสลดใจมาก
เพราะในสงครามครั้งนั้นได้มีผู้คนล้มตายกว่าแสนคน
เป็นจำนวนมากยิ่งกว่าครั้งใด ๆ จึงทรงคิดจะหันมาเผยแผ่ธรรมานุภาพแทน
จึงทรงสอบถามหาความรู้
เกี่ยวกับศาสนาต่าง ๆ ได้พบนิโครชสามเณร
จึงให้อาราธนาไปสนทนาสอบถามธรรมสามเณรนิโครธ
เป็นโอรสของเจ้าชายสุมนะพระราชโอรสองค์หนึ่ง ของพระเจ้าพินทุสาร
และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว
ได้เทศนาเรื่องความไม่ประมาท
พระเจ้าอโศกทรงเลื่อมใสมากทรงประกาศรับไตรสรฌาคมนี้นับถือพระพุทธศาสนา
ตั้งแต่นั้นมาเลิกนับถือศาสนาพราหมณ์ ซึ่งพระราชธิดานับถือมาก่อน
เมื่อพระเจ้าอโศกทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา
แล้วก็บำเพ็ญตนเป็นอุบาสกที่ดีให้เป็นแบบอย่างของประชาชน
ทรงผนวชอยู่ระยะหนึ่ง ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
ในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สาม
เมื่อปี พ.ศ.๓๐๓ แล้วส่งพระเถระออกประกาศพระพุทธศาสนาทั้งในประเทศ
และต่างประเทศ
รวมเก้าสายด้วยกัน พระองค์ได้เสด็จธรรมยาตราไปนมัสการสถานที่สำคัญ ๆ
ของพระพุทธศาสนาและรับสั่งให้สร้างเสาศิลา
และแผ่นศิลาจารึกคำสอนของพระพุทธเจ้า
และคำแนะนำของพระองค์ให้ประชาชนตั้งอยู่ในธรรมไว้ทั่วทุกหนทุกแห่งที่พระองค์เสด็จไปถึง
ทำให้พระองค์ได้รับสมญานามใหม่ว่า ธรรมาโศก
แปลว่าอโศกผู้ทรงธรรม และอโศกเทวานัมปิยทัสสี
แปลว่าอโศกผู้เป็นที่รักของทวยเทพ
พระองค์ทรงครองราชย์อยู่ ๓๗ พรราา สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๓๐๘
พระราชโอรสขึ้นครองราชย์สืบต่อมา
กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาล้วนแต่ทรงอ่อนแอ และได้ถูกแม่ทัพใหญ่ชื่อ ปุษยมิตร
ยึดอำนาจแล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ศุงดงขึ้น
๒๓/๑๕๐๐๗
๔๔๑๕. เมาะตะมะ
เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรมอญ
ตั้งอยู่บนปากน้ำบนฝั่งเหนือของแม่น้ำสาละวิน
มอญได้ตั้งตัวเป็นอิสระในรัชสมัยเจ้าฟ้ารั่ว เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๐
ราชวงศ์เจ้าฟ้ารั่ว
ซึ่งเรียกกันว่า ราชวงศ์หงสาวดีหรือไทยใหญ่ - ตะเลง
ราชวงศ์นี้ได้ปกครองอาณาจักรมอญ
มาจนถึงปี พ.ศ.๒๐๘๒ มีกษัตริย์ปกครองต่อมา ๑๙ องค์ พญาอู่ ซึ่งครองราชย์
เมื่อปี
พ.ศ.๑๘๙๖ - ๑๙๒๘ ได้ย้ายราชธานีจากเมืองเมาะตะมะไปตั้งที่กรุงหงสาวดี
พระเจ้าราชาธิราชได้ทำศึกกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง
อยู่นานปีและพระเจ้าสการวุตพีเป็นกษัตริย์องค์สุดท้าย
ในปี พ.ศ.๒๐๖๒ โปร์ตุเกสตั้งสถานีการค้าขึ้นที่เมืองเมาะตะมะ
ยังผลให้การค้าขายของมอญได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว
จึงเป็นเหตุประการหนึ่ง ที่พระเจ้าแผ่นดินพม่าโจมตีอาณาจักรมอญ
และทำได้สำเร็จได้เป็นพระเจ้าหงสาวดีคือพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้
หลังจากล้อมเมืองเมาะตะมะอยู่เจ็ดเดือน
การลงโทษมอญอย่างรุนแรงของพม่าต่อมอญ
ทำให้มอญที่อยู่เมืองมะละแหม่ง และเขตใกล้เคียงยอมจำนนโดยดี
พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ใช้เมืองเมาะตะมะเป็นที่ชุมนุมกองทัพ
ที่ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา
เพราะว่าทางคมนาคมระหว่างเมืองมอญกับเมืองไทย
มีทางหลวงสำหรับไปมาแต่โบราณสองทาง
รวมกันที่เมืองเมาะตะมะ โดยอาศัยทางสายเหนือ
กองทัพพม่าสามารถรุกเข้าประเทศไทยทางด่านแม่ละเมา
อันเป็นทางเข้าสู่เมืองเหนือ ตลอดจนถึงเมืองเชียงใหม่
ทางสายสองลงไปทางใต้เข้าสู่ด่านพระเจดีย์สามองค์
และเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และชานกรุงศรีอยุธยา
กองทัพพม่าได้รวมพลที่เมืองเมาะตะมะหลายครั้ง เช่น
เมื่อครั้งตีเมืองเชียนคราน
ในปี พ.ศ.๒๐๘๑ ในการสงครามครั้งสมเด็จพระศรีสุริโยทัยขาดคอช้าง เมื่อปี
พ.ศ.๒๐๙๑
และในการสงครามครั้งพม่าขอช้างเผือก เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖
ภายหลังสงครามยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงริเริ่มโจมตีพม่าในปี
พ.ศ.๒๑๓๗
และได้หัวเมืองมอญ ด้วยเหตุนี้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ตั้งแต่เมืองเมาะตะมะ
ตลอดมาจนจดเขตแดนไทย
ก็มาเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยาหมดทุกเมือง ต่อมาปี พ.ศ.๒๑๔๒
สมเด็จพระนเรศวร
ฯ ทรงยกทัพไปตีกรุงหุงสาวดีก็ได้เสด็จผ่านเมืองเมาะตะมะ
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑)
ไทยได้ทำสงครามกับพม่าในปี
พ.ศ.๒๒๐๗ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) เป็นแม่ทัพยกไปตีพม่า
จนถึงเมืองพุกาม
กองทัพไทยได้กองทหารเกณฑ์ของมอญ มารวมชุมนุมกันที่เมืองเมาะตะมะ
เมืองเมาะตะมะได้กลับไปเป็นของพม่าในรัชสมัยพระเจ้าอลองพญา (พ.ศ.๒๒๙๕ -
๒๓๐๓)
และเป็นเมืองที่กองทัพพม่า ได้ชุมนุมพลครั้งพระเจ้าปดุงยกทัพมาตีเมืองไทย
ในการสงครามเก้าทัพ เมื่อปี
พ.ศ.๒๓๒๘
๒๓/๑๕๐๑๓
๔๔๑๖. เมาะลำเลิง
มีชื่อเรียกได้สามชื่อคือ มะละแหม่ง ตามที่ถอดจากภาษาอังกฤษ มรแบน
และเมาะลำเลิง
ตามภาษามอญ เมืองนี้ตั้งอยู่บนฝั่งใต้ของแม่น้ำสาละวิน
เยื้องกับเมืองเมาะตะมะ
และเป็นเมืองท่าใหญ่แห่งหนึ่งของพม่าในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.๒๑๓๗ พระยาพะโรเจ้าเมืองเมาะลำเลิง
ซึ่งมีผู้คนพลเมืองเป็นมอญได้มาเข้ากับไทย
เจ้าเมืองเมาะตะมะทราบเรื่อง จะเอาเจ้าเมืองเมาะลำเลิงไปชำระโทษ
แต่เจ้าเมืองเมาะลำเลิง
จึงได้รวบรวมกำลัง แล้วกระทำแข็งเมือง
และแต่งทูตมาสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวร
ฯ พร้อมกับขอพระราชทานกองทัพ ไปช่วยรักษาเมืองเมาะลำเลิงไว้
สมเด็จพระนเรศวร
ฯ จึงมีรับสั่งให้พระยาศรีไศลคุมกองทัพไปช่วยเมืองเมาะลำเลิง
ปรากฎว่าพวกมอญตามหัวเมืองต่าง
ๆ ได้สมัครใจเข้ากับกองทัพไทยเป็นอันมาก
จนพวกพม่าที่รักษาเมืองเมาะตะมะต้องทิ้งเมืองหนีไป
พระเจ้านันทบุเรงให้พระเจ้าตองอูยกทัพไปปราบพวกมอญ แต่ก็แพ้กลับไป
เป็นผลให้หัวเมืองมอญทุกเมือง
เปลี่ยนมาเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา
ในปี พ.ศ.๒๑๔๓ สมเด็จพระนเรศวร ฯ
ได้โปรดให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพไปตั้งอยู่ที่เมืองเมาะลำเลิง
เพื่อสะสมสเบียงอาหาร และจัดหากำลังทางเรือจากเมืองทวาย
จากนั้นสมเด็จพระนเรศวร
ฯ ยกทัพไปถึงเมืองหงสาวดีและรุกต่อไปจนถึงเมืองตองอู
เมื่อพม่าปราชัยในสงครามครั้งที่หนึ่ง และต้องทำสัญญาปันดาโย
เพื่อยุติสงครามในปี
พ.ศ.๒๓๖๙ เมืองเมาะลำเลิง
ได้กลายไปเป็นดินแดนในปกครองของอังกฤษ
๒๓/๑๕๐๑๖
๔๔๑๗. เมี้ยน - ปลา
เป็นชื่อที่ใช้เรียกปลาจวด ซึ่งเป็นปลาทะเลมีอยู่หลายชนิด มีลำตัวเรียวยาว
แบนข้าง หัวค่อนข้างแหลม ปากกว้าง เคยมีรายงานพบว่า มีลำตัวยาวประมาณ ๑.๕๐
เมตร มีน้ำหนักกว่า ๓๐ กก. ชอบอาศัยตามพื้นท้องทะเลลักษณะเป็นโคลน
หรือโคลนปนทราบในน้ำค่อนข้างลึก
หน้า ๑๕๐๑๘
๔๔๑๘. เมือง ๑ - นาย
เป็นชื่อตัวละครในหนังสือเรื่อง
พลเมืองดีของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี
(ม.ร.ว.เปีย มาลากูล) เดิมเคยใช้เป็นหนังสืออ่านของนักเรียน
เพื่อใช้เป็นหลักจรรยาให้ความรู้รอบตัวเพาะความฉลาด
และปลูกความประพฤติอันดีแก่พลเมืองทั่วไป
๒๓/๑๕๐๒๒
๔๔๑๙. เมือง ๒
หมายถึง เขตท้องที่ซึ่งรวมอำเภอหลาย ๆ
อำเภอเข้าเป็นเขตการปกครองอันเดียวกัน
ซึ่งในเวลานี้เรียกว่า จังหวัด
อันเป็นเขตท้องที่ของราชการบริหารส่วนภูมิภาค
ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน ประเทศไทยได้เปลี่ยนคำว่าเมืองเป็นจังหวัด
เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๕๙ ส่วนคำว่าเมืองให้คงใช้สำหรับเรียกตำบล ที่ประชาชนได้เคยเรียกว่า
เมืองมาแล้วแต่เดิมเท่านั้น
๒๓/๑๕๐๒๔
๔๔๒๐. เมืองกระบี่
อำเภอขึ้น จ.กระบี่ มีอาณาเขตทิศใต้ และทิศตะวันตก ตกทะเลในช่องมะละกา
ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ราบสูงมีภูเขาและป่าสูง
ตอนกลางเป็นที่ราบต่ำ มีหนองน้ำใหญ่ชื่อ หนองทะเล
อ.เมืองกระบี่ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ปากน้ำ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐
และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองกระบี่ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๒๕
๔๔๒๑. เมืองกาญจนบุรี
อำเภอขึ้น จ.กาญจนบุรี ภูมิประเทศทางทิศใต้ และทิศตะวันออก
เป็นที่ราบลุ่มมีป่า
และภูเขาบ้าง ทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก เป็นที่ราบสูง มีป่าไม้ ภูเขาสูง
ห้วย หนอง ลำธาร บึง โกรก เนิน ทั่ว ๆ ไป
อ.เมืองกาญจนบุรี เดิมชื่อ อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองกาญจนบุรี
เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐ ๒๓/๑๕๐๒๖
๔๔๒๒. เมืองกาฬสินธุ์
อำเภอขึ้น จ.กาฬสินธุ์ ภูมิประเทศเป็นโคก ป่าโปร่ง เดิมเรียก อ.เมือง
เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.หลุบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ภายหลังยุบ จ.กาฬสินธุ์ ไปรวม จ.มหาสารคาม
เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองกาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ เมือแยกตั้ง จ.กาฬสินธุ์ขึ้นใหม่ ในปี
พ.ศ.๒๔๙๐ ก็คงเรียก
อ.เมืองกาฬสินธุ์
๒๓/๑๕๐๒๖
๔๔๒๓. เมืองกำแพงเพชร
อำเภอขึ้น จ.กำแพงเพชร ภูมิประเทศทางทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้
เป็นที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก
ทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกเป็นที่ดอนมีป่า และภูเขา
อ.เมืองกำแพงเพชรเดิมชื่อ อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองกำแพงเพชร
เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐ หน้า
๑๕๐๒๗
๔๔๒๔. เมืองขอนแก่น
อำเภอขึ้น จ.ขอนแก่น ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงมีทุ่ง และป่าโปร่งเป็นส่วนมาก
อ.เมืองขอนแก่น เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พระลับ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองขอนแก่น เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๒๗
๔๔๒๕. เมืองจันทบุรี
อำเภอขึ้น จ.จันทบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นป่าโปร่งตอนกลาง
และตอนใต้เป็นที่ลุ่ม
ทำนาได้ทั่ว ๆ ไป ทางทิศตะวันออกเป็นที่ดอน มีสวนยางพาราและสวนผลไม้มาก
ทางทิศตะวันตกเป็นที่ทราย
และดินแดง
อ.เมืองจันทบุรี เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองจันทบุรี
เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐ ๒๓/๑๕๐๒๘
๔๔๒๖. เมืองฉะเชิงเทรา
อำเภอขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา ภูมิประเทศเป็นที่ราบ เดิมเรียก อ.เมือง
เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองฉะเชิงเทรา เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๒๙
๔๔๒๗. เมืองชลบุรี
อำเภอขึ้น จ.ชลบุรี มีอาณาเขตทางทิศตะวันตก
ตกทะเลในอ่าวไทยภูมิประเทศตอนใต้มีป่าและภูเขามาก
ตอนเหนือเป็นที่ลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง นอกนั้นเป็นที่ราบสูง เดิมเรียก
อ.เมือง
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางปลาสร้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองชลบุรี
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ๒๓/๑๕๐๒๙
๔๔๒๘. เมืองชัยนาท
อำเภอขึ้น จ.ชัยนาท ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นป่าและภูเขา ตอนกลางเป็นที่ดอน
ตอนตะวันออก ตะวันตกและตอนใต้เป็นที่ราบ
อ.เมืองชัยนาทเดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองชัยนาท เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๒๐
๔๔๒๙. เมืองชัยภูมิ
อำเภอขึ้น จ.ชัยภูมิ ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ราบสูง มีป่าและภูเขา
ตอนใต้เป็นที่ราบ
เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนเป็น อ.เมืองชัยภูมิ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๓๐
๔๔๓๐. เมืองชุมพร
อำเภอขึ้น จ.ชุมพร มีอาณาเขตทางทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย
ภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา
อ.เมืองชุมพร เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าตะเภา เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองชุมพร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ๒๓/๑๕๐๓๑
๔๔๓๑. เมืองเชียงราย
อำเภอขึ้น จ.เชียงราย ภูมิประเทศตอนกลาง และตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม
ตอนเหนือเป็นหมู่เขาเตี้ย
ๆ
อ.เมืองเชียงราย เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองเชียงราย
ปี พ.ศ.๒๔๖๐ ๒๓/๑๕๐๓๑
๔๔๓๒. เมืองเชียงใหม่
อำเภอขึ้น จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศเป็นเนินเขามีที่ราบพอทำนาได้บ้าง
เดิมเรียก
อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๓๒
๔๔๓๓. เมืองตรัง อำเภอขึ้น จ.ตรัง
ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มในตอนกลางระหว่างลุ่มแม่น้ำตรัง
ทางทิศตะวันออกเป็นป่า และภูเขา
อ.เมืองตรัง เดิมเรียกว่า อ.บางรัก เมื่อย้ายศาลากลางจังหวัดมาตั้งที่
ต.ทับเที่ยง
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ทับเที่ยง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองตรัง เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๓๒
๔๔๓๔. เมืองตราด
อำเภอขึ้น จ.ตราด
มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกจดประเทศกัมพูชามีทิวเขาบรรทัดคั่นเป็นเขต
ทางทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา
มีที่ราบพอทำไร่นาได้บ้าง
เมื่อแรกตั้งอำเภอได้ตั้งที่ว่าการที่ ต.บางพระ เรียกว่า อ.เมือง ครั้น
จ.ตราดตกไปอยู่ในความยึดครองของฝรั่งเศส
อำเภอนี้ก็ตกไปด้วย และได้คืนมาเป็นของไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐
เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.บางพระ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองตราด เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๓๓
๔๔๓๕. เมืองตาก อำเภอขึ้น จ.ตาก ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบสูงมีดงใหญ่ มีภูเขาเป็นหย่อม
ๆ ตอนกลางตามลุ่มแม่น้ำปิง เป็นที่ราบมีลำธารไหลผ่านหลายสาย ทางทิศตะวันตกเป็นที่ดอน มีภูเขาตั้งเรียงรายซับซ้อนหลายชั้นคล้ายกำแพง
อ.ตากเดิมเรียก อ.เมืองเปลี่ยนชื่อเป็น อ.ระแหง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองตาก เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๑ ๒๓/๑๕๐๓๔
๔๔๓๖. เมืองนครนายก
อำเภอขึ้นจ.นครนายก ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอนเป็นป่าและภูเขา ตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป
อ.เมืองนครนายกเดิมเรียกว่า อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.วังกระโจม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนครนายก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ๒๓/๑๕๐๓๔
๔๔๓๗. เมืองนครปฐม
อำเภอขึ้น จ.นครปฐม ภูมิประเทศทางทิศเหนือเป็นที่ดอน ทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตกค่อนข้างดอน ทางทิศใต้เป็นที่ราบลุ่มทำนาได้เกือบตลอด
อ.เมืองนครปฐมเดิมอยู่รวมกับศาลากลางจังหวัดเรียกว่า อ.พระปฐม แล้วย้ายไปตั้งทางทิศตะวันตกของศาลากลาง
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ เปลื่ยนชื่อเป็น อ.เมือง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนครปฐม
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๓๕
๔๔๓๘. เมืองนครพนม
อำเภอขึ้น จ.นครพนม มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกแม่น้ำโขง ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง
และมีป่าโปร่งมาก
อ.เมืองนครพนม เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.หนองบึก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนครพนม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๓๖
๔๔๓๙. เมืองนครราชสีมา
อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๓๖
๔๔๔๐. เมืองนครศรีธรรมราช
อำเภอขึ้น จ.นครศรีธรรมราช มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย
ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบ ตอนตะวันตกเป็นที่ราบสูงมีภูเขา ตอนตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มลาดต่ำไปสู่ทะเลเหมาะแก่การทำนา
อ.เมืองนครศรีธรรมราชเดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนครศรีธรรมราช
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๓๗
๔๔๔๑. เมืองนครสวรรค์
อำเภอขึ้น จ.นครสวรรค์ ภูมิประเทศเป็นที่ราบทั่ว ๆ ไปเป็นย่านแม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน
ไหลมาจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
อ.เมืองนครสวรรค์ เดิมเรียก อ.เมืองแล้วเปลี่ยนเป็น อ.ปากน้ำโพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนครสวรรค์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๓๗
๔๔๔๒. เมืองนนทบุรี
อำเภอขึ้น จ.นนทบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา
อ.เมืองนนทบุรี เดิมตั้งอยู่ที่ ต.ตลาดขวัญ เรียก อ.ตลาดขวัญ ครั้นย้ายศาลากลางจังหวัดมาตั้งที่
ต.สวนใหญ่ อ.เมืองนนทบุรีก็ย้ายตามมาด้วย และเปลี่ยนชื่อเป็น อ.นนทบุรี ถึงปี
พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนนทบุรี
๒๓/๑๕๐๓๘
๔๔๔๓. เมืองนราธิวาส
อำเภอขึ้น จ.นราธิวาส มีอาณาเขตทิศทางทิศเหนือ และทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย
ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม
อ.เมืองนราธิวาส เดิมขึ้นเมืองสายบุรี เรียกชื่อ อ.บางนรา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕
โอนมาขึ้นเมืองระแงะ ครั้นยุบเมืองระแงะไปตั้งเป็นเมืองบางนรา คือ เมืองนราธิวาสแล้ว
อ.บางนรา จึงเป็น อ.เมือง แล้วกลับเปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางนราอีก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๓๙
๔๔๔๔. เมืองน่าน
อำเภอขึ้น จ.น่าน ภูมิประเทศตอนกลาง ตอนใต้และตอนตะวันตกเป็นที่ลุ่ม ทำนา
ทำสวนเป็นส่วนมาก ที่เป็นป่าและภูเขาทำไร่นา ตอนเหนือและตอนตะวันออกเป็นป่าและภูเขา
ทำไร่เป็นส่วนมาก
อ.เมืองน่าน เดิมเรียก อ.เมืองเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๓๙
๔๔๔๕. เมืองบุรีรัมย์
อำเภอขึ้น จ.บุรีรัมย์ ภูมิประเทศเป็นที่ดอน โดยมากมีที่วางทำการเพาะปลูกได้ประมาณสองในห้าส่วน
อ.เมืองบุรีรัมย์ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองบุรีรัมย์ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐ ๒๓/๑๕๐๔๐
๔๔๔๖. เมืองปทุมธานี
อำเภอขึ้น จ.ปทุมธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เหมาะแก่การทำนา
ทำสวน
อ.เมืองปทุมธานี เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางกระดี่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๔๐
๔๔๔๗. เมืองประจวบคีรีขันธ์
อำเภอขึ้น จ.ประจวบคีรีขันธ์มีอาณาเขตทางด้านทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ทางด้านทิศตะวันตกจดประเทศพม่า
ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ตามชายทะเลมีภูเขาประปรายทั่ว ๆ ไป นอกนั้นเป็นป่าและภูเขา
อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗ ขึ้น จ.เพชรบุรี ตั้งที่ว่าการที่
ต.กุยใต้ (ที่ตั้งเมืองกุยเก่า) ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๑ จึงย้ายอำเภอมาตั้งที่อ่าวเกาะหลัก
ครั้นปี พ.ศ.๒๔๔๙ ตั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยังใช้ชื่อเดิมถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เกาะหลัก แล้วกลับเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๔๑
๔๔๔๘. เมืองปราจีนบุรี
อำเภอขึ้น จ.ปราจีนบุรี ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอนตอนกลาง และตอนใต้เป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา
อ.เมืองปราจีนบุรี เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองปราจีนบุรี เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐ ๒๓/๑๕๐๔๑
๔๔๔๙. เมืองปัตตานี
อำเภอขึ้น จ.ปัตตานี มีอาณาเขตทางด้านทิศเหนือตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มทั่ว
ๆ ไป
อ.เมืองปัตตานี เดิมเรียก อ.เมือง ตั้งที่ว่าการอยู่ที่ ต.อาเนาะรู ต่อมาย้ายที่ว่าการมาตั้งที่
ต.สะบารัง เปลี่ยนชื่อตามตำบลที่ตั้ง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองปัตตานี เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๑ ๒๓/๑๕๐๔๒
๔๔๕๐. เมืองพะเยา
อำเภอขึ้น จ.พะเยา ภูมิประเทศมีเขาล้อมสามด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันตก
ในระหว่างกลางเป็นที่ราบ และเป็นเนินทางเหนือเป็นที่ราบ
อ.เมืองพะเยาเป็นเมืองโบราณสมัยเดียวกับกรุงสุโขทัยมีเจ้าผู้ครองเมืองชื่อ
พญางำเมือง ภายหลังยุบเป็น อ.เมืองพะเยา เปลี่ยนชื่อเป็น อ.พะเยา เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๑ ในอำเภอนี้มีหนองน้ำใหญ่เรียกว่า กว๊านพะเยา
๒๓/๑๕๐๔๒
๔๔๕๑. เมืองพังงา
อำเภอขึ้น จ.พังงา ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน มีป่าและภูเขา ตอนใต้เป็นที่ราบและเป็นหมู่เกาะ
อ.เมืองพังงานเดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท้ายช้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองพังงา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๔๓
๔๔๕๒. เมืองพัทลุง
อำเภอขึ้น จ.พัทลุง มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลสาบพัทลุง ทิศตะวันตกจดทิวเขานครศรีธรรมราช
ซึ่งเป็นเขตกับ จ.ตรัง ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกพื้นที่สูง เพราะจดทิวเขานครศรีธรรมราช
แล้วค่อยลาดมาทางตะวันออกจนจดทะเลสาบ ตอนเชิงเขาเป็นป่าสูงตอนกลางเป็นที่ราบทำนาทำสวน
ตอนใต้ทะเลบางแห่งเป็นที่ราบ บางแห่งเป็นพรุ ทำนา ทำสวนไม่ได้
อ.เมืองพัทลุง เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ลำปำ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.คูหาสวรรค์ ตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการ เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองพัทลุง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๔๔
๔๔๕๓. เมืองพิจิตร
อำเภอขึ้น จ.พิจิตร ภูมิประเทศโดยมากเป็นที่ลุ่มมีป่าและภูเขาบ้าง
อ.เมืองพิจิตร เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองพิจิตร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๔๕
๔๔๕๔. เมืองพิษณุโลก
อำเภอขึ้น จ.พิษณุโลก ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มตลอด เหมาะแก่การเพาะปลูก
อ.เมืองพิษณุโลก เดิมชื่อ อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองพิษณุโลก เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐ ๒๓/๑๕๐๔๕
๔๔๕๕. เมืองเพชรบุรี
อำเภอขึ้น จ.เพชรบุรี มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางด้านตะวันตกเป็นที่ดอนมีต้นตาลโตนดมาก
นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่มทั่ว ๆ ไป
อ.เมืองเพชรบุรี เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.คลองกระแชง เมื่อปี
พ.ศ. ๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองเพชรบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๔๕
๔๔๕๖. เมืองเพชรบูรณ์
อำเภอขึ้น จ.เพชรบูรณ์ ภูมิประเทศโดยมากเป็นที่ราบ มีภูเขากั้นทางด้านตะวันออก
และตะวันตก แถบใกล้ภูเขาเป็นเนินและเป็นทุ่งทั่วไป ตอนท้องทุ่งน้ำท่วมตามฤดูกาล
ทางตะวันออกเฉียงใต้เป็นป่า
อ.เมืองเพชรบูรณ์ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองเพชรบูรณ์ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐ ๒๓/๑๕๐๔๖
๔๔๕๗. เมืองแพร่
อำเภอขึ้น จ.แพร่ ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ราบดอน รอบนอกมีภูเขา ป่าไม้สักและไม้กระยาเลย
เมืองแพร่ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองแพร่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๔๖
๔๔๕๘. เมืองภูเก็ต
อำเภอขึ้น จ.ภูเก็ต มีอาณาเขตทางทิศตะวันออก และทิศใต้ตกทะเลในช่องมะละกาทิศตะวันตก
ตกทะเลอันดามัน ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ มีอ่างและแหลมมากแห่ง
อ.เมืองภูเก็ต เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ทุ่งคา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๔๗
๔๔๕๙. เมืองมหาสารคาม
อำเภอขึ้น จ.มหาสารคาม ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มโดยมาก ตอนใต้เป็นที่ดอน มีดินปนทราบ
มีป่าไม้เป็นหย่อม ๆ
อ.เมืองมหาสารคาม เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ตลาด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองมหาสารคาม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๔๗
๔๔๖๐. เมืองมุกดาหาร
อำเภอขึ้น จ.มุกดาหาร มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกแม่น้ำโขง ภูมิประเทศตอนริมแม่น้ำโขงเป็นที่ราบต่ำ
นอกนั้นเป็นดงใหญ่คือดงบัวอี่
อ.เมืองมุกดาร เดิมเป็นเมืองตั้งอยู่ริมห้วยมุกซึ่งไหลลงแม่น้ำโขง จึงชื่อว่า
เมืองมุกดาหาร ยุบเป็นอำเภอในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เป็นท่าค้าขายติดต่อกับส่วนเขตของประเทศลาว
เป็นชุมทางรถยนต์มาจาก จ.นครพนม และจ.อุบลราชธานี มีที่เที่ยวตากอากาศ คือ
ภูมะโน และภูหินข้น
๒๓/๑๕๐๔๘
๔๔๖๑. เมืองแม่ฮ่องสอน
อำเภอขึ้น จ.แม่ฮ่องสอน มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันตกจดประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นภูเขาโดยมากมีที่ราบทำนาได้บ้าง
ตามลุ่มแม่น้ำสะงา ลำน้ำแม่ฮ่องสอน ลำน้ำแม่ระมาด
อ.เมืองแม่ฮ่องสอนเดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ม่วยต่อ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๔๘
๔๔๖๒. อ.เมืองยะลา
อำเภอขึ้น จ.ยะลา ภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา ชาวพื้นเมืองเป็นไทยอิสลาม
อ.เมืองยะลา เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.สะเตง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองยะลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๔๙
๔๔๖๓. เมืองร้อยเอ็ด
อำเภอขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศเป็นโคกสลับแอ่ง เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๕๐
๔๔๖๔. เมืองระนอง
อำเภอขึ้น จ.ระนอง มีอาณาเขตทางทิศตะวันตก ตกแม่น้ำกระบุรี และทะเลอันดามัน
ทางด้านทะเลมีเกาะมาก
อ.เมืองระนอง เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เขานิเวศน์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองระนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๕๑
๔๔๖๕. เมืองระยอง
อำเภอขึ้น จ.ระยอง มีอาณาเขตทางทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นที่สูงมีภูเขาบ้าง
ตอนกลางเป็นที่ราบต่ำ บางแห่งเป็นที่ลุ่มทำนาได้
อ.เมืองระยอง มีเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อครั้งยังเป็นพระยาตาก
(สิน) ยกกำลังมาถึงเมืองระยอง คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง มาพักอยู่ที่โบสถ์วัดลุ่ม
อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าประดู่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองระยอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๕๑
๔๔๖๖. เมืองราชบุรี
อำเภอขึ้น จ.ราชบุรี ภูมิประเทศทางทิศตะวันตกเป็นป่าและภูเขา นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่ม
อ.เมืองราชบุรี เดิมตั้งอยู่ที่ ต.ธรรมเสนได้ย้ายมาที่ ต.หน้าเมือง เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ๒๓/๑๕๐๕๒
๔๔๖๗. เมืองลพบุรี
อำเภอขึ้น จ.ลพบุรี ภูมิประเทศทางทิศตะวันออกเป็นที่ดอนมีภูเขา และป่าดง นอกนั้นเป็นที่ราบลุ่ม
๒๓/๑๕๐๕๒
๔๔๖๘. เมืองลำปาง
อำเภอขึ้น จ.ลำปาง ภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองลำปาง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๕๓
๔๔๖๙. เมืองลำพูน
อำเภอขึ้น จ.ลำพูน ภูมิประเทศโดยมากเป็นที่ราบต่ำ ทำนาได้ดี ทางทิศตะวันออกมีที่ดอนบ้างมีทุ่งนาและป่าเขาบ้าง
อ.เมืองลำพูน เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองลำพูน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๕๔
๔๔๗๐. เมืองเลย
อำเภอขึ้น จ.เลย ภูมิประเทศทางทิศเหนือ และทิศใต้เป็นที่ราบลุ่มโดยมาก ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกมีป่าและภูเขามาก
อำเภอนี้ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.กุดป่อง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองเลย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๕๔
๔๔๗๑. เมืองศรีษะเกษ
อำเภอขึ้น จ.ศรีษะเกษ ภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง อำเภอนี้เดิมเป็นเมืองเล่ากันว่า
พระยาแกรก เมืองพนมเปญ เดินทางไปเวียงจันทน์ได้ผ่านมาทางอำเภอนี้ และไปได้ชายาที่เวียงจันทน์คนหนึ่งชื่อศรี
อยู่ด้วยกันจนมีครรภ์ พระยาแกรกจึงกลับไปพนมเปญ ศรีคอยอยู่นนาน ไม่เห็นพระยาแกรกกลับก็ออกจากเวียงจันทน์
จะตามไปเมืองพนมเปญไปถึงบ้านสระกำแพง (ต.กำแพง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีษะเกษ)
นางก็คลอดบุตร จึงใช้น้ำในสระกำแพงชำระล้างมลทินของบุตร และสระผมของตน ภายหลังตั้งเมืองขึ้นที่ใกล้สระนั้นจึงให้ชื่อว่าศรีษะเกษ
ได้ยุบลงเป็นอำเภอในรัชกาลที่ห้า
๒๓/๑๕๐๕๕
๔๔๗๒. เมืองสกลนคร
อำเภอขึ้น จ.สกลนคร ภูมิประเทศทางตอนเหนือ และตะวันออกเป็นที่ราบโดยมาก ตอนใต้และตะวันตกเป็นป่าและภูเขา
ในอำเภอนี้มีโบราณสถานคือพระธาตุเชิงชุม อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.พระธาตุเชิงชุม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสกลนคร เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๑ ๒๓/๑๕๐๕๕
๔๔๗๓. เมืองสงขลา
อำเภอขึ้น จ.สงขลา มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศยาวเรียงไปตามฝั่งทะเล
ตอนใต้เป็นที่ราบ ตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่ม อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองสงขลา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๕๖
๔๔๗๔. เมืองสตูล
อำเภอขึ้น จ.สตูล มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกและทิศใต้บางตอนจดประเทศมาเลเซีย
ทางทิศใต้บางตอนและทิศตะวันตก ตกทะเลในช่องแคบมะละกา ภูมิประเทศส่วนมากเป็นป่าและภูเขา
ตอนกลางและตอนใต้มีที่ราบพอเพาะปลูกได้บ้าง
อำเภอนี้ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บำบัง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองสตูล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๕๗
๔๔๗๕. เมืองสมุทรปราการ
อำเภอขึ้น จ.เมืองสมุทรปราการ มีอาณาเขตทางทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศทางตอนเหนือ
และตอนกลางเป็นที่ราบต่ำทำการเพาะปลูกได้
อำเภอนี้ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.สมุทรปราการ ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสมุทรปราการ
๒๓/๑๕๐๕๗
๔๔๗๖. เมืองสมุทรสงคราม
อำเภอขึ้น จ.สมุทรสงคราม มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกและทิศใต้ บางส่วนตกทะเลในอ่าวไทย
ภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำลงไปโดยลำดับ จากเหนือไปใต้เหมาะแก่การทำสวน
อำเภอนี้มีวัดบ้านแหลม ซึ่งมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลม
อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น
อ.บ้านปรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ให้ตรงกับตำบลที่ตั้งที่ว่าการ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๗
ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ ต.แม่กลอง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.แม่กลอง และเปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองสมุทรสงคราม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๕๘
๔๔๗๗. เมืองสมุทรสาคร
อำเภอขึ้น จ.สมุทรสาคร มีอาณาเขตทางทิศใต้ตกทะเลในอ่าวไทย ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม
ตอนเหนือเป็นทุ่งนา ตอนริมทะเลเป็นสวน และป่าไม้โกงก่าง
อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสมุทรสาคร
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๖๐
๔๔๗๘. เมืองสรวง
อำเภอขึ้น จ.ร้อยเอ็ด ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม อำเภอนี้แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ขึ้น อ.สุวรรณภูมิ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒
๒๓/๑๕๐๖๐
๔๔๗๙. เมืองสระบุรี
อำเภอขึ้น จ.สระบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่สูงเขินเป็นส่วนมาก
ตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือเป็นป่าและภูเขา
อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ปากเพรียว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
ตามชื่อตำบลที่ตั้งที่ว่าการ ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากคลองเพรียวถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑
เปลี่ยนชื่อเป็น จ.เมืองสระบุรี
๒๓/๑๕๐๖๑
๔๔๘๐. เมืองสิงห์บุรี
อำเภอขึ้น จ.สระบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มทำนาได้ทั่วไป
อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางพุทรา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองสิงห์บุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๖๑
๔๔๘๑. เมืองสุโขทัย
อำเภอขึ้น จ.สุโขทัย ภูมิประเทศตอนเหนือ ตอนตะวันออกตอนใต้ และตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม
ตอนตะวันตกเป็นที่ดอนมีภูเขาและป่าไม้
อำเภอนี้มีซากเมือง วิหาร สถูป เจดีย์ และเทวาลัยของโบราณครั้งสุโขทัยเป็นราชธานีอยู่
เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.สุโขทัย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๖๒
๔๔๘๒. เมืองสุพรรณบุรี
อำเภอขึ้น จ.สุพรรณบุรี ภูมิประเทศเป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป
อำเภอนี้ในสมัยอยุธยาเป็นทางเดินผ่านของกองทัพพม่า ซึ่งยกมาทางด่านเจดีย์สามองค์
และเป็นสนามรบระหว่างไทยกับพม่า เมื่อไทยยกมารับทัพพม่าเป็นสถานที่ ซึ่งไทยใช้เป็นที่ประชุมพลในการรบ
โดยมากไปประชุมพลที่วัดชุมพล ซึ่งบัดนี้เป็นวัดร้าง
อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ท่าพี่เลี้ยง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
เปลี่ยนชื่อเป็น จ.เมืองสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๖๒
๔๔๘๓. เมืองสุราษฎร์ธานี
อำเภอนี้ จ.สุราษฎร์ธานี มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และตะวันออกบางตอนตกทะเลในอ่าวไทย
ภูมิประเทศตอนเหนือ และตอนตะวันตกเป็นที่ลุ่มลาดลงทะเล ตอนกลางเป็นที่ราบ
ตอนใต้และตอนตะวันออกเป็นเนินและเขา
อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บ้านดอน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองสุราษฎร์ธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๖๓
๔๔๘๔. เมืองสุรินทร์
อำเภอขึ้น จ.สุรินทร์ ภูมิประเทศตอนใต้เป็นโคกสลับแอ่ง เป็นป่าดง ตอนกลางเป็นที่ราบและเป็นป่า
ตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่ม
อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๖๔
๔๔๘๕. เมืองหนองคาย
อำเภอขึ้น จ.หนองคาย มีอาณาเขตทิศเหนือตกแม่น้ำโขง ภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีห้วย
หนอง คลองทั่วไป
อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.มีชัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ถึงปี
พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองหนองคาย
๒๓/๑๕๐๖๔
๔๔๘๖. เมืองอ่างทอง
อำเภอขึ้น จ.อ่างทอง ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มโดยมาก
อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางแก้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองอ่างทอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๖๕
๔๔๘๗. เมืองอุดรธานี
อำเภอขึ้น จ.อุดรธานี ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่มตอนใต้เป็นที่ลุ่มบ้าง
ดอนบ้าง ส่วนมาเป็นป่า มีที่ทำนาได้น้อย ตอนตะวันตกเป็นโคกสลับแอ่ง ตอนกลางเป็นที่ราบลุ่มทำนาได้ทั่วไป
อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.หมากแข้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น
อ.เมืองอุดรธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ๒๓/๑๕๐๖๕
๔๔๘๘. เมืองอุตรดิตถ์
อำเภอขึ้น จ.อุตรดิตถ์ ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอนมีทิวเขา หว่างเขาเป็นที่กว้างขวางทำนาได้
เพราะมีลำห้วยผ่านหลายสาย ตอนใต้เป็นที่ลุ่มราบเป็นบางตอน ท้องที่ของอำเภอเป็นรูปยาวไปตามแม่น้ำน่าน
สองฟากลำน้ำทำไร่ยาสูบได้ตลอด
อำเภอนี้เดิมเรียก เมืองอุตรดิตถ์ เพราะเคยเป็นเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งขึ้นเมืองพิชัยมาก่อน
เมื่อย้ายที่ว่าการอำเภอพิชัยมาตั้งที่เมืองอุตรดิตถ์ จึงเอาชื่อเมืองอุตรดิตถ์
เป็นชื่ออำเภอ ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๘ กลับเรียกเมืองพิชัยว่า เมืองอุตรดิตถ์อีก ถึงปี
พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางโพ แล้วกลับเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองอุตรดิตถ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๖๖
๔๔๘๙. เมืองอุทัยธานี
อำเภอขึ้น จ.อุทัยธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา อำเภอนี้เดิมเรียก
อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.น้ำซึม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองอุทัยธานี
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๐๖๗
๔๔๙๐. เมืองอุบลราชธานี
อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี ภูมิประเทศเป็นที่ราบมีป่าละเมาะ และป่าโปร่งเหมาะแก่การทำนาทั่วไปที่เป็นป่าทึบมีน้อย
อำเภอนี้เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๐๖๗
๔๔๙๑. แมกซ
มีลเลอร์ เป็นชาวเยอรมัน เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๖
ท่านได้ชื่อว่า เป็นนักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณตะวันออกหลายภาษา โดยเฉพาะภาษาสันสกฤต
และภาษาบาลี รวมทั้งภาษีถิ่นต่าง ๆ ของอินเดีย ตลอดจนภาษาโบราณของอิหร่านและอื่น
ๆ มีผลงานเกี่ยวกับภาษา วรรณคดี และศาสนาต่าง ๆ ของเอเชียเป็นจำนวนมาก และได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในรุ่นแรกที่สุดที่ได้นำภาษา
และวรรณคดีสันสกฤตของอินเดีย ไปเผยแพร่ให้รู้จักทั่วทวีปยุโรป ทำให้เกิดความตื่นเต้นสนใจอย่างกว้างขวาง
เป็นผลให้มีผู้ติดตามศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับภาษาสันสกฤต และศิลปะวิทยาการสาขาต่าง
ๆ ของอินเดียโบราณอย่างแพร่หลายสืบมาจนถึงปัจจุบัน
แมกซ มีลเลอร์ ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ ที่ประเทศอังกฤษ
๒๓/๑๕๐๖๘
๔๔๙๒. แมกนีเซียม
เป็นธาตุลำดับที่ ๑๒ ในปี พ.ศ.๒๓๕๑ ได้มีผู้สกัดแยกธาตุนี้ออกมาได้สำเร็จในลักษณะเป็นโลหะที่ยังมีมลทินเจืออยู่
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๒ มีผู้สามารถสกัดแยกธาตุนี้ออกมาเป็นโลหะบริสุทธิ์ และปริมาณมากได้สำเร็จ
แมกนีเซียมมีปรากฎในธรรมชาติในเปลือกโลก มีปริมาณสูงมากเป็นอันดับที่หก ในบรรดาธาตุทั้งหมด
ที่มีปรากฎอยู่ในเปลือกโลก ธาตุนี้ว่องไวต่อปฎิกริยาเคมี ดังนั้นในธรรมชาติจึงไม่มีแมกนีเซียมปรากฎอยู่
ในภาวะอิสระแต่จะรวมตัวอยู่กับธาตุอื่นเป็นสารประกอบ
แมกนีเซียมยังปรากฎมีอยู่เป็นปริมาณสูงในน้ำทะเล คือ ในน้ำทะเล ๑ ลบ.กม. จะมีแมกนีเซียมอยู่ถึง
๑,๓๒๓,๐๐๐ ตัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะเป็น แมกนีเซียมคลอไรด์ละลายอยู่ สารประกอบนี้ทำให้น้ำทะเลมีรสขมระคนกับรสเค็มของโซเดียมคลอไรด์
นอกจากนี้ยังปรากฎอยู่ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งร่างกายต้องการธาตุนี้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
สำหรับปฏิกิริยาเอนไซม์ เพื่อย่อยสลายคาร์โบไฮเดรต ในบรรดาพืชสีเขียวก็มีแมกนีเซียมอยู่ด้วย
ซึ่งพืชต้องการใช้ในกรรมวิธีการสร้างคลอโรฟิลล์ ในปฏิกิริยาสังเคราะห์ด้วยแสง
เพื่อสร้างอาหาร
การผลิตแมกนีเซียมเป็นอุตสาหกรรมนั้นส่วนใหญ่ใช้วิธีแยกสลายด้วยไฟฟ้า
แมกนีเซียมเป็นโลหะน้ำหนักเบามาก เนื้ออ่อนสีขาวเป็นเงาคล้ายเงิน เมื่ออยู่ในอากาศแห้งจะเสถียร
แต่ถ้าสัมผัสกับอากาศชื้นผิวจะหมองลง เนื่องจากผิวเกิดปฏิกิริยาเคมีกับออกซิเจน
เมื่อนำแมกนีเซียมมาจุดไฟจะติดไฟลุกโพลงให้แสงสว่างจัด และให้ความร้อนสูง
แมกนีเซียมสามารถผสมรวมตัวกับโลหะอื่น เป็นโลหะเจือที่ได้แต่ละชนิดมีสมบัติ
เฉพาะที่เหมาะแก่การใช้งานต่าง ๆ กัน
๒๓/๑๕๐๗๑
๔๔๙๓. แมกนีโต
เป็นชื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในเครื่องยนต์น้ำมันเบนซินขนาดเล็ก เช่น เครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์
เพื่อก่อให้เกิดแรงดันไฟฟ้าสูง สำหรับจุดระเบิดภายในเครื่องยนต์ การทำงานของแมกนีโตอาศัยหลักการเหนี่ยวนำทางแม่เหล็กไฟฟ้า
รวมสองขั้น ในขั้นแรกสนามแม่เหล็กจากแม่เหล็กถาวร ที่ติดอยู่กับจานหมุนของเครื่องยนต์
จะเหนี่ยวนำให้เกิดแรงดันไฟฟ้า และกระแสไฟฟ้า ขึ้นในชุดขดลวดแรงดันไฟฟ้าต่ำของหม้อแปลงตัวหนึ่ง
ส่วนในขึ้นที่สองกระแสในชุดขดลวดแรงดันไฟฟ้าต่ำของหม้แปลง จะถูกทำให้หยุดไหลอย่างกระทันหัน
ทำให้สนามแม่เหล็กในชุดขดลวดแรงดันต่ำ ยุบตัวลงอย่างรวดเร็ว และเหนี่ยวนำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าสูงขึ้น
ในชุดขดลวดแรงดันไฟฟ้าสูงของหม้อแปลง ซึ่งก็จะจุดระเบิดหัวเทียนได้ ข้อดีประการหนึ่งของระบบจุดระเบิดแบบแมกนีโตนี้ก็คือ
ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ก็ยังสามารถจุดระเบิดได้
๒๓/๑๕๐๗๔
๔๔๙๔. แมง
โดยทั่วไปคนไทยมักเรียกสัตว์ที่เป็นแมลงว่า แมง เช่น แมงเม่า แมงหนีบ และในทางกลับกันบางครั้งก็เรียกสัตว์พวกแมงว่าเป็นแมลง
เช่น แมลงมุม แมลงป่อง
ในทางกีฎวิทยาจะถือว่าแมงเป็นสัตว์อีกพวกหนึ่งที่มีลักษณะแตกต่างไปจากแมลง
กล่าวคือ แมงเป็นสัตว์ที่มีลำตัวแบ่งออกเป็นสองส่วน คือมีส่วนหัวติดกับอกรวมเป็นส่วนเดียวกัน
เป็นส่วนที่หนึ่ง และส่วนท้องแยกออกไปต่างหากเป็นส่วนที่สองมีขาสี่ขา ไม่มีหนวดและไม่มีปีก
ส่วนแมลงนั้นเมื่อโตเต็มที่แล้วร่างกายแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก
และส่วนท้อง มีกลามคู่มีหนวดหนึ่งคู่ และเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังประเภทเดียวที่มีปีก
วงจรชีวิตของพวกแมงโดยทั่วไปจะเป็นแบบเดียวกัน และเป็นแบบง่าย ๆ กล่าวคือ
ตัวแม่วางไข่ ยกเว้นแมงป่องที่ออกลูกเป็นตัว
๒๓/๑๕๐๗๙
๔๔๙๕. แมงกานีส
เป็นธาตุลำดับที่ ๒๕ ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดนเป็นผู้ที่ได้รับเกียรติว่าเป็นผู้ค้นพบธาตุนี้
และได้มีการตั้งชื่อว่าแมงกานีส
ในธรรมชาติแมงกานีสรวมตัวอยู่กับธาตุอื่นเป็นสารประกอบ ปรากฎอยู่ในสินแร่ต่าง
ๆ กระจัดกระจายอยู่ตามผิวโลกโดยทั่วไป แมงกานีสมีลักษณะเป็นโลหะสีขาวอมเท้า
แข็งมากแต่เปราะ มีสมบัติทางเคมีโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับเหล็ก เมื่อทิ้งไว้ในอากาศก็จะถูกออกซิไดส์
และถ้าอากาศชื้นก็จะเป็นสนิม เมื่อเผาให้ร้อนจัดในอากาศก็จะลุกติดไฟได้เช่นเดียวกับเหล็ก
แมงกานีสและสารประกอบแมงกานีสบางสารมีประโยชน์มาก แมงกานีสมีประโยชน์อย่างยิ่งในอุตสาหกรรมโลหะ
โลหะเจือที่มีแมงกานีสผสมอยู่ด้วย จะมีสมบัติแข็งแกร่ง ทนทานต่อการสึกหรอ
และทนต่อการเป็นสนิม
แมงกานีสเป็นธาตุสำคัญและจำเป็นสำหรับพืชและสัตว์ชั้นสูง หากรับเข้าไปเพียงปริมาณน้อย
ๆ สำหรับพืชแมงกานีสช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น
๒๓/๑๕๐๘๑
๔๔๙๖. แมงคาเรือง หรือแมงคา
เป็นตะเข็บชนิดที่สามารถจะเรืองแสงได้ในที่มืด หรือในเวลากลางคืน (ดูตะเข็บ
- ลำดับที่ ๒๑๕๕) แมงคาเรืองส่วนใหญ่จะมีสีน้ำตาลปนเหลือง ไปจนกระทั่งเหลืองอ่อน
มีโครงสร้างของลำตัวบอบบาง ลำตัวแบ่งเป็นปล้องเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก เคลื่อนไหวได้ช้า
ชอบอาศัยอยู่ในที่รกรุงรังตามบ้านเรือน ในบ้านที่มุงด้วยหลังคาจากหรือใช้จากทำฝากั้น
แมงคาเรืองมีอยู่ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ชนิด บางชนิดมีขนาดใหญ่ เช่น มีความยาวของลำตัวถึง
๒๐ ซม. ซึ่งมักไม่เรียกว่า แมงคาเรืองหรือตะเข็บ แต่เรียกว่าตะขาบ
๒๓/๑๕๐๘๕
๔๔๙๗. แมงช้างหรือแมลงช้าง
เป็นแมลงพวกหนึ่ง ซึ่งเมื่อเจริญวัยเต็มที่แล้วจะมีปีกบางใสสองคู่ มีลำตัวยาว
ปากเป็นแบบกัดกิน บางพวกดูคล้ายแมลงปอ ต่างกันที่แมลงช้างมีหนวดยาวยื่นออกมาเห็นได้ชัด
แต่แมลงปอมีหนวดสั้นมาก
๒๓/๑๕๐๙๑
๔๔๙๘. แมงดา
แมงดาที่เป็นแมลงนั้นเป็นพวกมวนกลุ่มหนึ่ง เมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีปีสองคู่
ปากมีรูปร่างยาวเรียวแหลมไปที่ปลายใช้สำหรับเจาะดูดอาหารกิน จึงเป็นปากแบบที่มีลักษณะเจาะดูด
แมงดามีอยู่สามพวกด้วยกัน คือ แมงดานา แมงดาสวน และแมงดาโป้งเป้ง
แมงดานา
ที่คนไทยนิยมนำมาทำน้ำพริกบริโภคจัดเป็นแมลงที่โตที่สุดในแมลงมวนด้วยกัน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในนาข้าว
เป็นมวนที่ชอบเล่นแสงไฟ
แมงดาสวน
พบมากตามท้องร่องในสวนผลไม้ รูปร่างคล้ายแมงดานาแต่เล็กกว่า มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า
แมงสีเสียด (ภาคกลาง) บินได้เก่งและชอบเล่นแสงไฟเช่นเดียวกับแมงดานา
แมงดาโป้งเป้ง
อาศัยอยู่ตามท้องนาหรือตามหนองบ่อบึงทั่ว ๆ ไป ชาวบ้านทางภาคอีสานนิยมจับไปย่างไฟบริโภค
กล่าวกันว่า รสชาติและมีกลิ่นหอม ไม่แพ้แมงดานา
๒๓/๑๕๐๙๑
๔๔๙๙. แมงดาทะเล
เป็นสัตว์โบราณที่ถือกำเนิดและอาศัยอยู่ในทะเลมาเป็นเวลานานกว่า ๓๐๐ ล้านปีมาแล้ว
มีลำตัวกลมแบนไม่แบ่งเป็นปล้อง ด้านหลังนูนมีเปลือกแข็งหุ้มตลอดตัวเป็นกระดอง
แมงดาทะเลอาศัยอยู่ตามชายฝั่ง และบริเวณปากแม่น้ำที่ติดต่อกับทะเลที่พื้นเป็นทราย
หรือโคลนปนทรายในระดับความลึก
๓ - ๑๐ เมตร โดยฝังตัวอยู่ใต้พื้นเกือบตลอดเวลา เมื่อต้องการเคลื่อนย้ายแหล่งที่อยู่
จึงขึ้นมาเหนือพื้นและค่อย ๆ คลานไปช้า ๆ โดยใช้ขาเดิน
ในทะเลไทยพบแมงดาทะเลเพียงสองชนิดคือ แมงดาจานและแมงดาถ้วย
๒๓/๑๕๐๙๘
๔๕๐๐. แมงทับ
หรือแมลงทับเป็นด้วงปีกแข็งพวกหนึ่ง ลำตัวยาวและแข็งมาก หัวเล็กซ่อนอยู่ใต้อกปล้องแรก
ตลอดลำตัวและปีกเข็งมีสีเป็นมันสดใส สีฉูดฉาด อาจจะเป็นสีเขียว สีทองแดง น้ำเงิน
น้ำตาลก็มี
แมงทับชอบอาศัยอยู่ตามต้นคูน ต้นทิ้งก่อนหรือต้นมะขามเทศ และชอบกินใบมะขามเทศมากที่สุด
๒๓/๑๕๑๐๒
๔๕๐๑. แมงมุม
สัตว์พวกหนึ่ง จัดไว้เป็นพวกแมง มีขาสี่คู่ ส่วนหัวและอกที่ติดกันนั้น คลุมด้วยแผ่นแข็งทั้งด้านหลังและด้านล่าง
มีตาเล็ก ๆ ชนิดตาเดียว ซึ่งหมายถึงตามี่มีแก้วตาเดี่ยว ๆ ข้างละหลายตา บางชนิดมีถึงแปดตา
รวมตัวอยู่ใกล้กัน ยกเว้นบางชนิดที่ไม่มีตามักจะเป็นพวกที่อาศัยอยู่ในที่มืด
ที่ปากมีเขี้ยวเป็นอวัยวะคู่ รูปร่างคล้ายคีมหนีบ สามารถใช้หนีบจับยึดเหยื่อกินเป็นอาหารได้
ที่ปลายคีมหนีบมีรูที่ปล่อยพิษ
ที่ขาทั้งสี่คู่มักจะมีโครงสร้างพิเศษให้แมงมุงสามารถถักใยได้ แมงมุมส่วนมากมักจะเป็นประเภทถึกใยขึงขวางทางผ่านของสัตว์
เพื่อจับกินเป็นอาหาร
๒๓/๑๕๑๐๕
๔๕๐๒. แมงลัก
เป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งที่โคนต้น ใบรูปไข่แคบ ๆ ปลายใบแหลม โคนใบสอน ขอบใบเรียบ
ก้านใบเรียงเล็กมักมีขน ดอกเป็นช่อตั้งตรงดอกย่อยไม่มีก้าน กลีบดอกสีขาว ผลขนาดเล็ก
รูปรีแคบสีดำเปลือกเรียบแข็ง
แมงลักมีฤทธิ์ขับลม ขับเหงื่อและกระตุ้น แมงลักทั้งต้นทำยาดื่มแก้ไอ และโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร
ใช้อมบ้วนปาก เพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน ใบใช้แต่งกลิ่นอาหาร เช่นใส่ในแกงเลียง
น้ำยา ฯลฯ น้ำคั้นจากใบให้เด็กกินแก้หวัด และหลอดลมอักเสบ ตำพอกและทาภายนอกแก้โรคผิวหนังได้
เม็ดเมื่อถูกน้ำจะพองเป็นเยื่อขาวใส ข้างในดำคล้ายไข่กบ บริโภคได้
๒๓/๑๕๑๑๑
๔๕๐๓. แม่จริม
อำเภอขึ้น จ.น่าน มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกจดประเทศลาว ภูมิประเทศสามในสี่ส่วนเป็นป่า
และภูเขาสลับซับซ้อน
อ.แม่จริม แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ ขึ้น อ.เมืองน่าน ยกฐานะเป็นอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐
๒๓/๑๕๑๑๑
๔๕๐๔. แม่จัน
อำเภอขึ้น จ.เชียงราย มีอาณาเขตทางทิศตะวันตก และทิศเหนือจดประเทศพม่า ภูมิประเทศตอนกลางเป็นที่ลุ่ม
ๆ ดอน ๆ รอบนอกเป็นทุ่งนา และเนินเตี้ย ๆ
อ.แม่จัน เดิมเรียก อ.เชียงแสน เปลี่ยนชื่อเป็น อ.แม่จัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
๒๓/๑๕๑๑๒
๔๕๐๕. แม่แจ่ม
อำเภอขึ้น จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศส่วนมากเป็นภูเขา อำเภอนี้เดิมเรียก อ.แจ่ม
เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ชางเดิ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ แล้วลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอ เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่ง
อ.แม่แจ่ม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙
๒๓/๑๕๑๑๒
๔๕๐๖. แม่ใจ
อำเภอขึ้น จ.พะเยา ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การกสิกรรม ประกอบด้วย
ทิวเขายาวขนานพื้นที่อยู่สองด้าน
อ.แม่ใจเดิมเคยเป็นอำเภอตั้งแต่รัชกาลที่ห้า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๗ ยุบเป็นตำบลขึ้น
อ.พาน จ.เชียงราย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ยกฐานะเป็นอำเภอปี พ.ศ.๒๕๐๘
๒๓/๑๕๑๑๓
๔๕๐๗. แม่ตะงาว - งู
จัดเป็นงูพิษอ่อน เพราะมีเขี้ยวพิษในลักษณะเขี้ยวใต้ตา หรือเขี้ยวหลังมีต่อมพิษเล็กมาก
และพิษอ่อนมาก เป็นงูขนาดเล็กหัวโตป้อม ตัวเรียวยาวออกหากินเวลาแดดร่มและกลางคืน
๒๓/๑๕๑๑๔
๔๕๐๘. แม่แตง
อำเภอขึ้น จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศเป็นป่า และภูเขามีที่ราบทำนาเพาะปลูกได้ตามบริเวณระหว่างภูเขาและแม่น้ำ
อ.แม่แตง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.สันมหาพน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น
อ.แม่แตง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ๒๓/๑๕๑๑๔
๔๕๐๙. แม่ทะ
อำเภอขึ้น จ.ลำปาง ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอน และภูเขามีป่าไม้สัก ตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบ
อ.แม่ทะ เดิมตั้งที่ว่าการที่ ต.ป่าตัน ครั้นทางรถไฟผ่านไปในท้องที่อำเภอนี้
และตั้งสถานีแม่ทะขึ้น จึงย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งใกล้สถานีรถไฟ เดิมเรียก
อ.ป่าตัน เปลี่ยนชื่อเป็น อ.แม่ทะ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
๒๓/๑๕๑๑๕
๔๕๑๐. แม่ทา
อำเภอขึ้น จ.ลำพูน ภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา อ.แม่ทา เมื่อแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑
๒๓/๑๕๑๑๖
๔๕๑๑. แมนจู
เป็นพวกที่สืบเชื้อสายจากเผ่าหรูเจิด จีนออกเสียงว่า หนิ่งเจิ้น เคยก่ออาณาจักรจีน
และต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์ชิง หรือเช็งปกครองจักรวรรดิ์จีน ระหว่างปี
พ.ศ.๒๑๘๗ - ๒๔๔๕
ถิ่นเดิมของพวกแมนจูอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และต่อมาได้อพยพไปอยู่ทางที่ราบลุ่มของแม่น้ำเหลือง
และผู้ที่ก่อตั้งราชวงศ์จีน (ทอง) พ.ศ.๑๖๕๘ - ๑๗๗๗ โดยการพิชิตราชวงศ์เหลียวในปี
พ.ศ.๑๕๕๘ หลังจากนี้พวกจีนได้ขยายอำนาต่อจนสามารถครอบครองจีนตอนเหนือ และยึดเมืองไคเฟิง
เมืองหลวงของราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) ได้ในปี พ.ศ.๑๖๖๙ จนราชวงศ์ซ่งต้องอพยพลงไปทางใต้
ในระยะแรกของการก่อตั้งราชวงศ์จีน พวกหรูเจิดได้รับรูปบบการปกครองของพวกเหลียว
มาผสมกับการปกครองแบบชนเผ่าของตน แต่หลังจากปี พ.ศ.๑๖๘๓ ได้รับระบอบการปกครองของราชวงศ์ถังและซ่งของจีนมาใช้มากขึ้น
ราชวงศ์จีนหมดอำนาจไปในปี พ.ศ.๑๗๗๗ โดยถูกพวกมองโกลในสมัยมหาข่านออกไต (ไท่จง)
หลังจากนี้พวกหรูเจิด จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของราชวงศ์หยวน ของพวกมองโกล และราชวงศ์หมิงก็ปกครองจีนต่อมา
๒๓/๑๕๑๑๖
๔๕๑๒. แมนสรวง - ท้าว
เป็นชื่อของตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องลิลิตพระลอ ท้าวแมนสรวงมีมเหสีชื่อบุญเหลือ
มีโอรสเพียงองค์เดียว คือ พระลอ เมืองของท้าวแมนสรวงมีชื่อว่า เมืองสรวง ซึ่งมีความหมายว่า
สวรรค์มีคำประพันธ์กล่าวไว้ในสิสิตพระลอ
อาณาเขตของเมืองสรวงติดต่อกับเมืองสองทางทิศตะวันตก ท้าวแมนสรวงได้ยกกองทัพไปรบ
เพื่อจะยึดเอาเมืองสองเป็นเมืองขึ้น ท้าวแมนสรวงสามารถเอาชนะ และประหารท้าวพิมพิสารได้
แต่ไม่สามารถตีเมืองสองได้จึงเลิกทัพกลับไป
ต่อมาท้าวแมนสรวงได้ให้พระโอรสคือ พระลออภิเษกสมรสกับนางลักษณวดีแล้วท้าวแมนสรวงก็สวรรคต
พระลอขึ้นครองราชย์ เมืองทั้งสองเป็นอริกันในที่สุด พระลอต้องไปเสียชีวิตในเมืองสอง
๒๓/๑๕๑๑๙
๔๕๑๓. แม่น้ำ
มีบทนิยมว่า "ลำน้ำใหญ่ ซึ่งเป็นที่รวมของลำธารทั้งปวง"
แม่น้ำมีต้นกำเนิดมาจากน้ำที่ไหลเป็นแผ่นบนพื้นดินในลักษณะของร่องน้ำแคบ ๆ
เมื่อมีปริมาณน้ำไหลผ่านมากขึ้นจะเกิดเป็นร่องลึกกว้างและยาว จนเกิดเป็นแม่น้ำขึ้น
แม่น้ำแต่ละสายและแต่ละสาขาจะมีที่สูง ซึ่งเป็นบริเวณต้นน้ำ และเป็นเขตที่แยกแม่น้ำแต่ละสายออกจากกันเรียกว่า
สันปันน้ำ
พื้นที่ภายในวงเขตของสันปันน้ำทั้งหมด เรียกว่า ลุ่มน้ำ
น้ำที่อยู่ตามร่องน้ำ หรือแม่น้ำมีเพียง ๑ ใน ๔,๐๐๐ ของปริมาณน้ำจืดทั้งหมดของโลก
และมีน้ำรวมกันเพียง ๑,๐๐๐ ลบ.กม.
ตลอดอายุความเป็นมาของแม่น้ำนั้น แม่น้ำจะต้องผ่านวัยต่าง ๆ มาโดยลำดับ ซึ่งแต่ละวัยจะมีลักษณะของแม่น้ำที่ปรากฎชัดเจน
ได้มีการแบ่งวัย หรืออายุของแม่น้ำออกเป็นสามวัยคือ
ก. - แม่น้ำวัยหนุ่ม
มีลักษณะไหลเชี่ยวเป็นเส้นตรงมีลำธารเพียงเล็กน้อย การทำงานส่วนใหญ่ทางด้านล่าง
ดังนั้นลุ่มน้ำจึงสูงชัน บางที่เป็นโตรภูเขา ไม่มีบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง
นอกจากนี้ยังมีน้ำตกน้ำไหลเชี่ยวอยู่ เช่น แม่น้ำโคโลราโด
ข. - แม่น้ำวัยกลาง
แม่น้ำที่เข้าสู่วัยนี้ต่อเมื่อการกัดเซาะด้านท้องน้ำลงไปจวนจะถึงระดับอยู่ตัวคือ
ระดับต่ำของพื้นแม่น้ำที่กระแสน้ำไม่อาจกัดเซาะต่อไปได้อีก การทำงานด้านล่างหมดไปเริ่มทำงานด้านข้าง
และน้ำไหลช้าลงคดเคี้ยวไปมา
เกิดพวกทะเลสาบแอกวัวและหนองน้ำมีบริเวณที่ราบน้ำท่วมถึง และแยกเป็นลำธารมากมาย
เช่น แม่น้ำมิสซูซิปปีทางตอนกลาง และแม่น้ำไนล์
ค. - แม่น้ำวัยแก่
มีลักษณะแตกต่างจากแม่น้ำวัยกลางเล็กน้อย
คือ การกัดด้านล่างยิ่งใกล้ระดับอยู่ตัวมากขึ้น ความเร็วของน้ำเพียงขนาดเอื่อย
ๆ เท่านั้น งานส่วนใหญ่ทำการทับถม ด้านข้างก็ทำงานได้น้อยกว่าแม่น้ำวัยกลาง
บริเวณน้ำท่วมถึง ก็ราบเรียบกว่าเดิม ลุ่มแม่น้ำถูกทำลายคงเหลือแต่เพียงเกือบเท่ากับระดับอยู่คงตัว
ซึ่งเรียกว่า ที่ราบดินตะกอนเก่าแก่
แม่น้ำสายสำคัญของโลกทั้งในแง่ความยาวและขนาดของพื้นที่ลุ่มน้ำกระจายอยู่ตามทวีปต่าง
ๆ แม่น้ำที่มีความยาวที่สุดห้าอันดับแรกของโลก ได้แก่ แม่น้ำไนล์
ยาว ๖,๖๙๕ กม. ต้นน้ำอยู่ที่ทะเลสาบวิกตอเลียในแอฟริกา ไหลผ่านประเทศซูดาน
และอียิปต์ลงสู่ทะเลเมดิเตอเรเนียน รองลงมาคือ แม่น้ำแอเมซอน
ยาว ๖,๔๓๑ กม. ต้นน้ำอยู่ที่ทะเลสาบเกลเซียร์เฟดในประเทศเปรู ไหลผ่านประเทศบราซิล
ลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก แม่น้ำชางเจียง
ยาว ๖,๓๗๙ กม. แม่น้ำออนเออร์ทิช
ยาว ๕,๔๑๑ กม. ต้นน้ำอยู่ที่ภูเขาอัลไตในประเทศรัสเซีย และแม่น้ำฮวง
ยาว ๔,๖๗๒ กม. ต้นน้ำอยู่ที่ภูเขาคุนหลุนทางภาคตะวันตกของจีน
เมื่อพิจารณาในแง่ของขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำปรากฎว่า แม่น้ำแอเมซอน มีขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำกว้างใหญ่ที่สุดในโลกคือ
๗,๐๕๐ ตร.กม.
๒๓/๑๕๑๒๐
๔๕๑๔. แม่ปะ
เป็นชื่อเรือแบบหนึ่ง ซึ่งประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ของภาคเหนือของไทย
ใช้เป็นพาหนะในการโดยสารไปมา หรือบรรทุกสินค้าขึ้นล่องค้าขายตามลำแม่น้ำมาแต่โบราณ
เป็นเรือขนาดใหญ่ และยาวกว่าเรือแบบอื่น ๆ ปรกติยาวประมาณ ๒๐ เมตร ปากเรือส่วนกว้างที่สุด
๔ เมตร รูปร่างทั่วไปคล้ายเรือชะล่า แต่เทอะทะกว่า ส่วนหัวและส่วนท้ายต่อทวนตั้งสูงขึ้นไปประมาณ
๒ เมตร ทวนส่วนท้ายเรือทำให้งอนโค้งไปทางหัวเรือ ดูคล้ายหางแมงป่อง จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า
เรือหางแมงป่อง
เรือแม่ปะเป็นเรือประเภทเรือขุด นิยมใช้ไม้ตะเคียนทั้งต้นมาทำ ตามลำน้ำที่ท้องน้ำตื้นเรือแม่ปะจะแล่นไปโดยใช้แรงคนก่อ
ถ้าในน้ำลึกต้องใช้แรงคนกรรเชียง
๒๓/๑๕๑๓๐
๔๕๑๕. แม่พริก
อำเภอขึ้น จ.ลำปาง ภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา อ.แม่พริก เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น
อ.เถิน ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑
๒๓/๑๕๑๓๕
๔๕๑๖. แม่ม่ายลองไนหรือลองไน
คือ แมลงพวกจักจั่นที่มีสีตามลำตัว หรือสีของปีกเป็นสีฉูดฉาด มีอยู่หลายชนิดด้วยกันทั้งขนาดเล็ก
และขนาดใหญ่
ชาวชนบทในภาคกลางบางแห่งมิได้ถือสีสันของลำตัว ในการแยกระหว่างแม่ลองไนกับจักจั่นเรไร
แต่ใช้เสียงร้องเป็นหลัก โดยถือว่าจักจั่นร้องเสียงต่ำไร้กังวาน แม่ลองไนร้องเสียงสูงห้าวกังวานดังได้ยินไปไกล
๒๓/๑๕๑๓๖
๔๕๑๗. แม่เมาะ
อำเภอขึ้น จ.ลำปาง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา และป่าไม้ประมาณร้อยละ ๘๐
เป็นป่าสงวนแห่งชาติ
อ.แม่เมาะแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ ขึ้น อ.เมืองลำปาง ยกฐานะเป็นอำเภอ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗
๒๓/๑๕๑๓๘
๔๕๑๘. แม่ระมาด
อำเภอขึ้น จ.ตาก มีอาณาเขตทางทิศตะวันตกจดแม่น้ำเมย ซึ่งปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า
ภูมิประเทศเป็นป่าและภูเขา
อ.แม่ระมาด เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้น อ.แม่สอด ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔
๒๓/๑๕๑๓๘
๔๕๑๙. แม่ริม
อำเภอขึ้น จ.เชียงใหม่ ภูมิประเทศตอนเหนือเป็นที่ดอนและลุ่ม ตอนกลางเป็นที่ลุ่มมาก
ตอนใต้เป็นที่ดอน
๒๓/๑๕๑๓๙
๔๕๒๐. แม่แรง
เป็นอุปกรณ์ทุ่นแรงสำหรับยกน้ำหนักขึ้นจากพื้นแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ
ก. - แม่แรงสกรู
ใช้เกลี่ยวถ่ายทอดทอร์กที่ใช้หมุนเกลียวไปยกน้ำหนักหลักการของแม่แรงเกลียว
คือ หลักการเข็นน้ำหนักขึ้นพื้นเอียงที่มีความยึด ซึ่งได้แก่ผิวของเกลียว
เกลียวที่ใช้ถ่ายทอดมีสามลักษณะ คือ
๑. เกลียวขัดเทรสส์
มีมุมเชิงเกลียวรวมกัน ๕๒ องศา เป็นเกลียวที่เหมาะสมมากสำหรับแม่แรง ซึ่งยกน้ำหนักขึ้นตามแนวแกนของเกลียว
๒. เกลียวจัตุรัสดัดแปล
มีมุมระหว่างเกลียว ๑๐ องศา เป็นเกลียวที่ใช้กันมานานเพื่อถ่ายทอดทอร์ก
๓. เกลียวเอซีเอ็มอี
มีมุมระหว่างเกลียว ๒๙ องศา เป็นเกลียวที่ใช้แพร่หลายสำหรับงานทั่วไป
ข. - แม่แรงไฮดรอลิก
ใช้ของเหลวถ่ายทอดแรงจากผู้ใช้แม่แรงไปยกน้ำหนัก หลักการของแม่แรงประเภทนี้
คือ ความดันในของเหลวย่อมเท่ากันทั้งด้านยกน้ำหนักและด้านแรงของผู้ใช้แม่แรง
ดังนั้น เมื่อน้ำหนักกระทำต่อพื้นที่ของเหลวที่ใหญ่กว่าพื้นที่ของเหลวที่รับแรงจากผู้ใช้แม่แรงมาก
แรงขนาดเล็กจึงใช้ยกน้ำหนักที่มีค่าสูงกว่ามากได้
๒๓/๑๕๑๓๙