| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

เล่ม ๒๕     ราชบัณฑิตยสถาน  -  โลกธรรม           ลำดับที่ ๔๖๘๗ - ๔๘๔๗    ๒๕/ ๑๕,๘๔๑ - ๑๖,๔๓๘

            ๔๖๘๗. ราชบัณฑิตยสถาน  เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็น กรม ปัจจุบันอยู่ในบังคับบัญชาของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
                    เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๙  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ มีพระบรมราชโองการ ฯ ให้ประกาศว่า เดิมกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีหน้าที่แต่จัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีหน้าที่แต่จัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครอย่างเดียว ทรงเห็นสมควรฟื้นฟูกิจการของกรมราชบัณฑิต ซึ่งมีมาแต่โบราณ และเป็นตำแหน่งสำหรับทรงตั้งผู้มีความรู้ศาสตราคมไว้รับราชการ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งราชบัณฑิตสภาขึ้น และให้เปลี่ยนนามกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็น ราชบัณฑิตสภา
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้มีการตรา พรบ.ว่าด้วยการราชบัณฑิตสถานขึ้น คณะผู้จัดตั้งราชบัณฑิตสถานส่วนใหญ่เป็น นักเรียนเก่าฝรั่งเศส ในมาตรา ๖ ได้กล่าวถึงหน้าที่ของหน่วยงานนี้ไว้ว่า
                            (๑)  เพื่อกระทำการค้นคว้าในสรรพวิชา แล้วนำออกเผยแพร่ให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชน
                            (๒)  เพื่อทำการติดต่อแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาคมปราชญ์ ในนานาประเทศ
                            (๓)  เพื่อให้ความเห็นและคำปรึกษา "กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่รัฐบาล ในเรื่องที่เกี่ยวกับวิชาการ ซึ่งรัฐบาลได้ร้องขอ"
                    งานอันเป็นหน้าที่หลักของรัชบัณฑิตยสถาน โดยตรงนั้นเน้นไปในทางวิชาการ มีหกโครงการใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
                            ๑.  งานชำระพจนานุกรม และจัดทำพจนานุกรม สาขาวิชาต่าง ๆ
                            ๒. งานทำอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการทำพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ เป็นต้น
                            ๓. งานทำสารานุกรม เช่น สารานุกรมไทย สารานุกรมประวัติศาสตร์ทั้งไทย และสากล และสารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย
                            ๔. งานบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศ เป็นภาษาไทยในสาขาวิชาต่าง  ๆ
                            ๕. งานกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย เช่น การใช้เครื่องหมายวรรคตอน ลักษณะนาม และหลักเกณฑ์การทับศัพท์
                            ๖. งานสร้างหนังสือวิชาการประเภทต่าง ๆ รวมทั้งการแปล
                    งานที่เกี่ยวกับวิชาการยกเว้นข้อ ๖ ล้วนจัดทำโดยคณะกรรมการ หรือคณะบรรณาธิการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยมีกองต่าง ๆ เป็นผู้รับสนองงาน     ๒๕/๑๕๘๔๑
            ๔๖๘๘ ราชบุรี  จังหวัดในภาคตะวันตก มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.กาญจนบุรี ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร และ จ.สมุทรสงคราม ทิศใต้ติดต่อกับ จ.เพชรบุรี ทิศตะวันตก ติดต่อกับประเทศพม่า โดยมีทิวเขาตะนาวศรี เป็นแนวกั้นพรมแดน ภูมิประเทศทางซีกตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ โดยมีแม่น้ำแม่กลองไหลจาก จ.กาญจนบุรี เข้ามาทางด้านทิศเหนือ ผ่านไปทางทิศใต้ เข้าไปในเขต จ.สมุทรสงคราม ส่วนซีกตะวันตกเป็นที่ราบลูกเนิน และภูเขาเตี้ย ๆ ไปจนจดทิวเขาตะนาวศรี มีแม่น้ำชีไหลจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปทางเหนือ ไปลงแม่น้ำแควน้อย ใน จ.กาญจนบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น ถ้ำจอมพล ถ้ำบิน ถ้ำฤาษี ตลาดน้ำดำเนินสะดวก
                    จ.ราชบุรี เป็นเมืองโบราณ ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่า สร้างมาแต่เมื่อใด ต่อมาในสมัยสุโขทัย ปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ฯ ว่า เป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัย ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ยังมีเนินดินซึ่งเป็นกำแพงเมืองเก่า ปัจจุบันเรียกเมืองเก่านี้ว่า ค่ายหลุมดิน อยู่ใน ต.หลุมดิน อ.เมือง ฯ ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายมาตั้งเมืองใหม่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐ และย้ายไปอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำแม่กลองอีก ในปี พ.ศ.๒๔๔๐     ๒๕/๑๕๘๕๐
            ๔๖๘๙. ราชยาน  คือ พาหนะของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องราชูปโภคประกอบพระราชอิสริยยศ ได้แก่ ราชยานประเภทคานหาม ราชรถ พระคชาธร (ช้างต้น)  ม้าต้น เรือพระที่นั่ง เป็นต้น ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มุขอำมาตย์และเสนาบดีจตุสมดภ์ จะต้องกราบบังคมทูลถวายราชยาน ในพิธีเสด็จออกมหาสมาคม เช่น
                    สมุหนายก กราบบังคมทูลถวาย พระยาช้างต้น พระยาม้าต้น หัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา และไพร่พลฝ่ายพลเรือน
                    สมุหพระกลาโหม กราบบังคลทูลถวาย พระมหาพิชัยราชรถ เรือพระที่นั่ง เรือกระบวนพร้อมเครื่องสรรพยุทธ กับถวายหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา และไพร่พลฝ่ายทหาร
                    เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ที่เป็นราชยาน มีดังต่อไปนี้
                        ๑.  - คานหาม  ได้แก่
                            ๑.๑  พระยานมาศ  มีคานหามคู่ มีคนหามแปดคน
                            ๑.๒  พระยานมาศสามลำคาน  เป็นคานหามขนาดใหญ่ คนหามสองผลัด จำนวนหกสิบคน  เดิมใช้สำหรับอัญเชิญพระโกศ พระบรมศพพระมหากษัตริย์
                            ๑.๓  พระราชยานกง  มีคานหามสองคาน มีคนหามแปดคน
                            ๑.๔  พระราชยานถม  มีแบบและลักษณะแบบพระยานมาศ เว้นแต่หุ้มด้วยเงินถม ลงยาทอง พระราชยานองค์นี้ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) สร้างถวายรัชกาลที่สาม
                            ๑.๕  พระราชยานงา  มีแบบและลักษณะอย่างพระราชยานถม เว้นแต่ทำด้วยงาช้าง สลักลาย ฝีมืองดงาม สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒
                            ๑.๖  พระราชยานลงยา  มีแบบและลักษณะแบบพระราชยานถม สร้างในสมัยรัชกาลที่ห้า
                            ๑.๗  พระราชยานพุดตานถม  ทำด้วยไม้หุ้มเงินสลักลายเบา ถมยาทาทอง เดิมสร้างขึ้นสำหรับเป็นพระราชอาสน์ และทำเป็นพระราชยานได้ สร้างสมัยรัชกาลที่ห้า
                           ๑.๘  พระที่นั่งราชยานพุดตานทอง  ทำด้วยไม้สลักหุ้มทอง มีภาพประดับสองชั้น สร้างขึ้นสำหรับเป็นพระที่นั่งพุดตานกาญจสิงหาสน์ ที่ทอดเหนือพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร พระที่นั่งองค์นี้ สามารถดัดแปลงเป็นพระราชยานได้
                            ๑.๙  พระที่นั่งราเชนทรยาน  ทำด้วยไม้สลักปิดทองรูปทรงบุษบก มีคานหามสี่คาน ใช้คนหามครั้งละ ๕๖ คน สร้างในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง ใช้ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า ขบวนสี่สาย
                        ๒. - พระคชาธาร  คือ การผูกช้างพระที่นั่ง สำหรับพระมหากษัตริย์เมื่อเสด็จพระราชดำเนินออกศึก การผูกช้างแบบนี้ เรียกว่า ผูกเครื่องมั่น ใช้สัปคับคชาธาร ที่เรียกว่า พระที่นั่งพุดตานทอง ตั้งกลางหลังช้างผูกโยงด้วยเชือก ให้ยึดมั่นกับช้าง กลางพระที่นั่งพุดตาน ปักเศวตฉัตรดาลเจ็ดชั้น ผูกศัตราวุธทั้งด้านซ้าย และด้านขวา เหมือนกันคือ ทวน ง้าว โตมร ปืน หอกซัด มีนายท้ายช้างนั่งท้าย ทำหน้าที่บังคับช้าง และมีกลางช้าง สองมือถือแพนหางนกยูง ทำหน้าที่ให้อาณัติสัญญาณ พระมหากษัตริย์ประทับบนคอช้าง ถือพระแสงของ้าวรบกับข้าศึก ที่เรียกว่า ยุทธหัตถี
                        การผูกช้างพระที่นั่ง เป็นพระราชยานพาหนะในยามปกติ มีสองอย่างคือ พระที่นั่งละคอ และพระที่นั่งประพาสโถง
                        ๓. -  ราชรถ  มีสองคัน คือ
                            ๓.๑  พระมหาพิชัยราชรถ  สร้างในรัชกาลที่หนึ่ง ใช้ประโยชน์เฉพาะในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์
                            ๓.๒  เวชยันตราชรถ  สร้างในรัชกาลที่หนึ่ง มีขนาดและการใช้งานเช่นเดียวกับพระมหาพิชัยราชรถ สร้างไว้คู่กัน
                        ๔. - ราชรถน้อย  เป็นราชรถแปดล้อ มีสามคัน จัดเข้าในริ้วขบวนแห่พระบรมศพพระมหากษัตริย์ ใช้สำหรับเป็นราชรถพระนำ ราชรถโยง และราชรถทรงโปรย
                        ๕. -  เรือพระที่นั่ง  แบ่งออกเป็นสี่ประเภทคือ
                            ๕.๑  เรือพระที่นั่งกราบ  สร้างด้วยไม้ ตั้งบัลลังก์กัญญา ได้แก่ เรือประจำทวีป และเรือรุ้งประสานสาย
                            ๕.๒  เรือพระที่นั่งศรี  สร้างด้วยไม้ ตัวเรือสลักภาพพื้นสีลายทอง ตั้งบัลลังก์กัญญา เป็นที่ประทับ เช่น เรือพระที่นั่งทวยเทพถวายกร พื้นเรือสีแสด ยาว  ๓๔.๖๕ เมตร ฝีพาย ๔๘ คน พันท้ายเรือสองคน เรือเอนกชาติภุชงค์ พื้นเรือสีชมพู ตัวเรือสลักเป็นลายนาค ยาว ๕๔.๔๐ เมตร ฝีพาย ๖๑ คน พันท้ายเรือสองคน
                            ๕.๓  เรือพระที่นั่งเอกชัย  สร้างด้วยไม้ สลักลาย พื้นสีปิดทอง ตั้งบุษบก หรือ บัลลังก์กัญญา เช่น เรือพระที่นั่งประภัสสรชัย ยาว ๓๖.๙๕ เมตร ฝีพาย ๔๓ คน พันท้ายเรือสองคน
                            ๕.๔  เรือพระที่นั่ง  สร้างด้วยไม้สลักปิดทอง หัวเป็นรูปสัตว์ ตั้งบุษบก หรือ บัลลังก์กัญญา เช่น เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ หัวเรือเป็นรูปหงส์ ยาว ๔๔.๙๐ เมตร ฝีพาย ๕๐ คน พันท้ายเรือสองคน  เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช หัวเรือเป็นรูปนาคเจ็ดเศียร พื้นเรือสีเขียว ยาว ๔๒.๙๕ เมตร ฝีพาย ๕ถ คน พันท้ายเรือสองคน     ๒๕/๑๕๘๕๒
            ๔๖๙๐. ราชวัติ  มีบทนิยามว่า  "รั้วแถว ที่มีฉัตรปักเป็นระยะ ๆ " ในทางปฎิบัติของทางราชการ ราชวัติ คือ แผงทำจากไม้ที่ตัดเป็นซี่เล็ก ๆ เรียกว่า ไม้ระแนง ขัดไขว้ตีประกบเข้ากับกรอบ ลักษณะเป็นแผงมีช่องว่างตาตาราง แล้วนำเอาอีกหนึ่งแผง มาต่อหักมุมเป็นข้อศอก ปักฉัตรที่มุมนี้หนึ่งคัน และปลายแผงทั้งสองปลาย ปลายละหนึ่งคัน ใช้สำหรับกั้นเป็นรั้วกำหนดเขต และเขตนั้นอยู่ในอำนาจของทางราชการ
                    มีพระราชประเพณี ที่จะต้องมีราชวัติฉัตรธง ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชช้างสำคัญ พระราชพิธีสมโภชเดือน ขึ้นพระอู่สมเด็จเจ้าฟ้า พระราชกุมาร กุมารี หรือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้า ที่โปรดเกล้า ฯ สมโภชเป็นพิเศษ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ       ๒๕/๑๕๘๖๓
            ๔๖๙๑. ราชสาสน์  อำเภอ ขึ้น จ.ฉะเชิงเทรา แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ขึ้น อ.พนมสารคาม ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗       ๒๕/๑๕๘๖๙
            ๔๖๙๒. ราชาวดี ๑   เป็นการลงยาชนิดหนึ่ง โดยใช้น้ำยาสีฟ้า แตะแต้มใส่ลงให้ติดถาวร บนลวดลายเพื่อตกแต่งเครื่องทองรูปพรรณชนิดต่าง ๆ  งานลงยาราชาวดี เริ่มมีในสมัยอยุธยาตอนกลาง โดยพวกพ่อค้าชาวเปอร์เซีย นำเครื่องทองรูปพรรณ และวิธีการลงยาราชาวดี เข้ามาเผยแพร่     ๒๕/๑๕๘๖๙
            ๔๖๙๓. ราชาวดี ๒   เป็นไม้พุ่มสูงประมาณ ๒ - ๓ เมตร แต่อาจสูงได้ถึง ๖ เมตร ทรงพุ่มโปร่ง กิ่งมีขน ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปไข่ ขอบใบจักร ดอกสีขาว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มีกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน ช่อดอกเป็นช่อกระจะ ผลแห้งเมื่อแก่ แตกเป็นสองซีก      ๒๕/๑๕๘๗๑
            ๔๖๙๔. ราตรี - ต้น  เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง หรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๒ - ๓ เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับเวียนรอบกิ่ง ใบรูปหอก หรือรูปไข่ ขอบใบเรียบ ช่อดอกออกตามซอกใบ หรือปลายกิ่ง มีดอกห่าง ๆ บนช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุก หรือเป็นช่อแยกแขนงเป็นพวงของหลายช่อ ดอกขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาวอมเขียว หรือขาวนวล ผลสีนวลขาว เป็นแบบผลเนื้อ
                    ดอกราตรี บานเวลากลางคืน กลิ่นหอมแรง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ใบใช้เป็นสมุนไพร รักษาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ รักษาโรคลมบ้าหมู ถ้าใช้มากเป็นพิษถึงตาย     ๒๕/๑๕๘๗๑
            ๔๖๙๕. ร่าน  เป็นบุ้งชนิดหนึ่ง มีขน หรือหนามเป็นกระจุก เฉพาะส่วนของลำตัว เมื่อไปสัมผัสจะรับพิษ ทำให้เกิดอาการแสบร้อน หรือคัน
                    หนอนร่าน เข้าดักแด้ภายในรังที่เป็นเปลือกแข็ง ที่ตัวหนอนทำขึ้นก่อนที่จะเป็นดักแด้ และออกจากดักแด้ และรังเมื่อเจริญวัยเต็มที่เป็นผีเสื้อ     ๒๕/๑๕๘๗๒
            ๔๖๙๖. รามเกียรต์  เป็นวรรณคดีสำคัญเรื่องหนึ่งของไทย มีความสัมพันธ์ต่อวัฒนธรรมไทยหลายประการ อาทิวรรณกรรมการแสดงศิลปกรรม ราชทินนามและอื่น ๆ เรื่องรามเกียรติ์ที่เป็นบทละคร มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ตลอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ความรู้เกี่ยวกับรามเกียรติ์ โดยเฉพาะตัวละครสำคัญนั้น เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสมัยสุโขทัย หรืออาจจะนานกว่านั้น ในศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง มีการกล่าวถึงพระนามรามคำแหง และถ้ำพระราม เป็นต้น     ๒๕/๑๕๘๗๖
            ๔๖๙๗. รามคำแหงมหาราช, พ่อขุน  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สามในราชวงศ์พระร่วง แห่งอาณาจักรสุโขทัย เสวยราชย์ประมาณปี พ.ศ.๑๘๒๒ - ๑๘๔๑ พระองค์ทรงรวบรวมอาณาจักรไทยเป็นปึกแผ่นกว้างขวาง ทั้งยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้น ทำให้ชาติไทยได้สะสมความรู้ทางศิลปะ วัฒนธรรม และวิชาการต่าง ๆ สืบทอดกันมากว่า ๗๐๐ ปี
                    พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเป็นพระราชโอรสองค์ที่สามของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับพระนางเสือง ตามพงศาวดารโยนก พ่อขุนรามคำแหง ฯ แห่งสุโขทัย พระยามังราย ฯ แห่งล้านนา พระยางำเมืองแห่งพะเยา เป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน
                    เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ ๑๙ พรรษา ได้ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพ่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงทรงขนานพระนามพ่อขุนรามคำแหงว่า พระรามคำแหง
                    พระองค์ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เมื่อปี พ.ศ.๑๘๒๖ ในด้านการปกครองทรงปกครองแบบพ่อกับลูก พระองค์ยังทรงใช้พระพุทธศาสนา เป็นเครื่องช่วยในการปกครอง เมื่อประชาชนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีที่ชอบ การปกครองก็สะดวกง่ายดายขึ้น
                    ในด้านอาณาเขต พระองค์ได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างใหญ่ไพศาลคือ ทางทิศตะวันออกทรงปราบได้เมืองสระหลวงสองแคว (พิษณุโลก)  ลุมบาจาย สะด้า (สองเมืองนี้อาจอยู่แถวลุ่มแม่น้ำน่านหรือแถวป่าสักก็ได้) ข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเวียงจันทน์ เวียงคำ ในประเทศลาว ทางทิศใต้ทรงปราบได้คนที (บ้านโดน กำแพงเพชร)  พระบาง (นครสวรรค์)  แพรก (ชัยนาท)  สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช มีฝั่งทะเลสมุทร เป็นเขตแดน ทางทิศตะวันตกทรงปราบได้เมืองฉอด เมืองหงสาวดี และมีสมุทรเป็นแดน ทางทิศเหนือทรงปราบได้เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองพลัว (อ.ปัว จ.น่าน) ข้ามฝั่งโขงไปถึงเมืองชวา (หลวงพระบาง)     ๒๕/๑๕๘๘๗
            ๔๖๙๘. รามราชาธิราช, สมเด็จพระ  เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระราเมศวร ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ห้า แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระองค์ที่สามในราชวงศ์เชียงราย พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๐ และเสด็จไปครองเมืองปทาดูจา เมื่อปี พ.ศ.๑๙๔๔     ๒๕/๑๕๘๙๒
            ๔๖๙๙. รามัญ  ดูมอญ (ลำดับที่ ๔๒๕๖)         ๒๕/๑๕๘๙๘
            ๔๗๐๐. รามัน  อำเภอขึ้น จ.ยะลา เดิมเป็นเมืองชื่อเมืองราห์มัน ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๔ เมื่องมีการแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็นเจ็ดหัวเมือง ต่อมาเมื่อตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาลจึงยุบเป็นอำเภอเรียกว่า อ.ราห์มัน ขึ้น จ.ยะลา แล้วเปลี่ยนเป็น อ.โกตาบารู เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนเป็น อ.รามัน ในปี พ.ศ.๒๔๙๙         ๒๕/๑๕๘๙๘
            ๔๗๐๑. รามาธิบดีที่ ๑, สมเด็จพระ  (พ.ศ.๑๕๘๗ - ๑๙๑๒) ทรงเป็นมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงเป็นเชื้อราชวงศ์เชียงราย บรรพบุรุษของพระองค์อพยพจากทางเหนือคือ เวียงไชยปราการ ลงมาทางใต้
                    ตำนานเมืองสุพรรรบุรี ซึ่งเป็นที่เชื่อถือสืบต่อกันมาระบุว่า เดิมสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ อยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี คือ เมืองอู่ทอง ริมน้ำจระเข้สามพัน พระนามพระเจ้าอู่ทอง คงได้มาจากชื่อเรียกเจ้าผู้ปกครองเมืองอู่ทอง สันนิษฐานว่า เมืองอู่ทองคงจะเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยอยู่ก่อน แล้วต่อมาคิดตั้งตัวเป็นอิสระ ก่อนที่พระองค์จะมาสร้างกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีนั้น พระองค์ได้อพยพมาตั้งอยู่ที่ ตำบลเวียงเหล็ก (บริเวณวัดพุทไธสวรรค์ ในปัจจุบัน) อยู่ก่อนประมาณสามปี         ๒๕/๑๕๘๙๘
            ๔๗๐๒. รามาธิบดีที่ ๒, สมเด็จพระ  (พ.ศ.๒๐๑๕ - ๒๐๗๒) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สิบ แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระองค์ที่เจ็ดในราชวงศ์สุวรรณภูมิ ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงพระนามว่าพระเชษฐาธิราช ทรงเป็นพระมหาอุปราช เมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๘ ครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๔ และสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๒
                    เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของพระองค์รวมสามด้านได้แก่
                    ด้านการศาสนา  ในปี พ.ศ.๒๐๔๒ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระวิหารหลวงในวัดพระศรีสรรเพชญ์ และในปี ต่อมาโปรดเกล้า ฯ ให้หล่อพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ประดิษฐานในพระวิหารหลวง ถวายพระนามว่าพระศรีสรรเพชญ์ และโปรดให้สร้างพระเจดีย์ใหญ่สององค์ภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ เพื่อประดิษฐานพระอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และสมเด็จพระบรมราชาธิราช โดยมีเจดีย์ใหญ่ที่สร้างเพิ่มขึ้นภายหลังอีกหนึ่งองค์ เพื่อประดิษฐานพระอัฐิของพระองค์เองรวมเป็นสามองค์
                  ด้านการทหาร  มีการสร้างตำราพิชัยสงคราม รวมทั้งการวางระบบควบคุมกำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการทำบัญชีเกณฑ์ผู้คนอย่างมีระเบียบแบบแผน โดยมีกรมพระสุรัสวดีเป็นผู้ดำเนินการ มีชาวโปร์ตุเกสเป็นทหารอาสาอยู่ในกรมฝรั่งแม่นปืนหรือกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งเป็นต้น พระองค์เสด็จไปตีเมืองลำปางได้ในปี พ.ศ.๒๐๕๘
                  ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  มีการติดต่อค้าขายและทำไมตรีทางการค้าอย่างเป็นทางการกับประเทศจีน มีการส่งทูตไปเมืองจีนห้าครั้ง โปร์ตุเกสเป็นประเทศแรกที่ส่งทูตมาทำสัญญาไมตรีสามครั้ง ได้ทำสัญญาทางราชไมตรีทางการค้านับเป็นสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับต่างประเทศ ทรงอนุญาตให้ชาวโปร์ตุเกสตั้งห้างค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา และเมืองปัตตานี เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองมะริด ส่วนโปร์ตุเกสรับจัดหาปืน และกระสุนดินดำให้ไทย ยอมให้ไทยไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองมะละกาได้     ๒๕/๑๕๙๐๕
            ๔๗๐๓. รามานุช  เป็นนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของอินเดีย เป็นชาวทมิฬในอินเดียใต้ หลักปรัชญาของรามานุช มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ต่อชีวิตของชาวอินเดียมาถึงปัจจุบัน
                    รามานุชเกิดเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๕๖๐ ได้ศึกษาลัทธิเวทานตะ ต่อมาท่านได้โต้แย้งกับอาจารย์ เพราะตีความข้อความบางตอนในคัมภีร์อุปนิษัทไม่ตรงกันคือ อาจารย์ตีความแนวเอกนิยมของศังกราจารย์ แต่ท่านไม่เห็นด้วย
                    ท่านได้รจนาคัมภีร์ไว้หลายเล่ม ได้ตั้งอาศรมขึ้นหลายแห่ง และได้ชักนำประชาชนจำนวนมาก ให้นับถือไวษณพ ท่านมรณภาพเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๖๘๐     ๒๕/๑๕๙๑๐
            ๔๗๐๔. รามายณะ  แปลว่า เรื่องราวของพระราม โดยขนบนิยมของอินเดียถือว่าเป็นกาพย์เรื่องแรก ในวรรรณคดีอินเดียซึ่งแต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต ในรูปแบบของคำประพันธ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เรียกว่า โศลก กวีผู้แต่เรื่องรามยณะได้รับการยกย่องว่า เป็นอาทิกวีคือ กวีคนแรก และบทประพันธ์เรื่องนี้ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็น อาทิกาพย์ คือ กาพย์ชิ้นแรก ที่มีการเขียนขึ้นในแนวจิตนิยม
                    กาพย์เรื่องรามายณะเป็นผลงานของฤษีวาลมีกิ เป็นมหากวี ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ได้แต่งเรื่องรามยณะ เป็นจำนวน ๒๔,๐๐๐ โศลก แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็นเจ็ดกาณฑ์ หรือเจ็ดตอน คือ
                   ตอนที่หนึ่ง  เรียกว่า พาลกาณฑ์  คือ เรื่องราวในวัยเด็กของพระราม กล่าวถึงกำเนิดของการแต่งเรื่องนี้ ประวัติผู้แต่ง กำเนิดพระรามและน้อง ๆ คือ พระลักษณ์ พระภรต และพระศัตรุฆ์น์ พระราม พระลักษณ์ไปปราบอสูร พระรามมีชัยในการประลองศรได้อภิเษกสมรสกับนางสีดา
                  ตอนที่สอง  เรียกว่า อโยธยากาณฑ์  เป็นตอนที่เริ่มเนื้อเรื่องสำคัญของรามายณะ บรรยายเรื่อง นครอโยธยา ท้าวทศรถตั้งพระรามเป็นรัชทายาท แต่นางไกเกยี ผู้เป็นมเหสีองค์ที่สอง และเป็นพระมารดาของพระภรต ทูลของราชสมบัติให้ราชโอรสของตน โดยทวงสัญญาที่ให้ไว้ ท้าวทศรถจำใจต้องให้พระรามออกเดินป่าสิบสี่ปี
                  ตอนที่สาม  เรียกว่า อรัณยกาณฑ์  หมายถึง ตอนเดินป่า พระรามได้มาตั้งอาศรม อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโคทาวรี นางรากษสตนหนึ่งชื่อ ศูรปนขา (สำมนักขา) มาพบเข้ามีความหลงไหลในพระรามและพระลักษณ์ แต่ทั้งสองไม่ยินดีด้วยนาง นางจะทำร้ายนางสีดา พระลักษณ์จึงลงโทษนางโดยตัดหู ตัดจมูกแล้วไล่ไป นางไปฟ้องพญาขร ผู้เป็นพี่ พญาขรยกกองทัพมาปราบพระราม แต่ถูกพระรามฆ่าตาย นางศูรปนขา หนีไปกรุงลงกา และยุยงทศกัณฐ์ผู้เป็นพี่ชายใหญ่ ให้มาชิงนางสีดาไป ทศกัณฐ์ลักพานางสีดาไปได้สำเร็จ พระราม พระลักษณ์ ออกติดตามนางสีดา
                  ตอนที่สี่  เรียกว่า กิษกินธากาณฑ์ ว่าด้วยการทำไมตรีระหว่างพระรามกับสุครีพ ราชาวานร พระรามได้ช่วยสุครีพปราบพาลี สุครีพพร้อมด้วยหลาน (ลูกพาลี) ชื่อ องคต และหนุมัต  (หนุมาน) ผู้เป็นที่ปรึกษาได้พร้อมใจกัน ยกกองทัพติดตามพระราม พระลักษณ์ไป
                  ตอนที่ห้า  เรียกว่า สุนทรกาณฑ์  พรรณาความงามของเกาะลังกา ตลอดจนปราสาทราชมณเฑียรของทศกัณฐ์  หนุมานข้ามไปเกาะลังกา ได้พบนางสีดาแจ้งให้ทราบว่า พระรามยกกองทัพตามมาแล้ว
                  ตอนที่หก  เรียกว่า ยุทธกาณฑ์  ว่าด้วยการสงครามใหญ่ระหว่างฝ่ายพระรามกับฝ่ายทศกัณฐ์ เป็นตอนที่พรรณาอย่างยืดยาวที่สุดกว่าทุกตอน พระรามยกทัพข้ามไปเกาะลังกา โดยให้กองทัพลิงทำสะพานยาว ๒๐ โยชน์ สะพานนั้นชื่อว่า รามเสตุ (สะพานพระราม)
                 ฝ่ายทศกัณฐ์ ก็เตรียมรับศึก วิภีษณะ (พิเภก)  ผู้เป็นน้อง กล่าวเตือนสติแต่ทศกัณฐ์โกรธ วิภีษณะจึงแยกทางกับพี่ชาย และเดินทางไปสวามิภักดิ์ต่อพระราม และเป็นที่ปรึกษาช่วยแนะนำพระราม จนเอาชนะฝ่ายทศกัณฐ์ได้
                 เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว นางสีดาได้ลุยไฟแสดงความบริสุทธิ์ พระรามให้วิภีษณะครองกรุงลังกา แล้วยกทัพกลับ พระภรตถวายราชสมบัติคืน
                 ตอนที่เจ็ด  เรียกว่า อุตตรกาณฑ์ หรือบทส่งท้าย เช่นเดียวกับตอนที่หนึ่งคือ เป็นตอนที่มีผู้แต่งเพิ่มเติมภายหลัง ได้ดำเนินความต่อไปว่า ประชาชนได้ติฉินนินทาว่า นางสีดามีมลทินไม่สมควรแต่งตั้งเป็นมเหสี พระรามจึงให้พระลักษณ์นำนางสีดาไปปล่อยนอกราชอาณาจักร พระลักษณ์เอานางไปฝากฝังไว้กับฤษีวาลมีกิ ที่ตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลประยาคุ นางประสูติโอรสฝาแฝด คือ พระกุศะ และลวะ (พระมงกุฎ และพระลพ) ต่อมาพระรามได้พบโอรสทั้งสอง พระรามจึงเชิญฤษีวาลมีกิ และนางสีดามาที่นครอโยธยา พระรามขอให้นางสีดากล่าวปฎิญาณว่า นางเป็นผู้บริสุทธิ์ นางสีดาไม่กล่าว แต่ประกาศเชิญพระแม่ธรณี (ปถถิวี)  ขึ้นมาเป็นพยาน แผ่นดินก็แยกออก พระธรณีขึ้นมารับนางสีดา แล้วพานางสีดากลับคืนสู่ใต้ดิน ทำให้พระรามเศร้าโศกมาก ต่อมาได้สละราชสมบัติให้โอรสทั้งสองขึ้น ครองแทน พระองค์พร้อมด้วยราชบริพารลงไปสู่แม่น้ำสรยุ อันศักดิ์สิทธิ์แล้วหายไป กลับคืนสู่ความเป็นพระวิษณุ ผู้เป็นเจ้าในสวรรค์ชั้นไวกูณฑ์ เรื่องก็จบเพียงเท่านี้
                 กล่าวโดยสรุปได้ว่า แท้ที่จริง นิทานพระราม อันเป็นโครงเรื่องคร่าว ๆ ของเรื่องรามายณะนั้นมีมานานแล้ว ทำนองวรรณกรรมท้องถิ่นของอินเดีย นอกจากนี้ ก็มีเรื่อง ราโมปาขยานัม อันเป็นการเล่าเรื่องรามายณะโดยย่อ แทรกอยู่ในมหาภารตะ เพื่อปลอบโยนยุธิษฐิระ ในการที่นางเทราปุ ที่ถูกราชาแห่งสินธุ ลักพาเอาตัวไป เรื่องรามายณะ จากข้อมูลดั้งเดิมคือ นิทานพระราม นั้นมีมาก่อนพุทธกาลแต่ไม่ถึงสมัยพระเวท ตรงข้ามกับมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งมีชื่อบุคคลอ้างถึงแม้ในคัมภีร์ฤคเวท อันเก่าแก่ถึง ๔,๐๐๐ ปี แต่รามายณะได้รบการปรับปรุงจนกลายเป็นกาพย์สมบูรณ์แบบ เร็วกว่า มหาภารตะ เพราะในเวลา ๒๐๐ ปี ก่อนคริสต์กาลนั้น กาพย์รามายณะมีรูปเล่มสมบูรณ์ เสร็จก่อนมหาภารตะไม่ต่ำกว่า ๗๐๐ ปี      ๒๕/๑๕๙๑๕
            ๔๗๐๕. ราเมศวร พระ  เป็นพระนามหนึ่งที่พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยาพระราชทานแก่ พระราชโอรสในตำแหน่งพระมหาอุปราช สันนิษฐานว่ามีสี่พระองค์คือ พระราเมศวร ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง)  พระรามราชา ในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร พระราเมศวรในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง (เจ้าสามพระยา)  และพระราเมศวร ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
            ๔๗๐๖. ราเมศวร, สมเด็จพระ  (พ.ศ.๑๙๑๒ - ๑๙๑๓ และ พ.ศ.๑๙๓๑ - ๑๙๓๘)  พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สอง แห่งกรุงศรีอยุธยา ครองราชสมบัติสองครั้ง ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง)  ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ไปครองเมืองลพบุรี  และให้ยกทัพไปตีกรุงกัมพูชา แต่ไม่สำเร็จ
                    เมื่อพระเจ้าอู่ทอง เสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ.๑๙๑๒  พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยา ปีต่อมาสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง (ขุนหลวงพะงั่ว) ได้เสด็จมาจากเมืองสุพรรณบุรี พระองค์จึงถวายราชสมบัติแด่พระปิตุลา แล้วเสด็จกลับไปครองเมืองลพบุรี ตามเดิม จนปี พ.ศ.๑๙๓๑ สมเด็จพระเจ้าทองลัน (ทองจันทร์) พระราชโอรสสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่หนึ่ง เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา สมเด็จพระราเมศวรจึงเสด็จมาจากเมืองลพบุรี ปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าทองลัน แล้วขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่สอง เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๑๙๓๘
                    เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยของพระองค์ ส่วนใหญ่เป็นการทำสงครามขยายพระราชอาณาเขต เหนืออาณาจักรล้านนาและกัมพูชา เสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ได้สำเร็จ โปรดให้อพยพชาวล้านนา ส่งไปยังเมืองพัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และจันทบุรี และเสด็จไปตีกรุงกัมพูชา     ๒๕/๑๕๙๒๘
            ๔๗๐๗. ร่าย  เป็นคำประพันธ์กรองประเภทหนึ่ง แบ่งออกเป็นสี่แบบคือ ร่ายโบราณ ร่ายสุภาพ ร่ายดั้น และร่ายยาว
                     ๑. - ร่ายโบราณ  แบ่งออกเป็นวรรค ๆ แต่ละวรรคใช้คำห้าคำ ยกเว้นบางกรณีอาจใช้คำมากกว่าห้าคำ แต่มีน้อย ในการแต่งร่ายโบราณอาจจบลงห้วน ๆ  เมื่อหมดเนื้อความโดยไม่ต้องมีโคลงสองสุภาพต่อท้าย เหมือนร่ายสุภาพและร่ายดั้น
                     ๒. - ร่ายสุภาพ  ใช้คำวรรคละห้าคำรวด  เมื่อจบข้อความต้องลงท้ายด้วยโคลงสองสุภาพเสมอ
                     ๓. - ร่ายดั้น  มีวรรคละห้าคำ เหมือนร่ายสุภาพ เพียงแต่ตอนจบข้อความนั้น ต้องลงท้ายด้วยบาทที่สาม และบาทที่สี่ของโคลงสี่ดั้น
                     ทั้งสามร่ายดังกล่าวข้างต้น มีข้อบังคับตรงกันคือ คำสุดท้ายในวรรคแรก ส่งสัมผัสไปวรรคที่สอง และคำสุดท้ายของวรรคที่สอง ส่งสัมผัสไปวรรคที่สาม ทำดังนี้ต่อ ๆ กันไป เมื่อส่งสัมผัสด้วยวรรณยุกต์ใด ก็ต้องรับสัมผัสด้วยวรรณยุกต์อย่างเดียวกันเสมอ
                      ๔. - ร่ายยาว  เป็นร่ายที่มีลักษณะเหมือนร่ายโบราณ ร่ายสุภาพและร่ายดั้น จะต่างกันเล็กน้อยตรงที่ร่ายยาว ใช้คำไม่ตายตัว อย่างต่ำสองคำ แต่อย่างสูงจะกี่คำก็ได้ เพียงแต่ไม่ให้ยืดยาวไป จนอ่านไม่สะดวกเท่านั้น ตอบจบเนื้อความก็จบเฉย ๆ ไม่มีโคลงมาต่อข้างท้าย การส่งสัมผัสไม่บังคับวรรณยุกต์ ให้ตรงกับตัวรับสัมผัสในวรรคต่อไป จะส่งสัมผัสด้วยวรรณยุกต์อะไร การรับสัมผัสก็ไม่จำเป็นต้องสัมผัสด้วยวรรณยุกต์เหมือนกัน  ลักษณะของร่ายยาวดูเผิน ๆ เหมือนกับร้อยแก้ว ที่เพิ่มสัมผัสลงไปเท่านั้น ร่ายยาวจึงเป็นแบบคำประพันธ์ถึงร้อยแก้วกึ่งร้อยกรอง     ๒๕/๑๕๙๓๐
            ๔๗๐๘. ราษฎร์บูรณะ  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมเป็นอำเภอ เปลี่ยนเป็นเขต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕     ๒๕/๑๕๙๓๓
            ๔๗๐๙. ราษีไศล  อำเภอ ขึ้น จ.ศรีษะเกษ เดิมเป็นเมืองชื่อ เมืองคง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๔ เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองราษีไศล ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๐ ยุบเป็น อ.ราษีไศล แล้วเปลี่ยนเป็น อ.คง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ราษีไศล อีก     ๒๕/๑๕๙๓๓
            ๔๗๑๐. ราหุล - พระ  เป็นโอรสเจ้าชายสิทธัตถะ (พระสมณโคดม พุทธเจ้า)  กับพระนางยโสธรา หรือพิมพา แห่งศากยวงศ์ นครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ประสูติในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช
                    พระราหุลกุมารได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา และพระประยูรญาติที่เมืองกบิลพัสดุ์ โดยมีพระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์ ด้วยวิธีให้รับไตรสรณคมน์คือ ให้เปล่งวาจาถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก ซึ่งถือปฎิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา
                    เนื่องจากการบรรพชาของพระราหุล พระเจ้าสุทโธทนะจึงได้กราบทูลขอพรพระพุทธเจ้าว่า ต่อไปนี้ถ้าผู้ใดไม่ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน ขออย่าให้ผู้นั้นบวชเลย พระพุทธเจ้าทรงประทานพรตามที่ขอ และทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุบวชผู้ที่บิดามารดา ยังไม่อนุญาต
                    เมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่า พระราหุลมีอุปนิสัยแก่กล้าพอจะบรรลุธรรมชั้นสูงแล้ว จึงทรงแสดงจุฬราหุโลวาทสูตร เป็นสูตรเดียวกับราหุลสูตร ในสังยุตนิกาย สฬายตนวรรค ว่าด้วยอายตนะหก คือ ทรงสอนว่า ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็น อนัตตา เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระราหุลได้บรรลุอรหัตผล
                    ต่อมาพระพุทธองค์ทรงประกาศสถาปนาในท่ามกลางสงฆ์ ยกย่องพระราหุลว่า เป็น เอตทัคคะ คือ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ใคร่ต่อการศึกษา     ๒๕/๑๕๙๓๔
            ๔๗๑๑. ราหู  เป็นคำที่ใช้เรียกตำแหน่งสำคัญตำแหน่งหนึ่งของดวงจันทร์ บนเส้นทางโคจรรอบโลก เมื่อมองจากอวกาศนอกโลก จะเห็นระนาบทางโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ เป็นมุมประมาณ ๕ องศา ๘ ลิบดา ดวงจันทร์จึงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่เหนือ หรือใต้ระนาบทางโคจรของโลก มีจุดสำคัญสองจุด ที่ดวงจันทร์ผ่านระนาบทางโคจรของโลก เรียกว่า จุดโหนด ถ้าผ่านจากเหนือระนาบลงสู่ใต้ระนาบทางโคจรของโลกเรียกว่า จุดโหนดลง และจุดตรงข้ามซึ่งดวงจันทร์ผ่านระนาบ ทางโคจรของโลกจากใต้ระนาบขึ้นเหนือระนาบเรียกว่า จุดโหนดขึ้น นักโหราศาสตร์เรียก จุดโหนดขึ้นว่า ราหู และเรียกจุดโหนดลงว่า เกตุ ราหูและเกตุ จึงไม่ใช่ดวงดาวจริง แต่เป็นจุดสมมุติแสดงตำแหน่ง ดวงจันทร์บนระนาบทางโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์
                    เวลาใดที่ราหู หรือเกตุ อยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์พอดี เวลานั้นจะเกิดสุริยุปราคา และก่อนหรือหลังเวลานี้ ประมาณสองสัปดาห์ มักจะเกิดจันทรุปราคาด้วย
                    ตามตำราโลกธาตุ พระราหูครองธาตุลม ผิวผ่อง กาฬพรรณ หมอกเมฆ ประดับเทพอาภรณ์ล้วนสัมฤทธิ์ ทรงครุฑราชเป็นพาหนะ เมื่อจรไปรับแสงอาทิตย์แล้ว เลยมาครองธาตุลมทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ     ๒๕/๑๕๙๓๘
            ๔๗๑๒. รำเพย - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก มีโคนแข็ง ใบเดี่ยว เรียงสลับเวียนบนกิ่ง ใบรูปขอบขนานเรียวยาวมาก ช่อดอกแบบช่อกระจุก มีดอกประปรายห่าง ๆ บานที่ละหนึ่งถึงสองดอก ก้านช่อดอกยาว ดอกมีขนาดใหญ่ กลิ่นหอม สีสด เด่นสะดุดตา โดยทั่วไปสีเหลืองสด อาจมีสีแสดได้บ้าง ดอกเป็นรูปปากแตร ผลแบบผลเมล็ดเดี่ยวแข็ง มีเนื้อขาว ผลเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมแบน สีแดงเมื่อแก่สีดำ นิยมใช้เป็นไม้ประดับ และใช้เป็นสมุนไพร     ๒๕/๑๕๙๓๙
            ๔๗๑๓. รำมะนา  เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี เป็นกลองขึงหนังด้านเดียว หน้ากองที่ขึ้นหนังผายออก ตัวกลองสั้น รูปร่างคล้ายกะละมัง สันนิษฐานว่าได้แบบอย่างมาจากเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งของมลายู ที่เรียกว่า เรบานา รำมะนามีสองชนิดคือ รำมะนา สำหรับวงมโหรี และรำมะนา สำหรับวงลำตัด
                    รำมะนา สำหรับวงมโหรีมีขนาดเล็ก หน้ากว้างประมาณ ๒๖ ซม. สูงประมาณ ๗ ซม. ใช้มือตี บรรเลงคู่กับโทนมโหรี มักสร้างอย่างสวยงาม เช่น ทำด้วยงาฝังไม้ หรือไม้ฝังงา เป็นการสลับสี
                    รำมะนา สำหรับวงลำตัด มีขนาดใหญ่ หน้ากว้างประมาณ ๔๘ ซม. สูงประมาณ ๑๓ ซม. ลำตัดวงหนึ่ง จะใช้รำมะนากี่ลูกก็ได้ คนตีนั่งล้อมวง และร้องเป็นลูกคู่ไปด้วย     ๒๕/๑๕๙๔๑
            ๔๗๑๔. รำมะนาด  เป็นโรคชนิดหนึ่ง เกิดที่เหงือกและกระดูกรองรับรากฟันใต้เหงือก มีลักษณะสำคัญคือ มีร่องระหว่างเหงือกกับฟันลึกเกินกว่า ๓ มม. เนื่องจากเยื่อบุผิว และเส้นใยเหงือก ซึ่งยึดรากฟันในภาวะปรกติหลุดจากรากฟัน และขยายลงสู่ปลายรากในแนวลึก เกิดการละลายกระดูกรองรากฟันร่วมด้วย
                    สาเหตุของโรคนี้ ซับซ้อน เกิดขึ้นแล้วไม่หายเองตามความเข้าใจเดิม เป็นโรคเรื้อรัง การป้องกันสามารถทำได้โดยการแปรงฟัน นวดเหงือก และทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกวิธี     ๒๕/๑๕๙๔๑
            ๔๗๑๕. ริดสีดวง เป็นโรคบางชนิดที่เกิดที่จมูก ตา และทวารหนัก สาเหตุ อาการ และการดำเนินของโรคที่เกิดที่อวัยวะดังกล่าว มีลักษณะแตกต่างกัน
                     ริดสีดวงจมูก  เป็นภาวะที่มีก้อนเนื้อในโพรงจมูก แต่ไม่ได้จัดเป็นกลุ่มพวกเนื้องอก หรือมะเร็ง สาเหตุการเกิดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด มักพบในผู้ใหญ่ หรือวัยหนุ่มสาว การรักษาแบ่งออกเป็น การรักษาด้วยยา และด้วยการผ่าตัด
                     ริดสีดวงตา  เป็นโรคเยื่อตาอักเสบ ที่มีกระจกตาอักเสบร่วมด้วย เป็นโรคที่ติดต่อง่าย มีสาเหตุจากเชื้อโรค การกระจายโรคมีมากในชุมชนเขตร้อน ชุมชนในภูมิประเทศแห้งแล้ง มีฝุ่นมาก แมลงชุกชุม และในชุมชนหนาแน่น
                     โรคริดสีดวงตา เกิดเฉียบพลันก่อนแล้วจึงกลายเป็นเรื้อรัง อาการของโรคมีอาการตาแดง ระคายเคืองตา น้ำตาไหล ตาไม่สู้แสง ถ้าเป็นที่กระจกตา จะมีอาการแสบตา และระคายเคืองตามากขึ้น การรักษาใช้ยาปฎิชีวนะ หรือยาประเภทซัวโฟนนาไมด์ กินและป้ายตานาน ๓ - ๔ สัปดาห์
                      ริดสีดวงทวาร  เป็นโรคหลอดเลือดดำโป่งพองขอดที่ทวารหนัก มีลักษณะเป็นติ่ง หรือก้อนยื่นออกมาจากปากทวารหนัก แบ่งเป็นสองจำพวกด้วยกันคือ ริดสีดวงทวารภายนอก และริดสีดวงทวารภายใน โดยถือเอาหูรูดทวารหนักเป็นเกณฑ์
                     อาการสำคัญของริดสีดวงทวาร มีสามประการที่สำคัญคือ
                        ๑. อาการเลือดออก  เลือดที่ออกมีลักษณะแดงสด บางรายที่เสียเลือดบ่อย ๆ เรื้อรัง ๆ จะมีอาการโลหิตจาง
                        ๒. หัวริดสีดวงโผล่  ทำให้มีอาการเจ็บปวด เมื่อเสียดสีเวลาเดิน
                        ๓. อักเสบแตกเป็นแผล  จะมีอาการเจ็บมากขึ้น จนถ่ายอุจจาระไม่สะดวก มีการเจ็บอยู่ตลอดเวลา บางครั้งการอักเสบนี้ ทำให้เชื้อโรคลุกลามเข้ากระแสเลือดได้โดยง่าย
                    ในการรักษา แต่เดิมรักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเดียว แต่ปัจจุบันมีการรักษาสองวิธีคือ
                        ๑. การรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด  ประกอบด้วย การใช้ยาฉีดรักษา เพื่อให้หลอดเลือดนั้นตีบเล็กลง เป็นการรักษาชั่วคราว อีกวิธีหนึ่งคือ ใช้ยางรัดหัวริดสีดวง เพื่อให้เน่าแล้วหัวริดสีดวง จะฝ่อลงเป็นการรักษาชั่วคราวเช่นกัน และอีกวิธีหนึ่งคือ การถ่วงหูรูด
                        ๒. วิธีผ่าตัด  คือ การตัดเอากลุ่มเลือดดำ ที่โป่งพองเป็นหัวริดสีดวงนั้นออก โดยไม่ทำลายกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก     ๒๕/๑๕๙๔๔
            ๔๗๑๖. ริ้น  เป็นแมลงพวกตัวบึ่ง หรือตัวบึ่งที่มีขนาดเล็กมาก ดูดกินเลือดคนหรือสัตว์ ทำให้เกิดอาการเจ็บเป็นตุ่มคัน ตามบริเวณที่ถูกดูดนั้น
                    ริ้น มีทั้งชนิดดูดเลือดคน และดูดเลือดสัตว์ หลายชนิดเป็นสื่อในการนำโรคมาสู่คน หรือสัตว์อีกด้วย         ๒๕/๑๕๙๕๓
            ๔๗๑๗. รีเนียน  เป็นธาตุลำดับที่ ๗๕ เป็นธาตุที่หายาก และมีราคาสูง นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ เป็นโลหะสีเงิน เมื่ออยู่ในลักษณะเป็นผง อาจมีสีเทา หรือสีดำ เป็นโลหะหนักที่สุดโลหะหนึ่ง มีความแข็งมากจึงทนทาน ต่อการสึกกร่อนได้ดีมาก มีขีดหลอมละลายสูงถึง ๓,๑๘๐ องศาเซลเซียส มีขีดเดือด ๕,๖๒๗ องศาเซลเซียส
                    รีเนียม ใช้นำไปทำประโยชน์หลายประการ เช่น นำไปผสมกับธาตุอื่น ให้เป็นโลหะเจือ เพื่อใช้ทำเทอร์มอดับเบิล อุณหภูมิสูงใช้นำไปทำปลายปากกา ทำอุปกรณ์ไฟฟ้าบางอย่าง     ๒๕/๑๕๙๕๗
            ๔๗๑๘. รือเสาะ  อำเภอ ขึ้น จ.นราธิวาส แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ขึ้น อ.ระแงะ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒       ๒๕/๑๕๙๖๐
            ๔๗๑๙. รุ้ง  เป็นปรากฎการณ์ธรามชาติที่เกิดขึ้นในบรรยากาศโลก และเป็นปรากฎการณ์ท้องถิ่น เกิดจากละอองน้ำแยกแสงสีขาว ออกเป็นเจ็ดสี เรียงลำดับความยาวของคลื่นแสง จากความยาวคลื่นสั้นไปหาความยาวคลื่นยาวคือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง ส้ม แดง
                    สาเหตุที่รุ้งปรากฎเป็นแถบโค้ง เพราะละอองน้ำในแนวโค้งเท่านั้นที่สะท้อนแสงมาเข้าตาเราได้ ละอองน้ำในบรรยากาศที่เกิดจากฝนตกปรอย ๆ หรือเมื่อฝนหยุดตกใหม่ ๆ มีลักษณะเป็นเม็ดกลมเล็ก ๆ หากมีแสงแดดไปตกกระทบ จะเป็นตัวกลางที่สามารถหักเห และสะท้อนแสงแดดได้ แสงแต่ละสีมีความยาวคลื่นต่างกัน จึงถูกหักเหและสะท้อนไม่เท่ากัน ผลก็คือ เรามองเห็นเป็นสีรุ้ง โดยมีดวงอาทิตย์อยู่เบื้องหลัง  ลักษณะของรุ้งมีรูปโค้งลงเป็นส่วนหนึ่งของวงกลม สีแดงอยู่บนและสีม่วงอยู่ล่าง โดยมีสีอื่นเรียงตามลำดับสีรุ้ง       ๒๕/๑๕๙๖๐
            ๔๗๒๐. รุสโซ  (พ.ศ.๒๒๕๕ - ๒๓๒๑)  เป็นนักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศส ในยุคสว่าง หรือยุคแห่งความรู้แจ้ง รุสโซมีแนวคิดที่ลึกซึ้งและน่าสนใจหลายด้าน แต่แนวคิดที่โดดเด่นและรู้จักกันแพร่หลายคือ แนวคิดทางการศึกษา ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวทางการศึกษาปัจจุบัน แนวคิดทางการเมือง และการปกครอง ซึ่งมีอิทธิพลต่อการปฎิวัติฝรั่งเศส และแนวความคิดยกย่องเชิดชูธรรมชาติ ซึ่งมีอิทธิพลต่อนักเขียนแนวโรมแมนติก ในสมัยต่อมา
                  แนวคิดทางการศึกษาของรุสโซ ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจาก จอห์น ล็อก  (พ.ศ.๒๑๗๕ - ๒๒๔๗) นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ซึ่งเชื่อว่าจิตใจของเด็กนั้น เปรียบเหมือนกระดานชนวนที่ว่างเปล่า ความเข้าใจความคิด และความรู้ต่าง ๆ จะค่อย ๆ เกิดขึ้นใจจิตใจโดยอาศัยการรับรู้ จากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสต่าง ๆ
                รุสโซได้เสนอปรัชญาและวิธีการเรื่องการศึกษาอบรมไว้ในหนังสือเรื่อง เจบิล โดยได้เสนอแนให้คำนึงถึงธรรมชาติที่แท้จริงของเด็กเป็นสำคัญ เน้นการใช้ประสบการณ์โดยตรง สำหรับเด็กวัยก่อน ๑๒ ปี นอกนั้น ต้องพยายามให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง
                ในทัศนะของรุสโซ ความรู้ที่ได้รับจากหนังสือ หรือทางวิชาการนั้น อยู่ในลำดับ หลังจากประสบการณื การเรียนรู้ต้องเรียนจากของจริง รู้อะไรต้องรู้จริง มิใช่รู้โดยคิดว่าตัวรู้ หรือจินตนาการเอาเอง
                  แนวคิดทางการเมืองการปกครอง  ในหนังสือ "สัญญาประชาคม" รุสโซพยายามแสวงหาหนทางแก้ไขความขัดแย้ง ระหว่างเสรีภาพของบุคคลกับระเบียบของสังคม เขาเสนอให้บุคคลสละเสรีภาพส่วนตน ให้แก่ส่วนรวม
                รุสโซ ยอมรับว่ามนุษย์มีความไม่เท่าเทียมกัน โดยถูกกำหนดมาแล้วจากธรรมชาติ ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกดขี่เบียดเบียน เพื่อนมนุษย์จึงได้แก่ อารยธรรม ซึ่งเกิดจากระบบการปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณี                 ๒๕/๑๕๙๖๔
            ๔๗๒๑. รูทีเนียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๔๔ ไม่มีปรากฎอยู่ในธรรมชาติในภาวะธาตุอิสระ แต่มีปรากฎอยู่ในภาวะเป็นสารประกอบ ปะปนอยู่ในแร่หลายชนิดของโลหะ ในตระกูลแพลทินัม มีพบตามบริเวณเทือกเขาอูราล ประเทศรัสเซีย ในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้
                    ธาตุรูทีเนียม เป็นโลหะที่ทนทานต่อการสึกกร่อนมาก มีประโยชน์มาก เช่น ใช้นำไปเจือกับโลหะแพลทินัม หรือกับโลหะอื่น ในตระกูลแพลทินัม เป็นโลหะเจือ ซึ่งมีสมบัติแข็งแกร่งทนทานต่อการสึกหรอมากยิ่งขึ้น ใช้โลหะเจือเหล่านี้ทำประโยชน์เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นเรือนกรอบของอัญมณีในอุตสาหกรรมเพชรพลอย นอกจากนี้ ยังใช้สารประกอบของธาตุรูทีเนียม เป็นตัวเร่งปฎิกิริยา ในปฎิกิริยาเคมีหลายชนิดอีกด้วย     ๒๕/๑๕๙๘๐
            ๔๗๒๒. รูบิเดียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๓๗ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันสองคน เป็นผู้ค้นพบ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๔ ธาตุนี้มีปรากฎอยู่ตามเปลือกโลก  เป็นปริมาณมากเป็นลำดับที่สิบหก และไม่มีอยู่ในภาวะเป็นธาตุอิสระ แต่อยู่ในลักษณะเป็นสารประกอบ ปนอยู่ในแร่ต่าง ๆ หลายชนิด กระจายอยู่ทั่วโลก
                    รูบิเดียม ใช้นำไปทำประโยชน์หลายประการ เช่น นำไปรวมตัวกับโลหะธาตุอื่น เป็นโลหะเจือ นำไปใช้ในหลอดสูญญากาศ นำไปใช้ในเครื่องยนต์บางชนิด นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของโฟโตเซลล์ ใช้นำไปทำแก้วชนิดพิเศษ        ๒๕/๑๕๙๘๒
            ๔๗๒๓. เรณูนคร  อำเภอ ขึ้น จ.นครพนม เดิมชื่อเมืองเว ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเรณูนคร ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๐ ยุบลงเป็นตำบล แล้วตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘         ๒๕/๑๕๙๘๔
            ๔๗๒๔. เรดอน  เป็นธาตุลำดับที่ ๘๖ เป็นแก๊ส นับเป็นแก๊สที่หายากแก๊สหนึ่งในธรรมชาติ โดยทั่วไปมีสมบัติเฉื่อยต่อปฎิกิริยาทางเคมี เป็นธาตุกัมมันตรังสี และเป็นผลมาจากการเสื่อมสลายของธาตุเรเดียม และธาตุเรเดียมมีปรากฎกระจายอยู่ทั่วไปทั่วโลก เมื่อแก๊สเรดอนเสื่อมสลายไป ย่อมให้รังสีแอลฟา บีตา และแกมมา ซึ่งเป็นอันตรายต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิต     ๒๕/๑๕๙๘๕
            ๔๗๒๕. เรดาร์  เป็นคำย่อ ในภาษาอังกฤษ มาจากคำเต็มที่แปลว่า การตรวจจับและหาระยะห่างด้วยวิทยุ ในทางปฎิบัติ หมายถึง อุปกรณ์หรือวิธีการใช้คลื่นวิทยุ ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ในการตรวจจับและหาตำแหน่งที่อยู่ของวัตถุ ที่สามารถสะท้อนคลื่นวิทยุได้
                    เรดาร์ อาศัยหลักการที่ว่า คลื่นวิทยุสามารถสะท้อนกลับได้ เมื่อตกกระทบลงบนวัตถุที่นำไฟฟ้า ทำนองเดียวกับที่คลื่นเสียงสะท้อนกลับได้ เมื่อตกกระทบลงบนวัตถุแข็ง ที่ไม่ดูดกลืนเสียง หลักการสะท้อนกลับของคลื่นวิทยุเช่นว่านี้ มีปรากฎอยู่ในผลของการทดลอง ที่แสดงถึงสมบัติของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เยอรมันเป็นผู้กระทำใน พ.ศ.๒๔๒๓ จนกระทั่งถึงช่วง พ.ศ.๒๔๗๘ - ๒๔๘๒  นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรไฟฟ้า  จึงสามารถประดิษฐ์อุปกรณ์เรดาร์ ที่ใช้งานได้ขึ้นเป็นผลสำเร็จ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรดาร์ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ในทางทหาร หลังจากสงครามสิ้นสุดลงแล้ว งานด้านพลเรือนได้นำเรดาร์มาใช้ประโยชน์มากขึ้น  เช่น การนำทางเรือและเครื่องบิน การสำรวจพื้นโลก และอวกาศ การตรวจจับเมฆฝน และพายุหมุน เป็นการตรวจจับความเร็วยานพาหนะบนทางหลวง     ๒๕/๑๕๙๘๗
            ๔๗๒๖.  เรเดียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๘๘ เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่มีปรากฎในธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส สองสามีภรรยา เป็นผู้ค้นพบธาตุนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๑
                    การค้นพบธาตุเรเดียม นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์อย่างมาก โดยเฉพาะในวงการฟิสิกส์ และวงการวิชาแพทย์
                    ในธรรมชาติ เรเดียมมีปรากฎอยู่ในแร่หลายชนิด และมักมีปรากฎอยู่ร่วมกับธาตุยูเรเนียม เรเดียมที่มีปรากฎอยู่ในธรรมชาติในปัจจุบัน เกิดจากการแตกสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีคือ ยูเรเนียม ทอเรียม และแอกทิเนียม
                    เรเดียม ลักษณะเป็นโลหะ เมื่อบริสุทธิ์และเตรียมได้ใหม่ ๆ มีสีขาวเงินจ้า สดใส แต่เมื่อปล่อยให้ถูกอากาศ สีจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ซึ่งเข้าใจว่า เรเดียมมีปฎิกิริยากับไนโตรเจนในอากาศ เรเดียมสามารถเปล่งแสงเรืองได้เช่นเดียวกับเกลือของมัน
                    ธาตุเรเดียม มีความว่องไวทางปฎิกิริยาเคมีสูงมาก สามารถละลายในน้ำได้ดี และรุนแรง ให้แก๊สไฮโดรเจน ธาตุเรเดียมและสารประกอบของมัน รวมทั้งสารที่ได้จากการแตกสลายของเรเดียม มีสมบัติเป็นพิษอย่างแรง เนื่องจากรังสีที่แผ่ออกมา ธาตุเรเดียมเมื่อแตกสลายจะให้ธาตุเรดอน ซึ่งมีลักษณะเป็นแก๊สกัมมันตรังสี และเป็นแก๊สพิษ เมื่อเรเดียมแตกสลายจนถึงที่สุด ก็จะแปรสภาพไปเป็นธาตุตะกั่วที่เสถียร การแผ่รังสีก็เป็นอันสิ้นสุด
                    ธาตุเรเดียม มีประโยชน์มากในงานวิทยาศาสตร์หลายแขนง โดยอาศัยรังสีกัมมันตภาพของธาตุนี้ เช่น เป็นแหล่งให้อนุภาคนิวตรอน ใช้ผลิตสารสีเรืองแสงเพื่อใช้ในกิจการต่าง ๆ บางประเภท เป็นแหล่งสำคัญที่ให้ธาตุเรดอน ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายประการ ในทางการแพทย์ใช้เรเดียม เพื่อรักษาโรคมะเร็ง และยังใช้เรเดียมและเกลือซัลเฟตของมัน มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมถลุงโลหะ                ๒๕/๑๕๙๙๑
            ๔๗๒๗.  เรวตะ  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง นับเป็นพระองค์ที่ห้าในจำนวนพระพุทธเจ้า ที่ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ยี่สิบห้าพระองค์คือ พระทีปังกร พระโกณทัญญะ พระมังคละ พระสุมนะ พระเรวตะ พระโสภิตะ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระนารทะ พระปทุมุตตระ พระสุเมธ พระสุชาตะ พระธิยทัสสี พระอัตถทัสสี พระธรรมทัสสี พระสิทธัตถะ พระติสสะ พระปุสสะ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะหรือพระศากยะโคดม พระพุทธเจ้าของเรา            ๒๕/๑๕๙๙๗
            ๔๗๒๘. เรินต์เกน - รังสี, เอกซ์ - รังสี, เอกซเรย์  เป็นพลังงานชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นรังสีที่มีช่วงคลื่นสั้นมาก เป็นผลได้มาจากการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้า รังสีที่แผ่ออกมาไม่มีอนุภาคไฟฟ้า รังสีนี้ก่อให้เกิดปรากฎการณ์วาวแสง บนสารบางชนิดได้ สามารถผ่านทะลุวัตถุหลายชนิด โดยไม่มีรอยทะลุ รอยทะลุเกิดขึ้นบนวัตถุนั้น ๆ รังสีนี้ทำให้กระจกถ่ายรูปแปรสภาพไปได้ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน เป็นผู้พบรังสีนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘
                    รังสีเอกซ์ มีพลังงานสูงมาก มีประโยชน์มากในวงการวิทยาศาสตร์ สาขาต่าง ๆ รวมทั้งการแพทย์ วิศวกรรม และอื่น ๆ โทษของรังสีเอกซ์ คือ เมื่อรังสีเอกซ์กระทบผิวหนังเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ผิวหนังบริเวณนั้น เป็นผื่นแดงคล้ายถูกแดดเผาจัด ถ้าถูกมากผิวหนังจะไหม้เกรียม ทำให้มีอาการเจ็บปวด และมีการเปลี่ยนแปลงในเนื้อเยื่อ ถ้าถูกมากถึงขนาดทำให้เกิดอาการอาเจียน อ่อนเพลีย ผมร่วง ที่สุดอาจถึงตายได้      ๒๕/๑๖๐๐๐
            ๔๗๒๙. เรินต์เกน, วิลเฮล์ม คอนราด  เป็นผู้พบและศึกษาสมบัติของรังสีชนิดหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกกันโดยทั่วไปว่า รังสีเอกซ์ หรือเอกซเรย์ การพบรังสีเอกซ์นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของวิชาฟิสิกส์ปัจจุบัน และวิชาแพทย์ให้ก้าวหน้ากว้างขวางยิ่งขึ้น เขาเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๘ ที่เมืองเลนเนฟ แคว้นปรัสเซีย ได้ศึกษาวิชาวิศวกรมเครื่องกล จนสำเร็จปริญญาระดับดุษฎีบัณฑิต ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ศาตราจารย์ทางฟิสิกส์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖         ๒๕/๑๖๐๐๕
            ๔๗๓๐. เริม  เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเฉียบพลัน ที่มีลักษณะรอยโรคเป็นเม็ดเล็ก ๆ พองใสติดกันเป็นกลุ่มอยู่บนพื้นสีแดง มีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อน พบบ่อยที่ริมฝีปาก ข้างรูจมูก และอวัยวะเพศ เชื่อโรคคือ ไวรัสเริม
                    การรับเชื้อจะเข้าทางบาดแผล ที่ผิวหนัง หรือเยื่อบุในปาก หรือทางเพศสัมพันธ์ ทางแก้วน้ำ หรือหลอดดูด ร่วมกับผู้ป่วย เมื่อเชื้อเข้าไปในหนัง จะเจริญแบ่งตัวสลายเซลล์ ทำให้เกิดปฎิกิริยาอักเสบ มีตุ่มพอง หลอดน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงอักเสบ เชื้อไวรัสอาจเข้าสู่กระแสเลือดแพร่เข้าสู่อวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด และอวัยวะระบบปราสาทกลาง จากการติดเชื้อปฐมภูมิ ไวรัสเริมมักเข้าไปแฝงอย่างสงบ อยู่ในปมประสาทรับความรู้สึก ซึ่งเป็นแหล่งของการกำเริบเป็นครั้งคราว โดยเชื้อผ่านมาทางเส้นประสาทรับความรู้สึก ไปที่ใต้ผิวหนังทำให้เกิดการติดเชื้อ ลุกลามระหว่างเซลล์ต่อเซลล์
                    เนื่องจากยังไม่มียาที่ออกฤทธิ์ฆ่าไวรัสในปมประสาทได้ เริมจึงเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด      ๒๕/๑๖๐๑๑
            ๔๗๓๑. เรือด  เป็นแมลงพวกมวน ขนาดเล็ก ขนาดโตที่สุดตัวยาวไม่เกิน ๕ มม. ลำตัว แบนทรงราบ หัวเล็ก อกปล้อง แรกโตกว่าหัวส่วนท้องกว้างที่สุด ตรงประมาณกึ่งกลาง ปากยาวแหลมคล้ายเข็ม ส่วนใหญ่ลำตัวมีกลิ่นเหม็น ออกหากินเวลากลางคืน ดูดเลือดคน หรือสัตว์ต่าง ๆ กินเป็นอาหาร
                    นักกีฎวิทยา แบ่งเรือดออกเป็น ๗๕ ชนิด มีเพียงสามชนิดเท่านั้นที่อาศัยอยู่กับคน และดูดเลือดคนกินเป็นอาหาร เรือดชนิดอื่น ๆ ดูดกินเลือดสัตว์ต่าง ๆ เป็นอาหาร ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ปีก วัฎจักรชีวิตจึงมักมีที่อยู่จำกัด       ๒๕/๑๖๐๑๕
            ๔๗๓๒. เรือดไม้  เป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวโดยทั่วไปยาว ๑ - ๘ มม. หัวค่อนข้างโต กว้างไล่เลี่ยกับอก ท้องโตกว่าหัว มีปากแบบกัดกิน บางชนิดมีปีก
                เรือดไม้ส่วนใหญ่ อาศัยอยู่นอกเคหสถาน ไม่ก่ออันตรายใด ๆ แก่ต้นไม้       ๒๕/๑๖๐๑๗
            ๔๗๓๓. เรือนไทย  เรือนของชนชาติไทย แต่เดิมคงจะเป็นเรือนเครื่องผูกก่อน ต่อมาจึงเป็นเรือนเครื่องสับ หรือเรือนฝากระดาน แต่เรือนเครื่องผูกยังมีอยู่ในชนบท ชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา
                    เรือนไทยสมัยสุโขทัย ที่เป็นตัวสถาปัตยกรรมนั้น ไม่ปรากฎหลักฐาน แต่ก็ได้พบหลักฐานเป็นชิ้นส่วนของหุ่นจำลอง ที่เป็นเครื่องเคลือบ หรือที่เรียกว่า สังคโลก ที่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นรูปหน้าจั่ว เป็นแบบจั่วลูกฟัก มีปั้นลม ฝาเป็นแบบฝาปะกน ใต้ขื่อมีโก่งคิ้ว อันเป็นลักษณะเดียวกับด้านหน้าวิหาร ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมล้านนา ที่ยังพบเห็นได้ในปัจจุบัน จึงพอสันนิษฐานได้ว่า เรือนไทยสมัยสุโขทัย ก็คือ เรือนเครื่องสับ หรือเรือนฝาปะกน แบบใต้ถุนสูง นั่นเอง
                    เรือนไทยสมัยอยุธยา ซึ่งไม่ห่างจากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมากนัก ชีวิตและความเป็นอยู่กับศิลปวัฒนธรรม ยังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สังเกตได้จากศิลปวัตถุสมัยอยุธยา เช่น ภาพเขียน จิตรกรรมฝาผนัง ของอุโบสถวัดช่องนนทรี ยานนาวา กรุงเทพ ฯ ที่เป็นภาพของชาวบ้านอยุธยา ถ้าเป็นบ้านของคนมีฐานะดี หรือคนชั้นกลาง หลังคาจะมุงด้วยกระเบื้องลอน หรือที่เรียกว่า กระเบื้องกาบู มีปั้นลม และตัวเหงา ปั้นลมมีการตกแต่งด้วยแผงของหน้าจั่ว เป็นแบบลูกฟัก ฝาเรือนเป็นแบบฝาปะกน
                    ต่อมา ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พบว่ามีภาพที่อยู่อาศัยแบบเรือนไทย หลังคามุงจาก ฝามีทั้งฝาขัดแตะ ฝาปะกน ฝาลูกฟัก เช่น ที่วัดราชสิทธาราม และวัดดุสิดาราม มีภาพเขียนที่เป็นเรือนลักษณะดังกล่าว รวมทั้งที่พักอาศัยเดิมของ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  ซึ่งต่อมาได้เป็นหอไตร ของวัดระฆังโฆษิตราม เป็นเรือนสามหลังแฝด ฝาปะกน ใต้ถุนสูง
                    เรือนไทยในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยนั้น เรือนของภาคเหนือ นับว่ามีแบบแผนเฉพาะตัว และเป็นแบบอย่างหนึ่ง ที่น่าศึกษาถึงศิลปวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน แม้ในปัจจุบันก็ยังคงสืบทอดการปลูกสร้างไม่ขาดช่วง และยังคงอยู่ตลอดไป
                    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคเดียวที่หาแบบอย่างเรือนพักอาศัยที่เป็นแบบฉบับ หรือลักษณะเฉพาะไม่ได้
                    ภาคใต้ของประเทศไทย มีฝนตกชุกลมแรง ที่พักอาศัยจึงต้องมีลักษณะที่ป้องกันแดด ป้องกันฝน ป้องกันลมได้ดี ลักษณะของเรือนไทยภาคใต้จึงต้องมีชายคายาว และมีชายคารอบด้าน หลังคาเป็นแบบที่เรียกว่า ทางปั้นหยา หรือมีจั่วเล็ก ๆ อยู่ติดกับสันหลังคา ส่วนหลังคาด้านล่างก็ยังเป็นทรงปั้นหยาอยู่ เรียกหลังคาแบบนี้ว่า จั่วปั้นหยา  หน้าต่างจะมีน้อยและใต้ถุนสูง ฝาใต้หลังคาเป็นช่องลมรอบตัวบ้าน
                    เรือนไทยภาคกลางมีลักษณะโดยทั่วไปคือ หลังคาทรงสูง มีปั้นลม กันสาด ระเบียง ชาน และใต้ถุนสูง         ๒๕/๑๖๐๒๐
           ๔๗๓๔.  เรื้อน  ดูที่ ขี้เรื้อน  - (ลำดับที่ ๗๗๕)              ๒๕/๑๖๐๒๐
           ๔๗๓๕. แร่  เป็นธาตุ หรือสารประกอบอนินทรีย์ ที่มีเนื้อเดียวกัน เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีโครงสร้างภายในที่เป็นระเบียบ มีส่วนประกอบทางเคมีที่แน่นอน ซึ่งสามารถเขียนสูตรเคมีแทนได้ มีสมบัติทางกายภาพ สมบัติทางเคมี และสมบัติทางแสง เฉพาะตัวซึ่งจะแปรเปลี่ยนไปได้บ้าง ในขอบเขตจำกัด แร่อาจประกอบด้วย ธาตุเพียงธาตุเดียว เช่น ทองคำ เงิน  หรือเป็นสารประกอบของธาตุ ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป
                    ปัจจุบันแร่ยังรวมถึงสารประกอบอินทรีย์ ประเภทถ่านหิน และปิโตรเลียม ด้วย     ๒๕/๑๖๐๒๘
            ๔๗๓๖. แรกนา, แรกนาขวัญ   ดู จรดพระนังคัล - ลำดับที่ ๑๒๘๗       ๒๕/๑๖๐๓๗
            ๔๗๓๗. แร้ง, นก  แร้งหรืออีแร้ง เป็นชื่อเรียกนกขนาดใหญ่ ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร หากินเวลากลางคืน มีหลายชนิด หลายสกุล ในวงศ์แร้งโลกใหม่ และแร้งโลกเก่า
                      แร้งโลกใหม่  มักเรียกรวมว่า แร้งอเมริกัน มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ มีความใกล้ชิดกับนกจำพวกนกกระสา และนกกาน้ำ มาก นิ้วตีนยาว นิ้วสามนิ้ว ที่ชี้ไปด้านหน้ามีแผ่นพังผืดอยู่ด้านข้าง นิ้วที่ชี้ไปด้านหลังค่อนข้างตรง  อุ้งตีนไม่แข็งแรงเหมือนนกกินเนื้อชนิดอื่น ๆ จึงไม่สามารถจับ หรือขยุ้มเหยื่อได้เช่นพวกเหยี่ยว หรือนกอินทรี แร้งโลกใหม่ ไม่มีหลอดเสียงดัง จึงไม่สามารถร้องได้ ปากไม่แข็งแรงพอที่จะฉีกเนื้อสด ๆ ได้ จึงต้องกินแต่ซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย ตามปรกติมันจะบินร่อนหากินตลอดเวลากลางวัน สามารถบินได้สูงมาก การไต่ระดับสามารถทำได้ โดยไม่ต้องขยับปีก เพียงเมื่อพบกระแสลมร้อน ก็สามารถยกตัวให้สูงขึ้นได้เรื่อย ๆ โดยร่อนเป็นวงกลม แร้งมีสายตาดี สามารถมองเห็นเหยื่อที่อยู่บนดิน แม้ว่าจะร่อนอยู่สูงมากก็ตาม แร้งไม่อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ขณะออกหากินในตอนกลางวัน แต่ตอนกลางคืนอาจพบว่า พักผ่อนหลับนอนอยู่รวมกันหลายตัว
                     นิสัยการกินอาหารที่เน่าเปื่อย ทำให้แร้งมักมีกลิ่นตัวเหม็นรุนแรง เป็นที่รังเกียจของคนทั่วไป แร้งเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมาก ในการขจัดสิ่งปฎิกูล
                     แร้งโลกใหม่ แอนดีน คอนดอร เป็นนกกินเนื้อที่ใหญ่ที่สุด ยาวประมาณ ๑.๓๐ เมตร ปีกเมื่อกางกว้างประมาณ ๓ เมตร น้ำหนักถึง ๑๔ กก. พบบริเวณเทือกเขาแอนดีส ในทวีปอเมริกาใต้ ทำรังตามแง่หิน บริเวณหน้าผาสูง ออกไข่ครั้งละหนึ่งฟอง ปีเว้นปี อายุหกเดือนเริ่มหัดบิน แต่พ่อแม่ยังคงช่วยดูแลต่ออีกไม่น้อยกว่าครึ่งปี มีอายุประมาณ ๕๐ ปี
                     แร้งโลกเก่า  เป็นวงศ์เดียวกับพวกนกอินทรี และเหยี่ยว จากจำนวนทั้งสิ้น มีอยู่ ๑๕ ชนิด ที่เรียกว่า แร้ง พบในทวีปยุโรป แอฟริกา และเอเชีย
                     แม้ว่าแร้งโลกเก่า จะมีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับแร้งโลกใหม่ แต่มีข้อที่แตกต่างกันคือ แร้งโลกเก่ามีเล็บโค้งงอ แข็งแรง รูจมูกกลม และส่งเสียงร้องได้ เพราะมีหลอดเสียง ตัวผู้และตัวเมีย คล้ายกัน แต่ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย
                     แร้งโลกเก่า กินทั้งซากสัตว์ และสัตว์ที่ฆ่าด้วยตัวมันเอง ตีนที่แข็งแรง นอกจากจะใช้เดินได้ดีแล้ว ยังสามารถใช้จับสัตว์อื่นอีกด้วย       ๒๕/๑๖๐๓๗
            ๔๗๓๘. แรงงาน และสวัสดิการสังคม กระทรวง   มีหน้าที่ดูแลความเป็นอยู่ของประชากรไทย พัฒนาให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่มีคุณค่าของประเทศ  โดยจะดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมให้มีความรู้ และทักษะฝีมือในการประกอบอาชีพ จนสามารถมีงานทำมีรายได้ และสามารถช่วยตนเองได้ รวมทั้งให้การคุ้มครองแรงงานที่เป็นธรรม มีความปลอดภัยในการทำงาน เสริมสร้างระบบสวัสดิการสังคมที่ดี เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิต ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่ประสบความเดือดร้อน และขาดการดูแลจากสังคม และผู้ที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ
                    กระทรวงนี้ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ เกิดขึ้นจากการแยกตัวของส่วนราชการ ระดับกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย มาจัดตั้งเป็นกระทรวงขึ้น ได้จัดแบ่งส่วนราชการตามภารกิจหน้าที่เฉพาะด้านคือ สำนักงานเลขานุการรับมนตรี สำนักงานปลัดประทรวง กรมการจัดหางาน กรมประชาสงเคราะห์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม      ๒๕/๑๖๐๔๗
            ๔๗๓๙. แรด  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่อาศัยอยู่บนบก มีขนาดใหญ่ รองจากช้าง แรดเป็นสัตว์กีบ ลำตัวใหญ่ แข็งแรง ผิวหนังหนา ลักษณะมีรอยพับของหนังตามส่วนต่าง ๆ ของลำตัว ตามลำตัวมีขนน้อย มีสายตาไม่ดี แต่มีประสาทรับกลิ่น และการได้ยินดี อาวุธที่ใช้ในการต่อสู้คือ นอ แรดไม่มีต่อมเหงื่อ จึงต้องรักษาอุณหภูมิของร่างกาย และป้องกันแมลงมารบกวน ด้วยการนอนแช่ในน้ำ และในปลักโคลน แรดเป็นสัตว์กินพืช ปรกติเป็นสัตว์ไม่ดุ ไม่ส่งเสียงร้องดัง ใช้กองอุจจาระ และปัสสาวะ เป็นการบอกอาณาเขต
                    แรดมีอยู่ห้าชนิด ในทวีปเอเชียมีสามชนิด ได้แก่ แรดอินเดีย แรดชวา และแรดสุมาตรา ในทวีปแอฟริกามีสองชนิด ได้แก่ แรดดำ และแรดขาว      ๒๕/๑๖๐๕๕
            ๔๗๔๐. แร้ว เป็นเครื่องมือดักสัตว์ชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับดักนก ไก่ป่า กระต่าย เป็นต้น มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ คันแร้ว บ่วง ปิน และคาน แร้วทำงานโดยอาศัยกำลังดีดจากคันแร้ว ดึงรัดสายบ่วงให้รัดขาคอ หรือลำตัวสัตว์ที่ต้องการดักจับ เมื่อสัตว์นั้นมากระทบคาน ให้เคลื่อนที่พร้อมกับปลดให้ปิน พ้นจากการควบคุม
                    แร้ว ที่ชาวบ้านและชาวป่า ทำขึ้นนั้นมีอยู่หลายแบบคือ แร้วบ่วง แร้วเหยียบต่ำ แร้วเหยียบสูง แร้วตอด แร้วเบ็ด แร้วธนู      ๒๕/๑๖๐๕๗
            ๔๗๔๑. โรคพืช  พยาธิสภาพของพืช หมายถึง การเจ็บป่วยของต้นไม้ อาการผิดปรกติที่แสดงว่า พืชเป็นโรคมีแตกต่างกันไปหลายแบบ เช่น ใบเป็นจุด ใบแห้ง ใบและดอกด่างลาย ใบเหลือง ใบหงิก ผลเน่าเละ ต้นเหี่ยวเฉา รากเป็นปม
                    การแพร่ระบาดของโรค พืชต้องอาศัย ลม น้ำ แมลง คนและสัตว์ เป็นพาหะ อนึ่ง ความรุนแรงของโรคพืชขึ้นอยู่กับสภาพ ของสิ่งแวดล้อมในที่นั้น ๆ ด้วย
                    การป้องกันกำจัดโรคพืช มีด้วยกันหลายวิธี การหาพันธุ์ต้านทานโรคมาปลูกเป็นวิธีหนึ่ง      ๒๕/๑๖๐๖๙
            ๔๗๔๒. โรคระบาด  เป็นโรคที่เกิดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หรือโรคที่เกิดอย่างผิดปรกติ แต่เดิมคำว่า โรคระบาด มักใช้กับโรคติดต่อ หรือโรคติดเชื้อ ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หรือผิดปรกติเท่านั้น แต่การระบาดของโลก มีความหมายกว้างกว่า คือ หมายถึง การแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หรือผิดปรกติของทั้งโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อด้วย      ๒๕/๑๖๐๗๓
            ๔๗๔๓. โรคเรื้อรัง  เป็นโรคที่ยืดเยื้อ แม้ว่าจะได้รับการรักษาหรือไม่ก็ตาม ก็ยังปรากฎอาการ หรือแสดงอาการอยู่เป็นแรมเดือนจึงหาย หรือเป็น ๆ หาย ๆ หรืออาจไม่หายก็ได้
                    เมื่อตรวจในเชิงพยาธิวิทยา เพื่อระบุว่าเป็นโรค หรือรอยโรค แบบเรื้อรัง หรือไม่นั้น ในกรณีที่เป็นโรค หรือรอยโรค แบบเรื้อรัง จะพบเม็ดเลือดขาว เป็นชนิดนิวเคลียสเดี่ยวเพิ่มขึ้น จากปรกติมาก และมีเซลล์กำเนิดเส้นใย และพังผืด ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย และในบางโรคตรวจพบแกรนูโลมา เป็นสำคัญ           ๒๕/๑๖๐๗๗
            ๔๗๔๔. โรเดียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๔๕ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เป็นผู้ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๖ โดยสกัดแยกออกจากแร่แพลทินัม
                    ในธรรมชาติ ธาตุโรเดียม มีปรากฎอยู่ในลักษณะเป็นไอโซโทป ที่เสถียรเพียงไอโซโทปเดียว มิได้อยู่ในภาวะอิสระ แต่อยู่ในภาวะเป็นสารประกอบ
                    โรเดียม เป็นโลหะสีเงินมีจุด หลอมตัวสูง แข็งมาก เมื่อทำให้ธาตุโรเดียม ร้อนจัดจนกลายเป็นไอ แล้วนำแผ่นกระจกมารอรับ ไอร้อนจะกลั่นตัวติดเป็นแผ่นฟิลม์บาง ๆ บนผิวกระจก ทำให้แผ่นกระจกนั้น สะท้อนแสงได้ดีมาก จึงใช้ประโยชน์เป็นแผ่นกระจกสะท้อนแสง ในไฟฉายขนาดใหญ่ได้ดีมาก ประโยชน์อื่น ๆ ของโรเดียม มีหลายประการ เช่น นำไปผสมกับโลหะแพลทินัม แพลเรเดียม เป็นโลหะเจือที่แข็งมาก และมีขีดหลอมเหลวสูง จึงใช้ทำประโยชน์ในเตาอุณหภูมิสูง ในเทอร์มอคัปเปิล อุณหภูมิสูงได้ดี ใช้นำไปทำขั้วไฟฟ้า ในหัวเทียน ในเครื่องยนต์ของอากาศยาน ใช้ทำเบ้าทนไฟ ใช้ทำทัศนอุปกรณ์บางชนิด ใช้ในอุตสาหกรรมอัญมณี ใช้เป็นตัวเร่งปฎิกิริยา      ๒๕/๑๖๐๗๘
            ๔๗๔๕. โรมันคาทอลิก  คำนี้เป็นคำคุณศัพท์ใช้ขยายบุคคล หรือองค์การศาสนาคริสต์ มีความหมายตามภาษากรีกทั่วไป สากล
                    ศาสนาคริสต์ ในปัจจุบันแบ่งออกเป็นสามนิกายใหญ่คือ โรมันคาทอลิก โปรเตสแตนส์ และออร์โทดอกซ์  ชาวโรมันคาทอลิกทั่วโลก รวมตัวกันเป็นองค์การเดียวเรียกว่า คริสต์จักรคาทอลิก มีสันตะปาปาเป็นประมุขสูงสุด มีคาร์ดินัลร้อยกว่าท่านเป็นที่ปรึกษา แบ่งอำนาจการปกครองท้องถิ่นลดหลั่นลงเป็น อาร์ชบิชอป และอธิการโบสถ์ ในปัจจุบัน คริสต์จักร คาทอลิก มีสมาชิกประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านคน มีมากในแถบอเมริกาใต้ ยุโรปตอนใต้ แอฟริกากลาง ประเทศฟิลิปปินส์ นอกนั้น กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในทุกประเทศ
                    คำว่า คาทอลิก เริ่มมีผู้ใช้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่สอง เมื่อมีสมาชิกบางคนแยกตัวออกจากคริสต์จักร และเรียกตัวเองว่า ชาวคริสต์ ฝ่ายองค์การจึงต้องกล่าวเตือนสมาชิกที่ยังเหลืออยู่ว่า พวกที่แยกออกไปนั้น เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ส่วนองค์กรเดิมมีลักษณะสากล
                    เมื่อนิกายออร์ไทดอกซ์ และนิกายโปรเตสแตนท์ ประกาศตัวเป็นอิสระ มีหลายกลุ่มยังอ้างว่า กลุ่มของตนก็มีลักษณะคาทอลิก (สากล) ด้วย และเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจสับสน ทุกฝ่ายจึงพร้อมใจกันเรียกนิกาย ที่มีสันตะปาปาเป็นประมุขว่า โรมันคาทอลิก ด้วยเหตุผลที่ว่า สันตะปาปา จะต้องมีตำแหน่งเป็น บิชอร์ป แห่งกรุงโรม เสมอ
                    ในประเทศไทย มีชาวโรมันคาทอลิกอยู่ประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ คน ปกครองโดย อาร์คบิชอป สองท่าน และบิชอป แปดท่าน อาร์ชบิชอป ของกรุงเทพ ฯ มีตำแหน่งเป็น คาร์ดินัล คือ ที่ปรึกษาของสันตะปาปา ด้วย
                    คำสอนที่ทำให้ชาวโรมันคาทอลิก ต่างกับคริสต์ชนนิกายอื่น ๆ ก็คือ ข้อเชื่อที่ว่า สันตะปาปา เป็นผู้สืบตำแหน่งจากเซนต์ปีเตอร์ (นักบุญเปโตร)  มาตามลำดับ ในฐานะประมุขของคริสต์ชนทั้งมวล ดังนั้น การเป็นศิษย์ของพระเยซู เรียกร้องให้ยอมรับการเป็นผู้นำของสันตะปาปาโดยอัตโนมัติ เซนต์ปีเตอร์ซึ่งชาวคาทอลิก เชื่อว่าได้รับตำแหน่งประมุขของคริสต์ศาสนาจากพระเยซูโดยตรง ยังไม่มีชื่อตำแหน่งว่า สันตะปาปา ทั้งยังไม่ได้ตั้งสำนักงานที่เรียกว่า สำนักของสันตะปาปา ที่เป็นรูปธรรม เมื่อพระเยซูสิ้นพระชนม์แล้ว ก็เริ่มปฎิบัติหน้าที่ ณ กรุงเยรูซาเล็ม เป็นแห่งแรก ต่อมาเห็นว่าไม่ปลอดภัยอีก ก็ย้ายไปปฎิบัติหน้าที่ ณ กรุงโรม ในที่สุดก็ถูกประหารชีวติ ในรัชสมัยของจักรพรรดิ์นีโร โดยวิธีถูกตรึงไม้กางเขนกลับหัวคือ ให้ศีรษะทิ่มลง และเท้าชี้ขึ้น เหตุเกิดขึ้นบนเนินวาติกัน ซึ่งภายหลังจักรพรรดิ์คอนสแตนติน ยกให้เป็นศาสนสมบัติ ส่วนที่เป็นหลุมฝังศพของท่านคือเชิงเนินวาติกัน กลายเป็นที่ตั้งของโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ในปัจจุบัน
                    ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาต้องห้ามในอาณาจักรโรมัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๖๐๗ ในรัชสมัยของจักรพรรดิ์นีโร จนถึงจักรพรรดิ์คอนสแตนติน ได้มีราชโองการให้ยกเลิกในปี พ.ศ.๘๕๖ ระหว่างเวลาดังกล่าว ผู้สืบตำแหน่งเซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรมส่วนมากถูกประหารชีวิต ตามราชโองการของจักรพรรดิ์นีโร ในปี พ.ศ.๘๖๗ เมื่อจักรพรรดิ์คอนสแตนติน ย้ายราชสำนักไปอยู่ที่ไบแซนไทน์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นคอนสแตนติโนเปิล ก็ได้มอบให้บิชอปแห่งโรม มีอำนาจดูแลบริเวณภาคกลางของอิตาลี ต่างพระเนตรพระกรรณ บริเวณนี้จึงได้ชื่อว่ารัฐของสันตะปาปา ตั้งแต่นั้น
                    ต่อมาเกิดมีกระแสอธิบายคำสั่งสอนของพระเยซูแตกต่างกันมากขึ้น จักรพรรดิ์คอนสแตนตินจึงอุปถัมภ์จัดสังคายนาขึ้น ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล บิชอปจากที่ต่าง ๆ ได้มาชุมนุมกันและตกลงการตีความคัมภีร์ในหลักใหญ่กันได้ จักรพรรดิ์คอนสแตนตินจึงให้ประกาศเป็นคำสอนสากล (คาทอลิก)  ของศาสนาคริสต์
                    ต่อมาเมื่อพวกตาดมองโกลรุกราน จักรพรรพิ์โรมันสิ้นอำนาจทางตะวันตกอย่างสิ้นเชิง คริสต์จักรโดยการนำของบิชอปแห่งโรม สันตะปาปาลีโอ สามารถเกลี้ยกล่อมไม่ให้อัตติลาเข้าปล้นกรุงโรมได้สำเร็จในปี พ.ศ.๙๙๕ ส่วนในที่อื่น ๆ คณะบาทหลวงก็ได้เป็นผู้ชักกชวนให้ประชาชน รวมตัวกันสร้างป้อมปราการ ป้องกันตัวเองอย่างได้ผลเป็นส่วนมาก จนในที่สุดพวกตาดมองโกลเองกลับหันเข้าสวามิภักดิ์ และรับนับถือศาสนาคริสต์เช่น จักรพรรดิ์ชาร์เลอมาญ ในปี พ.ศ.๑๓๔๓ ทำให้อำนาจของบิชอปแห่งโรมแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ได้ตั้งสำนักของสันตะปาปามีอำนาจสูงสุดในยุโรป ในสมัยสันตะปาปาเกรกอรีที่เจ็ด ซึ่งทรงกำหนดให้บิชอปแห่งโรม มีตำแหน่งเป็นสันตะปาปาผู้เดียวในคริสต์จักรคาทอลิก ส่วนคริสต์จักรออร์โทดอกซ์บางกลุ่ม ยังคงมีตำแหน่งประมุขของตนเองเรียกว่า ปาตริอาร์ช มาจนทุกวันนี้
                    หลังสมัยสันตะปาปาเกรกอรีที่เจ็ด อำนาจทางการเมืองของสันตะปาปาเสื่อมลงตามลำดับ จนนถึงปี พ.ศ.๒๔๑๓ คาวัวร์ได้ยกทัพอิตาลีเข้ายึดกรุงโรม ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอิตาลี กำหนดเขตให้สันตะปาปาอยู่ในเขตวาติกัน ขึ้นตรงต่อรัฐบาลอิตาลี ต่อมามุสโสลินีต้องการเอาใจพวกคาทอลิกทั่วโลก จึงตั้งกติกาสัญญาในปี พ.ศ.๒๔๗๒ รับรู้อธิปไตยของรัฐวาติกัน ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ เอเคอร์ รวมทั้งมหาวิหารทั้งสี่แห่ง
                    สันตะปาปายังคงรักษาอำนาจทางศาสนาด้วยการเรียกประชุมสังคยานาเป็นระยะ ๆ เน้นหนักว่าเอกภาพจะมีได้ต้องมีประมุขเดียวกันคือ สันตะปาปา           ๒๕/๑๖๐๘๑
            ๔๗๔๖. ไร  เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กมากคือมีขนาดเท่าหัวเข็มหมุดไปจนถึงขนาดที่ต้องส่องดูด้วยแว่นขยายจึงจะเห็นตัว โดยทั่วไปมีขนาดลำตัวยาวระหว่าง ๑๐๐ - ๒,๐๐๐ ไมครอน มีลำตัวยาวรี รูปไข่ ทรงกลม หรือแบนทางราบ มีเปลือกลำตัวแข็ง มีขาเป็นปล้อง ๆ เช่นเดียวกับพวกแมงหรือแมลง จึงถูกจัดอยู่ในไฟลัม ของสัตว์ที่มีขาเป็กนปล้อง ไรนั้นแตกต่างจากแมลงหลายประการ และใกล้ชิดกับแมงมากว่าแมลง ไรมีขาแปดขา ไม่มีหนวด ไม่มีปีก
                    เห็บมีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ หลายอย่างคล้ายคลึงกับไรมาก ไรมีอยู่หลายชนิดประมาณว่ามีไม่ต่ำกว่าสี่แสนชนิด อาจแบ่งออกเป็นสองพวกใหญ่ ๆ คือพวกที่หากินโดยอิสระ และพวกที่เป็นตัวเบียนต้องอาศัยเกาะกินสัตว์อื่น      ๒๕/๑๖๐๘๕
            ๔๗๔๗. ไร่  คำว่าไร่มีสองความหมายคือ
                     ๑. ไร่ที่เป็นลักษณะนามหมายถึง จำนวน พื้นที่ ๔ งาน หรือ ๔๐๐ ตารางวา โดยทั่วไปคนไทยจะใช้คำว่าไร่ในการบอกขนาดของพื้นที่
                    ๒. ไร่ที่เป็นคำนาม หมายถึงพื้นที่ที่ปลูกพืชต้นไม้บนไหล่เขาหรือในที่ดอน เนื้อดินส่วนใหญ่จะเป็นดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย ซึ่งมีการระบายน้ำได้ดี ทำให้น้ำไม่ท่วมขัง เกษตรกรที่ทำมาหากินโดยการเพาะปลูกพืชไร่เรียกว่า ชาวไร่      ๒๕/๑๖๐๙๑
            ๔๗๔๘. ไรน้ำ  ไรน้ำหรือไรหรือลูกไร เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ ใช้เป็นอาหารของปลา ไรน้ำมีขาเป็นปล้อง ไรน้ำมีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ลำตัวยาวไม่เกิน ๔ มม. มีลักษณะใกล้เคียงกับพวกแมงและกุ้ง      ๒๕/๑๖๐๙๒
 
 

            ๔๗๔๙.   เป็นอักษรในภาษาไทยที่ไม่นับรวมอยู่ในอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ ตัว ของไทย เพราะไม่ใช่อักษรที่เป็นพยัญชนะธรรมดา ซึ่งใช้แทนเสียงพยัญชนะหนึ่งเสียง แต่ ฤ ใช้งแทนเสียงพยัญชนะ + สระ หรือใช้แทนพยางค์ ออกเสียงว่า ริ รึ หรือเรอ
                    พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ เรียงลำดับ ฤ ไว้หลังอักษร ร. ฤ ปรากฎในคำที่มาจากภาษาสันสกฤตอาจปรากฎต้นคำเช่น ฤทธิ์ (ริด) ฤทัย (รึทัย) ฤดี (รึดี) ฤกษ์ (เริก) หรือปรากฎกับพยัญชนะอื่นเป็นเสียงควบกล้ำเช่น ทฤษฎี พฤกษา
                    สำหรับประวัติความเป็นมาของอักษร ฤ อักษรนี้ตรงกับอักษรเทวนาครี ในภาษาสันสกฤตซึ่งถือว่าอักษรนี้เป็นสระ ประเภทสระลอย ใช้เขียนต้นศัพท์หรือต้นพยางค์
                    ในภาษาไทยอักษร ฤ ไม่ปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง  ฯ แต่พบในสมัยพระมหาธรรมราชาที่หนึ่ง (ลิไทย)           ๒๕/๑๖๐๙๔
            ๔๗๕๐. ฤกษ์, ดาว  ดาวฤกษ์  คือ ก้อนแก๊สร้อนรูปทรงกลมขนาดมหึมา ที่สร้างความร้อนแสงสว่าง และพลังงานอย่างอื่น ๆ ด้วยตัวเอง ต้นกำเนิดพลังงานอยู่ภายในใจกลาง ซึ่งเกิดปฎิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ ภายใต้อุณหภูมิสูงมาก ความร้อนและแสงสว่างจากผิว และแผ่กระจายออกสู่อวกาศรอบด้าน โดยการแผ่รังสี ดาวกฤษ์มีหลายประเภทซึ่งมีขนาดอุณภูมิ และความสว่างต่าง ๆ กัน
                    ดาวฤกษ์มีความสว่างและสีไม่เหมือนกัน สีของดาวฤกษ์จะบอกถึงอุณหภูมิผิวของดาวฤกษ์นั้น ๆ นักดาราศาสตร์แบ่งดาวฤกษ์ตามอุณภูมิที่พื้นผิว ซึ่งเป็นตัวบอกประเภทหรือสเปกตรัมของดาวฤกษ์เหล่านั้น ซึ่งมีเจ็ดประเภท
                    ความสว่างของดาวฤกษ์และวัตถุท้องฟ้าทั้งหลาย เกิดจากพลังงานแสงสว่างที่ส่งมาจากดาวฤกษ์ และวัตถุท้องฟ้าเหล่านั้น เดิมมนุษย์วัดความสว่างตามความรู้สึก โดยใช้ตาเปล่า ต่อมาจึงใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์วัด โดยวัดเป็นความเข้มของแสง ความสว่างของดาวจะถูกแบ่งไว้หลายระดับ หรืออันดับ (แมกนิจูด)  และเรียกว่า อันดับความสว่าง ซึ่งแทนด้วยตัวเลข อันดับความสว่างมีสองลักษณะคือ อันดับแสงสว่างปรากฎ และอันดับแสงสว่างที่แท้จริง
                    ดาวฤกษ์ทุกดวง มีการเปลี่ยนแปลงตามวัฎจักร ดังต่อไปนี้
                    ๑. ดาวฤกษ์เกิดจากแก๊ส และฝุ่นในลักษณะของเนบิวลา ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงดึงเข้าหาใจกลาง จนเป็นแก๊สยุบตัว เมื่ออุณหภูมิใจกลางสูงชึ้น จะเกิดปฎิกิริยาเทอร์มอนิวเคลียร์ ไฮโดรเจนหลอมตัวกันเป็นฮีเลียม นับเป็นการก่อเกิดพลังงานของดาวฤกษ์ และก่อกำเนิดดาวฤกษ์ ดาวฤกษ์เริ่มส่องแสง
                    ๒. ในขณะเดียวกันกับที่เกิดดาวฤกษ์ แก๊สและฝุ่นที่รวมกันรอบนอกเป็นหย่อม ๆ เกิดเป็นดาวเคราะห์
                    ๓. ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ส่องแสงเป็นเวลาหลายพันล้านปี ระยะนี้เองที่ดาวฤกษ์อยู่ในช่วงที่เป็นดาวฤกษ์หลัก
                    ๔. เมื่อดวงฤกษ์ใช้เพลิงไฮโดรเจนจนหมดแกนกลางของดาวยุบตัวลง อุณหภูมิภายในสูงขึ้น ฮีเลียมหลอมรวมกันเป็นธาตุที่หนักขึ้น ขณะเดียวกันดาวขยายตัวมีขนาดโตขึ้น อุณหภูมิผิวลดต่ำลง กลายเป็นดาวฤกษ์สีแดงขนาดยักษ์
                    ๕. เมื่อเชื้อเพลิงหมด ดาวฤกษ์จะถึงอวสาน ถ้าดาวมีเนื้อสารมากกว่าดวงอาทิตย์หลายเท่า ดาวจะระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา เนื้อสารของดาวจะสาดกระจายออกสู่อวกาศ กลายเป็นเนบิวลา ซึ่งจะประกอบกันขึ้นเป็นดาวฤกษ์รุ่นหลังต่อไปอีก ส่วนแกนกลางของซูเปอร์โนวา จะกลายเป็นดาวนิวตรอน ซึ่งมีขนาดเล็ก แต่มีเนื้อสารมาก แกนกลางของซูเปอร์โนวา บางแห่งยุบตัวลงต่อไปอีกกลายเป็นหลุมดำ ซึ่งมีขนาดเล็กมาก แต่มีแรงโน้มถ่วงสูงมหาศาล สามารถดึงพลังงานทุกอย่างไว้ แม้แต่แสงสว่างก็ไม่สามารถออกจากหลุมดำได้ แต่ถ้าดาวมีขนาดพอ ๆ กับดวงอาทิตย์ หรือเล็กกว่า  ดาวฤกษ์จะถึงอวสานไปตามปรกติ กลายเป็นดาวแคระขาว ซึ่งมีขนาดเล็กเท่าโลก แต่มีความหนาแน่นสูง      ๒๕/๑๖๐๙๖
            ๔๗๕๑. ฤคเวท  เป็นพระเวทของพราหมณ์ ซึ่งเขียนเป็นภาษาสันสกฤต เป็นประมวลความรู้เกี่ยวกับการสวดสรรเสริญ สดุดีเทพเจ้าทั้งหลาย เป็นเวทหนึ่งที่เก่าแก่ที่สุด และสำคัญที่สุดในสี่เวท ได้แก่ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท อาถรรพเวท และเป็นพื้นฐานของเวทอื่น ๆ
                    ความหมายของฤคเวท คือ บทสวดสรรเสริญสดุดี หรืออ้อนวอนเทพเจ้าทั้งหลาย และมีคำสอนอยู่บ้างเป็นเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรม เช่น การแต่งงาน พิธีศพ และอื่น ๆ บ้าง
                    การศึกษาให้เข้าใจและให้ได้ผลดี ต้องศึกษาตามวิธีของเวทางคศาสตร์ (ศาสตร์อันว่าด้วยองค์ประกอบของพระเวท)  ซึ่งประกอบด้วยองค์หกคือ ศึกษา กัลปะ ไวยากรณ์ นิรุกต์ ฉันท์ ชโยดิน (ดู เวทางค์ ในไตรเพท - ลำดับที่ ๒๓๓๘)        ๒๕/๑๖๑๐๓
            ๔๗๕๒. ฤษี  คำว่า ฤษี มาจาก ฤษิ แปลว่า ผู้เห็น หมายถึง การแลเห็นด้วยความรู้พิเศษ อันเกิดจากฌาณ สามารถแลเห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต คือ ผู้รู้กาลทั้งสาม
                    ในสมัยต่อจากสมัยพระเวทลงมาคือ สมัยกาพย์ และปุราณะ ได้มีการจัดอันดับชั้นของฤษี และจัดกลุ่มฤษี สำคัญขึ้น
                        ๑. - อันดับชั้นของฤษี  แบ่งออกเป็นเจ็ดระดับ คือ พรหมฤกษ์ เทพฤษี หรือเทวรรษี  ราชฤษี มหาฤษี บรมฤษี ศรุตฤษี และกาณฑฤษี
                        ๒. - การแบ่งกลุ่มฤษี  ได้แก่  กลุ่มสัปตฤษี ได้แก่  ฤษีผู้ยิ่งใหญ่เจ็ดตน และกลุ่มประชาบดี หมายถึง ฤษีสิบตน ที่เป็นโอรสอันเกิดจากใจของพระพรหม เพื่อประโยชน์แห่งการสร้างเผ่าพันธุ์ ทวยเทพ อสูร มนุษย์ นาค ครุฑ ปีศาจ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
                    นอกเหนือจากการจัดอันดับชั้น และการจัดกลุ่มฤษีดังกล่าวแล้ว ยังมีฤษีโดยทั่วไป มีคำเรียกต่าง ๆ กัน เช่น ฤษี (ผู้เห็น)  โยคี (ผู้มีโยคะ)  ดาบส (ผู้มีตบะ)  ชฎิล (ผู้มีผมเป็นมวย) มุนี (ผู้มีความเงียบ)  นักสิทธิ หรือ สิทธะ  (ผู้สำเร็จ) ว่าโดยการแต่งกายก็มีต่าง ๆ กัน      ๒๕/๑๖๑๐๖
 
 

ฤา

            ๔๗๕๓. ฤา   ตัวอักษร ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "อักษร รือ หรือ ตัว รือ " คู่กับ ฤ (ตัว รึ)  เป็นอักษรในภาษาไทย ที่ไม่นับรวมอยู่ในอักษร ที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ ตัว ของทย เพราะไม่ใช่อักษรที่เป็นพยัญชนะธรรมดา ซึ่งใช้แทนเสียงพยัญชนะหนึ่งเสียง แต่ ฤา ใช้แทนเสียงพยัญชนะ + สระ หรือใช้แทนพยางค์ ออกเสียงว่า รือ
                    พจนานุกรม ฯ เรียงลำดับ ฤา ต่อ จาก ฤ อักษร ฤา มีใช้น้อยกว่า ฤ มาก ปรากฎในคำที่มาจากภาษาสันสกฤต เช่น ฤาชุ ฤาดี ฤาทัย ฤาษี ฤาสาย
                    เช่นเดียวกับอักษร ฤ ถือว่า ฤา เป็นรูปสระในภาษาไทยคู่กับ ฤ แต่บางท่านถือว่าเป็นพยัญชนะแทนพยางค์      ๒๕/๑๖๐๒๐
            ๔๗๕๔. ฤาษีแปลงสาร  เป็นชื่อกลอักษรชนิดหนึ่ง ซึ่งมีกล่าวถึงในหนังสือเรื่อง จินดามณี อันเป็นตำราภาษาไทยรุ่นโบราณ ที่พระโหราธิบดี แต่งไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
                    ชื่อกลอักษรฤาษีแปลงสารนี้ มีที่มาจากเรื่อง รถเสนชาดก ซึ่งเป็นชาดกเรื่องหนึ่งรวมอยู่ในชุดปัญญาสชาดก อันภิกษุคณะหนึ่งในเมืองเชียงใหม่ รวบรวมจากนิทานพื้นบ้านของไทย ผสมกับนิทานต่างประเทศ แล้วอ้างว่าเป็นพุทธวจนะ ที่เรียกว่า ฤาษีแปลงสารนั้น เป็นเรื่องราวตอนท้ายของรถเสนชาดก
                    กลอักษรฤาษีแปลงสารนี้ ควรนับได้ว่าเป็นกลอักษรชนิดเดียวในจินดามณี ที่มีเรื่องราวความเป็นมา      ๒๕/๑๖๐๒๐
 
 

            ๔๗๕๕. ล  พยัญชนะตัวที่ยี่สิบหก  ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ ตัว ของไทยใช้เป็นพยัญชนะต้นเดี่ยว ๆ ได้ และใช้ผสมกับพยัญชนะอื่นเป็นอักษรควบกล้ำ นอกจากนั้น ล ยังใช้เป็นตัวสะกดอ่านออกเสียงแม่กน
                    อักษร ล เป็นอักษรต่ำ ดังนั้น คำที่มี ล เป็นพยัญชนะต้นจะผันได้สามเสียงวรรณยุกต์ ได้แก่ สามัญ โท และตรี เช่น ลา ล้า ล้า แต่จะผันได้ครบทั้งห้าเสียง ก็โดยใช้ ห นำ เป็น ลา หล่า ล้า ล้า หลา
                    เสียงที่แทนโดยอักษร ล เป็นเสียงข้างลิ้น ออกเสียงโดยกระดกปลายลิ้นขึ้น และให้ลมออกมาข้างลิ้นทั้งสองข้าง      ๒๕/๑๖๐๒๔
            ๔๗๕๖. ลงแดง  เป็นอาการแทรงซ้อนที่เกิดขึ้นตามมาภายในเวลา ๒๔ - ๔๘ ชม. ที่ผู้ติดยาฝิ่น หรือติดเหล้าหยุดเสพสารดังกล่าวทันทีทันใด ลงแดงประกอบด้วยอาการหลายอย่าง ซึ่งมักเกิดขึ้นร่วมกัน ได้แก่
                    ๑. อาการทางกาย อันเนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติ ทำงานผิดปรกติ ได้แก่ อาการหน้าแดง ตาแดงก่ำ เหงื่อออกทั้งตัว คลื่นไส้ เรอ อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเดิน ถ่ายเป็นเลือด ใจสั่น มือสั่น ตกใจง่าย และนอนไม่หลับ อาจมีไข้สูงได้
                    ๒. อาการทางจิตประสาท แสดงออกในรูปของภาวะสับสน จำบุคคลหรือสถานที่ หรือเวลาไม่ได้ นอกจากนี้ บางรายยังอาจมีอาการหวาดระแวง หรือเอะอะโวยวาย ในรายที่มีภาวะประสาทหลอน และหลงผิดร่วมด้วย
                    ๓. อาการทางระบบประสาท มีอาการมือสั่นตัวสั่น เป็นอาการหลัก บางรายตกใจง่าย ความคิดอ่านจะผิดแปลกไปจากเดิม อาการอาจรุนแรงมาก จนเกิดอาการชักหมดสติ และถึงแก่กรรมได้
                    ภาวะลงแดง ในรายที่อาการไม่มาก อาจหายได้เองภายในเวลาสองสามวัน โดยไม่จำเป็นต้องให้การบำบัดยาแต่อย่างใด สำหรับรายที่มีอาการมาก จนถึงกับมีประสาทหลอน จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล      ๒๕/๑๖๑๒๖
            ๔๗๕๗. ลงยาสี  เป็นกรรมวิธีการตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ และเครื่องประดับที่ทำด้วยทองแดง เงิน และทองคำ ช่างและคนไทยทั่วไปเรียกสั้น ๆ ว่า ลงยา เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าคือ การใช้ตัวยาที่เป็นสีต่าง ๆ แต้มลงตามตำแหน่งที่ต้องการให้เป็นสี กรรมวิธีลงยาสีของไทย คงสืบเนื่องมาจากชาวเปอร์เซีย ตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่การลงยานี้ มีมาแต่ครั้งโบราณในหลายประเทศ และมีอยู่หลายแบบหลายอย่าง เช่น การทำตามกรรมวิธีที่เรียกว่า ถม ปัด ก็นับเป็นการลงยาสีชนิดหนึ่ง
                    การลงยาสีนี้ ถ้าเป็นโลหะมักจะใช้ทองแดง เงิน หรือทองคำ เท่านั้น โลหะอื่น ๆ ไม่ค่อยรับตัวยาคือ ตัวยาสีจะไม่ติด      ๒๕/๑๖๑๒๙
            ๔๗๕๘. ลดาวัลย์ - ต้น  เป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง อายุหลายปี ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ ขอบใบเรียบ ดอกสีขาวอมเขียว และเหลืองอ่อน ๆ กลิ่นหอม ออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง หรือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกมีดอกแน่น ผลเป็นแบบผลแห้งแตก รูปไข่ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ      ๒๕/๑๖๑๓๑
            ๔๗๕๙. ลพบุรี  จังหวัดในภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.นครสวรรค์ และจ.เพชรบูรณ์  ทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.ชัยภูมิ และจ.นครราชสีมา ทิศใต้ติดต่อกับ จ.พระนครศรีอยุธยา และจ.สระบุรี ทิศตะวันตกติดต่อกับ จ.สิงห์บุรี และจ.อ่างทอง ภูมิประเทศมีทิวเขาทอดตัวเป็นแนวยาว ตามเส้นกั้นเขตแดนกับ จ.เพชรบูรณ์  จ.ชัยภูมิ และจ.นครราชสีมา ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของจังหวัด บริเวณอื่น ๆ เป็นที่ราบ มีภูเขาลูกเตี้ย ๆ ตั้งอยู่กระจัดกระจาย ทางด้านตะวันออกของจังหวัดมีแม่น้ำป่าสัก ไหลจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ ส่วนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีแม่น้ำลพบุรี ไหลผ่าน
                    จ.ลพบุรี เป็นเมืองโบราณเก่าแก่มากเมืองหนึ่ง ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดี ที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เมืองลพบุรีเป็นเมืองสำคัญ สมัยทวารวดีคู่กับเมืองนครปฐม โดยเป็นที่อยู่ของพวกละว้า ซึ่งตั้งเมืองขึ้นเมืองหนึ่งเรียกว่า เมืองละโว้ ต่อมาเมื่อพวกขอมมีอำนาจมากขึ้น ได้แผ่อาณาเขตทางด้านตะวันตก เข้ามารุกรานแดนพวกละว้า จนได้เมืองละโว้ไว้ในอำนาจ และตั้งเมืองละโว้ไว้เป็นราชธานีของขอม ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อราวปี พ.ศ.๑๔๐๐
                    เมื่อราชวงศ์พระร่วง ตั้งราชอาณาจักรขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.๑๗๐๐ ได้แผ่อำนาจลงมาปกครองดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และตีได้เมืองละโว้จากขอม ต่อมาในสมัยอยุธยา เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง ทรงสร้างกรุงศรีอยุธยา และราชาภิเษก แล้ว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระราเมศวร ราชโอรสขึ้นไปครองเมืองลพบุรี เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๓
                    ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ พ่อค้าชาวฮอลันดาได้นำเรือรบมาลาดตระเวณ ปิดปากน้ำ เนื่องจากไม่พอใจที่ไทยทำให้ผลประโยชน์ของชาวฮอลันดาลดลงไป สมเด็จพระนารายณ์ ฯ จึงให้สร้างลพบุรีไว้เป็นราชธานี อีกแห่งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๘ เมื่อพระองค์สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๑ หลังจากนั้น เมืองลพบุรีจึงทิ้งร้างไป
                    ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ โปรดให้สร้างพระที่นั่ง และซ่อมแซมพระราชวังเมืองลพบุรี พระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์
                    ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้งหนึ่ง ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สร้างเมืองลพบุรีใหม่ เป็นที่ตั้งกองกำลังทหาร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางรถไฟ ส่วนเมืองเก่านั้น อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทางรถไฟ ลพบุรีจึงมีความสำคัยทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ และด้านยุทธศาสตร์         ๒๕/๑๖๑๓๒
               ๔๗๖๐. ลลิตวิสตรเป็นคัมภีร์สำคัญเล่มหนึ่ง ในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เป็นคัมภีร์ประเภทพุทธประวัติ ทำนองเดียวกับคัมภีร์ปฐมสมโพธิกถา ที่แต่งในประเทศไทยคือ  กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีจนครบถ้วน แล้วขึ้นไปเสวยสุขในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมแล้ว จึงจุติลงมาปฎิสนธิในโลกมนุษย์ กระทำความเพียรอันอุกฤษฎ์  จนได้สำเร็จพระสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงประกาศธรรมอันนำไปสู่ความหลุดพ้นทุกข์  แก่บรรดาชาวโลกทั้งมวล เนื้อเรื่องของลลิตวิสตร จบลงที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาครั้งแรก แล้วทรงประกาศอานิสงส์ผลบุญ แก่ผู้ฟังธรรมของพระองค์ แต่พระปฐมสมโพธิกถา ดำเนินเรื่องต่อไปอีกมากมายไปจบลงตรงที่ พระบรมสารีริกธาตุอันตรธาน คราวสิ้นสุดอายุของโลก
                    คัมภีร์นี้ แต่งด้วยภาษาสันสกฤตผสมภาษาถิ่นของอินเดีย ที่เรียกว่า ภาษาสันสกฤตพันทาง ข้อความที่แต่มีทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง (โศลกและฉันท์)  ผสมกัน แบ่งออกเป็น ๒๗ อัธยายะ (บท) เรียงตามลำดับเหตุการณ์
                    ประวัติของพระสูตรนี้ ก็เช่นเดียวกับพระสูตรมหายานอื่น ๆ คือ ไม่ปรากฎปีที่แต่ง แต่อ้างไว้เป็นกลาง ๆ ว่า เป็นพระพุทธวัจนะแท้ ๆ ที่พระศาสดาทรงแสดงแต่ผู้เดียว แต่มีผู้พบหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่า คัมภีร์นี้เขียนขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๕ - ๖ คือ ได้มีการกล่าวถึงพระพุทธรูป และปรากฎว่าในระยะเวลานั้น ได้มีการถ่ายทอดพระคัมภีร์นี้ เป็นภาษาจีนแล้วโดยอาศัยหลักฐานจากบัญชีพระสูตรของ นันชิโอ       ๒๕/๑๖๑๓๔
            ๔๗๖๑. ลอง  อำเภอ ขึ้น จ.แพร่ เดิมเป็นเมืองเรียกว่า เมืองลอง ลดลงเป็น อ.เมืองลอง ตอนแรขึ้น จ.ลำปาง ภายหลังโอนมาขึ้น จ.แพร่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ เปลี่ยนเป็น อ.ลอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑           ๒๕/๑๖๑๓๘
            ๔๗๖๒. ลอบ  เป็นเครื่องมือประมงประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้จับสัตว์น้ำ มีลักษณะเป็นโครงรูปทรงต่าง ๆ ใช้วัสดุหุ้มโดยรอบ และมีส่วนที่เรียกว่า วา เป็นช่องให้สัตว์น้ำเข้าภายใน
                    ลอบ ที่พบในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ อาจมีรูปร่างต่างกัน ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละประเทศ
                    ลอบ แบ่งเป็นประเภทที่สำคัญสามประเภทคือ ลอบน้ำจืด ลอบน้ำกร่อย และลอบทะเล
                    ๑.  ลอบน้ำจืด  มีเครื่องมือประเภทลอบหลายชนิด ได้แก่ ไซ มีสี่แบบ ได้แก่ ลอบนอกดักปลา ลอบนอนดักกุ้ง ลอบปลาหลด ลอบยืน อีจู้
                    ๒.  ลอบน้ำกร่อย  ได้แก่ ลอบปูทะเล และลอบกุ้ง
                    ๓.  ลอบทะเล  ได้แก่ ลอบปลา ลอบลูกปลากะรัง ลอบหมึก ลอบปู ลอบหอยหวาน       ๒๕/๑๖๑๓๘
            ๔๗๖๓. ลอมพอก  เป็นเครื่องสวมศีรษะแบบหนึ่ง สำหรับขุนนางและข้าราชการแห่งราชสำนัก มีมาแต่อดีต ลอมพอก มีสองประเภท ประเภทแรก เป็นเครื่องแสดงยศตามตำแหน่ง และบรรดาศักดิ์ อีกประเภทหนึ่ง เป็น ลอมพอก ที่ผู้เข้าร่วมในการเดินขบวนประกอบพระราชอิสริยยศ   ในการเสด็จพระราชดำเนิน หรือขบวนในพระราชพิธีสำคัญ ใช้สวมใส่
                    ลักษณะโดยรวมของลอมพอกคือ ตอนล่างเป็นรูปทรงกระบอกสูงเสมอศีรษะ หนึ่งฝ่ามือเศษ ส่วนบนรวบเป็นลอมทรงกรวย ตอนปลายเรียวแหลมคล้ายหน่อไม้
                    ธรรมเนียมใช้ลอมพอก เป็นเครื่องสวมศีรษะเริ่มมีมาแต่เมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐาน และได้ใช้ต่อมาจนภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมีประกาศเลิกบรรดาศักดิ์ ลอมพอกสำหรับยศก็หมดที่ใช้ ยังคงมีอยู่แต่ลอมพอกสำหรับเจ้าพนักงาน สวมเข้ากระบวนแห่ในพระราชพิธีสำคัญ โดยธรรมเนียมแห่งพระราชอิสริยยศ เท่านั้น             ๒๕/๑๖๑๔๖
            ๔๗๖๔. ลอว์เรนเทียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๑๐๓  เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นไม่มีปรากฎในธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔
                สมบัติอื่นทางกายภาพ และทางเคมีของธาตุนี้  ยังไม่เป็นที่รู้จักกัน เพราะธาตุนี้มีอายุครึ่งชีวิต สั้นมากเกินไปจนไม่สามารถศึกษาสมบัติอื่น ๆ เพื่อความถูกต้องแน่นอนได้       ๒๕/๑๖๑๕๐
            ๔๗๖๕. ละคร  มีบทนิยามว่า "การเล่นจำพวกหนึ่ง ปรกติตัวแสดงแต่งเครื่อง มีบอกบท ลำนำดัง ๆ มีท่ารำ และมีทำเพลง มักแสดงเป็นเรื่องราว (ยกเว้น โขน ลิเก)  ละครจำพวกนี้มีแตกต่างกันออกไปบ้าง ตามชนิดละครนั้น ๆ เช่น ละครร้อง ละครดึกดำบรรพ์ ; การเล่นจำพวกหนึ่งคล้ายคลึงละคร แต่ไม่มีเครื่องแต่ง ไม่มีร้อง ไม่มีรำ หรือทำเพลง โดยตรง เช่น ละครพูด ละครตลก ; การเล่นที่ใช้สัตว์เป็นตัวแสดง เช่น ละครลิง ละครสัตว์ "
                    ละครไทยแต่เดิม มีความหมายกว้าง โดยหมายถึง การแสดงทั่วไป และชนิดใดก็ได้ ที่แสดงเป็นเรื่องราว มักมีการร่ายรำเป็นองค์ประกอบสำคัญ แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ โขน หนัง ละคร หุ่น ต่อมาความหมายของละครแคบเข้า โดยหมายถึงการแสดงประเภทหนึ่ง โดยเฉพาะก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ละคร หมายเพียงละครรำเท่านั้น เพราะอาศัยการรำเป็นส่วนประกอบสำคัญ มีแบบแผน และศิลปะที่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา ต่อมาเมื่อได้รับอิทธิพลจากรูปแบบละครตะวันตก จึงเกิดละครชนิดใหม่ ทั้งชนิดที่ใกล้เคียงกับละครรำ และแตกต่างไปจากเดิม อีกทั้ง ละครบางชนิดมีวิวัฒนาการมาเป็นรูปแบบละคร ที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้
                    มีบทละครเกิดขึ้นในสมัยอยุธยามากมาย เช่น การะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริย์วงศ์ มโนห์รา โม่งป่า มณีพิชัย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย
                    นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เป็นต้นมา เป็นยุคแห่งการปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ ละครได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตก เกิดเป็นละครชนิดต่าง ๆ อีกหลายชนิด และมีวิวัฒนาการมาโดยลำดับ เช่น ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง ละครเสภา ละครร้อง ละครสังคีต และละครพูด
                    ละครไทย ค่อนข้างชัดเจนเป็นแบบแผนขึ้น ราวปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีการจำแนกการเรียกชื่อละคร ตามวิธีการแสดง ละครที่มีมาแต่เดิมซึ่งยึดถือการร่ายรำเป็นสำคัญ เรียกว่า ละครรำ ส่วนละครที่เกิดขึ้นใหม่ แบ่งแยกประเภทตามองค์ประกอบสำคัญของการแสดง เรียกว่า ละครร้อง และ ละครพูด
                        ๑. -  ละครรำ  หมายถึง ละครที่ใช้ศิลปะในการร่ายรำ ดำเนินเรื่อง ได้แก่ ละครชาตรี ละครใน และละครนอก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ มีการปรับปรุงละครรำขึ้น โดยนำรูปแบบของละครตะวันตก เข้ามาผสมผสานเกิดเป็นละครแบบใหม่ เรียกว่า ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง และละครเสภา
                    ละครชาตรี  เป็นต้นกำเนิดของละครรำ สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลจากอินเดียภาคใต้ โดยผ่านทางแหลมมลายู และมีผู้นำแสดงในภาคกลางตั้งแต่สมัยอยุธยา นิยมเล่นเรื่องมโนห์รา และพระรถเสน  ใช้ผู้แสดงสามตัวคือ ตัวนายโรง ตัวนาง ตัวตลก ตัวละครจะทำบทร้อง มีพวกลูกคู่และปี่พาทย์รับ
                    ละครใน  เป็นละครในราชสำนักใช้ผู้หยิงแสดงล้วน การแสดงมุ่งการรำที่ประณีตงดงาม ใช้ถ้อยคำสละสลวย และรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเคร่งครัด ไม่มีบทตลก มักนิยมเล่น เรื่อง อิเหนา รามเกียรติ์ อุณรุทธ และดาหลัง การแต่งกายวิจิตรบรรจง
                    ละครนอก  มีวิวัฒนาการมาจากละครชาตรี การแสดงคล้ายละครชาตรีมาก โดยใช้ผู้ชายล้วน มุ่งดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว โลดโผน ตลกขบขัน ศิลปะการรำว่องไว กระฉับกระเฉง เพลงปี่พาทย์บรรเลงในจังหวะค่อนข้างเร็ว ต่อมเริ่มมีผู้หญิงเข้ามาเล่น
                    ละครดึกดำบรรพ์  ปรับปรุงวิธีเล่นโดยนำละครโอเปราของฝรั่ง มาดัดแปลงศิลปะการแสดงดำเนินตามแบบละครใน และละครนอก คงมีแต่บทร้อง มีฉากประกอบ ตามท้องเรื่องมีกลไกประกอบเรื่องให้เห็นจริง ตัดบทพรรณนาฉาก และกิริยาอาการของตัวละครออก คงมีแต่บทร้องซึ่งเป็นคำพูด ตัวละครร้องเองในบทของตน บทที่ต้องดำเนินเรื่องรวดเร็วทันใจ ในตอนพูดจาโต้ตอบหรือทุ่มเถียง ทะเลาะกันก็ใช้บทสนทนา การรำเพลงหน้าพาทย์ก็มีน้อย
                    ละครพันทาง  เป็นละครที่ปรับปรุงตามแนวตะวันตก และเกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เช่นเดียวกับละครดึกดำบรรพ์ เป็นละครที่นำลีลาท่าที และอิริยาบทของคนต่างชาติ และท่าทางของสามัญชนปรับปรุงเข้ากับท่ารำไทย มีทั้งบทร้องและบทเจรจา เพลงที่บรรเลงเป็นเพลงที่เรียกว่า เพลงภาษา  ถ้าแสดงเรื่องของชาติใด ก็บรรเลงเพลงภาษาทำนองของชาตินั้น เช่น เพลงจีนหลวง เพลงแขกพราหมณ์ การพูดเจรจาก็ใช้สำเนียงตามสัญชาติ ของตัวละครที่ตนแสดงบทอยู่
                    ละครเสภา  มีลักษณะคล้ายละครนอก ที่สำคัญคือ ใช้การขับเสภาเป็นการดำเนินเรื่อง ผู้แสดงร้องและขับเสภาเอง ในบทที่เป็นคำพูดของตนเอง ในขณะที่ออกท่าร่ายรำไปด้วย ปัจจุบันอนุโลมให้ต้นเสียง และลูกคู่ร้องเพลง และขับเสภาแทนผู้แสดงตลอดเรื่อง
                    ๒. -  ละครร้อง  หมายถึง ละครที่ใช้ศิลปะร้องดำเนินเรื่อง เป็นละครแบบใหม่เกิดขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากละครตะวันตก ละครร้องนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก
                    ๓ . - ละครพูด  หมายถึง ละครที่ใช้ศิลปะการพูดดำเนินเรื่อง เป็นละครแบบใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมด็จพระบรมโอราสาธิราช ฯ ทางเป็นผู้ให้กำเนิดดำเนินเรื่อง โดยใช้บทสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละคร ตัวละครแสดงท่าทางตามธรรมชาติ ประกอบบทบาทไปตามเนื้อเรื่อง เดิมใช้ตัวแสดงเป็นชายล้วน ต่อมาจึงเป็นชายจริงหญิงแท้
                    นอกจาก ละครที่ใช้ผู้แสดงเป็นคนแล้ว ยังมีละครที่มนุษย์ได้ฝึกหัดสัตว์เป็นตัวแสดง  เช่น ละครลิง ละครสัตว์        ๒๕/๑๖๑๕๓
            ๔๗๖๖. ละครยก  เครื่องสังเวยพระภูมิ หรือเครื่องแก้บน ที่ทำเป็นตุ๊กตาจำลองตัวละคร สร้างขั้นเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ยกขึ้นมีเสาสี่มุม บางครั้งอาจมีกระดาษทำเป็นหลังคาด้วย บนเวทีมีตุ๊กตาสมมุติ เป็นตัวละครรำจำนวนสามถึงห้าตัว มีทั้งตัวพระ ตัวนาง เสียบตั้งไว้ ตุ๊กตา นั้นสร้างขึ้นด้วยดินเหนียวปั้นทาสี กระดาษทาสี หรือวัสดุอื่น ๆ เช่น ไม้ระกำ ก็มี
                    ละครยก คงจะมีที่มาจากละครชาตรี หรือละครรำแก้บน ซึ่งได้รับคติการฟ้อนรำ และแสดงดนตรีเพื่อบวงสรวงเทพเจ้า ตามความเชื่อ และข้อปฎิบัติในศาสนาพราหมณ์ ตามเทวสถานในประเทศอินเดีย รวมทั้งปราสาทนครวัด ในประเทศกัมพูชา ยังพบลานเวทีศิลาหน้าเทวสถานเหล่านั้น สร้างไว้เพื่อให้นางเทวทาสี มาร่ายรำเพื่อบูชาเทพเจ้า เป็นปฎิบัติบูชาอยู่เป็นประจำ       ๒๕/๑๖๑๖๕
            ๔๗๖๗. ละงู  อำเภอ ขึ้น จ.สตูล  มีอาณาเขตทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศตะวันตก ตกทะเลในสช่องแคบมะละกา
                    อ.ละงู เคยเป็นเมืองในสมัยโบราณ เรียกว่า เมืองละงู ต่อมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า กิ่ง อ.ละงู ขึ้น อ.ทุ่งหว้า แล้วยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓       ๒๕/๑๖๑๖๖
            ๔๗๖๘. ละติน  หมายถึง ชาวละติน ภาษาละติน หรือจารีตละติน ก็ได้
                    ๑. ชาวละติน  ได้แก่  ชาวเผ่าอารยันที่อาศัยอยู่แถบกลางของคาบสมุทรอิตาลี เดิมเรียกว่า แคว้นละติน แบ่งออกเป็นรัฐมากมาย โรมา หรือโรม เดิมเป็นตำบลที่รกร้าง ตามตำนานกล่าวว่า เป็นถิ่นที่หลบซ่อนของเหล่าโจร มีเนินลูกหนึ่งเรียกว่า เนินแคปปิตอล แล้วประกาศตัวรัฐอิสระขึ้น โดยมีอาณาเขตดั้งเดิมแค่เนินเจ็ดลูก ล้อมรอบเนินแคปปิตอล หัวหน้าโจรซึ่งตั้งตัวเป็นกษัตริย์ องค์แรกชื่อ โรมุลูส  ตั้งชื่อนครรัฐใหม่ ตามพระนามของพระองค์ว่า โรมา
                    ต่อมา นครรัฐโรม ขยายอำนาจออกไปครอบคลุมแคว้นละตินไว้ทั้งหมด จึงเปลี่ยนชื่อเป็นแควนโรมัญญา แปลว่า โรมใหญ่ ใช้ภาษาละตินเป็นภาษาราชการ มีการปรับปรุงใช้ภาษาละติน แทนภาษากรีก
                    ๒. ภาษาละติน  คือ ภาษาที่ชาวละติน ใช้มาแต่เดิมนั่นเอง ซึ่งต่อมาได้รับการยอมรับให้เป็นภาษาทางราชการ ของมหาอาณาจักรโรมัน
                    ภาษาละติน เป็นหนึ่งในห้า ภาษาอารยันเท่าที่รู้จักในขณะนี้คือ ภาษาบาลี สันสกฤต กรีก ละติน และเปอร์เชีย
                    ๓. จารีตละติน  ศาสนาคริสต์ตอนต้นยุคกลาง จัดแบ่งตามภาษาศาสนาที่ใช้เรียกว่า จารีต นั่นคือ กลุ่มที่ใช้ภาษาหนึ่งประกอบพิธีทางศสาสนา เช่น จารีตละติน จารีตกรีก จารีตรัสเซีย นอกจากนี้ยังมีจารีตซีเรีย จารีตมาโรไนต์ กลุ่มคอปต์ จารีตซีโรมาลาบาร์ หลังยุคกลางกลุ่มจารีตอื่น ๆ นอกจากจารีตละตินได้กลายมาเป็น นิกายออร์โทดอกซ์ ส่วนจารีตละติน กลายเป็นนิกายโรมันคาทอลิก
            ๔๗๖๙. ละมั่ง  ดูที่ กวาง  - ลำดับที่ ๒๑๗       ๒๕/๑๖๐๗๐
            ๔๗๗๐. ละแม  อำเภอ ขึ้น จ.ชุมพร มีอาณาเขตทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย อ.ละแม เดิมตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ขึ้น อ.หลังสวน ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐       ๒๕/๑๖๑๗๐
            ๔๗๗๑. ละหานทราย  อำเภอ ขึ้น จ.บุรีรัมย์ มีอาณาเขตทิศใต้ ติดต่อ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว และพรมแดนประเทศกัมพูชา
                    อ.ละหานทราย แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ขึ้น อ.นางรอง ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖         ๒๕/๑๖๑๗๑
            ๔๗๗๒. ละอง  ดูที่ กวาง - ลำดับที่ ๒๑๗        ๒๕/๑๖๐๗๑
            ๔๗๗๓. ละอุ่น  อำเภอ ขึ้น จ.ระนอง เดิมเป็นอำเภอ ต่อมายุบเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ แล้วยกฐานะเป็นอำเภอ อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖       ๒๕/๑๖๑๗๑
            ๔๗๗๔. ลักกะปิดลักกะเปิด โรค   มีบทนิยามว่า "ชื่อโรคที่มีอาการเลือดออกตามไรฟัน และเหงือกน่วม เนื่องจากขาดวิตามินซี"
                    โรคนี้รู้จักกันมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว จัดเป็นโรคเก่าแก่ที่สุดโรคหนึ่ง ที่มีการบันทึกไว้ในวงการแพทย์ และโภชนาการ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการอ่อนเพลีย ซีด เหงือกนุ่ม มักมีเลือดออกตามบริเวณรอยต่อ ระหว่างผิวหนังกับเยื่อบุอวัยวะ และมีตุ่มแข็งที่กล้ามเนื้อน่อง และขา ปัจจุบันทราบแล้วว่า โรคนี้เกิดจากการขาดวิตามินซี       ๒๕/๑๖๑๗๒
            ๔๗๗๕. ลักษณวงศ์  เป็นนิทานคำกลอนเรื่องหนึ่ง ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวกันว่า สุนทรภู่ เป็นผู้แต่งเนื้อเรื่อง โดยย่อมีว่า
                    กษัตริย์องค์หนึ่งชื่อ ท้าวพรหมทัต ครองเมืองพาราณสี มีพระมเหสีชื่อ สุวรรณอำภา มีพระโอรสชื่อ ลักษณวงศ์
                    เรื่องลักษณวงศ์ เป็นบทประพันธ์ประเภทเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ แบบนิทานโบราณ       ๒๕/๑๖๑๘๓
            ๔๗๗๖. ลัน  เป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ทำจากวัสดุที่หาได้ง่าย เช่น ไม้ไผ่และหวาย ใช้วางดักสัตว์น้ำ อยู่ประจำที่ มีใช้ทำประมงทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย ตามบริเวรแม่น้ำ ลำคลอง
                    ลัน แบ่งออกได้เป็นสามประเภท ได้แก่ ลัน ลันปลาไหล และ ลันกุ้ง       ๒๕/๑๖๑๘๕
            ๔๗๗๗. ลั่นทม - ต้น  เป็นชื่อไม้ยืนต้น แบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ลั่นทมขาว และลั่นทมแดง
                    ๑. -  ลั่นทมขาว  เป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก สูง ๓ - ๘ เมตร ทรงพุ่มแผ่กว้าง ลำต้นและกิ่งก้านอวบ สีน้ำตาลปนเทา มีน้ำยางสีขาวทุกส่วนของลำต้น ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับ ออกแน่นที่ปลายกิ่ง แผ่นใบรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก มีสองดอก ดอกสีขาว ผลเป็นฝักแฝด ฝักแตกซีกเดียว รูปทรงกระบอก ปลายและโคนเรียวแหลม
                    ลั่นทมขาว นิยมปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง ดอกสวยงาม มีกลิ่นหอมมาก ออกดอกตลอดปี เปลือกราก และเปลือกต้น ใช้เป็นยาถ่าย ยางใช้ทาแก้ไขโรคงูสวัด และแก้บิด
                    ๒. - ลั่นทมแดง  เป็นไม้ยืนต้น สูง ๓ - ๗ เมตร กิ่งก้านมักตั้งตรง มีน้ำยางทุกส่วนของลำต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ มักออกที่ใกล้ปลายกิ่ง ใบรูปไข่กลับ หรือรูปหอก แกมรูปขอบขนาน ดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยเป็นช่อกระจะ ดอกทรงแจกันสีชมพูปนแดง กลางหลอดดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม ผลเป็นฝักคู่ รูปทรงกระบอก ปลายและโคนเรียวแหลม
                    ลั่นทมแดง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับกลางแจ้ง เนื่องจากดอกสวยงาม มีกลิ่นหอม ออกดอกเป็นช่วงตลอดปี เปลือกรากเป็นยาถ่ายอย่างแรง        ๒๕/๑๖๑๘๘
            ๔๗๗๘. ลับแล อำเภอ ขึ้น จ.อุตรดิตถ์ ตั้งเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔        ๒๕/๑๖๑๙๐
            ๔๗๗๙. ลาดกระบัง  เขตขึ้น กรุงเทพ ฯ เดิมเป็นอำเภอเรียก อ.ลาดกระบัง ยุบลงเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.มีนบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐       ๒๕/๑๖๑๙๑
            ๔๗๘๐. ลาดตระเวน  เป็นการปฎิบัติทางยุทธวิธีแบบหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยบุคคลและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อปฎิบัติ เรียกคณะบุคคลและอุปกรณ์ ที่ปฎิบัติภารกิจเช่นนี้ว่า หน่วยลาดตระเวน เป็นสองนัยคือ
                    การลาดตระเวน คือ ภารกิจที่กระทำโดยการตรวจการณ์ด้วยสายตา หรือวิธีตรวจจับอื่น ๆ เพื่อให้ได้ข่าวสารที่เกี่ยวกับกิจกรรม และทรัพยากรของฝ่ายตรงข้าม หรือข้าศึก หรือเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางอุตุนิยมวิทยา อุทกศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ในพื้นที่เฉพาะแล้ว ก็คือ หน่วยของกำลังทั้งทางพื้นดิน ทางทะเล หรือทางอากาศ ที่ถูกส่งออกไปเพื่อรวบรวมข่าวสาร หรือเพื่อปฎิบัติภารกิจ ทำลาย รบกวน กวาดล้าง  ระวังป้องกันให้กับหน่วยเหนือ การลาดตระเวนของหน่วยลาดตระเวน จึงแยกตามภารกิจที่ปฎิบัติได้เป็นสองลักษณะคือ การลาดตระเวนหาข่าว และการลาดตระเวนรบ
                    การลาดตระเวนของกองทัพไทย มีมาแต่โบราณ ด้วยปรากฎในหนังสือตำราพิชัยสงคราม ซึ่งจัดทำเป็นครั้งแรก ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๑ และได้แก้ไขเพิ่มเติม ต่อมาอีกหลายครั้ง ได้กล่าวถึง ยุทธวิธีทั้งการลาดตระเวนหาข่าว และการลาดตระเวนรบ เช่น

"ให้แต่งทวยหาญชาญกนล์  ณรงค์ปลอมปน
องอาจไปลาดลอบดู
ทับค่ายฝ่ายศึกศัตรู  เข้ามาตั้งอยู่
ที่นั่นจะเป็นนามใด
ฯลฯ
แต่งออกเที่ยวตระเวนแสวงหา ให้ดูฤทธา
กำลังฆ่าศึกอันจะผจน
แม้แตกเร่งแต่งเป็นกล แต่งทับเข้าปล้น
เอารุ่งไว้หน้าตามงาย
            ๔๗๘๑. ลาดหลุมแก้ว   อำเภอ ขึ้น จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อแรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐       ๒๕/๑๖๒๐๔
            ๔๗๘๒. ลาดพร้าว  เขตขึ้นกรุงเทพ ฯ เดิมเป็นแขวงหนึ่งของเขตบางกะปิ ตั้งเป็นเขต เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒       ๒๕/๑๖๒๐๕
            ๔๗๘๓. ลาดยาว  อำเภอ ขึ้น จ.นครสวรรค์ ตั้งเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘        ๒๕/๑๖๒๐๕
            ๔๗๘๔. ลาดหลุมแก้ว  อำเภอ ขึ้น จ.ปทุมธานี เดิมชื่อ อ.เชียงราก เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ลาดหลุมแก้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙         ๒๕/๑๖๒๐๕
            ๔๗๘๕. ลาตินอเมริกา  คือ บรรดาประเทศที่อยู่ในเขตอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งใช้ภาษาสเปน หรือโปร์ตุเกส เป็นภาษาราชการ เหตุผลที่รวมเรียกว่า ลาติน ก็เพราะว่าภาษาทั้งสอง เป็นภาษาที่เพี้ยนมาจากภาษาละติน แห่งยุคกลางของคริสตจักรคาทอลิก
                    ชาวสเปน และชาวโปร์ตุเกส เดิมเป็นอนารยชนที่รุกรานยุโรป เมื่อตั้งหลักแหล่งแล้ว ก็รับนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งกำลังใช้ภาษาละติน เป็นภาษาศาสนา และวิชาการ
                    เมื่อสเปนและโปร์ตุเกส ไปยึดครองดินแดนในทวีปใหม่ ก็นำเอาภาษาของตนไปใช้ในเขตอิทธิพลของตนด้วย        ๒๕/๑๖๒๐๖
            ๔๗๘๖. ลานกระบือ  อำเภอ ขึ้น จ.กำแพงเพชร แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ขึ้น อ.พรานกระต่าย ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗       ๒๕/๑๖๒๐๖
            ๔๗๘๗. ล้านช้าง  ชื่อรัฐ หรือแคว้นลาว หรือประเทศลาว เป็นแคว้นคู่กับล้านนา คำว่า ล้านช้าง หมายถึง ช้างหนึ่งล้าน (เชือก)
                    จารึกวัดพระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย ได้จารึกคำว่า ล้านช้าง เป็นภาษาบาลีว่า ศรีสัตตนาคนหุต รวมแปลว่า ช้างร้อยหมื่น คือ ล้านช้าง
                    ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ คำว่า ล้านช้าง ใช้เป็นชื่อเรียกเมืองหลวงพระบาง และเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของลาว โดยเมืองหลวงพระบาง เรียกชื่อว่า ล้างช้างร่มขาว หลวงพระบาง หรือกรุงศรีสัตตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว  ส่วนเมืองเวียงจันทน์ เรียกว่า ล้านช้างเวียงจันทน์ หรือกรุงศรีสัตตนาคนหุต ล้านช้างเวียงจันทน์        ๒๕/๑๖๒๐๗
            ๔๗๘๘. ล้านนา  คือ รัฐ หรือแคว้นในภาคเหนือ ซึ่งมีเมืองเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลาง คำว่า ล้านนา หมายถึง บ้านหนึ่งล้าน คำนี้เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฎ หลักฐานแน่ชัดสันนิษฐานว่า อาจเป็นคำเดิมที่ใช้สืบต่อกันมา คู่กับคำว่า ล้านช้าง คำว่า ล้านนา พบในหลักฐานเกือบทุกประเภท ได้แก่ ศิลาจารึก ตำนานเมือง และวรรณกรรม
                ล้านนา หรือนาหนึ่งล้าน น่าจะมีนัย หรือสะท้อนถึงระบบการนับของชาวล้านนาในอดีต คำว่า ล้านนา จึงหมายถึงมีที่นาจำนวนมาก นับล้าน (ไร่)
                ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ใช้คำว่า " ล้านนา " หลายแห่ง ในตอนต้นเรื่องกล่าวว่า ล้านนาประกอบด้วย หัวเมืองต่าง ๆ ๕๗ หัวเมือง ขานพระนามพระยามังรายว่า "เจ้าท้าวล้านนา"       ๒๕/๑๖๒๐๙
            ๔๗๘๙. ลานสกา  อำเภอ ขึ้น จ.นครศรีธรรมราช แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ ชื่อ กิ่ง อ.เขาแก้ว ขึ้น อ.เมือง ฯ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กิ่ง อ.ลานสกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ แล้วยกฐานะเป็นอำเภอเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑        ๒๕/๑๖๒๑๕
            ๔๗๙๐. ลานสัก  อำเภอ ขึ้น จ.อุทัยธานี แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘  ขึ้น อ.บ้านไร่ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔       ๒๕/๑๖๒๑๖
            ๔๗๙๑. ลามะ  ดู ดาไล ลามะ  ลำดับที่ ๒๐๐๐       ๒๕/๑๖๒๑๖
            ๔๗๙๒. ลายไทย  เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างสรรค์ ผลงานศิลปกรรมของไทยทุกแขนง แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการประดับตกแต่งเท่านั้น เช่น ในภาชนะสิ่งของเครื่องใช้ จนถึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของงาน สถาปัตยกรรมไทย
                    ลายไทย เป็นไปตามลักษณะของธรรมชาติ โดยมีเถาก้าน ดอก กิ่ง ใบ พุ่ม ที่เห็นได้ชัดก็คือ ลักษณะของกลีบดอกบัว การที่ลายไทยมีชื่อเช่นเดียวกับธรรมชาติ เช่น ลายรวงผึ้ง ลายดาว ลายดอกจอก ลายกระจังตาอ้อย ลายสาหร่าย
                    ในบรรดาลายไทย อันมากมายนี้ ชาวไทยให้ความสำคัญแก่ตัวกนก แม่ลายเป็นพิเศษ เพราะเป็นตัวกำหนดให้ลายที่ผูกขึ้นนั้น มีลักษณะรูปแบบเป็นอย่างไร เช่น กนกสามตัว จะใช้กับลายก้านขด เป็นส่วนมาก และกนกเปลว จะใช้กับลายเปลว เป็นส่วนมากเช่นกัน ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้จัดหรือกำหนดตัวกนกแม่ลายไว้หลายชนิด เช่น กนกสามตัว กนกเปลว กนกใบเทศ กนกหางโต กนกผักกูด
                    ลายไทย อีกส่วนหนึ่งเป็นประเภทที่ใช้ประจำในตำแหน่งต่าง ๆ ซึ่งค่อนข้างตายตัว แต่ไม่จำกัดลักษณะรูปแบบ แยกออกได้หลายลักษณะด้วยกันคือ
                    ประเภทลายดอกดวง  มีลายดอกลอย ลายดอกสี่กลีบ ลายดอกหกกลีบ ลายดอกแปดเหลี่ยม ลายดอกจอก ลายดอกสิบหกกลีบ ใช้ประดับทั่วไป
                    ประเภทลายดาว  มีลายดาวจงกล ลายดาวรังแตน ลายดาวกลีบบัว ลายดาวดอกจอก ลายดาวตุ๊ดตู่ ใช้ประดับเพดาน
                    ประเภทลายบัว   มีลายบัวกระจัง ลายบัวคว่ำ ลายบัวหงาย ลายบัวกลุ่ม ลายบัวกลุ่ม ลายบัวคอเสื้อ ลายบัวปากฐาน ลายบัวหลังเจียด ลายบัวหลังสิงห์ ลายบัวรอบ ลายบัวฟันยักษ์ ลายบัวลูกแก้ว ลายบัวแวง ลายบัวจงกล ฯลฯ  ใช้ประดับเป็นที่เป็นทาง ตามที่กำหนดไว้ในรูปแบบของงานศิลปกรรมไทย
                    ประเภทลายกระจัง  มีลายกระจังปฎิญาณ ลายกระจังรวม ลายกระจังตาอ้อย ลายกระจังเจิม ใช้ประดับด้านบนของส่วนที่เป็นขอบ
                    ประเภทลายประดับผนัง  มีลายก้านแย่ง ลายราชวัตร ลายดอกไม้ร่วง ลายดอกลอย ลายแก้วชิงดวง ฯลฯ
                    ลายประเภทต่าง ๆ ที่ใช้ประจำอยู่ในตำแห่งที่กำหนดไว้ในรูปแบบของงานศิลปกรรมเหล่านี้ ยังมีชื่อลายอีกมากด้วยกัน มีไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ลาย       ๕/๑๖๒๑๖
            ๔๗๙๓. ลายสอ - งู  เป็นชื่องูขนาดกลาง เป็นงูไม่มีพิษ มีนิสัยดุจะงับกัดทันทีหากไปถูกตัวหรือเดินไปเหยียบมันเข้า ออกหากินเวลากลางวัน         ๒๕/๑๖๒๒๖
            ๔๗๙๔. ลายสาบงู  มีลักษณะใกล้เคียงกับงูลายสอ แต่มีขนาดเล็กกว่า ไม่ดุ หากินเวลากลางวัน มีอยู่หลายชนิดเช่นงูลายสาบคอแดง งูลายสาบดอกหญ้า งูลายสาบภูเขา       ๒๕/๑๖๒๒๘
            ๔๗๙๕. ลำดวน  อำเภอขึ้น จ.สุรินทร์ แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ขึ้น อ.สังขะ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔       ๒๕/๑๖๒๒๙
            ๔๗๙๖. ลำดวน - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง ๓ - ๑๐ เมตร เรือนยอด รูปกรวย ลำต้นตรง ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปรีแกมขอบขนาน ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง สีเหลืองนวล กลิ่นหอม ดอกบาน ผลมีลักษณะเป็นผลกลุ่มอยู่บนฐานรองผล แต่ละผลย่อยรูปยาว ปลายผลค่อนข้างกลมมน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับกันมานานแล้ว ตำรายาไทยใช้ดอกแห้งเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ลม จัดอยู่ในเกสรทั้งเก้า       ๒๕/๑๖๒๒๙
            ๔๗๙๗. ลำตัด  เป็นการละเล่นที่มีผู้แสดงเป็นชายและหญิง ว่าเพลงร้องแก้กัน มีลูกคู่จะรำมะนาประกอบ การเล่นลำตัดดัดแปลงมาจากการแสดงดิเก หรือดจิเกของชาวมลายู ซึ่งเป็นการขับร้องเพลงสวดบูชาอัลเลาะห์ ประกอบกับรำมะนาของพวกมุสลิม ลำตัดเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ปัจจุปันนิยมเล่นกันมากทางภาคกลางแถบ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี อ่างทอง นนทบุรี และกรุงเทพ ฯ
                    การแสดงลำตัดเดิมใช้ผู้ร้องสองคน เป็นชายหนึ่งคนหญิงหนึ่งคน ปัจจุบันมีผู้ร้องฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงจำนวนพอ ๆ กันเรียกว่าพ่อเพลงและแม่เพลง ฝ่ายละประมาณสามถึงสี่คน ในการแสดงพ่อเพลงและแม่เพลง จะว่ากลอนสลับกัน มีบทเกี้ยวพาต่อว่า เสียดสี แทรกด้วยลูกขัด ลูกหยอด และบางครั้งสำนวนกลอน อาจมีความหมายเป็นสองแง่ ภาษาลำตัดเรียกว่า "สองง่ามสองกลอน"
                    บทร้องลำตัด ใช้กลอนหัวเดียวเหมือนเพลงฉ่อย การลงกลอนของลำตัดนิยมลงท้ายด้วยสระเสียงยาว
                    การแสดงลำตับเริ่มด้วยการตีรำมะนาโหมโรง เดิมตีหลายทำนองเรียกว่า ออกภาษา เช่น พม่า มอญ ญวน จีน ลาว แขก ปัจจุบันได้ตัดทอนทำนองให้สั้นลง เมื่อโหมโรงเสร็จ พ่อเพลงคนหนึ่ง จะเป็นผู้ร้องปันตน เกริ่นหน้ากลองอยู่ในวงรำมะนา
                    บทปันตน ที่ใช้ร้องเกริ่นหน้ากลองการเล่นรำตัด แรกเริ่มใช้ภาษามลายู ปนภาษาไทย ต่อมาเปลี่ยนเป็นภาษาไทยทั้งหมด
                    เมื่อจบเกริ่นหน้ากลองแล้ว พ่อเพลงคนหนึ่งจะยืนร้องไหว้ครู จากนั้นก็ร้องบทฝากตัว ทักทายผู้ชม และร้องบทออกตัว ซึ่งมักกล่าวถ่อมตัวในฝีมือ เมื่อพ่อเพลงร้องจบ แม่เพลงก็ร้องบทต่าง ๆ เช่นเดียวกับพ่อเพลง จากนั้น ฝ่ายชายจะเป็นผู้เริ่มร้องลำลอย ซึ่งในบางครั้ง อาจไม่เริ่มด้วยบทสร้อย และด้นกลอน
                    การว่ากลอนลำตัด เป็นการว่ากลอนแก้ลำกัน ระหว่างชายหญิง โดยใช้ปฎิภาณของตน   ๒๕/๑๖๒๓๐
            ๔๗๙๘. ลำทะเมนชัย  กิ่งอำเภอขึ้น อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙       ๒๕/๑๖๒๓๘
            ๔๗๙๙. ลำทับ  อำเภอขึ้น จ.กกระบี่ แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖           ๒๕/๑๖๒๓๘
            ๔๘๐๐. ลำปลายมาศ  อำเภอขึ้น จ.บุรีรัมย์ แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ ขึ้น อ.เมืองบุรีรัมย์ ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปปี พ.ศ.๒๔๙๐       ๒๕/๑๖๒๓๘
            ๔๘๐๑. ลำปาง  จังหวัดในภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.พะเยา ทิศตะวัน....   ติดต่อกับ จ.แพร่ และ จ.สุโขทัย ทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ภูมิประเทศมีทิวเขาเป็นแนวยาวกั้นแดนกับจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ มีแม่น้ำวังไหลผ่านจากทิศเหนือไปทิศใต้ แบ่งพื้นที่จังหวัดออกเป็นซีกตะวันออกและซีกตะวันตกเกือบเท่า ๆ กัน
                    จ.ลำปาง มีกล่าวในพงศาวดารโยนกว่าพระพรหมฤาษีสร้างเมืองถวายพระเจ้าอนันตยศ โอรสองค์ที่สองของพระนางจามเทวี ชื่อเมืองเขลางค์ ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำวัง
                    เมื่อพระยามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ได้นครลำปางมาอยู่ภายใต้อำนาจต่อมาถึงสมัยอยุธยา นครลำปางบางคราวขึ้นไทย บางคราวขึ้นกับพม่า บางคราวเชียงใหม่ปกครอง ถึงสมัยธนบุรีขับไล่พม่าออกจากแคว้นลานนาได้ นครลำปางซึ่งรวมอยู่ในแคว้นลานนาก็ตกเป็นของงไทย       ๒๕/๑๖๒๓๙
            ๔๘๐๒. ลำพู - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง ๘ - ๒๐ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดโปร่ง กิ่งแตกห้อยลง รากหายใจยาวเรียวแข็งแรง ยาว ๕๐ - ๑๐๐ ซม. ใบเรียงตรงกันข้าม ใบรูปรี รูปขอบขนานแกมรีรูปไข่แคบ หรือรูปไข่กลับ ดอกมีกลีบเลี้ยงรูปไข่กลับหรือกลม โคนกลีบเลี้ยงด้านในสีแดงอมชมพู ผลแป้น มีเนื้อหลายเมล็ดสีเขียวสด
                ลำพู เป็นหนึ่งในจำนวนกลุ่มพืชพันธุ์ไม้ เบิกนำในป่าเลน       ๒๕/๑๖๒๔๐
            ๔๘๐๓. ลำพูน  จังหวัดในภาคเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันตกติดต่อกับ จ.เชียงใหม่ ทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.ลำปาง ทิศใต้ติดต่อ จ.ตาก ภูมิประเทศทางด้านตะวันออกมีทิวเขาเป็นแนวยาวกั้นเขตแดนกับ จ.ลำปาง ตอนกลางมีแม่น้ำลี้ไหลจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือไปลงแม่น้ำปิง ซึ่งกั้นเขตแดน จ.ลำพูนกับ จ.เชียงใหม่
                    จ.ลำพูน เดิมเป็นเมืองโบราณ ตามประวัติกล่าวว่าสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๒๐๓ เรียกเมืองหริภุญชัย ต่อมาพระนางจามเทวี ราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้ ได้ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัยเป็นกษัตริย์องค์แรก และสืบสันตติวงศ์เรื่อยมาจนนถึงปี พ.ศ.๑๘๒๔ - ๑๘๓๕ พระยามังรายกษัตริย์เมืองเชียงราย ยกกองทัพมาตีเมืองหริภุญชัย ในรัชสมัยพระเจ้ายี่นาได้ แล้วเผาเมืองเสีย เมืองหริภุญชัยจึงทิ้งร้างไปนาน ๒๓๕ ปี ถึงปี พ.ศ.๒๐๕๙ พระเมืองแก้วเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ แห่งราชวงศ์มังรายได้สร้างเมืองลำพูนขึ้นมาใหม่
                    ในปี พ.ศ.๒๓๐๔ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ได้ พระยาลำพูนไม่สมัครใจอยู่ในอำนาจพม่า จึงพาครอบครัวหนีมาอยู่ในไทย ถึงปี พ.ศ.๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ยกกองทัพไปตีเชียงใหม่คืนได้จากพม่า จึงได้เมืองลำพูนคืนมาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามเดิม       ๒๕/๑๖๒๔๓
            ๔๘๐๔. ลำพูหิน - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ลำต้นตรง สูง ๕ - ๑๕ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดทรงกลม ใบดกหนาแน่น มีใบตั้งแต่โคนต้น รากหายใจ ยาวเรียว ๑๕ - ๒๕ ซม. ใบเรียงตรงกันข้าม ใบกว้างรูปไข่แกมรูปกึ่งกลม ดอกมักออกเป็นกลุ่มสามดอกหรือดอกเดี่ยว ผิวด้านในบริเวณโคนมีสีแดงอมชมพู ผลมีเนื้อหลายเมล็ด
                    ลำพูพบกระจายอยู่ในป่าชายเลนตอนในบริเวณน้ำกร่อย       ๒๕/๑๖๒๔๔
               ๔๘๐๕. ลำแพน - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูง ๖ - ๑๒ เมตร ไม่ผลัดใบ มักแผ่กิ่งก้านสาขาและกิ่งเตี้ย ๆ รากหายใจขนาดใหญ่ ยาว ๒๐ - ๔๐ ซม. ใบเรียงตรงกันข้ามใบรูปไข่กลีบแกมรรูปไข่หรือรูปรี ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม ๒ - ๕ ดอก ผิวด้านในสีแดง กลีบเลี้ยงสีขาว ผลมีเนื้อหลายเมล็ด
                    ลำแพน เป็นพรรณไม้ที่พบได้ทั่วไปในป่าชายเลนตอนใน       ๒๕/๑๖๒๔๗
            ๔๘๐๖. ลำแพนหิน - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๓๐ เมตร เป็นไม้ผลัดใบ รากหายใจ ค่อนข้างใหญ่ ยาว ๓๐ - ๔๐ ซม. ใบเรียงตรงกันข้าม ใบกว้างรูปไข่กลีบ หรือรูปไข่แกมรูปวงกลม ดอกเกิดเป็นกลุ่ม ๒ - ๕ ดอก หรือดอกเดี่ยว ผิวด้านในของแฉกกลีบเลี้ยง สีเหลืองนวล ผลมีเนื้อหลายเมล็ด
                    ลำแพนหิน พบขึ้นประปรายในป่าชายเลนตอนใน เนื้อไม้ เปลือกไม้ และใบมีแทนนินประมาณมาก  แต่มีคุณภาพต่ำ ผลสุกมีกรดมากใช้ในการผลิตน้ำส้ม สรรพคุณทางยาใช้รากบดแล้วนำไปทาผิวหนังบริเวณที่มีอาการผิดปรกติ เนื่องจากโดนหนอนที่มีพิษ        ๒๕/๑๒๖๒๔๙
            ๔๘๐๗. ลำโพง - ต้น  เป็นไม้ล้มลุก ดอกใหญ่ กลีบดอกติดกันเป็นหลอดปลายผายออกกว้าง มีรูปคล้ายลำโพง หรือแตร ต้นสูง ๐.๕ - ๒ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กว้าง ปลายแหลม โคนเบี้ยวขอบหยักซี่ฟันห่าง ๆ ดอกเดี่ยว ออกที่ปลายกิ่งและง่ามใบ ดอกชูตั้งขึ้น กลีบเลี้ยงสีเขียว ดอกสีขาวหรือสีม่วง ผลมีรูปเกือบกลม เปลือกขรุขระเป็นตุ่มหรือหนามสั้น ๆ
                    ลำโพงมักขึ้นอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ ภายหลังที่น้ำลดลงแล้ว
                    ตำรายาไทย จีน และฟิลิปปินส์ใช้ใบสดตำพอกฝี แก้ปวดบวม ใบและดอกตากแห้งใช้มวนบุหรี่หรือยาสูบอย่างบุหรี่ แก้หอบหีด เมล็ดแช่ในน้ำมันพืชใช้ทาแก้ปวดเมื่อย ทุกส่วนของพืชมีฤทธิ์เป็นยาเสพติดและระงับอาการเจ็บปวด       ๒๕/๑๖๒๕๑
            ๔๘๐๘. ลำลูกกา  อำเภอขึ้น จ.ปทุมธานี ตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗       ๒๕/๑๖๒๕๔
            ๔๘๐๙. ลำสนธิ  อำเภอขึ้น จ.ลพบุรี แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ขึ้น อ.ชัยบาดาล ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙       ๒๕/๑๖๒๕๔
            ๔๘๑๐. ลำไส้, ไส้  ส่วนของทางเดินอาหารที่อยู่ระหว่างกระเพาะอาหารกับทวารหนัก ลำไสแบ่งออกเป็นลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ในสัตว์ทั่วไปขนาดของลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ แตกต่างกันชัดเจน ในคนไม่ค่อยแตกต่างกัน เพียงมีลักษณะภายนอกไม่เหมือนกันคือลำไส้ใหญ่มีไขมันเป็นติ่ง และกลีบเกาะติดอยู่ภายนอกทั่วไป มีกระพุ้งมากมาย และมีแถบกล้ามเนื้ออยู่ตามความยาวลำไส้สามแถบ
                    ในคนลำไส้เล็กแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ
                    ลำไส้เล็กส่วนต้น  ยาว ๒๕ ซม. ติดอยู่กับผนังด้านหลังของลำตัว มีท่อน้ำดีและท่อตับอ่อนมาเปิดเข้า
                    ลำไส้ขนาดเล็กส่วนกลาง  ยาว ๗๐ - ๙๐ ซม. ผนังค่อนข้างหนา เพราะมีกล้ามเนื้อเรียบอยู่ค่อนข้างมาก และมีการบีบรูดมาก
                   ลำไส้เล็กส่วนปลาย  ยาว ๑๕๐ - ๑๗๕ ซม.ผนังบางกว่าและบีบรูดน้อยกว่า ส่วนกลาง ภายในส่วนนี้มีแบคทีเรียอาศัยอยู่มาก
                    ลำไส้ใหญ่ของคนแบ่งออกเป็นสามส่วนเช่นเดียวกับลำไส้เล็กคือ
                   กระพุ้งไส้ใหญ่  ยาว ๓ - ๕ ซม. บริเวณด้านล่างข้างขวาของช่องท้อง ปลายล่างของส่วนนี้มีไส้ติ่งติดอยู่
                   ไส้ใหญ่  ยาว ๘๐ - ๑๐๐ ซม. แบ่งย่อยเป็นสี่ส่วนคือส่วนขึ้น ส่วนขวาง ส่วนลง และส่วนคด
                   ไส้ตรง  ยาว ๑๐ - ๑๕ ซม. ปลายล่างจะติดต่อกับทวารหนัก
                    ลำไส้เล็กมีหน้าที่หลายอย่าง ได้แก่
                            ๑. รับอาหารจากกระเพาะอาหาร
                            ๒. เป็นที่พักเก็บอาหาร จะได้ไม่กินตลอดเวลา
                            ๓. รับน้ำดีจากตับ และรับน้ำย่อยอาหารจากตับอ่อน
                            ๔. หลั่งน้ำย่อยอาหาร
                            ๕. ย่อยอาหาร การย่อยอาหารส่วนใหญ่เกิดในลำไส้เล็ก
                            ๖. หมักอาหาร เกิดขึ้นโดยแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ วิตามินมีหลายชนิดและวิตามินเคจึงสร้างขึ้นโดยวิธีนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะ ทำให้แบคทีเรีย ส่วนนี้ลดลงจำเป็นต้องให้วิตามินต่าง ๆ เสริมไปด้วย
                            ๗. ดูดซึมอาหารและน้ำ เมื่ออาหารที่โมเลกุลใหญ่ถูกย่อยยด้วยเอนไซม์ที่มีอยู่ในน้ำย่อย อาหารชนิดต่าง ๆ จากลำไส้เล็กเอง จากกระเพาะอาหาร จากตับอ่อน จะถูกดูดซึมอย่างมีประสิทธิภาพเข้าสู่ร่างกาย ผ่านกระแสเลือดที่มาเลี้ยงผนังด้านในของลำไส้ น้ำและของเหลวที่ผ่านเข้ามาสู่ลำไส้เล็กมีปริมาณแต่ละวันสูงมาก คือจากกระเพาะอาหารประมาณ ๑,๐๐๐ มล. จากน้ำดีประมาณ ๑,๐๐๐ มล. จากตับอ่อนประมาณ ๕๐๐ มล. จากลำไส้เล็กเอง ๑,๐๐๐ - ๒,๐๐๐ มล. เมื่อดูดเข้าสู่ร่างกายจะมีปริมาณน้ำปนกากอาหารเหลือ และไหลลงสู่ลำไส้ใหญ่ เพียง ๕๐๐ - ๖๐๐ มล. ลำไส้เล็กมีพื้นผิวในการดูดซึมอาหารถึง ๔,๕๐๐ ตร.ม.
                            ๘. ขับอาหารลงสู่ลำไส้ใหญ่ เพื่อให้ลำไส้ใหญ่ขจัดออก
                    ส่วนลำไส้ใหญ่มีหน้าที่ในการดูดซึมน้ำที่เหลือประมาณวันละ ๕๐๐ มล. ทำให้กากอาหารข้นจนเป็นก้อน และทำหน้าที่พักกากอาหาร ก่อนที่จะขับออกเป็นอุจจาระ       ๒๕/๑๖๒๕๕
            ๔๘๑๑. ลิเก  เป็นการแสดงมหรสพประเภทหนึ่ง มีพัฒนาการมาจากการแสดงของชาวมลายูที่เรียกว่า ดิเกหรือดจิเก ซึ่งเป็นการแสดงประกอบดนตรีคือ รำมะนาหรือกลองแขก เพื่อการศาสนาของชาวมุสลิม เริ่มด้วยพวกนักสวดนั่งล้อมวงกันขับลำนำ มีรำมะนาเป็นเครื่องดนตรีให้จังหวะ
                    การแสดงลิเกในเมืองไทยนั้น เริ่มมีบันทึกปรากฎหลักฐานที่เก่าที่สุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เมื่อชาวไทยอิสลามในกรุงเทพ ฯ ร่วมกันแสดงลิเก ถวายหน้าพระที่นั่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๓ แต่ในครั้งนั้น ดิเกเรียกเป็นภาษาไทยว่า แขกสวด
                    เมื่อมีผู้นิยมกันมากขึ้น คนไทยอิสลามในกรุงเทพ ฯ ก็ติดสวดดิเก หรือยี่เก โดยสอดใส่เพลงลำนำต่าง ๆ เข้าไปให้ไพเราะยิ่งขึ้น คนชอบฟังกันมาก จนถึงกับมีการจ้างให้ไปสวดประชันแข่งขันกัน มีการแทรกเพลงลูกบทเข้ามาผสมอีก เป็นเพลงสั้น ๆ ที่ใช้ร้องต่อท้ายเพลงแม่บท เพลงที่ร้องเป็นเพลงภาษาต่าง ๆ มีการร้องเพลงลูกบทเป็นเพลงตลุง แล้วเชิดตัวหนังโดยใช้รำมะนาเป็นจอ ยี่เกจึงกลายเป็นการเล่นชนิดหนึ่งขึ้นมา
                    ลิเก เป็นมหรสพที่ประชาชนชอบดู ชอบฟังเป็นอันมาก มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงอยู่ตลอดเวลา       ๒๕/๑๖๒๕๗
            ๔๘๑๒. ลิจฉวี  เป็นชื่อเผ่า หรือตระกูลกษัตริย์หมู่หนึ่ง ที่มีอำนาจบทบาทในสมัยพุทธกาล เหล่ากษัตริย์ลิจฉวีช่วยกันปกครองแคว้นวัชชี ซึ่งมีเมืองเวสาลี เป็นเมืองหลวง มีอาณาเขตตอนใต้อยู่ใกล้ชิดกับแคว้นมคธ มีแม่น้ำคงคากั้นเขตแดน
                    เหล่ากษัตริย์ลิจฉวี มีการปกครองที่มีระเบียบ แต่ละตระกูลของกษัตริย์ลิจฉวี จะเลือกหัวหน้า หรือผู้แทนของตระกูลเข้าไปร่วมปกครอง โดยเลือกตั้งผู้ที่เหมาะสมที่สุด ขึ้นเป็นราชาธิบดี แต่ไม่มีอำนาจสิทธิขาด จะกระทำการสิ่งใดต้องนำเรื่องเข้าปรึกษาหารือกับสภา ทำให้แว่นแคว้นวัชชีเจริญรุ่งเรือง พระพุทธเจ้าได้ทรงเทศนาอปริหานิยธรรม  ให้กษัตริย์ลิจฉวีนำไปประพฤติปฎิบัติ       ๒๕/๑๖๒๖๙
            ๔๘๑๓. ลิเทียม  เป็นธาตุลำดับที่สาม นักอุตสาหกรรมชาวสวีเดน เป็นผู้ค้นพบธาตุนั้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐ นักเคมีชาวอังกฤษเป็นผู้สกัดแยกธาตุนี้ออกเป็นอิสระ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๑  ธาตุนี้ไม่ปรากฎอยู่ในภาวะอิสระ แต่มีปะปนอยู่ในแร่ชนิดต่าง ๆ
                    ธาตุลิเทียม เป็นโลหะลักษณะเป็นของแข็งสีขาวเงินแวววาว ค่อนข้างอ่อนสามารถตีแผ่ให้เป็นแผ่นบางๆ และดึงให้เป็นเส้นลวดได้ ลอยได้ในน้ำ และทำปฎิกิริยาได้กับน้ำ จึงต้องเก็บไว้ในน้ำมัน เป็นโลหะจำพวกโลหะด่าง และเป็นธาตุที่เบาที่สุดในบรรดาโลหะจำพวกนี้ มีความว่องไวทางเคมี       ๒๕/๑๖๒๗๑
            ๔๘๑๔. ลิ้น  เป็นอวัยวะในปาก มีลักษณะแบบคล้ายใบไม้ แต่ค่อนข้างหนามาก ประกอบด้วยกล้ามเนื้อลายเป็นส่วนใหญ่ และทำงานภายใต้อำนาจจิตใจ ลิ้นหุ้มด้วยเยื่อเมือก เยื่อเมือกด้านบนจะหนา และสาก เนื่องจากมีปุ่มชนิดต่าง ๆ ตามบริเวณโคนปุ่มเหล่านี้ มีซอกลึกโดยรอบ ผนังของซอกดังกล่าว มีตุ่มรับรสเรียงรายอยู่ใต้ผิวเยื่อเมือกของลิ้น จะพบต่อมน้ำลายย่อยกระจัดกระจายอยู่ ต่อมน้ำลายเหล่านี้มีท่อมาเปิดที่ผิวลิ้น ทำให้ลิ้นและปากชุ่มชื้นอยู่เสมอ ลิ้นมีหน้าที่สำคัญดังนี้
                    ๑. รับรสอาหาร โดยตุ่มรับรสอาหารจะกระจัดกระจายอยู่ตามซอกของปุ่มต่าง ๆ  มีตุ่มรับรสเปรี้ยว รสหวาน รสขม
                    ๒. ช่วยในการพูด โดยลิ้นจะเคลื่อนไปมาในปากร่วมกับการทำงานของริมฝีปาก เหงือก และฟัน ทำให้เสียงสูงต่ำที่เกิดจากกล่องเสียง เป็นคำพูด
                    ๓. ช่วยในการเคี้ยวอาหาร โดยลิ้นจะเคลื่อนไปมาในปาก ตวัดอาหารให้ฟันเคี้ยว ตามที่ต้องการ
                    ๔. ช่วยในการกลืน  โดยลิ้นจะดันอาหารเข้าลำคอ แล้วปิดช่องปากไม่ให้อาหาร ย้อนกลับเข้าปากเวลากลืน        ๒๕/๑๖๒๗๕
            ๔๘๑๕. ลิลิต  เป็นคำประพันธ์ร้อยกรองชนิดหนึ่ง กวีนิพนธ์ประเภทลิลิต มีลักษณะเป็นคำประพันธ์ที่ผสมกัน ระหว่างร่ายกับโคลง ลิลิตแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ลิลิตสุภาพ และลิลิตดั้น ลิลิตสุภาพใช้ร่ายสุภาพ กับโคลงสองสุภาพ โคลงสามสุภาพ และโคลงสี่สุภาพ แต่งสลับกัน
                    วรรณคดีประเภทลิลิตของไทย ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ ลิลิตพระลอ ลิลิตตเพชรมงกุฎ ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ลิลิตตะเลงพ่าย ลิลิตกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และสถลมารค ลิลิตนิทราชาคริต ลิลิตพายัพ และลิลิตนารายณ์สิบปาง เป็นต้น ส่วนคำประพันธ์ชนิดดั้นนั้น เท่าที่มีปรากฎเรียกกันมาคือ ลิลิตยวนพ่าย       ๒๕/๑๖๒๗๖
            ๔๘๑๖. ลี้  อำเภอ ขึ้น จ.ลำพูน  อ.ลี้ เดิมเป็นเมืองชื่อ เมืองลี้ มีหัวหน้าปกครองชื่อ พญาลี้ ขึ้นตรงต่อเจ้าผู้ครองนครลำพูน ต่อมายุบเป็นอำเภอ       ๒๕/๑๖๒๗๙
            ๔๘๑๗. ลีซอ  แปลความหมายตามศัพท์ว่า คนที่มีวัฒนธรรม ลีซอ เป็นชาวเขาเผ่าหนึ่ง เรียกตัวเองว่า ลีซู คนไทยเรียก ลีซอ จีนเรียก ลีซอ พม่าและคะฉิ่น เรียก ยอยิ่น หลักฐานทางประวัติศาสตร์มีไม่มากนัก เนื่องจากมีแต่ภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน ลีซอ มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณต้นแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน ต่อมาอพยพลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปอาศัยอยู่ในเขตมณฑลยูนนาน เกิดการสู้รบกับจีน และชนชาติอื่นหลายครั้ง จึงอพยพต่อมาทางใต้ ส่วนหนึ่งได้อพยพเข้าไปในมณฑลอัสสัมของอินเดีย ส่วนหนึ่งอพยพเข้าไปอยู่ในประเทศพม่า แล้วจึงเข้ามายังประเทศไทย ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๖๒ - ๒๔๖๔ โดยมาจากตอนใต้ของเมืองเชียงตุง เข้ามาอยู่บริเวณดอยช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
                    ลีซอชอบอาศัยบนภูเขา และที่ราบตามเชิงเขา การอพยพไปอยู่ที่แห่งใหม่ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของลีซอ
                    ลีซอในประเทศไทย โดยมากยังคงตั้งถิ่นฐานอยู่บนภูเขา ที่มีพื้นดินเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ปัจจุบันได้อพยพกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ บนภูเขา ในเก้าจังหวัดภาคเหนือ มีจำนวนประชากรประมาณร้อยละสี่ ของชาวเขาในประเทศไทย
                    ลีซอแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็นสองกลุ่มคือ ลีซอลาย และลีซอดำ มีความแตกต่างกัน ที่การแต่งกายโดยเฉพาะผู้หญิง และภาษาพูด      ๒๕/๑๖๒๗๙
            ๔๘๑๘. ลืออำนาจ  อำเภอ ขึ้น จ.อำนาจเจริญ แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ ขึ้น อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี เมื่อ อ.อำนาจเจริญ ยกฐานเป็นจังหวัด จึงโอนมาขึ้นกับ อ.เมือง ฯ แล้วยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙       ๒๕/๑๖๒๙๒
            ๔๘๑๙. ลุ้ง  เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม หรือของอย่างอื่น กับใช้เรียกภาชนะที่ต่างรูปแบบ ต่างขนาด แต่ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับลุ้งว่า ลุ้ง ด้วย
                    ลุ้ง  เป็นภาชนะที่นิยมใช้กันในสมัยโบราณ ทำด้วยไม้จริง ไม้ไผ่สาน ลงสมุก ทารัก โลหะ ทองเหลือง หรือสังกะสี มีรูปแบบและหน้าที่ใช้สอยดังนี้
                    ลุ้งสำหรับใส่อาหาร  มักทำด้วยไม้จริง กลึงเป็นรูปอย่างตะลุ่ม ปากกลม ทรงเตี้ย ส่วนหนึ่งกับกลึงเป็นรูปอย่างฝาชี ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ อีกส่วนหนึ่งสำหรับคลุมปิดปากลุ้ง ตัวลุ้งและฝาลุ้งนี้มักทารักน้ำเกลี้ยง เขียนลายปิดทองรดน้ำ ตกแต่งด้านนอกแต่พอง่าย ภายในและฝามักนิยมทารักแดง มักใช้จัดถ้วยใส่กับข้าว คุมเป็นสำหรับถวายพระสงฆ์ที่มีฐานะต่ำกว่าพระราชาคณะ หรือเจ้านายที่มิได้รับกรมและขุนนางในสมัยก่อน
                    ลุ้งสำหรับใส่เครื่องสิราภรณ์  ทำด้วยวัสดุ มีลักษณะรูปทรงและขนาดต่าง ๆ กันดังนี้
                        ก. ลุ้งสำหรับเก็บพระมหามงกุฎ พระชฎาต่าง ๆ ทำด้วยไม้เนื้ออ่อน กลึงเป็นรูปอย่างงพานปากกลมทรงเตี้ย ฝาลุ้งกลึงเป็นรูปทรงฟักตัดขนาดสูง ปลายฝาทำเป็นทรงหัวเปิด ตัวลุ้งและฝาทารักน้ำเกลี้ยง เขียนลายรดน้ำปิดทอง ข้างในและฝาทารักสีแดง พื้นตรงกลางลุ้งตั้งเสาสำหรับรับพระวมหามงกุฎหรือชฎา
                        ข.ลุ้งสำหรับเก็บพระมหามาลา พระมาลาต่าง ๆ ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนหรือโลหะ มีลักษณะคล้ายถาดกลมขอบตั้งขึ้นเป็นลิ้นบังใบ ฝาลักษณะเป้นทรงกระบอก หลังตัดปากฝา ทำเป็นลิ้นบังใบ เมื่อเอาฝาครอบลงบนตัวลุ้งปากฝาจะสวมเข้ากับบังใบของขอบตัวลุ้งสนิทพอดีอมักลงรักน้ำเกลี้ยงภายนอก
                        ค. ลุ้งสำหรับเก็บชฎาและศีรษะโขน มักทำด้วยทองเหลือง ลักษณะรูปทรงกระบอกเตี้ย ๆ คล้ายลังดึง ฝาทำเป็นสองลักษณะให้เหมาะกับศีรษะโขน
                    ลุ้งสำหรับใส่เครื่องนุ่งห่ม  รูปทรงคล้ายลุ้งสำหรับใส่อาหาร มักทำด้วยไม้ไผ่สานลงสมุกทารัก เมื่อปิดฝาลุ้งแล้วสามารถกันฝุ่นละออง แมลงสาบและหนูได้ รักษากลิ่นหอมที่อบผ้าได้
                    ลุ้งสำหรับใส่ศพ  นิยมทำด้วยไม้เนื้ออ่อน รูปทรงอย่างหีบรูปสี่เหลี่ยม ปากผายก้นสอบ ฝาลุ้งนิยมทำทรงคลุ่ม และตกแต่งบนหลังฝาลุ้งให้สวยงาม ด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ บางสมัยเรียกว่าหีบเหม และยังเรียกว่าโลง อีกด้วย        ๒๕/๑๖๒๙๓
            ๔๘๒๐. ลุมพินี  เป็นสังเวชนียสถานแห่งหนึ่งทางพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่ระหว่างนครกบิลพัสดุ์กับนครเทวะทหะ ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชเรียกว่าลุมมินี ปัจจุบันเรียกว่ารุมมินเด อยู่ในตำบลเตไรของประเทสเนปาล
                ลุมพินีวัน เป็นพระราชอุทยานหรือสวนหลวงสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองทั้งสองนคร
                หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกทรงผนวช และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้เสด็จมาทรงพัก ณ สวนลุมพินี และได้ทรงแสดงเทวทหสูตรโปรดภิกษุทั้งหลาย พระสูตรนี้ว่าด้วยกฎแห่งกรรมของศานาเชน เปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนาโดยละเอียดชัดแจ้ง
                ในสมัยพระเจ้าอโศก ฯ (ราวปี พ.ศ.๒๗๑ - ๓๑๒) พระองค์ได้เสด็จไปนมัสการสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ทรงบูชาด้วยเครื่องสักการะหลายอย่าง แล้วนรับสั่งใให้สร้างพระเจดีย์องค์หนึ่ง และเสาศิลาจารึก (เสาอโศก) ต้นหนึ่ง ณ บริเวณนั้น ที่เสานั้นจารรึกข้อความว่าพระเจ้าอโศก ฯ ได้เสด็จมานมัสการลุมพินีด้วยพระองค์เอง หลังจากทรงครองราชย์แล้วยี่สิบปี รับสั่งใให้ยกเสาหิน (เสาศิลาจารึก) ขึ้นไว้เพื่อแสดงว่าที่ตรงนี้ เป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประสูติ และให้หมู่บ้านลุมพินีปลอดภาษีท้องถิ่น และให้จ่ายผลิตผล (แก่รัฐ) เพียงหนึ่งในแปดส่วนเท่านั้น
                ในพุทธศตวรรษที่ ๑๐ หลวงจีนฟาเหียนได้จาริกไปถึงสวนลุมพินี บรรยายว่าอยู่ห่างจากซากเมืองกบิลพัศดุ์ไปทางทิศตะวันออก ๕๐ ลี้
                ในพระพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หลวงจีนถัวซัมจั๋ง ได้จาริกไปถึงสวนลุมพินี ได้บันทึกไว้ว่า ณ ที่ใกล้สระมีเสาอโศกและสถูปสี่องค์ นอกจากนี้ในปี พ.ศ.๑๓๐๗ หลวงจีนววู่คุง ก็ได้จาริกไปถึงสวนลุมพินีเช่นกัน หลังจำกนั้นเรื่องราวของลุมพินีก็เงียบหายไปและตลอดช่วงเวลาสมัยกลางคือช่วงที่พวกมุสลิมเข้าปกครองอินเดีย สวนลุมพินีถูกปล่อยไว้จนกลายเป็นป่าทึบ จนนถึงปี พ.ศ.๒๔๓๙ ดร.ฟีอเรอร์ได้พบเสาอโศกที่จารึกเรื่องราวของลุมพินี จึงรู้ว่าสถานที่นี้คือที่ประสูติของพระพุทธเจ้า รัฐบาลประเทศเนปาลได้เข้ามาปรับปรุงแผ้วถางป่าได้ขุดแต่งบางส่วนให้ประชาชนเข้าไปศึกษาและนมัสการ
                สภาพของสวนลุมพินีในปัจจุบันประกอบด้วย เสาศิลาจารรึกของพระเจ้าอโศก ฯ หรือเสาอโศก มายาเทวีวิหาร ซากวิหารเก่าและซากพระเจดีย์ที่พระเจ้าอโศก ฯ สร้างไว้ตลอดจนซากสถูปอื่น ๆ หลายองค์ในบริเวณนั้น สระสนานพระวรกาย และหลักเขตแดนระหว่างกบิลพัสดุ์กับเทวะทหะ             ๒๕/๑๖๒๙๕
            ๔๘๒๑. ลูกกรอก  ลูกคนหรือลูกสัตว์ เช่น แมวตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือในท้อง มีร่างกายครบบริบูรณ์ แต่ขนาดเล็ก ซึ่งน่าจะเกิดจากการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สอง ถึงช่วงต้นไตรมาสที่สาม ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกมีอวัยวะครบแล้ว       ๒๕/๑๖๒๙๙
            ๔๘๒๒. ลูกไก่ ดาว  เป็นชื่อดาวกฤษ์หลายดวงที่เห็นอยู่ใกล้ ๆ กันในกลุ่มดาววัว มองดูคล้ายฝูงลูกไก่ เห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างน้อยหกดวง บางครั้งเห็น ๗ - ๙ ดวง หรือมากว่านั้น ดาวเหล่านี้เรียงกันเป็นรูปคล้ายกระบวยเล็ก ๆ ด้ามสั้น ๆ ที่ใช้ตักนม นักดาราศาสตร์เรียกดาวกฤษ์ในลักษณะนี้ว่ากระจุกดาวกฤษ์       ๒๕/๑๖๓๐๕
            ๔๘๒๓. ลูกน้ำ  ดูที่ยุง - ลำดับที่ ๔๖๐๕         ๒๕/๑๖๓๑๒
            ๔๘๒๔. ลูกนิมิต  มีบทนิยามว่า "ลูกที่ทำกลม ๆ ประมาณเท่าบาตรใช้ฝังเป็นเครื่องหมายเขตอุโบสถ" คำว่า นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย หมายถึง เขตที่กำหนดขึ้นเพื่อให้รู้ทั่วกันว่าอาณาเขต หรือแดนที่เรียกสีมาของอุโบสถนั้น  กว้าง ยาวเท่าใด จากไหนถึงไหน มีอะไรเป็นเครื่องหมาย คำว่า สีมาของอุโบสถ หมายถึง เขตหรือแดนที่สงฆ์กำหนดขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ประชุมกระทำสังฆกรรมต่าง ๆ ร่วมกันเป็นเขตที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้เป็นสมานสังวาสสีมา คือ แดนที่พระภิกษุทุกรูปผู้อยู่ในสีมานี้ มีสิทธิเสมอกันในการเข้าร่วมสังฆกรรมทั้งหลาย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นเขตความพร้อมเพรียงของสงฆ์
                    พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใช้สิ่งต่อไปนี้เป็นนิมิต คือ
                        ๑. ภูเขา หมายถึง  ภูเขาสามชนิด ได้แก่ ภูเขาศิลาล้วน ภูเขาดินล้วน และภูเขาศิลาปนดิน เรียกว่า ปัพพตนิมิต
                        ๒. ศิลา หมายถึง ก้อนหิน หรือแท่งหิน  ขนาดโตเท่าหัววัวขึ้นไป แต่ไม่โตเท่าช้าง ปัจจุบันนิยมใช้ก้อนศิลา หรือแท่งศิลา นี้เป็นนิมิต และเนื่องจากนิยมทำเป็นลูกกลม ๆ จึงเรียกว่า ลูกนิมิต นิมิตชนิดนี้เรียกว่า ปาสาณนิมิต
                        ๓. ป่าไม้  หมายถึง ไม้ประเภทมีแก่น หรือมีเนื้อแน่น เรียกว่า วนนิมิต
                        ๔. ต้นไม้ หมายถึง  ต้นไม้ประเภทมีแก่น หรือมีเนื้อแน่น เพียงต้นเดียว และยังเป็นอยู่ สูงตั้งแต่ ๘ นิ้ว ขึ้นไป แต่ต้องเป็นต้นไม้ที่งอกขึ้นในที่นั้น เรียก่า รุกขนิมิต
                        ๕. หนทาง  หมายถึง ทางคนเดิน หรือทางเกวียน ก็ได้ แต่ต้องเป็นทางที่ยังใช้อยู่ ยาวตั้งแต่ชั่วระยะ ๑ - ๓ บ้าน ขึ้นไป เรียกว่า มัคคนิมิต
                        ๖. จอมปลวก หมายถึง จอมปลวก ที่มีขนาดตั้งแต่เท่าเขาวัว และสูง ๘ นิ้วขึ้นไป เรียกว่า วัมมิกนิมิต
                        ๗. แม่น้ำ หมายถึง แม่น้ำที่มีกระแสน้ำไหลอยู่อย่างน้อย เวลาสี่เดือนแห่งฤดูฝน มีความลึกประมาณพอเปียกผ้าอันตรวาสก (ผ้านุ่ง) ของภิกษุณีผู้นุ่งห่มเป็นปริมณฑล ที่เดินข้ามแม่น้ำนั้น ณ บริเวณใดบริเวรหนึ่ง เรียกว่า นทีนิมิต
                        ๘. น้ำ หมายถึง หมายถึงน้ำนิ่ง จะเป็นน้ำในบ่อ หนอง บึง หรือ สระ ก็ได้ เรียก อุทกนิมิต
                            นิมิตทั้งแปดชนิดนี้ ใช้เป็นเครื่องหมาย หรือหลักเขตสีมาของอุโบสถสองประเภทคือ พัทธสีมา และอัพทธสีมา พัทธสีมา แปลว่า แดนที่ผูก อพัทธสีมา แปลว่า แดนที่ไม่ได้ผูก
                       พัทธสีมา  คือ แดนที่ทางคณะสงฆ์กำหนดขึ้นเอง บนพื้นที่ที่ทางบ้านเมืองยกให้ที่เรียกว่า วิสุงคามสีมา เพื่อใช้เป็นที่ประชุมทำสังฆกรรมต่าง ๆ ได้แก่ เขตอุโบสถของวัดต่าง ๆ ในปัจจุบัน ส่วน อพัทธสีมา คือ แดนที่ทางราชการบ้านเมืองกำหนดขึ้น เพื่อสะดวกในการปกครองท้องถิ่น คณะสงฆ์มิได้กำหนดขึ้นเอง แต่นิยมใช้ตามแนวเขตที่ทางการบ้านเมืองกำหนดไว้แล้ว
                       ในการผูกพัทธสีมา หรือที่เรียกกันทางพระวินัยว่า สมมติสีมา ให้เป็นพัทธสีมานั้น มีพระพุทธานุญาตให้ใช้นิมิต ตั้งแต่สามลูกขึ้นไป น้อยกว่านั้นถือเป็นสีมาวิบัติ คือ ใช้ทำสังฆกรรมไม่ได้ ในปัจจุบันนิยมใช้ลูกนิมิตเก้าลูก โดยวางไว้ทั้งแปดทิศ ส่วนลูกที่เก้าวางไว้กลางอุโบสถข้างหน้าพระประธาน นิมิตลูกที่เก้าไม่มีในพุทธบัญญัติ คณะสงฆ์กำหนดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องหมายว่า สงฆ์ทำพิธีสวดสมมติสีมา ณ ที่ตรงนั้น
                       ก่อนสวดสมมติสีมา จะมีการทักลูกนิมิต โดยมอบหมายให้พระสงฆ์สี่รูป เป็นผู้ทักลูกนิมิต เมื่อเสร็จพิธีสมมติสีมา หรือที่เรียกว่า การผูกพัทธสีมา ต่อไปเป็นพิธีที่เพิ่มขึ้นภายหลัง ไม่มีในพระพุทธบัญญัติ แต่ไม่ขัดพุทธบัญญัติ จึงได้ถือปฎิบัติกันมา จนเป็นประเพณีคือ พิธีฝังลูกนิมิต
            ๔๘๒๕. ลูกรัง และหินแลง  คำว่า ลูกรัง บางคนเรียกว่า ดินลูกรัง เพราะว่าพบปะปนอยู่ในดิน ส่วนหินแลงก็คือ ศิลาแลง นั่นเอง
                    คำว่า หินแลง หมายถึง หินตะกอนชนิดหนึ่ง เชื่อมยึดจับตัวกันเป็นก้อน หรือแผ่นแข็งต่อเนื่องกันเป็นพืด ลักษณะเป็นรูพรุน มีออกไซด์ของเหล็ก และอลูมิเนียม อยู่มาก ตอนที่อยู่ในดินชั้นล่างจะอ่อน จะแข็งตัวเมื่อสัมผัสอากาศ และไม่กลับอ่อนตัวอีก สามารถตัดเป็นก้อน หรือเป็นแท่งได้ ในสมัยโบราณจะใช้แทนอิฐในการก่อสร้าง บางคนเรียก แม่รัง
                    คำว่า ลูกรัง หมายถึง ศิลาแลงที่เกาะตัวกันแบบหลวม ๆ เป็นเม็ดคล้ายก้อนกรวดอิสระ ใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างถนนและสนามบิน เป็นต้น       ๒๕/๑๖๓๑๗
            ๔๘๒๖. ลูกเสือ  มีบทนิยามว่า  "สมาชิกแห่งองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ในการฝึกหัดอบรมบ่มนิสัยเด็ก ช่วยให้เป็นพลเมืองดีตามจารีตประเพณี มีอุดมคติ และความรับผิดชอบตัวเอง และต่อผู้อื่น เป็นต้น " ปัจจุบันลูกเสือ ได้แก่ เยาวชนชาย และหญิง อายุระหว่าง ๘ - ๒๓ ปี ที่รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรวิชาลูกเสือ โดยยึดมั่นในหลักการ วิธีการ และวัตถุประสงค์ของการลูกเสืออย่างเคร่งครัด สาระสำคัญของลูกเสือประกอบด้วย
                    ๑. หลักการ  ได้แก่
                            ๑.๑  มีศาสนาเป็นหลักยึดทางจิตใจ จงรักภักดีต่อศาสนาที่ตนเคารพนับถือ และพึงปฎิบัติศาสนกิจด้วยความจริงใจ
                            ๑.๒  จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และประเทศชาติของตน พร้อมด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนสันติสุข และสันติภาพ ความเข้าใจที่ดีซึ่งกันและกัน ความร่วมมือซึ่งกันและกัน นับแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
                            ๑.๓  เข้าร่วมในการพัฒนาสังคม ยอมรับและให้ความเคารพในเกียรติ และศักดิ์ศรีของผู้อื่น และเพื่อนมนุษย์ทุกคน รวมทั้งการยอมรับ และให้ความเคารพในความถูกต้อง และความเป็นธรรมต่อธรรมชาติ และสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก
                            ๑.๔  มีความรับผิดชอบต่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
                            ๑.๕  ลูกเสือทุกคนต้องยึดมั่นในกฎ และคำปฎิญาณของลูกเสือ ตามความเหมาะสมกับวัฒนธรรมของตน กฎและคำปฎิญาณของลูกเสือ ต้องได้รับการอนุมัติจากองค์การลูกเสือโลกก่อน
                     ๒. วิธีการ  วิธีการของลูกเสือ คือ ระบบการศึกษาด้วยตนเอง ให้เกิดความก้าวหน้าตามลำดับชั้น
                     ๓. วัตถุประสงค์  คือ การช่วยเหลือให้เยาวชนได้รับการพัฒนาศักยภาพทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ให้สมบูรณ์อย่างเต็มที่ เพื่อให้เป็นพลเมืองดี
                    การแบ่งประเภทลูกเสือ  แบ่งออกเป็นสี่ประเภท โดยยึดระดับอายุของเด็กเป็นเกณฑ์ และคำนึงถึงพัฒนาการทางร่างกาย และจิตใจของเด็กเป็นพื้นฐานในการจัดหลักสูตร และกิจกรรมในการฝึกอบรม คือ
                            ๑.  ลูกเสือสำรอง มีอายุ ๘ - ๑๑ ปี มีคติพจน์ว่า   "ทำดีที่สุด"
                            ๒.  ลูกเสือสามัญ  มีอายุ ๘ - ๑๕ ปี  มีคติพจน์ว่า  "เตรียมพร้อม"
                            ๓.  ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่  มีอายุ ๑๕ - ๑๘ ปี  มีคติพจน์ว่า  "มองไกล"
                            ๔.  ลูกเสือวิสามัญ  มีอายุ ๑๗ - ๒๓ ปี  มีคติพจน์ว่า  "บริการ"
                    กำเนิดลูกเสือโลก เริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐  โดยเกิดจากแนวความคิดของ ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์  (พ.ศ.๒๔๐๐ - ๒๔๘๕)
                    สำหรับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงตราพระราชกำหนดลูกเสือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔  และได้จัดตั้งกองลูกเสือขึ้น เป็นกองแรกที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระราชทานนามว่า กองลูกเสือหลวง       ๒๕/๑๖๓๒๒
            ๔๘๒๗. ลูทีเซียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๗๑ มีผู้ค้นพบและตรวจสอบธาตุนี้ในปี พ.ศ.๒๔๕๑  ธาตุนี้มีปรากฎในธรรมชาติ โดยมีปนอยู่ในแร่หายากหลายชนิด
                    ประโยชน์ของธาตุนี้ คือ นำไปใช้ในงานของวัติเรืองแสง ในงานสารกึ่งตัวนำ ในงานชิ้นส่วนอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ บางชนิด และในงานวิจัยอื่น ๆ ทางวิทยาศาสตร์       ๒๕/๑๖๓๓๑
            ๔๘๒๘. เลตเตอร์ออฟเครดิต  มีบัญญัติศัพท์ไว้ว่า ตราสารเครดิต คือ หนังสือรับรองการชำระเงินที่ออกโดยธนาคารของผู้สั่งซื้อสินค้า (ตามคำขอของผู้ซื้อ)  ซึ่งสัญญาว่า จะจ่ายเงินให้กับผู้ขายสินค้า หรือยินยอมให้ผู้ขายออกตั๋วแลกเงิน ประเภทชำระเงินทันที เมื่อเห็น หรือตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยประกันว่า ตั๋วดังกล่าว จะต้องได้รับการชำระเงินแน่นอน หรือรับรองตั๋วให้จ่ายเงินทันที เมื่อผู้ขายได้ปฎิบัติถูกต้อง ตามเงื่อนไขข้อตกลงที่ได้ระบุไว้ ในตราสารเครดิตทุกประการ
                    ตราสารเครดิต แบ่งได้เป็นสองประเภทคือ ประเภทเพิกถอนได้ และประเภทเพิกถอนไม่ได้
                    ตราสารเครดิต ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย เป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยให้การชำระเงินค่าสินค้าได้สะดวก และรวดเร็วขึ้น เท่านั้น        ๒๕/๑๖๓๓๔
            ๔๘๒๙. เล็น  คนไทยมักเรียกสัตว์ที่มีขนาดเล็กมากเท่าหัวเข็มหมุด หรือเล็กกว่า ที่มาอาศัยกัดและเล็ม หรือทำให้เกิดความระคายเคืองตามร่างกายคน หรือสัตว์ เรียกรวม ๆ กันว่า เล็น เล็นจึงอาจเป็นพวกไร เห็บ หมัด หรือมดไร ก็ได้
                   ในที่นี้ จะกล่าวเฉพาะเล็น อันเป็นแมลงอีกกลุ่มหนึ่ง แตกต่างไปจากแมลงดังกล่าวข้างต้นอย่างสิ้นเชิง เป็นพวกที่ควรเรียกว่า เล็นอย่างแท้จริง เล็นพวกนี้มีรูปร่างลักษณะหลายอย่างคล้ายกับเหา ได้มีการแยกชนิดของเล็นว่า มีไม่ต่ำกว่า  ๒,๘๐๐  ชนิด       ๒๕/๑๖๓๓๘
            ๔๘๓๐. เล็บมือนาง - ต้น  เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง สูง ๑.๕ - ๕ เมตร เลื้อยพันต้นไม้อื่น หรือสิ่งที่ยึดเกาะได้ โดยพันเวียนซ้าย ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปรี หรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายกิ่ง และง่ามใบ ช่อห้อยลงมายาว ดอกใหญ่กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงสีเขียว อมเหลือง เมื่อดอกตูม หรือแก่บานสีขาว ต่อไปสีจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพู จนที่สุดเป็นสีแดง
                    เล็บมือนาง ใช้เป็นยา และเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกสวย มีทั้งชนิดดอกลา และดอกซ้อน กลิ่นหอม ออกดอกเกือบตลอดปี ส่วนที่นำมาใช้เป็นยาคือ เมล็ด ตำรายาไทย และต่างประเทศอีกหลายประเทศ ใช้เนื้อในเมล็ด เป็นยาขับพยาธิ ไส้เดือน สำหรับเด็ก       ๒๕/๑๖๓๔๓
            ๔๘๓๑. เลย   จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือตกแม่น้ำเหือง และแม่น้ำโขง ซึ่งกั้นพรมแดนประเทศไทยกับประเทศลาว ทิศตะวันออก ติดต่อ จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี ทิศใต้ ติดต่อ จ.ขอนแก่น และจ.เพชรบูรณ์  ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.พิษณุโลก ภูมิประเทศมีทิวเขาเตี้ย ๆ ประกอบด้วย ภูเขา และสันเขายอดราบ ตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เป็นแหล่งการท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด เช่น ภูกระดึง ภูเรือ และภูหลวง ทางซีกตะวันออกของจังหวัด มีแม่น้ำไหลจากทิศใต้ไปทิศเหนือ ลงสู่แม่น้ำโขง เป็นบริเวณที่ราบขนาดใหญ่ของจังหวัด
                    จ.เลย  เดิมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ขึ้น เวียงจันทน์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเป็นเมือง มีที่ว่าการอยู่ที่บ้านแฮ่ ต่อมาย้ายไปตั้งที่ ต.กุดป่อง ริมแม่น้ำเลย จนบัดนี้        ๒๕/๑๖๓๔๕
            ๔๘๓๒. เลาขวัญ  อำเภอ ขึ้นจ.กาญจนบุรี แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ขึ้น อ.พนมทวน ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙       ๒๕/๑๖๓๔๖
            ๔๘๓๓. เล่าจื้อ หรือเหลาจื้อ  เป็นศาสดา แห่งลัทธิเต๋า เดิมชื่อ เหลาตัน เกิดเมื่อประมาณ ๖๐ ปี ก่อน พ.ศ. คำว่า  เล่าจื้อ แปลว่า อาจารย์ ผู้เฒ่า ปรัชญาเมธี หรือเด็กแก่  ท่านได้รับการศึกษาจากธรรมชาติมากกว่าจากครูอาจารย์ เป็นผู้เฉลียวฉลาด มาตั้งแต่เด็ก
                    เล่าจื้อ  เกิดในตระกูลลี้ ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในมณฑลเหอหนาน (เดิมเรียกว่า รัฐฌ้อ) เคยรับราชการเป็นบรรณารักษ์ใหญ่แห่งหอพระสมุดของราชสำนักราชวงศ์จิว หรือเจา อยู่เป็นเวลานาน ต่อมาได้เห็นความเสื่อมโทรมของราชวงศ์จิว เลยลาออกจากตำแหน่งเดินทางไปทางทิศตะวันตก ได้แต่งคัมภีร์ขึ้นเล่มหนึ่งชื่อ เต้าเต็กเก็ง มีสองภาค ว่าด้วยคุณธรรมต่าง ๆ รวมประมาณกว่า ๕,๐๐๐ ตัวอักษร
                    ครั้งหนึ่ง ท่านได้มีโอกาสพบกับขงจื้อ เมื่อได้สนทนากัน ขงจื้อได้ถามถึงระบบประเพณีเก่า ๆ แต่โบราณ และเล่าจื้อได้มอบสคติธรรม ให้เป็นที่ประทับใจขงจื้อมาก
                    คัมภีร์เต้าเต็กเก็ง สอนปรัชญาการปกครอง และวิถีชีวิตสำหรับชนชั้นปกครอง
                    คำสอนของเล่าจื้อเป็นคำสอนที่ลึกซึ้งละเมียดละไม จึงอาจตีความหมายไปได้ต่าง ๆ นานา และอาจเข้าถึงได้ในระดับที่แตกต่างกันอย่างมากมาย นอกจากนี้ยังมีหลักคำสอนความบริสุทธิ์อันยิ่งใหญ่ในโลกสามประการ ซึ่งถือดุจเป็นรัตนตรัยของลัทธิเต๋าคือ
                    ๑. สาระ หรือรากฐานเดิม (ชิง) ซึ่งหมายถึง ฟ้าหรือสวรรค์ ซึ่งเป็นหลักการที่สูง หมายถึงพระเจ้าหรือมหาเทพที่อยู่เหนือฟ้า และดิน ไม่มีรูป สถิตอยู่ในอาณาจักรแห่งความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นอาณาจักรแห่งนักปราชญ์โดยเฉพาะ
                    ๒. พลังชีวิต หรือพลัง (จี) แห่งสติปัญญา สถิตในอาณาจักรแห่งความบริสุทธิ์อันสูงส่ง ปราศจากมูลเดิมคือทรงเป็นมหาเทพองค์หนึ่ง อุบัติขึ้นมาพร้อมกับจักรวาล มีหน้าที่ในการจัด แบ่งเวลาเป็นวันคืนและฤดูของโลก เป็นเจ้าแห่งธรรมชาติคู่โลกสองชนิดคือ หยางกับหยิน
                    หยาง หมายถึงพลังในทางบวก มีเพศเป็นชาย จะพบในสิ่งต่าง ๆ เช่นความสว่าง ความอบอุ่น ความมั่งคั่ง ความเข้มแข็ง แสงอาทิตย์ ดวงไฟ ส่วนหยินหมายถึง พลังในทางลบ มีเพศเป็นหญิง ซึ่งจะพบในสิ่งต่าง ๆ โดยลักษณะทางธรรมชาติเป็นไปในทางลบเช่น ความหนาว ความมีด ความอ่อน ความชื้นแฉะ ความลึกลับ และสิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายเช่น น้ำและลม
                    ๓. วิญญาณ หมายถึง เจ้าแห่งวิญญาณทั้งปวง ซึ่งสถิตอยู่ในอาณาจักรอันเป็นอมตะ และเป็นผู้มีความบริสุทธิ์สูงสุดหรือเป็นมหาเทพ นับว่าเป็นจุดหมายปลายทางของลัทธิเต๋า ที่จะบำเพ็ญพรตเป็นนักบวชเพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ผู้ที่เป็นนักบวชในลัทธิเต๋า ผู้ปฏิบัติจนสำเร็จเรียกว่า เซียน
            ๔๘๓๔. เล่าปี่  เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในเรื่องสามก็ก ซึ่งเป็นเรื่องราวระหว่างปี พ.ศ.๗๑๐ - ๘๒๓ เมื่อครั้งประเทศจีนแตกเป็นสามก๊ก ก๊กของเล่าปี่ได้เป็นใหญ่ในแคว้นตะวันตกมีเมืองหลวงอยู่ที่เสฉวน ซุนกวนเป็นใหญ่ในแคว้นตอนใต้ มีเมืองหลวงอยยู่ที่แคว้นกังตั๋ง และโจโฉเป็นใหญ่ในแคว้นภาคเหนือ มีเมืองฮูโต๋เป็นเมืองหลวง
                    เล่าปี่ เป็นชาวเมืองตุ้นก้วน เป็นเชื้อพระวงศ์พระเจ้าฮั่นเกงเต้ เป็นคนเข็ญใจไร้ทรัพย์ ทอเสื่อขายเลี้ยงชีวิต เมื่ออายุได้ ๒๕ ปี แผ่นดินจีนเดือดร้อนวุ่นวายทั่วไปเพราะเกิดโจรโผกผ้าเหลือง เที่ยวตีชิงปล้นสะดมราษฎรทั่วแคว้นในภาคเหนือ เล่าปี่คิดจะไปช่วยราชการปราบโจร ได้พบกวนอูและเตียวหุยสาบานตนเป็นพี่น้องกัน แล้วเกลี้ยกล่อมผู้คนให้เป็นพรรคพวก แล้วไปสมทบเจ้าเมืองใหญ่น้อยช่วยกันปราบโจรโพกผ้าเหลือง เมื่อปราบโจรได้แล้วปรากฎว่าทางเมืองหลวงเกิดจลาจลวุ่นวาย เพราะพระเจ้าเลนเต้สิ้นพระชนมม์ ตั๋งโต๊ะ เมืองซีหลงได้ยกทัพมาปราบจลาจลสำเร็จ แล้วตั้งตนเป็นใหญ่ แต่หัวเมืองต่าง ๆ รวม ๑๘ หัวเมือง ได้ร่วมมือกันยกทัพมาปราบตั๋งโต๊ะได้สำเร็จ แล้วแย่งชิงความเป็นใหญ่กัน ในที่สุดเหลือแต่ก๊กของอ้วนเสี้ยว อ้วนสุด พี่น้อง ก๊กของโจโฉ ก๊กของซุนเซ็กเมืองกังตั๋ง โจโฉกับเล่าปี่ปราบอ้วนเสี้ยวกับอ้วนสุดได้ พระเจ้าเหียนเต้จึงตั้งเล่าปี่เป็นขุนนาง ที่เสนาบดีใหญ่ฝ่ายกรมวัง หลังจากนั้นเล่าปี่ก็แตกจากโจโฉ เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ระหกระเหินอยู่กว่ายี่สิบปีจึงได้พบขงเบ้ง และได้ขงเบ้งเป็นที่ปรึกษาใหญ่และได้จูล่งมาเป็นทหารเอก
                    ต่อมาโจโฉได้ยกทัพเรือมาปราบซุนกวน ที่เมืองกังตั๋งกับเล่าปีที่เมืองกังแฮ แต่พ่ายแพ้กลับไป เสร็จศึกครั้งนี้แล้วเล่าปี่จึงตั้งตัวเป็นก๊กใหญ่ ครองเมืองเอกสามหัวเมืองคือเกงจิ๋ว ซงหยง และลำกุ๋น แล้วยกทัพไปตีแคว้นตะวันตก อันมีเมืองเสฉวนเป็นเมืองหลวงได้เมืองสำคัญคือฮันต๋อ ตั้งตัวเป็นพระเจ้าฮันต๋ง แล้วยกทัพเข้าตีเมืองเสฉวนสำเร็จ แต่ยังไม่ได้ราชาภิเษกเป็นกษัตริย์
                    ถึงปี พ.ศ.๗๖๓ โจโฉตาย บุตรช่ายคนโตชื่อโจผี บังคับพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้ตั้งตนเองเป็นกษัตริย์ ขุนนางในเมืองเสฉวนจึงเชิญเล่าปี่เป็นกษัตริย์ราชวงศ์ฮั่น มีนามว่าพระเจ้าเล่าปี่ เมื่อปี พ.ศ.๗๖๔
                    พระเจ้าเล่าปี่ยกทัพไปตีเมืองกังตั๋ง แต่ถูกลกซุน แม่ทัพของซุนกวนเอาไฟเผาค่ายเสียหาย ต้องหนีไปอยู่เมืองเป๊กเต้ มอบราชสมบัติให้ลูกคนโตชื่อเล่าเสี้ยน ตั้งขงเบ้งเป็นมหาอุปราช สำเร็จราชการเมืองเสฉวน พระเจ้าเล่าปี่สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๗๖๖       ๒๕/๑๖๓๕๔
            ๔๘๓๕. เลิงนกทา  อำเภอขึ้น จ.ยโสธร แรกตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐         ๒๕/๑๖๓๕๖
            ๔๘๓๖. เลียง - ไม้  เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ ที่เป็นไม้เถามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น
                    เลียง มีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น เลียงนา ปอเลียง เป็นไม้ต้นสูงถึง ๒๐ เมตร ใบเดี่ยวออกเรียง
สลับกัน รูปป้อม หรือรูปหัวใจ ดอกสมบูรณ์เพศ มีขนาดเล็กสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อโตตามปลายกิ่งหรือใกล้ปลายกิ่ง ผลเป็นชนิดผลแห้งแตกมีสามพู เนื้อไม้สีน้ำตาลอมแดง ลายสวย เนื้อเหนียว แข็งแรง ทนทาน แปรรูปได้ง่าย นิยมใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรองน้ำหนักมาก       ๒๕/๑๖๓๕๗
            ๔๘๓๗. เลียงผา  ดูโครำ - ลำดับที่ ๑๑๙๖        ๒๕/๑๖๓๖๖
            ๔๘๓๘. เลี่ยน - ต้น  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อาจสูงได้ถึง ๓๐ เมตร ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง ใบประกอบแบบขนนกปลายดีสองชั้น เรียงสลับใกล้ปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่กว้างหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกบานจากปลายช่อมาสู่โคนช่อ กลิ่นหอม ก้านช่อดอกยาว กลีบดอกสีม่วงอ่อน
                    เลี่ยนนิยมปลูกเป็นไม้ประดับริมถนนหรือเป็นไม้ให้ร่มเงา มีรูปทรงและใบสวย ไม้เลี่ยนเป็นไม้มีค่า กระพี้มีสีขาวปนเหลือง แก่นสีแดง มีความคงทน นิยมใช้ทำเครื่องเรือน และเครื่องดนตรี ในหลายประเทศนิยมนำเปลือก ผล และใบ ต้มกับน้ำแล้วมาดื่มเป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน และพยาธิปากขอ ใบเปลือก ผล และเมล็ดเป็นยาไล่แมลง       ๒๕/๑๖๓๖๖
            ๔๘๓๙. เลือด  เป็นของเหลวที่ไหลเวียนอยู่ในหัวใจ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดฝอย และหลอดเลือดดำ ของคน และสัตว์ส่วนใหญ่ โดยมีหัวใจสูบฉีด เลือดทำหน้าที่นำสารอาหาร และออกซิเจน ไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และนำคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งของเสียออกไป นอกจากนั้น เลือดยังทำหน้าที่ให้ภายในร่างกายอยู่ในภาวะธำรงดุล อีกด้วย
                    เลือดได้รับออกซิเจน เมื่อไหลผ่านปอด เหงือก หรืออวัยวะอื่น ๆ ของระบบหายใจ แล้วแต่ชนิดของสัตว์ ในเลือดมีสารอาหารที่ได้จากการดูดซึม จากทางเดินอาหาร เช่น พวกเกลือแร่ วิตามิน กรดแอมิโน น้ำตาล นอกจากนี้ ยังมีสารปรุงแต่ง หรือสารสังเคราะห์จากเซลล์ตับ ต่อมไร้ท่อ หรือเซลล์อื่น ๆ เป็นสารพวกโปรตีน เอนไซม์ สารภูมิต้านทานต่าง ๆ และฮอร์โมน เป็นต้น และมีของเสียหรือของที่เกิน ที่ขับจากเซลล์ปนอยู่ เช่น น้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ ยูเรีย และเมแทบอไลต์ อื่น ๆ แล้วนำไปยังปอด ไต และต่อมเหงื่อ เพื่อขับออกนอกร่างกายต่อไป
                    เลือด ในคนมีประมาณ ๗๐ มล. ต่อน้ำหนักตัว ๑ กก. หรือประมาณ ๑ ใน ๑๔ ส่วนของน้ำหนักตัว น้ำเลือดประกอบด้วย น้ำกว่าร้อยละ ๙๐ และส่วนที่เป็นสารละลายอยู่อีกร้อยละ ๑๐            ๒๕/๑๖๓๖๘
            ๔๘๔๐. เลือดไม้  ดู เรือดไม้ - ลำดับที่ ๔๗๓๒       ๒๕/๑๖๓๗๐
            ๔๘๔๑. เลือดออก ไข้  เป็นกลุ่มอาการไข้เลือดออกเฉียบพลัน มีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน  มีเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ ร่วมกัน และมีอาการอื่นประกอบด้วย เช่น ปวดเมื่อย ตามลำตัว คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด อาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย บวมตามตัว
                    กลุ่มอาการไข้เลือดออก ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส มีเชื้อไวรัสมากกว่า ๑๐ ชนิด เป็นตัวก่อโรค         ๒๕/๑๖๓๗๐
            ๔๘๔๒. แลง  มีบทนิยามว่า " แมงในคำว่า แลงกินฟัน แลงกินฟัน ชื่อโรค ซึ่งเข้าใจผิดว่า มีแมงชนิดหนึ่งเกาะกินรากฟัน ทำให้ฟันผุ       ๒๕/๑๖๓๗๖
            ๔๘๔๓. แลง - หิน  ดู ลูกรัง - ลำดับที่ ๔๙๒๕        ๒๕/๑๖๓๘๐
            ๔๘๔๔. แลนทานัม  เป็นธาตุลำดับที่ ๕๗  มีผู้ค้นพบธาตุนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๒ ธาตุนี้มีปรากฎในธรรมชาติ โดยมีปนอยู่ในแร่หายากหลายชนิด
                    ธาตุแลนทานัม  เป็นของแข็งมีลักษณะค่อนข้างอ่อน จนใช้มีดตัดได้ รอยตัดใหม่มีสีเงินแวววาว ซึ่งจะคล้ำลงอย่างรวดเร็ว สามารถตีแผ่เป็นแผ่นบาง ๆ หรือดึงให้เป็นเส้นลวดได้ เป็นโลหะสีเทาเงิน โลหะนี้จะผุกร่อนอย่างรวดเร็ว เมื่อทิ้งไว้ในบรรยากาศชื้น โดยเกิดสะเก็ดของแลนทานัมออกไซด์ขึ้นที่ผิว และจะหลุดร่วงออกไป จึงต้องเก็บรักษาธาตุนี้ไว้ในกาซเฉื่อย ธาตุนี้ว่องไวต่อปฎิกิริยามาก
                    ประโยชน์ของธาตุแลนทานัม คือ ใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมทำแก้ว ทำเลนซ์ถ่ายรูปที่มีคุณภาพสูง ใช้ทำโลหะเจือกับธาตุโคบอลต์ ซึ่งไปทำแม่เหล็กที่มีกำลังมาก ใช้ในอุตสาหกรรมสารเรืองแสง ใช้ในงานสร้างอุปกรณ์บางชนิด ทางอีเล็กทรอนิกส์       ๒๕/๑๖๓๘๐
            ๔๘๔๕. โล่  เป็นเครื่องกำบังปิดป้องกันศัสตราวุธชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นแผ่นแบน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าเกลี้ยงเรียบ ด้านหลังติดหูสำหรับถือ ใช้กำบังตัว เป็นยุทโธปกรณ์ชนิดหนึ่ง สำหรับกองทัพจ่ายให้ทหารราบ หรือพลเดินเท้า ถือประจำมือ เป็นเครื่องป้องกันตัว ในการรบพุ่ง
                    ปัจจุบันหลายประเทศใช้โล่ในหน่วยงานปราบจลาจล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ป้องกันตัว ให้พ้นจากการขว้างปาในระยะไกล หรือป้องกันการทุบตีในระยะใกล้ จากผู้ชุมนุมก่อความไม่สงบ       ๒๕/๑๖๓๘๓
            ๔๘๔๖. โลก   เป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ในระบบสุริยะ ซึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของโลก เมื่อเปรียบเทียบกับดาวเคราะห์อื่น ๆ ในระบบสุริยะ จะอยู่ในอันดับที่สี่ ขนาดเส้นรอบโลกที่ศูนย์สูตร ยาวประมาณ ๔๓,๐๐๐ กม. เส้นผ่าศูนย์กลางของโลก ที่ศูนย์สูตรประมาณ ๑๒,๗๕๗ กม. ส่วนตามแนวแกนจากขั้วโลกเหนือ ถึงขั้วโลกใต้ ประมาณ ๑๒,๗๑๔ กม.
                    ผิวโลก เป็นพื้นน้ำร้อยละ ๗๑ ส่วนที่เป็นพื้นดินร้อยละ ๒๙  โครงสร้างของโลก ส่วนนอกสุดเรียกว่า เปลือกโลก มีความหนาต่างกัน ส่วนที่เป็นพื้นทวีปหนา ๒๔ - ๔๘ กม. ส่วนที่เป็นพื้นมหาสมุทรหนา ๘ - ๑๖ กม.  ถัดจากเปลือกลงไปเป็นชั้นที่เรียกว่า แมนเทิล มีลักษณะหนืดคล้ายพลาสติก ซึ่งเคลื่อนไหวหมุนเวียนในลักษณะที่ส่วนบนลงไปข้างล่าง และข้างล่างลอยขึ้นมาแทน ชั้นของเปลือกโลกลอยอยู่บนชั้นนี้ จึงทำให้เปลือกโลกเคลื่อนที่เรียกว่า ทวีปเลื่อน ชั้นนี้หนาประมาณ ๒,๘๙๕ กม. ถัดจากชั้นนี้ไปเป็นแก่นโลก แบ่งออกเป็นสองชั้น ได้แก่ แก่นโลกชั้นนอก สันนิษฐานว่า เป็นของเหลวประกอบด้วยแร่เหล็ก และนิเกิล มีอุณหภูมิประมาณ ๒,๒๐๐ - ๒,๗๕๐ องศาเซลเซียส ชั้นนี้หนาประมาณ ๒,๒๒๐ กม. และแก่นโลกชั้นใน สันนิษฐานว่า เป็นของแข็ง เพราะมีแรงกดจากภายนอกมาก และน่าจะเป็นแร่เหล็ก ชั้นนี้หนาประมาณ ๑,๒๕๕ กม.
                    ปัจจุบันเชื่อกันว่า เปลือกโลก บางบริเวณมีรอยปริแยกจากกัน เกิดการดันตัวของหินละลาย เป็นภูเขาไฟ          ๒๕/๑๖๓๙๑
            ๔๘๔๗. โลกธรรม  พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องโลกธรรมไว้ รวมแปดประการคือ การได้ลาภ การเสื่อมลาภ การได้ยศ การเสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข และทุกข์
                    โลกธรรมทั้งแปดประการนี้ ย่อลงเป็นอารมณ์ได้สองประการคือ
                    ๑. อิฎฐารมณ์  คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนา ได้แก่ การได้ลาภ การได้ยศ การได้รับสรรเสริญ และสุข
                    ๒. อนิฎฐารมณ์  คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ได้แก่ การเสื่อมลาภ การเสื่อมยศ การถูกนินทา และทุกข์         ๒๕/๑๖๓๙๘

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |