| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

 
เล่ม  ๒๖     ฦ, ฦา - สตูล            ลำดับที่ ๔๘๔๘ - ๔๙๗๖          ๒๖/ ๑,๖๔๓๙  -  ๑๗,๐๕๒

            ๔๘๔๘.  ฦ, ฦา  เป็นอักษรในภาษาไทยที่ไม่นับรวมอยู่ในจำนวนอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ ตัว ของไทย ในภาษาไทยไม่มีคำที่เขียนด้วยอักษร ฦ เลย ส่วน ฦา มีใช้ในสมัยโบราณ หมายถึงคำว่า ลือ ที่เป็นกิริยาในคำว่า ฦาชา หมายถึง ลือชา และ ฦาสาย หมายถึง ลือสาย

            ๔๘๔๙. ว พยัญชนะตัวที่สามสิบเจ็ด  ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะ ๔๔ รูป ของไทย ใช้เป็นพยัญชนะต้นเดี่ยว ๆ ในการเขียนคำไทย  และใช้ผสมกับอักษร ก ข และ ค  เป็นอักษรควบกล้ำ กว ขว และ คว ตามลำดับ อักษร ว ใช้เป็นพยัญชนะตัวสะกด อ่านออกเสียงแม่ เกอว เช่น กาว เหลว เขียว แถว  นอกจากนั้น ยังใช้แทนเสียงสระอัว เช่น ในคำว่า มัว กลัว หัว รั่ว กวน ขวบ ข่วน ควง ควบ
                     อักษร ว เป็นอักษรต่ำ ดังนั้น คำที่มีตัว ว เป็นพยัญชนะตัน จะผันได้สามเสียงวรรณยุกต์ ได้แก่ สามัญ โท และตรี เช่น  วา ว่า ว้า ถ้าจะผันให้ได้ครบห้าเสียงวรรณยุกต์ ก็โดยใช้ ห นำ เช่น วา หว่า ว่า / หว้า ว้า หวา
                     เสียงที่แทนด้วยอักษร ว ในภาษาไทย เป็นเสียงที่เรียกว่า เสียงกึ่งสระ หมายถึง เสียงที่ออกคล้ายสระ แต่มีหน้าที่คล้ายพยัญชนะ เสียง ว มีลักษณะคล้ายเสียง อู เวลาออกเสียงมีการห่อริมฝีปาก และลิ้นส่วนหลังเคลื่อนไหว      ๒๖/๑๖๔๔๐
            ๔๘๕๐. วนประเวศ  แปลว่า การเข้าป่า เป็นชื่อกัณฑ์ (ตอน) ที่สี่ ของมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมีทั้งหมดสิบสามกัณฑ์ กัณฑ์นี้ว่าด้วยพระเวสสันดร ออกเดินทางจากนครเชอุดร เมืองหลวงของรัฐสีพี ไปถึงนครมาตุละ เมืองหลวงของเจตรัฐ แล้วเสด็จต่อไปจนถึงเขาวงกต
                    พระเวสสันดร ทรงตั้งพระทัยจะเสด็จไปผนวชเป็นฤาษีที่เขาวงกต แต่ลำพังแต่พระนางมัทรีพระมเหสี ขอตามเสด็จไปพร้อมพระโอรส และพระธิดา คือ พระชาลี และพระกัณหา ทั้งสี่พระองค์ทรงอาศัยอยู่ที่เขาวงกต เป็นเวลาถึงเจ็ดเดือน โดยได้ทรงบรรพชาเป็นฤาษี       ๒๖/๑๖๔๔๒
            ๔๘๕๑. วรรณกรรม  แปลตามรูปศัพท์ว่า ทำให้เป็นหนังสือ หมายความถึง การเขียนหนังสือ และยังรวมถึงเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา ที่เรียกว่า มุขปาฐะ ด้วย
                    วรรณกรรม อาจจำแนกเป็นสองลักษณะคือ วรรณกรรมธรรมดา และวรรณกรรมชั้นดี โดยนำวรรณกรรมทุกประเภทมาพิจารณาส่วนประกอบต่าง ๆ ได้แก่ รูปแบบ ภาษาที่ใช้ จุดมุ่งหมาย แก่นเรื่อง และประโยชน์
                    การสร้างสรรค์วรรณกรรมนั้น มีทั้งระดับธรรมดาและระดับชั้นดี และเมื่อวรรณกรรมชั้นดีมีความประณีต บรรจงจนถึงขั้นศิลปะ ก็จะขึ้นไปถึงระดับ "วรรณคดี" หรือจนถึงขั้น "วรรณศิลป์"      ๒๖/๑๖๔๔๖
            ๔๘๕๒. วรรณคดี  คือ หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่า แต่งดี ซึ่งเป็นความหมายอย่างกว้าง ๆ ในการพิจารณาหนังสือว่า หนังสือเล่มใดพึงนับเป็นวรรณคดี
                    วรรณคดีนั้น สร้างขึ้นมาจากวรรณกรรมอีกชั้นหนึ่ง วรรณกรรมที่แต่งดีเท่านั้น ที่อาจจะนับเป็นวรรณคดีได้ วรรณคดียังอาจแบ่งตามลักษณะของวิธีแต่งได้อย่างกว้าง ๆ  เป็นสองชนิดคือ ร้อยกรอง และร้อยแก้ว
                    วรรณคดี อาจแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ คือ วรรณคดีมหากาพย์ วรรณคดีนิทาน วรรณคดีศาสนา วรรณคดีบทละคร วรรณคดีพื้นบ้าน วรรณคดีประวัติศาสตร์ วรรณคดีพระราชหัตถเลขา วรรณคดีนิราศ วรรณคดีเสภา และวรรณคดีคำหลวง
                    กล่าวโดยสรุป วรรณคดี คือ วรรณกรรมที่แต่งได้ดีถึงขนาดอันอาจจัดอยู่ในขั้นวรรณศิลป์       ๒๖/๑๖๔๔๗
            ๔๘๕๓. วรรณยุกต์  มีบทนิยามว่า  "ระดับเสียงสูงต่ำของคำ ในภาษาไทยมีห้าเสียงคือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา มีรูปเครื่องหมายบอกระดับของเสียงอยู่เบื้องบนสี่รูปคือ ไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี และไม้จัตวา"
                    ภาษาวรรณยุกต์มีมากกว่า ๑,๐๐๐ ภาษา ในทวีปแอฟริกา มีภาษาปันตู ในเคนยา ภาษาทวิ ในซูดาน เป็นต้น ในทวีปเอเชีย มีภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาญวน ภาษาพม่า เป็นต้น ในทวีปยุโรปมีภาษาสวีเดน ภาษานอร์เวย์ เป็นต้น
                    โดยปรกติภาษาทั่วไป ประกอบด้วย พยัญชนะและสระ แต่ภาษาวรรณยุกต์จะต้องมีเสียงวรรณยุกต์ เป็นส่วนประกอบที่สาม เพิ่มขึ้น
                    จำนวนเสียงวรรณยุกต์ อาจจะแตกต่างกันออกไปแต่ละภาษา ภาษาไทยกลาง มีวรรณยุกต์ห้าเสียง ภาษาปักษ์ใต้ ถิ่นสงขลา และปากพนัง มีเสียงวรรณยุกต์เจ็ดเสียง ภาษาจีนกลางมี วรรณยุกต์สี่เสียง ภาษาจีนกวางตุ้ง มีเสียงวรรณยุกต์เก้าเสียง และภาษาเวียดนาม มีเสียงวรรณยุกต์ หกเสียง เป็นต้น       ๒๖/๑๖๔๕๑
            ๔๘๕๔. วรรณศิลป์  เป็นส่วนที่ดีเลิศ หรือจุดสูงสุด ในการแต่งคำประพันธ์ทั้งร้อยกรอง และร้อยแก้ว
                     ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งในการแต่งคำประพันธ์ให้ดีเด่น ถึงขึ้นวรรณศิลป์ คือ รสของคำประพันธ์ มีอยู่เก้าอย่างคือ รสรัก รสแห่งความสงสาร รสตลกขบขัน รสโกรธ เคียดแค้น ชิงชัง รสประหลาด ทึ่ง อัศจรรย์ รสขยะแขยง น่ารังเกียจ ขนลุกขนพอง รสแห่งความกลัว น่าตื่นเต้นตกใจ หวาดหวั่นพรั่นพรึง อกสั่นขวัญหาย รสกล้าแสดงความฮึกเหิมห้าวหาญ และรสสงบเยือกเย็น
                    ลีลา หมายถึง ท่วงทำนองในการแต่งคำประพันธ์ ตามแบบของไทยมีอยู่สี่แบบคือ แต่งให้งาม ทำความพอใจให้แก่หญิง ถ้อยคำแสดงความโกรธ และแบบแห่งการพิลาปคร่ำครวญ        ๒๖/๑๖๔๖๑
            ๔๘๕๕. วรวงศาธิราช, ขุน   เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาเพียง ๔๒ วัน ในปี พ.ศ.๒๐๙๑ แต่มีความชั่วร้ายมาก จึงไม่ได้รับการยกย่องเป็นพระมหากษัตริย์ ดังเช่นองค์อื่นๆ ในสมัยอยุธยา
                    ขุนวรวงศาธิราช เดิมเป็นขุนนางผู้น้อยชื่อ พันบุตรศรีเทพ  เป็นพนักงานเฝ้าหอพระ และอาจเป็นญาติห่างๆ กับท้าวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะพระยอดฟ้า ขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุเพียงสิบเอ็ดพรรษา ขุนวรวงศาธิราชได้เป็นชู้กับท้าวศรีสุดาจันทร์ ต่อมาท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ราชาภิเษก ขุนวรวงศาธิราชเป็นกษัตริย์ แล้วกำจัดพระยอดฟ้าโดยวางยาพิษ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑         ๒๖/๑๖๔๗๗
            ๔๘๕๖. วราหวตาร  ดู นารายณ์สิบปาง ๒ - ลำดับที่ ๒๘๖๓        ๒๖/๑๖๔๗๙
            ๔๘๕๗. วสวัตตี  เป็นผู้ปกครองสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด ของสวรรค์ชั้นฉกามาพจร หกชั้น มีชื่อเต็มว่า ท้าวปรนิมมิตวสวัตตี
                    ปรนิมมิตวสวัตตี แปลว่า แดนที่อยู่ของผู้มีอำนาจส่งให้เทพชั้นอื่น นิรมิตทิพยสมบัติให้ คือ
                    บนสวรรค์ชั้นนี้มีอาณาเขตแบ่งออกเป็นสองแดนคือ แดนเทพและแดนมาร มีอาณาเขตแยกกันเด็ดขาด ไม่ขึ้นต่อกันไม่เป็นศัตรูกัน ต่างอยู่กันอย่างสงบสุข       ๒๖/๑๖๔๗๙
            ๔๘๕๘. วสันตวิษุวัติ  ดู วิษุวัตร -  ลำดับที่ ๔๘๙๙        ๒๖/๑๖๔๘๐
            ๔๘๕๙. วอลแตร์  (พ.ศ.๒๒๓๗ - ๒๓๒๑)  เป็นนักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศสที่สำคัญยิ่งคนหนึ่ง ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔  ซึ่งถือกันว่าเป็นยุคสว่าง แนวคิดของวอลแตร์ ได้แก่  แนวคิดด้านศาสนา ด้านการศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง การปกครอง และด้านสังคม ลีลาการเขียนของเขาเฉียบคม ใช้ภาษาที่กินใจ และสื่อความหมายได้ดี งานเขียนของเขาถือกันว่า เป็นวรรณกรรมเชิงปรัชญา ยังได้วางพื้นฐานทางด้านแนวความคิด ที่พวกนักปฎิวัติจะนำไปใช้ในหนทางสร้างสังคมใหม่ขึ้น ในภายหลังโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในเรื่องการเมือง การปกครอง และสังคม ที่ยึดถือประโยชน์สุขของประชาราษฎร์ ส่วนรวมเป็นหลัก       ๒๖/๑๖๔๘๐
            ๔๘๖๐. วอลเลย์บอล  เป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘  เพื่อให้แทนกีฬาบาสเกตบอล ซึ่งไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่น เนื่องจากลูกบาสเกตบอลมีขนาดใหญ่ และน้ำหนักมาก และในการเล่นต้องมีการปะทะกันด้วย
                    การเล่น ประกอบด้วยผู้เล่นสองทีม มีผู้เล่นทีมละหกคน แดนหน้ามีสามคน แดนหลังมีสามคน สนามที่ใช้เป็นสนามสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๙ x๑๘ เมตร เส้นแบ่งเขตอยู่ใต้ตาข่าย ซึ่งเป็นแนวตั้งเหนือเส้นแบ่งเขต ตาข่ายสูง ๒.๔๓ เมตร สำหรับทีมชาย และ ๒.๒๔ เมตร สำหรับทีมหญิง
                    การเล่นใช้ระบบแพ้ - ชนะ กันสามในห้าเซต ได้รับการบรรจุให้แข่งขันในระดับโลกครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒         ๒๖/๑๖๔๙๖
            ๔๘๖๑. วัคซีน  มีบทนิยามว่า "ผลิตผลที่ประกอบด้วย เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ที่ถูกฆ่าหรือทำให้มีฤทธิ์อ่อนแรง จนไม่เป็นอันตรายสำหรับฉีดเข้าสู่ร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรค ที่เกิดจากเชื้อนั้น ๆ"
                    ปัจจุบันนี้ โดยทั่วไปวัคซีน หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นชีวสาร หรือชีววัตถุต่าง ๆ ที่ได้จากเชื้อจุลินทรีย์ ได้แก่ แบคทีเรียทั้งตัว หรือเฉพาะส่วนประกอบบางส่วน เช่น สารพิษของแบคทีเรีย ไวรัส หรือส่วนของไวรัส โปรตีนสังเคราะห์ เชื้อพยาธิปรสิต  รวมถึงโมเลกุลของดีเอ็นเอ นำมาเตรียมให้พอเหมาะเรียกว่า แอนติเจน เมื่อทำให้เข้าสู่ร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ชนิดนั้น ๆ หรือต่อเชื้อโรคที่ใกล้เคียงกัน สารที่สร้างขึ้นนี้เรียกว่า แอนติบอดี้ อันเป็นสารที่ก่อให้เกิดภูมิต้านทานโรค  หรือภูมิคุ้มกันโรค         ๒๖/๑๖๕๐๐
            ๔๘๖๒. วังสะ  แคว้นหนึ่ง ในสิบหกแคว้นของชมพูทวีป หรืออินเดียโบราณ รวมเรียกว่า มหาชนบท ซึ่งล้วนมีอำนาจรุ่งเรือง มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล
                    แคว้นวังสะ ตั้งอยู่บนลุ่มน้ำยมนา ทางทิศใต้ของแคว้นโกศล ทางทิศตะวันออกของแคว้นกาสี และทางทิศเหนือของแคว้นอวัมตี มีเมืองหลวงชื่อ โกสัมพี เป็นชุมทางการค้าขาย
                    ในรัชสมัยพระเจ้าอุเทน กรุงโกสัมพี เจริญรุ่งเรืองสูงสุด มีบุคคลร่ำรวยขั้นเศรษฐีจำนวนมาก เช่น โฆษกเศรษฐี กุกกุฎเศรษฐี ปาวาริกเศรษฐี พระนางสามาวดี คหบดี และเศรษฐีจำนวนมาก รวมทั้งเศรษฐีทั้งสามคนดังกล่าวแล้ว ได้สร้างวัดถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์หลายแห่ง เช่น โฆษกเศรษฐี สร้างวัดโฆสิตาราม กุกกุฎเศรษฐี สร้างวัดกุกุฎาราม ปราวาริกเศรษฐี สร้างวัดปาวาริการาม พระพุทธเจ้าเสด็จมาจำพรรษาที่เก้า และทรงแสดงพระธรรมเทศนาหลายสูตร เช่น ชาลียสูตร ว่าด้วยการโต้ตอบกับชาลียะปริพาชก เรืองชีวะกับสรีระ โกสัมพีสูตร ว่าด้วยภิกษุชาวโกสัมพีแตกสามัคคีกัน
                    พระถังซัมจั๋ง ได้เดินทางไปสืบพระพุทธศาสนาในอินเดีย ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๗๒ - ๑๑๘๗ ได้บันทึกถึงเมืองโกสัมพีว่า ได้กลายเป็นเมืองร้าง มีแต่ซากอาคารบ้านเรือน พบซากสังฆารามสิบแห่ง ภายในกำแพงเมืองมีซากวิหารขนาดใหญ่ เห็นซากกำแพงสูง ๖๐ ฟุต พบซากสังฆารามที่เป็นโฆสิตาราม มีพระสถูปสูง ๒๐๐ ฟุต ปรากฎอยู่       ๒๖/๑๖๕๑๐
            ๔๘๖๓. วัชชี  แคว้นและประชาชนในสมัยพุทธกาล วัชชีเป็นแคว้นหนึ่งในสิบหกแคว้น ปัจจุบันวัชชีอยู่ในรัฐพิหาร ของประเทศอินเดีย
                    แคว้นวัชชี ติดต่อกับแคว้นโกศลทางเหนือ และแคว้นมคธ ทางใต้ เคยให้ความร่วมมือกับพระเจ้าอชาตศัตรู แห่งมคธ ทำสงครามกับพระเจ้าปเสนทิโกศล  แห่งแคว้นโกศล จนได้รับชัยชนะ แต่ต่อมาพวกวัชชีต้องทำสงครามกับพระเจ้าอชาตศัตรูหลายครั้ง แต่ในที่สุดก็ถูกพระเจ้าอชาตศัตรู ใช้กโลบายทำให้เจ้าลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี แตกสามัคคี และสามารถยึดวัชชีได้ในที่สุด       ๒๖/๑๖๕๑๖
            ๔๘๖๔. วัชชีบุตร  เป็นชื่อเรียกพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ที่ออกบวชจากแคว้นวัชชี
                    พระวัชชีบุตร มีบวชกันมาก ต่อมา พระวัชชีบุตรกลุ่มหนึ่งได้ประกาศตั้งกลุ่มของตนเอง เป็นนิกายในพระพุทธศาสนานิกายหนึ่ง ในสิบแปดนิกาย เรียกว่า นิกายวัชชีบุตร เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.๑๓๐ - ๒๑๘
                    พระวัชชีบุตร มีทั้งที่เรียกเป็นกลุ่ม และเรียกเป็นรายบุคคล ที่เรียกเป็นกลุ่มแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ
                    ๑.  กลุ่มบริวารพระเทวทัตมี ๕๐๐ รูป
                    ๒.  กลุ่มที่แสดงนอกรีตผิดพระวินัยสิบประการ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๑๐๐ - ๓๐๐ ปี
                    ๓.  กลุ่มพระฉัพพัคคีย์ เป็นชาววัชชีมีหกรูป ได้แสวงหาลาภสักการะโดยไม่เคารพพระวินัย จึงเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าต้องบัญญัติสิกขาบทอยู่เนือง ๆ
                    นอกจาก พระวัชชีบุตรสามกลุ่มนี้แล้ว ยังมีพระวัชชีบุตรรูปอื่น ๆ ที่ออกบวชแล้วได้บรรลุพระอรหัตผล  ๒๖/๑๖๕๒๑
            ๔๘๖๕. วัฒนธรรม, กระทรวง  ในส่วนราชการได้เริ่มก่อตั้งหน่วยงานส่งเสริมวัฒนธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ คือ กองวัฒนธรรม สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๕ ได้มี พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ ให้จัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๖ ให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นทบวงการเมือง พ.ศ.๒๔๙๕ ได้จัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้น มีกรมในสังกัดสามกรมคือ กรมการวัฒนธรรม กรมการศาสนา และกรมศิลปากร       ๒๖/๑๖๕๒๔
            ๔๘๖๖. วัณโรค  เป็นโรคติดเชื้อเฉพาะระบบอวัยวะหรือเป็นทั่วร่างกายยกเว้นเล็บและผม เชื้อก่อโรคคือเชื้อวัณโรค
                    ตามธรรมชาติ เชื้อวัณโรคอาศัยเจริญพันธุ์ในคนและสัตว์ เชื้อที่ถูกขับออกจากร่างกาย เช่น ทางเสมหะ เมื่อตกอยู่ในที่อับชื้นและอับแสง จะมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน เชื้อที่อยู่ในละอองของเสมหะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณเจ็ดวัน แต่ถ้าถูกแสงแดดโดยตรงเชื้อจะตายภายในสองถึงสามชั่วโมง
                    เชื้อวัณโรค เป็นจุลินทรีย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่คนและสัตว์ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย โดยการหายใจละอองเสมหะ ที่มีเชื้อแขวนลอยตัวอยู่ในอากาศได้นาน ๆ
                    วัณโรค เป็นโรคเก่าแก่พบในคนไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว ปัจจุบันพบได้ในประชากรโลกทั่วไป       ๒๖/๑๖๕๓๐
            ๔๘๖๗. วัด  เป็นคำเรียกที่ดินอันเป็นที่ตั้งที่อยู่ของพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล ที่อยู่ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนาและนักบวชอื่น ๆ ต่างก็เรียกว่าอารามทั้งสิ้น
                    สาเหตุที่เรียกที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ว่า วัด นั้นสืบเนื่องมาจากเมื่อมีผู้ยกที่ดินสร้างวัดกันมากขึ้น พระเจ้าแผ่นดินในขณะนั้นทรงเห็นว่า จะเป็นปัญหาต่อไปในภายหน้า จึงทรงกำหนดให้มีการวัดที่ดิน แบ่งสร้างเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ จึงทำให้มีการเรียกที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ว่า วัด อีกชื่อหนึ่งในเวลาต่อมา
                    พระราชบัญญัติเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ตราขึ้นเป็นฉบับแรกคือ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ มาตรา ๕ ได้กำหนดประเภทวัดไว้เป็นสามประเภท ได้แก่ พระอารามหลวง อารามราษฎร์ และที่สำนักสงฆ์คือ วัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ต่อมาได้มี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ได้แบ่งวัดออกเป็นสองประเภท ได้แก่ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว และสำนักสงฆ์ มีกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา ๓๙ ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้คณะกรรมการอำเภอเป็นผู้ออกใบอนุญาตสร้างวัด และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ออกประกาศตั้งวัด หลังจากนั้นได้มี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ แบ่งวัดออกเป็นสองประเภท ได้แก่ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ มีฐานะเป็นนิติบุคคลเหมือนกัน
                    ปัจจุบันการสร้างวัด ที่ดินที่จะใช้สร้างวัดต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๖ ไร่ และสมควรเป็นที่พำนักอาศัยของพระ ต้องไม่อยู่ในบริเวณอันเป็นสถานที่ตากอากาศ ที่พักผ่อนหย่อนใจ เพื่อความสำราญรื่นรมย์ของประชาชน หรือสถานที่อันจะเป็นเหตุขัดขวาง ขัดข้องหรือไม่สะดวกต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และความเป็นอยู่ของประชาชน ต้องมีบ้านเรือนของประชาชนตั้งอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่ง มั่นคงโดยรอบสถานที่ที่จะสร้างวัด และต้องอยู่ห่างจากวัดอื่นไม่น้อยกว่า ๒ กม. และมีประชาชนไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน
                    หากวัดใดประสงค์จะรวมวัด ย้ายวัด ยุบเลิกวัด หรือขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๗) ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก่อน แล้วกระทรวงศึกษาธิการประกาศรวมวัด หรือย้ายวัด ในราชกิจจานุเบกษา
                    การขอยกวัดร้างเป็นวัดมีพระสงฆ์ได้ โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการขอยกวัดร้าง เป็นวัดมีพระสงฆ์ พ.ศ.๒๕๑๔ ซึ่งต้องได้รับความเห็นของจากเถรสมาคมก่อน แล้วกระทรวงศึกษาธิการประกาศยกวัดนั้น เป็นวัดมีพระสงฆ์ต่อไป   ๒๖/๑๖๕๓๗
            ๔๘๖๘. วัตรบท  เป็นหลักธรรมหมวดหนึ่ง สำหรับผู้ครองเรือนจะพึงปฎิบัติตลอดชีวิต มีเจ็ดประการคือ
                     ๑. เลี้ยงดูบิดามารดาตลอดชีวิต
                     ๒. อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต
                     ๓. พูดจากอ่อนหวานตลอดชีวิต
                     ๔. ไม่พูดส่อเสียดตลอดชีวิต
                     ๕. มีจิตปราศจากความตระหนี่ ให้ทานตลอดชีวิต
                     ๖. พูดคำสัตย์ตลอดชีวิต
                     ๗. ไม่ถือโกรธตลอดชีวิต
                    พระพุทธเจ้าตรัสวัตรบทนี้ไว้ ในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ (สังยุตตนิกายสคาถวรรค)  เพื่อตอบคำถามของเทวดาที่ว่า ท้าวสักกะประพฤติธรรมข้อใด จึงได้มาเกิดเป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์        ๒๖/๑๖๕๔๕
            ๔๘๖๙. วันรัต, สมเด็จพระ  เป็นราชทินนามสมณศักดิ์ สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฎ รองจากสมเด็จพระสังฆราช
                    เดิมใช้คำว่า วันรัต หรือ พนรัต เป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ ฝ่ายอรัญวาสี คือ คณะสงฆ์ลังกาวงศ์ ที่เข้ามาครั้งแรกในสมัยสุโขทัย ต่อมาเมื่อคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ คณะป่าแก้ว เข้ามาในสมัยอยุธยา จึงนำคำนี้มาใช้เป็นราชทินนาม สำหรับเจ้าคณะใหญ่ คณะป่าแก้ว แต่เปลี่ยนเป็น วันรัตน หรือ พนรัตน          ๒๖/๑๖๕๔๗
            ๔๘๗๐. วัว หรือโค  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีสี่กระเพาะ มีกีบคู่ รูปร่างล่ำใหญ่ ร่างการเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ มีเขาทั้งตัวผู้ และตัวเมีย
                    วัว  ให้ประโชน์แก่มนุษย์ เช่น การบริโภค นม เนย เนื้อ ส่วนขน และหนัง เอามาทำเครื่องนุ่งห่ม ขี้วัวใช้ทำปุ๋ย มีการนำแรงงานของวัว มาลากคันไถช่วยในการไถนา พรวนดินทำสวน นวดข้าว
                    ในศาสนาฮินดู นับถือวัวว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพาหนะของพระศิวะ เป็นวัวเพศผู้ ส่วนวัวเพศเมีย ถือว่าเป็นมารดาของมนุษย์ เพราะให้นมเลี้ยงดูมนุษย์       ๒๖/๑๖๕๕๕
            ๔๘๗๑. วัสการพราหมณ์  เป็นพราหมณ์ผู้หนึ่งในสมัยพุทธกาล ที่นำความแตกสลายมาสู่บรรดากษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี จนแคว้นวัชชีต้องสูญเสียเอกราชในที่สุด
                    วัสการพราหมณ์ เป็นอัครมหาเสนาบดี หรือมหาอำมาตย์ นายกของพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ได้แนะอุบายแก่พระเจ้าอชาติศัตรูว่า ควรทำลายความสามัคคีของกษัตริย์ลิจฉวีเสีย กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูก็เข้ายึดเมืองเวสาลี ได้โดยง่าย       ๒๖/๑๖๕๕๗
            ๔๘๗๒. วา, เพลง  มีบทนิยามว่า "เพลงปี่พาทย์ ทำนองหนึ่งใช้บรรเลงก่อนตัวแสดง เพื่อให้ผู้ชมรู้ว่าการแสดงจะเริ่มแล้ว"
                    โดยทั่วไปของละครก่อนแสดง หรือลงโรง จะต้องมีการบรรเลงเพลงโหมโรงก่อน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เพลงตระร้อ สามลา เมื่อบรรเลงจบทุกเพลงแล้ว จึงบรรเลงเพลงวาต่อ เป็นเพลงสุดท้าย เพื่อบอกให้รู้ว่า ตัวละครเริ่มออกแสดงแล้ว
                    เมื่อการแสดงละคร เพลงจะต้องบรรเลงเพลงวาอีกเช่นกัน เรียกว่า วาลาโรง       ๒๖/๑๖๕๖๑
            ๔๘๗๓. วาติกัน, นครรัฐ  มีพื้นที่ประกอบ ๒๕๐ ไร่ ตามสนธิสัญญาแห่งลาเตรัน นครรัฐวาติกัน มีอาณาเขตประกอบด้วย วังวาติกัน วังกัสเตลกันดอลโฟ อันเป็นที่ประทับร้อน อยู่นอกชานกรุงโรม ไปทางทิศใต้ มหาวิทยาลัยเกรกอเรียน และโบสถ์ ๑๓ แห่ง ในกรุงโรม เฉพาะวังวาติกัน มีพื้นที่ ๑๕๐ ไร่ ซึ่งรวมโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ พิพิธภัณฑ์วาติกัน หอสมุดวาติกัน และที่ประทับของสันตะปาปา ด้วย
                    แม้นครรัฐวาติกัน จะมีการติดต่อทางการทูตกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่ในนครรัฐวาติกัน หามีที่ตั้งสถานทูตไม่ เพราะทูตประจำวาติกัน มักได้แก่ ทูตประจำประเทศใด ประเทศหนึ่งในยุโรป
                    นครรัฐวาติกัน มีพลเมืองประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน เป็นพลเมืองสัญชาติวาติกัน พลเมืองวาติกันเหล่านี้ มีสัญชาติวาติกัน เฉพาะในขณะดำรงตำแหน่ง หรือเป็นภรรยาของพลเมืองวาติกัน หรือเป็นบุตรที่มีอายุไม่เกิน ๒๕ ปี ถ้าเกินต้องกลับคืนสัญชาติเดิม ผู้ถือสัญชาติวาติกัน หากพ้นตำแหน่งเมื่อใด ก็ต้องคืนสู่สัญชาติเดิมของตน พร้อมทุกคนในครอบครัว หากชาติเดิมของตนไม่ยอมรับ ให้ขอสัญชาติอิตาลี ซึ่งรัฐบาลอิตาลีมีข้อผูกมัดต้องรับเสมอ       ๒๖/๑๖๕๖๔
            ๔๘๗๔. วาเนเดียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๒๓ นักวิทยาแร่ ชาวสเปน พบเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๔
                    ในธรรมชาติมีวาเนเดียนทั่วไป ในเปลือกโลก ไม่พบธาตุนี้เป็นโลหะบริสุทธิ์ แต่พบเป็นสารประกอบในแร่ต่าง ๆ วาเนเดียมบริสุทธิ์เป็นโลหะสีขาวเงิน อ่อน ดึงยืดได้ ทำเป็นแผ่นม้วนได้ มีสมบัติหลายประการที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจการต่าง ๆ ที่เด่นมากคือ ต้านทานการกัดกร่อน ไม่เป็นสนิม และมีความแข็งแรง จึงมักใช้ทำเหล็กกล้าผสม       ๒๖/๑๖๕๗๑
            ๔๘๗๕. วามนาวตาร    ดู นารายณ์สิบปาง  - ลำดับที่ ๒๘๖๓       ๒๖/๑๖๕๗๔
            ๔๘๗๖. วามาจาร  เป็นลัทธิพุทธตันตระแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบซ้าย หรือฝ่ายซ้าย คู่กับลัทธิทักษิณาจาร ซึ่งเป็นแบบขวา หรือฝ่ายขวา ทั้งสองแบบเป็นฝ่ายมหายาน ที่รับเอาลัทธิตันตระของฮินดู มาปรับปรุงเข้ากับปรัชญา และพิธีกรรมของพระพุทธศาสนา แต่ปรากฎว่า ชาวพุทธทั่วไปทั้งฝ่ายเถรวาท และอาจริยาวาท (มหายาน)  ไม่ยอมรับ เพราะเห็นว่า เป็นลัทธิสัทธรรม ปฎิรูป พวกมหายานอื่น ๆ เรียก พุทธตันตระ ว่า มหายานนอกรีต ต่อมาเรียกว่า ตันตรยาน
                    เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พวกพุทธตันตระ คณะหนึ่งประกาศแยกตัวออกจากมหายานอย่างเปิดเผย พวกนี้ต่อมาเรียกว่า ทักษิณาจาร เพราะมีหลักที่เรียบง่าย และสุภาพ คือ พยายามดัดแปลงฮินดูตันตระ ให้เข้ากับหลักปรัชญา และหลักพิธีกรรมของพุทธปรัชญา สำนักมาธยมิกะ และโยคาจาร  ต่อมามีพุทธตันตระอีกคณะหนึ่ง เรียกตนเองว่า วามาจาร ได้รับเอาหลักการของฮินดูตันตระ มามากกว่าพวกทักษิณาจาร ทั้งนี้เพื่อเอาใจพวกนิยมลัทธิตันตระ จึงวางหลักการหนักไปทางฮินดูตันตระ โดยสรุปมีสามอย่างคือ
                    ๑. การนับถือศักติ หรือเทพี ว่าเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธะ และพระโพธิสัตว์
                    ๒. นับถือผี และเทพ ที่ดุร้ายน่ากลัว
                    ๓. ถือว่า การร่วมประเวณี และการไม่กังวลกับข้อห้ามใด ๆ ทางสังคม เป็นหลักการที่จำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการฝึกจิตให้เป็นอิสระ        ๒๖/๑๖๕๗๔
            ๔๘๗๗. วายุภักษ์  เป็นตัวละครในบทละครเรื่อง รามเกียรติ์  มีลักษณะท่อนบนเป็นยักษ์ ท่อนล่างเป็นนก เป็นเจ้าเมืองวิเชียร มีมารดาเป็นนก และบิดาเป็นยักษ์ ไม่ได้อยู่ในทศพิธราชธรรม ชอบเบียดเบียนทั้งฤษี และเทวดา ครั้งหนึ่งขณะบินไปชมป่ากับไพร่พลยักษ์ ได้เห็นพระรามกับพระลักษณ์ ประทับอยู่กับเหล่าพญาวานร เมื่อครั้งทั้งสององค์ออกเดินป่าเป็นครั้งที่สอง วายุภักษ์ได้บินโฉบไปจับทั้งสององค์ เพื่อนำไปเป็นภักษาหาร แต่สุครีพและหนุมานเข้าชิงทั้งสององค์กลับมาได้ นิลพัทกับองคต ตามไปสังหารวายุภักษ์ลงได้
                    ในภาพจิตรกรรมและการแสดงโขน วายุภักษ์เป็นยักษ์ ทรงมงกุฎน้ำเต้า หน้าและเครื่องทรงสีเขียว       ๒๖/๑๖๕๘๐
            ๔๘๗๘. วาลมิกิ  ดู รามเกียรติ์  - ลำดับที่  ๔๖๙๖       ๒๖/๑๖๕๘๑
            ๔๘๗๙. วาลวิชณี  ดู กกุธภัณฑ์  - ลำดับที่ ๕       ๒๖/๑๖๕๘๒
            ๔๘๘๐. วาสิฎฐี   ดู กามนิต  - ลำดับที่ ๓๗๘       ๒๖/๑๖๕๘๒
            ๔๘๘๑. วาฬ, ปลา  ดู ปลาวาฬ  - ลำดับที่ ๓๔๑๕       ๒๖/๑๖๕๘๒
            ๔๘๘๒. วิกรมาทิตย์  เป็นกษัตริย์องค์หนึ่งของอินเดีย  มีพระชนม์ชีพอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๙ - ๑๐ พระองค์เป็นบุคคลที่มีองค์จริง และเป็นบุคคลในนิยายปนกัน พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้กล้าหาญ ทรงคุณธรรม เป็นนักปกครองผู้ยอดเยี่ยม ครองราชย์อยู่ที่กรุงอุชเชนี ทางตะวันตกของประเทศอินเดีย ได้ทำสงครามขับไล่พวกศกะ ที่เข้ามาครองอินเดียทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้อาณาจักรของพระองค์แผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง
                    ในทางประวัติศาสตร์ มีหลักฐานว่า กษัตริย์องค์ที่สาม ของราชวงศ์คุปตะ พระนาม จันทรคุปต์ ที่สอง นั้นคือ พระเจ้าวิกรมาทิตย์ ครองราชระหว่างปี พ.ศ.๙๑๘ - ๙๕๖ ในครั้งนั้นราชวงศ์คุปตะ เจริญสูงสุด
                    เรื่องของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือ นิทานเวตาล ๒๕ เรื่อง           ๒๖/๑๖๕๘๒
            ๔๘๘๓. วิชชา  แปลว่า ความรู้ ในพระพุทธศาสนา หมายถึง ความรู้ขั้นสูงเหนือความรู้ ที่เกิดจากประสาทสัมผัส แบ่งออกเป็น วิชชาสาม และวิชชาแปด
                    วิชชาแปด ซึ่งในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค มีกล่าวไว้ว่า ประกอบด้วย วิปัสสนาญาณ มโนมยิทธิ อิทธิวิธี ทิพโสต เจโตปริยญาณ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ทิพจักษุ และ อาสวขยญาณ
                    วิชชาสาม  ซึ่งในทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค มีกล่าวไว้ว่า ประกอบด้วย บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ และ อาสวขยญาณ
                    ในคืนวันตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงบรรลุ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ในปฐมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ ในมัชฌิมยาม และทรงบรรลุ อาสวขยญาณ ในปัจฉิมยาม
                    บุพเพนิวาสานุสติญาณ ได้แก่ การระลึกชาติได้ว่า ตนเคยเกิดมาแล้วที่ไหน มีชื่ออะไร มีความเป็นอยู่อย่างไร มีอายุยืน หรืออายุสั้นอย่างไร
                    จตุปปาตญาณ ได้แก่ การรู้การจุติ (การตาย) และการอุบัติ (การเกิด) เป็นความรู้ขั้นทำให้เห็นสัตว์ทั้งหลาย กำลังตาย กำลังเกิดในภพภูมิต่าง ๆ
                    อาสวักขยญาณ  ได้แก่ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ เป็นความรู้ขั้นละกิเลส รู้ว่าละกิเลสอะไรบ้าง กิเลสอะไรยังเหลืออยู่ หรือละได้หมดสิ้นแล้ว    ๒๖/๑๖๕๘๕
            ๔๘๘๔. วิญญาณ  มีบทนิยามว่า "สิ่งที่เชื่อกันว่า มีอยู่ในกายเมื่อมีชีวิต เมื่อตายจะออกจากกายล่องลอยไป หาที่เกิดใหม่ ; ความรับรู้ เช่น จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นขันธ์หนึ่งในขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ; โดยปริยาย หมายถึง จิตใจ เช่น มีวิญญาณนักสู้ มีวิญญาณศิลปิน"
                     วิญญาณ ตามบทนิยามข้างต้น มีสามความหมายคือ
                     ๑. หมายถึง  สิ่งที่เชื่อกันว่า มีอยู่ในกายเมื่อมีชีวิต เมื่อตายจะออกจากร่างกาย ล่องลอยไปหาที่เกิดใหม่
                     ๒. หมายถึง  ความรับรู้ ความหมายนี้ เป็นของพระพุทธศาสนา
                     ๓. โดยปริยาย หมายถึง จิตใจ ความหมายนี้ เป็นเรื่องสำนวน
                    กล่าวโดยสรุปวิญญาณ ในพระพุทธศาสนาไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่อาตมัน ไม่ใช่ชีวะ ไม่เหมือนกับวิญญาณ ของลัทธิศาสนาและปรัชญาอื่น        ๒๖/๑๖๕๘๙
            ๔๘๘๕. วิตามิน  เป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย แต่จำเป็น เพราะหากขาดวิตามินจะทำให้กระบวนการสร้างและสลายทำงานผิดปรกติและจะทำให้เกิดเป็นโรคต่าง ๆ ได้ วิตามินธรรมชาติทุกชนิดพบอยู่ในสิ่งมีชีวิตคือ พืชและสัตว์เท่านั้น ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ร่างกายไม่สามารถผลิตหรือสังเคราะห์วิตามินขึ้นได้ แต่ร่างกายจะได้รับวิตามินจากอาหารที่บริโภค ซึ่งมีอยู่ในเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้       ๒๖/๑๖๕๙๕
            ๔๘๘๖. วิทยาศาสตร์  เป็นวิทยาการสาขาหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความรู้ด้านธรรมชาติ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ประมวญความรู้ดังกล่าวให้เป็นระบบ เป็นกฎ เป็นทฤษฎีและหลักการ เพื่อใครก็ตามสามารถนำไปตรวจสอบความถูกต้องได้
                    ความเจริญรุดหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง เมื่อถึงสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของยุโรป ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙
                    ยุโรปในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างขนานใหญ่ โดยวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาปรับปรุงกระบวนการผลิต การประยุกต์และพัฒนาทฤษฎีของนิวตัน
                    ถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๖ วิทยาศาสตร์ยังคงรุดหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง การค้นพบสารประกอบใหม่ ๆ ทางเคมีได้เข้ามาพัฒนาชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น
                    ทุกวันนี้วิทยาศาสตร์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้ว เพราะการใช้วิทยาศาสตร์ในทางที่ถูกจะเพิ่มพูนคุณภาพของชีวิต       ๒๖/๑๖๕๙๙
            ๔๘๘๗. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวง  จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ โดยโอนกรมวิทยาศาสตร์และบริการ และสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติจากกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และสักนักงานพลังงานแห่งชาติ จำกสำนักนายกรัฐมนตรีมารวมกัน       ๒๖/๑๖๖๐๗
            ๔๘๘๘. วิทยุหยั่งอากาศ, เครื่อง   เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจอากาศชั้นบนที่สร้างขึ้นเพื่อมาใช้ควบคู่กับบอลลูน ที่บรรจุแกสไฮโดรเจน หรือแกสฮีเลียม และยังผูกร่มชูชีพขนาดเล็กในขณะที่ตรวจอากาศชั้นบน ตรวจวัดองค์ประกอบทางอุตนิยมวิทยา ได้แก่ ความกดอากาศ อุณหภูมิ  ความชื้นแล้วส่งข้อมูลการตรวจลงมาที่เครื่องรับบนพื้นดิน       ๒๖/๑๖๖๑๒
            ๔๘๘๙. วิธุรบัณฑิต  เป็นพระโพธิสัตว์ลำดับที่เก้าในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ ท่านดำรงตำแหน่งมหาราชครู ของพระเจ้าธนัญชัยโกรพย์ ซึ่งครองนครอินทรปัตถ์ แคว้นกุรุในชมพูทวีป และได้ทรงเน้นการบำเพ็ญสัจบารมีเป็นสำคัญ จนได้รับการยกย่องและมีชื่อเสียงไปทั่วว่าเป็นนักปราชญ์ผู้ยึดมั่นในความสัตย์ มีความสามารถในการใช้คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน โน้มน้าวจิตใจคนให้เลื่อมใสและเห็นคล้อยตาม       ๒๖/๑๖๖๑๔
            ๔๘๙๐. วินัย  โดยทั่วไปหมายถึงระเบียบสำหรับความประพฤติให้เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน ในทางพระพุทธศาสนา คัมภีร์สมันตปาสาทิกาเล่มหนึ่งได้อธิบายว่ามีสามความหมาย พระพุทธศาสนาแบ่งวินัยออกเป็นสองส่วนคือ อาทิพรหมจริยกาสิกขากับอภิสมาจาริกาสิกขา
                    สิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์ (คือสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ พระสงฆ์นำมาสวดทุก ๑๕ วัน) เหล่านี้ ยกเว้นเสขิยะ จัดเป็นอาทิพรหมจริยากาสิกขา ส่วนเสขิยะและสิกขาบทจำนวนมากที่ไม่ได้มาในพระปาติโมกข์ จัดเป็นอภิสมาจาริกาสิกขา
                    ในตอนต้นพุทธกาลตั้งแต่พรรษาที่ ๑ - ๑๑ พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทที่มีโทษหนักคือ อาบัติปาราชิก และที่มีโทษปานกลางคืออาบัติสังฆาทิเสส แต่ทรงบัญญัติสิกขาบทที่มีโทษเบาเช่น อาบัติปาจิตตีย์ ทุกฎไว้บ้างแล้ว
                    ขั้นตอนการบัญญัติสิกขาบทแต่ละครั้งคือ เมื่อเกิดเรื่องมัวหมองขึ้นในหมู่สงฆ์พระพุทธองค์จะตรัสสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสถามภิกษุผู้ก่อเหตุให้ทูลรับ แล้วทรงชี้โทษแห่งการประพฤติเช่นนั้น และตรัสอานิสงฆ์แห่งความสำรวมระวัง แล้วจึงทรงตั้งพระบัญญัติห้ามมิให้ภิกษุกระทำเช่นนั้นอีกต่อไป ทรงกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือล่วงละเมิด
                    ประโยชน์หรือจุดมุ่งหมายของการบัญญัติวินัย พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้สิบประการคือ
                    ๑. เพื่อความงามแห่งสงฆ์
                    ๒. เพื่อความผาสุกแห่งสงฆ์
                    ๓. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
                    ๔. เพื่อให้ภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักอยู่อย่างผาสุก
                    ๕. เพื่อปิดกั้นอาสวะที่เกิดในปัจจุบัน
                    ๖. เพื่อขจัดอาสวะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
                    ๗. เพื่อให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสได้เลื่อมใส
                    ๘. เพื่อให้คนที่เลื่อมใสแล้วเลื่อมใสยิ่งขึ้น
                    ๙. เพื่อให้พระสัทธรรมดำรงอยู่
                    ๑๐. เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย        ๒๖/๑๖๖๒๑
            ๔๘๙๑. วิปัสสนา  แปลว่าการเห็นแจ้ง เป็นวิธีฝึกจิตให้เกิดปัญญา โดยพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงว่า สรรพสิ่งไม่เที่ยง (อนิจจัง) ผันแปรแตกสลาย (ทุกขัง) และไม่มีตัวตนที่แท้จริง (อนัตตา)
                    โดยเหตุที่วิปัสสนาเป็นธรรมคู่กับสมถะ สมถะเป็นวิธีฝึกจิตให้สงบ โดยเพ่งอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในสี่สิบอย่างเป็นอารมณ์ สมถะ คือ สมาธิหรือเอกัคตา วิปัสสนากับสมถะ แม้จะมีอารมณ์แตกต่างกัน แต่ในด้านของการปฏิบัติแล้ว ทั้งสองย่อมเป็นคู่กันคือ เกื้อหนุนกัน มีวิธีปฏิบัติดังนี้
                     ๑. เจริญสมถะนำวิปัสสนา
                     ๒. เจริญวิปัสสนานำสมถะ
                     ๓. เจริญสมถะและวิปัสสนาสลับกัน
                     วิปัสสนา  เป็นวิธีปฎิบัติที่มีอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีในศาสนาอื่น ๆ            ๒๖/๑๖๖๒๕
            ๔๘๙๒. วิปัสสี  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง นับเป็นพระองค์ที่สิบเก้า ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้น ในโลกแล้ว ยี่สิบห้าพระองค์        ๒๖/๑๖๖๒๘
            ๔๘๙๓. วิภังค์  แปลว่า แบ่ง, แจก หรือจำแนก ใช้เป็นชื่อคัมภีร์ สองคัมภีร์ในพระวินัยปิฎก เป็นชื่อวรรค (หมวดพระสูตร) หนึ่งวรรค และชื่อพระสูตรจำนวนมาก ในพระสุตตันตปิฎก และเป็นชื่อคัมภีร์ หนึ่งคัมภีร์ในพระอภิธรรมปิฎก       ๒๖/๑๖๖๓๑
            ๔๘๙๔. วิมานเมฆ, พระที่นั่ง  เดิมเป็นพระที่นั่งในบริเวณพระราชวังจุฑาธุชราชฐาน ที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี นามว่า พระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้รื้อมาสร้างใหม่ในบริเวณสวนดุสิต ในปี พ.ศ.๒๔๔๓ ในนามพระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทอง ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรีย       ๒๖/๑๖๖๓๔
            ๔๘๙๕. วิมุตติมรรค  เป็นหนังสือที่พระอุปติสสเถระ แต่งเมื่อประมาณปี พ.ศ.๖๐๐ เชื่อกันว่า แต่งก่อนวิสุทธิมรรค วิมุติมรรคมีเนื้อหาแบ่งเป็นปริจเฉทได้สิบสองปริเฉทคือ ปริจเฉทที่หนึ่ง นิทานกถา
                    ปริจเฉท ที่หนึ่ง    นิทานกถา
                    "      สอง    สีลปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง ศีล )
                    "      สาม    ธุดงคปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง ธุดงค์ )
                    "      สี่     สมาธิปริจเฉท   ( อธิบายเรื่อง สมาธิ )
                    "      ห้า   กัลยาณมิตรปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง กัลยาณมิตร )
                    "      หก  จริยาปริจเฉท   (อธิบายเรื่อง จริยาประเภทต่าง ๆ )
                    "      เจ็ด  กัมมัฎฐานวัมมณปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง อารมณ์กับปัฎฐาน )
                    "      แปด   กัมมัฏฐานปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง กัมมัฎฐาน )
                    "      เก้า   อภิญญาปริจเฉท   (อธิบายเรื่อง อภิญญา )
                    "      สิบ   ปัญญาปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง ปัญญา )
                    "      สิบเอ็ด  อุปายปริจเฉท   (อธิบายเรื่อง อุบาย )
                    "      สิบสอง  สัจจญาณปริจเฉท  (อธิบายเรื่อง สัจญาณ )           ๒๖/๑๖๖๓๘
            ๔๘๙๖. วิรุฬหก   ดูที่ จตุโลกบาล -  ลำดับที่ ๑๔๘๒       ๒๖/๑๖๖๔๓
            ๔๘๙๗. วิรูปักษ์   ดูที่ จตุโลกบาล  - ลำดับที่ ๑๔๘๒       ๒๖/๑๖๖๔๓
            ๔๘๙๘. วิศวามิตร  เป็นสมญานามของพระราชาองค์หนึ่ง ที่สละราชสมบัติออกบวชเป็นราชฤษี เพื่อทางแปลงวรรณะจากกษัตริย์เป็นพราหมณ์ เพื่อหวังผลสูงสุดคือ เป็นพรหมฤาษี ซึ่งยังไม่มีใครในโลกทำได้สำเร็จ เรื่องราวของพระวิศวามิตร มีปรากฎในวรรณคดีสันสกฤตหลายเล่ม อาทิ มหากาพย์รามายณะ มหากาพย์มหาภารตะ และภาคผนวก
                    พระวิศวามิตร ได้รับยกย่องว่าเป็น พรหมฤษี และมีชีวิตนิรันดร ในฐานะเป็นฤษีตนหนึ่งในหมู่ฤษีเจ็ดตน ที่เรียกว่า สัปตฤาษี หรือดาวจระเข้เจ็ดดวง       ๒๖/๑๖๖๔๓
            ๔๘๙๙. วิษุวัต  เป็นวันที่ทุกส่วนบนพื้นโลกมีกลางวันและกลางคืนเท่ากันคือ ช่วงละสิบสองชั่วโมง ลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้นปีละสองครั้ง เมื่อลำแสงจากดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ตั้งฉากกับระนาบเส้นศูนย์สูตรของโลก ซึ่งเกิดในวันที่ ๒๑ มีนาคม (หรือ ๒๑ มีนาคม หากเป็นปีอธิกสุรทิน) เรียกว่า วสันตวิษุวัต และวันที่ ๒๓ กันยายน (หรือ ๒๒ กันยายน หากเป็นปีอธิกสุรทิน) เรียกว่า ศารทวิษุวัต
                    จากการที่แกนโลกหมุนรอบตัวเองทำมุม ๖๖ ๑/๒ องศา กับระนาบการโคจรหรือเอียงไปจากแนวตั้งฉากของระนาบเส้นศูนย์กสูตรท้องฟ้า ๒๓ ๑/๒ องศา  ดังนั้น เมื่อโลกโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ จึงทำให้ลำแสงของดวงอาทิตย์ ตอนเที่ยงวันที่ตกมาตั้งฉากกับพื้นโลก เคลื่อนที่ไปทุกวัน ระหว่างเส้นทรอปิกออฟแคนเซอร์ หรือ ๒๓ ๑/๒ องศาเหนือ กับเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์น  หรือ ๒๓ ๑/๒  องศาใต้ ยกเว้นเพียงสองวันในรอบหนึ่งปี ที่แสงอาทิตย์ตกลงมาตั้งฉากที่เส้นศูนย์สูตร หลังจากนั้น เมื่อลำแสงตั้งฉากของดวงอาทิตย์ ผ่านขึ้นไปทางเหนือ ทำให้ซีกโลกเหนือมีกลางวันยาวนานขึ้น ส่วนซีกโลกใต้จะมีกลางวันสั้นลง ลำแสงตั้งฉากจะไปหยุดแค่ ๒๓ องศาเหนือ ซึ่งเป็นวันที่ซีกโลกเหนือ มีกลางวันยาวที่สุดคือ วันที่ ๒๑ มิถุนายน วันดังกล่าวเรียกว่า อุตรายัน หรือคริษมายัน ส่วนในซีกโลกใต้จะกลับกันคือ มีกลางวันสั้นที่สุด เมื่อลำแสงตั้งฉากเลื่อนผ่านลงไปทางซีกโลกใต้ จนไปหยุดที่เส้นรุ้ง ๒๓ ๑/๒ องศาใต้ ตรงกับวันที่ ๒๑ ธันวาคม  เรียกว่า ทักษิณายัน หรือเหมายัน ในวันนั้น ซีกโลกใต้จะมีกลางวันยาวที่สุด ส่วนซีกโลกเหนือจะมีกลางวันสั้นที่สุด
                    การที่ลำแสงตั้งฉากดวงอาทิตย์เลื่อนที่ไปมาในช่วงเวลาต่าง ๆ ของปี เป็นผลให้เกิดฤดูกาลขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของโลก ทำให้เขตเส้นรุ้งกลาง (๓๐ ํ - ๖๐ ํ)  แบ่งออกได้เป็นสี่ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง ฤดูหนาว และฤดูใบไม้ผลิ ในซีกโลกเหนือ ฤดูร้อนเริ่ม ๒๑ มิถุนายน ฤดูใบไม้ร่วง เริ่ม ๒๒ กันยายน  ฤดูหนาว เริ่ม ๒๑ ธันวาคม และฤดูใบไม้ผลิ เริ่ม ๒๑ มีนาคม ส่วนในซีกโลกใต้ ฤดูกาลจะตรงกันข้ามกับซีกโลกเหนือ
                    แรงดึงดูดของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ที่มีต่อโลกมีผลให้แกนการหมุนของโลก หมุนวนไปอย่างช้า ๆ รอบแนวตั้งฉากกับระนาบการโคจร การหมุนวนเช่นนี้ ใช้เวลาประมาณ ๒๖,๐๐๐ ปี จึงจะครบหนึ่งรอบ ปัจจุบันขั้วโลกเหนือ ทางภูมิศาสตร์หรือแกนหมุนของโลก อยู่เกือบตรงกับดาวเหนือ แต่อีกประมาณ ๑๓,๐๐๐ ปี ข้างหน้า แกนหมุนของโลกจะเคลื่อนไปเกือบตรงกับตำแหน่งของดาวเวกา และอีก ๑๓,๐๐๐ ปี ต่อมาจะเคลื่อนกลับมาตรงกับดาวเหนือ เช่นเดิม       ๒๖/๑๖๖๕๑
            ๔๙๐๐. วิสสุกรรม  เป็นเทพองค์หนึ่ง ซึ่งมีเรื่องราวอยู่ในวรรณคดีสันสกฤต และวรรณคดีบาลี สมัยพระเวท หลักฐานเก่าที่สุดคือ คัมภีร์ฤคเวท (ประมาณ ๔,๐๐๐ ปี)  ในสมัยพระเวทรุ่นแรก ๆ นั้น พระวิศวกรรมเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ ระดับเดียวกับพระอินทร์ พระวรุณ และพระอัคนี แต่ต่อมาในสมัยมหากาพย์ และในคัมภีร์ปุราณะ พระวิศวกรรมถูกลดฐานะลงเป็นนายช่าง และสถาปนิก เท่านั้น เป็นผู้คอยรับบัญชาจากพระอินทร์
                    พระวิสสุกรรม หรือพระวิศวกรรม ได้รับการเคารพบูชาจากผู้เรียนวิชาช่างทั้งหลาย โดยทำเป็นรูปเทวดานั่งแท่น        ๒๖/๑๖๖๕๔
            ๔๙๐๑. วิสาขบูชา  เป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่ง ในทางพระพุทธศาสนาเพราะเป็นวันประสูต ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้าซึ่งมาตรงกันในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือนหก)
                    ในคัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกาว่า สมัยเมื่อพระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่ในลังกา ราวปี พ.ศ.๔๒๐ พระเจ้าแผ่นดินในช่วงนี้ ล้วนเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ที่ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาตลอดมา ปรากฎพระนามที่ทรงทำพระราชพิธีวิสาขบูชา ประจำปีเป็นการใหญ่หลายพระองค์
                    ในประเทศไทย ครั้งสมัยสุโขทัยได้ความตามหนังสือ ที่นางนพมาศแต่งไว้ว่า ครั้นถึงวันวิสาขบูชา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชบริรักษ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ทั้งอาณาประชาราษฎร์ทั่วทุกนิคม ตามชนบทก็ประดับพระนคร ฯลฯ แขวนโคมประทีปชวาลา สว่างไสว ห้อยพวงบุปผชาติ ประพรมเครื่องสุคนธรสอุทิศบูชาพระรัตนตรัย สิ้นสามทิวาราตรี มหาชนชวนกันรักษาอุโบสถศีล สลัดฟังพระธรรมเทศนา บูชาธรรม ..."
                    สมัยอยุธยา ไม่ปรากฎหลักฐานว่า ปฎิบัติกันอย่างไร จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นต้นมา จึงได้มีพิธีวิสาขบูชาเป็นแบบแผนขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๐         ๒๖/๑๖๖๕๖
            ๔๙๐๒. วิสาขา, นาง   เป็นอุบาสิกาที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาลเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้า ทรงประกาศยกย่องเป็นอัครทายิกา (ผู้เป็นเลิศกว่าสตรีทั้งหลาย ผู้ให้ทาน)  คู่กับ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ทรงประกาศยกย่องเป็น อัครทายก
                นางวิสาขา เป็นธิดาธนัญชัยเศรษฐี เมื่อนางได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าจบลง นางก็ได้บรรลุเป็น พระโสดาบัน       ๒๖/๑๖๖๕๙
            ๔๙๐๓. วิสุทธิกษัตริย์, พระ  เป็นพระราชธิดาองค์โต ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ กับสมเด็จพระศรีสุริโยทัย สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ พระราชทานให้เป็นมเหสีของขุนพิเรนทรเทพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑ ผู้เป็นหัวหน้าในการปราบปรามท้าวศรีสุดาจันทร และขุนวรวงศาธิราช
                    พระวิสุทธิกษัตริย์ได้ขึ้นไปประทับที่เมืองพิษณุโลก ร่วมกับพระพิเรนทรเทพ ซึ่งได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น พระมหาธรรมราชา พระองค์มีพระราชโอรส และพระราชธิดา สามพระองค์คือ พระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวร ฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ       ๒๖/๑๖๖๖๗
            ๔๙๐๔. วิสุทธิมรรค  เป็นคัมภีร์สำคัญ (ปกรณ์วิเสส)  ของพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาทคัมภีร์หนึ่ง พระพุทธโฆสะ นักปราชญ์ชาวชมพูทวีป (พ.ศ.๙๐๐ - ๑๐๐๐) เป็นผู้แต่งเมื่อคราวเดินทางไปปริวรรต คัมภีร์อรรถกถา จากภาษาบาลีเป็นภาษามคธ และแต่งวิเสสวิสุทธิมรรค ณ สำนักมหาวิหาร เมืองอนุราชปุระ แห่งลังกาทวีป
                    พระพุทธโฆสะ เริ่มต้นแต่งด้วยการอธิบายปัญหากระทู้ที่พระสงฆ์ สำนักมหาวิหาร ตั้งไว้ให้พร้อมทั้งอธิบายความหมายของคำว่า วิสุทธิมรรค แล้วสรุปว่า วิสุทธิมรรค นั้นก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง จากนั้น จึงอธิบายรายละเอียดของศีล สมาธิ ปัญญา โดยแบ่งออกเป็น นิทเทส ถึง ๒๓ นิทเทส       ๒๖/๑๖๖๖๙
            ๔๙๐๕. วุฒิสภา  เป็นสภานิติบัญญัติสภาหนึ่งในระบบการเมือง การปกครองแบบสองสภา โดยเมื่อรวมกับสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ประกอบเป็น รัฐสภา            ๒๖/๑๖๖๗๓
            ๔๙๐๖. วุ้น   เป็นผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากสาหร่ายทะเลสีแดง ซึ่งมีวุ้นอยู่ในตัว ทำเป็นวุ้นรูปแบบต่าง ๆ เช่น เป็น เส้น แผ่น เกร็ด หรือผง
                    ประโยชน์ของวุ้น มีหลายประการ ส่วนใหญ่ใช้ในการแพทย์ สำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และเชื้อจุลินทรีย์ เป็นส่วนประกอบในการทำยา และเครื่องสำอางค์ บางชนิด โดยทั่ว ๆ ไปใช้ทำอาหารและขนม         ๒๖/๑๖๖๘๒
            ๔๙๐๗. วุลแฟรม  ดู ทังสเตน - ลำดับที่ ๒๕๐๖        ๒๖/๑๖๖๘๓
            ๔๙๐๘. เวตาล  เป็นปีศาจพวกหนึ่ง ซึ่งหากินอยู่ในสุสาน และสิงสู่อยู่ในศพ โดยทั่วไปเวตาลเป็นภูติผี ซึ่งกล่าวถึง เป็นอันดับสุดท้ายในนิยายสันสกฤต มีเรื่องเล่าหนังสือชื่อ พฤหัตถกภา ของคุณาฒัย กวีโบราณ ผู้มีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่ห้า มีผู้นำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ และขยายความเพิ่มเติมอีกมาก สำเร็จบริบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๑๖๑๓ มีความยาว ๒๒,๐๐๐ โศลก ให้ชื่อว่า กถาสริตสาคร ในคัมภีร์มหานิทาน อันเป็นที่รวมของนิทานโบราณราว ๓๐๐ เรื่องนี้ มีเรื่องราวของเวตาลรวมอยู่เป็นชุดรวม ๒๕ เรื่อง       ๒๖/๑๖๖๘๓
            ๔๙๐๙. เวทางคศาสตร์   เป็นคัมภีร์ประเภทสฺมฤติ (ที่จำมา)  ชุดหนึ่ง ของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู แปลว่า ศาสตร์ที่ว่าด้วยองค์แห่งพระเวท คือ เป็นหนังสือคู่มือในการอ่าน ท่อง จำ การสาธยาย การเรียนพระเวท และการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ตามที่พระเวทบอกไว้
                   คัมภีร์เวทางคศาสตร์ มีลักษณะสำคัญคือ แต่งเป็นสูตรสั้น ๆ เพื่อให้จำได้ง่าย และจำได้เร็ว และมีคำอธิบายขยายความโดยละเอียด เพื่อให้เข้าใจเนื้อความในสูตรนั้นๆ
                    ในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นต้นของพระพุทธศาสนา มีชื่อคัมภีร์ทาง เวทางคศาสตร์ ปรากฎอยู่หลายแห่ง         ๒๖/๑๖๖๘๔
            ๔๙๑๐. เวทานตะ  แปลว่า ที่สุดแห่งพระเวท เป็นชื่อหนึ่งของคัมภีร์อุปนิษัท ของศาสนาพราหมณ์ฮินดู และเป็นชื่อสำนักปรัชญาอินเดีย ฝ่ายพระเวทสำนักหนึ่งในหกสำนัก       ๒๖/๑๖๖๘๙
            ๔๙๑๑. เวสสภู  เป็นพระนามพระพุทธเจ้า องค์ที่ยี่สิบเอ็ด ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ยี่สิบห้าพระองค์         ๒๖/๑๖๖๙๕
            ๔๙๑๒. เวสสันดร  เป็นชื่อพระโพธิสัตว์ ครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโอรสของ พระเจ้าสญชัย กับพระนางผุสดี แห่งแคว้นสีพี เมื่อพระชนมายุสิบหกพรรษา ได้อภิเษกสมรสกับ เจ้าหญิงมัทรี แห่งแคว้นมัททะ มีพระโอรสและพระราชธิดา ด้วยกันสององค์คือ เจ้าชายชาลี กับเจ้าหญิงกัณหาชินา        ๒๖/๑๖๖๙๘
                   พระเวสสันดร มีพระอุปนิสัยน้อมไปในการเพ็ญทานบารมี คราวหนึ่งแคว้นกาลิงคะเกิดทุพภิกขภัย เนื่องจากขาดฝน ชาวเมืองจึงกราบทูลขอให้ พระเจ้ากาลิงคะส่งเจ้าหน้าที่ไปขอช้างปัจจัยนาค จากแคว้นสีพี พระเวสสันดรก็พระราชทานให้ ชาวสีพีรู้เข้าก็โกรธและขอให้เนรเทศพระเวสสันดร ออกจากแคว้นสีพี พระเวสสันดรจึงออกไปอยู่ป่าพร้อมพระนางมัทรี และพระราชโอรสธิดาไปประทับอยู่ยังเขาวงกต ถือเพศเป็นนักบวช
                    วันหนึ่ง พระนางมัทรีไม่อยู่ ชูชกพราหมณ์แก่ ยากจน จากแคว้นกาลิงคะ ได้เข้าไปทูลขอพระโอรส พระธิดาไปเป็นผู้รับใช้ผู้เป็นภริยา พระเวสสันดรก็ประทานให้ตามคำขอ ต่อมาก็ทรงบริจาคพระนางมัทรี ให้แก่พราหมณ์คนหนึ่ง ซึ่งก็คือ พระอินทรแปลงตัวมาขอ
                    พระเวสสันดร ถูกเนรเทศไปอยู่ป่าถึงเก้าเดือนครึ่ง แล้วพระเจ้าสญชัยพระราชบิดา ก็เสด็จมารับพระองค์ และพระนางมัทรีกลับไปครองราชย์ตามเดิม                ๒๖/๑๖๖๙๘
            ๔๙๑๓. เวสสันดรชาดก  ดู มหาชาติ  ลำดับที่ ๔๒๐๖         ๒๖/๑๖๗๐๓
            ๔๙๑๔. เวสาลี  เป็นเมืองหลวงของพวกลิจฉวี และต่อมาเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี ครั้งหนึ่งเมืองเวสาลีได้เกิดทุพภิกขภัย ประชาชนล้มตายเป็นอันมาก พวกษัตริย์ลิจฉวีได้มีมติให้ไปกราบทูลอาราธนา พระพุทธเจ้าให้เสด็จไปเมืองเวสาลี
                    เมื่อพระพุทธเจ้า เสด็จเหยียบดินแดนของพวกวัชชี ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก และตอนเย็นวันนั้น พระพุทธองค์ทรงสอน รัตนสูตร ให้พระอานนท์ และรับสั่งให้พระอานนท์ สาธยายภายในกำแพงเมืองของเมืองเวสาลี บรรดาโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงของชาวเมืองก็หายไป แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงสาธยายรัตนสูตร ให้แก่ชาวเมืองที่มาชุมนุมกัน ทำให้ชาวเมืองประมาณ ๘๔,๐๐๐ คน หันมานับถือพระพุทธศาสนา
                    พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเมืองเวสาลีหลายครั้ง ทรงบัญญัติพระวินัยที่เมืองเวสาลีหลายสิกขาบทด้วยกัน ในคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองกุสินารา เพื่อทรงดับขันธปรินิพพานนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแวะที่เมืองเวสาลี เป็นการเสด็จเมืองเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย ทรงจำพรรษาสุดท้ายที่เวฬุคาม ชานเมืองเวสาลี นางอัมพปาลี หญิงนครโสเภณี เมืองเวสาลี ได้ถวายอัมพวัน (สวนมะม่วง) ให้เป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์ต่อไป
                    เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ปาวาลเจดีย์ ในเมืองเวสาลี เป็นครั้งสุดท้าย พระพุทธองค์ได้ทรงปลงพระชนมายุสังขารว่า จะเสด็จดับขันธปรินิพพานในอีกสามเดือนข้างหน้า
                    เมืองเวสาลี เป็นเมืองที่ตั้งมั่นของศาสนา เชน และศาสนาพราหมณ์ ศาสดามหาวีระ แห่งศาสนาเชน ที่คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า นิครนถ์ นาฏบุตร ท่านได้ประกาศศาสนาเป็นเวลารวม ๔๒ ปี และได้ประทับอยู่ที่เมืองเวสาลี ถึง ๑๒ ปี
                    ในบรรดาพระสูตรสำคัญ ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่เมืองเวสาลี ได้แก่ มหาลิสูตร มหาสีหนาทสูตร จูฬสัจจกสูตร มหาสัจจกสูตร วัจฉโคตตสูตร สุนักขัตตสูตร และรัตนสูตร          ๒๖/๑๖๗๐๓
            ๔๙๑๕. เวฬุวัน   เป็นพระอารามแห่งแรกของพระพุทธศาสนา เรียกกันว่า เวฬุวนาราม บ้าง เวฬุวันวิหาร บ้าง ตั้งอยู่ใกล้ประตูด้านเหนือของนครราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์มคธ เป็นผู้ถวาย เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนาที่นครราชคฤห์ ครั้งแรกหลังจากตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว และทรงจำพรรษาที่สองในพระอารามนี้ ระหว่างที่ประทับอยู่ในเวฬุวันครั้งแรกนี้ มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่าง เช่น ทรงได้อัครสาวก ขวา - ซ้าย คือ พระสารีบุตร เถระ และพระโมคคัลลานะ เถระ ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์ครั้งสำคัญ ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต  ซึ่งเป็นที่มาของวันมาฆบูชา ทรงอนุญาตให้สร้างวิหารเป็นครั้งแรก
                    ตลอดพระชนมายุของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับชั่วคราว ที่เวฬุวันวิหาร หลายครั้ง และทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้เป็นจำนวนมาก แต่ทรงจำพรรษาที่สอง ที่สาม และที่สี่ เท่านั้น
                    พระถังซัมจั๋ง (ยวนฉ่าง) ซึ่งเดินทางไปสืบพระพุทธศาสนาที่อินเดีย ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ได้บันทึกไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า เวฬุวันตั้งอยู่ห่างจากนครราชคฤห์ ไปทางเหนือหนึ่งลี้ (ประมาณครึ่ง กม.) เวฬุวันสะอาดเพราะมีพระภิกษุทั้งหลาย คอยทำความสะอาดอยู่
                    พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับชั่วคราวที่เวฬุวันวิหารหลายครั้ง และทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้เป็นจำนวนมาก แต่ทรงจำพรรษาเพียงสามพรรษาคือ พรรษาที่สอง ที่สาม และที่สี่ เท่านั้น        ๒๖/๑๖๗๐๘
            ๔๙๑๖. เวียดนาม  เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของคาบสมุทรอินโดจีน มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับประเทศจีน ทิศตะวันออกตอนใต้ ติดต่อกับประเทศกัมพูชา เวียดนามมีดินแดนจดทะเลถึงสามด้าน คือ ด้านตะวันออก และด้านใต้ จดอ่าวตังเกี๋ย และทะเลจีนใต้ ด้านตะวันตกเฉียงใต้ จดอ่าวไทย ทิศตะวันตก ตอนเหนือติดต่อกับประเทศลาว มีพื้นที่ ๓๓๐,๓๖๓ ตร.กม. มีรูปร่างยาว และแคบ โดยมีส่วนที่แคบที่สุดเพียง ๕๐ กม.  และมีความยาวจากเหนือไปใต้ เป็นระยะทางตรงประมาณ ๑,๖๐๐ กม.
                    ลักษณะภูมิประเทศมีภูเขา และที่ราบสูงอยู่ทางภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศ ซึ่งเป็นที่สูงต่อเนื่องมาจากที่ราบสูงหยุนหนาน ในภาคใต้ของจีน ความสูงของภูเขาในบริเวณนี้ ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ เมตร โดยมียอดสูงสุด สูง ๓๑,๔๑ เมตร อยู่ใกล้กับพรมแดนจีน ถัดมาทางตอนกลางของประเทศ มีเทือกเขาอันนัม ทอดตัวจากเหนือไปใต้ ขนานกับชายฝั่งตะวันออกจนถึงใกล้เมืองโฮจิมินห์ (ไซ่ง่อน)  เทือกเขานี้ประกอบด้วย ทิวเขาขนาดเล็กหลายทิว และบางตอนเป็นที่ราบสูง มีหลายตอนที่สูงกว่า ๒,๐๐๐ เมตร
                    เวียดนาม มีส่วนที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ อยู่สองแห่งแยกจากกันคือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง และแม่น้ำสาขาคือ แม่น้ำดำ อยู่ในภาคเหนือเป็นที่ตั้งของกรุงฮานอย และเมืองไฮฟอง ที่ราบสองฝั่งแม่น้ำเป็นที่อุดมสมบูรณ์ และบริเวณปากแม่น้ำเป็นดินดอนสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ อีกแห่งหนึ่งอยู่ในภาคใต้ มีแม่น้ำโขง ไหลผ่านทำให้เกิดดินดอนสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำโขงที่กว้างขวาง และอุดมสมบูรณ์มากเช่นกัน เมืองโฮจิมินห์ เป็นเมืองท่าสำคัญทางภาคใต้ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำไซ่ง่อน ในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำโขง ห่างจากทะเลเข้ามา ๗๓ กม. เรือเดินทะเลขนาดใหญ่สามารถเข้ามาถึงเมืองโฮจิมินห์ ได้
                    เวียดนามมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ ๓,๓๐๐ กม. แนวพรมแดนทางทะเลด้านอ่าวไทย อยู่ติดต่อกับแนวพรมแดนทางทะเลของกัมพูชา ส่วนแนวพรมแดนทางทะเลด้านอ่าวตังเกี๋ย ก็อยู่ติดต่อกับแนวพรมแดนทางทะเลของจีน
                    บริเวณใจกลางของเวียดนาม แต่เริ่มแรกมานั้นคือ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง และแม่น้ำดำ ทางภาคเหนือของเวียดนาม เป็นที่ราบลุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ เหมาะในการตั้งถิ่นฐาน จึงมีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้นมา และเป็นศูนย์กลางการปกครองและศิลปวัฒนธรรม มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๔๓๒ เมื่อเวลาผ่านไปชาวจีนที่เข้ามาในพื้นที่นี้ มีพัฒนาการของตนเองกลายเป็นชนเวียดนาม ซึ่งในระยะแรก ๆ เรียกว่า อันนัม หรือญวน  ต่อมาพวกญวนส่วนหนึ่งได้ค่อย ๆ ขยายตัวลงมาทางใต้ จนมาถึงบริเวณชายฝั่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
                    ในปี พ.ศ.๒๔๐๕  ฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งมั่นในโคชินไชนาแล้วค่อย ๆ ขยายอำนาจไปครอบครองตังเกี๋ย และอันนัม ซึ่งต่อมาฝรั่งเศสได้ปกครองเป็นรัฐในอารักขา ส่วนทางใต้คือ โคชินไชนา จัดให้เป็นอาณานิคมและเป็นศูนย์กลางการปกครอง และศูนย์กลางของกิจกรรมอื่น ๆ มี ไซ่ง่อน เป็นเมืองหลวง
                ในปี พ.ศ.๒๔๙๗  มีการทำสนธิสัญญา แบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วนคือ เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ โดยใช้เส้นรุ้ง ๑๗ องศาเหนือ เป็นแนวแบ่งเขตแดน ได้มีการสู้รบกันของทั้งสองฝ่าย จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๙ เวียดนามเหนือเป็นฝ่ายมีชัย แล้วรวมเวียดนามใต้เข้ากับเวียดนามเหนือมี ฮานอย เป็นเมืองหลวง
            ๔๙๑๗. เวียดมินห์  เป็นกลุ่มชาวเวียดนามรักชาติกลุ่มหนึ่ง ได้เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจการปกครองของฝรั่งเศส ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ฝรั่งเศสได้เริ่มเข้าไปแสวงหาอิทธิพลในเวียดนาม ในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ด้วยการเผยแพร่คริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก และในปี พ.ศ.๒๔๑๐  สามารถยึดได้โคชินไชนา เป็นอาณานิคมได้ ต่อมาได้ยึดตังเกี๋ย และอันนัม เป็นรัฐในอารักขา ในปี พ.ศ.๒๔๒๖ อีกสี่ปีต่อมา ฝรั่งเศสก็รวมดินแดนทั้งสามแห่งเข้ากับกัมพูชา ซึ่งฝรั่งเศสยึดได้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ แล้วจัดตั้งเป็นสหภาพอินโดจีน เรียกว่า อินโดจีนของฝรั่งเศส  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๖ ฝรั่งเศสก็ยึดลาว เป็นรัฐอารักขา และรวมเข้ากับอินโดจีนของฝรั่งเศส
                    ชาวเวียดนามรักชาติได้จัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เพื่อกอบกู้เอกราชและขับไล่ฝรั่งเศสออกไป แต่ไม่สำเร็จ คนสำคัญที่ต่อต้านฝรั่งเศสคือ โฮจิมินห์ เขาเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ และในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้ไปพำนักอยู่ที่กรุงปารีส ระยะหนึ่ง จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๓ ได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส และได้เดินทางไปกรุงมอสโคว  เพื่อศึกษาลัทธิคอมมิวนิสต์ เมื่อกลับมาเวียดนามในปี พ.ศ.๒๔๖๘ โฮจิมินห์ ได้จัดตั้งสันนิบาตเยาวชนเวียดนามขึ้น ซึ่งเป็นบ่อเกิดของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในเวลาต่อมา ต่อมาโฮจิมินห์ได้เดินทางไปประเทศจีน และได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม หรือพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนขึ้น ในปี พ.ศ.๒๔๗๓ ดำเนินการต่อสู้เพื่อเอกราชของเวียดนาม
                    ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ ญี่ปุ่นเดินทัพเข้าสู่อินโดจีน พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ซึ่งมี โฮจิมินห์เป็นหัวหน้าได้รวบรวมกลุ่มรักชาติต่าง ๆ ของเวียดนาม จัดเป็นแนวร่วมเพื่อต่อต้าน และขับไล่ญี่ปุ่นเรียกว่า เวียดมินห์ หรือสันนิบาตเพื่อเอกราชของเวียดนามขึ้น ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ทำให้สามารถดำเนินการรบแบบกองโจร ทำลายกำลังทหารญี่ปุ่น และสามารถจัดเป็นกองทัพขึ้นได้ในที่สุด
                    เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง ฝรั่งเศสได้กลับเข้ามามีอำนาจในเวียดนามอีก ชาวเวียดนามก่อการขับไล่ฝรั่งเศส จนเกิดการสู้รบกันขึ้น ทางภาคเหนือโฮจิมินห์ประกาศตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ มีโฮจิมินห์เป็นประธานาธิบดี ได้รับความช่วยเหลือจากโซเวียต ในที่สุดพวกเวียดมินห์ ก็ประสบผลสำเร็จเมื่อโจมตีฝรั่งเศส ที่เมืองเดียนเบียนฟู
                    ในปลายปี พ.ศ.๒๕๐๓  ได้มีการจัดตั้งแนวร่วมแห่งชาติขึ้น เพื่อปลดปล่อยเวียดนามใต้ สมาชิกคือ พวกเวียดกง ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามเหนือ จีนและรัสเซีย สหรัฐอเมริกาได้ถอนทหารจากเวียดนามใต้ ในปี พ.ศ.๒๕๑๗ เวียดนามเหนือยึดไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ และประกาศรวมสองเวียดนามเข้าด้วยกัน ในปี พ.ศ.๒๕๑๙         ๒๖/๑๖๗๒๑
            ๔๙๑๘. แวร์ซาย, พระราชวัง  ตั้งอยู่ที่เมืองแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส
                    ในปี พ.ศ.๒๑๖๗  พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสาม ของฝรั่งเศส มีรับสั่งให้สร้างเรือนพักสำหรับล่าสัตว์ในป่า ของเมืองแวร์ซาย ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงปารีสไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๒๒ กม.  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๗๕ ได้สร้างปราสาทขึ้นมาในที่นั้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๐๔ - ๒๒๑๐ พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ โปรดให้สร้างวังใหม่ที่แวร์ซาย และได้มีการสร้างเพิ่มเติมถึงปี พ.ศ.๒๒๔๔
                    เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ สวรรคตในปี พ.ศ.๒๒๕๘ ผู้สำเร็จราชการของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า ได้กลับไปพำนักที่กรุงปารีส ปล่อยพระราชวังร้างไปนานเจ็ดปี จนถึงปี พ.ศ.๒๒๖๕  เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า ขึ้นว่าราชการด้วยพระองค์เอง จึงได้มาประทับที่พระราชวังแวร์ซาย อีกครั้งหนึ่ง
                    ภายหลังการปฎิวัติฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๒ พระราชวงศ์ต้องเสด็จออกจากพระราชวังแวร์ซาย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๗๙ เมื่อมีการรื้อฟื้นระบอบกษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้งในฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป มีรับสั่งให้เปลี่ยนแปลงพระราชวังแวร์ซาย เป็นพิพิธภัณฑสถาน
                    ในปี พ.ศ.๒๔๑๓  เมื่อกองทัพเยอรมันเข้ายึดครองกรุงปารีสได้ใช้พระราชวังแวร์ซาย เป็นศูนย์บัญชาการ หลังจากฝรั่งเศสสงบศึกกับเยอรมัน พระราชวังแวร์ซายได้เป็นที่ตั้งของรัฐสภาฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๘ พระราชวังแวร์ซายเป็นสถานที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับสาธารณรัฐที่สาม
                    ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนี เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
                    ลักษณะเด่นของพระราชวังแวร์ซาย ได้แก่ ความยิ่งใหญ่ ความสมดุล ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ มีการสร้างพระราชวังหลายแห่งในยุโรป โดยเลียนแบบพระราชวังแวร์ซาย เช่น พระราชวังชาร์ลอทเทนบูร์ก ในเยอรมนี พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ ในรัสเซีย และพระราชวังปอตสดัม ในปรัสเซีย          ๒๖/๑๖๗๒๕
            ๔๙๑๙. แวร์ซาย, เมือง  ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สิบหก เริ่มมีหมู่บ้านขนาดเล็ก รอบปราสาท ขุนนางซึ่งพำนักอยู่ที่เมืองแวร์ซาย ในรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลที่เก้า  (พ.ศ.๒๐๙๓ - ๒๒๑๗)  ได้มีการสร้างปราสาทขึ้นใหม่ เป็นแบบเรอเนซองซ์ สำหรับผู้ช่วยเสนาบดีคลัง หมู่บ้านขนาดเล็ก ได้เติบโตเป็นเมืองเล็ก ๆ และเป็นที่พักแรมของผู้ที่เดินทางจากกรุงปารีส ไปยังแคว้นนอร์มังดี ส่วนปราสาทใช้เป็นที่พำนักของบุคคลสำคัญ เช่น พระเจ้าอองรีที่สี่
                    เมืองแวร์ซาย เริ่มพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๒๐๕ พระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ ได้ให้สร้างปราสาทใหม่ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ในยุคนี้พวกขุนนางชั้นสูง ได้มาสร้างคฤหาสน์ของตนอยู่รอบพระราชวัง ถัดจากคฤหาสน์ของบรรดาขุนนาง เป็นที่อยู่ของชาวบ้านซึ่งสร้างเป็นบ้านไม้
                    ในตอนปลายรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่สิบห้า แวร์ซายกลายเป็นเมืองหลวงเป็นศูนย์กลางการปกครอง แต่หลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่สิบหก ถูกนำพระองค์กลับไปปารีส เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๒ แล้วเมืองแวร์ซายก็ซบเซาลงทันที ตลอดพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เมืองแวร์ซายอยู่ในสภาพซบเซา
                    ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เมืองแวร์ซายค่อย ๆ กลายสภาพเป็นชานเมืองปารีส         ๒๖/๑๖๗๓๑
            ๔๙๒๐. แวร์ซาย, สนธิสัญญา  เป็นสนธิสัญญา ซึ่งลงนามที่เมืองแวร์ซาย มีอยู่หลายฉบับ ในปี พ.ศ.๒๒๙๙ ฝรั่งเศสและออสเตรีย ได้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายฉบับแรก เพื่อร่วมมือกันต่อต้านอังกฤษ ซึ่งเพิ่งลงนามข้อตกลงร่วมมือ กับปรัสเซีย
                    สนธิสัญญาแวร์ซาย ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ได้แก่ ฉบับที่มีการลงนาม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ ระหว่างประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนี เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง         ๒๖/๑๖๗๓๔
            ๔๙๒๑. ไวเศษิกะ  เป็นปรัชญาสำนักหนึ่งในหกสำนัก แห่งปรัชญาฮินดู เชื่อกันว่าเขียนขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกับ พรหมสูตร ของพาทรายณะ คือ ประมาณปี พ.ศ.๓๐๐
                    ไวเศษิกะ  เป็นปรัชญาประเภทพหุสัจนิยม มีทรรศนะสอดคล้องกับนยายะ เกี่ยวกับพระเจ้า ปรมาณู และการสร้างโลก ความคิดเกี่ยวกับโมกษะ หรือความหลุดพ้น สอดคล้องกับทรรศนะของปรัชญานยานะ ทุกประการ           ๒๖/๑๖๗๓๘
            ๔๙๒๒. ไวโอลิน  เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายชนิดหนึ่ง ของเครื่องดนตรีตะวันตก เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญมาก ในวงดุริยางค์รวมทั้งการเล่นในวงดนตรีเชมเบอร์ และการเล่นเดี่ยว
                     ศิลปินและนักปราชญ์ทางดนตรีกล่าวว่า ไวโอลิน เป็นราชแห่งเครื่องดนตรี         ๒๖/๑๖๗๔๐
 

 

ศ.

            ๔๙๒๓.  ศ พยัญชนะตัวที่สามสิบแปด  ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะสี่สิบสี่ตัวของไทย เป็นทั้งพยัญชนะต้นและตัวสะกด คำที่สะกดด้วย อักษร ศ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต เมื่อใช้เป็นตัวสะกด ออกเสียงเป็นแม่กด         ๒๖/๑๖๗๔๔
            ๔๙๒๔. ศกุนตลา  เป็นชื่อบทประพันธ์ร้อยกรองเรื่องหนึ่ง ในวรรณกรรมสันสกฤตโบราณ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันสามเรื่องคือ
                        ๑. เป็นเรื่องแทรก หรือเรื่องย่อยเรื่องหนึ่ง ซึ่งกล่าวไว้ว่า ในตอนต้นเรื่องของมหากาพย์ มหาภารตะ
                        ๒. เป็นเรื่องแทรกอยู่ในปัทมปุราณะ
                        ๓. บทละครของกาลิทาส เรียกสั้น ๆ ว่า บทละครเรื่อง ศกุนตลา
               บทละครเรื่องศกุนตลา ตามที่กาลิทาสเป็นผู้แต่ง เป็นที่นับถือกันว่า เป็นละครสันสกฤตที่ดีที่สุดของอินเดีย และดีที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๒ และจากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาเยอรมัน ในปี พ.ศ.๒๓๓๔ มีการแปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ มากมายหลายภาษา         ๒๖/๑๖๗๔๕
            ๔๙๒๕. ศรนารายณ์  เป็นไม้ล้มลุกขนาดใหญ่ ทรงต้นเป็นพุ่ม แผ่กว้าง มีอายุนานหลายปี ออกดอกเพียงครั้งเดียว หลังจากออกดอกแล้ว ต้นก็ตาย ลำต้นสั้น มีส่วนที่เป็นลำต้นอยู่ใต้ดิน ซึ่งจะเจริญให้ไหล หรือหน่อ ใบเดี่ยวสีเขียว เรียงเวียนรอบลำต้น แผ่นใบรูปแถบ ปนรูปใบหอก ดอกออกเป็นช่อสูงใหญ่ ตั้งตรง ช่อแขนงแตกกางออก ตั้งฉากกับแกนของช่อดอก มีดอกหนาแน่น ดอกมีขนาดใหญ่ สีเขียวอ่อน มีกลิ่นฉุนในตอนเย็น มีน้ำหวานมาก ผลเป็นผลแห้ง รูปคล้ายทรงกระบอก โคนและปลายมน
              ป่านศรนารายณ์ จัดเป็นพืชที่ให้เส้นใยชนิดหนึ่ง เส้นใยมีสีขาวครีม เหนียว แข็งแรง และมีความยาวมาก นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน         ๒๖/๑๖๗๖๑
            ๔๙๒๖. ศรีชุม  เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง ซึ่งมีพระพุทธรูปใหญ่ ที่สันนิษฐานกันว่า ได้แก่ พระอัจนะ ปัจจุบันอยู่ห่างจากกำแพงเมืองสุโขทัยเก่า ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ ๑ กม.  และเป็นวัดเดียวกับวัดฤาษีชุม ที่สมเด็จพระนเรศวร ฯ ทรงยกทัพหลวงไปตั้ง และทรงประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ก่อนเสด็จไปปราบกบฎที่เมืองสวรรคโลก
                ประวัติของวัดศรีชุม ไม่ปรากฎอยู่ในที่ใด แต่วัดนี้สร้างขึ้นก่อนศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง (พ.ศ.๑๘๓๕) ซึ่งกล่าวถึง พระอัจนะ         ๒๖/๑๖๗๖๕
            ๔๙๒๗. ศรีธนญชัย  เป็นตลกหลวงคนหนึ่ง ในนิทานพื้นเมืองของภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ เป็นคนตลกแกมโกง เจ้าเล่ห์ เจ้ากล และเห็นแก่ตนเองเป็นใหญ่ เป็นคนฉลาดมีไหวพริบสูง ชอบสร้างความเดือดร้อนให้แก่บุคคลต่าง ๆ
                ประวัติของศรีธนญชัย นั้นว่าเป็นชาวเมืองอโยธยา ในชีวิตของศรีธนญชัยนั้น ไม่เคยแพ้ใครในด้านความไหวพริบ เชิงภาษาแม้สักครั้ง มาแพ้ผู้อื่นก็ตอนที่ใกล้จะสิ้นชีวิตเท่านั้น          ๒๖/๑๖๗๗๐
            ๔๙๒๘. ศรีปราชญ์  เป็นชื่อบุคคล หรืออาจเป็นราชทินนาม ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ที่มีมาแต่โบราณก้ได้ หรือเป็นแต่เพียงนามสมมติ ในนิยายก็ได้ เรื่องราวของศรีปราชญ์เป็นปัญหา ที่สับสนยุ่งยาก มีผู้ถกเถียงกันมานาน
                ชื่อของศรีปราชญ์ และเรื่องราวประกอบ ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือสองเรื่องคือ คำให้การชาวกรุงเก่าเรื่องหนึ่ง และคำให้การขุนหลวงหาวัด อีกเรื่องหนึ่ง
            เรื่องราวของศรีปราชญ์ สรุปได้ดังนี้
            ๑.  มีการเอ่ยอ้างถึงศรีปราชญ์ และมีเรื่องประกอบอยู่ในวรรณกรรมสองเรื่องคือ เรื่อง " คำให้การชาวกรุงเก่า" กับเรื่อง "คำให้การขุนหลวงหาวัด" ทั้งสองเรื่องนี้ กล่าวตรงกันว่า ศรีปราชญ์เป็นคนในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) และไม่ปรากฎว่า ศรีปราชญ์แต่งหนังสืออะไรไว้เป็นหลักฐาน
            ๒.  ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ มีเรื่องอ้างถึงคนชื่อ ศรีปราชญ์ คือ หนังสือประชุมโคลงโบราณของพระยาตรัง และมีหนังสืออนิรุทธคำฉันท์ อ้างกันว่าศรีปราชญ์แต่งในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ แต่ผู้แต่งไม่ได้อ้างชื่อของตน มีแต่เรื่องว่าผู้แต่งมีความประสงค์ จะแข่งกับสมุทรโฆษคำฉันท์ ของพระมหาราชครู
            ๓. คนทั้งหลายคิดกันว่าศรีปราชญ์ แต่งโคลงกำศรวล แต่ได้มีการพิสูจน์แล้วว่า ผู้แต่งคือ สมเด็จพระบรมราชาธิราช พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
            ๔.  หนังสือ "คำให้การชาวกรุงเก่า" และ "คำให้การขุนหลวงหาวัด"  เล่าตรงกันว่า ศรีปราชญ์มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ)
            ๕.  สรุปได้ว่า ศรีปราชญ์ อาจมีสองคน
            ๖.  ตำนานศรีปราชญ์ของพระยาปริยัติธรรมธาดา ไม่มีหลักฐานใดๆ เป็นเครื่องประกอบ     ๒๖/๑๖๗๗๔
            ๔๙๒๙. ศรีรัตนมหาธาตุ, วัด  วัดพระศรีมหาธาตุ ที่มีภิกษุจำพรรษา มีจำนวนสองวัดได้แก่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง เป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรมหาวิหาร และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก เป็นพระอารามหลวงชั้นวรมหาวิหาร นอกจากนี้ ยังมีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ที่มีเงื่อนไขพิเศษอีกสองวัด วัดหนึ่งเป็นวัดร้าง จึงเป็นโบราณสถาน ได้แก่ วัดพระศรีมหาธาตุ ลพบุรี อีกวัดหนึ่งมี พระภิกษุจำพรรษาคือ วัดมหาธาตุ สุพรรณบุรี
                ความเป็นมาด้านชื่อ และความหมายของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเรียกกันหลายชื่อ หมายถึง วัดที่มีเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า
            ๑.  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.ลพบุรี  ปัจจุบันเป็นโบราณสถาน ไม่มีประวัติการสร้างแน่ชัด คงสร้างขึ้นราว พ.ศ.๑๘๐๐ พระศรีรัตนมหาธาตุทรงปรางค์ ซึ่งเป็นพระเจดีย์ประธานของวัด ที่พัฒนาการจากปราสาทแบบขอม แต่ผ่านการปรับปรุงด้านลักษณะ เช่น สูงเพรียวกว่า พร้อมทั้งลดความซับซ้อนด้านสัดส่วน และรายละเอียดของงานประดับ
            ๒.  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี  มีประวัติจากการสอบสวนจากจารึกบนแผ่นทอง ที่ค้นพบจากกรุปรางค์ พระศรีมหาธาตุองค์นี้
            ทางด้านลวดลายปูนปั้น ประดับปรางค์ได้พบว่า แบบอย่างและลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ อิทธิพลลายประดับอย่างจีน ได้เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย
            พระพิมพ์ที่พบจากกรุของพระปรางค์ นอกจากพิมพ์พระกำแพงศอกแล้ว ยังมีพิมพ์อื่น เช่น พระผงสุพรรณ
            ๓.  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง (อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย)  มีพระศรีรัตนมหาธาตุทรงปรางค์ เป็นเจดีย์ประธาน เดิมเป็นวัดในสมัยสุโขทัยมาก่อน
            ๔.  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก  พระเจดีย์ประธานของวัด เข้าใจว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประมาณปี พ.ศ.๒๐๒๕ โดยโปรดให้สร้างครอบพระเจดีย์องค์เดิม
            วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก มีพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปประธานในพระวิหาร หล่อด้วยสำริดขนาดใหญ่ ลงรักปิดทองอร่าม เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง องค์นี้สร้างขึ้นแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ๒๖/๑๖๗๘๙
            ๔๙๓๐.  ศรีลังกา  เป็นประเทศในทวีปเอเชียตอนใต้ เป็นเกาะตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ค่อนไปทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย เดิมชาวอังกฤษเรียกว่า ซีลอน จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๕ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ศรีลังกา ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของเกาะในภาษาสิงหล มีความหมายว่า "ดินแดนอันแจ่มจรัส"  ส่วนไทยเราเรียกชื่อประเทศนี้ มาแต่ดั้งเดิมว่า ลังกา
                ประเทศศรีลังกา มีพื้นที่ ๖๕,๖๑๐ ตร.กม. ตัวเกาะซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศ มีรูปร่างกลมรี เหมือนลูกขนุน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๒๔ ของเกาะทั่วโลก ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของรัฐทมิฬนาฑูของอินเดีย เพียง ๓๒ กม.  เกาะศรีลังกามีความยาวจากเหนือถึงใต้ ประมาณ  ๔๓๕ กม. และมีความกว้างประมาณ ๒๒๕ กม. ลักษณะภูมิประเทศแบ่งออกได้เป็นสามเขตใหญ่ ๆ คือ
                        ๑. เขตภูเขาสูง  อยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางตอนใต้ของเกาะ มียอดเขาสูงระหว่าง ๒,๑๐๐ - ๒,๔๐๐ เมตร หลายยอด ยอดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีคือ แอดัมส์พีก ไทยเรียกตามภาษาบาลีว่า สุมนกูฎ สูง ๒,๒๔๓ เมตร บนยอดเขามีแอ่งหิน ลักษณะคล้ายรอยเท้าคน ยาวประมาณ ๑.๕ เมตร พุทธศาสนิกชนเชื่อว่า เป็นรอยพระพุทธบาท ชาวฮินดูเชื่อว่า เป็นรอยบาทพระศิวะ และในศาสนาอิสลามเชื่อว่า เป็นรอยเท้าของแอดัม ตามคติความเชื่อของชาวฮิบรู
                        ๒. เขตที่ราบสูง  บริเวณที่อยู่รอบ ๆ เขตภูเขา โดยเฉพาะทางตอนกลางค่อนไปทางเหนือของเกาะ มีภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ส่วนใหญ่มีป่าไม้ปกคลุม
                        ๓. เขตที่ราบชายฝั่ง  บริเวณชายฝั่งตอนใต้ของเกาะเป็นที่ราบแคบ ๆ แต่ทางตอนเหนือที่ราบชายฝั่งแผ่กว้างออก เป็นบริเวณกว้างขวาง เมืองต่าง ๆ ของศรีลังกาส่วนใหญ่ ตั้งอยู่บนที่ราบชายฝั่งนี้
                        ประชากรของศรีลังกา ประกอบด้วยชนสองเชื้อชาติใหญ่ ๆ  คือ ชาวสิงหล และชาวทมิฬ ที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อีกร้อยละแปด ได้แก่ ชาวมัวร์ และพวกเลือดผสมชาวผิวขาว ชาวสิงหลมีประมาณร้อยละ ๗๒ เป็นชนชาติรุ่นแรก ๆ ที่อพยพจากตอนเหนือของอินเดีย ภาษาสิงหลมาจากภาษาสันสกฤต ในตระกูลภาษาอินโด - ยุโรเปียน นับถือพระพุทธศาสนา ชาวทมิฬพูดภาษา ในตระกูลทราวิท ส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู
                        ชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนค่อนข้างมากคือ พวกมัวร์ เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากพ่อค้าชาวอาหรับ ซึ่งมาค้ากับศรีลังกา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ ส่วนหนึ่งแต่งงานกับสตรีในท้องถิ่น และตั้งรกรากชุมชนที่นับถือศาสนาอิสลาม มีประชากรร้อยละเจ็ด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางชายฝั่งตะวันออก ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า พูดภาษาทมิฬ
                        ศรีลังกา มีประวัติความเป็นมายาวนาน สมัยเป็นอาณาจักร มีปรากฎอยู่ในพงศาวดารหลายฉบับ ฉบับแรกสุดชื่อ มหาวงศ์ เขียนเป็นภาษาบาลี เมื่อราวพุทธศตวรรษที่สิบ เล่าถึงการตั้งราชวงศ์สิงหล ขึ้นในศรีลังกาเป็นครั้งแรก โดยเจ้าชายเชื้อสายชาวเบงกอล ของอินเดียชื่อ วิชัย ได้อพยพ พาผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในศรีลังกา เมื่อปีแรกของพุทธศักราช พงศาวดารฉบับต่อ ๆ มาได้เล่าถึงการปกครองของกษัตริย์องค์อื่น ๆ จนถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักร ซึ่งถูกอังกฤษถอดออกจากราชบัลลังก์ ในปี พ.ศ.๒๓๕๘
                        พระเจ้าวิชัย กษัตริย์องค์แรกของศรีลังกา ทรงตั้งอาณาจักรสิงหลขึ้น และตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองอนุราธปุระ เมืองนี้ดำรงความเป็นราชธานีของลังกายาวนานถึงเกือบพันปี ในพุทธศตวรรษที่สอง พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่จากอินเดียเข้ามาในศรีลังกา ส่งผลให้กษัตริย์ของศรีลังกา ในขณะนั้น ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ และศรีลังกาได้กลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท ในระยะเวลาต่อมา
                        อาณาจักรสิงหลถูกกองกำลังของอินเดีย เข้าโจมตีหลายครั้ง ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จักรพรรดิ์ของอาณาจักรโจละ ในภาคใต้ของอินเดียได้ยกทัพเข้ามายึดครองศรีลังกา และทำลายเมืองอนุราธปุระ จนหมดสิ้น จนถึงรัชสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุ ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.๑๖๙๖ - ๑๗๒๙ ศรีลังกาจึงกลับรุ่งเรืองอีกครั้ง ได้ยกกองทัพไปตีภาคใต้ของอินเดีย และส่งกองกำลังทางเรือไปถึงพม่า ส่งผลให้ต้องตกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของศรีลังกา อยู่ชั่วระยะหนึ่ง
                        ในพุทธศตวรรษที่สิบแปด เกิดมีอาณาจักรของชาวทมิฬ ตั้งขึ้นทางภาคเหนือของเกาะ ส่งผลให้ชาวสิงหลค่อย ๆ ถอยร่นลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อตอนที่ชาวโปร์ตุเกสเดินเรือมาถึงศรีลังกา ในปี พ.ศ.๒๐๔๘ นั้น พบว่า มีอาณาจักรตั้งอยู่สามอาณาจักรด้วยกันบนเกาะคือ อาณาจักรของชาวทมิฬ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองจัฟฟ์นา อาณาจักรของชาวสิงหล ตั้งอยู่บริเวณที่ราบทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองคอตตี และอาณาจักรของชาวสิงหลอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนภูเขาทางตอนกลาง ค่อนไปทางใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองแคนดี
                        ชาวยุโรป ชาติแรกที่เดินทางเข้ามาในศรีลังกาคือ โปร์ตุเกส ในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ฮอลันดาได้เข้ามาแทนที่โปร์ตุเกส ในด้านการค้ากับศรีลังกา และได้เข้าควบคุมศรีลังกา ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๓๓๙  โดยยึดเมืองสำคัญ ๆ ตามชายฝั่งไว้ทั้งหมด ยกเว้น อาณาจักรแคนดี ที่ยังคงเป็นของชาวพื้นเมืองอยู่
                        ในปี พ.ศ.๒๓๓๙  ฮอลันดายอมจำนนต่อกองกำลังของอังกฤษ อังกฤษได้เปลี่ยนสภาพให้เป็นอาณานิคม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๘  และได้ถอดกษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรแคนดี ออกจากราชบัลลังก์ อังกฤษปกครองศรีลังกาอยู่นานถึง ๑๕๒ ปี จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๑ จึงให้เอกราช
                        ในด้านความสัมพันธ์กับไทย ได้มีมายาวนานมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นศูนย์กลางสำคัญ ของพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท ในสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหง ฯ ได้ทรงรับพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท จากลังกา โดยนิมนต์พระสงฆ์ที่ศึกษาธรรมตามคติลังกา จากนครศรีธรรมราชมาที่สุโขทัย และนิมนต์พระสงฆ์จากลังกามาเผยแผ่ธรรม ที่สุโขทัยด้วย พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ จึงมาประดิษฐานอย่างมั่นคงในอาณาจักรสุโขทัย สืบต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา
                          ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ พระพุทธศาสนาในลังกาเสื่อมลง ขาดพระสงฆ์จะที่เป็นอุปัชฌาย์ กษัตริย์แคนดีจึงทรงแต่งราชทูตเพื่อขอพระสงฆ์ไทย ไปทำพิธีอุปสมบทแก่ชาวลังกา พระอุบาลี และพระอริยมุนี รวมทั้งพระสงฆ์อีกสิบสองรูป ได้ไปพำนักอยู่ที่แคนดี เป็นเวลาสามปี  และได้อุปสมบทแก่พระสงฆ์ ๗๐๐ รูป สามเณร ๓,๐๐๐ รูป ถือได้ว่าเป็นการก่อตั้งนิกายสยามวงศ์ ขึ้นในศรีลังกา         ๒๖/๑๖๗๙๗
            ๔๙๓๑. ศรีวิชัย  เป็นชื่ออาณาจักรโบราณแห่งหนึ่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๙ มีหลักฐานประวัติศาสตร์ประเภทศิลาจารึกหลายภาษา บันทึกของนักเดินทางชาวอาหรับ และจดหมายเหตุจีน รวมทั้งหลักฐานโบราณคดี จำพวกวัตถุที่เป็นสินค้านำเข้า ที่นำเข้ามาจากทางตะวันตก แถบทะเลเมดิเตอเรเนียน อ่าวเปอร์เซีย อินเดีย และทางตะวันออก คือ เมืองต่าง ๆ ในประเทศจีน
                เรื่องอาณาจักรศรีวิชัย ส่วนใหญ่จึงเป็นตำนานเชิงประวัติศาสตร์มากกว่า ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ ซึ่งยุ่งยากเกินไปสำหรับคนทั่วไป และยังคงเป็นเรื่องที่มีคำถามมากกว่า คำตอบ เหมือนประวัติศาสตร์โบราณทั่ว ๆ ไป         ๒๖/๑๖๘๐๙
            ๔๙๓๒. ศรีศิลป์ ๑, พระ  เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๗๗ - ๒๐๘๙) ที่เกิดจากท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอก และเป็นพระอนุชาของพระยอดฟ้า
                สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ทรงเลี้ยงพระศรีศิลป์จนพระชนมายุได้ ๑๓ - ๑๔ พรรษา จึงโปรดให้ออกบวชที่วัดราชประดิษฐาน พระศรีศิลป์ถือโอกาสรวบรวมผู้คน เพื่อก่อการกบฎ แต่ในที่สุดพวกกบฎ ได้ถูกปราบลง พระศรีศิลป์ถูกปืนสิ้นพระชนม์          ๒๖/๑๖๘๑๔
            ๔๙๓๓. ศรีศิลป์ ๒, พระ หรือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม  (ครองราชย์ ปี พ.ศ.๒๑๕๔ - ๒๑๗๑)  พระศรีศิลป์ เป็นพระนามเดิมของ สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลำดับที่ ๒๑ เป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระเอกาทศรถ ที่ประสูติจากพระสนม ขึ้นครองราชย์โดยการชิงราชบัลลังก์ จากสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์  เมื่อปี พ.ศ.๒๑๕๔ ก่อนขึ้นครองราชย์ทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง เป็นพระราชาคณะที่พระพิมลธรรม เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ในรัชสมัยแห่งความรุ่งเรือง ทางเศรษฐกิจ ศาสนา และการติดต่อกับต่างประเทศ
                สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ไม่เพียงแต่ทรงส่งเสริมการค้าขายกับชาติในเอเชีย แต่ยังทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติตะวันตกด้วย ชาติตะวันตกที่ติดต่อกับไทยชาติแรกคือ โปร์ตุเกส ซึ่งได้ติดต่อกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ถึงหนึ่งศตวรรษ ส่วนชาติที่เข้ามาติดต่อในสมัยนี้คือ อังกฤษ และเดนมาร์ก มีการเริ่มเรียกชาวตะวันตกว่า "ฝรั่ง"  เป็นครั้งแรก
                ในรัชสมัยของพระองค์มีการพบรอยพระพุทธบาท ที่สระบุรี ในด้านวรรณกรรมโปรดให้แต่งมหาชาติคำหลวง และสร้างพระไตรปิฎกด้วย
                สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๑ ครองราชย์เป็นเวลา ๑๗ ปีเศษ         ๒๖/๑๖๘๑๖
            ๔๙๓๔. ศรีศิลป์ ๓, พระพันปี  เป็นพระราชโอรสองค์ที่สอง ของพระเจ้าทรงธรรม
                หลังจาก สมเด็จพระเชษฐาธิราช ขึ้นครองราชย์ได้เจ็ดวัน พระพันปีศรีศิลป์ได้หนีไปซ่องสุมกำลังที่ เมืองเพชรบุรี แต่สมเด็จพระเชษฐาธิราช ส่งกองทัพไปล้อมจับได้ โปรดให้ประหารชีวิตที่วัดโคกพระยา         ๒๖/๑๖๘๑๘
            ๔๙๓๕. ศรีสะเกษ  จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.ยโสธร ทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.อุบลราชธานี ทิศใต้จดเขตแดนกัมพูชา ทิศตะวันตกติดต่อกับ จ.สุรินทร์ และ จ.ร้อยเอ็ด มีพื้นที่ ๘,๘๔๐ ตร.กม.
                ลักษณะภูมิประเทศ ทางตอนใต้มีทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งทอดตัวในแนวตะวันตก -  ตะวันออก เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ยอดเขาที่สูงสุดชื่อ พนมโนน ยาว สูง ๖๗๑ เมตร อยู่ในเขต อ.กันทรลักษณ์ จากทิวเขานี้ พื้นที่ค่อย ๆ ลาดไปทางเหนือ ลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นที่ราบลอนลาด มีลำน้ำหลายสายไหลผ่านไปลงแม่น้ำมูล ได้แก่ ห้วยทับทัน ห้วยสำราญ และห้วยขะยุง  ทางตอนเหนือของจังหวัดมีแม่น้ำมูลไหลผ่านเขต อ.ราษีไศล อ.ยางชุมน้อย และ อ.กันทรารมย์ เป็นระยะ ๑๒๐ กม.
                บริเวณที่ตั้ง จ.ศรีสะเกษ เคยมีวัฒนธรรมสมัยทวารวดี และเขมรโบราณ เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
                ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของ จ.ศรีสะเกษ เริ่มขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ โปรดให้ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยม ดงลำดวน ขึ้นเป็นเมืองนครลำดวน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๒ ต่อมาเกิดกันดารน้ำ จึงย้ายไปตั้งเมืองใหม่ ที่ริมหนองแคระ เรียกว่า เมืองขุขันธ์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านโนนสามขา สระกำแพง ตั้งขึ้นเป็นเมืองศรีสะเกศ แยกจากเมืองขุขันธ์ ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมเมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษ และเมืองเดชอุดม เป็นเมืองเดียวกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ เรียกว่า เมืองขุขันธ์ อยู่ในปกครองของมณฑลอุบลราชธานี แล้วเปลี่ยนจากเมืองขุขันธ์  เป็น จ.ขุขันธ์ และเปลี่ยนเป็น จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
                จ.ศรีสะเกษ มีชุมชนหลายกลุ่มอาศัยอยู่รวมกันได้แก่ ชาวลาว ชาวเขมร และชาวส่วย หรือกุย           ๒๖/๑๖๘๑๙
            ๔๙๓๖. ศรีสัตนาคนหุต ๑  เป็นชื่ออาณาจักรล้านช้าง คำว่า สัตนาคนหุต มาจาก สต แปลว่า ร้อย นหุต แปลว่า หมื่น นาค แปลว่า ช้าง รวมแปลว่า ช้างร้อยหมื่น คือ ล้านช้าง พญาฟ้างุ้ม สถาปนาอาณาจักรล้านช้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๖ ต่อมาอาณาจักรแห่งนี้แยกออกเป็นสามส่วน แต่ยังคงใช้ชื่อ อาณาจักรเดิม รวมกับชื่อเมืองหลวงของแต่ละส่วน จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ จึงได้กลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่ง เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น พระราชอาณาจักรลาว
                ประวัติของอาณาจักรล้านช้างเริ่มต้นในลักษณะของการเล่าเรื่องในตำนาน อธิบายเหตุเริ่มเหตุการณ์ราวพุทธศตวรรษที่สิบสี่ จนกระทั่งถึงการรวบรวมบ้านเมืองประกาศตั้ง อาณาจักรของพญาฟ้างุ้ม เค้าโครงเรื่องเริ่มจากขุนบรมราชาธิราช บรรพกษัตริย์ไทย - ลาว ครองเมืองแถง โปรดให้โอรสเจ็ดองค์ แยกย้ายกันไปสร้างเมือง
เพื่อขยายอาณาเขตออกไป
              ขุนลอ ราชโอรสองค์โตนำไพร่พลลงมาตามลำน้ำอู จนถึงปากแม่น้ำที่บรรจบกับแม่น้ำโขง แล้วเดินตามลำน้ำโขงมาพบที่ซึ่งมีชัยภูมิเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน สร้างบ้านเมืองแล้วสร้างเมืองเซ่า (แปลว่า หยุดพัก) สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ปกครองเมือง
                เมืองเซ่า มีกษัตริย์ปกครองต่อมาหลายองค์ จนถึงรัชสมัยพระเจ้าสุวรรณคำผง  (ครองราชย์ พ.ศ.๑๘๕๒ - ๑๘๙๖)  โปรดให้เปลี่ยนชื่อเมืองเซ่า เป็นเมืองหลวง (ต่อมาเปลี่ยนเป็น เมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖ เนื่องจากได้พระบาง มาจากเขมร) กับได้เนรเทศท้าวผีฟ้ากับบุตรชายคือ ท้าวฟ้างุ้ม ทั้งสองได้ไปอยู่ในราชสำนักเขมร ต่อมาท้าวฟ้างุ้มได้อภิเษกสมรสกับ นางแก้วยอดฟ้า เจ้าหญิงเขมร
                ประมาณปี พ.ศ.๑๘๘๓ - ๑๘๙๓  ท้าวผีฟ้า และท้าวฟ้างุ้มได้รบรวบรวมดินแดนยึดแคว้นจำปาสัก และแคว้นเชียงขวาง ในปี พ.ศ.๑๘๙๖ ท้าวฟ้างุ้ม รบชนะพญาสุวรรณคำผง ยึดเมืองหลวงได้แล้ว สถาปนาตนเป็นกษัตริย์ รวมดินแดนประกาศตั้งอาณาจักร ระหว่างที่ครองราชย์อยู่นี้ ได้ปราบปรามเมืองต่าง ๆ อีกมาก พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๕
                ในปี พ.ศ.๒๑๐๖  พญาไชยเชษฐาธิราช ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบาง มาอยู่ที่เมืองเวียงคำ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองจันทบุรี ใช้ชื่ออาณาจักรว่า ศรีสัตนาคนหุต อตมะราชธานี ล้านช้างร่มขาว เวียงจันทน์ ต่อมาอาณาจักรล้านช้างแยกออกเป็นสามส่วน ต่างเป็นอิสระแก่กันมีเมืองหลวงอยู่ที่หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาสัก แต่ยังใช้ชื่ออาณาจักรว่า ศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว  จนกระทั่งพระเจ้าศรีสว่างวงศ์ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๔๔๖ - ๒๕๐๒)  ซึ่งครองอยู่ที่หลวงพระบาง มีพระราชโองการประกาศรวมทั้งสามส่วนเข้าด้วยกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ ให้ชื่อใหม่ว่า พระราชอาณาจักรลาว         ๒๖/๑๖๘๒๒
            ๔๙๓๗. ศรีสัตนาคนหุต ๒  เป็นชื่อพญานาคสองสัตว์คือ ศรีสัตนาคราช และนหุตนาคราช อาศัยอยู่ที่หนองแส เป็นเพื่อนรักกัน ต่อมาเกิดวิวาทและต่อสู้กัน นหุตนาคราชได้ชัยชนะ
                ศรีสัตนาคราช นำบริวารหนีออกจากหนองแสง จนถึงลำน้ำอู แล้วต่อไปจนถึงเมืองโพธิสารหลวง         ๒๖/๑๖๘๒๕
            ๔๙๓๘. ศรีสุดาจันทร์, ท้าว  เป็นพระสนมเอกของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๗๗ - ๒๐๘๙) ในตำแหน่งท้าวศรีสุดาจันทร์ มีโอรสสององค์คือ พระยอดฟ้า และพระศรีศิลป์ พระยอดฟ้าได้ขึ้นครองราชย์
                เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการ เพราะพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ ระหว่างนั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ลักลอบเป็นชู้กับพันบุตรศรีเทพ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็น ขุนวรวงศาธิราช และตั้งให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ แล้วปลงพระชนม์พระแก้วฟ้า
                พฤติกรรมของท้าวศรีสุดาจันทร์ ทำขุนนางกลุ่มหนึ่งนำโดยขุนพิเรนทรเทพ ไม่พอใจจึงวางแผนจับท้าวศรีสุดาจันทร์ ขุนวรวงศาธิราชและบุตรี ประหารชีวิต แล้วอัญเชิญพระเทียรราชา ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
            ๔๙๓๙. ศรีสุธรรมราชา, สมเด็จพระ  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ลำดับที่ ๒๖ เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง  (ครองราชย์ พ.ศ.๒๑๗๒ - ๒๑๙๙)
                สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ขึ้นครองราชย์โดยชิงราชสมบัติ จากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย (ครองราชย์ พ.ศ.๒๑๙๙)  ซึ่งเป็นอนุชาของสมเด็จเจ้าฟ้าไชย
                ต่อมาพระนารายณ์ยึดอำนาจในปีเดียวกัน แล้วปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์           ๒๖/๑๖๘๒๘
            ๔๙๔๐. ศรีสุริยวงศ์  (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)  เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์ ท่านมีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองไทย ท่านได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ผู้มีอำนาจเด็ดขาดในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ  ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๑๖  หลังจากพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น สมเด็จเจ้าพระยา นับเป็นสมเด็จเจ้าพระยาองค์สุดท้าย ในประวัติศาสตร์ไทย
                ท่านเป็นบุตรชายคนใหญ่ ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ มีนามเดิมว่า ช่วง เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๑ ได้รับราชการมีความดีความชอบ เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นโดยลำดับ ท่านถึงแก่พิราลัย ในปี พ.ศ.๒๔๒๕         ๒๖/๑๖๘๓๐
            ๔๙๔๑. ศรีเสาวภาคย์, สมเด็จพระ  (ครองราชย์ พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๕๔)  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลำดับที่ยี่สิบ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ และเป็นพระอนุชาของเจ้าฟ้าสุทัศน์ ซึ่งเป็นพระมหาอุปราช แต่สวรรคตไปก่อน พระองค์จึงได้ครองราชย์เมื่อพระราชบิดาสวรรคต พระองค์ครองราชย์อยู่ ๑ ปี ๒ เดือน ก็ถูก พระศรีศิลป์ โอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่เกิดจากพระสนมชิงราชสมบัติ พระองค์ทรงยอมแพ้แต่โดยดี และถูกนำไปสำเร็จโทษ  พระศพของพระองค์ ฝังอยู่ที่วัดโคกพระยา ซึ่งเป็นวัดร้าง          ๒๖/๑๖๘๔๕
            ๔๙๔๒. ศรีอยุธยา, กรุง  เป็นราชธานีของราชอาณาจักรไทย สมัยอยุธยา ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนล่าง พื้นที่เหมาะแก่การเกษตรกรรม ตัวเมืองมีทำเลที่ตั้งเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางทางการค้า เพราะมีแม่น้ำไหลมาบรรจบกันถึงสามสายคือ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ไม่ไกลจากทะเล กรุงศรีอยุธยนับว่าเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึงในเอเซียวตะวันออกเฉียงใต้ อยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความมั่นคง และมีอำนาจทางการเมืองในช่วงเวลา ๔๑๗ ปี ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๙๓ - ๒๓๑๐ ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
                หลักฐานต่างชาติได้กล่าวไว้ว่า อยุธยามีความมั่งคั่งร่ำรวยมาก จะเป็นรองก็เพียงจีนและอินเดียเท่านั้น
                อยุธยาในสมัยพระไชยราชาธิราชเริ่มทำสงครามกับพม่า โดยพม่าเป็นฝ่ายรุกเข้ามาก่อน สงครามไทย - พม่าได้ยืดเยื้อต่อมาถึง ๓๐๐ ปี และยังมีการทำสงครามกับล้านนา จนล้านนายอมเป็นประเทศราชของอยุธยา
                ในปี พ.ศ.๒๐๕๔ โปร์ตุเกส เป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ทำให้ไทยได้เริ่มเรียนรู้วิทยาการของชาติตะวันตก โดยเฉพาะด้านการทหาร
                ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) ปรากฎอิทธิพลของชาติตะวันตกในไทยมาก ทั้งด้านสถาปัตยกรรม วิทยาการต่าง ๆ และการเผยแพร่ศาสนา มีนักเรียนไทยไปเรียนที่ฝรั่งเศสถึง ๒๓ คน สมัยนี้เป็นยุคทองของวรรณคดี มีกวีมีชื่อเสียง เช่น พระมหาราชครู นอกจากนี้ยังมีประกาศใช้กฎหมายลักษณะ เช่น ลักษณะรับฟ้องเพิ่มเติม พระราชกำหนดห้ามหญิงไทยแต่งงานกับชาวตะวันตก มีการเพิ่มการเก็บเงินค่าราชการจากผู้ไม่มาเข้าเดือน จากเดือนละ ๑ บาทเป็นเดือนละ ๒ บาท
                ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๓๑๐ เป็นระยะที่กรุงศรีอยุธยาเสื่อมอำนาจ อันเนื่องจากปัจจัยภายในคือ การกบฎ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา การชิงราชสมบัติเกิดขึ้นทุกรัชกาล การควบคุมหัวเมือง และกำลังคนก็หย่อนประสิทธิภาพ         ๒๖/๑๖๘๔๖
            ๔๙๔๓. ศรีอินทราทิตย์, พ่อขุน  เป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์พระร่วง แห่งอาณาจักรสุโขทัย พระองค์ครองราชย์ในปี พ.ศ.๑๗๙๒ ในรัชสมัยของพระองค์เป็นช่วงเวลาที่สุโขทัย ได้ขยายดินแดนกว้างขวางออกไป โดยอาศัยพระปรีชาสามารถของพระโอรสองค์เล็กคือ พ่อขุนรามคำแหง ฯ สันนิษฐานว่าคงจะครอบคลุมลงไปถึงพระบาง (นครสวรรค์)  ทางทิศใต้ ทรงติดต่อกับนครศรีธรรมราชเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาสายลังกา         ๒๖/๑๖๘๖๑
            ๔๙๔๔. ศัลยกรรม  เป็นการรักษาโรค โดยวิธีผ่าตัด ศัลยกรรมประกอบด้วย
                        ๑. การผ่า เช่น การผ่าฝีต่าง ๆ ตามผิวหนัง เพื่อระบายหนองซึ่งประกอบด้วย เนื้อเน่าและส่วนน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายออกไป
                        ๒. การตัด อวัยวะส่วนใดของร่างกายเกิดพยาธิสภาพ จนไม่สามารถใช้งานได้ และยังเป็นอันตรายต่อร่างกายโดยทั่วไปด้วย เช่น แขนเน่า ขาเน่า ก็ต้องตัดทิ้ง
                        ๓. การผ่าตัด พยาธิสภาพหลายชนิดมิได้อยู่ในชั้นผิวหนัง หรือเป็นที่อวัยวะภายใน ก็จำเป็นต้องผ่าเนื้อหนังที่ปกคลุมอยู่เสียก่อน แล้วจึงตัดส่วนที่เป็นโรคนั้นออก จึงเป็นการผ่าตัด
                        ศัลยกรรมได้มีวิวัฒนาการจนสามารถใช้สิ่งอื่นเข้าไปทดแทนอวัยวะเดิม เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนหลอดเลือด โดยใช้หลอดเลือดเทียม การเปลี่ยนข้อพับต่าง ๆ โดยใช้ข้อเทียม แต่บางอวัยวะไม่สามารถทำเทียมได้ จึงจำเป้นต้องใช้อวัยวะจริงจากผู้ตายมาเปลี่ยนให้ เช่น การเปลี่ยนหัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน ที่เรียกว่า ศัลยกรรมปลูกถ่ายอวัยวะ         ๒๖/๑๖๘๖๕
            ๔๙๔๕. ศัลยศาสตร์  เป็นวิชาที่ว่าด้วยโรค และการรักษาที่ใช้การผ่าตัดซึ่งเรียกว่า ศัลยกรรม การรักษาโรคในการแพทย์แผนปัจจุบัน สมัยแรก ๆ นิยมแบ่งการรักษาเป็นสองวิธีคือ วิธีรักษาทางอายุรกรรม ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการรักษาโรคโดยการผ่าตัด วิธีการนี้เรียกว่าการรักษาทางศัลยกรรม วิชาที่ว่าด้วยโรค และการรักษาศัลยกรรมนี้เรียกว่า วิชาศัลยศาสตร์
                การรักษาทางศัลยกรรมในสมัยแรก ๆ มีเพียงการผ่า การตัด การเย็บ เฉพาะส่วนผิวหนังคือ อวัยวะภายนอก
                วิชาศัลยศาสตร์ได้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงต่อมาจากการผ่าตัดอวัยวะ ที่เป็นพยาธิสภาพออกให้ผู้ป่วยหายจากโรคมาเป็นการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือการทดแทนอวัยวะด้วยสิ่งสังเคราะห์ต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ         ๒๖/๑๖๘๖๙
            ๔๙๔๖. ศากยะ  คำภาษาสันสกฤต ตรงกับคำภาษาบาลีว่า สักยะ สากิยะ และสักกะ ศากยะเป็นชื่อราชวงศ์หรือราชตระกูลของกษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะซึ่งตั้งอยู่ทางภาคเหนือของชมพูทวีป
                ในพระสุตตันตปิฎก มีชื่อชาวศากยะปรากฎอยู่หลายพวก โดยเรียกตามที่อยู่ เช่น พวกศากยะที่อยู่ในนครกบิลพัศดุ์เรียกว่า ศากยะชาวกบิลพัสดุ์ พวกศากยะที่อยู่ในนครวิธัญญาเรียกว่า ศากยะชาวเวธัญญา พวกศากยะที่อยู่ในนครโคธาฬีเรียกว่า ศากยะโคธาฬี พวกศากยะที่อยู่ในนครรามคามเรียกว่า ศากยะชาวรามคาม พวกศากยะที่อยู่ในเมืองจาตุมา เรียกว่า ศากยะชาวจุตุมา พวกศากยะที่อยู่ในนครเทวทหะ เรียกว่า ศากยะชาวเทวทหะ
                พวกศากยะปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม เหมือนพวกกษัตริย์มัลละในแคว้นมัลละ และพวกษัตริย์วัชชีในแคว้นวัชชี
            ความเป็นมาและความหมายของศากยะ ปรากฎขึ้นในอัมพัฎฐสูตร ที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้อัมพัฎฐมาณพ ฟัง       ๒๖/๑๖๘๗๗
            ๔๙๔๗. ศากยะโคดม   ด ูที่โคดม - ลำดับที่ ๑๑๗๔         ๒๖/๑๖๘๘๑
            ๔๙๔๘. ศารทวิษุวัต   ดู ที่วิษุวัต - ลำดับที่ ๔๘๙๙         ๒๖/๑๖๘๘๑
            ๔๙๔๙. ศาล  มีความหมายเป็นสองนัย คือ
                ประการแรก ศาลยุติธรรม เป็นสถานที่ชำระคดีความต่าง ๆ ได้แก่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ตลอดจนศาลอื่น ๆ ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นศาลชั้นต้น เช่น ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัด ศาลแขวง รวมทั้งศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้น กำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น เช่น ศาลแรงงานกลาง ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และกาารค้าระหว่างประเทศ
                 ความเป็นมาของศาลไทย  ในอดีตได้มีการแยกศาลที่ทำการพิจสารณาคดีไปอยู่ตามกรม และกระทรวงต่าง ๆ โดยไม่ได้จัดเป็นระเบียบหมวดหมู่อย่างในปัจจุบัน เช่น ศาลกรมเมือง มีอำนาจพิจารณาคดีอุกฉกรรจ์มหันตโทษ ศาลกรมนา มีอำนาจพิจารณาความที่เกี่ยวข้องกับที่นา และโคกระบือ และศาลากรมท่า ขึ้นอยู่ในกรมคลัง  มีอำนาจบังคับคดีเกี่ยวกับการพาณิชย์กับคนต่างประเทศ
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ทรงปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองให้เป็นแบบแผนดังอารยประเทศ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ และรวบรวมศาลต่าง ๆ ให้รวมอยู่ในกระทรวงยุติธรรม ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้มีการจัดตั้งศาลสนามสถิตยุติธรรม และรวบรวมศาลทั้งปวงขึ้นตรงต่อกระทรวงยุติธรรมทั้งหมด ยกเว้นศาลฝ่ายทหาร ซึ่งยังคงสังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหม
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้มีการจัดตั้งศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีบางประเภทขึ้น เป็นการเฉพาะ เพื่อเป็นการรองรับหลักการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเกื้อหนุนบทบัญญัติบางเรื่อง ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง        ๒๖/๑๖๘๘๑
            ๔๙๕๐. ศาลาลูกขุน  เป็นสถานที่ประชุมทำงานของข้าราชการชั้นสูงของไทยสมัยโบราณ มีมาแต่สมัยอยุธยา ในสมัยรัตนโกสินทร์ศาลาลูกขุน ที่ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง เรียกว่า ศาลาลูกขุนใน มีสองหลังคือ ศาลาลูกขุนในซ้ายสำหรับข้าราชการพลเรือน และศาลาลูกขุนในขวาสำหรับข้าราชการฝ่ายทหาร ส่วนศาลาลูกขุนที่ตั้งอยู่นอกพระบรมมหาราชวังหนึ่งหลัง เรียกว่า ศาลาลูกขุนนอก หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ศาลหลวง         ๒๖/๑๖๘๙๓
            ๔๙๕๑. ศิริวิบุลกิตติ์  เป็นกลอนกลบทที่หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) แต่งขึ้น โดยได้เค้าเรื่องมาจากชาดกชื่อศิริวิบูลกิตติชาดก ซึ่งรวมอยู่ในปัญญาสชาดกอันเป็นชาดกที่ภิกษุชาวเชียงใหม่แต่งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๐๐ - ๒๒๐๐ นักวรรณคดีจัดให้กลบทเรื่องนี้อยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ประมาณปี พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑ รัชสมัยสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
                กลบทและกลอักษรที่นำมาแต่งเรื่องศิริวิบูลกิตติ์มี ๘๐ ชนิด เช่น กลบทกบเต้นต่อยหอย กลบทมธุรสวาที กลบทสบัดสบิ้งกลบทนาคบริพันธ์ กลบทรักร้อย กลบทกินรีเก็บบัว กลบทพยัคฆ์ข้ามห้วย กลบทสิงห์โตเล่นหาง กลบทดุริยางคจำเรียง กลบทก้านต่อดอกกลบทวัวพันหลัก กลบทระลอกแก้วกระทบฝั่ง ตรีพิธพรรณ กลบทสารถีชักรถ กลบทกวางเดินดง กลบทสร้อยสน กลบทอักษรสังวาส กลบทกบเต้นสามตอน กลบทพระจันทร์ทรงกลด กลบทยัติภังค์ กลบทเสือซ่อนเล็บ กลบทงูกระหวัดหาง กลบทคุลาซ่อนลูก กลบทกบเต้นสลักเพชร กลบทมังกรคาบแก้ว กลบทถอยหลังเข้าคลอง กลบทบัวบานกลีบขยาย กลบทกบเต้นกลางสระบัว และกลบทนกกางปีก         ๒๖/๑๖๘๙๗
            ๔๙๕๒. ศิลปกรรม  มีบทนิยามว่า "สิ่งที่เป็นศิลปะ สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นศิลปะ"  ดังนั้นคำ ศิลปกรรม จึงมีความหมายกว้างขวาง ไม่จำกัดเฉพาะงานจิตรกรรม งานประติมากรรมและงานสถาปัตยกรรม อย่างที่นิยมใช้กันเท่านั้น หากแต่ยังมีความหมายรวมไปถึงงานวรรณกรรม งานนาฏศิลป์และงานดุริยางคศิลป์ด้วย
                การจำแนกประเภทศิลปกรรมมีหลายวิธี แต่ที่นิยมกันคือจำแนกตามชนิดของสื่อที่ใช้แสดงผลงาน ดังนี้
                        ๑. ทัศนศิลป์ เป็นศิลปกรรมที่สื่อให้รับรู้ด้วยวิธีการเห็นด้วยตาเป็นสำคัญ มีการแสดงออกด้วยลักษณะที่เป็นรูปภาพ เช่น งานจิตรกรรม งานศิลปะภาพพิมพ์ซึ่งเป็น ผลงานรูปแบบสองมิติ และยังรวมไปถึงผลงานรูปแบบสามมิติ เช่น งานประติมากรรม งานสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นงานที่มีการแสดงออกด้วยลักษณะที่เป็นรูปทรง สัมผัส  จับต้องมิติต่าง ๆ ได้ด้วย จึงมีการเรียกงานทัศนศิลป์ประเภทนี้ว่า ทัศนะ - ผัสสะศิลป์ด้วย
                        ๒. โสตศิลป์ เป็นศิลปกรรมที่สื่อให้รับรู้ด้วยการฟังด้วยหูเป็นสำคัญ ได้แก่งานดุริยางคศิลป์ หรือดนตรีโดยเฉพาะ
เป็นศิลปกรรมที่ไม่มีกายภาพให้จับต้องได้ เป็นเสียงจากเครื่องดนตรีขณะกำลังบรรเลงเท่านั้น
                        ๓. พจนศิลป์ เป็นศิลปกรรมที่สื่อให้รับรู้ด้วยความเข้าใจความหมายของถ้อยคำเป็นสำคัญ ได้แก่งานวรรณกรรมทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง

                        ๔. ศิลปะผสม เป็นศิลปกรรมที่สื่อให้รับรู้ได้หลายอย่าง ได้แก่งานด้านการแสดง เช่น ละครและเพลง         ๒๖/๑๖๙๐๐
            ๔๙๕๓. ศิลปศาสตร์   เป็นการศึกษาที่เน้นความรู้ทั่วไปและการพัฒนาสติปัญญาทั่วไป ในทิศทางตรงกันข้ามกับการศึกษาด้านวิชาชีพ หรือเทคนิค การศึกษาด้านศิลปศาสตร์ได้แก่ การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา ภาษาและวิชาการที่มีลักษณะเป็นนามธรรม เป็นองค์ความรู้สากลและเก่าแก่ มิใช่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การฝึกฝนปฏิบัติทางอาชีพ หรือความรู้เฉพาะทาง
                ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐)   การศึกษาด้านศิลปศาสตร์หันไปสนใจ ในวรรณคดีสมัยกรีกและโรมัน โดยถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญยิ่งสำหรับมนุษยชาติ หลักสูตรสมัยนี้ เน้นการศึกษามนุษย์ โดยองค์รวมเป็นเป้าหมาย ให้ความสนใจแก่สุนทรียศาสตร์ และตรรกศาสตร์
                ในปัจจุบัน การศึกษาศิลปศาสตร์ในประเทศตะวันตกยังคงดำเนินรอยตามวิวัฒนาการดังกล่าวข้างต้นเป็นหลัก มีหลักสูตรการเรียนการสอน ตามที่ได้วางไว้เป็นรากฐานตั้งแต่สมัยกลาง
                ในวัฒนธรรมตะวันออกสมัยโบราณ  ศิลปศาสตร์ หมายถึง ความรู้สิบแปดประการซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล ศิลปศาสตร์สิบแปดประการนี้ ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น คัมภีร์ราชนิติและโลกนิติ วิชาความรู้เหล่านี้คือวิชาความรู้ทั่วไป วิชาว่าด้วยจารีตประเพณี วิชาคำนวณ วิชายันตรกรรมศาสตร์ วิชานิติศาสตร์ วิชาพยากรณ์ วิชานาฏศิลป์ วิชาพละศึกษา วิชายิงธนู วิชาโบราณคดี วิชาแพทยศาสตร์ วิชาพงศาวดารและประวัติศาสตร์ วิชาดาราศาสตร์ วิชาพิชัยสงคราม วิชาฉันทศาสตร์ วิชาตรรกศาสตร์ วิชามันตรศาสตร์และวิชาสัทศาสตร์
                การศึกษาด้านศิลปศาสตร์ปัจจุบันในประเทศไทยเป็นไปตามแนวตะวันตก
            ๔๙๕๔. ศิลาแลง  ดูลูกรังและหินแลง - ลำดับที่ ๔๘๒๕         ๒๖/๑๖๙๐๘
            ๔๙๕๕. ศิวะ  เป็นพระนามของพระเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในสามองค์ของศาสนาฮินดูคือ พระพรหมผู้สร้างโลก พระวิษณุหรือพระนารายณ์ผู้ถนอมโลก พระศิวะผู้ทำลายโลก คนไทยโดยทั่วไปนิยมเรียกพระศิวะว่า พระอิศวร
                พระศิวะมีพระนามและบทบาทผู้ในสมัยมหากาพย์และปุราณะ เพราะในสมัยแรก ๆ ของวรรณคดีอินเดียคือสมัยพระเวทซึ่งเก่าแก่ถึงสี่พันปีนั้น คำว่า ศิวะ มีที่ใช้เฉพาะเป็นคำคุณศัพท์ แปลว่าเป็นมงคล เวลาดีหรือเป็นที่เพลิดเพลิน
                สมัยพระเวทของชนอารยันอินเดียมีบทสวดถึงพระรุทระอยู่หลายบท รุทระ หมายถึง เสียงร้อง เสียงคำราม เสียงเกรี้ยวกราด อันแสดงถึงความเป็นเทพที่น่าสะพรึงกลัว เป็นผู้กำราบความวุ่นวาย และปราบพวกภูติผีปีศาจ เป็นเจ้าแห่งพายุ การทำลาย และนำโชคร้ายมาสู่มนุษย์ และสัตว์ด้วย  มีการเรียกชื่อรุทระว่ามหาเทวะ ซึ่งตรงกับฉายานามของพระศิวะ ด้วยเหตุนี้เมื่อตกมาถึงสมัยมหากาพย์ และปุราณะจึงมีการอ้างกันว่าพระศิวะ กับพระรุทระนั้นคือเทพองค์เดียวกัน
                พระศิวะมีชายาชื่อสตี เป็นธิดาองค์โตของพระทักษะซึ่งเป็นโอรสของพระพรหม และเป็นพระปชาบดีองค์หนึ่ง
                พระศิวะเป็นเทพที่มีผิวขาว มีเนตรสามดวง มีพระจันทร์เสี้ยวอยู่บนพระนลาฏ หรือที่มวยผม มีพระคงคาไหลวนบนพระเศียร มีสังวาลเป็นพวงกะโหลกศีรษะมนุษย์ ประทับในพระวิมานบนภูเขาไกรลาส มีพระปราวตีเป็นพระชายา มีโอรสสององค์คือ พระคเณศ และพระสกันทกุมาร พาหนะคือโคเผือกชื่อนนทิ มีธิดาที่เกิดจากนาคมารดาคือ มนสาเทวี ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าแห่งงูทั้งหลาย         ๒๖/๑๖๙๐๘
            ๔๙๕๖. ศีล  เป็นคำภาษาสันสกฤต ตรงกับคำภาษาบาลีว่าสีล แปลว่าปรกติ  ใช้เป็นข้อปฏิบัติทางศาสนา  ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึง ความประพฤติทางกายและวาจา
                ตามหลักศาสนา มนุษย์มีส่วนประกอบสำคัญสองส่วนคือกายกับจิต ศีลเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางกาย และวาจา ซึ่งเป็นพฤติกรรมภายนอก แต่มีความสัมพันธ์กับจิต เพราะออกมาจากเจตจำนง หรือเจตนาของจิตนั่นเอง
                การรักษาศีลเป็นการพัฒนาคุณค่าชีวิตให้สูงขึ้นตามลำดับ พุทธศาสนิกชนที่เป็นคฤหัสถ์เริ่มต้นด้วยการรักษาเบญจศีล หรือศีลห้า ต่อไปเป็นศีลแปด เฉพาะในวันธรรมสวนะหรือวันพระ เรียกว่า อุโบสถศีล นอกจากนี้ยังมีศีล ๒๒๗ สำหรับภิกษุและศีล ๓๑๑ สำหรับภิกษุณี เป็นพื้นฐานในการพัฒนาชีวิต ซึ่งมีสามขั้นเรียกว่า ไตรสิกขา ได้แก่ การพัฒนาขั้นศีล (อธิสีลสิกขา) การพัฒนาขั้นจิตหรือสมาธิ (อธิจิตตสิกขา) และการพัฒนาขั้นปัญญา (อธิปัญญาสิกขา)         ๒๖/๑๖๙๒๘
            ๔๙๕๗. ศึกษาธิการ, กระทรวง   เป็นกระทรวงที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษา ทุกระดับและทุกประเภท
                ในสมัยก่อน การศึกษาของไทยอยู่ที่วัดและที่บ้าน มีพระสงฆ์และผู้ใหญ่ในครอบครัวเป็นครูสอน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ โปรดเกล้า ฯ ให้จัดเป็นกรมหนึ่ง ชื่อกรมศึกษาธิการ มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการศึกษาทั้งปวง โดยสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชา กรมศึกษาธิการ
                ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๒ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมศึกษาธิการกับกรมอื่น ๆ ได้แก่ กรมธรรมการสังฆารี กรมพยาบาล กรมแผนที่ และพิพิธภัณฑสถาน มารวมอยู่ในบังคับบัญชาเดียวกัน เรียกว่า กรมธรรมการ  สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๓ กรมธรรมการมีฐานะเป็นกระทรวง
                ในตอนปลายรัชกาล มีการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการศึกษาที่สำคัญคือ
                        ๑. กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบให้วัดเป็นที่สอนหนังสือและสอดส่องให้เด็กชายหญิงได้เล่าเรียน
                        ๒. กระทรวงนครบาล รับผิดชอบการจัดการศึกษาในกรุงเทพ ฯ และมีพระราชบัญญัติบังคับเด็กอายุ ๘ - ๑๔ เข้าเรียน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๔
                        ๓. กระทรวงธรรมการ  รับผิดชอบการจัดการศึกษาแบบเลี้ยงตัวเอง โดยเก็บค่าเล่าเรียนและให้นักเรียนหาที่เรียนเอง จัดให้มีโรงเรียนรัฐบาลระดับประถมศึกษา เมืองละโรง และระดับมัธยม มณฑลละโรง
                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้แยกหน้าที่ราชการกระทรวงธรรมการ ออกเป็นสองภาคตามหน้าที่คือการศาสนาและการศึกษา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้น กับกระทรวงธรรมการ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีหน้าที่จัดการศึกษาโดยตรง ส่วนราชการในสังกัดมีกองบัญชาการ กรมมหาวิทยาลัยและกรมศึกษาธิการ         ๒๖/๑๖๙๒๖
            ๔๙๕๘. ศุกร์, ดาว  ดูประกายพรึก, ดาว - ลำดับที่ ๓๓๑๐         ๒๖/๑๖๙๓๕
            ๔๙๕๙. ศุกร์, พระ  เป็นเทพฤษีองค์หนึ่ง เป็นโอรสของภฤค ผู้เป็นต้นตระกูลภารควะ และภฤคพรหมฤษีนั้นเป็นโอรสองค์หนี่งในจำนวนสิบองค์ที่เกิดจากใจของพระพรหม มารดาของพระศุกร์ชื่อปุโลมา พระศุกร์เป็นลูกคนโต ในจำนวนลูกทั้งเจ็ดของนาง เรื่องราวของพระศุกร์มีอ้างถึงในวรรณคดีสันสกฤตหลายเล่มตั้งแต่วรรณคดีรุ่นโบราณที่สุดคือ คัมภีร์ฤคเวทเรื่อยมาจนถึงคัมภีร์ปุราณะฉบับต่าง ๆ
                ในสมัยพระเวท พระศุกร์เป็นฤษีตนหนึ่งซึ่งมีส่วนเป็นผู้แต่งบทสวดต่าง ๆ ในคัมภีร์ฤคเวทหลายบท ในสมัยมหากาพย์ และคัมภีร์ปุราณะพระศุกร์เป็นอาจารย์ ของเหล่าอสูรทั้งปวง มีฐานะเสมอกับพระพฤหัสบดีผู้เป็นอาจารย์แห่งทวยเทพ         ๒๖/๑๖๙๓๕
            ๔๙๖๐. ศุนหเศป  มาจากคำที่แปลว่า หางสุนัข เป็นชื่อของพราหมณ์ผู้หนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในสมัยพระเวท มีเรื่องราวกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในคัมภีร์ฤคเวท มีการอ้างว่าศุนหเศปได้แต่งบทสวดสรรเสริญเทพต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนเจ็ดบทในคัมภีร์ฤคเวท         ๒๖/๑๖๙๔๑
            ๔๙๖๑. ศุลกากร  มีบทนิยามว่า "อากรที่เรียกเก็บจากสินค้าเข้า และสินค้าออก ได้แก่ อากรขาเข้าและอากรขาออก"
                ในการเก็บภาษีอากรจากสินค้าเข้าและสินค้าออก สันนิษฐานว่าคงจะมีการจัดเก็บกันมาตั้งแต่สมัยเริ่มมีการก่อตั้งบ้านเมือง
หลักฐานเก่าที่สุดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรเท่าที่พบก็มีเพียงในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ฯ
                ในสมัยอยุธยา การค้ากับต่างประเทศเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ได้เกิดหน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรงเรียกว่า พระคลังสินค้า ทำการค้าแทนรัฐกับพ่อค้านานาชาติ โดยระบบที่เรียกว่า การค้าผูกขาด พระคลังสินค้าจะเป็นผู้กำหนดประเภทของสินค้า ที่จะเข้ามาซื้อขายรวมทั้งีอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะเลือกซื้อสินค้าเจ้าทั้งปวงก่อน รวมทั้งการขายผลผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ รวมทั้งมีอำนาจในการผูกขาดการขายสินค้าบางประเภท ที่มีราคาสูง และเป็นของหายากด้วย เป็นวิธีการจัดหารายได้แผ่นดินที่ได้ประโยชน์มากในสมัยอยุธยา
                ลักษณะการจัดเก็บผลประโยชน์จากการค้าดังกล่าวยังคงใช้ต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้มีการเปลี่ยนวิธีการ จัดเก็บภาษีอากรให้มีการประมูลผูกขาดกับทางราชการไปจัดเก็บภาษีที่เรียกว่า ระบบเจ้าภาษีนายอากรพระคลังสินค้าทำหน้าที่เป็นเจ้าจำนวนภาษีเรียกว่าเจ้ากรม
จำนวนขึ้นอยู่กับพระคลังมหาสมบัติรับผิดชอบจัดการเรื่องภาษีอากรในระบบการผูกขาด
                ได้มีการตราพระราชบัญญัติยกฐานะกรมพระคลังมหาสมบัติขึ้นเป็นกระทรวง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้มีข้อกำหนดหน้าที่ของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่จ่าย และรักษาเงินแผ่นดินรวมทั้งราชพัสดุทั้งปวง ตลอดจนรักษาพระราชทรัพย์ของแผ่นดินทั้งหมด เก็บและรับผิดชอบเงินภาษีอากร และเงินขึ้นต่อแผ่นดินตลอดพระราชอาณาจักร โดยกรมศุลกากรนำเข้า และส่งออกซึ่งเก็บจากผู้บรรทุกสินค้าออกไปต่างประเทศ และที่บรรทุกเข้ามาขายในประเทศ ที่ทำการศุลกากรได้ย้ายจากโรงภาษี ปากคลองผดุงกรุงเกษมมายังที่ทำการกรมศุลกากรเรียกว่า ที่ทำการภาษีร้อยชักสาม และที่บัญชาการภาษีขาเข้าขาออก
                ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ได้มีการปรับปรุงส่วนราชการภายในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีกครั้ง ซึ่งได้กำหนดให้กรมที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากร โดยตรงสามกรมคือกรมสรรพภาษี กรมสรรพากรและกรมศุลกากร โดยกรมศุลกากรมีหน้าที่ในการเก็บภาษีสินค้านำเข้า และสินค้าส่งออก จากที่เคยแยกเก็บตามหน่วยงานต่าง ๆ  มารวมไว้ในที่เดียวกัน         ๒๖/๑๖๙๔๔
            ๔๙๖๒. ศุนยวาท  ดูมาธยมิกนิกาย - ลำดับที่ ๔๓๕๔         ๒๖/๑๖๙๕๕
            ๔๙๖๓. เศรษฐกิจ   เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการนำเอาทรัพย์และบริการมา ใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบำบัดความต้องการของมนุษย์ที่มีอย่างไม่จำกัด เรียกว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจ  เศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิต การจำหน่ายแจกจ่ายและการบริโภค โดยมีเงินตราเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทรัพย์ และบริการ
                ผู้ที่มีบทบาทในทางเศรษฐกิจ และก่อให้เกิดกระแสหมุนเวียนของรายได้ รายจ่ายและผลผลิต ประกอบด้วยภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจภาครัฐ และภาคต่างประเทศ มีตลาดปัจจัยการผลิต และตลาดสินค้าเป็นตัวเชื่อมโยง ให้กิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน
                กระแสการหมุนเวียนของรายได้ รายจ่าย การใช้ปัจจัยการผลิตและผลผลิตของบุคคล กลุ่มคน หน่วยผลิต สถาบันก็มีรูปแบบ หรือแนวทางที่คล้ายกัน จะเป็นสิ่งชี้บอกถึงลักษณะระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจที่สำคัญมีสามระบบคือ ระบบเศรษฐกิจที่มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบบังคับเรียกว่า ระบบเศรษฐกิจแบบบังคับ ระบบเศรษฐกิจที่ใช้กลไกของราคา และตลาดเป็นสิ่งเชื่อมโยงให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ บรรลุเป้าหมายได้เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ในปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนใหญ่ในโลกมีการใช้ทั้งกลไกของราคา และตลาดและการสั่งการในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงเรียกระบบเศรษฐกิจลักษณะนี้ว่า ระบบเศรษฐกิจแบบผสม         ๒๖/๑๖๙๕๕
            ๔๙๖๔. เศวตฉัตร  ดูที่ฉัตร - ลำดับที่ ๑๕๗๒         ๒๖/๑๖๙๕๗
            ๔๙๖๕. โศลก  เป็นแบบคำประพันธ์ร้อยกรองชนิดหนึ่งที่กำหนดไว้ในประพันธศาสตร์ของอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณ มีลักษณะคล้ายคลึงกับปัฐยาวัตฉันท์ของภาษาบาลีมากที่สุด ในตำราฉันทศาสตร์ของปิงคลาจารย์จัดโศลกไว้ในฉันท์ประเภทอักษรัจฉันทะ หรือวรรณพฤตตะคือ มีจำนวนพยางค์ในแต่ละบาทเท่ากันนั่นคือ โศลกมีสี่บาท บาทหนึ่งมีแปดพยางค์ รวมทั้งหมดสี่บาทเรียกว่า หนึ่งปัทย์หรือหนึ่งบท
                ประวัติของโศลกมีกล่าวไว้ในกาพย์เรื่องรามายณะอันเป็นกาพย์เล่มแรกของอินเดีย         ๒๖/๑๖๙๕๗

            ๔๙๖๖. ษ พยัญชนะตัวที่สามสิบเก้า ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะสี่สิบสี่ตัวของไทย  ในการเขียนสะกดคำอักษร ษ ใช้ในภาษาไทยน้อยมาก ใช้เป็นพยัญชนะตัวสะกดมากกว่าพยัญชนะต้น  คำที่สะกดด้วยอักษร ษ เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต เมื่อใช้เป็นตัวสะกด อักษร ษ ออกเสียงเป็นแม่กด         ๒๖/๑๖๙๖๓
            ๔๙๖๗. ษัททรรศนะ แปลว่าทรรศนะหก หมายถึงปรัชญาอินเดียหกสำนักคือสำนักนยานะ สำนักไวเศษิกะ สำนักสางขยะ สำนักโยคะ
สำนักมีมามุสา และสำนักเวทานตะ
                สำนักปรัชญาเหล่านี้พัฒนามาจากสูตรต่าง ๆ ที่แต่งขึ้นในยุคมหากาพย์ (ระหว่าง พ.ศ.๑ - ๘๐๐) ของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู คือนยายสูตรแต่งโดยฤษีเคาตมะ ไวเศษิกสูตรแต่งโดยฤษีกณาทะ สางขยะประวานสูตรแต่งโดยฤษีกปิละ โยคสูตรแต่งโดยอาจารย์ปตัญชลิ มีมามสาสูตรแต่งโดยอาจารย์ไธมินิ และพรหมสูตรแต่งโดยอาจารย์พาทรายณะ
                สูตรเหล่านี้แต่งเป็นคาถาหรือโศลกเป็นตำราย่อเพื่อจดจำได้ง่ายและเพื่อใช้เป็นหลักในการศึกษาปรัชญานั้น ๆ  ต่อมาในยุคสูตร (ราวปี พ.ศ.๘๐๐ เป็นต้นมา) ได้มีการรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นเป็นหลักปรัชญา จึงเกิดสำนักปรัชญะทั้งหกสำนักขึ้น และถือว่าผู้แต่งสูตรเหล่านี้เป็นผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญานั้น ๆ ด้วย           ๒๖/๑๖๙๖๔

            ๔๙๖๘. ส พยัญชนะตัวที่สี่สิบ  ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะสี่สิบสี่ตัวของไทย ในการเขียนสะกดคำอักษร ส เป็นทั้งพยัญชนะต้นและตัวสะกด  เมื่อใช้เป็นตัวสะกด อักษร ส ออกเสียงเป็นแม่กด (๒๖/๑๖๙๖๕)
            ๔๙๖๙. สกลนคร จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.หนองคาย ทิศตะวันออกเฉ๊ยงเหนือและทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.นครพนม  ทิศใต้ติดต่อกับ จ.มุกดาหาร และ จ.กาฬสินธุ์  ทิศตะวันตกติดต่อกับ จ.อุดรธานี  มีพื้นที่ ๙,๖๐๖ ตร.กม.
                ลักษณะภูมิประเทศทางตอนใต้มีภูเขาภูพานทอดตัวไปตามแนวแบ่งเขตจังหวัดกับ จ.กาฬสินธุ์ และจ.อุดรธานี ในระดับความสูงเฉลี่ยประมาณ ๕๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มีแม่น้ำหลายสายไหลจากทิศใต้ หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สำคัญได้แก่แม่น้ำสงคราม ห้วยปลาหาง ห้วยน้ำอูน และน้ำพุง
ตัวเมืองสกลนครตั้งอยู่ติดกับทางด้านตะวันตกของหนองหาน ซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๓ ตารางกิโลเมตร มีลำน้ำสั้น ๆ หลายสายไหลลงสู่หนองน้ำนี้ ทำให้มีปริมาณน้ำมากตลอดปี
                จ.สกลนคร มีความเป็นมาย้อนหลังไปถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์  โดยได้พบหลักฐานโบราณคดี ยุคบ้านเชียงหลายแห่งใน อ.สว่างแดนดิน อ.พังโคน อ.วาริชภูมิ    อ.ส่องดาว อ.โพนนาแก้ว และ อ.เมือง ฯ จากหลักฐานโครงกระดูก หลุมฝังศพและเครื่องปั้นดินเผา ลายเขียนสี แสดงว่าบริเวณเหล่านั้นเคยมีความเจริญสมัยเดียวกับ บ้านเชียง จ.อุดรธานี เมื่อราว ๖,๕๐๐ ปีมาแล้ว
                ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ เมื่อเกิดวัฒนธรรมทวารวดีขึ้นในภาคกลาง  ความเจริญนี้ได้แพร่หลาย เข้าไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย
                ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่หนึ่ง (พ.ศ.๑๕๔๕ - ๑๕๙๓) อิทธิพลของเขมรได้แผ่ขยายตามบลุ่มแม่น้ำโขงเข้ามาในเขต จ.สกลนคร และสร้างเมืองหนองหานหลวงขึ้น มีศาสนสถานหลายแห่งที่แสดงถึงศิลปะเขมรแบบบาปวน ในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ ปรากฏอยู่ได้แก่ พระธาตุนารายณ์เจงเวง พระธาตุเชิงชุม พระธาตุภูเพ็ก และพระธาตุดุม
                หลังจากเขมรเสื่อมอำนาจลงในปลายพุทธศตวรรษที่สิบเก้า เมืองหนองหานหลวง ได้เปลี่ยนจากการอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของเขมร มาอยู่ใต้อิทธิพลของอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งแผ่อำนาจจากหลวงพระบาง เข้ามาปกครองดินแดนทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
                ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ โปรดให้ยกกองทัพไปตีเวียงจันทน์และหลวงพระบาง ดินแดนเวียงจันทน์ หลวงพระบางรวมทั้งภาคอีสาน จึงตกอยู่ใต้อำนาจของไทย
                ในปี พ.ศ.๒๓๒๙ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็นเมืองสกลนครทวาปี และเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสกลนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑ เปลี่ยนเป็น จ.สกลนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙         ๒๖/๑๖๙๖๗
            ๔๙๗๐. สกา  เป็นชื่อการเล่นแข่งขันหรือเล่นพนันกันประเภทหนึ่งโดยมีผู้เล่นสองฝ่าย ๆ ละคน ผู้ได้แต้มหรือคะแนน ที่สามารถกินตัวฝ่ายตรงข้ามได้หมดก่อนเป็นผู้ชนะในแต่ละกระดาน ความนิยมเล่นสกามีปรากฏในวรรณคดีโบราณบางเรื่อง เช่น เรื่องท้าวฮุ่งขุนเจือง ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๖         ๒๖/๑๖๙๗๐
            ๔๙๗๑. สแกนเดียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๒๑ เป็นธาตุที่มีมากในดวงอาทิตย์ และดาวฤกษ์บางดวงบนโลกมีอยู่ทั่วไป ในสภาพสารประกอบเป็นปริมาณน้อยมาก
                ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ มีการเตรียมโลหะสแกนเดียมได้เป็นครั้งแรก โลหะสแกนเดียมเป็นสีขาวเงิน เมื่อถูกอากาศอาจออกสีเหลืองหรือชมพูเล็กน้อย มีสมบัติอ่อนและเบา
                ปัจจุบันนิยมใช้โลหะสแกนเดียมผสมกับอลูมิเนียมทำสินค้ากีฬา เช่น ไม้เบสบอล โครงจักรยาน เมื่อเติมสแกนเดียมลงในอลูมิเนียมทำให้ได้โลหะผสมที่แข็งแรง ดึงยืดได้ ใข้งานได้ยาวนานขึ้น โลหะผสมนั้ยังนำไปใช้ทำวัสดุที่ใช้ในอวกาศ         ๒๖/๑๖๙๗
            ๔๙๗๒. สงกรานต์  เป็นคำสันสกฤต แปลว่าผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป หมายถึงอาทิตย์ผ่าน หรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในราศีหนึ่ง ๆ กล่าวคือเมื่อดวงอาทิตย์โคจรผ่าน หรือเคลื่อนย้ายหนึ่งเข้าไปในอีกราศีหนึ่ง เรียกว่าสงกรานต์ และเนื่องจากการเคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งเข้าไปในอีกราศีหนึ่ง กินเวลาหนึ่งเดือนจึงเรียกสงกรานต์เช่นนี้ว่า สงกรานต์เดือน เมื่อดวงอาทิตย์โคจรผ่าน หรือเคลื่อนย้ายไปจนครบสิบสองราศีคือ ครบจักรราศีแล้วขึ้นต้นจักรราศีใหม่ จึงเรียกสงกรานต์นั้นว่าสงกรานต์ปีหรือมหาสงกรานต์ ฉะนั้นคำสงกรานต์ที่พูดกันโดยทั่วไปจึงหมายถึงสงกรานต์ปีหรือมหาสงกรานต์นั่นเอง         ๒๖/๑๖๙๗๗
                จักรราศีคือ วงรีในท้องฟ้า ทางโหราศาสตร์ถือว่าเป็นทางที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวนพเคราะห์ต่าง ๆ โคจรผ่านเข้าไป จักรราศีแบ่งออกเป็นสิบสองส่วนเท่า ๆ กัน เรียกว่า สิบสองราศี กำหนดเป็นองศาได้ราศีละ ๓๐ องศา รวมเป็น ๓๖๐ องศา แต่ละราศีมีกลุ่มดาวอยู่ในนั้นโดยเฉพาะ กำหนดชื่อราศีตามรูปลักษณะของกลุ่มดาวนั้น ๆ คือราศีเมษ มีกลุ่มดาวรูปแกะราศีพฤษภมีกลุ่มดาวรูปวัว ราศีเมถุนมีกลุ่มดาวรูปคนคู่ ราศีกรกฎมีกลุ่มดาวรูปปู ราศีสิงห์มีกลุ่มดาวรูปสิงห์ ราศีกันยามีกลุ่มดาวรูปนาง ราศีตุลมีกลุ่มดาวรูปคันชั่ง ราศีพฤศจิกมีกลุ่มดาวรูปแมงป่อง ราศีธนูมีกลุ่มดาวรูปธนู ราศีมังกรมีกลุ่มดาวรูปมังกร ราศีกุมภ์มีกลุ่มดาวรูปหม้อ ราศีมีนมีกลุ่มดาวรูปปลา
                ไทยนับเดือนอ้ายเป็นเดือนหนึ่ง มาตั้งแต่ก่อนใช้จุลศักราชเพราะเห็นว่าฤดูเหมันต์ (ฤดูหนาว) ดวงอาทิตย์เดินปัดไปทางใต้ จึงกำหนดว่าฤดูเหมันต์เป็นต้นปี กำหนดฤดูคิมหันต์ (ฤดูร้อน) เป็นกลางปี เพราะดวงอาทิตย์เดินตัดตรงศีรษะ และกำหนดเอาฤดูวัสสานะ (ฤดูฝน) เป็นปลายปี แต่เมื่อเราใช้จุลศักราช ได้ถือเอาวันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ ที่ไม่คาบเกี่ยวกับราศีอื่น ๆ เป็นวันมหาสงกรานต์ มีเวลากลางวัน และกลางคืนเท่ากัน ซึ่งตกในเดือนห้าของไทยและอยู่ในฤดูคิมหันต์ เดิมวันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษตรงกับวันที่สิบสามเมษายน แต่บัดนี้ได้คลาดเคลื่อนไปแล้วคือ มาตกในวันที่ยี่สิบเอ็ดมีนาคม แต่ไทยยังคงถือเอาวันที่สิบสามเมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์เหมือนเดิม
            ๔๙๗๓. สงขลา  จังหวัดในภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.นครศรีธรรมราช ทิศตะวันออก ตกทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อกับ จ.ปัตตานี และจ.ยะลา ทิศใต้จดเขตแดนมาเลเซีย ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดต่อกับ จ.สตูล ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับ จ.พัทลุง โดยมีทะเลหลวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลาคั่นอยู่ระหว่างกลาง มีพื้นที่ ๗,๓๙๔ ตร.กม. จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสาม ในภาคใต้ รองจาก จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช
                ลักษณะภูมิประเทศ ทางด้านทิศตะวันตก และด้านทิศใต้ มีทิวเขาทอดยาวไปตามแนวเส้นเขตแดน ของจังหวัดโดยตลอด ทิวเขาทางด้านทิศตะวันตกเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งยาวต่อเนื่องมาจาก จ.นครศรีธรรมราช และทอดยาวจากเหนือ ไปใต้ตามแนวเส้นแบ่งเขต จ.สงขลา กับ จ.สตูล ส่วนทิวเขาทางด้านทิศใต้ เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาสันกาลาคีรี ซึ่งแบ่งเขตแดนประเทศไทย กับประเทศมาเลเซีย
                พื้นที่ทางซีกด้านทิศใต้ของจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบลอนลาด ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ ลำน้ำทั้งหมดเป็นเพียงสายสั้นๆ ซึ่งเรียกันในท้องถิ่นว่า คลอง
                ทางด้านซีกด้านทิศเหนือของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ทะเลสาบสงขลาและที่ราบชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ มีพื้นที่ ๑,๐๔๖ ตร.กม. กว้างสุด ๒๐ กม. ยาว ๗๘ กม. เกิดจากการปิดกั้นของสันดอนทรายชายฝั่ง ซึ่งงอกยื่นยาวจากชายฝั่งตอนใต้สุดของ จ.นครศรีธรรมราช ลงมาจนถึงปากทางเข้าทะเลสาบ ใน จ.สงขลา เป็นระยะทาง ๙๐ กม.
                เนื่องจากแหล่งน้ำนี้มีพื้นที่กว้างใหญ่ อาจแบ่งออกเป็นสามบริเวณด้วยกัน ได้แก่ ทะเลสาบสงขลา เป็นส่วนที่อยู่ใต้สุดมีพื้นที่ ๑๘๙ ตร.กม. และมีน้ำเค็ม เพราะอยู่ใกล้ปากทางเชื่อมกับทะเลภายนอก ทะเลหลวง เป็นส่วนที่อยู่ตอนกลาง มีพื้นที่ ๘๓๐ ตร.กม.  ตอนล่างมีสภาพเป็นน้ำกร่อย แต่ทางตอนบนน้ำจืด ส่วนสุดท้ายคือ ทะเลน้อย อยู่ทางตอนเหนือสุด มีพื้นที่ ๒๗ ตร.กม. เป็นน้ำจืดทั้งหมด
                ชายฝั่งทะเลของ จ.สงขลา ค่อนข้างเรียบตรง ไม่มีเกาะ ตามบริเวณชายฝั่งมากนัก รวมความยาวชายฝั่ง ๑๕๖ กม. ทะเลสาบสงขลา เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ ทั้งสัตว์น้ำกร่อย และสัตว์น้ำจืด
                ประวัติเมืองสงขลา ในระยะเริ่มแรกไม่มีหลักฐาน แน่ชัดว่าสร้างขึ้น ณ ที่ใด เมื่อใด และมีความเป็นมาอย่างไร พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่า เมืองสงขลาเป็นเมืองประเทศราช เมืองหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๑๒)  หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา มาปรากฎชัดเจนในตอนกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ จากเอกสารต่าง ๆ ของพ่อค้าชาวตะวันตก ที่เดินเรือมาค้าขายกับไทย ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้กล่าวถึงชื่อเจ้าเมืองสงขลาว่า ดะโต๊ะ โมกอลล์ ตัวเมืองสงขลาตั้งอยู่ที่บริเวณหัวเขาแดง บนฝั่งด้านเหนือของปากทางเข้าทะเลสาบสงขลา ชาวต่างชาติเรียกชื่อเมืองสงขลาว่า สิงกูระ บ้าง สิงกอรา บ้าง
                เจ้าเมืองสงขลา ที่มีชื่อเสียงคือ สุลต่าน สุไลมาน เป็นผู้สร้างป้อมกำแพงและคูเมือง ที่บริเวณหัวเขาแดง
                ในปี พ.ศ.๒๒๒๓  สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ได้โปรดให้ส่งกองทัพเรือมาปราบปรามเมืองสงขลาใต้ แล้วให้ขึ้นต่อเมืองพัทลุง ต่อมาโอนมาขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช
                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไปตั้งเมืองสงขลาใหม่ ณ  บริเวณที่เป็นเมืองสงขลา ปัจจุบัน การสร้างกำแพงเมืองและประตูเมือง เริ่มในปี พ.ศ.๒๓๘๕ กำแพงกว้าง  ๔๐๐ เมตร ยาว ๑,๒๐๐ เมตร มีประตูเมือง ๑๐ ประตู         ๒๖/๑๖๙๘๒
            ๔๙๗๔. ส่งผ่านทางเพศสัมพันธ์, โรค  เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ เดิมเรียกว่า กามโรค รวมโรคที่สำคัญไว้คือ ซิฟิลิส หนองใน แผลริมอ่อน กามโรคของต่อมน้ำเหลือง และท่อน้ำเหลือง เนื้องอกเรื้อรังที่ขาหนีบ ต่อมาพบว่ายังมีโรคติดเชื้ออื่น ๆ มากกว่าสามสิบชนิด ที่ส่งผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก กามโรค มาเป็นโรคส่งผ่านทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งรวมโรคติดเชื้อจากไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิต          ๒๖/๑๖๙๘๗
            ๔๙๗๕. สตรอนเชียม  เป็นธาตุลำดับที่ ๓๘ ในธรรมชาติไม่มีธาตุนี้เป็นธาตุเสรี แต่มีอยู่ในสภาพสารประกอบทั้งสิ้น
                โลหะสตรอนเชียม เป็นสีขาวเงิน แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอย่างรวดเร็ว เพราะเกิดออกไซด์ อ่อนกว่าโลหะแคลเซียม ผงละเอียดของสตรอนเชียม ลุกไหม้เองในอากาศ จึงควรเก็บไว้ในน้ำมันก๊าด โดยทั่วไปสมบัติทางเคมีคล้ายแคลเซียม และแบเรียม สตรอนเชียม ทำปฎิกิริยากับน้ำให้ไฮดรอกไซด์ และแกสไฮโดรเจน ออกไซด์ของสตรอนเชียมเป็น เบสอย่างแรง
                เกลือของสตรอนเชียม เช่น สตรอนเชียมไนเตรต และสตรอนเชียมคาร์บอเนต เผาในเปลวไฟให้สีแดงสด จึงนำมาใช้ทำดอกไม้ไฟ สัญญาณไฟ และพลุไฟ สตรอนเชียมคาร์บอเนต ยังใช้ทำแก้วบางชนิด สตรอนเชียมซัลไฟด์ ใช้เป็นส่วนประกอบของสีเรืองแสง         ๒๖/๑๗๐๐๑
            ๔๙๗๖. สตูล  จังหวัดในภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.ตรัง  และ จ.พัทลุง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดต่อกับ จ.สงขลา ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดต่อกับเขตแดนประเทศมาเลเซีย ทิศใต้และทิศตะวันตก ตกทะเลในช่องแคบมะละกา
                ลักษณะภูมิประเทศ ทางด้านทิศตะวันออก มีทิวเขาทอดยาวโดยตลอด จากเหนือไปใต้คือ ทิวเขานครศรีธรรมราช ซึ่งแบ่งเขต จ.สตูล กับ จ.สงขลา แล้วไปบรรจบกับทิวเขาสันกาลาคีรี ทางด้านทิศใต้ ซึ่งแบ่งเขต จ.สตูล กับรัฐเคดะห์ (ไทรบุรี) ของประเทศมาเลเซีย พื้นที่ค่อย ๆ ลาดต่ำลงสู่ที่ราบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก โดยมีเขาลูกเตี้ย ๆ ที่เรียกว่า ควน ตั้งอยู่เป็นหย่อม ๆ มีลำน้ำสายสั้น ๆ ที่ไหลจากทางทิศเหนือและทิศตะวันออกไปลงทะเลทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ได้แก่คลองนำบัว คลองวังพะเนียด คลองละงู คลองท่าแพ ที่ ต.วังประจัน อ.ควนโดนใกล้กับเขตแดนประะเทศมาเลเซีย มีหนองน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการยุบตัวของพื้นดิน บริเวณหุบเขาเรียกว่า ทะเลบัน กว้าง ๖๐๐ เมตร ยาว ๘๐๐ เมตร เป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญภายในอุทยานแห่งชาติทะเลบัน
                จ.สตูล มีชายฝั่งทะเลยาว ๑๒๖ กม. ลักษณะชายฝั่งเว้าแหว่งมาก มีอ่าวเล็ก ๆ หลายแห่งเรียงรายไปตามชายฝั่ง นอกชายฝั่งออกไปมีเกาะใหญ่น้อย ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึง ๑๐๕ เกาะ เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือเกาะตะรุเตา ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๔๐ กม. มีพื้นที่ ๑๔๘ ตร.กม.  จัดเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ที่สี่ของประเทศ รองจากเกาะภูเก็ต เกาะสมุย และเกาะช้าง เกาะสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ เกาะกะเบ็ง เกาะเภตรา เกาะริดี เกาะตันหยงอุมา เกาะระยะโต๊ดใหญ่ เกาะตำมะลัง เกาะอาดัง และเกาะราวี  เกาะเหล่านี้บางส่วนได้กำหนด ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
                จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าในเขต  จ.สตูล เดิมมีชุมชนโบราณเกิดขึ้นสามแห่ง ในระยะเวลาเดียวกันเรียกชื่อว่าละงู (ปัจจุบันคือ อ.ละงู) มูเก็บสโตย (ปัจจุบันคือเมืองสตูล) และบาราเกต (เคยเป็นตำบลในเขต อ.ท่าแพ) ชุมชนทั้งสามแห่งนี้อยู่ใต้การปกครองของเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย นอกจากนี้ในแผนที่ของชาวตะวันตกซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๗๑ แสดงชื่อสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นท่าเรือในภาคใต้ของไทย ปรากฎชื่อ ลูง ูและมีราหิด ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกด้วย
                อย่างไรก็ดีเรื่องราวเกี่ยวกับการปกครองของชุมชนทั้งสามแห่งนั้น ไม่ปรากฎเป็นหลักฐานตลอดสมัยสุโขทัย และอยุธยา จนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงมีการกล่าวถึงชื่อสตูล และละงู อย่างชัดเจน เมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอภัยนุราช (ตนกูบิศนู) ไปปกครองสตูลในปี พ.ศ.๒๓๕๖  และพระยาอภัยนุราชได้ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตปกครองสตูล และละงูไปพร้อมกัน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เมืองไทรบุรีเป็นกบฎ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ยกกองทัพไปปราบปรามได้ราบคาบ แล้วให้แบ่งการปกครองไทรบุรีออกเป็นสี่เมือง เพื่อป้องกันไม่ให้ซ่อมสุมผุ้คนได้อีก ส่งผลให้สตูลได้รับการยกขึ้นเป็นเมืองเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๒ แยกจากไทรบุรี โดยในตอนแรกให้ขึ้นต่อเมืองสงขลา ต่อมาได้โอนไปขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช  แต่สตูลก็ยังมีความสัมพันธ์ กับไทรบุรีอย่างแนบแน่นตลอดมา เนื่องจากเจ้าเมืองสตูลถือว่ามีเชื้อสายเดียวกับเจ้าเมืองไทรบุรี และในทางปฏิบัติเมืองสตูลต้องส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพ ฯ ทำนองเดียวกับเมืองไทรบุรี จนเมื่อเมืองไทรบุรีตกเป็นของอังกฤษในปี พ.ศ.๒๔๕๒ แล้ว เมืองสตูลจึงแยกจากเมืองไทรบุรีโดยเด็ดขาด และไม่ต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองอีกต่อไป            ๒๖/๑๗๐๐๓

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |