| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

 
เล่ม ๒๗           สถานเสาวภา  -  สาละ , ต้น           ลำดับที่ ๔๙๗๗ - ๕๐๘๔        ๒๗/ ๑๗๐๕๓ - ๑๗๖๔๔

            ๔๙๗๗. สถานเสาวภา  เป็นหน่วยงานสังกัดสภากาชาดไทย มีความเป็นมา และภารกิจดังนี้
                    ในปี พ.ศ.๒๔๕๕  สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  มีพระดำริที่จะตั้งสถานที่ทำการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (โรคกลัวน้ำ)  ขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากพระธิดาของพระองค์ได้สิ้นชีพตักษัยด้วยโรคนี้ และในขณะนั้นประเทศไทย ยังไม่มีสถานที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ จึงได้อาศัยตึกหลวงที่ถนนบำรุงเมืองเป็นที่ผลิต และฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ ได้ย้ายงานทำพันธุ์หนองฝีป้องกันไข้ทรพิษ (โรคฝีดาษ)ที่นครปฐม เข้ามารวมกัน เปิดทำการเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ชื่อว่า ปาสตุรสภาตามชื่อของ หลุยส์ ปาสเตอร์ผู้ค้นพบวิธีฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้โอนปาสตุรสภา จากกระทรวงมหาดไทยไปสังกัดสภากาชาดไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น สถานปาสเตอร์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้พระราชทานที่ดินบริเวณหัวมุมถนนสนามม้า (ถนนอังรีดูนังต์) และเงินทุนสำหรับการสร้างตึกที่ทำการ พระราชทานนามว่า สถานเสาวภาเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕  ตั้งแต่นั้นมา กิจการของสถานปาสเตอร์ทั้งหมด จึงย้ายมาดำเนินการที่สถานเสาวภา
                   ในการดำเนินการระยะแรก ได้แบ่งกิจการออกเป็นสามแผนกคือ
                   ๑. แผนกรักษาโรคมนุษย์  แบ่งเป็นห้าหมวด คือ หมวดกันโรคพิษสุนัขบ้า หมวดกันโรคไข้ทรพิษ หมวดทำวัคซีน หมวดเซรุ่ม และหมวดตรวจแยกธาตุ
                   ๒. แผนกรักษาสัตว์  แบ่งเป็นสองหมวดคือ หมวดทำวัคซีน และหมวดทำเซรุ่ม
                   ภารกิจหลักในปัจจุบัน มีสามประการคือ
                   ๑. งานผลิต ที่สำคัญได้แก่ การผลิตชีววัตถุ คือ เซรุ่ม และวัคซีน
                   ๒. งานวิจัยและพัฒนา สถานเสาวภาได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก สำหรับวิจัยเรื่องพิษสุนัขบ้า และการวิจัยเรื่องงูพิษ
                   ๓. งานบริการ  มีทั้งบริการทางคลีนิค และการบริการสวนงู        ๒๗/๑๗๐๕๓
            ๔๙๗๘. สน, ต้น  เป็นพืชพวกไม้เนื้ออ่อน หรือพืชเมล็ดเปลือย หรือพืชใบเรียวแคบ คล้ายเข็ม หรือเส้นลวด หรือเป็นเกร็ด นอกจากนี้ ยังใช้เรียกพืชพวกไม้เนื้อแข็งที่ออวุล  มีผิวรังไข่ห่อหุ้มมิดชิดบางชนิด ที่มีรูปทรงของใบคล้ายรูปเข็ม หรือเส้นลวด หรือคล้ายเหล็กหมาด อีกด้วย
                     ไม้ถิ่นเดิมในประเทศไทย ได้แก่
                     ๑. สนสองใบ สนหางม้า สนหางหมา หรือสนเขา  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปกรวย หรือกลม กิ่งมักคดงอ เป็นข้อศอก ลำต้นเปลาตรง ใบเรียว แข็งออกเป็นกระจุก กระจุกละสองใบ และติดเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อ ในต้นเดียวกัน ผลหรือโคน เป็นรูปกรวยค่อนข้างยาว รูปไข่ พบขึ้นเป็นกลุ่มทั่วไปทั่วทุกภาค ยกเว้น ภาคตะวันออกและภาคใต้ สนสองใบให้ปริมาณยางสนสูงกว่าสนสามใบ เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน ถึงสีน้ำตาลอมชมพู มีวงปีเห็นชัด และมีน้ำมันหรือยางสีเหลืองอ่อนซึมอยู่ในส่วนที่เป็นกระพี้ ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างภายในร่ม และไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก
                     ๒. สนสามใบ หรือสนเขา  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ลักษณะต่าง ๆ คล้ายสนสองใบ ต่างกันที่สนสามใบ มีใบออกเป็นกระจุก กระจุกละสามใบ ผลหรือโคนมีลักษณะป้อม หรือรูปกรวยคว่ำ ขึ้นเป็นกลุ่มในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าสนเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ - ๑,๖๐๐ เมตร ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับสนสองใบ
                    ๓. สนสามพันปี สนสร้อย หรือสนหางกระรอก  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง ๓๕ เมตร ไม่ผลัดใบเรือนยอดรูปทรงกลม ปลายกิ่ง ห้อยลู่ลง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ใบเดี่ยวมีสองรูป ใบตามกิ่งอ่อน จะเรียวเป็นรูปเข็ม หรือรูปเหล็กหมาด ใบงุ้มเข้าติดเรียงกันเป็นพวง ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อในต้นเดียวกัน ผลหรือเมล็ดเล็ก รูปไข่ ผิวเกลี้ยงเป็นมัน สีแสด การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ พบขึ้นกระจายทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ตามป่าดิบเขา สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ - ๑,๓๐๐ เมตร  เนื้อไม้สีน้ำตาลปนแดง ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างในร่ม ทำเครื่องตกแต่งบ้าน เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก และทำเยื่อกระดาษได้ดี น้ำมันที่กลั่นได้จากเนื้อไม้ ทำน้ำมันชักเงา และผสมสี
                     ๔. สนใบพาย หรือสนใบเล็ก  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง ๘ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปกรวย หรือรูปทรงกลม ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ใบเดี่ยวติดเวียนถี่ ตามปลายกิ่ง ใบรูปขอบขนาน หรือรูปหอกแคบ ๆ ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อ และต่างต้นกัน ผลหรือเมล็ดเล็กรูปไข่ การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพาะ พบขึ้นกระจายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าดิบ สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐ - ๑,๐๐๐ เมตร เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ถึงสีน้ำตาล ใช้ทำเครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก และด้ามเครื่องมือเกษตรกรรม
                      ๕. สนแผง หรือสนใบต่อ  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปพิรามิด หรือกลม ปลายกิ่งห้อยลู่ลง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ใบเดี่ยวเป็นเกล็ด ติดตรงข้ามและสลับทิศทางกัน ติดลู่แนบไปกับกิ่งคล้ายลายกนก ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อในต้นเดียวกัน ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก  การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ พรรณไม้ต้นแบบได้จากภาคใต้ของจีน พบขึ้นกระจายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามป่าดิบเขาสูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐ - ๑,๓๐๐ เมตร เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน ถึงสีน้ำตาลแดง กลิ่นหอมอ่อน ใช้ต่อเรือ ทำเครื่องตกแต่งบ้าน สิ่งปลูกสร้างภายในร่ม และใช้เป็นไม้หุ้มแกนดินสอ
                       ๖. สนกระ  เป็นพุ่ม สูง ๒ เมตร ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ แต่ละคู่สลับทิศทางกัน ใบรูปรีแกมหอก ดอกรูปแจกันสีขาว กลิ่นหอมอ่อน เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกเดี่ยว ๆ หรือรวมกันเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ผลเล็กกลม เป็นชนิดผลเมล็ดแข็ง  การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะชำ หรือตอนกิ่ง พบขึ้นทั่วทุกภาคตามป่าดิบ เขาสูง จากระดับน้ำทะเล ๕๐ - ๑,๒๐๐ เมตร ปลูกเป็นไม้ดอก และไม้ประดับ
                       ๗. สนทราย สนนา  สนแดงสนสร้อยไก่ สนหางไก่ สนเทศ สนสร้อยหรือ สนหอม เป็นไม้พุ่ม สูงไม่เกิน ๕ เมตร ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยว ติดตรงข้ามกันเป็นคู่ ทำให้เกิดเป็นพวง ใบรูปเข็ม หรือรูปเหล็กหมาด ยาวไม่เกิน ๑ ซม. ผิวใบมีต่อมน้ำมันทั่วไป ใบแห้งมีกลิ่นหอมอ่อน ดอกสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อน ออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ ผลกลมเล็ก การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพาะ พบตามที่โล่งหรือป่าหญ้า ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐ - ๑,๒๐๐ เมตร ปลูกเป็นไม้ประดับ กิ่งเล็ก ใบและดอกมีกลิ่นหอม ใช้ชงน้ำแทนชาดื่ม เพื่อลดไข้
                        ๘. สนทะเล  เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ สูง ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปเจดีย์ หรือรูปกรวย กิ่งชี้ขึ้นแต่ปลายกิ่งจะลู่ลงเล็กน้อย กิ่งอ่อนเรียวคล้ายเส้นลวด และต่อเป็นปล้อง ๆ ออกรวมกันเป็นกลุ่มคล้ายแส้ม้า ลำต้นเปลาตรง มักแตกกิ่งต่ำ ใบเดี่ยวคล้ายเกล็ดแหลม ติดรอบข้อของกิ่งอ่อน ดอกสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เป็นดอกแยกเพศ อยู่ต่างช่อในต้นเดียวกัน ผลเป็นชนิดผลแห้ง แตกออกรมกันเป็นก้อนกลม การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ พบตามชายฝั่งทะเล ทั้งด้านอ่าวไทย และมหาสมุทรอินเดีย ตามป่าชายหาด เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแดง มีเสี้ยน แปรรูปยากใช้ทำเสา คานที่รองน้ำหนักมาก ๆ เปลือกให้น้ำฝาด และสี ใช้ย้อมแห อวน หรือตาข่ายจับปลา นิยมปลูกเป็นไม้กำบังลม เป็นไม้แต่งกิ่ง และให้ร่มเงา
                     พรรณไม้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ได้แก่
                        ๑. สนประดิพัทธ์  เป็นไม้ต้น มีขนาดลักษณะรูปทรงคล้ายสนทะเล แต่เรือนยอดชะลูดไม่แตกกิ่งใหญ่ ใบตามข้อกิ่งอ่อน มีข้อละ ๙ - ๑๑ ใบ ช่อดอกเพศตัวผู้และเพศตัวเมีย อยู่ต่างต้นกัน นิยมปลูกเป็นสวนป่า ปลูกสองข้างถนน และปลูกประดับ เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแดง เหนียวและแข็งมาก ใช้ทำเสากระโดงเรือ เสาโป๊ะ เสาเข็ม ทำด้ามเครื่องมือทางเกษตรกรรม เครื่องกลึงและเครื่องแกะสลัก
                        ๒. สนปัตตาเวีย  เป็นไม้ต้น มีขนาดลักษณะและรูปร่างคล้ายสนประดิพัทธ์ หรือสนทะเล แต่ใบตามช่อกิ่งอ่อนมีข้อละสี่ใบ ช่อดอกเพศผู้ และเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับสนทะเล และสนประดิพัทธ์
                        ๓. สนก้างปลา  เป็นไม้เถาล้มลุก ทุกส่วนมียางเหนียว ใบเดี่ยว รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ดอกรูปแตร สีแดงเข้ม เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผลเป็นชนิดแห้ง แตกรูปทรงกลม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
                        ๔. สนราชินี  เป็นไม้เถาล้มลุก มีเหง้า และรากเป็นพวงใต้ดิน ลำต้นหรือเถามีหนามสั้น ๆ ใบเดี่ยวรวมเป็นกระจุก รอบกิ่งย่อย ใบรูปเข็ม หรือรูปเหล็กหมาด ดอกสีขาว สมบูรณ์เพศออกเดี่ยว ๆ ไม่เกินสองดอก ตามง่ามใบ ผลเล็กกลม เป็นชนิดเมล็ดแข็ง ปลูกเป็นไม้ประดับ
                        ๕. สนอินเดีย  เป็นไม้ต้น สูงถึง ๒๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอด รูปเจดีย์ หรือรูปกรวย ใบเป็นช่อเรียงเวียนตามปลายกิ่ง ดอกสมบูรณ์เพศ สีเหลืองหรือสีแสด ออกรวมเป็นช่อ ผลกลม เป็นชนิดผลแห้งแตก ปลูกเป็นไม้ประดับ และให้ร่มเงา
                        ๖. สนปอย หรือสนหมอก  เป็นไม้พุ่มเตี้ยไม่ผลัดใบ กิ่งย่อยออกเวียนลำต้น ใบเดี่ยว คล้ายเกร็ดแหลม ๆ ติดเรียงสลับ ดอกเล็กสีขาวหรือขาวอมชมพู ดอกสมบูรณ์เพศ ออกรวมกันเป็นช่อ ตามปลายกิ่งหรือง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ผลเล็กกลมมีสามพู นำมาปลูกเป็นไม้กระถาง และไม้ประดับสวน
                     กลุ่มพืชเมล็ดเปลือย
                        ๑. สนจีน  สนข้าวเปลือก สนหนามจีน สนญี่ปุ่น หรือสนหูเสือ เป็นไม้ต้นสูงถึง ๒๐ เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปเจดีย์ หรือค่อนข้างกลม กิ่งชูตั้งขึ้น ใบเดี่ยวติดตรงข้ามเป็นคู่ ทรงใบคล้ายเกล็ด หรือรูปเหล็กหมาดสั้น ๆ ดอกเล็กแยกเพศอยู่ต่างช่อ ในต้นเดียวกัน ผลกลมแข็ง ปลูกเป็นไม้ประดับ
                        ๒. สนทอง  ลักษณะต่าง ๆ เช่นเดียวกับสนจีน แต่สนทอง ออกสีเหลืองอ่อน และเป็นไม้พุ่มเตี้ย
                        ๓. สนหางสิงห์สนเทศ หรือสนแผง  เป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้นเล็ก สูงถึง ๑๐ เมตร ไม่ผลัดใบ มักแตกกิ่งต่ำ เรือนยอดรูปพีระมิด หรือค่อนข้างกลม ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามและสลับทิศทางกัน ใบรูปสามเหลี่ยมคล้ายเกล็ด แนบกับกิ่ง ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อ ในต้นเดียวกัน ผลกลมหรือรูปไข่ ปลูกเป็นไม้ประดับ
                        ๔. สนข้าวเม่า  เป็นไม้ต้น สูงถึง ๒๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง ใบเดี่ยวติดตรงข้าม หรือเยื้องกันเล็กน้อย ใบรูปรีแกมรูปหอก ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อและต่างต้นกัน ผลรูปไข่มีกาบเรียงซ้อนกัน หุ้มคล้ายเกล็ด ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่ว ๆ ไป น้ำมัน หรือชัน ทำน้ำมันชักเงาที่มีคุณภาพสูง
                        ๕. สนหนาม  เป็นไม้ต้นสูงถึง ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ กิ่งอ่อนมักแยกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลำต้นเปลาตรง ใบเดี่ยวเรียงเวียนไปตามกิ่ง ใบรูปหอก แกมรูปขอบขนาน ปลายเป็นหนามแหลม โคนใบสอบ ไม่เห็นก้านใบ ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อและต่างต้นกัน ผลรูปไข่หรือรูปกรวย มีกาบเรียงซ้อนเกยกัน คล้ายเกล็ด นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่วไป
                        ๖. สนหนาม  เป็นไม้ต้นสูงถึง  ๔๐ เมตร  ไม่ผลัดใบ กิ่งอ่อนมักแยกตรงกันข้าม ใบเดี่ยวเรียงเวียนถี่ ๆ ใบรูปเข็ม หรือรูปเหล็กหมาดงุ้มเข้า ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อและต่างต้นกัน ผลเป็นรูปไข่หรือรูปกรวย มีกาบเรียงซ้อนเกยกันคล้ายเกล็ด นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้างทั่วไป
                        ๗. สนฉัตร  ลักษณะทั่ว ๆ ไปคล้ายสนหนาม แต่ผลมีขนาดใหญ่กว่า ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง
                        ๘. สนฉำฉา  เป็นไม้ต้นสูงถึง ๒๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบรูปหอก แกนขอบขนาน ดอกแยกเพศอยู่ต่างช่อและต่างต้นกัน ผลเป็นเมล็ด มีลักษณะกลม นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ หรือไม้กระถาง
                        ๙. สนญี่ปุ่น  หรือ สนใบพาย  ลักษณะทั่ว ๆ ไป คล้ายสนฉำฉา แต่สนญี่ปุ่นเป็นไม้พุ่ม ใบมีขนาดเล็ก ติดกิ่งดูเป็นพวงตามปลายกิ่ง ปลูกเป็นไม้ประดับ
                        ๑๐. สนญี่ปุ่น  เป็นไม้ต้นสูงถึง ๕๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดรูปเจดีย์ ใบเดี่ยว เรียงเวียนถี่ ๆ ตามกิ่งอ่อน ใบรูปเข็ม หรือเหล็กหมาด ปลายใบงุ้มเข้าแข็ง และแหลมคล้ายหนาม ดอกแยกเพศแต่อยู่ในต้นหรือกิ่งเดียวกัน ดอกเพศผู้สีเหลืองอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อเล็ก ๆ รูปไข่ และมีมากช่อ เป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง หรือตามง่ามใบ ใกล้ปลายกิ่ง และอยู่เหนือกลุ่มช่อดอกเพศเมีย ผลหรือโคน มีลักษณะกลมแข็งประกอบด้วย กาบปลายแหลม ชอบขึ้นตามภูเขา เนื้อไม้สีขาว มีความแข็งแรง และทนทานสูงมาก
                        ๑๑. สนหนามจีน  เป็นไม้ต้น สูงถึง ๓๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดรูปกรวย หรือค่อนข้างกลม ดอกแยกเพศ แต่อยู่ในต้นและกิ่งเดียวกัน ผลเป็นรูปทรงกลม หรือป้อม ประกอบด้วยกาบที่มีปลายแหลม คล้ายหนาม ปลูกเป็นไม้ประดับ         ๒๗/๑๗๐๕๘
            ๔๙๗๙. สนธิสัญญา  เป็นคำที่ใช้กันในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๒  ได้กำหนดนิยามของสนธิสัญญาไว้ในมาตรา ๒ (๑) (เอ) ว่า  "สนธิสัญญา หมายความถึง ความตกลงระหว่างประเทศ ที่ได้ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างรัฐต่าง ๆ และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ไม่ว่าจะปรากฎในตราสารฉบับเดียว หรือสองฉบับ หรือตราสารที่เกี่ยวข้องกันมากกว่านั้นขึ้นไป และจะมีชื่อเฉพาะว่าอย่างไรก็ตาม"  ด้วยเหตุนี้ ความหมายของสนธิสัญญาจึงได้แก่ ความตกลงระหว่างรัฐ ผู้มีอำนาจอธิปไตยเพื่อให้มีผลทางกฎหมาย
                    นักกฎหมายบางคน มีความเห็นว่า ความหมายของสนธิสัญญานี้ สามารถแบ่งออกได้เป็นสองนัยคือ ความหมายอย่างแคบ และความหมายอย่างกว้าง ในความหมายอย่างแคบ หรือที่เรียกว่า  "สนธิสัญญาชนิดทำเต็มตามแบบ" หมายถึง ตกลงระหว่างรัฐอันมีอธิปไตย เพื่อให้มีผลบางประการแก่รัฐที่ได้ตกลงกันนั้น โดยความตกลงดังกล่าว จะมีผลต่อเมื่อผ่านแบบพิธีการ ให้สัตยาบันแล้ว เป็นการผ่านแบบพิธีสามระยะได้แก่ การเจรจา การลงนาม และการให้สัตยาบัน ส่วนความหมายอย่างกว้าง หรือที่เรียกว่า "สนธิสัญญาชนิดทำตามแบบย่อ"  หมายถึง ความตกลงระหว่างรัฐอันมีอธิปไตย เพื่อให้มีผลบางประการนั้น โดยไม่จำกัดว่า ความตกลงนี้ต้องทำผ่านแบบพิธีในการให้สัตยาบัน ทั้งนี้ สนธิสัญญาเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการเจรจา แล้วมีการลงนาม ก็มีผลตามกฎหมาย
                     ความสำคัญของสนธิสัญญา  ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ถือว่าสนธิสัญญาเป็นบ่อเกิด หรือที่มาแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ โดยพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา ๓๘ แห่งพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้กำหนดให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการพิจารณาวินิจฉัย เพื่อพิพากษาและบังคับคดีได้แก่
                        ๑. สนธิสัญญาหรืออนุสัญญาระหว่างประเทศ ไม่ว่าทั่วไปหรือโดยเฉพาะ ซึ่งตั้งกฎเกณฑ์อันเป็นที่รับรองของรัฐ ที่เกี่ยวข้องโดยชัดแจ้ง
                        ๒. จารีตประเพณีระหว่างประเทศ ในฐานะเป็นหลักฐานแห่งการปฎิบัติโดยทั่วไป ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็น กฎหมาย
                        ๓. หลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งอารยประเทศรับรอง ส่วนคำพิพากษาของศาล และคำสอนของนักนิติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ไม่ถือว่า เป็นบ่อเกิดหรือที่มาแห่งกฏหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นเพียงเครื่องช่วยให้ศาล วินิจฉัยหลักกฎหมายเท่านั้น
                     องค์ประกอบของสนธิสัญญา  มีสี่ประการได้แก่
                        ๑. เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ทำขึ้น เพื่อก่อให้เกิดความผูกพันตามที่ได้ตกลงกันไว้ ระหว่างภาคีแห่งสนธิสัญญาแต่ละฉบับนั้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงความตกลงระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศด้วย นักกฎหมายบางท่านมีความเห็นว่า สนธิสัญญาเป็นนิติกรรมสองฝ่าย หรือหลายฝ่าย ส่วนคำมั่น คำแถลงการณ์ที่อธิบาย หรือแสดงความคิดเห็น หรือคำประกาศ ซึ่งรับได้แสดงออกฝ่ายเดียว เช่น ข้อเสนอ บันทึกช่วยจำ และคำประกาศสงคราม ไม่ใช่สนธิสัญญา
                        ๒. เป็นความตกลงระหว่างผู้มีอำนาจอธิปไตย ตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป รวมถึงองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีด้วย
                        ๓. เป็นความตกลงที่ทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
                        ๔. เป็นความตกลงที่อยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
                     การแบ่งประเภทสนธิสัญญา  เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจลักษณะ และความหมายของสนธิสัญญา โดยอาจพิจารณาได้สองแนวทางคือ
                        ๑. การแบ่งตามเนื้อหา  อาจแยกพิจารณาตามสาระของสนธิสัญญา ได้แก่
                            ก. สนธิสัญญาเสมอภาค และสนธิสัญญาไม่เสมอภาค
                            ข. สนธิสัญญาประเภทสัญญา และสนธิสัญญาประเภทกฎหมาย
                        ๒. การแบ่งตามรูปแบบ  อาจแยกพิจารณาตามรูปแบบ การจัดทำสนธิสัญญาเป็นหลัก
                            ก. การแบ่งประเภทของคู่สนธิสัญญา
                            ข. การแบ่งตามจำนวนของคู่สนธิสัญญา เช่น สนธิสัญญาสองฝ่าย สนธิสัญญาหลายฝ่าย
                            ค. การแบ่งตามกระบวนการจัดทำสนธิสัญญา โดยพิจารณาแบบพิธีของการจัดทำสนธิสัญญาคือ การเจรจา การลงนาม และการให้สัตยาบัน
                     การจัดทำสนธิสัญญา  ภายใต้สนธิสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วย กฎหมายสนธิสัญญา พ.ศ.๒๔๕๒ ได้กำหนดวิธีการจัดทำสนธิสัญญาไว้ โดยได้แบ่งวิธีทำสนธิสัญญา ชนิดทำเต็มตามแบบ ไว้สามระยะคือ  การเจรจา การลงนาม การให้สัตยาบัน
                     ความไม่สมบูรณ์ของสนธิสัญญา  มีผลให้รัฐ ซึ่งเป็นคู่สัญญาใช้อ้างปฎิเสธความผูกพัน ตามสนธิสัญญาที่ได้จัดทำขึ้น ได้แก่
                        ๑. ความสำคัญผิด  เป็นกรณีที่รัฐเข้าทำสนธิสัญญา โดยสำคัญผิดเกี่ยวกับปัจจัย หรือสถานการณ์ ซึ่งรัฐถือว่ามีอยู่ในขณะเข้าทำสนธิสัญญา และเป็นสาระสำคัญต่อความยินยอมให้ถูกผูกพันตามสนธิสัญญา เว้นแต่รัฐผู้อ้างความไม่สมบูรณ์ของสนธิสัญญา จากความสำคัญผิดนั้น มีส่วนโดยพฤติกรรมของตนเองในความสำคัญผิด หรือควรรู้ว่ามีความผิดพลาดเช่นนั้น ตามมาตรา ๔๘ แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา
                        ๒. กลฉ้อฉล  เป็นการหลอกลวงโดยรัฐ ซึ่งเป็นคู่เจรจาชักจูงให้อีกรัฐได้ตกลงเข้าทำสนธิสัญญา ตามมาตรา ๔๙ แห่งอนุสัญญา ฯ
                        ๓. ความทุจริต  เป็นความประพฤติมิชอบทุจริตของผู้แทนรัฐ โดยรับสินบนจากรัฐคู่เจรจา เป็นผู้ให้แก่ผู้แทนนั้น ไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม ตามมาตรา ๕๐ แห่งอนุสัญญา ฯ
                        ๔. การขู่เข็ญบังคับ  เป็นการใช้กำลัง หรือการขู่เข็ญ บีบบังคับแก่ผู้แทนรัฐ ที่ทำการเจรจาในการจัดทำสนธิสัญญานั้น อันทำให้สนธิสัญญานั้นไร้ผลทางกฎหมาย ตามมาตรา ๕๑ แห่งอนุสัญญา ฯ
                        ๕. การขัดต่อกฎหมายเด็ดขาด  เป็นการตกลงที่มีสาระสำคัญอันขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ที่มีหลักการมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับ และรับรองกันโดยประชาคมโลก ซึ่งไม่อนุญาตให้มีการตกลงเลี่ยงหลักการนั้น
                     ผลของสนธิสัญญา  สนธิสัญญาย่อมมีผลตามกฎหมาย หรือบังคับต่อรัฐที่เป็นคู่สนธิสัญญาโดยตรง นักกฎหมายทั่วไปเห็นว่า สนธิสัญญาที่สมบูรณ์ก่อให้เกิดหนี้ผูกพันต่อรัฐเท่านั้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกลุ่มบุคคลในรัฐ ที่เป็นคู่สนธิสัญญาสองกลุ่ม ได้แก่
                        ๑. ผลของสนธิสัญญาต่อองค์กรปกครองของรัฐภาคีสนธิสัญญา  องค์กรปกครองของแต่ละรัฐคือ กลุ่มผู้ปกครองในรัฐนั้น ผลผูกพันสำคัญประการแรกแก่องค์การปกครองแห่งรัฐ ต่อสนธิสัญญาก็คือ การกระทำในฐานะตัวแทนแห่งรัฐสภาคือ สนธิสัญญาที่จะต้องงดเว้นการกระทำใด ๆ ที่อาจมีผลทำให้วัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาตกเป็นอันไร้ผล ตามมาตรา ๑๘ แห่งอนุสัญญา ฯ
                        ๒. ผลของสนธิสัญญาต่อประชาชนของรัฐที่เป็นคู่สัญญา  เมื่อสนธิสัญญามีผลผูกพันระหว่างรัฐต่อรัฐที่เป็นคู่สัญญาแล้ว ย่อมทำให้องค์กรปกครองแห่งรัฐนั้น ๆ ต้องจัดให้เป็นสาระสำคัญแห่งความตกลงในสนธิสัญญา เป็นส่วนหนึ่งในระเบียบภายในของรัฐด้วย
                     ความสิ้นสุดแห่งสนธิสัญญา  สาเหตุแห่งการสิ้นสุดสนธิสัญญามีสี่ประการ ได้แก่
                        ๑. ความตกลงยินยอมยกเลิกของคู่สนธิสัญญา  มาตรา ๕๔ แห่งอนุสัญญา ฯ ได้กำหนดให้การสิ้นสุดของสนธิสัญญา อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ โดยความยินยอมของภาคีสนธิสัญญาทั้งหมดของสนธิสัญญา ส่วนความตกลงยกเลิกสนธิสัญญานั้น อาจกระทำโดยสนธิสัญญาเฉพาะ เพื่อการยกเลิกสนธิสัญญานั้น หรืออาจปรากฎอยู่ในข้อกำหนดปลีกย่อย ในสนธิสัญญาฉบับใดฉบับหนึ่งก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีการตกลงยกเลิกสนธิสัญญาโดยปริยายระหว่างภาคี แห่งสนธิสัญญา
                        ๒. คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสนธิสัญญา  โดยหลักทั่วไป สนธิสัญญาแต่ละฉบับไม่อาจถูกยกเลิกไปด้วยความประสงค์ ของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่มีข้อยกเว้น บางกรณีที่อาจกระทำได้ ซึ่งต้องกระทำตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา ๕๖ แห่งอนุสัญญา ฯ กล่าวคือ
                            ก. กรณีที่ปรากฎโดยเจตจำนงค์ของภาคี ในการยอมรับการบอกเลิกหรือการถอนตัวจากสนธิสัญญา ส่วนวิธีการบอกเลิก หรือการถอนตัวจากสนธิสัญญาฝ่ายเดียวคือ ภาคีจะต้องแจ้งเจตน์จำนงของตนเป็นหนังสือ ก่อนการบอกเลิก หรือถอนตัวจากสนธิสัญญาแก่ภาคีอื่น ๆ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า สิบสองเดือน
                            ข. กรณีเมื่อสิทธิในการบอกเลิก หรือถอนตัวจากสนธิสัญญาเป็นสิทธิที่เกิดขึ้น โดยปริยายจากลักษณะของสนธิสัญญานั้น
                        ๓. การไม่ปฎิบัติตามสนธิสัญญา  เมื่อภาคีแห่งสนธิสัญญา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฎิบัติตามสนธิสัญญา แล้วมาตรา ๖๐ แห่งอนุสัญญา ฯ ได้กำหนดให้ภาคีอื่น ในสนธิสัญญาสามารถกล่าวอ้าง การละเมิดสนธิสัญญามาเป็นเหตุในการทำสนธิสัญญาสิ้นสุด หรือระงับใช้สนธิสัญญานั้นไว้ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนได้
                        ๔. พฤติการณ์บางประการที่ทำให้เลิกสนธิสัญญา ได้แก่
                            ก. พฤติการณ์เป็นพ้นวิสัย มาตรา ๖๑ แห่งอนุสัญญา ได้กำหนดให้ภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา สามารถอ้างกรณีการบังคับตามสนธิสัญญา ตกเป็นพ้นวิสัยมาเป็นเหตุให้สนธิสัญญาสิ้นสุดลงได้ หากว่าการพ้นวิสัยนั้น ทำให้วัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาที่เป็นสาระสำคัญ ของการบังคับตามสนธิสัญญาดังกล่าวสิ้นไป
                            ข. สภาวะการณ์เปลี่ยนแปลงไป มาตรา ๖๒ แห่งอนุสัญญา ฯ กำหนดไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญต่อสภาวการณ์ที่เคยมีอยู่ในขณะจัดทำสนธิสัญญา และไม่อาจคาดหมายได้โดยภาคีสนธิสัญญา และไม่อาจคาดหมายได้โดยภาคีสนธิสัญญา ย่อมไม่อาจนำมากล่าวอ้างให้เป็นเหตุให้สนธิสัญญาสิ้นสุดลง เว้นแต่เป็นกรณีที่ว่า การคงอยู่ของสภาวการณ์ดังกล่าวนั้น เป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความยินยอมของภาคี ที่จะผูกพันตามสนธิสัญญาประการหนึ่ง และเป็นกรณีที่ก่อให้เกิดผลอย่างรุนแรง ต่อขอบเขตเนื้อหาของพันธกรณีในการปฎิบัติตามสนธิสัญญาอีกประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วย การกำหนดเขตแดนก็ดี หรือเป็นผลมากจากการละเมิดพันธกรณีของสนธิสัญญา โดยการกระทำของภาคีผู้กล่าวอ้างนั้นก็ดี  ก็ไม่อาจนำการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มาใช้เป็นเหตุกล่าวอ้าง เพื่อให้สนธิสัญญาสิ้นสุดลงแต่อย่างใด         ๒๗/๑๗๐๙๐
            ๔๙๘๐. สนม ๑  เป็นกุลสตรี ที่บิดามารดามียศบรรดาศักดิ์ ซึ่งเคยเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิม หรือมีญาติผู้ใหญ่ และเกี่ยวข้องกับพระราชวงศ์ฝ่ายใน เห็นว่าบุตรีของตน ควรจะได้รับการศึกษามารยาท และศิลปศาสตร์ของสตรี จึงนำบุตรีมาฝากให้รับใช้และศึกษา ถ้าท่านเหล่านั้น เห็นว่ามีลักษณะดี ก็ให้ติดตามเวลาเข้าเฝ้า ได้ทอดพระเนตร มีโอกาสทักทายปราศรัย ในโอกาสต่อมาก็ถวายตัวรับใช้ มีตำแหน่งเป็นข้าบาทบริจาริกา ถ้าทรงโปรดก็พระราชทานตำแหน่งเป็นคุณจอม หรือเจ้าจอม เมื่อมีพระราชโอรส และพระราชธิดา ก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าจอมมารดา มีเบี้ยหวัดเงินปี พระราชทานหีบหมาก เครื่องยศเป็นสำคัญ นับว่าเป็น พระสนมเอก         ๒๗/๑๗๑๐๐
           ๔๙๘๑. สนม ๒  ข้าราชการพลเรือน สำนักพระราชวัง ในสมัยโบราณเรียกว่า สนมพลเรือน สังกัดกรมวัง หรือกระทรวงวัง ปัจจุบันปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานพระราชพิธี งานพระราชกุศล งานศพข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และบุคคลผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเกียรติยศไว้เรียกว่า พนักงานสนมพลเรือน         ๒๗/๑๗๑๐๑
            ๔๙๘๒. สนม ๓  คือ ที่กักบริเวณในเขตพระราชฐานชั้นใน หญิงใดมีความผิดโดยตัดสินของอธิบดีกรมโขลน หรือมีพระบรมราชโองการ หรือมีพระราชเสาวนีย์ สั่งลงโทษให้ไปกักบริเวณ ถ้าโทษเบาก็ต้องกักไว้ที่ศาลาว่าการกรมโขลน ถ้าผู้ต้องรับพระราชอาญาเป็นเชื้อพระวงศ์ เครื่องสังขลิก ที่ใช้ต้องหุ้มด้วยผ้าขาว ผู้ต้องโทษนี้ชาวโขลนเรียกว่า ติดสนม         ๒๗/๑๗๑๐๑
            ๔๙๘๓. สนุกเกอร์  เป็นกีฬาเก่าแก่ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลกมาแต่โบราณ เป็นกีฬาที่มีวิธีเล่นและอุปกรณ์การเล่น หลายอย่างเหมือนกีฬาบิลเลียด และพลู ซึ่งเป็นกีฬาที่คนอังกฤษนิยมมาก สันนิษฐานว่า สนุกเกอร์มีกำเนิดขึ้น ที่ประเทศอินเดีย เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๑๓ ในกองทหารอังกฤษซึ่งชอบเล่นกีฬาพูลดำ โดยคิดเพิ่มลูกสีที่จะทำให้สนุกสนานขึ้น ต่อมาได้มีผู้นำกีฬาชนิดนี้เข้าไปเผยแพร่ในประเทศอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๓ กีฬาชนิดนี้จึงได้รับความนิยมมากขึ้น
                    สนุกเกอร์ เป็นกีฬาในร่มที่เล่นได้ทั้งประเภทเดี่ยว ประเภทคู่ และประเภททีม โดยทั่ว ๆ ไปแล้วการแข่งขันระดับนานาชาติ ผู้ชนะห้าในเก้าเฟรมคือ ผู้ชนะ ยกเว้นรอบชิงชนะเลิศ ผู้ชนะหกในสิบเอ็ดเฟรม จึงจะเป็นผู้ชนะ
                    กีฬาสนุกเกอร์ เข้ามาในประเทศไทย โดยนายทหารอังกฤษเป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่ เมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๐ สมาคมพ่อค้าไทยจึงได้เริ่มจัดแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย
                    กีฬาสนุกเกอร์ ได้จัดให้มีการแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่สิบสี่ เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐  ซึ่งประเทศอินโดนิเซีย เป็นเจ้าภาพ และในกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่สิบสาม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ         ๒๗/๑๗๑๐๒
            ๔๙๘๔. สบู่  เป็นสารทำความสะอาดชนิดหนึ่ง นอกจากนั้นยังใช้เตรียมอิมัลชัน เช่น ครีมที่ใช้ทำเครื่องสำอาง และยา ขี้ผึ้ง สารฆ่าศัตรูพืช ทำไขข้น หล่อลื่นสำหรับหล่อแบบพลาสติก สิ่งทอกันน้ำ
                    ตามประวัติสบู่ เป็นสารที่คนเรารู้จักกันมานานมาก มีการค้นพบสารคล้ายสบู่ ในคนโทดินเหนียวที่ได้จากการขุดค้น โบราณวัตถุที่เมืองบาบิโลน ซึ่งมีอายุ ๒,๘๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช
                    การสบู่ ในยุโรปเริ่มมีขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่เจ็ด กิจการผลิตสบู่รุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ ในศตวรรษต่อมา อิตาลี สเปน และฝรั่งเศส เป็นศูนย์กลางของการทำสบู่ เพราะมีวัตถุดิบมาก เช่น น้ำมันมะกอก จนถึงปี พ.ศ.๒๓๓๔  แพทย์ชาวฝรั่งเศส พบวิธีเตรียมโซเดียมคาร์บอเนต จากเกลือโซเดียมคลอไรด์ เมื่อทำปฎิกิริยากับปูน ก็จะให้โซเดียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งนำไปทำสบู่ได้ ต่อมานักเคมีชาวฝรั่งเศส รู้ธรรมชาติทางเคมีของสบู่ ความเกี่ยวข้องระหว่างไขมัน กรดไขมันและกลีเซอรอล
                    ต่อมามีการทำสบู่ อีกหลายประการเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีกมาก จนถึงทศวรรษ ๑๙๓๐  จึงมีสารซักฟอกสังเคราะห์เกิดขึ้น และเข้ามาทำหนาที่แทนสบู่
                สบู่ถูตัว เป็นสบู่โซเดียม ไขสัตว์ เป็นส่วนประกอบพื้นฐาน สบู่ จากไขมันสัตว์แข็งแน่น มีประสิทธิภาพดี ในการทำความสะอาด มักจะต้องปนน้ำมันมะพร้าวด้วย เพื่อเพิ่มการละลายได้ และทำให้เป็นฟองดีขึ้น         ๒๗/๑๗๑๐๙
            ๔๙๘๕. สเปกตรัม  เป็นการกระจายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ออกเป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ตามความยาวคลื่น หรือความถี่ขององค์ประกอบนั้น ๆ
                    ในปี พ.ศ. ๒๒๐๗  ไอแซก นิวตัน ได้ทดลองปล่อยแสงอาทิตย์ผ่านรูเล็ก ให้ไปกระทบปริซึมแก้ว เขาสังเกตเห็นว่า หลังจากที่แสงทะลุผ่านปริซึมแล้ว แสงได้กระจายออกเป็นแถบแสงขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยแถบแสงขนาดเล็กสีต่าง ๆ เรียงกันเหมือนสังรุ้ง นิวตันเรียกการจัดเรียงแถบแสง ที่มีความยาวคลื่นต่าง ๆ กันเหล่านี้ว่า สเปกตรัม ประกอบด้วยแถบแสงสีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง
                    ในอดีตนักวิทยาศาสตร์ เคยเชื่อว่ามนุษย์ไม่มีทางรู้ว่า ดวงดาวต่าง ๆ ประกอบด้วยธาตุอะไรบ้าง แต่เมื่อพบวิทยาการวิเคราะห์สเปกตรัมแล้ว วิทยาการนี้ไม่เพียงจะทำให้รู้องค์ประกอบภายนอกของดาวเท่านั้น แต่สามารถรู้แม้แต่ในใจกลางของดาวว่า มีธาตุชนิดใดได้โดยใช้อุปกรณ์ สำหรับสังเกตสเปกตรัมที่เรียกว่า สเปกโทรสโกป และอุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายภาพของสเปกตรัมเรียกว่า สเปกโทรกราฟ          ๒๗/๑๗๑๑๔
            ๔๙๘๖. สเปน  ประเทศในทวีปยุโรป เรียกชื่อเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรสเปน ส่วนชื่อที่ชาวสเปนเรียกประเทศตนเองคือ เอสปาญา ประเทศสเปนตั้งอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ครอบคลุมพื้นที่ประมาณห้าในหกของคาบสมุทร โดยอีกหนึ่งในหกเป็นดินแดนของประเทศโปร์ตุเกส มีพื้นที่ ๕๐๔,๗๔๒ ตร.กม. นับว่าเป็นประเทศใหญ่เป็นอันดับสาม ของทวีปยุโรป รองจากรัสเซียและฝรั่งเศส และมีขนาดไล่เลี่ยกับประเทศไทย อยู่ติดทะเลสองด้านคือ ด้านตะวันออก และด้านใต้ เป็นทะเลเมดิเตอเรเนียน ส่วนด้านตะวันตก และด้านเหนือเป็นมหาสมุทรแอตแลนติก มีเขตแดนทางบกติดต่อกับสองประเทศคือ ประเทศฝรั่งเศส ทางด้านเหนือ และประเทศโปร์ตุเกส ทางด้านตะวันตก
                    ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีที่ราบเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเล และตอนปลายของแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ที่ราบสูงมีความสูงเฉลี่ย ๖๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะล ครอบคลุมประมาณสามในสี่ของพื้นที่ประเทศ ทำให้สเปนได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีความสูงเฉลี่ยของพื้นที่ มากเป็นอันดับสองของยุโรป รองจากสวิตเซอร์แลนด์ จุดสูงสุดอยู่ที่ยอดเขามูลาเซน ในเทือกเขาเซียราเนวาดา สูง ๓,๔๗๗ เมตร
                    เมืองสำคัญได้แก่ กรุงมาดริด เป็นเมืองหลวง และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ ตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทร ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๔ เมืองบาร์เซโลนา เป็นเมืองใหญ่อันดับสอง ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เป็นเมืองท่า และศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่สำคัญ เมืองอื่น ๆ ส่วนใหญ่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในฐานะเป็นเมืองหลวง หรือเมืองศูนย์กลางของอาณาจักรต่าง ๆ บริเวณตัวเมืองเก่ามักมีกำแพงเมือง และป้อมปราการที่แข็งแรง อันเป็นลักษณะของเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยที่ อาณาจักรต่าง ๆ แข่งขันอำนาจกัน
                    ประเทศสเปน มีความหลากหลายทั้งในด้านเชื้อชาติ และประชากรและวัฒนธรรม สืบเนื่องมาจากการผสมผสานของชนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรีย ในระยะแรกชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ทางตอนในของคาบสมุทรเป็นชนชาติเคลต์ ซึ่งอพยพเข้ามาจากทางทิศเหนือ ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน เป็นที่อยู่อาศัยของชาวฟินิเชียน ชาวกรีก ซึ่งเดินเรือมาค้าขาย และสร้างที่มั่นขึ้นระหว่าง ๓๐๐ - ๑๐๐ ปี ก่อนพระพุทธศักราช และชาวคาร์เทจ ซึ่งติดตามเข้ามาในพระพุทธศตวรรษที่สอง อันเป็นระยะเวลาที่ชาวโรมัน เริ่มแผ่อำนาจเข้ามาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทร ต่อมาชาวโรมันได้ค่อย ๆ ขยายอำนาจออกไปจนได้ครอบครองคาบสมุทรไอบีเรีย เมื่อปี พ.ศ.๕๒๔ ทำให้สเปนกลายเป็นแคว้นหนึ่ง ของจักรวรรดิ์โรมันเป็นเวลา ๒๐๐ ปี
                    ในพระพุทธศตวรรษที่สิบ ภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิ์โรมันแล้ว พวกอนารยชนเผ่าวิซิกอท เริ่มบุกรุกเข้ามาทางภาคเหนือของสเปน และค่อย ๆ ขยายอำนาจปกครองออกไปตามลำดับ โดยมีเมืองโตเลโด เป็นศูนย์กลางอำนาจ ทำให้อารยธรรมอันเป็นรากฐานของชนชาติเยอรมัน เข้ามาผสมผสานกับอารยธรรมของชนชาติเคลต์ และโรมัน ที่มีอยู่เดิม มีการเลือกตั้งกษัตริย์ให้ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองของอาณาจักรต่าง ๆ
                    ในกลางพระพุทธศตวรรษที่สิบสาม พวกมัวร์ ซึ่งเป็นชาวมุสลิม ในทวีปแอฟริกาตอนเหนือได้เริ่มแผ่ขยายอำนาจ เข้ามาทางตอนใต้ของสเปน โดยข้ามช่องแคบยิบรอลตาร์ ซึ่งมีความกว้างเพียง ๑๓ กม. ในส่วนที่แคบสุด จนในที่สุดได้ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทร ยกเว้น บางส่วนทางตอนเหนือระหว่างพระพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๗ โดยมีเมืองกอร์โดท เป็นศูนย์กลางอำนาจของชาวมุสลิม ทำให้อารยธรรมอาหรับเข้ามาผสมผสานอยู่ในอารยธรรมของสเปน หลายอย่างโดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ
                    ในตอนต้นพระพุทธศตวรรษที่สิบแปด อาณาจักรของชาวคริสต์ได้เริ่มตอบโต้อำนาจของอาณาจักรชาวมุสลิม ทำให้อิทธิพลของชาวมุสลิมค่อย ๆ ถอยร่นลงไปทางใต้ของคาบสมุทรทีละน้อย ที่มั่นสุดท้ายของชาวมุสลิมที่อาณาจักรกรานาดา ถูกทำลายลงในปี พ.ศ.๒๐๓๕ นับเป็นการสิ้นสุดอำนาจการปกครอง ของชาวมุสลิมในสเปน ที่ยาวแปดศตวรรษ และเริ่มต้นอำนาจทางการเมืองของสเปน ในยุคที่มีกษัตริย์ชาวคริสต์ปกครองประเทศอย่างเป็นปึกแผ่นมั่นคง
                    อาณาจักรที่เป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพวกมัวร์คือ อาณาจักรคาสตีล และอาณาจักรอารากอน ส่งผลให้สเปนรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเพิ่มกำลังอำนาจมากขึ้นได้ขยายดินแดน ออกไปยังอาณาจักรเนเปิลล์ ในคาบสมุทรอิตาลีด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๕๙ พระเจ้าชาร์ลที่หนึ่ง แห่งราชวงศ์ฮัมบูร์ก ได้ครองราชย์สเปน ทำให้เนเธอร์แลนด์ ตกอยู่ใต้การปกครองของสเปนด้วย นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงได้รับเลือกตั้งให้เป็นพระเจ้าชาร์ลที่ห้า แห่งจักรวรรดิ์โรมัน อันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้อำนาจของสเปนแผ่กว้างออกไปมากยิ่งขึ้น
                    ในพระพุทธศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด สเปนเริ่มขยายดินแดนออกไปในทวีปต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และถือเป็นช่วงเวลาที่สเปนรุ่งเรืองถึงขีดสุด การค้นพบเส้นทางเดินเรือของนักเดินเรือคนสำคัญ ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสเปน ทำให้สเปนมีโอกาสได้ไปสร้างอาณานิคมขึ้นในดินแดนต่าง ๆ การเดินเรือไปพบทวีปอเมริกาเหนือของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในปี พ.ศ.๒๐๓๕  ได้นำไปสู่การสำรวจและการสร้างอาณานิคมของสเปน ในทวีปอเมริกาเหนือ และทวีปอเมริกาใต้ การเดินทางสำรวจของ เฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน อ้อมทวีปอเมริกาใต้ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ไปถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ.๒๐๖๔  ทำให้สปนขยายอาณานิคมมาที่หมู่เกาะนี้ ในปี พ.ศ.๒๑๐๘
                     หลังจากสเปนรุ่งเรืองอย่างเต็มที่ เป็นเวลาหนึ่งศตวรรษก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง ต้องเสียดินแดนของตนทั้งในทวีปยุโรป และในอาณานิคมหลายแห่ง เช่น  เสียคาบสมุทรยิบรอลตาร์ ให้แก่อังกฤษ และเกาะซาร์ดิเนีย ให้แก่ฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๒๕๗  เสียดินแดนฟลอริดา ให้แก่ฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.๒๓๐๖  อาณานิคมในอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้ ต่างพากันประกาศอิสรภาพ สเปนแพ้สงครามกับสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.๒๔๔๑  ต้องยกเกาะคิวบา เกาะเปอร์โตริโก เกาะกวม และหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ให้แก่สหรัฐอเมริกา
                    วัฒนธรรมของสเปน โดยเฉพาะด้านภาษา ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี แพร่หลายออกไปกว้างขวาง มีประชากรทั่วโลกพูดภาษาสเปน ประมาณ ๔๐๐ ล้านคน นับเป็นภาษาที่มีผู้พูดเป็นอันดับสามของโลก รองจากภาษาจีน และภาษาฮินดี         ๒๗/๑๗๑๑๙
            ๔๙๘๗. สภากาชาด  เป็นองค์การกุศลที่ทำหน้าที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้ และบาดเจ็บ ทั้งในยามสงครามและยามสงบ ตลอดจนบรรเทาทุกข์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ
                    กาชาด เกิดจากแนวคิดของ อังรี ดูนังต์  ชาวสวิส เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๑ ได้เห็นการสู้รบระหว่างทหารฝรั่งเศส ช่วยอิตาลีรบกับออสเตรีย ที่หมู่บ้านทางภาคเหนือของอิตาลี มีทหารสี่หมื่นคนบาดเจ็บ ล้มตายเกลื่อนสนามรบ โดยไม่มีผู้ใดช่วยเหลือ รักษาพยาบาล ดูนังต์ได้ลงมือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วยตนเอง และขอร้องหญิงชาวบ้านในท้องถิ่น ให้มาช่วยด้วย ประสบการณ์นี้ทำให้ดูนังต์ เกิดแรงบันดาลใจเขียนหนังสือเรื่อง "ความทรงจำเรื่องที่ ซอลเฟริโน" ขึ้น
                    จากแนวคิดของดูนังต์ ได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการระหว่างประเทศ เพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ" เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๖  ปัจจุบันคือ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเมื่อเกิดการขัดแย้ง หรือความไม่สงบ หรือสงครามกลางเมือง หรือสงครามระหว่างประเทศ
                    สัญลักษณ์ของกาชาดคือ เครื่องหมายกากบาทแดง อันเป็นการให้เกียรติ์แก่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป้นต้นก่อเกิดของกาชาด และเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่า เครื่องหมายกากบาท มีความสำคัญทางศาสนาคริสต์ อนุสัญญาเจนีวา จึงอนุมัติให้ประชากรมุสลิมใช้เครื่องหมายเสี้ยววงเดือนแดง เป็นสัญลักษณ์ของกาชาดแทนกากบาทแดง ทั่วโลกถือเอาวันที่ ๘ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเกิดของ อังรี ดูนังต์ เป็นวันที่ระลึกกาชาดสากล หรือวันกาชาดโลก
                    การดำเนินการของกาชาดนั้น ได้ยึดหลักการกาชาดเจ็ดประการคือ
                        ๑. มนุษยธรรม  กาชาดมีจุดมุ่งหมายที่จะคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของทุกคน เคารพต่อสิทธิมนุษยชน สนับสนุนและส่งเสริมความเข้าใจ ความเป็นมิตรภาพและความร่วมมือ ส่งเสริมสันติภาพระหว่างประชากรทั้งมวล
                        ๒. ความไม่ลำเอียง  กาชาดไม่เลือกปฎิบัติในเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ชั้นวรรณะ ความคิดเห็นทางการเมือง
                        ๓. ความเป็นกลาง  กาชาดไม่อาจเกี่ยวข้อง หรือเข้ากับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในการสู้รบ
                        ๔. ความเป็นอิสระ  เพื่อที่จะสามารถปฎิบัติตามหลักการกาชาดไว้ทุกเวลา
                        ๕. บริการอาสาสมัคร   ไม่มีความปรารถนาในผลประโยชน์ใด ๆ
                        ๖. ความเป็นเอกภาพ   ในประเทศหนึ่ง พึงมีสภากาชาดได้เพียงแห่งเดียว ต้องเปิดให้แก่คนทั่วไป ต้องปฎิบัติงานด้านมนุษยธรรม ทั่วทุกดินแดนของตน
                        ๗. ความเป็นสากล  สภากาชาดทั้งมวลมีฐานะเท่าเทียมกัน
                    สภากาชาดไทย เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖  โดยใช้ชื่อว่า สภาอุณาโลมแดง และอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น สภากาชาดสยาม และเปลี่ยนเป็นสภากาชาดไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒  มีภารกิจหลักอยู่สี่ลักษณะงาน คือ
                            -  การบริการทางการแพทย์
                            -  การเตรียมการและบรรเทาทุกข์ ผู้ประสบภัยพิบัติ
                            -  การบริการโลหิต
                            -  การส่งเสริมคุณภาพชีวิต               ๒๗/๑๗๑๒๖
            ๔๙๘๘. สภาผู้แทนราษฎร  เป็นองค์การ หรือสถานที่ประชุมของบุคคล ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติ  คำนี้ นำมาใช้ทางกฎหมายอย่างเป็นทางการครั้งแรก ใน พ.ร.บ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.๒๔๗๕  โดยบัญญัติให้ "มีอำนาจออก พ.ร.บ.ทั้งหลาย..." และ"...มีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎร หรือพนักงานรัฐบาลผู้ใดผู้หนึ่งก็ได้"         ๒๗/๑๗๑๓๒
            ๔๙๘๙. ส้ม, ต้น  เป็นชื่อกลุ่มของพรรณพืช รวมทั้งสิ้น ๓๓ สกุล
                    ส้ม จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง ๒ - ๔ เมตร กิ่งมีหนามเดี่ยวที่มุมใบ แต่มักจะไร้หนาม เมื่อต้นมีอายุมากขึ้น ใบเดี่ยว บาง ดอกเดียวเกิดจากซอกใบ หรือเป็นช่อสั้น ดอกสมบูรณ์ ผลมีเนื้อหลายเมล็ด         ๒๗/๑๗๑๔๖
            ๔๙๙๐. ส้มป่อย  เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง หรือไม่พุ่มรอเลื้อย ลำต้นยาว ๗.๕ - ๑๘ เมตร  กิ่งอ่อนมีหนามโค้ง และมีขน กิ่งแก่ขนเกือบเกลี้ยง หูใบรูปหัวใจ ใบประกอบ แบบขนนก สองชั้น เรียงเวียนทั่วลำต้น ช่อดอกส่วนมาก ออกตามง่ามใบ เป็นช่อกระจุก แน่นค่อนข้างกลม ดอกสีขาว หรือสีครีม ผลเป็นฝัก รูปขอบขนานแบน
                    ส้มป่อย  มีการกระจายพันธุ์ ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ออกดอกเกือบตลอดปี
                    ตำรายาไทยใช้รากส้มป่อย แก้ไข้ แก้โรคในลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ต้นใช้แก้น้ำตาพิการ เป็นยาระบาย เปลือกต้นช่วยระบาย แก้กษัย  ทำให้เส้นเอ็นหย่อน ถ่ายเสมหะ และให้สีน้ำตาล ใช้ย้อมแห อวน เนื้อไม้ใช้ทำหวี ใบใช้แก้โรคตา ชำระเมือกมันในลำไส้ ฟอกล้างเสมหะ ฟอกล้างโลหิต แก้บิด ขับพยาธิในลำไส้ รักษาบาดแผลเรื้อรัง แก้เส้นเอ็นพิการ ขัดยอก ยอดอ่อนกินเป็นผัก ดอกใช้บำรุงธาตุ ฝัก เมื่อตีกับน้ำจะเกิดฟอง ใช้สระผมแก้รังแค ใช้เป็นยาปลูกผม ใช้ขัดล้างเครื่องเงิน เครื่องทอง ทางภาคเหนือใช้ลอยน้ำในพิธีรดน้ำดำหัว         ๒๗/๑๗๑๕๔
            ๔๙๙๑. สมเสร็จ  เป็นสัตว์สี่เท้า กีบคี่ เลี้ยงลูกด้วยนม มีขนาดวัดจากปลายจมูกถึงโคนหาง ๑๘๐ - ๒๕๐ ซม. ความสูงที่ช่วงไหล่ ๙๐ - ๑๐๕ ซม. น้ำหนักตัว ๒๕๐ - ๓๐๐ กก. จมูกมีลักษณะเป็นงวงสั้น ๆ  ใช้เกี่ยวกิ่งไม้ใบไม้เข้าปาก
                    สมเสร็จ ชอบอยู่ในป่าค่อนข้างลึกและใกล้ ๆ น้ำ ว่ายน้ำและดำน้ำได้เก่ง เป็นสัตว์กินพืช ชอบนอนแช่ปลักโคลน มีอายุยืนประมาณ ๓๐ ปี
                    สมเสร็จ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่หนึ่ง         ๒๗/๑๗๑๕๘
            ๔๙๙๒. สมอ  เป็นชื่อพันธุ์ไม้หลายชนิด ฉะนั้นเพื่อความชัดเจนจึงมีการต่อท้ายคำเพื่อเน้นชนิดลงไปด้วย เช่น สมอไทย สมอพิเภก สมอดีงู เท่าที่กำหนดเป็นตัวหลักในการเรียกชื่อ ตามหนังสือพรรณไม้แห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๔ มีสิบชนิดด้วยกันคือ
                    ๑. สมอขน  เป็นต้นไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ต้นสูงประมาณ ๑๕ เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน ใบย่อยรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ดอกสีเหลืองหรือสีส้ม ออกรวมเป็นช่อกระจุก แยกแขนงเป็นช่อยาวตามปลายกิ่ง ผลมีเนื้อเมล็ดแข็ง รูปรี
                    ๒. สมอกุ้ง  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง ๕ เมตร ใบเดี่ยว เรียงเวียนตามกิ่งรูปขอบขนาน แกมรูปใบหอก ดอกแยกเพศอยู่ข้างต้น ผลแห้งไม่แตก รูปกลมรี
                    ๓. สมอจีน  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงถึง ๓๐ เมตร เปลือกเรียบสีขาวอมเทา มักมีชันหรือน้ำมันตามรอยปริ ใบประกอบแบบขนนก ติดเรียงเวียน ใบย่อยรูปไข่ รูปขอบขนาน แกมรูปใบหอก ดอกสีขาวอมเหลืองออกรวมกันเป็นช่อกระจุก แยกแขนงตามปลายกิ่ง และตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ผลมีเนื้อเมล็ดแข็งรูปรีแกมรูปไข่
                    ยางที่ได้จากเปลือกรวมทั้งเปลือกใช้ทำธูปหอม น้ำหอม น้ำมันระเหย และใช้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการพิมพ์ เนื้อผลใช้บริโภค หรือใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาอหิวาตกโรค แก้โรคปวดตามข้อ เมล็ดใช้น้ำมันใช้บริโภคได้ เช่นเดียวกับน้ำมันพืช
                    ๔. สมอดีงู  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๓๐ เมตร เปลือกเรียบสีน้ำตาลปนเทา ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม หรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปรีแกมรูปขอบขนาน ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน ออกรวมเป็นช่อกระจะ ออกเป็นช่อเดี่ยวตามง่ามใบ ดอกแยกเพศ แต่รวมอยู่ในช่อเดียวกัน ผลแห้งมีเนื้อเมล็ดเดียว แข็งทรงรูปไข่
                        ผลใช้เป็นยาสมุนไพร  ใช้ระบายท้อง ลดไข้ และแก้โลหิตเป็นพิษ ผลดิบใช้บริโภคแทนผัก
                    ๕. สมอทะเล  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง ๘ เมตร  มักแตกกิ่งต่ำ และลำต้นโค้งงอ ใบเดี่ยวติดเรียงเวียนตามกิ่ง รูปรี รูปขอขนานแกมรูปหอก ดอกแยกเพศ อาจอยู่ในช่อเดียวกัน  หรือในต้นเดียวกัน ดอกสีเขียวอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อเชิงลด ผลแห้งแตกกลมโต มีเมล็ดเดียว
                    ๖. สมอไทย  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ สูงถึง ๒๕ เมตร ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง ใบเดี่ยวติดตรงข้ามตามกิ่ง รูปรี รูปไข่แกมรูปขอบขนาน ดอกสีขาว หรือเหลืองอ่อน กลิ่นหอมอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อกระจะ ผลมีเนื้อเมล็ดเดียว แข็งทรงรูปไข่
                        ผลและเปลือก ให้สีดำ สำหรับย้อมผ้า และแห อวน ผลสดใช้บริโภคแทนผัก และใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ
                    ๗. สมอนั่ง  เป็นไม้พุ่ม สูง ๑ - ๒ เมตร ลำต้นคดงอ ใบเดี่ยวติดเรียงตรงข้ามตามกิ่ง รูปไข่ หรือรูปรีแกมไข่ ดอกสีขาว หรือเหลืองอ่อน กลิ่นหอมอ่อน ออกรวมเป็นช่อกระจะ อาจเป็นช่อเดี่ยว หรือแยกแขนง ๓ - ๔ ช่อย่อย ตามปลายกิ่ง และง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ผลมีเนื้อเมล็ดเดียวแข็ง รูปรี หรือค่อนข้างกลม
                        เปลือกและผล ให้สีดำ สำหรับย้อมผ้าและแห อวน ผลสดใช้บริโภคแทนผักและใช้เป็นยาระบาย เช่นเดียวกับสมอไทย
                    ๘. สมอใบขน  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง ๑๐ เมตร ใบเดี่ยวเรียงเวียนตามกิ่ง รูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปรี ดอกสีเหลือง แกมเขียวอ่อน ออกรวมเป็นช่อแบบช่อกระจะ ส่วนมากเป็นช่อเดียว ตามง่ามใบ ผลแบบผลแห้ง
                    ๙. สมอพิเภก  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง ๔๐ เมตร โคนเป็นพุพอน เปลือกสีเทา อมขาวค่อนข้างเรียบ ใบเดี่ยวเรียงเวียนรูปไข่กลับ ดอกแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน สีขาวหรือเหลืองอ่อน ออกรวมเป็นช่อกระจุกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ หรือเหนือรอบแผลใบ ใกล้ปลายกิ่ง ผลมีเนื้อเมล็ดเดียวแข็ง รูปไข่กลับ
                        ผลให้น้ำฝาด ใช้ในการฟอกหนัง ให้สีดำใช้ย้อมผ้าและแห อวน ใช้ทำน้ำหมึก และใช้เป็นยาสมุนไพร ป้องกัน หรือรักษาอหิวาตกโรค
                    ๑๐. สมอร่อง  เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงถึง ๑๐ เมตร ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรีแกมรูปไข่ ดอกสีชมพู ออกรวมเป็นช่อกระจุก แยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง และตามง่ามใบ ใกล้ปลายกิ่ง ผลแห้งแตกรูปไข่          ๒๗/๑๗๑๖๐
            ๔๙๙๓. สมอง  ดู มันสมอง -  ลำดับที่ ๔๓๔๕         ๒๗/๑๗๑๗๑
            ๔๙๙๔. สมัน  ดู กวาง  -  ลำดับที่ ๒๑๗         ๒๗/๑๗๑๗๑
            ๔๙๙๕. สมาคม  เป็นคำบาลี และสันสกฤต แปลว่า การมารวมพวก รวมหมู่ หมายถึง การที่บุคคลหลายคนร่วมกัน กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่มวลสมาชิกด้วยกัน และสาธารณชนทั่วไป โดยที่การกระทำนั้น มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไร และไม่เกี่ยวกับการเมือง
                    ในทางกฎหมาย ถือว่าสมาคมเป็นนิติบุคคลประเภทหนึ่ง และจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
                    การดำเนินการเพื่อจัดตั้งสมาคมแบ่งออกเป็นสองขั้นตอนคือ การขออนุญาตและการขอจดทะเบียน สมาชิกผู้ริเริ่มต้องประชุมจัดทำข้อบังคับของสมาคมขึ้นมาก่อน แล้วผู้ริเริ่มจำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ร่วมกันลงลายมือชื่อในคำร้อง ของอนุญาตจัดตั้งสมาคม ถ้าสำนักงานของสมาคมที่ขอจัดตั้งนั้น อยู่ใน กทม. ให้ยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ถ้าอยู่ในจังหวัดอื่น ให้ยื่นที่ศาลากลางจังหวัด
                    เมื่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้รับคำร้องแล้ว จะตรวจสอบความถูกต้อง และพิจารณาวัตถุประสงค์ของสมาคม เกี่ยวกับงานของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักงาน ฯ จะออกใบอนุญาต และแจ้งผู้ขอจัดตั้งมารับใบอนุญาต และไปดำเนินการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนสมาคม
                    เมื่อนายทะเบียนพิจารณาเห็นว่า ผู้ขอได้ปฎิบัติถูกต้องตามขั้นตอน ที่กฎหมายกำหนด และมิใช่เป็นสมาคมการเมือง หรือเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่มีพฤติกรรมที่อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ผู้ริเริ่มไม่มีความประพฤติเสียหาย นายทะเบียนก็จะรับจดทะเบียนให้ โดยออกเป็นหนังสือ มอบไว้เป็นหลักฐานเรียกว่า ทะเบียนสมาคม          ๒๗/๑๗๑๗๑
            ๔๙๙๖. สมาธิ  มีบทนิยามว่า "ความตั้งมั่นแห่งจิต ; ความสำรวมใจให้แน่วแน่เพื่อให้จิตใจสงบ เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง" บทนิยามของสมาธิที่พบเสมอในพระไตรปิฎกคือ ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง หมายถึง การที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดได้นาน ไม่ฟุ้งซ่าน หรือซัดส่าย ไปอื่น
                    พระพุทธเจ้า ทรงอธิบายสมาธิไว้ในคัมภีร์อัฎฐกนิบาต ตอนหนึ่งว่า
                    "เพราะฉะนั้นแล ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักเป็นจิตที่ตั้งมั่น ดำรงแน่วเป็นอย่างดีภายใน และธรรมทั้งหลายที่ชั่วร้ายเป็นอกุศล จักไม่เกาะกุมจิตตั้งอยู่ได้ ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
                    "เมื่อใดแล จิตของเธอ เป็นจิตตั้งมั่นดำรงแน่วเป็นอย่างดีแล้ว ในภายในและธรรมทั้งหลายที่ชั่วร้ายเป็นอกุศล ไม่เกาะกุมจิตตั้งอยู่ได้ เมื่อนั้นเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ จักทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นที่ตั้งให้มั่นคง สั่งสมจัดเจน ทำให้สำเร็จได้เป็นอย่างดี ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
                    "เมื่อใดแล สมาธินี้เป็นธรรมอันเธอได้เจริญ ได้กระทำให้มากอย่างนี้แล้ว เมื่อนั้นเธอพึงเจริญสมาธินี้ อันมีทั้งวิตก ทั้งวิจาร บ้าง อันไม่มีวิตก มีแต่วิจาร บ้าง อันมีปิติ บ้าง อันไม่มีปิติ บ้าง อันประกอบด้วยความฉ่ำชื่น บ้าง อันประกอบด้วยอุเบกขา บ้าง ฯลฯ "
                    จิตที่เป็นสมาธิ จะมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
                        ๑. แข็งแรง มีพลังมาก เปรียบเหมือนกระแสน้ำที่ถูกควบคุมให้ไหลพุ่งไปในทิศทางเดียว ย่อมมีกำลังแรงกว่าน้ำที่ถูกปล่อยให้ไหลพร่า กระจายออกไป
                        ๒. ราบเรียบ สงบซึ้ง เหมือนสระ หรือบึงน้ำใหญ่ ที่มีน้ำนิ่งไม่มีลมพัดต้อง ไม่มีสิ่งรบกวนให้กระเพื่อมไหว
                        ๓. ใสกระจ่าง มองเห็นอะไร ๆ ได้ชัดเหมือนน้ำสงบนิ่ง ไม่เป็นริ้วคลื่น และฝุ่นละออง ที่มีก็ตกตะกอน นอนก้นหมด
                        ๔. นุ่มนวล ควรแก่งาน หรือเหมาะแก่การใช้งาน เพราะไม่เครียด ไม่กระด้าง ไม่วุ่น ไม่ขุ่นมัว ไม่สับสน ไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย         ๒๗/๑๗๑๗๖
            ๔๙๙๗. สมุทรปราการ  จังหวัดในภาคกลาง มีพื้นที่ ๑,๐๐๔ ตร.กม. มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ กทม. ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.ฉะเชิงเทรา ทิศใต้จดทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตก ติดต่อกับ กทม.
                    ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มโดยตลอด เนื่องจากเป็นบริเวณตอนใต้สุดของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งอยู่ติดต่อกับอ่าวไทย มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจากเหนือไปใต้ แบ่งจังหวัดออกเป็นสองซีก นอกจากนั้น ยังมีคลองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ และการระบายน้ำ คลองสำคัญได้แก่ คลองสำโรง คลองสรรพสามิต และคลองด่าน
                    จ.สมุทรปราการ มีชายฝั่งทะเลยาว ๔๗.๕ กม.  แต่เดิมบริเวณชายฝั่งทะเล มีป่าชายเลน ปกคลุมอยู่เป็นบริเวณกว้างขวาง แต่ปัจจุบันป่าชายเลน ถูกทำลายแผ้วถางไปเกือบหมด
                    ในด้านประวัติศาสตร์ ชื่อเมืองสมุทรปราการ มีปรากฎมาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๕๔ - ๒๑๗๑  โดยมีหลักฐานว่า พระองค์โปรดให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้น ณ บริเวณใต้คลองบางปลากด บนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านปากน้ำ คอยควบคุมดูแลเรือสินค้าของชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับไทย ต่อมาได้ถูกทิ้งร้างไปเมื่อไทยเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.๒๓๑๐
                    สำหรับเมืองสมุทรปราการ ที่ตั้งขึ้น ณ สถานที่ปัจจุบันมาสร้างใหม่ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมืองตรงที่บางเจ้าพระยา คือ ต.ปากน้ำ ในปัจจุบัน สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๖ ในรัชกาลต่อ ๆ มาได้มีการขยายตัวเมืองให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และสร้างป้อมเพื่อป้องกันการโจมตีทางเรือของข้าศึก เพิ่มเติมขึ้นอีกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป้อมพระจุลจอมเกล้า ที่ ต. แหลมฟ้าผ่า ตรงบริเวณพื้นที่ ที่งอกออกไปในทะเลทางฝั่งขวา ของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นป้อมที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น
                    ใน จ.สมุทรปราการ ยังมีเมืองเก่าอีกแห่งหนึ่งคือ เมืองพระประแดง สันนิษฐานว่า ตั้งขึ้นตั้งแต่ครั้งขอม ยังปกครองดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างอยู่ ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้นชื่อ เมืองพระประแดง ได้ปรากฎเป็นหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มีข้อความระบุว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง โปรดให้ขุดลอกคลองสำโรง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๑ ได้เทวรูปทองสำริดสององค์ จึงโปรดให้สร้างศาลอัญเชิญเทวรูปดังกล่าว ประดิษฐานไว้ ณ เมืองพระประแดง
                    เมืองพระประแดง ในสมัยอยุธยาจะตั้งอยู่ ณ ที่ใด ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นที่ปากลัด เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๗ โดยตัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพ ฯ บ้าง แขวงเมืองสมุทรปราการ บ้าง รวมกันตั้งเป็นเมืองใหม่ พระราชทานนามว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ แต่เรียกกันเป็นสามัญว่า เมืองปากลัด
                    ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า  ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นจังหวัดพระประแดง ต่อมาได้ยุบจังหวัดนี้ ลงเป็นอำเภอขึ้น จ.สมุทรปราการ         ๒๗/๑๗๑๘๓
            ๔๙๙๘. สมุทรสงคราม   จังหวัดในภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับ จ.ราชบุรี ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.สมุทรสาคร ทิศใต้จดทะเลในอ่าวไทย และ จ.เพชรบุรี ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.เพชรบุรี มีพื้นที่ ๔๑๗ ตร.กม. เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดของประเทศ
                    ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มทั้งหมด มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่านเข้ามาทางตอนเหนือ และตอนกลาง ของจังหวัดไปลงทะเลด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ค่อย ๆ ลาดลงสู่ฝั่งทะเล ทางด้านทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ ชายฝั่งทะเล ของจังหวัด ยาว ๒๒.๕ กม. ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายชายเลน และพื้นที่ดินเลน ที่งอกออกไปในทะเล
                    ในด้านประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่า แต่เดิมเป็นแขวงหนึ่งของเมืองราชบุรี เรียกว่า สวนนอก ต่อมาในสมัยปลายอยุธยาได้แยกออกจากเมืองราชบุรี ตั้งเป็นเมืองแม่กลอง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสมุทรสงคราม ในระยะเวลาต่อมา
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้โอนเมืองสมุทรสงคราม ไปสังกัดกรมท่า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๗ เมืองสมุทรสงคราม ขึ้นกับการปกครองของมณฑลราชบุรี ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ เปลี่ยนคำว่า เมือง เป็น จังหวัด
                    ต.บางช้าง อ.อัมพวา เป็นสถานที่พระราชสมภพของ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปัจจุบันได้จัดสร้างอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไว้ ณ บริเวณใกล้เคียงวัดอัมพวันเจติยาราม อันเป็นพระนิเวศสถานดั้งเดิมของ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย         ๒๗/๑๗๑๘๙
             ๔๙๙๙. สมุทรสาคร  จังหวัดภาคกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับ จ.นครปฐม ทิศตะวันออก ติดต่อกับกรุงเทพ ฯ ทิศใต้จดทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับ จ.สมุทรสงคราม ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับ จ.ราชบุรี มีพื้นที่ ๘๗๒ ตร.กม.
                    ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มทั้งหมด มีแม่น้ำท่าจีน ไหลมาทางด้านเหนือของจังหวัด แล้วไหลลงทางทิศใต้ ไปลงทะเลในอ่าวไทย ชายฝั่งทะเลมีความยาว ๔๐.๕ กม. ส่วนใหญ่เป็นหาดโคลน เดิมมีป่าชายเลนปกคลุมหนาแน่น แต่ปัจจุบันถูกแผ้วถางไปมาก เพื่อทำนาเกลือ และนากุ้ง นอกจาก แม่น้ำท่าจีนแล้ว ยังมีคลองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ คลองภาษีเจริญ คลองมหาชัย คลองสรรพสามิต คลองสุนัขหอน และคลองดำเนินสะดวก
                    ในด้านประวัติศาสตร์ จ.สมุทรสาคร เป็นเเมืองตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ เรียกชื่อว่า สาครบุรี โดยยกฐานะจากหมู่บ้านท่าจีน ซึ่งเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจากการมีเรือสำเภา ของพ่อค้าชาวจีนมาจอดแวะขนถ่ายสินค้า การตั้งเป็นเมืองก็เพื่อใช้เป็นที่ระดมพล ในเวลาเกิดศึกสงคราม เมืองนี้ เป็นทางที่พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา เสด็จผ่านในคราวประพาสชายทะเลเนือง ๆ มีศาลพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งเป็นนายท้ายเรือ พระที่นั่งสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่แปด (พระเจ้าเสือ)  เมื่อเสด็จประพาสคลองโคกขาม
                    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองสาครบุรี เป็นเมืองสมุทรสาคร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖  ได้เปลี่ยนเป็น จ.สมุทรสาคร
            ๕๐๐๐. สมุนไพร  เป็นผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ โดยที่ยังไม่ได้แปรสภาพจากเดิม หรืออาจแปรสภาพบ้างเล็กน้อย ด้วยกรรมวิธีง่าย ๆ เช่น ตากแห้ง หั่น บดเป็นผงหยาบ เพื่อใช้เป็นยาบำบัดโรค บำรุงร่างกาย เช่น กระเทียม แก้ท้องอืด กำมะถัน รักษาโรคผิวหนัง เขากวาง ใช้บำรุงกระดูกและเอ็น นอกจากนี้ สมุนไพรยังใช้เป็นยาพิษได้ด้วย เช่น ผลสุกของต้นแสลงใจ ใช้เป็นยาเบื่อ
                    สมุนไพร แต่ละชนิด มีสรรพคุณในตัวเองเพียงพอที่จะใช้เดี่ยว ๆ ได้จึงเรียกว่า ยาสมุนไพร สมุนไพรบางชนิด อาจมีสรรพคุณมากเกินไป ทำให้เกิดอันตรายได้ จำเป็นต้องทำให้เจือจางลง โดยวิธีการฆ่าฤทธิ์ ซึ่งเรียกว่า การสตุ หรือการประสะ
                    รูปแบบของยาแผนโบราณ ที่ทำสืบต่อกันมาเป็นรูปแบบง่าย ๆ ได้แก่ ยาผง ยาต้ม ยาชง ยาลูกกลอน และยาดองเหล้า
                    แต่เดิมแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้าน จะปลูกต้นยา หรือพืชสมุนไพรไว้ใช้เองเป็นบางอย่าง อีกส่วนหนึ่ง จะออกไปเก็บในป่า แต่ปัจจุบันมักจะซื้อได้จากร้านขายยาสมุนไพร เกือบทุกชนิด          ๒๗/๑๗๑๙๗
            ๕๐๐๑. สมุหนายก  เป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี เจ้ากรมมหาดไทย มีหน้าที่บังคับบัญชา กิจการฝ่ายพลเรือน ตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา โปรดให้แบ่งหัวเมืองออกเป็น ฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้ โดยให้สมุหนายก มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ ทั้งกิจการฝ่ายทหารและพลเรือน ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ปฎิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยตั้งกระทรวงขึ้นสิบสองกระทรวง มีเสนาบดีประจำทุกกระทรวง กรมมหาดไทยได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กระทรวงมหาดไทย สมุหนายกจึงถูกลดฐานะจากอัครมหาเสนาบดี ลงเป็นเสนาบดีเท่ากับเสนาบดีอื่น ๆ นับเป็นการสิ้นสุดตำแหน่ง สมุหนายก
                    ในสมัยอยุธยาตอนต้น การปกครองภายในราชธานี มีตำแหน่งเสนาบดีสำคัญสี่ตำแหน่ง เรียกว่า จตุสดมภ์ คือ เสนาบดีกรมเมือง หรือเวียง เสนาบดีกรมวัง เสนาบดีกรมคลัง และเสนาบดี กรมนา  ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)  ทรงปรับปรุงวิธีการปกครองส่วนกลาง โดยแบ่งขุนนางและไพร่พล ทั่วพระราชอาณาจักรออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายพลเรือน และฝ่ายทหาร โปรดให้ตั้งกรมมหาดไทย ขึ้นโดยมีสมุหนายก เป็นเจ้ากรม และเป็นหัวหน้าข้าราชการฝ่ายพลเรือน มีหน้าที่ดูแลกิจการฝ่ายพลเรือน ในหัวเมืองต่าง ๆ ทุกเมือง รวมทั้งเสนาบดีจตุสมดภ์ด้วย ทรงตั้งกรมพระกลาโหม มีสมุหพระกลาโหม เป็นเจ้ากรม และหัวหน้าราชการฝ่ายทหาร มีหน้าที่ดูแลกิจการฝ่ายทหาร ในราชธานี และทุกหัวเมือง ทั้งสมุหนายก และสมุหกลาโหม มีฐานะเป็น อัครเสนาบดี และเป็นประธานในคณะลูกขุนฝ่ายทหารและพลเรือน ในยามศึกสงครามทั้งทหารและพลเรือน ต่างต้องทำหน้าที่ในการสู้รบป้องกันบ้านเมืองเช่นเดียวกัน
                    ตำแหน่งสมุหนายก มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็น "เจ้าพญาจักรี" ศักดินา ๑๐,๐๐๐ มีตราพระราชสีห์ และตราจักร เป็นตราประจำตำแหน่ง เมื่อประชุมเสนาบดีทั้งหมด สมุหนายกจะเป็นประธานในการประชุม เพราะมีฐานะเป็นประมุขของเสนาบดี
                    สมุหนายก มีหน้าที่ติดต่อกับประเทศราช ในนามของพระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีอำนาจปกครอง
                    ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๒๔๖)  มีการแบ่งหัวเมืองในราชอาณาจักร ออกเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ให้สมุหนายกดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ สมุหกลาโหม ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ ในปลายสมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑)  ได้มีการโอนอำนาจการปกครองหัวเมืองภาคใต้ ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนให้แก่ เจ้าพระยาโกษาธิบดี เสนาบดีพระคลัง
                    ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้โอนอำนาจการปกครองหัวเมืองภาคใต้ คืนให้สมุหกลาโหม ตั้งแต่หัวเมืองชายทะเลแปดเมือง รวมทั้งเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเดิมขึ้นกรมมหาดไทย รวมเป็นเก้าเมือง ให้เจ้าพระยาพระคลัง ปกครองโดยแบ่งหัวเมืองภาคใต้ฝ่ายตะวันตก ซึ่งขึ้นกับเจ้าพระยาพระคลัง สิบเก้าเมือง ขึ้นกับสมุหนายก หนึ่งเมืองคือ เพชรบุรี รวมยี่สิบเมือง มาขึ้นกับสมุหกลาโหม
                    ในปี พ.ศ.๒๔๓๗  ได้มี " ประกาศปันน่าที่กระทรวงกระลาโหม มหาดไทย" ขึ้น โดยให้กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ในราชอาณาจักร         ๒๗/๑๗๒๐๗
            ๕๐๐๒. สมุหพระกลาโหม  เป็นตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี เจ้ากรมพระกลาโหม มีหน้าที่บังคับบัญชากิจการฝ่ายทหาร ตั้งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)  ต่อมาสมุหพระกลาโหม มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองภาคใต้ ทั้งกิจการฝ่ายทหารและพลเรือน ต่อมาในปลายสมัยอยุธยา การบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ ถูกโอนไปให้เสนาบดีกรมพระคลัง ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดเกล้า ฯ ให้โอนหัวเมืองภาคใต้ส่วนใหญ่ คืนให้สมุหพระกลาโหมปกครอง และให้ปกครองหัวเมืองประเทศราช ในแหลมมลายูด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้ยกฐานะกรมพระกลาโหมขึ้นเป็นกระทรวงกลาโหม สมุหพระกลาโหมเป็นเสนาบดี นับเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งนี้
                    สมุหพระกลาโหม มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามเป็น "เจ้าพระยามหาเสนาบดี ฯ" ศักดินา ๑๐,๐๐๐ และมีตราพระคชสีห์ เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลกรมย่อยที่ขึ้นสังกัดสองกรมคือ กรมพระกลาโหมฝ่ายเหนือ และกรมพระกลาโหมฝ่ายพลำภัง
                    ในพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง แบ่งกรมฝ่ายทหารเป็นสี่ประเภทคือ
                        ๑. กรมที่ทำหน้าที่เป็นกองทหารรักษาพระองค์ และพระราชอาณาเขตได้แก่ กรมทหารอาสาแปดเหล่า ซึ่งประกอบด้วยอาสาใหญ่ซ้ายขวา กรมอาสารองซ้ายขวา กรมเขมทองซ้ายขวา และกรมทวนทองซ้ายขวา นอกจากนี้ยังมีกรมมอญ ซึ่งแบ่งเป็นห้ากรมใหญ่ได้แก่ กรมดั้งทองซ้ายขวา กรมดาบสองมือ กรมอาทมาตซ้ายขวา กรมทหารเหล่านี้เมื่อเกิดสงคราม จะทำหน้าที่เป็นกองทหารหน้า ออกไปปราปปรามศัตรูเป็นประจำ ในยามสงบมีหน้าที่ลาดตระเวณตามชายแดน เพื่อสืบข่าวข้าศึก
                        ๒. กรมที่ทำหน้าที่เป็นทหาร เข้ากระบวนเสด็จพระราชดำเนินในราชการสงครามได้แก่ กรมอาสาญี่ปุ่น กรมอาสาฐาน กรมฝรั่งแม่นปืน กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง กรมแตรสังข์ และกรมกลองชนะ กรมเหล่านี้จะถูกเกณฑ์ไปราชการทัพ เฉพาะเมื่อตามเสด็จพระมหากษัตริย์ในราชการสงคราม
                        ๓. กรมที่ทำหน้าที่เป็นทหารรักษาพระองค์ มีกรมพระตำรวจหน้าแปดกรม กรมพลพัน กรมทนายเลือก กรมคู่ชัก ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์
                        ๔. กรมช่างสิบหมู่ เดิมคงทำงานด้านการทหารเช่น การสร้างป้อมค่าย โรงเก็บสรรรพาวุธ ช่างหล่อปืนใหญ่ เป็นกรมฝ่ายทหารที่ขึ้นกับเจ้านายที่ทรงกำกับ ไม่ขึ้นกับสมุหพระกลาโหม
                    นอกจากนี้กรมพระกลาโหมยังบังคับบัญชากรมรักษาตึกดินกองดำดินและกรมกองแก้วจินดาด้วย
                    ในสมัยรัตนโกสินทร์ สมุหพระกลาโหมนอกจากจะมีหน้าที่ในด้านการทหารแล้ว ยังมีหน้าที่ควบคุมไพร่และรับผิดชอบการสักเลข ในหัวเมืองที่สังกัด รวมทั้งอำนาจหน้าที่ในการปกครองและด้านการศาลด้วย โดยมีอำนาจว่าการศาล ในราชธานีที่ขึ้นกรมพระกลาโหมคือ ศาลอาญา และยังมีหน้าที่ชำระคดีความหัวเมืองใต้บังคับบัญชาด้วย         ๒๗/๑๗๒๑๗
            ๕๐๐๓. สยาม  มีบทนิยามว่า " ชื่อเรียกประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๒"
                    คำว่า สยาม เป็นประเด็นหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการได้หยิบยกมาอภิปรายกันเป็นเวลานาน เมื่อครั้งซิมง เดอวาลูแบร์ ได้เดินทางพร้อมกับคณะอัครราชทูต ของพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่แห่งฝรั่งเศส เข้ามายังราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ ฯ และบันทึกเรื่องราวของประเทศสยามไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๒๓๐ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า คนไทยไม่เรียกประเทศของตนว่า สยาม เลย แต่ชาวต่างประเทศกลับพากันเรียกเมืองไทยว่า สยาม
                    คำว่า สยาม นั้น โดยรูปศัพท์แล้ว มีที่มาจากคำสันสกฤตว่า ศฺยาม แปลว่า มีสีดำ หรือสีครามหม่น หรือสีเขียว หรือสีออกคล้ำ และตรงกับคำบาลีว่า สาม คำนี้ได้กลายเป็นเสียงไปเป็นอื่น ในภาษาของชนเพื่อนบ้าน และชาวต่างหประเทศ ชาวเขมร และชาวมอญเรียกคนไทยว่า เซียม คนต่างชาติอื่น ๆ เช่น มลายู จีน น่าจะได้เรียกคนไทยว่า เสียม ตามเขมรและมอญ คนไทยไม่เคยเรียกตนเองว่า สยาม เลย
                    ในเมื่อคำว่า สยาม มิได้เกิดขึ้นในบริบทของวัฒนธรรมไทยเอง จึงได้มีการสืบค้นที่มาของคำนี้จากภายนอก มีผู้เคยเสนอว่า คำว่า สยาม อาจเก่าแก่ไปถึงต้นคริสต์กาล เพราะปรากฎว่า ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ฮั่น ฉบับหอหลวงได้กล่าวถึง กษัตริย์แห่งอาณาจักรส้าน ว่าได้ส่งคณะทูตไปยังราชสำนักฮั่น ในระหว่างปี พ.ศ.๘๔๐ - ๖๗๕ โดยเข้าใจว่า ส้าน ในที่นี้ตรงกับคำว่า ซ่าน / ส้าน ที่พม่าเรียกไทยใหญ่ และเข้าใจว่า อาณาจักรนี้อยู่ในบริเวณต้าหลี่ฝู่ ในมณฑลหยูนหนาน ปัจจุบัน
                    คำเขียนในรูปของ สยำ ปรากฎอยู่ในจารึกโบราณ ลงศักราชตรงกับปี พ.ศ.๑๑๘๒
                    จารึกของจาม มีข้อความกล่าวถึงการจับได้เชลยศึก "สยาม" รวมกับเชลยศึกเขมรและอื่น ๆ จารึกนี้อายุราวปี พ.ศ.๑๕๙๓ นับว่าเป็นการพบคำ สยาม ที่ใช้ในความหมายของชนชาติเป็นครั้งแรก
                    คำว่า สยาม ในรูปเขียนว่า สยำ ได้ปรากฎที่ภาพจำหลักนูนต่ำ ที่ปราสาทนครวัด ที่สร้างขึ้นราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๗
                    คำว่า สยำ ยังปรากฎในจารึกของอาณาจักรพุกาม โดยลงศักราชในปี พ.ศ.๑๖๖๓
                    เอกสารจีนสมัยราชวงศ์หยวน กล่าวถึงประเทศเซียน กล่าวถึงเหตุการณ์ในปี พ.ศ.๑๘๒๕ ว่า กุบไลข่าน ให้ส่งคณะทูตไปเกลี้ยกล่อมประเทศโพ้นทะเล ให้มาสวามิภักดิ์ มีประเทศ "เซียน" (จีนกลาง) หรือ "เสียม" (แต้จิ๋ว) รวมอยู่ด้วย
                    การปกครองของไทยในสมัยอยุธยา ไม่ได้ใช้นามประเทศแต่ใช้นามราชธานี เป็นนามราชอาณาจักร  เมื่อชาวตะวันตกได้เข้ามาติดต่อกับไทย ได้เรียกอาณาจักรไทยว่า "สยาม" ตามจีน เขมร มอญ และมลายู
                    คำ สยาม ปรากฎอยู่ในเอกสารชั้นต้น และวรรณกรรมเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาหลายเรื่อง เช่น ในยวนพ่าย มหาชาติคำหลวง นันโทปนันทสูตรคำหลวง ในพงศาวดารกรุงเก่าภาษาบาลี โคบุตร ฯลฯ
                    ในเอกสารไทยดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าคนไทยสมัยก่อนได้ใช้สยาม เป็นคำเรียกชื่อทั้งประเทศ และชนชาติ ๒๗/๑๗๒๒๙
            ๕๐๐๔. สรรพสามิต  ภาษีอากร คำว่าสรรพสามิต มีความหมายดั้งเดิม หมายถึง อากร ที่เรียกเก็บจากสินค้า และสถานบริการประเภทต่าง ๆ  ซึ่งมีเหตุผลสมควรที่จะต้องรับภาระภาษีเพิ่มเติม จากสิ่งที่ประดิษฐ์ผลิตขึ้นในประเทศ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนความหมายมาเป็นภาษี ที่รัฐเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง         ๒๗/๑๗๒๔๒
            ๕๐๐๕. สรรเพชญ์ที่แปดสมเด็จพระ(ครองราขชย์ พ.ศ.๒๒๔๖ - ๒๒๕๑)  พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ลำดับที่ ๒๙ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา (ครองราชย์ พ.ศ.๒๒๓๑ - ๒๒๔๖) คนทั่วไปเรียกพระองค์ว่า พระเจ้าเสือ พระนามเดิมคือ มะเดื่อ เมื่อเจริญพระชนม์ขึ้นได้เป็นขุนหลวงสรศักดิ์ และเป็นพระมหาอุปราช หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ขึ้นครองราชย์ขณะมีพระชนมายุ ๓๐ พรรษา
                    พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์คือ โปรดให้ขุดคลองมหาชัยเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำท่าจีน แต่ยังไม่แล้วเสร็จเพราะสวรรคตก่อน พระองค์สวรรคตในปี พ.ศ.๒๒๕๑  พระราชโอรสคือ พระเจ้าท้ายสระ ขึ้นครองราชย์ต่อมา         ๒๗/๑๗๒๔๕
            ๕๐๐๖. สรรเพชญ์ที่เก้าสมเด็จพระ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๒๕๑ - ๒๒๗๕)  พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาลำดับที่ ๓๐ เป็นพระราชโอรสพระสรรเพชญ์ที่แปด เมื่อขึ้นครองราชย์มีพระชนมายุได้ ๒๘ พรรษา คนทั่วไปเรียกว่า พระเจ้าท้ายสระ
                    รัชสมัยของพระองค์ค่อนข้างนาน และมีความสงบรุ่งเรือง พระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์คือ ทรงให้ความสำคัญแก่พระพุทธศาสนามาก ทรงบูรณะวัดหลายแห่งและโปรดให้ขุดคลองมหาชัยต่อจนแล้วเสร็จ
                    พระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การให้ความช่วยเหลือแก่กษัตริย์เขมรที่เกิดชิงอำนาจกัน ฝ่ายแย่งชิงอำนาจไปขอกำลังญวนมาช่วย (นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ญวนขยายอำนาจเข้ามาในเขมร) กษัตริย์เขมรจึงมาขอความช่วยเหลือจากไทย พระองค์ก็ทรงให้ความช่วยเหลืออย่างดี เป็นเหตุให้ไทยต้องทำสงครามกับญวนทั้งทางบกทางทะเล แต่ขณะที่สงครามยังไม่แพ้ชนะเด็ดขาด ทางฝ่ายเขมรก็ยินดีถวายบรรณาธิการแก่ไทย สงครามจึงยุติ          ๒๗/๑๗๒๔๗
            ๕๐๐๗. สร้อยอินทนิล  เป็นไม้เถาเลี้อยขนาเใหญ่อายุหลายปี ลำต้นสีเขียวสี่เหลี่ยม ลำต้นบิดจากขวาไปซ้าย ปล้องยาวมาก ใบเดี่ยว เรียงวตรงข้าม แผ่นใบรูปหัวใจหรือรูปไข่ ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบ แบบช่อกระจะ ห้อยลงเป็นช่อยาว อาจยาวถึง ๑ เมตร ดอกใหญ่ สีม่วงอมฟ้า ดอกสมบูรณ์เพศ ผลแบบแห้วแตกส่วนล่างค่อนข้างกลม
                    สร้อยอินทนิล มักขึ้นตามชายป่าที่โล่งแจ้ง ในทุกภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
                    ประโยชน์ทางยา ใบแก้ปวดท้อง ราก และต้มน้ำดื่มขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ บำรุงร่างกาย ใบตำคั้นน้ำทาพอก หรือเคี้ยวกินแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน หูด บรรเทาอาการอักเสบ บวม เป็นต้น รักษากระดูกหัก ปวดกระดูก รักษาแผลสด แผลถลอก ห้ามเลือด         ๒๗/๑๗๒๔๙
            ๕๐๐๘. สระ  เสียงที่เปล่งออกมาโดยไม่มีสิ่งกีดขวางในช่องเสียง ต่างกับเสียงพยัญชนะ ที่เปล่งออกมาโดยผ่านสิ่งกีดขวาง เช่น ริมฝีปาก ฟัน และลิ้น โดยปรกติเสียงสระ เป็นเสียงก้อง (โฆษะ)  ซึ่งหมายถึง เสียงที่เปล่งออกมาโดยมีการสั่นของเส้นเสียง เสียงสระเป็นหัวใจของพยางค์ ทุกพยางค์ต้องมีเสียงสระเสมอ จะมีพยัญชนะหรือไม่ก็ได้
                    ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสียงสระทั้งหลาย ต่างกันมีสามประการได้แก่
                        ๑. จุดที่เกิดเสียงสระในปาก ได้แก่ บริเวณส่วนหน้า ส่วนกลาง หรือส่วนหลังในปาก
                        ๒. ความสูงของลิ้น ขณะเปล่งเสียง ลิ้นถูกยกสูง ระดับสูง ระดับกลาง หรือระดับต่ำ ทำให้เกิดสระสูง สระระดับกลาง และสระต่ำ
                        ๓. การห่อปาก คือ เปล่งเสียงโดยทำปากห่อ หรือไม่ทำ
                    ความสั้นยาวของสระ ใช้แยกความแตกต่างของเสียงสระได้ ภาษาไทยใช้ลักษณะนี้แยกสระเดี่ยวทั้งหมด สิบแปดเสียงออกเป็นเก้าคู่ สระสั้นเก้าเสียง คู่กับสระยาวเก้าเสียง และถือว่ามีสระเดี่ยวทั้งหมด สิบแปดหน่วยเสียง ส่วนสระประสมอีกสามหน่วยเสียง ไม่ว่าจะออกเป็นเสียงสั้น หรือเสียงยาว ก็ไม่ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไป สระในภาษาไทยจึงมียี่สิบเจ็ดเสียง
                   เสียงสระไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับรูปสระ หรือตัวเขียน ในภาษาไทยมีรูปเขียนถึงสามสิบหกรูป         ๒๗/๑๗๒๕๒
            ๕๐๐๙. สระแก้ว  จังหวัดในภาคตะวันออก มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.นครราชสีมา และ จ.บุรีรัมย์ ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตแดนประเทศกัมพูชา ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.นนทบุรี ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี มีพื้นที่ ๗,๑๙๕ กม.
                     ลักษณะภูมิประเทศ   ทางตอนเหนือเป็นภูเขาและเนินเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาสันกำแพง ทอดยาวจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก กั้นระหว่างที่ราบสูง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับที่ราบในภาคตะวันออก ทิวเขานี้มีบางส่วนที่ยื่นยาวเป็นง่ามเขาลงมาทางใต้ ง่ามเขาที่อยู่ทางด้านตะวันตกสุดของจังหวัด เป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดระหว่าง อ.เมือง ฯ  จ.สระแแก้ว กับ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี และง่ามเขาที่อยู่ตอนกลางของจังหวัด เป็นแนวเขต อ.วัฒนานคร กับ อ.ตาพระยา
                    ใต้จากทิวเขาสันกำแพงลงมา เป็นบริเวณที่ราบซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด ที่ราบนี้เป็นส่วนทางด้านตะวันออก ของบริเวณพื้นที่ซึ่งได้รับการขนานนาม ทางภูมิศาสตร์ว่า ฉนวนไทย หมายถึง ที่ราบผืนแคบ ๆ  เป็นแนวยาวเชื่อมระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา กับที่ราบลุ่มทะเลสาบในประเทศกัมพูชา โดยมีทิวเขาสันกำแพง และทิวเขาจันทบุรีขนาบอยู่ทางด้านทิศเหนือ และทิศใต้ของที่ราบนี้ตามลำดับ ในบริเวณที่ราบมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่านชื่อ แม่น้ำพระปรง ต้นน้ำอยู่ในเขต อ.ตาพระยา แล้วไหลไปทางทิศตะวันตก จนไปรวมกับแม่น้ำหนุมาน ใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เมื่อไหลต่อเข้าไปในเขต จ.ฉะเชิงเทรา เรียกวา แม่น้ำบางปะกง
                    ด้านทิศตะวันออกของจังหวัด ซึ่งมีเขตแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา โดยตลอดเป็นระยะทาง ๑๗๘ กม. เป็นที่ราบต่อเนื่องเข้าไปในเขตประเทศกัมพูชา แนวเขตแดนส่วนใหญ่อาศัยลำน้ำสายเล็ก ๆ เป็นเส้นแบ่งเขตแดน ได้แก่ คลองปะขาว คลองแผง คลองลึก  ห้วยพรมโหด และคลองน้ำใส รวม ๑๓๓ กม. ระหว่างลำน้ำเหล่านี้ บางตอนเป็นเส้นเขตแดน แบบเส้นตรงลากเชื่อมต่อกันเป็นระยะทาง ๔๕ กม.
                    ด้านประวัติศาสตร์  เดิมเป็นดินแดนที่ได้รับอิทธิพลจากขอม มีปราสาทหินสร้างตามสถาปัตยกรรมของขอม อยู่ใน อ.ตาพระยา และ อ.อรัญประเทศ ที่สำคัญได้แก่ ปราสาทสล๊อกก๊อกธม ปราสาททับเซียม ปราสาทเขาโล้น ใน อ.ตาพระยา และปราสาทเขาน้อย ใน อ.อรัญประเทศ
                    ในสมัยอยุธยา เมืองปราจีนบุรีได้รับการจัดตั้งเป็นเมืองหน้าด่านของหัวเมืองฝ่ายตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่จดเขตแดนประเทศกัมพูชา ที่ตั้งของ จ.สระแก้ว ปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของเมืองปราจีนบุรี เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยชั้นแรกมีฐานะเป็น ต.สระแก้ว ขึ้นอยู่กับ อ.กบินทร์บุรี ถึงปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นกิ่ง อ.สระแก้ว และต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๑ ได้ยกฐานะขึ้นเป็น อ.สระแก้ว
                    ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้มี พ.รบ.ตั้ง จ.สระแก้ว โดยได้แยก อ.สระแก้ว อ.คลองหาด อ.ตาพระยา อ.วังน้ำเย็น อ.วัฒนานคร และ อ.อรัญประเทศ ออกจากการปกครองของ จ.ปราจีน รวมตั้งขึ้นเป็น จ.สระแก้ว
                    คำว่า สระแก้ว มาจากชื่อของสระน้ำโบราณ ซึ่งมีอยู่สองแห่งใกล้เคียงกัน ในเขตตัวเมืองเรียกชื่อว่า สระแก้ว - สระขวัญ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ขณะดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้พระราชทานชื่อนี้ให้เมื่อครั้งยกทัพ ไปตีกัมพูชา และมาพักไพร่พลอยู่บริเวณริมสระน้ำทั้งสองนี้         ๒๗/๑๗๒๕๔
            ๕๐๑๐.  สระบุรี  จังหวัดในภาคกลางตอนล่าง มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.ลพบุรี ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.นครราชสีมา ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.นครนายก และ จ.ปทุมธานี ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ ๓,๕๗๖ ตร.กม.
                     ลักษณะภูมิประเทศ  ทางตอนเหนือ และทางทิศตะวันออกของจังหวัด เป็นภูเขาและเนินเขาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นแนวของทิวเขาดงพญาเย็น ที่กั้นที่ราบภาคกลางออกจากแอ่งที่ราบ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนทางตอนใต้ และทางตะวันตกของจังหวัดมีพื้นที่ค่อนข้างราบ แม่น้ำสายสำคัญคือ แม่น้ำป่าสัก ไหลเข้ามาทางด้านเหนือของจังหวัดไหลผ่าน จ.สระบุรี ยาวประมาณ ๑๐๕ กม.
                    ด้านประวัติศาสตร์  จ.สระบุรี เป็นเมืองเก่าตั้งขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.๒๐๙๒ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ ต.เมืองเก่า อ.เสาไห้ ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้มีการเปิดทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมาถึง จ.สระบุรี ตัวเมืองอยู่ห่างไกลจากเส้นทางรถไฟ จึงย้ายเมืองมาตั้งที่ ต.ปากเพรียว อันเป็นที่ตั้งเมืองมาถึงปัจจุบัน
                    จ.สระบุรี มีปูชนียสถานที่สำคัญมากแห่งหนึ่งคือ พระพุทธบาท ที่เขาสุวรรณบรรพตใน ต.ขุนโขลน อ.พระพุทธบาท พบในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (ครองราชย์ปี พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๗๑)  พระองค์จึงโปรดให้กำหนดรอยพระพุทธบาทที่พบนี้ เป็นมหาเจดีย์สถาน และสร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทไว้ และได้ทรงสถาปนาเมืองขึดขิน หรือเมืองปรันตะปะ ขึ้น มีอาณาเขตกว้างยาวด้านละหนึ่งโยชน์ ( ๑โยชนร์เท่ากับ ๑๖ กม.) โดยรอบจากองค์พระพุทธบาท สำหรับภูเขาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทนั้นให้ชื่อว่า "เขาสุวรรณบรรพต" เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เขาสัจจพันธคีรี"         ๒๗/๑๗๒๕๘
            ๕๐๑๑. สรัสวดี ๑  เป็นเทวีแห่งศิลปวิทยา ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์ วาทศิลป์ กวีนิพนธ์ ดนตรีและการละคร  เทวรูปพระสรัสวดี มีลักษณะเป็นสตรีงดงาม มีสี่มือ ผิวสีน้ำนม แต่งกายด้วยเครื่องทรงสีขาว ประดับดอกไม้สีขาว มือหนึ่งถือประคำสีขาว หรือสร้อยไข่มุก ซึ่งเรียกว่า ศิวมาลา อีกสองมือถือพิณหรือวีณา และมือที่เหลือถือตำรา สิ่งที่ถือในบางครั้งก็เปลี่ยนไปตามจินตนาการของช่าง เช่น มือบนขวาอาจถือดอกบัว อีกมือหนึ่งถือเฑาะว์ มีการตีความว่ามือทั้งสี่เป็นสัญญลักษณ์ของพระเวททั้งสี่ ในบางรูปไม่ถือสิ่งใดเลยแต่อยู่ในท่า "อภัย" หรืออยู่ในท่าประทานพร พระสรัสวดีมีนกยูง หรือหงส์เป็นพาหนะ
                    พระสรัสวดี เป็นชายาของพระพรหม แต่คัมภีร์ภาควัตปุราณะกล่าวว่า นางเป็นธิดาของพระพรหม ส่วนคัมภีร์ปัทมปุราณะกล่าวว่า นางเป็นภรรยาของฤษีกัศยปะ และเป็นมารดาของคนธรรพ์ และนางอัปสรทั้งปวง
                    บางตำนานเล่าว่า เดิมพระวิษณุมีชายาสามองค์คือ พระสรัสวดี พระคงคา และพระลักษมี แต่ทั้งสามไม่ปรองดองกัน พระวิษณุจึงแก้ปัญหาด้วยการถวายพระสรัสวดีแก่พระพรหม และถวายพระคงคาแก่พระศิวะ
                    ตามความเชื่อในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน พระสรัสวดี คือ พระปราชญา ซึ่งเป็นชายาของพระโพธิสัตว์บัญชูศรี มีกายสีขาว อาจมีหน้าเดียว สองหน้า หรือสามหน้า มีสองมือหรือหกมือ มีชื่อเรียกต่าง ๆ ตามสิ่งที่ถือ
                    โดยปรกติ คนมักบูชาพระสรัสวดีควบคู่กับพระคเณศ เมื่อจะเริ่มกิจการสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแต่งกวีนิพนธ์ หรือการแสดงละคร          ๒๗/๑๗๒๖๑
            ๕๐๑๒. สรัสวดี ๒  เป็นชื่อแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายหนึ่ง ในอินเดียที่ปรากฎในคัมภีร์พระเวท เป็นแม่น้ำอยู่ทางทิศตะวันออก ของแม่น้ำสินธุ ภายหลังแม่น้ำนี้ตื้นเขินหายไป แต่ชาวฮินดูเชื่อว่าแม่น้ำสายนี้ ยังคงไหลอยู่ใต้ดิน ที่ซึ่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สามสายไหลมาบรรจบกันคือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำสรัสวดี ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง อยู่ในเมืองประยาค หรือ เมืองอัลลาหะบาด ในรัฐอุตรประเทศ บริเวณที่แม่น้ำทั้งสามสายมาบรรจบกันนี้เรียกว่า สังคัม
          ๕๐๑๓. สรีรวิทยา  เป็นวิชาที่อธิบายกระบวนการทำงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำรงชีพ ตามปรกติของสิ่งมีชีวิตในทัศนะ ของนักสรีรวิทยาเองคือวิชาที่อธิบายถึงหน้าที่การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย สรีรวิทยาเป็นวิชาที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก นับตั้งแต่สรีรวิทยาของสัตว์เซลล์เดียว ไปจนถึงพืชและสัตว์ชั้นสูง สรีรวิทยาของมนุษย์แบ่งออกเป็นระบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
                     ๑.  ระบบกล้ามเนื้อและประสาท เป็นระบบว่าด้วยการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งทำให้มีการเคลื่อนไหวของโครงร่าง โดยการควบคุมของระบบประสาทกลาง ระบบประสาทกลางนี้แบ่งออกได้อีกเป็นสองระบบ คือระบบรับความรู้สึกและระบบสั้งการ ระบบประสาทพิเศษอีกระบบหนึ่งคือ ระบบประสาทอัตโนมัติ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานโดยอัตโนมัติของอวัยวะภายในเช่น กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบซึ่งบุผนังหลอดเลือดกระเพาะอาหาร ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะและมดลูก ทำให้อวัยวะเหล่านี้มีการทำงานเพิ่มขึ้นหรือลดลง
                    ๒.  ระบบไหลเวียนเลือด เป็นระบบว่าด้วยการทำงานของหัวใจซีกซ้าย ทำงานส่งเลือดออกไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ผ่านหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดฝอยตามลำดับ หลังจากที่มีการแลกเปลี่ยนออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ และส่งอาหารให้แก่เซลล์แล้วก็จะผ่านต่อไปทางหลอดเลือดดำกลับ ไปยังปอดเพื่อขับถ่ายคาร์บอนไดออกไซด์ และรับออกซิเจนใหม่ส่งไปเลี้ยงร่างกายต่อไป
                   ระบบไหลเวียนอีกระบบหนึ่งคือ ระบบน้ำเหลือง ซึ่งมีหลอดน้ำเหลืองฝอยอยู่ใกล้ ๆ กับหลอดเลือดฝอย ทำหน้าที่เก็บสารโปรตีนที่หลุดออกจากหลอดเลือดฝอย ให้กลับเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดใหม่ ทั้งนี้โดยผ่านหลอดน้ำเหลืองใหญ่เข้าสู่หลอดเลือดดำใหญ่ นอกจากนี้พวกจุลินทรีย์ที่ตายแล้ว จะถูกนำผ่านเข้าหลอดน้ำเหลืองไปเก็บไว้ในต่อมน้ำเหลือง
                    ๓.  ระบบการหายใจ เป็นระบบว่าด้วยกลไกของการหายใจ และวิธีการที่อากาศถูกนำเข้าไปในปอดแล้ว มีการแลกเปลี่ยนแกสออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ ระหว่างอากาศในถุงลมกับเลือดบริเวณรอบ ๆ ถุงลม
                    ๔.  ระบบกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นระบบว่าด้วยกลไกของการเคี้ยวอาหาร การกลืน การย่อย การดูดซึม และการขับถ่ายกากอาหาร
                    ๕.  ระบบเมแทบอลิซึม เป็นระบบว่าด้วยการเผาผลาญอาหารในร่างกาย แล้วนำไปใช้เป็นพลังงานในการรักษาระดับความร้อนของร่างกาย การหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การหดตัวของกล้ามเนื้อ ใช้ในการหายใจ การเคลื่อนไหวของร่างกายรวมทั้งช่วยการสังเคราะห์สารบางอย่างเช่น สารโปรตีนและฮอร์โมนด้วย
                    ๖.  ระบบการขับถ่าย เป็นระบบว่าด้วยการทำงานของไต ซึ่งทำหน้าที่ขับสารที่เหลือจากการเผาผลาญ ซึ่งร่างกายไม่ต้องการออกจากร่างกายโดยผ่านไตและว่าด้วยการทำงานของปอดและต่อมน้ำเหลืองในการขับถ่าย นอกจากนี้ระบบยังช่วยควบคุมปริมาณอิเล็กโทรไลต์ภายในร่างกายให้อยู่ในระดับพอเหมาะด้วย
                    ๗.  ระบบต่อมไร้ท่อ  เป็นระบบว่าด้วยหน้าที่การทำงานของระบบต่อมไร้ท่อต่าง ๆ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน ช่วยให้การทำงานขออวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ดำเนินไปตามปรกติ เช่น ต่อมไทรอยด์ ผลิตไทรอกซิน ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับเมแทบอลิซึม ของเซลล์ของอวัยวะ ต่อมไร้ท่อในตับอ่อน ผลิตอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับเมแทบอลิซึม ของอาหารคาร์โบไฮเดรท
                    ๘.   ระบบการสืบพันธุ์  เป็นระบบว่าด้วย การสร้างไข่ในหญิง และตัวอสุจิในชาย นอกจากนี้ ยังอธิบายถึงการผสมพันธุ์ ระหว่างไข่กับตัวอสุจิไปจนเกิดเป็นตัวอ่อน
                    วิชาสรีรวิทยา เป็นแขนงวิชาทางวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญวิชาหนึ่ง และเกี่ยวกับวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ แขนงอื่น ๆ อีกด้วย
            ๕๐๑๔. สละ  ดู ระกำ  ลำดับที่ ๔๖๔๘         ๒๗/๑๗๒๖๘
            ๕๐๑๕. สละ ปลา  เป็นชื่อปลาน้ำเค็ม มีปลาที่ใกล้เคียงกัน และจัดอยู่ในสกุลเดียวกัน ได้แก่ ปลาเฉลียบ ปลาสละ เป็นปลาที่มีขนาดโตที่สุด ในพวกเดียวกัน ดังกล่าวคือ ยาวถึง ๑๒๐ ซม. โดยไม่รวมครีบหาง และหนัก ๑๔.๔ กก. รูปร่างคล้ายกระสวยทรงสั้น แบนข้างมาก
                    ปลาสละ เป็นปลาผิวน้ำทั่วไป อาศัยอยู่เป็นฝูงใกล้ฝั่ง ในน้ำลึกไม่เกิน ๑๐๐ เมตร ในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ของน่านน้ำอินโด - แปซิฟิก ด้านตะวันตก         ๒๗/๑๗๒๖๘
            ๕๐๑๖. สลากกินแบ่ง  เป็นสลากที่จัดให้มีขึ้นเพื่อขายให้แก่ผู้เล่นเป็นการเสี่ยงโชค โดยมีการให้รางวัลที่แบ่งออกเป็นหลายรางวัล แก่ผู้เล่นซึ่งถือสลากเลขหมายตรงกับ เลขหมายรางวัลที่ออกตามวิธีการที่กำหนดไว้
                    สลากกินแบ่ง จัดเป็นการพนันประเภทหนึ่ง ในบัญชี ข. ของ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.๒๔๗๕  สลากกินแบ่งได้รับการเผยแพร่ ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ประเทศอังกฤษ ต้องการกู้เงินจากประเทศไทย เพื่อใช้ในสงคราม จึงได้มีการออกลอตเตอรี เพื่อระดมเงินกู้จากประชาชน ณ สถานทูตอังกฤษ นับเป็นการออกรางวัลลอตเตอรี เป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ
                    ในปี พ.ศ.๒๔๗๗  ได้ให้กรมสรรพากร ได้รับมอบให้ออกลอตเตอรี ซึ่งมีอยู่สองชนิดคือ ลอตเตอรีของรัฐบาล เพื่อหาเงินชดเชยเงินรัชชูปการ และลอตเตอรีพิเศษ เพื่อระดมเงินเพิ่มเติมจากผู้มีทรัพย์สิน หรือรายได้ประจำ และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการออกสลากกินแบ่งบำรุงเทศบาล ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้โอนกิจการสลากกินแบ่งบำรุงเทศบาล ของกระทรวงมหาดไทย ไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง
                    ในปี พ.ศ.๒๕๑๗  ได้มี พ.ร.บ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗  กำหนดให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีฐานะเป็นนิติบุคคล ลักษณะรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง         ๒๗/๑๗๒๗๕
            ๕๐๑๗. สลากภัตร  ตามรูปศัพท์ แปลว่า อาหารที่ถวายพระภิกษุ โดยวิธีจับแลาก หมายถึง อาหารที่ทายก หรือผู้ให้ทาน เขียนชื่อลงในกระดาษ จากนั้น ม้วนรวมคละเข้าด้วยกัน แล้วให้พระภิกษุจับ เมื่อจับได้สลากที่เขียนชื่อทายกผู้ใดไว้ ก็จะได้รับอาหารของทายกผู้นั้น
                ประวัติความเป็นมาของสลากภัตรนี้ ปรากฎอยู่ใน คัมภีร์ธรรมบท         ๒๗/๑๗๒๘๖
            ๕๐๑๘. สลาด, ปลา  เป็นปลากระดูกแข็งน้ำจืด ภาคกลางเรียก ปลาดฉลาด อยู่ในกลุ่มเดียวกับปลากราย ตัวยาว ๑๕ - ๒๕ ซม. ลำตัวค่อนข้างยาว แบนข้างมาก
                    ปลาสลาด เป็นปลาที่นิยมนำมาประกอบอาหารได้หลายตำรับ         ๒๗/๑๗๒๘๘
            ๕๐๑๙. สลิด, ต้น  เป็นไม้เถา ไม้เถาสกุลนี้ พบขึ้นในเขตร้อนมีประมาณสิบชนิด ในประเทศไทยมีสามชนิดด้วยกันคือ สลิด หรือขจร  สลิดป่า หรือสลิดเถา และอีกชนิดหนึ่ง ยังไม่มีชื่อไทย ทั้งสามชนิดเป็นไม้เถาขนาดเล็ก ดอกเหลืองอมเขียว หรืออมส้ม มีกลิ่นหอม
                    สลิด หรือ ขจร เป็นไม้เถาเลื้อยพัน เถาเล็ก และอ่อน มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เมื่อออกดอกออกผลแล้ว จะแห้งตายไป เมื่อถึงฤดูกาลในปีต่อมา จึงจะเจริญงอกงามขึ้นมาจากเหง้าใหม่ ใบรูปหัวใจ ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ออกตรงซอกใบ มีกลิ่นหอม ผลมักออกเป็นคู่ รูปคล้ายกระสวยเบี้ยว สีเขียว
                    สลิด นอกจากจะเป็นไม้ประดับที่มีกลิ่นหอม ดอกนำมาร้อยเป็นมาลัย ทำธูป ผลอ่อนและดอก เป็นอาหาร           ๒๗/๑๗๒๘๘
            ๕๐๒๐. สลิด, ปลา  เป็นปลากระดูกแข็ง น้ำจืด ลำตัวค่อนข้างกว้าง แบนข้างมาก ดูคล้ายใบไม้ จึงเรียกว่า ปลาใบไม้ เป็นปลาขนาดโตที่สุดในสกุล โตเต็มที่ถึง ๒๕ ซม.         ๒๗/๑๗๒๙๓
            ๕๐๒๑.  สวนกุหลาบ, วัง  เดิมเป็นวังที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่มุมถนนราชสีมา ตัดกับถนนศรีอยุธยา อยู่ในเขตของพระราชวังดุสิต ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๕  มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน วังสวนกุหลาบจึงอยู่ในความดูแลของรัฐบาล เช่นเดียวกับวังปารุสกวัน ซึ่งต่อมากลายเป็นที่ทำการของหน่วยทหารสังกัดกระทรวงกลาโหม
                    ในปี พ.ศ.๒๕๓๙  สำนักพระราชวังได้ประสานงานกับกรมสวัสดิการทหารบก ส่งมอบพื้นที่บริเวณวังสวนกุหลาบ เพื่อถวายคืนแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นโยบายการส่งมอบพื้นที่วังสวนกุหลาบ และสวนพุดตาน นั้น เป็นนโยบายสืบเนื่องมา ตั้งแต่ครั้งที่ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ตำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ดังนั้น พลเอก ชวลิต ฯ  ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ส่งมอบพื้นที่วังสวนกุหลาบ และสวนพุดตาน ภายในพระราชวังดุสิต คืนให้แก่สำนักพระราชวัง         ๒๗/๑๗๒๙๕
            ๕๐๒๒.  ส่วย  เป็นชนชาติในตระกูลมอญ - เขมร ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณ จ.สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชะานี คำว่า ส่วย เป็นชื่อที่คนไทยใช้เรียก แต่พวกส่วยเรียกตนเองว่ากวยหรือกูย ซึ่งแปลว่าคน ลาวเรียกพวกส่วยว่า ข่า
                    ถิ่นเดิมของพวกส่วยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศลาว บริเวณเมืองจำปาศักดิ์ สารวัน อัตบือ แสนปาว
                    หลักฐานการรับรู้ของคนไทยต่อชาวส่วยปรากฎในสมัยอยุธยา ดังปรากฎในพระไอยการอาญาหลวง ประกาศใช้ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง (พระเจ้าสามพระยา พ.ศ.๑๙๖๗ - ๑๙๙๑) โดยเรียกว่ากวย และถือเป็นชาวต่างประเทศที่ห้ามคนไทยยกลูกสาวหลานสาวให้แต่งงานด้วย ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ (พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) ชาวส่วยได้เริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณที่เป็น จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ปัจจุบันโดยผ่านทางแม่น้ำมูลที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง และในปลายสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีช่าวส่วยถูกกวาดต้อนจากลาวตอนใต้ เข้ามาในบริเวณสี่จังหวัดดังกล่าว ในช่วงเวลานั้นไทยคงเรียกชาวส่วยว่า เขมรป่าดง การเรียกว่าชาวส่วยน่าจะเริ่มในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔) เมื่อมีสัคเลก (หรือเลข) และเรียกเก็บส่วยคือ สิ่งของหรือเงินแทนการเกณฑ์แรงงานที่เรียกว่า การรับราชการหรือเข้าเดือน คำว่าส่วยในระยะแรกคงไม่ได้หมายถึง พวกเขมรป่าดงโดยเฉพาะ เพราะมีคำเรียกส่วยลาว ส่วยเขมร
                    ชาวส่วยบางคนได้เริ่มเข้ารับราชการเป็นขุนนาง ตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยาเพราะมีความชอบในการช่วยจับช้างเผือกที่หลบหนีจากกรุงศรีอยุธยามาทางศรีสะเกษ หัวหน้าพวกส่วยเช่นตากะจะ ได้เป็นหลวงแก้วสุวรรณ ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน และพระยาไกรภักดี ฯ เจ้าเมืองศรีนครลำดวนคือ เมืองศรีสะเกษในปัจจุบัน เชียงปุ่มได้เป็นหลวงสุรินทร์ภักดี ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระสุรินทรภักดีเจ้าเมืองประทายสมันต์คือ เมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน
                    เมื่อตั้งมณฑลเทศาภิบาลในปี พ.ศ.๒๔๓๗ เมืองศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี รวมอยู่ในมณฑลลาวกาว
                    ชาวส่วยมีภาษาพูดของตนเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน        ๒๗/๑๗๒๙๘
            ๕๐๒๓. สวรรค์  เป็นชื่อเรียกเทวโลก เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเทวภูมิแปลว่าแดนที่เกิดที่อยู่ของเทวดา ซึ่งถือว่าเป็นสุคติภูมิ
                    ในพระพุทธศาสนาถือว่าสวรรค์ไม่ใช่ภูมิหรือภพสูงสุด เพราะเหนือสวรรค์ขึ้นไปยังมีพรหมโลก ผู้ไปเกิดในสวรรค์แล้วเมื่อหมดบุญก็ต้องกลับมาเกิดในโลกมนุษย์อีก แต่ผู้ไปเกิดในพรหมโลกชั้นสูงไม่ต้องกลับลงมาอีก เพราะมีโอกาสสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในพรหมโลกได้ สวรรค์ยังเป็นภูมิของผู้ติดข้องอยู่ในกาม ยังละกามไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกสวรรค์ว่ากามาพจรภูมิ มีหกชั้นคือ จตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัดดี การไปเกิดในสวรรค์จะเกิดแบบโอปปาติกะ คืออุบัติขึ้น หรือผุดขึ้นในร่างทิพย์ โดยไม่ต้องอาศัยบิดามารดา พออุบัติขึ้นก็เป็นหนุ่มเป็นสาวทันที           ๒๗/๑๗๓๐๒
            ๕๐๒๔. สวาด  เป็นไม้เถา มีลำต้นยาวได้ถึง ๑๕ เมตร มีหนามแหลมตรง หรือแหลมโค้งทั่วไป ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับ ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะออกเหนือว่านใบเล็กน้อย ดอกสีเหลืองมีใบประดับ ผลเป็นฝักรูปป้อม ๆ หรือรูปรี
                    ตำรายาไทยใช้ใบสวาดในการขับผายลม แก้จุกเสียดแน่น แก้กษัย แก้น้ำมูตรพิการ แก้ไอ รักษาแผลในคอ ขับพยาธิ ผลใช้แก้กษัย แก้น้ำมูตรพิการ เมล็ดใช้ขับพยาธิ แก้ไข้ แก้ท้องเสีย หล่อลื่นภายนอก แก้ปวดท้อง        ๒๗/๑๗๓๑๒
            ๕๐๒๕. สวาย ปลา  เป็นปลากระดูกแข็งน้ำจีด ไม่มีเกล็ด ปลาสวายเป็นปลาขนาดใหญ่ เท่าที่พบมีความยาวถึง ๑.๕ เมตร ลำตัวเรียวยาวแบนข้างเล็กน้อย ลำตัวสีเทาเข้มหรือสีเทาปนน้ำตาล พื้นท้องสีขาว
                    ปลาสวาย เป็นปลาเศรษฐกิจที่นิยมเลี้ยง โตเร็ว อดทน เลี้ยงง่าย
                    ปลาที่อยู่ในสกุลเดียวกันคือปลาเทพา และปลาเทโพ ทั้งสองชนิดเป็นปลาขนาดใหญ่มาก ลำตัวยาวกว่า ๑ เมตร         ๒๗/๑๗๓๑๕
            ๕๐๒๖. สวิตเซอร์แลนด์  ประเทศในทวีปยุโรปมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สมาพันธ์รัฐสวิส เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของทวีปยุโรป ไม่มีพรมแดนติดต่อกับทะเล มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศเยอรมนี ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับประเทศออสเตรีย และลิกเตนสไตน์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อกับประเทศอิตาลี ทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศฝรั่งเศส มีพื้นที่ ๔๑,๒๘๗ ตร.กม. เมืองหลวงชื่อ เบิร์น ตั้งอยู่ทางตอนกลางค่อนไปทางทิศตะวันตกของประเทศ
                    ลักษณะภูมิประเทศ  เป็นเทือกเขาและที่ราบสูงทั้งหมด มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า ๙๐๐ เมตร และมียอดเขาหลายยอดสูงกว่า ๔,๒๐๐ เมตร ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความสูงเฉลี่ยของพื้นที่มากที่สุดในยุโรป อาจแบ่งออกได้เป็นเขตใหญ่ ๆ ได้สามเขตคือ
                    เขตที่ราบสูงสวิส  เป็นเขตสำคัญที่สุดของประเทศในด้านการปกครอง เศรษฐกิจและการคมนาคม ครอบคลุมพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของประเทศ อยู่ทางซีกด้านทิศเหนือใกล้เคียงกับประเทศเยอรมนี ภูมิประเทศประกอบด้วยเนินเขา และที่ราบหุบเขาของแม่น้ำสายต่าง ๆ ซึ่งไหลจากทิศใต้ไปทิศเหนือลงสู่แม่น้ำไรน์ มีทะเลสาบขนาดใหญ่ตั้งอยู่เป็นจำนวนมากได้แก่ ทะเลสาบเจนีวา กับทะเลสาบคอนสแตนซ์ ซึ่งแบ่งเขตประเทศสวิตเซอร์แลนด์กับประเทศเยอรมัน และประเทศฝรั่งเศสตามลำดับ นอกจากนี้ก็มีทะเลสาบเนอชาแตล, ทะเลสาบลูเซิร์น ทะเลสาบซูริก บนชายฝั่งของทะเลสาบเหล่านี้มีเมืองสำคัญตั้งอยู่ มีชื่อเดียวกับทะเลสาบได้แก่  เมืองเจนีวา เมืองเนอชาแตล เมืองลูเซิร์น และเมืองซูโก
                    เขตเทือกเขาชูรา เป็นเขตเล็ก ๆ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ติดเขตแดนประเทศฝรั่งเศส เทือกเขาซูรา มีความยาวประมาณ ๒๓๐ กม. มีทิศทางจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมืองสำคัญในเขตนี้มีเพียงเมืองเดียวคือ เมืองบาเซิล เป็นเมืองทำบนฝั่งแม่น้ำ
                    เขตเทือกเขาแอลป์  เป็นเขตใหญ่ที่สุด ครอบคลุมพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เทือกเขาแอลป์ เป็นเทือกเขาสูงใหญ่มากที่สุดของทวีปยุโรป มีความยาวประมาณ ๑,๐๖๐ กม. พาดผ่านดินแดนของหลายประเทศ เฉพาะส่วนที่อยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ ทางด้านเหนือ และด้านใต้ โดยมีที่ราบหุบเขาขนาดใหญ่ อยู่ระหว่างกลาง มีแม่น้ำสำคัญสองสายไหลแยกจากจุดกึ่งกลาง ไปในทิศทางตรงกันข้ามคือ แม่น้ำไรน์ ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เข้าไปในเขตของประเทศฝรั่งเศส และแม่น้ำไรน์ ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงแนวเขตแดนประเทศออสเตรีย ไหลไปตามแนวเขตแดนตอนเหนือ เข้าไปในประเทศเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์
                    ประชากร  มีหลายเชื้อชาติปะปนกัน ตั้งแต่สมัยโบราณ ทำให้วัฒนธรรมทางด้านภาษา มีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีภาษาที่ใช้เป็นทางการสามภาษาคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส และอิตาลี มีอัตราส่วนร้อยละ ๗๐, ๑๙ และ ๑๐ ตามลำดับ
                    ดินแดนอันเป็นที่ตั้งของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีประวัติยาวนานย้อนหลังไปราว ๔๐๐ ปี ก่อนพระพุทธศักราช โดยชาวโรมันได้เข้ามาปกครองดินแดนที่พวกเฮลวิชิไอ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของชนชาติเดลด์  อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกของสวิตเซอร์แลนด์ ในปัจจุบัน ต่อมาในพระพุทธศตวรรษที่สิบ ชนชาติอลามันนี และชนชาติเบอร์กันดี ได้อพยพเข้ามาติดตามด้วยชนชาติแฟรงก์ ในพระพุทธศตวรรษที่สิบเอ็ด ครั้นถึง พระพุทธศตวรรษที่สิบหก สวิตเซอร์แลนด์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ์โรมัน อันศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าผู้ครอง ผลัดเปลี่ยนกันเป็นใหญ่ รวมทั้งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ด้วย
                    ในปี พ.ศ.๑๘๔๔  รัฐสามแห่งคือ อูรี ชวิซ และอุนเทอร์รัลเดิน ได้ประกาศรวมตัวกันต่อต้านการปกครองของราชวงศ์ฮับบูร์ก นับเป็นการเริ่มต้นการจัดตั้งเป็นสมาพันธรัฐสวิสขึ้น แล้วค่อย ๆ ขยายตัวใหญ่ขึ้น จนถึงปี พ.ศ.๒๓๕๘ มีรัฐรวมทั้งหมด ๒๒ รัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น ๒๖ รัฐในปัจจุบัน แต่ละรัฐมีรัฐบาลท้องถิ่น และเมืองหลวงของตนเอง เรียกหน่วยการปกครองระดับรัฐนี้ว่า แคนตอน
                    ในปี พ.ศ.๒๓๕๘  ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้ให้การรับรองความเป็นกลางอย่างถาวร ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันเป็นผลจากการประชุมที่กรุงเวียนนา สวิตเซอร์แลนด์ มิได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ และองค์การสหประชาชาติ แต่ได้ให้ความร่วมมือแก่สันนิบาตชาติ ในการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ ขึ้นที่เมืองเจนีวา และจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในยุโรป ขององค์การสหประชาชาติขึ้นที่เมืองเจนีวา รวมทั้งองค์การชำนัญพิเศษ ของสหประชาชาติหลายแห่ง และองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ        ๒๗/๑๗๓๑๗
            ๕๐๒๗. สวีเดน  ประเทศในทวีปยุโรป เรียกชื่อเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรสวีเดน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีป ในซีกตะวันออกของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย มีอาณาเขตทิศตะวันออกเฉียงเหนือเหนือ ติดต่อกับประเทศฟินแลนด์ ทิศตะวันออกจดอ่าวบอทเนีย ทิศตะวันออกเฉียงใต้ จดทะเลบอลติก ทิศตะวันตกเฉียงใต้ จดน่านน้ำคัตเทกัต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทะเลเหนือ ทิศตะวันตก ติดต่อกับประเทศนอร์เวย์ มีพื้นที่ ๔๔๙,๗๙๒ ตร.กม.  เมืองหลวงชื่อ สตอกโฮล์ม ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลบอลติก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
                    ลักษณะภูมิประเทศ  ประมาณสองในสาม ของพื้นที่ประเทศเป็นภูเขา และที่ราบสูง ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตก และทางทิศเหนือของประเทศ ส่วนที่ราบมีอยู่ทางทิศตะวันออก และทางทิศใต้ของประเทศ ประกอบด้วยที่ราบแคบ ๆ ชายฝั่งอ่าวบอทเนีย และที่ราบลุ่มทะเลสาบภาคกลาง
                    ตามแนวเขตแดนติดต่อกับประเทศนอร์เวย์ มีเทือกเขาพาดผ่านเป็นแนวยาว จากทิศเหนือไปทิศใต้ ประมาณสองในสามของความยาวของเส้นเขตแดน เรียกชื่อว่า เทือกเขาเชอเลน มีแม่น้ำสายสั้น ๆ เป็นจำนวนมาก ไหลจากเทือกเขานี้ไปลงอ่าวบอทเนีย ทางทิศตะวันออก
                    บริเวณตอนกลางของประเทศ ซึ่งเป็นที่ราบ มีทะเลสาบตั้งกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ทะเลสาบเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีทางน้ำเชื่อมต่อกัน
                    ประชากร  ส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชนชาตินอร์ดิก มีความละม้ายคล้ายคลึงกับประชากรในประเทศนอร์เวย์ และเดนมาร์ก พูดภาษาเดียวกันคือ กลุ่มภาษาสแกนดิเนเวีย ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของตระกูลภาษาเยอรมัน
                    ชาวสวีเดน เดิมประกอบด้วยชนกลุ่มสำคัญสองกลุ่มคือ กลุ่มชาวสวีด หรือสเวียร ซึ่งอาศัยอยู่ในตอนกลางของประเทศ และกลุ่มชาวเยอตาร์ ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ต่อมาชาวสวีดได้แผ่ขยายอำนาจออกไป ปกครองชาวเยอตาร์ ชื่อของประเทศจึงมาจากชนกลุ่มนี้
                    ในพระพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ เมื่อพวกไวกิง ซึ่งเป็นนักเดินเรือชาวสแกนดิเนเวีย เดินทางไปค้าขาย และปล้นสะดมประเทศต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ตามชายฝั่งทะเล พวกไวกิงจากนอร์เวย์ และเดนมาร์ก สนใจประเทศในยุโรปตะวันตก ส่วนพวกไวกิง จากสวีเดน สนใจด้านทะเลบอลติก ได้เดินทางไปค้าขาย จนถึงทะเลดำ และทะเลแคสเบียน
                    ในตอนกลางพระพุทธศตวรรษที่สิบห้า สวีเดนมีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นอาณาจักร ทางคริสต์ศาสนา โดยมีกษัตริย์องค์แรกคือ พระเจ้าโอลอฟ สเกิตโกมุง ในศตวรรษต่อมาได้ขยายอำนาจไปปกครอง ชาวฟินน์ในฟินแลนด์ ในปี พ.ศ.๑๘๔๐ สวีเดน ได้รวมเข้ากับนอร์เวย์ และเดนมาร์ก จัดตั้งเป็นสหภาพคัลมาร์ จนถึงปี พ.ศ.๒๐๖๖  จึงแยกออกจากสหภาพ หลังจากนั้น สวีเดนได้เริ่มการแผ่อำนาจ ออกไปอย่างกว้างขวาง ผนวกดินแดนต่าง ๆ ในทะเลบอลติก เข้ามาเป็นของตน จนกลายเป็นประเทศที่มีอำนาจทางการเมืองชั้นนำ ในบริเวณทะเลบอลติก ในพระพุทธศตวรรษที่ ๒๒ แต่ก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงในพระพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ต้องเสียดินแดนต่าง ๆ ไปตามลำดับ จนเหลือดินแดนเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน        ๒๗/๑๗๓๒๓
            ๕๐๒๘. สหกรณ์  หมายถึง การทำงานร่วมกัน หรือการร่วมมือกัน มีผู้ให้คำนิยามว่า " เป็นวิธีการประกอบการเศรษฐกิจ แบบหนึ่ง ซึ่งบุคคลผู้อ่อนแอทางเศรษฐกิจ รวมแรง รวมปัญญา และรวมทุนกันจัดตั้งขึ้น โดยความสมัครใจ ตามหลักการช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และประหยัด เพื่อให้เกิดควมจำเริญ ในเศรษฐกิจและสังคม"
                    หลักการสหกรณ์ ที่ใช้เป็นแนวทางสำหรับสหกรณ์ต่าง ๆ ในการนำคุณค่าของสหกรณ์ไปสู่ การปฎิบัตินั้นได้กำหนดขึ้น โดยองค์การสัมพันธภาพ สหกรณ์ระหว่างประเทศ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘
                    การสหกรณ์เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๓ มีแนวคิดที่จะช่วยเหลือกรรมกรผู้เดือดร้อน จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ซึ่งนำเครื่องจักรแทนแรงงานคน ก่อให้เกิดภาวะว่างงาน และเศรษฐกิจตกต่ำ
                    สำหรับประเทศไทย แนวความคิดเรื่องสหกรณ์ ได้แพร่หลายเข้ามาในปี พ.ศ.๒๔๕๗ โดยได้เลือกสหกรณ์หาทุนแบบไรฟ์ไฟเซิน ของประเทศเยอรมนี เนื่องจากมีความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ของเกษตรกรไทยขณะนั้น มากกว่ารูปอื่น ได้ทดลองจัดตั้งสหกรณ์แห่งแรกของประเทศไทย ขึ้นในท้องที่ อ.เมือง ฯ จ.พิษณุโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการเงินกู้แก่สมาชิก
                    ในปี พ.ศ.๒๔๗๑ ได้มีการตรา พ.ร.บ. พ.ศ.๒๔๗๑ ทำให้สหกรณ์ขยายตัวกว้างขวางขึ้น โดยมีการจัดตั้งสหกรณ์อีกหลายประเภท แต่สหกรณ์เหล่านี้เป็นสหกรณ์ขนาดเล็ก ที่ดำเนินธุรกิจแบบเอนกประสงค์ทั้งสิ้น จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการ หรือแก้ปัญหาของเกษตรกรได้เต็มที่ จึงได้ออก พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.๒๕๑๑ เปิดโอกาสให้สหกรณ์หาทุนขนาดเล็ก  ที่ดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว ควบเข้าเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ ทำให้สามารถขยายการดำเนินธุรกิจเป็นแบบเอนกประสงค์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สมาชิกได้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ สหกรณ์หาทุนจึงแปรสภาพ เป็นสหกรณ์การเกษตรมาจนปัจจุบัน        ๒๗/๑๗๓๒๘
            ๕๐๒๙. สหประชาชาติ, องค์การ  องค์การระหว่างประเทศ ที่มีกำเนิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อแทนองค์การสันนิบาตชาติ และเพื่อทำหน้าที่หลักอันได้แก่ การธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงปลอดภัยระหว่างประเทศ โดยอาศัยความยุติธรรม และกฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลัก
                    องค์การสหประชาชาติ ก่อตั้งเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ ประเทศสมาชิกผู้ริเริ่ม ๕๑ ประเทศ การประชุมเตรียมการก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ เมื่อผู้แทนฝ่ายพันธมิตร ได้ประชุมในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีการออกแถลงการณ์กฎบัตรแอตแลนติก ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับอังกฤษ เพื่อเป็นแนวทางก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๕  ผู้แทนประเทศพันธมิตร ๒๖ ประเทศ ได้มาประชุมกันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และร่วมลงนามในคำประกาศ แห่งสหประชาชาติ ที่ประชุมให้คำมั่นว่า จะปฎิบัติตามจุดมุ่งหมาย และหลักการแห่งกฎบัตรแอตแลนติก
                    ในปี พ.ศ.๒๔๘๘  ที่ประชุมผู้แทน ๕๑ ประเทศ รับรองร่างกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งมีทั้งหมด ๑๑๑ มาตรา แบ่งเป็น ๑๙ หมวด ระบุวัตถุประสงค์สำคัญ ๆ ขององค์การไว้หลายประการ
                    องค์การสหประชาชาติ มีหน่วยงานหกองค์กรคือ สมัชชา คณะมนตรีความมั่นคง คณะมนตรีเศรษฐกิจ และสังคม คณะมนตรีภาวะทรัสตี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และสำนักเลขาธิการ
                    ทั้งหกองค์กรของสหประชาชาติ ต่างมีองค์กรรองเพื่อช่วยปฎิบัติงาน เช่น กองทุนสงเคราะห์เด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
                    นอกเหนือจากองค์กรหลักและองค์กรรองแล้ว ยังมีทบวงการชำนาญพิเศษจำนวน ๑๗ ทบวง เป็นองค์กรอิสระมีคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยประสานงาน
                    กฎบัตรสหประชาชาติเรื่องสมาชิกภาพ กำหนดให้รัฐที่ยอมรับข้อผูกพันของกฎบัตร สมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ แต่ต้องได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนอย่างน้อย ๙ ใน ๑๕ เสียง และคะแนนเสียงข้างมาก สองในสาม ของสมาชิกสมัชชาที่เข้าร่วมประชุม
                    ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ องค์การสหประชาติมีสมาชิก ๑๙๑ ประเทศ การหมดสมาชิกภาพมีสองลักษณะคือ การระงับสมาชิกภาพชั่วคราว โดยคณะมนตรีความมั่นคง ใช้อำนาจบังคับให้ประเทศสมาชิก ให้ประเทศสมาชิกใดประเทศหนึ่ง งดใช้เสียงเป็นรายกรณี กับการให้ออกจากสมาชิกภาพโดยมติสมัชชา ตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง แต่ประเทศนั้นอาจกลับเข้าเป็นสมาชิก โดยวิธีการขอเข้าเป็นสมาชิกใหม่   ๒๗/๑๗๓๔๒
            ๕๐๓๐. สหรัฐอเมริกา  ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ตั้งอยู่ทางใต้ของประเทศแคนาดา และทางเหนือของประเทศเมกซิโก ทิศตะวันออก จดชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ทิศตะวันตก จดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากนี้ ยังมีดินแดนที่เป็นรัฐของประเทศอีกสองแห่ง ซึ่งตั้งแยกออกไปจากพื้นที่ส่วนใหญ่ ของประเทศคือ รัฐอะแลสกา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแคนาดา และรัฐฮาวาย เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
                    สหรัฐอเมริกา มีพื้นที่ ๙,๓๗๕,๗๒๐ ตร.กม.  มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สี่ของโลก รองจากประเทศรัสเซีย แคนาดา และจีน มีเขตแดนติดต่อกับประเทศแคนาดา ยาว ๘,๘๙๑ กม. และกับประเทศเมกซิโก ยาว ๓,๒๓๙ กม.
                    ลักษณะภูมิประเทศ  ในส่วนที่เป็นที่ตั้งของ ๔๘ รัฐ ซึ่งเป็นดินแดนผืนใหญ่ของประเทศนั้น แบ่งออกได้เป็นสามส่วนใหญ่ ๆ คือ
                        ๑. เขตเทือกเขาภาคตะวันออก  ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าหนึ่งในสามของประเทศ ประกอบด้วย เทือกเขาสูง สามแนว พาดผ่านทิศเหนือไปทิศใต้ เรียงตามลำดับ จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก คือ แนวตะวันออกสุดเป็นเทือกเขารอกกี ซึ่งเป็นเทือกเขาสูงใหญ่มากที่สุด ของสหรัฐอเมริกาต่อเนื่องเข้าไปในแคนาดา แนวที่สองเป็นเทือกเขาแคสเคด และเทือกเขาเซียร์รา เนวาดา เป็นแอ่งยกตัวขนาดใหญ่ เรียกชื่อว่า ฮาร์นีย์เบซิน และเกรตเบซิน ตามลำดับ มีแม่น้ำโคลัมเบียไหลผ่านฮาร์นีย์เบซิน และแม่น้ำโคโลราโด ไหลผ่านเกรตเบซิน
                        ๒. เขตที่ราบภาคกลาง  ครอบคลุมพื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ ตั้งแต่ทะเลสาบเกรตเลกส์ ซึ่งเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่รวมห้าแห่ง ที่กั้นเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกา กับประเทศแคนาดา ทางด้านทิศเหนือจนถึงอ่าวเมกซิโก ทางด้านทิศใต้ภายในบริเวณที่ราบภาคกลาง มีแม่น้ำมิสซิสซิปปี ไหลลงอ่าวเมกซิโก ถือเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดของประเทศ มีแควต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
                        ๓. เขตภูเขาและที่ราบชายฝั่งภาคตะวันออก  ครอบคลุมพื้นที่เกือบหนึ่งในสามของประเทศ ทางตะวันตกสุดเป็นเทือกเขาแอฟพาเลเชียน ซึ่งทอดยาวจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ กั้นแบ่งเขตกับเขตที่ราบภาคกลาง ถัดไปทางตะวันออกของเทือกเขานี้ เป็นที่ราบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีประชากรอยู่อาศัยกัน อย่างหนาแน่นมาก
                    ประชากร  มีความหลากหลายในด้านเชื้อชาติ และวัฒนธรรม เนื่องมาจากการอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานของชนชาติต่าง ๆ ทั้งจากทวีปยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของการก่อตั้งอาณานิคม จนถึงตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ ๒๕
                    ในระยะแรกของการก่อตั้งอาณานิคม ชาวยุโรปที่มีบทบาทสำคัญในการบุกเบิก และการตั้งถิ่นฐานคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และฮอลันดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอังกฤษ ได้เข้าไปสร้างอาณานิคมไว้อย่างกว้างขวาง บนที่ราบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ชาวยุโรปได้นำทาสชาวนิโกร จากทวีปแอฟริกา เข้ามาใช้เป็นแรงงาน ในอาณานิคมของตน ต่อมาภายหลังเมื่อตั้งขึ้นเป็นประเทศแล้ว ก็เปิดโอกาสให้ชนชาติต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เดินทางเข้าไปตั้งถิ่นฐาน
                    จากข้อมูลประชากรเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓  ระบุว่า ในจำนวนประชากร ๒๘๑ ล้านคน แบ่งเป็นคนเชื้อชาติกลุ่มใหญ่ ๆ รวมสามกลุ่มคือ ชนผิวขาวร้อยละ ๗๕ ชนผิวดำ ร้อยละ ๑๒ ชนชาวเอเชีย ร้อยละ ๓.๖ และที่เหลืออีกประมาณร้อยละ ๑๐ เป็นชนเชื้อชาติกลุ่มอื่น ๆ
                    ประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นด้วยการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในตอนกลางพระพุทธศตวรรษที่ ๒๒ และได้ขยายอาณานิคมออกไปตามลำดับ จนมีจำนวนรวมทั้งหมด ๑๓ แห่ง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๑๘  อาณานิคมทั้ง ๑๓ แห่ง ได้รวมตัวกันแข็งอำนาจ ทำการสู้รบกับอังกฤษและประกาศอิสรภาพในปีถัดมา และอังกฤษยอมรับรองเอกราชของสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.๒๓๒๖
                    ภายหลังการได้รับเอกราชแล้ว สหรัฐอเมริกาได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งโดยการบุกเบิกดินแดนใหม่ ทางตอนกลางและตะวันตกของทวีป  และโดยการขอซื้อ หรือผนวกดินแดนที่เป็นของประเทศอื่น
                    เหตุการณ์ที่ถือว่ามีความสำคัญมาก ในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกาคือ การเกิดสงครามกลางเมือง ระหว่างกลุ่มรัฐฝ่ายเหนือ กับกลุ่มรัฐฝ่ายใต้ ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๐๔ - ๒๔๐๘  กลุ่มรัฐฝ่ายใต้ ได้ประกาศจัดตั้งเป็นสมาพันธรัฐอเมริกา แยกตนเป็นอิสระจากการปกครองร่วมกันของสหภาพ และส่งกำลังเข้าโจมตีฝ่ายรัฐบาล ในที่สุดกองกำลังฝ่ายสมาพันธรัฐยอมจำนน ประธานาธิบดีลิงคอล์น ได้ประกาศให้อิสรภาพแก่ทาสทั้งหมด นับเป็นการเลิกทาสในทวีปอเมริกาเหนือ ที่มีมายาวนานกว่า ๒๐๐ ปี        ๒๗/๑๗๓๕๐
            ๕๐๓๑. สหราชอาณาจักร  ประเทศในทวีปยุโรป มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ เป็นประเทศหมู่เกาะ ตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันตกของทวีปยุโรป โดยมีทะเลเหนือและช่องแคบอังกฤษ กั้นออกจากผืนแผ่นดินใหญ่ มีพื้นที่ ๒๔๔,๑๑๐ ตร.กม. เมืองหลวงชื่อ ลอนดอน
                    หมู่เกาะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสหราชอาณาจักรเรียกชื่อว่า หมู่เกาะบริติช ประกอบด้วยเกาะใหญ่ สองเกาะคือ เกาะบริเตนใหญ่ และเกาะไอร์แลนด์ รวมทั้งเกาะ และหมู่เกาะขนาดเล็ก ตามชายฝั่งอีกแปดแห่ง เกาะบริเตนใหญ่ถือเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของทวีปยุโรป และใหญ่เป็นอันดับแปดของโลก มีพื้นที่ ๒๑๘,๐๐๐ ตร.กม.  ส่วนเกาะไอร์แลนด์ ตั้งอยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกของเกาะบริเตนใหญ่ โดยมีทะเลไอริชกั้นระหว่างกลาง ในทางการปกครองสหราชอาณาจักร ประกอบด้วยดินแดนสี่ส่วนคือ อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ดินแดนสามส่วนแรก ตั้งอยู่ในเกาะบริเตนใหญ่ ส่วนไอร์แลนด์เหนืออยู่ทางตอนเหนือ ของเกาะไอร์แลนด์
                    ส่วนท้องถิ่นทั้งสี่ส่วน ต่างมีเมืองหลวงของตนเอง โดยกรุงลอนดอน เป็นทั้งเมืองหลวงของอังกฤษ และเมืองหลวงของประเทศ เมืองเอดินบะระ เป็นเมืองหลวงของสกอตแลนด์  เมืองคาร์ดิฟ เป็นเมืองหลวงของเวลส์ และเมืองเบลฟัสต์ เป็นเมืองหลวงของไอร์แลนด์เหนือ
                    ลักษณะภูมิประเทศ  แยกอธิบายได้เป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่อยู่ในเกาะบริเตนใหญ่ และส่วนที่อยู่ในตอนเหนือของเกาะไอร์แลนด์
                    ชนชาติแรก ๆ ที่อาศัยอยู่ในเกาะบริเตนใหญ่ และไอร์แลนด์เหนือ คือ ชนเผ่าเคลต์ ซึ่งได้อพยพจากผืนแผ่นดินใหญ่ เมื่อราว ๑,๐๐๐ ปี ก่อนพุทธศักราช ต่อมาในตอนกลางพระพุทธศตวรรษที่ห้า ชาวโรมันได้เข้ามาครอบครองเกาะบริเตนใหญ่ ซึ่งกลายเป็นแคว้นหนึ่งของจักรวรรดิ์โรมันเรียกชื่อว่า บริแทนเนีย เมื่อจักรวรรดิ์โรมันเสื่อมอำนาจลง และต้องถอนกำลังออกไปในพระพุทธศตวรรษที่สิบ ชนชาติเยอรมันเผ่าต่าง ๆ ได้แก่ แองเกิลแซกซัน และจูต ได้บุกรุกเข้ามาแทนที่ ตั้งเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ ขึ้นหลายแห่ง ในเกาะบริเตนใหญ่ ในพระพุทธศตวรรษที่สิบสาม พวกไวกิงจากเดนมาร์ก ได้บุกรุกเข้ามาในเกาะบริเตนใหญ่ และเกาะไอร์แลนด์ ด้วย ประวัติศาสตร์ในระยะแรก ๆ ของเกาะทั้งสอง จึงเกี่ยวข้องกับชนหลายเชื้อชาติ ทำสงคามแย่งชิงความเป็นใหญ่ซึ่งกันและกัน
                    ในพระพุทธศตวรรษที่สิบห้า อาณาจักรที่รุ่งเรืองอำนาจมากที่สุดคือ เวสเซกซ์ ของชนเผ่าแองโกล - แซกซัน ตั้งอยู่ในภาคใต้ของอังกฤษ โดยมี วินเชสเตอร์ เป็นเมืองหลวง อาณาจักรนี้ได้แผ่ขยายอำนาจไปปกครองทั่วทั้งอังกฤษ ในปี พ.ศ.๑๔๓๑ นับเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของอังกฤษ และต่อมาได้รวมเวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ เข้าเป็นประเทศเดียวกัน
                    ในพระพุทธศตวรรษที่ ๒๒ อังกฤษได้สร้ากำลังกองทัพเรือ ที่เข้มแข็งมาก สามารถเดินเรือไปตั้งอาณานิคมขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือ อีกทั้งได้รบชนะสเปน ในยุทธนาวีครั้งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๑ ส่งผลให้อังกฤษกลายเป็นมหาอำนาจทางทะเลแทนที่สเปน นอกจากนี้ ยังทำสงครามชนะฝรั่งเศสหลายครั้ง ที่สำคัญคือ ได้ดินแดนแคนาดา ของฝรั่งเศสมาเป็นของตนทั้งหมด ต่อมาในการรบที่เมืองวอเตอร์ลู ในประเทศเบลเยี่ยม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๘ กองทัพอังกฤษมีชัยชนะต่อกองทัพฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียอำนาจในทวีปยุโรปไป
                    การสร้างแสนยานุภาพทางเรือให้เข้มแข็ง ทำให้อังกฤษสามารถแข่งขันกับประเทศโปร์ตุเกส ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ในด้านการค้า และการแสวงหาอาณานิคมในทวีปแอฟริกา เอเชียและออสเตรเลีย ระหว่างพระพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔
                    ในสงครามโลกครั้งที่สอง สหราชอาณาจักรได้เข้าร่วมทำสงคราม และเป็นฝ่ายมีชัยชนะภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหราชอาณาจักรต้องประสบกับปัญหาดินแดนต่าง ๆ ของแยกตนเป็นอิสระ จากการเป็นอาณานิคมจนเหลือดินแดนที่ยังเป็น อาณานิคมเพียงไม่กี่แห่ง ปัจจุบันบางประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม ยังคงมีการผูกพันอย่างหลวม ๆ กับประเทศแม่ แต่เดิมในฐานะเป็นสมาชิกของเครือจักรภพ หรือเครือประชาชาติ ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔        ๒๗/๑๗๓๕๙
            ๕๐๓๒. สหัมบดีพรหม  เป็นชื่อท้าวมหาพรหม องค์หนึ่ง ผู้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า ให้ทรงแสดงธรรม พระพุทธเจ้าทรงรับคำอาราธนา ของท้าวสหัมบดีพรหม
                    เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรำพึงว่า บุคคลไม่เคารพ ไม่ยำเกรง ย่อมอยู่เป็นทุกข์ เราพึงสักการะเคารพสมณะ หรือพราหมณ์ พวกไหนหนอ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุติขันธ์ วิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ที่ยังไม่บริบูรณ์ "แต่พระองค์ไม่ทรงเห็นสมณะ หรือพราหมณ์อื่นในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก และพรหมโลก ที่สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมเหล่านั้น ยิ่งกว่าเรา จึงทรงเห็นว่า ควรสักการะเคารพธรรมที่ตรัสรู้แล้วนั่นเอง ท้าวสหัมบดีพรหมได้เข้าไปกราบทูลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต ในอนาคต และในปัจจุบันทุกพระองค์ ล้วนเคารพพระสัทธรรม เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
                    เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรำพึงว่า สติปัฎฐานสี่ประการ เป็นทางเดียวเพื่อความหมดจด แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความเศร้าโศกและความคร่ำครวญรำพัน เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม (ธรรมที่ควรรู้)  เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ท้าวสหัมบดีพรหม มาเฝ้ากราบทูลสนับสนุนพระรำพึงนั้นว่า สติปัฎฐานสี่ประการนี้ เป็นทางเดียวที่บัณฑิตทั้งหลายในอดีต ใช้ข้ามโอฆสงสาร (สังสารวัฎ)  มาแล้ว แม้ในอนาคตก็จักใช้ทางนี้ข้ามโอฆะ
                    เมื่อพระพุทธเจ้าทรงรำพึงว่า อินทรีย์ห้าประการ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว จะหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด สหัมบดีพรหมเข้าเฝ้ากราบทูลสนับสนุนว่า เป็นเช่นนั้นจริง และทูลเล่าชีวประวัติของตนให้ทรงทราบ ตั้งแต่เกิดเป็นมนุษย์ได้บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่า กัสสปะ ได้เจริญอินทรีย์ห้า จนสามารถคายกามฉันทะ แล้วไปเกิดในพรหมโลก ชฎิลผู้พี่ชื่อ อุรุเวลกัสสปะ ในคืนที่สี่ต่อจากท้าวจตุมหาราช และท้าวสักกะ เทพ และพรหม ดังกล่าว ได้เปล่งรัศมีทำให้บริเวณที่ประทับสว่างไสว อุรุเวลกัสสปะ สงสัยจึงทูลถาม เมื่อตรัสตอบว่า เทพและพรหม ดังกล่าวมาเฝ้าจึงเชื่อว่า พระมหาสมณะนี้ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง แม้ท้าวจาตุมหาราช ท้าวสักกะ และท้าวสหัมบดีพรหม ก็ยังนับถือ อุรุเวลกัสสปะ จึงยอมตนเป็นศิษย์        ๒๗/๑๗๓๖๙
            ๕๐๓๓. สะแกนา  เป็นชื่อไม้พุ่ม หรือไม้ต้น เป็นไม้ขนาดเล็ก ถึงขนาดกลาง สูงได้ถึง ๑๕ เมตร มักแตกเป็นกอใหญ่ ลำต้นตั้งตรงในระยะแรก ๆ ตามเปลือกลำต้นจะมีปุ่มแหลม คล้ายกรวย ซึ่งเกิดจากกิ่งลดรูป เมื่อต้นมีอายุหลายปี ปุ่มดังกล่าวจะหายไป ใบออกตรงกันข้ามกันเป็นคู่  ๆ แผ่นใบรูปไข่กลับ แกนรูปขอบขนาน ช่อดอกเป็นแบบช่อเชิงลด หรือคล้ายแบบหางกระรอก ดอกสีขาว หรือขาวอมเหลือง ผลเป็นแบบผลแห้งไม่แตก
                    สะแกนา มีเนื้อไม้ค่อนข้างเหนียว เสี้ยนสน เลื่อยไสกบตบแต่งยาก เหมาะแก่การทำฟืน และถ่าน ที่ให้ความร้อนสูง ลำต้นนิยมนำมาทำเป็นเสาบ้าน เสารั้ว แพทย์แผนไทยแต่เดิมใช้ผลอ่อนมาปรุงเป็นยาขับพยาธิ        ๒๗/๑๗๓๗๕
            ๕๐๓๔. สะแกวัลย์  เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว ติดตรงข้ามรูปใบหอก แกมรูปไข่ ดอกเป็นช่อกระจายที่ปลายยอด ดอกสีออกเหลือง มีกลิ้นหอม ดอกย่อยไม่มีก้าน ผลมีรูปร่าง และขนาดแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ค่อนข้างกลม         ๒๗/๑๗๓๗๗
            ๕๐๓๕. สะแกแสง  เป็นไม้ต้น สูง ๒๕ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปสามเหลี่ยม แกมรูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปเกือบกลม ดอกออกเดี่ยว ๆ หรือเป็นช่อตามกิ่ง สีเหลืองอมเขียว กลิ่นค่อนข้างหอม ใช้ประโยชน์คล้ายกับกระดังงาไทย ผลรูปไข่        ๒๗/๑๗๓๗๘
            ๕๐๓๖. สะดือ  เป็นอวัยวะของร่างกาย อยู่ตรงกลางพื้นท้อง มักเป็นแอ่งหวำ เข้าไป
                    เด็กในครรภ์มารดา สะดือเป็นทางติดต่อของสายสะดือ ไปยังรก เพื่อนำอาหารและออกซิเจนจากรกไปสู่ตัวเด็ก และนำของเสียรวมทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่แม่ แล้วจึงขจัดออกจากร่างกายของแม่อีกทีหนึ่ง ในขณะที่เป็นตัวอ่อนเดือนแรก ๆ บริเวณท้องยังไม่ปิด ต่อมาผนังท้องจึงเริ่มปิดเข้ามาทุกทาง จนปิดบริเวณรอบ ๆ บริเวณสะดือ  บรรดาถุงไข่แดง ซึ่งเป็นส่วนที่มาจากไข่ดั้งเดิม ถุงที่ต่อจากปลายกระเพาะปัสสาวะ ที่อยู่นอกท้องจะมีทางติดต่อกับอวัยวะภายในท้อง โดยผ่านสะดือ หลอดเลือดแดงสองเส้น ที่นำเลือดออกจากลูกไปยังรก และหลอดเลือดดำเส้นหนึ่ง ที่นำเลือดออกจากรก เข้าสู่เด็กก็จะผ่านเข้าออก บริเวณสะดือเช่นกัน
                    หลังจากที่คลอดจากครรภ์มารดา จนโตเป็นผู้ใหญ่ สะดือก็ไม่ค่อยจะมีความสำคัญนัก        ๒๗/๑๗๓๗๙
          ๕๐๓๗. สะเดา  เป็นไม้ต้นในเมืองไทยมีสองพันธุ์ ที่มีลักษณะคล้ายกันคือ สะเดาไทย และสะเดาอินเดีย แต่เนื่องจากความแตกต่างมีน้อยจึงให้ถือว่า เป็นชนิดเดียวกัน
                    สะเดา สูงได้ถึง ๒๕ เมตร ลำต้นมักเปลาตรง ออกช่อดอกพร้อมใบอ่อน ใบออกเป็นช่อ แบบขนนกปลายคี่ หรือขนนกปลายคู่เรียงสลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุก แยกแขนงที่ซอกใบ ตอนปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็ก กลิ่นหอมสีขาว ผลแบบผลเมล็ดเดี่ยว แข็ง ทรงรี
                    ดอกและใบอ่อน ใช้ลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก สะเดาเป็นไม้โตเร็ว ให้ร่มเงา เนื้อไม้ทนต่อการผุ จึงใช้ในการก่อสร้าง ทำด้ามเครื่องมือ เครื่องเรือน ทำหลักหรือเสารั้ว น้ำมันจากเมล็ดใช้จุดตะเกียง ใบและเมล็ดใช้ทำยาฆ่าแมลง ฆ่าไส้เดือน เปลือกต้นและใบ มีสรรพคุณด้านสมุนไพร ใช้แก้ไข้มาเลเรีย โรคบิด แผลเปื่อย แผลพุพอง เป็นยาเจริญอาหาร ยาขับเสมหะ รากแก้ไข้ แก้สะอึก แก้พิษงูกัดได้ แก่นใช้แก้คลื่นเหียนอาเจียน ดอกบำรุงธาตุ รักษาโรคกำเดา ยางดับพิษร้อน ผลเป็นยาถ่ายและขับพยาธิ เมล็ดเป็นยาทำให้อาเจียน นับว่าเป็นไม้สารพัดประโยชน์        ๒๗/๑๗๓๘๐
            ๕๐๓๘. สะตอ  ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงถึง ๓๕ เมตร ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งตอนบนใกล้ปลายยอด เรือนยอดเป็นพุ่มกว้างโปร่ง ใบประกอบแบบขนนก สองชั้นเรียงสลับ ดอกออกเป็นช่อกระจุก ห้อยลงตามปลายยอด ช่อดอกเป็นทรงกลมสองอันติดกัน มีทั้งดอกสมบูรณ์เพศ และไม่สมบูรณ์เพศ ผลเป็นฝักแบนรูปขอบขนาน เนื้อนุ่มรสขมเผ็ด หรือมัน มีกลิ่นเหม็นเขียวและฉุน
                    สะตอ เป็นพืชผักพื้นเมืองที่สำคัญของภาคใต้ มีผู้นิยมบริโภคเป็นที่แพร่หลาย เนื้อไม้มีน้ำหนักเบา ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน ทำกล่องหรือลังใส่ของ ยอดอ่อนบริโภคเป็นผักสด เมล็ดบริโภคเป็นผักสด มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคเบาหวาน ในระยะแรก ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ช่วยขับลมในลำไส้ และขับปัสสาวะ        ๒๗/๑๗๓๘๕
            ๕๐๓๙. สะท้อน, ต้น  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ในหลายวงศ์ด้วยกัน แต่ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งนิยมปลูกเป็นพืชสวน เพื่อนำผลมาใช้เป็นอาหาร และเป็นของหวาน
                    สะท้อน เป็นไม้ต้นสูงได้ถึง ๔๐ เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง แต่แตกกิ่งต่ำ ใบเป็นช่อติดเวียนกันไป ใบรูปไข่หรือรูปรีแกมรูปไข่ ดอกสมบูรณ์เพศสีเหลืองอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อไม่แยกแขนงตามปลายกิ่ง ผลกลมอุ้มน้ำ เนื้อหนา เมล็ดโตมีเนื้อเยื่อสีขาวหุ้ม การขยายพันธุ์นิยมใช้ตอนกิ่ง หรือใช้เมล็ดเพาะ
                    เนื้อไม้ที่เป็นกระพี้มีสีเหลืองอ่อน ส่วนแก่นมีสีแดงเรื่อปนเทา แปรรูปได้ง่าย ใช้ทำกระดานพื้น เครื่องเรือน ลังใส่ของ วงกบประตู หน้าต่าง เรือ หูกทอผ้า ผลแก่ใช้บริโภคเป็นผลไม้สด รากใช้เป็นยาพื้นบ้านรักษาโรคบิด
                    สะท้อน ชนิดอื่น ๆ ได้แก่ สะท้อนนก สะท้อนรอก และกระท้อนลอก หรือมะพอก        ๒๗/๑๗๓๘๘
            ๕๐๔๐. สะบัก  เป็นกระดูกซึ่งเป็นส่วนของกระดูกหัวไหล่ อยู่ถัดบ่าลงไปข้างหลัง บริเวณหัวไหล่ กระดูกสะบักจะต่อกับกระดูกไหปลาร้า ซึ่งเป็นกระดูกวงไหล่อีกชิ้นหนี่ง ที่อยู่ด้านหลังของส่วนอก ที่มีกระดูกนี้ปิดอยู่ เรียกว่า บริเวณสะบัก กระดูกสะบักเป็นกระดูกแบน รูปเกือบเป็นสามเหลี่ยม แต่ละส่วนของกระดูกนี้ มีกล้ามเนื้อมาเกาะ สะบักยังเป็นตัวกลางเชื่อมแขนไว้กับลำตัวด้วย และสามารถเคลื่อนไหวได้ระดับหนึ่ง เพื่อเสริมการเคลื่อนไหวของแขนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น        ๒๗/๑๗๓๙๘
            ๕๐๔๑. สะบ้า หรือสะบ้าหัวเข่า  เป็นกระดูกที่อยู่ด้านหน้าข้อเข่า มีขนาดและลักษณะใกล้เคียงกับเมล็ดสะบ้า สะบ้าเป็นกระดูกประเภทที่เกิดอยู่ในเอ็น ด้านล่างยึดอยู่กับเอ็นสะบ้า ซึ่งมีปลายล่างยึดติดกับกระดูกแข้ง ส่วนบนของสะบ้า จะมีเอ็นกล้ามเนื้อของกลุ่มกล้ามเนื้อด้านหน้าของต้นขา ด้านหลังจะมีพื้นผิวสัมผัสกับส่วนล่างทางด้านหน้า ของกระดูกต้นขา สะบ้าจึงเป็นกระดูกชิ้นหนึ่งในกระดูกสามชิ้น ที่ประกอบกันเป็นข้อเข่า        ๒๗/๑๗๓๙๙
            ๕๐๔๒. สะระแหน่  เป็นไม้ล้มลุก มีกลิ่นหอม มักมีไหล ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ทอดเลื้อย หรือตั้งตรง สูง ๑๐ - ๒๕ ซม. ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปโล่ รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปรี
                สะระแหน่ ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร เพื่อทำให้เกิดการเจริญอาหาร โดยใช้ใบสดและต้นอ่อน มีสรรพคุณทางสมุนไพร คือ ใช้ขับลม แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ทำให้เจริญอาหาร แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย บำรุงธาตุ แก้ปวดฟัน แก้หืด ขับเหงื่อ แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ใบเป็นส่วนผสมในยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หมากฝรั่ง บุหรี่ ยาแก้ไอ น้ำหอม        ๒๗/๑๗๔๐๐
            ๕๐๔๓. สัก, ต้น   สักหิน เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้ในหลายวงศ์ด้วยกัน แต่ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ ไม้สัก ชื่ออื่น ๆ คือ สักทอง สักหยวก เป็นไม้ต้นสูงได้ถึง ๕๐ เมตร ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง ใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ แต่ละคู่สลับทิศทางกัน ทรงใบป้อม หรือรูปไข่กลับ ดอกสมบูรณ์เพศสีขาวนวล ออกรวมกันเป็นช่อ แยกแขยงโตตามปลายกิ่ง หรือตามง่ามใบ ใกล้ปลายกิ่ง ผลแห้งเมล็ดแข็งค่อนข้างกลม การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ ต่อมาใช้เหง้าปลูก ปัจจุบันใช้วิธีชำกิ่ง และเลี้ยงเนื้อเยื่อช่วย
                    เนื้อไม้สัก มีสีเหลืองทอง มีวงปี และลายสวย มีความทนทานตามธรรมชาติสูง นิยมใช้ก่อสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ทำตัวถังรถ เครื่องแกะสลัก เครื่องมือเกษตรกรรม กรอบประตู หน้าต่าง เครื่องประดับและตกแต่งบ้าน ไม้อัด และกระเบื้องไม้ เป็นต้น ใบอ่อนให้สีแดง ใช้ย้อมกระดาษและย้อมผ้า
                    ต้นสัก ชนิดอื่น ๆ ได้แก่ สักขี้ไก่ หรือสักพม่า สักขี้ควาย สักขรีย่าน หรือสำลีงา สักขี หรือแกแล สักหิน หรือสักน้ำ สักเขา หรือพันจำ สักทะเล สักน้ำ        ๒๗/๑๗๔๐๒
            ๕๐๔๔. สักรวา  เป็นคำประพันธ์ร้อยกรองชนิดหนึ่ง ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า สักรวา และลงท้ายด้วยเอย  การเล่นกลอนเพลง ที่เรียกว่า สักรวา ต้องมีการร้องโต้ตอบกันสองฝ่ายคือ ฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ซึ่งลอยเรือเล่นเพลงกันกลางน้ำ มักกระทำกันเมื่อออกพรรษา ตั้งแต่กลางเดือนสิบเอ็ด ถึงกลางเดือนสิบสอง ซึ่งเป็นเทศกาลกฐิน หมดหน้ากฐินแล้ว ก็เลิกกันไป
                    ลักษณะของกลอนสักรวา คือ การแต่งกลอนสุภาพ ซึ่งใช้คำระหว่างหกถึงเก้าคำ  สำหรับขับร้องแบบกลอนเพลงทั่วไป คือ มีทำนองเพลงกำกับ แต่โบราณมักใช้ทำนองเพลงพระทอง เป็นส่วนมาก
                    สักรวา มีการแต่งเป็นสามแบบคือ
                        ๑.  แต่งบทเดี่ยวโดด ๆ  ไม่มีการตอบโต้กัน เช่น แต่งพรรณาธรรมชาติ แต่งอวยพรหรือแต่เพื่อบรรยายเรื่องอะไรก็ได้
                        ๒. แต่งโต้ตอบระหว่างฝ่ายชายกับฝ่ายหญิง จะเป็นทำนองรักใคร่หรือแต่งเป็นเรื่องราวบรรยายทำนองเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบก็ได้
                        ๓. แต่งเป็นตอน ๆ คัดมาจากเรื่องใหญ่ โดยกำหนดให้ว่าสักรวาแทนตัวละครในเรื่องนั้น ๆ เช่นบทว่า บทขุนช้าง บทขุนแผน บทวันทอง สักรวาแบบนี้ใช้แต่งเป็นวงไม่ใช่แต่งเป็นบทโต้ตอบทั่ว ๆ ไป
                    การแต่งสักรวา ถ้าจะแสดงฝีมือให้เพริศพริ้งเป็นพิเศษ มีบทสักรวาซึ่งนับว่าเป็นบทชั้นครู คือแต่งด้วยคำตายล้วน ซึ่งมีอยู่เพียงบทเดียวคือ
     สักรวาระเด่นมนตรี จรลีเลยลงสรงในสระ
เอาพระหัตถ์ขัดพระองค์ทรงชำระ แล้วเรียกพระอนุชามากระซิบ
นั่นกอบัวมีดอกเพิ่งออกฝัก จงไปหักเอาแต่ตัวฝักบัวดิบ
โน่นอีกกอแลไปไกลลิบลิบ ให้ข้างในไปหยิบเอามาเอย
            ๕๐๔๕. สังกะสี  เป็นธาตุลำดับที่ ๓๐ คนรู้จักและใช้ประโยชน์ของสังกะสีเป็นระยะเวลานานมาก ทองเหลืองซึ่งเป็นโลหะเจือของสังกะสีและทองแดง ใช้กันมาตั้งแต่ ๑,๔๐๐ - ๑,๐๐๐ ปี ก่อนคริสต์สักราช โดยพบที่ปาเลสไตน์ ชาวโรมันรู้จักการทำทองเหลืองเมื่อประมาณ ๓๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช นอกจากชาวโรมันแล้ว กลุ่มอารยธรรมสูงในตะวันออกกลางและตะวันออกไกล ก็รู้จักทองเหลืองเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว
                    สังกะสีมีอยู่ทั่วไปในเปลือกโลก มีเหมืองแร่สังกะสีทั่วโลก ผู้ผลิตรายใหญ่ได้แก่ออสเตรเลีย แคนาดา จีน เปรู สหรัฐอเมริกา เบลเยี่ยม และสวีเดน
                    สังกะสีเป็นโลหะสีเงินออกสีฟ้าเล็กน้อย แข็ง และเปราะที่อุณหภูมิธรรมดา แต่อ่อน ดึงยีดได้ และทำเป็นแผ่นได้ นำไฟฟ้าได้ดีพอควร สังกะสีผลิตออกจำหน่ายเป็นผง เม็ด ชิ้น และแผ่น เป็นธาตุสามัญที่มีประโยชน์เป็นอันดับที่สี่รองจากเหล็ก อะลูมิเนียม และทองแดง         ๒๗/๑๗๔๑๙
            ๕๐๔๖. สังข์ หอย  เป็นชื่อหอยทะเลกาบเดี่ยวหลายชนิด หลายสกุล มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ที่รู้จักกันทั่วไปได้แก่
                    ๑. สังข์อินเดีย หรือสังข์รดน้ำ เมื่อโตเต็มที่จัดเป็นหอยขนาดใหญ่ เปลือกหนา รูปเปลือกค่อนข้างป้อม วงเกลียวตัวกลม ส่วนปลายมีร่องยาวปานกลาง ส่วนยอดเตี้ย ช่องเปลือกรูปรี เปลือกชั้นรองลงไปเป็นส่วนที่มีความหนาและแข็งค่อนข้างเรียบ สีขาวนวลหรือสีขาวอมชมพู หอยชนิดนี้อาศัยอยู่ตามท้องทะเล ที่พื้นเป็นทราย
                   เปลือกหอยทะเลโดยทั่วไปมีลักษณะเวียนขวา แต่มีหอยบางตัวที่สร้างเปลือกแบบเวียนซ้าย สำหรับสังข์อินเดียที่มีลักษณะเวียนซ้ายพบน้อยและหายาก ชาวฮินดูถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคล        ๒๗/๑๗๔๒๓
                    ๒. สังข์แตร เป็นหอยขนาดใหญ่ เปลือกค่อนข้างหนา รูปเปลือกยาวรี ตอนกลางซึ่งเป็นวงเกลียวตัวใหญ่สุด ส่วนยอดเป็นทรงเจดีย์ปลายแหลม ร่องเปลือกกว้างเป็นรูปวงรี มีผิวนอกของเปลือกเป็นมัน มีลายรูปพระจันทร์เสี้ยวพื้นเป็นสีนวล
                    ๓. สังข์กริช หรือสังข์บิด เป็นหอยขนาดกลาง เปลือกหนา รูปเปลือกค่อนข้างยาว ส่วนปลายมีร่องและบิดงอคล้ายกริช        ๒๗/๑๗๔๑๕
            ๕๐๔๗. สังข์ทอง  เรื่องที่ปรากฎอยู่ในปัญญาสชาดกเรียกว่าสุวัณสังข์ชาดก ในสมัยอยุธยาได้มีผู้นำเรื่องสังข์ทองมาแต่งเป็นบทละคร มีฉบับตกทอดมาถึงปัจจุบันเพียงเล่มเดียวคือเล่มสาม ดำเนินเรื่องตั้งแต่ท้าวสามนต์มีรับสั่งใช้ให้นางมณฑาออกไปที่กระท่อมปลายนา อ้อนวอนให้เจ้าเงาะไปตีคลีกับพระอินทร์ได้ชัยชนะ ท้าวสามลมอบราชสมบัติให้จนถึงท้าวยศวิมลสั่งให้ประหารชีวิตนางจันทา และผู้ร่วมคิดกลอุบายขับไล่พระมเหสีไปจากเมือง แล้วเสด็จไปรับพระมเหสีคือ นางจันท์เทวีกลับเข้าเมือง จากนั้นทั้งสององค์ก็เสด็จไปยังเมืองของท้าวสามนต์ ในขณะที่พระสังข์ทรงกำลังเสด็จเลียบเมือง        ๒๗/๑๗๔๒๕
            ๕๐๔๘. สังข์ศิลป์ชัย  เป็นนิทานที่เล่ากันสืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีเนื้อเรื่องยีดยาว  โดยมีสังข์ศิลป์ชัย เป็นตัวเอกของเรื่อง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ขณะดำรงพระอิสริยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ ฯ ได้ทรงพระนิพนธ์บทละครนอกเรื่องสังข์ศิลปชัยรวมเป็นหนังสือสองเล่มสมุดไทย ดำเนินเรื่องเป็นสองตอนคือตอนสังข์ศิลปชัยตกเหว และตอนท้าวเสนากุฎเข้าเมือง        ๒๗/๑๗๔๓๑
           ๕๐๔๙. สังคมศาสตร์  เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์และสังคม โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ศึกษาเฉพาะปรากฎการณ์ที่ประจักษ์ได้ รู้ได้แน่นอนด้วยประสาทสัมผัส หรือผ่านเครื่องมือที่สามารถทดลอง หรือเก็บข้อมูลได้ ทำให้สามารถพิสูจน์ยืนยันได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร โดยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสภาพความเป็นจริง มีการวิเคราะห์ และแปลความหมายของข้อมูล มีการวางนัยทั่วไป คือสรุปความรู้เป็นแนวคิด ทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์ พร้อมที่จะให้พิสูจน์ยืนยันว่าตรงกับความเป็นจริงได้
                    สังคมศาสตร์เริ่มมีการศึกษากันอย่างจริงจังในยุโรปหรือการปฏิวัติในฝรั่งเศสและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในต้นคริสต์วรรษที่สิบเก้า คำว่าสังคมศาสตร์มาจากภาษาลาตินหมายถึงการรวมกันหรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
                    สาขาที่จัดว่าอยู่ในหมวดสังคมศาสตร์ดังเดิมคือ
                    ๑. สังคมวิทยา  เป็นสาขาที่มีลักษณะทั่วไปมากที่สุดคือศึกษาสังคม ทั้งระบบเพื่อดูโครงสร้าง กลไก การทำงานทุกส่วนของสังคมโดยละเอียด
                    ๒. รัฐศาสตร์  เป็นสาขาที่ครอบคลุมทั้งด้านการเมือง การปกครอง แและการบริหารเน้นความรู้เกี่ยวกับรูปแบบต่าง ๆ ของรัฐและรัฐบาล ลัทธิการเมืองที่เป็นแม่บทของระบอบการปกครอง
                    ๓. เศรษฐศาสตร์  เป็นสาขาที่ศึกษามนุษย์ในแง่การต่อสู้ทางวัตถุ เพื่อการดำรงอยู่ และถือว่าปัจจัยต่าง ๆ ทางสังคม ทางวัฒนธรรม ทางจิตวิทยา สังคม และทางการเมือง อยู่นอกขอบเขตการวิเคราะห์ของตน เพราะเศรษฐศาสตร์มุ่งเน้นที่จะศึกษา เกี่ยวกับการผลิต การซื้อขายแลกเปลี่ยน การเงิน การธนาคาร การคลัง การกระจายทรัพย์สิน และรายได้ในสังคม
                    ๔. จิตวิทยา  เป็นสาขาที่ศึกษาพฤติกรรมของบุคคล มุ่งความสนใจไปที่กระบวนการต่าง ๆ ภายในจิตใจของบุคคลเกี่ยวข้องกับการรับรู้ ความเชื่อ จิตสำนึก จิตใต้สำนึก แรงจูงใจ ความต้องการของมนุษย์ ความกดดัน ความคับข้องใจ อารมณ์ บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยอันมีผลต่อพฤติกรรม โดยเฉพาะจิตวิทยาสังคม ซึ่งเป็นสาขาทางจิตวิทยา ที่เน้นศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชน สมาชิกกลุ่ม การเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่ม อิทธิพลของกลุ่มต่อพฤติกรรมของบุคคล การรวมกลุ่ม การปลุกระดม การโฆษณาชวนเชื่อ ทัศนคติ อคติ ของบุคคลที่มีความสัมพันธ์ต่อปัจจัยทางสังคม และผู้นำ เป็นต้น
                    ๕. มนุษยวิทยาสังคม หรือมานุษยวิทยาวัฒนธรรม  เป็นสาขาที่ศึกษาลักษณะต่าง ๆ ทางร่างกายของมนุษย์ เพื่อแบ่งประเภทเชื้อชาติ และเผ่าพันธุ์ มีส่วนสัมพันธ์ใกล้เคยงกับสังคมวิทยา
                    สาขาต่าง ๆ ของสังคมศาสตร์ได้ขยายกว้างออกไป ครอบคลุมศาสตร์สาขาต่าง ๆ เช่น ภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ นิติศาสตร์  การศึกษา สังคมศาสตร์ประยุกต์ต่าง ๆ
            ๕๐๕๐. สังคโลก, เครื่อง  เป็นคำเรียกเครื่องถ้วย เฉพาะที่ผลิตที่ จ.สุโขทัย ในระหว่างพระพุทธศตวรรษที่สิบแปด ถึงต้นพระพุทธศตวรรษที่ยี่สิบสอง เป็นที่เลือนมาจากชื่อ เมืองสวรรคโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งใน จ.สุโขทัย แหล่งเตาเผาเครื่องสังคโลกที่สำคัญ เช่น เตาที่เมืองสุโขทัยเก่า เตาศรีสัชนาลัย เตาบ้านชีปะขาวหาย เตาวัดพระปรางค์ บ้านชันสูตร
                    ลักษณะของเตาเผา เครื่องสังคโลกเป็นเตากูบ ก่อสร้างด้วยอิฐบ้าง ด้วยดินบ้าง บางเตาก็เสริมความแข็งแกร่งด้วย การใช้กี๋ท่อ อัดก่อเข้าไปด้วย เตากูบนี่แบ่งออกเป็นสามส่วนคือ ด้านหน้าที่เป็นที่ใส่ไฟ ตอนกลางเป็นที่ตั้งภาชนะเข้าเผา ตอนท้ายเป็นส่วนของปล่องไฟ ใช้ระบายความร้อนและควัน
                    วัสดุที่ใช้ประกอบการเผาเครื่องสังคโลก ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน และตกแต่งลวดลายเสร็จแล้ว พร้อมที่จะนำไปเผานั้น จะวางซ้อนอยู่ยนกี๋ท่อ ซึ่งต้องฝังแน่นอยู่บนพื้นเตา
                    เครื่องสังคโลก มีหลายรูปแบบต่างกันไปตามจุดประสงค์ของการนำมาใช้ เช่น
                        ๑. วัตถุที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีการสร้างเป็นพระพุทธรูป พระสาวก สถูปเจดีย์จำลอง ฯลฯ
                        ๒. เครื่องประดับตกแต่ง สถาปัตยกรรม เช่น ทวารบาล กระเบื้องมุงหลังคา ช่อฟ้า หางหงส์ บราลี ลูกกรง ราวบันได ที่ครอบอกไก่ กระเบื้อง เชิงชาย และเครื่องประดับส่วนอื่น ๆ
                        ๓. ภาชนะใช้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น จาน ชาม ถ้วย ขวด โถ คนโท คนที หม้อน้ำ ตลัด ตะเกียง ฐานเชิง กระปุก
                        ๔. ตุ๊กตาของเล่น หรือของใช้ในพิธีกรรมในหลายรูปแบบ
                     เนื้อดินปั้นของเครื่องสังคโลก เป็นประเภทเนื้อแกร่ง หรือเครื่องถ้วยหิน       ๒๗/๑๗๔๔๕
            ๕๐๕๑. สังคหวัตถุ  เป็นชื่อหลักธรรมหมวดหนึ่งของพระพุทธศาสนา หมายถึง หลักการสงเคราะห์คือ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของกันและกัน ทำให้ปัจเจกบุคคลเกิดความรัก ความผูกพัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทำให้สังคมเกาะกุมประสานกัน ดำเนินไปด้วยดีเหมือนลิ่มสลักเกาะยึด เครื่องรถที่กำลังแล่นไปให้คงเป็นรถ แล่นไปได้ด้วยดี
                    สังคหวัตถุ  มีสี่อย่าง ได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา
                        ๑. ทาน  แปลว่า การให้ คือ ให้ของ ของเราแก่ผู้อื่น รวมถึงการให้อภัย ที่เรียกว่า อภัยทาน และให้คำแนะนำ สั่งสอน ที่เรียกว่า ธรรมทาน
                        ๒. ปิยวาจา  แปลว่า วาจาที่น่ารัก คือ คำสุภาพอ่อนหวาน ไพเราะน่าฟัง ทำให้ผู้ฟัง ฟังแล้วพอใจ ชอบใจ เกิดความรัก ความประทับใจ ในผู้พูด
                        ๓. อัตถจริยา  แปลว่า การประพฤติประโยชน์ คือ ทำตนให้เป็นคนมีประโยชน์ และทำสิ่งที่มีประโยชน์ มีความมุ่งหมายเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น
                        ๔. สมานัตตตา  แปลว่า ความเป็นผู้มีตนเสมอ คือ วางตนเสมอต้น เสมอปลาย วางตนให้เหมาะสมกับสถานภาพ มีฐานะอย่างไรก็วางตนให้เหมาะสมกับฐานะนั้น       ๒๗/๑๗๔๕๐
            ๕๐๕๒. สังคายนา  มีบทนิยามว่า "การซักซ้อม"  การสวดพร้อมกัน และเป็นแบบเดียวกัน การประชุมชำระพระไตรปิฎก ให้เป็นแบบเดียวกัน " การสังคายนา ในพระพุทธศาสนา มีความมุ่งหมายเพื่อรักษาพระธรรมวินัย ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เหมือนเดิม เพราะพระธรรมวินัยเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ตราบใดที่พระธรรมวินัยยังคงอยู่ ตราบนั้น พระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่
                    การสังคายนา เกิดขึ้นตามพระดำรัสของพระพุทธเจ้า ที่คณะสงฆ์ได้รับมาปฎิบัติสืบทอดกันมา เมื่อเกิดเหตุการณ์จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะฝ่ายเถรวาท สามารถรักษาความบริสุทธิ์บริบูรณ์ไว้ได้
                    พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักการและหลักธรรม ที่ควรสังคายนาไว้ใน ปาสาทิกสูตร คัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค (พระไตรปิฎก เล่ม ๑๑) ดังนี้
                        ๑.  พร้อมเพรียงกันประชุม
                        ๒.  สอบทานอรรถกับอรรถ
                        ๓.  สอบทานพยัญชนะกับพยัญชนะ
                        ๔.   อย่าทะเลาะวิวาทกัน
                        ๕.  ถ้าภิกษุใด ทรงจำอรรถและพยัญชนะมาผิด หรือถูก อย่าเพิ่งชื่นชม อย่าเพิ่งยอมรับหรือคัดค้าน แต่ควรร่วมกันพิจารณาตรวจสอบให้ดีก่อน
                    หลักธรรมที่ควรสังคายนา ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม (ธรรมที่เป็นฝ่ายแห่งความตรัสรู้)  สามสิบเจ็ดประการ ประกอบด้วย สติปัฎฐานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด และอริยมรรค มีองค์แปด
                    ต้นแบบการสังคายนาพระธรรมวินัย พระสารีบุตรได้แสดงวิธีการสังคายนา ปรากฎอยู่ในสังคีติสูตร คัมภีร์ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค ซึ่งได้รวบรวมพระธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในที่ต่าง ๆ มาจัดเป็นหมวด ๆ ตั้งแต่หมวดละหนึ่งข้อ จนถึงหมวดละสิบข้อ นับเป็นแบบของการสังคายนา พระธรรมวินัยในสมัยต่อมา
                   การสังคายนาครั้งที่หนึ่ง  หลังจากพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้สามเดือน ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระอรหันต์เข้าร่วมประชุมห้าร้อยรูป โดยมีพระมหากัสสปเถระ ผู้มีพรรษาสูงสุด ในขณะนั้น เป็นประธาน และทำหน้าที่เป็นผู้ถาม มีพระเจ้าอชาติศัตรู เป็นศาสนูปถัมภก พระอุบาลีเถระ ผู้ชำนาญพระวินัย เป็นผู้วิสัชนา (ตอบ)  พระวินัย เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน พระสงฆ์ทั้งปวงจึงสวดสิกขาบทนั้น ขึ้นพร้อม ๆ กัน เมื่อสังคายนาพระวินัยจบแล้ว  พระอานนท์ ผู้เป็นพระพุทธอุปัฎฐาก และเป็นพหูสูตรทรงจำพระธรรมวินัยได้มาก เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม
                    การสังคายนาครั้งที่หนึ่ง ทำอยู่เจ็ดเดือน เมื่อเสร็จแล้ว พระอรหันต์ห้าร้อยรูป ผู้ร่วมสังคายนาได้มีมติ มอบหมายการรับผิดชอบ เพื่อธำรงรักษา และสืบทอด ดังนี้ พระวินัยปิฎก มอบให้พระอุบาลี รับไป พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มอบให้พระอานนท์ รับไป พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มอบให้ศิษย์ทั้งหลายของพระสารีบุตร รับไป พระสุตตันตกปิฎก สังยุตนิกาย มอบให้พระมหากัสสปะ รับไป พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย มอบให้พระอนุรทธะ รับไป พระสุตตันตปิฎก ขุทกนิกาย ส่วนที่เป็นพระพุทธวงศ์ และจริยปิฎก มอบให้ศิษย์ทั้งหลายของพระสารีบุตร รับไป นอกจากนั้น มอบให้พระอานนท์ รับไป
                   การสังคายนาครั้งที่สอง  ปรารภพวกภิกษุ วัชชีบุตร แสดงวัตถุสิบประการ นอกธรรม นอกวินัย พระยศถากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวน ได้พระอรหันต์เจ็ดร้อยรูป พระเรวตะ เป็นผู้ถาม พระสัพพกามี เป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี เมื่อปี พ.ศ.๑๐๐ โดยพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก อยู่แปดเดือน จึงเสร็จ
                   การสังคายนาครั้งที่สาม ปรารถเดียรถีย์มากมาย ปลอมบวชในพระศาสนา เพราะมีลาภสักการเกิดขึ้น พระอรหันต์หนึ่งพันรูป มีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการาม เมืองปาฎลีบุตร เมื่อประมาณปี พ.ศ.๓๐๐ โดยมีพระเจ้าอโศก ฯ เป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่เก้าเดือนจึงเสร็จ การสังคายนาครั้งนี้ได้จัดแบ่งหมวดหมู่ พระธรรมวินัยออกเป็นสามปิฎก โดยมีพระอภิธรรมปิฎกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จึงครบไตรปิฎก
                   การสังคายนาครั้งที่สี่  ทำในประเทศศรีลังกา ปรารภในพระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป มีพระมหินทเถระ เป็นประธาน และเป็นผู้ถาม พระอริฎฐะ เป็นผู้วิสัชนา กระทำที่ ถูปวราม เมืองอนุราธบุรี เมื่อปี พ.ศ.๓๐๓ โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ เป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่สิบเดือน จึงเสร็จ
                   การสังคายนาครั้งที่ห้า  ทำในประเทศศรีลังกา ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็นสองพวก และคำนึงว่า พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระสาวกทั้งหลายได้ทรงจำสืบต่อ ด้วยวิธีมุขปาฐะ (ท่องจำกันมา ด้วยปากเปล่า)  ไม่ได้เรียนไว้สืบไป ภายหน้ากุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน พระอรหันต์ห้าร้อยรูป จึงประชุมกันสวดซ้อม แล้วจารึกพระพุทธพจน์ ลงในใบลาน ณ อาโลก เลณสถาน ในมลยชนบท เมื่อปี พ.ศ.๔๕๐ โดยพระเจ้าวัฎฎคามมุณีอภัย เป็นศาสนูปถัมภก
                    หลังจากการสังคายนาครั้งที่ห้า ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา แบบเถรวาท ก็ได้ไปรับคัมภีร์ที่จารึกพระไตรปิฎก จากศรีลังกามายังประเทศของตน แล้วคัดลอกจารึกสืบต่อกันมา เป็นเวลายาวนานนับพันปี พระไตรปิฎกฉบับที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงแพร่หลายไปยังนานาประเทศ ที่นับถือพระพุทธศาสนา ต่อมาพุทธศาสนิกชนแต่ละประเทศ ได้แปลพระไตรปิฎกภาษาบาลี สู่ภาษาของตน
                   การสังคายนาในประเทศไทย  มีหลักฐานยืนยันว่า พระสงฆ์ในล้านนาได้ไปรับพระไตรปิฎก อักษรเขียนพร้อมทั้งวิธีเขียนจากลังกา ได้คัดลอกจารึกลงใบลานสืบต่อมา ต่อมาเมื่อพบว่ามีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน เกิดจากการคัดลอกต่อๆ กัน จึงได้ทำสังคายนาสอบทานเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๐ ที่เชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงได้มีการทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ ทำอยู่ห้าเดือนเสร็จ ได้จารึกด้วยอักษรขอม ลงในใบลานปิดทองทับ เรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ว่า ฉบับทอง ใช้เป็นต้นฉบับเก็บไว้ในหอมณเทียระรรม และได้คัดลอกไปถวายวัดต่าง ๆ เพื่อใช้ศึกษากันต่อมา จนได้จัดพิมพ์ด้วยอักษรไทยเป็นเล่มหนังสือ
                    การจัดพิมพ์พระไตรปิฎก เผยแผ่เป็นเล่มหนังสือ ในประเทศไทยนั้น ดำเนินมาโดยลำดับคือ จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ ครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๘ ครั้งที่สาม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ ฉบับบาลีชุดนี้เรียกว่า ฉบับสยามรัฐ
                    ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ คณะสงฆ์ได้จัดให้การแปลพระไตรปิฎก เป็นภาษาไทยอย่างเป็นทางการ ต่อมาได้จัดพิมพ์อีกสี่ครั้ง ในปี พ..ศ.๒๕๑๔, ๒๕๒๑, ๒๕๒๕ และ พ.ศ.๒๕๓๐       ๒๗/๑๗๔๕๒
            ๕๐๕๓. สังฆทาน  คือ ทานเพื่อสงฆ์ การถวายของแก่สงฆ์โดยไม่จำเพาะเจาะจง พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ตามหลักพระพุทธศาสนา การถวายแบบนี้มีผลานิสงศ์ มากกว่าการถวายแบบจำเพาะเจาะจง
                    องค์ประกอบที่ทำให้ทาน มีผลานิสงส์มากมีสามอย่าง ได้แก่
                        ๑. วัตถุสิ่งของที่ให้ต้องบริสุทธิ์ คือ เป็นของดีมีคุณค่า มีประโยชน์แก่ผู้รับ และได้มาด้วยความชอบธรรม
                        ๒. ผู้ให้ ให้ด้วยความบริสุทธิ์ในสามกาลคือ ก่อนให้มีจิตใจยินดี ขณะให้มีจิตใจเลื่อมใส และหลังให้ก็มีจิตใจเบิกบาน ไม่นึกเสียดาย สิ่งที่ให้ไปแล้ว
                        ๓. ผู้รับ ในกรณีที่เป็นปาฎิกบุคคลิกทาน เป็นผู้บริสุทธิ์คือ เป็นผู้มีศีลธรรม เป็นสัมมาทิฐิบุคคล ผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ ในกรณีสังฆทาน ให้ถือว่า ผู้รับเป็นผู้แทนของสงฆ์ ในอุดมคติคือ พระอริยสงฆ์         ๒๗/๑๗๔๖๑
            ๕๐๕๔. สังฆราช  เป็นชื่อตำแหน่ง พระมหาเถระ ผู้ปกครองคณะสงฆ์ที่พระมหากษัตริย์ ทรงสถาปนาขึ้น มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่มีความหมายแตกต่างกับที่ใช้ในปัจจุบันคือ ในสมัยสุโขทัย หมายถึง ตำแหน่งพระมหาเถระ ผู้เป็นสังฆนายก คือ ผู้เป็นเจ้าคณะใหญ่ของแต่ละคณะ ซึ่งมีมากกว่าองค์เดียว ในสมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน คำว่า สังฆราช มีความหมายตรงกับบทนิยามที่ว่า " ตำแหน่งพระมหาเถระ ผู้เป็นใหญ่สูงสุดในสังฆมณฑล " ที่เรียกว่า สังฆปรินายก หรือ สกลมหาสังฆปรินายก คือ ประมุขของสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร และเริ่มใช้ สมเด็จ นำหน้าเป็น สมเด็จพระสังฆราช มาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่สอง (ราวปี พ.ศ.๑๙๑๑ - ๑๙๔๒) แห่งกรุงสุโขทัย        ๒๗/๑๗๔๖๕
            ๕๐๕๕. สังยุคนิกาย  เป็นชื่อนิกายที่สามแห่งพระสุตตันตปิฎก ซึ่งมีห้านิกาย นิกาย แปลว่า หมวด หมายถึง หมวดพระสูตร ที่จัดรวมเข้าด้วยกัน เพื่อสะดวกในการศึกษา ได้แก่  ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย และขุทกนิกาย
โดยเรียกชื่อตามลักษณะพระสูตร ที่รวมไว้ด้วยกันคือ ทีฆนิกาย เป็นหมวดที่รวมพระสูตรขนาดยาว มัชฌิมนิกาย เป็นหมวดที่รวมพระสูตรขนาดปานกลาง สังยุตนิกาย เป็นหมวดที่รวมพระสูตรประมวลเรื่อง อังคุตรนิกาย เป็นหมวดที่รวมพระสูตรขนาดเล็ก รวมถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เหลือจากสี่นิกายแรก
                    สังฆยุตนิกาย แปลว่า หมวดพระสูตรประมวลเรื่อง คือ นำพระสูตรที่มีเนื้อหาเดียวกัน ประเภทเดียวกัน หรือเกี่ยวข้องรวมเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน เรียกว่า สังยุต (ประมวลเรื่อง)  มีทั้งหมด ๕๖ สังยุต นำสังยุตต่างๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ประเภทเดียวกัน หรือเกี่ยวข้องกันรวมเข้าเป็นตอน ๆ เรียกว่า วรรค มีทั้งหมด ห้าวรรค พระสูตรทั้งหมดในสังยุตนิกาย ที่อรรถกถาพระวินัยปิฎก ระบุไว้จำนวน ๗,๗๖๒ สูตร แต่ที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน มีเพียง ๒,๗๕๒ สูตร
                    การจัดแบ่งหมวดหมู่พระสูตร ในสังยุตนิกาย มีดังนี้
                        ๑. สควถวรรค  มี ๑๑ สังยุต ๒๗๑ สูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ (ชุด ๔๕ เล่ม)  เนื้อหาเป็นคาถาประพันธ์ หรือร้อยกรอง มีเทวตาสังยุต เทวปุตสังยุต โกสลสังยุต มารสังยุต ภิกขุนีสังยุต พรหมสังยุต พราหมณ์สังยุต วังคีสสังยุต วนสังยุต และ ยักขสักกสังยุต
                        ๒. นิทานวรรค  มี ๑๐ สังยุต ๓๓๗ สูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ เนื้อหาเกี่ยวกับธรรมที่เป็นต้นเหตุ ให้เกิดทุกข์และดับทุกข์ มีนิทานสังยุต อภิสมยสังยุต ธาตุสังยุติ อนมตัคคสังยุต กัสสปสังยุต ลาภสักการสังยุต ราหุลสังยุต ลักขณสังยุต โอปัมมสังยุต และ ภิกขุสังยุต
                        ๓. ขันธวารวรรค  มี ๑๓ สังยุต ๗๑๖ สูตร  อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ เนื้อหาเกี่ยวกับขันธ์ห้าในบริบทต่าง ๆ มีเรื่อง สมาธิ และทิฎฐิ ต่าง ๆ รวมอยู่ด้วย มี ขันธสังยุต ราธสังยุต ทิฎฐิสังยุต โอกกันตสังยุต อุปปาทสังยุต กิเลสสังยุต สารีปุตตสังยุต นาคสังยุต สุปัณณสังยุต  คันธัพพกายสังยุต
                        ๔. สฬายตนวรรค  มี ๑๐ สังยุต ๔๒๐ สูตร  อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ เนื้อหาเกี่ยวกับอายตนะหก มี สฬายตนสังยุต เวทนาสังยุต มาตุคามสังยุต ชัมพูวาทกสังยุต สามัณฑกสังยุต โมคคัลลานสังยุต จิตตสังยุต คามณิสังยุต อสังขตสังยุต อัพยากตสังยุต
                        ๕. มหาวรรค  มี ๑๒ สังยุต ๑,๐๐๘ สูตร อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ เนื้อหาเกี่ยวกับโพธิปักขิยธรรม สามสิบเจ็ด ได้แก่ อริยมรรค มีองค์แปด โพชฌงค์เจ็ด สติปัฎฐานสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ รวมทั้งเรื่อง นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจสี่ ฌาน ตลอดจนคุณสมบัติของพระโสดาบัน เป็นต้น มี มัคคสังยุต โพชฌงคสังยุต สติปัฎฐานสี่ อินทรียสังยุต สัมมัปปธานสังยุต พลสังยุต อิทธิปาทสังยุต อนุรุทธสังยุต ฌานสังยุต อาณาปานสังยุต โสตาปัตติสังยุต สัจจสังยุต       ๒๗/๑๗๔๗๙
            ๕๐๕๖. สังเวชนียสถาน  เป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา อันเนื่องกับเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ ในชีวิตของพระพุทธเจ้า มีสี่แห่งคือ
                     ๑. สถานที่ ที่พระพุทธจ้าประสูติ คือ สวนลุมพินี ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล
                     ๒. สถานที่ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ โคนต้นพระศรีมหาโพธิ ปัจจุบันคือ พุทธคยา
                     ๓. สถานที่ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันคือ สารนาถ ในประเทศอินเดีย
                     ๔. สถานที่ ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือ ป่าสาลวัน เมืองกุสินารา ปัจจุบันคือ เมืองกาเซีย ในประเทศอินเดีย       ๒๗/๑๗๔๘๓
            ๕๐๕๗. สังหาริมทรัพย์  แต่เดิมในกฎหมายเก่าของประเทศไทย ไม่มีการแบ่งแยกประเภทของทรัพย์ เป็น สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์
                    หลักเกณฑ์การแบ่งประเภทของทรัพย์ เป็นสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์  ได้เริ่มมีการกำหนดไว้ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ พ.ศ.๒๔๖๖ ซึ่งบัญญัติไว้เพียงสั้น ๆ ว่า "ที่ดินกับทรัพย์ที่ติดอยู่กับที่ดินนั้น จัดเป็นอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์อื่น ๆ จัดเป็น สังหาริมทรัพย์ ทั้งนั้น"
                    ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ พ.ศ.๒๔๖๘ ได้กำหนดนิยามคำนี้ใหม่ ทำให้เรียกคำนี้ว่า ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ แต่ในปี พ.ศ.๒๕๓๕ คำนี้ได้กลับมาใช้ตามความหมายเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖         ๒๗/๑๗๔๘๕
            ๕๐๕๘. สัจจกนิครนถ์  เป็นชื่อนักบวชผู้หนึ่ง ในลัทธินิครนถ์ ซึ่งเป็นลัทธินอกพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล ในปัจจุบันคือ ศาสนาเชน ซึ่งมีนิครนถ์ นาฎบุตร หรือศาสดามหาวีระ เป็นเจ้าลัทธิ สัจจกนิครนถ์ เป็นนักโต้วาที ที่ฉลาดหลักแหลมคม มีชื่อเสียงโด่งดังหาผู้มาโต้ตอบได้ยาก ได้เรียนวาทะจากบิดา ๕๐๐ วาทะ จากมารดา ๕๐๐ วาทะ จนชำนาญ แล้วยังเรียนหลักคำสอน ในลัทธินิครนถ์และลัทธิอื่น ๆ อีกหลายลัทธิ จนได้รับยกย่องจากมหาชนว่าเป็น นักปราชญ์ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอาจารย์ ของพระราชกุมารลิจฉวีทั้งหลาย ในกรุงเวสาลี สัจจกนิครนถ์หลงตัวเองว่ามีปัญญามากขึ้น จนเกรงว่าท้องจะแตก จึงใช้แผ่นเหล็กคาดท้องไว้ ครั้งหนึ่ง ท่านได้ประกาศอวดอ้างว่า ท่านยังไม่เห็นใครเลย ไม่ว่าจะเป็นสมณะ หรือพราหมณ์ เจ้าหมู่เจ้าคณะ หรือแม้ผู้ประกาศตนว่าเป็น พระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถ้าหากว่ามาโต้วาทะกับท่านแล้ว ที่จะไม่ประหม่า เหงื่อไหลไคลย้อยเป็นไม่มี
                    เช้าวันหนึ่ง สัจจกนิครนถ์ ได้พบพระอัสสชิเถระ ได้ขอสนทนาด้วย และได้ถามพระเถระว่า พระสมณโคดมแนะนำสาวกว่า อย่างไร คำสอนส่วนใหญ่ว่าด้วยเรื่องอะไร พระเถระตอบว่า ทรงสอนว่า ขันธ์ห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละอย่างไม่เพียงไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน พระผู้มีพระภาค ตรัสสอนเรื่องเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่  สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า พระสมณโคดมเห็นผิดเห็นชั่ว ถ้ามีโอกาสเข้าเฝ้า จะโต้วาทะทำให้ถ่ายถอนความเห็นผิด เห็นชั่ว นี้ให้ได้
                    จากนั้น สัจจกนิครนถ์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมเจ้าลิจฉวีห้าร้อยองค์ แล้วทูลขออนุญาตถามปัญหา อย่างที่ถามพระอัสสชิเถระ พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบอย่างที่พระอัสสชิเถระตอบทุกประการ สัจจกนิครนถ์โต้แย้งโดยใช้อุปมาโวหาร พระพุทธเจ้าทรงย้อนถาม สัจจกนิครนถ์ว่า "ที่กล่าวว่า รูปเป็นตัวตนของท่าน ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าเป็นอย่างนั้นเลยได้หรือไม่" สัจจกนิครนถ์จำต้องยอมรับว่า ตนไม่มีอำนาจบังคับบัญชาให้รูปเป็นไปตามที่ตนต้องการได้ จากนั้น ทรงซักถามไล่เลียงจากเวทนา ไปจนถึงวิญญาณ สัจจกนิครนถ์ต้องยอมจำนนว่า ไม่มีอำนาจบังคับได้ เช่นเดียวกับรูป
                    พระพุทธเจ้า ทรงซักว่า ขันธ์ห้าเที่ยง หรือไม่เที่ยง ทูลตอบว่า ไม่เที่ยง ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยงนั้น เป็นทุกข์ หรือเป็นสุข ทูลตอบว่า เป็นทุกข์ ตรัสถามว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ควรหรือไม่ที่จะถือว่า สิ่งนั้นเป็นของเรา เราเป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นตัวตนของเรา ทูลตอบว่า ไม่ควร
                    สัจจกนิครนถ์ ทูลถามต่อไปว่า ภิกษุเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ด้วยเหตุใด ตรัสตอบว่า ด้วยการไม่ยึดถือขันธ์ห้าว่า เป็นของเรา เราเป็นเช่นนั้น เป็นตัวของเรา
                    การสนทนาจบลงด้วย สัจจกนิครนถ์ขอนิมนต์พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ไปฉันภัตตาหารในอารามของตน ในวันรุ่งขึ้น
                    สัจจกนิครนถ์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ณ ที่เดิม ได้ทูลถามเรื่องการอบรมกาย และการอบรมจิต พระพุทธเจ้าทรงย้อนถามว่า การอบรมกาย หมายความว่าอย่างไร ทูลตอบว่า การบำเพ็ญตบะอย่างนันทะ วัจฉโคตร กีสะ สัจกิจจโคตร และมักขลิโคสาล (ซึ่งหมายถึง การทรมานร่างกาย) ครั้นตรัสถามว่า การอบรมจิต หมายถึงอะไร สัจจกนิครนถ์ตอบไม่ได้ จึงตรัสสรุปว่า สัจจกนิครนถ์เข้าใจการอบรมกายไม่ถูกต้อง แล้วจะเข้าใจการอบรมจิตได้อย่างไร จากนั้น ทรงอธิบายการอบรมกาย และอบรมจิต ตามหลักพระพุทธศาสนา (ดู รายละเอียดในมหาสัจจกสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)       ๒๗/๑๗๔๙๖
            ๕๐๕๙. สัญชาติ  คำว่า สัญชาติ ไม่ปรากฎคำนิยามในบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ในความเห็นตามที่ศาลยุติธรรม ระหว่างประเทศได้กล่าวไว้ในคดีหนึ่งว่า "สัญชาติ ได้แก่ สิ่งผูกพันทางกฎหมาย โดยมีพื้นฐานมาจากความผูกพันทางสังคม อันเกี่ยวข้องกับในด้านถิ่นที่อยู่แท้จิรง ผลประโยชน์และจิตใจของผู้ได้รับสัญชาติ ตลอดรวมทั้งสิทธิและหน้าที่ ที่บุคคลและรัฐผู้ให้สัญชาติมีต่อกัน และเอกชนผู้รับสัญชาติ มีการติดต่อกับบุคคลอื่น ซึ่งได้รับสัญชาติจากรัฐ"  พจนานุกรมกฎหมายของออสบอร์น ให้ความหมายของคำนี้ไว้ว่า "สัญชาติ หมายความว่า ฐานะ หรือสถานะ อันเกิดขึ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของชาติ หรือรัฐใดโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งกำหนดสถานภาพ และความจงรักภักดี ทางการเมืองของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และสัญชาตินี้ อาจถูกกำหนดขึ้น โดยการเกิดการสืบสายโลหิต การแปลงสัญชาติ การยึดหรือเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือโดยเหตุแห่งการสมรส"  ด้วยเหตุนี้ สัญชาติอันเป็นนามธรรม ซึ่งใช้เป็นสิ่งระบุสถานะ ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นคนในบังคับรัฐใดนั้น ย่อมก่อให้เกิดความผูกพันทางจิตใจ ระหว่างบุคคลนั้นกับรัฐ ที่ตนสังกัดอยู่ ทั้งทางด้านสังคมและการเมือง
                    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์บางอย่าง อาจได้รับการกำหนดสัญชาติ เพื่อแสดงสถานะของความเป็นเจ้าของ หรือสังกัดของประเทศ ในสังหาริมทรัพย์นั้น ด้วยวัตถุประสงค์ในการให้ความคุ้มครอง หรือขจัดปัญหาเรื่องดินแดน ต่อการกระทำใด ๆ ภายในอาณาบริเวณแห่งสังหาริมทรัพย์นั้น เช่น การกำหนดให้สัญชาติแก่เรือ และเครื่องบิน ด้วยการจดทะเบียนสัญชาติ
                    สัญชาติ นอกจากเป็นสิ่งผูกพันระหว่างบุคคลกับรัฐแล้ว ยังเป็นที่มาของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อกำหนดสิทธิและหน้าที่ ระหว่างบุคคลกับรัฐ ซึ่งอยู่ในสังกัด      ๒๗/๑๗๕๐๒
            ๕๐๖๐. สัญญา  คำว่า สัญญา ไม่ปรากฎคำนิยามในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่อ่าน บทนิยามของคำว่า นิตกรรม แล้วอาจจะสรุปได้ว่า สัญญา คือ นิติกรรมหลายฝ่าย ซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคล ตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป แต่ละฝ่ายอาจเป็นบุคคลเดียว หรือหลายคนรวมกันเป็นฝ่ายเดียวกันก็ได้ ที่ได้ตกลงยินยอมในการก่อให้เกิดหนี้ขึ้น ซึ่งอาจเป็นหนี้ให้กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใด ๆ
                    สัญญา จะต้องมีคู่สัญญาอย่างน้อยสองฝ่ายขึ้นไป โดยมีการแสดงเจตนาอันเป็นคำเสนอ คำสนองของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย ที่ตรงกันอันทำให้เกิดสัญญา และมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมาย
                    สัญญาต้องมีองค์ประกอบอันเป็นสาระสำคัญ สามประการ ได้แก่
                    - ประการที่หนึ่ง สัญญาต้องมีบุคคลผู้เป็นฝ่ายในสัญญา อย่างน้อยตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป เป็นหลักที่ไม่มีข้อยกเว้น
                    - ประการที่สอง ต้องมีการแสดงเจตนาตรงกัน
                    - ประการที่สาม ต้องมีวัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ ต้องไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่เป็นการพ้นวิสัย หรือไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน มิฉะนั้น สัญญานั้นต้องตกเป็นโมฆะ      ๒๗/๑๗๕๑๔
            ๕๐๖๑. สัตยาบัน  คำ สัตยาบัน นี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายสองเรื่อง เรื่องแรก เกี่ยวกับหลักกฎหมายว่าด้วย นิติกรรมที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนเรื่องที่สอง เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญา ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
                    สัตยาบัน ที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง การที่องค์การภายในของรัฐใด ซึ่งมีอำนาจทำให้รัฐนั้น ต้องถูกผูกพันตามสนธิสัญญา ได้ให้ความเห็นชอบในการทำสนธิสัญญานั้นเป็นการยืนยันว่าสนธิสัญญานี้ถูกต้องสมบูรณ์นั่นเอง
                    ด้วยเหตุนี้  การให้สัตยาบันสนธิสัญญาจึงจัดเป็นระเบียบวิธีการขั้นตอนหนึ่ง ในจำนวนสามขั้นตอนของหลักการทำสนธิสัญญาเต็มรูปแบบ ขั้นตอนที่หนึ่งคือการเจรจาข้อตกลงในสนธิสัญญา ขั้นตอนที่สองคือการลงนามสนธิสัญญา และขั้นตอนที่สามคือการให้สัตยาบันเพื่อยืนยันให้สนธิสัญญาสมบูรณ์ มีผลตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามในสนธิสัญญาบางเรื่องก็อาจไม่จำเป็นต้องมีการให้สัตยาบัน  หากเป็นสนธิสัญญาที่มิได้ทำไป โดยเกินขอบเขตอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งรัฐนั้น  หรือเป็นกรณีที่คณะผู้แทนเจรจาของรัฐใด ได้รับมอบอำนาจเด็ดขาดชัดแจ้ง ให้มีการตกลงได้โดยเร่งด่วน และไม่ต้องให้สัตยาบัน
                    หลักเกณฑ์การให้สัตยาบันโมฆียะกรรม และการให้สัตยาบันสนธิสัญญา
                        ๑. การให้สัตยาบันโมฆียะกรรม หมายถึงการทำให้นิติกรรมกลับสมบูรณ์ สามารถกระทำได้กับนิติกรรมสมบูรณ์ สามารถกระทำได้กับนิติกรรมอันตกเป็นโมฆียะด้วยสาเหตุต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น
                        ๒. การให้สัตยาบันสนธิสัญญา ความหมายของสนธิสัญญาตามอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.๑๙๖๙ ได้บัญญัติไว้ว่า สนธิสัญญาหมายถึง ความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งได้กระทำขึ้นระหว่างรัฐเป็นลายลักษณ์อักษร และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ไม่ว่าจะปรากฎในตราสารฉบับเดียว หรือสองฉบับหรือตราสารที่เกี่ยวข้องกันมากกว่านั้นขึ้นไป และจะมีชื่อเรียกเฉพาะว่าอย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุนี้สนธิสัญญาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างรัฐผู้มีอำนาจอธิปไตย เพื่อให้มีผลตามกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นความตกลงสองฝ่าย หรือหลายฝ่ายก็ได้เช่นสนธิสัญญา อนุสัญญา กฎบัตร ปฎิญญา และความตกลง
                    ตามความหมายอย่างกว้างของสนธิสัญญา ความตกลงระหว่างรัฐดังกล่าวมีผลบางประการได้ โดยไม่มีการจำกัดว่าความตกลงนี้ จะต้องผ่านแบบพิธีการให้สัตยาบันเลย อันทำให้ความตกลงมีผลตามกาฎหมายทันทีที่มีการลงนามหรือที่เรียกว่า "ความตกลงชนิดทำแบบย่อ"
                    โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศถือว่าการให้สัตยาบันสนธิสัญญาเป็นนิติกรรมอิสระ ที่กระทำด้วยใจสมัคร ด้วยเหตุนี้รัฐซึ่งเป็นคู่สัญญา จึงเป็นผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจ  ซึ่งก่อให้เกิดผลที่ว่ารัฐคู่กรณีสัญญาอาจให้สัตยาบัน ตามระยะเวลาที่รัฐนั้นเห็นว่าเหมาะสมก็ได้ หรืออาจปฏิเสธการให้สัตยาบัน ตามข้ออ้างบางประการดังเช่น ผู้ได้รับมอบอำนาจทำสนธิสัญญาทำเกินขอบเขตที่ให้ไว้ก็ได้ หรืออาจให้สัตยาบัน โดยมีเงื่อนไขต่อสนธิสัญญาก็ได้
                    นอกจากนี้คำว่าการให้สัตยาบัน การยอมรับ การให้ความเห็นชอบ และภาคยานุวัติ โดยทั่วไปมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน อันหมายถึงการกระทำในทางกฎหมายระหว่างประเทศอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐได้ให้ความยินยอมเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญา  แต่การนำคำว่าการยอมรับ หรือการให้ความเห็นชอบมาใช้แทนคำว่าการให้สัตยาบัน ก็มีสาเหตุมาจากการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารของรัฐ หลีกเลี่ยงการบังคับใช้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติต้องให้ความยินยอม โดยการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญา
                    สนธิสัญญาจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันให้สัตยาบันแล้ว  หากรัฐใดปฏิเสธการให้สัตยาบัน ก็ย่อมทำให้สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นอันไร้ผล แต่ในระหว่างที่สนธิสัญญายังไม่ได้ให้สัตยาบันหรือถูกปฎิเสธนั้น สนธิสัญญาดังกล่าวก็คงมีอยู่ เพียงแต่ไม่มีผลบังคับกันระหว่างรัฐผู้เป็นคู่สัญญา       ๒๗/๑๗๕๒๔
            ๕๐๖๒. สันตะปาปา   ดูโป๊ป  - ลำดับที่ ๓๖๓๓
            ๕๐๖๓. สันสกฤต, ภาษา  เป็นภาษาตระกูลอินโดยูโรเปียน (อินโดอารยัน)  ซึ่งชนเผ่าอารยันนำมาใช้ในอินเดีย ภาษาในคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู เป็นภาษาสันสกฤตที่เก่าที่สุด เรียกว่าไวทิกสันสกฤต ต่อมาสันสกฤตได้วิวัฒนาการสู่รูปแบบที่พบในมหากาพย์ คัมภีร์ธรรมศาสตร์ คัมภีร์ปุราณะ และวรรณคดีสมัยจักรวรรดิ์คุปตะ ภาษาสันสกฤตใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ในราชการ ในวรรณกรรม และตำราที่ทรงคุณค่ามาจนถึงสมัยที่มุสลิมเข้ามารุกราน และครอบครองดินแดนอินเดียส่วนหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาภาษาสันสกฤตก็ใช้กันมาน้อยลง แต่ปัจจุบันมีการรื้อฟื้นภาษาสันสกฤตซึ่งมีการสอนการใช้ในสถาบันการศึกษาชั้นสูง
                    สาเหตุที่ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่ไม่ตายก็เพราะมีความสำคัญต่อความเชื่อทางศาสนา ผู้ที่ศึกษาพระเวทจะต้องรอบรู้เวทางคศาสตร์หกวิชา วิชาดังกล่าวช่วยให้ภาษาสันสกฤตมีกฎเกณฑ์ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๑๐๐ ปาณินีได้สร้างตำราไวยากรณ์มาใช้กับภาษานี้ ซึ่งปาณินีเริ่มเรียกว่า สันสกฤต หมายความว่า ประกอบขึ้นอย่างประณีต ถูกต้อง และสมบูรณ์ เพื่อให้ต่างจากภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน ซิ่งมิได้อิงไวยากรณ์มากนัก และออกเสียงต่างกันไป ปาณินีเรียกภาษาชนิดนี้ว่า ปรากฤต หมายความว่าเป็นไปตามธรรมชาติ ภาษาปรากฤตนี้ต่อมาก็ได้วิวัฒนาการเป็นภาษาของแคว้นหรือภูมิภาคต่าง ๆ เช่นภาษาฮินดีใช้กันมากในภาคเหนือของอินเดีย ภาษาเบงกาลีหรือบังคลาในรัฐเบงกอลและบังคลาเทศ
                    ภาษาสันสกฤต เข้ามามีอิทธิพลต่องภาษาไทยควบคู่กับภาษาบาลี ภาษาไทยจึงมีศัพท์บาลีสันสกฤตปนอยู่จำนวนไม่น้อยแม้ในปัจจุบัน ตัวอักษรไทยมีพื้นฐานมาจากตัวอักษรเทวนาครีที่ใช้กับภาษาบาลีและสันสกฤต เราสามารถใช้ตัวอักษรไทยปัจจุบันเขียนคำบาลีสันสกฤตได้อย่างถูกต้องตรงตามอักษรเทวนาครี แต่มักออกเสียงไม่ตรงกับภาษาเดิม       ๒๗/๑๗๕๔๐
            ๕๐๖๔. สันหลังอักเสบ, ไข้  ดู โปลิโอ  -  ลำดับที่ ๓๖๔๒         ๒๗/๑๗๕๔๗
            ๕๐๖๕. สับปะรด   เป็นชื่อไม้ล้มลุก ชื่ออื่น ๆ ได้แก่ ยานัด หมากขะนัด
                    สับปะรด จัดเป็นพืชถาวรเป็นไม้เนื้ออ่อน ใบเลี้ยงเดี่ยว มีลำต้นรวม พุ่มใบสูง ใบแคบรูปร่างคล้ายดาบ ขอบใบอาจเรียบ หรือมีหนามปลายใบแหลม เนื้อใบเหนียว มีเส้นใยมาก ลำต้นเป็นแบบต่อเนื่อง แบบเกลียววน จากโคนลำต้นสู่ยอด ช่อดอกเกิดที่ส่วนยอดของลำต้น ประกอบด้วย ดอกย่อยจำนวนนับร้อยดอก กลีบดอกสีม่วงอมแดง หรือสีน้ำเงินอมม่วง ผลจัดเป็นผลรวมเกิดจากการเชื่อมตัว ของรังไข่ของผลย่อยที่อยู่ติดกัน ผลรวมนี้จะมีจุกติดอยู่ที่บริเวณยอด เกิดจากใบที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ หลังจากผลอ่อนพัฒนาขึ้นได้ระยะหนึ่ง เนื้อสับปะรดภายในผลมีสีขาวอมเหลือง สีครีม สีเหลืองเข้ม
                    สับปะรด ในประเทศไทยได้มีผู้นำเข้ามาจากต่างประเทศ ในรัชสมัยพระนารายณ์ ฯ มีปลูกกันแล้ว ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ และอเมริกากลาง         ๒๗/๑๗๕๔๗
            ๕๐๖๖. สัปปุริสธรรม  คือ ธรรมของสัตบุรุษ หรือคุณสมบัติของคนดี พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค และเล่มที่ ๒๓ อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต แสดงสัปปุริสธรรมเจ็ดประการ ดังต่อไปนี้
                   ๑. ความรู้จักเหตุ  (ธัมมัญญุตา)  คือ รู้ว่าเมื่อทำเหตุเช่นนี้แล้ว ผลจะออกมาอย่างไร
                   ๒. ความรู้จักผล  (อัตตถัญญุตา)  คือ รู้ว่าผลเช่นนี้เกิดขึ้นจากเหตุเช่นไร ผลกับเหตุจะไม่ขัดแย้งกัน เปรียบเหมือนรวงข้าว ก็จะเกิดกับต้นข้าวเท่านั้น
                   ๓. ความรู้จักตน  (อัตตัญญุตา)  คือ รู้ว่าตน มีฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความสามารถ คุณธรรม เป็นต้น เป็นอย่างไร เมื่อรู้แล้วก็ประพฤติให้เหมาะสม และพร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงด้วย
                   ๔. ความรู้จักประมาณ  (มัตตัญญุตา ) คือ รู้จักความพอดี พอเหมาะ พอควร
                   ๕. ความรู้จักกาล  (กาลัญญุตา)  คือ รู้เวลาไหน ควรทำอะไร รู้จักเลือกใช้เวลาให้เหมาะ ให้ควรกับเหตุการณ์ เป็นต้น
                   ๖. ความรู้จักบริษัท  (ปริสัญญุตา)  คือ รู้จักชุมชน รู้จักที่ประชม ตลอดจนกิริยาอาการ ที่จะแสดงออกต่อชุมชนนั้น ๆ
                   ๗. ความรู้จักบุคคล  (ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา)  คือ รู้ว่าบุคคลมีอัธยาศัย ความสามารถ คุณธรรม เป็นต้น อย่างไร เมื่อรู้ก็ปฎิบัติตามสมควร
                    ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ แสดงสัปปุริสธรรม อีกลักษณะหนึ่งว่ามีแปดประการคือ
                        ๑. ประกอบด้วยสัทธรรม เจ็ดประการคือ
                            ๑.๑  มีความศรัทธา (ความเชื่อ)
                            ๑.๒  มีหิริ  (ความละอายต่อบาป)
                            ๑.๓  มีโอตัปปะ  (ความเกรงกลัวต่อบาป)
                            ๑.๔  เป็นพหูสูต  (ได้ยินได้ฟังมามาก)
                            ๑.๕  มีความเพียรอันปรารภแล้ว  (มุ่งมั่นทำความเพียร)
                            ๑.๖   มีสติตั้งมั่น
                            ๑.๗  มีปัญญา
                        ๒. คบสัตบุรุษ  คือ คบหาสมาคมกับผู้ที่ประกอบด้วยสัทธรรมเจ็ดประการ ข้างต้น
                        ๓. คิดอย่างสัตบุรุษ คือ จะคิดอะไร คิดสิ่งใด ไม่คิดเพื่อที่จะเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น
                        ๔. ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ คือ ไม่ปรึกษา เพื่อจะเบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น
                        ๕. พูดอย่างสัตบุรุษ คือ พูดแต่คำพูดที่ถูกตามวจีสุจริต
                        ๖. ทำอย่างสัตบุรุษ คือ ทำแต่สิ่งที่ถูกต้องตามกายสุจริต
                        ๗. มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือ มีสัมมาทิฎฐิ
                        ๘. ให้ทานอย่างสัตบุรุษ              ๒๗/๑๗๕๕๕
            ๕๐๖๗. สัมปทาน  คือ ข้อตกลงระหว่างรัฐกับเอกชน อาจแบ่งออกได้เป็นสามรูปแบบคือ สัมปทานบริการสาธารณ สัมปทานโยธาสาธารณ และสัมปทานการจัดทำประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติ         ๒๗/๑๗๕๕๘
            ๕๐๖๘. สัมหิตา  เป็นคำภาษาสันสกฤต แปลว่า รวม รวบรม หรือประมวล  ใช้เป็นชื่อหนังสือรวบรวม มันตระ หรือบทสวด ที่เรียกกันว่า พระเวทของศาสนาพราหมณ์ เพื่อสะดวกในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ มีสี่สัมหิตา ได้แก่ ฤคสัมหิตา ยชุรสัมหิตา สามสัมหิตา และ อถรรพสัมหิตา แต่โดยทั่วไปมักเรียกว่า ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และ อถรรพเวท         ๒๗/๑๗๕๖๓
            ๕๐๖๙. สาเก  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๒๐ เมตร เรือนยอดแผ่กว้างเป็นพุ่มทึบ ทุกส่วนที่สด จะมียางเหนียวสีขาว ใบเดี่ยวชนิดเรียงเวียน ค่อนข้างชิดกันบริเวณใกล้ปลายกิ่ง ทรงใบรูปรีถึงรูปไข่ ดอกแยกเพศต่างช่อ แต่อยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกเป็นช่อแบบกระจุกแน่น ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ผลเป็นแบบผลรวมที่เกิดจากผลย่อย เล็ก ๆ มาเรียงอัดเป็นเนื้อเดียวกัน ผลรวมทรงรูปค่อนข้างกลม หรือรี ผิวผลเป็นปุ่มปมสีเขียว อมเหลือง
                    เนื้อของผลสาเกอ่อน นิยมนำมาเชื่อมน้ำตาลเป็นของหวาน เปลือกลำต้น ใช้เป็นยาในการคลอดบุตร และมีฤทธิ์กระตุ้นความกำหนัด นำมาต้มใช้ชะแผล ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง ยางใช้เป็นยาแก้บิด เปลือกจากรากใช้เป็นยาแก้ท้องร่วง และโรคบิด ขี้เถ้าจากใบผสมกับน้ำมันมะพร้าว และข่า ใช้ทาแก้โรคผิวหนังแก้โรคเริม ดอกนำมาเผาใช้ถูเหงือก แก้ปวดฟัน เนื้อผลแก้ไอ เมล็ดเป็นยาแก้โรคไทฟอย์ด และแก้ไข้                 ๒๗/๑๗๕๖๕
            ๕๐๗๐. สาคู, ต้น  เป็นชื่อเรียกพวกหมาก หรือปาล์มบางชนิดที่ขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ พบขึ้นตามธรรมชาติทางภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อใช้แป้งจากลำต้นเป็นอาหารของคน และสัตว์เลี้ยง แต่เดิมใช้กันอย่างแพร่หลาย ต่อมาใช้น้อยลง จนกลายเป็นพืชปลูกประดับ และปลูกเพื่อกันตลิ่งพัง เท่านั้น
                    สาคู เป็นพืชยืนต้นชนิดหนึ่งในวงศ์ปาล์ม ลำต้นเกิดจากเหง้าขนาดใหญ่ ใต้ผิวดินแทงยอดจากตาเหง้า ออกทางด้านข้างของต้นแม่ต่อ ๆ กัน ทำให้เกิดเป็นกลุ่มใหญ่ ต้นที่เจริญเต็มที่สูงได้ถึง ๑๕ เมตร ก้านช่อใบ หรือทางใบคล้ายก้านช่อใบของมะพร้าว แต่ใหญ่และยาวกว่า มีใบย่อยรูปรี ติดเรียงเป็นแถวไม่น้อยกว่าข้างละ ๖๐ ใบ ช่อดอกจะแทงช่อขึ้นที่ปลายสุดของลำต้น ช่อขนาดใหญ่ตั้งตรงขึ้นเหนือกลุ่มใบ ประกอบด้วยช่อแขนงแยกออกทางด้านข้างใบ แนวที่เกือบตั้งฉากกับแกนช่อใหญ่ และช่อแขนงยังแยกเป็นช่อย่อย ผลออกรวมเป็นช่อ ที่เรียกว่า ทะลาย มีผลรูปร่างค่อนข้างกลม ผิวผลเป็นเกล็ดเล็ก ๆ เป็นมัน หุ้มประสาน เมื่อแก่จัดออกสีเหลืองแกมเขียว
                    นอกจาก สาคูจะให้แป้ง เพื่อการบริโภคแล้ว เปลือกของลำต้นที่แข็งพอสมควร ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง ภายในร่มได้ ใบใช้มุงหลังคาแทนใบจาก          ๒๗/๑๗๕๖๙
            ๕๐๗๑. สางขยะ  ชื่อปรัชญาอินเดีย สำนักหนึ่งในหกสำนัก ที่เรียกว่า ษัฑทรรศนะ ปรัชญาสำนักนี้ ฤาษีกปิละ เป็นผู้ก่อตั้งและเจริญควบคู่มากับสำนักปรัชญาโยคะของปตัญชลี สางขยะ เน้นหนักทางด้านอภิปรัชญา ส่วนโยคะเน้นทางด้านจริยศาสตร์ โดยเฉพาะการปฎิบัติโยคะ เพื่อให้เข้าถึงโมกษะ (การหลุดพ้น) สางขยะ ยอมรับวิธีการด้านปฎิบัติของโยคะ ส่วนโยคะยอมรับหลักการทางอภิปรัชญาของสางขยะ
                    สางขยะ เป็นปรัชญาทวินิยม ที่เชื่อว่าสัจภาพ หรือสิ่งแท้จริงสูงสุด มีสองอย่างคือ ประกฤติ และปุรุษะ โดยอธิบายว่า ประกฤติ เป็นธาตุมูลฐานแห่งสิ่งทั้งปวงที่เป็นวัตถุ ส่วนปุรุษะ เป็นตัวตนที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิตที่มีจิตทุกชนิด เนื้อทิ้งแท้จริงสูงสุด สองอย่างนี้มารวมกัน จะทำให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งต่าง ๆ
                     ประกฤติ  เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ และดำรงอยู่ชั่วนิรันดร ส่วนสิ่งที่เกิดจากประกฤติ เป็นสิ่งไม่เที่ยง ประกฤติ มีการเปลี่ยนแปรสองอย่างอยู่ตลอดเวลาคือ การเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒน์ และการเปลี่ยนแปรเชิงประลัย
                     ปุรุษะ  มีจำนวนนับไม่ถ้วน เป็นวิญญาณบริสุทธิเทียบได้กับ ชีวาตมัน ของปรัชญาฮินดู สำนักอื่น ๆ หรือกับ ชีวะ ของศาสนาเชน ปุระษะเป็นสิ่งมีสัมปชัญญะ หรือเป็นตัวผู้รู้  และเป็นพื้นฐานแห่งความรู้ทั้งปวง แต่เป็นสิ่งปราศจากกัมมันตภาพ ส่วนประกฤติ เป็นสิ่งมีกัมมันตภาพ แต่ปราศจากสัมปชัญญะ ทั้งสองสิ่งจำเป็นต้องอาศัยซึ่งกันและกัน
                    จุดมุ่งหมายสูงสุดของสางขยะ ก็คือ การเข้าถึงโมกษะ เช่นเดียวกับปรัชญาฮินดูสำนักอื่น ๆ สางขยะถือว่า ปุรุษะ ไม่เคยติดข้อง เพราะฉะนั้น จึงไม่จำเป็นต้องหลุดพ้น การติดข้องและหลุดพ้น เป็นเรื่องของประกฤติ ในรูปแบบต่าง ๆ เท่านั้น         ๒๗/๑๗๕๗๑
            ๕๐๗๒. สาธารณสุข, กระทรวง  มีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน ควบคุม และประสานกิจกรรมทุกประเภท ที่เกี่ยวกับสุขภาพกายและจิต ตลอดจนความเป็นอยู่ของประชาชน และการจัดให้มีบริการสาธารณสุข
                    กระทรวงสาธารณสุข เดิมชื่อ กรมพยาบาล ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ เพื่อให้ควบคุมดูแลกิจการศิริราชพยาบาล สืบแทนคณะกรรมการสร้างโรงพยาบาลวังหน้า กรมพยาบาล มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชาแพทย์ ควบคุมโรงพยาบาลอื่นๆ และจัดการปลูกฝี ให้แก่ประชาชน ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๒ กรมพยาบาลก็ย้ายมาสังกัด ในกระทรวงธรรมการ เริ่มมีแพทย์ประจำเมืองขึ้นในบางแห่ง มีการนำยาตำราหลวงออกจำหน่าย และตั้งกองแพทย์ไปป้องกันโรคระบาด
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๘  ได้ยุบกรมพยาบาล และให้โรงพยาบาลอื่น ที่สังกัดกรมพยาบาล ไปขึ้นกระทรวงนครบาล ปี พ.ศ.๒๔๕๕ กระทรวงมหาดไทย ขอตั้งกรมพยาบาลขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น กรมประชาภิบาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ และรวมงานสุขาภิบาลเข้าไว้ด้วย ปี พ.ศ.๒๔๖๑ เปลี่ยนชื่อเป็น กรมสาธารณสุข ปี พ.ศ.๒๔๘๕ ได้สถาปนากระทรวงสาธารณสุข ขึ้น         ๒๗/๑๗๕๗๖
            ๕๐๗๓. สาธุการ, เพลง  เป็นเพลงหน้าพาทย์ชั้นสูงทำนองหนึ่ง เป็นเพลงแรกในชุดโหมโรง เพื่อแสดงความเคารพบูชาต่อพระรัตนตรัย เทพยดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่มาชุมนุมในพิธีมณฑลนั้น ถือว่าเป็นเพลงครูที่เปรียบเหมือน ธูปเทียนบูชาสิ่งที่เคารพ
                    เพลงสาธุการ แบ่งออกเป็น สาธุการธรรมดา สาธุการกลอง สาธุการคล้องเชือก สาธุการจีน สาธุการชั้นเดียว สาธุการเปิดโลก
                    ปัจจุบันเพลงสาธุการ ที่นิยมบรรเลงมีสองเพลงคือ เพลงสาธุการธรรมดา และเพลงสาธุการกลอง          ๒๗/๑๗๕๘๒
            ๕๐๗๔. สาบ, แมลง  นักกีฏวิทยา ถือว่าแมลงสาบ และแมลงแกลบ เป็นพวกเดียวกัน มีห้าวงศ์ รวมประมาณ ๓,๗๐๐ ชนิดด้วยกัน
                    วงจรชีวิตมีสามระยะคือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน และระยะเต็มวัย            ๒๗/๑๗๗๘๔
            ๕๐๗๕. สามพระยา, เจ้า  ดู บรมราชาธิราช สมเด็จพระ  - ลำดับที่ ๒๙๙๔          ๒๗/๑๗๕๙๐
            ๕๐๗๖. สามเวท  เป็นพระเวทของพราหมณ์  ซึ่งมีสี่คัมภีร์ ได้แก่ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และ อถรรพเวท  สามเวท ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับการสวดในพิธีถวายน้ำโสม แก่อินทรเทพ และการขับกล่อมเทพเจ้าทั้งหลาย
                    สามเวท มีชื่อเต็มว่า สามเวทสังหิตา (การรวบรวมสามเวท)  กล่าวกันว่า ในต้นยุคพระเวทนั้น สามเวทมีสาขาอยู่ ๑,๐๐๐ สาขา แต่ต่อมาในสมัยหลัง ๆ เหลืออยู่เพียงสามสาขา ผู้ทำหน้าที่สวดสามเวท ในพิธีกรรมอย่างถวายน้ำโสมแก่อินทรเทพ เป็นต้น คือ พราหมณ์ ซึ่งเรียกกันว่า อุทคาดา
                    สามเวท เป็นเวทสำคัญสำหรับประวัติดนตรีอินเดีย โน้ตเพลงพื้นฐานของเพลงอินเดีย มีกำเนิดจากสามเวท
            ๕๐๗๗. สามเหลี่ยม, งู  เป็นงูพิษขนาดค่อนข้างใหญ่ ชนิดที่พบมาก จะมีสีสันหลังเป็นสันเหลี่ยม ทำให้เห็นลำตัวเป็นสามเหลี่ยม มีเขี้ยวพิษขนาดเล็ก ที่ด้านหน้าของขากรรไกรบน ขยับเขี้ยวไม่ได้ มีฤทธิ์ของน้ำพิษทางระบบประสาท เป็นงูออกหากินเวลากลางคืน          ๒๗/๑๗๕๙๒
            ๕๐๗๘.  สามัคคีเภทคำฉันท์  เป็นชื่อวรรณกรรมร้อยกรองประเภทคำฉันท์ ว่าด้วยโทษแห่งการแตกสามัคคีของพวกกษัตริย์ลิจฉวี ผู้ครองกรุงเวสาลี แคว้นวัชชี เป็นบทประพันธ์ของ นายชิต บุรทัต รัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอาศัยเค้าเรื่องที่เกิดขึ้น ขณะพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขาคิชกูฎ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดังความปรากฎในตอนต้นของมหาปรินิพพานสูตร คัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐) และจบลงหลังพระพุทธปรินิพพาน แล้วสามปี
                    นายชิต บุรทัต ได้อ่านคำแปลอรรถกถา ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาคสอง ประกอบกับเคยอ่านหนังสือ อิลราชคำฉันท์ ของพระศรีสุนทรโวหาร ( ผัน สาลักษณ์)  มาก่อน จึงเกิดแรงบันดาลใจนำมาร้อยกรอง เป็นคำฉันท์ โดยเพิ่มอรรถรสทั้งด้านภาษา และเนื้อหาสาระ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เคยใช้เป็นแบบเรียนบังคับ ในการสอบไล่ชั้นมัธยมศึกษา บริบูรณ์ (ม.๘)
                    นายชิต บุรทัต  แต่งฉันท์เรื่องนี้เป็นฉันท์ ๔๑๓ บท ใช้ฉันท์ และกาพย์ ๒๐ ประเภท
                    สามัคคีเภทคำฉันท์ มีสองสำนวน สำนวนแรก แต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗ ผู้ประพันธ์ระบุนาม และนามสกุลเดิมว่า ชิต ชวางกูร ต่อมานายชิต ได้มอบสามัคคีเภทคำฉันท์ สำนวนแรกนี้ให้เป็นสมบัติของหอพระสมุดวชิรญาณ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๒ กระทรวงธรรมการได้ประกาศให้สามัคคีเภทคำฉันท์ เป็นหนังสือแบบเรียนกวีนิพนธ์ บังคับเรียนสำหรับชั้นมัธยมบริบูรณ์ นายชิต บุรทัต จึงได้ตรวจแก้ไข ขัดเกลาคำฉันท์เรื่องนี้ ทำให้เป็นสำนวนใหม่ และใช้นามผู้ประพันธ์ว่า ชิต บุรทัต         ๒๗/๑๗๕๙๓
            ๕๐๗๙. สายน้ำผึ้ง, พระเจ้า  ดูที่ พนัญเชิง  - ลำดับที่  ๓๗๘๑         ๒๗/๑๗๕๐๐
            ๕๐๘๐. สายม่าน, งู  เป็นงูไม่มีพิษขนาดเล็ก ออกหากินเวลากลางวัน เป็นงูที่มีลวดลายและสีสวย งูที่คนไทยเรียกว่า งูสายม่าน เช่น งูสายม่านเล็ก งูสายม่านหลังทอง งูสายม่านเหลือง งูสายม่านแดง          ๒๗/๑๗๖๐๐
            ๕๐๘๑. สารส้ม  เป็นเกลือสองเชิง ที่เป็นไฮเดรต สารส้มที่ใช้กันทั่วไปคือ สารส้มโพแทช เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัย เล่นแร่แปรธาตุแล้ว
                    สารส้มโพแทช หรือสารส้มในธรรมชาติ เป็นแร่คาลิไนต์ และอะลูไนต์ พบสารส้มในที่หลายแห่งของโลก แต่ไม่มีที่ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันการผลิตสารส้ม ทำกันอย่างแพร่หลายทั่วไปในประเทศต่าง ๆ
                    สารส้ม มีประโยชน์มากทั้งในครัวเรือนและอุตสาหกรรม ใช้เป็นสารช่วยสีติด จึงใช้มากในอุตสาหกรรมการย้อม ในอุตสาหกรรมทำกระดาษ ใช้สารส้มเป็นสารยึดติด เพื่อประสานเส้นใยกระดาษเข้าด้วยกัน ในกระบวนการฟอกหนัง สารส้มช่วยทำให้หนังนุ่มขึ้น นอกจากนี้ สารส้มยังใช้เป็นยาระงับกลิ่นได้ด้วย
                    สารส้ม ทำให้น้ำใสได้ เพราะอะลูมิเนียมไอออน ในสารละลายแยกสลายด้วยน้ำ ให้ไอออนเชิงซ้อนที่มีประจุบวก และอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งดึงดูดสารแขวนลอย พวกอนุภาคดินที่มีประจุบลบ รวมเข้ามาเป็นกลุ่มก้อน แล้วตกตะกอน              ๒๗/๑๗๖๐๒
            ๕๐๘๒. สารหนู  ธาตุลำดับที่ ๓๓ สารหนูเป็นที่รู้จักกันดีในเปอร์เซียสมัยโบราณ นักปราชญ์ชาวเยอรมันเป็นคนแรก ที่ระบุว่าสารหนูเป็นธาตุ เมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๓
                    สารหนู ที่เป็นธาตุเสรีในธรรมชาติ มีอยู่เป็นจำนวนน้อย อาจพบได้ในสายแร่เงิน ส่วนใหญ่อยู่ในสารประกอบ เป็นแร่หลายชนิด กระจายอยู่ทั่วโลก
                    การเตรียมสารหนู ในเชิงพาณิชย์มักใช้แร่อาร์เซโนไรต์ ซึ่งเป็นแร่ธรรมดาสามัญของสารหนู นอกจากนั้น สารหนูยังเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการ ที่ปฎิบัติกับสินแร่ เงิน ตะกั่ว ทองแดง นิกเกิล และโคบอลต์  ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวีเดน และเม็กซิโก
                    ทั้งธาตุและสารประกอบของสารหนูมีพิษมาก เมื่อเข้าไปในร่างกาย ทั้งโดยการกิน และการหายใจ ทำลายระบบทางเดินอาหาร และส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และในที่สุดทำให้ถึงแก่ความตาย จึงใช้เป็นยาเบื่อหนู และแม้แต่ใช้ในการฆาตกรรม          ๒๗/๑๗๖๐๕
            ๕๐๘๓. สารีบุตร  เป็นชื่อพระมหาเถรรูปหนึ่ง ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า คู่กับพระโมคคัลลานะ ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ทั้งสองท่านต่างเกิดในตระกูลพราหมณ์ ที่มีฐานะเท่าเทียมกัน อยู่ในหมู่บ้านใกล้กัน และเป็นสหายกันมา ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพราะคนในตระกูลของท่านทั้งสอง มีความผูกพันฉันมิตรกันมา ถึงเจ็ดชั่วอายุคน
                    พระสารีบุตร เดิมมีชื่อว่า อุปติสสะ บิดาชื่อ วังคันตา มารดาชื่อ สารี บิดาของท่านมีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน อุปติสสคาม (ชื่อที่รู้จักกันดีคือ นาลกคาม หรือนาลันทา)  อยู่ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์ ส่วนพระโมคคัลลานะ มีชื่อเดิมว่า โลโกลิตะ
                    ทั้งสองท่านไปเที่ยวดูมหรสพ ในกรุงราชคฤห์ เป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งสองสหายไปดูมหรสพเหมือนวันก่อน ๆ แต่ไม่เกิดความสนุกสนาน ร่าเริง เช่นที่เคย เพราะต่างพิจารณาเห็นตรงกันว่า ควรเลิกเที่ยวดูการเล่น ที่ไร้สาระนี้ ควรแสวงหาสิ่งที่มีสาระ มีประโยชน์แก่ชีวิตดีกว่า จึงพากันไปบวชในสำนักลัทธิปริพาชก ของสัญชัย ผู้ได้รับยกย่องเป็นครูคนหนึ่ง ในจำนวนครูหกคน
                    เมื่อบวชเป็นปริพาชกแล้ว ท่านทั้งสองได้ศึกษาจนจบความรู้อาจารย์ และได้รับมอบหมายให้ช่วยสอนศิษย์คนอื่น ๆ ในสำนักต่อไป แต่ท่านทั้งสองยังไม่พอใจ ในความรู้เพียงเท่านั้น จึงตกลงกันว่า จะออกแสวงหาโมกขธรรมต่อไป และนัดหมายกันว่า ใครได้พบโมกขธรรมก่อน ให้มาบอกกัน
                    ในช่วงเวลานั้น พระพุทธเจ้าเสด็จมาประกาศพระศาสนา ในกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน วันหนึ่ง พระอัสสชิเถระ ซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในพระปัญจวัคคีย์ ออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ อุปติสสะได้พบเห็นก็เกิดความเลื่อมใส ในจริยาวัตรของท่าน จึงเดินตามท่านไป หลังจากท่านฉันอาหารเสร็จแล้ว อุปติสสะจึงเข้าไปถามท่านว่า ใครเป็นศาสดาของท่าน ท่านบวชในสำนักของใคร ท่านชอบใจธรรมของใคร พระอัสสชิเถระตอบว่า พระสมณโคดม เป็นศาสดาของท่าน ท่านชอบใจในธรรมของพระสมณโคดม อุปติสสะถามต่อไปว่า พระสมณโคดม สอนว่าอย่างไร
                    พระเถระตอบว่า ท่านบวชได้ไม่นานจึงไม่สามารถกล่าวถึงคำสอนของพระศาสดา ให้พิสดารได้ อุปติสสะได้ขอให้ท่านแสดง แต่ใจความเท่านั้น พระเถระจึงกล่าวเนื้อความโดยย่อว่า "ธรรมเหล่าใด เกิดจากเหตุ พระตถาคตได้แสดงเหตุเหล่านั้น และทรงแสดงความดับแห่งธรรมเหล่านั้นไว้ พระศาสดาทรงสอนอย่างนี้"
                    เมื่อพระเถระ กล่าวจบ อุปติสสะเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นว่า "สิ่งใดมีการเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งหมดย่อมมีการดับไป เป็นธรรมดา" อุปติสสะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุเป็นพระโสดาบัน
                    อุปติสสะ กราบลาพระเถระกลับไปหาโกลิตะ และเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง พร้อมทั้งแสดงธรรมที่พระเถระแสดงให้ฟัง โกลิตะก็ได้บรรลุเป็น พระโสดาบัน
                    อุปติสสะ และโกลิตะ พากันไปหาสัญชัย เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง มีใจความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อุบัติขึ้นแล้ว พวกตนจะไปบวชในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น และชวน สัญชัยไปบวชด้วยกัน แต่สัญชัยตอบปฎิเสธ และถามว่า ในโลกนี้ คนฉลาดกับคนโง่ อย่างไหนมีมากกว่ากัน เมื่อสองสหายตอบว่า คนโง่มีมากกว่า สัญชัยจึงกล่าวว่า ขอให้คนโง่มาอยู่กับเรา ขอให้คนฉลาดไปอยู่กับพระสมณโคดม เถิด
                    อุปติสสะ และโกลิตะ ก็อำลาสัญชัยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมเพื่อนปริพาชกห้าร้อยคน ขณะนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ เมื่อทอดพระเนตรเห็นสองสหาย นำบริวารมาแต่ไกล จึงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า คู่อัครสาวกของพระองค์กำลังมา
                    เมื่ออุปติสสะ และโกลิตะ พร้อมด้วยบริวารมาถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่งฟังพระธรรมเทศนา เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาจบ บริวารทั้งห้าร้อยคน ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนอุปติสสะ และโกลิตะ ไม่ได้บรรลุธรรมสูงขึ้นกว่าเดิม ทั้งหมดทูลขอบวช พระพุทธองค์ก็ทรงบวชให้ด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา พระพุทธองค์ทรงเรียกอุปติสสะว่า สารีบุตร  และเรียกโกลิตะว่า โมคคัลลานะ ตามชื่อมารดา
                    หลังจากบวชแล้วเจ็ดวัน พระโมคคัลลานะ ที่บรรลุอรหัตผล ส่วนพระสารีบุตร หลังจากบวชได้สิบห้าวัน จึงบรรลุอรหัตผล
                    หลังจากได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว ปรากฎว่าพระสารีบุตร เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศทั้งสอง ต่างเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เคียงข้างพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งให้พระสารีบุตร เป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย นอกจากนี้ พระสารีบุตรยังได้รับยกย่องเป็น ธรรมเสนาบดี คู่กับ พระบรมศาสดา ผู้เป็นพระธรรมราชา
                    ผลงานสำคัญที่สุด ที่เป็นต้นแบบของการทำสังคายนาพระธรรมวินัย ในสมัยต่อมาคือ การริเริ่มร้อยเรียงพระธรรม ที่พระบรมศาสดาตรัสสอนไว้ ในที่ต่าง ๆ เข้าเป็นหมวดหมู่ ตามลำดับจำนวนตั้งแต่หมวดธรรมหนึ่งข้อ ไปจนถึงหมวดธรรมสิบข้อ หรือเกินสิบข้อ ดังปรากฎในสังคัติสูตร และทสุตตรสูตร  (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑)
                    พระสารีบุตร ได้พรรณาพระคุณของพระพุทธเจ้า ที่มีต่อท่านไว้อย่างละเอียดพิสดาร ดังปรากฎใน สัมปสาทนียสูตร  (ทิ ปา .แปล)
                    ก่อนที่พระสารีบุตร จะปรินิพพานเจ็ดวัน ท่านได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวัน แล้วทูลลาไปปรินิพพานที่บ้านเกิดคือ ที่เมืองนาลันทา ก่อนปรินิพพานท่านได้เทศน์โปรดมารดา ให้บรรลุพระโสดาบัน ได้สำเร็จ         ๒๗/๑๗๖๐๙
            ๕๐๘๔. สาละ, ต้น  เป็นไม้ต้น ผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๓๕ เมตร เรือนยอดโปร่ง ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปขนานแกมรูปไข่ ดอกแบบช่อแยกแขนง แตกตามก้านใบ และปลายกิ่ง แตกแขนงไม่เป็นระเบียบ ดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีครีมขาว ผลแบบเปลือกแข็ง มีเมล็ดเดียว
                    สาละ เป็นไม้เนื้อแข็ง ใช้ในการก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรง และทนทาน เปลือกมีรสฝาดของแทนนิน มีผลในทางสมุนไพรรักษาแผล และอาการคัน จากการแพ้ นอกจากนี้ ต้นสาละยังมีชัน และน้ำมัน ปริมาณมาก ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม สารเคลือบมันชักเงาต่าง ๆ เช่นเดียวกับชัน จากต้นไม้ในสกุลยาง และสกุลเต็งรัง ชนิดอื่น ๆ
                    สาละ เป็นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับการประสูติ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า             ๒๗/๑๗๖๑๖

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |