| ย้อนกลับ |

 

เล่ม ๒๘ สาลี ข้าว - หวาย ต้น       ลำดับที่ ๕๐๘๕ – ๕๒๐๕      ๒๘/ ๑๗๖๔๕ - ๑๘๒๒๓

            ๕๐๘๕. สาลี ข้าว  เป็นชื่อไม้ล้มลุกใบเลี้ยงเดี่ยว มีอายุปีเดียว เจริญแตกเป็นกอที่โคน ๒ - ๕ แขนง บางพันธุ์อาจแตกกอได้ถึง ๔๐ แขนง ต้นตรงสูง ๔๐ - ๕๐ ซม. ลำต้นรูปทรงกระบอก เป็นข้อและปล้อง ปล้องกลาง ใบเรียงสลับสองข้างของลำต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอด ประกอบด้วยช่อดอกย่อย ที่ไม่มีก้านออกเดี่ยวเรียงสลับ ระนาบเดียว บนแกนกลาง ช่อดอกย่อยรูปไข่หรือรูปรี ผลแบบผลแห้ง เมล็ดติดสีน้ำตาล อมแดง หรือขาวนวล รูปรีหรือรูปไข่ ยาวประมาณ ๘ มม. นูนด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งแบน มีหนึ่งเมล็ด ผลมีกาบแข็งสองกาบ หุ้มอยู่หลวม ๆ
                    เมื่อนำผลข้าวสาลีไปนวด กาบจะหลุดออกง่าย เมล็ดข้าวที่ได้คือ ตัวผลแท้เรียก ข้าวกล้อง สาลีมีสีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีนวล
                    เมล็ดข้าวสาลี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นอาหารหลักของคนในเขตอบอุ่น ทำเป็นอาหารโดยตรง เช่น ต้ม หรือนึ่ง ส่วนใหญ่ใช้เป็นรูปของแป้ง คนไทยรู้จักข้าวสาลี ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เราเรียก แป้งหมี่ คือ แป้งที่ใช้ทำเส้นบะหมี่ นั่นเอง
                    ถิ่นกำเนิดของข้าวสาลี อยู่ในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีการปลูกกันมานานราว ๗,๕๐๐ - ๖๕,๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราช ต่อมาได้แพร่เข้าไปในทวีปยุโรป จีนและโลกใหม่ ผู้ที่ผลิตข้าวสาลี รายใหญ่ของโลกคือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา รัสเซีย และจีน       ๒๘/๑๗๖๔๕
            ๕๐๘๖. สาลี่  เป็นชื่อพืชเขตหนาวกลุ่มหนึ่ง มีทั้งประเภทไม้ยืนต้น และไม้พุ่ม เป็นได้ท้งไม้ผล และไม้ประดับ สาลี่มีทั้งหมด ๒๒ ชนิด แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ที่มีการปลูกเป็นการค้าคือ สาลี่ ยุโรป หรือสาลีตะวันตก และสาลี่เอเชีย
                    สาลี่ เป็นไม้ยืนต้น ที่มีรูปทรงสูงชะลูด เป็นทรงพีรามิด ที่มีขนาดเล็กถึงปานกลาง อาจสูงถึง ๑๐ เมตร โดยทั่วไปมีความสูงประมาณ ๓ - ๕ เมตร ใบมีหลายลักษณะเป็นรูปทรงกลม รูปไข่ หรือรูปรี ที่มีปลายมน ดอกมีลักษณะเป็นช่อดอก ที่มีด้านบนราบ หรือกลมเรียงแบบช่องเชิงหลั่น ดอกสีขาวบานจากด้านนอก ไปสู่ด้านใน ดอกเกิดจากตาแบบตาผสม สาลี่เอเชีย ลักษณะโดยทั่วไป คล้ายสาลี่ยุโรป ยกเว้นรูปร่างที่คล้ายแอปเปิลมากกว่า หรือค่อนข้างกลม สีมีตั้งแต่สีเขียว เหลือง อมเขียว เหลืองทอง น้ำตาลไปจนถึงสีแดง        ๒๘/๑๗๖๔๘
            ๕๐๘๗. สาวัตถี  เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ซึ่งเป็นแคว้นใหญ่ แคว้นหนึ่งในสิบหกแคว้น ของอินเดียสมัยพุทธกาล แคว้นนี้ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาหิมาลัย กับแม่น้ำคงคา ตอนกลาง มีอาณาเขตทิศเหนือจดเทือกเขาหิมาลัย ในเขตประเทศเนปาล ในปัจจุบัน ทิศตะวันออกจดแคว้นกาสี ต่อกับแคว้นมคธ ทิศใต้และทิศตะวันตกจดแม่น้ำคงคา ในปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ตัวเมืองสาวัตถีตั้งอยู่บนลุ่มน้ำอจิรวดี ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำราปตี บริเวณที่ตั้งเมืองสาวัตถี ปัจจุบันเรียกว่า สะเหต มะเหต จากการขุดค้นพบว่า ที่บริเวณมะเหต เป็นซากเมืองสาวัตถี และที่บริเวณ สะเหต เป็นซากวัดเชตวัน
                    ในสมัยพุทธกาล เมืองสาวัตถีเจริญรุ่งเรืองมาก และมีวัดสำคัญสามวัดคือ
                        ๑. พระเชตวันวิหาร  อนาถบิณฑิกเศรษฐี สร้างถวายพระพุทธเจ้า
                        ๒. บุพพาราม  นางวิสาขา มหาอุบาสิกา สร้างถวายพระพุทธเจ้า
                        ๓. ราชการาม  หรือราชิการาม พระเจ้าปเสนทิโกศลสร้างถวายพระพุทธเจ้า (ภิกษุณีสงฆ์ ใช้เป็นที่จำพรรษา)
                    พระพุทธเจ้า ทรงจำพรรษาในเมืองสาวัตถีนานที่สุดคือ ยี่สิบห้าพรรษา โดยทรงจำพรรษาที่พระเชตวัน สิบเก้าพรรษา และที่บุพพาราม หกพรรษา พระพุทธเจ้าทรงใช้เมืองนี้เป็นศูนย์กลาง การปกครองคณะสงฆ์ และศูนย์กลางการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
                    พระถังซัมจั๋งได้พรรณาสภาพของเมืองสาวัตถี ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๗๔ - ๑๑๘๘ เมื่อท่านไปสืบพระศาสนาที่อินเดีย ดังปรากฎอยู่ในจดหมายเหตุตอนหนึ่งว่า "อาณาจักรแห่งมหานครสาวัตถี (แคว้นโกศล) ประมาณ ๖,๐๐๐ ลี้ ( ๑ ลี้ เท่ากับ ๕๐๐ เมตร ) เมืองใหญ่คือ เมืองสาวัตถีปรักหักพังไปหมดแล้ว จึงเป็นการยากที่จะกำหนดได้ว่า ตั้งแต่บริเวณไหนถึงแห่งใด เฉพาะซากกำแพงซึ่งเมืองเห็นเป็นกำแพงพระราชวัง ที่ประทับของพระราชากว้างยาวราวสิบลี้ แม้จะเหลือซากปรักหักพัง แต่ยังเห็นผู้มาอาศัยอยู่บ้าง มีกอไผ่อยู่หลายกอ ทุกอย่างงอกงามดี ดินฟ้าอากาศไม่ร้อนไป ไม่หนาวนัก คนทั้งหลายมีกิริยาวาจาสุภาพ ไม่นิยมทำบาป เอาใจใส่ต่อการศึกษา และศาสนาด้วยดี สังฆารามซึ่งเหลือแต่ซากมีหลายร้อยแห่ง"     ๒๘/๑๗๖๕๒
            ๕๐๘๘. สาหร่าย  เป็นพืชชั้นต่ำ พวกแอลจี และพืชชั้นสูง พวกพืชมีดอก
                     ๑. พืชชั้นต่ำพวกแอลจี  เป็นพืชที่ไม่มีราก ลำต้นและใบที่แท้จริง ประกอบด้วย เซลล์เดียว หรือหลายเซลล์ อยู่เป็นกลุ่ม เป็นสาย หรือเป็นคล้ายพืชชั้นสูง มักเรียกรวมกันว่า แทลลัส แยกได้เป็นกลุ่มแอลจีสีเขียว กลุ่มแอลจีสีน้ำตาล และกลุ่มแอลจีสีแดง แต่ละกลุ่มมีอยู่หลายชนิด เช่น
                         ๑.๑  สาหร่ายไฟ มีอยู่หลายสกุล เจริญอยู่ใต้น้ำ ทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย พบเป็นวัชพืชในแหล่งน้ำอื่น ๆ เช่น ในนาข้าว นาบัว
                         ๑.๒  สาหร่ายทุ่น  เจริญอยู่ในทะเลทั่วไป มีขนาดใหญ่เหมือนต้นไม้เล็ก ๆ พบได้ตามทะเลทั่วไป มักขาดลอยมาติดอยู่ตามชายหาด บริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณตอนใต้ของหมู่เกาะเบอร์มิวดา มีสาหร่ายทุ่นเจริญเติบโตแพร่กระจาย เป็นบริเวณกว้างถึง ๑,๖๐๐ กม. ยาว ๓,๒๐๐ กม. เรียกบริเวณนี้ว่า ซากาสโซซี
                            ๑.๓  สาหร่ายวุ้น  มีขนาดไม่ใหญ่นัก ลักษณะเป็นท่อกลม หรือแบนอวบน้ำ แตกกิ่งก้านสาขาออกไปรอบ ๆ เป็นกระจุก สาหร่ายวุ้น สามารถนำมาสกัดได้สารประกอบ ที่มีประโยชน์หลายอย่าง ซึ่งนำมาเป็นอาหาร หรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์หลายอย่าง
                     ๒. พืชชั้นสูงพวกพืชมีดอก  ชอบขึ้นอยู่ในที่แฉะ หรืออยู่ในน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำทะเล เช่น
                            ๒.๑  สาหร่ายพุงชะโค  เป็นพืชชั้นสูงพวกมีดอก มีอายุปีเดียว หรือหลายปี เมื่อต้นแก่ลอยเป็นอิสระอยู่ในน้ำ พบตามแหล่งน้ำนิ่งทั่วไป
                            ๒.๒  สาหร่ายหางกระรอก  เป็นพืชชั้นสูง พวกที่มีดอก อยู่ในน้ำมีอายุหลายปี พบได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป
                            ๒.๓  สาหร่ายฉัตร  เป็นพืชชั้นสูง พวกที่มีดอก อยู่ในน้ำ พบเป็นวัชพืชในนาข้าว และตามแหล่งน้ำนิ่ง นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดบ ในตู้ปลา       ๒๘/๑๗๖๕๙
                            ๒.๔ สาหร่าย เส้นด้าย เป็นพืชชั้นสูงพวกพืชมีดอก อยู่ในน้ำมีอายุข้ามปี ลำต้นเป็นสายตรง และแตกกิ่งก้านสาขา ต้นแก่ไม่มีราก ลอยตัวอิสระอยู่ใต้น้ำ เป็นวัชพืชในแหล่งน้ำจืดทั่วไป รวมทั้งในนาข้าว
            ๕๐๘๙. สาหร่าย ข้าวเหนียว เป็นไม้น้ำที่กินแมลงเป็นอาหาร ไม่มีรากแท้ มีแต่รากเทียม มีไหลคล้ายเส้นด้าย ยาวได้ถึง ๑ เมตร แยกแขนง ตามผิวของไหลมีตุ่มเล็ก ๆ ทั่วไป ต้นลอยในน้ำ ใบรูปคล้ายเส้นด้ายจำนวนมาก ถุงดักแมลงเกิดตามใบ ดอกสีเหลืองอ่อน มีลายสีน้ำตาลอมแดง ช่อดอกเป็นช่อกระจะ จะชูเหนือน้ำ ผลกลมแบบผลแห้งแตกตามขวาง มีเมล็ดมาก       ๒๘/๑๗๖๖๖
            ๕๐๙๐. สำปะหลัง ดูมันสำปะหลัง ลำดับที่  ๔๓๔๑...       ๒๘/๑๗๖๖๘
            ๕๐๙๑. สำปั้น เรือ เป็นชื่อเรือต่อชนิดหนึ่ง ใช้เป็นพาหนะสำหรับอาศัยไปมา หรือบรรทุกสิ่งของสินค้าขึ้นล่องทางน้ำ โดยการแจวหรือพาย
                    เรือสำปั้นของไทยในชั้นเดิมสันนิษฐานว่า ได้แบบอย่างจากเรือของจีน เป็นเรือต่อด้วยไม้กระดานแผ่นยาวพอประมาณ จำนวนสามแผ่นประกอบเข้าเป็นลำเรือ
                    ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ บุนนาค) ได้คิดดัดแปลงเรือสำปั้นเรียกว่าเรือสำปั้นแปลง โดยเพิ่มกระดานที่นำมาต่อเรืออีกสองแผ่น รวมเป็นห้าแผ่น ลักษณะท้องเรือค่อนข้างมน กลางลำป่องเป็นกระพุ้ง หัวและท้ายเรือเพรียว ส่วนท้ายเรืองอนเชิดขึ้นสูงกว่าหัวเรือ  ต่อมาได้คิดต่อให้ใหญ่และยาวขึ้นเป็น ๗ - ๘ วา และต่อมาได้ต่อได้ยาวถึง ๑๔ - ๑๕ วา ใช้กันแพร่หลายเป็นลำดับมา ในชั้นหลังใช้ไม้สักแทนไม้ฉำฉา
                    เรือสำปั้นขนาดย่อม ใช้กำลังคนพายท้ายเรือ และหัวเรือแห่งละคน ส่วนเรือสำปั้นขนาดใหญ่ และยาวมากมักใช้แจวแทนพาย อาจมีหนึ่งแจว หรือสองแจว แต่บางลำใช้หกหรือแปดแจวก็มี
                    ต่อมาได้มีการต่อเติม และดัดแปลงให้มีรูปลักษณะและสิ่งประกอบต่าง ๆ ตามความนิยม และประโยชน์ใช้สอย จึงมีเรือสำปั้นต่างชนิด และเรียกชื่อต่าง ๆ กันเช่น
                   เรือสำปั้นเพรียว หรือเรือเพรียว เป็นเรือสำปั้นขนาดเล็กและเพรียว นั่งได้เพียงคนเดียว มีผู้นำไปถวายวัดสำหรับพระภิกษุพายออกบิณฑบาต
                   เรือสำปั้นประทุน  เป็นเรือขนาดกลาง ติดหลักแจวหนึ่งหรือสองหลัก ตอนกลางลำเรือทำประทุนรูปโค้งกั้นแดดกันฝนต่างหลังคา ใช้สำหรับเดินทางรอนแรมไปไกล ๆ
                   เรือสำปั้นเก๋ง  เป็นเรือขนาดกลาง และขนาดใหญ่ อาจใช้แจวสี่ถึงแปดแจว กลางลำเรือตั้งเก๋งเครื่องกั้นแดดกันฝน
                   เรือสำปั้นสวน  เป็นเรือขนาดกลาง ใช้บรรทุกผลิตผลจากสวน
                   เรือสำปั้นจ้าง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เรือจ้าง เป็นเรือขนาดกลางใช้คนแจวคนเดียว มีทั้งแบบตั้งเก๋งโถงและเรือเปล่า ใช้รับจ้างส่งคนข้ามฟากหรือไปในระยะไม่ไกลนัก
                   เรือสำปั้นเล็ก ยาวประมาณหนึ่งวาสองศอกถึงสองวา ใช้พายคนเดียว บางทีเรียกเรือคอน มักใช้เป็นเรือพายขายของกินต่าง ๆ
                   เรือสำปั้นแปลง มีขนาดทั้งเล็ก กลาง และใหญ่ ดัดแปลงขึ้นใหม่ให้เหมาะสม สำหรับขนส่งสิ่งของ โดยทำส่วนกราบเรือทั้งสองข้างสูงขึ้นกว่าปรกติ       ๒๘/๑๗๖๖๘
            ๕๐๙๒. สำเภางาม  เป็นชื่อกล้วยไม้ดินชนิดหนึ่ง พบขึ้นในประเทศไทยทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๐๐๐ เมตรขึ้นไป ออกดอกในช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน กล้วยไม้ชนิดนี้มีขนาดใหญ่ สวยงามมาก ขึ้นเป็นกอ ช่อดอกตรง ดอกโตสีขาวอมชมพู เรียงตัวเป็นช่อกระจะและบานทน       ๒๘/๑๗๖๗๗
            ๕๐๙๓. สำมะโนครัว  มีบทนิยามว่า "การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนราษฎรในแต่ละครัวเรือน"
                    คำนี้ได้นำมาใช้ในกฎหมายเป็นครั้งแรกโดย พ.ร.บ. สำหรับทำบัญชีคนในพระราชอาณาจักร ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) โดยกำหนดหลักการไว้สามข้อคือให้จัดทำบัญชีสำมะโนครัว บัญชีคนเกิดและคนตาย บัญชีคนเข้าและคนออก
                    นอกจากนั้นยังได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐)
                    พ.ร.บ.ดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียบสำมะโนครัว โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน ที่จะจัดทำบัญชีสำมะโนครัวในหมู่บ้านของตน และคอยแก้ไขให้ถูกต้องอยู่เสมอ กำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของกำนันที่จะรักษาบัญชีสำมะโนครัว และทะเบียนบัญชีของรัฐบาลในตำบลนั้น และคอยแก้ไขให้ถูกต้องตรงกับบัญชีของผู้ใหญ่บ้าน และกำหนดให้นายอำเภอมีหน้าที่ที่จะทำบัญชีสำมะโนครัว และทะเบียนทุกอย่าง บรรดาที่ต้องการใช้ในราชการ
                    การจัดทำบัญชีสำมะโนครัวครั้งนั้น และในระยะต่อมาเป็นการสำรวจจำนวนคนในเขตท้องที่ต่าง ๆ และจัดทำบัญชีแสดงรายการของคนไว้เป็นหลักฐานเรียกว่าสำมะโนครัว ยังคงปรากฎเอกสารให้เห็น ในรูปของทะเบียนสำมะโนครัว        ๒๘/๑๗๖๗๗
            ๕๐๙๔. สำโรง ต้น  เป็นไม้ต้นสูงได้ถึง ๓๐ เมตร ผลัดใบ เรือนยอดแผ่กว้าง ลำต้นเปลาตรง ใบเป็นช่อรูปนิ้วมือ ส่วนมากจะมีใบย่อยรูปรีขอบขนานหรือรูปหอก ดอกแยกเพศแต่อยู่ในต้นและช่อเดียวกัน สีแสดหรือแดง กลิ่นเหม็น ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่งและง่ามใบ ใกล้ปลายกิ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ออกดอกพร้อมผลิใบใหม่ ผลแห้งแตกรูปไตออกรวมกันเป็นพวงห้อยย้อยลง การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ เนื้อไม้สีน้ำตาลปนเทาเนื้อหยาบแต่ค่อนข้างเหนียว แปรรูปได้ง่าย ใช้ทำไม้แบบหล่อคอนกรีต ทำลังใส่ของ เปลือกใช้ทำเชือกหยาบ ๆ น้ำมันจากเนื้อไม้ในเมล็ดใช้ปรุงอาหาร และใช้จุดไฟ ใบใช้เป็นยาระบาย ผลเป็นยาสมาน และบรรเทาโรคไต       ๒๘/๑๗๖๗๙
            ๕๐๙๕. สำลี ต้น  เป็นชื่อพันธุ์ไม้บางชนิดที่มีส่วนใดส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นเส้น ใบสีขาวนุ่ม และน้ำหนักเบา และมักผูกพันกับคำว่าฝ้าย เพราะมีการนำเอาปุ๋ยที่หุ้มเมล็ดฝ้ายมาฟอกให้ขาวขึ้นปราศจากไขมัน และสิ่งเจือปนอื่น ๆ มาใช้เรียกว่าสำลี พันธุ์ไม้ที่มีชื่อสำลี มีสามชนิดคือ
                    ๑. สำลี ฝ้ายสำลี  เป็นไม้พุ่มเตี้ย สูง ๑ - ๓ เมตร ใบเดี่ยวติดเรียงสลับ ทรงใบรูปใบปาล์มมี ๓ - ๕ แฉก ดอกเดี่ยวสีเหลืองอ่อนออกตามง่ามใบ บานในช่วงเช้า และหุบในช่วงบ่าย ปลายกลีบดอกมักออกสีชมพูเรื่อ ผลแห้งแตกรูปไข่ มีพูตามยาว ๓ - ๕ พู เมล็ดสีดำมีใบสีขาวคลุมแน่น เส้นใยนี้ใช้ทำด้ายทอผ้า ทำสำลีทางการแพทย์ การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ
                    ๒. ไม้สำลี  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๓๐ เมตร ใบเดี่ยวติดเวียนกันตามปลายกิ่ง ทรงใบรูปไข่ หรือรูปหัวใจ ดอกโตสีขาวเป็นดอกเดี่ยวออกตามง่าม ใบใกล้ปลายกิ่ง ผลแห้งแตกรูปทรงกระบอก เมล็ดสีดำจำนวนมาก มีใบสีขาวคลุมแน่น ประโยชน์ใช้เนื้อไม้บุผนังกับความร้อนและเก็บเสียง ทำทุ่นลอยน้ำ เส้นใยใช้ทำด้ายทอผ้า การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ
                    ๓. สำลีงา  ดูที่สักขีย่าย สักขีย่าน สำมะงา สำลีงา ในคำสัก ไม้ ลำดับที่...       ๒๘/๑๗๖๘๓
            ๕๐๙๖. สำลี ปลา  เป็นปลากระดูกแข็งน้ำเค็ม วงศ์เดียวกับปลาสีกุน และปลาหางแข็ง มีลำตัวค่อนข้างยาว แบนข้างเล็กน้อย ชอบอาศัยตามบริเวณพื้นทะเลในทะเลเปิดทั่วไป และมักอยู่รวมกับปลาใหญ่เช่น ฉลาม กระเบน นับเป็นปลาเศรษฐกิจ มีราคาค่อนข้างแพง มีรสชาดดี ปรุงอาหารได้หลายแบบ       ๒๘/๑๗๖๘๖
            ๕๐๙๗. สิขี  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง  นับเป็นพระองค์ที่ยี่สิบในจำนวนพระพุทธเจ้า ที่ทรงอุบัติแล้วในโลกยี่สิบห้าองค์ (ดูวิปัสสี - ลำดับที่. ๔๘๙๒..)       ๒๘/๑๗๖๘๙
            ๕๐๙๘. สิงคโปร์  เป็นประเทศในทวีปเอเซีย มีชื่อเรียกเป็นทางการว่าสาธารณรัฐสิงคโปร์ ตั้งอยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ บนเกาะนอกชายฝั่งตอนใต้สุดของคาบสมุทรมลายู มีช่องแคบยะโฮร์และช่องแคบสิงคโปร์กั้นอยู่ระหว่างมาเลเซีย และอินโดนีเซียตามลำดับ มีพื้นที่ ๕๘๓ ตร.กม.จัดเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในภูมิภาค
                    ลักษณะภูมิประเทศ ประกอบด้วย เกาะขนาดใหญ่หนึ่งเกาะ และเกาะขนาดเล็กเกาะน้อยอีกห้าสิบเกาะ เกาะสิงคโปร์มีพื้นที่ ๕๔๑ ตร.กม.ใหญ่กว่าเกาะภูเก็ตของไทยเล็กน้อย ตัวเกาะสิงคโปร์พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ ชายฝั่งทะเลค่อนข้างเว้าแหว่ง จึงมีอ่าวจอดเรือที่ดีหลายแห่ง ทางตอนเหนือของเกาะมีถนน และทางรถไฟข้ามช่องแคบยะโฮร์ในประเทศมาเลเซีย
                    สิงคโปร์ เดิมเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ มีชื่อเรียกตามตำนานพื้นเมืองของมลายูว่า เตเมเส็ก ทำการค้ารุ่งเรืองขึ้นในพุทธศตวรรษที่สิบแปด ต่อมาในพุทธศตวรรษที่สิบเก้า ถูกอาณาจักรมัชปาหิตในเกาะชวา บุกรุกเข้าทำลายจนหมด กลายเป็นเพียงหมู่เกาะบ้านประมงเล็ก ๆ  ในความดูแลของสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ชื่อ สิงคโปร์คงจะเกิดขึ้นตอนนี้
                    ในปี พ.ศ.๒๓๖๒ ผู้แทนบริษัทบริติชอีสต์อินเดียได้เจรจาขอเช่าสิงคโปร์จากสุลต่านรัฐยะโฮร์ เพื่อสร้างสถานีการค้าและท่าเรือขึ้นบนเกาะนั้น ทำการค้าขายแข่งกับพ่อค้าชาวฮอลันดา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๗ อังกฤษกับฮอลันดาได้ทำความตกลงกันเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะสิงคโปร์ ส่งผลให้อังกฤษได้สิงคโปร์ไปเป็นอาณานิคมของตน และต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๙ ก็ได้รวมเมืองสามเมืองที่ตั้งอยู่ในบริเวณช่องแคบมะละกา ต่อเนื่องกับช่องแคบสิงคโปร์คือปีนัง มะละกา และสิงคโปร์ จัดตั้งเป็นนิคมช่องแคบ ภายใต้ความดูแลของรัฐบาลอินเดียของอังกฤษ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๑๐ นิคมช่องแคบจึงเปลี่ยนสภาพเป็นอาณานิคมขึ้นตรงต่อรัฐบาลอังกฤษ
                    นอกจากจะสร้างความมั่นคงทางการค้าและความพร้อมในการให้บริการแก่เรือสินค้าต่าง ๆ แล้ว อังกฤษยังทำให้สิงคโปร์เป็นฐานทัพเรือที่สำคัญของตนด้วย
                    ในสงครามโลกครั้งที่สองกองทัพญี่ปุ่นยึดสิงคตโปร์ได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ จนสิ้นสงครามในปี พ.ศ.๒๔๘๘ จึงตกเป็นของอังกฤษอีกจนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๒ อังกฤษจึงได้สิทธิ์ปกครองตนเอง และได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้เข้าร่วมเป็นรัฐหนึ่งในสิบสี่รัฐของมาเลเซีย ซึ่งประกอบด้วยมาเลเซีย ซาบาร์ ซาราวัค และสิงคโปร์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๘ สิงคโปร์ได้ขอถอนตัวออกจากมาเลเซีย จัดตั้งเป็นประเทศสิงคโปร์ในปีเดียวกัน  ความมั่นคงทางการเมืองภายในของสิงคโปร์ มีปัจจัยด้านความสมานฉันท์ของประชากร ภายในประเทศเป็นพลังสนับสนุนที่สำคัญ สิงคโปร์มีประชากรหลายเชื้อชาติรวมกัน ประกอบด้วยคนเชื้อสายจีนร้อยละ ๗๖ เชื้อสายมลายู ร้อยละ ๑๕ เชื้อสายอินเดีย ร้อยละ ๖ และอื่น ๆ ร้อยละ ๓ สิงคโปร์ไม่มีนโยบายกีดกันเชื้อชาติ กำหนดให้มีภาษาที่ใช้เป็นทางการถึงสี่ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษามาเลย์ และภาษาทมิฬ      ๒๘/๑๗๖๙๑
            ๕๐๙๙. สิงโต  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์เดียวกับเสือและแมวป่า ความยาวลำตัวของตัวผู้จากปลายปากถึงโคนหางยาว ๑.๗ - ๑.๙ เมตร โตเต็มที่หนัก ๑๒๐ - ๑๘๐ กก. สิงโตแบ่งออกเป็นชนิดย่อยได้คือ สิงโตอินเดีย สิงโตมาไช สิงโตเชเนกัล สิงโตแองโกลา หรือสิงโตโรดีเซียและสิงโตทรานสวาล
                    สิงโตอยู่รวมเป็นฝูง แต่ละฝูงประกอบด้วยสิงโตตัวผู้ ๒ - ๓ ตัว ตัวเมีย ๕ - ๑๐ ตัว และลูก ๆ สิงโตตัวเมียมักอยู่ด้วยกันไปตลอดชีวิต ยกเว้นตัวเมียที่ยังสาวอาจแยกไปอยู่ฝูงใหม่ สิงโตตัวผู้จะแยกจากฝูงไปเมื่ออายุ ๒ - ๓ ปี และมีตัวผู้ตัวใหม่มาแทนที่ สิงโตตัวผู้ในวัยหนุ่มที่แยกออกจากฝูงและไปอยู่รวมกันในที่ใหม่เป็นกลุ่ม ๆ เมื่ออายุได้ ๓ - ๓ ๑/๒ ปี จะต่อสู้กับตัวผู้ที่คุมฝูงอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อแทนที่และกลายเป็นสมาชิกใหม่ที่ควบคุมฝูง ตัวผู้จะสู้เพื่อแย่งชิงเขตแดนกัน
                    ในการล่าเหยื่อ สิงโตตัวเมียเป็นตัวล่าเหยื่อ และตัวผู้จะร่วมกินเหยื่อด้วย สิงโตโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุสี่ปี ออกลูกครั้งละ ๒ - ๔ ตัว เริ่มหัดกินเนื้อเมื่ออายุหนึ่งเดือน เมื่อายุได้สามเดือนจะเริ่มออกล่าเหยื่อพร้อมแม่ อดนมเมื่ออายุ ๖ - ๗ เดือน รวมล่าเหยื่อกับแม่ประมาณสองปีเศษ เมื่อแม่สิงโตตกลูกครอกใหม่ก็จะแยกตัวจากลูกครอกก่อน สิงโตมีอายุ ๒๐ - ๒๕ ปี         ๒๘/๑๗๖๙๙
            ๕๑๐๐. สิงโตทะเล  มีรูปร่างลำตัวคล้ายกระสวย และมีรยางค์คล้ายครีบ  เพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว ลำตัวยาว ๑.๕ - ๓.๕ เมตร น้ำหนัก ๓๔ - ๑,๑๐๐ กก.  กระดูกของแขนและขาคล้ายกับสัตว์กินเนื้อที่อาศัยอยู่บนบก
                    สิงโตทะเล แตกต่างจากวาฬ โลมา และพยูน ตรงที่สิงโตทะเลขึ้นมาอยู่บนบกได้ สิงโตทะเลมีอายุ ๑๒ - ๓๐ ปี ในฤดูผสมพันธุ์ พวกมันจะมารวมกันอยู่ตามหมู่เกาะ หรือชายฝั่งเป็นจำนวนมาก ศัตรูของสิงโตทะเลคือ วาฬเพชฌฆาต  และหมีขั้วโลก        ๒๘/๑๗๗๐๒
            ๕๑๐๑. สิงห์บุรี  จังหวัดในภาคกลางตอนล่าง มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.นครสวรรค์ ทิศตะวันอออก ติดต่อกับ จ.ลพบุรี ทิศใต้ติดต่อกับ จ.อ่างทอง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับ จ.สุพรรณบุรี ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับ จ.ชัยนาท มีพื้นที่ ๘๒๒ ตร.กม.
                    ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ โดยมีแม่น้ำสำคัญสองสาย ไหลผ่านเขตจังหวัดเกือบจะคู่ขนานกัน จากทิศตะวันตกเฉีงเหนือ ไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย และยังมีลำน้ำเล็ก ๆ อีกหลายสาย
                    ด้านประวัติศาสตร์ จ.สิงห์บุรี เดิมชื่อ เมืองสิงห์ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ทางลำน้ำจักรสีห์ ในเขต ต.จักรสีห์ อ.เมือง ฯ โดยมีเมืองเก่าปรากฎอยู่บริเวณใกล้วัดหน้าพระธาตุ เรียกว่า บ้านหน้าพระลาน เมื่อพระรามาธิบดีที่หนึ่ง (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้กำหนดให้เมืองสิงห์ เมืองอินทร์ และเมืองพรหม เป็นเมืองชั้นใน ขึ้นอยู่กับเมืองหน้าด่าน ด้านทิศเหนือ คือ เมืองลพบุรี
                    ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ปรากฎชื่อเมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี อยู่ในรายชื่อหัวเมืองจัตวา ฝ่ายเหนือ ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้ยุบเมืองอินทร์บุรี และเมืองพรหมบุรี ลงเป็นอำเภอ และตั้งเมืองใหม่เรียกว่า อ.บางพุทรา จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๑ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น อ.เมืองสิงห์บุรี ส่วนเมืองสิงห์บุรีเก่า บนฝั่งแม่น้ำน้อย ซึ่งเดิมเรียกว่า อ.สิงห์ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น อ.บางระจัน
                    โบราณสถานที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านคู แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย ค่ายบางระจัน และวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร        ๒๘/๑๗๗๐๔
            ๕๑๐๒. สิทธัตถะ  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง นับเป็นพระองค์ที่สิบหก ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้น ในโลกแล้วยี่สิบห้าพระองค์         ๒๘/๑๗๗๐๘
            ๕๑๐๓. สิทธิบัตร  มีคำนิยามว่า "หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครอง การประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามที่กำหนดไว้ในหมวดสอง และหมวดสาม แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๒
                    คำว่า  สิทธิบัตร ยังมีความหมายอีกประการหนึ่งคือ สาระสำคัญแห่งการคุ้มครอง จากการที่มีเอกสารสิทธิบัตรให้การรับรองสิทธิไว้ อันได้แก่ สิทธิแต่ผู้เดียวในการแสวงหาประโยชน์ ตามที่กฎหมายสิทธิบัตรของแต่ละประเทศกำหนดไว้
                    คำว่า สิทธิบัตร มาจากคำว่า เอกสารสิทธิบัตร เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ.๑๘๗๔ ณ ประเทศอังกฤษ หมายถึง เอกสารที่ประทับตราของกษัตริย์ ในตอนท้ายของเอกสาร เพื่อเป็นหลักฐานในการอนุญาตให้ชาวต่างประเทศ หรือบุคคลใดมีสิทธิ ประกอบกิจการพาณิชย์บางประเภท
                    สำหรับประเทศไทย ก่อนปี พ.ศ.๒๕๒๒ ขึ้นไป ยังไม่เคยมีการให้ความคุ้มครองในเรื่องสิทธิบัตร เพราะเกรงว่า จะเป็นการเปิดช่องให้แก่ชาวต่างประเทศ ใช้สิทธิผูกขาดตามสิทธิบัตร อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่การพัฒนา และความมั่นคงของชาติ ได้มีความพยายามร่างกฎหมายสิทธิบัตร มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๐ แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณา แต่ประการใด จนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๑ คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างกฎหมายสิทธิบัตร เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้ประกาศใช้กฎหมายเพื่อออกสิทธิบัตรแก่การประดิษฐ์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเรียกว่า " พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.๒๕๒๓" ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.๒๕๓๕ และ ปี พ.ศ.๒๕๔๒ ตามการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการ และการพาณิชย์ระหว่างประเทศ         ๒๘/๑๗๗๑๐
            ๕๑๐๔. สิบสองจุไท  เป็นชื่อดินแดน ปัจจุบันตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับแคว้นตังเกี๋ย และภาคใต้ของประเทศจีน ทิศตะวันออกติดต่อกับแม่น้ำดำ ทิศตะวันตกติดต่อกับเขตหัวพัน (ซำเหนือ) ของประเทศลาว มีเมืองแถง (แถน) หรือเดียนเบียนฟู เป็นเมืองดั้งเดิมของดินแดนนี้ สิบสองจุไท หมายถึง สิบสองเขตแดนของไทย หรือสิบสองเจ้าไท
                    เดิมบริเวณที่เรียกว่า สิบสองจุไท ประกอบด้วยเมืองใหญ่น้อยรวมสิบหกเมือง เรียกชื่อว่า สิบหกเจ้าไท ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๗ - ๒๔๒๘ ประเทศฝรั่งเศส จีน และเวียดนาม ได้ลงนามในสนธิสัญญาเทียนสิน เพื่อกำหนดเขตแดนของประเทศเวียดนาม และประเทศจีนใหม่ ดินแดนสิบหกเจ้าไท จำนวนหกเมือง ได้ถูกรวมเข้ากับประเทศจีน จึงเหลืออยู่เพียงสิบเมือง ในเขตเวียดนาม ต่อมาฝรั่งเศสได้จัดการปกครองอีกครั้ง โดยยกฐานะอำเภอสองอำเภอขึ้นเป็นเมืองคือ เมืองมุน และเมืองควาย รวมเข้ากับเมืองที่มีอยู่เดิมสิบเมือง จึงเป็นสิบสองเมือง เรียกว่า สิบสองเจ้าไท หรือสิบสองจุไท
                    สิบสองจุไท มีพลเมืองหลายกลุ่มชาติพันธุ์ โดยมีคนไทยดำ หรือผู้ไท และไทขาว เป็นหลัก เมืองแต่ละเมืองมีเจ้าปกครองเป็นอิสระต่อกัน ประกอบด้วยเมืองไทขาว สี่เมือง ได้แก่ เมืองไล เมืองเจียน เมืองมุน เมืองบาง และเมืองของไทดำ แปดเมือง ได้แก่ เมืองแถง เมืองควาย เมืองดุง เมืองม่วย เมืองลา เมืองโมะ เมืองหวัด (วาด) และเมืองซาง
                    จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่าสิบสองจุไท มีร่อยรอยของคนที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองแถง มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในยุคหินเก่า เชื่อกันว่า เมืองแถง เป็นถิ่นฐานดั้งเดิม และศูนย์กลางของสิบสองจุไท มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของคนไทในสิบสองจุไท และในประเทศเวียดนาม คงจะเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่สิบเอ็ด ในบรรดากลุ่มคนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสิบสองจุไท กลุ่มคนไทดำเป็นกลุ่มใหญ่ มีจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น และเป็นกลุ่มคนไทที่รักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทไว้ ได้มากกว่ากลุ่มอื่น
                    ราวพุทธศตวรรษที่สิบเจ็ด พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) ได้ขยายอำนาจและอาณาเขตมายึดสิบสองจุไท พวกผู้ไทจึงอยู่ภายใต้การปกครองของศรีสัตนาคนหุต จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ยี่สิบสอง อำนาจของกรุงศรีสัตนาคนหุตอ่อนแอลง จนถึงปี พ.ศ.๒๒๕๐ กรุงศรีสัตนาคนหุต ถูกแยกเป็นสองอาณาเขตคือ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ดินแดนสิบสองจุไท จึงถูกแบ่งแยกตามไปด้วย ฝ่ายตะวันตก มีเมืองพวน และเมืองเชียงขวาง อยู่ในการปกครองของเวียงจันทน์ ส่วนหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นไป เจ้านครหลวงพระบางแต่งขุนนางตำแหน่งหัวพัน ไปปกครองดินแดนนี้ จึงเรียกว่า เขตหัวพัน  ส่วนหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปคือ บริเวณสิบสองจุไท เจ้าเมืองหลวงพระบางให้เจ้าเมืองปกครองกันเอง ในทำนองประเทศราช
                    ต่อมาเมืองหลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ตกเป็นเมืองประเทศราชของสยาม สิบสองจุไทจึงนับอยู่ในอาณาเขตของสยามด้วย ต่อมาเมื่อเมื่อประเทศเวียดนาม และจีน ได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้ และตะวันตก จึงได้ส่งข้าหลวงมายึดครองดินแดนสิบสองจุไท เจ้าเมืองทั้งหมดยอมส่งบรรณาการให้จีน และเวียดนาม ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองในปกครองของหลวงพระบางด้วย สิบสองจุไทจึงได้ชื่อ อีกชื่อหนึ่งว่า เมืองสองฝ่ายฟ้า และเมืองสามฝ่ายฟ้า มาแต่โบราณ
                    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พวกฮ่อจากประเทศจีน ยกกำลังมาตีหัวเมืองสิบสองจุไท และเมืองพวน และยึดได้ทั้งสองเมือง แล้วขยายอำนาจไปถึงเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ จึงโปรดให้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ยกกองทัพไปปราบฮ่อหลายครั้ง ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๑๘ - ๒๔๓๓ สามารถปราบฮ่อได้เรียบร้อย แต่ฝรั่งเศสอ้างว่า สิบสองจุไท เป็นเมืองในปกครองของเวียดนาม และให้เจ้าเมืองไล ปกครองสิบสองจุไท ในฐานะเมืองหลวง สืบมาจนเวียดนามเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยโฮจิมินห์        ๒๘/๑๗๗๒๒
            ๕๑๐๕. สิบสองพันนา  เป็นดินแดนที่ปัจจุบันเป็นเขตปกครองตนเอง ของมณฑลหยุนหนาน ประเทศจีน มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับเมืองซือเหมา ทิศตะวันออกติดต่อกับเมืองอู่ใต้ เมืองอู่เหนือ และเมืองสิงห์ ประเทศลาว ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดต่อกับแขวงพงสาลี และแขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว ทิศใต้ติดต่อกับเขตหลวงพระบาง และจังหวัดน่าน ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตเชียงตุง ของประเทศพม่า ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับแม่น้ำโขง มีพื้นที่ประมาณ ๒๕,๐๐๐ ตร.กม.
                    ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขา และที่สูงประมาณร้อยละ ๙๕ มีพื้นที่ราบ สำหรับการเพาะปลูกน้อย เพียงร้อยละ ๔ มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ทำให้พื้นที่แบ่งออกเป็นสองฟาก ที่ราบลุ่มแม่น้ำระหว่างหุบเขา เป็นพื้นที่ทำการเพาะปลูก มีขนาดตั้งแต่ ๑ ตร.กม. ขึ้นไปเรียกว่า ทุ่งเมือง มีทั้งหมด ๔๙ ทุ่งเมือง
                    คำว่า สิบสองพันนา หมายถึง สิบสองเขตการปกครอง ในล้านนามีระบบปกครองที่เรียกว่า พันนา เช่นกัน โดยกำหนดตามพื้นที่นา ที่ได้รับน้ำจากเหมืองฝายเดียวกัน ซึ่งพันนา มาจากชื่อแม่น้ำ หรือชื่อเมือง ที่พันนา ตั้งอยู่ แต่ละพันนา ในล้านนามี เจ้าพันนา เป็นผู้ปกครอง เมืองบริวารของพันนา เรียกว่า ลูกพันนา ทุกพันนาขึ้นอยู่กับกษัตริย์เชียงใหม่
                    สิบสองพันนา ได้ชื่อมาจากชื่อเขตปกครอง ที่เรียกว่า พันนา จำนวนสิบสองเขต คำนี้เริ่มใช้ในสมัยเจ้าอินทรเมือง ปกครองระหว่างปี พ.ศ.๒๑๒๒ - ๒๑๒๖ ได้แบ่งเมืองทั้งหมดออกเป็นสิบสองกลุ่ม พันนาต่าง ๆ ประกอบด้วย เมืองหลายเมือง เมืองทั้งหมดในสิบสองพันนา มีสามสิบเมือง ที่สำคัญมีสิบสองเมือง
                    สิบสองพันนา แต่เดิมเรียกว่า เมืองเชียงรุ่ง  หรือ หอคำเชียงรุ่ง พญาเจื่องเป็นผู้สร้างเมืองนี้ เมื่อปี พ.ศ.๑๗๒๓ และทรงเป็นปฐมกษัตริย์ ก่อนหน้านี้เป็นที่อยู่ของพวกหนานฟันดำ อยู่ในเขตปกครองของอาณาจักรน่านเจ้า ถึงปี พ.ศ.๑๗๙๖ กุบไลข่าน (พ.ศ.๑๗๕๙ - ๑๘๓๗)  แห่งราชวงศ์หยวน ได้ยกกองทัพมาตีน่านเจ้าแตก และส่งกองทัพไปตีอันนัม (เวียดนาม)  กองทัพเดินทางผ่านเชียงรุ่ง จึงได้โจมตีเชียงรุ่ง ได้ผนวกเชียงรุ่งเข้ากับจีน และจัดตั้งสำนักปกครองทหารและพลเรือน ที่เชียงรุ่ง
                    ในปี พ.ศ.๑๘๓๙  พญามังรายแห่งเชียงใหม่ ได้แผ่อิทธิพลขึ้นไปทางเหนือถึงเชียงรุ่ง ราชวงศ์หยวน พยายามเกลี้ยกล่อม ในปี พ.ศ.๑๘๖๙ จึงตกเป็นรัฐบรรณาการของจีน ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๒๕ จีนสมัยราชวงศ์หมิงเข้ายึดครองเมืองเชียงรุ่ง ในปี พ.ศ.๑๙๒๗ จีนจัดระเบียบการปกครองของเมืองเชียงรุ่งใหม่ให้รวมกับหยุนหนาน เชียงรุ่งจึงมีฐานะเป็น แสนหวี   คำนี้มาจากภาษาจีน แปลว่า ปลอบโยน
                    เชียงรุ่งมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองสืบมาอีกหลายองค์ จนถึงปี พ.ศ.๒๑๑๑ พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่ายกทัพไปตีเชียงรุ่ง และให้เชียงรุ่งส่งกองทัพไปตีเชียงใหม่ อยุธยา และเมืองอื่น ๆ ไว้ในอำนาจ
                    เมืองเชียงรุ่งตกเป็นเมืองประเทศราชของทั้งประเทศพม่า และประเทศจีน การแต่งตั้งพระเจ้าแผ่นดิน ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองประเทศ จึงเรียกว่า เมืองสองฝ่ายฟ้า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๓ เมืองแซ่ ก่อการกบฎ จีนส่งกองทัพมาปราบปราม และตั้งค่ายถาวรเป็นฐานกำลังจีนที่เชียงรุ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๖ จีนตั้งกรมบริหารชายแดน และแบ่งสิบสองพันนาเป็นแปดเขต และต่อมาได้แบ่งเป็นแปดอำเภอ ในปี พ.ศ.๒๔๗๐  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๒ จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น ลัทธิคอมมิวนิสต์ จีนได้ยกเลิกตำแหน่ง เจ้าแผ่นดินเชียงรุ่งสิบสองพันนา
                    ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตรงกับสมัยพระเจ้ากาวิละของเชียงใหม่ พระองค์ได้ทำสงครามกับพม่า และยกกองทัพเข้าไปถึงดินแดนสิบสองพันนา ได้กวาดต้อนชาวไทลื้อจากเมืองต่าง ๆ ในสิบสองพันนา ลงมาเป็นจำนวนมาก มาตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปในล้านนา หรือภาคเหนือตอนบน เกือบทุกจังหวัด          ๒๘/๑๗๗๓๙
            ๕๑๐๖. สีสุก, ไผ่  เป็นไผ่ระบบเหง้ากอขนาดกลาง ถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๐ - ๒๕ เมตร มีหนาม ลำเบียดอัดกันแน่นเป็นกอแน่น ลำต้นตรงปลายโค้งเล็กน้อย แตกกิ่งตลอดความยาวของลำ ตั้งแต่กลางลำขึ้นไปจะเป็นกิ่งที่มีใบ ใบจำนวนมากแผ่ออกในแนวระนาบ เนื้อลำหนา ช่อดอกเป็นช่อแยกแขนงขนาดใหญ่ ช่อดอกย่อยเป็นช่อดอกย่อยเทียม
                    หน่อไผ่สีสุก สามารถบริโภคได้ ลำหรือเนื้อไม้นิยมใช้ทำคานสำหรับหาบสิ่งของ และเนื่องจากเนื้อไม้หนา และมีแรงยืดหยุ่นดี เหนียวทนทาน จึงมักนำมาใช้ทำเครื่องจักสาน หรือใช้ทำเครื่องเรือน หรือใช้ในการทำนั่งร้าน การก่อสร้าง ใช้เป็นโครงปลูกกระต๊อบ นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ โดยปลูกไว้ตามริมคลอง หรือริมน้ำ เนื่องจากมีระบบรากสานกันแน่น ช่วยป้องกันตลิ่งพังได้อย่างดี และยังปลูกเป็นแนวรั้วตามบ้านเรือน กันลมได้ดี          ๒๘/๑๗๗๕๙
            ๕๑๐๗. สีเสียด, ต้น  เป็นไม้ต้นผลัดใบ ขนาดเล็ก ถึงขนาดกลาง สูง ๓ - ๑๕ เมตร ใบประกอบแบบขนนก สองชั้นเรียงสลับใบย่อยรูปขอบขนานแคบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด รูปทรงกระบอกออกเป็นคู่ ที่ซอกใบ ดอกสีเหลืองอ่อนถึงขาว ผลแห้งแตกเป็นฝักแบน รูปขอบขนานมี ๓ - ๑๐ เมล็ด
                    เนื้อไม้แข็งแรงทนทานต่อการทำลายของปลวก และเพรียง จึงนำมาใช้ทำเสาบ้าน เครื่องมือเกษตร วงล้อ แก่นของต้นมีสารประกอบทางเคมี ส่วนใหญ่เป็นสารแทนนิน นำมาใช้ประโยชน์ในการฟอกหนัง ใช้เป็นยาฝาดสมาน และแก้พิษของแอลคาลอยด์  และโลหะบางชนิดได้ คนโบราณใช้ผงสีเสียด ผสมกับปูน หรือกับเปลือกสีเสียด แล้วเคี้ยวกับหมาก และพลู เพื่อกันมิให้ปูนกัดปาก        ๒๘/๑๗๗๖๒
            ๕๑๐๘. สีเสียด, ปลา  เป็นชื่อปลากระดูกแข็ง น้ำเค็ม ลำตัวค่อนข้างยาวแบนข้างมากยาว ๓๐ - ๕๐ ซม.  อยู่ในสกุลเดียวกับปลาเฉลียบ และปลาสละ พบตามบริเวณชายฝั่งทะเล ในบริเวณอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน
                    ปลาสีเสียด ไม่นิยมบริโภคเป็นปลาสด มักทำเค็มตากแห้ง        ๒๘/๑๗๗๖๘
            ๕๑๐๙. สุขาภิบาล  เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแบบหนึ่งของประเทศไทย ตามหลักการกระจายอำนาจปกครอง โดยยกฐานะท้องถิ่นขึ้นเป็นองค์การบริหารท้องถิ่น มีสภาพเป็นนิติบุคคล แยกออกไปจากราชการบริหารส่วนกลาง และให้พลเมืองในท้องถิ่นนั้น เลือกผู้แทนของตนทั้งหมด หรือบางส่วน เข้าร่วมบริหารกิจการของท้องถิ่น ตามที่กฎหมายได้กำหนดอำนาจ และหน้าที่ไว้
                    เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ ได้มีการทดลองกระจายอำนาจปกครองครั้งแรก ในรูปแบบสุขาภิบาลแห่งแรกขึ้น ที่ตำบลบ้านตลาด ท่าฉลอม แขวงเมืองสมุทรสาคร
                    เมื่อได้จัดตั้งเทศบาลขึ้น โดยแปลงสภาพสุขาภิบาลที่จัดตั้งไว้แต่เดิม เริ่มแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๘ ได้ยกเลิก พ.ร.บ.จัดการสุขาภิบาลตามหัวเมือง ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑)  และประกาศแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ต่อมาเมื่อได้ระงับการตั้งเทศบาล หลังจากที่ได้ตั้งขึ้น ๑๒๐ แห่ง เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารของเทศบาล และปัญหาเกี่ยวกับรายได้ของเทศบาล มีไม่เพียงพอที่จะพัฒนาท้องถิ่น จึงได้นำระบบสุขาภิบาลมาใช้อีกครั้งหนึ่ง โดย พ.ร.บ.สุขาภิบาล พ.ศ.๒๔๙๕ และได้มีการจัดตั้งสุขาภิบาลขึ้นใหม่ ในท้องถิ่นที่เห็นว่า ยังไม่สมควรยกฐานะเป็นเทศบาล
                    สุขาภิบาล ที่ได้จัดตั้งขึ้นแล้วนั้น อาจเปลี่ยนฐานะเป็นเทศบาลได้ โดยตรา พ.ร.บ.ยกฐานะเป็นเทศบาล ตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ และ พ.ร.บ.สุขาภิบาล พ.ศ.๒๔๙๕ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทย กำหนด
                    พ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นผลให้สุขาภิบาล ต้องเลิกไป และเปลี่ยนสภาพเป็นเทศบาล        ๒๘/๑๗๗๗๐
            ๕๑๑๐. สุขาวดี  มีนิยามว่า " แดนอันมีความสุขตามความเชื่อของลัทธิมหายาน " เป็นชื่อสวรรค์ชั้นพิเศษ ไม่มีใน ฉกามาพจรสวรรค์ หกชั้นของพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท และไม่ใช่สวรรค์ของศาสนาฮินดู แต่เป็นสวรรค์ของพระพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน เรียกว่า พุทธเกษตร อยู่ทางทิศตะวันตก ผู้เข้าสู่พุทธเกษตรนี้แล้ว สามารถบรรลุนิพพานบนนี้ได้เลย พระพุทธเจ้าผู้ครองพุทธเกษตรสุขาวดีนี้ มีพระนามว่า อมิตาภะ แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้มีแสงสว่าง หาประมาณมิได้
                    มหายาน ถือว่า อมิตาภ พุทธะ เป็น ธยานิพุทธะ (พระพุทธเจ้าผู้ทรงฌาน) องค์หนึ่ง ในพระพุทธเจ้าห้าองค์ ซึ่งอุบัติขึ้นจากพระพุทธเจ้าองค์ปฐม ที่เรียกว่า อาทิพุทธะ
                    ความเป็นมาของคติความเชื่อเรื่องสุขาวดี และอมิตภพุทธ มีปรากฎอยู่ในคัมภีร์ฝ่ายมหายานที่สำคัญสามสูตรคือ คัมภีร์มหาสุขาวดีวยุหสูตร จุลสุขาวดีวยุหสูตร และอมิตายุรธยานสูตร ซึ่งเป็นบ่อเกิดนิกายสุขาวดี ฝ่ายมหายาน
                    เมื่อตรวจดูจากคัมภีร์ต่าง ๆ ของเถรวาทแล้ว จะพบว่า คติความเชื่อเรื่องสุขาวดี และอมิตภะ มีเค้ามาจากคัมภีร์ของเถรวาท ผสมผสานกับคติความเชื่อเรื่องพรหมัน ของฮินดู
                    สวรรค์สุขาวดี คล้ายกับสวรรค์ของศาสนาคริสต์ และศาสนาเปอร์เซียโบราณ แต่สุขาวดีหาใช่เป็นที่สิ้นสุด แห่งความปรารถนาของศาสนิกชน เหมือนศาสนาดังกล่าวไม่ เพราะสุขาวดีเป็นแดนสำหรับพัก เพื่อไปสู่นิพพานต่อไป เปรียบได้กับพรหมชั้นสุทธาวาส ตามคติความเชื่อของเถรวาท ที่ว่าเป็นแดนที่อยู่ของพรหม ผู้เป็นอริยบุคคลชั้นอนาคามี ซึ่งแปลว่า ผู้ไม่กลับ คือไม่กลับมาเกิดใดโลกมนุษย์อีก แต่จะบำเพ็ญธรรมอยู่ในชั้นสุทธาวาสนี้ต่อไป จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วนิพพานในที่นั้นเลย        ๒๘/๑๗๗๘๖
            ๕๑๑๑. สุโขทัย, กรุง  เป็นชื่อเมืองหลวง และชื่ออาณาจักรของไทย ระหว่างประมาณปี พ.ศ.๑๗๙๒ ถึงราว พ.ศ.๑๙๘๑ รวมเวลา ๑๘๙ ปี  หลังจากนั้น จึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา
                    สุโขทัย ในฐานะเป็นอาณาจักรตั้งอยู่ทางภาคกลางตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบัน  ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของลุ่มแม่น้ำยม และลุ่มแม่น้ำน่าน ประกอบด้วย เมืองสำคัญคือ เมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสองแคว (พิษณุโลก)  เมืองชากังราว (กำแพงเพชร)  เมืองตาก และเมืองพระบาง (นครสวรรค์)  ในระยะแรกอาณาจักรของสุโขทัยกว้างขวาง ประกอบด้วยประเทศราช และดินแดนที่ผู้ปกครอง มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติ ของกษัตริย์สุโขทัย ที่ยอมรับอำนาจของพระองค์ เช่น เมืองเมาะตะมะ เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมาดินแดนเหล่านั้น ก็แยกตัวเป็นอิสระ
                    การก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยถือเอาเหตุการณ์ที่พ่อขุนผาเมือง และพ่อขุนบางกลางหาว ร่วมกันกำจัดขอมสบาดโขลญลำพงที่ยึดครองกรุงสุโขทัยได้สำเร็จ จากนั้นพ่อขุนบางกลางหาวได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สุโขทัย เฉลิมพระนามว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๙๒ เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ พระร่วง ในระยะแรกสุโขทัยขยายอาณาเขตออกไปกว้างขวาง มีดินแดนมากที่สุดในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ หลังรัชสมัยของพระองค์ เมืองหลายแห่งแยกเป็นอิสระ ประกอบกับมีการสู้รบเกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งที่เกิดจากการสู้รบ เพื่อชิงอำนาจภายในกันเอง และการสู้รบกับอาณาจักรรอบข้าง ที่พยายามเสริมสร้างอำนาจของตนเพิ่มขึ้น ทำให้สุโขทัยต้องเสียดินแดนหลายครั้ง
                    พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่คนสุโขทัยส่วนใหญ่นับถือ โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท มีอิทธิพลต่อความประพฤติ และการปฎิบัติตนของราษฎรทั้งปวง ความรู้พื้นฐานทุกประเภท รวมทั้งความรู้เรื่องหลักธรรม ของพระพุทธศาสนา ล้วนมาจากสำนักศึกษาที่พระสงฆ์ เป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น
                    จากหลักฐานที่เป็นโบราณสถาน และเป็นโบราณวัตถุพบว่า มีการสร้างวัด ศาสนสถานและพระพุทธรูป เป็นจำนวนมาก พระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนทั่วไป ศิลปกรรม วรรณกรรม ประเพณี อย่างกว้างขวาง        ๒๘/๑๗๗๙๑
            ๕๑๑๒. สุโขทัย  จังหวัดในภาคกลางตอนบน มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.แพร่ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดต่อกับ จ.อุตรดิตถ์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดต่อกับ จ.พิษณุโลก ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.กำแพงเพชร  ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับ จ.ตาก ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับ จ.ลำปาง มีพื้นที่ ๖,๕๙๖ ตร.กม.
                     ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบลอนลาด ที่ราบลุ่มแม่น้ำมีอยู่บนสองฝั่งของแม่น้ำยม ซึ่งไหลอยู่ในเขต จ.สุโขทัย ๑๙๐ กม. บริเวณที่อยู่ห่างจากฝั่งแม่น้ำยมออกไป พื้นที่มีลักษณะเป็นตะพักลำน้ำ และที่ราบลอนลาด และภูเขาเตี้ย ๆ ตั้งอยู่กระจัดกระจาย
                    ด้านประวัติศาสตร์  จ.สุโขทัย เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งมีอายุตั้งแต่ตอนปลายของพุทธศตวรรษที่ยี่สิบ รวมระยะเวลาประมาณ ๒๐๐ ปี ถือเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรือง และให้ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอด มาถึงคนไทยในรุ่นปัจจุบันนี้
                    ในพุทธศตวรรษที่สิบแปด ก่อนหน้าที่จะมีการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นนั้น ดินแดนในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง ยม และน่าน ในเขตภาคกลางตอนบนของประเทศไทย  ตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบัน มีชุมชนเมืองเกิดขึ้นแล้วหลายเมือง เมืองเหล่านี้อยู่ใต้อำนาจของขอม หรือเขมรโบราณ ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่เมืองพระนคร (หรือ เมืองนครธม)  ในประเทศกัมพูชาปัจจุบัน และมีศูนย์ควบคุมอำนาจของไทย อยู่ที่เมืองละโว้ (ลพบุรี)  ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง ชุมชนคนไทยจึงได้รวบรวมกำลังกัน ขับไล่ขอมและก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย โดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ พระร่วง หรือราชวงศ์สุโขทัย ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๒  เป็นระยะแรก อาณาจักรสุโขทัย ยังมีอาณาเขตไม่กว้างขวางนัก จนพ่อขุนรามคำแหง ฯ กษัตริย์องค์ที่สาม ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.๑๙๒๒ อาณาจักรสุโขทัยจึงแผ่ขยายออกไปโดยรอบ พร้อมกับความเจริญในด้านต่าง ๆ ดังปรากฎในศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง
                    กษัตริย์ในราชวงศ์สุโขทัย ได้ปกครองสืบต่อกันมารวมทั้งหมด เก้ารัชกาล แต่ในสามรัชกาลสุดท้าย อาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอลง ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรอยุธยา ซึ่งยกทัพมาตีอาณาจักรสุโขทัยเป็นประเทศราช ได้ในปี พ.ศ.๑๙๒๑ และเมื่อพระมหาธรรมราชาที่สี่ (บรมปาล)  กษัตริย์องค์สุดท้าย เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๑๙๘๑ ต่อมาอาณาจักรสุโขทัย ก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา
                    ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองบางเมือง ที่เคยเป็นเมืองสำคัญในสมัยสุโขทัยคือ เมืองสองแคว เปลี่ยนชื่อเป็น เมืองพิษณุโลก และเมืองศรีสัชนาลัย เปลี่ยนชื่อเป็น เมืองสวรรคโลก เมืองศรีสัชนาลัย นั้นเดิมคือ เมืองเชลียง เปลี่ยนชื่อเป็น ศรีสัชนาลัย ในสมัยสุโขทัย และมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง ของอาณาจักรสุโขทัย
                    ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเมืองสุโขทัยขึ้นใหม่ ที่บ้านธานี ริมฝั่งแม่น้ำยม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้ยกฐานะเมืองสวรรคโลกขึ้นเป็นจังหวัด และในปีต่อมาให้ยุบ จ.สุโขทัย ไปขึ้นกับ จ.สวรรคโลก พร้อมทั้งให้เปลี่ยนชื่อ อ.ธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของ จ.สุโขทัย เป็น อ.สุโขทัยธานี ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้ยกฐานะ อ.สุโขทัยธานี ขึ้นเป็น จ.สุโขทัย อีกครั้งหนึ่ง ส่วน จ.สวรรคโลก ให้ยุบลงเป็นอำเภอ ขึ้นกับ จ.สุโขทัย
                    แหล่งโบราณคดีใน จ.สุโขทัย มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองสุโขทัยเก่า  ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และในเขตเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก ทางด้านวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔
                     ๑.  อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  ตั้งอยู่ที่ ต.เมืองเก่า อ.เมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๗๐ ตร.กม. จัดเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาอุทยานประวัติศาสตร์ ที่มีอยู่ทั้งหมดสิบแห่งในประเทศไทยในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๗)  ครอบคลุมพื้นที่ทั้งภายใน และภายนอกกำแพงเมืองกรุงสุโขทัยในอดีต โดยกำแพงเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นกำแพงพูนดินสามชั้น กำแพงด้านทิศเหนือจดทิศใต้ยาว ๑,๔๐๐ เมตร ด้านทิศตะวันออก จดทิศตะวันตก ยาว ๑,๘๑๐ เมตร มีคลองแม่ลำพัน ไหลเลียบกำแพงเมืองด้านเหนือ นอกจากนี้ ยังมีตระพังสี่แห่ง โบราณสถานทั้งภายใน และภายนอกกำแพงเมืองมีมากกว่า ๒๐๐ แห่ง
                    ๒.  อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย  ตั้งอยู่ในเขต อ.ศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ประมาณ ๔๕ ตรงกม. โบราณสถานมีทั้งภายในและภายนอกกำแพงเมือง รวมทั้งหมด ๒๑๕ แห่ง ตัวเมืองศรีสัชนาลัยตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขา ริมฝั่งแม่น้ำยม มีกำแพงล้อมรอบสามชั้น ยกเว้น ด้านที่ติดกับแม่น้ำยม มีกำแพงเมืองชั้นเดียว         ๒๘/๑๗๘๐๐
            ๕๑๑๓.  สุชาตะ  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง นับเป็นพระองค์ที่สิบสอง ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ยี่สิบห้าพระองค์            ๒๘/๑๗๘๐๕
            ๕๑๑๔.  สุนทรภู่  เป็นกวีสมัยรัตนโกสินทร์ มีชีวิตอยู่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ สุนทรภู่ เป็นชื่อที่เรียกกันทั่ว ๆ ไป โดยนำชื่อเดิมว่า ภู่ รวมกับส่วนหน้าของนามบรรดาศักดิ์คือ สุนทรโวหาร ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น ขุนสุนทรโวหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับแต่งตั้งเป็น พระสุนทรโวหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ
                    สุนทรภู่ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ อยู่กับมารดาจนเจริญวัย เป็นผู้เฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง ในวิชาหนังสือ และเป็นครูสอนวิชาหนังสือ อยู่ที่วัดชีปะชาว และเคยมีอาชีพเป็นเสมียน ทำหน้าที่นายระวาง กรมพระคลังสวน  ต่อมาได้ไปเป็นมหาดเล็ก อยู่ในกรมพระราชวังหลัง
                    ประมาณต้นปี พ.ศ.๒๓๕๐ สุนทรภู่ได้เดินทงไปหาบิดา ที่บวชอยู่ที่วัดป่า ต.บ้านกร่ำ อ.แกลง จ.ระยอง การเดินทางไปครั้งนี้ ท่านได้แต่งนิราศเมืองแกลง
                    ปลายปี พ.ศ.๒๓๕๐ สุนทรภู่ได้ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ เดินทางไปนมัสการพระพุทธบาท จ.สระบุรี และได้แต่งนิราศพระบาท
                    ในปี พ.ศ.๒๓๖๓ สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการอยู่ในกรมพระอาลักษณ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นกวี ที่ปรึกษาคนหนึ่ง มีตำแหน่งเป็นที่ ขุนสุนทรโวหาร ในปี พ.ศ.๒๓๖๔
                    ระหว่างที่สุนทรภู่ ติดคุกเนื่องจากไปทำร้ายญาติผู้ใหญ่ ก็ได้เริ่มแต่งเรื่องพระอภัยมณี ออกขายเลี้ยงตนเอง เมื่อพ้นโทษแล้ว ก็ได้เข้ารับราชการตามเดิม
                    ราวปี พ.ศ.๒๓๖๕ - ๒๓๖๗  สุนทรภู่ได้เป็นครูสอนหนังสือถวาย เจ้าฟ้าอาภรณ์ ได้แต่งกลอนชื่อสวัสดิรักษา และได้แต่งเรื่องสิงหไกรภพ และเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม
                    ในปี พ.ศ.๒๓๖๗  กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ในปีนั้นเอง สุนทรภู่ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิด ถูกถอดยศ และถูกให้ออกจากราชการ สุนทรภู่จึงออกบวชที่วัดราชบูรณะ แล้วไปจำพรรษาที่ จ.เพชรบุรี ได้แต่งกาพย์เรื่องพระไชยสุริยา เป็นนิทานเทียบสอนอ่านภาษาไทย ในปี พ.ศ.๒๓๖๘
                    ในปี พ.ศ.๒๓๗๓  ได้แต่ง เพลงยาวถวายโอวาท และได้เดินทางไปนมัสการพระเจดีย์ภูเขาทอง ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แต่งนิราศภูเขาทอง ไว้อีกเรื่องหนึ่ง
                    ในปีเดียวกัน ได้เดินทางไปทำธุระที่ จ.เพชรบุรี และได้แต่งนิราศเมืองเพชร
                    ในปี พ.ศ.๒๓๗๗  สุนทรภู่ได้พาเณรพัดและตาบ ผู้เป็นบุตรชายสองคน ไปแสวงหายาอายุวัฒนะ ที่วัดเจ้าฟ้าอากาศใน จ.พระนครศรีอยุธยา ได้แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า เป็นคำของเณรพัด ต่อมาได้ลาสิกขา ในปี พ.ศ.๒๓๗๘ หลังจากสึกแล้ว ก็มีชีวิตลุ่ม ๆ ดอน ๆ ขัดสนไม่มีบ้านอยู่ ต้องลอยเรือเที่ยวจอดตามสวน หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างแต่งบทกลอน และขายบทกลอนที่แต่งไว้เป็นนิทาน
                    ในปี พ.ศ.๒๓๘๓  ได้อุปสมบทอีก และไปอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ในปี พ.ศ.๒๓๘๔ ได้เดินทางไป จ.สุพรรณบุรี โดยมีจุดมุ่งหมายจะหาแร่มาทำทอง ได้แต่งโคลงนิราศสุพรรณ ในระหว่างจำพรรษาได้แต่งรำพันพิลาป เป็นทำนองความฝัน อันมีเนื้อความเล่าถึงความหลัง  ครั้นออกพรรษาแล้ว ก็ลาสิกขาในปี พ.ศ.๒๓๘๕ ต่อมาได้เดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ได้แต่งนิราศพระประธม
                    ในปี พ.ศ.๒๓๙๔  เจ้าฟ้ามงกุฎ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น พระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายบวรราชวัง
                    ผลงานกาพย์กลอนที่ท่านแต่งในช่วงนี้ ได้แก่ บทละครเรื่องอภัยนุราช เสภาพระราชพงศาวดาร บทเห่กล่อมพระบรรทมเรื่อง จับระบำ บทเห่กล่อมเรื่อง กากี บทเห่กล่อมเรื่อง พระอภัยมณี และบทเห่กล่อมเรื่อง โคบุตร
                    สุนทรภู่ จนถึงปี พ.ศ.๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๗๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศเกียรติคุณยกย่อง สุนทรภู่ เป็นบุคคลดีเด่นสำคัญของชาติไทย มีผลงานด้านวัฒนธรรมดีเด่น และเป็นกวีของประชาชน        ๒๘/๑๗๘๐๕
            ๕๑๑๕. สุนทรียศาสตร์  มีคำนิยามว่า "ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยความงาม และสิ่งที่งามในธรรมชาติ หรืองานศิลปะ"  แบ่งออกเป็นหกสาขา ได้แก่ ประวัติศาสตร์ศิลปะ ศิลปวิจารณ์ ทฤษฎีศิลปะ จิตวิทยาศิลปะ สังคมวิทยาศิลปะ ปรัชญาศิลปะ
                    องค์ประกอบของศิลปะ มีสี่อย่างคือ
                        ๑. สื่อ ได้แก่ สิงที่ศิลปินนำมาใช้เพื่อถ่ายทอด การสร้างสรรของตนให้ประจักษ์แก่ผู้อื่น
                        ๒. เนื้อหา ได้แก่ เรื่องราวที่ศิลปินแสดงออกมา โดยใช้สื่อที่เหมาะสะม
                        ๓. สุนทรียธาตุ มีสามอย่างคือ ความงาม ความแปลกหู แปลกตา และความน่าทึ่ง
                        ๔. ธาตุศิลปิน ได้แก่ ความรู้สึกนึกคิด และชีวิตจิตใจ รวมทั้งความหลัง และความใฝ่ฝันของศิลปิน  ที่แฝงอยู่ในศิลปกรรม ที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมา        ๒๘/๑๗๘๑๕
            ๕๑๑๖. สุพรรณบุรี  จังหวัดในภาคกลางตอนล่าง มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับ จ.อุทัยธานี และ จ.ชัยนาท ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.สิงหบุรี จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.นครปฐม ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.กาญจนบุรี มีพื้นที่ ๕,๓๕๘ ตร.กม.
                     ลักษณะภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ และที่ราบลอนลาด มีภูเขาตั้งอยู่เป็นบางบริเวณ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด อาจแบ่งลักษณะภูมิประเทศ ของ จ.สุพรรณบุรี ออกได้เป็นสามเขตใหญ่ ๆ คือ
                        ๑. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ  อยู่ทางซีกตะวันออกของจังหวัด มีแม่น้ำสุพรรณบุรี ไหลจาก จ.ชัยนาท เข้ามาทางตอนเหนือ ไหลไปทางใต้ เข้าไปในเขต จ.นครปฐม
                        ๒. เขตที่ราบลอนลาด  บริเวณที่อยู่ห่างจากแม่น้ำสุพรรณบุรี ไปทางตอนกลาง และทางด้านตะวันตกของจังหวัด พื้นที่ค่อย ๆ ลาดชันสูงขึ้น เป็นลักษณะที่เรียกว่า ที่ราบลอนลาด มีเนินเขาเตี้ย ๆ ตั้งอยู่กระจัดกระจายทั่วไป
                        ๓. เขตทิวเขา  อยู่ใน อ.ด่านช้าง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัด เป็นแนวของทิวเขา ซึ่งแบ่งเขต จ.สุพรรณบุรี กับ จ.อุทัยธานี และ จ.กาญจนบุรี ทิวเขานี้เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาถนนธงชัยกลาง ที่ทอดยาวต่อเนื่องจากภาคเหนือ เข้ามาในภาคตะวันตก และสิ้นสุดทิวเขาที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี
                     ด้านประวัติศาสตร์ จ.สุพรรรบุรี มีแหล่งโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ที่แสดงว่าเคยเจริญเติบโต มาตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยได้พบซากเมืองโบราณ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำจระเข้สามพัน ในเขต อ.อู่ทอง ปัจจุบัน ตัวเมืองเป็นรูปรี กว้าง ๙๐๐ เมตร ยาว ๑,๗๕๐ เมตร  มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบ ภายในตัวเมืองและบริเวณใกล้เมือง ได้พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี หลายอย่าง
                     หลังสมัยทวารวดี เมืองโบราณอู่ทอง คงจะเสื่อมโทรมลงและทิ้งร้างไป โดยปรากฎชื่อเมืองสุพรรณภูมิ เข้ามาแทนที่ ทั้งในสมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยาตอนต้น เมืองสุพรรณภูมิ มีมาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี
                    ที่ตั้งของเมืองสุพรรณภูมิ หรือเมืองสุพรรณบุรีโบราณ ยังคงปรากฎร่องรอยให้เห็นชัดเจน บนฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี ในเขต อ.เมือง ฯ บริเวณผังเมือง แสดงว่ามีเมืองสองเมือง ซ้อนทับกันอยู่ เมืองที่เก่ากว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑,๙๐๐ เมตร ยาว ๓,๖๐๐ เมตร มีพื้นที่ครอบคลุมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ ส่วนเมืองที่ใหม่กว่า มีขนาดเล็กลง และตั้งอยู่เฉพาะบนฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำเท่านั้น มีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๙๒๐ เมตร ยาว ๓,๐๐๐ เมตร
                    เนื่องจากที่ตั้งของเมือง อยู่ในเส้นทางเดินทัพของพม่า เมื่อจะยกมาโจมตีกรุงศรีอยุธยา จากทางด้านกาญจนบุรี ทำให้เมืองสุพรรณบุรี มีความสำคัญมาก ทางด้านยุทธศาสตร์ การศึกครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสงครามยุทธหัตถี ระหว่างสมเด็จพระนเรศวร ฯ กับสมเด็จพระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี ที่ ต.ทุ่งหนองสาหร่าย เขตเมืองสุพรรณบุรี ภายหลังเสร็จศึกแล้ว สมเด็จพระนเรศวร ฯ โปรดให้ก่อพระเจดีย์ฐานสวมศพ พระมหาอุปราชาไว้ ณ ตระพังตรุ
                    เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่สอง ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ เมืองสุพรรณบุรี คงจะถูกทิ้งร้างไป จนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เมืองสุพรรณบุรี จึงเริ่มมีผู้คนอพยพเข้าไปอยู่อาศัยมากขึ้น และได้รับการยกฐานะเป็นเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ            ๒๘/๑๗๘๒๑
            ๕๑๑๗. สุพรรณหงส์ หรือสุวรรณหงส์   เป็นชื่อเรือพระที่นั่ง ลำหนึ่งในกระบวนเรือพระราชพิธี หรือกระบวนพยุหยาตราชลมารค ของพระมหากษัตริย์ไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยา
                    เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ลำปัจจุบันประกอบพิธีลงน้ำเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ น้ำหนัก ๑๕.๖ ตัน กว้าง ๓.๕ เมตร ยาว ๔๔.๗๐ เมตร ลึก ๐.๙๐ เมตร กินน้ำลึก ๐.๔๑ เมตร ฝีพาย ห้าสิบนาย นายท้ายสองนาย นายเรือสองนาย ใช้พายทอง พายในท่านกบิน
                    นอกจากความงดงามในศิลปกรรม และความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยแล้ว ยังมีความสำคัญเป็นมรดกโลก ที่แสดงถึงความมีอัจฉริยะ ในการต่อเรือของชาวไทยโบราณ ที่สามารถแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้อย่างดียิ่ง
                    ด้วยความสำคัญของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ดังกล่าวมาแล้ว จึงทำให้องค์การเรือโลก แห่งสหราชอาณาจักร มอบรางวัลเรือโลกแก่ เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕        ๒๘/๑๗๘๒๗
            ๕๑๑๘. สุมนะ  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง นับเป็นพระองค์ที่สี่ ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ยี่สิบห้าพระองค์         ๒๘/๑๗๘๓๑
            ๕๑๑๙. สุเมธะ  เป็นพระนามพระพุทธเจ้า พระองค์หนึ่งนับเป็นพระองค์ที่สิบเอ็ด ในจำนวนพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ยี่สิบห้าพระองค์       ๒๘/๑๗๘๓๓
           ๕๑๒๐. สุรนารี, ท้าว  ท้าวสุรนารี หรือคุณหญิงโม  เป็นวีรสตรีไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ผู้สร้างวีรกรรมขับไล่กองทัพลาว ที่บุกรุกเข้ามาถึงเมืองนครราชสีมา เมื่อคราวเจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ ก่อกบฎในปี พ.ศ.๒๓๖๙ ได้สำเร็จ
                    ท้าวสุรนารี เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๕ เมื่อเจริญวัยได้สมรสกับเจ้าพระยามหิศราธิบดี (ทองคำ)  เมื่อครั้งยังดำรงฐานันดรเป็น พระยาสุรเดชวิเศษฤทธิ์ ฯ ปลัดเมืองนครราชสีมา
                    ในช่วงเวลาที่มีเหตุ เจ้าเมือง หลวงยกกระบัตร และพระยาปลัดเมือง ไปราชการที่เมืองขุขันธ์ คงเหลือแต่กรมการชั้นผู้น้อย และพระยาพรหมยกกระบัตร อยู่รักษาเมืองแทน ทหารลาวได้กวาดต้อนผู้คนชาวเมืองนครราชสีมา เอาไปเวียงจันทน์ แต่คุณหญิงโมเป็นคนฉลาด มีไหวพริบดี จึงออกอุบายเพื่อถ่วงเวลาให้การเดินทางช้าลง ด้วยหวังว่า กองทัพเมืองหลวงจะมาช่วยทัน เมื่อเดินทางมาถึงทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองพิมาย คุณหญิงโม และชาวเมืองนครราชสีมา ได้มอมสุราทหารที่ควบคุม และช่วยกันฆ่าฟันทหารลาวตายเกือบหมด เจ้าอนุวงศ์ทราบข่าว ได้ส่งกองทัพมาปราบแต่พ่ายแพ้ แก่ฝ่ายคุณหญิงโม
                    ภายหลังสงครามคุณหญิงโม ได้รับพระราชทานความดีความชอบ โดยได้รับโปรดเกล้า ฯ  ให้เป็นท้าวสุรนารี ส่วนพระยาปลัดเมือง ผู้เป็นสามีได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยามหิศราธิบดี         ๒๘/๑๗๘๓๕
            ๕๑๒๑. สุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต), จอมพล มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยา  เป็นผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ เสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ และเป็นต้นสกุล แสง - ชูโต
                    เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔ ได้รับการศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้น ในสำนักพระวิเชียรมุนี วัดพิชยญาติการาม จนอายุ ๑๓ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อลาสิกขาแล้ว เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เป็นมหาดเล็กวิเศษ สังกัดเวรฤทธิ์
                    เมื่อมีการจัดตั้งกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ นายเจิมได้เป็น หลวงศีลยุทธสรการ ผู้บังคับกองร้อยที่ ๖ ในปี พ.ศ.๒๔๑๔  ท่านได้รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ อย่างก้าวหน้าตลอดมา กล่าวคือ ได้รับพระราชทานเลื่อนยศ และบรรดาศักดิ์เป็น นายร้อยเอก จมื่นสราภัยสฤษดิการ ตำแหน่งราชองครักษ์
                    ในปี พ.ศ.๒๔๒๑  ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นอุปทูต เดินทางไปประเทศอังกฤษ เพื่อเจรจาเรื่องที่ จอร์จ นอกซ์ กงสุลอังกฤษ จะนำเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย ในการนี้ท่านได้มีโอกาสดูงานด้านทหารบก ทหารเรือ และวิธีการทำเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก เวรฤทธิ์
                    ในปี พ.ศ.๒๔๒๓ ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ช่วยกันจัดการกรมทหารหน้า และเป็นผู้บังคับการกรมทหารหน้าด้วย ท่านได้ปรับปรุงระเบียบการปกครอง การแต่งกาย และการฝึกแบบตะวันตก ขึ้นในกรมทหารหน้า และในปี พ.ศ.๒๔๒๕  ได้จัดสร้างโรงทหารหน้าขึ้นใหม่ บนที่ดินที่เป็นฉางหลวงเก่า โดยสร้างเป็นตึกสามชั้น เพื่อบรรจุทหารให้ได้ถึงหนึ่งกองพลน้อย ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงกลาโหม
                    การยกทัพไปปราบฮ่อ ครั้งที่สาม ในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ท่านได้เป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อ ที่แขวงเมืองหัวพันห้าทั้งหก ท่านได้เกลี้ยกล่อมให้พวกฮ่อ ยอมจำนนเป็นผลสำเร็จ พวกฮ่อได้ขอสวามิภักดิ์ เมื่อท่านเดินทางถึงกรุงเทพ ฯ ในปี พ.ศ.๒๔๓๐  ก็ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น นายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี สังกัดกรมยุทธนาธิการ ที่โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นกรมกลาง รับผิดชอบการดำเนินงาน และบังคับบัญชากรมทหารบก และกรมทหารเรือ
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๓ ได้ยกฐานะกรมยุทธนาธิการ เป็นกระทรวงยุทธนาธิการ ท่านได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ท่านได้ลาออกจากราชการในตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก เนื่องจากของบประมาณค่าเครื่องแต่งตัวทหาร และขออาวุธเพิ่ม แต่ที่ประชุมเสนาบดีคัดค้าน ในปีเดียวกัน ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น เสนาบดีกระทรวงเกษตรพาณิชยการ  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
                    ท่านได้ลาออกจากราชการในปี พ.ศ.๒๔๔๐ มียศเป็น นายพลโท และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้มีเกียรติยศเท่าเสนาบดี และองคมนตรี ท่านได้ริเริ่มจัดตั้งบริษัท เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกบการค้าไม้กระยาเลย ได้ก่อตั้งบริษัทป่าไม้ศรีราชาทุน จำกัด และได้รับสัมปทานให้ทำป่าไม้กระยาเลย
                    ในปี พ.ศ.๒๔๔๕  เกิดกบฎเงี้ยวเมืองแพร่ ขึ้น พวกยึดได้เมืองแพร่แล้วคิดที่จะยึดเมืองลำปาง แต่ตีเมืองไม่สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นแม่ทัพ ยกขึ้นไปปราบกบฎ ท่านทำการได้สำเร็จเรียบร้อย มีการลงโทษเจ้านายเมืองแพร่ ด้วยการปลดออกแล้วให้ข้าราชการ จากส่วนกลางไปดำรงตำแหน่งใหม่ทั้งหมด
                    เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ โดยไม่มีบุตร ธิดา        ๒๘/๑๗๘๓๙
            ๕๑๒๒. สุราษฎร์ธานี  จังหวัดในภาคใต้ มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับ จ.ชุมพร ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จดทะเลในอ่าวไทย ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ติดต่อกับ จ.นครศรีธรรมราช ทิศใต้ ติดต่อกับ จ.กระบี่ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับ ต.พังงา ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับ จ.ระนอง มีพื้นที่ ๑๒,๘๙๑ ตร.กม.  จัดเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุด ในบรรดา ๑๔ จังหวัด ของภาคใต้
                     ลักษณะภูมิประเทศ  ประกอบด้วยสี่ส่วนใหญ่ ๆ คือ บริเวณทิวเขาทางด้านตะวันตก บริเวณทิวเขาทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณที่ราบตอนกลาง กับบริเวณชายฝั่งทะเล และหมู่เกาะทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ
                        ๑. บริเวณทิวเขาด้านตะวันตก  มีทิวเขาทอดเป็นแนวยาวไปตลอด จากเหนือไปใต้แบ่งเขต จ.สุราษฎร์ธานี จ.ระนอง จ.พังงา และ จ.กระบี่ ทิวเขานี้เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาภูเก็ต เป็นบริเวณต้นน้ำของลำน้ำสายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น คลองไชยา คลองท่าฉาง คลองสก คลองพระแสง
                        ๒. บริเวณทิวเขาด้านตะวันออกเฉียงใต้  มีทิวเขาทอดยาวไปตามเส้นแบ่งเขตจังหวัดทั้งสอง ทิวเขานี้เป็นส่วนหนึ่ง ของทิวเขานครศรีธรรมราช
                        ๓. บริเวณที่ราบตอนกลาง  เป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัด มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านคือ แม่น้ำตาปี มีแควไหลมาบรรจบหลายสาย สายยาวที่สุดคือ แม่น้ำพุมดวง
                        ๔. บริเวณฝั่งทะเลและหมู่เกาะ ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ  จ.สุราษฎร์ธานี มีชายฝั่งทะเลยาว ๑๖๕ กม. มีอ่าวบ้านดอนเป็นอ่าวขนาดใหญ่ อยู่ในเขต อ.บ้านฉาง อ.เมือง ฯ  และ อ.กาญจนดิษฐ์  นอกชายฝั่งออกไปมีเกาะ และหมู่เกาะต่าง ๆ ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือ เกาะสมุย มีพื้นที่ ๒๕๓ ตร.กม. นับเป็นเกาะใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ รองจากภูเก็ต เกาะพงัน มีพื้นที่ ๑๒๓ ตร.กม.  ตั้งอยู่เหนือเกาะสมุย เกาะเต่ามีพื้นที่ ๑๙ ตร.กม. และหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งประกอบด้วย เกาะต่าง ๆ ประมาณ ๔๐ เกาะ ตั้งอยู่ระหว่างเกาะสมุย กับเกาะพงัน กับชายฝั่งของผืนแผ่นดินไทย
                         ด้านประวัติศาสตร์  พบว่ามีชุมชนโบราณเกิดขึ้น บริเวณอ่าวบ้านดอน มาตั้งแต่เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ห้า ต่อมาชุมชนได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นเมือง เมืองสำคัญที่สุดคือ เมืองไชยา เจริญรุ่งเรืองมากในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ในฐานะเป็นเมืองสำคัญ เมืองหนึ่งของอาณาจักร หรือแคว้นศรีวิชัย โบราณสถาน และโบราณวัตถุ สมัยศรีวิชัย ที่ชึ้นชื่อมากคือ พระบรมธาตุไชยา และโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สร้างพุทธศตวรรษที่สิบสี่
                        ตอนปลายพุทธศตวรรษที่สิบแปด เมืองไชยาคงเสื่อมอำนาจลงแล้ว เพราะไม่มีชื่อปรากฎในรายชื่อหัวเมือง ในคาบสมุทรมลายูสิบสองเมือง ที่อยู่ใต้อำนาจของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกกันว่า เมืองสิบสองนักษัตร
                        ชื่อเมืองไชยา ปรากฎอีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในปี พ.ศ.๑๙๙๘ กล่าวถึง เมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา ในบริเวณคาบสมุทรมลายูไว้สี่เมืองคือ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองไชยา และเมืองชุมพร ฯ
                        ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองไชยา เป็นเมืองสุราษฎร์ธานี และได้เปลี่ยนชื่อแม่น้ำหลวง เป็นแม่น้ำตาปี          ๒๘/๑๗๘๕๒
            ๕๑๒๓.  สุรินทร์   จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดต่อกับ จ.มหาสารคาม และ จ.ร้อยเอ็ด ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จ.ศรีสะเกษ ทิศใต้ ติดต่อกับ ประเทศกัมพูชา โดยมีทิวเขาพนมดงรัก เป็นแนวเส้นแบ่งเขตแดน ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.บุรีรัมย์ มีพื้นที่ ๘,๑๒๔ ตร.กม.        ๒๘/๑๗๘๕๗
                 ลักษณะภูมิประเทศ  แบ่งออกได้เป็นสามเขตใหญ่ ๆ คือ เขตทางตอนเหนือสุด เป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล และเขตทางตอนใต้สุด เป็นบริเวณทิวเขาพนมดงรัก ระหว่างเขตทั้งสองเป็นที่ราบลอนลาด ซึ่งค่อย ๆ ลาดต่ำจากทางใต้ ขึ้นไปทางเหนือ
                    แม่น้ำมูล เฉพาะส่วนที่ไหลผ่าน จ.สุรินทร์ ยาว ๑๖๗ กม. โดยไหลจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ผ่านตอนเหนือของจังหวัด บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเป็นที่ราบลุ่ม มักมีน้ำท่วมในฤดูฝน มีลำน้ำอื่น ๆ ที่ไหลลงแม่น้ำมูล ในเขต จ.สุรินทร์ รวมสามสายคือ ลำชี ห้วยทับทัน และลำพลับพลา
                    ทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตประเทศไทย กับประเทศกัมพูชา ในสี่จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี มีความยาวประมาณ ๖๓๕ กม.  เฉพาะส่วนที่อยู่ในเขต จ.สุรินทร์ ยาว ๑๒๖ กม.  อยู่ในเขตกิ่ง อ.พนมดงรัก อ.กาบเชิง อ.สังขละ และอ.บัวเชด ทิวเขานี้เกิดจากการยกตัวของพื้นแผ่นดินตะแคง สูงขึ้นด้านหนึ่ง โดยมีด้านที่ลาดชันมาก อยู่ในเขตของประเทศกัมพูชา และด้านที่ลาดชัดน้อยอยู่ในเขตประเทศไทย มีลักษณะเป็นสันเขาเตี้ย ๆ มีความสูงเพียง ๗๔๐ เมตร
                    บริเวณส่วนใหญ่ของจังหวัด มีภูมิประเทศที่เป็นลอนลาด มีเนินเขาและภูเขาเตี้ย ๆ แทรกอยู่เป็นบางตอน โดยพื้นที่จะค่อย ๆ ลาดต่ำ จากทางใต้ขึ้นไปทางเหนือ ในความสูงประมาณ ๑๒๕ - ๒๕๐ เมตร  จากระดับน้ำทะเล
                     ด้านประวัติศาสตร์  จ.สุรินทร์ เคยเป็นที่อยู่ของชุมชนโบราณ มีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดี มาจนถึงเมื่อขอมเข้ามามีอำนาจปกครองดินแดน ในอีสานตอนใต้ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ ได้พบร่องรอยแหล่งชุมชนโบราณ เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ใน จ.สุรินทร์ หลายแห่งมีปราสาท ซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมของขอม ได้แผ่เข้ามาในบริเวณนี้ อย่างกว้างขวาง ก่อนการตั้งอาณาจักรอยุธยาขึ้น ในตอนปลายของพุทธศตวรรษที่สิบเก้า
                    ในสมัยอยุธยาตอนต้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่สอง (เจ้าสามพระยา)  กษัตริย์องค์ที่เจ็ด ของกรุงศรีอยุธยา ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองนครธม ของเขมรได้ในปี พ.ศ.๑๙๗๔  ทำให้หัวเมืองในอีสานตอนล่าง พ้นจากอำนาจของเขมร มาอยู่ใต้อำนาจของไทย แต่ให้ชุมชนในท้องถิ่นปกครองกันเอง ชนพื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นพวกข่า ส่วย และเขมร ปะปนกัน ที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า เขมรป่าดง
                    รัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ)  ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกหมู่บ้านชาวส่วย ขึ้นเป็นเมืองต่าง ๆ รวมสี่เมืองคือ เมืองประทายสมันต์ เมืองสังฆะ เมืองรัตนบุรี และเมืองขุขันธ์  อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย
                    ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้เปลี่ยนชื่อ เมืองประทายสมันต์เป็น เมืองสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ และให้เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ และเมืองขุขันธ์ ขึ้นตรงต่อกรุงเทพ ฯ
                    เนื่องจาก จ.สุรินทร์ เคยอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมือง และวัฒนธรรมของเขมร มาเป็นเวลาช้านานก่อนสมัยอยุธยา จึงมีโบราณสถานที่เรียกว่า ปราสาท อยู่มากกว่าสามสิบแห่ง ที่สำคัญได้แก่
                        ๑. ปราสาทบ้านพลวง  อยู่ที่ ต.กังแอน อ.ปราสาท เป็นปราสาทศิลาแลง มีกรอบประตูทำด้วยหินทราย สลักเป็นภาพต่าง ๆ สวยงาม ฝีมือปราณีต สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗
                        ๒. ปราสาทศีขรภูมิ  อยู่ที่ ต.ระแงว อ.ศรีขรภูมิ ประกอบด้วยปราสาทอิฐ จำนวนห้าหลังตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน ปราสาทประธานตั้งอยู่ตรงกลาง มีปราสาทขนาดเล็กประจำอยู่ทั้งสี่มุม มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่สิบเจ็ด
                        ๓. ปราสาทตาเมือนธม  อยู่ที่ ต.ตาเมียง กิ่ง อ.พนมดงรัก ประกอบด้วยปราสาทหินทรายสามหลัง ปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง ปราสาทอีกสองหลัง อยู่ขนาบด้านซ้ายและด้านขวา สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗           ๒๘/๑๗๘๕๗
            ๕๑๒๔. สุริยวงศ์  เป็นคำเรียกวงศ์กษัตริย์โบราณ ในวรรณคดีไทย เอามาจากคำสูรยวงศ์ ในวรรณคดีสันสกฤต แปลว่า ตระกูล หรือวงศ์ที่สืบเนื่องมาจากสูรยเทพ หรือพระอาทิตย์ คู่กับจันทวงศ์ หรือวงศ์พระจันทร์  ซึ่งตั้งราชธานีอยู่ที่ กรุงหัสติมาปุระ ริมฝั่งแม่น้ำยมนา รายนามกษัตริย์สุริยวงศ์ทุกองค์ มีอยู่ในคัมภีร์วิษณุปุราณะ ซึ่งลำดับสุริยวงศ์ไว้สองสายคือ สายกษัตริย์ที่ครองเมืองอโยธยา กับสายกษัตริย์ที่ครองเมืองมิถิลา ปฐมกษัตริย์สุริยวงศ์คือ อิกษวากุ (บาลีเรียก โอกากะ) เป็นหลานของพระอาทิตย์ โดยเรียงลำดับ ดังนี้ สูรยะ - มนูไววัสวัต - อิกษวากุ และ จาก อิกษวากุ สุริยวงศ์ ก็แยกออกเป็นสองสายคือ โอรสองค์ใหญ่ของอิกษวากุ ชื่อ วิกุกษี ได้ครองเมืองอโยธยา เรียกกันว่า กษัตริย์อโยธยา ส่วนโอรสองค์เล็กของอิกษวากุ ชื่อ นิมิ ไปครองกรุงมิถิลา เรียกว่า กษัตริย์มิถิลา
                    ถึงแม้ว่า กษัตริย์สุริยวงศ์ทั้งสองสาย จะสิ้นสูญไปนานแล้ว แต่ในปัจจุบันเจ้านายทั้งหลาย ในแคว้นราชปูต และราณะ (ผู้ครองนคร) แห่งอุทัยปุระ ก็ยังถือว่า ตนอยู่ในสุริยวงศ์ ในขณะที่ผู้ครองแคว้นคุทช์ และแคว้นสินธ์ ก็อ้างว่าตนมากจาก จันทรวงศ์ เช่นเดียวกัน        ๒๘/๑๗๘๖๒
            ๕๑๒๕.
สุริยาศน์อมรินทร์, สมเด็จพระที่นั่ง  (พ.ศ.๒๓๐๑ - ๒๓๑๐)  มีอีกพระนามว่า พระเจ้าเอกทัศน์ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้าย พระองค์ที่สามสิบสาม แห่งกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของพระองค์ บ้านเมืองมีปัญหามาก และจากการรุกรานของพม่า ทำให้เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐
                    พระองค์มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าเอกทัศน์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี)  เป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๐๑)  แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ.๒๒๗๕ - ๒๓๑๐)   มีพระเชษฐาคือ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (กรมขุนเสนาพิทักษ์) และพระอนุชาคือ เจ้าฟ้าอุทุมพร (กรมขุนพรพินิต) ต่อมาคือ พระเจ้าอุทุมพร (พ.ศ.๒๓๐๑)
                    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เห็นว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี "โฉดเขลา หาสติปัญญา และความเพียรมิได้ ถ้าเป็นพระมหาอุปราช บ้านเมืองจะเกิดภัยพิบัติฉิบหาย" และทรงเห็นว่า เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต มีความเฉลียวฉลาดหลักแหลม จึงโปรดให้เป็นพระมหาอุปราช และโปรดให้ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ผนวช
                เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประชวร เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ลอบลาผนวช และเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๓๐๑ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าอุทุมพร แต่พระองค์ทรงเกรงพระทัย และเผอิญพระองค์มีพระชนมายุครบบวช ดังนั้น หลังจากครองราชย์ได้เดือนเศษ จึงเสด็จออกผนวช และเสด็จไปประทับที่วัดประดู่โรงธรรม (วัดประดู่ทรงธรรม)  เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี จึงได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่สาม
                    ในเวลาเก้าปี ที่พระองค์ครองราชย์อยู่นั้น มีปัญหาเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก จนเป็นเหตุนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐
                    ความคิดในการแย่งชิงราชสมบัติมีอยู่ตลอดเวลา ขุนนางแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่ง จงรักภักดีต่อพระองค์ อีกกลุ่มหนึ่ง จงรักภักดีต่อพระเจ้าอุทุมพร
                    ความเสื่อมของระบบการป้องกันประเทศ เป็นอีกปัญหาหนึ่งเพราะการไม่มีสงครามภายนอกเป็นเวลานาน และการกบฎภายใน ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทำให้การควบคุมหัวเมือง และการควบคุมกำลังคน หรือไพร่พลไม่มีประสิทธิภาพ ไพร่หลวงซึ่งเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง ได้รับความเดือดร้อน มากกว่าไพร่สม ซึ่งเป็นคนของมูลนาย มีการหลยหนีเข้าป่า จนทางราชการต้องลดเวลาการเข้าเดือนของไพร่หลวง จากเดิมหกเดือน เหลือสี่เดือน ต่อปี
                    ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ด้านเศรษฐกิจ ปรากฎว่าพระองค์ และขุนนางหลายคน ต้องเป็นหนี้บริษัท อินเดียตะวันออก ของฮนลันดา จนนำไปสู่การปิดสถานีการค้าของ บริษัทอินเดียตะวันออก ของฮอลันดา ที่พระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.๒๓๐๘
                    ในส่วนปัญหาจากภายนอกคือ การรุกรานของพม่า พระเจ้าอลองพญา ยกกองทัพมาโจมตีไทยในปี พ.ศ.๒๓๐๓ โดยยกกองทัพมาตีเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี ซึ่งเป็นของไทย ทัพพม่ามีกำลัง ๓๐,๐๐๐ คน ทัพพม่ารุกมาเรื่อย ๆ ได้เมืองกุยบุรี เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ขุนนาง และราษฎร ได้พากันไปกราบทูลขอให้ พระเจ้าอุทุมพรทรงแก้ไขสถานการณ์ จัดการป้องกันกรุงศรีอยุธยา และส่งกองทัพไปต้านทัพพม่า แต่ไม่สามารถต้านได้
                    พระเจ้าอลองพญา ยกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา แต่ถูกปืนใหญ่ยิงเอง แตกระเบิดใส่ จนประชวรหนัก จึงให้ยกทัพกลับ และสวรรคตระหว่างทาง พระเจ้ามังระได้ครองราชย์ต่อมา
                    ในปี พ.ศ.๒๓๐๖ พม่ายกทัพมาตีไทย ทั้งจากทางเหนือ และทางใต้ โดยได้ส่งกองทัพไปตีหัวเมืองล้านนา ในปีต่อมาได้ส่ง เนเมียวสีหบดีคุมกำลังไปเสริมอีก สามารถตีเชียงใหม่ หลวงพระบาง และในปี พ.ศ.๒๓๐๗ ได้ให้มังมหานรธายกทัพไปทวาย มะริด ตะนาวศรี พระเจ้ามังระเห็นว่า ทัพพม่ารบชนะไทยง่าย จึงให้กองทัพทั้งสองตีกระหนาบ เข้ามาบรรจบกันที่กรุงศรีอยุธยา โดยทางเหนือ กองทัพเนเมียวสีหบดียกลงมา ในปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๓๐๘ ตีได้เมืองต่าง ๆ คือ ตาก กำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ อ่างทอง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ส่งกองทัพไปต่อต้าน แต่ไม่เป็นผล มีการต่อต้านที่สำคัญ จากการรวมตัวของชาวบ้านบางระจัน ซึ่งรบชนะพม่าถึงเจ็ดครั้ง ทำให้กองทัพของเนเมียวสีหบดีหยุดชะงักไปห้าเดือน กว่าจะยกมาถึงกรุงศรีอยุธยา ก็เป็นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๐๘ ในเวลาใกล้เคียงกับกองทัพของเนเมียวสีหบดี
                    กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๐๘ ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ เป็นเวลาสิบสี่เดือนนั้น ราษฎรได้รับความเดือดร้อนมาก มีราษฎรบางส่วนหลบหนีไปสวามิภักดิ์พม่า พระยาวชิรปราการ (สิน) เจ้าเมืองกำแพงเพชรหมดหวังในการป้องกันกรุง จึงตีแหวกวงล้อมพม่าไปทางหัวเมืองตะวันออก
                    ฝ่ายไทยไปเจรจาสงบศึก และยอมเป็นประเทศราชของพม่า แต่แม่ทัพพม่าไม่ยินยอมขอทำสงครามต่อไป ให้ได้ชัยชนะเด็ดขาด พม่าเข้ากรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ จับผู้คนประมาณ ๓๐,๐๐๐ คนเป็นเชลย ยึดทรัพย์สมบัติกลับไปพม่า        ๒๘/๑๗๘๖๘
            ๕๑๒๖. สุริยปราคา  ตามศัพท์แปลว่า "เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์" หมายถึงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้กับดวงอาทิตย์ ชาวบ้านเรียกว่าสุริยคราส แปลว่า กินดวงอาทิตย์ เพราะคนโบราณเชื่อว่า มียักษ์ชื่อ ราหู คอยจับดวงอาทิตย์กิน
                    สุริยคราสเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในเวลากลางวัน เพราะดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปอยู่ระหว่าง ดวงอาทิตย์กับโลก เงาของดวงจันทร์ที่เกิดขึ้นมีสองลักษณะคือ เงามืด และเงามัว เงามืดมีปลายแหลม ส่วนเงามัวปลายบาน ถ้าเงามัวของดวงจันทร์สัมผัสโลกที่ใด ที่นั่นจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังไม่หมด จึงเห็นดวงอาทิตย์เป็นเสี้ยว เรียกว่า สุริยปราคาบางส่วน ถ้าเงามืดทอดไปถึงผิวโลกแห่งใด คนบนโลก ณ ที่นั้นจะเห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิคย์ได้หมดดวงเรียกว่า สุริยปราคาเต็มดวง แต่ถ้าดวงจันทร์อยู่ห่างโลกมากขึ้น เงามืดของดวงจันทร์ยาวไปถึงโลกด้วยเงามัวสวย ที่ต่อจากปลายเงามืดเท่านั้นที่สัมผัสผิวโลก คนบนโลกที่อยู่ภายใต้เงามัวส่วนนี้ จะเห็นดวงอาทิตย์สว่างเป็นรูปวงแหวนสีดำ จึงเรียกว่า สุริยปราคาวงแหวน
                    จำนวนการเกิดสุริยปราคา และจันทรปราคาในหนึ่งปีมีมากที่สุดเจ็ดครั้ง สุริยปราคาเต็มดวงจะเกิดอย่างมาก ไม่เกินเจ็ดนาทีแปดวินาที และเกิดในไทย เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๘        ๒๖/๑๗๘๗๖
            ๕๑๒๗. สุริโยทัย, สมเด็จพระ  เป็นวีรสตรีสำคัญของไทย ที่ยอมสละพระชนม์ชีพ เพื่อปกป้องสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ และอิสระภาพของกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ แห่งพม่า ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑
                    สมเด็จพระศรีสุริโยทัยเป็น อัครมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ พระมหากษัตริย์องค์ที่สิบหก แห่งกรุงศรีอยุธยา
                    พระมหาจักรพรรดิ์ได้เสด็จยกทัพหลวงไปที่ทุ่งภูเขาทอง พร้อมสมเด็จพระศรีสุริโยทัพ ซึ่งทรงแต่พระองค์อย่างพระมหาอุปราช กองทัพหลวงปะทะกับกองทัพหน้าของพม่า ซึ่งมีพระเจ้าแปรเป็นแม่ทัพ พระมหาจักรพรรดิ์ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปร ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์เสียที ช้างพระเจ้าแปรวิ่งตามมา สมเด็จพระศรีสุริโยทัพทรงไสช้างพลายทรงสุริยกษัตริย์เข้าขัดขวาง
พระเจ้าแปรจึงฟันสมเด็จพระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวร และพระมหินทรเข้าช่วย จนพระเจ้าแปรถอยทัพออกไป ทัพไทยอัญเชิญพระศพ สมเด็จพระศรีสุริโยทัยกลับเข้าพระนคร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์พระราชทานเพลิงศพ ที่สวนหลวงติดกับวัดสบสวรรค์ และต่อมาทรงสร้างวัด และพระเจดีย์ขึ้น ซึ่งเรียกว่า วัดสวนหลวงสบสวรรค์ และเจดีย์ศรีสุริโยทัย
                    สมเด็จพระศรีสุริโยทัยมีพระราชโอรส และพระราชธิดาสี่พระองค์คือ พระราเมศวร พระมหินทร  พระวิสุทธิกษัตริ์และพระเทพกษัตริย์ มีพระราชนัดดาสำคัญสองพระองค์ที่ประสูติ แต่พระวิสุทธิ์กษัตริย์ และต่อมาทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๑๓๓ - ๒๑๔๘) และสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ.๒๑๔๘ - ๒๑๕๓)           ๒๘/๑๗๘๘๓
            ๕๑๒๘. สุลต่าน  มาจากภาษาอาหรับแปลว่า ชัยชนะ ใช้ในความหมายว่า ผู้ปกครอง หรือกษัตริย์ นิยมใช้กับผู้ปกครองที่เป็นมุสลิม ตำแหน่งสุลต่านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ สุลต่านแห่งจักรวรรดิ์ออตโตมัน
                    เดิมชาวอาหรับมีแต่ตำแหน่งชีค ซึ่งมักแปลว่า หัวหน้าเผ่า ตำแหน่งเอมี  หรืออามีร์ ซึ่งเทียบกับเจ้าชาย หรือผู้ปกครองอาณาจักรเล็ก ๆ ต่อมาชาวอาหรับได้รับคำสอนจาก นบีมุฮัมมัดก็ยอมรับศาสนาอิสลาม เมื่อนบีมุฮัมมัดล่วงลับไป ก็มีผู้ปกครองชาวมุสลิมสืบต่อเรียกว่า คอลีฟะฮ์ แปลว่า ผู้สืบต่อ หมายถึง ผู้สืบต่อจากนบีมุฮัมมัด คอลีฟะฮ์มีอำนาจปกครองทั้งในด้านอาณาจักร และศาสนจักร สี่คนแรกได้มาจากการสืบตำแหน่งทางเชื้อสายคือ คอลิฟะฮ์วงศ์อุมัยยะ และวงศ์อัปบาซียะ ตามลำดับ คอลีฟะฮ์ดังกล่าว เป็นตำแหน่งผู้ปกครองจักรวรรดิ์อยู่จนถึงปี พ.ศ.๑๘๐๑ เมื่อจักรวรรดิ์อาหรับล่มสลาย
                    ก่อนที่จักรวรรดิ์อาหรับจะสิ้นสุดลงนั้น ดินแดนในจักรวรรดิ์เริ่มแตกแยก ผู้นำมุสลิมซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ในดินแดนต่าง ๆ โดยไม่ยอมขึ้นอยู่กับจักรวรรดิ์อาหรับ จะเรียกตนเองว่า สุลต่าน อันเป็นตำแหน่งผู้ปกครองที่ได้มาจากชัยชนะ ในการรบต่อสู้  เช่น สุลต่านมะหมูด แห่งคอชนี (พ.ศ.๑๕๔๐ - ๑๕๗๓) บริเวณซึ่งปัจจุบันคือ อัฟกานิสสถาน สุลต่านแห่งราชวงศ์เซลจูก ซึ่งมาจากอนาโตเลีย ในเอเชียน้อย แล้วรุกเข้ามาโจมตีจักรวรรดิ์อาหรับที่อ่อนแอ ในบริเวณดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของพวกคริสต์ศาสนิกชน อันเป็นเหตุให้เกิดสงครามครูเสดระหว่างปี พ.ศ.๑๖๔๒ - ๑๘๓๔ ผู้นำมุสลิมซอลาหุดดิน หรือซาลาดิน ซึ่งนำชาวมุสลิมเข้าต่อสู้กับพวกครูเสดในพุทธศตวรรษที่สิบเจ็ด ก็ได้ตั้งตัวเป็นสุลต่าน ครองอาณาจักรอียิปต์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๗๑๘ และใช้อียิปต์เป็นที่มั่นสู้รบกับพวกครูเสด มีชัยชนะหลายครั้ง จนพวกครูเสดต้องยอมทำสนธิสัญญาสงบศึกในปี พ.ศ.๑๗๓๔ แต่เมื่อสุลต่านซาลาดินสิ้นพระชนม์ พวกครูเสดก็เริ่มทำสงครามอีก เชื้อสายซาลาตินสู้รบกันเอง อาณาจักรอียิปต์จึงตกอยู่ใต้การปกครองของสุลต่าน ราชวงศ์มัมลูก ต่อมากองทัพชาวมองโกลได้ยกทัพมาตีกรุงแบกแดด ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอาหรับแตกในปี พ.ศ.๑๘๑๑ ทำให้คอลีฟะฮ์ราชวงศ์อับบาซียะ แห่งจักรวรรดิ์อาหรับสิ้นอำนาจ สุลต่านราชวงศ์มัมลูก จึงแต่งตั้งตนเองเป็นทั้งสุลต่าน และคอลีฟะฮ์ โดยถือว่าสืบทอดตำแหน่งคอลยีฟะฮ์ มาจากจักรวรรดิ์อาหรับซึ่งล่มสลายแล้ว
                    ในบริเวณตะวันออกกลาง ก็มีผู้ตั้งตัวเป็นสุลต่าน เช่น สุลต่านติมูร์ (พ.ศ.๑๘๗๔ - ๑๙๔๗) ส่วนในอินเดีย เหนือช่วง พ.ศ.๑๗๕๔ - ๒๐๖๙ ก็มีสุลต่านหลายราชวงศ์ครองสืบต่อกัน โดยมีกรุงเดลลีเป็นเมืองหลวง
                    ตำแหน่งสุลต่านที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ สุลต่านแห่งจักรวรรดิ์ออตโตมัน ซึ่งเริ่มก่อตัวราวปี พ.ศ.๑๘๔๓ และขยายอำนาจกว้างขวางขึ้นเมื่อสุลต่านเมห์เมตที่สอง ตีได้กรุงคอนสแตนติโนเบิลในปี พ.ศ.๑๙๙๖ และได้รับสมญาว่า เมห์เมตผู้พิชิต ต่อมาอาณาจักรออตโตมันขยายอาณาเขตออกไปถึงสามทวีปได้แก่ เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา เมื่อสุลต่านเซริมรบชนะอียิปต์ในปี พ.ศ.๒๐๖๐ สุลต่าน - คอลีฟะฮ์ มูตาวักกิน แห่งราชวงศ์มัมลูกซึ่งครองอียิปต์ ขณะนั้นก็ได้ถวายตำแหน่งคอลีฟะฮ์แก่สุลต่านเซลิม แต่สุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมัน ก็ยังมิได้สนใจเรียกตนเองเป็น คอลีฟะฮ์ จนกระทั่งจักรวรรดิ์ออตโตมันสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ตำแหน่งสุลต่านจึงถูกยุบไปในปี พ.ศ.๒๔๖๕ และตำแหน่งคอลีฟะฮ์ถูกยุบไปในปี พ.ศ.๒๔๗๗ โดยยคำสั่งของประธานาธิบดีเดมาล อะตาเติร์ก แห่งสาธารณรัฐตุรกี
                    ในทางทฤษฎีตำแหน่งสุลต่านต่าง ๆ จากตำแหน่งคอลีฟะฮ์ ตรงที่สุลต่านไม่มีอำนาจทางด้านศาสนา เช่น คอลีฟะฮ์ ในบางกรณีคอลีฟะฮ์เป็นผู้แต่งตั้งสุลต่าน แต่ในทางปฏิบัติสุลต่านมีอำนาจเช่นเดียวกับกษัตริย์ ชาวมุสลิมในอาณาจักรของสุลต่าน เอ่ยนามสุลต่านในการนมาซ (ละหมาด) ทุกครั้ง
                    มีข้อยกเว้นในเปอร์เซียหรืออิหร่าน ซึ่งตำแหน่งสุลต่านเทียบเท่าข้าหลวงเท่านั้น ชาวเปอร์เซียเรียกผู้ปกครองว่า ชาห์ เรียกจักรวรรดิ์ว่า ชาห์อินชาห์ ราชวงศ์มุกัล ซึ่งครองอินเดียระหว่างปี พ.ศ.๒๐๖๙ - ๒๔๐๑ นั้น เรียกตัวเองแบบเปอร์เซียว่า ชาห์ ส่วนมุสลิมในแหลมมลายู เรียกผู้ปกครองว่า ออตโตมัน
            ปัจจุบันตำแหน่งสุลต่านยังใช้อยู่ในบางรัฐของประเทศมาเลเซีย ประเทศบรูไน และบางประเทศในตะวันออกกลาง        ๒๘/๑๗๘๘๗
            ๕๑๒๙. สุวรรณสาม  เป็นพระนามของพระโพธิสัตว์  ในพระชาติที่สามในทศชาติ เป็นบุตรของดาบสชื่อ ทุกูลบัณฑิต กับดาบสินีชื่อ ปาริกา เมื่อสุวรรณสามอายุได้สิบหกปี บิดามารดาถูกพิษงูจนตาบอด สุวรรณสามก็ปฏิบัติเลี้ยงดูบิดามารดา ต่อมาวันหนึ่งพระเจ้ากบิลยักษ์ กษัตริย์แห่งเมืองพาราณสี ออกป่าล่าสัตว์ เห็นฝูงสัตว์เดินห้อมล้อมสุวรรณสามอยู่อย่างน่าอัศจรรย์ จึงประสงค์จะทราบว่าเป็นใคร เทวดาหรือนาค จึงเอาลูกศรอาบยาพิษยิงไปถูกสุวรรณสาม สุวรรณสามประครองสติถามออกไปว่าใครเป็นผู้ยิง พระเจ้ากบิลยักษ์ยอมรับว่า พระองค์เป็นผู้ยิง แล้วถามความเป็นมาของสุวรรณสาม เมื่อทราบความแล้ว  ก็รับว่าพระองค์จะเป็นผู้เลี้ยงดูบิดามารดาของสุวรรณสาม แทนสุวรรณสาม เมื่อพ่อแม่ของสุวรรณสามทราบเรื่อง ก็ให้พามาพบลูกแล้วช่วยกันอธิษฐานจิต อ้างเอาความดี กตัญญูกตเวทีและสัมมาปฏิบัติ ตลอดมาของผู้เป็นบุตร ทำให้สุวรรณสามฟื้นกายหายจากบาดเจ็บ ตาของดาบสทั้งสองหายบอด เป็นปรกติ
                    พระเจ้ากบิลยักษ์ ตรัสว่าพระองค์หลงงมงายมานานแล้ว สุวรรณสามทำให้พระองค์มีความสว่างไสว จึงขอให้สุวรรณสามเป็นสรณะ สุวรรณสามถวายพระพรให้พระเจ้ากบิลยักษ์สำเร็จพระประสงค์ และถวายโอวาทความว่า "ขอพระองค์ประพฤติชอบในพระชนก และพระชนนี มิตร อำมาตย์ ไพร่พล ชาวบ้าน ชาวนิคม ชาวเมือง ชาวชนบท สมณพราหมณ์ ตลอดจนสรรพสัตว์ เมื่อทรงประพฤติชอบเช่นนี้แล้ว จะเสด็จไปเกิดในสวรรค์"
                    สุวรรณสามเลี้ยงดูบิดามารดา จนท่านทั้งสองสิ้นชีพไป ส่วนตนเองก็บำเพ็ญญาณสมาบัติจนสำเร็จ เมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดเป็นพรหม ในพรหมโลกร่วมกับบิดามารดา ที่มาเกิดอยู่ก่อน
                    ในชาตินี้เป็นพระโพธิสัตว์สุวรรณสามนี้ พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีเป็นบารมีนำ        ๒๘/๑๗๘๙๐
            ๕๑๓๐. สุเอซ, คลอง  เป็นทางน้ำที่ขุดขึ้นเพื่อใช้เดินเรือ ระหว่างทะเลเมดิเตอเรเนียนกับทะเลแดง ผ่านคอคอดสุเอซ ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินเชื่อมทวีปยุโรปกับทวีปเอเซีย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอียิปต์ คลองนี้มีความยาว ๑๗๑ กม. ตั้งต้นจากเมืองพอร์ตซาอิด บนฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียน ถึงเมืองสุเอซ บนอ่าวสุเอซตอนเหนือสุดของทะเลแดง
                    คลองสุเอซ เป็นคลองสำคัญมาก ในการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ เนื่องจากสมารถย่นระยะทางเดินเรือ ระหว่างทวีปยุโรปและทวีปอเมริกาเหนือ กับทวีปเอเชีย โดยไม่ต้องอ้อมไปทางใต้สุดของทวีปแอฟริกา เช่น การเดินเรือจากประเทศอังกฤษ ไปยังประเทศอินเดีย โดยผ่านคลองนี้จะย่นระยะทางได้มากกว่า ๖,๐๐๐ กม. และการเดินเรือจากสหรัฐอเมริกา ไปยังอ่าวเปอร์เซีย จะย่นระยะทางได้ประมาณ ๕,๕๐๐ กม.
                    การขุดคลองสุเอซ เพื่อใช้เป็นเส้นทางติดต่อระหว่างทะเลเมดิเตอเรเนียน กับทะเลแดงได้เคยมีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ มีหลักฐานว่า เมื่อ ๒,๐๐๐ ปี ก่อนกษัตริย์ของอียิปต์ได้ให้ขุดคลอง เชื่อมแม่น้ำไนล์กับทะเลแดง เรือจากทะเลเมดิเตอเรเนียนสามารถแล่นตามลำแม่น้ำไนล์ ไปออกยังทะเลแดงได้ ต่อมาคลองนี้ตื้นเขิน จึงเลิกใช้ไปเมื่อราวพุทธศตวรรษที่สิบสาม
                    ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ จักรพรรดิ์นโปเลียน โบนาปาร์ต ของฝรั่งเศส ได้เสด็จมาที่อียิปต์ และสนพระทัย ที่จะให้มีการขุดคลองเชื่อมทะเลเมดิเตอเรเนียน กับทะเลแดง แต่ไม่ได้มีการดำเนินงานดังกล่าว เรื่องวิศวกรเชื่อว่า ระดับน้ำในทะเลเมดิเตอเรเนียน ต่ำกว่าในทะเลแดงประมาณ ๑๐ เมตร หากมีการขุดคลองก็จะเดินเรือได้ลำบาก แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ระดับน้ำในทะเลทั้งสองแห่ง ไม่ได้แตกต่างกันเท่าใดนัก
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๙๗ เฟอร์ดินานด์ เดอ เลสเซป วิศวกรและนักการทูต ชาวฝรั่งเศส ได้เจรจากับ มูฮัมมัด ซาอิด ปาชา อุปราชของอียิปต์ ขอจัดตั้งบริษัทเพื่อขุดคลองสุเอซ ได้รับสัมปทานให้ดำเนินการได้เป็นเวลา ๙๙ ปี นับตั้งแต่เมื่อเริ่มเปิดใช้คลอง ในการจัดตั้งบริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด ในตอนแรกมีเพียงสองชาติคือ ฝรั่งเศส กับอิยิปต์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๘ รัฐบาลอังกฤษได้รับซื้อหุ้นจากอุปราชอิยิปต์ไว้ทั้งหมด จึงได้เข้าบริหารกิจการของบริษัทร่วมกับฝรั่งเศส  แทนที่อิยิปต์
                    การดำเนินการขุดคลองเริ่มในปี พ.ศ.๒๔๐๒ ใช้เวลาสิบปีครึ่ง จึงแล้วเสร็จเปิดใช้คลอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๒ ในตอนแรกที่ขุดคลองสุเอซ มีความลึกมากที่สุดเพียง ๘ เมตร มีความกว้างที่ก้นคลอง ๒๒ เมตร ความกว้างบนพื้นฝั่งคลอง ๗๐ เมตร ต่อมาภายหลังจึงได้มีการขุดขยายคลองให้ลึก และกว้างมากขึ้นอีกหลายครั้ง เพื่อให้เรือขนาดใหญ่ แล่นผ่านเข้าออกได้สะดวก รวมทั้งมีช่องทางให้เรือแล่นสวนกันได้ในบางจุด
                    หลังจากเปิดใช้คลองในปี พ.ศ.๒๔๑๒ แล้ว มีเรือนานาชาติใช้บริการของคลองเป็นจำนวนมาก เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และเพื่อเป็นการประกันสิทธิในการใช้คลอง ได้มีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศในปี พ.ศ.๒๔๓๑ กำหนดให้เรือของทุกชาติ สามารถใช้คลองนี้ไม่ว่าในยามสงบ หรือยามสงคราม แต่ในทางปฎิบัติไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงอย่างแท้จริง ดังในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อังกฤษประกาศห้ามเรือของชนชาติศัตรู แล่นผ่านคลองสุเอซ และในสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ทำนองเดียวกัน นอกจากนี้ เมื่อเกิดสงครามระหว่างอาหรับ กับอิสราเอล ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ - ๒๔๙๒  อิยิปต์ได้ถือโอกาสออกประกาศห้ามเรือของอิสราเอล หรือเรือบรรทุกสินค้าของอิสราเอล แล่นผ่านคลองสุเอซ
                    ในปี พ.ศ.๒๔๙๙  ประธานาธิบดี กามัล อับเดล นัสเซอร์ ของอิยิปต์ได้ประกาศยึดคลองสุเอซเป็นของรัฐ โดยอ้างว่า เพื่อนำรายได้ที่จะเก็บจากค่าธรรมเนียม การใช้คลองไปใช้เป็นทุน ในการสร้างเขื่อนไฮห์อัสวาน ในอิยิปต์ ทำให้เกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอซ เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทประท้วง อิยิปต์ ก็ประกาศกฎอัยการศึก ในบริเวณคลองสุเอซ พร้อมกับส่งกองกำลังเข้าควบคุมกิจการของคลอง อิสราเอลถือโอกาสส่งกองกำลัง บุกเข้าไปในคาบสมุทรไซนาย ของอิยิปต์ และมุ่งหน้าไปที่บริเวณเขตคลอง ในเวลาไล่เลี่ยกัน อังกฤษและฝรั่งเศส ก็ยกพลขึ้นบกที่เมืองพอร์ตซาอิด อ้างว่าเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย อิยิปต์ตอบโต้โดยการจมเรือ กีดขวางคลองไม่ให้เรือผ่าน
                    จากการเข้าแทรกแซงขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ทำให้อังกฤษ และฝรั่งเศส ต้องยอมถอนกองกำลังออกจากคลองสุเอซ ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๙ หลังจากนั้น องค์การสหประชาชาติ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าช่วยกู้เรือ ที่อิยิปต์จมปิดขวางคลองไว้ และอิยิปต์ได้ยินยอมให้เปิดใช้คลองได้ ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๐๐  เมื่ออิสราเอลยอมถอนกำลังออกจากคาบสมุทรไซนาย แล้ว
                    บริษัทคลองสุเอซ ไม่สามารถแย่งชิงกรรมสิทธิ์กลับคืนมาได้ ในที่สุดธนาคารโลก ได้เจรจาไกล่เกลี่ย บริษัทได้ทำสัญญากับรัฐบาลอิยิปต์ เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๑ โดยรัฐบาลอิยิปต์จ่ายเงินชดเชย ให้บริษัทเป็นจำนวน ๒๘.๓ ล้านปอนด์อิยิปต์ หรือ ๘๑.๒๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ
                    อิยิปต์ ได้ลงทุนปรับปรุงคลอง โดยกู้เงินจากธนาคารโลก และธนาคารเอกชนรวมเก้าแห่ง ส่วนใหญ่เป็นธนาคารในสหรัฐอเมริกา มาใช้ขุดขยายคลอง ให้ลึกและกว้างมากขึ้น ปัจจุบันคลองสุเอซ มีความลึกเฉลี่ย ๒๐ เมตร ความกว้างที่ก้นคลอง ๑๐๙ เมตร ความกว้างที่พื้นผิวน้ำ ๒๘๐ เมตร เรือเดินทะเลรวมทั้งเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ สามารถแล่นผ่านได้สะดวก ตลอดแนวลำคลอง
                    เนื่องจากอิยิปต์ ไม่ยอมให้เรือของอิสราเอล หรือเรือของชนชาติอื่นที่บรรทุกสินค้าของอิสราเอลผ่าน คลองนี้อยู่เช่นเดิม ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๐ ได้เกิดการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับอาหรับ อีกครั้งหนึ่ง อิสราเอลส่งกำลังบุกเข้าไปถึงด้านตะวันออกของคลองสุเอซ อิยิปต์ตอบโต้โดยการจมเรือขวางคลอง เกิดวิกฤตการณ์ครั้งที่สอง เป็นระยะเวลาถึงแปดปี  จากปี พ.ศ.๒๕๑๐ - ๒๕๑๘  หลังจากอิยิปต์และอิสราเอลทำข้อตกลงสันติภาพต่อกัน ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ แล้ว อิยิปต์ก็ยอมให้เรืออิสราเอลใช้คลองสุเอซได้โดยเสรี        ๒๘/๑๗๘๙๖
            ๕๑๓๑. เสฉวน (ซื่อชวน) มณฑล  เป็นมณฑลหนึ่งในประเทศจีน เป็นมณฑลที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุด มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และคมนาคม ที่สำคัญที่สุด ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เสฉวน แปลว่า แม่น้ำสี่สาย โดยมีแม่น้ำแยงซี เป็นสายใหญ่ที่สุด เสฉวน ได้ชื่อว่า เป็นชามข้าวของจีน สามารถผลิตธัญญาหาร เลี้ยงประชากรทั้งใน และนอกมณฑลอีกหลายมณฑล
                    ลักษณะภูมิประเทศ  แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ คือ
                        ๑. แอ่งซื่อชวน หรือแอ่งดินแดง  มีความสูง ๑,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นที่ราบกว้างใหญ่ที่สุด ในภูมิภาค ดินดี มีแม่น้ำหลายสาย และมีเขื่อนชลประทานที่สร้างตั้งแต่สมัยโบราณคือ เขื่อนถูเจียง จึงเป็นเขตเพาะปลูก ที่สำคัญ
                        ๒. ที่ราบสูงทางตะวันตก  ของซื่อชวน โดยทางเหนือเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูงชิงไห่ - ทิเบต สูงมากกว่า ๓,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ในส่วนนี้เคยแยกตัวเป็นมณฑลซีคัง ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๗๑ - ๒๔๗๘
                    มณฑลเสฉวน มีพื้นที่ประมาณ ๕๗๐,๐๐๐ ตร.กม. มีประชากรประมาณร้อยละสิบของประชากรจีน มีชนกลุ่มน้อยหลายชนชาติ เช่น อี๋ ถูเจีย ทิเบต ไต จ้วง มีเมืองหลวงชื่อ เฉิงตู เมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งคือ จุงกิง แต่ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ จุงกิงได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลนคร ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง เช่นเดียวกับ ปักกิ่ง เทียนสิน และเซี่ยงไฮ้ เทศบาลนครจุงกิง มีประชากรประมาณ ๓๐ ล้านคน นับว่ามากที่สุดของจีน มีพื้นที่ประมาณ ๘๒,๐๐๐ ตร.กม.
                    มณฑลเสฉวน ได้รับการขนานนามว่าเป็นสวรรค์บนพื้นพิภพ ดินแนแห่งนี้มีผู้คนอาศัยอยู่ ๓๐,๐๐๐ - ๕๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว ต่อมาระหว่าง ๑๐,๐๐๐ ปี ก่อนพุทธกาลถึงพุทธศตวรรษที่สาม ได้มีการก่อตั้งอาณาจักรปา และสู่ ทั้งสองอาณาจักรถูกรวมเข้ากับจีน โดยจิ๋นซีฮ่องเต้ ในพุทธศตวรรษที่สี่
                    มณฑลเสฉวน มีความรุ่งเรืองทางการค้ามาตั้งแต่ก่อนคริสต์กาลแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเฉิงตู ทำการค้าขายกับพม่าและอินเดีย เส้นทางการค้าสายตะวันตกเฉียงใต้นี้ นักประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า เส้นทางสายไหม เหมือนกับเส้นทางที่ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านมณฑลกานสู และเขตปกครองตนเองซินเจียง อุยกูร์ ของจีน
                    เมื่อสิ้นราชวงศ์ฮั่น จีนแบ่งออกเป็นสามก๊ก (พ.ศ.๗๖๔ - ๘๐๖)  มณฑลเสฉวนได้เป็นที่ตั้งอาณาจักรสู่ ของเล่าปี่ มีเมืองหลวงที่เฉิงตู
                    เมื่อญี่ปุ่นรุกรานจีน ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ กรุงนานกิง เมืองหลวงของจีน เวลานั้น ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดได้ ทำให้เจียงไคเชก ไปอยู่ที่อู่ฮั่น และเมืองจุงกิง ตามลำดับ เมื่อสงครามยุติลง จีนได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่นานกิง ตามเดิม จนเกิดการต่อสู้กันระหว่างจีนคณะชาติ กับจีนคอมมิวนิสต์ เกิดสงครามกลางเมือง ในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ชัยชนะ ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ รัฐบาลจีนคณะชาติได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่จุงกิงอีก
                    มณฑลเสฉวน มีแหล่งวัฒนธรรม และศาสนาเป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีธรรมชาติสวยงาม ทำให้เสฉวน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน         ๒๘/๑๗๙๐๓
            ๕๑๓๒. เสน, ลิง  เป็นลิงขนาดใหญ่ รูปร่างอ้วนสั้น ขนสีน้ำตาลแดง มีหางสั้นมาก ตรงกลางหัวมีจุดคล้ายแผล เป็นขนบนหัวแผ่กระจายออก จากกึ่งกลางหัวไปโดยรอบ มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ หากินบนพื้นดินมากกว่า บนต้นไม้ มีอายุยืน ๑๕ - ๓๐ ปี         ๒๘/๑๗๙๑๑
            ๕๑๓๓. เสนาธิการ  คือ ผู้ปฎิบัติและประสานงาน ระหว่างผู้บังคับบัญชากับหน่วยทหาร โดยทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งฝ่ายตน และฝ่ายข้าศึก โดยรอบคอบ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาตกลงใจได้อย่างรอบคอบ และถ่ายทอดคำสั่งตามที่ผู้บังคับบัญชาตกลงใจนั้น ไปถึงหน่วยทหารทันเวลา และเข้าใจแจ่มแจ้ง  ตลอดจนช่วยผู้บังคับบัญชา กำกับดูแลหน่วยทหาร ให้เป็นไปตามคำสั่งที่ตกลงใจ
                    เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘  กองทัพบกได้ขอความเห็นจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ให้ออกแบบเครื่องหมายเหล่าเสนาธิการ และในกลางปีนั้น นายทหารนักเรียน โรงเรียนเสนาธิการทหารบกชุดที่ ๓๔ (พ.ศ.๒๔๙๗ - ๒๔๙๘)  ได้ร่วมออกแบบและเสนอ เครื่องหมายนี้ไปยังกองทัพบก ความหมายของเครื่องหมายนี้คือ ดาว กับช่อชัยพฤกษ์ หมายถึง ผู้บังคับบัญชา ตรงหน้าหมวก หมายถึง หน่วยทหาร ดาวห้าแฉก หมายถึง หน้าที่ร่วมของฝ่ายอำนวยการทั้งห้าประการคือ การหา และการให้ข่าวสาร ประมาณการ ให้ข้อเสนอแนะ ทำแผนคำสั่ง และกำกับดูแลทางฝ่ายอำนวยการ
                    นอกจากนั้น ยังมีสายยงยศ ตำแหน่งฝ่ายเสนาธิการ ตามกฎกระทรวงกลาโหม ได้รวมเข้าเป็นเครื่องหมายพิเศษของนายทหาร ปัจจุบันกองทัพต่าง ๆ ได้ใช้สายยงยศ ตำแหน่งเสนาธิการกันทั่วโลก จนเป็นเครื่องหมายสากล         ๒๘/๑๗๙๑๓
            ๕๑๓๔. เสนาธิปัตย์, เข็ม   เป็นเครื่องหมายแสดงวิทยฐานะ สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษา หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประดับที่กระเป๋าเสื้อเบื้องขวา เป็นรูปพระกรรภิรมย์ เสมาธิปัตย์เหนือหลังพระคชาธาร ทำด้วยโลหะสีทอง
                    ความหมายของเข็มนี้คือ พระเสมาธิปัตย์ หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์ หรือแม่ทัพ พระคชาธาร หมายถึง ทหารฝ่ายเสนาธิการ พระกรรมาภิรมย์เสนาธิปัตย์ เหนือพระคชาธาร ประกอบกันเป็นสัญลักษณ์ของแม่ทัพ (บังคับบัญชา) กับ เสนาธิการ (ฝ่ายเสนาธิการ) ต้องปฎิบัติงานร่วมกัน จะแยกกันมิได้
                การคิดและออกแบบเข็มเสนาธิปัตย์กินเวลาสี่ปี สำเร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ และเริ่มแจกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑           ๒๘/๑๗๙๑๕
            ๕๑๓๕. เสภา  คำว่า เสภา มีมูลศัพท์มาจากภาษาใด และแปลว่าอะไรนั้น ไม่เป็นที่ชัดแจ้ง
                    ประเพณีการขับเสภา น่าจะมีมูลเหตุมาจากประเพณีการเล่านิทาน ซึ่งมีมาแต่ครั้งพุทธกาล ต่อมามีการนำนิทานมาผูกเป็นกลอน และขับเป็นลำนำ เรียกว่า การขับเสภา ซึ่งน่าจะมีในประเทศไทยมาช้านาน ตอนต้นสันนิษฐานว่า เป็นนิทานเฉลิมพระเกียรติ์ ต่อมาถึงตอนปลายสมัยอยุธยา ปรากฎว่านิยมขับเสภาแต่เรื่อง ขุนช้างขุนแผน เพียงเรื่องเดียว
                     กลอนเสภา เน้นการเล่าเรื่องจึงไม่คำนึงถึงฉันทลักษณ์มากนัก อย่างไรก็ดี ในเรื่องขุนช้างขุนแผน มีกลอนบางตอนไพเราะมาก การขับเสภาถ้าขับคนเดียว มีลักษณะเป็นการเล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าประสงค์จะให้ออกรสชาติ ก็ใช้ผู้ขับสองคนโต้ตอบกัน
                    แต่เดิม การเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน เล่าเป็นนิทานทรงเครื่อง กล่าวคือ เป็นการเล่านิทานด้วยถ้อยคำธรรมดา ไปตามเหตุการณ์จะแต่งเป็นกลอนเฉพาะบทที่สำคัญ เช่น บทพ้อ บทชมโฉม บทสังวาส บทชมดง
                    การขับเสภา เริ่มถือหนังสือบทเป็นสำคัญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ การแต่งบทเสภา มีกระบวนที่จะแต่งได้กว้างขวางกว่าบทละคร เป็นหนังสือที่ให้เห็นสำนวนกวีต่าง ๆ กันเป็นอย่างดี หนังสือเสภาจึงวิเศษในกระบวนหนังสือกลอน จึงเป็นเสน่ห์
                    การเล่นเสภา ในตอนแรกถือเอาเสภาเป็นสำคัญ ปี่พาทย์เป็นอุปกรณ์ดนตรีเสริม แต่พอเล่นกันมากเข้า ก็เกิดการประชันขันแข่งกัน เรื่องปีพาทย์จึงมีความสำคัญคู่กับเสภาไปในที่สุด         ๒๘/๑๗๙๒๑
            ๕๑๓๖. เสลดพังพอน   เป็นไม้พุ่มสูง ๑ - ๒ เมตร แตกกิ่งมาก มีหนามแข็งแหลมยาว ออกตามข้อที่ซอกใบ ข้อละสองคู่ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก แผ่นใบรูปขอบขนาน หรือรูปแถบแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายกิ่ง ช่อตั้งขึ้น ดอกสีเหลืองส้ม ผลเป็นแบบแห้งแตก รูปไข่มีสองเมล็ด
                    เสลดพังพอน ปลูกเป็นไม้ประดับได้ด้วย เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม ในด้านการเป็นพืชสมุนไพร ตำรายาไทย ใช้ใบตำละเอียด ผสมเหล้า พอกหรือทาแก้ฝี ถอนพิษอักเสบจากการกัดต่อยของแมลง และสัตว์อื่น ๆ เช่น ตะขาบ แมงป่อง ต่อ แตน ผึ้ง และพอกแก้โรคเริม ไฟลามทุ่ง รากฝนกับเหล้า ทาถอนพิษตะขาบ แมงป่อง พิษงูกัด          ๒๘/๑๗๙๓๒
            ๕๑๓๗. เสาร์, ดาว  เป็นดาวเคราะห์ดวงที่หก ในระบบสุริยะ เป็นดาวเคราะห์ที่สวยงามที่สุด เพราะมีวงแหวนหลายวงล้อมรอบ ดาวเสาร์เคลื่อนที่ช้า ผ่านกลุ่มดาวจักรราศี จากตะวันตกไปตะวันออก ในเวลาเกือบสามสิบปี จึงกลับมาปรากฎที่เก่า เมื่อมองไปบนท้องฟ้า จะเห็นดาวเสาร์ที่สว่างมากพอ ๆ กับดาวฤกษ์ ดวงที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวจักรราศี ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ ที่อยู่ไกลที่สุดที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ประมาณสิบเท่า ของระยะทางที่โลกห่างจากดวงอาทิตย์ ดาวเสาร์มีรัศมีที่ผ่านเส้นศูนย์สูตรเท่ากับ ๖๐,๒๖๘  กม. ซึ่งยาวเป็นรองจากดาวพฤหัสบดี และมีรัศมีที่ผ่านขั้วเท่ากับ ๕๔,๓๘๙ กม. จึงมีความแป้นมากกว่าดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ดาวเสาร์หมุนรอบตัวเองที่ผิวบริเวณเส้นศูนย์สูตรเป็นเวลา ๑๐.๒๓๓ ชั่วโมง อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ๑๔๒๙.๓๙ ล้าน กม. โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบเรียกว่า คาบดารากติ เป็นเวลา ๒๙.๔ ปี
                    ดาวเสาร์ มีดาวบริวาร หรือดวงจันทร์ มากเป็นอันดับสอง รองจากดาวพฤหัสบดี ดาวบริวารส่วนมากมีขนาดเล็ก เฉพาะดวงที่ค้นพบมีเพียงสิบสองดวงเท่านั้น ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า ๑๐๐ กม. อีกอย่างน้อยยี่สิบสองดวง มีเส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า ๑๐๐ กม. ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ที่ใหญ่ที่สุด มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕,๕๕๐ กม.  ใหญ่กว่าดาวพุธ            ๒๘/๑๗๙๓๔
            ๕๑๓๘. เสาวรส, ต้น  เป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่อายุหลายปี ลำต้นกิ่งเนื้อแข็งยาวได้ถึง ๑๕ เมตร  มีมือพันออกที่ซอกใบม้วนเป็นเกลียว ใบเดี่ยวเรียงเวียน ดอกเดี่ยวออกที่ซอกใบ กลิ่นหอม กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมเขียว ผลเป็นแบบผลมีเนื้อหลายเมล็ด เมล็ดล้อมรอบด้วยเนื้อเยื่อ กลิ่นหอม รสเปรี้ยว บริโภคได้         ๒๘/๑๗๙๔๗
            ๕๑๓๙. เสียบ, หอย  เป็นชื่อหอยทะเล กาบคู่หลายชนิด เป็นหอยขนาดเล็ก เปลือกเกือบเป็นรูปสามเหลี่ยม ค่อนข้างแบนเปลือกมีสีและลาย แตกต่างกันในแต่ละตัว มีกล้ามเนื้อหุ้มเปลือกสองอัน อาศัยในหาดที่เป็นทราย ในเขตน้ำทะเลท่วมถึง ลงไปถึงระดับต่ำกว่าเขตน้ำลงต่ำสุด โดยฝังตัวอยู่ใต้พื้น กินอาหาร โดยใช้เหงือกกรองจากน้ำทะเล อาหารเป็นแพลงตอน พืชและตะกอน อินทรียสารที่ปะปนอยู่ในน้ำ         ๒๘/๑๗๙๕๓
            ๕๑๔๐. เสือ  ดู แมวป่า - ลำดับที่ ๔๕๒๙             ๒๘/๑๗๙๕๔
            ๕๑๔๑. เสือข้ามห้วย  เป็นการเล่นที่มีอายุเก่าแก่ ดั้งเดิมย้อนหลังไปไม่ต่ำกว่าร้อยปีของเด็กไทย เช่นเดียวกับเสือตกถัง  การเล่นเสือข้ามห้วย เป็นการเล่นแข่งขัน ประเภทกลางแจ้งที่สนามหรือลานโล่ง การเล่นมีสองแบบ คือ เล่นเดี่ยว และเล่นหมู่ ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น ไม่ต้องใช้อุปกรณ์การเล่น เมื่อแบ่งผู้เล่นเป็นสองทีมแล้ว จากนั้น หัวหน้าทีมจะดำเนินกรรมวิธี เพื่อหาผู้ชนะและผู้แพ้ ฝ่ายชนะจะเป็นทีมเสือ ฝ่ายแพ้จะเป็นทีมห้วย ก่อนการเล่น จะตกลงกันว่า จะเล่นโดยใช้กติกาโดนเนื้อ หรือโดนผ้า
                    เมื่อตกลงเลือกกติกา การเล่นเรียบร้อยแล้ว ผู้เล่นเป็นห้วย จะทำท่าทางต่าง ๆ ให้ผู้เล่นเป็นเสือกระโดดข้าม ท่าห้วยมีทั้งหมดสิบห้าท่า ผู้เล่นเป็นห้วยทำท่าห้วยครั้งละท่า ไปตามลำดับ          ๒๘/๑๗๙๕๔
            ๕๑๔๒. เสือตกถัง  เป็นการเล่นดั้งเดิมของเด็กไทย ที่เล่นกันมานานไม่ต่ำกว่าร้อยปีมาแล้ว เป็นการเล่นแข่งขันประเภทในร่ม ใช้ผู้เล่นเพียงสองคน อุปกรณ์การเล่นใช้ตัวเดินสองคู่ จะเป็นวัสดุใดก็ได้ ที่หยิบยกได้ พอเหมาะมือในการนำไปวาง บนตารางที่ใช้เล่น
                    วิธีเล่น ผู้เล่นทั้งคู่วางตัวเดินคู่ของตน บนจุดสองจุดปลายเส้นเดียวกันของตารางเดิน ผู้เล่นผลัดกันเดิน โดยอาจเดินไปยังจุดว่าง ที่ไม่มีตัวเดินวางอยู่ หรือเดินไปยังจุดกลางกากบาทของตารางก็ได้ ผู้เล่นที่จนมุมไม่สามารถเดินผ่านจุดอื่นได้ ยกเว้นจุดที่เป็นถังถือว่าแพ้         ๒๘/๑๗๙๕๔
            ๕๑๔๓. เสือป่า  เป็นกองอาสาสมัครที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงจัดขึ้นโดยมีพระราชประสงค์ เพื่อให้พลเรือน ทั้งที่เป็นข้าราชการ และไม่ได้เป็นข้าราชการ ที่ปรารถนาจะรับการฝึกหัดอย่างทหาร ได้มีโอกาสฝึกหัดระเบียบวินัย มีการบังคับบัญชาเป็นหมู่เหล่า และฝึกให้จงรักภักดี ยอมสละชีวิตเพื่อป้องกันภัยอันตราย ที่จะเกิดแก่ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ องค์กรเสือป่า ได้สลายตัวไปเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ เสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ สมาชิกเสือป่า มีจำนวนมากกว่า ๑๐,๐๐๐ คน
                    นอกจากเสือป่า แล้ว พระองค์ยังโปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งกองลูกเสือขึ้น หลังตั้งเสือป่าเพียงสองเดือน โดยมีพระราชดำริว่า "เด็กผู้ชายที่ยังอยู่ในปฐมวัย ก็เป็นผู้ที่สมควรจะได้รับการฝึกฝนทั้งในส่วนร่างกาย และในส่วนใจให้มีความรู้ในทางเสือป่า  เพื่อว่าเมื่อเติบโตขึ้นแล้ว จะได้รู้จักหน้าที่ซึ่งผู้ชายไทยทุกคน ควรประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง อันเป็นที่เกิดเมืองนอนของตน"  การจัดตั้งกองลูกเสือจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดพลเมือง ให้มีวิญญาณเสือป่าตั้งแต่เยาว์วัย  ในรัชสมัยของพระองค์กิจการลูกเสือ เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ.๒๔๖๘ ลูกเสือมีจำนวนถึง ๓๘,๗๓๕ คน         ๒๘/๑๗๙๖๐
            ๕๑๔๔. เสือพ่นน้ำ, ปลา  เป็นปลาที่คนไทยคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ ปลาเสือเป็นปลาผิวน้ำ ในเขตร้อน มักพบอยู่บริเวณน้ำตื้นชายทะเล ปรกติพบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำของป่าชายเลน หรือน้ำกร่อย บริเวณปากแม่น้ำ หรือทะเลสาบ ที่ติดต่อกับทะเล
                    ปลาเสือ มีรูปร่างที่แปลก หรือขัดกับลักษณะของปลา ที่หากินอยู่ตามผิวน้ำทั่วไปคือ มีลำตัวป้อม กว้าง แบนข้างมาก รูปทรงคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลาเสือที่พบทั่วไปมีขนาดยาวไม่เกิน ๗๕ ซม. ปลาเสือมีพฤติกรรมการหาอาหารที่น่าสนใจ ต่างจากปลาอื่น โดยการพ่นน้ำไปยังเหยื่อได้อย่างแม่นยำ ปลาเสือที่โตเต็มวัยมีความสามารถ ในการมองเห็นและพ่นน้ำ เป็นทางเพื่อว่าแมลงที่อยู่สูงจากผิวน้ำได้ถึง ๑.๘๐ เมตร           ๒๘/๑๗๙๗๒
            ๕๑๔๕. เสือหมอบ  มีอีกชื่อว่า สาบเสือ เป็นวัชพืชขึ้นสองข้างทางทั่วไป หรือตามที่รกร้าง และป่าที่ถูกทำลาย เสือหมอบเป็นไม้พุ่ม แตกกิ่งก้านสาขากว้างขวาง ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ดอกสีน้ำเงินแกมม่วงอ่อน ๆ  บางทีสีขาวออกเป็นช่อกระจุก ที่ปลายยอด
                    เสือหมอบ มีสรรพคุณเป็นสมุนไพร โดยนำใบมาตำพอกปากแผล ห้ามเลือดได้ดี ทั้งต้นของเสือหมอบ มีกลิ่นหอมแรง ใช้เป็นยาฆ่าแมลง ใช้เบื่อปลา         ๒๘/๑๗๙๗๙
            ๕๑๔๖. แสก ๑  เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง ทางภาคอีสานของไทยที่ จ.นครพนม และเรียกตนเองว่า แสก อพยพมาจากทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีหน้าตาและผิวพรรณคล้ายคนลาว มีภาษาพูดของตนเอง แต่ไม่มีภาษาเขียน
                    เดิมชาวแสก นิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ ปลูกเรือนแบบใต้ถุนสูง และทำการประมงควบคู่กับการเพาะปลูก ชาวแสกทั้งหญิงและชาย นิยมแต่งกายโดยสวมเสื้อม่อฮ่อม แต่หญิงนิยมเสื้อแขนยาว ชายสวมกางเกงขาก๊วยสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดเอว และมีสไบคล้องคอ ส่วนผู้หญิง สวมผ้าถุงเชิงเป็นตีนจก คาดเข็มขัด เป็นผ้าปักลาย ด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง และมีสไบพาดบ่า             ๒๘/๑๗๙๘๐
            ๕๑๔๗. แสก ๒  นกแสกเป็นนกหากินกลางคืน ชอบอยู่ใกล้บริเวณที่อาศัยของมนุษย์ หรือตามซอกหินของภูเขา หรือถ้ำ อาหารที่ชอบมากคือ หนู สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู นกแสกมักจะหากินไกลจากรัง ในรัศมีประมาณ ๕๐ กม. นกแสกที่โตเต็มที่แล้ว บางทีจะอพยพย้ายถิ่นกว่า ๕๐๐ กม. จากรังเดิม และมักไม่ย้อนกลับมาที่เก่า
                    นกแสก โตเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์ เมื่ออายุประมาณหนึ่งปี ตัวผู้และตัวเมีย จะจับคู่กันในลักษณะตัวเดียว เมียเดียว เป็นเวลาหลายปี จนคู่ของมันตาย หรือหายไป ส่วนใหญ่จะใช้รังเดิม เป็นที่วางไข่ นกแสกจะไม่ทำรัง แต่จะใช้โพรงไม้ หรือซอกหลีบหลังคา เป็นที่วางไข่ นกแสกมีอายุ ๑๘ ปี         ๒๘/๑๗๙๘๒
            ๕๑๔๘. แสงอาทิตย์ ,งู  เป็นงูที่ไม่มีพิษขนาดกลาง ยาวประมาณ ๘๐ ซม.  อาศัยอยู่ตามพื้นดิน มักพบซุกซ่อนนอนตามใต้วัสดุ ที่วางกองอยู่กับพื้น หรือมุดนอนใต้ผิวดิน ออกหากินเวลากลางคืน กินหนู เขียด          ๒๘/๑๗๙๘๔
            ๕๑๔๙. แสนปม, ท้าว  เป็นชื่อบทละครรำดึกดำบรรพ์ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ อาศัยเค้าโครงตามตำนาน เรื่องท้าวแสนปม อันปรากฎอยู่ในพงศาวดารเหนือเป็นหลัก
                    พระราชนิพนธ์กลอนบทละครเรื่องท้าวแสนปม แบ่งออกเป็นสองตอน ตอนที่หนึ่งเริ่มเรื่องจาก พระเจ้าชินเสน ทูลลาพระเจ้าศรีวิไชยไปตามหากพระธิดาอุษา แห่งเมืองไตรตรึงษ์ และจบลงที่พระชินเสน กลับมายังเมืองศรีวิไชย อีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากพระเจ้าศรีวิไชยประชวร ตอนที่สอง เริ่มเรื่องที่ พระเจ้าไตรตรึงษ์ ปรึกษากับพระมหาราชครู เรื่องการสืบหาบิดาของพระกุมาร ผู้เป็นนัดดา และจบลงเมื่อพระชินเสน พานางอุษา และพระกุมารกลับนครศรีวิไชย
                    เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครดึกดำบรรพ์ เรื่องท้าวแสนปม แบ่งออกเป็นสององก์ องก์ที่หนึ่งมีสามตอน องก์ที่สอง มีสี่ตอน         ๒๘/๑๗๙๘๕
            ๕๑๕๐. แสม, ต้น  เป็นชื่อพรรณไม้ ในป่าชายเลน หรืออาจพบได้ตามริมคลองที่มีน้ำขึ้นลง ลักษณะทั่วไป คือ เป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้น ซึ่งอาจสูงได้ถึง ๒๕ เมตร มีรากหายใจคล้ายแท่งดินสอ จำนวนมากที่บริเวณโคนต้น และสูงเหนือระดับดิน ๑๐ - ๓๐ ซม. ลำต้นมักคดงอ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง หรือสีเหลืองอมส้ม ผลมีผนังผลหนาคล้ายแผ่นหนังรูปไข่หรือค่อนข้างกลม มีหนึ่งเมล็ด งอกเป็นต้นอ่อนเมื่ออยู่บนต้นเดิมได้
                     ๑. แสมขาว  มักพบขึ้นตามชายฝั่งทะเลด้านนอกที่ติดทะเล บนดินเลนอ่อนเป็นไม้ต้น อาจสูงได้ถึง ๒๐ เมตร ใบรูปรี รูปไข่ หรือรูปใบหอก ผลรูปไข่
                     ๒. แสมดำ  ขึ้นในดินเหนียวแข็ง เป็นไม้ต้นสูงได้ถึง ๒๕ เมตร ใบรูปไข่กลับ ผลรูปไข่ค่อนข้างแบน
                     ๓. แสมทะเล  เป็นไม้เบิกน้ำ ขึ้นในดินเลนงอกใหม่ที่ค่อนข้างเป็นดินทราย บริเวณที่ติดทะเลเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๘ เมตร ใบรูปรีกว้าง ผลรูปไข่ ค่อนข้างกลม
                    ประโยชน์ของเนื้อไม้แสม ส่วนใหญ่ใช้กันภายในประเทศ ทนต่อปลวก ใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ อาคารบ้านเรือน เครื่องเรือน ของใช้ในบ้าน เช่น ครก สากตำข้าว เศษไม้ใช้ผลิตเป็นเยื่อในอุตสาหกรรมเรยอง เปลือกและไม้มีแทนนินให้สีน้ำตาลใช้ย้อมหนัง และผ้าบาติก เมล็ดเมื่อทำให้สุกกินได้ ต้นอ่อนและใบอ่อนของแสมดำใช้กินเป็นผัก แก่นไม้แสมขาวใช้รักษาโรคปากอักเสบ เชื้อราในเด็ก          ๒๘/๑๗๙๙๐
            ๕๑๕๑. แสม, ปู  เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีอยู่หลายชนิด กระดองรูปร่างสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้างมากกว่าความยาว และมีกลุ่มขนกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป อาศัยอยู่ตามต้นแสมในป่าชายเลน ที่นิยมนำมาบริโภคเป็นอาหารมีสามชนิด โดยนำมาดองเกลือเรียกว่าปูเค็ม         ๒๘/๑๗๙๙๓
            ๕๑๕๒. แสม, ลิง  เป็นชื่อลิงชนิดหนึ่ง เป็นลิงไทยที่มีหางยาวที่สุด มีขนสีเทาอมน้ำตาลจนถึงสีเทาเข้ม สามารถอาศัยได้ตั้งแต่ป่าชายเลน จนถึงป่าทึบสูงจากระดับน้ำทะเล ๒,๐๐๐ เมตร ว่ายน้ำและดำน้ำได้เก่ง
                    ลิงแสมโตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่อายุ ๓ - ๕ ปี หลังจากการผสมพันธุ์แล้วจะอยู่รวมในฝูง ลิงแสมสามารถมีลูกได้ตลอดปี ตั้งท้องนานประมาณเจ็ดเดือน ตกลูกครั้งละตัว ลูกจะอยู่กับแม่นาน ๖ - ๑๐ เดือน ลิงแสมมีอายุ ๑๕ - ๓๐ ปี         ๒๘/๑๗๙๙๓
            ๕๑๕๓. โสน, ต้น  เป็นชื่อเรียกพรรณไม้หลายชนิด โสนที่รู้จักโดยทั่วไปคือโสนกินดอก อยู่ในวงศ์ถั่ว เป็นไม้ล้มลุกขนาดใหญ่สูง  ๑ - ๔ เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่เรียงสลับ ใบย่อยออกตรงข้ามมกัน แผ่นใบย่อยรูปแถบ ดอกสีเหลืองรูปดอกถั่ว ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ห้อยลง ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอกมีเมล็ดมาก
                    โสนกินดอกชอบขึ้นตามชายน้ำและบริเวณที่ชื้นแฉะ เนื้อไม้อ่อน และเบามาก ใช้ทำของเล่นเด็ก ดอกไม้ประดิษฐ์ ยอดอ่อนและดอกใช้บริโภคเป็นผัก ดอกทำขนมดอกโสน รากและลำต้นปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ แก้กษัยไตพิการ ใบแก้พิษฝี แก้ปวด ดอกแก้ร้อนใน สมานลำไส้ เมล็ดฝาดสมานทำให้ประจำเดือนมาเป็นปรกติ         ๒๘/๑๗๙๙๕
            ๕๑๕๔. โสภิตะ  เป็นพระนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง นับเป็นพระองค์ที่หกในจำนวนพระพุทธเจ้ายี่สิบห้าพระองค์   ๒๘/๑๗๙๙๖
            ๕๑๕๕. โสม  เป็นชื่อสมุนไพรที่ได้จากรากของไม้ล้มลุกหลายปี หลายชนิด ที่ชาวจีนและชาวเกาหลีนิยมใช้กันมานานนับพันปี โดยเชื่อว่าเป็นยารักษาโรคได้ทุกชนิด ใช้บำรุงร่างกาย ช่วยเพิ่มพลัง ทำให้อายุยืน
                    โสม เป็นพืชที่พบได้ตามธรรมชาติ แต่มีปริมาณไม่มาก พอต่อความต้องการ จึงทำให้มีราคาสูงมาก ส่วนของพืชที่นำมาใช้เป็นยาคือราก ซึ่งมีรูปเรียว อวบ และเมื่อมีอายุ ๒ - ๓ ปี ขึ้นไป จะแตกแขนงออกเป็น ๒ - ๓ แฉก เมื่อถึงฤดูใบไม้รวงก็จะทิ้งใบและลำต้นจะเหี่ยว พอถึงฤดูใบไม้ผลิจะแตกหน่อและใบขึ้นมาอีก ต้นโสมที่นำมาใช้เป็นยาได้ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า ๕ - ๖ ปี           ๒๘/๑๗๙๙๘
            ๕๑๕๖. ไส้ต้น ปลา  เป็นปลากระดูกแข็ง มีอยู่หลายชนิดในสามวงศ์ บางชนิดอยู่ในน้ำจีด บางชนิดอยู่ในน้ำเค็ม เป็นปลาขนาดเล็ก          ๒๘/๑๘๐๐๔
            ๕๑๕๗. ไสยศาสตร์  เป็นวิชาที่ว่าด้วยความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติของคนโบราณที่เกี่ยวกับเวทมนตร์ คาถาอาคม โดยเชื่อกันว่าผู้ที่ได้ร่ำเรียนและฝึกฝนจนมีอำนาจจิตแข็งแกร่งจะสามารถใช้ควบคุมบังคับหรือดลบันดาลให้เกิดสิ่งที่ต้องการ ซึ่งมิได้เกิดขึ้นตามปรกติวิสัย
                    คำว่าไสยศาสตร์บางครั้งใช้คำว่าไสยเวท ซึ่งบ่งถึงที่มาของคำว่าอาจมีที่มาจากความรู้ในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีคัมภีร์พระเวทเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ อาจเป็นด้วยเหตุนี้คำว่าไสยมักใช้ในความหมายว่า นอกพระพุทธศาสนา ถือเป็นความเชื่อในศาสนาพราหมณ์
                    วิชาต่าง ๆ ที่เป็นวเรื่องไสยศาสตร์มักจะเป็นวิชาที่ผิดธรรมชาติหรือเป็นธรรมชาติ แต่วืธีการที่ใช้ไม่ใช่ธรรมชาติเช่น วิชาแปลงกาย วิชาสะกด สะเดาะกลอน ทำเสน่ห์ยาแฝด ปราบผี คงกะพันชาตรี แคล้วคลาด มีการใช้เวทย์มนตร์เพื่อการต่าง ๆ         ๒๘/๑๘๐๐๘
            ๕๑๕๘. ไสลือไท พระเจ้า ดูมหาธรรมราชาที่หนึ่ง - ลำดับที่ ๔๒๑๑         ๒๘/๑๘๐๑๘
            ๕๑๕๙. ไส้เลื่อน คือโรคหรือภาวะที่ลำไส้หรืออวัยวะในช่องท้องเลื่อนจากตำแหน่งปรกติไปอยู่นอกช่องท้อง ทำให้ผนังหน้าท้องโป่งหรือนูนขึ้นมาผิดปรกติ โรคหรือภาวะดังกล่าวเกิดได้ดังนี้
                     ๑. เกิดขึ้นก่อนคลอด ซึ่งมักเนื่องมาจากการเจริญในครรภ์ผิดปรกติหรือไม่สมบูรณ์
                     ๒. เกิดขึ้นหลังคลอด ซึ่งจะเกิดได้เป็นสองแห่งใหญ่ ๆ คือ เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นไส้เลื่อนถุงอัณฑะ และเกิดขึ้นแบบรวดเร็ว มักจะเกิดหลังอุบัติเหตุ
                    อันตรายจากไส้เลื่อนคือทำให้เกิดความรำคาญ ถ้าไส้เลื่อนเป็นมาก ๆ ถุงอัณฑะจะโตมากได้ ถ้าถูกกด ถูกรัด หรือเขย่าเวลาวิ่งหรือเดินจะปวด หรือถ้าเป็นไล้เลื่อนชนิดเลื่อนกลับไม่ได้ จะมีโอกาสปวด และอักเสบจนถึงลำไส้เน่าได้
                    การรักษาที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดดึงลำไส้กลับเข้าช่องท้องแล้วเย็บปิดรูและช่องที่ลำไส้ผ่านเข้าไปอยู่         ๒๘/๑๘๐๑๘

            ๕๑๖๐. ห พยัญชนะตัวที่สี่สิบเอ็ด  ในจำนวนตัวอักษรที่เป็นพยัญชนะสี่สิบสี่ตัวของไทย ในการเขียนสะกดคำ อักษร ห ใช้เป็นทั้งพยัญชนะต้น และอักษรนำ ไม่ใช้เป็นตัวสะกด
                    เมื่อใช้เป็นอักษรนำอักษร ห ซึ่งเป็นอักษรสูง จะนำหน้าอักษรต่ำ ทำให้อักษรต่ำที่ตามมาออกเสียง เหมือนอักษรสูง และผันวรรณยุกต์ได้สามเสียง เหมือนอักษรสูง โดยอักษร ห ที่นำอักษรต่ำ จะกลายเป็นอักษรที่ไม่ออกเสียง
                    อักษร ห ยังใช้กับอักษรอื่นได้แก่ ร และ ฤ เป็น หร  และ หฤ  ในการอ่านออกเสียงต้องอ่าน แยกพยางค์กัน
                    มีคำบางคำที่อักษร ห ปรากฎกลางคำโดยไม่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับ แต่ไม่ออกเสียง เช่น คำว่า พรหม  พราหมณ์          ๒๘/๑๘๐๑๙
            ๕๑๖๑. หงส์  เป็นสัตว์ในจินตนาการของกวี เป็นนกใหญ่ รูปงาม เสียงไพเราะ มีลีลาการเดินงามสง่า ตามคติพราหมณ์ หงส์เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าสามองค์ ได้แก่ พระวรุณ พระพรหม และพระสุรัสวดี
                    ในวรรณคดีสันสกฤต ได้กล่าวถึงความสามารถของหงส์ ที่บินได้ไกลและเร็วมาก เสมอกับครุฑ
                    ในวรรณคดีบาลี กล่าวไว้ว่า หงส์เป็นสัตว์จำพวกนกน้ำ มีสีกายต่าง ๆ ดังปรากฎในคัมภีร์ปรมัตถโชติกามีหกชนิดคือ กายสีเหลือง กายสีแดง กายสีขาว กายสีดำ กายสีเพลิง และกายสีทอง  ส่วนในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา จำแนกหงส์ไว้สามชนิด เช่นเดียวกับคัมภีร์อมรโกศ ได้แก่ ราชหงส์ มัลลิกาหงส์ และธตรฐหงส์ วรรณคดีบาลีกล่าวถึง ถิ่นที่อยู่ของหงส์ว่า อาศัยอยู่ในถ้ำทอง ที่เขาจิดกูฏ แถบป่าหิมพานต์ ชอบอยู่ในสระบัวที่มีน้ำใสสะอาด อาหารคือ ข้าวสาลี ที่เกิดตามสระ และดอกบัว หงส์เป็นราชาแห่งนก ดังปรากฎในอุลูกชาดก ว่า สัตว์ปีกทั้งหลายเห็นพ้องกันว่า หงส์มีคุณสมบัติสูง จึงควรเลือกเป็นผู้นำ         ๒๘/๑๘๐๒๑
            ๕๑๖๒. หญ้า  คนส่วนมากมักเรียกพืช ที่มีต้นขนาดเล็ก หรือที่เป็นวัชพืชว่า หญ้า หญ้าเป็นไม้ดอกกลุ่มพืชเลี้ยงเดี่ยว มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ค่อนข้างซับซ้อน และมีศัพท์พิเศษเฉพาะเรียกส่วนต่าง ๆ ที่แตกต่างจากศัพท์ของไม้ดอกอื่น ๆ  ลักษณะทั่วไปของพืชในวงศ์นี้ เป็นไม้ล้มลุกยกเว้นไผ่ ที่คล้ายไม้ต้น ช่วงชีวิตมีอายุปีเดียว สองปี หรือหลายปี  รากเป็นแบบรากพิเศษ ซึ่งเป็นรากย่อย อาจมีรากค้ำที่รอบข้อ บริเวณโคนต้น เช่น ข้าวโพด เดือย ลำต้นมีทั้งอยู่ในดินเป็นเหง้า และที่อยู่เหนือดิน ซึ่งมีข้อและปล้องชัดเจน ปล้องรูปทรงกระบอก
                    ช่อดอกส่วนใหญ่ ออกที่ปลายกิ่ง มากกว่าตามง่ามใบ มีอยู่สี่แบบ แต่ละแบบอาจแยกย่อยออกไปอีก ได้แก่ ช่อเชิงลด ช่อกระจะ ช่อกระจะ ที่คล้ายช่อเชิงลด และช่อแยกแขนง          ๒๘/๑๘๐๒๙
            ๕๑๖๓. หญ้าขัด  เป็นชื่อเรียกไม้พุ่มหลายชนิด สูง ๕๐ - ๑๒๐ ซม. กิ่งกลม รูปดาว ใบเดี่ยวเรียงเวียนรูปรี ถึงรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ดอกสีเหลืองอ่อน หรือสีเนื้อ ค่อนข้างขาว ออกเดี่ยวตามง่ามใบ ผลแบบผลแห้ง แยกเป็นเลี้ยงผลรูปครึ่งทรงกลม
                    หญ้าขัด มีสรรพคุณเป็นสมุนไพร เกือบทุกส่วนใช้เป็นยาได้ รากใช้ขับเสมหะ ขับเลือด และรก แก้โรคไขข้อ โรคกระเพาะอาหาร ดีพิการ โรคปอด ปวดมดลูก แก้ไข้ แก้คลื่นเหียนอาเจียน สารสะกัดด้วยแอลกอฮอล์ ของหญ้าขัดมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในคน ใบตำพอกแก้บวม ขับปัสสาวะ แก้ไข้ เปลือกต้นให้ใยขาว และเหนียว ใช้ทำเชือกป่าน และทำกระสอบ          ๒๘/๑๘๐๓๖
            ๕๑๖๔. หญ้าถอดปล้อง  เป็นไม้ประเภทไม้ล้มลุก อายุหลายปีขึ้นเป็นกอสูงถึง ๑ เมตร หากอยู่ในน้ำลึกจะมีไหลยาว ๔ - ๖ เมตร และลอยน้ำ ลำต้นเป็นข้อและปล้อง มีรากออกตามข้อที่โคนภายในลำต้น ใบเดี่ยวเรียงสลับ ช่อดอกออกที่ปลายกิ่ง แบบช่อแยกแขนง ผลรูปรี
                    หญ้าถอดปล้อง ใช้ทั้งต้นเป็นอาหารสัตว์ เดิมในชนบทบางแห่งใช้ไส้ภายในลำต้น ทำเป็นไส้ตะเกียง ปัจจุบันใช้ประดิษฐเป็นของประดับ หรือของเล่นต่าง ๆ          ๒๘/๑๘๐๔๘
            ๕๑๖๕. หนวดพราหมณ์   เป็นกล้วยไม้เจริญทางยอดขึ้นอิงอาศัยตามคบไม้ และกิ่งไม้ของไม้ต้นหลายชนิด มักขึ้นเป็นกระจุก ตั้งแต่ ๒ - ๓ ต้น จนถึงหลายสิบต้น ใบเป็นเส้นอวบกลมและยาว เรียงสลับซ้อนกันและห้อยลง ช่อดอกออกใกล้โคนต้น  เป็นช่อตั้งหรือเอน ดอกสีชมพู หรือชมพูอมม่วง เรียงเวียนรอบแกนช่อ ค่อนข้างแน่น ดอกบานทน และมีกลิ่นหอม นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ         ๒๘/๑๘๐๔๙
            ๕๑๖๖. หนองคาย  จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขต ทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดต่อกับแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแนวเส้นแบ่งเขตแดนประเทศไทย กับประเทศลาว ทิศใต้ติดต่อกับ จ.นครพนม จ.สกลนคร และ จ.อุดรธานี ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จ.เลย มีพื้นที่ ๗,๓๓๒ ตร.กม.
                     ลักษณะภูมิประเทศ  ทางตอนเหนือ และตะวันออกของจังหวัด เป็นที่ราบชายฝั้งแม่น้ำโขง โดยตลอดมีความยาวของลำน้ำ ๓๒๙ กม. ถัดจากที่ราบชายฝั่งเข้ามาภายใน ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลอนลาด และเนินเขาเตี้ย ๆ บริเวณที่เป็นภูเขา มีอยู่ทางด้านตะวันตกสุดของจังหวัด ซึ่งมีทิวเขาภูพาน ทอดยาวผ่านจากทิศใต้ไปทิศเหนือ ทางตอนใต้ของจังหวัดมีแม่น้ำสงคราม ไหลไปตามเส้นแบ่งเขต ระหว่าง จ.หนองคาย กับ จ.สกลนคร
                     ด้านประวัติศาสตร์  บริเวณที่ตั้งของ จ.หนองคาย มีเมืองโบราณหลายแห่ง ที่ขึ้นกับอาณาจักรล้านช้าง ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ได้แก่ เมืองเวียงคุก อยู่บริเวณ อ.เมืองหนองคาย ติดต่อกับ อ.ท่าบ่อ เมืองลาหนอง อยู่บริเวณ อ.เมืองหนองคาย เมืองปากห้วย อยู่ที่ อ.โพนพิสัย และเมืองพานพร้าว อยู่ที่ อ.ศรีเชียงใหม่ ในสมัยธนบุรี ไทยได้ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ.๒๓๒๑ เมืองต่าง ๆ ของอาณาจักรล้านช้างที่อยู่ทางฝั่างขวาของแม่น้ำโขง จึงตกเป็นของไทย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์ กองทัพไทยยกไปตีเมืองเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง ในการทำศึกครั้งนั้นกองทัพไทยได้ยกกำลังมาตั้งมั่นอยู่ที่ค่ายบกหวาน ซึ่งอยู่ติดกับหนองน้ำเรียกกันว่า บึงค่าย หรือหนองค่าย เสร็จศึกแล้วพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมืองใหม่ขึ้น ณ ที่แห่งนั้นเรียกชื่อว่า เมืองหนองค่าย ต่อมาได้เพี้ยนไปเป็น เมืองหนองคาย
                    เมื่อกองทัพไทยยกกำลังไปปราบฮ่อรวมสองครั้งในปี พ.ศ.๒๔๑๘ และ พ.ศ.๒๔๒๘ เมื่อปราบฮ่อได้สำเร็จในปี พ.ศ.๒๔๒๘ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อไว้ที่เมืองหนองคาย
                    จ.หนองคาย มีปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดคือ บั้งไฟพญานาค มีลักษณะเป็นลูกไฟพุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขงสู่อากาศสูง ๓๐ - ๕๐ เมตร บางลูกอาจสูงถึง ๑๐๐ เมตร แล้วหายวับไป ลูกไฟมีขนาดเล็กใหญ่ ตั้งแต่นิ้วหัวแม่มือจนถึงผลส้ม มีลักษณะเหมือนพลุที่พุ่งขึ้นมาจากน้ำ แต่ไม่มีเสียง ไม่มีเปลวเหมือนลูกไฟทั่ว ๆ ไป และไม่มีควัน มีสีแดงอมชมพู ไปถึงสีเขียวมรกต และเกิดขึ้นเฉพาะในวันออกพรรษาของทุก ๆ ปีเท่านั้น          ๒๘/๑๘๐๕๒
            ๕๑๖๗. หนองบัวลำภู  จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันออกติดต่อกับ จ.อุดรธานี ทิศใต้ติดต่อกับ จ.ขอนแก่น ทิศตะวันตกติดต่อกับ จ.เลย มีพื้นที่ ๓,๘๕๙ ตร.กม.
                     ลักษณะภูมิประเทศ  ส่วนใหญ่เป็นแอ่งที่ราบ ซึ่งมีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ ๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ทางด้านตะวันออกของจังหวัดมีทิวเขาภูพาน เป็นแนวแบ่งเขตกับ จ.อุดรธานี โดยตลอดจากเหนือไปใต้ ทางด้านทิศใต้มีลำน้ำพองเป็นเส้นแบ่งเขตกับ จ.ขอนแก่น โดยมีเขื่อนอุบลรัตน์สร้างกั้นลำน้ำนี้ ทำให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่ ๔๑๐ ตร.กม.
                     ด้านประวัติศาสตร์   จ.หนองบัวลำภู  เคยเป็นเมืองโบราณมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เป็นหลายชื่อตามพัฒนาการทางด้านประวัติศาสตร์คือ เมื่อมีการตั้งเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกราวปี พ.ศ.๒๐๒๖ มีชื่อว่า เมืองจำปานครกาบแก้วบัวบาน ต่อมาเมืองนี้ได้ร้างไปสองครั้ง จนถึงปี พ.ศ.๒๓๐๒ เสนาบดีเมืองล้านช้างสองคนคือ พระวอ และพระตา ได้อพยพผู้คนมาตั้งถิ่นฐานขี้นใหม่ ได้สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน แทนเมืองร้างที่มีอยู่เดิม และไม่ขึ้นกับเมืองเวียงจันทน์ ทางเวียงจันทน์ส่งกำลังมาปราบปรามหลายครั้ง และยึดเมืองนี้ได้ในปี พ.ศ.๒๓๒๑ และถูกเผาทำลาย พระวอได้มีหนังสือทูลสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ขอพึ่งพระบรมเดชานุภาพในการส่งกองทัพไปปราบฝ่ายเวียงจันทน์ ในที่สุดก็ตีเมืองเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ.๒๓๒๑
                    ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดระเบียบการปกครองหัวเมือง ทางลุ่มแม่น้ำโขงใหม่ เมืองนครเขื่อนขันธ์ ฯ ซึ่งมีผู้คนอพยพมาตั้งถิ่นฐานกันใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น กมุทธาสัยบริรมย์ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหนอง
บัวลำภู โดยให้ขึ้นกับบริเวณบ้านหมากแข้ง ของมณฑลอุดร ในปีต่อมาได้รวมเมืองต่าง ๆ ในบริเวณบ้านหมากแข้ง ตั้งขึ้นเป็นเมืองอุดรธานี เมืองหนองบัวลำภูจึงกลายเป็น อ.หนองบัวลำภูขึ้นกับเมืองอุดรธานี ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น จ.
อุดรธานี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙
                    ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้แยก จ.อุดรธานี ออกเป็นสองจังหวัด และจัดตั้ง จ.หนองบัวลำภู ขึ้นโดยให้แยก อ.หนองบัวลำภู อ.นากลาง อ.โนนสัง อ.ศรีบุญเรือง และ อ.สุวรรณคูหา ออกจาก จ.อุดรธานี รวมตั้งขึ้นเป็น จ.หนองบัวลำภู      ๒๘/๑๘๐๕๗
            ๕๑๖๘. หนองแส  เป็นชื่อเมืองหลวงของอาณาจักรน่านเจ้า (พ.ศ.๑๑๙๒ - ๑๗๙๖) ปัจจุบันคือ เมืองต้าหลี ในมณฑลหยุนหนานของประเทศจีน ตั้งอยู่ริมหนองแส หรือทะเลสาบเอ๋อรไห่ (ทะเลสาบรูปใบหู)
                    เมืองหนองแส ไม่ได้เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรน่านเจ้าตั้งแต่เริ่มแรก เมื่อพระเจ้าสินุโล (พ.ศ.๑๑๙๒ - ๑๒๑๗) ผู้สถาปนาเจ้าเมืองแส และเรียกอาณาจักรว่า ต้าหมง เมืองหลวงอยู่ที่เว่ยซาน (ปัจจุบันคือ เมืองหนองฮั่ว ในมณฑลหยุนหนาน) ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมืองหนองแส ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าพีล่อโก๊ะ (พ.ศ.๑๒๗๑ - ๑๒๙๑) กษัตริย์องค์ที่สี่ของราชวงศ์สินุโล และเป็นผู้ทำการรวบรวมเจ้าทั้งหกเข้าด้วยกัน ตั้งเป็นอาณาจักรที่มีเขตแดนกว้างใหญ่ขึ้นมา และเปลี่ยนชื่อเป็นน่านเจ้า แปลว่า เจ้าทางใต้ ถึงปี พ.ศ.๑๒๘๓ ได้ทรงย้ายเมืองหลวงขึ้นไปทางเหนือที่เมืองไท่เหอ หรือต้าทอ อยู่ที่บริเวณทะเลสาบหนองแส ค่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
                    ครั้นถึงรัชสมัยพระเจ้าอี้โหมวเสิน (พ.ศ.๑๓๒๒ - ๑๓๔๑) รัชกาลที่หก แห่งราชวงศ์สินุโล ได้ย้ายเมืองหลวงไปเมืองหนองแส บริเวณตอนกลาง
ด้านตะวันตกของทะเลสาบหนองแส พร้อมกับเปลี่ยนชื่ออาณาจักรว่า ต้าหลี
                    เมืองหนองแสอยู่ในชัยภูมิที่ดีมาก มีพื้นที่ประมาณ ๓๖๐ ตร.กม. ด้านตะวันออกเป็นหนองแส ด้านตะวันตกเป็นภูเขาฉางซาน ทำให้ยากแก่การโจมตีของข้าศึก โดยจะเข้าได้เฉพาะทางเหนือและทางใต้แนวภูเขาต่อกับทะเลสาบเท่านั้น
                    ราชวงศ์สินุโลปกครองน่านเจ้าราวสองศตวรรษครึ่ง หลังจากนั้นได้มีราชวงศ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นชนชาติจีนปกครองน่านเจ้าต่อมาจนถึงปี พ.ศ.๑๗๙๖ จึงถูกแม่ทัพกุบไลข่านพิชิตลงได้ เป็นการสิ้นสุดสงครามเป็นเมืองหลวง ของอาณาจักรน่านเจ้า
                    เมืองหนองแส ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ต้าหลี่ เป็นเมืองท่องเที่ยว และเป็นศูนย์กลางการเดินทาง ที่สำคัญทางด้านตะวันตกของมณฑลหยุนหนาน         ๒๘/๑๘๐๖๐
            ๕๑๖๙. หนอน  หมายถึง ลูกอ่อนของแมลงซึ่งมีลำตัวยาวยืดหดได้ เคลื่อนไหวโดยคืบคลานไป อาจมีขา หรือไม่มีขา สำหรับยึดเกาะได้
                    การเรียกชื่อหนอน ของแมลงอาจแบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้
                        ๑. ชื่อตามตัวเต็มวัย มักจะเป็นชื่อโดยรวม เช่น หนอนแมลงวัน หนอนแมลงหวี่ หนอนผีเสื้อ
                        ๒. ชื่อตามลักษณะท่าทาง เช่น หนอนคืบ หนอนดีด
                        ๓. ชื่อตามลักษณะรูปร่าง หรือนิสัยเฉพาะของตัวหนอน เช่น หนอนบุ้ง หนอนร่าน หนอนหอย หนอนปลอก หนอนใย หนอนม้วนใบ
                        ๔. ชื่อตามลักษณะการทำลายพืช  เช่น หนอนกระทู้ หนอนเจาะลำต้น  หนอนชอนใบ
                        ๕. ชื่อเรียกเฉพาะชนิด เช่น หนอนผีเสื้อยักษ์ หนอนแมลงค่อมทอง หนอนกระทู้ดำ บุ้งปกขาว หนอนชอนใบส้ม หนอนเจาะสมอฝ้าย
                        นักคีฎวิทยา แบ่งลักษณะของหนอนแมลงออกเป็นสามประเภท โดยใช้ขาเป็นเกณฑ์ ดังนี้
                            ก. หนอนประเภทไร้ขา  ในกลุ่มหนอนเหล่านี้ ยังแบ่งย่อยออกเป็นสามแบบ โดยถือการเจริญเติบโตของหัวเป็นเกณฑ์ หนอนที่มีหัวกะโหลกสมบูรณ์ หนอนที่มีหัวกะโหลกถึงสมบูรณ์ และหนอนไร้กะโหลก
                            ข. หนอนประเภทมีขาจริง  มีลำตัวยาว มีหัวกะโหลกเจริญดี มีขาจริงเกิดขึ้น ที่บริเวณอก หกขา แบ่งเป็นสองแบบคือ หนอนแบบตัวสามง่าม และหนอนแบบหนอนด้วงแรด
                            ค. หนอนประเภทมีขาจริงและขาเทียม  มีลำตัวยาว แบ่งเป็นปล้องค่อนข้างชัดเจน มีกะโหลกหัวเจริญดี มีปากแบบกัดกิน แบ่งออกได้เป็นสามแบบคือ หนอนเปลือยปกคลุมด้วยขนประปราย หนอนมีผนังลำตัวอูดเป็นติ่ง เป็นหนาม และหนอนประเภทมีขนปกคลุมตามลำตัวหนาแน่น ซึ่งมักเรียกว่า บุ้ง         ๒๘/๑๘๐๖๓
            ๕๑๗๐. หนอนตายหยาก  เป็นชื่อพรรณไม้สองชนิด เป็นพืชที่ชาวบ้านรู้จัก และนำมาใช้ประโยชน์นานแล้ว ทั้งด้านเป็นพืชสมุนไพร ใช้ในทางปศุสัตว์ และใช้ในทางเกษตรกรรม พืชที่มีชื่อนี้มีอยู่หลายชนิด โดยมากมักเรียก ไม้ล้มลุกที่มีรากรูปกระสวย ออกรวมกันเป็นกระจุก กระจุกละหลายสิบราก มีใบรูปไข่ปลายแหลม เส้นใบออกจากโคนใบ ขนานกับขอบใบขึ้นไปหลายเส้น เป็นไม้เถาล้มลุก อายุหลายปี ช่อดอกแบบช่อกระจะออกที่ซอกใบ ผลแบบแห้งแตก รูปขอบขนานแกมรูปไข่ มีเมล็ดจำนวนมาก
                    มีการนำหนอนตายหยาก มาใช้ประโยชน์หลายด้านด้วยกัน แพทย์ตามชนบทใช้รากต้ม กินแก้โรคผิวหนังผื่นคัน ใช้รากต้มรวมกับยาฉุน รมหัวริดสีดวง ทำให้ฝ่อได้ ใช้รากทุบให้ละเอียดผสมกับน้ำใช้ฟอกล้างผม เพื่อฆ่าเหา ใช้รากทุบให้แตกใส่ไว้ในปากไหปลาร้า ทำให้หนอนที่ขึ้นอยูในไหตายได้ ใช้เป็นยาฆ่าหนอนแมลงวัน ที่มาชอนไชตามบาดแผลของสัตว์พวกโค กระบือ โดยใช้รากตำผสมกับน้ำ แล้วนำมาหยอดตามแผล ทำให้หนอนตายได้ นำรากหนอนตายหยาก ผสมกับน้ำ นำมาฉีดพ่นพืชผัก เพื่อกำจัดศัตรูพืช           ๒๘/๑๘๐๗๓
            ๕๑๗๑. หน่อไม้ฝรั่ง  เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ลำต้นอยู่ใต้ดิน แทงหน่อแตกช่อเป็นพุ่มสูง ๑๕๐ - ๒๐๐ ซม.  อายุยืนนานปี อาจถึง ๕๐ ปี
                    หน่อไม้ฝรั่ง มีสารสำคัญเรียกว่า แอสเปอราจิน มีคุณสมบัติในการขับปัสสาวะ          ๒๘/๑๘๐๗๗
            ๕๑๗๒. หนังใหญ่  เป็นมหรสพชั้นสูงอย่างหนึ่งของไทย มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยโบราณ แสดงเฉพาะในงานพระราชพิธีสำคัญ ตัวหนังใหญ่ทำด้วยหนังวัวที่ฉลุฉลัก ลวดลายเป็นรูปตัวละคร ในเรื่องรามเกียรติ์ มีขนาดสูง ตั้งแต่ ๑ - ๒ เมตร
                    เมื่อมีหนังตะลุง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเข้ามาเผยแพร่ จึงเรียกหนังที่มีมาแต่เดิมว่า หนังใหญ่ ตามปรกติหนังใหญ่ทำจากหนังวัว เมื่อทำเป็นตัวหนังเสร็จแล้ว จะมีความโปร่งแสงเรียกว่า หนังแก้ว เวลาเชิดแผ่นหนังทาบบนจอ ผ้าขาวจะแลเห็นลวดลายสวยงาม
                    นอกจากหนังใหญ่ทั่ว ๆ ไปที่ใช้หนังวัวฉลุฉลักแลัว ยังมีหนังเจ้าสามตัวเรียกว่า หนังครู คือ ฤาษี พระอิศวร และพระนารายณ์ ใช้เชิดตอนเบิกหน้าพาทย์สามตระ เป็นการไหว้ครูก่อนเริ่มแสดงหนังใหญ่ หนังตัวฤาษีใช้หนังเสือ หรือหนังหมีฉลุฉลัก ส่วนหนังตัวพระอิศวรและพระนารายณ์ ใช้หนังวัวที่เสือกัดตาย ออกลูกตาย หรือถูกฟ้าผ่าตาย เรียกว่า โคตายพราย
                    แผ่นหนังใหญ่ ที่ฉลุฉลักเป็นรูปต่าง ๆ ของตัวละคร เรื่องรามเกียรติ์เหล่านี้ จะต้องระบายสีให้ถูกต้องตามพงศ์ ในเรื่องรามเกียรติ์ เมื่อทำตัวหนังเสร็จแล้ว จะต้องมีไม้สองอัน เรียกว่า ไม้ตับ หรือไม้คาบตัวหนัง ทำด้วยไม้ไผ่สองอัน คาบตัวหนังทางด้านซ้าย และด้านขวา เหลือไม้ตับลงมาใต้ตัวหนังประมาณ ๕๐ ซม. สำหรับให้คนเชิดจับนำตัวหนังออกเชิด
                    หนังใหญ่ ที่ทำเสร็จแล้ว จะมีลักษณะแตกต่างกันอยู่หกประเภทคือ
                        ๑. หนังเฝ้า หรือหนังไหว้ เป็นหนังภาพเดี่ยวหน้าเสี้ยว (หันด้านข้าง) นั่งคุกเข่าพนมมือ ใช้เชิดในตอนเข้าเฝ้า มีขนาดเล็ก สูงประมาณหนึ่งเมตร
                        ๒. หนังคเนจร หรือหนังเดิน เป็นหนังภาพเดียว หน้าเสี้ยว ทำท่าเดิน มีพญานาครองรับอยู่ที่ใต้เท้า ใช้ในตอนเดิน
                        ๓. หนังง่า เป็นหนังภาพเดี่ยว หน้าเสี้ยวทำท่าเหาะ หนังง่ายังมีลักษณะผิดแผกออกไปอีกสองอย่างคือ ตัวหนังทำท่าโก่งศรเรียกว่า หนังโก่ง ถ้าทำท่าแผลงศรเรียกว่า หนังแผลง หนังง่าใช้ในตอนเหาะ ตอนโก่งศร และแผลงศร
                        ๔. หนังเมือง หรือหนังปราสาท เป็นหนังภาพเดี่ยว หรือหลายตัวอยู่ในผืนเดียวกัน ต้องมีภาพปราสาท ราชวัง ศาลา หรือตัวอาคารประกอบในหนังสือประเภทนี้หนังเมืองใช้ในตอนทศกัณฐ์นั่งเมืองว่าราชการ หรือพญายักษ์ตนใดตนหนึ่งออกว่าราชการ ถ้าเป็นภาพพระรามอยู่ในพลับพลาเรียกว่า หนังพลับพลา ถ้าตัวในเรื่องทำท่าเล้าโลมกันเรียกว่า หนังปราสาทโลม ถ้ามีบทพูดกันเรียกว่า หนังปราสาทพูด หนังเมืองมีขนาดใหญ่ประมาณ ๑.๕ เมตร สูงประมาณ ๒ เมตร
                        ๕. หนังจับ เป็นหนังที่มีภาพตั้งแต่สองตัวขึ้นไปทำท่ารบกัน หนังจับมีขนาดใหญ่เช่นเดียวกับหนังเมือง
                        ๖. หนังเบ็ดเตล็ด เป็นหนังที่ไม่อยู่ในห้าประเภทที่กล่าวแล้ว มีหนังภาพลูกศร ภาพราชรถ ภาพต้นไม้ และหนังตัวตลก จึงมีหนังภาพลิงขาวมัดลิงดำ ซึ่งบางทีก็เรียกว่าหนังเตียว
                    เรื่องที่ใช้แสดงหนังใหญ่คือเรื่องรามเกียรติ์ แม้จะมีเรื่องอื่นบ้างแต่ก็ไม่เป็นที่นิยม หนังใหญ่แสดงบนพื้นดิน โดยมีจอผ้าขาวยาวประมาณ ๑๖ เมตร สูงประมาณ ๖ เมตร ปักเสาสูงสี่ต้น เรียงกันห่าง ๆ ปลายเสาปักธงและหางนกยูง ด้านหลังจอปลูกร้านเล็ก ๆ ด้านละร้าน ปูแผ่นสังกะสีสำหรับกองไต้ หรือกะลามะพร้าวจุดไฟส่องสว่างไปที่จอ เมื่อมีตะเกียงแมงดาจึงเปลี่ยนมาใช้ตะเกียงแมงดาแทน ปัจจุบันใช้ไฟฟ้า แต่สู้แสงไฟจากกะลามะพร้าว และไต้ไม่ได้ เพราะเวลาไฟลุกจะมีประกายวูบวาบสูงต่ำ ทำให้แลเห็นลวดลาย ตัวหนังใหญ่ที่ทาบจอผ้าขาวมีชีวิตชีวาขึ้น
                    คนเชิดหนังใหญ่ ต้องมีประมาณ ๘ - ๑๐ คน หนังใหญ่บางตัวต้องใช้คนเชิดหลายคน จะต้องใช้ลำตัว และแขนขาเป็นสำคัญ
                    คนพากย์ - เจรจา ควรมีไม่น้อยกว่า ๒ - ๔ คน จะได้เจรจาโต้ตอบกันทันท่วงที
                    ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงเป็นวงปี่พาทย์ จะเป็นแบบใดก็ได้ตามฐานะของงาน แต่ในวงปี่พาทย์จะต้องมีเครื่องดนตรีพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีกสามอย่างคือปี่กลาง กลองติ๋ว และโกร่ง
                    การแสดงหนังใหญ่ในตอนกลางวันเรียกหนังกลางวัน มักแสดงเรื่องรามสูร เมขลา เป็นการแสดงอวดความสวยงามของตัวหนัง ผู้เชิดหนังจะออกมาเชิดทางหน้าจอ ถ้าเป็นการแสดงกลางคืน จะมีการพากย์สามาตรไหว้ครูเสียก่อน แล้วแสดงชุดจับลิงหัวดำ จากนั้นจึงแสดงเรื่องตามที่กำหนด จนกระทั่งหยุดพักการแสดงตอนต้น ซึ่งเป็นเรื่องราวการทำศึกของพระรามกับพญาขร ทูตและตรีเศียร พอถึงพญาขรล้มก็หหยุดพักการแสดงเรียกว่า ขรล้ม หรือล้มขร ต่อจากนั้นก็จะพักนอน ในตอนนี้เรียกว่า หนังยับ พอใกล้รุ่งจึงแสดงอีกชุดหนึ่งจนถึงสว่างเรียกว่า เล่นหนังยังรุ่ง
                    ในสมัยโบราณ มีผู้คิดเอาการแสดงโขนเข้าไปแทรกในระหว่างการเชิดหนังใหญ่อยู่หลายตอนเรียกว่า หนังติดตัวโขน เป็นวิวัฒนาการของการแสดงโขน ที่แสดงทางหน้าจอผ้าขาวเรียกว่า โขนหน้าจอ         ๒๘/๑๘๐๘๕
            ๕๑๗๓. หนาม, หอย  เป็นชื่อหอยทะเลกาบเดี่ยวหลายชนิด มีลักษณะที่สำคัญคือ เปลือกบิดเป็นเกลียว ยอดแหลม ตามเปลือกมีหนาม
                    หอยหนามอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล  ตั้งแต่ชายฝั่งที่น้ำท่วมถึงป่าชายเลนจนถึงในทะเลบริเวณ  ที่มีแพงปะการังและแหล่งหญ้าทะเล
                    หอยหนามในทะเลไทยมีหลายชนิดเช่น หอยหนามเล็ก หอยหวี หอยงก้างปลา หอยหนามใหญ่ หอยเงาะ หอยหน้ายักษ์ หอยหนามดำ หอยหนามดอกไม้         ๒๘/๑๘๐๙๔
            ๕๑๗๔. หนามแดง  เป็นชื่อเรียกพันธุ์ไม้มีหนามสามชนิดต่างสกุลและต่างวงศ์กัน หนามแดงที่ในภาคกลางเรียก มะนาวไม่รู้โห่ เป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลี้อย หรือเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑ - ๓ เมตร ทุกส่วนมียางขาว แตกกิ่งก้านสาขามาก มีหนามแหลมแข็งตามข้อ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามรูปไข่ หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ช่อดอกแบบช่อกระจุก หรือช่อกระจุกแยกแขนงเกิดที่ยอดหรือตามชอกใบ กลีบดอกสีแดงหรือสีชมพูเข้ม ปลายแยกเป็นหัวแฉกสีขาว ผลแบบนี้มีเนื้อรูปกลมรี เนื้อผลบริโภคได้ มีรสเปรี้ยว หนามแดงชอบขึ้นในที่แล้ง แดดจัด มีดอกผลเกือบตลอดปี
                    แกนใช้เป็นสมุนไพรช่วยบำรุงไขมัน ทำให้เส้นเอ็นของคนผอมแข็งแรง เป็นยาบำรุงกำลัง ใบสดต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง แก้ปวดหู แก้ไข้ แก้เจ็บปาก และคอ ผลสุก และดิบรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน แก้ท้องเสีย รากสดต้มน้ำดื่มขับพยาธิ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ตำให้ละเอียดผสมเหล้าทา หรือพอกรักษาบาดแผล และแก้คัน         ๒๘/๑๘๐๙๗
            ๕๑๗๕. หนามพรหม  เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่นของไทย พบขี้นตามที่แห้งแล้งทุกภาคของประเทศไทย เป็นพันธุ์ไม้คล้ายหนามแดงมาก เป็นไม้พุ่มเตี้ยหรือมีกิ่งทอดเอนไปตามพื้นดิน แตกกิ่งหนาแน่นไม่เป็นระเบียบ มีหนามแหลมแข็งออกตามข้อ ใบเดี่ยวออกตรงข้าม มีรูปร่างได้หลายแบบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงออกที่ยอด หรือตามชอกใบ กลีบดอกสีขาว ผลรูปรีหรือเกือบกลม
                    ประโยชน์คือแก่นบำรุงมันในร่างกาย บำรุงกำลัง ทำให้ร่างงกายแข็งแรงอดทนขึ้น         ๒๘/๑๘๑๐๑
            ๕๑๗๖. หนามวัวซัง  เป็นไม้พุ่มงอเลี้อย สูง ๒ - ๔ เมตร กิ่งก้านแข็ง คดไปมา มีหนามโค้ง ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปรีรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ดอกออกเป็นช่อแบบกึ่งช่อซีร่ม ออกตามยอดหรือง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง กลับดอกสีขาว ผลกลม ออกดอกและผลตลอดปี ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ไข้ขับน้ำเหลืองเสีย บำรุงและแก้โรคผิวหนัง         ๒๘/๑๘๑๐๒


<---------------------------ข้างล่างต่อไปนี้ยังไม่ได้แก้ไข-------------------------------------------------------->



            ๕๑๗๗.
หน้าวัว  เป็นชื่อไม้ล้มลุก มีทั้งหมดกว่า ๗๐๐ ชนิด เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ไม่มีเนื้อไม้ อายุยืน ลำต้นอาจตั้งตรง หรือเลื้อยเกาะพืชอื่นได้ ปล้องมีขนาดยาวต่างกัน ใบมีรูปร่างแตกต่างกันมากมาย มีดอกสมบูรณ์เพศ ดอกขนาดเล็ก มีรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด อัดแน่นอยู่ในช่อดอก ที่เรียกว่า ปลี สีดอกเปลี่ยนไปเมื่อดอกพร้อมผสม โคนช่อดอกมีใบประดับที่เรียกว่า จานรองดอก ติดอยู่มีรูปร่างและสีแตกต่างกันไป ผลจะใช้เวลาในการพัฒนา ๓ - ๖ เดือน ผลมีขนาดเล็ก
                หน้าวัว  ปลูกเป็นไม้ตัดดอก และไม้ดอกกระถางกันมาก เจริญได้ดีทุกภาคของประเทศไทย ต้งการแสงที่มีความเข้มเพียงร้อยละ ๒๐ - ๒๕ ของแสงแดด            ๒๘/๑๘๑๐๓
            ๕๑๗๘. หนุมาน  เป็นตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นทหารเอกของพระราม และมีฤทธิ์มาก ชาวฮินดูในอินเดียนับถือหนุมานเป็นเทพเจ้า ลักษณะของหนุมานในรามเกียรติ์ แตกต่างไปจากหนุมาน ในรามายณะหลายประการ
                ในรามเกียรติ์ หนุมานเป็นลิงเผือกเพศผู้ มารดาชื่อ นางสวาหะ พระอิศวรได้แบ่งกำลัง และมอบเทพอาวุธสามอย่าง ให้พระพายนำไปซัดเข้าปากนางสวาหะ ได้แก่ คทาเพชร ซึ่งกลายเป็นสันหลังตลอดหาง ทำให้หนุมานเหาะได้  ตรีเพชรเป็นร่างกาย มือและเท้า จักรแก้ว เป็นศีรษะ ในการสู้รบกับศัตรู สามารถชักเอาตรีเพชรออกจากอกมารบได้ พระอิศวรมอบหมายให้พระพายเป็นบิดา คอยดูแลหนุมาน ดังนั้น เมื่อหนุมานต้องศาสตราวุธ พอพระพายโชยมาก็จะฟื้น นอกจากนี้ พระอิศวรยังให้คาถาแปลงกาย หายตัว และคงกระพันให้แก่หนุมาน
                หนุมาน ได้รับใช้พระราม มีความเฉลียวฉลาดรอบคอบ หนุมานได้เสียกับสตรีถึงหกนางด้วยกันคือ นางบุษมาลี ซึ่งช่วยบอกทางไปลงกา นางเบญกาย ซึ่งพระรามให้นำไปส่งยังลงกา นางสุวรรณมัจฉา ซึ่งทศกัณฐ์สั่งให้มาขัดขวางการจองถนน ไปลงกา นางวานริน ซึ่งช่วยชี้ที่ซ่อนของวิรุฬจำบัง ให้หนุมานตามไปสังหาร นางมณโฑ โดยการแปลงเป็นทศกัณฐืเข้าไปหา เพื่อให้นางมีสามีสามคน จึงไม่สามารถหุงน้ำทิพย์ได้ และนางสุวรรณกันยุมา ชายาเอกของอินทรชิต ซึ่งทศกัณฐ์ยกให้หนุมาน ที่ทำทีมาสวามิภักดิ์ หนุมานมีบุตรกับเบญกายคือ อสุรผัด และกับนางสุวรรณมัจฉา คือ มัจฉานุ
                เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้ว พระรามทรงแต่งตั้งหนุมานเป็น พระยาอนุชิต และยกอยุธยาให้ครองกึ่งหนึ่ง แต่หนุมานถวายราชสมบัติคืนแก่พระราม ด้วยคิดว่า
                    "กูเป็นทหารมาร่วมอาสน์     พระนารายณ์ธิราชหาควรไม่"
                   พระรามจึงแผลงศรไปเพื่อสร้างเมืองใหม่ให้หนุมาน ในที่สุด ก็โปรดให้พระวิษณุกรรม สร้างเมืองให้หนุมานให้ชื่อว่า นพบุรี            ๒๘/๑๘๑๐๖
            ๕๑๗๙.
หมอก  เป็นกลุ่มละอองน้ำขนาดเล็กมาก สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลอยอยู่ในอากาศใกล้พื้นดิน หมอกเกิดจากการกลั่นตัวของไอน้ำ เมื่ออุณหภูมิของอากาศมีค่าเท่า หรือเกือบเท่าอุณหภูมิจุดน้ำค้าง ไอน้ำจะกลั่นตัวเป็นละอองน้ำ หมอกกับเมฆจึงต่างกันแต่เพียงว่า หมอกมีฐานติดอยู่พื้นดิน ส่วนฐานเมฆอยู่เหนือพื้นดินขึ้นไป
                โดยทั่วไป ในประเทศไทยมีหมอกในฤดูหนาว ส่วนมากเกิดทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณเทือกเขาจะมีหมอกเกิดขึ้นได้มากที่สุด และมีอยู่ได้นานกว่าบริเวณที่ราบ                  ๒๘/๑๘๑๑๐
            ๕๑๘๐. หม้อแกงลิง, ต้น   เป็นไม้เถาขนาดเล็ก เถายาวได้ถึง ๕ เมตร เรียวเหนียวแข็ง  คล้ายเส้นลวด ใบเดี่ยวเรียงเวียน ออกเป็นกระจุกบริเวณโคนลำต้น แผ่นใบรูปขนานถึงรูปใบหอกกลับ ดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตรงข้ามกับใบ ใกล้ยอดช่อ ดอกส่วนใหญ่ออกเป็นคู่ตามแกนช่อสีน้ำตาล อมแดง
                หม้อแกงลิง ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ส่วนมากนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ                 ๒๘/๑๘๑๑๓
            ๕๑๘๑. หม่อน, ต้น  เป็นไม้ยืนต้น ที่มีอายุยืน สูง ๑๐ - ๒๐ เมตร ใบเดี่ยว ดอกมีทั้งเพศผู้ และเพศเมีย แยกอยู่คนละต้น ใบหม่อนเป็นอาหารที่สำคัญ และดีที่สุดของหนอนไหม มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีคุณสมบัติในการปรับระดับความดันโลหิต และลดอาการอักเสบในสมอง ของผู้ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง
                ในประเทศไทย มีหม่อนหลายพันธุ์ ทั้งพันธุ์ไทยที่เกษตรกรปลูกมาดั้งเดิม เช่น หม่อนน้อย ไผ่ ส้ม ตาดำ ตาแดง คุณไพ่
                ปัจจุบันใบหม่อน ผลหม่อน รากหม่อน และกิ่งหม่อน สามารถนำมาใช้เป็นทั้งสมุนไพร และเครื่องสำอาง เช่น ใบใช้ทำชาหม่อน ผลแปรรูปเป็นเหล้าผลไม้ น้ำคั้นผลหม่อนใช้ทำแยม ย้อมสีเส้นไหม กิ่งหรือเปลือก ต้นหม่อนใช้สกัดสารเพื่อทำเครื่องสำอาง และใช้ในการแพทย์             ๒๘/๑๘๑๑๖
            ๕๑๘๒. หมัด  เป็นแมลงขนาดเล็ก เมื่อโตเต็มวัยไม่มีปีก ปากเป็นแบบเจาะดูด ขาสามคู่ติดอยู่ทางด้านล่างของอก แต่ละปล้อง ขาใหญ่มาก เมื่อเทียบกับลำตัว
                หมัด เป็นแมลงที่มีชีวิตอยู่โดยอาศัยดูดเลือดสัตว์เลือดอุ่น กินเป็นอาหาร มักวางไข่ตามตัวสัตว์ ตัวอ่อนที่ฟักออกมาเป็นตัวหนอนสีขาว ตัวหนอนไม่ดูดเลือด แต่กินเศษวัสดุอินทรีย์สารต่างๆ  ที่มีอยู่ตามตัวสัตว์ หรือขยะมูลฝอยในรัง เจริญเติบโตได้โดยลอกคราบสองครั้ง ก่อนจะเข้าดักแด้ หนอนหมัดถักใยมีเศษวัสดุต่าง ๆ ติดอยู่หุ้มตัว ก่อนกลายร่างเป็นดักแด้ เมื่อเป็นตัวโตเต็มวัยแล้ว หมัดจะอยู่โดยปราศจากอาหารชั่วระยะหนึ่ง แต่จะถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวได้ง่าย โดยแรงสั่นสะเทือนของพื้น อันเกิดจากการเคลื่อนไหวของสัตว์ ที่เป็นอาหาร  จึงอาจพบหมัดเป็นจำนวนมาก กระโดดเข้าหาสัตว์และแทรกตัวไปซ่อนอยู่ตามขนสัตว์ได้ง่าย วงจรชีวิตของหมัดโดยทั่วไป คือ ๓ - ๖ อาทิตย์
                หมัดมีจำนวนรวมทั่วโลก ประมาณ ๑,๗๕๐ ชนิด ชนิดที่คนไทยรู้จักได้แก่ หมัดคน หมัดหมู หมัดสุนัข หมัดแมว หมัดไก่            ๒๘/๑๘๑๑๘
            ๕๑๘๓. หมาจิ้งจอก  เป็นชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนาดเล็ก ลำตัวยาว ๖๐ - ๗๕ ซม. น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มที่หนัก ๘ - ๑๐ กก.  เป็นสัตว์กินเนื้อ ขนลำตัวสีเทา มีสีดำ และสีขาวแซม บริเวณไหลขนมีลักษณะยาวปลายสีดำ หางสั้นมีขนยาว เป็นพวง ปลายหางสีดำ
            หมาจิ้งจอก ส่วนมากออกหากินในเวลากลางคืน ยกเว้นในฤดูหนาว หรือวันที่อากาศเย็น อาจเห็นออกมาหากินในเวลากลางวัน ในประเทศไทยมักพบหมาจิ้งจอกอยู่เดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ มักชอบเดินตามเสือโคร่ง เพื่อจะได้กินซากสัตว์ที่เสือโคร่งกินเหลือไว้ บางครั้งออกล่าสัตว์ เช่น เนื้อทราย กวางป่า ร่วมกับฝูงหมาไน
            หมาจิ้งจอก โตเต็มวัยพร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ ๒ - ๓ ปี การผสมพันธุ์มีได้ตลอดปี ตั้งท้องนานสองเดือน ตกลูกครั้งละ ๔ - ๕ ตัว โดยทั่วไป มักจะจับคู่กันแบบผัวเดียว เมียเดียว หมาจิ้งจอกอายุยืยประมาณ ๑๕ ปี ในประเทศไทย พบหมาจิ้งจอกในภาคเหนือและภาคตะวันตก            ๒๘/๑๘๑๒๓
            ๕๑๘๔. หมาใน  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีขนาดใหญ่กว่าหมาจิ้งจอก ความยาวลำตัว ๘๐ - ๙๐ ซม. น้ำหนักตัว ๑๐ - ๒๐ กก.  ขนลำตัวสีน้ำตาลแดง ขอบหูมนไม่แหลม เหมือนหมาจิ้งจอก ขนหางเป็นพวงสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม ในฤดูหนาวขนจะขึ้นหนาแน่น
                หมาใน ชอบอยู่ในป่าค่อนข้างทึบ หลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับมนุษย์ ชอบออกหากินเป็นฝูงในตอนเช้าตรู่ และใกล้พลบค่ำ แต่ละฝูงจะมีจำนวน ๖ - ๒๐ ตัว
                หมาใน สามารถผสมพันธุ์กันได้ตลอดปี ตั้งท้องนาน ๖๓ - ๖๕ วัน ตกลูกครั้งละ ๔ - ๖ ตัว และอาจมากถึง ๑๑ ตัว ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ค่อนข้างยาวนาน แม่จะทิ้งลูกก็ต่อเมื่อลูกแยกตัวออกไปหากินเองได้ ตัวโตที่อยู่ภายในฝูง จะนำอาหารมาเลี้ยงดูลูกในฝูง โดยไม่เลือกว่าเป็นลูกของตัวไหน โดยสำรอกเนื้อออกมาให้ลูกกิน ถ้าตัวเมียตกลูกพร้อมกัน มักจะออกลูกในถ้ำ หรือในโพรงเดียวกัน และจะมีแม่ตัวหนึ่ง คอยดูแลฝูงลูกหมาไว้ ขณะที่ตัวอื่น ๆ ออกไปล่าเหยื่อ แต่เมื่ออดอยาก หมาในจะกินลูกของมันเอง หมาในมีอายุ ๑๐ - ๑๕ ปี             ๒๘/๑๘๑๒๔
            ๕๑๘๕. หมาป่า  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่มีความสามารถในการวิ่งในระยะทางไกล ๆ ได้ดีกว่าสัตว์กินเนื้อชนิดอื่น ๆ ลำตัวยาว ๓๕ - ๑๓๕ ซม.  น้ำหนักตัว ๑.๕ - ๗๕ กก.  ลำตัวส่วนหน้าจะกว้าง และเรียวมายังท้าย กล้ามเนื้อบริเวณคอ อก และโคนขาแข็งแรง ขายาว อุ้งตีนเล็ก ใบหูมีฐานกว้าง และเรียวไปที่ปลายหู หูตั้งเป็นรูปสามเหลี่ยม หางมีขนคลุม มีลักษณะเป็นพวง
                หมาป่าบางชนิด ออกหากินตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะในขณะที่อากาศร้อน บางชนิดชอบหากินใกล้พลบค่ำ หรือในระหว่างเวลากลางคืน มีความสามารถในการว่ายน้ำ หมาป่ามีระยะการตั้งท้อง ๔๙ - ๗๐ วัน ปีหนึ่งมีลูก ๑ - ๒ ครอก ช่วยกันเลี้ยงลูก แต่ละครอกมี ๒ - ๑๐ ตัว โตเต็มวัย เมื่ออายุ ๑ - ๒ ปี อายุยืน ๑๐ - ๒๒ ปี
                หมาป่าชนิดที่มีขนาดใหญ่ จะอยู่รวมเป็นฝูง ฝูงหนึ่งอาจมีจำนวน ๖๐ - ๗๐ ตัว การกำหนดอาณาเขต จะใช้วิธีการปัสสาวะ โดยตัวผู้จะปัสสาวะให้ติดกับพื้นดิน เปลือกไม้ หรือใบไม้                ๒๘/๑๘๑๒๕
            ๕๑๘๖. หมาไม้  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีลำตัวยาวประมาณ ๕๐ ซม.  น้ำหนักตัว ๑.๕ - ๓ กก.  รูปร่างคล้ายอีเห็น แต่ขาสั้นกว่า ลำตัวยาวเรียว ใบหูกลมมน ขนยาว หยาบและลู่ไปตามลำตัวจดหาง ขนสีน้ำตาลแถบเหลือง
                หมาไม้ ชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบที่รกทึบ และเป็นป่าสูง ปรกติออกหากินตามลำพังตัวเดียว ในเวลากลางวัน นอกจากในฤดูผสมพันธุ์ จึงจะออกหากินเป็นคู่ บางครั้งอาจพบออกหากินเป็นฝูง ฝูงละ ๔ - ๕ ตัว โดยช่วยกันล่าเหยื่อ โตเต็มวัยเมื่ออายุ ๒ - ๓ ปี ตั้งท้องนาน ๒๐ - ๒๙ ๆ วัน ตกลูกครั้งละ ๑ - ๕ ตัว ทั้งตัวผู้ และตัวเมียอยู่ด้วยกัน จนตกลูก ลูกโตเร็วมาก อายุประมาณสามเดือน จะมีน้ำหนักเท่าพ่อแม่ อายุยืนประมาณ ๑๕ ปี            ๒๘/๑๘๑๒๗
            ๕๑๘๗. หมาร่า  เป็นแมลงหลายชนิด จำพวกต่อหรือแตน แต่ทำรังด้วยดินเหนียว รูปร่างต่างกัน ติดอยู่กิ่งไม้ หรือวัสดุอื่นภายนอกบ้านเรือน หรือตามขื่อ ฝ้า เพดาน ในบ้านเรือน ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของหมาร่า
                หมาร่า มีรูปร่างลักษณะโดยทั่วไป เหมือนตัวต่อ มีชีวิตแบบโดดเดี่ยว ไม่รวมกลุ่มกัน มีความยาวลำตัวประมาณ ๓ ซม.            ๒๘/๑๘๑๒๘
            ๕๑๘๘. หมี  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ขนาดใหญ่ เป็นสัตว์กินเนื้อ อาศัยอยู่บนบก ขนาดใหญ่ที่สุดและมีพละกำลังมาก น้ำหนักตัว ๒๗ - ๗๘๐ กก.  ขนบนลำตัวสีดำ น้ำตาล น้ำตาลแดง หรือขาว ตาและใบหู มีขนาดเล็ก ประสาทการเห็น และการได้ยินไม่ดีเท่าสุนัข ประสาทการดมกลิ่นดีมาก
                หมี มีหลายชนิดในประเทศไทย มีสองชนิดได้แก่ หมีควาย และหมีหมา
                        ๑. หมีควาย  เป็นหมีที่ใหญ่ที่สุดของไทย ลำตัวยาว ๑.๒๐ - ๑.๕๐ เมตร  น้ำหนัก ๘๐ - ๑๘๐ กก.  บริเวณอกมีขนสีขาว เป็นรูปตัววี หัวใหญ่ ตาเล็กโปนสีดำ ปลายปากสีขาว จมูกสีดำ ใบหูขอบกลม มนสีดำ เล็บตีนมีห้านิ้ว เล็บใหญ่โค้งปลายแหลม ไม่หดกลับ
                            หมีควาย  ชอบหากินเดี่ยว ๆ ยกเว้นเมื่อจับคู่กันในฤดูผสมพันธุ์  ชอบอาศัยในป่าทึบบนภูเขา มักออกหากินเวลากลางคืน ปีนต้นไม้เก่ง อาหารมีมากมายหลายชนิด ทั้งเนื้อสัตว์และพืช
                            หมีควาย ตั้งท้องนาน ๗ - ๘ เดือน ตกลูกครั้งละ ๑ - ๒ ตัว ลูกจะติดตามหากินไป พร้อมกับแม่จนอายุ ๒ - ๓ ปี จึงแยกกับแม่ หมีควายโตเต็มวัย พร้อมผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ ๓ ปี  อายุยืน ๒๐ - ๒๕ ปี บางตัวอาจอายุยืนถึง ๓๕ ปี
                        ๒. หมีหมา  เป็นหมีขนาดเล็กของไทย และเล็กที่สุดในโลก ลำตัวยาว ๑.๐ - ๑.๕ เมตร น้ำหนักตัว ๒๗ - ๖๐ กก. ขนสั้นเกรียนสีดำ ปาก จมูก และริมฝีปากล่างสีขาว ปลายจมูกเป็นหนังสีดำ ตาเล็กโปน ใบหูเล็กขอบกลมมน ตรงหน้าอกมีรอยสีขาวเป็นรูปถ้วย หรือรูปดวงอาทิตย์ ออกหากินเวลากลางคืน มักอยู่ร่วมกันหรือหากินกันเป็นคู่ ๆ ชอบอยู่ในป่าทึบ ปีนต้นไม้ได้เก่งและคล่องแคล่ว ชอบกินทั้งพืชและสัตว์
                            หมีหมาผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ตั้งท้องนาน ๙๐ - ๙๖ วัน ตกลูกคราวละสองตัวอยู่กับแม่จนอายุ ๑ - ๒ ปี อายุยืนประมาณ ๒๐ ปี
                        ๓. หมีขาว หรือหมีขั้วโลก น้ำหนักตัว ๔๑๐ กก. มีถิ่นกำเนิดในแถบขั้วโลก
                        ๔. หมีสีน้ำตาล น้ำหนักตัว ๗๘๐ กก. มีถิ่นกำเนิดในยุโรป เอเซียตอนกลางและตอนเหนือ และอเมริกาเหนือ
                        ๕. หมีกริซซลี น้ำหนักตัว ๓๒๕ กก. มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเหนือ            ๒๘/๑๘๑๓๑
            ๕๑๘๙. หมูหริ่ง  เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในกลุ่มเดียวกับแผงพอน หมาไม้ และนาก รูปร่างอ้วนสั้น ขาล่ำสัน เล็บยาวโค้งปลายแหลม เหมะในการขุดดิน จมูกยื่นออกมาคล้ายจมูกหมู ลักษณะเป็นหนังหนาใช้ในการดุน ตาและหูเล็ก ปราสาทการเห็น และการได้ยินไม่ดี ลำตัวยาว ๖๕ - ๑๐๔ ซม. น้ำหนักตัว ๗ - ๑๕ กก. ลำตัวมีขนหยาบแข็ง ลำตัวสีเหลืองเทา หรือสีดำ อยู่กับฤดูกาล
                หมูหริ่ง ออกหากินเวลากลางคืน ชอบกินรากพืช หัวพืชใต้ดิน หน่อพืชอ่อน ไส้เดือน แมลงและสัตว์เล็ก ๆ ใต้ดิน
                หมูหริ่ง ออกลูกครั้งละ ๒ - ๓ ตัว อายุยืน ๗ - ๑๐ ปี             ๒๘/๑๘๑๓๕
            ๕๑๙๐. หยก  เป็นรัตนชาติที่มีราคาสูง โดยทั่วไปหมายถึง รัตนชาติหรืออัญมณี โปร่งแสงสีเขียว แต่ที่จัดว่าเป็นหยกจริง ๆ คือ หยกชนิดเจไดต์ บางทีเรียกว่า หยกพม่า มีหลายสี และหยกชนิดไฟรต์บางทีเรียก หยกจีน หรือหยกไต้หวัน ซึ่งมีราคาไม่แพง ชาวจีนรู้จักหยกและใช้กันมานานแล้ว นิยมนำมาแกะสลักเป็นงานปฎิมากรรมชิ้นใหญ่ และได้มีการค้นพบว่า หยกใช้เป็นเครื่องประดับตั้งแต่ยุคหินใหม่ มีอายุกว่า ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว
                ทัศนคติเกี่ยวกับหยกของชนชาติต่าง ๆ มีตรงกันบ้างต่างกันบ้าง หยกมีหลายสี แต่ละสีมีสัญญลักษณ์แตกต่างกันออกไป สีที่นิยมกันมากคือ สีเขียวมักนำมาเจียระไน ขัดมันเป็นรูปโค้งหลังเต่า หลังเบี้ย รูปไข่ ลูกปัด เป็นต้น สำหรับทำเป็นเครื่องประดับ หรือนำมาแกะสลักเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ หยกแบ่งออกได้เป็นสี่ชนิด ตามชนิดของสี
                        ๑.
หยกสีเขียว มีราคาสูง คุณภาพดี และหายาก คือ หยกจักรพรรดิ์ มีสีเขียวเข้มคล้ายมรกต มีความโปร่งใสสูง หรือยอมให้แสงผ่านได้
                        ๒.
หยกสีม่วงอ่อน เป็นที่นิยมและมีราคาสูงเช่นกัน ราคาเปลี่ยนแปลงตามความโปร่งใสและสีที่เข้มขึ้น
                        ๓.
หยกสีขาว โดยทั่วไปมีราคาค่อนข้างต่ำ หยกที่มีความขาวใสบริสุทธิ์หรืออมเหลืองเล็กน้อย เนื้อละเอียดก็อาจมีราคาสูงได้ และอาจจะได้รับความนิยมรองลงมาจากหยกสีเขียว
                        หยกสีอื่น ๆ เช่น เหลือง ส้มแดง คราม เทา ดำ สีเหล่านี้มักเกิดในเนื้อหยก มากกว่าสองหรือสามสี สีเดียวก็มีแต่พบน้อย ราคาก็ขึ้นอยู่กับความสวยงามของสีที่ปรากฎ รสนิยม และความนิยมแต่ละยุคสมัย            ๒๘/๑๘๑๓๖
            ๕๑๙๑.
หยวน, ราชวงศ์ (พ.ศ.๑๘๒๒ - ๑๙๑๑)  เป็นราชวงศ์ที่ชาวมองโกลตั้งขึ้นปกครองประเทศจีน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ์มองโกล ซึ่งครอบครองทวีปเอเซียจดทวีปยุโรป เจงกิสข่าน (๑๗๑๐ - ๑๗๗๐)  เป็นผู้รวบรวมชนเผ่ามองโกล และชนเผ่าใกล้เคียงทั้งหลายได้ แล้วขยายอำนาจไปในที่ต่าง ๆ ในปี พ.ศ.๑๗๕๘ ได้เข้าครอบครองภาคเหนือของประเทศจีน โอรสของเจงกีสข่านคือ โอโกโด ก็ได้ล้มราชวงศ์ฉิน ซึ่งเคยครองจีนภาคเหนือ และจัดกองทหารไว้ปกครองดินแดนที่ชาวมองโกลตีได้ ต่อมาก็ล้มราชวงศ์ซ้องที่ปกครองจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๕๐๓ - ๑๘๒๒ กุบไลข่าน (พ.ศ.๑๗๕๗ - ๑๘๓๗) ซึ่งสีบทอดตำแหน่งข่าน ต่อมาก็ขยายอำนาจเข้าครอบครองสุดภาคใต้ทั้งประเทศ กุบไลข่านเริ่มใช้ชื่อ ราชวงศ์หยวน บางครั้งก็เรียกว่า ราชวงศ์มองโกล
                ชาวมองโกลเคยปกครองดินแดนส่วนใหญ่ในส่วนอื่นของโลก เช่น เอเซียกลาง เคยยกทัพไปตีรัสเซียและโปแลนด์ในปีพ.ศ.๑๗๘๓ และยาตราทัพไปจนถึงโบฮิเมีย ฮังการี และลุ่มแม่น้ำดานูบ จึงเป็นที่เกรงขามของชาวยุโรปอยู่มาก ชาวมองโกลได้ครอบครองเส้นทางสายไหม อนุญาตให้พ่อค้านานาชาติใช้เส้นทางนี้ได้อย่างเสรี ยังผลให้การค้านานาชาติในประเทศจีนเจริญขึ้นมาก ได้เริ่มสร้างเส้นทางจากจีนไปเปอร์เซีย และรัสเซียผ่านเอเซียตะวันตก ในปี พ.ศ.๑๗๖๒ และตั้งศูนย์การทหาร คลังเสบียงอาหาร และพื้นที่เพาะปลูก ตลอดจนศูนย์การไปรษณีย์ขึ้นตามเส้นทางเป็นระยะ ๆ ทำให้สะดวกแก่นักเดินทางไปมาจากโรมถึงเอเซีย ชาวตะวันตกที่เดินทางมาจีน เช่น บาทหลวงนิกายฟรานซิสกับที่มาเผยแพร่ ศานาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ชาวยุโรปยุคกลางก็มายังราชสำนักกุบไลข่าน ในปี พ.ศ.๑๘๐๔ สันตะปาปาก็ได้ส่งสมณทูตมายังเมืองเฉินตู และ
มาร์โคโปโล ก็มารับราชการอยู่ ณ ราชสำนักปักกิ่ง ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๑๔ - ๑๘๓๕ เขาได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับจีน และเอเซียไว้ หนังสือเล่มนี้แปลออกเป็นหลายภาษาคือ หนังสือการเดินทางของมาร์โคโปโล ซึ่งให้ความรู้เรื่องเกี่ยวกับทวีปเอเซีย และประเทศจีนแก่ชาวโลกมาก
                ด้วยความเชื่อว่าข่านมองโกลเป็นผู้ปกครองโลก และประเทศทั้งหลายต้องส่งบรรณาการให้จีน กุบไลข่าน จึงต้องส่งกองทัพออกนอกประเทศจีนหลายครั้ง เพื่อไปเรียกร้องบรรณาการ กองทัพมองโกลตีได้เกาหลี ระหว่างปี พ.ศ.๑๗๗๔ - ๑๗๗๕ และโจมตีญี่ปุ่นสองครั้ง ระหว่างปี พ.ศ.๑๘๑๗ - ๑๘๒๔ แต่ไม่สำเร็จ รบชนะทิเบต และยูนนาน เข้ารุกรานพม่าภาคเหนือ เวียดนาม จามปา และยกทัพไปถึงชวา ถึงสองครั้งในปี พ.ศ.๑๘๒๔ - ๑๘๒๕
                จากการค้าที่รุ่งเรือง และการเดินทางกว้างไกลขึ้น ชาวมองโกลจึงริเริ่มคิดทำธนบัตรขึ้นใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในและนอกประเทศ นอกจากนั้น ยังประดิษฐ์ลูกคิดสำหรับใช้คิดเงินในปี พ.ศ.๑๘๑๗ อีกด้วย
                จักรพรรดิ์ราชวงศ์หยวน สองเมืองคือ เมืองหลวงในฤดูหนาวอยู่ที่เมืองต้าตู และเมืองหลวงในฤดูร้อน คือ เมืองเฉินตู อยู่ในมองโกเลียใน เมื่อจักรพรรดิ์กุบไลข่าน ย้ายเมืองหลวงจากคอราคอรัม มายังเมืองต้าตู เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๓ ก็ได้ให้สร้าพระราชวังพร้อมอุทยาน ประกอบด้วยภูเขา และทะเลสาบ จำลองไว้งดงาม สร้างที่บูชาธรรมชาติที่หอเทียนดาน ทรงปฎิรูปการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมจีน ในหลาย ๆ ด้าน โปรดให้ขุดคลองสำคัญสองคลองคือ คลองฉีโฉว และคลองหวยถุง เชื่อมจากปักกิ่ง ลงสู่ตอนล่างของแม่น้ำแยงซี ในจีนภาคใต้ ได้จัดตั้งคอมมูน ซึ่งประกอบด้วย คน ๕๐ - ๑๐๐ ครอบครัว ร่วมมือช่วยเหลือกันในด้านการเพาะปลูก สวัสดิการต่าง ๆ สะสมเสบียงอาหารไว้ในยามขาดแคลน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ
                กุบไลข่าน  รับเอาพิธีการหลายอย่างตามประเพณีจีนโบราณมาใช้ ตลอดสมัยราชวงศ์หยวน ใช้ภาษามองโกเลียเป็นภาษาราชการ ให้มีล่ามแปลในหน่วยงานทุกระดับ
                จักรพรรดิ์และชาวมองโกลส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายลามะ แบบทิเบต ผู้นับถือนิกายลามะ และชาวมองโกล ได้รับสิทธิพิเศษหลายประการ ในปี พ.ศ.๑๘๓๕ มีวัดในพระพุทธศาสนาถึง ๔๒,๓๑๘ วัด มีพระสงฆ์และแม่ชีกว่า ๒๐๐,๐๐๐  คน นอกจากนั้น ราชวงศ์หยวนก็สนับสนุนศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาคริสต์ นิกายเนสทอเรียน ศาสนาอิสลาม ศาสนายิว ขณะที่ศาสนาเต๋า และศาสนาขงจื๊อ ก็ยังคงอยู่ การแสดงงิ้ว จัดว่าเป็นศิลปะที่เด่นของจีนสมัยราชวงศ์หยวน และนิยมแพร่หลายทั่วไปถึงทุกวันนี้
                ความเจริญที่เด่นในด้านวิทยาศาสตร์ของราชวงศ์หยวน มีอยู่เป็นอันมาก เช่น ประดิษฐ์ประทัดแบบแปลก ๆ ขึ้นใช้ ต่อมาเป็นต้นแบบดินปืนของยุโรป รู้จักประดิษฐ์เครื่องมือดาราศาสตร์ แบบอิสลามอีกหลายชนิด สร้างหอดูดาวที่เมืองต้าตู ในปี พ.ศ.๑๘๒๒ นำช่างตะวันออกกลางมาสร้างเขื่อนกันน้ำ ประดิษฐ์กระดาษขึ้นใช้
                จักรพรรดิ์กุบไลข่าน สวรรคตในปี พ.ศ.๑๘๓๗ ราชวงศ์หยวนก็เริ่มเสื่อมลง การทหารก็เสื่อมลง ส่วนหนึ่งเพราะการสืบทอดตำแหน่งในตระกูล กองทัพมองโกลไม่อาจปราบกบฎพื้นเมือง เช่น กบฎดอกบัวขาว เมื่อปี พ.ศ.๑๘๙๔ ได้ ในช่วงปี พ.ศ.๑๘๙๓ - ๑๙๐๓ ได้เกิดกบฎต่อต้านชนชั้นสูงหลายครั้ง และลุกลามเป็นการขับไล่ชาวมองโกลออกไปจากจีน ในที่สุด ซื่อหงวนจัง หัวหน้ากบฎชาวนา ก็ล้มราชวงศ์หยวนได้เมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๑ และตั้งราชวงศ์หมิงขึ้นแทน             ๒๘/๑๘๑๔๖
            ๕๑๙๒.
หยี, ต้น  เป็นไม้ยืนต้น สูงถึง ๓๐ เมตร ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ มีใบย่อย ๕ - ๙ ใบ ออกสลับกันบนแกนใบ ดอกเล็ก ออกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง และตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง สีขาว สมบูรณ์เพศ ผลรูปไข่มีขนคลุม ยาวประมาณ ๑๕ มม. มี ๑ - ๒ เมล็ด เมื่อสุกสีดำ เนื้อในผลมีรสเปรี้ยวอมหวาน บริโภคได้
                เนื้อไม้หยี แข็งเหนียวและทนทานมาก ใช้ทำเสา เพลาเกวียน เสากระโดงเรือ และงานก่อสร้างทั่วไป            ๒๘/๑๘๑๕๒
            ๕๑๙๓.
หรดาล  เป็นชื่อแร่ชนิดหนึ่ง มีบทนิยามว่า "แร่ชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยธาตุสารหนู และกำมะถัน มีปรากฎในธรรมชาติสองชนิดคือ หรดาลแดง กับ หรดาลกลีบทอง"  สำหรับหรดาลกลีบทอง เป็นวัสถุสำคัญในการนำมาย่อยให้ละเอียด แล้วผสมน้ำกาวเขียนลายรดน้ำ ซึ่งเป็นงานวิจิตรศิลป์อย่างหนึ่ง ในศิลปะไทย ส่วนหรดาลแดง นั้นนำไปใช้อย่างอื่น
                ประโยชน์ของหรดาล หรือน้ำยาหรดาล คือ ใช้เขียนลายบนแผ่นที่มีพื้นเป็นรัก เพื่อทำการปิดทองรดน้ำต่อไป จึงเรียกกันว่า ลายรดน้ำ เป็นกรรมวิธีทางศิลปะของไทย ที่สืบเนื่องกันมาช้านานไม่ต่ำกว่าสมัยอยุธยาตอนต้น หรือมากกว่านั้น             ๒๘/๑๘๑๕๓
            ๕๑๙๔.
หรรษวรรธนะ  เรียกสั้น ๆ ว่า หรรษะ เป็นจักรพรรดิ์อินเดีย ครองจักรวรรดิ์ในอินเดียภาคเหนือ ระหว่างปี พ.ศ.๑๑๔๙ - ๑๑๙๐  มีอาณาเขตกว้างใหญ่จากแคว้นกาธยาวาร ทางตะวันตกไปถึงแคว้นเบงกอลตะวันออก มีโครงสร้างแบบระบบฟิวดัล คือ พระองค์ทรงปล่อยให้ราชาที่ยอมอ่อนน้อมครองต่อไป พระองค์กุมอำนาจในจักรวรรดิ์ ด้วยการเสด็จประพาสตรวจตราดินแดนของพระองค์อยู่ตลอดเวลา การสดับตรับฟังทุกข์สุขของราษฎร และพระราชทานความช่วยเหลืออย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ทรงให้ความอุปถัมภ์ทั้งศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู)  และศาสนาพุทธ โปรดเรื่องปรัชญาและวรรณกรรม เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์โดยไม่มีรัชทายาท จักรวรรดิ์ของพระองค์ก็แตกออกเป็นรัฐเล็ก ๆ             ๒๘/๑๘๑๕๕
            ๕๑๙๕.
หริภุญชัย  เป็นชื่อหนึ่งของเมืองลำพูน แผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มุมบน กว้าง ๔๕๐ เมตร ยาว ๘๒๕ เมตร มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ด้านทิศตะวันออกของตัวเมือง ติดกับลำน้ำกวง เคยเป็นแคว้นอิสระ นับตั้งแต่ก่อสร้างเมืองจนสิ้นสุดอำนาจลง เมื่อพญามังราย แห่งแคว้นเชียงราย เข้ายึดครองเมืองปี พ.ศ.๑๘๓๕ แล้วถูกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา ในเวลาต่อมา
                ประวัติการก่อตั้งเมืองหริภุญชัย มีอธิบายในตำนานประเภทอธิบายเหตุ โดยใช้ศาสนาภูมิประเทศเป็นองค์ประกอบ คาดว่าเมืองแห่งนี้สร้างขึ้นตอนต้นพุทธศตวรรษที่สิบสี่ ตำนานสำคัญที่กล่าวถึงเมืองหริภุญชัย ได้แก่ จามเทวีวงศ์ ชินกาลบาลีปกรณ์ มูลศาสนาและศาสนวงศ์ แต่งเป็นภาษาบาลี
                เมื่อสร้างเมืองแล้วได้ทูลเชิญ พระนางจามเทวี ธิดาเจ้าเมืองลพบุรี ซึ่งขณะนั้นเป็นชายาเจ้าเมืองรามปุระ และทรงครรภ์อยู่ด้วยมาเป็นเจ้าเมือง พระนางครองเมืองไม่นาน ก็ประสูติโอรสแฝดสององค์ คือ มหันตยดิ และอนันตยศ ต่อมาเกิดการสู้รบกับกลุ่มคนพื้นเมืองชาวลัวะ ชาวลัวะแพ้ต้องถอยหนีไป
                ประมาณปี พ.ศ.๑๕๐๐ พวกมิลักขะ จากเมืองยศมาลา ยกทัพมาตีเมืองหริภุญชัย สามารถยึดครองเมืองได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ
                ประมาณปี พ.ศ.๑๕๕๐ - ๑๕๐๐  พญาอัตราสตกราช กษัตริย์เมืองหริภุญชัย ยกทัพไปตีเมืองลพบุรี แต่กองทัพเมืองนครศรีธรรมราช ได้ยกมาเพื่อจะยึดเมืองลพบุรี กองทัพเมืองลพบุรี กับกองทัพเมืองหริภุญชับ ถอยหนีไปทางเหนือ กองทัพเมืองลพบุรี เข้ายึดเมืองหริภุญชัยได้ก่อน กองทัพเมืองหริภุญชัยต้องถอยลงมาทางใต้ เกิดเหตุการณ์ระหว่างเมืองหริภุญชัย กับลพบุรี และอื่น ๆ อีกหลายครั้ง ก่อนที่พญามังราย เจ้าเมืองเชียงราย ยึดครองและผนวกเข้ากับอาณาจักรล้านนา
                ต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๐๐ ไทยอำมาตย์จากเมืองลำปาง ยกทัพมายึดเมืองหริภุญชัยได้ ต่อมาเมืองหริภุญชัยกลับมายึดเมืองคืนได้ ในที่สุดพญามังราย ได้ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองหริภุญชัยได้ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๕ พญาญีบา เจ้าเมืองลำพูน องค์สุดท้าย ต้องหนีไปอยู่เมืองลำปาง เป็นการสิ้นสุดความเป็นอิสระของเมืองหริภุญชัย ในปีนั้น            ๒๘/๑๘๑๕๙
            ๕๑๙๖.
หริศจันทร์  เป็นพระราชาเชื้อสายราชวงศ์อิกษวากุ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ยึดมั่นในคำสัตย์สัญญา             ๒๘/๑๘๑๖๔
            ๕๑๙๗.
หลวิชัย  เป็นชื่อลูกเสือ ที่ฤาษีชุบขึ้นมาเป็นคนเรื่องคาวี ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านโบราณ ปรากฎในรูปของวรรณคดี เรื่อง เสือโคคำฉันท์ สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยอยุธยาตอนต้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครนอก เรื่อง คาวี มีอยู่สี่ตอนคือ ตอนที่หนึ่ง ท้าวสันนุราช หานางผมหอม ตอนที่สอง ท้าวสันนุราชชุบตัว ตอนที่สาม นางคันธมาลีขึ้นเฝ้า ตอนที่สี่ คาวีรบกับไวยทัต            ๒๘/๑๘๒๖๗
            ๕๑๙๘.
หลอดลม  เป็นท่อทางเดินหายใจ ภายในช่องอก ที่แยกออกจากท่อลม ตรงระดับกระดูกสันหลัง ส่วนอกข้อที่สี่ กับข้อที่ห้า
                ทางเดินหายใจ แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนลำเลียงอากาศและส่วนแลกเปลี่ยนแก๊ส หรือส่วนหายใจ ทางเดินหายใจ เปรียบได้กับต้นไม้ โดยส่วนลำเลียงอากาศ ได้แก่ ท่อลมและหลอดลม ขนาดต่าง ๆ  เทียบได้จากต้น และกิ่งก้านของต้นไม้ ส่วนหายใจเปรียบเหมือนใบของต้นไม้
                หลอดลม ก็เช่นเดียวกับกิ่งไม้ มีการแตกกิ่งก้านสาขา เมื่อออกจากท่อลม จะแยกเป็นข้างซ้ายและข้างขวา เรียกว่า หลอดลมปฐมภูมิ  หลังจากเข้าไปอยู่ในปอดซ้ายและขวา แล้วจะแตกออกเป็นหลอดลมทุติยภูมิ และหลอดลมตติยภูมิ แล้วแตกกิ่งต่อไปอีกรวม ๑๒ - ๑๕ ครั้ง จึงกลายเป็นหลอดลมฝอย ขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อลม จะเล็กลงเรื่อย ๆ คือ จากประมาณ ๒ ซม.  ในหลอดลมปฐมภูมิจนถึงขนาด ๐.๓ - ๐.๕ มม.  ในหลอดลมฝอย นอกจากนั้น ความหนาของผนังของส่วนลำเลียงอากาศ ก็จะลดลงโดยลำดับด้วย ปริมาณของกระดูกอ่อน ซึ่งทำหน้าที่พยุงไม่ให้ท่อแฟบ ค่อย ๆ ลดลงจนหลอดลมส่วนปลาย ๆ ไม่มีกระดูกอ่อนเลย ตรงกันข้ามปริมาณกล้ามเนื้อเรียบ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จำนวนชั้นและความสูงของเซลล์บุผิว ของผนังด้านในจะค่อย ๆ ลดลง เซลล์ของผนังด้านในจะค่อย ๆ ลดลง เซลล์ของผนังด้านในมีอยู่สามประเภท คือ เซลล์ชนิดมีขน สำหรับพัดโบกสิ่งแปลกปลอม ออกสู่ภายนอก เซลล์สร้างเมือก และเซลล์ให้ความชื้นแก่อากาศหายใจ
                เมื่อมีการสำลัก หรือมีสิ่งแปลกปลอมตกลงไปในท่อลม มักตกลงไปในปอดข้างขวาเป็นส่วนใหญ่ หลอดลมปฐมภูมิ แตกออกเป็นหลอดลมทุติยภูมิ โดยข้างซ้ายแตกเป็นสองหลอด ข้างขวาสามหลอด เข้าสู่ปอดซ้ายซึ่งมีสองพู และปอดขวา สามพู หลอดลมทุติยภูมิของปอดแต่ละข้าง จะแตกกิ่งออกเป็นหลอดลมทุติยภูมิ ข้างละสิบกิ่ง ติดต่อกับส่วนเนื้อปอด มีขอบเขตค่อนข้างแน่นอน            ๒๘/๑๘๑๗๐
            ๕๑๙๙. 
หลักทรัพย์  ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.๒๕๓๕ ให้บทนิยามว่า "หลักทรัพย์ ได้แก่ (๑)  ตั๋วเงินคลัง  (๒) พันธบัตร  (๓)  ตั๋วเงิน  (๔) หุ้น  (๕) หุ้นกู้   (๖) หน่วยลงทุน ได้แก่ ตราสาร หรือหลักฐาน แสดงสิทธิ์ในทรัพย์สินของกองทุนร่วม  (๗) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น  (๙)  ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุน  (๑๐) ตราสารอื่นใดที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์กำหนด
                หลักทรัพย์เป็นแหล่งที่มาของทุน สำหรับผู้ประกอบกิจการเพื่อนำเงินที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ มาใช้ในการดำเนินกิจการของผู้ออกหลักทรัพย์ ดังกล่าว ส่วนกรณีที่บุคคลประสงค์จะนำเงินของตน มาสร้างผลตอบแทน ก็อาจลงทุนด้วยการลงทุนในหลักทรัพย์ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อาจกระทำได้ในตลาดการเงิน
                หลักทรัพย์อันเป็นตราสาร ที่นำมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะต้องเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และหลักทรัพย์อนุญาต            ๒๘/๑๘๑๗๑
            ๕๒๐๐.
หลาม, งู  งูหลามมีลำตัวอ้วนหนา สีน้ำตาลเหลือง ถึงสีน้ำตาลอ่อน เป็นพื้น มีลวดลายเป็นวงแต้ม ขนาดใหญ่ สีน้ำตาลเข้ม ขอบด้านนอกสีดำ ตลอดตัว ส่วนหัวมีลักษณะเป็นทรงสามเหลี่ยม มีลวดลายด้านบนเป็นรูปหัวลูกศร สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเหลือง ส่วนท้องมีสีขาว เมื่อโตเต็มที่ยาว ๖ - ๗ เมตร ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ ๓๐ - ๕๐ ฟอง กินสัตว์ขนาดเล็กถึงขนาดกลางเป็นอาหาร ออกหากินเวลากลางคืน            ๒๘/๑๘๑๘๑
            ๕๒๐๑.
หลุมพอ  ต้น เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง ๔๐ เมตร ผลัดใบแล้วแตกใบใหม่ในเวลาอันสั้น ลำต้นเปลาตรง ใบประกอบแบบขนนก ดอกเล็กออกเป็นช่อ แยกแขนงตามปลายกิ่ง และตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเขียวอ่อน ผลเป็นฝักแบน เมล็ดแบนรูปโล่
                เนื้อไม้หลุ่มพอแข็ง เหนียว และทนทานมาก ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือนและเครื่องใช้ได้ดี            ๒๘/๑๘๑๘๒
            ๕๒๐๒.
หวย  เป็นการพนันอย่างหนึ่งที่ออกเป็นตัวหนังสือ การพนันชนิดนี้เกิดขึ้นในประเทศจีน ความเป็นมาของการเล่นหวยในประเทศไทย เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๘ เรียกว่า หวย ก ข โรงหวยแห่งแรกตั้งอยู่ที่ประตูสามยอด ถนนเจริญกรุง
                วิธีการเล่นหวย ก ข นั้นกำหนดให้มี ๓๖ ตัว โดยใช้ตัวอักษรเป็นสัญญลักษณ์เริ่มต้นจากอักษร ก เป็นต้นไป มียกเว้นตัวอักษรอยู่แปดตัวที่ไม่ใช้คือ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ศ และ ษ เวลาออกหวยเป็นช่วงเวลาเช้าของทุกวัน ต่อมาเมื่อมีผู้นิยมเล่นหวยมากขึ้น จึงมีการเปิดโรงหวยอีกแห่งหนึ่งที่บางลำพู กำหนดออกหวยเป็นช่วงค่ำของทุกวัน การออกหวยจึงมีสองครั้งต่อวัน
                การออกหวยในครั้งนั้นทำให้รัฐได้รายได้จากอากรหวยเป็นเงินปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท รัฐกำหนดให้มีการประมูลอากรหวยทุกปี ในต่าง
จังหวัดก็มีการออกหวย แต่ได้ยกเลิกไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เนื่องจากทรงเห็นว่าการพนันทำให้ราษฎรยากจนลง และเล่นกันอย่างงมงาย ยกเว้นในกรุงเทพ ฯ โรงหวย ก ข  ได้ยกเลิกอย่างเด็ดขาด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙            ๒๘/๑๘๑๘๒
            ๕๒๐๓.
หวัด ไข้  ไข้หวัดเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในประชาชนทั่วไปทุกอายุ และพบบ่อยมากในเด็กเล็ก เมื่อมีอายุมากขึ้นร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดต่าง ๆ มากขึ้น การป่วยเป็นไข้หวัดจึงห่างออกไป และมีอาการรุนแรงน้อยลงด้วย
                ไข้หวัดเป็นโรคที่พบได้ตลอดปี แต่ในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงในช่วงฤดูฝน และฤดูหนาวพบมาก
                เชื้อไข้หวัดเป็นไวรัส ซึ่งมีอยู่เกือบ ๒๐๐ ชนิด การเกิดโรคหวัดในแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อไวรัสเพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้วก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อหวัดชนิดนั้น ในการเจ็บป่วยครั้งใหม่จะเกิดจากเชื้อหวัดชนิดใหม่ ทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้นคือจมูกและคอ  เชื้อหวัดมีในน้ำมูก น้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ซึ่งติดต่อกันโดยการไอ จาม หายใจรดกันและการสัมผัส ระยะฟักตัวของโรคเริ่มจากได้รับเชื้อหวัดเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการขึ้น กินเวลา ๑ ๓ วัน

อาการมีไข้ ตัวร้อนเป็นพัก ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดมึนศีรษะ คัดจมูก มีน้ำมูกใส จาม คอแห้งหรือเจ็บคอเล็กน้อย บางครั้งไอแห้ง ๆ หรือมีเสมหะ ถ้าไอมากอาจทำให้เจ็บบริเวณลิ้นปี่เวลาไอ

ในเด็กอาการมักรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ คือมักมีไข้ทันทีทันใด ไข้อาจสูงมากจนชัก ต่อมทอมซิลโต อาจมีอาการท้องเดิน และถ่ายอุจจาระเป็นมูกร่วมด้วย

ถ้ามีไข้เกินสี่วัน น้ำมูกอาจข้นเหนียว เสมหะข้นมีสีเขียวหรือเหลือง แสดงว่ามีการแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย บางครั้งอาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง ทำให้ต่อมทอลซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หู้ชั้นกลางอักเสบ ถ้ากล่องเสียงอักเสบเสียงจะแหบ

เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ยาเฉพาะที่ใช้รักษาจึงไม่มี มีแต่การรักษาตามอาการเท่านั้น          ๒๘/๑๘๑๘๕
            ๕๒๐๔.
หวัดใหญ่ ไข้  เป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก พบมากในฤดูฝน บางครั้งอาจพบการระบาดทั่วโลก
                เชื้อไข้หวัดเป็นไวรัสมีอยู่สามชนิดใหญ่ ๆ คือชนิดเอ ชนิดบี และชนิดซี แต่ละชนิดยังแบ่งเป็นชนิดย่อยออกไปอีกมาก ในการเกิดโรคแต่ละครั้งจะเกิดจากเชื้อชนิดย่อยเพียงพันธุ์เดียวเท่านั้น เมื่อเป็นแล้วร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อพันธุ์นั้น แต่จะไม่มีภูมิต้านทานต่อพันธุ์อื่น ๆ
                การระบาดของไข้หวัดใหญ่ทั่วโลก มักเรียกชื่อที่ระบาดแต่ละครั้ง ตามชื่อประเทศที่เป็นแหล่งต้นกำเนิด เช่น ไข้หวัดรัสเซีย ไข้หวัดฮ่องกง     เชื้อหวัดมีในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ซึ่งติดต่อกันโดยการไอ จาม หายใจรดกัน และการสัมผัส ระยะฟักตัวของโรคเริ่มจากได้รับเชื้อหวัดเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการขึ้น กินเวลา ๑ ๓ วัน

อาการมีไข้ ตัวร้อนเป็นพัก ๆ   

การติดต่อเช่นเดียวกับไข้หวัดธรรมดา ระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่ได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการขึ้นกินเวลา ๑ ๔ วัน

อาการมักเกิดขึ้นทันทีทันใดและรุนแรง มีไข้สูง ๓๘.๕ ๔๐ องศาเซลเซียส หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดเมื่อยตัวและกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะบริเวณแขนขาและกระเบนเหน็บ หน้าแดง เปลือกตาร้อน ปวดศีรษะ อ่อนเพลียมากเบื่ออาหาร ปากขม คอแห้ง คัดจมูกและมีน้ำมูก แต่ส่วนใหญ่มักไม่มีน้ำมูกหรือมีน้อย ไอ เจ็บคอ บางครั้งจุกแน่นท้อง ไข้สูง

ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้ไม่เกินเจ็ดวัน ถ้ามีไข้เกินเจ็ดวันมักไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่

การป้องกันเหมือนในผู้ป่วยไข้หวัดธรรมดา    ๒๘/๑๘๑๘๗
            ๕๒๐๕.
หวาย ต้น  เป็นชื่อพืชในวงศ์หมากและหวาย ซึ่งส่วนมากมีลำต้นยาวเป็นเถาเลื้อย ใบประกอบแบบขนนก กาบใบมักเป็นปลอกหุ้มลำต้นและมักมีหนาม ก้านใบและแกนใบมักมีหนาม
                หวายที่พบในประเทศไทยมีเจ็ดสกุล ประมาณ ๗๒ ชนิด แต่ละสกุลมีลักษณะสำคัญคือ
                        ๑.
สกุลหวายตะค้า มีประมาณ ๓๗๐ ชนิด ในประเทศไทยมีประมาณ ๔๐ ชนิด ลักษณะเด่นคือเป็นปาล์มที่ออกดอกเป็นผลได้หลายครั้ง
                        ๒.
สกุลหวายพาลี มีประมาณหกชนิด ลักษณะเด่นคือออกดอกเป็นผลได้หลายครั้ง มีกาบหุ้มช่อดอกหรือใบประดับช่อดอกเพียงกาบเดียว ไม่มีกาบหุ้มแขนงช่อ หรือช่อดอกย่อย
                        ๓.
สกุลหวายพน มีประมาณ ๑๑๕ ชนิด ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ ๑๘ ชนิด ลักษณะเด่นคือออกดอกเป็นผลได้หลายครั้ง ดอกออกด้านข้างของกาบใบ เป็นช่อแยกแขนงสั้น ๆ
                        ๔.
สกุลหวายเดา มีประมาณ ๒๕ ชนิด ในภาคใต้ของไทยมีหกชนิด ลักษณะเด่นคือตามข้อของลำหวาย มีตาขนาดใหญ่ และมักแตกกิ่งเลื้อยไปตามเรือนยอดไม้ ดอกออกบนก้านช่อแบบแยกแขนง เมื่อกิ่งใดออกดอกและเป็นผลก็จะตายไป
                        ๕.
สกุลหวายช้าง มีชนิดเดียวคือหวายช้าง ลักษณะเด่นคือกาบใบมีเมล็ดสีน้ำตาลและมีหนามขนาดใหญ่เรียงเป็นวงคล้ายหวี ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงขนาดใหญ่บริเวณข้อตอนปลายล่า เมื่อออกดอกเป็นผลแล้วจะตายไป
                        ๖.
สกุลหวายกำพด มีประมาณ ๑๗ ชนิด ในไทยมีสามชนิด ลักษณะเด่นคือออกดอกเป็นผลครั้งเดียวแล้วตายไป ดอกออกบนช่อแยกแขนงขนาดใหญ่
                        ๗.
สกุลหวายแดง มีประมาณห้าชนิด ในไทยมีสองชนิด ลักษณะเด่นคือผิวของลำหวายเป็นสีม่วงแดง ออกดอกเป็นผลครั้งเดียวแล้วตายไป
                            ถึงแม้ว่าหวายในไทยจะมีถึงเจ็ดสกุล ๗๒ ชนิด แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย เพราะเนื้อและผิวหวายดังกล่าวมีลักษณะสวยงาม เหนียว ทนทาน นำมาจักสานและทำเครื่องเรือน หรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้ดี
                            คำว่าหวายเป็นคำเรียกพืชหลายวงศ์ หลายสกุล ในที่นี้บรรยายไว้เฉพาะวงศ์ปาล์มเท่านั้น ไม่รวมถึงหวายอยู่ในวงศ์อื่นเช่น หวายลิง วงศ์หวายลิง และวงศ์กล้วยไม้            ๒๘/๑๘๑๘๘

| ย้อนกลับ | บน |