| หน้าแรก | หน้าต่อไป |

เหตุการณ์ในแผ่นดินเมื่อปี พ.ศ. 2475

loading picture

การก่อตัวเมื่อปี พ.ศ. 2475
            นักศึกษาไทยที่มาศึกษาที่ฝรั่งเศส  จำนวน 7 คน มีทั้งทหารและพลเรือน ได้นัดประชุมกันที่กรุงปารีส เพื่อกำหนดความมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย  กติกาของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตลอดจนกำหนดบุคคลิกของผู้ที่จะมาร่วมคณะต่อไป  และได้กำหนดหลักการไว้ 3 ประการคือ
            ประการแรก  ทำการเปลี่ยนการปกครองให้มีรากฐานประชาธิปไตย  โดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ โดยงดเว้นการมีสาธารณรัฐโดยเด็ดขาด
           ประการที่สอง  กำหนดยึดอำนาจด้วยการปฏิวัติ (COUP D' ETAT) ไม่ใช่การก่อการจลาจล งดเว้นการนองเลือด การทำทารุณกรรมใด ๆ และไม่ประหัตประหารกันเอง อย่างกบฏในฝรั่งเศส
            ประการที่สาม  ร่วมมือกันทำการปกครองบริหารประเทศชาติด้วยความสุจริตใจ งดเว้นการแสวงหา และ สร้างสรรค์ความมั่นคงเป็นประโยชน์ส่วนตัว
            ในการประชุมครั้งแรกนี้คณะผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ได้มีการพิจารณากำหนดลัทธิการเมืองประการใด มีความมุ่งหมายเพียงให้มีรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยเป็นจุดหมายปลายทาง
            ในการประชุม ได้กำหนดหลักการเพื่อดำเนินการยึดอำนาจไว้ 3 ประการ คือ
                    1. การหาความรู้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศต่าง ๆ ในทางประวัติศาสตร์ เพื่อทราบความมุ่งหมาย แผนการดำเนินการ ความสำเร็จและเหตุการณ์แห่งความล้มเหลวและเหตุผล เพื่อประกอบการพิจารณาในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อไป
                    2. กำหนดคุณสมบัติของบุคคล ที่จะมาร่วมคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งจะต้องมีความรู้ และวุฒิที่กว้างขวาง มีรากฐานการศึกษาเพียงพอ นอกจากนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มาร่วมด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ประกอบด้วยอคติ ความพยาบาท เคียดแค้น หรือมุ่งแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ประการใด และทำงานเพื่อประโยชน์ประเทศชาติโดยสุจริตใจ กับทั้งจะต้องเป็นผู้ที่มีความประพฤติ และสภาพความเป็นอยู่ภายในครอบครัวเป็นหลักฐานที่พึงไว้วางใจได้
                3. ในเรื่องการกำหนดวิธีการที่จะหาเงินมาเป็นทุนในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งในระยะแรกก็อาศัยการเรี่ยไรเงินส่วนตัวกันเป็นสำคัญ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินมาก นอกจากนี้ก็วางแผนที่จะประกอบธุรกิจเพื่อหารายได้เป็นกอบเป็นกำต่อไป

การเริ่มปฏิบัติการในประเทศไทย
loading picture
                 เมื่อคณะผู้ก่อตัวได้ทะยอยกันเดินทางกลับประเทศไทย เข้ารับราชการตามตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ แล้ว ก็เริ่มดำเนินเรื่องการเมืองติดต่อกับเพื่อนร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ให้สัตย์ปฏิญาณกันมา ตั้งแต่อยู่ยุโรปต่อไป โดยติดต่อกับผู้ร่วมคิดจากปารีสและสวิทเซอร์แลนด์ รวม 15 คน ซึ่งแต่ละคนก็ได้ติดต่อกับผู้ที่รู้จัก และมีความประทับใจที่ไม่ดีในเรื่องต่าง ๆ ที่คนได้ประสบมาในรูปแบบต่าง ๆ สรุปแล้วผู้ริเริ่มฝ่ายพลเรือน 15 คน ยังไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร และดูซบเซาไป เนื่องจากห่างเหินกันไปนาน
                ส่วนผู้ร่วมคิดฝ่ายทหารมีความเห็นว่า เหตุการณ์บ้านเมืองมันสุกงอมแล้ว ควรจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ และมีความพร้อมที่จะดำเนินการ เพราะได้เตรียมหาสมัครพรรคพวกกันอยู่ตลอดแม้ผู้ก่อการสายทหารบางคนจะไม่มีหัวในการเมือง แต่ก็เป็นผู้รักเพื่อนฝูงเป็นชีวิตจิตใจ เอาอะไรเอากันประกอบกับหลายคนมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญใช้เป็นกำลังได้

การวางแผนยึดอำนาจ
                จากการประสานงานได้ทหารบก 34 คน ทหารเรือ 19 คน และฝ่ายพลเรือน 45 คน รวมทั้งสิ้น 98 คน ผู้ร่วมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ในการร่วมประชุมครั้งแรก 7 คน ผู้ที่มาสมัครตอนหลังอีก 9 คน
                เมื่อได้ทบทวนผลการดำเนินงานที่ฝ่านมา รวม 3 ปี พบว่างานคืบหน้าไปช้า และซบเซาแต่ก็ยังมีความสนใจกันอยู่เป็นส่วนมาก สำหรับฝ่ายพลเรือนที่แตกแยกเป็นหลายสาย ก็ยังไม่มีความหมายที่จะเป็นกำลังแต่อย่างใด จึงได้มีการนัดประชุมผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร รวม 5 คน มียศเป็นนายพันเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา 3 คน ยศนายพันโท มีบรรดาศักดิ์เป็นพระ 1 คน  และยศนายพันตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง 1 คน  4 คนแรก เรียกกันในครั้งนั้นว่าสี่ทหารเสือ ในการประชุมได้พิจารณาสถานการณ์โดยทั่วไป กับแผนการที่จะยึดอำนาจ ซึ่งกำหนดไว้ตามสถานที่และโอกาสต่าง ๆ หลายประการซึ่งมีความเห็นแตกแยกกันอยู่
loading picture
นอกจากได้ประมาณกำลังทหารบก ทางผู้ก่อการคนหนึ่งมีเพื่อนคู่คิดที่สำคัญยศนายพันโท ซึ่งอยู่ทางหน่วยที่หวังว่าจะได้กำลังด้านอาจารย์และนักเรียนนายร้อย สำหรับด้านทหารม้าและรถรบ ผู้เข้าประชุมยศนายพันตรีรับรองว่ามีความหวังมั่นคง เพราะมีนายทหารยศนายพันโทที่เคยสนิทสนมกัน ครั้งอยู่กรุงปารีสบังคับบัญชาหน่วยอยู่ ทางด้านทหารปืนใหญ่นายทหารผู้นี้ก็รับรองว่ามีเพื่อนฝูงที่ไว้วางใจได้ แต่ไม่ยอมบอกชื่อว่าเป็นใคร ทางด้านนายทหารยศนายพันโท ซึ่งคุมอยู่ทางโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ก็รับรองว่าจะได้นายทหารที่อาจารย์ และนักเรียน จากที่นี่เป็นส่วนมาก สำหรับนายทหารยศนายพันเอกผู้หนึ่ง ที่เข้าประชุม ยังรู้สึกข้องใจว่าไม่มีกำลังพอที่จะทำการใหญ่ให้สำเร็จได้จึงยังลังเลอยู่ แต่ก็รับรองว่าจะเตรียมการฝึกซ้อมการเคลื่อนไหวกำลังไว้พร้อม ถ้าหน่วยทหารม้าและรถถังนำขบวน เป็นทัพหน้าไปได้สำเร็จ ก็จะให้หน่วยทหารปืนใหญ่ซึ่งมีเพื่อนของตน ซึ่งสามารถหน่วยทหารปืนใหญ่ ติดตามแผนการให้จงได้ ส่วนผู้เข้าประชุมอีกคนหนึ่งยศนายพันเอก บอกว่าตนมีแต่ตัวคนเดียว แต่ก็จะเป็นกำลังช่วยวิ่งเต้นสั่งการในฐานะที่ดูแลเหล่าทหารปืนใหญ่อยู่
loading picture
        สำหรับด้านทหารเรือ มีการติดต่อประสานงานกับนายทหารเรือยศนายนาวาตรี มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารเรือแต่ผู้เดียว ท่านผู้นี้เป็นอาจารย์อยู่โรงเรียนนายเรือ มีสมัครพรรคพวกเป็นผู้บังคับการเรืออยู่หลายลำ รวมทั้งกองพันพาหนะเรือ ซึ่งต่อมาเรียกว่าหน่วยนาวิกโยธิน
        อีกประมาณเดือนเศษต่อมา ได้มีการประชุมครั้งใหญ่ที่วัดแคลาย จังหวัดนนทบุรี มีการเช่าเรือกลไฟลำใหญ่ จัดให้เฉพาะผู้ใหญ่ฝ่ายทหารเพื่อเดินทางไปยังวัดดังกล่าว ส่วนพวกพลเรือนต่างคนต่างไป โดยถือโอกาสไปทำการยิงนก  ส่วนทางทหารเรือได้ไปเรือส่วนตัว
และขึ้นไปทำความรู้จักกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่   แล้วแยกกลับ

ความขัดแย้งในหลักการ
            ในเรื่องการปรับปรุงกองทัพ  มีความเห็นไม่ตรงกันคือ  ฝ่ายหนึ่งจะให้ยุบกองทัพ  กองพล  โดยให้หน่วยทหารต่าง ๆ ไปขึ้นกับผู้บังคับเหล่า  เลิกยศนายพล  และเลิกโรงเรียนเสนาธิการ  แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า  ควรจะละเว้นการใด ๆ  ที่จะทำให้กระทบกระเทือนจิตใจนายทหารในกองทัพ  การปรับปรุงจะต้องดำเนินการไปเป็นขั้น ๆ วางรากฐานการปกครองกองทัพให้มั่นคงเป็นสำคัญ ฝ่ายแรกซึ่งมีอาวุโสกว่าไม่พอใจ เห็นว่าฝ่ายหลังที่อ่อนอาวุโสกว่า ควรจะฟังแนวทางของตนเป็นหลัก  เมื่อตกลงกันไม่ได้ก็ตัดบทว่าให้ยุติกันเพียงนี้ก่อน  แล้วเลิกลากันไป  ฝ่ายอ่อนอาวุโสกว่ามีความหนักใจว่า  การเปลี่ยนแปลงการปกครองท่าจะไปไม่สำเร็จ  ถ้าพลาดพลั้งไปก็ต้องเข้าคุกเข้าตาราง  และโทษถึงประหารชีวิต ถ้าทำตามความคิดในการปรับปรุงกองทัพตามแนวทางของนายทหารอาวุโสก็จะเกิดความวุ่นวาย เพราะฉะนั้นเมื่อทำการปฏิวัติไม่สำเร็จก็ตาย ถ้าปฏิวัติสำเร็จก็จะเกิดความขัดแย้งต้องฆ่ากันอีก จึงเห็นว่าน่าจะยับยั้งการร่วมคิดกับผู้ที่มีแนวทางดังกล่าว ในเรื่องนี้ฝ่ายที่เป็นผู้ประสานงานเห็นว่า ได้มีการดำเนินการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นเวลานาน หากไม่ได้นายทหารอาวุโสผู้มีความเห็นตามแนวทางดังกล่าวก็จะสำเร็จได้ยาก เพราะจะได้กำลังจากท่านผู้นี้ทางด้านโรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนเสนาธิการเป็นสำคัญ จึงได้มีการหาทางประนีประนอมกันต่อไป
            ได้เกิดเหตุการณ์ที่เอื้อประโยชน์แก่คณะผู้ก่อการ ฯ เป็นอย่างมาก คือ นายพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดช ฯ ที่ลาออกจากราชการทหารไป เพราะขัดแย้งกับจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ทรงให้ล้างคำสั่งเลื่อนยศเงินเดือนนายทหารในกองทัพบกเป็นจำนวนมาก พระองค์เจ้าบวรเดช ฯ จึงวางแผนการที่จะปรับปรุงการบริหารให้มีรัฐธรรมนูญขึ้น เป็นแนวคิดที่จะทำฎีกาขึ้นกราบบังคมทูล ขอพระมหากรุณาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ให้พระราชทานรัฐธรรนูญ และในการนี้จอมพลเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ฯ และเจ้านายชั้นผู้ใหญ่บางพระองค์ ได้กราบบังคมทูลทัดทานไว้เรื่องก็จึงสงบเงียบไป

การปรับความเข้าใจ
            เมื่อเรื่องราวต่าง ๆ เงียบสงบลงไป ฝ่ายผู้ก่อการที่มีความเห็นไปตรงไปตรงกันในเรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างและการจัดหน่วยทหารก็ได้มีการปรับแนวความคิดด้วยการลดหย่อนผ่อนเข้าหากัน คือแทนที่จะให้ยุบเลิกหน่วยบางระดับหน่วย และยุบเลิกยศนายพลเสียทั้งหมดก็เปลี่ยนเป็นยุบเลิกแต่กองทัพ คงหน่วยกองพลไว้ ส่วนนายพลก็จะลดจำนวนลงเหลือเพียง 5 คน  ส่วนการปรับปรุงโดยทั่วไป ก็จะได้ปรึกษากันด้วยดีต่อไป เป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย
            อย่างไรก็ตามในการประชุมพบปะเพื่อปรับความเข้าใจดังกล่าว  ปรากฎว่าทางตำรวจกองพิเศษ ได้เริ่มระแคะระคายและเฝ้าตรวจดูอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ครั้นแล้ววันหนึ่ง ผู้บัญชาการตำรวจกองปราบยศนายพันตำรวจเอก มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาได้ปลอมตัวเป็นชาวนา สะกดรอยผู้ก่อการฝ่ายพลเรือน 2 คน จนได้ทราบเรื่องการคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นที่แน่ชัด ในที่สุดในต้นเดือนมิถุนายน นายพลตำรวจโทพระยาอธิกรณ์ประเทศกับผู้บังคับการตำรวจกองปราบ ได้ประมวลเรื่องของผู้ก่อการ ฯ ว่ากำลังคิดการใหญ่ และจะลงมือยึดอำนาจอย่างแน่นอน จึงได้ทำหมายจับผู้ก่อการ 5 คน เป็นนายทหาร 4 คน และพลเรือน 1 คน ไปกราบทูลจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ ฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ให้ลงพระนามในหมายเพื่อจะทำการจับกุมต่อไป แต่เมื่อพระองค์ได้ทรงเห็นชื่อผู้ก่อการ ก็ทรงเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นเด็ก ๆ ไม่มีความหมาย บางคนพระองค์ก็ได้เคยรู้จักตั้งแต่เกิด และเมื่อเป็นนายทหารมหาดเล็กก็เคยรับใช้อยู่เสมอ ส่วนคนอื่น ๆ ก็ดูเป็นตำแหน่งที่ไม่มีความหมายประการใด ดังนั้นจึงทรงยับยั้งการออกหมายจับ มอบเรื่องให้พระยามานนวราชเสรี อธิบดีกรมอัยการ และพระยาอธิกรณ์ประเทศ อธิบดีกรมตำรวจไปพิจารณากันต่อไป
            เมื่อความทราบถึงผู้ก่อการที่เป็นนายทหารชั้นอาวุโสสูง จึงได้มีการเรียกประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่มาปรึกษาวางแผนการ และกำหนดวันลงมือ

การปฏิบัติยึดอำนาจการปกครอง
            จากผลการประชุมวางแผนการ ได้ตกลงมอบหมายให้ นายทหาร 3 นาย ประกอบด้วย นายทหารยศนายพันเอก 1 นาย ยศ นายพันตรี 1 นาย และยศ นายนาวาตรี 1 นาย เป็นคณะบัญชาการโดยเด็ดขาด
            คณะผู้ก่อการ ฯ ได้ถือโอกาสอันเหมาะแก่การทำการ ในขณะที่เศรษฐกิจ การเงิน การค้าของประเทศไทยกำลังทรุดโทรม ประชาชนเดือดร้อนในเรื่องการครองชีพ งบประมาณแผ่นดินก็ขาดแคลน ต้องดุลข้าราชการเป็นการใหญ่ (คำว่าดุลยภาพในครั้งนั้น เป็นการปรับจำนวนข้าราชการให้ลดลง โดยให้ออกจากราชการก่อนเกษียณอายุเป็นจำนวนมาก เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลลงให้เกิดความสมดุลย์) นับเป็นโอกาสที่จะได้อาศัยมติมหาชนเป็นกำลังส่งเสริม
            สำหรับการลงมือยึดอำนาจนั้นได้ถือโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เสด็จแปรพระราชฐานไปหัวหิน เพื่อทอดพระเนตรการทดลองการยิงปืนใหญ่มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แม่ทัพ นายกอง ไปร่วมในการประลองอาวุธในครั้งนั้นด้วยเป็นส่วนมาก

 
 
| หน้าแรก | หน้าต่อไป | บน|