| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
ระบบการระบายน้ำ
ภาคเหนือมีฝนตกมาก และมีระยะฝนตกนาน ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่สูง
มีทิวเขาอยู่ทั่วไป พื้นที่ระหว่างทิวเขาเป็นที่ราบแคบ ๆ เนื่องจากมีรอยพับย่นของพื้นที่ทำให้มีลำน้ำอย่างพอเพียงในการระบายน้ำ
เว้นพื้นที่บางแห่งในลุ่มลำน้ำปิงตอนใต้ที่ลำน้ำไหลผ่าน ความบีบบังคับของทิวเขา
อาจระบายน้ำออกไม่ทันเมื่อมีประมาณน้ำมาก นอกจากนี้ในบริเวณที่เป็นท้องกระทะ
เช่น บริเวณลุ่มน้ำอิงในเขตอำเภอเมืองพะเยา
นอกจากลำน้ำขนาดใหญ่สองสายคือ ลำน้ำสาละวิน
และลำน้ำโขง ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตก
และด้านตะวันออกของภาคแล้ว ภาคเหนือนับว่ามีลำน้ำอยู่มาก มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูง
ไหลออกไปสู่ทิศทางต่าง ๆ กันตามลักษณะของทิวเขา และความลาดเอียงของพื้นที่
พอจะแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มด้วยกันคือ
ลำน้ำที่ไหลลงสู่ลำน้ำโขง เป็นลำน้ำที่อยู่บริเวณเหนือสุดของประเทศไทย
อยู่ทางตอนเหนือของทิวเขาขุนตาล ทิวเขาผีปันน้ำ และดอยเชียงดาว
พื้นที่แถบนี้จะลาดเทไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเขต จังหวัดเชียงราย
และบางส่วนอยู่ในเขต อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ลำน้ำดังกล่าวได้แก่
- ลำน้ำกก
ยาว ๒๕๐ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาในเมืองพานรัฐฉาน เมื่อเข้าสู่เขตแดนไทยแล้ว
ไหลไปทางทิศตะวันออก ผ่านเขตจังหวัดเชียงราย ไปบรรจบลำน้ำโขง ในเขตอำเภอเชียงแสน
รวมความยาวที่อยู่ในเขตแดนไทย ๑๕๐ กิโลเมตร ลำน้ำกกได้รับน้ำจาก ๓ ลำน้ำ
คือ ลำน้ำฝาง
ยาวประมาณ ๗๐ กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาแดนลาว (กิ่งแยก) และทิวเขาขุนตาลตอนเหนือ
อำเภอเชียงดาว ไหลผ่านอำเภอฝางไปบรรจบลำน้ำกกที่บ้านปางเดิม เป็นลำน้ำเล็กและตื้น
ลำน้ำแม่ลาว
ยาวประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากดอยผีปันน้ำ ดอยผาจ้อ ในเขตอำเภอเวียงป่าเป้า
จังหวัดเชียงราย ไหลขึ้นไปทางเหนือ ผ่านอำเภอแม่สรวย อำเภอเมืองเชียงราย ไปบรรจบลำน้ำกกที่บ้านสันป่ายาง
ลำน้ำรวก ยาวประมาณ
๑๐๐ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากดอยผาเล็งในรัฐฉาน ไหลเข้าสู่ไทยโดนเป็นแนวเขตแดนไทยกับรัฐฉานยาว
๑๗ กิโลเมตร แล้วไปบรรจบลำน้ำโขงที่ตำบลสบรวจ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ลำน้ำแม่สาย ยาวประมาณ
๔๓ กิโลเมตร เป็นลำน้ำเล็ก ๆ กว้างประมาณ ๓๐ เมตร ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาแดนลาวในรัฐฉาน
ไหลเข้าสู่เขตแดนไทยโดยเป็นแนวเขตแดนไทยกับรัฐฉาน ยาว ๑๒ กิโลเมตร แล้วไปบรรจบลำน้ำรวกที่
ตำบลสบสาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ลำน้ำแม่จัน
ยาว ๕๐ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากดอยสามเส้า ในทิวเขาแดนลาว ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ผ่านอำเภอแม่จันไปบรรจบลำน้ำโขงที่ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ลำน้ำแม่จัน
กว้างประมาณ ๕๐ เมตร ในฤดูแล้งน้ำแห้งเป็นช่วง ๆ มีลำน้ำที่เป็นสาขาคือ
ลำน้ำแม่คำ ซึ่งไหลจากด้านทิศเหนือมาบรรจบลำน้ำแม่จัน
ลำน้ำแม่อิง ยาวประมาณ
๑๗๐ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาผีปันน้ำในเขต อำเภอเมืองพะเยา ไหลผ่านกว๊านพะเยา
อำเภอเทิง ไปบรรจบลำน้ำโขงที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในฤดูแล้งน้ำจะแห้งเป็นช่วง
ๆ ลำน้ำแม่จันได้รับน้ำจากแควสาขาคือ ห้วยแม่หมาด ไหลผ่านอำเภอพาน ห้วยแม่พุง
และลำน้ำแม่ลาว
ซึ่งไหลผ่าน อำเภอเชียงคำ จังหวัดเชียงราย
ลำน้ำที่ไหลลงสู่ลำน้ำสาละวิน
ส่วนใหญ่เป็นลำน้ำซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทิวเขาถนนธงชัย ซึ่งเป็นทิวเขาที่กว้างใหญ่และสลับซับซ้อน
ลำน้ำส่วนใหญ่จึงไหลอยู่ในซอกเขาในเขตจังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำน้ำที่สำคัญได้แก่
ลำน้ำปาย ยาว
๑๗๐ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากทิวเขาถนนธงชัย ไหลจากเหนือลงใต้ผ่านอำเภอปาย แล้ววกไปทางตะวันตก
ผ่านอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน แล้วไหลออกนอกพรมแดน ไปบรรจบแม่น้ำสาละวิน
ลำน้ำปายเต็มไปด้วยเกาะแก่งใช้เดินเรือไม่ได้ แต่ใช้ล่องซุงได้ มีน้ำไหลตลอดปี ลำน้ำเมย ยาวประมาณ
๒๕๐ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากหมู่เขาในถนนธงชัย ตอนต้นน้ำเป็นลำธารหลายสาย
สายที่สำคัญคือ ลำน้ำวาเล
ซึ่งเป็นต้นเหตุให้พรมแดนไทยขาดหายไปเป็นพื้นที่กว้าง ๓๕ กิโลเมตร ยาว ๓๐
กิโลเมตร ลำน้ำเมยเป็นลำน้ำในโกรกเขา ใช้คมนาคมไม่ได้ ไหลจากทางทิศใต้ไปทางทิศเหนือ
ผ่านเขตอำเภอแม่สอดทางด้านทิศตะวันตก ไหลผ่านอำเภอแม่ระมาด อำเภอท่าสองยาง
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปบรรจบลำน้ำสาละวิน ลำน้ำนี้ใช้เป็นพรมแดนไทยกับพม่าเป็นระยะทาง
๒๓๐ กิโลเมตร ได้รับน้ำจากลำธารหลายสาย ที่สำคัญได้แก่ ลำแม่เมา
ในเขต อำเภอแม่สอด ต้นน้ำเกิดจากเขาสลักพระ ดอยชุนหุ้น เขาวาเล ไหลผ่านด่านแม่ละเมา
ทางตะวันออกของอำเภอแม่สอด ไปบรรจบลำน้ำเมย ทางทิศใต้ของบ้านแม่กาสา ลำน้ำแม่ยวม
ยาว ๑๕๐ กิโลเมตร ต้นน้ำเกิดจากดอยกิ่วลม และดอยปางเกี๊ยะ ในทิวเขาถนนธงชัย
ไหลผ่านอำเภอขุนยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปบรรจบกับลำน้ำเมย
ลำน้ำที่ไหลลงสู่ลำน้ำเจ้าพระยา
มีลำน้ำหลัก ๆ อยู่หลายลำน้ำด้วยกันคือ ลำน้ำปิง
ต้นน้ำเกิดจากดอยถ้วยในทิวเขาแดนลาว ในเขตอำเภอเชียงดาว ยาวประมาณ ๗๗๕ กิโลเมตร
ไหลลงทางใต้ผ่านเขตอำเภอแม่แตง อำเภอแม่ริม อำเภอสันทราย อำเภอเมืองเชียงใหม่
อำเภอสารภี จังหวัดลำพูน อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นไหลลงสู่ที่ราบภาคกลาง
ผ่านอำเภอสามเงา อำเภอบ้านตาก อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก อำเภอเมืองกำแพงเพชร
อำเภอคลองขลุง อำเภอขาณุวรลักษณ์ จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอเมืองนครสวรรค์ และรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ
จังหวัดนครสวรรค์ รวมระยะทางที่ไหลอยู่ในย่านภูเขาภาคเหนือจนถึง อำเภอบ้านตาก
จังหวัดตาก เป็นระยะประมาณ ๓๗๕ กิโลเมตร และไหลในภาคกลาง ประมาณ ๔๐๐ กิโลเมตร
มีแควที่ไหลมาบรรจบลำน้ำปิงเป็นจำนวนมาก แบ่งออกเป็นสองฝั่งคือฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก
ทางฝั่งตะวันตก
ได้แก่ ลำน้ำแม่แตง
เป็นแควใหญ่ที่สุดมาบรรจบลำน้ำแม่ปิงที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ลำน้ำแม่ริม
ไหลมาบรรจบที่อำเภอแม่ริม
จังหวัดเชียงใหม่ ลำน้ำแม่ซา ลำน้ำแม่วาง
ลำน้ำแม่สา เกิดจากดอยอินทนน มาบรรจบที่บริเวณใต้อำเภอปากบ่อง
จังหวัดลำพูน ลำน้ำแม่แจ่ม
เป็นแควใหญ่อันดับ
๒ เกิดจากเทือกเขาถนนธงชัย ผ่านอำเภอแม่แจ่มไปบรรจบลำน้ำแม่ปิง ที่เหนืออำเภอฮอด
จังหวัดเชียงใหม่ ลำน้ำแม่ตื่น ไหลผ่าน
อำเภออมก๋อย ไปบรรจบลำน้ำปิงที่เหนืออำเภอสามเงา จังหวัดตาก ทางฝั่งตะวันออก
มีสี่สายที่สำคัญ คือ ลำน้ำแม่กวง ไหลผ่านอำเภอเมืองลำพูน
ไปบรรจบลำน้ำแม่ปิงที่อำเภอปากบ่อง ห้วยแม่งัด
ไหลไปบรรจบลำน้ำแม่กวงที่เหนือ
อำเภอดอยสะเก็ด ลำน้ำแม่ทา
เกิดจากทิวเขาขุนตาล ไปบรรจบลำน้ำแม่ปิงที่ อำเภอปากบ่อง จังหวัดลำพูน
ลำน้ำแม่ลี้
ไหลจากอำเภอลี้ขึ้นไปทางเหนือ ผ่านอำเภอบ้านโฮ้งไปบรรจบลำน้ำปิงทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของ
อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ลำน้ำวัง
เกิดจากรอยต่อของทิวเขาขุนตาล กับทิวเขาผีปันน้ำ ในเขตอำเภอวังเหนือ มีความยาวประมาณ
๓๐๐ กิโลเมตร ผ่านอำเภอแจ้ห่ม อำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคา อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน
อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง แล้วไปบรรจบลำน้ำปิง ที่เหนืออำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก
ลำน้ำวังได้รับน้ำจากแควต่าง ๆ ที่ไหลมาบรรจบคือ ห้วยแม่สุก
และห้วยแม่สาย
เกิดจากทิวเขาขุนตาล ไหลมาบรรจบลำน้ำวังที่บริเวณใต้ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง
ลำน้ำตุ๋ย ไหลมาบรรจบลำน้ำวัง
ในเขตตำบลสบตุ๋ย จังหวัดลำปาง ลำน้ำแม่ตอ
เกิดจากทิวเขาขุนตาล
ไหลมาบรรจบลำน้ำวังในบริเวณ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ลำน้ำแม่ตาล
เกิดจากทิวเขาขุนตาล
ไหลมาบรรจบลำน้ำวังในเขต อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ลำน้ำแม่จาง
เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำ
ไหลมาบรรจบลำน้ำวังในบริเวณใต้อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
ลำน้ำยม เกิดจากดอยขุนยวม ในทิวเขาผีปันน้ำท่อนตะวันตก
มีความยาวประมาณ ๕๐๐ กิโลเมตร ไหลลงใต้ผ่านอำเภอปง อำเภอสอง อำเภอเมืองแพร่
อำเภอสูงเม่น อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ จากช่วงนี้จะไหลลงสู่ที่ราบภาคกลาง
ผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย แล้วไหลเข้าเขต
จังหวัดพิษณุโลก ผ่านอำเภอบางระกำ ไหลเข้าเขตจังหวัดพิจิตร ผ่านอำเภอสามง่าม
อำเภอโพธิทะเล ไปบรรจบลำน้ำน่านที่ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แควที่ไหลมาบรรจบลำน้ำยม
ในภาคเหนือได้แก่ ลำน้ำแม่คอน เกิดจากภูเขาผีปันน้ำ
แล้วไหลมาบรรจบลำน้ำยมในบริเวณเหนือ อำเภอปง จังหวัดพะเยา ลำน้ำแม่งาว
เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำตอนใต้ไหลผ่านอำเภองาว ไปบรรจบลำน้ำยมบริเวณ เหนืออำเภอสอง
จังหวัดแพร่ ห้วยแม่คำ เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำไหลผ่าน
อำเภอร้องกวาง ไปบรรจบลำน้ำยม บริเวณเหนืออำเภอเมืองแพร่ แควที่ไหลมาบรรจบลำน้ำวังในภาคกลางได้แก่
ลำน้ำฝากระดาน
เกิดจากดอยลานบริเวณบ้านห้วยบ่อทอง ไหลมาบรรจบลำน้ำยมที่บ้านปากคลอง อำเภอเมืองสุโขทัย
คลองแม่ลำพันธ์
เกิดจากดอยลานเขากรวด
เขาน้ำดิน เขาแล้ง แล้วไหลไปบรรจบ ลำน้ำยมในเขตอำเภอเมืองสุโขทัย ลำน้ำน่าน
ต้นน้ำเกิดจากดอยภูแว ในทิวเขาหลวงพระบาง และได้รับน้ำจากทิวเขาผีปันน้ำ กับทิวเขาหลวงพระบางเกือบตลอดสาย
ทำให้เป็นลำน้ำใหญ่ มีความยาวประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร ไหลผ่าน จังหวัดน่านในเขตอำเภอปัว
อำเภอเมือง ฯ อำเภอสา ไหลเข้าเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ผ่านอำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด
อำเภอเมือง ฯ อำเภอตรอน อำเภอพิชัย ไหลเข้าเขตจังหวัดพิษณุโลก ผ่านอำเภอพรมพิราม
อำเภอเมือง ฯ ไหลเข้าเขตจังหวัดพิจิตร ผ่านอำเภอเมือง ฯ อำเภอตะพานหิน อำเภอบางมูลนาก
ไหลเข้าเขตจังหวัดนครสวรรค์ ผ่านอำเภอชุมแสง และได้ลำน้ำยมมาบรรจบ ลำน้ำน่านมีแควต่าง
ๆ ในภาคเหนือไหลมาบรรจบ ได้แก่ ลำน้ำยาว
เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำ ไหลมาบรรจบลำน้ำน่าน
บริเวณใต้อำเภอเมืองน่าน ลำน้ำยาว
เกิดจากดอยภูคา ในทิวเขาหลวงพระบาง ไหลมาบรรจบลำน้ำน่าน ที่บริเวณเหนืออำเภอเมืองน่าน
ลำน้ำแม่สม เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำ ไหลมาบรรจบลำน้ำน่านที่บริเวณใต้อำเภอเมืองน่าน
ลำน้ำแม่สา เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำ ไหลมาบรรจบลำน้ำบริเวณใต้
อำเภอสา ลำน้ำว้า
เกิดจากดอยภูคาในทิวเขาหลวงพระบาง ไหลมาบรรจบลำน้ำน่าน ในเขตจังหวัดน่าน
ลำน้ำแหง เกิดจากดอยผาสั่ง ไหลผ่านอำเภอนาน้อย
จังหวัดน่าน ไปบรรจบลำน้ำน่านที่บริเวณใต้ อำเภอสา จังหวัดน่าน แควในภาคกลางที่ไหลมาบรรจบลำน้ำน่านได้แก่
ลำน้ำปาด
เกิดจากภูดูในทิวเขาหลวงพระบาง
ไหลมาบรรจบลำน้ำน่านในเขตอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ลำน้ำตรอน
เกิดจากภูสอยดาว ในทิวเขาหลวงพระบาง ไหลมาบรรจบลำน้ำน่าน บริเวณใต้อำเภอตรอน
จังหวัดอุตรดิถ์ คลองคอรุม
เกิดจากภูเขาพลึง ไหลมาบรรจบลำน้ำน่าน ในเขตอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ลำน้ำแควน้อย
เกิดจากเขากรวดในทิวเขาเพชรบูรณ์ ไหลมาบรรจบลำน้ำน่านที่วัดเกาะ อำเภอเมืองพิษณุโลก
ลำน้ำวังทอง หรือคลองท่าล่อ
เกิดจากทิวเขาเพชรบูรณ์ ไหลผ่านอำเภอวังทอง ไปบรรจบลำน้ำน่าน ที่บริเวณเหนืออำเภอท่าล่อ
คลองท่าหลวง
เกิดจากทิวเขาเพชรบูรณ์ ไหลมาบรรจบลำน้ำน่านในเขตจังหวัดพิจิตร
ลำน้ำพิจิตร เป็นลำน้ำน่านเก่าอยู่ระหว่างลำน้ำยม
และลำน้ำน่าน ปัจจุบันแยกออกจากลำน้ำน่านที่บ้านเศรษฐี ไปบรรจบลำน้ำยมที่บ้านคลองลาน
อำเภอโพธิทะเล จังหวัดพิจิตร ลำน้ำยม
ไหลมาบรรจบลำน้ำน่านในเขตตำบลเกยชัย
อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
หนองน้ำ
และที่ลุ่ม
พื้นที่ราบในภาคเหนือ เป็นที่ราบซึ่งอยู่ระหว่างทิวเขาจึงเป็นที่ราบสูง และไม่กว้างขวางนัก
มีลักษณะเป็นท้องไม่ติดต่อกับ พื้นที่ราบที่นับว่าสำคัญ ได้แก่
ที่ราบสูงเชียงใหม่ ตั้งอยู่ภายในกรอบทิวเขาซึ่งมีอยู่โดยรอบ
มีลักษณะแคบและยาวตามแนวเหนือใต้ มีแนวทิวเขากั้น แบ่งออกได้เป็น ๓
แถบคือ ที่ราบลุ่มลำน้ำฝาง เป็นที่ราบผืนเล็ก ๆ กว้าง ประมาณ ๑๐ - ๒๐
กิโลเมตร ยาวประมาณ ๔๐ กิโลเมตร อยู่ในระหว่างทิเขาแดนลาวในห้วงดอยผ้าห่มปก
ดอยอุ่นและดอยเชียงดาวทางด้านตะวันตก กับดอยช้างและทิวเขาขุนตาล ทางด้านตะวันออก
พื้นที่ลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนกลางมีลักษณะเป็นแอ่งมีลำน้ำฝางไหลผ่าน
จากทิศใต้ไปทางทิศเหนือผ่านอำเภอฝางไปบรรจบลำน้ำกก ที่ราบลุ่มลำน้ำปิง
เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ
มีบริเวณอยู่ในเขตสองจังหวัดคือ เชียงใหม่ และลำพูน มีความยาวประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร
กว้างประมาณ ๓๐ - ๕๐ กิโลเมตร อยู่ระหว่างดอยเชียงดาวและทิวเขาถนนธงชัยในห้วงดอยอินทนน
และดอยปางเกี๊ยะทางด้านตะวันตก กับทิวเขาขุนตาลในห้วงดอยผาจ้อ ดอยสะเก็ด ดอยขุนตาล
และดอยฟันม้า ทางด้านตะวันออก ตอนกลางของที่ราบเป็นแอ่งของลำน้ำ พื้นที่สูงประมาณ
๓๐๐ เมตร และลาดเทลงไปทางด้านทิศใต้ ที่ราบลุ่มลำน้ำแม่งัด
เป็นที่ราบผืนเล็ก ๆ กว้างประมาณ ๑๐ - ๑๕ กิโลเมตร
ยาวประมาณ ๖๐ กิโลเมตร อยู่ระหว่างเขาจอมฮอดทางด้านตะวันตก กับทิวเขาขุนตาล
ทางด้านตะวันออกทางตอนเหนือ บริเวณที่อำเภอพร้าว ตอนกลางเป็นร่องน้ำแม่งัด
ที่ราบสูงลำปาง
เป็นที่ราบสูงมีระดับความสูง ประมาณ ๓๐๐ เมตร เป็นที่ราบผืนเล็ก ๆ อยู่ระหว่างทิวเขาขุนตาลทางด้านตะวันตก
ทิวเขาผีปันน้ำทางด้านเหนือ และทิวเขาพลึงทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณตอนกลางมีภูเขาลูกโดด
ๆ
กระจายอยู่ทั่วไป มีความกว้างประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๖๐ กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอห้างฉัตร
อำเภอเกาะคา อำเภอแม่ทะ และอำเภอเมืองลำปาง ตอนกลางของพื้นที่เป็นร่องของลำน้ำวังซึ่งไหลจากด้านเหนือลงใต้
ที่ราบสูงเชียงราย เป็นที่ราบสูงมีระดับความสูง
ประมาณ ๓๘๐ เมตร มีทิวเขาล้อมรอบเกือบทุกด้าน ทางด้านเหนือเป็นทิวเขาแดนลาว
ในห้วงดอยตุง และดอยจางมุม ทางด้านตะวันตกมีดอยสามเส้า และดอยช้าง ในทิวเขาแดนลาว
ทางด้านใต้และด้านตะวันออกเป็นแนวทิวเขาผีปันน้ำ ในห้วงดอยขุนยวม ภูผึ้งกาด
ภูผาแล และภูแก่งผาก ที่ราบสูงเชียงรายแบ่งออกได้เป็น ๓ แถบคือ
ที่ราบสูงแม่จัน เป็นที่ราบตอนเหนือสุดของประเทศอยู่ในเขต อำเภอแม่สาย
และอำเภอแม่จัน มีความกว้าง ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๓๕ กิโลเมตร
มีทิวเขาอยู่ทางด้านตะวันตกคือ ดอยจางมุม และดอยสามเส้า ทางด้านทิศใต้มีแนวดอยบ่อ
ดอยนางแล กั้นแยกออกจากอำเภอเมืองเชียงราย พื้นที่ทางด้านตะวันออก ลาดลงสู่ลำน้ำน่าน
ลำน้ำสบรวก ลำน้ำแม่กก และลำน้ำโขง ที่ราบอำเภอเมืองเชียงราย เป็นที่ราบผืนเล็ก
ๆ กว้างประมาณ ๒๐ - ๓๐ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๔๕ กิโลเมตร อยู่ระหว่างดอยช้างทางด้านตะวันตก
ดอยบ่อและดอยนางแลทางด้านเหนือ กับแนวดอยปุยทางด้านตะวันออก ซึ่งกันที่ราบพะเยาออกไว้ทางใต้
ที่ราบพะเยา
อยู่ระหว่างแนวทิวเขาผีปันน้ำ ซึ่งล้อมอยู่ทั้ง ๓ ด้าน คือทางด้านตะวันตก
ด้านตะวันออก และด้านใต้ มีช่องทางผ่านจากลำปาง เข้ามาได้เฉพาะทางช่องประตูผาแห่งเดียวเท่านั้น
ส่วนทางด้านเหนือมีแนวดอยปุย และดอยอีด้วน ที่ราบพะเยามีความกว้าง ประมาณ
๑๕ - ๕๐ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๗๐ กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอพาน และอำเภอพะเยา
นอกจากนี้ยังมีที่ราบแคบ ๆ ในลุ่มน้ำแม่ลาว อยู่ในเขตอำเภอแม่สรวย และอำเภอเวียงป่าเป้า
จัวหวัดพะเยา มีความกว้าง ประมาณ ๕ - ๑๐ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร
อยู่ในหุบเขาผีปันน้ำซึ่งล้อมอยู่ทั้งด้านทิศตะวันตก ทิศตะวันออก และทิศใต้
ที่ราบสูงแพร่
เป็นที่ราบสูงลุ่มลำน้ำยม แบ่งออกได้เป็นสองแถบคือ ที่ราบสูงอำเภอเมืองแพร่
อยู่ในเขตอำเภอสูงเม่น อำเภอเมืองแพร่ และอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่
มีความกว้าง ประมาณ ๒๐ - ๒๕ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๔๐ กิโลเมตร อยู่ระหว่างทิวเขาผีปันน้ำทางด้านเหนือ
ดอยพงทางด้านตะวันตก และทิวเขาพลึง อยู่ทางด้านตะวันออกและด้านใต้ ที่ราบอำเภอลอง
เป็นที่ราบผืนเล็ก ๆ กว้างประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๓๐ กิโลเมตร
อยู่ระหว่างเขาผาคอทางด้านตะวันตก ทิวเขาผีปันน้ำทางด้านเหนือ ดอยพงทางด้านตะวันออก
และทิวเขาพลึงทางด้านใต้
ที่ราบสูงน่าน เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน
กว้างประมาณ ๕๐ กิโลเมตร ยาวประมาณ ๘๐ กิโลเมตร อยู่ในเขตอำเภอสา อำเภอเมืองน่าน
และอำเภอปัว จังหวัดน่าน อยู่ระหว่างดอยขุนยวมทางด้านตะวันออก และทิวเขาพลึงทางด้านใต้
นอกจากนี้ยังมีทึ่ราบแคบ ๆ อยู่ตามริมลำน้ำ
ป่าไม้และพืชพันธุ์
ภาคเหนือเป็นภาคที่มีป่าดงอยู่ทั่วไป ตั้งแต่ในพื้นที่ระดับสูง อันเป็นพื้นที่ภูเขา
ที่ราบบนภูเขา ลงมาจนถึงพื้นที่ราบลุ่มน้ำต่าง ๆ เป็นป่าซึ่งมีไม้มีค่ามากที่สุดในประเทศ
พื้นที่ทำไร่ทำนามีอยู่เพียงเล็กน้อย ป่าในภาคเหนือมีอยู่หลายประเภทด้วยกันดังนี้
ป่าดิบ ได้แก่
ป่าดิบเขา มีอยู่ในแถบพื้นที่ภูเขาสูง ตั้งแต่ ๑,๐๐๐ เมตรขึ้นไป ส่วนมากจึงมีอยู่ตามแนวทิวเขาทั้ง
๖ ทิวดังที่กล่าวมาแล้ว พันธุ์ไม้หลักได้แก่ กำยาน จำปาป่า จำปี ฯลฯ
นอกจากนี้จะมีไม้ประเภทไม้พุ่มเตี้ย ๆ ปะปนอยู่ทั่วไป ป่าไม้สน
มีอยู่ในแถบพื้นที่ภูเขา ซึ่งมีระดับความสูงระหว่าง ๗๐๐ - ๑,๐๐๐ เมตร
ขึ้นปะปนอยู่กับพวกไม้ผลัดใบต่าง ๆ ป่าดงดิบ เป็นป่าซึ่งมีอยู่โดยทั่วไปทั้งในที่ราบและในที่สูงไม่เกิน
๑,๐๐๐ เมตร พันธุ์ไม้สำคัญของป่าดงดิบได้แก่ไม้จำพวกยาง ทั้งยาวขาว
และยางแดง ตะเคียน กะบาก ไม้แดง ยมหอม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีไม้จำพวกพันธุ์เล็ก
ๆ ช่วยสร้างความรกทึบให้ป่า
ป่าไม้ผลัดใบ ที่มีอยู่ในภาคเหนือ ได้แก่
ป่าไม้เบญจพรรณปนสัก พันธุ์ไม้สำคัญ ได้แก่ ไม้จำพวกประดู่ ไม้แดง
ไม้ตะแบก ไม้มะค่า (มากค่า) และไม้จำพวกพุ่ม ป่าแดง มีมากในแถบซึ่งเป็นหินแดง
ดินปนทราย พันธุ์ไม้สำคัญได้แก่ ไม้จำพวกพลวง เหียง เต็ง รัง โมก ฯลฯ
เขตแดน
ช่องทาง และท่าข้าม
ภาคเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับ ต่างประเทศถึงสามด้าน คือด้านตะวันตก ด้านเหนือ
และด้านตะวันออก คงติดต่อภายในประเทศเพียงด้านเดียวเท่านั้นคือด้านใต้
พรมแดนที่ติดต่อกับต่างประเทศมีสองลักษณะคือ เป็นเทือกเขา และลำน้ำ
ทิวเขาที่ใช้เป็นพรมแดนได้แก่ ทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาแดนลาว (แดนเมือง)
กันพม่าไว้ทางด้านตะวันตก และกับรัฐฉานไว้ทางด้านเหนือ ทิวเขาหลวงพระบาง
(แดนลาวหลวง) กันลาวไว้ทางด้านตะวันออก ส่วนที่ใช้ลำน้ำเป็นเส้นเขตแดนมีอยู่ไม่มากนัก
ได้แก่ ลำน้ำเมย และลำน้ำสาละวิน กันเขตแดนไทยกับพม่า ลำน้ำโขงกันเขตแดนไทยกับลาว
ลักษณะของเส้นกั้นพรมแดนทั้งสองแบบดังกล่าว บังคับให้มีการคมนาคมติดต่อที่สะดวกเฉพาะตำบล
ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นแคบๆ ซึ่งได้แก่ช่องทางหรือช่องเขา และตามท่าข้ามต่าง
ๆ
ช่องทางออกไปรัฐฉานและรัฐกระเหรี่ยง
อยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ส่วนมากเป็นทางในช่องเขา หรือพื้นราบระหว่างภูเขามีช่องต่าง
ๆ คือ
ช่องทางห้วยลึก หรือฮ่องลึก
อยู่ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นทางบนพื้นราบ ช่องทางแม่น้ำกก อยู่ในเขตอำเภอฝาง
จังหวัดเชียงใหม่ เป็นช่องระหว่างดอยสามเส้ากับดอยผ้าห่มปก เป็นช่องออกไปยังเมืองสาดในรัฐฉาน
ช่องกิ่วรุ่งดอยลาง ในช่องในทิวเขาแดนลาวทางตะวันออก ช่องแม่มิงกิง อยู่ที่เมืองแม่สาว เมืองแม่อาย ผ่านเข้าไปสู่เมืองยอนในรัฐฉาน ช่องดอยอุ่น
อยู่ในเขตอำเภอฝาง เป็นช่องทางคนเดิน อยู่ทางด้านใต้ของดอยอุ่น เป็นช่องทางออกไปยังกิ่วผาวอก
ไปสู่เมืองหาง ช่องพงป่าแขม อยู่ในเขตอำเภอฝาง ทางทิศใต้ของดอยอุ่น
ใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกับดอยอุ่น ช่องหนองหมู่ฮ่อ
หรือกิ่วผาวอก อยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว เป็นทางคนเดินตัวช่องอยู่ห่างเขตแดนเข้ามาประมาณ
๓๐ กิโลเมตร ช่องเมืองแหง อยู่ในเขตอำเภอเชียงดาว อยู่ระหว่างดอยถ้วยกับดอยสามเวียง
ลักษณะเป็นทางคนเดินค่อนข้างชัน เป็นช่องทางไปยังเมืองฝางได้
ช่องทางในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
มีอยู่เป็นจำนวนมากแห่งด้วยกันที่สำคัญได้แก่ ช่องดอยผาเวียง อยู่ในเขตอำเภอปาย
เป็นช่องทางบนดอยผาเวียง เป็นช่องทางคนเดินจาก อำเภอปายไปปางมะผ้า และออกไปเมืองหางได้
ช่องบ้านนาป่าจาก อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ เป็นช่องทางคนเดินมีลักษณะลาดชัน
ช่องบ้านน้ำออกฮู เป็นทางคนเดินจากแม่ฮ่องสอน ผ่านบ้านแม่สวยไปยังบ้านผวัตกิต
ริมน้ำสาละวิน ช่องทางลำน้ำปาย เป็นเส้นทางคนเดินเลียบลำน้ำปาย
ช่องทางลำน้ำสะอิน เป็นเส้นทางคนเดิน อยู่ในเขตอำเภอขุนยวม
ช่องขุนแม่เงา เป็นเส้นทางคนเดิน อยู่ในเขตอำเภอขุนยวม ผ่านบ้านแม่เงาเข้าสู่พม่า
ช่องดอยเสาหิน อยู่ในเขตอำเภอแม่สะเรียง เป็นทางคนเดิน เป็นช่องทางตอนต้นลำน้ำแม่ตอบ
(ไทย) กับลำน้ำแม่แส (พม่า) ช่องหมู อยู่ในเขตอำเภอแม่สะเรียง
เป็นทางคนเดินไปยังบ้านวาสนา (ไทย) ซึ่งอยู่ต้นน้ำแม่ปา (พม่า)
ช่องทางต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ ส่วนมากเป็นช่องทางข้ามทิวเขาแดนลาว และทิวเขาถนนธงชัย
ช่องทางออกไปประเทศลาว เป็นช่องทางในเขตจังหวัดเชียงราย
และจังหวัดน่านโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นช่องเขา ซึ่งข้ามทิวเขาหลวงพระบาง (ภูแดนลาวหลวง)
ซึ่งมีลักษณะเป็นเขาสันป้าน มีช่องทางที่สำคัญคือ ช่องห้วยแถบ อยู่ในเขตตำบลนาไร่หลวง
อำเภอทุ่งช้าง เป็นทางคนเดินค่อนข้างชันมีขนาดเล็ก ออกไปยังเมืองเชียงฮ่อน
เชียงลม แขวงเมืองไชยะบุรี ช่องห้วยทรายแดง อยู่ในเขตตำบลงอบ เป็นเส้นทางคนเดิน
จากตำบลแหลมงอบ - ลำน้ำน่าน - บ้านทรายแดง ออกไปเมืองเชียงฮ่อน (แขวงไชยะบุรี)
ช่องกิ่วศาลา (ช่องห้วยโกร๋น) อยู่ในเขตตำบลปอน อำเภอทุ่งช้าง เป็นทางคนเดิน
จากลำน้ำน่านขึ้นเขาสูงไปยังช่องกิ่วศาลา ออกไปเมืองเงิน เมืองหงสาในประเทศลาว
ช่องภูดาว อยู่ในเขตตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอปัว ในระหว่างภูสามเส้า
กับภูหลวงพระบาง เป็นช่องทางคนเดิน จากอำเภอปัว ตำบลบ่อเกลือเหนือผ่านช่องภูดาวไปยังตำบลเปียง
แขวงไชยะบุรีของลาว ช่องเขาหินกอง
อยู่ในเขตตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอปัว อยู่ระหว่างภูหลวงพระบางกับภูลอ เป็นทางคนเดิน
จากอำเภอปัวขึ้นเขาไปบ้านบ่อเกลือใต้ บ้านคอกวัว บ้านบ่อหลวง ปากช่องเขาหินกอง
ไปสู่อำเภอสมาบุรี (เดิม) ในแขวงไชยบุรีของลาว ช่องยอดห้วยตอง (ช่องโป่งอุ่น)
อยู่ในเขตตำบลหมอเมือง อำเภอเมืองน่าน อยู่ระหว่างภูปุยกับภูยี่ เป็นทางคนเดิน
คอนข้างชัน จากอำเภอเมืองน่าน บ้านฝายแก้ว บ้านม่องติ๊ด บ้านน้ำแก่น ห้วยน้ำเตี๊ยม
เลาะไปตามลำห้วย ๗ กิโลเมตร แล้วเป็นทางบนเขา ๑๐ กิโลเมตร แล้วแยกไปตำบลหนองแดง
ทางหนึ่งไปบ้านน้ำปาย ถึงบ้านโป่งอุ่นอีกทางหนึ่ง แล้วออกไปเมืองเปียง อำเภอสมาบุรี
แขวงไชยบุรี ประเทศลาว ช่องศาลาตีนตก
อยู่ในเขตตำบลมาน อำเภอเวียงสา อยู่ระหว่างภูยีกับภูหลักหมื่น เป็นทางคนเดิน
จากอำเภอเวียงสา ถึงปากช่องทางระยะ ๔๐ กิโลเมตร ออกไปยังบ้านทุ่ง แขวงปากลายของลาว
ช่องกิ่วนกแมว
อยู่ในเขตตำบลเชียงของ
อำเภอนาน้อย อยู่ระหว่างภูหลักกับภูรัง เป็นเส้นทางจากอำเภอนาน้อย ไปลำน้ำน่าน
ระยะทางประมาณ ๓๐ กิโลเมตร แล้วขึ้นเขาไปยังปากช่อง ระยะทางประมาณ ๒๐
กิโลเมตร แล้วออกไปเมืองทุ่ง แขวงปากลายของลาว
ท่าข้ามลำน้ำเมย เป็นท่าข้ามระหว่างเขตแดนไทยกับพม่า
ที่สำคัญมีอยู่ ๒ แห่งคือ ท่าข้ามท่าสองยาง ในฤดูแล้งลุยข้ามได้ หน้าน้ำต้องใช้เรือ
ท่าข้ามบ้านแม่ต่อ (แม่สอด) ลุยข้ามได้ในฤดูแล้ง
ท่าข้ามลำน้ำสาละวิน (ดง)
เป็นท่าข้ามระหว่างเขตแดนไทยกับพม่า ที่สำคัญมีอยู่ ๔ แห่งคือ ท่าข้ามผาแดง
อยู่ในเขตอำเภอแม่สะเรียง
ตรงหลักเขตแดนที่ ๑๕ ท่าข้ามดอยกองมู อยู่ในเขตอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
เป็นทางคนเดิน ท่าข้ามจ๊อกเนียด
อยู่ในเขตอำเภอแม่สะเรียง ทางฝั่งพม่ามีถนนไปยังผาปูน
แต่ทางฝั่งไทยเป็นลาดเขา ไม่มีเส้นทางคมนาคม
ท่าข้ามด่านท่าผาง
อยู่ในเขตอำเภอแม่สะเรียง ไปตามห้วยสองแควผ่านท่าผางไปยังผาปูนในฝั่งพม่า
ท่าข้ามลำน้ำแม่สาย อยู่ในเขตอำเภอแม่สาย
ข้ามไปสู่ตำบลท่าขี้เหล็กของพม่า ฤดูแล้งลุยข้ามได้ ปัจจุบันมีสพานคอนกรีตใช้ในการคมนาคมทางบกได้เป็นอย่างดี
ท่าข้ามลำน้ำโขง เนื่องจากในภาคเหนือมีลำน้ำโขงกั้นพรมแดน
ระหว่างไทยกับลาว จึงมีท่าข้ามที่ใช้เป็นประจำอยู่ไม่มากแห่งที่สำคัญมีอยู่เพียง
๒ แห่งคือ ท่าข้ามอำเภอเชียงแสน เป็นช่วงที่ลำน้ำโขงมีความกว้างไม่มากนัก
ประมาณ ๕๐๐ เมตร ในฤดูแล้งลุยข้ามได้ ท่าข้ามอำเภอเชียงของ เป็นช่วงที่ลำน้ำโขงแคบเพราะอยูใกล้ภูเขา
ท่าข้ามทางฝั่งลาวมีความลาดมากกว่าฝั่งไทย
ลำน้ำที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคม
ภาคเหนือมีลำน้ำหลายสายกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ แต่เนื่องจากเป็นลำน้ำที่ต้นน้ำ อยู่บนเทือกเขาสูง ไหลมาตามซอกเขาและหุบเขาแคบ ๆ ท้องน้ำจึงเต็มไปด้วยเกาะแก่ง กระแสน้ำไหลแรงในฤดูฝน และแห้งขอดเป็นช่วง ๆ ในฤดูแล้ง ทำให้ไม่อาจจะใช้ประโยชน์เป็นทางคมนาคม ทางน้ำได้ตลอด จะทำได้เฉพาะตำบลและเป็นช่วงสั้น ๆ การคมนาคมทางน้ำเท่าที่ทำได้มีดังนี้ ลำน้ำกก ไหลลงลำน้ำโขง ในฤดูน้ำ น้ำจะท่วมฝั่งและไหลเชี่ยวมาก สามารถเดินเรือจากเชียงรายไปออกลำน้ำโขงได้ ในฤดูแล้งน้ำเป็นตอน ๆ ใช้เดินเรือไม่ได้ ลำน้ำสาละวิน ใช้เดินเรือได้เป็นช่วง ๆ ลำน้ำปิง ไหลลงสู่ลำน้ำเจ้าพระยา โดยทั่วไปมีเรือเฉพาะถิ่นเรียกว่าแม่ปา ซึ่งขุดจากท่อนซุงใช้เดินทางในฤดูน้ำ ส่วนในฤดูแล้งใช้ได้เป็นช่วง ๆ ตามประวัติศาสตร์ พม่าเคยใช้ลำน้ำปิงขนส่งเสบียงอาหารและยุทธสัมภาระทางลำน้ำปิง ลงมาทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ในฤดูฝนมีน้ำมากและไหลเชี่ยว ระหว่าง ระแหง จังหวัดตาก ถึงปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ น้ำลึกประมาณ ๕ - ๑๕ เมตร เรือยนต์เดินได้ตลอด ก่อนสร้างเขื่อนภูมิพลเรือโยงใช้เวลาเดินทาง ประมาณ ๔ - ๕ วัน จากระแหง ถึงเชียงใหม่ ในฤดูน้ำน้ำจะเชี่ยว เรือยนต์เล็ก ๆ พอจะแล่นไปได้ การข้ามแก่งต่าง ๆ ต้องใช้ถ่อยันฝั่งช่วยด้วย ระหว่างปากน้ำโพ กำแพงเพชร และตาก มีเรือเดินทางขึ้นล่องได้สดวก ลำน้ำวัง ใช้เดินเรือระหว่างจังหวัดลำปาง กับปากน้ำโพได้ แต่เนื่องจากมีเกาะแก่งมาก จึงไม่ใคร่นิยมใช้กัน คงใช้ได้เฉพาะเรือขนาดเล็ก และใช้ในฤดูฝนเท่านั้น ลำน้ำยม ในฤดูแล้งเดินเรือได้สะดวกจนถึง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ในฤดูน้ำเรือขนาด ๕ - ๑๐ ตัน ในฤดูน้ำเดินได้ถึง จังหวัดแพร่ เรือโยงจากปากน้ำโพถึงสุโขทัย ใช้เวลา ๕ วัน ในฤดูแล้งเรือขนาดเล็กเดินได้ถึงอำเภอเมืองสุโขทัย ลำน้ำน่าน ในฤดูน้ำเรือกลไฟเดินได้ถึง จังหวัดอุตรดิตถ์ ถ้าเป็นเรือขนาด ๑๐ ตัน ก่อนสร้างเขื่อนสิริกิติ์ สามารถเดินทางไปได้ถึงจังหวัดน่าน ในฤดูแล้งเรือยนต์ขนาดเล็ก เดินได้ถึงจังหวัดพิษณุโลก ใช้เวลาเดินทาง ๔ วัน
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |