ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์และทหารรักษาพระองค์
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้กำเนิดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในยุคปัจจุบันขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2404 โดยเริ่มต้นจากโปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมบรรดาบุตรในราชตระกูลและบุตรข้าราชการที่ยังเยาวัย ที่เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในชั้นแรกมีจำนวน
12 คน มาทดลองฝึกเป็นทหารตามยุทธวิธีแบบใหม่อย่างชาวตะวันตก ให้ทำการฝึกแบบทหารหน้า และทำหน้าที่ไล่กาที่บินมารบกวนเวลาทรงบาตร
ตลอดจนตั้งแถวรับเสด็จ ณ ที่นั้นทุกเวลา คนทั่วไปจึงเรียกว่า มหาดเล็กไล่กา
ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกรมทหารมหาดเล็กในสมัยต่อมา
ในปลายปี พ.ศ. 2411 หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ผ่านพ้นไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมทหารมหาดเล็กข้าหลวงเดิม จำนวน 24 คน ตั้งขึ้นเป็นหน่วยทหารอีกหน่วยหนึ่ง เรียกกันว่า ทหารสองโหล
มีหน้าที่เฝ้าพระฉากตามเดิมแต่ในตอนเช้าและตอนเย็น ต้องมารับการฝึกทหาร
ต่อมาได้โปรดเกล้า ฯ ให้คัดเลือกบรรดาบุตรในพระราชตระกูล และบุตรข้าราชการที่เป็นทหารมหาดเล็ก เพื่อจัดตั้งเป็นกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ขึ้น ในปี พ.ศ. 2413 ทำหน้าที่รักษาพระองค์อย่างใกล้ชิด
ในชั้นแรกได้คัดเลือกไว้ 48 คน หรือ 4 โหล เมื่อรวมกับทหารมหาดเล็กเดิมที่มีอยู่ 2 โหล จึงรวมเป็น 6 โหล หรือ 72 คน ทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้เดิม และเมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองหรือต่างประเทศก็ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดแบ่งทหารมหาดเล็กเหล่านี้ตามเสด็จ
เมื่อการปฏิบัติหน้าที่กว้างขวางขึ้น จำนวนทหารที่มีอยู่เดิมจึงมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้คัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นทหารเพิ่มขึ้น
ทำให้มีจำนวนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เพิ่มขึ้นทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และที่เป็นเด็ก เพราะทุกคนต่างก็เห็นและรู้สึกเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลในการที่บุตรหลานของตนได้เข้ารับราชการใกล้ชิดพระมหากษัตริย์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้า ฯ
ให้ตั้งหน่วยทหารดังกล่าวขึ้นเป็น กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และพระองค์เองทรงดำรงพระยศเป็นนายพันเอก
ตำแหน่งผู้บังคับการกรม สมัยนั้นเรียกชื่อยศเป็นภาษาอังกฤษว่า "คอลอเนล"
(Colonel) ต่อมาให้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดระเบียบในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จนมั่นคงดีขึ้น และได้ทรงขนานนามหน่วยนี้เสียใหม่ว่า
กรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์
หน่วยทหารรักษาพระองค์ได้มีวิวัฒนาการต่อมาตามลำดับ
จากต้นกำเนิดดังกล่าวมาแล้ว ต่อมาได้มีหน่วยทหารรักษาพระองค์ที่เป็นหน่วยรบจากทหารราบ ทหารม้า
ทหารปืนใหญ่ และทหารช่าง ส่วนใหญ่จะเป็นระดับกองพัน และหน่วยบังคับบัญชาของหน่วยนั้นในระดับกรมที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
อยู่ใกล้ชิดองค์พระมหากษัตริย์สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง หน่วยทหารดังกล่าวได้แก่
กองพันทหารราบ ของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
กองพันทหารราบ ของกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
กองพันทหารม้า ของกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์
กองพันทหารปืนใหญ่ ของกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์
กองพันทหารช่าง ของกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์
ต่อมาได้มีการขยายหน่วยทหารรักษาพระองค์เพิ่มขึ้นทั้งในหน่วยกำลังรบ
และหน่วยสนับสนุนการรบหน่วยอื่น ๆ ทั้งในระดับกองพัน กรม และกองพล มากขึ้นตามลำดับ
ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
เครื่องแบบเต็มยศรักษาพระองค์
กรมนักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
- เครื่องแต่งกาย - หมวกยอดมีพู่สีดำ ตราราชวัลลภ
- - เสื้อสักหลาดสีแดง แผงคอและข้อมือกำมะหยี่สีน้ำเงินดำ
- ที่ข้อมือปักพระปรมาภิไธยย่อ ภปร ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎดิ้นทอง
- - กางเกงสักหลาดสีดำ แถบแดงข้างละ 2 แถบ
- เครื่องหมาย มีพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ทำด้วยโลหะสีทอง ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา
กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (กองพันที่
1, 2 และ 4)
เครื่องแต่งกาย - หมวกยอดมีพู่สีดำ ตราราชวัลลภ
- - เสื้อสักหลาดสีแดง แผงคอและข้อมือกำมะหยี่สีดำ
- ที่ข้อมือปักรูปอักษร สพปจม. ดิ้นทองและดิ้นเงินไขว้กัน
- - กางเกงสักหลาดสีดำ แถบสีแดงข้างละ 1 แถบ
เครื่องหมาย มีพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ทำด้วยโลหะสีทอง ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา
กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
เครื่องแต่งกาย - หมวกยอดมีพู่สีบานเย็น ตราครุฑพ่าห์
- - เสื้อคอปิดสีขาว แผงคอและข้อมือสักหลาดสีบานเย็น
- ปลอกข้อมือปักเป็นรูปอักษร ว. ภายใต้พระมหามงกุฎสีทอง
- - กางเกงสักหลาดสีดำ แถบสีบานเย็น ข้างละ 1 แถบ
เครื่องหมาย มีอักษร ว. ภายในพระมหามงกุฎทำด้วยโลหะสีทอง ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |