| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

การปฏิบัติของทหารบกผลัดที่ ๒


การเตรียมรุกใหญ่เพื่อเข้าตี และยึดที่มั่นขั้นต่อไป
            ในปลายเดือนกันยายน ๒๔๙๔ แม่ทัพน้อยที่ ๑ สหรัฐฯ ได้กำหนดแผนยุทธการ เพื่อเข้าตีทำลายข้าศึก และยึดแนวภูมิประเทศสำคัญ หน้าแนวไวโอมิง ออกไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตร แล้วจัดที่มั่นหลักใหม่ให้ชื่อว่า แนวเจมส์ทาวน์ ซึ่งเมื่อยึดได้แล้วจะอำนวยประโยชน์ทั้งในทางยุทธวิธีและการเจรจาหยุดยิง
            ในวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๔๙๔ กองทัพน้อยที่ ๑ สหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่เข้าตี และยึดแนวภูมิประเทศสำคัญในพื้นที่รับผิดชอบ  ๓ ตุลาคม ๒๔๙๔ กองพลทหารม้าที่ ๑ สหรัฐฯ เริ่มเข้าตีโดยใช้กำลัง ๒ กรม เป็นกองรบเดียวกันอีก ๑ กรมเป็นกองหนุน กองพันทหารไทยขึ้นสมทบอยู่ในกองหนุน เตรียมเคลื่อนที่เข้าตีต่อไปทางทิศเหนือ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่เข้ารวมพลในเขตตำบลยัลดอง  ต่อมาเมื่อ ๘ ตุลาคม กรมทหารม้าที่ ๘ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นกองหนุน ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่เข้าประจำแนว แทนกรมทหารม้าที่ ๗ สหรัฐฯ ในแนวหน้า กองพันทหารไทยยึดพื้นที่อยู่บนสันเขาสูง ตามสันเขายอด ๓๓๔ ถึงยอด ๔๑๘  ต่อมา เมื่อ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔ กองพันทหารไทยปรับแนวรับผิดชอบกว้างด้านหน้าในการตั้งรับ ๓,๕๐๐ เมตร หน่วยลาดตระเวณของกองพันทหารไทย ได้ปะทะกับข้าศึก จำนวนหนึ่งบนแนวสันเขาที่เรียกว่า เขาทีโบน (T - Bone)  ๑๔ ตุลาคม ๒๔๙๔ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้ขึ้นสมทบ กรมทหารม้าที่ ๗ สหรัฐฯ ๒๐ ตุลาคม กองพันทหารไทยปรับแนวใหม่โดยเข้ายึดที่มั่นตามสันเขาตั้งแต่ ยอด ๔๑๘ ไปทางขวา และได้รับคำสั่งให้กลับไปขึ้นกับกรมทหารม้าที่ ๘ สหรัฐฯ ตามเดิม
            ปลายเดือนตุลาคม ๒๔๙๔ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้วางแผน และเตรียมการเข้าตีจากแนวที่ยึดอยู่ เพื่อเข้ายึดเขาทีโบน โดยใช้กำลังกองพันทหารไทยเพียงกองพันเดียว สมทบกำลังด้วยรถถังและเครื่องยิงหนัก พร้อมด้วยการยิงสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพล และเครื่องบินโจมตี แต่ในที่สุดทางกองพลทหารม้าที่ ๑ สหรัฐฯ ได้ยกเลิกแผนนี้ เพราะกำลังยิงสนับสนุนมีไม่เพียงพอ
การปฏิบัติการของหมวดคอยเหตุ
            กองพันทหารไทยได้ใช้กำลัง ๑ หมวดปืนเล็กไปทำหน้าที่หมวดคอยเหตุ อยู่หน้าแนวตลอดเวลาโดยไปตั้งอยู่ที่เนิน ๒๐๐ ห่างออกไปจากแนวต้านทานหลักของฝ่ายเราประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร และห่างจากแนวที่มั่นข้าศึกประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ที่เนิน ๒๐๐ นี้ ดัดแปลงพื้นที่สำหรับตั้งรับวงรอบ มีการวางเครื่องกีดขวางลวดหนาม ประกอบการวางทุ่นระเบิด และพลุสดุด หลายชั้น วางสายโทรศัพท์ติดต่อกับที่บังคับการกองพัน และยังคงใช้วิทยุเป็นเครื่องมือสื่อสารหลักตลอดเวลา ฝ่ายข้าศึกได้ส่งกำลังเข้ารบกวนหลายครั้งในเวลากลางคืน
            เมื่อ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ข้าศึกได้เริ่มระดมยิงอย่างรุนแรงตั้งแต่ เวลา ๑๙.๐๐ น.เศษ ด้วยเครื่องยิงหนัก และปืนใหญ่มายังที่มั่นของหมวดคอยเหตุ ข้าศึกประมาณ ๒ กองร้อย พร้อมด้วยรถถังประมาณ ๑๐ คัน ได้เคลื่อนที่เข้ามาตรงหน้า และพื้นที่ราบสองข้างของเนิน ๒๐๐ และระดมยิงที่มั่นใหญ่ของกองพันทหารไทยหนาแน่น การติดต่อทางสาย และวิทยุถูกตัดขาด จนใกล้รุ่งสว่างจึงทราบจากผู้ที่เล็ดลอดกลับมาได้ว่าหมวดคอยเหตุบนเนิน ๒๐๐ ละลายแล้วทั้งหมวด เนื่องจากข้าศึกเข้าล้อมและบุกเข้าประชิดถึงตัว มีการสู้รบกันถึงขั้นตะลุมบอน ข้าศึกมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า การยิงฉากป้องกันจากที่มั่นใหญ่ช้าเกินไปไม่ทันการ ทหารประมาณครึ่งหมวดเสียชีวิต ส่วนที่เหลือได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ฝ่ายข้าศึกก็สูญเสียเป็นจำนวนมากเช่นกัน นับเป็นการสูญเสียในการรบครั้งแรกของกองพันทหารไทย  ต่อมาอีก ๗ วัน กองพันทหารสหรัฐฯ ก็ถูกโจมตีในทำนองเดียวกัน ทำให้กองพลทหารม้าที่ ๑ สหรัฐฯ สั่งเปลี่ยนที่ตั้งหมวดคอยเหตุใหม่ ให้ใกล้เข้ามาอยู่ในระยะไม่เกิน ๑.๕ กิโลเมตร จากแนวต้านทานหลัก
การกลับไปเป็นกองหนุน

            กองพันทหารไทยเริ่มเคลื่อนที่ออกจากที่รวมพลหมู่บ้านชอนกอง เมื่อ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๙๔ ด้วยขบวนยานยนต์เดินทางเลียบชายฝั่งทิศเหนือของลำน้ำฮัน ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สู่เมืองกุมหว่าเข้าที่รวมพลในที่ตั้งใหม่ที่หมู่บ้านวาสุ ในพื้นที่กองหนุนของกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ และเมื่อ ๒๗ ธันวาคม ๒๔๙๔ หน่วยกำลังทดแทนของไทยจำนวน ๒๐๐ คน ก็ได้เดินทางจากตำบลทองเนเมืองบูซานมาเข้าที่ตั้งของกองพันทหารไทย
การขึ้นประจำแนวต้านทานหลักเจมส์ทาวน์
            ๒๕ มกราคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่ง ให้เตรียมการขึ้นไปสับเปลี่ยนกับกองพันทหารฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหน่วยในบังคับบัญชาของกรมทหารราบที่ ๒๓ กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ในแนวต้านทานหลักเจมส์ทาวน์ ทางเหนือเมืองกุมหว่า การสับเปลี่ยนกระทำในเวลากลางคืนเริ่มตอนค่ำของ ๒๙ มกราคม ๒๔๙๕ ใช้เวลา ๒ คืนจึงแล้วเสร็จ ระหว่างนี้หิมะตกหนักมาก ข้าศึกส่วนใหญ่ปฏิบัติการอยู่บนเทือกเขานสูงจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบ กองพันทหารไทยตั้งรับอยู่ในพื้นที่ราบ ต้องขุดคูติดต่อไปยังแนวคอยเหตุของแต่ละกองร้อย
            กองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ ได้มีคำสั่งสให้ทุกหน่วยในแนวหน้า ปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาตามแผนที่เรียกว่า Operation Calm - up ระหว่าง ๑๐ - ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕ โดยให้กำลังทหารทุกหน่วยอยู่ในความสงบ ไม่ให้ปฏิบัติการหรือเคลื่อนไหวทางยุทธวิธีใด ๆ งดการส่งหน่วยออกลาดตระเวณ และไม่ยิงปืนใหญ่ รวมทั้งไม่มีการสนับสนุนทางอากาศตลอดระยะ ๒๐,๐๐๐ หลาจากหน้าแนว เพื่อลวงให้ข้าศึกเข้าใจว่าฝ่ายเราได้ถอนตัวออกไปหมดแล้ว มีการเตรียมเสบียงสำเร็จรูปให้เพียงพอใช้ถึง ๗ วัน กระสุน ๕ อัตรายิง และห้ามยิงเด็ดขาดตลอดแนวจนกว่าข้าศึกจะบุกเข้าตีฝ่ายเราก่อน ห้ามการติดต่อทางวิทยุ ให้ติดต่อทางโทรศัพท์เท่านั้น ปฏิบัติการเช่นนี้อยู่ ๖ วัน จึงกลับสู่การปฏิบัติตามปกติ
            กองพันทหารไทยได้กลับไปเป็นกองหนุนของกรม โดยลงไปพักที่บ้านชอนกอง ตั้งแต่ ๒๐ กุมภาพันธ์ - ๑ มีนาคม ๒๔๙๕ จากนั้นได้กลับขึ้นไปประจำแนวเจมส์ทาวน์บริเวณเมืองกุมหว่า
            กองพันทหารไทยกลับไปเป็นกองหนุน ตั้งแต่ ๑๓ - ๒๖ เมษายน ๒๔๙๕ ในที่ตั้งเดิม

การปฏิบัติของทหารบกผลัดที่ ๓

การปฏิบัติหน้าที่เป็นกองหนุนของกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ
            การสงครามดำเนินมาถึงปีที่ ๓ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติ แม้ว่าจะมีการเจรจาความตกลงสงบศึก ตั้งแต่ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๔ แล้วก็ตาม ทั้งสองฝ่ายยังคงยึดภูมิประเทศ เผชิญหน้ากันอยู่ในแนวมิสซูรี (Missouri Line)
            กองพลที่ ๒ สหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้เข้าประจำแนว กรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้ขึ้นไปผลัดเปลี่ยนกรมทหารราบที่ ๒๗๙ สหรัฐฯ บนแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาทีโบนกับเขาอัลลิเกอร์จอส์ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่ง จากกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ให้เคลื่อนย้ายติดตามไป กำหนดการเคลื่อนย้ายใน ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๙๕
            ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๑ กรกฎาคม ๒๔๙๕ กำลังพลของผลัดที่ ๓ ส่วนที่ ๒ และส่วนที่ ๓ ได้เดินทางไปผลัดเปลี่ยนกับผลัดที่ ๒
            กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งเตรียมจากกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ให้ผลัดเปลี่ยนกองพันที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ประมาณต้นเดือน สิงหาคม ๒๔๙๕
การปฏิบัติการรบ ณ ที่มั่นตั้งรับแนวเจมส์ทาวน์ด้านเขาทีโบน
            กองพันทหารไทยได้เข้าประจำแนวเจมส์ทาวน์ เมื่อ ๒ สิงหาคม ๒๔๙๕ ช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน เป็นช่วงฤดูร้อนของเกาหลี อากาศอบอุ่นฝนตกชุก ลักษณะภูมิประเทศหน้าแนวที่ตั้งรับของกองพันทหารไทยเป็นที่ราบลุ่มและโล่ง มีเขาทีโบนที่ฝ่ายข้าศึกยึดอยู่เป็นตำบลสำคัญ กำลังฝ่ายข้าศึกที่เผชิญหน้ากับกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ และกองพันทหารไทยมีอยู่ ๒ กรมทหารราบ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ได้กำชับให้กองพันในแนวหน้า ทำการลาดตระเวณทุกวัน และให้มีการปฏิบัติการเชิงรุก โดยส่งหน่วยลาดตระเวณรบเข้าตีโฉบฉวยต่อที่มั่นตั้งรับของข้าศึก ทั้งนี้ให้กองพันทหารไทยเริ่มปฏิบัติก่อนต่อที่หมายเขาทีโบน เมื่อ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๙๕ ในขั้นต้นได้ทำการตรวจภูมิประเทศด้วยเครื่องบินเบา แอล - ๑๙ บริเวณหัวเขาทีโบน ขั้นต่อมามีการซ้อมปฏิบัติการเวลากลางคืน แต่ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแผนให้กองพันที่ ๑ สหรัฐฯ เข้าปฏิบัติการแทน
ผู้บังคับกองพันทหารไทย กับคณะได้รับเชิญไปร่วมพิจารณาปัญหาการเจรจาสงบศึกที่ปันมุมจอม

            เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๕ ผู้บังคับกองพันทหารไทย (พันตรี เกรียงศักดิ์  ชมะนันท์) และคณะได้เดินทางไปยังหมู่บ้านมุนซานตามคำเชิญของ พลตรี แฮริสัน หัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาความตกลงสงบศึก ฝ่ายสหประชาชาติ ที่ต้องการให้บรรดาผู้บังคับหน่วยทหารพันธมิตร ในสนามที่ร่วมรบในประเทศเกาหลีได้ทราบเรื่องราวที่ฝ่ายสหประชาชาติกับ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ กำลังเจรจากันอยู่ และขอทราบความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งอาจจะช่วยคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเผชิญอยู่ให้ลุล่วงไปได้อย่างสมศักดิ์ศรีของฝ่ายกองบัญชาการสหประชาชาติด้วย
การเจรจาความตกลงสงบศึก มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องดังนี้
            ๑.  คณะผู้แทนเจรจาความตกลงสงบศึก ฝ่ายสหประชาชาติขึ้นอยู่กับกองบัญชาการสหประชาชาติ กรุงโตเกียว มีสำนักงานอยู่ที่หมู่บ้านมุนซาน รวมทั้งเป็นที่พักของคณะผู้แทน และเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ ด้วย
            ๒.  เรื่องที่กำลังเจรจาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเชลยศึก ซึ่งยังไม่เป็นที่ตกลงกัน เนื่องจากฝ่ายสหประชาชาติเสนอว่า การแลกเปลี่ยนเชลยศึกต้องให้เป็นความสมัครใจของเชลยศึกเอง แต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เสนอว่า การแลกเปลี่ยนเชลยศึกต้องให้เชลยศึกกลับประเทศของตนทุกคน
การจับเชลยศึก และพิธีประดับเหรียญบรอนซสตาร์

            เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๔๙๕ กองร้อยที่ ๒ ได้ตรวจการณ์เห็นข้าศึก จำนวนหนึ่งเคลื่อนที่เข้ามา จึงได้ออกปฏิบัติการและจับข้าศึกส่วนนี้ได้ ๑ คน นับว่ากองพันทหารไทยเป็นหน่วยแรกของกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ที่จับเชลยศึกได้ตามนโยบายของหน่วยเหนือ  ต่อมาใน วันที่ ๑๑ กัยยายน ๒๔๙๕ กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้จัดพิธีประดับเหรียญบรอนซ์สตาร์ ให้แก่ สิบตรี ศรีบุตร  หน่องาม กับพลทหาร บุญธรรม  บุญเรือง ซึ่งเป็นผู้จับเชลยศึกได้ ณ บริเวณที่บังคับการกองพันหลังแนวที่มั่น โดยมีผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ เป็นประธานในพิธี ต่อหน้าทหารเกียรติยศผสม ไทย - สหรัฐฯ
การปฏิบัติหน้าที่ในกองหนุนของกองพลที่ค่ายเคซี (Camp Cacy)
            เมื่อ ๒๑ กันยายน ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้รับการผลัดเปลี่ยนจากกองพันที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๒๓ สหรัฐฯ ที่ค่ายเคซี อยู่เหนือเมือง อุยจองบู ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ค่ายเคซีเป็นที่พักสนามสำหรับหน่วยทหารที่เคลื่อนย้ายตามแผนของหน่วยเหนือ หมุนเวียนเข้าไปพักเป็นประจำ
            ในปลายเดือนกันยายน ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งจากกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ให้เคลื่อนย้ายไปเข้าที่รวมพลหลังแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาโอลด์บอลดี เพื่อเพิ่มเติมกำลังแนวรบด้านนี้ แต่ต่อมาได้ถูกระงับภารกิจหลังจากที่เดินทางไปถึง ได้ ๑ คืน
การปฏิบัติระหว่างเป็นกองหนุนของกองพลที่เมืองยอนชอน

            ในต้นเดือนตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้เคลื่อนย้ายกำลังจากค่ายเคซี ติดตามกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ไปตั้งอยู่ที่บริเวณพื้นที่ข้างหลังแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาโอลด์บอลดี ไม่มีการปฏิบัติการทางยุทธวิธี คงมีแต่การลาดตระเวณตรวจภูมิประเทศเป็นครั้งคราว ต่อมาได้กลับไปเป็นกองหนุนของกองพล กองพันทหารไทยจึงไปตั้งอยู่ที่เมืองยองชอน ส่วนกรมหทารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ตั้งต่อลงไปทางใต้ที่ตำบลทองดูซอน บริเวณค่ายเคซี
            วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งเตรียมให้เข้าประจำแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาพอร์คชอป ได้มีการไปตรวจภูมิประเทศก่อนขึ้นประจำแนว และในวันรุ่งขึ้น กองร้อยกำลังทดแทนของกองพัน ผลัดที่ ๓ ได้เดินทางมาถึง และกองร้อยกำลังทดแทนกองพันผลัดที่ ๒ เดินทางกลับปูซาน เพื่อเดินทางกลับประเทศไทยต่อไป
การปฏิบัติการรบบนที่มั่นตั้งรับ แนวเจมส์ทาวน์ด้านเขาพอร์คชอป
            วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้ผลัดเปลี่ยนกับกองพันทหารสหรัฐฯ บนแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเขาพอร์คชอป มีเขตปฏิบัติการสำคัญคือ เขาพอร์คชอป (เขา ๒๕๕) กับเขาสนุ๊ค  (เขา ๑๘๗) ที่บังคับการกองพันอยู่ที่หมู่บ้านอันเยิง ส่วนกองร้อยกำลังทดแทน และคลังเก็บของอยู่ที่เมืองยอนชอน
            กองพันทหารไทยได้รับมอบภารกิจ ให้ยึดรักษาเขาพอร์คชอปไว้ให้ได้ โดยได้รับการยิงสนับสนุนด้วยอาวุธหนักจากกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ได้รับสนับสนุนรถถัง ๑ หมวด เครื่องยิงหนัก ๔.๒ นิ้ว ๑ หมวด และปืนต่อสู้อากาศยาน ๑ หมวด พื้นที่ปฏิบัติการที่กองพันทหารไทยได้รับมอบ มีความกว้างด้านหน้า ประมาณ ๓ กิโลเมตร จึงได้วางกำลัง ๓ กองร้อยในแนวหน้า จัดกองร้อยรักษาด่านรบที่หน้าแนว ๒ แห่งคือ ที่เขาพอร์คชอป มีกำลัง ๑ หมวดปืนเล็กเพิ่มเติมกำลัง และหมู่ตรวจการณ์หน้าปืนใหญ่ ๑ หมู่ ส่วนที่เขาสนู๊คมีกำลัง ๒ หมู่ปืนเล็ก

            พื้นที่ที่กองพันทหารไทยได้รับมอบอยู่บริเวณหน้าเขาทีโบน ภูมิประเทศสำคัญหน้าแนวคือ เขาพอร์คชอปกับเขาสนู๊ค เบื้องหน้าเขาพอร์คชอปเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ที่ฝ่ายข้าศึกยึดอยู่ ๒ ลูกคือ เขาฮาร์คโกล และเขาโพลเค เขาพอร์คชอปตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองชอร์วอน ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์เมืองหนึ่งของเกาหลี ลักษณะเป็นสันเขาโดดเดี่ยว ล้อมรอบด้วยหุบเขาสลับซับซ้อน สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๕๕ เมตร เป็นชัยภูมิที่ทั้งสองฝ่ายต้องการยึดเอาไว้เพื่อความได้เปรียบทางยุทธวิธี เพราะเป็นจุดคุมเส้นทางหลักที่จะเจาะเข้าถึงเมืองชอร์วอนทางทิศตะวันออก เมืองยอนชอนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่บริเวณเขาพอร์คชอปนี้ได้มีการแย่งยึดเปลี่ยนมือกันไปมา หลายครั้งของทั้งสองฝ่าย และครั้งสุดท้ายได้ตกเป็นของฝ่ายกองกำลังสหประชาชาติ
            หลังจากขึ้นประจำที่มั่น เมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยก็รีบดำเนินการปรับปรุงเส้นทางคมนาคม จากที่บังคับการกองพันไปยังที่มั่นบนเขาพอร์คชอป แต่ทำได้ไม่สดวก เพราะถูกข้าศึกยิงรบกวนตลอดเวลา จึงต้องใช้รถสายพานลำเลียงพล จากหน่วยเหนือมาใช้ พร้อมทั้งขอเครื่องทำควันขนาดใหญ่ มาใช้ปล่อยควันกำบังการตรวจการณ์ เพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ผ่านเส้นทางนี้เวลากลางวัน ดำเนินการปรับปรุงคูสนามเพลาะ และเครื่องกีดขวางประเภทลวดหนาม โดยเพิ่มแนวลวดหนามจากเดิม ๒ แนวเป็น ๔ แนว วางแผนการใช้ทุ่นระเบิด และหีบระเบิดนาปาล์มที่มีอานุภาพรุนแรงเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังได้จัดกำลังกองหนุนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน และจำเป็นโดยใช้กำลังจากกองร้อยกองบังคับการ และกำลังพลอืน ๆ ที่มิได้ติดพันการรบในขณะนั้น พร้อมกันนั้น ทางหน่วยเหนือก็ได้ออกคำแนะนำทางยุทธการ ให้หน่วยระดับกองพันจัดตั้ง ศูนย์ประสานการยิงช่วยขึ้น นับว่าเป็นการกระทำครั้งแรกในระดับกองพัน กองพันทหารไทยได้เตรียมการขอรับการสนับสนุนฉากการยิงคุ้มครอง เป็นวงแหวนรอบที่มั่นรักษาด่านรบเขาพอร์คชอป โดยขอให้ปืนใหญ่กองพลของกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ซึ่งมีอยู่ ๔ กองพัน วางฉากการยิงที่เรียกว่าวงแหวนเหล็กเอาไว้ เพื่อใช้ในกรณีที่ถูกข้าศึกเข้าตี ด้านการสื่อสารก็มีการวางข่ายการติดต่อสื่อสารให้แน่นแฟ้น ใช้การสื่อสารทางสายเป็นหลัก ได้จัดวางข่ายการสื่อสารไปยังจุดที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปยังเขาพอร์คชอปถึง ๗ ทางสาย โดยฝังสายลงใต้ดิน พาดไปบนพื้นดิน และขึงสายเหนือพื้นดิน
            นอกจากนี้ยังจัดกำลังออกลาดตระเวณหาข่าวประจำวัน ๆ ละ ๓ สาย มีการจัดหมวดรบพิเศษ (Ranger Platoon) ขึ้นเป็นครั้งแรก จากผู้อาสาสมัครซึ่งมีเป็นจำนวนมาก แต่คัดเลือกไว้ ๔๐ คน เพื่อใช้ในการลาดตระเวณรบลึกเข้าไปในแนวข้าศึก เพื่อจับเชลยตามคำแนะนำของหน่วยเหนือ
การรบบนที่มั่นเขาพอร์คชอป ครั้งที่ ๑

            ในคืนวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๔๙๕ ฝ่ายข้าศึกประมาณ ๑ หมวด เคลื่อนที่เข้าจู่โจมที่ฟังการณ์สาย ๘ ทางมุมด้านทิศตะวันออกของเขาพอร์คชอป ศูนย์ประสานการยิงคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง จนข้าศึกต้องถอนตัวกลับไป ทิ้งศพผู้เสียชีวิตไว้เท่าที่ตรวจพบ ๑๐ ศพ ต่อมาเมื่อบ่ายวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ข้าศึกได้ยิงเตรียมมายังที่มั่นเขาพอร์คชอปด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงลูกระเบิด ฝ่ายเราได้รับความเสียหายมาก ตอนค่ำข้าศึกส่งกำลัง ๑ กองพัน เคลื่อนที่เข้าตี ๒ ทิศทาง ไปยังที่ฟังการณ์สาย ๔ และที่ฟังการณ์สาย ๘ ได้มีการต่อสู้กันในระยะประชิด จนต้องถอนตัวกลับเข้าที่มั่น ข้าศึกก็ได้เคลื่อนที่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิด จนถึงบริเวณที่มั่นเขาพอร์คชอป จึงได้มีการยิงฉากวงแหวนทำลายข้าศึกที่เข้ามาถึงขอบที่มั่น จนข้าศึกต้องถอนตัวกลับไป การรบครั้งนี้ฝ่ายเราเสียชีวิต ๘ คน บาดเจ็บ ๑๗ คน ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิต ๕๐ คน พบร่องรอยการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักกว่า ๖๐๐ นัด ในบริเวณที่มั่นของฝ่ายเรา ในวันรุ่งขึ้นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้เดินทางมาเยี่ยมกองพันทหารไทย ได้แสดงความประทับใจอย่างมากที่ทหารไทยมีจิตใจห้าวหาญ แกร่งกล้า เป็นที่น่ายกย่องสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง และได้หนังสือชมเชยกองพันทหารไทยด้วย
            ต่อมากองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้ส่งทหารช่างพร้อมที่กำบังสำเร็จรูป (Prefabrication Sef) มาให้ ทำให้มีความมั่นคงแข็งแรงกว่าที่มีอยู่เดิม และปรับปรุงที่มั่นให้กลับสู่สภาพเดิม จากการเสียหายที่ข้าศึกเข้าตีในครั้งนี้
การรบบนที่มั่นเขาพอร์คชอป ครั้งที่ ๒
            เมื่อ ๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ เวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น. ฝ่ายข้าศึกได้ส่งหน่วยลาดตระเวณ ประมาณ ๑ หมวด เข้าโจมตีที่มั่นเขาพอร์คชอป โดยเข้าโจมที่ฟังการณ์หมายเลข สาย ๔ และสาย ๘ ได้ ข้าศึกได้ระดมยิงด้วยอาวุธประจำหน่วย และอาวุธประจำกายอย่างรุนแรง เพื่อพิสูจน์ทราบที่ตั้งฝ่ายเรา ทหารไทยในที่มั่นได้ยิงพลุส่องสว่างพร้อมกับขอการยิงสนับสนุนจาก หน่วยเครื่องยิงหนักของกองพัน ข้าศึกจึงถอนตัวกลับไป
            ต่อมา ระหว่าง ๐๑.๐๐ - ๐๒.๐๐ น.ฝ่ายข้าศึกทำการเข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอปอีกเป็น ๓ ระลอก ระลอกแรก ข้าศึกใช้กำลังประมาณ ๑ กองร้อย เข้าตีทางทิศตะวันตก ด้านที่ฟังการณ์ ๘ ระดมยิงด้วยอาวุธประจำกาย และประจำหน่วย พร้อมทั้งปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนัก ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที จึงหยุดการโจมตี แต่ยังคงระดมยิงด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักต่อไป ระลอกที่สอง เริ่มประมาณ ๐๑.๔๐ น. ข้าศึกใช้กำลังประมาณ ๑ กองร้อย เข้าตีทางทิศเหนือด้านที่ฟังการณ์ ๔ สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนัก และอาวุธนานาชนิด ฝ่ายเราต้านทานอย่างเหนียวแน่น จนข้าศึกต้องยุติการโจมตีเมื่อเวลา ๐๒.๑๕ น.และถอนตัวกลับไป ระลอกที่สาม เวลา ๐๒.๓๕ น. ข้าศึกใช้กำลังประมาณ ๒ หมวด เข้าตีทางด้านทิศตะวันตกด้านที่ฟังการณ์ ๘ อีกครั้งหนึ่ง ได้อาศัยความมืดคืบคลานเข้ามาใกล้ที่มั่นฝ่ายเรา จนถึงระยะใช้ระเบิดขว้างของทั้งสองฝ่าย ทหารไทยที่ประจำอยู่ ณ ที่ฟังการณ์ทั้งสามสาย ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวกลับเข้าที่มั่น ฝ่ายข้าศึกจำนวนมาก ได้ติดตามมาอย่างกระชั้นชิด จนมาถึงหน้าที่มั่นใหญ่ในพื้นที่การยิงฉาก ผู้บังคับที่มั่นจึงขอการยิงฉากวงแหวนเหล็ก ทำให้การเข้าตีของข้าศึกหยุดชะงัก และล่าถอยกลับไป ในการเข้าตีของข้าศึกครั้งนี้ ข้าศึกได้เปลี่ยนยุทธวิธีใหม่ เพื่อหวังผลในการจู่โจม โดยไม่ใช้การยิงเตรียมเหมือนการเข้าโจมตีทั่วไป แต่ได้อาศัยความมืดเป็นเครื่องกำบัง หวังที่จะลอบเข้ามาใกล้ที่มั่น เพื่อหวังผลในการจู่โจม
            เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจการณ์ และเพื่อจำกัดเสรีในการเคลื่อนที่ของข้าศึก ฝ่ายเราได้ยิงพลุส่องแสงจากเครื่องยิงลูกระเบิด และจากปืนใหญ่แบบประสานส่องสว่างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ผลอย่างมากในการยับยั้งข้าศึก และยังเป็นการบำรุงขวัญฝ่ายเราได้เป็นอย่างดี
            การสูญเสียจากการที่ข้าศึกเข้าตีครั้งนี้ ฝ่ายเราเสียชีวิต ๕ คน บาดเจ็บ ๕ คน ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิต ๑๐ คน เท่าที่พบศพ และคาดว่าจะเสียชีวิตทั้งสิ้น ๕๐ คน บาดเจ็บประมาณ ๑๐๐ คน ฝ่ายเรายึดได้อาวุธยุทโธปกรณ์ของข้าศึกได้ จำนวนหนึ่ง
การรบบนที่มั่นเขาพอร์คชอป ครั้งที่ ๓
            จากการเฝ้าตรวจการณ์ทางอากาศของหน่วยเหนือมีสิ่งบอกเหตุแสดงว่า ฝ่ายข้าศึกจะต้องเข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอปอีกครั้งอย่างแน่นอน ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าตีของข้าศึกสองครั้งที่ผ่านมา ได้มาปรับปรุงการตั้งรับของหน่วยให้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะที่กำบังปิด ให้มีความมั่นคงแข็งแรง สามารถต้านทานอาวุธหนักของข้าศึกได้ดีขึ้นกว่าเดิม และได้ปรับฉากการยิงวงแหวนเหล็กเสียใหม่ ให้สามารถทำลายข้าศึกที่เข้ามาหน้าที่มั่นระยะใกล้อย่างมีประสิทธผล
            ในการเข้าตีครั้งนี้ฝ่ายข้าศึกได้ยิงรบกวนด้วยอาวุธหนักชนิดต่าง ๆ ทั้งกลางวัน และกลางคืนเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน ในคืนที่สามคือ คืนวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ตอนค่ำ ข้าศึกได้ระดมยิงอย่างหนักด้วยเครื่องยิงหนักและปืนใหญ่ไปยังเขา อาร์เซนัล (Arsenal) และเขาเอียร์ (Eerie) ตรงปลายด้านใต้ของเขาทีโบน ซึ่งกองพันที่ ๑ สหรัฐฯ ยึดอยู่ แสดงที่ท่าว่าจะเข้าตีทางด้านนั้น แต่ไม่เข้าตี จนถึงเวลา ๒๐.๐๐ น. ได้ส่งกำลังส่วนหนึ่งเข้าตีทางด้านเขาโอลด์บอลดี ซึ่งกองพันทหารราบที่ ๓ ของสหรัฐฯยึดอยู่ และต่อมาได้ใช้กำลัง ๑ กองพัน พร้อมด้วยกองร้อยลาดตระเวณของกรม เคลื่อนที่เข้าสู่เขาพอร์คชอป ในการเข้าตีครั้งนี้ ข้าศึกได้ส่งกำลังเข้าตีถึง ๓ ระลอก ตลอดคืนคือ
            ระลอกแรก  เข้าตีเวลา ๒๓.๒๕ น. ใช้กำลัง ๒ กองร้อยเข้าตีทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ด้านที่ทำการสาย ๘ อย่างจู่โจม โดยไม่มีการยิงเตรียมด้วยปืนใหญ่ เมื่อกำลังจากที่ฟังการณ์ทั้งสามสายถอนตัวกลับที่มั่นแล้ว ได้มีการยิงอาวุธหนักทุกชนิดของฝ่ายเราเพื่อป้องกันที่มั่น พร้อมทั้งยิงพลุส่องสว่างทั้งจากกองร้อยอาวุธหนักของไทย และการทิ้งพลุส่องสว่างจากเครื่องบินฝ่ายเรา เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และทิ้งระเบิดทำลายเส้นทางรุกต่าง ๆ ของข้าศึก จนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ข้าศึกส่วนหน้าได้แทรกซึมถึงคูสนามเพลาะ ในเขตที่มั่นเขาพอร์คชอป เนื่องจากเครื่องกีดขวางที่กองพันทหารไทยทำไว้ถึง ๘ ชั้น ทำให้ข้าศึกไปติดอยู่แนวลวดหนาม และถูกยิงตาย ณ ที่นั้นเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีบางส่วนเข้าเล็ดลอดผ่านเข้าไปได้ จึงมีการต่อสู้กับทหารไทยถึงขั้นตะลุมบอนเป็นจุด ๆ ข้าศึกใช้ลูกระเบิดขว้างตามช่องที่กำบังปิด เช่นปล่องเตายิง ช่องยิง ช่องระบายอากาศ และประตูที่กำบังปิด รวมทั้งคูติดต่อที่ทหารไทยยึดอยู่ การต่อสู้ขั้นตะลุมบอนเป็นไปประมาณ ๒๐ นาที กองพันได้ส่งหมวดรบพิเศษเข้าไปเสริมกำลัง โดยเคลื่อนที่ฝ่าฉากการยิงของเครื่องยิงลูกระเบิด และปืนใหญ่เข้าไป จนเข้าไปถึงที่มั่นบนเขาพอร์คชอปได้เมื่อ เวลา ๐๐.๑๕ น. ขณะที่การสู้รบในระยะประชิดยังดำเนินต่อไป หลังจากการยิงกระสุนแตกอากาศของปืนใหญ่ฝ่ายเราเหนือที่มั่นสงบลงแล้ว หมวดรบพิเศษก็นำกำลังเข้าผลักดันข้าศึก ร่วมกับฝ่ายเราที่บนที่มั่นจนสามารถผลักดันให้ข้าศึก ถอยกลับไปด้วยความสูญเสียอย่างหนัก
            ระลอกที่สอง  เมื่อเวลา ๐๐.๒๐ น. ฝ่ายข้าศึกประมาณ ๑ กองพัน เข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอปอีกระลอก โดยเข้ามาถึงสามทิศทาง คือทางทิศเหนือตรงที่ฟังการณ์สาย ๔ ทางทิศตะวันออกตรงที่ฟังการณ์สาย ๒ และทางทิศตะวันตก ตรงที่ทำการสาย ๘ ฝ่ายเราได้ยิงพลุส่องสว่างจากกองร้อยอาวุธหนัก เพื่อช่วยในการตรวจการณ์อยู่ตลอดเวลา ฝ่ายเราได้ใช้เครื่องยิงลูกระเบิด และปืนใหญ่ระดมยิงช่วยอย่างรุนแรง จนเวลา ๐๑.๐๕ น.ข้าศึกจึงถอยกลับไป
            ระลอกที่สาม  เมื่อเวลา ๐๓.๒๒ น. ฝ่ายข้าศึกได้ส่งกำลังเข้าตีที่มั่นเขาพอร์คชอป ๒ ทิศทาง ด้วยกำลัง ๑ กองร้อยเพิ่มเติมกำลัง โดยเข้าตีทางทิศตะวันออก ด้านที่ฟังการณ์สาย ๒ กับอีก ๑ กองร้อยเพิ่มเติมกำลังทางทิศตะวันตก ด้านที่ทำการสาย ๘ หน่วยเหนือได้ส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดสะกัดเส้นทางส่งกำลังหนุนของข้าศึก และทิ้งพลุส่องสว่างหน้าแนว ตามคำขอของกองพันทหารไทย เมื่อข้าศึกส่วนใหญ่เคลื่อนที่เข้ามาในพื้นที่การยิงฉากที่เตรียมไว้ ก็เริ่มยิงฉากวงแหวนทันที กองร้อยอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้ถูกระดมยิงจากข้าศึก หรือถูกยิงเพียงประปราย ต่างก็ระดมยิงช่วยหน่วยบนที่มั่นเขาพอร์คชอปอย่างเต็มที่ แต่ข้าศึกส่วนหนึ่ง สามารถเคลื่อนที่ถึงหน้าแนวที่มั่นเขาพอร์คชอปได้ เครื่องกีดขวางของฝ่ายเราถูกทำลายด้วยปืนใหญ่ และบังกาลอร์ตอร์ปิโด ที่ใช้ยิงเจาะช่องเข้าไป เกิดการต่อสู้กันในระยะประชิด ฝ่ายเรามีการปรับปรุงการตั้งรับให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม โดยกำหนดให้ปืนกลตั้งยิงในที่กำบังปิดทั้งหมด ส่วนพลปืนเล็กให้ต่อสู้อยู่ในคูยิงนอกที่กำบัง ทำให้ข้าศึกถูกยิงตายเป็นอันมาก ส่วนที่เล็ดลอดเข้ามาได้ก็ตกเป็นเป้ากระสุนของฝ่ายเราอย่างเต็มที่ เมื่อจวนใกล้สว่างข้าศึกจึงเริ่มหยุดการเข้าตี และถอนตัว คงเหลือกำลังประมาณ ๑ หมวด ยึดภูมิประเทศคุมเชิงอยู่ที่ลาดเขาพอร์คชอปทางด้านเหนือ และถอนตัวกลับไปเมื่อ ๐๗.๐๐ น. ฝ่ายเราได้ส่งหมู่ลาดตระเวณติดตามข้าศึก และสามารถจับเชลยศึกได้ ๔ คน
            ผลการเข้าตีครั้งนี้ ข้าศึกระดมยิงปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักต่อที่มั่นเขาพอร์คชอปเป็นจำนวนประมาณ ๒,๗๐๐ นัด ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๑๒ คน บาดเจ็บสาหัส ๓ คน บาดเจ็บเล็กน้อย ๕๔ คน ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิตนับศพได้ ๒๐๔ ศพ วันรุ่งขึ้นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยี่ยม เมื่อเห็นสภาพการสู้รบแล้วก็ได้กล่าวกับผู้บังคับกองพันทหารไทยว่า "ข้าพเจ้าไม่มีอะไรสงสัยในจิตใจแห่งการต่อสู้ของทหารไทยอีกแล้ว"
            เนื่องจากกองพันทหารไทยได้รับความบอบช้ำอย่างหนัก จากการถูกข้าศึกเข้าตีถึง ๓ ครั้ง ในห้วยระยะเวลาเพียง ๑๐ วัน แต่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาการผลัดเปลี่ยน จึงได้พิจารณาให้กองร้อยที่ ๑ ถอนตัวกลับไปพักผ่อน และให้กองพันที่ ๒ สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ทางปีกซ้ายขยายพื้นที่ความรับผิดชอบเข้ามาแทน

            ในการรบดังกล่าวกองพันทหารไทย และทหารไทย จึงได้รับ อิสริยาภรณ์ เหรียญตรา และเกียรติบัตรชมเชยในการประกอบวีรกรรมครั้งนี้ รวมทั้งสมญานาม Little Tiger (พยัคฆ์น้อย) จากพลเอก แวนฟลิค แม่ทัพที่ ๘ สหรัฐฯ สมญานามดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสมรภูมิเกาหลี
            ต่อมาเมื่อ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีหนังสือชมเชยการปฏิบัติการรบของกองพันทหารไทยที่เขาพอร์คชอป และต่อมากองพันที่ ๘ สหรัฐฯ ได้มอบเกียรติบัตรของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อเชิดชูวีรกรรมอันดีเด่น และเป็นเกียรติประวัติแก่กำลังพล ในกองพันทหารไทยผลัดที่ ๓ จำนวน ๒๙ คน เป็นลิเยียนออฟเมอริต ดีกรีเลยอนแนร์ ๑ คน คือ พันโท เกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ เหรียญซิลเวอร์สตาร์ ๙ คน เหรียญบรอนซ์สตาร์ ประดับอักษรวี ๑๕ คน เหรียญบรอนซ์สตาร์ ๔ คน
การปฏิบัติหน้าที่เป็นกองหนุน
            กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้ลงไปเป็นกองหนุน เมื่อ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ โดยไปตั้งอยู่ที่ตำบลมักโกลเมืองชอร์วอน ซึ่งอยู่บริเวณหลังแนวเจมส์ทาวน์
การปฏิบัติการรบ ณ ที่มั่นตั้งรับแนวเจมส์ทาวน์ ด้านเอกซ์เรย์ - (X-1)
            กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้ขึ้นประจำที่มั่นตั้งรับแนวเจมส์ทาวน์ด้านเอกซ์เรย์ - 1 เมื่อ ๓ ธันวาคม ๒๔๙๕ ในพื้นที่ตรงกลางของกรม ต่อมาเมื่อ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๕ ได้มีพิธีรับ - ส่งหน้าที่ ผู้บังคับกองพันทหารไทย ระหว่างพันโทเกรียงศักดิ์  ชมะนันท์ ผู้บังคับกองพันผลัดที่ ๓ กับ พันตรี บุญ  รังคะรัตน์ ผู้บังคับกองพันผลัดที่ ๔
พิธีฌาปนกิจศพทหารผลัดที่ ๓
            ได้มีพิธีฌาปนกิจศพทหารไทย จำนวน ๒๘ ศพ ตามประเพณีทางพุทธศาสนา ณ วัดชานเมืองปูซาน เมื่อ ๑๘ ธันวาคม ๒๔๙๕ แล้วนำอัฐิไปประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลที่วัดนิธิฮงวันจี ที่กรุงโตเกียว โดยเชิญเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว พลเอก คลาร์ก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองบัญชาการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการทหารประเทศต่าง ๆ ร่วมพิธีครั้งนี้ด้วย จากนั้นจึงนำอัฐิกลับประเทศไทย



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |