| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

การปฏิบัติการของทหารบกผลัดที่ ๔

การเตรียมการจัดกำลังและการเดินทาง
            กองพันทหารไทยผลัดที่ ๔ เริ่มจัดตั้งเมื่อ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๕ ทำการฝึกเบื้องต้น ๔ เดือน
            การเดินทางแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนแรก ออกเดินทางเมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ ส่วนหลังออกเดินทางเมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๔๙๖
            การเดินทางโดยทางเรือแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ส่วนที่ ๑ ออกเดินทางเมื่อ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๙๕ โดยเรือสินค้าฮอร์ย ส่วนที่ ๒ ออกเดินทางเมื่อ ๒๘ ธันวาคม  ๒๔๙๕ โดยเรือทหารสหรัฐฯ ชื่อ USS General Charles Muir ส่วนที่ ๓ ออกเดินทางเมื่อ ๑๒ มกราคม ๒๔๙๖ โดยเรือฮอร์ย ส่วนที่ ๔ ออกเดินทางเมื่อ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ โดยเรือของกองกำลังสหประชาชาติ
การเริ่มการรบในแนวเจมส์ทาวน์ด้านเมืองแนชอน
            เที่ยงคืนของวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๕ ทหารข้าศึกประมาณ ๑ กองร้อย  พยายามเจาะแนวคอยเหตุทางปีกซ้ายของกองพันทหารไทยเข้าไป แต่ฝ่ายเราต้านทานไว้ได้โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ข้าศึกจึงถอยกลับไป และเสียชีวิต ๓๐ คน
            คืนวันที่ ๒๐ ธันวาคม ทหารข้าศึก ๑ กองร้อยเพิ่มเติมกำลัง ได้พยายามเข้าตีปีกซ้ายของกองพันทหารไทยอีกครั้งหนึ่ง ข้าศึกส่วนหนึ่งได้ผ่านเข้ามาถึงหมวดคอยเหตุ กองร้อยที่ ๑ มีการต่อสู้กันในระยะประชิดประมาณ ๑ ชั่วโมง ฝ่ายเราจึงสามารถแย่งยึดที่ตั้งแนวคอยเหตุกลับคืนมาได้ ฝ่ายข้าศึกสูญเสียอย่างหนัก ทหารไทยเสียชีวิต ๘ คน
            ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารเอธิโอเปีย ซึ่งขึ้นไปสมทบ กรมทหารราบที่ ๓๒ สหรัฐฯ ได้สับเปลี่ยนกับกองพันทหารไทย เนื่องจากมีการเปลี่ยนสับเปลี่ยนระดับ กองพลของสหรัฐฯ กองพันทหารไทยได้ลงไปเป็นกองหนุนโดยไปตั้งอยู่ที่หมู่บ้านฟิชอกโก ทางทิศใต้ของตำบลโปชอน ห่างออกไปประมาณ ๑๓ กิโลเมตร
การปฏิบัติการบริเวณเขาเดอะฮุค และเขายิบรอลตาร์

            ปลายเดือนมกราคม ๒๔๙๖ กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้ขึ้นไปผลัดเปลี่ยนกองพลที่ ๑ จักรภพอังกฤษ วางกำลังบนภูเขาเดอะฮุค และลิดเติลยิบรอลตาร์ ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำอินจินในแนวเจมส์ทาวน์
            ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ กองพันทหารไทยได้ขึ้นผลัดเปลี่ยนกองพันที่ ๑ ทางด้านซ้ายของกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ มีเขตรับผิดชอบทางปีกซ้าย เริ่มจากเขาทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านนาปู เขา ๑๕๖ หมู่บ้านพุดซัง จนสุดปีกขวาที่เขา ๑๖๖ และได้ตั้งมั่นอยู่ในแนวนี้จนถึง ๘ เมษายน ๒๔๙๖ ลักษณะการรบเป็นการลาดตระเวณ และดักซุ่มยิงเพื่อจับเชลย จึงได้ให้กองร้อยในแนวหน้าส่งหน่วยลาดตระเวณขนาดย่อม ออกไปสกัดซุ่มยิงข้าศึกทั้งกลางวันกลางคืน มีการปะทะกับหน่วยลาดตระเวณข้าศึกหลายครั้ง
            ๑ มีนาคม ๒๔๙๖ ฝ่ายข้าศึกซึ่งไม่ได้เคลื่อนไหวมานาน ได้เริ่มปฏิบัติการเชิงรุก โดยเริ่มระดมยิงปืนใหญ่ และเครื่องยิงหนักไปยังกองร้อยที่ ๑ และที่ ๒ ของไทยอย่างรุนแรง จากนั้นกำลังข้าศึกประมาณ ๒ กองร้อย ได้เข้าโจมตีมีบางส่วนเข้ายึดหมู่คอยเหตุที่ ๓ ของกองร้อยที่ ๒ จึงเกิดการต่อสู้ถึงขั้นตะลุมบอน ฝ่ายเราส่งกำลังเข้าตีโต้ตอบยึดคืนกลับมาได้ ข้าศึกหยุดการโจมตี และถอนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ  พร้อมกับการสูญเสียอย่างหนัก ฝ่ายเราเสียชีวิต ๗ คน บาดเจ็บ ๒๓ คน
            ๑๑ มีนาคม ๒๔๙๖ เวลา ๒๓.๐๐ น. หมวดรบพิเศษของกองพันทหารไทย ได้เคลื่อนที่เข้าสู่ที่หมายอย่างเงียบ ๆ โดยมีหมู่ลาดตระเวณจากกองร้อยที่ ๑ และกองร้อยที่ ๒ เคลื่อนที่ตามออกไปวางกำลังคุ้มครองการถอนตัว ฝ่ายเราเข้าตีที่ตั้งหมู่คอยเหตุของข้าศึก และถอนตัวกลับมาได้ไม่มีการสูญเสีย
            ในคืนวันที่ ๑๗ มีนาคม  ข้าศึกประมาณ ๑ กองพัน ได้เข้าตีหน่วยทหารสหรัฐฯ กองพันทหารไทยได้ใช้อาวุธหนักยิงช่วยอย่างเต็มที่ ฝ่ายข้าศึกเสียกำลังมากกว่า ๔๐๐ คน ฝ่ายเราบาดเจ็บ ๑๐๐ คนเศษ นับเป็นการรบครั้งที่หนักที่สุดของกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ในแนวรบนี้
            ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๖ มีนาคม ๒๔๙๖ ข้าศึกส่งหน่วยลาดตระเวณเข้าไปหยั่งกำลังฝ่ายเราตลอดแนวของกรม ข้าศึกประมาณ ๔ หมวด ได้เคลื่อนที่เข้าไปข้างหน้ากองร้อยที่ ๑ ของไทย ปะทะกับยามพังการณ์ และหมู่คอยเหตุของเรา ฝ่ายเราถอนตัวได้ทัน และใช้อาวุธหนักทุกชนิดยิงสกัดกั้นข้าศึกอย่างรุนแรง จนข้าศึกต้องถอนตัวกลับไป
        กองพันทหารไทยได้เคลื่อนย้ายลงไปเป็นกองหนุน เมื่อ ๘ เมษายน ๒๔๙๖ โดยไปตั้งอยู่ที่ตำบลพับยอง ห่างจากเมืองอุยจองบูไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
            กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้ย้ายไปขึ้นกับกองทัพน้อยที่ ๙ สหรัฐฯ เมื่อ ๒๗ เมษายน ๒๔๙๖ กองพันทหารไทยจึงได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายไปเข้าที่ตั้งในแนวแคนซัส ซึ่งเป็นแนวหนุนของกองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ ที่ตั้งกองพันอยู่ที่บ้านเชิงเขาหลังแคนซัส ต่อมาเมื่อ ๖ พฤษภาคม ๒๔๙๖ ก็ได้รับคำสั่งให้ย้ายจากแนวแคนซัสไปที่หมู่บ้านคิโอ ทางทิศใต้ของเมืองชอร์วอน ๑๑ กิโลเมตร ในที่รวมพลของกองพลที่ ๒ สหรัฐฯ
            ๒๑ มิถุนายน ผู้บังคับกองพันทหารไทยผลัดที่ ๔ ได้ส่งมอบการบังคับบัญชาให้ผู้บังคับกองพันทหารไทยผลัดที่ ๕
            จากการปฏิบัติการของกองพันทหารไทยผลัดที่ ๔ ในบริเวณเมืองเคซอง มุรซาน อุยจองบู และชอร์วอน ประธานาธิบดีชิงมังรีแห่งเกาหลีใต้ ได้มอบแพรแถบเชิดชูเกียรติคุณหน่วย พร้อมทั้งคำประกาศเกียรติคุณหน่วย เมื่อ ๘ เมษายน ๒๔๘๗ ดังนี้


ซิงมันรี
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี
๘ เมษายน ๒๔๙๗

คำประกาศเกียรติคุณหน่วย
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีขอประกาศเกียรติคุณด้วยความปิติอย่างซาบซึ้ง แด่

กองพันทหารไทย
ในการที่ได้ประกอบภารกิจดีเด่นเป็นพิเศษ
แก่สาธารณรัฐเกาหลี
ในรอบระยะเวลาตั้งแต่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ ถึง ๘ เมษายน ๒๔๙๖

            กองพันทหารไทยได้ปฏิบัติหน้าที่ภารกิจเป็นผลดีเยี่ยม ในการสู้รบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ผู้รุกรานประเทศเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุทธบริเวณพื้นที่เมืองเคซอง มุนซาน ชุนชอน อุยจองบู และชอร์วอน เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๙๖ ข้าศึกได้ทำการเข้าโจมตีกองร้อยที่ ๑ โดยมีปืนใหญ่ยิงช่วยอย่างหนัก แต่กองร้อยที่ ๑ ได้ทำการผลักดันข้าศึกด้วยความกล้าหาญ จนฝ่ายข้าศึกต้องสูญเสียกำลังไปเป็นจำนวนมาก ในระหว่างการรบนี้ ทหารทุกคนในกองร้อยที่ ๑ ได้แสดงให้เห็นความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว อย่างเด่นชัด
            การปฏิบัติของบรรดาทหารไทยในกองพันทหารไทยอันดีเด่นนี้ ได้เป็นผลเสริมส่งเกียรติคุณให้แก่กองพันทหารไทย ราชการแห่งกองทัพบกไทย และกำลังทหารสหประชาชาติที่ปฏิบัติการอยู่ในประเทศเกาหลี ด้วยเกียรติประวัติซึ่งกองพันทหารไทยได้ปฏิบัติการไปนี้จะได้จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐเกาหลี
            คำประกาศเกียรติคุณหน่วยนี้แสดงว่า ทหารไทยทุกคนซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ภารกิจในสาธารณรัฐเกาหลีในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวแล้วนั้น ย่อมมีสิทธิที่จะประดับแพรแถบเชิดชูเกียรติคุณนี้ได้

                   ซิงมันรี

การปฏิบัติการของทหารบกผลัดที่ ๕

การจัดตั้งและการเดินทาง
            การจัดตั้งคงดำเนินการเช่นเดียวกันกับผลัดที่ ๒ - ๔ เป็นส่วนใหญ่ ด้จัดตั้งและเปิดกองบังคับการกองพันตั้งแต่ ๑๕ มีนาคม ๒๔๙๖
            การเดินทางไปผลัดเปลี่ยน ได้จัดกำลังออกเดินทางเป็นส่วน ๆ รวม ๕ ส่วนด้วยกันดังนี้
            ส่วนที่ ๑  มีกำลังพล ๒๙๖ คน เดินทางโดยเรือหลวงหนองสาหร่ายและเรือหลวงปราบ เมื่อ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๙๖ ไปถ่ายลงเรือสินค้าฮอร์ยุที่ทางการไทยจ้างไว้ที่เกาะสีชัง
            ส่วนที่ ๒  เดินทางโดยเครื่องบินของหน่วยบริการขนส่งทางอากาศทางทหารสหรัฐฯ เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๙๖
            ส่วนที่ ๓  มีกำลังพล ๔๐๒ คน เดินทางโดนเรือสินค้าฟูจิกาวา ซึ่งทางการไทยว่าจ้าง ออกเดินทางจากท่าเรือกรุงเทพ ฯ เมื่อ ๑๓ สิงหาคม ๒๔๙๖
            ส่วนที่ ๔  มีกำลังพล ๓๘๐ คน ออกเดินทางเมื่อ ๗ พฤษภาคม ๒๔๙๖ โดยเรือสินค้าฮอร์ยุที่เกาะสีชัง
            ส่วนที่ ๕  มีกำลังพล ๒๐๘ คน ออกเดินทางเมื่อ ๗ พฤษภาคม ๒๔๙๖ โดยเรือสินค้าฮอร์ยุที่เกาะสีชัง
การปฏิบัติการรบที่บูเมอแรง
            ในต้นเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๕ กองพันทหารไทยได้รับทราบจากหน่วยเหนือว่า กองพลที่ ๒ สหรัฐฯ จะขึ้นไปสับเปลี่ยนกองพลทหารราบที่ ๓ สหรัฐฯ ในแนวเจมส์ทาวน์ และกรมจะตั้งขึ้นไปสับเปลี่ยนกับกรมทหารราบที่ ๒๕ สหรัฐฯ ทางด้านขวาแนวรบ
            พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นเทือกเขาต่อเนื่องกันเป็นรูปครึ่งวงกลม หันส่วนโค้งไปทางด้านข้าศึก จึงได้ชื่อว่าบูเมอแรง ผู้บังคับกองพันทหารไทยพิจารณาภูมิประเทศ และเงื่อนไขจากหน่วยเหนือแล้ว จึงตกลงใจอาสาขึ้นประจำแนวต้านทานหลัก โดยเลือกเข้าประจำที่มั่นด้านซ้ายของกรม
            ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๙๖ เริ่มทำการตรวจภูมิประเทศร่วมกับหน่วยเหนือ และหน่วยข้างเคียง และนำกำลังเข้าที่ตั้งในตอนค่ำของวันรุ่งขึ้น และทำได้สำเร็จเรียบร้อยก่อนสว่าง การวางกำลังได้วางกำลัง ๓ กองร้อยในแนวต้านทานหลัก กองร้อยอาวุธหนักอยู่หลังกองร้อยที่ ๒ หน่วยกำลังยิงสหรัฐฯ ที่สนับสนุนการปฏิบัติของกองพันทหารไทยคือ ๑ หมวดรถถัง และ๑ หมวดเครื่องยิงหนัก (ค.๔.๒ นิ้ว) หน่วยปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานยิงกระสุนวิถีราบต่อที่หมายทางพื้นดิน
            หลังจากสับเปลี่ยนกำลังในแนวที่มั่นแล้ว ก็ได้จัดหมู่คอบเหตุจากกองร้อยต่าง ๆ ในแนวออกไปประจำ ทำหน้าที่แนวต้านทานหลักรวม ๘ แห่ง และได้ส่งออกไปประจำที่ในตอนค่ำ นอกจากนั้นก็ได้จัดหมู่ลาดตระเวณออกไปตามช่องทางปลอดภัย (Saftl Lane)
            ระหว่าง ๑๕ - ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๙๖ ได้มีการปะทะกันประปรายจากการปฎิบัติการของทั้งสองฝ่าย และมีสิ่งบอกเหตุว่าฝ่ายข้าศึกจะเข้าตีทางด้านกองร้อยที่ ๒ และกองร้อยที่ ๓ ตกกลางคืนวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๙๖ ข้าศึกได้ยิงเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด ๘๒ มิลลิเมตร ไปยังที่ตั้งกองร้อยที่ ๓ อย่างหนัก พอใกล้รุ่งข้าศึกประมาณ ๑ กองพัน เคลื่อที่ตั้งมุ่งเข้าตีกองพันที่ ๒ สหรัฐฯ  และระดมยิงด้วยอาวุธทุกชนิดไปยังกองร้อยที่ ๓ ของไทย ซึ่งอยู่ทางปีกขวาติดกับกองพันที่ ๒ สหรัฐฯ กองร้อยที่ ๓ ได้ยิงตัดหลังข้าศึกด้วยอาวุธทุกชนิด จนข้าศึกต้องถอนตัวกลับ การปฎิบัติการครั้งนี้ ได้รับคำขอบคุณและคำชมเชยจากหน่วยเหนือ
            วันที่ ๑๗ กรกฎาคม เวลา ๒๑.๓๕ น. ข้าศึกประมาณ ๒ กองพันเคลื่อนที่เข้ามา ๒ ทาง ได้มีการปฏิบัติการทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่องไปจนถึง ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๖ เวลา ๒๑.๔๕ น. ทหารไทยทุกหน่วยหยุดยิงตามคำสั่ง ก่อนเวลาที่กำหนดตามความตกลงสงบศึก
การปฏิบัติการภายหลังการหยุดยิง
            เช้าวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๖ หน่วยเหนือได้สั่งให้ทุกกองพัน ถอนกำลังลงไปยึดที่มั่นในแนว ซึ่งเดิมเป็นแนวหนุนของกรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ
            ระหว่าง ๓๑ กรกฎาคม - ๑๘ สิงหาคม ๒๔๙๖ กองพันทหารไทยได้รับมอบหน้าที่ให้ยึดรักษา พื้นที่ด้านซ้ายของแนวที่มั่นหลักภายหลังการสงบศึก
            วันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๙๖ แม่ทัพน้อยที่ ๙ สหรัฐฯ ได้มีหนังสือชมเชยประสิทธิภาพอันดีเด่น ในการรบและการให้ความร่วมมือแก่กองบัญชาการสหประชาชาติ ของกองพันทหารไทย
            วันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๙๖ จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีหนังสือขอบคุณ และชมเชยผลการปฏิบัติของกองพันทหารไทย
การปฏิบัติหน้าที่ในกองหนุนของกองพล

            ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๙๖ กรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ได้รับคำสั่งให้เป็นกองหนุนของกองพล ในพื้นที่หุบเขาบริเวณหมู่บ้าน สะกุมหัก อยู่ห่างจากเขตปลอดทหาร ประมาณ ๗ กิโลเมตร
            วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๙๖ กำลังส่วนที่ ๓ ของกองพันทหารไทยผลัดที่ ๕ ได้เดินทางมาถึงและผลัดเปลี่ยนกับกำลังพลของผลัดที่ ๔
            วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๙๖ กระทรวงกิจการสังคมเกาหลีใต้ได้มีหนังสือชมเชย และขอบคุณกองพันทหารไทย ที่ได้บริจาคอาหารให้แก่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าของเกาหลีในกรุงโซล
            วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๙๖ กรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ได้ขึ้นประจำแนวที่มั่นตั้งรับอีกครั้งหนึ่ง กองพันทหารไทยได้เคลื่อนย้ายไปที่บ้านชุม ทำหน้าที่เป็นกองหนุนของกรม
            วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๙๖ กำลังพลส่วนที่ ๔ ของผลัดที่ ๕ ได้เดินทางมาถึงและผลัดเปลี่ยนกำลังกับผลัดที่ ๔
การเข้ายึดที่มั่นในแนวที่มั่นหลักภายหลังการสงบศึก

            วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ กองพันทหารไทยได้เคลื่อนย้ายไปสับเปลี่ยนกับกองพันที่ ๓ สหรัฐฯ
            วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ กำลังส่วนที่เหลือของผลัดที่ ๕ ได้เดินทางมาผลัดเปลี่ยน กำลังพลส่วนที่เหลือของผลัดที่ ๔ เสร็จเรียบร้อย กองพันทหารไทยจึงมีกำลังพลผลัดที่ ๕ นับจากนั้นมา
            วันที่ ๙ เมษายน ๒๔๙๗ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ได้มอบเกียรติบัตรของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ชมเชยกองพันทหารไทย โดยมีผู้บังคับบัญชาของหน่วยเหนือถึงระดับกองพลเข้าร่วมพิธีด้วย
            วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗ ประธานาธิบดีซิงมันรี แห่งเกาหลีใต้ได้มอบแพรแถบเชิดชูเกียรติคุณ แก่หน่วยกองพันทหารไทย ผลัดที่ ๕ ในผลการปฏิบัติการรบของกองพันในพื้นที่ด้านเมืองกุมหว่า บริเวณเขาบูเมอแรง ในห้วงระยะเวลา ตั้งแต่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๖ ถึง ๒ พฤษภาคม ๒๔๙๗
การถอนกำลังไปประจำที่อุนชอนและการผลัดเปลี่ยนกำลังพล
            กองทัพบกได้จัดตั้ง และทำการฝึกกำลังพล ผลัดที่ ๖ พร้อมที่จะจัดส่งไปผลัดเปลี่ยนคราวเดียวกันทั้งกองพัน ในเดือนมิถุนายน ๒๔๙๗
            กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ ได้จัดพิธีสวนสนามขึ้นในปลายพฤษภาคม ๒๔๙๗ เพื่อเทิดเกียรติ และส่งกองพันทหารไทย ผลัดที่ ๕ โดยมีผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของหน่วยทหารสหรัฐฯ และผู้บังคับบัญชา หรือผู้แทนหน่วยทหารสหประชาชาติ ที่ส่งกำลังไปร่วมในเกาหลีมาร่วมพิธีด้วย
            ในต้นเดือน มิถุนายน ๒๔๙๗ กองพันทหารไทย ผลัดที่ ๕ ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังจากที่มั่นตั้งรับในแนวหน้าลงไปพักในค่ายทหารที่หมู่บ้านพูลกันด๊อก ตำบลอุนชอน หลังแนวรบ และอยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๕๖ กิโลเมตร เพื่อทำการผลัดเปลี่ยนกำลังพล



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |