| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

การปฏิบัติการของทหารบก ผลัดที่ ๖
(๕ มิถุนายน ๒๔๙๗ - ๓๐ กรกฎาคม ๒๔๙๘)

การจัดการประกอบกำลัง และการเดินทาง
            ปลายเดือนมีนาคม ๒๔๙๗ กรมผสมที่ ๒๑ ได้ดำเนินการเรียกกำลังพลกองพันทหารไทย ผลัดที่ ๖ เข้าที่รวมพลในบริเวณกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์บางเขน โดยรับกำลังพลจากกองทัพที่ ๑ กองทัพที่ ๒  กองทัพที่ ๓ มณฑลทหารบกที่ ๕ และกองพลทหารม้า ตามที่กองทัพบกมอบหมาย เมื่อดำเนินกรรมวิธีด้านกำลังพลเสร็จ ก็ได้เคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อทำการฝึก
            การเดินทางแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือส่วนล่วงหน้า และส่วนใหญ่ ส่วนล่วงหน้ารวม ๒๗ คน ออกเดินทางด้วยเครื่องบินของบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด เมื่อ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๙๗ ไปลงที่สนามบิน ฮาเนดะ กรุงโตเกียว แล้วเดินทางไปเกาหลีใต้โดยเครื่องบินบริการขนส่งทางอากาศ ทางทหารสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ รวม ๑,๐๘๘ คน เดินทางโดยทางเรือ ใช้เรือ ฮอร์ยุ และเรือพูจิกาวา เมื่อ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๙๗ ถึงเมืองปูซาน เมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๗ แล้วเดินทางต่อโดยรถไฟ ต่อด้วยรถยนต์ไปยังที่ตั้งกองพันทหารไทยที่หมู่บ้านพุลกันด๊อก ตำบลอุนชอน เมืองโปชอน
การปฏิบัติการของกองพันทหารไทย  (๕ มิถุนายน ๒๔๙๗ - ๑๙ มกราคม ๒๔๙๘)
            ๑๐ มิถุนายน ๒๔๙๗ กรมทหารราบที่ ๙ สหรัฐฯ ขึ้นเป็นกองรบในแนวหนุน (แนวแคนซัส) กองพันทหารไทยเป็นกองรบทางปีกขวาของกรม ในระหว่างห้วงเวลาดังกล่าว ได้มีกิจกรรมให้ปฏิบัติเป็นอันมาก เช่นการฝึกซ้อมการปฏิบัติตามแผนยุทธการ ฝึกซ้อมการเคลื่อนย้าย ฝึกซ้อมการหลบภัยทางอากาศ การอบรมวิชาเคมี ชีวะ รังสี การอบรมเรื่องการรบร่วม การอบรมการข่าวกรอง ฯลฯ
            เนื่องจากกองพลที่ ๒ สหรัฐฯ จะต้องถอนกำลังกลับสหรัฐฯ กองพันทหารไทยจึงได้รับคำสั่งให้ไปขึ้นสมทบ กองทัพน้อยที่ ๙ สหรัฐฯ ใน ๒๓ สิงหาคม ๒๔๙๗
            ๖ กันยายน ๒๔๙๗ ได้รับแจ้งจากหน่วยเหนือว่า กองพันทหารไทย จะต้องไปขึ้นสมทบกองพลนาวิกโยธินที่ ๑ สหรัฐฯ เพื่อประจำแนวคิมโปด้านเมืองฮินชอนต่อไป ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากหน่วยในกองทัพน้อยที่ ๙ สหรัฐฯ จะต้องถอนกลับสหรัฐฯ เช่นกัน กองพันทหารไทยจึงได้รับคำสั่งให้ไปสมทบกองทัพน้อยที่ ๑ สหรัฐฯ ตั้งแต่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๙๗ และให้สนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุง จากกองพลทหารราบที่ ๗ สหรัฐฯ ต่อมาเมื่อ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๙๗ กองพันทหารไทยได้รับคำสั่งให้ขึ้นไปสมทบกรมทหารราบที่ ๑๗ กองพลทหารราบที่ ๗ สหรัฐฯ พร้อมกันนี้ก็ได้เตรียมการถอนกำลังกองพัน (หย่อน ๑ กองร้อยปืนเล็ก) กลับประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาลไทย
            ๒๒ ธันวาคม ๒๔๙๗ กองพันทหารไทยกับ กองพันทหารเบลเยี่ยมได้ร่วมกันสวนสนามอำลา หน่วยทหารในกองบัญชาการสหประชาชาติ และเกาหลีใต้ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้เป็นประธาน มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองบัญชาการสหประชาชาติเข้าร่วมพิธีด้วยเป็นจำนวนมาก
การเตรียมถอนกำลังกลับประเทศไทย

            ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. ๒๔๙๖ หลังจากที่ได้มีการลงนาม ในความตกลงสงบศึกแล้ว สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีค่อนข้างสงบลงมาก ชาติพันธมิตรที่ส่งทหารไปร่วมรบในสงครามเกาหลี หลายประเทศเริ่มถอนกำลังทหารกลับ รวมทั้งสหรัฐฯ เอง รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายถอนกำลังทหารไทยกลับเช่นกัน
            ทุกเหล่าทัพยกเว้น กองทัพอากาศเห็นควรให้ถอนกำลังกลับ จึงมีมติให้คงเหลือเฉพาะหน่วยบินลำเลียง กระทรวงกลาโหมได้ติดต่อกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเจรจากระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ขอถอนกำลังทหารกลับ แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แจ้งตอบให้เจรจากับกองบัญชาการ สหประชาชาติที่กรุงโตเกียวโดยตรง ผลการเจรจาทางกองบัญชาการสหประชาชาติไม่ให้ถอนกำลังทหารบกกลับทั้งหมด ให้คงเหลือไว้ ๑ หมวด แต่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองบัญชาการสหประชาชาติ ได้ขอร้องให้คงเหลือกำลังไว้ ๑ กองร้อย
            ๖ มกราคม ๒๔๙๘ กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งให้ถอนทหารบางส่วนกลับประเทศไทย กองพันทหารไทยผลัดที่ ๖ ได้เตรียมถอนกำลังกลับประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือน ธันวาคม ๒๔๙๗ และเมื่อ ๑๙ มกราคม ๒๔๙๘ กองพันทหารไทย (หย่อน ๑ กองร้อย) ก็ได้เดินทางกลับประเทศไทยโดยทางเรือ จากท่าเรือปูซาน โดยเรือ เมอิโกะ ถึงประเทศไทย เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๘
กองร้อยอิสระ (๑๙ มกราคม - ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๘)
            กองร้อยอิสระของไทยยังคงอยู่ในที่ตั้งเดิมของกองพันทหารไทย และยังคงขึ้นสมทบ กรมทหารราบที่ ๑๗ กองพลทหารราบที่ ๗ สหรัฐฯ สถานการณ์ทั่วไปยังคงสภาพเดิม กำลังของทั้งสองฝ่ายยังคงประจำอยู่ในแนวที่มั่น
            หลังจากที่กองร้อยอิสระปฏิบัติการอยู่ในสมรภูมิเกาหลีเป็นเวลาประมาณ ๖ เดือน ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๔๙๘ ก็ได้ผลัดเปลี่ยนกับผลัดที่ ๘ แล้วเดินทางกลับโดยทางเรือของกองบัญชาการสหประชาชาติที่เมืองปูซาน

การปฏิบัติการของทหารบกผลัดที่ ๗ - ๒๓
(๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๘ - ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๕)

การประกอบกำลัง
            การประกอบกำลังกองร้อยอิสระในระยะแรก ยังคงรับกำลังพลจากกองทัพที่ ๑ กองทัพที่ ๒ กองทัพที่ ๓ ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกองทัพภาค มณฑลทหารบกที่ ๕ และกองพลทหารม้า คัดเลือกและจัดส่งให้ ต่อมาจึงได้มีการคัดเลือกกำลังพลจากศูนย์สงครามพิเศษ และหน่วยในส่วนกลางด้วย
            เมื่อได้กำลังพลก็ส่งเข้ารับการฝึกตามระยะเวลา และในพื้นที่ของหน่วยต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสมดังนี้
            ผลัดที่ ๑๑  ฝึกในพื้นที่กรมผสมที่ ๒๑ ถนนอำนวยสงคราม เชิงสะพานเกษะโกมล กรุงเทพฯ ใช้เวลา ๑ เดือน
            ผลัดที่ ๑๓  ฝึกในพื้นที่ศูนย์ฝึกปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้เวลาฝึก ๑๐ สัปดาห์
            ผลัดที่ ๑๕  ฝึกในพื้นที่กองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ กรุงเทพฯ
            ผลัดที่ ๑๘  ฝึกในพื้นที่ กรมผสมที่ ๒๑ รักษาพระองค์ กรุงเทพฯ และจังหวัดชลบุรี ใช้เวลาฝึก ๒๑ สัปดาห์
            ผลัดที่ ๑๙ ฝึกในพื้นที่ กรมผสมที่ ๒๑ รักษาพระองค์ชลบุรี ใช้เวลาฝึก ๔ เดือน
            ผลัดที่ ๒๐  ฝึกในพื้นที่ กรมผสมที่ ๒๑ รักษาพระองค์ชลบุรี ใช้เวลาฝึก ๒๑ สัปดาห์
            ผลัดที่ ๒๒ - ๒๓  ฝึกในพื้นที่ กรมผสมที่ ๒๑ รักษาพระองค์ชลบุรี และฝึกร่วมกับหน่วยนาวิกโยธิน ในพื้นที่ อำเภอสัตหีบ ชลบุรี เป็นเวลา ๒๒ สัปดาห์ มีการฝึกอบรมเพิ่มเติมในด้านการช่วยเหลือประชาชน เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย
ที่ตั้งและการบังคับบัญชา
            กองร้อยอิสระผลัดที่ ๗ - ๒๑ ตั้งอยู่ที่ตำบลอุนชอน เมืองโปชอน ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมตั้งแต่เป็นกองพันทหารไทยผลัดที่ ๖ โดยขึ้นสมทบกองทัพน้อยที่ ๑ สหรัฐฯ ในความควบคุมทางยุทธการ และรับการส่งกำลังบำรุง จากกองพลทหารราบที่ ๗ สหรัฐฯ
            เมื่อกองพลทหารราบที่ ๗ สหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากเกาหลีใต้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ กองร้อยอิสระผลัดที่ ๒๒ จึงย้ายจากที่ตั้งเดิมไปอยู่ที่ค่ายเมอเมด (CampMermaid) ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของกองร้อยทหารปืนใหญ่ ค้นหาเป้าหมายสหรัฐฯ ที่ตำบลโฮวัน เมืองอุยจองบู อยู่ทางตอนใต้ของที่ตั้ง ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร
            กองร้อยอิสระผลัดที่ ๒๒ และ ๒๓ ได้เปลี่ยนไปขึ้นการควบคุมทางยุทธการ และรับการส่งกำลังบำรุงจากกองทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ
การปฏิบัติการของกองร้อยอิสระผลัดที่ ๗ - ๒๓
            ส่วนใหญ่เป็นการเตรียมพร้อม การฝึกทางยุทธวิธี และการฝึกตามวงรอบ การช่วยเหลือประชาชนชาวเกาหลีในพื้นที่ใกล้เคียง และการจัดกิจกรรมพิเศษ อันได้แก่การเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาติพันธมิตรต่าง ๆ จัดงานในวันสำคัญของชาติไทย และวันสำคัญทางพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์
การถอนกลับประเทศไทย

            ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๓ สภากลาโหม มีมติเห็นควรที่จะถอนกำลังทหารไทยในเกาหลีกลับตามข้อเสนอของ พลตรี โชติ  คล่องวิชา เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ซึ่งแจ้งว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เตรียมที่จะถอนกำลังทหารที่ประจำในเกาหลีกลับ และบางส่วนได้ถอนกลับไปแล้ว กองร้อยอิสระของไทยได้รับการสนับสนุนลดน้อยลงมาก และทางสหรัฐฯ ได้แจ้งให้ทราบว่าไม่ขัดข้องถ้าทางไทยจะถอนกำลังทหารไทยออกจากเกาหลีใต้  จึงสมควรถอนกำลังทหารกลับ และยุบเลิกหน่วยบินลำเลียง
            ตามมติสภากลาโหมดังกล่าว ให้กองทัพบกจัดกำลังทหารไว้ประจำ ๑ หมู่เกียรติยศ จำนวน ๖ คน ขึ้นอยู่ในความปกครองบังคับบัญชาของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ให้ยุบเลิกสำนักงานนายทหารติดต่อประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ ณ กรุงโตเกียว และกรุงโซล ซึ่งจะได้ประกาศถอน และยุบเลิกภายหลังเดือน กรกฎาคม ๒๕๑๔
            กองร้อยอิสระผลัดที่ ๒๓ ซึ่งเป็นกำลังทหารบกผลัดสุดท้ายของไทย ได้เตรียมการถอนกำลังกลับประเทศไทยใน ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๕ ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๑๕ กองบัญชาการสหประชาชาติได้จัดพิธีอำลา เป็นเกียรติยศแก่กองร้อยอิสระผลัดที่ ๒๓ ที่สนามไนท์ (Knight Field) ในกรุงโซล โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการสหประชาชาติ และผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้เป็นประธาน มีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก เช่น นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ผู้แทนประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ผู้แทนชาติพันธมิตรต่าง ๆ ที่ร่วมปฏิบัติการในสงครามเกาหลี กองบัญชาการสหประชาชาติได้จัดให้มีการยิงสลุต และพิธีสวนสนามเป็นเกียรติยศแก่กองร้อยอิสระของไทย
            ในวันเดินทางกลับของกองร้อยอิสระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกาหลีใต้ ผู้แทนรัฐบาลเกาหลีใต้ ผู้แทนกองบัญชาการสหประชาชาติ รวมทั้งชาวเกาหลีใต้เป็นจำนวนมากได้ไปส่งที่สนามบินคิมโป กรุงโซลด้วยความอาลัย กองร้อยอิสระผลัดที่ ๒๓ ไดเดินทางโดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๑๔๑ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ถึงประเทศไทยในวันเดียวกัน
            รวมระยะเวลาที่กองกำลังทหารไทยไปปฏิบัติการในเกาหลีใต้ตั้งแต่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ ถึง ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๕ รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา ๑๖ ปี ๗ เดือน ๑๕ วัน จำนวนทหารบกที่ไปร่วมปฏิบัติการ ๒๓ ผลัด รวม ๑๑,๗๗๖ คน
หมู่เกียรติยศ
            หมู่เกียรติยศ จำนวน ๖ คน ประกอบด้วย จ่าสิบเอก ๕ คน สำนักงานนายทหารติดต่อ ๗ ได้มอบหมู่เกียรติยศของไทยให้ขึ้นสมทบกองร้อยกองเกียรติยศ ประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ (UNC Honor Guard Company) นับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นมา ยังคงประจำอยู่ในเกาหลีใต้มาจนถึงปัจจุบัน มีหน้าที่เชิญธงชาติไทยเข้าร่วมพิธีเกียรติยศต่าง ๆ ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ซึ่งเป็นชาติหนึ่งที่ส่งกำลังเข้าร่วมรบในประเทศเกาหลี
กองร้อยกองเกียรติยศประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ
            กองทัพที่ ๘ สหรัฐฯ ได้จัดตั้งหน่วยนี้ขึ้น เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๙๔ ที่เมืองเตกู ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๖ ได้มีการปรับปรุงการจัดใหม่ โดยให้บรรดาชาติพันธมิตร ที่ส่งทหารเข้าร่วมปฏิบัติการในสงครามเกาหลีทั้ง ๑๖ ชาติ อันได้แก่ ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม แคนาดา โคลัมเบีย เอธิโอเปีย ฝรั่งเศส กรีซ ลักแซมเบอร์ก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ อัฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา จัดทหารของตนเข้าสมทบในหมวดทหารกองเกียรติยศด้วย โดยจัดหมู่เชิญธงไปร่วมในหมวดทหารกองเกียรติยศมาโดยตลอด จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อชาติพันธมิตรส่วนใหญ่ถอนกำลังทหารของตนกลับ การจัดหน่วยกองเกียรติยศจึงเปลี่ยนแปลงไป  เหลืออยู่เพียง ๕ ประเทศสคือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักรฯ เกาหลีใต้ ไทย และตุรกี ต่อมาตุรกีได้ถอนกำลังออกไป เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ฟิลิปปินส์จึงจัดส่งทหาร ๑ หมู่ไปประจำหน้าที่แทน และในปี พ.ศ.๒๕๑๓ หน่วยกองเกียรติยศเป็นกองร้อยกองเกียรติยศ ประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ ต่อมาสหราชอาณาจักรฯ ได้ถอนกำลัง ๑ หมวด ที่ประจำอยู่ในเกาหลีใต้กลับไปเกาะฮ่องกง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ กองพลทหารราบที่ ๒ สหรัฐฯ จึงจัดกำลัง ๑ หมวดเข้าทดแทน

การปฏิบัติการของทหารเรือ

            หลังจากที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ส่งทหารบกไปปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังสหประชาชาติในสงครามเกาหลี เมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๔๙๓ แล้ว ต่อมาเมื่อ ๒๙ กันยายน ๒๔๙๓ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศให้ส่งกำลังทหารเรือ และทหารอากาศไปร่วมปฏิบัติการในสงครามเกาหลี
การเตรียมการ
            กองทัพเรือได้รับคำสั่งจากกระทรวงกลาโหมให้เตรียมเรือรบสำหรับเดินทางไปยังเกาหลีใต้ และกองทัพเรือได้มีคำสั่งเมื่อ ๒๘ กันยายน ๒๔๙๓ ให้กองเรือยุทธการ จัดเรือหลวงประแส เรือหลวงบางปะกง และเรือหลวงสีชัง สำหรับลำเลียงกำลังพล และคุ้มกันขบวนเรือที่จะเดินทางไปเกาหลีใต้
            ในวันที่ ๑๓ ตุลาคม กองทัพเรือได้มีคำสั่งตั้งกองบังคับการหมู่เรือไปราชการเกาหลี (บก.หมู่เรือ)
            ๑๖ ตุลาคม ๒๔๙๓ กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการปฏิบัติ โดยในส่วนของกองทัพเรือให้จัดเรือลำเลียง และคุ้มกันดังนี้
            ๑ ให้เรือสินค้าเอกชน ๑ ลำ เพื่อลำเลียงทหารส่วนแรกของกรมผสมที่ ๒๑
            ๒ ให้จัดเรือหลวงสีชัง ทำการลำเลียงส่วนหนึ่งของกรมผสมที่ ๒๑ เจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทย เมื่อเสร็จภารกิจแล้ว ให้เป็นเรือลำเลียงประจำหน่วยทหารไทย ประจำเกาหลีหรือที่ญี่ปุ่นต่อไป
            ๓ ให้จัดเรือหลวงประแสกับ เรือหลวงบางปะกง ทำหน้าที่คุ้มกันขบวนเรือ เมื่อหมดหน้าที่ให้เข้าร่วมปฏิบัติการยุทธตามที่กองกำลังสหประชาชาติเห็นสมควรต่อไป และมีฐานทัพเรืออยู่ที่ซาเซโบ
            ๒๐ ตุลาคม ๒๔๙๓ กองทัพเรือได้มีคำสั่งให้เรือรบทั้งสามลำรวมขึ้นเป็นหมู่เรือเรียกว่า หมู่เรือปฏิบัติการร่วมกับสหประชาชาติ (มส.)
การเดินทางไปปฏิบัติการ

            ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๓ เรือหลวงทั้งสามลำพร้อมด้วยเรือสินค้า เฮอร์ตาเมอร์สค์ ซึ่งทางราชการเช่ามาสำหรับลำเลียงทหารเดินทางไปเกาหลีใต้ ออกเดินทางจากท่าเรือกรุงเทพ ฯ คลองเตย ไปยังฐานทัพเรือสัตหีบแวะรับเสบียง น้ำจืด น้ำมันเชื้อเพลิง และอาวุธกระสุน และได้ออกเดินทาง เมื่อ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๙๓ ผ่านแหลมญวน ถึงเกาะโอกินาวา เมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ เข้าจอดในอ่าวบัคเนอร์ (Buckner Bay) และได้ออกเดินทางต่อ เมื่อ ๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ ถึงท่าเรือปูซาน เมื่อวันที่ ๗ เดือนเดียวกัน อีก ๒ วันต่อมาก็เดินทางไปยังฐานทัพเรือซาเซโบ ประเทศญี่ปุ่น และได้มีการมอบเรือของไทยทั้งสามลำ ให้อยู่ในบังคับบัญชาของผู้บัญชาการกองเรือเฉพาะกิจที่ ๙๕
การจัดกำลังทางเรือของสหประชาชาติในสงครามเกาหลี
            กำลังทางเรือ สหประชาชาติได้มอบให้กองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นผู้บังคับบัญชากองเรือสหประชาชาติ (United Nation Naval Forces ) โดยให้กองกำลังทางเรือภาคตะวันออกไกล รับผิดชอบงานด้านยุทธการ และยุทธบริการ กำลังทางเรือที่ปฏิบัติการรบในสงครามเกาหลีเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเรือที่ ๗ ( 7 th Fleet) ของกองกำลังทางเรือสหรัฐ ภาคตะวันออกไกล (Naval Forces Far East)
            กองเรือเฉพาะกิจที่ ๙๒  (Task Force 92 : TF92) มีภารกิจเป็นกองเรือปฏิบัติการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงของกองทัพเรือที่ ๗ สหรัฐฯ
            กองเรือเฉพาะกิจที่ ๙๕  (Task Force 95 : 7F95) มีภารกิจเป็นกองเรือปฏิบัติการปิดอ่าว และคุ้มกันของสหประชาชาติ กองเรือนี้ยังแบ่งออกเป็นหมวดเรือเฉพาะกิจ และหน่วยเรือเฉพาะกิจ
            มส.ขึ้นตรงกับหมวดเรือเฉพาะกิจที่ ๙๕๕ ซึ่งมีภารกิจคุ้มกันการลำเลียง (Frigate Escorts) มส.ได้รับมอบภารกิจให้ปฏิบัติการดังนี้
            ๑ ทำการคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน เรือลำเลียงอมภัณฑ์ และเรือลำเลียงเสบียง และพัสดุในน่านน้ำรอบชายฝั่งเกาหลีเหนือ จากการโจมตีของเรือดำน้ำ และเครื่องบินของฝ่ายข้าศึก
            ๒ ปฏิบัติการร่วมกับกำลังทางเรือสหประชาชาติในการระดมยิงฝั่ง และที่หมายทางทหาร
            ๓ ปฏิบัติการตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ได้แก่การตรวจการณ์ และรักษาด่าน เป็นต้น
การปฏิบัติการของ มส.
            ในระยะแรก ต้องเผชิญอุปสรรคหลายประการ เพราะเรือหลวงประแสและเรือหลวงบางปะกงของไทย เป็นเรือประเภทคอร์เวต ที่ซื้อจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บรรดาอาวุธยุทธภัณฑ์เดินเรือล้วนเป็นแบบอังกฤษ และค่อนข้างล้าสมัย อังกฤษเลิกผลิตทั้งอาวุธ และตัวปืนประจำเรือแล้ว จึงต้องขอเปลี่ยนมาใช้อาวุธของ สหรัฐฯ
            - การปฏิบัติการครั้งแรก ตรวจและรักษาช่องทางเข้าฐานทัพเรือซาเซโบ  เริ่มตั้งแต่ ๔ ธันวาคม ๒๔๙๓ จนถึง ๓ มกราคม ๒๔๙๔ ทำการตรวจการณ์ และรักษาด่าน
            - การปฏิบัติการระดมยิงชายฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือครั้งแรก เริ่ม ๓ มกราคม ๒๔๙๔ โดยได้ระดมยิงชายฝั่งบริเวณเส้น ละติจูดที่ ๓๘ - ๓๙ องศาเหนือ ระหว่างแนวเมืองชังจอน กับเมืองยังยัง วันที่ ๕ และ ๖ มกราคม ๒๔๙๔ ได้ทำการระดมยิงสถานีรถไฟ เส้นทางคมนาคม และสิ่งปลูกสร้างทางทหาร บริเวณเมืองโชโด หลังจากนั้นเรือหลวงประแส และเรือหลวงบางปะกงประสบกัยพายุหิมะหนักตลอดคืน เรดาร์ประจำเรือใช้การไม่ได้ เช้าวันรุ่งขึ้นเรือหลวงประแสได้แล่นไปเกยตื้น ในเขตข้าศึกบริเวณแหลม คิซามุน เหนือเส้นขนานที่ ๓๘ ขึ้นไปประมาณ ๑๖ กิโลเมตร เรือลากจูงของสหรัฐฯ พยายามที่จะลากจูงเรือออกมาหลายวันแต่ไม่สำเร็จ ดังนั้นในวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๙๔ จึงได้รับคำสั่งจากกองทัพเรือให้สละเรือ และอนุมัติให้ทำลายเรือได้ เรือพิฆาตสหรัฐฯ จึงได้ระดมยิงเรือหลวงประแส ประมาณ ๕๐ นัด จนกระทั่งกลายสภาพเป็นเศษเหล็ก
การปฏิบัติการของเรือหลวงบางปะกง
            - การระดมยิงฝั่งเมืองวอนชานครั้งที่ ๑ (๑๖ เมษายน - ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๙๔)  เรือหลวงบางปะกงร่วมกับเรือรบสหรัฐฯ ออกเดินทางจากฐานทัพเรือซาเซโบ ไปยังอ่าววอนชาน เรือหลวงบางปะกงได้ทำการระดมยิง หน่วยปืนใหญ่รักษาฝั่งของข้าศึกบนแหลมกัลมากัก ใช้เวลาปฏิบัติการ ๑๘ วัน (๑๓ พฤษภาคม ได้ทำการผลัดเปลี่ยนกำลังพล ทำเสร็จใน ๑ มิถุนายน ๒๔๙๔)
            - การระดมยิงฝั่งเมืองวอนชานครั้งที่ ๒ (๑๓ - ๑๘ มิถุนายน ๒๔๙๔)  เรือหลวงบางปะกง และเรือฟรีเกต สหรัฐฯ ออกเดินทางจากฐานทัพเรือซาเซโบ ถึงอ่าววอนชาน ได้ระดมยิงที่หมาย หน่วยปืนใหญ่รักษาฝั่งที่ตำบลฮัมจิ กับเส้นทางลำเลียงบริเวณชองดอง การปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับคำชมเชยเป็นอันมาก
            ในเดือนสิงหาคม ๒๔๙๔ กำลังพลประจำเรือ รุ่นที่ ๒ จำนวน ๕๕ คน ได้เข้าผลัดเปลี่ยนรุ่นที่ ๑ ส่วนที่เหลือ
            - การปฏิบัติการที่เมืองวอนชานครั้งที่ ๓ (๓ - ๑๐ กันยายน ๒๔๙๔)  เรือหลวงบางปะกงเดินทางถึงอ่าววอนชาน ได้รับมอบภารกิจเป็นเรือรักษาด่าน วันต่อมาได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติตามแผนการลาดตระเวณ ได้รับคำสั่งให้ยิงที่หมายโดยอิสระ ได้ระดมยิงที่หมายทางรถไฟ และสะพานรถไฟชายฝั่งเมืองชองจิน วันต่อมาทำหน้าที่รักษาด่าน และเข้ายิงที่หมายเส้นทางลำเลียงบริเวณเหนือแหลมโฮโด ปันโด ในอ่าววอนชาน เข้ายิงที่หมายหน่วยปืนใหญ่รักษาฝั่งของข้าศึก บริเวณปลายแหลมโฮโดปันโดในอ่าววอนชาน แล้วออกลาดตระเวณไปยังชองจิน วันต่อมายิงที่หมายทางรถไฟ สถานีรถไฟ สะพานรถไฟ บริเวณชายฝั่งเมืองชองจิน วันต่อมาทำหน้าที่รักษาด่านเขตทิ้งระเบิด และยิงที่หมายบริเวณอ่าววอนชาน
            - การปฏิบัติการที่เมืองวอนชาน ครั้งที่ ๔ (๒๔ ตุลาคม ๒๔๙๔)  ได้ไปปฏิบัติการ ณ เมืองวอนชาน โดยทำการลาดตระเวณฝั่งตะวันออก ขึ้นไปทางเหนือแหลมไฮโดปันโด ป้องกันเรือเล็กข้าศึกลอบเข้าไปวางทุ่นระเบิด หรือทำการลำเลียงทหาร
            - การปฏิบัติการที่เมืองวอนชาน ครั้งที่ ๕ (๑๗ - ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๔)  ทำหน้าที่รักษาด่านเวลากลางคืน และลาดตระเวณเวลากลางวัน
เรือหลวงบางปะกงเดินทางกลับประเทศไทย
            ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๔ เรือหลวงท่าจีน และเรือหลวงประแส (ลำใหม่) เรียกว่า หมู่เรือฟรีเกต (มฟ.) ได้เดินทางมาถึงฐานทัพเรือซาเซโบ กองทัพเรือได้กำหนดให้เรือหลวงบางปะกงพ้นจากหน้าที่ ให้เข้าอู่ซ่อมใหญ่ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากที่ซ่อมเสร็จเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ และได้เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อ ๑๑ มีนาคม ๒๔๙๕
การส่งเรือสีชังกลับประเทศไทย
            เนื่องจากเรือหลวงสีชังมีขนาดเล็ก จึงมิได้ใช้ให้ปฏิบัติการอย่างใด จึงพิจารณาให้เดินทางกลับ กระทรวงกลาโหมเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๙๔ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ ๔ มิถุนายน ๒๔๙๔ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศเจรจากับกองบัญชาการสหประชาชาติ เพื่อขออนุญาตอย่างเป็นทางการต่อไป เรือหลวงสีชังเดินทางถึงประเทศไทยเมื่อ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๙๔
การรับมอบเรือหลวงท่าจีน และเรือหลวงประแส
            รัฐบาลไทยให้กระทรวงการต่างประเทศติดต่อกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเจรจาขอซื้อเรือฟรีเกต ๒ ลำ ซึ่งทางรัฐบาลสหรัฐฯ ยินดีขายให้โดยมีเงื่อนไข ให้ใช้เรือดังกล่าวในการปฏิบัติการรบร่วมกับสหประชาชาติ ในสงครามเกาหลี และให้ทัพเรือสหรัฐฯ ภาคแปซิฟิค (U.S.Pacific Fleet) จัดเรือฟรีเกตประจำการ ๒ ลำ คือเรือ USS Glendale กับเรือ USS Gallup ขายให้ไทย ในราคา ๘๖๑,๙๔๖ เหรียญสหรัฐฯ เรือทั้งสองลำนี้ได้รับพระราชทานชื่อว่า เรือหลวงท่าจีน และเรือหลวงประแส ตามลำดับ
            ๒๐ ตุลาคม ๒๔๙๔ ได้มีพิธีส่ง และรับมอบเรือฟรีเกตทั้งสองลำที่ท่าหมายเลข ๑๒ ฐานทัพเรือโยโกสุกะ โดยมีผู้บัญชาการฐานทัพเรือสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น และเกาหลี ในฐานะผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งมอบให้กับหัวหน้าคณะทูตไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้รับมอบในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย เรือฟรีเกตทั้งสองลำได้ขึ้นระวางประจำการในกองทัพเรือไทยใน ๒๙ ตุลาคม ๒๔๙๔


การปฏิบัติการของเรือหลวงท่าจีน

            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑ (๑๑ - ๒๔ มกราคม ๒๔๙๕)  ออกเดินทางไปปฏิบัติการคุ้มกันเรือลำเลียงพัสดุ และเรือบรรทุกน้ำมัน จากนั้นไปลาดตระเวณหน้าอ่าววอนซาน
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒ (๑๓ - ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๕)  ปฏิบัติการคุ้มกันเรือลำเลียงไปยังเมืองชองจิน ระดมยิงหน่วยปืนใหญ่รักษาฝั่ง คุ้มกันขบวนเรือลำเลียงบริเวณแนวทิ้งระเบิด
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๓ (๑๘ มีนาคม - ๗ เมษายน ๒๔๙๕)  คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ คุ้มกันเรือลำเลียงบริเวณเส้นขนานที่ ๓๘
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๔ (๒๖ เมษายน - ๑ พฤษภาคม ๒๔๙๕)  คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปยังเมืองปูซาน คุ้มกันหน่วยเรือเฉพาะกิจไปบริเวณเกาะอูลลัง
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๕ (๒ - ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๙๕)  คุ้มกันขบวนเรือลำเลียงบริเวณน่านน้ำเมืองซูยอง คุ้มกันหน่วยเรือเฉพาะกิจ ไปบริเวณเกาะอูลลัง คุ้มกันกองเรือใหญ่เข้ารับน้ำมันเชื้อเพลิง จากเรือบรรทุกน้ำมัน
            - การผลัดเปลี่ยนกำลังพลและซ่อมใหญ่
            ๒๒ กรกฎาคม ๒๔๙๕ กำลังพลรุ่นที่ ๒ ชุดที่ ๒ ลงประจำเรือ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๙๕  เรือหลวงท่าจีนเข้าอู่ซ่อม ซ่อมเสร็จ ๒๑ กันยายน ๒๔๙๕ ค่าซ่อม ๓๒,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ
            - การยุบเลิกกองบัญคับการหมู่เรือฟรีเกต
            กองทัพเรือได้มีคำสั่งเมื่อ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๙๕ ให้ยุบเลิกกองบังคับการหมู่เรือฟรีเกต (มฟ.) ให้กำลังพลส่วนหนึ่งเดินทางกลับประเทศไทย
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๖ (๗ - ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕)  คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์ และคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันเดินทางไปชองจิน
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๗ (๑๕ - ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕)  คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์เดินทางไปเมืองโปฮา และไปวอนชาน
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๘ (๒๑ พฤศจิกายน - ๒ ธันวาคม ๒๔๙๕)  คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์
            - การปฏบัติการ ครั้งที่ ๙ (๑๑ - ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๕)  คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๐ (๒๔ ธันวาคม ๒๔๙๕ - ๑๔ มกราคม ๒๔๙๖)  คุ้มกันเรือลำเลียงเดินทางไปบริเวณวอนชาน ซองจิน คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันเดินทางกลับฐานทัพเรือ
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๑ (๒๗ มกราคม - ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖)  คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์ และเรือบรรทุกน้ำมัน
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๒ (๒๔ - ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๖)  คุ้มกันเรือลำเลียงเดินทางไปปฏิบัติการบริเวณเกาะอูลลัง
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๓ (๒๗ กุมภาพันธ์ - ๓ มีนาคม ๒๔๙๖)  คุ้มกันเรือลำเลียงเดินทางไปบริเวณเมืองวอนชาน
            - การผลัดเปลี่ยนกำลังพล กำลังพลรุ่นที่ ๕ ชุดที่ ๑ จำนวน ๒๐๕ คน เดินทางมาถึง และผลัดเปลี่ยนเมื่อ ๑๔ มีนาคม ๒๔๙๖
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๔ - ๑๙ (๒๗ มีนาคม - ๙ ตุลาคม ๒๔๙๖)  ทำหน้าที่คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์ เรือบรรทุกน้ำมันไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ ด้านฝั่งทะเลตะวันออกของเกาหลีเหนือ
            - การเดินทางกลับมาผลัดเปลี่ยนกำลังพลในประเทศไทยครั้งแรก
                หลังจากได้รับอนุมัติจากกองบัญชาการสหประชาชาติแล้ว เรือหลวงท่าจีนซึ่งปฏิบัติการอยู่ในยุทธบริเวณเกือบ ๒ ปี ก็ได้เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๙๖ ถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๙ เดือนเดียวกัน
            เมื่อได้ผลัดเปลี่ยนกำลังพลประจำเรือครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นรุ่นที่ ๖ ชุดที่ ๑ แล้วใน ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ เรือหลวงท่าจีนพร้อมด้วยพลประจำเรือหลวงประแสจำนวนหนึ่ง ออกเดินทางไปยังฐานทัพเรือซาเซโบ
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒๐ - ๒๖ (๓๐ มีนาคม - ๑๐ เมษายน ๒๔๙๗)  ทำหน้าที่คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันให้กับกองเรือในพื้นที่ปฏิบัติการในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
            - การเดินทางกลับมาผลัดเปลี่ยนกำลังพลในประเทศไทย ครั้งที่ ๒ ในเดือนเมษายน ๒๔๙๗ ครบกำหนดการผลัดเปลี่ยนทหารประจำเรือ รุ่นที่ ๖ ชุดที่ ๒ เรือหลวงท่าจีนจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ ผลัดเปลี่ยนกำลังพลชุดที่ ๒ แล้วเดินทางกลับถึงฐานทัพเรือ เซซาโบ เมื่อ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๗
            - การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒๒ - ๒๖ (๖ มิถุนายน - ๔ พฤศจิกายน ๒๔๙๗)  ปฏิบัติการคุ้มกันเรือลำเลียง และบรรทุกน้ำมัน ในเขตน่านน้ำเกาหลีเหนือ และครั้งสุดท้ายคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปยังเมืองอินชอนทางฝั่งตะวันตกของเกาหลีใต้
            รวมเวลาปฏิบัติการทั้งสิ้นของเรือหลวงท่าจีน ๒๒๙ วัน



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |