| ย้อนกลับ |

การปฏิบัติการของเรือหลวงประแส

การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑ - ๖  (๑๑ มกราคม - ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๙๕)
ปฏิบัติการคุ้มกันขบวนเรือลำเลียงที่เดินทางไปยังอ่าววอนชาน และซองจิน
การผลัดเปลี่ยนกำลังพล
            ทหารประจำเรือรุ่นที่ ๔ ชุดที่ ๑ จำนวน ๑๖๓ คน เดินทางมาถึงฐานทัพเรือซาเซโบ เมื่อ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๕ หลังจากที่ได้ดำเนินกรรมวิธีต่าง ๆ แล้วได้ลงประจำเรือ เมื่อ ๑๕ มิถุนายน ๒๔๙๕
การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๗ - ๘ (๕ มิถุนายน - ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๕)
            ปฏิบัติการคุ้มกันขบวนเรือลำเลียงที่บริเวณเกาะอูลลัง อ่าววอนชาน และซองจิน
การผลัดเปลี่ยนกำลังพล
            กำลังพลรุ่นที่ ๒ ชุดที่ ๒ จำนวน ๗๐ คน โดยสารรถไฟจากเมืองโยโกฮามา
การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๙ - ๑๒  (๑๔ พฤษภาคม - ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๕)
            ปฏิบัติการคุ้มกันเรือลำเลียงเดินทางไปอ่าววอนชาน และซองจิน ระดมยิงฝั่งที่หมายรถไฟ ลาดตระเวณ รักษาการณ์ในอ่าววอนชานเหนือเกาะชิน ด้านใต้บริเวณตะวันออกของแหลมกัลมากัก ลาดตระเวณเหนือเกาะอัง เกาะโย เมืองฮุงนำ คุ้มกันเรือลำเลียงอมภัณฑ์
การเข้าอู่ซ่อมที่ฐานทัพเรือโยโกสุกะ
            ใช้เวลาซ่อม ๑๐ สัปดาห์ ค่าซ่อม ๔๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ
การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๓ - ๑๔  (๒๗ กุมภาพันธ์ - ๘ มีนาคม ๒๔๙๖)
            การปฏิบัติการคุ้มกันขบวนเรือลำเลียงไปยังอ่าววอนชาน และคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน
การผลัดเปลี่ยนกำลังพล
            ผู้บังคับการเรือหลวงประแสคนใหม่ พร้อมด้วยกำลังพล รุ่นที่ ๕ ชุดที่ ๑ จำนวน ๒๐๕ คน เดินทางมาผลัดเปลี่ยน แล้วลงประจำเรือ เมื่อ ๑๔ มีนาคม ๒๔๙๖ และรุ่นที่ ๕ ชุดที่ ๒ จำนวน ๒๑๔ คน เดินทางมาถึง เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๔๙๖
การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๑๕ - ๒๒  (๒๗ มีนาคม - ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๖)
            ปฏิบัติการคุ้มกันเรือลำเลียงไปส่งยุทธสัมภาระให้กับเรือรบในพื้นที่ปฏิบัติการ ทางฝั่งทะเลด้านตะวันออกของเกาหลีเหนือ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันเดินทางไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้ หมู่เรือพิฆาต และเรือลาดตระเวณที่กำลังปฏิบัติการอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาหลีเหนือ คุ้มกันขบวนเรือลำเลียงไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิง สรรพาวุธ และพัสดุให้กับกองเรือเฉพาะกิจที่ ๗๗ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ
การเดินทางกลับมาผลัดเปลี่ยนกำลังพลในไทยครั้งแรก
            ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ เรือหลวงประแสออกเดินทางจากฐานทัพเรือซาเซโบ ถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ๙ ธันวาคม ๒๔๙๖ หลังจากผลัดเปลี่ยนกำลังพลประจำเรือส่วนหนึ่งแล้วก็เดินทางกลับไปเกาหลี ถึงฐานทัพเรือซาเซโบเมื่อ ๓ มกราคม ๒๔๙๗
การปฏบัติการ ครั้งที่ ๒๓ - ๒๙  (๙ มกราคม - ๒๐ เมษายน ๒๔๙๗)
            การปฏิบัติการคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมัน และเรือลำเลียงไปปฏิบัติการในน่านน้ำเกาหลีเหนือ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้กองเรือเฉพาะกิจที่ ๗๗ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้เรือรบในพื้นที่ปฏิบัติการ
การเดินทางกลับมาผลัดเปลี่ยนกำลังพลในประเทศไทยครั้งที่ ๒
            เรือหลวงประแสออกเดินทาง เมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๙๗ ถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ๕ กรกฎาคม ๒๔๙๗ ผู้บังคับการเรือคนใหม่เข้ารับหน้าที่ ทหารประจำเรือรุ่นที่ ๖ ชุดที่ ๒ ผลัดเปลี่ยนรับ - ส่งหน้าที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๙๗ ออกเดินทางจากประเทศไทย ถึงฐานทัพเรือซาเซโบ เมื่อ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๗
การปฏิบัติการ ครั้งที่ ๓๐ - ๓๒  (๗ สิงหาคม - ๓๐ กันยายน ๒๔๙๗)
            ปฏิบัติการคุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ให้แก่เรือในพื้นที่ปฏิบัติการ คุ้มกันเรือบรรทุกน้ำมันไปส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้เรือพิฆาตสหรัฐฯ ในน่านน้ำเกาหลีเหนือ
การเดินทางกลับประเทศไทย
            เนื่องจากการเจรจาสงบศึกเป็นที่ตกลงกันได้แล้ว และได้มีการลงนามร่วมกันในความตกลงสงบศึก เมื่อ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๗ สถานการณ์รบในเกาหลีสงบลงมากแล้ว ชาติพันธมิตรหลายชาติที่ไปร่วมรบในสงครามเกาหลี เริ่มถอนกำลังกลับ ประกอบกับในปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๗ สถานการณ์ในอินโดจีนฝรั่งเศสตึงเครียดหนัก มีการสู้รบระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ และมีทีท่าว่าภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ อาจลุกลามถึงประเทศไทยได้ รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายถอนกำลังทหารกลับ โดยได้ปรึกษาหารือกับกองบัญชาการสหประชาชาติ เมื่อได้รับคำยืนยันว่าไม่ขัดข้องแล้ว กระทรวงกลาโหมจึงได้มีคำสั่ง เมื่อ ๖ มกราคม ๒๔๙๘ ให้ถอนทหารบางส่วนกลับประเทศไทย
            สำหรับกำลังทางเรือกำหนดให้ ถอนกำลัง มส.พร้อมด้วยเรือหลวงท่าจีน เรือหลวงประแส และให้เรือหลวงทั้งสองลำ ทำหน้าที่คุ้มกันเรือลำเลียงทหารบกในระหว่างเดินทางกลับด้วย
            วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๙๘ เรือหลวงทั้งสองลำได้อำลากองเรือสหประชาชาติ ออกเดินทางจากฐานทัพเรือซาเซโบ ไปยังเมืองท่าปูซานเพื่อรับเรือสินค้าอิโกะ ซึ่งลำเลียงกำลังพลทหารไทยผลัดที่ ๖ (หย่อน ๑ กองร้อย) แล้วทำการคุ้มกันระหว่างเดินทางกลับประเทศไทย ถึงท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อ ๓๑ มกราคม ๒๔๙๘ จากนั้นกำลังพลได้เดินทางไปร่วมพิธีสวนสนาม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานในพิธี
            หมู่เรือปฏิบัติการร่วมกับสหประชาชาติ (มส.) สิ้นสุดภารกิจ รวมระยะเวลาที่ไปปฏิบัติการ ๔ ปี ๓ เดือน ๑๘ วัน

การปฏิบัติการของทหารอากาศ

            ในขั้นต้น กองทัพอากาศได้พิจารณาที่จะจัดส่งฝูงบินสื่อสาร ไปร่วมปฏิบัติการกับกองบัญชาการสหประชาชาติ แต่ได้ยกเลิกไปและได้ส่งกำลังไปร่วมปฏิบัติการรวม ๒ หน่วย คือ หน่วยพยาบาลทางอากาศ และหน่วยบินลำเลียง


หน่วยพยาบาลทางอากาศ

            กองบัญชาการสหประชาชาติ ได้กำหนดนโยบายการส่งกลับทหารบาดเจ็บ และป่วยไข้ในสงครามเกาหลีไว้ว่า จะได้รับการรักษาพยาบาลขั้นต้น ที่โรงพยาบาลสนามในเกาหลีก่อน ต่อจากนั้นจะส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลทหารต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ในระยะเวลา ๑๒๐ วัน ให้นำกลับไปรักษาต่อที่ประเทศของตน
            ทางการไทยได้รับคำแนะนำจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ ภาคตะวันออกไกล (Fae Eastern Air Force:FEAF) ให้จัดชุดพยาบาลส่งกลับทางอากาศ (Medica Air Evacuation Team) สำหรับดูแลรักษาผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยไข้ในระหว่างการเดินทาง จากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย
            ชุดพยาบาลส่งกลับทางอากาศจัดไว้ ๓ ชุด ๆ ละ ๒ คน โดยส่งไปประจำอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ๒ ชุด อีก ๑ ชุดสำรองอยู่ที่ประเทศไทย ในการนี้กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ใช้เครื่องบินของหน่วยบริการขนส่งทางอากาศสหรัฐฯ (MATS) ในสายที่เรียกว่า Embassy Flight  ซึ่งบินในเส้นทางระหว่าง โตเกียว - โอกินาวา - มะนิลา -ไซ่ง่อน - กรุงเทพฯ - พม่า - กัลกัตตา - นิวเดลี - ไคโร  สำหรับการส่งกลับผู้ป่วยเจ็บได้เดือนละ ๒ เที่ยวบิน ๆ ละไม่เกิน ๖ คน พร้อมด้วยชุดพยาบาลทางอากาศ ๑ ชุด โดยให้เริ่มตั้งแต่เดือน ธันวาคม ๒๔๙๓ เป็นต้นไป
            การปฏิบัติงานมิได้จำกัดต่อทหารไทยเท่านั้น แต่ยังต้องปฏิบัติงานร่วมกับแพทย์และพยาบาลสหรัฐฯ ในการรักษาพยาบาลทหารกองกำลังสหประชาชาติ ระหว่างเดินทางจากเกาหลีใต้ไปยังโรงพยาบาลทหารสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นด้วย ต้องช่วยปฏิบัติงานในหน่วยคัด แยกเพื่อส่งกลับทางอากาศ (Medical Air Evacuation Separation) โดยจัดพยาบาลไปประจำที่สนามบินเพื่อช่วยคัดแยก ผู้ป่วยเจ็บที่มาจากเกาหลีใต้เข้าตามโรงพยาบาลต่าง ๆ
            ชุดพยาบาลทางอากาศ รุ่นที่ ๑ ชุดที่ ๑ และ ๒ ออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๙๓ โดยเครื่องบินของหน่วยบริการขนส่งทางอากาศสหรัฐฯ ไปยังกรุงโตเกียว ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๔ หน่วยนี้ได้ใช้สำนักงานร่วมกับสำนักงานนายทหารติดต่อ ประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ ในกรุงโตเกียว และตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ - ๒๕๑๙ สำนักงานกับที่พักแพทย์พยาบาลทั้งหมดได้ย้ายไปอยู่ในฐานบินตาชิกาวา
การจัดชุดพยาบาลทางอากาศ และการผลัดเปลี่ยน

            ชุดพยาบาลทางอากาศไปปฏิบัติราชการในสงครามเกาหลี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๕๑๙ รวม ๒๙ รุ่น ในห้วงปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๘ ซึ่งมีสถานการณ์รบ และยังคงมีกองกำลังของประเทศพันธมิตรอยู่นั้น หน่วยพยาบาลทางอากาศรุ่นที่ ๑ - ๖ จำนวนเจ้าหน้าที่รุ่นละ ๗ คน แบ่งเป็น ๓ ชุด ๆ ละ ๒ คน ประกอบด้วยแพทย์ ๑ คน พยาบาล ๑ คน และมีแพทย์เป็นหัวหน้าชุดอีก ๑ คน
            หลังจากที่ได้มีการลงนามในความตกลงสงบศึก เมื่อ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๙๖ สถานการณ์รบในเกาหลีสงบลง บรรดาชาติพันธมิตร เริ่มถอนกำลังกลับประเทศตน กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งเมื่อ ๖ มกราคม ๒๔๙๘ ให้ถอนทหารบางส่วนกลับประเทศไทย โดยให้กองทัพอากาศ ถอนเจ้าหน้าที่หน่วยพยาบาลทางอากาศกลับ ให้เหลือกำลังไว้เพียง ๑ ชุด (๓ คน) เพื่อช่วยเหลือทหารบกไทยที่คงอยู่อีก ๑ กองร้อย กับหน่วยบินลำเลียง ดังนั้นการจัดชุดพยาบาลทางอากาศ จึงเป็นดังนี้
            รุ่นที่ ๗ - ๑๕ (พ.ศ. ๒๔๙๘ - ๒๕๐๕) ประกอบด้วย แพทย์ ๒ คน และพยาบาล ๑ คน โดยมีแพทย์คนหนึ่งเป็นหัวหน้าชุดพยาบาลทางอากาศ
            รุ่นที่ ๑๖ - ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๕ - ๒๕๑๖) ประกอบด้วยแพทย์ ๑ คน พยาบาล ๑ คน
            รุ่นที่ ๒๗ - ๒๙ (พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๙) คงเหลือแพทย์ ๑ คน เนื่องจากประเทศไทยได้ถอนกำลังทางบก ๑ กองร้อยกลับ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ คงเหลือกำลัง ๑ หมู่เกียรติยศ และหน่วยบินลำเลียงประจำอยู่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น
            กองทัพอากาศได้กำหนดให้หน่วยพยาบาลทางอากาศรุ่นที่ ๑ - ๓ ปฏิบัติงานในสงครามเกาหลีเป็นเวลา ๑ ปี และตั้งแต่รุ่นที่ ๔ - ๑๓ ได้ลดระยะเวลาลงเหลือ ๖ เดือน รุ่นที่ ๑๔ - ๒๙ เห็นว่าไม่มีสถานการณ์รบ จึงได้กลับมาเป็น ๑ ปีตามเดิม
การปฏิบัติงานของชุดพยาบาลทางอากาศ
            รุ่นที่ ๑ เริ่มปฏิบัติงานครั้งแรกเมื่อ ๑๑ มกราคม ๒๔๙๔ โดยดูแลทหารไทยที่ป่วยเป็นโรคหิมะกัด ๖ คน เดินทางกลับประเทศไทย
           ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - กลางปี พ.ศ. ๒๔๙๖ สถานการณ์ในเกาหลีใต้ยังรุนแรงอยู่ จำนวนทหารบาดเจ็บค่อนข้างสูง การส่งกลับจึงมีบ่อยครั้ง ในรุ่นที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๙๔ ส่งกลับ ๒๕ ครั้ง จำนวน ๘๘ คน รุ่นที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๕ ส่งกลับ ๒๐ ครั้ง จำนวน ๑๑๐ คน และได้ลดลงมาตามลำดับจนไม่มีเลย ในรุ่นหลัง ๆ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๒ - ๒๕๑๙
            ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้ถอนกำลังหน่วยบินลำเลียงกลับ รุ่นที่ ๒๙ เป็นชุดสุดท้าย ได้เดินทางกลับพร้อมหน่วยบินลำเลียง เมื่อ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๙ รวมหน่วยพยาบาลทางอากาศที่ส่งไปปฏิบัติการทั้งสิ้น ๒๙ รุ่น เป็นแพทย์และพยาบาล ๙๔ คน ปฏิบัติงานในประเทศญี่ปุ่น ๒๕ ปี ๘ เดือน ๕ วัน การปฏิบัติงานได้ผลดีมาก ได้รับคำชมเชยจากหน่วยงานด้านเสนารักษ์ของกองทัพสหรัฐฯ มาโดยตลอด


หน่วยบินลำเลียง

            กองทัพอากาศได้จัดเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๔๗ จำนวน ๓ เครื่อง พร้อมด้วยกำลังพล ๑๗ คน ประกอบด้วยหัวหน้าหน่วยซึ่งเป็นนักบิน ๑ คน นักบิน ๘ คน ช่างอากาศ ๔ คน และเจ้าหน้าที่สื่อสาร ๔ คน ตามที่ได้รับคำแนะนำจากคณะที่ปรึกษา และช่วยเหลือทางทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ต่อมาได้พิจารณาเพิ่มอีก ๒ คน รวมเป็น ๑๙ คน คือนายทหารฝ่ายการเงิน ๑ คน และเสมียน ๑ คน
            กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่ง เมื่อ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๙๔ ให้กองทัพอากาศส่งหน่วยบินลำเลียงกับหน่วยพยาบาลทางอากาศไปปฏิบัติการร่วมกับ
กองบัญชาการสหประชาชาติ ตั้งแต่ ๑๘ มิถุนายน ๒๔๙๔ เครื่องบินทั้งสามลำบินตามเส้นทาง กรุงเทพฯ - ตูราน - ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ คลาร์ก (Clark Field) กรุงไทเป - เกาะโอกินาวา - กรุงโตเกียว ถึงกรุงโตเกียว เมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๙๔ ณ ฐานบินตาชิกาวา
    ภารกิจที่ได้รับมอบ มี ๖ ประการด้วยกันคือ
            ๑  การขนส่งทางอากาศ ได้แก่การส่งกลับทหารบาดเจ็บและป่วยไข้ การลำเลียงทหารและพลเรือนระหว่างสนามบินต่าง ๆ ในเกาหลีใต้ และระหว่างสนามบินทหารในญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ การลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ การขนส่งสัมภาระทางอากาศ ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้
            ๒  การบินขนส่งไปรษณีย์สำหรับกองกำลังสหประชาชาติ เป็นประจำทุกสัปดาห์ จัดเที่ยวบินเป็น ๓ สาย
                   สายที่ ๑ เส้นทาง ฐานบินตาชิกาวา - อิตาสุะเกะ - ปูซาน
                   สายที่ ๒ เส้นทาง ฐานบินตาชิกาวา - อิตาสุะเกะ - ฐานบินเช็กชาโดบนเกาะคิวชิว
                   สายที่ ๓ เส้นทาง ฐานบินตาชิกาวา - โอกินาวา - ไทเป - ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ คลาร์ก
            ๓  การบินสนับสนุนการฝึกพลร่มของทหารสหรัฐฯ
            ๔  การขนส่งทหารบกไทย ที่ปฏิบัติการอยู่ในเกาหลีใต้เดินทางไป - กลับ กรุงโตเกียว ตามโครงการพักผ่อน และฟื้นฟูของสหประชาชาติ (R&R)
            ๕  การสนับสนุนนักบินต้นหน และช่างเครื่องไปร่วมปฏิบัติงานกับ เจ้าหน้าที่ในหน่วยบินลำเลียงสหรัฐฯตามที่ได้รับคำสั่ง
            ๖  การบินขนส่งบรรเทาสาธารณภัยให้แก่ทางการญี่ปุ่น เมื่อเกิดภัยธรรมชาติตามที่ได้รับการร้องขอ
การปฏิบัติการของหน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๑
            หน่วยบินลำเลียงของไทยขึ้นการบังคับบัญชาอยู่ในฝูงบินลำเลียงที่ ๒๑ ( ๒๑ st Troop Carrier SQuadron) สังกัดกองบินใหญ่ลำเลียงที่ ๓๗๔ กองบินที่ ๓๑๕ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นฝูงบินลำเลียงเดียวที่ใช้ เครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๔๗ ในสงครามเกาหลี
            ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๙๔ หน่วยบินลำเลียงของไทย ได้เคลื่อนย้ายไปประจำที่ฐานบิน อาชิยา (Ashiya Air Base) เมืองฟูกุโอกะ บนเกาะคิวชิว ห่างจากคาบสมุทรเกาหลีเป็นระยะเวลาบิน ๔๕ นาที
            ๑๘ ตุลาคม ๒๔๙๔ หน่วยบินลำเลียงของไทยย้ายกลับมาประจำอยู่ที่ฐานบินตาชิกาวา เนื่องจากหน่วยเหนือย้ายไปเพื่อให้ปฏิบัติการลำเลียงให้กับหน่วยรับการสนับสนุนในยุทธบริเวณอย่างใกล้ชิด และได้รับภารกิจเพิ่มเติม ๓ ประการคือ
            ๑ การลำเลียงกระสุน และวัตถุระเบิดไปส่งให้ตามฐานบินต่าง ๆ ในเกาหลีใต้
            ๒ การลำเลียงขนส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ จากที่ทำการไปรษณีย์ทหาร จากฐานบินตาชิกาวา ไปส่งตามสนามบินฐานบิน และฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในเกาหลีใต้
            ๓ การตรวจสอบสภาพสนามบินในญี่ปุ่น และสมรภูมิเกาหลี เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
            ๒ พฤษภาคม ๒๔๙๕ กำลังพลชุดที่ ๒ ได้เดินทางไปผลัดเปลี่ยน โดยทำการผลัดเปลี่ยนเป็น ๒ รุ่น การผลัดเปลี่ยน รุ่นที่ ๒ เสร็จในกลางเดือนมิถุนายน ๒๔๙๕
            สถิติการปฏิบัติงานของ ชุดที่ ๑ ตั้งแต่ สิงหาคม ๒๔๙๔ ถึงกลางเดือนมิถุนายน ๒๔๙๕ มีการปฏิบัติการ ๔๐๐ เที่ยวบิน ผู้โดยสาร ๑,๐๔๓ คน ผู้ป่วย ๓๖๐ คน น้ำหนักบรรทุก ๑,๕๗๕,๐๐๐ ปอนด์
การปฏิบัติการของหน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๒

            หน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๒ ยังคงได้รับมอบภารกิจในการบินลำเลียง ระหว่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ กับระหว่างสนามบินต่าง ๆ ในญี่ปุ่นทุกสัปดาห์ เช่นเดียวกับชุดที่ ๑ สนามบินบางแห่งในทะเลเหลือง อยู่นอกฝั่งเกาหลีเป็นระยะทางบินประมาณ ๑ ชั่วโมง มีข้อจำกัดในการบินคือต้องบินระยะสูงเพียง ๑๐๐ - ๒๐๐ ฟุตเท่านั้น เพื่อมิให้เรดาร์ข้าศึกจับได้ สนามบินบางแห่งไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการบิน บางแห่งต้องลงบนชายหาดที่มีทรายแข็ง และขึ้นอยู่กับน้ำทะเลขึ้นลง
            ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๕ สถานีวิทยุกระจายเสียงของกองทัพสหรัฐฯ ภาคตะวันออกไกลได้ออกกระจายเสียง รายงานข่าวการปฏิบัติการของกองกำลังชาติต่าง ๆ ในสงครามเกาหลีเผยแพร่ไปทั่วโลก ได้ประกาศชมเชยการปฏิบัติงานของหน่วยบินลำเลียงไทยว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งการบินลำเลียงทางอากาศ (Airlift) และการบินส่งกลับทางอากาศ (Air Evacuation) จำนวนหลายร้อยเที่ยวบิน นับเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของหน่วยบิน และกองทัพอากาศไทยให้ปรากฏแก่ประชาคมโลก
            นอกจากนี้ผู้บังคับหน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๒ ได้รับเชิญให้ไปพูดออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง ในกรุงโตเกียว เกี่ยวกับหน่วยบินลำเลียงของไทย กับได้ส่งเรื่องของหน่วยบินลำเลียง การปฏิบัติงานพร้อมภาพไปลงหนังสือพิมพ์ และวารสารต่าง ๆ เป็นประจำ
            เจ้าหน้าที่หน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๓ ได้เดินทางไปรับหน้าที่เสร็จสิ้นเมื่อเดือน กัยยายน ๒๔๙๖ เดินทางกลับถึงประเทศไทย เมื่อ ๙ ตุลาคม ๒๔๙๖ รวมระยะเวลาปฏิบัติงาน ๑ ปี ๓ เดือน มีสถิติการปฏิบัติงาน ดังนี้
            จำนวนเที่ยวบิน ๕๘๐ เที่ยวบิน ขนส่งผู้โดยสารทหาร ๑,๓๒๕ คน พลเรือน ๔๒๐ คน น้ำหนักบรรทุก ๑,๗๓๒,๖๐๐ ปอนด์
            หน่วยบินลำเลียงไทยได้รับแพรแถบเชิดชูเกียรติคุณหน่วยของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ จากการที่กองพลบินที่ ๓๑๕ สหรัฐฯ ได้รับเกียรติอันนี้ และได้มีคำสั่งทั่วไปเมื่อ ๖ เมษายน ๒๔๙๗ ยืนยันให้เจ้าหน้าที่หน่วยบินลำเลียงไทย ซึ่งปฏิบัติงานในสงครามเกาหลีในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว มีสิทธิ์ประดับแพรแถบเชิดชูเกียรติในฐานะหน่วยขึ้นสมทบกองพลบินที่ ๓๑๕ สหรัฐฯ
การปฏิบัติการของหน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๓
            การเดินทางของหน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๓ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกจำนวน ๑๖ คน ส่วนที่ ๒ จำนวน ๑๒ คน การเดินทางวันแรกจะไปพักค้างคืนที่ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ คลาร์ก ที่ฟิลิปปินส์ ๑ คืน รุ่งขึ้นจึงเดินทางไปถึงกรุงโตเกียว
            ตั้งแต่เดือน สิงหาคม ๒๔๙๖ เป็นต้นมา การรบในคาบสมุทรเกาหลีสงบลง เนื่องจากทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในความตกลงสงบศึกแล้ว ภารกิจของหน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๓ จึงลดลงด้วย เหลือเพียงการบินลำเลียงขนส่งทางอากาศเป็นประจำสัปดาห์ละ ๑-๒ เที่ยว ส่วนใหญ่เป็นการบินลำเลียงขนส่งสิ่งอุปกรณ์ และสัมภาระระหว่างญี่ปุ่นกับ เกาหลีใต้ โดยเฉพาะการบินลำเลียงระหว่างฐานบินตาชิกาวา กับสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ บนเกาะเซจู ปลายคาบสมุทรเกาหลี ใช้เวลาเดินทางไป - กลับ ๓ วัน โดยแวะที่ฐานบินอิตาสุเกะ เกาะคิวชิว การบินจากฐานบินตาชิกาวาไปยังฐานบินอิตาสุเกะต้องใช้เวลาเดินทาง ๖ - ๗ ชั่วโมง แล้วบินข้ามทะเลญี่ปุ่นอีกประมาณ ๒ ชั่วโมง
            ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๗ ผู้บังคับการกองบินใหญ่ที่ ๓๗๔ สหรัฐฯ ได้มีหนังสือชมเชยผลการปฏิบัติงานของ หน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๓ และมอบธงเชิดชูเกียรติการบินปลอดภัย (Wing Flying Safety Pennent) ประจำเดือน พฤษภาคม ๒๔๙๗ ให้แก่หน่วยบินลำเลียง
            ๖ มกราคม ๒๔๙๘ กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้ถอนทหารบางส่วนกลับประเทศไทย ในส่วนของกองทัพอากาศถอนหน่วยเจ้าหน้าที่พยาบาลทางทหารกลับ ให้เหลือไว้เพียง ๑ ชุด หน่วยบินลำเลียงไม่เปลี่ยนแปลง
การปฏิบัติการของหน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๔ - ๑๗

            ชุดที่ ๔  ออกเดินทางจากประเทศไทยเมื่อ ๓ ตุลาคม ๒๔๙๗ รับหน้าที่เมื่อ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ การปฏิบัติงานคงได้รับมอบภารกิจเช่นเดียวกับชุดก่อน ๆ
            ชุดที่ ๕  รับมอบหน้าที่เมื่อ กลางเดือน ธันวาคม  ๒๔๙๘
            ชุดที่ ๖  รับมอบหน้าที่เมื่อ กลางเดือน ธันวาคม ๒๔๙๙ กองพลบินที่ ๓๑๕ สหรัฐฯ ได้ให้หน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๖ ไปขึ้นสมทบกับฝูงบินปฏิบัติการที่ ๖๔๘๕ กองบินใหญ่ ลำเลียงที่ ๓๗๔ สหรัฐฯ และได้ย้ายที่ทำการของหน่วยบินจากอาคารกองบังคับการกองบินน้อยบริการฐานบินที่ ๓๗๔ สหรัฐฯ ไปอยู่ที่อาคารโรงภาพยนตร์ของฐานบินคาชิการา
            ชุดที่ ๗  รับมอบหน้าที่เมื่อต้นเดือนมกราคม ๒๕๐๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ นี้กองทัพอากาศได้ฝากการบังคับบัญชาหน่วยพยาบาลทางอากาศ ไว้กับหน่วยบินลำเลียง ในเดือนเมษายน ๒๕๐๑ กองทัพอากาศได้รายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอระงับการจัดส่งกำลังทางอากาศไปร่วมปฏิบัติงานกับ สหประชาชาติต่อไป กับขอถอนกำลังหน่วยบินลำเลียง และหน่วยพยาบาลทางอากาศกลับในเดือน ธันวาคม ๒๕๐๑ แต่ทางสหรัฐฯ ขอให้อยู่ต่อไป
            ชุดที่ ๘  รับมอบหน้าที่เมื่อต้นเดือน มกราคม ๒๕๐๒ ได้ส่งเครื่องบินเข้าซ่อมใหญ่ (IRAN) ที่เมืองไทนัม บนเกาะไต้หวัน กองทัพอากาศได้พิจารณาการผลัดเปลี่ยนเจ้าหน้าที่หน่วยบินลำเลียงเป็น ชุดละ ๒ ผลัด โดดเริ่มตั้งแต่ชุดที่ ๙ เป็นต้นไป แต่ละชุดห่างกัน ๖ เดือน
            ชุดที่ ๙  ผลัดที่ ๑ รับมอบหน้าที่เมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๐๓ ผลัดที่ ๒ รับมอบหน้าที่เมื่อ มิถุนายน ๒๕๐๓ ต่อมาเพื่อสะดวกและประหยัดแก่การ รับ-ส่ง ทางเครื่องบินของกำลังพลที่ไปผลัดเปลี่ยน จึงได้มีการปรับแผนการผลัดเปลี่ยนใหญ่ตั้งแต่ชุดที่ ๑๐ เป็นต้นไป โดยให้เครื่องบินมาส่ง และรับในวงรอบเดียวกัน
            ชุดที่ ๑๐  ผลัดแรกรับมอบหน้าที่เมื่อ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๐๓ ผลัดที่สองรับมอบหน้าที่เมื่อ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๐๔
            ชุดที่ ๑๑  ผลัดแรกและผลัดที่สอง รับมอบหน้าที่ เมื่อเดือน มกราคม และกรกฎาคม ตามลำดับ
            ชุดที่ ๑๒  ผลัดแรกรับมอบหน้าที่ เมื่อ ๓ มีนาคม ๒๕๐๖ ผลัดที่สองเมื่อต้นเดือน ตุลาคม ๒๕๐๖ ในเดือนมีนาคม ๒๕๐๗ กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้กองพลบินที่ ๓๑๕ สหรัฐฯ โอนเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๔๗ ของกองพลจำนวน ๒ เครื่อง ที่ได้รับอนุมัติให้จำหน่ายจากบัญชีคุมแล้ว ให้กับหน่วยบินลำเลียงของไทย โดยแลกเปลี่ยนกับเครื่องบินแบบเดียวกัน ๒ เครื่องของหน่วยบินลำเลียง
            ชุดที่ ๑๓  ผลัดแรกรับมอบหน้าที่เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๗ และผลัดที่ ๒ เมื่อต้นเดือนตุลาคม ๒๕๐๗
            ชุดที่ ๑๔  ผลัดแรกรับมอบหน้าที่เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ และผลัดที่ ๒ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๗
           ชุดที่ ๑๕  ผลัดแรกรับมอบหน้าที่เมื่อ ๙ พฤษภาคม ๒๕๐๙ และผลัดที่ ๒  เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๐๘
            ชุดที่ ๑๖  ผลัดแรกรับมอบหน้าที่เมื่อ กลางเดือนเมษายน ๒๕๑๐ และผลัดที่ ๒ เมื่อต้นเดือนตุลาคม ๒๕๑๐
            ชุดที่ ๑๗  ผลัดแรกรับมอบหน้าที่เมื่อ ต้นเดือนเมษายน ๒๕๑๑ และผลัดที่ ๒ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๑
            ทางการสหรัฐฯ ได้ตกลงใจมอบเครื่องบิน C - ๑๒๓ B จำนวน ๒ เครื่องให้แก่กองทัพอากาศไทย โดยให้กองทัพอากาศที่ ๕ สหรัฐฯ ดำเนินการ ได้รับมอบเมื่อ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ ที่ฐานบินตาชิกาวา
การปฏิบัติการของหน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๑๘ - ๒๔

            ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ กองทัพอากาศได้ปรับปรุงอัตราหน่วยบินจาก ๒๐ คน เป็น ๒๕ คน เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานกับเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๑๒๓ B จำนวน ๒ เครื่อง ที่ได้รับมอบจากกองทัพอากาศสหรัฐฯ อัตรานี้ใช้กับชุดที่ ๑๘ และ ๑๙ เท่านั้น ต่อมาเมื่อได้รวบรวมหน่วยพยาบาลทางอากาศเข้าไว้ด้วย จึงมีจำนวนเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นเป็น ๒๗ คน และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้ลดลงเหลือ ๒๕ คน โดยลดและเพิ่มอัตราต่าง ๆ ให้เหมาะสม
            หน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๑๘ ยังขึ้นสมทบกับฝูงบินปฏิบัติการ ๖๔๘๕ กองบินใหญ่ลำเลียงที่ ๓๗๔ กองพลบินที่ ๓๑๕ สหรัฐฯ ตามเดิม แต่ตั้งแต่หน่วยบินที่ ๑๙ เป็นต้นมา กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงการจัดกำลังในกองทัพอากาศที่ ๕ สหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ในประเทศญี่ปุ่น สำหรับการปฏิบัติการในเกาหลีใหม่ จึงให้หน่วยบินลำเลียงของไทยไปขึ้นการบังคับบัญชา สายธุรการของกองบัญชาการสหประชาชาติส่วนหลัง และอยู่ในความควบคุมทางยุทธการของ กองบินใหญ่ขับไล่ทางยุทธวิธีที่ ๓๔๗ สหรัฐฯ (๓๔๗ th Tactical Wing) มีที่ตั้งอยู่ที่ฐานบินโยโกตะ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของฐานบินตาชิกาวาห่างออกไปประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ส่วนงานด้านธุรการ และส่งกำลังบำรุงให้ขึ้นกับกองบินใหญ่บริการฐานบินที่ ๔๗๕ สหรัฐฯ (๔๗๕ th Air Base Wing)
            ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๓ - ๒๕๑๙ ชาติพันธมิตรที่ปฏิบัติการอยู่ในกองกำลังสหประชาชาติในสงครามเกาหลี คงเหลือเพียง ๓ ชาติ คือ สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และไทยเท่านั้น หน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๑๘ - ๒๔ ยังคงได้รับมอบภารกิจให้ปฏิบัติการบินลำเลียงขนส่งทางอากาศ ระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เป็นครั้งคราว แต่ลดจำนวนเที่ยวบินลงจากเดิมเป็นจำนวนมาก
            ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๘ รัฐบาลไทยมีนโยบายให้ถอนกำลังหน่วยบินลำเลียงกลับประเทศไทย สถานการณ์ทางการเมืองของญี่ปุ่นต้องการเร่งรัดให้กองกำลังทหารต่างชาติ ถอนตัวออกไปจากญี่ปุ่น กองทัพอากาศจึงได้รายงานขออนุมัติ ถอนหน่วยบินลำเลียงกลับ
            กระทรวงกลาโหมอนุมัติตามที่กองทัพอากาศเสนอ และให้หน่วยบินลำเลียงชุดที่ ๒๔ เดินทางกลับประเทศไทย เมื่อ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๑๙ โดยได้นำเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๑๒๓ B จำนวน ๒ เครื่อง พร้อมเจ้าหน้าที่ ๒๔ คน เดินทางออกจากสนามบินโยโกตะ แวะพักที่สนามบิน คาดินา ในเกาะโอกินาวา สนามบินมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ สนามบินบรูไน ประเทศบรูไน สนามบินเซเลดาร์ ประเทศสิงคโปร์ ถึงท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๑๙


การปฏิบัติของหน่วยบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทย

            หลังจากเกิดสงครามเกาหลีขึ้น นายเดลเวอรลี ผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการในต่างประเทศขององค์การ อาสากาชาดสหรัฐฯ ได้มีหนังสือ ลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๙๓ ทูลพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏพงษบริพัตร อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทยว่า การที่ประเทศไทยจะส่งทหารไปร่วมรบกับกองทัพสหประชาชาติใน ประเทศเกาหลีนั้น ถ้าสภากาชาดไทยยังไม่พร้อมที่จะทำหน้าที่ในการช่วยทหารที่จะไปรบแล้ว องค์การอาสากาชาดสหรัฐฯ จะรับหน้าที่แทนไปก่อน จนกว่าสภากาชาดไทยจะดำเนินการได้เอง
            อุปนายกสภากาชาดไทย ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๙๓ ขอส่งหน่วยพยาบาลไปช่วยในสงครามเกาหลี จากการประสานงานในเวลาต่อมา สภากาชาดไทยตกลงจัดเจ้าหน้าที่ จากกองบรรเทาทุกข์และอนามัย จำนวน ๒๐ คน ประกอบด้วยแพทย์ ๕ คน นางพยาบาล ๘ คน และบุรุษพยาบาล ๗ คน เป็นหน่วยบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทย ไปร่วมในสงครามเกาหลี หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ ร่วมเดินทางไปกับคณะผู้สำรวจทางทหารฝ่ายไทยด้วย ได้พบกับนายแพทย์ใหญ่ ประจำกองบัญชาการสหประชาชาติ ได้ข้อยุติให้บรรจุหน่วยบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทยเข้าไว้ใน กองบัญชาการสหประชาชาติ เพื่อให้ทำหน้าที่รักษาพยาบาล และบำรุงขวัญแก่ทหารไทยที่อาจจะต้องเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาล ของกองบัญชาการสหประชาชาติ ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและในประเทศเกาหลีใต้ต่อไป
            เจ้าหน้าที่หน่วยบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทย ที่ไปร่วมในสงครามเกาหลีกำหนดให้ใช้เครื่องแบบทำนองเดียวกับทหาร แต่ไม่มีการประดับเครื่องหมายยศ คงประดับแต่เครื่องหมายสภากาชาดไทย และเครื่องหมาย Thailand ที่ต้นแขนเสื้อเครื่องแบบเท่านั้น สำหรับสิทธิต่าง ๆ คณะรัฐมนตรีลงมติอนุมัติให้ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับทหาร
เจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์บรรเทาทุกข์สภากาชาดไทยรุ่นที่ ๑ - ๔
          รุ่นที่ ๑  จำนวน ๒๐ คน ส่วนที่ ๑ ออกเดินทางเมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๓ โดยเรือหลวงสีชัง พร้อมกับกองกำลังทางบก ถึงเมืองปูซาน เกาหลีใต้เมื่อ  ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ ส่วนที่ ๒ เดินทางโดยเครื่องบิน เมื่อ ๒๗ ตุลาคม ๒๔๙๓ ถึงกรุงโตเกียวเมื่อ ๒๘ ตุลาคม ๒๔๙๓
            หน่วยบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทยได้ปฏิบัติงาน อยู่ในความควบคุมดูแลของ Chief Surgeon โรงพยาบาลส่งกลับที่ ๘๐๕๔ สหรัฐฯ ส่วนนางพยาบาลอีก ๘ คน ปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาลกองทัพบก สหรัฐฯ ที่กรุงโตเกียว (Tokyo Army Hospital)
          รุ่นที่ ๒  จำนวน ๑๙ คน โดยได้รับการจัดบุรุษพยาบาล แล้วจัดนางพยาบาลแทน กลุ่มที่ ๑ ออกเดินทางเมื่อ ๙ กรกฎาคม ๒๔๙๔ กลุ่มที่ ๒ ออกเดินทางเมื่อ ๒๘ สิงหาคม ๒๔๙๔
          รุ่นที่ ๓  จำนวน ๑๓ คน โดยลดจำนวนแพทย์ลงเหลือเพียง ๒ คน และพยาบาล ๑๑ คน กลุ่มที่ ๑ ออกเดินทางเมื่อ ๔ มิถุนายน ๒๔๙๕ กลุ่มที่ ๒ ออกเดินทางเมื่อ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๙๕
         รุ่นที่ ๔  จำนวน ๑๕ คน เป็นแพทย์ ๒ คน และพยาบาล ๑๓ คน กลุ่มที่ ๑ ออกเดินทางเมื่อ ๑๑ มีนาคม ๒๔๙๖ กลุ่มที่ ๒ ออกเดินทางเมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๙๖
การปฏิบัติงาน

            โรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานได้แก่
            ๔๙ th General Hospital หรือ Tokyo Army Hospital กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เริ่มปฏิบัติงานเมื่อ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๓ อีกแห่ง
            ๘๐๕๔ th Station Holpital เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี เริ่มปฏิบัติงานเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๓
            ๘๑๖๒ nd Station Hospital เมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เริ่มปฏิบัติงานเมื่อ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๔
            ๘๐๐๙ th Station Hospital เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เริ่มปฏิบัติงานเมื่อ ๑๑ สิงหาคม ๒๔๙๔
            งานที่ปฏิบัติ ได้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งในโรงพยาบาล ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้นจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลกองทัพสหรัฐฯ นั้น ๆ
            นางพยาบาลในหน่วยบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทย ได้ปฏิบัติงานอย่างได้ผล และมีประสิทธิภาพ จนได้รับคำชมเชยเป็นประจำ
            ในด้านการบังคับบัญชา ได้มีคำสั่งกระทรวงกลาโหมรับฝาก หน่วยบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทยไว้ให้อยู่ในความปกครองดูแล เพื่อช่วยเหลือเหมือนหน่วยทหารในบังคับบัญชา แต่ไม่ให้ขัดกับหลักการของสภากาชาดสากล ตามที่สภากาชาดไทยได้มีหนังสือฝากมา
            ตลอดระยะเวลา ๓ ปี ที่ปฏิบัติงานในสงครามเกาหลี หน่วยบรรเทาทุกข์สภากาชาดไทย ได้ปฏิบัติงานโดยไม่มีการสูญเสียกำลังพล ทุกคนปฏิบัติงานด้วยความเข้มแข็งอดทนเสียสละ มีความสำนึกสูงในหน้าที่ ีที่รับผิดชอบ และปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ปรากฏตามคำชมเชยที่ได้รับ จากผู้บังคับบัญชาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ได้ไปร่วมปฏิบัติงานเป็นประจำ


| ย้อนกลับ | บน |