| หน้าแรก | ชาติ | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | ย้อนกลับ |

ความสัมพันธ์หลังสงครามโลก ครั้งที่สอง

            ความกังวลร่วมกันในเรื่องการขยายอำนาจของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐ ฯ กับรัฐบาลไทยที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี กระชับขึ้น จอมพล ป. มีความวิตกเกี่ยวกับกลุ่มคนจีนจำนวนมากในเมืองไทย และเริ่มดำเนินนโยบายจำกัดการเข้าเมือง และยังหันไปพึ่งความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตก ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ จอมพล ป.ได้บอกกับผู้สื่อข่าวนิวยอร์คไทมส์ว่า มีความตั้งใจจะเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจตะวันตก ถ้าเมืองไทยถูกรุกราน จะต่อสู้จนสุดกำลัง แม้ว่าจีนจะสนับสนุนผู้รุกรานก็ตาม ประชาชนไทยยอมรับการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ หรือการถูกต่างชาติเข้ามาครอบครองไม่ได้
            กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ฯ หวนกลับไปดำเนินการวางนโยบายใหม่ในเอเซียโดยมุ่งที่จะกำจัดอำนาจของจีน ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียต แต่สหรัฐ ฯ ก็ระวังที่จะไม่ผูกมัดตนเองว่าจะป้องกันประเทศบนผืนแผ่นดินใหญ่ของเอเซีย นายดัน แอชิสัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ฯ ได้แถลงเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๓ ว่า ขอบเขตในเอเซียที่สหรัฐ ฯ จะปกป้องมีเพียงญี่ปุ่น เกาะริวคิว และพิลิปปินส์เท่านั้น เขากล่าวต่อไปว่าถ้าประเทศเช่นเมืองไทยถูกบุกรุก ก็ต้องตอบโต้ป้องกันตนเอง แล้วจึงขอความช่วยเหลือจากสหประชาชาติ
            สหรัฐ ฯ ได้ส่งทูตพิเศษมาหาข้อมูลในเอเซีย และได้มาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๓ เพื่อหารือกับนาย เอ็ดวิน เอฟ.สแตนตัน เอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯ ประจำประเทศไทย (อัครราชทูตสหรัฐ ฯ ได้เลื่อนฐานะเป็นเอกอัครราชทูต เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๙๐) และนักการทูตอเมริกันอื่น ๆ ที่ประจำอยู่ในภูมิภาคนี้ทั้งหมดมีความเห็นว่าสหรัฐ ฯ จะต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ และเทคนิคแก่ประเทศในเอเซียเพื่อการพัฒนา และช่วยเหลือทางด้านการทหารเพื่อให้มีความมั่นคงพอที่จะต่อต้านการรุกราน หรือการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์
            เพื่อดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว คณะผู้แทนพิเศษอีกชุดหนึ่งได้เดินทางมาศึกษาความต้องการทางเศรษฐกิจของไทย ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๙๓ พบว่าการพัฒนาด้านการเกษตร สาธารณสุข คมนาคม การฝึกหัดอบรมด้านเทคนิค และการศึกษามีความสำคัญเป็นอันดับแรก ได้มีการลงนามในความตกลงแลกเปลี่ยนทางการศึกษา และในความตกลงช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และเทคนิค ในเดือนกรกฎาคม และกันยายนตามลำดับในปีเดียวกัน

            การเกิดสงครามเกาหลีเมื่อเดือน มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๓ ทำให้มีความช่วยเหลือทางทหารมีความเร่งด่วนยิ่งขึ้น ผู้นำไทยได้คล้อยตามนโยบายของสหรัฐ ฯ ด้วยการรับรองรัฐบาลเบาได๋ในเวียดนาม ซึ่งฝรั่งเศสเป็นผู้แต่งตั้ง ได้ประกาศว่าจะส่งข้าว ๒๐,๐๐๐ ตัน และทหาร ๔,๐๐๐ คน ไปช่วยเหลือสหประชาชาติในสงครามเกาหลี และในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน สหรัฐ ฯ ก็ได้ลงนามในความตกลงช่วยเหลือทางทหาร โดยจะจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ และการฝึกอบรมให้แก่กองทัพไทย ความช่วยเหลือดังกล่าวมีมูลค่า ๔.๕ ล้านเหรียญในปี พ.ศ.๒๔๙๔  ๑๒ ล้านเหรียญในปี พ.ศ.๒๔๙๕ และ ๕๖ ล้านเหรียญในปี พ.ศ.๒๔๖๙
            ตามข้อตกลงช่วยเหลือทางเทคนิค โครงการสำคัญโครงการหนึ่งคือโครงการตั้งกรมการข้าวจะฝึกอบรมให้การศึกษาด้านการเพาะพันธุ์ข้าวโดยมีนักการเกษตร จากมหาวิทยาลัยคอร์แนลเป็นหัวหน้า ดำเนินการอยู่ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๓ - ๒๕๐๐ ได้มีการนำตัวอย่างข้าวจากทั่วประเทศ ๒๐๐,๐๐๐ ชนิดมาทดสอบ และเลือกพันธุ์ที่ดีที่สุด ๖ ชนิด เมื่อถึงปี พ.ศ.๒๕๐๓ ได้แจกจ่ายพันธุ์ข้าวนี้ไปอย่างกว้างขวางพอที่จะเพิ่มผลผลิตของประเทศได้ถึง ร้อยละ ๖ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ พันธุ์ข้าวดังกล่าวก็ได้แพร่ขยายไปถึง ประมาณร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดของประเทศ ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ ๑๕

            ในด้านการสาธารณสุขด้วยความช่วยเหลือจากสหรัฐ ฯ การรณรงค์เพื่อกำจัดไข้มาเลเรีย มีผลทำให้อัตราการตายจากโรคนี้ลดลงมาถึงครึ่งในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๓ - ๒๔๙๗ นอกจากนั้นในการปรับปรุงบริการอนามัย พบว่าในปี พ.ศ.๒๔๙๘ มีโรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกจังหวัด จากเดิมซึ่งมีอยู่เพียง ๒๐ แห่ง
            ด้านการคมนาคม สหรัฐ ฯ ได้ช่วยเหลือบูรณะระบบรถไฟของไทย ที่ได้รับความเสียหายระหว่างสงครามโดยออกแบบและสร้างโรงซ่อมสามโรง ส่งพนักงานรถไฟไปฝึกอบรมในสหรัฐ ฯ และระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๘ - ๒๕๐๐ ได้สนับสนุนการก่อสร้างทางรถไฟจากจังหวัดอุดรธานี ไปจังหวัดหนองคาย นอกจากนั้นในการปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพ ฯ สหรัฐ ฯ ได้มอบเรือขุดแมนฮัตตัน เพื่อใช้ในการลอกสันดอนและร่องแม่น้ำเจ้าพระยา

            ด้านการศึกษา จัดทำโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย อินเดียนา และวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐ ฯ ใช้เวลา ๘ ปี ทำให้การฝึกหัดครูของไทยก้าวหน้าไปมาก คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา ๓๐ คน มาประจำอยู่ในประเทศไทยในฐานะที่ปรึกษา และนักวิชาการศึกษาไทย ๑๕๐ คน เดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐ ฯ ทางด้านอาชีวศึกษามีโครงการร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเวย์น และวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ฯ ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๙ - ๒๕๐๓ และยังได้รับความช่วยเหลือด้านพัฒนาอาชีวศึกษาระดับโรงเรียนมัธยม จากมหาวิทยาลัยฮาวาย นอกจากนี้ทุนการศึกษาจากมูลนิธิฟูลไบรท์ ที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างไทยกับสหรัฐ ฯ จำนวนนักเรียนไทยที่ไปศึกาในสหรัฐ ฯ เริ่มเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จากจำนวนร้อยในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๗ - ๒๕๐๗ จนถึงประมาณปีละ ๓,๐๐๐ ในปี พ.ศ.๒๕๒๕
            ความช่วยเหลือนอกเหนือจากด้านการทหาร เพิ่มขึ้นจากจำนวนไม่ถึง ๑๐ ล้านเหรียญในปี พ.ศ.๒๔๙๖ มาเป็นประมาณปีละ ๒๕ ล้านเหรียญ ในช่วงสามสี่ปีต่อมา สำหรับเหตุผลในความช่วยเหลือของสหรัฐ ฯ ประธานาธิบดี แฮรี เอส.ทรูแมน ได้ชี้แจงในสาส์นถึงสภาคองเกรส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ ว่า
            "วัตถุประสงค์แท้จริงของสหรัฐ ฯ ในการดำเนินนโยบายในประเทศไทย ก็เพื่อช่วยรัฐบาลอันเป็นพันธมิตรให้สามารถรักษาเสถียรภาพไว้ได้ เนื่องจากประเทศนี้ได้แสดงตนอย่างแน่ชัดแล้วว่าเป็นฝ่ายโลกเสรี ทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากกองกำลังคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน และมีอาณาเขตติดต่อกับดินแดนอินโดจีน และพม่า ซึ่งอยู่ในภาวะปั่นป่วนขณะนี้อีกด้วย ยิ่งกว่านั้นประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ผลิต และส่งออกข้าวมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง หลายประเทศในโลกเสรีจำเป็นต้องพึ่งข้าวจากประเทศไทย และยังเป็นแหล่งวัตถุดิบอันมีความสำคัญยิ่งหลายชนิด"
ชาวอเมริกันในเมืองไทย
            หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา จำนวนชาวอเมริกันที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ การดำเนินการตามข้อตกลงทั้งทางเทคนิค และทางทหาร ทำให้จำนวนเจ้าหน้าที่อเมริกันเพิ่มมากขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙ มีคนอเมริกันเพียง ๒๐ คน ในปี ๒๔๙๕ เพิ่มขึ้นเป็น ๒๐๐ คน และได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
            ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ กลุ่มนักธุรกิจอเมริกันในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้นประมาณ ๖๐ คน จึงได้มีการก่อตั้งหอการค้าอเมริกันขึ้น ชาวอเมริกันในไทยได้รวมกันเป็นสมาคม เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ ในการชุมนุมบางครั้งมีผู้มาร่วมงานกว่า ๒๐๐ คน
            มูลนิธิเอกชนของอเมริกันก็มีบทบาทอยู่ในเมืองไทยในขณะนั้น มูลนิธิเอเซียเปิดสำนักงานที่กรุงเทพ ฯ ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้าง และสนับสนุนสถาบันต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชน มูลนิธินี้สนับสนุนโครงการพัฒนาชนบท พัฒนาชุมชนในเมือง และพัฒนาบุคคลากรในด้านต่าง ๆ
            ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯ ได้เสนอให้ความช่วยเหลือในการก่อตั้งสถานสอนภาษาขึ้นในกรุงเทพ ฯ สมาคมนักเรียนเก่าอเมริกัน (American University Alumni Association - AUAA ) ตกลงที่จะเป็นผู้อุปถัมภ์สถานสอนภาษาของทั้งสองประเทศนี้ เพื่อสอนทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ และให้ข่าวสารเกี่ยวกับประเทศทั้งสอง ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่รับผลกำไร ไม่แบ่งแยกลัทธิและไม่ฝักไฝ่การเมือง สถาบันใหม่แห่งนี้มีชื่อว่า โรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เอ ยู เอ และด้วยความความช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐ ฯ สมาคมนักเรียนเก่าอเมริกาได้สร้างห้องเรียนขึ้น ณ ที่ทำการเก่า พระราชวังสราญรมย์ ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันที่ถนนราชดำริ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ จากข้อมูลในปี พ.ศ.๒๕๒๕ มีคนไทยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน เข้ารับการศึกษาภาษาอังกฤษ จาก เอยูเอ ทั้งที่กรุงเทพ ฯ และที่สาขาต่างจังหวัด และมีชาวต่างประเทศอีกประมาณ ๕,๐๐๐ คนได้รับการศึกษาภาษาไทย จาก เอยูเอด้วย บทเรียนภาษาไทยของ เอยูเอ ถูกนำไปใช้สอนตามมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลก สถานสอนภาษาแห่งนี้ยังขยายกิจกรรม ด้านการศึกษา และวัฒนธรรมออกไปอย่างกว้างขวาง
องค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (องค์การ ส.ป.อ.)
            ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นต้นมา สหรัฐ ฯ ได้ให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่ฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านขบวนการโฮจิมินห์ในเวียดนาม เมื่อประธานาธิบดี ไอเซนเฮาว์ ได้เป็นประธานาธิบดีอเมริกาในปี พ.ศ.๒๔๙๖ รัฐบาลอเมริกันได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเซียอย่างเข้มแข็ง และได้ร่วมกับรัฐบาลไทยแสดงความไม่พอใจเมื่อฝรั่งเศสเริ่มหาทางที่จะเจรจาตกลง กับฝ่ายตรงข้ามในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ไอเซนเฮาว์ ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า ประเทศในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เปรียบเหมือนตัวโดมิโน ถ้าตัวหนึ่งล้มตัวอื่นก็จะล้มตามไปด้วย
            นาย จอห์น  ฟอสเตอร์ ดัลเลส รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ฯ ได้ชักชวนประเทศในเอเซียที่มิได้เป็นคอมมิวนิสต์ รวมตัวกันเพื่อป้องกันประเทศ เขาได้แสดงนโยบาย สหรัฐ ฯ ในด้านนี้ให้ชัดโดยหวังว่าจะช่วยให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ไม่กล้ารุกรานอีกต่อไป ประเทศไทย และฟิลิปปินส์ แสดงความกระตือรือร้น ที่จะเข้าร่วมในการรวมตัวของพันธมิตรกลุ่มใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นทางการที่กรุงมนิลาในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๙๗ ปากีสถาน อังกฤษ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหรัฐ ฯ ก็ได้เข้าร่วมด้วย
            การก่อตั้งรัฐบาลของประชาชนไทยอิสระ ในมณฑลยูนนาน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖ ทำให้รัฐบาลไทยวิตก จึงได้พยายามผลักดันให้มีการทำสัญญาที่หนักแน่น ได้เรียกร้องให้ตั้งองค์การที่คล้ายคลึงกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติคเหนือ ซึ่งระบุว่าเมื่อสมาชิกประเทศหนึ่งประเทศใดถูกรุกราน จะถือเป็นการรุกรานประเทศทั้งหมด เรื่องนี้ประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสหรัฐ ฯ ไม่เห็นด้วยที่จะให้สัญญาผูกมัดเช่นนั้น ในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าในกรณีที่มีการรุกรานประเทศอื่นจะหารือกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือโดยให้เป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ
            สิ่งที่วิตกกังวลเป็นพิเศษคือ อนาคตของประเทศที่ยังมิได้เป็นคอมมิวนิสต์สามประเทศในอินโดจีน ในขณะนั้นคือ ลาว กัมพูชา และเวียดนามใต้ ซึ่งถือว่าเป็นเขตกันกระทบที่สำคัญยิ่ง สนธิสัญญามะนิลาได้เพิ่มขอบเขตในการปกป้องประเทศดังกล่าว โดยยอมให้มีการเข้าไปขัดขวางร่วมกันได้ในกรณีที่ประเทศที่ลงนามในสัญญาเห็นพ้องต้องกันเป็นเอกฉันท์ว่าควรจะดำเนินการดังนั้น และประเทศที่บุกรุกร้องขอความช่วยเหลือ
            สนธิสัญญานี้ได้นำไปสู่การก่อตั้งองค์การซีโต้ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพ ฯ นายพจน์  สารสิน นักการทูตไทยได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการคนแรก องค์การซีโต้นอกจากการช่วยเหลือทางด้านความมั่นคงแล้ว ยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา และวัฒนธรรม และได้จัดตั้งบัญฑิตวิทยาลัยสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งต่อมากลายเป็นสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ( เอ.ไอ.ที.)


            ความช่วยเหลือจากสหรัฐ ฯ ในรูปของงบประมาณสร้างทาง และสนามบินมีมาอย่างต่อเนื่อง โครงการสร้างทางหลวงสายแรก ใช้งบประมาณความช่วยเหลือจากอเมริกัน ๑๓.๖ ล้านเหรียญ เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.๒๔๙๗ สร้างเสร็จเปิดใช้เป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ชื่อถนนมิตรภาพ ได้ช่วยย่นระยะทางจากกรุงเทพ ฯ ไปนครราชสีมา ซึ่งตามเส้นทางเดิมยาว ๔๐๐ กิโลเมตร เหลือเพียง ๒๕๐ กิโลเมตร ในการก่อสร้างถนนสายนี้คนงานไทยประมาณ ๑,๕๐๐ คนได้เรียนรู้วิธีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ รวมทั้งการเชื่อม และตลอดจนเทคนิคการก่อสร้าง
            โครงการพัฒนาสนามบิน เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ สนามบินที่นครราชสีมา ตาคลี อุดรธานี พิษณุโลก เชียงใหม่ ภูเก็ต และดอนเมือง ได้รับอุปกรณ์สื่อสารแบบใหม่ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการให้สัญญาณ
            ประมาณครึ่งหนึ่งของความช่วยเหลือทางเทคนิคจากสหรัฐ ฯ เป็นโครงการคมนาคมขนส่ง ซึ่งดำเนินการในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๗ - ๒๕๐๓ แม้ว่าไทยจะเน้นในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของประเทศเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ถนนและสนามบินใหม่ ๆ ก็มีผลในการพัฒนาเศรษฐกิจ อันเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยในสมัยที่ จอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญมาก ได้มีการตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งได้วางแผนพัฒนาหกปีแรก เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔
            ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ ได้มีโครงการจัดตั้งสถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ อันเป็นโครงการร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอินเดียนา เป็นโครงการบัณฑิตวิทยาลัย ได้รับเงินช่วยเหลือ ๒ ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในระยะเวลา ๙ ปี ส่งคนไทยไปฝึกอบรมในสหรัฐ ฯ ๔๑ คน และนำอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา ๔๐ คน มาสอนที่กรุงเทพ ฯ สถาบันนี้ต่อมาได้กลายเป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีฐานะเป็นบัณฑิตวิทยาลัยอิสระ


            ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยือนสหรัฐ ฯ เป็นทางการ สหรัฐ ฯ ได้ถวายการต้อนรับอย่างสมเกียรติ เนื่องจากพระองค์ทรงพระราชสมภพ ที่รัฐแมสซาชุเซตส์ ในขณะที่สมเด็จพระราชบิดาทรงศึกษาวิชาแพทย์อยู่ ณ ที่นั้น ดังนั้นการเสด็จเยือนสหรัฐ ฯ ครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนการคืนสู่เหย้า และในโอกาสที่เสด็จไปสภาคองเกรส ได้ทรงมีพระราชดำรัสชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ ฯ พระราชดำรัสนี้โด่งดังเป็นที่กล่าวขวัญกันมาก นับว่าเป็นพระราชดำรัสประวัติศาสตร์ ที่ประทับใจผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง ตอนหนึ่งพระองค์ทรงกล่าวว่า " นับตั้งแต่เริ่มสัมพันธภาพระหว่างประเทศของเราทั้งสอง จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่เกิดข้อขัดแย้งใด ๆ ที่จะมาทำลายสัมพันธไมตรี และความเข้าใจอันดีต่อกันเลย ตรงกันข้ามกับมีความปรารถนาดี และความร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างประเทศของเราเป็นลำดับมา...ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อเป็นการแสดงให้โลกเห็นว่าเรามีวัตถุประสงค์ และความมั่นใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศทั้งสอง "
วิกฤติการณ์ในลาว


            ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๐๔ จอห์น เอฟ.เคนเนดี ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ สถานการณ์ในลาวกำลังยุ่งยาก และเลวลง และแม้จะได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐ ฯ กองทัพลาวก็ยังไม่สามารถต่อสู้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์ได้
            การที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบต่อสถานการณ์ดังกล่าว และเกรงว่าถ้ามีรัฐบาลผสมในลาว อำนาจควบคุมรัฐบาลจะตกอยู่กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ไทยจึงขอให้องค์การซีโตเข้าไปจัดการในนามของกลุ่มประเทศที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่อังกฤษและฝรั่งเศสอยากให้ลาวมีรัฐบาลเป็นกลาง สหรัฐ ฯ ก็เห็นด้วย โดยวิธีตกลงกันในที่ประชุมนานาชาติ แต่กระนั้นยังมีความจำเป็นต้องขู่ว่าจะใช้วิธีการทหารเพื่อบีบบังคับให้กองกำลังคอมมิวนิสต์ ที่กำลังเคลื่อนเข้ามายอมหยุดยิง และเพื่อแสดงว่าอเมริกันเอาจริง ประธานาธิบดีเคนเนดี จึงส่งกองกำลังนาวิกโยธินที่ใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นพาหนะ จำนวน ๕๐๐ คน มายังฐานทัพอุดรธานี และสั่งให้กองกำลังนาวิกโยธินอื่น ๆ ในภาคพื้นแปซิฟิคเตรียมพร้อม หลังจากเหตุการณ์ในลาวตึงเครียดอยู่สี่สัปดาห์ ฝ่ายลาวจึงเริ่มเจรจาที่เจนีวา
            สหรัฐ ฯ ได้ส่งรองประธานาธิบดี ลินคอน บี. จอห์นสัน มาเยือนภูมิภาคนี้ ในการแถลงข่าวที่กรุงเทพ ฯ รองประธานาธิบดี จอห์น สัน และจอมพลสฤษดิ์ ฯ ไม่ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในลาวโดยตรง แต่ตั้งข้อสังเกตว่า " สหรัฐ ฯ มุ่งมั่นที่จะทำตามข้อตกลงในสัญญาว่า จะสนับสนุนประเทศไทยในการป้องกันการแทรกแซง และการรุกรานจากคอมมิวนิสต์


            ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ หลังจากได้มีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องรัฐบาลผสมในลาว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ฯ ได้เชิญนายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ไปวอชิงตันเพื่อหารือกับนาย ดีนรัสก์ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ฯ และประธานาธิบดีเคนเนดี หลังจากที่นายรอเบิต เคมเนดี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ ฯ มาเยือนกรุงเทพ ฯ ในที่สุดได้มีแถลงการณ์ร่วมของ นายถนัด  คอมันตร์ และนายดีนรัส เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๕ มีความว่า
            "สหรัฐ ฯ ถือว่าการรักษาเอกราช และบูรณภาพของประเทศไทย เป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อผลได้ผลเสียของสหรัฐ ฯ และต่อสันติภาพของโลก"
            แถลงการณ์นี้ชี้ชัดว่าพันธของอเมริกา ตามข้อตกลงมะนิลาที่ว่าจะตอบโต้การรุกรานอันอาจจะเกิดขึ้นต่อไทย ตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญนั้น หมายความว่าอเมริกันจะตอบโต้ทั้งตามลำพัง และร่วมมือกับประเทศอื่น


            อย่างไรก็ดี ฝ่ายต่าง ๆ ที่ขัดแย้งในลาวตกลงกันไม่ได้ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม จนกระทั่งเกิดวิกฤติการณ์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งฝ่ายอเมริกันต้องแสดงแสนยานุภาพในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ทหารบก ทหารอากาศ และทหารนาวิกโยธิน กว่าง ๕,๐๐๐ คน ได้เข้ามาในประเทศไทย แต่ได้ถอนกลับออกไปในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน
บทบาทร่วมกันของไทย และสหรัฐ ฯ ในอินโดจีน


            สหรัฐ ฯ ได้เพิ่มความพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลเวียดนามใต้ รัฐบาลไทยได้ตอบสนองคำร้องขอของสหรัฐ ฯ ด้วยการเปิดสนามบินหลายแห่งให้เครื่องบิน และทหารอเมริกัน เครื่องบินไอพ่นรุ่นแรกมาถึงเมืองไทยในปี พ.ศ.๒๕๐๗ และในปลายปีนั้น ก็มีเครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐ ฯ ๗๕ เครื่อง และทหารสหรัฐ ฯ ๖,๓๐๐ คน อยู่ในไทย การโจมตีเวียดนามเหนือทางอากาศจากฐานทัพในประเทศไทย เริ่มขึ้นหลังจากที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์โจมตีค่ายทหารอเมริกันที่เมืองเปลกู ในเวียดนามใต้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๘ ต่อมาเมื่อการรบทางอากาศรุนแรงขึ้น จำนวนทหารอเมริกันในเมืองไทยก็เพิ่มมากขึ้น จนมีเครื่องบิน ๖๐๐ เครื่อง และมีกำลังทหาร ๔๕,๐๐๐ คน ในปี พ.ศ.๒๕๑๑
            ข้อตกลงให้สหรัฐ ฯ ใช้ฐานทัพในประเทศไทยเป็นข้อตกลงด้วยวาจา และตกลงกันในการเจรจา ระหว่าง จอมพล ถนอม  กิตติขจร กับเจ้าหน้าที่อเมริกัน รัฐบาลไทยสงวนสิทธิที่จะควบคุมฐานทัพ และอุปกรณ์ทางทหารทั้งหมด ส่วนเอกอัครราชทูตสหรัฐ ฯ เกรแฮม มาร์ติน มีอำนาจสั่งการปฏิบัติทางการทหารจากฐานทัพเท่านั้น นายมาร์ตินยอมรับการมีฐานทัพในไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๑๐


            สงครามเวียดนามทวีความรุนแรงขึ้น ไทยได้ส่งทหาร ๑๒,๐๐๐ คน ไปร่วมรบในกองทัพพันธมิตรในการตอบโต้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ สหรัฐ ฯ ได้จัดสรรงบประมาณถึง ๒๐๐ ล้านเหรียญ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่กองกำลังดังกล่าว ส่วนการช่วยเหลือทางทหารที่ให้กับไทยก็สูงขึ้นมาก คือ ๗๕ ล้านเหรียญในปี พ.ศ.๒๕๑๑ นอกจากนั้นในระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๘-๒๕๑๒ รัฐบาลสหรัฐ ฯ ได้ใช้เงินจำนวน ๓๗๐ ล้านเหรียญ เพื่อปรับปรุงฐานทัพไทยที่ให้ทหารอเมริกันใช้เป็นฐานทัพ
            ความช่วยเหลือในด้านอื่น ๆ ที่มิใช่ด้านการทหารก็ได้เพิ่มขึ้นถึง ๖๐ ล้านเหรียญในปี พ.ศ.๒๕๐๙ หน่วยงานบริหารความช่วยเหลือของสหรัฐ ฯ หรือยูซอม (USOM - Uniitd State Operation Mission) ได้ขยายใหญ่ขึ้น จนมีเจ้าหน้าที่อเมริกันถึง ๕๑๑ คน และฝ่ายไทย ๖๓๔ คน มีการคำนวนจากวุฒิสภาสหรัฐ ฯ ว่า รัฐบาลสหรัฐ ฯ ได้ลงทุนในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๒ - ๒๕๑๒ เป็นเงินถึง ๒,๒๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ
            ความช่วยเหลือของสหรัฐ ฯ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๓ - ๒๕๑๓ ส่วนใหญ่เป็นไปในด้านช่วยรัฐบาลไทยในการต่อสู้กับการแทรกแซงของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เป็นโครงการที่เน้นมาตรการส่งเสริมความมั่นคงของชาติ และใช้เป็นงบประมาณสำหรับงานเร่งรัดพัฒนาชนบทของรัฐบาลไทย โครงการพัฒนาชนบทได้แก่การปรับปรุงเกี่ยวกับเรื่องน้ำ และการคมนาคมในหมู่บ้าน การปศุสัตว์ และบริการด้านสุขภาพอนามัย
            ในห้วงเวลาเดียวกันนั้น ได้เริ่มมีการรณรงค์ร่วมกันเพื่อสกัดกั้นการลักลอบนำเฮโรอีนจากสามเหลี่ยมทองคำผ่านกรุงเทพ ฯ ไปยังสหรัฐ ฯ และประเทศตะวันตกอื่น ๆ โดยมีแนวปฏิบัติอยู่สามด้านคือ ฝึกและจัดหาอุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ป้องกันและรักษาการเสพติดให้โทษในประเทศไทย และช่วยเหลือสนับสนุนการปลูกพืชทดแทนตามโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
การแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม


          หน่วยสันติภาพของสหรัฐ ฯ ซึ่งประธานาธิบดีเคนเนดี เป็นผู้ริเริ่มได้นำหนุ่มสาวอเมริกัน ที่มีอุดมการณ์มาสู่ประเทศไทย เป็นจำนวนมาก อาสาสมัครจำนวนหลายพันคนเหล่านี้ตั้งความหวังว่าจะได้ใช้ความรู้ และทักษะที่ตนมีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ได้ไปทำงานอยู่ทั่วทุกแห่งในประเทศไทย เพื่อช่วยงานในด้านการศึกษา การเกษตร สาธารณสุข และโครงการอื่น ๆ โครงการนี้ได้มีส่วนช่วยสังคมไทยมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี


            ยังมีกลุ่มที่มุ่งประโยชน์ทางการศึกษาอีกสองกลุ่ม เริ่มดำเนินการในสมัยที่ จอมพล สฤษดิ์ ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี คือ โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษานานาชาติ เอ.เอฟ.เอส. ซึ่งเริ่มแลกเปลี่ยนนักเรียนระดับมัธยมปลาย ระหว่างไทยกับ สหรัฐ ฯ ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ โดยได้มีการคัดเลือกนักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ไปใช้ชีวิตในสหรัฐ ฯ เป็นเวลาหนึ่งปี ในห้วงเวลา ๒๐ ปี จากนั้นจนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๕ มีนักเรียนไทยไปสหรัฐ ฯ ตามโครงการนี้ประมาณ ๑,๔๐๐ คน และนักเรียนอเมริกามาเมืองไทยประมาณ ๑,๐๐๐ คน


            ในปีเดียวกัน ได้มีนายทหารอเมริกันกับเพื่อนนายทหารไทยได้เริ่มโครงการช่วยการศึกษาในชนบท ด้วยการจัดตั้งมูลนิธิมิตรภาพ ได้ทำการหาทุนก่อสร้างอาคารเรียนให้โรงเรียนในชนบทได้ ๒๒๙ โรงเรียน ในเกือบทุกจังหวัด พร้อมกันนั้นได้จัดหาอุปกรณ์การศึกษาสำหรับนักเรียนอีกด้วย นอกจากนั้นยังมีการมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนดี เข้าศึกษาในระดับอาชีวะศึกษา หรือโรงเรียนฝึกหัดครู
            มูลนิธิฟอร์ด ได้ตั้งสำนักงานในกรุงเทพ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ กิจกรรมในระยะแรกมุ่งช่วยเหลือการวางแผนบุคคลากร สำหรับหน่วยงานของรัฐ แต่ต่อมาได้เบนความช่วยเหลือไปยังสถาบันฝึกอบรม และวิจัยระดับชาติ มูลนิธิได้สนับสนุนการวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน และปัญหาความเป็นธรรมในสังคม และยังให้ทุนเพื่อกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริม และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย


            ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ นักโบราณคดีอเมริกันได้ร่วมมือกับกรมศิลปากรในการขุดค้นที่ จังหวัดขอนแก่น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ได้มีการพบชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่อำเภอบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งประมาณว่ามีอายุระหว่าง ๖,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ ปี การค้นพบทางโบราณคดีครั้งนี้กระตุ้นให้นักวิชาการหันมาสนใจประวัติศาสตร์ของภาคพื้นนี้เป็นอย่างมาก ความสัมพันธ์ในระดับผู้นำประเทศ
ความสัมพันธ์ในระดับผู้นำประเทศ


            ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ รองประธานาธิบดี ฮิวเบิต ฮัมฟรีย์ ได้เดินทางมาประเทศไทย และในปีเดียวกันนี้ ประธานาธิบดี ลินคอน บี.จอห์นสัน ก็เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ คนแรกที่มาเยือนประเทศไทย ในงานพระราชทานเลี้ยงที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ประธานาธิบดี จอห์นสันได้ได้กล่าวถวายพระพร และในโอกาสนั้นได้กล่าวว่า "ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประวัติความเป็นเอกราช และอิสระภาพยาวนานกว่าสหรัฐ ฯ ...แท้จริงแล้วไทยและสหรัฐ ฯ
กำลังเดินอยู่บนเส้นทางเดียวกัน เราพบกันบนถนนซึ่งจุดหมายปลายทางคือ สันติภาพ และอิสระภาพของประชาชาติทั้งมวล เราชาวอเมริกันภูมิใจที่ได้เดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่าน ผู้ซึ่งได้ออกเดินทางบนถนนสายนี้มาก่อนเรา... เราทราบดีถึงภยันตรายที่เราทั้งสอง จะต้องเผชิญแต่เรามีความเชื่อมั่น และจุดมุ่งหมายเดียวกัน..."
            เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๙ เอกอัครราชทูต มาร์ติน และรัฐมนตรี ถนัด ฯ ได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยมิตรภาพ และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการปรับปรุงสนธิสัญญา พ.ศ.๒๔๘๐ และเป็นวันครบรอบ ๑๑๐ ปี ของสนธิสัญญา ทาวน์เซนต์ แฮริส พ.ศ.๒๓๙๙
            การมาเยือนของประธานาธิบดีจอห์นสัน และสนธิสัญญาใหม่นี้เป็นเสมือนสัญญลักษณ์ของความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างประเทศทั้งสอง
ระยะของการปรับตัว
            เมื่อสหรัฐ ฯ ได้ถอนทหารออกไปจากอินโดจีน และดำเนินนโยบาย  เพื่อเปิดความสัมพันธ์กับปักกิ่งนั้น ประเทศไทยก็เริ่มทบทวนนโยบายต่างประเทศใหม่ หลังจากที่ข้อตกลงสันติภาพที่กรุงปารีสเริ่มมีผลในเดือน มกราคม พ.ศ.๒๕๑๖ ซึ่งเป็นการยุติสงครามในเวียดนามอย่างเป็นทางการ คนไทยจำนวนมากได้เรียกร้องให้กองกำลังสหรัฐ ฯ ถอนออกไปจากประเทศไทย ด้วยเหตุผลว่าสงครามเวียดนามได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใด ที่จะมีกองกำลังต่างชาติอยู่ในประเทศไทย และใช้ดินแดนไทย เพื่อปฏิบัติการทางทหาร เพราะจะทำให้ไทยเข้าไปมีส่วนพัวพันอยู่ในสงครามด้วย
            เมื่อสหรัฐ ฯ พยายามช่วยลูกเรือของเรือสินค้ามายาเกซ จากเขมรแดงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๘ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ ฯ ตกต่ำลงอย่างมาก เพราะนาวิกโยธิน และเครื่องบินสหรัฐ ฯ เข้ามาใช้ฐานทัพในไทยโดยมิได้ขออนุญาตก่อนล่วงหน้า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช นายกรัฐมนตรีได้เรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันกลับเพื่อเป็นการประท้วง และแจ้งต่อรัฐบาลสหรัฐ ฯ ซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่าให้ถอนกำลังทหารออกไปให้หมด ภายในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ สหรัฐ ฯ ได้ถอนทหารออกไปตามนั้น คงเหลือแต่หน่วยจัสแม็กไว้ จำนวนบุคคลากรที่เป็นทหารของหน่วยนี้ได้ลดลงอย่างมาก จาก ๒๐๓ คนในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เหลืออยู่เพียง ๓๐ คนในปี พ.ศ.๒๕๒๓
เข้าสู่ยุคใหม่


            เมื่อกองทหารเวียดนามกว่าสองแสนคน เข้าไปครอบครองกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒ ประเทศไทยประสบปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างหนักมีผู้ลี้ภัยชาวลาว กัมพูชา และเวียดนามนับแสนคนลี้ภัยออกจากประเทศของตน ในกลางปี พ.ศ.๒๕๒๕ ประเทศไทยได้ให้ที่พักพิงอาศัยแก่ผู้ลี้ภัยเกือบ หกแสนคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัย จากอินโดจีนทั้งหมดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘ หลังจากที่เวียดนามโจมตีกัมพูชาระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๑ ถึง มกราคม พ.ศ.๒๕๒๒ จำนวนผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัว รัฐบาลไทยอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว และหันไปขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ สหรัฐ ฯ และอีกหลายประเทศสนองคำขอร้องนี้ด้วยดี สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติดำเนินการบรรเทาทุกข์ โดยมีสหรัฐ ฯ รับผิดชอบช่วยออกค่าใช้จ่ายประมาณหนึ่งในสามของทั้งหมด รัฐบาลสหรัฐ ฯ ใด้จัดงบประมาณจำนวน ๒๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพื่อสมทบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งเป็นเงิน ๖๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ในการดำเนินโครงการนานาชาติ เพื่อบรรเทาทุกข์ทางอาหารสำหรับผู้ที่ประสบภัย ดังกล่าว
            สหรัฐ ฯ เป็นประเทศผู้นำในการรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย จำนวนมากไปอยู่ในประเทศไทย ในจำนวนผู้ลี้ภัย ๕๘๓,๐๓๒ คน ที่เข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๑๘ จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๕ นั้น มีจำนวน ๒๖๖,๑๖๑ คน ได้ไปอยู่ในสหรัฐ ฯ
            จากการที่มีค่ายผู้ลี้ภัยชาวเขมรขนาดใหญ่ในเขตแดนไทย ซึ่งติดกับสนามรบระหว่างเขมรแดง และกองทัพเวียดนาม รัฐบาลไทยเห็นว่าเป็นอันตราย พลเอก เกรียงศักดิ์  ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีไทยได้รับคำมั่นจาก ประธานาธิบดีคาร์เตอร์ ระหว่างเยือนวอชิงตัน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๒ ว่า สหรัฐ ฯ ยังคงรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับไทย ตามสัญญามะนิลา และแถลงการณ์ร่วม ถนัด - รัสก์ พลเอกเกรียงศักดิ์ ฯ ยินดีรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ และทางทหารจากสหรัฐ ฯ
ความช่วยเหลือทางด้าน เทคนิค และการค้า


            ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๔ พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้พบกับประธานาธิบดีโรแนลด์ เรแกน ที่ทำเนียบขาว พลเอกเปรม ฯ ได้แสดงความสนใจที่จะชักชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐ ฯ มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เรื่องนี้ตรงกับแนวนโยบายของประธานาธิบดีเรแกน ดังนั้น เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๒๕ คณะสำรวจบรรยากาศการลงทุน จากหน่วยงานสหรัฐ ฯ เพื่อพัฒนาชาติได้เดินทางมาประเทศไทย เพื่อศึกษาช่องทางในการลงทุน และกำจัดอุปสรรคในด้านนี้ และได้ช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยร่างโครงการส่งเสริมการลงทุน


| หน้าแรก | ชาติ | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | ย้อนกลับ | บน |