| ย้อนกลับ |

หน่วยบินวิคตอรี

            คณะรัฐมนตรีได้ลงมติรับหลักการ ให้ความช่วยเหลือทางทหาร แก่รัฐบาลเวียดนามใต้ เมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๐๗ และอนุมัติให้กองทัพอากาศจัดส่งนักบิน และช่างอากาศจำนวน ๑๖ คน ไปปฏิบัติการบินลำเลียงด้วยเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๔๗ ร่วมกับฝูงบินลำเลียงที่ ๔๑๓ กองบินน้อยที่ ๓๓ เวียดนามใต้ และต่อมาได้ย้ายไปร่วมปฏิบัติการร่วมกับฝูงบินลำเลียงที่ ๔๑๕ เวียดนามใต้
            กองทัพอากาศจึงได้จัดตั้งหน่วยบินลำเลียง โดยใช้นามรหัสหน่วยว่า หน่วยบินวิคตอรี (Victory Wing Unit)  มีนาวาอากาศตรี ไพโรจน์ สุกุมลจันทร์ เป็นผู้บังคับหน่วยคนแรก หน่วยบินวิคตอรี ออกเดินทางโดยเครื่องบินกองทัพอากาศ ออกจากประเทศไทย เมื่อ ๑๔ กันยายน ๒๕๐๗ นับเป็นหน่วยทหารไทยหน่วยแรก ที่ไปปฏิบัติการในเวียดนามใต้
            ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๙ อนุมัติหลักการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่เวียดนามใต้ และมีมติให้กองทัพอากาศจัดส่ง เครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๑๒๓ จำนวน ๒ เครื่องที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ มอบให้ไปกับหน่วยบินวิคตอรี กับให้จัดนักบิน และช่างอากาศสำหรับปฏิบัติการบินกับเครื่องบิน กับเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๔๗ ต่อไป สำหรับเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๑๒๓ ได้เริ่มปฏิบัติการ เมื่อ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๐๙ โดยขึ้นในความควบคุมทางยุทธการของกองบินใหญ่ลำเลียงทางอากาศยุทธวิธีที่ ๓๑๕ สหรัฐฯ (๓๑๕th Air tactical Airlift Wing)
            หน่วยบินวิคตอรี  มีกำลังพลตามอัตรา ๕๔ คน ในรอบปีจะมีการผลัดเปลี่ยน ๓ ครั้ง ในเดือนเมษายน สิงหาคม และธันวาคม นับตั้งแต่เดือน กันยายน ๒๕๐๗ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๑๔ มีการผลัดเปลี่ยน ๗ ชุด ๆ ละ ๓ ผลัด
            หน่วยบินวิคตอรีตั้งอยู่ที่ฐานทัพอากาศตันซอนนุทในกรุงไซ่ง่อน และแบ่งออกเป็น ๒ ชุด เจ้าหน้าที่ และเครื่องบินแบบ C - ๔๗ ขึ้นในความควบคุมทางยุทธการของฝูงบินลำเลียงที่ ๔๑๕ ของเวียดนามใต้ ส่วนเจ้าหน้าที่และเครื่องบินแบบ C - ๑๒๓ ขึ้นในความควบคุมทางยุทธการของฝูงบินสนับสนุนทางยุทธวิธีที่ ๑๙  ของสหรัฐฯ
ภารกิจและพื้นที่ปฏิบัติการ

            หน่วยบินวิคตอรีได้รับมอบภารกิจในการบินลำเลียงทหาร การส่งทางอากาศ (Airborne) การเคลื่อนย้ายทางอากาศ (Air Movement) ตลอดจนการส่งกำลังบำรุงทั้งปวง ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำขอเพื่อบินไปยังสนามบินที่กำหนด การส่งกลับ (Evacuation) ตลอดจนลำเลียงเสบียงอาหารไปส่งให้หน่วยทหาร ปฏิบัติการบินลาดตระเวนหาข่าว หรือภาพถ่ายทางอากาศ
            พื้นที่ปฏิบัติการกระจายไปทั่วเวียดนามใต้ ตั้งแต่เส้นขนานที่ ๑๗ ลงมาจนถึงแหลมคาเมาหรือแหลมญวน รวมไปถึงเกาะต่าง ๆ ในทะเลซึ่งอยู่ในเขตน่านน้ำเวียดนามใต้
การปฏิบัติการ
            หน่วยบินวิคตอรีแบ่งชุดบินออกเป็น ๒ ชุดคือ ชุดบินกลางวัน และชุดบินกลางคืน
            ชุดบินกลางวัน  ส่วนมากจะปฏิบัติการก่อนรุ่งเช้า บินไปยังสนามบินหรือตำบลต่าง ๆ ที่กำหนด เช่น ฐานทัพอากาศฟานรัง ญาตรัง หรือเบียนหว่า เป็นการบินลำเลียงทหาร การเคลื่อนย้ายทางอากาศ การส่งกำลังทางอากาศ ตลอดจนการส่งกำลังบำรุงทั้งปวง การส่งกลับ การปฏิบัติการด้านอิเลคทรอนิคส์ บางครั้งเป็นการลาดตระเวนหาข่าว หรือถ่ายภาพทางอากาศ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ในการยิงคุ้มกัน ให้แก่กำลังภาคพื้นดิน หรือยิงทำลายที่หมายทางพื้นดิน ปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน เช่น การลำเลียงพลเรือนอพยพ และผู้ลี้ภัย โดยใช้เครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๔๗ เป็นหลัก ชุดบินกลางวันจะปฏิบัติงานตลอดทั้งวัน จนกระทั่งค่ำหรือทัศนวิสัยไม่ดี จึงกลับที่ตั้งประจำที่สนามบินตันซอนนุท
            ชุดบินกลางคืน  รับหน้าที่ต่อจากชุดบินกลางวันต่อไปตลอดคืน โดยบินไปเหนือเมืองหรือตำบลต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในคำสั่งหรือคำขอ เพื่อทิ้งพลุส่องสว่างแก่หน่วยตามภาคพื้นดินขณะปฏิบัติการรบ นอกจากนี้ยังต้องบินลาดตระเวนติดอาวุธอีกด้วย สำหรับเจ้าหน้าที่ชุดนี้จัดบินสำหรับเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๔๗ เท่านั้น
            การปฏิบัติของหน่วยบินวิคตอรี เป็นการปฏิบัติที่เสี่ยงอันตรายมาก ในชุดกลางวันไม่ได้ติดอาวุธใด ๆ คงติดอาวุธเฉพาะชุดบินกลางคืนเท่านั้น เมื่อต้องปฏิบัติการส่งกำลังทางอากาศ หรือทิ้งสิ่งของทางอากาศ ในพื้นที่บางแห่งที่จะต้องทิ้งลงขณะที่บินในระดับต่ำ เนื่องจากสภาพอากาศไม่ดี หรือภูมิประเทศทางเบื้องล่างจำกัด เพื่อทิ้งของให้ตรงเป้าหมาย หรือตามตำบลที่กำหนด เพราะถ้าผิดพลาดแล้วของที่ทิ้งลงไปอาจตกไปอยู่ในมือฝ่ายข้าศึกได้ และการบินต่ำทำให้พวกเวียดกง ซึ่งซ่อนตัวอยู่ตามต้นไม้บนเขายิงได้โดยง่าย นอกจากนั้นสนามบินบางแห่งก่อนหน้าที่จะออกเดินทาง ทราบแน่ชัดว่าเป็นของฝ่ายเรา แต่เมื่อไปถึงแล้วจึงพบว่าถูกข้าศึกยึดครอง นักบินต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณ และการสังเกตจากสิ่งบอกเหตุ หากพบว่าผิดสังเกตต้องรีบนำเครื่องขึ้นทันที แต่ถึงกระนั้นก็ยังถูกเวียดกงระดมยิงตามหลังอย่างหนาแน่น แต่พ้นระยะยิงหวังผล นักบินจึงนำเครื่องบินขึ้น และนักบินกลับอย่างปลอดภัยทุกครั้ง และแม้จะแน่ใจว่าเป็นฝ่ายเดียวกันก็ตาม นักบินจะไม่ดับเครื่องยนต์ขณะจอดส่งของ และเมื่อลำเลียงของขึ้นลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเครื่องขึ้นทันทีเพื่อความปลอดภัย

            เหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๙  เจ้าหน้าที่หน่วยบินวิคตอรี ได้ปฏิบัติการร่วมกับทหารอากาศสหรัฐฯ ที่เมืองเต๋าเตียว ขณะที่นักบินนำเครื่องบินลำเลียงแบบ C - ๑๒๓ ขึ้นพ้นทางวิ่งไปได้เล็กน้อย ก็ถูกซุ่มยิงด้วยปืนกล จากฝ่ายเวียดกงอย่างหนาแน่น กระสุนเจาะทะลุลำตัวเครื่องบินหลายแห่ง ทำให้ถังเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ฉีกขาด ระบบไฮดรอลิกเสียหาย เกิดไฟไหม้เข้าไปในห้องผู้โดยสาร นักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินไม่ยอมสละเครื่องบิน แต่ร่วมมือกันพยายามแก้ไขสถานการณ์ บังคับเครื่องบินซึ่งอยู่ในสภาพบอบช้ำ ออกไปให้พ้นวิถีกระสุน และการติดตามของเวียดกง และได้นำเครื่องบินลงฉุกเฉินได้โดยสวัสดิภาพทุกคนปลอดภัย
            ตลอดเวลาที่หน่วยบินวิคตอรี ปฏิบัติงานในเวียดนามใต้นั้น มีกำลังพลที่ประสบอันตรายถึงชีวิตเพียง ๒ คน อันเกิดจากเครื่องบินชนภูเขาที่จังหวัดลัมดง ๑ นาย และเครื่องบินประสบอุบัติเหตุขณะวิ่งขึ้นจากสนามบินรักยา จังหวัดเบียนหว่าอีก ๑ ราย
            การปฏิบัติภารกิจขนส่งทางอากาศในแต่ละวันต้องปฏิบัติภารกิจตลอด ๒๔ ชั่วโมง นอกจากปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบแล้ว ยังได้รับมอบภารกิจพิเศษอื่น ๆ เช่น การรับ - ส่ง บุคคลสำคัญไปตรวจสถานการณ์ต่างจังหวัด หรือการปฏิบัติการที่จะต้องใช้เครื่องบินโดยรีบด่วน ซึ่งหน่วยบินวิคตอรี สามารถปฏิบัติตามคำสั่งได้ภายในเวลา ๑ ชั่วโมง
            การปฏิบัติการของหน่วยบินวิคตอรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ จนกระทั่งถอนกำลังกลับประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๑๔ นับว่าได้บรรลุผลสำเร็จด้วยดี การสูญเสียมีเพียงเครื่องบินถูกเวียดกงโจมตีได้รับความเสียหายเพียงเครื่องเดียว และกำลังพลเสียชีวิต ๒ คน ผลการปฏิบัติสรุปได้ดังนี้
                การลำเลียงขนส่งทางอากาศ                         ๑,๗๗๖    ภารกิจ
                จำนวนเที่ยวบิน                                             ๑๐,๒๔๔   เที่ยวบิน
                ขนส่งผู้โดยสาร                                          ๑๖๘,๒๙๔   คน
                บรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์ และเสบียง       ๒๔,๖๙๔   ตัน
            ผลการปฏิบัติทำให้กำลังพลทุกคนได้รับเหรียญตรา จากเวียดนามใต้ และสหรัฐฯ นอกเหนือไปจากเหรียญชัยสมรภูมิประดับเครื่องหมายเปลวระเบิด ดังนี้
                Armed Forces Medal (First Class , Second Class) ของเวียดนามใต้
                Distinguished Flying Cross ของสหรัฐฯ


การยุติสงครามเวียดนาม

            สงครามเวียดนามได้ดำเนินไปถึง ๗ ปี แต่สถานการณ์ต่าง ๆ ยังไม่กระเตื้องขึ้นแม้แต่น้อย มีแต่การสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และความอดอยากยากแค้นไปทั่ว การรบไม่มีผลแพ้ชนะกันโดยเด็ดขาด ฝ่ายเวียดนามเหนือ และเวียดกงได้ดำเนินการรุกทางการเมือง ควบคู่ไปกับการทหาร ด้วยการลวงฝ่ายโลกเสรีว่าต้องการสันติภาพ และร้องขอให้มีการเจรจาสงบศึกขึ้นที่กรุงปารีส ได้มีการเจรจากัน ๑๔๖ ครั้ง ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๑๑ จนถึงเดือน มกราคม ๒๕๑๕ เริ่มตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี จอห์นสัน จนถึงสมัยประธานาธิบดี นิกสัน ของสหรัฐฯ แต่การเจรจาไม่มีผลคืบหน้า ฝ่ายเวียดนามเหนือ และเวียดกง จะถือโอกาสใช้ที่ประชุมเจรจาเป็นสถานที่โฆษณาชวนเชื่อ และเป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อใดที่ฝ่ายเวียดนามเหนือ และเวียดกงเพลี้ยงพล้ำในด้านการทหาร จะต้องเสนอขอเจรจาสันติภาพทันที เพื่อประวิงเวลาในการปรับกำลังทหารเข้าโจมตีเวียดนามใต้ใหม่ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๔ - ๒๕๑๕ ขณะที่สหรัฐฯ ประสบปัญหาภายในประเทศอย่างหนัก ทั้งภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาคนว่างงาน และปัญหาการขาดแคลนน้ำมันภายในประเทศ ฝ่ายเวียดนามเหนือ และเวียดกงได้ฉวยโอกาส เพิ่มการปฏิบัติการทางจิตวิทยาในหมู่ประชาชนชาวอเมริกัน โดยชี้ให้เห็นว่าการที่สหรัฐฯ อยู่ในภาวะดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไปทำสงครามในเวียดนามถึง ๖๐๐,๐๐๐ คน และใช้งบประมาณ ปีละไม่ต่ำกว่า ๓๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๔
            ผลการโฆษณาชวนเชื่อดังกล่าว ทำให้ประชาชนชาวอเมริกันเรียกร้องให้รัฐบาลถอนทหารออกจากเวียดนามใต้ และยุติการช่วยเหลือทั้งสิ้น โดยมีการเดินขบวนทั่วประเทศ เป็นผลให้รัฐสภาสหรัฐฯ ลงมติให้ถอนทหารอเมริกันออกจากเวียดนามใต้ พร้อมกับตัดทอนการช่วยเหลือแก่เวียดนามใต้ ประธานาธิบดีนิกสัน จำต้องเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับเวียดนามใต้ และประกาศหลักการนิกสัน (Nixon's Doctrine) สหรัฐฯ ได้ดำเนินการถอนกำลังทหารออกจากเวียดนามใต้ และให้เวียดนามใต้ใช้โครงการช่วยเหลือตนเอง ในการป้องกันทหารทหาร (Vietnamization) โดยมอบอาวุธหลักให้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้กำลังของฝ่ายโลกเสรีที่ส่งไปร่วมรบในเวียดนามใต้ จึงตัดสินใจถอนกำลังของชาติตนกลับเช่นกัน รวมทั้งประเทศไทย
            ประธานาธิบดีนิกสันได้แถลงนโยบายของสหรัฐฯ เพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้นในเวียดนามใต้รวม ๘ ข้อด้วยกัน มีใจความว่า กำลังทหารทั้งหมดที่ไม่ใช่ของเวียดนามใต้ จะเริ่มถอนออกจากเวียดนามใต้เมื่อได้ตกลงเห็นชอบร่วมกันแล้ว การถอนจะถอนเป็นขั้น ๆ ภายใน ๑๒ เดือน กำลังเวียดนามเหนือที่อยู่ในเวียดนามใต้ ก็ต้องกลับไปเช่นเดียวกัน ให้คณะกรรมาธิการระหว่างประเทศ ที่ทั้งสองฝ่ายรับรองควบคุมดูแลการถอนทหารของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการเลือกตั้งขึ้นตามวิธีการที่เห็นชอบร่วมกัน โดยให้อยู่ในความควบคุมดูแลของกรรมาธิการระหว่างประเทศ ให้มีการตกลงเกี่ยวกับการส่งคืนเชลยศึก และทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวา พ.ศ. ๒๔๙๗ เรื่องเวียดนาม และกัมพูชา กับข้อตกลงเรื่องลาว พ.ศ. ๒๕๐๕
            สหรัฐฯ ได้เริ่มถอนทหารออกจากเวียดนามใต้ ตั้งแต่วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๒ เป็นต้นมา และกำลังรบชุดสุดท้ายได้เดินทางออกจากเวียดนาม เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๕ เหลือไว้เพียงเจ้าหน้าที่ทางธุรการเท่านั้น และเมื่อได้มีการลงนามในความตกลงสงบศึกสงครามเวียดนามที่กรุงปารีส ในเดือนมกราคม ๒๕๑๖ แล้ว ทหารสหรัฐฯ คนสุดท้ายได้เดินทางออกจากเวียดนามใต้ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๑๖
ยุทธศาสตร์เวียดนามเหนือ
            เวียดนามเหนือกำหนดแผนการเข้ายึดเวียดนามใต้   เพื่อรวมเป็นประเทศเดียวกัน   โดยแบ่งการดำเนินการเป็น ๓ ขั้นตอน คือ
                ๑.   เสริมสร้างความมั่นคงให้แก่เวียดนามเหนือ
                ๒.  ปลดแอกเวียดนามใต้
                ๓.   รวมเวียดนามทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน
            ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เวียดนามเหนือประสบความสำเร็จในการจัดตั้งโครงสร้างทางการเมืองภายใน (Infrastructure) ในเวียดนามใต้อย่างต่อเนื่อง
            ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เวียดนามใต้พัฒนาระบบการส่งกำลังบำรุงทั้งในลาวใต้ และกัมพูชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางโฮจิมินห์ เพิ่มความรุนแรงในการปฏิบัติการทางทหาร จากระดับเดิมมากยิ่งขึ้นโดยส่งกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์ แทรกซึมเข้าไปในเวียดนามใต้ รวมทั้งเคลื่อนย้ายกำลังหลัก จากเวียดนามเหนือมายังเวียดนามใต้ แล้วเริ่มทำการรุกใหญ่ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๕ เป็นต้นมา
การดำเนินการของเวียดนามเหนือ และเวียดกง
            เวียดนามเหนือได้ปฏิบัติการรุกเข้าไปในเวียดนามใต้ เพื่อผลทางการเมือง ๒ ครั้ง  ครั้งที่ ๑ ระหว่างปลายเดือนกันยายน ถึงต้นเดือนตุลาคม ๒๕๑๔ ซึ่งเป็นระยะที่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และประธานาธิบดีในเวียดนามใต้ ครั้งที่ ๒ ระหว่าง ปลายเดือน มีนาคม - พฤษภาคม ๒๕๑๕ เวียดนามเหนือได้เปิดฉากการรุกใหญ่ในเวียดนามใต้ จากเขตปลอดทหารลงไปจนถึงแหลมคาเมา มีการปฏิบัติการรุนแรงที่บริเวณชายฝั่งทะเลตอนกลางของเวียดนามใต้ รวมทั้งภาคตะวันออก และภาคตะวันตกที่มีราษฎรอาศัยอยู่หนาแน่น พื้นที่ปฏิบัติการของกำลังรบหลักเวียดนามเหนือได้แก่ พื้นที่ตั้งเขตปลอดทหาร (เส้นขนานที่ ๑๗) ลงมายังที่ราบสูงด้านตะวันตกของเวียดนามใต้ และพื้นที่ติดชายแดนลาวเหนือจังหวัดไทนินห์ และทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงไซ่ง่อน
            การที่เวียดนามเหนือรุกใหญ่ครั้งนี้เนื่องจากสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนอาวุธหนัก เช่น ปืนใหญ่ รถถัง และปืนต่อสู่อากาศยานเป็นจำนวนมาก กองทัพเวียดนามใต้สามารถต้านทานไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ฝ่ายเวียดนามเหนือยังไม่สามารถยึดจังหวัดกวางตรีได้ รถถัง ๕๐ คัน ถูกทำลายเกือบหมด กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ส่งฝูงบินทิ้งระเบิดแบบ B - ๕๒ ไปทิ้งระเบิดข้าศึกบริเวณจังหวัดเกียวลิน นับเป็นการเริ่มต้นการทิ้งระเบิดโจมตีเวียดนามเหนือครั้งใหม่ หลังจากได้หยุดชะงักมาตั้งแต่วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๑๑
            เวียดนามเหนือได้หันไปเปิดการรุกทางภาคใต้ ของเวียดนามใต้ โดยส่งกำลังประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน พร้อมรถถังเป็นจำนวนมาก จากฐานที่ตั้งในกัมพูชาบุกเข้าเวียดนามใต้ มุ่งเข้ายึดจังหวัดล็อคนิน และอันล็อค เพื่อบุกเข้าไปยึดกรุงไซ่ง่อน และพวเวียดกงในที่ราบลุ่ม บริเวณปากแม่น้ำโขงก็เริ่มเปิดฉากรุกเข้าสู่กรุงไซ่ง่อน
การเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีส
            การเจรจาเพื่อยุติสงครามในเวียดนาม ระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนามใต้ฝ่ายหนึ่ง กับเวียดนามเหนือ และเวียดกงอีกฝ่ายหนึ่ง เริ่มการเจรจามาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๑๑ จนถึงเดือนมกราคม ๒๕๑๕ ปรากฏว่าที่ประชุมไม่สามารถตกลงปัญหาเวียดนามกันได้ ฝ่ายเวียดนามเหนือและเวียดกงได้ยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุมครั้งหลังสุด เมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๔ สรุปได้ดังนี้
                ๑.  สหรัฐ ต้องกำหนดเวลาถอนทหารสหรัฐฯ และทหารชาติพันธมิตรฝ่ายโลกเสรีออกจากเวียดนามใต้โดยเร็วที่สุด และต้องส่งคืนเชลยศึกเวียดนามเหนือ และเวียดกงด้วย
                ๒.  ยุติการสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดี เหงียนวันเทียวของเวียดนามใต้ และรีบจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น
                ๓.  การแก้ไขปัญหาการขัดแย้งระหว่างกำลังทหารเวียดนามใต้ กับเวียดกง เป็นเรื่องระหว่างชาวเวียดนามด้วยกันเอง
                ๔.  จัดให้มีการรวมประเทศเวียดนามเป็นขั้นตอนตามลำดับ
                ๕.  เวียดนามใต้ต้องดำเนินนโยบายเป็นกลาง
                ๖.  สหรัฐฯ ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากสงครามให้กับเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้
                ๗.  ความตกลงต่าง ๆ ที่ลงนามร่วมกัน จะต้องมีองค์การระหว่างประเทศให้การรับรองด้วย
            ข้อเสนอดังกล่าวนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ และเวียดนามใต้ไม่ยอมรับ โดยเฉพาะข้อ ๑ และข้อ ๒ ทำให้การเจรจาหยุดชะงัก ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ได้ส่งนายคิสซิงเจอร์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดี เดินทางไปเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับ ฝ่ายเวียดนามเหนือที่กรุง ปารีสถึง ๑๐ ครั้ง ในที่สุดฝ่ายสหรัฐฯ และเวียดนามใต้ได้ยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุม รวม ๘ ข้อ มีลักษณะโอนอ่อนให้แก่เวียดนามเหนือเป็นอันมาก เพื่อแสดงว่าสหรัฐฯ มีความตั้งใจจริงที่จะยุติสงครามเวียดนาม แต่ฝ่ายเวียดนามเหนือไม่ยอมตกลงใด ๆ ด้วย สหรัฐฯ จึงตกลงใจเปิดเผยการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการให้ชาวโลกได้ทราบข้อเท็จจริง ทำให้เวียดนามเหนือ และเวียดกง แสดงความโกรธแค้นสหรัฐฯ มาก และได้ปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในการประชุม ครั้งที่ ๑๔๓ เมื่อ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ พร้อมกับยื่นข้อเสนอใหม่ ๘ ข้อ มีสาระสำคัญว่า ให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรฝ่ายโลกเสรีถอนกำลังทั้งหมดออกจากเวียดนามใต้โดยไม่มีเงื่อนไข กับให้ยกเลิกโครงการช่วยเหลือตนเองในการป้องกันทางทหารของเวียดนามใต้
            ประเทศฝ่ายโลกเสรีทั่วไป โดยเฉพาะชาวอเมริกันมีความเห็นว่าข้อเสนอของสหรัฐฯ เหมาะสมและยุติธรรมดีแล้ว แสดงถึงความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะยุติสงครามเวียดนาม ชมเชยรัฐบาลเวียดนามใต้ว่าใจกว้าง และกล้าหาญ พอที่จะแข่งขันกับฝ่ายเวียดนามเหนือด้วยวิถีทางการเมืองอย่างยุติธรรม และประณามฝ่ายเวียดนามเหนือว่าปราศจากความบริสุทธิ์ใจที่จะยุติสงคราม
            ประเทศผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์ ต่างก็แสดงการสนับสนุนเวียดนามเหนือ และเวียดกง
            ต่อมาในปลายเดือนมีนาคม นางเหงียนทิบินห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนามเหนือ และหัวหน้าคณะผู้แทนเวียดกง ได้เดินทางไปร่วมเจรจาที่กรุงปารีสอีกครั้ง โดยยืนกรานให้สหรัฐฯ ถอนทหารทั้งหมดออกจากเวียดนามใต้ กับให้ประธานาธิบดีเหงียนวันเทียว ลาออกจากตำแหน่ง และยุบรัฐบาลก่อน ฝ่ายเวียดนามเหนือและเวียดกง จึงจะยอมเจรจาด้วย นอกจากนี้สหรัฐฯ ต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของฝ่ายเวียดนามเหนือและเวียดกง จึงจะมีการเจรจาสงบศึกกันต่อไป เมื่อเป็นดังนี้ประธานาธิบดีนิกสันจึงสั่งให้ยุติการประชุม
สถานการณ์ในเวียดนามใต้ หลังการถอนกำลังฝ่ายโลกเสรี
            สหรัฐฯ ได้ถอนกำลังในเวียดนามใต้เป็นจำนวน ๔๕๐,๐๐๐ คน แต่เวียดนามเหนือและเวียดกง ก็มิได้ปฏิบัติการอันใดที่จะช่วยให้เกิดสันติภาพ แต่กลับฉวยโอกาสทำการรุกรบทันทีเมื่อได้โอกาส  ดังนั้นการเจรจาสงบศึกที่กรุงปารีส ตลอดเวลา ๓ ปีครึ่ง จำนวน ๑๔๖ ครั้ง จึงไม่มีผลคืบหน้าเท่าที่ควร จนในที่สุดสหรัฐฯ ถอนตัวจากการประชุม
            จากการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ของเวียดนามเหนือในเดือน เมษายน ๒๕๑๕ จนทำให้สหรัฐฯ ต้องตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศ ตามเส้นทางส่งกำลังของฝ่ายเวียดนามเหนือ ตั้งแต่เมืองท่าไฮฟอง กรุงฮานอย และเส้นทางรถไฟสายจีน - เวียดนาม เป็นผลให้เวียดนามเหนือต้องชลอการบุกของตนลง เนื่องจากประสบปัญหาด้านการส่งกำลัง เมื่อตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเวียดนามเหนือ จึงหันไปใช้ที่ประชุมเจรจาตกลงสงบอีกครั้ง สหรัฐฯ ยอมกลับเข้าร่วมเจรจาด้วย เมื่อ ๒๙ เมษายน ๒๕๑๕ และในวันเดียวกันนี้ ประธานาธิบดีนิกสันได้ออกแถลงการณ์ว่า สหรัฐฯ จะถอนทหารจำนวน ๒๐,๐๐๐ คน ออกจากเวียดนามใต้ และในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๕ กำลังทหารภาคพื้นดินของสหรัฐฯ จะเหลืออยู่ในเวียดนามได้เพียง ๔๙,๐๐๐ คน เท่านั้น
            เมื่อเวียดนามเหนือเปิดการเจรจาที่กรุงปารีสได้ ก็กลับดำเนินการรุกรบเวียดนามใต้โดยใช้กำลังทหาร ๔๐,๐๐๐ คน เข้าตีเมืองกวางตรี โดยใช้กองพลรถถังเป็นขบวนนำเข้าตี และยึดเมืองดองฮาได้ แล้วเคลื่อนกำลังไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตามทางหลวงหมายเลข เพื่อเข้ายึดเมืองเว้ต่อไป พร้อมกับเข้าตีเมืองกวางตรี เวียดนามเหนือส่งกำลังทหาร ๒๐,๐๐๐ คน รุกจากชายแดนลาวเข้าสู่ที่ราบสูงภาคกลางของเวียดนามใต้ เพื่อตีเมืองคอนทูมเป็นการตัดการติดต่อ ระหว่างภาคเหนือ กับภาคใต้ของเวียดนามใต้ เวียดนามเหนือยึดเมืองกวางตรีได้ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๕ แล้วเคลื่อนกำลังเข้าคุกคามเมืองเว้
           สหรัฐฯ ตัดสินใจใช้มาตราการเด็ดขาดด้วยการส่งกำลังโจมตีทั้งทางทะเลและทางอากาศ โดยกองทัพเรื่อที่ ๗ ส่งเรือรบ ๘ ลำ มีทั้งเรือพิฆาต เรือลาดตระเวน และเรือบรรทุกเครื่องบิน เข้าปิดล้อมชายฝั่งเวียดนามเหนือ และวางทุ่นระเบิดตลอดแนวอ่าวตังเกี๋ย ส่วนทางอากาศได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B - ๕๒ ประมาณ ๕๐๐ เครื่อง ทั้งจากฐานทัพอากาศ และเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีเมืองกวางตรี  เพื่อทำลาย และขับไล่ทหารเวียดนามเหนือที่ยึดครองอยู่ พร้อมกับโจมตีทิ้งระเบิดท่าเรือ คลังน้ำมัน และคลังยุทธสัมภาระ บริเวณเมืองไฮฟอง และกรุงฮานอย ซึ่งเป็นฐานส่งกำลังบำรุงที่สำคัญยิ่งของเวียดนามเหนือ กับทิ้งระเบิดเส้นทางรถไฟสายจีน - เวียดนามเป็นครั้งที่ ๒
            เวียดนามเหนือได้ประกาศตั้งรัฐบาลเวียดกงขึ้นในเมืองกวางตรี ในปลายเดือนพฤษภาคม เวียดนามใต้จึงยึดเมืองกวางตรีกลับคืนมาได้ เวียดนามเหนือได้พยายามเข้าตีเมืองเว้หลายครั้ง  ทำให้พระราชวัง โบราณสถาน ศาสนสถานในพุทธศาสนา และคริสตศาสนา และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งได้เคยเสียหายอย่างหนักมาแล้วจากการรุกใหญ่ของเวียดนามเหนือ ระหว่างเทศกาลตรุษญวน พ.ศ.๒๕๑๔ ถูกทำลายลงหมดสิ้น
            ตอนปลายเดือน พฤษภาคม ๒๕๑๕ เวียดนามเหนือได้พยายามเข้ายึดเมืองคอนทูม สหรัฐฯ ได้ใช้จรวดนำวิถีทำลายรถถังของเวียดนามเหนือจนหมดสิ้น และทิ้งระเบิดกำลังเวียดนามเหนือที่ตั้งล้อมเมืองอยู่ สหรัฐฯ ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายที่มั่นทางทหาร ในเขตเวียดนามเหนือทุกวัน เฉลี่ยวันละ ๒๕๐ เที่ยวบิน
            ในระหว่างห้วงเวลา ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๕ ถึง ๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๕ ได้มีการเจรจาลับ ระหว่าง ๒ ฝ่าย หลายครั้ง จึงได้แถลงข่าวเมื่อ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๕ ที่กรุงวอชิงตันว่า การเจรจายุติสงครามเวียดนามใต้บรรลุถึงจุดหมาย ที่จะได้มีการลงนามระหว่างกันแล้ว และสันติภาพอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่แล้วก็ไม่เป็นผลเวียดนามเหนือเรียกร้องมากเกินไป จนสหรัฐฯ และเวียดนามใต้ไม่สามารถปฏิบัติได้ การเจรจาจึงล้มเหลว สหรัฐฯ จึงทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือในบริเวณเหนือเส้นขนานที่ ๒๐ ขึ้นไป กับวางทุ่นระเบิดปิดอ่าวเมืองท่าไฮฟองเพิ่มขึ้น จนถึง ๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๕ สหรัฐฯ จึงเปลี่ยนนโยบายเป็นยื่นคำขาดให้เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ยุติการสู้รบกัน โดยให้เวียดนามเหนือยอมรับเงื่อนไขความตกลงสงบศึก มิฉะนั้นจะทิ้งระเบิดรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และให้เวียดนามใต้ยอมเข้าร่วมเจรจาตกลงสงบศึกด้วย มิฉะนั้นสหรัฐฯ จะยุติการช่วยเหลือทั้งหมด แต่เวียดนามเหนือไม่ปฏิบัติตาม สหรัฐฯ จึงดำเนินการทิ้งระเบิด กรุงฮานอย เมืองไฮฟอง และเมืองสำคัญอื่น ๆ อย่างรุนแรง เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ B - ๕๒ ประมาณ ๕๐๐ เครื่อง ทำการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือทั้งวันทั้งคืน เวียดนามเหนือสามารถทำลายเครื่องบินสหรัฐฯ ได้ถึง ๑๖ เครื่อง ในที่สุดก็ขอเปิดการเจรจาสันติภาพที่กรุงปารีสอีกครั้ง เมื่อ ๘ มกราคม ๒๕๑๖  ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็สามารถลงนามในความตกลง จะสงบศึกอย่างเป็นทางการ เมื่อ ๒๗ มกราคม ๒๕๑๖  มีผลบังคับตั้งแต่ เวลา ๐๘.๐๐ น. ของวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๑๖ มีสาระสำคัญดังนี้
                ๑.  ให้มีการหยุดยิงทุกแห่งในเวียดนามใต้
                ๒.  ให้ส่งคืนเชลยศึกชาวอเมริกันทั้งหมดภายใน ๖๐ วัน หลังจากลงนาม
                ๓.  สหรัฐฯ จะถอนกำลังทหารที่เหลืออยู่ในเวียดนามใต้ ๒๔,๐๐๐ คน ภายใน ๖๐ วัน
                ๔.  สหรัฐฯ ให้คำรับรองว่าประชาชนเวียดนามใต้มีสิทธิที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก
            เวียดนามเหนือยังไม่ละความพยายามที่จะรุกรานเวียดนามใต้ และให้รัฐบาลเวียดนามใต้ ยอมรับวิถีทางการปกครองตามลัทธิคอมมิวนิสต์ เมื่อสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรฝ่ายโลกเสรีได้ถอนกำลังทั้งหมด ออกจากเวียดนามใต้แล้ว เวียดนามใต้จึงตกเป็นฝ่ายเพลี้ยงพล้ำแก่เวียดนามเหนือ กองทัพเวียดนามเหนือและเวียดกงเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนได้เมื่อ ๓๐ เมษายน ๒๕๑๘ และเวียดนามเหนือสามารถรวมเวียดนามใต้เข้าด้วยกัน เมื่อ ๓ กรกฎาคม ๒๕๑๘ และประกาศใช้ชื่อประเทศใหม่ว่า สาธารณรัฐเวียดนาม

| ย้อนกลับ | บน |