|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
การรวมสหรัฐไทยเดิมและสี่รัฐมาลัยเข้าเป็นอาณาเขตไทย
ญี่ปุ่นได้เคยเสนอที่จะคืนดินแดนที่ไทยเสียให้แก่อังกฤษ ตั้งแต่วันแรกที่กองทัพญี่ปุ่นรุกเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ต่อมาเมื่อตอนต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ญี่ปุ่นได้เสนอเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ไทยจึงได้ยอมรับดินแดนดังกล่าวรวมเข้าเป็นอาณาเขตประเทศไทย
ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยอาณาเขตของประเทศไทย ในมาลัยและภูมิภาคฉาน เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๘๖ โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรักษาราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เป็นผู้ลงนามฝ่ายญี่ปุ่น
สาระสำคัญของสนธิสัญญา มีใจความดังนี้
1. ญี่ปุ่นยอมรับนับถือการรวมรัฐกลันตัน ตรังกานู เคดาห์ (ไทยบุรี) ปะลิส และบรรดาเกาะที่ขึ้นแก่รัฐนั้น ๆ เข้าเป็นอาณาเขตของประเทศไทย
๒. ญี่ปุ่นยอมรับนับถือการรวมรัฐเชียงตุง และรัฐเมืองพาน ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคฉาน เข้าเป็นอาณาเขตของประเทศไทย
การรวมดินแดนดังกล่าวเข้าเป็นอาณาเขตประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยได้ดินแดนกลับมาประมาณ ๗๔,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร กล่าวคือดินแดนภูมิภาคฉานหรือสหรัฐไทยเดิม ประกอบด้วยรัฐเชียงตุง และรัฐเมืองพาน มีพื้นที่ประมาณ ๓๖,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่รัฐเชียงตุงประมาณ ๓๑,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร และรัฐเมืองพานประมาณ ๕,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร ดินแดนสี่รัฐมาลัยประกอบด้วยรัฐกลันตัน มีพื้นที่ประมาณ ๑๔,๙๐๐ ตารางกิโลเมตร รัฐตรังกานูมีพื้นที่ประมาณ 13,100 ตารางกิโลเมตร รัฐไทรบุรีมีพื้นที่ประมาณ ๙,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร และรัฐปะลิสมีพื้นที่ประมาณ ๘๐๐ ตารางกิโลเมตร รวมพื้นที่ทั้งหมดของสี่รัฐมาลัย ประมาณ ๓๘,๒๐๐ ตารางกิโลเมตร
การที่ไทยได้ดินแดนสี่รัฐมาลัยมานั้น ได้มาจากการรับมอบจากกองทัพญี่ปุ่น มิใช่การส่งกองทัพเข้ายึดครอง เหมือนสหรัฐไทยเดิม ดังนั้น การจัดสำนักงานข้าหลวงใหญ่ ทหารประจำสี่รัฐมาลัย ทางฝ่ายไทยจึงต้องจัดกองกำลังทหารเป็นส่วนหนึ่งของหน่วย ในการปกครองสี่รัฐมาลัย ขึ้นตรงต่อกองพลน้อยผสมที่ ๑๘ ประจำสี่รัฐมาลัย และข้าหลวงใหญ่ทหารประจำสี่รัฐมาลัย เพื่อทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย สนับสนุนการปฎิบัติการของฝ่ายพลเรือน และรักษาความสงบเรียบร้อยในสี่รัฐมาลัย ร่วมกับฝ่ายปกครองและตำรวจ นอกจากข้าหลวงใหญ่แล้ว ยังมีการแต่งตั้งข้าหลวงทหารประจำรัฐทั้งสี่รัฐ มีหัวหน้าตำรวจรัฐ ปลัด และนายอำเภอ เป็นผู้ช่วยเหลือระดับรองลงไป ทั้งนี้เพราะรัฐมลายูทั้งสี่นั้น ต่างมีสุลต่านดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐแต่ละรัฐอยู่แล้ว ยกเว้นรัฐปะลิสมีรายาเป็นประมุข รัฐต่าง ๆ เหล่านี้รวมกันเป็นสหพันธรัฐมลายู อยู่ในความปกครองของข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำสหพันธรัฐมลายู
ส่วนสหรัฐไทยเดิมแม้จะมีเจ้าฟ้าหรือเจ้าผู้ครองนครอยู่ในเมืองต่าง ๆ ก็ดี แต่อังกฤษมิได้แยกเป็นรัฐ เหมือนมลายู ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงจัดเฉพาะข้าหลวงทหารประจำสหรัฐไทยใหญ่เพียงคนเดียว ตั้งสำนักงานอยู่ที่เมืองเชียงตุง ส่วนตามหัวเมืองสำคัญ ๆ นั้น ก็จัดแบ่งการปกครองเป็นอำเภอ แล้วให้นายตำรวจสนามไปทำหน้าที่นายอำเภอในสหรัฐไทยเดิม อังกฤษคงปล่อยให้เจ้านครปกครองกันเอง เพียงแต่ส่งข้าหลวงใหญ่ไปประจำที่เมืองตองยี เมืองหลวงของสหรัฐไทยเดิม และส่งกำลังทหารขนาดกองร้อย ออกลาดตระเวนไปตามเมืองสำคัญต่าง ๆ ปีละครั้ง เพื่อแสดงอำนาจของผู้ครอบครอง และถือโอกาสเร่งรัดภาษีไปพร้อมกัน พลเมืองสหรัฐไทยเดิมทั้งหมดมีภาษาพูด ศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี เช่นเดียวกับชาวไทยในภาคเหนือ การปกครองดินแดนส่วนนี้จึงไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด
การโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในดินแดนไทย
กองทัพญี่ปุ่นเป็นฝ่ายรุกได้ชัยชนะฝ่ายสัมพันธมิตรในห้วงระยะเวลา ๖ เดือนแรก ของสงครามมหาเอเซียบูรพา จนถึงเดือน มิถุนายน ๒๔๘๕ กองทัพเรือญี่ปุ่นได้เริ่มพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก ในยุทธภูมิมิดเวย์ (Midway) และต่อมาเดือนตุลาคม ๒๔๘๗ กองทัพญี่ปุ่นได้พ่ายกองทัพสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในการยุทธที่เลเต (Leye Gulf) ความพ่ายแพ้ในยุทธภูมิทั้งสองแห่งมีผลกระทบต่อกองทัพญี่ปุ่นทุกแนวรบ กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบ และเริ่มตีโต้กลับกองทัพญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างแนวรบด้านพม่า และจีนตอนใต้ กองทัพญี่ปุ่นเริ่มเป็นฝ่ายล่าถอย เป็นผลให้ดินแดนไทยถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าโจมตี ทิ้งระเบิดอย่างหนัก ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เนื่องจากญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานทัพ
เพื่อเข้าไปปฏิบัติการในพม่าและมลายู จึงนับว่าประเทศไทยมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงได้ทำการทิ้งระเบิด ทำลายสนามบิน ชุมทางรถไฟ ท่าเรือ สะพาน อันเป็นปมคมนาคมเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของญี่ปุ่น
พระนครและธนบุรีถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทิ้งระเบิด ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง ๒๔๘๘ รวม ๓๔ ครั้งด้วยกันคือ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ จำนวน ๕ ครั้ง ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ จำนวน ๔ ครั้ง ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ จำนวน ๑๔ ครั้ง และปี พ.ศ. ๒๔๘๘ จำนวน ๑๑ ครั้ง
สถานที่ที่ถูกโจมตีได้แก่ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีรถไฟบางกอกน้อย สถานีรถไฟช่องนนทรีย์ สถานีรถไฟบางซื่อ โรงงานซ่อมสร้างหัวรถจักรมักกะสัน โรงไฟฟ้าวัดเลียบ โรงงานปูนซีเมนต์บางซื่อ สะพานพุทธยอดฟ้า สะพานพระราม ๖ ท่าเรือคลองเตย สนามบินดอนเมือง สถานทูตญี่ปุ่น ที่พักและคลังอาวุธของทหารญี่ปุ่น ที่ตั้งปืนต่อสู้อากาศยานบริเวณถนน กาติ๊บ สนามเป้า กองสัญญาณทหารเรือข้างสวนลุมพินี ประตูทดน้ำบางซื่อ โรงเก็บสินค้าและโรงงาน การทิ้งระเบิดในระยะแรก ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึงกลางปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นการโจมตีทิ้งระเบิดในเวลากลางคืน ต่อมาในเดือน มิถุนายน ๒๔๘๗ จึงได้เริ่มโจมตีทิ้งระเบิดในเวลากลางวัน การทิ้งระเบิดมีการทิ้งผิดเป้าหมายที่ต้องการเป็นจำนวนไม่น้อย เช่น วัด โรงเรียน บ้านเรือนราษฎร เครื่องบินทิ้งระเบิดที่ใช้มี แบบ บี - ๒๔ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาทิ้งระเบิดเวลากลางคืน ปืนต่อสู้อากาศยานได้ยิงต่อสู้โดยใช้ไฟฉายส่อง ค้นหาเป้าหมายแบบประสานกันจากจุดต่าง ๆ บนพื้นดิน เมื่อจับเป้าคือเครื่องบินได้แล้ว ก็เกาะเป้าไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปืนต่อสู้อากาศยาน ยิงทางเครื่องบินทิ้งระเบิด จะต่อสู้โดยยิงปืนกลอากาศสวนมาตามลำแสงของไฟฉาย ซึ่งจะเห็นได้จากการะสุนส่องวิถีจากปืนกลอากาศ ที่ยิงมาเป็นชุดยาว
ทางกองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินขับไล่ขึ้นต่อสู้สกัดกั้น แต่ไม่ใคร่ได้ผลเพราะเครื่องบินฝ่ายเรา มีสมรรถนะต่ำกว่า และต่อมาในระยะหลังที่ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี - 29 ซึ่งจะบินมาเป็นหมู่ในระยะสูง ปืนต่อสู้อากาศยานยิงไม่ถึง จึงได้มีการมาทิ้งระเบิดเวลากลางวันอย่างเสรี
ตั้งแต่เดือน มกราคม ๒๔๘๗ ถึงเดือน มกราคม ๒๔๘๘ ประเทศไทยถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตร ประมาณ ๒๕๐ ครั้ง มีเครื่องบินเข้าปฏิบัติการประมาณ ๒,๙๕๐ เที่ยวบิน ทิ้งลูกระเบิดทำลายประมาณ ๑๘,๖๐๐ ลูก ระเบิดเพลิงประมาณ ๖,๑๐๐ ลูก ทุ่นระเบิดประมาณ ๒๕๐ ลูก พลุส่องแสงประมาณ ๑๕๐ ลูก มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑,๙๐๐ คน บาดเจ็บประมาณ ๓,๐๐๐ คน อาคารถูกทำลายประมาณ ๙,๖๐๐ หลัง เสียหายประมาณ ๑,๒๐๐ หลัง รถจักรเสียหาย ๗๓ คัน รถพ่วงเสียหาย ๖๑๗ คัน เรือจักรกลเสียหาย ๒๔ ลำ เรืออื่น ๆ ประมาณ ๑๐๐ ลำทรัพย์สินเสียหายประมาณ ๗๙ ล้านบาท
การปฏิบัติการทางเรือของกองทัพเรือไทย
เพื่อเตรียมรับสถานการณ์สงคราม กองทัพเรือได้จัดทำแผนจัดกำลังทัพเรือ โดยจัดกำลังที่ขึ้นในบังคับบัญชาแม่ทัพเรือ แบ่งออกเป็น ๒ เขต คือ
เขตใน เรียกว่า เขตทหารเรือกรุงเทพ ฯ มีผู้บัญชาการทหารเรือกรุงเทพ ฯ เป็นผู้บังคับบัญชา
เขตนอก เรียกว่า เขตทหารเรือสัตหีบ มีผู้บัญชาการทหารเรือสัตหีบ เป็นผู้บังคับบัญชา
เขตทหารเรือกรุงเทพ ฯ มีหน้าที่ป้องกันชายฝั่งทะเล และรักษาพื้นที่ภายในบริเวณกรุงเทพ ฯ ตอนปากน้ำให้พ้นจากการกระทำของข้าศึกด้วยกำลังทางเรือ ด้วยการยกพลขึ้นบกและการโจมตีทางอากาศ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เกี่ยวกับแนวหลังและฐานทัพ
เขตทหารเรือสัตหีบ มีหน้าที่ป้องกันชายฝั่งทะเล และฐานทัพเช่นเดียวกับเขตทหารเรือกรุงเทพ ฯ
การประสานงานระหว่างกองทัพเรือกับกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทย
ได้มีการลงนามในข้อตกลงระหว่างผู้บัญชาการทหารเรือไทย กับทูตทหารเรือญี่ปุ่นประจำกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๔๘๕ มีใจความดังนี้
๑.
กับอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นหน้าที่ของกองทัพเรือไทย
๒. กองทัพเรือไทยจะให้ความร่วมมือกับนาวีญี่ปุ่นในการขับไล่ และต่อตีเรือดำน้ำสัมพันธมิตร บริเวณน่านน้ำภาคใต้ของอินโดจีนฝรั่งเศส
๓. การควบคุมและคุ้มกันเรือต่าง ๆ ของญี่ปุ่นในน่านน้ำที่กล่าวมาแล้ว ญี่ปุ่นจะปฏิบัติการเองทั้งสิ้น
๔. กองทัพเรือไทย จะใช้ฐานทัพตามแนวชายฝั่งของไทยสำหรับเรือ ส่วนเครื่องบินใช้ฐานทัพตามแนวชายฝั่งของอ่าวไทย การใช้ท่าเรือที่แซงต์ฌาคส์ ซึ่งเป็นเมืองท่าบริเวณตอนใต้ของอินโดจีนฝรั่งเศสนั้น ญี่ปุ่นจะได้ให้ข้อตกลงตามความจำเป็นต่อไป
๕. การส่งกำลังบำรุงเกี่ยวกับการเพิ่มเครื่องใช้ และเสบียงอาหาร ญี่ปุ่นจะจัดหาให้เมื่อเห็นว่ามีความจำเป็น
๖. การติดต่อระหว่างกองทัพเรือไทยกับจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น โดยหลักการจะกระทำผ่านทูตทหารเรือ ญี่ปุ่นประจำกรุงเทพ ฯ ส่วนการติดต่อในพื้นที่ปฎิบัติการในทะเลนั้น ให้ใช้ประมวลสัญญาณสากลเท่านั้น
การปฏิบัติการใด ๆ ของกองทัพเรือไทยจะต้องปฏิบัติอยู่เสมอ และไม่ละเว้นที่จะปรึกษากับนาวีญี่ปุ่นเกี่ยวกับ
การเคลื่อนไหวของเรือรบ เรืออื่น ๆ และเครื่องบินไทย
๗. เครื่องหมายแสดงฝ่ายกำลังรบของไทย เรือรบและเรือต่าง ๆ ทาสีขาวบริเวณครึ่งบนของปล่องเรือทุกลำ ส่วนเครื่องบินให้แสดงเครื่องหมายฝ่ายให้ชัดเจน ตามระเบียบข้อบังคับราชนาวีไทย ระยะสูงของเครื่องบินในระหว่างปฏิบัติการต้องไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ เมตร นอกจากนั้นจะต้องโคลงปีกหลายครั้ง เมื่อเข้าใกล้กองเรือญี่ปุ่น กองเรือคุ้มกัน เรือใหญ่ และเรือเล็กอื่น ๆ ของญี่ปุ่นอีกด้วย
|
ย้อนกลับ
|
หน้าต่อไป
|
บน
|