เครื่องตีที่ทำด้วยหนัง (หน้าที่ ๑)
กลอง    เป็นเครื่องดนตรีประเภทตี สำหรับใช้บอกสัญญาณ บอกจังหวะ และใช้ประกอบเครื่องดนตรีอื่น ๆ ตัวกลองเรียกว่า "หุ่น" ทำด้วยไม้ ข้างในเป็นโพรง หน้าขึงด้วยหนังมีทั้งหน้าเดียวและสองหน้า ที่เป็นหน้าเดียว ได้แก่ โทน รำมะนา กลองยาว ที่เป็นสองหน้า ได้แก่ กลองทัด ตะโพน เปิงมาง กลองแขก กลองมะลายู กลองชนะ บัณเฑาะว์ การขึ้นหนังมีทั้งตรึงด้วยหมุด และโยงเร่งด้วยเส้นหนัง หวายหรือลวด
การตีกลอง อาจใช้ตีด้วยฝ่ามือ และตีด้วยไม้สำหรับตี
กลองแขก    มีรูปร่างยาวเป็นกระบอก หน้าด้านหนึ่งใหญ่เรียกว่า "หน้ารุ่ย" หน้าด้านหนึ่งเล็กเรียกว่า "หน้าต่าน" หนังหน้ากลอง ทำด้วยหนังลูกวัว หนังแพะ ใช้เส้นหวายฝ่าชีกเป็นสายโยงเร่งให้ตึงด้วยรัดอก สำรับหนึ่งมีสองลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" การตีใช้ฝ่ามือทั้งสอง ตีทั้งสองหน้าให้เสียงสอดสลับกันทั้งสองลูก กลองชนิดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "กลองชะวา"
กลองจีน    ใช้บรรเลงดนตรีไทยเมื่อบรรเลงเพลงที่มีสำเนียงจีน กลองจีนขึ้นหนังสองหน้า ตรึงด้วยหมุด หน้าด้านหนึ่งใหญ่ อีกด้านหนึ่งเล็ก ตัวกลองทำด้วยไม้แผ่นประกอบกันเป็นรูปกลอง ใช้ตีด้วยไม้ที่ด้านหน้าใหญ่
กลองชนะ    รูปร่างเหมือนกลองแขก แต่สั้นกว่า หน้าหนึ่งใหญ่ อีกหน้าหนึ่งเล็ก ใช้ตีด้วยไม้งอ ๆ หรือหวาย ทางด้านหน้าใหญ่ เดิมกลองชนะน่าจะใช้ในกองทัพ หรือในการสงคราม ต่อมาใช้เป็นเครื่องประโคมในกระบวนพยุหยาตรา และใช้ประโคม พระบรมศพ พระศพ และศพ ตามเกียรติยศของงาน จำนวนที่ใช้บรรเลง มีตั้งแต่ ๑ คู่ ขึ้นไป
กลองชาตรี    มีรูปร่างลักษณะและการตีเช่นเดียวกับกลองทัด แต่ขนาดเล็กกว่ากลองทัดประมาณครึ่งหนึ่ง ขึ้นหนังสองหน้า ใช้บรรเลงร่วมในวงปีพาทย์ในการแสดงละครชาตรีที่เรียกว่า "ปีพาทย์ชาตรี" ใช้เล่นคู่กับโทนชาตรี

กลองต๊อก    เป็นกลองจีนชนิดหนึ่ง มีขนาดเล็ก หุ่นกลองหนา ขึ้นหนังสองหน้า หน้าทั้งสองมีขนาดเท่ากัน ตีหน้าเดียวโดยใช้ไม้ขนาดเล็ก

กลองตะโพน    ใช้ตะโพนสองลูก เสียงสูงต่ำต่างกัน ถอดเท้าออก แล้วนำมาตั้งเอาหน้าเท่งขึ้นตีแบบกลองทัด ใช้ไม้นวมที่ใช้ตีระนาดเป็นไม้ตี

กลองติ๋ง    รูปร่างลักษณะและการตีเหมือนกลองทัด แต่มีขนาดเล็กกว่าและให้เสียงสูงกว่า ขึ้นหนังสองหน้า สำรับหนึ่งมีสองลูก ใช้บรรเลงในวงปีพาทย์ในการแสดงหนังใหญ่เท่านั้น
กลองทัด    มีรูปทรงกระบอก กลางป่องออกเล็กน้อย ขึ้นหนังสองหน้า ตรึงด้วยหมุดที่เรียกว่า "แส้" ซึ่งทำด้วยไม้ งาช้าง กระดูกสัตว์ หรือโลหะ หน้ากลองด้านหนึ่งติดข้าวตะโพน แล้วตีอีกด้านหนึ่ง ใช้ไม้ตีสองอัน สำรับหนึ่งมีสองลูก ลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" ตัวผู้อยู่ทางขวา และตัวเมียอยู่ทางซ้ายของผู้ตี กลองทัดน่าจะเป็นกลองของไทยมาแต่โบราณ ใช้บรรเลงรวมอยู่ในวงปีพาทย์มาจนถึงปัจจุบัน
กลองมลายู    มีรูปร่างลักษณะเหมือนกลองแขก แต่สั้นและอ้วนกว่า หน้าหนึ่งใหญ่ อีกหน้าหนึ่งเล็กขึ้นหนังสองหน้า เร่งให้ตึงด้วยหนังรูดให้แน่น สายโยงเร่งเสียงทำด้วยหนัง หน้าใหญ่อยู่ทางขวาไปตีด้วยไม้งอ หน้าเล็กตีด้วยฝ่ามือ สำรับหนึ่งมีสีลูก ต่อมาลดเหลือสองลูก ใช้บรรเลงคู่ อย่างกลองแขกลูกเสียงสูงเรียกว่า "ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำเรียกว่า "ตัวเมีย" ใช้บรรเลงในวงบัวลอยในงานศพ และใช้บรรเลงในวงปีพาทย์นางหงส์
กลองโมงครุ่ม    มีรูปร่างลักษณะเหมือนกลองทัด แต่ใหญ่กว่า ขึ้นหนังสองหน้า ตรึงด้วยหมุด ตีหน้าเดียว โดยใช้ไม้ตี ใช้ตีในการเล่นสมัยโบราณที่เรียกว่า "โมงครุ่ม" หรือ "โหม่งครุ่ม" ซึ่งมักตีฆ้องโหม่งประกอบด้วย
กลองยาว    หุ่นกลองทำด้วยไม้ ตอนหน้าใหญ่ ตอนท้ายเรียวแล้วบานปลายเป็นรูปดอกลำโพงมีหลายขนาด ขึ้นหนังหน้าเดียว ตัวกลางนิยมตบแต่งให้สวยงามด้วยผ้าสี หรือผ้าดอกเย็บจีบย่น ปล่อยเชิงเป็นระบายห้อยมาปกด้วยกลอง มีสายสะพายสำหรับคล้องสะพายบ่า ใช้ตีด้วยฝ่ามือ แต่การเล่นโลดโผน อาจใช้ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายตีก็มี กลองยาวได้แบบอย่างมาจากพม่า นิยมเล่นในงานพิธีขบวนแห่ กลองชนิดนี้เรียกชื่อตามเสียงที่ตีได้อีกชื่อหนึ่งว่า "กลองเถิดเทิง"
กลองสองหน้า    ลักษณะคล้ายเปิงมาง แต่ใหญ่กว่า ตีด้วยมือขวา ใช้ใบเดียวตีกำกับจังหวะในวงปีพาทย์ที่บรรเลงในการขับเสภา

เครื่องตีที่ทำด้วยหนัง (หน้าที่๒)