อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
 loading picture

ข้อมูลทั่วไป
loading picture
หมู่เกาะสิมิลัน  ตั้งอยู่กลางทะเลอันดามัน มีความเป็นเลิศในความงามของปะการังเป็นเอกแห่งหนึ่งของโลก สิมิลัน เป็นคำในภาษายาวี แปลว่า "เก้า" ชาวประมงค์บางคนจึงเรียกว่า "เกาะเก้า" ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย รวม 9 เกาะด้วยกัน เรียงตัวตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ ได้แก่ เกาะบอน เกาะบางู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะห้า เกาะเมียง เกาะปาหยัน  เกาะปายัง และเกาะหูยง
หมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2525 ครอบคลุมพื้นที่ ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา มีพื้นที่ประมาณ 128 ตารางกิโลเมตร และเมื่อปี พ.ศ. 2541 ได้ผนวกรวมเกาะตาชัย ทำให้มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 140 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศ
 loading picture
ชายฝั่งทะเลในบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน เป็นส่วนภาคตะวันออกของทะเลอันดามันในมหาสมุทรอินเดีย ที่มีการลดตัวของพื้นทะเล จึงมีการกัดเซาะพังทะลาย โดยมีน้ำทะเลเป็นตัวกระทำอย่างรุนแรง ทำให้บริเวณ หมู่เกาะสิมิลัน เกิดเป็นลักษณะภูมิประเทศที่แปลกตา มีรูปร่างต่าง ๆ อันเป็นผลจากขบวนการกัดเซาะ หินที่พบในหมู่เกาะนี้เป็นหินอัคนี ชนิดแกรนิต อายุประมาณ 65 ล้านปี

พรรณไม้
 loading picture  loading picture
ลักษณะพืชพรรณเป็นป่าที่ลุ่ม ประกอบด้วย ป่าชายหาด มีลักษณะเป็นป่าโปร่ง พันธุ์ไม้สำคัญได้แก่ หูกวาง  จิกทะเล  ละมุดป่า  ทองหลางทะเล  ตะวัน  ปอทะเล  ปรงทะเล  งวงช้างทะเล โคลเคลง และมีพืชคลุมดินพวก  ถั่วผี  ผักคราด และหญ้าหวาย ฯลฯ
ป่าดงดิบ  เป็นสังคมพืชที่มีไม้ผลัดใบ และไม่ผลัดใบขึ้นปะปนกัน พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่  ยางปาย  ยางขน ตะเคียน  เมา  หยีน้ำ  สำโรง  ทุ้งฟ้า  กระเบา  รัก  พลอง กะตังใบ  ไผ่ป่า เต่าร้าง หวายกำพวน พลูฉีก เสี้ยวเครือ เมื่อย  ลิเภาป่า เป็นต้น พันธุ์ไม้ทีพบยาก เช่น ละมุดป่า  ปอทะเล  งวงช้างทะเล  มีเฉพาะแห่งตามเกาะใหญ่ในฝั่งทะเลตะวันตกเท่านั้น

สัตว์ป่าและสัตว์น้ำ
            ทรัพยากรสัตว์ป่าในเขตอุทยาน พบว่ามีนกไม่น้อยกว่า 39 ชนิด แบ่งออกเป็น
                1.  นกที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทย และไม่อพยพย้ายถิ่น เช่น เหยียวแดง  นกกวัก
                2.  นกอพยพ เช่น นกปากซ่อมหางเข็ม นกเด้าลมหลังเทา
                3.  นกประจำถิ่น และบางครั้งอพยพย้ายถิ่น ได้แก่  นกนางแอ่นบ้าน  นกยางควาย  นกอีลุ้ม และนกนางนวลแกลบสีกุหลาบ
นกที่พบได้บ่อยในเขตอุทยาน ได้แก่  นกยางทะเล  นกชาปีไหน  นกลุมพูขาว  นกออก และนกกินเปียว
เนื่องจากหมู่เกาะสิมิลัน เป็นเกาะขนาดเล็ก อยู่ห่างไกลจากชายฝั่ง และมีแหล่งน้ำจืดน้อย จึงทำให้มีสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมน้อย   เท่าที่สำรวจพบมีอยู่ 17 ชนิด โดยทั่วไปมีขนาดเล็ก ประกอบด้วย  ค้างคาว 16 ชนิด เช่นค้างคาวปีกถุงเคราดำ ค้างคาวมงกุฎเทาแดง และค้างคาวหน้าหมู   กระรอกมี 3 ชนิด เช่น กระรอกบินแก้มสีเทา   หนูมี 4 ชนิด หนูฟานท้องเหลือง และหนูท้องขาว นกจากนี้ก็มีเม่นหางพวง อีเห็นธรรมดา และโลมาหัวขวดปากสั้น
สัตว์เลื้อยคลาน   ที่พบมี 22 ชนิด ได้แก่   กิ้งก่าสวน  เต่ากระ  ตะกวด  เหี้ย  งูเหลือม  งูเขียวหางไหม้ ท้องเหลือง เป็นต้น
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก   4 ชนิด ได้แก่   อึ่งน้ำเต้า  คางคกบ้าน  กบหนอง และเขียดตาปาด

แหล่งท่องเที่ยว
 loading picture  loading picture
            หมู่เกาะสิมิลันได้รับการยกย่องจาก นิตยสารสกินไดวิ่งของ สหรัฐอเมริกาว่า มีความสวยงามทั้งบนบก และใต้น้ำติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก  ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวมากที่สุดคือ ห้วงเวลาปลายเดือน ธันวาคมถึงกลางเดือนเมษายน ในเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่มีอากาศดีที่สุด น้ำใสและไม่มีมรสุม
เกาะสิมิลันหรือเกาะแปด   เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะสิมิลัน ใต้ทะเลสมบูรณ์ไปด้วยปะการัง กัลปังหา พัดทะเล ปลาหลากสี และกุ้งมังกร เกาะสิมิลันมีอ่างเล็ก ๆ อยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะ มีรูปโค้งเหมือนเกือกม้า มีแนวปะการัง ปลาเล็ก ปลาน้อยมากมาย สภาพหาดสวยงาม เหมาะแก่การดำน้ำชมปลาและปะการัง  ด้านทิศเหนือของอ่าว เป็นเกาะแก่งเล็ก ๆ ใต้น้ำมีปะการังเขากวาง และปะการังดอกเห็ดขนาดใหญ่  ทางทิศใต้ของอ่างเป็นโขดหิน สลับกับแนวปะการัง เป็นระยะตลอดแนวอ่าว ด้านทิศเหนือของเกาะมีก้อนหินขนาดใหญ่ รูปร่างคล้ายรองเท้าบูต ก้อนหินนี้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของ เกาะสิมิลัน
loading picture
หินปูซาร์ หรือเกาะกะโหลก   เป็นเกาะอันดับ 7 ของหมู่เกาะสิมิลัน มีลักษณ์เป็นก้อนหินขนาดใหญ่ มีลักษณะแปลก เมื่อมองทางด้านหนึ่งจะเห็นรูปหัวกระโหลก สภาพใต้น้ำของเกาะนี้มีความสวยงาม ไม่แพ้แห่งอื่นและมีระดับความลึก แตกต่างออกไปหลายระดับชั้น มีสภาพเหมือนหุบเขาใต้น้ำ เต็มไปด้วยปะการังและหุบเหวลึก มีปลาใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก พากันว่ายเวียนอยู่ตามก้อนหิน บางครั้งจะมีปลาโลมามาปรากฏให้เห็น
เกาะหูยง   เป็นเกาะที่มีชายหาดขาวสะอาด และยาวมากที่สุดของหมู่เกาะนี้ เป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล
เกาะเมียงหรือเกาะสี่   เป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยาน มีแหล่งน้ำจืด และหาดทรายสวยงาม เป็นแหล่งที่สามารถดูปูขน และนกชาปีไหนได้ดีกว่าพื้นที่อื่น
จุดดำน้ำหลัก ๆ  ของอุทยานแบ่งออกได้เป็นจุดดำน้ำลึก และจุดดำน้ำตื้น
จุดดำน้ำตื้น  สามารถดำได้รอบ ๆ เกาะทุกเกาะ แต่ที่น่าสนใจได้แก่ อ่าวหินเรือใบ อ่าวกวางเอน หินดอกไม้ และหลังเกาะเมียง
จุดดำน้ำลึก  บริเวณที่น่าสนใจได้แก่  เกาะบอน  กองหินคริสต์มาส  กองหินแฟนตาซี  อ่าวกวางเอน แหลมประภาคาร  หินปูซาร์  หินสามก้อน  หินดอกไม้  หัวเกาะเมียง  สวนปลาไหล  สันฉลาม และกำแพงเมืองจีน


| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |