ประเทศจีน

loading picture

            ประเทศจีน ตั้งอยู่ในเอเซียตะวันออกกับมหาสมุทรแปซิฟิค มีอาณาเขตกว้างใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๙ ล้าน ๖ แสนตารางกิโลเมตร นับว่าเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศข้างเดียง ๑๑ ประเทศ คือ เกาหลีเหนือ สหภาพโซเวียต มองดกเลีย อาฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย เนปาล ภูฐาน พม่า ลาว และเวียดนาม
                    ทิศเหนือ  ติดต่อกับประเทศมองโกเลีย
                    ทิศตะวันออกเฉียงหนือ  ติดต่อกับสหภาพรัสเซีย
                    ทิศตะวันออก  ติดต่อกับประเทศเกาหลี และทะเลจีน ตรงข้ามกับประเทศญี่ปุ่น
                    ทิศตะวันออกเฉียงใต้  อยู่ตรงข้ามกับประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย (ตะวันออก) บรูไน และอินโดนิเซีย
                    ทิศใต้  ติดต่อกับประเทศพม่า ลาว เวียดนาม และสุดเขตชายฝั่งทะเล ยาวกว่า ๑๘,๐๐๐ กิโลเมตร
                    ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ติดต่อกับประเทศอินเดีย และอัฟกานิสถาน
                    ทิศตะวันตก  ติดต่อกับประเทศปากีสถาน และอัฟกานิสถาน
                    ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับสหภาพโซเวียต
            เนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ มีพรมแดนทางภาคพื้นดินกว่าสองหมื่นกิโลเมตร มีอาณาเขตภายในคือ
                    ทิศเหนือ  เริ่มจากใจกลางลุ่มแม่น้ำเฮยหลงเจียง ใกล้กับโม่เหอ
                    ทิศตะวันออก  จรดแหล่งบรรจบของแม่น้ำเฮยหลงเจียง และแม่น้ำอูซูริ
                    ทิศใต้  จรดหาดทรายใต้ น้ำเจิงหมู่ ของหมู่เกาะหนานซา
                    ทิศตะวันตก  เริ่มจากที่ราบสูงปาร์มี
ลักษณะภูมิประเทศ
            ภาคตะวันตกเป็นพื้นที่สูง ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ต่ำ พื้นที่มีความสลับซับซ้อน มีภูเขาสูงใหญ่ มีแอ่งใหญ่น้อยอยู่มากมาย มีที่ราบสูงที่มีเนินเป็นลุ่ม ๆ ดอน ๆ และที่ราบต่ำเรียบที่อุดมสมบูรณ์อยู่มากมาย
            ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ มีทะเลทรายกว้างใหญ่ และมีทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ ตอนกลางและตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำฉางเจียง (แยงซี) มีคูคลองร่องน้ำ ทะเลสาบ หนองบึง ตัดสลับกันดุจใยแมงมุม ถ้ามองจากเบื้องสูง จะเห็นเป็นรูปคล้ายขั้นบันได จากมี่ราบสูงชิงจ้าง (ชิงไฮ - ธิเบต) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ถึงชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออก จะเห็นภูมิประเทศลาดต่ำลงมาเรื่อย ๆ เป็นขั้น ๆ พอจะแบ่งออกได้เป็นสี่ขั้น เรียงจากสูงสุดมาต่ำสุดคือ
                    ขั้นสูงสุด  คือ จากที่ราบสูงชิงจ้าง เป็นขั้นบันไดระดับสูงสุด สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๔,๐๐๐ เมตร เป็นที่ราบที่สูงที่สุดและใหญ่ที่สุดของโลก ที่เรียกว่า หลังคาของโลก มีพื้นที่ประมาณ ๒ ล้าน ๒ แสน ตารางกิโลเมตร
                    ขั้นที่สอง  คือ ภูมิประเทศที่ได้ลาดต่ำลงมาจากที่ราบสูงชิงจ้าง ทางซีกโลกตะวันออก และทางด้านเหนือลงมา มีระดับความสูง จากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒,๐๐๐ - ๑,๐๐๐ เมตร คือพื้นที่ที่เป็นแอ่งจุ่นแก้เอ้อ แอ่งทะลิม แอ่งเสฉวน และที่ราบสูงมองโกเลีย ที่ราบสูงหลงภู่ (ดินเหลือง) และที่ราบสูงหยุนกุ้ย (ยูนนาน - กุยจิ๋ว)
                    ขั้นที่สาม  เป็นพื้นที่มีระดับสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร คือพื้นที่ถัดจากภูเขาต้าชิงอานหลิ่ง ภูเขาไท้ทังซัน ภูเขาอูซัน ภูเขาอู่หลังซัน และภูเขาเซี๊ยะฟงซัน ซึ่งเป็นแถบภูเขาทางภาคตะวันออกของชั้นที่สอง ลงจรดฝั่งทะเล พื้นภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดต่ำ ถึงสูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ ๕๐๐ เมตร เป็นชั้นที่สามจากทิศเหนือจรดทิศใต้ มีที่ราบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ราบภาคเหนือของจีน ที่ราบลุ่มแม่น้ำยางเจียง ทางตอนกลางและตอนใต้กับเขตพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยม ลุ่มแม่น้ำจูเจียง ในเขตที่ราบนี้มีภูเขาและเนินเขาเตี้ย ๆ ตั้งอยู่เป็นพืดไป
                    ขั้นที่สี่  จากทิศตะวันออกของขั้นบันได ขั้นที่สามเป็นฝั่งทะเลตื้นเขิน จากแผ่นดินใหญ่ลงสู่ทะเลแถบนี้มีน้ำลึกไม่ถึง ๒๐๐ เมตร มีดินทรายที่หลั่งไหลจากผืนแผ่นดินใหญ่ มาทับถมกันอยู่มากรอบ ๆ ผืนแผ่นดินใหญ่
            ภูเขา  ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีภูเขามาก มีพื้นที่ภูเขาถึงสองในสามของพื้นที่ทั้งหมด ทิวเขาพาดกันเป็นพืด ระโยงระยางทั่วไป มีพืดเขาจากภาคตะวันออกจรดภาคตะวันตก จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จรดภาคตะวันออกเฉียงใต้ และจากภาคเหนือจรดภาคใต้ แบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ ๆ ดังนี้
               พืดเขาจากภาคตะวันออกจรดภาคตะวันตก  ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันตกของประเทศ มีภูเขาที่สำคัญคือ
                    ภูเขาอาเอ่อไท้  ตามภาษามองโกลแปลว่า ภูเขาทอง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของซินเกียว สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า ๓,๐๐๐ เมตร ทอดเข้าไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ จรดประเทศมองโกเลีย
                    ภูเขาเทียนซาน  ตั้งอยู่ตอนกลางของซินเกียว อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๓,๐๐๐ - ๕,๐๐๐ เมตร ยอดเขาทางด้านตะวันตกสูงประมาณ ๗,๐๐๐ เมตร มีภูเขาที่อยู่สูงระดับเดียวกันอยู่หลายพืดด้วยกัน พืดเขาเหล่านี้มีพื้นที่เป็นแอ่ง ตั้งอยู่กระจัดกระจายอยู่มาก ระดับน้ำในทะเลสาบอ้านติง ที่อยู่ทางตอนกลางของพื้นที่เป็นแอ่งทรูลูฟานนั้น อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๕๕ เมตร เป็นพื้นที่ต่ำสุดของประเทศจีน
                    ภูเขาคุนหลุน  เป็นพืดเขาที่ยื่นออกมาจากที่ราบสูงปาร์มี ทางภาคตะวันตกไปสู่ภาคตะวันออก ไปจรดพื้นที่แอ่งเสฉวน ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ยาวประมาณ ๒,๕๐๐ กิโลเมตร พื้นที่โดยทั่วไปอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า ๕,๐๐๐ เมตร ยอดเขาสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๗,๐๐๐ เมตร พืดเขาคุนหลุนส่วนใหญ่เป็นยอดเขาหิมะ ที่ติดกันเป็นพืด เต็มไปด้วยธารน้ำแข็ง เมื่อน้ำแข็งละลาย จะไหลหลากลงสู่แม่น้ำฮวงโห (แม่น้ำเหลือง) และแม่น้ำแยงซี ภูเขาปาเทียนเก้อ ทางซีกตะวันออกของเทือกเขาคุนหลุน เป็นสันปันน้ำฉางเจียว (แยงซี) กับแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห)
                    ภูเขาเก้อละคุนหลุน  ตามภาษาวีเกอร์ซินเกียง แปลว่า ภูเขาคุนหลุนสีนิล ตั้งอยู่บนแนวต่อแดนระหว่างซินเกียง กับแคชเมียร์ ที่ทอดตัวจากภาคตะวันตกเฉียงเหนือ สู่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ไปจรดภาคเหนือของทิเบต มีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๖,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ยอดสูงเฉียะเกอร์ลี สูงประมาณ ๘,๖๑๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นยอดเขาสูงอันดับสองของโลก
                    ภูเขากังตี่ซือ ภาษาทิเบต แปลว่า เจ้าแห่งภูเขา ตั้งอยู่ทางใต้ของทิเบต อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ ๖,๐๐๐ เมตร เป็นสันปันน้ำของแหล่งน้ำบนภาคพื้นที่ราบสูง กับแหล่งน้ำของมหาสมุทรอินเดีย มียอดเขาชื่อ กังยินโปซี ภาษาทิเบต แปลว่า หิมะสมบัติ เป็นแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทิเบต
                    ภูเขาหิมาลัย  ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของที่ราบสูงทิเบต (ชิงไฮ่)  ช่วงสำคัญตั้งอยู่บนแนวแดนต่อแดนระหว่างอินเดีย เนปาล และจีน มีความยาวประมาณ ๒,๕๐๐ กิโลเมตร ความสูงเฉลี่ยอยู่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า ๖,๐๐๐ เมตร  มียอดเขาสูงกว่า ๔๐ ยอด อยู่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า ๗,๐๐๐ เมตร  ยอดเขาหิมาลัยมีหิมะปกคลุมตลอดปี มีชื่อตามภาษาทิเบตว่า อู่น้ำแข็งอู่หิมะ  ยอดเขาจูมหลังหม่าเป็นยอดสูงสุด ตั้งอยู่ระหว่างทิเบตกับเนปาล อยู่เหนือระดับน้ำทะเล ๘,๘๔๓.๗๓ เมตร เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของโลกเรียกตามภาษาทิเบตแปลว่า เจ้าแม่
                    ภูเขาฉินหลิง  ทอดตัวจากทางตอนใต้ของมณฑลกานสู สู่ภาคตะวันออกไปจรดลุ่มแม่น้ำทางตอนใต้ของแม่น้ำหวายเหอ และแม่น้ำฉางเจียง ตัดผ่านภาคกลางของจีน มีความยาวประมาณ ๑,๕๐๐ กิโลเมตร มีความสูงประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล  เป็นสันปันน้ำระหว่างลุ่มแม่น้ำเหลือง (ฮวงโห) กับลุ่มแม่น้ำฉางเจียง (แยงซี)
                   ภูเขาหนานหลิง  ทอดตัวจากมณฑลกวางสี กวางตุ้ง หูหนาน ไปจรดเจียงซี ประกอบด้วยภูเขาห้าลูกด้วยกันคือ ภูเขาเย่เฉิงหลิง ภูเขาตูหลงหลิง ภูเขาหนิงสู่หลิง ภูเขาฉีเถียนหลิง และภูเขาต้าฮีหลิง จึงได้ชื่อว่าอู๋หลิง (ห้าภูเขา)
            ทะเลและเกาะ  ชายฝั่งตะวันออกและภาคใต้ของจีนจรดทะเลอันประกอบด้วยทะเลป่อไฮ่ หวงไฮ่ ตงไฮ่ และหนางไฮ่ สำหรับทะเลป่อไฮ่เป็นทะเลใน นอกนั้นจรดมหาสมุทรแปซิฟิก
            เนื่องจากประเทศจีนมีน่านน้ำที่กว้างใหญ่มาก จึงมีเกาะใหญ่น้อยตั้งกระจัดกระจายอยู่มากกว่าห้าพันเกาะ มีเกาะไต้หวันเป็นเกาะใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ เกาะไหหลำ เกาะฮ่องกง นอกจากนั้นยังมีเกาะแก่ง สันดอนและหินโสโครกตั้งกระจัดกระจายกันอยู่ในทะเลหนานไฮ่ (ทะเลจีนใต้)  มีหมู่เกาะใหญ่ ๆ อยู่ห้าหมู่เกาะคือหมู่เกาะหนานไฮ่ หมู่เกาะกงซา หมู่เกาะชีซา หมู่เกาะจงซา และหมู่เกาะหนานซา
            แม่น้ำลำคลอง  จีนมีแม่น้ำมากกว่า ๑,๕๐๐ สาย เป็นพื้นที่กว่า ๑,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำที่สำคัญคือ
                แม่น้ำฉางเจียง (แยงซี)  เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดของจีน ต้นน้ำอยู่ที่แม่น้ำโถโถ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของภูเขาหิมะเก้อลาตันตง ซึ่งเป็นยอดเขาของเทือกเขาคังกูลา ไหลผ่านเขตมณฑลชิงไฮ่ เขตทิเบต มณฑลเสฉวน มณฑลยูนาน มณฑลเหอเป่ย มณฑลหูหนาน มณฑลเจียงซี มณฑลฮันฮุยและมณฑลเซียงซู แล้วไหลออกสู่ทะเลตงไฮ่ (ทะเลตะวันออก) ในนครเซี่ยงไฮ้ รวมความยาวประมาณ ๖,๓๐๐ กิโลเมตร ไหลผ่านพื้นที่กว่า ๑ ล้าน ๘ แสนตารางกิโลเมตร  เมืองสำคัญที่อยู่ริมแม่น้ำสายนี้คือ จุงกิง อู่ฮั่น นานกิง และเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น ในฤดูน้ำ เรือเดินสมุทรขนาดหมื่นตันแล่นไปถึงเมืองอู่ฮั่นได้ เป็นชีพจรใหญ่สำหรับการขนส่งทางน้ำของจีน
                แม่น้ำเหลือง (ฮวงโห)  มีแหล่งต้นน้ำอยู่ทางเหนือของภูเขาปาเทียนเก้อลา ในมณฑลชิงไห่  ไหลผ่านมณฑลชิงไห่  เสฉวน กานสู  หนิงเซี้ย  มองโกเลีย  ส่านซี  ซานซี  เหอหนานและซานตุง เป็นต้น  แล้วไหลออกสู่ทะเลป่อไฮ่ในอำเภอเซินลี่ มณฑลชานตุง มีความยาวประมาณ ๕,๔๖๐ กิโลเมตร ไหลผ่านพื้นที่กว่า ๗ แสน ๕ หมื่นตารางกิโลเมตร  มีเมืองสำคัญตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายนี้คือ หลินโถว ปางโถว เจิ้งโจวและจี้หนาน เป็นต้น
                ลุ่มแม่น้ำเหลืองเป็นบ่อเกิดของประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของจีน แม่น้ำสายนี้มีดินทรายมากที่สุดในโลก  เมื่อแม่น้ำสายนี้ไหลสู่เขตที่ราบตอนปลายแม่น้ำ กระแสน้ำจะไหลเอื่อย ๆ ทำให้ดินทรายนอนก้นและท้องน้ำตื้นเขินจนต้องสร้างเขื่อนกั้นน้ำที่สูงใหญ่จนกลายเป็นแม่น้ำบนบก ที่ไหลอยู่เหนือระดับพื้นดิน  ในสมัยก่อน แม่น้ำสายนี้เกิดอุทกภัยอยู่เสมอ
                แม่น้ำจูเจียง  เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดทางภาคใต้ของจีน เกิดจากการไหลมาบรรจบกันของแควซีเจียง เป่ยเจียง และตุงเจียง แควซีเกียงเป็นแควเอกของแม่น้ำจูเจียง เกิดจากแหล่งน้ำบนภูเขาอูโหมงในมณฑลยูนาน ไหลผ่านมณฑลยูนาน กุยจิ๋ว และกวางสี แล้วไหลออกสู่ทะเลหนานไฮ่ (ทะเลจีนใต้) ที่มณฑลกวางตุ้ง มีความยาวประมาณ ๒,๐๐๐ กิโลเมตร น้ำท่าสมบูรณ์ เรือเดินสะดวก
                ส่วนแม่น้ำในเขตพื้นที่ที่เป็นแอ่งและเขตที่ราบสูงทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ส่วนใหญ่เป็นแม่น้ำชั้นใน ไม่ไหลออกสู่ทะเล แหล่งน้ำเกิดจากการละลายของน้ำแข็ง และหิมะบนภูเขาสูง เมื่อไหลไปก็เกิดการระเหยเป็นไอน้ำกับไหลซึมลงในพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ เป็นแม่น้ำที่ไหลตามฤดูกาลในช่วงสั้น ๆ  สำหรับแม่น้ำทาสิมในซินเกียง ต้นน้ำเกิดจากน้ำแข็ง และหิมะบนภูเขาอินเตอร์เทียนซาน และบนที่ราบสูงปามีร์ละลายกลายเป็นแม่น้ำชั้นใน ที่มีชื่อเสียงมีความยาวกว่า ๒,๐๐๐ กิโลเมตร
                ลำคลองที่สำคัญ  มีคลองขุดอยู่เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญคือ คลองขุดจากปักกิ่งถึงหางโจว ที่เชื่อมภาคเหนือเข้ากับภาคใต้ และคลองขุดเซียงกุ้ย ที่เชื่อมแม่น้ำฉางเจียงกับแม่น้ำจูเจียง
           ทะเลสาบ หนอง บึง  ประเทศจีนมีทะเลสาบ หนอง บึง ค่อนข้างใหญ่อยู่ประมาณ ๓๗๐ แห่ง มีพื้นที่มากกว่า ๑๐๐ ตารางกิโลเมตร อยู่มากกว่า ๑๓๐ แห่ง นอกจากนั้นยังมีทะเลสาบที่สร้างขึ้นหรืออ่างเก็บน้ำอีกหลายแห่ง
                ทะเลสาบ หนอง บึง ที่สำคัญตั้งกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ตอนกลางและตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียงและที่ราบสูงหยุนกุ้ย (ยูนานกุยจิ๋ว) ส่วนที่ราบสูงชิงจ้าง (ชิงไฮ่ - ทิเบต) เขตมองโกเลีย ซินเกียว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ก็มีทะเลสาบหนองบึงอยู่ไม่น้อย
                จากการที่มีพื้นที่ภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศที่สลับซับซ้อน บรรดาทะเลสาบ หนอง บึง  จึงมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน โดยถือเอาแนวภูเขาต้าชิงอันหลิงด้านใต้ ทิวเขาอันซาน ฉีเหลียนซาน ด้านตะวันออก ทิวเขากังตี่ เป็นเกณฑ์ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของแนวดังกล่าว ทะเลสาบในย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นทะเลสาบน้ำเก็บและตื้น ส่วนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแนวดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นทะเลสาบที่มีธารระบายน้ำเป็นทะเลสาบน้ำจืด ที่ระบายน้ำได้ มีน้ำสมบูรณ์สดวกแก่การขนส่งทางน้ำ
                ทะเลสาบน้ำจืดที่สำคัญมี ๑๔ ทะเลสาบด้วยกันคือ ทะเลสาบตังกิงหู หงหู ปัวหยัง ฉาวหู ไท้หู หยังเซิ่ง ไป่หยังเดี้ยน วุยซาน หงเอ้อ เดียนฉือ เอ่อไฮ่ จิงป๋อ โหลนฉือ และทะเลสาบชิงช่าย
ประชากร
            ประเทศจีนมีพลเมืองมากที่สุดในโลก การมีประชากรมากเกินไปได้สร้างปัญหาต่าง ๆ เป็นอันมาก ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๐๓ รัฐบาลจีนจึงได้กำหนดมาตรการควบคุมประชากร โดยกำหนดอายุการแต่งงานของชายไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี และหญิงไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปี กับจำกัดให้คู่สมรสมีบุตรได้ไม่เกินครอบครัวละ ๒ คน
            ประชาชนจีน ร้อยละ ๙๔ เป็นเชื้อสายฮั่น ร้อยละ ๖ เป็นชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ถึง ๕๖ ชนชาติ ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ตามชายแดนของประเทศ มีภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนา ที่แตกต่างกันชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่งล้านคน ได้แก่ ชนชาติมองโกล ธิเบต แมนจู อุยกูรี แม้วยีจวง ซู้ฮี้
            ชนกลุ่มน้อยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่กันหนาแน่นเป็นชุมชน จะได้รับอนุญาตให้ปกครองตนเอง ภายใต้การชี้นำของรัฐบาลจีน จำนวนชนกลุ่มน้อยมีอยู่ประมาณ ๗๐ ล้าคน พื้นที่ร้อยละ ๖๐ ของประเทศ เป็นถิ่นที่อาศัยของชนเหล่านี้
            ความหนาแน่นของประชากรจะอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบกว้างใหญ่ตอนเหนือของประเทศ นอกจากนั้นบริเวณตอนกลางของที่ราบสูงเสฉวน ลุ่มแม่น้ำ และบริเวณปากแม่น้ำ ตลอดจนชายฝั่งทะเลยังเป็นที่อยู่ของชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีประชากรหนาแน่นกว่าสองล้านคน
            มณฑลที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดคือ เสฉวน รองลงมาคือ เหอหนาน และซานตง มีประชากรน้อยที่สุดคือ ทิเบต
            เมืองสำคัญที่มีประชากรหนาแน่นที่สูดสามเมืองคือ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และเทียนสิน
            ภาษา  ชาวจีนสมัยก่อนมีตัวหนังสือใช้ผูกเชือกเป็นเงื่อนเล็ก หรือเงื่อนใหญ่ เพื่อจดจำเหตุการณ์เชื่อกันว่า ในสมัยกษัตริย์อั่งตี่ ได้มีอักษรจีนอยู่แล้วแต่ได้มีการรวบรวมแก้ไขให้เป็นบรรทัดฐานแบบเดียวกัน ตัวอักษรในสมัยนั้นมีลักษณะเป็นภาพเหมือน เช่นคำว่า ดวงอาทิตย์ก็เป็นรูปดวงอาทิตย์ ต่อมาได้มีตัวอักษรเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้งาน และกาลสมัย เกิดตัวอักษรผสม การเขียนก็ใช้ไม้ไผ่ทุบปลายแล้วจิ้มยางต้นรัก เขียนอักษรบนผ้าหรือกระดาน
            ชาวจีนเป็นชาติที่รักและใช้หนังสือมากที่สุด ในบ้านจะมีแผ่นกระดานใหญ่เขียนหนังสือ ประดับบานประตู ข้างประตู แม้ในจานข้าวก็มักเขียนคติพจน์ โคลง กลอน
            อักษรจีนที่ใช้ประจำมีอยู่ประมาณ ๘๐๐ คำ มีหลักในการเขียนด้วยการผสมคำ ให้เป็นคำอีกคำหนึ่งเช่น คำว่า "หญิง" ผสมกับคำว่า "อายุน้อย" แปลว่า "ดีมาก" คำว่า "หญิง" กับคำว่า "การป้องกัน" แปลว่า "หึงหวง" เป็นต้น
            วิวัฒนาการของอักษรจีน ทำให้เรารู้ถึงสังคมในสมัยนั้น ๆ เช่นคำว่า "แพทย์" เดิมเป็นรูปโล่ กำบังลูกศร ต่อมาเพิ่มรูปหอก หมายถึงแพทย์ในสมัยนั้นทำหน้าที่รักษานักรบอย่างเดียว ต่อมาเพิ่มรูปพ่อมดเข้าไป หมายถึง มีการรักษาด้วยเวทย์มนต์ ต่อมาเปลี่ยนตัวพ่อมดเป็น รูปสุรา แสดงว่า สุราเข้ามามีบทบาททางการแพทย์
            ปัจจุบันภาษาจีนกลาง (Mandarin)  เป็นภาษาที่ใช้พูดกันมากกว่าภาษาใด ๆ ในจีน นอกจากนั้นยังมีภาษาท้องถิ่น เช่น กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน เซี่ยงไฮ้ ไหหลำ แต้จิ๋ว ซึ่งมีความหมายแตกต่างระหว่างภาษาหนึ่งกับอีกภาษาหนึ่งมากพอสมควร แต่ทุกภาษาของจีนใช้ตัวอักษรเขียนเหมือนกันหมด
                ภาษาจีนกลาง  เป็นภาษาพยางค์เดียว แต่มีการผสมตัวอักษรเข้าเป็นกลุ่มเป็นภาษา เขียนเส้นในตัวอักษรเป็นสิ่งแน่นอน มีระเบียบ ศิลปะของการเขียนเป็นคุณลักษณะอันเป็นที่นิยมอย่างสูงสุดในวัฒนธรรมจีน
                ภาษาพูด  แตกต่างกันไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ มีอยู่ถึง ๑๓๕ ภาษา สำหรับภาษาจีนกลางยังแบ่งออกเป็นหลายชนิดคือ
                   ภาษาปักกิ่ง  ใช้ในจีนภาคเหนือทั้งหมด รวมทั้งแมนจูเรียด้วย
                   ภาษาเจ็งคู  เป็นภาษาทางภาคเหนือของแม่น้ำแยงซี
                   ภาษานานกิง  เป็นภาษาทางภาคใต้ของแม่น้ำแยงซี
            รัฐบาลจีนได้พยายามกำหนดภาษาปักกิ่ง เป็นภาษาประจำชาติของจีน
            ภาษาจีนเป็นภาษาที่เรียนยาก อักษรตัวเดียวออกเสียงต่างกันได้หลายเสียง และมีความหมายแตกต่างกันด้วย รัฐบาลจีนได้พยายามปรับปรุงตัวอักษรจีนเพื่อให้อ่านง่าย เขียนง่าย โดยบัญญัติพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ขึ้นทั้งสิ้น ๔๔ ตัว ได้ปฎิรูปตัวหนังสือขึ้นใหม่ โดยจะใช้ภาษาลาติน ๒๖ ตัว ดัดแปลงปรับปรุงเช่นเดียวกับอักษรเวียดนาม หรืออักษรมาเลเซีย แต่ปรากฎว่าไม่เป็นที่นิยมต้องเลิกไป
            ศาสนา  ศาสนาดั้งเดิมของชาวจีนคือ ลัทธิบูชาบรรพบุรุษ ชาวจีนถือว่าการเซ่นสรวงบูชาเป็นการตอบแทน ลัทธิพระเจ้าสร้างโลกไม่เคยมีมาในคติดั้งเดิมของจีน จีนเพิ่งสร้างความคิดในเรื่องพระเจ้าสร้างโลก เมื่อได้รับเอาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน แล้วถือว่าพระพุทธเจ้า ในคติความเชื่อของฝ่ายมหายานเป็นผู้สร้างโลก จีนนับถือสวรรค์เรียกว่า เทียน แต่ก็นับถือในฐานะเป็นบรรพบุรุษของกษัตริย์จีน เพราะถือว่าเป็นโอรสแห่งสวรรค์
            จีนนับถือโลกธาตุ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกัน แต่ผิดแผกแตกต่างกันมากกับอินเดีย ซึ่งอินเดียนับถือในฐานะเป็นเทพเจ้า ผู้ทรงอิทธิฤทธิ อาจบันดาลให้เกิดสิ่งที่เหนือธรรมชาติขึ้นได้
            จีนมีเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพศรัทธา เช่น เล่าจื้อ และขงจื้อ ทั้งสองท่านได้คิดลัทธิความเชื่อขึ้นมา เป็นหลักการอย่างเดียวกับลัทธิถือพระพรหมของอินเดีย
                ลัทธิเต๋า  เป็นความเชื่อดั้งเดิมของจีน ผู้ตั้งลัทธินี้คือ เล่าจื้อ เกิดเมื่อ ๖๐ ปีก่อน พ.ศ. หรือเกิดหลังพระพุทธเจ้า ๒๐ ปี ลักษณะสำคัญของคำสอนบ่งถึงธรรมชาติคือ เต๋า แต่ก็ยากที่จะกล่าวให้แน่ชัดลงไปว่า เต๋าเป็นอะไร ต่อมาลัทธิเต๋าได้เสื่อมลง และขัดกับหลักลัทธิขงจื้อ สุดท้ายลัทธิเต๋าได้กลายเป็นลัทธิไสยศาสตร์ไป
                ลัทธิขงจื้อ  มีขงจื้อเป็นผู้ให้กำเนิด ขงจื้อเกิดเมื่อ ๘ ปีก่อน พ.ศ. หรือเกิดหลังพระพุทธเจ้า ๗๒ ปี ลัทธิขงจื้อมีลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็นลัทธิศาสนาของจีนแท้ ได้สร้างชีวิตจิตใจของชาวจีนทั้งชาติ
                เม่งจื้อ  เป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของจีนอีกคนหนึ่งในยุคต่อมา เกิดเมื่อปี พ.ศ.๑๗๑ เขาทำตนเป็นศิษย์ของขงจื้อ ซึ่งนอกจากจะเคารพนับถือเรียนหลักวิชาแล้ว ยังเลียนแบบอย่างของขงจื้อทุกประการ ได้พยายามเผยแพร่หลักวิชาและข้อคิดของตน ซึ่งโดยมากเป็นวิชารัฐศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นทางปรัชญาไว้หลายประการ
                พุทธศาสนา  ได้แพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศจีน ก่อนคริสตกาลประมาณ ๑๐๐ ปี ได้รับการเคารพสักการะจากกษัตริย์ในราชวงศ์ต่าง ๆ ของจีน ตลอดจนประชาชนชาวจีนเป็นอันมาก เหนือกว่าลัทธิความเชื่อใด ๆ ได้มีการสร้างวัดในพระพุทธศาสนาถึงประมาณ ๓๐,๐๐๐ วัด พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ มีการแปลพระไตรปิฎกทางฝ่ายมหายานไว้อย่างสมบูรณ์ ในสมัยราชวงศ์ถัง (พ.ศ.๑๑๖๑ - ๑๔๔๘) พระพุทธศาสนาได้เจริญสุดขีด ในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซิว
                คริสตศาสนา  ในปี ค.ศ.๑๓๗๕ สันตปาปานิโคลัสที่ ๖ ได้ส่งคณะสอนศาสนานิกายโรมันคาธอลิค เข้าไปเผยแพร่ในประเทศจีน คริสตศาสนาได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วที่กรุงปักกิ่ง และตามเมืองใหญ่อีกสองสามเมือง มีโบสถ์ฝรั่งตั้งขึ้นภายหลัง ที่ราชวงศ์หงวนได้ถูกจีนแท้ล้มราชบัลลังก์ และตั้งราชวงศ์หมิงขึ้นในปี พ.ศ.๑๙๑๑ ได้กวาดล้างคริสตศาสนาออกไปจากประเทศจีน
                ศาสนากับลัทธิคอมมิวนิสต์  เป็นเรื่องที่อยู่ตรงข้ามกันคนละฝ่าย คอมมูนิสต์ถือว่าศาสนาเป็นยาเสพติด ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ คอมมิวนิสต์ได้ทำการริดรอนพระพุทธศาสนาในประเทศจีน ในหลายรูปแบบด้วยกัน