ประวัติศาสตร์
            จีนเป็นประเทศที่มีอารยธรรมเจริญมานานที่สุดประเทศหนึ่งของโลก มีหลักฐานจารึกในประวัติศาสตร์มานานเกือบ ๔,๐๐๐ ปี และจากข้อมูลทางโบราณคดี เท่าที่ค้นพบในปัจจุบันพบว่า เมื่อประมาณ ๑ ล้านปีก่อน มนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์ได้เริ่มมีชีวิตอยู่ในดินแดนที่เริ่มเป็นประเทศจีนนี้อยู่แล้ว  "มนุษย์หยวนเหมา" มนุษย์วานรที่กลายเป็นหินที่ขุดพบในเขตท้องที่หยวนเหมาในมณฑลยูนาน กับมนุษย์หลันเถียน มนุษย์วานรที่กลายเป็นหินที่ขุดพบในเขตท้องที่หลันเถียน มณฑลซานซี ล้วนเป็นมนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์ในประเทศจีนที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปแล้ว
            เมื่อประมาณสี่แสนปีมาแล้ว มนุษย์ปักกิ่งเป็นมนุษย์วานรที่มีชีวิตอยู่ในเขตท้องที่โจวเค่าเหี้ยน ทางชานเมืองปักกิ่ง นั้นมีลักษณะความเป็นมนุษย์ครบถ้วนทุกประการคือ ยืนตัวก้าวเดินได้ สร้างเครื่องใช้ไม้สอยขึ้นใช้ได้เอง และรู้จักใช้ไฟแล้ว
            ประเทศจีนเคยผ่านประวัติศาสตร์สมัยที่ถือสกุลมารดาเป็นใหญ่ในครอบครัว เมื่อประมาณ ๖,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นวัฒนธรรมอิ่งสาว  ส่วนวัฒนธรรมหลงซัน เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นการถือสกุลบิดาเป็นใหญ่ในครอบครัว
            ในสมัยราชวงศ์เสี้ย ก่อนคริสตกาล ๔ ศตวรรษ และก่อนคริสตกาล ๑๖ ศตวรรษ เป็นราชอาณาจักร เริ่มมีระบบทาสเกิดขึ้นในจีนในสมัยราชวงศ์ซัง ที่สืบต่อจากราชวงศ์เสี้ย เป็นช่วงเวลาวิวัฒนาการของสังคมระบอบทาส เริ่มมีการกสิกรรม และการปศุสัตว์ เริ่มรู้จักเลี้ยงไหม สาวไหมและทอผ้าไหม  เริ่มหล่อหลอมทองสำริด มีอักษรจีนแบบตายตัว  มีคำจารึกบนกระดองเต่า กระดูกสัตว์ และแผ่นทองเหลือง
            ต่อมาเป็นสมัยซีโจว ประมาณ ๑๑ ศตวรรษก่อนคริสตกาล ถึง ๗๗๐ ปีก่อนคริสตกาล  มีการผลิตทางกสิกรรมค่อนข้างเจริญ และมีการต้มกลั่นสุรากันมาก  เมื่อราชวงศ์ซีโจวสิ้นอำนาจ ต้องย้ายราชสำนักโจวไปยังเมืองเลาะอี้ ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก (เมืองลั่วหยังในมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน)  ในประวัติศาสตร์เรียกว่า ตงโจว แบ่งออกเป็นชุนชิว (๗๗๐ - ๔๗๖ ปีก่อนคริสตกาล) กับจ้านกว๋อ (๔๗๕ - ๒๒๑ ปีก่อนคริสตกาล)  เป็นระยะที่ผ่านสังคมทาสเข้าสู่สมัยสังคมศักดินา รู้จักใช้เหล็กทำเครื่องมือกสิกรรม เริ่มไถนาด้วยวัวควาย ขยายพื้นที่เพาะปลูกใหญ่ขึ้นมาก ชนชั้นเจ้าที่ดินที่เกิดขึ้นใหม่ได้เข้าแทนที่ชนชั้นเจ้าของทาส จากสมัยชุนชิวถึงสมัยจ้านกว๋อ มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างรุนแรง มีการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าออกไปกว่า ๑๔๐ ก๊กด้วยกัน เมื่อมาถึงสมัยจ้านกว๋อก็เหลือก๊กใหญ่ ๆ อยู่เจ็ดก๊กด้วยกันคือฉี  ซู่  เอี้ยน  จ้าว  หาน  ฮุ้ยและฉิน  มีการต่อสู้ภายในของเจ็ดก๊กดังกล่าว มีปราชญ์ที่สำคัญ ๆ ในสมัยนี้อยู่หลายคน เช่น ขงจื๊อ เล่าจื้อและเม่งจื๊อ เป็นต้น
            ในช่วงระยะเวลาเกือบ ๗๐๐ ปีตั้งแต่สมัยจ้านกว๋อถึงปลายสมัยตงฮั่น (๔๗๕ - ๒๒๐ ปีก่อน ค.ศ.)  ประชาชนผู้ใช้แรงงานหลุดพ้นจากภาวะความเป็นทาสเป็นอันมาก กลายเป็นชาวนาที่เป็นเอกเทศ
            ก่อนคริสตกาล ๒๒๑ ปี กษัตริย์ฉินสือหวัง ยุบเลิกการแบ่งเขตอิทธิพลในสมัยจ้านกว๋อ ก่อตั้งราชวงศ์ฉินขึ้น รวมหลายสิบชนชาติขึ้นเป็นเอกภาพ กษัตริย์จีนเป็นผู้เกื้อกูลกรรมสิทธิ์ในที่ดิน พัฒนาการคมนาคม  ใช้ตัวอักษรจีน เงินตราและมาตราชั่งตวงวัดที่เหมือน ๆ กัน
            ก่อนคริสตกาล ๒๐๖ ปี ได้ตั้งราชวงศ์ซีฮั่น ได้สร้างงานชลประทานที่มีขนาด และแบบแผนที่ใหญ่โต การค้าในประเทศเจริญรุ่งเรือง การค้ากับต่างประเทศ ก็พัฒนาขึ้นมาก เกิดหัวเมืองสำคัญ ๆ ขึ้นหลายแห่ง จนถึงปี ค.ศ.๒๕ หลิวซิ่วจึงได้ตั้งราชวงศ์ตงฮั่นขึ้น
            ราชวงศ์ฉิน ราชวงศ์ซีฮั่น  และราชวงศ์ตงฮั่น  ต่างถูกชาวนาลุกขึ้นโค่นล้ม  ภายใต้สถานการณ์ที่แก้ความขัดแย้งในสังคมไม่ได้
            การตั้งราชอาณาจักรฮุ้ย ราชอาณาจักรซู่ และราชอาณาจักรอู่ขึ้นเป็นเอกภาพในสมัยจิ้น ในสมัยราชวงศ์จิ้น และราชวงศ์หนานเป่ย ชนชาติส่วนหนึ่งทางภาคเหนือได้ปรองดองกัน ในสมัยราชวงศ์สุยได้มีการขุดลอกคลองขุดสายใหญ่จากเมืองลั่วหยังไปยังเมืองหางโจวเดิม คลองขุดสายนี้เป็นคลองขุดเก่า ต่อมาได้ขุดลอกเป็นคลองขุดสายใหญ่ ที่เชื่อมต่อภาคใต้กับภาคเหนือวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมในสมัยราชวงศ์สุย และราชวงศ์ถังเจริญรุ่งเรืองมาก เริ่มใช้เบ้าพิมพ์ในสมัยราชวงศ์ถัง มีการนำดินระเบิดมาใช้ในปลายสมัยราชวงศ์ถัง
            ความแตกแยกในห้ารัชสมัยคือ เหลียว ซิง ซี เซี้ยและจิต แล้วจึงนำมาสู่ความเป็นปึกแผ่นในสมัยราชวงศ์หยวน มีระยะเวลาประมาณ ๔๖๐ ปี (ค.ศ.๙๐๗ - ๑๓๖๘)
            การค้ารวมถึงการค้าต่างประเทศในสมัยราชวงศ์ซ่ง และราชวงศ์หยวนเจริญมาก พ่อค้าและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เข้ามาทำการค้าขายและท่องเที่ยวเมืองจีนกันมาก
            จากต้นสมัยราชวงศ์เหม็ง ถึงกลางสมัยราชวงศ์เซ็ง ระยะเวลาประมาณ ๔๗๐ ปี (ค.ศ.๑๓๖๘ - ๑๘๔๐) การผลิตทางกสิกรรมและหัตถกรรมในสมัยราชวงศ์เหม็ง ได้ก้าวหน้าไปมีการผลิตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
            ในสมัยราชวงศ์เซ็ง อาณาจักรทางทิศตะวันตกจรดทะเลสาบคาบากิน และปามีร์ ทิศเหนือจรดไซบีเรีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเลียบภูเขาชิงอัน ด้านนอกจรดทะเล ทิศตะวันออกจรดมหาสมุทรแปซิฟิค รวมทั้งเกาะไต้หวัน และเกาะโดยรอบเกาะไต้หวัน ทิศใต้จรดหมู่เกาะหมานซา ทิศตะวันตกเฉียงใต้รวมทั้งธิเบต และยูนาน ในอาณาจักรที่กว้างใหญ่เป็นเอกภาพ และมากด้วยชนชาติต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างแนบแน่น
            ในคริสตศวรรษที่ ๑๖ อาณาจักรรัสเซีย ในสมัยพระเจ้าซาร์ได้พยายามแพร่อิทธิพลไปสู่ไซบีเรีย ในกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๗ รัสเซียได้ลุกล้ำแม่น้ำเฮยหลงเจียงที่อยู่ในปกครองของจีนตลอดมา จักรพรรดิ์คังจี (ค.ศ.๑๖๖๒ - ๑๗๒๒) ได้ยับยั้งการแผ่อิทธิพลของรัสเซียไว้ได้ ค.ศ.๑๖๘๙ จีนกับรัสเวียได้ตกลงทำสนธิสัญญานีบูซู กันอย่างเสมอภาค และได้ตราเป็นกฎหมายว่า ดินแดนอันกว้างใหญ่แถบลุ่มแม่น้ำเฮยหลงเจียง และลุ่มแม่น้ำอูซุลี เป็นดินแดนจีน
            จีนมีการไปมาหาสู่ฉันท์มิตรกับประเทศต่าง ๆ มาแต่โบราณกาล เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในสมัยราชวงศ์ฮั่นได้มีผู้บุกเบิกทางไปสู่เอเซียกลางและเปอร์เซีย (อิหร่าน) สิ่งทอด้วยไหม และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในสมัยราชวงศ์ฮั่น ถูกส่งไปยังเอเซียตะวันตกเฉียงใต้กับยุโรป โดยเส้นทางสายนี้เรียกกันว่า ทางสายแพรไหม เป็นการส่งเสริมแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันตก กับโลกตะวันออก ในสมัยราชวงศ์ถัง ประเทศต่าง ๆ มีการคมนาคมติดต่อกันทั้งทางบก และทางเรือ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย เวียดนาม เปอร์เซีย ตลอดจนกลุ่มประเทศอาหรับ ประเทศต่าง ๆ ส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชวงศ์ถังอยู่ไม่ขาด  เมืองฉางอาน อันเป็นราชธานีของราชวงศ์ถังมีพวกพ่อค้า ศิลปินศาสนิกชนของศาสนาต่าง ๆ มาพำนักอยู่เป็นเรือนพัน
            ในต้นสมัยราชวงศ์เหม็ง กองเรือของจีนได้เดินเรือสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย เปอร์เซียและประเทศในกลุ่มอาหรับ ไปไกลสุดถึงฝั่งตะวันออกของแอฟริกา
            ยุคใกล้ (ค.ศ.๑๘๔๐ - ๑๙๑๙)  ในต้นคริสตศตวรรษที่ ๑๙  อังกฤษเริ่มขนฝิ่นหนีภาษีเข้าเมืองจีน เงินจีนรั่วไหลไปสู่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างหนัก
            ในปี ค.ศ.๑๘๓๙ รัฐบาลราชวงศ์เช็ง ส่งเจ้าหน้าที่มากวางตุ้ง ประกาศห้ามการสูบฝิ่น อังกฤษจึงทำสงครามฝิ่นขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ในการค้าฝิ่นของตน  สงครามฝิ่นครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.๑๘๔๐ จีนสู้ไม่ได้ ยอมทำสนธิสัญญานานกิง กับอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ.๑๘๔๒ โดยเสียอธิปไตยบางส่วนให้อังกฤษ พร้อมทั้งชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม และเสียดินแดนบางส่วนให้ด้วย  ต่อมา อเมริกา และฝรั่งเศสก็ทำตามอย่างบ้าง ให้จีนทำสนธิสัญญากับตน ทำให้จีนสูญเสียอธิปไตย  สินค้าต่างประเทศหลั่งไหลเข้าจีน เป็นเหตุให้เศรษฐกิจของจีนสลายตัว
            หลังสงครามฝิ่น จีนต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมาก เมื่อรัฐบาลจีนไปรีดเอาจากเจ้าของที่ดิน แล้วพวกพ่อค้า ซึ่งผลักภาระต่อไปยังชาวนา คนงาน ทำให้เกิดการลุกขึ้นมาต่อต้าน เป็นการปฏิวัติชาวนาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
            ในปี ค.ศ.๑๘๕๑ ผู้นำชาวนาที่ทำการต่อสู้ในมณฑลกวางสี แล้วตั้งราชอาณาจักรไท้ผิงเทียนกว๋อ กองกำลังไท้ผิงได้เข้าปลดปล่อยดินแดนผืนใหญ่ทางภาคใต้ของจีน ตั้งราชธานีขึ้นที่เมืองนานกิง เมื่อปี ค.ศ.๑๘๕๓  มีอิทธิพลแผ่คลุมไปถึง ๑๗ มณฑล ยึดหัวเมืองใหญ่น้อย กว่า ๖๐๐ หัวเมือง ประกาศระบอบจัดสรรที่ดิน ที่ใช้หลักการแบ่งที่ดินให้ชาวนาเท่ากันหมด ประกาศใช้มาตรการหลายอย่างให้ชายหญิงมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน
            อังกฤษได้ฉวยโอกาสก่อสงครามฝิ่นครั้งที่สอง พระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียก็เข้ามาสอดแทรกในสงครามครั้งนั้นด้วยคือ แบ่งปันผลประโยชน์จากอังกฤษ และฝรั่งเศส และยังได้ยึดครองดินแดนแถบริมฝั่งแม่น้ำเฮยหลงเจียงไปอีกด้วย ดินแดนที่เชือดเฉือนไปจากจีนนั้นเป็นพื้นที่ใหญ่พอ ๆ กับประเทศฝรั่งเศสกับประเทศเยอรมันรวมกัน
            ค.ศ.๑๘๙๔ ญี่ปุ่นได้ก่อสงครามกับจีน  ญี่ปุ่นได้ทำการรุกรานเกาหลีกับจีนในสงครามจีน - ญี่ปุ่น  แต่รัฐบาลราชวงศ์เช็ง
เอาแต่ประนีประนอมอย่างเดียวจนต้องทำสนธิสัญญาหม่ากวน ระบุให้ญี่ปุ่นเชือดเฉือนดินแดนผืนใหญ่ไปจากจีน และเรียกค่าปฏิกรรมสงครามก้อนใหญ่จากจีน
            หลังสงครามจีน - ญี่ปุ่น  บรรดาประเทศมหาอำนาจแย่งกันลงทุนเช่าเขตสัมปทาน และแบ่งเขตอิทธิพลในจีน จีนเกิดวิกฤตร้ายแรง  ในปี ค.ศ.๑๘๘๙ สหรัฐอเมริกาเสนอนโยบายที่เรียกให้จีนเปิดประตูกว้างคือ ให้จีนยอมรับเขตอิทธิพลในจีนของประเทศต่าง ๆ
            ค.ศ.๑๙๐๐ พวกชาวนาได้ทำการต่อสู้โจมตีผู้รุกรานอย่างหนักหน่วง  อังกฤษ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เยอรมัน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อิตาลีและญี่ปุ่น ได้ร่วมกันรุกรานจีนด้วยกำลังอาวุธ  รัฐบาลราชวงศ์เช็งยอมจำนนต่อผู้รุกราน
            ค.ศ.๑๙๐๕ สมาคมถงเหมินฮุ่ย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของจีนได้ก่อตั้งขึ้นในการนำของซุนยัดเซน แล้วเสนอหลักนโยบายปฏิวัติประชาธิปไตยคือ ขับไล่พวกต่างด้าว ฟื้นฟูประชาชาติจีน สถาปนาสาธารณรัฐ เฉลี่ยกรรมสิทธิ์ที่ดิน
            ในปี ค.ศ.๑๙๑๒ รัฐบาลเฉพาะกาลของสาธารณรัฐจีนก็ได้สถาปนาขึ้นที่นครนานกิง และในปีเดียวกันนี้ จักรพรรดิราชวงศ์เช็ง ก็ประกาศสละราชสมบัติ ซุนยัดเซนได้เป็นประธานาธิบดี
            ยุคปัจจุบัน (ค.ศ.๑๙๑๙ - ๑๙๔๙)  จีนเกิดขบวนการ ๔ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๖๙ เป็นขบวนการปฏิวัติที่คัดค้านจักรพรรดินิยม ลัทธิมาร์กซ - เลนิน เกิดแพร่หลายและสัมพันธ์กับการปฏิวัติของจีนมากขึ้น ขบวนการ ๔ พฤษภาคม เป็นผู้เตรียมการทางความคิด และผู้ดำเนินการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน
                ค.ศ.๑๙๒๓ พรรคคอมมิวนิสต์จีนตั้งแนวร่วมปฏิวัติขึ้น ช่วยซุนยัดเซนปรับปรุงพรรคก๊กมินตั๋ง
                ค.ศ.๑๙๒๖ กองกำลังปฏิวัติเข้าตีกองกำลังปฏิปักษ์ปฏิวัติภาคเหนือแตก ยึดภาคกลางและภาคใต้ของจีนไว้ได้
                ค.ศ.๑๙๒๗ เจียงไคเช็ค ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพปฏิวัติก๊กมินตั๋ง ได้ทำการรัฐประหารจู่โจมพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประชาชนผู้ปฏิวัติ เหมาเจ๋อตุง ได้ตั้งกองทัพแดงขึ้นเป็นกองแรก ตั้งฐานที่มั่นในชนบทแห่งแรก ทางเขตแดนต่อแดนระหว่างมณฑลเจียงชีกับมณฑลหูหนาน
                ค.ศ.๑๙๓๑ ญี่ปุ่นได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดครองภาคอีสานของจีน แล้วเข้าประชิดแดนจีนภาคเหนือ
                ค.ศ.๑๙๓๔ กองทัพแดง จำต้องเคลื่อนย้ายจากมณฑลเจียงสี เริ่มเดินทางไกล ๒๕,๐๐๐ ลี้
                ค.ศ.๑๙๓๕ กองทัพแดง ได้ยกกำลังเข้าสู่เขตแดนมณฑลส่านซี กานสู และหมิงเซี้ย พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รณรงค์ต่อสู้เพื่อก่อตั้งแนวร่วมต่อต้านญี่ปุ่น เมืองเยนอานในมณฑลส่านซี เป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติ
                ค.ศ.๑๙๓๗ เจียงไคเช็ค ได้เข้าร่วมต่อต้านญี่ปุ่น
                ค.ศ.๑๙๔๕ สงครามต่อต้านญี่ปุ่นของจีนประสบชัยชนะ กองทหารประชาชนเพิ่มขึ้นเป็น ๑ ล้านคน กองทหารบ้านเพิ่มเป็น ๒.๒ ล้านคน เขตปลดปล่อยขยายออกไปจนมีประชากรประมาณ ๑๐๐ ล้านคน
                ค.ศ.๑๙๔๖ สงครามระหว่างผู้นิยมคอมมิวนิสต์โดยการนำของเหมา จ๋อ ตง กับฝ่ายนิยมประชาธิปไตย โดยการนำของเจียงไคเช็ค ดำเนินไปเป็นเวลาสามปี ฝ่ายเหมาะ เจ๋อ ตง ได้ชัยชนะทั่วประเทศ ยกเว้นมณฑลไต้หวันกับเกาะอีกจำนวนหนึ่ง
                ค.ศ.๑๙๔๙ เหมา เจ๋อ ตง ประกาศว่าสาธารณประชาชนจีนได้สถาปนาขึ้นแล้ว
วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี
            การศึกษาวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของจีนเป็นเรื่องยุ่งยาก เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ของกษัตริย์จีนตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน
            วัฒนธรรมของจีนเริ่มอุบัติขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนราชวงศ์จิว (ก่อน พ.ศ.๒๑๕๔ ปี) ซึ่งเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีการวิวัฒนาการตามราชวงศ์ต่าง ๆ จนถึงราชวงศ์สุดท้ายคือ ราชวงศ์เช็ง (พ.ศ.๒๔๕๔) รวมทั้งการปฏิวัติวัฒนธรรมในสมัยที่เป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าวัฒนธรรมจีนโบราณสู่จีนยยุคใหม่ มีการรณรงค์ต่อต้านสี่เก่าคือ ศิลปะเก่า วัฒนธรรมเก่า ความคิดเก่า และนิสัยเก่า
            วัฒนธรรมจีนได้ก่อตั้งขึ้น ณ ลุ่มแม่น้ำโดยชาวฮั่น (แม่น้ำสวรรค์) ต่อมาชาวจีนได้อพยพไปทางตะวันออก จนสามารถครอบครองดินแดนสองฝั่งแม่น้ำฮวงโหได้หมด การปกครองใช้วิธีแยกกันเป็นหมู่ เป็นเหล่าปกครองกันเอง กษัติริย์ชื่อ อึ้งตี่ สามารถจัดตั้งอาณาจักรขึ้นได้โดยขับไล่ชนเผ่าต่าง ๆ ออกไป ประวัติศาสตร์จีนถือว่าวัฒนธรรมของจีนเริ่มในยุคนี้
            ชนเผ่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ตามลุ่มแม่น้ำฮวงโห ก่อนที่ชาวจีนจะอพยพเข้าไป คงอยู่กันเป็นหมู่เป็นเหล่าอย่างง่าย ๆ ไม่มีหัวหน้าใหญ่ กษัตริย์อึ้งตี่ได้ประดิษฐ์ยานพาหนะ วางระเบียบการบริหารราชการ การถวายเครื่องราชบรรณาการ กำหนดตัวหนังสือตัวอักษรให้เป็นแบบเดียวกัน ใช้ปฎิทินชนิดเดียวกัน จัดให้มีดนตรี นับเป็นการสร้างวัฒนธรรมให้จีนเป็นยุคแรก
            จีนโบราณได้แสดงออกถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม และเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีกว่าสังคมใด ๆ ในโลก ระบบจักรพรรดิ์ของจีนเป็นระบบการเมือง หรือสถาบันการเมือง การปกครอง ที่ยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
            ชาวจีนมีประเพณีเคารพบูชาความเป็นปราชญ์และเหตุผล จีนโบราณยึดถืออยู่กับปรัชญาของขงจื้อ ซึ่งเป็นประเพณีแสดงออกถึงอุดมการของผู้ปกครองประเทศ และขุนนางชั้นสูง เป็นประเพณีที่มีคุณค่า แม้ชาวนาผู้ต่ำต้อยก็สามารถเช้าใช้ และนำไปใช้ได้ ประเพณีขงจื้อไม่เพียงแต่กล่าวถึงสถาบันต่าง ๆ ของรัฐบาล แต่ยังกล่าวถึงประเพณีต่าง ๆ ของระบบครอบครัวอีกด้วย
            ประเพณีขงจื้อ  วิวัฒนาการของอารยธรรมจีน ก่อตั้งขึ้นโดยระบบการปกครองที่มีรากฐานอยู่บนอุดมการแห่งมนุษยธรรม โดยได้วิวัฒนาการมากว่าสองพันปี โดยไม่หยุดชงัก ชาวจีนอยู่ภายใต้กรอบแห่งสังคม และสถาบันที่ยืนยง และถาวรที่สุดในโลก อารยธรรมของจีนอยู่แนวหน้าในด้านความปราดเปรื่อง และความประพฤติปฎิบัติของชาวจีน อันกลมกลืนกับสังคม
            ความสำเร็จดังกล่าว มีรากฐานจากอุดมการของประเพณีขงจื้อ ซึ่งเป็นลัทธิเข้าใจง่ายและเด่นชัด เป็นปรัชญาที่เหมาะสมกับคนทุกคน ทุกระดับชั้นและฐานะ ประเพณีกล่าวถึงอำนาจหน้าที่ และเรื่องเกี่ยวกับบุคคลทั่วไป เช่น บิดามีหน้าที่ดูแลบุตรธิดาของตน รัฐบาลขององค์พระจักรพรรดิ์ต้องมีหลักการมาตรฐาน มีมนุษยธรรม และความเหมาะสม และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางศีลธรรม ซึ่งมีรากฐานจากการศึกษาเล่าเรียน มากกว่าจะมีรากฐานจากสิ่งศึกดิ์อย่างยุโรป
            ความสำเร็จในด้านวัฒนธรรมประเพณีของจีน มีรากฐานจากอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่คือ ลัทธิขงจื้อ ในระยะเริ่มประวัติศาสตร์ของจีน ชาวจีนได้ยกเลิกประเพณีต่าง ๆ ของระบบขุนนาง โดยได้ตั้งหลักเกณฑ์ที่สำคัญขึ้นมาว่า ผู้ที่ทำงานด้านการปกครองจะต้องปฎิบัติตน ตามหลักคุณธรรม และการเข้าถึงประชาชน โดยจะต้องผ่านข้อสอบไล่ที่เข้มงวด และยุติธรรม หลักเกณฑ์นี้สืบทอดมาประมาณ ๒๐๐ ปี ชาวจีนก็ได้เป็นเจ้าของหลักการอันยิ่งใหญ่ ของระบบราชการที่ปกครองและบริหารงาน โดยผู้มีการศึกษาสูง ตั้งแต่นั้นมา ชาวจีนก็มีระบบการปกครองแบบรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ซึ่งระบบนี้ชาวตะวันตกนำมาใช้เมื่อภายหลัง
            หลักอุดมการขงจื้อ ถือว่ารัฐบาลเป็นศูนย์กลางของอารยธรรม ประชาชนมีหน้าที่ช่วยกันค้นคิด และดูแลรักษาระบบการปกครองที่ดี และเที่ยงธรรม ชาวจีนซึ่งนอกจากจะสนใจในด้านการปกครอง แต่ยังพัฒนาความรู้สึกนึกคิดในด้านเอกภาพทางวัฒนธรรม ทำให้จีนมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมก่อนชนชาติอื่น ๆ
           ประเพณีขงจื้อได้เชื่อมรัฐบาลเข้ากับความก้าวหน้าทางวิชาการ ได้มีการพัฒนาความคิดด้านการศึกษา จนเชื่อว่าสามารถทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ได้สมบูรณ์ตามธรรมชาติ สอนให้ชาวจีนสำนึกว่าทุกคนควรทำตนให้สมบูรณ์ที่สุด ต้องแสวงคุณธรรมในการปฎิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมให้มากที่สุด ทำงานหนักเพื่อบรรลุความสำเร็จอย่างมีคุณธรรม และประพฤติตนให้ดีที่สุดต่อผู้อื่น
            แม้ว่าอุดมการของขงจื้อ จะสนับสนุนความคิดแบบผู้นำนิยมคือ การเน้นในเรื่องความรับผิดชอบของผู้ปกครอง แต่ก็ได้มีการปลูกฝังความเชื่อให้แก่ชาวจีนอีกว่า คุณธรรมและความดี จะได้รับการตอบสนองอย่างดี งานหนักเพื่อความสำเร็จของชีวิต จะนำไปสู่ความสุขของชีวิตที่แท้จริง สิ่งที่ชาวจีนโบราณได้แสงดออกมากกว่าสังคมใด ๆ ก็คือ แนวความคิดในเรื่องการใช้สติปัญญา และศีลธรรมเป็นรากฐานของกฎหมาย และอำนาจหน้าที่
            ในต้นราชวงศ์จิว มีการยกย่องส่งเสริมจริยศึกษา และการดนตรีเป็นอันมาก เมื่อเกิดสงครามกลางเมือง มีการรบพุ่งกันทั่วไป ทำให้ทั่วราชอาณาจักรเหมือนไม่มีการปกครอง ผู้ที่มีความคิดอ่านต่างพากันประกาศความคิดเห็นของตน อันเป็นกำเนิดของอุดมคติ และปรัชญาต่าง ๆ ของชาวจีน เช่น ลัทธิหยู (นักศึกษา) ของขงจื้อ ผู้เรียบเรียงคัมภีร์บันทึกโบราณกาล ลัทธินี้ถือว่า เมตตา เป็นรากฐานของคุณธรรมทั้งหลาย และเป็นคุณธรรมสูงสุดของมนุษย์ สังคมในยุคนี้มีการแบ่งชั้นวรรณะ แยกเป็นนักศึกษา กสิกร กรรมกร และพ่อค้า ลูกของนักศึกษาต้องเป็นนักศึกษา การถือชั้นวรรณะเป็นไปอย่างเข้มงวด เมื่อมีการยึดถือความรู้ ความสามารถ การแบ่งชั้นวรรณะก็เลิกไป สำหรับภายในครอบครัวก็มีการแบ่งชั้นวรรณะกันอย่างเข้มงวด ถูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ภรรยาต้องเชื่อฟังสามี
            จีนถือว่าระบบศักดินามีมาตั้งแต่สมัยกษัตริย์อั้งตี่ โดยยอมให้หัวหน้าหมู่ชนต่าง ๆ ไปกินเมืองที่ยึดได้ หรือเมืองที่ขยายออกไปใหม่ ๆ ในต้นราชวงศ์จิว มีเจ้านครถึง ๑,๘๐๐ คน
            วิวัฒนาการวัฒนธรรมจีน  ก่อตั้งขึ้นโดยระบบการปกครองที่มีรากฐานอยู่บนอุดมการของมนุษยธรรม โดยได้วิวัฒนาการมากว่าสองพันปี โดยไม่หยุดชงัก
            การปฎิวัติของจีนในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ได้ทำลายคุณค่าทางสังคมไปมาก โดยเฉพาะค่านิยมมูลฐานเดิมคือ ความสอดคล้องในกิจกรรมทุกอย่าง ที่สามารถหลีกเลี่ยงความตึงเครียด การยอมรับ การไกล่เกลี่ย ประนีประนอม รวมตลอดถึงวัฒนธรรมในด้านความมีระเบียบ ความสัมพันธ์ตามลำดับชั้น คุณธรรมของผู้ปกครอง ความสำนึกในการศึกษา
            ประเพณีจีน มีส่วนช่วยในการสร้างคุณประโยชน์ในการสร้างประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ ความเสื่อมของสถาบันจีนโบราณเกิดขึ้น เนื่องจากความพยายามจะสร้างประเทศจีนขึ้นใหม่ มีชาวต่างชาติเข้ามาครอบครองหลายครั้ง แต่ละครั้งได้ซึมซับชาวต่างชาตินั้น ให้เข้ามากลมกลืนกับชาวจีน และดึงดูดชาวจีนให้หันไปนิยมต่างชาติ ในบางแง่มุมของวัฒนธรรม การรุกรานของต่างชาติ มีส่วนสร้างให้จีนมีอารยธรรมแข็งแกร่ง เพราะต้องป้องกันตนเอง ได้สร้างศูนย์รวมอำนาจไว้กับส่วนกลาง มีเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมเป็นของตนเอง
            อารยธรรมตะวันตก เมื่อแรกเริ่มเข้าสู่ประเทศจีนก็ไม่ค่อยรุนแรงนัก ต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมเจริญก้าวหน้า ทำให้เกิดปัญหาคุกคามวัฒนธรรมจีน ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ ประเทศตะวันตกมีอำนาจทางทหารมากขึ้น ได้บีบบังคับให้ชาวจีนต้องผูกพันกับชาวยุโรปในรูปการค้า เกิดการเผชิญหน้าระหว่างความเคยชินของสังคมกสิกรรม กับสังคมอุตสาหกรรม แนวโน้มในการยอมรับสังคมอุตสาหกรรมจึงได้อุบัติขึ้น ในคริสตศตวรรษที่ ๒๐
            สถาบันครอบครัว  ในประวัติศาสตร์ ครอบครัวคนจีนประกอบด้วย ๓ - ๕ ชั่วอายุคน อาศัยอยู่รวมกัน ซึ่งมีผลมาจากลัทธิขงจื้อ ที่จะต้องเลี้ยงดูบิดา มารดาของครอบครัวที่บุตรชายนำเอาภรรยามาอยู่ร่วมเป็นครอบครัวขยาย ทำให้สังคมของจีนมีความมั่นคงเป็นส่วนรวม
            แซ่ของจีน เป็นคำผสมจากคำว่า "หญิง" กับคำว่า "กำเนิด" หมายถึง การกำเนิดจากหญิง คำว่า "แซ่" ก็คือ ชื่อของคน ๆ หนึ่ง ซึ่งเกิดจากหญิงคนหนึ่ง การตั้งแซ่อาจจะตั้งจากชื่อเมือง ตำแหน่งราชการ อาชีพ ที่อยู่ เหตุการณ์ในสมัยนั้นถือว่า ชายอายุ ๓๐ ปี หญิงอายุ ๒๐ ปี เหมาะสมที่จะแต่งงานกัน
            ความเป็นอยู่ (ในชนบท)  ชีวิตชนบทของชาวจีนคือ หมู่บ้าน ชาวนาต้องเดินไปยังที่นาของตน เริ่มต้นทำงานแต่เช้าตรู่ สิ้นสุดลงด้วยการพบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้านนาน ๆ ตามท้องถนน ตอนค่ำจะเอาตะเกียง และภาชนะใส่อาหาร ออกมาชุมนุมพูดคุยกันเป็นกลุ่ม แล้วบริโภคอาหารค่ำร่วมกัน ก่อนจะแยกย้ายกันไปที่อยู่อาศัยของตน
            เมื่อมองดูภายนอก ลักษณะหมู่บ้านของจีนจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน หมู่บ้านของชาวจีนทางตอนใต้ มักจะปลูกอยู่ติดกัน และมีความแออัดมากกว่าทางตอนเหนือ นิยมใช้ไม้ไผ่ และฟางข้าวทำเป็นบ้าน ส่วนหมู่บ้านทางตอนเหนือ มักจะมีกำแพงล้อมบ้านค่อนข้างสูง และก่อด้วยอิฐ สิ่งหนึ่งที่เป็นประเพณี ที่เห็นได้ชัดของหมู่บ้านตามชนบทคือ การมีสาธารณสมบัติร่วมกัน เช่น ศาลเจ้า บ่อน้ำ ถ้าเป็นหมู่บ้านใหญ่จะมีวัด บางครั้งเพื่อประโยชน์ร่วมกัน วัดอาจถูกดัดแปลงเป็นตลาด ใช้เป็นสถานที่จัดงานฉลอง
            ชาวจีนสมัยก่อน ใช้ใบไม้และหนังสัตว์เป็นเครื่องนุ่งห่ม ต่อมากษัตริย์อึ้งตี่ได้สอนให้ราษฎรเลี้ยงตัวไหม และสวมใส่เครื่องนุ่งห่ม อาหารก็เป็นอาหารแบบธรรมชาติ ต่อมาจึงรู้จักทำนา ทำไร่ และล่าสัตว์ ตลอดจนการหุงต้มให้สุก ในยุคนี้มีผู้คิดทำสุราขึ้นสำเร็จ
            ในสมัยนั้น มีตำแหน่งราชการฝ่ายช่างปรากฎคือ ช่างดิน ช่างหิน ช่างไม้ ช่างโลหะ และช่างหนังสัตว์ มีการทำเงินตรา
            ความเป็นอยู่ (ในเมือง)  วัฒนธรรมของจีนสร้างขึ้นมาจากวัฒนธรรมเมือง ในจำนวนเมืองใหญ่ ๕๐ แห่ง  เมืองปักกิ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ชาวจีนในเมืองปักกิ่งดำเนินชีวิตอย่างง่าย ๆ และสะดวกสบาย
            การศึกษา  สมัยก่อนเริ่มเปลี่ยนเข้ายุคใหม่ คนจีนอ่านหนังสือออกเพียงร้อยละยี่สิบ และเป็นเพศชาย เป็นส่วนใหญ่
            ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ คนจีนจำนวน ๖๐๐ ล้านคน มีโอกาสเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียง ๒๕๐,๐๐๐ คน
            รูปแบบของการศึกษาสอนคนให้รู้จักใช้มือ และสมองทำงานฝึกคนให้ออกมาทำงานให้ส่วนรวม
            หลักสูตรชั้นประถมมีกำหนด ๕ ปี แต่ในเมืองใหญ่ ๆ บางแห่งแก้หลักสูตรเป็น ๖ ปี หลักสูตรชั้นมัธยมตอนต้น ๓ ปี มัธยมตอนปลาย ๓  ปี
            โรงเรียนเฉพาะวิชาชั้นกลาง และโรงเรียนการช่างรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมตอนต้น หรือมัธยมตอนปลาย มีหลักสูตรการศึกษา ๒ - ๔ ปี เป็นโรงเรียนฝึกช่างเทคนิคชั้นกลาง เช่น ช่างเทคนิคตามโรงงาน
            สถาบันและโรงเรียน ชั้นอุดมศึกษาไม่เก็บค่าเล่าเรียน นักเรียนที่สมัครสอบเข้าศึกษาต้องได้คะแนนตามระดับมาตรฐาน ที่กำหนด มีร่างกายสมบูรณ์ และมีศีลธรรมจรรยา ความประพฤติในสมัยที่เรียนอยู่ในชั้นมัธยมดี จะได้รับการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย หลักสูตรชั้นอุดมศึกษาเป็นหลักสูตรสี่ปี นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา ทางรัฐจะบรรจุให้ทำงานตามความต้องการของหน่วยงานด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ตามสาขาวิชาเฉพาะที่เรียนมา
            นับแต่ ปี พ.ศ.๒๕๒๔  จีนได้เริ่มใช้ระบบปริญญา โดยแบ่งออกเป็นปริญญาตรี โท และเอก
            การศึกษาผู้ใหญ่เป็นส่วนประกอบสำคัญประการหนึ่ง ในภารกิจการศึกษาของประเทศจีน เพื่อยกระดับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาติให้สูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนในยามว่าง ไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน
            จีนเป็นชาติที่ประกอบด้วย ๕๖ ชนชาติ ชนชาติกลุ่มน้อย บางชนชาติตั้งรกรากอยู่ตามแถบภูเขา และเขตทุ่งหญ้า ที่มีผู้คนอาศัยอยู่น้อยมาก ภารกิจการศึกษาในเขตชนชาติกลุ่มน้อย รัฐได้สอดส่องดูแลเป็นพิเศษ ในโรงเรียนที่รับนักเรียนของชนชาติกลุ่มน้อยที่สำคัญ ๆ จะทำการสอนด้วยภาษาของชนชาติกลุ่มน้อยนั้น ควบคู่ไปกับการสอนด้วยภาษาอื่น
            เข็มมุ่งของการศึกษาของจีนอยู่ที่ทำให้ผู้เข้ารับการศึกษาได้เจริญทั้งทางจริยศึกษา วิริยศึกษา และพละศึกษา นักเรียนนักศึกษาจะต้องเรียนดี ทั้งทางวัฒนธรรมและทางวิทยาศาสตร์