การเมืองและการปกครอง
            ประเทศจีนไม่เหมือนกับประเทศที่ปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์อื่น ๆ พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ยังคงอยู่ได้ พรรคการเมืองสำคัญที่ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์มีอยู่ ๘ พรรค ด้วยกันคือ
                พรรคกรรมการปฎิวัติของก๊กมินตั๋ง (Revolutionary Commillee of the Kuomintang)  มีกำเนิดจากพรรคสมาคมสหายลัทธิไตรราษฎร ของ ดร.ซุนยัดเซ็น แยกตัวจากพรรคก๊กมินตั๋ง ของเจียงไคเช็ก ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ พรรคนี้สนับสนุนหลักประชาธิปไตยแบบใหม่ของเหมา เจ๋อตุง สมาชิกส่วนมากเป็นข้าราชการเก่า
                สันนิบาตประชาธิปไตยจีน  (China Democratic League) ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นปัญญาชน และข้าราชการเสรีนิยมเป็นส่วนใหญ่ พวกนี้ประสบความล้มเหลวในการจัดตั้งพลังที่สาม ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๒ - ๒๔๙๖ เมื่อจีนแยกออกเป็นสองรัฐบาล พวกหนึ่งตามไปอยู่ไต้หวัน เป็นพรรคสังคมประชาชาติปัจจุบัน ส่วนที่เหลือในผืนแผ่นดินใหญ่ ยังมีอิทธิพลมากที่สุดในบรรดาพรรคประชาธิปไตยทั้งหลาย
                สมาคมสถาปนาประชาธิปไตยจีน  (China Democratic National Consrruction) พรรคนี้รวบรวมสมาชิกจากนักธุรกิจระดับชาติ ที่มีหัวคิดเสรีนิยม (National Bourgeoisie)
                พรรคประชาธิปไตยชาวนาและกรรมกรจีน  (China Peasants and workers Democratic Party)  สมาชิกส่วนมากเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ช่างเทคนิค นำโดยแพทย์ และเจ้าหน้าที่ในวงการแพทย์
                สมาคมส่งเสริมประชาธิปไตยแห่งประเทศจีน  (China Association for Promoting Demoting)  สมาชิกส่วนมากเป็นปัญญาชนผู้ก้าวหน้า
                สมาคมสามกันยายน  (Chiu San Society)  ใช้ชื่อเรียกตามวันที่ชาวจีนถือว่า มีชัยชนะต่อญี่ปุ่น (๓ กันยายน)  สมาชิกส่วนมากเป็นกรรมกร นักศึกษา และผู้นำด้านวัฒนธรรมที่ก้าวหน้า
                พรรคจื้อกุง  (Chih Kung Tang)  ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลเสียเป็นส่วนมาก
                สันนิบาตประชาธิปไตยเพื่อปกครองตนเองของไต้หวัน  (Taiwan Democratic Self- Goverment League)  เป็นพรรคที่เกิดก่อนการจัดรัฐบาลจีน ในปี พ.ศ.๒๔๙๒
                พรรคต่าง ๆ ดังกล่าวได้รับเชิญจากรัฐบาลจีน ให้มีส่วนร่วมในรัฐบาลผสม หรือรัฐบาลแนวร่วม (United - Front Goverment)  ซึ่งเป็นวิถีทางต่อสู้กับศัตรูการเมือง ตามนโยบาย "ประชาธิปไตยแผนใหม่"  ของเหมา เจ๋อ ตุง ทุกพรรคยอมรับฐานะการนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และไม่มีเจตนาที่จะแข่งขันเพื่อชิงอำนาจ ในการปกครอง ดังพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแต่ประการใด นอกจากนั้นยังไม่มีลักษณะเป็นกลุ่มผลประโยชน์อีกด้วย
                การปล่อยให้กลุ่มการเมืองดังกล่าว คงอยู่ได้เป็นแบบอย่างที่แปลกกว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ในรัฐบาลที่จัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ และ พ.ศ.๒๔๙๗ มีผู้นำของพรรคดังกล่าวได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีหลายคน
                ในด้านทฤษฎี เหมา เจ๋อ ตุ่ง อ้างว่าจีนมิใช่เป็นเผด็จการ โดยชนชั้นกรรมาชีพ แต่เป็นเผด็จการโดยประชาชน ประชาชนยังประกอบด้วย ชนชั้นต่าง ๆ กัน แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า การคงอยู่ของกลุ่มการเมืองดังกล่าว จะมีอายุในตัวของมันเอง หรือเมื่อใดที่ชนชั้นได้หมดไป มันก็ล้มเลิกก่อกรรมไปเอง ซึ่งไม่ผิดกับวิธีการจัดการกับศาสนาคือ เมื่อสภาพเปลี่ยนแปลงไป ก็จะกลายเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ แล้วก็จะสลายตัวไปเอง
            รัฐบาล  เมื่อคอมมิวนิสต์ยึดผืนแผ่นดินใหญ่จีนได้ใหม่ ๆ พวกเขายึดถือหลักการร่วมกัน (Common Program)  เป็นแนวทางการปกครองประเทศ หลักการนี้เป็นธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ที่กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ประชุมตกลงกัน ร่างขึ้นและประกาศใช้ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ กลุ่มการเมืองดังกล่าวมีชื่อว่า ชมรมที่ปรึกษาการเมืองของชาวจีน (The Chinese People ' s Political Consultative Conference)  ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ๙ พรรค กลุ่มการเมืองย่อย ๆ ๑๔ กลุ่ม หน่วยทหาร ๖ หน่วย และเอกชนที่มีชื่อเสียง
            ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๙ รัฐบาลปฎิวัติชั่วคราว ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน ๓๓ คน เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ๑๙ คน และได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาขึ้นเป็นครั้งแรก รัฐสภานี้ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ และได้ใช้มาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๘ แต่รัฐบาลได้บริหารประเทศ โดยมิได้ยึดหลักเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญเท่าใดนัก
            ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์ได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และได้รับอนุมัติจากรัฐสภาชุดที่ ๔ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาให้กระทำ ๕ ปีต่อครั้ง วาระของสภาประชาชนประจำมณฑล หรือเทียบเท่ามีกำหนด ๕ ปี เช่นเดียวกับรัฐสภา ส่วนวาระของสภาประชาชนประจำอำเภอ หรือเทียบเท่า และคอมมูน หรือเทียบเท่ามีกำหนด ๓ ปี และ ๑ ปี ตามลำดับ
            การเลือกตั้งสมาชิกสภาประชาชนในระดับต่าง ๆ เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ประชาชนมีสิทธิไม่เท่าเทียมกับสมาชิกสภาผู้แทน ในระดับสูงได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนในระดับต่ำลงไป และประชาชนโดยทั่วไป มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนของตน ในระดับต่ำสุดเท่านั้น
            ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ มีผู้สมัครที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ประมาณ ๑ ใน ๓ เท่านั้น อีก ๑ ใน ๓ เป็นของพรรคการเมืองอื่น ๆ และผู้นำองค์กรมวลชน รวมทั้งกรรมกรผู้ชำนาญพิเศษ กรรมกรตัวอย่าง ฯลฯ
            รัฐธรรมนูญปี ๒๔๙๗ ของจีน กำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ ได้รับการเลือกตั้งจากรัฐสภา และอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี
                คณะรัฐมนตรี  ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่าง ๆ รวมทั้งประธานของคณะกรรมการต่าง ๆ ที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีนั้น ในทางปฎิบัติ คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้เสนอ โดยได้รับความยินยอมจากรัฐสภา
                ก่อนการปฎิวัติวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ คณะรัฐมนตรีมีหน่วยงาน ๔๘ กระทรวง ทบวง คณะกรรมการ และสำนักงานที่เทียบเท่า
                ในปี พ.ศ.๒๕๑๘  คณะรัฐมนตรีประกอบด้วย ๒๖ กระทรวง ๓ ทบวง
                การปกครองท้องถิ่น  แบ่งการบริหารออกเป็น ๓ ระดับใหญ่ ๆ คือ
                    ระดับมณฑล  มี ๒๒ มณฑล เขตปกครองตนเอง ๕ เขต เทศบาลมหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางอีก ๒ เทศบาล
                    ระดับอำเภอหรือเทียบเท่า  มีอยู่ประมาณ ๒,๓๐๐ หน่วย ทั่วทั้งประเทศ
                    ระดับประชาคมหรือเทียบเท่า  (โรงงานมีฐานะเทียบเท่าประชาคม) ประชาคมแบ่งออกเป็นกองการผลิต
                    องค์กรของรัฐในระดับต่าง ๆ ถัดจากระดับชาติลงไป มีโครงสร้างเหมือนกันคือ มีสภาประชาชน (People Congress)  ที่ได้รับการเลือกตั้งจากสภาประชาชนในระดับต่ำกว่า
            ระบบข้าราชการ  เป็นกลไกที่สำคัญในการบริหารนโยบายของพรรค มีสายการบังคับบัญชา ตามหน้าที่และตามท้องที่ และผู้ภายใต้การบงการของพรรค
                ระบบศาลและอัยการ  ตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.๒๔๙๗  ศาลและอัยการเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการร่วมกัน แต่ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.๒๕๑๘ ให้โอนอำนาจของอัยการไปอยู่กับองค์การรักษาความมั่นคงในระดับต่าง ๆ
                ในด้านหลักการ พรรคคอมมิวนิสต์ได้ใช้ลัทธิมาร์กซ์ - เลนิน และความคิดของเหมา เจ๋อ ตุง แทนปรัชญากฎหมายที่มีอยู่เดิม พรรคใช้อำนาจปฏิวัติ ประกาศยกเลิกกฎหมายเดิม และประกาศกฎหมายบางฉบับออกมาแทน นอกจากนั้นคำสั่ง และมติของคณะรัฐมนตรี หรือองค์กรชั้นสูงสุดของรัฐก็มีผลใช้ได้ดังกฎหมาย กฎหมายและศาล มีบทบาทรับใช้การปฏิวัติ
                พรรคได้ปรับปรุงระเบียบศาลใหม่ มีศาลสูงสุดของประชาชน (Supreme People s Court) ในระดับชาติ มีศาลสูง ศาลชั้นกลาง และศาลชั้นต้นในส่วนภูมิภาค นอกจากนั้นยังมีศาลพิเศษได้แก่ศาลทหาร ศาลการคมนาคม การรถไฟ และศาลการคมนาคมทางน้ำ
                ตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ประธานศาลสูงสุดของประชาชนได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสามัญประจำรัฐสภา อยู่ในตำแหน่งวาระ ละ ๕ ปี รองประธานศาล และผู้พิพากษาศาลสูง ได้รับการแต่งตั้งและถูกปลดได้ โดยคณะกรรมการสามัญของรัฐสภา ประธานของศาลระดับรองลงไป ได้รับแต่งตั้งและถอดถอนโดยคณะกรรมการปฏิวัติในระดับนั้น ๆ
                กล่าวโดยสรุป ระบอบกฎหมายและศาลมีบทบาทจำกัดมาก ทั้งนี้เพราะเวลามีการรณรงค์มวลชนขึ้นมา กลไกศาลหยุดชะงัก นอกจากนั้นคดีต่าง ๆ อาจตกลงกันโดยผ่ายคณะกรรมการไกล่เกลี่ยของประชาชน นักกฎหมายทั้งหลายไม่มีสิทธิที่จะร้องผลประโยชน์ให้แก่เอกชนต่อต้านผลประโยชน์ของรัฐ
                ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล พรรคคอมมิวนิสต์อยู่ในฐานะเป็นผู้นำทั้งในหน่วยรัฐการพลเรือน รัฐฝ่ายทหาร และองค์กรมวลชน บุคคลชั้นนำในหน่วยต่าง ๆ ดังกล่าวเกือบทั้งหมดเป็นบุคคลชั้นนำของพรรคในระดับเดียวกัน
                ในทางทฤษฎีสายการบังคับบัญชาของพรรคและของรัฐบาลแยกอิสระจากกัน องค์กรของรัฐบาลรับผิดชอบในการบริหารงานตามนโยบาย ส่วนองค์กรของพรรครับผิดชอบในด้านนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเมือง
                รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน  พ.ศ.๒๕๑๘
                    สารบาญ
                        คำปรารภ
                            หมวด ๑  หลักทั่วไป
                            หมวด ๒  องค์การแห่งรัฐ
                                ส่วนที่ ๑  สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ
                                ส่วนที่ ๒   คณะรัฐมนตรี
                                ส่วนที่ ๓   สภาผู้แทนประชาชนระดับต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาค และคณะกรรมการปฎิวัติระดับต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาค
                                ส่วนที่ ๔   องค์การปกครองตนเองแห่งภูมิภาคปกครองตนเองของชนชาติ
                                ส่วนที่ ๕   องค์การตุลาการ และองค์การอัยการ
                            หมวด ๓   สิทธิและหน้าที่พื้นฐานของพลเมือง
                            หมวด ๔   ธงชาติ เครื่องหมายประจำชาติ นครหลวง

                        คำปรารภ
                        การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน   ฯลฯ

ฯลฯ
                       ในด้านกิจการระหว่างประเทศ เราจะต้องยึดมั่นให้สากลนิยมชนชั้นกรรมาชีพ
ฯลฯ
                            หมวด ๑  หลักทั่วไป
                                    มาตรา ๑  สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรัฐสังคมนิยมในระบอบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งนำโดยชนชั้นกรรมาชีพ และมีพันธมิตรกรรมกรชาวนาเป็นพื้นฐาน
                                    มาตรา ๒  พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เป็นกองนำของประชาชนจีนทั่วประเทศ
ฯลฯ
                                    มาตรา ๓  อำนาจทั้งปวงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นของประชาชน องค์การที่ประชาชนใช้อำนาจคือ สภาผู้แทนประชาชนระดับต่าง ๆ
ฯลฯ
                                     มาตรา ๔  สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นรัฐหลายชนชาติที่เป็นเอกภาพ ภูมิภาคที่ดำเนินการปกครองตนเอง ส่วนท้องถิ่นของชนชาติ เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน อันจะแบ่งแยกมิได้ทั้งสิ้น ทุกชนชาติเสมอภาคกัน คัดค้านลัทธิชนชาติใหญ่และลัทธิชนชาติท้องถิ่น ทุกชนชาติมีเสรีภาพในการใช้ภาษาและอักษรของตน
                                    มาตรา ๕  ระบอบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในชนชั้นปัจจุบันที่สำคัญมี ๒ ชนิดคือ ระบอบกรรมสิทธิ์ปวงชนแห่งสังคมนิยม และระบอบกรรมสิทธิ์รวมหมู่ของมวลชน ผู้ใช้แรงงานแห่งสังคมนิยม ฯลฯ
                                    มาตรา ๖  เศรษฐกิจแห่งรัฐเป็นพลังเงินในเศรษฐกิจแห่งชาติ ฯลฯ
                                    มาตรา ๗  คอมมูนประชาชนชนบทเป็นองค์การจัดตั้งที่รวมอำนาจรัฐระดับพื้นฐาน กับการบริหารการเศรษฐกิจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯลฯ
                                    มาตรา ๘  ทรัพย์สินส่วนสาธารณะแห่งสังคมนิยมจะล่วงละเมิดมิได้ รัฐให้หลักประกันเสถียรภาพในการพัฒนาของเศรษฐกิจสังคมนิยม  ห้ามบุคคลหนึ่งบุคคลใดทำลายเศรษฐกิจสังคมนิยม และสาธารณประโยชน์ไม่ว่าด้วยวิธีใด
                                    มาตรา ๙  รัฐดำเนินหลักการสังคมนิยมที่ว่า ผู้ไม่ทำงาน ไม่ให้กิน  และแต่ละคนทำตามความสามารถ ได้รับส่วนแบ่งตามแรงงานที่ใช้ รัฐให้ความคุ้มครองแก่กรรมสิทธิ์คือรายได้จากการใช้แรงงาน เงินออมสิน เคหสถาน และปัจจัยการครองชีพอื่น ๆของพลเมือง
                                    มาตรา ๑๐  รัฐดำเนินเข็มมุ่งที่ว่า กุมการปฏิวัติ กระตุ้นการผลิต กระตุ้นการงาน และกระตุ้นการเตรียมรบ
ถือเกษตรกรรมเป็นรากฐาน อุตสาหกรรมเป็นองค์นำ ฯลฯ
                                    มาตรา ๑๑  องค์การรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องศึกษาลัทธิมาร์กซ์  ลัทธิเลนิน  ความคิดเมาเซตุง อย่างจริงจัง ฯลฯ
                                    มาตรา ๑๒  ชนชั้นกรรมาชีพต้องใช้อำนาจเผด็จการต่อชนชั้นนายทุนทั่วด้าน ฯลฯ
                                    มาตรา ๑๓  การแสดงทรรศนะอย่างเสรี  แสดงความเห็นอย่างเต็มที่  อภิปรายโต้แย้งอย่างกว้างขวาง ฯลฯ
                                    มาตรา ๑๔  รัฐพิทักษ์ระบอบสังคมนิยม ปราบปรามการเคลื่อนไหวทุกอย่างที่ทรยศต่อชาติ ฯลฯ
                                    มาตรา ๑๕  กองทัพปลดแอกประชาชนจีน และทหารบ้านเป็นทหารลูกหลานกรรมกร ชาวนาที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเป็นกองกำลังอาวุธของประชาชนชาติต่าง ๆ ฯลฯ
                            หมวด ๒  องค์การแห่งรัฐ
                                ส่วนที่ ๑  สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ
                                    มาตรา ๑๖  สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติเป็นองค์การอำนาจแห่งรัฐสูงสุดภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ประกอบขึ้นด้วยผู้แทนที่เลือกตั้งจากมณฑล เขตปกครองตนเอง นครที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลางและกองทัพปลดแอกประชาชน เมื่อมีความจำเป็นอาจเชิญบุคคลผู้รักชาติจำนวนหนึ่ง เข้าร่วมเป็นพิเศษในฐานะผู้แทนได้ ฯลฯ
                                    มาตรา ๑๗  อำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติคือ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตรากฎหมาย แต่งตั้ง นรม. และสมาชิกคณะรัฐมนตรี หรือให้บุคคลเหล่านี้พ้นจากตำแหน่ง ตามคำเสนอของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน อนุมัติโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ งบประมาณและงบดุลย์แผ่นดิน  ตลอดจนอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติเห็นสมควรจะใช้
                                    มาตรา ๑๘  คณะกรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ เป็นองค์การประจำของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประจำคือ เรียกประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ตึความกฎหมาย ออกกฤษฎีกา ส่งและเรียกกลับ ท่านผู้แทนที่มีอำนาจเต็มประจำต่างประเทศ รับรองทูตต่างประเทศ ให้สัตยาบันและบอกเลิกสนธิสัญญาที่ทำไว้กับต่างประเทศ ตลอดจนอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ซึ่งสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติมอบให้ ฯลฯ
                                ส่วนที่ ๒  คณะรัฐมนตรี
                                    มาตรา ๑๙  คณะรัฐมนตรีคือรัฐบาลประชาชนส่วนกลาง  คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบ และรายงานกิจการต่อสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ และคณะกรรมการประจำของสภา ฯลฯ
                                    มาตรา ๒๐  อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีคือ กำหนดมาตรการบริหาร ประกาศมติและคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กฎหมายหรือกฤษฎีกา นำงานของกระทรวงต่าง ๆ  คณะกรรมการต่าง ๆ และองค์การรัฐทุกระดับในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศอย่างเป็นเอกภาพ วางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ และทำงบประมาณแผ่นดิน และปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้น  อำนวยกิจการบริหารแผ่นดิน และอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ที่สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ หรือคณะกรรมการประจำของสภามอบให้
                                ส่วนที่ ๓  สภาผู้แทนประชาชนระดับต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาค และคณะกรรมการการปฏิวัติระดับต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาค
                                    มาตรา ๒๑  สภาผู้แทนประชาชนระดับต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาคเป็นองค์การอำนาจแห่งรัฐส่วนภูมิภาค อายุของสภาผู้แทนประชาชนมณฑล และนครที่ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง มีกำหนดชุดละ ๕ ปี อายุของสภาผู้แทนประชาชนจังหวัดและอำเภอ มีกำหนดชุดละ ๓ ปี อายุของสภาผู้แทนประชาชน คอมมูนประชาชนชนบท และตำบล มีอายุชุดละ ๒ ปี
                                    มาตรา ๒๒  คณะกรรมการปฏิวัติระดับต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาค เป็นองค์การประจำของสภาผู้แทนประชาชนระดับนั้น ๆ ในเวลาเดียวกันก็เป็นรัฐบาลประชาชนระดับนั้น ๆ ด้วย ฯลฯ
                                    มาตรา ๒๓  สภาผู้แทนประชาชนระดับต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาค  และคณะกรรมการปฏิวัติที่เลือกตั้งโดยสภาระดับต่าง ๆ ประกันให้กฎหมาย และกฤษฎีกาได้รับการปฏิบัติในพื้นที่ของตน นำการปฏิวัติสังคมนิยม และการสร้างสรรค์สังคมนิยมของท้องถิ่น ตรวจสอบและอนุมัติโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติของท้องถิ่น งบประมาณ และงบดุลย์ของท้องถิ่น  รักษาระเบียบปฏิบัติ และคุ้มครองสิทธิของพลเมือง
                                ส่วนที่ ๔  องค์การปกครองตนเองแห่งภูมิภาคปกครองตนเองของชนชาติ
                                    มาตรา ๒๔  เขตปกครองตนเอง จังหวัดปกครองตนเอง และอำเภอปกครองตนเอง เป็นภูมิภาคปกครองตนเองของชนชาติทั้งสิ้น
ฯลฯ
                                ส่วนที่ ๕  องค์การตุลาการ และองค์การอัยการ
                                    มาตรา ๒๕  ศาลประชาชนสูงสุด ศาลประชาชนระดับต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาค และศาลประชาชนเฉพาะ เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ
ฯลฯ
                            หมวด ๓  สิทธิและหน้าที่พื้นฐานของพลเมือง
                                    มาตรา ๒๖  สิทธิและหน้าที่พื้นฐานของพลเมืองคือ สนับสนุนการนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน สนับสนุนระบอบสังคมนิยม ปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีน การพิทักษ์ปิตุภูมิ และต่อต้านการรุกรานเป็นหน้าที่อันสูงส่งของพลเมืองทุกคน การรับราชการทหารตามกฎหมาย เป็นหน้าที่อันมีเกียรติของพลเมือง
                                    มาตรา ๒๗  พลเมืองที่มีอายุครบ ๑๘ ปี บริบูรณ์มีสิทธิเลือกตั้งและรับเลือกตั้งทุกคน ยกเว้นผู้ถูกลิดรอนสิทธิเลือกตั้ง และรับเลือกตั้งตามกฎหมาย พลเมืองมีสิทธิใช้แรงงาน มีสิทธิรับการศึกษา ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิพักผ่อน และมีสิทธิรับการช่วยเหลือทางวัตถุปัจจัยในยามชราภาพ ยามเจ็บป่วย หรือยามสูญเสียสมรรถภาพในการใช้แรงงาน ฯลฯ สตรีมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกับบุรุษในทุก ๆ ด้าน การสมรสครอบครัว มารดาและเด็ก ได้รับการคุ้มครองจากรัฐ รัฐให้ความคุ้มครองแก่สิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของชาวจีน ที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ
                                    มาตรา ๒๘  พลเมืองมีเสรีภาพในการพูด การเขียน การสื่อสารถึงกัน การพิมพ์ การโฆษณา การชุมนุม การรวมกันเป็นสมาคม การเดินขบวน การสำแดงกำลัง และการนัดหยุดงาน มีเสรีภาพในการถือศาสนา และมีเสรีภาพในการไม่ถือศาสนา และในการโฆษณาอาชีวะนิยม เสรีภาพในร่างกายและเคหะสถานของพลเมือง จะล่วงละเมิดมิได้ พลเมืองทุกคนจะจับกุมมิได้ เว้นแต่การจับกุมนั้น เป็นวินิจฉัยของศาลประชาชน หรือโดยการอน    ุมัติขององค์การรักษาความสงบ
                                    มาตรา ๒๙  สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้สิทธิพำนักอาศัยแก่ชาวต่างประเทศทุกคน ที่ถูกประทุษ เพราะสนับสนุนภารกิจที่เป็นธรรม เข้ารวมการเคลื่อนไหวปฎิวัติ หรือดำเนินงานวิทยาศาสตร์
                            หมวด ๔  ธงชาติ เครื่องหมายประจำชาติ นครหลวง
                                    มาตรา ๓๐    ฯลฯ
การเศรษฐกิจ
            ลัทธิเศรษฐกิจเหมาอิสม์  แนวความคิดที่สำคัญของ เหมา เจ๋อ ตุง อาจสรุปได้เป็นสามประการคือ ความขัดแย้ง (Contradiction) การจัดองค์กร (Organization) และการพึ่งตนเอง (Self Reliance)
            ตามความเห็นของ เหมา เจ๋อ ตุง แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา ความขัดแย้งที่สำคัญมีสามประการคือ ความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างอุตสาหกรรมกับการเกษตรกรรม และระหว่างแรงงานที่ใช้สมองกับแรงงานที่ใช้กำลังกาย
            การจัดองค์กรเป็นพื้นฐานของการเสริมสร้าง องค์กรที่สอดคล้องกับหลักการในเรื่องนี้คือ คอมมูน เพราะคอมมูนมีการดำเนินการทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การปกครองและการทหาร คอมมูนจึงเป็นองค์กรที่สามารถแก้ปัญหาขัดแย้งที่สำคัญสามประการดังกล่าวข้างต้น
            การพึ่งตนเอง  มีความหมายตั้งแต่ระดับย่อยคือท้องถิ่น จนถึงระดับใหญ่คือ ประเทศ
            การเกษตร  การเกษตรและความสมดุลย์ระหว่างอาหารกับประชากร เป็นปัญหาของประเทศจีนมาโดยตลอด ตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงปัจจุบัน การเกษตรแม้ว่าจะเป็นหนึ่งในสี่ส่วนของผลผลิตประชาชาติ แต่ก็มีความสำคัญในฐานะที่เป็นตัวกำหนดมาตรฐานการครองชีพ เพราะประชากรจีนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ มีอาชีพอยู่ในภาคเกษตร
            จีนเป็นประเทศกว้างใหญ่ การคมนาคมขนส่งยากลำบาก ดังนั้นจีนจึงพยายามให้แต่ละมณฑลพึ่งตนเองในด้านอาหารให้มากที่สุด
            การเกษตรของจีนมีผลต่ออุตสาหกรรมของจีนทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากสินค้าออกของจีนส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางการเกษตร
                เขตพื้นที่เพาะปลูกพืชต่าง ๆ  มีลักษณะคละเคล้ากันมาก ปัจจัยสำคัญที่ที่ทำให้เกิดความแตกต่างในชนิดของการผลิตคือสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งมีความแตกต่างกันนับแต่เหนือจดใต้ ทำให้ชนิดของพืชผล และวิธีการเพาะปลูกแตกต่างกันไปในแต่ละเขต
                ปัจจุบันจีนใช้พื้นที่เพาะปลูกได้เพียงประมาณร้อยละ ๑๒ ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันออกของที่ราบแมนจูเรีย และบางส่วนของภาคใต้ ตะวันตกเฉียงใต้
                ชนิดและปริมาณผลผลิต  ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญคือธัญพืชต่าง ๆ ได้แก่ข้าวจ้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ลูกเดือย เมล็ดถั่วต่าง ๆ และมันเทศ
            การอุตสาหกรรม  ยุคของอุตสาหกรรม สมัยใหม่ของจีนเริ่มต้นเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๓๘ โดยได้เปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมญี่ปุ่นเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองท่าเขตสนธิสัญญาและประเทศอื่น ๆ พลอยได้รับสิทธินี้ตามไปด้วย ต่อจากนั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ชาวจีนได้รับถ่ายทอดการประกอบอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากชาวต่างชาติ แต่ก็ยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับความใหญ่โตของระบบเศรษฐกิจของจีน
                ในระยะสิบปีแรกที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ จีนเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมหนัก โดยได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตในด้านการกู้เงิน ผู้เชี่ยวชาญ ความรู้ด้านวิชาการและเครื่องจักรกลที่ขายให้จีน
                ทรัพยากรธรรมชาติ และผลผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญ
                    พลังงานและเชื้อเพลิง  เน้นการเพิ่มผลผลิต ถ่านหิน น้ำมันดิบ และกาซธรรมชาติ การนำพลังงานจากน้ำ และจากแหล่งอื่น ๆ มาใช้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ เน้นการวิจัยเพื่อนำพลังงานปรมาณู พลังงานจากแสงแดด พลังงานจากความร้อนใต้พิภพและพลังลมมาใช้
                    อุตสาหกรรมน้ำมัน จีนผลิตน้ำมันดิบเป็นอันดับที่ ๑๑ ของโลก รองลงมาจากลิบยาและยูไนเตท อาหรับ อิมิเรต ในห้วงปี พ.ศ.๒๔๙๒ - ๒๕๑๘ คาดว่าในอนาคตจีนอาจผลิตน้ำมันดิบในอันดับ ๔ หรือ ๕ รองจากโซเวียต ซาอุดิอารเบีย สหรัฐอเมริกา และอิหร่าน
                    จีนมีสำรองน้ำมันที่พิสูจน์แล้วประมาณ ๒๐,๐๐๐ ล้านบาเรล หรือประมาณร้อยละ ๓ ของน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้วของโลก ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ คาดว่ามีบ่อน้ำมันอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ บ่อและมีท่อน้ำมันที่มีอยู่แล้วและกำลังสร้างอยู่รวมความยาวประมาณ ๕,๕๐๐ กิโลเมตร
                    อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้า  จีนผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ ๑๒๐ พันล้านกิโลวัตต์ ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ นับเป็นอันดับเก้าของโลก หรือประมาณร้อยละ ๕ ของผลผลิต พลังงานไฟฟ้าของสหรัฐ ซึ่งผลิตได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก
                    สาระอุตสาหกรรม  ใช้พลังงานไฟฟ้ามากเป็นอันดับหนึ่งคือ ประมาณร้อยละ ๗๐ ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด
            การค้าในต่างประเทศ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นต้นมา ปริมาณการค้าต่างประเทศของจีนมีลักษณะเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด และมีอัตราการเพิ่มโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ ๑๐ ต่อปี ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๗ - ๒๕๑๗
            สาเหตุของการขยายดังกล่าว สรุปได้ว่าเกิดจากปัจจัยสี่ประการคือ การสร้างสัมพันธ์ทางการค้ากับทั่วโลก การใช้นโยบายสี่ทันสมัย การขายน้ำมันและผลิตน้ำมันให้ต่างประเทศได้มากพอสมควร และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก
                สินค้าออก ในปี พ.ศ.๒๕๒๑ สินค้าออกประเภทอุตสาหกรรมน้ำมันดิบ ถ่านหินและสินแร่ต่าง ๆ รวมกันประมาณร้อยละ ๖๓ ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมด ที่เหลือร้อยละ ๓๗ เป็นสินค้าทางเกษตรกรรม และผลผลิตพื้นบ้านดั้งเดิมต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัดส่วนตรงกันข้ามกับเมื่อ ๒๐ ปีก่อน
                สินค้าเข้า  ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๒ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๖  การนำสินค้าเข้าของจีนยึดนโยบายพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศสองประการคือ การพึ่งตนเอง และการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ โดยผ่านการสะสมทุนในอัตราสูง
                ตามนโยบายประการแรก จีนจะซื้อสินค้าที่ผลิตเองไม่ได้ หรือผลิตได้แต่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน และในประการที่สอง จีนเลือกซื้อเฉพาะสินค้าทุน และวัตถุดิบเพื่อป้อนเข้าโรงงานอุตสาหกรรม หลีกเลี่ยงไม่ซื้อสินค้าเพื่อการบริโภค
                ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ  การค้าของจีน นอกจากจะขึ้นอยู่กับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว ยังขึ้นอยู่กับนโยบายต่างประเทศของจีนด้วย
                ในต้นทศวรรษ ๒๔๙๐ สหภาพโซเวียตเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของจีน ระหว่างช่วงปี พ.ศ.๒๔๙๒ - ๒๕๐๓ จีนทำการค้ากับกลุ่มประเทศสังคมนิยม รวมกันประมาณร้อยละ ๖๐ - ๘๐ ของการค้ารวม หลังการบาดหมางกันในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ปริมาณการค้ากับสหภาพโซเวียตลดลง เหลือเพียงร้อยละ ๒๐ - ๓๐ และลดลงต่ำสุดในปี พ.ศ.๒๕๑๗ เหลือเพียงร้อยละ ๒
                ภายหลังสิ้นสุดการปฏิวัติทางวัฒนธรรม จีนเริ่มหันมาทำการค้ากับกลุ่มประเทศทุนนิยม และประเทศในโลกที่สามมากขึ้น รวมทั้งการติดต่อซื้อเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา
                การค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน  ในอดีตที่ผ่านมา จีนและกลุ่มประเทศภาคีอาเซียนมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันพอสมควร  แต่ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ จะไม่สู้มีความแตกต่างกันมากนัก
                การค้าระหว่างไทยกับจีน  ในช่วงแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๒ - ๒๕๐๑ การค้ารวมได้เพิ่มสูงขึ้นในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๔ - ๒๔๙๕  หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏตัวเลขการค้าที่ผ่านด่านศุลกากร เนื่องจากนโยบายการเมืองของรัฐบาล ที่ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ.๒๔๙๕
                ในช่วงที่สอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๒ - ๒๕๑๖ ได้มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๕๓ ห้ามการติดต่อค้าขายกับประเทศจีนอย่างเด็ดขาด จึงเป็นห้วงระยะเวลาที่การค้าระหว่างไทยกับจีนอยู่ในสภาพตกต่ำที่สุด
                ช่วงที่สาม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นต้นมา ได้มีการออกพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติการค้ากับประเทศที่ประกอบการค้าโดยรัฐ  การค้าระหว่างไทยกับจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
                เพื่อให้การค้าของประเทศทั้งสองมีความเสมอภาค และเป็นประโยชน์แก่ประเทศทั้งสองในลักษณะที่มีความสมดุลย์พอสมควร รัฐบาลของทั้งสองประเทศจึงได้ทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑
                    สินค้าออกของไทยไปยังจีน  ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๗ - ๒๕๒๔ มีการส่งออกสินค้าจากไทย ๑๐ รายการ ตามข้อตกลงการค้า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑  ได้แก่ข้าวโพด  ข้าวสาร ๒๕ %  น้ำตาลดิบ แป้งมันสำปะหลัง ถั่วเขียว ยางพารา ใบยาสูบ เส้นใยประดิษฐ์ และสมุนไพร
                    สินค้าเข้าจากจีน  ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและโรงงานสำเร็จรูป เครื่องมือและเครื่องวัดทุกชนิด ผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะอื่น เครื่องจักรกลการเกษตร ผลิตผลพื้นเมือง เครื่องเขียนและวัสดุก่อสร้าง
การติดต่อสื่อสารและการขนส่ง
            จีนได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ เป็นระบบการกระจายเสียงส่วนกลางของประชาชน  ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ มีสถานีใหญ่อยู่ที่กรุงปักกิ่ง
            ปัจจุบันจังหวัดต่าง ๆ เมืองใหญ่และท้องถิ่นปกครองตนเอง ต่างก็มีวิทยุของตนเอง มีการพัฒนาระบบวิทยุเสียงตามสาย มีการจัดตั้งสถานีวิทยุดังกล่าวขึ้นในหัวเมืองต่าง ๆ กว่า ๑,๘๐๐ หัวเมือง และในคอมมูน ๕,๘๐๐ แห่ง
            การใช้สถานีวิทยุของจีนในฐานะอาวุธทางการปฎิบัติการทางจิตวิทยา ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำได้ดีกว่าของฝ่ายโลกเสรีเป็นอย่างมาก
            หน่วยงานที่สำคัญในการดำเนินการปฎิบัติทางจิตวิทยาของจีนในเอเซียคือ แผนกวิทยุกกระจายเสียงของจีนโพ้นทะเล ดำเนินการกระจายเสียงในภาคภาษาจีนท้องถิ่น ระบบการกระจายเสียงมีเป้าหมายส่วนใหญ่อยู่ที่ประชาชนจีน ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง และฟิลิปปินส์
            การคมนาคมขนส่ง  ประชากรจีนส่วนใหญ่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในบริเวณที่ราบฝั่งตะวันออก และกระจายไปตามสองฝั่งของแม่น้ำสายใหญ่สองสายคือ แม่น้ำฮวงโห (แม่น้ำเหลือง)  และแม่น้ำแยงซีเกียง ดังนั้น การคมนาคมขนส่งส่วนใหญ่จะอาศัยแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ เชื่อมโยงติดต่อกัน
            การขนส่งแบบเก่า ใช้อยู่ตามชนบท และคอมมูนที่อยู่ห่างไกล ส่วนมากเป็นการติดต่อระหว่างคอมมูนด้วยกัน
                การขนส่งทางทะเล  แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ การขนส่งตามชายฝั่งทะเล และการขนส่งทางทะเล และทางมหาสมุทร
                    การขนส่งทางชายฝั่งทะเล  เป็นการขนส่งตามแนวชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก ระหว่างเมืองกับโรงงานอุตสาหกรรม โดยใช้เรือเดินทะเลขนาดกลาง เนื่องจากจีนมีชายฝั่งทะเลยาวมากถึง ๑๔,๕๐๐ กิโลเมตร ดังนั้น การขนส่งทางน้ำตามชายฝั่งจึงมีความสำคัญมาก และได้รับผลมากกว่าทางอื่น ๆ เพราะสามารถใช้เรือเดินสมุทรขนาดกลาง ขนส่งสินค้าคราวละมาก ๆ
                    การขนส่งทางทะเลและมหาสมุทร  ท่าเรือที่มีความสำคัญ ๆ ที่สุดคือ ท่าเรือเมืองเซี่ยงไฮ้ รองลงมาได้แก่ ท่าเรือเมืองเทียนสิน กวางตุ้ง ลิงเตา หลิงต้า และกังเหลียง
                การขนส่งทางอากาศ  จีนได้ทำความตกลงทางการบินกับประเทศต่าง ๆ มากกว่า ๓๐ ประเทศ มีการเพิ่มสายการบินและเที่ยวบิน ได้สร้างสนามบินนานาชาติ เสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ และเปิดใช้ติดต่อผ่านอาฟริกา ทางด้านตะวันตก ทางด้านตะวันออกผ่านญี่ปุ่น ไปยังสหรัฐอเมริกา และแคนาดา
                สำหรับสายการบินภายในประเทศ มีกระจายอยู่ตามมณฑลต่า งๆ ทั่วประเทศ ประมาณกว่า ๔๐๐ แห่ง
                ทางรถไฟ  จีนเริ่มพัฒนาการขนส่งทางรถไฟก่อนการขนส่งอื่น ๆ กล่าวได้ว่าเป็นกิจการขนส่งหลักของประเทศจีน ได้สร้างทางรถไฟสายหลันโจว - ซินเกียง ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ จีนมุ่งใช้เป็นเส้นทางเชื่อมติดต่อกับโซเวียตด้านเตอกิซ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ และการเข้าถึงแหล่งน้ำมันปิโตรเลียม ในมณฑลกานสู และแหล่งแร่ยูเรเนียม ในมณฑลซินเกียง
                จีนจึงมีทางรถไฟสายหลัก และสายย่อยเป็นระยะทางมากกว่า ๓๖,๐๐๐ ไมล์ สายหลักได้แก่ สายปักกิ่ง - กวางตุ้ง ปักกิ่ง - เซี่ยงไฮ้  ปักกิ่ง - เฉินตู เป่าโถว - หลันโจว หลันโจว - อูรุมฉี  อั่งกาน - เอ้หนึง นอกจากนี้ยังมีทางรถไฟไปจรดชายแดน เช่น ติดต่อกับมองโกเลีย ที่เอ้อหลิน ติดต่อกับเกาหลีเหนือ ๕ สาย ติดต่อกับโซเวียต ๒ สาย ติดต่อกับเวียดนามตอนเหนือ ติดต่อกับลาว ๔ สาย