|
การเมืองและการปกครอง อินเดียเป็นรัฐเอกราชที่เกิดขึ้นใหม่ แต่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน อย่างน้อยก็สมัยอารยธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งได้ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ ๒๕๐๐ ปีก่อนพุทธกาล เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗ อเลกซานเดอร์มหาราชได้เข้ามายึดครองอินเดีย ทำให้อินเดียได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกรีก ต่อมาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๙ พระเจ้าจันทร์คุปต์ที่ ๒ สามารถสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอินเดียตอนเหนือ ในปี พ.ศ.๒๑๔๓ ชาวอังกฤษได้เริ่มเข้ามาค้าขายในอินเดีย พระราชินีเอลิซาเบธ แห่งอังกฤษ ได้มอบสิทธิบัตรให้กับบริษัทอินเดียตะวันออก โดยได้ตั้งศูนย์การค้าใหญ่ที่เมืองบอมเบย์ กัลกัตตา และมัทราส ในปี พ.ศ.๒๔๐๑ รัฐบาลอังกฤษได้ยุบบริษัทอินเดียตะวันออก และเข้าปกครองอินเดียโดยตรง ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ โบฮันธาส การามจันท์ คานธี ผู้นำอินเดียได้ใช้วิธีอหิงสา และสามารถทำให้อินเดียได้รับเอกราชเป็นขั้น ๆ ในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ นายกรัฐมนตรีแอตลี ของอังกฤษได้ประกาศเจตนาของรัฐบาลอังกฤษ ที่จะมอบอำนาจปกครองให้อินเดีย เนื่องจากมีความแตกแยกกัน ระหว่างฝ่ายมุสลิมกับฮินดู เกิดเป็นการจลาจลที่รุนแรง และแผ่ขยายทั่วประเทศ จึงต้องแบ่งแยกอินเดียออกเป็นสองประเทศคือ อินเดียกับปากีสถาน อินเดียประกาศเอกราชในปีเดียวกันนั้น หลังจากได้รับเอกราช สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดแนวทางในการปกครองประเทศไว้ครบทุกด้าน ทั้งระดับชาติ และระดับรัฐ ทำให้รัฐธรรมนูญอินเดียมีความยาวที่สุดในโลก มีบทบัญญัติถึง ๓๙๕ มาตรา ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ ประกาศตนเป็นสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข แต่ยังคงยอมรับประมุขของอังกฤษว่า เป็นประมุขของเครือจักรภพอังกฤษ ซึ่งอินเดียรวมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย โครงสร้างทางการเมือง อินเดียได้นำเอาวิธีการจัดแบ่งอำนาจหน้าที่ทางการเมือง และการปกครองของสถาบันต่าง ๆ มาจากระบบของอังกฤษคือ ประธานาธิบดี มีฐานะเป็นประมุขของประเทศที่ปกครองในระบบรัฐสภาคือ มีฐานะอยู่เหนือการเมือง และใช้อำนาจหน้าที่ตามพิธีการเท่านั้น ตามปกติประธานาธิบดีจะใช้อำนาจของตนผ่านคณะรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่เป็นผู้แนะนำให้ประธานาธิบดี ใชัอำนาจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประธานาธิบดีอินเดียได้รับเลือกตั้งโดยทางอ้อมจากประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีคือ สมาชิกสภาทั้งสองสภาของรัฐบาลกลาง และสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐต่าง ๆ ๒๑ มลรัฐ อำนาจหน้าที่ของประธานาธิบดีอินเดีย แบ่งออกเป็นสามประเภทคือ อำนาจบริหาร มีอำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ในฐานะประมุขของชาติ และเป็นตัวแทนของประชาชนอินเดียทั้งมวล ซึ่งรวมถึงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อำนาจนิติบัญญัติ มีอำนาจในการลงนามประกาศใช้ หรือยับยั้งกฎหมายต่าง ๆ ออกกฤษฎีกาต่าง ๆ นอกสมัยประชุมรัฐสภา เป็นต้น อำนาจฉุกเฉิน มีอำนาจประกาศภาวะฉุกเฉิน ในกรณีที่ความมั่นคงของชาติถูกคุกคาม กลไกการปกครองตามรัฐธรรมนูญ ในส่วนมลรัฐถูกทำลาย และเมื่อเกิดวิกฤตทางการคลังในประเทศ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศ คณะรัฐมนตรี เป็นเพียงที่ปรึกษาแนะนำ และช่วยเหลือประธานาธิบดีในการปฎิบัติหน้าที่ โดยประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ตามคำเสนอของนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีจะต้องแต่งตั้งหน้าที่พรรคที่มีเสียงข้างมาก ในสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายก ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรี อาจไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาก็ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ถ้าผู้ใดจะเป็นรัฐมนตรีเกินกว่า ๖ เดือนได้ จะต้องจัดการให้ผู้นั้น เป็นสมาชิกสภาใดสภาหนึ่ง ภายใน ๖ เดือน คณะรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากตำแหน่ง เมื่อไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทน แต่คณะรัฐมนตรีอาจขอให้ประมุขยุบสภาได้ ซึ่งจะมีผลให้มีการเลือกตั้งใหม่ สภารัฐมนตรี (Council of Ministers) มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า รับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีเป็นสื่อติดต่อระหว่างประธานาธิบดี และสภารัฐมนตรีในกิจการทุกอย่าง สภารัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีสามประเภทคือ ประเภทที่ ๑ รัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกในคณะรัฐมนตรี มีสิทธิเข้าร่วมประชุมในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นผู้กำหนดและวางนโยบายของรัฐบาล ประเภทที่ ๒ รัฐมนตรีที่มิได้เป็นสมาชิกในคณะรัฐมนตรี ประเภทที่ ๓ รองนายกรัฐมนตรี รัฐสภา ประกอบด้วยสภาสองสภาคือ สภาแห่งรัฐหรือวุฒิสภา (Council of State) อินเดียเรียก ราชยสภา (Rajaya Sabha) ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งมาจากสภาต่าง ๆ ของรัฐ ๒๒ รัฐ มีสมาชิกไม่มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร และต้องไม่มากกว่า ๒๕๐ คน ซึ่งในจำนวนนี้มี ๑๒ คนได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี สภาสูงจะถูกยุบไม่ได้ สมาชิกอยู่ในตำแหน่ง ๖ ปี แต่ทุก ๆ ๒ ปีจะต้องออกไป ๑ ใน ๓ สภานี้มีรองประธานาธิบดี เป็นประธานสภาโดยตำแหน่ง สภาแห่งรัฐมีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมายเหมือนกับสภาผู้แทนราษฎรทุกอย่าง กฎหมายใดที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่สภาแห่งรัฐไม่อนุมัติ กฎหมายนั้นออกบังคับไม่ได้ มีอำนาจควบคุมการบริหารรัฐการแผ่นดินโดยการตั้งกระทู้ถาม ไม่ผ่านกฎหมายงบประมาณของรัฐบาล และมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร (House of People) อินเดียเรียกว่า โลกสภา (Lok Sabha) ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้ง โดยตรงจากประชาชน มีจำนวนไม่เกิน ๕๐๐ คน จากมลรัฐทั้งหมด และไม่เกิน ๒๕ คน จากดินแดนที่อยู่ในปกครองของรัฐบาลกลางที่ไม่มีฐานะเป็นรัฐ นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังมีสิทธิแต่งตั้งผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อยไม่เกิน ๒ คน การเลือกตั้งเป็นแบบแบ่งเขต แต่ละเขตจะเลือกผู้แทนได้คนเดียว สภามีอายุ ๕ ปี ประชาชนอินเดียที่มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า ๒๑ ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง ให้มีคณะกรรมการเลือกตั้งเป็นสถาบันอิสระ มีหน้าที่จัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และควบคุมการเลือกตั้งระดับชาติและระดับรัฐ รัฐสภามีหน้าที่สำคัญสองประการเหมือนกับรัฐสภาอังกฤษ คือการออกกฎหมายและการควบคุมการบริหารรัฐการของคณะรัฐมนตรี ศาล รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีศาลสูงสุด (Supreme Court) หนึ่งศาล ประกอบด้วยประธานศาลสูงสุดและผู้พิพากษาอื่นอีกไม่เกิน ๑๓ คน ศาลสูง (High Court) มีประจำรัฐต่าง ๆ รัฐละ ๑ แห่ง และศาลชั้นต้น (Primar Court) มีประจำในแต่ละเขต ภายในรัฐต่าง ๆ แบ่งเป็นเขตละ ๑ ศาล ผู้พิพากษาศาลสูงสุดได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี ซึ่งประธานาธิบดี จะปรึกษากับผู้พิพากษาทั้งหลายของศาลสูงสุด และศาลของรัฐต่าง ๆ ตามที่เห็นว่าจำเป็น ศาลสูงสุด นอกจากจะรับการอุทธรณ์มาจากศาลล่างแล้ว ยังเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาที่มีลักษณะเป็นการเมืองได้โดยไม่ต้องมีใครอุทธรณ์มา และมีอำนาจพิจารณาว่ากฎหมายของรัฐสภา หรือคำสั่งของประธานาธิบดีขัดกับรัฐธรรมนูญ ใช้บังคับมิได้ มลรัฐ มีสภานิติบัญญัติของตนเอง บางมลรัฐมีสองสภา ประมุขมลรัฐเรียกว่าผู้สำเร็จราชการ ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้ง มีอำนาจต่าง ๆ ภายในมลรัฐ มีรัฐบาลของตนเอง และมีผู้นำรัฐบาลเรียกว่า มุขมนตรี ซึ่งรับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติของมลรัฐนั้น ๆ มลรัฐต่าง ๆ มี ๒๕ มลรัฐ และมีดินแดนสหภาพ (Union Territory) ๗ แห่ง พรรคการเมือง มีอยู่หลายพรรคด้วยกัน มีนโยบายแตกต่างกันตั้งแต่ขวาสุดถึงซ้ายสุด พรรคการเมืองที่สำคัญ ๆ ได้แก่ พรรคคองเกรส พรรคชนตะ พรรคโลกดาล พรรคคอมมิวนิสต์ ฯลฯ การปกครองท้องถิ่น แบ่งออกเป็น ๔ ระดับคือ หมู่บ้าน มีสภาปัญจาญาต (Village Panjayat) เป็นสภาของหมู่บ้าน มีหน้าที่บางประการเกี่ยวกับการสาธารณสุข และการศึกษาของหมู่บ้าน เขตพัฒนา ตั้งขึ้นมาเพื่อการพัฒนา มีสภาปัญจาญาตสามิติ (Panjayat Samiti) พิจารณาแต่เรื่องการพัฒนาเก็บเงินเพื่อการเกษตร เป็นต้น อำเภอ มีสภาซีลาปาริชาด (Zila Parishad) เป็นผู้ดูแลการบริหารกิจการในท้องถิ่น แขวง เป็นเขตบริหารของรัฐบาลของรัฐ ไม่มีสภาของประชาชน นโยบายต่างประเทศ อินเดียยอมรับนับถือหลักความประพฤติของนานาชาติห้าประการ เรียกว่า หลักปัญจศีล ซึ่งประกอบเป็นพื้นฐาน ของมติข้อตกลงแห่งที่ประชุมบังดง หลัก ๕ ประการได้แก่ - การให้ความเคารพในเอกภาพทางดินแดนและอธิปไตยของกันและกัน - การไม่รุกรานกัน - การไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น - ความเสมอภาคและการคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกัน - การดำรงอยู่ร่วมกันโดยสันติ นโยบายต่างประเทศของอินเดียต่อประเทศไทย อินเดียกับไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับอัครราชทูต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ และต่อมาได้ยกฐานะขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินเดียมีมาในอดีตเป็นเวลากว่าสองพันปี คือเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๑๔ ศาสนาพุทธได้ถูกนำมา เผยแพร่ที่เมืองนครปฐมเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และได้เจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ทางด้านภาษาเป็นอย่างมาก เพราะภาษาไทยได้รับอิทธิพลจากภาษาบาลี และสันสกฤต ในระยะหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา ได้มีชาวไทยเดินทางไปแสวงบุญในอินเดียเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ และรัฐบาลอินเดียก็ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ ในการบูรณะปฏิสังขรณ์ สถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาในอินเดีย เช่น ที่พุทธคยา เมืองราชคฤห์ สารนารถ กุสินารายณ์ เป็นต้น ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ รัฐบาลอินเดียได้ทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราชของไทยให้เสด็จไปเยือนอินเดียในฐานะพระอาคันตุกะของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ ประธานาธิบดีอินเดียได้มาเยือนไทยในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินเดียได้มาเยือนไทย ในปี พ.ศ.๒๕๒๑ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ไปเยือนอินเดียตามคำเชิญของรัฐบาลอินเดีย และในปี พ.ศ.๒๕๒๒ นายกรัฐมนตรีของไทยไปเยือนนายกรัฐมนตรีอินเดีย เป็นต้น ไทยและอินเดียได้ทำความตกลงระหว่างกันหลายฉบับคือ - ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ - ความตกลงทางการค้า เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ - ความตกลงทางวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ - ความตกลงสามฝ่าย ระหว่างไทย อินเดียและอินโดนีเซีย และความตกลงสองฝ่ายระหว่างไทยกับอินเดีย ว่าด้วยการแบ่งเขตก้นทะเลในทะเลอันดามัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ การค้าระหว่างไทยกับอินเดีย มีประมาณเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ สินค้าออกสำคัญของไทยที่ส่งไปอินเดียได้แก่ แร่ธาตุบางชนิด เส้นใยประดิษฐ ผ้าทอ ถั่วเขียว เผือกมัน กระดาษ ยางไม้ และอัญมณีต่าง ๆ ส่วนสินค้าที่ไทยสั่งเข้ามาจากอินเดียได้แก่ เหล็ก หม้อน้ำ เครื่องจักร และเครื่องจักรไฟฟ้า ยานยนต์ อาหารสัตว์ ผ้าป่าน ผลิตภัณฑ์เภสัช สีย้อมผ้า และเคมีภัณฑ์อินทรีย์ ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา อินเดียไม่พอใจที่สหรัฐ ฯ ให้การสนับสนุนปากีสถานในการทำสงครามกับอินเดีย ทั้งสองครั้งคือ ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ และในปี พ.ศ.๒๕๑๔ อินเดียไม่พอใจที่มูลนิธิเอเซียได้รับความช่วยเหลือจาก ซี ไอ เอ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ ความตึงเครียดได้คลายลงเมื่อสหรัฐ ฯ ปฎิเสธการขายอาวุธให้กับปากีสถาน ต่อจากนั้นในปี พ.ศ.๒๕๑๗ ได้มีการสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปเยือนระหว่างกัน เพื่อหาทางปรับปรุงสัมพันธภาพของประเทศทั้งสอง ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ได้ไปเยือนอินเดีย และได้พบปะเจรจากับนายกรัฐมนตรีอินเดียเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำของอินเดีย และมีความร่วมมือทางด้านนิวเคลียร์ ทั้งสองฝ่ายได้ออกคำประกาศเดลฮี ที่มีสาระสำคัญว่า ทั้งสองประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะลดภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ และจะลดช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน มีเจตนาแน่วแน่ในระบอบประชาธิปไตย ความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต แม้ว่าจะไม่ราบรื่นมากนัก แต่ก็อยู่ในขั้นที่ดีกว่ากับสหรัฐ ฯ และจีน ทั้งนี้จากการที่สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนอินเดีย ในกรณีพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถาน และกรณีพิพาทเกี่ยวกับพรมแดนระหว่างอินเดียกับจีน ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ได้เดินทางไปเยือนอินเดียเพื่อชักจูงอินเดีย ให้รับข้อเสนอในการจัดตั้งระบบความมั่นคงร่วมกันแห่งเอเซีย และข้อเสนอให้สหภาพโซเวียตใช้ท่าเรือของอินเดียเป็นการถาวร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่กองเรือสหภาพโซเวียต ในมหาสมุทรอินเดีย แต่ทางอินเดียไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว เพราะขัดกับนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของอินเดีย สหภาพโซเวียตได้ให้ความช่วยเหลือแก่อินเดียหลายประการ เช่น ในด้านการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่หกของโลก ที่มีระเบิดนิวเคลียร์ นอกจากนั้นยังได้ช่วยเหลืออินเดียในการส่งดาวเทียม ขึ้นโคจรรอบโลก ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ในด้านเศรษฐกิจสหภาพโซเวียตช่วยเหลืออินเดียในโครงการอุตสหกรรม ประมาณ ๕๐ โครงการ เช่น โครงการพัฒนาเหมืองถ่านหิน โครงการถลุงเหล็ก โครงการผลิตไฟฟ้า และโครงการสร้างโรงกลั่นน้ำมัน ความสัมพันธ์กับประเทศจีน ตั้งแต่สงครามเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ ความสัมพันธ์กับจีนได้เสื่อมทรามลงอย่างมาก แม้ว่าประเทศทั้งสองได้ตกลง ส่งเอกอัครราชทูตไปประจำในแต่ละฝ่าย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ ก็ตาม ทางรัฐบาลอินเดียยังไม่ยอมฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับปกติระหว่างกัน จนกว่าจีนจะคืนดินแดนที่ยึดครองไว้ให้แก่อินเดีย ได้มีการพบปะหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพรมแดนระหว่างกันโดยสันติวิธี ตลอดจนการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ความสัมพันธ์กับปากีสถาน ทั้งสองฝ่ายยังคงมีปัญหายืดเยื้อทางพรมแดนกันอยู่ โดยเฉพาะข้อพิพาทเกี่ยวกับแคว้นแคชเมียร์ โดยอินเดียยืนกรานว่า มีสิทธิครอบครองเหนือดินแดนส่วนใหญ่ โดยจะเปลี่ยนแปลงมิได้ และแคชเมียร์ จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียอย่างถาวร ในขณะเดียวกันปากีสถานยังถือว่าจะต้องปฎิบัติตามมติของสหประชาชาติ เกี่ยวกับเรื่องการออกเสียงประชามติในแคชเมียร์ ส่วนความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถาน นั้น อินเดียพยายามที่จะกระชับความสัมพันธ์อันดีกันไว้ โดยได้ประกาศให้การรับรองรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานเป็นประเทศที่สองต่อจากสหภาพโซเวียต หลังการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ ต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียต เข้าแทรกแซงทางทหารในอัฟกานิสถาน ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ ทางอินเดียได้แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์นั้น แต่ก็ได้รับการยืนยันจากสหภาพโซเวียตว่า ได้ส่งกำลังทหารเข้าไป ตามคำเรียกร้องของอัฟกานิสถาน อินเดียได้ประกาศรับรองรัฐบาลกัมพูชาฝ่ายเฮงซัมริน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ นับว่าเป็นประเทศแรกที่มีใช่คอมมิวนิสต์ ที่ประกาศรับรองรัฐบาลกัมพูชา การเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาไม่รุกรานระหว่างอินเดีย - ปากีสถาน ปากีสถานได้ยื่นข้อเสนอต่ออินเดีย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ ในประเด็นสำคัญสามประการ ได้แก่ ค้ำประกันการไม่รุกรานกัน ไม่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และตกลงในอัตรากำลังป้องกันประเทศทั้งสอง และเสนอทำความสู้รบร่วมกัน ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถูกประเทศที่สามรุกราน อินเดียยอมรับในหลักการด้วยเหตุผลว่า ข้อเสนอดังกล่าว มีพื้นฐานเช่นเดียวกับข้อเสนอของอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ โดยมีเงื่อนไขว่า ปากีสถานจะต้องยอมรับหลักการแห่งข้อตกลงซิมลา ปี พ.ศ.๒๕๑๕ ในการยุติสงครามพรมแดนระหว่างกัน ไม่รุกรานกัน เคารพในกฎบัตรสหประชาชาติ เคารพในเอกราชอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน ตลอดจนระงับกรณีพิพาทระหว่างกันโดยสันติวิธี จะไม่นำปัญหาขัดแย้งกัน เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมระหว่างประเทศ แต่จะแก้ไขในระดับทวิภาคี เหตุการณ์ในรัฐปัญจาบของชาวซิกข์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ รัฐบาลอินเดียได้พิจารณาข้อเรียกร้องของขบวนการเรียกร้องสิทธิ และเสรีภาพของชาวซิกข์ ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๑๒ ล้านคน ในรัฐปัญจาบ โดยกลุ่มชาวซิกข์ที่ไม่นิยมความรุนแรง ได้รวมตัวเป็นพรรคการเมือง เรียกร้องต่อรัฐบาลให้ชาวซิกข์มีบทบาทปกครองตนเอง เป็นอิสระจากรัฐบาลกลาง แต่มีชาวซิกข์กลุ่มหนึ่งเห็นว่า การเรียกร้องของพรรคการเมืองดังกล่าว ไม่ได้ผลทันใจ พวกนี้ได้ผู้นำเป็นนักบวชอาวุโส ได้รวบรวมพวกหัวรุนแรง ตั้งขบวนการก่อการร้ายขึ้น โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่วิหารทอง (Golden Temple) ซึ่งตั้งอยู่ในนครศักสิทธิ์ของชาวซิกข์คือ อมริสสา (Amrisar) เหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวฮินดู เช่น การลอบสังหาร การวางระเบิดในที่ชุมนุมชน รถไฟ และรถประจำทาง เป็นฝีมือของขบวนการนี้ ขบวนการของชาวซิกข์ ที่นิยมความรุนแรงอีกกลุ่มหนึ่งได้ทำการก่อกวน ประท้วงรัฐบาล และลอบสังหารชาวฮินดู และได้ประท้วงก่อการจลาจล ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ รัฐบาลอินเดียได้ส่งกำลังเข้าปิดล้อมวิหารทองคำ แล้วให้ผู้ที่อยู่ในวิหารทองคำออกมามอบตัว มีผู้ออกมามอบตัว ๖๗๙ คน เหลืออยู่อีก ๓,๐๐๐ คน ไม่ยอมมอบตัวจึงถูกทหารอินเดียโจมตี เสียชีวิต ๔๙๒ คน ถูกจับ ๑,๖๐๐ คน ปัญหาแคว้นอัสสัม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชาติในรัฐอัสสัมของอินเดีย เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๒๒ และเพิ่มความรุนแรงขึ้นตามลำดับ จนถึงเกิดการก่อความไม่สงบและจลาจล มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก อัสสัมเป็นหนึ่งของจำนวน ๒๒ รัฐ ของอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐชายเแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเขตติดต่อกับต่างประเทศคือ ทิศเหนือติดต่อกับประเทศภูฐาน ทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศพม่า และทิศใต้ติดต่อกับประเทศบังคลาเทศ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีชาวเชื้อสายออสโตร และเชื้อสายเอเซียติก ได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานแถบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร และได้สถาปนาเป็นรัฐเล็ก ๆ ที่มีวัฒนธรรมและภาษาพูดของตนเอง ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๗๐ ชาวอาหมเชื้อสายมองโกล ซึ่งอพยพมาจากตอนใต้ของประเทศจีน ได้เข้ามารวบรวมอาณาจักรเล็ก ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันเป็นอาณาจักรอาหม ต่อมาเมื่อราชวงศ์โมกุลของอินเดียเข้มแข็งขึ้น ก็ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในดินแดนของอาณาจักรอาหม เกิดทำสงครามกันเป็นเวลานานถึง ๒๕ ปี ในปี พ.ศ.๒๑๘๑ จึงได้มีการทำสนธิสัญญา กำหนดเขตแดนของอาณาจักรทั้งสอง อาณาจักรอาหมก็เป็นดินแดนของรัฐอัสสัมในปัจจุบัน ในปี พ.ศ.๒๓๐๘ - ๒๓๓๘ อาณาจักรอาหมเกิดสงครามไม่สงบ จากการแย่งชิงอำนาจกันเองภายใน ทำให้อาณาจักรอาหมเกิดความอ่อนแอ เมื่อพม่ายกกองทัพเข้ามารุกราน อาณาจักรอาหมก็ตกอยู่ในความปกครองของพม่า กษัตริย์ของชาวอาหมได้ไปขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ ที่เข้าไปอยู่ในอินเดีย อังกฤษได้ประกาศสงครามกับพม่าในปี พ.ศ.๒๓๖๗ พม่ายอมให้อาณาจักรอาหมอยู่ในความปกครองของอังกฤษ ต่อมาเมื่ออินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อังกฤษได้ผนวกอาณาจักรอาหม หรือที่เรียกว่าอัสสัม เข้าเป็นอาณานิคมของอังกฤษในอินเดีย และเมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ แล้ว และได้ประกาศใช้ธรรมนูญ อัสสัมก็มีฐานะเป็นรัฐหนึ่งของอินเดีย นับแต่นั้นมา สาเหตุของความไม่สงบ ดินแดนอัสสัมมีทรัพยากรสมบูรณ์มาก เป็นเหตุให้มีผู้อพยพเข้าไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินกันมาก เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๙ เมื่ออังกฤษเริ่มเข้ามาดำเนินการอุตสาหกรรมในอัสสัม อังกฤษได้นำชาวเนปาล ชาวเบงกอล รวมทั้งชาวมุสลิมเข้าไปทำงานในรัฐอัสสัมมากขึ้น ในระยะต่อมาชาวมุสลิมได้อพยพเข้าไปตั้งรกรากมากขึ้นตามลำดับ จนมีจำนวนถึง ๓๕๐,๐๐๐ ในปี พ.ศง๒๔๔๔ เพิ่มเป็น ๙๔๐,๐๐๐ คน ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ เพิ่มเป็น ๙๑,๕๙๐,๐๐๐ คน ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ นอกจากนั้นจากเหตุการณ์สงครามระหว่างปากีสถานตะวันตก กับปากีสถานตะวันออก ทำให้มีผู้ลี้ภัยจากปากีสถานตะวันออก (บังคลาเทศปัจจุบัน) จำนวนเกือบสองล้านคน เข้าไปอาศัยอยู่ในรัฐอัสสัม ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ มีชาวมุสลิมในรัฐอัสสัม ประมารสี่ล้านคน ความผิดแผกกันระหว่างชาวมุสลิมกับชาวฮินดู ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ชาวฮินดูเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ชาวอัสสัมเกรงว่าในอนาคต ชาวอัสสัมจะกลายเป็นชนกลุ่มน้อย ชาวมุสลิมที่จะกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ แล้วขอแยกตัวจากอินเดียไปรวมกับบังคลาเทศ ด้วยเหตุผลทางศาสนา ดังนั้น ชาวอัสสัมจากการนำขององค์การนักศึกษา และคณะสังคมปาริชาติรัฐอัสสัม จึงได้รณรงค์ร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลกลางอินเดีย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒ ให้จำกัดสิทธิผู้อพยพ เช่น มิให้มีการลงทะเบียนชาวต่างชาติ มีการเนรเทศบุคคลเหล่านี้ออกจากรัฐอัสสัม เป็นการรณรงค์โดยสงบ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นรุนแรงขึ้น มีการเดินขบวนและปะทะกันด้วยอาวุธ แต่รัฐบาลก็ควบคุมสถานการณ์ได้ ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ เกิดการประท้วงก่อให้เกิดการจลาจลในรัฐอัสสัม เนื่องมาจากรัฐาลอินเดียอนุญาตให้ชาวมุสลิม ที่อพยพมาจากบังคลาเทศ ได้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกของรัฐ และสมาชิกสภาแห่งชาติด้วย รัฐบาลอินเดียต้องเข้ามาควบคุมสถานการณ์ในรัฐอัสสัมเอง การคมนาคมขนส่ง การคมนาคมทางบก ได้แก่ การคมนาคมทางถนน และทางรถไฟ การคมนาคมทางถนน ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ อินเดียมีข่ายถนนรวมความยาวประมาณ ๑,๓๖๗,๐๐๐ กิโลเมตร แบ่งออกเป็นทางหลวงแผ่นดิน ทางหลวงของรัฐ และเส้นทางชายแดน การคมนาคมทางรถไฟ อินเดียมีเส้นทางรถไฟยาวประมาณ ๖๐,๐๐๐ กิโลเมตร มีขบวนรถบริการวันละประมาณ ๑,๑๐๐ ขบวน แบ่งเขตการเดินรถออกเป็น ๙ เขตคือ เขตกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองบอมเบย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางด้านฝั่งตะวันตกของประเทศ เขตตะวันออก มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกัลกัตตา ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลาง ด้านฝั่งตะวันออกของประเทศ เขตเหนือ มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเดลฮี ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือของประเทศ เขตตะวันออกเฉียงเหนือ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโกรัคเบอร์ เขตเหนือ - ตะวันออก มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมาลิโกน - กัวฮาติ เขตใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัทราท ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ ด้านฝั่งตะวันออกของประเทศ เขตใต้ - กลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสคันเดอราบัด เขตตะวันออกเฉียงใต้ มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกัลกัตตา ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลาง ด้านฝั่งตะวันออกของประเทศ เขตตะวันตก มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองบอมเบย์ - เชอร์เกด การรถไฟของประเทศอินเดีย อยู่ภายใต้การบริหารของกระทรวงคมนาคม แต่การเดินรถอยู่ภายใต้ กองดำเนินงานของเอกชน ซึ่งแต่ละรัฐจะเป็นผู้กำหนดข้อบังคับต่าง ๆ รางรถไฟของประเทศอินเดีย ใช้ระบบของอังกฤษ อังกฤษได้ก่อสร้างให้อินเดียตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๙๖ มีอยู่สามระบบคือ ขนาดรางกว้าง ๑.๖๘ เมตร (Broad gauge) ขนาดรางกว้าง ๑ เมตร (Meter gauge) และขนาดรางกว้างน้อยกว่า ๑ เมตร (Narrow gauge) การคมนาคมทางน้ำ ทางน้ำภายในประเทศส่วนใหญ่ที่ใช้คือ แม่น้ำคงคา และแม่น้ำพรหมบุตร ซึ่งสามารถใช้เรือกลไฟได้ ส่วนแม่น้ำอื่น ๆ เช่น แม่น้ำโคธาวารี แม่น้ำกฤษรษ กับบรรดาลำคลองในรัฐต่าง ๆ คงใช้เรือขนาดเล็ก อินเดียได้มีแผนพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ให้มากขึ้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ การเดินเรือทะเล มีคณะกรรมการเดินเรือแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ มีบริษัทเดินเรือของอินเดียมากกว่า ๖๐ บริษัท เป็นของรัฐอยู่ ๒ บริษัท ท่าเรือขนาดใหญ่ของอินเดียมี ๑๐ แห่ง ขนาดกลางและขนาดเล็ก ๑๖๐ แห่ง ท่าเรือขนาดใหญ่ ทางชายฝั่งตะวันตกอยู่ที่เมืองกานตลา บอมเบย์ มอรูมเกา นิวบังกาลอร์ และโคซิน ท่าเรือทางชายฝั่งตะวันออก อยู่ที่เมืองนิวตูติโคริน มัทราช วิสาขาปัตนัม ปาราทิม และกัลกัตตา การคมนาคมทางอากาศ ท่าอากาศยานนานาชาติของอินเดีย มีอยู่ ๔ แห่งคือ ท่าอากาศยานซันตาคูรุซ ที่เมืองบอมเบย์ ท่าอากาศยานดัมดัม อยู่ที่เมืองกัลกัตตา ท่าอากาศยานปเล็ม อยู่ที่เมืองนิวเดลฮี ท่าอากาศยานมินามปัดขาบ อยู่ที่เมืองมัทราส และมีสนามบินภายในประเทศอีก ๘๕ แห่ง สายการบินระหว่างประเทศของอินเดียคือ Air India Intetnational ได้ทำการบินไปยังประเทศต่าง ๆ รวม ๓๔ ประเทศ สายการบินภายในประเทศคือ India Airlines ทำการบินภายในประเทศและประเทศข้างเคียงคือ บังคลาเทศ ปากีสถาน มัลดีฟ ศรีลังกา หน่วยงานที่รับผิดชอบการคมนาคมขนส่งทางอากาศคือ กรมการบินพลเรือน .......................................................... |